โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ท่วมหมื่นชื่อ: พลังประชาธิปไตยในวิกฤตน้ำท่วม

Posted: 04 Nov 2011 10:30 AM PDT

 

 
ผู้เขียนขอเสนอแนวคิด ท่วมหมื่นชื่อ facebook.com/10000flood เป็น แนวคิดไม่ปิดตายที่หวังพลิก วิกฤตอุทกภัยมาเป็น โอกาสประชาธิปไตย เพื่อฟื้นฟูประเทศไทยให้เป็นสุขถ้วนหน้าและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม
 
วิกฤตเวลานี้แม้ความช่วยเหลือจะมีมาก แต่ที่มากยิ่งกว่า คือ พวกเราที่ยังรอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และพวกเราที่กะจะช่วยแต่ไม่ได้ช่วยเสียที ยิ่งไปกว่านั้น การฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลดต้องใช้เวลาและเงินเกินกว่ากำลังอาสาสมัครหรือการบริจาค และไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งของ เช่น บ้านเรือนไร่นา เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฟื้นฟูเชิงโครงสร้าง เช่น การกู้อุตสาหกรรม การช่วยเหลือผู้ตกงาน ตลอดจนการเยียวยาจิตใจซึ่งวันนี้ยังมีคำถามคาใจที่ไม่รู้จะเชื่อคำใคร
 
ล่าสุดรัฐบาลได้พิจารณาใช้เงินมหาศาลฟื้นฟูประเทศ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะนำเงินมาจากไหน หรือจะบริหารได้ดีหรือโปร่งใสเพียงใด
 
ในยามเช่นนี้ พวกเราซึ่งเป็นเจ้าของประเทศระดมพลังประชาธิปไตยเพื่อร่วมแก้วิกฤตได้ กล่าวคือ คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๑ หมื่นคนขึ้นไป สามารถใช้สิทธิร่วมลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเยียวยาฟื้นฟูประเทศ และผลักดันผ่านรัฐสภาให้เป็นกฎหมายประชาชน ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องและต้องไม่ให้นักการเมืองเป็นผู้กุมชะตาพวกเราไว้ฝ่ายเดียว
 
แนวคิดกฎหมายจากประชาชนท่วมหมื่นชื่อที่ว่า อาจมีหลักการดังนี้
 
หลักการรวมใจแบ่งเบาภาระ  
พวกเราที่ไม่ได้เสียหายจากวิกฤตอุทกภัย หรือเสียหายน้อยมาก ยินยอมพร้อมใจให้รัฐบาลเก็บรายได้พิเศษ ตามกำลังจ่ายของแต่ละบุคคล เพื่อช่วยเยียวยาพวกเราส่วนที่ยังเสียหายอย่างสาหัส โดยวิธีที่ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม เช่น การเพิ่มภาษีที่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว หรือการเพิ่มค่าน้ำค่าไฟที่จ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว
 
การเก็บรายได้ควรยกเว้นไม่เก็บจากผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่เสียหายมาก อาจยกเว้นนิติบุคคลเพื่อไม่กระทบต่อการลงทุน และอาจเปิดช่องให้พวกเราสามารถนำเงินที่จ่ายไปให้รัฐบาลหักกลับคืนมาได้บางส่วน โดยเรายินดีช่วยกันคนละไม้คนละมือ คนละเล็กละน้อยตามความสามารถ แต่ทำอย่างโปร่งใส เป็นระบบและพร้อมเพรียงกัน เพื่อระดมทุนแก้วิกฤตของประเทศ
 
กรณีดังกล่าวไม่ใช่การขึ้นภาษีเพื่อลงโทษคนที่ไม่ถูกท่วม แต่เป็นข้อเสนอที่อาศัยกระบวนการประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ ก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน โดยทุกคนมีส่วนร่วมอย่างพร้อมเพรียงตามกำลังความสามารถ เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของสังคม ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ
 
หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
เงินที่รัฐบาลเก็บจากพวกเราไม่ได้ให้รัฐบาลนำไปใช้เองอย่างเดียว แต่ต้องแบ่งไปสนับสนุนอาสาสมัครหรือองค์กรท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปอย่างทั่วถึง
 
หลักการประหยัด
นอกจากรัฐบาลจะเก็บรายได้เพิ่มจากพวกเราแล้ว รัฐบาลต้องเสนอมาตรการตัดลดค่าใช้จ่ายควบคู่กันไปอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งแจกแจงให้พวกเราทราบว่าได้ตัดงบประมาณส่วนใดจากโครงการใดเพื่อนำมาช่วยพวกเราและฟื้นฟูประเทศ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อหนี้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน
 
หลักการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
กฎหมายให้อำนาจรัฐบาลนำรายได้ที่จัดเก็บไปใช้รักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน เช่น การจ้างงาน การฟื้นฟูพัฒนาจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ การซ่อมแซมนิคมอุตสาหกรรม การปรับปรุงระบบระบายน้ำ ฯลฯ แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เงินกระจุกตัวอยู่กลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะ
 
หลักการค้นหาความจริง
กฎหมายฉบับนี้จัดให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อรายงานพวกเราว่าวิกฤตครั้งนี้เกิดอะไรขึ้น ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอมีอะไรบ้างที่จริงหรือไม่จริง มีอะไรบ้างที่พลาดพลั้งไป และประเทศไทยจะมีวิธีเตรียมตัวป้องกันรับมือปัญหาในอนาคตอย่างไร ทั้งนี้ กฎหมายอาจกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการอิสระ มิใช่ปล่อยเงียบจนเรื่องถูกกลบลบหายไป
 
หลักการป้องกันแก้ไขระยะยาว
กฎหมายฉบับนี้กำหนดกรอบเวลาให้นำความจริงที่ได้รับการตรวจสอบมาตีแผ่พร้อมนำเสนอแผนการแก้ไขต่อประชาชนเพื่อรับฟังความเห็นและนำไปดำเนินการแก้ไขให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่นำขึ้นหิ้งแล้วลืมเหมือนทุกครั้ง
 
หลักการใช้แล้วไม่ต้องทิ้ง
กฎหมายที่เสนอสามารถนำไปใช้ได้ต่อไปในอนาคตหากเกิดวิกฤตร้ายแรง โดยเปิดช่องให้รัฐบาลขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อเสนอมาตรการพิเศษสำหรับเฉพาะคราวในกรอบเวลาที่จำกัด ส่วนเงินที่เก็บจากพวกเราก็นำไปก็เก็บไว้ในกองทุนเพื่อรับมือแก้ไขปัญหาในอนาคตได้ต่อเนื่องเช่นกัน
 
แนวคิดนี้ปฏิบัติได้จริงหรือ ?
 

ในประวัติศาสตร์ชาติไทยยังไม่เคยมีร่างกฎหมายฉบับใดที่เสนอโดยประชาชนและผ่านสภาจนกลายมาเป็นกฎหมายที่ใช้ได้จริง ในทางหนึ่งจึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะอาศัยวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้เป็นแรงเคลื่อนประชาธิปไตยไทยให้ก้าวไปอีกขั้น อย่างน้อยก็โดยการเรียนรู้และร่วมจดจำใบหน้าและนามสกุลของผู้ที่ปฏิเสธเสียงของประชาชนอย่างไร้เหตุผล

 
ตรงกันข้าม หากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดมีแนวคิดตรงกันหรือได้แรงบันดาลใจจากประชาชน ก็ทำหน้าที่ผู้แทนโดยการนำแนวคิดนี้ไปปรับปรุงและเสนอต่อสภาได้เช่นกัน
 
ผู้เขียนได้นำแนวคิดเหล่านี้มาจัดทำเป็น ร่างพระราชบัญญัติรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย พ.ศ. ...  โดยมีเนื้อหาเป็นกรอบทางกฎหมายให้รัฐบาลและรัฐสภาสามารถร่วมกันกำหนดมาตรการและรายละเอียดที่เหมาะสมว่าจะจัดเก็บรายได้เมื่อใด โดยวิธีใด นานแค่ไหน ใครได้รับการยกเว้นอย่างไร ฯลฯ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจพร้อมให้นำไปเข้าชื่อเพื่อเสนอต่อสภา แต่ก็ยังมีประเด็นที่สามารถนำไปถกเถียงและแก้ไขต่อไป อีกทั้งเสียงที่โต้แย้งด้วยเหตุผลอันหนักแน่นย่อมมีคุณค่าทางประชาธิปไตยยิ่งกว่าเสียงชมตามอารมณ์หรือมารยาทยิ่งนัก
 
จึงขอเชิญชวนพวกเราร่วมระดมความคิดเกี่ยวกับ ท่วมหมื่นชื่อ และ ร่างพระราชบัญญัติรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย พ.ศ. ...    ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ และช่วยกันปรับปรุง แก้ไข วิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอร่างอื่นได้อย่างอิสระได้ที่เพจ ท่วมหมื่นชื่อ http://www.facebook.com/10000flood
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: กลุ่มเกษตกรไร้ที่ดินสุราษฎร์ประท้วงขับไล่ผู้ว่า ไม่จริงจังปฏิรูปที่ดิน

Posted: 04 Nov 2011 10:09 AM PDT

กลุ่มเกษตกรผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน จ.สุราษฎร์ธานี (กลุ่มจุดไฟในสายลมภาคใต้) ประท้วงขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุทำตัวรับใช้นักการเมืองไม่จริงจังจริงใจกับการแก้ปัญหาในการปฎิรูปที่ดินเพื่อผู้ยากไร้

4 พ.ย. 54 - นักข่าวพลเมืองจากกลุ่มจุดไฟในสายลมภาคใต้ รายงานว่ากลุ่มเกษตกรผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน จ.สุราษฎร์ธานี (กลุ่ม จุดไฟในสายลมภาคใต้) ได้เดินทางมาร่วมกันขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณสะพานนริศ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเวลาร่วมสิบกว่าวันแล้ว

ทั้งนี้ทางกลุ่มระบุว่าในอดีตทางกลุ่มเกษตกรไร้ที่ทำกินภาคใต้ได้ยื่นเรื่องให้มีการปฎิรูปที่ดินในสมัยรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลทักษิณก็ทำการปฎิรูปสำเร็จไปแล้ว 20,000 ไร่ โดยให้ประชาชนเช่าคนล่ะ 10 ไร่ ซึ่งแต่เดิมที่ดิน 20,000 ไร่ นั้นเป็นของกลุ่มทุนกลุ่มเดียว และจะมีการปฎิรูปตามมาอีก 40,000 ไร่ โดยให้ประชาชนผู้ไร้ที่ทำกินคนล่ะ 10 ไร่ แต่ต่อมารัฐบาลทักษิณถูกยึดอำนาจเสียก่อนเรื่องการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรจึงชะงักไป

จากนั้นประชาชนผู้ไร้ที่ทำกินก็พากันเข้าไปยึดที่ดินของนายทุน เพื่อรอการปฎิรูปเพิ่มและหมดสัญญาสัมปทานแล้ว แต่นายทุนยังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สวนปาล์ม 4-5 หมื่นไร่มีรายได้เดือนหนึ่งหลายสิบล้าน และเงินส่วนนี้ยังเป็นท่อน้ำเลี้ยงของนักการเมืองภาคใต้ ประชาชนไร้ที่ดินทำกินผู้ที่รอการปฎิรูปที่ดินแปลงนี้อยู่เห็นว่านายทุนไม่ยอมออกจากพื้นที่ทั้งที่หมดสัมปทานแล้ว

ทำให้ชาวบ้านบุกเข้ายึดสวนปาล์ม แต่ถูกกลุ่ม นายทุน นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐบางคน นำกำลังเข้าสลาย เผาทำลาย และยิง  ผู้ที่ต้องการเพียงแค่ที่ดินทำกินเท่านั้น มีการบาดเจ็บและล้มตาย ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย บาดเจ็บพิการอีกจำนวนมาก รวมถึงที่ถูกจับกุมคุมขังและมีคดีความอีกมากมาย

นอกจากนี้กลุ่มชาวบ้านยังถูกกล่าวหาเป็นผู้ร้ายในสังคม ถูกใส่ร้ายบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยกลุ่มผู้ที่มีอิธิพลในจังหวัด เช่น กล่าวหาว่าแกนนำกลุ่ม หลอกลวง สัญญาว่าจะได้ที่ทำกินแล้วมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ชุมนุมเป็นรายหัว เป็นต้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะทำลายความชอบธรรมของกลุ่มแกนนำเกษตกร

และเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมากลุ่มเกษตกรไร้ที่ทำกินได้เดินทางมายื่นหนังสือให้กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ทำเนียบรัฐบาลท่านก็ได้มารับหนังสือ และสัญญาว่าจะจัดการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลทักษิณในอดีต

ทั้งนี้ทางกลุ่มจุดไฟในสายลมภาคใต้ระบุต่อไปว่าเมื่อคณะฯ กลับมาถึง จ.สุราษฎร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เรียกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มาบอกว่าทางจังหวัดจะจัดสรรที่ให้คนละ 2 ไร่ และรายชื่อของคนที่จะได้นั้นเป็นชื่อของลูกน้องนักการเมืองทั้งสิ้น โดยทางกลุ่มจุดไฟในสายลมภาคใต้เห็นว่าการกระทำนี้ไม่ได้เป็นการรักษาผลประโยชน์ให้ชาวบ้าน แต่ไปปกป้องผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนผู้มีอิทธิพลในจังหวัดแทน

ทางกลุ่มเกษตกรผู้ไร้ที่ทำกิน จึงต้องรวมตัวกันมาเพื่อขับไล่ผู้ว่าราชการ จ.สุราษฎร์ธานี ที่สะพานนริศ อ.เมือง สุราษฎร์ ทุกวัน และจะปักหลักอยู่จนกว่าผู้ว่าจะย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งนี้บรรยากาศการตั้งเวทีสมาชิกเกษตกรไร้ที่ดินทำกินได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา วันล่ะ 800-1,000 คนทุกวัน จนกว่าผู้ว่าจะย้ายออก

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ต.ค. - 4 พ.ย. 2554

Posted: 04 Nov 2011 09:16 AM PDT

ญี่ปุ่นพร้อมช่วยแรงงานไทยให้ไปทำงานในญี่ปุ่นแทนได้ชั่วคราว

ญี่ปุ่น 29 ต.ค. - รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนรองรับแรงงานไทยที่ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น ที่ถูกน้ำท่วมเสียหายหนัก ให้ไปทำงานในญี่ปุ่นแทนได้เป็นการชั่วคราว

นายโอซามุ ฟูจิมูระ หัวหน้าเลขานุการคณะรัฐมนตรีประกาศแผนดังกล่าวเมื่อวานนี้  โดยระบุว่า เป็นมาตรการฉุกเฉิน ที่ออกมารองรับภาวะที่บริษัทของญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับส่วนอุตสาหกรรมหลายแห่ง ของไทย ซึ่งมีบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นตั้งอยู่ และต้องปิดไปเนื่องจากน้ำยังคงท่วมสูง ส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อสายงานการผลิตอย่างหนัก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปยังเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทญี่ปุ่น จึงพากันร้องเข้ามายังรัฐบาลให้อนุญาตให้คนงานไทยในโรงงานผลิตของญี่ปุ่น เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมได้ในโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นแทนเป็นการชั่วคราว เพื่อมิให้สายงานการผลิตหยุดชะงัก ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็เห็นด้วย และอนุญาตให้ดำเนินการได้ตามมาตรการฉุกเฉินดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทต่างๆ จะต้องรับรองว่า เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะต้องจัดส่งคนงานเหล่านั้นกลับประเทศไทยทั้งหมด

(สำนักข่าวไทย, 29-10-2554)

อุดร เอฟซี ยอมจ่ายค่าแรงอดีต 6 นักเตะ หลังศาลไกล่เกลี่ย

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ศาลแรงงานภาค 4 อุดรธานี ได้นัดไกล่เกลี่ยพร้อมไต่สวน กรณีอดีตนักฟุตบอลสโมสรฟุตบอลอุดรธานี หรือ อุดรธานี เอฟซี หรือ ฉายา "ยักษ์แสด" ในศึกดิวิชั่น 2 โซนอีสาน จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายเอกชัย สินนอก, นายเดชศักดา ตาวะสุข, นายศุภนิตย์ ศุภรัตนกูล, นายวีรพงษ์ วรรณศิริ, นายมังกร น้อยชมพู และนายอุดมพร สมกอง ได้ยื่นฟ้องสโมสร ในนาม บริษัทสโมสรฟุตบอลอุดรธานี โดยกล่าวหาว่า สโมสรไม่จ่ายค่าแรงตามสัญญา และเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยมี นายเชาวนัฐ เจริญนันทรัตน์ เป็นตัวแทนสโมสร พร้อมนายเกรียงวิทย์ โพธิ์ขำใหญ่ ทนายความเป็นตัวแทนร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย

หลังจากเลื่อนนัดหมายมาจากวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาไกล่เกลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า นายเดชศักดา, นายวีรพงษ์, นายมังกร และนายอุดมพร ที่แจ้งต่อศาลว่า สโมสรฟุตบอลอุดรธานีค้างค่าจ้างอยู่คนละ 26,000 บาท แต่ทางสโมสรชี้แจงว่า ค้างค่าจ้างอยู่เพียง 23,000 บาท และขอจ่ายให้คนละ 15,000 บาท จากการไกล่เกลี่ยของศาล ได้ข้อตกลงจ่ายให้คนละ 18,000 บาท ส่วนนายศุภนิตย์ขอรับเงินเพียง 15,000 บาท โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการต่อรองกับทางสโมสร ส่วนนายเอกชัยที่เป็นนักเตะที่ได้เงินเดือนในขณะร่วมทีมสูงกว่านักเตะคนอื่น ทางสโมสรเสนอจ่ายเงินให้ 30,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากได้ข้อตกลงในการไกล่เกลี่ย ตัวแทนจากสโมสรฟุตบอลอุดรธานี ได้เสนอจะจ่ายเงินงวดแรกให้อดีตนักเตะทั้ง 6 คน คนละ 5,000 บาท ซึ่งศาลแรงงานภาค 4 อุดรธานี ได้นัดให้ทั้ง 2 ฝ่าย จ่ายและรับเงินงวดแรกที่ศาล ในวันที่ 5 พ.ย.นี้

(ไทยรัฐ, 29-10-2554)

เหยื่อหนีน้ำท่วมกรุงกลับบุรีรัมย์ แห่สมัครงานกว่า 3 พันคน

วันนี้ (31 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ว่างงานในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งแรงงานที่หนีภัยน้ำท่วมย่านอุตสาหกรรมในหลายจังหวัดภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อพยพกลับมายังภูมิลำเนา ได้แห่มาสมัครงานและลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดงานจังหวัด บุรีรัมย์ ซึ่งได้เปิดวันนัดพบแรงงานเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวในช่วงที่ โรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการในภาคกลาง กรุงเทพฯและเขตปริมณฑล ถูกน้ำท่วมต้องหยุดกิจการชั่วคราว
      
โดยได้มีนายจ้าง สถานประกอบการทั้งในและต่างจังหวัดกว่า 20 บริษัท มาให้บริการเปิดรับสมัครงาน และในจำนวนนี้มีหลายบริษัทที่พร้อมจะจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาอุทกภัยดังกล่าวด้วย ซึ่งการจัดนัดพบแรงงานในครั้งนี้ได้มีตำแหน่งงานว่างทั้งในและต่างจังหวัด ไว้รองรับมากกว่า 10,000 อัตรา ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานฝ่ายผลิต พนักงานขาย ช่างซ่อมไฟฟ้า ช่างซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ
      
ตลอดทั้งวันได้มีแรงงานที่ว่างงานตามฤดูกาลและแรงงานที่หนีภัยน้ำท่วม สนใจมาขึ้นทะเบียนและสมัครงานในครั้งนี้กว่า 3,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่หนีน้ำท่วมมาจากจังหวัดภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล มากกว่า 50%
      
นายอิทธิ คงวีระวัฒน์ จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดนัดพบแรงงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม โรงงาน หรือสถานประกอบการจากจังหวัดภาคกลาง เพื่อให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวมีงานทำมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวเพราะ บางรายที่อพยพกลับมาอยู่ภูมิลำเนายังไม่ทราบว่าจะได้กลับไปทำงานยังโรงงาน หรือสถานประกอบการเดิมหรือไม่
      
ดังนั้น เชื่อว่า การจัดนัดพบแรงงานในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่แรงงานที่ประสบอุทกภัย ในช่วงที่โรงงานถูกน้ำท่วมต้องหยุดกิจการชั่วคราวดังกล่าวด้วย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31-10-2554)

นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรี พร้อมรับแรงงาน 2 หมื่นคน เปิดศูนย์รับสมัครงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายวิบูลย์ กรมดิษฐิ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อมตะคอปอร์เรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมกระทบโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลาง ทางอมตะนคร ได้ร่วมมือกับกรมการจัดหางาน เปิดศูนย์รับสมัครงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และยังไม่มีงานรองรับในช่วงนี้ซึ่งเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนให้ประชาชน อย่างหนึ่ง

นิคมฯอมตะนครจังหวัดชลบุรี ร่วมกับนิคมฯอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง พร้อมรับแรงงานเพื่อเติมอีกประมาณ 20,000 คน เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตของโรงงานเดิมและนักลงทุนที่เข้าไปขยายโรง งาน ใหม่ ซึ่งมีแผนเพื่อกำลังการผลิตอีกประมาณ 80 โรง

จากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ได้สงผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่การลงทุนใน นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเสียหายจำนวนมาก แต่ยังเชื่อมั่นว่านักลงทุนต่างชาติมีความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังคาดหวังกับแนวทางการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความสูญเสียและเร่งพื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด เพราะนักลงทุนกำลังมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 31-10-2554)

กรมการจัดหางานแก้กฎคุมย้ายแรงงานเสรี

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทำให้จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ อย่างเสรีในประเทศกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย ทางกกจ.จึงได้เตรียมการรองรับในเรื่องนี้โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ศึกษาการแก้ไขและปรับปรุงระเบียบ กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 เพื่อดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้ให้สอดรับมาตรการรองรับการ เคลื่อนย้ายแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ ที่จะมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในไทย โดยขณะนี้ กกจ.ได้ร่วมกับ กพร.จัดทำร่างเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพของช่างฝีมือในสาขาต่างๆ อีกทั้งจะต้องดูแลในเรื่องของความปลอดภัยและการคุ้มครองแรงงานต่างชาติด้วย
      
ทั้งนี้ ตนได้มอบให้คณะทำงานฯ ไปหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศสังกัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะได้ทราบถึงแนวทางมาตรการรองรับในภาพรวมแล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ใน การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกันคาดว่าภายใน 1 ปีจะปรับปรุงกฎหมายแล้วเสร็จ จะเสนอต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
      
เมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นมาแล้ว แม้จะมีการให้แรงงานในสาขาอาชีพต่างๆอพยพได้อย่างเสรี แต่ก็คงไม่สามารถเข้ามาในไทยได้ง่ายๆ เพราะต้องมีกฎระเบียบในการดูแลชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในไทย เช่น แรงงานต่างชาติทุกคนต้องมีวีซ่าของคนที่จะเข้ามาทำงานไม่ใช่เข้ามาในฐานะนัก ท่องเที่ยว มีใบอนุญาตทำงานในไทย รวมทั้งจะต้องพิจารณาถึงวุฒิการศึกษา อาชีพ สัญญาจ้าง และทักษะฝีมือก็ต้องได้มาตรฐานตามที่ประเทศไทยกำหนดไว้อธิบดี กกจ.กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-11-2554)

หลายโรงงานในนิคมฯบางชันปิดชั่วคราว

สำหรับสถานการณ์ล่าสุด บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่ หลายโรงงานอาทิ โรงงานสหยูเนียน ฟาร์มเฮ้าส์เนสท์เล่ ฮอนด้า ยำยำ เดลี่ฟู้ดส์ และอื่นๆ นั้น ยังถือว่าสถานการณ์ปกติ โดยจากการตรวจสอบ ยังไม่มีน้ำเอ่อเข้ามาในพื้นที่ของนิคมฯ แต่อย่างใด ด้าน นายประภาส คล้ายศรี ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีโรงงานทั้งหมด 93 แห่ง มีพนักงานรวม 13,800 คน และมีมูลค่าการลงทุนจำนวน 19,844 ล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้ขณะนี้ โรงงานส่วนใหญ่ได้มีการสั่งปิดทำการชั่วคราวไปบ้างแล้ว และในส่วนที่ยังเปิดอยู่นั้น ก็เปิดดำเนินการผลิตเฉพาะช่วงเวลากลางวันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยต่างๆ มาประจำการตามจุดโดยรอบนิคมฯ เพื่อเฝ้าสังเกตสถานการณ์น้ำ และเป็นกำลังหลักในการช่วยวางแนวคันกั้นน้ำ รวมไปถึงเสริมแนวกระสอบทรายให้กับโรงงานต่างๆ ในบริเวณนี้ ตามที่ได้รับมอบหมายตามนิคมอุตสาหกรรมบางชันด้วย

(ไอเอ็นเอ็น, 2-11-2554)

โรงงานนอกนิคมฯอ่วม 2.4 แสนล้าน

วันนี้ (2 พ.ย.)  นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  ขณะนี้มีโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม หรือเป็นโรงงานที่ตั้งเดี่ยวๆ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งหมด 19,000 แห่ง รวมมูลค่าความเสียหาย 240,000 ล้านบาท  กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งโครงการคลินิกอุตสาหกรรมเพื่อการฟื้นฟูสถาน ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เข้าไปช่วยเหลือสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถพลิกฟื้นกลับคืน สู่ระบบการผลิตปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด คาดว่ามีผู้ประกอบการเข้าลงทะเบียน 5,000 ราย ใช้งบประมาณรวม 5๐๐ ล้านบาท
              
สำหรับเป้าหมายดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมทั่ว ประเทศ  รวม 29 จังหวัด ได้แก่  จ. สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครปฐม กำแพงเพชร ตาก กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เพชรบูรณ์  .สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เริ่มดำเนินการเดือนพ.ย.สิ้นสุดโครงการเดือนเม.ย.55

(เดลินิวส์, 2-11-2554)

สภานายจ้าง-ลูกจ้างโวยรัฐ ขอนั่งบอร์ดเยียวยาน้ำท่วม

 (3 พ.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน ได้มีการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย รวม 26 องค์กร โดยนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน พร้อมทั้งนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรมว.แรงงาน ร่วมประชุมเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง
      
นพ.สมเกียรติกล่าวหลังประชุมว่า ที่ ประชุมมีความเห็นร่วมกันที่จะให้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย โดยมีฝ่ายกระทรวงแรงงาน สภาองค์การนายจ้าง และสภาองค์การลูกจ้าง ทุกองค์กร เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่เดือดร้อน จากน้ำท่วม รวมทั้งตั้งตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 1-2 คน เพื่อเข้าไปเป็นกรรมการร่วมในคณะกรรมการเยียวยาเพื่อสังคมที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
      
ทั้งนี้ คณะกรรมการไตรภาคีกระทรงแรงงานจะจัดทำรายละเอียดในการจัดตั้งกองทุนช่วย เหลือฉุกเฉินนายจ้างและลูกจ้างที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปเหล่านี้ตนจะเสนอต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
      
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีตัวแทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ร่วมหารือด้วย โดยวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ไอแอลโอจะพาผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน พร้อมกับนายจ้างและลูกจ้าง หลังจากนั้นจะลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อเยียวยาและฟื้นฟู โดยจะเริ่มที่จังหวัดนครสวรรค์และลพบุรีก่อน เนื่องจากน้ำเริ่มลดลงแล้ว
      
นายสรยุทธ ศิริวรรณ ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานเสรีแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้นายจ้างและลูกจ้างได้รับความเดือดร้องอย่างมาก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับแค่ 75% ของค่าจ้างแต่ละเดือน ทำอย่างไรที่จะให้ได้เต็ม 100% รวมทั้งกรณีลูกจ้างไปทำงานที่อื่นชั่วคราว ก็ไม่อยากให้ถูกสถานประกอบการเดิมเลิกจ้าง
      
ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มากกว่า สภาองค์การนายจ้างและลูกจ้างทั้งที่พวกเราต่างได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน ซี่งมาตรการความช่วยเหลือควรจะต้องออกมาจากทุกภาคส่วนไม่ใช่มองแค่สภาอุตฯ อย่างเดียวนายสรยุทธกล่าว
      
ขณะที่นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับบทบาทของสภาองค์การนายจ้างและลูกจ้างมากขึ้น เพราะเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เนื่องจากหากเปรียบไปแล้วสภาองค์กรนายจ้างเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคล ซึ่งให้ความสำคัญแรงงานควบคู่ไปกับการจ้างงาน ขณะที่สภาอุตฯเขาดูแต่เครื่องจักร และการผลิต โดยอยากให้ทางสภาองค์การนายจ้างและลูกจ้างเข้ามามีบทบาทบ้าง เพราะทั้ง 2 สภานี้ทำงานและมีส่วนร่วมกับนายจ้างและลูกจ้างอย่างใกล้ชิด โดยข้อเสนอในวันนี้คืออยากให้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเข้าไปในรูปแบบของคณะ กรรมการ พร้อมกับกระทรวงแรงงานในรูปแบบไตรภาคี
      
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่มีความเป็นห่วงว่าหลังวิกฤติน้ำท่วมแล้วแรงงาน จะตก งานจำนวนมากนั้น นางสิริวันกล่าวว่า หากเป็นลูกจ้างในระบบนั้น ช่วงระหว่างน้ำท่วมจะไม่ตกงาน ห่วงแต่ลูกจ้างเหมาช่วงและลูกจ้างต่างด้าวที่อาจได้รับผลกระทบ ส่วนช่วงหลังน้ำท่วมนั้นคิดว่าผู้ประกอบการจะต้องการแรงงานจำนวนมาก และไม่อยากเสียแรงงานเก่า เพราะโรงงานปิดไปนานจึงต้องมีการเร่งการผลิต ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องรักษาแรงงานไว้ และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบประกันสังคมแทนนายจ้างและลูกจ้างใน บางส่วน
      
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมกรสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า โดย การออกเป็นคูปองแจกให้กับแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน เพื่อนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และขอให้รัฐบาลพักชำระหนี้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ เนื่องจากขณะนี้แรงงานได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมขาดรายได้จากการ หยุดงาน
      
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมโดยเฉพาะฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต่างออกมาคัดค้านเป็นเสียงเดียว กันว่า ไม่ควรที่จะลดเงินสมทบประกันสังคมเพื่อช่วยน้ำท่วม เนื่องจากเกรงว่าจะส่งกระทบต่อกองทุนในระยะยาว และยังเห็นว่าไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-11-2554)

ระวัง! นายหน้าหลอกไปทำงานอิสราเอล

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอิสราเอล โดยเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย ได้ลงนามความตกลงด้านแรงงาน เพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร ณ ประเทศอิสราเอล ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางานโดยประกาศรับสมัครบุคคลสัญชาติไทย อายุระหว่าง 23 - 39 ปี กำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2554 สำนักงานบริหารแรงงานไปต่างประเทศ สำนักจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1 – 10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่เนื่องจากปัจจุบันกรมการจัดหางานได้รับรายงานว่ามีบุคคล หรือสาย/นายหน้า ไปแอบอ้างกับคนหางานหรือผู้สมัครว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือกไป ทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล โดยมีพฤติกรรมเรียกเก็บเงินจากคนหางานหรือผู้สมัคร ซึ่งทางกรมการจัดหางานขอแจ้งให้ทราบว่า การดำเนินการคัดเลือก จะดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และเสมอภาค

หากมีผู้ใดแอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือก เพื่อไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล หรือมีพฤติกรรมในทำนองเดียวกันนี้โปรดอย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้ถูกหลอกจนสูญเสียทรัพย์สินเงินทองหรือไปตกระกำลำบากในต่าง แดน จึงประชาสัมพันธ์เตือนให้คนหางานหรือผู้สมัคร หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถสอบถามข้อเท็จจริงหรือแจ้งเบาะแสผู้มีพฤติกรรม หลอกลวงคนหางานได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือศูนย์มิตรไมตรี กรมการจัดหางาน โทร. 1694 สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเลย ศาลากลางจังหวัดเลย หลังเก่า ชั้น 2 โทร. 0-4281-1861 และ 0-4281-2594 -5

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 4-11-2554)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี: เห็นอะไรในสายน้ำ?

Posted: 04 Nov 2011 08:51 AM PDT

เห็นอะไรในสายน้ำ: เห็นการขาดบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำ เห็นปัญหาผังเมือง เห็นการแก้ปัญหาแบบ “กลัวชั้นในเปียก” เห็นความไม่สามารถในการสื่อสารกับประชาชน เห็นการขีดเส้นแบ่งความรับผิดชอบระหว่างการบริหารส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เห็นความขัดแย้งทางความคิดที่ร้าวลึกแบบไร้สติ เห็นสื่อยังคงคุณภาพในการเต้าข่าว เห็นความหลง อคติ และชิงชัง เห็นวิกฤติหลังวิกฤติ

เห็น การขาดบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำ  

การปล่อยให้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำสูงกว่าปรกติจนเข้าหน้าฝน ดูจะเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วม อันน่าจะเป็นผลจากวิสัยการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ต่างเป้าหมายของหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งได้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ต้องการเก็บน้ำไว้ทำไฟ กรมชลประทานที่เก็บน้ำเพื่อการเกษตร และกรมอุตุนิยมวิทยาที่พยากรณ์ดิน ฟ้า อากาศ

ส่วนที่ชี้นิ้วกันไปมาระหว่างฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลที่แล้ววางยาไว้ และมีอำนาจที่มองไม่เห็นจัดให้เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรืออีกฝ่ายที่บอกว่า เป็นเพราะรัฐบาลเองที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อต้นฤดูฝน ปริมาณน้ำในเขื่อนยังไม่มาก แต่ไม่ยอมระบายน้ำออกจากเขื่อนเพื่อเล็งผลเลิศเรื่องนโยบายจำนำข้าว จะเป็นกรณีไหน คงต้องรอให้ตอผุด หลังน้ำลด หากประเมินจากข้อมูลที่มองเห็นได้ ระยะเวลาสำคัญของการตัดสินใจเก็บหรือปล่อยน้ำเป็นช่วงคาบเกี่ยวของสองรัฐบาลที่วุ่นวายกับการหาเสียง และการเข้ารับตำแหน่งใหม่ ดังนั้นจึงอาจไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัฐบาลใดรัฐบาลเดียว

ห็น ปัญหาผังเมือง การขาดองค์ความรู้เรื่องน้ำที่เป็นระบบ และความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา

ความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการนำพื้นที่รับน้ำเดิมไปทำเป็นบ้านจัดสรร และนิคมอุตสาหกรรม คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับการวางผังเมือง

เมื่อน้ำท่วมได้กลายเป็นวิกฤติลุกลามไปทั่ว เราไม่เห็นภาพการใช้ประโยชน์จากนักวิชาการน้ำและผู้มีประสบการณ์เรื่องน้ำโดยภาครัฐ มีเพียงทีวีช่องต่าง ๆ เชิญนักวิชาการด้านน้ำมาให้ความรู้ ทำให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้ถูกนำไปสังเคราะห์ใช้

ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ตัดสินใจเลือกใช้คนที่มีความสามารถ มีทีมงานจัดระเบียบและระบบข้อมูล และการตัดสินใจที่ชัดเจนทันท่วงที แต่สิ่งที่เห็นคือ แม้แต่ในสถานการณ์เดียวกันก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น รมต. คนหนึ่งบอกว่าจะเจาะถนน อีกคนบอกเจาะไปก็ไม่เกิดประโยชน์ วันหนึ่งประกาศว่า รัฐบาลเอาอยู่ วันรุ่งขึ้น กทม.แถลงว่าวิกฤติแล้ว อีกวันโอ่ว่า 19 เขตใน กรุงเทพฯ จะรอด พอวันถัดมาบอกว่า 50 เขตไม่รอดแล้วครับพี่น้อง

เห็น การแก้ปัญหาแบบ “กลัวชั้นในเปียก”

แนวทางการแก้ปัญหาที่ใช้ตลอดมา คือการยกภาระของคนกรุงเทพให้คนจังหวัดอื่น  และการให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร คนเล็กคนน้อยที่ไม่มีปากเสียง ต้องเสียสละให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนมากเป็นผู้มีอันจะกิน อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรราคาแพง และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คนกลุ่มหลังจะได้รับความช่วยเหลืออย่างทุ่มเทใช้กำลังทรัพย์ป้องน้ำกันสุดฤทธิ์ แต่ดูเหมือนว่าน้ำเป็นสสารที่ไม่เข้าใจคำว่าสองมาตรฐาน ไม่เลือกคนจนคนรวย วิธีการให้คนอื่นรับน้ำแทนคุณดูจะไม่ได้ผลตามเป้า เพราะน้ำไปเยี่ยมเยียนทุกที่อย่างเท่าเทียม เฉลี่ยทุกข์อย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นชั้นนอกหรือชั้นในของกรุงเทพฯ

เพียงเมื่อน้ำทะเลหยุดหนุนสูงซึ่งหมายความว่าความเสี่ยงในการเผชิญภัยน้ำท่วมของเขตเศรษฐกิจที่เป็นไข่แดงลดลง ทั้งรัฐบาล และ กทม. ต่างออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าต่อไปนี้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ประชาชนกลับรู้สึกว่ามันสวนทางกับความจริง น้ำกำลังเอ่อท่วมกรุงเทพ “ชั้นใน” ที่เฝ้าปกป้องไม่ให้เปียกไม่ให้อับชื้นมานาน ทั้งมีปริมาณเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จนคนฝั่งธนฯ จะขอแยกเป็นจังหวัดปกครองตนเอง แถมตอนน้ำยังไม่เข้ากรุงเทพฯ รัฐบาลดันประกาศวันหยุดยาว ทำเอาคนแห่อพยพกันก่อนกาล พอน้ำเข้ามาจริง ๆ กลับไม่หยุดให้เสียแล้ว (แต่เห็นด้วยกับรัฐบาลนะคะ ที่ไม่ต่ออายุวันหยุดราชการ เพราะถ้าหยุดกันหมดใครจะช่วยเหลือประชาชน ปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของหน่วยงานแบบนี้ ดีแล้วค่ะ)

เห็น ความไม่สามารถในการสื่อสารกับประชาชน

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง หรือคนเสื้อสลิ่ม น้ำได้ทำให้ทุกคนเป็น หรือมีโอกาสเป็นคนเสื้อเปียกได้เหมือนกัน และอาการที่แทบทุกคนมีคล้ายคลึงกันคือสูญเสียความเชื่อมั่นใน ศปภ. เริ่มตั้งแต่บุคลากรหน้าจอที่ไม่มีความรู้เรื่องน้ำ เนื้อหา วิธีการ และรูปแบบขาดความเป็นมืออาชีพ แม้แต่โต๊ะเสนอข่าวก็จัดแบบขอไปที การนำเสนอแต่ละครั้งขาดการเตรียมพร้อม ไม่มีรูปแบบและเวลาของรายการที่ชัดเจน ปล่อยให้หน้าจอทีวีของช่อง 11 ถูกใช้อย่างไร้ประโยชน์  ที่สำคัญ ไม่มีข้อมูลสำคัญที่จะช่วยเอื้อต่อการตัดสินใจของประชาชน

ส่วน กทม. และผู้ว่าฯ เองไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ถนัดและชัดเจนที่สุดดูจะเป็นประโยคว่า “พี่น้องครับ ขอให้ประชาชนอพยพทั้งเขตครับ”

เห็น การขีดเส้นแบ่งความรับผิดชอบระหว่างการบริหารส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่ไม่ควรมีในภาวะวิกฤติ  

ถึงแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะมีผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ข้อเท็จจริงคือ น้ำไม่ได้ท่วมเฉพาะกรุงเทพฯ การไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯของผู้ว่าฯ ด้วยการบอกว่า ผู้ว่ากทม.มีหน้าที่รับผิดชอบต่อชาว กทม. ไม่ใช่รับผิดชอบต่อคนทั้งชาติ เป็นคำกล่าวที่หยาบคายมาก ความไม่มีเอกภาพระหว่างกทม. และรัฐบาลเป็นที่ประจักษ์ ปัญหาที่ประตูระบายน้ำคลองสามวาชี้ให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างแก้ปัญหาด้วยการเอาการเมืองเป็นตัวตั้ง ฝ่ายผู้ว่า ฯ กทม ต้องการปกป้องนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และพื้นที่ชั้นในอื่น ๆ ซึ่งเลือกพรรคปชป. ในขณะที่รัฐบาลต้องการเอาใจฐานเสียงของตนที่อาศัยอยู่ด้านเหนือของประตูระบายน้ำ

เห็น นักการเมืองทั้งสองขั้วต่างฉกฉวยโอกาสเพื่อโฆษณาตัวเอง แบบไม่ยอมลงทุน  

ภาพที่สังคมได้รู้ได้เห็นคือ การเอาของบริจาคไปเป็นของส่วนตัวโดยแปะชื่อนักการเมืองประหนึ่งตนเป็นนักบุญมาโปรด พฤติกรรมไร้รสนิยมเยี่ยงนี้มีให้เห็นจากนักการเมืองทั้งสองพรรคใหญ่ แต่แปลกใจเวลาคนด่า จะเลือกด่าเฉพาะพรรคที่เจ้าตัวเกลียดขี้หน้าอยู่เดิม

เห็น ความขัดแย้งทางความคิดที่ร้าวลึกแบบไร้สติ  

ถึงแม้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะแย่พอกัน ถึงแม้ทั้ง ศภป. นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และผู้ว่าฯ สุขุมพันธ์จะพูดไม่รู้เรื่องไม่ต่างกัน แต่ถึงเวลาตำหนิ ติเตียน ส่อเสียด จะจัดเต็มเฉพาะฝ่ายที่ตนชิงชัง นอกจากนี้ยังมีทั้งกลุ่มคนที่อาศัยสถานการณ์น้ำท่วมซาบซึ้งเกินพิกัด และอคติเกินบรรยาย หรือกลุ่มคนที่ปากบอกว่าเราควรสามัคคี แต่กดแชร์ กดไลค์ทุกประเด็นที่จะก่อความเสียหายให้ฝ่ายตรงข้าม

การเรียกร้องให้รัฐบาลและ กทม. ต้องแสดงความรับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมเป็นเรื่องสมควร เช่น ลดเงินเดือนตัวเองอย่างนักการเมืองหลายประเทศเค้าทำกัน แต่หากกดดันให้รัฐบาลลาออก ต้องถามกลับว่าจะให้ใครเข้ามาแก้ปัญหาในยามนี้ หรือที่เห็นเชียร์น้องทหารกันจังจะมีนัยแอบแฝง

เห็น สื่อยังคงคุณภาพในการเต้าข่าว 

น้ำท่วมครั้งนี้สื่อทีวีทุกช่องเน้นสรรพกำลังในการระดมและกระจายของบริจาคไปยังผู้ประสพภัย นับว่าเป็นการลงทุนต่ำแต่ได้ผลประชาสัมพันธ์สูง มีการทำข่าวโฆษณาสินค้าและโฆษณาตนเองอย่างแยบยล ในภาวะภัยพิบัติ สื่อยังคงเน้นพาดหัวแรงๆ เช่น กรุงเทพจมแน่ มุ่งรายงานและเสนอภาพข่าวกระตุ้นให้ตื่นตระหนก  สื่อไทยจะบอกว่าวิกฤติแล้ว ก่อนวิกฤติจะเกิดประมาณ 1 อาทิตย์ จนถึงเดี๋ยวนี้ ยังไม่เห็นสื่อตั้งคำถามถึงสาเหตุของน้ำท่วม อธิบายวิธีการแก้ปัญหาของภาครัฐให้เข้าใจได้ง่ายและช่วยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ แต่ยังคงทำข่าวแบบเน้นตัวบุคคล เช่น นายกฯ ร้องไห้ และส.ส. (ที่ตนเชียร์) แจกของ เป็นต้น

เห็น ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองของประชาชน

ข้อนี้ไม่ได้ประชดประชันเหมือนประโยคที่ถูกใจใครหลายคนว่า “ขอให้รัฐบาลอยู่เฉย ๆ ประชาชนจะดูแลรัฐบาลเอง” แต่เห็นจริง ๆว่า สังคมไทยในระดับชุมชนและท้องถิ่นมีความเข้มแข็งสูง และมีน้ำใจไม่เลือกสี เลือกข้าง เห็นได้ในหลายพื้นที่มีการรวมพลังทำอาหารให้ผู้อพยพ จัดอาสาสมัครช่วยเหลือกันเองอันน้ำใจไทยนั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้ประเทศอื่น แต่อย่ามั่วว่ามีแต่คนไทยเท่านั้นที่ช่วยกันยามทุกข์ยาก เพราะประเทศอื่นเค้าก็ช่วยเหลือกันไม่แพ้เรา

ส่วนพวกที่บอบบางเป็นพิเศษ ออกมาคร่ำครวญมากกว่าใครคือ คนชั้นกลางและผู้มีอันจะกิน บางคนน้ำยังไม่ท่วมหรือยังไม่เข้าบ้านด้วยซ้ำ ก็โวยวายประหนึ่งว่าชีวิตจะดับลงซะเดี๋ยวนั้น ส่วนประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ถูกให้รับน้ำแทนไปก่อนเป็นเดือน ที่อาจต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เป็นหนี้นอกระบบมหาศาล ดูเหมือนจะยอมรับธรรมชาติได้ดีกว่า

เห็น ความหลง อคติ และชิงชัง

น่าเสียดายที่การเลือกเชื่ออย่างที่ตนอยากเชื่อ โดยไม่คิดด้วยเหตุผล จะไม่ไหลลงทะแลไปพร้อมกับสายน้ำ แต่จะตกตะกอนขุ่นคั่กท่ามกลางจิตใจของคนจำนวนมาก และจะกลายเป็นชนวนใหม่แห่งความขัดแย้งของการเมืองไทยในปีหน้า

เห็น วิกฤติหลังวิกฤติ

หลังวิกฤติน้ำท่วมผ่านไป วิกฤติใหม่จะท้าทายรัฐบาล ทั้งการฟื้นฟูชีวิต จิตใจของผู้ประสบภัย ของเศรษฐกิจ และสังคม สังคมไทยจะเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารที่แหล่งผลิตถูกน้ำท่วม ปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ ภัยหนาวในภาคเหนือและภาคอีสาน ปัญหาโรคระบาด ปัญหาซ่อมแซมสาธารณูปโภค ถนน หนทาง บ้านเรือนและอื่น ๆ

แต่ทั้งนี้ก็ไม่อยากเห็นรัฐบาลเร่งรีบประกาศใช้เงินมหาศาลชุบตัวประเทศ ตั้งแต่ยังไม่มีแผนการจัดการน้ำที่ท่วมอยู่ และยังไม่รู้ว่าน้ำจะลดเมื่อไหร่ เพราะจะทำให้เกิดคำครหาว่าอยากงาบงบประมาณจนน้ำลายไหลปนน้ำท่วม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘แอนดรูว์ มาร์แชล’ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง 'เอกยุทธ อัญชันบุตร'

Posted: 04 Nov 2011 05:18 AM PDT

'แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล' เขียนจดหมายถึง 'เอกยุทธ อัญชันบุตร' ต่อข้อครหา "ฝรั่งนั่งเทียนเขียนด่าประเทศไทย" โต้อย่าใส่ความโดยไม่มีหลักฐาน แจง ประชาชนไทยฉลาดพอที่จะตัดสินได้เองว่าใครคือศัตรูของประเทศ

วันนี้ (4 พ.ย. 54) ‘แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล’ นักข่าวอิสระและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยโดยใช้ข้อมูลในโทรเลขวิกิลีกส์ “Thaistory” ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง เอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ สืบเนื่องจากการโพสต์ข้อความดูถูกสตรี โดยกล่าวถึง “สาวเหนือ” ที่ “ไร้ปัญญา” และ “ขี้เกียจ” ว่าควรไปทำหน้าที่ “ขายบริการ”

Andrew Marshall fb post on Akeyuth

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 54 เอกยุทธ อัญชันบุตร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กพาดพิงถึงแอนดรูว์ มาร์แชลว่า “มีนักข่าวที่รับจ้างนั่งเทียนเขียนด่าประเทศไทยและคนที่ต่อต้านพวกตระกูลโกงเมือง เขียนบทความเกี่ยวกับข้อความผม โดยอ่านภาษาไทยยังไม่ออก แต่แปลเป็นภาษาอังกฤษ...ฝรั่งหน้าโง่เอ้ย” 

Akeyuth Anchanbutr fb post

แอนดรูว์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสรอยเตอร์ และปัจจุบันประจำอยู่ประเทศสิงคโปร์ จึงได้เขียนจดหมายเปิดผนึกบนหน้าเฟซบุ๊ก และแปลเป็นภาษาไทย ดังนี้

0000
 
เรียนคุณเอกยุทธ
 
ผมรู้สึกสนใจที่ได้อ่านความคิดเห็นล่าสุดบนเพจเฟซบุ๊คของคุณที่คุณได้เรียกผมว่า "ฝรั่งหน้าโง่" และกล่าวหาว่าผมได้รับเงินเพื่อบ่อนทำลายประเทศไทยและใครก็ตามที่ต่อต้านทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวของเขา ดูเหมือนว่าคุณจะไม่พอใจเพราะผมได้วิพากษ์วิจารณ์ข้อความอันน่าทึ่งของคุณเมื่อเร็ววันนี้ ที่คุณกล่าวว่าสาวเหนือที่ไร้การศึกษาและขี้เกียจนั้นควรจะทำงานขายบริการ และได้บอกเป็นนัยอีกว่านายกรัฐมนตรีของประเทศคุณนั้นควรจะเลือกทำอาชีพนี้ ผมถือว่าความคิดเห็นเช่นนี้นั้นน่ารังเกียจยิ่ง และผมก็กล่าวไปเช่นนั้น
 
วิกฤติทางการเมืองอันซับซ้อนที่ได้แบ่งแยกประเทศไทยในทศวรรษที่ผ่านมานั้นมีหลายมิติ และไม่สามารถทำให้ดูไม่ยุ่งเหยิงโดยง่าย แต่ข้อคิดเห็นของคุณนั้นเป็นตัวอย่างของทัศนคติที่อยู่ในใจกลางของวิกฤตินี้ ชาวไทยบางส่วนเชื่อว่าผู้ที่มีทรัพย์สินและฐานะที่มั่งคั่งนั้น สมควรได้รับความเคารพมากกว่าผู้อื่น มีอำนาจทางการเมืองมากกว่าผู้อื่น และไม่สมควรอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับผู้อื่น พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องสนุกที่จะล้อเลียนและข่มเหงคนจน และปฏิบัติต่อเพศสตรีด้อยกว่าบุรุษ พวกเขาไม่เชื่อในสังคมที่เท่าเทียมกัน พวกเขาเชื่อในสังคมเจ้าขุนมูลนายที่มีพวกเขาอยู่บนยอดสุด
 
คนไทยส่วนอื่นนั้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ในการได้รับความเคารพและเกียรติที่เท่าเทียมกัน มีสิทธิ์ที่จะได้รับการนับคะแนนเสียงทางประชาธิปไตย และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปฏิบัติภายใต้กฎหมายเท่าๆกัน พวกเขาเชื่อในสังคมประชาธิปไตยที่เท่าเทียม ซื่อสัตย์ ไม่มีสองมาตรฐาน
 
ผมได้ลาออกจากงานที่รอยเตอร์ในเดือนมิถุนายนของปีนี้ หลังจากที่ใช้เวลา 17 ปี เป็นผู้สื่อข่าวนานาชาติ เพื่อที่ผมจะได้เขียนเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างเปิดเผยและซื่อตรง ผมทำเช่นนี้เพราะผมรักประเทศไทยจากใจจริง และผมเชื่อว่าประเทศไทยนั้นมีศักยภาพมหาศาลเมื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันแล้ว ผมยังเชื่ออีกว่าประชาชนชาวไทยนั้นมีสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริงเกี่ยวกับการเมืองและประวัติศาสตร์ของพวกเขา แทนที่จะเป็นคำโกหกที่คนที่มีอำนาจมักจะชอบกล่าว ไม่มีใครจ่ายเงินให้ผมทำสิ่งนี้ และแน่นอน การทำแบบนี้นั้นเป็นการเสียสละทางการเงินพอสมควร แต่ผมก็รู้สึกยินดีกับการตัดสินใจนี้ เพราะผมเชื่อว่าคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นมีความสำคัญและมีค่ามากกว่าเงิน
 
มันน่าผิดหวังที่ได้เห็นคุณได้กล่าวอ้างอย่างผิดๆ ว่าผมได้รับเงินมาเพื่อบ่อนทำลายประเทศไทย บางทีคุณอาจอธิบายได้ - อะไรที่ผมเขียนได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทย? มันดูแปลกสำหรับผมที่ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายได้ขนาดนี้ และอีกข้อคือ คุณมีหลักฐานอะไรที่จะมาพิสูจน์คำกล่าวอ้างของคุณที่ว่าผมได้รับเงินจากศัตรูของประเทศไทย? ผมรู้คำตอบสำหรับคำถามนี้: คุณไม่มีหลักฐาน เพราะมันไม่มีหลักฐาน เพราะว่ามันไม่ใช่ความจริง
 
ผมเคยคิดว่าคนที่มีภูมิหลังอย่างเช่นคุณจะใช้ความระมัดระวังมากกว่านี้ ก่อนที่จะพยายามป้ายสีผู้อื่น ในเมื่อภูมิหลังส่วนตัวคุณนั้นดูน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่าบริษัทชาร์เตอร์อินเวสต์เมนต์ของคุณนั้นเป็นธุรกิจแชร์ผิดกฎหมาย คนไทยธรรมดาหลายๆคนนั้นถูกทำลายชีวิตลงเมื่อบริษัทล้มละลายไปในปีพ.ศ. 2526 ในขณะคุณหลบหนีไปยังสหราชอาณาจักรและใช้ทรัพย์สินที่คุณขโมยมาจัดตั้งเครือร้านค้า คุณรอเวลา 20 ปีเพื่อที่คดีความจะหมดอายุ และคุณก็กลับมายังประเทศไทย
 
ในตอนนี้ดูเหมือนคุณจะเชื่อว่าคุณมีสิทธิที่จะออกความเห็นชี้ขาดทางศีลธรรมเกี่ยวกับผู้อื่น และไม่ควรมีใครมาวิพากษ์วิจารณ์คุณ ผมไม่เห็นด้วย
 
ประชาชนของประเทศไทย รวมไปถึงประชาชนทางเหนือและทางใต้และทุกๆจังหวัด นั้นเฉลียวฉลาดพอที่จะตัดสินได้สำหรับตัวพวกเขาเอง พวกเขาสามารถอ่านความคิดเห็นของคุณ และอ่านคำตอบของผม และตัดสินว่าใครคือศัตรูตัวจริงของความเจริญ ความซื่อสัตย์ และประชาธิปไตยในประเทศไทย
 
ด้วยความจริงใจ 
 
Andrew MacGregor Marshall

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคประชาชนเชียงใหม่รวมพลังประณาม “เอกยุทธ”

Posted: 04 Nov 2011 03:21 AM PDT

องค์กรภาคประชาชนในเชียงใหม่ร่วมประณามข้อความเอกยุทธ อัญชันบุตร พร้อมยืนยัน “พนักงานบริการ” มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ได้โง่
 
 
วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2554) เวลา 10.30 น. บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ หลายองค์กรด้านสตรี รวมถึงองค์กรต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ได้รวมตัวกันแถลงประณามข้อความของนายเอกยุทธ อัญชันบุตรที่โพสต์ลงในเฟซบุค โดยต่างยืนยันว่าข้อความดังกล่าวเป็นการดูถูกและทำลายความเป็นมนุษย์ของคนที่ทำอาชีพ“พนักงานบริการ” และดูถูกผู้หญิงชาวเหนือด้วย
 
จากกรณีนายเอกยุทธ อัญชันบุตรโพสต์ข้อความลงเฟซบุ้ค (ดูข่าวเก่า)  ในวันนี้ องค์กรต่างๆ ในเชียงใหม่หลายองค์กร เช่น กลุ่มพลังผญ๋าแม่ญิงล้านนา มหาวิทยาลัยล้านนา มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กลุ่มพัฒนาสตรีเชียงใหม่ ทีมงานของสมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงเสื้อแดง ได้ทยอยมารวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ รวมแล้วราว 200 คน
 
กิจกรรมมีทั้งการเขียนข้อความคัดค้านนายเอกยุทธบนป้าย แจกแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยล้านนา (ดูล้อมกรอบด้านล่าง) การกล่าวประณามข้อความของนายเอกยุทธและเรียกร้องให้เขามาขอขมาต่อสตรีชาวเหนือ โดยข้อความที่กลุ่มผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมเขียน มีอย่างเช่น “สตรีเชียงใหม่มีศักดิ์ศรี...ไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นเหยียดหยาม” “ฉันรักเพศแม่” “เรารักศักดิ์ศรี ให้เกียรติคนเพศแม่” “หยุด! ดูหมิ่นศักดิ์ศรีสาวเหนือ” “เราชาวเหนือ รักศักดิ์ศรีของคนล้านนา” หรือแม้แต่ข้อความที่คัดลอกมาจากข้อความของนักเขียนชื่อดัง อย่างคำ ผกา

จากนั้นนางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 พรรคเพื่อไทย ได้แถลงความเห็นว่า ตนได้ตีความหมายข้อความนี้ว่ากำลังดูถูกเหยียดหยามเกียรติของผู้หญิงภาคเหนือมาก โดยอันที่จริงแล้วการขายตัวเป็นอาชีพสุจริต คนขายตัวก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกอาชีพล้วนต้องอาศัยความเพียร อาศัยทักษะ อาศัยความอดทนทั้งสิ้น ผู้หญิงขายตัวก็มีศักดิ์ศรีเท่ากัน เป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันในประเทศประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่าจะอาชีพใดก็มีคุณค่ามากกว่าคนที่ตัดสินคนอื่นว่าด้อยปัญญาอย่างที่นายเอกยุทธทำ และแม้จะไม่สามารถทำให้นายเอกยุทธเปลี่ยนมุมมองหรือวิธีคิดได้ แต่อยากให้นายเอกยุทธใคร่ครวญสักนิดก่อนที่จะเขียนหรือกล่าวพาดพิงถึงใคร ควรจะให้มีความสมเหตุสมผล และไม่ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนอื่น
 
นางสาวทัศนีย์กล่าวต่อว่า ตนอยากเรียกร้องให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันประณามและต่อต้านพฤติกรรมของนายเอกยุทธ เพื่อให้นายเอกยุทธออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และขอโทษต่อสตรีชาวเหนือ มิเช่นนั้นองค์กรชาวเหนือกลุ่มต่างๆ จะดำเนินคดีต่อการกระทำนี้อย่างถึงที่สุด และจะยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมจากสังคมไทย หากมีการเพิกเฉยพฤติกรรมดูถูกเหยียดหยามสตรีชาวเหนือแบบนี้อีก
 
ขณะที่นางสาวมาลี (ขอสงวนนามสกุล) ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานกับ “พนักงานบริการ” ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าทางคนทำงานในมูลนิธิล้วนไม่พอใจกับข้อความของนายเอกยุทธ เพราะพนักงานบริการไม่ใช่คนโง่แบบที่นายเอกยุทธกล่าวหา พวกเธอมีทักษะต่างๆ ในการดำเนินชีวิต บางคนพูดได้หลายภาษา บางคนขยันเรียนจนจบการศึกษา และการทำงานบริการไม่ได้หมายถึงการให้บริการทางเพศอย่างเดียว ซึ่งคนภายนอกมักมองคนกลุ่มนี้แต่เรื่องเซ็กซ์ แต่งานบริการมีความหมายตั้งแต่การไปกินอาหาร ไปเป็นเพื่อนเที่ยว หรือการดูแลให้คนที่รับบริการมีความสุข
 
พนักงานบริการจึงเป็นอาชีพหนึ่งเหมือนอาชีพอื่นๆ มีเวลาเข้าออกงานเหมือนกัน อยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน และเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจเหมือนกับทุกๆ คน อาชีพนี้จึงควรได้รับความคุ้มครองดูแลเหมือนกับอาชีพอื่นๆ แรงงานแบบอื่นๆ และคนทำงานบริการก็มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พวกเธอไม่ได้ไปขโมยของใคร ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน  ถ้านายเอกยุทธจะด่าใครก็ควรด่าตรงๆ ไม่ใช่ด่าไปทั่วแบบนี้ และควรรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูด ถ้าเขามีความเป็นลูกผู้ชายเพียงพอ และอยากให้ลองคิดกลับกัน ว่าถ้าคนอื่นไปด่าเขาว่าโง่ เขาจะรู้สึกอย่างไร
 
สำหรับมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เป็นองค์กรที่ส่งเสริมโอกาสให้"พนักงานบริการ"ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม เรียกร้องต่อสู้ให้งานบริการมีความปลอดภัย ยุติธรรม มีมาตรฐาน ในประเทศไทย มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้พนักงานบริการได้มีการเรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ กศน. เรียนคอมพิวเตอร์ ให้คำปรึกษาเรื่องการไปทำงานต่างประเทศ ทำวีซ่า สุขภาพเกี่ยวกับการทำงาน และรวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมาย สิทธิต่างๆ และมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ กรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต (http://www.empowerfoundation.org/)
 
นอกจากนั้นในช่วงบ่ายผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกลุ่มพลังผญ๋าแม่ญิงล้านนาได้เดินทางไปฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเป็นทางการต่อนายเอกยุทธในข้อหาหมิ่นประมาท ที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงค์ราชนิเวศน์ด้วย อีกทั้งในวันเดียวกันนี้ยังมีเครือข่ายแม่ญิงพะเยาเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเพื่อประณามนายเอกยุทธ อัญชันบุตรเช่นกัน
 
 
 
 
 
 
แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งล้านนา
 
เรื่อง ขอประนามทัศนะของนายเอกยุทธ อัญชันบุตรที่ดูหมิ่นสตรีล้านนาและนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย

จากกรณีที่นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ออกมากล่าวเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 นี้ ว่า

“ไม่อยากจะกล่าวคำแบบนี้ เพราะจะดูเสมือนดูถูกสตรี..แต่ในความเป็นจริงนั้น..สาวเหนือที่ไร้การศึกษาหรือขี้เกียจ และด้อยปัญญา จะมาทำงานสบายที่หญิงปกติไม่ทำกัน..หลักๆก็คือขายบริการ..ฉะนั้นสาวเหนือที่ไร้สติปัญญาและโง่เขลาขนาดหนักแต่หน้าด้านมารับตำแหน่ง ก็ควรจะรู้นะว่าอาชีพอะไรที่เหมาะแก่คุณ?...” และ “ตำแหน่งนายกฯนั้น ไม่ใช่ของครอบครัว..และไม่ใช่ที่ฝึกหัดงาน..หากไร้ปัญญาก็อย่าหน้าด้านมารับตำแหน่ง...”

 
เราคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งล้านนารู้สึกเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง คิดไม่ถึงว่าจะมีคนไทยคนใดออกมากล่าวถ้อยคำเช่นนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ประชาชนไทยหลายล้านคนโดยเฉพาะในเขตภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ต้องประสบปัญหาจากภัยน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ
 
ข้อที่หนึ่ง ถ้อยคำของนายเอกยุทธที่ดูหมิ่นเหยียดหยามสตรีภาคเหนือว่าคนที่ไร้การศึกษา หรือคนที่ขี้เกียจและด้อยปัญญาชอบงานสบายคือขายตัวนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ
 
1.สตรีภาคเหนือก็เหมือนสตรีภาคอื่นๆ ทั่วโลก นั่นคือเป็นคนมีสติปัญญา ต่อสู้ดิ้นรน ไม่กลัวงานหนัก รักครอบครัว รับผิดชอบต่อครอบครัวและส่วนรวม ในสังคมไทยยุคก่อนที่ประเพณีการแต่งงานคือชายเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง และสังคมไทยไม่มีนามสกุล ทำให้หญิงกับชายมีฐานะและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ต่างคนต่างช่วยกันทำงานสร้างครอบครัวและสร้างสรรค์สังคม กระทั่งในหลายกรณี หญิงมีบทบาทมากยิ่งกว่าชาย สตรีในสังคมเช่นนี้มีบทบาทโดดเด่นแตกต่างจากสังคมบางแห่งที่ยกย่องให้ชายเป็นใหญ่และกดขี่หญิงให้เป็นเช่นทาส ไร้สิทธิไร้เสียง
 
2. ในรอบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีที่ขยายตัวได้กระตุ้นให้เกิดการค้าโสเภณี มีการล่อลวงหญิงจากต่างจังหวัดเข้าไปเป็นโสเภณีในเขตเมืองหลวงและลามออกไป การกล่าวว่าสตรีภาค เหนือขี้เกียจ โง่เขลา และชอบงานสบายเลยไปขายตัวจึงเป็นการโป้ปดและดูถูกกันอย่างรุนแรง

3. โลกทุนนิยมเสรีทุกวันนี้ยังคงมีการหลอกลวงและบีบบังคับสตรีจากทุกสังคมให้เข้าสู่ธุรกิจการขายตัว ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะภาคเหนือ สตรีชาวเหนือมีปัญญา ไม่เคยเกี่ยงงาน หาเงินเลี้ยงครอบครัวในทุกสาขาอาชีพ ขณะที่เขียนแถลงการณ์นี้ ก็มีสตรีชาวเหนือจำนวนหลายคันรถที่สละเวลาไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคกลางและกรุงเทพฯ คนที่ไปไม่ได้ก็ช่วยกันบริจาคสิ่งของตามจุดต่างๆในแทบทุกอำเภอของภาค

ข้อที่สอง การที่นายเอกยุทธกล่าวในทำนองนายกฯหญิงของไทยไร้สติปัญญาและโง่เขลาอย่างมากทั้งหน้าด้านมารับตำแหน่ง และกล่าวว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์น่าจะรู้ว่าอาชีพอะไรเหมาะกับตัวเองจึงไม่ใช่เพียงการดูถูกสตรีชาวเหนือคนนี้ หากยังเป็นการดูถูกประชาชนไทยส่วนใหญ่ว่าโง่เง่าที่เลือกน.ส. ยิ่งลักษณ์ให้เป็นนายก รัฐมนตรี และดูถูกสติปัญญาของคนไทยทั้งประเทศในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาที่ยังคงยินยอมให้เธอบริหารประเทศต่อไปในฐานะนายกรัฐมนตรี นี่เป็นทัศนะที่ต่ำทรามและไม่สร้างสรรค์อย่างที่สุด

คำกล่าวของนายเอกยุทธช่วยเปิดด้านที่หยาบช้าและเลวร้ายในสติปัญญาของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการดิสเครดิตผู้นำของรัฐบาลและหวังสร้างความปั่นป่วนในสังคม เอาปัญหาอคติทางเพศ ปัญหาสังคมและปัญหาการเมืองมาพันกัน หวังทำลายสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยในปัจจุบันด้วยการด่ากราดสตรีชาวเหนือและหมิ่นแคลนนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่ทุกๆฝ่ายควรจะช่วยกันแก้ไขวิกฤตปัญหาน้ำท่วมให้มากที่สุด

คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งล้านนาขอประณามคำกล่าวและทัศนะของนายเอกยุทธ อัญชันบุตรในครั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันประณามทัศนะกดขี่ทางเพศ ทัศนะที่ดูถูกประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และทัศนะที่ดูถูกเหยียดหยามและเหยียบย่ำคนที่เป็นผู้นำของประเทศ

นายเอกยุทธจะต้องกล่าวขอขมาต่อสตรีชาวเหนือ ต่อนายกรัฐมนตรี และต่อประชาชนไทยอย่างเป็นทางการ พี่น้องคนไทยจะต้องร่วมกันคัดค้าน อย่าให้ทัศนะที่ผิดพลาดร้ายแรงครั้งนี้ดำรงอยู่อีกต่อไปในสังคมไทย.

คณาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งล้านนา
 
รศ.ดร.รังสรรค์  จันต๊ะ
อ.สมชาย  ประทุมเมศร์
อ.สุทธิวัฒน์  วงศ์รังสรรค์
อ.ภูรินทร์ เทพเทพินทร์
อ.วัชระ  ศรีสรรค์
อ.สมจินต์  รักยุติธรรม
อ.พลดี  มงคล
ศ.ดร.ธเนศวร์  เจริญเมือง
 
3 พฤศจิกายน 2554
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อญี่ปุ่นส่งออก “นิวเคลียร์”

Posted: 04 Nov 2011 02:07 AM PDT

พลันที่ เหวียน เติ๋น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม จับมือกับ โยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียวซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่น 4 วัน ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 254 ถือว่าสัญญาระหว่างเวียดนามและญี่ปุ่นในข้อตกลงให้ญี่ปุ่นสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเวียดนาม และเป็นสัญญาณของการส่งออกนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น

เวียดนาม มีแผนจะสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์ 15-16 เตา ในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2574) โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกกำหนดจะสร้างที่เมืองนิญ ทวน (Ninh Thuan) ในภาคกลางตอนล่าง ซึ่งห่างจากประเทศไทยจากจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ เพียง 800 กิโลเมตร เท่านั้น ในการนี้รัฐสภาของเวียดนามได้อนุมัติแผนการสร้างในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552

อนึ่ง แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิญ ทวน มี 2 โครงการ โดยนิญ ทวน 1  เลือกใช้เทคโนโลยีจากรัสเซีย ของบริษัท รอสะตอม (Rosatom) ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์ 2 เตา เตาแรก มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ กำหนดเดินเครื่องในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า และในปีถัดไป เตาที่ 2  จะเริ่มเดินเครื่องเช่นกัน  ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นิญ ทวน 2 เลือกใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ของบริษัท Japan Atomic Power ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองโตไกมูระ และเมืองซึรุกะ ในญี่ปุ่น โดยรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ได้ลงนามความตกลงในวันที่ 30 กันยายน 2554 ให้บริษัท Japan Atomic Power ศึกษาความเป็นไปได้ โดยใช้เวลา 18 เดือน ด้วยเงินทุน 26.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งโครงการนิญ ทวน 2 กำหนดจะดำเนินการในปี พ.ศ.  2563 และ 2573 ตามลำดับ 

วิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ-ไดอิจิ ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ แทนที่จะทำให้โครงการดังกล่าวได้ทบทวนแผนการ แต่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเวียดนามกลับเปิดเผยว่าเหตุการณ์ในญี่ปุ่นจะไม่ทำให้เวียดนามต้องชะลอการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ที่ นิญ ทวน   โดยระบุว่า ปัญหาในญี่ปุ่นจะเป็นประโยชน์ต่อแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเวียดนาม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งชาติของเวียดนาม ได้เสนอให้รัฐบาลลดขนาดโครงการลง และให้เลื่อนการก่อสร้างออกไปอีกใน 10 ปีข้างหน้า แต่รัฐบาลเวียดนามยังคงเดินหน้าตามแผนการเดิม เพียงแต่ลดขนาดโรงไฟฟ้าลง และแยกโครงการออกเป็น 2 ระยะ (เฟส) โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระยะที่ 1 ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 2 โรง มีเตาปฏิกรณ์แห่งละ 1 เตา มีกำลังผลิตหน่วยละ 1,000 เมกะวัตต์ โดยจะใช้ค่าก่อสร้าง16,000-18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้เดิม 3 เท่าตัว

ผู้เชี่ยวชาญของเวียดนามมีความกังวลประเด็นการกำจัดกากนิวเคลียร์ภายหลังการเดินเครื่อง 10 ปี ซึ่งจะมีกากของกัมมันตภาพรังสีจำนวนมหาศาล อีกทั้งภายในเวียดนามเองยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง อันจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของโรงไฟฟ้า และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนชาวประมง

ในวันที่ 18 สิงหาคม 2554 นักวิทยาศาสตร์เวียดนาม นำโดย ดร. เจิ่น เติ๋น วัน (Trần Tấn Văn) ได้พบรอยเลื่อนขนาดใหญ่ถึง 2 แนวในแถบชายทะเลเมืองนิญ ทวน โดยเรียกว่า รอยเลื่อน “เสือย เมีย” (Suối Mia) และ "หวีญ หาย" (Vĩnh Hải) รอยเลื่อนทั้งสองแห่งยังมีการเคลื่อนตัว ทั้งนี้ รอยเลื่อนเสือยเมีย พบรอยแยกยาว 1.52 กิโลเมตร ตัดผ่านแนวหินแกรนิตใต้ท้องทะเลในอ่าวนิญ ทวน และ รอยเลื่อยหวีญหาย ปรากฏเป็นแนวแยกยาว ตัดเกาะเฮินแด่ว (Hơn đèo) และเกาะอื่นๆ ให้แยกออกจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวจะส่งผลต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุนแรงกว่าโรงไฟฟ้าที่ฟูกูชิมะ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่ฟูกูชิมะอยู่ห่างแนวแผ่นดินไหว และการค้นพบนี้ ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับชาวเวียดนามและประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันธรณีวิทยาและแหล่งแร่ของเวียดนาม ได้เสนอให้ทางการย้ายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปที่ตั้งบริเวณอื่น หรือให้เลื่อนเวลาก่อสร้างออกไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่  31 ตุลาคม 2553  นายนาโอโตะ คัง อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ลงนามในสัญญามูลค่า มูลค่า13.2ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,000,000,000,000 ล้านเยนเพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 2 แห่งในเวียดนาม โดยมีนายดิมิทรี เมดเดเวฟ ประธานาธิบดีรัสเซีย เป็นพยาน

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 นายกรัฐมนตรี เหวียน เติ๋น สุง ของเวียดนาม ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่น 4 วัน ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายโยชิฮิโกะ โนดะ ที่กรุงโตเกียว โดยนายโนดะ ให้คำมั่นจะช่วยก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 แห่งในเวียดนาม ตามข้อตกลงในเดือนตุลาคม 2553

ในการประชุมของผู้นำทั้งสองประเทศในครั้งนี้ จะมีการหารือถึงการส่งออกนิวเคลียร์ และอาจมีข้อตกลงในโครงการอื่น ซึ่งแหล่งข่าวรัฐบาลในญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลเวียดนามเคยระบุว่า หากญี่ปุ่นช่วยเหลือเงินลงทุนในโครงการ 7 โครงการของเวียดนาม อาทิ ไฮเทค ปาร์ค สนามบินนานาชาติ  ทางด่วนแนวจากใต้ถึงเหนือ โครงการพัฒนาแร่เลอาร์ท  เป็นต้น เวียดนามจะรับซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากญี่ปุ่น  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อประสบปัญหานิวเคลียร์ภายใน ญี่ปุ่นจึงมีแนวคิดส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยให้ความช่วยเหลือพัฒนาทางการของญี่ปุ่น (ODA) อันเป็นการช่วยเหลือทางการเงินและเทคนิค เพื่อขายนิวเคลียร์ ซึ่งชาวญี่ปุ่นไม่เห็นด้วย  เพราะเงินดังกล่าวมาจากภาษีประชาชน

อย่างไรก็ตาม นายเกวียน ซวน ฮุก รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่น ชื่อ มายนิจิ ว่า เวียดนามและญี่ปุ่นจะมีการตกลงที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสองแห่ง โดยใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่นตามข้อตกลงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยมีเงื่อนไขว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องแก้ไขในเงื่อนไข 6 ข้อ เช่น ต้องใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยและทันสมัยที่สุด และการจัดการขยะนิวเคลียร์ เป็นต้น และยังเผยอีกว่า ข้อตกลงในการปล่อยกู้เพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ตกลงกันได้แล้ว

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวในประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นรับปากประเทศเวียดนามว่า จะนำกากไปทั้งที่ญี่ปุ่น  และมีรายงานอีกว่า เวียดนามได้เตรียมการสำหรับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเตรียมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 1,000 คน เพื่อประจำการในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 แห่ง ใน 30 ปีข้างหน้า และยังจะตรากฎหมายบริการจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกหลายฉบับ

ประสบการณ์ที่ถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ ผู้คนล้มตายจำนวนมหาศาล  มีผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 จนกระทั่ง ปัจจุบัน ก็ยังแสดงผล ประสบการณ์เลวร้ายครั้งนั้น ไม่ได้ทำให้คนญี่ปุ่นในเวลาต่อมาเกิดความตื่นกลัว มหันตภัย ทำราวกับว่าการทิ้งระเบิดเมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 ไม่เคยเกิดขึ้น แม้สภาพทางธรณีวิทยาของญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาแผ่นดินไหวมาโดยตลอด ญี่ปุ่นก็ยังสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นหลายต่อหลายแห่ง ในหลายเมือง และแม้จะเกิดอุบัติเหตุทั้งเล็กและใหญ่หลายต่อหลายครั้ง

เหตุผลหลักที่ทำให้ญี่ปุ่นดูเหมือนไม่ยี่หระต่อมหันตภัยจากนิวเคลียร์ เป็นเพราะความต้องการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน และญี่ปุ่นก็ก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก รวมกลุ่มอยู่ประเทศในอเมริกาและยุโรป เป็น กลุ่ม G7 และเนื่องจากเป็นชาติที่พลเมืองมีความเด็ดเดี่ยวเด็ดขาด นัยว่าเป็นสายเลือดบูชิโด ทำให้ประชาชนของประเทศนี้มีระเบียบวินัยอย่างสูง เชื่อในการนำของรัฐบาล และก็ด้วยคุณลักษณะดังกล่าว จึงทำให้ญี่ปุ่นก้าวกระโดดในทุกมิติที่ประเทศนี้ตั้งเข็มมุ่ง

แม้อุบัติเหตุครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ-ไดอิชิ และผลกระทบก็ยังคุกรุ่นอยู่จนปัจจุบัน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็สามารถสยบความวุ่นวาย ตลอดจนกุมการนำในหมู่ประชาชน ก็ด้วยความมีระเบียบและเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยนี่เอง ทำให้ผลกระทบเลวร้าย และไม่สามารถเผยแพร่สู่สาธารณะ หรืออีกนัยหนึ่ง ประชาชนญี่ปุ่นถูกปิดหูปิดตา ด้วยสื่อสารมวลชนไม่กล้านำเสนอในสิ่งที่จะสร้างความตื่นตระหนกในสังคม แต่กระนั้น ก็ยังมีกลุ่มคนที่มองเห็นความมหันตภัย และทนไม่ได้กับการนำของรัฐบาล จึงเกิดกลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ อาทิ กลุ่มเครือข่ายฟุกุชิมะเพื่อความปลอดภัยแก่เด็กจากกัมมันตรังสี (Fukushima Network to Save Children from Radiation) องค์กร Citizens' Nuclear Information Center ซึ่งได้จัดประชุม NNAF (No Nuke Asia Forum 2011 ขึ้นเมื่อ 29 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม 2554 ณ ประเทศญี่ปุ่น   พร้อมทั้งได้เสนอทางออกแก่รัฐบาล นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงแก่ประชาชนในเขตภัยพิบัติ และมีแนวทางในการต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาในแถบอินโดจีน ทั้งลาวและเวียดนาม กำลังวางแผนและโครงการนานาเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม และก้าวให้พ้นจากประเทศด้อยพัฒนาและยากจน ช่องทางใหญ่ในการพัฒนาประเทศเหล่านี้ คือ การนำเอาทรัพยากรขึ้นมาใช้ ทั้งแร่ธาตุ และป่าไม้ และความหวังอันเรืองรองที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้า คือ การเป็นประเทศส่งออกพลังงาน โดยเฉพาะกระแสไฟฟ้า

ความเคลื่อนไหวและความต้องการประเทศเหล่านี้ ล้วนอยู่ในสายตาของญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นประเทศสนับสนุนทางด้านเงินทุนในการพัฒนาโดยผ่านหลายช่องทางแก่ประเทศเหล่านี้มาก่อน จึงเกิดความสัมพันธ์อันดีขึ้นต่อญี่ปุ่นกับประเทศเหล่านี้ และความสัมพันธ์อันดีนี้จึงถูกแปรให้เป็นมูลค่าทางธุรกิจ

เมื่อกระแสการต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในญี่ปุ่นเริ่มคุกรุ่นและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น เพราะอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เริ่มมากขึ้นตามลำดับ ตลอดจน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันจะส่งผลถึงความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าก็มีมากขึ้นเช่นกัน ญี่ปุ่นจึงใช้ความสัมพันธ์อันดีกับเวียดนาม โดยการทำข้อตกลงเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในเวียดนาม เมื่อเดือนตุลาคมปีกลาย และมีผลในต้นเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ และเร็วๆ นี้

การส่งออกนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นให้แก่เวียดนาม เป็นการส่งออกพร้อมกับความเสี่ยงที่ยังไม่อาจแก้ไขได้ในประเทศของตน แม้ว่าจะรับเงื่อนไขของเวียดนามที่ว่า “ต้องใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยและทันสมัยที่สุด” ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงคำมั่นก่อนการขาย ซึ่งจะต้องติดตามบริการหลังการขาย ... ด้วยลุ้นระทึก

อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าที่ฟุกุชิมะ-ไดอิชิ ในญี่ปุ่น แม้จะส่งผลกระทบอย่างเกินความคาดหมาย นับว่าโชคยังดีที่ “ฝนและลมที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรรังสี” ไม่ได้พัดขึ้นทางทิศเหนือ ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้จีน และประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากถูกกระแสลมพัดลงใต้สู่มหาสมุทรแปซิฟิก แต่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าใต้ท้องมหาสมุทรจะมีสารกัมมันตรรังสีมากน้อยเพียงใดเพราะยังไม่มีใครลงไปตรวจสอบได้

แต่หากอุบัติเหตุที่จะเกิดกับโรงไฟฟ้าเวียดนาม ที่นิญ ทวน พายุความแรงระดับไต้ฝุ่นจากทะเลจีนใต้ที่พัดเข้าสู่ฝั่งเวียดนาม จำนวน 8-10 ลูกในทุกปี ส่วนหนึ่งพัดขึ้นภาคเหนือ กระจายสู่ตอนเหนือของลาว ไทย และพม่า รวมทั้งมณฑลยูนนาน ของจีน บางส่วนก็พัดเข้าสู่ภาคกลาง ก็จะผ่านภาคใต้ของลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

แล้ว “ฝนและลมที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรรังสี”  จากนิญ ทวน 1 และ 2 ก็ต้องถูกแพร่กระจายตามทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และแผ่คลุมเหนือประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ต้องสงสัย
     
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวเมืองมิตจีนาขาดแคลนไฟฟ้าใช้เพราะสงคราม

Posted: 04 Nov 2011 01:46 AM PDT

ชาวคะฉิ่นในเมืองมิตจีนากำลังเริ่มขาดแคลนไฟฟ้าใช้ นับตั้งแต่การกลับมาสู้รบกันอีกครั้งระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพเอกราชคะฉิ่น เนื่องจากบริษัทรายใหญ่ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับชาวเมืองมิจจีนาเป็นบริษัทภายใต้กองกำลังคะฉิ่น

ชาวคะฉิ่นในเมืองมิตจีนากำลังเริ่มขาดแคลนไฟฟ้าใช้ นับตั้งแต่การกลับมาสู้รบกันอีกครั้งระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army -KIA) เนื่องจากบริษัทรายใหญ่ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับชาวเมืองมิจจีนาเป็นบริษัทภายใต้ของ KIA

ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า ไฟฟ้าเริ่มดับมาตั้งแต่ในช่วงเย็นของวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงไฟดับที่นานที่สุดนับตั้งแต่ บริษัทบูกา( Bu Kha Company)ของ KIA เริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับในพื้นที่เมื่อปี 2548 – 2549 และขณะนี้กำลังส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงและเครื่องปั่นไฟในพื้นที่มีราคาที่แพงขึ้น

ด้านบริษัทบูกา บอกกับชาวบ้านในพื้นที่ว่า สาเหตุไฟฟ้าดับเนื่องจากเสาไฟฟ้าในเมืองไวหม่อได้รับความเสียหายจากปืนใหญ่และระเบิดที่ใช้สู้รบกันระหว่างทหารพม่าและทหารคะฉิ่น KIA ในอีกด้านหนึ่งมีกระแสข่าวลือว่า บริษัทบูกาจงใจที่จะหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางส่วนไม่เชื่อว่า KIA จะสั่งให้บริษัทของตนหยุดจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวไม่ได้ส่งผลใดๆกับ KIA ขณะที่กองทัพพม่ายังส่งกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่สู้รบอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงโดย Irrawaddy

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พนง.หนังสือพิมพ์รัฐบาลพม่าถูกกล่าวหาว่าทุจริตเงิน 1 ล้านดอลลาร์

Posted: 04 Nov 2011 01:34 AM PDT

พนักงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลพม่าจำนวน 3 คน ถูกกล่าวหาว่าพัวพันการทุจริตเงินเกือบ 1 ล้านดอลลาร์ โดยพนักงานที่ถูกจับ มีทั้งผู้จัดการฝ่ายการเงิน และพนักงานบัญชี ซึ่งขณะนี้ทั้งสามคนถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอินเส่ง

มีรายงานว่า พนักงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลพม่าจำนวน 3 คน ถูกกล่าวหาว่าพัวพันการทุจริตเงินเกือบ 1 ล้านดอลลาร์ โดยพนักงานที่ถูกจับ มีทั้งผู้จัดการฝ่ายการเงิน และพนักงานบัญชี ซึ่งขณะนี้ทั้งสามคนถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอินเส่ง

ด้านเจ้าหน้าที่จากกระทรวงข้อมูลข่าวสารของพม่ากล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องนี้เกิดขึ้นตอนไหน แต่กำลังเร่งสืบเรื่องนี้อยู่ พร้อมทั้งเปิดเผยว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์บางคนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในครั้งนี้ด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีรายงานการทุจริตภายในของสำนักงานดีวีบี ซึ่งเป็นสื่อพม่านอกประเทศเป็นเงินกว่า 300,000 ดอลลาร์ ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีการสืบสวนเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอาญา เลื่อนพิจารณาคดี 7-15 พ.ย.

Posted: 04 Nov 2011 01:14 AM PDT

4 พ.ย.54 เว็บไซต์ศาลอาญา ออกประกาศเลื่อนนัดพิจารณาคดี ระหว่างวันที่ 7-15 พ.ย.54 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมถนนหลายสายทำให้เดินทางลำบาก ส่วนวันนัดพิจารณาใหม่จะแจ้งให้คู่ความทราบต่อไป

นอกจากนี้ในเว็บไซต์ศาลอาญายังรวมประกาศการเลื่อนพิจารณาคดีของศาลอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมด้วย เช่น ศาลแพ่ง ประกาศเลื่อนการพิจารณาคดี ระหว่างวันที่ 7-12 พ.ย.54  ศาลจังหวัดปทุมธานีเลื่อนการพิจารณาคดี ระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย.54 ศาลจังหวัดตลิ่งชัดย้ายที่ทำการชั่วคราวไปยังศาลอาญาธนบุรี ตั้งแต่ 2 พ.ย.54
 

0000

 

ประกาศศาลอาญา เรื่อง เลื่อนการพิจารณาคดี

ตามที่ได้เกิดอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้มีน้ำท่วมถนนหลายสายในระดับสูง คู่ความและประชาชนที่จะมาติดต่อราชการกับศาลอาญาจึงเดินทางด้วยความยากลำบากยิ่ง กรณีมีเหตุฉุกเฉินและเป็นการจำเป็น ศาลอาญาจึงประกาศเลื่อนการพิจารณาคดีระหว่างวันที่ 7-15 พฤศจิกายน 2554 ออกไปก่อน ส่วนกำหนดวันนัดพิจารณาใหม่ จะแจ้งคู่ความทราบต่อไป ในส่วนของการรับฟ้องคดี การออกหมายจับ หมายค้น การฝากขัง การปล่อยชั่วคราว และการประสานงาน ศาลอาญาจัดเวรผู้พิพากษาและข้าราชการเพื่อบริการคู่ความและประชาชนให้มาติดต่อได้ในช่วงวันเวลาดังกล่าว นอกจากนี้คู่ความอาจดำเนินการได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 ได้อีกทางหนึ่ง

ขอให้โทรศัพท์ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อความสะดวกในการดำเนินการตามหมายเลข 02-541 2176, 02 5412284-91 ต่อ 1053, 2214

จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน
 

ประกาศ ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2544

(นายทวี ประจวบลาภ)
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยูนิเซฟ-องค์การอนามัยโลก-ศูนย์นมแม่ฯ เรียกร้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาวะน้ำท่วม ชี้ใช้นมผงเสี่ยงท้องร่วง

Posted: 04 Nov 2011 01:06 AM PDT


 

(4 พ.ย.54) องค์การยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก และศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เรียกร้องให้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงดูทารกและเด็กเล็กในภาวะน้ำท่วม และยังเตือนให้ระวังการรับบริจาคนมผสมและอาหารทดแทนนมแม่อื่นๆ รวมถึงอันตรายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กเล็กในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ด้วย

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิธีที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดในการให้เด็กได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าสูงสุด และจะช่วยป้องกันเด็กๆ จากการติดเชื้อในภาวะน้ำท่วม ซึ่งเป็นภาวะที่สุขอนามัยไม่ได้มาตรฐานและการเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นไปอย่างลำบาก ในภาวะภัยพิบัติเช่นนี้มักพบว่าอัตราการตายและการเจ็บป่วยของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบมักจะสูงกว่าเด็กในช่วงอายุอื่นๆ เนื่องจากเด็กเล็กมีความเสี่ยงสูงต่อโรคระบาดต่างๆ เช่น ท้องร่วง

อย่างไรก็ตามยังมีความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยกตัวอย่างเช่น

หลายคนเข้าใจผิดว่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน แม่ไม่สามารถให้นมลูกอย่างเพียงพอได้เนื่องจากความเครียด และโภชนาการที่ไม่เหมาะสม แต่ในความเป็นจริงแล้วความเครียดอาจมีผลชั่วคราวต่อการไหลของน้ำนมแม่ แต่จะไม่ส่งผลต่อการผลิตน้ำนมของแม่หากแม่และทารกยังอยู่ด้วยกันและได้รับการสนับสนุนให้กระตุ้นและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าแม่บางคนจะไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติในภาวะน้ำท่วมก็ยังจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องจัดหาน้ำดื่มที่สะอาดและอาหารที่มีประโยชน์ให้กับแม่ เพื่อจะช่วยปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับแม่และลูกได้

องค์การยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก และศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยมีหลักการเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการให้นมผงและอาหารทดแทนนมแม่ในช่วงภาวะน้ำท่วม ดังนี้

การรับบริจาคและการจัดหานมผสม อาหารทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์นมต่างๆ
ตามระเบียบและข้อปฏิบัตินานาชาติที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพโลก ไม่ควรมีการบริจาคนมสำหรับทารก ขวด จุกนม และผลิตภัณฑ์นมต่างๆ ทั้งแบบผงและแบบน้ำ ประสบการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผ่านมาในบางประเทศ แสดงให้เห็นว่าการที่ของเหล่านี้มีจำนวนมากเกินความต้องการทำให้มีการใช้เกินความจำเป็นซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพของทารกได้ การแจกจ่ายและการใช้ผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับทารกและเด็กเล็กในภาวะเช่นนี้ ควรได้รับการประเมินถึงความต้องการอย่างละเอียด และควรมีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้แจกจ่ายให้ทารกที่มีความต้องการและจำเป็นจริงๆ

ในกรณีทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่ไม่ได้ทานนมแม่แล้ว
ในกรณีที่หยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว แม่ควรได้รับการสนับสนุนให้กลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใหม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากไม่สามารถทำได้ การเลี้ยงทารกด้วยนมผสมก็สามารถทำได้ภายใต้คำปรึกษาและการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรทางสาธารณสุข และต้องควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในการเตรียมนมผสมอย่างปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ หากจำเป็นต้องใช้นมผสมจริงๆ แม่ต้องสามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด หากจะให้ดีควรเป็นน้ำต้มหรือน้ำดื่มแบบบรรจุขวด และต้องมีอุปกรณ์ทำความสะอาดที่เหมาะสม ทั้งนี้ขอแนะนำให้ใช้แก้วใส่นมผสมและป้อนทารกแทนการใช้ขวดหรือจุกนมที่ไม่ได้ผ่านการนึ่งหรือฆ่าเชื้อก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกด้วยนมผสมในภาวะภัยพิบัติมีความเสี่ยงอย่างมาก และควรใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากพิจารณาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่าอย่างเต็มที่แล้ว เช่นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การให้อาหารตามวัยกับเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน
เมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป เด็กควรได้รับอาหารอื่นๆตามวัย ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะสมกับช่วงอายุ และสะอาดปลอดภัย นอกเหนือจากการดื่มนมแม่ ควรให้ความสำคัญกับอาหารที่หาซื้อได้ง่ายในพื้นที่ เหมาะสมกับวัฒนธรรมประจำถิ่น มีโภชนาการที่เพียงพอ และเหมาะสมกับอายุของเด็กด้วย

องค์การยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก และศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ขอเน้นย้ำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนและปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศไทยครั้งนี้ ป้องกันความเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตของเด็กเล็กที่เกิดจากการให้อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และควรส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้อาหารตามวัยที่เหมาะสม และป้องกันการแจกจ่ายหรือการใช้นมผสมที่ปราศจากการควบคุม ทั้งนี้สื่อมวลชนมีบทบาทที่สำคัญในการช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สาธารณชน และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมผสมอย่างปลอดภัย

 

 

ภาพประกอบจาก: creativesam (CC BY-NC 2.0)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

EM และน้ำหมักชีวภาพ แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ?

Posted: 04 Nov 2011 12:56 AM PDT

กลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เขียนบทความอธิบายข้อเท็จจริงเรื่องการใช้ EM เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่า ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ

 
กลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา:
www.eng.chula.ac.th/index.php?q=th%2Fnode%2F3915

 

 

ในช่วงเวลาปัจจุบันมีหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนได้สนับสนุนการใช้ EM (Effective Microorganisms) เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายรวมถึงประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะอธิบายข้อเท็จจริงและให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับ EM และจะกล่าวถึงกรณีศึกษาในการบำบัดน้ำเสียของต่างประเทศในภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ บทความนี้มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด แต่มุ่งหวังถึงประโยชน์สูงสุดในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน

ปัญหาน้ำเน่าอาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการที่สารอินทรีย์ในน้ำมีปริมาณสูง เมื่อเกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์จึงส่งผลให้ออกซิเจนในน้ำมีปริมาณลดลง และในที่สุดอาจก่อให้เกิดสภาวะไร้อากาศซึ่งส่งกลิ่นเหม็น และส่งผลเสียต่อปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ค่าการละลายออกซิเจนนับเป็นพารามิเตอร์หนึ่งที่สามารถบ่งบอกคุณภาพน้ำได้ โดยในแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่เน่าเสีย โดยทั่วไปจะมีค่าการละลายออกซิเจนประมาณ 3 - 7 มิลลิกรัมต่อลิตร การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่มีออกซิเจนสามารถอธิบายอย่างง่ายดังนี้

EM (Effective Microorganisms) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถเฉพาะทาง ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 3 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่ม Lactic acid bacteria 2) กลุ่ม Yeast และ 3) กลุ่ม Phototrophs (Purple bacteria) ซึ่งได้รับการพัฒนามาจาก Professor Teruo Higa ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงได้มีการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการหมักขยะมูลฝอยเพื่อทำปุ๋ย และด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสุขา (โถส้วม) เป็นต้น โดยทั่วไป จุลินทรีย์ใน EM สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน (Aerobic conditions) และไม่มีออกซิเจน (Anaerobic conditions) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการประยุกต์ใช้งาน EM ในสภาวะที่ในน้ำท่วมขังซึ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen, DO) อยู่อย่างจำกัด กล่าวได้ว่า EM จะใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ และในช่วงเวลาดังกล่าวจะส่งผลทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงและไม่เพียงพอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำในบริเวณดังกล่าวมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก รวมถึงมีการใส่ EM ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม (ปริมาณที่มากไปหรือใส่เข้าไปในสภาวะหรือรูปแบบที่ไม่เหมาะสม) ดังนั้น กล่าวได้ว่าการเติม EM อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขาดออกซิเจนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม

อีกประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการเลือกใช้งาน EM กล่าวคือ จุลินทรีย์ใน EM ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวไม่มีความสามารถในการสร้างออกซิเจนแต่อย่างใด นอกจากนี้ องค์ประกอบของ EM ball หรือ Micro ball ซึ่งมีการปั้นโดยใช้องค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น กากน้ำตาล และ รำข้าว เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างผลกระทบของสารอินทรีย์ข้างต้นต่อการเน่าเสียของแหล่งน้ำ อาทิ

  • กรณีกากน้ำตาล ที่ส่งผลต่อปัญหาน้ำเน่า เช่น การลักลอบทิ้งน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล และกรณีเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา
  • กรณีรำข้าว อาจพิจารณาการที่เรานำรำข้าว หรือ เศษอาหาร ไปทิ้งไว้ในน้ำในปริมาณมากๆ และเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมส่งผลให้น้ำเน่าเสียเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อโยน EM ball ลงในแหล่งน้ำจึงเปรียบเสมือนการเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ให้กับแหล่งน้ำในบริเวณที่มีการท่วมขังอีกทางหนึ่ง โดยสารอินทรีย์ดังกล่าวที่ยังคงเหลืออยู่ย่อมก่อให้เกิดความต้องการออกซิเจนในน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงได้ และแม้แต่จุลินทรีย์ใน EM เอง เมื่อตายไปก็นับเป็นแหล่งสารอินทรีย์ในน้ำเช่นกันซึ่งก็ยังต้องใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายเช่นกัน ดังนั้น กล่าวได้ว่าการเติม EM นอกจากจะไม่ช่วยสร้างออกซิเจนแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมจากการลดลงของปริมาณออกซิเจนในน้ำ รวมถึงเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณสารอินทรีย์ (ดังที่กล่าวถึงข้างต้น)

ทั้งนี้ การย่อยสลายสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำท่วมขังควรกระทำภายใต้สภาวะที่มีอากาศหรือออกซิเจนเท่านั้น การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะไร้อากาศถือได้ว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในแหล่งน้ำ โดยสรุป เราสามารถกล่าวได้ว่าการบำบัดสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำมีลักษณะแตกต่างจากการบำบัดสารอินทรีย์ในสุขา และการหมักขยะเพื่อทำปุ๋ย (ซึ่งมีการใช้ EM ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ที่เป็นพารามิเตอร์ที่บ่งบอกถึงคุณภาพแหล่งน้ำ รวมถึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพแหล่งน้ำดังที่กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้ (http://www.eng.chula.ac.th/?q=node/3881)

ถึงแม้ EM ต้นแบบ (ลิขสิทธิ์ Professor Teruo Higa) ซึ่งอ้างว่ามีความสามารถในการกำจัดกลิ่นและทำให้น้ำใส แต่ก็เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาชั่วคราวในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากสารอินทรีย์ในน้ำยังคงอยู่ และออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าน้ำนั้นสะอาดจริง กล่าวคือน้ำดังกล่าวยังไม่ปลอดภัยที่จะนำมาใช้และไม่ปลอดภัยต่อสัตว์น้ำแต่อย่างใด และอาจยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ ได้อยู่ นอกจากนี้ หากมองถึงประเด็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพ หรือ EM ในแบบต่างๆ ด้วยตนเอง จุลินทรีย์ที่ได้อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากจุลินทรีย์ใน EM ต้นแบบ และหากไม่ได้ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพที่ดีพอ EM และ น้ำหมักชีวภาพอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคได้ ซึ่งนับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรระวังและไม่ควรมองข้ามสำหรับทุกๆ หน่วยงานและภาคส่วนที่มีสนับสนุนการใช้ EM เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง

ผู้ทรงคุณวุฒิ จากประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งไม่สามารถเอ่ยนามได้ เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตไว้) ได้ให้ข้อมูลว่าจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการพยายามจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ต่างๆ ขององค์กรอิสระต่างๆ ที่รณรงค์ร่วมกันใช้ EM เพื่อบำบัดน้ำเสีย อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น (กระทรวงสิ่งแวดล้อม) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาความสามารถของ EM ในการบำบัดน้ำเสีย และพบว่า EM ไม่ได้ช่วยในการบำบัดน้ำเสียแต่อย่างใด ในการนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นจึงไม่แนะนำการใช้ EM ในการบำบัดน้ำเสียในสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ จากเหตุการณ์สึนามิซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียถูกทำลาย ทางหน่วยงานรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ทำการแก้ไขปัญหาระยะสั้นโดยการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคลงในท่อบำบัดน้ำเสีย และเลือกใช้การตกตะกอน (Sedimentation) และการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) เพื่อบำบัดน้ำเสียในระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราว รวมถึงได้มีการวางแผนจะพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราวโดยใช้ระบบบำบัดทางชีวภาพร่วมกับการตกตะกอน และการฆ่าเชื้อโรค (Biological treatment - Sedimentation - Disinfection) ส่วนในบริเวณชนบทนั้น ดำเนินการบำบัดน้ำเสียโดยทำการรวบรวมน้ำเสีย และทำการการฆ่าเชื้อโรค จากนั้นปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนกระทั่งระบบบำบัดขนาดเล็กได้รับการฟื้นฟู

ทั้งนี้ทางกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าใจดีถึงความปรารถนาดีของทุกฝ่ายในการช่วยกันร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น หากแต่อยากนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของ EM เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพื่อเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วมในปัจจุบัน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กานดา นาคน้อย

Posted: 04 Nov 2011 12:54 AM PDT

บทบาทของกองทัพ...ช่วยบรรเทาวิกฤตอุทกภัยนั้นเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่นั่นเป็นเพียงก้าวเล็กๆ...สัปดาห์นี้กองทัพบกเพิ่งเสนอให้กระทรวงการคลังขึ้นเบี้ยเลี้ยงรายวันของทหารเกณฑ์ที่ปฎิบัติการบรรเทาวิกฤตอุทกภัย โปรดสังเกตว่ากองทัพไม่พยายามลดงบประมาณซื้ออาวุธเพื่อขึ้นเบี้ยเลี้ยงให้ทหารเกณฑ์ และไม่มีท่าทีว่าจะยกเลิกระบบทหารเกณฑ์เพราะทหารเกณฑ์เป็นฐานอำนาจต่อรองที่สำคัญ

เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก : จากหนองงูเห่าสู่ที่ราบสูง

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลแจกน้ำดื่มฟรี 11 จุดใน กทม.

Posted: 04 Nov 2011 12:54 AM PDT

เว็บไซต์ Mthai News รายงานว่านายปราณีต ร้อยบาง อธิบดี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมฯได้จัดเตรียมน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ 11 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่

1. เขตจตุจักร ที่สวนจตุจักร

2. เขตวังทองหลาง ที่วัดสามัคคีธรรม

3. เขตบางกะปิ ที่การเคหะคลองจั่น

4. เขตบึงกุ่ม ที่โรงเรียนประภาสวิทยา

5. เขตคลองเตย ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ

6. เขตสะพานสูง ที่วัดลาดบัวขาว

7. เขตบางบอน ที่วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธิ์

8. เขตพระโขนง ที่วัดวชิรธรรมสาธิต

9. อ.บางพลี สมุทรปราการ ที่โรงเรียนพูลเจริญวิทยาคม

10. อ.เมืองสมุทรปราการ ที่วัดตำหรุ

11. เขตจตุจักร ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

ทั้งนี้น้ำที่แจกจ่ายต่อวันรวม 11 แห่งจะมีไม่ต่ำกว่า 100,000 ขวด เป็นน้ำบรรจุขวด ทั้ง 5, 10 และ 20 ลิตร ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการ และจะเริ่มแจกจ่ายได้ภายในวันศุกร์ที่ 4 พ.ย.นี้

ประชาชนที่ต้องการน้ำดื่มสะอาดตั้งแต่วันนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้แจกจ่ายน้ำดื่มสะอาด 2 จุด คือบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และ ถนนงามวงศ์วาน 54

ขณะที่ก่อนหน้านี้ การประปานครหลวง แจ้งว่า เพื่อให้บริการประชาชนในเรื่องน้ำดื่ม ขณะนี้ กปน. ได้ติดตั้งจุดบริการน้ำประปาดื่มได้ ที่หน้าสำนักงานประปาสาขาทุกแห่ง (ยกเว้น สำนักงานประปาสาขาบางบัวทอง ซึ่งประสบภาวะน้ำท่วม) โดยประชาชนสามารถนำภาชนะมารองน้ำไปบริโภคได้ฟรี

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขวิกฤติคุรภาพน้ำดื่ม การประปานครหลวง โทร 0 2503 9776, 0 2503 9818 โทรสาร 0 2503 9835 ตรวจสอบสาขาที่ให้บริการได้ที่เว็ปไซต์ http://www.mwa.co.th/2010/ewt/mwa_internet/main.php?filename=branch

การประปาปานครหลวง อาคารสำนักงานใหญ่การประปานครหลวง เลขที่ 400 ถนนประชาชื่น แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร 0 2504 0123

สำนักงานประปาสาขา

สำนักงานการประปานครหลวง (สำนักงานใหญ่)

สำนักงานประปาสาขาสุขสวัสดิ์

สำนักงานประปาสาขาตากสิน

สำนักงานประปาสาขาสุขุมวิท

สำนักงานประปาสาขาทุ่งมหาเมฆ

สำนักงานประปาสาขานนทบุรี

สำนักงานประปาสาขาบางกอกน้อย

สำนักงานประปาสาขาบางเขน

สำนักงานประปาสาขาบางบัวทอง

สำนักงานประปาสาขาประชาชื่น

สำนักงานประปาสาขาพญาไท

สำนักงานประปาสาขาพระโขนง

สำนักงานประปาสาขาภาษีเจริญ

สำนักงานประปาสาขามีนบุรี

สำนักงานประปาสาขาแม้นศรี

สำนักงานประปาสาขาลาดพร้าว

สำนักงานประปาสาขาสมุทรปราการ

ที่มาข่าวและภาพประกอบ Mthai News

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้หญิงพะเยารุมประณาม “เอกยุทธ” จี้ขอโทษด่วน

Posted: 04 Nov 2011 12:42 AM PDT

เครือข่ายแม่ญิงพะเยาออกโรงประณาม พร้อมเรียกร้องให้ “เอกยุทธ อัญชันบุตร” ขอโทษหลังโพสท์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กดูถูกสาวเหนือ พร้อมเรียกร้องสิทธิในการปกป้องศักดิ์ศรีผู้หญิง ระบุ “ผู้หญิงเหนือ ไม่ใช่เครื่องมือทางอารมณ์ของใคร” ย้ำไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง

วันนี้ (4 พ.ย.) ที่ห้องปฏิบัติการผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ศาลากลางจังหวัดพะเยา นางสุภัคสร วรรณปลูก ประธานเครือข่ายแม่ญิงพะเยา พร้อมด้วยเครือข่าย ได้เข้ายื่นหนังสื่อต่อนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เพื่อปกป้องสิทธิความเป็นผู้หญิงเหนือ หลังจากที่นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความกระทบผู้หญิงภาคเหนือผ่านเฟซบุ๊ก
      
นางสุภัคสรกล่าวว่า รับไม่ได้กับการกระทำของนายเอกยุทธที่ใช้อารมณ์ส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อดังกล่าว ถึงแม้จะมีความชัดเจนในการโจมตีการทำงานของรัฐบาล แต่ในกรณีการดูถูกเหยียดหยามผู้หญิงเหนือที่ไม่ได้ระบุตัวบุคคลชัดเจนนั้น เห็นว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิสตรีอย่างรุนแรง

“ยืนยันว่าการออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองอย่างแน่นอน และขอย้ำว่า ผู้หญิงเหนือไม่ใช่เครื่องมือทางอารมณ์ของใคร”

นางสุภัคสรบอกว่า ที่จริงนายเอกยุทธเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอยู่อย่างท่วมท้น หากนำไปใช้ในทางที่ถูกและเกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองก็น่าจะดีไม่น้อย แต่ทว่าหากความรู้ความสามารถของนายเอกยุทธ ถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมก็น่าเสียดายเป็นอย่างมาก

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทางเครือข่ายแม่ญิงพะเยาจึงขอประณามการกระทำของนายเอกยุทธ ว่า 1.เป็นการละเมิดสิทธิสตรีของผู้หญิงเหนืออย่างรุนแรง กระทบศักดิ์ศรีของความเป็นคน 2.ก้าวล่วงและดูหมิ่น “เพศแม่” อย่างไม่เหมาะสม และขอเรียกร้องให้นายเอกยุทธออกมาขอโทษผู้หญิงเหนือโดยเร็ว เพราะผู้หญิงเหนือไม่เคยสร้างความเดือนร้อนให้วงศ์วานเครือญาติของนายเอกยุทธ

ทั้งนี้ หากนายเอกยุทธไม่ออกมาขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว ตามที่เครือข่ายแม่ญิงพะเยาเรียกร้อง ทางเครือข่ายฯก็จะเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อกดดันนายเอกยุทธต่อไป

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น