โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หา ‘น้ำยา’ เจอแล้ว ผอ.นิติวิทย์เผยน้ำยาตรวจ DNA สำหรับอวัยวะ ‘น้องเมย’ มีเพียงพอ

Posted: 03 Dec 2017 09:44 AM PST

ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แก้ข่าวเรื่อง 'ไม่มีน้ำยา' ตรวจหา DNA อวัยวะภายในของน้องเมย ยันตอนนี้มีน้ำยาเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเร่งซื้อแต่อย่างใด คาดรู้ผลภายในสัปดาห์นี้

<--break- />เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2560 สมณ์ พรหมรส ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่าน้ำยาตรวจสารพันธุกรรมของสถาบันฯ หมดสต๊อก และต้องรองบประมาณในการจัดซื้อ ทำให้ผลการตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่าเป็นอวัยวะของ น้องเมย นายภคพงศ์ ตัญกาจน์ นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ต้องล่าช้าออกไปนั้น

โดยระบุว่า น้ำยาตรวจสารพันธุกรรมของสถาบันฯ ไม่ได้หมดตามที่มีข่าวออกไป และยังมีน้ำยาเพียงพอสำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมในอวัยวะภายในทั้งสามชิ้นที่ได้รับมา ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเร่งซื้อน้ำยาแต่อย่างใด แต่ในการตรวจหาสารพันธุกรรมจากชิ้นเนื้อซึ่งผ่านการดองน้ำยาฟอร์มาลีนจะใช้เวลาประมาณ 7- 15 วัน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้น้ำยา และเทคนิคพิเศษในการดึงฟอร์มาลีนออกจากชิ้นเนื้อและมีกระบวนการทำงานหลายขั้นตอน โดยการสกัดและตรวจสารพันธุกรรมจากชิ้นเนื้อดังกล่าวได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2560 ซึ่งคาดว่าในกรณีของน้องเมยจะรู้ผลตรวจดีเอ็นและส่งมอบผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมให้กับคณะกรรมการแพทย์ เพื่อจัดทำรายงานในช่วงสัปดาห์หน้า

ขณะที่เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่าสมณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจชันสูตรศพ น้องเมย ว่า หลังจากสถาบันฯรับศพมาชันสูตรเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2560 คณะกรรมการแพทย์ของสถาบันฯ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์นิติเวชและพยาธิแพทย์ของสถาบันฯ ได้ทำการชันสูตรศพรวมถึงบาดแผลภายนอกและอวัยวะภายในของนายภคพงษ์ที่ถูกส่งมาพร้อมกับร่างเรียบร้อยแล้ว ต่อมาพนักงานสอบสวนได้นำส่งอวัยวะภายในซึ่งดองอยู่ในน้ำยาดองศพ(ฟอมาลีน) ส่งให้สถาบันฯ ตรวจชันสูตรเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา แพทย์จึงได้ทำการตรวจลักษณะทางกายวิภาคภายนอกและตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กประมาณนิ้วหัวแม่มือจากอวัยวะต่างๆ โดยจะทำเป็นสไลด์แก้วเพื่อตรวจทางจุลพยาธิวิทยาหรือการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาพยาธิสภาพโดยละเอียด ซึ่งต้องกระทำอย่างละเอียดตามมาตรฐานวิชาชีพ

"ชิ้นเนื้อจากอวัยวะภายในที่ได้รับมาเพิ่มเติมนั้นจำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันว่าเป็นอวัยวะของนายภคพงศ์จริง จึงได้ส่งไปที่ห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์ของกองสารพันธุกรรม แต่ผลการตรวจยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากสารพันธุกรรมซึ่งผ่านการดองน้ำยาฟอร์มาลีนมีการเสื่อมสลายมาก การตรวจวิเคราะห์รูปแบบสารพันธุกรรมจึงทำได้ยาก จำเป็นต้องใช้น้ำยาสกัดสารพันธุกรรมแบบพิเศษ Formalin-fixed Paraffin-embedded (FFPE) และต้องดำเนินการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ จึงยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ในขณะนี้" สมณ์ระบุ

สมณ์ระบุด้วยว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะดำเนินการตรวจชันสูตรศพนายภคพงศ์ด้วยความโปร่งใส ตามมาตรฐานและเป็นธรรม แต่ขอเวลาให้กับคณะกรรมการแพทย์ทำงานอย่างเต็มที่ โดยจะรายงานผลการชันสูตรศพให้กับพนักงานสอบสวนและญาติผู้เสียชีวิตตามขั้นตอนต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า สาเหตุที่การตรวจชิ้นเนื้อยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากตั้งต้นตรวจสอบว่าอวัยวะที่นำส่งจากรพ.พระมงกุฎเกล้า มีดีเอ็นเอตรงกับศพหรือไม่ จึงต้องตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอก่อน แต่ปรากฎว่าน้ำยาสกัดสารพันธุกรรมแบบพิเศษที่สำนักนิติวิทยาศาสตร์ใช้ตรวจนั้น หมดเกลี้ยงจากสต็อก และยังรองบประมาณในการจัดซื้อ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘ช้อปช่วยชาติ’ กลุ่มคนได้ประโยชน์แค่ 7% ของผู้เสียภาษี

Posted: 03 Dec 2017 02:26 AM PST

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจจากมาตรการช้อปช่วยชาติค่อนข้างต่ำ เม็ดเงินสะพัดไม่ถึง 10,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตามปกติอยู่แล้ว จะก่อให้เกิดการชะลอการบริโภคในระยะต่อไป มีกลุ่มคนได้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัดเพียง 7% ของผู้เสียภาษี แนะให้มุ่งเป้าไปที่การมีมาตรการช่วยเหลือคนยากจน เสนอปฏิรูประบบการคลังโดยปฏิรูปกรมจัดเก็บภาษีใหม่ ไม่จัดสรรงบประมาณให้กรมจัดเก็บแต่ให้มีรายได้จากผลงานการจัดเก็บภาษี

ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

3 ธ.ค. 2560 ผศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นว่า หลังการสิ้นสุดของมาตรการช้อปช่วยชาติ (13 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2560) 19 วัน พบว่า ผลของมาตรการช้อปช่วยชาติต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เม็ดเงินสะพัดไม่ถึง 10,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตามปรกติอยู่แล้ว จะก่อให้เกิดการชะลอการบริโภคในระยะต่อไป มีกลุ่มคนได้ประโยชน์โดยตรงค่อนข้างจำกัด เป็นผู้เสียภาษีในอัตราภาษี  20% ขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียง 7% ของผู้ยื่นแบบเสียภาษี ปีนี้การกระตุ้นการใช้จ่ายอันเป็นผลจากมาตรการ ช้อปช่วยชาติมีผลน้อยกว่าปีที่ผ่านมาและมีความจำเป็นน้อยลง ตัวอย่างมาตรการช้อปช่วยชาติปลายปี 2559 การจัดเก็บภาษี  VAT เดือน ม.ค. 2560 อยู่ที่ 245,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ม.ค. 2559 รวม 3,688 ล้านบาท หรือ 1.5% ขณะที่เดือน ธ.ค. 2559 เก็บภาษี VAT ได้ 61,589 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ธ.ค. 2558 ราว 644 ล้านบาท หรือ 1%

ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปีแล้ว มีความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจชนเพดาน 60% ในปี พ.ศ. 2564 ฉะนั้นการออกมาตรการที่อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า คุ้มค่ากับการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ แม้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในขณะนี้ แต่ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังยังไม่สามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าให้มีการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี พ.ศ. 2561 เพราะมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก จึงต้องกู้เงินเพิ่มมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในช่วงปีงบประมาณ 2552-2559 ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณสะสมอยู่ที่ 2,687,027 ล้านบาท หรือคิดเป็นเฉลี่ยปีละ 335,878 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 14.4 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2559 (พูดง่ายๆมีเงิน 100 บาท แต่จ่าย 114.40 บาท) 

ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอให้ปรับกรอบความยั่งยืนการทางคลังใหม่เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ต้องการให้จัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560-2561 กรอบเดิมทำไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับข้อเท็จจริงและเหตุปัจจัยต่าง ๆ ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลดีขึ้น โดยอาจเลื่อนไปให้สามารถดำเนินการให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568-2570 โดยต้องเร่งให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามศักยภาพที่ระดับ 4-5% เป็นอย่างน้อย ปรับโครงสร้างภาษีและเพิ่มภาษีทางตรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาษีที่มีฐานจากทรัพย์สินและภาษีบาป ภาษีธุรกรรมทางออนไลน์ต่าง ๆ ภาษี E-commerce และการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากแรงงานต่างด้าว เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สามารถส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชั่น ตามแผนยุทธศาสตร์กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ได้ทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 นั้น ในปีงบประมาณ 2560 นั้นต้องลดการขาดดุลมาอยู่ที่ระดับ 93,000 ล้านบาท และทำงบประมาณสมดุลหรือเกินดุลได้ 15,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้คืองบประมาณปี พ.ศ. 2560 ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท และ ปี พ.ศ. 2561ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก การลงทุนเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการบูรณาการในระยะยาวให้ประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อลดภาระทางการคลัง และต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและลดการรั่วไหล รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังขึ้นมาใหม่  

ดร.อนุสรณ์ ในฐานะที่เคยทำหน้าที่กรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวเน้นย้ำว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ควรต้องกำหนดขึ้นใหม่นี้ มีความจำเป็นมาก เพราะกรอบเก่าทำไม่ได้แล้ว ต้องกำหนดใหม่เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการทางการคลังให้สอดคล้องกับเป้าหมายกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่ โดยกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่นี้ ต้องสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศโดยยึดหลักเสถียรภาพและความมีวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและยั่งยืนขึ้น มีความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์และงบประมาณให้กลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณด้วยความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น มีหลักประกันว่า ระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่ประชาชนเคยได้รับทั้งเรื่องการศึกษาฟรี สวัสดิการรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์จะมีงบประมาณในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การมีกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ชัดเจนจะช่วยกำกับไม่ให้มีการสร้างภาระหนี้สินให้กับลูกหลาน ภาระการใช้หนี้ของรัฐบาลในอนาคตและเป็นภาระภาษีในอนาคตต่อประชาชนมากเกินไป รวมทั้ง ให้เกิดหลักประกันและความมั่นใจว่าประเทศจะมีงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าได้เคยมีการเสนอให้มีการปฏิรูประบบการคลัง ขณะที่ทำหน้าที่กรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เมื่อหลายปีก่อน แต่ข้อเสนอปฏิรูปดังกล่าวไม่มีการดำเนินการ เวลานี้อยากเสนอปฏิรูประบบการคลังเฉพาะในส่วนการปฏิรูปกรมจัดเก็บภาษีใหม่ ไม่จัดสรรงบประมาณให้กรมจัดเก็บแต่ให้มีรายได้จากผลงานการจัดเก็บภาษี  กรมสรรพากร หรือ กรมสรรพสามิต จะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล 1-2% ของภาษีที่จัดเก็บได้ ยกตัวอย่าง เก็บภาษีได้ 1 ล้านล้านบาท จะได้รับส่วนแบ่ง 10,000-20,000 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการของกรมสรรพากร เช่น เงินเดือนของคณะกรรมการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สรรพากร รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีด้วย หากกรมสรรพากรเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า บอร์ดที่ทำหน้าที่บริหารการจัดเก็บภาษีต้องออกไป หรือ อีกวิธีหนึ่ง คือ การเปลี่ยน กรมจัดเก็บภาษี จากระบบราชการ เป็น องค์กรของรัฐ แบบเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ตลาดหลักทรัพย์ จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับคนทำงานมากขึ้น หรือ ให้สัมปทาน "เอกชน" ในการทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแทนรัฐบางส่วนแต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ

ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าหากมีมาตรการทางเศรษฐกิจออกมาใหม่อยากให้เน้นมุ่งเป้าไปที่คนยากจน เนื่องจากข้อมูลระหว่างปี 2558-2559 จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 20% เป็นคนยากจนที่เพิ่มขึ้นโดยประเทศไม่ได้มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอะไรและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมก็กระเตื้องขึ้นอีกด้วย สะท้อนปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำรุนแรงและมาตรการที่ออกมาไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาส่วนนี้ คนจนเมืองเพิ่มขึ้น  24%  คนจนชนบทในชนบทเพิ่มขึ้น  17%  ทำให้สัดส่วนคนยากจนเทียบกับประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 8.61% คนจนเมืองที่เพิ่มขึ้นมากเป็นผลจากการไม่ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลาสามปีและเพิ่งปรับในปีนี้โดยเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #186 กฎหมายไทยและมาตรวัดรัฐศาสนา

Posted: 03 Dec 2017 01:19 AM PST

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับจุลศักดิ์ แก้วกาญจน์ พิจารณากฎหมาย นโยบายและมาตรการเชิงปฏิบัติต่อศาสนาต่างๆ ในประเทศ ทั้งในเรื่องงบประมาณที่มีความลักลั่น หรือการควบคุมศาสนสถานที่ใช้ระเบียบต่างกัน เช่น วัดขึ้นกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โบสถ์ฮินดูจดทะเบียนแบบมูลนิธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนศาลเจ้าจีนอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย เพราะต้องระวังเรื่องธูปเทียน ฯลฯ

นอกจากนี้ยังชวนพิจารณาเกร็ดกฎหมาย และปัญหาความเป็นรัฐแบบ "กึ่งฆราวาสกึ่งศาสนา" ในมิติต่างๆ กระทบต่อผู้นับถือศาสนา และไม่นับถือศาสนาในรูปแบบใดได้บ้าง "นักบวช" ประเภทใดจะได้ที่นั่งสำรองในรถเมล์-รถไฟฟ้า รวมทั้งสถานภาพที่ไม่ชัดเจนของ "แม่ชี" ที่มหาเถระสมาคม กรมการศาสนา กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ตีความเป็น "ฆราวาส" จึงไม่ได้สวัสดิการรักษาพยาบาล หรือลดหย่อนค่าโดยสารเหมือน "พระสงฆ์" แต่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กลับตีความแม่ชีเป็น "นักบวช" จึงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/maihetpraphetthai 
หรือลงทะเบียนรับชมที่ 
https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

WHO ทำสัญญา ‘ไทย’ วางระบบหลักประกันสุขภาพให้ ‘ลาว’

Posted: 02 Dec 2017 11:24 PM PST

ผอ.วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ ม.นเรศวร ระบุ องค์การอนามัยโลก ทำสัญญาให้ทีมงานช่วยวางแนวทางจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพประเทศลาว เหตุมีความกระจัดกระจาย หลายแหล่งเงินทุน เบื้องต้นได้ส่งต่อความรู้ พัฒนาบุคลากรองค์กร Health insurance bureau

 
 
3 ธ.ค. 2560 ผศ.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำสัญญากับวิทยาลัยฯ ให้เป็นที่ปรึกษาของประเทศลาวเพื่อจัดทำแนวทางการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ WHO ต้องการให้เข้าไปช่วยมี 2 ระดับ นั่นก็คือ 1.การศึกษาว่าระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศลาวเป็นอย่างไร สถานการณ์โดยรวมเป็นอย่างไร จากนั้นให้จัดทำข้อเสนอ 2.จะนำข้อเสนอเหล่านั้นแปลงไปสู่การดำเนินการให้เกิดรูปธรรมได้อย่างไร
 
ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวว่า ทีมงานหลักๆ ที่ทำเรื่องนี้มีด้วยกันอีก 2 คน คือ นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) และ นพ.ครรชิต สุขนาค คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยโครงการดังกล่าวสืบเนื่องจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ร่วมมือกับ WHO ในการทำงานเรื่องระบบสุขภาพในประเทศลาวแล้วพบปัญหา จึงต้องการให้ประเทศไทยเข้าไปช่วยส่งต่อองค์ความรู้
 
สำหรับโครงการแรกนั่นก็คือการศึกษาสถานการณ์ระบบสุขภาพของประเทศลาว ซึ่งสภาพที่เกิดขึ้นก็คือประเทศลาวมีระบบสุขภาพหลายระบบจากหลากหลายองค์กรที่สนับสนุนแหล่งทุน ไม่ว่าจะเป็น กาชาด (Red Cross) ILO หรือแม้แต่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ขณะเดียวกันประเทศลาวไม่ได้รวมศูนย์การปกครอง แต่ให้แต่ละจังหวัดจัดการตัวเอง นั่นทำให้แต่ละพื้นที่เลือกระบบประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือประเทศลาวเป็นประเทศเล็ก เมื่อต่างคนต่างเลือกก็เกิดความกระจัดกระจายขึ้น
 
ทั้งนี้ สามารถจำแนกรูปแบบระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศลาวใหญ่ๆ ได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.คล้ายคลึงกับสมัยก่อนของประเทศไทย คือมีการขายบัตรประกันสุขภาพในราคาถูก 2.การซื้อประกันสุขภาพทั่วไป 3.ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยระบบเหมาจ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้มีความแตกต่างกัน และรัฐเห็นว่าระบบที่กระจัดกระจายนั้นไม่มีประสิทธิภาพ รัฐจึงได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาหน่วยงานหนึ่งคล้ายคลึงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่อำนาจมีความแตกต่างกัน ชื่อทางการคือ Health insurance bureau
 
ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวว่า ความมุ่งหมายของหน่วยงานนี้ก็คือเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมและกำกับจังหวัดต่างๆ ให้มีรูปแบบไม่แตกต่างกันมาก โดยสิ่งแรกที่ทางการลาวต้องการคือพัฒนาศักยภาพของคนในหน่วยงานให้มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งทางเราก็ได้เสนอไปว่าต้องมีการพัฒนาศักยภาพใน 3 ระดับ ได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพของผู้บริหารระดับสูง คือฝ่ายนโยบาย 2.พัฒนาศักยภาพของผู้บริหารระดับกลาง คือระดับจังหวัด 3.พัฒนาศักยภาพของผู้บริหารระดับต้น คือระดับอำเภอ
 
ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวอีกว่า เมื่อได้ข้อเสนอไปแล้วก็นำมาสู่รูปธรรมของข้อเสนอ ซึ่งเป็นเฟส 2 คือพัฒนาศักยภาพในแต่ละกลุ่ม โดยทางการลาวต้องการให้ช่วยพัฒนาหลักสูตรและแนะนำวิธีการสอน โดยการสอนก็แบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ๆ ได้แก่ 1.สอนแบบปกติ คือมีอาจารย์เดินทางไปสอน ไปพูดคุยเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน 2.พัฒนาบางหัวข้อและเนื้อหาการสอนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้ครู ก.เกิดความเข้าใจ และนำไปถ่ายทอดต่อได้
 
สำหรับหลักสูตรมี 3 ระดับ ประกอบด้วยระดับสูง ระดับกลาง และระดับต้น โดยความหนักเบาของเนื้อหาก็มีความแตกต่างกันออกไป ระดับสูงจะต้องเรียนรู้เรื่องนโยบาย ระบบสุขภาพทั่วไป ระบบหลักประกันสุขภาพ กลยุทธ์ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ส่วนระดับกลางก็จะเรียนเหมือนกับระดับสูงในบางเรื่อง แต่จะเน้นเรื่องนโยบายไปปฏิบัติ ส่วนระดับต้นก็จะเป็นเรื่องเชิงเทคนิก เช่น การคำนวณ
 
"เราเหมือนกับเอาองค์ความรู้จากประเทศไทยเข้าไปถ่ายทอดให้เขา เช่น หลักการการแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างผู้ซื้อบริการกับผู้ให้บริการ ฯลฯ เพราะประเทศลาวมีปัญหาว่าเวลาไปรับถ่ายทอดมาจากองค์กรทางยุโรปหรืออะไรต่างๆ เป็นโมเดลที่ดี แต่เกิดปัญหาคือไม่สามารถเอาองค์ความรู้นั้นไปปฏิบัติได้ เขาจึงมาดูโมเดลประเทศไทยและเห็นว่าโมเดลประเทศไทยเป็นสิ่งที่ดี และมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน จึงปฏิบัติได้ง่ายกว่า" ผศ.นพ.ภูดิท กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม หลักใหญ่ใจความของประเทศลาวคือต้องการเดินไปในทิศทางการสร้างหลักประกันสุขภาพ โดยใช้ภาษีของรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเช่นเดียวกับประเทศไทย เพราะหากเปรียบเทียบในหลายประเทศแล้วประเทศไทยคือผู้นำด้านระบบหลักประกันสุขภาพ และเป็นตัวอย่างที่ดีที่หลายประเทศอยากจะทำตาม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงาน พฤศจิกายน 2560

Posted: 02 Dec 2017 10:49 PM PST

บริษัทในญี่ปุ่นเพิ่มวันหยุดพิเศษ 6 วัน ให้พนักงานที่ไม่สูบบุหรี่

บริษัท Piala Inc. ได้เพิ่มวันหยุดพิเศษให้กับพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ปีละ 6 วัน โดยระบุว่าพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ทำงานต่อเนื่องมากกว่าพนักงานที่ออกไปสูบบุหรี่ข้างนอกวันละหลายครั้งในแต่ละวัน โดย Piala Inc.  สำนักงานตั้งอยู่บนชั้น 29 ของอาคาร พนักงานที่สูบบุหรี่จะต้องลงมายังพื้นที่สูบบุหรี่ชั้นล่างซึ่งทำให้เสียเวลาทำงานไปถึง 15 นาที ในแต่ละครั้ง โฆษกของ Piala Inc.  ระบุว่าได้รับการแนะนำจากพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ว่าการสูบบุหรี่ได้สร้างปัญหาให้กับการทำงาน โดยคำแนะนำนี้ถูกใส่ไว้ในกล่องรับคำแนะนำของบริษัทเมื่อช่วงต้นปี เป็นเหตุให้บริษัทฯ ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้พนักงานเลิกสูบบุหรี่ โดยผ่านสิ่งจูงใจมากกว่าการบีบบังคับ

สัดส่วนของผู้ใหญ่ญี่ปุ่นสูบบุหรี่มากกว่าชาวอเมริกัน แม้ในปีที่ผ่านมาสัดส่วนของผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ญี่ปุ่นจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯแล้ว พบว่าร้อยละ 15 ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 20 ในปี 2548 ทั้งนี้การสูบบุหรี่ในอเมริกาลดลงเนื่องจากการการณรงค์และกฎหมายห้ามสูบบุหรี่  นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิต 130,000 คน ทุกปีในญี่ปุ่นจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่และอีก 15,000 รายเสียชีวิตจาก 'ควันบุหรี่มือสอง' และผู้ชายญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงถึงสามเท่า

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาผู้ว่าการกรุงโตเกียวเปิดเผยว่ามีแผนที่จะออกฎห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะทั่วเมืองก่อนโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 (พ.ศ.2563) แต่อาจจะเป็นเรื่องยากเช่นเดียวกับสหรัฐฯ สำหรับการต่อกรกับอุตสาหกรรมบุหรี่ เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นพยายามออกกฎห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารและในร้านอาหาร แต่กฎนี้ถูกทำให้ผ่อนคลายลงหลังจากที่ถูกนักการเมืองกดดัน อย่างไรก็ตามมาตรการที่ดำเนินการโดย Piala Inc. นี้น่าจะเป็นผลดี เพราะทำให้พนักงาน 4 คน ของบริษัทฯ เลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว

ที่มา: cnbc.com, 2/11/2017

คนขับรถบัสลอนดอนถูกคุกคามทั้งวาจาและร่างกาย องค์กรแรงงานรณรงค์ยุติความรุนแรง

สหภาพแรงงาน Unite ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์มีสมาชิกกว่า 1.4 ล้านคน จากเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยแบบสำรวจสภาพการทำงานของคนขับรถบัสในกรุงลอนดอน  6,000 คน (จากทั้งหมดที่มีประมาณ 25,000 คน) พบว่าร้อยละ 12 ระบุว่าเคยถูกคุกคามในรอบปีที่ผ่านมา ร้อยละ 86 ระบุว่าถูกผู้โดยสารข่มเหงทั้งทางวาจา และร้อยละ 2 ระบุว่าเคยถูกทำร้ายร่างกายมาแล้ว และยังพบว่าอย่างน้อยร้อยละ 50 ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนขับรถบัสไม่ได้รายงานต่อนายจ้างเพราะกลัวว่าจะถูกตำหนิ รวมทั้งรู้สึกว่าไม่มีความเชื่อมั่นว่านายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจะแก้ไขปัญหาให้พวกเขาได้ การรณรงค์ของ Unite มีเป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ หยุดการใช้ความรุนแรงต่อพนักงานขับรถบัสทั้งทางวาจาและการทำร้ายร่างกาย มีการเรียกร้องให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ยืนยันตัวบุคคลเพื่อไว้เก็บหลักฐานยืนยันตัวบุคคลที่ทำร้ายร่างกายคนขับรถบัสได้

จอห์น เมอร์ฟี เจ้าหน้าที่ของ Unite กล่าวว่าการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงระดับที่น่าตกใจของการกระทำรุนแรงต่อพนักงานขับรถประจำทางในลอนดอน "ไม่มีใครควรจะทนทุกข์ทรมานกับการทะเลาะวิวาทกันการทำร้ายร่างกายด้วยวาจาหรือถูกทำร้ายร่างกาย งานของคนขับรถประจำทางที่ลอนดอนเครียดมากพอแล้ว" นอกจากนี้เมอร์ฟีเรียกร้องให้ผู้ประกอบรถบัสการสนับสนุนพนักงานของพวกเขาเมื่อถูกทำร้ายร่างกายเพื่อหาตัวคนผิดมาลงโทษ "คนขับรถประจำทางของลอนดอนมักถูกมองข้ามบ่อยเกินไป ทั้งที่พวกเขามีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งลอนดอน ถึงเวลาแล้วที่พนักงานขับรถของเมืองหลวงแห่งนี้จะต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ" เมอร์ฟี กล่าว

ที่มา: unitetheunion.org, 3/11/2017

พม่าหารือเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหม่

ทางการพม่ากำลังหารือเพื่อที่จะกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงระหว่าง 4,000 จ๊าต (ประมาณ 2.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ถึง 4,800 จ๊าต (ประมาณ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับวันละ 3,600 จ๊าต (ประมาณ 2.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่เมื่อปี 2015 โดยพม่าตั้งคณะกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุก 2 ปี ตามกฎหมายที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2013

ที่มา: xinhuanet.com, 6/11/2017

ILO หนุนแผนปฏิรูปสิทธิแรงงานต่างชาติในกาตาร์

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เสร็จสิ้นการตรวจสอบกาตาร์ ภายหลังจากกาตาร์ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022  ให้คำมั่นว่าจะคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติ โดย ILO ระบุว่าได้เสร็จสิ้นกระบวนการสอบสวนอย่างเป็นทางการตามคำร้องที่มีความกังวลเรื่องสิทธิแรงงานในกาตาร์  นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกาตาร์แถลงในที่ประชุมบริหาร ILO  ว่ารัฐบาลกาตาร์ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติทั้งหมดซึ่งรวมถึงแรงงานในประเทศด้วย กระบวนการตรวจสอบตามคำร้องที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2014 สร้างความกดดันให้กาตาร์ต้องปฏิรูปและยกเลิกระบบคาฟาลา (kafala) ซึ่งให้นายจ้างเป็นผู้ควบคุมทั้งหมดเมื่อไม่นานมานี้

ที่มา: sbs.com.au, 9/11/2017

แรงงานบราซิลทั่วประเทศประท้วงกฎหมายปฏิรูปแรงงาน ก่อนมีผลบังคับใช้

แรงงานในประเทศบราซิลออกมาประท้วงครั้งใหญ่ใน 24 รัฐ จากทั้งหมด 27 รัฐทั่วประเทศ เพื่อแสดงการต่อต้านกฎหมายปฏิรูปแรงงานซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้กลุ่มสหภาพและองค์กรภาคประชาชนยังคงจะกดดันรัฐบาลและสมาชิกสภานิติบัญญัติให้พิจารณามาตรการดังกล่าวใหม่ โดยได้จัดการเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทั่วประเทศหลายครั้ง นักวิเคราะห์มองว่าการปฏิรูปทั้งแรงงานและประกันสังคมจะสร้างความเสียหายต่อแรงงาน เนื่องจากการปฏิรูปแรงงานจะทำให้แรงงานมีสิทธิลดลง ทั้งยังไม่สามารถช่วยลดการว่างงานได้ ส่วนการปฏิรูปประกันสังคมถูกวิจารณ์ในแง่ของการกำหนดอายุขั้นต่ำของการเกษียณอายุโดยไม่พิจารณาอายุงาน ซึ่งในทางปฏิบัติจะทำให้แรงงานรายได้น้อยที่ทำงานมานานต้องเกษียณอายุไปด้วยเงินบำนาญต่ำ

ที่มา: xinhuanet.com, 11/11/2017

แรงงานวัยรุ่นในเกาหลีใต้ยังว่างงานสูง

สำนักงานสถิติเกาหลีใต้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานประจำเดือน ต.ค. 2017 อยู่ที่ที่ 26.85 ล้านราย เพิ่มขึ้น 2.7 แสนราย หรือ 1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้การเติบโตของอัตราการจ้างงานลดลงต่ำกว่าระดับ 3 แสนราย หลังจากที่พุ่งขึ้นถึง 3.14 แสนรายในเดือน ก.ย. 2017 บ่งชี้ถึงสภาวะตลาดแรงงานของประเทศที่ยังคงซบเซา นอกจากนี้ยังมีวัยรุ่นจำนวนมากที่ยังไม่มีงานทำหลังจบการศึกษามาหลายปี โดยมีรายงานตัวเลขผู้จบการศึกษาที่ตกอยู่ในสภาวะว่างงานสูงถึงกว่า 1 ล้านราย

ที่มา: xinhuanet.com, 15/11/2560

รายงานระบุแม้ผู้หญิงจะมีทักษะด้านดิจิตอลดีกว่าผู้ชาย แต่งานส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือผู้ชาย

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะ  Brookings ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงาน Digitalization and the American Workforce ระบุว่าผู้หญิงมีคะแนนทักษะด้านดิจิตอลถึง 48 คะแนน เมื่อเทียบกับผู้ชายที่มี 45 คะแนน แต่กระนั้นผู้ชายยังคงได้ทำงานด้านดิจิตอลมากกว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นงานในระดับสูงอย่างด้านคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม เป็นต้น

ที่มา: cnet.com, 17/11/2017

Foxconn จะเริ่มสร้างโรงงานในสหรัฐฯ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เรื่องภาษี

บริษัทเทคโนโลยีไต้หวัน Foxconn มีแผนสร้างโรงงานขนาดใหญ่และศูนย์เทคโนโลยีในรัฐวิสคอนซิน มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตโทรทัศน์จอแบนและอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์อื่นๆ โดยคาดว่าจะมีการจ้างงานชาวอเมริกันหลายหมื่นคน ตั้งแต่คนงานก่อสร้าง พนักงานประจำโรงงาน ไปจนถึงตำแหน่งด้านบริหารงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม เกิดความกังวลว่าข้อตกลงนี้อาจสร้างความสูญเสียให้กับบรรดาผู้เสียภาษีในรัฐวิสคอนซิน เนื่องจากมีการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีมูลค่ามากเป็นประวัติการณ์ คือราว 3,000 ล้านดอลลาร์ แก่ Foxconn

คาดว่าการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ของ Foxconn จะเริ่มขึ้นในปีหน้า และจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2018 ด้านศาสตราจารย์สตีเว่น เดลเลอร์ กล่าวว่าเมื่อ Foxconn ได้รับการยกเว้นด้านภาษี นั่นหมายความว่ารัฐวิสคอนซินจะเป็นผู้จ่ายเงินภาษีให้กับ Foxconn ซึ่งตนไม่มั่นใจว่าเป็นข้อตกลงที่คุ้มค่าหรือไม่

ที่มา: voathai.com, 26/11/2017

บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ผุดโครงการจ้างพนักงานฝึกงานด้านไอที

ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ รวมทั้ง IBM, Amazon และ Microsoft ต่างเพิ่มโปรแกรมฝึกพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี ให้สามารถทำงานด้านไอทีได้ โดยให้ค่าจ้างในการฝึกงานด้านไอทีสำหรับพนักงานเหล่านั้นด้วย ผู้บริหารของ IBM กล่าวว่าได้เริ่มโครงการนี้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว เป้าหมายเพื่อหาคนมาเติมในตำแหน่งงานด้านไอทีที่ขาดแคลน โดยที่ไม่ต้องจ้างพนักงานใหม่

โดยข้อดีคือพนักงานเหล่านี้ต่างมีความภักดีกับบริษัท และยินดีที่จะอยู่ทำงานไปอีกหลายปี เมื่อเทียบกับการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีโดยเฉพ่ะที่มีแนวโน้มเปลี่ยนงานบ่อยกว่า สำนักงานด้านสถิติแรงงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบันงานด้านไอทีในอเมริกานั้นกำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูง และมีรายได้เฉลี่ยมากกว่างานด้านอื่นกว่าสองเท่า คือราว $83,000 หรือราว 2,700,000 บาทต่อปี

ที่มา: voathai.com, 26/11/2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.เผยผลเข้าร่วมขับเคลื่อนใช้ยาสมเหตุผล พบอัตราใช้ยาปฏิชีวนะลดลง 10% ใน 2 กลุ่มโรค

Posted: 02 Dec 2017 09:19 PM PST

สปสช.ร่วม "ขับเคลื่อนแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา" เผย หลังรุกนโยบายส่งเสริมใช้ยาสมเหตุผล พบอัตราใช้ยาปฏิชีวนะลดลงราวร้อยละ 10 ทั้งกลุ่มผู้ป่วยท้องร่วงเฉียบพลัน ผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน พร้อมเดินหน้าเน้นสร้างความเข้าใจผู้เกี่ยวข้อง ช่วยเพิ่มประสิทธิผล ระบุมูลค่ายาปฏิชีวนะระบบบัตรทองราว 700 ล้านบาท หากลดอัตราการใช้เหลือร้อยละ 20 ช่วยประหยัดค่ายาได้กว่า 400 ล้านบาท

 
3 ธ.ค. 2560 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย (A Call to Action Declaration on Antimicrobial Resistance, Thailand) ตามพันธกิจ "ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา" เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ที่ผ่านมา สปสช.ได้มุ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาล คลินิก และร้านยา โดยมีนโยบายการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ในการสร้างแรงจูงใจด้วยกลไกทางการเงินเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริการ ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา 
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินนโยบายส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช. ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและโอสถกรรมานุบาล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อศึกษา "ประสิทธิผลของนโยบายการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่อาศัยการจ่ายเงินตามเกณฑ์คุณภาพของผลงานบริการ" ต่อพฤติกรรมการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะ โดยเปรียบเทียบการสั่งใช้ยาปฏิชีวินะใน 2 กลุ่มโรคเป้าหมาย คือกลุ่มโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และกลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ในช่วงก่อนและหลังใช้นโยบายนี้ ในปีงบประมาณ 2555 และ 2557 ด้วยการวิเคราะห์ย้อนหลังโดยใช้ฐานข้อมูลใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ของ สปสช. เฉพาะข้อมูลผู้ป่วยนอก จากโรงพยาบาล 12 เขตบริการสุขภาพ จำนวน 912 แห่งทั่วประเทศ
 
ผลการศึกษาพบว่า การสั่งใช้ยาปฏิชีวนะภาพรวมในกลุ่มโรคอุจจาระเฉียบพลันลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะร้อยละ 48.57 เป็นร้อยละ 38.56 ของผู้ป่วยกลุ่มโรคอุจจาระเฉียบพลัน หรือลดลง ร้อยละ 10.01 หลังการดำเนินนโยบาย โดยในเขตบริการสุขภาพที่ 8 อุดรธานี มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคนี้ลดลงมากที่สุด คือจากร้อยละ 49.72 เป็น 33.71 ขณะที่ รพ.สังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคนี้ลดลงมากที่สุด คือ จากร้อยละ 47.16 เป็นร้อยละ 24.15
 
กลุ่มโรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน การสั่งใช้ยาปฏิชีวินะในภาพรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน จากร้อยละ 53.63 เป็นร้อยละ 44.82 ของผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือลดลงร้อยละ 8.81 หลังการดำเนินนโยบาย โดยเขตบริการสุขภาพที่ 8 อุดรธานี มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคนี้ลดลงมากที่สุด จากร้อยละ 56.16 เป็นร้อยละ 39.14 รพ.สังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคนี้ลดลงมากที่สุด จากร้อยละ 58.89 เป็นร้อยละ 47.24
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มาร์ค พิทบูล' เผยยังจะแสดงความเห็นในโซเชียลต่อ แต่จะด่าให้น้อยลงหลังถูกพาตัวไปค่ายทหาร

Posted: 02 Dec 2017 09:07 PM PST

หลัง 'ณัชพล สุพัฒนะ' หรือ 'มาร์ค พิทบูล' ถูกทหารนำตัวไป มทบ.11 ทำประวัติ-ขอร้องงดแสดงความคิดเห็นในโซเชียลก้าวร้าว ล่าสุดเจ้าตัวยืนยันว่าจะพูดในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องเหมือนเดิม เพียงแต่จะลดคำด่าที่ไม่สุภาพให้น้อยลง

 
3 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าจากกรณี นายณัชพล สุพัฒนะ หรือ "มาร์ค พิทบูล" อายุ 50 ปี ได้โพสต์ข้อความ และคลิปวีดีโอผ่านเฟซบุ๊ก จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทหาร นำโดย พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฏหมายเฉพาะกิจ พร้อม พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางไปยังบ้านพักย่านมีนบุรี เพื่อเชิญตัวนายณัชพล มาทำความเข้าใจและพูดคุย ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11 ) ตามคําสั่งคสช.ที่ 3/2558 ต่อมาเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 2 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ฯ ได้พานายณัชพล สุพัฒนะ หรือ "มาร์ค พิทบูล" กลับมาส่งที่บ้านพักเป็นที่เรียบร้อย โดยได้พูดคุยทำความเข้าใจกัน
 
นายณัชพล เปิดเผยว่าหลังได้มีทหารมาที่หน้าบ้านเมื่อเช้าที่ผ่านมา โดยภรรยาของตนเป็นผู้พบเห็น จึงได้ขึ้นมาเรียกตนที่กำลังนอนหลับอยู่บนห้องนอนให้ลงมาดู เมื่อลงมาพบกับเจ้าหน้าที่ฯ ก็ได้มีการสอบถามว่า มาทำอะไรจะเเจ้งข้อหาอะไร เจ้าหน้าที่จึงได้ตอบกลับมาว่าจะเชิญตัวไปทำความเข้าใจและพูดคุยกันที่ มทบ. 11 ตนจึงขออนุญาตขึ้นไปอาบน้ำก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้พาไปลงบันทึกประจำวันเอาไว้ที่ สน.มีนบุรี เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการดูแลเป็นอย่างดี
 
นายณัชพล เผยอีกว่าเมื่อมาถึงที่ มทบ.11 ได้มีการตรวจสุขภาพ ทำประวัติ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้พูดคุยในเชิงขอร้องว่าที่ผ่านมาตนได้แสดงความคิดเห็นในโซเชียลในลักษณะก้าวร้าว โดยใช้คำพูดที่รุนแรง เลยต้องมีการเชิญมาพูดคุยให้เข้าใจถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน บรรยากาศโดยทั่วเป็นไปด้วยดี ไม่ได้มีการแจ้งข้อหา หรือพูดจาข่มขู่ทำให้หนักใจแต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ตามตนก็ขอยืนยันว่าสิ่งที่ตนพูดนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงเห็นว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ควรพูด หลังจากนี้ตนยังคงยืนยันว่า จะพูดในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องเหมือนเดิม เพียงแต่จะลดคำด่าที่ไม่สุภาพให้น้อยลง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น