โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ก้าวคนละก้าว: ก้าวที่หลงทาง (3)

Posted: 12 Dec 2017 12:07 PM PST



นอกจากการขาดแคลนงบประมาณด้านสาธารณสุข ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง

3. การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ: หลายคนเชื่อว่า ไทยมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ แต่ความเชื่อนี้เป็นจริงหรือไม่ ?

- ไทยมีแพทย์กว่า 52,000 คน หากเทียบกับจำนวนประชากร 65.9 ล้านคน จะมีอัตราส่วนแพทย์ 0.79 คนต่อประชากร 1,000 คน

- ไทยมีพยาบาลวิชาชีพมีกว่า 191,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนพยาบาล วิชาชีพ 2.90 คนต่อประชากร 1,000 คน

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอัตราส่วนบุคคลากรทางการแพทย์ (แพทย์+พยาบาล) ต่อประชากรที่ 2.28 คนต่อประชากร 1,000 คน

ไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ 3.07 คนต่อประชากร 1,000 คน ดังนั้นไทยจึงไม่อยู่ในสภาวะแพทย์-พยาบาลขาดแคลน แต่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ไหน ?

ปัจจุบันไทยมีทหารกว่า 420,000 คน ตำรวจกว่า 220,000 คน และเจ้าหน้าที่รัฐ (19 กระทรวง 1 สำนักนายกรัฐมนตรี) กว่า 420,000 คน (ไม่รวมลูกจ้างชั่วคราว) รวมจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนทหารกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทหารมีจำนวนเท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐ

ในจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐ กระทรวงสาธารณสุขมีเจ้าหน้าที่รัฐมากที่สุดคือ กว่า 210,000 คน หรือครึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด

- แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐมีกว่า 13,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 0.20 คนต่อประชากร 1,000 คน

- พยาบาลในโรงพยาบาลรัฐมีจำนวนกว่า 98,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนพยาบาล 1.49 คนต่อประชากร 1,000 คน

ด้วยอัตรานี้จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลรัฐมีบุคลากรทางการแพทย์เพียง 1.69 คนต่อประชากร 1,000 คน ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐขาดแคลนอย่างรุนแรงเกิดจากหลายปัจจัย เช่น งานหนัก รายได้น้อย และการฟ้องร้องจากคนไข้ โรงพยาบาลเอกชนใช้โปรโมชั่นเพื่อดึงดูดแพทย์

- โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมีการประกันรายได้ให้กับแพทย์ที่มีประสบการณ์ถึง 200,000 บาทต่อเดือน ขณะที่แพทย์ที่มีประสบการณ์ในโรงพยาบาลรัฐมีรายได้เฉลี่ย 70,000 บาทต่อเดือน

- โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งยังรับผิดชอบในกรณีเกิดความผิดพลาดจากการรักษา ขณะที่แพทย์ที่มีประสบการณ์ในโรงพยาบาลรัฐไม่มี

ด้วยเหตุนี้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐจึงมีแนวโน้มลาออกเพื่อไปทำงานในภาคเอกชนปีละ 600-700 คน ซ้ำเติมภาวะขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น

ขณะที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2568 ปัญหาการขาดแคลนแพทย์-พยาบาลในโรงพยาบาลรัฐจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

แต่ละปีไทยมีการผลิตแพทย์ 2,500-3,000 คนต่อปี แต่แนวทางนี้ไม่ช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมีเพียงพอ

การสร้างรายได้ที่จูงใจ การก่อตั้งกองทุนเพื่อรับผิดชอบจากความผิดพลาดจากการรักษา สิ่งเหล่านี้จะช่วยฉุดรั้งแพทย์ที่มีประสบการณ์ไม่ให้ไหลไปทำงานภาคเอกชนที่ดีกว่า

หากรัฐปรับลดทหารเกณฑ์ที่มีจำนวนมากเกินความจำเป็น รัฐจะประหยัดงบประมาณมากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี เงินจำนวนนี้สามารถอุดหนุนให้กับสวัสดิการเหล่านี้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ทนายวิญญัติ’ เตือนอธิบดีอัยการ เร่งสั่งฟ้องคดีกบฏ ‘สุเทพ-กปปส.’ ขีดเส้น 16 ธ.ค.นี้

Posted: 12 Dec 2017 10:46 AM PST

เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ เตือนอธิบดีอัยการ ส่งตัวผู้ต้องหาคดี สุเทพและ กปปส. ร่วมกันเป็นกบฏ เพื่อฟ้องคดี ขีดเส้น 16 ธ.ค.นี้ ย้ำหากไม่มีคืบจะกล่าวโทษหรือฟ้องศาลต่อไป ด้านอัยการแจงกำลังพิจารณาปัดประวิงสั่งฟ้อง

แฟ้มภาพ

12 ธ.ค.2560 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ ที่ห้องพิพิธภัณฑ์อัยการ ชั้น 11 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ถ.รัชดาภิเษก วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ยื่นหนังสือต่อ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ เพื่อแจ้งเตือนให้ส่งตัวผู้ต้องหาในสำนวนคดีพิเศษที่ 261/2556 หรือคดีร่วมกันเป็นกบฏในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เพื่อฟ้องคดีและระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ โดยมี ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอสส. เป็นตัวแทนรับเรื่อง

วิญญัติ กล่าวว่า ตามที่ตนยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ขอให้อัยการเร่งพิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นของคณะทำงานอัยการพิจารณาสำนวนตามที่อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 51 คน และทราบว่าได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาคดีดังกล่าวในวันเดียวกัน ทั้งที่อสส.ในฐานะผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งและบันทึกสั่งการเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2560แล้ว แต่กลับไม่เร่งดำเนินการ ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาถึง 30 วัน เพิ่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งระยะเวลาขอให้เร่งพิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาจะครบกำหนดในวันที่ 16 ธ.ค.นี้

เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ กล่าวด้วยว่า ทราบจากข่าวว่าคณะทำงานมีมติเห็นควรนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องในข้อหากบฏ ก่อการร้าย และข้อหาอื่นๆ แต่ปรากฏว่าอธิบดีอัยการคดีพิเศษได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยตนเห็นว่าตามระเบียบสำนักงานอสส.ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 6 (หลักการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ) วรรคสี่ ระบุว่า ผู้บังคับบัญชาอาจเรียกสำนวนคดีที่อยู่ในเขตอำนาจมาตรวจสอบพิจารณาและดำเนินคดีเอง หรือจะมอบให้พนักงานอัยการคนใดดำเนินคดีแทนก็ได้ และในกรณีที่เห็นควรกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิมให้เสนอตามลำดับชั้นจนถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง เว้นแต่ความเห็นหรือคำสั่งเดิมนั้นเป็นของอธิบดี ให้เสนออสส.หรือรองอสส.ผู้ได้รับมอบหมายเพื่อพิจารณาสั่ง

นวิญญัติ กล่าวว่า คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงคือ นันทศักดิ์ พูลสุข อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ และคณะทำงาน มีความเห็นและคำสั่งเดิมสั่งคดีไว้แล้วว่า สรุปสำนวนสมควรสั่งฟ้องแกนนำ กปปส. รวม 51 คน ตามคำแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2557 อีกทั้งบันทึกความเห็นและคำสั่งของ เข็มชัย ชุติวงศ์ อสส. เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ยกเลิกคณะทำงานอัยการตามคำสั่งอดีตอสส.และส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้คืนสำนักงานคดีพิเศษเพื่อปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่

วิญญัติ กล่าวว่า ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว อธิบดีอัยการคดีพิเศษย่อมไม่มีอำนาจดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อระเบียบได้ เพราะการจะกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิมของ นันทศักดิ์ ที่มีคำสั่งไว้แล้วจะต้องเป็นอำนาจของอสส.เท่านั้น การจะกลับความเห็นหรือคำสั่งเดิมในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏจะกระทำมิได้ ประกอบกับมีการฟ้องคดีกับผู้ต้องหา 4 ราย เป็นจำเลยที่ศาลอาญาแล้ว ทั้งเวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปี 6 เดือนแต่ยังไม่นำตัวผู้ต้องหาที่เหลือทั้งหมดฟ้องต่อศาล มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์การทำหน้าที่แน่นอน

เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ร่วมกล่าวหากลุ่มแกนนำ กปปส. ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือตลอดเวลาเพื่อทวงถามเร่งไปยังอัยการผู้ทำหน้าที่ ทราบข่าวว่านายเข็มชัย มีคำสั่งยกเลิกคณะทำงาน ตนเห็นว่าเป็นพฤติการณ์ที่เป็นการประวิงคดีหรือไม่ เราจำเป็นต้องตรวจสอบและแจ้งเตือนอธิบดีในฐานะผู้รับสำนวนคืนกลับมาให้รีบนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 51 ราย ส่งฟ้องต่อศาลโดยเร็ว เป็นการทำหน้าที่ตามปกติอยู่แล้ว ซึ่งในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ จะครบกำหนดตามหนังสือที่ตนยื่นไว้เดิม หากไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตนจะใช้ช่องทางตามกฎหมายกล่าวโทษหรือฟ้องศาลต่อไป

"การใช้อำนาจเพื่อผดุงความเป็นธรรมส่งฟ้องผู้ต้องหาตามมติของคณะทำงานเดิม มันง่ายยิ่งกว่าการคิดหาวิธีเลี่ยงหรือประวิงด้วยความที่ประวิงคดี มาวันนี้ด้วยความปรารถนาดีต่อองค์กรอัยการ ซึ่งควรเป็นทนายของทนายแผ่นดินหรือจะเป็นทนายให้กับพรรคพวกใด อันนี้กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" วิญญัติ กล่าว

อัยการ ปัดประวิงสั่งฟ้อง

สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. รายงานว่า หลังรับหนังสือ จาก วิญญัติ แล้ว ประยุทธ รองโฆษกสำนักงานอสส.กล่าวว่า คดีร่วมกันเป็นกบฏในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงาน ตามที่มีหนังสือร้องเรียนมา และยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การประวิงคดีแต่อย่างใด เพราะคดีนี้มีการฟ้องคดีในส่วนของผู้ต้องหาบางรายไปแล้ว แต่ทั้งนี้เนื่องจากผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรมและคดีนี้ผู้ต้องหามีจำนวนมาก ส่วนรายละเอียดในเนื้อหาที่คณะทำงานพิจารณานั้น คงไม่สามารถที่จะเข้าไปก้าวล่วงได้ สำหรับวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เป็นวันตรงกำหนดนัดที่ผู้ต้องหาต้องมารายงานตัว ส่วนหนังสือร้องเรียนนี้จะรับไว้เพื่อส่งให้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษและคดีทำงานเพื่อจะได้รวมประกอบการพิจารณาสั่งคดีต่อไป

ขณะที่ วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิมายื่นคำร้องได้ในฐานะประชาชน เราก็จะพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ในฐานะผู้ทำงานตรงนี้ไม่คิดว่าเป็นการกดดันเเต่อย่างใด สำหรับในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เป็นการนัดผู้ต้องหามาเพื่อรายงานตัวหรือฟังคำสั่งตามปกติทั่วไป ส่วนจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาในวันดังกล่าวหรือไม่ ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับรายงานจากคณะทำงาน ซึ่งในระยะเวลาจากนี้คณะทำงานก็อาจจะมีการรายงานมาก็ได้ ตนก็คงจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา ส่วนเรื่องที่ตนมีอำนาจในการสั่งคดีหรือไม่นั้น จะต้องดูความเห็นของคณะทำงานว่าจะเสนออย่างไร และดูเหตุผลประกอบว่าอยู่ในอำนาจของใคร เนื่องจากทางอัยการก็มีกรอบในการทำงาน โดยการทำงานในแต่ละคดีทุกเรื่องเราต้องเร่งรัด เพราะมีระเบียบอยู่ อัยการต้องทำงานให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ในบางคดีมีผู้ต้องหาและการยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาจำนวนมาก เราก็ต้องรับฟัง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีมเภสัชกร สปสช. รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็น

Posted: 12 Dec 2017 10:28 AM PST

'ทีมเภสัชกร สปสช.' รับมอบรางวัล ทีมเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี 2560 ผลงาน 10 ปี พัฒนาระบบยาและเวชภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ช่วยผู้ป่วยทั่วประเทศเข้าถึงยาอย่างทั่วถึง แถมประหยัดงบประมาณกว่า 5 หมื่นล้าน หนุนขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จ

12 ธ.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่อาคารวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "ทีมเภสัชกร สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)" ได้รับมอบรางวัล "ทีมเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี 2560" จาก ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานกรรมการมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม จัดโดยมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ศูนย์พัฒนาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.) และชมรมเภสัชชนบท

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ทีมเภสัชกร สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช. ที่รับมองรางวัลในครั้งนี้ ได้แก่ ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์, ภก.ธนพัฒน์ เลาวหุตานนท์, ภญ.สมฤทัย สุพรรณกูล, ภก.ไตรเทพ ฟองทอง, ภก.กฤชชัย พัฒนจันทร์ และ ภญ.สุภานันท์ อินแผลง รวมทั้งทีมเภสัชกร สปสช.ที่ได้ร่วมปฏิบัติงานก่อนหน้านี้ ได้แก่ ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช, ภก.สรชัย จำเนียรดำรงการ, ภญ.ปนัดดา ลี่สถาพรวงศา และ ภญ.ดวงทิพย์ หงษ์สมุทร นอกจากนี้ยังรวมถึงเภสัชกรที่ได้ร่วมปฏิบัตงานตาม สปสช.สาขาพื้นที่ทั่วประเทศ  

ผศ.ภญ.สำลี กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีเป้าประสงค์เพื่อให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และยาเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ซึ่งต้องใช้ในระบบสาธารณสุข จากที่ประเทศไทยได้มีการประกาศซีแอล ในปี 2549-2551 ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็นที่มีราคาแพงได้มากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาให้กับประเทศ โดยมีวิชาชีพเภสัชกรเป็นทีมสำคัญในการร่วมขับเคลื่อน นำมาสู่การจัดตั้งกองทุนยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน และขยายเป็น "สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์" ในปัจจุบัน 

รายงานข่าวระบุว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ โดยทีมเภสัชกร สปสช. มีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบเข้าถึงยาและเวขภัณฑ์ที่จำเป็นมากขึ้น ปลอดภัย มีคุณภาพ และอย่างสมเหตุผล จากการดำเนินงานรอบคอบทั้งจัดซื้อยารวม ต่อรองราคายา จัดหาน้ำยาล้างไต ยากำพร้า ยาต้านชีพต่างๆ การพัฒนาระบบลูกโซ่ความเย็นของวัคซีนรวมทั้งพัฒนาระบบจัดส่งยาที่รวดเร็ว การพัฒนางานเภสัชกรปฐมภูมิ และสนับสนุนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ส่งผลให้ สปสช.ได้รับการชื่นชม ทั้งนานาประเทศให้ความสนใจเป็นแบบอย่างการพัฒนากลไกจัดหายาเพื่อดูแลประชาชนในประเทศ ขณะที่ WHO/SEARO ได้รายงานวิเคราะห์การบริหารจัดการยาในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยว่า มีส่วนทำให้ไทยมีบริการสุขภาพที่ยอดเยี่ยมมาก ภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความสำเร็จเหล่านี้ เกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท การมีความคิดสร้างสรรค์และร่วมทำงานเป็นทีม

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานอนุกรรมการคัดเลือกเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าเป็นการจ่ายงบประมาณแบบเหมาจ่ายรายหัว จึงมีข้อจำกัดค่าใช้จ่าย แต่ด้วยกลุ่มเภสัชกร สปสช.ที่ร่วมมือทำงานด้วยความทุ่มเท มุ่งมั่น ยึดหลักการการทำงานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาควิชาการและประชาสังคม จนมีผลงานปรากฎ อาทิ การสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการประกาศซีแอล, การบริหารระบบการจัดซื้อยารวมระดับประเทศ ได้แก่ ยาซีแอล 7 รายการ และยาบัญชี จ.2 วัคซีน ยากำพร้า ยาต้านพิษ ยาต้านไวรัสเอดส์ และน้ำยาล้างไต รวมทั้งหมดกว่า 121 รายการ, พัฒนาระบบการจัดหาและการกระจายวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยระบบลูกโซ่ความเย็นและสามารถลดอัตราการสูญเสียวัคซีน, พัฒนาระบบการเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษ และการพัฒนาระบบจัดส่งน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง เป็นต้น

จากการทำงานโดยกลุ่มเภสัชกร สปสช.ช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาแพงได้รับบริการเพิ่มขึ้น 86,882 ราย ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู จำนวน 24,051 ราย ผู้ป่วยเอดส์เข้าถึงยาเพิ่มขึ้น จำนวน 111,100 ราย และมีผู้ป่วยเข้าถึงยาบัญชี จ.2 จำนวน 62,342 คน และจากการพัฒนาระบบต่อรองราคายาที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยากว่า 50,000 ล้านบาท  

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอชื่นชมและยินดีกับทีมเภสัชกร สปสช.ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ด้วยการทำงานตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ได้พิสูจน์ถึงความสำเร็จ ทั้งจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้าถึงยานับล้านคนและมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยานับหมื่นล้านบาท ทั้งยังมีส่วนสำคัญในผลักดันให้การประกาศซีแอลช่วงที่ดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุขให้ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้จากการทำงานโดยกลุ่มเภสัชกร สปสช.ยังส่งผลให้มีการจัดระบบด้านยาและเวชภัณฑ์ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. แนะ 'ครม.-สนช.' พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามพันธกรณีด้านสิทธิฯ

Posted: 12 Dec 2017 10:19 AM PST

กรรมการสิทธิฯ เสนอ 'ครม. - สนช.' พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ให้ครบถ้วนรอบด้าน ตามกลไกรัฐธรรมนูญ - พันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน - เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. 

12 ธ.ค.2560 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า วันนี้  เวลา 13.00 น. วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. เปิดเผยภายหลังการประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณารายการผลการศึกษาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... และมีมติเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 247 (3) รวม 4 ประเด็น ดังนี้

1. รัฐสภา โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้อาจได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวและนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และผู้มีส่วนได้เสียในระดับพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิชาการและภาคประชาชนได้เสนอความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลในรายมาตรา อย่างกว้างขวางและทั่วถึง เพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน

2. รัฐสภา โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ควรพิจารณาให้มีการแก้ไข มาตรา 36 แห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากเป็นการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ควรดำเนินการเท่าที่จำเป็น และจะต้องดำเนินการด้วยวิธีการเพิกถอนที่ดินบริเวณนั้นออกจากการเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย รวมทั้งจะต้องชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม

3. รัฐสภา โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ควรพิจารณาให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37 และมาตรา 43 แห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุมัติ อนุญาตหรือการอื่น จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น และ

4. คณะรัฐมนตรีควรกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพ รวมและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดทำผังเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ให้พิจารณาดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและสอดคล้องกับหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติหลังปี พ.ศ. 2558 - 2573 (Sustainable Development Goals – SDGs post – 2015 - 2030)

ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและมีหนังสือสอบถามความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวรวม 7 ครั้ง ในขณะที่ช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมาย มีเพียงช่องทางการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเพียง 4 คนเท่านั้น

"แม้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ตามวิธีการข้างต้นแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากร่างพระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับและเป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ซึ่งมีประชากรในหลากหลายอาชีพและอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีข้อสังเกตว่าการเปิดให้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายด้วยวิธีดังกล่าวอาจจะไม่กว้างขวางเพียงพอและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามมาตรา 43 " ประธาน กสม. กล่าว

วัส กล่าวในท้ายที่สุดว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. ดังกล่าวข้างต้นมิได้ทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายในวาระที่สองล่าช้าหรือสะดุดหยุดลง เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกไปอีก 60 วัน ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ระบุว่าร่างพระราชบัญญัตินี้มีเนื้อหาสาระสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบและมีผลกระทบต่อหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป กรณีจึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องต้องกัน ทั้งนี้เพื่อให้โครงการพัฒนาของรัฐตลอดจนการตรากฎหมายเป็นประโยชน์ สร้างความยั่งยืนต่อประชาชนส่วนรวม และปราศจากความขัดแย้งจากทุกภาคส่วน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ถูกขัง’ รอศาลสืบพยานนานกว่าโทษตามกฎหมาย? : กรณีไผ่ ดาวดิน

Posted: 12 Dec 2017 09:06 AM PST

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ตุลาการศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 คำสั่งปล่อยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดิน จำเลยในคดีฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน คดีหมายเลขดำที่ 61/2559 ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 เนื่องจากจำเลยได้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีของศาลเป็นระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือนตามโทษจำคุกสูงสุดที่กำหนดไว้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 แล้ว

ตุลาการศาลทหารได้มีคำสั่งยกคำร้องในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 โดยให้เหตุผลว่า "พิเคราะห์แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณาได้จนกว่าศาลจะได้เพิกถอนโดยออกหมายปล่อยหรือหมายจำคุกแทน ประกอบกับในมาตรา 22 แห่งประมวลกฎหมายอาญากำหนดว่าโทษจำคุก เว้นแต่คำพิพากษาจะกล่าวเป็นอย่างอื่น

"ดังนั้นการคุมขังในคดีนี้นับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา จึงเป็นการคุมขังระหว่างพิจารณาที่ทับซ้อนกับโทษจำคุกในคดีของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งหากคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาจำคุก ประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างว่าจำเลยถูกคุมขังในคดีนี้มาเกินกว่าโทษจำคุกในความผิดคดีนี้นั้น กรณีจึงเป็นการคุมขังที่ทับซ้อนกับโทษจำคุกของศาลจังหวัดขอนแก่น

"และเมื่อโจทก์ได้มีคำขอให้หักวันคุมขังในระหว่างต้องโทษจำคุกออกจากโทษในคดีนี้ ดังนั้นหากศาลมีคำพิพากษาจำคุกจำเลย ประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างเพื่อขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวโดยแจ้งว่าถูกคุมขังมาพอแก่โทษในคดีนี้แล้วจึงยังไม่อาจรับฟังได้ในเวลานี้ โดยศาลได้แจ้งให้จำเลยทราบและให้จำเลยมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลพิจารณาปล่อยตัวอีกครั้งต่อเมื่อจำเลยพ้นโทษจำคุกตามหมายจำคุกของศาลจังหวัดขอนแก่นเสียก่อนจึงจะนำประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างให้มาพิจารณาปล่อยตัวจำเลยอีกครั้ง และได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ยื่นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560"

หากแยกพิจารณาหมายขังในคดี 112 ของศาลจังหวัดขอนแก่นออกไป นายจตุภัทร์ก็ยังคงถูกคุมขังตามหมายขังในคดีของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2560 ด้วย คำถามสำคัญของเรื่องนี้ คือ การขังจำเลยระหว่างพิจารณาของศาลเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดสามารถกระทำได้หรือไม่? เป็นคำถามสำคัญที่ต้องการตอบและให้เหตุผล โดยในเรื่องนี้นักกฎหมายได้มีความเห็นต่างกันออกไปสองแนวทาง โดยความเห็นแรก เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารคดีในชั้นศาลแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งขังจำเลยไว้ไปได้ตลอดจนกว่าการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจะแล้วเสร็จ ย่อมเท่ากับว่าหากจำเลยถูกขังระหว่างพิจารณาคดีเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายแล้ว แต่ปรากฎว่าการพิจารณาคดีของศาลยังไม่แล้วเสร็จ ศาลก็ย่อมยังมีอำนาจขังจำเลยได้ต่อไป

และความเห็นที่สองซึ่งตรงกับความเห็นของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ ศาลไม่มีอำนาจที่จะขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาคดีเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายได้ เนื่องจากจะเป็นการทำให้จำเลยซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนโดยกฎหมายว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกปฏิบัติเหมือนผู้ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดแล้วและได้ยังรับการลงโทษจำคุกหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดเสียอีก อันเป็นการกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 ให้การคุ้มครองจำเลยในคดีอาญาไว้


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล

การจะแก้ปัญหาข้อยุ่งยากดังกล่าว ความเห็นทางกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ เราจะต้องย้อนกลับไปหาคำตอบที่บทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่จากการสำรวจบทบัญญัติที่เกี่ยวกับขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ได้แก่ มาตรา 66 ,71 ,72 ,88 ,108 และ 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพบว่า เมื่อคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ศาลสามารถจะสั่งออกหมายขังจำเลยไว้ได้ โดยหมายขังดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขระยะเวลาใดๆทั้งสิ้น แต่หมายขังจะสิ้นสุดโดยเหตุเดียวเท่านั้นคือศาลมีคำสั่งเพิกถอนหมายขังนั้น โดยการปล่อยชั่วคราวหรือออกหมายจำคุกแทน

เมื่อได้สำรวจอย่างละเอียดต่อมาก็พบว่าในเหตุปล่อยชั่วคราวต่างๆที่ระบุไว้ในมาตรา 108 กฎหมายมิได้มีการกำหนดให้เหตุที่จำเลยถูกขังเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายไว้เป็นเหตุหนึ่งที่ต้องคำนึงในการปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวของศาลแต่อย่างใด เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ระบบกฎหมายของไทยมิได้มีคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้และออกแบบกฎหมายให้รองรับกับเรื่องยุ่งยากเช่นนี้ไว้

ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว กลับพบว่า การใช้อำนาจจำกัดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 ได้คุ้มครองไว้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาจะคำนึงถึงความพอสมควรแก่เหตุเสมอ โดยสร้างข้อจำกัดการใช้อำนาจจำกัดสิทธิในร่างกายของบุคคลโดยเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกระดับโดยเงื่อนไขของระยะเวลาตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการจับกุมบุคคล พนักงานสอบสวน กระทั่งพนักงานอัยการ แต่ปรากฏว่าศาลเป็นองค์กรรัฐเพียงองค์กรเดียวในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ไม่ถูกข้อจำกัดด้านเงื่อนระยะเวลาจำกัดการใช้อำนาจจำกัดสิทธิในร่างกายของบุคคลไว้

เหตุใดถึงเป็นเช่นนี้ เราคงสามารถสันนิษฐานได้สองประการ ประการแรก เป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายประสงค์ให้ศาลมีอำนาจแบบไร้ข้อจำกัดระยะเวลาเช่นนี้ หรือประการสอง ผู้ร่างกฎหมายไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดปัญหาลักษณะดังกล่าวขึ้น เพราะการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมนั้นเป็นระบบพิจารณาแบบต่อเนื่องและในคดีที่จำเลยอยู่ในความควบคุมศาลจะเร่งทำการสืบพยาน จึงไม่ค่อยพบคดีที่ใช้ระยะเวลาพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะเกินกว่าโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด แต่ปัญหาเช่นนี้กลับพบมากขึ้นเมื่อมีการประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของพลเรือนภายหลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื่องจากศาลทหารไม่ได้ใช้ระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง ไม่มีตุลาการประจำแต่ละศาลทำให้การสืบพยานเป็นไปอย่างล่าช้า


ข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการขังระหว่างพิจารณา : กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามเมื่อเราได้สำรวจหรือศึกษากฎหมายเปรียบเทียบของต่างประเทศพบว่า ประเทศญี่ปุ่น กำหนดว่าการขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาโดยศาลมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาไว้ในมาตรา 60 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา ศาลมีอำนาจขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณานับตั้งแต่วันอัยการฟ้องคดีเพียง 2 เดือน และขยายระยะเวลาขังได้เพียง 1 เดือนออกไปได้ 1 ครั้ง ดังนั้น ระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาจึงมีเพียง 3 เดือนเท่านั้นโดยหลัก แต่อย่างไรก็ตามหากปรากฎข้อยกเว้นตามกฎหมายซึ่งจะไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้ ศาลก็มีอำนาจขยายระยะเวลาขังระหว่างพิจารณาได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่การขยายการขังดังกล่าวก็จะต้องไม่เกินระยะเวลาอันสมควร อันเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป


ทางออกสำหรับปัญหา : การขังจำเลยระหว่างพิจารณาของศาลเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด

จากที่ได้กล่าวปัญหาและตัวอย่างการแก้ปัญหามาทั้งหมดในข้างต้นแล้ว ทางแก้ไขในระยะยาวสำหรับการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในระบบกฎหมายไทย เห็นควรจะต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อกำหนดข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาโดยศาลในรูปแบบเดียวกับระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศญี่ปุ่นต่อไป

แต่ในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคดีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาที่ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 ตุลาการศาลทหาร สามารถตีความกฎหมายที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ให้เป็นประโยชน์กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เพื่อคุ้มครองสิทธิในร่างกายของบุคคลและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยคุ้มครองไว้ได้ รวมถึงสร้างมาตรฐานที่ดีในกระบวนการยุติธรรม โดยการที่ศาลอาศัยการตีความมาตรา 22 ประมวลกฎหมายอาญาในฐานะบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งเพื่อเป็นคุณกับจำเลย ที่ระบุว่า

มาตรา 22 โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้อง คำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขัง ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้น จะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

ในกรณีที่คำพิพากษากล่าวไว้เป็นอย่างอื่น โทษจำคุกตาม คำพิพากษาเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดี เรื่องนั้นเข้าด้วยแล้ว ต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่ กำหนดไว้ สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น

หรืออาศัยอำนาจตามมาตรา 72 (1) และมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพิกถอนหมายขังและสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยในคดีนี้โดยไม่มีประกันเลย เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปีขี้นไป ส่วนนายจตุภัทร์แม้จะยังต้องถูกคุมขังต่อไปเพื่อรับโทษในคดี 112 นั้นก็เป็นการควบคุมตัวในอีกคดีหนึ่ง

อย่างไรก็ตามสภาพปัญหา ข้อมูลของระบบกฎหมายเปรียบเทียบและวิธีแก้ไขตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คงเป็นแต่เพียงการตีความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ยังไม่เกิดผลในระบบกฎหมาย ส่วนการใช้และการตีความที่แท้จริงและเกิดผลในระบบกฎหมายนั้นต้องยังคงต้องผ่านการต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป

 

ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมานฉันท์แรงงาน' แถลง 4 ปี สถานการณ์เลิกจ้าง 10 ข้อจำกัดกระบวนการยุติธรรมที่ยังรอปฎิรูป

Posted: 12 Dec 2017 09:00 AM PST

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงสถานการณ์การเลิกจ้างคนงาน เผย 4 ปี ช่วยเหลือคดีความทางกฎหมายให้ลูกจ้างทั้งสิ้น 647 คน รวม 70 กรณี  เปิด 10 ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ยังรอการปฎิรูป

12 ธ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ มักกะสัน กรุงเทพมหานคร ฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้จัดแถลงข่าว "สถานการณ์การเลิกจ้างคนงานกับข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ยังรอการปฎิรูป" โดย คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ของ คสรท. ตั้งมา 4 ปีนั้น พบว่าระหว่างปี 2558-2560 ฝ่ายกฎหมาย คสรท. ได้มีการช่วยเหลือดำเนินคดีความทางกฎหมายให้ลูกจ้างทั้งสิ้น 647 คน รวม 70 กรณี ทั้งที่เป็นสมาชิก คสรท.และไม่ได้เป็นสมาชิก ในคดีแรงงาน คดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง ซึ่งใน ปี 2556-57 มีทนายเพียงคนเดียวในการดำเนินการจึงไม่มีการบันทึกจำนวนคดีอย่างละเอียด โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรสมาชิกใน คสรท.โดยตรงจำนวน 240,550 บาท หรือเฉลี่ยคดีละ 3,436.50 บาท จากปกติอัตราค่าจ้างทนายอย่างน้อย 15,000 บาท/คดี

แถลงยังระบุว่า โดยเจตนารมณ์สูงสุดของศาลแรงงาน คือ การยึดหลักให้นายจ้างลูกจ้างทำงานร่วมกันได้อย่างสันติสุขและเป็นธรรม การพิจารณาคดีแรงงานจึงใช้ระบบไต่สวน โดยศาลจะเป็นผู้สืบเสาะหาข้อเท็จจริงเอง รวมทั้งสามารถเรียกบุคคลหรือเอกสารต่างๆเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพิพากษาไปตามรูปคดี โดยมีผู้พิพากษา 3 คนเป็นองค์คณะ ประกอบด้วยผู้พิพากษากลาง เจ้าของสำนวน ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง เน้นใช้ระบบไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกันได้ตลอดระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

คสรท. ยังระบุด้วยว่า พบปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่ยังต้องมีการปฏิรูปต่อไป รวม 10 ประการ ประกอบด้วย 1. เป็นเรื่องยุ่งยาก หลายขั้นตอน ค่าใช้จ่ายสูง 2. ผู้พิพากษามาจากกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่มีความเชียวชาญเรื่องแรงงาน 3. ผู้พิพากษา 3 คน เป็นองค์คณะ มีสถานะไม่เท่าเทียมกัน 4. แนวโน้ของการไกล่เกลี่ยขัดแย้งกับสิทธิแรงงาน  5. มักให้ยอมความ มีคำตอบชัดเจนในชั้นไกล่เกลี่ย นายจ้างเสนอเงินชดเชยเลี่ยงการรับกลับเข้าทำงาน 6. คำพิพากษาศาลฎีกามีแนวโน้มที่จะนำบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้กับคดีแรงงานอย่างเคร่งครัด  7. คดีแรงงานมีความล่าช้ามาก  8. การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา 9. มีการอ้างหรือใช้ประเด็นทางอาญาเพื่อต่อรองกับผู้นำแรงงาน และ 10. ผู้พิพากษาจะพิพากษาคำร้องหรือคำฟ้องที่ลูกจ้างเป็นผู้ฟ้องมาเท่านั้น

รายละเอียดของแถลง : 

สถานการณ์การเลิกจ้างคนงานกับข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ยังรอการปฎิรูป แถลงโดยฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

นับเป็นเวลา 4 ปีกว่าที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายกฎหมายขึ้นมาอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 พบว่าระหว่างปี 2558-2560 ฝ่ายกฎหมาย คสรท. ได้มีการช่วยเหลือดำเนินคดีความทางกฎหมายให้ลูกจ้างทั้งสิ้น 647 คน รวม 70 กรณี ทั้งที่เป็นสมาชิก คสรท.และไม่ได้เป็นสมาชิก ในคดีแรงงาน คดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง (ปี 2556-57 มีทนายเพียงคนเดียวในการดำเนินการจึงไม่มีการบันทึกจำนวนคดีอย่างละเอียด)

โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรสมาชิกใน คสรท.โดยตรงจำนวน 240,550 บาท หรือเฉลี่ยคดีละ 3,436.50 บาท จากปกติอัตราค่าจ้างทนายอย่างน้อย 15,000 บาท/คดี

จำแนกเป็น

§ ปี 2558 จำนวนลูกจ้างที่มาขอรับความช่วยเหลือ 10 กรณี รวมสำนวนคดี 285 สำนวน

1.    เลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย 5 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7  คน

2.    เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 3 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 276 คน

3.    ถูกลงโทษทางวินัยไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

4.    ฟ้องดำเนินคดีอาญาลูกจ้างกรณีลักน้ำมัน 1  กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

§ ปี 2559 จำนวนลูกจ้างที่มาขอรับความช่วยเหลือ 10 กรณี รวมสำนวนคดี 125 สำนวน

1.    นายจ้างเลือกปฎิบัติต่อลูกจ้าง กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 เรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 96 คน

2.    เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 19 คน

3.    เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน

4.  ฟ้องเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

5.  การนิคมอุตสาหกรรมฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกรณีสหภาพแรงงานชุมนุมหน้าโรงงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน

6.    ลูกจ้างถูกฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาททำให้เกิดเพลิงไหม้ เรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาทเศษ 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

7.    ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ กรณีสำนักงานประกันสังคมวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพไม่ถูกต้อง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

8.    บริษัทยื่นคำร้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

9.    ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองกลาง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบกรณีแรกเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 10,781,241 คน กรณีที่สองเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,369,083 คน

§ ปี 2560 จำนวนลูกจ้างที่มาขอรับความช่วยเหลือ 50 กรณี รวมสำนวนคดี 239 สำนวน

1.    เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าอื่นๆ 34 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 42 คน

2.    ขออำนาจศาลเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน

3.    ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนสืบพยานใหม่ ในรายละเอียดเวลาทำงานและวันหยุด ของลูกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 70 คน

4.    ฟ้องบริษัทเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กรณีการจ่ายเงินโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ  63 คน

5.    นายจ้างฝ่าฝืนสัญญาจ้างงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โยกย้ายงานไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 39 คน

6.    ขออำนาจศาลเลิกจ้าง เหตุหมิ่นประมาทนายจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน

7.    ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างมาทำงานสาย 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน

8.    บริษัทไม่จ่ายเงินค่าจ้างย้อนหลังให้กับลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้บริษัทรับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเดิม จำนวน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 4 คน

9.    ลูกจ้างขอเป็นจำเลยร่วม ในกรณีที่บริษัทขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีสั่งให้รับสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 2 คน กลับเข้าทำงาน  1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน

10.ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

11.นายจ้างไม่คืนเงินประกันและจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่น 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

12.บริษัทแจ้งความหมิ่นประมาทและเลิกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

13.บริษัทฎีกาคดีอาญาข้อหาลูกจ้างลักน้ำมัน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

14.เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน  1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

15.ฟ้องบริษัทเรื่องคำนวณวันลาผิดพลาดและส่งผลต่อการจ่ายโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

16.ฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ เรียกเงินตามมาตรา 39 คืน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

มีรายละเอียดเรียงตามลำดับจำนวนข้อหา 24 ข้อหา ดังนี้

1.    เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าอื่นๆ 40 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 51 คน

2.    เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 4 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 295 คน

3.    ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน 3 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 3 คน

4.    บริษัทแจ้งความหมิ่นประมาทและเลิกจ้าง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน

5.    นายจ้างเลือกปฎิบัติต่อลูกจ้าง กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 เรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 96 คน

6.    ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนสืบพยานใหม่ ในรายละเอียดเวลาทำงานและวันหยุด ของลูกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 70 คน

7.    ฟ้องบริษัทกรณีฝ่าฝืนสัญญาจ้างงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 39 คน

8.    ฟ้องบริษัทเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กรณีการจ่ายเงินโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ  63 คน

9.    ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างมาทำงานสาย 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน

10.ขออำนาจศาลเลิกจ้าง เหตุหมิ่นประมาทนายจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน

11.บริษัทไม่จ่ายเงินค่าจ้างย้อนหลังให้กับลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้บริษัทรับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเดิม จำนวน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 4 คน

12.การนิคมอุตสาหกรรมฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกรณีสหภาพแรงงานชุมนุมหน้าโรงงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน

13.ลูกจ้างขอเป็นจำเลยร่วม ในกรณีที่บริษัทขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีสั่งให้รับสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 2 คน กลับเข้าทำงาน  1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน

14.ถูกลงโทษทางวินัยไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

15.บริษัทฟ้องคดีศาลอาญาข้อหาลักน้ำมัน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

16.บริษัทยื่นคำร้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

17.บริษัทและอัยการฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาททำให้เกิดเพลิงไหม้ เรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาทเศษ 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

18.เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน  1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

19.ฟ้องบริษัทเรื่องคำนวณวันลาผิดพลาดและส่งผลต่อการจ่ายโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

20.ฟ้องบริษัทเรื่องไม่คืนเงินประกันและจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่น 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

21.ฟ้องเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

22.ฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ เรียกเงินตามมาตรา 39 คืน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

23.ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ กรณีสำนักงานประกันสังคมวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพไม่ถูกต้อง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

24.ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองกลาง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบกรณีแรกเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 10,781,241 คน กรณีที่สองเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,369,083 คน

แม้ว่าโดยเจตนารมณ์สูงสุดของศาลแรงงาน คือ การยึดหลักให้นายจ้างลูกจ้างทำงานร่วมกันได้อย่างสันติสุขและเป็นธรรม การพิจารณาคดีแรงงานจึงใช้ระบบไต่สวน โดยศาลจะเป็นผู้สืบเสาะหาข้อเท็จจริงเอง รวมทั้งสามารถเรียกบุคคลหรือเอกสารต่างๆเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพิพากษาไปตามรูปคดี โดยมีผู้พิพากษา 3 คนเป็นองค์คณะ ประกอบด้วยผู้พิพากษากลาง (เจ้าของสำนวน) ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง เน้นใช้ระบบไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกันได้ตลอดระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

อย่างไรก็ตามกลับพบปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่ยังต้องมีการปฏิรูปต่อไป รวม 10 ประการ ได้แก่

(1)        การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องยุ่งยาก มีหลายขั้นตอนในทางคดี ซึ่งแต่ละขั้นตอนทางศาลแรงงานล้วนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง และนายจ้างมักใช้ข้อเสียเปรียบนี้มาต่อรองกับลูกจ้าง

(2)        ผู้พิพากษามาจากกระบวนการยุติธรรมปกติ จึงไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแรงงาน และนำเอาทัศนคติหรือวิธีการปฏิบัติแบบเดิมที่เชื่อว่าลูกจ้างและนายจ้างมีสถานะเท่ากันในการพิจารณาทางคดี ศาลมีหน้าที่รับฟังผ่านข้อมูลต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะหาข้อมูลได้มากกว่ากัน ซึ่งในความเป็นจริงก็พบชัดเจนว่านายจ้างกับลูกจ้างไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาได้เท่าเทียมกันโดยพื้นฐานอยู่แล้ว มีลูกจ้างจำนวนมากไม่สามารถจ้างทนายความได้ หรือว่าไม่อาจนำสืบพยานหลักฐานที่สมบูรณ์ให้สามารถได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนต่อสู้คดีได้เต็มที่

        ทั้งที่เจตนารมณ์ของการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มีที่มาจากการที่คดีแรงงานเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และอื่นๆ ดังนั้นทำอย่างไรที่จะให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นผู้พิพากษาต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญความเข้าใจในเรื่องแรงงาน กฎหมายและวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นสำคัญ

(3)        ผู้พิพากษา 3 คนที่เป็นองค์คณะ มีสถานะไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างนั้นพบว่า บางคนยังไม่สามารถเป็นตัวแทนลูกจ้างที่สามารถรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้างได้จริง และยังขาดความรู้ทางกฎหมายด้านแรงงานที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง

(4)        แนวโน้มของการไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้น บางครั้งขัดแย้งกับสิทธิแรงงาน ไม่คำนึงเรื่องข้อเท็จจริง เช่น ค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่ลูกจ้างได้รับจากการถูกเลิกจ้าง เพราะผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในศาลแรงงาน จำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความเข้าใจต่อปัญหาแรงงาน  ไม่มีความเป็นมืออาชีพ การไกล่เกลี่ยจึงเป็นไปในลักษณะให้คดีจบโดยไว และเป็นไปในลักษณะคดีแพ่งหรือเรื่องระหว่างบุคคลเท่านั้น ขาดการมองในเชิงความมั่นคงและศักดิ์ศรีของมนุษย์

(5)        ศาลมักจะให้มีการประนีประนอมยอมความซึ่งไม่เป็นผลดีต่อลูกจ้าง เพื่อลดจำนวนคดีที่จะต้องพิจารณา มีคำตอบชัดเจนตั้งแต่ในชั้นไกล่เกลี่ยว่าควรจะดำเนินไปในทิศทางใดเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล ทำให้ในบางกรณีเมื่อลูกจ้างไม่แม่นข้อกฎหมาย จึงเลือกที่จะยอมความให้คดีจบไป ขณะเดียวกันมีจำนวนไม่น้อยที่ศาลได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างอย่างผิดกฎหมายกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างก็มักจะเสนอเงินชดเชยจำนวนมากเพื่อเลี่ยงการรับกลับเข้าทำงานแทน (ส่วนใหญ่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานที่มีบทบาท) และศาลก็มักจะดำเนินตามขนบดังกล่าวนี้ มากกว่าเน้นเรื่องการปรับทัศนคติให้อยู่ร่วมกันได้ดี กลับมองในเรื่องการอยู่ด้วยกันไม่ได้และลูกจ้างได้ค่าชดเชยและค่าเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเพียงพอแล้ว

(6)    คำพิพากษาศาลฎีกามีแนวโน้มที่จะนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้กับคดีแรงงานอย่างเคร่งครัด แทนที่จะนำมาใช้โดยอนุโลม ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานไม่แตกต่างจากการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเท่าใดนัก นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการระงับข้อพิพาทแรงงานก่อนคดีสู่ศาลยังมีน้อย ทำให้ศาลแรงงานต้องพิจารณาพิพากษาคดีมากเกินไป และส่งผลโดยตรงต่อความรวดเร็วแห่งคดี

(7)        คดีแรงงานมีความล่าช้ามาก ในศาลแรงงานภาคบางแห่งเลื่อนคดีแต่ละครั้ง ราว 3 เดือน หรือในช่วงที่โยกกย้ายผู้พิพากษา กว่าจะมีผู้พิพากษาใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ ก็ใช้ระยะเวลาหลายเดือน ผู้พิพากษาที่เหลืออยู่น้อยจึงต้องทำงานหนักมากหรือไม่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คดีล่าช้า

(8)    คดีแรงงานที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ฎีกา กำหนดว่าการฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทําได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา​​ ยิ่งทำให้เป็นข้อจำกัดของลูกจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มากยิ่งขึ้น แม้มีศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปริมาณคดีแรงงานที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมากในศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงและยังเป็นการเพิ่มศาลอุทธรณ์อีกชั้นหนึ่ง ต่างจากหลักการและเจตนารมณ์เดิมของการจัดตั้งศาลแรงงาน

(9)    มีการอ้างหรือใช้ประเด็นทางอาญาเพื่อต่อรองในเรื่องทางแรงงานกับผู้นำแรงงาน ทำให้เป็นภาระแก่ลูกจ้างอย่างมากในการต่อสู้คดี และไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องการประกันตัว เช่น นายจ้างเสนอว่าถ้าไม่ลาออกจะดำเนินคดีอาญา หรือถ้ายอมลาออกจะถอนแจ้งความหรือถอนฟ้องคดีอาญา

(10)     ในความเป็นจริงศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอได้ อีกทั้งผู้พิพากษาก็สามารถสั่งให้มีผลผูกพันกับคู่ความได้ ทั้งนี้มีคำพิพากษาฎีกา 9139/2553 วางบรรทัดฐานไว้ว่า "ศาลแรงงานมีคำสั่งหรือพิพากษาเกินคำขอได้ หากเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ" ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้" แต่ในทางปฏิบัติผู้พิพากษาจะพิพากษาตามคำร้องหรือคำฟ้องที่ลูกจ้างเป็นผู้ฟ้องมา ซึ่งในหลายกรณีพบว่ามีลูกจ้างจำนวนมากที่ไม่รู้ประเด็นทางกฎหมายว่ามีสิทธิฟ้องร้องว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง จึงทำให้สิทธิที่ควรจะรับตกหล่นไป

ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดพื้นที่หนึ่งของผู้ไร้อำนาจให้สามารถเข้าถึงสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานเพื่อปลดล็อคปัญหาที่กล่าวมาทั้ง 10 ประการ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้ว การทำหน้าที่ของศาลไม่ใช่แค่การพิพากษาตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ตัวคำพิพากษาของศาลเองก็เป็นกฎหมายในตัวมันเอง ที่วางบรรทัดฐานแนวปฏิบัติให้ปฏิบัติต่อไปในอนาคตเช่นเดียวกัน ดังคำกล่าวที่ว่า  "Judges make law" 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทเรียนและทางออก ก.ม. คุมธุรกิจของต่างด้าว

Posted: 12 Dec 2017 08:55 AM PST

 

ไทยแลนด์ 4.0 เป็นโมเดลในการผลักดันประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตามแนวคิดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยการกำหนด เป้าหมายและการดำเนินการในหลายด้านรวมทั้งการผลักดันนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กฎหมายหลักที่ใช้ในการกำกับดูแลการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ คือ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทุนของคนต่างด้าว ที่แปลงมาจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ปี พ.ศ. 2515 กลับไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐและสภาพการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมากว่า 45 ปี 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางวีรวัลย์ ไพบูลย์จิตต์อารี นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า   พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 เป็นกฎหมายแม่บทในการควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าวในประเทศ  กฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติที่มีความสำคัญยิ่ง 2 ประการ คือ 1.กำหนดนิยามของบริษัทต่างด้าว และ  2.กำหนดประเภทของธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการ

ในส่วนของนิยามของคนต่างด้าวนั้น กฎหมายนี้กำหนดให้พิจารณาสัญชาติ ของบริษัทจากตัวแปรเดียว คือ ดูสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว หากบริษัทใดมีบุคคลหรือบริษัทต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมด จะถือว่ามีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างชาติ

สำหรับประเภทของธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวดำเนินการนั้นจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภท 1 เป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษ เช่น การแพร่ภาพกระจายเสียงและสิ่งพิมพ์ การเลี้ยงสัตว์ การทำป่าไม้ เป็นต้น   ประเภท 2 เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศหรือมีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ การทำเหมือง เป็นต้น  และประเภท 3 เป็นธุรกิจที่คนไทย ยังไม่พร้อมแข่งขันกับกิจการของคนต่างด้าว เช่น การนำเที่ยว การขายทอดตลาด เป็นต้น หากแต่รายการที่ 21 ในบัญชี 3 ดังกล่าวได้ระบุให้ "บริการอื่นๆ" เป็นบริการที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบกิจการซึ่งหมายความว่า ธุรกิจบริการทุกประเภทเป็นธุรกิจที่สงวนหมด

ที่ผ่านมา กฎหมายนี้มักจะถูกวิจารณ์ค่อนข้างมากใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ นิยามของคนต่างด้าวที่หละหลวม การพิจารณาสัญชาติของบริษัทเพียงจากสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรง ทำให้ธุรกิจต่างชาติสามารถเข้ามามีอำนาจในการควบคุมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการบริษัทในทางปฏิบัติได้โดยการถือหุ้นทางตรงเต็มเพดานที่ 49% และถือหุ้นทางอ้อมผ่านผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทไทยอีกชั้นหนึ่งโดยไม่ผิดกฎหมาย  เรื่องที่สอง มักถูกวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจาก ห้ามคนต่างด้าวลงทุนในธุรกิจบริการ "ทุกประเภท" ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นเรื่องของบริการเกือบทั้งสิ้น

แม้กฎหมายจะอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ต้องการประกอบธุรกิจบริการสามารถขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นรายกรณีได้ แต่การศึกษาสถิติการให้อนุญาต พบว่า บริการที่ได้รับการอนุญาตส่วนมากจำกัดเฉพาะธุรกิจที่ให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่มเป็นการเฉพาะ ธุรกิจที่เป็นคู่สัญญาในโครงการของรัฐ และธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนเท่านั้น

การมีนิยามของคนต่างด้าวที่หละหลวมกอปรกับข้อห้ามในการลงทุนในสาขาบริการแบบ "ครอบจักรวาล" ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจทำให้ทุนต่างชาติจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจในฐานะนิติบุคคลไทย ทั้งอย่างถูกกฎหมายด้วยการถือหุ้นทางอ้อม และอย่างผิดกฎหมายด้วยการถือหุ้นผ่านนอมินีหรือผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทย ปัญหาที่ตามมาคือการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะบัญญัติกฎหมายไว้เข้มงวดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ในทางหนึ่ง หน่วยงานภาครัฐของไทย ต้องการสงวนอำนาจในการกลั่นกรองการลงทุนของต่างชาติผ่านการกำหนดรายการประเภทธุรกิจ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยมีมาตรการปกป้องคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ แต่ในอีกทางหนึ่ง เศรษฐกิจไทยยังต้อง พึ่งพาทุนต่างชาติ จึงมีการผ่อนปรนนิยามให้คนต่างชาติสามารถถือหุ้นทางอ้อมได้ วิธีการดังกล่าวทำให้นโยบายการลงทุนของคนต่างชาติของไทยมีลักษณะ "ปากว่า ตาขยิบ" มาโดยตลอด

นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ทางออกของปัญหา ข้างต้นนั้นควรดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นแบบ "package" โดยปรับปรุง ใน 2 ส่วนไปพร้อมกันทั้งการปรับปรุง นิยามของคนต่างด้าวให้มีความเข้มงวดมากขึ้น และการปรับปรุงสาขาธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบกิจการ

จากการศึกษาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่า ส่วนมากจะไม่มีกฎหมายแม่บท ที่จำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในการประกอบธุรกิจใดๆ แต่จะมีกฎหมายเฉพาะในรายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือ เศรษฐกิจของชาติ ที่อาจมีบทบัญญัติที่จำกัดหุ้นส่วนต่างชาติ

นอกจากกฎหมายเฉพาะดังกล่าวแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วมักมีกฎหมาย ที่ให้อำนาจรัฐในการกลั่นกรองการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาซื้อกิจการในประเทศ (mergers and acquisition) เช่น Exon-Florio Amendment ปี ค.ศ. 1975 ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐ ในการยับยั้งการเข้ามาซื้อกิจการในประเทศของบริษัทต่างชาติด้วยเหตุผลของความมั่นคง    ที่ผ่านมา ได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวในการปฏิเสธการลงทุนของจีนในการเข้ามาซื้อกิจการ เช่น ในกรณีที่บริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศจีน CNOOC ต้องการเข้ามาซื้อ Unocal ในปี ค.ศ. 2005 เป็นต้น

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มีการกำหนดสาขาธุรกิจที่จำกัดหุ้นส่วนคนต่างด้าวที่ชัดเจนไม่มีการกำหนดประเภทของธุรกิจแบบ "เหวี่ยงแห" แบบเรา รวมทั้งมีระบบในการทบทวนรายชื่อธุรกิจที่ต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

หากประเทศไทยต้องการที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจ 4.0  มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง "ปลดล็อก" ข้อจำกัดในการลงทุนของคน ต่างด้าวในภาคบริการแบบเหมาเข่งที่มีอยู่ โดยปรับบัญชี 3 ประเภทของธุรกิจ ที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการ (บัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.) โดยมี ขั้นตอนในการดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป  4 ขั้นตอน คือ

1. ปลดรายการที่ปรากฏใน บัญชี 3 (21) ที่ระบุให้ "บริการอื่นๆ"เป็นธุรกิจที่ห้ามต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการ ซึ่งจะทำให้กลายเป็น negative list ที่ระบุชื่อสาขาบริการที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน โดยกำหนด ระยะเวลาในการบังคับใช้หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายประมาณ 1 ปี

2. ในช่วงเวลา 1 ปีก่อนที่จะปลดข้อจำกัดการลงทุนในภาคบริการ ให้มีการ ประกาศให้ธุรกิจบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันจากต่างประเทศ เข้ามายื่นเหตุผลและความจำเป็นที่ยังต้องการความคุ้มครอง ต่อไปแก่คณะกรรมการการประกอบกิจการของคนต่างด้าวเพื่อให้รายชื่อธุรกิจที่อาจประสบปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันจากต่างชาติครบถ้วน

3. เพิ่มกระบวนการทบทวนความเหมาะสมของรายชื่อธุรกิจเหล่านั้น โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินผลประโยชน์และต้นทุนต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณชน

4. เมื่อกระบวนการทบทวนความเหมาะสมของสาขาธุรกิจที่ควรได้รับการคุ้มครองจบสิ้นลงแล้ว จึงจะเริ่มการปรับปรุงนิยามของบริษัทต่างด้าวให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยอาจเพิ่มตัวแปรที่ใช้ในการกำหนดสัญชาติของนิติบุคคล

ขั้นตอนดังกล่าวจะทำให้การกำกับควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าว มีความกระชับและยืดหยุ่น สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะสามารถกำหนดสาขาธุรกิจบริการที่ต้องการเปิดหรือปิดได้ตามนโยบายการดึงดูดการลงทุนต่างชาติของรัฐบาลและตามความต้องการของเศรษฐกิจไทย

ในขณะเดียวกัน สำหรับธุรกิจที่เราไม่ต้องการทุนต่างด้าว เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการพนัน ธุรกิจบันเทิงที่ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดี ฯลฯ หรือ ธุรกิจที่เรายังไม่พร้อมแข่งขัน (ซึ่งควรมีกำหนดระยะเวลาในการคุ้มครองที่ชัดเจน) เราก็จะสามารถกำกับควบคุมได้อย่างรัดกุม

เมื่อมีการปรับบัญชี 3 เรียบร้อยแล้ว จึงควรที่จะพิจารณาปรับปรุง นิยามของคนต่างด้าวให้รัดกุมมากขึ้น โดยพิจารณาสัญชาติจากตัวแปร อื่นๆ ด้วย เช่น การถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัทโฮลดิ้ง การถือหุ้นที่มีสิทธิ ออกเสียง สัญชาติของผู้มีอำนาจในการลงนามผูกพันนิติบุคคล เป็นต้น

สุดท้าย  เราควรตระหนักว่า กฎหมายการลงทุนที่ดี คือ กฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพของเศรษฐกิจจริง และ มีความชัดเจนและตรงไปตรงมา มิใช่กฎหมายที่เขียนมาเมื่อ 45 ปีก่อน ซึ่งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจต้องแอบแฝงในร่างของธุรกิจสัญชาติไทย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดาวินชี่ภาพสุดท้ายกับเจ้าชายซาอุ

Posted: 12 Dec 2017 08:26 AM PST

ทีแรกไม่ได้สนใจภาพซัลวาตอร์ มุนดิ ที่ว่ากันว่าเป็นภาพวาดสุดท้ายของลีโอนาร์โด ดาวินชี ที่เพิ่งซื้อขายกันทำลายสถิติโลกกระจุยกระจายไปเมื่อปลายเดือนก่อนในราคาหนึ่งหมื่นสี่พันหกร้อยล้านบาท (450 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) สักเท่าไร เพราะดูเป็นการโฆษณาเกินจริงของสถาบันประมูลคริสตีส์ ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้วคนในแวดวงเองก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นภาพของลีโอนาร์โดจริงๆหรือไม่ โดยภาพนี้อยู่ในท้องตลาดมานานแล้ว เชื่อกันว่าน่าจะวาดโดยลูกศิษย์หรือคนในสตูดิโอลีโอนาร์โด แต่ไม่ใช่ผลงานของเขาเอง และสภาพงานนี้ชำรุดเสียหายค่อนข้างมาก ภาพวาดที่เราเห็นกันนี้ได้รับการซ่อมแซมโดยช่างซ่อมภาพสมัยปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่

แต่ไม่กี่วันก่อนข่าวก็ออกมาว่า ผู้ซื้อไม่ใช่ใครที่ไหน มกุฏราชกุมารซาอุ โมฮัมเม็ด บิน ซาลมาน ที่เราเคยเขียนถึงไปว่ากำลังทำศึกทั้งในและนอกประเทศก่อนขึ้นครองราชย์นั่นเอง และเมื่อซื้อแล้วก็ donate ให้กับพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในกรุงอาบูดาบีทันที ทำให้เราต้องกลับมาอ่านเรื่องนี้ใหม่เพราะมันกลายเป็นประเด็นการเมืองที่น่าสนุกตื่นเต้นไปเสียแล้ว และมันเริ่มเมคเซนส์ขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าใครจะซื้อไปด้วยราคาแบบนี้เพราะไม่ใช่ราคาที่จะลงทุนเพื่อขายต่อได้

แต่เมื่อเห็นชื่อผู้ซื้อก็เข้าใจได้ทันทีว่ามันไม่ใช่เรื่องศิลปะหรือการลงทุน มันเป็นการ make a statement เป็นการประกาศศักดา และเป็นการส่งสัญญาณต่อทั้งมิตรและอริ เหมือนทุกๆอย่างที่มกุฏราชกุมารได้ทำมาในช่วงไม่กี่ปีนี้ ตั้งแต่เรื่องการล้อมจับพระญาติและนักการเมืองกลางดึก (ส่งสัญญาณให้คนที่ไม่ใช่พวกพ้องรู้ว่าไม่มีที่ยืนแน่ๆ) เรื่องการโจมตีเยเมน (ส่งสัญญาณให้อริรู้ว่ามีศักยภาพและยินดีใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้ชัยชนะโดยไม่แคร์ผู้บริสุทธิ์) ไปจนถึงเรื่องการเปิดโรงภาพยนตร์อีกครั้งและให้ผู้หญิงขับรถได้ (ส่งสัญญาณให้ชาติตะวันตกรู้ว่าจะเปิดประเทศและสนับสนุนการท่องเที่ยว)

ทีนี้ก็มาถึงประเด็นว่า ทำไมต้องส่งสัญญาณผ่านการซื้องานศิลปะ จริงๆคือต้องเข้าใจว่า แวดวงการสะสมงานศิลปะ เป็นแวดวงที่เล็กและ exclusive มากๆ โดยเฉพาะงานศิลปะที่เรียกกันว่า Old Masters และยิ่งเป็นงานสมัยเรอเนสซองส์ก็จะยิ่งมีมูลค่าสูง เพราะเป็นศิลปินที่คนรู้จักกันทั่วโลกแม้จะไม่ใช่คนสายศิลปะก็ตาม และด้วยความที่งานเหล่านี้มีจำนวนจำกัดมากๆ งานของศิลปินเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในมิวเซียมเกือบทั้งหมด งานที่อยู่ในมือของนักสะสมมีน้อยนับชิ้นได้ ดังนั้น demand จึงสูงเสียดฟ้าแต่ supply น้อยเรี่ยดิน การสะสมงานศิลปะระดับ Old Masters จึงไม่ใช่ hobby ของชนชั้นกลางหรือกระทั่งของเศรษฐีใหม่ เพราะคุณต้องมีทั้งรสนิยมและเงินที่หนามากๆ

งานศิลปะเหล่านี้จึงเป็นเหมือน golden ticket ที่จะสร้างชื่อเสียงว่าคุณไม่ใช่แค่โคตรรวย แต่โคตร sophisticated ด้วย (หากมีเงินเหลือพันหรือหมื่นล้าน เศรษฐีส่วนใหญ่คงนำไปลงทุนอย่างอื่น ไม่มาซื้องานศิลปะ) ดังนั้นมกุฏราชกุมารซาอุฯ ผู้ซึ่งไม่เคยซื้องานศิลปะมาก่อน จึงยอมลงทุนเป็นหมื่นล้านเพื่อซื้องานศิลปะชิ้นนี้ แต่เขาไม่ได้ทำเพื่อสร้างความชอบธรรมทางศิลปะเสียทีเดียว เมื่อเห็นว่าเขามอบงานให้พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตทันที ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ราชวงศ์ของการ์ตา (อริร่วมของซาอุและยูเออี) ผู้เป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยงมานาน และมีชุมชนศิลปะที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือมาก ได้รับรู้ว่า มี player ใหม่ที่เงินหนา บารมีแรง กำลังผุดขึ้นมาสู้กับอำนาจเก่าแล้ว

การที่มกุฏราชกุมารซาอุไม่เคยปิดบังความต้องการมาแทนที่การ์ตาในด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและศิลปวัฒธรรม รวมถึงความคาดเดาไม่ได้และความเกรี้ยวกราดในกลวิธีของโมฮัมเม็ด บิน ซาลมานนั้น ทำให้สงครามวัฒนธรรมที่กำลังจะมาเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางนี้น่าติดตามเป็นที่สุด

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  เกี๊ยว-นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน ศึกษาระดับปริญญาตรี  คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกวรรณคดีอังกฤษ และศึกษาปริญญาโท สาขาวิชา Nonprofit Art and Culture Management ที่ Pratt Institute นิวยอร์ค อเมริกา เธอทำงานในแกลเลอรี่และมิวเซียมที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 ปี ก่อนกลับมาก่อตั้งห้องสมุดศิลปะ The Reading Room 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Narawan Kyo Pathomvat

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 องค์กร 5 บุคคลเข้ารับ "รางวัลอรรธนารีศวร" รางวัลเพื่อความหลากหลายทางเพศ

Posted: 12 Dec 2017 04:50 AM PST

องค์กรทั้งไทย-เทศตบเท้าเข้ารับรางวัล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำไทยได้รับรางวัลมิตรภาพ กล่าว ความหลากหลายทางเพศยังมีเรื่องต้องทำอีกเยอะในระดับโลก เสรี วงษ์มณฑา ระบุ กฎหมายไทยยอมรับเพศหลากหลายแล้วแต่สังคมยังไม่รับอีกหลายเรื่อง คนมีส่วนได้ส่วนเสียต้องเรียกร้องและผลักดัน

ภาพหมู่ในสถานที่รับรางวัล

12 ธ.ค. 2560 สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยร่วมกับ Armed Forces Research Institute of Medical Science (AFRIMS) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดให้มีการมอบ "รางวัลอรรธนารีศวร" ครั้งที่ 1 เพื่อประกาศเกียรติคุณต่อบุคคลและหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการทำงานของบุคคลหลากหลายทางเพศโดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สำหรับความเป็นมาของชื่อรางวัล "อรรธนารีศวร" นั้น มีที่มาจากองค์เทพ "อรรธนารีศวร" 1 ใน 9 ปางอวตารของพระศิวะ มีรูปกายครึ่งซีกขวาเป็นชาย ครึ่งซีกซ้ายเป็นหญิง นั่นเป็นเพราะพระอรรธนารีศวรเป็นการรวมบารมีแห่งพระศิวะและพระแม่อุมาเทวีผู้เป็นพระชายา แทนความหมายของการรวมพลังของ "พลังแห่งการควบคุมของสตรีและอำนาจแห่งบุรุษ" เพื่อเป็นการปรับสมดุลในการดำเนินชีวิต แนะนำทางให้ไปพบกับความสำเร็จในทุกสิ่งที่ปรารถนาและสุขสมหวังในความรัก
 
ตามความเชื่อ "พระอรรธนารีศวร" เป็นนัยสะท้อนว่า พระศิวะและพระอุมาเทวี คือพระเจ้าองค์เดียวกัน ทรงมีอยู่ทั้งในความเป็นชายและความเป็นหญิง อยู่เหนือเพศภาวะของมนุษย์ โดยเพศภาวะนั้นเป็นเพียง สิ่งสมมติจิต ที่แท้ไม่มีเพศ เพราะมนุษย์มีทั้งด้านเข้มแข็งและอ่อนแอ รวมอยู่ในคนเดียวกัน

รางวัลที่จัดประกวดมีทั้งหมด 4 ด้าน นอกจากนั้นยังมีรางวัลแห่งความภูมิใจ และรางวัลมิตรภาพ โดยมีบุคคลและหน่วยงานที่ได้รับรางวัลพร้อมทั้งเกียรติประวัติดังต่อไปนี้

ด้านรางวัลสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนหลากหลายทางเพศ

ประเภทบุคคล: ฟริตซ์ แวน กริซแวน 

ฟริตซ์ แวน กริซแวน 

ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการป้องกันการติดเชื้อ HIV ศูนย์วิจัยเอดส์ สภากาชาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพเพื่อชุมชนของคนข้ามเพศเป็นผู้ช่วยให้คำปรึกษากับผู้นำระดับสูงของสภากาชาดไทยในการวางหลักสูตรและนโยบายเกี่ยวกับด้านการวิจัยการป้องกันและการให้บริการการรักษาการติดเชื้อ HIV ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางวิชาการในคณะระบาดวิทยาชีวสถิติ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

เขาเป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่ง ผอ. ศูนย์สุขภาพเพื่อชุมชนของคนข้ามเพศ ความสนใจหลักของเขาคือเรื่องการแพร่ระบาดของเขื้อ HIV การป้องกันการติดเชื้อ HIV รวมไปถึงความสนใจการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ในกลุ่มชายขอบที่มีความเสี่ยง เช่น กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง คนข้ามเพศ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของการร่างแนวทางการใช้ยาต้านไวรัส และการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และคนข้ามเพศ อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมวางแนวทางในการรักษา HIV สำหรับกลุ่มประชากรหลัก

ประเภทองค์กร: ศูนย์องค์รวม โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี

เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการปรึกษาเพื่อตรวจเลือดหาเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยสมัครใช้ ในประชากรกลุ่มเสี่ยงก็ให้การดูแลรักษาเฉพาะทางด้านโรคเอดส์และโรงคิดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบองค์รวม ดูแลให้ได้รับการบริการตามมาตรฐานโรคอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ

โรงพยาบาลยังมีการต่อยอดบูรณาการความร่วมมือในการดูแลกลุ่มทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงที่มารับบริการในคลินิกให้การปรึกษาคลินิกตรวจสุขภาพและคลินิกยาต้านไวรัส ร่วมให้การดูแลผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยเอดส์ แบบประคับประคองและระยะสุดท้ายต่อเนื่องจากโรงพยาบาลถึงชุมชน มีการขยายเครือข่ายแกนนำกลุ่มชายรักชายที่ติดเชื้อ HIV ในแต่ละอำเภอใน จ.อุบลราชธานี

ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของชุมชนหลากหลายทางเพศ

ประเภทบุคคล: อัญชนา สุวรรณานนท์

อัญชนา สุวรรณานนท์

ผู้ก่อตั้งกลุ่ม "อัญจารี" เมื่อปี พ.ศ.2529 เป็นกลุ่มที่ทำงานเพื่อหญิงรักหญิงในไทย อัญชนาเป็นแกนนำในการออกมาขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้าใจของคนในสังคม กิจกรรมช่วงแรกคือการทำเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกเพื่อหาแนวทางการแก้ไขความเข้าใจผิดในเรื่องหญิงรักหญิง ได้มีการจัดทำหนังสือ สิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นเวลายาวนานจนเป็นที่รู้จัก นำไปสู่การสร้างความเข้าใจของคนในสังคมเพื่อลดอคติต่างๆ อัญชนาใช้เวลากว่า 30 ปีทำงานอย่างต่อเนื่องในประเด็นหญิงรักหญิงทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนของหญิงรักหญิงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม จดหมายข่าวอัญจารีถือได้ว่าเป็นหนังสือสำหรับหญิงรักหญิงฉบับแรกของไทย จากเดิมที่จำกัดผู้รับหนังสือโดยการส่งให้เฉพาะสมาชิก ต่อมาได้กลายเป็นนิตยสารปกสีมีดารามาขึ้นปก พูดประเด็นหญิงรักหญิงและวางจำหน่ายอย่างเปิดเผย

ประเภทหน่วยงาน: องค์กรสวัสดิการสังคมบันดู (Bandhu Social Welfare Society)

ผู้แทนรับรางวัลจากบันดู

บันดูเป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนกับประชากรที่เป็นเพศชนกลุ่มน้อยในบังคลาเทศโดยเชื่อว่าคนทุกคนสามารถสร้างคุณภาพชีวิต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคมไม่ว่าจะเป็นเพศใด หลักการของบันดูสอดคล้องกับการให้ความสำคัญทางสาธารณสุขในระดับชาติและยุทธศาสตร์ระดับชาติเรื่องมาตรการตอบสนองต่อประเด็นเชื้อ HIV และโรคเอดส์

ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนหลากหลายทางเพศ

ประเภทบุคคล: แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์

นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์

นิตยารณรงค์และทำงานเกี่ยวกับสุขภาพของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหลัก เช่น การคัดกรองมะเร็งปากทวารหนักและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย การตรวจเร็วรักษาเร็วพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันการแพร่เชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง การเริ่มยาต้านไวรัสภายในวันเดียวกันกับที่ตรวจพบว่าติดเชื้อและการให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อในคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชาย (Men Health Clinic) และคลินิกคนข้ามเพศ (Tangerine Clinic) เพื่อให้บริการขึ้นที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทยและทำโครงการชักชวนให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองทำการตรวจเอดส์ด้วยตัวเองด้วยการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว ภายใต้การกำกับดูแลแบบตัวต่อตัวของเจ้าหน้าที่ชุมชนผ่านทางสื่อออนไลน์

ประเภทหน่วยงาน: Blued Application 

ทีมงาน Blued Application

Blued Application เป็นแนวความคิดของ เกง เล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.danlan.org ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตของ LGBTI ด้วยเทคโนโลยีตามยุคสมัยเพื่อสนับสนุนให้เกย์ในสังคมออนไลน์ได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์สังคมของตนเอง และยังสนับสนุนให้เกย์แต่ละประเทศมีสิทธิเท่าเทียมกับชายหญิงในสังคม ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการป้องกันและควบคุมสถานการณ์ปัญหา HIV และเอดส์ในสังคม

ทั้งนี้ยังมีรางวัล Pride Award หรือรางวัลแห่งความภาคภูมิใจเพื่อมอบให้กับบุคคลและหน่วยงานที่ภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศของตนเพื่อเป็นกำลังใจในการร่วมกันผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม

ประเภทบุคคล: ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

ผู้กำกับหนังสั้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศจากการกำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง ธัญญ์วารินได้รับรางวัลมากมายทั้งในไทยและยังได้นำผลงานออกแสดงสู่สายตาชาวโลกผ่านเทศกาลหนังต่างประเทศ โดยตัวอย่างผลงานได้แก่เรื่องแหวน เปลือก รัก/ผิด/บาป ภิกษุณี รวมถึงภาพยนตร์ใหญ่เรื่อง Insect in the Backyard (แมลงรักในสวนหลังบ้าน) ที่ถูกห้ามฉาย (แบน) ไปเป็นเวลา 7 ปี และเพิ่งได้ฉายเมื่อเดือน ธ.ค. นี้ ตลอดเวลา 7 ปีที่หนังถูกแบน ธัญญ์วารินยังพยายามสร้างภาพยนตร์เพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศขึ้นมาอีกโดยใช้ชื่อว่า "ไม่ได้ขอให้มารัก" ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในไทยและระดับสากล

ประเภทหน่วยงาน: มูลนิธิซิสเตอร์

ผู้แทนมูลนิธิซิสเตอร์เข้ารับรางวัลอรรธนารีศวร

เป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อที่จะเป็นต้นแบบของการให้บริการที่เป็นมิตรและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่บุคคลที่เป็นกะเทย สาวประเภทสองซึ่งหมายถึงในมิติสุขภาพกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณความเป็นคนข้ามเพศ โดยึดตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ควรจะเป็น

มูลนิธิซิสเตอร์ยังเป็นองค์กรผู้นำในการทำงานกับสาวประเภทสองในประเทศไทย และเป็นกระบอกเสียงในการร้องเรียนถึงสิทธิทางเพศและสิทธิของความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เท่าเทียมระหว่างเพศอันเกิดจากอัตลักษณ์และวิถีทางเพศที่เราเป็น

ในงานยังมีการมอบรางวัลมิตรภาพหรือ Friendship Award ให้กับเกล็น เดวีส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย สำหรับการอุทิศแรงกาย แรงใจในการทำงานและให้เกียรติบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

เกล็น เดวีส์

เกล็นกล่าวว่า แม้ในสหรัฐฯ จะมีความคืบหน้าในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังมีความท้าทายในระดับประเทศและระดับโลก ยังมีอคติที่ยังปรับแก้ได้ยาก ในไทยเองก็มีความคืบหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังต้องทำ สถานทูตสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือและทำงานต่อไป

กฎหมายไทยยอมรับเพศหลากหลายแล้วแต่สังคมยังไม่รับอีกหลายเรื่อง คนมีส่วนได้ส่วนเสียต้องเรียกร้องและผลักดัน

รศ.เสรี วงษ์มณฑา สมาชิกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ นักพูด พิธีกร ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาหัวข้อ "สังคมไทยกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ" โดยระบุว่า ทุกวันนี้คนข้ามเพศได้รับการยอมรับในทางกฎหมายแล้วจากการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ยังมีข้อจำกัดมากมายในเชิงสังคม ชีวิตทุกวันนี้ยังเป็นชีวิตที่ลำบาก หลายคนแปลงเพศแล้วแต่คำนำหน้ายังเป็นนาย คนไว้นม ผมยาว แต่นำหน้าด้วยคำว่านาย เราออกกฎหมายยอมรับความหลากหลายทางเพศนั้นคือลำต้น แต่เรื่องกิ่งก้านที่จะให้คำนำหน้ามีใครริเริ่มหรือยัง เรายังคงอยู่แบบนี้กันต่อไป เวลาเชิญไปขึ้นงานแต่งงานเขาก็เชิญ เช่น นายประดิษฐ์ แซ่ตั้ง และภรรยา แต่กะเทยจะทำอย่างไร

เสรีกล่าวเพิ่มเติมว่า เคยมีข้าราชการท่านหนึ่งเคยมาขอพบแล้วพูดด้วย ท่านบอกว่า อาจารย์ ผมพยายามเสนอกฎหมายเพิ่มเติมเรื่องความหลากหลายทางเพศเพราะรู้ว่าเดือดร้อนกัน เช่น จะผ่าตัดก็เซ็นไม่ได้ อยู่ด้วยกันมา เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วตาย คู่จะเซ็นเอาศพก็ไม่ได้ เซ็นให้ผ่าตัดก็ไม่ได้ ออกบัญชีร่วมกันไม่ได้ แต่คนในสภาก็ถามว่า จะเรียกร้องทำไมในเมื่อคนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ยังไม่เห็นเรียกร้องอะไรเลย คนที่เดือดร้อนจึงควรลุกขึ้นมา คนที่มีปัญหาเรื่องกู้เงินร่วมกัน การดูแลการเจ็บไข้ได้ป่วย การเซ็นผ่าตัด เอาศพออกจากโรงพยาบาลขอให้ลุกขึ้นมา ไม่เช่นนั้นคนที่ออกกฎหมายเขาอาจจะคิดว่าเรามโนกันไปเอง กฎหมายที่เป็นกิ่งก้านที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะไม่มีคนลุกขึ้นมาเดือดร้อน ที่สหรัฐฯ เขาเลิกกฎหมายไม่ถามและไม่บอกเรื่องเพศวิถี (Don't ask, don't tell) ไปแล้ว มีการขอแต่งงานกันในกองทัำพไปแล้ว แต่ไทยยังจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายกิ่งก้านออกมาจากกฎหมายหลักในหลายประการ ซึ่งเรื่องนี้ต้องสู้กันในทางสังคมอีกนาน แต่ขอให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียลุกขึ้นมาเรียกร้องเสียก่อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แม่ทัพภาค 4 เตรียมดำเนินคดีกับมือปล่อยคลิปซ้อมทหาร ยันไม่ได้เกิดในไทย

Posted: 11 Dec 2017 11:11 PM PST

กอ.รมน.ภาค 4 แจงกรณีคลิปการซ้อมทหาร เป็นคลิปเก่า ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อีกคลิป ตั้ง กก.สอบสวน โดยได้ลงทัณฑ์ผู้ทำผิดแล้ว ชี้ผู้ปล่อยคลิปเป็นความพยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อถือ พล.ท. ปิยวัฒน์ เตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายต่อ

12 ธ.ค. 2560 โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4 )รายงานว่า วันนี้ เวลา 09.30 น. พ.อ. ปราโมทย์  พรหมอินทร์  โฆษก กอ.รมน.ภาค 4  เปิดเผยว่า ตามที่มีการแชร์คลิปพร้อมข้อความ "ช่วยกันแชร์ด้วยครับ กระจายให้มากที่สุด คนไทยจะได้เห็นกับตา ค่ายฝึกของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 คนนี้มันโหดร้ายขนาดไหน" ซึ่งต่อมาพบว่ามีการแชร์คลิปดังกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ดังนั้น เพื่อให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง กองทัพภาคที่ 4 / กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจ ดังนี้

1. จากการตรวจสอบคลิปที่มีการแชร์มี 2 คลิป โดยคลิปแรก เป็นภาพการทำร้ายทหารด้วยการเฆี่ยนตีและเตะต่อย จากการตรวจสอบพบว่าเป็นคลิปเก่าที่เคยนำมาแชร์เมื่อ พฤษภาคม 2560 พิจารณาจากสถานที่, เครื่องแต่งกายและภาษา สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และคลิปที่ 2 เป็นการรวบรวมภาพการทำร้ายร่างกายทหารที่เกิดขึ้นในอดีตหลายเหตุการณ์  ในห้วงปี 2554 - 2556 ซึ่งทุกเหตุการณ์ กองทัพได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยได้ลงทัณฑ์ ผู้ที่ร่วมกระทำความผิดทางวินัยทหาร และประมวลกฎหมายอาญาทหาร ทั้งจำขัง พักราชการ และปลดออก จากราชการแล้วหลายราย และบางรายอยู่ในระหว่างดำเนินคดี จึงเห็นได้ว่าคลิปที่นำมาเผยแพร่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในช่วงที่ พล.ท.ปิยวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 4 (ตั้งแต่ ตุลาคม 2559 – ปัจจุบัน) แต่อย่างใด

2. การเผยแพร่คลิปดังกล่าว พิจารณาได้ว่าเป็นความพยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อถือและทำลายชื่อเสียงของ พล.ท. ปิยวัฒน์ ผู้ที่ได้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วยความทุ่มเท เสียสละ มีคุณธรรม จริยธรรม จนเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ซึ่งผลจากการปฏิบัติงานดังกล่าว อาจทำให้บุคคลบางคน หรือบางกลุ่มเสียประโยชน์ จึงพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลกระทบจากพฤติกรรมดังกล่าว อาจทำให้พี่น้องประชาชนเสื่อมศรัทธา และทำลายภาพลักษณ์ของกองทัพอีกด้วย ทั้งนี้ กองทัพบกและกองทัพภาคที่ 4 ไม่เคยปฏิเสธหรือเพิกเฉยต่อทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการฝึกและการลงทัณฑ์ทหาร โดยห้ามมิให้มีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานทหารกองประจำการ หรือผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเด็ดขาด หากใครฝ่าฝืนก็จะมีมาตรการลงโทษขั้นสูงสุดทั้งวินัยทหาร และถูกดำเนินคดี ตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้

3. แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรู้เห็นในการเผยแพร่คลิปดังกล่าว ขณะนี้พอจะทราบเบาะแส ในเบื้องต้นแล้ว โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการต่อไป พร้อมกับขอให้พี่น้องประชาชนใช้ดุลยพินิจในการบริโภคข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี และให้หยุดการแชร์ข้อมูล เพราะอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 4 จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทหารของพระราชาที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างกับพี่น้องประชาชน "ก้าวข้ามทุกวิกฤติไปด้วยกัน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างเด็ดขาด"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยเผย มีคนรู้จักเป็นคนข้ามเพศ ส่งผลหนุนนโยบายคนข้ามเพศมากขึ้น

Posted: 11 Dec 2017 09:27 PM PST

ในสหรัฐฯ มีการพยายามผลักดันข้อเรียกร้องและนโยบายต่างๆ เพื่อคนข้ามเพศ แต่ก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันในประเด็นเหล่านี้ นักรัฐศาสตร์สำรวจพบว่าถ้าหากใครที่มีคนรู้จักเป็นคนข้ามเพศหรือเคยเห็นตัวละครคนข้ามเพศในสื่อในเชิงบวกมาก่อนก็จะมีแนวโน้มสนับสนุนประเด็นและนโยบายต่างๆ เพื่อคนข้ามเพศมากขึ้น


ภาพจาก pixabay.com

11 ธ.ค. 2560 สื่อวิทยาศาสตร์ Phys นำเสนอผลการวิจัยของนักวิจัยด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคนซัส ดอน ไฮเดอร์-มาร์เคิล และแพทริค มิลเลอร์ ระบุว่าคนที่รู้จักกับคนข้ามเพศ (transgender) เป็นการส่วนตัวหรือเคยเห็นตัวละครคนข้ามเพศในสื่อมาก่อนมีแนวโน้มที่จะแสดงออกทางบวกในการสนับสนุนสิทธิของคนข้ามเพศมากขึ้น

ไฮเดอร์-มาร์เคิล ศาตราจารย์และหัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์เปิดเผยว่าสิ่งที่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นคือผู้ที่เรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศน่าจะใช้วิธีทำให้ผู้คนได้รู้จักกับคนข้ามเพศมากขึ้นด้วย เพื่อทำให้เกิดแรงสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป ประเด็นคล้ายๆ กันนี้ยังเคยเป็นข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับกรณีที่มีการบอกให้เกย์และเลสเบียนเปิดเผยเพศวิถีตัวเองให้เพื่อนและครอบครัวได้รับรู้

นักวิจัยทั้งสองคนเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องการเมืองของคนข้ามเพศมาหลายเรื่องและได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ตลอดช่วงปีนี้ โดยผลงานล่าสุดเผยแพร่ในวารสารพับลิคโอพีเนียนควอเตอร์ลี งานวิจัยก่อนหน้านี้พวกเขาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคนข้ามเพศได้จำกัดและมีผลที่ไม่แน่นอนเกี่ยวกับทัศนคติต่อคนข้ามเพศสำหรับคนที่เคยปฏิสัมพันธ์กับคนข้ามเพศมาก่อน

แต่งานวิจัยล่าสุดพวกเขาพบว่าคนที่รู้จักคนข้ามเพศเป็นการส่วนตัวมีแนวโน้มจะสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของคนข้ามเพศด้านต่างๆ เช่นการลดการกีดกันเลือกปฏิบัติในการจ้างงานหรือในการเช่า/ซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนในประเด็นที่คนในสหรัฐฯ มีความเห็นแตกต่างกันมากๆ คือเรื่องเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายและเรื่องบทบาททางเพศ  เช่น เรื่องห้องน้ำ หรือเรื่องการระบุเพศในเอกสารราชการ นักวิจัยก็พบคนที่เคยปฏิสัมพันธ์กับคนข้ามเพศอย่างใกล้ชิดมากกว่าก็มีทัศนคติสนับสนุนคนข้ามเพศในประเด็นเหล่านี้มากกว่า

พวกเขาสำรวจเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2558 โดยใช้วิธีการให้มาตรวัดระดับความรู้สึกสนับสนุนคนข้ามเพศและนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับคนข้ามเพศ

ถึงแม้ว่าโดยรวมๆ แล้วคนที่มีความคุ้นเคยกับคนข้ามเพศมาก่อนมักจะมีทัศนคติดีกว่าโดยรวมๆ แต่นักวิจัยก็ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีทัศนคติไปในทางบวกกับคนข้ามเพศมากที่สุดมักจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต มีแนวทางการเมืองแบบเสรีนิยม เป็นผู้หญิง และเป็นคนที่ไม่ค่อยฝักใฝ่ศาสนา

นอกจากเรื่องนี้จะสนับสนุนทำให้คนข้ามเพศกล้าเปิดตัวมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังอาจจะหมายถึงการที่ควรจะมีตัวละครคนข้ามเพศในสื่อมากขึ้นด้วย ไฮเดอร์-มาร์เคิล ยกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้เคยมีการนำเสนอภาพของคนรักเพศเดียวกันผ่านสื่อมากขึ้น ทำให้ผู้คนมีทัศนคติต่อคนรักเพศเดียวกันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมช่วงยุคคริสต์ทศวรรษ 1990-ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000

มีการยกตัวอย่างรายการโทรทัศน์ "Will & Grace" (ชื่อเรื่องไทยคือ "เจ๊วิล คุณนายเกรซ เพื่อนกันไม่มีวันจบ") ที่เป็นซิทคอมเกี่ยวกับทนายความเกย์และเพื่อนผู้หญิงคนรักต่างเพศที่เป็นนักออกแบบภายใน เรื่องนี้นำเสนอผ่านช่องเอ็นบีซีช่วงปี 2541-2549 ได้รับการชื่นชมว่าทำให้ผู้คนได้เรียนรู้เข้าใจเกย์และทำให้คนมีทัศนคติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ดีขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่งที่นักวิจัยพูดถึงคือซีรีส์ได้รับรางวัลที่ชื่อ "ทรานส์พาเรนท์" ที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามเพศ

ไฮเดอร์-มาร์เคิล บอกว่าคนที่ไม่ได้รู้จักกับคนข้ามเพศถ้าหากพวกเขาได้รับชมตัวละครคนข้ามเพศที่สื่อออกมาในภาพทางบวก ก็จะทำให้คนมีความรู้สึกทางบวกและสนับสนุนสิทธิของคนข้ามเพศได้ ผู้วิจัยบอกอีกว่างานวิจัยในเรื่องเช่นนี้ยังเป็นตัวชี้วัดกว้างๆ เกี่ยวกับสังคมว่ายังเป็นประชาธิปไตยอยู่มากน้อยแค่ไหม

 

เรียบเรียงจาก

Knowing a transgender person could influence one's political stance, study finds, Phys, 05-12-2017
https://phys.org/news/2017-12-transgender-person-political-stance.html


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Will_%26_Grace

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น