โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักวิชาการเสนอกำหนดโทษอาญาให้เหมาะกับฐานความผิด แก้ปัญหาคุกล้น - คืนคนดีสู่สังคม

Posted: 18 Dec 2017 11:57 AM PST

พระองค์ภาฯ เสด็จเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ 'การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน'  - นักวิชาการเสนอกำหนดโทษอาญาให้เหมาะกับฐานความผิด แก้ปัญหาคุกล้น - คืนคนดีสู่สังคม

18 ธ.ค.2560 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า วันนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สนง.กสม. ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กระทรวงยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จัดโครงการสัมมนาวิชาการหัวข้อ "การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน"โดยวโรกาสนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา  เสด็จมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนา

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กราบทูลถึงการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า นับแต่ปี 2545 เป็นต้นมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนควบคู่กับการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการจับกุมขังบุคคล ซึ่งมีผลให้บุคคลสูญเสียสิทธิในการเดินทางอย่างอิสระเสรี อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง โดยที่กระบวนการดังกล่าวต้องมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และมิอาจกระทำได้โดยพลการตามหลักของกฎบัตรสากล รวมไปถึง "โทษประหารชีวิต"  อันเป็นสิทธิในชีวิต "ที่ไม่อาจลดทอน" หรือเป็น "สิทธิที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้" (Non-Derogable Rights) ด้วย

ประธาน กสม. ระบุอีกว่า ปัจจุบันการอำนวยความยุติธรรมในการลงโทษทางอาญาของประเทศไทยมีพัฒนาการที่ควรแก่การสำรวจความเคลื่อนไหวว่า มีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด เช่น การที่จำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของไทยที่ยังคงมีจำนวนมากติดอันดับกลุ่มประเทศ 1 ใน 4 ของโลกที่กฎหมายยังไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต นอกจากนี้ยังมีกรณีการเพิ่มบทลงโทษทางอาญาในคดีอื่น ๆ นอกเหนือไปจากคดียาเสพติดที่ให้โทษมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักวิชาการทั้งชาวไทยและฝรั่งเศส เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการลงโทษทางอาญารัฐบาลต่อไป

ในงานสัมมนา มีปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน" โดย กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม สรุปว่า กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อดำเนินการกับพฤติกรรมที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งโยงไปถึงการลงโทษทางอาญาอันเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล การใช้โทษทางอาญามีข้อสังเกตและข้อควรระวังสำคัญ เช่น กฎหมายอาญามิใช่ทางเลือกเดียวในการใช้บังคับกำกับพฤติกรรมของคนในสังคม แต่เมื่อเลือกนำมาใช้แล้ว รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องใช้กับความผิดร้ายแรงเท่านั้น เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กระทบสิทธิในชีวิตของบุคคล อย่างไรก็ดี นอกจากประเทศไทยจะใช้มาตรการทางอาญามากแล้ว ยังนิยมการลงโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินสมควรเพื่อสังคมสร้างความอบอุ่นใจให้กับประชาชน สวนทางกับข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่า ความรุนแรงของการลงโทษไม่ได้มีผลต่อพฤติกรรมเท่ากับความแน่นอนของการลงโทษแต่อย่างใด ทั้งนี้ตนเห็นว่าทางเลือกในการกำกับพฤติกรรมคนยังมีอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้มาตรการทางปกครอง การใช้มาตรการคุมประพฤติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้กระทำผิดได้สำนึก มีโอกาสในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตัวเอง โดยที่ไม่หวนมากระทำผิดซ้ำเพราะไร้หนทางอีก

ปกป้อง ศรีสนิท รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษในประเด็นดังกล่าว สรุปว่า โทษทางอาญาของไทยควรพัฒนาไปสู่แนวคิดการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับสัดส่วนความผิดในแต่ละฐาน โดยใช้เกณฑ์การแบ่งอาชญากรออกเป็น อาชญากรใหญ่ หรือตัวการที่สร้างผลกระทบต่อรัฐ และอาชญากรเล็กที่สร้างผลกระทบต่อผู้เสียหายมากกว่ารัฐ โดยคำนึงถึงเหตุภาววิสัย (พฤติการณ์ของความผิด) และเหตุอัตวิสัย (ลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความผิด) ในการลงโทษควบคู่กัน เนื่องจากที่ผ่านมาศาลไทยมีแนวทางการพิจารณาโทษโดยคำนึงถึงเหตุภาววิสัยเท่านั้น เช่น ในคดียาเสพติดซึ่งผู้กระทำผิดประกอบด้วยผู้มีบทบาทหลายส่วน ทั้งผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ผู้ขายรายใหญ่ ผู้ขายรายย่อย หรือ ผู้เสพ ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทต่างกันแล้ว ยังมีความต่างกันด้านสถานะทางสังคมด้วย แต่การลงโทษผู้กระทำผิดทุกคนเท่ากันจากพฤติการณ์ของความผิดเช่นเดียวกัน เช่น ดูจากจำนวนยาเสพติดที่ครอบครอง ย่อมทำให้ผู้กระทำผิดทุกราย ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ไม่มีโอกาสได้รับการฟื้นฟูแก้ไข นำไปสู่ปัญหาปริมาณนักโทษล้นเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก คิดเป็นจำนวนผู้ต้องขัง 445 คน ต่อ  ประชากร 100,000 คน และส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ทั้งนี้ ตนเสนอให้ในการทำสำนวนสอบสวนมีการสืบเหตุอัตวิสัย เช่น ประวัติ สถานะเศรษฐกิจ และที่มาแห่งการกระทำผิดเพื่อให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตัวการสำคัญหรือตัวประกอบแห่งความผิด เพื่อสร้างการลงโทษที่เป็นธรรม และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่เน้นให้ผู้กระทำผิดได้รับโอกาสฟื้นฟูแก้ไขตนและกลับเป็นคนดีของสังคมต่อไป

สนง.กสม. ระบุว่า ในงานสัมมนาดังกล่าว ยังมีการอภิปราย เรื่อง "มุมมองจากองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมต่อโทษประหาร"  โดยผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมไทยและต่างประเทศ สรุปว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศแถบอาเซียน ที่ยังคงโทษประหารชีวิต แต่ไม่มีการบังคับใช้โทษประหารแล้วมาเป็นเวลา 8 ปี หากครบ 10 ปี ก็จะถือว่าเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ยังคงเห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต แต่มีแนวโน้มที่จะไม่เห็นด้วยกับโทษประหารมากขึ้น เมื่อได้รับทราบข้อมูลเรื่องสิทธิในชีวิตอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า การประหารชีวิตนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อการลดจำนวนอาชญากรรม แต่การคงโทษประหารชีวิตกลับเป็นสิ่งเร้าไปสู่ความรุนแรงในการก่ออาชญากรรม เช่น การที่อาชญากรตัดสินใจฆ่าเหยื่อทิ้งเพื่อป้องกันการถูกซักทอดความผิดอันนำไปสู่การรับโทษประหาร นอกจากนี้ยังพบว่า อาชญากรมักมีพื้นฐานมาจากความยากจน ซึ่งความเหลื่อมล้ำและขาดโอกาสทางสังคมนี้ เป็นสาเหตุหลักของการก่ออาชญากรรมที่สังคมควรร่วมกันแก้ไขมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการประหารชีวิต

สนง.กสม. ยังระบุด้วยว่า ในงานดังกล่าว ยังมีการนำเสนอวีดิทัศน์การรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องโทษประหารในประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งการอภิปราย เรื่อง "มุมมองจากศาสนิกต่อโทษประหาร" โดยผู้แทนศาสนาต่าง ๆ ซึ่งสรุปได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาต่างเห็นว่าชีวิตมนุษย์คือสิ่งมีค่า และควรได้รับการพัฒนา อย่างไรก็ดีบางศาสนายังมีหลักที่อิงกับกระบวนการยุติธรรมให้มีการประหารชีวิตในความผิดร้ายแรงได้ แต่การลงโทษประหารนั้นจะต้องได้รับการพิสูจน์ความผิดที่แน่ชัดเสียก่อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติที่แม่สอดเรียกร้องการจ้างงานเป็นธรรม

Posted: 18 Dec 2017 11:10 AM PST

เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันกับนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน และยกเลิกการยึดบัตรประจำตัวของแรงงาน รวมทั้งยุติสัญญาจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ป้องกันแรงงานถูกละเมิดและถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

เอื้อเฟื้อภาพจากเครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MRPWG) 

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MRPWG) และเครือข่ายต่อต้านการค้ามนุษย์แม่สอด จัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล โดยในช่วงเช้ามีการเดินรณรงค์เริ่มขบวนจากตลาดริมเมย มาที่สนามกีฬาโรงเรียนแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อจัดกิจกรรมเสวนาในภาคเช้า และในช่วงบ่ายยังมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และแข่งขันฟุตบอลคู่ชิงชนะเลิศด้วย

โดยในโอกาสวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี ทางเครือข่ายฯ ยังมีการเผยแพร่แถลงการณ์ด้วย โดยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันกับนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน และยกเลิกการปฏิบัติที่ไม่ชอบ เช่น การยึดเอกสารบัตรประจำตัวของแรงงานเอาไว้ และการใช้สัญญาจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ป้องกันแรงงานอพยพถูกละเมิดและถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน นายจ้าง และลูกจ้าง เคารพสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นธรรม ขณะที่เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MRPWG) จะเดินหน้าทำงานเพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน สร้างความสมานฉันท์ให้แก่บุคคลในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก เพื่อการพัฒนาวิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

000

แถลงการณ์เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ Migrant Rights Promotion Working Group – MRPWG เนื่องในวันวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล ปี 2560

เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ หรือ Migrant Rights Promotion Working Group - MRPWG ได้ทำงานให้ความช่วยเหลือแรงงานผู้อพยพพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก และส่งเสริมผลักดันเชิงนโยบายเพื่อสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนของบุคคลเคลื่อนย้ายมาเป็นระยะเวลากว่า 12 ปี ขอแถลงสถานการณ์ภาพรวมของสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของผู้อพยพในพื้นที่แม่สอด และนำเสนอประเด็นเร่งด่วนของพวกเรา เพื่อให้เกิดความตระหนักร่วมกัน ดังต่อไปนี้

สิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายของผู้อพยพ

ทางเครือข่ายฯ ได้เคยเสนอข้อเรียกร้องในหัวข้อนี้ไว้และอยากจะยกข้อเสนอขึ้นอีกครั้ง

'ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดาเนินการกวดขันกับนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน และยกเลิกการปฏิบัติที่ไม่ชอบ เช่น การยึดเอกสารบัตรประจาตัวของแรงงานเอาไว้ และการใช้สัญญาจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม'

ปัญหาแรงงานข้ามชาติในพื้นที่แม่สอด ไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายมีมาเป็นระยะเวลายาวนาน ด้วยลักษณะชายแดนธรรมชาติของพื้นที่ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างที่ส่วนใหญ่มักไม่ได้มีการทำสัญญาตามกฎหมาย ปัญหาเหล่านี้ยากจะแก้ไขหากขาดความร่วมมือของทุกภาคส่วนช่วยกันสอดส่องดูแลอย่างจริงจัง เราเชื่อว่าหากแรงงานฯ ในพื้นที่ได้รับการปฏิบัติเสมือนลูกจ้างทั่วไป ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง สิทธิวันลาหยุด สิทธิที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มในการทำงานล่วงเวลา ผู้อพยพเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่อื่นเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า

มีหลายกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับค่าแรงหลังจากที่ทำงานเป็นเดือน หรือถูกใช้เป็นแรงงานขัดหนี้ ซึ่งหนี้เหล่านั้นคือการที่พวกเขาเข้าใจว่าจ่ายไปกับการนำพวกเขาเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย แต่แล้วแรงงานฯ เหล่านี้ ก็พบว่าตัวเองถูกหลอก ไม่มีเอกสาร ถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ไม่ได้รับค่าจ้าง และผู้กระทำผิดตัวจริงกลับลอยนวล

เราขอสัญญาว่าจะทำงานอย่างสุดกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แรงงานขัดหนี้ถือเป็นความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการฉ้อโกงอันเป็นความผิดทางอาญา จึงขอให้ทุกท่านตระหนักถึงกรณีที่แรงงานผู้อพยพที่ถูกฉ้อโกงกลายเป็นผู้กระทำความผิดที่ตัดสินโดยกฎหมายคนเข้าเมือง อันเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม (Rule of Law) และไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดแรงงานได้อย่างแท้จริง

กรณีการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานผู้อพยพโดยมิชอบ

เมื่อต้นปี 2560 เครือข่ายฯ ได้มีการนำเสนอข้อเรียกร้องกรณีผู้อพยพถูกละเมิดและถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

'…ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติทำการตรวจสอบและดำเนินการกับขบวนการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ เช่น กระบวนการนายหน้าในการจดทะเบียนแรงงานและขอให้มีการดำเนินการตรวจสอบการแสวงประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่นในการเรียกเก็บเงินจากแรงงานโดยมิชอบ…'

ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้รับแจ้งกรณี แรงงานฯไม่สามารถใช้บริการศูนย์ One Stop Service เพื่อจดทะเบียน CI หรือ Certificate of Identity ไม่ต่ำกว่า 5 คดีต่อเดือน บริเวณหน้าศูนย์ CI พื้นที่แม่สอด เป็นที่ตั้งของสำนักงานนายหน้า บ่อยครั้งแรงงานฯ ถูกทำให้เข้าใจผิดว่าไม่สามารถใช้บริการจดทะเบียนตามปกติได้ หากแรงงานฯ เหล่านั้นปฏิเสธที่จะใช้บริการบริษัทนายหน้า กลับไม่ได้รับความร่วมมือในการกรอกแบบฟอร์ม ถูกเรียกเงินเพิ่มโดยมิชอบ แสดงให้เห็นว่านโยบายจดทะเบียนแรงงานไม่สามารถใช้ได้ในทางปฏิบัติ กลับเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ของบุคคลทุจริต

ในขณะที่พระราชกำหนดการบริหารการจัดการการทางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ยังไม่มีการสรุปข้อแก้ไขที่ชัดเจน เป็นความท้าทายของเครือข่ายฯ ที่จะลงพื้นที่อบรมแรงงานฯเพื่อให้ความรู้ เมื่อกฎหมายและนโยบายไม่คงที่ แรงงานผู้อพยพนอกจากมีความเสี่ยงทางสถานะและพบอุปสรรคในการจดทะเบียน เรายังได้รับแจ้งกรณีแรงงานฯ ถูกเรียกเงินเกินความจำเป็น โดยข้ออ้างว่าใช้เพื่อการจดทะเบียนแรงงาน ทาให้พวกเขาต้องทำงานใช้หนี้ เป็นการถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ซ้าแล้วซ้าเล่า

เครือข่ายฯ อยากขอใช้โอกาสนี้ในการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้ที่เห็นความสำคัญของแรงงานฯเศรษฐกิจในพื้นที่เช่นเดียวกัน ช่วยสอดส่องดูแลและร่วมกันวางแนวทางปฏิบัติเพื่อปกป้องสิทธิของบุคคลทุกคนโดยไม่เลือกในพื้นที่พิเศษแห่งนี้ เพื่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและชดเชยเยียวยาสาหรับบุคคลทุกคน

นอกจากนี้เรายังเสนอในประเด็นเรื่อง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของแรงงานผู้อพยพเสนอแนะให้หน่วยงานด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระดับจังหวัด ดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม และส่งเสริม มาตรฐานการทำงานที่ปลอดภัยในสถานประกอบการทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดตาก ตามที่กฎหมายกาหนด

เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในการใช้แรงงานข้ามชาติในจังหวัดตาก จึงขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน นายจ้าง และลูกจ้าง เคารพสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นธรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีแรงงานผู้อพยพเป็นกาลังสาคัญอย่างยั่งยืน เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ Migrant Rights Promotion Working Group – MRPWG จะเดินหน้าทางานเพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน สร้างความสมานฉันท์ให้แก่บุคคลในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก เพื่อการพัฒนาวิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ธรรมาเทวาธิปไตย”: ระบบคุณค่าและประชาธิปไตยฉบับ​ “คนดี” | วรรณวิภางค์-อภิชาต-อนุสรณ์ [คลิป]

Posted: 18 Dec 2017 08:02 AM PST

คลิปจากการสัมมนาสาธารณะ "การเมืองคนดี": ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน  "ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" 15 ธันวาคม 2560 ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

การนำเสนอช่วงที่ 4 "ธรรมาเทวาธิปไตย": ระบบคุณค่าและประชาธิปไตยฉบับ​ "คนดี" แบ่งการนำเสนอหัวข้อย่อยเป็น 1) "ทัศนคติและการให้คุณค่าทางสังคม และการเมืองของคนกรุงเทพฯ" โดย วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2) ประชาธิปไตยฉบับ "คนดี" โดยอภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ให้ความเห็นโดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"ทัศนคติและการให้คุณค่าทางสังคม และการเมืองของคนกรุงเทพฯ" โดย วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์

ประชาธิปไตยฉบับ "คนดี" โดยอภิชาต สถิตนิรามัย และอนุสรณ์ อุณโณ 

ให้ความเห็นโดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร และเกษียร เตชะพีระ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสื้อแดงยกเลิก ปาร์ตี้ปีใหม่ หลัง จนท.ไม่แฮปปี้ กดดันร้านอาหารที่ใช้จัดงาน

Posted: 18 Dec 2017 08:01 AM PST

เสื้อแดงยกเลิกงาน 'ปาร์ตี้ แฮปปี้ ฟรีสไตล์' หลังร้านอาหารที่ใช้จัดถูกเจ้าหน้าที่กดดันต่อเนื่อง ผู้ประสานงานเผยรัฐปรับรูปแบบการกดดันผ่านร้านหรือธุรกิจเอกชนแทนกดดันกลุ่มจัดงาน อย่างน้อย 3 กิจกรรมแล้ว

โพสต์แจ้งยกเลิกกิจกรรมของกลุ่มผู้จัดงาน

18 ธ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าวานนี้ (17 ธ.ค.60) กิจกรรมที่ชื่อว่า 'ปาร์ตี้ แฮปปี้ ฟรีสไตล์' ซึ่งเป็นกิจกรรมสังสรรค์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2561 ของกลุ่มคนเสื้อแดงภาคกลางและภาคตะวันตก ที่จะจัดขึ้นที่ร้านอาหารชาวเลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้ถูกยกเลิก โดยผู้จัดกิจกรรมระบุว่าเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐกดดันร้านอาหาร ส่งผลให้ผู้จัดต้องยกเลิกกิจกรรม เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อทางร้านอาหาร

ตามกำหนดการระบุว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเริ่มเวลา 16.00-23.00 น. โดยมีการขายบัตรในลักษณะกินเลี้ยงแบบโต๊ะจีน ที่นั่งละ 350 บาท นอกจากกิจกรรมรัปทานอาหารแล้ว ยังมีกิจกรรมเต้นรำและฟังเพลงจากนักร้องทั้งที่เป็นนักร้องลูกทุ่ง เช่น สุริยา ชินพันธ์ เพชร โพธาราม และรุ่ง โพธาราม รวมทั้งนักร้องเสื้อแดง คือ ซันชิโร่ และระบุว่ารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปมอบให้กับผู้ต้องขังและญาตินักโทษการเมืองที่เป็นเสื้อแดง ทั้งคดีมาตรา 112 และคดีก่อการร้าย

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม สุวรรณา ตาลเหล็ก หนึ่งในผู้ประสานงานจัดกิจกรรมดังกล่าว ระบุว่า งานนี้จัดเป็นงานปาร์ตี้ธรรมดา มีผู้ซื้อบัตร 300 ที่นั่ง

สุวรรณา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมากดดันทางร้านอาหาร แทนที่จะกดดันกลุ่มที่จัดงาน โดยที่ในตอนแรกทางร้านยืนยันว่าจะจัด แต่เมื่อใกล้ถึงวันงานเจ้าหน้าที่มากดดันบ่อยขึ้น ทางทีมงานที่จัดกิจกรรมจึงเห็นใจทางร้านและได้ตัดสินใจยุติกิจกรรมไป และในวันงานตามกำหนดการเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบก็มาถ่ายภาพถึง 2 ครั้ง คือช่วงหัวค่ำและช่วง 22.00 น. แม้จะมาอย่างสุภาพ แต่การมาถ่ายภาพก็ติดทั้งคนและทะเบียนรถของคนที่มาใช้บริการร้านแบบปกติที่ไม่เกี่ยวกับพวกตน จึงกังวลว่าเขาอาจจะมีปัญหากันด้วย

สำหรับผลกระทบจากการยุติกิจกรรมดังกล่าว สุวรรณา ในฐานะผู้จัดงาน กล่าวว่า กระทบไม่เพียงผู้จัดที่ต้องคืนเงินผู้ที่ซื้อบัตร รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการโอนเงินหรือส่งเงินคืนเท่านั้น ร้านเองก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการซื้อของมาตุนเพื่อรองรับคน 300 คน ที่จะมาในวันงาน รวมทั้งค่าเช่าเก้าอี้ที่นำเมาเสริมทางร้านอีกเช่นกัน

สุวรรณา กล่าวถึงรูปแบบการกดดันของเจ้าหน้าที่ว่า มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปในช่วงหลัง โดยเจ้าหน้าที่ไม่กดดันคณะหรือกลุ่มผู้จัดกิจกรรมโดยตรง แต่กดดันร้านอาหารหรือธุรกิจเอกชนที่กลุ่มกิจกรรมใช้สถานที่แทน นอกจากกรณีนี้แล้ว ยังมีกรณีที่กลุ่มตนคือกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดเตะฟุตบอลเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่มและผู้ต้องขังในคดี ม.112 เจ้าหน้าที่ก็กดดันผู้ให้บริการสนามฟุตบอลจนต้องยุติกิจกรรม หรือกรณีล่าสุด งาน  FAIRLY TELL FOUNDING AND THE หมอลำ ม่วนคัก คอนเสิร์ต เพื่อระดมทุนทำกิจกรรมฟื้นฟูสภาพจิตใจและศักยภาพของอดีตนักโทษการเมือง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารมาพูดคุยและขอกับทางร้านที่ให้เช่าจัดงานให้ยกเลิกการจัดงานคอนเสิร์ตดังกล่าว จนผู้จัดต้องยุติกิจกรรมไปเช่นกัน

สุวรรณา กล่าวด้วยว่า ความปรองดองในสังคมนั้นถูกทำลายไปตั้งแต่รัฐประหารแล้ว ยิ่งเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมแบบนี้ยิ่งยากต่อการปรองดอง ทำไมคิดว่ากิจกรรมที่ตนทำเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งๆ ที่สถานที่จัดก็ไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดงานศึกษา กปปส.-พธม.: ความรุนแรง-คนชั้นกลางระดับบน-แนวคิดมวลชน-สินค้าการเมือง

Posted: 18 Dec 2017 05:13 AM PST

ตอนที่สองประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ทั้งการศึกษาคนใต้ย้ายถิ่นในแฟลต กทม., การหันหลังให้ประชาธิปไตยของชนชั้นกลางระดับบน, นิยามปฏิบัติ กปปส.ความรุนแรงหรืออารยะขัดขืน, สำรวจและจัดประเภทมวลชน การดูเบามวลชนอนุรักษ์นิยมของกลุ่มเสรีนิยม, คำอธิบายของสามนักวิชาการ, การผลิตสินค้าการเมืองและป๊อปคัลเจอร์

15 ธ.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานสัมมนาวิชาการสาธารณะในหัวข้อ "การเมืองคนดี": ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน "ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" โดยนำเสนอข้อมูลและข้อค้นพบจากโครงการวิจัย จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.


ในตอนนี้จะเป็นการสรุปประเด็นหัวข้อย่อยต่างๆ ของการวิจัย (คลิกที่หัวข้อเพื่ออ่านเฉพาะหัวข้อ) คือ
1."คิดดี ทำดี": อุดมการณ์และปัญญาชน "คนดี" จากขบวนการเสรีนิยมอันหลากหลายสู่ขบวนการอนุรักษ์นิยมเข้มข้น -กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
2. ธรรมาธรรมะสงคราม: ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะขัดขืน -ประจักษ์ ก้องกีรติ
3. การเติบโตและการหันหลังให้กับประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย -ธร ปิติดล และ ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์
4. "มวลชนคนดี": คนชั้นกลางระดับบนและคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ ความคิดและปฏิบัติการ "การเมืองคนดี" ของคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ -ชลิตา บัณฑุวงศ์
5. การสร้างอุดมการณ์ผ่านกรอบโครงความคิดของปัญญาชน กปปส. -อุเชนทร์ เชียงเสน
6. "มวลมหาอาญาสิทธิ์": อัตลักษณ์คนดีและความรุนแรง การร่วมสร้างอัตลักษณ์คนดีของมวลมหาประชาชน -อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล และ อาจินต์ ทองอยู่คง 


แฟ้มภาพ (22 ธ.ค. 2556)


กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: "คิดดี ทำดี": อุดมการณ์และปัญญาชน "คนดี" จากขบวนการเสรีนิยมอันหลากหลายสู่ขบวนการอนุรักษ์นิยมเข้มข้น
กนกรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า งานวิจัยนี้พยายามทำความเข้าใจและเติมเต็มงานวิจัยก่อนหน้านี้ โดยศึกษาทั้ง พธม.กับ กปปส. และเน้นศึกษาประชาชนธรรมดาไม่ใช่แกนนำ เพื่อให้เข้าใจพลวัตของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณ และเติมมิติในการเข้าใจในฐานะขบวนการของคนธรรมดา

ตอบโจทย์สองอย่าง มีพัฒนาการด้านอุดมการณ์อย่างไร และมีพลวัตอย่างไร
งานนี้มีการสัมภาษณ์ ใช้ oral history ของคนประมาณ 100 คน พยายามให้ครอบคลุม 10 จังหวัด 5 ภาค มีทั้งที่อยู่ในเมืองและชนบท มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลาย และยังดูระดับความตื่นตัว-ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับขบวนการมากถึงน้อย โดยทุกคนนิยามตัวเองว่าได้เข้าร่วมช่วงใดช่วงหนึ่ง หรืออย่างน้อยมี moral support 

สิ่งที่พบก็คือ พวกเขาหลากหลายแตกต่างเชิงอุดมการณ์ งานนี้พยายามจัดประเภทแบบหยาบที่สุดที่หลายคนอาจไม่เห็นด้วย โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ 1.กลุ่มอนุรักษ์นิยมเหนียวแน่น พบว่ามีราว 70% 2.กลุ่มเสรีนิยมที่ยอมประนีประนอม พบว่ามีราว 20% 3.กลุ่มเสรีนิยมที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ พบว่ามีราว 10%

พวกเขาแตกต่างกันอย่างไร

อนุรักษ์นิยมเหนียวแน่น-เสรีนิยมประนีประนอม-เสรีนิยมชายขอบ
กลุ่มที่หนึ่ง ตั้งแต่วัยเด็กเติบโตในครอบครัวค่อนข้างอนุรักษ์นิยม หลายคนเข้าร่วมขบวนการตั้งแต่การต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านเขมรยุคเขาพระวิหาร เติบโตมากับชุดประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์ ทุกคนมี personal history ของตัวเองว่าตัวเองใกล้ชิดและยึดโยงกับประวัติศาสตร์สถาบันกษัตริย์อย่างไร หรือไม่ก็เคร่งศาสนาทั้งครอบครัว เช่น กลุ่มสันติอโศก และหลวงตามหาบัว ภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมหลากหลาย มีทั้งยากจนมากไปจนถึงร่ำรวยมาก เข้าร่วมขบวนการต่อต้านทักษิณผ่านการไกด์ของกลุ่มศาสนา และผ่านกรอบคิดอนุรักษ์นิยมที่ชูโดยแกนนำทั้งสองช่วง กลุ่มนี้เป็นมวลชนขนาดใหญ่

กลุ่มสองและสาม คนส่วนใหญ่ในสองกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดมีโอกาสเข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตยทั้ง 14 ตุลา 6 ตุลา ถ้าโตไม่ทันก็เข้าร่วมกับพฤษภา 2535 สมัชชาคนจน และการรณรงค์รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ที่จัดแยกกลุ่มกัน เพราะกลุ่มสองไม่ได้ยึดติดในอุดมการณ์แบบเดียว มีการสลับไปมาระหว่างเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม บางเรื่องเป็นเสรีนิยมเน้นความเท่าเทียม กระจายอำนาจ เช่น เรื่องเพศภาพ หลายเรื่องไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่เท่าเทียมกัน ในการร่วมขบวนการแม้ไม่เห็นด้วยกับหลายเรื่องของแกนนำแต่พวกเขาก็ประนีประนอมเพื่อให้ขบวนการได้รับชัยชนะ

กลุ่มที่สาม มีแบคกราวน์แบบเสรีนิยม แต่กลุ่มนี้ตั้งคำถามและไม่เห็นด้วยกับแกนนำ แสดงออกชัดเจนและถกเถียง ท้ายที่สุดก็มักจะถูกเบียดขับออกจากขบวนการหรือไม่ก็ถอนตัวเมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวมวลชนส่วนใหญ่ในขบวนการ

ดังนั้น เราไม่สามารถเหมารวมได้ว่าขบวนการนี้เป็นอนุรักษ์นิยมทั้งหมด มันมีความหลากหลายระดับหนึ่ง ช่วงแรกเห็นความหลากหลายชัด จากนั้นขบวนการก็เขยิบเข้าสู่อนุรักษ์นิยมมากขึ้น มีความขัดแย้งที่ทั้งสามกลุ่มต่อสู้กันปรากฏให้เห็น เช่นระหว่าง พธม.กับ ปชป. หรือภายใน พธม.เอง ฯลฯ ท้ายที่สุด กลุ่มที่หนึ่งกุมชัยชนะเหนือกลุ่มอื่นๆ จนกลายเป็นกลุ่มที่มีพลังในการครอบงำทั้งในเชิงกระบวนการและการตัดสินใจของกลุ่ม คำถามมีสามคำถามต่อปรากฏการณ์นี้ คือ ทำไมท้ายที่สุดขบวนการจึงถูกครอบงำโดยกลุ่มที่หนึ่ง เหตุใดผู้สนับสนุนกระบวนการบางกลุ่มจึงยอมประนีประนอม เหตุใดผู้ไม่ยอมตามจึงถูกเบียดขับออก

พธม.รวบรวมมวลชนอนุรักษ์นิยมที่กระจัดกระจายหลัง 6 ตุลา
การตอบคำถามที่หนึ่ง เรื่องแรก เราพบว่ามันเป็นความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มฝ่ายขวาที่กระจัดกระจายให้มีความเข้มแข็ง พวกเขาจัดตั้งมวลชนชั้นกลางที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนผ่านอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ที่ผ่านมารัฐไทยจัดตั้งมวลชนอนุรักษ์นิยมจริงจังก็เพียงช่วงปี 2516-2519 หลังจากนั้นไม่เห็น มวลชนเหล่านี้รู้สึกถูกทอดทิ้งโดยรัฐ กระจัดกระจาย ขณะที่กลุ่มศาสนาเป็นกลุ่มเดียวถูกระดมมาเป็นฐานมวลชนทางการเมืองอยู่บ้าง เช่น สันติอโศกหนุนพลังธรรม เป็นต้น พธม. เป็นขบวนการแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่จัดตั้งและระดมคนเหล่านี้ให้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง จึงสามารถยึดกุมขบวนการได้ ทั้งที่ช่วงต้นพวกที่เป็นเสียงหลักคือกลุ่มเสรีนิยม เพราะมีประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่แทนที่จะเลือกใช้แคมเปญแบบเสรีนิยม แต่กลับยอมใช้แคมเปญอนุรักษ์ไประดมมวลชนอนุรักษ์นิยมให้เข้าร่วม  ช่วงต้นกลุ่มอนุรักษ์นิยมนั้นก็เป็นเพียงมวลชนธรรมดาไม่มีบทบาทมากนัก แต่ พธม.ถึง กปปส. คนกลุ่มนี้ได้ติดอาวุธทางความคิด การจัดตั้งขบวน ฯลฯ และเพราะมีจำนวนมากกว่า มีเครือข่ายกว้างกว่า ทุ่มเทแรงกายแรงใจเหนียวแน่นทุกเวทีจึงสามารถยึดกุมขบวนการเป็นกลุ่มหลักได้

กปปส.รวบรวมคนชั้นกลางที่ไม่สนใจการเมือง
อีกยุทธศาสตร์ของแกนนำ กปปส. คือ การไปจัดตั้งคนชั้นกลางที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน และสำเร็จมาก คนที่ให้สัมภาษณ์ 70% ไม่แม้กระทั่งอ่านข่าวการเมืองมาก่อน เขาภูมิใจด้วยซ้ำที่ไม่เคยยุ่งกับการเมืองใดๆ เขาเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งถูกต้อง แม้ผูกตัวเองกับประชาธิปัตย์และพลังธรรม อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ไม่ได้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมทุกมิติ บางเรื่องก็เป็นเสรีนิยม เช่น เพศสภาพ, การอยู่ก่อนแต่ง รวมถึงประเด็นเศรษฐกิจ แกนนำเสรีนิยมยอมจะรณรงค์ระดับท้องถิ่นผ่านกรอบคิดชาตินิยม กษัตริย์นิยม ต่อต้านประชาธิปไตยเพื่อระดมมวลชน ผลที่ตามมาคือเมื่อสองกลุ่มจับมือกัน พลังอนุรักษ์นิยมจึงมีพลังทั้งในเชิงจำนวน ทรัพยากร แกนนำเสรีนิยมเองยอมใช้กรอบคิดอนุรักษ์ไปปลุกมวลชนอนุรักษ์แล้วสุดท้ายก็ถูกเบียดขับออกมาเสียเอง

คำถามสองและสามอาจตอบไม่หมด คำถามที่สามถามว่าทำไมแกนนำเสรีนิยมโดนเบียดขับออก จากที่สัมภาษณ์พวกเขาเป็นกลุ่มเอ็นจีโอ เคยร่วมขบวนการนิสิตนักศึกษา 14 ตุลา ร่วมขบวนในช่วงพฤษภา 2535 ช่วงต้นใช้ทักษะและบทบาททางการเมืองที่เคยมีระดมมวลชนต่อต้านระบอบทักษิณ แต่ส่วนใหญ่ประเมินพลังอนุรักษ์นิยมต่ำมาก พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นมวลชนมีประสิทธิภาพ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์หลายอย่างของแกนนำส่วนกลาง แต่การลุกขึ้นท้าทายในแต่ละช่วงเวลาคนเหล่านี้พบกับการถูกประณาม ถูกด่าว่าว่าเป็นเสื้อแดง จำนวนหนึ่งก็หันไปสนับสนุนประชาธิปไตย เสื้อแดง หรือต่อต้านเผด็จการ
 

ประจักษ์: ธรรมาธรรมะสงคราม ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะขัดขืน
ประจักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ศึกษาความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวของ กปปส. กับมิติของความรุนแรง เพื่อตอบคำถามว่าการเคลื่อนไหวของ กปปส. ช่วงนั้นเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสันติวิธีหรือไม่ เข้าข่ายการเคลื่อนไหวเชิงอารยะขัดขืนหรือไม่ และสนใจมิติการต่อสู้เชิงวาทกรรมและกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง เมื่อการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว กปปส. ทั้งแกนนำและมวลชนอธิบายความรุนแรงนั้นอย่างไร ทั้งในแง่ที่ตัวเองเป็นผู้ใช้และในฐานะที่ตัวเองตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง โดยใช้กรอบแนวคิดที่ใช้มี 3 กรอบ คือ แนวคิดพื้นที่ความรับผิดชอบทางศีลธรรม แนวคิดเรื่องความรุนแรงเชิงศีลธรรมและแนวคิดเรื่องอนารยะขัดขืน

การอธิบายว่าขบวนการ กปปส. นี้ เป็นขบวนการที่ต่อสู้เพื่ออะไรกันแน่และมีอุดมการณ์อะไรกำกับชี้นำ ตกลงเป็นประชาธิปไตยหรืออนุรักษ์นิยม เป็นรอยัลลิสต์ซึมหรือฟาสซิสต์ซึม ซึ่งพบว่าเราไม่สามารถจัดการเคลื่อนไหวของ กปปส. ไปลงกล่องอุดมการณ์อันใดอันหนึ่งได้แบบเป๊ะๆ ยิ่งศึกษาในรายละเอียด จากการศึกษาในภาคสนามทำให้รู้สึกว่าการเอากรอบอุดมการณ์หลักมาอธิบาย กปปส. นั้นอาจมีประโยชน์น้อย สิ่งที่พบคือขบวนการ กปปส. ถึงที่สุดเนื่องจากเป็นขบวนการขนาดใหญ่ มีการเข้าร่วมโดยกลุ่มคนที่มีชุดอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จึงใช้กรอบที่ใช้เหมือนตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่ศึกษาขบวนการ 14 ตุลา 2516 ว่าความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้มันมาอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในขบวนการขนาดใหญ่ ณ จุดนั้นทางประวัติศาสตร์และเพื่อต่อสู้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง

ความดีเป็นวาทกรรมที่ปรากฏพบมากที่สุดเมื่อศึกษาในเชิงคำพูด แถลงการณ์ การไหลเวียนของคำนี้จำนวนมาก ซึ่งเป็นคำที่หลวมและสามารถครอบคลุมความแตกต่างหลากเอาไว้ได้ ความหลวมดูเหมือนมันเป็นจุดอ่อน แต่จริงๆ แล้วในหลายขบวนการในการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ การมีชุดอุดมการณ์ที่หลวมกลับเป็นจุดแข็งในการที่จะทำให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายสามารถรวมอยู่ด้วยกันในชุดอุดมการณ์นี้ได้

ความรุนแรงที่ไปกันได้กับศีลธรรม
กรอบใหญ่ของงานชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าการเมืองแบบคนดี ซึ่งเป็นการเมืองที่มีแง่มุมทางศีลธรรมกำกับอยู่สูง จริงๆ แล้วไปด้วยกันได้กับการใช้ความรุนแรง โดยจะชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของ กปปส. ไม่ได้เข้าข่ายอารยะขัดขืนและสันติวิธี แต่เป็นความรุนแรงที่ผู้เคลื่อนไหวมองว่ามีความชอบธรรม เพราะว่าสำหรับพวกเขา ศีลธรรมกับความรุนแรงนั้นไม่ได้อยู่ตรงข้ามกัน เรามักมองว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจากคนที่ไร้ศีลธรรม การใช้อารมณ์ชั่ววูบหรือความโกรธ แต่จริงๆ แล้วงานศึกษาจำนวนมากในระยะหลังกลับชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงกลับถูกกระตุ้นและให้ความหมายว่าใช้เพื่อปกป้องและรื้อฟื้นระบบศีลธรรมที่ถูกคุกคาม เช่น ความรุนแรงที่ใช้ปกป้องชาติ มาตุภูมิ หรือปกป้องสถาบันศักดิ์สิทธิอันเป็นที่เคารพ

"ความรุนแรงจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากภาวะไร้ศีลธรรม ในทางตรงกันข้าม ศีลธรรมไม่ใช้กลไกยับยั้งความรุนแรงเสมอไป บางกรณีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเคร่งครัด มองโลกเป็นขาวกับดำ แบ่งโลกเป็นคนดีกับคนเลว กลับผลักดันให้คนที่เข้าร่วมขบวนการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นในนามของความดี ในนามของความดีนี่เองกลับเป็นตัวอนุญาตให้ผู้เคลื่อนไหว ใช้ทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ตนเองต้องการ รวมถึงความรุนแรงด้วยในบางเงื่อนไข"

ส่วนที่สองของงานวิจัยเป็นเรื่องรายละเอียดในส่วนบริบทและรูปแบบของความรุนแรง สิ่งที่พบคือความรุนแรงในช่วงวิกฤติเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก รวมทั้งความรุนแรงระหว่างกลุ่มมวลชนต่างอุดมการณ์ แต่อันนี้เป็นระดับรอง และรวมถึงความรุนแรงเหวี่ยงแหที่เกิดจากกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ ตอนนั้นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงมีหลายกลุ่ม ถามว่าทำไมมันถึงเกิดสภาวะแบบนั้นขึ้นได้ นั่นก็เพราะว่าสภาวะอนาธิปไตยบนท้องถนนที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. เองสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ความรุนแรงของคนต่างกลุ่มเกิดขึ้นได้ เพราะสังคมเกิดทางตัน บวกกับความล้มเหลวของสถาบันและองค์กรทางการเมืองในการทำหน้าที่เป็นกลไกแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างสันติ ทุกองค์กรหยุดทำหน้าที่หมดและใช้องค์กรของตนเองไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้ระบบรัฐล้มเหลว

โซเชียลมูฟเม้นต์แรกที่ขัดขวางการเลือกตั้ง
ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของขบวนการ กปปส.เลือกใช้วิธีการแบบเผชิญหน้า แตกหักไม่เจรจา มีส่วนสำคัญให้ความขัดแย้งบานปลายเป็นความรุนแรง เมื่อเปรียบเทียบในทางประวัติศาสตร์แล้ว พบว่าขบวนการ กปปส. เป็นขบวนการประชาชน เป็นโซเชียลมูฟเม้นต์ขบวนการแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มุ่งขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งโดยตรง คือ ไม่เพียงต่อต้านรัฐบาลหรือนโยบาย แต่มุ่งโจมตีไปที่ตัวสถาบันพื้นฐานของประชาธิปไตยโดยตรง ไปตั้งคำถามถึงขั้นที่ว่าคนเราควรเท่ากันหรือไม่ ควรมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงหรือไม่ และเมื่อคนเราไม่เท่ากันและเมื่อการเลือกตั้งเป็นบ่อเกิดของการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ชอบธรรม กปปส. จึงใช้ความรุนแรงไปหยุดยั้งตัวสถาบันพื้นฐานนี้ เราไม่เคยพบโซเชียลมูฟเม้นต์อันไหนที่เคลื่อนไหวโดยโจมตีสถาบันพื้นฐานประชาธิปไตยตรงนี้มาก่อน โดยมีมติเชิงอุดมการณ์ด้วย ตรงนี้จึงสำคัญเพราะหลังจากนี้หนทางข้างหน้าในการสร้างประชาธิปไตยมันไม่ง่าย เมื่อมีคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่มีความเชื่อที่ไม่ได้เพียงต่อต้านนักการเมืองหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต่อต้านคุณค่าพื้นฐาน ฉะนั้นวิกฤติประชาธิปไตยที่สะท้อนมาจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. มันจึงเป็นวิกฤติที่ลึกซึ้ง

ในแง่สถิติพบว่า กปปส. ตกเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำการของความรุนแรง ความรุนแรง 2 ก.พ. 2557 ที่การเลือกตั้งในที่สุดถูกทำให้เป็นโมฆะนั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้วในทางสถิติเป็นการเลือกตั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ไม่ใช่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากนักการเมือง หัวคะแนนยิงกันเอง หากเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากขบวนการมวลชนที่เข้าไปขัดขวางและยุติการเลือกตั้ง เป็นมิติใหม่ในทางประวัติศาสตร์

ในส่วนที่สามของงานศึกษาอธิบายว่าศีลธรรมกับความรุนแรงมาอยู่คู่กันได้อย่างไร ความรุนแรงที่ กปปส.ใช้ ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลทางยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นความรุนแรงที่มีการให้ความหมายรองรับและมีมิติของศีลธรรมกำกับ ในแง่นี้จึงน่ากลัวกว่า เพราะว่าไม่ใช่ความรุนแรงแบบนักการเมืองยิงกันหรือจ้างไปยิงคนอื่นที่เป็นความรุนแรงที่ไม่มีมิติเชิงอุดมการณ์ คนกระทำก็ไม่ได้รู้สึกว่าความรุนแรงนั้นดี แต่ได้รับเงินมา แต่ความรุนแรงของขบวนการ กปปส. ในช่วงนั้นที่เกิดขึ้น เป็นความรุนแรงที่ผู้ใช้ให้ความหมายรองรับแล้วรู้สึกว่าเป็นความรุนแรงที่ชอบธรรม

"ขบวนการ กปปส. เชื่อว่ามาตรการที่เกิดจากฝ่ายตนนั้นถูกต้อง ชอบธรรม เพราะว่าใช้เพื่อกำจัดระบอบการเมืองและนักการเมืองที่ชั่วร้ายมากกว่า โดยมองว่าฝ่ายตรงข้ามกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง รัฐบาลที่เป็นทรราชและผู้สนับสนุน ฝ่ายตรงข้ามอยู่นอกพื้นที่ความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่ตนเองจำเป็นต้องมีพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมด้วย"

อย่างไรก็ตาม กปปส. มีคำอธิบายที่แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อมวลชนของตนเองตกเป็นเหยื่อกับเวลาที่มวลชนฝ่ายตรงข้ามตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

สงครามดี-ชั่ว ทำให้ไม่อาจประนีประนอม
นอกจากนี้ยังพบภาษาของสงครามจำนวนมากในการเคลื่อนไหว ผู้ชุมนุมแกนนำมองว่า การต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองธรรมดา แต่เป็นสงครามระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม จึงเป็นที่มาของตั้งชื่องานวิจัยว่า "ธรรมาธรรมะสงคราม" เพราะมีการมองว่าเป็นการเมืองแบบมิตรกับศัตรูที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้าเราอยู่ เขาก็ต้องไป เป็นการเมืองที่ไม่มีพื้นที่ตรงกลาง หากจำได้ วันที่เลือกตั้งมีคนจำนวนมากที่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้สังกัดอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายไหน แต่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งธรรมดากลับถูกโจมตีว่าเป็นคนเลว เพราะสโลแกนตอนนั้นของ กปปส. คือ "รักประชาธิปไตย ต้องไม่ไปเลือกตั้ง"

นัยทางการเมืองของวาทกรรมสงครามคนดีคนชั่ว เมื่อขับเน้นวาทกรรมนี้มากเข้ามันก็ได้แปรเปลี่ยนการต่อสู้ทางการเมืองให้กลายเป็นการต่อสู้ทางศีลธรรมซึ่งไม่สามารถประนีประนอมได้ ราวกับเป็นการต่อสู้เพื่อความเชื่อทางศาสนา และไปให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่เป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรการรุนแรงในนามของการสถาปนาการเมืองของคนดี แต่การสร้างอัตลักษ์ของ กปปส. ที่ตนมองว่าอัตลักษณ์คนดีเป็นอัตลักษณ์ที่ใหญ่ที่สุดที่คลุมไว้ ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างลอยๆ แต่ดำรงอยู่จากการสร้างขั้วตรงกันข้าม หรือ binary opposition ผ่านการกดคุณค่าของฝ่ายตรงกันข้ามให้อยู่ต่ำ ที่น่าสนใจคือวาทกรรมเหล่านี้ถูกถ่ายทอดและซึมซับในหมู่ผู้เคลื่อนไหวด้วย

จากการรวมรวมคำปราศรัยและข้อเขียนในช่วงนั้น การเคลื่อนไหว กปปส. แบ่งแยกขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน และที่สำคัญชุดวาทกรรมคนดีรวมหลายอย่างไว้มาก มีหลายมิติ ทั้งที่เป็นคนดีกว่าเพราะรักชาติรักแผ่นดินมากกว่า รักในหลวงมากกว่า เคร่งศีลธรรมมากกว่า เป็นพลเมืองดีแบบใสซื่อมือสะอาด สุจริตไม่คอร์รัปชัน เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง มีการเปรียบเทียบในแง่การศึกษาสูงกว่า เป็นผู้ดีกว่า มีคุณภาพมากกว่า ไม่ตกเป็นทาสของนักการเมือง ฯลฯ เรายังเห็นกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์สูงมากในภาษาของ กปปส. โดยเฉพาะแกนนำบางคน เช่น เรากำลังต่อสู้กับพวกอมนุษย์ พวกสัตว์นรก เป็นคำที่รุนแรงมาก เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นกับฝ่ายตรงกันข้ามปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการเยาะเย้ยถากถาง การแสดงความสะใจดีใจต่อความรุนแรง กรณีมือปืนป๊อปคอร์นเป็นกรณีที่ชัดเจน นอกจากให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงแล้วยังมีการทำความรุนแรงให้เป็นสินค้าด้วย ความรุนแรงถูกยกย่องเชิดชูอย่างเปิดเผยกระทั่งมีการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมออกมาจัดจำหน่าย นี่เป็นการยกขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งของความรุนแรง

การเคลื่อนไหว อนารยะขัดขืน
เรื่องอนารยะขัดขืนและการเมืองเรื่องความไม่เสมอภาค งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า กปปส. ไม่ได้ยึดมั่นตามแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีและอารยะขัดขืน แต่มีลักษณะสอดคล้องกับการต่อสู้แบบอนารยะขัดขืนใน 2 มิติ คือ 1. ใช้ความรุนแรงเพื่อขัดขืนกฎหมาย ถ้าคุณเป็นอารยะขัดขืน คุณต้องใช้สันติวิธีเพื่อขัดขืนกฎหมาย 2. ปฏิเสธความความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องการก้าวข้ามกระทั่งทำลายล้างประชาธิปไตยแบบตัวแทนไป ฉะนั้นใน 2 มิตินี้ การเคลื่อนไหวของ กปปส. จึงไม่เข้าข่ายอารยะขัดขืน แต่เป็นอนารยะขัดขืน เพราะว่าแทนที่จะมุ่งเปลี่ยนคู่ต่อสู้ให้เป็นมิตรและยอมรับระบอบประชาธิปไตย แต่ กปปส.มุ่งกำจัดและทำลายล้างคู่ต่อสู้รวมถึงระบอบประชาธิปไตย

"การเคลื่อนไหวของ กปปส. คือการเคลื่อนไหวแบบอนารยะขัดขืนภายใต้วาทกรรมรุนแรงเชิงศีลธรรม ปฏิเสธความชอบธรรมทั้งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความชอบธรรมของการเลือกตั้งในฐานะกลไกขึ้นสู่อำนาจ ทั้งสังคมเกิดทางตัน บวกกับการไม่ทำหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะกองทัพในการรักษาและฟื้นฟูความสงบ คือพูดง่ายๆ ตอนนั้น กองทัพจงใจที่จะอยู่นิ่งเฉย ทำให้สภาวะอนาธิปไตยบนท้องถนนดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และสภาวะอนาธิปไตยนี้ที่กองทัพเองมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้นกลับกลายเป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการเข้ามายึดอำนาจของกองทัพในนามของการรักษาความสงบ ซึ่งเป็นสภาวะที่กลุ่ม กปปส. จงใจสร้างให้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น วาทกรรมสงครามคนดีคนชั่ว ผมมองว่าทำให้สังคมไทยร้าวลึกและยังคงร้าวลึกมาจนถึงปัจจุบัน ยากที่จะมีจุดประนีประนอมได้ ถามว่าทำไมทหารทำอะไรหลายอย่างที่ก็เหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ชุมนุม กปปส. ยังสนับสนุนอยู่ ผมคิดว่าเราเข้าใจได้ถ้ามองว่านี่มันคือสงครามที่ไม่มีพื้นที่ตรงกลางให้เลือกมันเป็นสงครามแบบขาวดำระหว่างคนดีกับคนชั่ว ฉะนั้นคุณก็ยังต้องสนับสนุนแม่ทัพฝ่ายตนเอง ตราบใดที่คุณยังจัดเขาว่าอยู่ในฝ่ายตนเองอยู่ เพราะมันมีฝ่ายที่ชั่วร้ายกว่าที่เป็นภัยคุกคาม"

ธร ปิติดล-ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์: การเติบโตและการหันหลังให้กับประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย
ธร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า โจทย์ของงานวิจัยดูสองเรื่องหลักคือ เส้นทางการเติบโตของกลุ่มคนชั้นกลางระดับบนโดยเฉพาะที่อยู่ในกรุงเทพฯ กับทำไมพวกเขาถึงหันหลังให้กับประชาธิปไตย โดยงานชิ้นนี้จะเป็นงานที่พยายามมองภาพกว้าง คือมองไปที่การเคลื่อนที่ของกลุ่มคนที่เป็นผู้สนับสนุน กปปส. ผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์หลาย 10 ปี เพื่ออธิบายว่าเขาได้กลายมาเป็นฐานสนับสนุน กปปส. ได้อย่างไร

ในภาพรวมความเข้าใจเรื่องคนชั้นกลางกับประชาธิปไตยไทยนั้นเคลื่อนที่ผ่านเส้นทางที่ค่อนข้างแปรผัน หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีการมองว่าคนชั้นกลางเป็นพลังบวกของประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังปี 2549 เป็นต้นมาภาพจำนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป เรามีชนชั้นกลางระดับล่างเข้ามาเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองใหม่ ขณะที่กลุ่มคนชั้นกลางระดับบนกลายเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่ไม่เป็นบวกกับพัฒนาการทางประชาธิปไตย

การที่ชนชั้นกลางจะสนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศ ถ้ามีปัจจัยต่อไปนี้อยู่ในบริบทของประเทศหนึ่งๆ ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกลางกับประชาธิปไตยก็อาจจะไม่เป็นบวกเสมอไป เช่น ชนชั้นกลางจะหันหลังให้ประชาธิปไตยหากรู้สึกว่าต้องพึ่งพิงรัฐที่เป็นเผด็จการ หรือพอใจกับรัฐที่เป็นเผด็จการ หรือพวกเขาอาจจะไม่ได้ยึดตัวเองเป็นชนชั้นเดียวกัน หรืออาจจะโยงตัวเองกับชนชั้นที่สูงกว่า และพวกเขาอาจจะหวั่นไหวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนอาจกลายเป็นการสนับสนุนระบบเผด็จการ

ชนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จนถึงช่วงปี 2535 แม้ว่าการเติบโตของคนชั้นกลางระดับล่างจะมากกว่าก็ตาม แต่การเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางระดับบนนั้นมีนัยสำคัญคือ มีลักษณะของการถีบตัวออกจากชนชั้นกลางระดับล่างไกลมากขึ้น โดยมี 3 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ ปัจจัยด้านพื้นที่ ด้านการศึกษา และอาชีพ ซึ่งเป็นฐานการเติบโตของคนชั้นกลางระดับบน ในกรุงเทพฯ คนกลุ่มนี้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2535 เป็นต้นมาช่องว่างระหว่างสองกลุ่มได้ขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น โดยปัจจัยเรื่องการศึกษา และปัจจัยเรื่องพื้นที่ ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญอีกต่อไป มากไปกว่านั้นสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปและทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง จากเดิมการอยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น แต่หลังจากปี 2535 การอยู่ภาคเกษตรกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางระดับล่างไล่ทันชนชั้นกลางระดับบน สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงของชนชั้นกลางระดับบน

นอกจากนี้พวกเขามองเส้นทางของตัวเองและการเติบโตของตัวเองในลักษณะปัจเจก คำตอบที่ได้มานี้เกิดจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 15 คน

"เรื่องหนึ่งที่เราเถียงกันมากในโปรเจกต์นี้คือเรื่องชนชั้น ชนชั้นกลางระดับบนมองตัวเองเป็นชนชั้นและกำลังต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ส่วนตัวหลังจากที่ได้ไปสัมภาษณ์พบว่า การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้น ไม่ใช่สิ่งที่อธิบายพวกเขาได้ดีเท่าไหร่ มันมีอะไรที่เราจะต้องควานหาไปมากกว่านั้น มากกว่ามองว่าพวกเขาเป็นชนชั้นที่ต่อสู้ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะเขามองตัวเองเป็นปัจเจกเป็นหลัก ผมพยายามหากรอบอธิบายและพบว่ามีกรอบหนึ่งที่จะพออธิบายได้คือ กรอบเรื่องมวลชน กล่าวภายใต้การเติบโตที่พวกเขาต่างแสวงหา พวกเขาเป็นปัจเจกที่ไม่ได้มีโครงสร้างอะไรยึดโยง ในช่วงเวลาเช่นนี้เองที่รัฐไทยหยิบยื่นบางอย่างให้ โครงสร้างที่ปลูกฝังให้พวกเขาโยงอยู่กับอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่ง มันเป็นโครงสร้างเดียวที่ยึดพวกเขาไว้ได้ อันนี้เป็นคำอธิบายเดียวกันกับการอธิบายว่า ทำไมคนในเยอรมนีถึงเคยสนับสนุนระบอบฟาสซิสต์ เพราะมันไม่มีโครงสร้างให้ยึด ในสภาพที่เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว อัตลักษณ์บางอย่างถูกกดทับเอาไว้ พวกเขาพยายามหันไปหยิบโครงสร้างลักษณะนี้และยึดมันขึ้นมา"

การศึกษาพบว่า คนเหล่านี้มีประสบการณ์ทางการเมืองน้อยมาก โดยในช่วงก่อน กปปส. พวกเขาไมได้สนใจการเมืองมากนัก ในช่วงการพัฒนาตัวเองพวกเขาไม่ได้สนใจโครงสร้างสังคม ไม่ได้สนใจประเด็นทางการเมือง และช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เขารับอุดมการณ์ของรัฐไทยเข้ามายึดไว้เป็นหลัก ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นมวลชนใต้ร่มพระบารมี โดยจะมองสังคมไทยเป็นโครงสร้างที่ชัดเจน บนสุดคือพระมหากษัตริย์ รองลงมาคือข้าราชการที่จงรักภักดี ฐานรากคือชาวบ้านที่สงบสุข ไม่ได้มีความต้องการมากมาย มีความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ภาพการมองในลักษณะนี้เข้ากันได้ดีกับการมองแบบพุทธคือเห็นว่าต่างคนต่างเกิดมาโดยมีที่ทางของตัวเองในสังคม และคนเหล่านั้นควรจะมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเองเป็นหลัก ไม่ไปกระทบกระเทือนกับภาพรวมของสังคม

เมื่อได้สัมภาษณ์พวกเขาถึงเรื่องปัจจัยที่บั่นทอนอุดมการณ์หลักของพวกเขาก็พบว่าคำตอบคือ ทักษิณไม่จงรักภักดี นักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง และมีการคอร์รัปชันสูง และการเกิดขึ้นของนโยบายประชานิยมทำให้ชาวบ้านไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ตอบโจทย์ว่าปัจจัยที่ผลักดันให้คนชั้นกลางระดับบนออกมาเคลื่อนไหวกับ กปปส. จริงๆ แล้วเป็นปัจจัยทางอุดมการณ์
 

ชลิตา บัณฑุวงศ์: ความคิดและปฏิบัติการ 'การเมืองคนดี' ของคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ
ชลิตา อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่าสนามของการศึกษาคือชุมชนแฟลตแห่งหนึ่งของการเคหะแห่งชาติ ตั้งอยู่ในเขตบางกะปิ รามคำแหง ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนคนใต้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มคนที่มีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 จนกระทั่งเกิดการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า คนที่เข้าชุมนุมกับ กปปส. ในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่คนกรุงเทพฯ เพียงเท่านั้น แต่ว่ามีคนจากภาคใต้เข้ามาชุมนุมด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ของการวิจัยนั้นต้องการที่จะรู้ว่ามีเงื่อนไข หรือปัจจัยใดบ้างที่มีส่วนต่อความคิด และปฏิบัติการ "การเมืองคนดี" ของคนใต้กลุ่มดังกล่าว และผลของความคิด และปฏิบัติการดังกล่าวนั้นมีผลอย่างไรกับการเมืองไทย โดยงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ สังเกตการณ์ และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีในพื้นที่ศึกษา โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึงต้นปี 2559

กลุ่มคนที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าห้องพักและเป็นคนทำงานมากกว่าที่จะเป็นนักศึกษา คนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาไม่ต่ำกว่า 15 ปี มีบางส่วนที่ทำงานในหน่วยงานต่างๆ บางส่วนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ จากนั้นก็ทำงานและดำรงชีวิตในกรุงเทพฯ มาโดยตลอด บางส่วนมีอาชีพในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น ค้าขาย รับจ้างอิสระ โดยกลุ่มนี้จะอยู่ในช่วงวัยกลางคน และจบการศึกษาในระดับมัธยมต้น-ปลาย เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อ 25-30 ปีก่อนเพื่อหางานทำ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอาจจัดได้ว่าเป็นกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ได้เป็นคนที่ยากจนมากนัก ส่วนใหญ่มีรถยนต์ส่วนตัว มีการท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยเช่นเดียวกับชนชั้นกลาง แต่ก็เป็นชีวิตที่ไม่มีความมั่นคงหรือไม่อาจคาดหวังความก้าวหน้าได้มากนัก

ในส่วนของภูมิหลังที่เชื่อมโยงกับบ้านเกิด เธอพบว่ามีสองลักษณะด้วยกัน บางส่วนครอบครัวเดิมยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องการกิจกรรมในด้านการเกษตรแล้วก็ตาม อีกส่วนหนึ่งไม่มีภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมเลย แต่อาจจะเป็นคนเชื้อสายจีนที่ค้าขายอยู่ในตลาดของอำเภอหรือรับจ้างอิสระมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ก่อนที่จะย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ บางคนมาจากครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อย ตรงนี้ทำให้เห็นว่างานศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจภาคใต้ที่เคยบอกว่า สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของคนใต้วางอยู่บนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรหรือเศรษฐกิจการเกษตรจึงใช้ไม่ได้กับคนใต้ชาวแฟลตแห่งนี้

จำกัดคอร์รัปชัน-ปกป้องสถาบันกษัตริย์ เหตุเข้าร่วม กปปส.คึกคัก
ชลิตา ระบุว่า กลุ่มที่ศึกษามีความกระตือรือร้นอย่างมากกับการร่วมชุมนุมกับ กปปส. และมีความคึกคักมากกว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงเวลาก่อนหน้ามาก หลายรายเข้าร่วมตั้งแต่วันแรกที่ต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจนถึงรัฐประหาร บางคนที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะและไม่ได้ทำงานประจำก็สามารถร่วมยุทธวิธีดาวกระจายไปปิดหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และคนที่นี่มีบทบาทสำคัญในการขัดขวางการเลือกตั้ง พวกเขายินดีเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. แม้จะเหน็จเหนื่อยหรือเสี่ยงอันตรายเท่าใดก็ตาม ในสถานการณ์ที่มีความวุ่นวายพวกเขาทำหน้าที่เป็นแนวหน้า เช่น เหตุการณ์ที่รามคำแหง และช่วงชัตดาวน์กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นลักษณะการเข้าร่วมที่แตกต่างจากกลุ่มชนชั้นกลางอื่นๆ หรือชนชั้นกลางระดับสูง ซึ่งมักจะมาร่วมชุมนุมเป็นครั้งคราว และชุมนุมในจุดที่เสี่ยงอันตรายน้อย

หากจะแบ่งกลุ่มพวกเขาตามการมีส่วนร่วมทางการเมือง สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่มีความเหนียวแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์ รักและชื่นชอบในแกนนำคนสำคัญของพรรค 2.กลุ่มลูกพี่ คือ กลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยง หรือทำงานในลักษณะที่ไม่เป็นทางการกับบุคคลในพรรคประชาธิปัตย์ และนักการเมืองท้องถิ่น และเป็นกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกับฝ่ายความมั่นคง และ 3.กลุ่มอุดมการณ์ หรือกลุ่มเสรีชน เป็นคนที่สนใจข่าวสารทางการเมือง ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์มากนัก และไม่ได้มีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับพรรคการเมือง

สำหรับเหตุผลที่คนกลุ่มดังกล่าว เข้าร่วมกับ กปปส. มี 3 เหตุผลหลัก แม้คนแต่ละกลุ่มอาจจะให้น้ำหนักกับเหตุผลในการเข้าร่วมแตกต่างกัน แต่ในภาพร่วมทุกคนจะพูดถึงสาเหตุ 3 ประการคือ 1.การคอร์รัปชัน 2.การหมิ่นเบื้องสูง และ 3.การลุแก่อำนาจ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ซึ่งทั้งกลุ่มที่เป็นเสรีชนมักจะให้น้ำหนักกับเหตุผลในข้อที่ 3 มากกว่าข้ออื่นๆ

เป้าหมายในการเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. ของคนที่แฟลตแห่งนั้นเป็นไปเพราะมีความมุ่งมั่นที่จะทำความดีให้กับประเทศชาติ ซึ่งความดีในที่นี้หมายถึงการทำให้ประเทศปราศจากการคอร์รัปชัน การทำให้คนดีได้เข้ามาปกครองประเทศ และที่สำคัญคือการปกป้องคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ให้เป็นเสาหลักที่เข้มแข็งต่อไปของชาติได้ตราบนานเท่านาน

"หลายคนผิดหวังกับการรัฐประหารปี 2549 เพราะว่าไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เพราะว่าเสียของ สำหรับรัฐประหารปี 2557 พวกเขาบอกว่ามันมีความจำเป็น ถ้าทหารไม่เข้ามาก็จะเกิดความวุ่นวายคนจะตายอีกเยอะ และเครือข่ายทักษิณยังคงอยู่ต้องให้ทหารมาจัดการ"

3 ปีหลังรัฐประหาร ประเทศไทยมาถูกทาง ประชาธิปไตยครึ่งใบ
มุมมองต่อรัฐบาลทหารในปัจจุบัน พวกเขามองว่าเป็นความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาด้วยการออกกฎหมายต่างๆ แต่หากเป็นรัฐบาลก่อนหน้าพวกเขากลับมองว่าเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ เป็นเผด็จการรัฐสภา หรือมุมมองต่อปัญหาคอร์รัปชัน หากเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์พวกเขาจะมองว่า เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แต่หากเป็น คสช. ก็ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาคอร์รัปชันอยู่บ้าง แต่ต้องเอาเป้าหมายหลักเอาไว้ก่อน เรื่องอื่นๆ ค่อยแก้ทีหลัง ภายใต้รัฐบาลทหารหลายปีมานี้คนกลุ่มนี้ยังคงเห็นว่าการรัฐประหารมีความจำเป็น ประเทศไทยได้เดินมาถูกทางแล้ว และยังไม่ควรมีการเลือกตั้งจนกว่าจะมีความพร้อม ซึ่งกล่าวได้ว่าความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ ในความคิดเขาพวกเขาคือการนำพาประเทศไปสู่ระบอบการเมืองที่คิดว่าเหมาะสมคือระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าระบอบนี้เท่านั้นที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย

แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่อยู่ในชนชั้นกลางระดับล่างซึ่งมีสถานะที่คล้ายกับคนเสื้อแดง แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่พวกเขาเลือกเข้าร่วมด้วยกลับเป็นขบวนการทางการเมืองที่ไม่เน้นสิทธิและความเสมอภาคทางการเมืองของกลุ่มคนระดับล่าง แม้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. จะไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนระดับล่าง แต่พวกเขาก็ยังเลือกที่จะเข้าร่วมกับ กปปส. ด้วยความเสียสละและทุ่มเท สาเหตุเกิดจากปัจจัยที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมของความเป็นคนใต้ แม้ว่าคนใต้เหล่านี้จะย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มานานหลายปี แต่พวกเขาก็ยังนิยามตัวเองว่าเป็นคนใต้อยู่ และยังรู้ว่าเป็นพรรคพวกเดียวกันกับคนใต้อื่นๆ ทั้งคนใต้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียว ซึ่งนำมาสู่สายสัมพันธ์ทางสังคมที่แนบแน่น และยังมีลักษณะของการเชื่อมโยงปัญหาของตัวเองกับปัญหาของคนใต้อื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อนจากระบบทักษิณ อัตลักษณ์อีกประการหนึ่งที่คนใต้มักกล่าวถึงตัวพวกเขาเองคือการไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรมหรืออำนาจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากปัญญาชน นักเขียน ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา และอัตลักษณ์นี้ก็ถูกเน้นย้ำกับการเข้าร่วมกับ กปปส. ด้วย อย่างไรก็ตามคำว่าอำนาจที่ไม่เป็นธรรมนั้นถูกให้ความหมายเพียงแค่อำนาจที่มาจากนักการเมือง โดยเฉพาะฝั่งของทักษิณเท่านั้น ขณะที่สถาบันอื่นๆ ในโครงสร้างอำนาจรัฐกลับไม่ถูกพูดถึง

อุเชนทร์ เชียงเสน: การสร้างอุดมการณ์ผ่านกรอบโครงความคิดของปัญญาชน กปปส.
งานนี้เริ่มต้นจากการเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้วันเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ ทำให้นึกถึงการเพิกถอนให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 เป็นโมฆะด้วย ทั้งสองกระบวนการเป็นทั้งแรงผลักดันและจุดเริ่มต้นของการรัฐประหาร องค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าตุลาการหรือทหาร ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวในครั้งแรกคือ พธม. และครั้งที่สองคือ กปปส. หลายคนเชื่อว่า พลังต่อต้านประชาธิปไตยที่มีมาตั้งแต่ปี 48-49 อ่อนแรงลงเพราะว่าไอเดียต่างๆ ถูกพิสูจน์ว่ากระบวนการ (ปูทางสู่รัฐประหาร) มีปัญหาอย่างไรบ้าง แต่ท้ายที่สุดขบวนการแบบ กปปส.ก็ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนคนอย่างมาก และใช้ยุทธวิธีรบกวนระบบอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นการเรียกร้องคนมากกว่าการไปเลือกตั้ง ทั้งนี้ในทางทฤษฎีมันยังต้องมีตัวเชื่อม โครงสร้างโอกาสทางการเมืองกับกลไกทางการเมือง เราเรียกมันว่า framing process หรือการสร้างกรอบกระบวนการ

งานศึกษานี้สนใจกลุ่มปัญญาชนนักวิชาการใน กปปส. เพราะพวกเขามีหน้าที่อธิบายเฟรมดังกล่าว และเลือกศึกษาสามคนคือ จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะจุฬาฯ เป็นฐานสำคัญในการรวบรวมคน, จักษ์ พันธุ์ชูเพชร มีบทบาทสำคัญมาก เป็นคนที่คนฟังตบมือทุกประโยคและเดินสายระดมคนไปยังจังหวัดต่างๆ จำนวนมาก มีลูกล่อลูกชนและมีประเด็นสองแง่สองง่ามเยอะ, สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ มีบทบาทในการอธิบายขบวนการและเป้าหมายของ กปปส.มากและนิด้าก็เป็นฐานกำลังหลักด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มสยามตุลาภิวัตน์


แฟ้มภาพ (9 ธ.ค. 2556)

ยุทธศาสตร์ของ กปปส.นั้น สุเทพ เทือกสุบรรณ เปิดเผยชัดเจนแต่ต้นว่าจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและเปิดทางให้ตั้งสภาประชาชน ฯลฯ นักวิชาการเป็นจุดหนึ่งในการระดมคนให้มาเคลื่อนไหว ส่วนในระดับชาติก็มีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษานำเสนอข้อเสนอ โดยเฉพาะที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) กับกลุ่มสยามประชาภิวัตน์  อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก บรรดานักวิชาการมีข้อเสนอต่างกัน นักวิชาการต่างจังหวัดเสนอว่าให้คืนอำนาจให้ประชาชน แต่หลังจากสุเทพฯ ยกระดับการสู้ ก็ทำให้นักวิชาการเสนอสอดคล้องกับ กปปส.ส่วนกลาง

กรอบความคิดใหญ่ของ กปปส. มีความต่อเนื่องกับ พธม. นักวิชากาอย่างจรัส เวลาอธิบายจะผูกตัวเองกับ 2475 อธิบายผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า การพยายามสร้างความเข้มแข้งให้รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญนั้นทำเกิดระบอบทักษิณ เกิดการกระจุกตัวของอำนาจที่ส่วนกลาง ทำให้การลงทุนซื้อเสียงมันคุ้มที่จะทำ ส่วนสมบัติมีแบคกราวน์การเมืองเปรียบเทียบ อธิบายว่าสิ่งที่เกิดในระบอบทักษิณเชื่อมโยงกับระบบรัฐสภา ข้อเสนอแกคือให้เลือตั้งนายกฯ โดยตรงเลย เพื่อแบ่งแยกอำนาจ แก้ปัญหาที่ฝ่ายบริการจะครอบงำนิติบัญญัติ แต่ไม่มีใครเอากับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่จักษ์เสนออย่างไม่เป็นระบบเท่าไร แต่พยายามจะเชื่อมโยงว่า ปัญหาระบอบทักษิณ ล้มเจ้า จ้างยิง ทิ้งเกษตร เผาเมือง ไม่ฟังคำสั่งศาล ฯลฯ นั้นเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ รวมถึงมีการพูดขนาดว่า สปป.หรือสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยที่นักวิชาการรวมตัวกันตั้งขึ้นนั้นคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดทุกคนปฏิเสธการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะจะได้อะไรแบบเดิม จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดรัฐบาลแบบเดิม พวกเขาไม่ได้เน้นการปกครองโดยประชาชนแล้ว แต่เน้นการปกครองเพื่อประชาชน การเลือกตั้งเป็นขั้นต่ำที่สุดของประชาธิปไตยก็จริง แต่การเลือกตั้งต้องอยู่บนฐานความบริสุทธิ์ยุติธรรม คนเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม การสู้เรื่องของเฟรมท้ายสุดอยู่บนฐานของกรอบในเรื่องแรงจูงใจ มีการเสนอการปฏิวัติของคนกลุ่มน้อย ถือว่าสิ่งที่เขาทำมีความสำคัญและเหนือกว่าประชาธิปไตยตัวแทน จรัสบอกว่า การต่อสู้ครั้งนี้เราถือว่าประชาธิปไตยทางตรง มีความถูกต้องชอบธรรมและได้มากกว่าประชาธิปไตยตัวแทนและนี่เป็นครั้งแรกในโลก เพื่อให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง

ถามว่ารากฐานทางวัฒนธรรมอะไรบ้างที่ใช้สร้างกรอบเช่นนี้ เราพบว่า เรื่องระบอบทักษิณมีการปูกระแสกันมานาน เชื่อมโยงกับความรุนแรงและล้มเจ้า บางคนเล่นโดยตรง บางคนไม่ตรง เรื่องเผด็จการรัฐสภาก็เอามาใช้ มีการใช้คำอธิบายหลักอธิปไตยเป็นของประชาชนเพื่ออธิบายว่าประชาชนสามารถล้มรัฐบาลได้

"เวลาพวกนี้เถียง เขาไม่ปฏิเสธประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ แต่เสนอการตีความอีกแบบ ข้อเสนอคือประชาธิปไตยทางตรง"
 

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล-อาจินต์ ทองอยู่คง: การร่วมสร้างอัตลักษณ์คนดีของมวลมหาประชาชน
อาทิตย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า การศึกษานี้มองการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่ไม่ได้อยู่บนท้องถนนเท่านั้น แต่ยังอยู่บนสื่อต่างๆ โดยเฉพาะบนอินเทอร์เน็ตด้วย สิ่งที่นึกขึ้นได้คือป้าย "คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ที่ปรากฏในที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่ออนไลน์และภายนอก โดยการบอกว่ามวลชนมีความคิดต่างๆ ก็ต้องไปดูว่าเขาร่วมผลิตอะไร และสร้างให้ขบวนการออกมาเป็นหน้าตาอย่างไร สำหรับวิธีการศึกษานั้นจะไปดูมีม (meme) กราฟิกต่างๆ ที่มีการส่งต่อ, ตัวสินค้าต่างๆ, ดาราเซเลบคนดัง ทั้ง 3 ตัวนี้เป็นภาชนะอย่างหนึ่งที่บรรจุความคิดเพื่อส่งต่อไป

Meme ยืมแนวคิดของเรื่องยีนหรือรหัสทางพันธุกรรมมาใช้ ในทางวัฒนธรรมก็มีหน่วยทางวัฒนธรรมคือตัวมีม วัฒนธรรมคือการคัดลอกทำซ้ำส่งต่อ มีมเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดทางวัฒนธรรมที่ถูกคัดลอกและส่งต่อ สามารถรวบยอดและส่งต่อความคิดได้ นอกจาการ์ตูนแล้ว ในโซเชียลมีเดียยังมีเรื่องของแฮชแท็ก ในทวิตเตอร์ก็อาจเป็นมีมได้เช่นกัน ดังนั้นมีจึงเหมือนกับรหัสทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นมาและมีการส่งต่อ โดยมีช่วงเวลาเฉพาะของมันอยู่ นอกจากนี้มีมยังไม่ใช่การคัดลอกเพียงแค่ตัวสาร แต่ยังมีการคัดลอกตัวฟอร์มซึ่งมีโครงของเรื่องเล่าอยู่ด้วย บางส่วนก็ทำให้คนอื่นๆ มาร่วมเล่นได้ โดยไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมาก เช่น คำว่า "อีโง่" หรือภาพลักษณ์ที่รวบยอดของการไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรียิ่งลักณ์ในขณะนั้น กรณีมือปืนป๊อปคอร์นก็มีการนำมาทำเป็นรูปการ์ตูนเพื่อลดโทนความรุนแรงลงทำให้รู้สึกว่าสามารถทำซ้ำและส่งต่อได้ เช่น การนำไปทำภาพเป็นปกอัลบั้มวงดนตรีป๊อปคอร์น โดยมีมไม่ได้อยู่เพียงบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น มันกระโดดมาพื้นที่ออฟไลน์ด้วย เช่น เสื้อยืดมือปืนป๊อปคอร์น หรือของที่ระลึก

อาจินต์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. กล่าวเสริมว่า ความน่าสนใจคือการเคลื่อนไหวของ กปปส. มันมีสิ่งที่เรียกว่า "สื่อส่วนบุคคล" หมายถึงสื่อที่บุคคลสามารถจัดการกับมันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อที่เป็นสถาบันหรือเป็นทางการ คนแต่ละคนสามารถจัดการกับมันได้ ลักษณะอันหนึ่งในนั้นคือพวกสินค้า อุปกรณ์ เครื่องแต่งกายต่างๆ ความโดดเด่นของ กปปส. เมื่อเปรียบเทียบกับม็อบอื่นๆ คือมีการขายอุปกรณ์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ภายใต้สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่หลากหลายมาก เช่น ธงชาติ ซึ่งเราอาจเรียกสินค้าพวกนี้ว่าเป็นสินค้ารักชาติ ซึ่งมี 3 อย่าง คือ ส่วนที่เป็นสินค้าอย่างเป็นทางการของ กปปส. เช่น นกหวีดสายฟ้า ส่วนที่เป็นสินค้าเหมาโหลต่างๆ เช่น พวกเสื้อที่มีลายสกรีนง่ายๆ ที่คาดผม ฯลฯ เราพบว่าของพวกนี้ขายดีมากในที่ชุมนุม พ่อค้าแม่ค้าสามารถปลดหนี้ได้จำนวนมาก ส่วนที่เป็นสินค้า D.I.Y. (Do It Yourself) ความน่าสนใจของการเกิดขึ้นของสินค้าพวกนี้คือ มันไม่ได้เป็นแค่ม็อบอย่างเดียวแต่มีตลาดเกิดขึ้นด้วย ในที่ชุมนุม กปปส. เกือบครึ่งเป็นที่ขายของอย่างจริงจัง ช่วงนั้นมีบล็อกเกอร์ชาวต่างชาติเข้ามาในที่ชุมนุมและเขียนรีวิวโดยมองว่าเป็นม็อบที่ไม่ใช่การก่อจลาจล ไม่มีความรุนแรง เป็นเหมือนโฟล์คเฟสติวัลมากกว่า




แฟ้มภาพ (2 ก.พ. 2557)

กลุ่มเซเลบนั้นจะเห็นว่าช่วงนั้นมีคนดังทั้งดารานักร้องนักแสดงมีบทบาทในการเคลื่อนไหว กปปส. มาก ทำให้การเคลื่อนไหวได้รับความสนใจขึ้นมา และความน่าสนใจอีกอย่างคือ แกนนำ คนเข้าร่วมกับ กปปส. ปรากฏภาพอยู่ในนิตยสารที่ไม่ใช่การเมือง เช่น นิตยสารอิมเมจ แพรว ดิฉัน ฯลฯ อย่างน้อย 14 ฉบับ ส่วนที่ไม่ปรากฏบนหน้าปกแต่อยู่ในเนื้อหาภายในเล่มก็ปรากฏอีกเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่า กปปส. ช่วงนั้นอยู่ในป๊อปปูลาร์คัลเจอร์ที่ไม่อยู่ในการเมืองด้วย นอกจากนั้นยังมีการประกวด การทำให้เป็นแฟชั่น ทำให้อัตลักษณ์ กปปส. ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีความร่วมสมัย  ถามว่าการลดโทนของความเป็นการเมืองสำคัญอย่างไร การทำให้การเคลื่อนไหวของ กปปส. ดูไม่เป็นการเมือง ทำให้คนกลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่เคยสนใจการเมือง หรือปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อไหวได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจโดยเฉพาะผ่านการบริโภคมีมหรือสินค้ารักชาติเหล่านี้ ในลักษณะการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการบริโภค

งานศึกษาสรุปว่า มวลชนมีบทบาทในการผลิตอัตลักษณ์ของ กปปส. ด้วย โดยที่ไม่ได้ถูกสร้างมาจากแกนนำเพียงอย่างเดียว ผ่านการผลิตมีม ทั้งที่อยู่ออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีเหตุผล 2 อย่างประกอบคือ 1.การเกิดขึ้นมาของสื่อส่วนบุคคลที่คนสามารถจัดการได้จำนวนมาก และผลิตสินค้าต่างๆ ก็ทำได้ไม่ยากแล้ว 2.มวลชน กปปส.เป็นชนชั้นกลางในเมืองที่มีทักษะการออกแบบและมีทุนผลิตสิ่งของพวกนี้ได้ การผลิตสิ่งเหล่านี้ของมวลชน กปปส. ทำให้เห็นอัตลักษณ์คนดีบางอย่างอย่างชัดเจน เช่น การเป็นพสกนิกรที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเห็นผ่านเสื้อยืดสกรีนข้อความ "ประชาชนของพระราชา" ที่มีการใส่อยู่จำนวนมาก

"ในแง่ความคาดหวังทางการเมือง หากการเมืองคือความสมพันธ์เชิงอำนาจและการต่อรองผลประโยชน์แล้ว ความคาดหวังของคนดี โดยเฉพาะคนดีที่จะต้องไม่เกี่ยวของกับความเป็นการเมืองก็คือการปฏิเสธการเมือง อันหมายถึงการปฏิเสธการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจขอสังคม โดยสรุปแล้ว อัตลักษณ์คนดีที่ต้องไม่มีความเป็นการเมืองอยู่ในนั้น จึงหมายความว่าต้องยอมรับสถานะทางสังคมอย่างที่เป็นอยู่ และไม่เรียกร้อง ต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็ได้ว่าการเรียกร้องการเมืองคนดีที่ต้องไม่เป็นการเมืองนั้นจึงหมายถึงการพยายามรักษาสถานะและความแตกต่างทางสถานะแบบเดิมภายใต้การเคลื่อนไหวลักษณะแบบนี้"

 

ธรรมาธรรมะสงคราม: ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะขัดขืน -ประจักษ์ ก้องกีรติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประวิตร' บ่นเหนื่อย ด้าน 'ศรีสุวรรณ' จี้ ประยุทธ์ สั่งพักงาน ระหว่าง ป.ป.ช.สอบ

Posted: 18 Dec 2017 05:06 AM PST

ประวิตร บ่น 'เหนื่อย' ศรีสุวรรณ จี้ ประยุทธ์ สั่งพักงาน ยก กรณี 'ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์-เปรมศักดิ์' ที่ถูกสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างที่ ป.ป.ช. สอบข้อเท็จจริง เป็นตัวอย่าง หวังไม่เลือกปฏิบัติเพราะพวกพ้อง

18 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่าวันนี้ สมาคมฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งพักงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากกรณีที่ถูกสาธารณชนและสื่อมวลชนตรวจสอบและจับได้ว่ามีเครื่องประดับนาฬิกา แหวนเพชรหรูมูลค่าหมายล้านบาทเป็นจำนวนมาก ซึ่งผิดวิสัยตามปกติของผู้ที่มีรายได้จากเงินเบี้ยเลี้ยง บำนาญและเงินเดือนของนักการเมือง อีกทั้งไม่ปรากฎในรายงานเอกสารแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่จะต้องแจ้งให้ ป.ป.ช. ทราบตามที่กฎหมายบัญญัติ จนกระทั่งมีการร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าจงใจปกปิดทรัพย์สินและอาจเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติอยู่ในขณะนี้

แถลงการณ์จากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยังระบุด้วยว่า กลุ่มภาคประชาชนจำนวนมากได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อขอให้พล.อ.ประวิตร ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพฤติกรรมการให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ นักเรียนเตรียมทหาร ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ จนกลายเป็นที่ครหาและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมกันทั้งบ้านทั้งเมืองอยู่ในขณะนี้รวมทั้งสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ก็เกิดการเผารถทัวร์นักท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยชัดแจ้ง
 
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงใคร่ขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม
ม.44 ในการ "พักงาน" หรือระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นการชั่วคราว โดยยังไม่พ้นจากตําแหน่งจนกว่าจะมีการตรวจสอบเสร็จ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้ เฉกเช่นเดียวกับกรณีที่เคยสั่งพักงาน ผู้ว่า กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และเปรมศักดิ์ เพียยุระ
นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ที่ผ่านมา ทั้งนี้จนกว่า ป.ป.ช. จะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อครหาและการร้องเรียนแล้วเสร็จ
 
"หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านหัวหน้า คสช.จะไม่เลือกปฏิบัติเพราะพวกพ้องต่อกรณีที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของ คสช.ที่ผ่านมาเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเสมอภาคและความเป็นธรรมกับผู้ที่เคยต้องคำสั่งของ หัวหหน้า คสช.ในลักษณะเดียวกัน อีกทั้งเป็นการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของ คสช. ในการเข้ามาทำงานเพื่อปราบโกงหรือปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างจริงจัง ด้วยการตัดอวัยวะบางส่วนทิ้งเพื่อรักษาชีวิตหรือเพื่อรักษาองค์กรไว้ต่อไป" แถลงการณ์ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐะรรมนูญไทย ระบุตอนท้าย
 
ด้าน พล.อ.ประวิตร นั้น สำนักข่าวไทย รายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 ครั้งที่ 10/2560 ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม พล.อ.ประวิตร ว่ายังไม่คิดลาออกจากตำแหน่งใช่หรือไม่ ซึ่งพล.อ.ประวิตร กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า เหนื่อย ก่อนจะขึ้นรถเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลทันที
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดงานวิจัยศึกษา กปปส.-พันธมิตรฯ และ ‘การเมืองคนดี’

Posted: 18 Dec 2017 03:55 AM PST

อภิชาต สถิตนิรามัยและคณะ นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับ กปปส.(และ พธม.) ว่าพวกเขาคือใคร มีความคิดทางการเมืองอย่างไร ปฏิบัติการทางการเมืองเป็นอย่างไร ด้านผาสุก-เกษียร วิจารณ์งานยังไม่ลึกพอ ขาดมิติประวัติศาสตร์ มีปัญหาการนิยาม "คนชั้นกลาง" และอธิบายรากฐานแนวคิดราชาชาตินิยมที่อิงกับศีลธรรมยังไม่ชัด-ใหม่พอ


แฟ้มภาพ 2 ก.พ. 2557



15 ธ.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานสัมมนาวิชาการสาธารณะในหัวข้อ "การเมืองคนดี": ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน "ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" โดยนำเสนอข้อมูลและข้อค้นพบจากโครงการวิจัย จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.

อภิชาต สถิตนิรามัย หัวหน้าโครงการวิจัยให้ข้อมูลว่า โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยคณะวิจัยใช้เวลาดำเนินการราว 2 ปีกว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจความคิดทางการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และโดยเฉพาะคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีอาจารย์ที่ร่วมทำวิจัยในหัวข้อย่อยต่างๆ รวม 7 ประเด็นที่มานำเสนอในวันนี้และมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นและวิจารณ์งานดังกล่าว หลังจากนั้นจะมีการนำข้อเสนอแนะกลับไปปรับปรุงเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะต่อไป อาจเป็นในรูปแบบของบทความหรือหนังสือ ทั้งนี้ อภิชาตเคยเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยชุดทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย ซึ่งศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อปี 2556

ประชาไทเก็บความการนำเสนอสรุปภาพรวมโครงการและคำวิจารณ์ในภาพรวม โดยผู้นำเสนอคือ อภิชาต สถิตนิรามัย และ อนุสรณ์ อุณโณ ส่วนผู้วิจารณ์คือ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และเกษียร เตชะพีระ ส่วนข้อเสนอในประเด็นหัวข้อย่อยต่างๆ จะรวบรวมนำเสนอในตอนต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ความคิดและปฏิบัติการ "การเมืองคนดี" ของคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ, การเติบโตและการหันหลังให้กับประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย, อัตลักษณ์คนดีและความรุนแรง การร่วมสร้างอัตลักษณ์คนดีของมวลมหาประชาชน, ธรรมาธรรมะสงคราม ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะขัดขืน, อุดมการณ์และปัญญาชน "คนดี" จากขบวนการเสรีนิยมอันหลากหลายสู่ขบวนการอนุรักษ์นิยมเข้มข้น -กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, การสร้างอุดมการณ์ผ่านกรอบโครงความคิดของปัญญาชน กปปส.
 

อภิชาต-อนุสรณ์: เขาคือใคร ทำไมยอมรับเผด็จการได้

อภิชาต สถิตนิรามัย กล่าวว่า ในการศึกษาครั้งนี้มีโจทย์หลักที่อยากรู้ 3 เรื่องคือ 1.ผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยคือใคร 2.พวกเขามีความคิดและจินตนาการทางการเมืองอย่างไร 3.มันแปรไปสู่แอคชั่นทางการเมืองอะไรบ้าง


ยืนยัน ความขัดแย้งเหลือง-แดง เป็นความขัดแย้งทางชนชั้น
คำถามว่าเขาคือใคร พบว่าผู้เข้าร่วม พธม.-กปปส. มีทั้งชนชั้นกลางระดับบนและชนชั้นกลางระดับล่าง ในทางอัตลักษณ์มีทั้งเชิงชาติพันธุ์คือความเป็นลูกจีน เชิงภูมิภาคคือความเป็นคนใต้ เชิงอุดมการณ์คือเขานิยามตัวเองว่าเป็นประชาชนของพระราชา, มวลชนใต้ร่มพระบารมี, และเป็นคนดี ในแง่ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม พวกเขามีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจสูงกว่า [คนเสื้อแดง] เป็นพนักงานของรัฐ ทำงานในรัฐวิสาหกิจมากกว่า มีอาชีพที่มั่นคงกว่า จำนวนมากเป็นคนชั้นกลางระดับบนแต่ก็มีชนชั้นกลางระดับล่างประกอบด้วย การแตกเป็นชนชั้นกลางบนและล่างเริ่มตั้งแต่ในสมัยปลายยุครัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ คนชั้นกลางระดับล่างมีประมาณ 36 ล้านคน คนชั้นกลางระดับบนมีประมาณ 14 ล้านคน

"ไม่ได้หมายความว่า คนชั้นกลางบนต้องเหลืองเท่านั้น คนชั้นกลางล่างต้องเป็นแดงเท่านั้น แต่หมายความว่าการแตกตัวทางชนชั้นมันเป็นฐานของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน...ในแง่นี้มันจึงถกเถียงได้ว่า ถ้าประกอบด้วยทั้งกลางบนและกลางล่างก็ไม่อาจบอกว่าเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นหรือเปล่าเพราะมีทั้งสองในขบวนเดียวกัน ถ้าจะพูดว่าเป็น cross-class movement (ขบวนการต่อสู้ข้ามชนชั้น) ต้องยืนยันในเชิงปริมาณด้วยว่า ขบวนการนี้ไม่ได้มีชนชั้นกลางระดับบนเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ และในแง่หนึ่งเป้าหมายหรือข้อเรียกร้องหลักทางการเมืองของขบวนการในการรื้อฟื้นระเบียบทางการเมืองสังคมแบบช่วงชั้นขึ้นมาใหม่ คนที่ได้ประโยชน์หลักก็คือชนชั้นกลางระดับบน ไม่ใช่ชนชั้นกลางระดับล่าง ดังนั้น เราจึงยังยืนยันอยู่ว่า ความขัดแย้งเหลืองกับแดงมันมีความขัดแย้งลักษณะชนชั้นแฝงอยู่ แต่แน่นอน การเคลื่อนไหวระดับชาติย่อมจะประกอบด้วยคนหลายชนชั้น"
 

ลูกจีนกู้ชาติ สู่ คนใต้รักในหลวง
อนุสรณ์ อุณโณ อธิบายว่าเขาคือใครในมุมอัตลักษณ์ว่า ในยุค พธม.สัดส่วนผู้เข้าร่วมตอนต้นจะมีคนเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ แกนนำอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ปราศรัยโดยอาศัยความสัมพันธ์ด้านชาติพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในปี 2551 แทนที่จะเป็น "เราจะสู้เพื่อในหลวง" มันกลับพัฒนาเป็น "ลูกจีนกู้ชาติ" การเลือกหยิบชูอัตลักษณ์ด้านชาติพันธุ์ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เพราะในอดีตมันเป็นแต่เพียงเรื่องวัฒนธรรม แต่สนธิทำให้ "ลูกจีน" มีพลังเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นครั้งแรก พอมาถึงยุค กปปส. อัตลักษณ์นี้ถดถอยไป เพราะสัดส่วนผู้เข้าร่วมชุมนุมจากการสำรวจเบื้องต้นของมูลนิธิเอเชียพบว่า 50% มีภูมิลำเนาจากกรุงเทพฯ อีก 50% มาจากต่างจังหวัด และในจำนวนของคนต่างจังหวัดนั้น 70% มาจากภาคใต้ อย่างไรก็ดี อัตลักษณ์คนใต้ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญเช่นกัน เดิมเรามักเชื่อว่าคนใต้มีลักษณะท้องถิ่นนิยม แต่กรณีคนใต้ที่ขึ้นมาร่วม กปปส. กลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ชาติที่แข็งขัน เป็นการขยายความหมายใหม่แล้วผนวกสิ่งอื่นเข้าไว้นั่นคือ "คนใต้รักในหลวง" จากที่อัตลักษณ์เดิมเป็นเพียงเรื่องบุคลิกภาพ เช่น รักพวกพ้อง นักเลง ช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มมีกลิ่นอายของอุดมการณ์ เกิดการควบกล้ำอัตลักษณ์หรือเป็นอัตลักษณ์ที่ครอบได้หมดกับการเป็นประชาชนของพระราชา

อัตลักษณ์อีกอันหนึ่งคือ การเป็นคนดี เรื่องนี้โดดเด่นมาก มีการให้ความหมายว่าตัวเองว่าเป็นคนดีในหลากระดับทั้งแบบไม่ต้องอิงกับสิ่งใด, อิงกับความจงรักภักดีสถาบันกษัตริย์, อิงกับความเชื่อโดยเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาท นอกเหนือจากนั้นยังมีการแปลงร่างเป็นคนดีด้วย เช่นกรณีสุเทพ เทือกสุบรรณ จากที่เคยเป็นนักการเมืองที่คนรู้ดีว่าเป็นอย่างไร เขาแปลงร่างเป็น "ลุงกำนัน" แล้วสามารถมัดใจคนในท้องถิ่นได้

ประชาธิปไตยไม่เน้นตรวจสอบถ่วงดุล เน้นคนดีปกครองคนไม่ดี
อภิชาต ตอบคำถามที่สองเรื่องจินตนาการทางการเมืองว่า จากแบบสำรวจที่ทำมาพบว่ามีหลายตัวแปรที่จะช่วยอธิบายความไม่ยึดมั่นในประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง เช่น ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่, การมีลักษณะที่เป็นอำนาจนิยมเพราะเลือกหน้าที่มากกว่าสิทธิ และการรู้สึกว่าระเบียบทางสังคมที่เขายึดมั่นถูกสั่นคลอน รวมไปถึงแบบแผนวิถีชีวิต ถ้าใช้ชีวิตแบบค่อนข้างหรูหราหน่อยก็สอดคล้องกับคำตอบที่ไม่ค่อยยึดมั่นในประชาธิปไตย พวกเขาเห็นว่าระบบเผด็จการก็ดีในบางเวลา

อภิชาตขยายความว่า คนที่มีไลฟ์สไตล์ระดับบน การศึกษาค่อนข้างสูงทำไมรู้สึกตัวเองไม่มั่นคงในปัจจุบันและในอนาคต เรื่องนี้ต้องย้อนไปดูประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา คนชั้นกลางระดับบนมีการเปลี่ยนแปลงรายได้ช้ากว่าชนชั้นกลางระดับล่าง ขณะเดียวกันคนที่รวยที่สุด 1% รายได้ก็เพิ่มสูงมากๆ คนชั้นกลางระดับบนจึงรู้สึกไม่มั่นคงเพราะถูกข้างหลังไล่กวดมา ขณะที่มองไปข้างหน้าก็ไม่มีทางตามทัน ปัจจุบันชัยภูมิความได้เปรียบของเขาถูกข้างหลังไล่มาเรื่อยๆ สิ่งนี้อธิบายว่าทำไมเขาจึงไม่ยึดมั่นในประชาธิปไตย เพราะบางครั้งเผด็จการอาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

"การไม่ยึดมั่นกับประชาธิปไตย โอนอ่อนกับอำนาจนิยม มันมาจากรากฐานความคิดของสังคมไทยที่เป็นสังคมช่วงชั้นแบบอินทรียภาพ การเน้นการทำหน้าที่ของตัวเองให้สอดคล้องกับหน่วยอื่นในสังคม รู้จักที่ต่ำที่สูงตามอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคมช่วงชั้น เป็นการปฏิเสธทั้งอิสรภาพและความเท่าเทียมกันของปัจเจกชน หน้าที่จึงต้องมาก่อนสิทธิ ฉะนั้น สังคมช่วงชั้นมันแบ่งตามอำนาจแบบบุญบารมี ซึ่งอำนาจเช่นนั้นไม่ต้องน่ากลัวหรืออันตรายเสมอไป อำนาจผูกติดกับบุคคล ไม่ได้ผูกกับตำแหน่งสาธารณะ อำนาจจึงเป็นเรื่องความถูกต้องและมีศีลธรรมโดยตัวมันเอง นั่นทำให้กติกาทางการเมืองของการเมืองคนดีมีระบบการตรวจสอบทางการเมืองที่แตกต่างจากประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่เน้นการแยกอำนาจ เช็คแอนด์บาลานซ์ เพราะคอนเซ็ปต์แบบฝรั่ง อำนาจเป็นเรื่องน่ากลัวจึงต้องตรวจสอบและถ่วงดุล แต่ของไทยอำนาจไม่จำเป็นต้องน่ากลัว จึงกลายเป็นว่าการตรวจสอบและคานอำนาจไม่จำเป็น ระเบียบการเมืองของพวกเขาจึงคือการให้คนดีมีศีลธรรมถืออำนาจปกครองผู้ที่ด้อยศีลธรรมกว่า ตามพระบรมราโชวาทปี 2515 ที่เรารู้จักกันดี ... ดังนั้น การเมืองคนดีในแง่กติกา มันจึงนับเป็นกติกาการเมืองทางวัฒนธรรมของคนชั้นกลางตามลำดับช่วงชั้นของความดีที่ไม่เท่ากัน เสียงส่วนใหญ่จึงไม่ใช่เกณฑ์ตัดสินทางการเมือง คนดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร การเมืองคนดีก็คือการทวงคืนคอนเซ็ปต์ดั้งเดิมของจารีตนิยม" อภิชาตกล่าว

ต้องค้นหาอำนาจแบบใหม่ ไม่ผูกกับบุญบารมี
อนุสรณ์ กล่าวถึงคำถามว่าพวกเขาแปรความคิดทางการเมืองดังกล่าวเป็นแอคชั่นทางการเมืองอย่างไรว่า การศึกษานี้ครอบคลุมทั้ง พธม.และ กปปส. ข้อเรียกร้อง พธม.คือ ขจัดระบอบทักษิณที่โกงกินขายชาติ แต่ก็เปลี่ยนไปในช่วง กปปส.โดยจะเห็นว่าแม้ พธม.จะพูดถึงการไม่จงรักภักดี แต่ กปปส.ค่อนข้างแหลมคมกว่า หลายคนตัดสินใจเข้าร่วม กปปส.เพราะต้องการกำจัด "พวกล้มเจ้า เผาเมือง" ซึ่งมีนัยความรุนแรงในเชิงสัญญะ ความรุนแรงที่เราทำกับสรรพสิ่งในรูปของความรู้ก็เป็นความรุนแรงแบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี ความรุนแรงที่เกิดจากการสร้างอัตลักษณ์ของคนดี มันสร้างภาพของคนเลว คนชั่ว สัตว์ร้าย ขึ้นมาในเวลาเดียวกันและคนพวกนี้สมควรขจัดไม่ว่าวิธีไหน

"ที่เราพูดมาทั้งหมดเป็นการเมืองเชิงวัฒนธรรม สิ่งที่ยังไม่ได้คิดมากคือ political culture ทำให้ต้องกลับไปหาการศึกษาอำนาจหรือการเมืองตามแนวทางมานุษยวิทยาที่ถูกละเลยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในการศึกษาการเมืองหรืออำนาจ ตามแนวทางมานุษยวิทยาจะไปดูว่าแต่ละสังคมวัฒนธรรมมีคอนเซ็ปต์เรื่องอำนาจอะไร และคอนเซ็ปต์นั้นมันไปสัมพันธ์กับกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองและการจัดองค์กรทางการเมืองอย่างไร กรณีเช่นนี้ใช้ในสังคมบุพกาลหรือสังคมจารีต อาจเห็นไม่ชัดในสังคมสมัยใหม่ แต่บังเอิญสังคมไทยยังสามารถเอาวิธีการศึกษาแบบจารีต แบบประเพณีมาใช้ได้ ในสังคมประเพณีเวลาพูดถึงอำนาจมันไม่ได้ดีเสมอไป การศึกษาแถบปาปัวนิวกินีพบว่าคอนเซ็ปต์เรื่องอำนาจไม่ชัด สามารถอยู่ได้ในสิ่งนู้นสิ่งนี้ คนมีอำนาจไม่ถูกไว้ใจ จำเป็นต้องปกๆ ปิดๆ ประเด็นคือ ถ้าอยากจะต่อสู้กับปัญหานี้ เราอาจต้องไปคุยคอนเซ็ปต์เรื่องอำนาจในสังคมไทยแบบใหม่ อำนาจแบบไหนในสังคมไทยที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับบุญบารมี ที่พอจะหยิบขึ้นมาสู้ได้กับอำนาจที่ผูกติดกับบุญบารมีซึ่งมีกษัตริย์อยู่บนยอด" อนุสรณ์กล่าว 


ผาสุก-เกษียร วิจารณ์งานวิจัย

หลังการนำเสนอของคณะวิจัย เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิจารณ์งานวิจัยดังกล่าวว่า หลายปีก่อนได้อ่านงานวิจัยชุดทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เมื่ออ่านงานนี้พบว่าทำได้ไม่ดีเท่าชุดนั้น ไม่ตื่นเต้น ไม่ชัดเจน ไม่สรุปคำตอบอย่างมีพลังเหมือนชุดนั้น ถามว่าทำไมรู้สึกแบบนั้น เป็นเพราะชุดเดิมเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการทำมาก่อนอย่างเป็นระบบ พื้นที่ที่สำรวจวิจัยเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครสำรวจมาก่อนในเรื่องฐานของเสื้อแดง และเนื่องจากคนวิจัยอยากหาคำตอบจึงได้คำตอบที่ไม่ว่าจะถูกหรือผิดมันอธิบายได้ชัดพอสมควรว่าเสื้อแดงเกิดมาอย่างไร แต่กรณีของเสื้อเหลืองมันไม่ใช่พื้นที่ที่ไม่เคยมีใครสำรวจ จริงๆ แนวคิดแบบเสื้อเหลืองถูกศึกษามาเยอะแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่คาดหวังจากการวิจัยคือความลึกยิ่งขึ้น แต่กลับไม่เจอ มันเพียงพยายามเอาความรู้เหล่านั้นจำนวนหนึ่งมาอัพเดทปรากฏการณ์เสื้อเหลือง และใช้อธิบายได้บางส่วน บางส่วนอธิบายไม่ได้ นอกจากนี้งานวิจัยย่อยแต่ละชิ้นก็ไม่เสมอกัน บางชิ้นชัดบางชิ้นไม่ชัด

"สิ่งที่ผู้วิจัยสรุปมา พูดในภาษาผม เรื่องนี้เราเห็นมาแล้ว เราอยู่กับมันมาทั้งชีวิต" เกษียรกล่าว

ขาดการรีวิวหลายงานสำคัญ
เกษียรกล่าวว่า ในฐานะบทสรุปทั้งโครงการ ต้องเริ่มจากบทสำรวรจทฤษฎีในเรื่องคนชั้นกลางกับประชาธิปไตย ความคิดเรื่องศาสนาพุทธ เรื่องอัตลักษณ์ แต่บทสำรวจสามชุดนี้แปลกมาก มันครอบคลุมไม่เท่ากัน คุณภาพก็ไม่เท่ากัน จึงเหมือนคนเขียน "ไม่ได้คุยกัน"

การศึกษาเรื่องคนชั้นกลาง มีแต่เรื่อง modernization theory โดยไม่พูดถึงทฤษฎีสังคมนิยมเลย ทั้งที่มันมีงานอีกมากมายที่จำเป็นต้องได้รับการพูดถึง และดูเหมือนยังคิดไม่ตกในเรื่องผลประโยชน์ทางชนชั้นกับอุดมการณ์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องศาสนาพยายามอธิบายเจาะลึกและเชื่อมโยงว่าการเมืองคนดีมีฐานจากศาสนา แต่ตนเองกลับคิดว่าเงื่อนไขของการเป็นคนดีแบบ กปปส.ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ได้เพราะการทรุดถอยของศาสนา ไม่ใช่เกิดเพราะเขาอินกับศาสนา ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือ ธรรมาวิทยาของพลเมืองแบบนิยมกษัตริย์

"อาจารย์เบน (เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน) เคยเสนอไว้ว่า สฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ทำหน้าที่ผู้มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ สถาบันกษัตริย์ในรัชกาลที่ 9 ทำหน้าที่สถาบันสงฆ์ ในแง่ประสิทธิ์ประสาทความศักดิ์สิทธิ์ชอบธรรมของอำนาจต่างๆ เป็นที่สถิตย์ของ virtue (คุณธรรม) เป็นแหล่งอบรม public morality (ศีลธรรมสาธารณะ) ผมเสนอให้ท่านเอาพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่แล้วมานั่งอ่าน ตลอดชีวิตท่านพูดเรื่องเดียว public virtue/public morality สิ่งที่ท่านพูดคือกิจการส่วนร่วมของบ้านเมือง ควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร ช่วงเวลาอันยาวนานตลอดรัชกาลสถาบันสงฆ์พูดแต่ private morality (ศีลธรรมส่วนตน) สถาบันที่ผลิต public morality มากที่สุดคือ สถาบันกษัตริย์ ในความหมายนี้มัน make sense กว่าที่จะคิดถึงมันในแง่ที่ว่า เป็นกษัตริย์นิยมแบบศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 โดยการแสดงบทบาทที่เฉพาะเจาะจงมากของกษัตริย์พระองค์นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า tradition (จารีต) โมเม้นต์สำคัญคือการที่เอา tradition ขึ้นมา re-intergrade activate mobilize เขาดึงเอาอันนั้นมาขับเคลื่อนอย่างไร ตรงนั้นต่างหากที่สำคัญ มากกว่าจะไปสำรวจดิ่งลึกลงไปในฐานศาสนา"

เรื่องอัตลักษณ์ มีงานในเมืองไทยจำนวนหนึ่งที่พยายามเข้าใจอัตลักษณ์ความเป็นไทยหรือความเป็นชาติ ผมคิดถึง Siam Mapped ของธงชัย (วินิจจะกูล) ฯลฯ แต่คณะวิจัยกลับไม่ใช้ราวกับไม่ได้สำรวจวรรณกรรมในเรื่องที่ต้องทำ

ส่วนประเด็นข้อสรุปว่า "คนชั้นกลาง" คือใคร คิดว่ามีปัญหาตรงที่ไม่ดูประวัติศาสตร์ พยายามจะสรุปจุดยืนทางการเมืองของพวกเขาโดยไม่ดูความเป็นมาในจังหวะสำคัญๆ ของคนชั้นกลาง นอกจากนี้พระราชอำนาจนำเป็นสิ่งต้องสร้าง การสร้างพระราชอำนาจนำเป็นเรื่องประวัติศาตร์ ต้องกลับไปยังจังหวะที่สร้าง ไม่ใช่ทำราวกับว่ามันมีอยู่แล้วของมันเอง และทำไมมันเวิร์คกับคนกลุ่มนี้ ส่วนข้อสรุปของงานวิจัยที่ว่าชนชั้นกลางไทยเป็นอำนาจนิยม ไม่รู้สึกว่าเป็นข้อสรุปที่โน้มน้าวให้เชื่อได้
"ผมกลับสรุปว่า คนชั้นกลางไทยเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจไม่ได้ ทั้งกับเผด็จการและประชาธิปไตย"

ขาดภาพรวมตั้งแต่ 2540
ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองวิจารณ์งานวิจัยว่า เห็นด้วยกับคณะวิจัยว่าทฤษฎี modernization (การทำให้เป็นสมัยใหม่) ใช้กับประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ เพราะรากฐานทฤษฎีมาจากเศรษฐกิจสังคมการเมืองของประเทศพัฒนาแล้ว ฉะนั้น เวลานักวิเคราะห์พูดถึงระบบการศึกษาของคนชั้นกลางที่ต้องมีความอดทนอดกลั้นและชอบประชาธิปไตยมันจึงพบว่าที่นี่ต่างไป

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัญหาเล็กน้อยในการอ่านงานนี้เพราะไม่เห็นบริบทของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมชัดเจน ผู้ที่เข้าใจต้องยังจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้แม่นยำ แต่หากเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์หรือไม่ค่อยได้อ่านอะไรเกี่ยวเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะนึกไม่ออกว่าพูดถึงสิ่งใด นอกจากนี้ยังไม่เห็นภาพรวมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจปี 2540 รัฐธรรมนูญ 2540 และการขึ้นมาของพรรคเพื่อไทยซึ่งได้เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นอย่างสำคัญให้เกิดอัตลักษณ์แบบใหม่ การขึ้นมาของการเมืองคนดี ราชาชาตินิยมที่เผยตัวอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนในทศวรรษ 2550

ผาสุกระบุอีกว่า ปัญหาอีกประการคือ นักวิจัยพยายามแยกการวิเคราะห์การเมืองอัตลักษณ์กับการเมืองชนชั้นออกจากกัน ทั้งที่น่าจะเอามารวมกัน โดยมองว่ามันเป็นปฏิกิริยาของการเมืองอัตลักษณ์ของอีสานและการเมืองว่าด้วยเรื่องชนชั้นของอีสานที่ได้ก่อตัวขึ้นมาจนเป็นภาพที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้ที่ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน มาจนถึงพรรคของทักษิณได้อยู่ถึง 4 ปีและได้รับเลือกตั้งครั้งที่สอง สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาจากอีกฟากหนึ่งซึ่งไม่ได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้และมีอุดมการณ์และความคิดทางการเมืองแตกต่างอย่างสิ้นเชิง รวมถึงความแตกต่างทั้งในประวัติศาสตร์ความเป็นมา การตั้งถิ่นฐาน การโยงกับราชาชาตินิยม ศาสนาพุทธ สิ่งเหล่านี้แม้มีอยู่ในสังคมไทยอยู่แล้วแต่ไม่ได้เปิดเผยตัวชัดเจน กระทั่งพบกับความท้าทายของอัตลักษณ์คนอีสานและชนชั้นของคนอีสานที่พุ่งขึ้นมากับการเมือง popular politics หลัง 2540

"การสร้างภาพรวมแบบนี้มันยากมากแต่น่าจะต้องเขียนถึงการปะทะประสานกันระหว่างอุดมการณ์สองอันนี้ เหมือนช้างชนกันเลยในทศวรรษ 2550" ผาสุกกล่าว

ส่วนที่ผาสุกรู้สึกชื่นชอบในงานวิจัยคือ การศึกษาเรื่องอัตลักษณ์และการขีดเส้นใต้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อยู่ในสังคมไทยอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ ถ้าเอามาประกอบกับเรื่องชนชั้นเพื่อวิเคราะห์ไปด้วยกัน น่าจะทำให้เราเข้าใจถึงการที่ทั้งสองฟากมีระดับรายได้ตั้งแต่สูงถึงต่ำ เพราะอัตลักษณ์นั้นข้ามเรื่องชนชั้น (cut across) แต่การเมืองเรื่องชนชั้นนั้นไม่ถึงกับเคลียร์คัท และการวิเคราะห์อัตลักษณ์ก็ต้องโยงกับการพุ่งขึ้นมาของการเมืองของทักษิณโดยจะเลี่ยงการพูดเรื่องนี้ไม่ได้

"คำถามคือ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในแง่กระบวนการ จะมีการสานต่อกันไปไหน ปรากฏการณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองมันเป็นเรื่องเฉพาะในแง่ของ timing หรือเปล่า แต่ผาสุกคิดดูแล้ว ถ้าเป็น timing ก็จะตอบว่ามันคงอยู่ได้ไม่นาน แต่กำลังสงสัยว่ามันจะไม่หายไป มันเป็นตัวแสดงของสิ่งที่คล้ายๆ กับที่มันมีอยู่แต่ไม่ได้เปิดเผยตัว จนกระทั่งมันถูกท้าทาย และเมื่อมันเปิดเผยตัวแล้วมันคงไม่หายไป อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าตกใจอยู่" ผาสุกกล่าว
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาชนจ่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 พรุ่งนี้

Posted: 18 Dec 2017 03:25 AM PST

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและภาคประชาชน เตรียมยืนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อ 'ทวงคืนสิทธิเสรีภาพ' ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พรุ่งนี้

18 ธ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 11.23 น. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า พรุ่งนี้ (19 ธ.ค.60) ภาคประชาชนยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อ 'ทวงคืนสิทธิเสรีภาพ' ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่ลานเอนกประสงค์ ภายในอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ โดย เวลา 9.30 น. จะมีารแถลงข่าวการยื่นฟ้อง และจากนั้น 10.30 น. จะทำกรยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับตัวแทนที่จะยื่นฟ้องนั้น ประกอบด้วย นิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ อัครเดช ฉากจินดา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน  กรชนก ธนะคูณ กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ รังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และ พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา รังสิมันต์ โรม ผู้ประสานงานกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้แถลงข่าวการยื่นคำร้องขอยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 โดยในครั้งนั้นมีสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 แถลงข่าวมีดังนี้

คำชี้แจงการแถลงข่าว ประชาชนยื่นฟ้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

ประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่าน
 
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนผู้ถูกละเมิดจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขอชี้แจงถึงที่มาของการแถลงข่าวในครั้งนี้ และสิ่งที่พวกเราจะดำเนินการต่อไป ดังนี้
 
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีครึ่งผ่านมาที่ คสช. ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ พวกเราได้จัดกิจกรรมในต่างกรรมต่างวาระ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโต้แย้งการกระทำอันไม่ชอบธรรมของ คสช. และเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
 
การจัดกิจกรรมของพวกเราเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองโดยรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 (มาตรา 4) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ฉบับปัจจุบัน (มาตรา 4) ที่กำหนดให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง หากจะกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุม (มาตรา 44) และสิทธิในชีวิตและร่างกายในการที่จะไม่ถูกจับกุมคุมขัง (มาตรา 28) ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วยเช่นกัน
 
ทว่าพวกเรากลับถูกกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง และการดำเนินคดีซึ่งยังคงดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนหรือชั้นศาลในปัจจุบัน โดยอ้างอำนาจจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะข้อ 6 และข้อ 12 ส่งผลกระทบต่อพวกเราซึ่งใช้สิทธิเสรีภาพโดยสุจริตให้ต้องได้รับความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงมีคดีความติดตัวจนอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในภายภาคหน้าได้
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6 ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวบุคคลมาสอบปากคำและควบคุมตัวไว้ได้นานสุดถึง 7 วันโดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล ส่วนข้อ 12 ได้กำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้น มีระวางโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน ปรับสูงสุด 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อและเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในชีวิตและร่างกาย ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้การคุ้มครองไว้อย่างชัดแจ้ง รวมถึงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารในการกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดช่องทางตามมาตรา 213 ให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพราะในมาตรา 213 ไม่ได้กำหนดรายละเอียดให้ต้องยื่นคำร้องผ่านช่องทางอื่นก่อน ซึ่งไม่สมควรกำหนดให้เป็นเช่นนั้น เพราะหากในอนาคตมีการตรากฎหมายกำหนดขั้นตอนการยื่นคำร้องให้ต้องผ่านองค์กรอื่นก่อนแล้ว ย่อมเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างเกินเลย และทำให้ช่องทางตามมาตรา 213 นี้ไม่อาจใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผิดกับคำโฆษณาของ กรธ. เมื่อครั้งรณรงค์ประชามติว่ารัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ "เข้มแข็งและฉับไวขึ้น" โดยสิ้นเชิง
 
ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงขอยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 รวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมรายชื่อผู้ถูกละเมิดเพิ่มเติม และจะดำเนินการยื่นคำร้องภายในเดือนช่วงเดือนธันวาคม 2560 ถึงเดือนมกราคม 2561 นี้
 
การยื่นคำร้องครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จริงหรือไม่ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงๆ ดังที่ได้โฆษณาไว้เมื่อครั้งรณรงค์ให้ประชาชนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ขอให้ทุกท่านโปรดติดตามต่อไป
 
ผู้ถูกละเมิดจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงาน พฤศจิกายน 2560

Posted: 17 Dec 2017 09:27 PM PST

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น