โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กองกำลัง ARSA ระบุ 10 ศพชาวโรฮิงญาเป็นพลเรือนไม่ใช่กลุ่มติดอาวุธ

Posted: 14 Jan 2018 08:45 AM PST

กองกำลัง ARSA ระบุว่าศพชาวโรฮิงญา 10 รายที่พบในหลุมขนาดใหญ่เป็นแค่พลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับ ARSA โดยเป็นการชี้แจงหลังจากหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมพม่ายอมรับว่ามีทหารพม่าร่วมกับชาวบ้านสังหารชาวโรฮิงญา 10 ราย โดยไม่ยอมนำส่งตำรวจ แต่ก็อ้างว่าเป็นเพราะผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ก่อเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่

กรณีที่คณะกรรมการข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมพม่า ออกมายอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงร่วมกับชาวบ้าน สังหารชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัว 10 ราย และถูกฝังรวมกันในหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่หมู่บ้านอินดินในรัฐยะไข่ แต่ก็อ้างว่าผู้ถูกสังหารเป็นกลุ่มติดอาวุธและโจมตีเจ้าหน้าที่พม่านั้น

ล่าสุด สถานีวิทยุเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) รายงานว่า กองกำลัง ARSA ระบุว่า ศพชาวโรฮิงญา 10 ราย ที่พบดังกล่าวไม่ใช่สมาชิกกลุ่มติดอาวุธแต่เป็นพลเรือนชาวโรฮิงญาที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับกองกำลัง ARSA

เจ้าหน้าที่พม่าขุดศพ 10 ร่างขึ้นมาจากหลุมศพขนาดใหญ่ที่ค้นพบที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากเมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือ 50 กม. ภาพถ่ายเมื่อ 19 ธันวาคม 2560 (ที่มา: Office of the Commander-in-Chief)

สภาพของหมู่บ้านอินดิน ในรัฐยะไข่ เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีประชากร 6,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา ขณะที่อีก 840 คน เป็นประชากรกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในภาพเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 แสดงให้เห็นสภาพของชุมชนที่ถูกเผาทำลาย (กรอบสีแดง) โดยมีชุมชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกเผาทำลาย (กรอบสีเขียว) (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ที่ตั้งของหมู่บ้านอินดิน ในรัฐยะไข่ ห่างจากเมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปราว 50 กม.

โดยก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลพม่า รายงานเมื่อวันที่ 11 มกราคม 61 ว่า คณะกรรมการข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมพม่าได้แถลงยอมรับเมื่อ 10 มกราคมนี้ว่า หลุมศพขนาดใหญ่ที่มีศพ 10 ร่าง พบเมื่อ 18 ธันวาคม 60 ที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือราว 50 กม. นั้นเป็นศพของกลุ่มมุสลิมติดอาวุธ

ทีมสอบสวนซึ่งนำโดย พล.ท.เอวิน จากกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ช่วง 20 ธันวาคม 60 ถึง 2 มกราคม 61 ได้สอบสวนทหารพม่า 21 ราย ตำรวจตระเวนชายแดน 3 ราย และสมาชิกกองกำลัง อส. กรมที่ 8 จำนวน 13 ราย ชาวบ้าน 6 ราย และเจ้าหน้าที่รัฐบาลในพื้นที่ 6 ราย

แถลงการณ์ของหน่วยงานดังกล่าวยังระบุว่า ในช่วงก่อเหตุโจมตีระลอกใหม่ของกองกำลัง ARSA เมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นคนลงมือฆ่า "หม่องนี" ชาวบ้านในหมู่บ้านอินดิน นอกจากนี้ยังข่มขู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่มุสลิมในหมู่บ้าน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่มุสลิมได้ย้ายไปรวมกันในวัดแห่งหนึ่งของหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่กองทัพพม่าถูกส่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อรักษาความปลอดภัย

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน มีผู้ก่อเหตุราว 200 คน พยายามโจมตีกองกำลังของรัฐบาลพม่าที่เข้ามาในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่จึงยิงปืนเตือนขึ้นฟ้าเพื่อให้กลุ่มผู้ก่อเหตุสลายตัว และจับชายที่มีอาวุธได้ 10 คน โดยชายเหล่านี้สารภาพว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และถูกจัดตั้งมาโดยผู้นำศาสนาในพื้นที่ชื่อ "หม่อละวี" ที่มัสยิดในหมู่บ้าน

คณะกรรมการข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมพม่า ยังรายงานด้วยว่า ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 10 คนต้องถูกส่งมอบตัวกับตำรวจ แต่ในรายงานอ้างว่า เนื่องจากรถยนต์ 2 คันของสถานีตำรวจอินดินถูกเผาทำลายโดยผู้ก่อการร้าย และมีเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้ายเกิดขึ้นในเวลานั้น ทำให้ทหารพม่าร่วมกับชาวบ้านบางรายสังหารผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 10 ราย

รายงานของคณะกรรมการข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมพม่า ระบุด้วยว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎการปะทะ และจะมีการดำเนินการลงโทษต่อบุคคลเหล่านี้ นอกจากนี้จะลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ยอมรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานบังคับบัญชาอีกด้วย

ขณะที่ อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ กล่าวเมื่อวันศุกร์นี้ (12 ม.ค.) ว่า เธอรู้สึกอุ่นใจหลังจากที่ทราบผลการสอบสวนของกองทัพพม่าที่ระบุว่าจะลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งก่อเหตุสังหารดังกล่าว

"มันเป็นการก้าวไปข้างหน้าที่กองทัพพม่าได้สอบสวน และระบุว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบ ในที่สุดประเทศชาติจำต้องรับผิดชอบต่อหลักนิติธรรมในประเทศของตน" อองซานซูจีกล่าวระหว่างแถลงข่าวหลังการพบปะ ทาโร โคโนะ รมว.ต่างประเทศของญี่ปุ่น รายงานของอิระวดีระบุ

อนึ่งเกิดความรุนแรงระลอกใหม่ขึ้นในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า เมื่อกองกำลัง ARSA ซึ่งระบุว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาบุกโจมตีป้อมตำรวจที่ชายแดนพม่า ทำให้กองทัพพม่าใช้วิธีปราบปรามแบบไม่เลือกหน้าและมุ่งเป้ามาที่พลเรือน โดยใช้ทั้งวิธีสังหารและเผาทำลายหมู่บ้าน ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในรัฐยะไข่ในพื้นที่ขัดแย้ง ก็อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าจัดให้ โดยระบุว่าถูกโจมตีจากกลุ่ม ARSA เช่นกัน

โดยผลจากการกวาดล้างของกองทัพพม่า ทำให้เกิดการอพยพของชาวมุสลิมโรฮิงญาเข้าสู่ชายแดนบังกลาเทศแล้วกว่า 650,000 คน

ด้านสหประชาชาติได้กล่าวประณามกองทัพพม่าว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ แต่ทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และระบุว่าได้ดำเนินการตามกฎหมาย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Daw Aung San Suu Kyi Encouraged by Investigation into Inn Din Killings, Irrawaddy, 12 January 2018

Villagers, security forces involved in killings of 10 armed Muslims, The Global New Light of Myanmar, 11 January 2018

ARSA says 10 found in Rakhine State grave were 'innocent civilians', DVB, 14 January 2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย จ.ยโสธร ยื่นหนังสือค้านโรงงานน้ำตาล+โรงไฟฟ้าชีวมวล

Posted: 14 Jan 2018 07:39 AM PST

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบายตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรกว่า 400 คนเข้ายื่นหนังสือในเวทีประชุมชี้แจงการเปลี่ยนแปลงผังโครงการและผันน้ำจากลำเซบายของโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมิตรผลอำนาจเจริญ

14 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบายตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และตำบลน้ำปลีก อำเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ กว่า 400 คนเดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้อำนวยการโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในเวทีประชุมชี้แจงการเปลี่ยนแปลงผังโครงการและการผันน้ำจากลำเซบาย บริเวณศาลากลางบ้านเซ ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทได้จัดเวทีขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมาจนถึงวันที่15 ม.ค. โดยวันที่13ได้จัดเวทีที่บริเวณศาลาบือบ้านน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ส่วนในวันนี้(14 ม.ค.) ได้จัดที่บริเวณศาลากลางบ้านเซ ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ส่วนวันที่15 ม.ค. จะจัดขึ้นที่บ้านนาหมอม้า ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง ขังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ

มาลิจิตร เอกตาแสง ชาวบ้านเชียงเพ็งกล่าวว่า ตามที่ บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(อำนาจเจริญ) จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนงานในการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ณ พื้นที่ตำบลน้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ซึ่งทางโครงการได้ชี้แจงผังของโครงการและกระบวนการในการจัดการต่างๆ ของโครงการทั้งหมดให้ประชาชนในพื้นที่ ส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่สนใจรับฟังไปแล้วในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งทุกกระบวนการชาวบ้านได้ทำหนังสือคัดค้านทุกครั้ง เนื่องจากทางโครงการไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย รวมทั้งข้อมูลไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความเป็นจริงของพื้นที่ที่จะจัดตั้งโครงการ ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรได้ติดตามกระบวนการต่างๆขอโครงการมาโดยตลอด ทางกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ไม่ถูกต้อง

จิราพร แก้วดี ชาวบ้านน้ำปลีกกล่าวว่า แม้แต่ในมติ คจก.ที่ผ่านของโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลก็มีมติให้ไม่ผ่านทั้งสองโรง ใส่ชื่ออำเภอจังหวัดก็ผิด เช่นอำเภอป่าติ้ว จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งอำเภอป่าติ้วขึ้นต่อจังหวัดยโสธร และข้อผิดพลาดหลายอย่าง ชาวบ้านจึงเกิดข้อสงสัยว่ารายงาน eia ของบริษัทมีอะไรเป็นความจริงบ้าง

 

0000000000

ที่ 01/2561                                                                                      

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย

81 หมู่ที่ 1 ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว  จ.ยโสธร  35150

 

14 มกราคม 2561

 

เรื่อง   คัดค้านกระบวนการชี้แจงการเปลี่ยนแปลงผังโครงการและรูปแบบการผันน้ำ/ใช้น้ำจากลำเซบาย 

         โครงการโรงผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ

         บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(อำนาจเจริญ) จำกัด

 

เรียน   ผู้อำนวยการบริหารโครงการ

ตามที่ บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(อำนาจเจริญ) จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนงานในการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ณ พื้นที่ตำบลน้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งทางโครงการได้ชี้แจงผังของโครงการและกระบวนการในการจัดการต่างๆ ของโครงการทั้งหมดให้ประชาชนในพื้นที่ ส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่สนใจรับฟังไปแล้วในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน  ซึ่งทุกกระบวนการชาวบ้านได้ทำหนังสือคัดค้านทุกครั้ง เนื่องจากทางโครงการไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย รวมทั้งข้อมูลไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความเป็นจริงของพื้นที่ที่จะจัดตั้งโครงการ 

ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร  ซึ่งได้ติดตามกระบวนการต่างๆขอโครงการมาโดยตลอด ทางกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆไม่ถูกต้อง  ฉะนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย   

ขอคัดค้านการจัดเวทีรับฟังการชี้แจงและจะไม่เข้าร่วมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่บริษัทฯ

         และจากรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ที่โครงการยังไม่สามารถอธิบายได้หลายประเด็น ดังนี้

1.    พื้นที่ตั้งไม่เหมาะสม ใกล้ชุมชน เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทับลำห้วยสาธารณะ ที่ตั้งโครงการใกล้ถนนที่ชุมชนใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ที่ตั้งโครงการต้องไม่ขัดกับผังเมือง

2.  พื้นที่ตั้งโครงการทับลำห้วยสาธารณะ

3.  ขัดแย้งต่อทิศทางและนโยบายของการพัฒนาจังหวัดอำนาจเจริญ

4.  ความไม่น่าเชื่อถือของรายงานฯ EIA ฉบับเดือนมิถุนายน 2560

5.  ความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำ EIA และความไม่น่าเชื่อถือของบริษัทผู้จัดทำ EIA

6.  การใช้น้ำจากลำเซบาย มีการใช้น้ำแหล่งเดียวกับชาวบ้าน ซึ่งปริมาณน้ำลำเซบายไม่เพียงพอต่อกิจกรรมของชาวบ้าน และสถานการณ์น้ำไม่แน่นอนในแต่ละปี ขาดรายละเอียดการใช้น้ำของชุมชนโดยรอบ

ทำให้ชาวบ้านตระหนักดีว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ขาดน้ำชาวบ้านอยู่ไม่ได้ และทรัพยากรน้ำก็มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคของประชาชนตลอดสายน้ำลำเซบาย เช่น กรณีในเขตตำบลเชียงเพ็ง มีการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง การประปาตลอดทั้งปี หรืออาชีพอื่นๆ ของคนในชุมชน และผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นก็ทราบดีมาโดยตลอดในปัญหาน้ำไม่เพียงพอ และเกิดการบริหารจัดการน้ำร่วมกันมาโดยที่เป็นลายลักษณ์อักษรคือ บันทึกข้อตกลงร่วมกันในบริหารจัดการน้ำภาครัฐและประชาชนในท้องที่เพื่อการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งการแก้ปัญหาใดๆ เรื่องน้ำในอนาคต ควรมีการรับฟังและมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนพื้นที่นั้นๆ ให้ร่วมตัดสินใจด้วย เพราะการดำเนินการก่อสร้าง/ดำเนินการเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางระบบนิเวศตลอดสายน้ำ ต้องมีการมีการมีส่วนร่วมตัดสินใจจากประชาชนพื้นที่ก่อนเสนอโครงการ หากชาวบ้านเห็นชอบจึงมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมตามลำดับ เป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยทั่วไป โครงการอุตสาหกรรมประเภทนี้มีการใช้น้ำในปริมาณมากต่อวัน และต้องมีบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด นี้ก็เช่นเดียวกัน แม้โครงการจะมีมาตรการเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำของโรงงานอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่มาตรการป้องกันปัญหาให้ชุมชนแต่อย่างไร กลับเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ใช้น้ำรายใหม่(ใช้น้ำปริมาณมาก) กลับเป็นการเพิ่มปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ไม่เชื่อมั่นว่าการขอใช้น้ำของโครงการฯนี้ จะไม่เกิดผลกระทบตามต่อชาวบ้าน สมมุติหากโครงการโรงงานอุตสาหกรรมได้ตั้งในอนาคต ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมมีน้ำใช้เพียงพอ แต่ชาวบ้านโดยรอบมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ยังจะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีร่าง พรบ.น้ำ ฉบับปี 2560 ที่มีการกำหนดระเบียบการใช้น้ำ ให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ผันน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะสำหรับใช้ในกิจการโรงงานอุตสาหกรรมได้ ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และเป็นการตีค่าทรัพยากรน้ำให้ด้อยคุณค่าเหลือเพียงปัจจัยการผลิตในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น

โดยกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง เล็งเห็นว่า "น้ำคือชีวิต" น้ำเป็นปัจจัยต้นทุนของวิถีชีวิต อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านที่พึ่งพิงลำน้ำแห่งนี้ดำรงชีพทำมาหากิน และลำเซบายเปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงทุกคนในชุมชนตลอดสายน้ำ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย ต.เชียงเพ็ง จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการอนุญาตให้ใช้น้ำ/ผันน้ำ/สูบน้ำ จากลำเซบาย แก่ โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด เพราะส่งผลกระทบต่อวงจรการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ตลอดจนระบบนิเวศแวดทางสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านไม่ยินยอมให้โรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นใช้น้ำจากลำเซบายโดยเด็ดขาด และคัดค้านที่จะมีโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก

7.  คัดค้านกระบวนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวล

8.  ประเด็นความแตกแยกในชุมชน

9.  ผลกระทบจากการปลูกอ้อยที่มีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

10. แรงน้ำใช้และความพอเพียงของน้ำดิบมีข้อขัดแย้งกับเกษตรกรที่ใช้น้ำ

11.  ไม่ได้ศึกษาเส้นทางจราจรทั้ง 4 เส้นทางให้ครอบคลุม เนื่องจากเป็นถนน 2 เลนหลักและมีการใช้สัญจรร่วมตั้งแต่เช้าจรดเย็นมีรถรับส่งนักเรียนมีชุมชนทั้งอยู่ริมทางมีทางแยกทางโค้งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางเพราะว่ารถขนส่งอ้อยต้องผ่านเส้นทางมาจากป่าติ้วน้ำปลีกเส้นมาจากนาหมอม้าน้ำปลีกเส้นมาจากหัวตะพานน้ำปลีกและเส้นมาจากอำนาจเจริญน้ำปลีกทั้ง 4 เส้นทางจึงเป็นเส้นทางที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นเส้นทางในการบรรทุกอ้อยเพราะจะส่งผลทำให้เกิดการสัญจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งรีบการตกหล่นของอ้อยระหว่างการขนส่งการติดขัดของการจราจรและอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นรถบรรทุกอ้อยบดบังสายตาและทิวทัศน์ในการมองถนนก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนเมื่อลดผ่านชุมชนสถานศึกษาสถานที่ราชการ

12. เอกสารแสดงรายละเอียดกิจกรรมกลุ่มรักบ้านเกิดและเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบายเช่นการขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชนและแนวทางการอนุรักษ์ป่าจากชมรมฮักแพงป่ากิจกรรมให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลการประชุมกลุ่มข้าวและกลุ่มอนุรักษ์สายน้ำเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นเพื่อให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชุมชนอย่างยั่งยืนเป็นต้น

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่ากระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้วและที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2561 นั้นเป็นเวทีที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่บริษัทเท่านั้น และขัดต่อหลักการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร จึงขอคัดค้านกระบวนการชี้แจงการเปลี่ยนแปลงผังโครงการและรูปแบบการผันน้ำ/ใช้น้ำจากลำเซบาย   โครงการโรงผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(อำนาจเจริญ) จำกัด ในครั้งนี้

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

 

ขอแสดงความนับถือ

(นายสมัย      คดเกี้ยว)

กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

 

(นางมะลิจิตร     เอกสาแตง)

กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

 

(นางสาวนวพร เนินทราย)

กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

 

(นายสิริศักดิ์   สะดวก)

ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ทายใจ” ผลตัดสินชั้นอุทธรณ์กรณีถวายสัตย์ของเนติวิทย์และเพื่อน

Posted: 14 Jan 2018 07:34 AM PST

ผลกระทบของคำตัดสินของ "ชั้นต้น" ที่มีต่อเนติวิทย์และเพื่อน

จากกรณีที่เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลและเพื่อนนิสิตอีก 7 คนถูกคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ต่อไปจะเรียกว่า "ชั้นต้น") ออกคำสั่งสอบสวนเนติวิทย์และเพื่อนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ในกรณีที่เนติวิทย์และเพื่อนแสดงพฤติกรรมซึ่งอาจไม่เหมาะสม โดยเจตนาเดินออกจากแถวขณะประกอบพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 และในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา ชั้นต้นออกคำสั่งลงโทษเนติวิทย์และเพื่อนทั้ง 7 คนโดยตัดคะแนนความประพฤติคนละ 25 คะแนน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา ประธานชั้นต้นและรองอธิการบดีจุฬาฯ ออกคำสั่ง (คำสั่งจุฬาฯ ที่ 4929/2560 เรื่อง ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง) ให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 4 คนซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง โดยอ้างระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2529 ข้อ 35.3 และ 40.4 ซึ่งกล่าวว่า สมาชิกสภานิสิตจะพ้นจากตำแหน่งหากถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป

ผลของคำตัดสินของชั้นต้น นอกจากทำให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 7 คนถูกตัดคะแนนความประพฤติมากถึง 25 คะแนน ยังทำให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 4 คนต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญซึ่งพวกเขาดำรงตำแหน่งยังไม่ถึง 3 เดือนจากวาระทั้งหมด 1 ปี และยังทำให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 7 คนไม่สามารถลงสมัครเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญและตำแหน่ง "ทุกตำแหน่ง" ในสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้อีก "จนจบการศึกษา" เนื่องจากระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2529 กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่จะสมัครตำแหน่งใดๆ ในสโมสรจุฬาฯ จะต้องไม่เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป


ความล่าช้าของผลตัดสินของ "ชั้นอุทธรณ์"

เนติวิทย์และเพื่อนอีก 7 คนตัดสินใจสู้ต่อ โดยยื่นคำร้องขออุทธรณ์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถกระทำได้ เนติวิทย์และเพื่อนยื่นคำร้องขออุทธรณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ปัจจุบัน (11 มกราคม 2561) คณะกรรมการอุทธรณ์ (ต่อไปจะเรียกว่า "ชั้นอุทธรณ์") ก็ยังไม่มีผลการตัดสินที่ชัดเจนออกมา ซึ่งตามข้อกำหนด ชั้นอุทธรณ์จะต้องพิจารณาความให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันยื่นคำร้อง แต่ก็สามารถขอขยายระยะเวลาการพิจารณาไปได้อีกเรื่อยๆ โดยขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ถ้านับระยะเวลาจากเดือนกันยายนซึ่งเนติวิทย์และเพื่อนยื่นคำร้องจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าใช้เวลาไปมากถึง 4 เดือน ทำให้สามารถตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่า ชั้นอุทธรณ์อาจพยายามถ่วงเวลาเพื่อกระทำการอะไรบางอย่าง

การสอบสวนพิจารณาความของชั้นอุทธรณ์ดำเนินเรื่อยมา และเลื่อนวันตัดสินออกไปเรื่อยๆ แต่ล่าสุด ปมทองมีคำสั่งให้ตัดสินกรณีเนติวิทย์และเพื่อนให้แล้วเสร็จภายใน 24 มกราคม 2561 นี้


ความเหมาะสมของบุคคลซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ "ชั้นอุทธรณ์"

ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งน่าจะส่งผลต่อทิศทางของคำตัดสินของชั้นอุทธรณ์ คือ ทัศนคติของบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์นี้ ด้วยข้อจำกัดของผู้เขียนซึ่งไม่ทราบรายชื่อคณะกรรมการทุกคน ทราบเพียงบางคนเท่านั้น ในที่นี้จึงขอเขียนถึงเฉพาะบุคคลเท่าที่ผู้เขียนทราบ ได้แก่ ศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและประธานคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ แอดสกุล ประธานสภาคณาจารย์ และศาสตราจารย์ นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้ง 3 ท่านนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อทิศทางการตัดสินมากที่สุด

ธงทองเป็นผู้ที่มักจะแสดงให้ผู้อื่นเห็นอยู่เสมอๆ ว่ามีภูมิรู้เรื่องราชสำนักและวัฒนธรรมไทย ศิริรัตน์เป็นผู้เขียนหนังสือและผู้สอนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเนติวิทย์เคยเขียนวิจารณ์หนังสือของเขา และนรินทร์เป็นอดีตแนวร่วมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งเคยขึ้นปราศรัยที่สยามในการขับไล่รัฐบาลเลือกตั้งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จากลักษณะของบุคคลทั้ง 3 ท่านที่ได้กล่าวมา ผู้อ่านคิดว่าบุคคลทั้งสามนี้ควรดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่ตัดสินเนติวิทย์และเพื่อนในกรณีถวายสัตย์หรือไม่ ทัศนคติของบุคคลที่มานั่งในตำแหน่งดังกล่าวควรปราศจากอคติบางอย่างในประเด็นถวายสัตย์ ปราศจากความรู้สึกที่เป็นบวกหรือลบต่อเนติวิทย์และเพื่อน และปราศจากอคติซึ่งเกิดจากความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เมื่อผู้เขียนค้นหาประวัติของบุคคลทั้ง 3 ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของบุคคลเหล่านี้ เพราะ ทัศนคติของเขาอาจส่งผลต่อทิศทางของคำตัดสินซึ่งอาจออกมาเป็นโทษเกินสภาพจริงที่ควรจะเป็น


"ทายใจ" จุฬาฯ: หากท่านเป็นคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์ ท่านจะตัดสินอย่างไร

หากท่านสมมติตนเองเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ของจุฬาฯ ท่านจะตัดสินกรณีนี้ในทิศทางใด หลายๆ ท่านคงกำลังคิดว่า ในเมื่อเนติวิทย์และเพื่อนอีก 4 คนถูกปลดจากตำแหน่งเป็นเวลาเกือบ 5 เดือนแล้ว จะมีความจำเป็นอะไรที่จะให้เนติวิทย์และเพื่อนกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมอีกครั้ง หลายๆ ท่านอาจกำลังคิดอยู่ว่า ผลการตัดสินชั้นอุทธรณ์ต้องทำให้ชัดเจนมากกว่าชั้นต้น โดยเพิ่มคำอธิบายเกี่ยวกับความผิดของเนติวิทย์และเพื่อนให้ชัดเจนเพื่อให้เนติวิทย์และเพื่อนไม่สามารถสู้ต่อได้ หรือหลายๆ ท่านอาจคิดถึงความรู้สึกของคณะกรรมการชั้นต้นซึ่งได้ตัดสินว่ามีความผิดและกำหนดบทลงโทษไปแล้ว ท่านจึงเลือกไม่หักหาญความรู้สึกคณะกรรมการชั้นต้นโดยตัดสินในทิศทางเดียวกันให้เนติวิทย์และเพื่อนมีความผิด

หรือท่านอาจมีแนวทางที่ดีกว่านั้น ท่านอาจคิดว่าการตัดสินยืนตามชั้นต้นทั้งหมดอาจสร้างกระแสเชิงลบต่อจุฬาฯ ในสายตาของหัวก้าวหน้าทั้งไทยและต่างประเทศ หรืออาจทำให้เนติวิทย์และเพื่อนใช้คำตัดสินอันสุดโต่งนี้เรียกร้องความเป็นธรรมของพวกเขาในสื่อสาธารณะ แต่ท่านก็ยังคงต้องการ "กีดกัน" เนติวิทย์และเพื่อนไม่ให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใดๆ ในสโมสรนิสิต เพื่อไม่ให้เป็นปรปักษ์ต่อผู้บริหารและกลุ่มชนชั้นนำของมหาวิทยาลัย ท่านจึงอาจตัดสินใจคืนคะแนนความประพฤติให้เนติวิทย์และเพื่อนอีก 7 คนจำนวน 5 คะแนน (ชั้นต้นตัดสินให้ตัดคะแนนจำนวน 25 คะแนน) ซึ่งโทษคงเหลือคือ ตัดคะแนนความประพฤติจำนวน 20 คะแนน ผลของโทษคงเหลือนี้ที่มีต่อเนติวิทย์และเพื่อนแทบไม่ต่างจากเดิม กล่าวคือ เนติวิทย์และเพื่อนยังคงไม่สามารถกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งในสภานิสิต และยังคงไม่สามารถลงสมัครตำแหน่งใดๆ ก็ตามในสโมสรนิสิต "ทุกตำแหน่งจนจบการศึกษา" เพราะ พวกเขาจะขาดคุณสมบัติของผู้สมัครตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2529 ข้อ 35.3 และ 40.4 ซึ่งกล่าวว่า สมาชิกสภานิสิตจะพ้นจากตำแหน่งหากถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป ส่วนผลของโทษคงเหลือนี้ที่มีต่อภาพลักษณ์ของจุฬาฯ นั้นต่างจากการตัดสินยืนตามชั้นต้น (ตัดคะแนนความประพฤติ 25 คะแนน) อย่างเห็นได้ชัด การตัดสินคืนคะแนนความประพฤติให้จำนวน 5 คะแนนจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อระบบยุติธรรมของจุฬาฯ กล่าวคือ การตัดสินคืนคะแนนนี้ "ดูเหมือนว่า" จะมอบความยุติธรรมให้แก่เนติวิทย์และเพื่อน แต่แท้จริงแล้ว หากท่านเลือกตัดสินในทิศทางนี้ ผู้เขียนขอตั้งคำถามกลับไปว่า ท่านเลือกที่จะให้ประโยชน์และความยุติธรรมต่อผู้บริหารและชนชั้นนำของจุฬาฯ "เพียงฝ่ายเดียว" หรือไม่


ถ้า "ทายใจ" จุฬาฯ ถูกต้อง เราควรมองระบบยุติธรรมของจุฬาฯ อย่างไร

หากผลของคำตัดสินชั้นอุทธรณ์เป็นไปในแนวทางที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เราควรที่จะตั้งคำถามกลับไปถึงคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์ซึ่งมีธงทองเป็นประธานหรือไม่ คณะกรรมการควรพิจารณากรณีต่างๆ บนหลักการของการมอบโอกาสและความยุติธรรมสูงสุดให้แก่นิสิตผู้ถูกกล่าวหา มากกว่าภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือ "ธง" ของชนชั้นนำหรือผู้ที่เกลียดคนเห็นต่างตั้งเอาไว้ การเลือกกีดกันเนติวิทย์และเพื่อนโดยใช้วิธีการตัดสินที่ดูเหมือนว่าให้ความยุติธรรมเป็นแผนที่ฉลาด แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นแผนที่ได้ผลดีต่อชนชั้นนำจุฬาฯ เพียงในระยะสั้น กล่าวคือ ในระยะยาวอาจมีการตั้งคำถาม และเกิดประเด็นให้ถกเถียงต่อตามมาอย่างมากมาย

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อไหร่การวิ่งของพี่ตูนจึงจะถึง "จุดเริ่มต้น"

Posted: 14 Jan 2018 07:17 AM PST


 

โครงการ "ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ" ของตูน บอดี้สแลม ที่ออกวิ่งจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลาถึงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร นับเป็นโครงการที่สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมจนได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนไทย องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆอย่างล้มหลาม มีการเข้าร่วมในการวิ่งเพื่อขอรับเงินบริจาคเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ 11 โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์โครงการ "ก้าวคนละก้าว" และพยายามนำเสนอสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นต่อจากโครงการนี้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันจะทำให้บริการทางการแพทย์ สิ่งอำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาลหรือเครื่องมือแพทย์สามารถถูกจัดสรรไปสู่โรงพยาบาลแต่ละแห่งอย่างเพียงพอเพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต  และเพื่อไม่ให้การวิ่งในครั้งนี้เป็นเพียงการวิ่งเพื่อช่วยโรงพยาบาล 11 แห่งตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มของโครงการเพียงอย่างเดียว

ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมกิจกรรมก้าวคนละก้าวและรู้สึกประทับใจแนวคิดของตูน บอดี้สแลมผ่านบทสัมภาษณ์ ตั้งแต่ก่อนที่ตูนจะเริ่มต้นวิ่งจากอำเภอเบตงไปยังอำเภอแม่สาย การมีแนวคิดเพื่อส่วนรวมเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ป่วยให้สามารถได้รับการรักษาพยาบาลที่สะดวกรวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้นทำให้คนจำนวนมากให้ความสนใจและร่วมบริจาคเงินจนยอดเงินบริจาคทะลุจากเป้าเดิมคือ 700 ล้านบาทมาที่ 1,291 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่กิจกรรมการวิ่งถูกนำมาใช้เป็นวิธีการในการช่วยเหลือโรงพยาบาลศูนย์แต่ละแห่งและสามารถสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมให้ประชาชนคนไทยหันมาร่วมใจกันบริจาคเงินและหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อลองนำแนวคิดของนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจคนสำคัญในศตวรรษที่ 20 อย่างคาร์ล โปลานยีที่พูดถึงการคุ้มครองตัวเองของสังคม (social protectionism) มาวิเคราะห์โครงการก้าวคนละก้าวแล้วจะพบว่า กิจกรรมก้าวคนละก้าวยังไม่ใช่การที่สังคมลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาดตามหลักทฤษฎีที่ได้ให้อรรถาธิบายไว้เมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว โดยผู้เขียนจะอธิบายทฤษฎีกฏการเคลื่อนไหวแบบทวิภาคคร่าวๆดังนี้

โปลานยีพูดถึงการก่อตัวของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเมื่อกว่า 250 ปีที่แล้วในหนังสือ "The Great Transformation" ว่าเกิดจากการที่รัฐและลัทธิเสรีนิยมพยายามจะแยกระบบเศรษฐกิจออกจากสังคม (dis-embedded market) เพื่อสถาปนาระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่พยายามจะกำกับดูแลตัวเอง (self-regulating market) หรือระบบตลาดเสรี (free market)

โปลานยีชี้ว่าหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมระบบตลาดได้กลายเป็นปริมณฑลหลักของสังคมที่นำไปสู่การทำลายสถาบันสังคม (social institution) ศาสนาและวัฒนธรรมของมนุษย์ สังคมตลาด (market society) จึงกลายเป็นสถาบันที่พยายามจะครอบงำและอยู่เหนือสังคม โปลานยีชี้ว่าผลจากการแยกเศรษฐกิจออกจากสังคมจะก่อให้เกิดการสถาปนาสินค้าจำแลง 3 ชนิด (fictitious commodity) ได้แก่ ที่ดิน แรงงานและเงิน ซึ่งโดยธรรมชาติสามปัจจัยนี้ไม่สามารถลดทอนให้กลายเป็นสินค้าได้  ดังนั้นเมื่อตลาดพยายามจะยึดครองและควบคุมสังคมสังคมจะสร้างการเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อปกป้องสังคมหรือที่เรียกว่า "การเคลื่อนไหวแบบทวิภาค" (double movement)  สืบเนื่องจากสิ่งที่โปลานยีเคยเตือนนักเศรษฐศาสตร์สำนักเสรีนิยมคลาสสิคและนีโอคลาสสิคในยุคที่เขียนหนังสือ "The Great Transformation" ในทศวรรษ 1930-1940 ถึงการพยายามสถาปนาระบบตลาดที่พยายามจะกำกับดูแลตัวเองว่าจะนำมาสู่การทำลายสังคม มนุษย์ ระบบการผลิตและธรรมชาตินั้นได้สะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมหลังมีการแยกตลาดออกจากสังคมรอบสองในยุคเสรีนิยมใหม่หรือระบบเศรษฐกิจโลกที่ถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 มาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งการแยกระบบเศรษฐกิจออกจากสังคมรอบนี้นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อปกป้องสังคมจากการทำลายของระบบตลาดเสรีที่ขยายตัวไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น  การก่อตัวของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม องค์กรสตรี การเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลอังกฤษในสมัยนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธชเชอร์ การเคลื่อนไหวต่อต้านองค์กรการค้าโลกของชาวอเมริกัน ณ เมืองซีแอทเทิล ค.ศ.1999 การชุมนุมประท้วงหน้าตลาดหุ้นวอลสตรีท ค.ศ. 2008 การรวมตัวกันเป็นมวลชนหรือมัลทิจูด (multitude)  การประท้วงและการจลาจลตามเมืองต่างๆ เป็นต้น คำถามคือแล้วแนวคิดกฎการเคลื่อนไหวแบบทวิภาคของโปลานยีเกี่ยวข้องอะไรกับการวิ่งของพี่ตูนและการที่คนไทยร่วมบริจาคเงินเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ 11 โรงพยาบาล

กฎการเคลื่อนไหวแบบทวิภาคในส่วนของการคุ้มครองตัวเองของสังคม (social protectionism) เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเพื่อตรวจสอบ แทรกแซงและลดทอนอำนาจของระบบตลาด ในที่นี้การบริจาคเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือโรงพยาบาลจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหวต่อต้าน (counter movement) อำนาจของระบบตลาดเหมือนการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน ขบวนการปกป้องสิ่งแวดล้อม ขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางสังคม ฯลฯ หากแต่เป็นกิจกรรมทางสังคมที่กระตุ้นให้ผู้คนเห็นว่าการบริจาคเป็นแนวทางที่ดีที่สามารถนำเงินไปช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนในสังคมได้  ถึงแม้การบริจาคในฐานะกิจกรรมที่เกิดจากจิตอาสาและการทำประโยชน์เพื่อสังคมเพื่อมอบเงินให้โรงพยาบาลไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ จะเป็นสิ่งที่สามารถส่งต่อคุณค่าและกำลังใจไปให้กับคุณหมอ พยาบาลและผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตามการบริจาคกลับไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบตลาดเนื่องจากรัฐยังคงปล่อยให้กลไกตลาดเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากความเจ็บป่วยของคนไข้ ซึ่งผลที่ตามมาคือรัฐยังคงทำให้การรักษาสุขภาพบางส่วนกลายเป็นสินค้า (commodification of health care services)  ดังนั้นในอดีตรัฐจึงอนุญาตให้ตลาดเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุข กล่าวคือผู้มีอำนาจซื้อเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลและได้รับยาที่มีคุณภาพขณะที่คนยากจนไม่ได้รับสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล แม้ว่ารัฐจะมียาและบริการทางการแพทย์บางส่วนที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนก็ตาม

ขณะที่ประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่าเมื่อตลาดคืบคลานเข้ามาทำลายความสัมพันธ์ทางสังคม มนุษย์และสถาบันสังคม ด้วยการทำให้สิ่งต่างๆกลายเป็นสินค้าประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นแรงงานจะออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้รัฐสร้างมาตรการคุ้มครองทางสังคม เช่น การเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นและชั่วโมงการทำงานที่สั้นลง การเรียกร้องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การเรียกร้องระบบหลักประกันสุขภาพ หลักประกันอุบัติเหตุ หลักประกันทางสังคม หลักประกันยามชราภาพ ฯลฯ เพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการทำให้ปัจจัยการดำรงชีวิตกลายเป็นสินค้า (reduce commodification effect) โดยรวมถึงยารักษาโรคและบริการทางการแพทย์  ในปัจจุบันหลายประเทศจึงมีระบบสวัสดิการสังคมที่คอยปกป้องแรงงานอย่างรอบด้าน เช่น เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เนเธอแลนด์ ฯลฯ โดยรัฐนำภาษีมากระจายไปสู่ประชาชนผ่านสวัสดิการในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา ระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันการว่างงาน เงินช่วยเหลือด้านอุบัติเหตุ ครอบครัวและการเลี้ยงบุตร เงินบำนาญ ฯลฯ  เมื่อประชาชนจ่ายภาษีให้รัฐ สวัสดิการเหล่านี้จึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่ควรได้รับจากรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดคืบคลานเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากความเจ็บป่วย ภาวะว่างงาน หรือภาวะชราภาพของประชาชน  อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยรัฐยังคงปล่อยให้ตลาดเป็นผู้จัดสรรบริการสาธารณสุขบางส่วนอันจะเห็นได้จากกระแสการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของภาครัฐหรือการเสนอให้มีการร่วมจ่ายของบุคคลสำคัญในกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น แต่ก็นับว่าโชคดีที่ในอดีตประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและบริบททางสังคมที่อนุญาตให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งเปิดโอกาสให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเติบโตขึ้น  อีกทั้งบทบาทการต่อสู้ของชมรมแพทย์ชนบทที่จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2520 ที่ร่วมกันเรียกร้องให้บูรณาการระบบประกันสุขภาพที่แยกส่วนให้กลายเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้การต่อสู้ของชมรมแพทย์ชนบทนับว่าสอดคล้องกับการที่สังคมลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองจากระบบตลาดตามแนวคิดกฎการเคลื่อนไหวแบบทวิภาคของโปลานยี ซึ่งในอดีตการต่อสู้เพื่อผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการขับเคลื่อนโดยกลุ่มมวลชน ชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน ชาวนา ขบวนการนิสิตนักศึกษานับตั้งแต่บริบทการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา จนในที่สุดนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หนึ่งในสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทได้นำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปเสนอให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โดยใน พ.ศ. 2545 รัฐบาลไทยรักไทยตอบรับกับนโยบายดังกล่าวและจัดทำ "โครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค" ซึ่งหลักการของโครงการ 30 บาทฯคือการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้ซื้อบริการสุขภาพให้กับประชาชน 48 ล้านคนเพื่อลดผลกระทบจากการนำบริการรักษาสุขภาพเข้าสู่ระบบตลาด ดังนั้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นระบบสวัสดิการที่รัฐเข้ามาช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้บริการด้านการรักษาพยาบาลกลายเป็นสินค้า (de-commodification of health care service) และทำให้การแสวงหาประโยชน์ของตลาดสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน บรรษัทยาและกลุ่มแพทย์พาณิชย์ลดบทบาทลง

การถือกำเนิดของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้คนจนและผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสและมีทางเลือกที่จะได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกับคนชั้นกลางมากขึ้น แม้ว่าจะมีการถกเถียงถึงประสิทธิภาพของระบบ ปัญหาเรื่องภาระด้านงบประมาณ และความเหลื่อมล้ำในระบบบริการ ฯลฯ อย่างไรก็ตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบสวัสดิการชุดเดียวที่คุ้มครองคนไทย 48 ล้านคนให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงช่วยลดผลกระทบจากการทำให้ยา และการรักษาพยาบาลกลายเป็นสินค้าผ่านการนำบริการทางสุขภาพออกจากตลาดเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ (สปสช.) เป็นผู้เข้ามาจัดสรรบริการแทนเอกชน

ดังนั้นเมื่อนำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาเปรียบเทียบกับการวิ่งของพี่ตูนจะพบว่าถึงแม้การวิ่งในโครงการนี้จะสามารถช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาลให้สามารถซื้อเครื่องมือแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการบริจาคเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถลดทอนผลกระทบที่เกิดจากการทำให้บริการรักษาสุขภาพกลายเป็นสินค้าได้โดยเฉพาะผลต่อคนไทย  ในระยะยาวหากไม่มีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องอีกไม่นานเงินบริจาคของโครงการก็จะหมดลงและโรงพยาบาลต่างๆอาจจะต้องนำวิธีการเดิมมาใช้เพื่อเพิ่มงบประมาณ  ดังนั้นแนวทางเดียวที่จะแก้ปัญหาคือการที่รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อลดความเป็นสินค้าของบริการสุขภาพ รวมถึงบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะสร้างนโยบายคุ้มครองสังคม (policy protection)เพื่อลดทอนประสิทธิภาพและกลไกการสะสมทุนของระบบทุนนิยม อันจะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาไปที่ต้นเหตุและช่วยให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจออกไปสู่สังคมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

ผู้เขียนจึงเห็นว่าการวิ่งของพี่ตูนจะถึงจุดเริ่มต้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลหันมาสนใจปัญหาขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ยาและบุคคลากรอันเกิดจากข้อจำกัดด้านงบประมาณที่จัดสรรในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนสิ่งที่หลายฝ่ายถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องให้เกิดการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งคือประตูหน้าด่านที่จะนำไปสู่การต่อสู้ในเชิงนโยบายระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลายและเพื่อให้นโยบายที่นำเสนอสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มีความซับซ้อนได้ นอกจากนี้การเลือกตั้งจะนำไปสู่การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและการตัดสินใจกำหนดนโยบายของภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ชนชั้นแรงงาน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยระบบการเมืองที่เปิดกว้างและอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสามารถดึงประชาชนกลุ่มต่างๆให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ แทรกแซงและลดทอนการใช้อำนาจของรัฐบาลได้มากขึ้น

แม้ว่าโครงการก้าวคนละก้าวจะสิ้นสุดลงไปแล้วแต่การต่อสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นยังจำเป็นต้องดำเนินต่อไป  โดยหนึ่งในประเด็นที่ควรมีการพูดถึงคือการจัดสรรงบประมาณสาธารณะโดยเฉพาะงบในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีสัดส่วนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี  ทั้งนี้แม้ว่าในเชิงเศรษฐศาสตร์รัฐจะมีงบประมาณที่เพียงพอในการนำมาปรับปรุงคุณภาพโรงพยาบาลและซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้ปัญหาขาดแคลนงบประมาณดีขึ้นแต่ในเชิงการเมืองอำนาจในการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีกลไกบางอย่างที่คอยขัดขวางเพื่อไม่ให้การจัดสรรงบประมาณต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และยาเพราะถือเป็นการสนับสนุนให้สังคมเข้ากำกับดูแลการจัดสรรบริการทางสุขภาพมากขึ้น

แม้ว่าโครงการก้าวคนละก้าวจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการจัดสรรงบประมาณ และไม่ใช่การที่สังคมลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการนำมาจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และปัญหาอำนาจต่อรองทางการเมืองของประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน ผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนในสังคมที่มีน้อยกว่าอำนาจต่อรองของกลุ่มทุนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  อันจะนำไปสู่จุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามต่อการใช้งบประมาณของภาครัฐ  และเพื่อกระตุ้นให้สังคมร่วมกันเสนอให้มีการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นลงเพื่อให้รัฐนำเงินเหล่านั้นมาเพิ่มสัดส่วนให้กับงบด้านสาธารณสุขเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ บริการทางการแพทย์และบุคคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่ามีเพียงแนวทางนี้เท่านั้นที่จะช่วยปกป้องสังคมและประชาชนจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้อย่างยั่งยืน  ดังนั้นก้าวต่อไปของโครงการก้าวคนละก้าวคือการทำให้คนไทยหันมาสนใจสิทธิในด้านการรักษาพยาบาลและร่วมมือกันเรียกร้องให้บริการด้านการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน



อ้างอิง

ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ สืบค้นจาก : https://www.kaokonlakao.com

จักรี ไชยพินิจ. (2553). เศรษฐกิจการเมืองของนโยบายทรัพย์สินทางปัญญา: ศึกษากรณีการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาในประเทศไทย. (ปริญญาดุษฎีบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

โปลานยี, คาร์ล. (2559). เมื่อโลกพลิกผัน : การปฏิวัติอุตสาหกรรม จุดกำเนิดการเมืองและเศรษฐกิจยุค
ปัจจุบัน. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.

นวลน้อย ตรีรัตน์,& แบ๊งค์ งามอรุณโชติ. (2555). การเมืองและดุลอำนาจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, (2560) "ปรากฏการณ์ตูน" บอกอะไร. The 101 world. สืบค้นจาก : https://www.the101.world/thoughts/toon-bodyslam-the-hero/.

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (2560). เปิดแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแนวใหม่จากต้นแบบโครงการ "30บาทรักษาทุกโรค". สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/publicize/article_55172.

Espring-Andersen, G. (1 9 9 0 ) . The Three Worlds of Welfare Capitalism (1 ed.). New Jersey: Princeton University Press.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดอุบัติเหตุรถหุ้มเกราะชนประชาชนเสียชีวิตที่ จ.ปัตตานี

Posted: 14 Jan 2018 04:49 AM PST

 
14 ม.ค. 2561 เพจ Wartani รายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ได้เกิดอุบัติเหตุรถหุ้มเกราะของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองปัตตานี เสียหลักพุ่งชนร้านข้างทางตรงข้างมัสยิดกรือเซะ บ.กรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี เบื้องต้นมีประชาชนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลปัตตานี 1 ราย  ทราบชื่อ นายฮามัดสะกรี สาเมาะ ม.1 ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี
 
รายละเอียดเพิ่มเติมจะรายงานให้ทราบต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #192 สิ่งพิมพ์และเมล็ดพันธุ์เสรีนิยมของหมอบรัดเลย์

Posted: 14 Jan 2018 04:06 AM PST

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และชานันท์ ยอดหงษ์ ชวนอ่านบทความของภาคภูมิ วาณิชกะ "การเริ่มต้นของเสรีนิยมในประเทศไทย: แดน บีช บรัดเลและบางกอกรีคอร์เดอร์" ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย เมื่อธันวาคม 2558 (อ่านบทความ)

ทั้งนี้ภาพนำเสนอของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาในสยามตั้งแต่ พ.ศ. 2378 และเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2416 นอกจากคุณูปการด้านวิทยาการและการแพทย์สมัยใหม่แล้ว หมอบรัดเลย์ยังเป็นผู้บุกเบิกการพิมพ์ในสยาม การนำเข้าแท่นพิมพ์ที่ใช้อักษรภาษาไทยเข้ามาเป็นครั้งแรก รวมทั้งเผยแพร่หนังสือพิมพ์ฉบับแรกก็คือบางกอกรีคอร์ดเดอร์ ในช่วง พ.ศ. 2387-2388 และ พ.ศ. 2408-2411

โดยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทำหน้าที่สำคัญในการเผยแพร่แนวคิดเรื่องเสรีภาพ การเลิกทาส และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามการพูดถึงแนวคิดเรื่องเสรีนิยมย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจของชนชั้นนำสยามในเวลานั้น และเมื่อถูกฟ้องร้องจากกงสุลฝรั่งเศส และถูกรัฐบาลสยามแทรกแซงในระหว่างดำเนินคดี ทำให้บรัดเลย์แพ้คดีความ และได้ประกาศยุติการพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2411 (ตามปฏิทินใหม่) แต่ก็นับว่าหมอบรัดเลย์เป็นผู้หนึ่งที่ได้เริ่มวางรากฐานและเผยแพร่แนวคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตยเป็นคนแรกๆ ในสังคมไทย ซึ่งจะปรากฏผลงอกงามขึ้นในเวลาต่อมา

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชวนดูความร่วมมือ ‘แม่โขง-ล้านช้าง’ กับความพยายามคุมเกมบนแม่น้ำโขงของจีน

Posted: 14 Jan 2018 03:53 AM PST

ผู้เชี่ยวชาญชี้ จีนมุ่งใช้เวทีพหุภาคีขยายอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจลงมายังอาเซียนลุ่มน้ำโขง เบนโฟกัสจากทะเลจีนใต้ สร้างความชอบธรรมให้กับโครงการที่ใหญ่กว่าและการสร้างเขื่อนในจีน ผู้ประสานงานองค์การแม่น้ำนานาชาติจากไทยระบุ ต้องเน้นการมีส่วนร่วม ศึกษาปัญหาแม่น้ำโขงทั้งเส้น


เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC บ้างก็เรียก แม่โขง-ล้านช้างหรือ MLC) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีผู้นำจาก 6 ชาติได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน

บรรดาผู้นำชาติสมาชิกได้ออกแถลงการณ์พนมเปญและแผนปฏิบัติการ 5 ปี LMC ปี 2561-2565 ด้วยการกำหนดแนวทางใหญ่ๆ และความร่วมมือบน 4 เสาหลักได้แก่ด้านความมั่นคง-การเมือง ด้านการเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ด้านสังคม วัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน และด้านการสนับสนุนความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน

สืบเนื่องจากการประชุมที่ผ่านไปแล้ว ประชาไทชวนผู้อ่านทำความรู้จักที่มาของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และความเห็นของนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติบนหน้าสื่อต่างๆ ที่มีต่อท่าทีของจีนต่อการปฏิเสธกรอบความร่วมมือที่มีอยู่เดิมและสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ขึ้นมาเองที่สะท้อนถึงความมุ่งหมายในการเป็นผู้คุมเกมบนแม่น้ำนานาชาติที่มีความยาวกว่า 4,800 กม. 

ความเดินตอนที่แล้ว: อะไรคือ LMC ทบทวนกรอบความร่วมมือบนแม่น้ำนานาชาติ

ภาพการเดินเรือในแม่น้ำโขง

เมื่อปี 2557 ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) ถูกเสนอขึ้นโดยนายกรัฐมนตรีของจีน หลี่เค่อเฉียง ในเวทีประชุมผู้นำจีน-อาเซียน ที่พม่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 รัฐบาลไทยได้สนับสนุนให้มีกลไกความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้นระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขง โดยมุ่งให้มีการ "สร้างชุมชนที่มีภาพอนาคตแห่งสันติภาพและความเจริญร่วมกัน" กรอบความร่วมมือ LMC ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2559 ที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน โดยมีนายกฯ ไทยและจีนเป็นประธานร่วม และประเทศลุ่มน้ำโขงอีก 4 ประเทศเป็นสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนในภาพรวม

อย่างไรเสีย ก่อนหน้าที่จะเกิดกรอบความร่วมมือ LMC ขึ้น ประเทศลุ่มน้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีข้อตกลงความร่วมมืออีกชุดหนึ่งที่ชื่อว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission -  MRC) ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยรายงานว่า ความร่วมมือดังกล่าวจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2500 โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับเอเชียและตะวันออกไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาน้ำท่วมของประเทศลุ่มน้ำในภูมิภาค แต่ประเทศสมาชิกมีเพียง 4 ประเทศได้แก่ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม ส่วนจีนและพม่านั้นมีปัญหาการเมืองภายในและไม่ได้เข้าร่วม

แผนงานสำคัญของ MRC คือการศึกษาการบริหารจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนของแม่น้ำโขง รวมทั้งศึกษาผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธาน จากการประชุมคณะมนตรี MRC ครั้งที่ 18 ได้มีมติให้จัดทำบรรทัดฐานในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจจากโครงการพัฒนาทั้งเชิงบวกและลบก่อนพัฒนาโครงการใดๆ โดยครอบคลุม 6 สาขาหลักที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาโครงการ ดังนี้

  1. การชลประทาน

  2. การเกษตรและการใช้ที่ดิน

  3. การใช้น้ำในครัวเรือนและอุตสาหกรรม

  4. การป้องกันอุทกภัย

  5. ไฟฟ้าพลังน้ำ

  6. การคมนาคม

กรอบความร่วมมือ MRC ได้รับข้อครหาว่าไม่สามารถหยุดยั้งการสร้างเขื่อนไฟฟ้าในแม่น้ำโขงได้ รายงานของกลุ่มที่ปรึกษาด้านการวิจัยการเกษตรนานาชาติ (Consultative Group for International Agricultural Research) ระบุว่า จะมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวนมากถึง 31 แห่งถูกสร้างในแม่น้ำโขงภายในปี 2573

LMC สะท้อนความพยายามคุมเกมของจีน

มิลตัน ออสบอร์น ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แสดงความเห็นในอีเมล์ที่เขาส่งให้สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาว่า การที่จีนไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และจัดตั้งกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขงขึ้นมาคือความพยายามที่จะทำให้ตนเองเป็นคนกำหนดวาระเรื่องแม่น้ำโขงและแสวงหาความชอบธรรมต่อการสร้างเขื่อนในแม่น้ำนานาชาติสายนี้ไปพร้อมกับการให้บริษัทที่เชื่อมโยงตัวเองกับรัฐบาลจีนไปมีส่วนช่วยสร้างเขื่อนทางปลายน้ำของประเทศจีน

วอยซ์ออฟอเมริกา ยกสถิติจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) ที่รายงานว่า ทรัพยากรปลาในแม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงชีวิตของคนกว่า 60 ล้านคน และในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร แม่น้ำโขงเกี่ยวพันกับชีวิตของคนมากกว่า 300 ล้านคนจากกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 100 กลุ่ม ดังนั้น การควบคุมการไหลของแม่น้ำ เช่น การสร้างเขื่อน จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำ

ออสบอร์นกล่าวเพิ่มเติมว่า การเกิดขึ้นของกรอบความร่วมมือ LMC สะท้อนถึงข้อจำกัดของกรอบความร่วมมือ MRC ในประเด็นการหยุดยั้งโครงการเขื่อนที่จะเป็นอันตรายต่ออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ทั้งยังไม่หวังว่ากรอบความร่วมมือ LMC จะพูคคุยกันในประเด็นใหญ่ๆ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การลดลงของจำนวนปลา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนและปัญหาเฉพาะที่เกิดในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

เอลิออต เบรนแนน นักวิจัยอิสระด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงข้อกังวลกับ เซาท์ไชนามอร์นิ่งโพสท์ถึงนัยของการพยายามเข้าควบคุมแม่น้ำโขงของจีนในมุมของยุทธศาสตร์การเมืองและความมั่นคงว่า "ประเด็นแม่น้ำโขงมีศักยภาพพอที่จะเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างจีนและอาเซียนี่ใหญ่ที่สุดถัดจากพื้นที่พิพาทบนทะเลจีนใต้ ถ้ารัฐบาลปักกิ่งสามารถควบคุมการพัฒนาบนแม่น้ำโขงได้ แม่น้ำโขงจะกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จีนจะใช้เพื่อขยายอิทธิพลลงไปในอาเซียน"

รศ. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Institute of Security and International Studies - ISIS) ให้ความเห็นกับประชาไทว่า การใช้งานแม่น้ำโขงของจีนที่เป็นรัฐต้นน้ำส่งผลกระทบต่อรัฐปลายน้ำอย่างเวียดนามและกัมพูชา ส่วนไทยและลาวไม่ค่อยบ่นเพราะไทยสนับสนุนลาวให้มีเขื่อนผลิตไฟฟ้า เพราะไทยก็ซื้อไฟฟ้าจากลาว การจัดตั้งความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang – Mekong Cooperation) สะท้อนว่า ถ้าไม่ใช่กฎกติกาที่จีนเป็นคนตั้งเองแล้ว จีนจะไม่เล่นตาม หมู่ประเทศเล็กๆ ก็ต้องยอมจีนไป ถ้าประเทศในอาเซียนทั้งบนบกและผืนน้ำไม่ผนึกกำลังกันใช้อำนาจต่อรองในการร่วมมือทางการทูตกับกับจีนโดยเอาประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาคานอำนาจกับจีน กลุ่มประเทศเหล่านี้จะเสียเปรียบจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์-วรศักดิ์ มหัทธโนบล เปิดนัยสัมพันธ์ไทย-จีนหลังดีลเรือดำน้ำ

อย่างไรเสีย ทางจีนระบุว่ากรอบความร่วมมือ LMC กำลังเดินหน้าและมีความพัฒนาที่โดดเด่นนับตั้งแต่มันถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ทั้งยังสัญญาว่าจะดำเนินนโยบายการทูตแบบเพื่อนบ้านบนฐานแห่งความเป็นมิตร จริงใจ ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน และครอบคลุมกับทุกฝ่าย โดยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้พูดคุยกับกัมพูชาและลาวเพื่อจะบรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการสนับสนุน นอกจากนั้น ประเทศสมาชิก LMC ทั้ง 6 ชาติเองก็ได้จัดตั้งสำนักงานเลขานุการของ LMC แล้วเมื่อสิ้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา

องค์กรด้านการวิจัยหลายแห่งได้เข้าร่วมกับรัฐบาลชาติสมาชิกเพื่อจัดตั้ง 'ศูนย์การศึกษาแม่น้ำโขงโลก - Global Center for Mekong Studies' ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้วเพื่อให้คำปรึกษาชาติสมาชิกในหลายประเด็นตั้งแต่ด้านการเมืองไปจนถึงด้านการธุรกิจ

เมื่อ 9 ม.ค. 2561 หลี่เค่อเฉียง นายกฯ จีน เขียนบทความให้กับสำนักข่าวขแมร์ไทม์ของกัมพูชาว่า ความร่วมมือ LMC กำลังกลายเป็นกรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพและความสำคัญสูง "ภายใต้ปฏิกิริยาจากโลกาภิวัฒน์ การกีดกันและสภาวะขาดความร่วมมือในเอเชียตะวันออก ความร่วมมือ LMC ไม่ได้เป็นแค่องค์ประกอบขั้นพื้นฐานของความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาและหลอมรวมอาเซียน แต่ยังเป็นการเชิดชูความร่วมมือแบบใต้-ใต้เพื่อสร้างเศรษฐกิจโลภาภิวัฒน์ที่เปิดกว้าง สมดุล ครอบคลุมและทุกคนได้ประโยชน์"

พหุภาคีแบบจีนในฐานะเครื่องมือทางการทูต เศรษฐกิจ ความมั่นคง

โพ โสวินดา นักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยอีสต์ไชนานอร์มอล ในเมืองเซียงไฮ้ กล่าวว่าจีน ในฐานะที่เป็นรัฐต้นน้ำโขงจะใช้เวที LMC เป็นตัวอย่างของการสร้างสถาบันพหุภาคีที่นำโดยจีนด้วยพิสูจน์ว่าจีนไม่ได้แสวงหาการมีอำนาจนำ นอกจากนั้น เวทีนี้ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับโครงการที่ใหญ่กว่าก็คือโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI)

แต่นักวิเคราะห์จากเซี่ยงไฮ้ระบุเพิ่มเติมว่า จีนมีโอกาสที่จะพบเจอแรงต้านหากเลือกที่จะตัดสินใจจัดการแม่น้ำโขงด้วยตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะพฤติกรรมดังกล่าวสวนทางกับการพัฒนาอย่างสันติที่ถูกนำมาพูดบ่อยครั้ง

ไบรอัน เอเลอร์ ผู้อำนวยการโปรแกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศูนย์สติมสัน ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลจีนสามารถใช้เวที LMC เป็นเครื่องมือในการเติมเต็มภาวะการขาดเวทีพหุภาคี เบนความสนใจออกไปจากพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่จีนมีข้อพิพาทกับประเทศในอาเซียนได้แก่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน รวมถึงเวียดนามที่เป็นสมาชิกของเวที LMC และเป็นหมุดหมายการขยายอิทธิพลเพื่อสร้างความชอบธรรมกับโครงการแถบและเส้นทางผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจ

"LMC จะเป็นสปริงบอร์ดให้จีนขยายธุรกิจด้านพลังงานน้ำ ถ่านหิน การสร้างถนน เส้นทางรถไฟและท่าเรือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการแถบและเส้นทาง" เอเลอร์กล่าวเพิ่มเติม

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับประชาไทต่อประเด็นการขยายอิทธิพลของจีนบนแม่น้ำโขงว่า เป็นความพยายามของจีนมาตลอดที่จะเพิ่มเติมเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เพราะทางบกนั้นมีถนนเชื่อมต่อกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแล้ว แต่การพัฒนาเส้นทางคมนาคมด้วยการปรับปรุงร่องน้ำให้เรือระวางขับน้ำขนาดใหญ่เข้าได้นั้นมีคำถามต่อในทางความมั่นคงว่า ถ้าในอนาคตเกิดปัญหาความมั่นคงขึ้นมาในลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงคงไม่มีกำลังรบทางเรือบนแม่น้ำได้เท่ากับจีน เพราะการปรับร่องน้ำให้รับเรือขนาดใหญ่นั้นไม่เพียงแต่เรือขนสินค้าจะได้อานิสงค์ เรือรบเองก็สามารถใช้เส้นทางเดียวกันได้

อิทธิพลจีนในอาเซียนลุ่มน้ำโขงมีสูง ผู้ประสานงานแม่น้ำนานาชาติวอนพัฒนาการศึกษาแม่น้ำให้เห็นภาพรวม เน้นการมีส่วนร่วม

การสร้างเขื่อนในประเทศต้นน้ำอย่างจีนทำให้เกิดปรากฎการณ์ 'การทูตว่าด้วยเรื่องน้ำ (Water Diplomacy)' ในปี 2559 ประเทศปลายน้ำต้องเผชิญสภาวะแห้งแล้งที่หนักที่สุด นักสิ่งแวดล้อมระบุว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของภัยแล้งดังกล่าวมาจากการมีเขื่อน การทูตว่าด้วยเรื่องน้ำมีตัวอย่างรูปธรรมในครั้งที่จีนตกลงปล่อยน้ำตามคำขอของเวียดนามที่เป็นประเทศปลายน้ำ จีนก็ระบุว่าการปล่อยน้ำนั้นเป็น 'ท่าทีแห่งความมีน้ำใจไมตรี'

จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทมากกับชาติสมาชิก LMC เพราะเป็นทั้งผู้สนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในลาว ให้การสนับสนุนพม่าท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา ให้การสนับสนุนทางการเงินและการทูตต่อกัมพูชา

ในไทย ภายใต้ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จีนเป็นผู้ลงทุนในไทยจำนวนมหาศาล รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่าการลงทุนจากจีนในปี 2559 มีจำนวน 69 โครงการ เม็ดเงินลงทุนประมาณ 24,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% จากปี 2558 โดยจีนถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในไทยสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากประเทศญี่ปุ่น 

แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ดอน  ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ในรายงานข่าวว่า จีนยอมถอยเรื่องการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงแล้ว แต่ก็ยังมีโครงการก่อสร้างขนาดยักษ์อีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงในหลายประเทศที่จะมีผลกระทบกับผู้ใช้แม่น้ำโขง

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติได้คุยกับ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ แห่งกลุ่มรักษ์เชียงของ เกี่ยวกับการประชุม LMC ว่า ต้องยอมรับว่าเขื่อนได้สร้างวิกฤติต่อแม่น้ำโขงทั้งเขื่อนในจีนที่สร้างไปแล้วถึง 8 เขื่อนในมณฑลยูนนาน และเขื่อนที่จะสร้างเพิ่มบนแม่น้ำโขงตอนล่าง เพื่อให้การพัฒนาแม่น้ำโขงไปสู่ความสมดุลทั้งในด้านการส่งเสริมการค้าและการรักษาทรัพยากร จะต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน ทั้งระดับระหว่างประเทศ และประชาชน นักวิชาการ  เพราะที่ผ่านมาโครงการต่างๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำโขง และโครงการเดินเรือหรือระเบิดแก่ง การศึกษาผลกระทบเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถตอบประเด็นปัญหาผลกระทบในภาพรวมที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเพียงการศึกษาเป็นจุดๆ ไม่ได้ศึกษาในภาพรวมของแม่น้ำโขงทั้งลุ่มน้ำ ดังนั้นการยกระดับเพื่อการศึกษา ทำความเข้าใจแม่น้ำโขงร่วมกันในภูมิภาค จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบปัญหาผลกระทบระดับลุ่มน้ำจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้

ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง 'รักษ์เชียงของ' หวังให้ ปชช. มีส่วนร่วมถกผลกระทบจากเขื่อนมากขึ้น

ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อบริหารแม่น้ำโขง เช่น คณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ MRC และกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง LMC จะต้องให้ความสนใจ และยกเป็นวาระของการพัฒนาลุ่มน้ำโขงร่วมกัน เพราะที่ผ่านมา เรื่องราวต่างๆ ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการพูดถึงหรือผลักดันแก้ไขปัญหาร่วมกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบควรทำหน้าที่ หยิบยกประเด็นนี้เป็นวาระ

ความเป็นไปในแม่น้ำโขงไม่ได้กระทบแค่วิถีชีวิตริมน้ำและบั้งไฟพญานาค แต่แม่น้ำนานาชาติสายนี้เป็นเสมือนหมากกระดานที่ประเทศลุ่มน้ำวางยุทธศาสตร์ตั้งแต่ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และอาจลามไปถึงเรื่องความมั่นคง ประชาไทจึงชวนผู้อ่านติดตามรายละเอียดของผลลัพธ์ที่จะมีขึ้นต่อไปหลังการประชุมเสร็จสิ้นจนมีการประกาศหมุดหมายร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก ว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของชาติสมาชิกและคนของเขาอย่างไร และตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนจะไปอยู่ตรงไหนในสมการชุดนี้

แปลและเรียบเรียงใจความสำคัญจาก

China's Interest in Riverine Development Evident at Mekong River Summit, VOA, Jan. 10, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย นทท. ปลอดภัยทุกคน เหตุสปีดโบทระเบิดที่ จ.กระบี่

Posted: 14 Jan 2018 03:32 AM PST

เกิดอุบัติเหตุสปีดโบท 'คิงส์โพไซดอน 959' เครื่องยนต์ระเบิด เพลิงลุกไหม้ลำเรือ บริเวณหน้าถ้ำไวกิ้ง ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทุกรายปลอดภัยแล้ว

 
 
 
14 ม.ค. 2561 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่านายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ แจ้งว่า เมื่อประมาณ 11.00 น. ของวันนี้ (14 ม.ค. 2561) ได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงลุกไหม้ลำเรือ บริเวณหน้าถ้ำไวกิ้ง เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี มีลูกเรือรวมกัปตัน รวมทั้งหมด 31 คน เป็นมัคคุเทศก์และลูกเรือชาวไทย 5 คน ชาวจีน 26 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด
 
ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยวตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดูแลนักท่องเที่ยวที่บาดเจ็บอย่างเต็มที่ และได้ส่งผู้ประสบเหตุไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลพีพี 9 คน โรงพยาบาลกระบี่ 3 คน และโรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต 4 คน โดยมีแพทย์และพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด
 
สำหรับเรือที่เกิดอุบัติเหตุชื่อเรือคิงส์โพไซดอน 959 เป็นเรือเร็วหรือสปีดโบทขนาด 3 เครื่องยนต์ ขนาดบรรทุก 50 คน โดยเรือลำดังกล่าวนำกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจังหวัดภูเก็ต มาเที่ยวที่เกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ กระทั่งเกิดเหตุดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

10 เรื่องควรรู้ว่าด้วยข้อหา “ดูหมิ่นศาล”

Posted: 14 Jan 2018 12:37 AM PST

 

ข้อหา "ดูหมิ่นศาล" กลายมาเป็นประเด็นน่าจับตา ภายหลังมีการดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ พ.ต.ท.สุภารัตน์ คำอินทร์ ได้เป็นผู้ไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กล่าวหาต่ออานนท์กรณีโพสต์เฟสบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดีของ 7 นักศึกษาถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

ข้อกล่าวหานี้คืออะไร สำคัญอย่างไร และมีประเด็นอะไรที่แวดล้อมข้อหานี้อยู่บ้าง ต่อไปนี้เป็น 10 ข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับข้อหาดูหมิ่นศาล เพื่อช่วยทำความเข้าใจการดำรงอยู่และการใช้ข้อกล่าวหานี้ในปัจจุบัน

1. ข้อหา "ดูหมิ่นศาล" อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ในลักษณะที่ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวดที่ 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ในมาตรา 198 บัญญัติว่า

"ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี หรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

2.ข้อหา "ดูหมิ่นศาล" แตกต่างจากข้อหา "ละเมิดอำนาจศาล" โดยข้อหาหลังถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในมาตรา 30-33 มีลักษณะที่มุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามอย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว มาตราเหล่านี้จึงให้อำนาจศาลในการออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความ (มาตรา 30) หรือให้อำนาจศาลสามารถมีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาต่อประชาชน ซึ่งข้อความหรือความเห็นในกระบวนการพิจารณาคดี เพี่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ (มาตรา 32)

ผู้ที่ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลเหล่านั้น หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ก็จะถูกพิจารณาเป็น "การละเมิดอำนาจศาล" ได้  ทั้งนี้ตามมาตรา 33 ได้กำหนดบทลงโทษผู้ละเมิดอำนาจศาลไว้ว่าศาลสามารถสั่งไล่ออกจากบริเวณศาล หรือให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาดูหมิ่นศาลจึงมีโทษที่รุนแรงกว่าข้อหาละเมิดอำนาจศาล

ในขณะที่ข้อหา "ดูหมิ่นศาล" มีลักษณะที่มุ่งคุ้มครองสถานะและอำนาจของศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี  ข้อหา "ละเมิดอำนาจศาล" มีลักษณะที่มุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว  หากแต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีลักษณะคลุมเครือในการตีความขอบเขตการกระทำที่นับเป็นความผิดในทั้งสองข้อหา

(ดูเพิ่มเติมในรายงาน ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย และรายงานโดยไอลอว์ ดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายปกป้องศาลจากการวิจารณ์)

ในข้อหาละเมิดอำนาจ กรณีที่มีการละเมิดต่อหน้าศาล และศาลพบเห็นเอง ศาลสามารถสั่งลงโทษผู้กระทำผิดได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนหรือฟ้องร้อง มีลักษณะที่ศาลใช้อำนาจโดยรวบรัด ข้อหานี้ยังมีลักษณะพิเศษคือเป็นกฎหมายในส่วนแพ่ง แต่มีกำหนดบทลงโทษทางอาญาคือจำคุกเอาไว้ด้วย แม้ในทางทฤษฎีจะถือว่าไม่ใช่โทษทางอาญาก็ตาม
ในขณะที่คดีดูหมิ่นศาล ถือเป็นคดีอาญา ยังต้องมีกระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษ สอบสวน ฟ้องร้อง และกระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปตามขั้นตอนของวิธีพิจารณาความอาญาตามปกติ แต่ความผิดฐานดูหมิ่นศาลถือได้ว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความกันได้ และยังเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ไปแจ้งความกล่าวโทษได้ การต้องโทษในคดีดูหมิ่นศาลย่อมส่งผลต่อคุณสมบัติในการประกอบอาชีพหลายอาชีพ รวมถึงวิชาชีพทนายความ

ข้อหาดูหมิ่นศาลยังแตกต่างจากข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา โดยข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดานั้น ผู้เสียหายต้องเป็นฝ่ายไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ด้วยตนเอง และสามารถยอมความกันได้ แต่การแจ้งความในคดีดูหมิ่นศาล ผู้เสียหายคือผู้พิพากษาหรือศาลนั้นๆ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อาจไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลยด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น ทั้งในคดีดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาล ผู้พิจารณาพิพากษาคดีล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในสถาบันศาลเอง ซึ่งอาจจะส่งผลถึงความเป็นอิสระและความเป็นกลางได้ในทางปฏิบัติ

4.ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 คณะรัฐประหารในยุคนั้นได้ออกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 แก้ไขเพิ่มอัตราโทษในข้อกฎหมายหลายมาตราที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทและดูหมิ่น หนึ่งในนั้นคือข้อหา "ดูหมิ่นศาล" ตามมาตรา 198 นี้เอง ที่ถูกแก้ไขจากโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท ให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-14,000 บาท มาจนถึงปัจจุบัน

เช่นเดียวกับข้อหาหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ในมาตรา 112 ก็ถูกแก้ไขเพิ่มโทษจากคำสั่งของคณะรัฐประหาร หลัง 6 ตุลาคม 2519 ฉบับนี้เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายในเรื่องเหล่านี้ จึงสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองอย่างยิ่ง

5.หากพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกา มีคดีในข้อหา "ดูหมิ่นศาล" ที่ปรากฏเผยแพร่อยู่เว็บไซต์ศาลฎีกาไม่มากนัก จำนวนไม่ถึง 10 คดี หลายคดีมีลักษณะเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นเรื่องต่อหน่วยงานต่างๆ ขอให้ตรวจสอบผู้พิพากษาบางราย เนื่องจากเห็นว่าดำเนินการพิจารณาคดีโดยไม่เป็นธรรม แต่ผู้ร้องเรียนกลับถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาล

อาทิเช่น คดีที่จำเลยทำหนังสือยื่นต่อนายกรัฐมนตรี โดยร้องเรียนให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้พิจารณาคดีที่จำเลยฟ้องกระทรวงยุติธรรม โดยหนังสือมีการกล่าวหาว่าผู้พิพากษาทำผิดวินัยทุจริตต่อหน้าที่ จงใจตัดสินคดีโดยแหวกแนวนอกเหนือกฎหมาย และตัดสินความโดยความโง่เขลาไม่รอบรู้กฎหมาย คดีนี้ศาลฎีกาลงโทษจำคุก 6 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี (ฎีกาที่ 580/2505)

อีกคดีหนึ่ง จำเลยถูกกล่าวหาว่าได้พูดกับหน้าบัลลังก์ว่า "ไม่นึกเลยว่าสำนวนนี้จะมาตกอยู่แก่คนๆ นี้" ทั้งจำเลยและพวกยังทำหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ร้องเรียนผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีของตนว่าดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอคติลำเอียงเข้าข้างโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการใส่ความผู้พิพากษาท่านนั้นให้เสียชื่อเสียง จึงลงโทษจำคุก 2 เดือน (ฎีกาที่ 1456/2506)

ในอีกคดีหนึ่ง จำเลยกับพวกถูกกล่าวหาว่าได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่พิจารณาคดีของพวกตน ได้ไปร่วมรับประทานอาหารเลี้ยงกับฝ่ายโจทก์ หลังได้พิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ชนะคดี แม้จำเลยที่ถูกกล่าวหาจะยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง แต่คดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นความเท็จ จึงพิพากษาจำคุก 2 ปี (ฎีกาที่ 1124/2507)

จะเห็นได้ว่าคดีตัวอย่างเหล่านี้ มีลักษณะเป็นกรณีที่ประชาชนหรือคู่ความในคดีพยายามร้องเรียนตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้พิพากษาในศาล แต่มักจะถูกพิจารณาว่าเป็นข้อร้องเรียนที่ไม่เป็นความจริง ทำให้กลับกลายเป็นการดูหมิ่นศาลไปเสียเอง  รวมทั้งในคดีเหล่านี้ ศาลด้วยกันเองทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินพิพากษาคดีเอง แม้จะไม่ใช่ผู้พิพากษารายที่ได้รับ "ความเสียหาย" จากการร้องเรียนนั้นๆ โดยตรงก็ตาม

6. ในขณะที่ข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (มาตรา 326) มีการกำหนดข้อยกเว้นทั้งในเรื่องการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม (มาตรา 329) การพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง (มาตรา 330) รวมทั้งคู่ความหรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน (มาตรา 331) ทั้งหมดนี้ถือว่าไม่มีความผิดในฐานหมิ่นประมาท

หากแต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าข้อยกเว้นเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้พิจารณาร่วมกับข้อหาหมิ่นประมาทและดูหมิ่นที่ถูกบัญญัติไว้หมวดอื่นๆ รวมทั้งการดูหมิ่นศาลด้วยหรือไม่ แต่หากพิจารณาข้อหาหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ก็ไม่เคยมีแนวทางที่ศาลใช้ข้อยกเว้นในส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามาใช้ในการพิจารณาร่วมด้วยแต่อย่างใด

7. ภายหลังรับทราบข้อหาดูหมิ่นศาล ทำให้ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ทนายอานนท์ นำภา ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเป็นคดีที่ 7 แล้ว โดยแยกเป็นถูกกล่าวหาเรื่องไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะจำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 1,000 บาท และคดีจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มแอดมินเพจเรารักประยุทธ์ ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร คดีนี้ไปถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ลงโทษปรับ 1,000 บาท

ถูกกล่าวหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 1 คดี จากการจัดกิจกรรมรำลึกลุงนวมทอง คดีนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท

ถูกกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองจำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก และคดีร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ทั้งสองคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลทหาร

และถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 1 คดี จากการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวช่วงปี 2558 คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน

บทบาททางการเมืองของอานนท์ และการถูกดำเนินคดีเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสะท้อนภาพของการใช้ "กฎหมาย" เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน ภายใต้ยุคของ คสช.

8. ไม่นานมานี้ ยังมีทนายความสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานอีกท่านหนึ่ง ได้แก่ ทนาย "สหรัถ" (นามสมมติ) ถูกดำเนินคดีถึง 2 คดี ทั้งในข้อหาละเมิดอำนาจศาล และข้อหาดูหมิ่นศาล-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเขาและลูกความซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานหลายคน รวมตัวกันแสดงความไม่พอใจที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีด้วยเหตุที่เขาไม่มาศาลในวันนัด เพราะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปแจ้งเลื่อนคดีแล้ว เมื่อได้เข้าพบผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน "สหรัถ" ถูกกล่าวหาว่าได้พูดจาแสดงความไม่พอใจว่าจะร้องเรียนศาล และต่อมาได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊คส่วนตัวในลักษณะว่า "วันนี้รู้แล้วว่าศาลแรงงานรับใช้นายทุน…"

ในคดีข้อหาดูหมิ่นศาล ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาให้ "สหรัถ" มีความผิด แต่ให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี ขณะที่ข้อหาละเมิดอำนาจศาลถูกดำเนินคดีโดยศาลแรงงานภาค 1 (สระบุรี) มีการต่อสู้ไปถึงชั้นศาลฎีกา และได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ แม้ในคดีนี้ทางฝ่ายจำเลยจะพยายามต่อสู้ว่าการกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดกรรมเดียว ไม่ควรต้องรับโทษสองครั้งก็ตาม

(ดูเพิ่มเติมในฐานข้อมูลโดยไอลอว์ "สหรัถ": ทนายแรงงานละเมิดอำนาจศาล)


วัฒนา เมืองสุข เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีทั้งข้อหาดูหมิ่นศาล และละเมิดอำนาจศาล (ภาพจากวอยซ์ทีวี)

9. นอกจากทนายอานนท์ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว ภายหลังการรัฐประหาร เท่าที่ปรากฏ ยังมีกรณีของนายวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหา "ดูหมิ่นศาล" และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกัน โดยถูกกล่าวหาจากการโพสต์ในเฟสบุ๊คของตน มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คสช. และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 2 ข้อความ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560

คดีนี้วัฒนาถูกแจ้งข้อกล่าวหาโดย บก.ปอท. เช่นเดียวกัน โดยมีพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษ และยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีเช่นกัน

ภาพอาจารย์สุดสงวน สุธีสร ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล (ภาพจากมติชนสุดสัปดาห์)

10. ขณะเดียวกันในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ข้อหา "ละเมิดอำนาจศาล" ที่อยู่ในกฎหมายแพ่ง ก็ถูกนำมาใช้กล่าวหาและดำเนินคดีนักการเมือง นักกิจกรรม หรือนักวิชาการ ที่มีบทบาททางการเมือง อย่างเข้มข้นขึ้นด้วยเช่นกัน

อาทิเช่น กรณีของวัฒนา เมืองสุข ที่ถูกกล่าวหาด้วยคดีละเมิดอำนาจศาลอีกถึง 2 คดี จากการเฟสบุ๊คไลฟ์ในศาลอาญา และจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหน้าศาลอาญา  หรือกรณีที่ 7 นักศึกษา ถูกกล่าวหาโดยศาลขอนแก่นจากการทำกิจกรรมนอกรั้วศาล เพื่อให้กำลังใจ 'ไผ่ ดาวดิน'  รวมทั้งกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือน ต่อสุดสงวน สุธีสร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงร่วมวางพวงหรีดหน้าศาลแพ่งรัชดาฯ คัดค้านคำสั่งศาลที่ห้ามใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมของ กปปส.

ปรากฏการณ์ที่ทั้งคดีละเมิดอำนาจศาลและดูหมิ่นศาล กลายมาเป็นประเด็นในสังคม เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการที่องค์กรตุลาการมีส่วนสำคัญในการเข้าไปรับรอง และยกเว้นการตรวจสอบอำนาจของคณะรัฐประหารกับระบบกฎหมายของคณะรัฐประหาร รวมทั้งการใช้อำนาจต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ทั้งด้วยบทบาททางการเมืองของศาลภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีเศษที่ผ่านมา ทำให้สังคมเองยังมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทขององค์กรตุลาการอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นด้วย

(ดูเพิ่มเติมในรายงาน "อภินิหารทาง 'กฎหมาย' สถาบันตุลาการกับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557: บทวิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช.")

 

.ที่มา: www.tlhr2014.com 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: ประชาธิปไตยรวมศูนย์ในเวียดนาม

Posted: 14 Jan 2018 12:11 AM PST

ตามคำเรียกร้องของมิตรสหายท่านหนึ่งที่ถามมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ประชาธิปไตยรวมศูนย์คืออะไร เพราะเห็นประเทศที่มีการปกครองแบบสังคมนิยมอ้างว่า ตัวเองก็มีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เรียกมันว่า ประชาธิปไตยรวมศูนย์ โดยที่ชื่อเฉพาะนั้นอาจจะเรียกว่า ประชาธิปไตยประชาชน (People's Democracy) ก็ได้ เช่นในลาวหรือเกาหลีเหนือ ก็เรียกแบบนั้น

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ในประเทศคอมมิวนิสต์อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันอยู่บ้าง พอดีกำลังติดพันเรื่องเวียดนามอยู่เลยขอยกแบบเวียดนามมาก็แล้วกัน เพื่อเป็นการใช้หนี้สินให้เพื่อนฝูง อันที่จริงไม่ค่อยอยากพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะเดี๋ยวพวก คสช. มาก๊อปปี้ไปใช้ (แต่สบายใจอยู่หน่อยหนึ่ง ว่าพวกนั้นอยากทำแบบนี้ก็ทำไม่ได้หรอกมือไม่ถึง)

พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอ้างว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีหลักการประชาธิปไตยการปกครอง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบนายทุนหากแต่เป็นประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) เลขาธิการใหญ่เหวียน ฝู จ่อง อธิบายหลักการประชาธิปไตยรวมศูนย์ เอาไว้ในงานของเขา Renewal in Vietnam: Theory and Reality (Hanoi: The Gioi Publishers, 2015) ดังต่อไปนี้

1 หน่วยนำของพรรคในทุกระดับจะต้องจัดตั้งผ่านการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยด้วยการลงคะแนนลับ (secret ballot) หน่วยงานในพรรคเหล่านั้นมีภาระหน้าที่รายงานต่อหน่วยอื่นทุกระดับทั้งเหนือขึ้นไปและล่างลงมา

2 จะต้องใช้ระบบผู้นำรวมหมู่ ประกอบกับความรับผิดชอบส่วนบุคคลและการวิพากษ์ตนเองอย่างสม่ำเสมอ

3 กิจการของพรรคจะต้องได้รับการปฏิบัติโดยหน่วยพรรคที่มีขีดความสามารถตามลำดับความสำคัญ ตัวอย่างเช่น งานด้านยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการ การนำในระดับชาติ เช่น กรรมการศูนย์กลางพรรคจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

4 มติของพรรคจะต้องผ่านการลงมติโดยเสียงข้างมาก โดยที่สมาชิกพรรคจะต้องได้อภิปราย ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและรอบด้านก่อนการลงมติ เมื่อได้มีมติออกมาแล้วทุกคนจะต้องให้ความเคารพและปฏิบัติ สมาชิกคนใดไม่เห็นด้วยกับมตินั้นให้ทำความเห็นขึ้นสู่ระดับสูงได้ แต่ก็ยังต้องมีภาระที่จะต้องปฏิบัติตามมตินั้นอยู่ดี

5 สมาชิกทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการถกเถียงอภิปรายกิจการของพรรคอย่างตรงไปตรงมา มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง พร้อมที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในในทุกระดับ แต่การวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นในกิจการของพรรคคอมมิวนิสต์จะทำได้ก็ต่อเมื่อหน่วยหนึ่งหน่วยใดในพรรคมอบหมายให้ทำได้เท่านั้น

6 สมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยของพรรคและหน่วยพรรค เสียงส่วนน้อยต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ หน่วยระดับล่างต้องขึ้นต่อระดับบน และหน่วยพรรคทั้งหมดต้องขึ้นต่อคณะกรรมการกลางพรรค

กล่าวโดยสรุปแล้วประชาธิปไตยรวมศูนย์คือการรวมความเป็นประชาธิปไตยและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเข้าไว้ด้วยกัน ตามความเห็นเลขาธิการใหญ่จ่อง "ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขของการรวมศูนย์ ในขณะที่การรวมศูนย์จะเป็นหลักประกันให้กับการปฏิบัติแบบประชาธิปไตย" (หน้า 141)

ในทางตรรกประชาธิปไตยน่าจะไปกันได้ดีกับการกระจายอำนาจมากกว่าการรวบอำนาจ แต่ว่าประชาธิปไตยแบบนี้ดีหรือไม่ดี ทำงานได้หรือไม่ได้แบบไหนและเวียดนามเคร่งครัดกันมันแค่ไหน เห็นทีต้องไปอภิปรายกันในภายหลัง ที่ว่ามานี่ดูจะยาวเกินไปแล้ว



หมายเหตุ: ภาพประกอบหนังสือของเหวียน ฝู จ่อง และ อีกเล่มของสี จิ้นผิง ยังไม่ได้อ่านแต่ดูผ่านๆก็มีพูดถึงหลักประชาธิปไตยรวมศูนย์อยู่เช่นกัน (จะหาโอกาสอ่านและรีวิวให้ในเร็ววัน)

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค Supalak Ganjanakhundee

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายปกป้องอันดามันเตรียมไปทำเนียบฯ 27 ก.พ.นี้ ร้องรัฐปลดถ่านหินจากกระบี่อย่างถาวร

Posted: 13 Jan 2018 11:14 PM PST

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ออกแถลงการณ์ปฏิบัติการปลดถ่านหินจากกระบี่ ระบุเตรียมเดินทางไปยังทำเนียบฯ เพื่อให้รัฐบาลสั่งยกเลิกทั้งทางกฎหมาย และนโยบาย ปลดถ่านหินจากกระบี่อย่างถาวร ในวันที่ 27 ก.พ.นี้

 
 
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2561 ในการปกป้องจังหวัดกระบี่ พื้นที่การท่องเที่ยวของโลกให้พ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุว่า นับแต่ชาวกระบี่ และอันดามันได้ร่วมกันปกป้องทรัพยากรท้องทะเล ป่าชายเลน พื้นที่การเกษตร การประมง เพื่อให้เป็นแหล่งสำหรับการผลิตอาหาร การเศรษฐกิจ คงไว้ซึ่งสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี จากภัยคุกคามครั้งสำคัญของการประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 800 เมกะวัตต์ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมานั้น กระบี่ และอันดามันได้พิสูจน์ให้สาธารณะเห็นแล้วว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนากระบี่ และอันดามันคือการเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวของโลก ไม่ใช่แหล่งมลพิษจากควัน และขี้เถ้าถ่านหิน 
 
แม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศยกเลิกรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ถูกยกเลิกไป กระนั้นก็ตาม สำนึกแห่งการพัฒนาและการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงความก้าวหน้าที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนก็มิได้เกิดขึ้นแก่องค์กรที่ชื่อ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแต่อย่างได ยังคงประกาศเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ครั้งใหม่ โดยเริ่มต้นจัดทำรายงานเพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ครั้งใหม่ ในวันที่ 28 มกราคม 2561
 
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ขอกราบเรียนมายังประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้ได้รับทราบถึงพฤติการณ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งใหม่ดังนี้
 
1.เมื่อนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้มีกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมาชิกสภานิตบัญญัติแห่งชาติ และฝ่ายประชาชน ทำการศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งมีผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ตลอดระยะเวลาประมาณ 9 เดือนของการถกเถียงแสวงหาข้อมูล ได้บทสรุปร่วมกันว่า จังหวัดกระบี่ สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ จำนวน 1,700 เมกะวัตต์ แต่ผลการศึกษาเหล่านี้ถูกเพิกเฉย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป
 
2.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหิน ส่งผลให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ถูกยกเลิกไปนั้น เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ประกาศตั้งแต่คราวนั้นแล้วว่า หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ จะต้องดำเนินการภายใต้การแก้กฎหมาย EIA ให้เกิดความเป็นธรรมเสียก่อน แต่การดำเนินการคราวนี้ยังคงเป็นไปภายใต้กฎหมายฉบับเดิม กฟผ.เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทให้มาทำการประเมิน ซึ่งอย่างไรเสียรายงานฉบับนี้จะยังคงผ่านเหมือนเดิม เป็นปัญหาที่ทั่วประเทศต้องเผชิญความขัดแย้งในปัจจุบัน ซึ่งเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ขอประกาศไม่ยอมรับการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครั้งนี้
 
3.ในสถานการณ์ของการยกเลิกรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนกุมพาพันธ์ 2560 นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ว่า ต่อไปจะต้องมีการจัดทำการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพัฒนานั้นเกิดความเหมาะสม แต่ในการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยครั้งนี้กลับเพิกเฉยต่อการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ และพื้นที่การท่องเที่ยวของโลกทั้งจังหวัดกระบี่ และอันดามัน ซึ่งทำรายได้เฉพาะการท่องเที่ยวปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท เหมาะสมแล้วหรือที่จะเอามาเป็นแหล่งมลพิษรองรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรป และอเมริกาประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถจัดการต่อมลพิษถ่านหินได้ การกระทำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์แห่งพ่อค้าถ่านหินเพียงไม่กี่รายเป็นการเฉพาะ
 
4.สถานการณ์ไฟฟ้าล้นเกินระบบการใช้ของประเทศกว่า 10,000 เมกะวัตต์ เพราะมีการสร้างโรงไฟฟ้าล้นเกิน จนกลายเป็นภาระสำหรับประชาชนที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ยังเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้วาทกรรมที่ผลิตออกมาเพื่อบิดเบือนข้อมูลต่อประชาชนว่า "ไฟฟ้าไม่พอ"
 
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จึงขอกราบเรียนมายังพี่น้องประชาชนทั่วประเทศว่า เราจะแสดงหลักการ และเหตุผลต่อคนทั่วโลกว่า การผลิตไฟฟ้าสามารถทำได้จากพลังงานหมุนเวียน และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อันดามันต้องรักษาไว้ให้เป็นแหล่งการท่องเที่ยวของโลก และแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของชาติ 
 
โดยขอประกาศว่า วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลสั่งยกเลิกทั้งทางกฎหมาย และนโยบายปลดถ่านหินจากกระบี่ พื้นที่การท่องเที่ยวของโลกอย่างถาวร
 
จึงขอกราบเรียนมายังเพื่อนคนไทย เพื่อนชาวต่างประเทศที่รักหวงแหนพื้นที่การท่องเที่ยวอันงดงาม มาร่วมกันปกป้องกระบี่ และอันดามันจากภัยคุกคามครั้งสำคัญนี้อีกครั้งหนึ่ง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีทั้ง 'เห็นด้วย-แย้ง' ข้อเสนอ 'จัดมหรสพระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง'

Posted: 13 Jan 2018 11:02 PM PST

'ประชาธิปัตย์' ระบุจัดมหรสพระหว่างหาเสียงได้จะเกิดการซื้อเสียงอย่างเเยบยลเอื้อนักเลือกตั้งที่มีทุนหนาได้เปรียบผู้สมัครเงินน้อย 'เพื่อไทย' ชี้จะย้อนยุคกลับไปแบบเดิม ไม่ใช่สาระของการเลือกตั้ง สร้างความไม่เป็นธรรม ด้าน 'วันชัย สอนศิริ' หนุนเพราะสร้างนวัตกรรมใหม่สู่การเลือกตั้ง เสนอหยุด 3 วันให้คนกลับไปใช้สิทธิ์ งดเว้นค่าทางด่วนเหมือนปีใหม่-สงกรานต์

 
14 ม.ค. 2561 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า อยู่ระหว่างการทบทวนเนื้อหารายมาตรา โดยภาพรวมกมธ.ไม่ได้ปรับแก้เนื้อหาตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เสนอมาตามวาระที่1 มากนัก โดยประเด็นที่กมธ.ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอาทิ มาตรา35 ที่กมธ.เพิ่มเติมเนื้อหาให้มีการจำกัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการเป็นเวลา 2ปี แก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ บุคคลใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิการไปสมัครรับราชการเป็นเวลา 2 ปี อีกประเด็นที่กมธ.แก้ไขคือ มาตรา 75 เรื่องข้อห้ามการหาเสียง ที่มีการตัดถ้อยความที่กรธ.เสนอห้ามให้มีการแสดงมหรสพ งานรื่นเริง มาประกอบการหาเสียง ซึ่งกมธ.ได้แก้ไขหลักการของกรธ.ให้สามารถมีการแสดงมหรสพและงานรื่นเริง เพื่อใช้ประกอบการหาเสียงได้
 
นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่าเหตุผลที่กมธ.เห็นว่า ควรให้มีมหรสพอาทิ การแสดงดนตรีรื่นเริง ลิเก เพื่อเป็นกลยุทธจูงใจให้ประชาชนมารับฟังการหาเสียงมากขึ้น ส่งเสริมให้คนตื่นตัวทางประชาธิปไตย หากเปิดเวทีหาเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการจูงใจเรื่องมหรสพจะมีประชาชนมาฟังนโยบายหาเสียงน้อย มีแต่เฉพาะคนที่สนใจการเมืองมาฟังเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนการแสดงมหรสพจะถูกนำไปคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย ส่วนข้อกังวลที่เป็นช่องทางให้ขนคนมาดูมหรสพเพื่อซื้อเสียงนั้น ขณะนี้เทคโนโลยีต่างๆก้าวหน้าไปมาก มีโทรศัพท์สามารถถ่ายคลิปการทุจริตซื้อเสียงได้ คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงทำผิด
 
ย้อนยุคกลับไปแบบเดิม ไม่ใช่สาระของการเลือกตั้ง
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่านายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เสนอให้แสดงมหรสพและงานรื่นเริงประกอบการหาเสียงได้ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะย้อนยุคกลับไปแบบเดิม เพราะไม่ใช่สาระของการเลือกตั้ง รวมทั้งสร้างความไม่เป็นธรรมอีกด้วย
 
หลักของกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ห้ามไม่ให้กระทำบางอย่าง เช่น ออกทีวีหรือวิทยุ ไม่ให้จัดงานรื่นเริง เป็นต้น ก็เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่มีทุนน้อย จึงให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีปราศรัย แล้วเฉลี่ยเวลาให้กับผู้สมัครได้พูดในเวลาที่เท่าๆ กัน ดังนั้นการจะกลับไปให้จัดงานมหรสพช่วงหาเสียงได้ เท่ากับว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่มีทุนหนาก็จะมีโอกาสมากกว่าในการจ้างนักร้องลูกทุ่งหรือหมอลำชื่อดังมาแสดง ซึ่งก็จะดึงดูดประชาชนได้มากกว่า หากยังยืนยันจะดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็ควรให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการ
 
นอกจากนี้นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ตนไม่เห็นด้วย ระยะหลังประชาชนสนใจฟังการปราศรัยหาเสียง เพราะประชาชนมีช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารของนักการเมือง พรรคการเมืองผ่านช่องทางการสื่อสารอื่นๆ อีกมากมายหลายช่องทาง ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่การจะรับรู้ข้อเสนอแนวนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองรวมถึงคุณสมบัติของผู้สมัครมีไม่กี่ช่องทาง แต่ปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเซียลมีเดียได้หลากหลายรูปแบบ จึงทำให้ประชาชนสนใจฟังปราศรัยหาเสียงลดลง
 
"ยุคปฏิรูปการเมืองเราควรยึดแนวทางให้มีการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของการทำงานการเมืองอย่างแท้จริง น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าการส่งเสริมให้มีช่องทางการใช้จ่ายที่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น" นายองอาจ กล่าว
 
ชี้จะเกิดการซื้อเสียงอย่างเเยบยลเอื้อนักเลือกตั้งที่มีทุนหนา
 
จากนั้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่านายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียงได้ว่า หลักการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามกฎหมายใหม่ คือต้องให้ผู้สมัครประหยัดเงินที่สุด เช่น ห้ามติดโปสเตอร์หาเสียงขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน และติดได้เฉพาะจุด ที่ กกต.อนุญาต หรือกำหนด จะไปติดป้ายบนถนนเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว กกต.อ้างว่าเพื่อประหยัดลดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร
 
แต่การเสนอให้จัดงานมหรสพได้ช่วงเลือกตั้ง จะทำให้ผู้สมัครที่มีฐานะรวยกว่า ได้เปรียบผู้สมัครที่ไม่ค่อยมีเงิน แล้วจะเกิดการซื้อเสียงที่แยบยล ตามจับได้ยาก เรื่องนี้จึงขัด และแย้งกับหลักการของ กกต.อย่างร้ายแรง ทั้งเสี่ยงต่อการเกิดทุจริต และสิ้นเปลืองเงินมหาศาล ไม่ควรให้จัดมหรสพได้ ในรูปแบบใด ๆ
 
สร้างนวัตกรรมใหม่สู่การเลือกตั้ง เสนอหยุด 3 วันให้คนกลับไปใช้สิทธิ์ 
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2561 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเสนอที่ให้มีมหรสพในการปราศรัยหาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ว่า ตนในฐานะที่เป็นกรรมการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้มีมหรสพได้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง สามารถสร้างความตื่นตัวตื่นตาตื่นใจ และทำให้บรรยากาศของการเลือกตั้งคึกคัก ทั่วกรุงเทพและต่างจังหวัดจะเป็นไปด้วยกระแสแห่งการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการปลุกให้ประชาชนสนใจการเมือง มีส่วนรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากผู้สมัครได้อย่างทั่วถึง ดีกว่าที่ถึงเวลาก็มาหย่อนบัตรเท่านั้น ซึ่งเรามักจะกล่าวหาโจมตีกันว่าประชาธิปไตย 4 วินาที คือ แค่ตอนเลือกตั้ง นอกนั้นนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น วิธีการนี้นี่แหละจะเป็นส่วนสนับสนุนส่งเสริมการเลือกตั้งยุคปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนแปลง
 
นายวันชัย กล่าวอีกว่า ในเมื่อเรามีกฎหมายหลายบทหลายมาตราควบคุมกำกับดูแลการใช้เงิน และกำหนดวงเงินของผู้สมัครอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไปห้ามผู้สมัครที่จะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมาฟังการหาเสียงของตน เพราะจะมีมหรสพใดประกอบการหาเสียง ก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่ละพรรคแต่ละคนก็มีวงเงินเท่ากัน ประเด็นที่ว่าคนรวย พรรคใหญ่จะได้เปรียบ จึงเป็นสิ่งที่กล่าวอ้างกันลอยๆเท่านั้นเอง ไม่มีเหตุผลใดมาสนับสนุน เราต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาสนับสนุนส่งเสริมการเลือกตั้ง ให้การเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป ประชาชนทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่าทั้งในเมืองและชนบทต้องตื่น ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงด้วยการเลือกตั้ง ทั้
 
"ภาครัฐเองก็ต้องปลุกกระแสให้คนตื่นตัวเหมือนงานปีใหม่ งานสงกรานต์ และควรจะมีวันหยุดติดต่อกันสัก 3 วัน เพื่อให้ประชาชนเดินทางไปกลับในการเลือกตั้ง ทั้งทางด่วน การทางพิเศษก็ต้องงดเว้นเก็บค่าโดยสาร เหมือนมหกรรมสำคัญของประเทศ จะเลือกตั้งทั้งทีต้องไม่เงียบเหงาเศร้าซึม ทุกองคาพยพของภาครัฐและ กกต.ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง สื่อมวลชน ดารานักร้องศิลปินต้องมีส่วนร่วมมือกับ กกต.ในการปลุกเร้าให้คนมาเลือกตั้ง มหรสพเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น มิใช่ปัจจัยหลักที่จะเอาแพ้เอาชนะ คนดีมีความรู้ความสามารถต่างหากเล่าที่คนเขาจะเลือก อย่าหลงประเด็น" นายวันชัย กล่าว
 
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า แม้แต่วัดวาอารามจะมีการทำบุญสุนทาน ชักชวนญาติโยมเข้าวัด ยังมีมหรสพให้ญาติโยมดู บุญก็คือบุญ การแสดงก็คือการแสดง เลือกตั้งก็คือการเลือกตั้ง อย่าไปห่วงเรื่องมหรสพเลย ห่วงแต่ว่าให้เลือกคนดี ให้เลือกพรรคดีเป็นพอ ส่วนใครจะมีหรือไม่มีมหรสพก็ไม่ได้บังคับ อย่าคิดมาก อย่าเลอะเทอะ
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญี่ปุ่นเปลี่ยนระบบการทำงานผู้ลี้ภัย

Posted: 13 Jan 2018 10:15 PM PST

ญี่ปุ่นเปลี่ยนระบบการขอทำงานของผู้ลี้ภัย ซึ่งจะจำกัดสิทธิในการทำงานของผู้ลี้ภัยตั้งแต่วันจันทร์นี้ (15 ม.ค. 2561) ให้สิทธิทำงานเฉพาะผู้ผ่านการพิจารณาว่าเป็นผู้ขอลี้ภัยอย่างแท้จริง ส่วนผู้ยื่นขอลี้ภัยซ้ำและผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบจะถูกกักตัวในศูนย์กักกันเมื่อวีซ่าหมดอายุ

ที่มาภาพประกอบ: International Organization for Migration (IOM)

เว็บไซต์ Daily Mail รายงานเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่าญี่ปุ่นจะจำกัดสิทธิในการทำงานของผู้ลี้ภัยตั้งแต่วันจันทร์นี้ (15 ม.ค. 2561) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบนี้เนื่องมาจากการที่ญี่ปุ่นมองว่าผู้ลี้ภัยมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น

กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นระบุว่าระบบใหม่นี้จะให้สิทธิทำงานเฉพาะผู้ที่ผ่านการพิจารณาว่าเป็นผู้ขอลี้ภัยอย่างแท้จริง ส่วนผู้ยื่นขอลี้ภัยซ้ำ ๆ และผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบตั้งแต่ต้นจะถูกกักตัวในศูนย์กักกันเมื่อวีซ่าหมดอายุ ซึ่งระบบใหม่นี้จะทำให้ผู้ขอลี้ภัยร้อยละ 60 ไม่สามารถทำงานได้

ทั้งนี้ระบบการจ้างงานผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน อนุญาตให้ผู้ขอลี้ภัยที่วีซ่ายังไม่หมดอายุสามารถขอต่ออายุการทำงานในญี่ปุ่นระหว่างที่กำลังพิจารณาคำขอลี้ภัย ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมองว่าระบบเดิมนี้เปิดช่องให้คนขอลี้ภัยมากขึ้นเพื่อมาหางานทำ ส่งผลทำให้เกิด 'ตลาดแรงงานสีเทา' ในญี่ปุ่นเนื่องจากภาคธุรกิจต่าง ๆ หันไปจ้างงานผู้ขอลี้ภัยมากขึ้น เนื่องจากขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น

ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมพบว่าจำนวนผู้ลี้ภัยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยมีผู้สมัครมากกว่า 14,000 คน ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย. ปี 2560  ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ส่วนข้อมูลผู้ถูกกักตัวจนถึงปี 2559 อยู่ที่ 417,383 คน

โยโกะ คามิคาวะ (Yoko Kamikawa) รัฐมนตรียุติธรรม ได้ระบุไว้ในการแถลงข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องการทุ่มเทอย่างเหมาะสมให้กับผู้ลี้ภัยที่ต้องการความคุ้มครอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของผู้ลี้ภัยนี้ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นไม่อยากรับผู้ลี้ภัยอีก

ด้านเอริ อิชิกาวะ (Eri Ishikawa) จากสมาคมผู้ลี้ภัยญี่ปุ่นระบุว่าการละเมิดระบบผู้ลี้ภัยมาจากข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ว่าญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและยังไม่ยอมรับแรงงานต่างชาติ ซึ่งสมาคมแสดงความเป็นห่วงอย่างมากที่รัฐบาลคุกคามการหาเลี้ยงชีพของผู้ลี้ภัยโดยไม่ได้รับมือกับประเด็นหลักนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8-14 ม.ค. 2561

Posted: 13 Jan 2018 08:26 PM PST

กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานปล่อยกู้ 70 ล้าน

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือ แรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผย ว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการยื่นกู้เงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานและได้รับอนุมัติแล้วจำนวน 18 แห่ง เป็นเงิน 12,370,050 บาท เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการฝึกอบรมพนักงานของตนเอง การกู้ยืมเงินในช่วงนี้ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 7 มิถุนายน 2561 โดยตั้งเป้า เงินปล่อยกู้ในช่วงนี้จำนวน 70 ล้านบาท หลังจากนั้นจะเป็นการให้กู้ยืมแบบคิดดอกเบี้ยต่ำในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี อีกทั้งสถานประกอบกิจการที่กู้ยืมไปยังได้รับประโยชน์ถึง 4 ต่ออีกด้วย

ต่อที่ 1 คือการกู้ยืมไม่มีดอกเบี้ย ต่อที่ 2 เมื่อนำเงินกู้ยืมไปพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน ทำให้สถานประกอบกิจการมีพนักงานที่มีทักษะและศักยภาพในการทำงานสูงขึ้น ต่อที่ 3 สามารถนับยอดจำนวนพนักงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะในครั้งนี้ ไปประเมินเงินสมทบปลายปีได้อีกด้วย และค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการฝึก อบรมพนักงานทั้งหมด สามารถยื่นรับรองเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเป็นต่อที่ 4 ที่ได้รับ

หากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากไปกว่านี้อีก กพร.ก็มีจัดให้เช่นกัน อาทิ การฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ มีสิทธิรับเงินอุดหนุนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท เป็นต้น การให้กู้ยืมและการให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนแก่ สถานประกอบกิจการดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน สำหรับสถานประกอบกิจการ ทั่วประเทศต้องการใช้สิทธิ์กู้ยืมเงินกองทุน หรือขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถติดต่อได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2643-4977

ที่มา: แนวหน้า, 14/1/2561

10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีความต้องการแรงงานเพิ่มถึงปีละเกือบ 7 หมื่นคน

13 ม.ค. 2561 กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2561 จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5-2.5 สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.4-4.6 เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตปี 2561 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3-4 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และ 7 ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ IC ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของสินค้าประเภทเทคโนโลยีสูงขึ้น อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.56 และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใยและผ้าผืนไปยังตลาด CLMV ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก

อย่างไรก็ตามในปีนี้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยฐานแรงงานเข้มข้นในอุตสาหกรรมหนักไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการแรงงานในกลุ่ม 10 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ปี 2560 - 2564 พบว่า มีความต้องการแรงงานภาพรวมเฉลี่ย 69,242 คนต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมดิจิทัล

ส่วนการดำเนินงานเตรียมพัฒนาแรงงานสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน 3 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ ในปี 2561 ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดไปยังสาขาอื่น รวมทั้งการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่หลากหลาย เพื่อรองรับการเข้าสู่ Thailand 4.0 โดยวางแผนพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม 100,000 คน ภายใต้โครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันในสังกัด

ที่มา: TNN24, 13/1/2561

คนงานรับช่วงงานจาก กทม.ตกบ่อบำบัดน้ำเสีย "จตุจักร" ลึก 20 เมตร ดับ

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2561 มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุคนงานตกบ่อบำบัดน้ำเสีย ภายในโรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร ซอยอินทามระ 35 แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้ปิดประตูด้านหน้าไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปภายใน เบื้องต้นพบว่าผู้จมน้ำเป็นชาย 1 ราย ที่เกิดเหตุเป็นโรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สุทธิสาร เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู กำลังตรวจสอบ ที่เกิดเหตุลักษณะเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียมีความลึกประมาณ 20 เมตร ด้านล่างเป็นอุโมงค์น้ำขนาดคนสามารถเดินได้ แต่มีความคดเคี้ยวไปมายากแก่การค้นหา

แหล่งข่าวแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จำนวน 5 ราย ซึ่งรับช่วงงานมาจาก กทม. เดินทางเข้ามาเพื่อตรวจสอบบ่อบำบัด โดยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้ลงไปเพื่อตรวจสอบบ่อบำบัด ซึ่งขณะนั้นภายในบ่อไม่มีน้ำ แต่ระหว่างเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างทำงาน เกิดมีน้ำไหลทะลักเข้าภายในบ่ออย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุ พนักงานทั้ง 5 จึงพากันวิ่งหนี แต่หนีไม่ทัน 1 ราย จึงทำให้จมน้ำหายไป ซึ่งขณะนี้มีน้ำขึ้นสูงกว่า 10 เมตร ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่บ่อบำบัดของ กทม. อยู่ระหว่างเดินเครื่องเพื่อสูบน้ำออก ซึ่งคาดว่าในช่วงสายของวันนี้ จึงจะสามารถลงไปในบ่อบำบัด เพื่อนำผู้เสียชีวิตขึ้นจากบ่อดังกล่าวได้

ที่มา: คมชัดลึก, 13/1/2561

โรมาเนีย-เตือนแอบอ้างจ้างแรงงานไทยไปทำงานโรมาเนีย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ ออกประกาศเตือนการแอบอ้างจ้างแรงงานไทยไปทำงานที่โรมาเนีย หลังมีข้อมูลว่าบริษัทจัดหางานไทย อ้างว่าบริษัทในโรมาเนีย รับพนักงานหลายตำแหน่ง จึงได้ตรวจสอบกับบริษัทดังกล่าว พบว่าไม่มีนโยบายจ้างแรงงานต่างชาติ จึงขอเตือนว่าอย่าหลงเชื่อเสียค่านายหน้า

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 12/1/2561

ม็อบมิตซูฯ เศร้า สมาชิกเครียดเส้นเลือดสมองแตกเป็นตายเท่ากัน

จากกรณีข้อพิพาทแรงงานระหว่างบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯได้ใช้สิทธิปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีสมาชิกที่ถูกปิดงานทั้งหมดกว่า 1,800 คน ในจำนวนนี้มีทั้งพนักงานที่ตั้งครรภ์และพนักงานที่ป่วย และขณะนี้ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่วัดมาบสามเกลียว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริษัทฯ ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 ทางนักสื่อสารแรงงานได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า น้องพลอย (นามสมมุติ) สมาชิกสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย มีอาการเส้นเลือดในสมองแตก รักษาตัวอยู่ที่ห้องไอ.ซี.ยู โรงพยาบาลชลบุรี เนื่องจากมีอาการเครียดอย่างหนัก ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดถึงสาเหตุในครั้งนี้ ด้านบริษัทฯใช้ทุกมาตรการเพื่อหวังให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯยอมรับเงื่อนไขของบริษัทฯ เช่นส่งจดหมายและโทรศัพท์ไปทางบ้านของสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และล่าสุดมีการประกาศรับสมัครพนักงานใหม่จำนวนหลายอัตรา แต่สมาชิกสหภาพแรงงานฯไม่สามารถรับเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปรับค่าจ้างที่บริษัทฯเสนอได้ จึงยังคงชุมนุมต่อไป

ด้านนายธนภัทร เที่ยงแท้ รองประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้เปิดเผยกับนักสื่อสารแรงงานว่า "น้องพลอย ทำงานที่บริษัทฯมาประมาณ 3 ปี และต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลชลบุรี เนื่องจากมีอาการไข้ขึ้นสูง และเกล็ดเลือดต่ำ และได้รักษาตัวตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2560 ซึ่งทางสหภาพแรงงานฯได้ไปเยี่ยมให้กำลังใจ และได้รับการเปิดเผยจากน้องพลอยว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ทางบริษัทฯ ได้นำเอกสารยินยอมรับข้อเสนอของบริษัทฯ มาให้เซ็นชื่อที่โรงพยาบาล ซึ่งน้องพลอยจำใจต้องเซ็นชื่อ เพราะต้องใช้เงินรักษาตัว หากไม่เซ็นชื่อทางบริษัทฯแจ้งว่า สิทธิในการรักษาตัวอาจจะใช้ไม่ได้ ซึ่งน้องพลอยก็กังวลว่าเพื่อนๆจะไม่เข้าใจ เนื่องจากสมาชิกเกือบ100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีใครยอมรับข้อเสนอของบริษัทฯเลย ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้พูดให้กำลังใจน้องพลอยว่าไม่ต้องกังวล เพื่อนๆทุกคนเข้าใจ ซึ่งต่อมาได้ทราบข่าวว่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 น้องพลอยได้ทราบจากทางโรงพยาบาลว่าเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน และยังไม่ได้รับเงินโบนัสจากบริษัทฯเลย จนวันที่ 11 มกราคม 2561จึงได้รับข่าวร้ายว่าน้องพลอย เข้าห้องไอ.ซี.ยู.มีอาการเป็นตายเท่ากัน"

รองประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้เปิดเผยต่อไปว่า "มีสมาชิกตั้งครรภ์ที่ถูกปิดงานอยู่ขณะนี้ประมาณ 10 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ 3 คนที่ครบกำหนดคลอด ซึ่งทางสหภาพแรงงานฯได้แนะนำให้ทุกคนรับข้อเสนอของบริษัทฯ ตามประกาศของบริษัทฯที่ให้พนักงานที่ตั้งครรภ์รับข้อเสนอ แต่ไม่มีใครยินยอมจึงกังวลว่า สมาชิกที่ตั้งครรภ์อาจอยู่ในภาวะแท้งคุกคามเนื่องจากเครียดที่ถูกปิดงานและปัญหาหนี้สินที่รุมเร้า หากทางบริษัทฯยังคงใช้สิทธิปิดงานอยู่อย่างนี้" นายธนภัทร กล่าว

ทางสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมายต่อทางบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2560 จำนวน 10 ข้อ ต่อมาทางบริษัทฯได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนต่อทางสหภาพแรงงานฯ จำนวน 3 ข้อ ได้แก่1.การปรับเปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างการปรับค่าจ้าง 2.การจัดเวลาการทำงานเป็น 3 กะ และ3.การยกเลิกการหักค่าบำรุงให้ทางสหภาพแรงงานฯ ซึ่งทางบริษัทฯยืนยันที่จะให้ทางสหภาพแรงงานฯยอมรับข้อเรียกร้องของบริษัทฯก่อนจึงจะยอมเจรจาข้อเรียกร้องของบริษัทฯ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ จนทางบริษัทฯได้ใช้สิทธิในการปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานในครั้งนี้เจรจา

สำหรับข้อเรียกร้องของทางบริษัทฯที่ทางสหภาพแรงงานฯไม่อาจยอมรับได้คือการเปลี่ยนรูปแบบการปรับค่าจ้าง โดยบริษัทฯจะปรับค่าจ้างให้พนักงานทุกระดับคนละ 400 บาท และจะมีการประเมินเพิ่มให้อีกตามเงื่อนไขของบริษัทฯ ที่ทางสหภาพแรงงานฯมองว่าไม่มีความชัดเจนและเป็นไปได้ยาก ซึ่งแต่เดิมทางบริษัทฯปรับค่าจ้างเป็นเปอร์เซ็นต์ แม้นจะมีเงื่อนไขการประเมินของบริษัทฯแต่ก็ยังได้มากกว่าแบบที่ทางบริษัทฯเสนอมา ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานว่า จะมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกครั้งในวันที่ 15 มกราคม 2561 โดยทางรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีจะเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ด้วย

ที่มา: Voicelabour, 12/1/2561

สถานเอกอัครราชทูตฯ เตือนคนไทยระวังตกเป็นเหยื่อนายหน้าลักลอบนำเข้ามาทำงานในเกาหลี

สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแสดงความกังวลและความห่วงใยมายังพี่น้องชาวไทย โดยขอให้ระมัดระวังการตกเป็นเหยื่อของขบวนการนายหน้าลักลอบนำคนไทยเข้ามาในสาธารณรัฐเกาหลี เนื่องจากปัจจุบัน มีคนไทยจำนวนมากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของขบวนการนายหน้าในลักษณะดังกล่าว

ขบวนการนายหน้าอาจแฝงอยู่ในรูปแบบของเพื่อน ญาติ หรือคนใกล้ตัว หรือในรูปแบบการประชาสัมพันธ์บนหน้าเฟซบุ๊กหางานในต่างประเทศทั่วไป รวมไปถึงเครือข่ายของขบวนการนายหน้าที่แฝงตัวอยู่ในภาคเหนือและภาคอีสานจำนวนมาก โดยมุ่งหลอกล่อ ชักชวน และให้ข้อมูล/ความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการเข้ามาทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี

เมื่อมีบุคคลหลงเชื่อ/ติดกับดักแล้ว ขบวนการนายหน้าจะมีขั้นตอนในการเก็บตัวบุคคลดังกล่าวเพื่อซักซ้อมความพร้อมในการตอบคำถามเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยและเกาหลีสัมภาษณ์ รวมไปถึงให้คำแนะนำ/ให้ยืมอุปกรณ์และเครื่องประดับเพื่อใช้/สวมใส่ระหว่างการเดินทางเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่

ที่ผ่านมา พบว่ามีคนไทยจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาในสาธารณรัฐเกาหลีผ่านขบวนการนายหน้าถูกลอยแพทิ้งไว้ตามสถานที่สาธารณะ เนื่องจากไม่มีงานให้ทำตามคำโฆษณาชวนเชื่อ หรือในกรณีที่มีการจัดหาตำแหน่งงานให้ได้จริง ก็มักถูกขบวนการนายหน้าเอารัดเอาเปรียบ ขูดรีด และหักเงินรายได้จากการทำงานเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่ขบวนการนายหน้าเรียกเก็บ เช่น ค่านายหน้าในการเตรียมตัวเบื้องต้น (เรียกเก็บโดยไม่รับรองว่าจะเดินทางเข้าประเทศได้หรือไม่) / ค่าเดินทางร่วมกับบริษัททัวร์ (15,000-20,000 บาท) / ค่ารับส่งจากสนามบินอินชอน (คิดอัตราค่าบริการสูงเกินความเป็นจริง เช่น 1,000-2,000 วอน/กิโลเมตร หรือเหมาจ่าย 600,000 วอน หากระยะทางไกล) / ค่าเข้างาน (ชำระก่อนทำงาน เรียกเก็บมากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของงานและรายได้) / ค่าที่พัก เสื้อผ้า อุปกรณ์ เครื่องใช้ ที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เป็นต้น

แม้นายหน้าจะพยายามบิดเบือนชักจูงว่า ภายหลังทำงานเพียงไม่นาน จะสามารถเก็บเงินทั้งเพื่อคืนทุนค่าใช้จ่ายข้างต้นและเงินออมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อหมดระยะเวลาที่นายจ้างและนายหน้าได้ตกลงกันไว้ (ประมาณ 85-90 วัน ซึ่งบุคคลสัญชาติไทยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวและสามารถพำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีได้ไม่เกิน 90 วัน) แรงงานผิดกฎหมายมักถูกไล่ออกหรือกดดันให้ออก ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินออมจากการลักลอบทำงานได้หากเทียบกับในอดีต ในขณะเดียวกัน ขบวนการนายหน้าจะเริ่มกระบวนการหลอกแรงงานไทยกลุ่มใหม่และแสวงหาผลประโยชน์ก่อนที่จะให้มาทำงานแทนแรงงานไทยกลุ่มเก่า

แรงงานผิดกฎหมายจะไม่ได้รับการคุ้มครอง/สวัสดิการตามกฎหมายท้องถิ่น และในหลายกรณี ประสบปัญหาการถูกหลอก/เอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างให้ทำงานหนัก จนเกิดอาการเจ็บป่วย ส่งผลให้แรงงานผิดกฎหมายและ/หรือครอบครัวต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย รวมถึงในกรณีเสียชีวิตด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าจัดการ/ขนส่งศพกลับประเทศไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในสาธารณรัฐเกาหลีถือว่าสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก (เช่น ค่าใช้จ่ายห้อง ICU ในโรงพยาบาลเอกชนเกาหลีใต้โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านวอน หรือประมาณ 30,000 บาท/วัน) ดังนั้น จึงไม่คุ้มค่าหรือเพียงพอกับเงินรายได้ที่เก็บออมจากการทำงานอย่างหนักในตลอดระยะเวลาที่พำนักอาศัยในสาธารณรัฐเกาหลี

ในการนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอเตือนให้คนไทยที่มีความคิดจะมาเสี่ยงโชค หรือลักลอบทำงานผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี โปรดมีสติและยุติความคิดดังกล่าว และอย่าใจอ่อนหลงเชื่อกับจำนวนเงินหรือรายได้/ค่าตอบแทนซึ่งนายหน้าพยายามหยิบยื่น หลอกล่อ ชักจูง โดยควรสอบถามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจ และขอให้ศึกษากรณีตัวอย่างจากสื่อมวลชนที่ได้ลงข่าวปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากประสงค์หรือคิดว่าตนมีคุณสมบัติที่สามารถทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีหรือประเทศอื่น ๆ ขอให้เดินทางเข้ามาทำงานผ่านกระบวนการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/1/2561

กสร.ย้ำนายจ้างยื่นแบบรายงานสภาพการจ้างฯ หมดเขต ม.ค. 2561 นี้ พร้อมเตือนหากล่าช้าอาจมีความผิด

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ย้ำนายจ้าง สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างสิบคนขึ้นไปต้องยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.11) ภายในเดือนมกราคมนี้ หากเลยกำหนดหรือไม่ได้ยื่นมีความผิดตามกฎหมายแรงงาน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.11) ภายในเดือนมกราคมของทุกปีซึ่งเหลือระยะเวลาดำเนินการอีกประมาณ 15 วัน จึงขอให้ย้ำนายจ้างเร่งจัดเตรียมข้อมูลตามที่กำหนดและยื่นแบบคร.11 ภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งสามารถส่งได้ด้วยตนเองหรือทางจดหมายอิเลคทรอนิค(e-mail) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่หรือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ เพราะหากเลยกำหนดหรือไม่ได้จัดส่งนายจ้างมีความผิดตามกฎหมายซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างลดลงไม่ครบสิบคนขอให้แจ้งข้อมูล ณ ปัจจุบันพร้อมหลักฐานเพื่อพนักงานตรวจแรงงานจะได้นำไปปรับฐานข้อมูลต่อไป ในส่วนของสถานประกอบกิจการที่เพิ่งมีลูกจ้างครบสิบคนและไม่ได้รับแบบรายงานสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.11) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.protection.labour.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1506

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 12/1/2561

จบลงด้วยดี พนักงานบริษัท ฟูจิคูระ ยุติการชุมนุม ทั้งสองฝ่ายยอมรับข้อเสนอ พนักงานพร้อมกลับเข้าทำงาน

วันที่ 11 ม.ค. 2561 บริเวณหน้าบริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาปราจีนบุรีโรงงาน1 ต.บ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี พนักงานบริษัทประมาณ 1,400 คน ที่ได้รวมตัวเรียกร้องหน้าโรงงาน หลังจากบริษัทใช้สิทธิ์ปิดงานโดยไม่มีกำหนด ในเรื่องการการเสนอข้อเรียกร้องการปรับสภาพการจ้างประจำปี 2560 รวมถึงการจ่ายเงินโบนัสปลายปี ล่าสุดหลังจากที่ได้เรียกคุยนัดสุดท้าย ทั้งสองฝ่ายหาข้อตกลงร่วมกันได้แล้ว พร้อมใจกันกลับเข้าทำงานตามปกติ

หลังจากที่ตัวแทนสหภาพแรงงานฟูจิคูระ ได้เข้าประชุมในครั้งสุดท้ายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงหาทางออกร่วมกันได้เป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นประธานสหภาพแรงงาน ฟูจิคูระ ปราจีนบุรี ได้มีการประกาศให้พนักงานที่ร่วมกันชุมนุมบริเวณหน้าโรงงานให้ทราบโดยทั่วกัน ถือเป็นบรรยากาศที่เรียกรอยยิ้ม และความสุขกลับคืนมาอีกครั้ง เมื่อผลประกาศเป็นที่น่าพอใจของพนักงาน ต่างรวมตัวกันรำวงแก้บน ร้องเพลงร่วมกัน ตัวแทนพนักงานมอบดอกไม้ให้กำลังใจทีมสหภาพแรงงาน และประธานสหภาพแรงงาน ฟูจิคูระ ปราจีนบุรี ได้แก้บนโดยการกลิ้งไปบนพื้น 9 รอบ

นายอธิษฐ์ ปัณณวัฒนานันท์ ประธานสหภาพแรงงาน ฟูจิคูระ ปราจีนบุรีประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พนักงานที่ปราจีนบุรีทุกคนต่างพร้อมใจกับกลับเข้าทำงานตามปกติทั้งหมด สำหรับข้อเรียกร้อง สรุปที่โรงงานต้องจ่ายโบนัส 2.8 เดือน พร้อมเงิน 7,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ บริษัทฯตกลงปรับค่าจ้างในปี 2561 ในอัตราเฉลี่ย 4.0 เปอร์เซ็นต์ บริษัทจ่ายเงินค่าอาหารล่วงเวลาเพิ่มเป็นวันละ 15 บาท ในเดือนเมษายน 2561 บริษัทจะจ่ายเงินพิเศษจำนวน 1,000 บาท ให้กับพนักงาน และบริษัทยินยอมที่จะจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานที่เรียกร้องทุกคนจำนวน 19 วัน ในวันที่พนักงานรวมตัวเรียกร้อง โดยไม่มีการตัดเบี้ยขยันทั้งสองเดือน หลังจากนั้นพนักงานต่างเดินเข้าทำงานตามกะของตนเอง และตัวแทนพนักงานได้ช่วยกันเก็บเต็นท์ที่ใช้ในการชุมนุมเรียกร้อง ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

ที่มา: T-News, 11/1/2561

จับซ้ำสาวแสบหลอกคนงานไปทำงาน ตปท.ขณะถูกจับยังไลน์หาเหยื่อโอนเงินส่วนที่เหลือ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มกราคม นายอภิชาติ วงษ์กาฬสินธุ์ ผช.จัดหางาน จ.อุดรธานี,นางยุทธศาสตร์ ทูลกลาง หน.งานคุ้มครองคนหางาน สนง.จัดหางาน จ.อุดรธานี,พ.ต.ท.กุลธวัช จันทราบุตร สว.สส.ภ.จว.อุดรธานี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ สนง.จัดหางานจังหวัด และตำรจชุดสืบสวน ภ.จว.อุดรธานี นำหมายศาลจังหวัดชัยภูมิ เข้าทำการจับกุม น.ส.อทิตยา หรือ ติ๊ก ทองฉัตร อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 902/42 ม. 2 ถ.เลียบคลองชลประทาน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ในข้อกล่าวหา "หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปด้วยเงินหรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง และฉ้อโกงทรัพย์" โดยจับกุมที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ซ.ประชาสันติ ชุมชนบ้านม่วง เทศบาลนครอุดรธานี หลังทำการจับกุม เจ้าหน้าที่ทั้งหมดนำตัว น.ส.อทิตยา มาทำการลงบันทึกการจับกุมที่ชุดสืบสวน ภ.จว.อุดรธานี โดย น.ส.อทิตยา ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์และแชตติดต่อกับคนรู้จักตลอดเวลา ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ที่ สภ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ

ต่อมาเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน ที่ สนง.จัดหางาน จ.อุดรธานี ถ.รอบเมือง เขตเทศบาลตำบลหนองสำโรง อ.เมือง น.ส.ธัญชนก พระจันทร์ อายุ 36 ปี อยู่ที่65/1ม.5 ต.ท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น นำ นายเฉลิมชัย คามนา อายุ 23 ปี อยู่ที่ 204 ม.5 ต.ท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ลูกพี่ลูกน้อง ที่เป็นผู้เสียหายจาก จ.ขอนแก่น ที่ถูก น.ส.อทิตยา หลอกลวง เดินทางมาส่งมอบเอกสารการโอนเงิน พร้อมให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ หลังจากที่ถูก น.ส.อทิตยา หลอกว่า สามารถส่งไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลียได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 บาท โดย น.ส.ธัญชนกณ เป็นผู้โอนเงินให้ น.ส.อทิตยาฯ ไปล่วงหน้า 50,000 บาท เป็นก้อนแรก ที่ น.ส.อทิตยา อ้างว่า เป็นเงินค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าที่พัก และยังค้างเงินก้อนที่ 2 อีกประมาณ 38,000 บาท

ซึ่งขณะที่ น.ส.ธัญชนก กำลังให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ ปรากฎว่า น.ส.อทิตยา ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนำส่ง สภ.บ้านแท่น อยู่ระหว่างการเดินทาง ได้ไลน์มาหา น.ส.อทิตยา บอกให้รีบโอนเงินส่วนที่เหลือให้ โดยโกหกว่า ได้ส่งเอกสารต่าง ๆ ให้กับทางต่างประเทศแล้ว ขอให้ น.ส.ธัญชนก รีบโอนเงินให้ภายในเวลา 15.30 น. รวมทั้งได้เรียกสายเข้ามาหลอกอีกว่า ให้รีบโอนเงินให้ด่วน เพราะหากโอนช้าจะไม่ได้ทำเอกสารและจะไม่ได้เดินทาง โดยทาง น.ส.อทิตยา ไม่ทราบว่า ทาง น.ส.ธัญชนก รู้เรื่องที่ น.ส.อทิตยา ถูกจับกุมตัว กำลังเดินทางนำส่ง สภ.บ้านแท่น แล้ว

นายอภิชาติ วงษ์กาฬสินธุ์ ผช.จัดหางาน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า น.ส.อทิตยา เคยถูก ผวจ.อุดรธานี เข้าจับกุมมาแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 เมื่อครั้งเปิดเป็นโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีชื่อ เอกอุดรภาษา โดยได้รับการร้องเรียนจากคนหางานใน จ.อุดรธานี และใกล้เคียง ว่ามาสมัครไปทำงานยังประเทศเกาหลีใต้กับทางโรงเรียนดังกล่าว ที่อ้างว่าสามารถส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ โดยมีการเรียกเก็บเงินค่าสมัครไปทำงานคนละประมาณ 150,000 บาท แต่กลับไม่ได้ไปทำงาน ซึ่งมีผู้เสียหายครั้งนั้นประมาณ 26 คน ค่าเสียหายรวมกว่า 3 ล้านบาท มีการดำเนินคดีส่งฟ้องศาลตัดสินไปแล้วบางส่วน และยอมคืนเงินชดใช้บางส่วน ที่ศาลตัดสินลงโทษ ให้รอลงอาญา แต่ให้คุมประพฤติไว้

"หลังจากนั้นมา น.ส.อทิตยา ยังคงแอบอ้างว่า เปิดโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีอีก ทั้งทางสื่อออนไลน์ เฟสบุ๊ค รวมทั้งใช้วิธีปากต่อปาก จนมีผู้หลงเชื่อมาสมัครอีก โดยย้ายสถานที่ใหม่ที่ถูกจับกุม จะใช้วิธีเปิดสอนภาษาเกาหลี เรียกเก็บเงินประมาณ 15,000 บาท แต่เมื่อมีผู้มาเรียนได้สักพัก ก็จะบอกว่าเรียนไปก็คงไม่ผ่านภาษาเกาหลี แต่สามารถหางานให้ที่ประเทศออสเตรเลียได้ แต่ต้องเสียเงินค่าดำเนินการ 100,000-150,000 บาท จนมีเหยื่อหลงเชื่อหลายราย แต่ไม่สามารถเดินทางไปได้ มีทั้งผู้เสียหายทั้งในเขต จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานี ที่แจ้งความไว้แล้ว จนศาลอนุมัติหมายจับ น.ส.อทิตยา 3 หมาย ในเขตท้องที่ สภ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ 2 หมายจับ,อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น 1 หมายจับ และพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี กำลังขอศาลออกหมายจับเพิ่มอีก"

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า ตัว น.ส.อทิตยา ซึ่งอยู่ระหว่างคุมประพฤติ ยังคงมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้อื่นอีก ด้วยเรื่องแบบเดิม ไม่เกรงกลัวความผิด ซึ่งเมื่อนำตัวส่งทาง สภ.บ้นแท่น แล้ว จะขอให้พนักงานสอบสวนค้านการประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี สร้างความเสียหายกับบุคคลอื่นอีก หากมีผู้เสียหายที่ถูก น.ส.อทิตยา หลอกลวง ขอให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีเพิ่ม เพื่อที่จะดำเนินการตามกฎหมาย

"ซึ่งการหลอกลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ทาง รมว.แรงงาน และ อธิบดีกรมการจัดหางาน มีความเป็นห่วงว่าจะมีคนหางานถูกหลอกลวงในลักษณะเช่นนี้ จึงได้สั่งการให้ทาง สนง.จัดหางานทุกจังหวัด เร่งรัดให้ดำเนินคดีกับสาย นายหน้าเถื่อน ที่หลอกลวงคนหางาน ที่ต้องเสียเงินเป็นหนี้สิน ทั้งนี้หากต้องการไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ติดต่อมายัง สนง.จัดหางาน ที่อยู่ทุกจังหวัด เพื่อตรวจสอบว่า มีงานต่างประเทศที่ไหน หรือ ไปสมัครกับสาย หรือ นายหน้าเถื่อนหรือไม่ เพื่อที่คนหางานจะได้ไม่ต้องถูกหลอกลวง"

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/1/2561

สปส.แนะญาติยื่นรับสิทธิแทนป่วย-ตาย อุบัติเหตุปีใหม่ภายใน 2 ปี

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ได้รับรายงานจำนวนผู้ประกันตนที่บาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุจราจรจากสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่จังหวัดสาขาทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.2560 – วันที่ 3 ม.ค.นี้ สรุปพบมีผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร จำนวน 2,908 คน และยอดผู้ประกันตนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร จำนวน 39 คน ในจำนวนนี้มีผู้ประกันตนมายื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอุบัติเหตุเพียง 18 คนและกรณีเสียชีวิต 3 คน รวมแล้วขณะนี้มีผู้มารับสิทธิประโยชน์ จากสำนักงานประกันสังคมเพียง 21 คน สำนักงานประกันสังคม จ่ายไปแล้ว 299,472 บาท

เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกันตน และทายาทผู้มีสิทธิที่ยังไม่ได้ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนให้มายื่นขอรับสิทธิกรณีประสบอันตรายภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ทั้งนี้ผู้ประกันตนมีข้อสงสัยหรือสิทธิประกันสังคม สิทธิรายชื่อสถานพยาบาลของตนเอง ได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง และที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด สาขาที่สะดวก ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: ThaiPBS, 11/1/2561

ขึ้นแน่นอน "ค่าแรงขั้นต่ำ" รมว.แรงงานยืนยัน แต่ไม่เท่ากันทุกจังหวัด

(10 ม.ค.2561) นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง นัดประชุมบอร์ดค่าจ้าง 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อพิจารณาสรุปอัตราการปรับค่าแรงขั้นต่ำ หลังการประชุมเลื่อนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะไม่ครบองค์ประชุม

ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกจังหวัด แต่ไม่เท่ากัน ส่วนตัวเลขอยู่ที่ 2-15 บาทหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบอร์ดค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย ที่จะพิจารณาจากข้อมูลที่อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอตัวเลขเข้ามา อีกทั้งก็ต้องดูจากปัจจัยภาวะค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องมีความเหมาะสมกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

หลังจากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2557 ก็ไม่มีการปรับขึ้นจนปี 2560 ได้มีการปรับเพิ่มสูงสุด 10 บาท เป็น 310 บาท ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต แต่มีอีก 8 จังหวัด ที่ไม่ได้ปรับขึ้น ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

การประชุมวันนี้ หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว กระทรวงแรงงานจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้จะได้ข้อสรุปอย่างแน่นอน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้แถลงผลการประชุม ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ยื่นข้อเรียกร้องขอให้ปรับขึ้นเท่ากันทุกจังหวัดที่ 360 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สำรวจแล้วพบว่าเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน

ที่มา: ThaiPBS, 10/1/2561

อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย ระงับการเดินทางผู้ที่ลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้มากสุด

อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุ เดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีคนงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศกว่า 5,700 คน มากสุดที่ไต้หวันเกือบ 2,500 คน รองลงมาคือเกาหลีใต้ โดยระงับการเดินทางของผู้ที่จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ 44 คน พบถูกหลอกลวงหางานผ่านสังคมออนไลน์จำนวนมาก โดยเฉพาะที่เกาหลีใต้

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 9/1/2561

นายกเผยการปรับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในขั้นตอนการหารือของคณะกรรมการ

9 ม.ค. 2560 เวลา 14.00 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า เป็นเรื่องการพิจารณาหารือของคณะกรรมการ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแล้ว โดยการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะให้ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ถ้าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงจะขึ้นเท่าไหร่ โดยจะมีการพิจารณาและดำเนินการอย่างเป็นธรรม ขอให้รอฟังผลการพิจารณาหารือ ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ทำความเข้าใจ หากผู้ประกอบการมีความเดือนร้อน รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือหาวิธีการดูแล โดยเฉพาะมาตราการเงินและการคลัง

ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 9/1/2561

คสรท.ลั่นค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ

ที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำทีมแรงงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และถ่ายทอดสดผ่าน เฟซบุ๊ค คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย-คสรท. เพื่อแสดงจุดยืน ก่อนที่คณะกรรมการค่าจ้าง จะมีการพิจารณาค่าจ้างใหม่ประจำปี 2561 ในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) เวลา 09.30 น. โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมา คสรท. ได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาตลอด ทั้งที่ช่องทางในการแสดงออกทางความคิดเห็นมีไม่มากนักหากเทียบกับฝ่ายนายทุน และฝ่ายรัฐ

ดังนั้น วันนี้จึงรวมตัวแถลงด่วน ประกาศย้ำจุดยืนเดิมว่า รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนโดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คนตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)เพราะปัจจุบันค่าจ้างมี 4 ราคา คือ 300,305,308,310 สามารถดำรงชีพอยู่คนเดียวได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่ และการปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อลดความเลื่อมล้ำ เพราะหากปรับขึ้นเป็นรายจังหวัด จังหวัดไหนไม่มีผู้แทนแรงงาน ก็จะไม่สิทธิ์ได้ขึ้นค่าจ้างเลย และที่สำคัญค่าครองชีพแรงงานไม่ว่าที่ต่างจังหวัดหรือในหัวเมืองก็ไม่ต่างกัน ราคาสินค้าก็ไม่ต่างกัน แถมน้ำมันในต่างจังหวัดยังสูงกว่าในเมืองด้วย

ส่วนข้ออ้างที่ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างทำให้สินค้าสูงตามนั้น เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะผลิตภัณฑ์สินค้าต่อชิ้นมีค่าจ้างแรงงานเป็นทุนไม่ถึงร้อยละ 1 และรัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างให้มีความชัดเจนว่าแต่ละปีจะขึ้นเท่าไหร่ เพื่อแรงงาน จะได้รู้อนาคตของตัวเอง และวางแผนชีวิตถูก พร้อมๆกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง

ที่มา: โลกวันนี้, 9/10/2561

"กกร." ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน

เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลรับข้อเสนอจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีของไทยในปี 2561 โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. การพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานประจำปีควรปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงาน

2. การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีไม่ควรกำหนดในลักษณะอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ควรมอบอำนาจให้ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด" ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด แรงงานจังหวัด ธนาคารแห่งประเทศไทย พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานสถิติจังหวัด เป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีตามสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นของจังหวัดนั้น ๆ

3. การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบด้าน ทั้งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME และภาคการเกษตร

4. การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีที่สูงเกินไป อาจเป็นปัจจัยในการส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศได้

5. ภาครัฐควรผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่แรงงานไทยที่มีทักษะสูง (Skill Labor) หรือ Brainpower ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา คือใช้ความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง และยกระดับแรงงานไทย เพื่อรองรับไทยแลน 4.0

นายสมพาศกล่าวว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการโดยด่วนต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/1/2561

บ.มิตซูฯยังไม่รับคนงาน 1 พันคนเข้าทำงาน ชุมนุมรอบ 2

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 8 ม.ค. ภายในวัดมาบสามเกลียว หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมืองชลบุรี ได้มีคนงานของบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 700/406 หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ ใกล้วัดมาบสามเกลียว กว่า 1 พันคน ชุมนุมถือป้ายประท้วงบริษัทที่ปิดตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา และได้ชุมนุมประท้วงมาครั้งหนึ่งแล้ว จนวันนี้เป็นวันทำงาน ทางบริษัทก็ยังไม่เปิดรับคนงานกว่า 1 พันคนเข้าทำงาน โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งทหารและตำรวจ

นายเชิด นามสงคราม อายุ 47 ปี ประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ ประเทศไทย กล่าวว่า ปีที่แล้วทางสหภาพได้ยื่นข้อเสนอทางบริษัท และทางบริษัทก็ยื่นข้อเสนอกลับมา ได้มีการเจรจามา 20 ครั้งแล้ว แต่ยังตกลงกันไม่ได้ กระทั่งเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ทางบริษัทก็ใช้สิทธิ์ปิดงาน ทำให้พวกเราต้องมาอยู่ที่นี่ เพราะบริษัทไม่ให้เข้าโรงงาน ตนขอฝากบอกผู้สื่อข่าวที่ไปลงข่าวผิดๆ ว่า ทางเราไม่ได้ชุมนุมประท้วงเรียกโบนัส ซึ่งหัวข้อหลักการเจรจาคือ โครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนที่บริษัทปรับจากเดิมขึ้นค่าจ้างประจำปี เป็นเปอร์เซ็นต์ฐานเงินเดือนของใครของมัน แต่ทางบริษัทนำเสนอเป็นแบบฟิคเลต โดยที่ทุกคนได้ 400 บาทเท่ากันหมด ซึ่งมันแตกต่างกับการประเมินรายได้ของบริษัท

"สหภาพแรงงานในฐานะเป็นตัวแทน รับไม่ได้ และทางบริษัทยังยื่นข้อเสนอมาให้สหภาพแรงงานรับข้อเสนอ 3 ข้อ คือ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้าง การไม่หักค่าบำรุง และการทำงาน 3 กะ ทางพวกเรารับไม่ได้ อีกอย่างทางบริษัทมาปิดงานช่วงปลายปีพอดี ทำให้พวกเราเดือดร้อนมาก ข่าวที่ว่าเรียกร้องโบนัสไม่ใช่ ที่จริงคือเรารับไม่ได้กับการปรับโครงสร้างค่าจ้างประจำปี" นายเชิด กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 8/1/2561

ลูกจ้างกรีดยาง กยท. 22 ครอบครัว ตกงาน ไร้เงินชดเชย

นางดี ซุ้มวุ่ง อายุ 62 ปี นางรัชนี ดวงจินดา อายุ 58 ปี และนายสมพล ชัยปัญญา อายุ 52 ปี ลูกจ้างกรีดยางของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึงตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา รวมทั้งลูกจ้างรายอื่น ๆ ของแปลงยางเดียวกัน รวม 22 ครอบครัว ต้องกลายเป็นคนตกงานอย่างกะทันหัน หลังรัฐบาลมีนโยบายควบคุมปริมาณผลผลิตยาง เพื่อลดปริมาณผลผลิต โดยให้หยุดกรีดยางในพื้นที่ของรัฐ จำนวน 120,000 ไร่

ประกอบด้วย พื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กรมวิชาการการเกษตร และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ยกเว้นพื้นที่สวนยางที่ใช้ในการวิจัย เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมมีนาคม 2561 ทำให้ทั้งหมดต้องหยุดกรีดยางในทันที นับจากวันที่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นมา และต้องเก็บภาชนะรองรับน้ำยางออกจากแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างลักลอบกรีด ซึ่งจะมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์ของทางราชการ

โดยตัวแทนลูกจ้างกรีดยางของ กยท.กล่าวว่า ลูกจ้างกรีดยางของ กยท.ส่วนใหญ่อายุมาก ทำงานมาประมาณ 20 30 ปี ทั้งหมด 22 ครอบครัว รับผิดชอบครอบครัวละ 10 ไร่ ต้องกลายเป็นคนตกงานทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้มีคนมาบอกว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวละ 4,000 บาทต่อเดือน แต่ยังไม่มีความชัดเจน ถึงแม้ว่าได้จริงก็คงไม่พอเลี้ยงครอบครัว เพราะจากเดิมเคยได้มีรายได้จากกรีดยางเดือนละประมาณ 7,000 9,000 บาท ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

ขณะนี้คนงานทั้งหมดได้กลับบ้านไปหางานรับจ้างทั่วไป เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวประทังชีวิต เช่น แบกไม้ยาง บางส่วนไปหายางแปลงอื่นที่ถูกปล่อยรกร้างกรีดได้ไม่กี่ต้นก็ต้องกรีด เพราะหายาก ไม่มีหน้ายางใครว่าง เพราะส่วนใหญ่มีลูกจ้างอยู่แล้ว ส่วนพวกที่ยังอยู่เฝ้าสวน เพราะอายุมากแล้วไปหางานอื่นทำไม่ได้ มีคนพิการ ลูกหลานที่ต้องดูแล

เบื้องต้นทาง กยท.ให้หยุดกรีดยางก่อนเป็นเวลา 3 เดือน แต่หลังจากครบ3เดือนแล้ว หากราคายางยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องหยุดกรีดออกไปอีกอย่างไม่มีกำหนด

ที่มา: NationTV, 8/1/2561

ส.อ.ท.แย้งปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศคาดกระทบ SMEs ทั่วประเทศ ร้องขอไตรภาคีให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมที่เคยพิจารณา

ภายหลังจากที่กระทรวงแรงงานส่งสัญญานการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีมติภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ หลังจากที่ไม่มีการปรับค่าแรงทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2557 และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ จะไม่น้อยกว่า 15 บาททั่วประเทศ โดยคณะกรรมการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำจาก 3 ฝ่าย หรือ ไตรภาคี เรียกประชุมบอร์ดชุดใหญ่ ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานฯเป็นประธาน เพื่อหารือและมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และให้ค่าแรงที่ปรับใหม่ มีผลทันทีสิ้นเดือนนี้ ซึ่งพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แสดงความเห็นว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงอีก 15 บาทนั้น ถือว่าอยู่ในอัตราที่รับได้ แต่ต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพราะหากไม่เท่ากัน ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ จะทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ทำให้ไม่ต้องหลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร และจะทำให้เกิดการใช้จ่ายภายในจังหวัด รวมถึงเศรษฐกิจก็จะเติบโตทั้งระบบ

ส่วนนายอรรถยุทธ ลียวณิช กรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ฝ่ายนายจ้าง ระบุว่า ไม่ว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่ นายจ้างก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว อยู่ที่ว่านายจ้างจะปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด หากขึ้นตามกลไกที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ หลักวิชาการ นายจ้างก็พอจะปรับตัวได้

ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำว่า ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพแตกต่างกัน ส่วนจะปรับขึ้นเท่าไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ถ้าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 15 บาท ก็จะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดในความสามารถ ที่จะจ่ายค่าแรงได้ แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นแรงงานต่างด้าว

ที่ผ่านมาไตรภาคีเคยพิจารณาว่าอาจจะปรับขึ้นใน 2-15 บาท ตามพื้นที่แต่ละจังหวัด เรื่องนี้ ส.อ.ท.ต้องการให้คณะกรรมการไตรภาคี ที่มีตัวแทนของนายจ้าง ลูกจ้างและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่ ขอให้ยึดหลักเกณฑ์ที่เคยทำมาและต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆร่วมด้วย

สำหรับประเทศไทย มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2556 มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เฉลี่ยวันละ 177 บาท เป็น วันละ 300 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ม.ค. 2560 ก็มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 310 บาทต่อวัน ใน 30 จังหวัด และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีขึ้นในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ถือเป็นการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ ในรอบ 5 ปี

ที่มา: TNN24, 8/1/2561

แรงงานเมียนมาร้องเรียนถูกหักเงินเดือนเป็น "ค่าตำรวจ"

แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานใน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ร้องเรียนไปยังสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย และมูลนิธิ LPN ขอให้ตรวจสอบกรณีถูกหักเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน เช่น ค่าตำรวจ ที่ถูกหักเดือนละ 400 บาท ต่อคน วันนี้จึงมีการลงพื้นที่ตรวจสอบ โดย ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 2 กอ.รมน. และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบแรงงานตามที่ร้องเรียน 35 คน พร้อมหลักฐานที่ผู้ดูแลบริษัทยอมรับว่าค่าตำรวจที่หักไปนั้นเป็น ค่าส่วย ป้องกันถูกจับกุมแรงงานผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้อง

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 8/1/2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.เพิ่ม ‘สถานพยาบาลรัฐ-เอกชน’ เข้าร่วมให้บริการในระบบบัตรทอง

Posted: 13 Jan 2018 07:56 PM PST

สปสช.จับมือหน่วยบริการภาครัฐ-เอกชน ขยายรองรับดูแลผู้มีสิทธิบัตรทอง เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข เผยมีคลินิกฟอกไตลงทะเบียนเพิ่ม 9 แห่ง หน่วยบริการปฐมภูมิ 1 แห่ง คลินิกทันตกรรม 4 แห่ง และคลินิกเวชเวชกรรม 2 แห่ง ปัจจุบันมีหน่วยบริการในระบบบัตรทองทั้งสิ้น 12,109 แห่ง 

 
 
14 ม.ค. 2561 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าการดูแลผู้มีสิทธิ์กว่า 48 ล้านคน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน่วยบริการเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อให้การรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง สปสช.จะมีการขยายหน่วยบริการประเภทต่างๆ ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสังกัดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ล่าสุด สปสช.ได้จับมือร่วมกับหน่วยบริการประเภทต่างๆ เพื่อขยายการรองรับดูแลผู้มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีหน่วยบริการที่เข้าใหม่ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ดังนี้
 
หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.ฤทธิเวชสหคลินิก จ.นนทบุรี 2.เอพีเอส คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมไตเทียม จ.นนทบุรี 3.บางใหญ่ไตเทียม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมอายุรศาสตร์โรคไต จ.นนทบุรี 4.ชลเวช คลินิกเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม จ.ปทุมธานี 5.คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมอายุรศาสตร์โรคไตศาลายา จ.นครปฐม 6.สหคลินิกไตเทียมดีเดย์รีนัลแคร์ จ.มหาสารคาม 7.คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมอายุรศาสตร์โรคไต นพ.พิสิษฐ์ จ.อุบลราชธานี 8.คลินิกเวชกรรมเฉพาะทางอำนาจเจริญไตเทียม จ.อำนาจเจริญ และ 9.คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมไตเทียมในเมือง จ.ภูเก็ต
 
หน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.บ้านภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร หน่วยบริการภาครัฐ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้หน่วยบริการประจำโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นอาจาโร
 
หน่วยบริการร่วมให้บริการด้านทันตกรรม พื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.ประภัศร์คลินิกทันตกรรม 2.คลินิกทันตกรรมสตอรี่เดนทัลโฮม 3.คลินิกทันตกรรมบ้านหมอเม และ 4.คลินิกวีระชัยทันตแพทย์ 
 
หน่วยบริการร่วมให้บริการด้านเวชกรรม พื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.เอ็มดีสหคลินิก และ 2.เอกชัยเวชการคลินิก
 
ขณะที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครนนทบุรีที่ 6 จ.นนทบุรี สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เดิมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมอีกประเภทหนึ่ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปเช่นกัน
 
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบทั้งสิ้นจำนวน 12,109 แห่ง เป็นหน่วยบริการของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 11,054 แห่ง, หน่วยบริการของรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 134 แห่ง, หน่วยบริการเอกชน 509 แห่ง, หน่วยบริการรัฐพิเศษ อาทิ สังกัด กทม., เทศบาลเมืองพัทยา 22 แห่ง และหน่วยบริการรัฐสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 390 แห่ง  
 
"ตลอดทั้งปี สปสช.จะมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมหน่วยบริการ เพื่อมุ่งดูแลประชาชน ไม่เพียงแต่ให้ได้รับบริการอย่างครอบคลุมและทั่งถึง แต่ยังเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้สิทธิ์ด้วย ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการรายละเอียดในการรับบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มเติม สามารถสอบถามผ่านสายด่วนบัตรทอง 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง" ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.กล่าว 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น