ประชาไท | Prachatai3.info |
- ความเชื่อเรื่องผู้หญิงห้ามเข้าโบสถ์
- ใบตองแห้ง: ประชาธิปไตยตู่ๆ
- ผบ.ทบ.พร้อมส่งเครื่องบินรับ 'ตูน' กลับกทม. ยันไม่ถือว่าสิ้นเปลืองเมื่อเทียบกับสิ่งที่ตูนทำ
- 'อีอีซี' ในมุมร้ายที่ไม่เคยมอง
- กวีประชาไท: ลิเก คนดี สี่จุดศูนย์
- เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคใต้) ทำไมเราต้องปกป้อง?
- เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคเหนือ) ทำไมเราต้องปกป้อง?
- เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันตก) ทำไมเราต้องปกป้อง?
- เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคกลาง) ทำไมเราต้องปกป้อง?
- เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคอีสาน) ทำไมเราต้องปกป้อง?
- เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันออก) ทำไมเราต้องปกป้อง?
- #MeToo ฉบับชาวไร่ เมื่อแรงงานภาคเกษตรในสหรัฐฯ จัดตั้งกลุ่มต้านละเมิดทางเพศ
- เพื่อไทยยื่นศาลรธน. ตีความคำสั่ง คสช. 53/2560 ด้านประชาธิปัตย์เตรียมยื่นเช่นกัน
- ACT เปิด 10 ประเด็นคอร์รัปชันปี 60 ที่คนไทยยังต้องเฝ้าจับตา
- หวั่นแรงงานกัมพูชาถูกละเมิดสิทธิ หลัง MOU ส่งแรงงานก่อสร้างไปกาตาร์
ความเชื่อเรื่องผู้หญิงห้ามเข้าโบสถ์ Posted: 27 Dec 2017 07:57 AM PST
"โบสถ์" ในที่นี้ผมหมายถึงสถานที่ทำพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา โบสถ์นั้นเป็นพื้นที่ทางศาสนา ผมเข้าใจว่า แรกเริ่มเดิมที สถานที่ทำสังฆกรรมเป็นเพียงขอบเขตพื้นที่ภายในอารามที่สงฆ์สมมติขึ้นที่เรียกว่า "สีมา" เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม เช่น การทำพิธีอุปสมบท การฟังสวดปาฏิโมกข์ ต่อมาถึงได้มีการทำสถานที่ตรงนั้นให้มีหลังคากันแดดกันฝน เรียกว่า "โรงอุโบสถ" และได้มีการพัฒนาโรงอุโบสถเป็นตัวอาคารในรูปทรงแบบต่างๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน แม้สถานที่สีมาจะกลายมาเป็นอุโบสถ แต่ก็ยังคงมีจุดประสงค์เดิม คือ เป็นที่สำหรับทำพิธีกรรมของสงฆ์ ถามว่า พิธีกรรมของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาเข้มงวดกวดขันถึงกับต้องกำหนดให้ทำภายในเขตอุโบสถเท่านั้นหรือไม่ คำตอบคือ มีระเบียบพุทธบัญญัติให้การทำสังฆกรรมต้องทำในเขตที่สงฆ์สมมติขึ้นเป็นสีมา หรือโบสถ์นั้นจริงๆ หากทำไม่ถูกที่ถูกทางตามที่พระวินัยกำหนด ย่อมมีผลทำให้สังฆกรรมเสียหาย คือ สังฆกรรมไม่สำเร็จ หรือ ใช้ไม่ได้ ผมขออภัยที่คำตอบดังกล่าวนี้อาจไม่ถูกใจใครหลายคน (inconvenient truth) กล่าวตามคำสอนของพุทธศาสนาที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเชื่อเรื่องความขลัง หรือศักดิ์สิทธิ์ การทำสังฆกรรมในเขตพื้นที่กำหนดก็เพื่อให้เกิดความถูกต้องตามที่พระวินัยบัญญัติเท่านั้นละครับ ไม่ใช่เพื่อความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ในทางอิทธิปาฏิหาริย์อะไรดังที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิด แต่แม้กระนั้น ช่วงที่พระสงฆ์กำลังใช้ที่นั้นทำพิธีกรรมทางสงฆ์ก็จำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในพิธีกรรม เข้าไปในเขตหัตถบาส หรือเขตที่พระสงฆ์กำลังนั่งรวมกันทำพิธี เพราะหากบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป จะส่งผลทำให้สังฆกรรมเสียหายได้เช่นกัน แต่ความเข้มงวดนี้ก็ใช้เฉพาะในช่วงเวลามีพิธีกรรมทางสงฆ์เท่านั้นนะครับ นอกเหนือจากช่วงเวลานั้น วัดส่วนใหญ่จะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ากราบไหว้พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถ (หากเป็นพระอารามหลวง เรียกว่า "พระอุโบสถ") ตามปกติ ยกเว้นบางวัดที่ใช้โบสถ์เป็นที่เก็บศาสนสมบัติบางอย่างอาจจะเปิดเฉพาะช่วงที่มีพิธีสงฆ์และปิดประตูในช่วงเวลาปกติไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปเพื่อป้องกันการโจรกรรม ซึ่งก็ไม่ควรถูกมองว่าปัญหาอะไร เมื่อที่ตรงนั้นไม่เปิดประตูให้เข้าไปไหว้พระ เราก็ไปไหว้พระในโบสถ์ของวัดอื่นๆ ที่ท่านเปิดประตูไว้ก็ได้นี่ครับ ตรงนี้อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า เท่าที่ทราบตามคำสอนทั้งฝ่ายพระธรรมและฝ่ายพระวินัยในพุทธศาสนานั้น ไม่ปรากฏมีมนุษย์คนใดถูกห้ามไม่ให้เข้าโบสถ์ ยกเว้นกรณีพระสงฆ์ทำพิธีกรรม หรือประตูโบสถ์ปิดดังที่กล่าวมาแล้ว ทีนี้ ผลจากความเชื่อเรื่องห้ามผู้หญิงเข้าโบสถ์จนกลายเป็นข่าวดังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์/ถกเถียงโต้แย้งกันจนดังกระหึ่มในโลกเสมือนจริงอย่างสังคมโซเชี่ยลและสังคมภายนอกโลกเสมือนจริงทั่วหัวระแหงอยู่เวลานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ดังที่ได้สรุปไปแล้ว ตามคำสอนทั้งในพระธรรมและพระวินัย ไม่ปรากฏมีมนุษย์คนใดถูกห้ามไม่ให้เข้าโบสถ์ (ผมหมายถึงการเข้าไปด้วยวัตถุประสงค์จะไหว้บูชาพระอย่างที่ชาวพุทธทั่วไปนิยมทำกันนะครับ) แต่หากสถานที่หรือชุมชนใดมีกฎระเบียบห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าโบสถ์ก็ต้องบอกว่าเป็นความเชื่อของสถานที่หรือชุมชนนั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่มีฐานมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก แต่จะมีฐานมาจากแนวคิดความเชื่อของลัทธิใด ผมยังไม่ทราบแน่ชัด ตามข่าวบอกว่า เหตุเกิดในวัดแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ จริงๆ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจำได้ว่าเคยมีกรณีห้ามผู้หญิงเข้าบางพื้นที่ภายในองค์เจดีย์ในวัดพระธาตุดอยสุเทพจนกลายเป็นข่าวดังอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ชาวชุมชนในพื้นที่แถบนั้นอธิบายว่า ผู้หญิงมีสิ่งสกปรกอยู่ในสรีระ (เช่น กรณีผู้หญิงมีระดู) ซึ่งไม่เหมาะที่จะปล่อยให้เธอเข้าสู่พื้นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์ที่ชุมชนนับถือ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูปเก่าแก่ (และอื่นๆ) พิจารณาดูผมขอสันนิษฐานว่า ความเชื่อแบบนี้เดิมเป็นปรากฏอยู่ในลัทธิพราหมณ์-ฮินดูที่มองว่าระดูของสตรีสามารถส่งผลกระทบต่ออานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของเทวรูปหรือสิ่งที่เคารพนับถืออื่นๆ สตรีจึงเป็นบุคคลต้องห้ามในเขตพื้นที่ดังกล่าว เมื่อความเชื่อนี้ซึ่งมีอิทธิพลต่อชุมชนอยู่ก่อนแล้วถูกนำมาเชื่อมโยงกับพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูปอันเป็นสัญญะสำคัญอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา สตรีก็เลยกลายเป็นบุคคลต้องห้ามในเขตพื้นที่ที่พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ไปด้วย หากมองย้อนไปในอดีต เราจะพบกลิ่นอายของความเชื่อดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมภาษาบาลีของล้านนาเรื่อง "มงคลทีปนี" ที่แต่งโดยพระสิริมังคลาจารย์ด้วยเหมือนกัน ดังตอนที่กล่าวถึงพระเจ้าพิมพสารที่ถูกพระโอรสคือพระเจ้าอชาตศัตรูรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เอามีดกรีดฝ่าพระบาทเพื่อไม่ให้พระองค์เดินจงกรมทำสมาธิได้ พระสิริมังคลาจารย์อธิบายความตอนนี้ว่ามาจากบุพกรรมในอดีต คือ (1) ในอดีตชาติ พระเจ้าพิมพิสารเคยสวมฉลองพระบาทเข้าไปในพื้นที่ลานพระเจดีย์ที่มหาชนเคารพกราบไหว้ด้วยเครื่องสักการะต่างๆ และ (2) พระองค์เหยียบเสื่อลำแพนที่ปูไว้สำหรับเป็นที่นั่งของพระสงฆ์โดยไม่ได้ทรงชำระล้างพระบาทให้สะอาดเสียก่อน แต่ความเชื่อเรื่องบุรพกรรมในอดีตของพระเจ้าพิมพิสารนี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาเพราะอธิบายได้ว่า เรื่องเล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างสำหรับบอกให้รู้ว่า การปฏิบัติต่อสถานที่ หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนเคารพนับถืออย่างไม่เหมาะไม่ควรนั้นมีผลร้าย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยใครก็ตาม ไม่จำกัดเพศ วัย หรือชาติตระกูล แต่กรณีที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้กลายเป็นปัญหาเพราะคำถามว่า ทำไมผู้หญิงจึงถูกห้ามเข้าโบสถ์ กฎการห้ามเข้าโบสถ์จะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและเป็นที่ยอมรับถ้าเป็นกฎระเบียบที่สากลคือ บังคับใช้กับทุกคน การสงวนกฎนี้ไว้เฉพาะผู้หญิงเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าไม่สมเหตุสมผลและไม่น่าจะถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อมองเรื่องนี้ผ่านแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ส่วนตัวผมไม่ได้มองว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาหนักหนาอะไร เพราะเห็นว่า ความเชื่อเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้หญิงเป็นความเชื่อเก่าแก่ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตจิตวิญญาณของผู้คนในพื้นที่ซึ่งได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดกันมายาวนาน ความหมายของผมก็คือ ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เป็นความเชื่อที่ถูกส่งผ่านจากโลกในอดีต ขณะที่แนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเป็นแขกหน้าใหม่ผู้มาเยือนจากต่างบ้านต่างเมืองและต่างวัฒนธรรม แม้เรื่องสิทธิฯ จะเป็นสิ่งสากลที่อารยประเทศพากันตระหนักและให้การยอมรับ แต่สำหรับสยามประเทศ พื้นที่ความเชื่อของผู้คนส่วนใหญ่ยังคงผูกติดอยู่กับโลกของอดีต ข้อเสนอสำหรับสถานการณ์ยามนี้ของผมก็คือ หากเราต้องย่างกรายเข้าไปในเขตพื้นที่ใด ก็ให้ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนในพื้นที่นั้นโดยอาจจะต้องวงเล็บเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเอาไว้ในใจก่อนก็เท่านั้นแหล่ะครับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 27 Dec 2017 07:49 AM PST
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ส้มซ่า" ครม.สัญจรพิษณุโลก สุโขทัย ขี่ตุ๊กตุ๊กช็อปเปอร์บิ๊กไบค์ ซื้อหมา คุยกับไก่ ชาวบ้านชมว่าหล่อกว่าในทีวี ยกให้เป็นฮีโร่ อยากให้อยู่นานๆ นี่เป็นการหาเสียงไหม ปัดโธ่ ยังมีประกาศ คสช.ห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว จะเรียกว่าหาเสียงได้อย่างไร แถมท่านยังสำทับ อย่าเคลื่อนไหวการเมืองจนทำลายการท่องเที่ยว ใครทำถือว่าไม่ใช่คนไทย คนอื่นห้ามเคลื่อนไหว ท่านขับเคลื่อนได้คนเดียว เพราะยังทำงานเพื่อชาติไม่สำเร็จ ต้องอยู่ไปจนกว่า "คนจนหมดประเทศ" แต่ไม่ต้องห่วง ท่านให้ของขวัญปีใหม่ ปีหน้าจะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เตรียมไปสู่ประชาธิปไตย ที่มี "ธรรมาภิบาล" ธรรมาภิบาลแปลว่าอะไร ก็แปลว่าการปกครองโดยคนดีไง จำไม่ได้หรือ ท่านเคยพูดไว้ "พี่ป้อมสอนให้ผมเป็นคนดี" ท่านผู้นำเพิ่งยกตำราฝรั่งมาสอนคนไทย ว่าประชาธิปไตยในรูปแบบสภาผู้แทนฯ อาจหมดสมัยแล้ว กลายเป็นยุคประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ฟังแล้วใช่เลย สภาผู้แทนหมดสมัย ต้องใช้ สนช.แต่งตั้ง ยกมือพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ล่าสุดก็ให้ ปปช.อยู่ในตำแหน่งต่อไป แม้มีคุณสมบัติต้องห้าม ประธานปปช.เคยเป็นเลขาฯ พี่ป้อม แต่ท่านลาออกมาสมัคร ผ่านกรรมการสรรหา ผ่านมติ สนช. จะปลดง่ายๆ ได้อย่างไร นี่ไง เรียกว่าธรรมาภิบาล อย่าใช้จิตใจคนต่ำช้ามาวัดจิตใจวิญญูชน คิดว่าประธาน ปปช.จะใช้อำนาจหน้าที่ปกป้องนาฬิกาพี่ป้อม คิดชั่วๆ อย่างนั้นได้ไง ท่านไม่ใช่นักการเมือง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สภาผู้แทนหมดสมัย นายกฯ ไม่ต้องมาจากเลือกตั้งก็ได้ ใครจะตั้งพรรคใหม่ขึ้นสนับสนุนนายกฯ คนนอกก็ย่อมได้ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็มีสิทธิ เพราะลุงตู่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง ลุงตู่แค่มีอำนาจแต่งตั้ง 244 ส.ว. ส่วนหลังเลือกตั้ง 244 ส.ว.กับ 6 ผบ.เหล่าทัพ จะไปจับมือพรรคไหน เสนอใครเป็นนายกฯ ก็เรื่องของเขา สิทธิของเขา ลุงตู่ไม่เกี่ยว ลุงตู่สั่งใครไม่ได้ ถ้าบังเอิญ เขาโหวตให้ลุงตู่เป็นนายกฯ ต่อไป ลุงตู่ก็สั่งไม่ได้เหมือนกัน คนไทยช่วยเข้าใจหน่อย ทั้งหมดจะเป็นไปอย่างโปร่งใส มีหิริโอตตัปปะ มีธรรมาภิบาลปีหน้า เศรษฐกิจการเมืองจะดีขึ้น เพราะเราจะมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มีธรรมาภิบาล แถมยังมี "สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ" ปราบปรามการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก ฯลฯ แต่ห้ามวิจารณ์ลุงตู่เสียๆหายๆ ไม่งั้นจะเจออย่างหมวดเจี๊ยบ โดนข้อหาเผยแพร่ความเท็จออนไลน์ บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือประเทศต้องสงบราบคาบ ห้ามขัดแย้ง ห้ามคิดต่าง ประชาชนมีส่วนร่วม โดยให้ความร่วมมือกับทางราชการ ทหาร ตำรวจ มหาดไทย กอ.รมน. ประชาชนจงเชื่อฟังและให้ความร่วมมือกับรัฐบาล แล้วรัฐบาลจะดูแลให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่าเรียกร้องต้องการอำนาจ อย่าประท้วงให้วุ่นวาย เกิดเป็นคนไทย ต้องรักความเป็นไทย เห็นคุณค่าในตัวเอง เรามีหน้าที่ทำมาหากิน เสียภาษี และบริจาคทำบุญ ก็ทำไป นั่นคือวิถีนำไปสู่ความสุขความเจริญ ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ตามวิถีประชาธิปไตยแบบตู่ๆ หรือที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยใช้คำว่า ประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย ตามแบบประชาธิปไตยอัตลักษณ์จีน น่าเสียดาย เมื่อ 50 ปีก่อน ทหารรุ่นนั้นยังโง่อยู่ ไม่รู้จักประดิษฐ์คำว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม อัตลักษณ์สฤษดิ์ ถนอม ประภาส
ที่มา: คอลัมน์ทายท้าวิชามาร นสพ.ข่าวหุ้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผบ.ทบ.พร้อมส่งเครื่องบินรับ 'ตูน' กลับกทม. ยันไม่ถือว่าสิ้นเปลืองเมื่อเทียบกับสิ่งที่ตูนทำ Posted: 27 Dec 2017 07:46 AM PST ผบ.ทบ.ย้ำพร้อมส่งเครื่องบินรับตูนกลับกทม. ย้ำไม่ถือว่าสิ้นเปลืองเมื่อเทียบกับสิ่งที่ตูนทำ ขณะที่นักวิ่งโครงการก้าวทยอยเดินทางกลับแล้ว เผย 'ตูน' ยังสุขภาพแข็งแรงไม่ได้บาดเจ็บรุนแรง แต่เจ้าตัวขอพักต่อที่เชียงรายอีก2-3วัน 27 ธ.ค. 2560 หลังจากวันที่ 25 ธ.ค.ทีผ่านมา อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ "ตูน บอดี้สแลม" และทีมงานก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ จาก อ.เบตง จ.ยะลา ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย แล้ว รวมระยะทางกว่า 2,215 กิโลเมตร จากระยะทางตามกำหนดการที่ 2,191 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. - 25 ธ.ค.2560 รวมเวลากว่า 386 ชั่วโมง ขณะที่ยอดบริจาคกว่า 1,140 ล้านบาท แล้วนั้น วันนี้ (27 ธ.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการส่งเครื่องบินลำเลียง C 295 W หรือ คาซ่า ไปรับคณะโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาล ที่นำโดย ตูน บอดี้สแลม ว่า เจ้าหน้าที่ได้เตรียมการรอรับกลับอย่างเต็มที่ แต่เท่าที่ทราบตูนขออยู่ดูแลรักษาตัวและพักผ่อน 2-3 วัน ส่วนคณะใหญ่จะทยอยกลับวันนี้(27 ธ.ค.) โดยประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง แต่จะให้ตูนตัดสินใจตามสะดวก "การส่งเครื่องบินกองทัพบกไปรับตูนไม่ถือว่าสิ้นเปลือง เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตูนได้ทำให้กับโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง ซึ่งมีโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าด้วย อีกทั้งเครื่องบิน C 295 มีวงรอบฝึกบินทุกสัปดาห์อยู่แล้ว ขอขอบคุณตูนที่ถือเป็นผู้ปลุกกระแสการออกกำลังกาย และทำให้คนในชาติรู้สึกดีต่อกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนกองทัพบกจะให้อะไรกับตูนหรือไม่ ขอให้ตูนบอกมาว่าอยากได้อะไร กองทัพบกยินดีทุกอย่าง โดยในวันพรุ่งนี้(28 ธ.ค.) ผมจะให้กำลังพลกองทัพบก 2 นายที่ร่วมวิ่งกับทีมก้าวคนละก้าวเข้าพบ เพื่อให้กำลังใจ" ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว ขณะที่โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า วันนี้ ทีมงานนักวิ่งที่วิ่งเคียงข้างตูนตลอดเส้นทางจาก อ.เบตง จ.ยะลา ถึงปลายทางที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อาทิ อิทธิพล สมุทรทอง, ส.อ.สุพิศ จันทรัตน์, แพทย์หญิงสมิตดา สังขะโพธิ์ หรือหมอเมย์ ที่ดูแลสุขภาพตูน ได้เดินทางกลับโดยเครื่องบินที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายแล้วเมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. ขณะที่ตูนและก้อย รัชวิน แฟนสาวยังไม่ได้เดินทางกลับแต่อย่างใด แพทย์หญิงสมิตตา กล่าวว่า สุขภาพของตูน ยังแข็งแรงและไม่ได้มีอาการบาดเจ็บมากนัก ส่วนอาการปวดเมื่อยถือเป็นเรื่องปกติของคนที่วิ่งมาในระยะทางไกลๆ ส่วน ตูน จะกลับมาวิ่งระยะทางไกลได้อีกหรือไม่นั้นคงไม่สามารถบอกได้ เพราะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน โดยกรณีของตูน นั้นคงต้องตรวจร่างกายอีกครั้งก่อน ด้านอิทธิพล กล่าวว่า ตูนขอพักต่อที่ จ.เชียงราย อีกราว 2-3 วันโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เท่าที่ได้ดูสภาพของตูนแล้วพบว่าหลังการวิ่งครั้งนี้แล้วสุขภาพยังดีมากและไม่มีความผิดปกติ โดยวันก่อนที่จะไปทำพิธีบายศรีสู่ขวัญที่ไร่เชิญตะวันยังมีการนัดหมายกันว่าจะวิ่งไปโดยตรวจเส้นทางได้ไกล 31 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงวันจัดงานก็พากันวิ่งไม่ไหวแต่ก็ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บแต่เกิดจากการสะสมอันเกิดจากการที่วิ่งมาไกลแล้วหยุดวิ่งกระทันหันเท่านั้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'อีอีซี' ในมุมร้ายที่ไม่เคยมอง Posted: 27 Dec 2017 07:39 AM PST
ถ้ามอง "อีอีซี" หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ในแง่ร้ายที่สุด ก็ต้องบอกว่า EEC ที่รัฐบาลกำลังตั้งความหวังนั้น สุดจะ "ซี้ซั้ว" และ "ซี้แหงๆ" ผมก็อยากจะเป็นฝ่ายคิดผิดไปเหมือนกัน ผมไม่อายและจะดีใจด้วยซ้ำไปว่า EEC ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ผมคิด แต่โปรดฟังความอีกข้างสักนิด จะได้เผื่อใจไว้บ้าง การวางผังเมืองแบบเปะปะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำให้การพัฒนาพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การพัฒนาบางอย่างดูไม่สมเหตุสมผล จะคุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนหรือไม่ ควรศึกษาให้ดี มิฉะนั้นอาจประสบเภทภัยมากกว่าวาสนา วันนี้ผมจึงขอติงโครงการอีอีซี ไม่ใช่ว่าผมไม่รักชาตินะครับ ผมลูกจีนแต่รักแผ่นดินเกิดคือเมืองไทยครับ ผมจำเป็นต้องติงโครงการ 'ซีซั้ว' นี้ในทำนอง 'ติเพื่อก่อ' เพื่อเราจะได้ไม่หลงวาดฝันหวานจนพากันลงเหวนั่นเอง โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor หรือเขียนย่อว่า EEC ผมจึงขอเขียนเป็นภาษาไทยว่า 'อีอีซี' เพื่อให้ง่ายและสั้นลง โครงการนี้ครอบคลุม 3 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ก่อนหน้านี้ ผมก็เคยวิพากษ์ไว้บ้างแล้ว แต่ครั้งนี้จะมองในมุมเพิ่มเติมที่ไม่ซ้ำกัน โดยใช้แผนที่ที่ทางราชการใช้อธิบายหรือ 'โฆษณาชวนเชื่อ' โดยตรง จากแผนที่ที่ประกอบนี้ มีระบุจะสร้างเมืองใหม่ฉะเชิงเทรา พัทยา และระยอง การสร้างเมืองใหม่ ดูเป็นการแก้ปัญหาความยุ่งยากของเมืองเก่าด้วยการ (หนีปัญหา) ไปสร้างเมืองใหม่ แต่ในความเป็นจริงในโลกนี้ ไม่เคยมีการสร้างเมืองใหม่สำเร็จยกเว้นเมืองเก่าถูกทำลายลง เช่น อยุธยา หรือเปลี่ยนราชวงศ์ เป็นต้น ยิ่งเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจ ยิ่งย้ายไม่ได้ เช่น นครนิวยอร์กกับกรุงวอชิงตันดีซี นครซิดนีย์กับกรุงแคนบรา และนครย่างกุ้งกับเมืองเนปิดอว์ เป็นต้น มีใครเคยเห็นอังกฤษคิดสร้างกรุงลอนดอนใหม่หรือไม่ ฝรั่งเศสก็ไม่มีโครงการสร้างกรุงปารีสใหม่ อิตาลีก็ไม่เคยมีกรุงโรมใหม่ในหัวเลย เมืองที่เขาอยู่กันมาเป็นพันๆ ปี ก็ไม่เคยคิดจะย้ายหนีปัญหา กรุงอัมสเตอร์ดัมที่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเล ก็ยังอยู่ได้สบายๆ แต่นักวางแผนไทยกลับมีแนวคิดแบบยอมจำนน เขาไม่ตระหนักว่าขืนสร้างเมืองใหม่ไปก็ร้าง แก้ปัญหาเมืองเก่าไม่ได้ แถมยังถมงบฯ ไปสร้างเมืองใหม่อย่างไร้ค่าอีก น่าสมเพชไหมล่ะครับ หันมาดูเส้นทางรถไฟสายอนาถที่ต้องผ่านไปยังจังหวัดฉะเชิงเทราแล้วยิ่งหดหู่ เราจะเชื่อมภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับภาคตะวันออกโดยเฉพาะชลบุรีและระยอง แต่ผ่าไปอ้อมฉะเชิงเทราให้เมื่อยตุ้มเล่นซะงั้น ถ้าคิดอย่างมีบูรณาการ ต้องทำทางด่วนและรถไฟจากระยอง พัทยา แล้วทะลุจากตัวเมืองชลบุรีผ่าทะเลแถวปากน้ำบางปะกงมาขึ้นฝั่ง แล้วเชื่อมกับบางนา-ตราดตรง กม.36 ที่สามารถเชื่อมต่อไปถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่อยู่แล้ว แบบนี้ต่างหากที่ทำให้การเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพสูงสุด มาดูที่ตั้งของ Robotics หรือแหล่งผลิตหุ่นยนต์ ที่ตั้งของ Smart Electronics ที่ตั้งของ Modern Automative หรือแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ ก็เหมือนเอามาแปะลงส่งเดชไว้ให้ดูทั่วๆ ในแผนที่หรืออาจตามแปลงที่ดินที่เอกชนเสนอ แต่ไม่รู้จะได้ทำจริงหรือไม่ แทนที่จะวางไว้เปะปะสับสนอยู่กลางทุ่งรุกพื้นที่เกษตรกรรม กิจการแบบนี้เอามาไว้ใกล้ๆ กรุงเทพมหานครก็ได้ เพราะแรงงานมีฝีมือก็มาก ไม่เห็นจำเป็นต้องทุ่มทำโครงการอีอีซีด้วยงบประมาณมหาศาลซึ่งยังไม่รู้จะได้คุ้มเสียหรือไม่ ที่ตลกร้ายก็คือ Logistics Hub หรือศูนย์ขนถ่ายสินค้า ผ่าแอบไปอยู่ฉะเชิงเทราห่างจากย่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขนส่งทางทะเลผ่านท่าเรือ 3 แห่งคือแหลมฉะบัง สัตหีบ และมาบตาพุด และห่างสนามบินอู่ตะเภา สงสัยว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือเอกชนรายใดมีที่ดินแถวนั้นหรืออย่างไร หลายคนคงงงเหมือนที่ผมซึ่งจบปริญญาเอกด้านการวางแผนพัฒนาเมืองมายังงง สิ่งที่รัฐทำควรมีความมีเหตุมีผลมากกว่านี้ และควรแจกแจงข้อมูลอย่างโปร่งใส จึงจะดี ส่วนศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตรและศูนย์แปรรูปอาหารที่แปะไว้รวม 4 จุดนั้น ก็ไม่ทราบว่าแปะเพื่อเติมเต็มแผนที่ให้ไม่ว่างกลวงโบ๋หรืออย่างไร ศูนย์แบบนี้ควรมีที่จันทบุรี หรือจังหวัดหลักๆ ด้านการเกษตรทั่วประเทศด้วยซ้ำไป ผมก็ได้แต่ภาวนาให้ระเบียงเศรษฐกิจที่จับทุกภาคส่วนมายำร่วมกัน จะประสบความสำเร็จในที่สุด แม้ว่าโครงการนี้จะดูเป็นแบบดูเป็นแบบ 'มาม่า' 'ยำยำ' และ 'ไวไว' (เน้นแบบ top-down' ปนเปและเอาเร็วเข้าว่า) ดังนั้นผมจึงเป็นห่วงโครงการระเบียงเศรษฐกิจนี้ ใครขืนไปบ้าจี้ทุ่มลงทุนโดยไม่ศึกษาให้ดี หวังว่าราคาบ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์จะพุ่งกระฉูดเหมือนสมัย 'น้าชาติ' เมื่อ 30 ปีก่อน อาจผิดหวังอาจประสบเภทภัยมากกว่าวาสนาได้ ผมก็ได้แต่หวังให้ทางราชการปรับปรุงแผนแม่บทโครงการนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุน (อย่างรอบรู้) ในอีอีซี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: ลิเก คนดี สี่จุดศูนย์ Posted: 27 Dec 2017 07:26 AM PST
"ยุคคนดี"สี่จุดศูนย์ ลุ้นทางออก "ยุคหัวหงอก" สีดอกเลา เมาอำนาจ "ยุคกฎหมาย"รับใช้โจร กดบนหัว "ยุคกล้ำกลืน"คืนความสุข ถูกกำหราบ "ยุคธำรง วินัย" ใช้การซ่อม(ซ้อม) "ยุคทหาร ด้าน+หนา กว่าที่คิด "ยุคสังคม สังคัง"อ้างรักชาติ "ยุคคนดี " กลิ้งกลวง ลวงกลับกลอก สวัสดี ปีใหม่ ไร้ทางออก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคใต้) ทำไมเราต้องปกป้อง? Posted: 27 Dec 2017 04:20 AM PST หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปฟังเสียงของพวกเขา จุฑา สังขชาติ จากสมาคมผู้บริโภคสงขลา |
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคเหนือ) ทำไมเราต้องปกป้อง? Posted: 27 Dec 2017 04:17 AM PST หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปฟังเสียงของพวกเขา สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ภาคเหนือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องออกมาปกป้องสาเหตุที่เราต้องเข้าไปมีส่วนในการปกป้องเป็นเพราะว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ร่วมล่ารายชื่อในปี 2544-2545 เพื่อให้มีการทำนโยบายดังกล่าว ถามว่าตอนนั้นเราเข้าใจหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขนาดไหน ก็ยังไม่เข้าใจอะไรมาก รู้แค่ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยคือการทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนกันน่าจะเป็นเรื่องดี การที่เราได้มีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการแบบนั้น ไปรณรงค์ ไปล่ารายชื่อ ไปสร้างความเข้าใจ มันทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนจริงๆ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งจำเป็น อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ มันได้พิสูจน์แล้วว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถช่วยเหลือคนได้จริงๆ ตัวอย่างที่เราได้เห็นคือพี่น้องภาคเหนือ พี่น้องเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ เราพบว่าคนเหล่านี้ได้ประโยชน์ จากเดิมที่ต้องล้มละลายเมื่อเจ็บป่วย ต้องคิดว่าจะหาเงินจากไหนมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนมันแก้ปัญหาให้เราได้จริง คนที่ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมานเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพราะแค่ทุกข์จากภัยไข้เจ็บก็เป็นเรื่องแย่แล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถแก้โจทย์ตรงนี้ได้ และไม่ได้แก้ปัญหาให้เฉพาะคนจน คนทุกข์คนยากเท่านั้น แต่มันรวมคนทุกคนและดูแลทุกคนตามสิทธิที่พึ่งมีพึงได้ เหตุผลข้อต่อมาคือเพราะเราเห็นพลังและการมีส่วนร่วมของประชาชนในส่วนต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องระบบ ตัวอย่างง่ายๆ ในระบบหลักประกันถ้วนหน้า มันไม่มีแค่ว่าเราต้องเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่มีเรื่องการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น การทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค คนเล็กคนน้อยในชุมชนก็ลุกขึ้นมาช่วยกันทำงานเหล่านี้ เข้ามาบริหารจัดการ มาดูแล และทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราต้องเข้ามามีส่วนร่วมและปกป้อง ใครจะเปลี่ยนเจตนารมณ์ ใครจะมาทำให้ระบบนี้หายไป เรายอมไม่ได้ |
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันตก) ทำไมเราต้องปกป้อง? Posted: 27 Dec 2017 04:06 AM PST หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปฟังเสียงของพวกเขา พงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ จากกลไกประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขต 5 ราชบุรี |
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคกลาง) ทำไมเราต้องปกป้อง? Posted: 27 Dec 2017 03:59 AM PST หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปฟังเสียงของพวกเขา |
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคอีสาน) ทำไมเราต้องปกป้อง? Posted: 27 Dec 2017 03:44 AM PST
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปฟังเสียงของพวกเขา ปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องออกมาปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสมบัติของประชาชนที่พากันขับเคลื่อนตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 ในมาตรา 52 เรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน นำไปสู่การระดมความเห็นว่าอยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพในไทยเป็นแบบใด จนออกมาเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์หรือการร้องขอ ทำให้ผู้ป่วยที่แต่เดิมจะไปรักษาพยาบาลต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย บางคนต้องขายทรัพย์สินเงินทองมาจ่ายค่ารักษา แต่พอมีหลักประกันสุขภาพ ทำให้ประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงก็เข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่ประสบภาวะล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล เคยมีกรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไตที่ร้องเรียนเข้ามาที่เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานที่ผู้ป่วยเป็นผู้รับเหมา มีทรัพย์สินหลักสิบล้านขึ้นก็ต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลหมดไปหลายล้าน แต่พอมีสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยโรคไตมาคุ้มครองเขาก็ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ปีที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนอะไรบ้างเพื่อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงปีที่ผ่านมา ผมและเครือข่ายฯ ได้ทำวงพูดคุย ให้ข้อมูลและความรู้กับเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ เช่น กลุ่มสภาองค์กรชมชน กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แรงงานนอกระบบ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้พวกเขารู้ว่ามีสถานการณ์ที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งไปยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงและข้อสังเกตในการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพต่อศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัดในประเด็นที่จะมีการแก้กฎหมายซึ่งถือเป็นภัยคุกคามอย่างมาก และเล่าว่า เสียงสะท้อนต่อการแก้กฎหมายที่ตนได้ยินมาคือความกังวลว่าอาจจะต้องมีการร่วมจ่าย แล้วถ้ามี จะต้องจ่ายเท่าไหร่ |
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันออก) ทำไมเราต้องปกป้อง? Posted: 27 Dec 2017 03:33 AM PST หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สุภาวดี วิเวก จากกลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคตะวันออก |
#MeToo ฉบับชาวไร่ เมื่อแรงงานภาคเกษตรในสหรัฐฯ จัดตั้งกลุ่มต้านละเมิดทางเพศ Posted: 27 Dec 2017 03:07 AM PST กระแส #MeToo กลายเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมที่แพร่ขยายเป็นวงกว้างในช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มจากการที่ผู้คนในวงการบันเทิงออกมาเปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดจากการใช้อำนาจในระบบชายเป็นใหญ่ ตามมาด้วยวงการอื่นๆ สื่อสหรัฐฯ Truth-out นำเสนออีกหนึ่งวงการที่พูดถึงเรื่องนี้กันมาก่อนหน้าคือกลุ่มคนทำงานในไร่นาของอเมริกันและนำเสนอว่าพวกเขามีระบบจัดการเคลื่อนไหวต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศอย่างไร
27 ธ.ค. 2560 ลูเป กอนซาโล อาจจะไม่ใช่ดาราดังของฮอลลิวูด แต่เธอก็เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น #MeToo ชาวไร่ เธอเป็นแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไร่มะเขือเทศ บนพื้นที่ชุมชนอิมโมคาลี รัฐฟลอริดา เธอบอกว่าผู้หญิงอย่างเธอไม่มีเวทีให้พูด เป็นคนธรรมดาเสียงไม่ดัง รู้สึกไร้ตัวตนและขาดโอกาส อย่างไรก็ตาม เธอก็สามารถรวมกลุ่มผู้ที่ประสบปัญหาถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ได้ "แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะให้ความสนใจกับความเจ็บปวดของผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมและอยู่ในสังคมที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน ในที่ๆ การล่วงละเมิดแพร่ไปทั่ว" กอนซาโล กล่าวต่อสื่อ Truth-out คนทำงานในไร่อย่างพวกเธอก็ต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเช่นกัน นั่นทำให้พวกเธอเริ่มพยายามจัดตั้งโครงการเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง กลุ่มชาวไร่กว่า 5,000 ชีวิตรวมตัวกันเป็นสหพันธ์คนงานแห่งอิมโมคาลี (CIW) พวกเขาส่วนใหญ่เป็นคนงานข้ามชาติที่มาจากเม็กซิโก กัวเตมาลา และเฮติ ใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการต่อสู้กับการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่ในไร่มะเขือเทศ ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานที่ถูกกดขี่มากที่สุดนสหรัฐฯ พวกเขาต่อสู้กับบรรษัทใหญ่อย่างทาโกเบลล์และยัมแบรนด์ หลังจากที่บอยคอตต์ทาโกเบลล์เป็นเวลา 4 ปี CIW ก็สามารถเอาชนะและทำให้มีค่าแรงกับสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้นได้ พวกเขายังได้จัดตั้งโครงการแฟร์ฟู้ดในปี 2554 ที่ทำให้บรรษัทอาหารยักษ์ใหญ่ทำตามข้อเรียกร้องของคนงานในการทำให้สถานที่ทำานปลอดการใช้ความรุนแรง การคุกคาม การใช้แรงงานทาส รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศด้วย โดยขอให้มีการเปิดฮอตไลน์สายด่วนให้คนงานสามารถร้องเรียนการกระทำผิดเหล่านี้ได้ตลอด 24 ชม. รวมถึงยังมีเรื่องเกี่ยวกับการให้การศึกษากันเองในหมู่แรงงานด้วย โดยที่กอนซาโลเรียกระบบนี้ว่าเป็นการให้คนงานสอดส่องดูแลเพื่อปกป้องสิทธิด้วยตัวเอง กอนซาโลเปิดเผยว่าอุตสาหกรรมที่กดขี่และกฎหมายผู้อพยพที่รุนแรงทำให้คนทำงานในไร่เหล่านี้เสี่ยงมากต่อการถูกใช้ความรุนแรงทางเพศ การที่คนงานบางส่วนพูดได้แต่ภาษาแม่ของตัวเองยังทำให้เกิดกำแพงภาษาในการสื่อสารเรื่องของตนเอง ขณะที่บางคนก็ไม่ได้มีเอกสารรับรองทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ฮิวแมนไรท์วอทช์เคยรายงานผลสำรวจเมื่อปี 2555 พบว่าหญิงแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไร่นาในสหรัฐฯ ถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานสูงมาก และการที่ร้อยละ 70 ของพวกเขาไม่มีเอกสารรับรองทำให้กลัวถูกลงโทษหรือส่งตัวกลับประเทศจึงร้องเรียนเรื่องของตัวเองไม่ได้ นายจ้างจึงฉวยโอกาสกับพวกเธอได้โดยลอยนวลพ้นผิด ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2553 ระบุว่าแรงงานหญิงชาวเม็กซิกันที่ทำงานในฟาร์มในรัฐแคลิฟอร์เนียเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศร้อยละ 80 ช่วงที่มีกระแสการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศในปีนี้ องค์กรแคมเปซินาสำหรับแรงงานเกษตรกรรมหญิงเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงฮอลลีวูดว่าในฐานะตัวแทนของผู้หญิง 700,000 คนที่ทำงานในไร่นาทั่วสหรัฐฯ พวกเธอไม่ได้ทำงานภายใต้แสงสว่างจ้าหรือบนจอยักษ์ พวกเธอทำงานอยู่ในซอกหลืบของสังคม ในท้องไร่และโรงบรรจุภัณฑ์ อยู่นอกสายตาผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ถึงกระนั้นพวกเธอก็ประสบปัญหาเดียวกันกับดาราฮอลลีวูดเหล่านั้นจากการที่คนมีอำนาจบีบเค้นทางเศรษฐกิจ ร่างกายและจิตใจ ให้พวกเธอถูกล่วงละเมิด กลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังมีการให้ความรู้เรื่องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในระดับคนงานด้วยกันเองผ่านโครงการแฟร์ฟู้ด หนึ่งในคนงานชาวเม็กซิกัน เนลี รอดริดจ์ อธิบายว่าเมื่อหัวหน้างานเรียกร้องให้ใครก็ตามมีเพศสัมพันธ์ด้วยเพื่อแลกกับงานนั่นก็ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการพูดจาเชิงหยาบโลนล่วงล้ำ นอกจากนี้ยังมีการเสริมพลังให้พวกเธอสามารถพูดเรื่องเหล่านี้ออกมาเพื่อปกป้องสิทธิและเรียกร้องการคุ้มครองในที่ทำงานของตัวเองได้ ทั้งนี้ในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา CIW ยังเปิดให้มีพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ชื่อ "เก็บเกี่ยวอย่างไร้ความรุนแรง" โดยมีการเน้นให้เห็นถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศภายใต้อุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่เช่นเวนดีส์ ที่ยังไม่ยอมเข้าร่วมโครงการแฟร์ฟู้ดของพวกเขา รอดริดจ์กล่าวว่าการให้ความรู้และการขยายกิจกรรมออกไปภายนอกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คนงานเกษตรกรรมชายก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงด้วยการช่วยเหลือต่อสู้เพื่อหยุดการล่วงละเมิดทางเพศกับแรงงานภาคเกษตร นอกจากภาคการเกษตรแล้ว กลุ่มคนงานค่าแรงขั้นต่ำในที่อื่นๆ ของสหรัฐฯ ก็เริ่มออกมาพูดต่อต้านความรุนแรงทางเพศด้วยเช่นกัน แดเนียลา คอนเทรราส จากสหพันธ์แรงงานคนทำงานบ้านแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่าการที่เธอได้เล่าเรื่องของเธอเองทำให้เกิดการสร้างพื้นที่ให้แรงงานคนทำงานบ้านได้ก้าวออกมาพูดเรื่องของตนเองและทำให้สังคมมองเห็นคุณค่าของแรงงานค่าแรงต่ำ ผู้อพยพ และหญิงผิวดำ อนา โอรอซโก ฝ่ายจัดตั้งด้านสตรีนิยมและความเป็นธรรมทางเพศสภาพขององค์กรสหพันธ์ความยุติธรรมกล่าวว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ #MeToo จะนำสู่การเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่เพียงกระแสชั่ววูบ นั่นหมายถึงต้องมีการรับฟังผู้คนระดับล่างๆ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในชีวิตประจำวันด้วย รอดริดจ์กล่าวว่าสมาชิกของ CIW จะดำเนินการต่อไปโดยอาศัยโครงการแฟร์ฟู้ดในการทำให้คนทลายกรอบวัฒนธรรมความเงียบและความกลัวและทำให้คนมีพลังในการที่จะพูดออกมา
เรียบเรียงจาก #MeToo in the Fields: Farmworkers Show Us How to Organize Against Sexual Violence, Truth-Out, 25-12-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เพื่อไทยยื่นศาลรธน. ตีความคำสั่ง คสช. 53/2560 ด้านประชาธิปัตย์เตรียมยื่นเช่นกัน Posted: 27 Dec 2017 01:48 AM PST เรื่องไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องขอศาล รธน. ตีความคำสั่งหัวหน้าคสช. 53/2560 ปมรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง ขัด รธน. หรือไม่ ด้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เผย เตรียมยื่นเช่นกัน หากฝ่ายกฎหมายพบปัญหา พร้อมเตือนผู้มีอำนาจอย่าเดินซ้ำรอยระบอบทักษิณ ใช้อำนาจรัฐเพื่อพวกพ้วง 27 ธ.ค. 2560 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กรณีออกคำสั่งคสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นการกระทำที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ประกอบมาตรา 77 วรรคสอง และการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามความในมาตรา 5 หรือไม่ นอกจากนี้ยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 สิ้นผลไป โดยไม่มีผลใช้บังคับได้มาตั้งแต่แรก หรือเสมือนไม่เคยมีคำสั่งดังกล่าว "การที่คำสั่งดังกล่าวเป็นการบังคับให้สมาชิกพรรคการเมืองจะต้องทำหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซึ่งมีทั้งการเขียนเป็นเอกสาร และต้องส่งหลักฐานประกอบนั้น ประชาชนสามารถทำได้หรือไม่ เป็นการละเมิดสิทธิเขาหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้วควรจะเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองตรวจสอบว่าสมาชิกพรรคมีคุณสมบัติหรือขาดคุณสมบัติ ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นภาระของสมาชิกพรรคการเมือง ดังนั้น การออกคำสั่งดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่ห้ามคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองมาสั่งการพรรคการเมือง" เรืองไกร กล่าว เรืองไกร กล่าวว่า คำสั่งนี้ยังขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสองด้วย เพราะไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคการเมืองก่อน จึงมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งให้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 สิ้นผลไป ไม่เช่นนั้นจะมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งลบล้างกฎหมายหรือออกเป็นกฎหมายโดยไม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยยกเลิกคำสั่งหรือประกาศคณะปฏิวัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแล้วหลายฉบับ ครั้งนี้จึงมาขอพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคทหารหรือไม่ เรืองไกร กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ ส่วนจะเอื้อใครหรือไม่ไม่ทราบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวแม้จะดูเหมือนว่าเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองเก่า แต่กลับทำให้เกิดภาระกับพรรคการเมืองเก่าในการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่เป็นเรื่องง่ายสำหรับพรรคการเมืองใหม่ ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคพิจารณาข้อกฎหมายว่าคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่ามีเนื้อหาใดที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะทราบผลหลังปีใหม่ว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ทั้งนี้ การจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องมีเหตุผลข้อเท็จจริงที่เข้าข่ายยื่นได้ ซึ่งเท่าที่เห็นคำสั่งคสช. เป็นคำสั่งที่ยาวเป็นพิเศษและเนื้อหาขัดกันในตัว มีความไม่ชัดเจนหลายเรื่อง ฝ่ายกฎหมายกำลังดูในรายละเอียดถึงผลที่เกิดขึ้น "ถ้าเข้าเงื่อนไขที่ขัดรัฐธรรมนูญก็มีความเป็นไปได้ที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ โดยต้องดูว่ากระทบสิทธิของบุคคลหรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวคนที่ได้รับผลกระทบต้องเป็นผู้ยื่น การจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่ความต้องการส่วนตัว ยื่นไปก็ต้องมีน้ำหนักพอที่จะยื่นได้ ไม่ยื่นพร่ำเพรื่อหรือยื่นไปอย่างนั้นเพื่อให้มีคดีแน่นอน และเมื่อมีเหตุยื่นได้ก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร โดยจะดูข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ถ้าไม่มีเหตุยื่นก็ไม่ยื่นแน่นอน แต่ถ้ายื่นต้องมีน้ำหนักให้ศาลพิจารณา" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว อภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีปัญหาดำเนินการตามกฎหมาย กติกาเขียนอย่างไรก็พยายามปฏิบัติ และยังไม่เห็นอุปสรรค มีแต่พรรคตั้งใหม่บ่น เพราะกระทบจากการที่คสช.ไม่ปลดล็อค อย่างไรก็ตาม การออกคำสั่งคสช.ครั้งนี้ไม่ใช่ปลดล็อค แต่เป็นการเพิ่มล็อค ทำให้ช้าไปอีกสามเดือนจนเป็นปัญหากับพรรคใหม่ ขอยืนยันว่าพวกตนไม่ติดใจที่จะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น เพราะเป็นประชาธิปไตย ยอมรับการแข่งขันตลอดเวลา แต่ขอให้แข่งขันด้วยการสร้างศรัทธาไม่ใช่เอาเครื่องมือต่าง ๆ มาทำลายคนอื่น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คำสั่งคสช.ที่ออกมาเหมือนไม่เข้าใจโรดแมปของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ประธานกรธ. ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำห้าสายรู้ว่าต้องออกกฎหมายสี่ฉบับจากนั้นเหลือเวลา 150 วัน ต้องจัดการเลือกตั้งจึงรีบผลักดันให้กฎหมายกกต.และพรรคการเมืองบังคับใช้ก่อน เพื่อให้มีเวลาปรับตัวให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งได้ เป็นสิ่งที่คิดอย่างดีและรอบคอบแล้ว แต่คำสั่งนี้เหมือนไม่เข้าใจตัวเอง เท่ากับต้องทำหลายอย่างซ้อนกัน จึงเป็นการแก้ปัญหาให้กับบางคนมากกว่าการแก้ปัญหาอย่างถูกจุด "ถ้าคิดใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ก็เดินกลับสู่ยุคระบอบทักษิณ จะหวังอะไรกับการปฏิรูปและธรรมาภิบาล ถ้ามีปัญหาพรรคใหม่ก็หาทางแก้ไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ใช้อำนาจรัฐที่เบ็ดเสร็จพิเศษไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ บ้านเมืองเสียหาย ส่วนรวมเสียหาย บรรทัดฐานสำหรับอนาคตก็เสียหาย คนทำต้องรับผิดชอบ หากยึดหลักธรรมาภิบาลต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา รับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ ลองไปดูว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเข้าเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่ การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ควรทำในเรื่องใหญ่ ๆ ทำแล้วไม่ต้องเปลี่ยนซ้ำแล้วซ้ำอีกและไม่เอื้อประโยชน์ใคร เรื่องได้เปรียบเสียเปรียบพรรคประชาธิปัตย์ไม่กังวล เพราะสู้ในสถานการณ์เสียเปรียบมาหลายรูปแบบ จึงไม่โวยวายหรือร้องขอ แต่ที่พูดต้องการรักษาหลักการบ้านเมือง ถ้าเสียเปรียบจากหลักการที่ถูกต้องพรรคยินดี แต่ถ้าไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมาภิบาลก็ต้องคัดค้าน ไม่ว่าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ" อภิสิทธิ์ กล่าว หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ปริญญา เทวานฤมิตกุล รองอธิการบดีมาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้ส.ส.ย้ายพรรคได้โดยไม่ต้องลาออกจากพรรคเดิม ทำได้โดยไม่ยืนยันการเป็นสมาชิก เสมือนเป็นการเซ็ตซีโรส.ส.ว่า คงสะดวกขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร อยากอยู่พรรคใหม่ ไปลาออกก็ไม่มีใครห้ามได้อยู่แล้ว แต่กรณีนี้อาจจะช่วยคนที่ไม่กล้าสู้หน้าที่จะมาลาออกเท่านั้น "หากมีการใช้อำนาจรัฐจนทำให้การเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรม ประเทศชาติจะเสียหาย ติดหล่มกับประชาธิปไตยที่เดินหน้าไม่ได้ ที่ผ่านมาเราคาดหวังมาตลอดว่าภายใต้การปฏิรูปประเทศเราจะได้ระบบการเมืองที่ดี สภาและรัฐบาลที่ดี ถ้าไม่สามารถนับหนึ่งจากการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรมได้ก็ไม่ถึงเป้าหมาย จึงขอว่าอย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์ส่วนพวก ขอให้คิดถึงระยะยาว ประเทศมีปัญหามาตลอดเพราะไม่คิดถึงหลักการและธรรมาภิบาล" อภิสิทธิ์ กล่าว
ที่มาจาก; สำนักข่าวไทย 1 , 2
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ACT เปิด 10 ประเด็นคอร์รัปชันปี 60 ที่คนไทยยังต้องเฝ้าจับตา Posted: 26 Dec 2017 11:43 PM PST องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เปิด 10 ประเด็นคอร์รัปชัน ตั้งแต่ทุจริตที่เกี่ยวกับคนใกล้ชิดรัฐบาล ส่วยภูเก็ต อภิสิทธิ์ชนกับการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม ไปจนถึง การปฏิรูปตำรวจ กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ และกฎหมายปราบโกงที่หายไป ฯลฯ 27 ธ.ค.2560 เฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่ 10 อันดับประเด็นคอร์รัปชันในสังคมไทย พร้อมเชิญชวนให้สังคมได้ร่วมแชร์ ความคิดเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำเสนอรัฐบาล ในการร่วมแก้ไขปัญหาต่อไป โดยกำหนดว่าผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นสามารถส่งมาทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก และไลน์แอด ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในช่วง 28 ธ.ค. 60 - 15 ม.ค. 61 นี้ สำหรับ 10 ประเด็น จับตาคอร์รัปชัน ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จัดขึ้นนั้นประกอบด้วย 1. การทุจริตที่เกี่ยวกับคนใกล้ชิดรัฐบาล การแสดงบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีตามกฎหมาย ป.ป.ช. (กรณีแหวนและนาฬิกาหรู) การซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วรถยนต์แบบมือถือ การเหมาเที่ยวบินไปประชุมที่ฮาวาย การอนุมัติให้เอกชนใช้ป่าชุมชนไปสร้างโรงงานและอีกหลายเหตุการณ์ที่ตกเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา แต่การชี้แจงจากผู้เกี่ยข้องหลายกรณียังขาดความชัดเจน ตรงไปตรงมาและไม่ทันท่วงที จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์หาความจริงต่อไป 2. ส่วยภูเก็ต ส่วยและสินบนยังเป็นปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ กล่าวกันว่าเราสามารถเจอคอร์รัปชันทุกรูปแบบที่มีในประเทศไทยได้ที่จังหวัดนี้ ดังนั้นหากรัฐบาลทุ่มเทขจัดปัญหาคอร์รัปชันที่ภูเก็ตให้สำเร็จได้ ก็สามารถนำไปมาตรการเหล่านั้นไปปราบคอร์รัปชันในทุกจังหวัดได้เช่นกัน 3. คดีเงินทอนวัด เงียบและไม่คืบหน้า เป็นพฤติกรรมคอร์รัปชันที่สั่นคลอนความรู้สึกของคนไทย เพราะมีอัตราสินบนแต่ละครั้งมากถึงร้อยละ 85 อีกทั้งมีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นพระชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการสำนักพระพุทธศาสนาจำนวนมาก แต่ขณะนี้ดูเหมือนไม่มีความคืบหน้าทางคดี ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลพฤติกรรมการทุจริตอย่างชัดเจน ทำให้สังคมเกรงว่าเรื่องจะเงียบหายไปในที่สุด 4. คดีสินบนโรลล์ รอยส์ การทุจริตข้ามชาติที่เกี่ยวโยงกับรัฐวิสาหกิจชั้นนำอย่าง การบินไทย ปตท. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แน่นอนว่าคดีอย่างนี้ต้องมีนักการเมืองใหญ่ระดับชาติเป็นผู้บงการ แม้ว่าบริษัทโรลส์ รอยส์ผู้จ่ายสินบนจะถูกทางการอังกฤษสอบสวนดำเนินคดีมากว่าสี่ปี และเรื่องเพิ่งมาถูกเปิดเผยในประเทศไทยได้ประมาณปีเศษ ถึงวันนี้เรายังไม่เห็นความคืบหน้าจาก ป.ป.ช. อัยการ และ ป.ป.ง. ว่าคดีไปถึงไหน ทำไมจึงยังไม่ได้รับข้อมูลจากต่างประเทศ สรุปว่าจะเอาคนโกงมาลงโทษได้หรือไม่ 5. คดีทุจริตสวนปาล์มน้ำมัน ของ ปตท. ที่ประเทศอินโดนีเซีย การขาดทุนที่ประมาณว่ามากกว่าสองหมื่นล้านบาท จากการนำเงินไปลงทุนใน โครงการสวนปาล์มที่อินโดนีเซีย ของ ปตท. เชื่อว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นนักการเมืองระดับชาติผู้กุมอำนาจเบื้องหลังรัฐวิสาหกิจแห่งนี้อย่างยาวนานร่วมกับอดีตผู้บริหารระดับสูง ถึงวันนี้นอกจากจะยังไม่มีการระบุตัวคนโกงหรือคดีไปถึงไหน แต่สื่อมวลชนที่พยายามเกาะติดและเปิดโปงเบื้องหลังกำลังโดนคุกคามจากการสืบเสาะหาข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ 6. การปฏิรูปตำรวจยังอึมครึม ตำรวจเป็นหน่วยราชการอันดับต้นๆ ที่ถูกระบุว่ามีการคอร์รัปชันมาก ทำให้ความยุติธรรมในสังคมถูกบิดเบือน ดังนั้นประชาชนจึงคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตำรวจ แต่นอกจากข่าวตามสื่อมวลชนแล้ว สังคมกลับไม่เคยได้รับรู้ "แนวทางการปฏิรูปตำรวจ" หรือความคืบหน้าใดๆอย่างเป็นทางการเลย 7. อภิสิทธิ์ชนกับการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม ข่าวการหลบหนีหรือไม่ถูกนำตัวขึ้นศาลดำเนินคดีของนักการเมืองและคนโกงที่ร่ำรวยหรือมีอิทธิพล เพราะสามารถติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือบางรายถ้าต้องติดคุกก็สามารถซื้อหาอภิสิทธิ์ได้ เช่น การได้ไปอยู่ในสถานพยาบาล การได้เลื่อนชั้นนักโทษ ลดโทษ พักโทษและได้รับอภัยโทษเร็วขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องจับตาและหาทางแก้ไข เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า คนโกงต้องได้รับการลงโทษ 8. กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ป.ป.ช. เป็นองค์กรหลักในการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ความมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการใช้อำนาจยังเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมตลอดมา โดยในการแก้ไขกฎหมายครั้งล่าสุดนี้ก็ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับบทบาทอำนาจและวิธีปฏิบัติงานที่ลดความเข้มข้นลงหลายประเด็น รวมทั้งการแก้ไขบทเฉพาะกาลเพื่อต่ออายุการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 9. รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 มาตรานี้เป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ที่กำหนดให้รัฐต้องให้การสนับสนุนประชาชนในการรวมตัวกันต่อต้านคอร์รัปชันโดยได้รับการปกป้องจากรัฐ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลมอบหมายให้ ป.ป.ท. ไปดำเนินการร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง แต่เมื่อร่างเสร็จแล้วกลับไม่ใช้ หากแต่ให้นำหลักการทำนองเดียวกันไปเขียนเพิ่มเติมไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช. จำนวน 4 มาตรา และเขียนเพิ่มเติมในกฎหมาย ป.ป.ท. อีก 8 มาตรา ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะไม่เข้มข้นครอบคลุมเมื่อเทียบกับการมีกฎหมายเฉพาะแล้ว ยังอาจเป็นวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 278 ได้ 10. กฎหมายปราบโกงที่หายไป อนาคตที่ไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ (พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ 2540 เดิม) และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งๆ ที่กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเอาชนะคอร์รัปชันที่ได้รับการเห็นชอบจาก สปช. และ สปท. รวมทั้งอยู่ในแผนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเรื่องไปถึงไหน รัฐบาลจะสนับสนุนจริงจังหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หวั่นแรงงานกัมพูชาถูกละเมิดสิทธิ หลัง MOU ส่งแรงงานก่อสร้างไปกาตาร์ Posted: 26 Dec 2017 08:18 PM PST กลุ่มภาคประชาสังคมออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาพชีวิตแรงงานก่อสร้างในประเทศการ์ตา หวั่นถูกละเมิดสิทธิ์แม้กัมพูชามีแรงงานถูกส่งไปแถบตะวันออกกลางมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ด้านกระทรวงแรงกัมพูชาระบุแม้จะลงนาม MOU แต่ข้อตกลงยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เว็บไซต์ khmertimeskh.com รายงานว่าเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาในงานเสวนาเกี่ยวกับความปลอยภัยของแรงงานข้ามชาติในงานประเภทก่อสร้าง โดยเป็นการร่วมจัดระหว่างศูนย์กลางกลุ่มสิทธิแรงงาน (labour rights group Central) และสมาพันธ์สหภาพแรงงานสร้างตึกและอุตสาหกรรมไม้แห่งกัมพูชา (Building and Wood Workers Trade Union Federation of Cambodia: BWTUFC) เพื่อให้แรงงานทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศอย่างปลอดภัย โดยมีคนงานก่อสร้างเข้าร่วมเสวนากว่า 60 ชีวิต Dy Thehoya เจ้าหน้าที่โครงการจากศูนย์กลางกลุ่มสิทธิแรงงานอธิบายว่าในปี 2559 ทางประเทศกาตาร์ได้แจ้งมายังกระทรวงแรงงานกัมพูชาว่ามีความต้องการแรงงานชาวกัมพูชา 33,000 คน เพื่อไปทำงานในไซต์งานก่อสร้างของกาตาร์ จึงเป็นการกระตุ้นให้ภาคประชาสังคมออกมาแสดงความกังวล เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่แรงงานในกาตาร์ "เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าจะมีการส่งแรงงานกัมพูชาไปทำงานที่กาตาร์จริงหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรเราได้จัดงานเสวนานี้ขึ้นมาเพื่อให้พวกเขารับรู้รายละเอียดและสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน ก่อนตัดสินใจเดินทางไปทำงานได้" Thehoya กล่าว ทั้งยังเสริมอีกว่ามีหลายกรณีที่แรงงานจากประเทศอย่างเนปาลต้องทนทุกข์อยู่กับการถูกละเมิดสิทธิในกาตาร์ "คนงานจากเนปาลต้องทนทุกข์ในกาตาร์ หลายคนถึงกับต้องเสียชีวิต ดังนั้นเราจึงต้องการแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ให้กับพวกเขาได้รับรู้" Yan Thy เลขาธิการ BWTUFC มองว่าแรงงานบางคนไม่เข้าใจถึงปัญหาที่จะตามมา พวกเขาตกลงไปทำงานโดยไม่ได้ไตร่ตรอง เมื่อใครมีการเสนอคำสัญญาว่าจะจ่ายค่าแรงงที่สูงแก่พวกเรา "ทำงานในชุมชนดีกว่าเดินทางออกไปทำงานในต่างประเทศ" เขากล่าว "เพราะพวกเขาไม่รู้แน่ชัดเกี่ยวกับสภาพการทำงานที่กาตาร์ เราหวังว่างานเสวนานี้จะเตือนให้พวกเขาฉุดคิดว่าเขาควรจะไปทำงานหรือไม่" โดยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของกัมพูชาได้ออกมายืนยันว่า ถึงแม้ทางการจะได้ลงนามข้อตกลง MOU ในการจัดส่งแรงงานให้ทางกาตาร์แล้ว แต่ข้อตกลงนั้นยังไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ข้องตกลงดังกล่าวที่ได้ลงนามกันไปนั้น ซึ่งเริ่มแรกทางรัฐบาลกาตาร์แจ้งความต้องการแรงงานมากถึง 100,000 คน จนได้ข้อตกลงระหว่างกาตาร์และกัมพูชาวว่าแรงงานชาวกัมพูชา 33,000 คน จะถูกส่งไปทำงานตามโครงการต่าง ๆ ในกาตาร์ รวมถึงในโครงการฟุตบอลโลก 2022 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโดฮาเมืองหลวงของกาตาร์ด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น