โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ดูเตอร์เต-ฮุนเซน' ถูกเสนอชื่อเข้าชิง 'รางวัลสันติภาพขงจื๊อ' ปี 2560

Posted: 09 Dec 2017 09:03 AM PST

หลังจากที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกกล่าวหาในเรื่องอำนาจนิยมมาเป็นปี ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ 'รอดริโก ดูเตอร์เต' และนายกรัฐมนตรี 'ฮุนเซน' ของกัมพูชา ก็ได้รับเสนอชื่อเข้ารับ 'รางวัลสันติภาพขงจื๊อ' (Confucius Peace Prize) ซึ่งถูกมองว่าเป็นรางวัลที่โต้ตอบ 'รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ' ที่เคยมอบให้ 'หลิวเสี่ยวโป'

 
 
ที่มาภาพ: แฟ้มภาพ Wikimedia Commons
 
9 ธ.ค. 2560 รางวัลขงจื๊อถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2553 โดยสมาคมศิลปะพื้นบ้านจีน (Association of Chinese Indigenous Arts) ซึ่งเป็นรางวัลของจีนที่ต้องการคู่ขนานรางวัลสันติภาพโนเบล โดยรัฐบาลจีนตอบรับข้อเสนอการจัดรางวัลนี้จากนักธุรกิจจีนที่ชื่อหลิวจือชีน (Liu Zhiqin) โดยอ้างว่าเป็นการประกาศรางวัล "ส่งเสริมสันติภาพของโลกจากมุมมองของตะวันออก" แต่ก็มีคนมองว่าพวกเขาต้องการโต้ตอบการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับหลิวเสี่ยวโป นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนที่เคยถูกทางการจีนสั่งจำคุก และเขาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา
 
การประกาศรางวัลดังกล่าวมีการประกาศเป็นรายปีนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา และมีการเสนอรางวัลเป็นเงินจำนวน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 490,000 บาท ตามค่าเงินปัจจุบัน) ในจำนวนผู้ที่เคยได้รับประกาศชนะผลรางวัลมีทั้งอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน (ปี 2555) วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย (ปี 2554) ฟิเดล คาสโตร อดีตผู้นำคนสำคัญของคิวบา (ปี 2557) หรือแม้กระทั่งโรเบิร์ต มูกาเบ (ปี 2558) อดีตผู้นำอื้อฉาวของซิมบับเวที่เพิ่งถูกขับออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา
 
ทุกคนที่ถูกประกาศรางวัลนี้ไม่มีใครเลยที่เข้าร่วมพิธีรับรางวัล ในปี 2554 มีนักศึกษารัสเซีย 2 คนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับปูตินถูกเลือกให้ไปรับรางวัลแทน ในปี 2558 ที่ให้รางวัลกับมูกาเบ คณะกรรมการชื่นชมผู้นำอื้อฉาวผู้นี้ว่า "ทำงานอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับประเทศของเขา นำสันติภาพมาสู่ประชาชนซิมบับเว"
 
อยางไรก็ตามในเวลาต่อมาทางการจีนก็พยายามย้ำว่ารางวัลนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับรัฐบาลจีนเลย และหลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อปี 2554 คณะกรรมการกลุ่มนี้ก็ถูกย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกงและถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์จีนเพื่อการวิจัยสันติภาพนานาชาติ" (China International Peace Research Center)
 
Shanghaiist รายงานว่าในปีที่แล้วคณะกรรมการรางวัลสันติภาพขงจื๊อดูจะพายามประนีประนอมกับนานาชาติอยู่บ้างด้วยการประกาศให้รางวัลชาวจีน 3 ที่เสียชีวิตตอนที่ร่วมปฏิบัติการในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่แอฟริกา แต่ในปีนี้ดูเหมือนว่าพวกเขาจะหันกลับมาเลือกกลุ่มผู้นำเผด็จการที่สนับสนุนทางการจีนอีกครั้ง
 
เช่นเดียวกับมูกาเบผู้เคยถูกกล่าวหาเรื่องการเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งดูเตอร์เตและฮุนเซนต่างก็เป็นผู้นำที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบ้านตัวเอง ดูเตอร์เตเคยถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่าเขาก่อ "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" จากการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมจำนวนมากมีผู้เสียชีวิตหลายรายเป็นเด็กโดยอ้างเรื่องการปราบปรามยาเสพติด นอกจากนี้ยังไม่ยอมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ออกตัวว่าเคยฆาตกรรมคนเมื่ออายุ 16 และขู่ฆ่าคนอื่น
 
อีกรายหนึ่งที่ได้รับเสนอชื่อคือฮุนเซนเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2528 ในช่วงปีนี้เขาพยายามเอาชนะการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีหน้าด้วยการใช้วิธีต่าง ๆ กำจัดคู่แข่ง เช่นการสั่งยุบพรรคฝ่ายค้าน จับกุมผู้นำฝ่ายค้านและฟ้องร้องพวกเขาข้อหาทรยศชาติ ขณะเดียวกันก็ล่วงล้ำเสรีภาพสื่อและพยายามสั่งปิดกลุ่มสิทธิมนุษยชนกลุ่มหลัก ๆ ของประเทศ มีอีกข้อสังเกตอีกว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาฮุนเซนเคยเรียกร้องให้มีการสั่งห้ามธงทิเบตและธงไต้หวันในกัมพูชาเพื่อเคารพอธิปไตยของจีน 
 
Shanghaiist รายงานว่าจะมีการประกาศผู้ชนะรางวัลสันติภาพขงจื้อภายในเดือน ธ.ค. นี้
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Duterte, Hun Sen in the running for this year's Confucius Peace Prize, Shanghaiist, 07-12-2017
 
Duterte, Hun Sen nominated for 2017 Confucius Peace Prize, Asian Correspondent, 06-12-2017
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ผ่าน 3 วาระ ก.ม.ถวายความปลอดภัย แก้ให้อำนาจราชเลขาฯ และเป็นไปตามพระราชประสงค์

Posted: 09 Dec 2017 03:40 AM PST

แฟ้มภาพ เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา

9 ธ.ค.2560 โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อพิจารณาวาระร่างพ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ....คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า หลักการของ ร่าง พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย คือเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัยฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 สาเหตุที่ระยะเวลาผ่านไป 3 ปี แล้วต้องมาขอปรับปรุงโดยการยกเลิกฉบับเดิมแล้วใช้ฉบับใหม่นั้น เพราะเหตุว่าเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ต่อมาได้มีการออกกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ และบุคลากรหรือข้าราชการในพระองค์เสียใหม่ ซึ่งสภาฯก็ได้ให้ความเห็นชอบพ.ร.บ.ดังกล่าว และได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาตามความในพ.ร.บ.นั้นไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดย่อมกลับไปกระทบพ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557

วิษณุ กล่าวต่อว่า หลักการสำคัญที่ปรากฏใน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการไปเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมที่อยู่ใน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 ในประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น คือ 1. ได้แก้ไขคำว่าความปลอดภัย ให้ขยายออกไปนอกเหนือจากการถวายความปลอดภัยหรือถวายอารักขาธรรมดา มีเรื่องของการถวายพระเกียรติด้วย ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องจัดกระบวนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อประโยชน์ในการถวายพระเกียรติมากกว่า เพราเหตุว่ามีภัยหรือภยันอันตรายก็จะอนุโลมเข้าไปอยู่ในคำว่าการถวายความปลอดภัย

2. เดิมการถวายความปลอดภัยนั้นจะทำในรูปของคณะกรรมการ โดยมีสมุหราชองครักษ์เป็นประธาน มีราชเลขาธิการ ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ และมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เป็นคณะกรรมการ แต่หลักการใหม่ที่เสนอมาวันนี้ ได้ยกเลิกระบบคณะกรรมการดังกล่าว เปลี่ยนเป็นให้การดำเนินการทั้งหมด อยู่ภายใต้การกำกับ และบังคับบัญชาของราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ส่วนที่จะไปตั้งคณะกรรมการขึ้นอย่างไรหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องที่ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์จะไปดำเนินการกันโดยการออกประกาศระเบียบภายในไม่ต้องปรากฏเป็นบทบังคับอยู่ในตัว พ.ร.บ.ดังกฎหมายฉบับเดิม

3.ในขณะที่พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 แบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบในการถวายความปลอดภัย ส่วนหนึ่งจะอยู่ที่สมุหราชองครักษ์ อีกส่วนจะอยู่ที่เลขาธิการพระราชวัง และในกรณีเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศก็อาจจะต้องมีหน่วยอื่น เช่นกรมราชองครักษ์ และกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่หลักการในกฎหมายใหม่ที่เสนอมาได้รื้อระบบเหล่านี้ทั้งหมด เปลี่ยนแปลงเป็นว่าทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การกำกับการบังคับบัญชา การวางแผน และการดำเนินการโดยราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ส่วนที่จะมีการแบ่งส่วนงานภายในอย่างไรต่อไปก็เป็นเรื่องที่ราชเลขานุการในพระองค์ไปกำหนด โดยจะไม่เกี่ยวข้องกับสมุหราชองครักษ์ หรือเลขาธิการพระราชวังต่อไป ทั้งนี้จะได้สอดคล้องกับการจัดโครงสร้างของสำนักพระราชวังและหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยที่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายใหม่ และ 4. ขณะที่กฎหมายเก่ามีบางเรื่องไปผูกพันกับตำแหน่งการเมืองของนายกรัฐมนตรี เช่น การวางระเบียบใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน ซึ่งถูกต้องเหมาะสมในกาลสมัยครั้งนั้น เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักพระราชวัง แต่ตามโครงสร้างใหม่ ตามกฎหมายใหม่ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ นายกฯ ไม่ได้มามีส่วนรับผิดชอบในส่วนนี้อีกต่อไป ก็จำเป็นต้องตัดบทบาทของนายกฯ ออก และทั้งหมดจะไปปรากฏในเนื้อความที่เขียนว่า "ให้ดำเนินการไปตามพระราชประสงค์ และถ้ามีเรื่องอย่างก็เป็นเรื่องที่ราชเลขานุการในพระองค์จะนำความกราบบังคมทูลเพื่อขอรับพระราชวินิจฉัยต่อไป"

หลักการใหม่ 4 ประการนี้ด้วยเหตุที่เป็นการไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเดิมมากจึงจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายเดิมนั้น แล้วยกร่างขึ้นเป็นฉบับใหม่ มีเนื้อความทั้งหมด 9 มาตรา นอกจากนั้น ถ้อยคำ ภาษา หรือแม้แต่หลักการปลีกย่อยอย่างอื่น ยังเป็นไปตามแนวทางเดิม จึงขอเสนอเพื่อให้สภาได้โปรดพิจารณา

จากนั้น เป็นการลงมติรับหลักการในวาระแรก โดยที่ประชุมเห็นด้วยด้วยคะแนน 192 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 3 และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาขึ้นมาพิจารณา โดยไม่มีสมาชิกคนใดอภิปรายในวาระ 2 และลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 189 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 4 ทำให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม สมชาย แสวงการ เลขาฯวิปสนช. ได้ขอแก้ไขคะแนนทั้งในวาระรับหลักการและวาระ 3 ว่า ในส่วนคะแนนที่ไม่เห็นด้วย 1 คะแนนเป็นเพราะในวาระแรกผู้ที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยไปต่างประเทศ และเกิดการขัดข้องจากเครื่องกดบัตร ส่วนในวาระ 3 นั้นเกิดจากเครื่องกดบัตรลงคะแนนขัดข้อง ดังนั้นจึงไม่มีผู้ใดไม่เห็นด้วย คะแนนในวาระแรก เป็น 193 งดออกเสียง 3 และวาระ 3 จึงเป็น 190 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 คือ ประธานสนช.และรองประธานสนช.ทั้ง 2 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สรรเสริญ' ระบุดัชนีทุจริต CPI ปีล่าสุดยังไม่ประกาศ คาดไทยมีคะแนนดีขึ้น

Posted: 09 Dec 2017 02:35 AM PST

'สรรเสริญ' โฆษกสำนักนายกฯ ระบุข้อมูลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปีล่าสุดที่แชร์ในโลกออนไลน์ไม่เป็นความจริง ยืนยันผลคะแนนปี 2560 ยังไม่ประกาศ คาดมีคะแนนดีขึ้น ด้าน 'ประยุทธ์' เปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) ลั่นสร้างวัฒนธรรมใหม่ ไม่ทน-ไม่ยอมรับการทุจริตทุกรูปแบบ 

 
 
 
9 ธ.ค. 2560 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์โดยระบุว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปีล่าสุดแล้ว โดยไทยมีคะแนนลดลงจากเดิมไปอีก ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะข้อมูลล่าสุดที่องค์กรดังกล่าวได้ประกาศไปนั้นคือ ผลคะแนนของปี 2559 ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อเดือน ม.ค.2560 ส่วนผลคะแนนของปี 2560 ยังไม่ได้ประกาศ โดยคาดว่าน่าจะประกาศในเดือน ม.ค.ปีหน้า นอกจากนี้ ยังมีการนำข้อมูลในปี 2556 ซึ่งไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 102 จาก 177 ประเทศ มาเผยแพร่สร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นปีปัจจุบันอีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาล เชื่อว่า จากความตั้งใจจริงในการปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชันจะทำให้ดัชนีการรับรู้การทุจริตในปี 2560 ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลคะแนนของแต่ละประเทศนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินำมาพิจารณาด้วย เช่น ในปี 2559 คะแนนของไทยลดลงเพียง 3 คะแนน แต่อันดับตกลงไปอยู่ที่ 101 จากเมื่อปีก่อนอยู่ที่อันดับ 76 อีกทั้งจำนวนประเทศที่ถูกประเมินมีมากขึ้นถึง 176 ประเทศ จากเดิม 168 ประเทศ และหลายประเทศมีคะแนนเท่ากัน รวมทั้งยังพบว่ามีการนำข้อมูลมาจากแหล่งต่าง ๆ ถึง 13 แห่ง เพื่อใช้ในการการคิดคะแนน แต่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไทยเพียง 7-8 แห่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถานการณ์คอร์รัปชันจากการรับรู้ของคนในประเทศเมื่อสิ้นสุดปี 59 สำรวจโดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ปรากฏว่า ดีขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ภาพลักษณ์เรื่องการติดสินบนและคอร์รัปชันที่ประเมินโดย IMD และภาพลักษณ์เรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของรัฐหาประโยชน์ส่วนตัวของ World Justice Project Rule of Law ก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
 
'ประยุทธ์' เปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) ลั่นสร้างวัฒนธรรมใหม่ ไม่ทน ไม่ยอมรับการทุจริตในทุกรูปแบบ
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) พร้อมกล่าวประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต ช่วงหนึ่งในงานว่า วันนี้มีความยินดีที่มาร่วมงานนี้ เพราะต้องการให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาการทุริตคอร์รัปชั่น ที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไขแล้ว ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาประเทศไทยสะสมปัญหานี้มานาน และเริ่มส่งผลเสียมากขึ้นในสายตาต่างประเทศ เห็นได้จากผลที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับการทุจริต หรือ ซีพีไอ ประจำปี 2559 โดยไทยได้ 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม100และได้ลำดับที่ 101 จากการจัดอันดับทั้งหมด 176 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 6ใน10ประเทศอาเซียน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นเกิน 50 คะแนนโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความน่าเชื่อถือและหลุดพ้นจากประเทศที่มีการทุจริต แต่ทั้งหมดนี้ มองว่าเรื่องดังกล่าวอาจไม่ได้หมดไปในทันที เพราะเป็นเรื่องที่เกิดกับประเทศทั่วโลก จากนี้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมกันจะต้องร่วมกันปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีและสร้างวัฒนธรรมใหม่ ไม่ทนและไม่ยอมรับการทุจริต โดยต้องเริ่มจากที่ตนเองก่อน รวมถึงขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่พร้อมเดินหน้าปฎิรูปประเทศที่มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนแล้ว
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่าการทุจริตจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ให้ และผู้รับ รวมถึงอาจเป็นรูปแบบนายหน้า ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจากนี้ขอให้ประชาชนร่วมกันเป็นหูเป็นตาให้กับประเทศชาติ โดยสามารถแจ้งเบาะแส การทุจริตมาที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ เพื่อให้มีการตรวจสอบและดำเนินการกับคนกระทำผิดต่อไป สำหรับงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลอ(ประเทศไทย) ในครั้งนี้ ที่จัดขึ้นพร้อมกับหลายประเทศทั่วโลกของวันที่ 9 ธันวาคมทุกปี ถือเป็นการแสดงให้นานาชาติเห็นความตั้งใจจริงในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นของไทยอย่างจริงจัง ที่รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สะสมมานาน อาจจะให้หมดไปโดยทันทีไม่ได้ เกิดจากจิตใจของคน จะทำอย่างไรที่จะปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดขึ้นไม่ทนไม่ยอมรับการทุจริต การคอร์รัปชั่นอาจไม่ ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย แต่มีหลายประเทศ รัฐบาลจึงกำหนเเป็นวาระแห่งชาติแล้วและพร้อมเดินหน้าทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทุกคนต้องทำหน้าที่แนวคิดตัวเองให้ดีที่สุด การตะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับความร่วมมือขากทุกภาคส่วน รัฐได้ร่างระเบียบ การต่อต้านด้วยสังคม ทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเองก่อน สถานศึกษาสังคม ปัจจุบันแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่รัฐบาลยังได้ผลักดันให้นำกลไกลเหล่านี้ไปใช้ในทุกระดับ โดยได้กำหนดเป้าหมาย ทั้งมาตรการระยะสั้นกลางยาว โดยเฉพาะการปฎิรูปประเทศเป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ในนามของรัฐบาลที่ช่วยปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติ การทุจริตมีทั้งผู้ให้ ผู้รับและนายหน้า หรือส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยอำนวยความสะดวก จากนี้ขอให้ประชาชนแจ้งเบาะแส การทุจริตมาที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการตรวจสอบ ซึ่งส่วนตัว ยืนยันว่า การต่อต้านทุจริตควรเริ่มที่ตัวเองก่อน โดยส่วนตัวไม่เคยนัดใครเพื่อนับผลประโยชน์จากใคร ไม่พร้อมเปิดบ้านรับคนที่ต้องการทุจริต
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยร่วมเป็นหุ้นส่วนผลักดันทุกประเทศมีหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน

Posted: 09 Dec 2017 01:51 AM PST

9 ธ.ค. 2560 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 12 ธ.ค. 2560 ที่จะถึงนี้เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2555 กำหนดให้วันที่ 12 ธ.ค.ของทุกปีเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก เพื่อให้ทั่วโลกเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for All) โดยสนับสนุนให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศสามารถบรรลุได้ เป็นการลงทุนอย่างฉลาดของรัฐที่ทำเพื่อประชาชนทุกคน
 
ประเด็นการรณรงค์นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาก็จะยกระดับการรณรงค์เพื่อให้ทุกประเทศมุ่งไปสู่ผลสำเร็จของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น ในปี 2556 ที่ใช้การรณรงค์ว่า การลงทุนของรัฐเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ถึง 24% และการลงทุนด้านสุขภาพทุกๆ 1 ดอลลาร์จะให้ผลตอบแทนกลับคืนมากกว่า 10 เท่า เป็นต้น
 
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการรณรงค์ในปี 2560 คือ "Rise for Our Right" สื่อถึงการร่วมกันลุกขึ้นมาเพื่อสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเรา เพื่อแสดงให้ประชาคมโลก และประเทศสมาชิก สนับสนุนให้ประชากรได้ตระหนักถึงสิทธิที่จะมีหลักประกันสุขภาพและการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งในระดับสากลนั้น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพ ในส่วนบริบทของประเทศไทยนั้นมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากว่า 16 ปีแล้ว และได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นต้นแบบประเทศไม่รวยแต่สามารถทำให้ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพได้ ซึ่งไทยก็เข้าร่วมเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนนานาชาติเพื่อเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) และเป็นต้นแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแต่ละประเทศสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ
 
ทั้งนี้ ในปีนี้ประเทศไทย โดย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม สปสช.และคณะ ได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมประชุมเวทีวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก หรือ Universal Health Coverage Forum ประจำปี 2560 Health for All, Rising for Our Right to Universal Health Coverage ในวันที่ 12-15 ธันวาคมนี้ ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการติดตามความคืบหน้าของแต่ละประเทศในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด การเสนอความสำเร็จของประเทศหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นต้นแบบซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดย นพ.ปิยะสกล จะบรรยายในหัวข้อ อนาคตของระบบสุขภาพ ต้นแบบการใช้ข้อมูลสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในยุคต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมยื่นศาล รธน.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

Posted: 09 Dec 2017 01:15 AM PST

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. เตรียมยื่นศาล รธน. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ระบุคำสั่งดังกล่าวขัด รธน. ชัดเจน ชี้การยื่นครั้งนี้จะพิสูจน์ว่าศาล รธน.สามารถทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จริงหรือไม่ 

 
 
9 ธ.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นายรังสิมันต์ โรม ผู้ประสานงานกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวในการแถลงข่าวการยื่นคำร้องขอยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 โดยมีสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เข้าร่วมว่าข้อที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 คือ ข้อที่ 6 และ 12 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการออกคำสั่งเรียกบุคคลมาสอบปากคำ และสามารถจับกุมคุมขังไว้ได้นานสุดถึง 7 วัน โดยไม่ต้องมีคำสั่ง หรือหมายศาล ซึ่งคำสั่งดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพที่แสดงออกโดยสุจริตหรือไม่
 
"นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีกลุ่มต่าง ๆ แสดงออกจำนวนมากว่าต้องการประชาธิปไตย แต่นับจาก คสช.ออกคำสั่งที่ 3/2558 กลุ่มเหล่านี้ถูกจับกุมคุมขังและดำเนินคดี อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ประกาศใช้ และได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการกำหนดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคของบุคคล และสิทธิในชีวิต ร่างกายที่จะไม่ถูกคุมขัง ทว่าถึงวันนี้การดำเนินคดีโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังคงอยู่ จึงเป็นเหตุผลในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามสิทธิในมาตรา 213 เพื่อยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในข้อ 6 และ 12 โดยผู้ร่วมยื่นคำร้องหลักมาจาก 5 คดี คือ คดีหอศิลป์กรุงเทพฯ คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ คดีรณรงค์ประชามติ คดีปัดฝุ่นประชาธิปไตยโดยนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารที่จัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่" นายรังสิมันต์กล่าว
 
นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่าทั้งนี้จะยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 รวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการรวบรวมรายชื่อผู้เสียหาย ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จำนวนมาก เพื่อให้แล้วเสร็จและยื่นคำร้องภายในเดือนธันวาคมนี้ หรือมกราคม 2561
 
ด้านนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ตัวแทนผู้เสียหายจากคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ กล่าวว่า คสช.เข้ามาในช่วงแรก โดยอ้างว่าต้องการรักษาความสงบ แต่ที่ผ่านมาเป็นเพียงการสกัดยับยั้งผู้มีความเห็นต่าง ทำให้กฎหมายไม่มีบรรทัดฐาน เพราะเลือกใช้อำนาจบังคับกับฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น การยื่นคำร้องครั้งนี้จะเป็นคำตอบแก่สังคมว่ากฎหมายที่สูงสุดของประเทศคือกฎหมายใด
 
 
คำชี้แจงการแถลงข่าว ประชาชนยื่นฟ้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
 
ประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่าน
 
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนผู้ถูกละเมิดจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขอชี้แจงถึงที่มาของการแถลงข่าวในครั้งนี้ และสิ่งที่พวกเราจะดำเนินการต่อไป ดังนี้
 
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีครึ่งผ่านมาที่ คสช. ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ พวกเราได้จัดกิจกรรมในต่างกรรมต่างวาระ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโต้แย้งการกระทำอันไม่ชอบธรรมของ คสช. และเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
 
การจัดกิจกรรมของพวกเราเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองโดยรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 (มาตรา 4) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ฉบับปัจจุบัน (มาตรา 4) ที่กำหนดให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง หากจะกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุม (มาตรา 44) และสิทธิในชีวิตและร่างกายในการที่จะไม่ถูกจับกุมคุมขัง (มาตรา 28) ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วยเช่นกัน
 
ทว่าพวกเรากลับถูกกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง และการดำเนินคดีซึ่งยังคงดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนหรือชั้นศาลในปัจจุบัน โดยอ้างอำนาจจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะข้อ 6 และข้อ 12 ส่งผลกระทบต่อพวกเราซึ่งใช้สิทธิเสรีภาพโดยสุจริตให้ต้องได้รับความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงมีคดีความติดตัวจนอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในภายภาคหน้าได้
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6 ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวบุคคลมาสอบปากคำและควบคุมตัวไว้ได้นานสุดถึง 7 วันโดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล ส่วนข้อ 12 ได้กำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้น มีระวางโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน ปรับสูงสุด 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อและเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในชีวิตและร่างกาย ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้การคุ้มครองไว้อย่างชัดแจ้ง รวมถึงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารในการกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดช่องทางตามมาตรา 213 ให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพราะในมาตรา 213 ไม่ได้กำหนดรายละเอียดให้ต้องยื่นคำร้องผ่านช่องทางอื่นก่อน ซึ่งไม่สมควรกำหนดให้เป็นเช่นนั้น เพราะหากในอนาคตมีการตรากฎหมายกำหนดขั้นตอนการยื่นคำร้องให้ต้องผ่านองค์กรอื่นก่อนแล้ว ย่อมเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างเกินเลย และทำให้ช่องทางตามมาตรา 213 นี้ไม่อาจใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผิดกับคำโฆษณาของ กรธ. เมื่อครั้งรณรงค์ประชามติว่ารัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ "เข้มแข็งและฉับไวขึ้น" โดยสิ้นเชิง
 
ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงขอยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 รวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมรายชื่อผู้ถูกละเมิดเพิ่มเติม และจะดำเนินการยื่นคำร้องภายในเดือนช่วงเดือนธันวาคม 2560 ถึงเดือนมกราคม 2561 นี้
 
การยื่นคำร้องครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จริงหรือไม่ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงๆ ดังที่ได้โฆษณาไว้เมื่อครั้งรณรงค์ให้ประชาชนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ขอให้ทุกท่านโปรดติดตามต่อไป
 
ผู้ถูกละเมิดจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครบรอบ 5 ปี การหายตัวไปของ 'สมบัด สมพอน'

Posted: 08 Dec 2017 10:59 PM PST

5 ปีผ่านไปหลังจากคดีลักพาตัวอื้อฉาว ที่เจ้าหน้าที่ทางการลาวเป็นผู้ก่อเหตุลักพาสมบัด สมพอน นักกิจกรรมพัฒนาของลาวผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ารัฐบาลลาวแทบไม่มีปฏิบัติการค้นหาความจริง ขณะเดียวกันการบังคับให้สาบสูญในกรณีนี้ยังทำให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องความทะเยอทะยานของรัฐบาลลาวในการส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านโครงการพัฒนาขณะที่กดขี่สิทธิพลเมือง

 
 
ในวันที่ 15 ธ.ค. 2560 จะเป็นวันครบรอบ 5 ปี นับตั้งแต่มีคนพบเจอสมบัดเป็นครั้งสุดท้ายกับครอบครัว ในวันที่ 15 ธ.ค. 2555 กล้องวงจรปิดของสถานีตำรวจที่กรุงเวียงจันทน์มีการบันทึกภาพเจ้าหน้าที่รัฐลักพาตัวสมบัดจากบนถนน มีการหยุดรถจี๊ปของเขาก่อนที่จะพาตัวเขาส่งขึ้นรถบรรทุก ซุยเม็งเอ็ง ภรรยาชาวสิงคโปร์ของสมบัดเปิดเผยว่ามีพยานพบเห็นสมบัดและรถจี๊ปของเขาในที่กักขังของตำรวจ
 
"ถึงแม้ว่าจะผ่านมาแล้ว 5 ปี ทุกๆ วันนี้ ฉันก็ยังถูกหลอกหลอนจากจินตนาการว่าอะไรเกิดขึ้นกับเขา" ซุยเม็งเอ็งกล่าวในการประชุมเสวนาเรื่อง "สมบัด สมพอน 5 ปีที่ผ่านมา" จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560
 
ซุยเม็งเอ็ง เคยเป็นรักษาการผู้แทนของยูนิเซฟประจำประเทศลาวเมื่อปี 2543-2547 เธอกล่าวว่า ทางการลาวปฏิเสธความรับผิดชอบในกรณีนี้อยู่เสมอและปฏิเสธไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ กับเธอ "สำหรับฉันแล้ว แทบจะกลายเป็นว่าการตอบกลับของพวกเขาคือการปฏิเสธ ปฏิเสธ ปฏิเสธ จนกว่าผู้คนจะเบื่อหน่ายคดีนี้ไปเอง จากนั้นคดีนี้กจะหายไปจริงๆ และสมบัดก็จะหายไปตลอดการ แต่ฉันก็ยังคงพูดต่อไปว่าฉันไม่สนใจว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด ฉันจะเรียกร้องต่อไป จะต่อสู้และรณรงค์เพื่อให้สมบัดกลับคืนมาต่อไป ฉันมองว่าเรื่องนี้คือความจำเป็นในการที่จะต้องมีความสัตย์จริงและความยุติธรรม ฉันไม่อาจยอมรับการไม่ได้รับรู้ความจริง"
 
เธอบอกอีกว่าตำรวจลาวเรียกตัวเธอผ่านช่องทางสถานทูตสิงคโปร์หลายครั้ง
 
"นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนมาก ถ้าหากคนที่เป็นแบบสมบัดหายตัวไปได้ ใครก็หายตัวไปได้ทั้งนั้น" ภรรยาของสมบัดกล่าว เธอบอกว่าการบังคับให้สาบสูญของสมบัดสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในหมู่คนทำงานภาคประชาสังคม ถึงแม้ว่าจะเป็นคนทำงานประชาสังคมที่ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีการเผชิญหน้า มีชื่อเสียง และไม่เคยอยากเข้าสู่การเมือง อย่างสมบัดก็หายตัวไปได้ อีกทั้งบรรยากาศแห่งความกลัวในหมู่ภาคประชาสังคมลาวก็ยังคงปกคลุมอย่างหนักแม้ว่าจะผ่านไป 5 ปีแล้ว
 
ชาร์ลส์ ซานติอาโก ส.ส. มาเลเซีย และประธานด้านสิทธิมนุษยชนของสภาอาเซียน (APHR) กล่าวว่าการบังคับให้สาบสูญในกรณีของสมบัดนั้นเป็นปฏิบัติการที่มาจากคำสั่งของรัฐออย่างแน่นอน ในฐานะของสมาชิก APHR แล้ว ซานติอาโกเข้าไปเยือนลาวหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสืบหาความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของสมบัด รวมถึงประเมินสถานการณ์ของภาคประชาสังคมในวงกว้าง แต่เขาก็ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากทางการลาวเลย
 
ซานติอาโกบอกว่าสมบัดเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียน เป็นผู้นำคนทำงานภาคประชาสังคมของอาเซียน อย่างไรก็ตามอาเซียนกลับล้มเหลวในการเป็นปากเป็นเสียงให้กับสมบัดและพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นนี้มาโดยตลอดโดยอ้างหลักการไม่ก้าวก่ายกัน "เป็นแบบนี้แล้ว เผด็จการของพวกเราก็จะหลบหนีจากการฆาตกรรมไปได้โดยไม่มีการตรวจสอบ"
 
ในปี 2548 สมบัดได้รับรางวัลแมกไซไซสำหรับความเป็นผู้นำชุมชน เนื่องจากสมบัด "มีความพยายามอย่างเต็มไปด้วยความหวังในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลาวผ่านการฝึกอบรมและการเสริมแรงจูงใจให้เยาวชนกลายเป็นผู้นำรุ่นใหม่"
 
สมบัดมาจากครอบครัวชาวนายากจน เขาได้รับทุนการศึกษาให้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย ที่นั่นเขาได้รับปริญญาตรีด้านศึกษาศาสตร์และได้รับปริญญาโทด้านเกษตรกรรม สมบัดกลับสู่ลาวหลังจากที่ลาวมีการจัดตั้งระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวคือพรรคสังคมนิยมและสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงแล้ว งานของสมบัดหลักๆ แล้วอยู่ในสายเกี่ยวกับเกษตรกรรมแบบยั่งยืน การพัฒนา และการศึกษา
 
ในฐานะประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าลาวมีการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่โดยเฉลี่ยร้อยละ 7.8 ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จากการฉวยใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรน้ำ เหมืองแร่ และป่า ในปี 2554 ลาวก็ประกาศตัวเองว่าจะเป็น "แบตเตอร์รี" หรือแหล่งพลังงานแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กระหายพลังงานอย่างมาก ในปัจจุบันลาวที่เป็นประเทศไม่ติดทะเลมีเขื่อนพลังงานน้ำอยู่ 16 แห่ง การสร้างเขื่อมนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดการบังคับย้ายถิ่นฐาน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนท้องถิ่น ลาวไม่มีสื่อเสรีและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทำให้การรณรงค์และการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาการพัฒนานี้ถูกควบคุมจำกัดอย่างมาก แต่สมบัดก็ยังท้าทายวาทกรรมการพัฒนาของรัฐบาล
 
 
"มันทำให้ผมรู้สึกประทับใจที่ว่าสมบัดเป็นคนที่สร้างวาทกรรมการอธิบายใหม่ที่ต่างออกไป เขาผลักดันคำอธิบายในแบบของประชาชน คำอธิบายทางเลือก คำอธิบายแห่งความหวัง คำอธิบายแห่งการเสริมพลัง คำอธิบายแห่งความยั่งยืนและความท้าทายสำหรับชาวลาว โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว คำอธิบายที่ว่ามันคือประเทศของพวกเขา และมันคือผืนดินของพวกเขา และพวกเขาควรจะเป็นผู้ควบคุมผืนดินของพวกเขาและสิ่งแวดล้อมของพวกเขาเอง" ซานติอาโกกล่าว
 
แอนน์-โซฟี กินดรอซ อดีตผู้อำนวยการสาขาลาวขององค์กรเฮลเวตัสองค์กรความร่วมมือสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นผู้เขียนหนังสือ "Laos, the Silent Repression" เธอบอกว่าเธอตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้หลังจากเกิดเหตุการหายตัวไปของสมบัดเพื่อบอกโลกให้เห็นถึงด้านมืดของประเทศนี้ โดยเฉพาะองค์กรที่บริจาคและองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ
 
"ฉันเชื่อว่าองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศสามารถทำอะไรได้มากกว่าการร่วมมือกับโครงการพัฒนา พวกเขาจะต้องส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภาคประชาสังคมลาวที่จะต้องได้รับการเสริมพลังด้วย" กินดรอซกล่าว "ฉันคิดว่ามันมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความร่วมมือกับการร่วมกระทำความผิด"
 
 
ที่มา
 
5th anniversary of Sombath Somphone disappearance, 07-12-2017, Prachatai
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยยังไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบ เหตุยิงจรวดใส่อิสราเอล

Posted: 08 Dec 2017 10:01 PM PST

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เผยไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบ เหตุยิงจรวดจากกาซ่าสู่เมืองสเดโรทในอิสราเอล เมื่อวานนี้ ( 8 ธ.ค.) เตือนคนไทยให้ระมัดระวังเหตุประท้วงตามชุมชนปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมและใกล้เคียงอาจขยายวงกว้าง ขอให้ติดตามข่าวสารใกล้ชิด

 
9 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โพสต์ข้อความว่าตามที่มีรายงานข่าวว่ามีจรวด 3 ลูกยิงจากกาซ่าเข้ามาในอิสราเอลบริเวณเมืองสเดโรท เขตชาอาร์ ฮาเนเกฟ เมื่อตอนเย็นของวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. 2560 นั้น ขอเรียนว่าไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบ และฝ่ายอิสราเอลแจ้งว่าไม่มีการเสียหายใด ๆ เกิดขึ้น 
 
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ขอแจ้งให้คนไทยในอิสราเอล โดยเฉพาะในเขตชาอาร์ ฮาเนเกฟ เขตเอชโคลและบริเวณใกล้เคียง ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากได้ยินเสียงไซเรนเตือนภัยขอให้ระมัดระวังและปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแนะนำ
 
นอกจากนี้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานเพิ่มเติมว่า เหตุประท้วงตามชุมชนปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมและใกล้เคียงอาจขยายวงกว้าง ขอให้คนไทยระมัดระวังในการเดินทาง หลีกเลี่ยงเดินทางไปยังชายแดนกาซ่า ซีเรีย เลบานอน อียิปต์ ขอให้ติดตามเฟซบุ๊ก สอท. "ทุกเรื่องเมืองยิว" Hotline +972545501141 และ +972505377059
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 3-9 ธ.ค.2560

Posted: 08 Dec 2017 09:18 PM PST

สศช.เผยอัตราว่างงานไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นสูงถึง 4.5 แสนคน สวนทางค่าจ้างแท้จริงปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% / มติ 'พนง.มหาลัย' ทั่ว ปท.ยื่น 'บิ๊กตู่' ขึ้นเงินเดือน 6% หลังสำนักงบประมาณจัดสรรแค่ 4% ขู่เคลื่อนไหวหากรัฐบาลไม่แก้ปัญหา / กสร.สั่งจับตาข้อพิพาทแรงงาน "ขอเพิ่มโบนัส-ขึ้นเงินเดือน" / กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รับศึกหนักลูกจ้างแห่ร้องทุกข์ ขอคำปรึกษาปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งนายจ้างให้เขียนใบลาออก ไม่จ่ายค่าจ้าง เรื่องถึงแรงงานจังหวัดแล้วหลายกรณีไม่คืบแม้ผ่านไปหลายเดือน

นายกฯ เปิดงานวันต่อต้านคอรัปชันสากล ลั่น รัฐบาลเร่งดำเนินคดี นายหน้าทุจริต

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 -2560 (ITA Awards)และรางวัลประกวดคำขวัญ "Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต" รวมทั้งประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอรัปชัน เป็นปัญหาที่ถูกสะสมมายาวนาน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น รัฐบาลได้ตระหนักในเรื่องนี้ โดยดำเนินการทั้งการปรับปรุงกฎหมาย การเร่งรัดการดำเนินคดีเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชันจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างการรับรู้ถึงพิษภัยของการทุจริต ซึ่งต้องเริ่มจากตนเอง ครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน และสังคม ซึ่งรัฐบาลจะผลักดันสร้างภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตในทุกพื้นที่ให้เกิดการปฏิบัติในทุกระดับ เพื่อให้รายเก่าหมดไป และรายใหม่ต้องไม่เกิดขึ้น อีกทั้งการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชันนั้นต้องดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่คนให้ คนรับ และกระบวนการสายนายหน้าเถื่อนให้หมดไปอีกด้วย         

ทั้งนี้ จากผลที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี 2559 พบว่า มีจำนวน 126 ประเทศหรือคิดเป็น 2 ใน 3 มีค่าคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน ส่วนประเทศไทยได้ 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 และได้ลำดับที่ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ      

สำหรับวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ถือกำเนิดขึ้นจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti - Corruption Day) โดยในปีนี้ รัฐบาลร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐทุกภาคส่วน สื่อมวลชน และประชาชน ได้กำหนดจัดงานขึ้นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ภายใต้แนวคิด "Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต" เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้สังคมและทุกภาคส่วนไม่ยอมรับและไม่ทนต่อการทุจริต รวมทั้งตระหนักในผลเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการทุจริต

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 9/12/2560

สศช.เผยอัตราว่างงานไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นสูงถึง 4.5 แสนคน สวนทางค่าจ้างแท้จริงปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.1%

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ไตรมาส 3 ของปีนี้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.19% หรือมีผู้ว่างงานประมาณ 4.5 แสนคน จากจำนวนผู้ที่อยู่วัยแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่อัตราประมาณ 0.1% ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรปรับเพิ่มขึ้น 2% เมื่อรวมอัตราเงินเฟ้อแล้วค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียง 0.1%

ทั้งนี้ การว่างงานในไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาวะการจ้างงานที่ลดลง 1.6% มาจากการจ้างงานภาคเกษตร 1.2% ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวลดลง 1.8% โดยการจ้างงานที่ปรับตัวลดลงขณะที่เศรษฐกิจในช่วงเดียวกันขยายตัวเพิ่มขึ้นมาจากสาเหตุหลัก ได้แก่ ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเกษตรหลายแห่งในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. เกิดความเสียหายกับพืช ประมง และปศุสัตว์และส่งผลให้การจ้างงานในภาคเกษตรปรับตัวลดลง

ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงเนื่องจากกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในช่วงทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทำให้ภาคเอกชนยังคงใช้กำลังการผลิตที่เหลืออยู่แทนการจ้างงานเพิ่มหรือการลงทุนในเรื่องเครื่องจักรเพิ่มเติม อีกทั้งผู้ประกอบการบางส่วน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆมาใช้ในการผลิตมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยในเรื่องของผู้ที่จบการศึกษาใหม่โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาที่มีบางส่วนไม่เข้าสู่ระบบการทำงานในสถานประกอบการ ขณะที่ปัญหาเรื่องการผลิตแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาดก็ยังคงเป็นปัญหาและความท้าทายด้านแรงงานของประเทศไทย

นอกจากนี้เมื่อดูในรายละเอียดของภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นในส่วนของผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและแรงงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน สำหรับผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา 43.4% โดย 85 %ของคนกลุ่มนี้ใช้เวลาหางานมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน ขณะที่ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่ 65% เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลายลงมาและหางานมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน โดยพบว่าคนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะว่างงานก่อนกลุ่มอื่นและจะหางานยากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าสามารถทำงานซ้ำๆ แทนคนได้

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2560 ถึงปี 2561 ตามการคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆจะทำให้ตัวเลขการจ้างงานค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนของภาคเอกชนที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวทำให้การค้าและการส่งออกมีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น

การลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่จะเร่งตัวมากขึ้นในปีหน้าซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจจะขยายตัวในระดับ 10% จะหนุนการจ้างงานทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากภาวะการว่างงานประเด็นด้านแรงงานของประเทศไทยที่จะต้องติดตามและให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิดได้แก่ การปรับตัวของภาคเกษตรจากแนวโน้มจำนวนแรงงานลดลง ดังจะเห็นว่าแรงงานภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องจากที่เคยมีสัดส่วนถึง 42% ของกำลังแรงงานทั้งหมดในปี 2544 เหลือเพียง 31.2 %ในปี 2559

นอกจากนั้นเห็นว่าไทยจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทักษะแรงงานในตลาดยุคดิจิตอล มีแนวโน้มการนำปัญญาประดิษฐ์(AI) ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ เข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต มาใช้ในการผลิตและการจัดการมากขึ้น

ที่มา: TNN, 8/12/2560

สรรพากร เปิดรับฟังความเห็นมาตรการภาษีสนับสนุนการมีบุตรถึง 13 ธ.ค.ก่อนสรุปเสนอ ครม.-สนช.

รายงานข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กรณีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร) ถึงวันที่ 13 ธ.ค.60 ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วในครั้งแรกเป็นเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 25 ก.ย.-16 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็น 25 ราย ประกอบด้วย เห็นด้วย 18 ราย ไม่เห็นด้วย 7 ราย และไม่แสดงความคิดเห็น 260 ราย

อนึ่ง ในปีภาษี 2560 รัฐบาลเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าเลี้ยงดูบุตรจากคนละ 15,000 บาทต่อปี เป็นคนละ 30,000 บาทต่อปี ซึ่งจะเริ่มมีผลในปีภาษี 2560 และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2561 แต่เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีบุตรเพิ่มขึ้นจึงเสนอเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ได้รับค่าลดหย่อน 60,000 บาทต่อคนต่อปี เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีอัตราการเกิดของประชากรลดลงทำให้อัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี รัฐบาลจึงมีนโยบายให้มีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร เพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้ที่มีบุตรเพิ่มขึ้นได้รับการบรรเทาภาระภาษี อันจะส่งผลให้มีศักยภาพเพียงพอแก่การเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางกรมสรรพากร จะได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กรณีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร) ต่อไป ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขเพิ่มเติมจากการปรับโครงสร้างภาษีใหญ่ที่ทำไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยได้เปิดให้ประชาพิจารณ์เพื่อต้องการนำความเห็นของภาคประชาชนมาร่วมพิจารณาให้เกิดข้อมูลที่รอบด้าน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกฎษฎีกา รวมถึงสภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะออกมาบังคับใช้ได้ในปี 2561 และเปิดให้มีการยื่นลดหย่อนได้ในต้นปี 2562

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 8/12/2560

สอบ 9 แรงงานไทย ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กัมพูชา

เมื่อเวลา 22.30 น. วันที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่กองกำกับการ3 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สมุทรปราการ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รักษาการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พร้อมนายกิตติพงษ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท่องเที่ยวท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ร่วมกันแถลงข่าวหลังรับตัวคนไทย 9 คนที่ถูกส่งกลับจากประเทศกัมพูชา โดยอ้างว่าถูกหลอกให้ไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเดินทางมากับสายการบินไทย เที่ยวบิน TG585

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รักษาการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กล่าวว่า คนไทยทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายนภดล เรื่องเดช อายุ 23 ปี , นายสิทธิชาติ ตาเต๊บ อายุ 47 ปี , นายขาว ปวนสุข อายุ 46 ปี , นางสาวมาลัย แก้วสุติน อายุ 23 ปี , นางอลงกร ตาเต๊บ อายุ 21 ปี , นายอมรศักดิ์ ยางเตี้ยง อายุ 30 ปี , นายสีไพร เจาะดำ อายุ 47 ปี ทั้งหมดเป็นชาวจังหวัดตาก , นางสาวธิดารัตน์ เจาะดำ อายุ 37 ปี เป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี และนายวุฒิศักดิ์ พุ่มเกศา อายุ 29 ปี ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ถูกหลอกให้เดินทางไปทำงานที่ประเทศกัมพูชาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

แต่เมื่อไปถึงกลับถูกดึงตัวไปอบรมการพูดคุยในลักษณ์ล่อลวง โดยการใช้โทรศัพท์โทรกับมาหาคนไทยรูปแบบแก๊งคอลเซนเตอร์ จึงรู้ว่าถูกหลอกให้มาทำการที่ผิดกฎหมาย จึงชักชวนเพื่อนชาวไทยที่ร่วมชะตาเดียวกัน ประสานขอความช่วยเหลือสถานทูตไทยในกัมพูชา นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชา เข้าทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าเป็นแก๊งเดียวกับเครือข่ายของนายทอมมี่ วู สัญชาติอินโดนีเซียที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้ โดยคนไทยทั้ง 9 คนนั้น ได้ให้การว่าหลังจากที่เดินทางไปประเทศกัมพูชา ก็ถูกส่งเข้าอบรมในลักษณ์แก๊งคอลเซนเตอร์ทันที แต่พวกตนยังไม่ทันได้ทำงาน เนื่องจากรู้ว่าถูกหลอกให้มาทำงานที่ผิดกฎหมาย จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือสถานทูตไทยในกัมพูชาผ่านทางเฟซบุ๊ก ทั้งหมดจึงถือได้ว่าเป็นผู้เสียหาย

หลังจากนี้จะนำตัวไปสอบปากคำเพิ่มเติมถึงวิธีการหลอกลวงของแก๊งค์ดังกล่าวและตรวจสอบการเดินทาง และจากการพูดคุยเบื้องต้น พบว่าทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจังหวัดตาก และทราบว่าก่อนหน้านี้ได้มีนายหน้าชักชวนไปทำงานที่ประเทศกัมพูชา โดยให้ค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท ให้รายละเอียดว่าเป็นงานรับโทรศัพท์ จึงตัดสินใจเดินทางไป แต่ถูกพาไปอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งและมีการสอนให้พูดตามสคริปต์ ลักษณะหลอกหลวงให้คนโอนเงิน จึงเชื่อว่าถูกหลอกให้มาทำงานเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ จึงหาช่องทางติดต่อสถานทูตเพื่อขอความช่วยเหลือและถูกส่งกลับมาในวันนี้

อย่างไรก็ตาม ฝากเตือนประชาชนด้วยว่า หากพบพฤติกรรมแก๊งคอลเซนเตอร์ แล้วตกเป็นเหยื่อโอนเงินให้แก่กลุ่มผู้ก่อเหตุ สามารถแจ้งอายัดบัญชี พร้อมประสาน ป.ป.ง. เพื่อระงับเส้นทางการเงินที่ถ่ายโอนออกไป ก่อนแจ้งให้เจ้าหน้าที่เพื่อติดตามจับกุมผู้ร่วมขบวนการมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/12/2560

มติ 'พนง.มหาลัย' ทั่ว ปท.ยื่น 'บิ๊กตู่' ขึ้นเงินเดือน 6% หลังสำนักงบประมาณจัดสรรแค่ 4% ขู่เคลื่อนไหวหากรัฐบาลไม่แก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษาที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเรียกร้องให้รัฐบาลโดยสำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณเพื่อเลื่อนเงินเดือนประจำปีของพนักงานมหาวิทยาลัยจาก 4% เป็น 6% เหมือนที่เคยจัดสรรหาก่อนหน้านี้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ปอมท.) และทปสท. โดยมีตัวแทนหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วม ที่ห้องประชุมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา ตนในฐานะประธานทปสท.ขณะนั้น ได้รับการร้องเรียนจากทั้งพนักงานมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งว่า ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเลื่อนเงินเดือนประจำปีของพนักงานมหาวิทยาลัย ให้กับสถาบันอุดมศึกษา โดยกำหนดกรอบเพียง 4% แต่จ่ายจริงเพียง 80 % ของกรอบดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบและความเดือดร้อนแก่พนักงานที่บางคนได้เลื่อนเงินเดือนต่อปีเพียง 300-400 บาท ตนจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 ตนได้รับหนังสือตอบชี้แจงจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ก็ได้รับหนังสือชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) โดยหนังสือทั้ง 2 ฉบับ มีใจความเหมือนกันสรุปว่า "เนื่องจากพนักงานมหาวิทยาลัย ได้รับเงินเดือนมากกว่าข้าราชการ 1.5 เท่าในสายสนับสนุน และ 1.7 เท่าสำหรับสายวิชาการ การจัดสรรงบประมาณเพื่อเลื่อนเงินเดือนประจำปี 4% จะทำให้วงเงินในการเลื่อนใกล้เคียงกับของข้าราชการ" ทั้งที่ในปีก่อน ๆ ได้รับการจัดสรรให้ 6% เท่ากับข้าราชการ

นายรัฐกรณ์ กล่าวด้วยว่า พวกตนเห็นว่าวิธีคิดในการจัดสรรดังกล่าวไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมกับพนักงาน เนื่องจากพนักงานต้องรับผิดชอบภาระด้านสวัสดิการทุกอย่าง ทั้งการรักษาพยาบาล การสงเคราะห์บุตร กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ เองทั้งหมดจากเงินดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากข้าราชการ ที่รัฐจัดสวัสดิการต่างๆ ให้ ดังนั้นมติที่ประชุมร่วม 3 ฝ่ายจึงขอให้มีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณในกรณีดังกล่าวจากรัฐบาล ซึ่งพวกตนจะได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รวมทั้งจะขอเข้าพบเพื่อชี้แจงผลกระทบและความเดือดร้อนโดยตรงกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไข พวกตนและพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ก็คงจะต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/12/2560

ธุรกิจเฮรับร่างกม.แรงงานฉบับใหม่ ยืดใบอนุญาต/เปลี่ยนงาน-นายจ้าง

ภาคธุรกิจขานรับ ร่าง พ.ร.ก.แรงงานฉบับใหม่ ช่วยลดภาระผู้ประกอบการ เพิ่มอายุใบอนุญาตจาก 2 ปี เป็น 5 ปี ผ่อนปรนให้แรงงานเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้างได้ ครม.พิจารณาเข้มเน้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ-สิทธิมนุษยชน ส่งกฤษฎีกาทบทวนก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม.คราวต่อไป

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 แต่เนื่องจากมาตรการดังกล่าวนั้นมีความเข้มข้นและเกิดผลกระทบต่อแรงงานต่างด้าว ผู้ประกอบการ-นายจ้าง ในหลายมิติและกระทบในวงกว้าง ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อขอความเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าว มีเนื้อหาหลัก ๆ ประกอบด้วย กำหนดให้ยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ สำหรับบุคคลที่เข้ามาเป็นการครั้งคราว เพื่อประชุม อบรม หรือผู้แทนของนิติบุคคลต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาต บุคคลที่เข้ามาประกอบการหรือลงทุน หรือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถหรือทักษะสูงอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ตามที่ ครม.กำหนดกำหนดหลักเกณฑ์กลางในการออกกฎหมายลำดับรอง และการกำหนดวิธีการแจ้งตาม พ.ร.ก.นี้ ซึ่งต้องไม่สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกขั้นตอน

นอกจากนี้ ยังให้ยกเลิกการขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน การขออนุญาตเปลี่ยนประเภทงาน นายจ้าง ท้องที่ทำงานของคนต่างด้าว และการขออนุญาตในรายละเอียด ซึ่งเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร โดยกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างและคนต่างด้าวแจ้งต่อนายทะเบียน และให้การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไม่ทำในลักษณะที่ทำให้แรงงานต่างด้าวต้องหยุดทำงานเกินเหตุพอสมควร หรือทำให้การประกอบการของนายจ้างต้องสะดุดหยุดลง หรือทำในเวลากลางคืนโดยไม่จำเป็นรวมทั้งมีการยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกาศกำหนดเขตที่พักอาศัยสำหรับผู้รับอนุญาตให้ทำงานเฉพาะพวกใด หรือท้องที่ใด เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และหลักสิทธิมนุษยชน กำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนายจ้างคนต่างด้าวในงานที่สามารถที่จะจ้างคนไทยได้ แต่ประสงค์จ้างแรงงานต่างด้าวเกินสัดส่วนที่กำหนดเพื่อรักษาโอกาสอาชีพให้คนไทยแก้ไขเพิ่มเติมอายุใบอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้าทำงานจาก 2 ปี เป็น 5 ปี แต่คนที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายปี และปรับปรุงบทลงโทษให้เหมาะสม โดยเพิ่มบทกำหนดลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ และปรับลดอัตราโทษจากเดิมที่อัตรารุนแรงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

นางลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หากร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะช่วยให้การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวทำได้คล่องตัวมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งข้อดี ข้อเสีย โดยข้อดีจะตกอยู่ที่แรงงานต่างด้าวที่สามารถเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้างได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเหมือนตอนนี้

ขณะเดียวกันก็เป็นข้อเสียสำหรับนายจ้าง ที่เมื่อลูกจ้างมีอิสระมากขึ้น อำนาจการต่อรองค่าจ้างก็มีมากขึ้น อัตราการเข้า-ออกงานก็จะสูงขึ้นด้วย หากกฎหมายออกมา นายจ้างก็ต้องทำตาม แต่ก็อยากให้มีข้อกำหนดมาดูแล ให้การเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้าง ฯลฯ เป็นความสมัครใจของทุกฝ่าย

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นตนได้มอบหมายให้กรรมการหอการค้าไทยที่ดูแลและติดตามว่า ร่าง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่กำลังจะออกมา สอดคล้องกับสิ่งที่หอการค้าไทยได้เสนอข้อคิดเห็นไปก่อนหน้านี้หรือไม่ และจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ และจะมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาหารือต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้หอการค้าไทยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เช่น เรื่องค่าปรับ หรือจุดรับลงทะเบียนคนต่างด้าว เป็นต้น

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายแรงงานต่างด้าวรอบใหม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมามีผลต่อการทำงานในระบบเศรษฐกิจเมืองไทย ซึ่งปีหน้ามีแนวโน้มเป็นภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น ดังนั้นการจัดระเบียบนำเข้าแรงงานจะทำให้เกิดความโปร่งใส ทำให้แรงงานไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่าการแก้ไขกฎหมายออกมาตรงตามที่ภาคเอกชนเคยหารือในที่ประชุมร่วมกับกระทรวงแรงงานหรือไม่ รวมทั้งต้องดูว่าภาคปฏิบัติจะดีขึ้นหรือไม่ เนื่องจากมีข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับการเรียกร้องเงินนอกระบบของเจ้าหน้าที่รัฐ

นายอธิปกล่าวด้วยว่า นอกจากแก้ไขกฎหมายแล้ว รัฐบาลควรปรับปรุงการนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยจัดให้มีสำนักงานถาวรร่วมกันในรูปแบบ co-office ระหว่างไทยกับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา ลาว มีการส่งเจ้าหน้าที่ประเทศต้นทางมาอำนวยความสะดวกอย่างถาวร และให้เขาได้ประโยชน์ เช่น รายได้ค่าธรรมเนียม โดย co-office ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแบบบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวหรือวัน สต็อป เซอร์วิส เพราะสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลใช้ ม.44 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเฉพาะกิจ ไม่ได้แก้ไขปัญหาถาวร

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้พิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยที่ประชุมได้พิจารณากันอย่างกว้างขวาง และตั้งข้อสังเกตหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การจัดโซนนิ่งเขตที่พักอาศัยสำหรับผู้รับอนุญาตให้ทำงานเฉพาะพวกใด หรือท้องที่ใด ไม่สามารถทำได้เพราะอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 เรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ขณะที่เรื่องการกำหนดอัตราโทษก็ควรกำหนดให้เกิดความเหมาะสมตามฐานความผิดหนักหรือเบา เนื่องจากบทลงโทษบางฐานความผิดค่อนข้างรุนแรงเกินไป

"ที่ประชุมจึงเห็นว่า ควรให้คณะกรรมการกฤษฎีกานำกลับไปทบทวนพิจารณาใหม่อีกครั้ง ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม.ในคราวต่อไป" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/12/2560

กสร.สั่งจับตาข้อพิพาทแรงงาน "ขอเพิ่มโบนัส-ขึ้นเงินเดือน"

(6 ธ.ค.2560) นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ กสร.กล่าวว่า ในช่วงปลายปีของทุกปี มักจะมีข้อเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน เงินโบนัสและสวัสดิการต่างๆ ซึ่งหากไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่ายก็อาจก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จับตาเฝ้าระวังปัญหาข้อพิพาทแรงงานดังกล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบกิจการประเภทผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์ประกอบยานยนต์ และเครื่อง ยนต์ นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากพบข้อพิพาทแรงงานมากที่สุดในปีที่ผ่านมา หากพบว่ามีสัญญาณ ที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทแรงงานจะเร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจ และช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาข้อพิพาทแรงงาน จึงฝากเตือนไปยังนายจ้าง ลูก จ้างให้ยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเจรจากันด้วยเหตุผล นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึง ผลประกอบกิจการในปีนั้น ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมาโดยยึดหลักสุจริตใจ และขอให้ ทั้งสองฝ่ายต้องคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขด้วย

ที่มา: ThaiPBS, 6/12/2560

กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รับศึกหนักลูกจ้างแห่ร้องทุกข์ ขอคำปรึกษาปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งนายจ้างให้เขียนใบลาออก ไม่จ่ายค่าจ้าง เรื่องถึงแรงงานจังหวัดแล้วหลายกรณีไม่คืบแม้ผ่านไปหลายเดือน

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2560 นักสื่อสารแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงานว่า กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐมได้รับเรื่องราวร้องทุกข์การละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นในหลายบริษัทขณะนี้

กรณีนายจ้างให้เขียนใบลาออกแทนการเลิกจ้าง

บริษัทบริษัทฮาร์ทแอนด์มาย แอพพาเรล จำกัด ซึ้งผลิตเสื้อผ้าส่งออกต่างประเทศ มีลูกจ้างประมาณ 200 กว่าคน โดยบริษัทมีการยุบกระบวนการผลิตบางแผนก อ้างว่าไม่มีออร์เดอร์เข้า อ้างมีความจำเป็นต้องเลิกจ้าง เพื่อลดจำนวนพนักงานลงให้เหลือน้อยที่สุด และเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมาบริษัทฯได้เรียกลูกจ้างชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยอ้างเหตุว่า ขาดทุน ได้มีการเลิกจ้างหัวหน้างาน และพนักงานรายเดือนรวม 84 คน นายจ้างจ่ายเงินช่วยเหลือให้เพียงคนละ 2 เดือน

ต่อมาบริษัทยังเสนอให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกจากงานแทนการเลิกจ้าง โดยจ่ายค่าชดเชยต่ำกว่ากฎหมายไป 3 งวด รวม 100 กว่าคน ซึ่งหากไม่ยอมเขียนใบลาออกทางนายจ้างก็จะหาวิธีการต่างๆเพื่อให้ลูกจ้างเซ็นใบลาออก ซึ่งมีลูกจ้างเพียง 67 คนไม่ยินยอมเขียนใบลาออก ได้เข้ามาขอคำปรึกษาที่กลุ่มสหภาพแรงงานฯโ ถึงสถานการณ์ที่ถูกนายจ้างให้เขียนใบลาออก ซึ่งกลุ่มสหภาพแรงงานฯ ได้ร้องเรียนเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.นครปฐม เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบพฤติกรรมของนายจ้าง ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมาสัญญาเช่าตึกที่ทำงานของบริษัทฯก็หมดสัญญาลง และนายจ้างยังคงพยายามที่จะให้ลูกจ้างลาออกจากงาน หากไม่ลาออก และตอนนี้บริษัทจะไม่มีเงินจ่ายแล้วลูกจ้างบางคนทนอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นไม่ได้ก็ออกจากงานไปเองโดยไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากนายจ้าง และเมื่อในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 นายจ้างเรียกลูกจ้างที่เหลืออยู่ 51 คนไปแจ้งว่า จะจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่มีข้อแม้ว่าลูกจ้างต้องเขียนใบลาออกเสียก่อน โดยให้ลูกจ้างทำงานถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 แล้วนายจ้างจะจ่ายเงินค่าชดเชยให้ลูกจ้างภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ซึ่งลูกจ้างยอมรับข้อเสนอของนายจ้าง เขียนใบลาออกจากงานและรอค่าชดเชยจากนายจ้าง

วิกฤตแรงงานกรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง 2 บริษัท

ลูกจ้างบริษัทประดิษฐ์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จ.นครปฐม ซึ่งทำการผลิตเครื่องเสียง ลำโพงและวอยซ์ มีคนงานประมาณ 60 คน ได้เข้าร้องเรียนที่กลุ่มสหภาพแรงงานฯ ว่า นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม 2560 และมีคนงานบางคนทนไม่ไหวก็ลาออกจากงานโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ โดยคนงานได้ไปร้องเรียนที่สำนักงานแรงงานจังหวัดนครปฐม และทางเจ้าหน้าที่แรงงานใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 139 เรียกนายจ้างมาสอบ และเจ้าหน้าที่แรงงานได้แจ้งกับตำรวจสถานีตำรวจโพธิ์แก้ว อ.สามพราน ข้อหานายจ้างละเมิดไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ซึ่งตำรวจได้ออกหมายเรียกให้นายจ้างมารับทราบข้อกล่าวหาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเพียง 2 งวด เท่านั้น ส่วนที่เหลือจนถึงปัจจุบันยังไม่ยอมจ่ายจากปัญหาดังกล่าว ทำให้คนงานต้องเผชิญกับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ

1.มีคนงานหญิงท้องใกล้คลอดที่ได้รับผลกระทบต่อสภาพจิตใจด้วยไม่มีเงินในการดูแลสุขภาพและการเตรียมความพร้อม

2.คนงานขาดรายได้ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 2,000 บาท ถ้าเกินกำหนดเจ้าของบ้านจะเรียกไปปรับเงิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

3.คนงานถูกสั่งให้เข้าทำงานทุกวัน แต่ไม่มีงานให้ทำ ให้นั่งอยู่เฉยๆ โดยทางบริษัทได้นำกล้องวงจรมาติดและถ่ายรูปคนงานจับดูความเคลื่อนไหวของคนงานอยู่ตลอดเวลา

4.ความต้องการของคนงานคือ ขอให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้คนงานทุกคนที่ค้างจ่ายตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

โดยวันที่ 8 ตุลาคม 2560 ลูกจ้างได้มาขอคำปรึกที่กลุ่มสหภาพแรงงานฯ อีกครั้งทางกลุ่มสหภาพฯแนะนำสิทธิลูกจ้างและให้ลูกจ้างเขียน คร.7 ใน วันที่ 18 ตุลาคม 2560 นายมงคล ยางงาม ฝ่ายกฎหมายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ( คสรท.)ได้พาลูกจ้างจำนวน 10 คน ไปเขียน คร.7 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.นครปฐม ละในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 นายจ้างยอมจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายทั้งหมดให้ลูกจ้างทั้ง 10 คน ที่ไปร้อง คร.7 ส่วนลูกจ้างที่เหลืออีก 40 กว่าคนที่ไม่ไปร้อง คร.7 ก็ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้าง

กรณีการละเมิดสิทธิ กรณีค้างจ่ายค่าจ้าง อีกบริษัท ทางกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกจ้างบริษัทเอสพีเค มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผลิตชั้นวางของทุกชนิด เมื่อวันที่ 19 และ 24 เดือนพฤศจิกายน 2560 ว่า บริษัทไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างทั้งหมด 70 กว่าคน โดยเริ่มตั้งแต่งวดการจ่ายค่าจ้างของวันที่ 6 ตุลาคม 2560 จนถึงงวดสุดท้าย วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 รวม 4 งวด ซึ่งถือว่าบริษัทฯละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยเจตนาไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมากที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งลูกจ้างส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในห้องเช่า หากจ่ายค่าเช่าไม่ตรงกำหนดต้องเสียปรับ เมื่อลูกจ้างเข้าไปถามนายจ้างว่าทำไมไม่จ่ายค่าจ้างให้ ได้รับคำตอบว่าไม่มีเงิน โดยที่ผ่านมาลูกจ้างได้ไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 40 คน หลังจากการร้องเรียนบริษัทฯจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเพียงหนึ่งงวด หลังจากนั้นลูกจ้างก็ยังไม่ได้รับค่าจ้างในวันทำงานอีกจนถึงปัจจุบัน

กรณีดังกล่าว ฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์กลุ่มสหภาพแรงงานฯ ได้ชี้แจงสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้ลูกจ้างได้รับรู้และเข้าใจสิทธิของลูกจ้าง ว่าถูกละเมิดสิทธิจากการจ้างงาน ลูกจ้างจำนวน 47 คนได้เขียน คร.7 ที่กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 นางสาวสุรินทร์ พิมพา ฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ฯ ได้โทรประสานไปที่นายประสิทธิ์ ปาตังคะโร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน เพื่อให้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และจะให้ลูกจ้างนำเอกสาร คร.7 ไปยื่นที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรสาครในวันที่ 4 ธันวาคม 2560

ที่มา: voicelabour.org, 5/12/2560

ครม.เห็นชอบเกณฑ์จ่ายโบนัสพนักงานรัฐวิสาหกิจ-บริษัทในเครือ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการบริหารและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัส ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ ในการพิจารณาจ่ายโบนัส ให้คำนวณจากกำไรที่เกิดจากผลการดำเนินงานประจำปี โดยห้ามนำรายได้ต่อไปนี้ไปจัดสรรโบนัส 1.กำไรจากการเอาประกัน 2 ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เงินกู้ และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐ (ยกเว้นกรณีรัฐวิสาหกิจสถาบันการเงิน 3.กำไรจากการขายที่ดิน อาคาร โรงงาน สิ่งปลุกสร้าง รวมถึงส่วนควบ 4. กำไรจากการตีราคาทรัพย์สินใหม่ 5.เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเว้นเงินอุดหนุนตามระบบ PSO และ 6. กำไรหรือขาดทุนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินตรา

โดยการจัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยให้บริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีแนวปฎิบัติในการจัดสรรโบนัส กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างไรก็ตามในวันนี้ที่ประชุมครม.ไม่มีการพิจารณาวาระเศรษฐกิจที่สำคัญๆ

ที่มา: moneychannel.co.th, 4/12/2560

สำรวจเงินเดือนในไทย-อาเซียน ยังมีโอกาสปรับขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ

จากข้อมูลการสำรวจเงินเดือนประจำปีล่าสุดจากบริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรระดับมืออาชีพชั้นนำของโลก ซึ่งได้เปิดผลสำรวจข้อมูลการจ้างงานในปี 2560 และแนวโน้มในปีถัดไป พบว่าภาพรวมของตลาดแรงงานทั้งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2560 แม้ว่าจะเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่แปรผันไปในแต่ละภูมิภาค แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคนี้กลับเปิดโอกาสในการเจาะตลาดใหม่และยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของตลาดในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับการลงทุนจากต่างชาติยังคงส่งผลบวกต่อประเทศไทย

การสำรวจซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 19 ยังได้เปิดเผยข้อมูลการคาดการณ์ในเชิงบวกของปี 2561 โดยชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของภูมิภาคประกอบกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของยุคดิจิทัลและการขยายตัวของตลาดอย่างมีเสถียรภาพจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของอัตราเงินเดือนในปีหน้า พนักงานที่พร้อมไปด้วยทักษะความสามารถเฉพาะทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านไอที (IT) และมีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน

ถึงแม้ว่าบริบทภายในประเทศทั่วทั้งภูมิภาคจะต่างกัน แต่สิ่งที่พบเห็นได้เหมือนกันคือแนวโน้มการเติบโตของยุคดิจิทัล ซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญในหลายประเทศทั่วภูมิภาค ซึ่งผลสำรวจระบุว่ามาจากการเติบโตของสัดส่วนประชากรรุ่นใหม่และดัชนีการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น

โทบีย์ โฟลสตันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า "แนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจในยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคส่งผลให้ให้ธุรกิจจำนวนมากพัฒนาแพลตฟอร์มการดำเนินธุรกิจบนโลกออนไลน์และบนมือถือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในด้านดิจิทัลทั้งในเชิงการตลาดและไอที (IT) โดยเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิตอลภายในสำนักงานหรือมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจง"

"นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในระบบคลาวด์ (cloud computing) ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (cyber security) และการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ยังคงเป็นที่ต้องการเนื่องจากภาคธุรกิจไอทีเหล่านี้ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนทางธุรกิจที่สำคัญและเป็นที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2561" คุณโทบีย์ กล่าวเสริม

การสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนธุรกิจไปยังแพลตฟอร์มดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล (HR) ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความสามารถในการจัดการการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมในองค์กร

อย่างไรก็ตาม ภายในภูมิภาคนี้ยังคงประสบปัญหาด้านการดึงดูดและการรักษาพนักงานที่มีความสามารถ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและอัตราการลาออกของพนักงานที่สูง ผู้จัดการฝ่ายสรรหาและว่าจ้าง จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบวิธีการสรรหาที่ง่ายและคล่องตัวขึ้นเพื่อตอบโจทย์การสรรหาภายในเวลาที่เหมาะสมและเพิ่มความยืดหยุ่นในการคัดเลือกผู้สมัครที่มีศักยภาพในการเรียนรู้แทนการพิจารณาเพียงทักษะทางเทคนิค

โดยภาพรวมปี 2560 ตลาดแรงงานในประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศส่งผลต่อการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆรวมทั้งภาคการผลิตซึ่งทำให้เกิดความต้องการของผู้จัดการฝ่ายผลิตรวมถึงผู้จัดการโรงงานและผู้อำนวยการ การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลต่อความต้องการของผู้จัดการฝ่ายการขายและการตลาดที่มีศักยภาพสูงในภาคธุรกิจค้าปลีก การขยายตัวของยุคดิจิทัลทำให้ความต้องการบุคลากรทางด้านไอทียังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องถึงแม้จะประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรกลุ่มนี้ก็ตาม ทำให้มีแนวโน้มในการสรรหาผู้สมัครชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในระดับภูมิภาคและความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น

ในปี 2561 ตลาดการจ้างงานคาดว่าจะยังคงมีเสถียรภาพถึงแม้จะมีความผันผวนเกิดขึ้นในตลาด แต่ภาพรวมยังคงมีสัญญาณที่เป็นบวกบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการคนที่มีความรอบรู้ด้านการค้า และความสามารถทางด้านภาษาที่หลากหลายจะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอย่างมาก ผู้จัดการฝ่ายสรรหาและว่าจ้างควรมีบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทที่โดดเด่นเพื่อดึงดูดผู้สมัครที่เป็นที่ต้องการในตลาดมากที่สุด รวมทั้งหมั่นทบทวนแพคเกจเงินเดือนและสวัสดิการให้อยู่ในอัตราที่แข่งขันได้

การสรรหาบุคลากรด้านบัญชีและการเงินคาดว่าจะมีการแข่งขันอย่างมาก เนื่องจากหลายบริษัทจะมองหาผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เพียงแต่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค แต่ยังสามารถมีส่วนร่วมในเชิงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และช่วยในการขยายธุรกิจระยะยาว ขณะเดียวกันในภาคธนาคาร การจ้างงานมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังมากขึ้นเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและการสรรหาที่ชะลอตัวลง ในภาคส่วนทรัพยากรบุคคล ถึงแม้จะมีความต้องการทางบุคลากรเป็นอย่างมากแต่ยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเช่นกัน

ในปี 2560 นับว่าเป็นปีที่คึกคักสำหรับภาคไอทีและเป็นที่คาดการณ์ว่าในปี 2561 จะยังคงเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีทั้งทักษะด้านเทคนิคและทักษะความเป็นผู้นำ พนักงานระดับอาวุโสที่มีความสามารถในเทคโนโลยีใหม่ๆ และในขณะเดียวกันสามารถให้คำแนะนำผู้บริหารระดับสูงในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดีจะเป็นที่ต้องการอย่างมาก ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีหลายโครงการเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่ในขณะนี้

ในภาคการขายและการตลาด บุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงจะเป็นที่ต้องการเนื่องจากบริษัทหลายแหล่งจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการและทำให้ทีมงานมีความคล่องตัวขึ้น ลดต้นทุนได้มากขึ้น ซึ่งบุคลากรที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่เชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางการศึกษาที่ดีจะได้รับการพิจาณาอย่างมาก

แกริต บุคกาต ผู้จัดการบริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำสำนักงานประเทศไทย ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า โดยภาพรวมในปี 2561 สถานการณ์ของการจ้างงานในไทยจะยังคงเป็นบวกและมีเสถียรภาพ สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจถือว่าดีแต่ได้เห็นถึงความท้าทายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งอาจจะคงอยู่ในระดับหนึ่งและส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในบางภาคส่วน ซึ่งแน่นอนว่าผู้จัดการฝ่ายสรรหาและว่าจ้างจำเป็นต้องมีตัวเลือกการจ้างงานที่หลากหลายเพื่อดึงดูดคนที่ต้องการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการฝึกอบรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ตารางการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือโอกาสในการทำงานระหว่างประเทศ กระบวนการจ้างงานจำเป็นต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีแผนความก้าวหน้าในอาชีพที่วางไว้อย่างชัดเจน กล่าวได้ว่าในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ การดึงดูดและการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถจำเป็นต้องได้รับการวางแผนอย่างเต็มที่

· ผู้สมัครที่มีอายุน้อยจะเป็นที่ต้องการในกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่และธุรกิจออนไลน์ในด้านบัญชีและการเงิน โดยคาดการณ์อัตราเงินเดือนที่จะเพิ่มขึ้น 25-30% ในภาคธุรกิจเหล่านี้

· นายจ้างจะพบกับความท้าทายในการจ้างผู้เชี่ยวชาญในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางที่มีประสบการณ์ในภาคการธนาคารและภาคบริการทางการเงิน โดยคาดว่าจะมีอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นที่ 18-20%

· ในภาคการบริหารทรัพยากรบุคคล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสเป็นตำแหน่งที่มีความต้องการอย่างมาก โดยผู้สมัครเหล่านี้สามารถคาดหวังการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนในอัตราที่สูงจากการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนงาน

· การสรรหาบุคลากรด้านซัพพลายเชนที่ชะลอตัวลงเมื่อต้นปี 2560 จะกลับมาตื่นตัวมากขึ้นในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) อุตสาหกรรมอาหารและวัสดุก่อสร้าง โดยมีการปรับขึ้นของอัตราเงินเดือนสูงถึง 25-30% สำหรับตำแหน่งที่มีความต้องการสูง

· ในภาควิศวกรรมและอุตสาหกรรมการผลิต ผู้ที่มีความชำนาญในการจัดการด้านการประกันคุณภาพจะเป็นที่ต้องการในธุรกิจ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/12/2560

ประกันสังคมฯ เตือนผู้ประกันตนรีบใช้สิทธิทำฟัน 900 บาทต่อคนต่อปี ก่อนเสียสิทธิประจำปี 2560

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560 นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักงานฯ ได้เพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณี อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ให้แก่ผู้ประกันตน เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี จากเดิม 600 บาทต่อคนต่อปีนั้น แต่ยังมีผู้ประกันตนไม่ได้ไปใช้สิทธิฯ ประจำปี 2560 จึงขอย้ำเตือนผู้ประกันตนสามารถขอรับบริการในคลินิก สถานพยาบาลเอกชนหรือสถานพยาบาลของรัฐ ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2560 เนื่องจากสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมเป็นสิทธิปีต่อปี หากไม่ใช้ในปีนี้เท่ากับเสียโอกาสในการดูแลสุขภาพช่องปาก และเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพช่องปากตามคำแนะนำแพทย์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาลโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน ในวงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี โดยให้สังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า "สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรมทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย" เลขาธิการ สปส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถนำหลักฐาน อาทิ ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน มายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศได้ เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่เข้ารับบริการหรือแพทย์ระบุไว้ในใบรับรอง

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 4/12/2560

ครม.ตีกลับ กฏหมายแรงงานต่างด้าว ชี้เหตุโซนนิ่งพื้นที่-อัตราโทษแรงเกินไป

วันที่ 4 ธันวาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เสนอร่างพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ฉบับที่ พ.ศ. … พิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่เนื่องจากมีข้อสังเกต 2 ข้อที่น่าสนใจ 1.การโซนนิ่งพื้นที่ ซึ่งเดิมแรงงานต่างด้าว จะต้องพักอยู่ในพื้นที่ที่ทำงานของนายจ้างเท่านั้น แต่ในกฎหมายใหม่ ได้แก้ไขไม่ให้มีการกำหนดพื้นที่แล้ว 2.อัตราโทษในการทำความผิด ที่ยังมีอัตราโทษที่ไม่สัมพันธ์กับฐานความผิด บางกรณียังโทษรุนแรงเกินไป เพราะไปเปรียบเทียบกับโทษของการค้ามนุษย์ ซึ่งการใช้แรงงานผิดประเภท ไม่ควรมีโทษเท่ากับการค้ามนุษย์ ที่ประชุมจึงเห็นให้กลับไปปรับทั้งสองเรื่องร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ดูเหมาะสม ก่อนจะเสนอเข้ามาใหม่

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/12/2560

KFC ร่อนหนังสือเลื่อนเจรจา แจงเหตุเลิกจ้างประธานสหภาพ

ผอ.กลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานฯ แจ้งคสรท.พร้อมเครือข่าย อ้างหนังสือบริษัทยัมฯเลื่อนการเจรจากระทันหัน ยันเลิกจ้างประธานสหภาพฯทำตามกฎหมาย ด้านที่ปรึกษาฯมองเลิกจ้างระหว่างเจรจาข้อเรียกร้อง กระทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าแรงงานต้องดำเนินการ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมเครื่อข่ายแรงงานนอกระบบ สมาพันธ์แรงงานอุตสากรรมแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้เดินทางมาที่กระทรวงแรงงานวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เพื่อขอพบปลัดกระทรวงแรงงาน และเจรจาข้อเรียกร้องตามนัด พร้อมสอบคำตอบประเด็นเลิกจ้างนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ

นายประสิทธิ์ ปาจังคะโล ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง กองแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทางนายจ้างบริษัทยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือเคเอฟซีได้ส่งหนังสือเพื่อขอเลื่อนการเจรจาเมื่อเช้านี้เอง โดยชี้แจงมายังกองแรงงานสัมพันธ์ว่า ได้ปฏิบัติตามกฏหมายในการเลิกจ้างคุณอภันตรี เจริญศักดิ์แล้ว พร้อมจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมานคุ้มครองแรงงาน ซึ้งนายจ้างอ้างว่า เคยเสนอจ่ายค่าชดเชยให้มากกว่ากฎหมายด้วย แต่คุณอภันตรี ไม่ยอมรับข้อเสนอ ส่วนกรณีข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นนั้น เหลือเพียงประเด็นเดียวคือ เรื่องค่าอาหาร ที่จะให้กับพนักงานวันละหนึ่งมื้อ ซึ่งทางเคเอฟซีชี้แจงว่า รอบอร์ดประชุมพิจารณา

นายประสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า การทำงานของทางกระทรวงแรงงานคือต้องการยุติแบบสมบูรณ์แบบ แต่เขายังยืนยันว่าไม่คุย และยืนยันด้วยหนังสือ ซึ่งทางคุณอภันตรี ยังสามารถใช้กระบวนการร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ได้ ทั้งนี้หากคุณอภันตรียังยืนยันจะขอกลับมเข้าทำงาน ทางกระทรวงแรงงานจะดำเนินการเพื่อนัดพูดคุยกับนายจ้างอีกครั้ง

นางอภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่ยังตกลงกันไม่ได้คือ เพียงค่าอาหารวันละหนึ่งมื้อ แต่ยังเจรจาและตกลงกันไม่ได้ ซึ่งเจรจามากว่า 7 เดือนแล้ว

ประเด็นการที่ไม่เอาประธานสหภาพแรงงานฯนั้นมีการวางแผนไว้แต่ต้นหรือไม่ เพราะการเลิกจ้างครั้งนี้อ้างทำตามกฎหมายแล้วนั้นไม่ใช่ และตอนนี้มีการที่จะเลิกจ้างคนอื่นๆเพื่อที่จะให้เป็นเหตุเป็นผลในการเลิกจ้างตนนั้นไม่เป็นธรรม และไม่เห็นด้วย คิดว่าคนทุกคนมีศักดิ์ศรีซึ่งทราบข่าวว่า กำลังจะเลิกจ้างพนักงานที่ผ่าตัดและป่วยอยู่โรงพยาบาล โดยน้องเป็นคนที่ทำงานดีและรักบริษัทมาก แม้น้องไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน คิดว่ายอมรับไม่ได้ แม้วันนี้จะประกาศเลิกจ้างประธานสหภาพฯแต่การเจรจาของสหภาพยังต้องเดินหน้าต่อ

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ประเด็นการเลิกจ้างคุณอภันตรี ถือว่าเป็นการเลิกจ้างระหว่างการยื่นข้อเรียกร้อวหรือไม่ แล้วทางกระทรวงแรงงานว่าอย่างไรด้วยทางคสรท.ได้ยื่นหนังสือถึงท่านปลัดกระทรวงแรงงานแล้ว วันนี้คุณอภันตรี ต้องการกลับเข้าทำงานไม่ได้ต้องการเงินค่าชดเชยเพิ่ม ประเด็นคือ ทางเราได้คุยกับทางไทยเบฟแล้ว ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหากับทางคุณอภันตรี แต่ว่าการเลิกจากมาจากYUM อยากให้กระทรวงแรงงาน ช่วยดูแลประเด็นการเลิกจ้างนั้น ด้วยบริษัทเหลือที่จะเลิกจ้างคุณอภันตรี เพียงคนเดียว เนื่องจากคนทำงานในตำแหน่งเดียวกันไม่มีใครถูกเลิกจ้างเลย

นางสาว สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า การกระทำการเลิกจ้างระหว่างการเจรจาต่อรอง และมีข้อพิพาทแรงงานกันอยู่นั้นกระทำผิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 31 ต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ในการใช้อำนาจตามกฎหมายก่อนอย่าเพิ่งเตะลูกออกจากตัวเองด้วยการให้ไปใช้กระบวนการครส.เลย วันนี้ผู้ใช้แรงงานยังหวังว่ากรมกองจะให้ความช่วยไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาให้ลูกจ้างได้ ด้วยขณะนี้อยู่ในเงื่อนไขกระบวนการเจรจาไม่สามารถเลิกจ้างแล้วอ้างว่าทำตามกฎหมายแล้ว

ที่มา: voicelabour.org, 4/12/2560

ครูอัสสัมชัญเตรียมพึ่งศาลแรงงาน ทวงสิทธิรับบำนาญหลังเกษียณ

เมื่อเช้าวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่มูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซอยทองหล่อ 25 คณะครูอาจารย์โรงเรียนอัสสัมชัญและทุกโรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ประมาณ 300 คน รวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือพร้อมอัญเชิญธงเอซี หน้ามูลนิธิ ตามปฏิบัติการ Black Saturday เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ หลังถูกยกเลิกเงินบำนาญเลี้ยงชีพสำหรับครูวัยเกษียณ

ดร.สิทธิชัย ปริญญานุสรณ์ ตัวแทนศิษย์เก่า ในนามโฆษกคณะทำงานระบุว่า มีความประสงค์เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย ประธานมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบที่มองว่าไม่เป็นธรรม ในกรณีที่มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับที่ลดทอนสวัสดิการที่ครูควรได้รับ รวมถึงสำหรับครูวัยเกษียณที่ไม่สามารถเลือกรับบำเหน็จบำนาญได้ด้วยตัวเอง แต่ทางมูลนิธิฯ จะเป็นผู้กำหนดให้ ซึ่งถือเป็นสวัสดิการที่คณะครูควรได้รับ และควรเป็นสิทธิที่สามารถตัดสินใจเลือกได้เอง ซึ่งตามระเบียบเดิมที่ครูเข้าทำงานตั้งแต่ปี 2534 เมื่อครูเกษียณแล้วสามารถตัดสินใจเองได้

ทั้งนี้ ได้เรียกร้องให้มูลนิธิคำนึงถึงข้อเรียกร้องของครูควรจะได้รับคือ ขอให้คืนสิทธิเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ ให้คณะครู โดยแนวทางหลังจากนี้ หลังจากภราดาสุรสิทธิ์ไม่ออกมารับข้อเสนอ หรือไม่ส่งตัวแทนมาร่วมเจรนานั้น ก็จะเดินหน้าดำเนินการเรียกร้องขอความเป็นธรรม พร้อมเรียกร้องไปยังศาลแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการตามขั้นตอนต่อไป

ด้านนางภควิภา แย้มศรี ตัวแทนครูอัสสัมชัญแผนกมัธยมระบุว่า หลังมูลนิธิออกประกาศข้อบังคับ พร้อมยกเลิกสิทธิประโยชน์ในการเลือกรับบำนาญแต่เป็นเงินบำเหน็จแทนโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้านั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง เนื่องจากครูที่เกษียณต้องมีภาระค่าใช้จ่าย รมถึงกรณีดังกล่าวถือเป็นการบั่นทอนกำลังใจในการทำงาน และมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาทำงานในอดีตและการทำงานในอนาคต จึงขอความเมตตาในการคืนสิทธิสวัสดิการให้แก่ครูอาจารย์ในเครือทั้งหมด เพื่อความมั่นคงในอาชีพและชีวิต พร้อมถือเป็นกำลังใจในการทำงานและสอนนักเรียนให้มีประสิทธิภาพต่อไป

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3/12/2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์ระบุเมื่อพูดถึง 'คอร์รัปชั่น' คนไทยนึกถึง 'ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ' มากที่สุด

Posted: 08 Dec 2017 08:02 PM PST

ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ระบุเมื่อพูดถึงการคอร์รัปชั่น คนไทยนึกถึงข้าราชการ หน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ มากที่สุด 78.7% เห็นว่าปัญหาการติดสินบน การจ่ายใต้โต๊ะ แก้ไม่ได้จนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ 61.3% เห็นว่าสาเหตุของการคอร์รัปชั่นเกิดจากโทษการเอาผิดไม่เด็ดขาด รุนแรง 44.9% เห็นว่ารัฐแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้บ้าง ส่วนใหญ่ 50.3% เชื่อคดีทุจริตจำนำข้าวจะเป็นบทเรียนไม่ให้นักการเมืองโกงอีก

 
 
9 ธ.ค. 2560 เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (9 ธ.ค.) กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ปัญหาคอร์รัปชั่นในมุมมองคนไทย" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,205  คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 30.7 นึกถึงข้าราชการ หน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ มากที่สุดเมื่อพูดถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น รองลงมาคือ นักการเมือง (ร้อยละ 23.3) และการจ่ายเงินใต้โต๊ะ ติดสินบน (ร้อยละ 11.4)
 
เมื่อถามว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นใด ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลยในสังคมไทย พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 78.7 เห็นว่าเป็นปัญหาการติดสินบน การจ่ายใต้โต๊ะ รองลงมาร้อยละ 57.5 ปัญหาการฮั้วประมูลในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ และร้อยละ 51.1 ปัญหาเกี่ยวกับระบบข้าราชการ
 
สำหรับสาเหตุที่ทำให้สังคมไทยยังคงมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.3 เห็นว่าโทษการเอาผิดผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เด็ดขาด รุนแรง รองลงมาร้อยละ 52.1 เห็นว่าระบบราชการยังเหมือนเดิมเปิดโอกาสให้เอื้อทุจริตคอร์รัปชั่น และร้อยละ 49.3 เห็นว่ากฎหมายมีช่องโหว่ล้าสมัย
 
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าในมุมมองของท่านอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.9 อยากให้เอาผิดและลงโทษผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง รองลงมาร้อยละ 45.3  อยากให้ปลูกฝังค่านิยมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและร้อยละ 37.8 อยากให้ปลูกฝังค่านิยมด้านการประกอบอาชีพสุจริต
 
เมื่อถามว่าคิดว่าการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลในปัจจุบันเป็นอย่างไร ประชาชนร้อยละ 44.9 เห็นว่าแก้ปัญหาได้บ้างแต่ก็กลับมาคอร์รัปชั่นแบบเดิมอีก ขณะที่ร้อยละ 43.4 เห็นว่าไม่มีมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีคอร์รัปชั่นเหมือนเดิม ส่วนร้อยละ 11.7 เห็นว่าแก้ปัญหาจนการคอร์รัปชั่นลดลงอย่างเห็นได้ชัด
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น