โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: ความชั่วของผู้มีอำนาจและนายทุนใหญ่

Posted: 23 Dec 2017 07:55 AM PST


 

ขึ้นชื่อว่าภาษีก็ไม่มีใครอยากเสีย แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ต่างจากภาษีอื่นอย่างชัดเจน เป็นคุณอย่างยิ่งต่อประเทศชาติและประชาชน แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่พยายามทำความเข้าใจกับประชาชน กลับเบื่อเมาประชาชน สุดท้ายก็พาลพาโลเลิกเก็บภาษีนี้ ปาหี่/ลิเกนี้ก็รูดม่าน/ปิดฉาก หันมาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทน ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าในขณะที่นายทุนใหญ่ก็ผลักภาระภาษีให้ ทั้งนี้ก็เพียงเพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการเสียภาษี แม้ต้องขายชาติก็ยอม!


ที่มาภาพ:image.bangkokbiznews.com

มีการประชุมเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อเร็วๆ นี้โดยระบุว่า "กมธ. เคาะอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยปรับลดลง 40% จากร่างเดิมที่ ครม. อนุมัติ หวังลดกระแสคัดค้าน ขณะ อัตราจัดเก็บจริงต่ำกว่าเกณฑ์ พร้อมยกเว้นภาษีบ้านหลังหลักมูลค่าไม่เกิน 20 ล้าน ส่วนที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยกเว้นภาษีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน คาดบังคับใช้ปี 2562 ด้าน คลัง เผยรายได้ภาษีจากเกณฑ์ใหม่ส่อลดเหลือ 3.7 หมื่นล้าน จากร่างเดิม 6-7 หมื่นล้าน"

ผู้มีอำนาจพยายามบิดเบือนว่าภาษีนี้เป็นภาระแก่ประชาชน จึงพยายามเตะถ่วงเพราะที่แท้จริงตนไม่ต้องการเสียภาษี การลดหย่อนต่างๆ นั้นแท้จริงก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจและนายทุนใหญ่ต่างหาก ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์อันใด ดูอย่างประชาชนคนเล็กคนน้อยมีแค่จักรยานยนต์เก่าๆ สักคันหนึ่งราคา 30,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีปีละราว 400 บาท หรือประมาณ 1% ของมูลค่า ถ้าประชาชนผู้มีห้องชุดราคาเพียง 300,000 บาท ก็เสียภาษีแค่ปีละ 3,000 บาท หรือเดือนละ 250 บาท แต่ถ้าเรามีทรัพย์ราคา 1,000 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีปีละ 10 ล้านบาท นายทุนใหญ่ผู้ครองครองทรัพย์ราคาสูงจึงเสียดายที่จะเสียภาษีต่างหาก

จะสังเกตได้ว่าตอนที่เราจะพยายามให้มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในปี 2535 ทางราชการใช้ทุกองคาพยพในการทำความเข้าใจกับประชาชน แต่กรณีนี้ทางราชการกลับไม่ได้ให้ความรู้แก่ประชาชน ว่าภาษีนี้เป็นคุณอย่างไร เมื่อมีภาษีนี้แล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่ต้องเพิ่มให้เป็นภาระแก่ประชาชน ภาษีค่าโอนอันหฤโหดก็จะหายไป การเสียภาษีโรงเรียนที่ไม่เป็นธรรม (เก็บถึง 12.5%) ก็จะยกเลิกไป สวัสดิภาพของประชาชนก็จะดีขึ้น แม้แต่ทางเท้าในเมืองที่มีจักรยานยนต์ขึ้นไปวิ่ง ถนนขรุขระดั่ง "โลกพระจันทร์" ที่มีผู้มากระโจมอกอาบน้ำประท้วงอยู่บ่อยๆ ก็จะหายไปเพราะท้องถิ่นมีงบประมาณมาดูแลนั่นเอง

ภาษีนี้เป็นคุณต่อทุกฝ่าย แต่ถ้าเทศบาล อบจ. และ อบต. รวม 7,852 แห่งทั่วประเทศ จัดเก็บได้เงินเพียงปีละ 37,000 ล้านบาท ก็ยังไม่รู้ว่าจะคุ้มทุนในการจัดเก็บแค่ไหน แถมกลับเป็นการเพิ่มภาระและค่าใช้จ่ายแก่ท้องถิ่นหรือไม่ สุดท้ายถ้าเก็บไม่ได้ตามเป้า ทางราชการก็หันไปเก็บ VAT โดยคนรวยก็ผลักภาระให้คนจนเช่นเคย แม้แต่ "คนป่า" เข้าเมืองมาซื้อปลากระป๋องสัก 1 กระป๋อง ก็ต้องเสีย VAT เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้นภาษีนี้ยังเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่เดิมท้องถิ่นมีเงินอุดหนุนจากส่วนกลางราว 85% จึงตกเป็นเบี้ยล่าง แต่ถ้าท้องถิ่นเก็บภาษีใช้เองแทนที่จะส่งเข้าส่วนกลางแล้วส่งต่อมาท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง ก็จะทำให้ท้องถิ่นมีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ถูกครอบงำ การที่เงินท้องถิ่นถูกส่งมาจากส่วนกลาง ประชาชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงิน จึงอาจเกิดภาวะ "วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง" แต่ถ้าเงินในท้องถิ่น ใช้ในท้องถิ่น ชาวบ้านก็จะรู้สึกหวงแหนทรัพยากรของตนเอง หันมาตรวจสอบมากขึ้น ความโปร่งใสก็จะเกิด คนดีมีคุณภาพก็จะเข้ามาสู่วงการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมมากขึ้น

การที่มีการ "คุย" ว่า "รมช.คลังลั่นจะปิดตำนานออกกฎหมายให้ได้ในรัฐบาลนี้" อันที่จริง ไม่ต้องคุยก็ได้เพราะที่ผ่านมา เราก็ออกกฎหมายภาษีมรดกมาแล้วเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่เป็นภาษีปาหี่คือ "ผ่านมาแล้ว 1 ปี 'ภาษีมรดก'" เก็บไม่ได้สักแดง! นับเป็นกรณี "ศรีธนญชัญ" ที่สามารถเข็นภาษีนี้ออกมาได้ แต่อยู่ในสภาพเหมือนไม่มีภาษี แถมยังมีข่าว "ทหาร-ธุรกิจรื้อภาษีที่ดิน ยื้อแปรญัตติแก้ทุกหมวด" ถ้าเป็นในสมัยก่อน อาจอ้างได้ว่านักการเมืองขวางการเก็บภาษี แต่ไทยไม่มีนักการเมืองมาเกือบ 4 ปีแล้ว ก็ยังทำไม่ได้ แสดงว่าที่ผ่านมาต้องมีผู้มีอำนาจอื่นขวางอยู่เบื้องหลังต่างหาก

ที่น่าอัปยศที่สุดก็คือ การที่ผู้มีอำนาจและนายทุนใหญ่ไม่ต้องการเสียภาษี พวกเขาจึงกำลังขายชาติ ถ้าเราไปซื้อบ้านในสหรัฐอเมริกา เราต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 1-3% ของราคาตลาด แถมยังมีภาษีมรดกระดับมลรัฐและระดับประเทศที่จัดเก็บอย่างเข้มงวด แต่สำหรับประเทศไทย ต่างชาติมาซื้อทรัพย์ในไทยได้สบายๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี นี่เท่ากับเรารักษาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยการขายผลประโยชน์ชาติต่อต่างชาติ ถือเป็นความอัปยศน่าละอายยิ่ง ในอาเซียน มีเพียงเมียนมาที่เจริญน้อยกว่าไทย และบรูไนที่รวยมหาศาลที่ไม่จัดเก็บภาษีนี้จากประชาชน

โดยสรุปแล้วหลักภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับการนำมาใช้กันทั่วโลก เป็นคุณต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ที่ต้องร่วมกันเสียภาษี อย่าปล่อยให้ผู้มีอำนาจและนายทุนใหญ่ปล้นชาติพร้อมกับขายชาติให้ต่างชาติด้วยการไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนวร่วมแยกตัวกาตาลุญญา ได้ที่นั่งเสียงข้างมากเลือกตั้งสภาท้องถิ่น

Posted: 23 Dec 2017 07:34 AM PST

ฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนได้รับที่นั่งเสียงข้างมากในสภาจากการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดของกาตาลุญญา โดยที่คาร์เลส ปุกเดมอนต์ ตัวตั้งตัวตีของการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนผู้ที่ยังพลัดถิ่นอยู่นอกประเทศกล่าวว่านี่ถือเป็น 'การตบหน้า' นายกรัฐมนตรีผู้ที่สั่งปลดและจับกุมรัฐบาลของเขา

 
ผลการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นของแคว้นกาตาลุญญาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าพรรคแนวร่วมฝ่ายสนับสนุนให้กาตาลุญญาแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนได้รับชัยชนะส่งผลสะเทือนต่อทางการกลางของสเปนที่พยายามขัดขวางไม่ให้กาตาลุญญาแยกตัวเป็นอิสระในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา
 
ถึงแม้ว่าพรรคฝ่ายขวากลางที่ไม่สนับสนุนการแยกตัวจากสเปนอย่างพรรคซิวดาดานอส (Cs) จะได้รับที่นั่งในสภามากที่สุด 37 ที่นั่ง แต่พรรคแนวร่วมฝ่ายสนับสนุนจากแยกตัวจากสเปน 3 พรรค ต่างก็ได้ที่นั่งรวมกันในสภา 70 ที่นั่ง จาก 135 ที่นั่ง ทำให้พวกเขามีสิทธิจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาได้ ส่งผลให้คาร์เลส ปุกเดมอนต์ มีโอกาสจะกลับมาสู่ตำแหน่งผู้นำกาตาลุญญาอีกครั้งถ้าหากทั้ง 3 พรรคตกลงตั้งพรรคแนวร่วมกันได้ หลังจากที่เขาถูกทางการกลางของสเปนสั่งปลดออกเนื่องจากการจัดประชามติแยกตัวเป็นอิสระ
 
ปุกเดมอนต์บอกว่าชัยชนะในครั้งนี้ถือเป็น "การตบหน้า" นายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอย ผู้ที่เคยสั่งปลดเขาออกจากตำแหน่งและประกาศว่าเป็น "ความพ่ายแพ้ของรัฐสเปน" ปุกเดมอนต์ประกาศอีกว่ายุโรปต้องรับรู้เอาไว้ว่าทางออกแบบของราฮอยไม่ได้ผลและควรจะรับรู้ว่ากาตาลุญญาจะต้องตัดสินใจอนาคตของตัวเอง
 
ผู้ที่เรียกร้องให้มีการการเลือกตั้งเร่งด่วนหลังเกิดวิกฤตกาตาลุญญาเมื่อสองเดือนที่ผ่านมาคือตัวนายกรัฐมนตรีราฮอยเอง หลังจากที่เขาอ้างใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 155 ในการควบคุมกาตาลุญญาและสั่งปลดรัฐบาลเดิม
 
อย่างไรก็ตามสื่อเดอะการเดียนตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้จะนำการชนะที่นั่งในสภาของทั้ง 3 พรรคมารวมกันแล้วก็ยังได้ที่นั่งน้อยกว่าเดิม 2 ที่นั่งเมื่อเทียบกับการเลือกตังครั้งที่ผ่านมาและมีคะแนนโหวตรวมร้อยละ 47.7 แสดงให้เห็นว่าฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระยังคงไม่สามารถเรียกเสียงสนับสนุนข้างมากจากประชาชนได้ในประเด็นนี้
 
อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือการที่พรรค Cs นำโดย อินเนส อาร์ริมาดาส ขฯะที่นั่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 12 ที่นั่ง (รวมเป็น 37 ที่นั่ง) ส่วนพรรคสังตมนิยมคาตาลันได้ไป 17 ที่นั่ง พรรคซ้ายจัดโปเดมอสสาขากาตาลุญญาได้ไป 8 ที่นั่ง มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดร้อยละ 83 
 
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระเดินขบวนรอบเมืองบาร์เซโลนาในคืนวันเลือกตั้งพร้อมตะโกนว่า "ประธานาธิบดีปุกเดมอนต์" และ "สาธารณรัฐคาตาลันจงเจริญ" รวมถึงมีการโบกธงแสดงการสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระสีเหลือง-แดง
 
ทางด้านปุกดีมอนต์เองก็ทำการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ขณะที่ตัวเขายังอยู่ในเบลเยียมหลังจากที่เขาหนีออกจากประเทศสเปนเพราะเชื่อว่าเขาจะไม่ได้รับการตัดสินคดีอย่างเป็นธรรม และมีโอกาสถูกตัดสินด้วยข้อหาก่อกบฏ ยุยงปลุกปั่น และใช้งบประมาณรัฐในทางที่ผิด ขณะที่อดีตรองประธานาธิบดีสมัยที่แล้ว โอริออล จุนเคราส ถูกให้จำคุกพร้อมกับผู้นำสนับสนุนให้กาตาลุญญาเป็นอิสระอีกสองราย
 
"พวกเราชนะการเลือกตั้งนี้ในสถานการณ์ที่ต่างจากปกติ เนื่องจากมีผู้สมัครยังอยู่ในห้องขัง รัฐบาลยังพลัดถิ่น และไม่ได้มีทรัพยากรเทียบเท่าที่รัฐมี" ปุกเดมอนต์กล่าว
 
ขณะที่ปุกเดมอนต์ประกาศว่าผลการเลือกตั้งในครั้งนี้แสดงให้เห็นความเข้มแข็งของประชาชนชาวคาตาลัน แต่อาร์ริมาดาสหัวหน้าพรรค Cs ที่ได้คะแนนสูงสุดก็มองว่าตัวเองได้รับชัยชนะในคั้งนี้เช่นกัน และถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของพรรค Cs ในพื้นที่กาตาลุญญา อาร์ริมาดาสกล่าวถึงผลการเลือกตั้งในทางตรงกันช้ามกับปุกเดมอนต์ว่า "พวกเราได้ส่งสารไปให้โลกรู้ว่าคนส่วนใหญ่ในกาตาลุญญาอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสเปนต่อไป"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Catalonia election: Separatists regain control of parliament, reopening crisis with Madrid, ABC News, 22-12-2017
 
Catalan pro-independence parties keep their majority in snap poll, The Guardian, 22-12-2017
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัตลักษณ์ ‘คนดี’ กับความล้าหลังของประชาธิปไตยไทย

Posted: 23 Dec 2017 07:33 AM PST

 


เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ปฏิวัติสยาม 2475 เราไม่พบวาทกรรม "คนดี" เช่นไม่มีการกล่าวถึงว่าคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือกลุ่มคนดี หรือฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎรก็เรียกว่า "ฝ่ายอนุรักษ์นิยม" หรือ "ฝ่ายนิยมเจ้า" มากกว่าจะเรียกว่าฝ่ายคนดี

แม้แต่พุทธทาสภิกขุที่แสดงปาฐกถาธรรมเรื่อง "พุทธธรรมกับเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย" ณ พุทธสมคมกรุงเทพฯ ในปี 2483 ซึ่งมีคนมีชื่อเสียงอย่างปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ วิลาศ มณีวัตรเป็นต้นมานั่งฟังด้วย ในเนื้อหาของปาฐกถาธรรมนั้นก็ไม่ได้เน้นเรื่อง "คนดี" แต่เน้นว่า หลักคำสอนพุทธศาสนาเรื่องอะไรบ้างที่สอดคล้องกับความหมายของประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ

แต่ในช่วงรอยต่อของประวัติศาสตร์ 14 ตุลากับ 6 ตุลา เมื่อพุทธทาสเสนอแนวคิด "เผด็จการโดยธรรม" จึงได้เน้นความสำคัญของ "คนดี" เพราะเผด็จการโดยธรรม หมายถึงเผด็จการโดยคนดีที่ใช้อำนาจปกครองเพื่อประโยชน์สุขของสังคม แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะยังไม่เกิดกระแสรณรงค์ให้เลือกคนดีมาเป็นผู้แทน เพราะยังเป็นช่วงของการต่อสู้ทาง "อุดมการณ์" มากกว่า

กระแสรณรงค์ให้เลือกคนดีมาเป็นผู้แทน น่าจะเกิดในช่วง "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" หรือหลังจากนั้น ในยุคนี้บุคคลที่มีภาพลักษณ์ "คนดี" น่าจะเป็นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพราะถูกยกย่องในเรื่อง "ความซื่อสัตย์" และ "ความจงรักภักดี" ด้วยสถานะความเป็นคนดีเช่นนี้จึงทำให้เขาถูกเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรียาวนาน โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง และต่อมาเขาได้กลายเป็นต้นแบบของคนดีที่เรียกว่า "เสาหลักทางจริยธรรมของชาติ" เจ้าของวาทะ "จงทำความดีเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน" เพราะแผ่นนี้มีพระสยามเทวาธิราชศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษา คนชั่วที่อกตัญญูต่อแผ่นดิน ย่อมถูกสาปแช่งให้มีอันเป็นไป

นักการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น "นักการเมืองอาชีพ" และเป็น "คนดี" ที่ยกย่องกันว่า "ซื่อสัตย์" และ "ยึดมั่นหลักการ" จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณชวน หลีกภัย เขามีอัตลักษณ์ในเรื่องความซื่อสัตย์ สมถะเรียบง่าย แต่เราอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าในฐานะนักการเมืองอาชีพยาวนาน ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองมาก็มาก เขาเคยออกหน้าต่อต้าน คัดค้าน หรือประท้วงการทำรัฐประหารบ้างหรือไม่ อย่างไร ผลงานจากการเคยเป็นรัฐมนตรีแทบทุกกระทรวง และเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของเขามีอะไรบ้าง เราอาจต้องใช้เวลานึกนานพอสมควร เพื่อจะหาคำตอบว่า เขาได้สร้างผลงานอะไรให้สังคมประทับใจแบบนึกถึงได้ทันทีบ้าง

เทียบกับคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ไม่มีภาพลักษณ์คนดี แถมยังถูกมองว่าเป็น "ปีศาจทักษิณ" เสียอีก แต่อย่างน้อยๆ ชาวบ้านชาวช่องยังจำกันได้ว่า ระบบประกันสุขภาพ "30 บาทรักษาทุกโรค" เกิดขึ้นในยุคทักษิณ

อีกคนหนึ่งคือ คุณจำลอง ศรีเมือง ฉายา "มหา 5 ขัน" เพราะอาบน้ำวันละ 5 ขัน กินมังสวิรัติ ซื่อสัตย์ เสียสละ สมถะ เรียบง่าย เขาเป็นทั้งแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมือง มีผลงานโดดเด่นต่อต้านเผด็จการสุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และเป็นนักการเมืองในระบบเลือกตั้ง แต่บทบาทสุดท้ายคือเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ยอมรับรัฐประหาร 2549 และเคยเสนอให้ใช้ "กฎอัยการศึก" จัดการกับมวลชนร่วมหมื่นคนที่ราชประสงค์ในปี 2553

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นนักการเมืองอีกคนที่สังคมยอมรับกันว่าเป็น "คนดี" เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์ แต่ต่อมาเขาได้ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และในฐานะนายกรัฐมนตรีเขาได้สั่ง "กระชับพื้นที่" คนเสื้อแดงที่ชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ด้วยวาทกรรม "คืนความสุขให้คนกรุงเทพฯ" และประกาศ "เขตใช้กระสุนจริง" ผลก็คือมีประชาชนบาดเจ็บร่วมสองพันคน เสียชีวิตร่วมร้อยคน แต่เขาไม่มีความผิดใดๆ

ยังคงมีนักการเมืองที่เป็น "คนดี" อีกหลายคน แต่คนหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ไหนแต่ไรมาเขาไม่เคยถูกยกย่องว่าเป็น "คนดี" ตรงกันข้ามสังคมขังขาในบทบาทความเป็นนักการเมือง "สีเทา" ของเขามาตลอดด้วยซ้ำ แต่เมื่อเขาสวมบทบาท "ลุงกำนัน" นำมวลมหาประชน กปปส.ชัตดาวน์กรุงเทพฯเพื่อขับไล่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคัดค้านการเลือกตั้ง เขาได้ถูกยกย่องให้เป็น "มหาตมะคานธี" แห่งไทยแลนด์โอนลี่เลยทีเดียว ยิ่งเมื่อเขาได้ไปบวชพระถวายพระราชกุศล ณ สวนโมกข์ เขาได้อ้างวาทกรรมพุทธทาสสนับสนุนรัฐบาล คสช.ว่า "ผู้ปกครองจะมาแบบไหนไม่สำคัญ สำคัญที่เขาเป็นคนดี เข้ามามีอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง"

โดยรวมๆ แล้ว "คนดี" ที่ผมยกตัวอย่างมา(เป็นต้น) พวกเขาอาจมีอัตลักษณ์เฉพาะตนแตกต่างกันไป แต่ "อัตลักษณ์ร่วม" ของบรรดาคนดีคือ พวกเขาต่างไม่ยึดมั่น "ความชอบธรรม" ตามระบอบประชาธิปไตยในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อชนะฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองพวกเขาพร้อมที่จะยอมรับ สนับสนุน หรือใช้วิธีการนอกระบบประชาธิปไตยได้เสมอ

และอัตลักษณ์ร่วมอีกอย่างคือ ความซื่อสัตย์ของบรรดาคนดีนั้น ไม่จำเป็นต้อง "ซื่อสัตย์ต่อความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย" คนที่โกงระบบ ล้มระบบประชาธิปไตยก็ยังถูกยกย่องให้เป็นคนดี เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมของสังคมได้เสมอ

ล่าสุดคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. กล่าวว่า "ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำอย่าไปรังเกียจเขา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ทนายความ อาจารย์ ทุกคนมีสิทธิ์ได้ทั้งนั้น ถ้าเขาเป็นคนดีและทำได้ดีพอ..."  (ดูhttps://www.matichon.co.th/news/774472) คำกล่าวนี้สะท้อนว่าเมื่อยึด "คนดี" เป็นมาตรฐานสูงสุดในการเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ย่อมทำให้เกิดการบิดเบือนความหมายของ "หลักการสาธารณะ" เช่น ที่ว่า "ทุกคนมีสิทธิ์" นั้น โดยปกติหมายถึงการใช้ "สิทธิ" เข้ามามีอำนาจรัฐตามกระบวนการที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ใช่ทำรัฐประหารเข้ามาแล้วบอกว่าเขามีสิทธิ์เพราะเขาเป็นคนดีและทำได้ดีพออะไรแบบนั้น

แปลว่าในการเมืองที่ยึด "คนดี" เป็นตัวตั้ง มันทำให้ความหมายของหลักการสาธารณะ เช่นสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ศีลธรรม ฯลฯ ถูกบิดเบือนไป เพราะหลักการสาธารณะถูกให้ความหมายภายใต้อภิสิทธิ์ของบรรดา "คนดี" ที่ยึดกุมอำนาจรัฐซึ่งตรวจสอบไม่ได้

การเมืองไทยภายใต้วาทกรรม "คนดี" จึงเป็นการเมืองที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างประชาธิปไตย หรือทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยไทยล้าหลัง ไม่ก้าวหน้าไปไหนเสียที เพราะวาทกรรมคนดีได้ลดทอนความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้หลักการ อุดมการณ์ หรือ "ระบบ" ไร้ความหมาย กลายเป็นการเมืองยึดติดตัวบุคคล และเป็นสังคม "กบในกะลาเลือกนาย" ที่เปิดโอกาสให้พวกนักฉวยโอกาสเข้ามาครองอำนาจรัฐอย่างไม่แคร์ความชอบธรรมได้เสมอไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดิน...เทใจให้เทพา ทำไมส่งเสียงไม่ได้

Posted: 23 Dec 2017 07:27 AM PST



ปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เหตุการณ์สลายการชุมนุมของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเหตุให้มีการดำเนินคดีอาญาทั้งสิ้น 16 ราย

โดยมีการแจ้งข้อหาความผิดในหลายฐาน เช่น ต่อสู้และขัดขวางการจับกุมและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ร่วมกันเดิน หรือเดินแห่อันเป็นการกีดขวางทางจราจร

กรณีการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้น ยังปรากฏว่ามีคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกมาภายหลังจากที่ได้มีการสลายการชุมนุมแล้ว

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านคำสั่งและเอกสารที่เกี่ยวข้องเห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจหลายประการอันควรนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ เพื่อนำไปสู่การถกเถียงซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวม

การเดิน...เทใจให้เทพา ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2560 ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายตั้งแต่ต้น หากแต่มีการแจ้งการชุมนุมในภายหลัง และภายหลังจากการแจ้งระหว่างรอคำสั่ง กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้เคลื่อนขบวนออกเดินโดยไม่รอผลของคำสั่งแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทำให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและได้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม

ผู้เขียนเห็นว่ากรณีดังกล่าว มีปัญหาทั้งในแง่ความเข้าใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย และปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เองที่อาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

พ.ร.บ. ชุมนุมฯ กำหนดให้ผู้ที่ต้องการจัดการชุมนุมสาธารณะ ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนมีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

การแจ้งดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเจ้าพนักงานของรัฐมีอำนาจในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตการชุมนุม เว้นแต่เป็นการชุมนุมในพื้นที่ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 7 หรือเป็นการกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ตามมาตรา 8 เท่านั้น ที่อาจมีคำสั่งให้แก้ไขได้

การแจ้งการชุมนุมจึงไม่ใช่การขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ หากแต่เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบว่าจะมีการจัดชุมนุมสาธารณะขึ้น และการกำหนดระยะเวลาเอาไว้ 24 ชั่วโมง ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้มีเวลาเตรียมพร้อม เพื่อดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ สอดคล้องกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่กำหนดเอาไว้ในมาตรา 19 การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนออกเดินไม่รอผลของคำสั่งราวกับว่าผู้ชุมนุมต้องรอคำสั่งอนุญาตจึงเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด

หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการแจ้งการชุมนุมข้างต้นแล้ว การแจ้งหรือไม่แจ้งการชุมนุมจึงไม่ควรเป็นเงื่อนไขสำหรับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมแต่อย่างใด

หากผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมก็เป็นความเสี่ยงที่การชุมนุมของตนอาจจะไม่เป็นไปโดยสงบ อันเนื่องมาจากไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้การไม่แจ้งการชุมนุมเป็นความผิดอาญา อีกทั้งยังกำหนดให้การไม่แจ้งการชุมนุมถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมได้

อันเป็นการบอกโดยนัยว่าการแจ้งการชุมนุมเป็นเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการก่อนมีการชุมนุม กรณีจึงอาจเกิดคำถามในทางรัฐธรรมนูญได้ว่า ในกรณีนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้ การชุมนุมย่อมมีเป้าหมายเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นบางประการต่อสังคม จึงมีความจำเป็นอยู่เองที่จะต้องทำให้เป็นที่สนใจ และรับรู้ของผู้คนในสังคม เช่น การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ การเดินขบวน เป็นต้น

การใช้เสรีภาพในการชุมนุมจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการใช้พื้นที่สาธารณะ ในหลายครั้งอาจจะขัดแย้งกับกฎหมายเกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะ ซึ่งกฎหมายนั้นๆ อาจจะกำหนดความผิดอาญาไว้

สำหรับในกรณีเดิน...เทใจให้เทพานี้ ก็มีการตั้งข้อหาความผิดเกี่ยวกับการกีดขวางการจราจรด้วย

ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมายในกรณีนี้ควรเป็นอย่างไร หากตีความว่าในเมื่อกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรกำหนดให้การกีดขวางการจราจรเป็นความผิดอาญาแล้ว การใช้เสรีภาพในการชุมนุมบนถนนสาธารณะจึงไม่อาจทำได้ ก็ดูจะเป็นการใช้และตีความกฎหมาย ที่ทำให้การใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่อาจเป็นไปได้เลยในทางปฏิบัติ

สำหรับในประเด็นนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า พ.ร.บ. ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับการชุมนุม ส่วนกฎหมายจราจรเป็นกฎหมายทั่วไปสำหรับการใช้รถใช้ถนน เมื่อกฎหมายการชุมนุมกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ โดยหลักการตีความกฎหมายก็ต้องใช้กฎหมายชุมนุมก่อนกฎหมายจราจร

เมื่อ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยอมรับให้มีการใช้พื้นที่สาธารณะในการชุมนุม การเดินขบวนชุมนุมบนท้องถนน จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้โดยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายจราจร

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะอาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น เช่น ผู้สัญจรไปมาบนท้องถนน ได้เช่นกัน พ.ร.บ. ชุมนุมฯ จึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการบรรเทาความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าวได้ การใช้และตีความกฎหมายในกรณีที่เกิดความขัดแย้งกัน ของสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้น ผู้บังคับใช้กฎหมาย จะต้องใช้กฎหมายในลักษณะที่ทำให้สิทธิเสรีภาพของทุกคนเป็นไปได้อย่างสมดุลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

จากกรณีการเดิน...เทใจให้เทพา เมื่อการเดินดังกล่าวเป็นไปด้วยความสงบ มีการเปิดพื้นที่จราจรให้ผู้คนยังสัญจรไปมาได้อยู่ ก็ไม่ควรถือเป็นการกระทบสิทธิของผู้อื่นจนเกินสมควรแก่เหตุแต่อย่างใด

เนื่องจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย ผู้เขียนหวังว่าข้อถกเถียงที่ได้นำเสนอในบทความนี้ จะมีส่วนทำให้การใช้บังคับกฎหมายดังกล่าว เป็นสิ่งที่ช่วยหนุนเสริมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  มิใช่กลายเป็นสิ่งที่จะถูกใช้ทำลายเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมืองที่สำคัญยิ่งในท้ายที่สุดไปเสีย



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ bangkokbiznews.com 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: สื่อร่วง ดูดวงรุ่ง

Posted: 23 Dec 2017 07:16 AM PST

 

"ระยะหลังดวงถูกคัดลอกลงโซเชียลโดยที่เราไม่ยินยอม ทำให้ผู้อ่านหันไปอ่านในโซเชียลแทนที่จะซื้อหนังสือ ทำให้เราสูญเสียผู้อ่าน …โซเชียลทำให้เราท้อใจ" ดำรง พุฒตาล กล่าวถึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ "คู่สร้างคู่สม" ปิดตัวเองหลังวางจำหน่ายมา 38 ปี เคยมียอดพิมพ์สูงสุดถึง 1.6 ล้านเล่ม

ฟังแล้วก็เป็นตลกร้าย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพิ่งชี้ว่าธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์นิตยสาร เป็น 1 ใน 10 ธุรกิจดาวร่วงแห่งปี 2561 ขณะที่ธุรกิจความเชื่อ โหราศาสตร์ เครื่องรางของขลัง กลับเป็นดาวรุ่งแห่งปี แต่คู่สร้างคู่สมกลับถูกก๊อปเสียนี่

การที่สื่อสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่ทีวีดิจิทัล กำลังจะตาย สื่อออนไลน์กำลังรุ่ง ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ สื่อออนไลน์มีข้อดี "ประชาชนทุกคนเป็นสื่อได้" แม้อยู่ในยุคสมัยที่พยายามปิดกั้นความคิดเห็นเพียงไร รัฐและสื่อกระแสหลักก็ไม่สามารถผูกขาดข้อมูลข่าวสาร ยัดเยียดความคิด ชี้นำชักจูงสังคมฝ่ายเดียวได้

แต่สื่อออนไลน์ซึ่งพึ่งรายได้จากความนิยมของคนอ่าน ขายโฆษณาจากยอดคลิก (ซ้ำรายได้ส่วนใหญ่ยังไปตกกับแพลทฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ) ก็เติบโตหรือตกต่ำไปตามคุณภาพและสติปัญญาของสังคมด้วยเช่นกัน

ทั้งๆ ที่โลกออนไลน์สามารถนำไปสู่ข้อมูลความรู้ที่ไม่จำกัด เรากลับเห็นสื่อคุณภาพจริงๆ อยู่ได้น้อยมาก ส่วนใหญ่จมอยู่กับข่าวดาราเซเลบ ข่าวกาก ข้อมูลก๊อป ข่าวฮือฮาไร้สาระ และกระแสดราม่าเป็นพักๆ พร้อมกับหมอดู ใบ้หวย และเน็ตไอดอลขายครีม

ไม่แปลกหรอกที่ไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นยุคของเทคโนโลยีสื่อสาร อีคอมเมิร์ซ ปิโตรเคมี หรือ 10 อาชีพที่ ม.หอการค้าแถลงตามมาอีกที เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์ นักออกแบบวิเคราะห์ระบบไอที แต่ไหงมีโหราศาสตร์ เครื่องรางของขลัง ขายครีม ร้านตัดผมแฟชั่น หรือถ้าเจาะจงเป็นอาชีพ ก็มีทั้งแพทย์ผิวหนัง นักวิทยาศาสตร์ความงาม เน็ตไอดอล

นี่มันสะท้อนคุณภาพสังคมไทย ไปถึงรากฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ

ในขณะที่ธุรกิจดาวร่วงหรืออาชีพที่ไม่โดดเด่น ฟังแล้วก็หดหู่ แม้ส่วนหนึ่งคือพวกตกเทรนด์เทคโนโลยี เคเบิลทีวี ดีวีดี โทรศัพท์พื้นฐาน ร้านอินเทอร์เน็ต ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือการผลิตสินค้าเกษตร ยาง ปาล์ม ข้าว เช่นเดียวกับอาชีพเกษตรกร ซึ่งอย่าลืมว่ามีถึง 10 กว่าล้านคน บวกแรงงานไร้ฝีมือ ไม่รู้อีกเท่าไหร่

ตลกไหม อาชีพที่จะตกต่ำยังได้แก่ ครูอาจารย์ บรรณารักษ์ (ไม่ต้องนับสื่อ ซึ่งรู้กัน) ขณะที่ติวเตอร์ ครูสอนพิเศษ กลับเป็นดาวรุ่ง (น่าจะนับไลฟ์โค้ชชิ่งด้วย) นี่สะท้อนอะไร สะท้อนว่าไม่ต้องการความรู้ ความคิด ขอให้ "ต่อยอด" ได้เท่านั้น?

ธุรกิจที่ไม่มีดีไซน์ ร้านค้าดั้งเดิม ก็อยู่ในกลุ่มกำลังจะตาย ถ้าเทียบร้านอาหาร ก็มองอนาคตได้ว่าร้านที่ขายรสชาติอาจอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีดาวมิชลิน ไม่สู้แต่งร้านให้สวยหรู มีเอกลักษณ์ สำหรับลูกค้าเซลฟีอาหารรสดีพอประมาณ แต่บวกราคาสูงกว่าเดิม 3-4 เท่า

อนาคตไทยแลนด์ 4.0 จึงมองได้ว่าอยู่ในมือของธุรกิจใหญ่ พัฒนาไปสู่ AI เทคโนโลยีที่ใช้แรงงานมากฝีมือจำนวนน้อย คนมีความสามารถพื้นๆ จะไม่มีที่ยืน เว้นแต่ฝากฝังเข้าระบบราชการ คนทั่วๆไปจะต้องทำอาชีพอิสระ ซึ่งจะแข่งขันกันมากขึ้น โดยความสามารถไม่ใช่เรื่องสำคัญ การตลาดต้องมาก่อน

อันที่จริงมันก็เป็นเทรนด์ของโลก แต่ดูดวง ขายครีม รักษาสิว เทรนด์ฉาบฉวยเอาแต่เปลือกนี่สิ น่าสงสัยว่าไทยแลนด์โอนลี่หรือเปล่า

 

 

ที่มา: คอลัมน์ทายท้าวิชามาร kaohoon.com 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล: ภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันฯ คือการที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน

Posted: 23 Dec 2017 03:21 AM PST

บุคคลแห่งปีของประชาไท ประจำปี 2017 นี้ มาเป็นทีม พวกเขาคือ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้

อ่านรายละเอียดที่ บุคคลแห่งปี 2017: 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอทช์) และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน คือหนึ่งในเครือข่าย 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ'

'ประชาไท' สนทนากับเธอเกือบ 1 ชั่วโมงเพื่อสืบสาวที่มาของกลุ่ม ไล่เรียงไปจนถึงการทำงานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อะไรทำให้ระบบนี้สามารถดูแลผู้คนได้ถึง 48 ล้านคนทั้งที่ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ทำไมจึงยังมีหลายกลุ่มไม่พอใจระบบหลักประกันฯ ทั้งที่มันได้พิสูจน์ตัวเองจากผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนมากรอดตาย เข้าถึงการรักษา และครอบครัวผู้ป่วยไม่ต้องเผชิญโรคยากจนเฉียบพลันจากการรักษาพยาบาล

และคำถามสำคัญที่ว่า อะไรคือภัยคุกคามต่อระบบมากที่สุดในเวลานี้

"การที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน" คือคำตอบของกรรณิการ์


กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคือใคร เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนนั้นทีมอาจารย์คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ตั้งโครงการ Health Reform Project ขึ้นมาเพื่อหาหนทางปฏิรูปและนำไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ตอนแรกมันเป็นโครงการ มันจะมีโปรเจกต์เล็กๆ เพื่อทดลองว่าสิ่งที่คิด มันทำได้ ถามว่าจริงๆ ในนั้นมันมีเอ็นจีโออยู่ด้วยมั้ย ก็มี แต่อาจจะไม่ได้ใกล้ชิดมาก แต่ต่อมาเริ่มมีการสื่อสารเรื่องนี้มากขึ้น เพราะกลุ่มคนที่ทีมอาจารย์คุณหมอสงวนอยากให้รับรู้และเข้าใจมากขึ้นก็คือทีมองค์กรพัฒนาเอกชน

พอเริ่มมีการผลักดันมากขึ้น ตั้งแต่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่ประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงยา เราพบว่ามีโรคฉวยโอกาสบางโรคที่สามารถใช้ยาที่มีอยู่ปัจจุบันรักษาได้ ถึงแม้ว่ายังไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ฉะนั้น การรวมตัวของกลุ่มผู้ป่วย ของเอ็นจีโอก็พอมีอยู่ หลังจากนั้น เมื่อมีโครงการเข้าถึงยามากขึ้น ก็มีการรวมตัวเข้มข้นมากขึ้น ขณะเดียวกัน การคิดถึงการได้รับยาระยะยาวจะต้องคิดถึงเรื่องระบบด้วย จะคิดแค่ยาเป็นตัวๆ ไม่ได้ จึงมีการทำงานร่วมกัน มีการร่างกฎหมายร่วมกัน ทั้งเอ็นจีโอ ทีมวิชาการจากผู้ให้บริการ ทีมแพทย์ต่างๆ จำนวนหนึ่งก็ไปล็อบบี้ว่าพรรคการเมืองจะเอาด้วยหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองอื่นๆ เคยได้รับการเสนอมาแล้ว

ขณะที่ภาคประชาสังคมเองก็เดินอีกขาหนึ่งโดยการล่ารายชื่อตามรัฐธรรมนูญ 2540 การทำงานแบบนี้เริ่มกันมาตลอด ถ้าดูในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการรักษาพยาบาลอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการร่วมกันพัฒนาระบบของคนในภาคส่วนต่างๆ คณะกรรมการหรือตัวบอร์ดจะมีสมดุลของสัดส่วนจากภาคส่วนต่างๆ มีเช็คแอนด์บาลานซ์ มีการทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จนสามารถพูดได้ว่ามันเป็นกฎหมายที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะมีการมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีกฎหมายมา

แปลว่านับกันจริงๆ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพน่าจะเกิดขึ้นมาสักเกือบ 20 ปีแล้ว
เรียกว่ามันก่อตัวดีกว่า สมัยนั้นก็ไม่ได้มีใครเรียกมันว่ากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แต่ละกลุ่มก็มีองค์กรของตัวเองมาทำงานร่วมกันเพื่อนำมาสู่เรื่องนี้ ในตัวเองกฎหมายเองก็พูดถึงการมีตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ดซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนองค์กร แล้วก็ต้องมีตัวแทนในระดับต่างๆ การมีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ การมีหน่วยรับเรื่องราวร้องเรียน ถ้าต่างคนต่างทำโดยที่ไม่มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งหรือพัฒนาศักยภาพให้กับสมาชิกต่างๆ ในภูมิภาค มันจะไม่เข้มแข็ง ซึ่งก็เป็นอันรู้กันอยู่ นี่ก็เป็นเรื่องของภาษาการจัดตั้งธรรมดา ฉะนั้นจึงมีการสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายหลวมๆ มีผู้ประสานงาน แล้วก็จะมีอยู่ตามภาค แต่ละภาคอาจจะเรียกตัวเองว่ากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็ได้ จะเรียกศูนย์ประสานงานก็ได้ แต่ละที่อาจมีองค์กร เช่น สมาคมผู้บริโภค มูลนิธิภาคเหนือ ก็แล้วแต่ แต่ว่าเวลาทำงานร่วมกันเราเรียกเราว่า "กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ"

เมื่อเวลาผ่านมานับจากตอนนั้น 20 ปีแล้ว ภารกิจเริ่มเปลี่ยนมั้ย มีอะไรที่ต้องโฟกัสเพิ่มมั้ย
ช่วงแรกมันคือทั้งสร้างระบบและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ต้องอย่าลืมว่ามันเป็นช่วงเริ่มต้น ไม่มีใครเคยมีสิทธินี้มาก่อน ไม่มีใครเคยรู้ว่าสิทธิเป็นยังไง มันต้องสร้างความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้สิทธิของตัวเอง เป็นการเน้นทั้งความเข้าใจสิทธิของตัวเองและการร่วมกันพัฒนาไปเรื่อยๆ เช่น ระบบจะมียามากขึ้นไหม มันจะดูแลโรคต่างๆ ได้ทุกโรคหรือเปล่า อย่าลืมว่าช่วงแรก ระบบหลักประกันสุขภาพมีมา 5 ปี แต่เรื่องเอชไอวี/เอดส์ ยังไม่เข้าสิทธิประโยชน์  ยังไม่มีเรื่องไต ไม่มีเรื่องมะเร็ง เหล่านี้ก็มาจากข้อเสนอที่ประชาชนร่วมพัฒนากับทางนักวิชาการ แต่ถามว่ามาถึงขณะนี้มันเปลี่ยนแปลงบ้างมั้ย ในแง่การพัฒนายังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เรื่องสิทธิ ประชาชนรู้มากขึ้น แต่อาจยังไม่ครบ ตรงนี้ก็ยังทำงานกันอยู่

แต่ที่มากขึ้นคือมันมีความเสี่ยงหรือภัยคุกคามที่จะทำให้ระบบอ่อนแอ ล้มลง หรือไม่สามารถดูแลประชาชนได้ดีเท่าที่ควร หรือทำให้ระบบไม่พัฒนา ถอยหลัง หรือหยุดนิ่ง แต่โลกมันหยุดนิ่งไม่ได้ โรคมีมากขึ้น คนมีจำนวนมากขึ้น ผู้สูงอายุมากขึ้น แค่คุณหยุดนิ่ง ระบบมันก็ดูแลคนไม่ได้ คุณไม่มียาใหม่ๆ หรือไม่สามารถขยายสิทธิประโยชน์หรืองบประมาณถูกแช่แข็ง ฉะนั้น หน้าที่ของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจากเดิมคือการพัฒนาระบบ แต่ปัจจุบันเราเพิ่มเรื่องการปกป้องระบบไม่ให้ถอยหลัง ถูกแช่แข็ง หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้

อะไรคือหลักการทำงานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า?
ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือต้องมีผู้ซื้อบริการเหมือนกับคนกลาง ซึ่งก็คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีเม็ดเงิน มีวิธีการไปซื้อบริการกับหน่วยบริการ โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นการสั่งว่าต้องเอาแบบนี้ๆ แต่เป็นการคิดค้นร่วมกัน ราคาควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ ค่าหัวเท่าไหร่ ยาจะเป็นยังไง ก็คุยกัน ขณะที่ประชาชนก็ขึ้นทะเบียนกับหน่วยบริการ มันก็จะมีโรคพื้นฐานที่อยู่กับค่าหัว เงินถูกส่งตรงไปตามหน่วยบริการต่างๆ แต่โรคค่าใช้จ่ายสูงมาก วิธีการจ่ายก็ต่างออกไป เพราะถ้าจ่ายค่าหัวอย่างเดียว ถ้าโรงพยาบาลนั้นเจอคนไข้หนักๆ สักประมาณ 100 เคสอาจจะรับไหว 200 เคส 500 เคสรับไม่ไหวแล้ว ฉะนั้น โรคพื้นฐาน เราจ่ายเงินลงไป ส่วนโรคแพงๆ ก็จ่ายไปตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระบบที่มีการคำนวณกัน นอกจากนั้น ยังมีบางโรคหรือบางรายการ เช่น การจัดซื้อยาราคาแพงที่คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเอชไอวี น้ำยาล้างไต ยาเอดส์ ยาต้านพิษ ยากำพร้าต่างๆ ก็จะมีการส่งตรงลงไป คือโรงพยาบาลรักษาไปเลยไม่ต้องห่วงเรื่องยา โรงพยาบาลก็ไม่ต้องรับภาระ ไม่ต้องคิดว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อยา

แต่ระบบแบบนี้ไม่ได้ดูเรื่องการรักษาอย่างเดียว ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ก็จะทำงานกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชนในพื้นที่ แล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ถามว่าถ้าระบบต้องมีการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น จะพัฒนาอย่างไร ก็ต้องมีการพิจารณาเข้าอนุกรรมการ มีขั้นตอน มีการใช้ข้อมูลวิชาการ ยาวัคซีนตัวไหนราคาแพง ต้องมีการต่อรองราคายามั้ย ถ้าราคาถูกลง ระบบจะสามารถดูแลประชาชนได้และคุ้มที่จะดูแลประชาชน เพราะยาบางตัวแพงมาก แต่ไม่ได้ยืดชีวิตคนมากมาย ขณะที่ยาบางตัวราคาแพง แต่ทำให้คนหายได้เลย ฉะนั้น มันก็ต้องมีการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา

แล้วก็จะมีอีกส่วนที่ดูเรื่องการประชาสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม อย่างที่บอกว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นกฎหมายที่มีความเป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนสูง คุณก็ต้องไปรับฟังความคิดเห็นของทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ หน่วยงานต่างๆ ว่าเขาติดขัดอะไรในรอบปีที่ผ่านมา อยากจะเสนอให้มีการแก้ไขอะไรมั้ย เพื่อนำความเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุง ยังมีเรื่องการจัดการกรณีร้องเรียน การควบคุมคุณภาพ เพราะ สปสช. จะมี 2 บอร์ดหลักที่ดูแลเรื่องนโยบายกับอีกส่วนหนึ่งที่ดูแลเรื่องการควบคุมคุณภาพ เรื่องไหนที่ถูกร้องเรียนมาว่าไม่มีคุณภาพก็ต้องลงไปดู แล้วก็ดูเรื่องการชดเชยเยียวยาผู้เสียหายทางการแพทย์ด้วย

น่าจะพูดได้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านับเป็นหมุดหมายแรกๆ ของการจุดประกายความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการที่รัฐจะต้องลงมาดูแลประชาชนและเป็นสิทธิที่ต้องได้รับจากรัฐ
ก็ใช่ ถามว่ารัฐมีหน้าที่อะไร รัฐก็มีหน้าที่ดูแลประชาชน ไม่ใช่ประชาชนงอมืองอเท้านะ ประชาชนก็จ่ายภาษีให้รัฐ เราถึงบอกว่าถ้ารัฐคิดว่าควรมีการ sharing cost หรือการร่วมจ่ายของประชาชน ก็ไม่มีปัญหา แต่ต้องร่วมจ่ายก่อนที่เราจะป่วย เราพร้อมจ่ายตอนที่เรายังทำงานได้ ถ้าคุณจะเก็บภาษีมากขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เราไม่ว่าอะไร แต่ไม่ใช่เอาไปใช้จ่ายอย่างไม่เหมาะสม หลังจากที่เราร่วมจ่ายแล้ว ตอนที่เราป่วยให้รักษาเราอย่างเท่าเทียม จุดมุ่งหมายของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพอย่างหนึ่งคือเราอยากเห็นรัฐสวัสดิการที่มีความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม

แต่อย่างที่บอกว่าระบบนี้เพิ่งเกิด ขณะที่ระบบที่เกิดก่อนหน้าอย่างระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มันถ่างมากๆ คือเขาได้เงินค่าหัวเฉลี่ยแล้วประมาณ 5 เท่าของระบบหลักประกันสุขภาพฯ หรือแม้แต่ระบบประกันสังคมที่ประชาชนยังถูกบังคับให้ร่วมจ่าย แล้วใช่ว่าจะรักษาดีกว่า ก่อนหน้านี้สิทธิประโยชน์ก็ด้อยกว่าระบบหลักประกันฯ เยอะมาก ทำยังไงที่จะนำเรื่องสุขภาพมาดูแลด้วยกัน เพื่อทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง หรือกรณีของสวัสดิการข้าราชการ เป็นได้ไหมที่จะเข้ามาดูอย่างเข้มงวดมากขึ้น ไม่ใช่ fee-for-service เบิกเท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ หนึ่ง-การใช้ยาไม่เหมาะสมมีสูง สอง-ข้าราชการกลายเป็นเหยื่อการทำการตลาดของบริษัทยาข้ามชาติและการแพทย์พาณิชย์ ซึ่งเป็นภาระกับงบประมาณ
ความฝันของเราคืออยากจะมีระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว แต่ไม่ต้องมารวมกันทั้งหมด หมายถึงว่าความจำเป็นพื้นฐานควรจะเท่าเทียมกัน ส่วนคุณอยากจะเพิ่มห้องพิเศษให้ข้าราชการ คุณก็ไปเติมเงินตรงนั้น เราไม่ได้ว่าอะไร แต่สิทธิพื้นฐานควรเท่าเทียมกันตามความจำเป็น

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่ดี ทำไมจึงมีคนอีกหลายกลุ่มมากมาย ทั้งประชาชนทั่วไป โรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มแพทย์ที่จ้องโจมตีระบบนี้
ตั้งแต่กระบบหลักประกันสุขภาพฯ ถือกำเนิดขึ้น มันช่วยผู้คนเยอะมาก ทำให้ครอบครัวไม่ต้องล้มละลาย เป็นการลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศนี้อย่างมากมาย ได้รับการยอมรับทั่วโลก แต่มันก็ทำให้เกิด disruptive อยู่สองสามเรื่อง หนึ่ง-มันทำให้บริษัทยาไม่สามารถทำกำไรสูงสุดได้เท่าที่เคย เพราะมีระบบการต่อรองราคายา การซื้อขนาดใหญ่แบบนี้ในยาที่มีราคาแพงมาก มันถูกใช้อ้างอิงทั้งในโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ ระบบประกันชีวิต ประกันสังคม หรือแม้แต่ระบบสวัสดิการข้าราชการด้วย มันถูกตั้งคำถามว่าทำไมระบบนี้ซื้อยาราคาเท่านี้ แล้วทำไมคุณยังจ่ายยาแพงขนาดนั้น เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะยา มันรวมถึงเรื่องหัตถการ การรักษาพยาบาลต่างๆ มันมีการต่อรองและทำให้ราคายาสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่า บริษัทเหล่านี้ขาดทุนกำไรเมื่อมีระบบเข้ามาจัดการ จากเดิมที่ไม่มีการจัดการเลย

อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือบริษัทประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เมื่อก่อนมันเคยเป็นที่พึ่งเดียวของประชาชนที่พอมีเงินบ้างก็จะไปซื้อประกันสุขภาพไว้ แต่ตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ธุรกิจบอกว่า ยอดขายประกันตกลงมากจากสมัยก่อนที่เคยโตสองหลักทุกปี แต่ตอนนี้เหลือแค่หลักเดียว อุตสาหกรรมประกันสุขภาพถึงดิ้นรนมาก ถึงขั้นมีนักสถิติประกันภัยบางคนออกมาโจมตีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีเหตุผลอะไรเลย
อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบคือแพทย์พาณิชย์ ไม่ได้หมายถึงหมอทุกคน เพราะว่าหมอจำนวนมากเข้าใจ ยิ่งอยู่ในต่างจังหวัดจะเห็นชัดว่าระบบหลักประกันสุขภาพฯ ช่วยผู้คนได้จริงๆ ช่วยหมอด้วย จากเดิมที่หมอต้องตัดสินใจว่าเราจะเอาเงินที่ไหนมาช่วยเขา เกิดความอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมสูงมาก ทำให้หมอสบายใจมากขึ้น สามารถจัดการดูแลผู้ป่วยได้ แต่กลุ่มแพทย์พาณิชย์ที่เคยหากิน ทั้งเรื่องการยิงยา การจ่ายยา รวมทั้งจากระบบสวัสดิการข้าราชการได้รับผลกระทบ เพราะตอนนี้ยาบางตัวถูกทำให้ราคาลดลงมาเท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพฯ เพราะคุณตอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ได้หรอก ทำไมยาตัวเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกันทางนี้ซื้อแค่นี้ แต่คุณซื้อแพงกว่าเขาสิบเท่า แพทย์จำนวนหนึ่งที่เคยได้เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบและไม่พอใจ

กับอีกจำนวนหนึ่ง เป็นเพราะเขาคิดว่ามันไปกระทบอำนาจในการตัดสินใจว่าจะรักษาผู้คนยังไง แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่าระบบที่ไหน ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ในญี่ปุ่น แม้ว่าหมอจะรักษายังไงก็ได้ แต่เขาจะมีโปรโตคอลเป็นเล่มเลยว่าต้องรักษาตามนี้ ประเทศเราไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่สามารถรักษาผู้คนได้มาก ก็ต้องช่วยกันใช้แบบมีประสิทธิภาพ มันจึงไปกระทบกับหมอจำนวนหนึ่งที่คิดว่าระบบเป็นปัญหาในการมาเจ้ากี้เจ้าการ แต่จริงๆ แล้ว ตัว สปสช. ไม่สามารถจัดการแบบนี้ได้ ต้องหารือกับราชวิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อช่วยกันออกแบบระบบในการรักษา ดูราคา สร้างโปรโตคอลต่างๆ ถ้าเข้าใจในประเด็นนี้และคิดว่าเป็นการช่วยกันดูแลประชาชน เป็นสวัสดิการ ก็น่าจะพอไปได้ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าจะสามารถทำความเข้าใจได้มากที่สุด เพราะไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์เงินทอง แต่ 3 กลุ่มแรกเป็นผลประโยชน์เงินทองจริงๆ ถึงจะอธิบายให้ตาย เขาก็ไม่เข้าใจ

แล้วทำไมมีประชาชนที่ไม่ชอบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นเพราะเขายังไม่ได้เข้ามาสัมผัสหรือเข้ามาอยู่ในระบบ แต่คิดว่าตัวเองเสียภาษี คนอื่นไม่ได้เสียภาษี จริงๆ บ้านนี้เมืองนี้ต้องบอกว่าภาษีเงินได้ที่เราจ่าย เป็นรายได้ประเทศแค่นิดเดียว ภาษีส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นงบประมาณรัฐมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มกับภาษีสรรพสามิต คนรวยได้สิทธิลดหย่อนภาษีจำนวนมาก ขณะที่คนจนที่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ถึงซื้อเท่ากัน แต่ไม่มีสิทธิลดหย่อนภาษี ฉะนั้น ก็ต้องถือว่าประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้ร่วมจ่ายแล้ว แต่ถ้ายังไม่พอเพราะระบบสุขภาพต้องเติมเงินมากขึ้น เราจึงเสนอให้ใช้ 2 วิธีคือลดรายจ่ายกับเพิ่มรายได้

 

การที่คุณไปลดหย่อนภาษีมากมาย ไทยแลนด์แกรนด์เซลส์ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กรณีการลดหย่อนแบบบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) กรณีช้อปช่วยชาติ แล้วนี่ยังมาลดหย่อนให้กับบริษัทประชารัฐ 12 แห่งอีก แบบนี้สมควรยกเลิกมั้ย เพราะมันเท่ากับเงินที่ควรจะเป็นรายได้ของประเทศหายไป แล้วไม่ใช่หายไปน้อยๆ เฉพาะกรณีบีโอไออย่างเดียวก็ 2 แสนล้านบาทต่อปี มันเยอะมากนะ

สมมติถ้าดึงภาษีตรงนี้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เราควรลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นมั้ย อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผ่านมาซื้อเยอะมาก พอก่อนได้มั้ย มาในเชิงสังคมบ้าง แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วยังไม่พอ เก็บภาษีใหม่ๆ ก็ได้ บ้านเรายังขาดภาษีอีกหลายตัว ไม่ว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษี capital gain (ภาษีที่เก็บจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้น) จากคนที่เล่นหุ้น เมื่อก่อนเราอาจเชียร์ เพราะตลาดหุ้นต้องชักชวนคนเข้ามาเล่นก่อน แต่ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยเข้มแข็งมาก มันควรต้องเก็บแล้ว แต่อาจจะเก็บแบบไม่มาก รวมทั้งภาษี financial transaction หรือภาษีจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบล็อตใหญ่ ในยุโรปคำนวณว่าคิดภาษีแค่ 0.01 เท่านั้น จะได้เม็ดเงินมหาศาล หรือแม้แต่การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ เราเคยทำสำรวจพบว่าถ้าขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำไปลงเรื่องสุขภาพอย่างเดียว ประชาชนที่ยากจนในชุมชนยอมรับให้ทำได้ แต่ขอให้ชัดว่าเอาลงมาในระบบหลักประกันฯ ไม่ใช่เอาไปรวมเป็นกองและอาจถูกเอาไปซื้ออาวุธหรือสร้างถนนเลียบแม่น้ำ ซึ่งมันไม่ใช่ ถ้ามีความชัดเจนว่าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์แล้วไปลงเรื่องหลักประกันฯ เราสามารถรับได้ มันก็เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ หนทางที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพก้าวหน้ามันมีอยู่ แต่ในขณะนี้ภัยคุกคามมันมากเหลือเกิน

น่าสนใจว่ากระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูแลสุขภาพของประชาชนก็ดูเหมือนจะเป็นคู่กรณีกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนกัน
ถ้าเราดูกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวม เราไม่สามารถบอกได้แบบนั้น ต้องบอกว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจะรู้สึกว่าระบบหลักประกันฯ เป็นคู่แข่งที่เอาอำนาจทางการเงินของเขาไป ถามว่าจริงมั้ย ก็จริงเพราะเงินถูกกระจายไปอยู่ในพื้นที่ ในโรงพยาบาล คือประชาชนอยู่ที่ไหนเงินก็ตามไปที่นั่น แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องการถือเม็ดเงินนั้น การจัดซื้อยา สมัยก่อนเขาเคยทำ กระทั่งมีกรณีทุจริตยา แบบนี้ก็ไม่สามารถกำเงินนั้นได้แล้ว ตรงนี้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขน่าจะรู้สึก

แต่คนในกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลและแม้แต่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ต่างรู้สึกว่าระบบหลักประกันฯ เป็นตัวช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้น ทำให้งานเขาง่ายขึ้น ถามว่ามีสิ่งที่ทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม ตอบว่ามีอีกหลายอย่างที่น่าพัฒนามากขึ้นเพื่อทำให้ผู้บริการรู้สึกดีกับระบบหลักประกันฯ มากขึ้น ถึงแม้ที่ผ่านมา โพลความพึงพอใจของผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เพิ่มขึ้นอีกได้ เช่น ทำให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายไม่ยุ่งยาก หลักเกณฑ์การเบิกชัดเจน เขาทำงานจริงต้องได้รับจริง ไม่ใช่ได้แล้วต้องมาทอนที่หลัง เนื่องจากเป็น global budget แล้วเงินไม่พอต้องมาทอนทีหลัง ซึ่งนี่ก็สัมพันธ์กับงบประมาณรัฐที่ให้ไม่เพียงพอ ทุกวันนี้เงินที่ให้รายหัว มันน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่ถึง 200 บาท ต้องเพิ่มมากกว่านี้ ถ้าเพิ่มได้น่าจะทำให้ปัญหาในระบบหรือความไม่พึงพอใจที่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทั้งเชิงอำนาจหรือเรื่องเงินลดน้อยลง

ในมุมมองของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ณ ปัจจุบันอะไรคือภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อระบบ
การที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน รัฐมองว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องถ้วนหน้า ไม่จำเป็นต้องดูแลทุกคน คนที่พอดูแลตัวเองได้ก็ดูแลตัวเอง แต่เขาไม่เข้าใจคำว่ารัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเข้ามาใช้ในระบบพร้อมๆ กัน ตอนที่คุณยังสุขภาพดี เงินที่เป็นค่าหัวของคุณมันดูแลคนอื่นได้ มันต้องการการ pool ทรัพยากร เมื่อรัฐมองคนไม่เท่ากันและเพื่อให้ตรงนโยบายรัฐก็จะดูแลแค่คนจน ทำให้คนถูกตีตราว่าเป็นคนจน ขณะที่เดิมระบบหลักประกันฯ ทำให้คนเสมอหน้ากันและไม่ถูกทำให้เป็นบัตรอนาถา ก่อนมีบัตรทองมันมีบัตรอนาถาหรือบัตร 500 บาท แต่อนาถายิ่งกว่านั้นคือไปขอตามโรงพยาบาลเมื่อเข้าไปรักษาแล้วไม่มีตังค์เลย อย่างนั้นคนที่ไม่จนจริงๆ ก็ไม่ไปใช้และเขาจะยอมให้ป่วยหนักๆ ก่อนที่จะมา แต่ทุกวันนี้คงมีไม่มากแล้ว ยกเว้นปัญหาการมาหาหมอ เพราะนอกจากเรื่องค่ารักษาแล้ว ยังมีค่าเดินทาง รายได้รายวัน ไม่มีคนดูแลลูกหลานที่เขาต้องดูแล ฉะนั้นการที่รัฐหรือผู้กำหนดนโยบายมองคนไม่เท่ากัน จึงกำหนดนโยบายไม่ต้องดูแลทุกๆ คนให้เท่ากัน อันนี้คือปัญหา

ประเด็นที่พูดถึงก็ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ           
มันถูกตัดคำว่า "เสมอกัน" ซึ่งสะท้อนว่าคุณไม่เห็นความเสมอกันว่าเป็นประเด็นใหญ่ ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งเสียงไม่ว่าในฐานะไหน แต่ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ ประชาชนถูกปิดปากไม่ให้ส่งเสียง ไม่ว่าคุณจะจนหรือไม่ แต่ถ้าคุณเป็นประชาชนคุณไม่มีสิทธิส่งเสียง ฉะนั้น เขาเลยไม่จำเป็นต้องมองว่าคนเสมอกัน

นอกจากรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลักแล้ว ที่ผ่านมามีนโยบายต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ ถ้ามองในภาพรวมจะเห็นว่าเป็นการบ่อนเซาะระบบหลักประกันฯ อยากให้คุณช่วยอธิบายตรงจุดนี้            
แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จะแยกค่าเหมาจ่ายรายหัว พอแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว ที่ไหนมีข้าราชการเยอะก็จะได้เงินงบประมาณเยอะ ที่ไหนข้าราชการน้อย พื้นที่ห่างไกล ข้าราชการไม่ไปที่นั่นก็จะได้เงินน้อย แทนที่ว่าประชากรเยอะจะได้เงินเดือนเยอะ ถ้าปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นข้าราชการจะยิ่งไม่ไปต่างจังหวัด ไม่ไปพื้นที่ห่างไกล คนในพื้นที่ห่างไกล โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลจะอยู่ไม่ได้ จากเดิมที่ได้งบจากค่าหัวเยอะเพราะประชากรเยอะ ข้าราชการไม่มาไม่เป็นไร ก็เอาเงินเหล่านี้ไปจ้างลูกจ้าง ทำให้มีเงินส่งหมอ ส่งพยาบาล ส่งกายภาพบำบัดไปเรียน และกลับมาใช้ทุนในพื้นที่

อีกประเด็นในการแก้กฎหมายที่ทำให้ผู้ให้บริการหรือวิชาชีพสำคัญกว่าประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากสัดส่วนของคณะกรรมการเดิม พ.ร.บ.หลักประกันฯ จะให้สัดส่วนบอร์ดจากภาคส่วนต่างๆ ใกล้เคียงกัน เพื่อว่าเมื่อเสียงคุณใกล้กันจะมีการคุยกันด้วยเหตุและผลมากขึ้น พอจะเอาชนะกัน ก็เอาชนะกันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ถ้าข้างใดข้างหนึ่งเสียงเยอะ จะไม่มีการฟังเหตุผลกัน จะใช้วิธีโหวต ตั้งแต่ประชุมมามีการใช้การโหวตน้อยมากๆ นอกจากเป็นการเลือกเลขาฯ สปสช. นอกนั้นไม่มีการโหวตเลย เพราะสัดส่วนใกล้เคียงกัน จะมีการเอาชนะกันด้วยหลักฐาน ไม่เอาชนะกันด้วยการโหวต แต่การแก้กฎหมายรอบนี้พยายามเพิ่มสัดส่วนของผู้ให้บริการมากขึ้น

หรือการที่รัฐออกนโยบายบัตรคนจน มีการขึ้นทะเบียนและนำไปสู่สวัสดิการต่างๆ ข้าราชการบางส่วนพูดว่าเราต้องดูแลคนกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ก็มีผู้ใหญ่ในบอร์ดที่บอกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่แค่ดูแลคน 11 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนคนจน แต่สำหรับคน 48 ล้านคน

เรื่องแบบนี้เราจะเห็นเป็นระยะๆ แม้แต่การที่เห็นว่าคนไม่เท่ากันก็ยังมีชั้นของระดับความไม่เท่ากัน อย่างเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจะต้องเป็นหมอหรือโรงพยาบาลหรือระบบสาธารสุขเท่านั้นที่ดู แต่ต้องบอกว่าประเทศไทยก้าวหน้ามาไกลมาก แม้แต่ในกระทรวงสาธารณสุขเอง

คนที่เสนอคงจะลืมไปว่ากระทรวงสาธารณสุขก้าวหน้ามากที่ลงมาทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน กับกลุ่มประชาชนมา 20-30 ปี แต่ละปีมีเงินไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทที่ให้องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ร่วมทำงานพัฒนาระบบสาธารณสุข ถือว่าเป็นความคิดที่ล้าหลังมากๆ ถ้าไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มประชาชน กลุ่มผู้ป่วยที่คอยทำงาน เอ็นจีโอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมทำงาน

ทุกวันนี้ประเทศไทยได้รางวัลเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เพราะคนไข้กับคนไข้ถึงจะคุยกันได้ดีหรือเข้าใจกันมากกว่า หมอและพยาบาลอธิบายได้ในระดับหนึ่ง แต่ด้วยความที่หมอและพยาบาลเปลี่ยนบ่อยมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด คนที่อยู่นานคือพยาบาล แต่คนที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นมากที่สุดคือคนไข้รุ่นพี่ ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มเอชไอวี/เอดส์จะเห็นชัดเจนที่สุด แต่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้น ยังมีคนไข้มะเร็ง คนไข้ไต คนไข้ทาลัสซีเมีย คนไข้ซึมเศร้า รวมทั้งโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง การปรึกษาหมอและพยาบาลก็แบบหนึ่ง ในเวลาที่โรคมันไล่ระดับขึ้นไป คุณดีลกับเรื่องนั้นอย่างไร ซึ่งคนไข้รุ่นพี่สามารถประคับประคองกันได้มากกว่า การรักษาและการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะของวิชาชีพเท่านั้น โลกมันเดินมาไกลมากและหลายๆ เรื่องของประเทศไทยกลายเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกยอมรับ แต่คุณก็ยังเห็นคนไม่เท่ากัน

ในทางการเมืองระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูเหมือนจะไม่มีวันล้ม แต่ถึงตอนนี้เริ่มมีความไม่แน่นอน คุณคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะล่มสลายลง
ถ้าประชาชนอ่อนแอการล่มสลายเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเข้มแข็งพอก็พอจะสู้และดันไว้ได้เหมือนกัน เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพฯ มันเป็นเรื่องชีวิตและความตาย ก่อนมีระบบหลักประกันฯ เราเห็นคนตาย โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อรุ่นพี่ที่ไม่มียากินก่อนการมีระบบหลักประกันฯ กับหลังมีระบบหลักประกันและมียากิน มันเห็นชัดมากระหว่างความเป็นกับความตาย ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคมะเร็งก็เห็นชัด ฉะนั้น ถ้าเขายังเข้มแข็งอยู่ ระบบหลักประกันฯ จะสามารถดำรงอยู่ได้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ จึงพยายามถ่ายทอดประสบการณ์ ไม่ใช่ว่าพอคุณติดเชื้อเอชไอวี คุณมียา แล้วก็จบ ซึ่งมันทำให้คนเข้าใจว่าชีวิตช่างสบายอะไรอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เวลาที่เราพูดคุยกัน เราพูดถึงเรื่องว่ากว่าจะมีวันนี้ด้วย เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นต่อๆ มาได้เข้าใจ เพื่อรักษาสปิริตของการมีระบบหลักประกันฯ และทำให้เขารู้ว่าระบบหลักประกันฯ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาแต่มันผ่านการต่อสู้

ถ้าเรารักษาสปิริตนี้ได้ก็คิดว่ายังมีความหวังที่มันจะไม่ล่มสลายหรือเราอาจทำให้มันดีกว่าเดิมได้ด้วยซ้ำไป แต่เมื่อไรก็ตามที่สปิริตนี้หายไป ประชาชนอ่อนแอลง โอกาสที่ปุบปับจะล่มสลายหรืออ่อนแอลง ไม่สามารถดูแลคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็คิดว่ามี เพราะอย่างที่บอก ภัยคุกคามมีเต็มไปหมด โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ด้านเงินและอำนาจ มันเข้มแข็งกว่าเยอะ จะบอกว่าเป็นการต่อสู้ของเดวิดกับโกไลแอท (คนตัวเล็กที่เอาชนะคนตัวใหญ่ได้) ก็ได้ เพราะฝ่ายหลังมีทั้งเงินและอำนาจ ในขณะที่เรามีแต่ใจ

สำหรับประชาชนทั่วไปพอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอาไว้
อยากให้เรียนรู้ระบบว่าระบบทำงานยังไง ดูแลคุณยังไง มีประโยชน์ยังไง ต้องช่วยกันรักษาและส่งเสียง และรู้สึกขอบคุณคนที่คิดจะล้มระบบหลักประกันฯ เพราะทำให้คนสนใจอยากรู้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและส่งเสียงมากขึ้น จากเดิมเหมือนกับมีอากาศอยู่ แต่เราไม่รู้สึก มีระบบหลักประกันฯ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ได้ไปสอนในหลายที่ หลายมหาวิทยาลัย ถามนักศึกษาว่าถ้าเราเป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง มะเร็ง ไต คิดว่าสามารถดูแลตัวเองได้มั้ย มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ยกมือบอกว่าดูแลตัวเองได้ คนที่ไม่ยกแสดงว่ามีปัญหาถ้าต้องเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ถามว่าแล้วจะทำยังไง เขาก็บอกว่าก็มีบัตรทอง แต่ไม่รู้ว่าระบบบัตรทองเป็นยังไง แต่รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเสื้อชูชีพชิ้นสุดท้ายในชีวิต ฉะนั้น ก่อนที่เราจะใช้เสื้อชูชีพชิ้นสุดท้ายนั้น ลองเรียนรู้และมาช่วยกันพัฒนาระบบ ช่วยกันปกป้องระบบ และทำให้ดีขึ้นกว่านี้

ในปีหน้าท่ามกลางภัยคุกคามที่คุณเล่ามา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมองสถานการณ์ข้างหน้าอย่างไร จะทำอะไร ขับเคลื่อนอะไร
เรื่องเฝ้าระวังต้องมาก่อน ไม่ให้มันแย่ไปกว่านี้ ยันไม่ให้ระบบถูกทำให้เสียหายไปมากกว่านี้ ที่สำคัญไม่ใช่แค่ยัน แต่ยังต้องมีข้อเสนอในการพัฒนาระบบที่เราจะทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ ข้อเสนอที่จะทำอย่างไรให้รัฐสวัสดิการมีมากขึ้น เราไม่ได้หวังแค่ให้มีเรื่องของสุขภาพเท่านั้น แต่ยังหวังในเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล หวังในเรื่องบำนาญ เพราะคนที่เขายังทำงานได้อยู่อยากที่จะทำเพื่อที่อีกหน่อยเขาจะมีโอกาสหายอกหายใจได้ในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องของประเทศร่ำรวย แต่ในประเทศพัฒนาระดับกลางอย่างเรา มันพิสูจน์แล้วว่าเรื่องสุขภาพเรายังทำได้ ฉะนั้น เรื่องบำนาญก็เป็นไปได้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลโหวตเฟซบุ๊ก 2017 'ไข่แมว' แชมป์ ตามด้วย คาราโอเกะชั้นใต้ดิน, สมศักดิ์ เจียมฯ

Posted: 23 Dec 2017 01:44 AM PST

ผลโหวตเฟซบุ๊กแห่งปี 2017 อันดับ 1 เพจ ไข่แมว ได้ 5 หมื่นเสียง ตามด้วย เพจ คาราโอเกะชั้นใต้ดินใต้ดิน ได้ 2.9 หมื่นเสียง ขณะที่ บัญชีเฟซบุ๊ก 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' มาเป็นอันดับ 3 ได้ 2.1 หมื่นเสียง แชมป์เก่า 'หมอแล็บแพนด้า' ได้ที่ 5

<--break- />

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาประชาไทได้จัดกิจกรรมร่วมโหวตเฟซบุ๊กทั้งแฟนเพจและบัญชีแห่งปี 2017 ล่าสุดปิดผลโหวตไปเมื่อ 00.00 น. ของวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมาและได้ผลออกมาแล้วสำหรับ 10 อันดับเฟซบุ๊กแห่งปี 2017

อันดับ 1 เพจ ไข่แมว ได้ 50,352 เสียง (รองแชมป์ปีที่แล้ว) 
อันดับ 2 เพจ คาราโอเกะชั้นใต้ดิน ได้ 29,847 เสียง
อันดับ 3 Somsak Jeamteerasakul ได้ 21,230 เสียง
อันดับ 4 เพจ รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ ได้ 18,790 เสียง
อันดับ 5 เพจ หมอแล็บแพนด้า ได้ 18,732 เสียง (แชมป์ปีที่แล้ว)
อันดับ 6 เพจ ขอบสนาม ได้ 15,959 เสียง
อันดับ 7 เพจ Lowcostcosplay ได้ 15,592 เสียง
อันดับ 8 เพจ สัตว์โลกอมตีน ได้ 14,831 เสียง
อันดับ 9 เพจ แหม่มโพธิ์ดำ ได้ 13,759 เสียง
อันดับ 10 เพจ ยิ้มอ่อน ได้ 12,841 เสียง

ผลคะแนน 40 อันดับแรก : ดูรายละเอียดผลโหวตทั้ง 100 เพจได้ที่ https://www.facebook.com/events/100669714062188/permalink/100671240728702

อันดับ 1 เพจ 'ไข่แมว' ปัจจุบันมียอดถูกใจ 4.3 แสน ในปีที่แล้วได้รองแชมป์ เป็นเพจที่มีจุดเด่นเรื่องการวาดภาพล้อเลียนสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ส่วนเพจอันดับ 2 คือ เพจ 'คาราโอเกะชั้นใต้ดิน' นั้น ปัจจุบันมียอดถูกใน 1.1 ล้าน เป็นเพจที่นำภาพที่เกี่ยวกับประเด็นสังคมและการเมืองที่เป็นกระแสขณะนั้น หรือภาพที่ดูไม่มีอะไร มาใส่ข้อความในลักษณะคาราโอเกะจากเนื้อเพลงเพื่อล้อเลียนเสียดสีสร้างรอยยิ้มมุมปาก ไปถึงขนาดลั่นเสียงหัวเราะออกมาเมื่อเห็นภาพเช่นกัน

ขณะที่อันดับ 3 คือ Somsak Jeamteerasakul เป็นเฟซบุ๊กลักษณะบัญชีของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขาใช้เฟซบุ๊กโพสต์ความคิดเห็นและวิพากษ์สถานการณ์ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ ภาพยนตร์ แบบที่หาไม่ได้ในประเทศไทย ช่วงหลังเริ่มมีการนำแมวมาร่วมแจมด้วย นอกจากนี้สมศักดิ์ยังมีฉายาในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยว่า "บาโฟ" มาจากบอสของเกมส์ออนไลน์ ด้วยสไตล์การไล่ถกเถียงของสมศักดิ์ในโลกเฟซบุ๊กทำให้มีผู้เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์  "บาโฟลง" เหมือนบอสมาลงในพื้นที่การถกเถียงดังกล่าว

สำหรับยอดผู้ติดตามนั้นไม่สามารถระบุได้เนื่องจากถูกปิดการแสดงผล เพราะก่อนหน้านี้ หลังปรากฏการณ์ BBC Thai และไผ่ ดาวดิน มีรายงานข่าวว่าตำรวจเริ่มเรียกประชาชนธรรมดาผู้ใช้เฟซบุ๊กไป "ปรับทัศนคติ" บางกรณีบุกถึงบ้าน คุยกับครอบครัวโดยระบุชัดว่าเป็นเพราะกดไลก์ติดตามเฟซบุ๊ก สมศักดิ์ (รายละเอียดเพิ่มเติม) ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2559  ก่อน สมศักดิ์จะปิดการแสดงผลจำนวนผู้ติดตาม มีจำนวนผู้ติดตามอยู่ที่ 283,400 ราย

อันดับ 4 เพจ รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ  ปัจจุบันมียอดถูกใจกว่า 1.5 ล้าน เป็นเพจที่นำภาพแปลกๆ หรือแม้แต่ภาพธรรมดาๆ มาตัดต่อรวมทั้งเชิญชวนให้ลูกเพจตัดต่อส่งเข้ามาแสดงในช่องคอมเม้นท์ จากภาพที่ดูไม่มีอะไรเลย เมื่อตัดต่อแล้วกลับสร้างเสียงฮือฮาหรืออารมณ์ขันได้ และอันดับ 5 คือ เพจ หมอแล็บแพนด้า ซึ่งเป็นแชมป์เมื่อปีที่แล้ว (59) ปัจจุบันมียอดถูกใจกว่า 1.5 ล้าน มี ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ เป็นแอดมินเพจ ที่นี่ให้ทั้งอารมขันจากการล้อเลียนและให้ความรู้ด้วยการโพสต์ข้อมูลเตือนภัยสุขภาพเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ผิวขาว และอาหารเสริมต่างๆ ฯลฯ 

สำหรับกระบวนการโหวตในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สัปดาห์แรกได้เปิดให้มีการเสนอชื่อทั้งแฟนเพจและบัญชีที่ควรเป็นตัวเลือกในการโหวต ซึ่งมีผู้เสนอจำนวนมาก โดยเฉพาะ BNK48 มีผู้เสนอหลายคน จากนั้นทีมงานได้คัดเลือกตั้งเลือกที่มีผู้เสนอและมีผู้กดถูกใจหรือสนับสนุน 100 อันดับแรกมาเป็นตัวเลือกในการโหวตสัปดาห์ที่ 2 จนได้ผลออกมาดังกล่าว

โพสต์ช่วงเสนอชื่อเพื่อเป็น 100 เฟซบุ๊กที่ให้ร่วมโหวตในช่วงสัปดาห์ถัดมา จนได้ผลโหวตดังที่กล่าวมาข้างต้น

ทั้งนี้ในการตั้งโหวตเผชิญกับปัญหาลักษณะเดียวกับการโหวตเมื่อปีที่แล้ว คือ เมื่อแชร์ลิสต์บัญชีการโหวตไปจะกระทบต่อการโหลดหน้าเพจของผู้ที่แชร์ ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 1 วันก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวแล้ว และภายหลังหลายเพจได้เชิญชวนให้ร่วมโหวตเพจตนเองด้วยการโพสต์เป็นภาพพร้อมลิงก์เข้ามาโหวตแทน อย่างไรก็ตามแม้ประสบกับปัญหาดังกล่าว ก็ยังมีผู้แชร์ลิสต์บัญชี 100 รายการโหวต์ไปถึง 1,239 ครั้ง และมีผู้แสดงความเห็นในโพสต์ดังกล่าวกว่า 800 ความเห็น

ตัวอย่างโพสต์ที่แต่ละเพจชวนเข้ามาโหวตตามสไตล์ของตัวเอง : 

อย่างไรก็ตามตลอดปีที่ผ่านมามีข่าวการปรับลดยอดการเข้าถึงเฟซบุ๊กประเภท 'แฟนเพจ' ลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ มีการทดลองแยกเนื้อหาจากเพจและโพสต์จากเพื่อนออกจากกัน ใน 6 ประเทศ โบลิเวีย กัวเตมาลา กัมพูชา สโลวาเกีย เซอร์เบีย และศรีลังกา ซึ่งเมื่อ กล่าวเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา blognone.com รายงานว่า TEVAN DOJCINOVIC สังกัดองค์กรสื่อสารมวลชนไม่แสวงหากำไรในประเทศเซอร์เบีย (KRIK) ออกมาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพจที่เขาสังกัด เขาบอกว่าจู่ๆ เนื้อหาของเพจบริษัทก็ไม่แสดงบน News Feed เขาตกใจมากเพราะนั่นเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เดียวของ KRIK ที่เป็นสื่อเล็กๆ

blognone.com รายงานด้วยว่า ตอนแรก DOJCINOVIC คิดว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค แต่มาค้นพบภายหลังว่าไม่ใช่ เนื้อหาเพจของเขา รวมถึงเพจอื่นถูกแยกไปอยู่ใน Explore Feed ซึ่งคนใช้งานเฟซบุ๊ก ต้องกดเข้าไปที่หน้านั้นเพราะมันไม่ได้ตั้งเป็นหน้าแรกทันทีที่ผู้ใช้เข้าใช้งานเฟซบุ๊ก แม้เฟซบุ๊ก จะออกมาบอกภายหลังว่าเป็นแค่การทดลอง ไม่มีแผนการจะเปิดใช้ แต่หลายฝ่ายก็วิเคราะห์กันว่าอาจจะเปิดใช้ในอนาคต DOJCINOVIC บอกเพิ่มเติมว่าแม้เฟซบุ๊กเลือกจะทดลองระบบในประเทศเล็กๆ แต่สำหรับพวกเขามันสร้างผลกระทบใหญ่หลวง ไม่ใช่แค่กับองค์กรไม่แสวงหากำไรแต่ยังรวมถึงสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร KRIK เองก็พยายามทำหน้าที่เป็นสื่อเจาะประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถตีแผ่ได้มาตลอด เฟซบุ๊ก เป็นช่องทางหลักที่ KRIK สื่อสารไปถึงประชาชน ดังนั้นคงต้องหันไปให้น้ำหนักกับทวิตเตอร์มากขึ้น
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ในไซบีเรียที่ไร้ผู้คนมองเห็น

Posted: 23 Dec 2017 01:02 AM PST

 

ยินดีต้อนรับสู่ความเป็นจริง
ที่นี่ ที่นั่น หลุม บ่อ ปลัก ตม
ผ่านจากฝันหวานวัยเยาว์ -
ริ้วรอยบาดแผลวัยหนุ่มสาวยังไม่ลบเลือน
ความฝันยังอยู่หรือไม่
ความมุ่งมั่นยังมีอยู่ไหม
บาดแผลเพิ่มเข้ามาแผลแล้วแผลเล่า
ไซบีเรียของเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่ไซบีเรีย
แดนเนรเทศคือที่ใดหรือ
คนหนุ่มสาวเมื่อปี 1989 จากเทียนอานเหมินหลายคนยังไม่กลับบ้าน
คนจากราชประสงค์ก็ยังไม่อาจกลับบ้านเช่นกัน

ยินดีต้อนรับสู่ความเป็นจริง
การพลัดถิ่นพิสูจน์ตัวตนของเราได้มาก
เป็นนักปฏิวัติ
นักอุดมคติ
นักฝันโรแมนติค
คนสู้ความจริง
หรือเพียงอยากขยับให้โลกเคลื่อนไปข้างหน้าในร่องรอยที่ถูกต้อง
ล้วนแต่เป็นคนมีความรู้สึก
เราทำสิ่งที่เราทำด้วยความเต็มใจของเรามิใช่หรือ
มีใครบ้างไม่เจ็บปวดโดดเดี่ยว
ไซบีเรียของเราไม่ได้ชื่อไซบีเรีย
เราต่างอยู่ที่ไซบีเรียนั้น
หลุม บ่อ ปลัก ตม รอยแผล และความคับข้อง ไม่ใช่อัญมณีควรอวด
และไม่ใช่ผืนดินที่ควรสาดสุราราดรดเพื่อหว่านเพาะความปวดร้าว
ความเมามายชั่วครั้งชั่วคราวนั้นผ่อนคลายภาวะตึงเครียดตัวเรา
แต่ความเมามายตลอดเวลาดองแช่สามัญสำนึก

ไม่ว่าจะจำเป็นหรือจำยอม
หากภาคภูมิใจกับชีวิตและการกระทำของตนที่ทำผ่านมา
เป็นนักปฏิวัติ
นักอุดมคติ
นักฝันโรแมนติค
คนสู้ความจริง
หรือเพียงอยากขยับให้โลกเคลื่อนไปข้างหน้าในร่องรอยที่ถูกต้อง
หรือกระทั่งเป็นคนล้มเหลวในเกมธุระกิจ
เราล้วนกระทำการต่างๆ ด้วยตัวของเรา
เราเลือกเสียงร้องคำรามของเราเอาไว้แต่ต้น
ให้เสียงคำรามที่เราเลือกแล้วอยู่กับชีวิตจนเราดับสูญ
แม้ในไซบีเรียที่ไร้ผู้คนรับรู้การดับสูญของร่างกายเรา

ยินดีต้อนรับสู่ความเป็นจริง
ในวันเวลาสีดำ
ในความเจ็บปวด, ยากลำบาก, และไม่เป็นดั่งหวัง
ในไซบีเรียที่ไร้ผู้คนมองเห็น
มีเรื่องเล่าตำนานซึ่งอาจไม่มีคนเล่าเผยแพร่
เรียนรู้ , ทำงาน และสืบทอดเสียงกู่คำรามของคนนิรนาม

ในไซบีเรียที่ไร้ผู้คนมองเห็น
ในวันเวลาที่ยังไม่อาจหวังให้สิ้นสุดโดยเร็ว
มีคนนิรนาม
มีงานที่อาจไม่มีคนยกย่อง และเรื่องที่อาจไม่เป็นตำนาน
เราเลือกเสียงร้องคำรามของเราเอาไว้แต่ต้น
ให้เสียงคำรามที่เราเลือกแล้วอยู่กับชีวิตจนเราดับสูญ
แม้ในไซบีเรียที่ไร้ผู้คนรับรู้การดับสูญของร่างกายเรา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคเล็กเห็นพ้องงดใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก

Posted: 22 Dec 2017 10:30 PM PST

พรรคเล็กหวั่นเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองเดิม เสนองดเว้นการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก เนื่องจากพรรคจัดตั้งใหม่มีเวลาสมัครสมาชิกน้อยกว่าพรรคเก่า และการให้ คสช. อยู่จนกว่า กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องไม่กระทบต่อการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมือง ด้านประชาธิปัตย์ชี้คำสั่ง ม.44 ขยายเวลาพรรคการเมือง สร้างความยุ่งยากในทางปฏิบัติ

 
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมานายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของ สนช. ได้เชิญนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป และพรรคการเมืองขนาดเล็กเข้าหารือต่อประเด็นปัญหาในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 
 
นายไพบูลย์ กล่าวว่าอยากให้ สนช.แก้ไขปัญหา 3 ประเด็น ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองเดิม และพรรคการเมืองใหม่ในการจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค การเสนอให้งดเว้นการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก เนื่องจากพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มีเวลาในการสมัครสมาชิกพรรคน้อยกว่าพรรคการเมืองเก่า และการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศจนกว่ากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกตั้ง แต่จะต้องไม่กระทบต่อการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมือง ที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561 โดยจะต้องให้พรรคการเมือง สามารถประชุมใหญ่ได้ เพื่อวางนโยบาย และคัดเลือกกรรมการบริหารพรรค ส่วนจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่นั้น แล้วแต่ สนช. และหากเห็นว่าเวลาไม่เพียงพอ ก็อาจเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 ได้เช่นกัน
 
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ระบบไพรมารีโหวตเป็นภาระของพรรคการเมืองแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องกรอบเวลา เพราะบางพรรคการเมือง มีศักยภาพที่แตกต่างอย่างชัดเจน ส่วนปัญหาตามบทเฉพาะของกฎหมาย ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคการเมืองเก่า และพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากตามกฎหมายสรุปได้ พรรคการเมืองเก่ากฎหมายได้รับรองความเป็นสมาชิกภาพของพรรค แต่สำหรับพรรคใหม่นอกจากจะต้องหาสมาชิกแล้ว ก็ยังจะต้องจ่ายค่าบำรุงให้พรรคการเมืองด้วย 
 
เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่มาร่วมชี้แจง ก็ยังสนับสนุน ให้งดใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก เนื่องจาก เกรงว่าจะมีระยะเวลาไม่เพียงพอ ที่จะดำเนินการไพรมารีโหวตได้ทัน และยังขอให้ คสช. ปลดล็อคให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้
 
อย่างไรก็ตาม นายสุรชัย กล่าวว่าในระหว่างนี้ กรรมาธิการ จะรับฟังความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ก่อน และจะต้องรอดูเนื้อหาในคำสั่ง คสช. ที่หัวหน้า คสช. ลงนามวันนี้ ว่ามีเนื้อหาอย่างไร ก่อนจะเชิญตัวแทนจากพรรคการเมือง และฝ่ายต่าง ๆ มาหารืออีกครั้ง และหากให้ สนช. แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ก็จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน
 
ประชาธิปัตย์ชี้คำสั่ง ม.44 ขยายเวลาพรรคการเมือง สร้างความยุ่งยากในทางปฏิบัติ
 
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีการกำหนดขยายเวลาให้พรรคการเมืองและการให้ดำเนินการต่าง ๆ ในเรื่องสมาชิกพรรค ว่าประกาศดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญที่ผู้มีอำนาจควรคิดให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและต้องมีความตรงไปตรงมา จริงใจในการดำเนินการ
 
นายราเมศ กล่าวด้วยว่าทั้งนี้ต้องการให้ คสช.ทบทวนว่าในความเป็นจริงพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกรณีที่ในคำสั่งมีการระบุให้คนที่เคยเป็นสมาชิกพรรค ต้องกลับมายืนยันตัวตนใหม่ ยื่นหลักฐานใหม่ เสียค่าบำรุงสมาชิกใหม่ ภายใน 30 วันนับแต่ 1 เม.ย. 2561 ในทางปฏิบัติ ภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค ความหมายนี้ไม่ต่างอะไรกับการให้มาสมัครใหม่ ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากมาก และเหมือนเป็นการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง
 
"ประชาชนที่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมายาวนานและเป็นโดยชอบด้วยกฎหมาย วันนี้ผู้มีอำนาจกำหนดระยะเวลาที่เร่งรัดแล้วตัดสิทธิ หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลา ผู้มีอำนาจบอกว่าให้สมาชิกผูกพันกับพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชน แต่คำสั่งที่ออกมานี้กลับตรงกันข้าม ไม่อายบ้างหรือ ที่เขียนคำสั่งออกมากันแบบนี้ ปากพูดเหมือนดี แต่นี้คือปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ" นายราเมศ กล่าว
 
นายราเมศ กล่าวอีกว่า สมาชิกพรรคมีความผูกพันและมีส่วนร่วมกับพรรคมาโดยตลอด แต่กลับออกคำสั่งดังกล่าวมาเพื่อจำกัดสิทธิ ถือเป็นความไม่เป็นธรรม ไม่เห็นประโยชน์แก่ระบบประชาธิปไตย พร้อมย้อนถาม คสช.และรัฐบาลว่าการออกคำสั่งเช่นนี้ต้องการอยู่ต่อ หรือต้องการช่วยเหลือพรรคการเมืองใดหรือไม่ อีกทั้งเห็นว่าจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และสุดท้ายผู้มีอำนาจจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำเช่นนี้
 
ส่วนนายอรรถวิทย์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว ไม่ใช่การคลายล็อคพรรคการเมือง แต่ถือเป็นการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคที่จะต้องให้สมาชิกมาสมัครใหม่ในเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะทำให้สิ้นสภาพสมาชิกภาพ เพราะสมาชิกพรรคคือหัวใจของพรรคการเมือง และเห็นว่า คสช.กำลังสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปพรรคการเมืองใหม่ อีกทั้งเป็นการเพิ่มภาระและกระทบกับระบบไพรมารีโหวต ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญ และคาดไม่ถึงว่า คสช.จะออกคำสั่งเช่นนี้ออกมา
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชมรมเพื่อนโรคไตชี้ล้างไตช่องท้องตอบโจทย์ผู้ป่วยพื้นที่ห่างไกล

Posted: 22 Dec 2017 10:13 PM PST

ประธานชมรมเพื่อนโรคไต ยืนยันล้างไตทางช่องท้องช่วยตอบโจทย์บริบทผู้ป่วยโรคไตในพื้นที่ห่างไกล และช่วงประสบภาวะวิกฤตอุทกภัย ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยครั้ง

 
23 ธ.ค. 2560 นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเป็นไตวายอย่าท้อ เพราะยังสามารถทำงานได้และไม่เป็นภาระใครหากรู้จักดูแลรักษาตนอย่างถูกวิธี ซึ่งตนเองเคยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมากว่า 13 ปีและปัจจุบันได้รับการปลูกถ่ายไตแล้ว แต่ตนยังทำหน้าที่ผลักดันและให้ความรู้ด้านสิทธิการรักษา และวิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับผู้ป่วยและสมาชิกชมรมซึ่งมีอยู่มากกว่า 100,000 ราย โดยเฉพาะเรื่องการล้างไตทางช่องท้อง จากการสำรวจพบว่าเป็นวิธีที่ช่วยตอบโจทย์บริบทไทยมากที่สุด
 
เนื่องจากสามารถทำได้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยไม่ต้องสูญเสียเงินในการเดินทางมาโรงพยาบาล ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบผูกขาดอยู่กับสถานพยาบาลถึงสัปดาห์ละ 3 วันเพื่อฟอกเลือด และไม่เป็นภาระของญาติที่ต้องพามาโรงพยาบาลด้วย จึงช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถเข้าถึงบริการได้ 100% แม้แต่ผู้ป่วยที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ก็สามารถได้รับบริการอย่างทั่วถึง มีน้ำยาล้างไตส่งให้ถึงที่บ้าน ส่วนเรื่องการติดเชื้อไม่ต้องกลัว เพราะการดูแลตัวเองย่อมทำได้ดีกว่าให้คนอื่นมาดูแล แต่เราต้องตระหนักถึงความสะอาดและทำตามขั้นตอนที่แพทย์และพยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด
 
"เมื่อก่อนคนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตเนื่องจากไม่มีเงินรักษาหรือไม่ก็ต้องล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษา หลังจากการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้สิทธิคุ้มครองรักษาโรคไต (CAPD First Policy) ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้ป่วยก็มีโอกาสในการรักษาและสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น โดยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่ช่วยตอบโจทย์บริบทของคนไทยได้ดีมาก เพราะผู้ป่วยบางคนอยู่บนดอย ห่างจากสถานพยาบาลร่วม 200 กิโล การเดินทางไป-กลับใช้เวลาเกือบทั้งวัน หากเขาต้องเดินทางมาพบแพทย์ทุกสัปดาห์ก็คงไม่ไหว ไหนจะเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา จะเอาเวลาไหนมาทำงานหาเลี้ยงชีพ"
 
นายธนพลธ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น จึงอยากให้แพทย์และผู้เกี่ยวข้องมองถึงพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ และบริบทของผู้ป่วยโรคไตตรงนี้ด้วย ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ และให้ข้อมูลกับผู้ป่วยให้จัดเจน ถูกต้อง และครบถ้วน เพื่อให้ผู้ป่วยมีทัศนคติที่ดีในด้านการรักษามากขึ้น ซึ่งทางชมรมเองได้พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น รวมถึงการสร้างความเข้าใจเรื่องวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยทุกราย และให้ความรู้ที่ถูกต้องว่าการติดเชื้อมันไม่สามารถติดได้ง่าย และผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่เสียชีวิตด้วยโรคไต แต่อาจจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เช่น ความดัน เบาหวาน เป็นต้น" ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าว
 
ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า การล้างไตทางช่องท้องยังช่วยลดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลไม่เพียงพอ  โดยอัตราส่วนระหว่างพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอยู่ที่ 1 : 50 คน (ตามมาตรฐาน) ขณะที่พยาบาลที่ดูแลเรื่องการฟอกเลือด (HD) จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียง 1 คน : 4 เครื่อง : รอบ (ใน 1 วัน สามารถทำได้สูงสุด 4 รอบ หรือ คนไข้ 16 คนเท่านั้น) ดังนั้น หากไม่มีการล้างไตทางช่องท้อง จะส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ก็จะไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย โดยต้องมีการผลิตเพิ่มอีกมากกว่า 3,500 อัตรา พร้อมเพิ่มศูนย์บริการทางการแพทย์อีกเป็นจำนวนมากให้ครบทุกจังหวัด และอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยตามมา
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตายชาวลีซูถูกทหารยิงเสียชีวิต

Posted: 22 Dec 2017 10:06 PM PST

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไต่สวนพยานได้ 2 ปาก นัดอีกครั้ง 26 ธ.ค. 2560 คดีไต่สวนการตายนายอะเบ แซ่หมู่ ชาวชาติพันธุ์ลีซู ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตเมื่อ ก.พ. 2560

 
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ ช.18/2560 กรณีนายอะเบ แซ่หมู่ ชาวชาติพันธุ์ลีซู ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560  เหตุเกิดที่ถนนสายระหว่างหมู่บ้านรินหลวง-หมู่บ้านป่าบงงาม ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
 
พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ผู้ร้องได้นำพยานมาศาล 4 ปาก แต่เข้าเบิกความต่อศาลได้เพียง 2 ปาก คือเจ้าหน้าที่ทหารยศจ่าสิบเอก 1 นาย และพลทหาร 1 นาย โดยเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในเหตุการณ์และยิงนายอะเบฯเสียชีวิต ขณะปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนของด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลังจากพยานทั้งสองปากได้เบิกความเสร็จแล้ว พนักงานอัยการฯ ผู้ร้อง จะนำแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพนายอะเบในที่เกิดเหตุและผ่าศพที่โรงพยาบาลเชียงดาว ขึ้นเบิกความต่อศาล แต่เนื่องด้วยการไต่สวนพยานสองปากแรกนั้นใช้เวลานานและเลยเวลาราชการมามากแล้ว ศาลจึงแจ้งเลื่อนการไต่สวนพยานที่เหลือเป็นวันที่ 22 ธ.ค. 2560 แต่พยานไม่สะดวกในวันดังกล่าว ประกอบกับผู้ร้องยังไม่สามารถติดตามพยานบางคนได้ ศาลจึงได้ยกเลิกนัดไต่สวนในวันที่ 22 ธ.ค. 2560 และกำหนดไต่สวนพยานอีกครั้งในวันที่ 26 ธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันน้ดไว้แต่เดิม โดยผู้ร้องจะนำพยานมาไต่สวนเพิ่มอีกจำนวน 4 ปาก ได้แก่ แพทย์ผู้ทำการชันสูตรศพ  ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทหารที่ยิงนายอะเบ  เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน และพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ขึ้นเบิกความต่อศาลในวันที่ 26 ธ.ค. 2560 ตั้งแต่เวลา 09.00น. เป็นต้นไป หลังจากเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องทั้งหมดแล้ว ศาลจึงจะกำหนดวันนัดไต่สวนพยานฝ่ายญาติผู้ตายต่อไป
 
ขอเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีได้ตามวันเวลาดังกล่าวและสามารถติดตามเรื่องราวของคดีนี้และคดีอื่น ๆ ได้ที่ https://voicefromthais.wordpress.com
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะลูกขุนศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้ 6 'ผู้ประท้วงพิธีทรัมป์รับตำแหน่งฯ' พ้นโทษ

Posted: 22 Dec 2017 07:28 PM PST

คณะลูกขุนลงความเห็นให้ 6 จำเลยผู้ต้องคดีร้ายแรงเหตุชุมนุมต่อต้านการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือน ม.ค. พ้นผิดเหตุขาดหลักฐาน นักเคลื่อนไหวมองว่านอกจากจะเป็นชัยชนะแล้วยังเป็นการแสดงให้อัยการและฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าพวกเขาควรเคารพสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ


ภาพจาก Isabelle Blanchemain

23 ธ.ค. 2560 สื่อคอมมอนดรีมส์รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะลูกขุนตัดสินให้จำเลย 6 ราย ไม่มีความผิดจากการที่พวกเขาถูกจับเพราะร่วมประท้วงพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2560 หรือที่เรียกว่า J20

กลุ่มผู้ประท้วงทรัมป์ที่ถูกจับกุมมีทั้งพยาบาล ช่างภาพข่าว นักศึกษา ถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินและสมรู้ร่วมคิดกับการก่อจลาจล ซึ่งถ้าหากพวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดอาจจะต้องโทษจำคุกหลายสิบปี

สก็อต ไมเคิลมาน ทนายความอาวุโสจากสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันในวอชิงตันดีซีแถลงว่า การตัดสินใจให้ 6 ผู้ต้องหาพ้นโทษทุกข้อกล่าวหาถือเป็นการยืนยันหลักการรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ 2 ประการ ประการแรกคือการต่อต้านแข็งขืนไม่ใช่อาชญากรรม และประการที่สองคือกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ทำให้การชุมนุมรวมกลุ่มกันของประชาชนเป็นความผิด

ไมเคิลมาน บอกอีกว่า "พวกเราหวังว่าคำตัดสินในครั้งนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่สอนให้ตำรวจและอัยการเคารพเส้นแบ่งระหว่างการทำผิดกฎหมายกับการประท้วงที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญ"

ผู้สังเกตการณ์และนักข่าวระบุว่าในช่วงที่มีการประท้วงการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ มีผู้ประท้วงถูกกวาดจับไปเป็นจำนวนมากกว่า 200 ราย การดำเนินคดีกับผู้ประท้วง 6 รายนี้เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา และยังเหลืออีกมากกว่า 180 รายที่รอการไต่สวนดำเนินคดีในศาลอยู่

จูด ออร์ติส ประธานกรรมการทนายความแห่งสมาคมทนายความสหรัฐฯ บอกว่าคำตัดสินในครั้งนี้ถือเป็น "ชัยชนะที่สะท้อนก้อง" และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า "การฟ้องร้องดำเนินคดีพวกเขาขาดหลักฐานโดยสิ้นเชิง"

"ไม่มีใครควรจะต้องกลัวการถูกจับกุมหรือดำเนินคดีเพียงเพราะเดินทางสู่เมืองหลวงเพื่อแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างสันติ ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นจะเป็นเช่นใดก็ตาม" ไมเคิลมานกล่าวเขายังเรียกร้องให้ยกฟ้องผู้ชุมนุมอย่างสงบรายอื่นๆ ด้วย

ถึงแม้ว่าการตัดสินของคณะลูกขุนในครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่สื่อ The Intercept เรียกว่าเป็น "การตอกหน้า" สำนักงานอัยการเขตโคลัมเบียที่ยื่นฟ้องในคดีนี้ แต่ทางสำนักงานอัยการก็แถลงว่าถึงแม้พวกเขาจะเคารพในคำตัดสินของคณะลูกขุนกรณี 6 คนนี้ แต่พวกเขาจะยังไม่ยกฟ้องคนอื่นๆ ในคดีที่เหลือ

มีผู้สนับสนุนรวมตัวกันอยู่นอกศาลเพื่อรอรับจำเลยพร้อมป้ายที่เขียนว่า "ด้วยรักถึงคนที่ต่อต้านขัดขืนทุกคน"

The Intercept ระบุอีกว่าคำตัดสินจากลูกขุนในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าคณะลูกขุนไม่เห็นคล้อยตามฝ่ายอัยการที่พยายามลงโทษหมู่แบบเหมารวม (collective punishment) กลุ่มผู้ประท้วงที่ถูกกวาดจับเพียงเพราะการกระทำของคนไม่กี่คน

ทนายความของคดีนี้กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อ The Intercept ว่า เขาอยากทำให้ผู้ถูกกล่าวหารายอื่นๆ ที่เหลือพ้นจากความผิดได้ เพื่อส่งสารให้รัฐบาลสหรัฐฯ ที่พยายามจะทำตัวเป็นฟาสซิสต์และพวกกลุ่มขวาจัดที่สนับสนุนพวกเขาได้รับรู้ถึงการไม่ยอมอ่อนข้อต่อรัฐบาล


เรียบเรียงจาก

'Victory for Right to Dissent' as Six J20 Protesters Found Not Guilty on All Charges, Common Dreams, 21-12-2017
https://www.commondreams.org/news/2017/12/21/victory-right-dissent-six-j20-protesters-found-not-guilty-all-charges

JURY ACQUITS FIRST SIX J20 DEFENDANTS, REBUKING GOVERNMENT'S PUSH FOR COLLECTIVE PUNISHMENT, The Intercept, 22-12-2017
https://theintercept.com/2017/12/21/j20-trial-acquitted-inauguration-day-protest/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น