โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘สมยศ’ ขึ้นศาลสระแก้ว ฟังสืบพยานคดี 112 ทนายหวังประกันรอบ 7

Posted: 21 Nov 2011 09:49 AM PST

 

 

21 พ.ย.54 ที่ศาลจังหวัดสระแก้ว มีการสืบพยานโจทก์ปากแรกในคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ และ บก.นิตยสาร Voice of Taksin ถูกกล่าวหามีความผิดตามมาตรา 112 โดยศาลได้เบิกตัวจำเลยมาจากเรือนจำสระแก้วเพื่อฟังการสืบพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยมีประชาชนคนเสื้อแดงจากกลุ่มต่างๆ เดินทางจากกรุงเทพฯ และจังหวัดสระแก้วมาร่วมให้กำลังใจนายสมยศ และร่วมฟังการพิจารณาคดีประมาณ 40-50 คน รวมทั้งภรรยานายสมยศที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสระแก้ว และเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติจากสหภาพยุโรป (อียู)

ภายหลังการพิจารณาคดีที่เสร็จสิ้น นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายความของนายสมยศ ระบุว่า การสืบพยานในวันนี้เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการยื่นประกันตัวนายสมยศอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งที่เจ็ด เนื่องจากแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่านายสมยศไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนีตามที่ดีเอสไอระบุ ส่วนการสืบพยานในนัดหน้าจะมีขึ้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สงขลา ตามลำดับ ซึ่งพยานจะเป็นลูกน้องเก่านายสมยศ และประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านนิตยสาร Voice of Taksin ที่ผ่านมาทนายจำเลยได้ทำเรื่องคัดค้านการสืบพยานในต่างจังหวัดแล้วแต่ไม่เป็นผล เนื่องจากเห็นว่าพยานบางปากไม่สำคัญ และเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่จำเลยระหว่างเดินทางโดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง

นายสุวิทย์ยังกล่าวอีกว่า ศาลสระมีคำสั่งส่งตัวนายสมยศต่อไปยังจังหวัดต่างๆ ที่จะมีการสืบพยานเลยโดยที่จะไม่ส่งตัวเข้าเรือนจำกรุงเทพฯ อีก ดังนั้นกว่านายสมยศจะได้กลับกรุงเทพฯ ก็หลังจากเสร็จสิ้นการสืบพยานในต่างจังหวัดราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2555

 

ด้านนายสมยศซึ่งถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำในชุดนักโทษและถูกตีตรวน กล่าวว่า ความเป็นอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระแก้วนั้นดีกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเรื่องอาหาร และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เรือนจำที่นี่ยังคงมีสภาพแออัด ผู้ต้องขังล้นเกิน จากปกติรองรับได้ 800 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นเกือบ 2,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นการย้ายหนีน้ำท่วมมาเกือบ 300 คน ทำให้ต้องนอนเบียดเสียดอย่างมาก

สมยศยังเล่าถึงการเดินทางมายังเรือนจำสระแก้วว่า ระหว่างที่มีการเคลื่อนเขาพร้อมผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่หนีน้ำท่วมมายังเรือนจำสระแก้ว เมื่อต้นเดือน พ.ย. นั้นรถแน่นมากและเขาต้องยืนตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงสระแก้ว

เมื่อถามถึงกรณีสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่มีข่าวว่าอยากรวมคดีที่มีอยู่หลายจังหวัดเป็นคดีเดียวเพื่อรับสารภาพนั้นส่งผลต่อการตัดสินใจต่อสู้คดีของสมยศหรือไม่ เขากล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจสู้คดี เนื่องจากเขาเดินมาครึ่งทางแล้ว และเชื่อว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดจึงไม่อาจรับสารภาพได้ ส่วนกรณีของนายสุรชัยนั้นน่าเห็นใจว่าเพราะอายุมากและมีโรคประจำตัวหลายอย่าง

สำหรับการสืบพยานเริ่มต้นขึ้นในเวลาประมาณ 10.10 น. ด.ต.หญิง กนกรักษ์ ตันโลห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นพยานปากแรกของคดีนี้ เบิกความว่า ในวันจับกุมจำเลยคือวันที่ 30 เม.ย.54 เธอได้เข้าเวรตรวจหนังสือเดินทางอยู่อาคารขาออก เวลาประมาณ 13.00 น. นายสมยศได้มายื่นหนังสือเดินทางขอรับการตรวจเพื่อเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เมื่อนำชื่อ หมายเลขบัตรประชาชน เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ พบว่าหน้าจอแสดงผล “บุคคลเป้าหมาย” พร้อมระบุว่ามีหมายจับของศาลอาญา จึงแจ้งหัวหน้าและให้เจ้าหน้าที่สอบสวนของ ตม.ประสานขอหมายจับจากดีเอสไอ

พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ด่านข้ามแดนไปกัมพูชานั้นมีด่านกาบเชิงที่จังหวัดสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง และอาจมีที่อื่นๆ อีกกี่แห่งไม่ทราบแต่ไม่เกิน 5 แห่ง ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันมีประชาชนชาวกัมพูชาลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก และประชาชนไทยก็ลักลอบข้ามไปยังกัมพูชาจำนวนมากเช่นกัน เพราะพรมแดนระหว่างสองประเทศนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นท้องไร่ท้องนาสามารถเดินข้ามไปได้ เปรียบเทียบได้กับกรณีของนายวีระ สมความคิด และนางราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ที่ลักลอบเดินข้ามไปยังกัมพูชาโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งนายสมยศเดินเข้าแถวมาตรวนหนังสือเดินทางเหมือนบุคคลทั่วไป โดยเดินทางมาพร้อมคณะซึ่งเธอทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยเป็นผู้นำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวในประเทศแถบอินโดจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทนายจำเลยยังได้นำส่งเอกสารเพิ่มเติมเป็นสำเนาหนังสือเดินทางของนายสมยศต่อศาล และนำมาสอบถามกับด.ต.หญิงกนกรักษ์ โดย ด.ต.หญิงกนกรักษ์ได้ยืนยันต่อศาลว่า หนังสือเดินทางนี้เป็นหนังสือเดินทางของนายสมยศที่เธอตรวจที่ด่านอรัญประเทศเมื่อวันเกิดเหตุ และตามที่ปรากฏในหนังสือเดินทางของนายสมยศ มีการขอวีซ่ากับสถานทูตกัมพูชา 4 ครั้งระหว่างปี 2553-2554 โดยครั้งแรกขอวีซ่าระหว่างวันที่ 2 เม.ย.-2 ก.ค.53 เดินทางจริงวันที่ 3 เม.ย.53 ทางสนามบินสุวรรณภูมิ และกลับจากกัมพูชาวันที่ 5 เม.ย.53 ครั้งที่สอง ขอวีซ่าระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-29 ธ.ค.53 เดินทางจริงวันที่ 3 ต.ค.และกลับวันที่ 5 ต.ค. ทางด่านอรัญประเทศ  ครั้งที่สาม ขอวีซ่าระหว่างวันที่ 4 ธ.ค.53-4 ม.ค.54 เดินทางจริงวันที่ 4-6 ธ.ค.53 ผ่านด่านอรัญประเทศ ครั้งที่สี่ไม่มีการตรวจลงตราเพราะจำเลยถูกจับเสียก่อน

พยานยังตอบทนายจำเลยโดยระบุว่า “ตามสัญชาตญาณหากคิดจะหลบหนี หรือรู้ว่าตัวเองมีอะไรอยู่ ก็คงจะไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถอดประสบการณ์น้ำท่วม 2: มรภ.นครปฐม ที่พัก อาหาร สุขภาพ และจิตใจ คือหัวใจในการดูแลผู้ประสบภัย

Posted: 21 Nov 2011 07:51 AM PST

ดูการจัดการศูนย์ดูแลผู้ประสบภัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมที่ดูแลผู้ ประสบภัยครบวงจร ทั้งที่พัก อาหาร ข่าวสาร รวมไปถึงโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ประสบภัยสูงอายุและเจ็บป่วยเรื้อรัง

ประชาไทลงพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ซึ่งปรับตัวเป็นสถานที่ดูแลผู้ประสบภัยจำนวน 504 คน โดยมีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 52 คนเด็กแรกเกิด1 ปี 18 คน เด็ก 2-5 ปี 31 คน และเด็ก 6-10 ปี 22 คน ประชากรหลัก ราว 300 คนของศูนย์แห่งนี้ อพยพมาจากศูนย์อพยพ ที่ถูกน้ำท่วมไปก่อนหน้านี้

โดยใช้พื้นที่บริเวณอาคารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครปฐม ความสูง 4 ชั้นเพื่อรองรับผู้ประสบภัยทั่วไปและผู้สูงอายุ ขณะที่สวนหย่อมที่อยู่ติดกันนั้นปรับเป็นพื้นที่สำหรับผู้ประสบภัยที่อพยพสัตว์เลี้ยงมาอยู่ด้วย โดยผู้สบภัยส่วนหลังนี้ โดยผู้ประสบภียกลุมหลังจะได้นอนพักในเต้ท์สนามขนาดย่อมๆ สำหรับหนึ่งครอบครัว

“ช่วงแรกเราเห็นความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยแถบภาคกลางตอนบนว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร เราก็ใช้ของบริจาค และจัดเป็นถุงยังชีพ ขณะนั้นจังหวัดนครปฐมยังไม่เดือดร้อนพอ พอน้ำเริ่มท่วมที่ปทุมธานี ก็เริ่มกระทบมาถึง พุทธมณฑล เราก็ปรับแผนช่วยเรื่องกรอกทราย โดยใช้บุคลากร นักศึกษาของเราไปแจก สู้ไม่ไหว ก็ส่งบุคลากรนักศึกษาไปช่วยย้ายของ พอช่วยย้ายของเสร็จ เราก็คุยกับเพื่อนๆ หลายคน ก็มีความคิดว่าตั้งศูนย์ที่นี่ เราก็คิดว่าจะช่วยตามมีตามเกิด แต่พอศูนย์อพยพที่มหาวิทยาลัยสงฆ์แตกมีคนประมาณ 700 คน พอน้ำมากเข้าๆ คืนก่อนสิ้นเดือน อพยพถึงตีสี่ครึ่งยังไม่หมด รถยีเอ็มซีก็เข้ายาก คืนนั้นมีผู้อพยพมากัน 300 คน สิ่งที่เราเห็นแล้วยิ่งทำให้เรามีจิตใจมีกำลังมากขึ้น ก็คือ มีคนแก่ มีเด็ก และคนแก่ช่วยตัวเองไม่ได้ เราก็คิดว่า ทำไมย้ายคนแก่มาให้กับเรามากขนาดนี้ แต่ก็ต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไร”

ผศ.สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดี มรภ. นครปฐม เท้าความให้ฟังถึงเหตุการณ์วันแรกที่เปิดศูนย์ขึ้นในวันที่ 26 ต.ค. และนำมาสู่แนวคดหลักในการบริหารจัดการศูนย์แห่งนี้

“ขณะนั้น เราเตรียมอาหารไว้ทั้งคืน เด็กคนแก่มาถึงเที่ยงคืนตีหนึ่งตีสองตีสามยังไม่ได้กินข้าว มาถึงก็ให้ลงทะเบียนก่อน เตรียมที่พัก จากนั้นต้องคิดเรื่องอาหาร และดูเรื่องสุขภาพ และเสต็ปสุดท้ายคือจะฟื้นฟูจิตใจเขาอย่างไร เราคิด 4 เสต็ปท์”

โจทย์เรื่องคนแก่ เด็ก และผู้เจ็บป่วยนำมาสู่การบริหารจัดการซึ่งพยายามทำให้ศูนย์แห่งนี้สามารถดูแลผู้อพยพอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนเพื่อคัดแยกผู้อพยพ เช่น ผ้อพยพที่มีสัตว์เลี้ยงมาด้วย มีพื้นที่อยู่ในสนามหน้าอาคาร โดยผู้อพยพส่วนนี้กางเต้นท์นอน ผู้อพยพสูงอายุเพศหญิงจากบ้านพักคนชรา นอนรวมกันในห้องขนาดใหญ่บนชั้นสองของอาคาร

ผู้อพยพทั่วไปที่ช่วยเหลือตัวเองได้ นอนในห้องรวมบนชั้นที่ 2 และ 3 ของอาคาร

ศูนย์แห่งนี้ยังมีโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ 11 ราย ขณะที่คาดว่าโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 30 เตียง

ห้องรองรับผู้อพยพสงอายุ ซึ่งมีผู้สูงอายุอยู่ราว 50 ราย โดยส่วนใหญ่มาจากบ้านพักคนชราเฉลิมราชกุมารี (หลวงพ่อเปิ่นอุปถัมภ์)

มุมอ่านหนังสือสำหรับเด็ก และห้องปฏิบัติการสื่อ “ศูนย์ข่าวน้ำท่วมนครปฐม” ซึ่งเชื่อมโยงเครือข่ายสถานีวิทยุชุมชน 15 แห่งในพื้นที่ ทำหน้าที่ประมวลข่าว วิเคราะห์และรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งในภาพรวมทั้งประเทศและเจาะลึกเฉพาะในพื้นที่จ.นครปฐม เพื่อให้ประชาชนได้ประกอบการตัดสินใจในการอพยพ

เมื่อเดินเข้ามายังศูนย์อพยพแห่งนี้ สามารถพบเห็นกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยส่งเสริมสภาพจิตใจของผู้อพยพ เช่น กิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก กิจกรรมสำหรับเยาวชน การเปิดดนตรีเพื่อขับกล่อมผู้ป่วยตลอดทั้งวัน รวมไปถึงการเล่นดนตรีสดโดยน.ศ. ของมรภ. นครปฐม ในช่วงเย็น

ร.พ.สนาม และอาสาสมัครพยาบาล

จุดเด่นของศูนย์อพยพแห่งนี้ คือการมีสถานพยาบาลอยู่ในศูนย์ ทั้งในการดูแลผู้ป่วยนอก ที่จะมีแพทย์จาก ร.พ.นครปฐม แวะเวียนมาทำการตรวจในวันจันทร์และวันพฤหัสฯ อีกทั้งมีโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยปรับสถานที่ของห้องสมุด ในอาคารของ โรงเรียนสาธิต มรภ. นครปฐม ที่เพิ่งสร้างเสร็จ จนกลายเป็นโรงพยาบาลสนามที่สามารถรองรับคนไข้ได้ 30 คน ขณะนี้ดูแลคนไข้ติดเตียงอยู่ 11 ราย จากโรงพยาบาลที่ถูกน้ำท่วมแล้ว รวมถึงการให้การดูแลรักษาเบื้องต้น และหากมีคนไข้หนักก็นำส่งต่อให้ร.พ.นครปฐม

การดำเนินการนั้น มีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัด และจากร.พ.ที่ถูกน้ำท่วมไปแล้ว หมุนเวียนกันเข้ามาดูแลผู้ป่วย และมีทีมอาสาสมัคร นักศึกษา จากคณะพยาบาลศาสตร์ มรภ. นครปฐม จำนวน 57 คน ทำหน้าที่เป็นผู้พยาบาลผู้ป่วยติดเตียง โดยจัดเวรลงดูแลผู้ป่วยคราวละ 12 คน

“โชคดีที่เป็นบุญของเราที่เปิดคณะพยาบาลเป็นปีที่สอง คณาจารย์และนักศึกษาที่ไม่ได้กลับบ้านก็ม่ช่วย ก็ทำให้นักศึกษาได้ฝึกงานเต็มรูปแบบ”

ขณะเดียวกัน ก็ต้องประสานกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ โดยหน่วยงานหลักคือ สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งช่วยเหลือทั้งในแง่การประสานและการจัดหาอาสาสมัครด้านสาธารณสุขในส่วนของโรงพยาบาลบสนาม นอกจากนี้ยังสนับสนุนเวชภัณฑ์และสิ่งของจำเป็นต่างๆ

ผู้บริหารพร้อมปรับตัว ความช่วยเหลือจากท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ

อธิการกล่าวว่า งบประมาณที่ใช้ดูแลผู้ป่วยขณะนี้ เขาปรับจากงบประมาณที่จะใช้ในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติในวันที่ 5 ธ.ค. ที่ตั้งไว้ 9 ล้านบาท โดยเขาบอกกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยว่า “เทหมดหน้าตัก” แต่ถ้าหมดจาก 9 ล้านบาทนี้แล้ว สิ่งที่เขากำลังคิดต่อไปคือ การระดมการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนอาหารในแต่ละมื้อ โดยคาดการณ์ว่า จะต้องยืนหยัดดูแลผู้อพยพไปอีกราว 1 เดือนครึ่งถึง 2 เดือน

“เราเดินหน้าดูแลท้องถิ่นอยู่แล้ว ผมชื่นชมคณาจารย์ บุคลากร เครือข่ายภาคประชาชน ช่วยกัน ผมอยากให้พลังแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาทั้งประเทศ เพราะเราไปคอยให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแกปัญหาคงไม่ได้ ที่นี่ สสจ. องค์กรท้องถิ่นและจังหวัดเข้ามาช่วยกัน”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปล่อยน้ำผ่าน กทม. ช่วยชาวนนทบุรีตะวันตกได้มาก

Posted: 21 Nov 2011 05:15 AM PST

ชาวนนทบุรีฝั่งตะวันตก กำลังมีความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อความล่าช้าในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมอยู่ถึง 1 – 2 เมตร มีส่วนน้อยมากที่ท่วมสูงเพียง 20 - 30 ซม. และมีพื้นที่แห้งสนิทเพียง 1 ตร.กม. จากพื้นที่ประมาณ 500 ตร.กม. ปัญหาน้ำท่วมนี้ไม่ใช่แค่ความลำบากในการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ในบางพื้นที่เป็นปัญหาการประกอบอาชีพและการอยู่รอด 

ความหลากหลายของชุมชน 
นนทบุรีตะวันตก ประกอบด้วยชุมนุมดั้งเดิม และชุมชนเกิดใหม่ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างมากในยุคของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ในปี 2530 จนบางพื้นที่กลายเป็นย่านธุรกิจ เช่น บางใหญ่ซิตี้ จึงมีความหลากหลาย ชุมนุมดั้งเดิมจะเป็นชาวสวน กลุ่มที่มนุษย์เงินเดือนและกลุ่มผู้เกษียณใช้พื้นที่นี้เป็นที่อยู่อาศัย และกลุ่มที่ประกอบอาชีพค้าขายและบริการรายย่อยที่ดำรงชีพด้วยการให้บริการกับชุมชน ดังนั้น ในแต่ละพื้นที่และอาชีพจึงมีการตอบสนองต่อปัญหาน้ำท่วมที่แตกต่างกันไป
 
กลุ่มที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ได้ย้ายไปเช่าบ้านหรืออพาร์ทเมนต์เพื่อไปทำงานปกติ กลุ่มนี้มีความกังวลต่อน้ำท่วมยาวนานจะมีผลกับทรัพย์สิน และจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
 
ถึงแม้ว่ากลุ่มชุมชนดั้งเดิมอาจจะปรับตัวเข้ากับน้ำท่วมได้ดีกว่า เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีการโยกย้าย แต่ผลต่อการใช้ชีวิตเป็นไปด้วยความลำบาก และมีผลกระทบกับผลไม้ที่จะต้องมีการเริ่มต้นใหม่
 
กลุ่มที่ประกอบอาชีพค้าขายและบริการรายย่อย เช่น ขายอาหาร ร้านค้าย่อย รถตู้โดยสาร จักรยานยนต์รับจ้าง รับจ้างซักผ้า เป็นต้น เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะนอกจากจะได้รับผลต่อทรัพย์สินแล้ว ยังมีผลกับการหารายได้ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การให้บริการของพวกเขาเป็นการให้บริการภายในชุมชน เมื่อน้ำท่วมคนในชุมชนย้ายออกไปชั่วคราว จึงไม่สามารถประกอบอาชีพ กลุ่มนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในกลุ่มที่ไปชุมนุมที่ศาลากลางมาจากกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่
 
บางส่วน เช่น อาชีพรถตู้โดยสาร ที่อยู่หลายพันคัน ส่วนใหญ่เป็นรถใหม่ จึงมีภาระในการผ่อนชำระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รถจักรยายนตร์รับจ้างก็เช่นกัน ประมาณครึ่งหนึ่งมีภาระในการผ่อนรถ จึงทำให้มีระดับความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
 
กลุ่มนี้มีมากน้อยแค่ไหน ในหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ เช่น บ้านบัวทอง ประเมินได้ว่ามีประมาณร้อยละ 30 จากจำนวนครัวเรือน 7,500 หลังคาเรือน คิดเป็น 2,000 หลังคาเรือน แต่สัดส่วนน้อยลงกับบ้านจัดสรรราคาสูงกว่า 2 ล้านบาท หรือขนาดของชุมชนที่เล็กลง โดยเฉลี่ยควรจะอยู่ที่ร้อยละ 25 ของประชากรประมาณ 600,000 คนหรือประมาณ 150,000 คน
 
ปล่อยน้ำผ่าน กทม. ช่วยได้มาก
ในสถานการณ์การระบายน้ำของนนทบุรีตะวันตก จากรายงานของกรมชลประทานมีการไหลออกสุทธิประมาณวันละ 12 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีน้ำตกค้าง 480 ล้าน ลบ.ม. ถ้ากรุงเทพฯ สามารถผ่านน้ำไปได้ทั้งผ่านคลองทวีวัฒนา และผ่านคลองย่อยในบางพลัดไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา อีก 4 ล้าน ลบ.ม. จะเป็นร้อยละ 30 ของการไหลออกสุทธิของนนทบุรีตะวันตก จึงมีนัยยะสำคัญเช่นกัน
 
ถ้าใช้เลขนี้คำนวณอย่างง่ายๆ พื้นที่นี้น้ำท่วมจะลดลงใน 40 วัน แต่ถ้าเพิ่มการปล่อยผ่านกรุงเทพฯ จะเหลือ 30 วัน เท่ากับมีส่วนช่วยมากถึง 10 วัน
 
บางกรวยเป็นพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพฯ ตั้งแต่บางพลัด ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา มีความรู้สึกไม่เป็นธรรมกับกรุงเทพฯ ที่พื้นที่ติดต่อกันแต่ฝั่งหนึ่งแห้งสนิท จนทำกิจกรรม “บิ๊กคลินนิ่งเดย์” ได้ แต่อีกฝั่งยังสูงถึง 1.2-1.8 เมตร พวกเขาจึงมีความต้องการให้ฝั่งกรุงเทพฯ ช่วยระบายน้ำออกไปบ้างอย่างรุนแรง
 
ในขณะที่ บางใหญ่ บางบัวทอง อาจจะไม่มีความรู้สึกรุนแรงถึงความแตกต่างเรื่องแห้งและเปียกมากนัก แต่สิ่งที่เขาเห็นด้วยคือ จะทำให้น้ำลดลงเร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้ เพราะต้องการให้การประกอบอาชีพได้รับการฟื้นฟู จากผลกระทบอันแสนสาหัสที่เกิดขึ้น
 
ต้องเป็นฝ่ายกระทำ
การรอให้น้ำลดลงด้วยการระบายตามธรรมชาตินั้น ถึงแม้จะเป็นหนทางหลัก แต่การรอเช่นนั้นย่อมทำเกิดความรู้สึกต่อเงินที่เสียภาษีเป็นอย่างยิ่ง เสียไปทำไมในเมื่อทุกอย่างเป็นไปเอง ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องหาทางแก้ไขที่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกได้รับการให้บริการอย่างคุ่มค่า
 
หน่วยงานรัฐต้องพยายามทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้ทุมเททรัพยากรในการแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงการเจรจากับกับกรุงเทพมหานครอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
 
ทั้งนี้ต้องตระหนักว่า การปล่อยน้ำผ่านกรุงเทพฯ อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่เป็นทางออกที่ช่วยลดเบาสถานการณ์น้ำท่วมได้มากเช่นกัน
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

Posted: 21 Nov 2011 05:08 AM PST

แหล่งผลิตข้าวใหญ่สุดของประเทศคือที่ราบภาคกลางที่จมบาดาลอยู่ตอนนี้แหละ ที่สำคัญ แหล่งอุตสาหกรรมที่เป็น supply chain อยู่ชั้นนอกเช่นกัน ความเสียหาย (อันอาจจะเกิดกับเขตชั้นใน) ที่พยายามปกป้องกันนั้นคืออะไร? สนามบิน ศูนย์ราชการ แหล่งผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมจมน้ำหมดแล้ว และท่านกำลังปกป้องอะไรกันอยู่ สิ่งที่ท่านกำลังปกป้องคือ เกียรติภูมิแห่งความเหลื่อมล้ำทางสังคมและช่องว่างอันใหญ่โตของการพัฒนาที่ล้มเหลวตลอดระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมาต่างหาก

ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น

ควันหลง 'อภัยโทษ' สู่โจทย์ 'นิติราษฎร์'

Posted: 21 Nov 2011 05:04 AM PST

พวกเราอย่ายอมให้คำแถลงของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่ยืนยันว่า “คุณทักษิณ” ไม่เข้าข่ายผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษ (ตามร่างพระราชกฤษฎีกาที่เป็นข่าว) ทำให้พวกเราสบายใจแล้วกลับไปเครียดกับน้ำท่วมเอาเสียง่ายๆ 

แต่ขอให้พวกเรากลับมาทบทวนแบบน้ำนิ่งไหลลึกว่า “กระแสข่าว” การอภัยโทษ และ “กระแสตอบรับ” ที่ผ่านมานั้นได้ทำให้เราเห็น “ควันหลงเรื้อรัง” อะไรในสังคมไทยที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่าปัญหาของคนที่รักหรือไม่รัก “คุณทักษิณ” เสียด้วยซ้ำ ?

1. ควันหลงถึงผู้ตื่นตระหนก: ท่านไว้ใจรัฐบาลนามสกุลชินวัตรได้นานแค่ไหน?
ในบทความนี้ ผู้เขียนไม่ติดใจจะตัดสินว่าคุณยิ่งลักษณ์มีเจตนาจะช่วยพี่ชายตนเองหรือไม่อย่างไร แต่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสารไปยังผู้ที่ตื่นตระหนกเพราะเชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์มีเจตนาจะช่วยพี่ชายตนเองโดยแน่ แล้วถามต่อว่า การะแสข่าว “การอภัยโทษ” เพียงไม่กี่วันก่อนได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและน่าตื่นตระหนกเพียงนี้ แล้วอะไรจะเป็นหลักประกันว่า รัฐบาลชุดนี้ หรือรัฐบาลหลังการปลดปล่อยบ้าน 111  ชุดหน้าจะไม่พยายามดำเนินการ ทำนองนี้อีก ? 

อย่าลืมว่านอกจากกฎหมายจะเปิดช่องให้การ “อภัยโทษ” ทำตามวาระโอกาสได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องผ่านสภาแล้ว รัฐบาลยังมีเครื่องมืออื่น เช่น การ “นิรโทษกรรม” กล่าวคือ ไม่ใช่แค่ให้อภัยธรรมดา แต่ถึงกับลบล้างความผิดจนไร้โทษ หรือหากจะแยบยลกว่านั้น ก็อาจใช้วิธี “ชะลอการลงโทษ” (reprieve) หรือลด-เปลี่ยนโทษ (commute) เช่น แทนที่จะให้จำคุก ก็นำตัวมากักขังในบ้านแทน (house arrest/home confinement) ก็เป็นได้ 

คำถามคือ ประชาชนฝ่ายที่ตื่นตระหนกกับการช่วยเหลือคุณทักษิณนั้น จะเล่นบทบาทได้แต่เพียงผู้ตามเก็บหมากที่เดินโดยนักการเมืองและต้องมาทนลุ้นระทึกกับกระแสข่าวเป็นระยะต่อไปเช่นนี้ หรือจะมีวิธีการรวมพลังกับฝ่ายที่ไม่ตื่นตระหนกเพื่อจัดการให้เหตุนี้คลี่คลายไปได้ (นอกไปจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อ หรือการอาศัยอำนาจนอกระบบ) หรือไม่ ?

หนึ่งในวิธีที่เป็นไปได้นั้น อาจต้องลองนึกย้อนไปถึงข้อเสนอนิติราษฎร์ หากเรานำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับปรุงให้ประชาชนเป็น “ฝ่ายรุก” ผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองก่อนทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกระทำอย่างเปิดเผยและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมได้ เพื่อออกแบบวิธีล้างคำพิพากษาเก่า แล้วนำคุณทักษิณและผู้อื่นกลับเข้าสู่กระบวนการศาลใหม่ในยามปกติ โดยต้องมีขั้นตอนเชื่อมโยงที่รัดกุมชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย (ผู้เขียนไม่ได้เจาะจงไปที่ศาล แต่กำลังพูดถึงกระบวนการเชื่อมโยงจากการล้างคดีเก่าไปสู่การเริ่มต้นคดีใหม่ มิใช่ล้างแล้วปล่อยไว้ลอยๆ ถึงเวลา ป.ป.ช. ไม่ฟ้อง อัยการไม่ฟ้อง ทุกอย่างเงียบไป ความรุนแรงก็อาจกลับมาอีก) 

หากทำได้เช่นนี้ จะเข้าท่ากว่าการปล่อยให้ประชาชนเป็น “ฝ่ายรับ” เก็บหมากการเมืองหรือไม่ ?

ผู้เขียนเคยเตือนไปแล้ว และก็จะเตือนอีกครั้งว่า หากท่านไม่พอใจกับข้อเสนอนิติราษฎร์ เพียงเพราะท่านไม่พอใจคุณทักษิณ ก็ขอท่านทบทวนให้ดีว่า “คุณทักษิณในแบบที่ท่านไม่พอใจ” มีเครื่องมืออื่นที่ดีและสะดวกทางยิ่งกว่าข้อเสนอนิติราษฎร์อีกมากจริงหรือไม่ ? 

2. ควันหลงถึงขบวนการนิติราษฎร์: ท่านพร้อมจะสร้างพันธมิตรทางความคิดของท่านมากแค่ไหน?
ขบวนการนิติราษฎร์ก็เช่นกัน ผู้เขียนเคยเตือนไปแล้ว และก็จะเตือนอีกครั้งว่า ผู้ที่พร้อมจะร่วมอุดมการณ์ล้มล้างลัทธิรัฐประหารพร้อมกับท่านนั้นมีอยู่มาก แต่เขาเหล่านั้นอาจจะไม่อยากร่วมเป็นแรงสนับสนุนท่านเลย หากวิธีการนำเสนอและสื่อสารของท่านยังคงแข็งทื่อ และกวาดมองว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของท่านในทันทีต้องเป็นผู้สมยอมลัทธิรัฐประหารในทันใด ในโลกนิติศาสตร์ปัจจุบันที่ก้าวพ้นยุคของหลักการทฤษฎีในหมู่ผู้ปกครองนี้ ท่านไม่อาจยึดมั่นแต่เพียง “กฎหมายที่ควรจะเป็น” เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจใน “มนุษย์ที่เป็นอยู่” เช่นกัน

ขบวนการนิติราษฎร์อาจเริ่มขยายพันธมิตรจากภายในสถาบันเก่าแก่ที่ภูมิใจในเสรีภาพทางวิชาการของท่าน หากท่านทำให้เพื่อนผู้ทรงปัญญารู้สึกมีส่วนร่วมและได้รับอัธยาศัยทางวิชาการที่ตอบรับกับสภาพความคาดหวังของเขาหล่านั้นไม่ได้ สถาบันของท่านก็จะไม่ต่างอะไรไปกับสถาบันเก่าแก่อีกแห่งที่ภูมิใจในความเป็นน้องพี่ที่กลมเกลียว แต่เกรงใจกันจนไม่ค่อยได้พบเห็นนวัตกรรมทางความคิดอะไรได้สะดวกนัก

ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ขบวนการนิติราษฎร์ได้พัฒนาปรับปรุงข้อเสนอที่ไม่เพียงสะท้อนหลักการทางกฎหมาย แต่ยังสอดคล้องกับจิตวิทยาทางการเมืองอย่างแหลมคมและแยบยล โดยเฉพาะในประเด็นจุดเชื่อมโยงระหว่างการล้มล้างคดีเก่าและการเริ่มต้นกระบวนการใหม่ให้มีการเชื่อมโยงที่รัดกุมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อรวมพลัง “ฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหารตราบใดที่ทักษิณรับผิด” เข้ากับ “ฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหารไม่ว่าทักษิณจะต้องรับผิดหรือไม่” และเชื้อเชิญ “ฝ่ายที่เชื่อว่ายังไงทักษิณก็ไม่ผิด” เพราะหากคุณทักษิณบริสุทธิ แล้วจะมีเหตุใดต้องกลัวศาลพิจารณาคดีใหม่

ไม่แน่ว่าขบวนการนิติราษฎร์ อาจนำไปสู่การรวมกลุ่มอำนาจในสังคมไทยเข้าด้วยกันอย่างไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนก็เป็นได้!

3. ควันหลงถึงครูบาอาจารย์สื่อสารมวลชน: จรรยาบรรณว่าด้วยแหล่งข่าวอยู่ที่ใด?
“การแสข่าวอภัยโทษ” เริ่มต้นมาจาก “แหล่งข่าว” ที่ไม่เปิดเผย เคราะห์ดีที่เหตุการณ์ดูจะคลี่คลายหลังมีการแถลงข้อแคลงใจจนมีการยุติการเคลื่อนไหวชุมนุม ซึ่งหากรายละเอียดเป็นจริงมาแต่ต้น เหตุใดรัฐบาลจึงไม่อธิบายให้ชัดมาแต่แรก? และแหล่งข่าวที่ว่านี้คือใคร ? สำนักข่าวใดได้ข่าวนี้มาแต่แรก? มีการตรวจสอบและรายงานระดับความน่าเชื่อถืออย่างไร? แหล่งข่าวนี้สมควรจะได้สอบถามความจริงได้จาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก แต่แรกหรือไม่ ? หากสุดท้ายรัฐบาลอธิบายไม่ทันจนเกิดการปะทะวุ่นวายในยามวิกฤตเช่นนี้ สื่อหรือผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ?

หากสื่อมวลชนผู้มีจรรยาบรรณตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ประชาชนก็อย่าได้แต่รอ ขอให้ท่านได้ใช้ช่องทางที่กฎหมายให้อำนาจท่านไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขอข้อมูลเกี่ยวกับการประชุม ครม. ลับที่เป็นข่าว โดยอาศัยช่องทางตาม “พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร อีกวิธีคือการเรียกร้องกดดันให้ผู้แทนของท่านในสภาได้ใช้อำนาจตาม “พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554” เพื่อเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร หรือเป็นเพียงการสร้างกระแสผ่านสื่อมวลชนอันเป็นการซ้ำเติมความกังวลให้กับพี่น้องประชาชนที่ลำบากในยามน้ำท่วมเช่นนี้?

หวังว่าเพดานทางปัญญาของสื่อมวลชนไทยจะไม่จบที่การ “ตีข่าวหักมุม” หรือ “วิเคราห์ทางที่หินถูกโยน” แต่เพียงนั้น

4. ควันหลงถึงพวกเราทุกคน: คนไทยมีปัญญาเพียงแค่ยกมวลชนตีกันเช่นนั้นหรือ?
อาการเรื้อรังของสังคมไทยที่ปรากฎชัดจาก “กระแสการอภัยโทษ” นั้น ไม่ได้ต่างไปจาก “กระแสประตูระบายน้ำ” ในภาวะวิกฤติอุทกภัย ทั้งสองเหตุการณ์พิสูจน์ว่า ในยามที่สังคมไทยมีปัญหานั้น ก็เป็นจริงดังที่ถูกสอนให้เชื่อว่าคนไทยสามัคคีกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวจริง แต่สามัคคีกลมเกลียวเฉพาะกับ “พวกเดียวกัน” เท่านั้น 

แต่สังคมไทยยังไม่คุ้นชินกับการต่อสู้ตามกติกาที่ต้องรอ ผู้เขียนเป็นห่วงอย่างยิ่งกับตรรกะของฝ่ายที่กล่าวว่ารัฐบาลไม่ควรเสนอการอภัยโทษตามข่าว เพราะจะทำให้ผู้คนแตกแยกออกมาตีราฆ่าฟันกันอีกรอบ ซึ่งเป็นตรรกะที่อันตรายไม่ต่างไปจากการยอมให้บ้านเมืองปกครองโดยกำลังมวลชนเป็นสำคัญ (might is right) หากคิดได้เช่นนี้ ต่อไปการกระทำใดจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ก็คงดูแต่เพียงว่าจะมีผู้เคลื่อนไหวปะทะกันหรือไม่ หากมีกำลังปะทะ ก็ไม่ควรทำ กระนั้นหรือ ?

ตรรกะที่ถูกต้อง คือการถามว่า การกระทำนั้นถูกกฎหมายหรือไม่ และหากเราเชื่อว่าการออกมาขออภัยโทษตามข่าวเป็นการใช้อำนาจที่ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลยืนยันว่าตนมีอำนาจตามกฎหมาย เราก็ต้องใช้อำนาจทางปัญญาต่อสู้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะคัดค้านโดยสันติ จะเข้าชื่อแก้กฎหมาย หรือสู้คดีในศาล ฯลฯ การชุมนุมกันไม่ควรถูกสันนิษฐานว่า จะต้องเป็นการยกมวลชนตีกัน ส่วนใครที่ใช้วิธีก่อความไม่สงบนอกวิถีแห่งกฎหมาย กฎหมายก็ต้องจัดการโดยเด็ดขาดให้ประจักษ์เป็นปกติ และหากรัฐใช้กำลังเกินควร ก็ต้องหาคนรับผิดชอบตามปกติ จะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ยากเกินปัญญาคนไทยนั้น กระนั้นหรือ ?

ตรงกันข้าม หากเรายอมเชื่อว่าการออกกฎหมายอภัยโทษตามข่าวเป็นการใช้อำนาจที่ “ผิดกฎตามใจฉัน” หรือ “ผิดเกณฑ์ศีลธรรมความดีงามบาปบุญคุณโทษอันเป็นสัจจะของฉัน” และในเมื่อจิตใจและความดีงามของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีแก้ปัญหาก็คงวนเวียนอยู่กับวาทกรรมมักง่ายที่ว่า “อย่าทำมันเลย เดี๋ยวคนเขาตีกัน…แต่ถ้ามันยังทำ ฉันก็จะตีมัน”

แม้ผู้เขียนจะไม่อยากให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ทนายวิ่งไล่รถพยาบาล แต่ก็สงสัยเหลือเกินว่า คนไทยเรามีปัญญาเพียงพอที่จะไม่หลีกเลี่ยงปัญหาเพียงเพราะข้ออ้างมวลชนปะทะกันได้หรือไม่หนอ ?

 

หมายเหตุ 
บทความนี้ต่อเนื่องจากบทความของผู้เขียนเรื่อง “รัฐประหาร - ทักษิณ - นิติราษฎร์: ๓ คำเตือนที่คนไทยต้องรู้” ที่ http://on.fb.me/nd9GR1 

บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ชมได้ที่

- รายการคมชัดลึก: http://www.youtube.com/watch?v=Pp25gkDQG1Y
- รายการสถานี Bluesky Channel: http://livestre.am/18ynP   
- รายการ ASEAN Newsroom (ภาษาอังกฤษ): http://www.youtube.com/watch?v=kxGQA4-s1hk

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ประชาชาติ' สัมภาษณ์ 'วีระกานต์': คนเสื้อแดงยังเดินหน้าทวงฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ "ทักษิณ"

Posted: 21 Nov 2011 05:00 AM PST

แนวการเคลื่อนไหวเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้กลับประเทศ โดยวิธีการขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อมีกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกาขออภัยโทษ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มคนเสื้อแดงหรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เคยรวบรวมรายชื่อถวายฎีกากว่า 3 ล้านชื่อ แล้วตั้งขบวนที่ท้องสนามหลวงนำโดย “วีระกานต์ มุสิกพงษ์” สมัยยังเป็นประธาน นปช. เป็นตัวแทนไปยื่นเอกสารยังสำนักพระราชวัง เมื่อ 17 สิงหาคม 2552 อันเป็นการรณรงค์เคลื่อนไหวต่อเนื่องหลังเหตุการณ์ “โฟนอิน” ครั้งแรกของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อ 1 พ.ย.2551

แม้ว่าร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับของ “ครม.ยิ่งลักษณ์” จะยังไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการว่ารายชื่อนับหมื่นรายได้ระบุชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหนึ่งในนั้นด้วยหรือไม่ แต่กระแสก็ถูก "หยุด" โดยจดหมายจากดูไบ ของ"ทักษิณ" เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และการประกาศของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมถ้อยทำนองว่า ถ้ามีชื่อ "ทักษิณ" ในรายการขออภัยโทษก็จะไม่มีชื่อประชาเป็นรัฐมนตรี

ผ่านจากคำพูดและความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าถูกลดระดับเป็นการ "โยนหินถามทาง" แต่ในสายตาของ “วีระกานต์” ผู้เคลื่อนไหวในประเด็นเดียวกันมานานนับปี มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญและเป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องได้รับโทษจำคุก หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุด

“ประชาชาติออนไลน์” สัมภาษณ์อดีตประธาน นปช. และ อดีตหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (บ้านเลขที่ 111) ผู้กำลังจะได้รับสิทธิการเลือกตั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า ภายหลังถูกเพิกถอนสิทธิฯ ในคดียุบพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2550 “วีระกานต์” อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง พูดติดตลกถึงสิทธิการเลือกตั้งที่กำลังจะกลับมาในไม่ช้าว่า “...ผมคงจะได้ใช้สิทธินี้ ไปสมัคร กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” ....

วีระกานต์ มุสิกพงศ์

 

การขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยคนเสื้อแดง เริ่มจากแนวคิดอะไร
การรวบรวมรายชื่อถวายฎีกาของคนเสื้อแดง เป็นการขอพระราชทานอภัยโทษ ให้คุณทักษิณคนเดียวโดยเฉพาะ เป็นการทำตามสิทธิประชาชน และตามรัฐธรรมนูญระบุว่าเป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ ไม่มีอำนาจอื่นที่จะมาแทรกแซงได้ ถ้าไม่ทรงพระราชทานก็ไม่มีใครแทรกแซงได้ ฉะนั้น ไม่เห็นเป็นเรื่องผิดปกติตรงไหน และดูแล้วอำนาจประมุขแห่งรัฐทุกระบอบในโลก ก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ผิดต่อหลักนิติรัฐนิติธรรมนั่นเอง

ฎีกาของคนเสื้อแดง อยู่ในขั้นตอนไหน
ผมทวงกระทรวงยุติธรรมอยู่ ไม่แน่ใจว่าจะผนวกกับร่างพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ ผมก็ยังไม่เห็นร่างพระราชกฤษฎีกาของ ครม. หน้าตาเป็นยังไง เราไม่รู้ แต่ถ้ากระทรวงยุติธรรม คิดสาระตะแล้วเห็นว่าครอบคลุมประเด็นเดียวกัน เขาก็อาจจะยุติทางใดทางหนึ่งได้ แต่ถ้ายังไม่ครอบคลุมเรื่องของคนเสื้อแดงก็ต้องเดินหน้าต่อไป ถ้าไม่ติดน้ำท่วมป่านนี้ก็ทวงกันอึงคนึงอยู่แล้ว

คิดเห็นอย่างไรที่มีข่าว ครม. เตรียมเสนอพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
ผมไม่สนใจ ด้วยเหตุผลอีกประการก็คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังจำนวนเยอะๆ พร้อมกันในคราวเดียว ทำกันจนเป็นพระเพณี ในวโรกาสสำคัญ ก็ทำกันเสมอมา เช่น เฉลิมพระชนพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หรือ เฉลมพระชนมพรรษาพระนางเจ้าฯ หรือ โอกาสวาระสำคัญ เช่น กาญจนาพิเษก รัชดาภิเษก หรือ ครองราชย์ 60 พรรษา ก็มีเสมอมา

มองอย่างไรข้อที่นายกรัฐมนตรีถูกตำหนิว่าช่วยพี่ชาย
ถ้าเป็นผม ก็ไม่กังวล ถ้าจะทำก็ต้องทำ แต่ถ้าจะช่วยคนอื่นทั้งหมด แต่ยกเว้นพี่ชายตัวเอง ก็คงเป็นเรื่องบ้า!

คุณทักษิณ ยังไม่เคยรับโทษจำคุก ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่
ไม่มีปัญหานั้น ไม่มีกฎหมายที่จำกัดไว้อย่างนั้น อย่าว่าแต่กรณีไม่เคยจำคุกเลย เคยมีกรณีที่บางคนคดีพิจารณาคดีอยู่ในศาล ยังไม่มีคำพิพากษา ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษมา หรือบางคนคดียังไม่ถึงศาล แต่อยู่ในขั้นตำรวจกำลังสอบสวน ก็เคยมี ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ผมไม่อยากระบุตัวบุคคล เพราะเจ้าตัวเขาไม่เต็มใจ เราก็ไม่อยากล่วงล้ำ แต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นเหตุการณ์ไม่กี่ปีมานี้แหละ

คือเราต้องเข้าใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ เขียนว่า เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แล้วคนที่ไม่เห็นด้วยจะอ้างเงื่อนไขอื่นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขว่า ยังไม่ถูกจองจำ ยังไม่ถูกพิพากษา คุณคิดเอาเองกันทั้งนั้น เอามาอ้างเหลวไหล ไอ้คนอ้างก็รู้ เขาไม่พอใจทักษิณกัน เรื่องมันเท่านั้น

ขบวนการเสื้อแดงต้านอำมาตย์ แต่ขอพระราชทานอภัยโทษให้คุณทักษิณ แบบนี้จะขัดหลักการที่ต่อสู้หรือเปล่า
ขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นเรื่องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และคนเสื้อแดงก็เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องแยกกัน ไม่เกี่ยวกับอำมาตย์ ซึ่งอำมาตย์ ก็มีทั้งดีและไม่ดี เราตำหนิอำมาตย์ที่ไม่ดี

ประเมินความเข้มข้นของฝ่ายตรงข้ามที่จะออกมาต่อต้านอย่างไร
คุณทักษิณ เขามีฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้ว ตั้งแต่คุณทักษิณ ยังไม่ออกนอกประเทศ แต่ฝ่ายตรงกันข้ามเขามีมากหรือมีน้อยล่ะ พวกอิจฉาตาร้อน เห็นคนอื่นรวยล้ำหน้าไม่ได้ สังคมไทยต้องเผชิญความจริงบ้าง คนเห็นต่างมีจำนวนนิดเดียว แต่ว่าใส่ลำโพงเข้า พูดไปก็เสียงดังมาก แต่คนไม่กี่คนหรอก ไม่งั้นการเลือกตั้งจะแพ้รูดมหาราชแบบนี้หรือ เสียงข้างมากอยู่ทางโน้นทีคนเขาเลือกทักษิณกัน พวกหน้าไหว้หลังหลอกไม่ยอมรับกติกา

รัฐบาลอาจจะพังเพราะเรื่องนี้หรือเปล่า
ไม่สำคัญว่ารัฐบาลจะอยู่หรือจะไป เพราะรัฐบาลต้องทำสิ่งที่ถูกต้องและเห็นอะไรควรทำก็ทำไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จะมานั่งพะวง ขออยู่ยาวๆ แต่ไม่ทำอะไร แล้วจะอยู่ไปทำไม ถ้ารัฐบาลจะถูกโค่น ก็ไม่เห็นต้องกลัว รัฐบาลมาจากเสียงข้างมากประชาชน ถ้ารัฐบาลทำผิด คนก็เห็นก็ไม่เลือก กติกาก็มีอยู่ สภามีอยู่ ก็ใช้สภาไล่ ก็ได้ จะใช้กำลังอนาธิปไตยตลอดกาลก็เริ่มต้นใหม่ไม่ได้สักที ต้องกล้าหาญพอที่จะบริหารประเทศ และถ้าหากจะมีอันเป็นไป ก็ต้องกล้าหาญพอที่จะยอมรับความเป็นไป แต่อย่าอยู่กันหลอกๆ แบบนี้

 

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: หลิ่มหลีไม่เคยเป็นกลาง แต่อยู่ข้างในหลวง

Posted: 21 Nov 2011 04:48 AM PST

หลิ่มหลีไม่ค่อยแน่ใจสักเท่าไรว่า รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมาก กว่า 15 ล้านคนนั้นจะทำงานได้ดีมากน้อยแค่ไหน

หลิ่มหลีดูข่าวน้ำท่วมเยอะมาก ก็ได้เห็นข้อตำหนิ โจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากมาย เพื่อนๆสลิ่มหลายๆคนที่เคยเห็นหลิ่มหลีมีจิตใจที่ไขว้เขวว่า หลิ่มหลีจะกลายเป็นคนเสื้อแดง ก็พยายามยัดเยียดให้เห็นความบกพร่องของรัฐบาลที่คนไม่มีคุณภาพ 15 ล้านกว่าคนเลือกกันมา อยู่ตลอดในช่วงน้ำท่วมนี้

ก็จริงค่ะ หลิ่มหลีก็เห็นความผิดพลาดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล

หลิ่มหลีก็ไม่ได้เถียงแทนรัฐบาลหรอก หลิ่มหลีไม่ได้เป็นโฆษกรัฐบาลหรือ องครักษ์พิทักษ์พี่ปู ที่จะต้องมาแก้ต่างแทน

อะไรดี อะไรห่วย ก็ด่ากันไป

คนที่ด่าไม่ได้ คือคนที่เราด่าแล้วโดนจับ
คนที่เรายังด่าได้ แสดงว่าเขายังทำอะไรให้เราได้ด่า
แปลว่า เขายังทำงาน

จะผิดจะพลาดอะไร ก็ต้องปล่อยวางว่า คนทำงานมันต้องมีผิดมีพลาดกันบ้าง

ตอบเขาแบบนี้ไป เขาก็ด่าว่าหลิ่มหลีเข้าข้างรัฐบาลอยู่ดี

หลิ่มหลีโดนตอกหน้ามากๆเข้า ว่า โง่ดักดาน เป็นพวกไร้คุณภาพ หลิ่มหลีก็แค่เถียงกลับคำเดียวว่า

“จะให้หลิ่มหลีเลือกไอ้พรรคการเมืองที่มันสั่งฆ่าประชาชน หลิ่มหลีก็ทำไม่ลงเหมือนกัน”

นี่จะกลายเป็นแค่เหตุผลเดียวในถกเถียงเรื่อง รัฐบาลไหน ดีกว่า รัฐบาลไหนของหลิ่มหลีแล้วหรือนี่

หลิ่มหลีก็เหนื่อยนะ

 

แต่ที่เหนื่อยหนักกว่า น่าจะเป็นการที่พวกเพื่อนหลิ่มๆของหลิ่มหลีพยายามโพสรูป โพสคลิป ตัดต่ออะไรที่มันเป็นการใส่ร้าย ดูหมิ่น เหยียดหยาม ลดค่าความเป็นคนที่ทำกับ นรม หญิง ยิ่งลักษณ์กันขนาดนี้

หลิ่มหลีก็ไม่ไหวแล้วนะ คุณ!!!!!!!!!

ตัดต่อรูปสาวคนอื่นหน้าตาหมวยๆคล้ายๆกันกินเหล้าเมายา ก็มาเป็น คุณปู

ตัดต่อรูปคุณปูใส่รองเท้าบู๊ทยี่ห้อแบรนเนม มานั่งมีผีอีเม้ยคอยหมอบกราบ

ประนามการขึ้นสู่ตำแหน่งของ นรม หญิง ว่าเป็นตัวซวย เพราะ หญิงเป็นกาลกิณี

จับมือเชกแฮนด์กับประธานาธิปดี สหรัฐอเมริกา ก็ว่า จับมือเหมือนกระหรี่

วิพากษ์การพูดภาษาอังกฤษของ นรม หญิง ว่า ห่วยแตก

ด่าว่ามี นรม หญิงที่ โง่ โง่ โง่

โอ้ ... หลิ่มหลีก็อายแทนเพื่อนสลิ่มที่มีพฤติกรรมแบบนี้เหมือนกันนะคะ แบบว่า เอ่อ นี่คือ คนที่มีคุณภาพในกลุ่ม 300,000 คนของพวกสลิ่มใช่ไหมเนี่ย

เพื่อนๆ สามแสนคนประกาศแล้วว่า สามแสนคนนี่ก็ล้มรัฐบาลได้นะ หุหุ

แม้แต่ระดับอาจารย์ปริญญาเอกก็ยังพูดเลยว่า ““คนสิบห้าล้านคนที่มีไม่มีคุณภาพ..กับคนสามแสนที่มีคุณภาพ เราเลือกสามแสนคนที่มีคุณภาพไม่ดีกว่าเหรอ..?? ..”

คนสามแสนคนนี้เป็นใครกัน ทำไมใหญ่โตได้ขนาดนี้ หรือว่า นี่คือกลุ่มมือที่สาม หรือ สลิ่มมีแค่นี้

อ่ะ อ่ะ หรือว่า นี่คือ ฝีมือพรรคฝ่ายแค้นสีฟ้า หรือว่า นี่คือฝีมือกลุ่มเสื้อเหลือง กันแน่

ก็ไม่น่าใช่ เพราะฝีมือพรรคฝ่ายแค้นสีฟ้ามีคนเลือกตั้ง 11 ล้านกว่าคน ไม่ใช่กลุ่มคนสามแสน ส่วนเสื้อเหลือง พธม เห็นเหลือกันอยู่ หกเจ็ดหน่อ ก็ไม่ใช่สามแสน

หรือว่า นี่คือพวก Netizens ทางการเมือง ที่มาระดมใส่ร้ายป้ายสีรัฐบาลและถล่ม นรม หญิง ของเราซะยับเยิน แต่ละการยัดเยียดใส่ร้ายก็บอกได้ว่า แต่ละคนก็ต้องเป็นผู้ชำนาญการด้านการเล่นเนต การตัดต่อ การใส่ร้ายป้ายสีไม่ใช่ย่อย

มีคนบอกว่า คนพูดเรื่อง สิบห้าล้านคน สามแสนคน มีคุณภาพ ไม่มีคุณภาพนั้น เป็นพวกที่อยากเป็นอีลีท Elite แต่หลิ่มหลีว่า น่าจะเป็นพวก อีสลิด (ภาษาเหนือ) ซะมากกว่า

แต่ที่แน่ๆ คนพูดเลือกข้างแล้วแน่ๆ

เห็นแล้ว ก็ งง งง กับคนที่ไม่ได้เป็นกลาง และยังไม่เลือกข้างอย่างหลิ่มหลีเป็นยิ่งนัก

การที่หลิ่มหลีเป็นคนเฉียงๆ เป็นสลิ่มที่ไม่เข้าข้างใคร แต่อยู่ข้างในหลวง มันก็เป็นอะไรที่สร้างความอึดอัดให้ไม่น้อย เพราะดูเหมือน ท่าน นรม หญิง ก็ได้รับพระเมตตาจากราชวงค์ให้เข้าเฝ้าอยู่เนืองๆ เฉกเช่น นรม ท่านอื่นๆในอดีต ก็ไม่ได้มีอะไรที่ผิดปกติให้ได้เห็นกัน

ในเมื่อราชวงค์ไม่ได้เลือกข้างแต่ประการใด แล้ว การเป็นสลิ่มของหลิ่มหลีที่อยู่ข้างในหลวง ควรจะทำฉันใดดี

ไม่เคยเป็นกลาง แต่อยู่ข้างในหลวง

อยู่ข้างรัฐบาล
เฉยๆไปซะ
หรือยืนรออยู่บนภู .... ดู...กัดกัน ...... แล้วเลือกข้างชนะดี

สลิ่มไม่ลึกซึ้งเรื่องการเมืองนะคะ
บอกกันบ้าง ว่าต้องทำยังไง
อย่าปล่อยให้เราสับสนเลย ไม่ไหวจะเคลียร์

สวัสดี

หลิ่มหลี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

3 อดีตผู้นำเขมรแดง ขึ้นศาลพิเศษข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติแล้ววันนี้

Posted: 21 Nov 2011 02:32 AM PST

อดีตผู้นำเขมรแดงที่มีบทบาทสังหารประชาชนชาวกัมพูชากว่า 2 ล้านคน เข้ารับการพิจารณาคดีต่อศาลพิเศษกัมพูชาในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว โดยทั้งสามผู้นำยังคงปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ ในขณะที่ศาลพิเศษถูกกังขาเรื่องความน่าเชื่อถือ 

วันนี้ (21 พ.ย.) ศาลพิเศษกัมพูชา หรือ Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia (ECCC) ในกรุงพนมเปญ ซึ่งสหประชาชาติให้การสนับสนุน ได้เริ่มเปิดการพิจารณาคดีอดีตแกนนำเขมรแดง 3 คน ซึ่งได้แก่นายนวน เจีย อดีตผู้นำอันดับสองรองจากพล พต นายเขียว สัมพัน อดีตผู้นำหน้าฉาก และนายเอียง ซารี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

ชาวกัมพูชากำลังชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ตวล เสลง (Toul Sleng Museum)
ที่บันทึกเรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในยุคสมัยเขมรแดง 

การตั้งข้อหาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการปกครองภายใต้ระบอบเขมรแดง (Khmer Rouge) ซึ่งนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชาในช่วงปี 2518-2522 ที่มีนโยบายทางเศรษฐกิจบังคับให้ประชาชนออกไปทำงานในหมู่บ้านหรือ "คอมมูน" ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้คนชาวกัมพูชาเสียชีวิตจากความอดอยากแล้ว ยังสังหารและทรมานประชาชนจำนวนมากที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้ทรยศหรือเห็นต่างต่อระบอบดังกล่าว ทำให้มีคนเสียชีวิตราว 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดในขณะนั้น

นอกจาก 3 คนนี้ ยังมีจำเลยอีกหนึ่งคนที่เป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว คือนางเอียง ธิริธ อดีตรัฐมนตรีกิจการสังคม ภรรยาของนายเอียง ซารี แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนศาลเพิ่งตัดสินว่านางสุขภาพไม่แข็งแรงพอเพราะป่วยเป็นอัลไซเมอร์จึงไม่ต้องถูกนำตัวขึ้นศาล 

คดีที่จะเริ่มเปิดการพิจารณาในวันนี้ เป็นคดีหมายเลข 002 มีจำเลยทั้งหมด 3 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้นำเขมรแดงในระดับนำที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีอายุ 80 ขึ้นไปทั้งสิ้น โดยก่อนหน้านี้ มีผู้นำเขมรแดงถูกตัดสินจำคุก 35 ปีแล้วหนึ่งคน คือ เค็ง เก็บ เอียบ หรือ "สหายดุช" อดีตผู้บัญชาการเรือนจำโตน สะแลง ผู้รับผิดชอบการเสียชีวิตของประชาชนกว่า 14,000 คน ซึ่งภายหลังศาลได้ตัดสินให้ลดโทษเหลือ 19 ปี 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า การพิจารณาคดีดังกล่าว เป็นคดีที่มีความสำคัญและความซับซ้อนทางกฎหมายมากที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิวที่นูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม ศาลพิเศษดังกล่าวที่ประกอบด้วยคณะผู้พิพากษานานาชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นอิสระและความเป็นกลาง เนื่องจากถูกมองว่ามีการแทรกแซงจากการทำงานจากเจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชา และมีการซื้อตำแหน่งผู้พิพากษารวมถึงการไม่ให้ความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หนึ่งในคณะผู้พิพากษาที่เป็นชาวเยอรมันยื่นจดหมายลาออก โดยให้เหตุผลว่าทางการกัมพูชาเข้ามาแทรกแซงมากเกินไป นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ชาวกัมพูชาที่ได้ลงชื่อเป็นพยานในการไต่สวน ได้ถอนตัวจากการมีส่วนร่วมแล้ว โดยชี้ว่า การดำเนินคดีโดยศาลพิเศษดังกล่าวเป็นเพียงแค่การตบตาเท่านั้น

บางส่วนชี้ว่า ข้อจำกัดในการพิจารณคดี มีสาเหตุมาจากการเล่นการเมืองของเจ้าหน้าที่รัฐ และการที่อดีตสมาชิกเขมรแดงหลายคนยังคงดำรงตำแหน่งสูงในรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในระบบข้าราชการ ฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาล เช่น เฮง สัมริน ประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีฮุน เซ็น ทำให้การค้นหาความจริงในคดีดังกล่าวเป็นเรื่องยากกว่าเดิม  

 

เนื้อหาบางส่วนจาก สำนักข่าวแห่งชาติ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าตัดสินใจปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดแล้ว

Posted: 20 Nov 2011 11:08 PM PST

ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ตัดสินใจที่จะปล่อยตัวนักโทษการเมืองในประเทศทั้งหมด เนื่องจากพม่าต้องการความร่วมมือจากพลเมืองทุกคนเพื่อสร้างชาติขึ้นใหม่

นายโก โก ไลย หัวหน้าที่ปรึกษาทางการเมืองของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ผู้นำพม่า เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ตัดสินใจที่จะปล่อยตัวนักโทษการเมืองในประเทศทั้งหมด หลังจากได้พิจารณาเรื่องนี้ และเห็นว่านักโทษการเมืองควรได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว เนื่องจากพม่าต้องการความร่วมมือจากพลเมืองทุกคนเพื่อสร้างชาติขึ้นใหม่ พร้อมกันนี้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ยังเชิญชวนชาวพม่าที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศให้กลับไปยังบ้านเกิดเพื่อร่วมกันสร้างประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้วรัฐบาลพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ประมาณ 230 คน แต่ยังไม่มีการประกาศนิรโทษกรรมเพิ่มเติม ทำให้มีการคาดกันว่า อาจมีความขัดแย้งภายในรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางในการเดินหน้าปฏิรูปการเมือง ปัจจุบันประมาณการณ์ว่ายังคงมีนักโทษการเมืองในประเทศที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวอย่างน้อย 2,000 คน 

ที่มา: เรียบเรียงจาก สำนักข่าวแห่งชาติ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: ปกป้องกรุงเทพชั้นในคือการปกป้องเกียรติภูมิแห่งความเหลื่อมล้ำ

Posted: 20 Nov 2011 10:36 PM PST

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น ทวีตข้อคิดเห็นจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ "ประชาไท" ขออนุญาตรวบรวมนำเสนอ

00000


อ้อมน้อย11 พ.ย.54
 

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
@
supalakg_nt

บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เฉยๆ ไม่ได้บ่น วันนี้หมู่บ้านคุณาลัย น้ำท่วมครบ 1 เดือนพอดี น้ำบางส่วนจากไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่

ตั้งแต่เกิดมาเป็นคน เคยประสบน้ำท่วมบ้านก็หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ลึกและนานที่สุด

คาดว่าในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า บ้านหลังนี้จะต้องโดนท่วมลึกและนานกว่านี้อีก

น้ำท่วมบ้านก็ได้เห็นอะไรดีๆ หลายอย่างในสังคมไทย เห็นแก่ตัว ขี้โกง ฉวยโอกาส เป็นคุณสมบัติที่คู่กับ เสียสละ และ เอื้อเฟื้อ ของคนไทย

พวกเราแสดงความเสียสละและเอื้อเฟื้อไม่ทอดทิ้งกันเมื่อภัยยังมาไม่ถึงตัว แต่ถ้ามันเข้ามาถึงเมื่อไหร่ เราจะเปลี่ยนเป็นเห็นแก่ตัวและขี้โกง

น้ำท่วมคราวนี้ก็ล้างภาพมายาต่างๆ ของสังคมไทยไปจนสิ้น เราได้เห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในบ้านมากมายที่สุดท้ายแล้วมันก็ต้องหนีน้ำออกมาเผยโฉมเช่นกัน

ที่แน่ๆ เราเห็นคนแก่และป่วยนอนซมอยู่ในบ้านมากมาย พวกเขาเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขของรัฐหรืออีกนัยหนึ่งบริการของรัฐมองไม่เห็นพวกเขา

บางคนนั้นป่วยเกินกว่าจะนอนอยู่ในบ้าน แต่เหลือเชื่อ พวกเขานอนอยู่แบบนี้มานานแล้ว โดยที่สังคมที่อ้างว่าเอื้ออาทรนี้มองไม่เห็น

แต่น่าสนใจมากที่สุดคือน้ำท่วมทำให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นฝังลึกอยู่ในกระดูกสันหลังของสังคมเลยทีเดียว

มีคนจำนวนหนึ่งถูกเรียกร้องให้เสียสละเพื่อคนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ตลอดเวลา และดูเหมือนจะตลอดไป

พวกที่ต้องเสียสละนั้นคือพวกที่บังเอิญว่า ไม่มีเงินมากพอจะไปซื้อบ้านอยู่ในเขตชั้นใน

พูดให้ชัดเจนก็คือพวกบ้านนอกที่เข้ามาอยู่ในกรุงเมื่อสัก 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ตะเกียกตะกายเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงได้ก็ยังอยู่ชั้นนอก

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยคงแก้ไขยาก แต่ถ้าคิดจะทำให้มันลดน้อยลงไปบ้างคงจะดี อย่างน้อยที่สุดทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ชาติเดียวกันบ้าง

การทำให้รู้สึกว่าเราเป็นชาติเดียวกันคือ ทำให้ทุกคนตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ไม่ใช่ว่าคนกลุ่มหนึ่งต้องเสียสละปกป้องคนอีกกลุ่มหนึ่ง

วาทกรรมว่า ท่วมกรุงเทพชั้นในจะเสียหายใหญ่หลวงนั้นหลอนมากๆ เพราะฐานการผลิตสำคัญของประเทศ (จริงๆแล้วของโลกด้วยซ้ำ) อยู่รอบเมืองหลวง

แหล่งผลิตข้าวใหญ่สุดของประเทศคือที่ราบภาคกลางที่จมบาดาลอยู่ตอนนี้แหละ ที่สำคัญ แหล่งอุตสาหกรรมที่เป็น supply chain อยู่ชั้นนอกเช่นกัน

ความเสียหาย (อันอาจจะเกิดกับเขตชั้นใน) ที่พยายามปกป้องกันนั้นคืออะไร?

สนามบิน ศูนย์ราชการ แหล่งผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมจมน้ำหมดแล้ว และท่านกำลังปกป้องอะไรกันอยู่

สิ่งที่ท่านกำลังปกป้องคือ เกียรติภูมิแห่งความเหลื่อมล้ำทางสังคมและช่องว่างอันใหญ่โตของการพัฒนาที่ล้มเหลวตลอดระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมาต่างหาก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น