โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อินเดียสวนทิศทางสหรัฐฯ มุ่งหน้าคุ้มครอง 'ความเป็นกลางทางเน็ต'

Posted: 06 Dec 2017 10:59 AM PST

ขณะที่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) กำลังพยายามยกเลิก 'ความเป็นกลางทางเน็ต' แต่อินเดียกำลังเดินไปในแนวทางตรงกันข้ามคือการพยายามกำกับดูแล 'ความเป็นกลางทางเน็ต' ซึ่งหมายถึงการทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่การเลือกปฏิบัติ

ที่มาของภาพประกอบ: photosteve101/Flickr/CC BY 2.0

6 ธ.ค. 2560 ในรายงานของสถานีวิทยุสาธารณะระหว่างประเทศ (PRI) รายงานว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของอินเดีย (TRAI) ออกข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องความเป็นกลางทางเน็ต (Net Neutrality) ซึ่งมีคนระบุว่าเป็นแผนขอบข่ายงานเกี่ยวกับความเป็นกลางทางเน็ตที่เรียกได้ว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลก

นิคิล พาห์วา นักกิจกรรมเพื่อสิทธิดิจิทัลซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้เรื่ยกร้องความเป็นกลางทางเน็ตในอินเดียกล่าวว่า ในอินเดียก็มีการอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องนี้เช่นเดียวกับสหรัฐฯ เช่นว่าบางเว็บไซต์ควรได้รับความเร็วในการเข้าถึงมากกว่าเว็บอื่นหรือไม่ แต่หน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมอินเดียก็ตัดสินใจว่าพวกเขาควรจะทำให้มีการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ อย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า

พาห์วา เป็นผู้เรียกร้องเรื่องความเป็นกลางทางเน็ตอย่างจริงจังมาก เขาเคยทำให้เฟสบุ๊คต้องล่าถอยจากแผนการ "ฟรีเบสิค" มาก่อน แผนการดังกล่าวคือโครงการอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับชาวอินเดียแต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง โดยมีคนมองว่าฟรีเบสิคจัดไว้ให้เอื้อประโยชน์ต่อเฟสบุ๊คเองเพราะผู้ใช้ฟรีเบสิคจะเข้าเฟสบุ๊คได้ฟรี

"ความเป็นกลางทางเน็ตรับรองว่าจะมีการแข่งขันบนอินเทอร์เน็ตอย่างเสรีและเป็นธรรม แทนที่จะทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นคนเลือกว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสภาพที่ไม่มีความเป็นกลางทางเน็ต" พาห์วากล่าว เขาบอกอีกว่า "อินเดียเป็นแนวหน้าของการต่อสู้นี้"

ภายในเดือน ธ.ค. นี้ คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) จะมีการลงมติยกเลิกกฎหมายความเป็นกลางทางเน็ตที่ออกมาในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา โดยที่กฎหมายความเป็นกลางทางเน็ตในสหรัฐฯ นั้นห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่าง Comcast, Verizon และ AT&T บล็อกเนื้อหาบางประเภทหรือลดความเร็วในการเข้าถึงเนื้อหาได้

เรียบเรียงจาก

As the US moves to dismantle net neutrality rules, India is moving in the opposite direction, PRI, 05-12-2017

Why India rejected Facebook's 'free' version of the Internet, Mashable Asia, 10-12-2016

Meet The Man Who Derailed Facebook's Plan To Provide Free Internet In India, Forbes, 25-12-2016

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายแบนสารพิษ จ่อยื่น ปธ.กก.วัตถุอันตราย สั่งห้ามนำเข้ารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส

Posted: 06 Dec 2017 10:54 AM PST

เครือข่ายแบนสารพิษเตรียมร้อง ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กำหนดให้สารพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง เดินสายร้อง รมว.เกษตรฯเพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อ

6 ธ.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, กรุงเทพ จากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมของคณะกรรมการเพื่อพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตราย โดยจะเริ่มมีการพิจารณาในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 7 ธ.ค.2560 เป็นต้นไปนั้น เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพนได้จัดประชุมเพื่อสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุนขให้มีการแบนพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต และแถลงเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายดำเนินการอย่างโปร่งใสและป้องกันมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานคณะทำงานวิชาการไทยแพนแถลงว่า ขอสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 4 กระทรวงหลักที่มีมติให้แบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด ปัจจุบันมีประเทศต่างๆมากถึง 52 ประเทศที่แบนและประกาศแบนพาราควอต และมีมากกว่า 17 ประเทศที่ควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด สารพิษนี้จึงมีความเสี่ยงในระดับที่สูงมากเกินกว่าที่จะนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยแม้จะมีการป้องกันที่ดีก็ตามเกณฑ์ทางจริยธรรมขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า "สารเคมีใดที่เป็นอันตรายในระดับที่เกษตรกรต้องใช้เครื่องป้องกันที่อึดอัดไม่สะดวกสบาย แพง หรือไม่พร้อมที่จะนำมาใช้อย่างทันท่วงที ต้องยุติการใช้สารพิษดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นการใช้ของเกษตรกรรายย่อยในประเทศเขตร้อน" ประเทศไทยต้องยุติสารพิษนี้โดยทันทีเพราะแม้แต่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่อย่างเช่นประเทศจีนก็ประกาศจะแบนพาราควอตทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมปี 2563 หลังจากประกาศแบนพาราควอตในรูปแบบของเหลว (AS) ซึ่งมีผลตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา 

รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล จากสถานวิจัยความเป็นเลิศด้านวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งติดตามการตกค้างของพาราควอตในสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า จากงานวิจัยพบว่าพาราควอตเข้าสู่รากพืชด้วยการแพร่ และดูดซับผ่านเยื่อเมมเบรน โดยมีโปรตีน กรดอะมิโนเป็นสารตัวนำ และเกิดการเคลื่อนย้ายพาราควอตจากรากไปเซลล์ต่างๆ ของพืช ดังนั้นการพบพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้เกินมาตรฐานเป็นจำนวนมากนั้นไม่เกินความคาดหมาย เพราะผลการตรวจวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร และหลายประเทศก่อนหน้านี้ เช่น ในแคนาดา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร บราซิล เป็นต้น ก็มีการตรวจเจอพาราควอตกค้างในธัญพืช และผัก เช่นกัน การกล่าวอ้างว่าอนุภาคของดินจะดูดซับพาราควอตได้ดีไม่น่าจะทำให้เกิดการดูดซึมไปสู่พืช ในทางปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อมีการใช้พาราควอตอย่างต่อเนื่องปริมาณพาราควอตจะสะสมเกินกว่าที่ดินจะยึดเกาะไว้ได้ พาราควอตส่วนที่ไม่ได้ยึดเกาะสามารถคายซับ ละลายไปกับน้ำ แพร่กระจายไปสู่พื้นที่โดยรอบ และรากพืชสามารถดูดซึมพาราควอตไปสู่ส่วนต่างๆของพืชในที่สุด

ศ.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ชี้ว่าปัญหาการใช้สารกำจัดวัชพืชนั้นมีการใช้มากในระดับที่น่ากังวล เพราะงานวิจัยพบว่า มีสารไกลโฟเสต และสารพาราควอต ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะมีความเสี่ยงต่อการรับสารไกลโฟเสต กว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปถึง 11.9 เท่า และมีความเสี่ยงรับสารพาราควอตมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 1.3 เท่า ที่น่าตกใจ คือ แม้ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่หากอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่เกษตรกรรมก็มีความเสี่ยงด้วย รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยในบ้านเดียวกัน แต่ทำงานในพื้นที่เกษตร หญิงตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงด้วย นอกเหนือจากนี้งานวิจัยล่าสุดยังพบคลอร์ไพรีฟอสในอุจจาระของทารกสูงถึง 32.4% และพาราควอทประมาณ 55% ของจำนวนตัวอย่าง
 
"สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสารเคมีและมลพิษ ที่แม้แต่เด็กแรกเกิดพึ่งลืมตาดูโลก ก็ต้องได้รับความเสี่ยงที่ตัวเองไม่ได้ก่อ" รศ.พรพิมล กล่าวสรุป

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งมาจากการรวมตัวกันของประชาชนและองค์กรต่างๆใน 50 จังหวัดทั่วประเทศจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีข้อเรียกร้อง 5 ประการ ดังนี้

1. ขอให้ดำเนินการพิจารณากำหนดให้สารพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง และจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตตามมติข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง

2. การประชุมและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตรายตามข้อ 1 ต้องเป็นไปโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน โดยคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องไม่มีผู้ที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือทางอื่นใดเกี่ยวข้องกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง ๓ ชนิดโดยตรงและโดยอ้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตรายดังกล่าว

3. การนำเสนอข้อมูลหรือรายงานวิชาการอื่นใดเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการต้องไม่ใช้ข้อมูลหรือรายงานจากผู้มีผลประโยชน์ส่วนได้เสียหรือสนับสนุนโดยกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ส่วนได้เสียมาใช้ในการพิจารณา

4. ขอให้พิจารณาตั้งตัวแทนของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและติดตามเกี่ยวกับปัญหาและการเสนอแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 3 คนเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นใดที่มีการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จนกว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติที่ชัดเจนเกี่ยวกับวัตถุอันตราย 3 รายการดังกล่าว

5. ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการ

ทั้งนี้หลังจากยื่นหนังสือที่กระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ตัวแทนของเครือข่ายฯจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจฮอนดูรัสขัดขืนคำสั่งรัฐบาลไม่ยอมปราบผู้ชุมนุม-จนกว่าจะแก้ไขเรื่องโกงเลือกตั้ง

Posted: 06 Dec 2017 10:45 AM PST

จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจในฮอนดูรัสประกาศว่าพวกเขาจะไม่ฟังคำสั่งจากรัฐบาล ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ อีกต่อไป และบอกว่าจะประจำการอยู่ในค่ายจนกว่าวิกฤติทางการเมืองเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่าเฮอร์นันเดซโกงการเลือกตั้งนั้นจะได้รับการแก้ไข

ธงชาติของประเทศฮอนดูรัส (ที่มา: Wikipedia)

6 ธ.ค. 2560 โฆษกกรมตำรวจฮอนดูรัสประกาศเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ว่าตำรวจทุกนายในกรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงประเทศฮอนดูรัส รวมถึงตำรวจระดับสูงที่ได้รับการฝึกจากสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ทำตามคำสั่งบังคับใช้เคอร์ฟิวที่รัฐบาลเป็นผู้ประกาศ และบอกอีกว่าพวกเขามีหน้าที่พิทักษ์สันติและความมั่นคงไม่ใช่รังแกประชาชน "พวกเราต้องการสันติ พวกเราจะไม่ทำตามคำสั่งของรัฐบาล พวกเราเบื่อหน่ายเรื่องนี้เต็มทนแล้ว"

"พวกเราไม่ได้อยู่ฝ่ายใดในทางอุดมการณ์ทางการเมือง พวกเราไม่สามารถเผชิญหน้ากับประชาชนต่อไปเรื่อยๆ ได้ และพวกเราก็ไม่ต้องการข่มเหงและละเมิดสิทธิของประชาชนชาวฮอนดูรัส" โฆษกตำรวจแถลง

ผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลแสดงความยินดีหลังจากได้รับฟังประกาศพร้อมทั้งส่งเสียงเชียร์และตะโกนคำขวัญว่า "ประชาชนที่รวมตัวกันจะไม่มีวันถูกโค่นล้ม" รอยเตอร์รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายออกจากที่มั่นของตัวเองแล้วไปเข้าร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมที่มีบรรยากาศคึกคัก สื่อคอมมอนดรีมส์และเตเลซูร์ระบุเพิ่มเติมว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายพูดผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น UNE ว่าจะมีการอดอาหารประท้วงการที่พวกเขาถูกสั่งให้ปราบปรามประชาชนด้วย

กลุ่มที่ประท้วงในเรื่องนี้คือหน่วยปราบจลาจลที่ชื่อหน่วย "คอบรา" (Cobras) บีบีซีระบุว่ามีสมาชิกหน่วยคอบรา 200 นายรวมตัวกันที่สถานีตำรวจและประกาศว่าพวกเขาจะไม่เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมอีกต่อไป การถูกสั่งปราบผู้ชุมนุมเหมือนเป็นการบีบให้พวกเขาเลือกข้างทางการเมือง มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งอ่านแถลงการณ์ว่า "ประชาชนของพวกเราคือรัฏฐาธิปัตย์"

ก่อนหน้านี้มีกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่ไม่พอใจความล่าช้าในผลการนับคะแนนและมองว่าองค์กรจัดการเลือกตั้งโกงการเลือกตั้งโดยเข้าข้างฝ่ายพรรคเนชันแนลของเฮอร์นันเดซ มีการพูดถึงสถานการณ์โดย แม็ตต์ กินสเบิร์ก-เจเคิล จากองค์กรเครือข่ายสมานฉันท์ฮอนดูรัสที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ให้สัมภาษณ์สื่อเดโมเครซีนาวว่าจากที่เขาสังเกตการณ์อยู่ในฮอนดูรัสช่วง 10 วันที่ผ่านมา มันมีบรรยากาศน่าขนลุกและเหนือจริง

กินสเบิร์ก-เจเกิล กล่าวว่าจากที่เขาติดตามดูสถานการณ์สิทธิมนุษยชนพบว่ามีผู้ชุมนุมถูกทหารยิงด้วยกระสุนจริงได้รับบาดเจ็บมีรถพยาบาลมารับออกไปเรื่อยๆ จนทำให้ห้องฉุกเฉินไม่เพียงพอ เขาบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ "การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง" ขณะเดียวกันกินสเบิร์ก-เจเกิล ก็พูดถึงบรรยากาศการยืนหยัดของฝ่ายผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ และยังคงออกมาชุมนุมต่อไป โดยที่ในการชุมนุมคืนแรกจะถูกเรียกว่า "คำคืนแห่งความดำมืด" เพราะมีจำนวนผู้เสียชีวิตมาก แต่ในคำคืนต่อๆ มาประชาชนเรียกมันว่า "คาเซโรลาโซ" คือการแสดงความไม่พอใจด้วยการตีหม้อและกระทะของตนเสียงระงมราวกับว่าทุกบ้านพร้อมใจกันประท้วงด้วยวิธีนี้

ในกรณีข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้งนั้น ผู้ประสานงานกลุ่มสมาพันธ์ต่อต้านเผด็จการฮอนดูรัสนำโดย มานูเอล เซลายา อดีตประธานาธิบดีที่ถูกรัฐประหารโค่นล้มได้นำเสนอภาพใบนับคะแนนที่ถูกหน่วยงานควบคุมการเลือกตั้งดัดแปลงเพื่อให้ฝ่ายเฮอร์นันเดซได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นและนำคะแนนที่โหวตให้ผู้นำฝ่ายซ้ายซัลวาดอร์ นาสรัลลาออกไป

 

เรียบเรียงจาก

"We Don't Want to Repress": Police in Honduras Refuse Orders to Stamp Out Pro-Democracy Protests, Common Dreams, 05-12-2017

Facebook Video : Hondurans face deadly military crackdown, Democracy Now!, 05-12-2017

Honduras: police refuse to obey government as post-election chaos deepens, The Guardian, 04-12-2017

Honduras police revolt amid tension over election, BBC, 05-12-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. รับสอบข้อเท็จจริงปม 'น้องเมย' ตาย

Posted: 06 Dec 2017 08:44 AM PST

กสม.เห็นสมควรหยิบยก ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของการเสียชีวิต ของ 'น้องเมย' นักเรียนเตรียมทหาร ชี้หากเกิดจากการบังคับจากผู้อื่นให้กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตจะเป็นการขัดหลักสิทธิมนุษยชน และอาจมีความผิดตามกฎหมายหรือโหดร้ายไร้มนุษยธรรม

วัส ติงสมิตร ประธาน กสม.

6 ธ.ค.2560 จากกรณี น้องเมย หรือ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษณ์วิจารณ์ในสังคมจำนวนมากนั้น

ล่าสุดวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) แจ้งว่า วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. เปิดเผยภายหลังการประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนว่า  ที่ประชุมได้มีการพิจารณา กรณีเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ร้องเรียนต่อ กสม. ให้ตรวจสอบเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ ภคพงศ์ โดยกรณีดังกล่าวผู้ร้องเรียนไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรงหรือได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย จึงไม่ครบองค์ประกอบคำร้องตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แต่เนื่องจากที่ประชุมได้พิจารณาเห็นว่ามีประเด็นที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. จึงเห็นสมควรหยิบยก ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งหากสาเหตุเกิดจากการบังคับจากผู้อื่นให้กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตจะเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรืออาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT)  โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของ กสม. ตามมาตรา 247 (1)  แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  และ มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โคทม อารียา: คนนอกกับการสานวาทกรรมและจุดอ่อน หนุนคนในพื้นที่แก้ปัญหาชายแดนใต้

Posted: 06 Dec 2017 08:28 AM PST

วันนี้คนนอกไม่ฟังคนในพื้นที่ ตั้งคำถาม "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" พูดทางหนึ่ง ทำอีกทาง สังคมไทยควรมีบทบาทแก้ปัญหา 3 จ.ชายแดนใต้ สานเสวนา เผยจุดอ่อนและความเห็นแย้งให้เข้าใจกัน ความอยู่รอดในพื้นที่ต้องมาก่อน วิจารณ์เอกสารคณะพูดคุยสันติฯ ปัจจุบัน ยิงไม่ตรงเป้า ปัดรับผิดชอบเรื่องการยอมรับ

รศ.โคทม อารียา

6 ธ.ค. 2560 รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวปาฐกถาหัวข้อ "บทบาทของสังคมไทยกับการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้" ในเวทีเสวนาหัวข้อ "บทบาทคนนอกพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้" จัดโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Strengthening Human Rights and Peace Research and Education in ASEAN/Southeast Asia (SHAPE-SEA)

OOOOOOO

ทั่วไปคนในสังคมไทยไม่รู้สึกอะไรนักกับความขัดแย้งในชายแดนใต้ ทุกท่านในที่นี้คงรู้สึกค้านผมทันที เว้นแต่เมื่อมีข่าวหรือคนใกล้ชิดได้ผลกระทบ กระนั้นคนที่สนใจ คือพวกท่านทั้งหลายก็มักจะแบ่งคนในสังคมไทยเป็นคนในพื้นที่กับนอกพื้นที่ชายแดนใต้ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นมลายูมุสลิม คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบหรอกครับ คนนอกส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ แม้จะมีคนเชื้อสายอื่นๆ เพียงแต่มีสัญชาติไทยอีกเยอะที่ไม่ใช่เชื้อสายไทยและไม่นับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่เป็นไร คนนอกพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ถือว่าตัวเองเป็นชาวไทยพุทธแล้วกัน

คนนอกพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นใจชาวไทยพุทธในพื้นที่ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ในขณะที่ความรู้สึกกับชาวไทยมลายูมุสลิมก็พอจะรู้สึกว่าถ้าเขายังมีใจเป็นไทยก็ยังพอยอมรับให้อยู่ร่วมกันในประชาคมไทย ส่วนคนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีจำนวนมากที่ยังเห็นใจฝ่ายขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐ แต่ส่วนที่เป็นชาวพุทธในพื้นที่ที่มีอยู่ราวร้อยละ 10 มีความหวั่นใจ ไม่มั่นใจต่ออนาคต

ผมว่าจะต้องมีแว่นมองต่อว่าเราจะให้ความเมตตาโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นผู้ให้ฝ่ายเดียวได้ไหม หรือจะต้องให้อย่างมีเงื่อนไขว่าเขาต้องมีความเมตตากับเราด้วย รัฐต้องมียุทธศาสตร์อย่างไร จะเอาชนะขบวนการ หรือยุทธศาสตร์การอยู่ร่วมกัน ถ้าชนะก็ชนะร่วมกัน อันนี้ผมถามฝ่ายรัฐในฐานะที่เขาอ้างเสมอว่าเป็นตัวแทนคนไทยว่าเราจะสร้างวาทกรรมขัดแย้งที่ครอบงำ หรือเพียงเสนอวาทกรรมของเราและรับฟังวาทกรรมของเขา และถ้าเห็นพ้องบ้างก็เอามาปรับกับของเรา ทั้งนี้ เพื่อให้มีพื้นที่วาทกรรมที่เปิดกว้างและยอมรับความเห็นที่หลากหลาย ถ้าเรามีแว่นมองตั้งแต่เรื่องความเมตตา จะเอาชนะหรือชนะด้วยกัน และยอมรับวาทกรรมทั้งที่ขัดแย้งกันและไปกันได้ ผมว่าจะช่วยให้บทบาทสังคมไทยเป็นไปในทางบวกมากขึ้น

ศ.จอห์น พอล เลเดอรัค (ศาสตราจารย์ด้านการสร้างสันติจากมหาวิทยาลัยนอเธอร์ดาม รัฐอินเดียนา สหรัฐฯ) กล่าวว่า การใฝ่รู้อย่างย้อนแย้งเป็นหนึ่งในสี่สารัตถะของการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง คือ ความเห็นที่แย้งกับความเชื่อสามัญ แต่ไม่ใช่ขัดแย้งโดยตรงกับสิ่งที่รับรู้กันว่าเป็นจริง เช่น ตอนแรกเชื่อว่าแสงเป็นคลื่น ต่อมามีคนแย้งว่าเป็นอนุภาค เหมือนเป็นก้อนอะไรสักอย่างที่เล็กมาก ในที่สุดก็ยอมรับว่าแสงเป็นทั้งคลื่นและอนุภาค การยอมรับว่าแสงเป็นอนุภาคเป็นการขยายความเข้าใจออกไปอย่างย้อนแย้ง ความจริงทั้งสิ่งที่เรารับรู้ อยู่นอกการรับรู้ รอการค้นพบคือความจริงที่เราสามารถสืบหาได้ตลอดไป ไม่ต้องหยุดตรงใดตรงหนึ่ง

การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งคือการทำให้เป้าหมายที่ขัดกันเป็นเหมือนการย้อนแย้ง เช่น จะเอาดินแดนคืน หรือจะคงบูรณภาพเอาไว้ มันก็ไปกันไม่ได้ แต่ว่าความย้อนแย้งคือการนำความจริงที่เหมือนจะแย้งกันมาอยู่ด้วยกันเพื่อหาตำแหน่งความจริงที่ยิ่งกว่า

ความย้อนแย้งช่วยให้เข้าใจความซับซ้อน ซับซ้อนเป็นธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เราไม่ชอบความซับซ้อน จะสรุปเอาง่ายๆ ว่ามีฝ่ายถูก ฝ่ายผิด แต่การเข้าใจความซับซ้อนจะทำให้เราเห็นสัมพันธ์ภาพในระดับที่สูงขึ้น ช่วยให้เราปฏิเสธตรรกะการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราอยู่กับความย้อนแย้งได้โดยไม่เลือกข้าง ใช่หรือไม่

สังคมไทยจะมีบทบาทในจังหวัดชายแดนใต้ได้ต้องใช้ปัญญาญาณ (wisdom) เพื่อก้าวพ้นการแบ่งแยกรุนแรงทางสังคมสู่สายสัมพันธ์ที่ให้เกียรติกัน ถ้าไม่มี ปัญหาก็จะยื้ดเยื้อคาราคาซัง เราควรทำตามเสียงเรียกของมโนธรรมที่เห็นทุกคนเป็นมนุษย์ซึ่งอยู่ในมณฑลการตระหนักรู้ที่แผ่กว้าง และเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเขาได้

ที่มาภาพ: flickr/iLaw

เราพึงมีความกล้าหาญที่จะยอมรับความเสี่ยงเพราะไม่มีสูตรสำเร็จและไม่มีหลักประกันความสำเร็จในการกระทำใดๆของเรา โดยเฉพาะเมื่อจะแก้ไขความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออย่างที่เกิดในจังหวัดชายแดนใต้ เราต้องยอมที่จะเผยจุดอ่อนของเราไปตามลำดับเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างบอกว่าเราเข้มแข็ง ไม่มีจุดอ่อน เรากำลังบุก เรากำลังลุย เรากำลังจะชนะ ไม่รู้เอาอะไรมาอ้างนะครับ จึงทำให้เกิดความยืดเยื้ออย่างที่ทราบ

มาสู่ประเด็นปัญหาระหว่างคนในและคนนอก คนในพื้นที่ควรมีบทบาทหลักในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งชายแดนใต้ อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งนี้ใครคือตัวละครหลัก ก็คือฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายรัฐ กับขบวนการ แล้วดูฝ่ายความมั่นคงนะ หัวหน้าระดับนายพล นายพันเป็นคนนอก แม้ไม่นานมานี้ที่เพิ่งเปลี่ยนกำลังพลให้มาจากภาคใต้ ไม่ใช่ชายแดนใต้นะครับ มากขึ้นตามลำดับโดยอาศัยกองทัพภาคที่ 4 แต่คนสั่งการเป็นคนนอกพื้นที่ แต่ก็ดีขึ้นเพราะมีการส่งผู้แทนพิเศษจากรัฐบาลลงไปด้วย

ในระดับขบวนการอาร์เคเคเป็นคนในพื้นที่ แต่คนสั่่งการก็อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ ก็ย้อนแย้ง การใช้คำว่าพื้นที่ที่หมายถึงสามจังหวัด บางทีก็รวมสี่ จ.สงขลาด้วย เป็นประโยชน์ในฐานะหน่วยวิเคราะห์ หน่วยราชการ หน่วยอ้างอิง แต่หน่วยย่อยย่อมเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่าการมองแบบองค์รวมที่เป็นประโยชน์ไม่น้อยกว่าการแย่งย่อย ความย้อนแย้งคือการมองว่าคนๆ หนึ่งเป็นได้ทั้งคนในและคนนอก

การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งใต้ยังต้องบทบาทสังคมไทยที่มีมากขึ้น เราจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แบ่งเขาแบ่งเราเกินไป หากควรดูที่เจตจำนงของการสร้างความสงบสุขและความเป็นธรรมกับลูกหลานของเราต่อไป ถ้ามาด้วยเจตจำนงร่วมกัน เราก็คงจะไม่ถือเขาเป็นนอกเป็นใน แต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น

ผมลงไปชายแดนใต้ครั้งแรกปี 2548 ก็ได้ยินคำว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เหมือนเป็นคาถาของฝ่ายความมั่นคง น่าจะหมายถึงเข้าใจคนในพื้นที่ว่าพวกเขากำลังเดือดร้อนแสนสาหัส อยู่ในความหวาดกลัวที่พยายามจะลืม แต่คนในสังคมไทยต้องพยายามเข้าใจคนในพื้นที่ ไม่ใช่ให้คนในพื้นที่เขาต้องมากดดันเรา ความเข้าใจนั้น เราต้องเข้าใจว่าความอยู่รอดของเขาต้องมาก่อน เขาย่อมมองโลกในแง่ร้าย เขาไม่เชื่อคนง่ายๆ ทั้งยังหวาดระแวงจากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ ฝ่ายรัฐมักนำเสนอคำพูดที่สวยหรูว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว รัฐเข้าใจความต้องการคนในพื้นที แต่คำพูดใดๆ ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่พูด เข้าใจของรัฐ ต้องระวังเพราะสามารถตีกลับได้เรื่อยๆ

คำว่าเข้าถึง กลายเป็นว่า คนนอกเข้าถึงความต้องการคนในพื้นที่ แต่ในมุมหนึ่งผมจะมองว่าคือการที่คนในพื้นที่เข้าถึงเราที่เป็นคนนอกด้วย คนในพื้นที่คับข้อง อยากส่งเสียงออกไปนอกพื้นที่ แต่เราคนนอกจะได้ยินแต่เสียงของตนเอง ตั้งใจแต่จะอธิบายความสำคัญของเป้าหมายตนเอง เข้าถึงเขาก็บอกให้เขารู้ว่าเราอยากได้อะไรอย่างนั้นหรือ คนนอกมักไม่ได้ยินเสียงคนใน ทั้งไม่ได้นับเสียงเหล่านั้นมาไตร่ตรองและสะท้อนคิดกลับไปให้เขาทราบ เขาพยายามส่งสัญญาณว่าเขาเดือดร้อนอะไรบ้าง เราก็บอกว่าเรากำลังแก้ปัญหาอยู่ กำลังทำสิ่งนั่นสิ่งนี้อยู่ เหมือนจะพูดสวนทางกันอยู่หรือไม่ ไม่รู้ว่าใครเข้าถึงใคร

จริงๆ คนนอกใช้การเมืองขนานแท้ (Realpolitik) ยกผลดีให้ตน ยกผลเสียให้คนอื่น จึงขาดจิตวิญญาณความจริงแท้ในการทำงานเพื่อคนอื่นอย่างจริงจัง ผลที่ได้คือไม่ได้เข้าถึง

คำว่าพัฒนา อาจจะอ้างอมาตยา เซนนิดหน่อยที่ว่า เสรีภาพคือการพัฒนา พัฒนาให้เขายังไม่สู้ให้เขาพัฒนาเอง คือเงื่อนไขที่คนนอกเอื้อให้คนในจัดการอุปสรรคด้วยตัวเอง คนนอกกล้าที่จะยอมรับความเสี่ยง ลงทุน และสร้างงานในพื้นที่ให้มากขึ้นจะได้ไหม ส่วนในภาพรวมระดับมหภาคก็เป็นที่ทราบกันว่าผลผลิตของจังหวัดชายแดนใต้อยู่ระดับท้ายๆ มาสิบกว่าปี ทำไมการใช้งบประมาณเยอะแยะไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของ จ.ชายแดนใต้อย่างเป็นกอบเป็นกำ สังคมไทยจะทำอย่างไรให้ตัวบ่งชี้เศรษฐกิจมหภาคดีขึ้นตามลำดับ อย่างที่บอกว่าเข้าใจแล้ว เข้าถึงแล้ว ตอนี้จะลงมือพัฒนาแล้ว

ผมก็อดมองไปที่อดีตเมื่อประมาณปี 2548-2549 ไม่ได้ ที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ผมถือว่าเป็นความพยายามหนึ่งของสังคมไทยในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งชายแดนใต้ แม้ประธาน รองประธาน เลขานุการ นักวิจัย ผู้เขียนบทความจะเป็นคนนอกพื้นที่ประมาณหนึ่งในสี่ นอกนั้นเป็นภาคการเมือง นักการเมืองและข้าราชการ ซึ่ง กอส. พยายามจำลองแบบสังคมไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาลงไปเป็นกรรมการชุดหนึ่ง

นอกจากข้อเสนอความหมายความสมานฉันท์ในรายงานแล้ว กอส. ยังให้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ดังนี้

หนึ่ง เอาชนะความรุนแรงทางตรงโดยสร้างสันติเสนา สานเสวนากับฝ่ายขบวนการ และเจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจลักษณะพิเศษของพื้นที่

ข้อเสนอเชิงโครงสร้าง ให้ชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงกฎหมายอิสลามตามบริบทชายแดนใต้ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรศาสนาอิสลาม คงไว้ซึ่งความหลากหลายในระบบการศึกษา และใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาชายแดนใต้

ข้อเสนอทางวัฒนธรรม ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั่วประเทศ เสริมวิถีชีวิตสันติวิธีทั่วประเทศ ใช้ภาษามลายูปาตานีเป็นภาษาทำงาน ไม่ใช่ภาษาทางการนะครับ และเน้นการสานเสวนาระหว่างสมาชิก

ข้อเสนอทางการเมือง ออก พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุข จ.ชายแดนใต้ สร้างสภาพัฒนาพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมพัฒนาจากชุมชน ตั้งคณะกองทุนเยียวยาและสมานฉันท์ ข้อเสนอเหล่านี้แม้มีขึ้นในปี 2549 แต่หลายข้อผมยังมองว่าเป็นปัจจุบัน คำถามคือ สังคมไทยให้การยอมรับ และผลักดันให้ภาครัฐมีผลในปฏิบัติอย่างไร

ตัวอย่างที่สังคมไทยได้เริ่มทำไปบ้างแล้วได้แก่ การศึกษาและเผยแพร่ทักษณะวัฒนธรรมที่เป็นคู่มือของการขัดกันฉันท์มิตร ทดลองการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ทวิภาษาเต็มรูปแบบ จัดทำนโยบายทางภาษาและนโยบายการสอนภาษา การส่งเสริมการรวมกลุ่มของชาวพุทธทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อสานเสวนากับฝ่ายรัฐและมุสลิม การถกแถลงอนาคตชายแดนใต้ การเมืองภาคพลเมือง แนวคิดจังหวัด ชุมชนจัดการตนเอง การสำรวจความเห็นกับประชาชนเรื่องสันติภาพที่เสร็จสิ้นแล้ว 3 ครั้ง

งานที่ควรทำเพิ่ม ผมเห็นว่างานที่เรายังทำน้อยคือการสร้างวาทกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยน ฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการพยายามสร้างวาทกรรมเพื่อเอาชนะ ผมก็เสนอก่อนหน้านี้ว่าวาทกรรมที่ต่างกันควรมีการสานเสวนากัน ผมอยากเห็นชาวมุสลิมคุยกันเรื่องศัพท์ที่แปลกๆ อย่างเช่น ดารุลฮัรบี (แดนข้าศึก) กับ ดารุลอิสลาม (แดนสันติ) ชายแดนใต้เป็นอย่างไร หรือเป็นอย่างอื่น ผมถามคนหนึ่งก็ได้คำตอบหนึ่ง ถามคนอื่นก็อาจได้คำตอบอื่น หรือ คำกล่าวของฝ่ายขบวนการที่บอกว่าเรากำลังต่อสู้กับอาณานิคมสยาม แสดงว่ายังมองว่าการปกครองปัจจุบันยังเป็นการปกครองแบบอาณานิคมหรือประชาธิปไตย ซึ่งก็แน่นอนว่าปกครองคนหลายชาติพันธุ์ หลายเชื้อสาย คำกล่าวที่ว่าเราต่อสู้เพื่อขับไล่กาเฟรสยาม (สยามที่ไม่ใช่มุสลิม) ออกจากปาตานี ทำให้ชาวพุทธหวาดกลัวมากซึ่งอาจไม่จำเป็น

เราอยากชวนชาวชายแดนใต้มาคุยกัน ผมติดใจคำพูดของวันกาเดร์ (รองศาสตราจารย์ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน หลานของนายอิซซุดดิน ประธานขบวนการแบ่งแยกรัฐปัตตานี (BIPP) อดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย – ที่มา วิกิพีเดีย) ที่ว่า จะเอาศาสนามาอ้างอย่างไรก็สู้ไม่ได้ คนสามล้านจะสู้กับหกสิบล้านได้อย่างไร คำว่าวาญิบที่แปลว่าเป็นที่บังคับ ในการต่อสู้ มีเงื่อนไขว่าต้องพร้อม ถ้าไปแล้วรู้ว่าจะตาย คือฮะรอม (กฎบัญญัติที่ห้าม – ที่มา วิกิพีเดีย) ไม่ใช่วาญิบ ผมเชื่อว่าวันกาเดร์ที่เป็นนักต่อสู้คนหนึ่งพูดอย่างนี้

ผมว่าน่าจะสานเสวนาถึงขบวนการเอกราชในประเทศต่างๆ และการยอมรับขบวนการเอกราชต่างๆ ในโลก มีการค้นพบว่าการแยกดินแดนในปัจจุบันทำได้ยากมาก แต่ก็ยังมีคนต่อสู้ ผมว่า สปช. (สภาปฏฺิรูปแห่งชาติ) หรือกระทรวงการต่างประเทศอ่อนไหวเกินจำเป็น ถ้าเราพูดเรื่องหลักการกำหนดใจตนเอง (Self Determination) ท่านก็สะดุ้งนอนไม่หลับ เวลาเราพูดว่าการพูดคุยสันติภาพก็พูดว่า พูดแบบนี้ไม่รักชาติหรืออย่างไร ทำไมไม่พูดว่าพูดคุยสันติสุขถึงจะรักชาติจริง ถ้าอ้างเรื่องชายแดนใต้มีการต่อสู้ด้วยอาวุธก็บอกว่าพูดแบบนั้นไม่ได้ เดี๋ยวใครจะเอาไปใช้ในระดับยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) หรือบอกว่า ถ้าเรียกชื่อมาราปาตานีตรงๆ ก็บอกว่าไม่ดีหรอก เรียกเขาเป็นผู้เห็นต่างดีกว่า ก็ไม่ทราบว่าเขาติดขัดอะไร อยากสานเสวนากับเขาแต่ยังหาบุคคลที่สานเสวนาไม่เจอ

ผมก็อยากมาที่กระบวนการพูดคุย คณะพูดคุยท่านก็ทำเอกสารที่จะนำมาแจก ผมวิจารณ์นะครับว่า ในหน้าแปดและหน้าสิบ มาถึงก็ต่อว่าการพูดคุยที่เริ่มเมื่อปี 2558 ไปว่าเขาทำไม ว่าไปในนามรัฐบาลสู้ไม่ได้ ไปในนามประชาชนชายแดนใต้ ก็ไม่รู้นะครับ เมื่อก่อนคุยได้แค่กลุ่มเดียว เดี๋ยวนี้คุยได้ตั้งหกกลุ่ม ผมก็ถามว่ากลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มไหนนอกจากกลุ่มบีอาร์เอ็น แล้วในมารา ปาตานี มีกำลังกี่คน เขาบอกว่ามีหลายร้อย ซึ่งเทียบกับบีอาร์เอ็นไม่ได้ ก็ดีใจที่ได้คุยกับหกกลุ่มแต่ไม่ได้คุยกับคนคุมกำลัง แต่ก่อนเขาคุยกลุ่มเดียวแต่ได้กลุ่มที่คุมกำลัง ทำไมต้องเอามายกเป็นตัวอย่างความเข้มแข็งของปัจจุบันในเมื่อมันชี้ไม่ตรง บอกว่าดีจะตายที่ปัจจุบันไม่มีข้อเรียกร้องจากมารา ส่วนบีอาร์เอ็นมีข้อเรียกร้องห้าข้อ ก็ไปดูข้อเรียกร้องของมารา บอกว่าเป็นวาระแห่งชาติ ผมก็ถามเขาว่าแปลว่าอะไร เขาบอกว่าคือทุกหน่วยงานมีการประจักษ์เอง แต่พอมาถึงวาระแห่งชาติอ้างได้เลยว่าสามารถทำการนั้นได้ แม้ไม่ใช่สายงานที่ตนเอง คุณจะทำเรื่องอะไรก็ตามแต่พอเป็นวาระแห่งชาติแล้วต้องมีเรื่องภาคใต้เข้ามาทำด้วย ผมถามว่าจริงหรือเปล่า ผมยังเห็นข้าราชการในชายแดนใต้ยังเฉื่อยๆ งานอยู่เลย หรือผมพูดผิด เพราะเขายกบทบาทหลักให้ทหารไปแล้ว สอง การยอมรับมารา ท่านก็ตอบว่าก็ให้ประชาชนยอมรับ ไม่ใช่ให้ฝ่ายเอยอมรับ เขาไม่ได้พูดอย่างนั้น เขาพูดว่าเมื่อไหร่ฝ่ายเอจะยอมรับมาราปาตานีสักที คุณก็บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของฉัน แล้วเขาเข้าพื้นที่ยังไม่ได้เลย แล้วเขาจะเข้าไปโฆษณากับประชาชนอย่างไร อันนี้ก็เป็นข้อโต้แย้งกันไปเรื่อยๆ ส่วนการคุ้มครองทางกฎหมายก็กำลังทำอยู่ด้วยกระบวนการยุติธรรมทางเลือก

แต่ผมก็ยังชื่นชมความพยายามต่อเนื่องของคณะพูดคุย แต่ก็ยังมีข้อฝากอ้างอิงจากนอร์เบิร์ตว่า ทำอย่างไรให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้ ในเอกสารของโครงการ IPP ก็ตั้งคำถามว่า คุณคัดเลือกคนที่มาคุยอย่างไร บทบาทผุ้อำนายความสะดวกคืออะไรกันแน่ การพูดคุยสนับสนุนให้คนนอกพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมแค่ไหน ภาคีการพูดคุยทั้งเอและบีเป็นหนึ่งเดียวกันภายในแต่ละภาคีหรือไม่ เพราะที่ทราบมาก็ไม่ค่อยเป็นถึงขนาดนั้นั้น

การพูดคุยจะสำเร็จจะต้องมีความไว้วางใจ ที่ผ่านมามีการตกลงในช่วยปี 2556 เกี่ยวกับการลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ผมนึกว่ามันน่าจะดี จนกระทั่งไปอ่านข้อสรุปของคัมภีร์มรณะว่า ถ้าใช้ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนจะได้บุญหลายเท่า ทำให้เข้าใจว่าทำไมสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนจึงรุนแรงขึ้น และการลดความรุนแรงยังคงเป็นที่ถกเถียงในพื้นที่

ถ้าไม่ระวัง การตกลงในเบื้องต้นแล้วเกิดช่องว่าง มันก็จะลดความไม่ไว้วางใจ ทำให้หวั่นใจกับการตกลงกันเรื่องพื้นที่ปลอดภัยที่ผมเชื่อว่าใช้เวลาขัดเกลาเยอะ และที่สำคัญข้อสุดท้าย ถ้าจะเสนอให้ทั้งคนในและคนนอกมีส่วนร่วมกับกระบวนการพูดคุยเพิ่มขึ้น น่าจะมีสิ่งที่เรียกว่าโครงสร้างรองรับกระบวนการสันติภาพ ทุกวันนี้โครงสร้างฝ่ายไทยมีสามระดับ ก็พูดกันอยู่เรื่อยตามคำสั่งที่ 230/2557 แต่ผมก็อยากเห็นคณะทำงานร่วมให้ชัดเจน และแต่ละคณะที่มาคุยก็ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน ส่วนในระดับทางแทร็กที่สอง สังคมไทยควรมีส่วนร่วมด้วยการทำงานวิชาการ ศึกษา เผยแพร่ จัดสานเสวนาชุมชน ภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่เข้าไปจัดสานเสวนาชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ สังคมไทยยังทำอะไรได้อีกเยอะ และถ้าไม่เข้าไปร่วมอย่างจริงจัง ความรุนแรงที่ยืดเยื้อก็จะดำรงอยู่ต่อไป ขอขอบคุณครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปักหลักค้างคืนหน้าทำเนียบ กลุ่มค้าน ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม รอฟังคำตอบ 7 วัน

Posted: 06 Dec 2017 08:19 AM PST

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปักหลังค้างคืนหน้าทำเนียบฯ รอฟังคำตอบ 7 วัน หลังขอตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพื่อยกร่างฉบับนี้ขึ้นใหม่  ให้คณะทำงานยกร่างกฎหมายฯ ประกอบด้วย ภาคประชาชนและภาครัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

6 ธ.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เวลาประมาณ 13.30 น. ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า ประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กลุ่มคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ในหลายจังหวัด เช่น ชัยภูมิ เลย สกลนคร และเพชรบูรณ์ ประมาณ 100 คน นำโดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย ได้รวมตัวกันเพื่ออ่านแถลงการณ์ยืนยันการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญโดยชอบตามกฎหมาย

พร้อมทั้งข้อเสนอของภาคประชาชนต่อสาธารณะและรัฐบาล และยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการซึ่งมีตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีออกมารับหนังสือ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นใหม่  2. ให้คณะทำงานยกร่างกฎหมายฯ ประกอบด้วย ภาคประชาชนและภาครัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน และ 3. หลักการอื่นใดให้เป็นข้อตกลงกันทั้งสองฝ่ายจนเป็นที่ยอมรับกัน

จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ... ในส่วนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างรีบร้อน โดยที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของประชาชนที่พยายามทักท้วงข้อบกพร่อง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหากระบวนการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) แต่กลับเอื้อให้โครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

แถลงย้ำด้วยว่า "จะปักหลักชุมนุมค้างคืนเพื่อรอฟังคำตอบที่พอใจก่อน เนื่องจากเราได้ขออนุญาตชุมนุมบริเวณบนทางเท้าหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลแล้วเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-12 ธ.ค.นี้"

สำหรับเนื้อหาหนังสือเรียกร้องระบุด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ผ่านการจัดทำตามมาตรา 77 และไม่เป็นไปตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ภาคประชาชนได้มีความพยายามยื่นข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างกฎหมาย คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ไม่ได้ถูกบรรจุเป็นเนื้อหาในร่างกฎหมายแต่อย่างใด

โพสต์ทูเดย์ รายงานด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความเรียบร้อยทั้งบริเวณทำเนียบรัฐบาลและฝั่ง ก.พ. ประมาณ 150 นาย

พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต กล่าวว่า การขอปักหลักค้างคืนเป็นการยื่นตามสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การขออนุญาต ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าการปักหลักชุมนุมดังกล่าว หากพบว่ามีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวาย พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จะประกาศให้ทำเนียบรัฐบาลเป็นเขตห้ามชุมนุมในระยะ 50 เมตรทันที

"การชุมนุมครั้งนี้อาจจะมีความเป็นไปได้ที่เข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะอ้างว่าไม่ใช่เป็นการชุมนุมทางการเมืองก็ตาม แต่ คสช.จะมีการพิจารณาต่อไป" ผกก.สน.ดุสิต ระบุ

ภาพจาก Jamon Sonpednarin 

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 21.20 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งด้วยว่า กลุ่มดังกล่าวยังคงปักหลักจัดอยู่บริเวณ หน้า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล โดยมีกิจกรรม เช่น การ "เสวนาข้างทำเนียบ" และบอกเล่าปัญหาจากกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใน 2 พื้นที่ คือ 1.กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา  2. กรณีเหมืองโปแตช จ.อุดรธานี เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ชวนทั่วโลกร้องไทยยุติดำเนินคดีชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าเทพา

Posted: 06 Dec 2017 05:43 AM PST

แอมเนสตี้ชวนผู้สนับสนุนทั่วโลกเรียกร้องทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา ที่อาจถูกดำเนินคดี 35 คน 

ภาพเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 16 แกนนำ เพื่อขออำนาจศาล จ.สงขลา ฝากขัง เมื่อช่วงสายของวันที่ 28 พ.ย.60

6 ธ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกปฏิบัติการด่วน ชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลกให้ร่วมกันส่งจดหมาย อีเมล และแฟกซ์ เรียกร้องทางการไทยให้ยุติการดำเนินคดีใดๆ ต่อผู้ร่วมชุมนุมคัดค้านแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 15 ม.ค. 2561 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ปฏิบัติการด่วนนี้มีขึ้นหลังจากที่ผู้ชุมนุมประมาณ 100 คนเดินทางไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรใน อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2560 เพื่อยื่นจดหมายคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี ต่อมามีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยทั้งสองฝ่าย ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมจำนวน 16 คน เพื่อดำเนินคดีในข้อหากีดขวางทางสาธารณะและใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

วันต่อมา ศาลจังหวัดสงขลากำหนดวงเงินประกันของชาวบ้าน 15 คนที่คนละ 90,000 บาท และอนุญาตให้ตำรวจควบคุมตัวชั่วคราวพวกเขาได้ ส่วนผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่งเป็นเยาวชนวัย 16ปี ได้รับประกันตัวออกมาด้วยวงเงินประกัน 5,000 บาท ต่อมาวันที่ 29 พ.ย. ชาวบ้านทั้ง 15 คนได้รับการปล่อยตัวหลังจากอาจารย์มหาวิทยาลัยใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันแทนเงิน แต่เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าอยู่ระหว่างเตรียมขอหมายจับชาวบ้านเพิ่มเติมอีก 20 คน ซึ่งคาดว่าจะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมอีกในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า 

แอมเนสตี้ฯ เชิญชวนผู้สนับสนุนทั่วโลกส่งจดหมาย อีเมล และแฟกซ์ เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีใดๆ ต่อชาวบ้านและนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินขบวนดังกล่าว เพราะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระทรวงสาธารณสุข ควัก 1 ล้าน บริจาค 'ตูน' ช่วย 11 รพ.ศูนย์ ตามจุดยุทธศาสตร์ของกระทรวง

Posted: 06 Dec 2017 05:15 AM PST

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบเงินบริจาคเบื้องต้นจำนวน 1 ล้านบาท ร่วมโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 รพ. ทั่วประเทศ ให้กับ 'ตูน บอดี้สแลม' ที่ตั้งอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศ

6 ธ.ค. 2560 สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า วันนี้ ที่สนามกีฬายิงปืน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี  นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง ร่วมต้อนรับและมอบเงินบริจาคเบื้องต้นจำนวน 1 ล้านบาท ร่วมโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 รพ. ทั่วประเทศ ให้กับ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม 

นพ.เจษฎา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอบคุณคุณตูนที่เข้าใจการทำงานของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้บุคลากรสาธารณสุขมีกำลังใจปฏิบัติงานดูแลพี่น้องประชาชน ขอเป็นตัวแทนชาวสาธารณสุข เป็นกำลังใจให้คุณตูนและทีมงานก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 รพ.ทั่วประเทศ ถึงจุดหมาย อ.แม่สาย ด้วยความปลอดภัย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพคุณตูนและทีมงาน ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตามเส้นทางผ่าน จัดทีมแพทย์ รถพยาบาล ประจำจุดและติดตามขบวนวิ่งในแต่ละจังหวัด เพื่อให้การดูแลตลอดเส้นทางการวิ่ง ตั้งแต่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จนถึงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 2,191 กม.

"ขอขอบคุณ คุณตูนที่เป็นแรงบันดาลใจของคนทั้งประเทศ ที่จะเริ่มวิ่งเพื่อให้มีสุขภาพดี ปลุกกระแสให้คนไทยหันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ลดการเจ็บป่วย เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ และยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ทุกคนได้เห็นว่าคนตัวเล็กๆ คนนึงที่ลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้ประเทศ ให้สังคม เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี และขอให้กำลังใจคนที่คิดทำสิ่งดีๆ ให้ประเทศที่ทุกคนต้องจดจำในครั้งนี้" นพ.เจษฎา กล่าว 

ข้อมูลจากเว็บโครงการก้าวคนละก้าวครั้งที่ 2 www.kaokonlakao.com นั้น ระบุว่า ตูน เริ่มจากการนำข้อมูลที่ได้จากกิจกรรม "ก้าวคนละก้าว" ครั้งที่แล้ว มาทำการวิเคราะห์ และพบว่าหนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจคือการระดมทุนช่วยเหลือแก่ "โรงพยาบาลศูนย์" ซึ่งเป็นเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศ ซึ่งต้องรับหน้าที่เป็น "ศูนย์กลางการรักษาให้จังหวัดใกล้เคียง" ในการส่งเคสการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนมาให้ ซึ่งตูนเชื่อว่า การระดมทุนเพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศจะเป็นวิธีการบริจาคที่สามารถกระจายความช่วยเหลือได้กว้างที่สุด ต่อมา ตูน เดินทางไป กระทรวงสาธารณะสุข โดยได้เข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปรึกษาถึงข้อมูลและความเป็นไปได้ในการทำกิจกรรมวิ่งระดม "ก้าว" ครั้งใหม่และได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นั่นคือ รายชื่อของโรงพยาบาลศูนย์ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้ จากนั้น ตูนก็ได้ออก เดินทางไปเยี่ยมโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ภาคใต้จรดภาคเหนือ เพื่อรับรู้ถึงความเดือดร้อนของโรงพยาบาลต่างๆด้วยตนเอง และได้ทำการเลือกโรงพยาบาลที่จะทำการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ จำนวน 11 โรงพยาบาล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต จำเลยคดี ระเบิดห้องวงษ์สุวรรณ รพ.พระมงกุฎฯ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น

Posted: 06 Dec 2017 02:06 AM PST

ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต จำเลยคดี ระเบิดห้องวงษ์สุวรรณ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ ฐานทำให้เกิดระเบิดจนผู้อื่นอันตรายสาหัส สารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือรวมจำคุกทั้งสิ้น 26 ปี 12 เดือน 

ภาพที่เกิดเหตุ

6 ธ.ค. 2560 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 9.00 น. วันนี้ ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีพยายามฆ่าผู้อื่นฯ หมายเลขดำ อ.2868/2560 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ฟ้อง วัฒนา หรือตุ่ม ภุมเรศ อายุ 62 ปี อดีตวิศวกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไต่ตรองไว้ก่อนฯ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพนักงานสอบสวน สน.พญาไท และเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์และเก็บกู้วัตถุระเบิด หรืออีโอดี เบิกความเกี่ยวกับภาพวงจรปิดที่พบชายต้องสงสัยรูปพรรณตรงกับจำเลย รวมทั้งแผนผังประกอบระเบิดที่บ้านพักจำเลย ซึ่งจำเลยทดลองแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

จึงพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ให้จำคุกตลอดชีวิตฐานทำให้เกิดระเบิดจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส, ให้จำคุก 3 ปี ฐานประกอบวัตถุระเบิดซึ่งทำให้เกิดระเบิด, ให้จำคุก 1 ปี ฐานครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ปรับ 1,000 บาท ฐานนำวัตถุระเบิดไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จึงรวมจำคุกทั้งสิ้น 26 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาท พร้อมให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีครอบครองวัตถุระเบิดที่บ้านพักจำเลยด้วย ที่ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา ในข้อหาประกอบ ทำและมีวัตถุระเบิด และมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง ให้จำคุก 8 ปี ปรับ 1,950 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี ปรับ ปรับ 975 บาท

รายงานข่าวระบุด้วยว่า กรณีเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 เวลากลางวัน จำเลย ได้ประกอบทำวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบขึ้นเองเป็นระบบไฟฟ้า (Electric Firing Circuit) หรือ IC TIMER) ตั้งเวลาเป็นตัวจุดระเบิดประกอบกับวัตถุระเบิดแรงต่ำ (LOW EXPLOSIVE) ชนิดแดงดำ (BLACK POWDER) ชนิด ไปป์ บอมบ์ ใส่ไว้ในท่อพีวีซี 4 ชุด และใส่ในกระถางต้นไม้ 1 ชุด ที่บ้านพักย่านบางเขน ก่อนนำใส่ไว้ในแจกันดอกไม้ 1 ชุด ขึ้นรถโดยสารลอบไปติดไว้ที่ฝาผนังภายในห้อง "วงษ์สุวรรณ" รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ จนเกิดระเบิดขึ้นทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 21 ราย ทรัพย์สินเสียหายหลายรายการมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท โดยจำเลยให้การรับสารภาพ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้องใจ 'ศรีสุวรรณ' จ่อร้องสอบปมนาฬิกาหรู - ประวิตร ขอแจง ป.ป.ช. เอง

Posted: 06 Dec 2017 12:29 AM PST

'ประวิตร' ปัดตอบปมนาฬิกาหรู ระบุ ขอแจง ป.ป.ช. เอง ย้ำไม่เคยมีเรื่องทุจริตอะไร ด้าน 'ศรีสุวรรณ' ข้องใจ จ่อร้อง พิสูจน์ว่า  ป.ป.ช. ชุดนี้แข็งขันได้เป็นที่ประทับใจประชาชนได้ดีในยุคปฏิรูปหรือไม่

6 ธ.ค.2560 จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แหวนเพชร และนาฬิกาข้อมือราคาแพง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สวมใส่ถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (4 ธ.ค.2560) ว่าไม่มีในรายการทรัพย์สินที่แจ้งต่อ คณะกรรมการป้องกันะละกราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น โดยที่ต่อมา พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นาฬิกาและแหวนเป็นของเก่าเก็บที่มีมานานแล้ว ที่ผ่านมาสวมแหวนวงนี้มาโดยตลอด มีน้ำหนักเพียง 1 กะรัต แต่เมื่อวานนี้เป็นเรื่องบังเอิญที่แหวนกระทบกับแสงแดดจนเกิดแสงสะท้อนต่อหน้าสื่อมวลชนพอดี

วันนี้ (ุ6 ธ.ค.60) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่า จะนำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ในวันที่ 7 ธ.ค.2560 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถ.สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี โดยอาศัย รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 234(1)(3) ประกอบมาตรา 195 บัญญัติให้ทำการไต่สวนและหากพบความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายสูงสุด เช่นเดียวกันกับหลาย ๆ กรณีที่ ป.ป.ช.เคยวางบรรทัดฐานมาแล้ว เช่น กรณีคดีซุกหุ้น ทักษิณ ชินวัตร คดีเงินกู้ 45 ล้านบาท ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้จะเป็นบทพิสูจน์อำนาจหน้าที่และการกระทำของ ป.ป.ช.ชุดนี้ด้วยว่าจะปฏิบัติหน้าที่แข็งขันได้เป็นที่ประทับใจประชาชนได้ดีในยุคปฏิรูป นี้ได้หรือไม่ด้วย 

ศรีสุวรรณ ระบุว่า ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ปรากฎในเอกสารบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งได้รายงานไว้ต่อ ป.ป.ช.
เมื่อครั้งเจ้ารับตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2557 อันอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 ประกอบมาตรา 66 ซึ่ง ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการไต่สวนและยื่นฟ้องเป็นคดีฐานจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. หรือจงใจยื่นบัญชีฯด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยต้องเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยโดยเร็วต่อไป

เลขาฯสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ชี้ด้วยว่า นอกจากกรณีทีอาจมีลักษณะจงใจยื่นบัญชีฯด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบแล้ว ยังอาจเข้าข่าย การร่ำรวยผิดปกติ ตามมาตรา 66 อีกด้วยเนื่องจากตามเอกสารบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้รายงานไว้ต่อ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเจ้ารับตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2557 นั้นพบว่ามีบัญชีเงินฝากในธนาคารมากถึงกว่า 53 ล้านบาท ซึ่งรวมทรัพย์สินอื่น ๆ แล้วมีมูลค่ามากกว่า 87 ล้านบาท ซึ่งไม่ปรากฏที่มาของเงินในบัญชีธนาคารและทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งนี้หากจะประมาณการจากการที่พล.อ.ประวิตรรับราชการทหารมาประมาณ 40 ปีและเป็นนักการเมืองมา 2 สมัยและไม่ได้มีธุรกิจใดๆ เลยนั้นก็ไม่น่าที่จะมีรายได้มากมายถึงขนาดนี้

ประวิตร ปัดตอบ ระบุ ขอแจง ป.ป.ช. เอง 

ขณะที่ ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ให้สัมภาษณ์ถึงการสวมใส่นาฬิกาหรู และไม่ได้มีการแจ้งต่อ ป.ป.ช. ว่า "ไม่ต้องชี้แจง ผมพูดไปแล้ว เดี๋ยวผมจะชี้แจงให้ ป.ป.ช. ไม่เป็นไร ผมไม่ต้องตอบสื่อมวลชน ป.ป.ช.ถามมาก็ตอบไป" เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ามีหลักฐานพร้อมใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวยอมรับว่า ใช่ๆ เมื่อถามว่านาฬิกาที่ใส่ใช่ยี่ห้อริชาร์ด มิลล์ อย่างที่วิพากวิจารณ์กันหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ไม่รู้ ขอให้ถามเรื่องอื่น"

ข่าวสดรายงานด้วยว่า เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเสียกำลังใจ และท้อหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ตกเป็นเป้าไปเสียหมดนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวปฏิเสธว่า "ไม่ ไม่ท้อหรอกว่าไปเลย" เมื่อถามย้ำว่านาฬิกาที่ได้มาหลังจากเข้ารับตำแหน่งใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ไม่รู้ ผมไม่ตอบ เดี๋ยวผมขอตอบทาง ป.ป.ช.เขาเลย ผมไม่รู้จะตอบพวกคุณไปทำไม ตอบไปพวกสื่อก็เอาไปต่อออกไปเรื่อยๆ"

เมื่อถามว่ามั่นใจในตัวเองใช่หรือไม่ว่าตั้งแต่เข้าทำงานมาไม่มีเรื่องอะไรที่ผิด พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ผมทำงานมา ผมไม่เคยมีเรื่องทุจริตอะไร ไม่เคยมี ไม่มี" 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: บอดนำทาง

Posted: 05 Dec 2017 11:44 PM PST



ตาบอดตลอดทางสร้างประเทศ
เนรเทศประชาชนน่าสงสัย
เอะอะตะแบงตะเพิดเปิดเปิงไป
เผด็จการไทยใจกล้าหน้าด้านจริง

เดินตามก้นจนหนวกหูพวกบอดใบ้
จูงกันไปให้เชื่อเหลือแต่นิ่ง
ปิดตาไว้อย่าให้ใครช่วงชิง
หลอกเป็นลิงหลอกเจ้าที่เท่าทำ

หลอกว่าดีกว่าใครทำได้ดี
ทำเจ้ากี้เจ้าการพาลถลำ
บ้าบิดเบือนใบ้บ้าบอดตาดำ
ลงเหวต่ำตกลงปากบ่งการ

เกิดเป็นไทยให้เชื่อทุกเมื่อจำ
มันน่าขำขื่นขมทับถมด้าน
มืดทุกทางทุกทิศปิดทวาร
น่าสงสารประชาชนคนไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: เข้าใจการเลือกตั้ง ส.ส.แบบง่ายๆ

Posted: 05 Dec 2017 11:09 PM PST




ประเด็นถกเถียงที่สำคัญประเด็นหนึ่งของ รธน.ปี60 ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นร่างก่อนนำไปลงประชามติ จวบจนปัจจุบันซึ่งร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ได้ผ่านวาระที่ 1  ของ สนช.ไปแล้วก็คือ ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเพราะเป็นวิธีการแบบใหม่ที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกใช้ คือเป็นวิธีการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวและเลือกได้อย่างเดียวคือทั้งคนและพรรคเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติมาใน รธน.ปี 40 และ 50 และแตกต่างจากระบบของเยอรมันที่อ้างว่าเอามาเป็นต้นแบบ ซึ่งของเยอรมันเขาใช้บัตรใบเดียวก็จริงแต่เขาแยกให้เลือกได้ทั้งคนและพรรค โดยแบ่งเป็น 2 ข้างให้กาได้ 2 ช่องเพื่อเลือกคนกับเลือกพรรค

อย่างไรก็ตามเมื่อถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว จะเร็วหรือช้าเราก็จำเป็นต้องใช้การเลือกตั้งแบบนี้ (หากไม่ถูกล้มกระดานไปเสียก่อน) โดยผมจะแยกเป็นประเด็นๆเพื่อให้เข้าใจโดยง่าย ซึ่งผมจะใส่ตัวเลขมาตราของ รธน.ไว้ในวงเล็บเพื่อการค้นคว้าเพิ่มเติม ดังนี้

1.จำนวน ส.ส.

จำนวน 500 คนประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตฯ 350 คน และจากparty list 150 คน(ม.83)

2.ผู้สมัครแบบแบ่งเขตฯต้องสังกัดพรรคการเมือง

ผู้สมัครฯ ส.ส.แบบแบ่งเขตฯต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้ง และจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้(ม.87)

3.หนึ่งเขตหนึ่งคนและต้องได้คะแนนมากกว่าVote No ถ้าคะแนนสูงสุดของผู้สมัคร ส.ส.ที่ได้รับแพ้ Vote No ต้องเลือกตั้งใหม่โดยคนเก่าไม่มีสิทธิลงอีกและไม่ให้นำคะแนนไปคิดรวม

ให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้เขตละหนึ่งคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน และให้ผู้สมัครฯซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนVote No เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง(ม.85)

เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครฯรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนVote Noเป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้นแล้วให้ กกต.จัดการเลือกตั้งและรับสมัครฯใหม่ และมิให้นับคะแนนที่ผู้สมัครฯเดิมแต่ละคนได้รับไปใช้ในการคำนวณparty list โดยผู้สมัครฯเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครฯในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น   (ม.92)

4.พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อหรือจะไม่เสนอชื่อก็ได้

ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนฯเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ(จะเป็นคนนอกหรือคนในก็ได้)ต่อ กกต.ก่อนปิดการรับสมัครฯ และให้ กกต.ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ ซึ่งพรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อฯดังกล่าวก็ได้(ม.88)

5.พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตฯแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถส่งแบบparty listได้และบัญชีรายชื่อฯต้องคำนึงถึงภูมิภาคและสัดส่วนชายหญิง

พรรคการเมืองใดที่ส่งผู้สมัครฯแบบแบ่งเขตฯแล้วให้มีสิทธิส่งผู้สมัครฯแบบparty listได้ ซึ่งการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบparty listนั้น ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี โดยผู้สมัครฯของแต่ละพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกัน และไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครฯแบบแบ่งเขตฯ โดยส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ กกต.ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตฯ และการจัดทำบัญชีรายชื่อฯ ต้องให้สมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย โดยต้องคำนึงถึงผู้สมัครฯจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง(ม.90)

6.การคำนวณจำนวน ส.ส.party list

6.1 นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบparty listได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

6.2 นำผลลัพธ์ตาม 6.1 ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตฯทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

6.3 นำจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม 6.2 ลบด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตฯทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.แบบparty listที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

6.4 ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตฯเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 6.2 ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตฯ และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบparty listและให้นำจำนวน ส.ส.แบบparty listไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตฯต่ำกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 6.2 ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม 6.2

6.5 เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบparty listของแต่ละพรรคการเมืองแล้วให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อ ส.ส.แบบparty listของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.(ม.91)

สรุปง่ายๆว่าถ้านำคะแนนทั้งหมดที่พรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งได้รับทั้งประเทศมาคำนวณจากสัดส่วนทั้งหมดของคนมาลงคะแนนว่าจากจำนวนเต็ม ส.ส. 500 คน(ไม่ใช่ 150 คนแบบที่ผ่านมานะครับ) พรรคนั้นควรจะได้กี่คน สมมุติว่าควรได้ 200 คน หากได้ ส.ส.เขตแล้ว 195 คน ก็จะได้ ส.ส.party listเพิ่มอีก 5 คน รวมเป็น 200 คน แต่หากได้ ส.ส.เขตแล้ว 200 คนหรือมากกว่าก็จะได้เฉพาะ ส.ส.เขตโดยจะไม่ได้ ส.ส.ในparty listอีก ตัวอย่างเช่นได้ ส.ส.เขตเกินมา 5 คนก็จะได้ ส.ส.205 คนโดย ส.ส.แบบparty listที่จะนำไปเฉลี่ยให้พรรคอื่นก็จะเหลือเพียง 145คน(150-5)เพราะ รธน.กำหนดไว้ให้มี ส.ส.ได้เพียง 500 คนเท่านั้น

ฉะนั้น ไม่ว่าพรรคนั้นจะเก่งขนาดไหน ผลการเลือกตั้งถล่มทลายขนาดไหนก็ไม่มีทางได้ ส.ส.ในสภาเกิน 350 คน (เพราะมีเขตเลือกตั้งเพียง 350 เขตเท่านั้น) ซึ่งก็หมายความว่าในสมัยแรก ส.ส.พรรคเดียวไม่มีทางตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเมื่อรวมเสียงของ ส.ว.ที่มีสิทธิโหวตตั้งนายกฯตามบทเฉพาะกาล อีก 250 คนเป็น 750 คนก็ไม่มีทางเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภารวมกันคือ 376 คนจาก 750 คน หากพรรคการเมืองต้องการที่จะได้นายกฯที่มาจากพรรคการเมืองเท่านั้นก็ต้องรวมกันเพื่อให้ได้ 376 คนขึ้นไปนั่นเอง



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2560
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ขออัยการทหาร ถอนฟ้องคดี 112 'ส.ศิวรักษ์' ปมพูดพาดพิงพระนเรศวร

Posted: 05 Dec 2017 11:02 PM PST

ฮิวแมนไรท์วอทช์ แถลงเรียกร้องอัยการทหารไทย ควรถอนฟ้องข้อกล่าวหาต่อ ส.ศิวรักษ์ ในคดี ม.112 ปมพูดพาดพิงพระนเรศวร ย้ำ เสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความเห็นในไทย จะได้รับผลกระทบใหญ่หลวง หากมีการไต่สวนคดีนี้

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

6 ธ.ค.2560 จากเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีดังกล่าวเสร็จแล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีที่ สุลักษณ์ ถูกทหารเข้าแจ้งความให้เจ้าพนักงาสอบสวน สน.ชนะสงคราม  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2557 จากรณีที่ สุลักษณ์ ได้ร่วมอภิปรายเรื่อง "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยคณะสภาหน้าโดม เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 โดยกล่าวหาว่าในการอภิปรายดังกล่าวสุลักษณ์ได้กล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยกล่าวว่า การทรงกระทำยุทธหัตถีไม่มีจริง และมีอีกหลายถ้อยคำที่เข้าข่าย "หมิ่นเบื้องสูง" นั้น

ล่าสุดวันนี้ (6 ธ.ค.60) ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกคำแถลง เรียกร้องอัยการทหารไทย ควรถอนฟ้องข้อกล่าวหาต่อ สุลักษณ์  อายุ 85 ปีซึ่งในวันที่ 7 ธ.ค. นี้ อัยการทหารจะแจ้งผลการพิจารณาว่าจะมีการสั่งฟ้องสุลักษณ์ ฐานละเมิดมาตรา 112 ว่าด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีหรือไม่

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลทหารได้แจ้งความดำเนินคดีต่อ สุลักษณ์ โดยเป็นผลมาจากการอภิปรายของเขาเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กรุงเทพฯ สุลักษณ์ตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสงครามยุทธหัตถีในศตวรรษที่ 16 ระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวันกองทัพไทยที่มีการจัดงานรำลึกทุกปี มีรายงานว่า สุลักษณ์ กล่าวในที่สัมมนาว่า "อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายเกินไป ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อ"

"การนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้อย่างมิชอบของรัฐบาลทหาร ได้รุนแรงถึงขั้นที่เป็นความเหลวไหล เมื่อนักวิชาการท่านสำคัญถูกดำเนินคดีอาญา เนื่องจากการตั้งคำถามต่อสงครมมยุทธหัตถีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 16" แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว พร้อมย้ำด้วยว่า เสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความเห็นในประเทศไทย จะได้รับผลกระทบใหญ่หลวง หากมีการไต่สวนคดีต่อสุลักษณ์เกิดขึ้นจริง
 
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้ว่า ไม่มีเนื้อความใดในกฎหมายบ่งบอกว่ามาตรานี้ครอบคลุมถึงบุคคลอื่น ๆ อย่างพระมหากษัตริย์ในอดีตหรือคำอธิบายทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรัชกาลในอดีต แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการไทยได้ตีความกฎหมายนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาตามกฎหมาย
 
คำแถลงของ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังระบุด้วยว่า ในเดือน พ.ค. 2556 ศาลฎีกาพิพากษาว่า ณัชชากฤต จึงเรืองฤทธิ์ มีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งครองราชระหว่างปี 2394 ถึง 2411 โดยศาลให้ความเห็นว่า "การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่" และระบุว่า "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน" ขณะที่ ในเดือน ธ.ค. 2558 ทางการไทย ได้จับกุม ฐนกร ศิริไพบูลย์ คนงานในโรงงาน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากการโพสต์ความเห็นล้อเลียนสุนัขทรงเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในเฟซบุ๊ก คดีของเขาอยู่ระหว่างการไต่สวนในศาลทหารกรุงเทพ
 
นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในประเทศไทย มีบุคคลอย่างน้อย 105 คนที่ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโพสต์หรือแชร์ความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ศาลทหารได้กำหนดโทษรุนแรงขึ้นต่อความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อเทียบกับศาลพลเรือนในช่วงก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร จำเลยบางส่วนถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกกำหนดโทษจำคุกหลายสิบปี ยกตัวอย่างเช่น ในเดือน ส.ค. 2558 ศาลทหารกรุงเทพลงโทษจำคุกพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง เป็นเวลา 60 ปี เนื่องจากการโพสต์ความเห็นหลายชิ้นในเฟซบุ๊ก ซึ่งศาลมองว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยนับเป็นโทษจำคุกสูงสุดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย แต่ตามมาตรฐานการกำหนดโทษของไทย ศาลได้ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 30 ปีเมื่อพงษ์ศักดิ์รับสารภาพความผิดตามข้อกล่าวหา
 
รัฐบาลทหารยังเพิ่มความเข้มงวดต่อการแสดงความเห็นอย่างเสรี โดยอ้างความจำเป็นที่จะต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ทั้งนี้แม้ว่านายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ จะให้สัญญาหลายครั้ง รวมทั้งในที่ประชุมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือน มี.ค. 2560 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)
 
"การข่มขู่โดยการกำหนดโทษจำคุกเป็นเวลานาน และความคลุมเครือเกี่ยวกับการวินิจฉัยว่าคำพูดแบบใดจะถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กระตุ้นให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองและปิดกั้นการอภิปรายโต้เถียงที่สำคัญในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและแสดงออก" แฟรงค์ ลา รู (Frank La Rue) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกกล่าวไว้ในเดือน ต.ค. 2554
 
การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้นของรัฐบาลทหาร ทำให้เกิดความยากลำบากต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้พิพากษาและหน่วยงานอื่น ๆ ในการวินิจฉัยความน่าเชื่อถือของข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าข้อกล่าวหานั้นจะมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับเนื้อหาตามกฎหมายก็ตาม ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีความกังวลว่า หากไม่สั่งฟ้องก็จะถูกกล่าวหาว่าแสดงความไม่จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์เสียเอง
 
"รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรประกาศให้รัฐบาลทหารไทยทราบอย่างชัดเจนว่า การดำเนินคดีต่อนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเนื่องมาจากการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ของเขา จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเสรีภาพทางวิชาการ" อดัมส์ กล่าว พร้อมย้ำด้วยว่า จึงควรมีการถอนฟ้องคดีต่อสุลักษณ์ ศิวรักษ์โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: 5 มหาเทพมาแล้วจ้า

Posted: 05 Dec 2017 10:58 PM PST

 

การสรรหา กกต.องค์กรอิสระชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ดำเนินไปท่ามกลางเสียงหัวร่องอหายของ กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร โดยเฉพาะเมื่อมีการกลั่นกรองคุณสมบัติ แล้วผู้สมัคร 41 คนผ่านแค่ 15 คน เพราะกฎหมายกำหนดสเปกไว้เข้มงวด แกมประหลาด

เช่นข้าราชการต้องเคยเป็นอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการมา 5 ปี เป็นรองปลัดกระทรวงก็ไม่นับ เพราะไม่ถือเป็นหัวหน้า ตำรวจทหาร ก็ต้อง ผบ.เหล่าทัพเท่านั้น ไม่เหมือนที่เทียบกันทั่วไปว่า พล.ท. พล.ต.ท. แม่ทัพ ผู้บัญชาการ เท่ากับอธิบดี (ที่จริงเหนือกว่าด้วยซ้ำ)

กรรมการสรรหาตีความตามเจตนารมณ์ สนช.เคร่งครัด โดยคุณสมบัติกรรมการสรรหาก็กำหนดไว้แบบเดียวกัน ซึ่งอย่าว่าอื่นไกล ขนาด กสม.ที่ประธานเป็นอดีตผู้พิพากษา ก็ยังไม่เข้าใจ กสม.เลือกรองปลัดกระทรวงมาเป็นกรรมการสรรหา ปรากฏว่าขาดคุณสมบัติ เป็นไม่ได้ เลือกคนใหม่มาก็ถูกตีความว่าเกินกำหนด กรรมการสรรหาชุดนี้เลยไม่มีตัวแทนกสม.

ตอนนั้น กกต.สมชัยก็หัวร่อร่า เห็นไหม สเปกมหาเทพ แค่อธิบดีหรือผู้ว่าฯ 5 ปีก็หาตัวยากเต็มที สุดท้ายจึงได้อดีตอธิบดีหม่อนไหมมาเป็นกรรมการสรรหา (ศาสตราจารย์ก็ได้ผู้เชี่ยวชาญวิชากฎหมายครอบครัว)

ผู้ผ่านคุณสมบัติจึงมีทนายความมากที่สุด 7 คน เพราะถือตั๋วทนาย 20 ปีก็สมัครได้แล้ว มีศาสตราจารย์ 2 คน หัวหน้าส่วนราชการ 2 คน ผู้บริหารรัฐกิจ 1 คน ภาคประชาสังคม 3 คน โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนผ่านเข้ามาด้วย (คงถือเป็นหัวหน้าส่วนราชการ) ขณะที่ผู้มีชื่อเสียงมีประสบการณ์หลายคนไม่ผ่านคุณสมบัติ

แต่รอบสุดท้าย ผู้อำนวยการโรงเรียน ภาคประชาสังคม ก็ตกหมด กรรมการสรรหาเลือก 5 คนได้แก่อดีตเลขาธิการ กสทช. อดีตผู้ว่าฯ อดีตอธิการบดีราชมงคลและราชภัฏ (ซึ่งเคยร่วมรายการยามเฝ้าแผ่นดิน) และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายเอกชน ซึ่งไม่เคยมีบทบาททางการเมืองสังคมมาก่อนเลย

เอาแค่ใน 15 ชื่อ ก็ขอทักท้วงแทนภาคประชาสังคมอย่างน้อย 2 คน ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งก็เคยทำงาน กกต. สมศรี หาญอนันตสุข กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กกต.เป็นองค์กรเดียวที่ยอมให้ภาคประชาสังคมสมัครได้เพราะหวังการมีส่วนร่วม แต่กรรมการสรรหาท่านไม่เลือก

ถามว่าทั้ง 5 ท่านที่ได้รับเลือกเสียหายตรงไหน บางรายก็โอเค แต่ในภาพรวม ลองย้อนกลับไปดูที่กรธ.วาดฝัน ขายฝัน ตั้งแต่ตอนร่างรัฐธรรมนูญ ตอนร่างกฎหมายลูก ว่าจะได้องค์กรผู้วิเศษ "มหาเทพ" มาดลบันดาลให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม แล้วกลับมามองผลวันนี้สิครับ

ใครไปถามปู่มีชัยหน่อยสิ นี่หรือสเปกที่วาดฝันไว้ หรือจะเป็นผลงานการออกแบบที่ กกต.สมชัยเย้ยหยันว่า เอาให้อ่อน เอาให้ยุ่ง เอาให้ยากเข้าไว้ เพียงแต่มีคุณสมบัติครบ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเลยก็ได้

ถามปู่หน่อยสิ เวลาที่ร่างกฎหมายกำหนดสเปกไว้ ปู่อยากได้ กกต.แบบไหน ปู่น่าจะอยากได้นักบริหารองค์กร นักปกครองที่เคยจัดเลือกตั้ง นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญคดีการเมือง ภาคประชาสังคมที่เคยทำงานรณรงค์ และศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ คงไม่มีใครอยากได้ศาสตราจารย์ฟิสิกส์มาเป็น กกต. ป.ป.ช.มั้ง เว้นแต่จะมีบทบาททางการเมืองสังคมเป็นที่ประจักษ์

ลองคิดดู ถ้า สนช.โหวตตามรายชื่อนี้ ชาวบ้านจะเชื่อมั่นหรือไม่ว่า 5 มหาเทพจะดลบันดาลให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างที่อุตส่าห์คุยกันไว้เลิศเลอ

แต่ก็นั่นละนะ การเลือกตั้งจะมีเมื่อไหร่ยังไม่รู้เลย

 

ที่มา: https://www.kaohoon.com

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การปรองดองกลับมาอีกแล้ว

Posted: 05 Dec 2017 10:30 PM PST

 

เรื่องของความปรองดองกลายเป็นเรื่องที่กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง แม้ว่าความปรองดองรอบนี้จะไม่ได้เป็นเรื่องของความเห็นด้วย หรือขานรับมากนัก จากกรณีของข้อสงสัยที่มีต่อเจ้าตัวตุ๊กตานำโชคที่เรียกว่า "น้องเกี่ยวก้อย"

อธิบายง่ายๆ ก็คือ เรื่องของการปรองดอง ที่เท่ากับ (น้อง/การ) เกี่ยวก้อย นั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ฟันธงหรือเรียนตรงๆ ก็คือ "ฐานคติ" ที่เกี่ยวกับความปรองดองของรัฐ หรือคณะทหาร หรือคณะรัฐประหารที่มีต่อความปรองดองก็คือเชื่อว่า ฝ่ายต่างๆ ที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองนั้น เป็นปัญหาในตัวเอง

คือเป็นพวกที่ไม่ยอม (มีความ) เข้าใจที่ถูกต้องในการอยู่ร่วมกัน

การไม่เข้าใจว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร อาจแบ่งเป็นสี่ด้าน

หนึ่ง คือพวกที่เป็นคนไม่ดี มีผลประโยชน์แอบแฝง

สอง คือพวกที่เชื่อตามคนอื่น ถูกชักจูงได้ง่าย โดยเฉพาะพวกที่ถูกชักจูงในแบบแรก

สาม คือพวกที่มีความเชื่อที่ผิดพลาด แบบที่ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต

สี่ คือพวกที่ไม่รักชาติบ้านเมือง ขาดจิตสำนึกของความเป็นชาติ

ผมไม่ได้บอกว่าเรื่องทั้งสี่เรื่องนี้ไม่จริง แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดกัน

นั่นคือฐานคติของรัฐเองนั้นก็เป็นปัญหา นั่นคือไม่ใช่ผู้ที่สร้างความขัดแย้งคือประชาชนแต่ละฝ่ายเท่านั้น แต่ตัวรัฐเองที่พยายามสถาปนาตัวเองเป็น "คนกลาง" ก็เป็นปัญหา มีวิธีคิดที่เป็นปัญหา

ความปรองดองนั้นไม่ควรจะถูกคิดง่ายๆ แค่เป็นสิ่งที่ถูกสั่งการลงมาได้

นั่นหมายความว่า ความปรองดองนั้นสั่งไม่ได้จากคนนอก แต่ต้องมาจากความเข้าใจระหว่างกันของแต่ละฝ่ายมากกว่า

ดังนั้นถ้าฝ่ายที่พยายามเดินหน้าปรองดองไม่รู้จักฟังและเข้าใจทั้งสองฝ่าย โอกาสที่จะปรองดองนั้นก็จะยากอยู่สักหน่อย

คนกลางจึงต้องทำตัวให้เป็นกลาง ความเป็นกลางที่สำคัญคือการทำให้ทุกฝ่ายยอมรับอำนาจนำของตนเองจากความเข้าใจ และความเข้าใจไม่ใช่เรื่องของคำสั่ง

ความเข้าใจควรมาจากความสามารถที่จะไปนั่งอยู่ในใจของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่การทำให้ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าฉันเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

นอกจากนั้นความปรองดองนั้นอาจไม่ได้มีลักษณะที่เป็นขั้นตอนและเดินไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบระเบียบ

แต่อาจมีลักษณะที่หมุนวน มีก้าวหน้า มีถดถอย มีขึ้น มีลง

ความสำคัญของการปรองดองไม่ใช่แค่การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้น (เช่น หมายถึงว่าจะได้รับความยุติธรรมแค่ไหน) แต่หมายถึงการยอมรับในลักษณะของการ "ปลดปล่อย" ทุกข์ที่ตัวเองแบกไว้อย่างยาวนาน

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยก็คือ "การให้อภัย" แต่ต่อให้ไม่สามารถให้อภัยได้ เราก็คงจะต้องค้นพบระดับของการปลดปล่อยในบางระดับได้บ้างในเงื่อนไขของการยอมรับ

นอกจากความปรองดองจะขึ้นกับความเข้าใจของผู้ที่พยายามปรองดอง และขึ้นกับการยอมรับ/ปลดปล่อย มากน้อยแค่ไหนแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อมาก็คือการยอมรับนั้นอาจจะต้องมาจากการสร้างเงื่อนไขความยุติธรรมในบางระดับ

ความยุติธรรมที่พูดถึงนี้คือสิ่งที่เรียกว่า "ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน"

ความยุติธรรมในแง่นี้อาจไม่ใช่เรื่องหลักการนามธรรมขั้นสูง แต่หมายถึงความยุติธรรมในระดับที่ยอมรับกันได้เพื่อให้สังคมเดินหน้า ตัวอย่างความยุติธรรมในแง่นี้อาจจะรวมไปถึงการเว้นโทษบางอย่างเพื่อแลกมาซึ่งบางอย่าง เช่น การเว้นโทษของผู้กระทำผิดในระดับล่าง เพื่อแลกกับการได้รับความจริงและข้อมูลบางอย่างเพื่อลงโทษหรือมัดตัวคนสั่งการ

หรืออาจจะรวมไปถึงความเห็นที่ว่าการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายอาจจะเป็นการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านได้ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันว่าจะเลิกราต่อกัน อาจจะเพราะสำนึกว่าทุกฝ่ายมีส่วนผิดจึงเว้นโทษทุกฝ่าย

ตรงนี้ต้องย้ำให้ชัดเพราะว่า การนิรโทษกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของการไม่ผิด แต่เป็นเรื่องของการพ้นผิดในเชิงการเว้นโทษ ซึ่งหมายความว่าแต่ละฝ่ายควรจะเข้าใจและยอมรับโทษของตัวเองเสียก่อน ไม่ใช่ประเภททำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แล้วยังสู้ว่าตนเองไม่ผิด หรือสู้ว่าตัวเองถูกต้อง

เรื่องต่อมา ความปรองดองนั้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนของสังคมนั้นๆ ด้วย หมายถึงว่าความปรองดองอาจจะไม่สำเร็จในทุกกรณี เพราะมันขึ้นกับความเข้าใจของผู้จัดทำกระบวนการ และผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการ ที่จะเข้าใจและคิดค้นเงื่อนไข หรือชุดความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันที่จะทำให้กระบวนการปรองดองนั้นเดินหน้าไปได้

เรื่องเหล่านี้เป็นมากกว่าเรื่องกฎหมาย และคำสั่งการจากรัฐ แต่เป็นเรื่องที่มาจากล่างสู่บน มาจากปฏิบัติการในชีวิตประจำวันที่การริเริ่มการปรองดองอาจจะมาจากคนตัวเล็กตัวน้อย อาจจะมาจากฝ่ายที่ถูกกระทำในสังคมเองด้วยซ้ำ การที่เขายอมรับว่าเขาจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้อย่างน้อยเขาก็สามารถมีชีวิตต่อไปได้ รวมทั้งการที่เขาลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือพูดคุยกับฝ่ายที่เคยกระทำรุนแรงกับเขาอย่างกล้าหาญ ก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้เกิดสายธารแห่งความหวังในการปรองดองได้ แม้ว่าบางกลุ่มอาจจะมองว่ามุมมองเช่นนี้เป็นการเรียกร้องที่มากเกินไปต่อเหยื่อ หรือเป็นการที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรได้

แต่มองในอีกด้านหนึ่งการที่เขาเปิดปากเล่าเรื่อง และสามารถพูดคุย หรือทวงถามประเด็นต่างๆ อย่างกล้าหาญ และได้รับการยอมรับหรือสนับสนุนจากสังคมก็อาจทำให้เรามองเห็นความหวังของความปรองดองได้ในอีกระดับหนึ่ง

คู่ขัดแย้งไม่ใช่มีสองฝ่าย บางทีผู้ที่สถาปนาตัวเองไปแก้ความขัดแย้งอาจทำให้ความขัดแย้งลุกลาม หรือกลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่เสียเอง

คู่ขัดแย้งไม่ใช่เด็กที่จะเอาตุ๊กตาไปเต้นระบำด้วย แต่ละฝ่ายต่างผ่านเรื่องราวมามากมาย และความปรองดองยิ่งล่าช้า ความเจ็บปวดของแต่ละฝ่ายก็ยิ่งซับซ้อน และความคาดหวังต่อการแก้ปัญหาก็จะยิ่งสูงขึ้น หรือบางกลุ่มอาจสิ้นหวังในการแก้ปัญหาจนอาจจะแปลกแยกจากสังคมออกไปอีก

สิ่งสำคัญของคนที่จะสถาปนาความปรองดองคือท่าทีที่อ่อนน้อม ความสุภาพ และอดทนที่จะรับฟัง ยิ่งบรรดาผู้ที่สถาปนาความปรองดองที่ไม่ใช่คนใน เพราะใช้กำลังเข้ามายึดอำนาจเข้าไปด้วยแล้ว ท่าทีเห็นอกเห็นใจต่อแต่ละฝ่ายและการรับฟังยิ่งมากก็ยิ่งดี ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นปัญหาของผู้พยายามจัดทำกระบวนการปรองดองเสียมากกว่า หรือมากไม่น้อยกว่าการมองว่าปัญหาของความปรองดองนั้นมาจากคู่ขัดแย้งเดิมในสังคม

ที่สำคัญต่อมาก็คือ เวลาที่เราจะฟังเราจะฟังอย่างไร ฟังเสียงอะไร สังเกตความเคลื่อนไหวในอารมณ์ของผู้คนอย่างไรที่ไม่ใช่แค่เรื่องการฟังแบบ "การข่าว" หรือ "การสืบ" แต่เป็นการรับฟังอย่างเข้าใจเรื่องราว และไม่มองว่าใครเป็นศัตรู

สงสารน้องเกี่ยวก้อยที่ต้องมาแบกภารกิจนี้จริงๆ ครับ

 

หมายเหตุ: ท่านผู้สนใจวิธีการมองการปรองดองแบบทางเลือก กรุณาอ่านงานใหม่ที่แปลโดยคณาจารย์ของศูนย์สันติวิธีของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ชื่อว่า "เมื่อเลือดและกระดูกโหยไห้ – การเดินทางผ่านสัททัศน์ของการเยียวยาและการคืนดี" แปลโดย โคทม อารียา และคณะ ซึ่งมีกรณีที่น่าสนใจมากมายให้เราตั้งหลักคิดเรื่องการปรองดองในมุมอื่นๆ ที่ไม่ใช่มิติทางกฎหมายและคำสั่งของผู้มีอำนาจ


ที่มา: Matichon Online
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น