โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

น้ำท่วม (ปาก)#1: มนตรี จันทวงศ์ – เมื่อรัฐ-ผู้เชี่ยวชาญผูกขาดการจัดการ “น้ำ”

Posted: 07 Nov 2011 11:36 AM PST

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ มีการการเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีวิทยากรได้แก่ มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยเริ่มแรกของการเสวนา เป็นการนำเสนอข้อมูลการจัดการน้ำในประเทศไทยโดย มนตรี จันทวงศ์ ซึ่งนำเสนอข้อสังเกต “น้ำท่วมตอผุด” 5 ประการในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมได้แก่ หนึ่ง ความไม่พร้อมของรัฐ กับการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ สอง ประสิทธิภาพของระบบการพยากรณ์ การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ และระบบการระบายน้ำ สาม ความเหลื่อมล้ำของการแก้ไขปัญหา และการนิยามความหมาย สี่ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสกับข้อเสนอเมกกะโปรเจกต์เรื่องน้ำ ห้า เรารู้จักชื่อคลอง มากพอๆ กับชื่อถนน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ในระหว่างการอภิปรายมนตรีได้นำเสนอด้วยว่า การรักษาระดับในเขื่อนให้สูงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า มีผลทำให้เขื่อนไม่สามารถระบายน้ำได้ทันเมื่อมีปริมาณน้ำเข้ามาในอ่างเก็บน้ำสูงมากหลังมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย และปล่อยน้ำไม่ทัน จึงต้องปล่อยน้ำผ่านทางสปริงเวย์และผ่านทางระบายน้ำสำหรับใช้กระแสไฟฟ้า โดยมนตรีชี้ว่ากรณีเขื่อนภูมิพลในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมมีการปล่อยน้ำกว่า 6,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำ 2 เท่าที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าเขื่อนมีการพร่องน้ำเสียตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนก็จะไม่เป็นปัญหา

“แต่เขื่อนภูมิพลยังคงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพราะฉะนั้นเขา พร่องน้ำไปมากกว่านี้ไม่ได้ ถ้าพร่องมากกว่านี้ระดับน้ำจะต่ำจนผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้ ความจริงแล้วเขื่อนภูมิพลสามารถปล่อยน้ำและรับน้ำมาได้เต็มอ่างถึง 13,462 ลบ.ม. แต่เขาปล่อยได้เต็มที่แค่ 9,662 ลบ.ม.เพราะต้องเก็บไว้เป็นน้ำตาย3,800 ลบ.ม.เพื่อไว้เป็นหัวน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า”

มนตรียังอภิปรายด้วยว่า มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หน่วยงานราชการเตรียมผลักดันเมกกะโปรเจกต์หรือโครงการขนาดใหญ่โดยใช้วิกฤตน้ำท่วม ใช้เหตุผลที่ว่าต้องแก้ไขปัญหาน้ำ จนทำให้ขาดกระบวนการตรวจสอบ กระบวนการตัดสินของประชาชน นอกจากนี้อาจมีการแก้กฎหมายหรือละเว้นการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่อให้โครงการใหญ่ๆ เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงถามตอบในการอภิปราย มนตรียังมีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรเปิดช่องทางการเมืองให้มีกระบวนการของการมีตัวแทนทุกส่วนให้มาตัดสินใจเกี่ยวกับดูแลเขื่อนทุกเขื่อน ต้องมีพื้นที่พูดคุยในทางสาธารณะ และไม่ถูกครอบงำโดยเทคโนแครต (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน) ที่จะมาเสนอโครงการ โดยการปลดล็อกดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะเป็นการลดแรงกดดันของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แก้มลิงหรือพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำได้ โดยรายละเอียดการอภิปรายดังกล่าวสามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ประชาธรรม

โดย “ประชาไท” ขอนำเสนอคลิปการอภิปรายของมนตรี โดยแบ่งเป็น 2 ตอน มีรายละเอียดดังนี้

ตอนที่ 1

ตอนที่ 2

มนตรี จันทวงศ์ อภิปรายในงานเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” เมื่อ 5 พ.ย. 54 ที่ Book Re:public จ.เชียงใหม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรณี EM Ball และตรรกะพิสดารว่าด้วย 'ความเชื่อ' กับ 'วิทยาศาสตร์'

Posted: 07 Nov 2011 09:24 AM PST

 
ถึง คุณธงชัย พรรณสวัสดิ์ 
เรื่อง ศาสตราจารย์กิตติคุณก็ใช้ตรรกะพิสดารเป็นเหมือนกัน
 
ดิฉันได้ดูวิดีโอของคุณทางเว็บไซต์ยูทูบ (http://www.youtube.com/watch?v=0920PhZHNuA) แล้ว ดิฉันยอมรับว่าตัวเองไม่มีความรู้ทางจุลินทร๊ย์วิทยา แต่เนื่องจากว่า พอเข้าใจวิทยาศาสตร์และตรรกศาสตร์อยู่บ้าง และทนไม่ได้กับทัศนคติและความเห็นของคุณ จึงขอชี้แจงดังนี้
 
คุณพูดว่า: [นาทีที่ 10] "ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ตาหายน่ะมีมั้ย ป้าเช็งไม่มีหรอก ถ้ามีแล้วคนจะตาบอดได้ไง   เพราะป้าเช็งไม่รู้ [คนถึงตาบอด] ความรู้ของป้าเช็งไม่ใช่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์"
 
ในสมัยก่อน ทฤษฎีทางฟิสิกส์ของนิวตัน ถือได้ว่าเป็นความรู้ที่ดีที่สุด   ทฤษฎีทางฟิสิกส์ของนิวตันผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์มาแล้วมากมาย  เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง บางคนคิดว่าเป็นกฎสากลของจักรวาลด้วยซ้ำไป (ถึงแม้ว่านิวตันอธิบายเรื่องแรงโน้มถ่วงของวัตถุที่อยู่ห่างกันมากๆไม่ได้ก็ตาม) จนกระทั่ง ทฤษฎีของไอน์สไตน์เป็นที่รู้จัก  ข้อแตกต่างระหว่างฟิสิกส์ของนิวตันกับฟิสิกส์ของไอน์สไตน์ คือ นิวตันมองว่า เทศะและเวลา (space and time) เป็นสิ่งที่คงที่และตายตัว  แต่ไอน์สไตน์มองว่าจักรวาลไม่มีนาฬิกาสากล เวลาเป็นของใครของมัน เวลาพริบตาเดียวของคนที่กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสงอาจเทียบเท่าได้กับเวลาทั้งชีวิตของคนที่อยู่บนโลก
 
ถ้าจะถามว่า ฟิสิกส์ของนิวตันผิดไหม คำตอบคือไม่ผิด แต่มันเป็นจริงภายใต้บางเงื่อนไข บางกรอบอ้างอิง (frame of reference) เท่านั้น  กรอบอ้างอิงจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับการเคลื่อนที่ของทั้งผู้สังเกตและวัตถุที่ถูกสังเกต   หากผู้ออกแบบการทดลองเพื่อวัดความแม่นยำของฟิสิกส์ของนิวตันต่างไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้  ฟิสิกส์ของนิวตันก็คงจะถูกต้องวันยังค่ำ 
 
การออกแบบการทดลองเพื่อที่จะทดสอบสมมติฐานหนึ่งๆ นั้นต้องรอบคอบให้มากว่า มีตัวแปรหรือเงื่อนไขทางการทดลองใดที่ยังไม่นำมาพิจารณา  ถ้าหลักฐานของการทดลองนั้นไม่ได้สะท้อนถึงค่าของตัวแปรหรือเงื่อนไขอย่างมีความหมาย   การทดลองนั้นย่อมมีข้อจำกัดเกี่ยวกับตัวแปรหรือเงื่อนไขดังกล่าว เช่น การทดลองยากับหนู ก็อาจไม่สะท้อนปฏิกิริยาของคนต่อยานั้นก็ได้   การวัดความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทย โดยทดสอบกับคนกรุงเทพเท่านั้น ก็อาจไม่สะท้อนความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทยทั้งประเทศได้   การทดสอบทฤษฎีทางกลศาสตร์โดยใช้กรอบอ้างอิงหนึ่่งๆ ก็อาจไม่สะท้อนถึงความเป็นสากลของทฤษฎีนั้นๆได้
 
แต่กระนั้นก็ตาม คุณต้องเข้าใจว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น เริ่มมาจากสมมติฐาน (hypothesis) และการทดสอบสมมติฐาน (hypothesis testing) ซึ่งถึงแม้ว่า จะผ่านการทดสอบมากมายก็ตาม เรายังไม่อาจถือได้ว่าความรู้ที่ได้มาจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (scientific knowledge) เป็นข้อเท็จจริง (fact) เรารู้ได้แต่ว่า มันเป็นความรู้ที่ดีที่สุดที่เรามี จนกระทั่งมีหลักฐานใหม่ที่แน่นหนาพอที่จะหักล้างหรือปรับปรุงความรู้เก่าๆ เพราะอะไร  เพราะเราไม่มีทางรู้เลย ว่าเราลืมคิดถึงตัวแปรหรือเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราควรนำมาคิด  นอกจากนี้ เรามีข้อจำกัดต่างๆในการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุนการวิจัย เวลา การสุ่มตัวอย่างที่มากและดีพอ 
 
ถึงแม้ในศาสตร์ของ การแพทย์เชิงประจักษ์  (evidence-based medicine) ก็ยอมรับกันว่า มีข้อจำกัดเหล่านั้น   เช่น การทดสอบยามักมีจำนวนตัวอย่างจากคนบางเผ่าพันธุ์ หรือคนที่มีพันธุกรรมพิเศษ น้อยเกินไป   ยาอาจไม่มีผลกับคนเหล่านั้น หรือยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตรายกับคนเหล่านั้นได้   ยาที่ผ่านการทดสอบ การตรวจทานจากผู้เชี่ยวชาญ การรับรองจากองค์กรของรัฐอย่างเข้มข้นมาแล้ว ก็มีข่าวอยู่เนืองๆว่า มีอันตรายที่ไม่พบมาก่อนในการทดลอง
 
ฉะนั้น การที่คุณธงชัยพูดทำนองว่า  เพราะป้าเช็งไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ [ไม่ใช่เพราะอย่างอื่น]  คนถึงตาบอด เป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณอาจยังไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างดีพอ     เป็นไปได้ที่ป้าเช็งอาจไม่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ และ/หรือ เกิดความไม่ระมัดระวังจากการนำผลทดลองทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่วิทยาศาสตร์เองมีความผิดพลาด
 
ที่ดิฉันจะพูดนี้ ไม่ใช่จะสนับสนุนวิธีการทำงานของป้าเช็ง   ดิฉันเห็นด้วยกับคุณธงชัยในข้อสรุปที่ว่า ความรู้ของป้าเช็งไม่ใช่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์[โดยวิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด]  ดิฉันขอสนับสนุนและปรบมือให้กับคุณธงชัยที่กล้าพูดแย้ง และวิจารณ์การทำงานของรัฐ อันถือเป็นกิจที่ประเสริฐของนักวิชาการในการใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อรับใช้สังคม และสร้างประโยชน์สุขให้คนทั่วไป    แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณพูดถูกทั้งหมด  ความจริงก็คือ วิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้ปลอดภัยหรือดีเลิศอย่างสมบูรณ์แบบเลย  ถึงแม้ว่าระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นการใช้หลักฐานและเหตุผลที่ดีที่สุดในปัจจุบันของมนุษย์  ข้อจำกัดและความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ดี  นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจวิทยาศาสตร์ ย่อมเข้าใจเรื่องนี้ดี    เท่าที่ดิฉันสังเกตดู (เน้นว่าสังเกต ไม่ใช่สรุป)  คนที่ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ต่างหากที่เชื่อผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง "ความรู้" กับ "ข้อเท็จจริง"
 
หนังสือเล่มหนึ่งที่อาจทำให้คุณธงชัยเข้าใจวิทยาศาสตร์ดีขึ้นคือ Conjectures and Refutations: The Growth of Scientific Knowledge ของ Karl Popper
 
คุณพูดว่า: "คนที่ทำเรื่อง EM ทั้งหมดเนี่ย เป็นคนที่มาทางสายวิทยาศาสตร์มั้ย ดูได้เลย ไม่มีนะ  เป็นชาวบ้าน เป็นเทศบาล เป็นทหาร พวกนี้เป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลย  คุณไปถามศาสตราจารย์ทุกมหาวิทยาลัยเลย ที่ทำในเรื่องของจุลชีววิทยา  ไม่เอาอาจารย์เด็กๆอะไรที่อาจไปตามกระแส  เอาอาจารย์ที่เจ๋งจริง รู้จริง  ผมเชื่อว่าไม่มีใครบอกว่า มันใช้งานได้   มันเป็นเรื่องของความเชื่อกับความรู้  คนเชื่อป้าเช็งก็เยอะ  ณ ขณะนี้ ที่ป้าเช็งถูกจับ คนเชื่อป้าเช็งยังมีอยู่มั้ย  มี"
 
สาเหตุหนึ่งที่คนกรุงเทพบางคนดูถูกคนต่างจังหวัด คนไทยบางคนดูถูกคนลาว คนรวยบางคนดูถูกคนจน คนเรียนสูงบางคนดูถูกคนที่เรียนไม่สูง  คนจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากดูถูกคนจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อย เพราะทัศนคติอันตรายอย่างคุณนี่แหละ  อันตรายอย่างไร
 
1.  ถ้าคุณหมายความว่า พวกนี้เป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลย [สักคน]  คุณกำลังตัดสินคนอย่างเหมารวมและอาจไม่เป็นวิทยาศาสตร์   ชาวบ้านที่ทำเรื่อง EM ที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่มีเลยสักคนหรือ  แล้วตัวคุณเองล่ะ เข้าใจวิทยาศาสตร์มากน้อยเพียงใด   คุณอธิบายมาได้ไหม ว่าชาวบ้านที่ทำเรื่อง EM ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลยสักคนจริง  คุณมีหลักฐานและเหตุผลอะไรจึงได้กล่าวเช่นนั้น  
 
ถ้าหากว่าสิ่งที่คุณพูดนี้ไม่เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คุณมีทัศนคติที่น่ากลัวมาก คุณเป็นคนที่ดูถูกคน ด้วยอคติที่รุนแรง
 
แต่ถ้าสิ่งที่คุณพูดเป็นจริง คุณก็ไม่ควรพูดเช่นนั้น  เพราะคุณกำลังโจมตีตัวบุคคล ไม่ใช่ความเห็นของพวกเขา 
 
2.  ถ้าคุณหมายความว่า พวกนี้เป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลย [แม้แต่น้อย]   ดิฉันเข้าใจว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายๆอย่าง มีความเป็นวิทยาศาสตร์ในตัวเอง  ถึงแม้ว่าชาวบ้านไม่รู้จักคำว่า "วิทยาศาสตร์" ก็ตาม  ความรู้ที่อาศัยสถิติอย่างลวกๆ สืบทอดกันมา  เสาะหาสมุนไพรเป็นยาบำรุงหรือเภสัชรักษาโรคก็ดี มีความเป็นวิทยาศาสตร์ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว   นักวิทยาศาสตร์เองก็ค้นพบทีหลังว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายๆอย่างดีจริง  ถ้าเราได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์  ก็คงไม่รีบด่วนสรุปว่าคนพวกนี้ป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลย[แม้แต่น้อย]  คนหลายๆคนไม่ได้ศึกษาธรรมะแต่ก็เป็นคนดีได้  นักปราชญ์สมัยก่อนหลายคนไม่ได้ร่ำเรียนอะไรมากนัก ก็สามารถสร้างความรู้ศาสตร์ใหม่ๆขึ้นมาได้ บางคนได้รับการยอมรับว่าเป็น บิดาแห่งศาสตร์นั้นๆนี้ๆก็มี    Eliezer Yudkowsky เป็นคนที่สอนหนังสือให้ตัวเอง (autodidact) ไม่ได้เข้าเรียนในห้องเรียน แต่ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทางปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) ที่มีชื่อเสียงในนานาชาติได้   คนที่เป็นศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ปรัชญา จิตวิทยา หลายๆคน อยากพูดคุยแลกความคิดเห็นกับเขา ไม่ถือตัวที่เขาไม่ได้เล่าเรียนในระบบการศึกษาที่เป็นทางการ
 
ในทางตรงข้าม  ลองถามตัวคุณดู ว่าคุณดูถูกแม้กระทั่งอาจารย์ใหม่ๆหรือเปล่า  คุณตัดสินคนตั้งแต่เขายังไม่อ้าปากพูดหรือไม่
 
คุณรู้จัก ad hominem fallacy มั้ย  มันคือ การโจมตีตัวบุคคล แทนที่จะไปโจมตีหลักฐานหรือการใช้เหตุผลของพวกเขา  ซึ่งถือเป็นการใช้ตรรกะที่สังคมไม่ควรยอมรับ  วงการวิชาการก็ไม่ควรยอมรับ
 
คุณรู้จัก Bayesian reasoning (การอ้างเหตุผลจากสถิติเชิงเงื่อนไข) มั้ย  ลองดูทีว่า ความน่าจะเป็นที่อาจารย์รุ่นเก่าที่ติดกระแสเป็นอย่างไร  และความน่าจะเป็นที่อาจารย์รุ่นใหม่ที่ติดกระแส เป็นอย่างไร   กรุณาอย่าพูดโดยใช้ความรู้สึก หรือประสบการณ์ส่วนตัว  เพราะมันไม่เป็นวิทยาศาสตร์  คุณมีข้อมูลไหม ช่วยบอกที
 
คุณรู้จัก ความเชื่อในความเชื่อ (belief in belief) มั้ย  บางครั้ง คนเชื่อในความเชื่อทั้งๆที่ไม่รู้ว่าความเชื่อเป็นความรู้หรือไม่  เพราะรู้สึกดีที่เชื่อเช่นนั้น  เช่น บางคนคิดว่า การเชื่อในพระเจ้าเป็นสิ่งที่ดี และความเชื่อนี้ทำให้เขาคิดว่าเขารู้ว่าพระเจ้ามีจริง ทั้งๆที่ยังไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่บอกได้ว่าพระเจ้ามีจริง  คุณพิจารณาดีๆเถิดว่า ที่คุณเชื่อมั่นในความรู้ของศาสตราจารย์อาวุโสน่ะ เป็นความเชื่อหรือความรู้
 
เฺฮ้อ... ดิฉันอยากรู้จริงๆว่า ความ "ติดกระแส" ของอาจารย์มหาวิทยาลัย มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับ "ความเก๋ากึ้ก" ของอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่    เราจะได้สรุปได้เสียทีว่า อาจารย์ใหม่ๆควรหุบปากเสียไม่ต้องพูดมากในประเด็นที่เป็นกระแสหรือไม่   นักข่าวที่ไม่รู้จักอาจารย์คนไหนเลย ควรหรือไม่ควรถามอาจารย์ใหม่ๆ ให้เสียเวลา เพราะพวกเขาไม่ได้เจ๋งจริง ไม่ได้รู้จริง
 
ขอวิจารณ์จากการดูวิดีโอของคุณนาน 11 นาทีกว่าแค่นี้ ไม่อยากจะดูต่อแล้ว เพราะสมเพชแวดวงวิชาการไทยจริงๆ  เสาหลักของแผ่นดินควรเป็นเสาแห่งปัญญา ไม่ใช่เสาที่ยึดติดกับตัวบุคคล  โดยเฉพาะบุคคลที่ใช้ตรรกะพิสดาร
 
ขอย้ำอีกที ว่าดิฉันเองไม่มีความเห็นและไม่มีความรู้ในเรื่อง EM  และสิ่งที่คุณพูดเรื่อง EM อาจจะถูกก็ได้
แต่ที่เห็นๆ มีบางเรื่องที่คุณต้องมีความเป็นวิชาการ และความใจกว้างทางวิชาการมากกว่านี้  ก่อนที่คุณจะคิดว่าตัวเอง "เป็นคนที่มีความรู้ของประเทศ" และ "เป็นคนที่ชี้นำประเทศในเชิงวิชาการ"
 
ตั้งแต่ฟังมา 11 นาทีกว่า ชอบประโยคนี้ของคุณ"ประเทศใดก็ตามแต่ อยู่ด้วยความเชื่อ โดยไม่ใช้ความรู้ ประเทศนั้นไปไหนไม่ได้"
 
สาธุ... ขอเพิ่มเติมว่า ประเทศใดก็ตามแต่ อยู่ด้วยความเชื่อว่าบางคนรู้และบางคนไม่รู้ โดยตัดสินจากตัวบุคคลอย่างมีอคติ ไม่ได้ตัดสินจากความรู้ ประเทศนั้นไปไหนไม่ได้
 
                                                                                      วิชาการไทยจงเจริญ
                                                                                                หนูดัดจ์
 
 
เพิ่มเติม: เห็นใน status ใครแว้บๆ ว่า "มายาคติของ EM BALL (กำลังจะโหมให้คนมาช่วยกันเลยชะงักเลย) เห็นชื่อ ดร.ธงชัย ก็เชื่อว่าเชื่อถือได้ทันที" อันนี้ เป็นความเชื่อหรือความรู้เนี่ย   ขอเดาว่าเป็นความเชื่อที่ว่าบุคคลนี้ๆมีความรู้ไม่ผิดพลาดเลย โดยไม่ต้องฟังหลายๆฝ่ายแล้วพิจารณาอีกที  สังคมไทยจงเจริญ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำใจช่วยน้ำท่วม จากชายแดนใต้ถึงผู้ประสบภัย

Posted: 07 Nov 2011 08:02 AM PST

ภัยพิบัติจากอุทกภัยที่ทยอยมาจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่งถึงเขตภาคกลาง สู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี 2554 นับได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่ชาวไทยประสบอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนนับล้านคน ยังมีประชาชน ณ ปลายด้ามขวานของไทย นำสิ่งของจากการบริจาคของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการซับน้ำตาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 3 คันรถหกล้อ และเงินบริจาคอีก 300,300 บาท นำไปมอบให้กับผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมที่กรุงเทพมหานคร

คณะทำงานในโครงการนี้ประมาณ 40 คน นำสิ่งของเดินทางออกจากจังหวัดนราธิวาส เวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2554 มีพล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถ

ขบวนรถที่ประกอบด้วยรถบรรทุกหกล้อ 3 คัน รถบัสอีก 1 คัน นำคณะเดินทางถึงชุมชนบ้านสมเด็จ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2554

ณ มัสยิดนูรุ้ลมูบีน คณะจากจังหวัดชายแดนใต้ ได้มอบสิ่งของบริจาค 2 คันรถหกล้อ พร้อมเงินบริจาคอีก 80,000 บาท มีนายพิชิต รังสิมันต์ ประธานมูลนิธิโรงเรียนสหบำรุง แห่งชุมชนบ้านสมเด็จ ในฐานะผู้แทนชุมชน เป็นผู้รับมอบ

มีนายระพี มานะ ว่าที่เลขาธิการสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะประธานคณะทำงานเป็นผู้มอบ

จากนั้นเวลาประมาณ 14.00 น. วันเดียวกัน ทางคณะได้เดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อาคารมาลีนนท์ ถนนพระราม 4 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.  ทางคณะได้เดินทางถึงสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อาคารมาลีนนท์ ถนนพระราม 4 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร มอบเงินบริจาคฯ ให้กับรายการครอบครัวข่าวสาม มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้รับมอบ

หลังจากเสร็จภารกิจที่นี่ คณะได้ทางเข้าที่พัก ณ มัสยิดนูรุ้ลมูบีน ชุมชนบ้านสมเด็จ

กระทั่ง เวลาประมาณ 20.00 น. วันเดียวกัน ทั้งหมดได้เดินทางไปยังกองทัพภาคที่ 1 สวนมิสกวัน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมร่วมบรรจุทรายใส่กระสอบทำคันกั้นน้ำกองทัพภาคที่ 1 และแพ็คสิ่งของบริจาคจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบให้กับกองทัพทัพภาคที่ 1 มีแม่ทัพภาคที่ 1 มารับมอบด้วยตนเอง

เสร็จพิธีมอบของบริจาคที่กองทัพภาคที่ 1 ชาวคณะจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกเดินทางไปยังเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เพื่อดูสถานการณ์น้ำเอ่อท่วมกรุงเทพมหานคร ย่านเขตบางพลัด ก่อนจะกลับมาพักผ่อนที่มัสยิดนูรุ้ลมูบีน ชุมชนบ้านสมเด็จ

กระทั่ง เวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 29 ตุลาคม 2554 ตัวแทนคณะทำงานของโครงการ 6 คน พร้อมชาวบ้านจากชุมชนบ้านสมเด็จ ได้เดินทางนำของบริจาคไปมอบให้กับชาวบ้านตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ที่ได้รับความเดือดร้อน จากน้ำท่วมอย่างหนักมานานกว่า 2 สัปดาห์ ก่อนหน้าที่ชาวคณะจากชายแดนภาคใต้จะเดินทางไปเยี่ยมเยือน

ข้อมูลที่ได้รับจากคนที่นี่ก็คือ ไม่ค่อยมีหน่วยงานมามอบสิ่งของยังชีพ ด้วยเพราะน้ำท่วมสูง รถทั่วไปไม่สามารถเข้าไปได้

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นอกจากการช่วยเหลือจะเข้าถึงได้ยากแล้ว สิ่งของจากความช่วยเหลือที่พอจะเข้าถึงอยู่บ้าง ก็ไม่มีอาหารฮาลาลสำหรับชาวมุสลิมอีกต่างหาก

พลันที่มีเพื่อนร่วมศาสนิกไปเยี่ยมเยือน พร้อมของบริจาคที่มั่นใจได้ว่า เป็นฮาลาลพันเปอร์เซ็นต์ ชาวมุสลิมแห่งตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง ต่างแสดงความยินดีอย่างเห็นได้ชัด

เป็นการแสดงความยินดีผ่านตัวแทนแต่ละมัสยิด ที่ออกมารับสิ่งของนำไปแจกจ่ายต่อแก่ชาวมุสลิมในพื้นที่นี้

คณะทำงานโครงการซับน้ำตาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกเดินทางออกจากมัสยิดนูรุ้ลมูบีน ชุมชนบ้านสมเด็จ เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 29 ตุลาคม 2554 กลับถึงจังหวัดปัตตานีเวลา 13.00 น. วันที่ 30 ตุลาคม 2554

เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามความตั้งใจของผู้บริจาคสิ่งของ และเม็ดเงินกว่า 3 แสนบาท

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดแผนรับมือภัยพิบัติจังหวัดสุราษฎร์ธานี

Posted: 07 Nov 2011 07:59 AM PST

ช่วยเพื่อน – จุฑามาศ ทับทิมทอง รักษาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะแม่งานรับบริจาคสิ่งของส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในขณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เป็นอีกพื้นที่ต้องเฝ้าระวังภัยพิบัติ

 

ภายในเต็นท์หน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี น้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง จำนวนมากถูกจัดแจงกองอย่างเป็นสัดส่วน ท่ามกลางการดูแลของเจ้าหน้าที่ของศูนย์รับบริจาค และสิ่งของอุปโภคบริโภคจังหวัดสุราฎร์ธานี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทางภาคเหนือ อีสาน กลาง ที่สาหัสยิ่งนัก

นักธุรกิจภาคเอกชน ผู้ประกอบการร้านค้า หน่วยงานราชการ ผู้มีจิตศรัทธา จะแวะเวียนมาเยือนมาบริจาคสิ่งของ เป็นครั้งครา เกือบทุกครั้งนางจุฑามาศ ทับทิมทอง รักษาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราฎร์ธานี จะออกมารับน้ำใจที่คนสุราษฎร์ธานีมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัย

ขณะศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประกาศเตือนภัยให้เตรียมรับมือกับการก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูฝนของภาคใต้ นางจุฑามาศ ทับทิมทอง รักษาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เล่าถึงอุทกภัยเมื่อช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน 2554 ซึ่งเป็นอุบัติภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเคยประสบ

เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนว่า จะมีฝนตกน้ำท่วมในเดือนมีนาคม

 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมการรับมือภัยพิบัติ ถึงขนาดย้ำกับส่วนราชการต่างๆ ให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ ในทุกวาระที่มีการประชุม

จึงไม่แปลกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะลุกขึ้นมาจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 พร้อมกับการประสานให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มในระดับอำเภอ และท้องถิ่นขึ้นมารองรับด้วย

“ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี อนุมัติงบประมาณ 10 ล้านบาท ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ฝึกอบรมการเฝ้าระวังภัย การกู้ภัย ใน 11 ชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย มีการจัดซื้อเรือ และอุปกรณ์กู้ภัยไว้ประจำพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำมาใช้ให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” นางจุฑามาศ เล่าถึงการเตรียมรับมือภัยพิบัติ

ก่อนหน้านี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จัดเสวนาหาแนวร่วมเพื่อประสานงานและแลกเปลี่ยนประเด็นเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ ในระดับผู้บริหารไปแล้ว 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 90 คน และในระดับผู้ปฏิบัติ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อีก 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 600 คน

“เราพยายามสร้างเครือข่ายสื่อสาธารณภัย เพื่อประสานงาน และปฏิบัติการร่วมกัน ไม่ว่าจังหวัด, เหล่ากาชาดจังหวัด, จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี, กองบิน 7 กองกิจการพลเรือน, กองเรือภาคที่ 2 กองเรือยุทธการ, ศูนย์ต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบกที่ 4 ประจำพื้นที่ภาคใต้, กรมทหารราบที่ 25, กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, สาธารณสุขจังหวัด ประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น” นางจุฑามาศ ทับทิมทอง อธิบายเครือข่ายการเชื่อมต่อประสานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ

ตอนนี้ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัด ให้ช่วยรับผิดชอบช่วยเหลือผู้ประสบภัย ครั้งที่ผ่านมามีโรงพยาบาลโดนน้ำท่วมกว่า 1 เมตร ครั้งนี้จึงจัดแจงกันว่าจะให้สาธารณสุขจังหวัดเป็นพยาบาลภาคสนามเคลื่อนที่ในพื้นที่น้ำท่วมโรงพยาบาล

“เราได้ประสานไปยังการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เตรียมผลิตน้ำดื่มไว้บริการประชาชนในช่วงเกิดภัยพิบัติให้ได้ในเบื้องต้นอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ และประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขุดลอก คู คลอง และท่อระบายน้ำต่างๆ ด้วย” นางจุฑามาศ ทับทิม แจกแจงถึงรายละเอียดกระบวนการรับมือ

 นางจุฑามาศ ทับทิมทอง ยอมรับว่าบทเรียนการจัดการภัยพิบัติในอดีต มีจุดบกพร่องผิดพลาดมากมาย ไม่ว่าเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือใช้การได้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้จริง ระบบสื่อสารล่ม เป็นต้น

ข้อบกพร่องเหล่านั้น นำมาสู่การทบทวนและจัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ มีการปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย สถานที่อพยพหนีภัยให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น จัดเตรียมอุปกรณ์กู้ภัยและจัดกำลังเจ้าหน้าที่ให้สามารถทำงานได้จริง

รวมทั้งแก้ปัญหาสัญญาณสื่อสาร ด้วยการติดตั้งเสา 4 จุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถเชื่อมต่อกันได้ระหว่างจังหวัด ทั้งยังมีการฝึกซ้อมแผนการใช้ระบบสื่อสารด้วย

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการประชุมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จาก 19 อำเภอ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 จะซ้อมจำลองสถานการณ์จริงในพื้นที่ต่างๆ

จากการทบทวนบทเรียนสู่การจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติ จะส่งผลให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน นี่คือประเด็นที่กำลังรอการพิสูจน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่ายอมเปิดเส้นทางเข้าฐาน SSA "เหนือ"

Posted: 07 Nov 2011 07:57 AM PST

ทหารพม่ายอมเปิดเส้นทางสัญจรเข้าสู่พื้นที่กองบัญชาการกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA/SSPP ผ่อนคลายความตึงเครียด หลังปิดตายนานกว่า 7 เดือนนับตั้งแต่สองฝ่ายเปิดฉากสู้รบกัน 

มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทหารกองทัพพม่าได้เปิดด่านน้ำปุ๊ก บนเส้นทางเข้าสู่พื้นที่บ้านไฮ ที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพรัฐฉาน SSA/SSPP หรือ กองกำัลังไทใหญ่ "เหนือ" ซึ่งอยู่ในเขตเมืองเกซี รัฐฉานภาคใต้ โดยอนุญาตให้ผู้คนและยานยนต์สัญจรไปมาได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ด่านน้ำปุ๊ก ถือเป็นด่านบนเส้นทางยุทธศาสตร์ ตั้งอยู่ตรงทางบรรจบระหว่างเส้นทางเมืองไหย๋ จากทางตอนเหนือ, เมืองเกซี จากทางตะวันตก และเมืองสู้ จากทางตะวันออก โดยด่านแห่งนี้ถูกปิดตายตั้งแต่กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีกองทัพรัฐฉาน SSA/SSPP ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อหวังตัดเส้นทางคมนาคมของ SSA/SSPP

ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า ทหารพม่าได้เปิดด่านน้ำปุ๊กแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ทหารยังตรวจตราผู้คนและยานยนต์ที่สัญจรไปมาอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ทหารพม่ายังมีการเรียกเก็บค่าผ่านทางโดยที่ให้ใส่ในตู้รับบริจาคด้วย

ด้านกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA/SSPP เผยว่า ไม่ทราบสาเหตุที่ทหารพม่ายอมเปิดด่านแห่งนี้ ขณะเดียวกันได้เปิดเผยข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมจนถึงปัจจุบัน SSA/SSPP ได้ปะทะกับทหารกองทัพพม่าแล้วรวม 308 ครั้ง ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 537 นาย บาดเจ็บ 649 นาย ฝ่าย SSA/SSPP เสียชีวิต 33 นาย บาดเจ็บ 44 นาย โดยการสู้รบของทั้งสองฝ่ายส่งผลให้ชาวบ้านต้องละทิ้งบ้านเรือนอพยพออกจากพื้นที่นับพันคน ขณะที่มีชาวบ้านบางส่วนถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิ์

ก่อนหน้านี้ กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA/SSPP ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่โดยรอบบ้านไฮ (ที่ตั้งบก.SSA/SSPP) โดยระบุเพื่อเปิดทางในการที่จะพบหารือของทั้งสองฝ่ายในโอกาสต่อไป แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดดังกล่าว ขณะที่ทหารกองทัพพม่ายังไม่มีการถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด


ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัยการเล็งสอบสวนเพิ่ม คดีหมอฟ้องนักกิจกรรมสิทธิผู้ป่วย ละเมิด พ.ร.บ.คอมฯ

Posted: 07 Nov 2011 03:32 AM PST

อัยการเลื่อนฟังคำสั่งไม่มีกำหนด คดีแพทย์ฟ้องนักกิจกรรมด้านสิทธิผู้ป่วย นำเข้า "ข้อมูลเท็จ" ตาม พ.ร.บ.คอมฯ พร้อมส่งกลับตำรวจสอบสวนเพิ่มเติม หลังทนายจำเลยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม

สืบเนื่องจากกรณีที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย (สพศท.) เป็นโจทก์ฟ้องนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา นักกิจกรรมด้านสิทธิผู้ป่วย ในข้อกล่าวหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย ตามมาตรา 14 (1) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยระบุว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลว่ามีผู้เสียชีวิตโดยไม่สมควรจากการรับบริการทางการแพทย์ถึงปีละ 65,000 คน รวมถึงภาพกรรไกรในลำคอคน ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา

(7 พ.ย.54) ความคืบหน้าของคดีดังกล่าว นายสัญญา เอียดจงดี ทนายความของนางปรียนันท์ ระบุว่า ได้ส่งหนังสือขอความเป็นธรรม ซึ่งร่างโดยทนายความจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เพื่อขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม ล่าสุด ทราบจากพนักงานอัยการ จ.สุรินทร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4 พ.ย.) ว่า การนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด พร้อมทั้งจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหมายเรียกสอบจากทาง สภ.เมืองสุรินทร์

ทั้งนี้ นายสัญญา ระบุว่า การสอบสวนเพิ่มเติมจะมีสองส่วน ได้แก่ ส่วนของโจทก์คือ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ เกี่ยวกับข้อมูลเรื่องอัตราการเจ็บป่วยและได้รับความเสียหายจากการแพทย์ และส่วนของจำเลย เกี่ยวกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นที่มาของการโพสต์ข้อความตามที่มีการกล่าวหา

อนึ่ง เดิมคดีดังกล่าว อัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีในวันที่ 3 ต.ค. แต่ทางจำเลยได้ขอเลื่อนเพื่อให้การเพิ่มเติมเป็นวันที่ 7 พ.ย. และมีการส่งหนังสือขอความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 1 พ.ย.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัยการรับสำนวนคดีอดีต นศ. หมิ่นเบื้องสูง

Posted: 07 Nov 2011 02:37 AM PST

 อัยการรับสำนวนคดีอดีต นศ. หมิ่นเบื้องสูง มีคำสั่งในวันที่ 7 พ.ย. ให้ตั้งคณะทำงานจากอัยการสำนักงานต่างๆ ในกองคดีอาญามาร่วมพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป 
 
7 พ.ย. 54 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าที่สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพนักงานสอบสวน กองปราบปราม นำสำนวนคดีที่กล่าวหา นายนรเวทย์ อายุ 23 ปี บัณฑิตจบใหม่จากคณะบริหารธุรกิจ สาขาบัญชี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า กระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 ฐานดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา14 (1) รวม 2 กระทง มาส่ง ร.ต.ท.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เพื่อพิจารณากรณีโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงในเฟซบุ๊ก โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองข้อหา
 
ซึ่งมีรายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2553 ได้รับร้องทุกข์จากนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ผู้ต้องหาได้ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตช่องทาง "เฟซบุ๊ก" โพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง ต่อมาตำรวจขอหมายจับจากศาลอาญาจับตัวได้ที่ห้างโรบินสัน รัชดา ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เจตนากระทำความผิด ได้เขียนข้อความเป็นความเห็นส่วนตัวไม่ได้ดูหมิ่น และไม่ได้นำออกเผยแพร่ เพราะข้อความอยู่ในอีเมล์ส่วนตัว และมีผู้ไม่หวังดีแอบเจาะข้อมูลออกเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากตนเอง จึงขาดเจตนากระทำผิด ตำรวจจึงเอาตัวไปฝากขังศาลอาญา ต่อมาอธิบดีอัยการรับสำนวนแล้ว มีคำสั่งในวันที่ 7 พ.ย. ให้ตั้งคณะทำงานจากอัยการสำนักงานต่างๆ ในกองคดีอาญามาร่วมพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากเป็นคดีที่มีประชาชนให้ความสนใจ คาดว่าจะมีคำสั่งฟ้องไม่ฟ้องประมาณต้นเดือน ธ.ค.นี้ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหารายนี้เคยถูกตำรวจนำตัวมาฝากขัง และศาลขังมาแล้ว 12 วัน ต่อมาได้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ที่ดินย่านห้วยขวาง ราคา 1.6 ล้านบาท แต่ศาลอนุญาตในวงเงิน 5 แสนบาท แต่เมื่อครบควบคุมตัวนาน 84 วัน ตำรวจทำสำนวนมาส่งอัยการในเวลากระชั้นชิด จนอัยการไม่อาจขอควบคุมฝากขังต่อไปได้ จึงต้องปล่อยตัวไป หากอัยการมีคำสั่งฟ้องก็จะขอให้กองปราบปรามจับตัวมาฟ้องต่อไป.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด: เราจะอยู่กับน้ำท่วมต่อไปได้อย่างไร?

Posted: 07 Nov 2011 01:14 AM PST

น้ำท่วมคราวนี้ วิศวกรอุทกเขาว่าเป็นแค่ซ้อมใหญ่นะคะ ของจริงใหญ่กว่านี้อีก น้ำท่วมใหญ่คาดการณ์ได้ว่าจะมาประมาณ 20-25 ปีครั้ง ซึ่งน้ำท่วมใหญ่ครั้งสุดท้ายของเราเกิดเมื่อปี พ.ศ.2538 ดังนั้นน้ำท่วมใหญ่ของจริงก็น่าจะเกิดประมาณปี พ.ศ.2561 ขนาดน้ำท่วมคราวนี้ถือกันว่าน้ำท่วมแค่มิดหัวเด็กแต่คราวหน้าอาจจะมิดหัวผู้ใหญ่

ผลกระทบน้ำท่วมคราวนี้ในเชิงเศรษฐกิจแล้วรุนแรงกว่าปี พ.ศ. 2538 หลายเท่า เพราะบ้านเมืองเจริญเติบโตขึ้นมาก ความเสียหายก็เพิ่มขึ้นตามเมืองและอุตสาหกรรมที่ขยายตัวออกไป ถ้าเกิดอีกคราวหน้าความสูญเสียคงเหลือคณานับทีเดียว

คำถามก็คือ เราจะทำอะไรที่จะลดความสูญเสียได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้ ถึงจะลดได้ไม่หมดแต่ก็ต้องยอมรับว่าต้องลดผลกระทบที่ กทม.ให้ได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะจริงๆแล้ว กทม.ก็ไม่ได้มีรายได้ต่อหัวสูงเท่าระยองด้วยซ้ำ แต่เพราะถ้า กทม.จมน้ำ เราจะส่งกำลังไปช่วยนอกกทม. ได้ยากขึ้น ข้อสำคัญจะเอาคน 5-6 ล้านคนใน กทม.ไปแคมปิ้งได้ที่ไหน? ศูนย์ที่ต้องส่งเสบียงไปช่วยเหลือคนรอบนอกจะจัดการโลจิสติกส์อย่างไร ประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจก็คือ การป้องกัน กทม. เป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเดียว ถ้าเราสูญเสียพื้นที่แห้งใน กทม.ความสูญเสียในเชิงสังคมจะเลวร้ายทั้งภายใน กทม.และจังหวัดรายรอบที่น้ำกำลังท่วมอยู่ ประเทศไทยก็จะเกิดกลียุค!!

คำถามต่อไปก็คือ แล้วเราจะต้องจัดการกันอย่างไรต่อไปในอนาคต หรือจะยอมยางหัวตกทุกครั้งที่น้ำท่วม เราควรต้องมีการเตรียมการลดผลกระทบจากน้ำหลากอย่างเป็นระบบและบูรณาการ

โดยทั่วไปการจัดการน้ำท่วมจะมี 3 ขั้นตอน คือ (1) เตรียมการและจัดการ (Flood Plain Management) (2) รับมือน้ำหลาก (Flood Fighting)และ (3) การจัดการหลังน้ำท่วม (Post Flood Management) ซึ่งในขณะนี้เราไม่ได้ทำขั้นตอนที่ (1) อย่างเป็นระบบ เราทำขั้นตอนที่ (2) แบบตะลุมบอนไม่คิดชีวิต และขั้นตอนที่ (3) แบบมั่วๆ

การจัดการพื้นที่น้ำท่วมจำเป็นต้องตั้งองค์การบริหารพื้นที่น้ำท่วม (Flood Plain Management Authority) ที่งานหลักคือ แผนแม่บทการจัดการพื้นที่น้ำท่วม ทำการพยากรณ์และจัดการน้ำหลากจากต้นทางถึงปลายทาง โดยประสานงานพยากรณ์อากาศ การปล่อยน้ำจากเขื่อน การระบายน้ำ การฝากน้ำในพื้นที่แก้มลิง จัดทำแผนที่ความเสี่ยง ระดับขั้นความเสี่ยง ออกแบบการจัดการและความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานในแต่ละระดับความเสี่ยง ฯลฯ มีอำนาจกำหนดและบังคับการใช้ที่ดิน การจัดการมวลชนด้านความขัดแย้ง วางผังชุมชนในเขตพักน้ำ การกำหนดบทบาทและประสานงานกับหน่วยงานภูมิภาคและท้องถิ่นในกรณีเกิดน้ำท่วม จัดทำดัชนีเตือนภัยพิบัติด้านน้ำ ทำคู่มือและการถ่ายทอดกระบวนการทำงานตั้งแต่การเตรียมการก่อนน้ำท่วม การรับมือน้ำท่วม การสื่อสารกับมวลชนในช่วงน้ำท่วม และการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ฯลฯ งานที่สำคัญก็คือ การหาที่พักน้ำหรือแก้มลิงเพื่อชะลอน้ำไม่ให้ไหลเข้า กทม. เร็วเกินไป

องค์กรนี้ต้องปลอดนักการเมือง ขอมืออาชีพด้านน้ำและด้านการจัดการมวลชนจริงๆ แต่จะต้องขึ้นตรงต่อนายกฯ ซึ่งต้องเป็นประธานคณะกรรมการกำกับ คณะกรรมการนี้จะมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยซึ่งอาจจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ก็ได้ แต่ต้องมีผู้บริหารมืออาชีพมาเป็นผู้จัดการองค์กรนี้อีกที และต้องมีองค์กรย่อยระดับพื้นที่แก้มลิง ซึ่งต้องมีผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม องค์กรนี้ต้องทำข้อตกลงกับท้องถิ่นที่จะรับเป็นแก้มลิง เพื่อที่จะผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตร แต่ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อภัยพิบัติเกิดอยู่ในระดับรุนแรงเช่นคราวนี้ ต้องเสนอใช้แผนระดับสูงสุดซึ่งรวมถึงการระดมกำลังทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร

ในพื้นที่แก้มลิงจะต้องมีการปรับโครงสร้างสาธารณูปโภคระยะยาวให้เป็นที่รับน้ำหลาก มีระบบโลจิสติกส์ทางน้ำ 3 เดือน ในขณะที่น้ำท่วม และมีการสนับสนุนอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง การจักสาน การท่องเที่ยว ฯ อาจต้องมีการจัดระเบียบชุมชนใหม่ในด้านการจัดการของเสีย การจัดทำตลาดน้ำเพื่อให้ชีวิตในแก้มลิงอยู่ได้อย่างปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญก็คือ คนในพื้นที่แก้มลิงต้องรู้ว่าตนเป็นผู้แบกรับภาระและยินดียอมรับภาระนั้น

ต่อจากขั้นตอนเตรียมการก็เข้าสู่ขั้นตอนการรับมือกับน้ำ การสื่อสารกับประชาชนต้องเป็นเอกภาพแบบมีส่วนร่วม ยอมรับให้ Social Network เป็นช่องทางสื่อสาร แต่ต้องมีการเข้าไปให้ข้อมูลที่ถูกต้องทันเวลา ประชาชนควรมีเวลาล่วงหน้า 3-4 วันที่จะย้ายออกจากบ้าน กทม.ควรสื่อสารให้เห็นพื้นที่น้ำท่วมในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) คือ แจ้งพื้นที่ที่น้ำจะท่วมเป็นรายถนนและรายซอยตลอดจนความลึกของน้ำ เพราะระบุเป็นเขตนั้นกว้างเกินไป ทำให้วางแผนไม่ทัน ทั้งเด็กทั้งแก่ถึงได้ทุลักทุเลโกลาหลกันปานนี้

ต่อจากนี้การรับมือก็ถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ การเยียวยาและชดเชย ซึ่งผู้เขียนขอแยกแยะระหว่างการสงเคราะห์และการชดเชย สำหรับผู้เขียนแล้ว การสงเคราะห์เป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยชั่วคราวให้จมูกพ้นน้ำ ส่วนการเยียวยาเป็นการฟื้นฟูระยะยาวให้ผู้ประสบภัยลุกขึ้นได้อีกครั้ง แต่ทั้งหมดทำกันบนพื้นฐานของมนุษยธรรม แต่การชดเชย ผู้เขียนขอเน้นว่า เป็นการตอบแทนที่เกิดจากจากการแลกเปลี่ยน กล่าวคือ ผู้ประสบอุทกภัยเป็นผู้ยอมรับน้ำเข้าท่วมในพื้นที่ของตน ยอมรับการสูญเสียรายได้และความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีข้อตกลงที่จะได้รับการชดเชย เช่น พื้นที่เกษตรยอมรับน้ำหลากน้ำขังแทน กทม. โดยมีรัฐเป็นองค์กรกลางในการจัดเก็บภาษีหรือธรรมเนียมน้ำท่วมจากผู้ได้ประโยชน์ และจ่ายค่าชดเชยตามเกณฑ์ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อน กระทรวงการคลังต้องเร่งคลอด พ.ร.บ. มาตรการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมมารับภาษีน้ำท่วมได้แล้ว

สรุปว่า การสูญเสียของประชาชนอันเนื่องมาจากน้ำท่วมน้ำหลากจากภัยธรรมชาติ จะได้รับเงินสงเคราะห์ตามหลักมนุษยธรรม และตามเงื่อนไขของระบบประกันสังคม ซึ่งในอนาคต การขยายระบบประกันสังคมไปยังเกษตรกร หรือแรงงานนอกระบบ อาจจะต้องมุ่งที่เขตน้ำท่วมก่อน ส่วนการชดเชยจะได้เฉพาะผู้ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนว่าจะขอรับภาระการแบกน้ำท่วมเอาไว้ ไม่ใช่ไปซี้ซั้วประชานิยมกับเงินชดเชย ความเสียหายจักไม่รู้จบสิ้น

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ เป็นมารตรการจำเป็นที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง เป็นมาตรการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็รู้อยู่แก่ใจว่าสำคัญ แต่ที่ผ่านมาผู้บริหาร ผู้วางนโยบายสนใจแต่มาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างเช่นขุดคลองสร้างเขื่อน เพราะใช้เงินเยอะกว่า แต่ปัญหาก็คือ ถึงจะใช้มาตรการสิ่งก่อสร้างแล้วก็ตาม ปัญหาน้ำท่วมขนาดใหญ่อย่างนี้ก็ยังบรรเทาไปได้ไม่มากถ้าไม่มีมาตรการบริหารจัดการพื้นที่น้ำหลากอย่างบูรณาการที่ดีตามที่กล่าวมาข้างต้น

การแก้ปัญหาน้ำล้อมกรุงอย่าเอาเงินหรือพรรคเป็นตัวตั้ง บ้านเมืองจะล่มสลายก็เพราะพรรคเพราะพวก เพราะสี เพราะอยากออกทีวีนี่แหละ กราบล่ะค่ะ ขอให้เราทุกคนช่วยกันSAVE THAILAND!!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: ยิ่งลักษณ์รีแพร์

Posted: 07 Nov 2011 12:55 AM PST

ตั้งหัวให้หวือหวาไปงั้น แฟนคลับนายกฯ คงไม่ว่ากัน ประเด็นคือ มหาอุทกภัยทำให้รัฐบาลบอบช้ำอย่างหนัก แถมไม่มีเวลาอยู่ไฟ น้ำยังไม่ลด สงครามการเมืองล้มรัฐบาลก็ก่อตัวขึ้นแล้ว ต้องรีบ “ยกเครื่อง” ปรับปรุงระบบการทำงานกันครั้งใหญ่ เพราะการทำงานในรูป ศปภ.เดือนเศษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานอย่างเป็นระบบ เรื่องความมีประสิทธิภาพ ต่ำกว่าที่ผู้คนคาดหวังว่าจะได้เห็น ห่างไกลคนละโยชน์กับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

มวลชนเสื้อแดงแฟนคลับยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ควรยอมรับว่ารัฐบาลมีปัญหาวิธีคิดวิธีการทำงาน มากกว่าจะไปตั้งแง่ว่าใครจงใจปล่อยน้ำเพื่อคว่ำรัฐบาล หรือไปตั้งแง่ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์วางยา ถ้าคุณเชื่อ “ทฤษฎีสมคบคิด” แบบนี้ คุณก็ไม่ต่างจากพวกสลิ่มที่เชื่อว่า ทักษิณสั่งกั้นน้ำไม่ให้ปล่อยไปสุพรรณ เพราะลงทุนทำนาอยู่กับโมฮัมหมัด อัลฟาเยด
 
มันไม่มีใครหรอกครับที่ชั่วร้ายถึงขนาดวางแผนให้เกิดมหาภัยพิบัติให้ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ เพียงเพื่อล้มรัฐบาล เช่นเดียวกับที่ทักษิณก็ไม่ได้ชั่วร้ายขนาดเห็นแก่ข้าว 3 พันไร่จนปล่อยน้ำท่วมกรุงล้มรัฐบาลน้องสาวตัวเอง มันเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครป้องกันได้ เพียงแต่เมื่อเกิดภัยขึ้นแล้ว ก็มีพวกฉวยโอกาสใช้เป็นเครื่องมือล้มรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องยอมรับว่าทำงานไม่เป็น ถ้าเป็นก็คงไม่เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นงานซะบอบช้ำขนาดนี้
 
สิ่งที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจประชาชนคือ น้ำท่วมครั้งนี้ไม่มีใครป้องกันได้ เทวดาที่ไหนมาบัญชาการก็ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไขจำกัดที่เป็นอยู่ แต่ ศปภ.”สอบตก” ในแง่ของการประเมินสถานการณ์ผิด และการชี้แจงทำความเข้าใจประชาชน ดันไปบอกประชาชนว่า “เอาอยู่” ดันให้ความหวังแทนที่จะเตือนภัยให้อพยพเพื่อลดความเสียหาย
 
มีหลายคนตั้งแง่เรื่องการปล่อยน้ำของเขื่อน ของ กฟผ.กรมชลประทาน นั่นเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันหลังน้ำลด แต่เพื่อเป็นบทเรียนมากกว่าจ้องจับใครเป็นแพะ ส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่า มันเป็นปัญหาของระบบราชการ ที่ทำงานแบบตัวใครตัวมัน ทำตามนายสั่ง รับผิดชอบแค่งานรูทีนตรงหน้ากรู
 
ถ้าจำกันได้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ปลายเดือนมิถุนายน น้ำก็ท่วมเมืองน่าน มิถุนายนคือเพิ่งต้นหน้าฝนนะครับ ถัดจากนั้นฝนก็ตกหนักน้ำท่วมประปรายไปทั่วภาคเหนือตอนบนตอนล่าง ต้นเดือนสิงหาคม พายุนกเต็นพัดเข้ามาทำให้น้ำท่วมเชียงใหม่รอบแรก ตอนนั้นชาวนาภาคกลางก็กำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยว ถามว่ามีช่วงเวลาไหนให้เขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ปล่อยน้ำโดยไม่กระทบหรือซ้ำเติมชาวบ้านที่โดนฝนหนักอยู่แล้ว
 
ประเด็นที่น่าตั้งคำถามมากกว่าคือ กรมชลประทานรู้ไหม และรู้เมื่อไหร่ ว่าจะเกิดมหาอุทกภัย แล้วทำไมไม่แจ้งเตือนรัฐบาล (มีคนอ้างว่าเตือนแล้วแต่รัฐมนตรีบางคนเบรกไว้กลัวกระทบนโยบายจำนำข้าว ซึ่งถ้าจริงก็เซอะสิ้นดี ถ้ากรมชลบอกว่ามวลน้ำหลายหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรจะถล่มภาคกลาง คงไม่มีไอ้โง่ที่ไหนบอกให้ปิดปากไว้ รอจำนำข้าวก่อน)
 
เพราะถ้าเตือนรัฐบาลก็ยังอาจจะตั้งตัวรับมือทัน ลดความเสียหายในบางด้าน แต่นี่ดูเหมือนกระทั่งปลายเดือน ก.ย.รัฐบาล (และคนทั้งสังคม) ก็ยังไม่ตระหนักว่า มวลน้ำมากมายมหาศาลกำลังจะไหลท่วมหัว
 
ยิ่งไปกว่านั้น หลังตั้ง ศปภ.กรมชลประทานก็ยังให้ข้อมูลถูกมั่งผิดมั่ว อาทิ “มวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงทะเลแล้ว”
 
ที่พูดนี่ไม่ใช่จะบอกว่ากรมชลประทานวางยา ผมไม่คิดขนาดนั้น แต่ผมจะบอกว่า มันคือความห่วยของระบบราชการ ซึ่งทำงานแบบไม่มีหัวคิด คนที่ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตไม่ใช่คนมีความรู้และมีฝีมือ ถ้ากรมชลประทานประสานงานกับกรมอุตุ และนักวิชาการด้านน้ำของสถาบันต่างๆ ซักนิด ก็ต้องรู้ว่าน้ำจะมาก แต่นี่ ตามมติ ครม.5 กันยา (ที่อีกฝ่ายเอามาอ้างเพื่อโทษรัฐบาล) รายงานของกระทรวงเกษตรฯ ไม่บอกตรงไหนเลยนะครับว่าน้ำจะท่วมใหญ่ แถมบอกด้วยว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังรับน้ำได้อีกเกือบ 17,000 ลูกบาศก์เมตร
 
รัฐบาลถึงไม่ได้เตรียมรับมืออะไรเลยจนน้ำมาถึงนครสวรรค์ อยุธยา
 
ถามว่าถ้าบอกก่อนทำอะไรได้ไหม ก็คงเลี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ดี แต่ยังสามารถเตรียมแผนการระบายน้ำ ขุดลอกคลอง จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ พอบรรเทาไปบ้าง
 
สุดวิสัยแต่ก็ไร้ฝีมือ
ใครไม่ทราบเอาคลิปพระราชดำรัสในหลวงเมื่อปี 38 มาเผยแพร่ แล้วก็อ้างกันต่อๆ ไป เป็นที่เห็นชัดว่า เจตนาดิสเครดิตรัฐบาล ทั้งที่ในหลวงท่านไม่เกี่ยวข้องด้วย ก็ในหลวงเรียกนายกฯ เข้าเฝ้าฯ และทรงชี้แนะแล้ว นายกฯ ก็ทำตามที่พระองค์ท่านชี้แนะทุกประการ อย่างเช่นการผันน้ำไปฝั่งตะวันออกก็ทำแล้ว แต่น้ำมันไม่ไป เพราะอะไร เพราะน้ำต้องผ่านพื้นที่ที่เป็นดอน floodway ที่ในหลวงมีพระราชดำรัสไว้เมื่อปี 38 ผ่านมา 16 ปีก็ปล่อยปละละเลยกันจนกลายเป็นโรงงานเป็นบ้านจัดสรร คูคลองก็ตื้นเขินไม่ได้ขุดลอก เครื่องสูบน้ำที่คลองด่านรอแล้วรอเล่าน้ำก็ไม่ไป
 
นั่นคือเหตุทางภววิสัยซึ่งมันสุดวิสัย เพียงแต่ในการทำงานของรัฐบาล ของ ศปภ.ก็เละตุ้มเป๊ะเช่นกัน จึงทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก
 
อันดับแรกที่ทำให้เละ คือความไม่เป็นเอกภาพทางวิชาการ แล้วรัฐบาลก็ไม่รู้จะเชื่อใครดี ระหว่างกรมชลประทานกับหน่วยงานทางวิชาการต่างๆ ที่เข้าไปร่วมอยู่ใน ศปภ.ซึ่งต่างคนต่างก็ประเมินสถานการณ์ไปคนละอย่าง ขณะที่รัฐบาลและ ศปภ.ไม่มีความรู้เรื่องน้ำเลย จึงงงเป็นไก่ตาแตก ประเมินสถานการณ์ผิด โอเค รัฐบาลมือใหม่ อาจให้อภัยได้ใน 2-3 วันแรก แต่รัฐบาลก็ช้ามาก กว่ายิ่งลักษณ์จะตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ ในวันที่ 22 ต.ค. โดยมีวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทานที่เกษียณแล้ว มาเป็นประธาน มี ดร.รอยล จิตรดอน ดร.สมบัติ อยู่เมือง เป็นคณะทำงาน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นเลขานุการ ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญให้เป็นเอกภาพ หลังจากมั่วมา 14 วัน (ตั้ง ศปภ.เมื่อวันที่ 8 ต.ค.)
 
ข้อแรกเป็นเรื่องการประเมินสถานการณ์ ข้อสองแย่กว่าอีก คือเป็นเรื่องการบริการจัดการ
 
จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่าทำไมยิ่งลักษณ์จึงตั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็น ผอ.ศปภ.ทั้งที่ยามเกิดภัยพิบัติร้ายแรงขนาดนี้ นายกรัฐมนตรีต้องนั่งหัวโต๊ะ ขนาบข้างด้วย รมว.มหาดไทยและ รมว.กลาโหม (โดยอาจต้องมี รมว.เกษตรฯ อีกคนเพราะเป็นเรื่องน้ำ)
 
หรือยิ่งลักษณ์จะเลียนแบบที่ไม่ควรเลียนแบบจากอภิสิทธิ์ ซึ่งตั้งสาทิตย์ วงศ์หนองเตย มาดูแลอุทกภัยเมื่อปี 53
 
ตั้ง พล.ต.อ.ประชามานั่งโดยสั่งการใครไม่ได้ รมว.มหาดไทย รมว.กลาโหม ก็เหมือนอยู่วงนอก ไม่เกี่ยวไม่ข้อง ทหารช่วยน้ำท่วมก็จริง แต่ช่วยสะเปะสะปะ แล้วแต่ใครขอมา ปอเต็กตึ๊งขอรถ ช่อง 3 ขอรถ ใครขอรถ ทหารไปหมด (บางทีมีญาติอยู่ซอยนั้นซอยนี้ ก็ไปหมด) แต่ดูเหมือนไม่มีการบัญชาการที่เป็นเอกภาพจาก ศปภ.
 
ตำรวจก็ไม่เกี่ยวไม่ข้อง แล้วแต่ตำรวจท้องที่ทำงานกันไป เพิ่งเมื่อวันเสาร์นี่เองที่เพรียวพันธ์เรียกตำรวจภูธรมาเสริมกำลังช่วยผู้ประสบภัย (ที่ผ่านมามัวหลับฉลองตำแหน่งอยู่ที่ไหนไม่ทราบ)
 
การตั้งบริษัทขึ้นมาบริษัทหนึ่ง นักบริหารอย่างยิ่งลักษณ์หรือทักษิณ ควรจะรู้ดีว่าคุณต้องแบ่งงานตามลักษณะของภารกิจ เช่น ขายมือถือต้องมีฝ่ายการตลาด ฝ่ายบริการหลังการขาย ฝ่ายบัญชีธุรการ การรับมือน้ำท่วมควรจะแบ่งแยกได้ง่ายๆ ว่าหนึ่งละ คุณต้องมีฝ่ายเตรียมการและเตือนภัย สำหรับพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วม แต่กำลังจะท่วม รวมไปถึงเตรียมการอพยพคน สอง เมื่อน้ำท่วม คุณต้องมีฝ่ายดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะจัดส่งเสบียงอาหารถุงยังชีพอย่างไร จะดูแลคนในศูนย์อพยพอย่างไร ดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ดูแลคนเจ็บไข้ได้ป่วย สาม เมื่อน้ำลด คุณต้องมีฝ่ายวางแผนฟื้นฟู ออกมาตรการชดเชย ช่วยลดภาระความเสียหาย
 
แต่จำได้ไหมว่า ศปภ.ตั้งขึ้นมาลอยๆ มีประชาเป็น ผอ. มีปลอดประสพเป็นฝ่ายปฏิบัติการ มี พล.อ.อ.สุกำพลเป็นฝ่ายสนับสนุน เหมือนกับตั้งขึ้นมารับมือน้ำท่วมอยุธยาที่เดียวจบ ไม่ได้คิดถึงการรับมือมวลน้ำมหาศาลที่จะท่วมกรุงเทพฯเป็นเดือน
 
ความไม่เป็นระบบนี่แหละมันถึงทำให้เกิดสภาพ “ร่วมด้วยช่วยกันวุ่น” อย่างที่ผมเคยเขียนไป มีคนเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ “ขาใหญ่” อย่างเก่ง การุณ เข้าไปมีบทบาทมากที่ ศปภ.ดอนเมือง เพราะที่นั่นคือดอนเมือง เก่ง การุณ พาคนในพื้นที่ไปช่วยงานแข็งขันตั้งแต่วันแรก ก็เลยมีบทบาทเยอะ ก็โอเค ถ้ามันเป็นช่วงฉุกละหุก 2-3 วันแรก แต่หลายวันผ่านไปคุณไม่ทำให้เข้าระบบ ก็กลายเป็นจุดอ่อนถูกโจมตี
 
พองานไม่เป็นระบบ ไม่มีองค์กรจัดตั้ง ประชาสั่งใครไม่ได้ (แถมยังทำงานแบบงุ่มง่ามตามระบบราชการ) ทุกอย่างก็รวมศูนย์ไปที่ยิ่งลักษณ์ รอนายกฯ ตัดสินใจแต่ผู้เดียว บางครั้งนายกฯ สั่งแล้วก็ไม่มีใครไปติดตามจี้งานให้ ก็เหมือนสั่งแล้วหาย ที่ร้ายกว่านั้นคือนายกฯ มือใหม่ พี่ชายพี่สะใภ้ไม่กล้าปล่อยให้ตัดสินใจ วางคนรอบข้างเต็มไปหมด ทั้งที่คนรอบข้างก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหรือผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองมาจากไหน ทำให้ข้อเสนอต่างๆ กว่าจะไปถึงการตัดสินใจก็ล่าช้า
 
งานใหญ่แบบนี้ นายกฯ ควรจะมีทีมที่ปรึกษามือเชี่ยวๆ ซัก 4-5 คน หารือแล้วก็ตัดสินใจกันตรงนั้น ไม่ต้องฟังใครไม่ว่านอกหรือในประเทศ นี่แหละอันดับแรกที่ต้อง “รีแพร์” ไม่งั้นจะมีปัญหาในการบริหารงานตลอด
 
ยิ่งลักษณ์เพิ่งจะมาออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการ 9 ชุด ตั้งแต่ฟื้นฟูเยียวยาไปถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การสื่อสารสาธารณะ การบริหารจัดการน้ำ (ซึ่งแปลว่าปล่อยให้ ศปภ.เดิมเป็นเจว็ด) นี่ก็สายไปร่วม 29 วัน
 
หวังว่าการสื่อสารสาธารณะที่มีธงทอง จันทรางศุ เป็นหัวเรือใหญ่ จะทันเกมการเมืองและฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนได้บ้าง จากที่ผ่านมาที่สื่อสารไม่เอาไหน ไม่บอกความจริงให้ประชาชนรู้ตัวเตรียมรับมือล่วงหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกด่ามากที่สุด
 
แต่...อย่าล้มรัฐบาลกรู
โชคดีของรัฐบาล คือในขณะที่ ศปภ.สอบตก กทม.ก็สอบไม่ผ่านเช่นกัน และในขณะที่รัฐบาลย่ำแย่ ปชป.ก็เล่นเกมการเมืองซ้ำเติม รวมทั้งพวกสลิ่มในเฟซบุค ทำให้คนสองสีที่เกลียดกันอยู่แล้วยิ่งเกลียดหนักเข้าไปอีก มวลชนเสื้อแดงที่น้ำท่วมมิดหัว หายใจผงาบๆ ก็ยังชูนิ้วกลางให้ ปชป.และชูนิ้วชี้เบอร์ 1 ให้ยิ่งลักษณ์ จะแย่ยังไงกรูก็ยังปกป้องรัฐบาลของกรู
 
ขอย้ำว่า กทม.ก็สอบไม่ผ่านนะครับ กทม.ทำอยู่อย่างเดียวคือประกาศเตือนประชาชนให้อพยพ ซึ่งก็อ่านสถานการณ์ง่ายแล้ว เพราะน้ำมาถึงลาดพร้าว สุทธิสาร สะพานควาย ของแหงๆ ว่าต้องไปถึงอนุสาวรีย์ชัย ที่เหลือนอกนั้น คุณชายสุขุมพันธ์ก็เอาแต่โวยวาย ศปภ.ไม่ให้ปล่อยน้ำเข้า กทม.แม้แต่หยดเดียว พอน้ำเข้าก็ไม่เห็นระบายได้ เดี๋ยวก็โวยเรื่องกระสอบทราย เดี๋ยวก็โวยเรื่องขอเครื่องสูบน้ำไม่ได้ คุณชายอาศัยแต่คันกั้นน้ำพระราชดำริเป็นหลังพิง แล้วก็ฝากความหวังกับอุโมงค์ยักษ์ (ที่สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ริเริ่ม) คูคลองใน กทม.ก็ใช่ว่าจะใช้การได้ดี บางแห่งไม่ได้ขุดลอกมาหลายปี บางแห่งยังแห้งผากอยู่เลย ขณะที่ตอนเหนือและฝั่งธนท่วมแทบตาย ศูนย์อพยพของ กทม.ก็ดูซิว่ามีใครเข้าพักสักกี่คน สภาพมันน่าพักซะเมื่อไหร่ ซ้ำน้ำท่วมขยะก็ลอยฟ่อง
 
การประเมินสถานการณ์ก็ใช่ว่า กทม.ถูก ศปภ.ผิด ก่อนหน้านี้ยังมีเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำออกมาฟันธง “เอาหัวเป็นประกัน” น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ ป่านนี้ยังมีหัวติดตัวอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ
 
รัฐบาลต้องขอบคุณคนเหล่านี้ คืออภิสิทธิ์ สุขุมพันธ์ เอกยุทธ อัญชันบุตร สลิ่มเฟซบุค ตลอดจนบรรดาขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ (รวมทั้งมัลลิกา บุญมีตระกูล) ทีทำให้ฐานเสียงของตัวเองยังเหนียวแน่นด้วยความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม
 
เพื่อนผมรายหนึ่งธุรกิจฉิบหายหลายแสนไปกับน้ำท่วม โวยวายว่ารัฐบาลนี้เอาไว้ไม่ได้แล้ว ผมก็บอกว่ารัฐบาลทำงานห่วยจริง ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ หรือถ้าเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบแบบรีพับลิกันเดโมแครต ผมคงไล่รัฐบาลด้วย แต่ในสถานการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ การไล่รัฐบาลมันไม่มีคำตอบว่าจะได้สิ่งที่ดีกว่า เพราะหนึ่ง ไม่มีใครเอาประชาธิปัตย์ (เพื่อนผมก็ไม่เอา) และสอง พวกที่จ้องล้มรัฐบาลอยู่ตอนนี้ ไม่ได้ต้องการรัฐบาลที่ดีกว่าในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วไปสู่รูปแบบอื่นเสียมากกว่า
 
ผมจึงบอกง่ายๆ ว่าถ้าไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วมีวิถีทางดีกว่าที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ที่ไม่ใช่รัฐประหาร ที่ไม่ใช่รัฐบาลพระราชทาน ผมจะเอาด้วย แต่ตราบใดที่ไม่มีใครเสนอทางออกที่ดีกว่า ผมก็ไม่เอาด้วย ผมก็จำเป็นต้องสนับสนุนให้รัฐบาลทำงานต่อไป พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ให้ทำงานดีขึ้น
 
มันเป็นสภาพบังคับที่น่าเศร้าเหมือนกันนะครับ หายใจผงาบๆ อยู่ใต้น้ำ แต่ยังต้องชูนิ้วเบอร์ 1 กระนั้นเราก็อย่าปกป้องกันจนไม่ลืมหูลืมตา ต้องต่อสู้ความคิดกันด้วย อะไรที่ต้องด่ากันตรงๆ ก็ต้องด่า เราถึงจะแตกต่างจากพันธมิตร แตกต่างจาก ปชป.
 
สงครามการเมืองหลังน้ำลดจะยิ่งรุนแรงและแตกแยก เพราะต้องยอมรับว่าจะมีคนไม่พอใจรัฐบาลจำนวนมาก ถึงรัฐบาลยังอยู่ได้ ด้วยมือ ส.ส.เพื่อไทย และด้วยพลังเสื้อแดง แต่แรงเสียดทานจะหนักหนาสาหัส เช่นการแก้ พ.ร.บ.ระเบียบกลาโหม คงไม่ง่ายเมื่อเจอบทพระเอกมิวสิควีดิโอของกองทัพบก ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงต้องยืดเยื้อออกไป
 
รัฐบาลจะต้องเร่งยกเครื่องทำ “รีแพร์” ตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไปช่วยผู้ประสบภัย เอาความตั้งใจจริงเข้าทดแทนความผิดพลาด (ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ยิ่งลักษณ์ยังได้คะแนนเห็นใจอยู่) หามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่น้ำท่วมอยู่ เช่น สั่งหยุดราชการและขอร้องให้เอกชนหยุด เพราะการไม่หยุดราชการทำให้คนพะวักพะวง บ้านน้ำท่วมอยู่ฝั่งธนยังต้องต่อรถ 3-4 ต่อมาทำงาน ดูแลการคมนาคม จัดรถเมล์ฟรี ทางด่วนฟรี (ไม่ใช่ฟรีแต่โทลเวย์ซึ่งขึ้นไปแล้วหาที่ลงไม่ได้มีแต่ลงน้ำ) เจ้าแห่งประชานิยมทำไมคิดไม่เป็น ตอนนี้อะไรฟรีได้ต้องฟรีให้เยอะเข้าไว้
 
แล้วที่สำคัญคือ การคิดเรื่องมาตรการฟื้นฟูชดเชยให้รอบด้าน เป็นธรรม อย่าทุ่มให้แต่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างเดียว (เสือกไปตั้งนิคมอุตสาหกรรมกลางทุ่งลุ่มต่ำก็ต้องรับกรรมบ้าง) ต้องคิดถึงทั้งเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนยากคนจน และคนกรุงคนชั้นกลาง นอกจากที่บอกว่าจะช่วย 30,000 บาท ยังควรมีมาตรการอื่นด้วย สมมติเช่น ลดภาษี ให้เงินกู้ซ่อมบ้านปลอดดอกเบี้ย เจรจาสถาบันการเงินยกเว้นส่งค่าผ่อนบ้านผ่อนรถชั่วคราว ควบคุมราคาวัสดุก่อสร้างหรือกระทั่งบีบลดราคา (ได้อยู่แล้วเพราะบริษัทพวกนี้จะมีกำไรมหาศาลหลังน้ำลด) ตลอดจนเก็บภาษีน้ำไม่ท่วมในรูปแบบของภาษีบ้านและที่ดินอัตราก้าวหน้า โดยระยะแรกยกเว้นให้คนถูกน้ำท่วมก่อน
 
รัฐบาลต้องตัดสินใจยกเลิกนโยบายประชานิยมเช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก (เปลี่ยนมาเป็นซ่อมรถ ซ่อมบ้าน) แต่ต้องคงไว้ในนโยบายสำคัญคือค่าแรง 300 บาท เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้คนยากคนจนฟื้นตัว ฟื้นกำลังซื้อ อย่ายอมตามแรงกดดันของภาคอุตสาหกรรม ส่วนนโยบายจำนำข้าว 15,000 หมดความหมายแล้ว เพราะน้ำท่วมข้าวเสียหายไปเยอะ ไม่ต้องจำนำข้าวก็แพงอยู่ดี
 
ข้อสำคัญที่สุดนะครับ คือต้องเก็บรับบทเรียนการบริหารสถานการณ์น้ำท่วมที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไปปรับปรุงการทำงาน เพราะขืนยังทำงานกันแบบนี้ ไปไม่รอดแน่ อย่าหวังแต่การปลุกมวลชนโทษโน่นโทษนี่อยู่อย่างเดียว
 
                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    7 พ.ย.54
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประกันสังคมคาดน้ำท่วมกระทบเสี่ยงเลิกจ้าง 220,000 คน

Posted: 07 Nov 2011 12:42 AM PST

 รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คาดการณ์ น้ำท่วมกระทบผู้ใช้แรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 220,000 คน คาดช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคมนี้ จะต้องจ่ายเงินทดแทนกว่า 5,500 ล้านบาท
 
7 พ.ย. 54 - สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2554 มีผู้ใช้แรงงานว่างงาน 104,182 คน แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ ถูกเลิกจ้าง 18,024 คน สมัครใจลาออก 82,618 คน และ ว่างงาน เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาจ้าง 3,540 คน โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สปส.ได้จ่ายเงินประกันว่างงานไปทั้งหมด 305 ล้านบาท ทั้งนี้จากปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบและอาจถูกเลิกจ้าง สปส.จึงคาดการณ์ไว้ว่า หากสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤต จะทำให้ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2554 มีผู้ใช้แรงงานว่างงาน เพิ่มเป็น 360,000 คน แบ่งเป็น เลิกจ้าง กว่า 220,000 คน สมัครใจลาออก 130,000 คน และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 10,000 คน ส่งผลให้ สปส.จะต้องจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานประมาณ 5,550 ล้านบาท
 
ด้าน น.ส.ส่งศรี บุญบา รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานในจังหวัดต่างๆ ที่ประสบอุทกภัยและถูกเลิกจ้าง ขอให้ไปยื่นคำร้องรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อสำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ จังหวัด ส่วนกรณีที่เป็นแรงงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์แล้วและไม่สามารถไปรายงานตัวได้ตามกำหนด ก็ขอให้โทรศัพท์มาแจ้งต่อสำนักงานจัดหางานต่างๆ เนื่องจากขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ของ สปส.ไปประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากแรงงานที่ว่างงานได้งานใหม่แล้ว สถานประกอบการแห่งใหม่ที่รับเข้าทำงานจะแจ้งข้อมูลมายัง สปส. ซึ่ง สปส.จะยกเลิกการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้ายสไตล์กับรุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์: เพียงเพราะความเป็น“ผู้หญิง” อย่างนั้นหรือ ?

Posted: 06 Nov 2011 11:06 PM PST

การทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและหลากหลาย ไม่เพียงแค่สื่อมวลชน นักข่าว หรือบรรดาคอลัมนิสต์ แต่ประชาชน บุคคลธรรมดาทั่วไป ก็ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะในพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ตอนนี้นับเป็นพื้นที่และช่องทางหลักในการสื่อสารเรื่องน้ำท่วม ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ แจ้งเตือน การสะท้อนปัญหา รวมถึงการด่าทอ สาดโคลน สารพัดรูปแบบ
หลังจากบรรดาสารพัดภาพข่าว ภาพตัดต่อ แบนเนอร์ คำคม คำขวัญ ทั้งหลายออกมาอาละวาดได้พักใหญ่ ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีคำวิพากษ์วิจารณ์สองชิ้นที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย คือข้อเขียนของอดีตนักร้องนักแสดงสาว เอิน กัลยากร และเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ ทั้งสองใช้วิธีการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก

โดยเอิน กัลยากร เขียนเป็นบทความขนาดยาว โดยใช้ชื่อบทความว่า “จากผู้หญิง (ธรรมดา) ถึงผู้หญิง (ที่เป็นนายก)” ส่วนเอกยุทธ อัญชันบุตรนั้น โพสต์เป็นข้อความเพียงสามบรรทัด (เฟซบุ๊ก) ก่อนจะกลายเป็นเรื่องเป็นราวมีการโพสต์ตอบโต้กันยืดยาว ด้วยเพราะความล่อแหลม หยาบคายในเชิงดูหมิ่นในประเด็นที่โพสต์ แต่ประเด็นที่ทั้งสองคนมีร่วมกันก็คือมุ่งไปที่ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อันที่จริงแล้วทั้งสอง ‘โพสต์’ ของทั้งสองคนั้น ไม่มีสิ่งที่จะพอเรียกได้ว่า ‘วิพากษ์วิจารณ์’ เพราะไม่มีการพูดถึงประเด็นข้อบกพร่องการทำงานอย่างจะแจ้ง (ทั้งข้อท้วงติง หรือข้อเสนอ) หรือเนื้อหาสาระที่พอจะบอกได้ว่าเป็นตรรกะ เหตุผล แต่ประการใด ทั้งสองคนและสองเนื้อหา ไม่ได้มุ่งตรงไปยัง ‘การทำงาน’ ของนายกรัฐมนตรี แต่กลับมุ่งตรงไปที่ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ที่ถูกนำมาตั้งเป็น ‘โจทย์’ ในการวิพากษ์วิจาณ์ครั้งนี้ ทำให้ดูเหมือนกับว่าความผิดพลาดในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ได้ผิดพลาดที่ ‘การทำงาน’ แต่ดันผิดพลาดที่ นายกรัฐมนตรีเป็น ‘ผู้หญิง’

โดยในส่วนของเอกยุทธนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเป็น Hate Speech ด้วยถ้อยคำดูหมิ่นอย่างจะแจ้ง และร้ายแรง กับการเปรียบเทียบผู้หญิงเหนือที่เขาเหมารวมว่าไม่มีสมองและทำงานได้แค่อาชีพหญิงบริการเท่านั้น ด้วยความที่มันเป็น Hate Speech ที่หยาบคาย มีนัยในการดูหมิ่นใน ‘ภาพรวม’ ไร้ตรรกะ เหตุผล ด้วยตัวของมันเอง จึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านด้วยธรรมชาติของ Hate Speech ในลักษณะนี้ และเราก็คงไม่จำเป็นต้องไปพินิจพิเคราะห์ ให้ความสนใจอะไรมากมาย กับตัวข้อความที่แม้จะมุ่งทำลาย ‘ภาพรวม’ ของผู้หญิงเหนือ แต่ด้วยความไร้ตรรกะ เหตุผล ดูหมิ่นหยาบคายและรุนแรงของข้อความนั้นเอง ก็เป็นดาบสองคมที่ดึงกลับไปทิ่มแทงยังผู้เขียนเอง ว่าไร้ซึ่งปัญญาในการคิด พินิจพิจารณา และตัวข้อความนั้นก็ไร้น้ำหนัก ความน่าเชื่อถือด้วยตัวของมันเอง

ในทางกลับกัน ความน่าสนใจ (ของดิฉัน) กลับอยู่ที่ ‘บทความ’ ของเอิน กัลยากร ที่มานิ่มๆ ติ๋มๆ ใสๆ อีกทั้งยังแสดงออกในชื่อบทความว่า นี่เป็นทัศนะจากมุมองของผู้หญิง (ธรรมดา) คนหนึ่ง ถึงผู้หญิงที่มีตำแหน่งใหญ่โตในการบริหารประเทศอย่างนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองของ ‘ผู้หญิง’ ถึง ‘ผู้หญิง’ และประเด็น ‘ความเป็นผู้หญิง’ และที่สำคัญในความซอฟต์ใส นิ่มๆ ติ๋มๆ ของคำว่า ‘ผู้หญิง’ นั้น อาจทำให้หลายคนหลงลืมไปว่าประเด็นที่เอิน กัลยากร หยิบยกขึ้นมาเป็น ‘โจทย์’ ในการวิพากษ์ วิจารณ์ นายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ก็คือ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ที่ไม่ ‘ต่าง’ อะไรกับเอกยุทธ อัญชันบุตร เลยแม้แต่น้อย หากจะแตกต่างก็แตกต่างเพียงแค่ความรุนแรงในการเปรียบเทียบที่ใช้ แต่หากมองดีๆ แล้ว ระดับความรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์นั้นกลับไม่ต่างกัน

แต่ปฏิกิริยาตอบโต้จากสังคมนั้น กลับต่างกันโดยสิ้นเชิงซึ่งดูเหมือนว่า บทความของเอิน กัลยากร จะได้รับทั้งความนิยม (จากการแชร์ต่อด้วยทัศนะที่เห็นชอบ) และความชื่นชอบ เห็นด้วยเป็นปี่เป็นขลุ่ยของสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีเพียงบทความเพียงบทความเดียว (เท่าที่ดิฉันเห็น) เท่านั้นที่ออกมาเขียนตอบโต้บทความของเอิน กัลยากร ซึ่งจากจุดนี้เอง ที่ดิฉันเห็นว่ามันเป็น ‘อันตราย’ หากเราจะมองเพียงแค่ความรุนแรง หรือไม่รุนแรงผ่าน ‘ประโยคหรือถ้อยคำ’ เพียงเท่านั้น แต่กลับเพิกเฉย (รวมถึงเห็นดีเห็นงาน เห็นด้วย ยินดี) ความรุนแรง (ในระดับเดียวกัน) ที่มาในรูปแบบซอฟต์ใส สวยงามในนามของ ซอฟต์ใสสปีช (Soft Sai Speech) ซึ่งที่จริงแล้ว มันคือความรุนแรงอันแยบคายที่ผู้หญิงกระทำต่อผู้หญิง (ด้วยกัน)

เริ่มต้นบทความ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้กล่าวว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ไม่ถือเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ดังที่เธอกล่าวว่า

“ส่วนตัวไม่ถือว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกหญิงคนแรก เหตุเพราะคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับการเลือกตั้งเพราะความสามารถของเธอเอง แต่เป็นเพราะคนต้องการผู้ชายที่อยู่เบื้องหลังเธอต่างหาก ประชาชนที่เลือกเธอ ไม่ใช่เพราะชื่อ "ยิ่งลักษณ์" แต่เป็นเพราะนามสกุล "ชินวัตร" ที่เป็นสิ่งการันตีว่าเธอคนนี้คือ "สายตรง" ดังนั้นเราจะนับว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกไม่ได้

เราจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกจริงๆ ก็ต่อเมื่อ เธอคนนั้นต่อสู้ฟันฝ่ามาด้วยตัวเอง และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า "ผู้หญิงคนนี้มีความสามารถที่จะเป็นผู้นำประเทศได้เท่านั้น”

คำอธิบายเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายที่พบได้ดาษดื่น ในกลุ่มคนที่ไม่ชื่นชอบพรรคไทยรักไทย ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้ ไม่เข้าใจระบบการเมืองการปกครอง ‘ในระบอบประชาธิปไตย’ เลย ซึ่งขัดแย้งจากที่เธอทิ้งท้ายอ้างไว้ว่า

“พูดในฐานะประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่สามารถวิจารณ์ฝ่ายการเมืองได้”

ซึ่งจะว่าไปแล้ว นี่เป็นทัศนะที่เป็น ‘ส่วนตัว’ โดยแท้ และขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย (กรุณาดูรัฐธรรมนูญ อันว่าด้วยการเลือกตั้งและการเป็นนายกรัฐมนตรีประกอบ) ประกอบกับข้อเท็จจริงโดยสภาพที่ว่าเธอเป็น ‘ผู้หญิง’ โดยกำเนิด เพราะฉะนั้นหาก ‘ผู้หญิงธรรมดา’ อย่างคุณเอิน กัลยากร จะวิจารณ์ภายใต้ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ ก็ควรจะกำหนดกรอบคุณสมบัติของการเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย จึงถือว่าเป็นการวิจารณ์ที่มีตรรกะและเหตุผลภายใต้ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ และถือเป็นผู้ที่มีการศึกษาภายใต้สังคมประชาธิปไตย

ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นตัดสินกันด้วย ‘การเลือก’ ของประชาชน และไม่ว่าเขาจะเลือกด้วย ‘เหตุผลกลใด’ มันก็ไม่ต่างกันกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เลือกนายกฯ คนนี้ หรือพรรคๆ นี้ แต่เลือกคนอื่น พรรคอื่น (ไม่ว่าคนไหนหรือพรรคไหน) เพราะประชาชนอีกกลุ่มนั้นก็เลือกด้วยเหตุผลอีกชุด ซึ่งชุดของเหตุผลของการเลือกนั้น จะไม่ถูกนำมาวัดหรือให้คุณค่า ว่าชุดของเหตุผลของใครดีกว่ากัน ฉลาดกว่ากัน โง่กว่ากัน เพราะที่จริงแล้ว ชุดของเหตุผลของแต่ละคนที่ใช้เลือกนั้นก็อิงอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในเชิงความชื่นชอบส่วนตัว เศรษฐกิจหรืออุดมการณ์ทางการเมือง นี่ยังไม่นับกว่าการกล่าวที่ว่า การกล่าวหานั้นเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพราะในการเลือกตั้ง ไม่มีช่องให้เหตุผลว่าเราเลือกคนนั้น หรือพรรคนั้น เพราะเหตุผลใด ซึ่งคนที่เลือกยิ่งลักษณ์ หรือพรรคเพื่อไทย อาจจะเลือกด้วยคนละชุดเหตุผลกัน (เช่น เลือกเพราะทักษิณ เลือกเพราะเกลียดการรัฐประหาร เลือกเพราะนโยบาย เลือกเพราะไม่ชอบพรรคฝ่ายตรงข้าม เลือกเพราะต้องการความเป็นอยู่ทางศรษฐกิจที่ดีขึ้น ฯลฯ) แต่อยู่ภายใต้การกากบาทให้พรรคนี้

รวมถึงการกล่าวว่า “เราจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกจริงๆ ก็ต่อเมื่อ เธอคนนั้นต่อสู้ฟันฝ่ามาด้วยตัวเอง และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า "ผู้หญิงคนนี้มีความสามารถที่จะเป็นผู้นำประเทศได้เท่านั้น” ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้หญิงธรรมดาคนนี้ ไม่ได้มีความรู้ในทางการเมือง ทั้งของประเทศไทย และของโลกอย่างแท้จริง (กรุณาอ่านบทความตอบโต้ของคุณปฐม พยัคฆ์ร้ายเเห่งคลองบางหลวง ในมติชนออนไลน์) อีกทั้งยัง ‘นาอีฟ’ หรือหลอกตัวเองอยู่ว่า ผู้เทนราษฎรจำนวนไม่น้อย ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่ทั่วโลก ล้วนขึ้นมาเล่นการเมืองในหนทางที่แตกต่างกัน (อย่างประเทศไทยก็มีนักร้องนักแสดง ดารา ไฮโซ หลายคนลงมาเล่นการเมือง โดยไม่ได้ ต่อสู้ฟันฝ่ามาด้วยตัวเอง เช่นเดียวกัน) ดิฉันเข้าใจว่าเอิน กัลยากร คงจะหมายถึง ‘ความสามารถ’ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ล้มเหลว แต่ดิฉันขอเรียนไว้ตรงนี้ว่า นั่นเป็นการนำข้อเท็จจริงอีกชุดที่เกิดขึ้นไปล้มล้างข้อเท็จจริงอีกชุด (ที่ไม่สัมพันธ์กัน) ในอดีต เพื่อที่จะยกนำมาอ้างให้ความชอบธรรมในความคิดเห็นส่วนตัวของตัวเอง

ซึ่งการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้มเหลวในการแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น ไม่สามารถนำมาเป็น ‘เหตุผล’ ในการกล่าวว่าเธอไม่ ‘ถือว่า’ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศได้ เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงคนละชุด และที่สำคัญ มันไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่สัมพันธ์กันพอที่จะนำมากล่าวอ้างได้ หากความสามารถที่ล้มเหลวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีผลต่อการทำงาน หรือการเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องไปตัดสินกันในการเลือกตั้งข้างหน้า ไม่ใช่ย้อนหลังอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่นำมา ‘เคลม’ ว่าเธอไม่ถือว่าเป็น ‘นายรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ’ และ ‘เคลม’ ว่า เป็นการพูดในฐานะประชาชนในระบอบประชาธิปไตย (แน่นอน...การ ‘พูด’ หรือการวิจารณ์ เป็นสิทธิ เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย แต่ตรรกะ เหตุผลที่ใช้ในการพูด และการวิจารณ์นั้น อยู่ ‘นอก’ ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง สัมพันธ์กันโดยสิ้นเชิง)

นี่ยังไม่นับรวมความสับสนของตัวผู้หญิงธรรมดาคนนี้เอง ที่ขึ้นต้นบทความว่าไม่ถือว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก แต่ต่อจากนั้น กลับนำข้อเท็จจริงที่ว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็น ‘นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก’ มาเป็นตัวตั้งใจการวิพากษ์วิจารณ์

ประเด็นนี้จึงเป็น ‘ความคิดเห็นส่วนตัว’ ของผู้หญิงธรรมดาคนนี้ และจะว่าไปแล้วมันก็ไม่สลักสำคัญอะไร เพราะด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็ทำให้เห็นชัดแล้วว่าเธอคิดสมอ้างเอาเองอย่างข้างๆ คูๆ แต่ประเด็นที่น่าสนใจและเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ดิฉันจั่วหัวไว้ตั้งแต่แรกก็คือ การนำ ‘ความเป็นผู้หญิง’ มาเป็นตัวตั้งใจการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ (แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานโดยตรง) โดยผู้หญิงธรรมดาคนนี้อ้างว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ‘หญิง’ ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเสียหาย กลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี จนอาจทำให้ผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถที่จะมาทำงานการเมือง หรืออื่นๆ ในอนาคต ไมได้รับการไว้วางใจ ด้วยคนเข็ดขยาดจากภาพลักษณ์ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้สร้างเอาไว้ ดังที่ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้กล่าวไว้ในบทความ

ซึ่งตรงนี้ดิฉันล่ะละเหี่ยใจยิ่งกว่าเรื่องไหนๆ ที่เธอกล่าวมาทั้งหมด โดยเฉพาะในฐานะผู้หญิงด้วยกัน ทั้งยิ่งลักษณ์ คุณเอิน และดิฉัน

การเป็นผู้หญิงด้วยกันนั้น ไม่ได้หมายความว่า ดิฉันเรียกร้องให้เห็นใจ เข้าใจ ผู้หญิงด้วยกันอย่างยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่สิ่งที่ดิฉันอยากให้ผู้หญิงหรือผู้ชายทุกคนในสังคมนี้คือ การมอง ‘คน’ ให้เป็น ‘คน’ งานเป็นงาน ไม่ได้ตีกรอบด้วยเรื่อง ‘เพศ’ สิ่งที่คุณเอินกล่าวมาว่า “เรื่องความไม่เท่าเทียม...มีค่ะยังมีอยู่ เป็นผู้หญิงค่ะ ทำงานค่ะ และยังเจอทุกสิ่งอย่างที่พูดมากับตัวเองค่ะ และไม่ใช่ผู้เขียนคนเดียวที่เจอ จึงได้เข้าใจและพูดได้” นั้น แน่นอน ในบางแง่มุมของสังคม เรื่องการกีดกันทางเพศยังมีอยู่จริง แต่สิ่งที่เราควรจะเรียกร้อง หรือกล่าวประณามก็คือ ‘สังคม’ ที่มีการกีดกันทางเพศต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นสังคมในระดับใหญ่อย่างประเทศชาติ หรือสังคมระดับเล็กอย่างบริษัท หรือที่ทำงาน ไม่ใช่มานั่ง ‘เด็ดหัว’ ผู้หญิงคนหนึ่งว่าทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเสียหาย

หากคุณเอินสนใจเรื่องการต่อสู้ของสิทธิสตรีในเรื่องการกีดกันทางเพศจริง สิ่งที่คุณเอินควรจะเข้าใจ เรียนรู้ และหาความรู้มาใส่ตัวก็คือ การผลักดันเรื่องนี้ การต่อสู้เรื่องนี้ (ที่ในประเทศไทยก็มี และทั่วโลกก็มี) คือการผลักดันในเรื่องข้อกฎหมายและทัศนคติของคนในสังคม สิ่งที่เราต้องผลักดันในเรื่องนี้ก็คือ ทำให้ ‘คนในสังคม’ มองคุณค่าของความเป็นคนที่ผลงานของคนๆ นั้นแบบรายตัว ไม่ได้นำมาเหมารวมว่าหากเราเป็นเพศๆ นั้น ต้องมีพฤติกรรมอย่าง (คน) นั้น (ที่เป็นตัวอย่างของสังคม) เช่น เกย์ถูกตีตราว่าเป็นเพศที่สำส่อน ซึ่งก็เป็นมายาคติที่ไม่จริง เพราะเรื่องเซ็กซ์ ไม่ว่าเพศไหนก็มีกัน คำว่าสำส่อนวัดกันด้วยจำนวนครั้งที่มีเพศสัมพันธ์หรืออย่างไร ก็ไม่มีใครตอบได้ ว่าสำส่อนคือเท่าไหร่กันแน่ คุณเอินคงพอจะมีเพื่อนที่เป็นเกย์บ้าง ก็คงจะพอเข้าใจว่าคำกล่าวอ้างแบบเหมารวมเช่นนี้ ‘ไม่เป็นความจริงอันปฏิเสธไม่ได้’ (Universal Truth) (คุณเอินจะกล่าวประณามเพื่อนเกย์ด้วยหรือไม่ว่า เพราะเธอเป็นเกย์ เธอนอนกับผู้ชายหลายคน เธอจึงทำให้เกย์ทุกคนเสื่อมเสียว่าสำส่อน ?) เช่นเดียวกันกับทัศนคติที่ว่าผู้หญิงอ่อนแอ ผู้หญิงดีแต่สวย ก็เช่นกัน สิ่งที่คุณเอินควรจะผลักดัน หรือกล่าวประณาม หากมีการกีดกันทางเพศเกิดขึ้น ทั้งในประเทศนี้สังคมนี้ หรือบริษัทที่คุณเอินทำงานอยู่ ก็คือ ‘ผู้ที่มีทัศคติที่ไม่ดีคนนั้น’

ไม่ใช่การมาแอบอ้างด่าว่า เพราะยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ และเป็นผู้หญิง เธอจึงทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเสียหาย และจะทำให้เกิดการกีดกันทางเพศในสังคม!!!

ทัศนคติคติของ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้ ต่อประเด็นเรื่อง ‘ผู้หญิง’ จึงเป็นทัศนคติที่บิดเบี้ยว และเป็นทัศนคติที่ทำร้ายผู้หญิง (ในภามรวม) ด้วยกันเอง ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมของสังคม เพราะแทนที่เธอจะไปแก้ปัญหาเรื่องทัศนคติว่าด้วยการกีดกันทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม แก้ที่ ‘คนที่มีทัศนคติที่ไม่ดี’ เช่นนั้น เธอกลับมาตีขลุมว่า เป็นเพราะสังคมมีนายกฯ ที่เป็น ‘ผู้หญิง’ และแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ (นี่ยังไม่ได้ย้อนถามว่าเธอจะวิจารณ์นายกฯ ในเรื่องอะไร เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือเรื่องที่นายกฯ เป็น ‘ผู้หญิง’ ?)

หากสังคมไทย เป็นสังคมที่มองเพียงแค่ตัวอย่างของคนๆ เดียว แล้วเหมารวมไปว่า เพราะคนนี้เป็นเพศนี้ ประพฤติตัวเยี่ยงนี้ เพศนี้ทั้งหมดจึง ‘ไม่ดี’ ไม่ควรสนับสนุนในโอกาสต่อไป สิ่งที่เราทุกคน ทั้งหญิงชาย คุณเอิน และดิฉัน ควรจะแก้ไข คือการผลักดันให้เกิดทัศนคติที่ดี ในการมองคนเป็นคน คนหนึ่งๆ เป็นกรณีไป ตามความสามารถของใครมัน ไม่ได้มองจากภาพเหมารวมหรือตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ใช่หรือ

หรือสิ่งที่คุณเอินคิดเละเขียน ไม่ได้มาจากความรู้สึกที่อยากจะให้สังคมไร้ซึ่งการกีดกันทางเพศ ให้มีความเท่าเทียมกันทั้งหญิงชาย ให้ดูกันที่ความสามารถรายบุคคล แต่เป็นเพราะแค่อยากกล่าวประณามนายกฯ หญิงคนนี้ โดยนำ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ของเธอมาเป็น ‘โจทย์’ ตัวตั้ง เพราะหากคุณเอินใส่ใจกับเรื่อง ‘การกีดกันทางเพศ’ จริง สิ่งที่คุณเอินต้องทำคือ การยกเหตุผลขึ้นมาบอกว่า กรุณาอย่ามองเหมารวมว่าผู้หญิงทุกคนจะทำงานในตำแหน่งใหญ่โตไม่ได้ จากความล้มเหลวในการบริหารงานของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จงพิจารณาเป็นความสามารถรายบุคคลไป แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่คุณเอิน พูด คิด เขียนไป โดยกล่าวประณามว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกฯ และเป็น ‘ผู้หญิง’ คือตัวการความเสื่อมและทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี อันทำให้เกิดการกีดกันทางเพศในสังคม ซึ่งมันไม่ได้หมายความถึงการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกัน หรือการไร้ซึ่งการกีดกันทางเพศในสังคมเลยสักนิด

การเด็ดหัวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะ ‘ผู้หญิง’ ที่ทำงานบริหารผิดพลาด แล้วการกีดกันทางเพศจะหมดไปไหม สิ่งที่ต้องทำคือการแก้ทัศนคติการเหมารวมต่างหาก!

อย่าทำตัวเป็นคนดี มีการศึกษา เพื่อหลอกด่าคนอื่น เพราะเราไม่ชอบ เราเกลียดเขาเลยค่ะ ด่ากันตรงๆ ว่าเกลียด ไม่ชอบโดยส่วนตัว (หรือด่าตรงๆ อย่างโง่ๆ อย่างเอกยุทธ อัญชันบุตร) โดยไม่ต้องยกทัศนคติที่บิดเบี้ยว ผิดๆ มารองรับให้ดูน่าเชื่อถือยังจะดี และดู ‘สง่างาม’ เสียกว่า

โดยเฉพาะสิ่งที่น่าเสียใจที่สุดคือการที่คุณเอินกล่าวว่า “ถามจริงๆเถอะ ความสามารถในการสื่อสารและการทำงานระดับนี้ ถ้าไม่มี "พี่ชาย" คอยผลักคอยดันอยู่ข้างหลัง ป่านนี้คุณยิ่งลักษณ์จะทำอะไรอยู่ที่ไหน? ให้เดานะคะ ...แต่งตัวสวยๆ กลางวันไปช็อปปิ้ง ไปสปา กลับมานั่งสวยรอให้สามีชื่นชม”

ขอพูดตรงๆ เถอะค่ะ ไม่ต้องพูดว่าในฐานะผู้หญิงด้วยกันก็ได้ ในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ดีกว่า การกล่าวเช่นนี้ ทัศนคติเช่นนี้ มันเป็นอะไรที่ ‘ทุเรศ’ มาก บ่งบอกถึงทัศนคติที่ต่ำช้าเสียยิ่งกระไร หากผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง จะแต่งสวยๆ กลางวันไปช้อปปิ้ง ไปสปา กลับมานั่งสวยรอให้สามีชื่นชม มันผิดบาปมากนักหรือคะ (นี่ยังไม่นับว่านั่นเป็นความจริงที่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์) หากคุณเอิน หรือใครก็ตามเห็นถึงการทำงานที่บกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ่งที่ควรจะกระทำก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานในด้านต่างๆ ดังที่ผู้ที่มีการศึกษา สติปัญญา และอารยชนเขาทำกัน เช่น การบริหารจัดการหน่วยงานที่มาทำงานเรื่องน้ำท่วมที่ผิดพลาด การตัดสินใจที่ผิดพลาดล่าช้า การจัดหา ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ไร้ประสิทธิภาพ แบบไหน อย่างไร ก็ว่ากันไป

ไม่ใช่มากล่าวหา ว่าร้าย เสียดสี ด้วยทัศนคติอันต่ำช้า (จากผู้หญิงด้วยกันเอง) ว่า หากผู้หญิงคนนี้ไม่ได้เป็นนายกฯ คงได้แต่แต่งตัวสวย กลางวันไปช้อปปิ้ง ไปสปา กลับมานั่งสวยรอให้สามีชื่นชม เพราะหากจะเป็นจริง (คือเธอไม่ได้เป็นนายกฯ) มันก็เป็นเรื่องที่เราไม่อาจไปตัดสินคุณค่าของคนๆ นั้นได้ เราควรตัดสินจาก ‘งานที่เขาทำ’ อย่างที่คุณเอินว่าไม่ใช่หรือคะ ทำไมคุณเอินไม่พูดถึงเรื่องการทำงานว่าไร้ประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ ก็ว่ากันไป ไปแขวะเขาเรื่องแต่งตัวสวย ไปช้อปปิ้ง ไปสปา นั่งสวยๆ รอสามี ทำไม? เพราะมันเป็นเรื่อง ‘ของเขา’ และเป็นสิ่งที่ผู้มีสติปัญญา มีการศึกษา และมีทัศนคตที่ดี หรือผู้ที่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่กระทำกัน ไม่แยกแยะเรื่องการทำงานกับเรื่องส่วนตัว (ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือไม่อีกด้วย) ออกจากกัน และถ้าหากคุณเอินหวังดีต่อสังคม อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ (อันเนื่องมาด้วยสถานการณ์น้ำท่วม) เพื่อก่อประโยชน์แก่สังคมจริง สิ่งที่คุณเอินควรพูดถึงคือ ‘การทำงานที่ล้มเหลว’ ไม่ใช่การหยิบยกประเด็นเรื่อง ‘ ความเป็นผู้หญิง’ ที่ซึ่งจริงๆ แล้วตรรกะที่คุณเอินหยิบยกมาใช้ มารองรับความคิดเห็นส่วนตัวของตัวเอง มันก็ ‘ปลอม’ เต็มทน! มันน่าขำที่คุณเอินเองอยากเรียกร้องให้มีความเท่าเทียมกันทางเพศ ไม่ให้ตัดสินกันที่เพศ แต่ตัดสินกันที่ความสามารถของคนๆ นั้น และอย่าเหมารวมด้วยความเป็นเพศใดเพศหนึ่ง แต่ตัวเองดันไปตัดสินคนอื่น (และเพศเดียวกันเสียด้วย) โดยที่เหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วว่า เขาเป็นคนอย่างนั้น เป็นเช่นนั้น ทัศนคติของคุณเอิน จึงเป็นทัศนคติที่มุ่งร้ายโดยไม่มีตรรกะ เหตุผล มารองรับอย่างน่าเชื่อถือ และบ่งบอกได้ถึงความคิดจิตใจอันต่ำช้า โดยไม่อยากจะคิดว่าเธอเป็น ‘คน’ (ไม่ต้องผู้หญิงหรอกค่ะ เพราะข้อเขียนของคุณเอินเองก็ทำให้ภาพลักษณ์การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของผู้หญิง หรือการกีดกันทางเพศตกต่ำ ไร้ซึ่งเกียรติไม่ต่างกัน) เช่นไร

และที่สำคัญมันทำให้เห็นว่าคุณเอินไม่ได้มุ่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องน้ำท่วมโดยตรง แต่มุ่งที่จะ ‘ด่า’ นายกรัฐมนตรี ด้วยการหยิบยกประเด็นเรื่อง ‘ความเป็นผู้หญิง’ มาเป็นโจทย์ในการด่า ซึ่งในความซอฟต์ใส ของข้อเขียนของเอิน กัลยากร เอง ดูเผินๆ เหมือนกับว่าเธอกำลังปกป้อง ‘ความเป็นผู้หญิง’ แต่ที่จริงแล้ว เธอในฐานะผู้หญิงด้วยกันเอง กลับเป็นคนที่ ‘ทำร้าย’ ผู้หญิงด้วยกัน ด้วยทัศนคติที่บิดเบี้ยว มุ่งร้าย อาจโดยเพราะไม่ชอบเป็นการส่วนตัว อคติทางอุดมการณ์ทางการเมือง หรือใดๆ แต่พยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาเพื่อรองรับความคิดเห็นอันทุเรศๆ ของตัวเอง

นี่คือสิ่งที่ดิฉันเห็นว่า ‘ซอฟต์ใสสปีช’ ของ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้ ร้ายแรงไม่ต่างกันจาก Hate Speech ของเอกยุทธ อัญชัน บุตร และที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นคือเธอ ‘เป็นผู้หญิงด้วยกัน’ และเราไม่ควรมองผ่าน เพิกเฉย เห็นดีเห็นงามอย่างไม่พินิจพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ด้วยเพราะความซอฟต์ใสของมัน!

ดิฉันไม่ได้ปกป้องการทำงานของรัฐบาลนี้ หรือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะจากสิ่งที่เกิดขึ้นก็เห็นแล้วว่า ในด้านการบริหารจัดการ ทั้งการใช้คน การจัดตั้งองค์กรขึ้นมาแก้ปัญหา การแจ้งเตือน หรือการบรรเทาทุกข์ ฯลฯ ในฐานะนายกฯ และฐานะผู้นำรัฐบาล ที่ปกครองประเทศนี้ ยิ่งลักษณ์นั้นทำงานได้ไร้ประสิทธิภาพ (และเราก็จะจดจำไว้เป็นแต้มในการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุเพราะรัฐบาลลาออก ยุบสภา หรือครบวาระ ใดๆ ก็ตาม) และไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างดีและทันท่วงที อย่างที่มีหลายๆ บทความที่สร้างสรรค์ได้แจกแจงถึงการทำงานที่ผิดพลาดไปบ้างแล้วอย่างมากมาย

สิ่งที่ดิฉันเรียกร้องก็คือการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ด้วยข้อเท็จจริง ข้อมูล ด้วยทัศคติที่ไม่ดูถูกเหยียดหยาม เสียดสีว่าร้ายผู้อื่น โดยไม่มีตรรกะเหตุผล ข้อมูลข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือมารองรับ ยิ่งโดยเฉพาะทัศคติที่เต็มไปด้วยเหตุผล (หรืออารมณ์ ?) ส่วนตัว อย่างที่ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้เขียนขึ้น ซึ่งหากมันจะพาดพิงไปถึงนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นเรื่องที่ยิ่งลักษณ์จะโกรธ จะแก้ตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับดิฉัน แต่ส่วนที่เกี่ยวกับดิฉัน อันทำให้ต้องเขียนบทความโต้ตอบนั่นก็คือทัศนคติของ ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนนี้ ที่บิดเบี้ยว ไม่มีตรรกะเหตุผล แต่พยายามจะทำให้มันมี แต่ดันบิดเบี้ยวและทำร้ายผู้อื่น ทั้งในเรื่องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมากไปกว่านั้นคือทัศคติต่อเรื่อง ‘ผู้หญิง’ ที่นอกจากจะบิดเบี้ยวแล้ว ยังเป็นทัศคติที่อ้างว่าปกป้องภาพลักษณ์ของผู้หญิงแต่ความจริงกลับทำร้ายผู้หญิงด้วยกันเอง (ไม่ใช่แค่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ไม่ก่อให้เกิดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม (โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการกีดกันทางเพศที่ข้อเสนอของเธอ นั้นผิดฝาผิดตัว และไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย) มิหนำซ้ำยังพัดพาสังคมไปสู่การมีทัศคติที่เลวร้ายต่อผู้อื่น โดยไม่ได้มุ่งวิพากษ์ วิจารณ์ การทำงานโดยตรงอย่างสร้างสรรค์

อย่าซ้ำเติมสังคมที่กำลังวุ่นวาย ประสบภัยพิบัติด้วยทัศคติส่วนตัวล้วนๆ เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงธรรมดา ไม่ธรรมดา คนธรรมดา หรือคนไม่ธรรมดา ก็ไม่สมควรที่จะทำ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วอนดูแลสวัสดิภาพแรงงานข้ามชาติผู้ประสบอุทกภัยที่ต้องการกลับประเทศ

Posted: 06 Nov 2011 11:03 PM PST

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าอพยพกลับประเทศเนื่องจากน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง และให้กำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมโดยประสานความร่วมมือกับรัฐบาลพม่าอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 4 พ.ย.54 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ทำหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าอพยพกลับประเทศเนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง และให้กำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมโดยประสานความร่วมมือกับรัฐบาลพม่าอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ มสพ. เปิดเผยว่า มีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าจำนวน 1,000 คนต่อวันเดินทางกลับประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด แต่ต้องมีกระบวนการสอบเพื่อทำประวัติ ประกอบกับมีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าจำนวนมาก ทำให้ต้องรอเป็นระยะเวลานาน ระหว่างรอกระบวนการทำประวัตินั้น ไม่ปรากฏว่าทางด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอดจัดสวัสดิการอาหารและน้ำดื่มให้ รวมถึงการส่งแรงงานกลับประเทศนั้นยังเกิดอุปสรรคในส่วนของเจ้าหน้าที่ฝั่งประเทศพม่าที่ไม่เพียงพอต่อกระบวนการ ส่งผลให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอดต้องชะลอการส่งกลับ การส่งกลับแรงงานจึงดำเนินขึ้นในช่วงเย็นจนกระทั่งเวลากลางคืน

จากกรณีดังกล่าว มสพ.เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสวัสดิการด้านอาหารและน้ำดื่มให้เพียงพอ รวมถึงจัดสถานที่พักพิงสำหรับรองรับแรงงาน เพิ่มรอบการบริการส่งกลับและตรวจตราการเรียกเก็บค่าเดินทางเป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์อุทกภัย ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่อำเภอแม่สอด และหน่วยงานของรัฐบาลพม่า เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดข้างต้น รวมถึงคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานในกระบวนการส่งกลับ และกำหนดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติผู้ประสบอุทกภัย พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงรัฐบาลพม่า เนื่องจากหลายกรณีที่เอกสารบัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางของแรงงานสูญหายหรือถูกนายจ้างยึดไว้ ประกอบกับไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ และความหวาดกลัวต่อการถูกจับกุม ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือ

 

ที่ มสพ.1/2554
จดหมายเปิดผนึก
ด่วนที่สุด
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2554

เรื่อง เรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าอพยพกลับประเทศเนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง และให้กำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมโดยประสานความร่วมมือ กับรัฐบาลพม่าอย่างใกล้ชิด

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก

จากการรายงานข่าวของสำนักข่าว เดอะ เนชั่น (The Nation) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ถึงกรณีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าอพยพกลับประเทศพม่า เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง เแหล่งข่าวรายงาน ว่าช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าจำนวนกว่า 30,000 คน ถูกกักตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่ากลุ่มนี้เป็นแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งหาทางกลับประเทศพม่า เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการกักตัวนั้นแรงงานกล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารและน้ำ รวมถึงจำนวนคนที่มากจนล้นพื้นที่ของด่าน นอกจากนี้แหล่งข่าวกล่าวอ้างถึงกลุ่มคนที่ให้การช่วยเหลือแรงงาน ซึ่ง ปรากฏรายงานว่าแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าเดินทางกลับประเทศพม่า เป็นจำนวนมาก ราว 1,000 คนต่อวันนั้น ซึ่งเดินทางโดยรถบรรทุกออกจากด่านตรวจคนเข้าเมืองสมุทรสาคร ทั้งนี้ แรงงานต้องจ่ายค่าเดินทางคนละ 2,400 บาท เพื่อเดินทางไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (รายละเอียดข่าว สามารถอ่านได้ที่ http://www.nationmultimedia.com/national/Burmese-hungry-30168959.html) อีกทั้งยังมีรายงานข่าวของสำนักข่าว Irrawaddy กรณีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าผู้ประสบอุทกภัยจำนวนมากถูกจับกุมและถูก ควบคุมตัวโดยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามด่านตรวจต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการเดินทางไปยังชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (รายละเอียดข่าวสามารถอ่านได้ที่ http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=22366)

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน มสพ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ไม่ปรากฏว่ามีการกักตัวแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ตามรายงานข่าว แต่ปรากฏแรงงานชาติจำนวนมากเดินทางกลับประเทศพม่า โดยปัญหาและข้อเท็จจริงมีความสอดคล้องกับข้อมูลที่เผยแพร่ในรายงานข่าวของ สำนักข่าวเดอะเนชั่น (The Nation) ดังนี้ แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าประสงค์จะเดินทางกลับประเทศผ่านชายแดนแม่สอดจำนวน มาก ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีแรงงานจำนวน 1,000 คนต่อวันเดินทางกลับประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด แต่ทั้งนี้ก่อนเดินทางกลับนั้นต้องมีกระบวนการสอบเพื่อทำประวัติ และประกอบกับมีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าจำนวนมาก จำนวนนี้รวมถึงแรงงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ แรงงานจึงต้องรอเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทาง มสพ. ได้รับแจ้งข้อมูลว่าระหว่างรอกระบวนการทำประวัตินั้น ไม่ปรากฏว่าทางด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอดจัดสวัสดิการอาหารและน้ำดื่มให้กับ แรงงานกลุ่มนี้ รวมถึงการส่งแรงงานกลับประเทศนั้นยังเกิดอุปสรรคในส่วนของเจ้าหน้าที่ฝั่ง ประเทศพม่า ซึ่งมีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อกระบวนการ ส่งผลให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอดต้องชะลอการส่งกลับ การส่งกลับแรงงานจึงดำเนินขึ้นในช่วงเวลา 17.00 น. ต่อเนื่องจนกระทั่งเวลากลางคืน

เนื่องด้วยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงนั้น ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งการอพยพของแรงงานนั้นเกิดอุปสรรคหลายประการทั้งค่าใช้จ่าย เส้นทางการเดินทาง และที่พัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของแรงงานข้ามชาตินั้นมีข้อจำกัดในส่วนของการ เดินทางและที่พักอาศัย รวมถึงกรณีที่แรงงานข้ามชาติประสงค์จะเดินทางกลับประเทศโดยปลอดภัยนั้นต้อง ผ่านด่านทางการระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่าซึ่งได้กำหนดข้อตกลงระหว่างกัน ไว้ ส่งผลให้เมื่อเกิดกรณีภัยพิบัติและปรากฏจำนวนแรงงานข้ามชาติเดินทางกลับ ประเทศจำนวนมาก กระบวนการโดยปกติจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการในภาวะจำเป็นและฉุกเฉิน ซึ่งการให้ความช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการอาหารและน้ำดื่ม รวมถึงดูแลความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางกลับแก่แรงงานข้ามชาติในกรณีภัยพิบัติเช่นนี้ นอกเหนือจากหลักการและมาตรฐานของหน่วยงานที่ต้องดำเนินการแล้ว ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้น มสพ. จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ กระบวนการดังกล่าวดำเนินการตามข้อเสนอ ดังนี้

  1. กรณีการจัดสวัสดิการ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติต้องรอกระบวนการทำประวัติเป็นระยะเวลานานที่ด่าน ตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด ซึ่งแรงงานเหล่านี้ลี้ภัยจากผลกระทบน้ำท่วมในประเทศไทย ดังนั้น ในระหว่างรอกระบวนการทำประวัติและส่งกลับนั้น รัฐบาลควรจัดสวัสดิการด้านอาหารและน้ำดื่มให้เพียงพอ รวมถึงจัดสถานที่พักพิงสำหรับรองรับแรงงาน ทั้งนี้ในกรณีหญิงมีครรภ์ เด็ก และผู้ป่วย รัฐบาลควรจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และหลักสิทธิมนุษยชนเป็นเบื้องต้น
     
  2. กรณีการจ่ายค่าเดินทาง เนื่องจากการเดินทางของแรงงานครั้งนี้มีจำนวนมาก การบริการตามปกติจึงอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการและความจำเป็นของเหตุการณ์ ซึ่งส่งผลให้มีกระบวนการเรียกเงินเพื่อเอารัดเอาเปรียบแรงงานโดยไม่มีทางต่อรองได้ รัฐบาลควรเพิ่มรอบการบริการส่งกลับและตรวจตราการเรียกเก็บค่าเดินทางเป็น กรณีพิเศษ เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์อุทกภัย
     
  3. กรณีการส่งกลับ เนื่องจากกระบวนการต้องใช้ระยะเวลานานดังข้อเท็จจริงข้างต้น การส่งกลับทั้งการเดินทางจากพื้นที่อื่นมายังด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่ สอด และการเดินทางจากด่านแม่สอดไปยังประเทศพม่าในเวลากลางคืนนั้น อาจเกิดกรณีแอบอ้างหรือหาผลประโยชน์จากแรงงาน ซึ่งการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบดังกล่าวอาจกระทำโดยบุคคลภายนอก หรืออาจมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว รัฐบาลควรประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่อำเภอแม่สอด และหน่วยงานของรัฐบาลพม่า เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดข้างต้น รวมถึงคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานในกระบวนการส่งกลับประเทศพม่าอย่างปลอดภัย
     
  4. รัฐบาลควรกำหนดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ผู้ประสบอุทกภัย พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงรัฐบาลพม่า เนื่องจากหลายกรณีที่เอกสารบัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางของแรงงานสูญหาย หรือถูกนายจ้างยึดไว้ ประกอบกับไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ และความหวาดกลัวต่อการถูกจับกุม ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือ

มสพ. ยินดีต่อนโยบายของรัฐบาลไทยกรณีผ่อนผันกฏระเบียบต่างๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้และการ ที่รัฐบาลได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติผู้ประสบอุทกภัย อย่างไรก็ตามเนื่องจากการขาดนโยบายที่เป็นรูปธรรมและขาดการประสานงานที่ทั่วถึง จึงยังคงพบปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวข้างต้น ดั้งนั้นรัฐบาลควรประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานความร่วมมือกับรัฐบาลพม่าอย่างใกล้ชิดเพื่อคุ้มครองแรงงานให้ สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้และป้องกันการแสวงประโยชน์โดยมิชอบในระหว่างเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้

ขอแสดงความนับถือ
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพ: รายทางน้ำลด (?) จากกรุงเทพฯ ถึงลพบุรี

Posted: 06 Nov 2011 08:27 PM PST

เมื่อวันที่ 5 พ.ย.54 ประชาไทได้ติดตามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำถุงยังชีพของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จำนวน 90 ชุด ลำเลียงเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1-2 เมตรมานานร่วมเดือน จึงประมวลภาพมานำเสนอ พร้อมบรรยากาศชุมชนตลอดเส้นทางที่ถึงวันนี้หลายพื้นที่ยังเต็มไปด้วยน้ำ   

 
 
รังสิต จ.ปทุมธานี น้ำได้ลดระดับลงแล้ว แต่บนถนนสายหลักบางช่วงรถเล็กยังผ่านไปมาลำบาก การจราจรติดขัด
 
 
อ.วังน้อย จ.อยุธยา น้ำลดระดับลงมามากสังเกตจากรอยคราบน้ำแต่ระดับน้ำบางจุดยังคงท่วมสูง
 
 
จ.ลพบุรี แม้ระดับน้ำจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงวันนี้น้ำลดลงเกือบ 15 ซ.ม.แต่บ้านหลายหลังก็ยังจมอยู่ใต้น้ำ
 
 
การเดินทางสู่ชุมชนเป้าหมายซึ่งรวมตัวกันอยู่ที่วัดท่าข้าม ต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะแล่นข้ามทุ่งนาหลายร้อยไร่ ซึ่งวันนี้มีสภาพเป็นคุ้งน้ำใหญ่
 
 
ชาวบ้านเล่าว่าที่วัดท่าข้ามอาคาร 4 หลังซึ่งรวมศาลาการเปรียญ โรงครัว และอาคารเรียนถูกใช้เป็นที่พักพิงของชาวบ้านร้อยกว่าครอบครัวมานานร่วมเดือน 
 
 
ขณะนี้น้ำเริ่มลดแล้ว ชาวบ้านบางส่วนจึงกลับไปทำความสะอาดบ้านเรือน ส่วนคนที่ยังเหลือยู่คือคนที่มีบ้านชั้นเดียวซึ่งยังคงมีน้ำท่วมบ้านอยู่ แต่ก็ยังมีการรวมตัวกันเพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์และทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นการทำเสื้อชูชีพจากขวดน้ำจำนวน 300 ตัวเพื่อส่งให้ผู้ประสบภัยที่กรุงเทพฯ
 
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น