ประชาไท | Prachatai3.info |
- กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยืนยันเดินรณรงค์ไปขอนแก่นแม้ถูกรัฐสกัด
- คุยกับนิสิตจุฬาฯ ผู้รณรงค์ยกเลิกบังคับแต่งชุดนิสิตฯ
- 'อะเหด ทามีมี' ชาวปาเลสไตน์ผู้ถูกจับ เพียงเพราะไม่เกรงกลัวต่อทหารอิสราเอล
- เดือน ธ.ค. 2560 ผู้ประกันตนว่างงาน 140,273 คน ถูกเลิกจ้าง 23,023 คน
- ‘เดินมิตรภาพ’ หลักประกันสุขภาพและปชต.คือเรื่องเดียวกัน ก่อนถูกตร.สกัด อ้างขัดคำสั่ง คสช.
- พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน
- องค์กรสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ร่วม ยืนยันเสรีภาพในการชุมนุม 'We Walk…เดินมิตรภาพ'
- จัดเสวนา ‘รับน้อง มช.’ กระตุ้นประเด็นเสรีภาพ-ถกแนวทางทำกิจกรรม
- ตำรวจขวางกิจกรรม 'We Walk เดินมิตรภาพ'
- กรุงเทพโพลล์ระบุประชาชน 70.6% อยากได้นายกที่มาจากการเลือกตั้ง
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยืนยันเดินรณรงค์ไปขอนแก่นแม้ถูกรัฐสกัด Posted: 20 Jan 2018 04:19 AM PST กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยันเดินหน้าร่วมกับเครือข่าย People GO Network ทำกิจกรรมเดินรณรงค์จาก กทม.-ขอนแก่น ต่อไปแม้ถูกตำรวจสกัดไว้ก็ตาม ชี้อัดอัดกับ 4 ปีของรัฐบาลทหาร แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่ฟังเสียงประชาชน พยายามบิดเบือนเจตนารมณ์บัตรทองให้เป็นแค่เรื่องการสงเคราะห์ หลังจากทั้งวันโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัด ล่าสุดช่วงบ่ายกิจกรรม 'เดินมิตรภาพ' ก็ได้เริ่มเดินจากธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แล้ว 20 ม.ค. 2561 น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงการรณรงค์ร่วมกับเครือข่าย People GO Network ด้วยการเดินเท้าจากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ระยะทาง 450 กม. ระหว่างวันที่ 20 ม.ค. – 17 ก.พ. 2561 ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังกว่า 200 นายมาสกัดไว้ที่ประตูทางออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตว่า การเดินรณรงค์ในครั้งนี้เป็นการเดินร่วมกันของประชาชน 4 เครือข่าย แต่ละเครือข่ายก็มีประเด็นของตัวเอง ซึ่งในส่วนของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายประชาชนคนรักสวัสดิการได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้เพราะรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของรัฐบาลทหารในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ที่มีความพยายามบ่อนแซะทำลายระบบหลักประกันสุขภาพมาโดยตลอด น.ส.แสงศิริ กล่าวว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่ถือว่าดีที่สุด ณ เวลานี้ของประเทศ เป็นบัตรทองของประชาชนกว่า 49 ล้านคน แต่ 4 ปีที่รัฐบาลเข้ามาบริหาร ได้ใช้อำนาจมากมายและฟังแต่ข้าราชการ ไม่สนใจเสียงประชาชน เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มุบมิบอยากทำก็ทำ และแม้บอกว่าให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการร่างกฎหมายด้วย แต่ก็เปิดโอกาสแบบเสียมิได้ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปเพียง 2 คนซึ่งไม่สามารถทัดทานอะไรได้อยู่แล้วและทุกเรื่องที่ภาคประชาชนเสนอก็ถูกตีตกเสมอไป ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็จะเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลได้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพว่าอาจจะเป็นการให้เฉพาะผู้ยากไร้เท่านั้น สอดคล้องกับความพยายามแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ "ที่สำคัญเราก็ไม่ได้ค้านแบบไม่รู้เรื่อง เราติดตามการแก้ไขกฎหมายมาโดยตลอดและเห็นชัดเจนว่าการแก้กฎหมายฉบับนี้ส่งผลไปลดทอนเจตนารมณ์ของการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้านสุขภาพ รัฐบาลยังพยายามตีตราคนจนโดยการลงทะเบียนคนจน และนายกรัฐมนตรีก็เคยพูดทำนองว่า "เงินไม่พอ จะเอาอะไรมากมาย" "เราจะให้เฉพาะคนจนเท่านั้น คนไม่จนก็อย่าเอา" สะท้อนให้เห็นเจตนาของรัฐบาลชัดเจนว่ากำลังริดรอนบิดเบือนเรื่องหลักประกันด้านสุขภาพและการมีสวัสดิการที่ดีไปในลักษณะของการสงเคราะห์"น.ส.แสงศิริ กล่าว น.ส.แสงศิริ กล่าวต่อไปว่าการเดินรณรงค์รอบนี้เลือกพื้นที่ขอนแก่น 450 กม.เพราะเชื่อว่าคนอีสานคือคนกลุ่มใหญ่ที่ใช้บัตรทองและคนกลุ่มนี้ก็กังวลต่อกระบวนการของรัฐที่พยายามแก้ไขกฎหมาย ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายประชาชนคนรักสวัสดิการก็ต้องการใช้เวลาระหว่างการเดินรณรงค์ครั้งนี้พูดคุยกับพี่น้องประชาชนในระหว่างทางว่ามีความกังวลอะไร อยากบอกอะไรรัฐบาล อยากจะปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพอย่างไรบ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่มีโอกาสได้เดินเพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดอยู่หน้าประตูธรรมศาสตร์แม้จะทำหนังสือแจ้งตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี ขอยืนยันว่าจะยังจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ต่อไป แม้จะถูกสกัดไว้ก็จะอยู่ตรงนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ประมวลสถานการณ์กิจกรรม We Walk วันที่ 20 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าจากกรณีเครือข่ายประชาชน People Go Network ได้จัดกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" โดยเป็นกิจกรรมเดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ หลักประกันสุขภาพที่จะสามารถดูแลทุกคนในประเทศ, นโยบายที่ไม่ทำลายความมั่นคงทางอาหาร, กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชน-สิทธิชุมชน และรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน กิจกรรมเริ่มจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ม.ค. 2561 ที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีการจัดเสวนาเรื่องสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน กิจกรรมละคร ดนตรี และฉายภาพยนตร์ รวมทั้งจัดตลาดอาหารปลอดภัย ส่วนในช่วงเช้าวันที 20 ม.ค. จะเริ่มออกเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อมุ่งสู่จังหวัดขอนแก่น โดยวางกำหนดการเดินถึงวันที่ 17 ก.พ. 2561 การแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุม ก่อนหน้าการจัดงาน ผู้จัดกิจกรรมได้ทำหนังสือแจ้งการจัดการชุมนุมและเดินเท้าต่อสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ซึ่งเป็นขั้นตอนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยระบุถึงความประสงค์จะจัดการชุมนุมและเดินทางไกล เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายใต้ชื่อ 'We Walk เดินมิตรภาพ' โดยจะเริ่มเดินขบวนในวันที่ 20 ม.ค. 2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปจนถึงจังหวัดขอนแก่น และจะมีการพักตามโรงเรียน วัด สถานที่สาธารณะ ฯลฯ ตลอด 30 วัน ต่อมาวันที่ 19 ม.ค. 2561 ผู้จัดกิจกรรมได้รับหนังสือตอบกลับจากสภ.คลองหลวงว่า การชุมนุมดังกล่าวต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 และแนะนำให้ผู้จัดการชุมนุมใช้ยานพาหนะในการเดินทางแทนการเดินเท้า รวมถึงให้ผู้จัดการชุมนุมพึงระมัดระวังและควบคุมผู้ร่วมการชุมนุมมิให้ปฏิบัติในลักษณะขัดขวางหรือต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ หรือแสดงป้ายและสัญลักษณ์ต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและคสช. มิเช่นนั้นจะเข้าลักษณะการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ทางผู้จัดกิจกรรมได้ชี้แจงกลับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการให้ขออนุญาตใช้เครื่องเสียงตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ อีกทั้งการใช้เครื่องขยายเสียงตามที่ได้ระบุไว้ในหนังสือแจ้งการชุมนุมนั้น ก็มิได้มีขนาดกำลังของเครื่องขยายเสียงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ กิจกรรมยังเป็นการเดินเท้าบริเวณไหล่ทางริมถนนพหลโยธินต่อเนื่องถนนมิตรภาพ มิได้เป็นการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ และมิได้ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน พร้อมทั้งระบุอีกว่า การชุมนุมสาธารณะดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ได้บัญญัติรับรองไว้ ทางผู้กำกับสภ.คลองหลวงยังได้ทำหนังสือตอบกลับอีกว่าการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2561 มีการจำหน่ายเสื้อยืดที่มีข้อความสื่อความหมายเกี่ยวข้องทางการเมือง และมีการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมกันมาลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่มีลักษณะเป็นการชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 พร้อมทั้งให้ผู้จัดการชุมนุมยื่นคำร้องขออนุญาตการชุมนุมต่อหัวหน้าคสช.หรือผู้ได้รับมอบหมาย ทางผู้จัดกิจกรรมยังคงยืนยันจะทำกิจกรรมการเดินเท้าต่อไป พร้อมกับระบุว่ากรณีการลงลายมือชื่อเพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 133 อีกทั้ง ยังเป็นกิจกรรมที่ พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ทำได้และ คสช. ไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 200 นาย สกัดขบวนเดินไว้หน้าประตูทางออก มธ. เช้าวันที่ 20 ม.ค. 61 เวลาประมาณ 7.00 น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เริ่มรวมตัวที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามถ่ายภาพและวิดีโออย่างใกล้ชิด อีกทั้งภายนอกมหาวิทยาลัยยังมีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอีกกว่า 100 นาย ตั้งแถวจัดเตรียมกำลัง และมีการตั้งด่านตรวจบริเวณถนนพหลโยธินหน้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย จากนั้น เวลา 8.10 น. ประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ กว่า 100 คน ได้เริ่มตั้งขบวน โดยมีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการเดิน เวลาประมาณ 8.30 น. มีรายงายว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กักตัว ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ไว้ด้านนอกไม่ให้เข้าไปภายในจุดที่มีการตั้งขบวนราว 10 นาทีด้วย โดยระบุด้วยว่ากิจกรรมที่กำลังจะไปร่วมจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ก่อนเจ้าหน้าที่จะยอมให้เข้ามาร่วมอ่านแถลงการณ์ในกิจกรรม ต่อมาเวลา 9.00 น. ตัวแทนประชาชนเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมกันอ่าน "คำประกาศ People Go เดิน…มิตรภาพ 2561" ก่อนจะเริ่มออกเดิน จนเวลา 9.30 น. ขบวนได้เดินมาถึงประตูทางออกจากมหาวิทยาลัยด้านถนนพหลโยธิน พบเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 200 นาย ตั้งรั้วกั้นและตั้งแถวเป็นจุดสกัดไม่ให้ขบวนสามารถเดินออกไปจากมหาวิทยาลัยได้
อ้างกิจกรรมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง 3/58 ต้องรอฝ่ายทหารมาเจรจา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประกาศด้วยเครื่องขยายเสียง ระบุให้ผู้ทำกิจกรรมทำการเจรจากับผู้บังคับบัญชาก่อน ทั้งระบุด้วยว่ากิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ขอให้อย่ามีการชุมนุมออกนอกสถานศึกษาหรือนอกพื้นที่ เพราะบ้านเมืองกำลังดำเนินไปได้ดี จึงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน เวลา 9.40 น. พ.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมมิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี เป็นผู้เข้าเจรจากับผู้จัดกิจกรรม โดยอ้างถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เกรงว่าจะมีมือที่ 3 หรือมีการเอากิจกรรมไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยอยากให้รอพูดคุยเจรจากับ "ฝ่ายความมั่นคง" หรือเจ้าหน้าที่ทหารก่อน ขณะที่ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ได้ระบุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าในเรื่องความปลอดภัย ทางผู้จัดก็มีการดูแลอยู่ จึงขอให้เจ้าหน้าที่สบายใจได้ ส่วนในเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศที่เจ้าหน้าที่กังวลถึง การทำกิจกรรมเหล่านี้กลับจะเป็นส่วนสะท้อนถึงสุขภาพของประชาธิปไตย ถึงการเป็นสังคมที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งต่างประเทศถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม จากนั้นทางขบวน "We Walk เดินมิตรภาพ" ได้หยุดนั่งรอการเจรจาบริเวณทางเท้าด้านหน้ามหาวิทยาลัย โดยมีการกล่าวปราศรัยจากตัวแทนเครือข่ายประชาชนในประเด็นต่างๆ สลับกับการร้องเพลง ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงตั้งแถวปิดทางเข้าออกของมหาวิทยาลัยเอาไว้ พร้อมกับมีการแจกน้ำ และเปิดเพลงคืนความสุขให้กับผู้ร่วมเดินขบวนฟังด้วย จนถึงเวลา 13.30 น. กลุ่มผู้ขบวน "We Walk เดินมิตรภาพ" ยังคงนั่งปักรออยู่บริเวณทางเท้า โดยยืนยันว่าจะปักหลักอยู่จนกว่าจะเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้เดิน ขณะที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเจรจาแต่อย่างใด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ ในระหว่างรอการเจรจา ทางตัวแทนชาวบ้าน 4 คน ยังได้เข้าไปขอร้องและก้มกราบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้สามารถเดินทำกิจกรรมได้ โดยขอเดินเพียงแค่ 4 คน เพื่อไม่ให้ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่อนุญาต ขณะเดียวกัน ทางทนายความเครือข่ายที่ร่วมติดตามสถานการณ์ของกิจกรรม ได้จัดทำคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในการชุมนุมและทำกิจกรรม We Walk ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพื่อไปยื่นต่อศาล แต่เมื่อได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดปทุมธานีแล้ว พบว่าศาลไม่รับคำร้อง โดยเจ้าหน้าที่ศาลระบุว่าศาลรับเฉพาะคำร้องขอฝากขังในช่วงครึ่งเช้าวันเสาร์เท่านั้น และให้สามารถมายื่นเรื่องขอไต่สวนฉุกเฉินได้ในวันจันทร์แทน เริ่มออกเดิน 'We Walk เดินมิตรภาพ' เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. เฟสบุ๊คแฟนเพจ People GO network รายงานว่าทีมเดินมิตรภาพชุดแรกลอดแนวสกัดตำรวจออกเดินจากหน้าประตูธรรมศาสตร์ฝั่งพหลโยธิน เพื่อเริ่มออกเดินตามกิจกรรม 'We Walk เดินมิตรภาพ' เป้าหมายการเดินทาง 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น เพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจกัน ยืนยันสิทธิของประชาชนทุกด้านในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ ต่อมาเฟสบุ๊คแฟนเพจ People GO network รายงานว่าเวลาประมาณ 20.00 ทีมเดิน #wewalkเดินมิตรภาพ ชุดวันแรกหลังออกเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้ในช่วงบ่าย โดยแยกกันเดินเป็นชุดๆ ก็เดินมาจนถึงเวลา 18.00 น. และหยุดการเดินเท้า และเข้ามาแวะพักกินข้าวเย็นกันที่วัดลาดยาว อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีตำรวจนอกเครื่องแบบตามมาช่วยรักษาความปลอดภัยอยู่ไม่กี่คน โดยตำรวจไม่ได้ห้ามการเดินเท้าต่อ และให้ทีมเดินพักผ่อนในวัดคืนนี้ได้ตามสบาย เฟสบุ๊คแฟนเพจ People GO network ยังระบุว่า "เนื่องจากเช้านี้ออกเดินช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย เพราะมัวคุยกับพี่ ๆ ตำรวจอยู่หลายจังหวะ คืนนี้ทุกคนคงต้องพูดคุยปรับแผนการกันเล็กน้อย ก่อนออกเดินต่อแต่เช้าพรุ่งนี้เพื่อหามิตรภาพร่วมทางต่อไปในทุกก้าว" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุยกับนิสิตจุฬาฯ ผู้รณรงค์ยกเลิกบังคับแต่งชุดนิสิตฯ Posted: 20 Jan 2018 03:01 AM PST
การบังคับแต่งชุดนิสิตฯในมหาวิทยาลัยถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาตลอดในสังคมไทย ล่าสุดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการรณรงค์เคลื่อนไหวในเว็บไซต์ change.org ภายใต้แคมเปญ "รณรงค์ยกเลิก 'การบังคับ' แต่งชุดนิสิต" (goo.gl/s4rjr8) โดยกลุ่ม "นิสิตจุฬาฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับแต่งชุดนิสิต" จนขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1,200 รายชื่อแล้ว ในโอกาสนี้จึงได้สัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มที่ตั้งแคมเปญดังกล่าว ซึ่งขอสงวนชื่อ-นามสกุลไว้ เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไป และมุมมองของกลุ่มที่มีต่อชุดนิสิตนักศึกษา ทำไมถึงทำแคมเปญนี้ขึ้นมา? อยากให้เล่าที่มาและเหตุผลของการตั้งแคมเปญ?กลุ่มผู้ตั้งแคมเปญ : ที่มาของกลุ่มเกิดจากเพื่อนที่มีความคิดเห็นเหมือนกันเนื่องจากในภาคการศึกษานี้ทางมหาลัยมีการส่งจดหมายมาทางคณะให้กวดขันเรื่องการแต่งกายชุดนิสิตฯ ส่วนใหญ่ที่มีการกวดขันกันคือในห้องเรียน โดยระบุว่าหากนักศึกษาไม่แต่งกายชุดนิสิตฯมาเรียน ครั้งแรกจะโดนตักเตือน ในครั้งต่อมาจะถูกตัดคะแนน ทางกลุ่มเลยไปค้นหาประกาศระเบียบเกี่ยวกับการบังคับใส่ชุดนิสิตฯในเว็บไซต์มหาวิทยาลัย พบว่ามีบทลงโทษขั้นรุนแรงคือหากไม่แต่งกายชุดนิสิตฯเข้าเรียน 6 ครั้ง จะพ้นสภาพจากการเป็นนิสิตฯ ทางกลุ่มคิดว่ารุนแรงไป จึงตั้งแคมเปญนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการให้ทางมหาลัยยกเลิกการบังคับแต่งชุดนิสิตฯมาเรียน ซึ่งประเด็นนี้ก็มีมาตลอดในจุฬาฯ มีเพียงคณะรัฐศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ ที่ไม่ค่อยเคร่งครัดกับการแต่งกายชุดนิสิตฯ ในส่วนสถานที่อื่นนอกเหนือจากห้องเรียน ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นชุดนิสิตฯแต่ให้เป็นชุดสุภาพ ผลตอบรับแคมเปญนี้มากน้อยแค่ไหน และมองมันอย่างไร? โดยเฉพาะกับจุฬาที่คนภายนอกมองว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม?มีคนภายนอกรวมถึงคนไทยในต่างประเทศให้ความสนใจโดยมีกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก มีเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ในมหาลัยบางท่านที่เข้ามาสนุบสนุนประเด็นนี้ ทั้งยังมีสื่อมวลชนมาเอาข่าวไปลง พอเป็นกระแสก็เกิดดราม่า คนจำนวนมากที่ไม่ทราบมาก่อนว่ามีการล่ารายชื่อเพื่อยกเลิกการบังคับใส่ชุดนิสิตฯก็ออกมาสนับสนุนร่วมลงชื่อแคมเปญครั้งนี้ มองว่าชุดนักศึกษามีปัญหาอย่างไรถึงได้เสนอให้ยกเลิก?ทางกลุ่มไม่ได้มองว่าชุดนิสิตฯมีปัญหา ไม่ได้ต้องการยกเลิกชุดนิสิตฯ ปัญหาคือการที่มหาลัยบังคับใส่ ซึ่งมันเป็นเรื่องความสมัครใจของแต่ละบุคคลมากกว่าที่เลือกว่าจะใส่หรือไม่ และไม่ควรมีผลทางวินัยนักศึกษาถึงขั้นหมดสภาพจากการเป็นนิสิตจุฬาฯ คาดหวังจากแคมเปญนี้แค่ไหน? แค่ล่ารายชื่อ หรือจะมีกระบวนการอย่างไรต่อไป?จุดประสงค์หลักของแคมเปญอยากให้ยกเลิกการบังคับ อยากให้ทุกคนตระหนักสิทธิเสรีภาพแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่นิสิตจุฬาฯอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนิสิตฯในที่อื่นๆ ด้วย อยากให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่าง ถ้าไม่สำเร็จ คิดว่าจะทำต่อไหม ถ้าทำ แค่ล่ารายชื่อเหมือนเดิม หรือทำอย่างไร?ล่าสุดมีข่าวออกมาว่าทางบอร์ดผู้บริหารคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทำการประชุมหารือประเด็นปัญหาการบังคับใส่ชุดนิสิตฯ ผลออกมาคือจะไม่มีการบังคับใส่ในส่วนคณะอักษรศาสตร์ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลักจากแคมเปญนี้มีการขับเคลื่อนออกไป สิ่งที่เราได้จากแคมเปญนี้คือการสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าแคมเปญนี้จะสำเร็จหรือไม่ ทางกลุ่มก็ยืนยันว่าจะรวบรวมรายชื่อและผลักดันข้อเสนอต่อไป ในอนาคตหากมีความเป็นไปได้ทางกลุ่มอาจมีการขยับขยายประเด็นนี้ไปยังมหาลัยอื่นด้วย มีคนโต้แย้งว่าการมีชุดนักศึกษาหรือชุดที่เหมือนๆ กัน เพื่อให้ความเหลื่อล้ำในสังคมมหาวิทยาลัยลดลงนั้นมองว่าอย่างไร?เหมือนว่าจะเป็นการปกปิดความเหลื่อมล้ำไว้มากกว่า มันเป็นแค่การเอาชุดนิสิตฯมากลบปัญหานั้นไว้ โดยปกติคนเรามีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ควรจะเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างมากกว่าที่จะปกปิดความจริงซึ่งเป็นความต้องการของแต่ละคน บางคนมองว่าการแต่งชุดนักศึกษาทำให้นักศึกษามีสถานะพิเศษมากกว่าคนในสังคม โดยเฉพาะนักศึกษาจุฬาฯ จะได้รับการยอมรับจากสังคมหรือคนภายนอกมากกว่านั้น มองอย่างไรกับประเด็นนี้?เราไม่สามารถกำหนดการรับรู้คนอื่นได้ว่าควรจะรับรู้อย่างไรหรือมองในแง่ไหนถึงสถานะความพิเศษจากตัวสถาบันหรือบุคคล แต่ละคนมีกฏเกณฑ์เงื่อนไขการให้ความพิเศษนั้นต่างกันโดยขึ้นอยู่กับบริบท สำหรับกลุ่มเรามันเป็นเรื่องส่วนบุคคลมาก อย่างไรก็ตาม กรณีของการเปรียบเทียบระหว่างสถาบัน ยกตัวอย่างสถาบัน ก กับ ข คนก็มองระดับต่างกัน มันมีนัยยะของการให้ระดับดังกล่าว ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กล่าวได้ว่าชุดนิสิตฯไม่ได้ทำให้คนเท่าเทียมกัน ในส่วนของความเชื่อถืออยากให้ดูกันที่ความเหมาะสมของการกระทำ ความรู้ ไม่ใช่กำหนดคุณค่าผ่านชุดนิสิตฯเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ทางตัวแทนกลุ่มยังกล่าวถึงทางออกของปัญหานี้ทิ้งท้ายไว้ว่าต้องเคารพในสิทธิเสรีภาพของกันและกันจึงจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการบังคับให้ใส่เหมือนกัน เกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องการบังคับใส่ชุดนิสิตฯ นี้เอง ยังเคยเกิดขึ้นในกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปลายปี 2556 จากกรณีที่ ศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ อั้ม เนโกะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาจำนวนหนึ่ง จัดทำโปสเตอร์ร้องเรียนให้ยกเลิกข้อบังคับใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบในรายวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้น ได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับนักศึกษาว่าเป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัยและไม่เห็นว่านักศึกษาคนอื่นจะมีปัญหาจากระเบียบข้อบังคับดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งยังกล่าวเสริมว่าหากเป็นไปได้อยากให้นักศึกษาแต่งชุดนิสิตฯเข้าชั้นเรียน ซึ่งกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้เอง ยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยออกมาแสดงทัศนะภายหลังจากมีแบบสำรวจความเห็นเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาว่าตกลงมหาลัยจะอยู่ไม่ได้เพียงเพราะนักศึกษาแต่งกายไม่สุภาพหรืออย่างไรด้วย เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ASTV ผู้จัดการออนไลน์. มธ.ปัดไม่ได้ยกเลิกใส่ชุด นศ. manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9560000146894 ยุกติ มุกดาวิจิตร. มธ.เล่นไม่เลิก (เครื่องแบบอีก). blogazine.pub/blogs/yukti-mukdawijitra/post/4377 ยุกติ มุกดาวิจิตร. ความหมายของเครื่องแบบนักศึกษา (อีกสักที). blogazine.pub/blogs/yukti-mukdawijitra/post/4362
สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจด้าน One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'อะเหด ทามีมี' ชาวปาเลสไตน์ผู้ถูกจับ เพียงเพราะไม่เกรงกลัวต่อทหารอิสราเอล Posted: 20 Jan 2018 01:53 AM PST อะเหด ทามีมี นักกิจกรรมชาวปาเลสไตน์อายุ 16 ปี ถูกจับกุมตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวท่ามกลางการเรียกร้องของกลุ่มสิทธิมนุษยชนให้มีการปล่อยตัวเธอ ขณะที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลชี้ว่าเธอเป็น 'โฆษณาชวนเชื่อ' แต่ชาวปาเลสไตน์มองว่าเธอเป็นผู้กล้า ที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะไม่หวาดกลัวต่อทหาร อะเหด ทามีมี (Ahed Tamimi) นักกิจกรรมอายุ 16 ปี ชาวปาเลสไตน์ ที่มาภาพ: Haim Schwarczenberg, https://schwarczenberg.com Creative Commons Attribution-Share Alike 4.0 International 20 ม.ค. 2561 อะเหด ทามีมี เป็นนักกิจกรรมที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนาบีซาเลห์ เขตเวสต์แบงค์ ซึ่งหมู่บ้านของเธอได้รับความเดือดร้อนยากลำบากจากการยึดครองของกองกำลังอิสราเอล มีที่ดินของหมู่บ้านบางส่วนถูกผนวกรวมกับพื้นที่ที่ชาวอิสราเอลมาตั้งถิ่นฐานใกล้ ๆ กัน มีทหารคอยวางจุดตรวจการเคลื่อนไหวเข้า-ออกหมู่บ้านของพวกเขา ครอบครัวของทามีมีเป็นกลุ่มคนหลัก ๆ ที่เป็นแกนนำการประท้วงอย่างสันติต่อการสูญเสียที่ดินของคนในหมู่บ้าน โดยมีการจัดการชุมนุมเป็นประจำทุกสัปดาห์มาตังแต่ปี 2552 ทำให้ครอบครัวของทามีมีถูกตั้งเป้าหมายจากกองทัพอิสราเอลมาโดยตลอดไม่ว่าจะถูกจับกุม ถูกบุกรื้อค้นช่วงกลางคืน และแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงบางครั้งก็รุนแรงในระดับสาหัส เช่นกรณีที่ลูกพี่ลูกอายุ 14 ปี ของทามีมีถูกยิงที่ศรีษะจนอาการโคมาไป 7 วัน จานา จิฮาด ลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่งของทามีมีอายุ 11 ปี เรียกตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมที่เด็กที่สุด เธอเล่าถึงตอนที่ทหารปราบปรามการชุมนุมและยิงใส่ลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่งของพวกเขาว่า ขณะที่คนอื่น ๆ กำลังเศร้าและกังวลว่าคนในครอบครัวของพวกเขาที่ถูกยิงจะมีชีวิตรอดหรือไม่ในตอนนั้นที่มีทหารเข้ามายึดบ้านของพวกเธอเพื่อยิงผู้ประท้วงคนอื่น ๆ มันทำให้ทามีมีโกรธมาก และเข้าไปผลักกับทหารทำให้มีทหารนายหนึ่งตบหน้าเธอ แต่ทามีมีก็ตบสวนกลับ จิฮาดบอกว่ามันเป็นสิ่งธรรมดาที่ทามีมีทำแบบนั้นเพราะเธอไม่อยากให้คนอื่น ๆ ถูกสังหารหรือทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ ทามีมีต้องอยู่ในคุกนับตั้งแต่ถูกจับกุมในเดือน ธ.ค. 2560 เธอถูกตั้งข้อหาที่อาจจะทำให้เธอถูกสั่งจำคุกสูงสุด 14 ปี อย่างข้อหา "ใช้กำลังต่อเจ้าหน้าที่ทหารจนได้รับอันตรายสาหัส" กับข้อหา "ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่" นอกจากจากนี้แม่ของเธอ นารีมาน ยังถูกจับกุมข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" หลังจากแชร์วิดีโอการตบหน้าผ่านโซเชียลมีเดีย วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นทามีมีพยายามขับไล่ทหารอิสราเอลสองนายที่อยู่หน้าบ้านเธอโดยบอกให้ "ออกไป" มีการผลักกันไปมาจนกระทั่งทหารนายหนึ่งสลัดแขนเหวี่ยงเธอให้พ้นตัวทำให้ทามีมีโต้ตอบด้วยการตบหน้าเขา ชาวอิสราเอลผู้สนับสนุนรัฐบาลหลายคนกล่าวถึงทามีมีโดยเรียกฉายาเธอว่า "เชอร์รี เทมเพอร์" ซึ่งเป็นการล้อชื่อดาราฮอลลีวูดเด็กเชอร์รี่ เทมเพิล และแปลความหมายตรงตัวว่าได้ "เชอร์รี่เจ้าอารมณ์" รวมถึงวิจารณ์ว่าเป็นการแสดงของชาวปาเลสไตน์ที่พยายามทำให้อิสราเอลเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ในสายตาของชาวปาเลลสไตน์จะมองว่าเธอเป็นวีรสตรีผู้ไม่กลัวเกรงอำนาจของทางการอิสราเอล การแสดงออกของเธอทำให้หลังจากนั้นทามีมีถูกจับกุมตัวในช่วงการบุกค้นบ้านตอนกลางคืน จนทำให้มีการเรียกร้องปล่อยตัวเธอ รวมถึงการแสดงออกผ่านแฮ็ชแท็กทวิตเตอร์ #FreeAhedTamimi ขณะที่จิฮาดมองว่าทหารอิสราเอลไม่ควรนำเด็กอายุ 16 อย่างทามีมีเข้าคุก แต่สภาพภายใต้การยึดครองโดยอิสราเอล เด็กในพื้นที่แบบหมู่บ้านนาบีซาเลห์ไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษในแบบที่อื่น ๆ ที่มีคนโดนจับ ถูกทำร้าย และเด็กบางคนก็ถูกสังหาร เช่น ลูกพี่ลูกน้องอายุ 16 ปี อีกคนหนึ่งของทามีมี เด็กในนาบีซาเลห์ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกระสุนยางที่ทหารอิสราเอลใช้ว่ามีลักษณะเป็นยางบาง ๆ ที่หุ้มกระสุนเหล็กด้านใน เด็กเหล่านี้มีโอกาสเผชิญกับแก็สน้ำตาและมีญาติถูกกองทัพอิสราเอลจับตัวไป พ่อของทามีมีเองก็ถูกจับตัวไปหลายครั้ง ส่วนแม่ของทามีมีที่มีบทบาทในการประท้วงก็เคยถูกยิงที่ขา นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ครอบครัวของเธอต้องต่อสู้กับทหารอิสราเอลเพื่อปกป้องคนในครอบครัว ทามีมีเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเตลาซูร์ในปี 2559 ว่าการยึดครองของทหารอิสราเอลทำให้วัยเด็กของพวกเขาผุพัง พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา อาจจะถูกจับหรือถูกสังหารได้ทุกเมื่อ ความรุนแรงที่กองทัพอิสราเอลก่อกับครอบครัวของเธอยังทำให้ทามีมีมองทหารในภาพลบอย่างช่วยไม่ได้ บาสเซมพ่อของเธอกล่าวว่าสภาพการครอบครองพื้นที่โดยอิสราเอลแบบนี้ทำลายความฝันของเด็กอย่างเธอจากเดิมที่อยากเป็นนักฟุตบอล หมู่บ้านนาบีซาเลห์ถูกจัดเป็นพื้นที่ประเภท C ของเขตเวสต์แบงค์ตามสนธิสัญญาออสโลซึ่งระบุให้เป็นเขตของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอล พื้นที่เหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการอิสราเอล มีกองกำลังอิสราเอลตั้งด่านตรวจตัดขาดหมู่บ้านของพวกเขาออกจากโลกภายนอก อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างฝ่าฝืนกฎหมายนานาชาติเพราะเป็นการตั้งถื่นฐานบนอาณาเขตที่มีเจ้าของแล้ว ซึ่งบาสเซมบอกว่าเป็นการทำลายโอกาสในการที่จะหาทางออกร่วมกันแบบสองรัฐ สิ่งที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่เดือดร้อนทั้งนาบีซาเลห์และหมู่บ้านอื่นคือการถูกกีดกันออกจากแหล่งน้ำคือน้ำพุอัลคาวาสและผืนดินทางการเกษตร ขณะที่สงวนเอาไว้ให้แต่ชาวอิสราเอลเอาไว้ใช้ปิคนิคอย่างเดียว โดยจะจ่ายน้ำให้ชาวบ้านแค่ 12 ชม. ต่อวันเท่านั้น นั่นทำให้กลุ่มชาวบ้านเริ่มประท้วงสกัดกั้นไม่ให้มีการเข้าถึงผืนดินของพวกเขาในวันหนึ่งของปี 2551 จากนั้นก็มีการประท้วงรายสัปดาห์จากชาวบ้านนาบีซาเลห์ จนเกิดการการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงทั้งแก็สน้ำตาและกระสุนจริง มีการจับกุมผู้คนแม้กระทั่งเด็กซึ่งมีโอกาสเผชิญกับความรุนแรงหลังถูกจับกุม แบรด ปาร์กเกอร์ เจ้าหน้าที่นักรณรงค์นานาชาติและทนายความจากศุนย์พิทักษ์เด็กสากล-ปาเลสไตน์ (DCI-Palestine) กล่าวว่าเด็กทีถูกจับกุม 3 ใน 4 เผชิญความรุนแรงทางกายภาพหลังถูกจับกุม มีเด็กชาวปาเลสไตน์ถูกจับกุมโดยกองทัพอิสราเอลแล้วอย่างน้อย 8,000 ราย นับตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเด็กมักจะต้องเผชิญความรุนแรงทางวาจา การข่มขู่คุกคาม ความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ ในบางกรณีก็อาจจะเข้าข่ายทารุณกรรม การตั้งข้อหาหลายข้อหาต่อทามีมีกลับทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนชาวอิสราเอล อาหมิต กิลูตซ์ โดยบอกว่ามันคือการลงโทษทามีมีเพียงเพราะเธอไม่กลัวเกรงต่อทหารและแสดงออกต่อต้านกองทัพอิสราเอล การตัดสินเช่นนี้เองจะเปิดเผยให้เห็นความบิดเบี้ยวของระบบอิสราเอลเองที่ต้องการลงโทษเด็กอายุ 16 ปี คนหนึ่งผู้แสดงออกว่า "เธอไม่กลัว" กิลูตซ์ยังเปิดเผยว่าถ้าหากทามีมีเป็นชาวยิวเธอคงมีโอกาสถูกจับกุมน้อยมาก ในเวสต์แบงค์มีแต่ชาวปาเลสไตนเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารอิสราเอลและมีโอกาสแทบจะเต็มร้อยที่จะถูกตัดสินให้มีความผิด ในรายงานขององค์กรเบ็ตเซเล็ม องค์กรสิทธิมนุษยชนอิสราเอลที่กิลูตซ์ทำงานเป็นโฆษกเคยนำเสนอรายงานระบุว่ากองทัพอิสราเอลกระทำการละเมิดสิทธิในการชุมนุมของชาวนาบีซาเลห์ทั้งจากการข่มขู่คุกคามให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านในช่วงวันศุกร์ที่มีการชุมนุมเป็นประจำ อีกทั้งยังจำกัดการเดินทางโดยประกาศให้หมู่บ้านเป็น "พื้นที่ปิดของกองทัพ" มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่โยนแก็สน้ำตาใส่เด็กในชุดคอสตูมที่กำลังเล่นว่าวอยู่ เรียบเรียงจาก Palestinian Teenager Remains Imprisoned Because She "Has No Fear", Renee Lewis, Truth-out, 18-01-2018 Israelis call her 'Shirley Temper.' Palestinians call her a hero., Washington Post, 19-12-2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เดือน ธ.ค. 2560 ผู้ประกันตนว่างงาน 140,273 คน ถูกเลิกจ้าง 23,023 คน Posted: 19 Jan 2018 10:33 PM PST เดือน ธ.ค. 2560 พบแรงงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน ม.33 ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 140,273 คน ถูกเลิกจ้าง 23,023 คน
20 ม.ค. 2561 สำนักเศรษฐกิจการแรงงานเปิดเผยตัวเลข ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงานประจำเดือน ธ.ค. 2560 พบว่าด้านสถานการณ์การจ้างงานจากข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2560 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,840,579 คน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน ธ.ค.2559) ซึ่งมีจำนวน 10,511,821 คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (%YoY) ของเดือน ธ.ค. 2560 เทียบกับเดือน พ.ย. 2560 พบว่าในเดือน ธ.ค. 2560 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.13 ขยายตัวจากเดือน พ.ย. 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.90 สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่าร้อยละ 1 จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ สถานการณ์การว่างงาน เดือน ธ.ค. 2560 มีผู้ว่างงานจำนวน 140,273 คน มีอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน ธ.ค. 2559) ซึ่งมีจำนวน 141,267 คน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เดือน พ.ย. 2560) พบว่ามีจำนวน 145,172 คน โดยมีอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -3.37 และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน ธ.ค. อยู่ที่ร้อยละ 1.29 มีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน พ.ย. 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.35 ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสานักงานสถิติแห่งชาติ เดือน ธ.ค. 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 มีอัตราการว่างงานลดลงเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ด้านสถานการณ์เลิกจ้าง พบว่าเดือน ธ.ค. 2560 อัตราการเลิกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจานวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือน ธ.ค. 2560 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจานวนทั้งสิ้น 20,023 คน คิดเป็นร้อยละ 0.21 เท่ากับเดือน พ.ย. 2560 ที่ร้อยละ 0.21 แต่ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 0.28
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘เดินมิตรภาพ’ หลักประกันสุขภาพและปชต.คือเรื่องเดียวกัน ก่อนถูกตร.สกัด อ้างขัดคำสั่ง คสช. Posted: 19 Jan 2018 10:23 PM PST เสวนาเปิดตัวรณรงค์ 'เดินมิตรภาพ' จอนระบุการต่อสู้เพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือเรื่องเดียว เพราะหลักประกันฯ สร้างการส่วนร่วมและทำลายความสัมพันธ์แบบรัฐเป็นผู้ให้ เริ่มออกเดินเช้าวันที่ 20 ก่อนถูกตำรวจสกัด อ้างขัดคำสั่ง คสช. อังคณาตั้งคำถามทำไมตูน บอดี้สแลมวิ่งและมีคนวิ่งตามจำนวนมากสามารถทำได้ ภาพจากเพจ People Go network เมื่อวานนี้ (19 มกราคม 2561) ณ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรศาสตร์ (มธ.) รังสิต เครือข่าย People Go Network Forum ได้จัดงานเสวนาเพื่อเป็นการเปิดตัวการรณรงค์ We Walk เดินมิตรภาพ ในหัวข้อ ความมั่นคงด้านสุขภาพ การเรียนรู้จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จอน อึ๊งภากรณ์ จากโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า แม้จะมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมา 15 ปีแล้ว แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระหว่างการต่อสู้ อีกทั้งระบบหลักประกันฯ ยังให้บทเรียนที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรก ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงต่างๆ หรือเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนนั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ขัดหลักการประชาธิปไตย โดยฝ่ายแรกเป็นผู้กำหนดว่าจะให้อะไรแก่ประชาชน ประชาชนมีหน้าที่เป็นผู้รับโดยไม่มีสิทธิเข้าไปกำหนดและมีส่วนร่วมใดๆ ในการพัฒนาประเทศ แต่สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ใช่ความสัมพันธ์เช่นที่ว่า เพราะประชาชนไม่ได้เป็นเพียงผู้รับ แต่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ เหตุนี้เองจึงทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจระบบหลักประกันฯ เพราะมันกำลังทำลายความสัมพันธ์แบบผู้ให้และผู้รับนี้ ประการที่ 2 ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับระบบสงเคราะห์ผู้อนาถา ระบบหลักประกันฯ คือสวัสดิการที่ให้แก่ทุกคนตามความจำเป็นและเท่าเทียมกัน และประชาชนทุกคนก็ร่วมจ่ายอยู่แล้วผ่านภาษี แต่ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจ ทั้งมองว่าระบบหลักประกันฯ ใช้งบประมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับมีเงินซื้ออาวุธ ขณะที่สามารถเพิ่มรายได้แผ่นดินด้วยการปฏิรูประบบอัตราภาษีก้าวหน้าซึ่งก็ยังไม่เกิดขึ้น "รัฐบาลจะให้เฉพาะคนจน ไม่ให้คนรวย ซึ่งมันจะเป็นบริการที่แย่ที่สุด ทั้งที่เราพยายามสร้างระบบที่มนุษย์เท่ากัน แต่เขากลับพยายามไปสู่ระบบที่มนุษย์ไม่เท่ากัน" จอนกล่าว ด้านสุภัทรา นาคะผิว ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แม้จะมีระบุไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 คือการหลอมรวมกองทุนสุขภาพทั้งสามกองทุนเข้าด้วยกัน ได้แก่ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในระบบลง "เราอยากเห็นคนไปโรงพยาบาลแล้วแค่ยื่นบัตรประชาชนก็ได้รับการรักษา ไม่ต้องถูกถามว่าใช้สิทธิอะไร" ปีที่ผ่านมา ข้าราชการ 5 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล 7.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเป็นเงินรายหัวสูงกว่าผู้ใช้ระบบหลักประกันฯ 4 เท่า นอกจากเป็นความไม่เป็นธรรมแล้ว สุภัทรายังตั้งข้อสังเกตว่า การที่ข้าราชการคิดว่าใช้เงินมากกว่าในการรักษาอาจเป็นแค่ภาพลวงตาและอาจตกเป็นเหยื่อการทดลองยาใหม่ๆ ของบริษัทยา ในขณะที่ระบบหลักประกันฯ ซึ่งใช้เงินน้อยกว่ากลับมีคุณภาพที่ดีกว่าในหลายเรื่อง ส่วนประเด็นที่ว่าเงินงบประมาณไม่พอจนเป็นต้นเหตุความขัดแย้งระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับกระทรวงสาธารณสุข สุภัทราเห็นว่าควรต่อว่ารัฐบาลที่ไม่จัดสรรงบให้อย่างเพียงพอ ด้านเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่าย People Go Network Forum เล่าถึงเวลาที่เขาลงพื้นที่อธิบายสถานการณ์ให้พี่น้องชาวบ้านฟัง พบว่าชาวบ้านเข้าใจเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่าประเด็นเหมืองแร่ เพราะมันเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย ความยากจนในชีวิตประจำวันและความทุกข์ที่สุดของชาวบ้านคือความทุกข์จากการเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องวิ่งยืมเงิน อย่างน้อยให้มีในกระเป๋าสามสี่พันบาทไว้ก่อน เหตุนี้ชาวบ้านจึงเข้าใจและเห็นความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า "ที่พูดถึงชนชั้นกลางใหม่หรือชนชั้นกลางระดับล่าง ผมคิดว่าที่คนกลุ่มนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าไม่มี คนกลุ่มนี้ไม่มีวันเกิด เพราะจะติดกับภาระค่ารักษาพยาบาล" เลิศศักดิ์สรุปว่าทางเครือข่าย People Go Network Forum จึงพร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนประเด็นนี้ร่วมกัน ในช่วงท้ายสุดของการเสวนา จอนกล่าวสรุปว่า "การต่อสู้เพื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน" ในส่วนของการรณรงค์ We Walk เดินมิตรภาพ เป็นการร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายประชาชน 4 กลุ่มคือ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, เครือข่ายเกษตรทางเลือก, เครือข่ายทรัพยากร และเครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยจะเริ่มออกเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ในวันที่ 20 นี้ จนไปสิ้นสุดที่จังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไม่ให้จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพและขอให้ยุติกิจกรรม (ภาพจากเพจ People Go network) โดยในช่วงเช้ามีการอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายต่างๆ ก่อนออกเดิน ปรากฏว่าเมื่อเดินไปถึงบริเวณประตู 2 มธ. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากเข้าสกัดกลุ่ม We Walk ไม่ให้เดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่ากิจกรรมครั้งนี้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และขอให้ยุติกิจกรรม อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่าย People Go Network Forum พยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอเดินรณรงค์ แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาต กระทั่งช่วงเที่ยง People Go Network Forum เสนอจะขอเดินแค่ 10 คน ส่วนที่เหลือจะแยกย้ายกลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่อนุญาตให้เดิน "ตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ยอมให้เราเดิน ชาวบ้านนั่งตากแดดหน้าประตู 2 มธ. โดยทางเรายื่นข้อเสนออีกรอบว่าจะขอเดินแค่ 4 คน ซึ่งไม่ผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ทางเรายืนยันว่าจะเจรจาต่อไปและจะรอจนกว่าจะได้ออกเดิน" แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่าย People Go Network Forum ด้านอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า "ความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่า การทำกิจกรรมนี้อยู่ภายในขอบเขตรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเสรีภาพของประชาชน เจ้าหน้าที่ไม่ควรหวาดระแวงจนเกินไป ส่วนตัวเชื่อว่าการเดินครั้งนี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐธรรมนูญและไม่ได้ตั้งใจสร้างความวุ่นวาย ถ้าสิบคนก็ไม่ให้เดิน สี่คนก็ไม่ให้เดิน มันจะมีคำถามย้อนกลับว่า แล้วทำไมเวลาคุณตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย) วิ่ง มีคนวิ่งตามกันเต็มถึงสามารถทำได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ "ที่ผ่านมา กสม. เคยออกรายงานและมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้ปรับปรุงและทบทวนการใช้คำสั่ง 3/2558 การใช้คำสั่งนี้ของ คสช. ต้องไม่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและการใช้เสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ" สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของ 'เดินมิตรภาพ' ได้ที่เพจ People Go network ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน Posted: 19 Jan 2018 09:40 PM PST ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนาไม่เห็นด้วยขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฏหมายไปอีก 90 วัน ชี้ผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ม.267 และ 268 ด้าน 'องอาจ' ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะผู้มีอำนาจยังเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่เสร็จเรียบร้อยหรือไม่ 20 ม.ค. 2561 นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฏหมายไปอีก 90 วัน เพราะเป็นการกระทำที่ผิดอยู่หลายกรณี ทั้งการผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 และ 268 ที่ต้องการจัดให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้นำเสนอและมีการอภิปราย รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนหลายครั้ง และเชื่อว่า กรธ.ได้ตรวจสอบและรับรองเรื่องกรอบระยะเวลาในการนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างละเอียดแล้ว จนนำมาสู่การทำประชามติ หากมีการแก้ไขหรือขยายกรอบระยะเวลาหลายครั้งก็ย่อมเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ อีกทั้งรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาก็ได้ให้เวลาในการเตรียมการเลือกตั้งไว้แล้ว โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้เวลาไว้แล้วถึง 150 วัน นอกจากนี้ ยังผิดต่อความต้องการของประชาชน ที่ได้ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เพราะคาดหวังว่าหากเห็นชอบให้มีรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ตามที่บัญญัติไว้ให้ประชาชนได้ลงคะแนนเห็นชอบ รวมทั้ง ยังผิดในเชิงผลประโยชน์ขัดกัน ของสนช.เองโดยตรง เพราะการขยายเวลาออกไปเท่าใดก็จะส่งผลให้การดำรงตำแน่งของสนช.ยืดยาวออกไปเท่านั้น และอาจถูกกล่าวหาว่า หวังสร้างผลงานเพื่อให้พวกตนเองได้กลับมามีอำนาจในการเป็นสมาชิกวุฒิสภาผ่านการคัดเลือกของ คสช.ต่อไปได้ ประเด็นนี้อาจถูกร้องเรียนได้ทันทีและในอนาคตหากมีการดำเนินการต่อไป นายนิกร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ยังผิดต่อคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ข้อ 8 เนื่องจากเจตนารมณ์ของคำสั่งในข้อนี้ ต้องการให้ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ทันทีหลังจากที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นการอ้างว่า การขยายกรอบระยะเวลาเลือกตั้งเป็นเหตุอันควรจากคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 นั้น จะยกมาอ้างไม่ได้ เนื่องจากอาจถูกมองได้ว่าประสงค์ต่อผล จึงกำหนดเหตุดังกล่าวขึ้นมาเอง โดยการสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาจนทำให้ต้องมีการขยายกรอบระยะเวลาในการเลือกตั้งออกไป นายนิกร ยังเรียกร้องให้สมาชิก สนช.ช่วยกันยับยั้งการแก้ไขขยายเวลาดังกล่าว เพราะจะนำไปสู่ความเสียหายในหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของ สนช. ที่อาจถูกร้องว่าร่วมกันกระทำผิดด้วย ส่วน คสช.นั้นอาจจะถูกกล่าวหาว่าสร้างเหตุขึ้นมาเพื่อประสงค์ต่อผลได้ และกรณีนี้จะนำไปสู่การผิดคำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศโรดแมปเลือกตั้งไว้แล้วว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งหากขยายเวลาออกไปก็จะส่งผลกระทบ โดยทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนและนานาชาติที่มีต่อนายกรัฐมนตรี และจะเกิดผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน กรณีนี้จะเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทบทวนให้ดี องอาจชี้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง 90 วันต้องเลื่อนเลือกตั้ง ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฏหมายไปอีก 90 วันว่า การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมาย จะทำให้กรอบระยะเวลาการเลือกตั้งตามโรดแมปตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งส่วนตัวในฐานะที่เป็นนักการเมืองนั้น ไม่ได้รู้สึกแปลกใจเพราะเป็นเรื่องเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพราะผู้มีอำนาจยังเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่เสร็จเรียบร้อยหรือไม่ "พูดง่าย ๆ ว่ายังแต่งตัวพรรคใหม่ไม่เสร็จเลยต้องหาช่องทางทอดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปใช่หรือไม่ การดำเนินการขยายเวลาของการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสืบทอดอำนาจที่ดำเนินการมาเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะเมื่อมีความชัดเจนว่าต้องจัดตั้งพรรคใหม่ และดูดนักการเมือง จากพรรคเก่า การเคลื่อนไหวเพื่อบอนไซพรรคเก่า สร้างพรรคใหม่จึงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผมเป็นห่วงว่าหากผู้มีอำนาจเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้เล่นในสนามจะทำให้การการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ จึงอยากให้ไตร่ตรองให้ดี" นายองอาจ กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
องค์กรสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ร่วม ยืนยันเสรีภาพในการชุมนุม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' Posted: 19 Jan 2018 09:25 PM PST องค์กรสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ร่วม ยืนยันเสรีภาพในการชุมนุม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ตลอดทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วม และประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ รธน. 2560 และ พ.ร.บ. ชุมนุม 2558 20 ม.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้ออกแถลงการณ์ร่วม ยืนยันเสรีภาพในการชุมนุม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' โดยระบุว่าตามที่เครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้จัดงาน "We Walk…เดินมิตรภาพ" ระหว่างวันที่ 20 ม.ค. 2561–17 ก.พ. 2561 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เกษตรทางเลือก หลักประกันสุขภาพ และการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยการเดินเท้าจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดขอนแก่น โดยผู้จัดงานได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวงซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2561 แล้วนั้น วันที่ 19 ม.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตอบกลับหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะระบุว่า จากการตรวจสอบกิจกรรมมีพฤติการณ์จำหน่ายเสื้อยืดซึ่งมีข้อความสื่อความหมายในทางการเมือง และการชักชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจดูแล แต่เป็นการมั่วสุม หรือชุมนุมการเมือง ตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ องค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งลงนามท้ายแถลงการณ์นี้ มีความเห็นต่อข้อชี้แจงดังกล่าว ดังนี้ 1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อประเทศไทยเมื่อ มี.ค. 2560 แสดงถึงความกังวลในการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และเสนอแนะให้ไทยประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดหรือห้ามดำเนินกิจกรรม "We Walk…เดินมิตรภาพ" ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเป็นการชุมนุมโดยสงบนั้น จึงขัดต่อข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี 2. พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้จำกัดประเภทของการชุมนุมไว้แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.คลองหลวงซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจึงมีอำนาจในการดูแลและคุ้มครองการใช้เสรีภาพการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว การปฏิเสธว่าการชุมนุมอยู่นอกเหนือจากอำนาจของตนนั้น อาจถือเป็นการปฏิเสธการทำ "หน้าที่" ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 3. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2557 นั้นเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจระบุขอบเขตของการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ได้อย่างกว้างขว้าง โดยปราศจากความรับผิด กลายเป็นปัจจัยทางกฎหมายที่จำกัดและละเมิดซึ่งสิทธิข้างต้นเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายขอย้ำว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อมาตรา 34 และมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ และขัดต่อหลักนิติรัฐซึ่งเรียกร้องให้ตรวจสอบทุกอำนาจ อย่างชัดแจ้ง 4. การรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิโดยตรงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 133 (3) มิใช่การมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ที่ขัดกับข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าอคสช.ที่ 3/2558 แต่อย่างใด การบังคับใช้คำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองต่อการดำเนินกิจกรรมเดินมิตรภาพ แม้เป็นการสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน แต่ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นถึงความจำเป็นในการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ตลอดทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วม และประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จัดเสวนา ‘รับน้อง มช.’ กระตุ้นประเด็นเสรีภาพ-ถกแนวทางทำกิจกรรม Posted: 19 Jan 2018 09:10 PM PST ชมรมประชาธิปไตย มช. จัดเสวนา 'การรับน้องและสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัย' นำทัพอาจารย์-นักศึกษาถกประเด็น อาจารย์แนะทุกกิจกรรมควรทำตามความสมัครใจ หรือทดลองหาทางออกใหม่แทนการรับน้อง ปธ. โครงการเสวนาฯ แย้มปีหน้าอาจหาแนวร่วมจัดอีก เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดโครงการเสวนาวิชาการ 86 ปีประชาธิปไตย ในหัวข้อ "การรับน้องและสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัย" ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี อ.ปอ บุญพรประเสริฐ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ ศ. ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์ผู้ชำนาญการพิเศษ ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง เข้าร่วมเสวนา ศ.ดร. ธเนศวร์ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องว่า เป็นการสร้างทาสอย่างนุ่มนวลผ่านความเป็นพี่น้อง แม้ไม่ได้ทำร้ายร่างกายโดยตรงก็เป็นการทำร้ายทางสมอง ทำให้สมองไม่กล้าคิด และอดทนกับสิ่งไร้เหตุผลในสังคมโดยเฉพาะทางการเมือง เรียนจบไปจึงกลายเป็นเพียงบัณฑิตวิชาชีพ แต่ขาดความเป็นพลเมือง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากบทบาทของอาจารย์และผู้บริหารที่เป็นผลิตผลของระบบรับน้อง อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยเป็นสถานวิชาการ ไม่ใช่สถานบันเทิง การทำกิจกรรมจึงไม่ควรรบกวนผู้อื่น แต่ควรทำตามหลักอิสระ ความเป็นเลิศทางวิชาการ และการแข่งขันเสรี หมายความว่าสามารถจัดกิจกรรมรับน้องได้ แต่ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เข้าร่วม ไม่บังคับ และมหาวิทยาลัยไม่เข้ามาแทรกแซง ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมรับน้อง หรือการ "ว้าก" ศ. ดร. ธเนศวร์เสนอว่า อาจรวมกลุ่มใหม่กันเอง แล้วทำกิจกรรมที่ตนคิดว่าเห็นด้วย ถ้ามีปัญหาก็สามารถบอกเล่าปรึกษาอาจารย์ได้ และเมื่อทำกิจกรรมแล้วก็อย่าทิ้งการเรียน "จงเป็นนักกิจกรรมที่แข็งแกร่ง โดดเด่น เป็นนักกิจกรรมที่มีคุณค่าและวิชาการก็ต้องไม่ด้อยด้วย เพื่อให้เรียนจบไปแล้ว สามารถพูดถึงประเด็นวงเสวนาในวันนี้ต่อไปได้" ศ. ดร. ธเนศวร์ กล่าว ส่วนเรื่องประชาธิปไตย อ. ปอ กล่าวถึงการขอความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัย ให้งดพูดประเด็นทางการเมืองบนเวทีเสวนาว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะปิดกั้นนักศึกษาจากการเมือง เพราะนักศึกษาคือคนรุ่นใหม่ที่จะต้องบริหารประเทศต่อ การเบี่ยงเบนนักศึกษาจากประเด็นที่แท้จริง ยกตัวอย่างการรับชมรายการประกวดร้องเพลงของกลุ่มผู้มีหนี้สิน หรือมีรายได้น้อย โดยนำเสนอปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านั้นว่าเป็นความโชคร้ายส่วนบุคคล จะทำให้ผู้คนยอมจำนนต่อระบบ และไม่เกิดการตั้งคำถาม ประเด็นการตั้งคำถามและหลุดพ้นจากระบบ เช่น ระบบรับน้อง แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ อ. ปอกล่าวว่า "คำถามที่ว่าถ้าออกจากระบบรับน้องหรือโซตัสแล้วจะมีระบบใดมาแทน คุณต้องกล้าทดลอง อย่าหวังว่าจะมีคำตอบตายตัว และต้องกล้ายอมรับความสำเร็จหรือผิดพลาด ความผิดพลาดควรเกิดในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะเป็นพื้นที่ทดลองก่อนออกไปสู่โลกการทำงานจริง" นางสาวณัฏฐณิชา เทพยศ สมาชิกชมรมประชาธิปไตย มช. และ ประธานโครงการเสวนาฯ กล่าวว่าในวันนี้ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารมาร่วมฟังด้วย แต่กิจกรรมโดยรวมก็ผ่านไปได้ด้วยดี เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดจากผู้เข้าร่วม ทั้ง มช. และต่างสถาบัน ที่ผ่านมาเมื่อชมรมจัดกิจกรรมหนึ่งๆ ก็จะมีการพูดคุยถึงประเด็นนั้นภายในวันที่จัดกิจกรรมเท่านั้น เมื่อจบแล้วก็ไม่ได้พูดคุยกันต่อ แต่ครั้งนี้อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้เขียนบทความต่อเพื่อแสดงถึงปัญหาและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในปีหน้าชมรมฯ ก็จะจัดกิจกรรมเช่นนี้อีก และเป็นไปได้ว่าอาจร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดมากขึ้น นางสาวณัฏฐณิชา เล่าว่าก่อนหน้านี้ถูกมหาวิทยาลัยเลื่อนกิจกรรมไปสองครั้ง เนื่องจากอ้างว่าจัดกิจกรรมใกล้วันสอบ อย่างไรก็ตาม จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของนักข่าว พบว่า เคยมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อวิทยากรก่อนวันกิจกรรมจริง ตามความตั้งใจเดิมของชมรมประชาธิปไตยที่ต้องการเชิญนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรมและนิสิตมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยนายนลธวัช มะชัย หนึ่งในตัวแทนนักศึกษา มช. ผู้ร่วมการเสวนา ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nontawat Machai โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2561 ซึ่งเป็นวันก่อนจัดกิจกรรม ว่า "...มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่อนุญาตให้ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ขึ้นเวทีเสวนาที่น้องๆ นักศึกษาจัดใน มช. กลางเดือนนี้..." นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ Eak_Reporter สำนักข่าว The Standard ทวีตข้อความว่า "#เนติวิทย์ ถูกมหาวิทยาลัย #เชียงใหม่ ปฏิเสธการเป็นวิทยากร เสวนาในหัว "การรับน้องและการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม" ที่จัดโดยชมรมประชาธิปไตย มช. แหล่งข่าวเผยว่ามหาวิทยาลัยแจ้งกับผู้จัดงาน "เนติวิทย์" มีความเสี่ยงเกินไป" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตำรวจขวางกิจกรรม 'We Walk เดินมิตรภาพ' Posted: 19 Jan 2018 08:56 PM PST เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวสกัด กิจกรรม 'We Walk เดินมิตรภาพ' บริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 20 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่าเครือข่ายภาคประชาชน People Go Network ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดกิจกรรม 'We Walk เดินมิตรภาพ' โดยมีเป้าหมายการเดินทาง 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น เพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจกัน ยืนยันสิทธิของประชาชนทุกด้านในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ โดยกำหนดเดิมเครือข่ายฯ จะออกเดินก้าวแรก จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันนี้ เวลา 08.00 น. โดยมีผู้ร่วมหลักร้อยคน อย่างไรก็ตามได้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวสกัดบริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เป็นผู้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอจัดกิจกรรมต่อไป มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้รอเจ้าหน้าที่ทหาร ระหว่างนี้ People Go Network ได้ออกแถลงการณ์ 'People Go เดิน...มิตรภาพ 2561' ระบุว่าประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤติ มีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน และมีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางแต่การตรวจสอบและแก้ไขปัญหากลับไม่มีความชัดเจนเพียงพอ อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะมีการสืบทอดอำนาจผ่านกลไกของรัฐและรัฐธรรมนูญต่อไปไม่จบสิ้น ระบบคุณธรรมจริยธรรมของสังคมตกต่ำลงอย่างมาก ขณะที่กระบวนการยุติธรรมก็เสื่อมถอย ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับสังคม นอกจากนี้ รัฐบาลดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกันอย่างเห็นได้ชัด ซ้ำเติมปัญหาและสร้างความทุกข์ยากให้กับคนยากจนอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุน มุ่งสร้างความเจริญเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรมทว่ากลับสร้างมลภาวะและผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน มีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงทางอาหารของคนยากจน มีการแก้ไขหรือบิดเบือนสิทธิด้านสุขภาพและสวัสดิการของประชาชนให้กลายเป็นการสงเคราะห์คนอนาถา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีการผ่านรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำลายการมีส่วนร่วมและความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาของประชาชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยถูกย่ำยีหรือตกต่ำจนถึงขีดสุดภายใต้รัฐบาลนี้ People Go Network Forum ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายประชาชน 4 เครือข่าย ได้แก่ 1. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 2.เครือข่ายเกษตรกรรรมทางเลือก ความมั่นคงทางอาหาร 3.เครือข่ายทรัพยากร สิทธิชุมชน 4.เครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ มีความตระหนัก ห่วงใย และวิตกกังวลในวิกฤตที่ประเทศกำลังประสบ จึงร่วมกันแสดงพลังภายใต้กิจกรรม 'Go เดิน...มิตรภาพ' เพื่อทวงคืนสิทธิการมีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจในความเป็นไป ของประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ ได้สื่อสารต่อสาธารณะในประเด็นปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิต การถูกลิดรอนสิทธิการประกอบอาชีพ สิทธิการเข้าถึงทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ การสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร การถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง และที่สำคัญคือการถูกลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ วันนี้พวกเราจึงมาร่วมกันเดินจากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่นเป็นระยะทาง 450 กิโลเมตร หรือ 800,000 ก้าวเพื่อไปพบเพื่อน 800,000 คน ในระหว่างทางเราจะมีเพื่อนเพิ่มขึ้นก้าวละ 1 คน เราจะยื่นมือไปสัมผัสเพื่อนผู้ทุกข์ยากระหว่างเส้นทาง เพื่อนผู้เป็นพลเมืองใส่ใจสังคม เพื่อนผู้ต้องการมีส่วนร่วมในความเป็นไปของปัญหาบ้านเมือง เพื่อนผู้ต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวต่อสังคมแต่ไม่เคยได้ปรากฏ ถูกทำให้กลายเป็นเสียงที่ไม่ได้ยิน เพราะประเทศตกอยู่ในภาวะเผด็จการขึ้นมาปกครองบ้านเมือง เรา...มาเดินเพื่อที่จะร่วมกันบอกว่ายังมีอีกหลากหลายเรื่องราวที่สังคมพึงจะได้รับรู้ในยุคที่ประชาชนใช้ชีวิตอยู่กับความไม่มั่นคงถูกกระทำย่ำยีจากรัฐราชการ และไม่มีช่องทางที่จะบอกหรือสื่อสารกับใครให้รับรู้ได้อย่างเสรี เรา...เดินเพื่อมิตรภาพเพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายแต่กำลังเผชิญความทุกข์ยากในสิ่งเดียวกัน เพื่อไม่ให้คนรุ่นต่อไปกล่าวได้ว่าคนรุ่นเราเพิกเฉยต่อสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง เราเดินเพื่อหากัลยาณมิตร ผู้มีประสบการณ์ร่วมยุคสมัย ให้พวกเขาได้สะท้อนปัญหาแสดงความคิดเห็น สร้างความเข้าใจต่อสังคมในวงกว้าง เพื่อร่วมกันสร้างสังคมประชาธิปไตยที่อยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายและยอมรับในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ร่วมกันกำหนดชะตากรรมความเป็นไปของบ้านเมืองในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เรา...ขอยืนยันว่ารัฐจะต้องคืนสิทธิในทุกด้านให้กับประชาชนการพัฒนาประเทศจะต้องเริ่มจาก สิทธิและเสรีภาพของประชาชน การปฏิรูปประเทศ การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น การคืนความสุข และการสร้างความมั่งคั่งยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีประชาธิปไตยและการเปิดกว้างให้ประชาชนทุกระดับมีส่วนร่วมตัดสินใจในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กรุงเทพโพลล์ระบุประชาชน 70.6% อยากได้นายกที่มาจากการเลือกตั้ง Posted: 19 Jan 2018 08:35 PM PST ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ระบุประชาชนร้อยละ 70.6% อยากได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง 41.5%เห็นว่าการจัดมหรสพรื่นเริงในช่วงเลือกตั้ง ส.ส. อาจเปิดช่องโกง แสวงหากำไรและผลประโยชน์ประชาชนเชื่อประชาธิปไตยแบบไทยนิยมจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใด ๆ เลยประชาชนยังสนับสนุนบิ๊กตู่เป็นนายกฯ แต่คะแนนนิยมลดลง 20 ม.ค. 2561 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "เส้นทางการเลือกตั้งสู่ประชาธิปไตยไทยนิยม" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,114 คน พบว่า เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งที่ต้องมีสมาชิกพรรคครบ 500 คน มีทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท ประชาชนร้อยละ 43.9 เห็นว่าจะสร้างระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ เน้นพรรคมากกว่าตัวคน รองลงมาร้อยละ 29.6 เห็นว่าจะขาดความหลากหลายของนโยบายการหาเสียง และร้อยละ 29.1 เห็นว่าจะนำไปสู่ระบบผูกขาดทางการเมือง นอกจากนี้เมื่อถามต่อว่าคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง ในเรื่องการสรรหานายกฯ คนนอก ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.6 เห็นว่านายกฯ ควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ขณะที่ร้อยละ 29.4 เห็นว่านายกฯ มาจากคนนอกได้หากไม่สามารถเลือกกันเองได้ ด้านความเห็นต่อการจัดมหรสพ รื่นเริง ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง สส. พบว่า ประชาชนร้อยละ 41.5 เห็นว่าอาจเปิดช่องโกง แสวงหากำไรและผลประโยชน์ รองลงมาร้อยละ 40.5 เห็นว่าพรรคใหญ่ๆ จะได้เปรียบเพราะมีทุนมากกว่า และร้อยละ 37.3 เห็นว่าจะทำให้ประชาชนสนใจการเมือง รับรู้ข่าวสารของผู้สมัครได้ทั่วถึง ส่วนเมื่อถามว่า "คิดอย่างไรกับแนวคิดประชาธิปไตยไทยนิยม" พบว่า ประชาชนร้อยละ 29.1 เห็นว่าจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ เลย รองลงมาร้อยละ 27.9 เห็นว่าจะทำให้กลายเป็นประชาธิปไตยกึ่งรัฐบาลทหาร และร้อยละ 22.5 เห็นว่าทำให้คนปรองดองไม่ขัดแย้ง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย สุดท้ายเมื่อถามว่า "หากวันนี้ มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ท่านจะออกเสียงสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่" พบว่า ประชาชนร้อยละ 36.8 ระบุว่าจะ "สนับสนุน" (ลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 16.0) ขณะที่ร้อยละ 34.8 ระบุว่าจะ "ไม่สนับสนุน" ส่วนร้อยละ 28.4 งดออกเสียง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น