โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เม้าท์มอย: ฟังอังกฤษสำเนียงไทย คน 3 แสนล้มรัฐบาล และบิ๊กบังกลัวอะไร ?

Posted: 24 Nov 2011 11:53 AM PST

เม้าท์มอยกลับมาอีกครั้ง หลังจากหลิ่มหลีติดเกาะ และชามดองลี้ภัยน้ำท่วมไปเมืองเหนือ สัปดาห์นี้มาคุยกันด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆ แบบคุ้นหู และข่าวแปลกเรื่องการปล่อยหรือไม่ปล่อย มีหรือไม่มีนักโทษการเมืองในพม่า และมาว่ากันต่อด้วยประโยคเด็ดของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา คน 3 แสนล้มรัฐบาลได้ ปิดท้ายด้วย กมธ.ปรองดองแห่งชาติ ที่บิ๊กบังเป็นประธานสดๆ ร้อนๆ มีคำถามให้ผู้ชมร่วมสนุกท้ายรายการว่า บิ๊กบัง กลัวอะไรหรือเปล่า ?

 

ช่วงที่ 1

ดาวน์โหลดไฟล์เสียง mp3 เม้าท์มอย ช่วงที่ 1

 

ช่วงที่ 2

ดาวน์โหลดไฟล์เสียง mp3 เม้าท์มอย ช่วงที่ 2

 

ช่วงที่ 3

ดาวน์โหลดไฟล์เสียง mp3 เม้าท์มอย ช่วงที่ 3

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณะกรรมการสิทธิฯเอเชียจี้ปล่อยตัว 'อากง' และนักโทษคดีหมิ่นฯ -พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

Posted: 24 Nov 2011 11:44 AM PST

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ออกแถลงการณ์จี้ปล่อยตัวอำพล หรือ 'อากง' ที่ถูกตัดสิน 20 ปีจากการถูกกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นหาเลขาฯ อภิสิทธิ์ ระบุศาลไทย "เป็นที่ที่ไม่อาจหาความยุติธรรม"

สืบเนื่องจากกรณีการตัดสินคดีจำคุก 20 ปี กรณีอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ 'อากง' ด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูงหาเลขาอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 54 ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) จึงได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอำพล รวมถึงนักโทษที่ถูกตัดสินในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ .ร.บ. คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่คิดเห็นต่าง ในนามของ 'ความมั่นคงของชาติ' ที่มีการนิยามอย่างคลุมเครือ 

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียชี้ว่า กรณีนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างชัดเจน และระบุว่า จะคอยจับตาคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนที่ห่วงใยความยุติธรรมทำเช่นเดียวกัน 

0000

 แถลงการณ์โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย 

ประเทศไทย: โทษจำคุก 20 ปี สำหรับเอสเอ็มเอส 4 ข้อความ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ประสงค์แสดงความกังวลต่อกรณีล่าสุดที่ตัดสินลงโทษบุคคลด้วยอาชญากรรมด้านเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย เนื่องด้วยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 คดีดำหมายเลข 311/2554 อำพล (สงวนนามสกุล) (หรือรู้จักกันในชื่อ ‘อากง’) ชายอายุ 61 ปี ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีสำหรับข้อความ 4 ข้อความที่ถูกตัดสินว่าละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551

การกระทำที่อำพลถูกกล่าวหาคือการส่งข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) 4 ข้อความไปยังสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) องค์กรพัฒนาเอกชนไทยที่ทำงานด้านกฎหมายสิทธิรายงานว่า 4 ข้อความดังกล่าวถูกอ้างโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีข้อความที่หยาบคาย หมิ่นประมาทราชินีและดูหมิ่นเหยียดหยามพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์   

ข้อความตรงตัวของข้อความทางโทรศัพท์ดังกล่าวยังไม่ถูกเปิดเผยจากทางการ เนื่องจากการผลิตซ้ำของข้อความที่ถูกอ้างว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอาจเป็นการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ ผู้สื่อข่าวจึงไม่สามารถรายงานข้อความดังกล่าวได้ตรงตัว เนื่องจากอาจเสียงต่อการถูกดำเนินคดี

นอกจากความอยุติธรรมที่เขาได้รับจากการถูกตัดสินดังกล่าวแล้ว อำพล (สงวนนามสกุล) ยังทรมานจากโรคมะเร็งที่ลิ้นและไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลในระหว่างการคุมขังก่อนและหลังการไต่สวน ไม่มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าจะการตัดสินดังกล่าวจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีก และที่จริง อาจมีข้อกังวลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเขามากกว่าเดิมด้วย ขึ้นอยู่กับเรือนจำที่เขาจะถูกส่งไปจำคุก

และที่ชัดเจนเช่นเดียวกับในกรณีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ในขณะนี้อยู่ในเรือนจำเนื่องจากถูกตัดสินจำคุก 18 ปี ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทุกข์ทรมานจากโรคกระดูกขากรรไกร เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีข้ออ้างปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลและละเมิดสิทธิของนักโทษการเมือง

ในวันที่ 3 สิงหาคม 2553 กลุ่มตำรวจจำนวน 15 นายเข้าบุกค้นบ้านพักของอำพล และจับกุมเขา จากนั้นเขาถูกควบคุมตัวในคุกเป็นเวลา 63 วันในชั้นสอบสวน ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในวันที่ 4 ตุลาคม 2553 และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 เขาถูกสั่งฟ้องโดยอัยการด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และถูกจำคุกตั้งแต่นั้นมา ศาลได้ปฏิเสธการให้ประกันตัวเนื่องด้วยความร้ายแรงของข้อหาและความเสี่ยงในการหลบหนี  

การไต่สวนเขาเริ่มขึ้นในวันที่ 23 และระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน 2554 ตั้งแต่เริ่ม อำพลยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเอง โดยกล่าวว่าเขาไม่ทราบวิธีส่งข้อความทางมือถือ และเบอร์โทรศัพท์ที่ส่งหาสมเกียรติไม่ใช่เบอร์ของเขา แต่ท่าทีของอัยการคือไม่ยอมรับคำให้การดังกล่าว และระบุว่า หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ (อีมี่) ของมือถือที่ส่งข้อความดังกล่าวไปหาสมเกียรติ เป็นของอำพล ดังนั้นเขาจึงต้องรับผิดชอบ

ตั้งแต่มีการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 โดยเฉพาะรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์สูงขึ้นกว่าเดิมมาก โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ชี้ว่า ในขณะที่อำพลถูกตัดสินจำคุกในข้อหาละเมิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แต่เขาถูกลงโทษภายใต้กฎหมายอาญา 112 ซึ่งมีโทษที่หนักกว่า นอกจากนี้ มาตราในพ.ร.บ คอมพิวเตอร์ ยังถูกใช้ร่วมกับกฎหมายหมิ่นฯ เพื่อปิดปากผู้ที่เห็นต่างในสังคม และใช้ข่มขู่นักเคลื่อนไหวทางสังคมและพลเมืองอีกด้วย 

กฎหมายอาญามาตรา 112 ระบุว่า “บุคคลใดที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกสามปีถึงสิบห้า ปี” ส่วนมาตราใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับในกรณีนี้คือ มาตรา 14 วรรค 2 และ 3 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไปเกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ: (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน; (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” 

คำจำกัดความของ “ระบบคอมพิวเตอร์” ระบุไว้ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า “อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ” วิธีเขียนกฎหมายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ อาจถูกใช้เพื่อโจมตีการสื่อสารและคำพูดที่ผ่านการส่งต่อผ่านทางเทคโนโลยีหลายรูปแบบ ไม่เพียงแต่ทางคอมพิวเตอร์เท่านั้น

การตัดสินคดีนี้ ส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังประชาชนในประเทศไทยว่า ให้ระวังตัวไว้ เพราะว่าข้อความทางโทรศัพท์มือถืออาจทำให้ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรม และคุณอาจจะเสี่ยงต่อการจำคุกเป็นเวลานานได้ การขาดการนิยามคำว่า     "ความมั่นคง” ที่ชัดเจนในกฎหมาย หมายความว่ามันเปิดโอกาสให้มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐอาจชี้ที่ใครก็ได้ที่เห็นต่าง หรือข้อความที่ตีความเช่นใดก็ได้ ว่าเป็นการละเมิดความมั่นคงของชาติ  

ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่วานนี้โดยเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและสถาบันกฎหมายราษฎรประสงค์ก่อนการตัดสินคดี มีข้อความในจดหมายจากลูกสาวของอำพลที่ส่งหานักโทษอีกคนในเรือนจำที่ดูแลพ่อของเธอว่า 

"สิ่งที่เราเป็นห่วงเตี่ยมากที่สุดคือ จิตใจที่อ่อนล้าและท้อแท้ของเตี่ย ความเข็มแข็งคงแทบจะหมดไปแล้ว ครั้งนี้ขอประกันตัวอีกกี่ครั้งก็ถูกปฏิเสธตลอด... แต่ความทุกข์ของครอบครัวเราก็ยังเบาบางลงเพราะมีพี่หนุ่มคอยดูแล คอยให้กำลังใจ คอยกระตุ้นจิตใจของเตี่ย...เพราะรู้ว่าไม่ได้สู้เพียงลำพังยังมีคนอื่นอีกมากมายที่โดนแบบเรา พวกเขาก็สู้เพื่อขอความยุติธรรมและอิสระภาพให้กับคนที่ต้องโดนแบบเตี่ยพวก เราพี่น้องทุกคนก็ไม่ท้อแท้แล้วยังมีหนทางสู้เพื่อเตี่ยของเรา พวกเราอยู่ข้างนอกต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งเพื่อคนข้างใน ครอบครัวของเราไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดกับพวกเราเพราะดูแล้วเป็น เรื่องที่ห่างไกลเหลือเกิน ในความเป็นคนไทยของเราครอบครัวเราทุกคน ให้รักความเทิดทูนเคารพบูชาสถาบันมากที่สุด และเสียใจมากที่สถาบันลูกนำมาใช้อ้างโดยที่สถาบันไม่รู้ไม่เห็น มันเป็นความสะเทือนใจสำหรับประชาชนชาวไทยทุกคนเพราะคนไทยรักและเคารพสถาบัน มากกว่าสิ่งใด พวกเราต้องสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ เพราะคดีนี้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยที่มีมดปลวกอย่างพวกเราเป็นแพะคอยรับบาป"

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียประสงค์จะแสดงความกังวลต่อการตัดสินคดีและการจำคุกของบุคคลต่ออาชญากรรมของเสรีภาพในการแสดงออก อำพล (สงวนนามสกุล) ถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลาที่นานที่สุดที่เคยปรากฎสำหรับข้อหาการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 

จากหลักฐานที่อ่อนที่ใช้ตัดสินต่อจำเลย และสภาพขัดข้องของจำเลยเนื่องด้วยสุขภาพและอายุ กรณีนี้ได้แสดงให้เห็นชัดถึงศาลไทยที่เป็นที่ที่ไม่อาจหาความยุติธรรมหากแต่ความอยุติธรรมกลับงอกเงย เมื่อฆาตกรสามารถเดินจากไปอย่างเสรี เช่นเดียวกับกรณีการหายตัวของสมชาย นีละไพจิตร กรณีการตัดสินจำคุกชายอายุ 61 ปีจำนวน 20 ปี สำหรับการกระทำที่อ้างว่าส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ 4 ข้อความที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่าประเทศไทยมีวิกฤติการณ์ทางสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย เรียกร้องให้ทำการปล่อยตัวอำพลโดยทันที รวมถึงนักโทษคนอื่นๆ ที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียจะคอยจับตาคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นฯ และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิด และขอเรียกร้องให้ประชาชนที่ห่วงใยสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในประเทศไทยให้ทำเช่นนั้นด้วยเช่นกัน 

ที่มา: แปลจาก THAILAND: Twenty years in prison for four SMS messages

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

IMEI และอากงอำพล: หลักฐานที่ยืนยันความบริสุทธิ์ กลับถูกใช้ปรักปรำว่ามีความผิด

Posted: 24 Nov 2011 11:20 AM PST

 

เห็นหลายคนเอาไปแชร์ต่อ [กรณีอำพล หรือ 'อากง' ต้องโทษ 20 ปี - ประชาไท] แล้วมีบางคนต่อว่าทนายฝ่ายจำเลย เลยขอมาแก้ต่างแทนทนายฝ่ายจำเลยหน่อย 

1. เรื่อง Check Digit ทนายฝ่ายจำเลยมีการแจ้งต่อศาลแล้ว และศาลก็ยังลองไปคำนวน IMEI ของมือถือตัวเองด้วย (27 กันยายน 2554)

1.1 ทาง DTAC อ้างว่าตนใช้มาตรฐานการเก็บหมายเลข IMEI แบบก่อนปี 2003 คือ ส่ง Check digit เป็นค่า 0 แทนที่จะเป็นค่าจริง

1.2 ทาง TRUE พบว่า Check Digit ในระบบมีทั้งเลข 0 และ เลข 2 ซึ่งค่า Check Digit ควรจะเป็น 0 เท่านั้น ซึ่งก็ทำให้ไม่ทราบว่า TRUE ใช้มาตรฐานในการเก็บหมายเลข IMEI แบบไหนกันแน่

2. ประเด็นเรื่องที่ว่าการแก้ไข ปลอมแปลง IMEI ได้มีการแจ้งต่อศาลแล้ว ให้การโดย คุณ พูนสุข [ทนายจำเลย] วันที่ 30 กันยายน 2554 เวลา 10.10 น. อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้ไขเลขอีมี่นี้ ศาลไม่ได้ทำการบันทึก เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

2.1 IMEI ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ เนื่องจากหมายเลข IMEI นั้น ไม่ใช่ Unique Number มีมือถือหลายเครื่องที่มี IMEI ซ้ำกันได้ ทั้งซ้ำกันมาตั้งแต่โรงงาน และซ้ำกันเพราะมาแก้ไข IMEI เองในภายหลัง (http://www.techcular.com/checking-mobile-phone-imei-number-is-original-and-valid/) 

 

========

 

พอดีได้อ่านใน prachathai (http://prachatai.com/journal/2011/11/37991)

มีตอนนึงพูดถึงเรื่อง IMEI ครับ เมื่อผมไปตรวจสอบแล้วพบว่า คดีนี้หลักฐานชี้ชัดว่าอากงถูกใส่ร้ายชัดๆ แต่ศาลก็ตัดสินว่า อากงเป็นคนผิด

 

"สำหรับประเด็น สำคัญในคดีที่จำเลยตั้งประเด็นว่า หมายเลขอีมี่ หรือรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์อาจถูกปลอมแปลงได้นั้น จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ส่วนประเด็นที่ว่า เอกสารในสำนวนฟ้องที่หมายเลขอีมี่หลักที่ 15 ไม่ตรงกับหมายเลขอีมี่ในเครื่องโทรศัพท์ คือในเอกสารบางจุดแสดงว่าเป็นเลข 0 บางจุดแสดงว่าเป็นเลข 2 ขณะที่ในเครื่องโทรศัพท์จริงๆ เป็นเลข 6 ศาลวิเคราะห์ว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ ตาม ที่พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เบิกความและได้พิสูจน์ด้วยการใช้เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบเลขอีมี่แสดงให้เห็น ในศาลแล้วว่า เมื่อพิมพ์รหัส 14 หลักแรกตามด้วยรหัสสุดท้ายหมายเลข 6 จะปรากฏข้อมูลว่าเป็นเครื่องโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโรล่า ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับโทรศัพท์ของกลาง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเลข 0-5 และ 7-9 ทั้งที่ควรปรากฏว่าเป็นเครื่องรุ่นอื่น แต่จากการทดสอบในเว็บดังกล่าวกลับไม่ปรากฏว่าเป็นรุ่นใดเลย จึงยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่าหมายเลข 14 หลักแรกเท่านั้นที่ใช้ในการระบุตัว ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง"

 

เพราะเรื่องที่ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา อ้างว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญนั้น ไม่เป็นความจริง เรื่องนี้ทำให้รู้สึกว่า ถ้าไม่เป็นเพราะระบบตุลาการไทยตามเทคโนโลยีไม่ทัน ก็ใช้ช่องว่างเรื่องความไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีของจำเลยเพื่อปรักปรำผู้บริสุทธิ์ แต่จะเป็นกรณีใดก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน

 

ทำไมนะเหรอครับ?

หมายเลข IMEI มี 2 แบบ นั่นก็คือ IMEI (14 หลัก) และ IMEI/SV (16 หลัก)

ใน เลข IMEI แบบ 14 หลัก จะมีหลักที่ 15 เป็น optional ซึ่งทำหน้าที่เป็น Checksum โดยใช้ Luhn algorithm กลไกมันก็ง่ายๆ คือ เอา 14 หลักแรกมาบวกกัน โดยหลักคู่จะนำไปคูณ 2 ก่อน บวกได้เท่าไร ให้หาจำนวนที่ไปรวมกับเลขนั้น แล้วทำให้ผลรวมหารด้วย 10 ลงตัว เช่น 

ถ้า 14 หลักแรก รวมกันได้ 81 หลักที่ 15 ก็จะเป็นเลข 9

ถ้า 14 หลักแรก รวมกันได้ 45 หลักที่ 15 ก็จะเป็นเลข 5

เพราะ ฉะนั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่เลข 14 หลักแรกจะตรงกัน แต่หลักที่ 15 จะไม่ตรง ยกเว้นแต่ว่ามีการปลอม IMEI แล้วคนปลอมลืมแก้หลักที่ 15 ซึ่งเป็น Checksum ให้ตรงกับที่ควรจะเป็นด้วย

ว่าง่ายๆ คือ หลักฐานที่ทนายฝ่ายโจทย์อ้างขึ้นมาในชั้นศาล เรื่อง IMEI ตรงกันแค่ 14 หลักแรก ก็คือ หลักฐานที่บอกว่าอากงบริสุทธิ์นั่นเอง 

การที่โทรศัพท์ของกลางมีเลขหลักสุดท้ายเป็น 6 นั่นก็แสดงว่าตัวเลข 14 หลักแรกรวมกันได้ x4 หรือ xx4 เมื่อเป็นอย่างนี้ การกรอกข้อมูลลงในเวปที่ตรวจสอบ IMEI เมื่อใส่เลขหลักสุดท้ายเป็น เลขใดๆ ที่ไม่ใช่เลข 6 นั้น ระบบย่อมต้องไม่สามารถระบุโทรศัพท์ได้ เนื่องจากเมื่อระบบตรวจ Checksum โดยใช้ Luhn algorithm แล้วพบว่าหมายเลข IMEI ผิด นั่นหมายความว่า อาจจะมีข้อมูลผิดพลาดที่จุดใดจุดนึง หรือมากกว่า 1 จุด หรือ อาจจะเป็นหมายเลข IMEI ที่ถูกปลอมขึ้นก็ได้ โดยคนปลอมลืมคำนวน Checksum ใหม่ ซึ่งตามหลักแล้ว คงไม่มีโจรคนไหนปลอม IMEI ให้ชี้มาที่มือถือที่ตัวเองใช้หรอกครับ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า คนที่ส่งข้อความจริงๆ แล้วเป็นคนอื่น แต่ว่าค่า IMEI ที่ระบบบันทึกนั้นผิดพลาด (Data Corrupt) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงการติดต่อสื่อสาร หรือ การบันทึกก็ได้

 

ตัวอย่างของ Luhn Algorithm นะครับ เช่น ถ้า IMEI เป็น

 59115420323751

 

Luhn Algorithm จะ คูณ 2 เลขที่เป็นหลักคู่

5(18)1(2)5(8)2(0)3(4)3(14)5(2)

 

แล้วค่อยนำมารวมกันเป็น

5+1+8+1+2+5+8+2+0+3+4+3+1+4+5+2 = 54

 

เพื่อทำให้ 54 หารด้วย 10 ลงตัว ต้องเพิ่มไปอีก 6 เพื่อให้เป็น 54+6 = 60

เพราะฉะนั้น เลข IMEI 15 หลัก คือ 591154203237516

 

หากเลขหลักสุดท้ายเป็นเลขใดๆ ที่ไม่ใช่หมายเลข 6 นั่น เป็นเลข IMEI ที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่า Checksum ผิดซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะเรื่อง Checksum เนี่ย ถือเป็นความรู้พื้นฐานในวงการ IT เลยครับ แทบจะสอนกันในวิชา Introduction to Information Technology ด้วยซ้ำ

 


อ้างอิงจาก

 

http://en.wikipedia.org/wiki/International_Mobile_Equipment_Identity

http://en.wikipedia.org/wiki/Luhn_algorithm 

http://en.wikipedia.org/wiki/Checksum 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เดือนวาด พิมวนา: เขาถูกทำให้พิการในวัย 61 ปี

Posted: 24 Nov 2011 08:10 AM PST

                                    ตอนถือกำเนิดเขามีอาการครบ 32

                                    มิได้พิกลพิการทั้งร่างกายและอารมณ์

                                    เขามีความรักได้

                                    เขามีความเกลียดได้

                                    อย่างที่ปุถุชนคนหนึ่งพึงมีด้วยความเป็นมนุษย์

                                    ในปีพุทธศักราช 2554

                                    เขายังมีชีวิตอยู่จริง

                                    ขณะเรื่องราวในโลกเกิดขึ้นและสูญสลายเหลือคณานับ

                                    ในภาพขาวดำก่อนปี  2475

                                    ผู้คนในภาพตกตายไปมากกว่ามีชีวิตอยู่

                                    แต่จิตวิญญาณที่ไม่เป็นประชาธิปไตย,

                                    ยังคงดำรงตนข้ามกาลเวลา

                                    แสดงตนอย่างไม่อายในภาพสมจริงหลังปี  2475

                                    อำมหิตเพียงพอต่อการตามบดขยี้ปุถุชนคนเล็กๆ

                                    ผู้คนในภาพสมจริงตกตายไปมากแล้วด้วยสงคราม

                                    ผู้คนตกตายไปมากแล้วด้วยภัยธรรมชาติ

                                    ตายไปมากแล้วด้วยอาชญากร

                                    ตายไปมากแล้วด้วยอุบัติเหตุเหลือวิสัย

                                    โลกช่างอันตราย...สำหรับมนุษย์

                                    กระนั้น  ประเทศของข้าพเจ้ายิ่งอันตรายกว่า

                                    ประชาชนชราอายุ  61 ปี

                                    เขาถูกตัดสินแล้วว่าทำผิด

                                    ผิดที่มีอาการครบ  32

                                    ผิดที่มิได้พิกลพิการทั้งร่างกายและอารมณ์

                                    ผิดที่แสดงออกได้ทั้งความรักและความเกลียด

                                    เขาผิดมาแต่กำเนิด

                                    ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อเสนอเกี่ยวกับการวางท่าทีต่อกรณีของ 'อากง SMS' สำหรับคนที่รักในหลวงทุกคน

Posted: 24 Nov 2011 08:05 AM PST

ก่อนอื่น-ออกตัว
เพื่อน ๆ ที่รู้จักกันคงเข้าใจเกี่ยวกับจุดยืนของผมที่มีต่อ "ในหลวง" ของเราได้เป็นอย่างดี
>>> ใช่ครับ ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าผมเป็น Royalist (นิยมเจ้าฯ)

 สำหรับผม สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่เราคนไทยควรรักและเทิดทูนไว้เหนือสิ่งอื่นใด และประเทศไทยโชคดีมากที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐถึงเพียงนี้ และแม้ว่าจะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของอากง หรือได้ทำความเข้าใจกับมุมมองของฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม (พวกชอบหมิ่นฯ) ต่อกรณีนี้ หรือกรณีอื่น ๆ มามากแล้วก็ตาม  ความรู้สึกของผมที่มี จุดยืนของผมที่มี  ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด  (ยังคงมีน้ำเอ่อ ๆ ตรงเบ้าตาทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง)

ย้อนหลัง
สำหรับคนที่ยังไม่ได้รู้เรื่องราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับกรณีของ อากง SMS  สามารถสรุปได้สั้น ๆ คือเหตุการณ์นี้เป็นกรณีที่ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาจำคุกชายวัย 61 ซึ่งเป็น "อากง" ของหลาน ๆ จำนวน 4 คนเป็นระยะเวลา 20 ปีจากความผิดฐานส่งข้อความสั้น (SMS) ที่มีข้อความในลักษณะหมิ่นเบื้องสูง จำนวน 4 ข้อความ (ข้อความดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยในที่สาธารณะ) เรื่องราวของอากงสามารถดูเพิ่มเติมได้จาก Link ดังต่อไปนี้ 

http://blogazine.in.th/blogs/groomgrim/post/3310 
http://www.prachatai3.info/journal/2011/11/37991

จริง-ไม่จริง / ถูก-ผิด >>> อย่างไรกันแน่
คงจะเป็นเรื่องเกินระดับสติปัญญาของผมที่จะสามารถชี้ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงอย่างไร หรือว่าใครถูก ใครผิด ใครสมควรได้รับคำตำหนิในกรณีดังกล่าวอย่างไรกันแน่สำหรับตัวละครทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น "อากง ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทนาย หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ....." รวมถึงขอเพิ่มเติมในที่นี้ว่า ผมก็ไม่ได้อ่าน SMS ที่ว่าแต่อย่างใด และก็ไม่สนใจด้วยว่ามันเขียนว่าอะไร เพราะประเด็นที่ผมมองและเห็นว่ามีความสำคัญกว่าเรื่องดังกล่าวมากก็คือ

>>>> วิกฤต และ โอกาส ของสังคมไทยที่เกิดขึ้นตามมาจากกรณีของคดีนี้

หลักคิด
ต่อมุมมองที่เห็นทั้ง "วิกฤต" และ "โอกาส" ผมพยายามรวบรวมความคิดเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานที่เราควรยึดถือและนำมาเป็นกรอบในการคิดและกำหนดท่าทีที่เหมาะสม ดังนี้ (ซึ่งยังไม่ค่อยตกผลึกดีเท่าไหร่นัก)

1) ไม่ฆ่า-ไม่แกงกันดีที่สุด คงจะเป็นเรื่องน่าปวดใจทีเดียวถ้าเรื่องหมิ่นฯ สถาบันฯ จะกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราต้องลุกขึ้นมาฆ่า-แกงกัน  และคงเป็นเรื่องสะใจสำหรับฝ่ายที่ต้องการโจมตีสถาบันฯ ที่สามารถกล่าวอ้างได้ว่า สถาบันฯ เป็นชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเกลียดชังดังกล่าวขึ้นในสังคมไทย ดังนั้น พวกเราที่ต้องการปกป้องสถาบันต้องคิดกันให้ดีว่า การปกป้องจะสามารถทำอย่างไรที่ไม่เป็นการเติมเชื้อไฟของความขัดแย้ง เพราะยิ่งเราเอาเรื่องความจงรักภักดีมาเป็นประเด็นไล่บี้พวกเขา พวกเขาก็ยิ่งโหนกระแสกระพือความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้นอีก สุดท้ายสถาบันฯ ที่เรารักก็เป็นฝ่ายที่บอบช้ำเสียเอง การปกป้องสถาบันฯ ให้พ้นสถานะจากการเป็นคู่ขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ดีสุดที่เราควรจะทำเพื่่อธำรงรักษาสิ่งที่เรารักเอาไว้ในระยะยาวตลอดไป ดังนั้น ถึงเราจะอยากปกป้องและหยุดยั้งการจวบจ้วง การโจมตีที่มีต่อสถาบันฯ ที่เกิดขึ้นมากในเวลานี้ เราก็ต้องคำนึงถึง "วิธีการ" ที่รอบคอบ เหมาะสม และยั่งยืนด้วย ซึ่งหมายถึงการมองถึงเป้าหมายการอยู่ร่วมกันได้ของทุกคนในสังคมในระยะยาว

2) จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้อง "เลือกข้าง (take side)" สำหรับกรณีนี้ อยากให้ลองคิดดูนะครับ ถ้าเราสรุปลงไปดื้อๆ เลยว่า "ใครที่ออกมาแสดงความเห็นใจอากง สงสารอากง เป็นพวกโจมตีสถาบันฯ หรือพวกชอบหมิ่นฯ ส่วนถ้าใครมีจุดยืนที่อยากปกป้องสถาบันฯ ต้องไม่เห็นใจอากง ไม่สงสารอากง ต้องบอกว่ากระบวนการยุติธรรมถูกต้องแล้ว" ผมคิดว่าสังคมเราคงจะล้มเหลวมากในการแยกแยะเรื่องของการใช้จุดยืนทางการเมืองในการกำหนดท่าทีต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งอาการล้มเหลวดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั้ง 2 กลุ่มพอ ๆ กัน กล่าวคือ ฝ่ายปกป้องสถาบันฯ ก็สร้างกฏเกณฑ์ที่ตื้นเขินขึ้นมาใช้กำหนดกรอบหรือนิยามคำว่าการปกป้องสถาบันฯ ของพวกเขา เช่น ไม่เอาด้วยทุกประการ ต่อต้านในทุกกรณี ถล่มพวกจาบจ้วงให้จมธรณี ...  ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นเรื่องของการใช้ประเด็นสถาบันฯ เป็นบันไดเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองไปซะอย่างนั้น

ส่วนฝ่ายที่โจมตีสถาบันฯ ก็ผูกขาดความสงสารของอากง เอากรณีของอากงมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองของตัวเอง (เหมือนหลาย ๆ กรณีที่ผ่านมา) สร้างกระแสให้สังคมต้องเลือกข้าง (take side) ซึ่งสุดท้ายคนที่ซวยก็คืออากงและครอบครัว ส่วนพวกพี่ ๆ ทั้งหลายนั้นก็ตีกินฟรีไปสบาย สบาย

สุดท้ายการที่เราเอาจุดยืนทางการเมืองไป apply ใช้กับเรื่องต่าง ๆ อย่างไม่แยกแยะ ก็เป็นเรื่องที่โง่เขลาและสร้างความเจ็บปวดให้กับทุกคนในสังคมของเรา ดังนั้น ความคิดของผมก็คือ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนเราก็มีใจเอื้ออาทร เป็นเดือดเป็นร้อน ต่อชะตากรรมของอากงได้เหมือน ๆ กัน และเท่า ๆ กัน เพราะเหตุผลที่ดีก็คือ ยิ่งสังคมเราฉลาดและเรียนรู้ที่จะแยกแยะเรื่องต่าง ๆ ออกจากกันได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสามารถคาดหวังถึงความผาสุขของการอยู่ร่วมกันได้เร็วขึ้นเท่านั้น

3) ไม่ควรปล่อยให้เป็นพระราชภาระ ต่อคำถามที่ว่าแล้วสังคมเราสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้างในกรณีนี้ สิ่งที่ผมคิดออกก็คือสังคมเรา (โดยเฉพาะฝ่ายที่รักสถาบันฯ) ไม่ควรปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นพระราชภาระของพระองค์ท่าน หรือปล่อยให้สถาบันฯ เป็นฝ่ายที่ต้องรับแรงกดดันจากปัญหานี้แต่เพียงฝ่ายเดียว ที่ผ่านมาเราปล่อยให้เรื่องการประคับประคองสังคมให้อยู่ร่วมกันได้ต้องตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายสถาบันฯ มากเกินควร 

จริง ๆ แล้วสังคมเราอาจจะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจอยู่ค่อนข้างมาก เพราะจากที่ผมได้อ่านข้อมูลมาบ้าง การที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในกรณีหนึ่ง ๆ นั้น ควรจะต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง "ทำงาน" กลั่นกรอง เรียบเรียงข้อมูล สอบทาน และถวายความเห็น อย่างเหมาะสมมาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งผมเชื่อได้เลยว่าถ้าสังคมเรามีท่าทีอย่างถูกต้อง และเหมาะสม อย่างน้อยก็ช่วยลดแรงกดดันให้กับคนทำงานเหล่านั้นได้มากทีเดียว การแสดงความเห็นอกเห็นใจ การกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือเยียวยา (ถึงแม้ว่าจะมีความผิดจริงก็ตาม) การยั้งปากที่วิจารณ์หรือโจมตีเกี่ยวกับเรื่องความจงรักภักดี ก็เป็นสิ่งที่สวยงามที่เราสามารถสร้างร่วมกันได้ในเวลานี้

ประเด็นข้อเสนอ
จากที่เรียบเรียงมาข้างต้น ผมจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับทั้ง 2 ฝ่ายต่อกรณีของ "อากง" ดังต่อไปนี้

1) สำหรับฝ่ายปกป้องสถาบัน ขอให้พวกเราก้าวข้ามเงื่อนไขทางการเมืองและให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคนๆ หนึ่งที่มีตัวตนอยู่จริง มีชีวิตอยู่จริงๆ และเขาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมของเรา ช่วยกันระมัดระวังการใช้อคติกระโดดเข้าไปตัดสิน หรือไม่เอาสีไปป้ายหัวใครต่อใครที่จะเข้าไปยื่นมือช่วย ถ้าไม่นิ่งดูดายก็ระดมสรรพกำลังหลายทางมาช่วยกันดูแล เยียวยา และประคองครอบครัวนี้ ถ้าใครมีปัญญาช่วยกันคิดต่อยอดมาตรการช่วยเหลือที่ดีกว่านี้ขอให้ช่วยกันเลยครับ

2) สำหรับฝ่ายไม่ปกป้องสถาบัน ขอให้เปิดใจกว้างและก็ขอให้ตั้งธงหลักอยู่ที่การเร่งช่วยเหลือ "อากง" เป็นลำดับแรก ถ้าท่านไม่ผูกขาดความช่วยเหลือ ไม่หาประโยชน์ทางการเมืองจากกรณีดังกล่าว ท่านย่อมมีโอกาสที่ดีในการใช้กรณีศึกษานี้เสนอแนะต่อสังคมด้วยท่าทีที่เป็นกัลยาณมิตร และสร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมเราพัฒนาสูงขึ้นไปอีกขั้น

ข้อทิ้งท้าย
ช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วย "อากง" ได้ก็คือการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ (เฉพาะราย) แต่ประเด็นก็คือจากวิธีการกลั่นกรองฎีกาที่ปฏิบัติกันอยู่นั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลและถวายความเห็นขึ้นไปเป็นลำดับ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ถวายฎีกา คือตัวผู้ที่ประสบปัญหา หรือญาติมิตรที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น คนอื่น ๆ ก็ไม่ควรไปร่วมลงชื่อในฎีกาเพราะจะทำให้ต้องเสียเวลากลั่นกรองตรวจสอบรายชื่ออีกด้วย (เห็นได้จากตอนที่เสื้อแดงรวบรวมรายชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับทักกี้) แต่ควรส่งเป็นหนังสือแสดงความเข้าใจในสถานการณ์และแสดงท่าทีในการสนับสนุนการพระราชทานอภัยโทษด้วยความเคารพต่อความคิดเห็น (ไม่กดดัน) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี สำนักราชเลขาธิการ จะเป็นประโยชน์มากกว่า 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายสิทธิ และ สรส. วอนรัฐอย่าละเลยแรงงานข้ามชาติ

Posted: 24 Nov 2011 07:56 AM PST

24 พฤศจิกายน 2554 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ออกแถลงการณ์ร่วม ระบุถึงสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลต่อแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่มีเอกสารประจำตัว เนื่องจากชำรุดหรือสูญหายไปกับสายน้ำ ต้องทนอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่จดทะเบียนได้ ถูกนายจ้างเลิกจ้างและต้องเดินทางกลับประเทศพม่า นอกจากนี้เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย แรงงานที่เดินทางกลับมาทำงานยังต้องถูกขบวนการค้ามนุษย์เอาเปรียบซ้ำอีก

แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและพม่าอำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานจากประเทศพม่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เร่งดำเนินการออกเอกสารประจำตัวให้กับแรงงานข้ามชาติ ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย หามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัย โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ ดังนี้

 0 0 0

รัฐบาลไทยและพม่าควรนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องกฎหมาย
เพื่อแก้ไขผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์อุทกภัย

จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยหลายแสนคน แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากไม่มีเอกสารประจำตัวเนื่องจาก เอกสารได้ชำรุด/สูญหายไปกับน้ำ หรือถูกนายจ้างยึดเอกสาร ต้องทนอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่จดทะเบียนได้ ถูกนายจ้างเลิกจ้างและต้องเดินทางกลับประเทศพม่า และจากการติดตามการรายงานข่าวจากสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศเป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย กล่าวคือ “ รัฐบาลไทยปล่อยลอยแพแรงงานข้ามชาติทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากต้องเดินทางกลับประเทศ และปล่อยให้แรงงานข้ามชาติถูกเอาเปรียบจากขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์” ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศและที่สำคัญประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่ต้องจับตามองเรื่องการค้ามนุษย์ และเมื่อสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายมีแรงงานชาวพม่าจำนวนมากกำลังเดินทางกลับมายังประเทศไทย และจากการติดตามสถานการณ์ มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเหมือนกับที่แรงงานเหล่านั้นเดินทางกลับประเทศ คือ มีขบวนการนายหน้าเข้ามาเกี่ยวข้อง จากสภาพปัญหาดังกล่าว สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ มีข้อเสนอต่อภาครัฐในการจัดการ ดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลไทยและพม่าควรอำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานจากประเทศพม่าเพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
จากนโยบายของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่จะให้มีการนำเข้าแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายและความต้องการแรงงานของประเทศไทยในการฟื้นฟูประเทศหลังจากสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย อีกทั้งมีแรงงานข้ามชาติที่ได้จดทะเบียนได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยนับแสนคนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและต้องเดินทางกลับประเทศพม่า รัฐบาลทั้งสองประเทศควรเร่งดำเนินการการนำเข้าแรงงานจากประเทศพม่าเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องเพื่อรองรับต่อสถานการณ์ดังกล่าว

2. รัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินการออกเอกสารประจำตัวให้กับแรงงานข้ามชาติทุกคน 
แรงงานข้ามชาติที่ได้ขึ้นทะเบียนได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานฉบับตัวจริง ทำให้เกิดปัญหาในกรณีที่ถูกตรวจสอบเอกสารและเอกสารชำรุดเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมที่เอกสารชำรุดเสียหาย ทำให้ไม่สามารถแสดงเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ได้

3. รัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย
แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยซึ่งไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตจังหวัดที่จดทะเบียน ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่น้ำท่วมหรือเดินทางกลับประเทศพม่าได้

4. หามาตรการและเร่งดำเนินการเยียวยาให้กับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัย
แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติที่ได้ทำสัญญาจ้างงานกับนายจ้าง ไม่ได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากนายจ้างหลังจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งเป็นส่วนที่สำคัญที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในสัญญาจ้างงาน รัฐบาลไทยควรเร่งหามาตรการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาแรงงานข้ามชาติทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

และด้วยความคาดหวังว่าข้อเสนอดังกล่าวรัฐบาลจะรับไปพิจารณาอันจะเกิดผลดีต่อประเทศชาติในสายตาชาวโลก และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศที่มีแรงงานของประเทศนั้น ๆ มาทำงานในประเทศไทย เป็นผลดีต่อรัฐบาลเองและต่อแรงงานข้ามชาติรวมทั้งประชาชนทั่วไปในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในอนาคต

ด้วยความสมานฉันท์
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: วัฒนธรรมการโหลดบิทแบบ ‘DISCOGRAPHY’

Posted: 24 Nov 2011 07:51 AM PST

Gold Discography

การเกิดมาเป็นคนร่วมยุคดิจิตอลนี่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สะดวกสบายเป็นที่สุด ซึ่งรวมไปถึงการดูหนังฟังเพลงที่อยากจะฟังอะไรก็ได้ฟัง อยากจะดูก็ได้ดู เพียงแต่รู้ช่องทางนิดหน่อยเราก็จะได้เสพผลงานเหล่านั้นแบบสบาย ๆ ซึ่งต่างจากยุคสมัยที่โลกแห่งอะนาล็อกยังทรงอิทธิพลบนโลกใบนี้ สมัยนั้นอยากจะดูหนังฟังเพลงอะไรมันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน

คนอายุ 30 ปีขึ้นไปคงรู้ซึ้งกันดีว่ากว่าจะได้ฟังผลงานเพลงของศิลปินที่ตนเองอยากฟังนั้นมันมิใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะต้องเดาใจกันว่าค่ายเพลงจะนำผลงานเข้ามาขายหรือเปล่า แถมถ้าเอาเข้ามาขายแล้วแผงเทปแถวบ้านเราจะมีขายไหมหนอ หลาย ๆ ครั้งก็ต้องพึ่งพาเทปผีที่คนผลิตบรรจงอัดเทปม้วนต่อม้วนมาขายให้เรา ใครที่เคยซื้อเทปผีพีค๊อกซ์ต่างล้วนมีประสบการณ์ เช่น เพลงไม่ตรงกับอัลบั้มบ้าง เพลงไม่ครบบ้าง เอาเพลงคนอื่นมาใส่มั่วบ้าง ศิลปินผิดคนบ้าง ฯลฯ ให้ได้ชอกช้ำระกำใจ (แต่ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่หลายคนยังถวิลหา)

นอกจากเรื่องจะหาซื้อที่ไหน หาซื้อได้อย่างไร สิ่งสำคัญที่ลุ้นไม่แพ้กันในโลกยุคอะนาล๊อกคือ แผงเทปน้อยร้านที่จะใจใหญ่กล้ากรีดพลาสติกเพื่อเอาเทปด้านในมาให้เราฟังก่อน ดังนั้นการซื้อเทปจึงเหมือนเป็นการเสี่ยงดวงพอควรเพราะเราแทบไม่รู้ว่าเพลงข้างไหนเป็นอย่างไร อย่างมากก็อาศัยข้อมูลจากหนังสือเพลงจำพวก Crossroad, Music Express, GT ฯลฯ อ่านรีวิวที่เขาว่าไว้ อันไหนถูกนักวิจารณ์ให้ดาวเยอะ ๆ ก็ลองซื้อกันไป ตอนมานั่งฟังนี่ก็ต้องลุ้นว่าจะเป็นอย่างที่นักวิจารณ์เขาว่ากันไว้หรือเปล่า

แต่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิตอล ทั้งความเร็วของอินเตอร์เนตที่เพิ่มสูงขึ้นชนิดกด enter ปุ๊บ หน้าเพจโผล่ปั๊บเอย ไหนจะพื้นที่ในการเก็บข้อมูลของฮาร์ดดิสค์คอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นชนิดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วนึกไม่ถึง (ลองนึกแผ่นดิสเกทท์ 1.44 MB ที่เป็นที่พึ่งทางใจสมัยก่อน) รวมถึงโปรแกรมต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสอดรับกับความต้องการของประชาคมชาวไซเบอร์ และหนึ่งในโปรแกรมนั้นคือ บิท ทอร์เรนท์ (Bit Torrent)

ผู้อ่านหลายคนคงคุ้นกับโปรแกรมนี้ดี ลักษณะโปรแกรมนี้เรียกรวมว่าเป็นโปรแกรม Peer to Peer แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เช่น ผมมีไฟล์จำนวนหนึ่งอยู่ในเครื่องแล้วอยากเผยแพร่ ก็เลยจัดการเซ็ทผ่านทอร์เรนท์ให้คนอื่นเข้ามาโหลดไฟล์ในเครื่องผมได้ และผมก็โหลดจากเครื่องเขาได้เช่นกัน คราวนี้ก็มันส์กันเลย เพราะบรรดาคนทั่วโลกที่ลิงค์เชื่อมต่อกันคงต้องมีใครสักคนแหละที่มีผลงานเพลงหรือหนังที่เราอยากได้ (แต่หาซื้อไม่ได้) แถมยังฟรีอีกต่างหาก ขอเพียงมีอินเตอร์เนตที่มีความเร็วและเวลาในการรอคอย เราก็จะได้เพลงเหล่านั้นมาครอบครอง โอ้ว! ช่างยอดเยี่ยมเสียจริง ๆ

ด้วยความที่มันฟรี คนจำนวนมากเลยให้ไปโหลดเพลงโหลดหนังจากบิทกันเป็นเรื่องประจำ ไม่ซื้อหาของแท้กันแล้ว บรรดาค่ายเพลงก็โอดครวญว่ายอดขายซีดีลด เลยกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในเชิง Political Correctness พอสมควร (ประเด็นนี้ค่อยว่ากันในครั้งต่อ ๆ ไปเพราะมีนักวิชาการด้านนี้หลายคนที่แย้ง เรื่องนี้ต้องว่ากันอีกยาว)

สิ่งที่คนโหลดบิทโดยเฉพาะพวกชอบโหลดเพลงส่วนใหญ่ต่างตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้เห็นคือ จำนวนคนปล่อยไฟล์ (ยิ่งคนปล่อยเยอะยิ่งเร็ว) และรายชื่อไฟล์ต่าง ๆ หากค้นพบว่ามีไฟล์เพลงจำนวน Discography หรือการรวบรวมผลงานทั้งหมดของศิลปินนี่ตาลุกวาวกันทุกคน ชาวบิททั้งหลายจะรีบลงมือกดดาวน์โหลดทันทีแม้ว่าไฟล์เหล่านั้นรวมกันจะมีขนาดใหญ่เพียงใดก็ตาม พร้อมกับเฝ้าเพียรนั่งดูและนับถอยหลังให้กับการสิ้นสุดการดาวน์โหลด ยิ่งใกล้เสร็จเท่าไรหัวใจยิ่งเต้นแรงและพองโตเพราะเราจะได้ฟังผลงานเพลงทุกเพลงของศิลปินที่ชอบ ไหนจะ Pink Floyd ทุกชุด The Beatles ไล่มาตั้งแต่สมัยหน้าใสยัน จอห์น เลนนอนเคราดกยาวจนมองไม่เห็นปาก หรือจะใหม่ ๆ อย่าง Radiohead ที่ชุดแรกกับชุดล่าสุดต่างกันราวฟ้ากับเหว น่าปลาบปลื้มใจยิ่งนักที่ทุกอัลบั้มมหากาพย์ของพวกเขาเหล่านี้ได้อยู่ในเครื่องเราหมดแล้ว ดีใจ ๆ

น่าสนใจที่ว่าชาวโหลดบิททั้งหลายโดยเฉพาะพวกคอเพลงมักเลือกที่จะดาวน์โหลดผลงานเพลงของศิลปินที่เป็น Discography มากกว่าดาวน์โหลดเป็นอัลบั้มหรือเฉพาะเพลง คำตอบที่มักได้รับว่าทำไมคือ โหลดไว้เพื่อการศึกษา เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของวงดนตรีวงหนึ่ง ๆ ว่าในยุคแรกกับยุคหลังแนวดนตรีต่างกันมากน้อยเพียงใด บ้างก็ว่าลองโหลดมาฟังเป็นตัวอย่าง ถ้าชอบก็จะรอซื้อเป็นบ๊อกซ์เซ็ท (คนตอบแบบนี้ได้ต้องฐานะดีหน่อย) ผมเองไม่แน่ใจว่าคนที่ชอบโหลดยกชุดแบบนี้จะโตมาในยุคทศวรรษที่ 80 หรือเปล่า แต่ถ้าเอาเฉพาะตัวเอง ผมบอกเลยว่าใช่! สมัยเด็ก ๆ อยากจะฟังชุดนั้นชุดนี้แล้วมันไม่มีโอกาส พอมันมีให้โหลดให้ฟังก็เลยจัดหนักมาให้ครบเสียเลย ยิ่งพอลองคิดเป็นจำนวนเงิน (ซีดีแผ่นหนึ่ง ๆ ราคาประมาณ 400 – 500 บาท โหลดมาทุกชุด สมมติเป็น Radiohead มี Studio Album 8 ชุด ตก ๆ ประมาณ 4,000 บาท) คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม ดังนั้นมีเท่าไหร่โหลดให้หมด

ทว่าการฟังเพลงของศิลปินให้หมดให้ครบทุกชุดเป็นงานที่ท้าทายและไม่แน่ใจว่าจะมีสักกี่เปอร์เซนต์ของมนุษยชาติที่จะทำได้สำเร็จโดยเฉพาะกับศิลปินที่เราไม่ได้มักคุ้นมากนักหรือพึ่งลองเริ่มฟัง เนื่องด้วยเวลาในการดำรงชีวิตแบบทุนนิยมมันก็บีบรัดให้ทำการทำงานอย่างอื่นด้วย หากลองนับเวลาดูจริง ๆ ในชีวิตประจำวันเราใช้เวลาฟังเพลงกันสักกี่มากน้อย อย่างมากก็อาจจะช่วงเวลาเดินทาง (คนกรุงเทพฯ อาจจะได้เปรียบพอควรเพราะต้องใช้ชีวิตอยู่กลางถนนนานกว่าเพื่อน) ถ้าไม่นับประเภทเปิดวิทยุไว้เป็นเพื่อน ผมว่าเราเปิดเพลงแบบตั้งใจฟังกันไม่เคยคนละชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่จะฟังผลงานเพลงที่โหลดมาจึงมีน้อย และผมเชื่อว่าเราก็มักจะฟังเพลงหรืออัลบั้มที่เราคุ้นเคยเป็นประจำเสียมากกว่า ไม่น่าแปลกใจที่มีอัลบั้มมากมายที่ผมโหลด Discography มาแล้วไม่เคยถูกแตะต้องหรือกดฟังเลยสักครั้งเดียว

พูดกันตรง ๆ การโหลดบิทมาทั้ง Discography นี่เป็นพฤติกรรมที่ ‘ไม่เพียงพอ’ มาก ๆ เป็นการสะท้อนลักษณะของมนุษย์ยุคสมัยใหม่ที่ถูกกระตุ้นเร้าความอยากให้เกินพอดีอยู่เสมอ ยิ่งมันฟรียิ่งตั้งหน้าตั้งหน้าเก็บสะสมโดยไม่สนใจว่าแท้ที่จริงแล้วเราอยากได้อยากฟังจริงหรือเปล่า เราอยากศึกษาผลงานเพลงตามที่อ้างจริงหรือเปล่า ซึ่งผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าปรากฎการณ์นี้มันสะท้อนว่าเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมคนก็เลยเปลี่ยนตาม หรือคนเราป็นแบบนี้อยู่แล้ว เทคโนโลยีแค่มาสนับสนุนเท่านั้น

ว่าแต่คุณผู้อ่านฟังเพลงที่โหลดมาไว้ในฮาร์ดดิคส์หมดหรือยังครับ

I probably have more HDDs than you!

หมายเหตุ

  • บทความนี้เขียนเพื่อให้เห็นพฤติกรรมของคนที่ใช้บิททอร์เรนท์ มิได้สนับสนุนให้คนละเมิดลิขสิทธิ์นะครับ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนนท. แถลงกรณี 'อากง' ชี้รัฐควรยกเลิกมาตรา 112

Posted: 24 Nov 2011 05:08 AM PST

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ออกแถลงการณ์เนื่องในกรณีการตัดสินคดี 'อากง' ส่ง SMS ชี้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เป็นประชาธิปไตย แนะควรแก้ไขหรือยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าว

สืบเนื่องจากกรณีการตัดสินคดีของอำพล (สงวนนามสกุล) ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเนื่องในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงได้ออกแถลงการณ์ว่าด้วยกรณีดังกล่าว โดยชี้ว่าการตัดสินดังกล่าวมีปัญหา เนื่องจากมีความคลุมเครือในการใช้พยานหลักฐาน ประกอบกับความไม่เป็นประชาธิปไตยของตัวบทกฎหมายของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีหลักพิจารณาและมีโทษสูงเกินความจำเป็น สนนท. จึงได้เรียกร้องให้ทำการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวด้วย

แถลงการณ์การตัดสินคดี ลุง sms มีความผิดหมิ่นสถาบันฯ จำคุก 20 ปี

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ศาลเทเลคอนเฟอร์เรนซ์อ่านคำพิพากษานายอำพล(สงวนนามสกุล) หรืออากงฐานส่งข้อความทางโทรศัพท์หรือ SMS อันอาจเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทั้งหมด 4 ครั้ง ผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และ (3) ลงโทษกรรมละ 5 ปีรวมจำคุก 20 ปี

ซึ่งการตัดสินคดีดังกล่าวมีปัญหา 2 ประเด็น โดยในประเด็นแรกคือปัญหาในด้านการตัดสินของศาลและประเด็นสำคัญคือปัญหาของประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 โดยจะอธิบายอย่างชัดเจนดังต่อไปนี้

  1. ปัญหาในด้านการตัดสินของศาลที่มีความไม่ชัดเจนและยังคงคลุมเครือ ดั่งสำนวนส่วนหนึ่งในคำพิพากษาคดีที่ว่า "..แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน.." จากส่วนสำนวนคำตัดสินคดีข้างต้นดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแม้แต่ศาลยังยอมรับเองว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งทุกคนล้วนรู้ดีว่าหลักพื้นฐานคดีอาญาคือการพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ถ้าทำไม่ได้ต้องยกให้เป็นประโยชน์ของจำเลย แต่สิ่งที่ศาลได้กระทำคือการตัดสินคดีที่ไร้หลักฐานที่เพียงพอ เพียงเพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือการจับขังนายอำพล แม้วิธีการจะไร้ซึ่งความชอบธรรมก็ตาม
  2. ส่วนปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นตัวบทกฎหมายที่ใช้อ้างอิงสาระสำคัญหลักในคดีนี้จะพบว่าผิดทั้งที่มาและความชอบธรรม ด้วยด้านที่มากฏหมายมาตราดังกล่าวมิได้มีความยึดโยงกับประชาชนของรัฐแม้แต่น้อยซึ่งผิดตามหลักนิติรัฐ-นิติธรรมดั่งอารยประเทศที่มีที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับมีฐานที่มาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการรัฐประหารทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ส่วนในด้านความชอบธรรมกฏหมายสองฉบับดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อปิดปากผู้ที่คิดแตกต่างจากรัฐเท่านั้นซึ่งผิดตามหลักสิทธิเสรีภาพพลเมืองเท่าที่ควร

การวิจารณ์เป็นส่วนหนึ่งของหลักสิทธิเสรีภาพซึ่งตั้งอยู่บนหลักของประชาธิปไตย ซึ่งการวิจารณ์ดังกล่าวต้องตั้งอยู่โดยเจตนาสุจริต มิได้เป็นการโจมตีหรือใช้ความเท็จทำให้เสื่อมเสียย่อมไม่สมควรโดนตั้งข้อหาเหมือนอาชญากร แต่หากการวิจารณ์นั้นทำไปโดยการจงใจให้เสื่อมเสียโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จ ก็สมควรได้รับโทษตามแบบโทษหมิ่นประมาททั่วไปไม่ใช่โทษอาชญากรเช่นเดียวกับโทษของประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ส่วนในด้านโทษของคดีดังกล่าวถือได้ว่าร้ายแรงเทียบเท่ากับคดีฆาตกรรมก็ว่าได้ เนื่องด้วยโทษจำคุกมากถึง 20 ปี ถือกันว่าเอากันตายเลยทีเดียว และเพียงการส่งข้อความทางโทรศัพท์หรือ sms ดังกล่าว ใครอาจส่งก็ได้ เช่น เพื่อน พ่อแม่และคนอื่นๆ ดังนั้นแล้วความชัดเจนของการตัดสินที่ยังคงคลุมเครือ

จากการตัดสินคดีดังกล่าว เราในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขอคัดค้านและขอประนามการกระทำดังกล่าวที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและหลักนิติรัฐ-นิติธรรม และมีข้อเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดังต่อไปนี้

  1. ควรมีการพิจารณาตัดสินคดีที่มีความชัดเจนและไร้คลุมเครือ เช่น หลักฐานที่ใช้ประกอบคำตัดสิน เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีต่อไป เพราะจากคดีดังกล่าวที่มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครืออันจะนำไปสู่บรรทัดฐานที่ผิดในทางตุลาการไทย
  2. จากโทษที่ใช้ในการตัดสินดังกล่าวเปรียบเสมือนดคีฆาตกรรมซึ่งมีความร้ายแรง ปรากฎจากศาลสั่งจำคุก 20 ปี ซึ่งเปรียบได้กับอีกครึ่งชีวิตที่ควรอยู่ ดังนั้นควรพิจารณาตัวบทกฏหมายใหม่และลดโทษในกฏหมายอื่นๆเพื่อเป็นแบบอย่างของประเทศที่เจริญในด้านการตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความศิวิไลซ์ของรัฐ
  3. ควรยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งด้านที่มา ความชอบธรรม และการนำไปใช้ เพราะสามารถถูกนำไปใช้ทุกสถานการณ์ สามารถนำไปใช้กับศัตรูได้และการอ้างที่สามารถฟ้องโดยใครก็ได้ ทั้งที่หลักฐานประจักษ์พยานไม่เพียงพอก็สามารถฟ้องได้ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้จากวงการตุลาการไทยเลยแม้แต่น้อย

จากแถลงการณ์และข้อเสนอดังกล่าวจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคงตระหนักถึงความไม่สมบูรณ์ของวงการตุลาการซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และขอเป็นกำลังใจให้นายอำพลยืนหยัดสู้ต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
24 พฤศจิกายน 2554

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'อนุดิษฐ์' โต้ 'มัลลิกา' ยัน 'ณัฐวุฒิ ด้วงนิล' ไม่มีตำแหน่งในกระทรวง

Posted: 24 Nov 2011 02:30 AM PST

 'อนุดิษฐ์' โต้ 'มัลลิกา' รองโฆษก ปชป. ยัน ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ชี้ 'ณัฐวุฒิ ด้วงนิล' ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ ไม่มีตำแหน่งในกระทรวง แนะ 'อภิสิทธิ์' ปรามลูกพรรคอย่าหมิ่นเบื้องสูงเสียเอง
 
24 พ.ย. 54 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ กระทรวงไอซีที กล่าวตอบโต้กรณีที่รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมากล่าวหาว่า ตนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินคดีผู้หมิ่นสถาบันเว็บไซต์ว่า กรณีการกระทำผิดของ นายณัฐวุฒิ ด้วงนิล ได้เป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2552-2553 แต่ขณะนั้นตนยังไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งหากจะมีการดำเนินการเอาผิดจริง คงจะต้องดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งในสมัยนั้น แต่อย่างไรก็ตามยืนยันว่า นายณัฐวุฒิ นั้น ไม่ได้เข้ามารับทำงานในตำแหน่งใดๆ ของทางกระทรวงไอซีทีอย่างที่ถูกกล่าวหาซึ่งในเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเร่งศึกษากรณีดังกล่าว หากเข้าข่ายหมิ่นประมาทก็จะดำเนินการในทันที 
 
นอกจากนี้ การออกมาแถลงข่าวของ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กลับมีข้อความที่ไม่บังควร นำมาเผยทางเว็บไซต์ของทางพรรค ในส่วนข้อความกล่าวถึงฉายาของ นายณัฐวุฒิ นั้น จึงอยากฝากไปยังหัวหน้าพรรค ให้เร่งตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และทางกระทรวงไอซีที หากตรวจสอบพบว่า มีความผิดที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด
 
อนึ่งเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมาเว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่าน.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์  แถลงถึงปัญหาการเผยแพร่เว็บไซต์หมิ่นสถาบันในโซเชียลเน็ตเวิร์คในขณะนี้ว่า ในฐานะที่ตนเป็นอดีตที่ปรึกษารมว.ไอซีที  ได้ตรวจสอบข้อมูลและติดตามเรื่องหมิ่นสถาบันมาตลอด 3 เดือนกว่าตั้งแต่ต้นเดือนส.ค.-พ.ย. พบว่ามีคลิปหมิ่นสถาบันโผล่ในยูทูปหรือเว็บไซต์ต่างๆ มากกว่า 400 คลิป เรียกว่าทำกันอย่างโจ่งแจ้ง เหิมเกริม แพร่พันธ์ขยายเผ่า ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เห็นแล้วต้องร้องไห้มากกว่าเหตุการณ์อื่น 
 
เพราะวิธีการที่นายศิริโชค ระบุว่า เมื่อถูกไวรัสมัลแวร์ไปแล้ว คนที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นก็จะถูกดึงไฟล์ของเพื่อน ที่มีในบัญชีทั้งหมดส่งต่อขยายไปในกลุ่มเพื่อนอีก ดังนั้น ลิ้งค์ต่าง ๆ ที่ได้จากการที่ตนเปิดรับข้อมูลเพียงแค่ 2 วันสามารถรวบรวมลิ้งค์ต่าง ๆ ได้มากกว่า 200 ลิ้งค์ ยังไม่นับรวมคลิปอีก 400 กว่าลิ้งค์ที่มีตั้งแต่เดือนส.ค.-พ.ย. สำหรับการรวบรวมลิ้งค์เว็บไซต์หมิ่นสถาบันนั้น ตนจะมอบต่อให้นายกฯ และน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงาน เพื่อที่จะนำเรื่องดังกล่าวส่งฟ้องศาล 
 
น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า ที่ผ่านมาในสมัยพรรคประชาธปัตย์เป็นรัฐบาล นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีทีขณะนั้น เคยประสานกับทางศาลและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งท่านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยระบุว่ากรณีนี้ศาลจะรีบดำเนินการให้ทันที ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ทำการปราบปรามและเข้มงวดกับเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน ซึ่งมีทั้งการจับกุม รวมทั้งบันทึกถ้อยคำ ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยุติการกระทำดังกล่าว
 
“แต่เมื่อถึงรัฐบาลนี้รมว.ไอซีทียังไม่เคยทำอะไรเลยแม้กระทั่งส่งเรื่องถึงศาล  ยิ่งคนที่เราเคยจับได้ปัจจุบันก็กลับมาฟื้นคืนชีพ กระทำการดังกล่าวใหม่ เช่น นายณัฐวุมิ ด้วงนิล หรือฉายาในโลกไซเบอร์คือ มหาบอดข้างซ้าย ซึ่งเป็นมือโพสต์ตัวหลักของเครือข่ายต่อต้านสถาบัน และเป็นนักเคลื่อนไหวในกลุ่มนปช. ที่เคยถูกเจ้าพนักงานคอมพิวเตอร์บุกจับกุมถึงที่พัก และได้ทำบันทึกปากคำไว้ โดยนายณัฐวุฒิรับปากจะยุติการกระทำดังกล่าว แต่กลับพบว่าได้กลับมาเคลื่อนไหวอีก”  รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์  กล่าว
          
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์  แถลงข่าวถึงตรงนี้ ก็ได้นำภาพถ่ายคาดหน้าของนายณัฐวุฒิ ขณะที่ถูกจับกุมจากคดีถ่ายภาพในฐานะผู้ต้องหามาโชว์ให้ผู้สื่อข่าวดู  พร้อมกับระบุว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับคนที่ยืนข้างน.อ.อนุดิษฐ์จริงหรือไม่  ซึ่งปัจจุบันทราบว่านายณัฐวุฒิสวมสูทผูกไท้มาดำรงตำแหน่ง เป็นที่ปรึกษารมว.ไอซีที ในฐานะคณะทำงานของรัฐมนตรี จนเป็นที่มึนงงของข้าราขการกระทรวงไอซีที
 
“ก็ไม่ต้องหาคำตอบที่ไหนในเมื่อตัวพ่อเดินตามหลังรัฐมนตรี  จึงถึงบางอ้อว่าทำไมเว็บไซต์หมิ่น และคลิปหมิ่นสถาบันถึงออกมามากมายขนาดนี้ โดยที่กระทรวงไอซีทีไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว ทั้งนี้ ได้หารือกับผู้ใหญ่ในพรรคแล้ว ว่าจะมีการทำงานคู่ขนานกับกระทรวงไอซีที เมื่อกระทรวงไม่สามารถเป็นที่พึ่งและไม่ทำหน้าที่ ในการต่อต้านหรือปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันได้  จึงได้มีการตั้งชมรมผู้รักสถาบันขึ้น ในนามชมรมนักรบไซเบอร์ โดยจะรวบรวมคนทุกสาขาอาชีพที่มีเวลานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำการติดตามไล่ล่าและรวบรวมเว็บไชต์ คลิปหมิ่นสถาบัน รวมทั้งเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ยาเสพติด การพนัน และลามก โดยจะรวบรวมยูแอลอาร์ทั้งหมดให้รมว.ไอซีที เพื่อลงนามส่งดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรมต่อไป” น.ส.มัลลิกา กล่าว
 
น.ส.มัลลิกา กล่าวอีกว่า ขอเตือนพี่น้องประชาชนว่า หากเข้าเฟสบุ๊คหรือเข้าอินเตอร์เน็ตแล้วพบเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน ลิ้งค์ หรือคลิปต่าง ๆ ขอให้แจ้งไปได้ที่ www.mict.go.th หรือสายด่วน 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางกระทรวงไอซีทีจะมีเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ของกระทรวงทำการรวบรวมและจะตามต้นตอเพื่อทำการปิดเว็บไซต์ หรือหากแจ้งแล้วยังไม่ได้เรื่อง ก็ให้ส่งมาได้ที่ FifhtBadWeb@gmail.com ซึ่งเป็นชมรมนักรบไซเบอร์ เพื่อรวบรวมลิ้งค์ตาง ๆ ทั้งหมดโดยจะเก็บเป็นความลับรวบรวมส่งต่อให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการต่อไป และขอเตือนประชาชนว่าหากได้รับลิ้งค์ หรือคลิปผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวอย่ากดแสดงความเห็นต่างๆ เพราะจะถูกแฮกเกอร์ ดูดข้อมูลและไฟล์รูปส่วนตัวเพื่อนำไปสร้างบัญชีใหม่และโพสต์ข้อความหมิ่นโดยใช้รูปของท่าน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: อัด ‘กรมชลฯ’ อำพรางข้อมูล ‘โครงการผันน้ำอีสาน’

Posted: 24 Nov 2011 01:38 AM PST

ชาวบ้านจวกกรมชลจัดเวทีประชาคมเลย-อุดรธานี นำข้อมูลทำ EIA-SEA โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล พูดแต่เรื่องชดเชยความเสียหาย เลี่ยงชี้แจงผลกระทบของโครงการใหญ่
 
 
วานนี้ (23 พ.ย.54) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมือง จ.เลย มีการจัดเวทีการประชุมระดับชุมชนและประชาคม ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) ภายใต้ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงน้ำถ่วง ภาคตะวันออกเฉียง ซึ่งกรมชลประทานได้ว่าจ้าง บริษัทปัญญาคอลซัลแตนท์ จำกัด บริษัทครีเอทีฟเทคโนโลยี จำกัด บริษัท เอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เซ้าอีสเอเชียเทคโนโลยี จำกัด ให้ดำเนินการจัดเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
 
 
 
นายทรงศักดิ์  เสาวัง ผู้อำนวยการกลุ่มการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เวทีในครั้งนี้จัดขึ้นมาเพื่อที่จะมาฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการที่จะดำเนินการโขงเลยชีมูล ว่ามีความคิดเห็นต่อโครงการอย่างไรบ้าง ซึ่งขอเน้นย้ำว่าขั้นตอนของโครงการนั้น อยู่ในขั้นตอนของการศึกษา เพื่อพยายามจะหาทางเลือกที่หลากหลายของการทำโครงการ ซึ่งถ้าหากได้ทำขึ้นมาจริงๆ โครงการก็จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในภาคอีสานเป็นอย่างมาก
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของเวทีในครั้งนี้ เริ่มด้วยวิทยากรผู้ชำนาญการด้านเทคนิควิศวกรได้นำเสนอรูปแบบ และลักษณะของ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง จากนั้นจึงนำเสนอผลประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ตลอดจนแนวทางจัดการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้ทำการซักถามแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการ เพื่อนำไปประกอบเป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณาโครงการในลำดับถัดไป
 
 
นายกัญ วงศ์อาจ ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.เชียงคาน จ.เลย แสดงความคิดเห็นภายในเวทีในครั้งนี้ว่า การชี้แจงถึงรายละเอียดของโครงการยังไม่ชัดเจน พยายามที่จะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงผลกระทบของโครงการ
 
“สิ่งที่สังเกตได้ชัดในเวทีในวันนี้คือ กรมชลหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงเขื่อนเชียงคานที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ซึ่งถ้าหากสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะดันน้ำโขงให้สูงขึ้นเพื่อผันน้ำที่ปากน้ำเลยนั้น สิ่งที่ตามมาจะเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก หมู่บ้านท้ายน้ำจะถูกน้ำท่วม ระบบนิเวศถูกทำลาย แต่กลับไม่มีการชี้แจงข้อมูลในส่วนนี้ในเวที พูดแต่รายละเอียดเชิงเทคนิค และผลประโยชน์จากโครงการเพียงด้านเดียวเท่านั้น และในหลายเวทีเวลาถามถึงความชัดเจนต่อปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กรมชลก็จะบอกเพียงว่ายังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา เพื่อที่จะหาทางเลือกที่เหมาะสม อย่าเพิ่งกังวลใจ” นายกัญกล่าว
 
ส่วนนายสุทธิ  แถวบุญตา ตัวแทนชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย กล่าวถึงการจัดเวทีประชุมระดับชุมชนและประชาคมในครั้งนี้ว่า ควรมีการเอาชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ๆ จะได้รับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงๆ มารับฟังข้อมูล และแสดงความคิดเห็น เพราะการจัดเวทีในครั้งนี้ และหลายครั้งที่ผ่านมา ก็มักจะเชิญแต่ผู้นำ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนก็คือชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และทำกินในบริเวณที่เป็นพื้นที่โครงการ
 
“อีกอย่างหนึ่งก็คือการชี้แจงของกรมชลนั้นจะมาพูดถึงแต่เรื่องการชดเชยความเสียหายของชาวบ้านอย่างเดียวไม่ได้ ต้องชี้ให้ชัดไปเลยถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นของโครงการอย่างชัดเจนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้” นายสุทธิ กล่าว
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้จัดเวทีในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้น ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา อุดรธานี เขต 3 อ.หนองหาน จ.อุดรธานี โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากส่วนราชการ และองค์การปกครองท้องถิ่น แต่มีประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการมาเข้าร่วมไม่ถึง 10 ราย เนื่องจากว่าไม่รับทราบว่าจะมีการจัดเวทีดังกล่าว
 
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) กล่าวถึงการจัดเวทีประชาคมของกรมชลประทานว่า โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่ผ่านๆ มาของรัฐคือ เน้นชูประเด็นเรื่องของผลประโยชน์ที่เกษตรกรหรือประชาชนในพื้นที่โครงการจะได้รับอย่างมหาศาล โดยกลบซ่อนอำพรางชุดข้อมูลที่แท้จริงเอาไว้ เช่น เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ผลกระทบต่อผู้คนในชุมชนท้องถิ่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคม เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม
 
“สิ่งที่เกิดขึ้นได้ชี้ให้เห็นว่าเวทีประชาคมที่กรมชลฯ กล่าวอ้างว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมนั้นเป็นเพียงการจัดฉากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปสู่ธงที่ตั้งเอาไว้แล้ว คือมีโครงการโขงเลย ชี มูล เกิดขึ้นบนแผ่นดินอีสาน” นายสุวิทย์กล่าว
 
นายสุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะที่กรมชลฯ ได้เดินสายจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ แต่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ดำเนินโครงการหลายแห่ง กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยมีความพยายามผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นอย่างเร่งเร้า เช่น ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะเนียงที่มีแผนจะเข้าไปขยายลำห้วยให้มีความกว้างเพิ่มขึ้นอีก ด้านพื้นที่ ต.ห้วยโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เองได้มีหน่วยงานรัฐเข้ามากดดันให้ชาวบ้านอนุเคราะห์ที่ดินเพื่อขุดคลองผันน้ำโดยไม่มีค่าเวนคืนใดๆ ทั้งสิ้น  
 
“เร็วๆ นี้ผมและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดำเนินโครงการจะยื่นหนังสือตรวจสอบโครงการนี้ทั้งระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และนำไปสู่การแสวงหาทางเลือกให้กับจัดการน้ำที่เหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่ที่มีสภาพนิเวศแตกต่างกัน” เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าว

  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วมใหญ่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อโรคใหม่ในคนไทยบางกลุ่ม

Posted: 24 Nov 2011 12:56 AM PST

 บทความจาก "ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาประเทศสิงคโปร์ มองการเมืองไทยช่วงน้ำท่วมผ่านอาการ"ทักษิโณโฟเบีย" 

ที่มา: แปลจาก Pavin Chachavalpongpun. The floods have triggered a new health scare for some Thais. The Nation. 24/11/54 
 
คุณมีอาการเหล่านี้ไหม ครั่นเนื้อ ครั่นตัว หงุดหงิด วิงเวียนศีรษะ รู้สึกอารมณ์แปรปรวน บางครั้งก็เผลอกล่าววาจา ไม่สุภาพ ผรุสวาท เสียดสี หรือบางทีก็ควบคุมตนเองไม่ได้  ถ้าคุณมีอาการใดอาการหนึ่งข้างต้น คุณอาจกำลังเจ็บป่วยจากโรคระบาดสายพันธ์ใหม่ที่พึ่งได้รับการค้นพบโดย ศาสตราจารย์  ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรคร้ายที่ชื่อว่า "โรคกลัวทักษิณ"
 
โรคกลัวทักษิณได้ลุกลามถึงขั้นแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและเมืองใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนชั้นกลาง-สูง พวกเขามีฐานะดี การศึกษาสูง อย่างน้อยปริญญาตรี อย่างไรก็ตามโรคนี้พบน้อยในหมู่ชนชั้นกลาง-ล่าง ซึ่งอาศัยในเขตชนบท หรือ ในกลุ่มผู้ซึ่งมีการศึกษาระดับประถม หรือ มัธยม โรคดังกล่าวสามารถติดต่อผ่านการสื่อสารกับผู้คนใกล้ชิด หรือจากการบริโภคข่าวสารจากสื่อและเครือข่ายสังคมที่เกินพอดี
 
ผ่านมากว่า 5 ปีแล้วจากเหตุการณ์ในปี 2549 ที่มีการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ของทักษิณ ชินวัตร แต่ศัตรูของของเขายังคงก้าวไม่พ้นทักษิณ นอกจากนี้แล้วดูเหมือนพวกเขาจะหมกหมุ่นกับทักษิณมากขึ้นด้วยซ้ำ พวกเขาไม่สามารถหยุดคิด หยุดพูดถึงทักษิณได้ ทักษิณอยู่ในหัวของพวกเขาตลอดเวลาไม่ว่าหลับหรือตื่น ทักษิณเป็นเครื่องไม้ใกล้มือที่ถูกใช้สร้างความชอบธรรมให้กิจกรรมทางการเมืองของคนกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง
 
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
 
นั่นเป็นเพราะทักษิณพิสูจน์ตัวเองให้เห็นถึงความเป็นสายพันธ์ตายยาก ที่รอดพ้นจากสารพันอาวุธสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ รัฐประหารโดยกองทัพ รัฐประหารโดยตุลาการ และปัจจุบันอาจกำลังเผชิญกับ อุทกรัฐประหาร จะถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดเขา แม้เขาจะต้องลี้ภัยอยู่ต่างแดน แต่ตัวแทนทางการเมืองของเขาก็ยังสามารถอิงกระแสความนิยมของตัวเขาในเหล่าคนต่างจังหวัด ก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง
 
กลุ่มศัตรูของทักษิณรู้อยู่เต็มอกว่าพวกเขาไม่สามารถแข่งกันกับทักษิณหรือตัวแทนของเขาผ่านกระบวนการแบบประชาธิปไตยได้ ดังนั้นเล่ห์เพทุบายอื่นต้องถูกเสาะหามาใช้ หนึ่งในนั้นคือแผนการที่จะลดความเชื่อถือต่อ บุคลิกภาพ และเกียรติภูมิ ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แทนที่จะวิจารณ์ผลงานที่แท้จริงของเธอ
 
ปัจจุบัน ขบวนการต้านทักษิณ กำลังแสดงให้เห็นอาการของโรคกลัวทักษิณ ผ่านทางการมุ่งโจมตีอย่างเกรี้ยวกราดต่อน้องสาวของเขา ยิ่งลักษณ์ถูกสร้างภาพให้เป็น "วัวโง่" "ควายไร้สมอง" หรือ "โคลนนิ่งที่น่าขันของทักษิณ" เมื่อเธอปฏิเสธที่จะตอบโต้ พวกเขาจึงเพิ่มระดับกลยุทธ์ขึ้นไปอีกขั้นโดยการยืมปากของชนชั้นสูงมาด่าเธอ กัลยา โสภณพาณิช ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือ มัลลิกา บุญมีตระกูล คือสามแม่มดจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาปฏิบัติการกลุ้มรุมกระหน่ำกระหน่ำใส่ยิ่งลักษณ์ โจมตีว่าเธอเป็นเด็กขี้แยเจ้าน้ำตา
 
กัลยากล่าวว่า "การร้องไห้บ่อยๆของยิ่งลักษณ์เป็นการลดศักดิ์ศรีของผู้หญิง"  ศิริวรรณเข้าร่วมขบวนด้วยโดยการโจมตีว่ายิ่งลักษณ์ใช้น้ำตาเป็นกลเม็ดในการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำท่วมของเธอ ในขณะเดียวกันมัลลิกาไปไกลกว่านั้นโดยกล่าวว่า (การควบคุมอารมณ์ไม่ได้) แสดงออกให้เห็นถึงความอ่อนแอของยิ่งลักษณ์ และทำให้ชื่อเสียงอันดีงามของประเทศเสียหาย
 
แทนที่จะประเมินที่ความสามารถในการจัดการปัญหาของยิ่งลักษณ์ พวกเธอกลับเลือกที่จะใช้วิธีการเล่นนอกกติกามาดูถูกเหยียดหยามยิ่งลักษณ์ กลุ่มสตรีที่อ้างว่าเป็นผู้มีสติปัญญาดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นมีดีกรีระดับปริญญาเอก กลับอาศัยวิธีที่แทบไม่ต้องใช้สติปัญญามาโจมตีฝ่ายตรงข้าม พวกเธอคงจะไม่รู้ว่ายิ่งดูถูกเหยียดหยามยิ่งลักษณ์เท่าไหร่ เธอก็จะยิ่งได้รับความเห็นใจจากกลุ่มผู้สนับสนุนมากขึ้น
 
ในอาณาจักรเดรัจฉาน ไม่เพียงแค่เพศเมียเท่านั้นที่รู้จักเล่นเกมส์การเมืองสกปรก หมาป่าเพศผู้จ่าฝูงบางตัวก็สามารถหยาบช้าได้เท่าเทียมกันในการโจมตีนายกรัฐมนตรีเพศเมีย เอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของเว็บไซท์ Thaiinsider.com แม้เขาเองจะมีภูมิหลังที่น่าปกปิด แต่ก็ยังกล้าออกมาวิจารณ์ยิ่งลักษณ์ว่าเป็น ผู้หญิงโง่เขลาที่หน้าด้านมารับตำแหน่ง ควรจะรู้ตัวเองว่าอาชีพอะไรที่เหมาะกับเธอ เขายังกล่าวว่า ผู้หญิงที่ไร้การศึกษา ขี้เกียจ และ ด้อยสติปัญญา จากภาคเหนือจะมาทำอาชีพหลักๆ คือขายบริการ
 
ในขณะที่กลุ่มสตรีชาวเหนือออกมาประฌามการแสดงความเห็นเหยียดเพศหญิงของเอกยุทธ์อย่างรุนแรง แต่เหล่าบรรดาที่อ้างตัวเองว่าเป็นเฟมินิสท์ส่วนใหญ่กลับเงียบกริบ ความจริงที่ว่าวงสนทนาเรื่องสิทธิสตรีไทยมักจะถูกครอบงำโดยเหล่าสตรีชาวกรุงเทพที่มีสถานะทางสังคมสูง สามารถช่วยอธิบายว่าทำไมเอกยุทธกับวาจาไร้รสนิยมของเขาจึงรอดตัวไปในครั้งนี้ แต่ก็น่าตลกที่ว่าเหล่าแม่มดทั้งสามจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ออกมาอ้างว่าทำเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของผู้หญิง ปฏิเสธอย่างตาขาวที่จะตอบโต้อคติแบบเพศชายนิยมของเอกยุทธ
 
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ก็ตามรอยเอกยุทธออกมากระหน่ำโจมตียิ่งลักษณ์ว่าเป็นนายกฯที่ไร้ประโยชน์ เจิมศักดิ์เชื่อว่ายิ่งลักษณ์ไร้สติปัญญา เป็นตัวตลก เป็นนายกรัฐมนตรีที่น่าอัปยศอดสูที่สุดในประวัติศาสตร์ ไร้ประสบการณ์ และ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งได้ด้วยการใช้สายสัมพันธ์จากเครือญาติ ไม่ต้องเป็นอัจฉริยะก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมเจิมศักดิ์จึงไม่มีความนิยมในตัวยิ่งลักษณ์เลย นี่คือผู้ชายที่เข้าร่วมอย่างกระตือรือร้นในกระบวนการต่อต้านทักษิณเมื่อปี 2548 โดยมีจุดประสงค์หลักคือการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นสูงในเมืองหลวง เมื่อมองในมุมนี้ โรคกลัวทักษิณอาจจะไม่ใช่ปรากฎการณ์ในปัจจุบัน เพราะดูเหมือนว่าเจิมศักดิ์มีอาการป่วยจากโรคดังกล่าวมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว
 
แนวทางในการโจมตีแบบนี้ยังคงถูกใช้โดยสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการเกษียณอายุ อดีตวุฒิสมาชิก และ เป็นผู้ประกาศข่าวในปัจจุบัน สมเกียรติเลือกที่จะวิจารณ์ทักษะภาษาอังกฤษที่บกพร่องของยิ่งลักษณ์ ตำหนิเธอที่ไม่สามารถพูดให้ได้ดี ทั้งภาษาไทย และ อังกฤษ  ประเด็นในที่นี้ไม่ได้อยู่ทีว่ายิ่งลักษณ์จะสามารถร่วมสนทนากับผู้นำตางชาติซึ่งในกรณีนี้คือ ฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้หรือไม่ เพียงแค่มีจุดประสงค์จะโจมตีเธอ แต่ยิ่งลักษณ์คือนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกหรือเปล่าที่ไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ และแค่ไหนกันคือระดับความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษที่ยอมรับได้ ควรหรือไม่ที่ความสามารถภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยมขอสมเกียรติจะเป็นมาตรฐานของนายกรัฐมนตรีไทยตั้งแต่นี้ต่อไป
 
ในท้ายที่สุดแล้ว การพร่ำบ่นติฉินนินทาก็มีความเป็นการเมืองเสียยิ่งกว่าเรื่องการเมืองเองเสียอีก การที่ยิ่งลักษณ์ตอบโต้ด้วยการไม่ตอบโต้จะช่วยรักษาสถานะความได้เปรียบของเธอไว้ ยิ่งเธอถูกดูหมิ่นเหยียดหยามมากเท่าไหร่ เธอจะกลับมีสถานะทางการเมืองที่แข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น สุดท้ายแล้วเธอจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากเกมส์การเมืองได้โดยการที่ไม่ต้องทำอะไรมากนัก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกการผจญภัยกับความกลัวในสังคมไทย

Posted: 23 Nov 2011 09:06 PM PST

มันเริ่มจากความรู้สึกว่าเราควรทำอะไรสักอย่าง...

เที่ยงวันนี้หลังจากรู้คำตัดสินของศาลในคดีอากง ที่ถูกกล่าวหาว่าส่ง sms อันมีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึงเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังผ่านการสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ศาลตัดสินพิพากษาจำคุกอากง 20 ปี

กระบวนการยุติธรรมอันน่าเศร้าและไร้มโนธรรม, ผมก็แค่รู้สึกว่าเราควรทำอะไรสักอย่างไว้อาลัยให้กับมัน เลยลองนัดเพื่อนๆ ทำกิจกรรมหรือปฏิบัติการเล็กๆ เพื่อบอกว่าเราไม่เห็นด้วยกับ “ความยุติธรรม” แบบนี้ ความยุติธรรมที่ขังคุกชายชราคนหนึ่งอาจจะทั้งชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยข้อความไม่กี่คำ โทษอาจพอๆ กับการฆ่าใครสักคนโดยไม่ตั้งใจ ความยุติธรรมที่พิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าอากงเป็นคนส่งข้อความหรือไม่ ความยุติธรรมที่วางอยู่บนความหวาดกลัวจนไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้จำเลย ความยุติธรรมที่ไม่ใยดีลูกหลานและครอบครัวของคนๆ หนึ่ง แต่เลือกทำให้คนเหล่านั้นติดคุกอยู่ข้างนอกไม่ต่างกับอากง ทั้งไม่พิจารณาถึงสุขภาพ กระทั่งความเป็นมนุษย์ของชายชราคนหนึ่ง เกิดอากงส่งข้อความสัก 10 ข้อความ โทษไม่คูณเพิ่มไปเท่ากับ 50 ปี ครึ่งของชีวิตคนๆ หนึ่งเลยหรือ

ผมเลยคิดหาพื้นที่ทำกิจกรรมใกล้ๆ ตัว และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สั้นๆ ที่น่าจะทำได้ นึกได้ถึงการเคารพธงชาติที่มีเพื่อนเคยไปยืนเคารพไว้อาลัยให้คนตายหลังการสังหารหมู่ในเดือนพฤษภาปีที่แล้ว เลยคิดว่าน่าจะลองไปนั่งเคารพธงชาติตอน 6 โมงเย็นแทน

เสาธงใหญ่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่กลางถนนเข้าออกที่ตรงจากหน้าประตูมหาลัยมาถึงบริเวณศาลาธรรม ตอน 8 โมงเช้าและ 6 โมงเย็นจะมีการเชิญธงชาติขึ้นและลงจากยอดเสา พร้อมเสียงเพลงชาติผ่านเสียงตามสายที่จะดังได้ยินทั่วบริเวณหน้ามหาลัย ช่วงเย็นๆ คนจะไปวิ่งออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาบริเวณสนามรักบี้ใกล้ๆ นั้น และต้องหยุดเคารพธงชาติเมื่อเพลงดังขึ้น

ผมคิดแผนคร่าวๆ ว่าน่าจะชวนกันใส่เสื้อรณรงค์ปัญหาเรื่องมาตรา 112 หรือเสื้อสีดำตามแต่ละคนสะดวก และไปนั่งอย่างสงบอยู่ในเวลาที่เขาให้ยืนเคารพธงชาติ และนั่งต่อเนื่องไปเงียบๆ เพื่อร่วมรำลึกถึงความไม่เป็นธรรมเป็นเวลา 20 นาที ตัวเลขเหมือนกันกับโทษที่อากงโดนตัดสินจำคุก (แต่เวลาจริงๆ ของมันช่างต่างกันเหลือเกิน) เป็นการไว้อาลัยให้กับความยุติธรรมในประเทศนี้ พร้อมกับมีการแจกข้อมูลคดีของอากงที่พิมพ์ออกมาจากอินเตอร์เนตให้ผู้มาร่วม และอาจจะมีแอ็กชั่นอื่นๆ ถ้าเพื่อนๆ ที่มาร่วมมีไอเดียจะทำ

หลังจากโทรนัดเพื่อนที่มาแน่ๆ ได้ 3-4 คน ผมก็โพสต์แจ้งข่าวลงในหน้าเฟซบุ้คของตัวเอง และอาจจะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่รู้จัก Big Brother ที่แท้จริง—พี่เบิ้มผู้เฝ้ามองดูเราอยู่ทุกหนแห่ง--ผมได้โพสต์ข้อความเชิญชวนเพื่อนๆ ไปร่วมกิจกรรมลงในหน้ากรุ๊ปหนึ่งในเฟซบุ้ค ซึ่งเข้าใจเอาเองว่าเป็นกลุ่มปิด และไม่ได้แจ้งข่าวทางใดอีก

หลังจากซีรอกซ์ข้อมูลเรื่องคดีอากงเสร็จแล้ว ราว 5 โมงเย็น เพื่อนคนหนึ่งโทรศัพท์เข้ามา บังเอิญว่าพ่อเขาเป็นตำรวจในเชียงใหม่มีตำแหน่งอยู่พอสมควร เพื่อนคนนี้รีบแจ้งว่าพ่อได้ห้ามเขาออกมาทำกิจกรรมในวันนี้ เพราะไม่ปลอดภัย ตำรวจรู้เรื่องกิจกรรมแล้ว และจะส่งหน่วยความมั่นคงและหน่วยปราบจลาจล (!!!) มาดู เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือการชุมนุมทางการเมือง ผมถามเช็คหลายครั้งว่าข่าวมันมาจากไหน และเขารู้กันได้อย่างไร

ข่าวนี้ทำให้ผมงง และไม่แน่ใจว่าที่เพื่อนเล่ามาจริงไหม หรือถ้าจริง ข่าวมันรั่วไปได้อย่างไร เพราะแทบไม่ได้ไปบอกใครที่ไม่รู้จักหรือประชาสัมพันธ์ที่ไหนมากมาย และการชวนกันก็เกิดขึ้นเมื่อบ่ายๆ นี้เอง ข่าวอะไรมันจะเร็วขนาดนี้ อีกทั้งการนั่งเคารพธงชาติก็ไม่น่าจะผิดอะไรที่ไหน คิดเอาเองว่าถ้าจะผิดกฎหมาย ก็อาจจะเป็นเกี่ยวกับพรบ.ธงชาติหรือการไม่เคารพเพลงชาติ ซึ่งโทษก็น่าจะแค่โดนปรับเป็นเงิน

เพื่อนที่โทรมาบอกว่าจะตามไปทีหลัง และให้ลองไปดูลาดราวแถวๆ เสาธงก่อน ราว 5 โมงครึ่งด้วยความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ผมเลยไปรอแถวเสาธงชาติ ยังไม่เห็นมีใครมา จึงเลือกที่นั่งรอติดถนนเส้นขาออกจากมหาลัย ไม่ไกลจากการมองเห็นเสาธง ระหว่างคอยก็รู้สึกได้ว่าตัวเองกระวนกระวาย และเริ่มมีความรู้สึกไม่แน่ใจว่าจะทำกิจกรรมนี้ดีไหม ถ้าตำรวจมาจริงๆ เราจะทำอย่างไร

สักพักเพื่อนสองคนที่จะร่วมกิจกรรมก็เดินเข้ามาหา ผมเล่าเรื่องที่ได้ข่าวมาให้ฟัง ทั้งคู่ก็ช่วยกันวิเคราะห์ไปต่างๆ นานา พี่คนหนึ่งบอกว่าเพื่อนที่โทรมาอาจจะโดนพ่อหลอก เพื่อขู่ไม่อยากให้ลูกออกมาทำกิจกรรมอีก เพราะเพื่อนคนนี้มักจะโดนพ่อแม่ห้ามออกจากบ้านมาทำกิจกรรมการเมืองอยู่บ่อยๆ แต่ก็คุยกันว่าถ้าข่าวกิจกรรมนี้รั่วจริงๆ คงมาจากในหน้ากลุ่มลับที่ผมไปโพสต์ทิ้งไว้นั้นแหละ อาจมีพวกตำรวจคอมพิวเตอร์แฝงตัวเข้ากลุ่มมาและจับตาดูอยู่ เพราะในกลุ่มนั้นมีคนร่วมหลักร้อยเศษ หลายคนไม่รู้เป็นใครที่ไหน แต่รับๆ ต่อกันเข้ากลุ่มมา...

นั่งคุยและรอไปอีกสักพัก ใกล้ 6 โมงเย็น ผมเห็นรถมอเตอร์ไซต์ 2 คันที่มีคนซ้อนท้ายทั้งคู่ ทั้งสี่คนใส่ชุดดำทั้งตัวดูแปลกตา (หรือจะมาร่วมกับเราหว่า??) ชี้ให้พี่ที่นั่งรอด้วยกันดู แกก็บอกว่าไม่น่าจะใช่ ดูไม่ใช่พวกตำรวจที่เคยเห็นหน้าค่าตาตามที่ชุมนุมบ่อยๆ สักพักรถทั้งสองคันก็ขับรถยูเทิร์นอ้อมกลับมาถนนเส้นขาออกหน้ามหาลัย แล้วเข้าเทียบจอดไม่ไกลจากจุดที่เรานั่งอยู่

ด้อมๆ มองๆ กันสักพัก ชายชุดดำคนหนึ่งก็เดินเข้ามาหาเรา ถามขึ้นว่าน้องมานั่งทำอะไรกัน ไม่มีใครตอบอะไร เพื่อนที่พกกล้องมาด้วยพูดขึ้นลอยๆ ว่าถ่ายรูปเล่นครับ ผมเดาในใจว่าคงใช่ตำรวจ และเขาก็คงรู้ว่ากลุ่มพวกเรามาทำอะไรกัน ชายชุดดำถามต่อว่าเป็นนักศึกษาไหม ผมพยักหน้า เขาถามชื่อคณะ และผมตอบคณะของตัวเองไป ก่อนถามกลับไปว่าพี่เป็นใครครับ เขาตอบว่าเป็นตำรวจ และกำลังมารอดูหน้าคนไม่รักชาติ...

ตอนนั้นเอง น้องอีกสองคนที่จะมาร่วมทำกิจกรรมด้วย ก็เดินเข้ามาโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ ถามอะไรสักอย่างเกี่ยวกับกิจกรรม ซึ่งผมฟังไม่ชัดเพราะหูเริ่มเบลอๆ ไปแล้ว ชายชุดดำคงชัดเจนในเป้าหมายที่จะมาดูแล้ว จึงเดินกลับไปหากลุ่มของเขาเพื่อเฝ้ารอเวลา ผมหันไปมองหน้ากับเพื่อนที่นั่งอยู่ด้วยกัน ตกลงกันอย่างรวดเร็วว่าถอยออกมาน่าจะดีกว่า เพราะคนเราน้อย และมีน้องๆ ที่ถ้าโดนอะไรขึ้นมาแล้วจะไม่คุ้มเสีย บอกน้องสองคนสั้นๆ ว่าข่าวรั่ว ตำรวจมา วันนี้เลิกทำกิจกรรมกันก่อนดีกว่า

ก่อนออกมา เราหันไปมองรอบๆ เห็นอีกฝั่งทางเท้าไม่ไกลนัก มีคนยืนอยู่อีกคนหรือสองคน และไม่ได้ใส่ชุดดำ ในตอนหลังพี่ที่เคยเห็นหน้าพวกเจ้าหน้าที่บ่อยๆ บอกว่าคนนี้เขาเคยเห็นตามที่ชุมนุมอยู่ คงเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และคาดว่าอาจจะถ่ายรูปพวกเราไว้แล้วด้วย ขณะที่ใกล้ๆ นั้นมีรถกระบะสีขาวจอดแปลกๆ อยู่อีกคัน เดากันว่าคงเป็นตำรวจอีกนั่นแหละ และกระบะอาจมีไว้เตรียมขน “กลุ่มคนไม่รักชาติ” ไปโรงพัก เดากันเล่นๆ ว่าตำรวจอาจจะมาเกิน 10 คน

ก่อน 6 โมงเย็นเล็กน้อย เราจึงแยกย้ายกันออกมา พร้อมเสียงเพลงชาติที่ดังตามหลังรถมอเตอไซต์ที่เคลื่อนออกมา

พี่นักข่าวออนไลน์คนหนึ่ง ซึ่งมาตั้งแต่ช่วงที่ชายชุดดำคุยอยู่กับเรา แต่คงสังเกตเห็นความไม่น่าไว้ใจ เลยเดินหลบไปก่อน โทรมาบอกในภายหลังว่าเขาย้อนกลับมาดูอีกที เพราะคิดว่าอาจจะมีใครโดนจับ ปรากฏว่าเห็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาลัยมาจอดรถบริเวณนั้น เข้าไปยืนป้องกันเสาธงในตอนเพลงชาติขึ้น ขณะเจ้าหน้าที่กำลังเชิญธงลงจากยอดเสาด้วย จึงเป็นไปได้ว่าทางมหาวิทยาลัยก็ทราบเรื่องว่าจะมีคนมาทำกิจกรรมในบริเวณเสาธง...

นั่งคิดยอมกลับไป ยอมรับว่าผมกลัว กลัวและไม่แน่ใจกับสิ่งที่จะทำ...เราไม่รู้ว่าการนั่งเคารพธงชาติผิดไหม หรือเขาจะใช้ข้อหาอะไรถ้าจะจับเรา แต่การมาของพวกเขาได้ข่มขู่เราไปเรียบร้อยแล้ว และนำไปสู่การยอมถอยหนีทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำผิดอะไร

ความกลัวได้ทำให้เราหวั่นไหวกับสิ่งที่เราจะทำ แม้จะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ความกลัวสร้างภาวะสองจิตสองใจ สร้างความกระวนกระวาย บนฐานการคาดเดาไม่ได้ว่าถ้าทำไปในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น การคาดเดาไม่ได้ นำไปสู่การถอยและหนี กระทั่งการสยบยอมและจำนน

มันทำให้ผมรู้ว่าไม่ใช่ความผิดของผู้ต้องหาที่โดนคดีหมิ่นฯ หรอก ที่จะเลือกหนทางยอมรับสารภาพ แม้เขาอาจจะไม่ได้ทำผิดก็ตาม เพียงเพื่อให้คดีตัดสินให้เสร็จ และรอคอยการรับอภัยโทษ เพราะหากเขาสู้ อนาคตอันแสนนานที่คาดเดาไม่ได้ก็เปิดรออยู่ และหนทางพ่ายแพ้ก็มีอยู่สูงเกินไป ใครเล่าจะเลือกสู้บนสังเวียนแบบนี้? สังคมที่ผลิตกระบวนการแบบนี้ต่างหากที่น่าเศร้าใจ

บทเรียนวันนี้ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกถึงความกลัวบางอย่างในการใช้ชีวิตในสังคมนี้ เราสามารถถูกข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ นานา เพื่อไม่ให้ใครลุกขึ้นทำอะไรได้ เขายอมให้เราตะโกนอื้ออึงในโลกออนไลน์ แต่ดูเหมือนอะไรที่ไกลไปกว่านั้นเขาจะไม่ยอม...

ขอบคุณในวันนี้ที่บอกเราจริงๆ ว่า Big Brother กำลังเฝ้ามองดูเราอยู่ทุกหนแห่ง และเครือข่ายของข่าวสารช่างเดินทางเร็ว ขอบคุณที่คอย “ตักเตือน” ไม่ให้เราทำอะไรสักอย่างที่เราอยากทำและต้องคิดให้รอบคอบกับสิ่งที่เราอยากทำ แม้มันจะเป็นสิ่งที่สงบสันติเพียงใดก็ตาม ขอบคุณที่บอกสอนเราถึงความน่ากลัวที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ในประเทศนี้ ขอบคุณที่บอกให้เรารู้ว่าเราไม่รักชาติ และความรักชาติที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร

แต่ขอโทษเถอะครับ วันใดวันหนึ่งข้างหน้า เราจะกลับไปนั่งเคารพธงชาติอีกครั้งหนึ่ง...เพื่อบอกว่าคนเราสามารถเลือกวิธีเคารพชาติของตัวเองได้หลากหลายแบบ และการเคารพและรักชาติในบางแบบที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคมเวลานี้ สำหรับเราแล้ว มันไม่น่าเคารพและรักเอาเสียเลย 

มันจบลงด้วยความรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง...

ค่ำคืน 23 พฤศจิกายน 2554

"กำลังก้าว" 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น