โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กลุ่มสังคม-นักการเมืองสหรัฐฯ ประกาศต่อสู้กับคำสั่งยกเลิก 'ความเป็นกลางทางเน็ต'

Posted: 15 Dec 2017 08:33 AM PST

ในสหรัฐฯ มีการสั่งยกเลิกการคุ้มครอง 'ความเป็นกลางทางเน็ต' (Net Neutrality) จากคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐฯ (FCC) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางกระแสต่อต้านทั้งจากนักการเมืองและกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านไอที และผลสำรวจที่ระบุว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 80% ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกความเป็นกลางทางเน็ต

15 ธ.ค. 2560 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐฯ (FCC) ลงมติ 3 ต่อ 2 เห็นชอบให้ยกเลิกการคุ้มครองความเป็นกลางทางเน็ต (Net Neutrality) สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง โดยดิอินดิเพนเดนต์ระบุว่าการยกเลิกเช่นนี้จะทำให้อำนาจส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในมือของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการกำหนดสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการให้ผู้คนมีช่องทางเข้าถึงเว็บไซต์โดยเท่าเทียมกันอีกต่อไป

คณะกรรมการ FCC จากพรรครีพับลิกันสามรายคือ อจิต ไป, ไมเคิล โอ'ไรลี และเบรนดัน คารร์ ลงมติให้มีการยกเลิกกฎหมายความเป็นกลางทางเน็ต คณะกรรมการจากพรรคเดโมแครตอีกสองรายคือเจสสิกา โรเซนวอร์เซล และมิยอน คลีเบิร์น ลงมติให้กฎหมายดังกล่าวคงอยู่ต่อ

นิวยอร์กไทม์ระบุว่านโยบายการกำกับดูแลความเป็นกลางทางเน็ตจากยุคของโอบามาที่ออกมาเมื่อปี 2558 ห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ หรือชาร์จเงินเพิ่มเพื่อการเข้าถึงเนื้อหาบางอย่างหรือเพื่อบริการที่มีคุณภาพสูงกว่า

แม้ว่าต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ถึงจะมีการบังคับใช้การยกเลิกคุ้มครองความเป้นกลางทางเน็ต และผู้ใช้งานก็อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงโดยทันที แต่ก็มีแรงต่อต้านทั้งทางการเมืองและทางกฎหมายเกิดขึ้นโดยทันทีหลังจากที่มีการลงมติในเรื่องนี้

ส.ส. พรรคเดโมแครตจำนวนมากเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายซึ่งจะทำให้เกิดการกำกับดูแลความเป็นกลางทางเน็ตอีกครั้ง อิริก ที ชไนเดอร์มัน อัยการสูงสุดของนิวยอร์กและอัยการสูงสุดแห่งรัฐอื่นๆ ที่เป็นสายเดโมแครตกล่าวว่าพวกเขาจะฟ้องร้องเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความเป็นกลางทางเน็ต ส่วนสก็อตต์ วีนเนอร์ กล่าวว่าเขาจะออกกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อคุ้มครองความเป็นกลางทางเน็ตเอง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ประกาศจะฟ้องร้อง คือกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมหลายกลุ่มเช่น พับลิคโนวเลดจ์ และกลุ่มแนวร่วมสื่อฮิสแปนิคแห่งชาติสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มบริษัทเอกชนอย่างสมาคมอินเทอร์เน็ตที่ประกอบด้วยบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก

ประธาน FCC ซึ่งมาจากพรรครีพับลิกัน อจิต ไป พูดปกป้องการตัดสินใจของพวกเขาว่าเพื่อให้ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตสามารถให้ทางการเลือกการบริการได้หลายรูปแบบมากขึ้นและเชื่อว่าพวกเขา "กำลังช่วยเหลือผู้บริโภคและส่งเสริมการแข่งขัน" จากการที่จะสร้างแรงจูงใจในการสร้างเครือข่ายมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง

แต่บ็อบ เฟอร์กูสัน อัยการสูงสุดจากวอชิงตันก็โต้แย้งว่าการให้อำนาจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการเลือกปฏิบัติจากเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตจะเป็นการทำลายอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรี เรื่องนี้จะกลายเป็นภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงส่งผลทางลบต่อนวัตกรรมและบริษัทขนาดเล็ก


BattlefortheNet.com ชวนให้คนเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ต้านคำสั่งของ FCC 

 

กลุ่มแนวร่วมนักกิจกรรม 'ทีมอินเทอร์เน็ต' และ BattlefortheNet.com ประกาศว่าจะมีการเคลื่อนไหวในวงกว้างทางอินเทอร์เน็ตเรียกร้องให้สภาคองเกรสพลิกคำสั่งของคณะกรรมาธิการ FCC ด้วยการผ่านมติไม่เห็นชอบภายใต้กฎหมายการพิจารณาของสภาคองเกรส (CRA) ที่อาศัยการโหวตลงมติเสียงข้างมากจากสภาบนและสภาล่างของสหรัฐฯ

อีกองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการต่อสู้เรื่องนี้คือ ไฟต์ฟอร์เดอะฟิวเจอร์ (FFTF) พวกเขาออกแถลงการณ์ว่า "พวกคนออกกฎหมายไม่สามารถซ่อนประเด็นนี้จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้" "แรงต้านการยกเลิกความเป็นกลางทางเน็ตของ FCC กำลังดำเนินมาถึงจุดเดือด" และ "สมาชิกสภาคองเกรสทุกคนจะถูกจดจำไว้ว่าพวกเขาได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออินเทอร์เน็ตที่เสรีและเปิดกว้างหรือจะต้องเผชิญกับผลทางการเมืองจากความโกรธแค้นของประชาชนในช่วงปีเลือกตั้ง"

สื่อคอมมอนดรีมส์เคยรายงานผลสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งแมรีแลนด์เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ระบุว่าประชาชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ต่อต้านการพยายามทำลายความเป็นกลางทางเน็ตของคณะกรรมาธิการ FCC มีร้อยละ 75 เชื่อว่าการยุบการคุ้มครองความเป็นกลางทางเน็ตเสมือนเป็นการ "อนุญาตให้ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตขโมยจากผู้บริโภค"

"อินเทอร์เน็ตให้พลังกับประชาชนคนธรรมดามากขึ้นกว่าแต่ก่อน" FFTF สรุป "พวกเราจะต่อสู้อย่างดุดันเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครฉกชิงพลังนั้นไป"

 

 


เรียบเรียงจาก

F.C.C. Repeals Net Neutrality Rules, New York Times, 14-12-2017
https://mobile.nytimes.com/2017/12/14/technology/net-neutrality-repeal-vote.html

NET NEUTRALITY VOTE: FCC ABOLISHES PROTECTIONS IN LATEST BLOW TO INTERNET FREEDOM, The independent, 14-12-2017
http://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/news/net-neutrality-latest-update-fcc-vote-ajit-pai-regulation-internet-freedom-coporation-donald-trump-a8110726.html

Net Neutrality Fight 'Not Over': Groups Launch Internet-Wide Campaign Pushing Congress to Overrule FCC Vote, Common Dreams, 14-12-2017
https://www.commondreams.org/news/2017/12/14/net-neutrality-fight-not-over-groups-launch-internet-wide-campaign-pushing-congress

Poll: Almost Nobody Likes Plan To Kill Net Neutrality. GOP FCC Chair Ajit Pai: We're Doing It Anyway, Common Dreams, 13-12-2017
https://www.commondreams.org/news/2017/12/13/poll-almost-nobody-likes-plan-kill-net-neutrality-gop-fcc-chair-ajit-pai-were-doing


 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"มวลชนคนดี": คนชั้นกลางระดับบนและคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ | ชลิดา บัณฑุวงศ์-ธร ปิติดล [คลิป]

Posted: 15 Dec 2017 08:29 AM PST

คลิปจากการสัมมนาสาธารณะ "การเมืองคนดี": ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน  "ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" 15 ธันวาคม 2560 | ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยช่วงเช้าเป็นการนำเสนอช่วง "มวลชนคนดี": คนชั้นกลางระดับบนและคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ" แบ่งเป็นการนำเสนอหัวข้อย่อยประกอบด้วย 1) ความคิดและปฏิบัติการ "การเมืองคนดี" ของคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ โดยชลิตา บัณฑุวงศ์ และ 2) การเติบโตและการหันหลังให้กับประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย โด ยธร ปิติดล และ ชานนทร์ เตชะสุนทระวัฒน์ ร่วมให้ความเห็นโดยโกวิท วงศ์สุรวัฒน์, สามชาย ศรีสันต์ และอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

"ความคิดและปฏิบัติการ "การเมืองคนดี" ของคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ" นำเสนอโดย ชลิตา บัณฑุวงศ์

"การเติบโตและการหันหลังให้กับประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย" 
นำเสนอโดย ธร ปิติดล

 ช่วงให้ความเห็นโดยโกวิท วงศ์สุรวัฒน์, สามชาย ศรีสันต์ และอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จ่านิวอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนอกสภาฯ พร้อมจี้ สนช.ทำหน้าที่ด้วย

Posted: 15 Dec 2017 06:54 AM PST

ที่มาภาพ Banrasdr Photo

15 ธ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 18.20 น. ที่ Sky Walk แยกปทุมวัน กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา นำโดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเผด็จการ 

Banrasdr Photo โพสต์ภาพพร้อรายงานว่า สิรวิชญ์ กล่าวถึงการล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลและการคอรัปชั่นของรัฐบาล คสช. พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำการตรวจสอบด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หาก สนช. ละเลยไม่ทำ ทางกลุุ่มและประชาชนจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเอง และในวันที่ 22 ธ.ค.นี้จะเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องแก่ สนช. ที่รัฐสภา

แถลงการณ์ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา :

แถลงการณ์เบื้องต้น ถึง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เรื่อง ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คสช.

เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนเดือนร้อนจากการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. อีกทั้งนานาประเทศไม่ให้การยอมรับในรัฐบาล คสช. จึงส่งผลกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะเสี่ยงมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบริหารประเทศของ คสช.ไม่ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ อย่างที่เห็นกันอยู่ เช่น การจับกุมคุมขังประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คสช. รวมถึงการใช้ความรุนแรงในการจับกุมนักศึกษาประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องจนได้รับอันตรายทั้งกายและจิตใจ และสิ่งที่หนักไปกว่านั้นรัฐบาล คสช. ได้อ้างตนเป็นผู้มาปราบโกง. แต่ในทางกลับกันรัฐบาล คสช.เป็นรัฐบาลที่ตรวจสอบการทำงานได้ยากประชาชนเข้าไม่ถึง และที่ร้ายไปกว่านั้น องค์กรตรวจสอบก็มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. จนไม่มีองค์กรใดกล้าตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ ในห้วงระยะเวลาที่รัฐบาล คสช. เข้ามามีอำนาจโดยการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทุกวันนี้ข่าวการทุจริตคอรัปชั่น ภายในรัฐบาล คสช.ยิ่งหนาหูขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดสรรงบประมาณที่ไม่โปร่งใส การบริหารเงินแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และที่สำคัญการเอื้อประโยชน์ในวงการพักพวกพี่น้องในรัฐบาล คสช. กระทำกันอย่างแพร่หลายโดยไม่เกรงกลัวต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ

ดังนั้น ทางกลุ่มจึงขอเรียกร้องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้ซึ่งทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร์(สส.) และเป็นผู้ซึ่งรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนเช่นกันนั้น ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ขอให้ประธาน สนช. และสมาชิก สนช. เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คสช. และเปิดมติ ไว้วางใจ/ไม่ไว้วางใจ

2. การเปิดอภิปรายรัฐบาล คสช. ถือเป็นหน้าที่ของ สนช.ผู้ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สนช. ต้องเปิดอภิปรายรัฐบาล คสช. ตามข้อเรียกร้องของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ

3. เมื่อประชาชนสงสัยในการทำงานของรัฐบาลว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ จึงต้องเป็นหน้าที่ของ สนช. ผู้ซึ่งทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดอภิปราย

4. ทางกลุ่มจึงขอเรียกร้องให้ สนช. เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คสช.หาก สนช. ไม่ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ทางกลุ่มและประชาชนจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คสช. โดยจะจัดให้ประชาชนทั่วประเทศได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คสช.จนกว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศจะได้รับความเป็นธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 องค์กรสิทธิฯ ขอ จนท. ยุติฟ้องคดี ทนายอานนท์

Posted: 15 Dec 2017 05:20 AM PST

องค์กรสิทธิมนุษยชนขอให้ยุติการฟ้องคดีเพื่อปิดปากนักกิจกรรมหรือประชาชนกรณีทนายความ นักกิจกรรมด้านสิทธิเสรีภาพ อานนท์ นำภา

15 ธ.ค.2560 จากกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาหมายเรียก อานนท์ นำภา ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานดูหมิ่นศาลและความผิดตามพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามกับศาลขอนแก่นนั้น

วันนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ ขอให้ยุติการฟ้องคดีดังกล่าว พร้อมแสดงความกังวลว่าการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ ของทางเจ้าหน้าที่ต่อทนายความและนักกิจกรรมอาจเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนเกินสมควร และอาจเป็นปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ และการตรวจสอบหน่วยงานรัฐและบุคคลสาธารณะ โดยในกรณีนี้อาจถูกกล่าวอ้างว่าการแจ้งความของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีวัตถุประสงค์ในการกลั่นแกล้ง คุกคามนักกิจกรรมด้านสิทธิเสรีภาพ เนื่องจาก อานนท์ มีบทบาทในการจัดกิจกรรมด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยตลอดหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นทนายความให้ความช่วยเหลือต่อผู้ได้รับผลกระทบการการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายโดยตรงและอย่างต่อเนื่อง การที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อ้างถึงข้อความในการสื่อสารทางสาธารณะด้วยข้อหาดูหมิ่นศาลและความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อาจเข้าข่ายการฟ้องคดีเพื่อปิดปากนักกิจกรรมหรือประชาชน หรือ SLAPPs (Strategic Litigation against public participation) อันถือว่าเป็นการกระทำของรัฐที่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะข้อบทที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ระบุว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ร่วมแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี ต่อ อานนท์ ดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไข และขอให้ยุติการใช้การดำเนินคดีที่เข้าข่ายการฟ้องคดีปิดปากต่อนักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชน และทนายความที่ทำหน้าที่ของตนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

แถลงการณ์ ระบุด้วยว่า คดีนี้ ผู้กล่าวหา คือ พ.ต.ท.สุภารัตน์ คำอินทร์ กล่าวหาว่าทนายอานนท์กระทำความผิด โดย "ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา"

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ร่วมแถลงการณ์ เมื่อเดือน พ.ค. 2560  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 14 ที่มีการแก้ไขใหม่ ได้ระบุให้ชัดเจนขึ้นว่า การกระทำที่ถือเป็นความผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นการจงใจ หรือมีเจตนาหลอกลวง นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และทำให้เกิดความเสียหายในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กรณีการหมิ่นประมาท  ซึ่งในคดีที่มีหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนเป็นข้อหาดูหมิ่นศาลซึ่งไม่ได้ถูกยกเว้นไว้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขที่มีผลบังคับใช้แล้ว

รายละเอียดเกี่ยวกับข้อเกฎหมายที่ฟ้องในคดีนี้ : 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198  ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก้าวคนละก้าว: ก้าวที่หลงทาง (5)

Posted: 14 Dec 2017 11:22 PM PST



ความไม่สมดุลของจำนวนแพทย์ในต่างจังหวัดมีผลให้ชาวต่างจังหวัดหลายคนเลือกที่จะเดินทางเข้ามารักษาในกรุงเทพ ส่งผลให้คนไข้ในโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพล้นโรงพยาบาล การกระจายการบริการสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญ

5. การกระจายการบริการสาธารณสุข: สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพมีคนไข้ล้นโรงพยาบาลเกิดจากการกระจายการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ

แต่ละปีโรงพยาบาลรัฐมีคนไข้เฉลี่ยกว่า 400,000 ครั้ง (ผู้ป่วยบางคนพบแพทย์หลายครั้งต่อปี เช่น โรคเบาหวาน) หรือเฉลี่ยกว่า 1,100 ครั้งต่อวัน

หากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศิริราช มีคนไข้มากกว่า 3.5 ล้านครั้งต่อปี หรือเฉลี่ยกว่า 9,500 ครั้งต่อวัน

ในจำนวนคนไข้เหล่านี้แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก (ไม่ต้องอยู่ค้างโรงพยาบาล) กว่าร้อยละ 90 ขณะที่ผู้ป่วยใน (นอนค้างโรงพยาบาล) มีน้อยกว่าร้อยละ 10

ดังนั้นความแออัดของโรงพยาบาลจึงเกิดขึ้นจากผู้ป่วยนอกเป็นหลัก ผู้ป่วยนอกหลายคนเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง พวกเขาต้องพบแพทย์บ่อยครั้ง ส่งผลให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล

ผู้ป่วยนอกมีความยุ่งยากในการรักษาน้อยกว่าผู้ป่วยใน แต่ชาวต่างจังหวัดหลายคนเลือกที่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพ

- ต่างจังหวัด: มีสถานีอนามัยกระจายทุกตำบล หลายแห่งได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้สร้างมาเพื่อรองรับผู้ป่วยนอกเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์, งบประมาณ และเครื่องมือแพทย์มีผลให้การรักษาในสถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ชาวต่างจังหวัดหลายคนจึงเลือกที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในกรุงเทพ

- กรุงเทพ: ไม่มีสถานีอนามัย-โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งผลให้คนไข้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐแทน

ดังนั้นการแก้ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลจึงไม่ใช่การสร้าง-ขยายโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่เป็นการกระจายการรักษาผู้ป่วยนอกไปที่สถานบริการสาธารณสุขขนาดเล็ก

- ต่างจังหวัด: รัฐควรพัฒนาคุณภาพของสถานีอนามัย-โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อรองรับผู้ป่วยนอก หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงอาจให้พักรักษาในสถาบริการสาธารณสุขเหล่านี้ 1-3 วัน หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจึงจะส่งตัวเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐ

- กรุงเทพ: รัฐควรสร้างโพลีคลินิก (ไม่มีเตียงคนไข้) กระจายทั่วกรุงเทพเพื่อรองรับผู้ป่วยนอก หากผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจึงจะส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐ

ขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมามีการตั้งศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกเพื่อสร้างแพทย์ชั้นคลินิกรองรับผู้ป่วยนอกโดยเฉพาะ แนวทางนี้ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

นอกจากนี้รัฐควรสร้างฐานข้อมูลประวัติคนไข้แห่งชาติเพื่อเก็บข้อมูลคนไข้ทั้งประเทศเป็นศูนย์เดียวเพื่อให้การส่งต่อการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

หากรัฐลดขนาดกองทัพที่ไม่จำเป็นจะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี รัฐจะมีงบประมาณมากพอที่จะสร้างโครงข่ายสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพสรุป 'น้องเมย' ตายเพราะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ยันไม่มีใครสั่งลงโทษหรือทำร้าย

Posted: 14 Dec 2017 10:41 PM PST

กองทัพในนาม กก.สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการตายของนักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ สรุปผลเกิดจากปัญหาสุขภาพด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไม่ได้เกิดจากการลงโทษหรือปรับปรุงวินัย หวั่นตอบโต้กัน ไม่เชิญญาติมาร่วมแถลง รอฟังผล 18 ธ.ค.นี้ แทน


น้องเมย หรือ ภคพงศ์ ตัญกาจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา

15 ธ.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง การเสียชีวิตของ นักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย ได้แถลงข่าวสรุปผลการสอบสวนฯการเสียชีวิตของน้องเมย ที่กองบัญชาการกองทัพไทย แถลงสรุปผลการสอบสวนว่า การเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ เกิดจากปัญหาสุขภาพ ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไม่ได้เกิดจากการลงโทษ หรือปรับปรุงวินัยแต่อย่างใด เป็นการสอบปากคำจากผู้เกี่ยวข้อง 42 คน 
 


โดย บีบีซีไทย รายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในการแถลงข่าววันนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย ไม่ได้เชิญครอบครัวของ น้องเมย มาฟังผลด้วย เนื่องจากกองบัญชาการกองทัพไทยไม่ใช่คู่กรณี จึงไม่ต้องการให้มีการตอบโต้กัน แต่ทางคณะกรรมการฯ จะเชิญครอบครัวของภคพงศ์ มาฟังผลในวันจันทร์ที่ 18 ธ.ค.นี้ แทน

"ยืนยันจากผลทางการแพทย์ว่าเป็นการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร ภคพงศ์มาจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน" พล.อ.อ.ชวรัตน์ กล่าว

รองเสนาธิการทหารระบุว่า วันที่นักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์เสียชีวิต คือวันที่ 17 ต.ค. โดยภคพงศ์มีอาการคล้ายโรคหอบจากอารมณ์ (hyperventilation) ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในนักเรียนเตรียมทหารช่วงหลัง เช่น มีอาการเกร็ง ชา หายใจถี่และเร็วมาก จนออกซิเจนในเลือดมีระดับเพิ่มมากขึ้น ทำให้หมดสติ สูญเสียการรู้สึก ซึ่งแพทย์แพทย์บอกว่าสาเหตุหลักน่าจะเกิดจากความเครียด ภคพงศ์ได้รับการรักษาตัวที่กองแพทย์จนอาการเป็นปกติ แต่หลังจากนั้นเมื่อช่วงบ่ายของวันนั้นมีการใช้มือขวากุมอกด้านซ้ายในขณะเดิน ซึ่งเพื่อนสนิทของเขาสองคนกล่าวว่าภคพงศ์ก็บอกว่าตนมีความเครียดสูง ในเวลาต่อมาเวลาเกือบ 4 โมงเย็นภคพงศ์ก็เซล้ม และมีอาการคล้ายโรคหอบจากอารมณ์อีกรอบ ทางโรงเรียนจึงนำไปส่งโรงพยาบาลนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

คณะกรรมการชุดดังกล่าวระบุว่า ชายโครงซี่ที่ 4 ของ ภคพงศ์ที่หัก แพทย์ระบุว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอะไร แต่ก็ยังไม่ตัดกรณีการทำ CPR ที่มีการกระทำบริเวณหน้าอกเป็นเวลา 4 ชม. ออกไป
 
ทั้งนี้ กรณีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ ก่อให้เกิดเสียวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก หลังครอบครัวออกมาแถลงข่าวช่วงกลางเดือนที่แล้ว ทั้งประเด็นความสงสัยในสาเหตุการณ์เสียชีวิต และอวัยวะภายในของศพคือ หัวใจ กระเพาะอาหาร และสมอง หายไปทั้งหมด ขณะที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในขณะนั้น ออกมาให้ข่าวไปคนละทิศคนละทาง จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เกิดความชันดเจน มีผู้ร่วมลงชื่อใน change.org กว่า 8 หมื่นคน เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตลาออกด้วย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกาหลีใต้เรียกร้องจีนขอโทษกรณีช่างภาพข่าวถูกรุมทำร้าย

Posted: 14 Dec 2017 10:32 PM PST

รัฐบาลเกาหลีใต้เรียกร้องให้จีนออกมาขอโทษ กรณีที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจีนรุมทำร้ายนักข่าวชาวเกาหลีใต้ที่กำลังตามทำข่าวประธานาธิบดีมุนแจอินไปเยือนจีน โดยการไปเยือนจีนของมุนแจอินในครั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

15 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานว่ามีช่างภาพข่าวชาวเกาหลีใต้รายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจีนทุบตีทำร้ายในขณะที่เขากำลังพยายามทำข่าวการไปเยือนจีนของประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ ในงานประชุมแสดงสินค้าระหว่างจีนกับเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่มุนแจอินจะเข้าร่วมประชุมกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน

เดอะการ์เดียนระบุว่าทางการเกาหลีใต้เรียกร้องให้ทางการจีนแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการในกรณีที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจีนราวสิบกว่าคนทุบตีนักข่าวสัญชาติเกาหลีใต้

มุนแจอินมีกำหนดการไปเยือนจีน 4 วัน จากที่ก่อนหน้านี้เคยไปเยือนเมื่อเดือน พ.ค. โดยการไปเยือนครั้งล่าสุดนี้มีเป้าหมายต้องการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศหลังจากที่มีความขัดแย้งกรณีเกาหลีใต้ยอมรับการติดตั้งระบบยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง THAAD จากสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับเกาหลีเหนือ โดยที่มุนแจอินมีกำหนดการพบปะกับสีจิ้งผิงในช่วงกลางคืนของวันที่ 14 ธ.ค.

เหตุทำร้ายนักข่าวเกิดขึ้นในงานแสดงสินค้าจีน-เกาหลีที่ศูนย์ประชุมซึ่งมีบริษัทเกาหลีใต้เข้าร่วมราว 200 บริษัทและมีผู้ซื่อจากจีนที่คาดการณ์ไว้ราว 500 บริษัท เหตุเกิดหลังจากที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจีนสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มนักข่าวเกาหลีใต้ 14 รายทำข่าวประธานาธิบดีมุนแจอินขณะที่เขากำลังเดินดูตามบูธต่างๆ นักข่าวเหล่านี้พยายามประท้วงการถูกสกัดกั้นดังกล่าวจนกระทั่งช่างภาพข่าวรายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทางการจีนนำตัวออกไปข้างนอก

ช่างภาพข่าวคนดังกล่าวถูกล้อมรุมทำร้ายแม้ว่าเพื่อนร่วมงานของเขาและเจ้าหน้าที่ชาวเกาหลีใต้ในงานพยายามทักท้วง รวมถึงเจ้าหน้าที่จากทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มีสื่อเกาหลีใต้หลายแห่งรายงานว่าช่างภาพข่าวคนดังกล่าวถูกชกต่อยและถูกเตะจนทำให้ช่างภาพข่าวดังกล่าวต้องถูกส่งไปรับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยหนัก

นอกจากกรณีนี้แล้วยังมีอีกกรณีหนึ่งคือช่างภาพจากหนังสือพิมพ์รายวันฮันกุกอิลโบแจ้งว่าเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจีนจับคอเสื้อแล้วทุ่มลงกับพื้น

เจ้าหน้าที่จากทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวว่าพวกเขาส่งเรื่องเรียกร้องให้ทางการจีนแถลงขอโทษในเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าการสืบสวนเบื้องต้นจะพบว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจีนเหล่านี้ถูกจ้างมาโดยผู้จัดงานที่เป็นชาวเกาหลีใต้แต่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของตำรวจจีน

เดอะการ์เดียนระบุว่าเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่จีนใช้ความรุนแรงต่อสื่อยังเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ในขณะที่กำลังมีการไต่สวนคดีของนักกิจกรรมด้านเสรีภาพสื่อจีน มีความรุนแรงเกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบพยายามสกัดกั้นให้ผู้สนับสนุนนักกิจกรรม นักการทูต และนักข่าว ออกไปจากพื้นที่

ในกรณีเมื่อปี 2558 นี้สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน (FCCC) กล่าวประณามการที่นักข่าวต่างประเทศหลายคนถูกจับทุ่มลงกับพื้นว่าเป็น "การละเมิดกฎหมายของรัฐบาลจีนเอง" และในกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันท่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา FCCC ก็แถลงว่า "ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้" และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนสืบสวนและออกมาพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าถ้าหากมีคนได้รับบาดเจ็บก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างแน่นอน และหวังว่านี่จะเป็นแค่เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ

 


เรียบเรียงจาก

(LEAD) Chinese guards assault S. Korean journalist ahead of Moon-Xi summit, Yonhap News, 14-12-2017
http://english.yonhapnews.co.kr/news/2017/12/14/0200000000AEN20171214007051315.html

South Korea demands apology from Beijing over attack on journalist, The Guardian, 14-12-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/dec/14/south-korea-demands-beijing-apology-attack-on-journalist-china

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Something Missing บางสิ่งเกิดขึ้น บางสิ่งหายไป แต่บางสิ่ง...ดำเนินต่อไป

Posted: 14 Dec 2017 09:46 PM PST

มีโอกาสได้ไปดู Something Missing ละครเวทีแบบ Physical theatre ที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายในการแสดง เป็นความร่วมมือของกลุ่ม B-floor Theatre จากประเทศไทย และ Theatre Momggol จากประเทศเกาหลีใต้

ละครเอาหลายๆ องก์มาเชื่อมโยงกันและมักจะมีอะไรที่เราคาดไม่ถึงออกมาตลอดเวลา ตั้งแต่ปั่นจักรยานตามหาบางสิ่ง ใน มัธธิว 2:2-1 ปั่นไปแบบไม่รู้จุดหมายปลายทาง, คอยโกโดต์ โดย ซามูเอล แบ็กเก็ต, บางเรื่องถึงอยากพูดก็พูดไม่ได้ พูดออกมามีแต่อันตราย ความอึดอัดที่เห็นบางสิ่งแล้วอยากจะบอกออกไป นิทานพื้นบ้านเกาหลี พระราชาหูลา, เดอะครูซิเบิ้ล โดย อาเธอร์ มิลเลอร์, การเล่าเรื่องของนนทก จากเรื่องรามเกียรติ์ สนุกและลึกลับในคราวเดียวกัน, แม้แต่ปีศาจ โดย เสนีย์ เสาวพงศ์ ยังทำให้รู้สึกถึงปีศาจในตัวคน การล่าแม่มด ความสยดสยองจากการที่เห็นคนถูกทรมานแล้วเลือดสาดไปทั่ว และส่งท้ายที่ความเศร้าโศก ที่แม้จะโศกเศร้าแต่ความเศร้าจะไม่อยู่กับเราตลอดไป และสิ่งที่ทำให้ความเศร้าหายไปได้อาจจะเป็นโซจูกับเบียร์...

นักแสดงทั้งไทยและเกาหลีใต้แสดงอย่างมีพลังและแข็งแรง เท่มากๆ การจัดฉากหลังให้เป็นกำแพงสีขาวมีสีแดงสาดเป็นรูปร่างคนก็สร้างความสงสัยและชวนมองอย่างประหลาด แสงและเสียงดนตรีประกอบที่สร้างบรรยากาศให้เราตื่นเต้นและลุ้นไปกับเรื่องราว ฉากฮาๆ ก็หัวเราะกันแรงมาก บางฉากก็ลุ้นจนเกร็ง ภาษาที่ใช้มีทั้งไทย อังกฤษและเกาหลี แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะละครสื่อสารกับเราด้วยท่าทางของร่างกายมากกว่าบทสนทนา

เคยดูละครของ B-Floor มาก่อนเรื่องหนึ่งแต่นานมากแล้ว เรื่อง Lear & His 3 Daughters (2012) เท่าที่จำได้เป็นละครวิพากษ์และจิกกัดสังคมถึงการแสดงออกถึงความรัก การเชิดชูบูชาในขณะนั้นได้อย่างค่อนข้างหวาดเสียวเลยทีเดียว ขณะที่ Something Missing ก็นำเสนอปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเหมือนกัน อย่างในองก์ของพระราชาหูลา ที่มีคนเห็นหูลาของพระราชา แล้วอึดอัดอยากจะบอกใครๆ แต่ก็ถูกห้ามว่าอย่าพูด และถึงขั้นถูกปิดปาก เหมือนสถานการณ์ที่ไม่คงที่ในประเทศไทยเองที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในช่วงสามปีที่ผ่านมา มีการจำกัดในเรื่องการแสดงออกและการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ไม่เว้นแม้แต่ในวงการศิลปะเองก็ถูกปิดกั้นไปด้วย บางสิ่งที่พูดไม่ได้ก็ยังคงพูดไม่ได้เหมือนเดิม

Something Missing เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2015 เป็นการทำงานร่วมกันของ B-Floor และ Momggol ได้เปิดการแสดงทั้งที่เกาหลีใต้และไทย ใช้ชื่อการแสดง Something Missing ต่อมาในปี 2016 ใช้ชื่อการแสดงว่า Rite of Passage พูดถึงความเชื่อ ปรากฏการณ์ในสังคมและเรื่องหมิ่นเหม่ทั้งในไทยและเกาหลีใต้ และในปี 2017 เป็นปีที่ 3 แล้วที่ทั้งสองคณะทำงานร่วมกัน ปีนี้พูดถึงบางสิ่งที่หายไปในสังคมและวัฒนธรรม เราจะทำอย่างไรเมื่อรู้ว่ามีบางสิ่งที่หายไป เป็นละครที่ควรดูส่งท้ายปี 2017 เปิดรอบการแสดง‪เวลา 19.30 น. ทุกวัน‬จนถึงวันที่ ‪17 ธ.ค. นี้ที่ ‬BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จองบัตรได้ที่ ‪094 4945104‬, ‪bfloortheatre@gmail.com‬, inbox FB: B-floor หรือ Something Missing 2017 in Bangkok

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ความคิดและบทบาทผิดที่ผิดทางของพระกับการเมือง

Posted: 14 Dec 2017 04:44 PM PST

 

งานวิจัยเรื่อง "แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า (2556-2576)" ของพระมหาหรรษา ธัมมหาโส สรุปผลการวิจัยจากการค้นคว้าเอกสาร สัมภาษณ์ ประชุมกลุ่มย่อย และการจัดสัมมนาในเวทีต่างๆ ว่า บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองที่พึงประสงค์ มี 6 บทบาทหลักๆ คือ

1. บทบาทในฐานะวิศวกรจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี

2. บทบาทพระสงฆ์กับการชี้แนะและชี้นำทางการเมือง

3. บทบาทในการพัฒนาพลเมืองของรัฐตามระบอบประชาธิปไตย

4. บทบาทในการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและนโยบายแห่งรัฐ

5. บทบาทในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความต้องการทางการเมือง และ

6. บทบาทในการใช้สิทธิเลือกตั้งนักการเมือง

ผู้วิจัยให้เหตุผลสนับสนุนบทบาทแรกว่า ในขณะที่ชุมชน และสังคมกำลังเผชิญหน้ากับความแตกแยกและแบ่งฝ่ายอย่างร้าวลึกในช่วง 10 กว่าปี บทบาทที่ถือได้ว่าเป็นภารกิจเร่งด่วนของของพระสงฆ์คือการเข้าไปหน้าที่ "วิศวกรสันติภาพ" เพื่อเสริมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยตามนโยบายของรัฐบาล และข้อเสนอแนะ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติที่ว่า "บุคลากรทางศาสนาควรเพิ่มบทบาทในการลดความแตกแยก ส่งเสริมสันติภาพ และแก้ไขความขัดแย้งในสังคมโดยสันติวิธี" ฉะนั้น "ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูหลักศีลธรรมและจริยธรรม และสนับสนุนให้สถาบันศาสนาเข้ามามีบทบาทในการลดความขัดแย้ง และยุติการใช้ความรุนแรง" โดยการเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์เข้าไปเป็นผู้นำกระบวนการกลุ่มเปิดเวทีพูดคุยเพราะคุณสมบัติเด่นของพระสงฆ์คือ "การเป็นนักฟังที่ดี" (Mindful Listening) เพราะดำรงความเป็นกลางระหว่างผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มต่างๆ

ด้วยความเคารพนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าพระสงฆ์กลุ่มไหนในไทยที่จะมีศักยภาพเป็น "วิศวกรสันติภาพ" ได้ เพราะในสภาวะที่สังคมเกิดความขัดแย้งในเชิงความคิดและอุดมการณ์ลึกซึ้งมากขนาดนี้ สถาบันสงฆ์ของรัฐเองก็เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว ไม่ได้มีสถานะเป็นอิสระและมีความ "เป็นกลาง" ที่ทุกฝ่ายวางใจได้ อีกทั้งพระที่มีชื่อเสียง พระกลุ่มต่างๆ ก็เลือกข้างเลือก "สี" และออกมาชุมนุมทางการเมือง ไม่ต่างจากฆราวาส  

ส่วนที่ว่าคุณสมบัติเด่นของพระสงฆ์คือ "การเป็นนักฟังที่ดี" นั้น ดูจะหาได้ยาก เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะพบพระที่มีจิตใจเปิดกว้างและเข้าใจความซับซ้อนของสังคมประชาธิปไตย เท่าที่เห็นพระมักจะถนัดเทศนาสอนคนอื่นมากกว่าจะเปิดกว้างรับฟัง ยิ่งพระที่เทศน์เก่ง พระเซเลบ ยิ่งแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างไม่ยึดหรือยืนยัน "ความขอบธรรม" ตามระบอบประชาธิปไตยเลย ซ้ำยังแสดงความเห็นสนับสนุนรัฐประหารอีกต่างหาก

บทบาทข้อที่ 2 และ 3 สะท้อนว่าพระไทยไม่เข้าใจสถานะและบทบาทของตนเองในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) นั้น ถือว่ารัฐเป็น "รัฐโลกวิสัย" (secular state) ที่เป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคในการนับถือและไม่นับถือศาสนาเท่านั้น ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้จริงต้องแยกศาสนจักรกับรัฐเป็นอิสระจากกัน และแยกการเมืองจากศาสนา

ดังนั้น พระสงฆ์จะอ้างประเพณีในอดีตในที่พูดถึงในงานวิจัยว่า สมัยราชาธิปไตยพระเคยมีบทบาทเป็นที่ปรึกษากษัตริย์ ปัจจุบันพระก็ควรมีบทบาทชี้แนะชี้นำทางการเมืองแบบที่เคยทำมาแต่อดีต อ้างแบบนี้ไม่ได้แล้วครับ เพราะศีลธรรมทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยคือ "ศีลธรรมโลกวิสัย" (secular morality) ไม่ใช่ศีลธรรมศาสนา (religious morality) พระจะใช้ศีลธรรมศาสนาไปชี้แนะชี้นำทางการเมืองและสร้างพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตยย่อม "ไม่เวิร์ค" อีกแล้ว

เนื่องจากสังคมประชาธิปไตยถือว่า ศีลธรรมศาสนาเป็นเรื่องของ "ความเชื่อส่วนบุคคล" แต่ศีลธรรมโลกวิสัยเป็นเรื่องหลักการสาธารณะ เมื่อพระนำศีลธรรมศาสนามาชี้แนะชี้นำทางการเมือง เช่นอ้างธรรมาธิปไตย เผด็จการโดยธรรม ฯลฯ ผลก็คือเป็นการลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตย หรือคุณค่าหลักการสาธารณะอื่นๆ เช่นหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในตัวมันเอง เพราะในที่สุดแล้วการชี้นำทางศีลธรรมของพระก็มักไปเน้นที่ความดีนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเป็นเรื่องความเชื่อเรื่อง "คนดี" เหนือหลักการ และเป็นการออก "ใบอนุญาตทางศีลธรรม" ให้ "คนดี" (?) สามารถละเมิดหลัก "ความชอบธรรม" ตามระบอบประชาธิปไตยได้เสมอไป

ดังข้อเท็จจริงที่เราเห็นอยู่แล้วว่า ความขัดแย้งทางการเมืองกว่าสิบปีมานี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการอ้างศีลธรรม ความดี คนดีในกรอบคิดแบบศาสนามาชี้นำในทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั่นเอง ฉะนั้น การที่พระไทยยังเชื่อว่าตนเอง "ควร" มีบทบาทชี้แนะชี้นำทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตย จึงเป็นความเชื่อที่ขัดหลักการของรัฐโลกวิสัย แสดงให้เห็นว่าพระไทยไม่ได้สรุปบทเรียนอะไรเลยว่า การที่ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างผิดที่ผิดทางมาตลอดนั้น มันคือการซ้ำเติมปัญหาให้ยุ่งยากและรุนแรงมากขึ้นเสมอมา

ทางออกเรื่องนี้ควรจะเป็นว่า รัฐต้องยืนยันหลักการของรัฐโลกวิสัย เพื่อแยกศาสนจักรจากรัฐ ยกเลิกการสอนศีลธรรมศาสนาในโรงเรียน เน้นการสอนศีลธรรมโลกวิสัยที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแทนการอสนศีลธรรมศาสนาในโรงเรียนที่ผูกโยงอยู่กับการเชิดชูอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม

ส่วนพระไทยควรจะเรียนรู้ว่า เมื่อสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ถือว่า เรื่องศาสนาเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลซึ่งรับรองโดยหลักสิทธิมนุษยชน และศีลธรรมศาสนาเป็นศีลธรรมส่วนบุคคล (individual morality) พระจึงไม่ควรยัดเยียดศีลธรรมศาสนาให้เป็น "ศีลธรรมทางสังคม" (social morality) ไม่เช่นนั้นพระเองนั่นแหละที่จะเป็นฝ่ายที่ "ไม่มีศีลธรรมทางสังคม" เสียเอง คือเป็นฝายที่ไม่เคารพเสรีภาพทางศาสนาและสิทธิมนุษยชนเสียเอง เมื่อพยายามทำในสิ่งที่ขัดหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจะเป็นการช่วยสร้าง "พลเมืองดี" ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร  

สำหรับข้อ 4 "บทบาทในการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและนโยบายแห่งรัฐ" นั้น ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งพระย่อมมีสิทธิดังกล่าวนี้อยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพระใช้หลักการอะไรในการวิจารณ์ ไม่ใช่เอาแต่อ้างศีลธรรมมาวิจารณ์นักการเมืองที่ตรวจสอบได้ แต่ขณะเดียวกันก็อ้างศีลธรรมสดุดีอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้พระก็ไม่มีความชอบธรรมอะไรในการอ้างศีลธรรม เพราะกำลังอ้างศีลธรรมแบบสองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน

จริงๆ แล้วการอ้างศีลธรรมทางศาสนาในทางการเมืองก็อ้างได้ แต่ต้องอ้างบนหลักการที่ว่าต้องยึดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้ง แล้วตีความหลักศีลธรรมสนับสนุน ไม่ใช่ยกศีลธรรมศาสนาสูงส่งกว่า แล้วก็อ้างอย่างสองมาตรฐานดังที่เป็นมายาวนาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดอย่างถึงที่สุด สถานะของนักบวชในโครงสร้างสถาบันศาสนาของรัฐ ก็ไม่มีความชอบธรรมในการวิจารณ์ทางการเมืองดอกครับ เพราะโครงสร้างที่เป็นอยู่ขัดกับหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เป็นรัฐโลกวิสัยอยู่แล้ว นักบวชเองจึงมีสถานะเป็นอภิสิทธิชนเหนือหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยอยู่แล้ว ถ้าแยกศาสนาจากรัฐ องค์กรสงฆ์เป็นเอกชน เมื่อนั้นจึงจะเป็นไปได้ที่นักบวชจะมี "ความชอบธรรม" ในการวิจารณ์ทางการเมือง

ส่วนเรื่องพระควรมีสิทธิเลือกตั้งนั้นผมเห็นด้วย แต่ก็ไม่เคยเห็นพระเรียกร้องสิทธินี้ให้กับตนเองจริงจังอะไร ที่เห็นเรียกร้องจริงจังคือ เรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็น "ศาสนาประจำชาติ" ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้เวทีประชาธิปไตยเพื่อเป้าหมายที่ขัดหลักการพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่รัฐต้องเป็นกลาง รักษาเสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนา การที่พระออกมาเรียกร้องเช่นนี้ ย่อมเป็นการถ่วงการพัฒนาประชาธิปไตยให้ล้าหลังเสมอไป

สุดท้ายผู้วิจัยสรุปว่า แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับสิทธิการเลือกตั้งในอนาคตขึ้นอยู่ตัวแปร 3 ประการ คือ (1) การดำเนินนโยบายของรัฐต่อพระพุทธศาสนาที่ขาดความเข้าใจและไม่สนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมไทยจะนับถือพระพุทธศาสนาก็ตาม (2) การขาดการตระหนักรู้ของนักการเมืองต่อชาตากรรมของพระพุทธศาสนาทั้งในเชิงพฤตินัยและนิตินัย (3) การดำเนินนโยบายของศาสนิกและศาสนาอื่นๆ ที่กระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนหรือการไม่สามารถที่ป้องกันมิให้ศาสนาหรือศาสนิกของศาสนาอื่นๆ ทำร้ายหรือกระทำการณ์ที่บั่นทอนพระพุทธศาสนาในลักษณะต่างๆ

ข้อสรุปนี้ สะท้อนให้เห็นว่า พระยังมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาด้วย "จิตสำนึก" และ "มาตรฐานแบบยุคเก่า" คือยังยึดความคิดที่ว่า รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่มีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาแบบยุคเก่า แล้วจึงอยากได้ "สิทธิเลือกตั้ง" ซึ่งเป็นสิทธิตามกรอบคิดสมัยใหม่เพื่อปกป้องจิตสำนึกและมาตรฐานแบบยุคเก่า

นี่คือความขัดแย้งในตัวเองในวิธีคิดของพระไทย เพราะกำลังเรียกร้องสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป้าหมายที่ขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยหลักการโลกวิสัย ไม่ใช่หลักการทางศาสนาที่ถือว่าผู้ปกครองเป็นพระพุทธเจ้าอยู่หัว เป็นพระโพธิสัตว์ หรือสมมติเทพที่มีหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนาแบบยุคเก่า

นอกจากนี้ยังสะท้อนทัศนคติที่มองศาสนาอื่นเป็น "ภัย" ต่อศาสนาตัวเอง ซึ่งเป็นทัศนคติล้าหลัง ยิ่งหวังให้รัฐมาคุ้มครองศาสนาตนเองจากศาสนาอื่น ทั้งๆ ที่อ้างว่าคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งสะท้อนความกลัวที่ไร้เหตุผล และเป็นความกลัวที่ไม่เข้าใจหน้าที่ความเป็นกลางทางศาสนาของรัฐ

งานวิจัยนี้จึงไม่ได้สะท้อนแนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองในอนาคตที่ชวนให้มีความหวัง แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นปัญหาของพระไทยในการเข้าใจสถานะ ตำแหน่งแห่งที่ และบทบาทของตนเองในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ สะท้อนความไม่สมจริงในการประเมินศักยภาพของตนเอง รวมๆ แล้วก็คือสะท้อนความสับสน ผิดที่ผิดทางทั้งเรื่องความคิด สถานภาพ และบทบาทของพระสงฆ์ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เลือก

Posted: 14 Dec 2017 04:22 PM PST



เธอบอกฉันโง่ ให้ฉันจงเชื่อ
การเมืองจงเบื่อ ล้วนคนบ่ดี
กลับใจสัทธา ชาติวุฒิยศศรี
สุขอยู่กับที่ เพียงมีแค่พอ

เธอลองมองซี ฉันมีตรงไหน
แตกต่างหลากไป ไม่เหมือนเธอเป็น
ก้อนสมองสองมือ แขนขาเกลียวเอ็น
หูยินตาเห็น ตีนเดินตามใจ

เธอเอาเมียผัว เกิดลูกออกหลาน
เติบใหญ่ทะยาน แหวกฟ้าค้นดาว
ลูกหลานฉันเกิด ก้มหน้าขุดเอา
แหวกดินเจอเหง้า ฝันงอกดอกงาม

เธอบอกฉันโง่ ฉันจะไม่เชื่อ
การเมืองต้องเพื่อ เกื้อคนหมู่ใหญ่
ตัดถนนหนเดิน เลือกเองทางไป
ลูกหลานเราได้ เงยหน้าเสมอกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น