โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ระเบิดตลาดสดพิมล จ.ยะลา องค์กรสิทธิฯ ขอรัฐนำคนผิดมาลงโทษ อย่างเป็นธรรม ปราศจากอคติ

Posted: 22 Jan 2018 08:52 AM PST

องค์กรณ์สิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ กรณีระเบิดตลาดสดพิมล จ.ยะลา จนมีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ จำนวนมาก ให้รัฐนำคนผิดมาลงโทษอย่างเป็นธรรม เคารพหลักสิทธิมนุษชน ปราศจากอคติ ขอผู้ใช้ความรุนแรงยุติการกระทำที่ส่งผลต่อพลเรือนและเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีอาวุธตามอนุสัญญาเจนีวา

 

22 ม.ค. 2561 จากเหตุเหตุระเบิดเมื่อช่วงเช้าวันนี้บริเวณหน้าตลาดสดพิมลชัยหน้าร้านค้าส่ง ซอย 3 ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งเป็นช่วงที่มีประชาชนเข้ามาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก เหตุเกิดที่หน้าร้านเขียงหมูที่มีชาวพุทธอยู่จำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 23 คน นั้น

ต่อมามีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวหลายองค์กร เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศักยภาพชุมชน กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ศูนย์ประสานเครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาส เครือข่ายชุมชนศรัทธา เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ และสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) เป็นต้น 

โดยมีข้อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้อง 1. ขอให้รัฐบาลนำคนผิดมาลงโทษโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เคารพหลักการด้านสิทธิมนุษชน ปราศจากอคติ 2. ขอให้รัฐบาลศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนหลังจากที่ไม่เกิดมานานกว่า 7 เดือน และดำเนินการในการวางมาตรการป้องกันและแก้ไขสาเหตุที่เกิดขึ้น 3. รัฐบาลจะต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามนโยบายที่นำเสนอต่อสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างสันติภาพโดยใช้แนวทางสันติวิธี

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานนี้เคารพในหลักการที่สำคัญคือหลักกฎหมายมนุษยธรรม และขอเรียกร้องต่อผู้ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 1. ขอเรียกร้องให้ผู้ใช้ความรุนแรงยุติการใช้ความรุนแรงที่ส่งผลต่อพลเรือนและเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีอาวุธตามอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นกฎหมายสงครามหรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ 2. ขอเรียกร้องให้ผู้ใช้ความรุนแรงทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพและแสดงเจตจำนงในการปกป้องประชาชนให้ประชาชนรับทราบในวงกว้าง

รายละเอียดแถลงการณ์กลุ่มต่างๆ :

แถลงการณ์กรณีการละเมิดตลาดสดพิมล จังหวัดยะลา

วันที่ 22 มกราคม 2561

ในวันนี้  22 ม.ค.2561 เมื่อเวลาประมาณ 06.20 น.เกิดเหตุระเบิดหน้าตลาดสดพิมลชัยหน้าร้านค้าส่ง ซอย 3 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ในช่วงเช้าตลาดสดแห่งนี้มีประชาชนเข้ามาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมากเหตุการณ์เกิดขึ้นที่หน้าร้านเขียงหมูที่มีพี่น้องพุทธจำนวนมากทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 23 คนโดยในจำนวนนี้มีผู้หญิงเสียชีวิต 2 คนและผู้หญิงได้รับบาดเจ็บ 15 คน

ขอแสงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ทุกกรณี  ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย พุทธ มุสลิม ฮินดู คริสต์  เจ้าหน้าที่หรือประชาชน ก็ไม่ควรมีใครละเมิดสิทธิในชีวิต  รัฐมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้บุคคลใดก็ตามมาพรากชีวิตด้วยการกระทำที่โหดร้ายและการละเมิดต่อกฎหมายภายในประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การติดตามสืบสวนสอบสวนคดีนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมมาลงโทษจะยุติวงจรความรุนแรง และสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพที่จะต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีการยืนยันถึงสถานการณ์ความไม่สงบที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากตัวเลขจำนวนเหตุการณ์ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และแนวทางของรัฐบาลที่จะใช้กระบวนการพูดคุยในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน จากเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นการลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงตอบโต้ต่อกัน ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการต่อไปนี้

1. ขอให้รัฐบาลนำคนผิดมาลงโทษโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เคารพหลักการด้านสิทธิมนุษชน  ปราศจากอคติ

2. ขอให้รัฐบาลศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนหลังจากที่ไม่เกิดมานานกว่า 7 เดือน และดำเนินการในการวางมาตรการป้องกันและแก้ไขสาเหตุที่เกิดขึ้น

3. รัฐบาลจะต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามนโยบายที่นำเสนอต่อสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างสันติภาพโดยใช้แนวทางสันติวิธี

เราขอปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ ขอให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานนี้เคารพในหลักการที่สำคัญคือหลักกฎหมายมนุษยธรรม และขอเรียกร้องต่อผู้ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้         

1. ขอเรียกร้องให้ผู้ใช้ความรุนแรงยุติการใช้ความรุนแรงที่ส่งผลต่อพลเรือนและเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีอาวุธตามอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นกฎหมายสงครามหรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ

2. ขอเรียกร้องให้ผู้ใช้ความรุนแรงทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพและแสดงเจตจำนงในการปกป้องประชาชนให้ประชาชนรับทราบในวงกว้าง

การยุติความรุนแรงต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนและสาธารณะ โดยขอให้ประชาชนควรให้ความร่วมมือในกับเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับชุมชน  และตระหนักว่ายังคงมีความขัดแย้งที่ต้องคำนึงถึงการสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองและชุมชนตลอดเวลา

ผู้ร่วมแถลงการณ์

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

มูลนิธิศักยภาพชุมชน

กลุ่มด้วยใจ

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี

ศูนย์ประสานเครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาส

เครือข่ายชุมชนศรัทธา

นายมูฮัมหมัดอายุบ  เจ๊ะนะ

 

แถลงการณ์ประณามการก่อเหตุในตลาดพิมลชัย เทศบาลนครยะลา

จากเหตุการณ์ระเบิดหน้าร้านค้าส่ง ซอย 3 ตลาดสดพิมลชัยในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อช่วงเวลา 06.20 ของวันที่ 22 มกราคม 2561 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีก 18 ราย นั้น

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ขอแสดงความเสียใจอย่างหาที่เปรียบมิได้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย

1. นางนารีรัตน์ แซ่ตั้ง

2. นางสุปรีดา เจนนฤมิตร

3. นายมะยากี แวนาแว

การก่อเหตุและสร้างความรุนแรงที่ไม่คำนึงถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นการกระทำการอันโหดร้ายต่อคนที่ไม่มีอาวุธและไม่ใช่เป็นคู่ต่อสู้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีสิทธิ์ มีชีวิตรอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำในพื้นที่ตลาด เป็นที่ซึ่งมีผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก กลุ่มคนที่กระทำจึงเป็นกลุ่มคนที่ควรถูกประณามจากสาธารณชนอย่างยิ่ง

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ขอวิงวอนไปยังผู้มีส่วนในการสร้างความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ

1. ขอให้รัฐจับกุมผู้ก่อเหตุในครั้งนี้โดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเพื่อมิให้มีการก่อเหตุซ้ำ

2. ขอให้ทุกฝ่าย และทุกกลุ่มที่มีส่วนร่วมของความขัดแย้ง เข้าร่วมพูดคุยสันติสุข หรือสันติภาพ โดยเร็ว

3. ขอให้กลุ่มก่อการหรือกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และกลุ่มติดอาวุธ อื่น ๆ ในพื้นที่ ยุติการทำที่สร้างความรุนแรงต่อพลเรือน และผู้อ่อนแอ

4. ขอเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ และพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศร่วมลงนาม หรือออกแถลงการณ์ ประณาม และแสดงให้เห็นว่า "ประชาชนไม่เอาความรุนแรง"

5. คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ ร่วมออกแถลงการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเยี่ยมเหยื่อ และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

22 มกราคม 2561

แถลงการณ์ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)กรณีเหตุระเบิดที่ตลาดสดกลางเทศบาลนครยะลา

สืบเนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดที่ตลาดสดกลางเทศบาลเมืองยะลาเมื่อเช้าของวันที่ 22 มกราคม 2560 ไม่ว่าผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บจะนับถือศาสนาหรือจะมีเชื้อชาติใดก็ตาม ผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บก็เป็นประชาชนพลเรือนที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้กำลังอาวุธของทุกฝ่าย ในทางกลับกันยังเป็นเป้าหมายทางการเมืองในการต่อสู้ของคู่ขัดแย้งหลักด้วยซ้ำ เพราะต่างก็อ้างว่าทำเพื่อประชาชนจะได้มีชิวิตในวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเมื่อวาน จึงไม่สมควรอย่างยิ่งประชาชนพลเรือนสามัญชนจะมาเป็นเป้าหมายทางอาวุธจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
 
สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) จึงขอประณามผู้ก่อเหตุครั้งนี้และขอเรียกร้องอย่างจริงใจว่า ขออย่าได้มีเหตุการณ์เศร้าใจแบบนี้อีกเลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์บอกไร้ใบสั่งเลื่อน ลต. 90 วัน - 'สมชัย' ชี้ ‘ปลดล็อกพรรค’ ดีกว่า วอนนายกฯ หยุดเดินสายหาเสียง

Posted: 22 Jan 2018 08:32 AM PST

ปมเลือนเลือกตั้ง 90 วัน พล.อ.ประยุทธ์ ยันไม่มีใบสั่งพิเศษใด ๆ ด้าน กมธ. ทิ้งปมเหตุผลบางอย่างก็ไม่สามารถพูดได้ทั้งหมด 'กกต. สมชัย' ชี้ 'ปลดล็อกพรรค' ดีกว่า วอนนายกฯหยุดเดินสายหาเสียง ขณะที่ อภิสิทธิ์ปูดมีคนมากระซิบก่อน 2 สัปดาห์แล้ว

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะเดินทางไปยังชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศาสตร์พระราชา – สะพานข้าว – ก้าวเพื่อสุข) บ้านผาบ่อง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน (ที่มา เว็บทำเนียบฯ)

22 ม.ค. 2561 จากกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จทุกมาตราแล้ว โดยมีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา 2 ของกฎหมายดังกล่าว โดยกำหนดให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 90 วันนับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 นั้น ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ รัฐบาลทหารนี้หรือไม่

ล่าสุดวันนี้ (22 ม.ค.61) สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตอบคำถามข้อวิจารณ์ดังกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า ไม่มีใบสั่งพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น

วานนี้ (21 ม.ค.61) กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยว่า ขณะนี้พรรคการเมืองต่างออกมาระบุว่าการที่คณะกรรมาธิการยืดเวลาเลือกตั้งไป 90 วันนั้น เป็นเพราะได้รับคำสั่งมาจากผู้มีอำนาจ ตนขอเรียนว่านักการเมืองเขามีสิทธิ์ที่จะคิดเช่นนั้น และคณะกรรมาธิการก็ไม่สามารถไปห้ามความคิดของพรรคการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณากฎหมายเราจะรู้ทและทราบข้อเท็จจริงอย่างดีที่สุดว่าการกำหนดวันเวลาหรือการเขียนกฎหมายดังกล่าว มีความจำเป็นหรือเหตุผลอะไร จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด แต่อาจจะมีข้อห่วงกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องของข้อกฎหมายที่อาจจะไปขัด หรือลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น

"เหตุผลบางอย่างที่มีความจำเป็นก็ไม่สามารถพูดออกไปได้ทั้งหมด แต่อยากให้ทราบว่าที่บอกว่าการกำหนด 90 วันนั้น เพราะ สนช. คิดจะยืดอายุการทำงานของตัวเองไปอีก 2 - 3 เดือน ผมอยากบอกตามตรงว่าการทำงาน สนช. แค่ยืดเวลาไปซัก 2 - 3 เดือน ก็ไม่มีผลประโยชน์อะไรต่อพวกเราเลย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำเพื่อยืดเวลาตัวเอง" กิตติศักดิ์ กล่าว

'สมชัย' ชี้ 'ปลดล็อกพรรค' ดีกว่า วอนประยุทธ์หยุดเดินสายหาเสียง

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอการขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไปอีก 90 วัน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองมีความพร้อมมากขึ้น มีเวลาในการเตรียมการมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการประชุมใหญ่ การทำไพรมารีโหวตซึ่งต้องมีเวลาเพียงพอ ว่า ตนเห็นว่าความจริงแล้วเป็นตรรกะที่แปลกมากว่าเพื่อประโยชน์พรรคการเมืองและเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม จึงต้องขยายเวลาอีก 90 วัน

หากเพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาเพียงพอในการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ สิ่งที่ง่ายกว่าการขยายเวลาบังคับใช้ในพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.คือ การปลดล็อกพรรคการเมือง ให้เขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ตั้งแต่วันนี้ไม่ใช่ว่าไปสัญญาลมๆแล้งๆว่าจะปลดล็อคในเดือนเม.ย.และกำหนดให้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเร่งรีบ

"ปลดล็อกเสียวันนี้ กว่าจะถึงเมษา ก็ได้เวลาคืนมาเกือบ 3 เดือน และหากตรงไปตรงมาให้พรรคสามารถทำกิจกรรมได้ตั้งแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 8 ต.ค.ปีที่แล้ว ก็คงไม่ต้องวุ่นวายอะไรมากขนาดนี้" สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวอีกว่า หากต้องการทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างยิ่งคือ ไม่เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการสรรหา กกต.ใหม่ไม่ส่งคนของตนเองเข้าไปทำหน้าที่ใน กกต.ชุดใหม่ ไม่ออกกฎกติกาที่สร้างความได้เปรียบแก่คนของตนเองหรือพรรคที่ประกาศว่าจะสนับสนุนตน สิ่งที่ดีที่สุด คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องไม่ประกาศว่าพร้อมจะกลับมาใหม่หากประชาชนสนับสนุน และเลิกทำตัวเป็นนักการเมือง เดินสายหาเสียง เพราะสิ่งเหล่านี้ คือ สัญญาณที่บ่งบอกว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นยากที่จะบริสุทธิ์ยุติธรรมเพราะฝ่ายหนึ่งมีอำนาจรัฐและกลไกราชการสนับสนุนทำให้เกิดความได้เปรียบในการเลือกตั้ง

'อภิสิทธิ์' บอกรู้ก่อน 2 สัปดาห์แล้ว

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ถึงกรณีนี้ด้วยว่า ตนทราบเรื่องนี้มาล่วงหน้า 2 สัปดาห์แล้ว เพราะมีคนมากระซิบบอกว่า เขาอยากจะเลื่อนเลือกตั้งด้วยวิธีนี้ ตนจึงบอกคนที่มากระซิบข่าวนี้ว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญบังคับใช้ให้มีผลใน 150 วัน แต่พอมาเปิดรัฐธรรมนูญดูก็พบว่า มีการระบุว่าให้นับจากวันบังคับใช้ ไม่ได้นับจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา ตนจึงเชื่อคนที่มากระซิบบอกข่าวว่า เรื่องนี้คงจะจริง แต่ตนไม่กล้าจะพูดอะไรก่อน เพียงแต่เข้าใจว่าฝ่ายที่อยากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปคงจะหาช่องทาง แล้วเขาก็พบช่องทางนี้

"ถ้ามีคนถามว่า ผมรู้ล่วงหน้ามา 2 สัปดาห์แล้วทำไมถึงไม่พูด ก็เพราะว่าไม่มีใครมาถาม ซึ่งผมจะไปพูดก่อนก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะเป็นการกล่าวหาการทำงานของเขาทั้งที่ยังไม่มีมูล แต่ผมยืนยันว่ามีพยานที่ฟังอยู่ด้วย และก็ไม่ทราบว่าคณะกรรมาธิการฯรู้มานานแค่ไหนว่ามีช่องทางนี้เพื่อเลื่อนเลือกตั้งได้ เพราะที่ผ่านมาหากมีการพูดถึงการเลื่อนเลือกตั้งก็จะมองในแง่คว่ำกฎหมาย ไม่เคยมีใครพูดถึงช่องทางนี้ แต่พอมีคนมากระซิบข่าวบอกผม แล้วผมมาดูรัฐธรรมนูญก็พบว่า มีช่องทางนี้อยู่จริงๆเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าขั้นตอนนี้ไม่น่าจะเป็นขั้นตอนตามปกติในการพิจารณากฎหมาย ซึ่งพอมีข่าวเรื่องนี้มาก็มีคนออกมาปฏิเสธ แต่สุดท้ายก็เป็นไปตามข่าวที่ออกมา จึงมีขั้นตอนที่ผิดปกติไม่เป็นธรรมชาติอยู่หลายอย่าง" อภิสิทธิ์ กล่าว

 

ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ สำนักข่าวไทย ข่าวสดออนไลน์ และคมชัดลึกออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขออโหสิกรรม 'แหม่มโพธิ์ดำ' ประกาศปิดเพจชั่วคราว

Posted: 22 Jan 2018 05:15 AM PST

เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'แหม่มโพธิ์ดำ' ประกาศปิดเพจชั่วคราว พร้อมระบุหากทำผิดพลาดหรือส่งผลกระทบต่อใครก็ขอขมา และขออโหสิกรรมไว้ ณ ที่นี้ด้วย

22 ม.ค. 2561 จากกรณีไม่สามารถเข้าถึงเฟสบุ๊คแฟนเพจดังชื่อ 'แหม่มโพธิ์ดำ' (https://www.facebook.com/queentogetherisone) ที่มียอดกว่า 2 ล้านไลก์ โดยโพสต์สุดท้ายก่อนปิดเพจระบุว่า อีกไม่กี่วันก็จะครบรอบ 1 ปีในการทำเพจแหม่มโพธิ์ดำ หากตนทำผิดพลาดหรือส่งผลกระทบต่อใครก็ขอขมา และขออโหสิกรรมไว้ ณ ที่นี้ด้วย ถ้าตนได้ช่วยใครไปก็ขอให้จำความรู้สึกนี้ไว้ เมื่อวันหนึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีกำลังมากพอก็อย่าลืมหยิบยื่นน้ำใจให้คนอื่น การทำเพจเฟซบุ๊กเหนื่อยมาก แต่ละก้าวคือความเสี่ยง แต่ตอนนี้ตนขอพักก่อน ทีมงานแต่ละคนก็หมดสภาพมาก ตนตั้งใจว่าในปีนี้จะกลับมาทำเพจให้อ่อนโยนมากขึ้น และมีเหตุผลมากขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะทำได้แค่ไหน ต้องมารอดูกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองยกเฉพาะคำร้องไต่สวนฉุกเฉิน ปม จนท.ปิดกั้น 'เดินมิตรภาพ'

Posted: 22 Jan 2018 04:46 AM PST

ศาลปกครองมีคำสั่งยกเฉพาะในส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ปม จนท.ปิดกั้น 'เดินมิตรภาพ' เหตุพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำฟ้องคดี ศาลจะมีคำสั่งต่อไป

22 ม.ค. 2561 จากกรณี วันนี้ เครือข่าย People Go ผู้จัดกิจกรรม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' และทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อฟ้องทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน ให้เจ้าหน้าที่ยุติการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ภายหลังพยายามปิดกั้นกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" ของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอด 2 วันที่ผ่าน ตั้งแต่วันที่ 20-22 ม.ค.61 นั้น

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกเฉพาะในส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน โดยระบุเหตุเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ต้องฟังพยานฝ่ายผู้ถูกฟ้องเพิ่มเติม ในส่วนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำฟ้องคดี ศาลจะมีคำสั่งต่อไป

อัมรินทร์ สายจันทร์ หนึ่งในทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีนี้เปิดเผยกับประชาไทว่า คำร้องอื่นนอกเหนือจากคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วนนั้น ดำเนินไปตามปกติ โดยหลังจากนี้ศาลจะต้องพิจารณาตรวจรับคำฟ้องว่าเข้าเงื่อนไขที่ศาลจะรับไว้หรือไม่ โดยศาลระบุเพียงแค่ว่าจะพิจารณาโดยเร็ว ทำให้ไม่มีกรอบเวลาตายตัวที่จะทราบผล จึงไม่สามารถประเมินได้ว่าจะทราบผลคำสั่งเมื่อไหร่

อัมรินทร์ กล่าวด้วยว่าวันนี้เจ้าหน้าที่ยังตามไปกดดันกลุ่มดังกล่าวอยู่ เจ้าหน้าที่ก็มากดดันไม่ให้ทำกิจกรรมอยู่ที่ปั๊ม รวมทั้งที่พักซึ่งเป็นวัดตามทางเดินที่เคยกำหนดไว้ว่าจะใช้เป็นสถานที่พักนั้นก็ไม่สามารถไปได้ เพราะตัววัดโดนกดดัน

อัมรินทร์ กล่าวว่านอกจากฟ้องศาลปกครองแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีแผนที่จะฟ้ององค์กรอื่น ขณะนี้ยังรอดูว่าฝ่ายความมั่นคงมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้ชุมนุมแล้วหรือไม่ เพราะยังไม่มีรายละเอียดหรือหมายอะไรออกมาเพิ่มเติม ส่วนคดีปกครองนั้นก็ต้องรอฟังศาลว่าจะเรียกไต่สวนเมื่อไหร่

รายละเอียดคำฟ้องฯ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่ไว้ดังนี้ : 

ฟ้องสตช. พร้อมจนท.ที่ทำให้เกิดความเสียหายจากการใช้สิทธิในการชุมนุม

ในส่วนการฟ้อง ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุม รวม 4 ราย ได้เป็นตัวแทนฟ้องทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และพล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากการปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ของเครือข่าย People Go ซึ่งได้ทำการแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายแล้ว
 
ผู้ฟ้องระบุถึงการที่ผู้จัดกิจกรรมได้มีการแจ้งการชุมนุมในกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" ต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมที่สภ.คลองหลวง ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ปิดกั้นและดำเนินการอื่นใดอันมีลักษณะขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัวในการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุคคลที่เดือดร้อนและเสียหาย อันเนื่องจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง
 
คำบรรยายฟ้องระบุถึงรูปแบบ เป้าหมาย และระยะเวลาของการจัดกิจกรรม "We Walk  เดินมิตรภาพ"และบรรยายถึงลำดับการส่งเอกสารแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหนังสือตอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งส่วนหนึ่งระบุว่าระหว่างการจัดกิจกรรมในวันที่ 19 ม.ค.61 ผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์จำหน่ายเสื้อยืดมีข้อความสื่อความหมายในทางการเมือง และมีการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมกันมาลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะเป็นการชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 โดยที่หนังสือดังกล่าวนั้นเป็นเพียงความเห็นของผู้ถูกฟ้อง และไม่ใช่คำสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด
 
ทั้งผู้จัดกิจกรรมยังได้ทำหนังสือชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกิจกรรมหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาทางสังคมระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ และเป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 133 (3) เรื่องการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎร
 

ลำดับเหตุการณ์การปิดกั้น-ขัดขวางของเจ้าหน้าที่

คำฟ้องได้บรรยายลำดับเหตุการณ์ในกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.61 เป็นต้นมา ตั้งแต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 นาย ได้ยืนเรียงแถวหน้ากระดานปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นการกีดขวางทางเข้าออกของสถานศึกษาทำให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้ชุมนุมก็ไม่สามารถเดินทางเข้าออกมหาวิทยาลัยได้ แม้ทางผู้จัดการชุมนุมจะยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าเรื่องการแจ้งการชุมนุมถูกต้องกฎหมายแล้วก็ตาม
 
แม้ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. ผู้ทำกิจกรรมได้เดินทางออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านประตูทางออกด้านอื่นซึ่งไม่ใช่ประตูที่ผู้ถูกฟ้องปิดกั้น และได้เริ่มเดินเท้าไปตามถนนพหลโยธิน  โดยระหว่างทางได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารติดตามถ่ายภาพและรายงานผู้บังคับบัญชาตลอดระยะเวลา ขณะที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงกั้นรั้วเหล็กไม่ให้ผู้ใดเดินทางเข้าออก จนกระทั่งเวลาประมาณ 18.30 น.
 
วันที่ 21 ม.ค.61 ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ระหว่างที่ผู้ทำกิจกรรมกำลังพักผ่อนในบริเวณวัดลาดทราย มีบุคคลไม่ทราบชื่อและหน่วยงานที่สังกัด เข้ามาบริเวณที่พัก ตะโกนถามหาหัวหน้ากลุ่ม โดยระบุว่าอยากคุยด้วย จนกระทั่งเวลาประมาณ 05.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 100–200 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 20 นาย เข้ามาที่บริเวณวัด
 
ต่อมา ยังมีการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ บริเวณปากทางเข้าวัด และเรียกรถทุกคันเพื่อขอตรวจและถ่ายรูปสำเนาทะเบียนรถ บัตรประชาชน ตลอดจนซักถามประวัติทุกคน จนกระทั่งรถมีการกักรถสวัสดิการใช้ขนสัมภาระที่จำเป็น และน้ำสำหรับแจกจ่ายให้ผู้ชุมนุมซึ่งเดิน โดยมีผู้โดยสาร 4 คน ซึ่งรวมถึงผู้ฟ้องคดีที่ 3 อยู่ในรถด้วย ก่อนจะถูกสั่งให้ขับไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลลำไทร โดยมีพลตำรวจตรีสมหมาย ประสิทธิ์ เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการตรวจค้นรถ โดยไม่มีการแสดงหมายจับหรือหมายค้น
 
ภายหลังตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวทั้งสี่คน มาสอบปากคำเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในรถและการจัดงาน "We walk…เดินมิตรภาพ" โดยปฏิเสธไม่ให้ทนายเข้าร่วมกระบวนการ และอ้างว่าเป็นการสอบปากคำเบื้องต้นยังไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขณะที่ด้านหน้าอบต.ลำไทร มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 100 นาย ตรึงกำลังอยู่ ก่อนจะมีการปล่อยตัวทั้งหมดจากการความควบคุมเวลาประมาณ 10.30 น.
 

การปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุม เป็นการละเมิดทางปกครอง

ทั้งหมด ทำให้ผู้ฟ้องคดีและเครือข่ายไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่ได้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว ทำให้ต้องใช้วิธีสลับการเดินเท้าครั้งละ 4 คน เพื่อหลีกเลี่ยงการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่ยังคงถูกเจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัดผู้ถูกฟ้องปฏิบัติการสกัดกั้นการชุมนุม ติดตามขบวนเดิน โดยรถตำรวจอย่างน้อย 5 คัน สลับกันขับประกบและถ่ายรูป ตลอดระยะเวลาการเดิน นอกจากนี้ ตามปั๊มน้ำมันสองข้างทางถนนพหลโยธินก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเฝ้าอยู่ตลอดเวลา
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วน ยังได้ติดต่อไปยังจุดแวะพัก ซึ่งผู้ฟ้องคดีวางแผนจะพักแรมในคืน ระบุกับทางวัดว่าไม่ควรให้เข้าพักอาศัย โดยอ้างว่าเป็นกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ทำให้ทางวัดถึง 3 วัด ไม่อนุญาตให้ทางเครือข่าย People GO เข้าพักอาศัยตามที่เคยอนุญาตไว้แล้ว ทำให้ผู้ชุมนุมเดือดร้อนในการหาที่พักอาศัยและอาจไม่สามารถดำเนินการใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างเต็มที่
 
คำฟ้องคดีระบุว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย อันมีลักษณะเป็นปฏิบัติการทางปกครอง ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 4 และเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและเจ้าพนักงานอื่นในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเป็นละเมิดทางปกครองต่อการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ
 

การอ้างคำสั่ง 3/58 เป็นการตีความกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระของเสรีภาพการชุมนุม

คำฟ้องคดียังระบุว่าในส่วนการอ้างว่ากิจกรรมการชุมนุมสาธารณะตามที่แจ้ง มีลักษณะเป็นการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58 เป็นการตีความกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของเสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ทำให้ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการดำเนินการใดของ คสช. ได้ อันเป็นการตีความบังคับใช้กฎหมายขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบมาตรา 34 และมาตรา 44
 
คำฟ้องได้สรุปถึงความสำคัญของการใช้เสรีภาพการชุมนุม ในฐานะเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม ทั้งยังช่วยให้รัฐมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ชัดเจนขึ้นด้วย ตามนัยที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยรับรองไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.711/2555
 
ดังนั้น การแสดงออกเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของรัฐบาลและ คสช. นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่ประชาชนสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้
 
ผู้ฟ้องคดียังได้เรียกค่าเสียหายจากการไม่สามารถใช้เสรีภาพตามมาตรา 6 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ด้วย
 

ร้องขอให้ศาลสั่งให้ สตช.ยุติการปิดกั้น และรับรองเสรีภาพการชุมนุม

ในส่วนคำขอท้ายฟ้อง และในคำร้องขอบรรเทาทุกข์ ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน คือให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสังกัดที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัวการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในระหว่างการเดินเท้าตามแผนกิจกรรมเดินมิตรภาพ และให้รับรองเสรีภาพการชุมนุม รวมถึงอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม
 
ในส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ได้ระบุว่าหากไม่ได้รับการพิจารณาคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยเร่งด่วน ย่อมทำให้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถบรรลุได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อย่างชัดเจน และทำให้การละเมิดเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐดำรงอยู่  ผู้ฟ้องจึงมีความประสงค์ขอให้ศาลปกครองได้ดำเนินการไต่สวนคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษาเป็นการเร่งด่วน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดินมิตรภาพ: ปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายจากเบื้องล่าง

Posted: 22 Jan 2018 03:43 AM PST


ภาพจากเพจ People Go Network
 

กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม คือ เป็นเรื่องความคิดความเชื่อ และวัตรปฏิบัติของคนในสังคมในปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ในแง่นี้กฎหมายไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้พิพากษา หรือฝ่ายนิติบัญญัติในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความคิดความเชื่อของคนในสังคมเกี่ยวกับกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายด้วย

วัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยม คือ ความคิดความเชื่อที่ว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำกับควบคุมประชาชน กฎหมายไม่ได้มีไว้เป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนแต่อย่างใด กลไกรัฐส่วนใหญ่มองกฎหมายในแง่นี้และพยายามสร้างความคิดความเชื่อเช่นนี้ให้กับสาธารณะผ่านปฏิบัติการต่างๆ การใช้การตีความกฎหมายเช่นนี้มีประสิทธิภาพมากในรัฐอำนาจนิยมที่พื้นที่สำหรับการต่อสู้ โต้แย้งการเผยแพร่ความคิดดังกล่าวถูกจำกัด เช่น ประเทศจีน ประเทศลาว เป็นต้น

วัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตย คือ ความคิดความเชื่อที่ว่ากฎหมายเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน ที่ให้อำนาจรัฐบางเรื่องและในขณะเดียวกันก็จำกัดอำนาจรัฐไว้ด้วยกฎหมายนั้นเอง นอกจากเป็นข้อจำกัดของอำนาจรัฐแล้วกฎหมายยังเป็นเครื่องมือปกป้องประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐด้วย ในแง่นี้กฎหมายจึงเป็นเสมือนกลไกที่สังคมใช้ในการควบคุมรัฐไม่ให้กลายเป็นโจร วัฒนธรรมทางกฎหมายเช่นนี้มักงอกงามในรัฐเสรีประชาธิปไตย เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐมีแนวโน้มที่จะพยายามสลัดตัวเองจากการควบคุมของสังคม เพื่อให้สามารถใช้อำนาจได้ตามที่พวกเขาต้องการ ดังอมตะวาจาของ ลอร์ด แอคตันที่ว่า "อำนาจทำให้คนลุแก่อำนาจ อำนาจที่สมบูรณ์ทำให้คนลุแก่อำนาจอย่างสมบูรณ์" เมื่อกฎหมายถูกใช้ถูกตีความจากรัฐ จึงมีแนวโน้มที่มันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมประชาชน ยิ่งกว่าส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชนและควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ

ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารพยายามสกัดกั้นกิจกรรม "เดินมิตรภาพ" ด้วยการใช้การตีความพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ประกอบกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ในวันที่ 20 ม.ค. ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 22 ม.ค. 2561 เป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทหารในการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การพยายามสกัดกั้นและคุกคามการใช้เสรีภาพดังกล่าวรัฐบาลทหารกำลังพยายามสื่อสารต่อสังคมไทยว่า "กฎหมายมีเนื้อหาสาระอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความเห็นว่ากฎหมายมีความหมายอย่างไร" ซึ่งในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่รัฐมีความเห็นว่ากฎหมายทั้งสองฉบับไม่อนุญาตให้ประชาชนจัดกิจกรรม "เดินมิตรภาพ" ได้ ในแง่นี้กฎหมายถูกอ้างเป็นฐานในการปิดกั้นและกดขี่การใช้เสรีภาพของประชาชน หากยอมรับวัฒนธรรมทางกฎหมายเช่นนี้ย่อมหมายความว่าสังคมไทยยอมรับการปกครองแบบอำนาจนิยมไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐราชการจะพยายามผูกขาดการใช้การตีความกฎหมายเพื่อกดขี่และปิดกั้นการใช้เสรีภาพเพียงใดก็ไม่อาจทำได้โดยปราศจากการต่อต้าน ขัดขืนจากประชาชน เพราะในอีกด้านหนึ่งภาคประชาชนไทยก็พยายามที่จะควบคุมรัฐผ่านกฎหมายเช่นกัน การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่พยายามสถาปนาสิทธิ อ้างอิงถึงสิทธิตามกฎหมาย เรียกร้องให้รัฐเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติต่างๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ ในปี 2475 นั้น อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการพยายามทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นจริงในทางปฏิบัติ เพราะในทางความเป็นจริงแม้การรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ในกฎหมายจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการทำให้สิทธิดังกล่าวได้รับการปกป้องคุ้มครองในความเป็นจริง การที่ประชาชนพยายามใช้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะความสัมพันธ์ของพวกเขากับรัฐ จากที่เคยเป็นเพียงผู้ถูกรัฐใช้กฎหมายกระทำฝ่ายเดียวมาตลอด มาเป็นผู้กระทำการทางกฎหมายและพยายามใช้กฎหมายควบคุมรัฐ เป็นการพยายามสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักเสรีนิยมประชาธิปไตย เป็นการพยายามสื่อสารต่อสังคมว่า "เจ้าหน้าที่รัฐเป็นเพียงผู้รับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นนายเหนือกฎหมายและเหนือประชาชน ประชาชนสามารถใช้กฎหมายจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้ กฎหมายจะไม่ถูกผูกขาดการใช้โดยรัฐอีกต่อไปแต่มันจะเป็นเครื่องมือของสังคมในการควบคุมรัฐด้วย"

การที่ภาคประชาชนยืนยันเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่จะจัดกิจกรรม "เดินมิตรภาพ" ต่อไปแม้จะถูกสกัดกั้นและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะใช้กฎหมายจัดการกับพวกเขา เป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตยโดยประชาชน เพราะด้วยปฏิบัติการนี้พวกเขาได้สื่อสารต่อสังคมว่า "เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่ผู้อยู่เหนือกฎหมาย และไม่ใช่ผู้ผูกขาดการใช้การตีความกฎหมายอีกต่อไป ประชาชนย่อมมีสิทธิในการใช้การตีความกฎหมายเช่นกัน และสังคมจะเป็นผู้ตัดสินว่าการใช้การตีความกฎหมายของใครมีความชอบธรรมมากกว่ากัน" หรืออีกนัยหนึ่ง ภาคประชาสังคมกำลังบอกกับสังคมว่า "ผู้ปกครองที่แท้จริงของประเทศไทย คือกฎหมายและกฎหมายต้องเป็นกฎหมายที่มีความชอบธรรมและมีเหตุมีผล ผู้ปกครองของประเทศนี้ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่ทหาร ตำรวจ รัฐราชการหรือสถาบันอื่นใด แต่เป็นกฎหมายที่สังคมตกลงร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล"

ด้วยปฏิบัติการ "เดินมิตรภาพ" ภาคประชาชนได้กลับหัวกลับหางวัฒนธรรมกฎหมายแบบอำนาจนิยม ด้วยการพยายามใช้กฎหมายควบคุมรัฐและยืนยันสิทธิของพวกเขา ปฏิบัติการเช่นนี้ จึงเป็นตัวอย่างของการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายจากเบื้องล่าง เป็นหนึ่งในความพยายามที่ต่อเนื่องของภาคประชาชนที่ยืนยันว่ากฎหมายไม่ได้เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งมันยังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของสังคมในการควบคุมรัฐด้วย และนี่คือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมมาตราหนึ่งที่ภาคประชาชนไทยได้เพียรพยายามร่วมกันสร้างขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถาม-ตอบ สั้นๆ ทำความเข้าใจ 'เดินมิตรภาพ' คือใคร ทำไมต้องเดิน?

Posted: 22 Jan 2018 03:28 AM PST

22 ม.ค. 2561 เข้าสู่วันที่ 3 ของของกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" โดย People Go Network Forum โดยมีเป้าหมายการเดินทาง 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น เพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจกัน ยืนยันสิทธิของประชาชนทุกด้านในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

ล่าสุดเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'People GO network' ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารเกาะติดการเดินของกลุ่มนี้ ได้โพสต์ภาพพร้อมคำอธิบาย ว่าพวกเขาคือใคร เดินไปไหน มีความหวังอะไรและทำไมถึงจัดกิจกรรมนี้ ดังนี้

1. ทำไมเดินมิตรภาพ ?

 
เดินเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและรณรงค์ใน 4 ประเด็นสำคัญของสังคมไทย ดังนี้
 
(1) นโยบายและกฎหมายที่ไม่นำไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการที่สร้างความสุขให้แก่สังคมโดยรวม ดังเช่นความพยายามแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อยกเลิกบัตรทอง
(2) นโยบายและกฎหมายที่ทำลายพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารด้วยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์
(3) นโยบายและกฎหมายที่ลดทอนหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอันเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาวะอนามัยของประชาชน
(4) รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ลดทอนหัวใจสำคัญในด้านสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ กฎหมายและนโยบายต่างๆ ถูกบังคับใช้ โดยประชาชนไม่สามารถนำเสนอความคิดเห็น หรือสะท้อนข้อกังวลห่วงใยอะไรได้  ทั้งนี้ผลกระทบที่จะตามมา สุดท้ายประชาชนนั่นแหละที่ต้องรับผลกรรม

2. เราคือใคร People Go Network Forum ? 

คือ เครือข่ายภาคประชาชนที่พัฒนามาจาก 97 องค์กร เครือข่ายใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน ที่มีทั้งคณาจารย์ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นิสิต นักศึกษา และองค์กรเครือข่ายชาวบ้านจากทั่วประเทศเข้ามาทำงานร่วมกัน เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2559 ณ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และงาน People Go! ก้าวไปด้วยกัน "ใส่ใจรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-11 ธ.ค. 2559 ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. เราเดินไปไหน? 

เราเดินจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ถนนสายมิตรภาพ สิ้นสุดการเดินที่จังหวัดขอนแก่น เหตุผลว่าทำไมต้องไปขอนแก่น  (1) เพราะชื่อถนนมิตรภาพ ตรงกับแนวคิดของเรา ด้วยการเดินเท้า ไปหาเพื่อน ไปหามิตรภาพ  (2) เราเดินไปภาคอีสาน เพราะเป็นภาคที่มีคนจนอยู่มากที่สุดในประเทศ เป็นภาคที่จะได้รับผลกระทบหนักๆ หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัตรทอง เกษตร การจัดการทรัพยากร ร่วมถึงการมีส่วนร่วมด้านต่างๆ ขอนแก่นจัดได้ว่าเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงของภาคอีสานอีกที

4. ความหวังของเรา 

เราได้แสดงออกด้วยการเดินไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เราได้เพื่อนระหว่างทางที่จะเรียนรู้และรับฟังเรื่องราวความทุกข์สุขของกันระหว่างทาง และเราหวังว่าเราจะได้เห็นทางออก เห็นอนาคตร่วมกันบ้างไม่มากก็น้อย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทันตแพทยสภาหนุน ‘แนวปฏิบัติใช้สื่อออนไลน์’ ป้องกันผลกระทบต่อ ปชช.-บุคลากร

Posted: 22 Jan 2018 02:57 AM PST

ทันตแพทยสภา หนุน 'แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ' ป้องกันผลกระทบต่อประชาชนและบุคลากรการแพทย์ รณรงค์หมอฟันและบุคลากรในระบบสุขภาพยึดหลักปฏิบัติตาม
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา 
 
22 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา กล่าวว่า ด้วยโลกในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าสื่อสังคมออนไลน์นับเป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อสื่อสารและเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่างๆ เนื่องจากมีความฉับไวและรวดเร็ว แต่ข้อมูลเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างจนเกิดความเสียหายและยากต้องการควบคุมในภายหลังได้ โดยเฉพาะข้อมูลในทางการแพทย์และสุขภาพที่ไม่มีการคัดกรองที่ดี การนำเสนอเนื้อหาที่ขาดความครบถ้วน การอวดอ้างและโฆษณา อาจทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจผิดได้ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่เป็นสิทธิผู้ป่วย เหล่านี้อาจทำให้เกิดความหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพได้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
 
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงผู้รับข้อมูลข่าวสาร และเพื่อคงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อวิชาชีพแพทย์ องค์กรและบุคลากรในระบบสุขภาพ ที่ผ่านมาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ออกแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2560 เป็นต้นมา
 
"ทันตแพทยสภาในฐานะองค์กรด้านวิชาชีพทันตกรรม ได้เล็งเห็นปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสื่อสังคมออนไลน์นี้ โดยเฉพาะในระบบสุขภาพ จึงขอสนับสนุนแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในหมวด 3 หลักจริยธรรมทั่วไปของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ โดยร่วมรณรงค์ให้ทันตแพทย์และบุคลากรในระบบสุขภาพทั่วประเทศ ร่วมยึดหลักปฏิบัติตามแนวทางนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต" เลขาธิการทันตแพทยสภา กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Thai-PAN พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไป

Posted: 22 Jan 2018 02:33 AM PST

Thai-PAN แถลงพบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไป ชี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวังการตกค้างของไนเตรทอย่างเข้มงวด
 
22 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่สวนชีววิถี นนทบุรี เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่าย ได้แถลงผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 โดยการเฝ้าระวังครั้งนี้มีเป้าหมายในการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินหรือผักโฮโดรโปนิกส์ ทั้งนี้โดยไทยแพนได้เก็บตัวอย่างผักไฮโดรโปนิกส์จำนวน 30 ตัวอย่างจากตลาดและห้างทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ผลการวิเคราะห์พบว่ามีผักจำนวน 19 ตัวอย่างพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน หรือคิดเป็น 63.3% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยพบผักที่ไม่มีการตกค้างเลย 8 ตัวอย่าง และพบว่าตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 3 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการตกค้างของผักและผลไม้ทั่วไปซึ่งไทยแพนได้สำรวจและวิเคราะห์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีการตกค้างสูงกว่า โดยผักทั่วไปพบการตกค้างเกินมาตรฐาน 54.4% 
 
"ความเข้าใจของประชาชนที่คิดว่าผักไฮโดรโปนิกส์เป็นผักที่ปลอดภัยกว่า  มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชน้อยหรือไม่ใช้เลย จึงไม่เป็นความจริงแต่ประการใด โดยไทยแพนพบสารพิษตกค้าง 25 ชนิด เช่น สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) 1 ชนิด คือ Ametryn สารป้องกันและกำจัดโรคพืช (Fungicide) 6 ชนิด ได้แก่ Azoxystrobin, Chlorothalonil, Difenoconazole, Metalaxyl, Propamocarb และ Pyraclostrobin สารกำจัดแมลงและไร (Insecticide and Acaricide) รวม 18 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่ม Carbamate 2 ชนิด ได้แก่ Carbofuran และ Methomyl  กลุ่ม Organophosphate 3 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos, Dimethoate และ Omethoate กลุ่ม Pyrethroid 3 ชนิด ได้แก่ Cypermethrin, Etofenprox และ  Lambda Cyhalothrin กลุ่มอื่นๆ 10 ชนิด ได้แก่  Abamectin, Acetamiprid, Chlorantraniliprole, Chlorfenapyr,  Chlorfluazuron, Emamectin, Fipronil, Imidacloprid, Lufenuron และ Spinetoram ที่น่าเป็นห่วงคือสารทั้งหมดที่พบนั้นเป็นสารดูดซึมมากถึง 17 ชนิด ทำให้การล้างเพื่อลดจำนวนสารตกค้างลงเป็นไปได้ยาก" ผู้ประสานงาน Thai-PAN กล่าว
อินโฟกราฟฟิคแสดงการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและไนเตรทในผักไฮโดรโปนิกส์
 
ไทยแพนยังได้ตรวจการตกค้างของไนเตรทในผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยเนื่องจากการตกค้างของไนเตรทเกินมาตรฐานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานการตกค้างของ EU เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดระดับการตกค้างสูงสุด โดยพบว่าผักเรดคอรัล เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค บัตเตอร์เฮด และ ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก มีไนเตรทตกค้างตั้งแต่ 199-2,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  แต่มีเพียง 1 ตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐาน ส่วนผักคะน้า ผักกาดฮ่องเต้ ผักโขมแดง และผักบุ้งจีนที่ปลูกแบบไร้ดินนั้น พบการตกค้างของไนเตรทระหว่าง 2,976-6,019 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าผักในกลุ่มแรกอย่างเห็นได้ชัด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการตกค้างแต่อย่างใด 
 
"ผลการเฝ้าระวังครั้งนี้จะนำเสนอต่อผู้ประกอบการ เพื่อให้มีมาตรการสำหรับดำเนินการกับผู้ผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ที่มีสารพิษและไนเตรทตกค้างเกินมาตรฐานต่อไป ส่วนผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดรายชื่อของผักไฮโดรโปนิกส์ทั้งที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยได้ที่เว็บไซท์หรือเพจของไทยแพน (Thai-PAN)" ปรกชล กล่าว
 
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มเปลี่ยนโลกกล่าวว่า "ผู้บริโภคจำนวนมากยังสับสนเข้าใจว่าผักไฮโดรโปนิกส์กับผักออร์แกนิคหรือเกษตรอินทรีย์นั้นเหมือนกัน และเข้าใจว่าไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่ประการใด การศึกษาครั้งนี้ทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นว่าผักโฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักทั่วไปที่ปลูกโดยใช้ดิน ทั้งๆที่การปลูกแบบนี้ควรจะมีการจัดการให้ปลอดภัยกว่าได้" 
 
"ผลการเฝ้าระวังครั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ควรมีการกำหนดมาตรฐานการตกค้างของไนเตรตในผักไฮโดรโปนิกส์ และประเมินความเสี่ยงจาการได้รับสารนี้จากพืชผัก กรมวิชาการเกษตรควรมีการทำข้อกำหนด และให้ความรู้เพื่อควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีในผักไฮโดรโปนิกส์ให้อยู่ในระดับปลอดภัย ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำเป็นต้องเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักไฮโดรโปนิกส์เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการติดตามเฝ้าระวังในผักทั่วไป" กิ่งกร กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศหลักเกณฑ์เยียวยา 'ผู้ประกันตน' รับผลกระทบการรักษา ตายรับสูงสุด 4 แสน

Posted: 22 Jan 2018 01:59 AM PST

ประกาศหลักเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยา 'ผู้ประกันตน' ได้รับผลกระทบทางการแพทย์ หลักเกณฑ์เดียวกับบัตรทอง เสียชีวิตเยียวยา 4 แสนบาท หลังล่าช้ากว่า 3 ปี สนช. จ่อเสนอรัฐบาลเพิ่มสิทธิให้ข้าราชการด้วย

 

22 ม.ค.2561 ความคืบหน้ากรณีประกันสังคมออกประกาศหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีผู้ประกันตนได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์มีความล่าช้ากว่า 3 ปี ทั้งที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มีการระบุถึงเรื่องนี้ ผู้จัดการออนไลน์  รายงานว่า วานนี้ (21 ม.ค.61) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการการแพทย์ ประกันสังคม ได้ลงนามในประกาศหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยใช้อัตราเดียวกับมาตรา 41 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นับเป็นเรื่องดีแก่ผู้ประกันตนจำนวน 13 ล้านคน ที่ได้รับสิทธิเทียบเท่ากับสิทธิบัตรทอง

"ขณะนี้เหลือเพียงสิทธิข้าราชการเท่านั้นที่ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเรื่องนี้ ทั้งที่ไม่ได้มี พ.ร.บ. ของตนเอง แต่เป็นเพียงพระราชกฤษฎีกา ซึ่งดูแลเงินกองทุนถึง 6 หมื่นล้านบาท จริงๆ ก็ควรต้องมีสิทธิตรงนี้ด้วย เพราะการออกสิทธิดังกล่าวไม่ได้ยาก และไม่ได้ใช้เงินมากมาย เพราะขนาดบัตรทองใช้เงินตามมาตรา 41 เพียง 200 ล้านบาท ประกันสังคมคนน้อยกว่าก็น่าจะใช้เงินไม่เยอะ ขณะที่ข้าราชการคนน้อยกว่ามีประมาณ 5 ล้านราย ก็น่าจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งทาง สนช. จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลเรื่องนี้ และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป" นพ.เจตน์ กล่าว 

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เห็นชอบกรรมการการแพทย์ในเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่ง นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 แต่เนื่องจาก พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 ได้บังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ผู้ป่วยประกันสังคมที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ในช่วงเวลาดังกล่าว และยังไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ย หรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นใดๆ จะสามารถใช้สิทธิตามประกาศนี้ได้ เรียกว่า มีผลย้อนหลังให้นั่นเอง โดยหลักเกณฑ์จะใช้ยึดตามมาตรา 41 ของบัตรทอง เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น โดยอัตราการช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีเสียชีวิตตั้งแต่ 240,000 - 400,000 บาท สูญเสียอวัยวะจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 - 240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกสารลับเปิดโปงเอธิโอเปียจ้าง 'เกรียน' อวยรัฐบาล-โจมตีผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

Posted: 22 Jan 2018 01:57 AM PST

รัฐบาลเอธิโอเปียเคยปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงมาก่อนในช่วงปี 2558 และมีการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในประเทศ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเริ่มมีการเปิดโปงเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจ้างวาน "เกรียนอินเทอร์เน็ต" ให้คอยชื่นชมยกยอรัฐบาลไปพร้อมๆ กับกล่าวโจมตีฝ่ายต่อต้านและผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

22 ม.ค. 2561 ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีเอกสารรั่วไหลเกี่ยวกับผู้นำทางการเมืองของเอธิโอเปียเผยแพร่ออกไปตามหน้าอินเทอร์เน็ตเผยให้เห็นว่ารัฐบาลเอธิโอเปียจ้างวานให้ผู้แสดงความคิดเห็นออนไลน์พูดถึงรัฐบาลทางบวกตามโซเชียลมีเดีย โดยมีการเปิดโปงเรื่องนี้ผ่านหลักฐานการสนทนา อีเมล เอกสารแผนการและบันทึกประชุมลับสุดยอดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล

สื่อโกลบอลวอยซ์รายงานว่าการเปิดโปงเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตการเมืองเอธิโอเปีย นับตั้งแต่ปี 2558 มีชาวเอธิโอเปียจำนวนมากลุกขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองและความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกไล่ยึดที่ดินในเขตโอโรเมีย ซึ่งเป็นเขตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอธิโอเปีย รัฐบาลเอธิโอเปียโต้ตอบกลับด้วยความโหดร้าย มีคนถูกสังหารหลายร้อยราย ถูกจับกุมหลายพันราย ส่วนคนที่วิจารณ์รัฐบาลทั้งทางอินเทอร์เน็ตและนอกอินเทอร์เน็ตต่างก็ถูกปิดกั้นอย่างเป็นระบบ

หลักฐานเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกไปตามหน้าเฟสบุ๊คมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 มีการระบุถึงรายชื่อคนของรัฐบาลที่จ่ายเงินซื้อตัวผู้แสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียให้เชียร์รัฐบาล โดยที่ก่อนหน้านี้ก็เคยมีหลักฐานในรูปแบบเดียวกันที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเอธิโอเปียเคยจ้างคนแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตในทางส่งเสริมวาระของรัฐบาลและข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้ามมาก่อน

ในสังคมออนไลน์ของเอธิโอเปียมีการเรียกคนกลุ่มที่รับแสดงความคิดเห็นส่งเสริมรัฐบาลว่าพวก "โกกา" (ภาษาพูดของอัมฮาริกหมายถึง "เสนาธิการผู้น่ารังเกียจ") บุคคลเหล่านี้จะโพสต์เฮทสปีชในเชิงสนับสนุนรัฐบาลในช่วงที่มีการแตกขั้วทางการเมืองเมื่อไม่นานมานี้รวมถึงช่วงที่มีการปราบปรามนักข่าวอิสระในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีเอกสารอีกจำนวนหนึ่งที่ระบุถึงการจ้างวานให้มีผู้แสดงความคิดเห็นโจมตีกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

"โกกา" จำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มที่เคยเชียร์ปฏิบัติการข้อมูลของรัฐบาลมานานแล้ว ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างนักข่าวอิสระที่รายงานเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชันและสิทธิมนุษยชนกลับถูกจับกุมหรือถูกเนรเทศจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนทำให้เกิดช่องว่างในการรายงานข่าว ทำให้เหล่านักกิจกรรมและผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศต้องทำสื่อของตัวเองเข้ามาอุดช่องว่างนี้ การอุดช่องว่างนี้ทำให้พวกเขาสามารถรายงานข่าวให้โลกรู้เกี่ยวกับกรณีการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยมจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,200 รายและการจับกุมผู้คนจำนวนมากในช่วงกลางปี 2558

เอกสารอีกหลายฉบับยังระบุถึงการที่สำนักงานสอดแนมของเอธิโอเปียที่ชื่อ "สำนักงานเครือข่ายข้อมูลข่าวสารความมั่นคง" มักจะสอดแนมและเซ็นเซอร์นักข่าวกับผู้ต่อต้านรัฐบาลตั้งงบประมาณให้คนในองค์กรของพวกเขาไปฝึกอบรมในประเทศจีนโดยที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าไปฝึกอบรมอะไร

มีหลักฐานระบุอีกว่าสำนักงานสอดแนมของเอธิโอเปียขอให้ผู้ที่ได้รับการจ้างวานพูดเชียร์ทหารว่าเป็น "ทหารกล้า" ผู้ "ต่อสู้กับพวกหัวรุนแรง"

ไม่มีใครทราบว่าข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลออกไปได้อย่างไร ด้านโกลบอลวอยซ์รายงานว่ามีคนส่งหลักฐานเหล่านี้ไปให้กับนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลเอธิโอเปียที่อยู่ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 


เรียบเรียงจาก

Leaked Documents Show That Ethiopia's Ruling Elites Are Hiring Social Media Trolls (And Watching Porn), Global Voices, 20-01-2018
https://globalvoices.org/2018/01/20/leaked-documents-show-that-ethiopias-ruling-elites-are-hiring-social-media-trolls-and-watching-porn/

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น