โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คดี 'แม่สิบโทกิตติกร' ฟ้องแพ่ง ทบ. เรียกค่าเสียหายลูกตายในเรือนจำค่ายทหารเสร็จแล้ว

Posted: 13 Dec 2017 12:31 PM PST

นัดสืบพยานโจทก์ คดีฟ้องเรียกค่าเสียหาย ตร.ซ้อม 'อนัน' เสียชีวิต 12 ก.พ.ปีหน้า ขณะที่คดี 'แม่สิบโทกิตติกร' ฟ้องแพ่งต่อ กองทัพบก เรียกค่าเสียหายลูกตายระหว่างถูกคุมในเรือนจำค่ายทหาร สืบพยานเสร็จแล้ว นัดอ่านคำพิพากษา ก.พ.ปีหน้า

13 ธ.ค. 2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้นัดพร้อมเพื่อฟังผลการชำระค่าขึ้นศาลของโจทก์และกำหนดวันนัดพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ พ.2307/2559 กรณีมารดาและบิดา ของ อนัน เกิดแก้ว ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากกรณี อนัน หรือบุตรชาย เสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำละเมิดต่อร่างกายและชีวิต อนัน ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่โดยทำร้ายร่างกาย อนัน  เพื่อบังคับให้รับสารภาพหรือซ้อมทรมาน จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานด้วยว่า คดีนี้ได้มีการดำเนินการในเรื่องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล และศาลได้มีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์ทั้งสองบางส่วน และศาลได้นัดพร้อมในวันที่ 12 ธ.ค. 2560 โจทก์แถลงไม่ติดใจในส่วนที่ศาลไม่ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้ ศาลจึงมีคำสั่งรับฟ้องในส่วนของคำฟ้องที่ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นส่วนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องกว่าสี่ล้านบาท โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้กำหนดวันนัดชี้สองสถาน(กำหนดประเด็นในคดี)หรือสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 12 ก.พ. 2561 เวลา 09.00 น.

สืบพยานคดีสิบโทกิตติกร เสร็จ นัดอ่านคำพิพากษา ก.พ.ปีหน้า

นอกจากนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 6 - 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย คดีคดีหมายเลขดำที่ พ.1131/2560 ซึ่ง บุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งต่อกองทัพบกให้รับผิดกรณีละเมิดเป็นเหตุให้ สิบโทกิตติกร จนเสียชีวิต จากเหตุการณ์สิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 (มทบ. 25 ) กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกรเสียชีวิตในเรือนจำทหาร จ.สุรินทร์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2559

โดยในวันที่ 6 และ 7 ธ.ค. 2560 ฝ่ายโจทก์นำพยานมาสืบต่อศาลรวม 4 ปาก ได้แก่ 1. รายงานและภาพถ่ายการชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุและขณะผ่าศพที่โรงพยาบาลสุรินทร์  พร้อมคำเบิกความในคดีไต่สวนการตาย ของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ 2.นายทหารซึ่งเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของสิบโทกิตติกร 3.เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขตพื้นที่ 3 และ 4. ตัวโจทก์ คือ บุญเรือง มารดาผู้ตาย  โดยได้ความว่า ในวันเกิดเหตุผู้ตายถูกคุมพิเศษขณะปฏิบัติหน้าที่สิบเวรดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ มทบ.25 กับพวก ร่วมกันทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกร โดยอ้างว่าเป็นการฟื้นฟูวินัย จนเป็นเหตุให้สิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดมลฑลทหารบกที่ 25  หน่วยงานภายใต้บังคับบัญชาของกองทัพบกจำเลยในคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  กรณีการทำร้ายร่างกายผู้ตายจนถึงแก่ความตายนั้น ทาง มทบ.25 ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และสอบวินัย ตลอดจนมีการลงโทษทางวินัยกับผู้บังคับเรือนจำ และผู้คุมที่กระทำความผิด  อีกทั้งได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาผู้คุมกับพวกที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตาย จนกระทั่งพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ท. แล้ว และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เขต 3 ได้เบิกความต่อศาลว่าปัจจุบัน ป.ป.ท. อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง และได้นำหลักฐานทั้งหมดที่ได้มาจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุรินทร์เสนอต่อศาล

ส่วน บุญเรือง มารดาผู้ตาย ขึ้นเบิกความต่อศาลได้ความว่า ก่อนผู้ตายเสียชีวิต ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวได้ส่งเสียเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ผู้ตายเป็นคนขยัน นอกจากรายได้จากราชการทหารแล้ว ยังใช้เวลาว่างจากงานราชการมาประกอบกิจการเปิดร้านค้าขายเสื้อผ้า และทำขนมขายส่ง ทั้งยังมีโครงการเตรียมจะปลูกข่าขายส่งอีกด้วย ภายหลังผู้ตายได้เสียชีวิตทำให้ตนได้รับความลำบาก และกิจการที่ผู้ตายได้ดำเนินการไว้ก่อนเสียชีวิตก็ต้องปิดตัวลงเนื่องด้วยนางบุญเรืองฯมีอายุมากขึ้นไม่สามารถดูแลกิจการที่ผู้ตายได้ทำไว้เพียงลำพัง ประกอบกับภายหลังเกิดเหตุมีผู้หวังดีคอยเตือนให้ระมัดระวังตัวเพราะอาจมีบุคคลมาทำร้าย ด้วยความกลัวทำให้นางบุญเรืองฯไม่ได้ออกไปค้าขายอย่างที่เคยทำ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นางบุญเรืองฯได้รับความลำบากและขายรายได้ มีความเป็นอยู่ยากลำบาก

ต่อมาวันที่ 8 ธ.ค. 2560 ฝ่ายจำเลยได้นำเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นอัยการผู้ช่วย มทบ.25 ผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพบกขึ้นเบิกความต่อศาล ได้ความว่า ตนได้รับมอบหมายให้มาดำเนินคดีแทนกองทัพบก จำเลย เรื่องการเสียชีวิตของสิบโทกิตติกรมาภายหลังจากมีการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว และตามรายงานที่ตนได้รับมา เห็นว่าการเสียชีวิตของสิบโทกิตติกรแม้จะถูกทำให้เสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นบุคลากรในสังกัดของกองทัพบก แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้กระทำให้สิบโทกิตติกรเสียชีวิตด้วยเหตุส่วนตัว ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือพระราชบัญญัติใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานด้วยว่า ในคดีนี้ได้มีการไต่สวนการตายเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2559โดยศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2559 ว่า "ผู้ตายคือ สิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ตายที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2559 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายโดยพลอาสาสมัครสี่นาย (ปกปิดชื่อ) ร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย"  อีกทั้งปรากฎในรายงานการผ่าศพของแพทย์พบว่าภายในศีรษะมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง สมองบวม บริเวณทรวงอกภายในมีกระดูกซี่โครงหัก 2ซี่  บริเวณปอดมีรอยฟกช้ำที่กลีบปอดซ้าย บริเวณท้องมีของเหลวสีน้ำตาลอยู่ภายในช่องท้องประมาณ 200มิลลิลิตร กระเพาะอาหารแตก และมีรอยฟกช้ำเล็กน้อยที่บริเวณกลีบซ้ายของตับ  โดยรายงานการชันสูตรพลิกศพสรุปว่าสาเหตุการตายเกิดจาก มีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลอาสาสมัครทั้งสี่นายได้การกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้สิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย อีกทั้งมีพลอาสาสมัครผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้คุมเรือนจำมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณเรือนจำที่ตนเป็นสิบเวรประจำวัน  มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่อหน่วยงานและบุคคลผู้ต้องขัง แต่ได้จงใจสั่งการและร่วมกันกับพลทหารผู้ช่วย ทำร้ายสิบโทกิตติกรฯ โดยทรมานและทารุณโหดร้าย และจงใจไม่แจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการบาดเจ็บของสิบโทกิตติกรฯ และไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ มีพฤติการณ์ข่มขู่ไม่ให้ผู้ต้องขังที่อยู่ภายในห้องขังเดียวกันช่วยเหลือสิบโทกิตติกรฯ และได้สั่งผู้ต้องขังในห้องขังทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกรฯ ที่นอนไม่ได้สติอยู่ที่พื้นห้องหลายครั้งจนกระทั่งสิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย

ภายหลังคู่ความสืบพยานจนแล้วเสร็จทั้งสองฝ่าย ศาลจึงได้นัดหมายเพื่ออ่านและฟังคำพิพากษา ในวั ที่ 22 ก.พ. 2561 เวลา 09.00 น. ณ ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.ค้านเขื่อนเสือเต้นฯ ประณาม 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' เหตุจ่อชงสร้างเขือน

Posted: 13 Dec 2017 11:20 AM PST

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ ออกแถลงการณ์ ประณาม สมศักดิ์ เทพสุทิน จากกรณีที่จะเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในวาระที่จะมีการประชุม ครม.สัญจรที่ 25-26 ธ.ค. นี้

13 ธ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ว่า วันนี้ ทาง คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นฯ ได้ออกแถลงการณ์ ประณาม สมศักดิ์ เทพสุทิน จากกรณีที่จะเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในวาระที่จะมีการประชุม ครม.สัญจรที่พิษณุโลก-สุโขทัย ในวันที่ 25-26 ธ.ค. 2560 นี้

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นฯ ระบุว่าได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง โดยมีแผนงานการจัดการน้ำขนาดกลาง-ขนาดเล็กทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ในนาม สะเอียบโมเดล จนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทุกหน่วยงานมาแล้ว และเริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว แต่ สมศักดิ์กลับปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีก อีกทั้งกรมชลประทานยังได้คืนงบประมาณในการศึกษา EIA. EHIA. ให้กับกระทรวงการคลังไปแล้ว ศูนย์ดำรงธรรม ก็ได้ยืนยันมาแล้วว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่างได้ยุติไปแล้ว แต่นายสมศักดิ์ ก็ดึงดันที่จะผลักดันไห้รัฐบาลใช้อำนาจเบ็ดเสร็จสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้จงได้

 

สำหรับเหตุผล 14 ประการที่ไม่สมควรสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง โดยไม่ต้องสร้าง เขื่อนดังกล่าว ที่เสนอโดย คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ มีรายละเอียดดังนี้

เหตุผล 14 ประการที่ไม่สมควรสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง

1.ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง จุน้ำได้เพียงครึ่งเดียว ยิ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย

2.ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างนั้น ยิ่งใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก จึงไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้

3.ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็กระทบต่อพื้นที่เดียวกันนี้ เพราะเป็นการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน สองเขื่อนนั่นเอง

4.การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งจังหวัดแพร่มีป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ควรทำลาย หันมาพัฒนาอุทยานแม่ยม รักษาป่าสักทอง พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการทำลาย

5.ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งไม่ต้องสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง

6.ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้เช่นกัน

7.ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็ตั้งอยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นกัน กระทบทั้งรอยเลื่อนแพร่ และรอยเลื่อนแม่ยม

8.ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นต้น

9.ผลการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุโครงการเขื่อนเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิชุมชน อย่างร้ายแรง ซึ่งต้องยกเลิกโครงการโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังมีทางเลือกหรือทางออกอื่นๆ อีกมากในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

10.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด ดังนั้นข้อกล่าวอ้างที่ว่าหากไม่สร้างเขื่อนก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงเป็นความเท็จ เพราะเขื่อนไม่ได้ออกแบบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด อีกทั้งเขื่อนทั้งหมดของประเทศไทยผลิตไฟฟ้าได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากยกเลิกการผลิตไฟจากเขื่อนทั้งหมดก็ยังมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ

11.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่า 30,000-40,000 ไร่ ซึ่งมีพรรณไม้นานาชนิดหลายล้านต้น ซึ่งไม่มีทางที่จะปลูกป่าทดแทนได้ดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ที่ผ่านมามีเพียงการปลูกต้นไม้สร้างภาพแล้วปล่อยให้ตาย ไม่มีสภาพเป็นป่าดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

12.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่ามหาศาลอันจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน เป็นการทำลายแหล่งผลิตออกซิเจน ซึ่งเป็นปัญหาของคนทั้งชาติและคนทั้งโลก

13.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายแก่งเสือเต้น ท่วมทั้งแก่ง ท่วมทั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ท่วมทั้งป่าสักทอง ทำให้หมดอัตลักษณ์ของความเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ทั้งแก่งเสือเต้นและป่าสักทอง จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำลายอุทยานแห่งชาติแม่ยมที่เป็นสมบัติของตนไทยทั้งชาติและคนทั่วโลก

14.เขื่อนเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ยุโรปและอเมริกาได้เลิกใช้แล้วและหันกลับมาฟื้นฟูแม่น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ เขื่อนจึงไม่ใช่สัญญาลักษณ์พัฒนาอีกต่อไป แต่เขื่อนคือ สัญลักษณ์ ของหายนะและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน

แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง โดยไม่ต้องสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง 

1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ อีกด้วย

2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น

3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า

4.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้ องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ

5.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด ซึ่งสามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

6.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

7.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ใช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้

8.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

9.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน

10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ

11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู

12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม

13.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ และมีบทลงโทษในการพัฒนาที่ผิดพลาด ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งส่งเสริมมาตรการลงโทษทางสังคมต่อผู้ใช้อำนาจการตัดสินใจ ผู้วางแผนงาน การบริหารประเทศ การพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ให้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจอีกเจ็ดชั่วโคตร

14.ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูก รองรับสิทธิชุมชน ให้สิทธิชุมชนในการ ปกป้อง รักษา และใช้ประโยชน์ในทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุก อดีตส.ว.พัทลุง พร้อมแกนนำ กปปส. คดีขวางเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่รอลงอาญา

Posted: 13 Dec 2017 09:33 AM PST

ศาลจังหวัดพัทลุงสั่งจำคุก 5 ปี ทวี ภูมิสิงหราช อดีต ส.ว.พัทลุง และแกนนำ กปปส.พัทลุง โดยไม่รอลงอาญา พร้อมด้วยพวกรวม 10 คน โดยได้รับโทษลดลงไป 1-5 ปี

13 ธ.ค.2560 ข่าวสดออนไลน์และเดลินิวส์ รายงานตรงกันว่า ศาลจังหวัดพัทลุงได้อ่านคำตัดสินคดีหมายเลขดำที่ 2951/59 และคดีหมายเลขแดงที่ 4005/60 ตามข้อกล่าวหาต่อกลุ่ม กปปส.พัทลุง โดยมี ทวี ภูมิสิงหราช อายุ 72 ปี อดีต สว.พัทลุง และแกนนำ กปปส.พัทลุง พร้อมพวกรวม 10 คน ในข้อกล่าวหาร่วมกันขัดขวางการรับสมัคร สส.ส.ส. พัทลุง โดยเหตุเกิดในระหว่างวันที่ 28 – 31 ธ.ค. 2556 ร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้า ส.ส. พัทลุง ที่กองร้อย ตชด.434 พัทลุง และร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.พัทลุง ณ เทศบาลตำบลท่ามิหรำ อ.เมืองพัทลุง

ศาลจังหวัดพัทลุงได้อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุกกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 10 คน โดยไม่รอลงอาญา ประกอบด้วย ทวี ภูมิวิงหาราช อายุ 72 ปี อดีต สว.พัทลุง และแกนนำ กกปส.พัทลุง จำคุก 5 ปี จรูญ พรรณราย อายุ 63 ปี จำคุก 4 ปี ประหยัด อินทร์ทองปาน อายุ 60 ปี จำคุก 4 ปี ปิติพันธ์ จุรุพันธุ์ อายุ 60 ปี จำคุก 4 ปี วิมล พงศ์จันทร์เผือก อายุ 48 ปี จำคุก 4 ปี ปราโมทย์ เพชรดวง อายุ 58 ปี จำคุก 2 ปี โฉมพิไล บุญผลึก อายุ 47 ปี จำคุก 1 ปี ดอน พุ่มมาลี อายุ 45 ปี จำคุก 2 ปี สันติชัย ชายเกตุ อายุ 55 ปี จำคุก 2 ปี และ สุพลชัย คงเขียว อายุ 65 ปี จำคุก 5 ปี ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน ศาลจังหวัดพัทลุงได้ยกฟ้องคดีร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส.พัทลุง ณ สภ.ตะโหมด และขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส.พัทลุง ของกลุ่มกปปส.พัทลุง ที่โรงเรียนตะโหมด อ.ตะโหมด ไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้า ส.ส. พัทลุง ดังกล่าว ต่อมา ทวี ภูมิสิงหราช ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.พัทลุง โดย 30 มี.ค.57 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ทวี ได้คะแนนนำ อยู่ที่ ได้ 115,940 คะแนน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมวดเจี๊ยบ' เข้าพบ 'ปอท.' รับทราบข้อหายุยงปลุกปั่น หลัง คสช.ฟ้อง โพสต์อัดประยุทธ์

Posted: 13 Dec 2017 06:08 AM PST

ร.ท.หญิง สุณิสา เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายเรียกจาก ปอท. หลังจากที่ คสช. ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีฐานกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมฯ และ ม.116 จากกรณีโพสต์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ เจ้าตัวย้ำทุกคนมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้

13 ธ.ค.2560 จากกรณีเมื่อสัปดาห์ก่อน เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต หรือ หมวดเจี๊ยบ อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งการแจ้งความดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก ร.ท.หญิง สุณิสา โพสต์ข้อความโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กรณีเปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับ ตูน บอดี้สแลม แต่ไม่ยอมพบปะกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและชาวประมง จ.ปัตตานี

ล่าสุดวันนี้ (13 ธ.ค.60) Voice TV รายงานว่า ร.ท.หญิง สุณิสา เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน ปอท. หลังจากที่ คสช. ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีฐานกระทำความผิดดังกล่าว

โดย ร.ท.หญิง สุณิสา ยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นการใส่ร้าย หรือโจมตีใครเป็นการส่วนตัว แต่เป็นการทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และคนไทยทุกคนก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ ซึ่งความจริงแล้วรัฐบาลควรจะรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อนำไปแก้ปัญหา และในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ใช่ใช้อำนาจไปดำเนินคดีกับคนเห็นต่าง เพราะการแสดงความคิดเห็น ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการปฏิรูปการเมือง
ส่วนที่มีผู้แทนทางการทูต เข้ามาร่วมสังเกตุการณ์นั้น ยืนยันว่าไม่ได้มาแทรกแซงคดี แต่เป็นการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ดังนั้นหากประเทศไทย ต้องการมีพื้นที่ในเวทีโลก จะต้องปฏิบัติกติกาสากล ปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามที่ไทยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ 
 
นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ระบุว่าการแจ้งข้อกล่าวหากับ ร.ท.หญิงสุณิสา อาจจะเป็นข้อหาที่หนักเกินจริงกว่าพฤติการณ์ โดยเฉพาะมาตรา 116 จึงฝากไปยังพนักงานสอบสวนว่า อย่าตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับการเดินทางเจ้ารับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้ มีผู้แทนทางการทูตของสหภาพยุโรป สหรัฐ สหราชอาณาจักร อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ในพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ และประชาชน เดินทางมาให้กำลังใจ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อวัยวะหาย: ความหมายเชิงสังคม และผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง

Posted: 13 Dec 2017 04:46 AM PST

 

ความคิดแรกเมื่ออ่านข่าวครอบครัวตัญกาญจน์ติดใจสาเหตุการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ (น้องเมย) ในนิวส์ฟีดของผมเมื่อคืนวันที่ 20 พ.ย. 60 ที่ผ่านมาคือ ประเด็น "อวัยวะหาย" ภายหลังการชันสูตรพลิกศพไม่ได้เป็นพิรุธของการเสียชีวิตของน้องเมยแต่อย่างใด เพราะเคยทราบกระบวนการชันสูตรของแพทย์นิติเวชมาก่อนแล้วตอนเรียนรายวิชานิติเวชว่าจะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อและอวัยวะออกไปตรวจเพิ่มเติม แต่ก็ใช่ว่าผมจะไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิตของน้องเมยเลย เพราะยังมีประเด็นการเสียชีวิตในรั้วทหารของน้องเมยที่ยังไม่กระจ่าง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการซ้อม/ทรมาน หรือการซ่อม/ธำรงวินัยจนทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาแล้ว

ทว่าเมื่อกดอ่านดูคอมเมนต์ใต้ข่าว ผมกลับประหลาดใจเมื่อพบว่าคนทั่วไปให้ความสำคัญกับประเด็น "อวัยวะหาย" มากกว่า เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ "ไม่ปกติ" บางคนสะเทือนใจที่อวัยวะหายไป บางคนคับข้องใจว่าอวัยวะหายไปได้อย่างไร บางคนไม่พอใจที่แพทย์ผ่าเอาอวัยวะออกไปโดยไม่ได้แจ้งญาติ ทั้งที่สำหรับแพทย์แล้วเห็นว่า "ปกติ" มาก โดยเฉพาะแพทย์นิติเวชที่ถึงแม้จะไม่ได้ร่วมชันสูตรพลิกศพน้องเมยด้วยยังแสดงความเห็นอย่างมั่นใจในประเด็นนี้[1]

แล้วความไม่ปกติในความปกตินี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในสังคม? มุมมองที่แตกต่างกันอาจเทียบเคียงได้กับมุมมองที่แตกต่างระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเวลาเกิดความ "ผิดปกติ" ขึ้นกับร่างกายกล่าวคือ แพทย์จะวินิจฉัยความผิดปกตินั้นว่าเป็น "โรค (disease)" ในขณะผู้ป่วยจะมีคำอธิบายที่แตกต่างออกไปเรียกว่า "ความเจ็บป่วย (illness)" ซึ่ง Arthur Kleinman นักมานุษยวิทยาการแพทย์ได้เสนอแบบจำลองคำอธิบายความเจ็บป่วย (explanatory models) ด้วยคำถาม 5-8 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งแต่ละคำถามจะให้ความสำคัญกับ "การให้ความหมาย" ของปัจเจกและสังคมต่อความผิดปกตินั้นๆ

เมื่อได้ติดตามข่าวนี้มาสักระยะหนึ่งผมคิดว่าสังคมได้ให้ความหมายต่อ "อวัยวะหาย" อยู่ 2 ความหมายด้วยกัน

ความหมายแรก อวัยวะหายคือการทำลายความเป็นมนุษย์ ถึงแม้น้องเมยจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ร่างกายที่เหลืออยู่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าน้องเมยเคยดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ที่มี "ชีวิตและจิตใจ" การให้คุณค่าต่อมนุษย์ในแง่นี้ "สมอง" จึงไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มของเนื้อเยื่อประสาทที่รวมตัวกลายเป็นอวัยวะอ่อนนิ่มที่ต้องนำไปแช่น้ำยาก่อนผ่าพิสูจน์ หากแต่เป็นตัวแทนของ "ความคิด" สติปัญญา ความเฉลียวฉลาดที่น้องเมยสามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ รวมถึงความจำและความทรงจำตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ในขณะที่ "หัวใจ" ก็ไม่ได้เป็นเพียงก้อนของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่รวมตัวกันทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นของร่างกายเท่านั้น แต่เป็นตัวแทน "ความรู้สึก" ทั้งด้านที่เข้มแข็ง เช่น ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นผู้หมวด ความอดทนต่อการธำรงวินัย และด้านที่อ่อนโยน เช่น ความรักพ่อแม่ ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนที่ลาออกจากโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อ 3 เดือนก่อนที่จะเสียชีวิต[2]

การพรากเอา 2 อวัยวะสำคัญนี้ออกจากร่างกายก็เท่ากับการทำให้ร่างกายที่เหลือไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ญาติของน้องเมยจึงรับไม่ได้ที่แพทย์ผู้ชันสูตรได้นำอวัยวะของน้องเมยออกไปโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และแจ้งให้ทราบเพียงว่าจะมีการตัดชิ้นเนื้อของน้องเมยออกไปบางส่วนเท่านั้น นำมาสู่การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อทวงถามความกระจ่างเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตจากโรงเรียนเตรียมทหารและคำชี้แจงเรื่องอวัยวะที่หายไปจากแพทย์ผู้ชันสูตรไปพร้อมกันในช่วงบ่ายของวันที่ 20 พ.ย. 60[3]

คืนวันนั้น "อวัยวะหาย" ได้กลายเป็นความเห็นใจร่วมของคนในสังคม เมื่อสื่อออนไลน์หลายสำนักได้รายงานข่าวการแถลงข่าวของครอบครัวตัญกาญจน์ และได้รับการพูดถึงและแชร์ต่อเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคำหลักในการพาดหัวข่าวว่า "อวัยวะภายในหายเกลี้ยง" และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ทิชชู่ยัดสมอง"[4] ที่นับว่าน่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง เพราะนอกจากน้องเมยจะถูกทำลายความเป็นมนุษย์ด้วยการผ่าเอาสมองออกไปแล้ว ยังโดนซ้ำเติมด้วยการเอาสิ่งที่แทบไม่มีค่ามายัดใส่ในบริเวณที่ควรจะบรรจุสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตอีกด้วย ถึงแม้ในเวลาไล่เลี่ยกันจะมีแพทย์นิติเวชบางท่านโพสต์ชี้แจงกระบวนการชันสูตรพลิกศพแล้ว แต่ก็นับว่า "อารมณ์" ของสังคมได้ไปเกินกว่า "เหตุผล" แล้ว เกิดเป็นดราม่าในสังคมออนไลน์เพียงชั่วข้ามคืน และกลายเป็นแรงกดดันทางสังคมให้กองทัพไทย นำโดยพล.ท.ณตฐพล บุญงาม เจ้ากรมข่าวทหาร พล.ต.กนกพงศ์ จันทร์นวล ผบ.โรงเรียนเตรียมทหาร พ.อ.การุณย์ สุริยวงศ์พงศา ผอ.กองการแพทย์ ร.ร.เตรียมทหาร และพ.ท.นรุฏฐ์ ทองสอน นายแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แพทย์ผู้ชันสูตรศพน้องเมยต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข้อเท็จจริงในฝั่งของตนและตอบคำถามกับสื่อมวลชน ในช่วงบ่ายของวันถัดมา (21 พ.ย. 60)[5] ซึ่งนับว่าเป็นการแถลงข่าวอย่างทันควันมาก เมื่อเทียบกับกรณีการเสียชีวิตในค่ายทหารรายอื่น

ในทางกลับกันหากแพทย์ผู้ชันสูตรได้คืนอวัยวะทั้งหมดแก่ญาติ หรือได้แจ้งญาติว่าได้มีการนำอวัยวะสำคัญออกไปตรวจเพิ่มเติมแล้ว น่าสนใจว่าสื่อมวลชนจะพาดหัวข่าวให้เกิดกระแสสังคมกดดันกองทัพได้อย่างไร

ความหมายที่สอง อวัยวะหายคือความยุติธรรมที่หายไป ครอบครัวตัญกาญจน์ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าผลการชันสูตรศพซ้ำจะออกมาในแบบที่ได้รับการจับตาจากสังคมเป็นสายตาเดียวกันเช่นนี้ เพียงแต่ต้องการผลการชันสูตรที่เป็นกลางเท่านั้น อย่างที่น.ส.สุพิชา ตัญกาญจน์เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า "ครอบครัวต้องการที่จะได้รับผลสนับสนุนและผลการชันสูตรที่แม่นยำ... เนื่องจากเกรงว่าจะมีบางสิ่งในร่างกายที่สถาบันแรกอาจตรวจไม่พบ ซึ่งผลที่ได้รับถึงกลับทำให้ครอบครัวตกใจ" ผมไม่ทราบว่าแพทย์นินิติเวชของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ชันสูตรศพน้องเมยซ้ำได้อธิบายความเป็นไปได้ที่อวัยวะจะหายไปให้ญาติทราบไว้อย่างไร เพราะน่าจะสันนิษฐานได้ไม่ยากว่าอยู่ในระหว่างการตรวจพิสูจน์ของแพทย์นิติเวชคนก่อนหน้าอยู่แล้ว และน่าจะแนะนำให้ไปขอรับอวัยวะคืนเพื่อชันสูตรซ้ำอีกครั้ง

ทว่าการหายไปของความปกติ อวัยวะสำคัญที่ควรจะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่เดิมกลับอันตรธานหายไป นับว่าเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการเสียชีวิตของคนคนหนึ่ง ย่อมนำมาซึ่งความแคลบแคลงสงสัย และตอกย้ำความไม่เชื่อมั่นต่อโรงพยาบาลแรกที่ชันสูตรซึ่งสังกัดกองทัพเช่นเดียวกับโรงเรียนเตรียมทหาร ในขณะที่ทางโรงเรียนเตรียมทหารซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ที่น้องเมยเสียชีวิตก็ยังไม่ได้ให้คำตอบเป็นที่พอใจ จึงเกิดการตั้งคำถามว่ามีการปกปิดหลักฐานการเสียชีวิตหรือไม่ และทวงคืน "อวัยวะ" หรือในความหมายของ "ความยุติธรรม" ต่อกรณีการเสียชีวิตสื่อมวลชนและสาธารณะ

การให้ความหมายในแง่นี้นำมาสู่การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ 6 คนจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลศิริราชร่วมชันสูตรอวัยวะของน้องเมยที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมในวันที่ 23 พ.ย. 60[6], แคมเปญรณรงค์ร่วมลงชื่อร้องเรียนกองทัพบกในหัวข้อ "เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ "น้องเมย" ต้องลาออก" ผ่านเว็บไซต์ change.org ของสังคมออนไลน์ในวันที่ 23 พ.ย. 60  ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 50,000 คนภายใน 3 วัน[7] และคำสั่งย้ายพ.อ.ฉัตรชัย ดวงรัตน์ ผู้บังคับการกรมนักเรียน โรงเรียนเตรียมทหาร และ น.ท.นพศิษฐ์ เพียรชอบ ผู้บังคับกองพันนักเรียน กรมนักเรียนเรียน โรงเรียนเตรียมทหารเพื่อเปิดทางให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 24 พ.ย. 60[8] ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นภายหลังจากที่น้องเมยเสียชีวิตไปแล้วถึง 1 เดือน

ทั้งที่ในความจริงแล้วอวัยวะของน้องเมยจะไม่ได้หายไปไหน เพราะแพทย์ผู้ชันสูตร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าชี้แจงในการแถลงข่าวว่าได้ผ่าสมองซึ่งเป็นอวัยวะที่นิ่มมากออกไปแช่น้ำยาฟอร์มาลิน เก็บหัวใจไว้ทำสไลด์ และเก็บกระเพาะอาหารไว้ตรวจสารพิษ เป็นการทำงานตามปกติภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ ภายใต้หลักการทางการแพทย์และแนวทางการเก็บหลักฐานอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งสมาคมพยาธิแพทย์แห่งอเมริกา (college of American pathologists) กำหนดให้ต้องเก็บชิ้นเนื้อไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี[9] ทว่าแพทย์นิติเวชไม่อาจหลีกเลี่ยงการให้ความหมายของสังคมได้ ซึ่งในมุมมองของแพทย์ที่ทำงานด้านกฎหมายโดยเฉพาะอาจมองว่าเป็นเรื่อง "ถูกกฎ แต่ไม่ถูกใจ" แต่อวัยวะที่(ไม่ได้)หายไปกลับก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงมากมายข้างต้น

สำหรับแพทย์ จึงเป็นบทเรียนให้แพทย์ผู้ชันสูตรในฐานะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและจิตใจคนหนึ่งต้องให้ความสำคัญต่อการสื่อสารกับญาติผู้ตายมากขึ้น อาจอธิบายกระบวนการทำงานของแพทย์ให้ญาติเข้าใจ โดยเฉพาะกรณีที่ญาติไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือตกเป็นผู้ต้องสงสัย เพราะญาติคาดหวังให้แพทย์นิติเวชเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ตายอยู่แล้ว ในขณะที่กรณีของน้องเมย แพทย์ผู้ชันสูตรกลับต้องกลายเป็นผู้สบคบคิดกับจำเลยที่ญาติสงสัย เพราะไม่ได้แจ้งญาติว่าได้มีการนำอวัยวะออกไป อย่างที่ พล.ต.ธารา พูนประชา ผู้อำนวยการสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้ากล่าวกับสื่อมวลชนระหว่างการส่งมอบชิ้นส่วนอวัยวะคืนแก่ญาติน้องเมยในวันที่ 23 พ.ย. 60 ว่า "...การตัดสินใจครั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลศพ แต่ไม่ได้ดูแลจิตใจของบรรดาญาติผู้เสียชีวิต"[10]               

โดยสรุปอวัยวะของน้องเมยที่หายไปจึงไม่ใช่แค่วัตถุพยานของการเสียชีวิตที่แพทย์แค่นำไปผ่าพิสูจน์เท่านั้น ซึ่งเทียบได้กับ "โรค (disease)" ในแบบจำลองคำอธิบายความเจ็บป่วย แต่คือสิ่งที่มีความหมายอย่างน้อย 2 ประการ คือ "ความเป็นมนุษย์" และ "ความยุติธรรม" ที่หายไป ซึ่งเทียบได้กับ "ความเจ็บป่วย (disease)" ในมุมมองของคนทั่วไป และความหมายนี้เองก็ได้กระตุ้นให้สังคมหันมา "มุง" และร่วมผ่าพิสูจน์คดีนี้ไปพร้อมกับครอบครัวตัญกาญจน์.

 

เชิงอรรถ

 

[1] อดีตแพทย์นิติเวชแจงมาตรการเก็บอวัยวะชันสูตร ชี้สาเหตุที่อวัยวะหาย-ทิชชูยัดสมอง. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:  https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_642272. [24 พฤศจิกายน 2560]

[2] เปิดจดหมาย'น้องเมย' เห็นเพื่อนร่วมรุ่นโดนซ่อมจนสลบ ก่อนยอมหันหลังให้นตท. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_646377. [24 พฤศจิกายน 2560]  

[3] ครอบครัว "น้องเมย" จี้ ผบ.สูงสุด-ผบ.ร.ร.เตรียมทหาร แจงเหตุนำอวัยวะลูกชายออกจากร่างไม่บอกให้นตท. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา: https://mgronline.com/local/detail/9600000117135.  [24 พฤศจิกายน 2560]

[4] พ่อช็อก! ลูกชาย นร.เตรียมทหารเสียชีวิตมีเงื่อนงำ อวัยวะภายในหายเกลี้ยง-ทิชชู่ยัดแทนสมอง หอบหลักฐานแฉให้นตท. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา: http://www.amarintv.com/news-update/news-4525/112071/. [24 พฤศจิกายน 2560]

[5] กองทัพ แจงจำเป็นต้องเก็บอวัยวะ "น้องเมย" เพื่อชันสูตร พบพยาธิสภาพในหัวใจผิดปกติ. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:  https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_641387. [24 พฤศจิกายน 2560]

[6] สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระดมผู้เชี่ยวชาญ ชันสูตร น้องเมย 7 วันสาเหตุการตายชัด. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:   https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_643638. [24 พฤศจิกายน 2560]

[7] เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ "น้องเมย" ต้องลาออก. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา: https://www.change.org/p/เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ-น้องเมย-ต้องลาออก. [24 พฤศจิกายน 2560] 

[8]  ผบ.ทสส. ลงนามคำสั่งย้าย ผู้บังคับกองพัน ร.ร.เตรียมทหาร. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา:  https://www.thairath.co.th/content/1135300. [24 พฤศจิกายน 2560]

[9] College of American Pathologists (CAP) Retention of Laboratory Records and Materials. [online]. 2010. Available from: https://www.ncleg.net/documentsites/committees/PMC-LRC2011/December%205,%202012/College%20of%20American%20Pathologist%20Retention%20Policy.pdf [24 November 2017]

[10] ประยุทธ์ชี้ ทหารต้องไม่ "ฝึกแบบธรรมดา" ส่วนพ่อน้องเมยบอก "ตีราคาลูกผมต่ำไป". [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา: http://www.bbc.com/thai/thailand-42091111. [24 พฤศจิกายน 2560]


หมายเหตุ: พฤศจิกายน 2560 | ปรับแก้ ธันวาคม ปีเดียวกัน

เกี่ยวกับผู้เขียน: ชนาธิป ไชยเหล็ก เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลนครชัยศรี จ.นครปฐม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ข่าวดีจากอียู?

Posted: 13 Dec 2017 04:22 AM PST

 

ไม่ผิดคาดแม้แต่น้อย นายกฯ ยักคิ้ว ปลาบปลื้มหน้าบาน สหภาพยุโรปประกาศฟื้นความสัมพันธ์ รัฐบาลได้ทีคุยอวดว่าต่างชาติเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ มีแต่ไอ้พวกคนไทยส่วนน้อยนี่แหละ ที่เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดความขัดแย้งกดดันรัฐบาล แถมบิดเบือนเรื่องต่างๆ

เดี๋ยวนะครับ ไม่ทราบอ่านคำแถลงอียูครบหรือเปล่า คำแถลง 14 ข้อ แม้ภาพรวมเป็นด้านดี แต่ก็พ่วงคำว่าเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เป็นเงื่อนไขเต็มไปหมด นี่ไม่ใช่หรือ เรื่องที่คนไทยวิพากษ์วิจารณ์

รัฐบาลฉวยโอกาสที่คนส่วนใหญ่อ่านแต่พาดหัวข่าวอียูกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ ที่ลดระดับลงหลังรัฐประหาร (อันที่จริง คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้นะนี่ ว่าเขาลดความสัมพันธ์ เพราะท่านยืนกรานมาตลอดว่าไม่มีปัญหา) กระทั่งสื่อก็ตีปี๊บแต่ด้านดี ภาคธุรกิจก็วาดฝันการค้าการลงทุนกระเตื้อง

ใช่เลย ถ้ามองท่าทีอียู ในภาพรวมก็เป็นบวก มองได้ว่าในภาวะเศรษฐกิจการเมืองโลกปัจจุบัน อียูอยากฟื้นความสัมพันธ์กับไทยเร็วที่สุด โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ ที่มีผลประโยชน์การค้า แต่ด้วยความเป็นสหภาพยุโรป ที่ต้องแสดงจุดยืนร่วมกันทุกประเทศ อียูจึงไม่สามารถเหลวไหลอย่างทรัมป์ ที่จู่ๆ ก็เชิญผู้นำจากการรัฐประหารเข้าทำเนียบขาว

อียูสบโอกาสเมื่อนายกฯ ให้คำมั่น เลือกตั้งพฤศจิกายน 61 ฉวยไปเป็นเงื่อนไขฟื้นสัมพันธ์ กระนั้น คำแถลงทุกข้อก็ตีกรอบอย่างระมัดระวัง ไม่ทิ้งคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องละเมิดสิทธิ พลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีความมั่นคงต่างๆ กระทั่งคำแถลงข้อ 8 ที่เป็นสาระสำคัญก็ตีกรอบว่าต้องเจรจาเรื่องเสรีภาพประชาธิปไตยด้วย

"…คณะรัฐมนตรีฯ ตัดสินใจที่จะกลับเข้าสู่การติดต่อทางการเมืองในทุกระดับกับประเทศไทยเพื่ออำนวยความสะดวกการเจรจาในประเด็นที่มีความสำคัญร่วมกัน อันรวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย"

มองมุมหนึ่ง อาจเป็นแค่ "เล่นท่ายาก" อยากเจรจาการค้าเต็มแก่ เพียงต้องรักษามาด แต่มองจากพื้นฐานสิทธิเสรีภาพในยุโรป หากไม่ยึดหลักเสียเลยสหภาพก็จะถูกประชาชนของตนด่า อียูจึงตีกรอบในข้อ 11 ว่าการลงนาม PCA การเจรจา FTA จะเกิดในรัฐบาลเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งยังติ่งข้อ 12 ว่าให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่นะ

แน่ละครับ สมมติหลังเลือกตั้ง มี ส.ว.แต่งตั้ง ยกมือเลือกนายกฯ คนนอก อียูก็คงไม่อินังขังขอบ แม้อาจวิจารณ์บ้าง แต่ขอแค่มี "เลือกตั้ง" ก็สามารถเจรจาค้าขายได้เต็มเหนี่ยว

สำคัญคือจะมีเลือกตั้งเดือน พ.ย. 61 จริงหรือเปล่า เพราะคำแถลงอียู เท่ากับเร่งเร้ารัฐบาลในด้านกลับ เรากลับมาคบกันแล้วนะ เราเตรียมเจรจา PCA, FTA กัน แต่ยังลงนามไม่ได้นะ เอาไว้หลังเลือกตั้งโน่น

รัฐบาลก็รู้แก่ใจ ว่านี่คือข่าวดีที่มาพร้อมแรงกดดัน ทำให้ทุกคนตั้งตารอ แต่พวกท่านพร้อมไปสู่เลือกตั้งจริงหรือเปล่า ประกาศใช้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาจะครบ 3 เดือนยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง แค่พบอาวุธกลางทุ่งก็ยกมาเป็นข้ออ้าง

การไปสู่เลือกตั้ง ไปเป็นรัฐบาลที่ไม่มี ม.44 แม้วางกลไกจำกัดสิทธิเสรีภาพไว้เพียงไร ก็ต้องมีฝ่ายค้าน ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ต้องรับมือการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่จะผุดเป็นดอกเห็ด โดยไม่สามารถเอาใครไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร นี่ไม่ต้องให้อียูวิจารณ์ก็รู้แก่ใจ

ข่าวดีจากอียู ขึ้นอยู่กับเลือกตั้งได้ตามคำมั่นไหม ถ้าไม่ได้ทุกอย่างจะประดังเข้าใส่



ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก้าวคนละก้าว: ก้าวที่หลงทาง (4)

Posted: 13 Dec 2017 04:10 AM PST

 


นอกจากการขาดแคลนงบประมาณจะมีผลให้ต่อการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ ความเลื่อมล้ำของแพทย์ในกรุงเทพ-ต่างจังหวัดก็เป็นปัญหาสำคัญ

4. ความเลื่อมล้ำของแพทย์ในกรุงเทพ-ต่างจังหวัด: ไทยมีแพทย์กว่า 52,000 คน แต่แพทย์เหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมากกว่าต่างจังหวัด

- กรุงเทพมีประชากร 8.3 ล้านคน มีแพทย์กว่า 11,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 1.33 คนต่อประชากร 1,000 คน

- ต่างจังหวัดมีประชากร 47.6 ล้านคน มีแพทย์กว่า 40,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 0.84 คนต่อประชากร 1,000 คน

ความเลื่อมล้ำนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากจำนวนโรงพยาบาลในกรุงเทพ-ต่างจังหวัด (ไม่รวมคลีนิก, ศูนย์ทันตกรรม และศูนย์ศัลยกรรมเสริมความงาม)

- กรุงเทพมีโรงพยาบาลกว่า 130 แห่ง (โรงพยาบาลเฉพาะทาง 7 แห่ง เช่น โรคพยาบาลผิวหนัง) รวมจำนวนเตียงคนไข้กว่า 14,000 หลัง คิดเป็นอัตราส่วนประชากร 593 คนต่อ 1 เตียง

- ต่างจังหวัดมีโรงพยาบาลกว่า 160 แห่ง (ไม่นับรวมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) รวมจำนวนเตียงคนไข้กว่า 20,000 หลัง คิดเป็นอัตราส่วนประชากร 2,380 คนต่อ 1 เตียง

ส่วนสถานีอนามัยที่ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีกว่า 1,000 แห่ง และสถานีอนามัยที่ยังไม่ได้รับการยกฐานะกว่า 9,000 แห่ง แต่ไม่มีข้อมูลจำนวนเตียงที่ชัดเจน

แม้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล-สถานีอนามัยจะมีกระจายอยู่ทุกตำบล แต่สถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้ประสบปัญหาหลายอย่าง

- ระยะทาง: บางหมู่บ้านอยู่ห่างจากสถานบริการสาธารณสุขกว่า 20 กิโลเมตร แถมถนนมีสภาพไม่สมบูรณ์

- บุคลากรทางการแพทย์: สถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้ให้บริการระดับปฐมภูมิ (Primary Care) มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงแห่งละ 1-3 คน แพทย์บางคนต้องดูแลหลายสถานบริการสาธารณสุข ไม่สามารถรักษาคนไข้ที่มีอาการรุนแรง แถมหลายแห่งไม่มีรถพยาบาลรับ-ส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลอื่น

- การบริหารงาน: สถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้ขาดการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง และขาดแคลนงบประมาณ, เครื่องมือแพทย์ และยา

อัตราส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของการบริการทางการแพทย์ระหว่างกรุงเทพ-ต่างจังหวัด แพทย์ในต่างจังหวัดจึงรับผิดชอบคนไข้มากกว่าแพทย์ในกรุงเทพ

เมื่อจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดมีไม่เพียงพอ (โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ) จึงมีผลให้คุณภาพการรักษาต่ำ การฟ้องร้องคดีของคนไข้จากการรักษาที่ผิดพลาดจึงมีมากกว่าแพทย์ในกรุงเทพ

เมื่อโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัดไม่สามารถให้บริการทางการแพทย์กับชาวต่างจังหวัดอย่างเต็มที่ ชาวต่างจังหวัดบางส่วนจึงเลือกที่จะเดินทางเข้ารับบริการทางการแพทย์ในกรุงเทพ ส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพมีคนไข้ล้นโรงพยาบาล

นอกจากนี้ความสมดุลของการผลิตแพทย์ก็เป็นปัญหาสำคัญ ไทยมีวิทยาลัยแพทย์ 20 แห่ง (กรุงเทพ 8 แห่ง-ต่างจังหวัด 12 แห่ง)

ผู้ที่เข้าศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในกรุงเทพ-ปริมณฑล หลังสำเร็จการศึกษาพวกเขาจึงเลือกที่จะทำงานในกรุงเทพ-ปริมณฑลมากกว่าต่างจังหวัด

แม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการก่อตั้งศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกเพื่อสร้างแพทย์ชั้นคลินิกกว่า 40 แห่งในต่างจังหวัดรองรับสถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้ แต่จำนวนแพทย์ที่ผลิตเพิ่มยังไม่ปรากฎผลที่ชัดเจน

การกระจายอำนาจสู่สถานบริการสาธารณสุขในต่างจังหวัด การขยายวิทยาลัยแพทย์ในต่างจังหวัดเพื่อสร้างแพทย์ท้องถิ่นรับใช้ท้องถิ่น การพัฒนาถนน-ระบบขนส่งสาธารณะราคาประหยัดเพื่อรับ-ส่งประชาชนเข้าสู่ตัวเมืองเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ไขความเลื่อมล้ำของการให้บริการสาธารณสุขในต่างจังหวัด และลดความแออัดของคนไข้ในกรุงเทพ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แด่..วันรัฐธรรมนูญ

Posted: 13 Dec 2017 04:00 AM PST

รัฐธรรมนูญปูนบำเหน็จเผด็จการ
รัฐทหารควบคุมอยู่อุ้มต่อ
อุ้มในรูปในร่างหนทางรอ
เลือกตั้งพอเห็นเป็นพิธีการ

อำนาจถูกควบคุมคนกลุ่มเก่า
ไม่ต้องเดาเขาทำรัฐประหาร
สมัยต่อไปใครเห็นเป็นรัฐบาล
รัฐทหารแต่งตั้งไว้ควบคุม

เขียนรัฐธรรมอำพรางนั้นวางไว้
ประเทศไทยปกครองของบางกลุ่ม
เขาผู้นำกำหนดงดทุกชุมนุม
เพื่ออยู่อุ้มซุ้มซ่อนละครลิง

การปกครองของไทยตกใต้เบื้อง
ใต้การเมืองทหารบ้านผีสิง
เลือกตั้งไปไม่ถึงพรรคพึงพิง
เพราะทุกสิ่งสิงสู้ผู้แต่งตั้งมา

อยู่กันไปให้เชื่องการเมืองคือ
ใต้อุ้งมือถือปืนขัดขืนฆ่า
ปกครองสิทธิเสรีภาพมารยา
หัวก้าวหน้าอย่าโผล่โง่ต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรแรงงานเรียกร้องนายจ้าง ระวังการล่วงละเมิดทางเพศในงานเลี้ยง

Posted: 13 Dec 2017 03:45 AM PST

สภาสหภาพแรงงานอังกฤษ (TUC) เรียกร้องนายจ้างให้ระมัดระวังการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงคริสต์มาสที่จัดให้แก่พนักงาน พบ 1 ใน 4 ของผู้ร่วมงานเลี้ยงดื่มเหล้ามากเกินไป ผู้หญิงในองค์กรใหญ่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในงานเลี้ยงสังสรรค์ 1 ใน 7 คน ส่วนองค์กรเล็กมีสัดส่วนถึง 1 ใน 5


ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/surdumihail (CC0)

13 ธ.ค. 2560 งานเลี้ยงตามเทศกาลนอกเหนือจะเป็นสวัสดิการที่นายจ้างสมควรจัดให้แก่พนักงานแล้ว แต่ในด้านหนึ่งกลับสร้างปัญหาที่ตามมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ

สภาสหภาพแรงงานแห่งสหราชอาณาจักร (Trades Union Congress หรือ TUC) ได้เรียกร้องให้นายจ้างต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แม้พนักงานหลายคนคาดหวังว่าเทศกาลคริสต์มาสจะเป็นโอกาสที่จะได้ผ่อนคลายสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน แต่ข้อมูลจาก TUC ระบุว่าผู้หญิง 1 ใน 7 คน มักถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่อมีงานเลี้ยงสังสรรค์ขององค์กร และตัวเลขสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 5 สำหรับผู้หญิงที่ทำงานในธุรกิจขนาดเล็ก

ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่างานเลี้ยงคริสต์มาสจะราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ TUC ได้แนะนำนายจ้างให้ปฏิบัติ เช่น แจ้งให้พนักงานทราบว่าในงานเลี้ยงคริสต์มาสของบริษัทก็ยังใช้กฎระเบียบบังคับเกี่ยวกับพฤติกรรมของพนักงานอยู่ ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มากพอสำหรับผู้ที่ไม่ดื่ม และสำหรับผู้ที่ต้องการพักจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีวางแผนเตรียมพร้อมให้พนักงานทุกคนเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย เตรียมให้หมายเลขโทรศัพท์บริษัทรถแท็กซี่ที่ไว้วางใจได้ รวมทั้งหากมีการร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในงานเลี้ยง บริษัทจะต้องทำการดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจังด้วย

Frances O'Grady เลขาธิการของ TUC ระบุว่านายจ้างต้องมีความชัดเจนว่าพวกเขามีทัศนคติที่ไม่อดทนต่อการล่วงละเมิดทางเพศ และต้องลงมือสอบสวนต่อคำร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศอย่างจริงจัง มีการทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานเพื่อให้พนักงานมั่นใจว่าได้รับความคุ้มครอง "ฉันหวังว่าทุกคนจะใช้สามัญสำนึกของพวกเขาและมีความสุขในช่วงเย็น - และวันคริสต์มาสและปีใหม่" O'Grady ระบุ

จากการสำรวจของ TUC เมื่อวันคริสต์มาสครั้งล่าสุดพบว่า 1 ใน 4 คน (25%) ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปในงานเลี้ยงคริสต์มาสของพวกเขา 1 ใน 14 คน (7%) แสดงกริยาที่น่าอับอายต่อเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าของพวกเขาในงานเลี้ยงสังสรรค์ และ 1 ใน 14 คน (7%) เจ็บป่วยจากงานเลี้ยงสังสรรค์

 

ที่มา

TUC calls on bosses to be vigilant for sexual harassment at Christmas parties (TUC, 8/12/2017)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอมอส ยี ถูกไล่ออกจากที่พักในสหรัฐฯ เหตุหนุนรสนิยมมีเซ็กส์กับเด็ก

Posted: 13 Dec 2017 03:37 AM PST

เอมอส ยี วัยรุ่นสิงคโปร์ผู้เป็นที่รู้จักจากการวิจารณ์ศาสนาและอดีตผู้นำลีกวนยูจนทำให้ศาลสิงคโปร์ตัดสินลงโทษเขา ยีเพิ่งได้สถานะผู้ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดเขาถูกขับไล่ออกจากบ้านพักในชิคาโกหลังจากที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการรักใคร่ชอบพอเด็กในทางชู้สาว (paedophilia) ผ่านช่องยูทูบของเขา


เอมอส ยี (ภาพหน้าจอจาก https://youtu.be/cZdny86yOAk)
 

13 ธ.ค. 2560 หลังจากที่ถูกศาลสิงคโปร์ตัดสินจำคุก 2 ครั้ง ยีก็เดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองแต่กลับถูกควบคุมตัวเมื่อเดือน ธ.ค. 2559 หลังจากเดินทางมาถึงท่าอากาศยาน O'Hare ที่ชิคาโก เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานผู้ลี้ภัยเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาหลังจากที่สหรัฐฯ รับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยการเมืองของเขา

อย่างไรก็ตามในตอนนี้ยีกำลังประสบปัญหาใหม่คือการพยายามหาบ้านพักอาศัยในสหรัฐฯ ยีกล่าวถึงสาเหตุในเรื่องนี้ว่าเป็นเพราะมุมมองในเรื่องที่เขาสนับสนุนการใคร่เด็กในเชิงชู้สาว ถึงแม้ว่าเจ้าของบ้านพักที่เขาอาศัยร่วมด้วยจะไม่มีปัญหาอะไรกับความคิดเห็นของเขา แต่ที่มีปัญหากับเขาคือหน่วยงานบริการคุ้มครองเด็ก (child protection service)

"เขา (เจ้าของบ้าน) ก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดผม แต่เขาก็ไม่ได้มองว่ามันรุนแรงหรือกลายเป็นสิ่งที่อันตรายจริงจัง และคุณไม่ควรเกลียดคนคนหนึ่งเพียงเพราะความคิดเห็นอันนี้อันเดียว ... แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นเหล่านี้คือหน่วยงานบริการคุ้มครองเด็ก" ยีบรรยายสถานการณ์ในวิดีโอยูทูบเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2560

ในวิดีโอเดียวกันยีเล่าอีกว่าเจ้าของบ้านที่รับเขาเข้าอาศัยรับอุปการะเด็กคนอื่นๆ ด้วย นั่นทำให้บางครั้งหน่วยงานบริการคุ้มครองเด็กจะเข้ามาตรวจสอบประวัติของผู้อาศัยในบ้านและสำรวจว่ามีสภาพแวดล้อมในบ้านน่าอยู่อาศัยหรือไม่ "ในยุคสมัยแบบนี้พอคุณมองคนที่สนับสนุนการใคร่เด็ก คุณก็จะคิดว่ามันอันตรายสำหรับเด็ก" ยีกล่าวในวิดีโอ

ยีบอกอีกว่าเขาจะต้องออกจากบ้านพักภายในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ และในอีกวิดีโอหนึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2560 เปิดเผยว่าเขากำลังอาศัยอยู่ในมินนิโซตาและนอนบนโซฟาของ "ฮิปปี้สมัยใหม่" แต่ก็ยังคงต้องการที่พักใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆ กับผู้ที่จะเสนอให้เขาร่วมเช่าที่พัก หนึ่งในเงื่อนไขนั้นคือ "คุณจะไม่ไล่ผมออกจากบ้านด้วยเหตุผลว่าคุณไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นทางการเมืองที่ปราศจากความรุนแรงของผมไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม"

เมื่อไม่นานนี้ ยียังมีกำหนดการได้พูดที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแต่ต่อมาก็ถูกยกเลิกด้วย


เรียบเรียงจาก

Amos Yee evicted for pro-paedophilia views, Asian Correspondent, 12-12-2017
https://asiancorrespondent.com/2017/12/singaporean-vlogger-amos-yee-kicked-us-house-pro-paedophilia-views/#Fhrtvv6k7yKX8tl5.97

I'm getting kicked out of the house and need help...., Amos Yee, Youtube, 02-12-2017
https://youtu.be/cZdny86yOAk

Still trying to find a new place to live please help..., Amos Yee, Youtube, 11-12-2017
https://youtu.be/5lpjUd80OGY

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นตัดความช่วยเหลือค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณพรมแดนรัฐฉาน-ไทย

Posted: 13 Dec 2017 02:26 AM PST

ยูเอ็นและองค์กรระหว่างประเทศตัดความช่วยเหลือให้กับผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ 6 ค่ายผู้อพยพภายในประเทศ บริเวณชายแดนพม่าตรงข้ามภาคเหนือของไทย ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยกว่า 6,000 คนอยู่ในภาวะลำบาก

นายสุรพงษ์  กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการกวาดล้างครั้งใหญ่ของกองทัพรัฐบาลพม่า ในตอนกลางของรัฐฉานในพม่าระหว่างปี 2539-2541 เป็นเหตุให้ชาวบ้านทั้ง ไทใหญ่ ลาหู่ อาข่า ว้า ดาระอัง ปะโอ ลีซู และเชื้อสายจีนกว่า 300,000 คน จาก 1,400 หมู่บ้านถูกบังคับให้ต้องออกจากบ้านเรือน ชาวบ้านหลายร้อยคนถูกซ้อมทรมาน ถูกข่มขืนกระทำชำเราและถูกฆ่า ชาวบ้านเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพบริเวณพรมแดนรัฐฉาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สูง ที่ห่างไกล มีพื้นที่ทำกินน้อย  โดยได้รับความสนับสนุนจากยูเอ็นและองค์กรระหว่างประเทศ ในการช่วยเหลือการจัดหาอาหารขั้นพื้นฐานให้กับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา

นายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อเริ่มกระบวนการสันติภาพในปี 2554 โดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เริ่มลงนามในสัญญาหยุดยิงแบบทวิภาคีกับรัฐบาลพม่า ทางองค์กรทุนก็เริ่มลดความช่วยเหลือให้กับผู้ลี้ภัยในพื้นที่บริเวณชายแดน และยุติความช่วยเหลือสนับสนุนการจัดหาอาหารให้กับค่ายอพยพทั้ง 6 แห่งบริเวณพรมแดนรัฐฉาน-ไทยเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา

ค่ายผู้อพยพดอยสามสิบ ตรงข้าม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ภาพถ่ายปี 2550 (ที่มา: แฟ้มภาพ/SHRF)

ปัจจุบันมีค่ายอพยพ 6 แห่ง ตามบริเวณแนวพรมแดนรัฐฉาน-ไทย มีผู้ลี้ภัยทั้งสิ้น 6,185 คน ได้แก่ 1.  ค่ายอพยพกองมุ่งเมือง ตรงข้าม ต.หมอกจำแป๋ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้อพยพ 246 คน 2. ค่ายอพยพดอยไตแลง ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้อพยพ 2,309  คน  3. ค่ายอพยพดอยดำ ตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มีผู้อพยพ 238 คน  4. ค่ายอพยพกุงจ่อ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มีผู้อพยพ 402 คน  5.ค่ายอพยพดอยสามสิบ ตรงข้าม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีผู้อพยพ 356 คน  และ 6. ค่ายอพยพดอยก่อวัน  ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีผู้อพยพ 2,634 คน โดย 70% ของผู้ลี้ภัยทั้งหมดเป็นผู้หญิงและเด็ก

นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพบริเวณพรมแดนไทย-รัฐฉาน ยังคงไม่สามารถเดินทางกลับบ้านตนเองได้ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาหยุดยิง และทางพม่ายังคงขยายกำลังทหารและเพิ่มปฏิบัติการทางทหารตลอดทั่วรัฐฉาน เมื่อถูกตัดความช่วยเหลือ ทำให้ชีวิตผู้ลี้ภัยกว่า 6,000 คน ต้องอยู่อย่างยากลำบากยิ่งขึ้น จึงใคร่เรียกร้องให้แหล่งทุนระหว่างประเทศยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเพียงพอกับผู้ลี้ภัยตามบริเวณพรมแดนรัฐฉาน-ไทยต่อไป และให้มีการถอนทหารพม่าออกจากพื้นที่ โดยยุติสงคราม และคืนพื้นที่ทำกินเดิมให้กับชาวบ้านเพื่อเดินทางกลับไปทำกินได้ดังเดิม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฤษฎีกาไม่ส่งเอกสารความเห็นเรื่องสถานะสมเด็จพระเทพฯ ตามหมายเรียกศาล

Posted: 13 Dec 2017 02:14 AM PST

'ศูนย์ทนายความสิทธิฯ' เผย กฤษฎีกาไม่ส่งเอกสารความเห็นเรื่องสถานะสมเด็จพระเทพฯ ตามหมายเรียกศาล ระบุเป็นเอกสารลับ-มีผลต่อสถาบันฯ

13 ธ.ค.2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ความคืบหน้าคดีระหว่างพนักงานอัยการ จ.กำแพงเพชร กับ อัษฎาภรณ์ และ นพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกกล่าวหาเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ โดยปลอมหนังสือของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพฯ และนำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จ.กำแพงเพชร และถูกกล่าวหาว่ามีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย

ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า การสืบพยานโจทก์ในคดีนี้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2560 โดยมีการนัดสืบพยานราวเดือนละ 2-3 นัด และสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ศาลนัดหมายสืบพยานจำเลยต่อไปในช่วงวันที่ 14 และ 19-22 ธ.ค.นี้ โดย ศูนย์ทนายความฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับ นพฤทธิ์ หนึ่งในจำเลย ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้รับทราบหรือเกี่ยวข้องกับการแอบอ้าง และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากกรณีนี้ เพียงแต่ถูกเพื่อนรุ่นพี่ชวนให้ไปร่วมทำบุญที่วัดใน จ.กำแพงเพชร

ศูนย์ทนายความฯ รายงานด้วยว่า ทนายความของจำเลยที่ 2 ได้พยายามยื่นคำร้องหลายครั้ง ขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารฉบับหนึ่งเพื่อใช้สนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลย เอกสารฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารของคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 281/2532 ชื่อเอกสารว่า "บันทึกเรื่องการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชทายาทตามมาตรา 112 และในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา"

โดยที่เอกสารดังกล่าวลงวันที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2532 เนื้อหาระบุว่าทางกรมตำรวจ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ได้ขอให้กฤษฎีกาช่วยวินิจฉัยถึงสถานะของสมเด็จพระเทพฯ ว่าทรงเป็นรัชทายาทหรือไม่ โดยบันทึกฉบับดังกล่าวได้ระบุว่าทางกรมตำรวจเคยสอบถามไปยังสำนักพระราชวังในเรื่องนี้ และสำนักพระราชวังได้เคยแจ้งว่าในรัชกาลปัจจุบัน (หมายถึงรัชกาลที่ 9) ได้ทรงใช้พระราชอำนาจสมมติองค์รัชทายาทขึ้นเพียงพระองค์เดียว คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และคำว่า "สยามบรมราชกุมารี" ในท้ายพระนามของพระเทพฯ ซึ่งแปลว่าลูกหญิงของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ไม่ใช่สถาปนาให้เป็น "สยามมกุฏราชกุมารี" จึงไม่ได้หมายถึงการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์แต่อย่างใด ทางกรมตำรวจได้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ยืนยันว่า (1) ในกรณีที่มีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเทพฯ พนักงานสอบสวนจะดำเนินการตามมาตรา 112 ได้หรือไม่ และ (2) หากไม่สามารถดำเนินคดีตามมาตรา 112 และต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา จะทำอย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบประเด็นแรกในลักษณะเดียวกับที่สำนักพระราชวังเคยตอบต่อกรมตำรวจ กล่าวคือสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่องค์รัชทายาท คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงวินิจฉัยว่าตำรวจจะดำเนินคดีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ ตามมาตรา 112 ไม่ได้

ในส่วนประเด็นที่สองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการดำเนินคดีตามมาตรา 326 ผู้เสียหายจะต้องเป็นฝ่ายร้องทุกข์ แต่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหาย มอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญาแทนได้ ดังนั้น ในกรณีสมเด็จพระเทพฯ ถ้ามีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ พระองค์ท่านซึ่งเป็นผู้เสียหาย ทรงสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์ และฟ้องคดีอาญาแทนได้

ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่า เอกสารฉบับนี้ได้เคยเผยแพร่เนื้อหาอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ในลิงก์นี้) โดยในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 บุคคลทั่วไปยังสามารถเข้าถึงเอกสารดังกล่าวได้ จนกระทั่งภายหลังทนายความได้ขอออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวไป จึงได้พบว่าลิงก์ของเอกสารดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความ รายงานต่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ส่งเอกสารความเห็นเรื่องสถานะสมเด็จพระเทพฯ ตามหมายเรียกศาล โดยระบุเอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารลับตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 และเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันจะเปิดเผยมิได้ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่สามารถจัดส่งเอกสารตามหมายเรียกของศาลได้ เอกสารลงนามโดย ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความฯ)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'รพ.-บ้าน-ชุมชน' เชื่อมต่อระบบดูแลต่อเนื่อง ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงให้ได้ผล

Posted: 13 Dec 2017 01:29 AM PST

วงถกระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพชุมชน 'สานพลังภาคีสู่สังคมสูงอายุในศตวรรษที่ 21' ชี้ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงให้ได้ผล ต้องเชื่อมต่อระบบดูแลต่อเนื่องระหว่าง "โรงพยาบาล-บ้าน-ชุมชน"

13 ธ.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในงานประชุมวิชาการระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพชุมชน "สานพลังภาคีสู่สังคมสูงอายุในศตวรรษที่ 21" มีการจัดเสวนาสานพลังเพื่อระบบการดูแลต่อเนื่องเมื่อต้องพึ่งพิง ดำเนินรายการโดย พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน

นพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผอ.รพ.สันทราย จ.เชียงใหม่ CHBC กล่าวถึงการบูรณาการร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการดูแลผู้สูงอายุว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องเข้าสู่ภาวะการพึ่งพิงทางการแพทย์ แต่ที่สันทรายเราไม่ได้มองแค่สูงวัย แต่มองความสุขของผู้คนมากกว่า เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงภาวะพึ่งพิงทางการแพทย์ได้ ที่ รพ.สันทรายเราต้องการเยียวยาร่างกายพร้อมดูแลจิตใจ เมื่อแพทย์ทำการรักษาเรามักจะมุ่งหวังผลรักษา แต่ลืมดูแลเรื่องใจ แต่ที่ อ.สันทรายเราสร้างระบบเพื่อดูแลคน ไม่ใช่แค่ดูแลผู้เจ็บป่วย โดยระบบนี้จะต้องไม่พึ่งพาความสามารถส่วนบุคคล ต้องมีการพัฒนาและปรับตัวตลอดเวลา เพราะการพึ่งพาความสามารถของคนจะทำให้ระบบนี้ไม่ยั่งยืน ระบบบริการที่พวกเราร่วมกันออกแบบเป็นระบบที่มองเห็นและรับรู้การดำรงอยู่ของทุกผู้คน เป็นระบบที่จะขจัดหรือบรรเทาความทุกข์ของผู้คนที่รับผิดชอบ สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมกับเจ้าหน้าที่เพราะทำไปจะมีความยากจากการไม่ยอมรับของเจ้าหน้าที่

นพ.วรวุฒิ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ อ.สันทรายคิดคือ ถ้าเราจะมีระบบบริการที่มีความทุกข์น้อยลงต้องมีอะไรบ้าง คำตอบคือ ต้องรู้สึกรู้สากับความเป็นไปของผู้คน คำนึงถึงมิติของผู้ป่วย เช่น การตัดขาผู้ป่วยเบาหวาน จะพูดอย่างไร นอกจากนี้ยังต้องมีเรื่องของประสบการณ์ของผู้ป่วย เพื่อปรับปรุงระบบบริการให้เข้าถึงผู้คนที่เจ็บป่วย และเข้าถึงวัตถุประสงค์ของผู้ป่วยมากขึ้น การทำงานต้องเป็นสหวิชาชีพ รวมกันเพื่อตัดสินใจสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ เพราะเราให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเป็นลำดับแรก คือต้อง ปลอดภัย มีคุณภาพ ผู้ป่วยพึงพอใจของ การดูแลที่เปี่ยมคุณค่า

ผอ.รพ.สันทราย กล่าวว่า นอกจากนั้นเราให้ความสำคัญเรื่อง HBS (Home based service) และ CHBC (community home based care) เพื่อการเชื่อมโยงระหว่าง รพ.และชุมชน HBS และ CHBC คือการส่งมอบความหวังผ่านการดูแลที่มีคุณภาพสูงให้กับผู้ป่วย เรามี อสม.ตรวจจับให้เจอว่าผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟู มีช่วงเวลา golden period ที่ถ้าช่วงนี้ได้รับการดูแลเค้าจะกลับมาได้ดี อปท.ที่สนับสนุนเครื่องมือให้ รพ.สต. เช่น เครื่องให้อ๊อกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ

วีระชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตัวอย่างของการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ทำอยู่นั้น สะท้อนเห็นภาพการต่อเชื่อมของระบบต่างๆ จนนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ ซึ่งมี 3 ส่วนคือ 1.นโยบาย ได้แก่ รัฐบาลและกระทรวง2.การปฏิบัติในพื้นที่ คือ ท้องถิ่นและการบริหารราชการ และ 3.ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ, ท้องถิ่น และเอกชน

วีระชัย กล่าวว่า การออกแบบระบบบริการรอยต่อระหว่าง รพ.และชุมชนจะเป็นอย่างไร หลังจากรักษาที่ รพ.แล้ว เมื่อต้องส่งคนไข้กลับไปที่บ้าน ตรงนี้ชุมชนจะจัดการอย่างไร จะมีการจัดการ Home Based Service อย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ ไม่ว่าเราจะสร้างระบบบริการได้ดีอย่างไร แต่หากยังมีคนกลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการนั้น ก็ยังถือว่าไม่สำเร็จ ขณะเดียวกันระบบการเงินการคลังต้องยั่งยืนด้วย และที่สำคัญต้องมีธรรมาภิบาล เป็นระบบที่ตรวจสอบได้ ทุกคนมีส่วนร่วม

"ถามว่า สปสช.จะออกแบบระบบเพื่อรองรับการดูแลในชุมชนอย่างไร และ สปสช.จะมีการหนุนเสริมเครือข่ายการดำเนินงานในพื้นที่ได้อย่างไร คำตอบเรื่องนี้จะพบว่า สปสช.ได้ออกแบบระบบไว้ 3 รูปแบบเพื่อรองรับการดูแลในชุมชน นั่นคือ 1.มีกองทุนสุขภาพตำบล ปัจจุบันมี อปท.เข้าร่วม 7,547 แห่ง ถือว่าเกือบครบทั้งประเทศ 2.กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ระดับจังหวัด ปัจจุบันมีแล้ว 42 จังหวัด และ 3.กองทุนที่เพิ่งเกิดใหม่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือกองทุนการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชนหรือกองทุน Long Term Care: LTC ปัจจุบันมี 4,274 แห่ง จากทั้ง 3 รูปแบบจะเห็นได้ว่า สปสช.เริ่มใช้พื้นที่เป็นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง" วีระชัย กล่าว

วีระชัย กล่าวต่อว่า เมื่อดูสถานการณ์ในปัจจุบัน จะพบว่า ในส่วนของนโยบายนั้น ระดับรัฐบาลมีความชัดเจนให้ความสำคัญ แต่การประสานระหว่างกระทรวงยังมีจุดอ่อน ขณะที่ในส่วนของการปฏิบัติในพื้นที่นั้น พบว่าในหลายท้องถิ่นทำได้ดี แต่ขาดการเชื่อมโยงข้อมูล และกลัวการตรวจสอบ สำหรับภาคีเครือข่ายทั้งรัฐ ท้องถิ่น และเอกชนนั้น พบว่ามีรูปแบบการทำงานจิตอาสา แต่ยังขาดการประสานแผน ซึ่งจากตรงนี้ เราพบว่ารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการทำระบบบริการเพื่อดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชนคือ ชุมชนเป็นผู้คิดตัดสินใจ มี สธ.เป็นศูนย์วิชาการ และ สปสช.หนุนเสริม เพื่อเป้าหมายการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน

รายงานข่าวระบุด้วยว่าในเวทีเสวนาดังกล่าว มีวิทยากรร่วมเสวนาอีก 3 ราย ได้แก่ 1.จีรนันท์ วงศ์มา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ในประเด็นการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนหนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 2. ดุษณีย์ ทองเกลี้ยง รพ.หลวงพ่อเปิ่น อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ในประเด็นระบบการแพทย์องค์รวมเพื่อผู้สูงอายุ และ 3. เมธา ญาดี อบต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ประสบการณ์การบริการจัดการค่าใช้จ่าย การบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพเผยหากญาติไม่พอใจผลสอบ ‘น้องเมย’ ฟ้องร้องได้ เชื่อมีพยานหลักฐานสู้คดี

Posted: 13 Dec 2017 12:06 AM PST

หลังมีข่าวผลสอบการตายของ น้องเมย เป็นปัญหาด้านสุขภาพ ประธานคณะกรรมการสอบสวนขอเท็จจริงเผย ตอนนี้ยังไม่สรุปผล แต่มีความคืบหน้า 90% ระบุไม่ทราบทำไมมีรายงานข่าวออกไปก่อน ย้ำหากญาติไม่พอใจพอสอบสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เชื่อมีพยาน หลักฐาน เพียงพอสู้คดี

13 ธ.ค. 2560 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ภายหลังมีรายงานข่าวเปิดเผยว่า พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนขอเท็จจริงการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมยนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ได้ประชุมสรุปผลก่อนส่งให้ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปเมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.)

โดยในรายงานระบุว่า จากการลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯ ได้สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 41 ปาก อาทิ เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนเตรียมทหารของน้องเมย รุ่นพี่ทุกชั้นปี เจ้าหน้าที่ผู้เห็นเหตุการณ์ ครู นักเรียนบังคับบัญชา ทหารปกครอง ทหารเสนารักษ์ และกองแพทย์ พร้อมขอประวัติการรักษาทางการแพทย์ จากทางกองแพทย์ วัน เวลา การเข้าห้องพยาบาล ในช่วงที่ไม่สบาย สรุปว่า น้องเมยเสียชีวิต เกิดจากปัญหาสุขภาพหลายสาเหตุ ส่งผลให้หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ล่าสุด พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลสอบยังไม่สมบูรณ์ คืบหน้าไปประมาณ 90% ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามีการนำเสนอข่าวออกไปเช่นนั้นได้อย่างไร เพราะยังเหลืออีกบางประเด็น ที่จะต้องทำให้เกิดความสมบูรณ์และคลายความสงสัย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ และจะสรุปให้เป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์ในวันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.60) พร้อมทั้งนำเรียน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ หลังจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้รับผลสอบสวนจากคณะกรรมการฯแล้ว ถือเป็นดุลพินิจของท่านว่าจะแถลงข่าวหรือไม่

เมื่อถามว่า ผลสอบของคณะกรรมการฯที่คืบหน้า 90 % เป็นไปในทิศทางเดียวกับของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือ พล.อ.อ.ชวรัตน์ กล่าวว่ายังไม่ทราบผลการตรวจสอบของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่ส่งให้ทางญาติของผู้เสียชีวิต เนื่องจากมีการปกปิดข้อมูลไม่เปิดเผย ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องว่าเกิดอะไรกับร่างกายของน้องเมยตามหลักการแพทย์ ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าผลตรงนั้นเป็นอย่างไรแต่ในส่วนของคณะกรรมการฯ มีรายละเอียดเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ว่าเกิดอะไรช่วงไหน มีหลักฐานพยาน สนับสนุนการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามช่วงเวลาก่อนที่น้องเมยจะเสียชีวิต และจนถึงช่วงที่น้องเมยเสียชีวิต

เมื่อถามว่า สรุปแล้วน้องเมยเสียชีวิตเพราะเรื่องสุขภาพหรือมีบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง พล.อ.อ.ชวรัตน์ กล่าวว่า ยังตอบตรงนี้ไม่ได้ เพราะเป็นข้อมูลที่ตนจะต้องนำสรุปเรียนผู้บัญชาการทหารสูงสุดก่อน และทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะพิจารณาสั่งการเอง ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรจะแจ้งให้สื่อมวลชน แจ้งญาติผู้เสียชีวิตให้รับทราบ หรือจะมอบหมายให้ใครเป็นผู้ชี้แจง

เมื่อถามว่า หากผลสอบออกมาแล้วไม่เป็นที่พอใจกับทางญาติผู้เสียชีวิตและมีการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย พล.อ.อ.ชวรัตน์ กล่าวว่าทางญาติผู้เสียชีวิต สามารถดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิตามกฏหมาย

"ทางคณะกรรมการฯ กองบัญชาการกองทัพไทย หรือแม้แต่โรงเรียนเตรียมทหาร ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปแทรกแซงสิทธิตามกฏหมายของผู้ปกครอง หากผู้ปกครองเห็นว่ายังมีความคลางแคลงใจ สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ แต่เราก็มีความสมบูรณ์ในหลักฐาน พยาน ที่อยู่ในระดับที่น่าจะชี้แจงต่อศาลในการดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมได้อย่างพอเพียง" พล.อ.อ.ชวรัตน์ กล่าว

พล.อ.อ.ชวรัตน์ ยังระบุอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับทางครอบครัวของผู้เสียหายและทางครอบครัวของผู้เสียหายก็ไม่ได้ติดต่อให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ แต่คณะกรรมการจะทราบข้อมูลในส่วนที่ผู้ปกครองแถลงข่าวผ่านสื่อ ในข้อที่ยังคลางแคลงใจ เท่านั้น ซึ่งเราก็ใช้ข้อมูลจากตรงนี้มาประกอบการพิจารณาบ้างในบางประเด็น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อเมียนมาร์ใช้ 'ข่าวปลอม' ผ่านโซเชียลฯ กระพือความเกลียดชังชาวโรฮิงญา

Posted: 12 Dec 2017 08:15 PM PST

โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่โพสต์ "ข่าวปลอม" และข้อความยุยงสร้างความเกลียดชังชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์ มีทั้งพระชื่อดัง คนของอองซานซูจี และกองทัพเมียนมาร์ โดยมีความพยายามใส่ร้ายป้ายสีและกล่าวอ้างความชอบธรรมต่างๆ นานา ในการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

12 ธ.ค. 2560 สื่อวอชิงตันโพสต์รายงานว่าในเมียนมาร์ก็ประสบปัญหา "ข่าวปลอม" และการสร้างข้อมูลเท็จใส่ร้ายป้ายสีเช่นกัน โดยเกิดขึ้นกับกรณีของโรฮิงญา ที่เต็มไปด้วยข่าวปลอมในทำนองสร้างความเกลียดชังและคลั่งชาติ สร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญาในหมู่ชาวพุทธฯ ผ่านหน้าฟีดของเฟสบุ๊ค

มีการยกตัวอย่างรูปและการ์ตูนในเชิงยุยงให้เกิดความเกลียดชังที่อ้างว่า "ไม่เคยมีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น" กับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา เนื้อหาของสื่อเหล่านี้อ้างว่าสื่อต่างประเทศและนักสิทธิมนุษยชนกล่าวหาอย่างผิดๆ ในเรื่องที่กองทัพเมียนมาร์กระทำสิ่งที่โหดร้ายรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาเพื่อช่วยให้มีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวเข้ามาในประเทศ พวกเขาอ้างอีกว่าผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะเข้ามาสังหารชาวพุทธฯ และเรียกร้องแบ่งแยกดินแดน

วอชิงตันโพสต์ระบุว่าในประเทศที่ถูกปิดกั้นจากรัฐบาลทหารมาเป็นเวลาช้านานอย่างเมียนมาร์มีการควบคุมสื่อเก่า อย่างโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ อย่างเข้มงวด จนกระทั่งเมื่อประเทศเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยความเข้มงวดก็เริ่มหย่อนลงรวมถึงการที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วจากโครงการ Free Basics ของบริษัทเฟสบุ๊ค ที่ให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและเฟสบุ๊คฟรีแต่จะจำกัดเงื่อนไขการเข้าถึงเว็บอื่นๆ ทำให้ชาวเมียนมาร์ใช้เฟสบุ๊คเป็นพื้นที่หลักในการเสพข้อมูลข่าวสาร มีการสำรวจพบว่าชาวเมียนมาร์ผู้ใช้เฟสบุ๊คร้อยละ 38 รับข่าวสารผ่านเว็บนี้

ทว่าพื้นที่เฟสบุ๊คนี้ก็กลายเป็นตัวการในการแพร่กระจายความเกลียดชังทางเชื้อชาติในเมียนมาร์ ทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นในช่วงที่กองทัพเมียนมาร์เข้าไปกวาดล้างชาวโรฮิงญาจนทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 ราย ต้องอพยพไปสู่ชายแดนบังกลาเทศ

วอชิงตันโพสต์ระบุอีกว่าผู้ที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังผ่านหน้าฟีดของเฟสบุ๊คไม่ใช่แค่คนธรรมดาทั่วไปเท่านั้นแต่ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงและโฆษกของอองซานซูจี ในเรื่องนี้ แมธธิว สมิทธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ส องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บอกว่าเมียนมาร์กำลังเผชิญกับ "การโฆษณาชวนเชื่ออย่างน่ารังเกียจ" ในเรื่องการล้างเผ่าพันธุ์และเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ "ลุกลามดั่งไฟป่า" ผ่านเฟสบุ๊ค

รุจิกา บุธราจา โฆษกเฟสบุ๊คกล่าวว่าทางบริษัทกำลังพยายามจัดการเรื่องวาจาที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังหรือเฮทสปีชในเมียนมาร์ โดยมีทีมงานภาษาเมียนมาร์คอยสอดส่องโพสต์ต่างๆ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และต้องอาศัยผู้ใช้ในการช่วยระบุว่าเนื้อหาไหนที่อาจจะ "ละเมิดมาตรฐานชุมชน" โซเชียลมีเดียแห่งนี้ อย่างไรก็ตามบุธราจากล่าวว่าการนำเสนอข้อมูลเท็จ (misinformation) ในตัวมันเองจะไม่ถูกนำมาพิจารณานำเนื้อหาออกเว้นแต่เนื้อหาเหล่านั้นจะมีความอนาจารหรือมีการข่มขู่คุกคามอยู่ด้วย

ทั้งนี้ยังมีกรณีที่พระอะชิน วิระธุ พระรูปดังที่พูดในเชิงสร้างความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมในเมียนมาร์ก็อาศัยช่องทางเฟสบุ๊คในการให้คนติดตามหลังจากที่เขาถูกรัฐบาลสั่งแบนไม่ให้เทศน์ในที่สาธารณะเป็นเวลา 1 ปี วิระธุมักจะกล่าวเหยียดชาวมุสลิม โพสต์รูปศพแล้วอ้างว่าเป็นชาวพุทธที่ถูกมุสลิมสังหาร ขณะเดียวกันก็ไม่เคยยอมรับรู้ความโหดร้ายที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญเลย ถึงแม้ว่าเฟสบุ๊คจะเคยแถลงว่าเขาเคยจำกัดการเข้าถึงเฟสบุ๊คของวิระธุมาก่อนในอดีตและมีการนำเนื้อหาบางอย่งของเขาออกไปแต่ก็ไม่ได้บอกว่าทางเฟสบุ๊คมีการตรวจสอบเฮชสปีชอย่างสม่ำเสมอหรือไม่

เรื่องของพระวีระธุผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงทางศาสนาในพม่า
เผยนักข่าวพลเมืองชาวโรฮิงญาหายตัวเพียบ หวั่นฝีมือกองทัพเมียนมาร์
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: วิกฤตโรฮิงญาและการทูต

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่พระชาตินิยมรายอื่นใช้เฟสบุ๊คเป็นเครื่องมือในการเกณฑ์คน เช่น กรณีของธุ เสกตา (Thu Seikta) ผู้ที่มองว่าเฟสบุ๊คไม่ใช่แค่พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดแต่ยังใช้ขับเคลื่อนผู้ติดตามด้วย ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเขาเคยใช้โฆษณาการเดินขบวนนอกสถานทูตสหรัฐฯ ในย่างกุ้งเพื่อประท้วงที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้คำว่า "โรฮิงญา" และต่อมาก็ใช้เรียกอาสาสมัครไปข่มขู่คุกคามผู้ประกอบการชาวมุสลิมที่ค้าขายใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง

เสกตายังอ้างถึงปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาว่าเป็นปฏิบัติการที่ทหารเข้าไปสังหารกลุ่มติดอาวุธในนั้นเท่านั้น เขายังไม่เรียกชาวโรฮิงญาว่า "โรฮิงญา" แต่ยังเรียกว่าเป็น "พวกเบงกาลี" ซึ่งในบริบทนี้จัดเป็นคำที่มีความหมายทางลบสำหรับการใช้เรียกชาวโรฮิงญา เขายังกล่าวหาอีกว่า "พวกเบงกาลีเป็นกลุ่มคนที่อันตรายที่สุดในโลก" และพูดถึงการลี้ภัยหลังถูกกวาดล้างว่า "เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกนั้นกลับบ้านตัวเอง ถ้าพวกนั้นกลับมาอีก ก็จะมีความรุนแรงมากกว่านี้"

มีการตั้งข้อสังเกตจากวอชิงตันโพสต์ว่า ฝ่ายรัฐบาลและบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นคนของกองทัพมักจะเป็นผู้ที่เริ่มเผยแพร่ความเกลียดชังและเรียกชาวโรฮิงญาว่า "เบงกาลี" แม้ว่าชาวบังกลาเทศจะเคยเกี่ยวโยงกับเมียนมาร์ก่อนช่วงยุคอาณานิคมก็ตาม เช่น ในกรณีของเพจผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาร์มีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านไลก์มีการเปิดเผยผลการสอบสวนภายในที่เป็นข้ออ้างให้กองทัพพ้นจากข้อกล่าวหาในการสังหารชาวโรฮิงญา ในนั้นยังมีการระบุคำว่า "ผู้ก่อการร้ายเบงกาลี" ถึง 41 ครั้ง 

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่าชาวโรฮิงญาเผาหมู่บ้านตัวเองเพื่อโทษกองทัพวาทกรรมการเล่าเรื่องแบบนี้แพร่หลายไปทั่วและโฆษกของอองซานซูจีเองก็ร่วมกล่าวอ้างในเรื่องนี้ด้วยรวมถึงโพสต์ภาพในเฟสบุ๊คเพจของตัวเองที่มีคนพิสูจน์แล้วว่าเป็นภาพตัดต่อแต่ก็ยังคงปล่อยให้ภาพนั้นอยู่ต่อไป  

เดวิด มาธีสัน นักวิเคราะห์เมียนมาร์ที่เคยทำงานให้ฮิวแมนไรท์วอทช์วิจารณ์การใช้สื่อโซเชียลมีเดียเผยแพร่แบบของรัฐบาลเมียนมาร์ว่าเป็นความ "ไร้วุฒิภาวะในการบริหารประเทศ" และวิจารณ์กองทัพเมียนมาร์ว่า "เป็นทาสโซเชียลมีเดีย"

วอชิงตันโพสต์ยังได้สัมภาษณ์ชาวเมียนมาร์รายหนึ่งที่ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ เขาพูดถึงรูปการ์ตูนที่เป็นภาพองค์กรความร่วมมืออิสลามกับสหประชาชาติผลักม้าโทรจันที่เต็มไปด้วยกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาเข้ามาในเมียนมาร์ว่า "ดูการเมืองเกินไป" ขณะที่พูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับรูปทหารเมียนมาร์ที่เสียชีวิตเมื่อนานมาแล้วว่าเป็นข่าวปลอมอย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็ยอมรับว่าตัวเขาแยกแยะข่าวปลอมและข่าวจริงได้จากประสบการณ์ล้วนๆ และเมียนมาร์ก็ยังเพิ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลเมียนมาร์เองก็ดูจะพยายามควบคุมการแสดงออกบนสื่ออินเทอร์เน็ตด้วยการผ่านร่างกฎหมายใหม่ในรัฐสภาเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมากฎหมายดังกล่าวระบุให้มีการสอดส่อง "การใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารในทางที่ผิดอันอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อลักษณะนิสัยและจริยธรรมของเยาวชนและรบกวนความสงบเรียบร้อย"

รองประธานของเฟสบุ๊คระบุถึงปัญหาเฮทสปีชในเมียนมาร์โดยยอมรับว่าพวกเขามีปัญหาในการดำเนินนโยบายนี้อย่างถูกต้องเหมาะสมเพราะปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจบริบท ถ้าหากมีการตรวจสอบเพิ่มเติมก็อาจจะสามารถดำเนินนโยบายได้ถูกต้องเหมาะสมได้ ถือเป็นความท้าทายของพวกเขาในระยะยาว



เรียบเรียงจาก

Fake news on Facebook fans the flames of hate against the Rohingya in Burma, Washington Post, 08-12-2017
https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/fake-news-on-facebook-fans-the-flames-of-hate-against-the-rohingya-in-burma/2017/12/07/2c1fe830-ca1f-11e7-b506-8a10ed11ecf5_story.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น