โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

17 ผู้ต้องหาพร้อมเครือข่ายเทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จี้รัฐหยุดใช้คดีปิดปากประชาชน

Posted: 03 Jan 2018 09:41 AM PST

17 ผู้ต้องหาพร้อม เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา แถลงเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐหยุดใช้คดีปิดปากประชาชน ยันชัดผู้ปกป้องทรัพยากร ไม่ใช่อาชญากร

ที่มาภาพ เฟสบุ๊คแฟนเพจ หยุดถ่านหินสงขลา 

3 ม.ค.2561 จากกรณีเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ที่ได้พยายามเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 27 พ.ย.60 แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้เข้าควบคุมการเดินเท้าของกลุ่มดังกล่าวพร้อมทั้งจับกุมตัวไปทั้งสิ้น จำนวน 16 คน นั้น 

ล่าสุดวันนี้ (3 ม.ค.60) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เวลาประมาณ 09.00 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดได้เข้าไปยังศาลจังหวัดสงขลา อ.เมืองสงขลา เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย หลังจากถูกแจ้ง 3 ข้อกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ก่อนจะออกมาจากศาลในเวลาประมาณ 10.30 น. และได้รวมตัวกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เรียนขอให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีผู้ปกป้องชุมชนเทพา และให้หยุดการใช้คดีปิดปากประชาชน (เพราะผู้ปกป้องทรัพยากรไม่ใช่อาชญากร) 

จากนั้นผู้ต้องหาทั้งหมดรวมทั้งเครือข่ายที่มาคอยให้กำลังใจ ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา อ.เมืองสงขลา ในเวลาประมาณ 11.00 น. เพื่อเข้าให้ปากคำกับทางพนักงานสอบสวน เตรียมรวบรวมสำนวนส่งฟ้องต่อศาลต่อไป โดยในวันนี้ตำรวจได้ออกหมายเชิญ มุสตาร์ซีดีน วาบา หรือแบมุส อีก 1 คน เพื่อมาสอบปากคำเช่นกัน จนขณะนี้มีผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาทั้งสิ้นรวม 17 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุเพียง 16 ปี พร้อมกันนี้ ทั้งหมดยังถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 1 ข้อหา นั่นคือ ผิด พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และกลายเป็น 4 ข้อกล่าวหาในที่สุด

สำหรับผู้ต้องหานอกจาก มุสตาร์ซีดีน แล้ว ยังมี เอกชัย อิสระทะ อายุ 49 ปี, ปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ อายุ 59 ปี, ดิเรก เหมนคร อายุ 41 ปี, รุ่งเรือง ระหมันยะ อายุ 44 ปี, อัยโยบ มูเซะ อายุ 49 ปี, อานัส อาลีมาส๊ะ อายุ 25 ปี, อามีน สะมาแอ อายุ 24 ปี, เนติพงษ์ ชื่นล้วน อายุ 21 ปี, เจะอาแซ เพ็ชรแก้ว อายุ 48 ปี, สรวิชญ์ หลีเจริญ อายุ 34 ปี, วิรพงษ์ หวังหวิน อายุ 40 ปี, อิสดาเรส หะยีเด อายุ 59 ปี, สมบูรณ์ คำแหง อายุ 46 ปี, สมาน บิแหละ อายุ 45 ปี, ยิ่งยศ ดามะลี อายุ 44 ปี และฮานาฟี เหมนคร อายุ 16 ปี

รายงานข่าวระบุว่า การสอบปากคำของเจ้าหน้าหน้าที่นั้น ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง จนในเวลาประมาณ 16.30 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดได้เดินออกมาจากสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา โดยแถวตอนเรียงหนึ่ง และออกมายังภายนอกของสถานี ซึ่งมีเครือข่ายฯ ที่มายืนถือป้ายรอคอยกันตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อมาให้กำลังใจกับผู้ต้องหาทุกคน โดยทั้งหมดก็ได้อ่านแถลงการณ์ร่วมกัน โดยมีใจความสำคัญว่า ในนามเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตลอดถึงองค์กรภาคประชาชนที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดพื้นที่เพื่อให้มีการรับฟังความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง และตรงไปตรงมา พร้อมทั้งเปิดกว้างยอมรับสิทธิของประชาชนทั้ง 17 คน โดยการยุติการดำเนินคดีทั้งหมด พร้อมกันนี้จะต้องหยุดการคุกคามใดๆ ที่จะเป็นการปิดกั้นการแสดงออก หรือปิดปากประชาชนที่ต้องการสื่อสารสาธารณะ ด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนที่ว่า "ผู้ปกป้องชุมชน ไม่ใช่อาชญากร"
 
ทั้งนี้ได้มีทั้งเครือข่ายอาจารย์ นิสิตนักศึกษา รวมทั้งภาคประชาชนอื่นๆ มาร่วมอ่านแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกด้วย พร้อมทั้งได้ชี้แจงอีกว่าในวันที่ 15 ม.ค. 2561 นี้ พนักงานสอบสวนจะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่อย่างไรนั้น ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปอีกครั้ง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ขออย่าให้ปม 'หมาบางแก้ว' เป็นเรื่องใหญ่ แจงยังไม่ได้ให้ใครสักคน

Posted: 03 Jan 2018 08:19 AM PST

'ศรีสุวรรณ' ร้อง ป.ป.ช.เอาผิด ประยุทธ์และพวก ปมซื้อหมาบางแก้วแจก เกิน 3 พันบาท ด้าน 'ประยุทธ์' ขออย่าให้เป็นเรื่องใหญ่ แจงยังไม่ได้ให้ใครสักคน

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

3 ธ.ค. 2561 จากกรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีแล้ว กรณีมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดรับประโยชน์ หรือ ทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ตามกฎหมายและประกาศของ ป.ป.ช. จากกรณีซื้อลูกสุนัขพันธุ์บางแก้ว จำนวน 3 ตัว ราคาตัวละ 6,000 บาท รวมเป็นเงิน 18,000 บาท แต่นายกรัฐมนตรี ชำระค่าซื้อลูกสุนัข 3 ตัว เป็นเงินรวม 25,000 บาทเพื่อเป็นขวัญกำลังใจผู้เพาะเลี้ยง จากนั้นได้มอบลูกสุนัขให้ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ฉัตรชัย นำไปเลี้ยง คนละ 1 ตัว ระหว่างลงพื้นที่ที่ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมี สุทธิ บุญมี ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ เป็นผู้รับมอบ เป็นผู้รับมอบ และ ศรีสุวรรณ ระบุด้วยว่า พฤติกรรมที่การซื้อและการจ่ายเงินของ นายกรัฐมนตรี เป็นเงินรวม 25,000 บาทเพื่อเป็นขวัญกำลังใจผู้เพาะเลี้ยงนั้นเข้าข่ายความผิดรับประโยชน์ หรือ ทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ตามกฎหมายและประกาศของ ป.ป.ช. นั้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องหมาบางแก้ว เป็นเรื่องสุนัข ขออย่าให้เป็นเรื่องใหญ่เลย ตนยังไม่ได้ให้ใครสักคน วันนั้นก็ได้แต่ถามว่าใครจะเอา ที่จ่ายเงินไป ซึ่งในส่วนที่เกินให้เขาไปนั้น ส่วนหนึ่งถ้าหักลบก็จะเป็นค่าวัคซีนและค่าขนส่ง

"ผมก็ยังไม่ได้หมาสักตัว จะรอดรึเปล่าก็ยังไม่รู้เพราะหมาตัวเล็กนิดเดียว ผมรู้สึกเห็นใจเขา เรื่องนี้ผมชี้แจงได้หมดและผมก็ยังไม่ได้ให้ใคร ถ้าให้ใครแล้วก็ต้องมาจ่ายเงินผม ผมรู้กฎหมาย รู้ว่าให้ใครเกิน 3,000 บาทไม่ได้ และรองนายกฯ กับรัฐมนตรีก็บอกว่าขอไปดูหมาที่บ้านก่อน เลี้ยงหมาอยู่หลายตัว เขาก็ต้องไปดูหมาที่บ้านว่ามันจะอยู่กันได้รึเปล่า เพราะหมามันก็มีเจ้าถิ่น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับลูกสุนัขดังกล่าวนั้นไม่ทราบว่าจริงหรือไม่

ที่มา : โลกวันนี้ และคมชัดลึกออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เตือนผู้ใช้โดรนมาขึ้นทะเบียน ภายใน 9 ม.ค.นี้ ก่อนจะโดนคุกไม่เกิน 5 ปี

Posted: 03 Jan 2018 05:52 AM PST

สำนักงาน กสทช. เตือนผู้ใช้โดรนต้องมาขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 9 ม.ค. 61 หากมีการใช้งานโดย ไม่มีการขึ้นทะเบียน โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3 ม.ค. 2561 รานงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า วันที่ 9 ม.ค. นี้ จะครบกำหนดระยะเวลา 90 วัน ที่ กสทช. กำหนดให้ผู้ครอบครองเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (โดรน)ต้องมาดำเนินการขึ้นทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2560 ตามคำสั่ง กสทช. เรื่อง การขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone)  

เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ขอให้ประชาชนที่มีโดรนอยู่ในครอบครอง หรือใช้งาน รีบมาขึ้นทะเบียนที่สำนักงาน กสทช. ถนนพหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) พญาไท กรุงเทพฯ สำนักงาน กสทช. ภาค และสำนักงาน กสทช. เขต ทั่วประเทศ สถานีตำรวจทั่วประเทศ หรือที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สำหรับผู้ที่มีโดรนไว้ในครอบครอง หรือใช้งาน ที่ไม่มาขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

"การขึ้นทะเบียนโดรนที่สำนักงาน กสทช. ดำเนินการนั้น เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือป้องกันราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหากประชาชนมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ Call Center สำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 ฟรี หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2670 8888 ต่อ 7479" เลขาธิการ กสทช.กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวบเอกชัยอีกแล้ว ขณะขอพบป้อมมอบนาฬิกาที่ทำเนียบ

Posted: 03 Jan 2018 05:32 AM PST

เอกชัย หงส์กังวาน ถูกรวบหนสองเหตุจะมอบนาฬิกาให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้าหน้าที่ต้องการให้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงค์ธรรม ส่วนเจ้าตัวปฏิเสธยืนยันว่าไม่ได้ต้องการร้องเรียน ต้องการมอบนาฬิกาให้ไว้ใส่เฉยๆ ถ้าไม่ได้มอบวันนี้ก็จะรอจังหวะในวันต่อไป ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจยอมปล่อยตัวแต่โดยดี 

3 ม.ค. 2561 เวลา 10.00 น.ทำเนียบรัฐบาลประตุู 4 เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 10 น่ายเข้าทำการควบคุมตัว เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะที่เขากำลังเข้าติดต่อขอพบและมอบนาฬิกาให้กับ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองประธาน คสช.รองนายกรัฐมนตรี

เอกชัยถูกคุมตัวตัวมาไว้ที่อาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน กพ. ซึ่งเป็นสำนักงานศูนย์ดำรงค์ธรรม เอกชัยแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ต้องการให้เขาร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงค์ธรรมในกรณีนาฬิกาของพลเอกประวิตร ซึ่งไม่ได้เป็นความประสงค์ของเขา เพราะเขาต้องการที่จะมอบนาฬิกาส่วนตัวของเขาให้พลเองประวิตรใส่เป็นการส่วนตัวเท่านั้น 
"
เมื่อสอบถามว่าคิดว่าจะทีโอกาสได้เจอเหรอ เอกชัยตอบว่า "จะได้ไม่ต้องเที่ยวไปยืมของใครเขามาใส่ ถ้าไม่เจอวันนี้ วันหลังก็จะหาโอกาสเจอใหม่ ให้มันรู้ไปว่าใครหน้าด้านกว่ากัน ตื๊อเท่านั้นที่จะครองโลก" 

จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำตัวนายเอกชัย ซ้อนจักรยานยนต์ไปส่งขึ้นรถโดยสารประจำทางที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเดินทางกลับบ้านโดยที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาแต่อย่างไร 

ก่อนหน้านี้เอกชัยได้เคยนำนาฬิกาไปดักรอที่จะมอบให้พลเอกประวิตรครั้งหนึ่งแล้วที่บ้านพักประธานองค์มนตรี สี่เสาเทเวศน์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 แต่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าทำการควบคุมตัวเสียก่อน 

หลังได้รับการปล่อยตัว เอกชัยได้โพสต์เฟสบุ๊คข้อความว่า "ใครพอรู้วันพรุ่งนี้-วันมะรืนนี้ ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ ไปไหน ? 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ ฉายแสง: นาฬิกา พล.อ.ประวิตร เรื่องคาใจแห่งปี

Posted: 03 Jan 2018 03:23 AM PST

เรื่องนาฬิกาของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และล้อเลียนเสียดสีกันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และดูจะเป็นเรื่องที่ทำให้ คสช.เสื่อมลงอย่างรวดเร็วด้วย

การมีนาฬิการาคาแพงๆหลายๆ เรือน ถ้าหากได้มาโดยสุจริตและดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่างมากก็เป็นเรื่องรสนิยมที่คนอาจรู้สึกชื่นชมหรือหมั่นไส้เท่านั้น

แต่กรณีที่เจ้าของนาฬิกามีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้า คสช.และรองนายกรัฐมนตรีอย่างพลเอกประวิตร

มีปัญหาที่ต้องพิจารณาโดยไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย คือ

1. นาฬิกาที่ปรากฏในภาพอยู่บนข้อมือของพลเอกประวิตรนั้นเป็นนาฬิกาของพลเอกประวิตร จริงหรือไม่ ?

2. พลเอกประวิตรได้นาฬิกาเหล่านี้มาตั้งแต่เมื่อใด ก่อนหรือหลังการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อปปช. ครั้งล่าสุด ซึ่งจะนำไปสู่คำถามอีกหลายคำถาม (บางคนอาจจะถามคำถามง่ายๆก่อนเลยว่า ตกลงเจอนาฬิกากี่เรือนแล้ว)

3. ถ้านาฬิกาเหล่านั้นอยู่ในความครอบครองของพล.อ.ประวิตรจริงและพลเอกประวิตรได้นาฬิกาเหล่านี้ มาก่อนการยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งล่าสุด ย่อมมีคำถามว่า เหตุใดจึงไม่รายงานไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อปปช. จะอ้างว่าลืมหรือเผอเรอคงไม่ได้ เพราะมีหลายเรือนเหลือเกิน หากพลเอกประวิตรชี้แจงไม่ได้ ก็อาจจะถูกตั้งข้อหาจงใจปกปิดทรัพย์สินและร่ำรวยผิดปรกติ

แต่ถ้าพลเอกประวิตรได้นาฬิกาเหล่านี้มาหลังจากการยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งล่าสุด ก็ถือว่ายังไม่ถึงกำหนดต้องชี้แจง แต่ถ้าเรื่องมันแดงขึ้นมาว่า พลเอกประวิตรมีนาฬิกาเหล่านี้ไว้ในครอบครอง ก็จะมีคำถามว่า พลเอกประวิตรได้นาฬิกาเหล่านี้มาอย่างไร ได้มาโดยสุจริตหรือไม่

นาฬิกาหลายเรือนแบบนี้จะอ้างว่าเพื่อนให้ยืมมาคงจะไม่ได้แน่ ยิ่งบอกว่าเพื่อนให้ยืมมาและเพื่อนตายไปแล้ว ยิ่งฟังไม่ขึ้น

ถ้าซื้อมาเอง เอาเงินมาจากไหน ถ้ามีคนให้มา ผู้ให้เป็นใคร ให้กันจริงหรือไม่

ถ้าผู้ที่ให้นาฬิกาแก่พลเอกประวิตร ไม่ใช่บุพการีหรือคนในครอบครัวของพลเอกประวิตรแล้วให้นาฬิกามา พลเอกประวิตรก็จะถูกตั้งข้อหารับของขวัญที่มีมูลค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเกี่ยวพันกับกฎหมายที่มีไว้เพื่อป้องกันการให้และรับสินบนที่อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น

นอกจากนั้น ก็คงต้องมีการตรวจสอบต่อไปด้วยว่า การให้ของขวัญที่มีมูลค่ารวมกันหลายสิบล้านนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการให้สินบนเพื่อให้เกิดการทุจริตในการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐด้วยหรือไม่

จะเห็นได้ว่าเรื่องนาฬิกาของพลเอประวิตรนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการชอบใช้ชอบอวดของแพง แต่เป็นเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นที่ร้ายแรง จึงเป็นเรื่องที่ต้องการคำอธิบายและต้องมีการตรวจสอบ

จนถึงขณะนี้มีคนรวบรวมภาพนาฬิกาที่สงสัยว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าวได้มากถึง 13-14 เรือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ จากพลเอกประวิตรต่อสาธารณชน และยังไม่มีใครทราบว่า พลเอกประวิตรได้ชี้แจงเรื่องนี้ต่อ ปปช.อย่างไร

ก่อนสิ้นปี ปปช.ออกมาชี้แจงเพียงสั้นๆว่า พลเอกประวิตรชี้แจงมาแล้วและ ปปช.กำลังตรวจสอบอยู่ แต่ไม่ปรากฏว่า ปปช.มีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้และไม่มีใครทราบว่า มีความคืบหน้าในการตรวจสอบอย่างไร

มีแต่ข่าวความพยายามกลบเกลื่อนหรือช่วยแก้ต่างให้พลเอกประวิตรทั้งจากอดีต ปปช.และ ปปช.ปัจจุบันบางคน ส่วนพลเอกประยุทธ์นั้น แทนที่จะบอกว่า ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างที่พูดอยู่บ่อยๆ กลับบอกให้ผู้สื่อข่าวรู้จัก "ลดราวาศอก" มิฉะนั้นตนอาจจะใช้อำนาจมากกว่าเดิม

เรื่องที่ประชาชนข้องใจสงสัยนั้นมีอยู่หลายเรื่อง เรื่องนาฬิกาของพลเอกประวิตร น่าจะถือได้ว่าเป็น "เรื่องคาใจแห่งปี" อันดับต้นๆ

ขอปีใหม่นี้ คงต้องติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้กันต่อไปครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.facebook.com/Chaturon.FanPage

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานธันวาคม 2017

Posted: 03 Jan 2018 03:01 AM PST

สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงโยกย้ายถิ่นฐานของสหประชาชาติ

คณะตัวแทนสหรัฐประจำสหประชาชาติ (UN) ออกแถลงการณ์ว่าได้แจ้งต่อเลขาธิการ UN แล้วว่าสหรัฐอเมริกาขอยุติการเข้าร่วมในข้อตกลงข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากปฏิญญานิวยอร์กสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีมาตรามากมายที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ

ที่มา: cnn.com (3/12/2017)

สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอในกัมพูชาวอนต่างชาติ หวั่นถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป

สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอในกัมพูชา (GMAC) ออกแถลงการณ์ร้องขอผู้ซื้อต่างชาติไม่ให้หันไปซื้อสินค้าจากแหล่งอื่น โดยให้สนับสนุนกัมพูชาและโรงงานต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในการทำให้ชาวกัมพูชามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เพราะธุรกิจสิ่งทอช่วยให้ชาวกัมพูชาหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นเนื่องจากความกังวล หลังสหรัฐยุติการสนับสนุนการเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ค. 2018  ในขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ก็ขู่จะตัดสิทธิพิเศษทางการค้าเพื่อตอบโต้ที่ศาลฎีกากัมพูชาสั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านตามที่รัฐบาลยื่นคำร้อง

อนึ่งการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้านำรายได้เข้ากัมพูชาปีละ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ โดย GMAC เป็นตัวแทนโรงงาน 600 แห่งและมีชาวกัมพูชาได้รับการจ้างงานถึง 700,000 คน

ที่มา: phnompenhpost.com (4/12/2017)

รายงานระบุคนงานโรงงานน้ำมันปาล์มหลายแห่งในอินโดนีเซียถูกกดขี่ด้านแรงงาน

รายงานของเครือข่าย Rainforest Action Network (RAN) ระบุว่า คนงานจำนวนมากที่โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มหลายแห่งในอินโดนีเซีย ถูกละเมิดด้านแรงงานหลายอย่าง รวมทั้ง ค่าแรงที่ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ การใช้แรงงานเด็ก และการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารเคมีอันตราย

รายงานชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์คนงานที่โรงงานของบริษัทอาหารรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย Indofood และเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับบริษัทอาหารระดับโลกหลายบริษัท รวมทั้งบริษัท Pepsi และ Nestle โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนเกาะกาลิมันตัน และเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตน้ำมันปาล์มสำคัญของโลก

ขณะนี้ Indofood ยังคงได้รับการรับรองจากองค์กรดูแลอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน หรือ Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) แม้จะมีคำร้องเรียนเรื่องการกดขี่แรงงานมาแล้วหลายครั้งก็ตามที่ผ่านมา มีรายงานละเมิดด้านแรงงานเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ โรงงานทอผ้า เหมืองแร่ และคนทำงานภายในบ้าน แต่เวลานี้โรงงานน้ำมันปาล์มคือแหล่งที่มีรายงานการกดขี่คนงานมากที่สุด

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มถือเป็นแหล่งรายได้หลักของอินโดนีเซีย โดยคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่าราว 93,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก ภายในปี ค.ศ. 2021

ที่มา: voathai.com (5/12/2017)

บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดในโลกเตรียมปลดพนักงาน 5,000-10,000 คน

Teva Pharmaceutical บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดในโลกของอิสราเอล กำลังเตรียมปลดพนักงาน 5,000-10,000 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย 1.5-2 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั่วโลกจำนวน 57,000 คน

ที่มา: jpost.com (8/12/2017)

ญี่ปุ่นเตรียมใช้โดรนไล่พนักงานจ้องทำโอทีกลับบ้าน

บริษัทไทเซ (Taisei) ซึ่งเป็นบริษัทรับทำความสะอาดและดูแลความปลอดภัยตามสำนักงานต่าง ๆ เตรียมจะนำโดรนที่พัฒนาร่วมกับบริษัทบลูอินโนเวชันและบริษัทสื่อสารเอ็นทีทีอีสต์ มาทดลองใช้ในสำนักงานของตนในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็จะนำโดรนนี้ออกวางตลาดจำหน่ายให้บริษัทอื่น ๆ ต่อไป

โดรนที่ว่านี้จะติดกล้องขนาดเล็กและบินไปทั่วสำนักงาน โดยจะบรรเลงเพลง "โอลด์ แลง ไซน์" (Auld Lang Syne) ซึ่งเป็นเพลงใช้บอกเวลาเลิกงานหรือปิดทำการห้างร้านที่รู้จักกันดีทั่วโลก "เสียงเพลงและเสียงของเครื่องยนต์โดรนจะทำให้ทนทำงานไม่ได้ พนักงานจะตระหนักในที่สุดว่าเวลาได้ล่วงเลยมามากและต้องเลิกงานแล้ว" นายโนริฮิโระ คาโต้ ผู้อำนวยการของบริษัทไทเซกล่าว

ที่มา: bbc.com (9/12/2017)

แรงงานไต้หวันร่วม 3,000 คน ประท้วงร่างกฎหมายแก้ไขชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่น

กลุ่มสหภาพแรงงานร่วม 3,000 คน ในไต้หวันประท้วงเรียกร้องให้ ส.ส.ยกเลิกทบทวนร่างกฎหมาย ที่เปิดช่องให้นายจ้างสามารถบีบพนักงานให้ต้องทำงานถึง 12 วันติดต่อกัน

ที่มา: focustaiwan.tw (10/12/2017)

เศรษฐกิจสหรัฐฯ จ้างงานเพิ่ม แต่ยังเจอปัญหาขาดแรงงานมีทักษะฝีมือ

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่งเมื่อเดือน พ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำคือ 4.1% ส่งผลให้ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคอเมริกันอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตามผลสำรวจ Talent Trends Report ของ Randstad sourceright ชี้ว่าลักษณะของตลาดงานในอเมริกานั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะฝีมือด้านเทคโนโลยีกำลังเป็นที่ขาดแคลนในตลาดแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาความต้องการแรงงานด้านนี้มีมากกว่าจำนวนแรงงานที่มีอยู่

รายงานสำรวจชี้ว่า นายจ้างราว 60% มีแผนจะแทนที่พนักงานประจำราว 1 ใน 3 ด้วยพนักงานชั่วคราว หรือ ฟรีแลนซ์ รายงานชิ้นนี้แนะนำว่าพนักงานทุกคนควรฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ดังกล่าว

ที่มา: voathai.com (11/12/2017)

นักบิน Ryanair นัดหยุดงานก่อนคริสต์มาส

นักบินและพนักงานบนของสายการบิน Ryanair ประกาศนัดหยุดงานในเดือน ธ.ค. เพื่อเรียกร้องให้ปรับขึ้นเงินเดือนและเพิ่มสวัสดิการให้เท่าเทียมกับบริษัทคู่แข่ง

ที่มา: theguardian.com (15/12/2017)

ศาล EU ชี้ Uber คือผู้ให้บริการแท็กซี่

ศาลยุติธรรม European Court of Justice (ECJ) ระบุว่าว่า Uber เป็นบริษัทผู้ให้บริการรถแท็กซี่ ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการขนส่งแห่งชาติของยุโรป

ที่มา: theguardian.com (20/12/2017)

คาดญี่ปุ่นขาดแคลนนักบินปี 2030

ญี่ปุ่นกับกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลต่อหลายอาชีพ โดยเฉพาะนักบิน ปัจจุบันมีนักบินจำนวนมากกำลังเข้าสู่วัย 40 ตอนปลาย ซึ่งนักบินกลุ่มนี้จะเข้าสู่วัยเกษียณในช่วงประมาณปี 2030 ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามหานักบินเพิ่มผ่านการเพิ่มโควต้าในการรับนักเรียนของบรรดาโรงเรียนฝึกสอนการบิน และจัดทำโครงการเงินกู้สำหรับนักเรียนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบินในอนาคต

ที่มา: japantimes.co.jp (28/12/2017)

ไม่พบหลักฐานเกาหลีเหนือนำเงินเดือนคนงานนิคมอุตสาหกรรมแคซองไปใช้ดำเนินโครงการผลิตอาวุธ

คณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงรวมชาติของเกาหลีแถลงว่าข้ออ้างที่ระบุว่าเกาหลีเหนือนำเงินเดือนคนงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมแคซอง (Kaesong industrial park) ไปใช้ดำเนินโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธนั้นไม่เป็นความจริง

ที่มา: japantimes.co.jp (28/12/2017)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองโฆษกเพื่อไทยจี้ ประวิตร-ป.ป.ช. สังคมยังรอคำตอบเรื่องนาฬิกา-แหวน

Posted: 03 Jan 2018 01:40 AM PST

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกเพื่อไทยจี้ประวิตร สังคมยังรอคำตอบเรื่องนาฬิกาและแหวน ระบุเงียบผิดฟอร์ม ปรกติเห็นตอบได้ทุกเรื่อง ตั้งคำถาม ป.ป.ช. จะเรียกบุคคลที่ 3 มาชี้แจงอย่างไร จะให้ประวิตรชี้แจงแค่ไหน ย้ำประธาน ป.ป.ช. ต้องพิสูจน์ตัวเองเพราะเคยทำงานใกล้ชิดประวิตร

3 ม.ค. 2561 มติชน รายงานว่าอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่ชี้แจงที่มาของนาฬิกา และแหวนเพชรที่ภาพออกมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2560 นั้นถือว่าประวิตร มาผิดฟอร์ม เพราะปรกติสามารถตอบคำถามได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักเรียนเตรียมทหารเสียชีวิตหรือเรื่องอื่นๆ แต่เรื่องแหวนและนาฬิกากลับเงียบผิดสังเกตและเลือกไม่ชี้แจงใดๆ ทั้งที่สังคมยังรอฟังคำตอบ

ไอเท็มแห่งปี 2017 : หมุดหน้าใส นาฬิกาลุงป้อม กล้องวงจรปิดวิสามัญชัยภูมิ ฯลฯ

อนุสรณ์ ตั้งคำถามในส่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บอกว่าจะเชิญตัวบุคคลที่ 3 ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำว่า ถ้าประวิตร ให้การว่านาฬิกาหรูเป็นของเพื่อนและเพื่อนคนนั้นตายแล้ว ป.ป.ช.จะเชิญตัวบุคคลที่ 3 ที่เกี่ยวข้องมาอย่างไร และจะให้ประวิตรชี้แจงนาฬิกาเรือนไหน แค่นาฬิกา ริชาร์ด มิลล์ เรือนแรก หรือเรื่อนอื่นๆ ด้วย นอกจากนั้น กฎหมายใหม่ให้ ป.ป.ช. สามารถทำการตรวจสอบได้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องเรียน ถ้า ป.ป.ช.เห็นเอง ก็สามารถตั้งเรื่องเพื่อให้ชี้แจงได้ด้วยตัวเอง สังคมอยากเห็น ป.ป.ช.ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่สองมาตรฐาน อย่าให้สังคมตั้งคำถาม ยิ่งสังคมรับรู้ในวงกว้างว่าประธาน ป.ป.ช.เคยทำงานใกล้ชิดกับประวิตร มาก่อน ยิ่งต้องพิสูจน์ตัวเอง เน้นย้ำการทำงานให้เกิดความโปร่งใส ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่สองมาตรฐาน

ล่าสุด วันนี้ (3 ม.ค. 2561) มติชนรายงานว่า พล.อ. ประวิตรปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องความคืบหน้าการส่งหนังสือชี้แจงกรณีนาฬิกาและแหวนเพชรให้ ป.ป.ช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ย้อนมอง 2560 ปีที่พลังสตรีนิยมลาตินอเมริกาตอบโต้อำนาจ

Posted: 03 Jan 2018 12:01 AM PST

สื่ออิสระโกลบอลวอยซ์ย้อนรำลึกปี 2560 ว่าเป็นปีที่สำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวสตรีนิยม ไม่เพียงแค่การยอมรับจากสื่อกระแสหลักทั้งหลายอย่างการที่ #MeToo ที่ถูกยกให้เป็น "บุคคลแห่งปี" ของนิตยสารไทม์ หรือการที่พจนานุกรมเมอร์เรียม เว็บสเตอร์ จัดให้คำว่า "แนวคิดสตรินิยม" (Feminism) เป็นคำแห่งปีเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจที่น่าสนใจจากสตรีนิยมในภูมิภาคลาตินอเมริกาด้วย

3 ม.ค. 2561 โกลบอลวอยซ์ระบุว่าในปี 2560 มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจจากขบวนการสตรีนิยมจำนวนมาก โดยที่ในภูมิภาคลาตินอเมริกาก็มีการเคลื่อนไหวของสตรีตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปลายปีที่แล้ว เริ่มจากกรณีโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้บ้านเด็กกำพร้าของรัฐในกัวเตมาลาเมื่อเดือน มี.ค. 2560 ที่ส่งผลให้มีเด็กหญิงเสียชีวิต 41 ราย มีการรณรงค์ที่ชื่อว่า #NosDuelen56 ที่ทำให้มีศิลปินมาวาดภาพของเด็กที่เสียชีวิตในเพลิงไหม้เหล่านี้และเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางการกัวเตมาลา

ภาพวาดของเด็กที่เสียชีวิต ที่วาดขึ้นโดยศิลปิน(ที่มา:facebook/The Human Rights Defenders Project)

ในเดือน ก.ค. 2560 มีกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลเสรีพยายามทำแผนที่การสังหารผู้หญิงด้วยสาเหตุทางเพศสภาพ (femicide) ในเม็กซิโกโดยมีการให้ข้อมูลทั้งในเชิงภูมิศาสตร์รวมถึงบริบทในการสังหารผู้หญิงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2559 พวกเขาสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ 1,824 กรณี

ในเดือน ส.ค. 2560 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยอัสซุงซิออนในปารากวัยที่เสนอให้เห็นปัญหาการปิดกั้นทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศที่ส่งผลถึงหน้าที่การงานของนักเรียนแพทย์หญิง

ในเดือน ก.ย. 2560 มีกรณีที่สร้างแรงสะเทือนให้กับภูมิภาคคือการสังหารมารา คาสทิลลา ด้วยสาเหตุทางเพศสภาพจนทำให้เกิดการประท้วงใน 11 รัฐของเม็กซิโก โดยที่ผู้ประท้วงวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐที่ขาดมาตรการรักษาความปลอดภัยและวัฒนธรรมการลอยนวลไม่ต้องรับผิดของคคนที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ในโลกออนไลน์ก็มีการเชื่อมโยงการเสียชีวิตของคาสทิลลาถึงกรณีความรุนแรงด้วยฐานทางเพศสภาพในกรณีก่อนหน้านี้ เช่น การใช้แฮ็ชแท็ก #IfTheyKillMe (ถ้าพวกเขาสังหารฉัน) โดยมีการรณรงค์ให้มีการดูแลความปลอดภัยต่อผู้หญิงที่ดีขึ้นและหยุดการประณามเหยื่อในโลกออนไลน์

ในปีนี้ยังเป็นปีที่บนเวทีประกวดนางงามจักรวาล มิสเปรูใช้พื้นที่นี้ในการพูดถึงกรณีความรุนแรงต่อผู้หญิง ทำให้เกิดแรงสะเทือนต่อส่อระดับนานาชาติ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ตว่าตัวเธอเองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ "ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุ" (objectifies women) บนเวทีที่ให้ความสำคัญแต่กับรูปร่างหน้าตาภายนอกที่แทบจะดูเหมือนกันไปหมดคือ ผอม สูง และเธอก็ใช้เวทีที่ให้คุณค่าความงามจากสายตาชาติตะวันตกมานำเสนอในสิ่งที่ผู้คนต้องเผชิญด้วยความเจ็บปวดและน่าเศร้าซึ่งสื่อในบ้านเธอเองควรจะนำเสนออย่างจริงจัง

ในประเทศเอกวาดอร์ก็มีกิจกรรมในเชิงศิลปะจากการจัดแสดงภาพถ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์คลินิคผิดกฎหมายที่อ้างตัวว่าทำการ "แก้ไข" คนที่เป็นหญิงรักหญิง อีกทั้งยังมีงานแสดงภาพถ่ายอื่นๆ ที่ยกย่องเหล่านักวิทยาศาสตร์หญิงลาตินอเมริกันผู้มีคุณูปการต่อสังคม ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนทั้งทางอินเทอร์เน็ตและโลกภายนอกเกี่ยวกับอำนาจทับซ้อนจากเชื้อชาติและเพศสภาพ รวมถึงมีการชี้ให้เห็นว่าปัญหาการเหยียดหรือเลือกปฏิบัติในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมเองก็ควรจะมีการพูดถึง

แอนเดรีย อาร์ซาบา ผู้เขียนรายงานให้โกลบอลวอยซ์ระบุว่าการต่อสู้ของขบวนการผู้หญิงในพื้นที่ลาตินอเมริกาเริ่มยึดกุมพื้นที่ได้มากขึ้นและเริ่มเข้มแข็งขึ้นแต่ก็ยังคงต้องต่อสู้ต่อไปโดยที่ในปี 2561 นี้อาจจะได้เห็นการเติบโตของโครงการอื่นๆ ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโลกที่ปลอดภัยและเป็นธรรมมากขึ้น

เรียบเรียงจาก

2017: Another Year of Feminist Counter-Power in Latin America, Global Voices, Dec. 31, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สารสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเนื่องในวันสันติภาพสากลปี 2018

Posted: 02 Jan 2018 09:45 PM PST

"ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย คือชายหญิงที่มุ่งแสวงหาสันติภาพ" สารจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เนื่องในวันสันติภาพสากลปี 2018

แฟ้มภาพสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (ที่มา: Malacañang Photo Bureau/Wikipedia)

เมื่อวันที่ 1 มกราคม ซึ่งทางสำนักวาติกันได้กำหนดให้เป็นวันสันติภาพสากล สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงออกสารในโอกาสวันสันติภาพสากล ครั้งที่ 51 หัวข้อ "ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย คือชายหญิงที่มุ่งแสวงหาสันติภาพ" Migrants and Refugees : Men and Women in Search of Peace โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกยุติธรรมและสันติ (ยส.)ได้แปลสารวันสันติภาพสากล เป็นภาษาไทย เอาไว้ดังนี้

สารสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสในโอกาสเฉลิมฉลองวันสันติภาพสากล ครั้งที่ 51

1.ขอส่งความปรารถนาดีจากใจเพื่อสันติภาพ

ขอนำพรแห่งสันติภาพมาแด่มนุษย์ทุกคนและทุกประเทศบนโลกใบนี้ สันติภาพซึ่งเหล่าทูตสวรรค์ประกาศแก่บรรดาผู้เลี้ยงแกะในคืนคริสตสมภพ เป็นความปรารถนาอย่างลึกซึ้งของมนุษย์ทุกคน มนุษย์แต่ละคน และประชาชาติทั้งมวล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ต้องทนทุกข์เพราะไม่มีสันติภาพ ในบรรดาผู้คนเหล่านี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงผู้อพพทั่วโลกจำนวนมากกว่า 250 ล้านคน อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งข้าพเจ้ายังคงรำลึกถึงและภาวนาให้เสมอ ในจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัย 22.5 ล้านคน พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ผู้เป็นที่รักซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนหน้าข้าพเจ้า ได้พูดถึงพวกเขาในฐานะ "ชายและหญิง เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ซึ่งแสวงหาที่อยู่อาศัยสำหรับการดำรงชีวิตอย่างสันติ" เพื่อหาสันติสุขดังกล่าว พวกเขายินยอมเสี่ยงชีวิตของตนไปกับการเดินทางที่มักจะยาวไกลและเต็มไปด้วยอันตราย ยอมทนกับความยากลำบากและความทุกข์ทรมาน และยอมเผชิญกับแนวรั้วและกำแพพงที่สร้างขึ้นเพื่อปิดกั้นให้เขาอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายของตน

ด้วยจิตใจแห่งความเมตตา ขอให้เราโอบกอดทุกคนที่หลบหนีจากสงครามและความหิวโหย หรือถูกบังคับให้ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตนไปเพราะการเลือกปฏิบัติ การข่มเหง ความยากจน และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม

เรารู้ว่าไม่เป็นการเพียงพอที่จะเปิดหัวใจเราต่อความทุกข์ทรมานของผู้อื่นเท่านั้น ยังมีสิ่งอื่นๆ อีกมากมายที่จะต้องกระทำก่อนที่พี่น้องชายหญิงของเรา จะสามารถใช้ชีวิตของตนได้อย่างสันติในบ้านที่ปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง การต้อนรับผู้อื่นเรียกร้องให้มีการอุทิศตนอย่างเป็นรูปธรรม เครือข่ายความช่วยเหลือและความมีน้ำใจดี การเฝ้าระวังและการเอาใจใส่อย่างเห็นอกเห็นใจ  การบริหารจัดการสถานการณ์ใหม่และสลับซับซ้อนอย่างรับผิดชอบ ซึ่งบางครั้งเต็มไปด้วยปัญหามากมาย

นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องทรัพยากร ที่บ่อยๆ มีอยู่อย่างจำกัด ผู้นำรัฐบาลควรดำเนินมาตราการในทางปฏิบัติโดยอาศัยคุณธรรม ความรอบคอบ เพื่อต้อนรับ ส่งเสริม ปกป้อง และบูรณาการเข้าไป "ภายใต้ขอบเขตจำกัดที่อนุญาต ซึ่งเกิดมาจากความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความดีส่วนรวม เพื่อให้ (พวกเขา) เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่"  บรรดาผู้นำมีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนต่อชุมชนของตน ซึ่งพวกเขาต้องให้หลักประกันต่อสิทธิโดยชอบธรรม และการพัฒนาที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน  มิเช่นนั้น พวกเขาจะเป็นเสมือนช่างก่อสร้างที่อารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำการคำนวณผิดพลาดและล้มเหลวในการสร้างหอคอยที่ตนได้เริ่มสร้างไว้ให้สำเร็จ

2.ทำไมจึงมีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจำนวนมากมายเช่นนี้?

เมื่อนักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พิจารณาดูปีปีติมหาการุณย์ที่เป็นสัญญาณของการก้าวผ่านปีสองพัน นับจากวาระที่บรรดาทูตสวรรค์ประกาศสันติสุขที่เบธเลเฮม  พระองค์ชี้ให้เห็นว่า  ผู้ที่ต้องทิ้งถิ่นฐานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจาก "สงคราม ความขัดแย้ง การทำลายล้างเชื้อชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่น่าตระหนกและยืดเยื้อไม่มีสิ้นสุด" ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 แม้ในปัจจุบันซึ่งเป็นศตวรรษใหม่แล้ว ก็ยังมิได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงแต่ประการใด ความขัดแย้งทางอาวุธ และความรุนแรงที่เป็นระบบในรูปแบบอื่นๆ ยังคงก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชาชนภายในพรมแดนของประเทศเองและข้ามประเทศอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นก็ดี มีประชาชนที่อพยพด้วยเหตุผลอื่นด้วยเช่นกัน ที่สำคัญเพราะพวกเขา "ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น และบ่อยๆ มักจะทิ้ง 'ความสิ้นหวัง' ต่ออนาคตที่ไม่มีทีท่าว่าจะดีไว้เบื้องหลัง"

พวกเขาออกเดินทางเพื่อการศึกษา สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้ ก็ดำรงชีวิตอย่างสันติไม่ได้ นอกจากนั้น ดังที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตไว้แล้วในสมณสาสน์ "ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า" (Laudato Si)ว่ามี 'บรรดาผู้อพยพจำนวนมากที่ต่างก็พากันหนีความยากจนที่เพิ่มมากขึ้นจากสาเหตุของสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง"

คนส่วนใหญ่อพยพผ่านช่องทางปกติ  อย่างไรก็ตาม มีบางคนใช้เส้นทางที่แตกต่างออกไป เพราะความสิ้นหวัง เมื่อประเทศบ้านเกิดของตนมิได้ให้ความปลอดภัยหรือโอกาสแก่พวกเขา และเมื่อหนทางอื่นๆ ตามกฎหมาย ดูจะทำไม่ได้ หรือไม่ก็อืดอาดล่าช้า

ประเทศปลายทาง หลายประเทศมีการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงความเสี่ยงต่อความมั่นคงภายในของประเทศตน หรืองบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้ในการต้อนรับบรรดาผู้อพยพใหม่  ซึ่งถือเป็นการลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนในฐานะบุตรชายหญิงของพระเจ้า 

สำหรับผู้ที่ปลุกกระแสความหวาดกลัวต่อผู้อพยพ ซึ่งอาจมาจากเหตุผลทางการเมือง  แทนที่จะสร้างสันติภาพ พวกเขากลับกำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง การเลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติ และความเกลียดกลัวคนต่างชาติ ซึ่งเป็นความกังวลยิ่งใหญ่ขอบรรดาผู้ที่ห่วงใยต่อความปลอดภัยของมนุษย์ทุกคน

บรรดาตัวชี้วัดที่ประชาคมระหว่างประเทศมีอยู่  ต่างชี้ว่า การอพยพในโลกจะคงดำเนินต่อไปในอนาคต  บางคนเห็นว่านี่เป็นภัยคุกคาม สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ขอให้พิจารณาด้วยความเชื่อมั่นว่า การอพยพเป็นโอกาสในการสร้างสันติภาพด้วยเช่นกัน

3. ด้วยการพินิจเพิ่งมอง

ปรีชาชาญแห่งความเชื่อ ส่งเสริมการพินิจเพิ่งมองที่ยอมรับว่า  เราทุกคน "เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน  ทั้งผู้อพยพ และประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศที่ต้อนรับพวกเขา และทุกคนต่างก็มีสิทธิเช่นเดียวกันในการเข้าถึงประโยชน์จากทรัพยากรของโลก ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสากล สำหรับทุกคน  ตามคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  ดังนี้  จึงเกิดความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวและแบ่งปันซึ่งกันและกัน"

คำกล่าวเหล่านี้ ทำให้ภาพลักษณ์เกี่ยวกับนครเยรูซาเล็มใหม่ในพระคัมภีร์ปรากฎเด่นชัดขึ้น  หนังสือประกาศศก อิสยาห์(บทที่ 60)  และหนังสือวิวรณ์ (บทที่ 21)ให้ภาพนครที่ประตูเปิดรับประชาชนจากทุกชาติเสมอ  ซึ่งทุกคนต่างประหลาดใจชื่นชมและเข้ามาอยู่เต็ม พร้อมกับสร้างความมั่นคั่งในนคร  สันติภาพคืออำนาจสูงสุดที่นำทางนคร และความยุติธรรมเป็นหลักศีลธรรมที่ควบคุมดูแลการดำรงอยู่ร่วมกันในนคร

เราต้องพินิจเพ่งมองในนครที่เราอาศัยอยู่  "การเพ่งมองด้วยสายตาแห่งความเชื่อ  ซึ่งเห็นพระเจ้าประทับอยู่ในบ้านของผู้คนต่างๆ บนท้องถนนและตามลานเมือง  ส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียว  ความเป็นพี่น้องกัน และความปรารถนาสิ่งดีงาม ความจริง และความยุติธรรม"  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  การทำให้สัญญาของสันติภาพบรรลุผล

เมื่อเราหันไปมองบรรดาผู้อพยพและผู้ลี้ภัย  เราพบว่า  พวกเขามิได้มาแต่มือเปล่า  พวกเขานำความกล้าหาญ ทักษะ ความกระตือรือร้น และความใฝ่ฝันของเขาติดตัวมาด้วย  รวมถึงสมบัติวัฒนธรรมของพวกเขาเอง  และด้วยเหตุนี้  พวกเขาก็ช่วยสร้างความมั่นคั่งให้แก่ประเทศที่ต้อนรับพวกเขาด้วย  เรายังได้เห็นความคิดสร้างสรรค์  ความเพียรทน และจิตใจแห่งการเสียสละของคนครอบครัว และชุมชนรอบโลกจำนวนนับไม่ถ้วน  ซึ่งเปิดประตูบ้าน และจิตใจของตนต่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัย  แม้ว่าทรัพยากรจะหาได้ยากก็ตามที

การพินิจเพ่งมองยังควรต้องชี้นำการวินิจฉัยของผู้ที่รับผิดชอบต่อประโยชน์ของสาธารณะ และให้กำลังใจพวกเขาในการกำหนดนโยบายการต้อนรับ "ภายใต้ข้อจำกัดที่พออนุโลมให้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเรื่องความดีส่วนรวม" โดยตระหนักถึงความจำเป็นของสมาชิกทั้งมวลของครอบครัวมนุษยชาติ และสวัสดิภาพของแต่ละคน

ผู้ที่มองและเข้าใจสิ่งต่างๆ ในทำนองนี้  จะสามารถยอมรับเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพที่งอกเงยขึ้นมาแล้ว และหล่อเลี้ยงให้สันติภาพงอกงามต่อไป นครของเรา ซึ่งมักจะมีการแบ่งแยกและแยกขั้วด้วยความขัดแย้งจากการเข้ามาของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย  จะได้กลายเป็นโรงปฏิบัติงานแห่งสันติภาพ

4. หลักปฏิบัติ 4 ประการ

การให้โอกาสแก่ผู้แสวงหาที่หลบภัย ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในการพบกันสันติภาพที่พวกเขาแสวงหาจำเป็นจะต้องมีกลยุทธ์ผสานการปฏิบัติ 4 ประการด้วยกัน คือ การต้อนรับ,การคุ้มครอง,การส่งเสริม,และการผสมกลมกลืนเข้ากับสังคม

"การต้อนรับ" เรียกร้องให้มีการขยายช่องทางกฎหมายในการเข้าประเทศ และจะไม่มีการผลักดันผู้อพยพและผู้พลัดถิ่น ไปยังประเทศที่พวกเขาต้องเผชิญกับการข่มเหงรังแก และความรุนแรง  การต้อนรับยังเรียกร้องการรักษาดุลยภาพระหว่างความกังวลของเราเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ  กับการให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  พระคัมภีร์เตือนเราว่า "จงอย่าลืมที่จะแสดงความใจกว้างต่อแขกแปลกหน้า  ทั้งนี้เพราะการกระทำดังกล่าว  บางคนได้แสดงความใจกว้างต่อบรรดาทูตสวรรค์แล้วโดยไม่รู้ตัว"

"การคุ้มครอง"  เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเราในการยอมรับและปกป้องศักดิ์ศรีอันล่วงละเมิดมิได้ของผู้หนีภัยอันตรายจริงๆ เพื่อแสวงหาที่หลบภัยและความมั่นคงปลอดภัย  และป้องกันมิให้พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบ  ข้าพเจ้าคิดว่าโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก  คือผู้ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและการล่วงละเมิด  ที่อาจนำไปสู่การตกเป็นทาสด้วย  พระเจ้าไม่ทรงเลือกปฏิบัติ  "พระเจ้าทรงพิทักษ์คนต่างถิ่นที่มาอาศัยอยู่ และทรงค้ำจุนเด็กกำพร้าและหญิงหม้าย"

"การส่งเสริม"  คือการสนับสนุนการพัฒนามนุษย์ในทุกมิติชีวิตของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย  หนึ่งในวิธีการมากมายที่เป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น  ข้าพเจ้าขอย้ำถึงความสำคัญของการให้หลักประกันการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในทุกระดับชั้น  การนี้จะมิเพียงช่วยพวกเขาให้เกิดการบ่มเพาะและตระหนักในศักยภาพของตนเท่านั้น  แต่ยังช่วยฝึกพวกเขาให้พบปะกับผู้อื่น  และเพื่อส่งเสริมจิตใจแห่งการเสวนาแทนการปฏิเสธและการเผชิญหน้า

พระคัมภีร์สอนว่า "พระเจ้า ทรงรักคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ท่ามกลางท่าน  ประทานอาหารและเสื้อผ้าแก่พวกเขา และดังนั้นท่านจะต้องรักผู้ที่เป็นคนต่างด้าว  เพราะท่านเองก็เป็นคนต่างด้าวในแผ่นดินอียิปต์"

"การผสมกลมกลืนเข้ากับสังคม"  เป็นประการสุดท้าย  หมายถึงการให้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในชีวิตของสังคมที่ต้อนรับพวกเขา  ในฐานะที่

เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำให้ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์  และเกิดความร่วมมืออย่างได้ผลต่อการทำงานพัฒนามนุษยอย่างครบทุกมิติในชุมชนท้องถิ่น  นักบุญเปาโลแสดงออกด้วยคำกล่าวที่ว่า  "ท่านจึงไม่เป็นคนต่างด้าวหรือคนแปลกหน้าอีกต่อไป  แต่เป็นเพื่อนร่วมชาติของประชากรของพระเจ้า"

5. ข้อเสนอสำหรับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉบับ

ข้าพเจ้ามีความหวังจากใจจริงว่า เจตนารมณ์เช่นนี้จะชี้ช่องทางสำหรับกระบวนการที่จะช่วยองค์การสหประชาชาติในการยกร่างและรับรองสนธิสัญญาระดับโลกสองฉบับในระหว่างปี 2018 ฉบับแรก เกี่ยวกับการอพยพที่ปลอดภัย มีระเบียบและเป็นปกติ  และอีกฉบับเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ในฐานะที่เป็นสนธิสัญญาระดับโลก สนธิสัญญาทั้งสองจะเป็นกรอบสำหรับนำเสนอนโยบาย และมาตราการในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ สนธิสัญญาทั้งสองฉบับจะต้องได้รับแรงบันดาลใจจากความเห็นอกเห็นใจ  การมองการณ์ไกลและความกล้าหาญ  เพื่อใช้ประโยชน์จากทุกโอกาสที่จะช่วยให้กระบวนการสร้างสันติภาพคืบหน้าไป ด้วยหนทางนี้เท่านั้นที่สิ่งเป็นจริงตามที่การเมืองระหว่างประเทศเรียกร้อง จะสามารถหลีกเลี่ยงการยอมแพ้ต่อการเยาะเย้ยถากถาง และต่อโลกาภิวัตน์ของการเพิกเฉย

การเสวนาและการประสานงานเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นหน้าที่เฉพาะของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือไปจากเรื่องของพรมแดน และประเทศที่มั่งคั่งน้อยกว่าอาจสามารถรองรับผู้ลี้ภัยได้มากขึ้น หรือรองรับได้ดีขึ้น  หากความร่วมมือระหว่างประเทศให้หลักประกันด้านเงินทุนที่จำเป็นแก่ประเทศเหล่านั้น

แผนกผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ของสมณะกระทรวงเพื่อการส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ในทุกมิติชีวิต  ได้จัดพิมพ์ชุดหลักปฏิบัติ 20 ประการที่ให้แนวทางรูปธรรมในการดำเนินการหลัก 4 ข้อในนโยบายสาธารณะ  ในทัศนคติและกิจการของชุมชนคริสตชน  จุดมุ่งหมายของเรื่องนี้และคุณูปการอื่นๆ ถือเป็นการแสดงความสนใจของพระศาสนจักรคาทอลิก  ในกระบวนการที่นำไปสู่การรับรองสนธิสัญญาระดับโลกสองฉบับของสหประชาชาติ  ความสนใจนี้  เป็นเครื่องหมายของความใส่ใจด้านการอภิบาลทั่วไปมากขึ้น  ที่สะท้อนถึงต้นกำเนิดของพระศาสนจักรจนกระทั่งปัจจุบัน

6. เพื่อบ้านของเราร่วมกัน

ขอให้เราได้รับแรงบันดาลใจจากคำกล่าวของนักบุญยอห์นปอล ที่ 2 ที่ว่า "หากความฝัน เพื่อโลกที่มีสันติภาพ เป็นความฝันร่วมกันของทุกคน  หากคุณูปการของ 'ผู้ลี้ภัย' และ 'ผู้อพยพ' ได้รับการประเมินอย่างถูกต้อง  เมื่อนั้น มนุษยชาติก็จะสามารถเป็นครอบครัวสากลหนึ่งเดียวได้มากยิ่งขึ้น และโลกของเราก็จะเป็น 'บ้านของเราร่วมกัน' อย่างแท้จริง

ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์  หลายคนเชื่อว่า 'ความฝัน' นี้ และการทำให้ความฝันนี้เกิดเป็นความจริงนั้น เป็นข้อพิสูจน์ถึงความจริงที่ว่า นี่มิใช่เป็นเพียงความเพ้อฝันเท่านั้น

ในจำนวนนี้  เรารำลึกถึงนักบุญฟรานเซส เซเวียร์ คาบรินี่ ซึ่งปีนี้เป็นวโรกาสครบรอบหนึ่งร้อยปีของการเสียชีวิตของท่าน และในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ชุมชนวัดมากมายทำการเฉลิมฉลองความทรงจำถึงเธอ  ผู้หญิงที่ไม่ธรรมดาท่านนี้  คือผู้อุทิศชีวิตของตนรับใช้ผู้อพยพ  และได้เป็นองค์อุปถัมภ์ของเหล่าผู้อพยพ  ท่านได้สอนเราให้ต้อนรับคุ้มครอง  ส่งเสริม  และผสมผสานพี่น้องชายหญิงของเราเข้ากับสังคม โดยอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน ขอพระเจ้าทรงช่วยเราทุกคนให้มีประสบการณ์ "การเก็บเกี่ยวความดีที่ได้หว่านไว้ในสันติภาพโดยผู้ที่สร้างสันติ"

จากวาติกัน
รำลึกถึงนักบุญฟรานเซส เซเวียร์ คาบรินี่ องค์อุปถัมภ์ผู้อพยพ
ฟรังซิส.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น