โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลเผยปี 60 พิจารณาแล้วเสร็จกว่า 1.5 ล้านคดี ปี 61 มุ่งพัฒนาเท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก

Posted: 16 Jan 2018 10:12 AM PST

เลขาฯ สนง.ศาลยุติธรรมแถลงผลงานศาลยุติธรรมทั่วประเทศและ สนง.ศาลยุติธรรม เผยปี 60 พิจารณาแล้วเสร็จกว่า 1.5 ล้านคดี  ปี 61 มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ชี้คดี 'ทนายอานนท์' ดูหมิ่นศาล หน่วยความมั่นคงมีอำนาจกล่าวโทษ หากเป็นอาญาเเผ่นดิน
 
16 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ เวลา 15.30 น. ที่ห้องประชุมใหญ่สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ชั้น 12 สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมในภาพรวม ประจำปี พ.ศ. 2560 ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2560 โดยศาลชั้นต้นมีคดีที่รับพิจารณา จำนวน 1,748,782 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,502,960 คดี คิดเป็น ร้อยละ 85 ขณะที่คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ รับพิจารณาจำนวน 56,634 คดี พิจารณาเสร็จสิ้น 49,617 คดี คิดเป็นร้อยละ 87 ส่วนคดีชั้นศาลฎีกา รับพิจารณาคดี 17,202 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 10,027 คดี คิดเป็นร้อยละ 58 รวมทั้ง 3 ชั้นศาลแล้ว มีคดีที่ศาลรับพิจารณาไว้ทั้งสิ้น 1,822,618 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,561,738 คดี คิดเป็นร้อยละ 82.46
 
สำหรับการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 พบว่า มีคดีแพ่งที่เข้าสู่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมทั่วประเทศ จำนวน 817,467 คดี เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย 296,405 คดี คิดเป็นร้อยละ 36.26 ของจำนวนคดีแพ่งที่เข้าสู่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล  คิดเป็นทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 479,142,349,822.76 บาท มีคดีอาญา เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยจำนวน 9,929 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,018 คดี คิดเป็นร้อยละ 60.61 ส่วนการดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม2560 สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ  จำนวน 148 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์  54,149,615,216.72 บาท
 
นอกจากนี้  แถลงผลการดำเนินงานยังระบุด้วยว่า เพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ศาลยุติธรรมได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี อาทิ 
 
- บริการคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาและคำสั่งระหว่างศาล เพื่อให้คู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในคดีความ สามารถยื่นคำขอคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาและคำสั่งของศาลหนึ่งศาลใดได้ที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ โดยมีสถิติการใช้งานระบบ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 จนถึงเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวน  การบันทึกคำพิพากษาเข้าสู่ระบบ จำนวน 1,107,749 เรื่อง และมีจำนวนการให้บริการคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษา จำนวน 2,308 ครั้ง
 
- โครงการพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลคดีกลางศาลยุติธรรมในการรวบรวมข้อมูลและเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลคดีระหว่างศาลยุติธรรม ทั่วประเทศ และสามารถบริการข้อมูลให้แก่หน่วยงานภายใต้กระบวนการยุติธรรม หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
 
- โครงการพัฒนาระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) เพื่อให้คู่ความสามารถยื่นและส่งคาคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล เป็นการเพิ่มช่องทางในการให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งมีการทดลองใช้ใน 12 ศาล และพบว่า สถิติการใช้งานระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสาร โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 - 29 พฤศจิกายน 2560 มีทนายลงทะเบียน Online จำนวน 686 คน  ยื่นฟ้องผ่านระบบ จำนวน 257 คดี (ศาลแพ่งมีการยื่นฟ้องมากที่สุด 140 คดี) และมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment เป็นยอดเงินรวม 3,043,988.71 บาท 
 
ด้านการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพผู้เสียหาย คู่ความ และประชาชน แถลงผลการดำเนินงานยังระบุว่า ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในความรับผิดชอบของศาลยุติธรรมมีอยู่ด้วยกันหลายประการ เช่น การออกหมายจับ หมายค้น การปล่อยชั่วคราว การแต่งตั้งทนายความและที่ปรึกษาให้แก่จำเลยในคดีอาญา เป็นต้น โดยมีสถิติการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา ระหว่างเดือนมกราคม –พฤศจิกายน 2560 มีคำร้องทั้งสิ้น 208,272 เรื่อง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 195,326 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.73 การนำโครงการประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวมาใช้ และการจัดตั้งศาลเพื่อให้คู่ความ ประชาชน และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าถึงการให้บริการทางการศาลด้วยความรวดเร็ว  เสมอภาค และเท่าเทียมกัน ได้แก่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 – ภาค 9 ศาลจังหวัดเชียงคำ ศาลจังหวัดมหาสารคาม สาขาพยัคฆภูมิพิสัย ศาลจังหวัดเชียงราย สาขาเวียงป่าเป้า ศาลจังหวัดพิษณุโลก สาขานครไทย รวมถึงส่วน/กลุ่มงานคดีนักท่องเที่ยวในสำนักงานประจำศาลจังหวัดสุโขทัยด้วย
 
นอกจากนี้ ในปี 2561 สำนักงานศาลยุติธรรมยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ด้วยการจัดอบรมในหัวข้อและหลักสูตรที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศอย่างเข้มข้น เพื่อให้การแปลและบังคับใช้กฎหมาย สอดคล้องต่อบริบทของสังคมไทยและหลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับของสากล ตามนโยบายของ ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา

ชี้คดี 'ทนายอานนท์' ดูหมิ่นศาล หน่วยความมั่นคงมีอำนาจกล่าวโทษ หากเป็นอาญาเเผ่นดิน

มติชนออนไลน์ รายงานเพิ่มเติม กรณี อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน โดนตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.)แจ้งข้อหาดูหมิ่นศาลและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟสบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาพิพากษาคดีของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น นั้น โดย เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ตอบข้อซักถามกรณีใครเป็นผู้เสียหาย และหน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจแจ้งความหรือไม่ ว่า ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ศาลจะต้องเป็นผู้เสียหาย แต่ในความผิดอาญาแผ่นดินจะมีได้ 2 กรณี คือการร้องทุกข์คือผู้เสียหายและการกล่าวโทษ โดยการกล่าวโทษอาจเป็นผู้ประสบเหตุ แม้จะไม่ใช่ผู้เสียหายแต่ก็สามารถกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนได้ ฉะนั้นในระบบคดีอาญา การกล่าวโทษกับการร้องทุกข์จะเป็นลักษณะนี้
 
สราวุธ กล่าวต่อว่า ในระบบศาลนั้น ศาลย่อมไม่ต้องการเข้ามาเป็นคู่ความในคดี จะเห็นได้ว่าศาลมีความอดทนอดกลั้น บางเรื่องการดำเนินการเรื่องการดูหมิ่นศาล หรือดูหมิ่นผู้พิพากษามีความจำเป็นที่ต้องดำเนินคดี เพราะหากคนที่มีพฤติการณ์แบบนี้กระทำการอยู่เรื่อยๆ จะกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน ถ้าหากไม่ดำเนินการใดๆเลย คนจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องจริง เช่น การเอาเรื่องไม่จริงไปกล่าวหาผู้พิพากษารับสินบน อย่าว่าแต่ผู้พิพากษาเลย ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็รู้สึกได้รับความเสียหาย เหมือนนักข่าวที่เวลาเขียนข่าวก็โดนกล่าวหาว่าเขียนข่าวเชียร์รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ความยุติธรรม สถาบันศาลเป็นสถาบันของประชาชน แนวทางการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นคดีละเมิดอำนาจศาลหรือคดีหมิ่นศาล ศาลพยายามระมัดระวังมากที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบ และไม่ลงไปเป็นคู่ความในคดี ให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเราไม่มีนโยบายใดๆทั้งสิ้นที่จะไปมีปัญหากับประชาชน
 
เมื่อถามย้ำว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  กล่าวว่า สามารถกล่าวโทษได้ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฎีกายืนจำคุก 35 ปี 4 เดือน อดีตการ์ด นปช .ยิง M79 ใส่ กปปส. แต่โดนตึกชินฯ เมื่อปี 57

Posted: 16 Jan 2018 09:20 AM PST

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามอุทธรณ์ จำคุก 35 ปี 4 เดือน อดีตการ์ด นปช .ยิง M79 ใส่กลุ่ม กปปส. แต่ไปถูกเสาอาคาร-ต้นไม้ตึกชินวัตร 3 เสียหาย 2 หมื่น เมื่อปี 57 ส่วนอีกรายให้ยกฟ้อง

 

16 ม.ค. 2561 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ศาลนัดแจ้งผลคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์ทราบ ในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ฟ้อง ณรงค์ศักดิ์ หรือตุ้ย พลายอร่าม อายุ 32 ปี อดีตการ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ พีรพงษ์ หรือธานินทร์ สินธุสนธิชาติ อายุ 43 ปี ชาว จ.ระยอง เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, กระทำการให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลฯ, ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ หรือคดีร่วมกับพวกยิงระเบิดชนิด เอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. หน้าอาคารชินวัตร 3 เขตจตุจักร แต่ระเบิดไปถูกเสาอาคารและต้นไม้ประดับของอาคารชินวัตร 3 ทำให้ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 2 หมื่นบาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค.57

ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก ณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 35 ปี 4 เดือน และ พีรพงษ์ จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.57 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันยิงปืนชนิดเครื่องยิงระเบิดสังหาร ขนาด 40 มิลลิเมตร 1 ลูกเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. บริเวณหน้าอาคารชินวัตร 3 แขวงและเขตจตุจักร กทม. โดยมีเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยทั้งสองเล็งเห็นผลว่าลูกระเบิดสามารถทำผู้ชุมนุมให้ถึงแก่ความตายและเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินได้ โดยจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากลูกระเบิดตกห่างจากจุดที่นายประกิต กันยามา ผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่ประมาณ 40 เมตร แล้วระเบิดขึ้น สะเก็ดระเบิดจึงไม่ถูกผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ถึงแก่ความตาย สมดังเจตนาของจำเลยทั้งสอง แต่สะเก็ดระเบิดกระเด็นถูกเสาอาคารโดมและต้นไม้ของบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 เสียหายคิดเป็นเงิน 20,000 บาท ตำรวจเก็บสะเก็ดระเบิดได้ 1 ถุงเป็นของกลาง

ต่อมาตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้ในวันที่ 16 ก.ค.57 แล้วจับจำเลยที่ 2 ได้ในวันที่ 22 ก.ย.57 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 พ.ย.58 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 43 ปี 4 เดือน พร้อมริบของกลาง ต่อมามีการยื่นอุทธรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ส.ค.59 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุกนายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 35 ปี 4 เดือน และยกฟ้องนายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2 แต่ให้ขังระหว่างฎีกา โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.59 ศาลจังหวัดสระบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว และนัดให้เฉพาะอัยการโจทก์ทราบผลคำพิพากษาในวันนี้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้นั้น โจทก์มี ยงยุทธ หรือชินจัง บุญดี เป็นพยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุพยานโทรหาจำเลยที่ 1 ให้มารับเพื่อไปยิงระเบิดใส่ผู้ชุมนุม กปปส. โดยพยานเป็นคนยิง ศาลเห็นว่าคำเบิกความของ ยงยุทธ สอดคล้องกับที่ให้การหลังถูกจับกุมเพียง 2 วัน คำให้การมีรายละเอียดการก่อเหตุรุนแรงของ ยงยุทธถึง 10 ครั้ง ยากที่จะคิดปรุงแต่ง ในชั้นสอบสวน ยงยุทธ ยังให้การทั้งในฐานะผู้ต้องหาและพยานยืนยันการก่อเหตุรุนแรงดังกล่าวเช่นเดิม และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ แม้คำเบิกความของ ยงยุทธ เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แต่ ยงยุทธ มิได้เบิกความให้ตนเองพ้นผิดโดยปัดความผิดไปให้จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานโจทก์นำสืบมาข้อเท็จจริงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าโจทก์มีเพียงบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ที่ให้การในฐานะพยานและผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพประกอบบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งต่างเป็นพยานบอกเล่า ยงยุทธ ไม่ได้ให้การว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ด้วย โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ให้มีน้ำหนักรับฟัง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดคดีนี้หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.ศิวรักษ์ เตรียมพบอัยการศาลทหารพรุ่งนี้ ปมถูกฟ้องคดี 112 พูดพาดพิงพระนเรศวร

Posted: 16 Jan 2018 09:05 AM PST

ส.ศิวรักษ์ เตรียมเข้าพบอัยการศาลทหารเป็นครั้งที่ 3 วันพรุ่งนี้ กรณีพนักงานสอบสวนเสนออัยการทหารเห็นควรสั่งฟ้องข้อหา ม.112 กล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวลมหาราช

แฟ้มภาพ Banrasdr Photo

16 ม.ค. 2561 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า 17 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือส.ศิวรักษ์ พร้อมทนายความ จะเข้าพบอัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นครั้งที่ 3  หลังจากที่เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.60 ได้ไปพบกับอัยการศาลทหารแล้วตามนัดหมาย โดยอัยการศาลทหารเลื่อนนัดฟังคำสั่งภายหลังได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้สอบพยานฝ่ายผู้ต้องหาเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์และเพื่อเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีในชั้นพนักงานอัยการ 

คดีดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2557 เมื่อ พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม  ว่า สุลักษณ์ ได้กล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวลมหาราช โดยอ้างว่าเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมินพระมหากษัตริย์ ในเวทีทางวิชาการ "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษา เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 หลังการรัฐประหารของ คสช. ต่อมาเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2560 พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีดังกล่าวเสร็จแล้วและมีความเห็นควรสั่งฟ้อง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประกันสังคม' ทวงรัฐค้างจ่ายสมทบ 2.3 หมื่นล้าน กรมบัญชีกลางขอเพิ่ม 1.6 หมื่นล้าน รักษาข้าราชการ

Posted: 16 Jan 2018 08:39 AM PST

ประชุมบูรณาการงบสุขภาพ ปี 62 เคาะ 6 หน่วยงาน เสนอของบ 3.2 แสนล้าน เผย กรมบัญชีกลางขอเพิ่ม 1.6 หมื่นล้าน  'ประกันสังคม' ขอปรับเพิ่ม 5 พันล้าน พร้อมขอทวงหนี้รัฐบาลจ่ายค้างสมทบกองทุนร่วม 2.3 หมื่นล้านบาท ด้านบัตรทองปรับเพิ่ม 2.2 หมื่นล้านบาท สธ.ปรับเพิ่ม 6 ร้อยล้าน สพฉ.ปรับเพิ่ม 9.1 ร้อยล้านบาท ส่วน สรพ.ปรับเพิ่ม 20 ล้านบาท

16 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบ "กรอบแนวทางและข้อเสนอแผนและงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2562 แผนงานบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ" เป็นกรอบงบประมาณเพื่อนำเสนอสำนักงบประมาณของ 6 หน่วยงานด้านสุขภาพ ประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.)

iกรอบงบประมาณของ 6 หน่วยงาน ที่นำเสนอมีวงเงินทั้งจำนวน 320,134.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 68,197.12 หรือร้อยละ 27.07 โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.กรมบัญชีกลาง (สวัสดิการรักษาข้าราชการ) 79,081.74 ล้านบาท 2.สำนักงานประกันสังคม 43,082.47 ล้านบาท 3.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 194,133.83 ล้านบาท 4.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,951.07 ล้านบาท 5.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน 1,855.13 ล้านบาท และ 6.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล 30 ล้านบาท

ทั้งนี้งบประมาณที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของผู้แทนกรมบัญชีกลางซึ่งดูแลกองทุนรักษาสวัสดิการข้าราชการ ได้ชี้แจงถึงการจัดทำงบประมาณในปี 2562 ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 16,022.97 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.41 เป็นการจัดทำงบที่อ้างอิงจากจำนวนงบประมาณปี 2560 ที่ได้มีการเบิกจ่ายจริง รวมทั้งได้การปรับเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาล

ในส่วนของผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ได้ชี้แจงถึงการปรับเพิ่มงบประมาณปี 2562 ของกองทุนประกันสังคม โดยงบที่นำเสนอจำนวน 43,082.47 ล้านบาท แยกเป็น 2 ส่วน โดยเป็นงบประมาณสมทบกองทุนปี 2562 จำนวน 20,200 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 5,129.57 ล้านบาท และงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลยังค้างจ่ายสมทบกองทุนของปีก่อน จำนวน 22,869.63 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุด้วยว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปี 2562 นำเสนอที่จำนวน 194,133.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 22,602.49 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.18 ในจำนวนนี้แยกเป็นเงินเดือนภาครัฐจำนวน 47,314.96 ล้านบาท โดยเป็นงบที่เข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 146,607.17 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ และจำนวนผู้มีสิทธิ์ที่เข้ารับบริการเพิ่มขึ้น

สำหรับในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอปรับเพิ่มงบปี 2562 ที่จำนวน 628 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.51 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เสนอปรับเพิ่ม 911.93 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 96.53 และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เสนอปรับเพิ่มขึ้น 20 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 200

รายงานระบุอีกว่า ในการประชุม พล.อ.ฉัตรชัย ได้กล่าวเป็นห่วงงบประมาณค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ภาพรวมอยู่ที่จำนวน  213,590 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่จำนวน 251,937 ล้านบาท และในปี 2562 ได้ขยับนำเสนอเพื่อของบประมาณกว่า 320,000 ล้านบาท โดยกำชับทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคควบคู่ที่ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะเผชิญต่อปัจจัยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การปรับเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ ทั้งนี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ตรรกะโพธิรักษ์กับการเป็นกองหนุนนายกฯ ตู่

Posted: 16 Jan 2018 07:07 AM PST

ที่มาภาพ: komchadluek.net/news/scoop/309302

ผมคิดอยู่นานว่าควรจะเสียเวลาถกเถียงกับความเห็นอะไรที่เมื่อคิดบนหลักการประชาธิปไตยและหลักเสรีภาพแล้วแล้ว มันเป็นเรื่องเหลวไหลไร้เหตุผลเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่องที่นักบวชในพุทธศาสนาไทยแสดงความเห็นหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคปัจจุบัน

แต่เมื่อมองรวมๆ แล้ว ก็แทบไม่มีอะไรที่ไม่เหลวไหลนี่ครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำไล่อาจารย์ที่หนีอำนาจรัฐประหารออกจากราชการ เรื่องที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำลงโทษนักศึกษา 8 คน จนชื่อเสียงมหาวิทยาลัยกระฉ่อนไปทั่วโลก เพราะมีบรรดาปัญญาชนชั้นนำของโลก และบรรดาผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยรักษา "มาตรฐาน" ของความเป็นมหาวิทยาลัย ด้วยการเคารพ "เสรีภาพ" ในการแสดงออกของนักศึกษาตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ไหนจะเรื่องที่บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิชาการแห่กันไปรับรับตำแหน่งภายใต้รัฐบาลจากรัฐประหาร และการที่กลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิ์เป็นตัวแทนของประชาชนขยันบัญญัติกฎหมายจำนวนนับไม่ถ้วนมาบังคับใช้กับประชาชนที่ถูกปล้นอำนาจไป

แล้วยัง "ระบบยุติธรรม" ที่จับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและ "ความยุติธรรม" เข้าคุกคนแล้วคนเล่า ที่ต้องต่อสู้คดีอยู่อีกก็มาก ที่ควรได้รับสิทธิประกันตัวก็ไม่ได้รับ มีทั้งชายชราที่ตายในคุกอย่างอากง เรื่อยมาถึงหญิงพิการทางสายตาต้องติดคุกเพียงเพราะแชร์ข่าวโดยผู้แจ้งความเอาผิดก็ยอมรับว่าเธอ "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" เหล่านี้เป็นต้นไม่ใช่ "ความเหลวไหล" และความน่าหดหู่แห่งยุคสมัยดอกหรือ

ยังมีสถาบันทางสังคมอะไร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา ศาสนา สถาบันเกี่ยวกับการพิทักษ์ความยุติธรรมและอื่นๆ ที่ยังพอเป็นความหวังของสังคมนี้ได้บ้างในเรื่องปกป้องหลักการ เหตุผล วิถีที่ชอบธรรม สิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

เราอยู่ในยุคของความเหลวไหลไร้เหตุผลและน่าหดหู่ ตรรกะอันบิดเบี้ยว หรือที่นิยมพูดกันว่า "ตรรกะป่วย" พรั่งพรูออกมาจากปากของบรรดาผู้มีอำนาจนำทางการเมือง และอำนาจนำทางวัฒนธรรมแทบทุกวัน ตัวอย่างตรรกะของสมณะโพธิรักษ์ในการประกาศว่า ชาวอโศกจะเป็น "กองหนุน" ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอต่อไป ขณะที่กองหนุนกลุ่มอื่นๆ กำลังตีตัวออกห่าง ย่อมสะท้อนยุคสมัยแห่งความเหลวไหลได้ชัดเจน ผมขอคัดบางส่วนมาให้อ่านดังนี้

สมณะฟ้าไทว่า... เขาใช้คำว่าสืบทอดอำนาจมาหรือเปล่า?

พ่อครู (สมณะโพธิรักษ์) ว่า..สืบทอดอำนาจของในหลวง ไม่ใช่สืบทอดอำนาจของทักษิณ ก็เคยวิเคราะห์ให้ฟังกันแล้วว่า นายกฯตู่ทำการเมืองสืบทอดในหลวงหรือสืบทอดทักษิณ? ก็ต้องเป็นแบบในหลวง...

ขณะนี้บ้านเมืองยังไม่มีการเลือกตั้ง อาตมาว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องเล็กๆ ของประชาธิปไตย ...

การเมืองประชาธิปไตยเป็นเรื่องของมนุษย์ มนุษย์ต้องมี 2 ขา หมายถึงมีทั้งรูปและนาม การเมืองขาเดียวมันไม่ใช่มนุษย์ เป็นการเมืองพิการ ศึกษาให้ดี เรื่องธรรมะสองของพระพุทธเจ้า ลึกซึ้งจริงๆ

ตอนนี้เราพยายามให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่แบบเลือกตั้ง อะไรเป็นประชาธิปไตยที่แท้ไปคิดให้ตก ประชาธิปไตยเลือกตั้งแบบผู้แทน กับประชาธิปไตยแบบที่มีส่วนร่วมของประชาชน อันไหนคือประชาธิปไตยกว่ากัน ไปคิดตรงนี้เป็นการบ้าน

(ที่มา https://konjonlokutara.blogspot.com/2018/01/blog-post_12.html?spref=fb)

เรื่องสืบทอดอำนาจตามที่สมณะโพธิรักษ์พูด ผมจะไม่พูดถึง แต่เมื่อเราถกเถียงกันเรื่อง "ประชาธิปไตย" ย่อมเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า อำนาจในระบอบประชาธิปไตยย่อมเป็น "อำนาจของประชาชน" และประชาชนย่อมแสดงอำนาจของตนเองว่าต้องการนโยบายบริหารประเทศแบบไหน พรรคการเมืองพรรคไหน นักการเมืองคนไหนมาทำหน้าที่แทนผ่าน "การเลือกตั้ง" ดังนั้นการเลือกตั้งจึงไม่ใช่ "เรื่องเล็กๆ" แต่เป็นเรื่องใหญ่และขาดไม่ได้ของกระบวนการประชาธิปไตย

พูดอีกอย่างว่า ในระบบสังคมการเมืองสมัยใหม่ ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ก็เท่ากับไม่มีพื้นที่แสดงออกซึ่งสิทธิและอำนาจของประชาชน มันจึงเป็นประชาธิปไตยไม่ได้

ยิ่งเมื่อพูดถึง "การมีส่วนร่วมของประชาชน" ด้วยแล้ว เวทีเลือกตั้งเท่านั้นที่เปิดให้ประชาชนมีสิทธิ มีส่วนร่วมมากที่สุด แน่นอนว่าประชาธิปไตยไม่ได้สิ้นสุดที่การเลือกตั้ง เพราะยังต้องมีกระการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบสภา องค์กรออิสระต่างๆ องค์กรภาคประชาชนต่างๆ สื่อเสรี และปัจเจกบุคคลที่ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็น วิจารณ์ตรวจสอบ และเรียกร้องสิทธิต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเสียแล้ว กระบวนการมีส่วนร่วมและตรวจสอบก็ย่อมทำงานไม่ได้จริง อย่างที่เห็นชัดแจ้งภายใต้รัฐบาลทหารกว่า 3 ปี ที่ผ่านมา

ประชาธิปไตยมันจึงเป็นกระบวนการที่ไม่ได้สิ้นสุดสมบูรณ์ แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องของการใช้สิทธิ เสรีภาพในการต่อสู้ ต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แน่นอนว่าภายในกระบวนการประชาธิปไตยมันย่อมมีปัญหาขัดแย้ง ความวุ่นวาย ความไม่สงบอันเกิดจากการต่อสู้ต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เกิดขึ้นได้เสมอ แต่ในที่สุดแล้วเราต้องเชื่อมั่นว่ากระบวนการประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพของตัวมันเองได้

การหยุดยั้งหรือล้มกระบวนการประชาธิปไตยมันคือการทำลายพัฒนาการของประชาธิปไตย ทำให้ประชาธิปไตยถูกตีความอย่างวิปริตผิดเพี้ยนและไม่สามารถพัฒนาให้มีความหมายเป็นประชาธิปไตยได้จริงอย่างสังคมอารยะเสียที และคนที่สนับสนุนการหยุดยั้งหรือล้มกระบวนการประชาธิปไตย ก็คือคนที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย และไม่เคารพ "ประชาชน" ว่าพวกเขาสามารถมีวิจารณญาณของตนเองในการเลือก

พูดอีกอย่างว่า ฝ่ายที่อ้างว่าพวกตนเป็นคนดี มีธรรมะ ศีลธรรมที่สนับสนุนรัฐประหาร ก็คือคนที่ขาด "สามัญสำนัก" ในความ "แฟร์" ต่อประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่เขามีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งเท่าเทียมกับคุณ คุณสนับสนุนการล้มเวทีเลือกตั้งซึ่งเป็นเวทีที่แฟร์กับ "ทุกคน" ทุกฝ่าย เพราะคุณต้องการผลักดันวาระทางการเมืองตามความต้องการของตนเองผ่านอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ฝ่ายเดียว ขณะที่ฝ่ายอื่นๆ ทำแบบคุณไม่ได้

เมื่อขาดสามัญสำนึกแม้แต่ในเรื่องความ "แฟร์" กับทุกคนในฐานะที่แต่ละคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน แล้วอะไรเล่าคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีของคุณ? ธรรมะ ศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีของคุณ มันอยู่เหนือการยึดถือปฏิบัติตามความแฟร์ตามวิถีที่ "ชอบธรรม" ของระบอบประชาธิปไตยไปได้อย่างไร? 

และเมื่อพูดถึง "การมีส่วนร่วม" ก็ย่อมต้องมีความแฟร์ด้วยเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่ามีส่วนร่วมได้แต่ฝ่ายที่เชียร์ ประกาศเป็น "กองหนุน" ผู้นำเท่านั้นที่แสดงออกได้เต็มที่ แต่ฝ่ายที่ไม่เชียร์ ไม่หนุน หรือต่อต้าน ก็ต้องมีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ และออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านได้ด้วย ฉะนั้นภายใต้อำนาจรัฐบาลจากรัฐประหารมันจึงไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมดังที่สมณะโพธิรักษ์พูด

ยิ่งกว่านั้น คำสอนเรื่อง "รูป-นาม" ของพุทธศาสนาก็ไม่เกี่ยวอะไรกับกรอบคิด (concept) เรื่อง "ประชาธิปไตย" เลย แต่บรรดานักบวชในพุทธไทยๆ ก็ลากคำสอนพุทธศาสนาแทบทุกเรื่องเข้ามาเกี่ยวกับประชาธิปไตยจนได้ ฉะนั้นการที่พวกเขาคิดว่าตนเองกำลังตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย (เช่นตีความว่า "ประชาธิปไตยต้องมีธรรมาธิปไตย" "ประชาธิปไตยไม่มีธรรมะคือหายนะมวลรวมประชาชาติ" ฯลฯ) มันจึงไม่ใช่การสนับสนุนประชาธิปไตยจริง แต่เป็นการสร้างความสับสนและสร้างปัญหาเสียมากกว่า และจึงเป็นการสนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าจะสนับสนุนอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสมอมา

คำถามคือ เมื่อไรที่บรรดานักบวชพุทธไทยจะเรียนรู้เสียทีว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ต่างจากการเมืองยุคโบราณอย่างสิ้นเชิง คุณจะอ้าง "ธรรมะ" คำเดียวหรือคำสอนในพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆ มาเป็น "มาตรฐาน" ตัดสินเรื่อง "ถูก-ผิด ชอบธรรม-ไม่ชอบธรรม" ในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อีกแล้ว เพราะระบอบประชาธิปไตยมีมาตรฐานตัดสินเรื่องพวกนี้ชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว

การที่บรรดานักบวชเชื่อว่าพวกตนเป็นผู้บรรลุธรรม รู้แจ้งเห็นจริงในทางศาสนา ย่อมไม่ได้แปลว่าหมดสิ้นอวิชชาในทางการเมืองแล้ว และแฟชั่นของการแสดงอวิชชาทางการเมืองของบรรดานักบวชพุทธไทย ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อทั้งต่อพุทธศาสนาและประชาธิปไตยแต่อย่างใด 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ครูเสียหน่อย!

Posted: 16 Jan 2018 06:52 AM PST

 

ผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นครู
กลัวไม่รู้จึงต้องหามาเติมใหม่
ผมทำได้ทุกคำพูดที่เปล่งไป
ถ้าไม่ใช่ไม่พูดและไม่ทำ

ถ้าคำว่าครูเพิ่มอำนาจอีโก้
ปัดโธ่ผมยิ่งไม่ใช่ขอพูดซ้ำ
ผมเรียนไปพร้อมกับศิษย์นี่ผมทำ
ผมน้อมนำปั่นหัวใจใส่ฟืนไฟ

ผมสอนศิษย์ด้วยความสนุก
ผลุดลุกเดินพล่านนั่งไม่ได้
พลังไม่ถึงตรึงไม่พอเข้าใจไหม
ทุกคำมาจากใจไม่หลอกลวง

ผมไม่รู้ความหมายครูอย่าตำหนิ
ผมริผมเริ่มใหม่กลัวศิษย์ง่วง
ผมไม่ยอมให้สมองของผมกลวง
ศิษย์ทั้งปวงครูทั้งยวงเรียนร่วมกัน.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย รพ.รัฐชื่อดังเรียกเก็บเงินผู้ป่วยสิทธิบัตรทองก่อนผ่าตัด อ้างเป็นเงินประกัน-ไม่จ่ายต้องเลื่อนคิว

Posted: 16 Jan 2018 02:40 AM PST

ผู้ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเผยโรงพยาบาลรัฐชื่อดังเรียกเก็บเงินก่อนผ่าตัด อ้างว่าเป็นเงินประกัน ถ้าไม่ได้ใช้จะคืนให้ แถมถ้าไม่วางเงินก่อนก็ไม่ผ่าตัดให้ ชี้สร้างความเดือนร้อนแก่ประชาชน คนไม่มีเงินต้องกู้หนี้เสียดอกเบี้ยแม้จะได้เงินประกันคืนทีหลังก็ตาม  
 
 
16 ม.ค. 2561 กนกวรรณ ด้วงเงิน ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขตจตุจัตร/ลาดพร้าว เปิดเผยว่า มีโรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน มีพฤติกรรมเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยก่อนผ่าตัดโดยอ้างว่าเป็นเงินประกัน และเท่าที่พูดคุยกับผู้ป่วยที่ตนช่วยประสานงานให้ พบว่ามีการเรียกเก็บทุกเคส แม้แต่ผ่าตัดต้อกระจกก็ยังเรียกเก็บเงินเป็นจำนวน 5,000 บาท
 
กนกวรรณ กล่าวว่า นอกจากได้ข้อมูลจากผู้ป่วยแล้ว ตนเองก็ประสบกับเหตุการณ์นี้ด้วย โดยในเดือน ม.ค. 2560 สามีของตนเข้าผ่าตัดหมอนรองกระดูกที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เบื้องต้นทางโรงพยาบาลบอกว่าต้องวางเงิน 15,000 บาท เมื่อถามว่าเป็นเงินค่าอะไรก็ได้คำตอบว่าเป็นค่าประกัน ถ้าไม่ได้ใช้ก็จะคืนให้แต่ถ้าใช้เกินก็เก็บเงินเพิ่ม ตนจึงเตรียมเงินไว้ จากนั้นเมื่อถึงวันก่อนผ่าตัด ทางโรงพยาบาลก็เอ็กซเรย์อีกครั้งแล้วมีการประชุมทีมแพทย์ โดยนัดคิวผ่าตัดไว้ตอนเช้าของวันถัดไป
 
ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขตจตุจัตร/ลาดพร้าว ระบุว่า เมื่อถึงเช้าวันนัดผ่าตัด ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าเงิน 15,000 บาทไม่พอ ต้อง 35,000 บาท ตนจึงถามว่าทำไมถึงเรียกเก็บเงินเยอะ แล้วอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไม่มีในสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพหรืออย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่าสิทธิบัตรทองก็มี แต่เป็นของจีนคุณภาพน้อยไม่ค่อยได้มาตรฐาน ถ้าเสียเงินเพิ่มอีกนิดหน่อย ใช้อุปกรณ์ที่โรงพยาบาลแนะนำก็จะได้ของดีมีคุณภาพกว่า
 
"เราก็โทรคุยกับลูก คุยกันว่าเห็นมีหลายคนที่ผ่าแล้วเดินไม่ได้ก็มี ด้วยความกลัวว่าสามีจะเดินไม่ได้ ไม่กล้าเสี่ยง ก็เลยยอมจ่ายเพิ่มเป็น 35,000 บาท จากนั้นเราก็บอกว่าเตรียมเงินมาแค่นี้ เงินไม่พอ ขอมาจ่ายมีหลังได้ไหม พรุ่งนี้เช้าเอามาจ่ายให้ มันไม่ใช่ 500 หรือ 5,000 ที่จะได้หาตอนนี้ได้เลย เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร อย่างนั้นก็เลื่อนเคสผ่าตัดไปตอนที่ได้เงินมาแล้ว เขาบอกอย่างนี้ เราก็เลยโทรบอกลูกให้รีบโอนเงินมาให้ แล้วไปจ่ายตอนประมาณ 10.00 น. คิวผ่าตัดก็เลยเลื่อนจากตอนเช้ามาเป็นตอนเที่ยงแทน พอผ่าตัดเสร็จก็ได้เงินคืนมาประมาณ 2,000 กว่าบาท" กนกวรรณ กล่าว
 
กนกวรรณ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วไม่ควรมีการเรียกเก็บเงินก่อนเพราะเป็นการสร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีน้อยคนมากที่จะมีเงินเก็บสำรองเพียงพอให้จ่าย คนที่ไม่มีก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ถ้าใครหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไม่ได้ก็ต้องยอมกู้หนี้นอกระบบ แม้โรงพยาบาลจะบอกว่าถ้าไม่ได้ใช้ก็จะคืนให้ แต่กว่าจะได้คืนก็เสียดอกเบี้ยไปเยอะแล้ว
 
"ผู้ป่วยโรงพยาบาลนี้โดนเรียกเก็บเงินทุกเคสที่หมอนัดผ่าตัด จะทำอย่างไรผู้ป่วยถึงจะไม่ต้องวางเงินก่อนที่จะรักษาเพราะจริงๆแล้วสิทธิประโยชน์ก็น่าจะครอบคลุมได้หมด แม้แต่เรื่องยา ยาบางตัวก็ใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ มีอยู่เคสหนึ่งที่เราไปด้วย โรงพยาบาลก็จ่ายยานอกบัญชีมาราคา 1,300 บาท เราก็แนะนำว่ากลับไปบอกหมอว่าขอใช้ยาในสิทธิบัตรทอง ไม่เอายานอก โรงพยาบาลก็เปลี่ยนให้นะ แต่ถ้าคนไม่รู้ก็ต้องเสียเงิน แล้วถ้าเสียบ่อยๆเขาก็ไม่จ่ายยาในบัญชีให้หรอก ก็เสียเงินอยู่ตลอด 500 บาทบ้าง 1,500 บาทบ้าง ก็จะโดนอยู่อย่างนี้" กนกวรรณ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ออกหมายเรียก 'เอกชัย' อ้างโพสต์ลามก - ประวิตรแจงนาฬิกาเพื่อนเอามาให้ใส่ คืนหมดแล้ว

Posted: 16 Jan 2018 02:22 AM PST

ตำรวจออกหมายเรียก 'เอกชัย' ข้อหาโพสต์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ลามก เจ้าตัวขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา ขณะที่ช่วงเช้าเดินทางไปมอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร ที่หน้าทำเนียบอีกครั้ง แต่ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปกินกาแฟแทน ด้าน พล.อ.ประวิตร แจงเพื่อนเอามาให้ใส่ คืนหมดแล้ว พร้อมออก ถ้า ป.ป.ช.ชี้ผิด

ภาพจากเฟสบุ๊ค เอกชัย หงส์กังวาน


16 ม.ค.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เวลา 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 นายเดินทางไปที่บ้านของ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมอิสระที่กำลังจัดกิจกรรมมอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อส่งหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนเข้าถึงได้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ในหมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหาคือ พ.ต.ต.เอกพล แสงอรุณ โดยให้เอกขัยไปพบ ร.ต.อ.ณัฐษนัย มงคลกุล กอง 3 บก.ปอท. ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ (19 ม.ค. 2561) เวลา 13.30 น.

เอกขัย เปิดเผยว่า ส่วนตัวเขาคิดว่าการที่ตำรวจเรียกให้ไปตอนบ่ายเพราะไม่ต้องการให้ทำเรื่องประกันตัวทันภายในวันนั้น

"จนป่านนี้ยังนึกไม่ออกโพสต์ไหนที่ "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้"  เอกชัย โพสต์บนเฟสบุ๊คส่วนตัวในเวลาต่อมา 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เอกชัย จะขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเนื่องจากมีกำหนดการต้องเดินทางไปร่วมงานอบรมที่ประเทศพม่าระหว่างวันที่ 20-26 ม.ค. นี้

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) พร้อมคณะเดินทางมายื่นคำร้องขอศาลอาญาออกหมายจับ เอกชัย ข้อหาดังกล่าว แต่ศาลไม่อนุญาต โดยศาลพิจารณาคำร้องเเล้วเห็นควรยกคำร้องขอออกหมายจับเนื่องจากในชั้นนี้เห็นว่า ควรมีการออกหมายเรียกเอกชัยมารับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอนก่อน ที่จะมีการออกหมายจับ

มามอบนาฬิกาอีกครั้ง

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในวันนี้ เวลาประมาณ 10.00 น. เอกชัยยังคงเดินทางไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบนาฬิกา 3 เรือน ให้ พล.อ.ประวิตร พร้อมทั้งโปสเตอร์รูปนาฬิกาทั้ง 23 เรือน ของ พล.อ.ประวิตร ที่มีการเปิดเผยในโซเชียลมีเดีย แต่เมื่อเดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่ก็ได้เชิญตัวเอกชัยไปทานกาแฟและพูดคุย ที่ร้านกาแฟภายใน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ทันที โดยที่หลังจากพูดคุยสักพักนั้น เอกชัยเดินทางกลับ ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ นอกเครื่องแบบ จำนวนมาก ตลอดเวลา

ประวิตร แจงเพื่อนเอามาให้ใส่ คืนหมดแล้ว พร้อมออก ถ้า ป.ป.ช.ชี้ผิด

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า วันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีเพจซีเอสไอแอลเอเปิดเผยภาพนาฬิกาหรูถึง 24 เรือนว่า "เป็นการวนเอาเรือนเก่าออกมา ไม่เป็นไรขอให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ ถ้าชี้ผมผิด ผมก็ออก และการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่สามารถไปแทรกแซงได้ เพราะ ป.ป.ช.มีการดำเนินการตามขั้นตอนของเขา คงต้องรอให้เขาตรวจสอบให้เสร็จสิ้น และผมชี้แจง ป.ป.ช.ไปแล้ว"

ต่อกรณีคำถามว่า มีการออกมาเปิดเผยเช่นนี้รู้สึกอารมณ์เสียหรือเสียความรู้สึกหรือไม่ นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่นอยด์ สภาพจิตใจไม่มีอะไร"

เมื่อถามอีกว่า ปกติเป็นคนชอบสะสมนาฬิกาใช่หรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมไม่มีหรอก ผมมีเพื่อน เพื่อนเอามาให้ผมใส่ แค่นั้นเอง และก็คืนเขาทั้งหมดทุกเรือน" เมื่อถามย้ำว่าที่มีและชอบจริงๆ มีกี่เรือน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่ขอพูดแล้ว" และ เมื่อถามถึงมีการระบุถึงหุ้นนาฬิกา พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ไม่มี ไปเอาที่ไหนมา" 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาทนายร้องมหาดไทยเร่งคืนสัญชาติไทยกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น หลังศาลปกครองมีคำสั่งถึง 120 วัน

Posted: 16 Jan 2018 12:21 AM PST

สภาทนายความทำหนังสือด่วนที่สุดถึงมหาดไทยให้เร่งรัดดำเนินการคืนสัญชาติไทย ให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นแม่สอด-แม่ระมาด 351 คน หลังจากล่วงเลยเวลาที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ดำเนินการลงรายการสัญชาติไทยมาแล้วถึง 120 วัน

แฟ้มภาพ กลุ่มเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นแม่สอด-แม่ระมาด และสุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความ ระหว่างไปฟังคำพิพากษาศาลปกครองขอคืนสัญชาติไทยเมื่อ 14 ก.ย. 2560 

16 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงาน ช่วยเหลือคดีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตามที่ชาวไทยพลัดถิ่นส่วนหนึ่งใน อ.แม่สอดและ อ.แม่ระมาด จ.ตาก จำนวน 351 คน ได้ยื่นฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2558 ขอให้เพิกถอนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น และให้มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหมดเป็นคนไทยพลัดถิ่นซึ่ง มีสัญชาติไทย  ตลอดจนให้อธิบดีกรมการปกครองแจ้งให้นายทะเบียนท้องถิ่นลงรายการสัญชาติไทยให้ภายใน 7 วัน นับจากวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  ต่อมาวันที่ 14 ก.ย. 2560 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีว่า เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด  อธิบดีกรมการปกครองต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียนให้

สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บัดนี้ล่วงเลยจากวันที่ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษามาแล้วถึง 120 วัน ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคนไทยพลัดถิ่นเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามคำพิพากษา ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงสถานะลงรายการสัญชาติไทยแต่อย่างใด คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนขอความช่วยเหลือและในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจในคดีนี้จากผู้ฟ้องคดี 351 ราย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 12 ม.ค.2561 ทวงถามไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมสำเนาถึง สำนักบังคับคดีปกครอง ศาลปกครองกลาง เพื่อขอเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางในการเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียนเป็นคนไทยโดยการเกิดโดยเร็วที่สุด  เนื่องจากความล่าช้าทำให้ผู้ฟ้องคดีสูญเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้           

สุรพงษ์ กล่าวในที่สุดว่า ศาลปกครองกลางเคยวางกำหนดระยะเวลาดำเนินการไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณีคนไทยพลัดถิ่นในปี 2558 ว่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ซึ่งครั้งนั้นผู้ฟ้องคดีที่เป็นคนไทยพลัดถิ่น ได้รับการลงรายการสัญชาติไทยและได้รับบัตรประจำตัวประชาชนภายใน 60 วันตามคำพิพากษา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

The Rappler แถลงการณ์ต้านฟิลิปปินส์สั่งเพิกถอนใบอนุญาตสื่อ

Posted: 15 Jan 2018 10:27 PM PST

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ (SEC) สั่งเพิกถอนใบอนุญาตของสื่อ Rappler ที่นำเสนอประเด็นสังคมและการมีส่วนร่วมภาคพลเมืองฟิลิปปินส์ผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย โดยอ้างเรื่องที่พวกเขาละเมิดข้อบังคับด้านสัญชาติของผู้เป็นเจ้าของสื่อและควบคุมสื่อ อย่างไรก็ตาม การอ้างดังกล่าวมีเพียงหลักฐานทางการเงินที่บ่งชี้แค่สถานะการลงทุน แต่ไม่ได้บ่งชี้ถึงความเป็นเจ้าของ

16 ม.ค. 2561 Rappler รายงานถึงคำสั่งของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ (SEC) ว่าเป็น "การโจมตีเสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์" โดยที่ SEC กล่าวอ้างว่า Rappler ทำผิดกฎหมายเรื่องที่ห้ามเจ้าของสื่อเป็นคนต่างประเทศ โดยพูดถึงการที่ Rappler ได้รับเงินทุนจากโอมิดยาร์เน็ตเวิร์กที่เป็นกองทุนก่อตั้งโดย ปิแอร์ โอมิดยาร์ ผู้ประกอบการที่ก่อตั้งเว็บไซต์อีเบย์ แม้ว่าก่อนหน้านี้ SEC เองจะเป็นผู้รับเอกสารเกี่ยวกับโอมิดยาร์ในปี 2558

Rappler แถลงต่อผู้รับสื่อเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 ม.ค.) ว่าการสั่งระงับใบอนุญาตของ SEC ในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทั้งสำหรับคณะกรรมการนี้และสำหรับสื่อฟิลิปปินส์

"สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีความหมายกับคุณและกับพวกเราในทางที่ว่าคณะกรรมการกำลังสั่งให้พวกเราปิดร้าน เลิกพูดถึงเรื่องของพวกคุณ ไปจนถึงให้หยุดพูดความจริงต่ออำนาจ และปล่อยให้ทุกสิ่งที่พวกเราก่อร่างและสร้างขึ้นมาร่วมกับพวกคุณตั้งแต่ปี 2555 จากไป" Rappler ระบุในถ้อยแถลง

อย่างไรก็ตามสื่อ The Rappler ระบุว่าจะยังคงดำเนินงานสื่อต่อไปในขณะที่มีการส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาและจะยังคงยืนหยัดปกป้องเสรีภาพสื่อที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

Rappler ระบุว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์พุ่งเป้ามาที่ Rappler นานแล้ว โดยในปี 2559 รองอธิบดีกรมอัยการของฟิลิปปินส์สั่งให้ SEC สืบสวนตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (PDR) ของโอมิดยาร์ ในช่วงกลางปี 2560 ก็มีการจัดตั้ง "กรรมการพิเศษ" เพื่อสืบสวนว่ามีความเป็นไปได้ที่ Rappler จะละเมิดกฎหมายการมีเจ้าของเป็นคนต่างชาติหรือไม่ แม้แต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ก็เคยขู่ว่าจะสืบสวนเรื่องนี้เอง

อย่างไรก็ตาม The Rappler ระบุว่า PDR ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าใครเป็นเจ้าของสื่อนั้นๆ นั่นหมายถึงนักลงทุนจากต่างชาติคือโอมิดยาร์เน็ตเวิร์กและนอร์ทเบสมีเดียไม่ได้เป็นเจ้าของ Rappler พวกเขาแค่เป็นนักลงทุนแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ หมายความว่า Rappler ยังคงมีเจ้าของเป็นชาวฟิลิปปินส์ 100% เพราะ PDR เป็นแค่เครื่องมือทางการเงินและไม่ได้ให้ผู้ถือ PDR มีสิทธิในการลงมติในคณะกรรมการหรือทำหน้าที่บริหารจัดการใดๆ กับบริษัท โดยบริษัทสื่อใหญ่ๆ หลายแห่งก็มี PDR เช่นกัน

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินใจระงับการจดทะเบียนของ Rappler เกิดขึ้นหลังจากที่มีบล็อกเกอร์ผู้สนับสนุนรัฐบาลโจมตี Rappler ในเรื่องความเป็นเจ้าของและประเด็นอื่นๆ มาเป็นเวลาหลายเดือน

 


เรียบเรียงจาก

SEC revokes Rappler's registration, Rappler, 15-01-2018
https://www.rappler.com/nation/193687-rappler-registration-revoked

Rappler's incorporation papers revoked by SEC, ABS-CBN News, 15-01-2018
http://news.abs-cbn.com/news/01/15/18/rapplers-incorporation-papers-revoked-by-sec

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประท้วงโป๊ปเยือนชิลี เหตุเสื่อมศรัทธาหลังละเลยกรณีนักบวชล่วงละเมิดทางเพศ

Posted: 15 Jan 2018 09:56 PM PST

มีการประท้วงการเยือนชิลีของพระสันตะปาปาฟรานซิส เนื่องจากเกิดวิกฤตศรัทธาในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกหลังจากมีเรื่องอื้อฉาวอย่างหนักจากกรณีนักบวชในสำนักสงฆ์ชิลีล่วงละเมิดทางเพศ แต่วาติกันกลับแต่งตั้งคนที่ช่วยปกปิดเรื่องนี้เป็นบิชอป

15 ม.ค. 2561 สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า พระสันตะปาปาจากวาติกันเคยเยือนประเทศชิลีครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2530 ในตอนที่ชิลียังคงอยู่ภายใต้เผด็จการทหารแต่ก็เป็นประเทศในอเมริกาใต้ที่ศรัทธาแข็งกล้าต่อคริสต์นิกายคาทอลิกมาก จนแม้กระทั่งกลุ่มคอมมิวนิสต์ยังอ้าแขนยอมรับพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เพราะสำนักสงฆ์ในชิลีเป็นผู้ออกมาพูดปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเปิดเผย

แต่ 31 ปีผ่านมา การเยือนชิลีของพระสันตะปาปาฟรานซิสไม่ได้รับการต้อนรับในระดับเดียวกัน เพราะถึงแม้ว่าพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันจะดูมีบารมีและเคยให้สัญญาในเรื่องการขจัดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในศาสนจักร มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนพิเศษโดยให้คนที่เคยเป็นเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ 2 รายเข้าร่วม แต่ 5 ปีผ่านมา ผู้คนในชิลีก็มองไม่เห็นความคืบหน้าในสัญญาเรื่องการขจัดการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้พวกเขาประท้วงการมาเยือนของพระสันตะปาปาฟรานซิสในครั้งนี้

พวกเขาไม่พอใจที่วาติกันแต่งตั้งบาทหลวง ฮวน บาร์รอส เป็นบิชอปแห่งโอซอร์โน แม้ว่าบารอสจะเคยถูกกล่าวหาเรื่องการจัดแจงช่วยปกปิดการล่วงละเมิดทางเพศของพระที่อื้อฉาวที่สุดคือ เฟอร์นันโด คาราดิมา อีกทั้งในตอนที่พระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวกับผู้แสวงบุญในกรุงโรมว่า ชาวโอซอร์โนที่ไม่พอใจนั้นเป็นเพราะ "โง่" และ "ถูกบิดเบือนจากพวกฝ่ายซ้าย" เมื่อวิดีโอที่พระสันตะปาปาพูดเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไปก็ทำให้เกิดการโกรธแค้น

ชาวคาทอลิกหลายสิบคนที่ประท้วงอยู่หน้าบันไดมหาวิหารโอซอร์โนก่อนหน้าการมาเยือนของพระสันตะปาปาฟรานซิส หนึ่งในผู้ประท้วงคือซิลวานา กอนซาเลส กล่าวว่า พวกเขาไม่ยินดีต้อนรับพระสันตะปาปาพระองค์นี้เนื่องจากเขาเป็นคนพูดอย่างทำอย่าง ศาสนจักรยังคงปกปิดการล่วงละเมิดทางเพศและให้รางวัลกับคนกระทำผิด อีกทั้งยังเรียกคนที่ไม่พอใจว่าเป็นคนโง่แสดงให้เห็นถึงการรุกล้ำทางวาจาอย่างโอหัง พวกเขาจะไม่ยอมทนกับเรื่องนี้

ผู้ประท้วงอีกราว 30 รายที่เดินทางไปซานเตียโกเพื่อประท้วงพระสันตะปาปาในขณะที่พระองค์เสด็จเยือน พวกเขาบอกว่าจะมีผู้เข้าร่วมประท้วงเพิ่มเติม หนึ่งในผู้ประท้วงคือฮวน คาร์ลอส ครูซ หนึ่งในคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคาราติมา เขาบอกว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสทรยศต่อเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศโดยการปกป้องสถาบันที่ทำการล่วงละเมิดทางเพศและทำให้คนที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง

ไม่เพียงแค่กรณีของบาร์รอสเท่านั้น ครูซยังกล่าวถึงกรณีพระคาร์ดินัลเออร์ราซูริซที่ได้รับเลือกเข้าเป็นพระราชาคณะและคนที่เคยก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศอีกรายหนึ่งคือจอร์จ เพลล์ ก็ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งเช่นกัน ขณะที่ริคาร์โด เอซซาตี หัวหน้าบาทหลวงแห่งซานเตียโกก็ได้รับเสนอชื่อเป็นหนึ่งในพระราชาคณะเช่นกัน ทั้งที่เขาเคยพยายามปกปิดการล่วงละเมิดทางเพศของนักบวชหลายรูป

ในช่วงไม่กี่วันก่อนการเยือนชิลีของโป๊ป ศูนย์วิจัย bishopaccountability.org ที่มีฐานในบอสตัน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยฐานข้อมูลรายชื่อคนในสำนักสงฆ์ที่เคยถูกกล่าวเรื่องลวนลามเด็ก รวมแล้ว 70 รายทั้งนักบวช ผู้ช่วยนักบวช รวมถึงแม่ชี โดยที่บางส่วนยังคงอยู่ในสำนักสงฆ์

อัลจาซีรารายงานว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสเองก็รับทราบในเรื่องที่ว่าชิลีและเปรูเริ่มเสื่อมศรัทธาในนิกายคาทอลิก ในช่วงก่อนที่เขาจะต้องไปเยือนสองประเทศนี้ โดยสังเกตจากช่วงก่อนหน้าที่จะเดินทางไปเปรูเขาสั่งให้วาติกันคุมกลุ่มคาทอลิกระดับสูงจากเปรูหลังจากที่มีข้อกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศทั้งผู้ใหญ่และเด็กมาหลายปี รวมถึงจากที่เคยประกาศไว้ว่าไม่มีแผนการเยี่ยมเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในช่วงเดินทางเยือนสองประเทศนี้ แต่ทางวาติกันก็แถลงเพิ่มภายหลังว่าพวกเขายังไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ออกไป

จาเวียร์ เปรัลตา ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการแห่งชาติชิลีเพื่อการมาเยือนของพระสันตะปาปากล่าวว่า "ในหลายประเทศโดยเฉพาะชิลี การล่วงละเมิดทางเพศภายในสำนักสงฆ์กลายเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก ยังคงมีกรณีต่างๆ ถูกเปิดเผยออกมาเรื่อยๆ การมาเยือนของพระสันตะปาปาจึงถือเป็นโอกาสที่จะบอกกับพระองค์ถึงประเด็นนี้ สิ่งที่พวกเราต้องการคือการเปิดใจรับฟังว่าเขาจะพูดว่าอะไร"

 

เรียบเรียงจาก

Crisis of faith in Chile as pope visits amid sexual abuse scandal, Aljazeera, 15-01-2018
http://www.aljazeera.com/blogs/americas/2018/01/crisis-faith-chile-pope-visits-sexual-abuse-scandal-180114060947186.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมเราต้องมีรัฐสวัสดิการ?: กระบวนการขับเคลื่อนของคนชายขอบสู่รัฐสวัสดิการในสังคมไทย

Posted: 15 Jan 2018 07:45 PM PST

เรียนฟรีมีทางเลือก...ป่วยแล้วไม่จน...แก่แล้วเลี้ยงตัวเองได้

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสามข้อนี้คือสวัสดิการที่ประชาชนพึงปรารถนาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล และเงินบำนาญเลี้ยงชีพสำหรับผู้สูงอายุ

โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ

ธนาคารโลกประเมินว่าไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุเต็มที่ภายในปี 2040 (พ.ศ.2583) หรือในอีก 22 ปีจะมีประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 17 ล้านคน หรือ 25% ของประชากรทั้งประเทศ[1] เรียกว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้นโดยสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ขณะที่สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันมีเพียงเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บ. ล่าสุดมติ ครม. เห็นชอบแนวทางดำเนินโครงการสละสิทธิ์เบี้ยยังชีพคนชรา เพื่อนำเงินที่คนชราสละสิทธิ์มาเพิ่มให้กลุ่มคนชราที่มีรายได้น้อย โดยเปิดโอกาสให้คนชราแสดงความจำนงขอสละสิทธิ์รับเบี้ยคนชรา ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติและสามารถนำเงินบริจาคไปหักภาษีบุคคลธรรมดาได้ [2]

นโยบายดังกล่าวสะท้อนวิธีคิดที่มองเรื่องสวัสดิการเชิงสงเคราะห์ ว่าเราควรจะมีสวัสดิการไว้เฉพาะสำหรับคนจนเท่านั้น ดังนั้นจึงยกเลิกรถเมล์ฟรี ให้คนจนมาลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนรวยควรสละเบี้ยยังชีพคนชรา รวมไปถึงการพยายามแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้

ขณะที่รัฐมองสวัสดิการในรูปแบบการสงเคราะห์ช่วยเหลือ แต่รัฐสวัสดิการที่ภาคประชาสังคมกำลังขับเคลื่อนผลักดันอยู่นั้นมาจากวิธีคิดที่มองว่า รัฐสวัสดิการคือสิทธิที่ประชาชนพึงมีพึงได้อย่างเท่าเทียมถ้วนหน้าต่างหาก

ในงานเสวนาหัวข้อ "รัฐสวัสดิการกับสังคมไทย: เสียงจากคนชายขอบ" ซึ่งมีวิทยากรคือ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คุณนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (คคสส.), คุณสุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนของศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และลุงดำ-สุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน ดำเนินรายการโดยคุณสมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โดยที่เวทีนี้จัดโดยสมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (สมาคม นธส.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560ที่ห้องประชุมชั้น 8 ศูนย์ศึกษาสยามคอมเพล็กซ์ อาคารสภาคริสตจักรในประเทศไทย (เชิงสะพานหัวช้าง) กรุงเทพฯ มีประเด็นพูดคุยที่น่าสนใจเพื่อทำความเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการร่วมกัน

ทำไมต้องรัฐสวัสดิการ?

เดชรัต สุขกำเนิด ฉายภาพให้เห็นว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาติดกับดักเศรษฐกิจรายได้ปานกลางเช่นเดียวกับมาเลเซีย ทั้งที่เมื่อ 25 ปีก่อนนั้นไทยอยู่ระดับเดียวกับเกาหลีใต้และไต้หวัน แต่ปัจจุบันเกาหลีใต้และไต้หวันหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปได้ เส้นสีแดงคือเส้นที่จะพ้นจากรายได้ปานกลาง ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่าไทยจะพ้นในปี 2583

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น โจทย์แรกที่รัฐบาลคิดก็คือต้องมีการวิจัยและพัฒนา จากภาพด้านล่างจะเห็นว่าหลายๆ ประเทศที่ผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปได้ล้วนแล้วแต่ต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างสูง

แต่นอกจากการวิจัยและพัฒนาแล้วสิ่งที่รัฐบาลไม่ค่อยพูดถึงก็คือเกาหลีใต้และไต้หวันทำอีกสองเรื่องด้วย เรื่องแรกคือการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการพัฒนาลงมา อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงโดยตลอด นั่นคือต้องมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่รัฐบาลไทยกลับเดินสวนทางด้วยการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าจะที่กระบี่หรือเทพา

เรื่องที่สองคือลดความเหลื่อมล้ำจนสู่ระดับต่ำ เกาหลีใต้และไต้หวันมีการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจทุกระดับ การศึกษาทั่วถึงและมีคุณภาพ มีระบบคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการที่ดี มีการปฏิรูปที่ดีตั้งแต่ช่วงแรก และเน้นอุตสาหกรรม SME ตั้งแต่ช่วงแรก นี่คือเหตุผลสำคัญที่เกาหลีใต้และไต้หวันสามารถผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปได้

ในขณะที่ 4 ประเทศ จีน มาเลเซีย ไทย บราซิล ความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูงทั้งสิ้น สิ่งที่รัฐบาลไม่เคยพูดก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงประเทศเราจึงจะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

สิ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำลงได้ดีที่สุดประการหนึ่งก็คือสวัสดิการ จะเห็นว่าเกาหลีใต้และไต้หวันมีระบบสวัสดิการที่ดี ในส่วนของไทยเราเคยมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น

ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ  การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนจนลดลงอย่างมาก จากที่ในอดีตคนจนมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อรายได้สูงมาก นั่นคือถ้ามีรายได้ 100 บ. คนจนต้องเสียเงินเพื่อสุขภาพโดยเฉลี่ยร้อยละ 8 ในขณะที่คนรวยเสียประมาณร้อยละ 1  ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนจนอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ดังภาพด้านล่าง

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา จากรูปด้านล่าง เส้นบนเเป็นอัตราการเข้าเรียนของคนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ดีที่สุด 25% ของประเทศ เส้นล่างเป็นอัตราการเข้าเรียนของคนที่มาจากครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 25% เราจะเห็นว่าก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 คนจนที่สุด 25% ของประเทศไม่ได้มีโอกาสเรียนระดับมัธยมปลาย แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 อัตราการเข้าเรียน ม.ปลายเริ่มสูงขึ้น ช่องว่างเริ่มแคบลง แต่ในระดับอุดมศึกษาช่องว่างกลับห่างขึ้น อันเนื่องมาจากค่าเทอมสูง ภาพนี้บ่งบอกชัดเจนถึงปัญหาในระดับอุดมศึกษา ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างออกจากกัน

เมื่อเปรียบเทียบเด็กชนบทกับเด็กเมืองพบว่าเข้าเรียนประถมเท่ากัน 88% เริ่มลดลงเมื่อถึง ม.ต้น แต่ยังใกล้เคียงกันระหว่างชนบทกับเมือง พอถึง ม.ปลายเริ่มห่างกัน แต่ที่ห่างกันมากที่สุดคือระดับอุดมศึกษา ขณะนี้รัฐบาลกำลังถอยการศึกษาภาคบังคับจากมัธยมปลายมาเป็น ม.3  สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำนั้นเรียกได้ว่าสวนทางกับที่เกาหลีใต้และไต้หวันทำเพื่อพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

จากข้อมูลจะพบว่าคน 10% ที่รวยที่สุดของประเทศ ส่งลูกหลานเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาได้ถึง 66% ส่วนคน 10% ที่จนที่สุดของประเทศส่งลูกหลานไปถึงระดับอุดมศึกษาได้เพียง 4% นั่นหมายความว่าเรากำลังจะส่งผ่านความยากจนจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งด้วยโครงสร้างทางสังคม เรากำลังจะส่งผ่านความเหลื่อมล้ำไปยังคนรุ่นต่อไป
 

รัฐสวัสดิการแบบไหนเหมาะกับสังคมไทย?

จากรูปด้านล่าง QU1 ถึง QU5 คือข้อมูลครัวเรือนตามระดับรายได้  QU1คือกลุ่มคนจนที่สุด 20% ของประเทศ  QU2 คือกลุ่มคนจนรองลงมา QU3 กลุ่มคนฐานะปานกลาง QU4 กลุ่มคนที่ค่อนข้างมีฐานะ และ QU5 คือ 20% ของคนที่รวยที่สุดในประเทศ ภาพนี้เปรียบเทียบให้เห็นว่าคน 5 กลุ่มนี้ใช้สวัสดิการของรัฐแตกต่างกันอย่างไร โดยมีสวัสดิการ 4 เรื่อง ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนหมู่บ้าน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ จากรูปเราจะเห็นว่ากลุ่มคนจนใช้สวัสดิการของรัฐมากที่สุดในทุกเรื่อง

ภาพนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงสำคัญเมื่อคนกลุ่มหนึ่งมองว่าสวัสดิการต้องถ้วนหน้าแต่ไม่ต้องเท่าเทียมก็ได้ กรองโดยคุณภาพ คนอีกกลุ่มมองว่าเราต้องได้สวัสดิการที่ทั้งถ้วนหน้าและเท่าเทียม คนทุกกลุ่มใช้สวัสดิการของรัฐได้ ขณะที่คนอีกกลุ่มมองว่าสวัสดิการของรัฐควรให้เจาะจงเฉพาะคนจนเท่านั้น


คุณคิดว่าระบบสวัสดิการแบบไหนเหมาะสมสำหรับเมืองไทย?

- สวัสดิการถ้วนหน้า แต่ไม่ต้องเท่าเทียม (ก็ได้)

- สวัสดิการถ้วนหน้า และต้องเท่าเทียม

- สวัสดิการแบบพุ่งเป้า สำหรับคนจน

เดชรัตทิ้งท้ายไว้ว่า "ถ้าเราเห็นด้วยกับระบบที่ 2 คือถ้วนหน้าและเท่าเทียม เราก็ควรจะต้องชี้แจงให้สังคมเห็นว่าสุดท้ายแล้วผลที่ได้คืออะไร เราไม่ได้ต้องการช่วยคนจนเท่านั้น เราต้องการให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราทำเรื่องสวัสดิการไม่ใช่เพราะเฉลี่ยทุกข์สุขภายในประเทศเท่านั้น แต่เราต้องการให้ประเทศมีพลังขับเคลื่อนที่ดีที่สุด นั่นคือพลังที่มาจากทุกๆ คน ไม่ใช่พลังที่บางคนขับเคลื่อนได้แต่บางคนขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่"

"เราไม่ได้ต้องการช่วยคนจนเท่านั้น เราต้องการให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง...เราต้องการให้ประเทศมีพลังขับเคลื่อนที่ดีที่สุด นั่นคือพลังที่มาจากทุกๆ คน ไม่ใช่พลังที่บางคนขับเคลื่อนได้แต่บางคนขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่"
– เดชรัต สุขกำเนิด


วิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ชี้ให้เห็นว่า "เวลาพูดเรื่องรัฐสวัสดิการจะมีคนจำนวนมากที่คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะรัฐสวัสดิการต้องสร้างจากประเทศที่ร่ำรวยแล้ว แต่ว่าจากข้อมูลชัดเจนว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้เกิดความเท่าเทียมซึ่งมันไปพร้อมๆ กัน ถ้าหากว่าเรามีประชาธิปไตย มีอำนาจที่ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐสวัสดิการก็จะสร้างขึ้นได้ ดังนั้นเราไม่ได้พูดถึงรัฐสวัสดิการในฐานะรูปแบบทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เรากำลังพูดถึงความเชื่อและการเปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนมุมมอง"

ซึ่งแนวคิดของการจะทำให้เกิดสวัสดิการมีหลายรูปแบบ นิติรัตน์แจกแจงให้เห็นว่า แบบแรกคือสวัสดิการแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แบบที่สองใครอยากได้ซื้อเอา อยากได้ประกันชีวิตอยากได้คุณภาพชีวิตที่ดีก็ต้องซื้อเอง แบบที่สามคือสวัสดิการชุมชน มองในขอบเขตชุมชนเช่นออมวันละบาท บางชุมชนมีเงินฌาปนกิจเป็นต้น และแบบที่สี่คือแนวคิดสวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ การบริจาค คนมีช่วยคนไม่มี ซึ่งรัฐไทยมีวิธีคิดเช่นนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นรูปธรรมที่บ่งบอกได้ชัดเจน"

ความแตกต่างของแนวคิดดังกล่าวเป็นที่มาของนโยบายรัฐในหลายเรื่อง สำหรับนิติรัตน์เชื่อว่า "รัฐสวัสดิการต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมความเป็นธรรมโดยระบบภาษี คนรวยต้องจ่ายภาษีเพื่อให้เท่าเทียมทางสังคม" เราจึงต้องผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการร่วมกันเพราะ "รัฐสวัสดิการจะเป็นความหวังในการเปลี่ยนสังคม รัฐสวัสดิการจะเป็นคำตอบ และสิ่งที่ยังเป็นมายาคติคือรัฐสวัสดิการสร้างได้ในประเทศร่ำรวยเท่านั้นซึ่งไม่จริง"

"รัฐสวัสดิการจะทำให้เกิดความเท่าเทียมซึ่งมันไปพร้อมๆ กัน ถ้าหากว่าเรามีประชาธิปไตย มีอำนาจที่ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐสวัสดิการก็จะสร้างขึ้นได้" – นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์


เงินเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการมาจากไหน?

คนจำนวนไม่น้อยมีมายาคติว่ารัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ในประเทศร่ำรวย แต่ประเทศเรายากจนแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชน?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ลองมาดูข้อมูลตัวเลขบางส่วน

- งบสวัสดิการสังคม

เดชรัตชี้แจงข้อมูลไว้ว่า "ปัจจุบันงบสวัสดิการทั้งประเทศลงไปสู่ข้าราชการประมาณ 51%  ปี 2561 ข้าราชการรับเบี้ยหวัดบำนาญทั้งหมด 191,222 ล้านบาท จ่ายให้ข้าราชการ 6-7 แสนคน แต่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ข้าราชการ มีจำนวนผู้สูงอายุทั้งประเทศประมาณ8 ล้านใช้เงินรวมกัน 6 หมื่นกว่าล้าน คน 6-7 แสนใช้เงินแสนเก้าล้าน ส่วนคนอีก 8 ล้านใช้เงิน 6 หมื่นกว่าล้าน ตอนนี้รัฐบาลกำลังจะแจกเหรียญเชิดชูเกียรติให้คน 8 ล้านถ้าไม่รับเงิน คาดว่าน่าจะประหยัดเงินไปได้หมื่นล้าน ในทางกลับกันข้าราชการคิดง่ายๆ ถ้าสมมติบำนาญลดลงไปสัก 10% เท่ากับเกือบ 2 หมื่นล้าน โจทย์แบบนี้รัฐบาลไม่เคยตั้งว่าตกลงเงินไปอยู่ที่ไหนกันแน่ เงินที่บอกว่ามันมีน้อยมันไปอยู่ที่ไหนกันแน่ ผมเองเป็นกลุ่มผู้รับข้าราชการบำนาญ ผมเป็นผู้ที่อยากได้บำนาญเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่ผมรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมเลยกับพี่น้องประชาชนเลยเมื่อเราโชว์ตัวเลขนี้ออกมา ดังนั้นเราต้องคุยกับรัฐบาลว่าถ้าเราอยากจะได้สวัสดิการเพิ่มขึ้นการจัดสรรแบบนี้จะต้องเปลี่ยนใหม่"

- การหักลดหย่อนภาษี

ในแต่ละปีเราให้การลดหย่อนภาษีแก่บริษัทปีละประมาณ 2 แสนกว่าล้าน ดูอัตราการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งคือเก็บจากบริษัทจะพบว่าของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน ล่าสุดมีมติ ค.ร.ม. ลดหย่อนภาษีให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐอีก ลองพิจารณาว่าหากไม่ลดหย่อนมากเพียงนี้ประเทศจะมีเงินมาทำสวัสดิการได้มากมายเพียงใด

เมื่อมาดูเรื่องการลดหย่อนภาษีผู้มีรายได้ส่วนบุคคล พบว่านอกจากการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร เลี้ยงดูพ่อแม่ แล้วยังมีการหักลดหย่อนค่าประกันชีวิต หักลดหย่อนค่าลงทุนใน LTF/RMF และสุดท้ายช็อปช่วยชาติ กลุ่มที่หักลดหย่อนได้มากที่สุดก็คือกลุ่มที่เสียภาษีเยอะที่สุด นี่คือรายจ่ายของภาษี จะเห็นว่าคนกลุ่มที่ 5 ก็หักลดหย่อนได้มากที่สุด ถ้าเราไม่หักลดหย่อนขนาดนี้รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

- ภาษีที่ดิน

สุดท้ายที่เรายังไม่มีการเก็บภาษีเลยก็คือภาษีที่ดิน เราจะเห็นว่าเรามีที่ดินที่ไม่มีความเป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำกันมาก ดังนั้นถ้าเก็บภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้นเราก็น่าจะมีเงินสำหรับสวัสดิการอีกไม่น้อย

จากภาพ สมมติเราเก็บเฉพาะคนสองกลุ่มแรกที่มีที่ดิน 61% กับมีที่ดิน 18% คือรวมกันมีที่ดิน 80% ของประเทศ เราไม่เก็บคน 80% ที่เหลือแต่เก็บคน 20% แต่คน 20% นี้มีที่ดิน 80% ของประเทศ ก็น่าจะมีเงินได้ประมาณ 8 แสนล้านกว่า ยังไม่รวมเก็บที่ดินว่างเปล่าซึ่งควรจะเก็บ ที่ผ่านมาเราเก็บภาษีที่ดินถูกเกินไป

เดชรัตยกตัวอย่างประสบการณ์ของเขาว่า "หลายปีก่อนผมมีที่ดินที่บางบัวทองเมื่อครั้งยังไม่สร้างบ้าน ผมจ่ายภาษีบำรุงท้องที่ 100 บาท ที่ดินของผมมีมูลค่าโดยประเมินคือ 4 ล้านบาท ทุกปีจะขึ้นประมาณ 5% ซึ่ง 5% ของ 4 ล้านบาทก็คือประมาณ 2 แสนบาท สองแสนบาทคือมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นโดยผมไม่ได้ทำอะไร ซึ่งส่วนที่ทำให้ที่ดินราคาขึ้นคือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนราชพฤกษ์ ถนนชัยพฤกษ์ สะพานที่สร้างขึ้นใหม่ เหล่านี้ทำให้ที่ดินราคาขึ้น แต่ผมได้ประโยชน์ไป 2 แสนบาทโดยที่ผมไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วถ้าผมจะเสียภาษีแค่ 10% ของมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นคิดว่ายุติธรรมกับรัฐมั้ย แค่ 10% ก็คือเสีย 2 หมื่น แต่ผมยังได้เงิน 180,000 แต่ผมเสีย 100 บ. นี่คือปัญหาของระบบเมืองไทย ผมควรจะเสียอย่างน้อย 2 หมื่นแต่ผมเสีย 100 บ. และสุดท้ายผมก็ยังได้รับบำนาญอีกแต่เขาบอกว่าไม่มีเงินขึ้นเบี้ยยังชีพแล้ว นี่คือปัญหาของสังคมไทย"

เขายืนยันว่าต้องมีการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจังโดยเฉพาะประเด็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า

"เราต้องมีการปฏิรูปที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินว่างเปล่าซึ่งมีถึง 7 ล้านไร่กว่าตามตัวเลขที่ถูกโชว์ ซึ่งมากกว่าที่ดินที่คน 60% ของประเทศมี ดังนั้น 7 ล้านไร่กว่าต้องเอามาให้ได้ 7 ล้านไร่กว่าเราควรคิดอย่างไร คิดง่ายๆ ถ้าผมมีที่ดิน 1 แปลง ที่ดินของผมมูลค่าราคาเพิ่มขึ้นปีละ 5% ผมเก็บไว้ ไม่ทำอะไรเลยผมก็เก็บไว้ เพราะเก็บไว้ราคาเพิ่มขึ้น 5% ว่างเปล่าก็เก็บ ดังนั้นถ้าจะให้ผมไม่เก็บทำอย่างไรก็ต้องเก็บภาษีให้เกินกว่า 5% เก็บ 1-2% ก็ยังเก็งที่ดินต่อ เพราะได้ราคา 5% เสียภาษี 1% ก็ยังสบายอยู่ ดังนั้นภาษีที่ดินที่เรียกเก็บในกรณีที่ดินว่างเปล่าต้องมากกว่ามูลค่าของที่ดินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี"


กระบวนการขับเคลื่อนของคนชายขอบสู่รัฐสวัสดิการ

สุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า "ตอนนี้แรงงานนอกระบบเรากำลังขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการเป็นสังคมสวัสดิการ และร่วมขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการเรื่องสุขภาพด้วย เราก็บอกว่าเรื่องสุขภาพน่าจะขยับไปตรวจสุขภาพแรงงานนอกระบบที่มีความเสี่ยงด้วย ตรวจคนที่เจ็บป่วยอยู่แล้ว เราก็เลยบอกว่าในเรื่องสุขภาพควรจะมีเรื่องส่งเสริมและป้องกันก่อนที่จะเจ็บป่วย เมื่อเราป้องกันก่อนเจ็บป่วยเราก็จะลดค่าใช้จ่ายตอนเจ็บป่วยได้ มีผลบวกต่อเรื่องลดค่าใช้จ่ายตอนเจ็บป่วย ก็เป็นเรื่องสุขภาพ

"ส่วนเรื่องสวัสดิการสังคมเราเคลื่อนเรื่องประกันสังคมเพราะเรามีส่วนร่วมสมทบ ทำไมเคลื่อนเรื่องประกันสังคมเพราะว่าสวัสดิการอื่นๆ เราไม่มี ก็จะมีข้าราชการ แรงงานในระบบ สวัสดิการคนทั่วไป เรื่องบำนาญ เราบอกว่าข้าราชการมีบำนาญ พวกเราทำอย่างไรจะมีบำนาญบ้างทำอย่างไรจะมีสวัสดิการตอนเจ็บป่วยแล้วเราไปนอน รพ. เรารักษาฟรีแต่เราไม่มีรายได้ ก็เลยคุยกัน เราอยากได้สวัสดิการตอนเราไปนอน รพ. แล้วเราขาดรายได้ เราก็มาเคลื่อนในประกันสังคมให้มีตัวนั้น แล้วถ้าเราพิการขึ้นมาเราก็อยากมีรายได้ตอนเราพิการ เราก็ไปเคลื่อนเรื่องตอนพิการแล้วเราได้รายได้ชดเชย เราไปเคลื่อนเรื่องตอนเราตาย ปัจจุบันบางคนตายแล้วลูกหลานต้องไปกู้เงินมาทำศพ ตอนนี้ถ้าเราตายตอนนี้เราต้องมีเงินหลักหมื่นขึ้นไป ค่าน้ำมันเผาศพอย่างเดียวก็ 5 พันแล้ว ดังนั้นหมื่นหนึ่งนี้ก็ไม่พอหรอก เราก็เลยมาเคลื่อนเรื่องเสียชีวิตให้อยู่ในสิทธิของประกันสังคมมาตรา 40 เพราะแรงงานนอกระบบมีสิทธิเข้าประกันสังคมได้แค่มาตรา 40 เท่านั้น

"ตอนนี้เรามาขับเคลื่อนเรื่องพัฒนาสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมมาตรา 40 ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะในระบบเขาตายได้ 4 หมื่นแต่นอกระบบตายได้ 2 หมื่น คุณภาพชีวิตคนเราก็เท่ากัน เราจึงไปขับเคลื่อนว่าต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องตายให้ได้ 4 หมื่นเท่ากันเพราะคนเหมือนกัน ตายเหมือนกัน เรามีคุณภาพชีวิตเหมือนกัน เราก็เลยไปขับเคลื่อนเรื่องนี้ แล้วค่าทดแทนการขาดรายได้ถ้าเราไปนอน รพ. เราขาดรายได้เราขอเพิ่มจาก 200 เป็น 300 บ. ได้มั้ยเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะปัจจุบันถ้าเราเจ็บป่วยไปนอน รพ. เราจะได้ค่าทดแทน 200 บ. ต่อวัน ปีหนึ่งได้ 30 วัน เราขอเพิ่มเป็น 300 บ. ปีหนึ่ง 90 วัน ก็เป็นเรื่องที่เราขับเคลื่อนอยู่ ส่วนเรื่องพิการ ตอนนี้เขาให้ 5,000 หรือ 1,000 ให้แค่ 15 ปี แต่เราบอกว่าขอเป็นตลอดชีวิต ก็เป็นเรื่องที่เราขับเคลื่อนสวัสดิการเรื่องประกันสังคมมาตรา 40

"แรงงานนอกระบบไม่มีกฎหมายคุ้มครองเลย ถามว่าทำไมต้องอยากมี พ.ร.บ. คุ้มครอง ก็เพราะงานที่ทำในระบบมันไหลออกมานอกระบบ ซึ่งงานบางตัวมันมีสารเคมีฝุ่นฝ้ายมันกระทบกับสุขภาพ เราเอามาทำมันกระทบกับครอบครัว พี่น้องเรา คนท้อง คนแก่ เด็กเล็กในบ้าน มันก็มีผลกระทบกับคนในครอบครัวด้วย สิ่งเหล่านี้เราไม่มีกฎหมายคุ้มครองเลยเราก็เลยไปขับเคลื่อนให้มีกฎหมายคุ้มครอง ตอนนี้แรงงานนอกระบบเรามีสองกลุ่ม มีอาชีพอิสระทั่วไป กับกลุ่มผู้รับงานมาทำที่บ้านซึ่งจะรับงานจากภาคอุตสาหกรรมมาทำที่บ้าน พอเราไปเคลื่อนกฎหมายคุ้มครอง กฎหมายคุ้มครองออกมาคุ้มครองเฉพาะกลุ่มผู้รับงานมาทำที่บ้านเท่านั้น แต่กฎหมายนี้ก็ยังอยู่ระหว่างร่างกฎหมายลูกกันอยู่ยังไม่ได้บังคับใช้ พวกเราก็พยายามเข้าไปขับเคลื่อน นี่คือการเคลื่อนไหวของแรงงานนอกระบบที่เป็นอยู่"


 

สุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า "เรื่องคนไร้บ้าน เรื่องรัฐสวัสดิการโดยเฉพาะบำนาญแห่งชาติ บำนาญผู้สูงอายุต้องมีเพดานมากกว่านั้น เรื่องการรักษาพยาบาล เราเรียกร้องว่าน่าจะตั้งเป็นกองทุน 3 พันล้านกระจายไปให้ รพ.รัฐทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ผ่านมาสวัสดิการเราคนจนไม่เคยได้รับ จะทำอย่างไรที่จะเคลื่อนรัฐสวัสดิการให้เป็นผลดีสำหรับคนจนจริงๆ" เป็นคำถามที่ลุงดำทิ้งท้ายไว้

ในที่สุดแล้วรัฐสวัสดิการจะเป็นความหวังในการเปลี่ยนสังคม เป็นคำตอบของสังคมเท่าเทียมเป็นธรรมได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเราทุกคนที่จะร่วมก่อร่างสร้างขึ้นมา

 
เชิงอรรถ

[1] "โลกกับความท้าทายของ 'สังคมสูงอายุ'", https://www.matichon.co.th/news/789840

[2]  https://thestandard.co/elderly-care-allowances/

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น