โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วงเสวนาชี้ พัฒนาเศรษฐกิจไทยผูกพันการศึกษา ทัศนคติ ภาวะโลกร้อน

Posted: 18 Jan 2018 11:53 AM PST

แม้จีดีพีไทยสูงขึ้นแต่ปัญหารอบด้าน เศรษฐกิจอนาคตต้องการทัศนคติเปิดกว้าง โลกาภิวัฒน์เปลี่ยนเพิ่มเหลื่อมล้ำ การศึกษาปฐมวัยและช่วงทำงานเพื่อสร้างทัศนคติจะสำคัญ พัฒนาเศรษฐกิจอย่าลืมสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจกลำบากเพราะรัฐ ระบบราชการยังไม่กระฉับกระเฉง

ซ้ายไปขวา: ธีรวุฒิ ศรีพินิจ สันติธาร เสถียรไทย ศิริรุจ จุลกะรัตน์ ชยันต์ ตันติวัสดาการ

18 ม.ค. ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดวงเสวนาสรุปการเสวนาประจำปีหัวข้อ  "Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน?" ร่วมเสวนาโดย รศ.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สันติธาร เสถียรไทย ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจเอเชีย ธนาคารเครดิตสวิส ศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

แม้จีดีพีไทยสูงขึ้นแต่ปัญหารอบด้าน เศรษฐกิจอนาคตต้องการทัศนคติเปิดกว้าง

ธีรวุฒิกล่าวว่า เวลาต้องการพัฒนาเศรษฐกิจมีความต้องการสามอย่าง คือความรุ่งเรือง ความมั่นคง และความยั่งยืน สิ่งที่เราเคยคุยมาตลอดคือการสร้างความรุ่งเรือง แต่ตอนนี้เราพูดถึงเรื่องความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น พัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยเติบโตผ่าน 1.0 มาถึงยุค 4.0 ผ่านระบบเศรษฐกิจการเกษตร อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก และสังคมที่มุ่งสร้างคุณค่าเพิ่มเติม (value-added)

เศรษฐกิจ ไทยโตด้วยการส่งออก แต่ตอนนี้ความเก่งเรื่องการส่งออกถดถอยลง ภาคบริการที่โตขึ้นมานั้นเป็นที่พึ่งพาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้เพราะไม่มีผลผลิตอะไรออกมาได้เอง ทรัพยากรที่ทำให้เราเติบโตขึ้นมาก็ถูกประเทศอื่นแย่งไป ทั้งยังมีอิทธิพลจากภายนอกประเทศเข้ามา

ในยี่สิบปีที่ผ่านมาไทยมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ที่โตขึ้น การบริโภคต่อหัวสูงขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากการส่งออกและนำเข้าเป็นกำลังสำคัญ สิ่งที่ดีขึ้นคือเงินสดสำรองระหว่างประเทศเยอะจนสามารถใช้หนี้ทั้งประเทศได้ทันที แต่อีกด้านหนึ่งคือไทยมีหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง เพราะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาเป็นการกู้ยืมเพื่อบริโภค สัดส่วนหนี้ที่กู้เพื่อการศึกษาน้อยลงเรื่อยๆ อัตราก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี คอร์รัปชันเพิ่มขึ้น มันเคยลดลงนิดหนึ่งแต่ก็ขึ้นไปอีก

ศิริรุจกล่าวว่า ประเทศไทยติดกับดักสามด้าน ทั้งด้านรายได้ ไม่มีความเท่าเทียม ไม่มีความสมดุล เรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อหาสาเหตุจากอดีตก็พบว่าในอดีตเราใช้ความได้เปรียบทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานที่ราคาถูกแต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ค่าแรงสูงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหมดไป โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน เมื่อดูนโยบายต่างประเทศของประเทศใหญ่ๆ ทั้งหลาย ประเทศที่เสรีสุดโต่งอย่างสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มกลับไปปิดตัวเอง สหภาพยุโรปก็เน้นการฟื้นฟูภายในซึ่งสะท้อนถึงสภาวะปิดกั้นตัวเอง เศรษฐกิจดิจิทัลที่หลายคนคิดว่าทันสมัยและสะดวกก็เป็นดาบสองคม อย่าอาลีบาบา บริษัทขายสินค้าออนไลน์ขนาดใหญ่จากจีนที่ขายได้ แต่ถ้าเข้าถึงอาลีบาบาไม่ได้ก็ตาย เมื่อหันมามองที่ไทยแล้วก็ต้องถามว่าเราพร้อมแค่ไหน  ถ้าไม่พร้อมหรือทำไม่ได้นั่นหมายถึงไทยกำลังทิ้งโอกาสด้านการค้า หรือโอกาสในการไปมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโลก เพราะการค้าในอนาคตต่างก็จะอยู่บนพื้นที่ดิจิทัล สิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมทำตอนนี้คือสร้างศักยภาพกับผู้ประกอบการมากขึ้น ให้ธุรกิจ sme มีระบบดิจิทัลเข้ามามีส่วนในการค้าและกระบวนการทั้งหลาย ตนเคยได้ยินเด็กรุ่นใหม่พูดว่าเขาไม่ได้มีอาชีพเพียงอาชีพเดียว อนาคตต้องการคนที่มีความสามารถหลายอย่าง เศรษฐกิจในอนาคตก็คงเป็นแบบนั้น คือเชื่อมโยงและไปถึงกันให้ได้ การเชื่อมโยงในอนาคตต้องใช้ระบบดิจิทัล คนจึงต้องมีองค์ความรู้ที่ดี ทัศนคติที่เปิดรับองค์ความรู้มากขึ้น

โลกาภิวัฒน์เปลี่ยนเพิ่มเหลื่อมล้ำ การศึกษาปฐมวัยและช่วงทำงานเพื่อสร้างทัศนคติจะสำคัญ

สันติธารกล่าวว่า โจทย์ที่ยากและต้องถามก่อนคือการหาภาพร่างว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ธีมที่สำคัญคิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์ 3 มิติ หนึ่ง การค้าโลกที่เหมือนเป็นแกนโลกาภิวัฒน์เก่าที่แผ่วลง สัดส่วนการค้าต่อจีดีพีโลกอยู่ในขาลงหลังวิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ กับวิกฤติการณ์การเงินยุโรป การแข่งขันในตลาดจะรุนแรงขึ้น ทุกประเทศมียุทธศาสตร์คล้ายๆ กันกับที่ไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ที่น่ากลัวคือจีนเพราะมีทั้งกำลังคน กำลังเงิน และตลาดใหญ่ สมมติว่าถ้าในอนาคตไทยมีสมรรถนะ สามารถแข่งขันได้ ก็ต้องมาถามว่าคนที่จะได้อานิสงค์จากชัยชนะจะมีสักแค่ไหนในเศรษฐกิจเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ถ้าเราชนะด้วยการจ้างงานคนน้อยลง ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น คนที่ได้ประโยชน์ก็กระจุกตัว ความเหลื่อมล้ำอาจจะแย่ลง

สอง ผู้นำโลกาภิวัฒน์เปลี่ยน สมัยก่อนเป็นอเมริกา อนาคตอาจเป็นจีนและเอเชีย ตอนนี้มีกระแสการมาของพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ (e-commerce) จำนวนดีลทางเทคโนโลยีของจีนที่เข้ามาในอาเซียนมากขึ้นเป็น 3-4 เท่า การโตขึ้นของอีคอมเมิร์ซก็เป็นดาบสองคม ธุรกิจระดับเล็ก กลาง ใหญ่ อาจขยายตลาดได้ผ่านโลกออนไลน์ แต่ทางลบคือ ธุรกิจเหล่านั้นก็จะถูกตีตลาดโดยยักษ์ใหญ่ของอีคอมเมิร์ซได้เช่นเดียวกัน

สาม มิติด้านข้อมูล เมื่อก่อนมีสงครามแย่งน้ำมัน แต่ปัจจุบันเป็นการแย่งชิงข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องน่าถามว่า ในอนาคต กรรมสิทธิ์ของข้อมูลควรเป็นของใคร วันนี้เราให้ข้อมูลผู้ให้บริการง่ายไปหรือเปล่า การเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์ทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างออกและจะมีผลกระทบกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในปีที่แล้วที่มีกระแสคำถามว่า เศรษฐกิจดีแล้วทำไมคนไม่รู้สึก

สันติธารตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจะพัฒนาคนให้ทันโลกยุคใหม่ การศึกษาต่อไปจะไม่ใช่เรื่องประถม มัธยม มหาวิทยาลัย แต่การศึกษาช่วงต้นคือปฐมวัยกับช่วงปลาย หรือช่วงหลังจากเข้าทำงานจะมีความสำคัญขึ้นมาก การบ่มเพาะทัศนคติเป็นเรื่องที่สำคัญ สิ่งที่หุ่นยนต์แทนคนไม่ได้คือทักษะพฤติกรรม ทีมเวิร์กและความเข้าใจคนอื่น ซึ่งจะเปลี่ยนตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว แต่เรื่องดีคือ หลายประเทศก็เปลี่ยนไม่ทันเหมือนกัน ยังคุ้นชินกับแบบแผนการศึกษาแบบเดิม

พัฒนาเศรษฐกิจอย่าลืมสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจกลำบากเพราะรัฐ ระบบราชการยังไม่กระฉับกระเฉง

ชยันต์กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องดูองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมและการกระจายรายได้ เห็นด้วยว่ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ให้คนเห็นตรงกันว่าจะวิ่งไปทางไหน แต่ไม่ควรเปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะโลกเปลี่ยนเสมอ ส่วนตัวแค่อนาคต 5 ปีข้างหน้ายังไม่อยากจะเดาเลย สิ่งที่กังวลที่สุดคือ การเติบโตของประเทศที่เน้นการเจริญเติบโตมากไปจนลืมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องความเหลื่อมล้ำและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ดัชนีชี้วัดสมรรถภาพด้านสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ที่ร้อยละ 69.54 เรื่องสำคัญคือ ป่าไม้หายไปทุกปี ปัญหาด้านการประมงอย่างผิดกฎหมายและทำลายทรัพยากร

ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือปัญหาใหญ่ที่เป็นผลกระทบต่อโลกทั้งใบ ปัจจุบันความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ประมาณ 401 ส่วนในล้านส่วน (PPM) อุณหภูมิโลกสูงจากปี 2423 มาแล้ว 0.85 องศาเซลเซียส และถ้าเพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส โลกจะประสบปัญหาวิกฤต ปัจจุบันไทยมีสัญญาการลดก๊าซเรือนกระจก 2 ระดับ หนึ่ง เจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศไทย( Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs)  ที่ไทยสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากร่วมลงนามกับข้อตกลงปารีสคือต้องลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 20 และต้องทำให้ได้ภายในปี 2563 ที่ผ่านมาไทยลดก๊าซไปได้ร้อยละ 11 แล้ว ไม่น่าห่วง แต่ในระดับต่อไปที่ต้องลดให้ได้ร้อยละ 25 นั้นค่อนข้างยาก ส่วนหลักที่ต้องลดคือภาคพลังงานอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเป็นร้อยละ 37 ซึ่งภาคส่วนดังกล่าวไปอยู่ที่หน่วยงานราชการเป็นส่วนใหญ่

ชยันต์ตั้งข้อสังเกตว่า การลดก๊าซยังมีคำถามในเรื่องต้นทุนว่าการลดแบบไหนใช้ต้นทุนน้อย ส่วนไหนใช้ต้นทุนมาก นอกจากนั้น เมื่อดูจากระเบียบต่างๆ ในเรื่องนี้ยังไม่ระบุว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาหลัก เรื่องสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกกับผู้บริโภค ปัจจุบันเราทำงานกันในด้านผู้ให้บริการและผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น รัฐยังขาดความสนใจเรื่องการปรับตัวกับสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สาธารณูปโภคและพันธุ์พืชของไทยพร้อมกับสภาวะภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนหรือไม่ เราจะจัดการกับการแย่งยื้อทรัพยากรอย่างไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.ระบุ 'คลินิกชุมชนอบอุ่น' ในระบบได้เกณฑ์มาตรฐานบริการ ประชาชนมั่นใจได้

Posted: 18 Jan 2018 09:57 AM PST

รองเลขาธิการ สปสช.ระบุภาพรวม 'คลินิกชุมชนอบอุ่น' ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เกณฑ์มาตรฐานบริการ ประชาชนมั่นใจได้ พร้อมชี้กรณีคลิป หมอ-ผู้ป่วย ทำร้ายร่างกาย ขณะใช้สิทธิบัตรทองคลินิกชุมชนอบอุ่นแห่งหนึ่ง รอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

18 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงเกณฑ์มาตรฐานคลินิกชุมชนอบอุ่น ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากที่มีการแชร์คลิปโลกโซเชียล กรณี "แพทย์และผู้ป่วยมีวิวาทะ และทำร้ายร่างกายกันในขณะเข้ารับบริการที่คลินิกชุมชนอบอุ่นโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ว่า คลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปกติจะมีการตรวจตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนด ทั้งในด้านสถานประกอบการ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงบุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพและจำนวนตามที่กำหนด ขณะเดียวกันคลินิกที่ผ่านเกณฑ์และเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการประจำ ยังต้องได้รับการประเมินตรวจสอบทุกปี โดยกรณีที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะถูกคัดออก แต่ในเรื่องของอารมณ์และพฤติกรรมเป็นคนละประเด็น คงต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น นพ.การุณย์ ระบุว่า ทางคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เกิดเหตุได้ประสานมายัง สปสช. โดยขอให้เราเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งทาง สปสช.เขต 13 กทม.ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบตามระบบ โดยขณะนี้เรายังสรุปไม่ได้และคงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบก่อน ซึ่งปกติ สปสช.จะกำกับในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานบริการ แต่เรื่องของวิวาทะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง  

"เรื่องนี้คงต้องแยกเรื่องคุณภาพมาตรฐานกับอารมณ์ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอยู่แล้ว และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลิปยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องตรวจสอบก่อน เพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประชาชนไม่มั่นใจการรับบริการยังคลินิกชุมชนอบอุ่นและเลือกเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลแทนนั้น นพ.การุณย์ กล่าวว่า การบริการและการดูแลผู้ป่วยของคลินิกชุมชนอบอุ่นส่วนใหญ่ ภาพรวมมีคุณภาพและมาตรฐาน และประชาชนผู้รับบริการส่วนใหญ่ต่างพึงพอใจ เพราะได้รับบริการที่รวดเร็วและมีคุณภาพมาตรฐาน กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงส่วนที่น้อยมาก ซึ่งประชาชนยังคงมั่นใจบริการคลินิกชุมชนอบอุ่นได้

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวด้วยว่า ส่วนการที่จะไปรับบริการที่โรงพยาบาลแทนนั้น แน่นอนย่อมมีความแออัดมากกว่า และยังต้องรอคิวนานเพื่อรับการตรวจไม่ถึง 5 นาที เพราะด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มาก ดังนั้นในโรคพื้นฐานทั่วไป การรับบริการที่คลินิกชุมชนอบอุ่นย่อมสะดวกรวดเร็วกว่า และเมื่อเกินศักยภาพการดูแลที่คลินิก ก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลตามระบบได้ ขณะเดียวกันยังช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล สามารถดูแลผู้ป่วยได้ละเอียดขึ้น 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.แรงงานสั่งเร่งยกร่าง ก.ม. อนุสัญญา ILO แรงงานบังคับ-งานประมง เสนอ สนช.ปลายมีนา

Posted: 18 Jan 2018 09:48 AM PST

รมว.แรงงาน สั่งเร่งยกร่างกฎหมายอนุสัญญา ILO ว่าด้วยแรงงานบังคับ และ การทำงานในภาคประมง เสนอ สนช. ปลาย มี.ค.นี้ อนุสัญญา ILO ฉ.98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง จะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ก.ย.นี้

18 ม.ค. 2561 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมพร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ กระทรวงแรงงาน โดยกล่าวภายหลังการประชุมว่า ให้เร่งดำเนินการยกร่างกฎหมาย เพื่อรองรับการให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และยกร่าง/ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ให้แล้วเสร็จปลายเดือนมีนาคม 2561 เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป รวมถึงให้ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ยังได้วางแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อช่วยเหลือคนต่างด้าวที่ถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมายด้านแรงงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.พ. 2561 และให้เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย โดยออกระเบียบให้พนักงานตรวจแรงงาน เมื่อพบการกระทำความผิดที่ใช้แรงงานเด็กในลักษณะอันตรายหรือสถานที่ที่ห้ามเด็กทำ หรือเด็กที่เข้าข่ายแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ ให้ดำเนินคดีชั้นพนักงานสอบสวนทันที โดยไม่มีการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยมีผลปฏิบัติทันที 19 ม.ค.นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ สนช. ให้ประกาศใช้ร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ มุ่งรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด

Posted: 18 Jan 2018 09:33 AM PST

สนช. มีมติให้การประกาศใช้ร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็นกฎหมาย มุ่งให้เกิดการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด สอดคล้องรัฐธรรมนูญ

18 ม.ค. 2561 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่ง สนช.มีมติรับหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอไว้ในวาระแรก เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา และมอบหมายให้กรรมาธิการวิสามัญทำหน้าที่พิจารณาศึกษาและเสนอกลับมายัง สนช. ให้ความเห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งท้ายที่สุด สนช. มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ให้ประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยเสียง 158 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 167 คน โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลัง เป็นร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้รัฐรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมาย มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ กำหนดวินัยการคลังด้านรายได้และรายจ่าย ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐ เงินคงคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ

รายงานยังระบุด้วยว่า ที่ประชุม สนช. เห็นควรนำข้อสังเกตของกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอไปยังรัฐบาลประกอบการดำเนินงาน อาทิ ควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการดำเนินการตามกฎหมายให้ชัดเจน เนื่องจากกฎหมายฉบับใหม่นี้มีวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่สำหรับการกำหนดวินัยการเงินการคลัง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ รวมทั้งขอให้มีการแสดงรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับการกู้เงินของรัฐบาล จำนวนเงินที่กู้ ในเอกสารประกอบการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีข้อมูลประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณได้อย่างรอบคอบมากขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปมยืดบังคับใช้ ก.ม.ส.ส.เพิ่ม 90 วัน 'วิษณุ' บอกไม่ผิดหลัก 'มีชัย' ระบุทำได้

Posted: 18 Jan 2018 08:46 AM PST

กระแสข่าวยืดบังคับใช้ ก.ม.ส.ส.เพิ่ม 90 วัน ส่งผลเลือกตั้งใหม่ลากยาวปี 62 'วิษณุ' บอกไม่ผิดหลักกฎหมายอะไร ขณะที่ 'มีชัย' ระบุทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลและตอบสังคมได้ 

แฟ้มภาพ

18 ม.ค. 2561 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า แหล่งข่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา กรรมาธิการวิสามัญ สนช. ได้มีการประชุมลับเพื่อพิจารณาแก้ไขมาตรา 2 กฎหมายด้วยว่าการเลือกตั้ง ส.ส. จากเดิม ที่ระบุว่า ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เป็น ให้ใช้บังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปแทน ซึ่งจะมีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาสนช.วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 25 ม.ค.61 นี้

"การแก้ไขเงื่อนเวลาให้กฎหมายเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับออกไปอีก 90 วันดังกล่าว ถูกคาดหมายว่าอาจจะเป็นความพยายามในการหาทางช่วยเหลือพรรคการเมืองใหม่ของรัฐบาล คสช. ที่จะจัดตั้งขึ้นมาลงเลือกตั้ง ให้มีระยะเวลาเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่มากขึ้นจากเดิมอีก 3 เดือน ซึ่งจะมีการผลต่อการเลือกตั้ง ส.ว.ด้วย" แหล่งข่าวระบุ
 
แหล่งข่าว ยังระบุด้วยว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดว่า ภายหลังจากที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในระยะเวลา 150 วัน หากมีการแก้ไขระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน เท่ากับว่าระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะขยายออกไปเป็น 240 วัน ซึ่งตามโรดแมปการเลือกตั้งเดิมที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2561 อาจจะมีการขยับเลือนเวลาออกไปเป็นเดือนก.พ.2562 ด้วย  

วิษณุ บอกไม่ผิดหลัก หากใส่ให้เลื่อนการบังคับออกไป 90 วัน

มติชนออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ที่ผ่านมา กรรมาธิการวิสามัญ สนช. ได้มีการประชุมลับเพื่อพิจารณาแก้ไขมาตรา 2 กฎหมายด้วยว่าการเลือกตั้ง ส.ส. จากเดิม ที่ระบุว่า ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เป็น ให้ใช้บังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปแทน ว่า ไม่รู้ว่าเหตุผลของการปรับคืออะไร แต่หากมีการปรับก็ไม่ได้ผิดหลักกฎหมายอะไร เพราะกฎหมายบางฉบับก็จะมีผลบังคับใช้วันนั้นเลย แต่กฎบางฉบับก็จะทิ้งระยะเวลาไว้ 30 วัน 120 ก็มี อย่างกฎหมายธุรกิจรักษาความปลอดภัยเอกชนก็ทิ้งเวลาไว้ตั้ง 1 ปี เพื่อให้มีการเตรียมการ การจะบังคับใช้เมื่อใดนั้นจะต้องรอให้มีการคลี่คลายปัญหาที่อาจจะไม่ได้คิดมาก่อน เช่น การออกกฎหมายลูก หรือการตั้งหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อให้ไม่เกิดปัญหา หรือเกิดความสะดุด แต่กรณีกฎหมายเลือกตั้งนั้นจะเลื่อนเพราะสาเหตุใดต้นยังไม่ทราบเหตุผลตรงนี้เพราะยังไม่เคยเห็นตัวฉบับร่างนั้นทั้งฉบับเลยว่าจะก่อให้เกิดภาระอะไรอย่างไรหรือไม่และรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนอะไร รัฐธรรมนูญเขียนเพียงว่าภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่พ.ร.ป.ฉบับสุดท้ายมีผลใช้บังคับ ขนาดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ยังบอกเลยว่า หากปล่อยไว้แบบนี้เกรงว่าจะไม่ทันสงสัยจะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญเรื่อง 150 วันนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับให้ยืดออกไป แต่ถ้าจะเค้าจะแก้เรื่องวันใช้บังคับตรงนี้ก็ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญอะไรเลย
 
ต่อกรณีคำถามว่า หากยืดออกไป 90 วัน จะกระทบโรดแมปการเลือกตั้งหรือไม่ นั้น วิษณุ กล่าวว่า ถ้ายอมรับเสียแล้วว่าเป็นเหตุผลแล้วคุณกลัวอะไร เว้นแต่เหตุผลนั้นฟังไม่เข้าท่า

มีชัยระบุทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลและตอบสังคมได้ 

เว็บไซต์วิทยุรัฐสภารายงานว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง  ส.ส. เตรียมขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเษกษาแล้วว่า แม้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายสามารถทำได้ ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายหลายฉบับก็มีการกำหนดแบบนี้ เนื่องจากสภาเห็นว่าหากบังคับใช้ทันทีอาจมีผลกระทบ จึงสามารถขยับเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ 6 เดือน บางฉบับขยายเวลาการบังคับใช้ 1 ปี หรือไม่มีกรอบเวลา แต่ในการขยายเวลาจะต้องมีเหตุผลและสามารถอธิบายสังคมได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนยังไม่ทราบว่า ร่างพ.ร.บ.ข้างต้นจะมีการขยายระยะเวลาหรือไม่ จึงไม่อยากแสดงความคิดเห็นกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. .... ในประเด็นยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้กรรมการ ปปช. อยู่ต่อจนครบวาระนั้น นายมีชัย ระบุว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ข้อยุติในประเด็นที่เกิดข้อสงสัย ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย 
 
มีชัย เผยด้วยว่าวันนี้ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. และ สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ได้เข้าหารือเรื่องที่มาของ ส.ว. ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการบล็อกโหวต ซึ่งตนได้แสดงความเห็นว่า การลดจำนวนกลุ่มอาชีพกับการเลือกภายในกลุ่มกันเอง จะทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย รวมถึงกรณีที่เสนอให้ การเปิดรับสมัคร ส.ว.ทำได้ 2 ช่องทาง คือ สมัครด้วยตนเองและผ่านองค์กรนั้น เห็นว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนสามารถลงสมัครเป็น ส.ว.ได้ ดังนั้นการไปกำหนดให้ยื่นผ่านองค์กร อาจเป็นการจำกัดสิทธิ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ กมธ. ว่าจะดำเนินการอย่างไร
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช.ในคลื่นลมอำนาจและห่วงโซ่ความชอบธรรมที่เลือนหาย (เมื่อประชาชนไม่ใช่เจ้าของ ป.ป.ช.)

Posted: 18 Jan 2018 04:40 AM PST

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คงกำลังคิดว่าตนทำพลาดไปที่ยกมือขวาขึ้นมาบังแดดระหว่างรอถ่ายรูปหมู่กับคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 กลายเป็นชนวนให้ถูกขุดคุ้ยว่านาฬิกาและแหวนเพชรมาจากไหน อยู่ในรายการสินทรัพย์ที่ยื่นให้แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่

ภายหลัง คอลัมน์หมัดเหล็กในไทยรัฐออนไลน์ รายงานอ้างแหล่งข่าวคนใกล้ชิดพล.อ.ประวิตร ว่า แหวนเป็นของมารดา นาฬิกายืมเพื่อน

แม้จะมีการชี้แจงเช่นนั้น แต่กระแสความคลางแคลงก็แพร่กระจายไปเกินกว่าจะหยุด ซ้ำเติมสถานการณ์ด้วยการเปิดเผยข้อมูลนาฬิกาหรูเรือนอื่นๆ บนข้อมือ พล.อ.ประวิตร ของเพจ CSI LA จนถึงวันที่ 17 มกราคม 2561 เพจดังกล่าวเปิดข้อมูลนาฬิกาหรูเป็นเรือนที่ 25 แล้ว รวมมูลค่า 39.5 ล้านบาท เป็นเรื่องเชื่อยากอยู่เหมือนกัน หากนาฬิการาคาแพงกว่า 20 เรือนจะเป็นของที่ยืมเพื่อนมาทั้งหมด

เหตุการณ์ยกมือบังแดดเกิดขึ้นวันที่ 4 ธันวาคม 2560

พล.อ.ประวิตร ส่งหนังสือชี้แจง ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560

1 เดือนต่อมา วันที่ 5 มกราคม 2561 วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกา ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งก็มีบางประเด็นที่วรวิทย์เลี่ยงที่จะให้ข้อมูลสื่อมวลชน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มกราคม พล.อ.ประวิตรตอบคำถามสื่อว่า นาฬิกานั้นเพื่อนเอามาให้ใส่ และคืนเพื่อนไปหมดทุกเรือนแล้ว
 

ป.ป.ช. ที่เป็นอิสระ?

ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญปี 2540 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ ป.ป.ป. แต่การที่ ป.ป.ป. มักถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองและยังถือเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ใต้การบังคับบัญชาของประมุขฝ่ายบริหาร การทำงานของ ป.ป.ป. จึงไม่มีประสิทธิภาพ

รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงสร้าง ป.ป.ช. ขึ้นมาแทนให้มีสถานะเป็น 'องค์กรอิสระ' ตามรัฐธรรมนูญ

คำถามมีอยู่ว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระมีประสิทธิภาพเพียงใด แม้จะมีผลงานที่สามารถเอาผิดนักการเมืองใหญ่ได้อย่างกรณีการทุจริตยาหรือบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่ต้องยอมรับว่าการทำงานของ ป.ป.ช. ไม่เคยเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองอย่างแท้จริง

ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ป.ป.ช. ชุดแรกถูกแทรกแซงโดยการครอบงำสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งกติกากำหนดให้เป็นผู้คัดเลือกคณะกรรมการ หรือกรณียกคำร้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กรณีสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเมื่อปี 2553

จนมากรณีนาฬิกาและแหวนเพชร ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการครอบครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรว่า อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลให้ครบทุกด้าน ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้า แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ยิ่งประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ยิ่งต้องดำเนินการให้รอบคอบ จึงไม่ได้กำหนดกรอบเวลา เพราะมีแนวทางทำงานอยู่แล้ว ส่วนจะต้องนำส่งนาฬิกาทุกเรือนให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบหรือไม่ เป็นแนวทางการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ และต้องตรวจสอบภาพที่ พล.อ.ประวิตร สวมนาฬิกาว่าเกิดขึ้นเมื่อใด 

'การดำเนินการให้รอบคอบ' ที่ประธาน ป.ป.ช. กล่าวควรมีข้อมูลประกอบด้วยว่า พล.ต.อ.วัชรพล เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้แก่ พล.อ.ประวิตร ก่อนได้รับเลือกเป็นประธาน ป.ป.ช.
 

คกก.สรรหาองค์กรอิสระด้วยการสานต่อตุลาการภิวัตน์

ย้อนดูรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 15 คน ได้แก่ ฝ่ายตุลาการ 3 คน ฝ่ายวิชาการ 7 คน และฝ่ายการเมือง 5 คน โดยมาจากผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละ 1 คนแล้วเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าการมีคณะกรรมการสรรหาจากฝ่ายการเมืองถึง 5 คนอาจเป็นเหตุให้เกรงอกเกรงใจที่จะตรวจสอบฝ่ายการเมือง

เหตุนี้ หลังการรัฐประหารปี 2549 รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงมีการปรับโครงสร้างกรรมการสรรหาใหม่ โดยลดจำนวนคณะกรรมการสรรหาจาก 15 คนลงเหลือเพียง 5 คน ประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง 2 คนคือประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน อีก 3 คนยังคงฝ่ายตุลาการเช่นเดิมคือประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด ด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันการครอบงำจากฝ่ายบริหาร และตัดคณะกรรมการสรรหาจากฝ่ายวิชาการออกทั้งหมด

โครงสร้างคณะกรรมการสรรหานี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงในขณะนั้นว่า เป็นการดึงเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองมากจนเกินไป แต่อีกด้านก็สนับสนุนวิธีการนี้เพราะเชื่อมั่น เชื่อถือ และไว้วางใจได้ในความดี ความซื่อสัตย์สุจริตของฝ่ายตุลาการ และถือเป็นการสานต่อ 'ตุลาการภิวัตน์'

เพิ่มสเป็ก แต่ไม่เซ็ตซีโร่ หลังพิง คสช. ในอนาคต

แต่แล้วรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ถูกฉีกอีกครั้งจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขียนรัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นใหม่ โดยกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เพิ่มกรรมการสรรหาซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งองค์กรละ 1 คน  รวม 9 คน

ในแง่คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น ป.ป.ช. ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เขียนไว้เหมือนกันว่าต้องเป็นผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตราที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ

แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน นอกจากจะระบุว่า 'ต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์' แล้ว ยังเพิ่มเติมด้วยว่า

มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด  ดังต่อไปนี้ด้วย

1.รับราชการหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

2.รับราชการหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

3.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

4.ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี  และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

5.เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น

6.เป็นผู้มีความรู้ความชํานาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจํากัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

7.เคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งตามข้อ 1 2 3 4 หรือ 6 รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี

ยังไม่นับลักษณะต้องห้ามต่างๆ ที่เป็นการวางคุณสมบัติ ป.ป.ช. ไว้สูงมาก หากว่ากันตามเนื้อหาแล้วจะทำให้ พล.ต.อ.วัชรพล ในฐานะประธาน ป.ป.ช. และวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. จะต้องหลุดจากตำแหน่ง แต่ สนช. ก็มีมติ 157 เสียง เห็นชอบตามกรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างมากให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดเดิมดำรงตำแหน่งต่ออีก 7 ปี จนครบวาระ 9 ปีตามมาตรา 178 ในบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.…

หมายความว่า ป.ป.ช. ชุดนี้ที่แต่งตั้งโดย สนช. ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย คสช. อีกทอดหนึ่ง จะเป็นหลังพิงอย่างดีให้กับ คสช. ภายหลังการเลือกตั้งหากมีการร้องเรียนกรณีทุจริตในยุค คสช. ส่งเข้าไปยัง ป.ป.ช.
 

ลดอำนาจตรวจสอบ ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎร

ในแง่การตรวจสอบและร้องเรียนการทำงานของ ป.ป.ช. รัฐธรรมนูญ 2540 วางกลไกว่าต้องใช้จำนวนเสียงในสภาเท่าไหร่ในมาตรา 299 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อ... และมาตรา 300 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา...

ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุไว้ในมาตรา 248 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน... และมาตรา 249 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา... จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เพิ่มกลไกประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้สามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อร้องเรียนได้

แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 กลับตัดเหลือเพียงมาตราเดียวคือ มาตรา 236 ที่ระบุว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ...

แม้จะยังคงให้สิทธิประชาชน 2 หมื่นชื่อตรวจสอบ ป.ป.ช. ได้ แต่ก็สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า กลไกที่สภาผู้แทนราษฎรจะตรวจสอบ ป.ป.ช. เป็นไปได้ยากขึ้น เพราะต้องรวมเสียงให้ได้ 150 เสียงของทั้งสองสภา หากดูตามแนวโน้มที่เป็นอยู่เวลานี้ พรรคทหารบวกพรรคขนาดกลางและเล็กกับ ส.ว. 250 เสียงที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. การตรวจสอบและถอดถอน ป.ป.ช. ผู้เป็นหลังพิงของ คสช. ในอนาคตอาจไม่ใช่เรื่องง่าย
 

ห่วงโซ่ความชอบธรรมที่ขาดหาย-แผ่ขยายรัฐราชการ

เห็นได้ว่านับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระดูเหมือนจะไม่ได้มีความเป็นอิสระจริงตามวัตถุประสงค์ เพราะมักเอนเอียงไปตามอำนาจทางการเมืองในห้วงยามนั้นๆ เสมอ และเปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ร่างกฎหมายที่แฝงโจทย์การเมืองเอาไว้เบื้องหลังเสมอ

ในแง่กติกาและโครงสร้างของ ป.ป.ช. จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 จะพบลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ ห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมหรือการเชื่อมโยงกลับไปสู่ประชาชนเจ้าของอำนาจนั้นหดหายลงไปตามลำดับ ตัวแทนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกจากประชาชนมีสัดส่วนในการเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระน้อยลงเรื่อยๆ

ตรงกันข้าม องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. กลับมีอำนาจเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็สอดคล้องกับกลไกและกับดักจำนวนมากในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ คสช. เขียนขึ้นเพื่อต้องควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้งในอนาคต

จุดที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 คือคุณสมบัติที่ระบุไว้ข้างต้นนั้นเสมือนว่าจะเปิดช่องให้ 'อดีตข้าราชการ' มีที่ทางใน ป.ป.ช. เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สอดคล้องกับทิศทางการแผ่ขยายขอบเขตความเป็น 'รัฐราชการ' ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐบาล คสช.

โจทย์สำคัญที่ต้องขบคิดคือ ห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมที่เลือนหายไป ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความรังเกียจการเมืองและนักการเมืองที่สั่งสมมาตลอดสิบกว่าปี ละเลยการเชื่อมโยงกับเจ้าของอำนาจที่แท้จริง เป็นองค์กรอิสระจริงๆ คืออิสระจากประชาชน แล้วหยิบยื่นอำนาจตรวจสอบการทุจริตไปให้กับเครือข่ายกองทัพและข้าราชการที่ตรวจสอบได้ยากกว่า จะช่วยป้องกันและปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชันได้จริงหรือไม่

ดูเหมือนคำตอบก็เห็นๆ กันอยู่แล้ว

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ 'ไข่แมว' ปลิว

Posted: 18 Jan 2018 04:35 AM PST

ภาพจากเพจ คาราโอเกะชั้นใต้ดิน

18 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันนี้เป็นต้นมา เฟสบุ๊คแฟนเพจการ์ตูนล้อเลียนสังคมการเมืองชื่อดัง 'ไ่ข่แมว' https://www.facebook.com/cartooneggcat/ ซึ่งมียอดกกว่า 4 แสนถูกใจ ไม่สามารถเข้าได้ โดยไม่ทราบสาเหต และเมื่อเข้าตาม URL ของเพจ ปรากฎดังนี้

"ขออภัย เนื้อหานี้ไม่พร้อมใช้งานในขณะนี้ ลิงก์ที่คุณได้ติดตามอาจหมดอายุไปแล้ว หรือเพจนี้อาจจะมองเห็นได้เฉพาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้รวมถึงคุณด้วย"
 
ขณะที่เพจดังอื่นๆ ต่างโพสต์ไว้อาลัย เช่น เพจ Pixel Crazy 8bit เพจ คาราโอเกะชั้นใต้ดิน เพจ วิวาทะ V2 เป็นต้น
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลพะเยายกฟ้อง 3 เสื้อแดงเชียงราย กรณีป้าย “แยกประเทศล้านนา”

Posted: 18 Jan 2018 03:48 AM PST

ยกฟ้องคดี ม.116 "ยุยงปลุกปั่น"คดีที่ 2 ชี้ "พยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถระบุตัวได้ว่าจำเลยทั้งสามคนเป็นผู้ติดแผ่นป้ายดังกล่าว .." ขณะที่คดีแรกลง 4 ปี แต่ให้รอลงอาญา 5 ปี จำเลยระบุสร้างความเดือดร้อน เกิดภาระค่าใช้จ่าย ระหว่างการต่อสู้คดีอย่างมาก รวมถึงการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพหารายได้ ลุ้นคดีที่ 3 ที่ อ.แม่ลาว กลางปีนี้ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (18 มกราคม 2561) ศาลจังหวัดพะเยาได้อ่านคำพิพากษาในคดีของนายออด สุขตะโก และพวก รวม 3 คน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 หรือข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" จากกรณีการพบป้ายข้อความว่า "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ติดบริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนบ้านร่องห้า อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557 

สรุปโดยย่อของคำตัดสินมีว่า "พยานโจทก์ยืนยันได้เพียงว่าจำเลยทั้งสามได้ติดป้ายหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงราย ซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับการพิจารณาและลงโทษเสร็จสิ้นไปแล้ว พยานโจทก์ยืนยันไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ทำการติดป้ายในพื้นที่เกิดเหตุตามฟ้อง และจากผลการตรวจแผ่นป้าย พบเพียงว่าจัดทำจากเครื่องพิมพ์แบบเดียวกัน บางแผ่นป้ายมีรอยตัดที่ต่อเข้ากันได้ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันถึงตัวจำเลยทั้งสามได้ แผ่นป้ายของกลางจึงยืนยันไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิด"

คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ที่ นายออด สุขตะโก, นางถนอมศรี นามรัตน์ และนายสุขสยาม จอมธาร สมาชิกกลุ่มเสื้อแดงในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยที่คดีแรกได้ตัดสินไปแล้วเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามมาตรา 116 (2) (3) ประกอบกับมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี แต่ฝ่ายจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงให้ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 3 ปี และจำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ เป็นระยะเวลา 5 ปี ขณะที่คดีที่ 3 ที่ อ.แม่ลาว เชียงราย ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 26-29 มิถุนายน 2561 และพยานจำเลยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2561

ดดีทั้ง 3 พื้นที่ เกิดจากการพบข้อความบนแผ่นป้ายไวนีล ที่มีข้อความว่า "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ที่บริเวณ อ.เมือง เชียงราย ,อ.เมือง จ.พะเยาและ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ปิดคูหาเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส.
 

 

ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหล่าทัพรับไอเดีย 'ประชาธิปไตยไทยนิยม' ของประยุทธ์ ลงพื้นที่แนะแนวปชช.เตรียมเลือกตั้ง

Posted: 18 Jan 2018 02:50 AM PST

ผบ.ทสส. ระบุรับไอเดีย 'ประชาธิปไตยไทยนิยม' เหล่าทัพจะเน้นการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนแต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ  การสร้างความปรองดอง และการเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายของโรดแมป

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะเดินทางไปยังชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศาสตร์พระราชา – สะพานข้าว – ก้าวเพื่อสุข) บ้านผาบ่อง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน (ที่มา เว็บทำเนียบฯ)

18 ม.ค. 2551 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศแนวคิดประชาธิปไตยไทยนิยม ว่าในส่วนของเหล่าทัพจะเน้นการสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนแต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ การสร้างความร่วมมือ และการสร้างความปรองดอง ซึ่งจะเป็นก้อนรวมทั้งหมด หากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้จะเน้นแต่ละเรื่องให้มากขึ้น พร้อมทั้งจะลงไปถึงประชาชนทุกระดับชั้น

พล.อ.ธารไชยยันต์ ยังกล่าวถึงการเตรียมสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายของโรดแมป คสช. ว่าทหารจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งให้รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะทำความเข้าใจกับประชาชน โดยมีคณะกรรมการหลายๆ ส่วน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่วนราชการอื่นๆ จะนำเอาข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ไปสร้างการรับรู้ให้ข้าราชการในพื้นที่ เพื่อนำไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งหมด

"เพราะฉะนั้นการสร้างรับรู้ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่หน้าที่ทหารอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการ" พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าว

สำหรับ แนวคิดประชาธิปไตยไทยนิยม ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ไทยรัฐออนไลน์ รายงานไว้เมื่อ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ประชาธิปไตยไทยนิยมในแบบของผม คือ ทำอย่างไรคนไทยจะเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ทำอย่างไรคนไทยจะทำในส่ิงที่ดีงาม ถ้าทุกคนมุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว นั่นแหละคือไทยนิยม คนไทยชอบทำ เราต้องทำส่ิงดีๆ จะเกิดผลดีต่อบ้านเมือง อันนี้ขอโอกาสชี้แจงเพราะพาดหัวมาหลายวันแล้ว ประชาธิปไตยไทยนิยมของผม คนไทยชอบอะไรก็ชอบ รักอะไรก็รัก เกลียดอะไรก็เกลียด บางคนก็รักๆ เกลียดๆ เกลียดข้างนี้บ้างเกลียดข้างโน้นบ้าง ผมไม่เคยเกลียดใคร เพราะทุกคนคือคนไทยทั้งสิ้น เว้นแต่หลายคนเขาเกลียดผม แต่ในห้องนี้ผมว่าไม่น่ามี"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ตนในนามหัวหน้ารัฐบาล ในนามหัวหน้า คสช.ตนมีตำแหน่งเยอะ แต่ตนก็คือตน มีเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะทำให้บ้านเมืองปลอดภัย ใครคิดว่าปลอดภัยอยู่แล้วก็โอเค ใครที่คิดยังไม่ปลอดภัยตนก็ทำให้ ก็แล้วแต่คนจะคิด ห้ามความคิดคนไม่ได้

ซัดประชาธิปไตยไทยนิยมแค่บีบให้คนอื่นทำตาม

เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา  ข่าวสดออนไลน์ รายงานคำวิพากษณ์วิจารณ์ขง ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ต่อแนวคิดประชาธิปไตยไทยนิยม ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง ภูมิธรรมกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่านายกฯ ตีความคำว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ แบบไหน แต่ตนเห็นว่าความเป็นประชาธิปไตยเป็นสากล เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกยอมรับว่าประชาธิปไตยคือการยอมรับในอำนาจของประชาชนเจ้าของประเทศ ดังนั้น ประชาชนจะเป็นใหญ่ที่สุด จะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการคิด และตัดสินใจว่าอยากเห็นชีวิตของตัวเอง หรืออยากเห็นประเทศเป็นไปในทิศทางไหนที่จะอำนวยความสะดวกและความสุขให้เกิดขึ้นกับคนในประเทศ
 
ภูมิธรรม กล่าวว่า เมื่ออำนาจเป็นของประชาชน ก็จะแสดงอำนาจของตน โดยการเลือกนโยบายที่พรรคนำเสนอ เลือกพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่อาสาเข้ามาว่าจะเอาคณะผู้นำแบบไหน มีวิสัยทัศน์อย่างไร จะมีวิธีนำพาประเทศไปสู่ความเจริญได้อย่างไร นี่คือหลักการและเป็นประชาธิปไตยที่อิงหลักสากล
 
"ผมจึงบอกว่าประชาธิปไตยแบบไทยนิยมที่พูดขึ้น ไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร หรือจะหมายความว่าประชาธิปไตยแบบที่ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ คิดเอง กำหนดให้เอง มองให้เองว่าประเทศข้างหน้า 20 ปีควรจะเป็นอย่างไรอย่างที่ผู้มีอำนาจทำ แทนที่จะมาฟังความเห็นของคนส่วนใหญ่ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ควรมีทิศทางอย่างไร แต่ละปีควรเดินไปแบบไหน เคารพในเสรีภาพของคน เปิดโอกาสให้คนได้แสดงความเห็น ไม่ใช่ใครเห็นต่างก็เชิญเข้าค่ายไปอบรม หรือไปคุกคามเขา" ภูมิธรรม กล่าว
 
ภูมิธรรม กล่าวว่า คสช.ต้องใจกว้าง ถ้าคิดว่าตนเองมีความเป็นประชาธิปไตย เชื่อมั่นว่าสิ่งที่คิด ที่ทำเป็นที่ปรารถนาของคนส่วนใหญ่ วันนี้อย่าคิดเองว่าประชาชนให้โอกาสหรือยอมรับ แต่ควรคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้ง แล้วให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจ หากเลือกเขาอย่างถล่มทลาย เราก็จะให้โอกาสเขาบริหารประเทศต่อไปภายใต้การตัดสินใจของประชาชน ไม่ใช่ดึงทั้งหมดแล้วพยายามสร้างกติกาที่ตนเองได้เปรียบ มีส.ว.250 คน เป็นอำนาจพิเศษที่พยายามเดินไปตามทางของตนเอง เขียนรัฐธรรมนูญมากำหนดทิศทางให้คนอื่นเดิน แล้วบอกทั้งหมดนี้คือประชาธิปไตยแบบไทยนิยม อันนี้คือการสร้างประชาธิปไตยที่รองรับอำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
 
รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ คือประชาธิปไตยแบบที่เวลาเรื่องกลุ่มตัวเองทำอะไรผิดไม่ต้องไปพูดถึง หรือพยายามไม่เอ่ยถึง แต่อะไรที่คนอื่นทำไม่ถูก ทำไม่เหมือนฝ่ายตนก็ไปดำเนินการเขาอย่างเด็ดขาด ไม่มีมาตรฐานเดียวกันในการจัดการต่างๆ ตรงนี้ทำให้เกิดความคลางแคลงใจในสิ่งที่ตัวเองพูดมา ดังนั้น ตนมองว่าไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าการพยายามให้คนยอมรับในกติกาที่ตัวเองร่างขึ้นอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องยึดมั่นในระบอบสากล แต่เอาแบบไทยนิยมที่พวกตัวเองกำหนด ให้คนปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวเองอยากทำ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน ป.ป.ช. แจงปมแหวนมารดา-นาฬิกายืมเพื่อน ยังไม่ชัดเข้าข่ายรับของเกิน 3 พันบาท

Posted: 18 Jan 2018 01:11 AM PST

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เผยขณะนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้กำหนดวันนัดหมายสอบปากคำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนาฬิกาหรูแล้ว แต่เป็นการสอบนอกสถานที่ ระบุยังไม่ชัดว่ากรณียืมของเพื่อน เข้าข่ายรับของเกิน 3 พันบาทหรือไม่ พร้อมลุ้นดัชนีคอร์รัปชันปี 60 มีผลบวก

18 ม.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้กำหนดวันนัดหมายที่จะไปสอบปากคำเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวแล้ว เป็นการนัดหมายนอกสถานที่ ตามที่เอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ซึ่งตามกระบวนการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.สามารถเชิญมาชี้แจงที่ ป.ป.ช. หรือจะสอบปากคำนอกสถานที่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังไม่เคยเห็นรายละเอียดคำชี้แจงกรณีแหวนเพชรและนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ที่ส่งมาถึง ป.ป.ช.ทั้ง 2 ฉบับ แต่รับทราบจากเลขาธิการ ป.ป.ช. เท่านั้นว่า พล.อ.ประวิตรได้ส่งหนังสือชี้แจงมาแล้ว 

ประธาน ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า การประชุม ป.ป.ช.วันนี้ ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของทางสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง หากดำเนินการเสร็จสิ้นก็จะส่งเรื่องให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่ดูแลเรื่องภาคการเมืองพิจารณาก่อน และหากเห็นว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ก็ต้องกลับไปหาข้อมูลเพิ่ม ก่อนจะส่งให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ต่อไป

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การที่พล.อ.ประวิตรได้ยืมนาฬิกาเพื่อนมา แต่ส่งคืนไปแล้ว อาจเข้าข่ายว่ารับของราคาเกิน 3000 บาทนั้น ประธาน ป.ป.ช. ระบุว่า เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อกฎหมายแล้วแจ้งต่อกรรมการ ป.ป.ช.อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ประธาน ป.ป.ช. ได้ระบุว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังรอประกาศดัชนีการรับรู้การทุจริต(CPI) จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งเป็นการรอคอยอย่างมีความหวัง เพราะตัวเลขที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ พบว่ามีข้อมูลการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น และเรื่องความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยก็มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย จึงเชื่อว่าค่า CPI ที่ออกมา จะมีทิศทางเป็นบวกต่อประเทศไทย 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งจำคุกอีก 78 ปี 30 เดือน 'วัฒนา' วางระเบิดปี 50, 60

Posted: 18 Jan 2018 12:55 AM PST

ศาลพิพากษาจำคุก 'วัฒนา' มือวางระเบิดก่อกวน กทม. อีก 3 สำนวน รวม 78 ปี 30 เดือน โดยให้นับโทษต่อจากคดีที่ตัดสินแล้วอีก 2 สำนวนจำคุกร่วม 100 ปี

18 ม.ค. 2561 โพสต์ทูเดย์ และไทยโพสต์ รายงานว่า ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ วัฒนา ภุมเรศ อดีตวิศวกร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วัย 62 ปี จำเลยที่ก่อเหตุ วางระเบิด รพ.พระมงกุฎ อีก 3 สำนวน ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) และทำให้เกิดระเบิดจนมีผู้บาดเจ็บสาหัส, มีวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกพาวัตถุระเบิดไปในเมืองหรือที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 และ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 จากกรณีที่นายวัฒนาประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ และนำไปวางไว้ที่ทางเท้าบริเวณหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (กองสลากเดิม) ถ.ราชดำเนินกลาง จนทำให้เกิดระเบิดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย เมื่อวันที่ 4-5 เม.ย.60, ที่ใต้ต้นไม้ บนฟุตบาทหน้าโรงละครแห่งชาติ เขตพระนคร จนทำให้เกิดระเบิดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เมื่อวันที่ 14 -15 พ.ค. 60 และที่บริเวณตู้โทรศัพท์หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ รัชโยธิน เมื่อวันที่ 9 เม.ย.50

รายงานข่าวระบุด้วยว่า วัฒนา จำเลย ให้การรับสารภาพทั้ง 3 สำนวน ซึ่งตลอดการพิจารณาคดีตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2560 จำเลยไม่ได้ยื่นประกันตัว จึงถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ วันนี้ (18 ม.ค.61) ศาลเบิกตัวนายวัฒนามาฟังคำพิพากษาทั้ง 3 สำนวนในเวลาเดียวกัน ขณะที่จำเลยแจ้งความประสงค์ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ

ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกรวม 26 ปี 6 เดือน ซึ่งรวมจำคุกทั้ง 3 สำนวนแล้ว เป็นเวลาทั้งสิ้น 78 ปี 30 เดือน ปรับ 1,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่หญิงสาว ผู้บาดเจ็บที่ได้รับความเสียหายอีก 2 รายรวม 140,000 บาท โดยศาลให้นับโทษ วัฒนา ต่อจากคดีที่ศาลอาญาได้เคยพิพากษาไปแล้วอีก 2 สำนวนด้วย คือ คดีครอบครองวัตถุระเบิดที่บ้านพักของจำเลย ย่านบางเขน จำคุก 4 ปี ปรับ 975 บาท และคดีระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ เดือน พ.ค.2560 จำคุก 26 ปี 12 เดือน ปรับ 500 บาท

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ก่อนที่ ศาลจะอ่านคำพิพากษาคดี  วัฒนา ได้ลุกขึ้นขอความเมตตาต่อศาล โดย แถลงว่าตนเองให้การรับสารภาพ และให้ความร่วมมือกับตำรวจอย่างเต็มที่ ขอให้ศาลลดโทษให้ตามความเหมาะสม ศาลจึงแจ้งกับนายวัฒนา ว่า ศาลเห็นคำให้การแล้ว และพิพากษาไปตามกฎหมาย และตามความผิดของจำเลย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประกันสังคม' ยัน รบ.ประยุทธ์จ่ายเงินสมทบเต็มทุกปี ที่ค้าง 2.3 หมื่นล้านผลจากรัฐบาลในอดีต

Posted: 17 Jan 2018 11:28 PM PST

เลขาฯ สนง.ประกันสังคมแจงทวงเงินสมทบจากรัฐบาล 2.3 หมื่นล้าน เป็นหน้าที่ตามปกติที่ต้องทวงทุกปี ชี้ค้างจ่ายสะสมมาจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ส่วนรัฐบาลปัจจุบันจ่ายให้เต็มจำนวนโดยตลอด ส่วนจะได้เท่าใดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงบฯ อีกที
สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) 
 
18 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่ สปส.ขอตั้งงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 4.3 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีเงินที่รัฐบาลค้างจ่ายสมทบกว่า 2.3 หมื่นล้านบาทว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่ค้างจ่ายสะสมมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนๆ แต่สำหรับรัฐบาลชุดนี้ ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศก็จ่ายสมทบให้เต็มจำนวนโดยตลอดไม่เคยติดค้าง
 
เลขาฯ สนง.ประกันสังคม ระบุว่า การที่ สปส.ตั้งงบประมาณเพื่อขอเงินที่รัฐบาลค้างจ่าย ก็เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบ ซึ่งที่ผ่านๆ มา สปส.ก็ตั้งงบขอเงินค้างจ่ายย้อนหลังมาโดยตลอด ส่วนรัฐบาลชุดไหนจะมีเงินจ่ายย้อนหลังสำหรับปีที่ค้างสะสมจำนวนเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้น
 
"เวลาเราขอตั้งงบประมาณ เราก็ขอย้อนหลังครบหมด ส่วนสำนักงบประมาณจะมีหน้าที่บอกรัฐบาลว่าควรให้ใครเท่าไหร่เพราะเขาเห็นภาพรวม ทีนี้รัฐบาลชุดก่อนๆ เขาจ่ายไม่ครบ มันถึงคามาเรื่อยๆ ทีนี้การจะไปบอกว่ารัฐบาลชุดนี้จ่ายครบแต่ไม่ยอมจ่ายของเก่ามันก็ไม่แฟร์ถ้าจะไปว่าเขา เพราะเศรษฐกิจตอนนี้กำลังค่อยๆ กระเตื้อง ยังมีเรื่องอื่นๆ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ ที่รัฐต้องดูแล แต่ถ้าเศรษฐกิจดีมีเงินเหลือแล้วไม่จ่ายแบบนี้ค่อยว่ากัน" เลขาฯ สนง.ประกันสังคม กล่าว
 
นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบ 2.3 หมื่นล้าน ไม่มีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ในระยะยาวแล้วก็ถือว่าเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ออกดอกผลให้แก่ผู้ประกันตน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น