ประชาไท | Prachatai3.info |
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยา
- จุฬาฯ เสนอ 11 มาตรการ สร้างซูเปอร์ฟลัดเวย์ เวนคืนริมคลอง กว้าง 2 ยาว 200 กิโลเมตร
- เกษม จริยวัฒน์วงศ์
- 'โอบามา' เปิด 'เอเปก' ประกาศเตรียมผลักดันแผนการค้าเสรี
- ศีลธรรมกับวิธีการจัดการน้ำท่วม
- น้ำตาผู้หญิง น้ำตาผู้ชาย… : ใครว่าผู้หญิงอยากใช้น้ำตาเป็นอาวุธ?
- ประกันว่างงานตื่นขึ้นมาทำงานได้แล้ว
- ไทยอีนิวส์:คานอำนาจสื่อ (บทความจากใบตองแห้งเนื่องในวาระครบรอบ 5 ปี)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยา Posted: 14 Nov 2011 11:40 AM PST พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จทอดพระเนตรทิวทัศน์และสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวานนี้ (14 พ.ย.54) ว่่า เมื่อเวลา 15.57 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณลานสระว่ายน้ำ สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช ในพระบรมราชูปถัมภ์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทรงฉลองพระองค์เชิ้ตแขนสั้นสีเหลือง ลายดอกกุหลาบ พระสนับเพลาสีน้ำตาล ฉลองพระบาทหนังสีดำผูกเชือก ประทับรถเข็นไฟฟ้า โดยมีคุณทองแดงไปด้วย เพื่อทอดพระเนตรทิวทัศน์และสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน มีประชาชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมทั้งญาติผู้ป่วยที่ทราบข่าว ได้มารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกันอย่างเนืองแน่นตลอดทางเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมทั้งเปล่งคำถวายพระพร ทรงพระเจริญด้วยความปลื้มปิติ ที่เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระพักตร์แจ่มใส ต่อมาเวลา 17.28 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมทอดพระเนตรด้วย ทั้งนี้ จากสภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมถึงปริมณฑลอยู่ในขณะนี้ ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำส่วนหนึ่งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อออกไปสู่ทะเลที่อ่าวไทย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยามีจำนวนมาก ซึ่งทางโรงพยาบาลศิริราชได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการ ดำเนินการป้องกันด้วยการจัดตั้งกระสอบทรายและผนังคอนกรีต ในระดับความสูง 3.50 เมตรและติดตั้งระบบระบายน้ำ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาระดับน้ำสูงสุดวัดได้ 2.54 เมตร โดยในวันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน 2554 จะมีน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน ณ จุดสะพานพระราม 8 ในวันนี้ มีปริมาณ 3,763 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีระดับความสูงวัดได้ที่ปากคลองตลาด 2.31 เมตร เมื่อเวลา 09.00 น. หลังจากทอดพระเนตรสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ในเวลา 18.35 น. จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ ตามเส้นทางระหว่างตึกกายวิภาคศาสตร์และตึกอานันทราช ก่อนเสด็จขึ้นยังอาคารเฉลิมพระเกียรติ เมื่อเวลา 18.40 น. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จุฬาฯ เสนอ 11 มาตรการ สร้างซูเปอร์ฟลัดเวย์ เวนคืนริมคลอง กว้าง 2 ยาว 200 กิโลเมตร Posted: 14 Nov 2011 09:53 AM PST 14 พ.ย. 54 หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬา เสนอ “11มาตรการแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ: ซุปเปอร์เอ็กซ์เพรสฟลัดเวย์ หนทางฟื้นความเชื่อมั่นประเทศไทย” โดยระบุว่า ที่ผ่านมาการจัดการน้ำของประเทศไทย ยังเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้โครงสร้าง เช่น การขุดลอกคลอง การผันน้ำเข้าทุ่ง สร้างเขื่อน สร้างฝายชะลอน้ำ ฯลฯ แม้จะสามารถแก้ปัญหาระยะสั้น เห็นผลเร็วได้ แต่ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมใหญ่ได้ ทั้งยังมีส่วนเพิ่มความรุนแรงของปัญหา จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ รวม 11 มาตรการ ประกอบด้วย 1.สร้างระบบทางด่วนพิเศษระบายน้ำท่วม (super-express floodway) ที่จะต้องทำเป็นมาตรการแรก เนื่องจากในปี 2533 กทม.มีทางระบายน้ำในฝั่งตะวันออกที่ยังสมบูรณ์ แต่หลังจาก 10 ปีที่ผ่านมา มีการขยายของเมืองจนกั้นทางระบายน้ำของกทม.ทั้งชุมชนเมือง นิคมอุตสาหกรรม และสนามบินสุวรรณภูมิที่ขวางทางน้ำ ดังนั้นวิธีการสร้างทางด่วนพิเศษระบายน้ำท่วม จะต้องใช้คลองเดิมที่เชื่อมไปยังเขื่อนพระราม 6 ที่ จ.ชัยนาท โดยเวนคืนพื้นที่ริมคลองข้างละ 1 กิโลเมตร อาทิ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แล้วสร้างถนนสูง 6 เมตรทั้งสองข้างเป็นถนนมอเตอร์เวย์ระยะทางยาวกว่า 200 กิโลเมตร โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้จะไม่อนุญาตให้อยู่อาศัย แต่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อน้ำท่วมพื้นที่ตรงนี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งแก้มลิง และเป็นพื้นที่ระบายน้ำ โดยจากการคำนวณ สามารถระบายน้ำได้เท่ากับเจ้าพระยา 2 สายรวมกัน ทั้งนี้วิธีนี้จะมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ต้องขุดแม่น้ำใหม่ ส่วนพื้นที่เวนคืนอาจกระทบชาวบ้าน ซึ่งต้องมีการทำประชาพิจารณ์ หากรัฐบาลเห็นความสำคัญก็ควรเร่งทำ 2.ต้องวางแผนแม่บทควบคุมการป้องกันน้ำท่วมโดยใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มน้ำต่างๆ ควบคุมการถมดินทั้งระบบ ควบคุมการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ล่อแหลมน้ำท่วม ปรับปรุงระบบระบายน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ เช่น ขยายประตูน้ำให้สอดคล้องกับขนาดคลองต่างๆ วางระบบการดูแลคูคลองและขุดลอกสม่ำเสมอ 3.ปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ ที่จะต้องศึกษาระบบน้ำในปีต่างๆ ศึกษากลุ่มเมฆฝนว่า ปีหนึ่งๆ จะมีฝนตกลงมาเท่าไหร่ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีคนทำ แต่ทำไม่ครบ ตรงนี้ต้องแม่นว่าตกที่ไหน ตกเท่าไหร่ ตกเมื่อไหร่ บอกได้ทั้งหมด หลายประเทศทำได้ 4.วางแผนพัฒนากทม. และเมืองบริวารในอนาคต ที่จะต้องปิดกั้นการขยายตัวของกทม. เพราะน้ำต้องมีที่ระบายแต่หากเป็นพื้นที่เมืองทั้งหมดก็จะต้องขยายระบบป้องกันอีก เหมือนกับต้องขีด กทม.ไม่ให้โตมากกว่านี้ แต่ต้องขยายเมืองอื่นๆ อาทิ จ.ราชบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี ขยายเมืองออกไป แล้วใช้ระบบขนส่งรถไฟความเร็วสูงเข้ามายังกทม.ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 5.ใช้มาตรการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมและการประกันภัย เพื่อกองทุนชดเชยน้ำท่วม ทั้งภาษีน้ำท่วมโดยตรงจากพื้นที่ที่มีระบบปิดล้อมป้องกันน้ำท่วม ควบคุมขุดน้ำบาดาล กำหนดระยะเพาะปลูก ออกกฎหมายป้องกันชาวบ้านรื้อคันตามใจชอบ 6.มาตรการควบคุมการใช้ที่ดินและผังเมืองโดยใช้แผนที่เสี่ยงน้ำท่วม 7.ควบคุมการขุดน้ำบาดาล ควบคุมการทรุดของแผ่นดิน ซึ่งจะช่วยให้ระบบระบายน้ำดีขึ้น 8.มาตรการแผนแม่บทกำหนดระยะเวลาการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องกับการแปรปรวนและผกผันของภูมิอากาศในอนาคต เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร 9.มาตรการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่แก้มลิงให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนในพื้นที่ล่อแหล่มเสี่ยงน้ำท่วม 10.ควรเร่งพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการพิบัติภัยทั้งระบบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการพิบัติภัยของภาครัฐ เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้ฝืนคำสั่ง เช่น การรื้อคันกั้นน้ำอย่างที่เป็นอยู่ 11.ควรจัดตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องพิบัติภัยและส่งเสริมงานวิจัยทั้งระบบอย่างจริงจัง เพื่อลดพิบัติภัยด้วยความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ................................. ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 14 Nov 2011 08:45 AM PST |
'โอบามา' เปิด 'เอเปก' ประกาศเตรียมผลักดันแผนการค้าเสรี Posted: 14 Nov 2011 07:54 AM PST วานนี้ (13 พ.ย. 54) ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ เปิดการประชุมสุดยอดของที่ประชุมว่าด้วยข้อตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มเอเซีย-แปซิฟิกหรือเอเปก ประกาศย้ำแผนการค้าเสรี หรือ ทีพีพี (Trans-Pacific Partnership) ให้เป็นโมเดลการค้าเสรีรูปแบบใหม่ ผู้นำสหรัฐเจ้าภาพจัดการประชุมที่ฮาวายกล่าวว่า ขอให้เขตภูมิภาคนี้ดำเนินการให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วเป็นไปแข็งขัน และดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นกว่าเดิมตามความต้องการของประชาชนในขณะที่กำลังเกิดภัยพิบัติทางเศรษฐกิจของโลก พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า เขตภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะเดียวกันผู้นำสหรัฐประกาศว่า จะผลักดันแผนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) หรือแผนการค้าเสรีโดยคาดหวังว่า แผนนี้จะเป็นรูปเป็นร่างภายในปีหน้า ขณะที่ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีนกล่าวว่าจีนไม่มีความสนใจในแผนการดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า แผนการทีพีพีเป็นแผนการที่ทะเยอทยานมากเกินไปและไม่รู้ว่าผลลัพธ์หลังจากการเปิดการเสรีแล้วจะออกมาในรูปใดจึงขอดูท่าทีไปก่อน ทั้งนี้ แผนทีพีพี หรือแผนการค้าเสรี จะมีผลต่อการลดกำแพงภาษี ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ระเบียบของรัฐวิสาหกิจ และการพิทักษ์ลิขสิทธิ์ทางปัญญา ปัจจุบัน แผนดังกล่าวมีสมาชิก 9 ประเทศ คือ ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหรัฐ เวียดนาม มาเลเซีย เปรู และบรูไน ส่วนญี่ปุ่นได้แสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมแผนดังกล่าวด้วย เนื่องจากมองว่าจะเป็นการยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับชาติต่างๆ และสร้างสมดุลระบบการค้าในเอเชียเพื่อมาถ่วงดุลกับจีน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังคงชะลอการตัดสินใจ เนื่องจากแผนดังกล่าวถูกต่อต้านจากกลุ่มชาวนาในญี่ปุ่น ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 19 ประเทศ และ 2 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น สมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศจากอเมริกาเหนือและใต้
ที่มา: เรียบเรียงจาก สำนักข่าวแห่งชาติ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศีลธรรมกับวิธีการจัดการน้ำท่วม Posted: 14 Nov 2011 05:58 AM PST สภาพปัญหาและความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วม รวมถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้นของผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้แทบไม่ต้องเอื้อนเอ่ยกันมากนัก เพราะได้ถูกถ่ายทอดกันทุกช่องทางการสื่อสาร ตั้งแต่คำทักทายเมื่อพบหน้าเพื่อน “ที่บ้านเธอน้ำท่วมไหม???” คำบรรยายจากพลเมืองภาคสนามบน Social Network ต่างๆ รวมถึงสื่อที่แพร่ภาพสดกันชนิดนาทีต่อนาที ภาพเหตุการณ์ครั้งนี้มีหลายภาพที่น่าสนใจ ยามที่บ้านเมืองกำลังเกิดวิกฤต ผู้คนน่าจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนดังที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ที่มีการเผยแพร่ภาพที่น่าประทับใจของผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ ทั้งการช่วยเหลือและน้ำใจของผู้ประสบภัยที่มีต่อกันอย่างแทบจะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วบนโลกใบนี้ ขณะที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจหลายอย่าง เช่น คนในชุมชนเดียวกันหรือชุมชนใกล้เคียงกันทำลายกระสอบทรายกั้นน้ำ โดยหวังให้ด้านหลังคันกันน้ำ แบ่งเบาระดับน้ำของทางด้านหน้าคันกันน้ำไปบ้าง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามว่า ทำไมคนไทยเราไม่ช่วยกันอย่างตอนญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติบ้าง เพราะคนไทยเรามีศีลธรรมหรือคุณธรรมน้อยกว่าคนญี่ปุ่นหรือเปล่า หรือคนไทยในอดีตเราเคยมีศีลธรรมหรือคุณธรรมแบบคนญี่ปุ่นแต่ปัจจุบันศีลธรรมหรือคุณธรรมดังกล่าวนั้นตกต่ำลง??? ข้อคิดเกี่ยวกับศีลธรรมที่ตกต่ำลงข้างต้น ฟังดูคล้ายๆ กับรื่นหูและดูเป็นคำตอบที่ไม่น่าจะมีข้อโต้แย้งอะไร เพราะทุกคนคิดและเหมือนจะเข้าใจกันไปเองว่า ทุกคนน่าจะมีหลักศีลธรรมชุดเดียวกัน หรือคล้ายๆ กัน ว่าข้อควรปฏิบัติท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติของประเทศ ทุกคนต้องช่วยเหลือ แบ่งปัน และเสียสละต่อกันและกันเท่านั้น แต่ผมคิดว่าคำตอบเกี่ยวกับศีลธรรมตกต่ำข้างต้น มันยังไม่เพียงพอเพราะ การพยายามจะเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์น้ำท่วมของไทยกับแผ่นดินไหวและสึนามิของญี่ปุ่นแทบจะไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้เลย เพราะที่ญี่ปุ่นแผ่นดินไหวและสึนามิเป็นเรื่องของธรรมชาติล้วนๆ (หรือกล่าวว่ามนุษย์ไม่ได้จัดการให้เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ) ตรงข้ามกับน้ำท่วมของไทย ใครๆ ก็รู้ว่ามันไม่ได้ไหลตามความลาดชันจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำตามหลักการวิทยาศาสตร์ระดับประถม แต่น้ำไหลเอ่อจากที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงลงไปสู่พื้นที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองต่ำต่างหาก (คือรัฐไทยพอจะเลือกได้ว่าจะให้พื้นที่ไหนท่วมมากน้อยแค่ไหน ยาวนานแค่ไหน) ดังที่ ดร.มนตรี เจนวิทย์การ เคยกล่าวไว้ตั้งแต่หลายสิบปีก่อน นอกจากนี้ อุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมอย่าง “กระสอบทราย” หรือ “แนวคันกั้นน้ำ” ในปัจจุบันไม่ได้มีสถานะเพียงแค่อุปกรณ์ป้องกันน้ำเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถแสดงความหมายถึงอาณาเขตที่แบ่งแยกระหว่าง “พื้นที่น้ำท่วมได้” และ “พื้นที่น้ำไม่ควรท่วม” หรือ การสร้างจังหวัดบางจังหวัดให้กลายเป็น “จุดรับน้ำ” แทนบางจังหวัดอย่างกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ หรือแหล่งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ถ้าพื้นที่เศรษฐกิจหรือพื้นที่อุตสาหกรรมเสียหาย จะส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชะงักงัน อันจะนำไปสู่การตกงานของแรงงานจำนวนมหาศาล เป็นต้น คำถามที่น่าสนใจที่ผมอยากจะลองค้นหาคำตอบก็คือ สังคมไทยมีศีลธรรมดำรงอยู่เพียงชุดเดียวหรือไม่??? ผมคิดว่าคนทุกวันนี้ที่ได้เห็นโลกที่กว้างมากขึ้นด้วยการติดต่อสื่อสารเห็นกันอย่างรวดเร็ว สามารถเห็นคนในอีกซีกโลก ที่มีแนวคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้ในเสี้ยววินาที ทำให้คุณค่าความเชื่อที่ดีงาม ณ ที่หนึ่ง อาจจะไม่สามารถเป็นความเชื่อที่ดีงามในอีกที่หนึ่ง เช่น หลักกฎหมายตาต่อตา ฟันต่อฟัน อาจจะเห็นว่ายุติธรรมในบางสังคม ขณะที่หลายสังคมเริ่มตั้งคำถามและไม่เห็นว่าหลักกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยุติธรรม เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมหนึ่งๆ จะดำรงอยู่ด้วยชุดศีลธรรมเพียงชุดเดียว ดังงานของ ดร.เกษียร เตชะพีระ เรื่อง “แบบวิถีอำนาจไทยฯ” ที่มองว่าสังคมไทยมีความสัมพันธ์ทางอำนาจอยู่ 3 แบบ และแต่ละแบบล้วนมีศีลธรรมกำกับที่แตกต่างกัน และความสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งสามล้วนทับซ้อนกันอยู่ในสังคม และคนในสังคมจะเลือกหยิบชุดศีลธรรมต่างๆ ปรับใช้กับเหตุการณ์หนึ่งๆ ถ้าลองมองการตัดสินเชิงศีลธรรมเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน คงจะช่วยให้สามารถอธิบายเหตุการณ์ที่หลายคนเห็นว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ เพราะบางทีเราๆ ท่านๆ อาจกำลังสวมแว่นทางศีลธรรมที่แตกต่างกันก็ได้ ดังต่อไปนี้ ศีลธรรมแบบที่หนึ่ง ศีลธรรมในระบบความสัมพันธ์แบบตลาดที่เท่าเทียม (พันธะสัญญา) กล่าวคือ มีการตกลงกันระหว่างสองฝ่ายที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการอย่างเสรี ถ้าสังคมไทยจะจัดการบริหารน้ำ โดยการผันน้ำจากบางพื้นที่ไปสู่บางพื้นที่ ด้วยศีลธรรมแบบตลาดน่าจะต้องมีการตกลงทำสัญญาต่อกันว่า พื้นที่ที่จะผันน้ำออกจะให้อะไรตอบแทนบ้างแก่พื้นที่รับน้ำ เพื่อชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนคงต้องมากกว่าค่าชดเชยความเสียหายที่รัฐบาลจะจ่ายให้ ตัวอย่างข้อเสนอของการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาด้วยศีลธรรมแบบนี้ ได้แก่ แนวทางของมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เรื่อง “น้ำท่วม : เห็นทีต้องแก้ไขไม่ใช่แก้ขัด” (มติชนออนไลน์วันที่ 11 ตุลาคม 2554) ที่เสนอให้มีการเก็บภาษีน้ำท่วมแบบออสเตรเลีย โดยเรียกเก็บภาษีจากพื้นที่เศรษฐกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบเพราะการผันน้ำไปสู่บางพื้นที่ เพื่อนำเงินภาษีที่ได้ไปช่วยเหลือจ่ายค่าชดเชยแก่พื้นที่ประสบภัยอย่างเพียงพอ (แน่นอนวิธีการแบบนี้ต้องอาศัยรายละเอียดเชิงลึกอีกหลายอย่าง และการจัดการที่เป็นระบบอย่างมาก) ศีลธรรมแบบที่สอง ศีลธรรมของวิถีชีวิตแบบชุมชน กล่าวคือ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชน ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ คงไม่สามารถคิดฝันถึงชุมชนขนาดเล็ก เพราะชุมชนขนาดเล็กคงเสียหายระดับที่ใกล้เคียงกัน อาจจะต้องฝันไปให้ถึงชุมชนขนาดใหญ่ คือ ชุมชนของชาติไทย ซึ่งศีลธรรมแบบนี้จะต้องคาดหวังหรือฝันถึงการเสียสละของคนบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับน้ำ ที่จำต้องเสียสละบ้าน รถ และทรัพย์สินอื่นๆ ที่ตนทุ่มเททำงานตากเหงื่อตากน้ำทั้งชีวิตเพื่อสร้างขึ้นมาให้กลายเป็น “ศูนย์” เพื่อแลกกับข้ออ้างของ “ผลประโยชน์ของชาติ/เศรษฐกิจของชาติ” (คำลอยๆ ที่ใครก็ได้ในสังคมสามารถกล่าวอ้างได้) โดยอาจได้รับการตอบแทนอันใกล้ด้วยถุงยังชีพที่ต้องคอยลุ้นว่าจะไปถึงบ้าง หรือไม่ถึงบ้าง (ตามสภาพความสามารถการเข้าถึงพื้นที่ของหน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัยทั้งรัฐและเอกชน) หรืออาจได้รับการตอบแทนอันยาวไกลว่าเศรษฐกิจประเทศโดยรวมดีขึ้น ชีวิตผู้ประสบภัยก็น่าจะดีขึ้น??? อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ จากภาพผู้ประสบภัยหลายคนที่ไม่ยอมออกนอกพื้นที่น้ำท่วมไปยังศูนย์อพยพต่างๆ เพื่อจะพิทักษ์รักษาบ้านเรือนและทรัพย์สินของตนให้คงอยู่ ก็ดูจะทำให้ภาพการเสียสละของบางชุมชนกลายเป็นฝันที่ห่างไกลจากความเป็นจริงยิ่งนัก ทั้งนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงความสัมพันธ์ของชุมชนชาติไทยที่ต้องตั้งคำถามว่ายังเหนียวแน่นเหมือนในอดีตหรือไม่ ความแตกแยกทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังส่งผลให้เกิดการใส่ร้าย ป้ายสีผู้นำทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอๆ รวมถึงความคิดในรูปแบบการช่วยเหลือของชุมชนที่ไม่ก้าวไปไกลกว่าบริจาคสิ่งของ เพื่อเป็น “ถุงยังชีพ” ในช่วงเวลาที่ข่าวน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมกรุงเทพฯ แต่หลังจากกรุงเทพฯ พ้นวิกฤต กระแสข่าวก็มักจะสวิงไปเรื่องอื่น โดยไม่ใยดีพื้นที่ประสบภัยอื่น ปล่อยให้ผู้ประสบภัยแต่ละคนดิ้นรนกันเองต่อไป แบบนี้ก็คงยากที่จะเรียกร้องการเสียสละของคนบางกลุ่ม ขณะที่คนอีกกลุ่มแทบจะไม่สละอะไรให้เลย และศีลธรรมแบบที่สาม ที่หลายคนทั้งคนเมืองและชนบทอาจจะไม่อยากจะยอมรับก็ได้ว่า จริงๆ แล้วสังคมไทยกำลังมองวิธีการจัดการน้ำท่วมปัจจุบันด้วยศีลธรรมแบบอุปถัมภ์ ผู้ใหญ่-ผู้น้อยเป็นหลักมากกว่าศีลธรรมแบบอื่นๆ ส่งผลให้วิธีการจัดการน้ำจึงมีลักษณะที่น้ำควรจะไหลเอ่อล้นอยู่นอกเมืองกรุง เพราะคนกรุงเป็นผู้ใหญ่ คนต่างจังหวัดเป็นผู้น้อย ผู้น้อยพึงยอมเสียสละแก่ผู้ใหญ่โดยไม่ต้องโต้แย้ง เดี๋ยวรอวันที่ผู้ใหญ่รอดพ้นจากวิกฤต โรงงานปลอดภัยสามารถทำกิจการฐานะของตนให้รุ่งเรืองได้อีกครั้ง ผู้ใหญ่ก็จะเอื้อเฟื้อสยายปีกโอบอุ้มผู้น้อยที่ประสบภัยสิ้นเนื้อประดาตัว ไร่นาเสียหายไม่รู้จะหันไปประกอบอาชีพอะไรให้สามารถกลายมาเป็นแรงงานใต้อาณัติของผู้ใหญ่ต่อไป และด้วยหลักตรรกะของศีลธรรมชุดนี้มันจึงถูกต้องและเหมาะสมแล้วที่ต้องมีการวางแนวกระสอบทราย และแนวคันกั้นน้ำรอบเมืองกรุงเทพฯ เพื่อที่จะทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้น้ำเข้ามาสู่เมืองกรุง อย่างไรก็ตามกาลเวลามันกำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว วิธีคิดแบบเก่ามันกำลังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ คนอยุธยา คนนครสวรรค์ คนอ่างทอง ฯลฯ ก็รู้สึกเป็นคนเท่ากับคนกรุงเทพฯ กระแสวาทกรรม “ความเท่าเทียม” ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คนทุกกลุ่มเริ่มเห็น เริ่มเข้าใจปัญหาน้ำท่วมว่าที่ท่วมไม่ได้เกิดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากคนที่เหมือนๆ กับเรามีส่วนกำกับทิศทางการไหลของน้ำ ดังนั้นการพยายามพังกระสอบทรายจึงกลายเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่เตือนให้คนกรุงเทพฯ ต้องเริ่มคิด และตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าอีกฝ่ายเริ่มจะเลือกที่จะไม่รับศีลธรรมการอุปถัมภ์แบบเดิม เพราะมันไม่อบอุ่น มันไม่คุ้ม มันไม่พอเพียงอีกแล้ว เราจะจัดวางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยศีลธรรมแบบไหน อย่างไร หากใครยังคิดจะแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ หวังว่าปีไหนฟ้าเปิด พายุโหมกระหน่ำดั่งปีนี้ จะแก้ปัญหาด้วยการผันน้ำไปสู่เถือกสวนไร่นาตามจังหวัดต่างๆ รอบเมืองกรุงเทพฯ ง่ายๆ เฉกเช่นอดีตด้วยคิดว่าบริบทของสังคมยังคงเหมือนเดิม คนรอบนอกกรุงเทพฯ จะยอมเป็นเบี้ยให้ผันน้ำได้ตลอดไป ผมว่าน่าจะลองคิดและตั้งคำถามเสียใหม่เสียแต่เนิ่นๆ ไม่เช่นนั้นวิกฤตแห่งน้ำครั้งหน้า ไม่เพียงน้ำจากฟ้าจะล้นพ้นหัวคนกรุงเทพ แต่น้ำตาแห่งความสูญเสียคงจะมีไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
น้ำตาผู้หญิง น้ำตาผู้ชาย… : ใครว่าผู้หญิงอยากใช้น้ำตาเป็นอาวุธ? Posted: 14 Nov 2011 05:50 AM PST “น้ำตา” มักถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองบ่อยๆ ถ้าคุณอ่านสามก๊กคุณจะพบว่าแม่ทัพนายกองทั้งหลาย ‘ร้องไห้’กันเกือบทั้งเรื่อง อะไรนิดอะไรหน่อยก็ร้อง จะซาบซึ้งจะอะไรกันหนักหนา ทั้งๆที่เป็นชายชาตินักรบกันแท้ๆ เมื่อชีวิตมีคำถามเช่นนี้ ผมก็เลยส่งโทรจิตกลับไปถาม “อีพริ้ง” เมียของผมเมื่อชาติภพที่แล้ว เธอตอบกลับมาหาผมอย่างรวดเร็วราวกับใช้ hi-speed internet ว่า “อย่าโง่นักเลยไอ้แก่ การร้องไห้มันมีประโยชน์นะเว้ย เพราะมันเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดในทางการเมือง ไม่ต้องเสียตังค์สักบาท แถมถ้าร้องบ่อยๆ แล้วคนเชื่อว่ามีเมตตาธรรมแบบเล่าปี่ ก็ซื้อใจคนทั้งแผ่นดินได้” อ่านข้อความของอีพริ้งจบ ผมก็กระจ่างราวกับตื่นจากภวังค์ เพราะถ้าคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้สามก๊กจริง คุณก็จะรู้ว่าจริงๆแล้ว ‘เล่าปี่’ เป็นผู้นำก๊กที่จนที่สุด เมื่อเทียบกับ ‘โจโฉ’ และ ‘ซุนกวน’ เพราะโจโฉจะชั่วดีอย่างไรเสียก็เป็นทหาร มีอำนาจวาสนาพอสมควร ซุนกวนเล่าก็เป็นลูกเจ้าเมืองเก่าสืบต่อสมบัติพี่ชายและบิดา ในขณะที่เล่าปี่เป็นแค่คนทอเสื่อขาย แต่ความอ่อนโยนและน้ำตาของเล่าปี่นี่เอง ทำให้ได้ ’ใจ’ ของประชาชน และแม่ทัพนายกองมากมายที่พร้อมพลีกายถวายหัวชนิดที่ว่าแทบไม่คิดถึงชีวิตตัวเอง กลับมาที่การเมืองไทย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเราลงพื้นที่ไปตรวจความเรียบร้อยในการฟื้นฟู จ.นครสวรรค์ หลังน้ำลด ในขณะที่กำลังปราศรัยทักทายพ่อแม่พี่น้องอยู่ดีๆ เธอก็กล้ำกลืนร้องไห้น้ำตาไหลออกมา ชนิดที่เรียกได้ว่า ‘อึ้งกิมกี่’ กันไปหมด ทั้งรัฐมนตรี ทั้งประชาชน จนสื่อมวลชนต้องเอามาทำข่าว ในโลกไซเบอร์อินเตอร์เน็ตก็แชร์กันให้ว่อน ทั้งชมทั้งด่า มีตั้งแต่ “เห็นใจนายกฯจังเลยนะคะ” จนไปถึงขั้นที่ว่า “ดัดจริต” แต่ที่เด็ดดวงกว่านั้น คือ การที่ ส.ส.ของ ปชป. สามคน อันได้แก่ ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู, มัลลิกา บุญมีตระกูล และ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิชย์ พร้อมหน้ากันออกมาอัดนายกฯ รวมใจความสั้นๆ ได้ว่า “อ่อนแอ”, “ขี้แย”,“มารยาหญิง”, “ไร้ภาวะผู้นำ” อัดกันแรงมากจน ส.ส.ชาย ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ เพราะคิดไม่ถึงว่าผู้หญิงด้วยกันจะอัดกันแรงซะขนาดนี้ แถมประเด็นที่เล่นก็ไม่ใช่ประเด็นการทำงานซะด้วย แต่เป็นเรื่องหยุมหยิมสุดๆ เช่น เรื่องน้ำตา ผมกลับมานั่งคิดว่า จริงๆแล้วปัญหาที่ทำให้คุณยิ่งลักษณ์ “โดนด่า” นี่คืออะไร? มันไม่ใช่ความซวยของคุณยิ่งลักษณ์ที่ดันเกิดมาเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น แต่มันเป็นปัญหาสากลของโลก ที่ผู้หญิงมักจะโดนด่าเช่นนี้เป็นประจำ นั่นเป็นเพราะสังคมให้คุณค่า (value) กับการกระทำของผู้หญิง และผู้ชายแตกต่างกัน สังคมมองบุรุษเพศว่าเป็นเพศที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มีภาวะผู้นำ ห้าวหาญ เหนือกว่าผู้หญิงทุกๆด้าน ดังนั้นการร้องไห้ของบุรุษเพศ จึงถูกบรรยายออกมาในทำนองว่า “น้ำตาลูกผู้ชาย”, “น้ำตาสุภาพบุรุษ”, “น้ำตานักสู้” ในขณะที่น้ำตาของผู้หญิงกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องของ “ความอ่อนแอ”, “ไร้ภาวะผู้นำ”, “มารยาหญิง” บ้างก็ไปถึงขั้นว่า “หวังจะใช้น้ำตาเป็นอาวุธละสิ!” เพื่อยืนยันว่าทฤษฎีนี้ถูกต้อง ผมจำได้ว่าก่อนหน้าที่คุณยิ่งลักษณ์จะร้องสักสองอาทิตย์ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ก็เคยกอดคอร้องไห้กับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นมาแล้วเนื่องจากไม่สามารถปกป้องนิคมอุตสาหกรรมโรจนะเอาไว้ได้ ครั้งกระนั้นก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ไม่เห็นมี ส.ส.หญิง ส.ส.ชายหน้าไหนออกมาโวยวาย เท่ากับกรณีของคุณยิ่งลักษณ์ คุณว่ามันแปลกไหมละ? ให้สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ “น้ำตาของผู้ชาย” มันอาจจะใช้เป็นอาวุธทางการเมืองได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับผู้หญิงแล้ว “น้ำตา” นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ได้แต้มต่อในทางการเมือง ยังกลับเป็นตัวทำลายภาพลักษณ์ “ความเป็นผู้นำ” ของตัวผู้หญิงเองด้วยซ้ำไป ดังนั้นใครที่คิดว่าผู้หญิงอยากจะร้องเพื่อเรียกคะแนนทางการเมือง อาจจะต้องกลับไปคิดใหม่อีกหลายๆรอบ เพราะขืนใช้วิธีนี้ จะมีแต่เสียกับเสีย ที่ผมกล้าพูดเช่นนี้ เพราะหลายปีก่อน ‘อีพริ้ง’ เคยตั้งข้อสังเกตกับผมว่า สิ่งที่เรียกกันว่า “ความเป็นผู้นำ” มักจะถูกเชื่อมโยงกับ “บุคลิกความเป็นชาย” แทบจะทั้งหมด เช่น แข็งกร้าว, เด็ดเดี่ยว, ใจแข็ง, มีบุคลิกความเป็นผู้นำ, พูดจาฉะฉาน, กล้าตัดสินใจ ฯลฯ ทั้งหมดนี่เป็นเพื่อจะกีดกันผู้หญิง (ซึ่งแน่นอนว่ามีลักษณะตรงข้าม) ให้ออกไปจากการเมือง ส่วนผู้หญิงบางคนที่แทรกตัวเข้ามาในการเมืองได้ และประสบความสำเร็จ ก็จำต้องทิ้งบทบาทความเป็นผู้หญิงเสีย แล้วสวมบทบาทข้างต้นแบบผู้ชาย เมื่อไปมองดูผู้นำหญิงทั้งในประวัติศาสตร์และในปัจจุบันที่มีชื่อติดอยู่ในสมอง ได้แก่ ‘บูเช็คเทียน, ซูสีไทเฮา, มากาแร๊ต แทชเชอร์, อองซาน ซูจี, กอเรีย อาโร, ฮิลลารี่ คลินตัน ก็เป็นจริงดั่งที่ ‘อีพริ้ง’ ได้พูดไว้ นั่นคือ เธอเหล่านี้แทบจะไม่เหลือบุคลิกผู้หญิงเอาไว้เลย นอกจากเสื้อผ้าหน้าผม เพราะเธอสวมบทผู้นำเด็ดเดี่ยว ซะจนผู้ชายต้องเดินตามหลังต้อยๆ สุดท้ายคิดไปคิดมาก็น่าเสียดายมาก ที่ ส.ส.หญิง แห่งค่าย ‘ประชาธิปัตย์’ ทั้ง 3 ท่านนั้น ไม่มีใครเห็นประเด็นเหล่านี้ แต่กลับดับเครื่องชนเดินหน้าออกมาผลิตซ้ำ ’วาทกรรม’ ที่ลดทอน/ทำลายพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงด้วยกัน เพียงเพราะมุ่งหวังแต้มต่อทางการเมืองเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่ ส.ส.ผู้ชายทั้งหลายก็ ‘นกรู้’ เลือกที่จะนิ่งเฉย เงียบ ไม่ตอบโต้อะไรในเรื่องนี้ รอดูผู้หญิงทะเลาะกันเองจะดีกว่า เพราะในโลกนี้คนที่จะกดขี่ หรือเอาเรื่อง “ความเป็นหญิง” มาด่าผู้หญิงได้เจ็บแสบที่สุด คงไม่ใช่ผู้ชายหน้าไหน แต่เป็นผู้หญิงด้วยกันเองนี่แหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ดี มีการศึกษาสูง… สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ประกันว่างงานตื่นขึ้นมาทำงานได้แล้ว Posted: 14 Nov 2011 05:36 AM PST ถ้าเราเปรียบระบบประกันการว่างงานของไทยเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ก็ต้องบอกว่าเป็นมนุษย์ที่อืดอาด เกียจคร้าน ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ การประกันการว่างงานมีไว้เพื่อช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างในยามที่ประสบกับภาวะวิกฤติจนทำให้ไม่มีงานทำ ขาดรายได้ ระบบประกันการว่างงานก็คล้ายๆ กับการประกันชีวิตนั่นเอง คือ ลูกจ้างต้องจ่ายเงินซื้อประกัน (จ่ายเงินสมทบ) และเมื่อว่างงานก็จะได้รับเงินชดเชย ใครที่ไม่เคยจ่ายเงินสมทบย่อมไม่มีสิทธิได้รับการประกัน การประกันการว่างงานในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ในยุคของรัฐบาลที่นำโดยพรรคไทยรักไทย ต้นตระกูลของพรรคเพื่อไทย กล่าวได้ว่าประกันว่างงานเป็นมรดกที่รัฐบาลทักษิณได้ทำไว้ก็ว่าได้ หลักการสำคัญของการประกันการว่างงาน คือ การให้เงินชดเชยแก่ลูกจ้างที่ตกงานเมื่อมีวิกฤติการณ์เกิดขึ้นโดยไม่ได้เป็นผลมาจากการกระทำของลูกจ้าง เช่น ให้เงินประกันการว่างงานกับลูกจ้างที่ว่างงานเพราะสถานประกอบการปิดกิจการ แต่ไม่ให้เงินการประกันแก่ลูกจ้างที่อยู่ๆ ก็ลาออกจากงาน หรือลูกจ้างที่ถูกไล่ออกจากงานเพราะทำให้นายจ้างเสียหาย อีกหลักการหนึ่ง คือ เงินชดเชยที่จ่ายและระยะเวลาการจ่ายควรที่จะจำกัด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างติดลมบนกับการว่างงาน ลูกจ้างเป็นกลไกที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ถ้าไม่เจ็บป่วยก็ควรที่จะทำงาน จึงมักจะมีการบังคับให้ผู้รับเงินขึ้นทะเบียนหางานทำด้วย เงินชดเชยการว่างงานเป็นเพียงการแบ่งเบาภาระระยะหนึ่ง เพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาหางานทำและยังสามารถมีเงินจับจ่ายใช้สอยไปด้วย ในขณะเดียวกันยังช่วยไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำมากเกินไปเมื่อเกิดภาวะที่อัตราการว่างงานสูงมากๆ เพราะช่วยให้ครัวเรือนยังมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย สิ่งที่ไม่ควรทำสำหรับระบบประกันการว่างงานของไทยคือ การจ่ายเงินให้แก่ผู้ลาออกจากงานโดยสมัครใจ นับตั้งแต่ปี 2547 ถึงสิ้นปี 2552 (การได้ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. นั้นยากเย็นมาก) สปส. จ่ายเงินให้แก่ผู้ลาออกจากงานโดยสมัครใจทั้งหมดรวม 5,600 ล้านบาท มีรายการขอรับเงินทั้งหมด 2.3 ล้านรายการ และจ่ายเงินให้แก่ผู้ว่างงานแบบไม่สมัครใจทั้งหมด 6,700 ล้านบาท มีรายการขอรับเงินทั้งหมด 1.6 ล้านรายการ เราจะสามารถประหยัดเงินไปได้ประมาณ 45% และสามารถลดงานหน้าเคาท์เตอร์กับการทำลายกระดาษอีก 2.3 ล้านรายการ (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณงาน) ถ้าหากว่าระบบประกันการว่างงานของเราไม่ทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ สิ่งที่ระบบประกันการว่างงานของเราควรทำแต่ไม่ทำ คือ การให้หลักประกันแก่ลูกจ้างที่ว่างงานเพราะนายจ้างประสบภัยพิบัติจนต้องหยุดกิจการชั่วคราวไม่ว่าภัยพิบัตินั้นจะเกิดขึ้นเพราะธรรมชาติหรือน้ำมือมนุษย์ แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากความประมาท เลินเล่อ ในกระบวนการทำงานของลูกจ้าง หรือมิได้เกิดจากความเกียจคร้านของลูกจ้าง มันเป็นเหตุที่นอกเหนือการควบคุมของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ลูกจ้างคนหนึ่งที่ได้ค่าจ้างวันละ 200 บาทหรือประมาณเดือนละ 6,000 บาทจะต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อการประกันการว่างงานเดือนละ 30 บาท โดยนายจ้างช่วยสมทบอีก 30 บาทและรัฐช่วยอีก 15 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการประกันการว่างงานเดือนละ 75 บาท หรือปีละ 900 บาท ถ้าจ่ายมาโดยตลอด 7 ปีก็รวมประมาณ 6,300 บาท มาวันนี้ลูกจ้างที่สมทบเงินมาตลอด ขาดรายได้เพราะสถานประกอบการประสบภัยพิบัติต้องหยุดดำเนินการ สมควรเป็นอย่างยิ่งที่ระบบประกันการว่างงานจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างเหล่านี้ ยกเว้นเสียแต่ว่า นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนและมิได้หยุดการจ่ายเงินเดือนแม้ว่าจะหยุดดำเนินการก็ตาม นี่คือ หลักการและความเหมาะสม เป็นเจตนาของการมีระบบประกันการว่างงาน ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการก็มิได้มีอะไรยากเกินกว่าที่จะทำได้ ต้องอาศัยความว่องไวต่อการตอบสนองปัญหา ทัศนคติที่เหมาะสม และความขยัน ของคณะกรรมการประกันสังคม ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายใดๆ สามารถปฏิบัติได้โดยการออกกฎกระทรวงเช่นเดียวกับปี 2552 แต่ที่สำคัญต้องยึดหลักการให้ชัดเจนและไม่เปะปะจนเข้าข่ายประชานิยม จำนวนเงินที่จะต้องใช้เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ขาดรายได้เพราะภัยพิบัติก็มิได้มากเกินความสามารถในการจ่ายของกองทุนประกันการว่างงานที่ในขณะนี้มีเงินสะสมเกือบ 60,000 ล้านบาท (เมื่อเงินสะสมมากเกินจำเป็น สปส. ควรลดอัตราเงินสมทบลงเพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างมีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น) ปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีและอยุธยามีลูกจ้างผู้ประกันตนประมาณ 8 แสนคน และสถานประกอบการในระบบประกันสังคมประมาณ 17,000 แห่ง ถ้าเหตุภัยพิบัตินี้ทำให้ลูกจ้างรายวันขาดรายได้ประมาณ 2 แสนคน กองทุนประกันการว่างงานจะใช้เงินประมาณ 600 ล้านบาทในการจ่ายเงินชดเชย 30 วัน ในขณะเดียวกันการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในจังหวัดอื่นๆ คาดว่าจะใช้เงินน้อยกว่านี้ ถึงเวลาที่ระบบประกันการว่างงานตื่นขึ้นมาทำงานได้แล้ว หยุดอืดอาด และควรทำในสิ่งที่ควรทำได้แล้ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ไทยอีนิวส์:คานอำนาจสื่อ (บทความจากใบตองแห้งเนื่องในวาระครบรอบ 5 ปี) Posted: 14 Nov 2011 04:27 AM PST
รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการติดต่อจากสำนักข่าวไทยอีนิวส์ให้เขียนลงในวาระครบรอบ 5 ปี เพราะไทยอีนิวส์เป็นเว็บไซต์ที่ผมติดตามอ่านอยู่เสมอเพื่อตรวจสอบตรวจทานข่าวสารที่ได้รับจากสื่อกระแสหลัก ในทัศนะของผม ไทยอีนิวส์เป็น “เว็บเสื้อแดง” คือไม่ได้ “เป็นกลาง” แต่ “เลือกข้าง” แล้ว กระนั้นก็เป็นการเลือกข้างอย่างมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และมีความสามารถในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน จนมีผลงานชิ้นโบแดงมาหลายครั้ง เท่าที่จำได้ประทับใจก็เช่น ไทยอีนิวส์เป็นสำนักข่าวเดียวที่ตรวจจับการกระทำความผิดโฆษณาขายหุ้น NBC ในเครือเนชั่นเกินจริง ซึ่งน่าเสียดายว่าถ้าเนชั่นไม่ใช่สื่อทรงอิทธิพล หรือถ้าไทยอีนิวส์เป็นสื่อกระแสหลักด้วยกัน ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ กลต.ก็คงดำเนินคดีถึงที่สุดไปแล้ว หรืออย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่ “เอิน” กัลยกร วิจารณ์ยิ่งลักษณ์ ไทยอีนิวส์ก็ขุดคุ้ยมาแฉว่าที่แท้เธอคือลูก ผอ.ASTV “ลูกอำมาตย์รักชาติ” ข่าวสารทำนองนี้แหละที่ทำให้ผมต้องเปิดไทยอีนิวส์อ่านเพื่อตรวจทานอยู่เสมอๆ ถ้าถามว่าไทยอีนิวส์ลำเอียงหรือไม่ คำตอบของผมคือไทยอีนิวส์เป็น “กระบอกเสียงอิสระของมวลชนเสื้อแดง” คำที่มีนัยสำคัญคือ “อิสระ” และ “มวลชน” เพราะแม้ไทยอีนิวส์ตอบโต้แก้ต่างให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ทักษิณ หรือแกนนำเสื้อแดงอยู่บ่อยๆ (รวมทั้งแสดงความเกลียดชังเป็นศัตรูกับอำมาตย์ สลิ่ม และพรรคแมลงสาบอย่างโจ่งแจ้ง) แต่เท่าที่ตามอ่านมาหลายปี ก็มีหลายครั้งที่ไทยอีนิวส์วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. แม้การวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายเดียวกันจะไม่มากนัก เข้าใจว่าไทยอีนิวส์ต้องการรักษาขบวนไว้เป็นสำคัญ แต่ก็เป็นด้านที่สะท้อนให้เห็นว่าไทยอีนิวส์มีความเป็น “อิสระ” เป็นผู้สนับสนุน-แต่ไม่ได้ขึ้นต่อแกนนำ นปช.ไม่ได้ขึ้นต่อพรรคเพื่อไทย หรือรับท่อน้ำเลี้ยงจากทักษิณ ฉะนั้น ทัศนคติของไทยอีนิวส์ถ้าจะเอียงข้าง ก็สะท้อนทัศนคติของมวลชนเสื้อแดงอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ทัศนคติที่เอียงไปตามผลประโยชน์นักการเมือง ยกตัวอย่างง่ายๆ คือผมเห็นว่าไทยอีนิวส์ชื่นชมนักคิดนักต่อสู้อย่างจักรภพ เพ็ญแข, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มากกว่าทักษิณ,จตุพร, ณัฐวุฒิ นั่นสะท้อนถึงจุดยืนของไทยอีนิวส์ ที่มุ่งมั่นจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ปลอดการแทรกแซงของอำนาจพิเศษนอกระบบ ไทยอีนิวส์ยืนอยู่ข้างมวลชนที่ต้องการต่อสู้ถึงที่สุด ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งต่างกับนักการเมืองที่ต้องการเพียงได้อำนาจ ไทยอีนิวส์ให้ความรู้กับผู้อ่านตั้งแต่การปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 ยกย่องเชิดชู อ.ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร มาจนถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในช่วง 14 ตุลา2516 ถึง 6 ตุลา 2519 และสนับสนุนข้อเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ตลอดจนการลบล้างผลพวงรัฐประหารของนิติราษฎร์ (ซึ่งไม่ใช่ว่าฝ่ายการเมืองจะยอมเอาด้วยใน 2 ประเด็นนี้) นี่คือสิ่งที่ผมชื่นชมไทยอีนิวส์ในฐานะ “สื่อเสื้อแดง” ที่ไม่ต้องเสแสร้งเป็นกลาง แต่มีความแตกต่างและมีจุดยืนของตัวเอง นอกจากนี้ หลายๆ ครั้ง ไทยอีนิวส์ยังกล้าพูดความจริงทั้งที่ปล่อยไปก็จะส่งผลทางการเมืองมากกว่า เช่น ตอนที่สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถูกจับ มีการอ้างว่าเพราะอ่านบทกวีที่สมัคร สุนทรเวช เขียนไว้ก่อนตาย แต่ไทยอีนิวส์แย้งทันทีว่าไม่ใช่ อย่าเข้าใจผิด เป็นบทกวีของจักรภพ เพ็ญแข ต่างหาก บทบาทของไทยอีนิวส์ด้านสำคัญ ได้แก่การตรวจสอบสื่อกระแสหลัก ทั้งตอบโต้ แฉเบื้องหลัง และเปิดโปงพฤติกรรมสื่อ ซึ่งบางครั้งอาจถูกมองว่าไทยอีนิวส์อคติ ปลุกความเกลียดชัง แต่ผมว่าไม่เป็นไร เพราะสื่อกระแสหลักที่มีอคติและปลุกความเกลียดชังก็ควรจะโดนเสียบ้าง เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจพวกเขาด้วย ผมมาจากสื่อกระแสหลัก แม้เคยทำแต่หนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆ แต่ก็มีเพื่อนมีน้องอยู่ค่ายใหญ่หลายค่าย จึงเห็นว่าความเข้าใจของมวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าสื่อกระแสหลักเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตยเพราะได้ผลประโยชน์นั้นไม่จริง ถ้าจริงก็แค่ตัวเจ้าของสื่อ แต่ที่เห็นและเป็นอยู่มันคือทัศนคติของสื่อ ตั้งแต่บรรณาธิการข่าว หัวหน้าข่าว รีไรเตอร์ ลงมาจนถึงนักข่าวพื้นที่ ทำไมสื่อกระแสหลักจึงเป็นไปอย่างนั้น ในทัศนะผม สื่อเป็น “ฐานันดรที่สี่” เป็นอภิสิทธิ์ชนผู้ทรงอิทธิพล และเป็น “อำนาจพิเศษ” อย่างหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งต้องการคงอำนาจที่จะแทรกแซงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไว้ตลอดไป ไม่ต่างจากอำมาตย์ สื่อไทยมีบทบาทต่อต้านเผด็จการและต่อสู้เพื่อประชาธิปไคยอย่างเข้มแข็งมาตั้งแต่อดีต ในยุคของบรรพชนอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์, อารีย์ ลีวีระ, อิศรา อมันตกุล, อุทธรณ์ พลกุล ฯลฯ ซึ่งสร้างเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนหนังสือพิมพ์ไว้เป็นมรดกตกทอดให้คนรุ่นหลัง 14 ตุลา สื่อก็มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มเผด็จการ แม้หลัง 6 ตุลา 2519 รัฐบาลหอยโดยสมัคร สุนทรเวช ใช้ ปร.42 ปิดหูปิดตาปิดปากสื่อ แต่ก็ปิดกั้นพัฒนาการสังคมไม่ได้ เมื่อรัฐบาลหอยถูกรัฐประหาร เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ธุรกิจหนังสือพิมพ์ก็เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม สื่อมีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์จนกระแสสังคมปฏิเสธ พล.อ.เปรมไม่ให้เป็นนายกฯอีก แต่ก็สื่ออีกนั่นแหละที่ตั้งฉายารัฐบาลชาติชายว่า บุฟเฟต์คาบิเนต จนถูก รสช.แล้วสื่อก็มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสุจินดา “เสียสัตย์เพื่อชาติ” พฤษภา 35 ได้ยกฐานะของฐานันดรที่สี่ขึ้นมาเป็นอำนาจชี้นำสังคม เป็นตัวแทนของพลังคนกรุงคนชั้นกลาง หรือ “ม็อบมือถือ” ตั้งแต่การแบ่งแยก “พรรคเทพ” “พรรคมาร” เย้ยหยันสมบุญ ระหงษ์ แต่งชุดขาวรอเก้อ ไปจนสุทธิชัย หยุ่น ตั้งรัฐบาลทางโทรทัศน์ ในคืนที่รู้ผลการเลือกตั้ง โดยใช้บทบาทสื่อผูกมัด “พรรคเทพ” ให้ร่วมกันสนับสนุนชวน หลีกภัย จาก 2535 ถึง 2544 สื่อเป็นตัวแทนคนกรุงคนชั้นกลาง ทำหน้าที่ล้มรัฐบาลที่คนชนบทเลือกมา ตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ตั้งแต่รัฐบาลชวน กับกรณี สปก.4-01 รัฐบาลบรรหาร กรณีกลุ่ม 16 แบงก์บีบีซี และสัญชาติเตี่ย รัฐบาลชวลิต กับกรณีลดค่าเงินบาทและชูธงเขียวรับร่างรัฐธรรมนูญ 40 และรัฐบาลชวน 2 ซึ่งตอนแรกได้รับการโห่ร้องต้อนรับ แต่จบลงด้วยฉายา “ช่างทาสี” และ “ปลัดประเทศ” ในภาพรวม ถือว่าสื่อได้ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจตามบทบาทที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย จากต่อสู้เผด็จการมาถึงตรวจสอบนักการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2549 หรือแม้แต่ไล่ทักษิณ ในฐานะผู้นำที่เหลิงอำนาจและสอบตกทางจริยธรรม ก็เป็นการทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย แต่สื่อเปลี่ยนไป เมื่อเห็นว่าทักษิณได้คะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้ง จนยากที่จะล้มรัฐบาลตามระบอบ สื่อหันไปร่วมมือกับขบวนการให้ร้ายป้ายสี ม็อบสนธิสวนลุม ทั้งที่ตอนแรก เถ้าแก่เปลวของผมด่าสนธิเองว่า “แปลงสถาบันเป็นอาวุธ” สื่อร่วมมือกับพันธมิตร สร้างกระแส ม.7 ขอนายกพระราชทาน แล้วก็เตลิดเปิดเปิงกระทั่งสนับสนุนรัฐประหาร (อย่างเต็มอกเต็มใจไม่ต้องเอาปืนจี้) โดย 3 นายกสมาคมสื่อ พร้อมใจเข้าไปเป็น สนช. หลังจากนั้นไม่ต้องพูดถึง สื่อกระแสหลักเลือกข้างเต็มตัว ช่วยสร้างกระแสความชอบธรรมให้พันธมิตร ยึดทำเนียบยึดสนามบินเป็นการใช้สิทธิประชาธิปไตยของประชาชน แม้เกินเลยไปบ้างต้องให้อภัย แต่ยึดราชประสงค์เอาไว้ไม่ได้ 7 ลาเป็นการปราบปรามประชาชน 19 พฤษภาเป็นการรักษาความสงบของประเทศ ถามว่าทำไมสื่อจึงเปลี่ยนบทบาทจากผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จากกลไกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในสังคมประชาธิปไตย ไปเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย ผมคิดว่าสื่อยึดติดในบทบาทและอำนาจของตัวเอง พูดง่ายๆ ว่าสื่อเคยชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ สังคมก็คล้อยตาม สื่อล้มรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย แต่ล้มทักษิณไม่ลง ทั้งที่สื่อรวมหัวกันชี้ว่ามันชั่วมันเลว คราวนี้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนชนบทกลับไม่ฟัง สื่อไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนาการของประชาธิปไตย ที่นโยบายพรรคไทยรักไทยทำให้มวลชนตระหนักว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้ ไม่ใช่มวลชนไม่เข้าใจว่านักการเมืองทั้งหลายล้วนแสวงหาผลประโยชน์ แต่จะให้เขาเลือกใครระหว่างพรรคที่มีนโยบายสนองปากท้อง เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ กับพรรคที่ดีแต่พูด แต่สื่อกลับมองว่าชาวบ้านโง่ ถูกซื้อ ทักษิณจะผูกขาดอำนาจไปอีก 20 ปี ประเทศชาติจะหายนะ สื่อไม่อดทนรอการพัฒนาไปตามลำดับของมวลชน คิดแต่ว่าสังคมจะต้องเดินตามที่พวกตนชี้ พูดอีกอย่างก็พูดได้ว่าสื่อ “เหลิงอำนาจ” เคยตัวกับบทบาทชี้นำสังคม ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้เป็นไปตามตำรานิเทศศาสตร์ สื่อไทยไม่ได้ทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา แยกข่าวจากความคิดเห็นเหมือนสื่อฝรั่ง แต่สื่อไทยสอดแทรกการชี้นำเข้าไปในข่าว ใช้พาดหัวข่าวเป็นที่ประกาศวาทะกรรม แสดงการสนับสนุน ต่อต้าน รัก ชอบ เกลียด ชัง หรือถ้าเป็นสื่อทีวี ก็เรียกว่า “สื่อมีหาง(เสียง)” แต่ที่ผ่านมามันเป็นการต่อสู้เผด็จการ หรือขับไล่นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นในช่วงที่ประชาธิปไตยยังอ่อนแอ สังคมไทยจึงยอมรับบทบาท (และอิทธิพล) ของสื่อ (รวมทั้งอภิสิทธิ์ของสื่อ) กระนั้นเมื่อประชาธิปไตยเติบโตขึ้น เป็นสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย ก็ไม่ยอมรับการชี้นำของสื่ออีกต่อไป สื่อไทยเลย “วีนแตก” หน้ามืดตามัวเพื่อเอาชนะ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก เป็นผู้มีอุดมการณ์สูงส่ง ขาวสะอาด มีเกียรติมีศักดิ์ศรี สมควรที่จะยกไว้ในที่สูงเพื่อชี้นิ้วด่ากราดนักการเมือง ถ้าให้เห็นภาพชัด “เนชั่นโมเดล” น่าจะเป็นตัวแทนสื่อกระแสหลักชัดเจนที่สุด สุทธิชัย หยุ่น ก่อตั้งเดอะเนชั่นเมื่อปี 2515 แล้วมาเปิดกรุงเทพธุรกิจในปี 2530 แล้วขยับขยายไปจัดรายการทีวี หลัง 2535 ก็ร่วมก่อตั้งไอทีวี ซึ่งแม้ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล แห่งแปซิฟิค จะเป็นผู้บุกเบิกข่าวทีวีสมัยใหม่รายแรก แต่ต้องถือว่าหยุ่นเป็น “ตัวพ่อ” ที่มีอิทธิพลต่อนักข่าว พิธีกร รุ่นต่อมามากกว่า คนหนุ่มสาวที่เข้าไปเป็นนักข่าวพิธีกรค่ายเนชั่นในทศวรรษ 2530 คือตัวแทนคนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเศรษฐกิจในยุค 2520 ซึ่งกรุงเทพฯเริ่มก่อเกิดชุมชนบ้านจัดสรร กั้นรั้วแยกจากคนชั้นล่างและคนชนบท คนชั้นกลางที่เติบโตในยุคนี้ ถูกตัดขาดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสมัยคณะราษฎรหรือขบวนการนักศึกษายุค 14-6 ตุลา พวกเขาเห็นแต่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งสอนให้เชื่อความมีคุณธรรมจริยธรรมของ “ผู้หลักผู้ใหญ่” คนชั้นกลางรุ่นนี้เติบโตมาโดยมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จส่วนตัว และโดยเชื่อว่าสังคมไทยที่ดำรงอยู่เป็นสังคมที่ดีงามเป็นธรรมแล้ว ถ้าจะเลวร้ายอยู่อย่างเดียว ก็คือนักการเมือง สื่อแบบ “เนชั่นโมเดล” จึงเป็นตัวแทนคนชั้นกลางที่เรียนจบมหาวิทยาลัย คล่องแคล่ว ฉาดฉาน ได้งานดี เงินดี ไม่เคยยากลำบากเหมือนสื่อในอดีต และไม่เหมือนค่ายหัวสีที่ต้องจับเนื้อกินเอง (เงินเดือนนักข่าวเพิ่มพรวดพราดแบบก้าวกระโดดในช่วงต้นทศวรรษ 2530 อานิสงส์จากสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งอัตราเงินเดือนให้นักข่าวผู้จัดการ) นอกจากนี้ยังได้รับการให้เกียรติจากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่แค่ไม่ต้องกลัวตำรวจแจกใบสั่ง แต่เป็นนักข่าว 2-3 ปี คุณก็ได้นั่งกินข้าวกับรัฐมนตรี ประธานบริษัท ได้บินตามนายกฯ ไปเมืองนอก หรือได้ขึ้น ฮ.ไปกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เรียกพี่เรียกน้องกับนายพล ไม่มีอาชีพไหนให้คุณอย่างนี้นะครับ ยกหูโทรศัพท์กริ๊ง อธิบดีรองอธิบดีต้องมารับ สื่อจึงมีฐานันดรพิเศษ ที่ทำให้ทรนงและหลงตน ว่าข้านี่แหละคือตัวแทนคนชั้นกลางผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง สามารถชี้นิ้วผลักดันสังคมไปตามต้องการ นักการเมืองชั่วหรือ ถล่มมันซะ ข้าราชการมีแผล ก็บดขยี้ให้ไม่เหลือซาก คนเหล่านี้จึงต้องเกรงอกเกรงใจสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อ ที่ผมยก “เนชั่นโมเดล” อันที่จริงก็คล้ายกันทุกค่าย เพียงแต่หัวสีก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ฉบับเล็กก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ขณะที่ค่ายมติชน (รวมทั้งผู้จัดการ) ยังมีคนรุ่นเก่าสืบทอดมาจาก 14 ตุลา 6 ตุลา ไม่ใช่ภาพของคนชั้นกลางที่ตัดขาดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเสียทีเดียว เนชั่นชัดเจนกว่ากับภาพลักษณ์นักข่าวพิธีกรขวัญใจคนชั้นกลาง ตั้งแต่หยุ่น หย่อง มาถึงสรยุทธ์ กนก สู่ขวัญ จอมขวัญ ฯลฯ (และเนชั่นก็เป็นแม่แบบให้ TPBS ปั๊มคนออกมาคล้ายๆ กัน) ที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่ว่าสื่อไม่มีผลประโยชน์ ทั้งตัวค่ายและตัวบุคคล มี-แต่ไม่ใช่นักข่าวส่วนใหญ่ สาเหตุหลักที่สื่อกระแสหลักกลายเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย ก็คือความเหลิงอำนาจของสื่อ คือความเชื่อว่าตัวเองรู้มากกว่า เก่งกว่า ดีกว่า สมควรจะเป็นผู้ชี้นำประชาชนที่โง่เขลา ไม่ยอมรับว่าประชาชนมีสิทธิจะคิดต่างเห็นต่าง เมื่อชี้นำไม่ได้ เอาชนะไม่ได้ และกลายเป็นฝ่ายแพ้ โค่น “คนชั่วคนเลว” ในสายตาตัวเองไม่ลง แพ้ทักษิณ แพ้พรรคพลังประชาชน แพ้พรรคเพื่อไทย สื่อจึงหน้ามืดมุ่งเอาชนะคะคานโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ไม่ว่าเชียร์รัฐประหารหรือโยนหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิเสรีภาพ ที่เป็นหัวใจของสื่อทิ้งไป เห็นได้ง่ายๆ จากวิกฤติน้ำท่วมคราวนี้ ที่สื่อแปลงมาเป็นอาวุธโค่นรัฐบาล จนเห็นชัดเจนว่าเป็นการจ้องจับผิด มากกว่าวิจารณ์ตามเนื้อผ้า แม้ข้อวิจารณ์หลายส่วนเป็นจริง (รัฐบาลทำงานห่วยจริงๆ) แต่ก็ขยายปมจนเห็นเจตนา สงครามสื่อต้องดำเนินต่อไป เพราะความต้องการคงอิทธิพล “อำนาจพิเศษ” ของสื่อกระแสหลัก กลายเป็นอุปสรรคประชาธิปไตย พลังประชาธิปไตยจะเติบโตได้ต้องทำลายอิทธิพลของสื่อกระแสหลักลง ถ่วงดุล คานอำนาจ ด้วยการสร้างสื่อที่หลากหลาย ทั้งเว็บไซต์ วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม หรือสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก เป็นตัวแทนความคิดของประชาชนที่แตกต่าง ดิสเครดิตสื่อกระแสหลักด้วยการเปิดโปงพฤติกรรมอย่างที่ไทยอีนิวส์ทำ การเปิดโปงสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์ (ซึ่งใช้ได้กับนักข่าวร้อยล้าน แต่ใช้ไม่ได้กับคนดีๆ อย่างเถ้าแก่เปลวของผม) ประเด็นสำคัญอยู่ที่อคติและความไร้หลักการของสื่อ ทั้งในการเสนอข่าวจริงบ้างเท็จบ้าง ให้น้ำหนักข่าว พาดหัวข่าวอย่างไม่เที่ยงธรรม วิพากษ์วิจารณ์มักง่าย (เอาคำทำนายหมอดูมาใช้ก็มี) ตวัดลิ้นกลับไปกลับมา สองมาตรฐานหน้าไม่อาย วันก่อน เดือนก่อน ปีก่อน พูดอย่าง วันนี้พูดอีกอย่าง (ยกตัวอย่างถ้าใครไปขุดข้อเขียนชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ สมัยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนถูกทหารตีหัว มาเทียบกับ “ท่านขุนน้อย” แล้วจะเซอร์ไพรส์ว่าคนเราเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ) ผมเชื่อมั่นว่าไทยอีนิวส์จะสานต่อภารกิจอย่างเข้มแข็งในปีที่ 6 แต่ขณะเดียวกัน ภารกิจของสื่อฝ่ายประชาธิปไตยภายหลังชัยชนะของพรรคเพื่อไทยก็มีความยากลำบากและซับซ้อนขึ้น เพราะต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้าน นั่นคือด้านหนึ่งต้องปกป้องรัฐบาลจากการโจมตีให้ร้ายของพวกสลิ่มและฝ่ายแค้นที่มุ่งหวังฟื้นอำนาจนอกระบบ หวังโค่นล้มแทรกแซงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่อีกด้านก็ต้องไม่ละเว้นการทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ให้สมกับที่ได้ชัยชนะมาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง ซึ่งก็เป็นการปกป้องประชาธิปไตยในอีกมุมหนึ่งเช่นกัน
ใบตองแห้ง
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี เว็บไซต์ไทยอีนิวส์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น