โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชาวกาฬสินธุ์ถูกกั้นไม่ให้ยื่นหนังสือกับ ประยุทธ์ อีก

Posted: 14 Dec 2017 09:02 AM PST

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยชาวกาฬสินธุ์ผิดหวัง ถูกตำรวจกั้นไม่ให้ยื่นหนังสือขณะ ประยุทธ์ ลงพื้นที่ ขณะที่ชาวสกลนคร นักศึกษา นักกิจกรรม พลอยโดนด้วย ถูกติดตามถึงบ้าน กลัวไปยื่นหนังสือ

ภาพและคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที ่13 ธ.ค.ที่ผ่านมา จัดทำโดย เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

14 ธ.ค.2560 จากกรณีวานนี้ (13 ธ.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน โดยมีประชาชนในพื้นที่มารอต้อนรับ นั้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า มีรายงานว่า ประชาชนที่เตรียมเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนกับนายกฯ โดยตรง เช่น กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.หนองใหญ่ อ.หนองกุงศรี ที่เตรียมมาร้องเรียนปัญหาการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมแหล่งดงมูล ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ แต่ถูกกั้นไว้ไม่ให้เข้าไปในจุดที่นายกฯ จะเดินทางไป แล้วจัดให้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมเฉพาะกิจที่ ร.ร.บ้านม่วง แทน ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มฯ เปิดเผยว่า เขาสังเกตเห็นว่ามีชาวบ้านหลายกลุ่มที่ไปรอยื่นหนังสือ แต่ก็ไม่ได้พบนายกฯ ต้องไปยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมเฉพาะกิจเช่นกัน ส่วนกรณีของกลุ่มฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปติดตามสอบถามถึงการไปยื่นหนังสือในครั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา 

จันทร โพธิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ให้ข้อมูลเช่นกันว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ก่อนหน้านายกฯ มากาฬสินธุ์ 1 วัน ปลัดอำเภอวาริชภูมิ จ.สกลนคร พร้อมด้วยทหาร 1 นาย และเจ้าหน้าที่ ปปส. 2 นาย ขับรถฮัมวี่ไปพบเธอที่บ้าน พบแต่พ่อวัยชราที่นอนป่วยอยู่ จึงกลับออกไป และกลับมาอีกครั้งหลังจากนั้น 20 นาที จึงพบเธอ เจ้าหน้าที่ถามจันทรว่า จะไปไหนมั้ย ไม่อยากให้ไปไหน ปลูกผัก เลี้ยงหมูอยู่แบบนี้ดีแล้ว จันทรเปิดเผยว่า เธอรู้สึกไม่พอใจมาก เนื่องจากในเวลาไม่ถึง 30 วันนี้ เจ้าหน้าที่มาหาเธอ 3 ครั้งแล้ว ก่อนหน้านี้ก็กลัวว่า เธอและชาวบ้านในเครือข่ายฯ จะไปร่วมงาน 70 ปี สิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาติดตามถามถึง 2 ครั้ง ซึ่งตอนนั้นเธอก็แจ้งเจ้าหน้าที่แล้วว่า ถ้าจะมาหาอีกอย่าไปที่บ้าน ให้มาที่สวน เพราะพ่อไม่สบาย หากเห็นเจ้าหน้าที่ไปเกรงว่าอาการจะทรุดไปกว่านี้ แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังขับรถทหารเข้ามาถามหาเธอกับพ่อที่บ้าน พอเจอกันเธอถามว่า ทำไมมาที่บ้าน เขาบอกว่า ไปหาที่สวนผักไม่เจอ โทรติดต่อไม่ได้ เลยเข้ามาดูที่บ้าน "เราก็คิดในใจว่า เพื่อให้งานของคุณสำเร็จ พ่อเราจะเป็นยังไงก็ไม่สนใช่มั้ย"

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาประชุมร่วมกับ กรอ. ที่ จ.นครพนม เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 60 จันทร ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ติดตามว่า จะเคลื่อนไหวไปยื่นหนังสือหรือไม่

รายงานระบุอีกว่า ตัวแทนชาวบ้านจัดระเบียบ อ.ภูพาน จ.สกลนคร ซึ่งเคยไปยื่นหนังสือและนำเสนอปัญหา กรณีที่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ถูกดำเนินคดีและตัดฟันต้นยาง ก็มีทหารไปตามหาตัวและโทรศัพท์หา เพื่อถามว่า จะไปยื่นหนังสือกับนายกฯ ที่ จ.กาฬสินธุ์ หรือไม่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ได้รับข้อมูลว่า นักศึกษาและนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมีภูมิลำเนาอยู่ จ.กาฬสินธุ์ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโทรศัพท์ติดตาม รวมถึงไปหาที่บ้านเพื่อสอบถามความเคลื่อนไหวในวันที่นายกฯ ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เช่นเดียวกับที่ไปติดตามแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์และสกลนคร ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมาของนายกฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทูตสหรัฐฯ ด้านเกาหลีเหนือเยือนไทยหารือวิกฤตนิวเคลียร์โสมแดง

Posted: 14 Dec 2017 08:14 AM PST

โจเซฟ ยุน ผู้แทนพิเศษด้านนโยบายต่อเกาหลีเหนือของสหรัฐอเมริกาเยือนไทยเพื่อหารือเพิ่มแรงกดดันหลังเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธหลายรอบ ขณะที่สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่าทูตสหรัฐฯ จะ "หารือนอกรอบ" กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือที่มาประชุมเวที CSCAP ที่เชียงใหม่ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานยืนยันนี้

โจเซฟ ยุน (ซ้าย) ผู้แทนพิเศษด้านนโยบายต่อเกาหลีเหนือของสหรัฐอเมริกา เข้าพบวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.ต่างประเทศ (ขวา) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)

กรณีที่โจเซฟ ยุน ผู้แทนพิเศษด้านนโยบายต่อเกาหลีเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกำหนดเยือนเอเชียระหว่าง 11 ถึง 15 ธ.ค. โดยหลังจากเยือนญี่ปุ่น จะเยือนไทยระหว่าง 14-15 ธ.ค. โดยการเยือนทั้ง 2 ประเทศเพื่อหารือเพื่อ "เพิ่มแรงกดดัน" ภายหลังเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธข้ามทวีปเมื่อเดือนก่อนนั้น

ในรายงานของสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีเหนือ ซึ่งอ้างแหล่งข่าวด้านการทูตระบุว่า โจเซฟ ยุน จะหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ ซึ่งมีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมของสมาคมด้านความมั่นคงและความร่วมมือในเอเชีย-แปซิฟิก (CSCAP) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 ธ.ค. ที่เชียงใหม่ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของเกาหลีเหนือที่ไปประชุมที่เชียงใหม่มี 4 ราย รวมทั้งชอ จิน (Choe Jin) รองผู้อำนวยการสถาบันด้านสันติภาพและการปลดอาวุธ (Institute on peace and disarmament) ประจำกระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือด้วย โดยยอนฮัประบุว่าเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือจะพบปะกันนอกรอบ

ทั้งนี้ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีรอบล่าสุด เกิดขึ้นนับตั้งแต่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธแบบข้ามทวีปเมื่อเดือนก่อน และยังทำการทดสอบคล้ายกันนี้ 2 ครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

สำนักข่าวยอนฮัปรายงานด้วยว่า ขณะเดียวกันระหว่างวันที่ 11-12 ธ.ค. เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มีการร่วมฝึกซ้อมรบเพื่อต่อต้านขีปนาวุธ โดยทำการฝึกในชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของเกาหลีใต้ โดยการฝึกเช่นนี้เป็นการฝึกครั้งที่ 6 ในรอบ 2 ปีนี้

ส่วนความเคลื่อนไหวของผู้แทนพิเศษสหรัฐอเมริกานั้น เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศรายงานว่าวันนี้ (14 ธ.ค.) โจเซฟ ยุน ได้ขอพบหารือกับ วีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

ในการนี้ โจเซฟ ยุน แสดงความขอบคุณไทยที่ได้ปฏิบัติตามข้อมติของสหประชาชาติ และเน้นย้ำว่าสหรัฐอเมริกายังคงต้องการแก้ไขความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีผ่านการเจรจาโดยสันติวิธี ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศรายงานด้วยว่า วีระศักดิ์ได้กล่าวย้ำเจตนารมณ์ของไทยที่จะเห็นความสงบสุขกลับคืนสู่คาบสมุทรเกาหลี โดยที่ผ่านมา ไทยได้ปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งกำหนดมาตรการลงโทษต่อเกาหลีเหนือ และให้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการผลักดันให้เกาหลีเหนือหันกลับสู่กระบวนการเจรจา เพื่อลดปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและทำให้คาบสมุทรปลอดอาวุธนิวเคลียร์ อันจะนำไปสู่สันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

อนึ่งการเดินทางเยือนไทยของทูตพิเศษรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่สมาคม CSCAP จัดการประชุมครั้งที่ 11 ที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม

พิธีเปิดการประชุม CSCAP ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน จ.เชียงใหม่

โดยในรายงานของ สวท.เชียงใหม่ระบุว่า สมาคมดังกล่าวที่มีกลไกรูปแบบไม่เป็นทางการ มีการเชิญนักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐบาล ทั้งในฐานะส่วนตัวและบุคคลอื่นจำนวน 20 ประเทศ ได้อภิปรายปัญหาทางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกัน โดยส่งเสริมความมั่นคง เสถียรภาพ สันติภาพของภูมิภาค เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยการเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และความร่วมมือซึ่งกันและกันในการสนับสนุนวัตถุประสงค์ รวมถึงการทำงานของ ASEAN Regional Forum หรือ ARF ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 โดยครั้งนี้สมาคม CSCAP ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการจัดการประชุม ภายใต้กรอบแนวคิด "การสร้างความมั่นใจว่า จะมีวิวัฒนาการที่สงบสุขของความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก" (Ensuring The Peaceful Evolution of Regional Security Oder in the Asia Pacific)

อนึ่งบีบีซีไทยระบุว่า การประชุมดังกล่าว ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศเดินทางไปเปิดการประชุมและเป็นองค์ปาฐก มีผู้แทนจากเกาหลีเหนือ 4 คนเข้าร่วมรับฟังการประชุม แต่ไม่มีกำหนดขึ้นกล่าวในเวที ส่วนโจเซฟ ยุนไม่ได้เข้าร่วมเวทีนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การปฏิรูป(รีเซ็ท)สมาชิกพรรคการเมือง

Posted: 14 Dec 2017 07:59 AM PST


 

การปฏิรูปการเมือง สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านี้ มีเป้าหมายสำคัญคือการจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริง

ที่ผ่านๆมา เราใช้กระบวนการทางพรรคการเมือง เป็นตัวขับเคลื่อนงานทางการเมือง โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการตั้งตัวแทนเข้ามาทำงานการเมืองโดยผ่านระบบพรรคการเมือง ที่มีสมาชิกพรรคการเมือง เป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีประชาชนจำนวนมากมีชื่อไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยตัวเองไม่รู้ตัว และมิได้สมัครใจ แต่มาจากการเกณฑ์ ร้องขอ หรือ ได้ผลประโยชน์แล้วเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค โดยที่ตนเองจำไม่ได้หรือไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้ว

ดังนั้น ความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จำนวนมากจึงขาดความตั้งใจและขาดอุดมการณ์ในการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองดังกล่าว หรือถูกแอบอ้างนำชื่อของตนเองไปใช้ให้ปรากฏอยู่ในทะเบียนสมาชิกของพรรคการเมือง และยังมีอีกจำนวนมากที่มีชื่ออยู่หลายพรรคการเมือง เพราะ ไปรับเงินเขามาและเอาสำเนาบัตรประชาชนให้เขาไปสมัครโดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย

ซึ่งในเรื่องของ "การปฏิรูปสมาชิกพรรคการเมือง" จึงเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการเมือง ที่ให้การเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะการที่จะให้มีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ จึงต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วยความตั้งใจและสมัครใจอย่างแท้จริง

โดยสรุปแล้ว ตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 แม้จะมีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 140 ที่ให้พรรคการเมืองเดิม คงมีสมาชิกเดิมได้อยู่ต่อไป แต่ความเป็นสมาชิกเดิมของพรรคการเมืองดังกล่าว ยังคงต้องให้สถานะความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตรงความจริงโดยนายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งหัวหน้าพรรคการเมืองก็จะต้องมีหน้าที่ในการแจ้งต่อ กกต. ตามมาตรา 25 ซึ่งหากนายทะเบียนสมาชิกของพรรคการเมืองจัดทําทะเบียนสมาชิกอันเป็นเท็จ หรือพรรคการเมืองใด แอบอ้างว่าผู้ใดสมัครเป็นสมาชิกของตนตามมาตรา 25 วรรคสาม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดห้าปี" ตามมาตรา 107

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาความเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองของแต่ละพรรคกาเมืองข้างต้น และพรรคการเมืองเดิมที่ตั้งขึ้นมาก่อนแล้ว ก็คงต้องมีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามมาตรา 25 อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพรรคการเมืองทุกพรรค การรีเซ็ทสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มต้นไปพร้อมๆกันทุกพรรคการเมือง ก็น่าจะทำให้ประชาชนทั่วไปตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ก็จะเป็นการปฏิรูปการเมืองตามที่ตั้งใจไว้ และ ข้อมูลของนายทะเบียนสมาชิกของพรรคการเมือง ก็จะไม่ถูกกล่าวว่าทะเบียนสมาชิกเป็นเท็จ หรือพรรคการเมืองจะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าได้มีการแอบอ้างว่าผู้ใดสมัครเป็นสมาชิก อันเป็นความผิด ตามมาตรา 25 วรรคสาม ที่มาตรา 107 ได้กำหนดโทษไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดห้าปี/.

การรีเซ็ทหรือการปฏิรูปสมาชิกพรรคการเมือง จึงเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองทุกพรรค และยังสร้างมิติใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ก็จะแก้ปัญหาให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมได้/.


ที่มา:  Facebook เสรี สุวรรณภานนท์ 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การสานสะพานระหว่างข้อมูลกับมนุษย์: ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลประชากรโดยประชาชน

Posted: 14 Dec 2017 07:38 AM PST

 

ข้อมูลประชากรจำนวนมากถูกผลิต เผยแพร่ และไม่เผยแพร่โดยองค์กรใหญ่ๆ ของทั้งภาครัฐและที่ไม่ใช่ Newground เข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ไม่ยากจากการติดต่อศูนย์วิจัยต่างๆ โทรศัพท์สายตรงเข้าไปที่กระทรวงฯ เราอาจรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาปริทรรศน์และสร้างข้อเสนอเกี่ยวกับทิศทางประชากรได้เลยทันทีในปีนี้ แต่เราปฏิเสธที่จะทำแบบนั้นหนึ่งครั้งเป็นรายงานปิดจบหนึ่งปี เนื่องจากเราเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการกระจายข้อมูลที่สำคัญกว่า และถ้าหากยังไม่วิพากษ์และเสนอวิธีการเรียบเรียงรวมทั้งกระจายข้อมูลเสียก่อน การทำงานในปีต่อๆ ไปของทุกๆ หน่วยงานที่ต้องการข้อมูลก็จะยังคงยากเย็น และมีส่วนบกพร่องโดยใช่เหตุอีกเช่นเคย กลับกลายเป็นทำให้การทำรายงานข้อมูลภาพรวมประจำปีกลายเป็นเหมือนการขายผ้าเอาหน้ารอด พาเราวนกลับไปที่ปัญหาเก่าที่พัวพันมากับการพัฒนาบนข้อมูลชุดที่ไม่สมบูรณ์ทุกครั้งไป Newground ในบทนี้อยากจะเสนอให้เราก้าวเข้าไปสู่ปัญหาใหม่หลังจากเรามีข้อมูลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (อย่างน้อย ใกล้เคียงความสมบูรณ์ หรือมีความทะเยอทะยานที่จะสมบูรณ์) บนหน้าตักแล้ว แม้จะใช้เวลา แต่จะทำให้การพัฒนากลายเป็นปัญหาในตัวเองน้อยลง

เรามักจะได้ยินปัญหาบ่อยครั้งว่าข้อมูลที่เป็นตัวเลขเข้าไม่ถึงความเป็นมนุษย์ และข้อมูลจากฝั่งมนุษยศาสตร์ขาดความน่าเชื่อถือแบบวิทยาศาสตร์  คือวิทยาศาสตร์ก็กดขี่มนุษย์ ในขณะที่มนุษย์ก็ไม่สามารถสื่อสารกลับมาที่นโยบายการพัฒนาซึ่งมีรากฐานแบบวิทยาศาสตร์ได้ ข้อเขียนชิ้นนี้จะพยายามตั้งต้น Action Research หรือการ "วิจัยไปทำไป" เกี่ยวกับคำถามคร่าวๆ สามข้อ คือ 1. ทำอย่างไรให้ข้อมูลประชากรเข้าถึงได้มากขึ้น จนกลายเป็นข้อมูลสาธารณะ 2. ทำอย่างไรให้ข้อมูลนั้นมีความ "เป็นมนุษย์" หรือมีความละเอียดลออมากขึ้น มากกว่าเป็นเพียงแค่ตัวเลข ในขณะเดียวกัน ทำอย่างไรให้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์เกื้อหนุนการพัฒนาที่เป็นมนุษย์มากกว่าการพัฒนาที่กลายเป็นการยึดครองกดขี่ และ 3. ทำอย่างไรให้การคมนาคมของข้อมูลดำเนินไปได้ด้วยความร่วมมือของสาธารณชน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้แนวคิด Block Chain กับข้อมูลประชากร เพื่อลดการผูกขาดอำนาจทางข้อมูลไว้ที่องค์กรขนาดใหญ่ และทำให้ข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรของทุกคนมากขึ้น โดยเงื่อนไขใหญ่ของคำถามทั้งสามข้อนี้คือ ทำอย่างไรให้เริ่มทำได้ด้วยทรัพยากรที่ประชาชนและภาคีย่อยๆ ทั้งหลายมีอยู่แล้วในมือ และเข้าถึงได้อยู่แล้วในเวลานี้ เพื่อให้การเริ่มต้นและดำเนินการโดยประชาชนเป็นไปได้ ให้มันไม่กลายเป็นหีบห่อของนโยบายที่เสนอให้คนอื่นเอาไปทำแล้วลอยหายไปในอากาศ ทำอย่างไรให้เริ่มทำได้ทันที


ทำอย่างไรให้ข้อมูลประชากรเข้าถึงได้มากขึ้น

เราอยากเริ่มด้วยข้อเสนอที่ไม่ซับซ้อน แต่จะขอปรับรายละเอียดในข้อเสนอเพื่อทำให้มันเป็นไปได้มากขึ้น คือการสร้างพื้นที่แสดงผลข้อมูล (platform) ที่เผยแพร่การคมนาคมของข้อมูลดิบเกี่ยวกับประชากร ซึ่งโดยปกติแล้วข้อมูลเหล่านี้น่าจะต้องอยู่ในมือของภาครัฐ และถูกจัดระเบียบการเข้าถึงด้วยภาครัฐ แต่ปรากฏว่าองค์กรเช่น UNFPA ที่ตั้งใจจะทำรายงานเกี่ยวกับข้อมูลประชากรก็ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวและเรียบเรียงสานต่อได้โดยง่าย การจัดระเบียบข้อมูลจำเป็นต้องเกิดขึ้นทุกครั้งที่ผู้จัดทำรายงานจะจัดทำใหม่ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ Newground เห็นว่าประชาชน ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ฯลฯ สามารถเข้ามามีบทบาทลดทอนภาระของกันและกัน และสร้างการกระจายตัวของการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น

การสร้างพื้นที่แสดงผลข้อมูลดังกล่าว แทนที่จะเป็นการร้องเรียนให้เกิดผลจากภาครัฐ ควรจะเกิดจากความร่วมมือและรับผิดชอบโดยความร่วมมือของกลุ่มประชาชนที่ต้องการเข้าถึงข้อมูล หรือองค์กรย่อยภาคประชาสังคม ที่สร้างระบบการดึงข้อมูลที่เปิดเผยมาอยู่ร่วมกันบนพื้นที่กลาง ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวอาจประกอบด้วยสถิติทางการทะเบียนของกรมการปกครอง ข้อมูลประชากรจากการสำรวจโดยศูนย์หรือสำนักวิจัยต่างๆ (เช่น งานที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ คณะ/ภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับประชากรศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ) และข้อมูลจากส่วนการบริหารย่อยๆ ทั้งหมดนี้สมควรมีพื้นที่แสดงผลกลางที่ทำให้ผู้ต้องการเข้าถึงข้อมูลสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายผ่านการจัดการประเภทหลายรูปแบบ พื้นที่แสดงผลกลางที่ว่านี้ควรจะเกิดจากความร่วมมือของภาคีต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาครัฐ และเปิดเผยข้อมูลในฐานะที่มันควรเป็นทรพยากรของทุกคนเท่าๆ กัน แทนที่จะเป็นเพียงของแหล่งทุนใหญ่ หรือภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่ไม่ได้เข้าถึงได้โดยทุกคน

การรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลในเบื้องต้นเพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่แสดงผลข้อมูลนี้ไม่ใช่เพียงการคว้าเอาข้อมูลมากองรวมกัน เนื่องจากข้อมูลไหลบ่าอย่างรวดเร็ว หากเราทำงานหนักหนึ่งครั้งในการรวบรวมทั้งหมดเข้ามาไว้ด้วยกันและเผยแพร่หรือวิเคราะห์มัน ตื่นเช้ามารุ่งขึ้นของวันถัดไป เราก็ต้องทำทุกอย่างใหม่อีกครั้ง การรวบรวมและเรียบเรียงในที่นี้จึงเป็นการคว้าเอา source หรือแหล่งของข้อมูลที่เป็นชุมชน ประชาชน องค์กร ภาคประชาสังคม มาสร้างภารกิจร่วมกันในการออกแบบกลไกเพื่อจัดการการดึงข้อมูลเข้ามาอยู่บนส่วนกลางโดยอัตโนมัติ (หรืออาจสามารถป้อนได้สำหรับบางกรณี) และจัดการเรื่องการเผยแพร่ แลกเปลี่ยน และกระจายมันอีกทีหนึ่ง

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขออนุญาตเปรียบเทียบพื้นที่แสดงผลกลางนี้เป็น Social Network อย่างเช่น Facebook แต่พื้นที่แสดงผลกลางนี้จะไม่ใช่ Facebook ของปัจเจก แต่เป็น Facebook ขององค์กรข้อมูล และภาคประชาสังคมที่มีข้อมูล หรือกระทั่งปัจเจกที่มีข้อมูล โดยอาจมีลักษณะการหล่อเลี้ยงและดูแลการเติบโตของข้อมูลที่ใกล้เคียงกับ Wikipedia ที่ก็เป็น Social Network ของข้อมูลอยู่แล้วประมาณหนึ่ง คือมีการจัดประเภทละเอียดและการนิยายข้อมูลที่จำเป็นต้องออกแบบขึ้นใหม่ เมื่ออภิปรายมาในทิศทางนี้แล้วก็จะเห็นว่าการกระจายข้อมูลประชากรที่ Newground ฝันถึงนั้นน่าจะเป็นการกระจายข้อมูลบนเครือข่ายดิจิทัล และเป็นเครือข่ายดิจิทัลของข้อมูลที่หล่อเลี้ยงไปได้ด้วยคุณสมบัติแบบเครือข่ายสังคม (โดย อนึ่ง ไม่ได้นำ algorithm หรือชุดคำสั่งเกี่ยวกับ feed แบบเครือข่ายสังคม หรือชุดคำสั่งที่ใช้เพื่อการโฆษณาเข้ามาด้วย) และอาจมีการคิดถึงศูนย์กลางของแหล่งพลังงานในการกระจายข้อมูลในแบบกระจายศูนย์กลางออกไปด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างแผนผังประกอบที่ยกตัวอย่างขึ้นมาด้านล่างนี้ อาจใช้ได้กับทั้งแนวคิดของการป้อน และเข้าถึงข้อมูลโดยหน่วยงานหรือกลุ่มต่างๆ เองที่กระจายออกจากศูนย์กลาง และแนวคิดของการกระจายแหล่งพลังงานเพื่อพยุงให้เครือข่ายของข้อมูลอยู่ได้โดยไม่ได้พึ่งพาศูนย์กลางทางพลังงาน ในเบื้องต้น ผู้เขียนเห็นว่าการกระจายแบบ distributed นี้ อาจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วกว่าเมื่อพูดถึงการป้อนและเข้าถึงข้อมูล ส่วนเรื่องการกระจายแหล่งพลังงานเพื่อพยุงให้เครือข่ายของข้อมูลอยู่ได้ ยังคงเป็นรายละเอียดที่ต้องกล่าวถึงต่อไปด้วยองค์ความรู้ใเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งยังไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดลงไป และต้องค้นหาความเป็นไปได้ต่อ


(ภาพจาก Business Insider
http://www.businessinsider.com/what-is-blockchain-2016-3
ที่พูดถึง Block Chain ในการเงิน)

พื้นฐานของการตั้งต้นในทางข้อเสนอควรจะมีเท่านี้ คือเน้นการกระจายของแหล่งและการเข้าถึงข้อมูลบนพื้นที่กลางซึ่งเกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายเป็นหลัก แต่ผู้เขียนอยากจะเสนอเพิ่มไปถึงรูปลักษณ์ของการแสดงผลและความสะดวกในการเข้าถึงเพื่อใช้งานของมัน (User Interface, User Experience) และอยากให้อยู่ในข้อเสนอชิ้นนี้ตั้งแต่ต้นเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญใน "ปลายน้ำ" ของการนำเสนอข้อมูลว่าทั้งหมดที่ทำมาอาจสูญเปล่าถ้ามี UI และ UX ที่จำกัดรูปแบบอยู่เพียงรูปแบบข้อมูลที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญนั่งมองเท่านั้น กล่าวคือ เทียบได้กับว่า ถ้ากองทุนทุกกองทุนในประเทศนี้อาจจุดประสงค์ที่ดี มีทุนเพียบพร้อม มีการดำเนินการบริหารจัดการภายในที่เพียบพร้อม แต่สามารถที่ไม่มีผู้ขอรับทุนที่มีคุณภาพไปทำงานเพื่อสังคมได้ เพียงเพราะว่าผู้ขอรับทุนไม่ทราบว่าปุ่มเข้าไปดูรายละเอียดของทุนมันอยู่ตรงไหน ไม่ต่างจากปัญหาของแหล่งทุนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนกำลังประสบอยู่ คือผู้ขอทุนมีแต่หน้าเดิม และไม่มีทางออกใหม่ ในขณะที่กลุ่มที่กำลังทำงานพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง ไมไ่ด้เห็นแหล่งทุนเยาวชนอยู่เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะเข้าถึงทุน

โดยปกติแล้วข้อเสนอในเชิงนโยบายมักจะไม่ไปยุ่งย่ามกับปลายทางของการปฏิบัติ แต่หลักการที่ถูกต้องจำเป็นจะต้องตอบสนองด้วยการปฏิบัติที่สอดรับด้วยเสมอจึงจะเกิดผลเพื่อการพัฒนาได้ ประเทศไทยประกอบด้วยหลักการที่ถูกต้องเบื้องหลังหลายๆ นโยบายที่ปราศจากอรรถประโยชน์ ซ้ำอาจยังทำร้ายผู้ได้รับผลกระทบต่อนโยบายนั้น Newground และผู้เขียนเห็นว่ามันเป็นเพราะข้อเสนอหรือนโยบายประกาศแยกตัวเองออกจากภาคปฏิบัติตั้งแต่ต้น (แยกการพัฒนาออกจากการวิจัย แยกคนคิดนโยบายออกจากคนรับนโยบายไปทำ เป็นต้น) ฉะนั้นประตูแรกของการใช้งานพื้นที่กลางที่จะแสดงผลข้อมูลดังกล่าวจึงอาจจำเป็นที่จะต้องเริ่มคิดไปพร้อมๆ กับข้อเสนออื่น

ผู้เขียนไม่ต้องการให้พื้นที่แสดงผลข้อมูลประชากรไปตกหล่มการพัฒนาด้วยการแยกขั้วดังกล่าว จึงเสนอว่า เพื่อลดอุปสรรคทางภาษา ชนชั้น และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในการป้อนและเข้าถึงข้อมูล ข้อมูลประชากรที่รวบรวมและเรียบเรียงแล้ว ควรมีการเสนอข้อมูลเป็นแผนที่หรือแผนภาพ หรือเพิ่มเติมด้วยการออกแบบใดๆ ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลประชากรเหล่านี้จะสามารถกระทั่งให้ความบันเทิงอันน่าขบคิดกับเด็กคนหนึ่งที่กำลังเปิดดูสิ่งนี้ระหว่างที่เดินไปรอบๆ ชุมชนของเขาในเบื้องต้น และในขณะเดียวกัน นักวิจัยประชากรหรือนักบริหารนโยบายก็สามารถกดเข้าไปดูต่อเพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเพื่อประโยชน์แบบผู้ใหญ่ได้

พื้นที่แสดงผลข้อมูลดังกล่าวอาจมีลักษณะในเบื้องต้นที่เรียบง่าย เข้าถึงได้ง่าย และเมื่อต้องการข้อมูลที่ลึกลงไปเรื่อยๆ ประตูต่อๆ ไปก็อาจจะมีลักษณะที่ซับซ้อนขึ้นไปด้วยตามความจำเป็น และอาจมีการช่วยลดทอนความซับซ้อนในเชิงภาพลักษณ์ของข้อมูล เพื่อความง่ายต่อการใช้งานข้อมูล ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ข้อมูลในเชิงละเอียดก็จำเป็นจะต้องถูกรักษาไว้เพื่อการใช้งานที่ละเอียดยิ่งขึ้น แนวคิดเหล่านี้เป็นอาจความตั้งใจที่มีอยู่แล้วโดยพื้นฐานของนักวิจัยเพื่อการออกแบบภาพ (visual design) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเขาจะต้องมีส่วนในการทำ Action Research นี้ ตั้งแต่ต้น[1] ร่วมกับนักออกแบบในส่วนอื่นๆ และผู้ที่ทำหน้าที่พัฒนาข้อเสนอในเชิงนโยบายคนอื่นๆ เพื่อให้นักวิจัยเพื่อการออกแบบภาพ หรือนักออกแบบภาพ เห็นนัยสำคัญของข้อมูลแต่ละแบบเท่าๆ กับคนอื่นๆ ที่ทำงานเรื่องการจัดการข้อมูลมาตั้งแต่ต้น และสามารถออกแบบการแสดงผลของข้อมูลออกมาได้ตามเจตจำนงของข้อมูลนั้นๆ เพราะการแสดงผลของข้อมูลแทบจะเป็น "ทั้งหมด" ของความสำคัญในการสร้างความเข้าถึงได้ของข้อมูล และเป็นตัวบ่งชี้ความมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของข้อมูลสำหรับผู้ใช้งาน

แนวคิดการอยู่เพื่อรู้เท่าๆ กันตั้งแต่ต้นนี้มีอยู่แล้วในแวดวงของละครเวที หรือวิธีคิดของคณะละคร (อาจเป็นด้วยกระทั่งในลิเก หรืองิ้ว หรือการแสดงพื้นบ้านต่างๆ) ที่การซ้อมที่มีคุณภาพคือการซ้อมด้วยกัน นักดนตรีและนักแสดง รวมถีงนักออกแบบฉากและเสื้อผ้าไม่สามารถจะทำงานแยกจากกันและนำมาประกอบกันในวันแสดงได้ เพราะนั่นหมายถึงการแสดงที่ล้มเหลวในทัศนะของการพัฒนาหรือการแสดงสมัยใหม่ ในมุมหนึ่ง ศิลปะร่วมสมัยอาจมองว่าการแยกกันซ้อมและนำมารวมกันในภายหลังมันอาจให้ผลที่เป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจได้ แต่ผู้เขียนเสนอว่า การพัฒนาและการสร้างนโยบายในประเทศไทย ทดลอง "แยกกันซ้อม มาเจอกันวันแสดง" มามากพอจนเห็นผลแล้วว่ามันออกมาเป็นอะไร เป็นปัญหาทุกอย่างที่ทุกคนกำลังหมดหวัง หรือพยายามแก้ไขกันอยู่


ทำอย่างไรให้ข้อมูล "เป็นมนุษย์" และ "เพื่อมนุษย์"

ความคิดแบบหนึ่งที่ผู้เขียนอยากเรียกว่าเป็น Social Positivist (ปฏิฐานนิยมทางสังคม) หรือแบบที่มองมนุษย์เป็นวัตถุแห่งการศึกษาที่สามารถอธิบาย จัดการ และครอบครองได้ด้วยวิทยาศาสตร์[2] สามารถถูกศึกษา จำกัด ระบุตัวตนได้ด้วยวิธีแบบที่วิทยาศาสตร์ใช้กับวัตถุอื่นๆ ได้เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นตัวเลขและจัดหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ วิธีคิดแบบที่ว่านี้ฝังลึกเข้าไปผนวกกับศาสตร์ของการบริหารจัดการ การพัฒนา การสร้างนโยบาย และสร้างปัญหาที่มาพร้อมคุณูปการมากมายให้เราได้แก้ไขต่อ หนึ่งในปัญหาดังกล่าวที่ข้อเขียนชิ้นนี้ต้องการจะเน้นย้ำคือการแยกส่วนธรรมชาติของวัตถุ (object) ออกจากวัฒนธรรม (subject/culture) ทำให้เกิดความไม่สามารถที่จะเห็นลักษณะของสังคมที่ซับซ้อนมากไปกว่าที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยทางธรรมชาติของมนุษย์

สภาวะดังกล่าวในเบื้องต้นเกิดจากการแสดงผลของข้อมูลแต่ข้อมูลทางธรรมชาติ หรือที่เป็นแบบ "หลักฐานหนักแน่น" Hard Evidence[3] (เช่น อายุ เพศกำเนิด หรือกระทั่ง "ศาสนา" ที่ถูกแปลงให้กลายเป็นวัตถุวิสัยหรือข้อมูลที่เปลี่ยนไม่ได้) เพียงอย่างเดียว เมื่อการแยกส่วนดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับข้อมูล การดำเนินนโยบายหรือการพัฒนาต่างๆ จึงเป็นไปตามการชี้นำโดยข้อมูลนั้นๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเป็นการพัฒนาและสร้างนโยบายที่ละเลยมุมของวัฒนธรรม กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การบริหารดำเนินไปด้วยวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประชากรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โดยหลงลืมการถามหาการเชื่อมถึงข้อมูลและวิธีคิดที่อยู่ในมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ฯลฯ กล่าวอีกอย่างก็คือ "ไม่ได้ถามชาวบ้านเลย"

แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลภาคสนามจำนวนมากของมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เอง ก็กลับไม่ได้อยู่ในที่ทางของมัน คือไปใช้เพื่อโอบอุ้มหรือเห็นรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ของมนุษย์มากขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นไปเพื่อตอบสนองสิ่งเหล่านั้น พวกมันกลับนอนตายอยู่ในหอสมุดหรือวงสนทนาของนักวิชาการ ข้อมูลเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ (และถูกเชื่อ หรือถูกกระทำในแบบที่) ว่าไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้ถูกนำไป "ใช้" ต่อยอดทั้งในทางวิชาชีพและวิชาการ ถึงแม้มันจะเป็นข้อมูลที่ "เป็นมนุษย์" แต่มันกลับไม่ค่อยได้ช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันเท่าไรนัก ในขณะที่นักมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งก็ยอมรับในข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว และทำงานอย่าง "ล้อฟรี" คือ ยอมจำนนต่อสภาพของงานที่ไม่ต้องถูกเอาไปใช้เร็วๆ นี้ก็ได้

ผู้เขียนเห็นว่าการเยียวยาปัญหาของข้อมูลทั้งสองฝั่งสามารถทำได้ด้วยวิธีเดียวกัน โดยจะเล่าผ่านตัวอย่างที่จำได้คร่าวๆ จากผู้ร่วมประชุมที่ผู้เขียนไม่รู้จักคนหนึ่งในการประชุม การอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วย Actor-Network Theory (ANT)  ที่จัดโดย ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายละเอียดที่ผู้เขียนเล่าอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ใจความของเรื่องมีนัยสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะเสนออยู่

เรื่องก็คือมีชุมชนประมงชุมชนหนึ่งพบปัญหาปลาเลี้ยงเป็นโรค กรมการประมง[4] อยากที่จะแก้ไขปัญหานี้ กรมฯ ได้รับตัวเลขเกี่ยวกับชุมชนที่ทำการประมงได้ว่ามีกี่ครัวเรือน ภูมิประเทศเป็นอย่างไร น้ำน่าจะมีปริมาณเท่าไรและเป็นอย่างไร และข้อมูลทางชีววิทยาที่ระบุได้ว่าประชากรปลาในบริเวณนั้นเป็นโรคที่กรมฯ มียารักษาให้หายขาดได้ กรมฯ ได้จัดยาเพื่อให้ชาวประมงฉีดลงไปในน้ำ ในจำนวนที่พอดีกับทุกครัวเรือน ครอบคลุมประชากรของปลาด้วย ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด แต่ปรากฏว่าชุมชนนั้นมีความเชื่ออย่างแรงกล้าที่จะไม่ปล่อย "น้ำอื่น" หรือ "สารเคมี" ลงในแม่น้ำของพวกเขา (อาจเพราะมีเทพเจ้าท้องถิ่นเป็นเจ้าของอยู่ หรือเพราะหัวหน้าชุมชนไม่เชื่อในการใช้สารเคมี ไม่ไว้วางใจ ฯลฯ) เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้แล้ว กรมฯ จะทำอย่างไร? และจะทำอย่างไรบนเงื่อนไขที่การรณรงค์ป่าวประกาศว่าสารเคมีตัวนี้ดีจริงไม่สามารถทำได้สำเร็จ นี่คือเงื่อนไขและข้อจำกัดของข้อมูลแบบปฏิฐานนิยม คือมันไม่ได้มีเอาไว้เพื่อสื่อสารกับความซับซ้อนของมนุษย์ และล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติ

กรมฯ ตัดสินใจศึกษาเกี่ยวกับชุมชนนี้แบบนักมานุษยวิทยา หลังจากนั่งมองวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนและใช้ชีวิตอยู่ด้วยสักพักหนึ่งแล้ว กรมฯ มองเห็นว่าชุมชนนี้ถึงจะไม่ปล่อยน้ำอื่นลงในแม่น้ำ แต่พวกเขาให้อาหารเม็ดกับปลาที่พวกเขาเลี้ยง ผู้เขียนขอจบเรื่องง่ายๆ ว่า กรมฯ สามารถที่จะเห็นโอกาสในการนำยาที่มีไปผสมกับอาหารเม็ด อัดเม็ดให้ชุมชนใช้เลี้ยงปลาภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ข้อมูลกับชุมชนว่า เป็นอาหารปลาที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นยารักษาโรค อธิบายที่มาที่ไปของอาหารเม็ดดังกล่าวให้ชุมชนสามารถรู้สึกปลอดภัยว่ามันก็เป็นหนึ่งในผลิตผลของธรรมชาติที่จะคืนเข้าไปสู่ธรรมชาติ ปลาหายป่วย เทพเจ้าไม่โกรธ แฮปปี้ จบ

จะเห็นว่าสภาวะ "ปลาหายป่วย เทพเจ้าไม่โกรธ แฮปปี้ จบ" จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการประสานข้อมูลองค์ความรู้ทั้งจากวิถีที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เป็นปฏิฐานนิยมก็ตาม และจากวิถีที่เป็นศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มานุษยวิทยา เข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อมูลทั้งหมดจะเกิดพลังในการพัฒนาหรือการต่อยอดในทางต่างๆ ได้ก็ต่อเมื่อมันสามารถประสานกับข้อมูลอื่นๆ ขึ้นเป็นเครือข่าย เหมือนกับที่ฟุตบอลจะเกิดเป็นเกมได้ก็ต้องมีผู้เล่นมากกว่าหนึ่งคน แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาอาจไม่ได้ทำได้อย่างรวดเร็วและฉาบฉวยอย่างที่ผู้เขียนเล่าเรื่อง แต่รูปแบบของการสร้างสะพานให้วิทยาศาสตร์และมนุษย์ หรือนโยบายและชุมชนมาเจอกันได้นั้น มีอยู่ และคุ้มค่าที่จะค้นหา

ข้อเสนอเกี่ยวกับการทำให้ข้อมูลเป็นมนุษย์ และเพื่อมนุษย์นี้ ไม่ใช่การปฏิเสธข้อมูลตัวเลข หรือข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยน้ำเสียงสุดโต่งแบบเดียวกันกับรุ่นแรกๆ ของแนวคิด "หลังสมัยใหม่" แต่เป็นความพยายามที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ และใช้อย่าง "ไม่ปักใจ" (Skeptic) โดยใช้ร่วมกับข้อมูลจากฝั่งมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ ที่ผ่านการลงพื้นที่และสำรวจทบทวนวัฒนธรรมตามพื้นที่หรือเฉพาะกลุ่มต่างๆ มาแล้ว เมื่อเสนอมาในแนวทางนี้ก็จะเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นก็คือ การจับคู่ (pairing) หรือสานสะพาน (bridge) ระหว่างรูปแบบของข้อมูลจากหลากหลายฝั่ง และไม่ใช่เพียงสองขั้วระหว่างวิทยาศาสตร์กับมนุษยศาสตร์ แต่อาจรวมกว้างไปถึงข้อมูลใดๆ ที่เกิดจากการอธิบายตนเองของชุมชน หรือกลุ่มวัฒนธรรมนั้นๆ ด้วย ที่จำเป็นจะต้องถูกจับคู่เข้ากับข้อมูลมหภาค หรือข้อมูลวิทยาศาสตร์อื่นๆ

หากจะสรุปยอดเป็นข้อเสนอให้ชัดเจนก็คือ ข้อมูลความรู้มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ แทนที่จะไปอยู่ในหอจดหมายเหตุต่างๆ เพียงอย่างเดียว ควรมีการจัดทำการเผยแพร่ใหม่ ให้เชื่อมโยงกับข้อมูลประชากรในแต่ละพื้นที่ เช่น เมื่อผู้ต้องการใช้งานข้อมูลสืบค้นข้อมูลประชากรเกี่ยวกับหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดตราด นอกจากจะเห็นข้อมูลตัวเลขและข้อเท็จจริงแบบ Hard Evidence ต่างๆ แล้ว อาจยังสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เป็นงานศึกษา (โดยเฉพาะจำพวกวิทยานิพนธ์ ที่ควรจะมีประโยชน์กว่าที่เป็นอยู่) หรือคำอธิบายตนเอง หรือความคิดเห็นเล็กน้อย เกี่ยวกับกลุ่มวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตต่างๆ ในหมู่บ้านนั้นได้ด้วยพร้อมๆ กัน ภายในไม่กี่คลิ๊ก กระบวนการทั้งหมดของการสร้างเครือข่ายข้อมูลเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการนำเอาข้อมูลเก่าที่มีอยู่แล้วออกมาจัด และสร้างระบบที่พร้อมสำหรับการรองรับข้อมูลใหม่เพิ่มเติม การทำพื้นที่แสดงผลข้อมูลให้เป็นเช่นนี้อาจเป็นการชำระมลทินความ "ไม่มีประโยชน์" ของงานวิชาการมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ย้อนหลังไปได้อีกหลายปี และทำให้การลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับวิทยานิพนธ์ กลับกลายเป็นการลงทุนเพื่อสังคมได้จริง มากกว่าเป็นการลงทุนเพียงเพื่อความก้าวหน้าในทางวิชาชีพมากขึ้น ในขณะที่อำนาจของข้อมูลที่เป็นหลักฐานหนักแน่นก็จะถูกลดทอนลงให้เข้ากันได้กับมนุษย์มากขึ้น และกลายเป็นปัญหาน้อยลง ผู้เขียนตระหนักดีว่ามีความยากรออยู่เบื้องหน้าในการปรับใช้ข้อมูลแบบดังกล่าวเพื่อการพัฒนา แต่เป็นความยากที่จำเป็น และเป็นความยากที่ถูกละเลยมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ยกตัวอย่าง เช่นการรักษาโรคของปลานี้ คือกรณีที่ข้อมูลไม่สามารถเข้าถึงเพื่อช่วยเหลือได้ แต่ยังมีกรณีเลวร้ายอีกมากที่ข้อมูลเหล่านี้กลับกลายเป็นอำนาจในการใช้กดขี่ เช่น กรณีของชนกลุ่มน้อย กรณีของการกำหนดนโยบายอย่างสุดโต่งตามข้อมูลตัวเลข เช่น การกำหนดเขตรับน้ำท่วมในเขตที่มีประชาชนไม่มาก หรือกรกำหนดนโยบายทางการศึกษา ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาทางจริยธรรมที่ต้องผ่านการถกเถียงต่อไป ว่าเพียงการเข้าถึงและเข้าใจ หรือ "ความรู้" นั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะสร้างสังคมที่ดีขึ้น และมันจะไม่ถูกใช้เพื่อการเอาเปรียบกดขี่ได้อย่างไร ในวันเวลาที่ข้อมูลมีพลังมากขึ้น ทำอย่างไรให้พลังของมันไม่ถูกใช้ต่อต้านมนุษย์เอง


ทำอย่างไรให้ข้อมูลเป็นของสาธารณะ

แม้ในบทย่อยที่ผ่านมา อำนาจในการอธิบายข้อมูลยังคงอยู่ในมือขององค์กร ภาครัฐ และนักวิจัยหรือนักวิชาการ หรือยังคงเป็นกลุ่มชนชั้นนำ (elite) ของสังคม สาธารณชนยังขาดอำนาจในการ "นิยามตนเอง" หากเรานั่งคิดเรื่องนี้กันในยุคที่ข้อมูลยังไม่ถูกอพยพขึ้นมาบนเครือข่ายดิจิทัล มันคงเป็นความเป็นไปได้ยากที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่อำนาจในการนิยามตนเองโดยมีความน่าเชื่อถือของข้อมูลรองรับในยุคนี้อาจไม่ใช่เรื่องยากในแบบเดิมอีกต่อไป (แต่ยากอีกแบบหนึ่ง)

นอกจากพื้นที่แสดงผลข้อมูลจะทำการแสดงผลข้อมูลจากองค์กรต่างๆ แล้ว มันอาจทำหน้าที่เป็นผู้เปิดรับข้อมูลจากสาธารณะได้ โดยการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชุมชนหรือวัฒนธรรมสามารถค้นหาพื้นที่ทั้งทางกายภาพและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อกับตนเอง และทำการป้อนข้อมูลเกี่ยวกับตนเองลงไป โดยมีการนำเสนอของข้อมูลในระดับที่ไม่แบ่งแยกออกจากงานวิจัยและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ด้วยแนวคิดพื้นฐานที่ว่าข้อมูลใดๆ ควรถูกนำมาพิจารณาร่วมกัน และเท่าๆ กันเพื่อการต่อยอดในการศึกษาหรือกระทำการ

เราอาจไม่เคยทราบว่าบริษัทใหญ่ๆ ทั้งระดับโลก และระดับภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ มีข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับประชากร หรือเกี่ยวกับ "พวกเรา" มาโดยตลอด และพวกเขาใช้มันในการดำเนินการต่างๆ แต่ข้อมูลจำนวนมากดังกล่าวที่เป็นของสาธารณะ ของประชาชน กลับแทบจะไม่มีอยู่ คือข้อมูลมีอยู่ แต่เกิดการจำกัดการเข้าถึงข้อมูล เช่น ข้อมูลสุขภาพของประชากรในจังหวัด ไม่ได้อยู่ในมือของประชาชน แต่อยู่ในมือของบริษัทประกัน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่แทนที่มันจะอยู่ในมือบริษัทประกันเพียงอย่างเดียว เครือข่ายหรือภาคีประชาชนอาจสร้างข้อมูลสุขภาพขึ้นมาอีกชุดเพื่อใช้เป็นการต่อรองกับบริษัทประกันได้ และทำให้ "ราคา" ของข้อมูลที่เดิมทีต้องใช้ซื้อขายระหว่างองค์กรหรือหน่วยทุนใหญ่ๆ ลดลง และกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนจะเข้าไปหยิบใช้ได้มากขึ้น และเช่นเดียวกันในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่สุขภาพ การ "แบไพ่" ของข้อมูลที่มีอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นไปในทางที่สนับสนุนการพัฒนามากกว่าช่วยเหลือเพียงกลุ่มทุนใหญ่ หรือกลุ่มอำนาจเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่

โดยสรุปแล้ว พื้นที่การแสดงผลข้อมูลนี้ควรจะเป็นพื้นที่ที่รองรับการไหลบ่าของข้อมูลจากสี่แหล่งหลัก คือ 1. ทะเบียนราษฎร และข้อมูลประชากรจากภาครัฐ 2. ข้อมูลจำเพาะจากภาคเอกชนและองค์กรอิสระที่เปิดเผยได้ ที่แยกย่อยลงไป เช่น ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรท้องถิ่น เป็นต้น 3. ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย 4. การขอความร่วมมือข้อมูลจากประชาชนและภาคประชาสังคม

ผู้เขียนเสนอให้การเก็บเกี่ยวข้อมูลเริ่มจากแหล่งที่ 3 และ 4 เป็นหลัก โดยเริ่มจากขึ้นพื้นที่เล็กๆ ที่มั่นคงและแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชนนั้นๆ จะได้รับตอบแทนในทันที มันอาจสามารถสร้างผลเชิงประจักษ์ให้กับงานวิชาการทีถูกทิ้ง ถูกใช้เพื่อการพัฒนาได้ในเฉพาะพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้น อาจทำให้ชุมชนนั้นตระหนักถึงการโยกย้ายทรัพยากร การเอาเปรียบในเชิงข้อมูลของกลุ่มทุน หรือกระทั่งภาครัฐ หรือมองเห็นโอกาสอื่นๆ ในการเคลื่อนไหว (ทั้งในระดับปัจเจกและมากกว่านั้น) ได้มากขึ้น ข้อมูลที่เริ่มต้นดังกล่าวจึงจะเป็นข้อมูลของประชาชนก่อน ถูกตั้งต้นทิศทางของข้อมูลจากประชาชนก่อน ก่อนจะนำข้อมูลที่มีไปใช้ในการต่อรองเอาข้อมูลจากภาครัฐ และเอกชนเกี่ยวกับข้อมูลทางการอื่นๆ ที่ต้องการ โดยข้อมูลในแหล่งที่ 3 และ 4 อาจถูกจับคู่หรือสานสะพานในเบื้องต้นกับข้อมูลที่ภาครัฐเปิดเผยอยู่แล้ว เช่น จำนวนประชากร ข้อมูลอายุ เพศ อัตราการเกิดของประชากร เป็นต้น

แม้ Newground จะสนใจในการพัฒนาและแก้ปัญหาของคนรุ่นใหม่ แต่ Newground ที่ได้เคยวิพากษ์การแก้ปัญหาสังคมหลายปัญหาว่าได้ละเลยปัญหาแวดล้อมอื่นๆ ที่มีผลต่อปัญหานั้น ไม่สามารถจัดทำพื้นที่แสดงผลข้อมูลต่างๆ เพียงเพื่อ "คนรุ่นใหม่" หรือมุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่เพียงลำพังโดยไม่มองสิ่งอื่นได้ เนื่องเพราะรากฐานของปัญหาหลายปัญหา เช่นปัญหาทางข้อมูลที่ยกมานี้ เป็นปัญหาพื้นฐานที่ทุกคนมีร่วมกัน และหากแก้ไขปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับข้อมูลที่ว่านี้ได้ ชีวิตของ "คนรุ่นใหม่" รวมทั้ง "คนอื่นๆ" ก็อาจมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้มากขึ้น ร่วมกัน

         

 

เชิงอรรถ

[1] เพื่อการไม่เป็นสหวิทยาการแบบ "ฉีกวัตถุศึกษา แยกกันไปศึกษา แล้วเอากลับมาต่อใหม่ แล้วนั่งมองภาพรวมในขณะที่มันเสียหายแล้ว" อ้างถึงใน วริศ ลิขิตอนุสรณ์. 2559. สู่ภววิทยาการสื่อสารของมนุษย์ : กระบวนทัศน์. วารสารสหวิทยาการ 14 (2)

[2] วิทยาศาสตร์ของยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ หรือในกระแสธารก่อนความนิยมของความคิดแบบ "หลังสมัยใหม่" ที่วิทยาศาสตร์เองยังไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดของความเป็นมนุษย์ได้เท่าในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ในแง่นี้คือวิธีคิดที่เชื่ออย่างปักใจว่าทางออกของปัญหาหรือการจัดการต่างๆ มีทางเดียว คือทางที่ผ่านกระบวนการวัดผลแล้วโดยวิธี การชั่งตวงวัดและวิจัยที่เชื่อถือได้โดยจำกัด โดยผู้เชี่ยวชาญ หลักการที่พิสูจน์ได้เท่านั้น และทุกคนจะต้องถูกจัดการด้วยแนวคิดการแก้ไขที่ถูกผลิตออกมาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนทราบดีว่าวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน และในหลายแขนงกลุ่มก้อน ไม่ได้กำลังเป็นแบบนั้น

[3] ตามคำแปล Hard Evidence ของ จันทนี เจริญศรี (2559) ในหนังสือ ศาสตร์ อศาสตร์ : เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน โดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Paragraph Publishing

[4] หรืออาจจะเป็นกลุ่ม NGO ฯลฯ ในที่นี้ผู้เขียนจะใช้ "กรมการประมง" เพื่อให้เห็นภาพของการพัฒนาที่มีรากฐานมาจากการวางนโยบายและวิธีคิดแบบที่ใกล้เคียงการเข้าไปพัฒนาโดยสายตาของวิทยาศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผลแบบองค์กรจัดตั้ง ที่เข้าไปยุ่งย่ามกับความเป็นมนุษย์ เป็นชุมชน

 

หมายเหตุ: Newground Lab เป็นหน่วยทำงานความคิด วิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับทุกอย่างเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม วิชาการคนรุ่นใหม่โดยไม่จำกัดรูปแบบ ติดตามข่าวสารของ Newground องค์กรวิจัยและพัฒนา ได้ที่ www.newgroundforum.com สนใจร่วมพัฒนาการจัดการข้อมูลประชากรที่กล่าวถึงในบทความ ติดต่อ call.newground@gmail.com แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เขียน varisli.mail@gmail.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ถึงมหาตุลาการ

Posted: 14 Dec 2017 07:13 AM PST

คือตราชู ผู้ชี้ เสรีสิทธิ
คือศาลสถิต ยุติธรรม นำสมัย
คือหลัก ประกัน ประชาธิปไตย
มิใช่ อภิชน คนชั้นฟ้า !

ครุยที่สวม นั้นมา จากภาษี
รถที่ขี่ เงินใคร ให้หรูหรา
ข้าวที่กิน ดินที่ย่ำ บ้านงามตา
ล้วนแต่เงิน ของมหา ประชาชน

มิได้ อวตาร มาโปรดสัตว์
แต่เป็น "ลูกจ้างรัฐ" ตั้งแต่ต้น
ให้อำนาจ แล้วอย่าหลง ทนงตน
ว่าเป็นคน เหนือคน ชี้เป็น-ตาย

เสาหลัก ต้องเป็นหลัก อันศักดิ์สิทธิ์
ใช่ต้องลม เพียงนิด ก็ล้มหงาย
ยิ่งเสาสูง ใจต้องสูง เด่นท้าท้าย
ใช่ใจง่าย เห็นเงิน แล้วเออออ !

ต้องเปิด โลกทัศน์ อย่างชัดเจน
ใช่ซ่อนเร้น อ่านตำรา แต่ในหอ
ออกบัลลังค์ นั่งเพลิน คำเยินยอ
เลือกเหล่ากอ มากอง ห้องทำงาน

ตุลาการ คือหนึ่ง อธิปไตย
อันเป็นของ คนไทย ไพร่-ชาวบ้าน
มิใช่ของ ใครผู้หนึ่ง ซึ่งดักดาน
แต่เป็น "ตุลาการ" ประชาชน

ฉะนั้นพึง สำนึก มโนทัศน์
ใช่ด้านดัด มืดดับ ด้วยสับสน
เปื้อนราคิน กินสินบาท คาดสินบน
แล้วแบ่งคน แบ่งชั้น บัญชาชี้

เถิด"ตุลาการ" จงคิด อย่างอิสระ
รับภาระ อันหนักหนา ทำหน้าที่
หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี
ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย !

 

หมายเหตุ: เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2553 (แก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิม 3 กันยายน 2553)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.อนุมัติยกเว้นภาษีบริษัทร่วมโครงการประชารัฐ

Posted: 14 Dec 2017 04:52 AM PST

ครม. เห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ ให้บริษัทที่ได้มีการจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนโครงการ สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิ

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า วันดังกลาว ที่ทำเนียบรัฐบาล ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้มีการจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐหรือเพื่อดำเนินการภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2560 ถึง 31 ธ.ค. 2561

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ยังรายงานด้วยว่า ครม. มติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 2 ฉบับ มาตรการสร้างความเป็นกลางทางภาษีกรณีผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

โดยสาระสำคัญของ 1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 โดยเพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการรับฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องฝากเงินเป็นรายได้เดือนติดต่อกัน มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และรวมแล้วทั้งหมดต้องไม่เกิน 600,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

ขณะที่ ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 200 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 250 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามลำดับ ดังนี้ 2.1 เพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการ ฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักรที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินฝากประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีได้รับผลตอบแทนดังกล่าวและดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรประเภทออมทรัพย์ รวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

2.2 เพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักรที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับผลตอบแทนดังกล่าวทุกประเภทหรือดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทแล้วต้องไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี และได้รับผลตอบแทนดังกล่าวหรือดอกเบี้ยเงินฝากเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสูงอินโดฯ ปัดตกข้อเรียกร้องให้ 'เซ็กส์ของคนรักเพศเดียวกัน' ผิดกฎหมาย

Posted: 14 Dec 2017 02:29 AM PST

ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียตัดสินไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์นิยมแฟมิลีเลิฟอะไลอันซ์ (Family Love Alliance) ที่ต้องการให้การมีเพศสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันและเพศสัมพันธ์ของคนที่ไม่ได้แต่งงานผิดกฎหมาย

14 ธ.ค. 2560 ศาลสูงสุดของอินโดนีเซียตัดสินคัดค้านกลุ่มผู้เรียกร้องให้การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันและการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถือเป็นหนึ่งในชัยชนะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกล้อมกรอบในอินโดนีเซีย

ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียมีมติ 5 ต่อ 4 ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์นิยมแฟมิลีเลิฟอะไลอันซ์ (Family Love Alliance) ผู้พยายามผลักดันกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน แต่พวกเขาก็ต้องผิดหวังเมื่อศาลไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับพวกเขา

ก่อนหน้านี้องค์กรส่งเสริมด้านสิทธิฯ กังวลว่าศาลจะตัดสินเห็นชอบให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันและการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้สิทธิมนุษยชนก้าวถอยหลัง

ในคำตัดสินของศาลระบุว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะทำให้พฤติกรรมส่วนบุคคลเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และศาลก็ไม่มีหน้าที่ช่วงชิงอำนาจจากรัฐสภาด้วยการออกกฎหมายด้วย การตัดสินในครั้งนี้ถือเป็นที่สุด อย่างไรก็ตามมีผู้พิาพากษาอีก 4 รายที่ตัดสินในทำนองเห็นชอบกับการทำให้ความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันกับความสัมพันธ์นอกสมรสผิดกฎหมายโดยอ้างเรื่องศีลธรรม

ผู้พิพากษาซัลดี อีร์ซา กล่าวว่า การที่กลุ่มผู้เรียกร้องเหล่านี้ขอให้ศาลพิจารณากฎหมายใหม่เพราะพวกเขากลัวว่ารัฐสภาจะใช้เวลานานเกินไปในการพิจารณาหรือออกกฎหมายตามที่กลุ่มแฟมิลีเลิฟอะไลอันซ์ต้องการ

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมอยู่มากที่สุดในโลก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาชาว LGBT ในอินโดนีเซียต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านที่มาจากการยุยงของเจ้าหน้าที่รัฐสายอนุรักษ์นิยมและกลุ่มศาสนา โดยมีกรณีตำรวจบุกจับคนในเกย์คลับและปาร์ตี้ส่วนบุคคลโดยอ้างกฎหมายต่อต้านสื่อลามกอนาจาร


เรียบเรียงจาก

Top Indonesia court rejects attempt to criminalise gay sex, Bangkok Post, 14-12-2017
https://www.bangkokpost.com/news/asean/1378659/top-indonesia-court-rejects-attempt-to-criminalise-gay-sex

Top Indonesia court rejects attempt to criminalize gay sex, SF gate, 13-12-2017
http://www.sfgate.com/news/world/article/Top-Indonesia-court-rejects-attempt-to-12429296.php

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ชาวกระบี่สัญญาจะต้านแผนสร้างโรงไฟฟ้าของรัฐบาลทหารต่อไป

Posted: 14 Dec 2017 02:10 AM PST

เจ้าหน้าที่ยังคงผลักดันนโยบายพลังงานที่ไม่สนใจผลประโยชน์และสภาพแวดล้อมท้องถิ่น แม้การประท้วงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์จะต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้เพียงชั่วคราว


หมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เสนอให้ใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่


"รัฐบาลมีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ พี่น้องเขากลับไปก็พอใจแล้ว ก็ไปทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใหม่ อย่างน้อย 1 ปี หากผ่านจะได้ใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินช่วงปี 2566-2567" พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้า คสช. กล่าวเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ไม่นานหลังจากที่สัญญากับผู้ประท้วงโรงไฟฟ้าต่อต้านถ่านหิน ว่าจะระงับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราว

หลังจากการประท้วงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นโดยมีตัวแทนจากชุมชนท้องถิ่นเพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการ EIA และ EHIA ความต้องการพลังงานในภาคใต้ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ต่อปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐบาลยังคงผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ โดยแย้งว่าประเทศมีทางเลือกน้อย และต้องทำตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2558-2579 (พีดีพี 2015-2036) เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนในภูมิภาค
 

เสียงจากชุมชนท้องถิ่น

นายสุรศักดิ์ เวียละดี อายุ 39 ปี ชาวบ้านหมู่บ้านคลองราหู ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่กล่าวว่า "เป็นเรื่องตลก เราได้รับแจ้งเกี่ยวกับโครงการประมาณ 3 ปีที่แล้ว เมื่อมีการจัดให้มีการประชาพิจารณ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าในหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนและเริ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าหลังจากนั้น"

กฟผ. วางแผนว่าจะก่อสร้างท่าเรือใกล้กับหมู่บ้าน เพื่อรองรับเรือขนส่งถ่านหินมาใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือประมาณห้ากิโลเมตร เมื่อ พ.ศ. 2557 ชาวบ้านยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อคัดค้านท่าเรือดังกล่าว โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปากแม่น้ำกระบี่ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครอง พ.ศ. 2544 นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างไรก็ตามมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยหลังจากชาวบ้านยื่นคำร้อง


หมู่บ้านคลองเรือ

นายอับดุลลาห์ มะโตสด อายุ 57 ปี ชาวประมงในหมู่บ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านประมาณร้อยละ 70 เป็นชาวประมงขนาดเล็ก และกังวลเรื่องการก่อสร้างท่าเรือกันมาก "โครงการนี้จะมีผลต่อชีวิตพวกเราเพราะตั้งห่างจากหมู่บ้านในระยะที่เดินถึง"

นายอับดุลลาห์เสริมว่า รายงาน EIA เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ระบุว่าน้ำหนักเรือที่ขนส่งถ่านหินจะน้อยกว่า 3,000 ตัน ทว่าภายหลัง กฟผ. เปลี่ยนน้ำหนักเรือเป็น 10,000 ตัน "เรือมีขนาดใหญ่ แต่พื้นใต้ทะเลตรงจุดที่เรือจะแล่นไปยังท่าเรือตื้นเกินกว่าจะรองรับได้ และเจ้าหน้าที่ต้องขุดพื้นใต้ทะเล ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลด้วย"

โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซแห่งเก่าของจังหวัดกระบี่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านคลองเรือนัก โรงไฟฟ้าพลังก๊าซขนาด 340 เมกะวัตต์เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ที่ตำบลคลองขนาน ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มดำเนินการ ชาวบ้านก็ร้องเรียนเรื่องมลพิษจากโรงไฟฟ้ามาตลอด

นายไสว ใจเกลี้ยง วัย 68 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านทุ่งสกล ในตำบลเดียวกันกล่าวกับประชาไทว่า "โรงไฟฟ้าปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนลงคลองในท้องถิ่น หลายสิบปีนับตั้งแต่ที่โรงไฟฟ้ายังดำเนินการอยู่ ชาวบ้านจำนวนมากเป็นมะเร็งปอด"

"ชุมชนในท้องถิ่นจะไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างแน่นอน ชาวบ้านส่วนมากต่อต้านโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเรากำลังเผชิญกับรัฐบาลทหารที่สามารถใช้มาตรา 44 [ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว] เพื่อดำเนินโครงการต่อไป เราจึงไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร"

ชาวบ้านจากทั้งสองพื้นที่กล่าวว่า ไม่ว่าในกรณีใดก็จะไม่แลกวิถีชีวิตของตนกับความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเห็นพ้องกันว่าหากหน่วยงานต้องการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ชาวบ้านจะไม่คัดค้านโครงการนี้


สุรศักดิ์ แวละดี(ซ้าย) อับดุลลาห์ มะโตสด (ขวา)

การตอบสนองความต้องการด้านพลังงานจากศักยภาพในท้องถิ่น

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยกล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะว่าภาคใต้สามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเป็นไปตามแผนพีดีพี 2015-36

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการซื้อพลังงานจากมาเลเซีย อย่างไรก็ตามแผนพีดีพี 2015-36 กำหนดให้การซื้อพลังงานไม่เกินร้อยละ 10-15 ในช่วง พ.ศ. 2569 และไม่เกินร้อยละ 15-20 ในช่วง พ.ศ. 2579

กฟผ. ประกาศว่า การนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นทางเลือกสุดท้าย นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษก กฟผ.กล่าวกับสื่อมวลชนว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับมาเลเซียเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อบังคับของประเทศมาเลเซีย ซึ่งแตกต่างจากกรณีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่ประเทศไทยกำลังซื้อพลังงานอยู่

เนื่องจากภาคใต้มีแสงแดดและเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุด ประชาชนในจังหวัดกระบี่หลายคนกล่าวว่า รัฐบาลควรเลือกใช้พลังงานทางเลือกทดแทนพลังงานจากถ่านหิน

นายอธิราช ดันดี อายุ 52 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มกล่าวว่า ในจังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละห้าต่อปี ดังนั้นจังหวัดสามารถพึ่งพาพลังงานชีวมวลได้



ชาวประมงพื้นบ้านในหมู่บ้านคลองเรือ
 

โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มจะสร้างขยะจำนวนมาก ซึ่งอาจใช้เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการผลิตพลังงาน อธิราชกล่าวว่า กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากของเสียในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม หรือน้ำทิ้งจากการผลิตน้ำมันปาล์ม อยู่ที่ประมาณ 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 100-300 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ปีหากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันปาล์มได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

เขากล่าวว่า ช่วงกลางปี พ.ศ. 2558 กฟผ. หยุดซื้อไฟฟ้าจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม บังคับให้ผู้ประกอบการจำนวนมากหยุดการผลิตพลังงานและบางรายล้มละลาย เนื่องจากได้ลงทุนเงินเป็นหลายล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า

เจ้าหน้าที่เชื่อว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมีปัญหาด้านความเสถียร โดยลืมไปว่าการซื้อพลังงานจากพืชเหล่านี้เป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาค เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในจังหวัดมีของเหลือทิ้งจากการผลิตได้ประมาณ 10,000 ตันทุกวัน "ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันปาล์มกล่าว "ขณะนี้เจ้าหน้าที่หยุดซื้อพลังงานจากโรงงานเหล่านี้ เจ้าของโรงงานต้องขายเปลือกเมล็ดปาล์มไปยังโรงไฟฟ้าในจังหวัดอื่นๆ"

เขากล่าวว่า กฟผ. อ้างว่าไฟฟ้าจากปาล์มน้ำมันที่ส่งไปยังโครงข่ายไฟฟ้าส่วนกลางไม่เสถียร ส่งผลให้ กฟผ. ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่ปัญหาส่วนใหญ่มาจากสายส่งไฟฟ้าเก่าที่ต้องปรับปรุงและสัญญาซื้อระหว่างผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ากับ กฟผ. ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ปัญหาไฟฟ้าดับเป็นเรื่องธรรมดาบนเกาะลันตานอกชายฝั่งของจังหวัดกระบี่ ผู้ประกอบการบางรายได้ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยตัวเองแทนการพึ่งพารัฐบาล

นางขวัญกนก กสิรวัฒน์ เจ้าของร้านขายของชำลันตามาร์ท ร้านค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะลันตา ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขนาด 48 กิโลวัตต์บนหลังคาร้านเมื่อสองปีก่อน นางขวัญกนกกว่าวว่า "กฟผ. ไม่ได้สร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่นี่ ไฟจึงดับบ่อยๆ แต่ตอนนี้ฉันไม่ต้องกังวลเรื่องไฟฟ้ามากนัก" "ในช่วงไฮซีซั่น จะต้องเปิดตู้เย็นทุกวันค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาทต่อเดือน ตอนนี้ตั้งเเต่ติดแผงโซลาร์เซลล์ ค่าไฟฟ้าลดลงอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท"

นางขวัญกนกกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เพื่อนๆ เเละตัวเธอเองตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมการใช้แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่เกาะ เนื่องจากตอนนี้เธอมีประสบการณ์แล้ว เมื่อถามว่าขวัญกนกคิดอย่างไรเรื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน เธอกล่าวว่า "โรงไฟฟ้าจะนำความตายมาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเกาะและตัวจังหวัดกระบี่ ฉันก็ไม่รู้ว่าพวกเขากำลังคิดอะไรอยู่"


ชายหาดใกล้กับพื้นที่เสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าและท่าเรือ
 

การพัฒนาจังหวัด VS การพัฒนาภาคใต้

เจ้าหน้าที่กล่าวว่าเนื่องจากภาคใต้ยังคงพึ่งพากระแสไฟฟ้าที่ส่งมาจากภาคกลาง การขาดความมั่นคงด้านพลังงานจำกัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล อดีตนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่มีข้อสงสัยว่าชาวกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงต้องการอะไรจากการพัฒนา "ตามแผนงานที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอดีตผู้บริหารจังหวัดเคยวางแผนไว้ด้วยกัน กระบี่เป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รุ่งเรือง สามารถพัฒนาจังหวัดได้ในรูปแบบที่ไม่ควรละเลยสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น จังหวัดนี้อาจกลายเป็นต้นแบบที่ภาคธุรกิจดำเนินการร่วมกันเพื่อพยายามปกป้องสิ่งแวดล้อมก็ได้"

นายอมฤตเสริมว่า รัฐบาลทหารกล่าวว่า กลุ่มประชาสังคมบางกลุ่มกำลังยุให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล แต่คนส่วนใหญ่ต่างต่อต้านแผนการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างจริงจังเพราะเห็นว่าโครงการขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ก็เห็นด้วยกับนายอมฤต นายกิตติชัยกล่าวกับประชาไทว่า "ผมคิดว่ารัฐบาลลืมว่าการลงทุนในพลังงานสีเขียว ก็เป็นเส้นทางสู่การพัฒนาและกระบี่ก็มีทรัพยากรสำหรับพลังงานสีเขียว"

แนวโน้มด้านพลังงานทั่วโลกในขณะนี้คือการกระจายอำนาจการผลิตพลังงาน และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปพร้อมกัน แต่รัฐบาลดูเหมือนจะทำสิ่งที่ตรงกันข้าม "ผมไม่ควรพูดมากขนาดนี้ แต่กระบี่เป็นบ้านของผมและเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในด้านทะเลใสและชายหาด ใครจะต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกังหันความร้อนขนาดใหญ่และเรือขนาดใหญ่ที่ขนส่งถ่านหินแถวนี้"

 


โรงไฟฟ้าพลังความร้อนเก่า ที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซ ที่คลองขนาน จังหวัดกระบี่

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/english/node/7437

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

UN รับรอง 12 ธ.ค.เป็น 'วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล' ตามที่ไทยและกลุ่ม FPGH เสนอแล้ว

Posted: 14 Dec 2017 01:42 AM PST

สมัชชาสหประชาชาติ มีมติรับรองให้วันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปีเป็น 'วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล' หรือ UHC Day ตามที่ไทยและกลุ่ม FPGH เสนอแล้ว

14 ธ.ค.2560 รายงานจากกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าที่ประชุมเต็มคณะของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 72 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2560 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรองข้อมติให้วันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปีเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลหรือ UHC Day (International Universal Health Coverage Day) ซึ่งข้อมติดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ได้จากการหารือระดับรัฐมนตรีกลุ่มริเริ่มนโยบายด้านสุขภาพ (Foreign Policy and Global Health Initiative) (FPGH) ที่ไทยโดย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการหารือระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 72 ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือน ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนของประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ ได้แก่ บราซิล ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย นอร์เวย์ เซเนกัล แอฟริกาเข้าร่วม ซึ่งไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม FPGH

รายงานข่าวระบุด้วยว่า จากการที่สหประชาชาติรับรองข้อเสนอมติดังกล่าว จะทำให้ในปี ค.ศ. 2019 หรือ พ.ศ.2562 จะมีการจัดประชุมHigh-level meeting on UHC หรือการประชุมผู้บริหารระดับสูงของประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรี หรือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามข้อเสนอของ Foreign Policy and Global Health Initiative ด้วย

นอกจากนั้น ที่ประชุมเต็มคณะของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 72 ยังได้เชิญชวนทุกประเทศสมาชิก ให้ความสำคัญกับวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา การให้ความรู้และจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและการบรรลุหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าเพื่อประชาชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ ตั้ง พล.อ.หญิง สุทิดา เป็น รอง ผบ.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย รักษาพระองค์

Posted: 14 Dec 2017 01:27 AM PST

14 ธ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ทีผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ให้ดํารงตําแหน่ง ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ให้ดํารงตําแหน่ง อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหาร ราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 มาตรา 13 และมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกา จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ยศทหาร พุทธศักราช 2479 จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ให้ดํารงตําแหน่ง จํานวน 1 ราย ดังนี้ พล.อ.หญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ตําแหน่ง รองสมุหราชองครักษ์ กรมราชองครักษ์ (อัตรา น.9) ดํารงตําแหน่ง รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย รักษาพระองค์ (อัตรา พล.อ.พิเศษ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. พ.ศ. 2560 ประกาศ ณ วันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คารวาลัย ผู้เขียน ‘ถนนไปสู่ก้อนเมฆ’: ธัญญา ผลอนันต์ [28 มิถุนายน 1946 - 13 ธันวาคม 2017]

Posted: 14 Dec 2017 12:52 AM PST

เวียง-วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการ สนพ.สามัญชน เคยเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ไว้เมื่อหลายปีก่อน ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ซ้ำเพื่อรำลึกถึง ธัญญา ผลอนันต์ ในโอกาสนี้ 



ภาพ: Anuchit Nimtalung


โดยย่นย่อ อาจบอกได้ว่า 'ถนนไปสู่ก้อนเมฆ' คือเรื่องราวของหนุ่มไทยวัยยี่สิบสามปีคนหนึ่ง ได้ตัดสินใจหลบหนีความเหงาเร้ารุมจากบ้านเกิดเมืองนอน ไปรอนแรมในต่างแดนเป็นเวลาประมาณสองเดือน

ธัญญา ผลอนันต์ เปิดฉากแรกแห่งการเดินทางของ 'เขา' ให้เราเห็นด้วยภาพรถไฟสายปารีส-เจนีวาเคลื่อนเข้าจอดเทียบชานชาลาสถานีจนสงบนิ่ง ภายหลังจากใช้เวลาอยู่ในดินแดนสวิตเซอร์แลนด์ไม่ถึงสามสิบชั่วโมง จึงมุ่งหน้าสู่มิลาน, เจนัว, โรม และอีกหลายเมืองในประเทศอิตาลี ก่อนเข้ากรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ แล้วต่อไปยังตุรกี กระทั่งเข้าสู่อัฟกานิสถานในที่สุด

ตลอดการเดินทางไปบนเส้นทางข้างต้นนี้ อาจกล่าวได้ว่า 'เขา' อาศัยโบกรถแทบทั้งหมด!

วิธีเดินทางดังกล่าว แน่นอนว่าผู้เดินทางย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะกำหนดความเป็นไปได้เลย หากขึ้นอยู่กับโชคชะตาหรือน้ำใจไมตรีของผู้อื่นมากกว่า ต่อเรื่องนี้ ชายหนุ่มนักเดินทางชาวเยอรมันคนหนึ่งได้รำพึงเอาไว้อย่างรวบรัดชัดเจนแล้วว่า "มันเป็นการท่องไปในทะเลแห่งความไม่แน่นอน เราไม่มีวันรู้ว่ากลางคืนของแต่ละวัน เราจะต้องค้างที่เมืองใด เราไม่มีสูตรว่ารถคันที่เท่าไรจะรับเรา เราไม่มีวันเดาได้ว่าคนที่รับเราจะเป็นคนชนิดไหน"

ทั้งที่เป็นเช่นนั้น ทำไมคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งจึงพิสมัยวิธีการเดินทางอย่างนี้อีก

แม้ผู้เขียนจะมิได้ให้เหตุผลในกรณีของ 'เขา' เอาไว้ ทว่าเมื่อพิจารณาความในใจของหนุ่มชาวสเปนที่ได้สารภาพเอาไว้ในเวลาเดียวกันกับเพื่อนเยอรมันของเขา ว่า "บางครั้งน่าเบื่อ บางครั้งเหงาบรรลัย บางครั้งก็สนุกกับมันอย่างไม่เคยสนุกอย่างนั้นมาเลยในชีวิต"

นั่นอาจถือเป็นถ้อยอธิบายที่ตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

พ้นไปจากกรรมวิธีเดินทางดังกล่าว สิ่งซึ่งชวนให้ใคร่ครวญคิดต่อ เห็นจะอยู่ตรงรายละเอียดที่ว่า การเดินทางครั้งนี้ของ 'เขา' แท้แล้วหาได้ดำเนินไปตามแบบฉบับของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ซึ่งนิยมไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ แม้บางที่บางแห่ง 'เขา' จะไม่พลาดโอกาสไปเยือน กระนั้นน้ำเสียงและท่าทีที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ก็ปรากฏในลักษณะเชิงรายงานแบบผ่านๆ มากกว่าเน้นย้ำให้จำต้องตระหนัก ว่านั่นเป็นเรื่องสลักสำคัญ

พูดกันอีกแบบก็คือ ธัญญา ผลอนันต์ ไม่ได้ต้องการชักชวนให้ใครไปเยือนสถานที่ใด หรือแจกแจงความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของสถานที่นั้นๆ แต่ประการใด

เขาใช้วิธีบรรยายสภาพและบรรยากาศในแต่ละที่แต่ละแห่งด้วยภาษาเรียบง่ายและกระชับ ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เผยให้รับรู้ภาวะความรู้สึกของชายหนุ่มที่มีต่อสิ่งต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ โดยอาศัยการปะทะเผชิญสภาพในยามนั้นอันสะกิดให้หวนรำลึกนึกถึงเรื่องราวหนหลัง สมทบกับภาพฝันยามค่ำคืนไม่ต่ำกว่าสองครั้ง ทั้งหมดนี้ยิ่งขับเน้นทัศนคติที่มีต่อโลกต่อชีวิตและสังคมของคนหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งปฎิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่โดยตรง

คงไม่เกินเลยแต่อย่างใด หากจะกล่าวว่า 'ถนนไปสู่ก้อนเมฆ' มิใช่เป็นเพียงบันทึกเดินทางสามัญ ด้วยว่าเนื้อสารของมันมีพลังในระดับซึมลึก ชวนให้อดนึกทบทวนตัวเองไปด้วยไม่ได้

การเดินทางด้วยวิธี 'โบกรถ' โดยนัยแล้ว ก็คือการเชิดชูเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ตลอดจนเป็นการประกาศถึงความเสมอภาคของมนุษย์อยู่ในที ยังไม่นับไปถึงโอกาสที่จะได้เรียนรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมสายพันธุ์แปลกหน้า อันมีนัยแห่งการเป็น 'ขบถ' ต่อความเหลวไหลในกรณีชนชั้นที่คนรุ่นเก่าพากันยึดถือสืบมารุ่นแล้วรุ่นเล่าอีกด้วย

'ถนนไปสู่ก้อนเมฆ' ปรารภรำพึงถึงปัญหาสำคัญๆ ของยุคสมัยเอาไว้หลายประเด็น ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่าเป็นผลจากการที่ผู้เขียนเติบโตขึ้นมาในยุคสงครามเวียดนามยังระอุคุอยู่ ประกอบกับขบวนบุปผาชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีแนวคิดต่อต้านสงครามและเทิดทูนสันติ-เสรีภาพกำลังมีบทบาทเข้มข้นในช่วงนั้น ในฐานะคนหนุ่มผู้มีจิตใจรักความเป็นธรรม ย่อมไม่แปลกที่ธัญญา ผลอนันต์ จะสมาทานแนวคิดดังกล่าวมาแทรกไว้ในผลงานเล่มแรกของเขาอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง กระทั่งควรได้รับความชื่นชมด้วยซ้ำในแง่รู้จักสกัดเอาแต่เฉพาะแก่นแท้แห่งอุดมคติที่นับเป็นกระแสหนึ่งในด้านดีของยุคสมัยตน มาเผยแพร่บอกต่อให้คนรุ่นหลังได้ซึมซับรับรู้ อาทิ การตั้งข้อสงสัยต่อแบบแผนชีวิตที่นิยมถือครองกรรมสิทธิ์ทั้งปวงโดยไม่เลือกวิธี อีกทั้งมุ่งเน้นผลกำไรและกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติอย่างเห็นแก่ตัว รวมถึงการใช้อำนาจบาตรใหญ่ไปรุกรานรังแกข่มเหงผู้ด้อยกว่าของมหาอำนาจอย่างอเมริกา ฯลฯ

กล่าวในแง่รูปแบบการเขียน 'ถนนไปสู่ก้อนเมฆ' ยังได้รับการยอมรับอีกว่าเป็นผลงานเล่มแรกๆ ในประวัติวรรณกรรมไทยที่ละลายเส้นแบ่งระหว่างงานเรื่องแต่งกับสารคดีเข้าด้วยกัน กลายเป็นวรรณกรรมแนวใหม่ ที่มีลักษณะเฉพาะตัวโดดเด่นเล่มหนึ่งตราบถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น สิ่งซึ่งถือเป็นวิญญาณสำคัญสูงสุดของหนังสือเล่มนี้ชนิดไม่มีวันจาง นั่นคือแรงเร้าในแบบเหงาๆ ที่ทำให้เรามักต้องละอายใจ โดยเฉพาะในยามหมกมุ่นคร่นคิดแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว

หนังสือบางๆ เล่มหนึ่ง สามารถกระตุ้นเตือนคนอ่านให้รู้จักไตร่ตรอง มองโลกมองชีวิตได้ทั้งกว้างและลึกถึงเพียงนี้ ไฉนเลยไม่นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับนักเขียนคนหนึ่ง!

 

หมายเหตุ: บางส่วนจากเล่ม | 'สำหรับเขา เมื่อรู้ว่าการเดินทางสิ้นสุด ก็เห็นว่าตลอดยี่สิบสามปีแห่งการเดินทางที่เริ่มด้วยการแหวกว่ายแข่งกับเชื้ออสุจิอื่น มาจนถึงก้อนเมฆนั้น มีเพียงช่วงสองเดือนหลังเท่านั้นที่เขามีชีวิตอยู่ ชีวิตที่เป็นของเขาเอง เขาดีใจที่อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่ง เขาได้มีโอกาสเช่นนั้น'


ที่มา: FacebookVieng-Vachira Buason

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสอบของกองทัพกรณี ‘น้องเมย’ เสร็จแล้ว ส่วนจะแถลงข่าวหรือไม่ยังไม่ทราบ

Posted: 14 Dec 2017 12:37 AM PST

ประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงน้องเมย เผย ส่งผลการสอบสวนให้ผบ.ทสส.แล้ว แต่จะมีการแถลงข่าวหรือไม่ยังไม่ทราบ ชี้กรณีที่ผลการสอบสวนอาจไม่ตรงกับผลชันสูตรของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ขึ้นอยู่กับญาติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

14 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการเสียชีวิตนักเรียนเตรียมทหาร(นตท.) ภัคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย เปิดเผยว่า เย็นวานนี้ (13ธ.ค.) ได้ส่งผลการสอบสวนให้พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะชี้แจงให้สังคมทราบหรือไม่ และจะเชิญผู้ปกครองนตท.ภัคพงศ์มารับทราบผลการสอบสวนหรือไม่ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พล.อ.ธารไชยยันต์ปฏิบัติราชการอยู่ประเทศสิงคโปร์ จะกลับมาในวันพรุ่งนี้(15 ธ.ค.)

"การจะแถลงผลการสอบสวนหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระแสสังคมในขณะนี้ แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างความกระจ่างให้กับสังคมและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้สังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และขณะนี้ไม่สามารถบอกผลการสอบสวนได้ ต้องรอให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเปิดเผยได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังสงสัยในรายละเอียดของการสอบสวนเรื่องใด ต้องกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นประเด็นใหม่ขึ้นมาอีก" พล.อ.อ.ชวรัตน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ผลการสอบสวนของคณะกรรมการอาจไม่ตรงกับการชันสูตรของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พล.อ.อ.ชวรัตน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับผู้ปกครองของนักเรียนเตรียมทหารภัคพงศ์จะดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมทั้งเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตและผู้รับผิดชอบในกรณีที่เกิดขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: สาธารณสมบัติกับความขัดแย้ง

Posted: 14 Dec 2017 12:33 AM PST

 

ช้างปัจจัยนาเคนทร์เป็นสาธารณสมบัติอย่างแน่นอน เพราะช้างเป็นเหตุให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล จึงมีประโยชน์แก่ชาวนครสีพีทุกคน ถ้าเปรียบเป็นปัจจุบัน ช้างปัจจัยนาเคนทร์คือระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ

จู่ๆ พระเวสสันดรยกช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้ชาวกลิงค์ที่มาร้องขอ เพราะกลิงคราษฎร์เกิดความแห้งแล้ง ถ้าเปรียบกับปัจจุบันก็คือพระเวสสันดรสั่งเปิดระบบชลประทานให้น้ำไหลไปเลี้ยงกลิงคราษฎร์ น้ำที่ชาวสีพีจะใช้ก็ไม่พอ จึงพากันไม่พอใจไปฟ้องให้พระเจ้าสัญชัยขับไล่พระเวสสันดรเข้าป่าหิมพานต์ไป


ภาพช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ในจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์หิมพานต์
ขอบคุณ วิกิพีเดีย

คนไทยโบราณซึ่งไม่ได้มีความคิดแบ่งแยกระหว่างสาธารณสมบัติและสมบัติส่วนตัวชัดเจนนัก เห็นว่าพระเวสสันดรบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง คือยกช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้ชาวกลิงค์ เพราะช้างเชือกนี้เป็นช้างคู่บุญบารมีของพระเวสสันดร เทวดาเอามาส่งถึงโรงช้างเมื่อพระเวสสันดรจุติลงสู่ครรภ์พระมารดา

ดังนั้น จะว่าเป็นสมบัติส่วนตัวก็ได้ ซ้ำเป็นสมบัติวิเศษเสียด้วย เพราะให้ความชอบธรรมแห่งอำนาจอย่างมั่นคงแข็งแรงแก่พระเวสสันดร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แทบจะพูดได้ว่าช้างปัจจัยนาเคนทร์คือราชสมบัติ แม้กระนั้นพระเวสสันดรก็ยังอาจยกช้างซึ่งคืออำนาจและทรัพย์สมบัติมหาศาลนั้น แก่ชาวกลิงคราษฎร์ซึ่งทุกข์ร้อนอดอยากเนื่องจากความแห้งแล้ง

หากยกราชสมบัติให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากจำนวนมาก ไม่ใช่ทานบารมีแล้วอะไรจะเป็นล่ะครับ

นักปราชญ์ไทยรุ่นหลัง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "นักเรียนนอก") มีสำนึกที่แยกระหว่างสมบัติสาธารณะและส่วนตัวชัดเจน จึงมีทัศนคติกำกวมเกี่ยวกับพระเวสสันดร บางคนรับไม่ได้เลย และมักใช้เรื่องพระมหาชาติเป็นความเปรียบเพื่อล้อเลียนหรือโจมตีนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น (คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) บางคนหาทางอธิบายเรื่องมหาชาติใหม่ให้เป็นเพียงนิทานสอนศีลธรรมที่ตื้นเขิน คืออยากสอนศีลธรรมข้อไหนก็แต่งเรื่องไปเสียจนสุดโต่ง โดยไม่คำนึงถึงความนัยยะที่ส่อไปในทางตรงกันข้าม

อันที่จริง แนวทางอธิบายนิทานชาดก (หรืออภินิหารในพระไตรปิฎก) ให้เป็นคำสอนทางศีลธรรมเพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของคนที่ "ไม่มีการศึกษา" หรือสามัญชนที่ยังไม่รู้จักระบบเหตุผลสมัยใหม่ (เทียบได้กับภาพของ "เด็ก" ในทัศนะของคนผิวขาวในยุคล่าอาณานิคม ซึ่งประกอบด้วยคนที่อายุยังน้อย กับคนเอเชีย ต่างล้วนมีความเป็น "เด็ก" เหมือนกัน) เริ่มมีในหมู่ปัญญาชนไทยนับตั้งแต่ระบบคิดแบบเหตุผลนิยมของตะวันตกแพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำใน ร.5 เป็นต้นมา

ผมขออนุญาตออกนอกเรื่องตรงนี้สองประเด็น เพราะมันเกี่ยวกับสิ่งที่จะพูดในบทความนี้

ประเด็นแรกก็คือ ความคิดว่ามีพุทธศาสนาสำหรับสามัญชน และพุทธศาสนาสำหรับคน "มีการศึกษา" ไม่ใช่ความคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาไทยที่มีมาแต่โบราณ หากดูงานศึกษาของท่านอาจารย์กมลา ติยะวานิชย์ ในเรื่อง The Buddha in the Jungle ก็จะเห็นได้ถนัดว่า พุทธศาสนาในสังคมไทยแต่ก่อน แม้มีความเชื่อและแบบปฏิบัติที่หลากหลาย แต่ก็ไม่มีความคิดว่าความแตกต่างหลากหลายนั้นเกิดขึ้นจากชนชั้น

ความคิดในปัจจุบันที่ว่ามีพุทธศาสนาของชาวบ้านและเด็ก กับพุทธศาสนาของคน "มีการศึกษา" เป็นความคิดที่รับมาจากตะวันตกสมัยอาณานิคมโดยแท้

ประเด็นที่สองก็คือ "เด็ก" ในวัฒนธรรมตะวันตกสมัยนั้น มีสิทธิน้อยกว่าผู้ใหญ่อย่างมากทีเดียว มากกว่าเด็กในวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ อีกมาก ซึ่งได้รับเสรีภาพอย่างน่าหวาดเสียว (เช่น บางชนเผ่าของปาปัวนิวกินีปล่อยให้เด็กเล่นของมีคมโดยพ่อแม่ไม่ห้ามปราม จนเกิดแผลจึงเข้ามาช่วยเหลือ) การแยกคนในอาณานิคมให้เป็น "เด็ก" ทำให้ประเทศแม่มีทั้งความรักความเอ็นดูต่อประชาชนในอาณานิคม และมีทั้งอำนาจในการตัดสินใจแทนคนที่ยังไม่เจริญเต็มวัยไปพร้อมกัน

ทัศนคติเช่นนี้คือทัศนคติที่ชนชั้นนำไทยรับมาเต็มๆ และสืบทอดในหมู่ชนชั้นนำและบริวารของตนมาจนถึงทุกวันนี้

กลับมาสู่เรื่องมหาเวสสันดรชาดกใหม่ แม้แต่ยอมรับว่าช้างปัจจัยนาเคนทร์เป็นสาธารณสมบัติ ก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าพระเวสสันดรไม่มีสิทธิ์จะตัดสินใจยกให้ใครเสียเลย ในฐานะผู้ปกครอง ถึงอย่างไรก็มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือตัดสินใจใช้สมบัติสาธารณะไปในทางหนึ่งทางใด (ตัดสินใจว่าไม่ใช้คือการ "ใช้" อย่างหนึ่ง เช่น ปล่อยทองคำไว้ใต้ดินจนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่ปลอดภัยกว่าปัจจุบัน) การตัดสินใจใช้ทรัพยากรสาธารณะไปช่วยเพื่อนบ้านที่กำลังอดอยากหิวโหยของพระเวสสันดร จะถูกหรือผิด คงเถียงกันได้ (แม้ว่าท้องเรื่องของชาดกจะบอกว่าตัดสินใจถูกก็ตาม) จะมีปัญหาก็ตรงความชอบธรรมของอำนาจในการตัดสินใจต่างหาก เพราะพระเวสสันดรตัดสินใจโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของประชาชน หรือตัวแทนของประชาชน

ก็พระเวสสันดรเป็นผู้ปกครองในระบอบราชาธิปไตยนี่ครับ ความรับผิดชอบของท่านอยู่กับกษัตริย์ที่มอบอำนาจให้ท่าน ไม่ได้อยู่กับประชาชน และท่านก็รับผิดชอบเต็มที่ คือยอมเนรเทศตนเองไปดูไบหรือป่าหิมพานต์แต่โดยดี ไม่ได้รวบรวมกำลังคนมาก่อรัฐประหารล้มล้างพระราชบิดาหรือยึดราชบัลลังก์ไว้เอง

แม้แต่รัฐบาลที่ได้รับอำนาจจากประชาชนโดยตรงในระบอบประชาธิปไตย ก็อาจใช้สมบัติสาธารณะโดยไม่ได้ปรึกษาประชาชนหรือตัวแทนประชาชนในทุกเรื่อง อย่างน้อยในกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องใช้เวลาจำนวนหนึ่ง ก่อนที่รัฐบาลผู้ตัดสินใจต้องลงมารับผิดชอบกับประชาชนโดยตรง เมื่อถึงวาระการเลือกตั้งทั่วไป การตัดสินใจใช้ทรัพยากรสาธารณะที่ผ่านมาจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่ ก็อยู่ที่คะแนนเสียงที่พรรครัฐบาลจะได้จากการเลือกตั้ง

จะให้ทำประชามติทุกครั้งก่อนใช้สมบัติสาธารณะในทางใดทางหนึ่ง ก็เป็นอันไม่ต้องทำอะไร นอกจากทำประชามติกันแทบทุกสัปดาห์ ดังนั้น รัฐบาลในระบบอะไรก็ต้องตัดสินใจใช้สมบัติสาธารณะ โดยไม่ได้ปรึกษาหรือไม่ถูกตรวจสอบจากประชาชนอย่างเต็มที่ทั้งนั้น จะผิดหรือถูก หากเป็นในระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง หากเป็นระบบอำนาจนิยม ก็แล้วแต่ผู้ถืออำนาจจริงจะตรวจสอบเอาเอง


ภาพประกอบ: A woman carries her six-month-old child at Kutupalong, a makeshift camp in Cox's Bazar district in Bangladesh. UNICEF/Brown

การตัดสินใจรับผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศจำนวนมาก ก็เป็นการตัดสินใจใช้สมบัติสาธารณะเป็นปริมาณที่สูงมากทีเดียว ผู้นำประเทศที่ตัดสินใจเช่นนี้ ต่างก็ตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศคงเห็นพ้องกับการนำเอาสมบัติสาธารณะมาใช้เช่นนี้ ซึ่งบางครั้งก็เป็นการเก็งผิด เพราะเมื่อถึงคราวเลือกตั้งทั่วไป พรรครัฐบาลกลับได้คะแนนเสียงลดลง

แม้แต่ที่เก็งถูกว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ก็ยังต้องเผชิญความรับผิดชอบทางการเมืองอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง นั่นคือคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเช่นนี้ แม้เป็นคนส่วนน้อย แต่ว่าโดยจำนวนแล้วก็มีมากทีเดียว ก่อการประท้วงแต่ละครั้งก็เป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งกว่านี้คนที่เคยเห็นด้วยกับนโยบายรับผู้อพยพจำนวนมาก ต่อมาเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอพยพซึ่งแปลกหน้าทั้งทางวัฒนธรรม, ภาษา และศาสนากับตน ก็อาจเปลี่ยนใจเลิกสนับสนุนด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งได้

ผมคิดว่าถ้าเข้าใจความกว้างใหญ่ไพศาลของสมบัติสาธารณะที่ถูกใช้ไป เพื่อรับคนอพยพ โดยเฉพาะคนที่มีความแตกต่างจากประชาชนพื้นถิ่นมากๆ นั้น บางทีอาจทำให้เราเห็นใจทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านนโยบายรับผู้อพยพได้ดีขึ้น

สมบัติสาธารณะที่ต้องถูกนำมาใช้ในกรณีนี้คือ "พื้นที่" ในทุกความหมายของคำนี้

คนไทยที่คัดค้านนโยบายรับผู้อพยพ (เช่น ชาวโรฮิงญา) มักห่วงแต่ "พื้นที่" ทางภูมิศาสตร์ เช่น ประชดประชันว่าหากบ้านของผู้ที่สนับสนุนพอว่าง ก็ให้เอาชาวโรฮิงญาไปอุปการะที่บ้าน

อันที่จริง "พื้นที่" ทางภูมิศาสตร์ไม่สู้สำคัญนัก แม้แต่ในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นกว่าไทยหลายเท่า (เช่น บังกลาเทศ) ก็ยังจำเป็นต้องรับผู้อพยพจำนวนมาก แต่การรับผู้อพยพไม่ได้หมายความว่าเพียงให้ที่พักพิงชั่วคราว แต่มักหมายถึงการรับผู้อพยพเป็นพลเมืองในอนาคต เพราะในโลกปัจจุบัน ผู้อพยพมักไม่สามารถกลับบ้านได้ในเร็ววัน จำเป็นต้องมีชีวิตในต่างแดนเป็นเวลาหลายปี หากถูกกักไว้ในค่ายกักกันอย่างที่มักทำกันในเมืองไทย ก็หมายความว่าต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูผู้อพยพเป็นเวลานานๆ ด้วย จะเลี้ยงดูด้วยกำลังของตนเอง หรือวิ่งเต้นขอกำลังจากคนอื่นก็ตาม

นอกจากนี้ ยังต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการคอยป้องกันมิให้ผู้อพยพเล็ดลอดออกมาจากค่ายกักกันได้ ในขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อพยพก็น่าอเนจอนาถแก่ผู้พบเห็น จึงกลายเป็นภาระอีกอย่างหนึ่งที่ต้องคอยกีดกันมิให้คนอื่น โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวต่างชาติได้พบเห็นอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม การรับผู้อพยพและเตรียมให้เขาได้กลายเป็นพลเมืองในอนาคต กลับต้องเสีย "พื้นที่" ให้แก่ผู้อพยพนอกเหนือจาก "พื้นที่" ทางภูมิศาสตร์อีกมาก หากเขาได้รับอนุญาตให้ขายแรงงาน (ทั้งที่มีและไม่มีทักษะ) ก็เท่ากับต้องแบ่งปัน "พื้นที่" ทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้อพยพได้เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมด้วย ลูกหลานของผู้อพยพหรือแม้แต่ตัวผู้อพยพเอง ควรได้รับการศึกษาทั้งในแบบและนอกแบบ เพราะสักวันหนึ่งหากเขาเลือกจะเป็นพลเมือง ก็ควรเป็นพลเมืองที่พร้อมจะอยู่ร่วมกับคนอื่น และมีทักษะในการงานซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศ "พื้นที่" ทางสังคมเช่นนี้คือการเปิดให้ผู้อพยพได้ใช้ทรัพยากรทางการศึกษา, การสื่อสาร, การสาธารณสุข, วัฒนธรรม, ตลอดจนการเมืองในบางแง่มุมด้วย

ทั้งหมดนี้คือทรัพยากรกลาง หรือสมบัติสาธารณะที่ต้องใช้เพื่อรับผู้อพยพทั้งสิ้น คนที่ไม่อยากรับผู้อพยพ หากเข้าใจว่าต้องแบ่ง "พื้นที่" อะไรไปบ้าง ก็เข้าใจได้นะครับ คนที่สนับสนุนด้วยความเข้าใจว่าต้องเสีย "พื้นที่" อะไรไปบ้าง ก็น่าสรรเสริญ

ผมเข้าใจว่า ในโลกปัจจุบัน สมบัติสาธารณะที่ผู้ปกครองต้องตัดสินใจนำมาใช้ โดยไม่ได้ปรึกษาหรือเปิดให้ประชาชนได้ตรวจสอบ จะต้องอาศัยการอ้างเหตุผลที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ต้องมีองค์กรทางวิชาการหนุนหลัง อาจต้องใช้การตีความแบบไม่อิงหลักการของกระบวนการยุติธรรม และจนถึงที่สุดอาจต้องใช้อำนาจดิบขัดขวางความเห็นต่างมิให้ปรากฏแก่สังคมในวงกว้าง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช้างปัจจัยนาเคนทร์ หรือระบบชลประทาน, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, อาชีพสงวน, การประกันราคาพืชผลการเกษตร, หรือ "พื้นที่" ทางภูมิศาสตร์ ฯลฯ

และด้วยเหตุดังนั้น การแบ่งคนออกเป็น "เด็ก" ซึ่งยังคิดไม่เป็น ถูกหลอกง่าย กับ "ผู้ใหญ่" ซึ่งรู้เท่าทันโลกมากกว่า จึงจะกลายเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในรัฐต่างๆ อีกหลายแห่ง

นับเป็นมรดกจากยุคอาณานิคมซึ่งยังมีชีวิตกระปรี้กระเปร่าอยู่ในยุคสมัยที่ไม่มีอาณานิคมแบบนั้นเหลืออยู่แล้ว

 

ที่มา: matichonweekly.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ฉลาดซื้อ' เผยขนมปังไส้ 'เผือก-สังขยา' บางยี่ห้อ มีสารกันบูด แต่ไม่ระบุบนฉลาก

Posted: 14 Dec 2017 12:28 AM PST

นิตยสารฉลาดซื้อเผยผลทดสอบขนมปังสอดไส้ จำนวน 14 ยี่ห้อ ทุกตัวอย่างพบการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันบูด แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ขณะที่บางยี่ห้อไม่ระบุบนฉลากด้วย

 

14 ธ.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 201 ประจำเดือนพฤศจิกายน เผยผลทดสอบปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันบูดที่นิยมใช้ในขนมปังสอดไส้ จำนวน 14 ยี่ห้อ 19 ตัวอย่าง คือ 1. UFM เผือก, 2. กาโตว์เฮาส์ เผือก, 3. เยาวราช สังขยา, 4. แม็คโคร เผือก, 5. กาโตว์เฮาส์ สังขยา, 6. ฟาร์มเฮาส์ เผือก, 7. Victory เผือก, 8. เลอแปง เผือก, 9. คัดสรร สังขยา, 10. วังหลังเบอเกอรี่ สังขยา, 11. Bic C สังขยา, 12. แม็คโคร สังขยา,13. Tops สังขยา, 14. เอพลัส เผือก, 15. เลอแปง สังขยา, 16. ปังเว้ยเฮ้ย เผือก,17. ฟาร์มเฮาส์ สังขยา, 18. UFM สังขยา และ 19. Victory สังขยา เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต และร้านขนมปังเจ้าดังในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า ทุกตัวอย่างพบการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) กำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูปได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนกรดซอร์บิก สามารถพบในอาหารในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และหากมีการใช้สารกันเสียทั้ง 2 ชนิดรวมกัน จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง

ลำดับ

ยี่ห้อ

ไส้

น้ำหนัก/ชิ้น

(กรัม)

ราคา/ชิ้น

(บาท)

ข้อมูลวัตถุกันเสีย/วันหมดอายุบนฉลาก

ผลวิเคราะห์ (มก./กก.)

เบนโซอิก

 

ซอร์บิก

 

1

UFM

Bakery House

เผือก

100

29

ไม่มีฉลาก แต่แจ้งวันหมดอายุ 18/10/2017 (เป็นชนิดขายวันต่อวัน)

15.32

ไม่พบ

2

กาโตว์เฮาส์

เผือก

90

24

ไม่มีฉลาก แต่แจ้งว่า ควรเก็บไว้ในตู้เย็นทันที โดยบริโภคภายใน 3 วันนับจากวันที่ซื้อ (เป็นชนิดขายวันต่อวัน)

15.87

ไม่พบ

3

เยาวราช

สังขยา

87

20

ไม่มีฉลาก (เป็นชนิดขายวันต่อวัน)

15.38

5.54

4

แม็คโคร

เผือก

56

42

(6 ชิ้น)

มีฉลากแจ้งใช้วัตถุกันเสีย (INS 202)

ผลิต 15/10/2017 หมดอายุ 18/10/2017

21.02

ไม่พบ

5

กาโตว์เฮาส์

สังขยา

100

26

ไม่มีฉลาก (แต่แจ้งว่า ควรเก็บไว้ในตู้เย็นทันที โดยบริโภคภายใน 3 วันนับจากวันที่ซื้อ)

21.80

ไม่พบ

6

ฟาร์มเฮาส์

เผือก

80

10

มีฉลาก แจ้งใช้วัตถุกันเสีย (INS 202, INS 282)

ผลิต 15/10/2017  หมดอายุ 21/10/2017

ไม่พบ

25.78

7

Victory Bakery

เผือก

100

12

ไม่มีฉลาก (เป็นชนิดขายวันต่อวัน)

39.22

ไม่พบ

8

เลอแปง

เผือก

120

15

มีฉลาก ใช้วัตถุกันเสีย (INS 202, INS 211, INS 282) ผลิต 14/10/2017 หมดอายุ 18/10/2017

29.77

10.75

9

คัดสรร (7-11)

สังขยา

46

15

ไม่มีฉลาก

65.56

ไม่พบ

10

วังหลังเบเกอรี่

สังขยา

348

50

ไม่มีฉลาก แต่บนถุงมีข้อความว่า ไม่ใส่วัตถุกันเสีย (เป็นชนิดขายวันต่อวัน)

80.04

5.64

11

Big C

สังขยา

298

35

มีฉลาก ไม่แสดงวัตถุกันเสีย ผลิต 15/10/2017

หมดอายุ 20/10/2017

94.64

26.34

12

แม็คโคร

สังขยา

64

42

(6 ชิ้น)

มีฉลากระบุใช้วัตถุกันเสีย (INS 210)

ผลิต 15/10/2017 หมดอายุ 18/10/2017

102.07

24.71

13

Tops

สังขยา

362

10

มีฉลากระบุ ใช้วัตถุกันเสีย (INS 282, INS 202)

ผลิต 13/10/2017

หมดอายุ 19/10/2017

ไม่พบ

143.93

14

เอพลัส

เผือก

56

7

มีฉลากระบุใช้วัตถุกันเสีย (INS 202, INS 282)

ผลิต 15/10/2017

หมดอายุ 21/10/2017

ไม่พบ

160.69

15

เลอแปง

สังขยา

120

15

มีฉลากระบุใช้วัตถุกันเสีย (INS 202, INS 211, INS 282) ผลิต 14/10/2017หมดอายุ 18/10/2017

9.16

176.09

16

ปังเว้ยเฮ้ย

เผือก

143

20

ไม่มีฉลาก (เป็นชนิดขายวันต่อวัน)

18.12

170.92

17

ฟาร์มเฮาส์

สังขยา

80

10

มีฉลากระบุใช้วัตถุกันเสีย (INS 202, INS 211, INS 282) ผลิต 15/10/2017หมดอายุ 21/10/2017

121.67

160.06

18

UFM

Bakery House

สังขยา

49

22

ไม่มีฉลาก (เป็นชนิดขายวันต่อวัน)

389.01

น้อยกว่า 1.50

19

Victory Bakery

สังขยา

89

12

ไม่มีฉลาก (เป็นชนิดขายวันต่อวัน)

394.76

น้อยกว่า 1.50

 อ่านนิตยสารฉลาดซื้อ >>  https://goo.gl/2XXQrb

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายอานนท์ ถูกแจ้งความดูหมิ่นศาลพ่วงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

Posted: 13 Dec 2017 11:57 PM PST

โดนคดีที่ 6 ทนายอานนท์ นำภา ทนายสิทธิฯ ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานดูหมิ่นศาลพ่วง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เหตุโพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามกับศาลขอนแก่น ว่าใช้อำนาจอะไรสั่งห้ามคนคบค้าสมาคมกัน หมายเรียกระบุให้เข้าพบพนักงานสอบสวนที่ ปอท. 20 ธ.ค. นี้

14 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาหมายเรียก ทนายอานนท์ นำภา ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยคดีดังกล่าว พ.ต.ท. สุภารัตน์ คำอินทร์ เป็นผู้กล่าวว่า อานนท์ ได้ "ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา"

โดยหมายเรียกดังกล่าวระบุให้ อานนท์ ไปพบพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีที่ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในวันที่ 20 ธ.ค. 2560 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้อานนท์ได้เปิดเผยกับกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เขาถูกแจ้งความดำเนินคดีจากกรณีที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงกรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาคดี ละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 2 พ.ย. โดยมีกลุ่มนักศึกษา 7 คนเป็นจำเลย โดยศาลพิพากษาให้จำคุก สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ 'จ่านิว' 6 เดือน และปรับ 500 บาท รอลงอาญา 2 ปี ขณะที่จำเลยอีก 6 รายให้รอกำหนดโทษ 2 ปี พร้อมสั่งจำเลยทุกคนถูกคุมความประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีการรายงานตัวทั้งหมด 6 ครั้ง และให้ทำงานบริการสังคมรวมเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งยังสั่งห้ามคบค้าสมาคมหรือรวมตัวกันทำกิจกรรม หรือกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอีก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยอานนท์ ได้ตั้งคำถามว่าศาลมีอำนาจอะไรสั่งห้ามไม่ให้จำเลยคบค้าสมาคมกัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น