โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แปลกใจ 'แบมุส' แกนนำค้านโรงไฟฟ้าเทพา ถูกหมายเรียกคดีต่อสู่ จนท. ครั้งที่ 2 ทั้งที่ไม่เคยได้ครั้งแรก

Posted: 30 Dec 2017 07:23 AM PST

มุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ "แบมุส" เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้หมายเรียกคดีต่อสู้เจ้าหน้าที่ ครั้งที่ 2 ทั้งที่ไม่เคยได้ครั้งแรก แถมได้รับวันที่ 30 ธ.ค แต่ให้ไปวันที่ 29 ธ.ค. ขณะที่ จนท. คุมตัว อุสตาซ ร.ร.ธรรมวิทยา ยังไม่ทราบชะตากรรม

หมายเรียก มุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ "แบมุส" 

30 ธ.ค. 2560 Patani Society โพสต์หมายเรียกจากตำรวจส่งให้ มุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ "แบมุส" เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยระบุข้อหาว่า ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่โดยมีและใช้อาวุธฯ โดยระบุให้ไปที่ สภ.เมืองสงขลา 29 ธ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่ง Patani Society ระบุว่า เป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 แต่แบมุส ยืนยันยังไม่เคยได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 โดยหมายกำหนดให้ไปรายงานตัวที่ สภ.เมืองสงขลาวันที่ 29 ธ.ค.นี้ ซึ่งเลยกำหนดเวลาให้รายตัวมาแล้ว 1 วัน

Patani Society รายงานด้วยว่า มุสตาร์ซีดีนกล่าวว่าวันนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายเรียกมาส่งที่พัก โดยภรรยาของเขาผู้เป็นรับหมายเรียกแทนเนื่องจากตนออกไปธุระข้างนอกพอดีสวนทางกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทราบว่าเป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 ตนแปลกใจทำไม่เป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 ในเมื่อ ครั้งที่ 1 ตนไม่เคยได้รับ ทำไมข้ามมาเป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 ที่พักก็มีคนอยู่บ้านตลอด หรือเอาหมายมาติดที่หน้าห้องพักก็ได้ ภรรยาอยู่ตลอด

มุสตาร์ซีดีน กล่าวด้วยว่าที่น่าแปลกใจทำไมกำหนดให้ไปรายงานตัววันที่ 29 ธ.ค. แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาส่งหมายเรียกวันที่ 30 ธ.ค. อ้างว่าไม่เจอตนก็ฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อวานมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมานั่งที่ร้านตนหลายคนมาด้วยรถกระบะสี่ประตูจำนวนสองคันและเจอกับตนด้วย ยังพบว่ามีตำรวจขับรถมาวนเวียนที่ร้านตนตั้งแต่วันพุธถึงวันศุกร์ แต่ตำรวจมาส่งหมายเรียกครั้งที่ 2 ในวันเสาร์ที่ 30 ธ.ค. ให้ไปรายงานตัววันที่ 29 ธ.ค. ซึ่งเป็นเรื่องแปลก

มุสตาร์ซีดีน ระบุต่อว่า หลังจากรับหมายเรียกได้ประสานทนายความและเตรียมตัวประกันตัวในวันนี้ 3 ม.ค.นี้

สำหรับ มุสตาร์ซีดีน ตกเป็นข่าว เมื่อ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีการจับกุมตัวแกนนำคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา ตอนหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึง มุสตาร์ซีดีน แกนนำกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่มีภาพออกไปในโซเชียลมีเดียว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารจับไป และยังไม่ได้กลับบ้าน ด้วยการยกตัวอย่างว่าเคยเกิดในพื้นที่หายตัวไป แต่ปรากฎว่าไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ครอบครัว ต่อมาเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์  พล.ท.สรรเสริญ กรณีดังกล่าวจำนวนมาก แม้กระทั่งนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็วิจารณ์ พล.ท.สรรเสริญด้วยเช่นกัน

คุมตัว อุสตาซ ร.ร.ธรรมวิทยา ยังไม่ทราบชะตากรรม

สถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ในวันนี้ยังมีกรณีอื่นด้วย โดย Wartani รายงานว่า เมื่อเวลา 07.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารพราน 47 ร่วมกับ ชป.แกะดำ ควบคุม อุสตาซ มุสตอฟา กามา หมู่ 4 บ้านคอรอราเเม ต.ปะเเต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่ง มุสตอฟา  เป็นอุสตาซโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ 

Wartani รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวขณะเตรียมตัวไปคุมสอบตอนนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค่าแรงเราไม่เท่ากัน: อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผู้หญิงสัมผัสสารเคมีมากกว่าแต่ได้ค่าแรงต่ำกว่าชาย

Posted: 30 Dec 2017 01:55 AM PST

"เราไม่รู้สารเคมีอะไรที่เราใช้อยู่ เรารู้แค่ชื่อยี่ห้อสินค้า" พบประเทศในเอเชียมีพนักงานฝ่ายผลิตในโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้หญิงถึง 60-90% ซึ่งมีโอกาสสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ มากกว่า ส่วนผู้ชายจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าและได้รับค่าตอบแทนมากกว่า

ที่มาภาพ: equaltimes.org/Laura Villadiego

เล็ก (นามสมมุติ) ใช้เวลา 25 ปีในการตรวจสอบไมโครชิพที่ออกจากโรงงาน เพื่อรักษาคุณภาพสินค้าของบริษัท ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ แม้โรงงานได้เปลี่ยนเจ้าของมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่สภาวการณ์ของคนในสายการผลิตแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพื่อนร่วมงานของเธอส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้หญิง และหัวหน้างานมักเป็นผู้ชาย

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นการทำงานที่ซับซ้อน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หนึ่งชิ้น ถูกประกอบมาจากชิ้นส่วนเล็ก ๆ จากโรงงานหลายๆแห่ง เช่นโรงงานที่เล็กทำงานอยู่ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทใหญ่อีกแห่ง อย่างไรก็ตามแต่ละโรงงานส่วนใหญ่มักจะมีนโยบายการจ้างงานที่คล้ายคลึงกัน

"โรงงานมักจะจ้างพนักงานหญิง เพราะคิดว่าผู้หญิงทนงานหนักและปกครองง่าย" พัชณีย์ คำหนัก นักวิจัยจากเครือข่ายกู้ดอิเล็กทรอนิกส์ (Good Electronics) องค์กรตรวจสอบปัญหาด้านสังคมและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กล่าว

"นอกจากนี้ ผู้หญิงไทยในช่วงวัยประมาณ 30 ปีมีการศึกษาต่ำกว่าผู้ชาย ทำให้เป็นตลาดแรงงานที่เหมาะสมสำหรับนายจ้าง ที่จะทำงานในไลน์ผลิตกับเครื่องจักรกึ่งอัตโนมัติ ดังนั้น การมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจึงไม่เพียงพอต่อการสร้างอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้าง และเลือกงานที่ดีกว่า" (พัชณีย์เพิ่มเติมกับประชาไท เมื่อวัน 30 ธ.ค.2560)

แม้ว่าจะไม่มีดัชนีที่ชี้ชัดจากทั่วโลก แต่จากตัวเลขคร่าว ๆ จากบางประเทศในแถบเอเชียที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมประเภทนี้ ชี้ให้เห็นอัตราคนงานหญิงในโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีมากถึงร้อยละ 60-90 ในประเทศอย่าง มาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย แต่ละโรงงานจะมีคนงานในสายการผลิตที่เป็นผู้ชายไม่มากนัก ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าและได้รับค่าตอบแทนมากกว่า

"ปกติแล้วผู้ชายจะถูกมองว่าเหมาะกับตำแหน่งด้านการบริหารจัดการมากกว่าผู้หญิง" โจ ดิกังจี้ (Joe DiGangi) นักวิจัยจากเครือข่ายต่อต้านสารพิษสากล (IPEN) ผู้ค้นคว้าเรื่องนโยบายของบริษัท ซัมซุง (Samsung) ในประเทศเวียดนามกล่าว

"บริษัทหลายแห่งในเวียดนามมักจะคิดว่าผู้หญิงคงให้เวลากับครอบครัวและลูกมากกว่าการทำงานเมื่อเทียบกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงหลายคนที่เราเคยสัมภาษณ์มาล้วนทำงานหนักมาก" นักวิจัยเผย

ลำดับชั้นของแรงงานแบ่งที่โดยเพศเช่นนี้ ผู้หญิงมักจะได้ทำหน้าที่ในส่วนงานพื้นฐาน ทำให้แรงงานหญิงร้อยละ 85 ในประเทศไทย เป็นแรงงานไร้ฝีมือ จากการศึกษาของ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในปี 2556 ยังพบว่าผู้หญิงได้รับค่าตอบแทนการทำงานน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายถึงร้อยละ 16

จากการศึกษาขององค์พัฒนาเอกชนที่ทำการศึกษาแรงงานหญิงในโรงงานที่มาเลเซีย ผู้หญิงยังถูกละเมิดจากทางปฎิบัติและวาจาจากหัวหน้างานของพวกเขา ซึ่งกรณีที่พบเห็นได้บ่อยครั้งคือการใช้ความรุนแรงคุกคามร่างกายและเสรีภาพส่วนบุคคล ผู้ร้องเรียนมักจะถูกยึดเอกสารแสดงตัวตนหรือลงโทษในเวลาทำงาน

เล็กและน้อย เพื่อนร่วมงานในสายการผลิตเดียวกันทั้งสองบอกเหล่าสิ่งที่ต้องประสบในแต่ละวันของพวกเธอว่า "หัวหน้างานคนเก่าของเราชอบพูดจาไม่ให้เกียจพวกเรา" เล็กเล่าย้อนความจำ

น้อยยังบอกอีกว่ามีการะละเมิดสิทธิ์คนงานเพิ่มขึ้น หลังจากทางบริษัทได้เปลี่ยนการชั่วโมงทำงาน และการเปลี่ยนแปลงเวลาการเข้าทำงานของทั้งคนงานในกะเช้าและกะดึก "คนงานหลายคนออกมาประท้วงการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะมันส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตสังคมของพวกเรา"น้อยกล่าว ซึ่งเธอเองเป็นหนึ่งในผู้ร่วมหยุดงานเพื่อประท้วงการเปลี่ยนเวลาทำงานด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นคนงานที่เข้าร่วมการหยุดงานก็เริ่มถูกคุกคามจากทางบริษัท

"เขาให้เราเข้าไปในห้องที่ถูกติดกล้องวงจรปิดเพื่อเฝ้ามองเราตลอด ห้องนั้นสกปรกมากเราทำงานไม่ได้เลย ฉันเป็นภูมิแพ้เลยต้องหนีออกมาจากห้องนั้น" เธอเล่า

ช่องว่างระหว่างเพศ

เล็ก ต้องเผชิญกันอาการไมเกรนและหน้ามืดเป็นลมในบางครั้ง "เหมือนว่าเลือดจะไหลเวียนเข้าสมองฉันไม่เพียงพอ" นอกจากนั้นเธอยังตรวจพบเนื้องอกในรังไข่ ซึ่งเธอคิดว่าอาการไมเกรนนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนชั่วโมงทำงานของบริษัทโดยตรง

"สุขภาพไม่ได้เป็นสิ่งแรกที่ถูกให้ความสำคัญสำหรับแรงงานหญิง และพวกเธอไม่ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับมันเลย เพราะเมื่อคุณไม่อิ่มท้อง เรื่องอื่นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ" พัชณีย์กล่าว

ระดับชั้นของแรงงานที่ปรากฏขึ้นนั้น ทำให้ผู้หญิงพบกับความเสี่ยงทางสุขภาพที่สูง เพราะการทำงานในสายการผลิตผลักให้ต้องสัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ "อตุสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมความเสี่ยงต่ำ จึงทำให้การรับรู้เกี่ยวความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ อย่างการวิธีสัมผัสกับสารเคมี ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ" โจ ดิกังจี้ กล่าว

หลายบริษัทนั้นมีนโยบายในการไม่เปิดเผยสารเคมีที่ใช้ ทำให้เป็นเรื่องยากที่เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องระหว่างความเจ็บป่วยที่พบในคนงานกับสถาพแวดล้อมได้ ในหลายศาลของประเทศเกาลหลีใต้ เริ่มจะเชื่อว่าในรายของโรคลูคีเมียนั้นเชื่อมโยงกับการ ใช้สารเคมี ในสายการผลิต

คนงานส่วนใหญ่ถูกบรรจุเข้าทำงานตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว ซึ่งอยู่ช่วงปีการเจริญพันธุ์จึงเพิ่มความเสี่ยงที่สารเคมีจะส่งผลต่อระบบการสืบพันธุ์ของเขา หลายงานศึกษา ได้แสดงถึงความเกี่ยวพันของการใช้สารเคมี นำไปสู่อัตราการแท้งบุตรและพิการของลูกอ่อนในครรภ์ ในหมู่ผู้หญิงในโรงงานอุตสาหกรรม

พีรดา ภูมิสวัสดิ์ ว่าที่ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยบริสตอล ที่ได้ศึกษานโยบายด้านเพศของประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนงานสตรีของกรมพัฒนาสังคมประเทศไทย ได้เผยว่ากฏหมายของประเทศในเอเชีย ได้มีมาตรการพิเศษในการปกป้องผู้หญิงจากการอันตรายในอุตสาหกรรมอันตรายอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่นจำกัดชั่วโมงทำงาน กำหนดช่วงเวลาหรือประเพศงานที่พวกเธอทำได้ ในไทยผู้หญิงจำนวนมากต้องปกปิดว่าตัวเองตั้งท้อง เพราะจะสามารถทำงานล่วงเวลาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้ามสำหรับคนตั้งครรภ์ แต่จำเป็นเพื่อที่หลีกเลี่ยงการถูกลดการจ่ายเงิน

โจ ดิกังจี้ มองว่าความโปร่งใสเกี่ยวการใช้สารเคมีเป็นกุญแจสำคัญที่จะลดผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรม  "เราต้องสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับ สารเคมีที่พวกเขากำลังใช้ พวกเราจะได้เข้าใจได้ถึงวิธีการหลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสสารเคมีเหล่านั้นได้"

เล็กไม่มีรอยยิ้มตลอดการให้ข้อมูลของเธอ "เราไม่รู้สารเคมีอะไรที่เราใช้อยู่ เรารู้แค่ชื่อยี่ห้อสินค้า" เล็กอธิบาย "และบริษัทดูเหมือนจะหงุดหงิดมากเมื่อเราถามเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้"

 

แปลและเรียบเรียงจาก

The gender gap in the electronics factories: women exposed to chemicals and lower pay (Laura Villadiego, Equal Times, 22/12/2017)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.44 ให้จุดพลุปีใหม่ได้ 23.00 น.-01.00 น.

Posted: 29 Dec 2017 10:55 PM PST

ราชกิจจาฯ ประกาศ ม.44 ไฟเขียวจุดพลุคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ได้ตั้งแต่เวลา 23.00 น.ของวันที่ 31 ธ.ค. 2560 ถึง 01.00 น. วันที่ 1 ม.ค. 2561

 
 
 
30 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 54/2560 เรื่อง การจุดพลุในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2559 เรื่อง มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2559 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตสำหรับกรุงเทพมหานคร หรือนายอำเภอแห่งท้องที่ สำหรับจังหวัดซึ่งรับผิดชอบในเขตพื้นที่ที่จะจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใด นั้น เพื่อให้การฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการรักษาความมั่นคงของประเทศ
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1 ให้จุดพลุในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 23.00 นาฬิกา ของวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จนถึงเวลา 01.00 นาฬิกา ของวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้อำนวยการเขตสำหรับกรุงเทพมหานคร หรือนายอำเภอแห่งท้องที่สำหรับจังหวัด ทั้งนี้ สำหรับการขออนุญาตจุดและปล่อยบั้งไฟ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุ อื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ ให้ยังคงให้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2559 ลงวันที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2559 ต่อไป
 
ข้อ 2 การดำเนินการตามข้อ 1 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) สถานที่จุดพลุต้องอยู่ในระยะที่ปลอดภัย และไม่อยู่ใกล้บริเวณเขตพระราชฐาน คลังน้ำมัน หรือแหล่งเชื้อเพลิง สถานีบริการเชื้อเพลิง โรงพยาบาล สนามบิน
(2) ขนาดของพลุที่จุดได้ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อไม่เกิน 12 นิ้ว
(3) ให้ผู้จัดให้มีการจุดพลุ กำหนดให้มีมาตรการดูแลความปลอดภัยเพื่อป้องกันมิให้เกิด อันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
 
ข้อ 3 มาตรการจุดพลุสำหรับกรณีอื่นนอกจากข้อ 1 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2559 ลงวันที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2559 ต่อไป
 
ข้อ 4 ให้ผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอ แล้วแต่กรณี รับผิดชอบดูแลการดำเนินการ ในเขตพื้นที่ให้เป็นไปตามคำสั่งนี้ และให้ประสานพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสอดส่องดูแลและรักษาความปลอดภัยเพื่อมิให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
 
ข้อ 5 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ 29 ธันวาคม พุทธศักราช 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันที่ 2 รณรงค์ขับรถมีน้ำใจฯ เสียชีวิตแล้ว 49 ราย

Posted: 29 Dec 2017 10:15 PM PST

ศปถ.เผยสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธ.ค.วันที่ 2 ของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" มีผู้เสียชีวิต 49 ราย มีอุบัติเหตุ 576 ครั้ง บาดเจ็บ 609 คน ขณะที่เมาแล้วขับยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ 

 
30 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองประธานกรรมการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน คนที่ 1 ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 (ศปถ.) เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 576 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 49 ราย ผู้บาดเจ็บ 609 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 42.19 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 23.26 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.57 รถปิคอัพ ร้อยละ 6.07 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 67.53 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.80 ถนนใน อบต. /หมู่บ้าน ร้อยละ 32.12 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 25 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก ปทุมธานี และอุบลราชธานี 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 29 คน
 
นายการุณ กล่าวว่า ทั้งนี้สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 28-29 ธันวาคม 2560 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,053 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 92 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,107 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือ ตายเป็นศูนย์ มี 32 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 44 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษ 7 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 48 คน
 
นายการุณ กล่าวอีกว่า ขณะที่การจัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,003 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,941 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 665,922 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 115,084 ราย ในความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 33,630 ราย ไม่มีใบขับขี่ 32,936 ราย 
 
"แม้ว่าวันนี้ (30 ธ.ค.) จะเป็นวันหยุดแรกของเทศกาลปีใหม่ 2561 ศปถ.ได้เน้นย้ำจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนทั้งถนนสายหลักและสายรอง โดยเฉพาะถนนสายหลักออกสู่ภูมิภาคและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดและสถานที่ท่องเที่ยว ควบคู่กับการอำนวยความสะดวก โดยเปิดช่องทางพิเศษและจัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรบริเวณทางร่วมทางแยก ส่วนบางพื้นที่ได้เริ่มมีการเฉลิมฉลองแล้ว จึงได้กำชับจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นการดูแลเส้นทางโดยรอบพื้นที่จัดงาน โดยจัดชุดปฏิบัติการสอดส่องดูแลความปลอดภัยทั้งบนเส้นทางสายหลัก-สายรอง และถนนในชุมชน/หมู่บ้าน เน้นกวดขันรถจักรยานยนต์ รถกระบะที่บรรทุกคนโดยสารท้ายกระบะ ผู้ที่ดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุรุนแรง ขณะเดียวกันสำนักงานอาชีวะศึกษา ได้ตั้งจุดบริการบนเส้นทางสายหลักและสายรองทั่วประเทศ รวมกว่า 250 ศูนย์ เพื่อให้บริการตรวจสภาพรถ บริการอาหาร เครื่องดื่ม แนะนำข้อมูลเส้นทางการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามเส้นทางถนนสายหลักและสายรองในทุกจังหวัดทั่วประเทศ" นายการุณ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์ระบุปี 2561 ไทยพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น 51.6%

Posted: 29 Dec 2017 10:05 PM PST

บ้านสมเด็จโพลล์ระบุปี 2561 ประเทศไทยพร้อมจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น 51.6% อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนมากที่สุดคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ 26.2%

 
 
 
30 ธ.ค. 2560 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจผลงานของรัฐบาล โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่ อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,248 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 21 - 25 ธันวาคม 2560 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง 
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อ ความพึงพอใจผลงานของรัฐบาลในปี 2560 ซึ่งในปี 2560 ได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีกระแสข่าวว่าอาจจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักการเมืองที่มีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
 
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจผลงานของรัฐบาลในปี 2560 อันดับแรกคือพอใจปานกลาง ร้อยละ 42.5 อันดับที่สองคือ พึงพึงพอใจมากร้อยละ 35.7 และ อันดับที่สามคือ พึงพอใจน้อย ร้อยละ 21.8 คิดว่าการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล จะทำให้การบริหารงานประเทศดีขึ้น ร้อยละ 47.7 รองลงมาคือ ไม่ใช่ ร้อยละ 28.1 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 24.2 และอยากให้รัฐบาล นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนมากที่สุด อันดับแรกคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ร้อยละ 26.2 อันดับที่สองคือปัญหาด้านการศึกษา ร้อยละ17.1 และ อันดับที่สามคือ ปัญหายาเสพติดและการพนัน ร้อยละ 16.7
 
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าในปี 2561 ประเทศไทยพร้อมจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ร้อยละ 51.6 รองลงมาคือ ไม่พร้อม ร้อยละ 28.5 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.9 การเลือกตั้งท้องถิ่นคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด อบจ. นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล อบต. เป็นต้น และอยากได้นักการเมือง ที่มีคุณสมบัติแบบที่มีการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ร้อยละ 24.4 มากที่สุด รองลงมาคือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ร้อยละ 21.1 และมีความขยันทุ่มเทในการทำงาน ร้อยละ 20.0
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรเพื่อสิทธิคนข้ามเพศฟ้อง 'วอลมาร์ท' กรณีปล่อยให้หญิงข้ามเพศถูกเหยียดเพศในที่ทำงาน

Posted: 29 Dec 2017 09:42 PM PST

พนักงานหญิงข้ามเพศในห้างสังกัดของวอลมาร์ทถูกเหยียดเพศและข่มเหงรังแกในแบบอื่นๆ หลังจากที่เธอแปลงเพศเป็นหญิง ทำให้องค์กรคุ้มครองด้านกฎหมายคนข้ามเพศฟ้องร้องบรรษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่นี้ที่แม้จะมีนโยบายให้คนข้ามเพศมีส่วนร่วมแต่ก็กลับปล่อยให้มีการข่มเหงรังแกกันบนฐานเรื่องเพศสภาพเกิดขึ้น

 
 
 
30 ธ.ค. 2560 มูลนิธิเพื่อการศึกษาและคุ้มครองทางกฎหมายแก่คนข้ามเพศ (Transgender Legal Defense and Education Fund หรือ TLDEF) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานในสหรัฐฯ เป็นตัวแทนของหญิงข้ามเพศชาวนอร์ทแคโรไลนารายหนึ่งฟ้องร้องห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่วอลมาร์ทในระดับประเทศ หลังจากที่เธอถูกเหยียดและเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเพราะเพศสภาพของเธอ
 
หญิงข้ามเพศคนดังกล่าวชื่อ ชาร์ลีนน์ โบสต์ เคยเป็นคนงานของห้างค้าปลีกแซมส์คลับในคันนาโปลิส นอร์ทแคโรไลนา ซึ่งเป็นห้างที่อยู่ภายใต้สังกัดของวอลมาร์ท เธอทำงานที่นั่นตั้งแต่ปี 2554 จนถึง 2558 ในช่วงนั้นเองที่เธอเริ่มแปลงเพศไปเป็นหญิงแต่ทว่ามันก็ต้องทำให้เธอต้องทนกับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เป็นมิตร
 
โบสต์เล่าว่าเมื่อเธอแสดงออกเป็นหญิงข้ามเพศ เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานของเธอก็เหยียดและเลือกปฏิบัติกับเธอด้วยการถูกลงโทษทางวินัยอย่างไม่สมเหตุสมผล มีการลงใจแกล้งเรียกเพศเธอผิดหรือพูดถึงเพศสภาพเธอในเชิงเย้ยหยันถากถาง เพื่อนร่มงานบางคนถึงขั้นเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ของเธอด้วยการเรียกเธอว่า "ไอ่ตุ๊ด" หรือทำเหมือนเธอเป็นตัวประหลาด
 
ในการยื่นฟ้องครั้งนี้มีการระบุว่าครั้งหนึ่งเคยมีลูกค้าของวอลมาร์ทแจ้งร้องเรียนหลังจากได้ยินพนักงานคนอื่นเรียกโบสต์ว่า "ไอ่ตุ๊ด" ซึ่งโบสต์บอกว่าคนในตำแหน่งหัวหน้าก็ไม่ออกมาหยุดการข่มเหงรังแกเธอ
 
"ถึงแม้ว่าจะทำงานในตำแหน่งของตัวเองได้ดี แต่แซมส์คลับก็ปฏิบัติต่อฉันอย่างโหดร้ายและไม่เคารพในความเป็นมนุษย์เพียงเพราะฉันเป็นผู้หญิง" โบสต์กล่าว
 
โบสต์บอกอีกว่าที่เธอฟ้องร้องคดีในครั้งนี้เพราะเธอมองว่าคนข้ามเพศควรจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในการทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ต่อชุมชน โดยที่ปราศจากการถูกมองอย่างอคติ
 
มูลนิธิ TLDEF ระบุว่าการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับโบสต์นั้นละเมิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิพลเมืองปี 2509 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติทางเพศ ละเมิดกฎหมายคุ้มครองคนพิการของอเมริกัน และละเมิดกฎหมายการจ้างงานอย่างเท่าเทียมกันของรัฐนอร์ทแคโรไลนา
 
ถึงแม้วอลมาร์ทจะมีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนข้ามเพศแต่ จิลเลียน ไวสส์ ผู้อำนวยการบริหารของ TLDEF ก็บอกว่านโยบายอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการปฏิบัติจริงตามกระบวนการคุ้มครองคนทำงานด้วย 
 
โดยเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการเพื่อความเสมอภาคในโอกาสของการจ้างงานของสหรัฐฯ (EEOC) พบหลักฐานว่าโบสต์ถูกเหยียดเลือกปฏิบัติและต้องอยู่ในสภาพการทำงานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเธอบนฐานของเพศสภาพ ตามที่เธอบอกจริง ทำให้องค์กรฮิวแมนไรท์แคมเปญลดระดับดัชนีความเท่าเทียมของวอลมาร์ทลงด้วย ซึ่งไวสส์กล่าวชม EEOC ในเรื่องนี้และบอกว่าเป็นการส่งสารอย่างหนักแน่นต่อวอลมาร์ทว่าพวกเขาจะไม่ทนกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน
 
เอมส์ ซิมมอนส์ ผู้อำนวยการองค์กรนโยบายคนข้ามเพศเพื่อความเท่าเทียมแห่งนอร์ทแคโรไลนาก็กล่าวชื่นชมไปในทางเดียวกันและกล่าวแสดงการสนับสนุนโบสต์กับผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ โดยบอกว่าการปฏิบัติต่อคนข้ามเพศอย่างไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องผิดกฎหมายและยอมรับไม่ได้แซมส์คลับจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้
 
ทางโฆษกของวอลมาร์ทกล่าวว่าพวกเขายังคงมีนโยบายการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ "ที่เข้มแข็ง" และ "สนับสนุนความหลากหลายและการการมีส่วนร่วมในที่ทำงานรวมถึงจะไม่ทนต่อการโต้ตอบหรือเลือกปฏิบัติใดๆ" แต่ทางโฆษกของวอลมาร์ทก็อ้างว่าพวกเขาไล่โบสต์ออกด้วยเหตุเรื่อง "สมรรถภาพ"
 
สื่อ Pink News ระบุว่าในสหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายระดับประเทศที่ห้ามการเหยียดเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นคดีนี้จึงขึ้นอยู่กับการตีความบทบัญญัติด้านสิทธิพลเมืองที่ห้ามการเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศ โดยที่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการท้าทายการตีความบทบัญญัตินี้อย่างร้อนแรง จากการตีความต่างกันระหว่างอัยการสูงสุดสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่าบทบัญญัติดังกล่าวระบุถึงเพศชายกับหญิงเท่านั้น ขณะที่สมัยเจ้าหน้าที่สมัยรัฐบาลบารัค โอบามา มีการโต้แย้งด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติดังกล่าวให้การคุ้มครองเพศวิถี (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (gender identity) ของบุคคลด้วย
 
สิ่งที่ทำให้เกิดการถกเถียงกฎหมายตัวนี้ขึ้นมาอีกเป็นเพราะเมื่อไม่นานนี้มีคดีที่โดนัลด์ ซาร์ดา ครูสอนการดิ่งพสุธาที่เคยทำงานให้บริษัทอัลติจูตเอ็กซ์เพรสฟ้องร้องว่าทางบริษัทไล่เขาออกเพียงเพราะเพศวิถีของเขาที่เป็นเกย์ แต่รัฐบาลกลางของทรัมป์ก็แทรกแซงคดีนี้โดยอ้างว่าการเหยียดเลือกปฏิบัติต่อเกย์ไม่ผิดกฎหมายในระดับประเทศของสหรัฐฯ
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Walmart sued for discrimination by transgender employee who was branded a 'freak' and a 'faggot', Pink News, 28-12-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัฒนธรรมไทยเราจะไม่ค่อยนึกถึงบุญคุณของนักวิทยาศาสตร์

Posted: 29 Dec 2017 04:21 PM PST

ก็เหมือนเวลาคนรถคว่ำแล้วรอดมาได้ ไม่เห็นใครขอบคุณกู้ภัยกับหมอเลย โม้แต่เรื่องพระที่แขวนคอ ดูเหมือนคนไทยส่วนใหญ่จะไม่ตระหนักว่า คุณภาพชีวิตของเราในปัจจุบัน ซึ่งสุขสบายและปลอดภัยกว่ากษัตริย์เมื่อร้อยปีก่อน เกิดมาจากการทำความเข้าใจธรรมชาติ ต่อยอดกันมาเรื่อยๆของเหล่านักวิทยาศาสตร์

ทำไมวันนี้เรามีอาหารมากมายเหลือเฟือ เพราะเทคโนโลยีและเครื่องจักร ไม่งั้นเราคงผลิตอาหารไม่พอกิน ขนส่งและเก็บรักษาไม่ได้ เลยต้องมีคนอดตายเสมอ ไม่งั้นก็ห่าลงตายเป็นล้านทีนึง ทำไมแม่คลอดลูกหรือมีดบาดแล้วไม่ตาย เพราะ Louis Pasteur ชี้ให้เห็นเชื้อโรคที่ตามองไม่เห็น ทำไมวันนี้เรายังไม่ตาย เพราะ Edward Jenner ป้องกันเราด้วยวัคซีน ทำให้ไม่มีห่าลงอีกต่อไป (ช่วยชีวิตคนได้ 9 ล้านคนต่อปี¹)

ทำไมเราเดินทางไปไหนต่อไหนได้รวดเร็ว สื่อสารกันได้ทันที มีความรู้ทุกอย่างในอินเทอร์เน็ต เพราะวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ที่เริ่มต้นมาจาก Sir Isaac Newton ทำไมเราไม่ถูกฆ่าตายเมื่อออกจากบ้าน ทำไมประเทศเรามีสันติภาพ เพราะการผลิตเหลือเฟือ และการเดินทางสื่อสารสะดวก ทำให้เราเลิกฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรกันเหมือนสมัยโบราณ เราชอบนึกถึงสมัยก่อนแบบโรแมนติกขวัญเรียม แต่สมัยนั้นคนอุ้มฆ่ากันง่ายๆ และยากจะได้รับความยุติธรรม

สังเกตทัศนคติต่อวิทยาศาสตร์ของคนไทยได้จากโพสต์ข่าวการทดลองวิทยาศาสตร์ จะต้องมีเมนต์ว่า "ว่างมาก" คือเราไม่เห็นว่าความเข้าใจธรรมชาตินั้นมีประโยชน์ตรงไหนเลยแม้สักนิด

เพราะเรามองไม่เห็นว่าคุณภาพชีวิตตอนนี้ มาจากบุญคุณของวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น ไม่งั้นตอนนี้ "ทุกคน" จะต้องทำนาเลี้ยงสัตว์เพียงเพื่อให้พอจะเลี้ยงปากท้องตัวเองเท่านั้น และเราจะมีอายุเฉลี่ยแค่ไม่ถึง 50 เพราะเชื้อโรคไม่มียารักษา เด็กเล็กส่วนใหญ่จะตาย คนท้องส่วนนึงก็จะตาย คนที่ถูกมีดบาด ตะปูตำ หรือแขนขาหักก็จะต้องตายเพราะติดเชื้อ

และคนส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็นโลกนอกหมู่บ้านของตัวเอง

เพราะวัฒนธรรมไทยมองว่าการลงทุนทำความเข้าใจธรรมชาตินั้นเสียเวลาเปล่า (งานที่มีค่าคือข้าราชการ พระ ดารานักร้อง นักธุรกิจ พนักงานประจำ) สังคมไทยจึงไม่มีนักวิทยาศาสตร์เซเลป เด็กไทยเราจึงไม่ค่อยเห็นนักวิทยาสตร์เป็นฮีโร่ ระบบการศึกษาแบบ "กระทรวงเป็นศูนย์กลาง" ทำให้เจ้าหนูจำไม กลายเป็นเด็กที่เกลียดวิทยาศาสตร์ เกลียดความเข้าใจธรรมชาติ โตเป็นผู้ประกอบการก็เลยไม่เน้นวิจัยและพัฒนา² เอาแต่รับจ้างผลิตกันมาหลายสิบปี เราเลย "กำลัง" พัฒนาอยู่นั่นแล้วไปไหนไม่ได้ เพราะคิดอะไรใหม่เองไม่เป็น ต้องรอซื้อและรอเค้าจ้างผลิตกันเรื่อยไป

 

เชิงอรรถ

¹ www.unicef.org/pon96/hevaccin.htm

List of countries by research and development spending

 

ที่มา: เฟสบุ๊คแฟนเพจ ไม่มีใครพูด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการเรียกร้องมากกว่า”ค่าจ้างกันตาย” กรณีสหภาพแรงงานมิตซูบิชิอิเล็คทริค

Posted: 29 Dec 2017 04:01 PM PST

 

 
ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานมิตซูบิชิอิเล็คทริคซึ่งนำสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยหลายครั้งระหว่างสหภาพแรงงานและฝ่ายผู้ประกอบการในช่วงปลายปี 2560 จนนำสู่การระงับการผลิตของฝ่ายนายจ้างโดยไม่จ่ายค่าตอบแทนผู้ใช้แรงงานที่เข้าร่วมการเรียกร้องจนกว่าจะมีการเจรจาใหม่อีกรอบในช่วงต้นเดือนมกราคม 2561 ส่งผลให้พนักงานกว่า 1,800 คนจะไม่ได้รับค่าตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในกระบวนการทำลายสหภาพแรงงานโดยเป็นการกดดันทางอ้อมให้สมาชิกสหภาพแรงงานถอนตัวและรับเงื่อนไขที่ฝ่ายนายจ้างนำเสนอ หัวใจสำคัญที่นำสู่กรณีพิพาทระหว่างกันมีอยู่ สามเงื่อนไขหลักคือ 1.ฝ่ายนายจ้างปฏิเสธการขึ้นเงินเดือนจากฐาน 7.5% แต่ใช้อัตราจ่าย 400 บาท /เดือน/ คนแทนและอัตราสูงสุดอยู่ที่ 6% 2.การเปลี่ยนเงื่อนไขการทำงานล่วงเวลาโดยให้พนักงานทำงานเป็นกะ อันส่งผลต่อการขาดรายได้จากการทำ OT 3.ประเด็นยกเลิกการเก็บสมทบเข้าสหภาพแรงงานโดยหักจากเงินเดือนโดยตรงอันส่งผลให้สมาชิกสหภาพแรงงานส่วนหนึ่งสามารถถอนตัวจากการเป็นสมาชิกได้โดยง่ายมากขึ้นตามความละเอียดอ่อนของประเด็นทางการเมืองในสถานประกอบการ ทั้งนี้กระแสสังคมให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องสวัสดิการส่วนเพิ่มของสหภาพแรงงานได้แก่โบนัส 8 เดือน หรือประกันสุขภาพกลุ่มต่างๆ แต่หัวใจหลักคือสามประเด็นข้างต้นที่ฝ่ายผู้ประกอบการมีเป้าปะสงค์หลักในการทำลายสหภาพแรงงานและลดต้นทุนการผลิตรวมถึงอำนาจต่อรอง 
 
บทความนี้มุ่งอธิบายให้เห็นถึงความชอบธรรมในการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานเพื่อมีชีวิตที่ดีกว่าค่าจ้างกันตาย  การรวมตัวเรียกร้องในชีวิตประจำวันทั้งในที่ทำงาน ท้องถนน และพื้นที่ต่างๆในชีวิตประจำวันจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การสถาปนารัฐสวัสดิการ-ประชาธิปไตยเป้าหมายระยะยาวของประชาชนทุกคน บทความนี้จะแบ่งการพิจารณาออกเป็น 1.เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีในระบบทุนนิยม 2.การทำลายการต่อสู้ในสถานประกอบการคือการทำลายประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันและคือการส่งเสริมให้เผด็จการเข้มแข็งมากขึ้น 3.บทสรุปเส้นทางของการต่อสู้ต่อไป
 

1.เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีในระบบทุนนิยม

มันถูกต้องว่าเราอยู่ในระบบทุนนิยม แต่มิใช่หมายความว่าเราจะได้อำนาจและต้องยอมจำนนกับการทำงานของทุนผ่านการเชื่อค่านิยมของมันแบบไม่ตั้งคำถามอะไรเลย เมื่อร้อยกว่าปีก่อนไม่มีใครเชื่อว่าถ้าจ้างคนผิวสีด้วยค่าจ้างเดียวกับคนผิวขาวแล้วระบบทุนนิยมจะอยู่ได้ ร้อยปีที่แล้วคำว่า "ลาพักร้อน" ไม่อยู่ในพจนานุกรมของผู้ใช้แรงงาน การจ้างแรงงานเด็กเป็นเรื่องปกติสามัญ หรือการจ้างงานในสภาพที่ย่ำแย่ไม่มีความปลิดภัยก็ถูกเชื่อว่าทำได้ไม่มีใครถูกบังคับให้มาทำ ดังนั้นหากจะมาทำงานแล้วนิ้วขาด ถูกไฟไหม้ตายก็เป็นเรื่องของผู้ใช้แรงงานที่ต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง แต่แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้หายไปตามกาลเวลา กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนอย่างมากซึ่งเคยได้รับการยอมรับในช่วงเวลาหนึ่งก็ถูกแทนที่ด้วยกฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้นตามการต่อสู้ของคนส่วนใหญ่ในสังคม ดังนั้นการผลิตสินค้าต่างๆในระบบทุนนิยมจึงไม่ใช่เรื่องเพียงแค่ผลิตของเพื่อขายเท่านั้นแต่มันเกี่ยวข้องกับการควบคุมและต่อสู้ของผู้คนด้วยเช่นกัน การพิจารณาเรื่องนี้จึงไม่สามารถใช้เพียงแค่หลักเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคที่มองหน่วยการวิเคราะห์เป็นเพียงแค่ปัจเจกที่มีผลรวมของรสนิยมหากแต่ต้องอาศัยหลักเศรษฐศาสตร์การเมืองในการมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมเช่นเดียวกัน

ในหนังสือ Grundrisse ของ คาร์ล มาร์กซ์ได้ระบุถึงการจงใจเข้าใจผิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่พยายามอธิบายว่า นายทุน(ที่เป็นคน-นิติบุคคล) ได้ซื้อ แรงงาน (ที่เป็นคน) ด้วยค่าจ้างพร้อมกำหนดช่ะวโมงการทำงานที่แน่นอน ด้วยมูลค่าที่เท่าเทียมกัน เช่นค่าจ้าง 300 บาท/วัน ก็คือค่าจ้างที่แรงงานยอมรับและนำ 300 บาทนี้ไปแลกกับความเหนื่อยล้าด้วยกำลังกาย-สมองที่พวกเขาได้ลงไปหนึ่งวัน แต่การสรุปเช่นนี้ก็เป็นเพียงการรวบรัดเพื่อให้หน่วยวิเคราะห์ของความขัดแย้งกลายเป็นเพียงแค่ปัจเจกชนเท่านั้น เพราะสิ่งที่นายทุนซื้อไม่ได้ซื้อแรงงาน (ในฐานะมนุษย์) แตเขาซื้อแรงงานในฐานะสินค้า (Labour Power) อันหมายความว่าไม่ใช่ทุกคนที่เข้าไปในระบบจะมีมูลค่าทันที พวกเขาต้องมีความแข็งแรงทางกาย มีประสบการณ์ มีทักษะที่จะทำให้เกิดมูลค่าขึ้นมาในการผลิต ทุนซื้อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ซื้อ "ผู้ใช้แรงงาน" ในระบบทุนนิยมได้วางเงื่อนไขให้ ราคาของ ผู้ใช้แรงงานในฐานะสินค้าน้อยกว่ามูลค่าสินค้าที่พวกเขาสร้างขึ้นเสมอ ส่วนต่างที่ว่านี้คือมูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) หรือหากเทียบง่ายๆ คนงาน 10 คน ค่าจ้าง 300 สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนโลหะมูลค่า 1000 บาท ให้กลายเป็นเครื่องปรับอากาศราคา 10,000 บาท  มูลค่าส่วนเกินนี้ก็คือ 6,000 บาท นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคเรียกสิ่งนี้ว่า "กำไร" อย่างไรก็ตามกำไรส่วนมากถูกวนกลับมาที่ต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าส่วนเกินต่อไปดังสมการ

มูลค่าสินค้า (ราคาแอร์) = ทุนคงที่ (โรงงาน/เครื่องจักร/วัตถุดิบ)+ ทุนแปรผัน (ค่าจ้างคนงานทำแอร์ ยิ่งผลิตแอร์มากก็ต้องจ่ายค่าจ้างมาก)+ มูลค่าส่วนเกิน (กำไรของผู้ประกอบการ)
 
กำไรจะถูกส่งกลับไปที่ต้นทุนคงที่เป็นหลักเพื่อให้มีวัตถุดิบที่มากขึ้นโดยใช้ผู้ใช้แรงงานเท่าเดิมหรือเพิ่มในสัดส่วนที่น้อยกว่าเพื่อให้ได้มูลค่าส่วนเกินที่สูงขึ้น และกำไรที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
 
เช่นนั้นค่าจ้างควรจะอยู่ที่เท่าไร ระบบทุนนิยมจะกำหนดให้ค่าจ้างซึ่งก็คือราคาของแรงงานในฐานะสินค้าต่ำที่สุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพราะระบบจำต้องอาศัยคนงานในการทำงานไม่สามารถปล่อยให้อดตาย และเมื่อแรงงานมีอายุขัยแก่ ป่วย หมดสภาพการทำงานจากธรรมชาติของมนุษย์ได้ ค่าจ้างจึงถูกออกแบบให้ผู้ใช้แรงงานสามารถสร้างแรงงานรุ่นต่อไปได้ในอนาคตด้วยค่าจ้างที่ต่ำที่สุดเช่นเดียวกัน แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการคำนวณออกมาเป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น กระบวนการสร้างแรงงานนอกจากการได้เงินมาซื้อเนื้อหนังเลือดเนื้อของตัวเองกลับคืนมาผ่านค่าอาหาร ยา ที่อยู่อาศัยแล้ว พวกเขายังต้องการตัวตนทางสังคม และตัวตนทางสังคมนี้ก็กลายเป็นหนามยอกอกของระบบทุนนิยมมาตลอดมากกว่าร้อยปี มันไม่สามารถคำนวณได้ทางบัญชี แต่มันคือภาพสะท้อนของการต่อสู้ทางชนชั้นและประชาธิปไตย สะท้อนออกมาว่าสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานต้องการนั้นมีมากกว่าเนื้อหนังมังสาที่จะกลับไปรับใช้ทุนในวันรุ่งขึ้น พวกเขาต้องการชีวิต ความรัก การพักผ่อน ต้องการอาหารที่ดีขึ้น ต้องการความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ต้องการเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น โดยสรุปพวกเขาต้องการเป็นมนุษย์มากขึ้น และเป็นแบบนี้ในทุกระบบการผลิตเพียงแค่ระบบทุนนิยมทำให้ความต้องการของพวกเขามากขึ้นสวนทางกับการพยายามขูดรีดผู้ใช้แรงงาน
 
หากถามว่าข้อเรียกร้องของพวกเขามากเกินไปหรือไม่ หากย้อนกลับไปดูในสมการมูลค่าแรงงานไม่อาจเกินมูลค่าสินค้าได้เลย คำอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเป็นไปเพื่อการเล่นกลทางบัญชีที่จะทำให้มูลค่าส่วนเกินขยายออกตลอดเวลาและทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากยอมรับสภาพค่าจ้างต่ำสุด เมื่อพิจารณาก็จะพบว่าจาก ปลายศตวรรษที่ 19 ในประเทศอุตสาหกรรมชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 60 ชั่วโมง/สัปดาห์ ปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยที่ค่าจ้างของผู้คนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต และไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเท่านั้นแต่ในปัจจุบันที่ทั่วโลกใช้เทคโนโลยีการผลิตใกล้เคียงกัน ประเทศที่มีดัชนีของเสรีภาพและประชาธิปไตยสูงก็มีชั่วโมงการทำงานน้อยและได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นการได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นและเวลาทำงานที่น้อยลงจึงเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการมนุษย์  ตามข้อมูลชั่วโมงการทำงานต่อปีด้านล่าง
 

2.การทำลายการต่อสู้ในสถานประกอบการในไทย

มนุษย์ใช้เวลาที่ลืมตาและปฏิสัมพันธ์กับคนส่วนใหญ่ในที่ทำงาน เป็นพื้นที่ที่พวกเขาใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์มากที่สุดแต่ในระบบทุนนิยมในไทยกลับทำให้พื้นที่ที่คนจะได้ปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ทำให้คนกลายเป็นสัตว์ เป็นสัตว์ที่ต้องทำตามคำสั่ง สัตว์ที่ไม่ตั้งคำถาม สัตว์ที่หัวหน้าคอยชี้นิ่ว และสัตว์ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ระบบทุนหวังในการโยนเศษเงินให้เราไปซื้อความเป็นมนุษย์กลับคืนในพื้นที่ขงสัตว์เช่นเตียงนอน อาหาร การเดินทาง ซึ่งเป็นพื้นที่อันปราศจากการปฏิสัมพันธ์ การรวมตัวผ่านสหภาพแรงงานจึงเป็นหนึ่งในกลไกในการทวงถามถึงมูลค่าส่วนเกินจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนคนให้กลายเป็นสัตว์ แม้การต่อสู้ในระบบทุนนิยมจะไม่สามารถเปลี่ยนให้เราเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเงื่อนไขประชาธิปไตยอื่นๆ หนังสือ Democracy and National Identity in Thailand (2003) โดย  Michael Connors ได้ชี้ให้เห็นว่าการที่ประชาธิปไตยไทยอ่อนแอด้านหนึ่งก็มาจากการพยายามพัฒนา กลไก อประชาธิปไตยในอัตลักษณ์ของสังคมไทยและหนึ่งในนั้นคือการเติบโตของลัทธิทุนนิยมที่ล้นเกินกว่าชาติตะวันตกใดๆเสียอีกเนื่องด้วยมันอยู่ในบริบทที่คนไร้อำนาจทางการเมือง เรื่องนี้จึงไม่แปลกใจที่คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความหวังลมๆแล้งๆว่าตัวเองสามารถเกาะเกี่ยวกับระบบทุนนิยมเข้าไปได้ ถ้าขยันประหยัดอดออม เชื่อฟังและอยู่เป็น ซึ่งไม่เป็นจริงทั้งในทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมืองคนไทยมีชีวิตที่เปราะบางมากและไร้อำนาจการต่อรองส่วนหนึ่งมาจากการขาดองค์กรในการต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานในสถานประกอบการอย่างสหภาพแรงงาน ที่ถูกกีดขวางโดยรัฐ และมายาคติขิงคนไทยที่เชื่อถือศรัทธาในขั้นบันไดของระบบทุนนิยม
 
การระงับการผลิตที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการบริษัทมิตซูบิชิอิเล็คทริคเป็นภาพสะท้อนการพยายามทำลายสหภาพแรงงานอย่างเป็นระบบด้วยการพยายามทำให้ ลูกจ้างถอนตัวจากการต่อสู้ และรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมของนายจ้างซึ่งยื่นคำขาดว่าต้องยอมรับเงื่อนไขก่อนถึงจะเจรจาเรื่องโบนัสและอื่นๆ อันเป็นการพยายามลดทอนอำนาจของสหภาพแรงงานอย่างเห็นได้ชัด คำถามคือการทำลายสหภาพแรงงานและการรวมตัวในรูปแบบต่างๆเกี่ยวกับชีวิตของพวกเราอย่างไร สำหรับประเทศไทยที่ผู้ใช้แรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ถึง 3% สิ่งที่ตามมาคือสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานที่ตกต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็งอย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่ทำให้คุณภาพของแรงงานมากขึ้น มีชีวิตที่ดี เศรษฐกิจเติบโตและความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในระดับสูง ผลประโยชน์ระยะยาวที่จะทำให้ชีวิตปลอดภัยทั้งการเกษียณอายุ การเลิกจ้าง การรักษาพยาบาล เมื่อเราไม่มีการต่อสู้รวมตัวเรียกร้องแสดงพลัง อาศัยแต่การ "อยู่เป็น"แบบปัจเจกชน สิ่งที่เราได้รับคือการแบกความเสี่ยงทั้งหมดด้วยตัวเอง และทำให้เราไม่รู้สึกเป็นเจ้าของประเทศมากพอจนทำให้ ชนชั้นนำสามารถทำลายประชาธิปไตยได้บ่อยครั้งและทุกครั้งที่ทำรัฐประหารพวกเขาก็จะเพิ่มอำนาจของกลุ่มทุนเข้าไปมากขึ้นทุกครั้งไป
 

3.บทสรุปของการต่อสู้

เราทุกคนคือสมาชิกสหภาพมิตซูบิชิอิเล็คทริค แม้ว่าเราไม่ได้ผลประโยชน์จากข้อเรียกร้องของเขาโดยตรง และไม่ได้รับผลกระทบจากการไม่ทำตามข้อเสนอของนายจ้างโดยตรง แต่พวกเราเผชิญความเปราะบางเดียวกัน พนักงานส่วนมากรับค่าจ้างใกล้เคียงกับค่าจ้างขั้นต่ำ หรือประมาณ 8,000-10,000 บาท/เดือน เป็นตัวเลขที่น้อยมากพวกเขาถูกผลักให้ทำงานล่วงเวลาวันละ 12 ชั่วโมงเพื่อที่จะได้รับค่าจ้างราว 17,000-20,000 บาท/เดือน สำหรับคนทำงานนับสิบปีตัวเลขเหล่านี้ยังน้อยไป แม้คิดรวมกับโบนัสต่อปีแล้วเท่ากับได้เพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 5 พันบาทเท่านั้นเอง หรือเทียบเท่ากับการมีเงินเดือน 22,000 บาทโดยต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง (เทียบเท่าคนรายได้16,000/เดือนสำหรับการทำ 8 ชม./วัน  แม้ในรายรับที่รวมโบนัสและโอทีแล้ว!)   ในประเทศที่เราถูกผลักให้ต้องซื้อทุกอย่างเพื่อความปลอดภัย ต้องซื้อการศึกษาที่ดีเพื่อลูกไม่ต้องเป็นแบบเรา ซื้อการรักษาพยาบาลที่แพงมหาศาลเพื่อให้เราที่เจ็บป่วยจากการทำงานสามารถมีชีวิตไปรับใช้พวกนายทุนต่อไปได้ เก็บออมด้วยเศษเงินที่เหลือจากการซื้อสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ประชาชนในฐานะสิทธิเพื่อมีชีวิตยามแก่ชราไม่ให้ลำบากมากนัก ถ้าเราเห็นดีเห็นงามกับการพยายามทำลายสหภาพแรงงานของฝ่ายนายจ้างก็คือการยอมรับจุดเริ่มต้นของการทำลายประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของฝ่ายเผด็จการเพิ่มอำนาจทุนทำลายการมีส่วนร่วมและการต่อสู้ของประชาชน
 
 
 
เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เป็นอาจารย์อยู่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการเรียกร้องมากกว่า"ค่าจ้างกันตาย" กรณีศึกษาการต่อสู้ของสหภาพแรงงานมิตซูบิชิอิเล็คทริค ธันวาคม 2560
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ความคิดเห็น: