โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประชาชนเหยียบเบรค ต้าน คสช. สืบทอดอำนาจ เลื่อนเลือกตั้ง

Posted: 27 Jan 2018 08:55 AM PST

นัดรวมตัวต้าน คสช. หลังไม่มีความชัดเจนเรื่องนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร และการใช้เทคนิคเลื่อนเลือกตั้งผ่านการแก้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ประชาชนหลายร้อยร่วมแสดงจุดยืนไม่เอาการสืบทอดอำนาจ

27 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 - 19.00 น. ที่ Skywalk ปทุมวัน ได้มีการนัดรวมตัวของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 2 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.) ซึ่งมีการแก้ไขในมาตรา 2 กำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังจาก 90 วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งส่งผลให้โรดแมปสู่การเลือกตั้งอาจเลือนออกไปได้ไกลถึงเดือน ก.พ. 2562

กิจกรรมในครั้งเริ่มต้นขึ้นโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ซึ่งได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจนัดรวมตัวเพื่อแสดงพลังไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีสื่อมวลชนหลายสำนักให้ความสนใจติดตามรายงานข่าว พร้อมทั้งมีประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องดังกล่าวรวมกัน

บก.ลายจุด – วีระ สมความคิด ร่วมยืนยันไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ความหลากหลาย ทั้งหลากหลายกลุ่ม และหลากหลายทางแนวคิดทางการเมือง เช่น สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือที่รู้จักกันในนาม บก.ลายจุด หรือแกนนอนเสื้อแดง และวีระ สมความคิด อีกผู้มีบทบาทคนสำคัญในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

สมบัติ ระบุเหตุผลที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้เพราะเห็นว่า ปัจจุบันนี้เป็นช่วงเวลาที่มีนัยสำคัญ เพราะที่ผ่านประเด็นเรื่องนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร ก็ยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งกรณีที่ สนช. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการเลือนการเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน จึงทำให้ประชาชนเกิดคำถาม และต้องการคำตอบ ในเมื่อกลไกการตรวจสอบการทุจริตอย่าง ป.ป.ช. หรือกลไกของรัฐสภาที่มีอยู่นี้ไม่สามารถให้คำตอบกับประชาชนได้ จึงเป็นเหตุผลให้ประชาชนต้องออกมาเดิน ออกมาพูดคุยกันว่า คำถามเหล่านี้ใครควรจะเป็นผู้ให้คำตอบ

ส่วน วีระ ให้เหตุผลที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรเรื่อง คอร์รัปชัน 4.0 และเห็นว่าวันนี้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน และตนเองให้ความกับเรื่องนี้มาตลอด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นด้วยกับการที่ คสช. จะสืบทอดอำนาจ เพราะพฤติการณ์เขาต้องการสืบทอดอำนาจ ประเด็นสำคัญคือเรื่องนาฬิกา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ แล้วยังจะท้าทายประชาชนเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง ประกอบกับเห็นน้องๆ ลุกออกมาทำประเด็นนี้ ซึ่งเป็นวาระของประชาชน ตนก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย ก็อยากมายืนยันในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย

"ในเมื่อน้องๆ เขาทำในสิ่งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนาคต และผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากกำลังเรียกร้องสิ่งนี้อยู่ เราก็อยากที่จะมีประชาธิปไตยเสียที เราก็อยากจะมีการเลือกตั้งเสียที ผมก็อยากที่จะมาดู และมาให้กำลังใจน้องๆ เขา ทำไมละผมไม่มีสิทธิเหรอ" วีระ กล่าว

ด้าน รังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการเลือกตั้งมานานแล้ว และจากการประกาศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่ผ่านมาได้ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 แต่ถึงที่สุดแล้วได้มีการใช้กลไกของ สนช. เลือนการเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช. จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนออกมารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล คสช. ว่าการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้น ไม่สามารถเลือกได้ แล้วประชาชนไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ หลังการเลือกตั้งของ คสช.

เนติวิทย์ และนิสิตจุฬา ร่วมขับไล่ คสช.

ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงเหตุผลในการมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า นิสิตจุฬาที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ต้องการจะสื่อสารกับรัฐบาลว่า หมดเวลาแล้วที่จะอยู่ต่อแล้ว และขอให้ให้โอกาสกับลูกหลานบ้าง และขอให้ประชาชนกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ

ด้าน รังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการเลือกตั้งมานานแล้ว และจากการประกาศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่ผ่านมาได้ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 แต่ถึงที่สุดแล้วได้มีการใช้กลไกของ สนช. เลือนการเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช. จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนออกมารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล คสช. ว่าการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้น ไม่สามารถเลือกได้ แล้วประชาชนไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ หลังการเลือกตั้งของ คสช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลอกใคร? วัฒนา เมืองสุข ถาม ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Posted: 27 Jan 2018 07:57 AM PST

พลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ที่ประเทศอินเดีย กรณี สนช. ลงมติขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ว่า "เป็นเรื่องของ สนช. ที่ตนไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่ตนพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และหลักการทุกประการตามขั้นตอนของกฎหมาย" พลเอกประยุทธ์คงต้องการสื่อให้สหภาพยุโรปและสหรัฐที่ตนไปสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 เชื่อว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ สนช. เพราะอยู่ต่างประเทศ คงคิดว่ามหาอำนาจมีระดับสติปัญญาเท่ากับตัวเองและคนที่สนับสนุนให้ตนออกมายึดอำนาจ

ตามข้อเท็จจริง กฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2560 หากพลเอกประยุทธ์เป็นคนตรงหรือเคารพกฎหมายจะต้องปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งพ้นงานพระราชพิธีแล้ว แต่กลับถ่วงเวลาจนต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ขยายเวลาทำกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เริ่มจากวันที่ 1 เมษายน 2561 จากนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศก็ออกมาทดสอบโดยให้สัมภาษณ์ว่าต่างชาติน่าจะรับได้กับการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกสหภาพยุโรปและสหรัฐสวนเอาแบบไม่เกรงใจว่า การเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จภายใน 2561 ตามที่สัญญาไว้ พลเอกประยุทธ์จึงต้องหาข้ออ้างแบบไร้เดียงสาว่าเป็นเรื่องของ สนช. ที่ตนก้าวล่วงไม่ได้

ที่ผ่านมาผมเห็นแต่เผด็จการที่กล้าทำกล้ารับไม่โทษคนอื่น เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่พูดว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" หรือแม้แต่พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่เคยบอกว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยังกล้ารับว่า "ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ" แต่ยุคหลังผมกลับเห็นแต่เผด็จการกระจอกที่กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ โกหกได้แบบไม่อายปาก อยากมีอำนาจแต่ขี้ขลาดโยนให้คนอื่นรับแทน จะไล่ให้ไปนุ่งผ้าถุงก็เสียดายผ้าที่แม่ผมนุ่ง เพราะคนประเภทนี้แม้แต่ผ้าถุงก็ไม่คู่ควร โคตรกระจอกเลยครับ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: คำสั่งคือประกาศิตจากสวรรค์

Posted: 27 Jan 2018 07:48 AM PST

บทกวีโดย ปลายนา ฤดูฝน



เมื่อฉันได้ยืนอยู่เป็นผู้สั่ง                 เพียงลำพังรับผิดจึงคิดเสมอ

จะไม่สั่งให้ตายไปพร้อมเธอ             ไม่เผอเรอสั่งผิดคิดก่อนกาล

คำสั่งคือประกาศิตสวรรค์               จรรยาบรรณตรองก่อนสอนประสาน

ลูกน้องชังหรือรักสุขสำราญ             อยากไหว้วานงานอะไรให้สั่งมา


แต่ก่อนสั่งไปตายหลากหลายนัก       พิเรนทร์หนักสั่งถ่อค้ำดำน้ำหา

สั่งให้ยิงหากยังวิ่งเข้ามา                 บางเพลาสั่งบุกจึงถูกยิง

บางคดีสั่งคลิกจิ๊กพันล้าน                ได้ไม่นานถูกพับทั้งชายหญิง

คิดได้สั่งได้ทำได้ไม่ประวิง                อยากหยุดนิ่งสั่งผิดติดคุกกัน


มีอำนาจอยากจะสั่งระวังก่อน           พึงสังวรณ์บ้าคลั่งสั่งซ้ายหัน

สั่งทำโน่นทำนี่สารพัน                    แล้วขบขันทำไม่ได้ไม่แลดู

สั่งมาเถอะทำได้ไร้ปัญหา                เงินตรามาปัญญาดีมีคู่หู

มีอำนาจวาสนาจงสั่งกู                   สั่งข้างข้างคูคูถูกันไป


หากวันใดไร้อำนาจวาสนา               ไร้วาจาประกาศิตจิตหวั่นไหว

วันเดือนปีนานนักหักหัวใจ               ไม่มีใครรอให้ใจสั่งมา

มีคำสั่งบางอย่างยังสามารถ             พิศวาสรักใคร่ใยเสน่หา

สั่งมาเถอะหากยังรักยังบูชา             ทุกเพลาสั่งได้ใจอยากทำ


มีความรักฉันเพื่อนเหมือนมนุษย์       จะคอยหยุดฉุดกระชากจากถลำ

คอยระวังชี้แนะแนวแห่งกรรม          ไม่คะมำคว่ำหงายกลับกลายดี

แต่คำสั่งบางอย่างทำไม่ได้               แสนลำบากยากไร้ไม่สุขี

ฉันรักเธอสั่งให้พรากจากชีวี             จะยอมพลีหากสั่งใจไม่รักเธอ


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: แบงก์/เอสเอ็มอี และความล้มเหลวของนโยบายรัฐ

Posted: 27 Jan 2018 07:41 AM PST

 

ปัญหาใหญ่หรือเปล่า? เมื่อแบงก์พาณิชย์ไทยบางแห่งประกาศ ลดคน ลดสาขา ลงเพื่อลดต้นทุน ทั้งๆ ที่ตัวแบงก์เองยังมีผลประกอบการที่เป็นกำไรปีละเป็นหมื่นล้านบาทอยู่ ซึ่งก็แน่นอนว่า แม้เป็นการดำเนินการเชิงนโยบายภาพรวมแค่แบงก์สองแบงก์ แต่นี่ถือเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของแบงก์ไทยอีกหลายแบงก์ ซึ่งต่อไปน่าจะทยอยปรับลดพนักงานที่มีอยู่อย่างเหลือล้นลง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมท่ามกลางโลกเทคโนโลยีการสื่อสารที่รุ่งเรืองถึงขั้นขีดสุด

พนักงานแบงก์จึงจะถูกประเมินความสามารถหรือประสิทธิภาพการทำงานเป็นรายหัวหรือรายบุคคลนับแต่นี้ ไม่รวมถึง การเตรียมโละทิ้งเฉยๆ แบบ "จ้างออก" ตามกฎหมายแรงงานของไทย

ทั้งๆ ที่หลายธนาคารของไทยมีหน่วยงานวิจัย แต่ก็ยังไม่เห็นงานวิจัยเกี่ยวกับพนักงานของธนาคารเองแบบชัดๆ เสียที  ผมคิดว่า ใครๆก็ย่อมทราบด้วยสัญชาตญาณและการคาดการณ์ว่า ด้วยเหตุที่แบงก์ทุกแบงก์ของไทยมีสาขาทั่งประเทศ พนักงานหรือลูกจ้างของแบงก์ก็ย่อมพลอยมีจำนวนมากไปด้วยเช่นกัน

และก็อย่างที่เห็นครับ หากเปรียบเทียบกับแบงก์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การทำงานพนักงานแบงก์ของไทยถือว่ามีมากเกินความจำเป็น ที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่ต่างนำเทคโนโลยีมาใช้แทนคนกันมากขึ้น 

นอกจากแบงก์ไทยจะมีปัญหาเรื่องบุคลากรหรือพนักงานล้นแบงก์แล้ว จนเกินความจำเป็นแล้ว ในอนาคตแบงก์ไทยจะมีปัญหาเรื่องการทำธุรกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้หลักอีกด้วย บนฐานการเอาเปรียบลูกค้ามาเนิ่นนาน

นั่นก็คือ การมุ่งฟันค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมรายวันของลูกค้าแบบ "หากินง่ายๆ" โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยยืนดูอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เช่น ค่าธรรมเนียมการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ข้ามแบงก์หรือข้ามเขต ค่าขอดูทรานสเซคชั่น ค่าทำบัตรเอทีเอ็ม ฯลฯ ซึ่งค่าธรรมเนียมเหล่านี้ แบงก์ทั้งหลายในยุโรปและอเมริกา เลิกเอาเปรียบชาวบ้านไปหมดแล้ว  ในอเมริกาลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ก็ต่อเมื่อลูกค้าแบงก์ทำธุรกรรมข้ามแบงก์ ทุกอย่างแม้แต่การเปิดเชคกิ้ง แอคเค้าน์ ฟรี !!!

ทุนนิยมที่สมบูรณ์หมายถึงการแข่งขันที่สมบูรณ์ฉันใด ทุนนิยมในเมืองไทยที่คิดว่ามันสมบูรณ์ หากแท้จริง คือการฮั้วกันในบรรดานายทุนต่างหากหรือไม่? โปรดดูการทำงานของสมาคมธนาคารไทยที่ดีลกับแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง

ผลแห่งการดีล ก็ดังที่ทราบกันดีตลอดหลายปีที่ผ่านมา แบงก์ไทยสร้างผลกำไรสูงสุดจากค่าธรรมเนียม หาใช่การทำไรด้วยเหตุแห่งวาณิชธนกิจ (investment Banking) ก็หาไม่ นี่ถือว่าเป็นภาวะแห่งการเอาเปรียบลูกค้าที่เลวร้ายที่สุดในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่นกลุ่มประเทศ OECD เป็นต้น โดยแบงก์ชาติและรัฐบาลไทยได้แต่ยืนดูตาปริบๆ มิทราบว่าจะช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไรได้บ้าง เป็นแบบนี้มาหลายยุคหลายสมัยแล้ว

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแบงก์ไทย ผ่านสมาคมธนาคารไทย เปรียบประดุจเงาของรัฐบาล แบงก์สนับสนุนรัฐบาลรัฐบาลอยู่ได้ เพราะแบงก์ทั้งโดยทางอ้อมและทางตรง

ที่น่าขบขันที่สุดที่ผมคุยกับชาวต่างชาติที่เป็นนักธุรกิจหรือผู้ลงทุน ซึ่งเป็นคำตอบว่า ทำไมแบงก์ไทยถึงล้มเหลวในการทำวาณิชธนกิจและฟันค่าธรรมเนียมอย่างโหดเหี้ยมโดยประการเดียว พวกเขาบอกว่าการวิเคราะห์สินเชื่อของแบงก์ไทยไร้มาตรฐานถึงขั้นเลวร้ายอยู่ 2 ส่วน

ส่วนแรก คือ การไม่ใช้หลักการหรือวิชาการวิเคราะห์สินเชื่ออย่างมีมาตรฐาน หากแต่ใช้ระบบเส้นสายและระบบอุปถัมภ์ในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนแรกนี้ระบบธนาคารไทยทำมาอย่างเป็นวัฒนธรรมหลายปีมาแล้ว ถ้าคุณไม่ใช่ซัมบอร์ดี้ หรือเป็นพรรคพวกของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ฯ หรือผู้จัดการสาขา พวกวิเคราะห์สินเชื่อจะไม่เชื่อเครดิตของคุณและย่อมแน่นอนว่าคุณจะไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ ประเด็นแรกนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้แบงก์และสถาบันการเงินของไทยประเภทอื่นๆ ของไทยประสบความวิบัติในยุคสมัยตุ้มยำกุ้งช่วงปี 2540 ตามที่เห็นๆ กัน

ส่วนที่สอง คือ การไม่มีความรู้และไม่มีทักษะในการวิเคราะห์สินเชื่อของเจ้าหน้าที่แบงก์  เช่น ไม่รู้แบบลึกๆ ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือสตาร์ทอัพ คืออะไร เขาทำอะไรกันบ้าง พูดง่ายๆ คือเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อขาดความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนวัตกรรม (Innovative Business)  ซึ่งหากไปดูการทำงานของซอฟท์แบงก์ออฟเจแปน จะเห็นเลยว่า การวิเคราะห์สินเชื่อของแบงก์ญี่ปุ่นกับแบงก์ไทยนั้นต่างกันลิบลับ และด้วยเหตุนี้ สตาร์ทอัพ หรือธุรกิจนวัตกรรมของไทยจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งๆ ที่ คนไทยหรือนักธุรกิจไทยไม่ใช่คนที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์

ทั้งๆ ที่หากมองในส่วนของธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว ธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้ต้องการลงทุนมากมายอะไรเลย เพราะใช้คนหรือแรงงานน้อยมาก แต่ในเมื่อเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อและกฎเกณฑ์ของธนาคารในการอนุมัติสินเชื่อมีปัญหา เช่น การถามหาผลสำเร็จของธุรกิจใหม่ (โถ... ถ้าเป็นธุรกิจที่เคยมีผู้ทำมาก่อนจะเรียกว่า สตาร์ทอัพหรือนวัตกรรมได้อย่างไรเล่า แบงก์ต้องวิเคราะห์จนเชื่อว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพมีทางที่จะประสบผลสำเร็จ ไม่ใช่เชื่อว่า ไม่เคยมีผู้ทำธุรกิจนี้มาก่อน มันจะต้องไปไม่ไหวแน่...) เรื่องนี้ทำให้นโยบายของรัฐบาลผ่านธนาคารเอสเอ็มอี กลายเป็น "ดีแต่พูด"เท่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อของแบงก์รัฐแห่งนี้ ไม่มีความรู้เรื่องสตาร์ทอัพและนวัตกรรม 4.0 เอาเลย

ขอท้าให้กลับไปดูเลยครับว่า โครงการลงทุนสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมกี่โครงการที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากแบงก์เอสเอ็มอีหรือบรรษัทสินเชื่อขนาดย่อมของรัฐบาลไทย โดยที่สามารถอนุมานได้เลยว่า โครงการที่อนุมัตินั้น นอกจากเจ้าของโครงการมีเงินทุนหนักอยู่แล้ว ชื่อเจ้าของโครงการย่อมเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในสังคมไทยในระดับหนึ่งในฐานะเครือข่ายระบบอุปถัมภ์

ความย้อนแย้งการปล่อยกู้ของแบงก์เอสเอ็มอีของรัฐไทย ที่แปลกประหลาดอย่างมาก ที่ผมอยากฝากไปถึงรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็คือ คนคุมนโยบายและเจ้าหน้าที่แบงก์รัฐแห่งนี้ ต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือตัวนวัตกรรมว่า มันคือธุรกิจที่สามารถทำในบ้านหรือในโรงรถได้ ในอเมริกาธุรกิจประเภทนี้กำเนิดมาจากโรงรถแทบทั้งสิ้น มันไม่ใช่แบบแผนของการยื่นกู้ขอสินเชื่อเพื่อสร้างโรงงานฯ ในยุค 3.0

และถ้าเป็นไปได้ช่วยกลับไปดูระบบการทำงานของซอฟท์แบงก์ออฟเจแปนว่าเขาวิเคราะห์สินเชื่อธุรกิจสตาร์ทอัพในฐานะนวัตกรรมกันอย่างไร แจ๊ค หม่า เป็นใคร มาจากไหน? ขืนเอสเอ็มอีวิเคราะห์สินเชื่อแบบโครงการในแบบฉบับการสร้างโรงงานอุตสากรรมแบบเดิมๆ ความล้าหลัง สิ่งตรงข้ามกับนวัตกรรมย่อมเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้แน่นอนเท่ากับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมล้มเหลวชัดๆ

การรีเชฟ (reshape) ของแบงก์ไทยคราวนี้ ยังไม่รวมเรื่องน่าสยองในสังคมไทยที่จะตามมาระลอกใหญ่ครับ นั่นคือ จำนวนของคนตกงานในสังคมไทยที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ซึ่งปกติไหลเข้าไปอยู่ในธุรกิจแบงก์จำนวนไม่น้อยแต่ละปี พวกเขาจะไปทำงานที่ไหน ใครจะแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ทันท่วงที ?

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก้าวแรกสู่การแก้ไขปัญหาคนจนให้หมดประเทศ

Posted: 27 Jan 2018 07:25 AM PST


ปลายปี 2560 รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ประกาศเป้าหมายของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาคนจนให้หมดประเทศไปภายในปี 2561 โดยรูปแบบของนโยบายได้มีการผูกติดกับโครงการจดทะเบียนคนจนในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีผู้เข้าร่วมในโครงการและผ่านคุณสมบัติรวมกว่า 11.4 ล้านคน

การผลักดันโครงการแก้จนครั้งนี้ ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนคนจนในปีที่ผ่านมา โดยเลือกเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับเส้นบ่งชี้ถึงความยากจนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่กระนั้นก็ได้มีนักวิชาการออกมาแสดงความกังวลใจว่า อาจจะมีคนจนที่ตกหล่นจากโครงการแก้จนในครั้งนี้

เมื่อพิจารณาถึงปัญหาความยากจนของไทยในเชิงลึก จะพบว่าปัญหาความยากจนของคนไทยส่วนหนึ่ง เกิดจากการที่ประชากรกลุ่มเฉพาะของไทย เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนไร้บ้าน เข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆของรัฐ   

เมื่อพิจารณาโครงการแก้จนในครั้งนี้ ผู้เขียนพบว่า จำนวนคนพิการที่ได้มาลงทะเบียนในโครงการจดทะเบียนคนจนมีเพียง 3.77 แสนคน ซึ่งมีจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนคนพิการที่ลงทะเบียน   เพื่อรับสิทธิในการสงเคราะห์ การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตาม พรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ซึ่งมีมากถึง 1.8 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. 2560)

ผู้เขียนเชื่อว่า จำนวนคนพิการที่มีปัญหาความยากจนแต่เข้าไม่ถึงโครงการแก้จนในครั้งนี้ มีจำนวนมากเนื่องจากข้อมูลสถิติของผู้พิการที่มาลงทะเบียนที่มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีจะมีมากถึงร้อยละ 91.5 ของผู้ที่เข้าร่วมทั้งหมด หรือประมาณ 3.4 แสนคน จึงทำให้เชื่อได้ยากว่ากลุ่มคนพิการที่ไม่ได้มาลงทะเบียนประมาณ 1.42 ล้านคนจะเป็นผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 1 แสนบาทต่อปีทั้งหมด

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรที่จะต้องดำเนินการเป็นอันดับแรก คือ การมุ่งเน้นในเรื่องของการตามหากลุ่มคนที่ตกหล่นจากโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชากรกลุ่มเฉพาะที่มักจะถูกละเลยและเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้เขียนเชื่อว่าการเข้าถึงกลุ่มคนที่ตกหล่นบางกลุ่มจะไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป เพียงแต่ต้องอาศัยการประสานฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เช่น ข้อมูลการจดทะเบียนคนจนกับข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการ เป็นต้น

การเดินก้าวแรกเป็นก้าวที่กำหนดทิศทางและอนาคตความสำเร็จของโครงการ การเข้าถึงกลุ่มคนที่ตกหล่นจากโครงการให้ครบถ้วนจะนำไปสู่การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาความยากจนของไทยได้อย่างแท้จริง

 

หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำสั่งวัดใจ: ตำรวจไม่ควรยุ่งการชุมนุม

Posted: 27 Jan 2018 07:17 AM PST

<--break- />

27 มกราคม 2561 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดวิธีการ (ปฏิบัติหน้าที่) ชั่วคราวก่อนการพิพากษา หลังวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" ของเครือข่ายภาคประชาชน หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุม

ทั้งนี้ การฟ้องดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจาก วันที่ 17 มกราคม 2561 ทางเครือข่ายประชาชนได้แจ้งการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ว่า จะมีการเดินขบวนและจัดกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" เพื่อรณรงค์ประเด็นทางสังคม เช่น รัฐสวัสดิการ ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่ทว่าหลังการยื่นหนังสือแจ้งการใช้สิทธิ เจ้าหน้าที่พยายามแทรกแซงโดยอ้างว่า กิจกรรมดังกล่าวสุ่มเสี่ยงล่อแหลมที่จะขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จึงขอให้ผู้จัดการชุมนุมพึงระมัดระวังและควบคุมผู้ร่วมการชุมนุมมิให้ปฏิบัติในลักษณะขัดขวางหรือต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ หรือแสดงป้ายและสัญลักษณ์ต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช. รวมถึงให้ผู้จัดการชุมนุมใช้ยานพาหนะในการเดินทางแทนการเดินเท้าและขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

แม้ว่าทางเครือข่ายฯ จะยืนยันว่า การชุมนุมสาธารณะดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ได้บัญญัติรับรองไว้ แต่ทางสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง อ้างเหตุว่า ในวันจัดกิจกรรมที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการขายเสื้อยืดที่มีข้อความความสื่อความหมายเกี่ยวข้องทางการเมือง และมีการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมกันมาลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย

ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่มีลักษณะเป็นการมั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามไม่ให้มั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป พร้อมทั้งให้ผู้จัดการชุมนุมยื่นคำร้องขออนุญาตการชุมนุมต่อหัวหน้าคสช.หรือผู้ได้รับมอบหมาย

ทั้งที่ ภายในงานดังกล่าว เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายต่างๆ มีการออกร้านเปิดตลาดขายอาหาร สินค้า และลงลายมือชื่อเพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 133 อีกทั้ง ยังเป็นกิจกรรมที่ พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ทำได้และ คสช. ไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรรมดังกล่าว

20 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการขัดขวางการเดินขบวน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกว่า 200 นาย ปิดกั้นบริเวณประตูทางเข้าออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินออกไปยังจังหวัดขอนแก่นตามที่ได้แจ้งการชุมนุมไปก่อนหน้าแล้ว

แม้ผู้ชุมนุมบางส่วนจะสามารถออกมาเดินได้ แต่นับตั้งแต่วันนั้น การเดินก็ถูกข่มขู่ ปิดกั้น ขัดขวาง จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น การติดตามถ่ายรูประหว่างเดิน การถ่ายบัตรประชาชนผู้ชุมนุม การค้นรถสวัสดิการ และการกดดันเจ้าของสถานที่พักไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าพักในแต่ละวัน

โดยระหว่างการไต่ส่วนของศาลปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ที่เข้าชี้แจงต่อศาลให้การไปในทางเดียวกันว่า การชุมนุมของเครือข่าย People GO ไม่ปรากฎว่ามีการกระทำที่ไม่สงบเรียบร้อยหรือมีอาวุธในระหว่างการชุมนุม และไม่กระทบต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

แต่การชุมนุมอาจเข้าข่ายผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป เพราะวันที่ 19 มกราคม 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ มีการจัดกิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และขายเสื้อซึ่งมีสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช. ซึ่งตลอดเวลาได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายทหาร อยู่ตลอด

จนช่วงกลางดึกของวันที่ 27 มกราคม 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งกำหนดวิธีการ(ปฏิบัติหน้าที่)ชั่วคราวก่อนการพิพากษาออกมา โดยมีจุดน่าสนใจดังนี้

หนึ่ง ศาลสั่งใหตำรวจปฏิบัติหน้าที่และอำนวยความสะดวกประชาชนตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จนถึงวันสุดท้ายที่เดินขบวน

ในคำสั่งศาลปกครองระบุว่า ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ มิให้กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 19 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุมสาธารณะ และการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเคร่งครัดจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561

สอง ศาลเปิดช่องให้ใช้กฎหมายอื่นแทรกแซงการใช้สิทธิของกลุ่มผู้เดินขบวนได้

ในคำสั่งของศาลปกครองยังระบุอีกว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดอันทำให้เป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะหรือเจ้าพนักงานตำรวจในบังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม หรือแก้ไข หรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือ "ดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้"

แม้ว่าคำสั่งศาลดังกล่าวจะมีลักษณะพบกันครึ่งทาง แต่ศาลก็ช่วยวางบรรทัดฐานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายปกติคืออำนวยความสะดวกประชาชนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ส่วนเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากนี้ ให้เป็นดุลยพินิจของตำรวจว่าควรจะทำหรือไม่ หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รับผิดชอบแทน

ก็นับเป็นโอกาสอันดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะได้กอบกู้ศักดิ์ศรี หลังถูกแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่โดยเจ้าหน้าที่ทหาร จากนี้ท่านคงสามารถอ้างได้ว่า ตำรวจต้องอำนวยความสะดวกตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถ้าเจ้าหน้าที่ทหารคิดว่าการชุมนุมใดๆ เป็นเรื่องผิดก็ขอให้ทหารเป็นคนดำเนินการแทน ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของใคร


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง" รายงานจากสกายวอล์คแยกปทุมวัน

Posted: 27 Jan 2018 04:07 AM PST

คลิปจากผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดกิจกรรม  "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." ของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ที่เริ่มมาตั้งแต่เวลา 17.00 น. โดยเป็นการนัดรวมตัวของประชาชนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ สนช. ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และมีการแก้ไขร่างกฎหมายเพื่อให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีก 90 วันจากโรดแมป ทำให้วันเลือกตั้งถูกขยับจากพฤศจิกายน 2561 ไปเป็นกุมภาพันธ์ 2562

โดยประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมได้ตะโกนคำขวัญ "เลือกตั้ง 61" เป็นระยะ พร้อมขับไล่ คสช. ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเข้ามาเจรจากับผู้ชุมนุม ขอให้เลิกกิจกรรมก่อนเวลา 19.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] เวลาประชาชนและเสวนา “คอร์รัปชัน 4.0”

Posted: 27 Jan 2018 03:31 AM PST

27 ม.ค. 61 กิจกรรมเวลาประชาชนและเสวนา "คอร์รัปชัน 4.0"  วันเสาร์ที่ 27 ม.ค. 13.00 น. ที่สวนครูองุ่น ทองหล่อซอย 3 วิทยากรรับเชิญ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ "จ่านิว" นำเสนอเรื่อง การตรวจสอบและผลกระทบจากการต่อสู้กับอำนาจรัฐ สฤณี อาชวานันทกุล นำเสนอเรื่อง ความโปร่งใสสุดขั้ว radical transparency กับการเพิ่มพลังพลเมือง วีระ สมความคิด นำเสนอเรื่อง การต้านคอรัปชั่นโดยภาคประชาชน และเอกชัย ไชยนุวัติ นำเสนอเรื่อง กฎหมายเกี่ยวกับการทุจริต องค์กรอิสระ และการบังคับใช้ ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา

ในช่วงหลังการเสวนา เอกชัย หงส์กังวาน ได้จัดกิจกรรมโหวตนาฬิกา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยรวบรวมภาพนาฬิกาที่ปรากฏเป็นข่าว มาให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมได้ลงคะแนน พร้อมนับคะแนน โดยจะนำภาพนาฬิกาที่ได้คะแนนสูงสุดไปมอบให้ พล.อ.ประวิตร ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บก.ลายจุด-วีระ สมความคิด ตั้งคำถาม คสช. ต่อเวลาสืบทอดอำนาจ

Posted: 27 Jan 2018 02:50 AM PST

"ไม่เห็นด้วยกับการที่ คสช. จะสืบทอดอำนาจ เพราะพฤติการณ์เขาต้องการสืบทอดอำนาจ ประเด็นสำคัญคือเรื่องนาฬิกา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ แล้วยังจะท้าทายประชาชนเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง" วีระ สมความคิด กล่าวตอนหนึ่ง

ในงาน "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." ที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมที่สกายวอล์คสี่แยกปทุมวันเย็นวันนี้ (27 ม.ค.) มีสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด และวีระ สมความคิด อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ให้สััมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสาเหตุที่เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมตั้งคำถามถึง คสช. เรื่องต่อเวลาสืบทอดอำนาจ

"ไม่เห็นด้วยกับการที่ คสช. จะสืบทอดอำนาจ เพราะพฤติการณ์เขาต้องการสืบทอดอำนาจ ประเด็นสำคัญคือเรื่องนาฬิกา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ แล้วยังจะท้าทายประชาชนเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง แล้วเราเห็นน้องๆ ลุกออกมาทำประเด็นนี้ ซึ่งเป็นวาระของประชาชน ผมก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย ก็อยากมายืนยันในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย" วีระ สมความคิดกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพฯ รัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า ชวนลงชื่อหนุนเพิ่มขบวนรถแอร์พอร์ตลิ้งค์

Posted: 27 Jan 2018 01:58 AM PST

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า ชวนประชาชนลงชื่อสนับสนุนการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ มาบริการประชาชนหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจัดซื้อแต่อย่างใด

 
 
ที่มาภาพ: สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
 
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา เพจสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้เชิญร่วมลงชื่อกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า (ซึ่งเป็นสามาชิกของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ (Airport Rail Link) มาบริการประชาชนหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจัดซื้อแต่อย่างใด ทำให้ประชาชนที่รับบริการตัองทนแบกรับความแออัดในการใช้บริการขบวนรถที่มีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อการบริการประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น 
 
โดยแบบลงชื่อสนับสนุนการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า Airport Rail Link ระบุว่าจากปัญหาขบวนรถไฟฟ้า Airport Rail Link ที่มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนที่มาใช้บริการเป็นอย่างมาก ซึ่งทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รถไฟฟ้า (สร.รฟฟ.) ได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่มาใช้บริการ และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2556 ที่มีมติเห็นชอบโครงการจัดหารถไฟฟ้าธรรมดา (City Line Airport Rail Link) จำนวน 7 ขบวน
 
ดังนั้นทางสหภาพแรงงานฯ จึงใคร่ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่าน ร่วมลงลายมือชื่อสนับสนุน ให้มีการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่จะนำส่งให้กับทางรัฐบาล ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า Airport Rail Link
 
ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานฯ ขอขอบพระคุณประชาชนทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการลงลายมือชื่อ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนทุกท่าน ในการมาใช้บริการรถไฟฟ้า Airport Rail Link ต่อไป
 
ร่วมลงชื่อได้ที่: https://goo.gl/o2sA76
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีมงาน 'ก้าวคนละก้าว' แจงใบเสร็จมีจำนวนมากทำให้ 'ล่าช้า-มีความผิดพลาด'

Posted: 27 Jan 2018 01:39 AM PST

หลัง 'ทิชา ณ นคร' โพสต์ในเฟสบุ๊คบริจาค 15,000 บาท ใบเสร็จส่งมาแต่กลับมียอดเงินในใบเสร็จเพียง 500 บาท ทีมงานก้าวคนละก้าวแจงเนื่องจากมีผู้ประสงค์ในการออกใบเสร็จเป็นจำนวนมากจึงทำให้มีความล่าช้าและอาจเกิดความผิดพลาดของใบเสร็จ และมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าออกใบเสร็จใหม่ที่ถูกต้องให้แล้ว

 
 
27 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า คุณ 'ทิชา ณ นคร' อดีต สปช. ได้โพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัวถึงเงินที่ได้บริจาคไป 15,000 บาทสมบทโครงการก้าวคนละก้าว เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือนมีใบเสร็จส่งมาแต่กลับมียอดเงินในใบเสร็จเพียง 500 บาทเท่านั้น
 
โดยระบุว่า "รอคำชี้แจงและพร้อมรับฟังเหตุผลที่สมเหตุผล ป้าสมทบทุนการวิ่งของพี่ตูน 15,000 บาท นานเกือบ 3 เดือน (26/1/61) ใบเสร็จมาถึง …ความช้าตรงนี้เข้าใจได้นะคะ? แต่ใบเสร็จ…ลงยอดเงิน 500 บาท นี่ต้องการคำชี้แจงค่ะ? ทิชา ณ นคร"
 
 
ล่าสุด เพจก้าว ได้ออกประกาศจากทีมงานก้าวชี้แจงว่า "เรื่องความล่าช้าและความผิดพลาดในการออกใบเสร็จ เนื่องจากมีผู้ประสงค์ในการออกใบเสร็จเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีความล่าช้า และอาจเกิดความผิดพลาดของใบเสร็จ"
 
"จากในกรณีที่เป็นข่าว ทางมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ได้ทำการออกใบเสร็จใหม่ที่ถูกต้องให้แก่ผู้ร้องเรียนแล้วเป็นที่เรียบร้อย จึงขอแจ้งให้ทราบมา ณ ที่นี้ หากมีปัญหาเรื่องการออกใบเสร็จรับเงิน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดอื่นๆได้ที่Callcenter โทร.02-3543699, 098-860-1411"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมจีนสู้กับการเซนเซอร์ของรัฐบาล เพื่อให้ได้พูดเรื่อง #MeToo แบบที่อื่น

Posted: 27 Jan 2018 12:45 AM PST

กระแสการเปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศอย่าง #MeToo ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในประเทศจีนเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีการเซนเซอร์อย่างเข้มงวดจากรัฐบาลและเคยมีการจับกุมนักสตรีนิยมที่พูดเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีคนเรียกร้องให้ดำเนินนโยบายป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หลังมีนักศึกษาและศิษย์เก่าเปิดโปงกรณีอาจารย์ชื่อดังของ ม.เป่ยหาง ล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอ

 
 
ที่มาภาพ: Voice of America, licensed for reuse
 
27 ม.ค. 2561 โกลบอลวอยซ์รายงานว่าหลังจากเกิดเหตุที่กรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเป่ยหางก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศหลายกรณี ทั้งนักศึกษาและศิษย์เก่าของหลายมหาวิทยาลัยในจีนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างก็ออกมาเรียกร้องให้มีการออกนโยบายต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในมหาวิทยาลัยจีนไม่มีนโยบายแบบนี้เลยแม้แต่น้อย ผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวนี้มีการใช้แฮ็ชแท็กของตัวเองว่า #EveryoneIn
 
ในขณะที่ผู้คนหลายแห่งของโลกออกมาสร้างความตระหนักในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศผ่าน #MeToo แต่การเซนเซอร์อินเทอร์เน็ตในจีนก็ทำให้ผู้คนพูดเรื่องพวกนี้ได้ยากกว่า นักกิจกรรมบอกว่าแม้แต่คำว่า "การต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ" ก็ถูกเซนเซอร์ในสื่อโซเชียลมีเดีย
 
อย่างไรก็ตามเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อกรณีของหลัวเฉียนเฉียน อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเป่ยหางแพร่กระจายออกไปทั่ว หลัวเฉียนเฉียนเล่าเรื่องที่เฉินเสี่ยวหวู่อาจารย์ของเป่ยหางล่อลวงเธอไปที่บ้านพี่สาวของเขาแล้วพยายามข่มขืนเธอ แม้ว่าเธอจะหนีออกมาได้แต่ต่อมาก็ทราบเรื่องว่ามีนักศึกษาคนอื่นๆ ที่ถูกหลัวเฉียนเฉียนล่อลวงไปข่มขืนจนตั้งครรภ์
 
หลังจากที่เรื่องของหลัวเฉียนเฉียนแพร่ไปทั่วก็เริ่มมีการเซนเซอร์โต้ตอบอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเปิดโปงเรื่องราวของนักศึกษาเป่ยหางคนอื่นๆ เกี่ยวกับกรณีนี้ได้ จนทำให้เฉินเสี่ยวหวู่ถูกให้ออกในที่สุดรวมถึงปลดยศ "ปัญญาชนแห่งแม่น้ำแยงซี" ออกด้วย
 
มีการอภิปรายในเรื่องนี้ทางเว่ยป๋อโซเชียลมีเดียของจีนอย่างกว้างขวาง นักกิจกรรมสตรีนิยมมองว่าเรื่องนี้เป็นแค่ชัยชนะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นโดยเตือนว่าการล่วงละเมิดทางเพศยังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในพื้นที่มหาวิทยาลัยของจีนโดยที่ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับปัญหานี้อย่างจริงจัง
 
หนึ่งในคนที่พูดถึงเรื่องนี้คือ เว่ยถิงถิง นักกิจกรรมสตรีนิยมที่เคยถูกตำรวจจับกุมเนื่องจากจัดการประท้วงต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในวันสตรีสากลเมื่อปี 2558 เธอทำการสำรวจเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัยเมื่อเดือน ก.ย. 2560 พบว่าจากกลุ่มตัวอย่าง 6592 ราย มีร้อยละ 70 ที่ระบุว่าพวกเขาเคยเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศแบบใดแบบหนึ่ง
 
ซึ่งหลายคนในโลกออนไลน์ของจีนก็มองว่ากรณีของเฉินเสี่ยวหวู่เป็นแค่ปัญหาระดับ "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" ที่มองเห็นได้แต่ยังมีส่วนที่มองไม่เห็นอยู่อีกมากมาย บ้างก็ชี้ให้เห็นว่ากาล่วงละเมิดทางเพศเป็นการสะท้อนถึงปัญหาเชิงระบบสังคมที่มีการใช้อำนาจของตัวเองในทางกดขี่ข่มเหงคนอื่น
 
จากปัญหาเรื่องการลุแก่อำนาจเช่นนี้เองทำให้นักศึกษา ศิษย์เก่า และอาจารย์หลายมหาวิทยาลัยในจีนเรียก้องให้มีการออกมาตรการคุ้มครองเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและให้มีระบบการรายงานเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้แม้จะมีการเรียกร้องมานานแล้วแต่ก็ยังคงไม่มีการออกนโยบายที่จริงจังเป็นรูปธรรม 
 
ทางด้านนักสตรีนิยมเว่ยถิงถิงก็ใช้โอกาสนี้ผลักดันให้มีการกดดดันจากประชาชนมากขึ้น โดยเสนอว่านอกจากแค่การเล่าเรื่องตัวเองอย่าง #MeToo แล้ว น่าจะมีการปฏิบัติการจากการบอกว่า "ฉันขอร่วมด้วย" (I'm in)
 
กระนั้นก็มีคนกังวลว่าแคมเปญแบบ #MeToo จะถูกไล่เซนเซอร์อีกครั้งแบบเดียวกับที่ทางการจีนเคยจับกุมนักกิจกรรมสตรีนิยม 5 คนมาก่อนในช่วงวันสตรีสากลปี 2558
 
เคยมีรายงานของนิวยอร์กไทม์ระบุว่านอกจากจีนจะเซนเซอร์การเรียกร้องนโยบายป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว นักกิจกรรมยังถูกเตือนและถูกกล่าวหาว่าร่วมกับต่างชาติทรยศประเทศ นั่นทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวสตรีนิยมในจีนต้องรับมือกับการถูกเซนเซอร์ด้วยในช่วงที่วันสตรีสากลเริ่มใกล้เข้ามา
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
#MeToo Has Hit China's Universities, Despite Efforts of Internet Censors, Global Voices, 25-01-2018 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“เดินมิตรภาพ” ชัยชนะก้าวแรกชุมนุมสาธารณะ วางฐานการชุมนุมในยุคคสช.

Posted: 26 Jan 2018 11:07 PM PST

วงคุยชี้ "เดินมิตรภาพ" ได้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง เปิดเสรีภาพการชุมนุม ศาลบันทึกเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ ใช้หลักพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ปี 58 สรุปสามข้อ ไม่ต้องขออนุญาตแค่แจ้งก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง การชุมนุมแบบต่อเนื่องหลายพื้นที่แจ้งเพียงแค่พื้นที่เริ่มต้นการชุมนุม และผบ.ตร.ต้องแต่งตั้งจนท.สูงสุดเพื่อดูแลการชุมนุม

วงคุยเครือข่าย People Go Network ณ บ้านมลฤดี ถนนมิตรภาพซอย 8 จ.นครราชสีมา

ความคืบหน้ากรณีศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ตำรวจดูแลการเดินมิตรภาพ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มิให้กระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและให้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุม จนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2561 อันวันสิ้นสุดการชุมนุมสาธารณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากบ้านมลฤดี ถนนมิตรภาพซอย 8 จ.นครราชสีมา วันนี้ (27 ม.ค.) เวลาประมาณ 11.00 น. เครือข่าย People Go Network ได้มีกิจกรรมล้อมวงคุยในโอกาสที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยวงตั้งข้อสังเกตว่าศาลได้มีคำสั่งโดยอาศัยหลักตามพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 โดยไม่อ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ซึ่งฝ่ายผู้ถูกฟ้องคือเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อ้างเพื่อบอกว่าการชุมนุมครั้งนี้ผิด

ปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จ.สงขลา กล่าวว่า พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ซึ่งออกในยุคเผด็จการเริ่มถูกตรวจสอบด้วยการใช้กฏหมาย แล้วศาลก็รับรองในสิทธิของผู้ชุมนุม โดยมีคนกลุ่มหนึ่งกล้าทดลองใช้จริง เอาอิสรภาพตัวเองเข้าไปแลก เพื่อให้เห็นผลว่ากฎหมายนี้เป็นยังไง

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวว่า ตามคำสั่งนี้คือการให้เราปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ชุมนุมฯ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนในทุกกลุ่มว่าเรามีเสรีภาพในการชุมนุม ในการรวมกลุ่ม สื่อสาร ที่ไม่ใช่เพียงแค่การมาชุมนุมเพียง 4 คนภายใต้คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งความเป็นจริงเราไม่เคยรวมกันแค่ 4 คน เรารวมกันมากกว่านั้นอยู่แล้ว

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า สิ่งที่ทนายฝ่ายเราโต้แย้งคือ ศาลต้องพิจารณาว่าจะให้คำสั่งคสช.ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญรึเปล่า เพราะสิ่งที่เราทำเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญ คำนี้ถูกศาลบันทึกไว้ ซึ่งน่าสนใจ

นิมิตร์กล่าวต่อว่า ถือเป็นชัยชนะก้าวแรกที่จะทำให้เราเดินได้ ชุมนุมได้ แสดงความคิดเห็นได้ เนื่องจากศาลรับรองสิทธิของเรา ศาลจึงมีคำสั่งคุ้มครอง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยืนยันว่าการชุมนุมไม่มีการกระทำใดที่ผิดกฏหมาย เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ที่สำคัญอันหนึ่งคือศาลพูดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจค้นรถ ขอถ่ายบัตรประชาชน น่าเชื่อว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความหวาดกลัว ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามที่แจ้งในการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ศาลใช้เป็นเหตุในการสั่งคุ้มครองชั่วคราว

นิมิตร์ข้อสังเกตว่า แต่ทั้งนี้ศาลพูดว่าเราสามารถใช้เสรีภาพการชุมนุมได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ถ้าเมื่อใดมีเหตุว่าให้ตีความได้ว่าเราชุมนุมละเมิดกฎหมาย เขาก็จะมีคำสั่งให้เรายุติได้โดยต้องไปร้องต่อศาล

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (Ilaw) เสริมว่า ศาลปกครองเปิดช่องไว้ในบรรทัดสุดท้ายว่าการชุมนุมของเราจะได้รับการคุ้มครองไปตลอดจนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เท่าที่ไม่ขัดต่อพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกฎหมายอื่น ซึ่งกฎหมายอื่นก็คือคำสั่งหัวหน้าคสช. ด้วย เพราะฉะนั้นยังเปิดช่องอยู่ว่า ถ้าตำรวจจะอ้างว่าเป็นการขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. เพื่อจะห้ามการชุมนุมก็ยังทำได้อยู่

ทั้งนี้หลังจากที่ศาลได้ใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ภายในวงได้มีการสรุปถึงแนวทางทางกฎหมายของการชุมนุมสาธารณะ ภายใต้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ดังนี้

1.เมื่อมีการชุมนุมผู้ชุมนุมไม่ต้องขออนุญาต แต่เป็นเพียงการแจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง สิ่งที่แจ้งในการชุมนุม คือ เป็นพื้นที่ไหนบ้าง มีจำนวนคนเท่าไหร่ ที่ห้ามชุมนุม เช่น พระราชวัง รัฐสภา ศาล หรือพื้นที่ราชการให้ชุมนุมได้แต่ห้ามปิดกั้น กีดขางทางเข้าออก ห้ามกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือไม่กีดขวางการจราจร มีแผ่นป้ายได้ มีการแจกเอกสารได้ ใช้เครื่องเสียงได้แต่ห้ามดังเกิน 70 เดซิเบล ถ้าเกินกว่านี้ก็ต้องไปขออนุญาตต่างหาก

"เราถูกบังคับ ถูกกดทับมาตลอดว่าทำอะไรต้องขออนุญาต แต่พ.ร.บ. นี้ไม่ต้องขออนุญาต เป็นสิทธิเสรีภาพที่เราจะชุมนุม เพียงแต่กฎหมายบอกว่าต้องแจ้งตำรวจเพื่อให้เขาได้เตรียมตัวดูแลและอำนวยความสะดวกการชุมนุม" ปาฏิหาริย์กล่าว

2. การชุมนุมเดินมิตรภาพครั้งนี้ เป็นการชุมนุมต่อเนื่องหลายพื้นที่ ซึ่งศาลบอกว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่ต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สูงสุดชัดเจนที่ต้องมาเอื้ออำนวย กำกับการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ที่ผ่านมาเมื่อมีการชุมนุมก็จะแจ้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ผู้กำกับการตำรวจในพื้นที่นั้นๆ แต่เมื่อเป็นการชุมนุมต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในหลายพื้นที่จึงจำเป็นต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สูงสุดมาควบคุม

3. การแจ้งการชุมนุมในรูปแบบการชุมนุมต่อเนื่องหลายพื้นที่ แจ้งเพียงแค่พื้นที่จุดเริ่มต้นการชุมนุม จากนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องประสานงานกันต่อเอง ดังนั้นเมื่อมีการเคลื่อนไปในหลายพื้นที่จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งซ้ำในแต่ละพื้นที่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (2): ‘คนย้าย’ เล่าแรงกดดันจาก กทม. ชุมชน ปากท้องและความมั่นคงทางที่อยู่

Posted: 26 Jan 2018 10:18 PM PST

ตามไปคุยกับคนย้ายถึงสถานพักพิงชั่วคราวที่ กอ.รมน. จัดเอาไว้ให้ เล่าอดีตการต่อสู้ก่อนตัดสินใจย้ายออกเพราะรู้สึกกดดันจากชุมชนและ กทม. เผย ยื้อ กทม. แต่ละครั้งมีต้นทุนสูง ชาวบ้านไม่ต้องทำมาหากิน บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าเสียดาย ไม่จำเป็นไม่ย้าย

หลังปรากฏบนหน้าข่าวมานานกว่า 25 ปี มหากาพย์ชุมชนป้อมมหากาฬ-กรุงเทพฯ ได้มาถึงจุดที่ชุมชนจำนวนกว่า 300 คน เหลือไม่ถึง 50 คนแล้ว เส้นทางของชุมชนชานเมืองดั้งเดิมรัตนโกสินทร์แห่งสุดท้ายที่กำลังถูกไล่รื้อนั้นดำเนินไปท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่เป็นการลิดรอนสิทธิของคนในชุมชน ความเหมาะสมของการเวนคืนที่ไปทำสวนสาธารณะ ความไม่เหมาะไม่ควรที่จะให้คนจนอาศัยในพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง ฯลฯ

ทิศทางของชุมชนจะเป็นอย่างไรต่อไปเป็นประโยคคำถามที่ครอบคลุมไปถึงอนาคตของคนที่อยู่ข้างใน ในวันนี้ที่ชุมชนเบาบางและหายใจรวยริน ประชาไทลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อพูดคุยกับผู้อยู่อาศัยที่ยังอยู่ ติดตามไปหาคนที่ย้ายออกไปยังสถานพักพิงชั่วคราว สมาคมสถาปนิกสยามกับความพยายามรักษาสถาปัตยกรรมของชุมชน และพูดคุยกับนายทหารฝ่ายข่าวของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) ที่ทุกวันนี้ตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชนตลอด 24 ชั่วโมงมาสองเดือนแล้ว เพื่อทราบถึงเป้าหมาย ความหวัง ทิศทาง ความกดดันของแต่ละตัวละคร สิ่งที่สะท้อนคือภาวะความไม่มั่นคงของทั้งคนที่ยังอยู่และคนที่ย้ายออก สุดท้ายจะย้ายหรือจะอยู่ก็เป็นทางเลือกบนสภาวะที่ไม่มีทางเลือก

ความเดิมตอนที่แล้ว: จุดเริ่มต้นของปมปัญหา อัพเดทสถานการณ์ปัจจุบัน

ชุมชนป้อมมหากาฬ เดิมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา ปี 2559 มีบ้านเรือนทั้งหมด 64 หลัง ประชากรประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย เช่น ขายกระเพาะปลา ส้มตำ ไก่ย่าง ขายพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมีทั้งขุนนาง ข้าราชบริพาร ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยอยู่นอกกำแพงพระนคร รวมทั้งมีชุมชนเรือนแพอยู่ในคลองโอ่งอ่าง โดยมีป้อมที่สร้างขึ้นตามกำแพงพระนครในสมัยนั้นรวม 14 ป้อม (เหลือปัจจุบันเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ)

ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี 2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชาวบ้านบางส่วนที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้ว แต่ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต่อสู้และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2546 กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อปิดล้อมเตรียมการไล่รื้อ แต่ชาวชุมชนและเครือข่ายคูคลองหลายร้อยคนได้คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไป ต่อมาในปี 2547 ชาวชุมชนยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองพิพากษาในเวลาต่อมาให้ กทม. มีสิทธิในการเวนคืนเพื่อพัฒนาที่ดิน

เมื่อปี 2560 มีการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้แทนภาคประชาสังคม และฝ่ายความมั่นคงช่วยเดือน เม.ย. - ก.ค. โดยกลุ่มนักวิชาการเสนอแนวทางการพิจารณาอนุรักษ์บ้านผ่านคุณค่าทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมือง, ด้านสังคมและวิถีชีวิต, ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ ซึ่งข้อตกลงในตอนนั้นได้ตกลงกันว่าจะให้เก็บบ้านในชุมชนเอาไว้จำนวน 18 หลัง

เมื่อ 7 ก.ค. 2560 ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. ตัวแทนพูดคุยประเด็นป้อมมหากาฬของทาง กทม. ระบุว่าไม่สามารถเก็บบ้านไว้ได้ทุกหลัง และแบ่งบ้านเป็นโซนที่จะอนุรักษ์และโซนที่จะต้องรื้อ ก่อนที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวให้ทาง กทม. พิจารณาต่อไป แต่หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเมืองขึ้นมาและได้ตัดสินให้คงบ้านไว้เพียง 7 หลัง ทั้งนี้ การเก็บบ้านไม่ได้หมายความว่าจะให้เจ้าบ้านอยู่อาศัยในบ้านได้ต่อไป

ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวง ร.9 พื้นที่หัวป้อมถูกนำไปใช้เป็นห้องครัวและห้องสุขา และหลังจากพระราชพิธีฯ ในเดือน พ.ย. หน่วยทหาร-พลเรือน ของ กอ.รมน.กทม. เข้าไปตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชน โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามการลักลอบการจำหน่ายพลุไฟ และยังคงปักหลักอยู่ที่ลานกลางชุมชนจนถึงทุกวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ผลัดเวรมานั่งเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง

15 ม.ค. กทม. เข้ารื้อบ้านเลขที่ 63 ที่เจ้าของบ้านสมัครใจย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่พักพิงชั่วคราวที่สำนักงานประปาเก่าที่สี่แยกแม้นศรีที่ถูกจัดเอาไว้ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งในรั้วเดียวกันมีอาคารที่จัดเอาไว้เพื่อเป็นที่พักของคนไร้บ้าน เรียกว่า บ้านอิ่มใจ ทาง กทม. และ กอ.รมน.กทม. มีแผนที่จะใช้ที่ดินกรมธนารักษ์ในย่านเกียกกายปลูกที่พักอาศัยให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ต่อ

ในวันเดียวกัน ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ถูก กอ.รมน.กทม. เรียกตัวด้วยคำสั่งที่ 13/2559 กรณีมีบุคคลที่เพิ่งย้ายออกจากป้อมมหากาฬฟ้องร้องว่าธวัชชัยหลอกให้นำเงินจำนวน 80,000 บาท ไปซ่อมแซมบ้าน จากนั้นธวัชชัยก็ใช้อิทธิพลกดดันให้ตนออกจากบ้านที่ซ่อมแซม ซึ่งหลังจากคู่กรณีพูดคุยกันและชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ กอ.รมน. ก็พบว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด เนื่องจากธวัชชัยไม่สามารถบังคับใครให้อยู่หรือย้ายจากชุมชนได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน รวมถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลกดดันนั้นมาจากการที่ธวัชชัยมองหน้า และเพราะคนในชุมชนไม่พูดจาด้วย

พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬระบุว่า ปัจจุบันเหลือประชากรในป้อมจำนวน 10 หลังคาเรือน จำนวนคนราว 45 คน ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม. มีแผนจะเข้ารื้อบ้านอีกในช่วงวันที่ 29-31 ม.ค. 2561

ฟังเสียงคนย้าย

สำนักงานการประปาเก่าย่านแม้นศรี บริเวณเดียวกันกับอาคารที่ถูกนำมาใช้เป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวให้กับชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่ย้ายออกมา ซึ่งในรั้วสำนักงานเดียวกันก็มีอาคารที่ถูกเปิดให้เป็นที่พักพิงกับคนไร้บ้าน

เมื่อผู้สื่อข่าวพบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เฝ้าหน้าประตูเพื่อขอพบชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปตัวอาคารด้านใน แต่เมื่อเข้าไปแล้วจึงถ่ายภาพได้

เมื่อสอบถามชาวบ้านที่ย้ายมาจึงได้ทราบว่า กอ.รมน.กทม. เป็นผู้จัดแจงเชื่อมต่อไฟฟ้าและทาสีห้องไว้รับรองผู้ที่มาอาศัย แต่น้ำประปาและห้องสุขาต้องใช้รวมกันที่ชั้นหนึ่ง


ห้องสุขา

พีระพล เหมรัตน์ อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ประกอบอาชีพปั้นเศียรพ่อแก่ เป็นเครื่องปั้นดินเผา แต่ช่วงนี้มีกระบวนการติดต่อขอย้ายที่อยู่จึงพักงานไว้ก่อน อาศัยในป้อมมหากาฬมากว่า 40-50 ปีแล้ว แต่ก่อนพำนักแถวคลองหลอด หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์แล้วโดนไล่ที่เพื่อทำถนน จึงต้องย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ จากนั้นก็ไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของแฟนในชุมชนป้อมมหากาฬ ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกชัดเจนว่าพื้นที่ในชุมชนป้อมมหากาฬไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป และทราบว่ามีที่ที่ทาง กอ.รมน. กทม. ได้เตรียมดำเนินการขอเช่าที่เอาไว้จึงปรึกษาครอบครัวและย้ายออกมาเพื่อหาความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย ตอนนี้ชาวบ้านที่ย้ายมามีประมาณ 15 ครอบครัว อยู่ 15 ห้อง นับเป็นคนได้ประมาณ 60 คน

"แฟลตนี้ไม่มีชุมชนอื่น เป็นสถานที่เร่งด่วนที่สั่งโดย รองนายกฯ ประวิตร (วงษ์สุวรรณ) สั่งให้ กอ.รมน. มาดูที่นี่โดยเฉพาะ ให้ความสำคัญกับการหาที่อยู่ใหม่ให้คนในป้อม ให้อยู่สะดวกสบาย ก็มี เสธ. มาเดินดูหลายคน" พีระพลให้ข้อมูลเพิ่มเติม

"เราก็สู้มา 25 ปีแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ เนื่องจากที่ตรงนั้น ข่าวสารและข้อมูลมันชัดเจนว่าไม่สามารถอยู่ต่อได้ในอนาคต เราและครอบครัวจึงปรึกษากันว่าไปดูที่อื่นไหม พอดีได้ที่ที่เกียกกาย หลังวัดแก้วแจ่มฟ้า มีที่ประมาณเกือบ 1 ไร่ เป็นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งทางทหาร กอ.รมน. ก็ได้ดำเนินการขอเช่าที่ กรมธนารักษ์ก็ไม่ติดอะไร แต่ตอนนี้อยู่ในขบวนการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อทำการเช่าที่ จึงตัดสินใจออกมา"

"ประมาณปลายปี 60 ขบวนการสู้มานานเราก็มองออกว่าเราสู้ไปถึงไหน อีกส่วนหนึ่ง ถ้าสู้แล้วไม่ได้ อนาคตก็ต้องออกไปหาที่อยู่นอกเมือง ชานเมือง ไม่เอื้ออำนวยกับการประกอบอาชีพ แหล่งประกอบอาชีพ แต่ถ้ามองแล้วมีที่ในกรุงเทพฯ เราจึงตัดสินใจว่าถ้าอยู่ไม่ได้จริงๆ เราต้องเลือกที่แล้ว จึงปรึกษากับครอบครัวว่าเราจะเลือกที่ตรงนี้ เลยออกมา ต้องการความมั่นคง อยู่ที่ชุมชนความมั่นคงไม่มี เพราะบ้านก็ไม่ใช่ของเรา บ้านก็ไม่ใช่ว่าจะสวยงาม ปีหนึ่งก็มาไล่ที จะเอาเงินมาปลูกสร้างก็กลัวสูญเปล่า"

พีระพลกล่าวว่า ทางผู้ที่ย้ายมายังไม่มีการพูดคุยกับคนที่ยังอยู่ แต่มีทหารไปพูดคุยว่าให้มาพักที่นี่ก่อนแล้วค่อยย้ายไปเกียกกายด้วยกัน ที่ผ่านมาก็มีคนมาดูพื้นที่และพยายามทยอยออกมาแล้วเพราะว่าไม่มีความมั่นคงถ้าจะยังคงอยู่ในชุมชนต่อไป ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่ค่อยได้คุยกับคนในชุมชนเพราะว่าอยากให้เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องตัดสินใจกันเองว่าจะอยู่หรือย้าย

"คนข้างในยังมั่นใจว่าเขายังอยู่ข้างในได้ แต่ก็มีส่วนที่อยู่ไม่ได้ ตรงนี้อยู่ที่ความสมัครใจ ผมเลยไม่กล้าไปชวนใครออกมาข้างนอก เพราะชีวิตและครอบครัวเขา เราไม่กล้าตัดสินใจ ต้องให้เขาตัดสินใจเอง เลยเป็นที่มาที่ไปว่าไม่ค่อยได้คุยกับทางนั้น ไม่ได้ทะเลาะกันนะ แต่ไม่ได้เข้าไปคุย เวลาเขามาที่นี่เราก็เข้าไปคุย"

อดีตรองประธานชุมชนที่ย้ายออกมาให้ข้อมูลเรื่องเงินชดเชยว่า ทุกหลังคาเรือนที่ย้ายออกมาได้รับเงินหมด แต่ในอัตราที่ไม่เท่ากัน แล้วแต่ขนาดบ้านและการต่อรองกับทาง กทม. ซึ่งถ้าบ้านหลังไหนสวยหน่อยก็อาจจะได้รับเงินเพิ่ม

ส่วนเรื่องกระบวนการย้ายไปที่เกียกกาย พีระพลเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ทหารมาบอก ว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ พื้นที่ดังกล่าวมีขนาดประมาณเกือบหนึ่งไร่ แต่นอกจากกลุ่มชุมชนป้อมมหากาฬแล้ว ก็จะมีกลุ่มชุมชนแม่น้ำเจ้าพระยาไปอาศัยรวมกัน ทั้งสองกลุ่มกำลังจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อนำเงินมารวมกันแล้วซื้อที่ จากนั้นก็จะมาออกแบบวางผังกัน ซึ่งส่วนตัวตนเองชอบบ้านโฮมทาวน์ที่เป็นบ้านสองชั้น ไม่ชอบแฟลต เพราะพื้นที่ข้างบนใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ในกระบวนการนี้ก็ยังมีการเผื่อที่ให้คนที่ยังไม่ย้ายออกจากชุมชนมาอยู่

"ส่วนหนึ่งเราต้องคำนวณอยู่ว่าตรงนู้น (ชุมชนป้อม) ที่เหลืออยู่หน่อยเดียว เราก็ทำเผื่อไว้นะ เราสร้างกลุ่มออมทรัพย์เผื่อเอาไว้เพื่อจัดตั้งสหกรณ์เผื่อไว้ทางนี้เข้ามาอยู่ การสร้างมันต้องใช้เวลา ต้องออกแบบสำรวจ ดูความต้องการชาวบ้าน ก็ทำการโดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเมือง (พอช.) ประสานเรื่องงบประมาณ แต่เราก็ต้องเก็บออมกลุ่มไว้เพื่อสร้างขบวนการ ทุกเดือนที่นี่ก็มาลงออมทรัพย์กันทีหนึ่ง คนที่กำลังจะย้ายมาใหม่ก็กำลังมาสมัครเป็นสมาชิกออมทรัพย์เพื่อที่จะเข้าไปอยู่ที่บ้านเกียกกาย ตอนนี้เราก็เปิดกลุ่มรอไว้ก่อน เราก็รับ แต่ต้องไม่เกิน 20 ยูนิต เพราะคาดว่าที่นู่นน่าจะได้ 40 ยูนิต เราก็แบ่งกับทางนู้น (กลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) กลุ่มละ 20 ยูนิต เช่าที่รวมกัน แต่แบ่งคนละครึ่ง สหกรณ์เป็นผู้เช่าทั้งหมด"

พีระพลแสดงความเสียดายที่ชุมชนป้อมมหากาฬต้องถูกไล่รื้อ เพราะว่าเสียดายที่ตั้งของชุมชน รวมถึงความเป็นมาที่ยาวนาน การเก็บบ้านเอาไว้เพียง 7-8 หลังตามความเห็นของทาง กทม. ถือว่าน้อยไป ต่อให้เป็น 18 หลังตามข้อตกลงของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายก็น้อยไปเสียด้วยซ้ำ

"จริงๆ บ้าน 18 หลังมันเป็นบ้านร่วมสมัย คือเป็นของจากเดิมแล้วปลูกสร้างใหม่ นักวิชาการก็มาเดินดูว่าหลังไหนจะเอาไว้ ไม่เอาไว้ สมาคมสถาปนิกสยามก็เข้ามาวาดแบบแปลนแล้วเสนอให้ กทม. เก็บบ้าน 18 หลังทั้งที่เป็นบ้านเก่าและบ้านร่วมสมัยไว้ แต่ทาง กทม. เขามีอะไรไม่รู้ เขาก็คิดของเขาว่าบ้านร่วมสมัยเขาจะไม่เอา จะเอาบ้านที่เก่าและดั้งเดิมจริงๆ แต่ใน 18 หลังมันมีหลายหลังที่ใช้งบประมาณแทบจะสร้างทั้งหลัง มันก็ดูไม่คุ้ม เขาเลยเอาบ้านที่พอบูรณะด้วยงบประมาณจำนวนหนึ่งเอาไว้ แต่ผมยังเห็นว่าถ้าจะเก็บก็ควรจะเก็บให้มันเยอะหน่อย เก็บไว้ 7-8 หลังไม่น่าเก็บ มันดูเหมือนน้อย ไม่รู้จะเอาไว้ชูกับใครเขา นี่ขนาดเก็บไว้ 18 หลัง ถ้าเดินจากตรอกพระยาเพชรปราณีจากประตูช่องกุดเข้ามา ก็เดินแค่ 20-30 เมตรก็จบแล้ว แต่เดิมมันมีทางติดด้านหัวป้อม มีชาวบ้านอยู่ เป็นตรอกนกเขา ขายอาหารสัตว์ ทำกรงนกปรอทจุก มันมีประวัติทั้งนั้น แต่ กทม. ไม่ให้อยู่ ตัดออก พอตัดออกไปมันก็เหลือตรอกพระยาเพชรอย่างเดียว"

"เสียดาย บอกตรงๆ เสียดายภูมิศาสตร์ที่มันอยู่ ถ้าเราอยู่กันครบมันน่าจะดูดีกว่า ในเมื่อมันอยู่ไม่ครบ แล้วในอนาคตมองแล้วว่าอย่างไรเสียเขาก็ไม่ให้อยู่  บ้านผมก็เป็นหนึ่งใน 11 หลังที่เขาจะไม่เอาไว้ (ไม่เอาไว้ตั้งแต่แรกในสมัยที่ข้อเสนอยังเป็นการเก็บบ้านไว้ 18 หลัง) ก็เลยต้องออก  กระบวนการต่อสู้ก็ดำเนินไป แต่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของบ้านแต่ละหลัง คนอยู่ข้างในก็เริ่มกดดัน ชาวบ้านเริ่มมีปัญหากัน พอมีปัญหากันเขาก็ไม่เอาแล้ว ถ้าปัญหาถูกจัดการโดยใครไม่ได้ ไม่มีใครช่วยได้ เพราะถึงช่วยเขาก็โดนออกอยู่ดี ดังนั้นเขาเลยเลือกที่จะออกดีกว่า"

เมื่อพูดถึงความกดดัน พีระพลระบุว่า มีทั้งแรงกดดันจากหน่วยงานภาครัฐและภายในชุมชนด้วยกันเอง การต่อสู้กับหน่วยงานรัฐมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านต้องเอาเข้าแลกเพราะว่าทุกคนต้องลางานกันมา นอกจากนั้นยังมีความเคลือบแคลงเรื่องความโปร่งใสของงบประมาณและความขัดแย้งกับตัวผู้นำในเรื่องอารมณ์และเงินออมทรัพย์

"หน่วยงานภาครัฐทุกปีก็มาปิดป้อม พอมาหนึ่งทีเราก็เรียกพี่น้องเครือข่ายมาช่วยกัน พอหน่วยงานรัฐมาถึงเห็นคนเยอะก็กลับไป แล้วพี่น้องก็กลับกัน แล้วใครจะมาได้ทุกวัน แต่ กทม. โทรกริ๊งเดียวหน่วยงานก็มาแล้ว พี่น้องก็ต้องทำงานกัน ใครจะมาได้ทุกวัน กดดันภายใน มีปัญหากันเกี่ยวกับเรื่องผู้นำ งบประมาณมันไปมาอย่างไร ชาวบ้านก็เคลือบแคลงอยู่ มีส่วนทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ พอรู้ว่าจะตัดพวกเราออกสิบกว่าหลังก็ไม่ให้ความสำคัญกับสิบกว่าหลัง ทั้งที่สิบกว่าหลังนั้นเป็นพวกแรงงานที่ช่วยซ่อมแซม ช่วยบูรณะทั้งนั้นเลย พี่น้องสู้กันมา 20 กว่าปี พอรู้ว่าตรงไหนอยู่ได้ ตรงไหนอยู่ไม่ได้แล้วก็ไม่ช่วยกัน มันกลายเป็นเราโดนทิ้ง"

"สู้มา 20 กว่าปี ถ้าจะได้มันได้นานแล้ว มันยาก แล้วยิ่งเรายื้อไปมันมีแต่เจ็บ เวลาปิดป้อมทีหนึ่งอาชีพก็หายไป คนก็ต้องหยุดงานมาเฝ้ายามทั้งกลางวันกลางคืน มันเหนื่อยและทรมานจิตใจกับเวลา 20 กว่าปีที่โดนกันมา พอมาถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดแตกมันก็ระเบิดขึ้นมา มันก็ยากที่จะเยียวยาให้เป็นเหมือนเดิมได้ ต่างคนต่างไป ผมก็เลยรวบรวมคนที่ออกมาเพื่อว่าจะไปอยู่ที่จุดที่มุ่งหมายเดียวกัน แต่ก็ขอให้เร็วหน่อย จะได้ดำเนินการได้ ที่มันไม่เหลือเยอะ ใครมาก่อนก็ได้ก่อน"

"ผมว่ามันเป็นเรื่องความกดดันของผู้นำที่หาทางออกไม่ได้มากกว่า แล้วบางทีตัวเองทำอะไรผิดลงไปก็กลับมากดดันกับชาวบ้าน ลูกบ้านก็บอก กี่ครั้งๆ ก็เป็นแบบนี้ ต่อจากนี้จะไม่ลงแล้ว แทนที่โดนกดดันแล้วจะมาหาทางออกกับชาวบ้าน แทนที่จะอุ้มมวลชนเอาไว้ เพราะการสร้างขบวนมันต้องอุ้มมวลชน ถ้าตัด คัดมวลชนออกไปมันก็หายหมด สุดท้ายก็เป็นแบบนี้ เหลือไม่กี่หลัง สิ่งนี้เลยเป็นปัญหา แล้วทาง กอ.รมน.กทม. ก็เรียกไปคุยเรื่องงบประมาณต่างๆ ก็ชี้แจงไป ทางเราเองตอนนี้ก็เดินหน้า ชาวบ้านพยายามเดินหน้าหาที่ใหม่ให้ได้ ส่วนเรื่องเขาจะสอบสวนกันอะไรยังไงเขาก็มีข้อมูลหมดแล้ว เพราะเรียกชาวบ้านไปสอบถามหมดแล้วทั้งเรื่องที่มาที่ไปงบประมาณอะไรก็ว่ากันไป"

เขาเล่าว่านอกจากนี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว ยังมีปัญหากันเรื่องการถอนเงินจากออมทรัพย์ชุมชนด้วย

"ข้างในมันมีปัญหาที่สะสมมานาน ผมไม่ใช้คำว่าอิทธิพล ใช้คำว่า ใช้ความคิดส่วนตัวเป็นที่ตั้งดีกว่า ไม่ว่าใครจะเสนออะไรก็จะไม่ค่อยฟัง ใช้ความคิดส่วนตัวและอารมณ์เป็นที่ตั้ง การเป็นผู้นำมันใช้ตัวนี้ไม่ได้ ทำที่ไหนแตกที่นั่น เพราะผมทำขบวนอยู่ กำลังเราเหลือน้อยก็ต้องอุ้มกันเอาไว้ เฮ้ย อย่าเพิ่งไปนะ ถึง กทม. แม่งบอกให้ไปแต่เรามีมวลชน เดี๋ยวมีพี่น้องมาช่วย พอพี่น้องที่จะมาช่วยเห็นคนหายหมดก็สงสัยว่า สู้แบบไหนวะ ทำไมไม่เอาคนไว้ พอมาถามจากพี่น้องก็บอกว่าโดนคัดออก ไม่เอาเขาไว้ ถือว่า 18 หลังได้อยู่ แต่ 18 หลังนั่นเขาคุยกันเรื่องเก็บบ้านนะ ไม่ได้คุยเรื่องคน ทางนั้น (ชุมชน) คงคิดว่าคนจะได้อยู่มั้ง เขาก็บอกว่างั้นก็เตรียมเก็บเสื้อผ้า เตรียมออก เราก็ทิ้งชาวบ้านไม่ได้ก็เลยบอกเขาว่างั้นเราออกด้วยแล้วกัน ก็ปรึกษาครอบครัว ลูก เมียก่อนจะออกมาแล้ว"

พีระพลกล่าวว่า อยากให้เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬจบลงโดยที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด การย้ายถิ่นฐานควรเป็นการย้ายที่ผู้อาศัยในชุมชนเดิมยอมรับ

"ชาวบ้านที่ออกมาผมอยากให้เขามีที่อยู่อาศัยแบบที่พวกเขาต้องการ แบบเกียกกายนี่ผมต้องการ เพราะไม่ใกลจากเมือง แหล่งทำมาหากิน แหล่งลูกค้า สอง ผมอยากให้ กทม. โอเคกับทั้งทางที่ยังอยู่ในนั้นโอเค ไม่รู้จะโอเคแบบไหน อย่างน้อยก็อยากให้เขามีความสุข คือถ้าเขาอยากจะย้ายก็ให้มีความสุขกับพื้นที่ที่เขาต้องการ ก็ต้องหาที่ให้เขาหน่อย แล้วให้เป็นที่ที่เขาพอใจด้วย อยากให้ทั้งสองฝ่ายสบายใจ ถ้ายืนยันที่จะอยู่ตรงนั้น ก็เป็นเรื่องของหน่วยงานที่จะต้องเอาปัญหามานั่งคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเอาผู้นำ เอาชาวบ้านออกได้ ผมว่าถ้าจริงๆ ผู้นำออกคนหนึ่ง คนอื่นก็ต้องไปหมด เนื่องจากกลัวว่าไม่มีที่ไป"

ต่อคำถามที่ว่า ถ้าเกิดไม่ได้ที่บริเวณเกียกกายที่มีการพูดคุยกันไว้จะทำอย่างไร พีระพลตอบว่า

"ถ้าไม่ได้ก็ต้องมาถามชาวบ้าน ผมไม่ได้เชื่อเต็มร้อยว่าจะได้ แต่ผมมีความหวัง ถ้าไม่ได้ก็ต้องให้หน่วยงานรัฐมองหาที่ธนารักษ์ซึ่งมันเช่าปีละไม่เท่าไหร่ ที่ของหลวงเยอะแยะไป ให้เขาช่วยมองหาที่อยู่อาศัยให้หน่อยหนึ่งโดยที่ไม่ต้องกู้เงิน พอช. ไปซื้อที่เพราะมันแพง ต้องเพิ่มอีกเป็นล้านกว่าจะไปซื้อที่เปล่า แล้วไหนจะค่าปลูกสร้างบ้านอีก ชาวบ้านจะผ่อนกันไม่ไหว"

กวี (นามสมมติ) อายุ 70 ปี เคยทำงานค้าขายเบ็ดเตล็ดทั่วไป แต่เลิกทำมา 2-3 ปีแล้ว ให้สัมภาษณ์โดยสงวนนามไว้เพราะไม่อยากมีปัญหากับอดีตผู้นำชุมชนที่ยังอยู่ในพื้นที่ เขาเพิ่งเก็บของย้ายจากชุมชนป้อมในวันเดียวกันกับที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ โดยก่อนออกมีเจ้าหน้าที่จากทาง กทม. จำนวน 3 คนไปหาที่บ้านและช่วยกันขนย้ายสัมภาระมาไว้ที่ประปาแม้นศรี

บ้านของกวีเป็นหนึ่งในหลังที่อยู่ในรายการอนุรักษ์ แต่ก็ย้ายออกมา โดยได้ค่าชดเชยเบ็ดเสร็จ 120,000 บาท

กวีกล่าวถึงสาเหตุที่ย้ายมาเป็นเพราะเริ่มรู้สึกว่าแนวทางการอนุรักษ์ชุมชนเริ่มไปกันใหญ่ บ้านที่อยากให้อนุรักษ์ไม่ได้โบราณจริง รวมทั้งยังมีปัญหากับธวัชชัยเมื่อครั้งที่ตนจะถอนเงินจากออมทรัพย์ชุมชนเมื่อจะย้ายออก แต่ก็โดนบ่ายเบี่ยง จนถึงกับต้องแจ้งตำรวจ และทางทหารได้ช่วยเหลือเขาไว้หลายเรื่อง ซึ่งกวีระบุว่า ทหารพึ่งพาได้มากกว่าตำรวจ เพราะทหารยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือเวลาที่ตนลำบาก

"มารู้สึกเมื่อปี 58-59 รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันไปกันใหญ่ จะอนุรักษ์บ้านโบราณ คือมันไม่ใช่ไง ดูแล้วมันโบราณตรงไหน ถ้าเป็นบ้านไม้เก่าก็โอเคอยู่ แต่คุณดูก็รู้ว่ามันไม่ใช่ไง แล้วหลังไหนมันน่าเอาไว้ มันไม่มี เหมือนเราโกหกสังคมน่ะ"

"ยังไงก็ต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ แต่มันหาไม่ได้ ตอนแรกก็มีให้แต่ว่าไกลมาก ไม่สามารถย้ายไปได้ อยู่แถวมีนบุรีไปนู่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปาก็ไม่มี ก็ยื้อกับ กทม. มาถึงปัจจุบัน แต่ผมรู้สึกมาในปี 58-59 มันไม่ใช่แล้ว สื่อก็ลงว่า ชุมชนป้อมมหากาฬต้องอนุรักษ์เอาไว้กี่หลังๆ แต่บ้านผมก็เข้าเกณฑ์อนุรักษ์นะ แต่ก็ยังไม่เอา เพราะรู้สึกว่าไม่ถูก แล้วเขาก็อนุรักษ์แต่บ้านไว้ ไม่ให้คนอยู่ ผมก็ไม่รู้ว่าจะอนุรักษ์เอาไว้ทำอะไร ไม่มีประโยชน์"

กวีกล่าวว่า หนึ่งในความกดดันเกิดขึ้นจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอดีตประธานชุมชนที่ยังอาศัยอยู่ในชุมชน

เขาเล่าว่า หนึ่งในความกดดันเกิดขึ้นจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอดีตประธานชุมชนที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ เพราะอดีตประธานชุมชนเป็นคนอารมณ์ร้อน เมื่อตนจะย้ายออกก็จะถอนเงินออมทรัพย์ที่ออมไว้กับชุมชน แต่อดีตประธานชุมชนไม่ให้ถอน บอกว่าต้องออกไปจากชุมชนก่อนแล้วถึงจะคืนเงิน ซึ่งตนเห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะเงินเป็นของตน จะถอนเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ แล้วยังโดนด่าเสียๆ หายๆ จึงไปร้องเรียนกับ กอ.รมน.กทม. ซึ่งทาง กอ.รมน.กทม. ก็พาไปลงบันทึกประจำวันกับตำรวจไว้เป็นหลักฐานที่ สน.สำราญราษฎร์ แต่เวลาผ่านไปเป็นเดือนก็ไม่ได้เงินคืน เลยได้แจ้งความข้อหายักยอกทรัพย์ "จริงๆ ไม่อยากเอาเรื่องนะ ก็อยู่ด้วยกันมานาน ร่วมมือร่วมแรงด้วยกันมาตั้งเยอะแยะ เรื่องนี้มันไม่น่าเป็นแบบนี้"  

 

"เสียดายที่อยู่อาศัย มันดีมากเลยตรงนั้น ร่มเย็น สงบเงียบ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เหมาะเท่าตรงนั้น ไปไหนมาไหนง่ายเพราะอยู่กลางใจเมือง ทำมาหากินก็แถวคลองถม ใกล้ๆ กัน"

กวีเล่าเรื่องราวการมีส่วนร่วมในการต่อสู้ในชุมชนว่า ตนร่วมการต่อสู้ในชุดแรก และการยื้อยุดแต่ละครั้งมีผลกระทบและแรงกดดันมาก ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงเพราะต้องลางานเป็นเวลานาน แต่มาในวันนี้ตนพบว่าไม่มีทางเลือกและท้อ จึงตัดสินใจย้ายออก

"ทีแรกคิดว่าจะได้อยู่กันตรงนั้น คิดว่าเหมือนจะขอ กทม. ไม่ให้ย้ายไปไหน จะตายอยู่ตรงนั้น แต่ยื้อไปยื้อมามันไม่ได้ไง มันผิดกฎหมาย ผมสู้เป็นชุดแรก คนที่ย้ายมาที่นี่ส่วนมากก็เคยสู้ในชุดแรก"

"เหมือนกับว่าถ้ามาไล่ก็จำเป็นต้องตั้งป้อมสู้ ไม่ให้เข้ามารื้อบ้าน เอาชุมชนที่อื่น คนข้างนอกมาช่วยด้วย มารวมกันในป้อม ตั้งกำแพงนั่งเรียงกันไม่ให้ กทม. เข้ามารื้อบ้าน กดดันมากเลย ทิ้งไม่ได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ไปทำมาหากิน ตอนปิดป้อมครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2542 ปิดประตูป้อมอยู่ 6 เดือน ไม่ต้องทำมาหากินอะไรเลย ก็ไม่ได้ค้าขาย แต่คนส่วนมากก็คนจน หาเช้ากินค่ำก็ช่วยๆ กัน คนไหนพอมีก็แบ่งสรรปันส่วนกินกัน มันไม่มีทางเลือกจริงๆ ถ้ามีทางเลือกอย่างอื่นก็จะไปตั้งแต่ต่อสู้ระยะหลังๆ แล้ว เพราะท้อ ไม่ได้ทำมาหากิน สู้ทีไม่ใช่วันสองวัน แต่เป็นเดือน ไม่ได้กระดิกไปไหนเลย เหมือนกับเฝ้าบ้านเราให้ดีเพราะกลัว กทม. จะมารื้อ"

กวีพูดทำนองเดียวกับพีระพลว่าเสียดายที่ต้องย้ายออกมาจากชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน "พูดไม่ถูก มันลืมยากเลยนะ มีความผูกพันเหมือนบ้านเกิดเราเลย เสียดายมากๆ ไม่อยากย้ายออกมา ทุกคนที่ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ย้ายออกมา เราอยู่อย่างผิดกฎหมายมา สู้กับ กทม. มาเรื่อยๆ แล้วมันไม่ใช่ สังคมมองคนในนี้ไม่ดีแล้ว มันตอบสังคมยาก"

กวีเล่าว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลต่อการตัดสินใจอยู่หรือย้าย "มีบางครอบครัวที่ไม่มีเงิน ลำบาก จะไปที่ใหม่ก็ไม่มีความสามารถจะซื้อใหม่ หรือผ่อนส่งได้ บางคนก็พอมีอาชีพบ้างก็โอเค อย่างผมก็พอมีเก็บบ้างเล็กน้อย จะเอาไว้ทำบ้านให้ลูกอยู่ที่ต่างจังหวัด ตอนนี้ลูกขายของตามตลาดนัดแต่ช่วงนี้ค้าขายไม่ดี ขาดทุน บางวันขายได้เงินก็ไม่พอค่าที่"

กวีกล่าวว่า อยากให้เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬจบลงแบบที่คนที่อยู่ในชุมชนไม่ดูถูกดูแคลนคนที่ออกมา ส่วนคนที่ยังอยู่ข้างใน ถ้ายังยอมรับสภาพได้ก็ให้อยู่ต่อไป โดยตนจะไม่ไปข้องเกี่ยว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : ‘คนอยู่’ เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน

Posted: 26 Jan 2018 10:18 PM PST

คุยกับคนที่ยังอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬถึงความกดดันที่จะอยู่ในชุมชนต่อ เล่าประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยโด่งดังเรื่องพลุไฟ กัญชา จนถึงรอยร้าวที่มาจากหน่วยงานรัฐที่ทำให้ชุมชนโบราณชานเมืองแห่งสุดท้ายขนาด 300 คนเหลือกันอยู่ไม่ถึง 50 คน

หลังปรากฏบนหน้าข่าวมานานกว่า 25 ปี มหากาพย์ชุมชนป้อมมหากาฬ-กรุงเทพฯ ได้มาถึงจุดที่ชุมชนจำนวนกว่า 300 คน เหลือไม่ถึง 50 คนแล้ว เส้นทางของชุมชนชานเมืองดั้งเดิมรัตนโกสินทร์แห่งสุดท้ายที่กำลังถูกไล่รื้อนั้นดำเนินไปท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่เป็นการลิดรอนสิทธิของคนในชุมชน ความเหมาะสมของการเวนคืนที่ไปทำสวนสาธารณะ ความไม่เหมาะไม่ควรที่จะให้คนจนอาศัยในพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง ฯลฯ

ทิศทางของชุมชนจะเป็นอย่างไรต่อไปเป็นประโยคคำถามที่ครอบคลุมไปถึงอนาคตของคนที่อยู่ข้างใน ในวันนี้ที่ชุมชนเบาบางและหายใจรวยริน ประชาไทลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อพูดคุยกับผู้อยู่อาศัยที่ยังอยู่ ติดตามไปหาคนที่ย้ายออกไปยังสถานพักพิงชั่วคราว สมาคมสถาปนิกสยามกับความพยายามรักษาสถาปัตยกรรมของชุมชน และพูดคุยกับนายทหารฝ่ายข่าวของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) ที่ทุกวันนี้ตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชนตลอด 24 ชั่วโมงมาสองเดือนแล้ว เพื่อทราบถึงเป้าหมาย ความหวัง ทิศทาง ความกดดันของแต่ละตัวละคร สิ่งที่สะท้อนคือภาวะความไม่มั่นคงของทั้งคนที่ยังอยู่และคนที่ย้ายออก สุดท้ายจะย้ายหรือจะอยู่ก็เป็นทางเลือกบนสภาวะที่ไม่มีทางเลือก

ความเดิมตอนที่แล้ว: จุดเริ่มต้นของปมปัญหา อัพเดทสถานการณ์ปัจจุบัน

ชุมชนป้อมมหากาฬ เดิมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา ปี 2559 มีบ้านเรือนทั้งหมด 64 หลัง ประชากรประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย เช่น ขายกระเพาะปลา ส้มตำ ไก่ย่าง ขายพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมีทั้งขุนนาง ข้าราชบริพาร ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยอยู่นอกกำแพงพระนคร รวมทั้งมีชุมชนเรือนแพอยู่ในคลองโอ่งอ่าง โดยมีป้อมที่สร้างขึ้นตามกำแพงพระนครในสมัยนั้นรวม 14 ป้อม (เหลือปัจจุบันเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ)

ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี 2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชาวบ้านบางส่วนที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้ว แต่ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต่อสู้และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2546 กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อปิดล้อมเตรียมการไล่รื้อ แต่ชาวชุมชนและเครือข่ายคูคลองหลายร้อยคนได้คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไป ต่อมาในปี 2547 ชาวชุมชนยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองพิพากษาในเวลาต่อมาให้ กทม. มีสิทธิในการเวนคืนเพื่อพัฒนาที่ดิน

เมื่อปี 2560 มีการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้แทนภาคประชาสังคม และฝ่ายความมั่นคงช่วยเดือน เม.ย. - ก.ค. โดยกลุ่มนักวิชาการเสนอแนวทางการพิจารณาอนุรักษ์บ้านผ่านคุณค่าทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมือง, ด้านสังคมและวิถีชีวิต, ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ ซึ่งข้อตกลงในตอนนั้นได้ตกลงกันว่าจะให้เก็บบ้านในชุมชนเอาไว้จำนวน 18 หลัง

เมื่อ 7 ก.ค. 2560 ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. ตัวแทนพูดคุยประเด็นป้อมมหากาฬของทาง กทม. ระบุว่าไม่สามารถเก็บบ้านไว้ได้ทุกหลัง และแบ่งบ้านเป็นโซนที่จะอนุรักษ์และโซนที่จะต้องรื้อ ก่อนที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวให้ทาง กทม. พิจารณาต่อไป แต่หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเมืองขึ้นมาและได้ตัดสินให้คงบ้านไว้เพียง 7 หลัง ทั้งนี้ การเก็บบ้านไม่ได้หมายความว่าจะให้เจ้าบ้านอยู่อาศัยในบ้านได้ต่อไป

ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวง ร.9 พื้นที่หัวป้อมถูกนำไปใช้เป็นห้องครัวและห้องสุขา และหลังจากพระราชพิธีฯ ในเดือน พ.ย. หน่วยทหาร-พลเรือน ของ กอ.รมน.กทม. เข้าไปตั้งเต็นท์อาศัยในลานกลางชุมชน โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามการลักลอบการจำหน่ายพลุไฟ และยังคงปักหลักอยู่ที่ลานกลางชุมชนจนถึงทุกวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ผลัดเวรมานั่งเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง

15 ม.ค. กทม. เข้ารื้อบ้านเลขที่ 63 ที่เจ้าของบ้านสมัครใจย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่พักพิงชั่วคราวที่สำนักงานประปาเก่าที่สี่แยกแม้นศรีที่ถูกจัดเอาไว้ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งในรั้วเดียวกันมีอาคารที่จัดเอาไว้เพื่อเป็นที่พักของคนไร้บ้าน เรียกว่า บ้านอิ่มใจ ทาง กทม. และ กอ.รมน.กทม. มีแผนที่จะใช้ที่ดินกรมธนารักษ์ในย่านเกียกกายปลูกที่พักอาศัยให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ต่อ

ในวันเดียวกัน ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ถูก กอ.รมน.กทม. เรียกตัวด้วยคำสั่งที่ 13/2559 กรณีมีบุคคลที่เพิ่งย้ายออกจากป้อมมหากาฬฟ้องร้องว่าธวัชชัยหลอกให้นำเงินจำนวน 80,000 บาท ไปซ่อมแซมบ้าน จากนั้นธวัชชัยก็ใช้อิทธิพลกดดันให้ตนออกจากบ้านที่ซ่อมแซม ซึ่งหลังจากคู่กรณีพูดคุยกันและชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ กอ.รมน. ก็พบว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด เนื่องจากธวัชชัยไม่สามารถบังคับใครให้อยู่หรือย้ายจากชุมชนได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน รวมถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลกดดันนั้นมาจากการที่ธวัชชัยมองหน้า และเพราะคนในชุมชนไม่พูดจาด้วย

พรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬระบุว่า ปัจจุบันเหลือประชากรในป้อมจำนวน 10 หลังคาเรือน จำนวนคนราว 45 คน ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม. มีแผนจะเข้ารื้อบ้านอีกในช่วงวันที่ 29-31 ม.ค. 2561

คนในเล่าภาวะกดดัน กับทางแยกของพี่น้องเมื่อ กทม. ตีกรอบรื้อบ้าน

สุภาณัช ประจวบสุข อายุ 53 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่เกิด ตั้งแต่มีกระแสเรื่องการไล่รื้อป้อมในปี 2546 ก็ตกงานเรื่อยมา ตอนนี้แบ่งหน้าที่กับน้องสาว โดยตัวเองทำงานดูแลชุมชนและเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ดูแลเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่งตัวคนในชุมชนที่ป่วยไปโรงพยาบาล ตรวจเช็ครายละเอียดเรื่องบัตรทองของคนในชุมชน ส่วนน้องสาวทำงานหารายได้

"สมัยนั้นสมัยคุณสมัคร (สมัคร สุนทรเวช) บอกว่าจะเอาเจ้าหน้าที่ 2-3 พันคนมาบุกบ้าน ก็เลยต้องเฝ้าบ้าน เลยไปทำงานสายจนเถ้าแก่บอกว่า มึงเลือกเอาระหว่างที่ซุกหัวนอนกับที่ทำมาหาแดกมึงจะเลือกอะไร พี่บอกว่าพี่ขอเลือกบ้าน เลยออกจากงานมาทำเรื่องชุมชน"

สุภาณัชเล่าว่า ปมปัญหาเริ่มตึงเครียดขึ้นหลังการประชุม 4 ฝ่ายจบลง

"มันมาจุดประกายตอนประชุม 4 ฝ่ายครั้งสุดท้ายกับยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการ กทม. เมื่อ 27 ก.ค. คุณยุทธพันธุ์พูดชัดเจนว่า แบ่งบ้านเราเป็น 3-4 กลุ่ม บ้านสีเทาคือไม่เอาเลย คนในบ้านโซนสีเทาก็คิดว่า อ้าว กูไม่ได้อยู่แล้ว เขาไม่เอาบ้านกู คนที่อยู่บ้านกลุ่มสีเทามีจำนวน 11 หลัง ก็เริ่มคิดว่าจะเอาไงต่อ เขาก็เริ่มไปคุยกับ กทม. ว่าทำอะไรได้บ้าง หลังจากนั้นก็แตกระแหง แต่ตอนปลายปีลดบ้านที่จะเก็บไว้ให้เหลือ 7 หลัง แต่ไม่เอาคนไว้ เหมือนทำทุกอย่างให้เราแตกแยกกัน ใครทนได้ก็อยู่ไปก่อน ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องเอาเงินไว้ก่อน เท่าที่พี่ได้ยินนะ กทม. เขาบอกว่า บ้านคุณอยู่ไม่ได้นะ ที่ตรงนี้ก็อยู่ไม่ได้ แต่ผมมีบ้านให้ โครงการมันยังไม่ขึ้น แต่ว่าผมให้ย้ายไปอยู่ที่ประปาแม้นศรีก่อน เป็นออฟฟิศประปาแม้นศรีสมัยก่อน จากนั้นคุณก็ไปผ่อนบ้านที่โครงการที่จะขึ้นอยู่ที่เกียกกายราคา 3 แสน แต่ถ้าคุณช้าคุณจะไม่ได้ทั้งบ้านและเงิน ทุกคนฟังก็คิดว่าดีว่ะ เอาเงินไว้ก่อนดีกว่า "

สุภาณัช ระบุว่า สภาวการณ์ปัจจุบันทำให้ตนปวดใจ เพราะเจ้าหน้าที่ กทม. และ กอ.รมน.กทม. เจาะตามบ้าน และมีกลยุทธ์ที่ทำให้พี่น้องในชุมชนแตกแยกด้วยเงิน แต่ทุกอย่างก็ต้องเคารพการตัดสินใจของแต่ละคน และยังกล่าวว่าการเข้ามาของ กอ.รมน.กทม. ที่ใช้เหตุผลเรื่องการเข้ามาดูเรื่องพลุไฟ ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล แต่ตอนนี้ทุกอย่างหมดไปแล้วแต่ก็ยังไม่ออกไปจากพื้นที่ เลยคิดว่าเจ้าหน้าที่ใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อเข้ามาในพื้นที่มากกว่า และเจ้าหน้าที่ยังมีพฤติกรรมกดดันคนในชุมชนทั้งการเข้าไปพูดคุยตามบ้าน และการสังเกตการณ์ที่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกจับตามอง

"อย่างวันนี้ เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เข้ามา ตอนแรกก็บอกว่าจะดูเรื่องพลุ ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล แต่ปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่างหมดไป แต่เจ้าหน้าที่มาเจาะแต่ละบ้าน ไปถามว่า เมื่อไหร่จะไป ผมจะเอาบ้านให้ตรงโน้นตรงนี้ ก็เจาะแต่ละบ้าน ทุกวันนี้ที่โล่งๆ ก็คือคนที่อยากไป แล้วยังมีที่จะออกไปอีก"

"สมัยก่อนพี่ก็เห็นว่าขายกัญชา ขายผง แต่ก็ 40 ปีมาแล้ว ส่วนเรื่องพลุไฟ เจ้าหน้าที่จัดการจนตอนนี้ไม่มีแล้ว แล้วทำไมยังอยู่ในชุมชน สมัยก่อนก็มีคนที่มีอาชีพขายพลุ พวกพี่ก็อยู่อย่างหวาดระแวง พลุเคยระเบิดเมื่อปี 2516 บ้านพี่ไฟไหม้ แต่ก็ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้

"แต่การเอาเรื่องพลุมานั้นคิดว่าเป็นข้ออ้างที่จะเข้ามาในชุมชนมากกว่า วันแรกที่เขามาพี่ก็ไปถามว่า 'เสธ.ขา ด้วยความเคารพค่ะ เสธ. เข้ามาที่นี่เพื่ออะไร' เขาก็บอกว่ามาเรื่องพลุ ผ่านไปอาทิตย์หนึ่ง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาถามพี่นู่นนี่ แต่ถามเรื่องบ้านหมดเลย เช่น บ้านนั้นบ้านนี้อยู่กันกี่คน อาศัยกันยังไง ทำไมไม่ไป มันเรื่องพลุไหม พอพี่ย้อนเขาเขาก็โมโห เขาก็จะไปเจาะตามบ้านคนแก่ พอคนแก่กดดัน เครียด ก็ความดันขึ้น

สุภาณัชเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เงินค่าชดเชยที่ กทม. จ่ายให้คนในชุมชนแลกกับการย้ายออกมีจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละครัวเรือน แต่ละหลัง ตกลงกันเป็นรายกรณี และระบุเพิ่มเติมว่า อยากให้ประเด็นชุมชนป้อมมหากาฬจบลงด้วยการให้ชาวบ้านอยู่อาศัยต่อ เม็ดเงินที่ได้คงไม่สำคัญกับสุภาณัชมากกว่าการได้อาศัยในชุมชนที่เกิดมา

"อยากให้เขายุติการกระทำของเจ้าหน้าที่ อย่างวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา เขาบุกเข้ามาแบบไม่ได้บอกกล่าว เขานัดแนะกันว่าจะรื้อบ้านหลังหนึ่ง แต่ไปบุกหลังที่ไม่ใช่หลังที่นัดแนะกัน เมื่อวันจันทร์มีชาวบ้าน 11 คน คนแก่ 2 คน มีผู้ชาย 3 คน นอกนั้นผู้หญิง เจ้าหน้าที่มากันเกือบ 200 คน คืออะไร ชาวบ้านไม่ได้ค้ายาเสพติด ไม่ได้เป็นผู้ร้ายข้ามชาติ ทำไมทำขนาดนี้ ชาวบ้านไม่คิดจะต่อสู้เพราะคิดก็ผิดแล้ว เจ้าหน้าที่มีทั้งอำนาจ กองกำลัง เงินทอง เราแค่ขอความเห็นใจว่าจะทำอะไรอย่ารุนแรงกับพี่น้องเราเลย แต่เขาก็ไม่ฟัง ก็ปะทะกัน กว่าจะยุติได้ก็เหนื่อยมาก ท้อมาก แทบจะหมดกำลังใจ ไม่รู้จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกเมื่อไหร่"

"ถ้าถามพี่ ให้พี่ออกจากพื้นที่มันเปรียบเทียบไม่ได้กับคุณค่าทางจิตใจ ให้เงิน 2 แสนแล้วให้พี่ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับพื้นที่ใหม่ เพื่อนบ้านใหม่ ทุกสิ่งดูใหม่หมด อาพี่อายุ 80 แล้วยังอยู่ในนี้ ท่านจะไปเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ได้ไหม เพราะท่านชินกับสภาพแวดล้อมตรงนี้แล้ว ถ้าบอกว่าไม่อยากได้เงินก็คงโกหก แต่มันเปรียบเทียบกับคุณค่าทางจิตใจไม่ได้ ที่ตรงนี้มันมีคุณค่ามากกว่าที่จะเอาไปทำสวนสาธารณะ หัวป้อมกับท้ายป้อมก็ได้ทำไปแล้ว บ้านพี่แต่ก่อนอยู่ที่สวนด้านหน้า แต่คืนพื้นที่ให้ กทม. โดยการรื้อบ้านตัวเอง และย้ายมาอยู่ส่วนกลาง แล้วคิดว่า กทม. จะไม่มายุ่งกับพี่น้องคนอื่น แต่ กทม. ไม่รักษาคำพูด ไล่เรามาอยู่ที่นี่แล้ว แล้วยังจะไล่เราอีกเหรอ ฉันรื้อบ้านเกิดของปู่ ย่า พ่อ แม่ ฉัน แล้วคุณยังมาทำลายฉันอีกเหรอ

"ไม่เคยคิดในหัวสักนิดเลยว่าจะไป ถ้าพี่นอนอยู่ในนี้แล้ว กทม. มาทุบบ้าน พี่ก็จะนอนให้มันทุบแล้วขอตายในบ้านหลังนี้" สุภาณัชกล่าวทิ้งท้าย

มันเป็นเรื่องของหน่วยงานที่อยากได้พื้นที่ตรงไหนก็ใช้กฎหมายบังคับ ตรงนี้ (พื้นที่บริเวณตรอกพระยาเพชร) เป็นที่ธรณีสงฆ์ คนธรรมดาซื้อไม่ได้ แต่หน่วยงานรัฐก็ทำด้วยการเวนคืน ทำให้มันไม่เป็นธรรมกับเราที่อยู่อาศัย เช่าที่ดิน เช่าบ้านอย่างถูกต้องมาในสมัยก่อน

พรเทพ บูรณบุรีเดช

พรเทพ บูรณบุรีเดช อายุ 53 ปี อดีตรองประธานชุมชน เกิดในชุมชน ระบุว่า ภาวะเมื่อปี 2559-2560 ถึงปัจจุบันเป็นภาวะที่พี่น้องอ่อนล้าในเรื่องที่จะยืนยันปกป้องพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ในฐานะบ้านไม้โบราณชานพระนครที่สุดท้าย ก็เลยมีความแตกแยกทางความคิดบางส่วนกันในชุมชนว่าสรุปจะอยู่อย่างไร สู้หรือไม่สู้ ต้องย้ายออกหรือไม่ โดยในวันที่ 31 ม.ค. นี้ก็ได้ยินข่าวว่าจะมารื้อบ้านที่คนย้ายออกไปแล้ว 2-3 หลัง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะตัวเจ้าของบ้านตัดสินใจให้รื้อเอง เพียงแต่กังวลว่าทาง กทม. อาจจะพาลรื้อบ้านหลังอื่นที่ไม่มีคนอยู่ไปแล้วด้วย

"คือข้อตกลงของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเราตกลงกันว่าจะเก็บไว้ 18 หลัง มีการพูดคุยแล้ว แต่ กทม. ตั้งอนุกรรมการของเขาเองแล้วบอกว่าจะเหลือเอาไว้ 7 หลัง ซึ่งบ้านที่จะรื้อ 3 หลังก็ไม่ได้อยู่ใน 7 หลัง เขาก็เลยจะขอรื้อเพราะไม่มีคนอยู่ เขาก็อาจพาลว่าจะขอรื้อบ้านหลังที่ไม่มีคนอยู่ ทำให้เราต้องพะวงถามว่าเราพอจะปกป้องไหม เราก็ปกป้องบางส่วน แต่ถ้าเจ้าของบ้านประสงค์จะรื้อ ชุมชนก็ไม่สามารถปกป้อง เพราะมันก็เหมือนขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเจ้าของบ้าน (ละเมิดสิทธิ์เจ้าของบ้าน) ซึ่งอาจถูกดำเนินคดี เพราะตอนนี้ก็รู้ๆ อยู่ว่าที่ชุมชนมีหน่วยงานเข้ามาเพื่อกันพี่น้องที่จะทะเลาะกัน ทำให้ชุมชนเกิดความระแวง" พรเทพกล่าว

อดีตรองประธานชุมชนกล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่ในฐานะเมืองโบราณชานพระนครแห่งสุดท้าย และตั้งข้อสงสัยกับทาง กทม. ว่าทำไมถึงต้องไล่รื้อพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้  "มันเป็นเรื่องของหน่วยงานที่อยากได้พื้นที่ตรงไหนก็ใช้กฎหมายบังคับ ตรงนี้ (พื้นที่บริเวณตรอกพระยาเพชร) เป็นที่ธรณีสงฆ์ คนธรรมดาซื้อไม่ได้ แต่หน่วยงานรัฐก็ทำด้วยการเวนคืน ทำให้มันไม่เป็นธรรมกับเราที่อยู่อาศัย เช่าที่ดิน เช่าบ้านอย่างถูกต้องมาในสมัยก่อน ทำให้เรารู้สึกว่า 25 ปีมานี้ เราต่อสู้กับความไม่ถูกต้องของหน่วยงาน คุณทำแบบนี้กับพื้นที่ได้ด้วยเหรอ ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์นะ มีทั้งบ้านไม้ มีทั้งคนที่ดำเนินชีวิตมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50-60 ปี มันหาที่ไหนมีไหม มันเป็นชานพระนครในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือเป็นนอกเมืองเหมือนชานเมืองอยุธยา คือกรุงเทพฯ จะมีกำแพงสองชั้น ชั้นนี้คือชั้นนอก คือชานเมือง ถัดเข้าไปข้างในคือในเมือง แล้วก็ชั้นในวัง แล้วก็จะมีชานเมืองเลยไปตรงคลองผดุงกรุงเกษม ผังก็คล้ายๆ อยุธยา ตรงนี้ก็เป็นชานเมืองพระนครที่ต้องมีคูคลองเอาไว้ป้องกันข้าศึก

"ตรงนี้มันมีโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ 20 โครงการ พื้นที่ก็จะโล่งรอบกรุง ก็จะไม่ค่อยมีคนในชุมชนอยู่ เขาอยากทำให้เป็นที่ท่องเที่ยวเหมือนชอง เอลิเซ่ มีคนมาเดิน แล้วพอถึงเวลาก็ปิด แต่บริบทเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์มันไม่น่าเป็นแบบนั้น มันยังมีความขลัง ความเก่าของตึก มันไม่ได้มีแค่ตึกสวยๆ อย่างเดียว มันมีทั้งตึกโทรมๆ บ้านไม้โบราณ มีตึกรามบ้านช่องแตกต่างกันไป ไม่ใช่รูปทรงเดียวกันหมด เพราะคนที่อยู่ใกล้ๆ มันก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาชีพ ถ้าดูฝั่งทางนู้น (ชี้ไปฝั่งตรงข้ามคลองโอ่งอ่าง) จะเป็นทรงเดียวกัน ตรงนั้นเป็นที่ๆ วัดสร้างไว้ให้เซ้ง แต่ก่อนเขาเรียกชุมชนวัดสระเกษ แต่ถ้าดูตรงนี้ (ชุมชนป้อมมหากาฬ) จะเป็นทรงบ้านต่างกันไป" พรเทพระบุ

อดีตรองประธานชุมชนระบุว่าแม้จะเหลือประชากรราว 10 หลังคาเรือนและสถานะของชุมชนอาจไม่ได้รับการยอมรับแล้ว แต่ก็ยังขับเคลื่อนประเด็นชุมชนอยู่ และยังมีกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยยังออมเงินร่วมกันเพื่อเอาไว้ใช้ในอนาคต

พรเทพยืนยันว่าในชุมชนเคยมีเรื่องการค้าขายพลุไฟและยาเสพติดจริง แต่ว่าตอนนี้ก็หมดไปแล้ว "เมื่อก่อนชุมชนป้อม ต้องยอมรับว่ามีการขายพลุบ้างในหน้าเทศกาล แต่เราก็ไม่เคยทำความเดือดร้อน เรื่องพลุตอนนี้เราก็ถือว่าหมดแล้วนะ แหล่งค้าขายจะไปอยู่ป้อมปราบฯ ซะเยอะ ของเราเป็นลูกค้ารายย่อย แต่ก็คงไม่เหลือแล้วแหละ แต่เรื่องยาเสพติดเราปกป้องเต็มที่ ไม่ให้ยาเสพติดเข้ามายุ่งในชุมชน ถ้าไปดูที่ สน. ชุมชนป้อมมหากาฬแทบจะไม่มีประวัติเรื่องนี้เลย น้อยมาก ถ้ามีก็เป็นเรื่องเด็กดมกาว แต่ถ้าเป็นเรื่องค้ายาขนาดใหญ่ มันก็หมดไปนานแล้ว ตั้งแต่มีการตั้งชุมชนเราก็ปกป้องเต็มที่ เมื่อก่อนอาจจะดังมากเรื่องการขายกัญชา ดังสุดๆ ใครๆ ก็ต้องมาที่นี่ แต่คนมาค้าขายมันไม่ใช่คนในชุมชนที่อยู่ดั้งเดิม ส่วนชุมชนปัจจุบันก็ไม่มีแล้ว"

ต่อประเด็นที่คนย้ายออก และคำถามเรื่องการใช้อิทธิพลของกลุ่มผู้นำชุมชนไปกดดันให้คนย้ายออกนั้น พรเทพตอบว่า "พวกผมมี (อิทธิพล) เหรอ มีประชากรตอนนี้ 45 คน ทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่มีวินมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ไม่มีอะไรที่จะเป็นอิทธิพลได้เลย ก็ยังงงว่ามีอิทธิพลคืออะไร หนึ่ง ปล่อยกู้เหรอ สอง ค้ายาเสพติด ตอนนี้ชุมชนไม่เข้าข่าย ตอนนี้พี่ยังงงว่าพี่มีอิทธิพลตรงไหน"

"ถามว่ากดดันแบบไหน ถ้ามองเหมือนพี่น้องทะเลาะกัน ถามว่าชุมชนป้อมมหากาฬต่อสู้มา 25 ปี แล้วเพิ่งจะมาบอกว่ามากดดันไม่ให้อยู่ตอนนี้เนี่ยนะ 25 ปีที่แล้วเขาไม่เคยคิดว่าเราไม่ให้อยู่ ถามว่าเราจะกดดันจนเหลือ 10 หลังคาเรือนแล้วให้เขาออกเหรอ ต้องถามว่าเขากดดันอะไร ทะเลาะกันบ้าง ต้องถามตัวเขาเองว่าทะเลาะกันเพราะอะไร ทุกคนก็จะบอกว่าพี่ไม่ดี แต่ไม่เคยย้อนดูว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร แล้วโดนกดดันเรื่องอะไร ทำไมไม่คุย 25 ปีในการต่อสู้โดนกดดันหรือเปล่า แล้วทำไมไม่ออกไปก่อน ทำไมเพิ่งมาออกตอนนี้ ทุกคนที่ออกก็บอกว่าโดนกดดันจากคนไม่กี่คนที่มีท่าทางไม่ดี แต่ 25 - 50 กว่าปีที่อยู่ร่วมกันมาไม่เคยพูดเรื่องนี้ ทำไมถึงต้องพูดตอนนี้...เพราะกลัวในเรื่องบางเรื่อง พี่ก็ถามว่ากลัวพวกพี่จริงเหรอ ทำไมถึงไม่ออกไปเลย ก็รอรับตังค์ก่อน พูดตรงๆ ต่อรองเรื่องราคาก่อน ถ้ามีปัญหากับพวกพี่มากก็ได้ตังค์เยอะ ถ้ามีปัญหาน้อยก็รับไปน้อย" พรเทพระบุ

พรเทพยังหวังให้ กทม. รื้อฟื้นข้อตกลงของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายกลับมา เพราะชุดกรรมการดังกล่าวมีตัวแทนจากชุมชน ถือเป็นครั้งแรกเพราะที่แล้วมาชุมชนไม่เคยมีส่วนร่วมเลย และยังอยากอยู่ในพื้นที่ ทำงานร่วมกับ กทม. พัฒนาพื้นที่ต่อไป "อยากให้ กทม. ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่หายไปกลับมาตั้งแต่เดือน ส.ค. มาพูดคุยให้ชัดเจนขึ้นว่า คนกับบ้านจะอยู่อย่างไร จะขยับอย่างไร ให้จบเลย ไม่เช่นนั้นมันก็เป็นแบบนี้ เพราะชุดนั้นมีทั้งการคุยเรื่องบ้าน มีข้อตกลงร่วม แต่ชุดอื่นไม่เคยมีชุมชน ชุดนี้ชุมชนมีส่วนร่วมกับทหาร กทม. สถาปนิกสยาม นักวิชาการอิสระ สื่อมวลชนก็เข้ามาตลอด มีส่วนร่วมหมด

"ถ้าเป็นอนาคตชุมชนก็อยากอยู่ที่นี่ และช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกับ กทม. ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอย่างจริงจัง ทั้งในการดำรงชีวิต การอยู่อาศัย การเล่าขานด้วย คือความหวังที่เหลือของคนที่นี่" พรเทพกล่าว

บุญธรรม วิไล อยู่มาตั้งแต่ปี 2525 ตกงานตั้งแต่สู้กับ กทม. เป็นแม่บ้านเล็กๆ น้อยๆ ในชุมชน ย้ายมาจากโซนที่คืนพื้นที่ มาอยู่ในส่วนกลางตรงประตูตรอกพระยาเพชรตั้งแต่ มิ.ย. ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ลูก 2 คนหารายได้มาจุนเจือ และทั้ง 3 คนแม่ลูกยังคงอาศัยอยู่ในชุมชน

"ไม่ได้เกิดที่นี่ แต่รักแผ่นดินนี้เพราะลูกสองคนเกิดและโตที่นี่ ตอนนี้ก็ยังอยู่ที่นี่ อยู่ที่นี่สะดวกทุกอย่าง เพราะใกล้โรงพยาบาล โรงเรียน"

บุญธรรมเล่าว่า ได้รับความกดดันจากเจ้าหน้าที่ของทาง กทม. ที่ชอบเข้ามากดดันและวางอำนาจ ทำให้รู้สึกเหนื่อย เธอเข้าใจว่าเขาก็มาทำตามหน้าที่ แต่อยากให้เข้าใจคนจนด้วยว่าเราไม่ได้ไปบุกรุกใคร  ต่อประเด็นที่คนในชุมชนที่ย้ายไปอยู่ที่พักพิงชั่วคราว บุญธรรมระบุว่า เป็นเรื่องความคิดของเขา ห้ามกันไม่ได้ "ปัจจัยหนึ่งก็อาจจะเพราะอยู่ที่นี่เหนื่อย อยากไปอยู่ที่ใหม่ที่สบายกว่า เขากลับเข้ามาก็คุยกัน ไม่ได้ทะเลาะอะไรกัน"

สมพร อาปะนนท์ ขายของชำอายุ 70 กว่าปี แต่งเข้ามาอยู่กับสามีที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้ 40 ปี แล้วย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบันได้ 7 เดือนแล้ว แต่ก่อนอยู่แถวท้ายป้อม

"สมัยก่อนก็อยู่แถวนั้น (ชี้ไปที่หลังป้อม ทางสวนสาธารณะ) แล้วทหารก็บอกว่าให้เรามาที่นี่ เขาจะได้ดูแลง่าย ก็ต้องเชื่อเขาแล้วมาที่นี่"

"กลุ้มสิ ขยับมาที่นี่แทนที่จะอยู่ได้ เขาก็บอกว่าอยู่ไม่ได้อีก" สมพรตอบเมื่อถูกถามเรื่องความรู้สึก เจ้าตัวบอกว่ามีแผนที่จะอยู่ที่นี่ต่อไปเพราะว่าคุ้นเคย และไม่อยากย้ายไปที่สถานพักพิงชั่วคราวเพราะกังวลเรื่องสภาพความเป็นอยู่

"เขาจะบอกให้เราย้ายไปที่บ้านอิ่มใจ แล้วจะไปอยู่ได้ยังไง นักข่าวเคยไปดูหรือเปล่า สมัยก่อนเป็นที่ทำงานของประปาเขา เด็กบ้านนี้เข้าไปวิ่งเล่นเมื่อ 2-3 วันก่อนก็ติดเชื้อ เข้าโรงพยาบาลเลย ก็มันอับมาตั้งกี่ปี แล้วอยู่ๆ จะเปิดให้เราเข้าไปอยู่"

สมพรกล่าว่า อยากให้ปัญหาชุมชนจบลงด้วยการให้คนในชุมชนได้อยู่ต่อ "จบลงที่ให้เราอยู่ อยู่ไม่กี่หลังก็ให้เราอยู่เถอะน่า ให้เราปรับปรุงบ้านใหม่ให้ดีหน่อย คู่กับสวนเขาไปก็ได้ สวนก็มีคนอยู่ ให้ช่วยดูก็ได้ เราอยู่ก็ไม่ได้ทำสกปรก เราก็อยู่อย่างสะอาด"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ความคิดเห็น:

  1. 2019 เงิน / ลืมเกี่ยวกับการรับเงินกู้

    รับบัตร ATM และบัตรเครดิตของคุณในราคาที่ไม่แพง
    * เราขายบัตรนี้ให้กับลูกค้าของเราและผู้ซื้อที่สนใจทั่วโลก
    บัตรนี้มีขีด จำกัด ในการถอนรายวันที่ $ 5,000 และสูงถึง $ 50,000 การใช้จ่าย
    จำกัด ในร้านค้าและไม่ จำกัด บน POS *
    * email blankatm156@gmail.com
    * เว็บไซต์: https://blankatm001.wixsite.com/blankatmhacker
    * คุณสามารถโทรหาเราหรือ whatsapp ติดต่อเราวันนี้เพื่อรับการรู้แจ้งเพิ่มเติม
    +1 (301) 329-5298
    * ระวังผู้หลอกลวงและผู้ปลอมแปลงปลอมแปลงให้เรา แต่พวกเขาไม่ได้มาจาก
    ติดต่อเราติดต่อผ่านทางนี้เท่านั้นติดต่อ *
    เราเป็นของจริงและถูกกฎหมาย ........... 2019 เงิน / ลืมเกี่ยวกับการรับเงินกู้

    ตอบลบ