โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ร้อง รบ.หยุดเสนอข่าวปราบแรงงานข้ามชาติอันนำไปสู่กระแสความกลัวต่อคนต่างชาติ

Posted: 24 Jan 2018 12:06 PM PST

เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ร้องรัฐบาลยุตินำเสนอข่าวปราบปรามแรงงานข้ามชาติอันนำไปสู่กระแสการสร้างความหวาดกลัวต่อคนต่างชาติ แนะเร่ง จัดประชุม กก.นโยบายตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการนำเสนอข่าวการปราบปรามแรงงานข้ามชาติอันนำไปสู่การสร้างกระแสการสร้างความหวาดกลัวต่อคนต่างชาติ (Xenophobia) พร้อมเสนอแนะด้วยว่าควรเร่งดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการพิจารณานโยบายตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อพิจารณาข้อเสนอของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากเรื่อง การจัดทำกฎหมายลำดับรอง เกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเครือข่ายเห็นว่าการเร่งดำเนินการดังกล่าว จะช่วยให้แก้ไขผลกระทบในเชิงการจ้างงาน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นไปในแนวทางของการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง

เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ระบุว่า ตามที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2560 ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการแก้ไขการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ เช่น การอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานข้ามชาติในการพิสูจน์สัญชาติ การแก้ไขปัญหาแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานแต่งานที่ทำปัจจุบันไม่ตรงกับใบอนุญาต หรือใบอนุญาตไม่ตรงกับนายจ้างที่แท้จริง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอยู่ระหว่างการผ่อนผันด้านการดำเนินการ โดยล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการขยายระยะเวลาผ่อนผันการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไปจนถึง 30 มิ.ย. 2561

เมื่อพิจารณาบทบัญัติตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว นี้ ในมาตรา 7 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มีอำนาจกำหนดให้งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในท้องที่ใด เมื่อใด โดยห้ามเด็ดขาดหรือห้ามโดยมีเงื่อนไขอย่างใดเพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต้องการพัฒนาประเทศ โดยข้อกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ประกอบกับกฎหมายที่กำหนดงานที่ห้ามคนต่างชาติทำนั้น มีความจำเป็นต้องทบทวนและแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทางกระทรวงแรงงานจึงได้จัดประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็น การจัดทำกฎหมายลำดับรอง เกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 มีองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนภาครัฐ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และองค์กรภาคประชาสังคม เข้าร่วมหารือในการแสดงความคิดเห็นต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อประโยชน์ในการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งกำหนดให้งานใดเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ 

เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ระบุด้วยว่า การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นนั้น ฝ่ายผู้ประกอบการได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ที่ปัจจุบันยังคงยึดถึงตามพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 ซึ่งไม่สอดคล้องกับอาชีพที่ต้องสงวนให้คนไทยทำ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติในการทำงานกับนายจ้าง อีกทั้งคำนิยามคำว่า อาชีพ "กรรมกร" สำหรับแรงงานข้ามชาตินั้นยังไม่ชัดเจน เช่น การขายของหน้าร้านแทนนายจ้างคนไทย จึงมีรายละเอียดการทำงานที่อาจจะขัดต่อพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว พร้อมข้อเสนอทางออกต่อรัฐ ปัจจุบันกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ดังนั้น การออกแถลงการณ์และนำเสนอข่าวการปราบปรามแรงงานข้ามชาติแย่งอาชีพคนไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น การให้ข่าวของฝ่ายรัฐ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการจุดกระแสของการสร้างบรรยากาศความไม่เข้าใจต่อพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยการสร้างความขัดแย้งและความเกลียดชังทางเชื้อชาติ รวมทั้งผลกระทบในทางลบต่อมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่ปรากฎตามหน้าสื่อ และเพจสื่อ Social media ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: โรคเลื่อนคือไม่เชื่อมั่น

Posted: 24 Jan 2018 11:08 AM PST

 

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เชื่อว่าเลื่อนเลือกตั้งจะไม่กระทบความเชื่อมั่นภาคเอกชน เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนดีขึ้น ต่างชาติสนใจอีอีซีมากกว่า

แต่ขณะเดียวกัน กกร.ก็เรียกร้องให้ทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเห็นว่าปรับเกินอนุกรรมการจังหวัดเสนอ จะทำให้ภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs กระทบหนัก

อ้าว ก็ไหนเชียร์รัฐบาลแก้เศรษฐกิจฐานราก ทำให้คนไทยหายจน จะให้รัฐบาลแจกฝ่ายเดียวโดยไม่ปรับค่าจ้างหรือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกว่าค่าจ้าง "ต่ำเตี้ยติดดิน" แล้วจะหายจนได้ไง รัฐบาลจะเอาคะแนนนิยมจากไหน

รักจะเชียร์ คสช. ภาคเอกชนก็ต้องลงทุนหน่อย นี่ถ้าเลื่อนเลือกตั้ง 3 เดือน ต้นปี 62 ก็ต้องขึ้นค่าแรงอีกครั้ง รับรองคะแนนล้นหลาม รัฐบาลฐานเสียงมั่นคง กกร.ก็จะได้เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พูดอย่างนี้ไม่ใช่อคติกับภาคเอกชน แค่ขำๆ พวกท่านพูด 2 เรื่องที่อ่อนไหวทางการเมือง หนึ่ง หนุนรัฐบาลทหาร สอง ปกป้องผลประโยชน์นายจ้าง รู้จักระวังบ้างนะ จากนี้ไปกระแสสังคมจะผันผวน กระแสตีกลับเมื่อไหร่ ปัญหาเหลื่อมล้ำ รวยจน จะหวนเข้าใส่ภาคธุรกิจที่เชียร์รัฐบาล คล้ายๆ ยุคทักษิณ "ทุนสามานย์"

เหล่ากองหนุนรัฐบาลพยายามตีปี๊บว่าเลื่อนเลือกตั้งแค่ 3 เดือนไม่มีใครเดือดร้อน นอกจากนักการเมือง มองเผินๆ ก็เหมือนใช่ อ้าว ถ้าเชื่อว่าประชาชนไม่อยากเลือกตั้ง ทำไมไม่เลื่อนสัก 6 เดือนหรือ 1-2 ปี เผื่อเศรษฐกิจจะยิ่งดี

ใครล่ะที่สัญญาแล้วสัญญาอีก ตั้งแต่ปี 57-58-59-60 ทำไมไม่บอกว่าอยู่ยาวไปเลย 12 ปี แบบรัฐบาลหอย ทำไมต้องเลื่อนเรื่อยๆ เหมือนหลอกประชาชน

จริงๆ ไม่ได้หลอกหรอก หาทางออกไม่ได้เสียมากกว่า

รัฐประหารทุกแห่งในโลกยุคใหม่ เมื่อยึดอำนาจได้ก็จะรีบร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศเลือกตั้ง โดยหัวหน้ารัฐประหารจะตั้งพรรคการเมืองหรือหาวิถีทางใดก็ตาม สืบทอดอำนาจให้ตัวเองอยู่ต่อหลังเลือกตั้ง เช่น รัฐประหารอียิปต์เมื่อปี 2013 จัดเลือกตั้ง 2014 หัวหน้ารัฐประหารเป็นประธานาธิบดีจนวันนี้

ไม่มีรัฐประหารชุดไหนอยู่นาน 4-5 ปีอย่าง คสช.ทั้งในโลกในไทย ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ถนอม คุณอาจพูดได้ว่าคนไทยเหนือชาติใดในโลก แต่มันก็สะท้อนความอับจนไม่เห็นหนทางออก ทั้ง คสช.และสังคมไทย

มีอย่างที่ไหน ร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ฉบับแรกไม่เอา ฉีกเองฉุกละหุก ฉบับหลังผ่านประชามติ แต่กว่าจะเลือกตั้งก็เกิน 2 ปี กรธ.ยกร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ผ่าน สนช.จนประกาศใช้ กลับไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง กลับใช้ ม.44 แก้ไข เซ็ตซีโร่สมาชิกพรรค แล้ว สนช.ก็อ้างว่าพรรคการเมืองจะเตรียมตัวไม่ทัน ฉะนั้น ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งก็จะยืดเวลาบังคับใช้ไปอีก 90 วัน

ป่วยการพูดถึงตรรกะวิบัติ ข้ออ้างไม่มีใบสั่ง คำถามคือถ้าคิดอย่างนี้ทำไมไม่เขียนกฎหมายไว้ตั้งแต่แรก ปรากฏการณ์ทั้งหมดมันสะท้อนว่า คสช.เพิ่งจะรู้ตัวว่าไม่พร้อมเข้าสู่เลือกตั้ง เลยต้องมาแก้มายื้อกันให้วุ่นวาย ทั้งที่ควรเตรียมตัวให้พร้อม ตั้งแต่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะสืบทอดอำนาจอย่างไร จะตั้งพรรคการเมืองไหม ฯลฯ ได้เปรียบทุกอย่างโดยเงื่อนไขกลไก แต่นี่อะไร ผ่านไปตั้งปีกว่า ยังไม่พร้อมเลือกตั้งเลย ยังต้องยืดเวลาทั้งที่ให้สัญญาประชาคมแล้ว

ฉะนั้นเรื่องของความเชื่อมั่น จึงไม่ใช่แค่ 3 เดือนไม่เห็นเป็นไร แต่เป็นคำถามว่า คสช.เชื่อมั่นตัวเองไหม พร้อมไหม ที่จะเข้าสู่เลือกตั้ง หรือเป็นโรคเลื่อนเพราะไม่พร้อม ไม่เชื่อมั่น ยังหาทางออกไม่เจอ ยังไม่มั่นใจว่าหลังเลือกตั้งจะกุมอำนาจได้อย่างมั่นคง

 

ที่มา: นสพ.ข่าวหุ้น คอลัมน์ ทายท้าวิชามาร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Smart Growth & Smart City: วาทกรรมลวงโลก

Posted: 24 Jan 2018 10:58 AM PST


เดี๋ยวนี้คำว่า Smart City กำลังเฟื่อง ใครไม่พูดถึงคงดูเชยพิลึก ผมก็ได้แต่บอกว่าอย่าบ้าจี้ พร้อมด่าให้สำเหนียกสักนิดว่า อย่าเห็นขี้ฝรั่งหอม นั่นมันแค่วาทกรรม ลองมาฟังผม ดุษฎีบัณฑิตด้านการวางแผนพัฒนาเมือง (ไม่ได้ซื้อมา/ใช่ใช่จ่ายครบจบแน่) อย่างผมสักหน่อยประไร


ที่มาที่ไป: ยังไงกัน

ถ้าเรา Search คำว่า Smart City ในยุคใหม่ จะมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ IT บ้าง AI บ้าง Big Data บ้าง ปะปนยำๆ ลงไปให้ดูขลัง ให้ดูร่วมสมัย หรือดูเท่ๆ บ้างก็อาจใส่คำว่าสิ่งแวดล้อม เขียวๆ พลังงานแสงแดด Ecosystem ระบบอัจฉริยะ หรือเรื่องผู้หญิง-คนพิการบ้าง ถ้าเป็นเมืองไทยคงต้องใส่คำว่า 4.0 เข้าไปด้วย เพื่อให้ดูสมกับการเป็นยุคใหม่ ทันโลกยิ่งขึ้น

คำว่า "Smart Growth" ที่ว่ากันว่าเป็นแนวคิดใหม่ในการผังเมืองมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเพื่อแก้การวางผังเมืองผิดๆ แบบเดิมจนกระทั่งหากไม่มีรถส่วนตัว ก็เท่ากับพิการ ไม่มีขา เพราะบ้าน ร้านค้า โรงเรียน ฯลฯ แต่ละแห่ง ห่างไกลกัน เดินกันไม่ถึง แต่ไทยเรายังเอาแนวคิดผังเมืองแบบ "พระเจ้าเหา" มาใช้


ว่าด้วย 'Smart Growth'

แนวคิดนี้คือการพัฒนาเมืองโดยรวมศูนย์ความเจริญอยู่ภายในเมืองเพื่อป้องกันปัญหาการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง (Urban Sprawl) แนวคิดนี้จะมีองค์ประกอบเกี่ยวกับ คุณภาพชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ที่อยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่ง อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ยังได้รับการต่อเติมให้ดูร่วมสมัยด้วยการพูดถึงการประหยัดพลังงาน การแก้ปัญหาโลกร้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน

หลักการ 10 ประการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การสร้างโอกาสที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย การสร้างชุมชนที่เดินถึงกันได้ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างอัตลักษณ์ของท้องที่ การตัดสินใจพัฒนาที่คาดการณ์ได้เป็นธรรมและคุ้มค่า การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี การมีทางเลือกการคมนาคมขนส่งที่หลากหลาย การพัฒนาชุมชนที่มีอยู่แล้ว (ไม่ใช่สร้างชุมชนใหม่) และการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่หนาแน่นเกินไป


เหล้าเก่าในขวดใหม่

ทำไมที่สหรัฐอเมริกากำลัง 'ฮือฮา' กับแนวคิดนี้ เหตุผลก็คือตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา อเมริกาสร้างแต่บ้านแนวราบกินพื้นที่ออกไปนอกเมืองมากที่สุด ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองที่สุด จนใครต่อใครทราบดีว่าในอเมริกา หากใครไม่มีรถ ย่อมเหมือนคนพิการ ไปไหนไม่ได้ เพราะแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า สำนักงาน หรืออื่น ๆ ล้วนแต่ห่างไกลจากบ้านทั้งนั้น แต่อเมริกาก็พัฒนาอย่างสูญเปล่านี้ได้มานานเพราะมีเงินมาก จะบันดาลอะไรก็ทำได้นั่นเอง

ในระยะหลังมานี้อเมริกาจึงค่อยสำนึกได้ว่านี่เป็นการพัฒนาที่ทำร้ายตัวเองเป็นอย่างมาก จึงเกิดแนวคิด Smart Growth นี้ขึ้น ข้อนี้ไทยและประเทศในเอเชียจึงไม่ต้องตื่นเต้นมากนัก เพราะเมืองไทยเราดีกว่ามาก ในแง่นี้ขนาดในเวียดนามที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังที่นั่นมาระยะหนึ่ง ก็ยังมีละแวกบ้านแบบพึ่งตนเองได้ จะซื้อหาอะไรก็มีอยู่แถวนั้น ไม่ต้องถ่อสังขารไปซื้อไกลถึงใจกลางเมือง ดังนั้นแม้แนวคิดนี้จะเพิ่งได้รับการโฆษณา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว ผมเชื่อว่านี่เป็นเพียงการ 'Import' วิธีการแบบตะวันออกไป 'ใส่ตะกร้าล้างน้ำ' ในอเมริกา แล้ว 'Export' ออกมาให้ชาวโลกได้ชื่นชมกันอีกต่อหนึ่ง


เขามุ่งทำเมืองให้แน่นแต่ กทม. มุ่งให้หลวม

บางคนมักอ้างว่ากรุงเทพมหานครหนาแน่นเหลือเกินเพราะมีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 3,800 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ประเทศไทยโดยรวมมีความหนาแน่นเพียง 133 คนต่อตารางกิโลเมตร จึงเสนอแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงให้ชะลอการเติบโตของกรุงเทพมหานคร โดยไม่ฉุกคิดว่า สิงคโปร์มีความหนาแน่นของประชากรเกือบ 7,000 คน หรือมากกว่ากรุงเทพมหานครถึงเกือบ 2 เท่า แต่กลับดูโล่งโปร่งสบายกว่า

เกาะแมนฮัตตันในนครนิวยอร์ก มีประชากร 1,634,795 คน แต่มีขนาดที่ดินเพียง 59.5 ตร.กม. หรือมีความหนาแน่นสูงถึง 27,476 คนต่อตารางกิโลเมตร นครนิวยอร์กโดยรวมมีประชากรถึง 8.3 ล้านคน มีความหนาแน่นของประชากรถึง 10,587 คนต่อตารางกิโลเมตร ดังนั้นแนวคิดที่ตั้งใจทำกรุงเทพมหานครให้โล่งจึงควรได้รับการทบทวนเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นแนวคิดที่จะมุ่งเก็บรักษาที่ดินในเมือง ซึ่งมักเป็นของผู้มีอันจะกินในวันนี้ไว้ (โดยไม่มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) และให้ผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางจำต้องไปซื้อบ้านอยู่นอกเขตผังเมืองที่ไม่อำนวยให้สร้างอาคารชุดหรือสร้างได้ในความสูงที่จำกัด

การคิดผิดเพี้ยนของนักผังเมืองไทยกลับทำให้กรุงเทพมหานครในช่วง พ.ศ.2545-2554 มีประชากรลดลง 2% แต่ในเขตปริมณฑลกลับมีประชากรเพิ่มจาก 3.9 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 4.7 ล้านคนในปี 2554 หรือ 21% หากในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรมีผู้อยู่อาศัย 3,600 คนตามค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร ประชากร 1.2 ล้านคน ก็เท่ากับไปบุกรุกไร่นาเรือกสวนสีเขียวถึง 333 ตารางกิโลเมตร


ทำไมจึงเป็นไปได้

ทำไมในสหรัฐอเมริกาทำอะไรก็มักได้ ส่วนหนึ่งก็คือเขามีเงิน ประชากรมีรายได้มากกว่า จึงเก็บภาษีได้มากกว่า และเก็บในสัดส่วนที่มากกว่าไทย ของไทยเรา การเก็บภาษีท้องถิ่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ยังไม่มี ชุมชนหรือท้องถิ่นก็มีรายได้จำกัด โอกาสที่จะทำอะไรมากจึงจำกัด การนำแนวคิดนี้มาใช้ก็คง 'เลียนแบบ' มาได้บางส่วน และทำตามกำลังแบบไหไหม้ฟาง

ในสหรัฐอเมริกา บ้านทุกหลังต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 1-2% ของมูลค่าตลาด ไม่ใช่ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของทางราชการไทย ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อนำเงินเหล่านี้มาใช้พัฒนาท้องถิ่น การนี้ท้องถิ่นก็มีเงินเพียงพอที่จะพัฒนา ลำพังการอาศัยการบริจาคจากภาคเอกชนหรือชุมชน ก็คงได้ทำอะไรเพียงเล็กน้อยแบบ 'ลูบหน้าปะจมูก' หรือ 'ไฟไหม้ฟาง' ดังนั้นการหวังให้ประชาคม บริษัทห้างร้าน มูลนิธิ ฯลฯ เข้าช่วยผลักดันแนวคิด 'Smart Growth' จึงมีความเป็นไปได้ที่จำกัด


ทำอย่างไรให้สำเร็จ

แนวคิดการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยวาทกรรมใหม่หรือเก่าใด ๆ นั้น จะเป็นจริงได้ ก็อยู่ที่ผู้บริหาร เช่น นายกเทศมนตรี ผู้นำชุมชน ผู้ว่าราชการ ตลอดจนผู้นำรัฐบาล หาไม่แนวคิดดี ๆ ก็จะเพียง 'ขึ้นหิ้ง' หรือไม่ก็แค่อยู่ในตำรา หรืออย่างดีก็ได้รับการดำเนินการแบบ 'ไฟไหม้ฟาง' หรือ 'ผักชีโรยหน้า' ในที่สุด เราต้องทำให้ผังเมืองเป็นสิ่งที่ชุมชน ท้องถิ่นช่วยกันวาง ไม่ใช่ให้ราชการเช่น กทม. จ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหนึ่งวาง/คิดแบบซ้ำๆซากๆ มาร่วม 20 ปีแล้ว

ถ้าผู้บริหารยอมรับหรือได้รับการปรับทัศนคติ (Mindset) แนวคิดก็จะได้รับการยอมรับ สานต่อและทำให้เป็นจริงขึ้น เราจึงต้องขายความคิดให้กับผู้บริหาร แต่ลำพังผู้บริหารนั้น บางครั้งเวลาฟังให้ได้ศัพท์ยังไม่มี ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจึงต้องพยายามให้การศึกษาแก่ประชาชนในวงกว้างด้วย เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้ผู้บริหารได้ตระหนักถึงความสำคัญและปรับทัศนคติต่อแนวคิดใหม่ ๆ ต่อไป

โดยสรุปแล้ว เราต้องทำเมืองให้หนาแน่น (High Density) แต่ไม่ใช่แออัด (Overcrowdedness) ให้มีการพัฒนาทั้งที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมแนวสูงในเขตใจกลางเมืองโดยเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ หยุดการเติบโตสู่ชานเมือง ซึ่งยิ่งทำให้สาธารณูปโภคขยายออกรอบนอกอย่างไม่สิ้นสุด และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางผังเมืองเอง ไม่ใช่ปล่อยให้พวกอาจารย์ 'เต่าล้านปี' ครอบงำการวางผังเมืองส่งเดช ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่า 'ห่วย'

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทเรียนจากคดีการเมืองล่าสุดของ ส. ศิวรักษ์

Posted: 24 Jan 2018 10:48 AM PST

ในปี พ.ศ. 2557 ข้าพเจ้าถูก พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน นายทหารนอกราชการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม หลังจากข้าพเจ้าได้ร่วมอภิปรายเรื่อง "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง" ซึ่งจัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2557 บุคคลทั้งสองนี้กล่าวหาว่ามีหลายถ้อยคำที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้ง ๆ ที่การอภิปรายดังกล่าวเป็นเรื่องของอดีต โดยเฉพาะก็กรณีที่พระนเรศวร ซึ่งเสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา แต่ พ.ศ. 2133-2148 ว่าที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีนั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยข้าพเจ้าขอให้ผู้ฟังควรใช้เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของทางฝ่ายพม่า ฯลฯ ประกอบด้วย โดยไม่ควรเชื่อแต่ถ้อยคำจากพระราชพงศาวดารฝ่ายไทยเท่านั้น พร้อมกันนั้น ข้าพเจ้าก็ยืนยันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (ซึ่งครองราชย์แต่ พ.ศ. 2394-2411) ไม่ได้ทรงปลอมแปลงศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ดังที่มีผู้รู้สมัยใหม่ทั้งไทยและเทศกล่าวหา

พนักงานสอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม ยังบอกกับข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าปกป้องพระจอมเกล้าฯ แต่แล้วสถานีตำรวจดังกล่าวก็สรุปสำนวนส่งฟ้องต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 256๐ อัยการศาลทหารกรุงเทพฯนัดให้ข้าพเจ้าไปฟังคำสั่ง ณ วันที่ 7 ธันวาคม 256๐ แต่แล้วอัยการศาลทหารกรุงเทพฯได้เลื่อนให้ไปฟังคำสั่ง ณ วันที่ 17 มกราคม 2561 ว่าจะสั่งฟ้องยังศาลทหารหรือไม่ และแล้วในที่สุดก็ยุติคดีดังกล่าวแต่เพียงนั้น

คดีที่ว่านี้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองค่อนข้างสูง โดยเฉพาะก็บุคคลสำคัญ ๆ ในนานาประเทศที่ยืนหยัดอยู่ข้างเสรีภาพและประชาธิปไตย ตลอดจนองค์การสากลหลายแห่ง เช่น PEN International, Amnesty International และ UN High Commission for Human Rights เป็นต้น รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัล Right Livelihood Award ที่เรียกกันว่า Nobel ทางเลือก ได้ส่งถ้อยคำประท้วงมายังรัฐบาลไทยกันเป็นระลอก ๆ แต่ทางรัฐบาลไทยก็ดูจะไม่ไยไพ แม้ภายในประเทศเอง ก็มีผู้ติดต่อขอให้นายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญอื่น ๆ สั่งระงับคดีนี้เสีย เพราะถ้าคดีนี้ขึ้นถึงศาล รัฐบาลน่าจะเป็นฝ่ายเสียมากกว่าได้ แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าตัดสินใจใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้าพเจ้าไม่มีทางเลือกอื่นใด จึงทำฎีกาทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณ โดยทรงแนะนำรัฐบาลให้ยุติคดีดังกล่าว

ก็การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น พระองค์ท่านทรงมีพระสถานะที่จะแนะนำรัฐบาลได้ ทรงสนับสนุนหรือทักท้วงรัฐบาล ก็อยู่ในขอบเขตแห่งพระราชอำนาจ ข้าพเจ้าจึงรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่โปรดเกล้าฯ ทรงแนะนำนายกรัฐมนตรีให้ยุติคดีดังกล่าวเสีย ทั้งนี้นับเป็นพระเดชพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้

การมีพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัยนั้น ย่อมทรงเป็นที่พึ่งของผู้ที่แสวงหาความเป็นธรรมในบ้านเมืองได้ ข้อสำคัญคือ ผู้คนเป็นอันมากยากที่จะถวายฎีกาได้โดยตรง ถวายขึ้นไปแล้วจะถึงพระเนตรพระกรรณหรือไม่ โดยจะถูกกลั่นกรองอย่างใด ย่อมยากที่พสกนิกรจะทราบได้

โดยที่คดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น มีมากมายจนเกินกว่าเหตุ ทั้ง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่แล้ว เคยมีพระราชดำรัสอย่างเปิดเผยว่า ใครนำคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาฟ้องร้องนั้น เท่ากับเป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน และเป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

ก็กฎหมายอาญามาตรานี้ บ่งชัดว่าปกป้องพระมหากษัตริย์ พระมเหสีและองค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้น ดังมีตัวอย่างปรากฏอยู่ชัดเจนเมื่อเริ่มรัชกาลที่ 9 เจ้าหน้าที่ตำรวจทำเรื่องฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวอันเป็นอัปมงคลถึงในหลวงรัชกาลที่ 8 แต่เมื่อคดีมาถึงอธิบดีกรมอัยการ ในหลวงพระองค์นั้นสวรรคตเสียแล้ว อธิบดีกรมอัยการจึงไม่อาจฟ้องร้องคดีดังกล่าวได้ ท่านอธิบายไว้ด้วยว่า ถ้านำมาตรานี้ใช้กับพระอดีตมหากษัตริย์ เราจะสอนประวัติศาสตร์กันไม่ได้

แต่แล้วก็มีคำพิพากษาศาลฎีกา ลงโทษจำเลยในข้อหาว่าหมิ่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โดยศาลบ่งว่าพระองค์ท่านทรงเป็นพระไปยาธิราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้น คือรัชกาลที่ 9 ทั้ง ๆ ที่ถ้อยคำของจำเลยไม่ได้เอ่ยในทางลบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสียด้วยซ้ำ เพียงเขากล่าวว่าพวกเราเคราะห์ดีที่เกิดในรัชกาลปัจจุบัน เพราะถ้าเกิดในรัชกาลที่ 4 ยังมีทาสอยู่ เราจะแย่มากกว่านี้

นี่แสดงว่าศาลไม่แม่นยำทางตัวบทกฎหมายแล้วยังขาดการุณยธรรมอีกด้วย โดยเราต้องไม่ลืมว่าท่านอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งเป็นนักกฎหมายคนสำคัญที่ในวงการนิติศาสตร์เคารพนับถือยิ่งนัก ดังท่านเคยเป็นองคมนตรีด้วย ท่านเตือนว่าผู้พิพากษาต้องตีความตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด และถ้าสงสัยควรยกประโยชน์แก่จำเลย ไม่ใช่ว่าตีความอย่างกว้างขวางจนอะไร ๆ ก็เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหมด ดังนายวีระ มุสิกพงศ์เคยโดนลงโทษมาแล้วในข้อหาว่าหมิ่นพระบรมมหาราชวัง

ที่น่าสงสัยก็คือเนติบริกรที่รับใช้ใกล้ชิดรัฐบาลปัจจุบันในเวลานี้ไม่ตระหนักดอกหรือ ว่าคนที่โดนลงโทษตามมาตรา 112 นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นสวรรคตไปแล้ว นักโทษเหล่านั้นควรได้รับอิสรภาพ ถ้ารัฐบาลมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ควรประกาศให้อิสรภาพแก่บุคคลนั้น ๆ นั่นจะเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างแท้จริง

ก็กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้เอง มีปัญหามากหากไม่แก้ไขปปรับปรุง ใคร ๆ รวมทั้งตัวข้าพเจ้าเอง อาจถูกกล่าวหาอีกเมื่อไรก็ได้ เพราะถ้าใครกล่าวหาใคร ตำรวจไม่รับคำร้องดังกล่าว เขาก็ย่อมกลัวผิด เพราะฉะนั้นควรแก้ไขให้ชัดเจนว่ามีการกล่าวหาในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้น ควรมีคณะกรรมการพิจารณาความข้อนี้เสียก่อน คณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นนักนิติธรรมในทางฝ่ายราชเลขาธิการได้ หรือในกระทรวงยุติธรรม ที่อยู่ในอำนาจของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภาก็ได้ เพราะพระองค์ท่านทรงสนพระทัยในเรื่องความยุติธรรมเป็นอย่างมาก และทรงห่วงใยเรื่องคนล้นคุกอีกด้วย

ที่พรรณนามาทั้งหมดนี้ คงได้รับการอภิปรายไปในทางสร้างสรรค์ อันควรจะเป็นสาระของประชาธิปไตยและจะเป็นการเทอดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างที่ถูกที่ควรอีกด้วย


ส.ศ.ษ.

 

ที่มา: Facebook Sulak Sivaraksa

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลือกตั้งทำไม? เลื่อนวนไป เลื่อนออกไป

Posted: 24 Jan 2018 10:30 AM PST

 

ตั้งแต่ อภิวัฒน์สยาม 2475 เป็นต้นมา การเลือกตั้งหมดความหมายสำหรับผู้เขียนแล้วจริงๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ แม้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยก็จริง แต่สิทธิพื้นฐานของประชาชนนั้น แม้จะมีการมอบเจตนารมณ์ให้กับรัฐโดยการเลือกตั้งที่ผ่านมาล่าสุดปี 2554 (ซึ่งแท้จริงแล้วล่าสุดคือ 2557หรือเปล่า? จะเห็นได้ว่าแม้รัฐบาลจะคืนสิทธิอันพึงมีให้กลับประชาชนแล้ว ก็กลับถูกกลุ่มคนบางคนมาขัดขวาง อาทิ ผู้หญิงที่ถือไฟฉายไปเลือกตั้งถูกขัดขวางในการออกไปใช้สิทธิ์ คำถามคือกลุ่มคนพวกนี้กลับมาเรียกหาการเลือกตั้งตอนนี้เพื่ออะไร?)

แต่เมื่อสิทธินั้นได้ถูกยึดไป จนวันนี้ ปวงชนชาวไทยมองไม่เห็นว่าจะได้สิทธินั้นคืนเมื่อไหร่ ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผู้เขียนอยู่ในประเทศไทยแห่งนี้ ได้เติบโตมากับรัฐบาล ที่มีการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ครั้ง มีเพียงครั้งเดียวที่ครบวาระ 4 ปี คือ ยุคนายกทักษิณ  ชินวัตร สมัยแรก (แต่รัฐบาลปัจจุบันคงอยู่ครบ 4 ปี และไม่น่าจะอยู่วาระเดียว เพราะเห็นตอนนี้ผันแปรตัวเองเป็นนักการเมืองแล้ว)

ชุมพล ศรีรวมทรัพย์ ได้เขียนลงในจุลสารเตรียมงานรำลึก 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ "ภาวะแช่แข็งประชาธิปไตย แม้คณะราษฎร จะมีความต้องการอันดีให้บ้านเมืองมีความเจริญทัดเทียม อารยประเทศ แต่การให้ความสำคัญกับระบบมากกว่าคน ทำ ให้ อำนาจการเมืองกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นปกครอง ไม่มีการ ให้ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก และให้ประชาชนได้เรียนรู้ทางการ เมืองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือ หรือดึงต่างชาติเข้ามาเพื่อสร้างดุลอำนาจในประเทศปรากฏมาอย่างต่อเนื่อง เกิดภาวะ "เสียนิสัยทางการเมือง" สืบทอดมาถึง ปัจจุบัน"[1] 

ผู้เขียนเห็นว่าเป็นจริงเช่นนี้โดยไม่คัดค้าน และเห็นด้วยว่าแท้ที่จริงการปลูกฝังจิตสำนึก และให้ประชาชนได้เรียนรู้ทางการ เมืองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะเปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันชั้นเลิศ ที่จะทำให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ของตน  เมื่อนั้นการเลือกตั้งจะมีความหมายมาก แม้จะได้ยินผู้นำเผด็จการออกมาเลื่อนการเลือกตั้งไปอีกประชาชนต้องลุกขึ้นเรียกทวงสิทธิอันพึงมีของตนคืนมาแน่นอน เมื่อนั้นการเลือกตั้งประชาธิปไตยจะกลับมามีความหมาย




[1] อึ๊งภากรณ์, ม.-น. โ. (2557, มิถุนายน). 82 ปีอภิวัฒน์สยาม ถึงรัฐประหาร 2557. จุลสารเตรียมงานรำลึก ๑๐๐ ปี ชาตกาล ป๋วย อึ้งภากรณ์. กรุงเทพ, ไทย: บริษัท ฟิล สไตล์ จำกัด.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติเตรียมยื่นประกันอดีตครูตาดีกา พี่ชายวอนสื่ออย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง

Posted: 24 Jan 2018 10:05 AM PST

กรณีทหารตำรวจบุกอุ้มหนุ่มมุสลิม นร.นอก อดีตครู รร.ตาดีกา เข้า มทบ.11 ก่อนส่งตัวกลับสงขลาเพื่อดำเนินคดี ญาติตามจิกร้องยูเอ็น วอนสื่อมวลชนอย่านำเสนอข่าวเกินจริง เพิ่มความเดือดร้อนเสียหายให้กับผู้ต้องหาและครอบครัว 


ที่มาภาพ: https://mgronline.com/south/detail/9610000006996

จากข่าวการจับกุม อาบีดีน โตะมิง ชาวไทยมุสลิม อายุ 31 ปี โดยเนื้อหาข่าวระบุว่าเป็นผู้ก่อการร้ายกลุ่ม RKK ได้หนีหมายจับถูกจับกุมตัวได้เมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคม 2561 นั้น อุสมาน โตะมิง พี่ชายของอาบีดิน ได้ชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อุสมานระบุว่า อาบีดีนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการวางระเบิดและยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.ห้วยปลิง ศาลก็ได้ยกฟ้องไปแล้ว กรณีที่ข่าวออกมาว่าอาบีดีนหนีหมายจับ ข้อเท็จจริงคือ อาบีดินไม่เคยได้รับแม้แต่หมายเรียก และไม่ทราบว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งแย้งให้ฟ้องแต่อย่างใด 

อุสมานกล่าวอีกว่า ข่าวที่สื่อต่างๆ เผยแพร่ไปว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นสมาชิก RKK หรือเป็นผู้มีส่วนในเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้นั้นมันรุนแรงเกินไป สร้างความเดือดร้อนให้กับอาบีดีนและครอบครัว

ฮันนา คนรักของอาบีดีน เล่าว่า อาบีดีนได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุมตัวบริเวณหอพัก ซ.รามคำแหง 5 โดยถูกคุมตัวไปยังค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 โดย DSI ตร. สน.หัวหมากและทหาร ตั้งแต่ช่วงกลางคืนของวันพุธที่ 17 ม.ค. 2561 แล้ว โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีแม่บ้านประจำหอพักอยู่ในที่เกิดเหตุ จากนั้นยังได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และ DSI เข้าค้นห้องพักของอาบีดีนอีกครั้งในตอนเช้าของวันพฤหัสบดี (18 ม.ค. 61) ซึ่งทางหอพักได้แจ้งให้ฮันนาทราบ จากนั้นเธอจึงได้เดินทางไปติดต่อขอเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ มทบ.11 เมื่อวันเสาร์ (20 ม.ค. 61) โดยเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้เข้าพบอยู่เป็นเวลา 10 นาที และหลังจากนั้นฮันนาได้ถูกสอบสวนอยู่เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เธอได้สอบถามเรื่องการจับกุมกับเจ้าหน้าที่ที่ มทบ.11 ทำให้ทราบว่าเป็นการจับกุมและควบคุมตัวโดยใช้อำนาจตาม ม. 44  

ขณะที่อุสมาน พี่ชายของอาบีดีนได้ทราบข่าวจากเจ้าของหอพักที่อาบีดินพักอยู่ ว่าน้องชายของตนถูกควบคุมตัวอยู่ที่ มทบ.11 ตั้งแต่วันศุกร์ (19 ม.ค. 61) แต่รับทราบในภายหลังว่าจริงแล้วถูกควบคุมตัวไปตั้งแต่เมื่อวันพุธ จึงได้เดินทางขึ้นมาจากจังหวัดสงขลาเพื่อติดตามหาว่าน้องชายของตนขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหนและถูกดำเนินคดีข้อหาอะไร 

จนกระทั่งวันจันทร์ (22 ม.ค. 2561) ทางครอบครัวของอาบีดีน ได้ทำการติดตามคดีและเข้าร้องเรียนต่อสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (OHCHR) เมื่อเวลา 15.00 น. เพื่อร้องเรียนในสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นจึงได้มีข่าวว่าอาบีดินถูกจับและนำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำ สะเดา จ.สงขลา โดยทางญาติเตรียมจะเข้ายื่นหลักทรัพย์ประกันตัวต่อศาลในวันนี้ (25 ม.ค. 61)

อาบีดีน โตะมิง อายุ 31 ปี  มีภูมิลำเนาอยู่  อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ประเทศอียิปต์ เคยเป็นครูสอนศาสนาใน รร.เอกชน ในเครือของ รร.ธรรมวิทยามูลนิธิ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'5 องค์กรสิทธิฯ-กป.อพช.' ร้อง จนท. ยุติดำเนินคดี 8 ตัวแทน 'เดินมิตรภาพ' โดยทันที

Posted: 24 Jan 2018 09:54 AM PST

5 องค์กรสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการคุกคามและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ ขบวนเดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People GO Network

24 ม.ค. 2561 จากกรณีเครือข่าย People Go ผู้จัดกิจกรรม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' เดินเท้ารณรงค์เป็นเวลา 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. - 17 ก.พ.2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจ.ขอนแก่น เพื่อสื่อสารถึงความต้องการประชาชนที่จะมีส่วนร่วมใน 4 ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน และสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นกิจกรรมโดยตลอด และต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารฟ้องร้องดำเนินคดี 8 ตัวแทนเครือข่ายฯ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหานั้น

ล่าสุดวันนี้ (24 ม.ค.61) และวานนี้ (23 ม.ค.61) 5 องค์กรสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) รวมทั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการคุกคามและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ ขบวนเดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People GO Network และยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม รวมทั้งยุติการดำเนินคดีกับตัวแทนจากเครือข่ายฯ ทั้ง 8 คน โดยทันที

รายละเอียดแถลงการมีดังนี้ : 

แถลงการณ์ ให้ยุติการคุกคามและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ ขบวนเดิน wewalkมิตรภาพ ของเครือข่าย People GO Network

ตามที่เครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้จัดกิจกรรม "We Walk…เดินมิตรภาพ" เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงจังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2561–17 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร รัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยก่อนเริ่มกิจกรรมการเดิน เครือข่ายเครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้พยายามกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อไม่ให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปได้โดยง่าย โดยเฉพาะการที่เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งการชุมนุมได้มีหนังสือถึงเครือข่ายประชาชนในนามPeople GO Network ระบุว่าการดำเนินกิจกรรมที่มีการจำหน่วยเสื้อ และการให้ประชาชนเข้าชื่อยกเลิกประกาศ/คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง จึงต้องไปขออนุญาต คสช. ก่อน

อย่างไรก็ดี ทางเครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้มีการทำหนังสือโต้แย้งหนังสือของตำรวจไปทุกฉบับ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำตามสิทธิเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมาย  พร้อมทั้งยืนยันที่จะจัดกิจกรรมตามกำหนดการเดิมต่อไป โดยช่วงเช้าวันที่ 20 มกราคม 2561 เครือข่ายได้มารวมตัวกันที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ และมีตัวแทนเครือข่ายอ่านคำประกาศก่อนออกเดิน แต่เมื่อเดินถึงประตูทางออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กลับมีตำรวจประมาณ 200 คน  ตั้งสิ่งกีดขวางและยืนขวางประตูเป็นแนวยาวไว้ไม่ให้ขบวนเดินออกไปสู่ถนนพหนโยธินได้ ซึ่งทางเครือข่ายฯ มีการเจรจา รวมทั้งพยายามเดินผ่านออกไปอยู่เป็นระยะ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมให้ขบวนของเครือข่ายฯ ออกสู่ถนนได้ แต่สุดท้ายก็มีตัวแทนเครือข่ายจำนวนหนึ่งสามารถหลบเจ้าหน้าที่ออกไปเดินได้ตามเจตนารมณ์ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่มาของการออกหมายเรียกตัวแทนเครือข่ายฯ 8 คน ประกอบด้วย นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นายอนุสรณ์ อุณโณ นายนิมิตร์ เทียนอุดม นายสมชาย กระจ่างแสง นางสาวแสงศิริ ตรีมรรคา นางนุชนารถ แท่นทอง และนายอุบล อยู่หว้า ซึ่งมาจากเครือข่ายรัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จากสถานีตำรวจภูธร คลองหลวงให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. เป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ในวันที่ 28 มกราคม 2561 นี้

แม้ขบวน wewalk มิตรภาพจะออกไปเดินตามเจตนารมณ์ได้ แต่ก็ถูกคุกคามทั้งทางตรงอยู่ตลอดการเดินทาง เช่น เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่เข้าไปเรียกหาแกนนำตั้งแต่ยังไม่รุ่งสาง ตอนเช้ามีการตั้งด่านตรวจบัตรประชาชนผู้ร่วมเดินและตรวจค้นรถสวัสดิการ มีการนำตัวบุคคลที่อยู่ประจำรถ 4 คนไปควบคุมตัวไว้ที่ อบต. ลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีการสอบปากคำทั้ง 4 คนโดยไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าร่วม มีการให้ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน และให้ชี้ตัวตัวแทนเครือข่าย 8 คน ที่ต่อมาถูกหมายเรียกดังที่กล่าวไปแล้ว และตลอดเส้นทางการเดินก็มีคนแปลกหน้าไม่บอกชื่อและที่มา ขับรถหลายคันติดตามขบวนเดินและมีการถ่ายภาพ บันทึกวีดีโอขบวนเดินมิตรภาพอยู่ตลอด นอกจากนี้ ยังมีการกดดันวัดที่ขบวนเดินมิตรภาพจะเข้าไปพัก จนหลายวัดขอให้ขบวนเดินไม่เข้าไปพัก สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความลำบากและเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2561 เครือข่ายฯได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ไว้แล้ว ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งของศาลปกครองกลาง

องค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ มีความห่วงกังวลต่อการแทรกแซงการทำกิจกรรมของเครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network และดำเนินคดีกับตัวแทนเครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network เครือข่ายภาคประชาชนในนาม People Go ดังกล่าว และมีความเห็นว่า การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และปิดกั้นการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน ดังนี้

1. การจัดกิจกรรมของเครือข่าย People GO Network Oเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และเป็นการชุมนุมโดยสงบ ที่ได้รับถูกรับรองไว้ใน มาตรา 34 และ 44  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช พ.ศ.2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)) การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของสาธารณะ การสาธารณสุข ศีลธรรมอันดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และจากข้อเท็จจริง กิจกรรม We Walk…เดินมิตรภาพ ของเครือข่ายฯ People GOเป็นการเคลื่อนไหวโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้ง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความเข้าใจต่อสังคมในวงกว้าง และยังมีความประสงค์จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่เครือข่ายฯ เดินทางผ่านและประชาชนในบริเวณอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายฯ ได้ทำตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยมีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว การที่เจ้าหน้าที่ตีความว่า กิจกรรมนี้เข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558จึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศรับรองไว้

2. การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพ ที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางภายหลังจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. โดย คสช.ได้ออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะเป็นไปตามอำเภอใจ ทำให้แทบทุกการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ คสช. ต้องการกลายเป็นความผิด และเมื่อประชาชนถูกดำเนินคดี กระบวนการยุติธรรมกลับไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช. ได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้การใช้กฎหมายตามอำเภอใจในการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะของประชาชนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างแพร่หลาย

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้โดยทันที

1. เรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามหน้าที่ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มิใช่เป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน

2. ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 คุ้มครอง อำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัย ให้กับผู้ชุมนุมตลอดการจัดกิจกรรม ตามหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมายดังกล่าว

3. ให้ยุติการดำเนินคดีกับตัวแทนจากเครือข่ายประชาชน People Go Network ทั้ง 8 คน โดยทันที

4. ให้ยุติการนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ รวมถึงการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชนและเปิดให้มีพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)

 

แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)

เรื่อง เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐให้ยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม

ตามที่เครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้จัดกิจกรรม "We Walk…เดินมิตรภาพ" ระหว่างวันที่ 20 ม.ค. 2561–17 ก.พ. 2561 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การ เกษตรหลักประกันสุขภาพ และการใช้สิทธิเสรีภาพ  โดยการเดินเท้าจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดขอนแก่น  และแจ้งการชุมนุมเดินขบวนต่อ  เจ้าพนักงาน ณ  สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง  ตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ต่อมา วันที่ 21 มกราคม 2561 เจ้าหน้าตำรวจ สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ได้ออกหมายเรียกตัวแทนเครือข่าย People Go Network จำนวน 8 คน ให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ ภูธรคลองหลวง ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่3/2558 นั้น

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เห็นว่าการเดินมิตรภาพ มีเจตนารมณ์และเป้าหมาย  เพื่อเผยแพร่ ร่วมกันสะท้อนปัญหา  และทำความเข้าใจต่อสังคมในวงกว้าง ถือเป็นการใช้เสรีภาพ ในการชุมนุมและเดินขบวนโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ในที่สาธารณะ  เพื่อแสดงการคัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันสุขภาพ กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายการเกษตร  และกฎหมายที่อาจขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ    ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  อีกทั้งเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองการใช้เสรีภาพการชุมนุมและเดินขบวนดังกล่าว  แต่ในทางตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่รัฐได้พยายามขัดขวาง  ข่มขู่ คุกคาม  และตรวจค้นยานพาหนะของผู้ชุมนุม จนไม่อาจใช้เสรีภาพในการชุมนุมและเดินขบวนได้อย่างเต็มที่ โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งเป็นคำสั่งที่อาจขัดกับ มาตรา 34 และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมไว้  จึงอาจเป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จึงขอเรียกร้อง ดังนี้

1.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  ในการดำเนินคดีกับตัวแทนเครือข่าย People Go Network ทั้ง 8 คน ทันที

2. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มครอง ดูแล และอำนวยความสะดวกต่อผู้ชุมนุมและเดินขบวน  ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด

3. ให้ศาลปกครองตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่สำคัญ ประการหนึ่งคือ การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบและถ่วงดุลโดยอำนาจฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระเสมอ

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน

23 มกราคม 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระทรวงต่างประเทศประณาม 'ฮิวแมน ไรท์ วอทช์' ออกรายงานสิทธิฯ อย่างมีอคติทางการเมือง

Posted: 24 Jan 2018 09:16 AM PST

กระทรวงต่างประเทศผิดหวังต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ 'องค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์' ที่บอกว่าไทยยังไม่มีประชาธิปไตย ขาดการตรวจสอบอำนาจ กดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ละเว้นโทษกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อ่านรายละเอียดแสดงความผิดหวังของกระทรวงการต่างประเทศได้ที่ : http://www.mfa.go.th/main/th/news3/6886/86001-ความเห็นต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำ.html
 
24 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศ เผยแพร่เอกสารแสดงความผิดหวังต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2018 (World Report 2018) ขององค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ (Human Rights Watch- HRW) จำนวน 15 ข้อ โดยระบุว่า รายงานได้กล่าวหาโดยเหมารวม ขาดพยานหลักฐาน และเต็มไปด้วยอคติทางการเมือง ปราศจากการนำเสนอข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในพื้นที่ ความคืบหน้า พัฒนาการด้านบวก และความพยายามของรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่ในปีที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีช่องทางหารืออย่างไม่เป็นทางการกับองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง HRW ในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ 
 
"เราจะไม่ยอมรับผู้ที่อ้างตัวว่าทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแต่มีวาระแอบแฝง การกระทำเช่นนั้นสมควรถูกประณาม"  กระทรวงต่างประเทศ ระบุตอนท้ายของคำแถลง
 
บีบีซีไทยรายงานด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว HRW เปิดเผยรายงานประจำปี 2018 ความยาว 643 หน้า มีเนื้อหาทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 90 ประเทศและดินแดน โดยประเทศไทย HRW ระบุว่า ยังไม่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงขาดกระบวนการตรวจสอบอำนาจซึ่งกดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และละเว้นโทษกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า "เมื่อปี 2017 รัฐบาล คสช. ของไทยไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หลายครั้งกับสหประชาชาติ และองค์กรอื่น ๆ ว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนและฟื้นคืนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แม้รัฐบาลจะประกาศนโยบายแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ยุติการกดขี่เสรีภาพของพลเมืองและในทางการเมือง โดยยังคงสั่งจำคุกผู้ที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงละเว้นโทษให้กับการทรมานและการละเมิดอื่น ๆ"
 
(อ่านรายละเอียดของรายงานได้ที่ https://www.hrw.org/th/news/2018/01/23/314043)
 
ขณะที่ วันเดียวกัน (23 ม.ค.61) HRW เผยแพร่รายงานชื่อว่า "โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย" (Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand's Fishing Industry ) ความยาว 134 หน้า กล่าวถึงกรณีแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อเป็นแรงงานภาคประมง พวกเขาถูกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุสรณ์ อุณโณ

Posted: 24 Jan 2018 08:40 AM PST

"ผมใช้เวลานานมากในชีวิตกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่รักและสิ่งที่รังเกียจคืออะไร และผมก็ได้ตัดสินใจเลือกที่จะใช้ชีวิตไปตามความที่ผมรู้นั้น เสรีภาพและความเสมอภาคคือสิ่งที่ผมรัก และสิ่งที่ผมรังเกียจที่สุดในชีวิตคือเผด็จการ"
นักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง โพสต์ข่าวที่ตนเองปรากฏเป็น 1 ในผู้ที่ถูกทหารแจ้งความเอาผิด พร้อมแกนนำ 'เดินมิตรภาพ' ฐานชุมนุมมั่วสุม ฝืนคำสั่ง คสช., 23 ม.ค.2561

ประวัติย่นย่อขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในไทย

Posted: 24 Jan 2018 06:51 AM PST

ประวัติฉบับย่อขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการเพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ ถึงกรมตรวจราชการแผ่นดิน ในทศวรรษ 2490-2500 ความไม่พอใจการทุจริตคอร์รัปชันในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอมและการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนนำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การถือกำเนิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ "ป.ป.ป." ในปี 2518 ก่อนเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาเป็น "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" หรือ "ป.ป.ช." กลายเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร 2549 และ 2557 ที่มีแนวโน้มทำให้ที่มาและโครงสร้างอำนาจของ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ลดความยึดโยงกับตัวแทนประชาชนลง

 

2494 มีการตั้งคณะกรรมการปฏิบัติราชการตามมติประชาชน (ก.ป.ช.) เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์

2496 เปลี่ยนชื่อ ก.ป.ช. เป็นกรมตรวจราชการแผ่นดิน อยู่ภายใต้ทบวงคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สำนักคณะรัฐมนตรี

2503 ยุบกรมตรวจราชการแผ่นดิน ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวแก่ภาษีอากร (ก.ต.ภ.) ตาม พ.ร.บ.ตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ (พ.ศ. 2503) (อ่านเพิ่ม)

2515 หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514

ต่อมามีการออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 324 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 (อ่านเพิ่ม) เพื่อเลิก พ.ร.บ.ตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากร และรายได้อื่นของรัฐ และตั้งสำนักงานคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) แทนที่ โดยมีสำนักงานอยู่ที่สี่แยกคอกวัว

โดย พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม ผู้บังคับบัญชากองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.ต.ป. ด้วย

2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขับไล่รัฐบาลทหารจนจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

นอกจากชนวนการชุมนุมจะมาจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีเหตุมาจากเรื่องทุจริตในวงราชการ โดยเฉพาะกรณีที่คณะนายทหารและตำรวจกว่า 60 คนใช้เฮลิคอปเตอร์ทหาร 2 ลำไปตั้งค่ายพักแรมและล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเรื่องเกิดแดงขึ้นเมื่อเฮลิคอปเตอร์ 1 ใน 2 ลำประสบอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เมื่อ 29 เมษายน 2516 มีผู้เสียชีวิต 6 คน และพบซากสัตว์ป่าโดยเฉพาะซากกระทิงในจุดเกิดเหตุ แต่จอมพลถนอมยังแถลงข่าวปกป้องเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกว่าเป็นการปฏิบัติราชการลับ เพื่อรักษาความปลอดภัยนายพลเนวิน ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าที่มาเยือนไทย

เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ความไม่พอใจของนักศึกษา จนมีการตีพิมพ์หนังสือเพื่อตอบโต้คือ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ของชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


ภาพจาก khunmaebook.com

ความไม่พอใจการทุจริตในวงราชการในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ยังสะท้อนผ่านการเผาสถานที่ราชการหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือตึกที่ทำการ ก.ต.ป. ที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งหน่วยงานนี้ พ.อ.ณรงค์ ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ โดยจุดดังกล่าวปัจจุบันคืออนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สร้างเสร็จในปี 2544 หรืออีก 28 ปีต่อมา


ซากตึกที่ทำการ ก.ต.ป. สี่แยกคอกวัว 
ภาพจาก 14tula.in.th
 

2518 สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ มีการออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (อ่านพระราชบัญญัติ) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ "คณะกรรมการ ป.ป.ป." ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน กับเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง แต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมการ ป.ป.ป. ดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี ต่ออายุได้ 1 วาระ แต่อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระมิได้ โดยคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร ผู้จัดการ กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน หรือลูกจ้างของบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การใดๆ ซึ่งดำเนินธุรกิจเพื่อค้ากำไร
 

2535 มีการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2535 เพื่อขับไล่รัฐบาลทหาร รสช. ต่อมามีการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2539

 

2539 ประกาศใช้ พ.ร.บ.การแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 31 ตุลาคม 2539 โดยเป็นครั้งแรกที่มีกฎหมายกำหนดให้ ส.ว. และ ส.ส. แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อเข้ารับตำแหน่ง

2540 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เมื่อ 11 ตุลาคม โดย 1 ใน 8 องค์กรอิสระที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญคือ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นหน่วยธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น

"คณะกรรมการ ป.ป.ช." ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 8 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 70 ปี หรือเมื่อขาดคุณสมบัติ และให้เลือกโดยวุฒิสภา

 

2542 ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2542 โดยมีผลยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ และ พ.ร.บ.การแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ผลของกฎหมายฉบับใหม่ยังมีผลให้ยุบเลิกสำนักงาน ป.ป.ป. และมีการจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. แทนที่ (อ่านเพิ่มเติม)

ในกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 7 คน ผู้แทนพรรคการเมืองในสภา พรรคละ 1 คน เลือกกันเองจนเหลือ 5 คน ทำหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อว่าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. 18 คนเสนอประธานวุฒิสภา

 

2548

26 พฤษภาคม 2548 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา 9 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความผิดจากการขึ้นเงินเดือนตัวเอง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ผู้ร้องคือ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ และพวก ประกอบด้วย ส.ว. 108 คน ส.ส. 95 คน รวม 203 คน มากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา

โดยศาลตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี แต่จากตำแหน่งหน้าที่ โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ผลของคำพิพากษาทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง

 

2549

19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ทำรัฐประหาร ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ประกาศ คปค. ยังให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

22 กันยายน 2549 ประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป และแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ที่มีปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานกรรมการ นอกจากนี้ยังมีกล้านรงค์ จันทิก, ใจเด็ด พรไชยา, ประสาท พงษ์ศิวาภัย, ภักดี โพธิศิริ, เมธี ครองแก้ว, วิชา มหาคุณ, วิชัย วิวิตเสวี และสมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ในประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 กำหนดให้เมื่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่คัดเลือกกันเอง ให้กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแทน แต่ถ้ามีกรรมการเหลือไม่ถึง 6 คน ให้นายกรัฐมนตรีสรรหาบุคคลและเสนอชื่อขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ

 

2550

1 พฤษภาคม 2550 ประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550 (อ่านเพิ่ม)

24 สิงหาคม 2550 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ "คณะกรรมการ ป.ป.ช." ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 8 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ลดสัดส่วนของฝ่ายการเมืองจากตัวแทน 5 พรรคการเมือง กลายเป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน และตัดคณะกรรมการสรรหาที่มาจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 7 คน

คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. 5 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

โดยคณะกรรมการสรรหาจะเสนอรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้วุฒิสภาเห็นชอบ อย่างไรก็ตามที่มาของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ลดสัดส่วน ส.ว. จากการเลือกตั้งลงเหลือครึ่งหนึ่ง โดยวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 76 คน และมาจากการแต่งตั้ง 74 คน (โดยเพิ่มจำนวน ส.ว. จากการเลือกตั้งเป็น 77 คน และแต่งตั้งลดเหลือ 73 คน เมื่อมีการตั้ง จ.บึงกาฬเป็นจังหวัดใหม่)

 

2551

6 สิงหาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งรับฟ้องเนวิน ชิดชอบ และพวกรวม 44 คน คดีจัดซื้อกล้ายาง 90 ล้านคน มูลค่า 1,440 ล้านบาท ที่ต้นกล้าตายเกือบหมด เหตุเกิดปี 2546 โดยศาลอนุญาตให้ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นโจทก์คดีนี้แทนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งสิ้นสุดหน้าที่ไปหลังวันที่ 30 มิ.ย. 2551 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ต่อมา 21 กันยายน 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องคดีดังกล่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

2556

2 เมษายน 2556 มติ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญา ต่อมนตรี เจนวิทย์การ อดีตเลขาธิการ ปรส. กรณีขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ โดยไม่ชอบตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา ต่อมาอัยการสูงสุดได้ฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล (อ่านเพิ่มเติม)

22 สิงหาคม 2556 มติ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญาต่อมนตรี เจนวิทย์การ เลขาธิการ ปรส. กรณีขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแม็กซ์ จำกัด (มหาชน) ที่ถูกปิดกิจการให้บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมเอเชียรีคอฟเวอรี่ 3 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ต่อมาได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยและไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว และอัยการสูงสุดได้ฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 โดยอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล

 

2557

16 มกราคม 2557 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมผู้เกี่ยวข้องรวม 15 ราย ในความผิดกรณีการขายข้าวแบบจีทูจี และให้มีการไต่สวนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่

25 ก.พ. 2557 ในรายงานของไทยรัฐออนไลน์ วิชา มหาคุณ ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงไต่สวนคดีประกันราคาข้าวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรทิวา นาคาศัย แต่มีอุปสรรคในการดำเนินการเนื่องจากไม่สามารถนำเอกสารสำคัญมาประกอบการพิจารณาได้ เพราะบุคคลที่ครอบครองเอกสารปฏิเสธอ้างว่าไม่มีเอกสารเนื่องจากถูกน้ำท่วม

8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ชี้มูลให้ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

22 พฤษภาคม 2557 รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

12 กรกฎาคม 2557 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ให้ดำเนินคดีอาญายิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

22 กรกฎาคม 2557 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 24 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภามีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 (อ่านเพิ่มเติม)

9 กันยายน 2557 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แต่งตั้งสุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. แทนวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2557เนื่องจากเข้าดำรงตำแหน่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อ่านเพิ่มเติม)

 

2558

29 ธันวาคม 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกคำร้องขอให้ถอดถอน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

กรณีสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

30 ธันวาคม 2558 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ป.ป.ช. ดังต่อไปนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่ วิทยา อาคมพิทักษ์, สุวณา สุวรรณจูฑะ, สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และบุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. (อ่านเพิ่มเติม)

สมทบกับกรรมการ ป.ป.ช. ที่เหลือ ที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ได้แก่ ปรีชา เลิศกมลมาศ (29 กันยายน พ.ศ. 2553 - ปัจจุบัน) พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง (7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน) ณรงค์ รัฐอมฤต (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 - ปัจจุบัน) และสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ (9 กันยายน พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน)


 

2560

17 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกคำสั่ง ศอฉ. สลายชุมนุมปี 2553 ถือว่าไม่ได้กระทำในฐานะส่วนตัว เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ต้องให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูล

6 เมษายน 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 (อ่านเพิ่มเติม) โดยภายใต้บทเฉพาะกาล วุฒิสภาทั้งหมด 250 คนในวาระแรกจะมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งจะเป็นผู้ลงมติเห็นชอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ

ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 232 กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า "ต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต"

นอกจากนี้ยังกำหนดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่กรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีว่า

(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(3) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(4) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ โดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น

(6) เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

หรือ (7) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (6) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี ฯลฯ

2 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ตุลาคม 2551ระบุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลัง

คดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากการสลายการชุุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ

25 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 42 ปี คดีทุจริตระบายข้าว (จีทูจี) ที่บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์ และภูมิ สาระผล อดีต รมช.กระทรวงพาณิชย์ เป็นจำเลย โดยเป็นคดีที่ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ให้แจ้งข้อกล่าวหาเมื่อ 16 มกราคม 2557

27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองติดสินจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา คดีนโยบายจำนำข้าวที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลย ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

โดยคดีนี้ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ให้ดำเนินคดีอาญาเมื่อ 12 กรกฎาคม 2557

2 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... โดยส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา (อ่านเพิ่มเติม)

โดยเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ที่มาของคณะกรรมการสรรหา 9 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ และให้มีบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้ง องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ



สาระ+ภาพ: ที่มาของ ป.ป.ช. จากรัฐธรรมนูญ 40 ถึงรัฐธรรมนูญ คสช.



ป.ป.ช.ในคลื่นลมอำนาจและห่วงโซ่ความชอบธรรมที่เลือนหาย
(เมื่อประชาชนไม่ใช่เจ้าของ ป.ป.ช.)



'ศรีสุวรรณ' ชี้ปม 'นาฬิกา พล.อ.ประวิตร' คือคำตอบของวาทกรรมแก้ทุจริตยุคนี้

 


คืนเพื่อนแล้วไง...เปิดกฎหมาย ป.ป.ช.ไม่ได้ห้ามแค่รับทรัพย์สิน
แต่ห้ามรับประโยชน์อื่นใดด้วย



การอภิปรายไม่ไว้วางใจ: สิ่งที่หายไปในรัฐสภา (ของเผด็จการ)

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลให้ประกัน 'สุเทพ-8กปปส.' จำเลยคดีกบฏ คนละ 6 แสน

Posted: 24 Jan 2018 05:47 AM PST

ศาลรับฟ้องคดีที่อัยการสั่งฟ้อง 'สุเทพ - 8 แกนนำ กปปส.' ข้อหากบฏ และให้ประกันตัวคนละ 6 แสน นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มี.ค.นี้

ที่มาภาพเพจ Banrasdr Photo

24 ม.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 15.30 น. ศาลอาญาให้ประกันตัว สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. พร้อมแกนนำรวม 9 คน หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องในความผิดฐาน ร่วมกันก่อกบฎ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจรมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง จากการชุมนุมชัตดาวน์กรุุงเทพ เมื่อปี 2556-2557 โดยศาลตีราคาคนละ 600,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งหมดออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

แถนนำทั้ง 9 คนนอกจาก สุเทพ แล้ว ประกอบด้วย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ชุมพล จุลใส พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อิสสระ สมชัย วิทยา แก้วภราดัย ถาวร เสนเนียม ณัฐพล ทีปสุวรรณ เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ โดยทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหา กบฏ อั้งยี่ ซ่องโจร และข้อหาอื่นๆ รวม 8 ข้อหา และ ชุมพล อัยการแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 1 ข้อหาคือ ร่วมกันก่อการร้าย
 
ไทยพีบีเอส รายงานด้วยวา ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้มีทั้งหมด 58 คน อัยการไม่สั่งฟ้อง 1 คน โดยจะส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ก่อน ส่วนผู้ต้องหาอีก 34 คน ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนเข้ารับฟังคำสั่งคดี แต่อัยการยังเปิดโอกาสมาให้เข้าพบจนถึงเวลา 16.30 น. จนถึงตรวจสอบเหตุผลประกอบการเลื่อนขอเข้าฟังคำสั่งคดีด้วย ขณะที่จะขอศาลออกหมายจับผู้ที่ไม่มารับฟังคำสั่งคดีหรือไม่ ขณะนี้อัยการยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้
 
และศาลประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว และจะนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มี.ค.นี้ โดยจำเลยและฝ่ายอัยการจะต้องมาขึ้นศาลเพื่อตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้
 
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งว่า ตามที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เรียกผู้ต้องหาในสำนวนคดีพิเศษที่ 261/2556 หรือคดีร่วมกันเป็นกบฏในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 57 คน เป็นผู้ต้องหามาเพื่อรายงานตัวเเละฟังคำสั่งคดีในวันที่24มกราคม โดยการนัดฟังคำสั่งดังกล่าว ทางอัยการมีคำสั่งว่าตัวผู้ต้องหาทุกคนจะต้องเดินทางมาฟังคำสั่งด้วยตนเอง เนื่องจากอัยการจะมีคำสั่งเลยว่าจะฟ้องผู้ต้องหารายใดเเละข้อหาใดบ้าง ตัวผู้ต้องหาจะต้องมีการเตรียมหลักทรัพย์มาให้พร้อม เพราะหากมีคำสั่งฟ้องทางอัยการจะนำตัวผู้ต้องหาที่มีความเห็นสั่งฟ้องไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาตามที่อัยการมีคำสั่งนั้น  ล่าสุดสำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งระบุว่า คดีไม่มีหลักฐานและข้อเท็จจริงใหม่ที่สำคัญอันจะกลับความเห็นและคำสั่งเดิมของคณะทำงานตามคำสั่งสำนักงานคดีพิเศษที่ 14/2557 เสนออธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ขณะนั้นได้ทั้งนี้ ตามความเห็นและเหตุผลที่คณะทำงานตามคำสั่งสำนักงานคดีพิเศษที่ 28/2560 เสนอจึงมีความเห็นและคำสั่ง ตามความเห็นและคำสั่งของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษเดิม ดังนี้
 
(1) สั่งฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ต้องหาที่ 1 สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้ต้องหาที่ 2 ชุมพล จุลใส ผู้ต้องหาที่ 3 พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ต้องหาที่ 4 อิสสระ สมชัย ผู้ต้องหาที่ 5 วิทยา แก้วภราดัย ผู้ต้องหาที่ 6 ถาวร เสนเนียม ผู้ต้องหาที่ 7 ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 8 เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ผู้ต้องหาที่ 9 นางอัญชะลี ไพรีรัก ผู้ต้องหาที่ 10 นิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11 อุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 เรือตรีแซมติน เลิศบุศย์ ผู้ต้องหาที่ 13 พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ผู้ต้องหาที่ 14 สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ผู้ต้องหาที่ 15 ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ ผู้ต้องหาที่ 16 สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ 17 นางสาวจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ กฤดากร ผู้ต้องหา 19 เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ต้องหาที่ 25 ถนอม อ่อนเกตุพล ผู้ต้องหาที่ 28 พลเอกปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ผู้ต้องหาที่ 31 สุริยะใส กตะศิลา ผู้ต้องหาที่ 32 อมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี ผู้ต้องหาที่ 37 สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้ต้องหาที่ 34 พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ สาธิต เซกัล (MR.SEHGAL SATISH) ผู้ต้องหาที่ 42 กิตติชัย ใสสะอาด ผู้ต้องหาที่ 43 คมสัน ทองศิริ ผู้ต้องหาที่ 44 พิเชษฐ์ พัฒนโชติ ผู้ต้องหาที่ 46 มั่นแม่น กะการดี ผู้ต้องหาที่ 47 ประกอบกิจ อินทร์ทอง ผู้ต้องหาที่ 48 นัสเซอร์ ยีหมะ ผู้ต้องหาที่ 49 พานสุวรรณ ณ แก้ว ผู้ต้องหาที่ 50 สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ต้องหาที่ 51 รังสิมา รอดรัศมี ผู้ต้องหาที่ 54 ทยา ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 55 พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี ผู้ต้องหาที่ 56 พลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ ผู้ต้องหาที่ 57 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันร่วมกันปิดงานหยุดงาน กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ หรือผู้มีหน้าที่สั่งการและเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, ร่วมกันบุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้สามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางการเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 113, 116, 117, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 76, 352 ตามความเห็นและคำสั่งเดิมของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ (สั่ง ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557)
 
(2) เฉพาะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ต้องหาที่ 1 และ ชุมพล จุลใส ผู้ต้องหาที่ 3 นอกจากสั่งฟ้องตามข้อ (1) ข้างต้นแล้วให้สั่งฟ้องฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1,83 เพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ ตามความเห็นและคำสั่งเดิมของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ (สั่ง ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557)
 
(3) สั่งฟ้อง แก้วสรร อติโพธิ ผู้ต้องหาที่ 24, กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ต้องหาที่ 27, ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ต้องหาที่ 30, พิภพ ธงไชย ผู้ต้องหาที่ 33 และ ถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ต้องหาที่ 58 ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกบฏ และเป็นผู้สนับสนุนในความผิดตามข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้ ยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงานร่วมกันปิดงานงดจ้าง, อั้งยี่, ซ่องโจร มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ เป็นหัวหน้าหรือ ผู้มีหน้าที่สั่งการและเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก ร่วมกันบุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิหรือขัดขวางหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,86,113,116,117,209,210,215,216,362,364,365 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 76,152 ตามความเห็นและคำสั่งเดิมของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ (สั่ง ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557)
 
(4) เฉพาะ นิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11, อุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 และศิร โยธินภักดี หรือ อมร อมรรัตนานนท์ ผู้ต้องหาที่ 37 นอกจากสั่งฟ้องตามข้อ (1) ให้สั่งฟ้องร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,359 เพิ่มเติมอีก เนื่องจากพยานหลักฐานยืนยันว่าได้ร่วมกันบุกรุกกระทรวงต่างประเทศ ทำให้เสียทรัพย์ โดยทำให้ประตูรั้วได้รับความเสียหายทั้งนี้ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่ผู้ต้องหาที่ 11, ที่ 12 และที่ 37 ให้ครบก่อนฟ้องคดีด้วย และให้จัดการตามเสนอ
 

ที่มา : มติชนออนไลน์ไทยพีบีเอส  และเพจ Banrasdr Photo

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.ศิวรักษ์เผยได้ทำฎีกาทูลเกล้าฯ ก่อนอัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้องคดี ม.112 ปมพูดพาดพิงพระนเรศวร

Posted: 24 Jan 2018 04:18 AM PST

หลังอัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง ส.ศิวรักษ์ คดี ม.112 ปมพูดพาดพิงพระนเรศวร เจ้าตัวเผยได้ทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงพระมหากรุณาธิคุณ โดยทรงแนะนำรัฐบาลให้ยุติคดีดังกล่าว

24 ม.ค. 2561 จากเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา อัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลังฐานไม่เพียงพอฟ้อง คดีที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ถูกฟ้องในข้อหากระทำการขัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีวิพากษ์ประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรฯ นั้น

ล่าสุดวันนี้ (24 ม.ค.61) เฟสบุ๊ค 'Sulak Sivaraksa' ของ สุลักษณ์ เผยแพร่บทความของ สุลักษณ์ โดยระบุตอนหนึ่งว่าคดีนี้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองค่อนข้างสูง โดยเฉพาะก็บุคคลสำคัญ ๆ ในนานาประเทศที่ยืนหยัดอยู่ข้างเสรีภาพและประชาธิปไตย ตลอดจนองค์การสากลหลายแห่ง เช่น PEN International, Amnesty International และ UN High Commission for Human Rights เป็นต้น รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัล Right Livelihood Award ที่เรียกกันว่า Nobel ทางเลือก ได้ส่งถ้อยคำประท้วงมายังรัฐบาลไทยกันเป็นระลอก ๆ แต่ทางรัฐบาลไทยก็ดูจะไม่ไยไพ แม้ภายในประเทศเอง ก็มีผู้ติดต่อขอให้นายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญอื่น ๆ สั่งระงับคดีนี้เสีย เพราะถ้าคดีนี้ขึ้นถึงศาล รัฐบาลน่าจะเป็นฝ่ายเสียมากกว่าได้ แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าตัดสินใจใด ๆ ทั้งสิ้น 

"ข้าพเจ้าไม่มีทางเลือกอื่นใด จึงทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณ โดยทรงแนะนำรัฐบาลให้ยุติคดีดังกล่าว" สุลักษณ์ โพสต์ พร้อมอธิบายว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น พระองค์ท่านทรงมีพระสถานะที่จะแนะนำรัฐบาลได้ ทรงสนับสนุนหรือทักท้วงรัฐบาล ก็อยู่ในขอบเขตแห่งพระราชอำนาจ ตนจึงรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่โปรดเกล้าฯ ทรงแนะนำนายกรัฐมนตรีให้ยุติคดีดังกล่าวเสีย ทั้งนี้นับเป็นพระเดชพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้ 
 
สุลักษณ์ โพสต์ด้วยว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น มีมากมายจนเกินกว่าเหตุ ทั้ง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่แล้ว เคยมีพระราชดำรัสอย่างเปิดเผยว่า ใครนำคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาฟ้องร้องนั้น เท่ากับเป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน และเป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์  ที่น่าสงสัยก็คือเนติบริกรที่รับใช้ใกล้ชิดรัฐบาลปัจจุบันในเวลานี้ไม่ตระหนักดอกหรือ ว่าคนที่โดนลงโทษตามมาตรา 112 นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นสวรรคตไปแล้ว นักโทษเหล่านั้นควรได้รับอิสรภาพ ถ้ารัฐบาลมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ควรประกาศให้อิสรภาพแก่บุคคลนั้น ๆ นั่นจะเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างแท้จริง 
 
"ก็กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้เอง มีปัญหามากหากไม่แก้ไขปปรับปรุง ใคร ๆ รวมทั้งตัวข้าพเจ้าเอง อาจถูกกล่าวหาอีกเมื่อไรก็ได้ เพราะถ้าใครกล่าวหาใคร ตำรวจไม่รับคำร้องดังกล่าว เขาก็ย่อมกลัวผิด เพราะฉะนั้นควรแก้ไขให้ชัดเจนว่ามีการกล่าวหาในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้น ควรมีคณะกรรมการพิจารณาความข้อนี้เสียก่อน คณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นนักนิติธรรมในทางฝ่ายราชเลขาธิการได้ หรือในกระทรวงยุติธรรม ที่อยู่ในอำนาจของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภาก็ได้ เพราะพระองค์ท่านทรงสนพระทัยในเรื่องความยุติธรรมเป็นอย่างมาก และทรงห่วงใยเรื่องคนล้นคุกอีกด้วย" สุลักษณ์ โพสต์
 
รายละเอียดโพสต์ของ สุลักษณ์ : 
 
คดีดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2557 เมื่อ พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม  ว่า สุลักษณ์ ได้กล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวลมหาราช โดยอ้างว่าเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมินพระมหากษัตริย์ ในเวทีทางวิชาการ "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษา เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 หลังการรัฐประหารของ คสช. ต่อมาเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2560 พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีดังกล่าวเสร็จแล้วและมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จนวันนี้อัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ตั้งกรรมการ 'ไทยนิยม ยั่งยืน' มุ่งลงถึงหมู่บ้านผ่านหน่วยงานราชการ

Posted: 24 Jan 2018 03:03 AM PST

นายกฯ นั่งประธาน รองนายกฯ เป็นรองประธาน รมว.กระทรวง ปลัดกระทรวง ผบ.เหล่าทัพ นั่งเก้าอี้กรรมการ กำหนดนโยบายสอดคล้องประชารัฐ ให้ผู้ว่าฯ ตั้งคณะกรรมการจังหวัดคุมระดับอำเภอ-ตำบลที่ตั้งโดยนายอำเภออยู่ดี ส่วนร่วมประชาชนน้อย มีเพียงปราชญ์ชาวบ้านและกลุ่มจิตอาสาในระดับตำบล

23 ม.ค. สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 21/2561 เรื่อง แต่ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่่งแต่งตั้ง "คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน" โดยมีประยุทธ์เป็นประธานกรรมการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ วิษณุเครืองาม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ เป็นรองประธานกรรมการ

คณะกรรมการฯ ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้การบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐเป็นไปตามข้อคำสั่งของนายกฯ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. กำหนดนโยบายและแนวทางในการบูรณาการการขับเคลื่อนงาน โครงการของส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ ที่มีเป้าหมาย เนินการในพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ

2. อำนวยในการพัฒนา แก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่

3. อำนวยการในการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

4. สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร ระดับอำเภอ/เขต และทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล/ชุมชน

5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ในการปฏิบัติงานตามที่เห็นสมควร

6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกฯ มอบหมาย

ในคำสั่งยังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืนในระดับจังหวัดเพื่อถ่ายทอดอำนวยการ กำกับ สนับสนุนและพัฒนานโยบายและกรอบแนวทางปฏิบัติงานไปสู่ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล โดยให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอและตำบล

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า โครงสร้างบุคลากรของคณะกรรมการฯ ตั้งแต่ระดับคณะอำนวยการใหญ่ เรื่อยลงมาจนถึงคณะกรรมการฯ ระดับตำบลนั้น มีส่วนร่วมของภาคประชาชนน้อย แทบทั้งหมดประกอบด้วยหน่วยงานราชการไม่ว่าจะเป็นส่วนงานปกครอง ส่วนพัฒนาการ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ เจ้ากระทรวง รวมถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพ จะมีส่วนร่วมของประชาชนเท่าที่เห็นตามคำสั่งก็อยู่ในระดับตำบลที่ประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้าน และจิตอาสา "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" ในพื้นที่

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีตัวเอกสารหรือแถลงการณ์เผยแพร่ออกมาทางเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ แต่สำนักข่าวข่าวสด คมชัดลึก ผู้จัดการออนไลน์ และวอยซ์ทีวีได้รายงานเรื่องคำสั่งสำนักนายกฯ ฉบับเดียวกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ชาวพุทธเพื่อสันติภาพ' หวัง 'มาราปาตานี' สื่อสารกับประชาชน หลังระเบิด ตลาด จ.ยะลา

Posted: 24 Jan 2018 02:31 AM PST

'เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ' ชี้ตลาด จ.ยะลา เคยมีเหตุระเบิดแผงหมูมาแล้ว และเคยทำเซฟตี้โซนอยู่พักนึง แต่หละหลวม เผยมีแนวคิดจะรื้อฟื้นเซฟตี้โซนบริเวณนี้ขึ้นมาใหม่ พร้อมหวัง 'มารา ปาตานี' จะส่งสารต่อประชาชน หลังเหตุการณ์
 
 
จากเหตุเหตุระเบิดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา บริเวณหน้าตลาดสดพิมลชัยหน้าร้านค้าส่ง ซอย 3 ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งเป็นช่วงที่มีประชาชนเข้ามาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก เหตุเกิดที่หน้าร้านเขียงหมูที่มีชาวพุทธอยู่จำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 23 คน นั้น
 
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุดังกล่าว พร้อมเรียกร้อง 1. ขอให้รัฐจับกุมผู้ก่อเหตุในครั้งนี้โดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเพื่อมิให้มีการก่อเหตุซ้ำ 2. ขอให้ทุกฝ่าย และทุกกลุ่มที่มีส่วนร่วมของความขัดแย้ง เข้าร่วมพูดคุยสันติสุข หรือสันติภาพ โดยเร็ว 3. ขอให้กลุ่มก่อการหรือกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และกลุ่มติดอาวุธ อื่น ๆ ในพื้นที่ ยุติการทำที่สร้างความรุนแรงต่อพลเรือน และผู้อ่อนแอ 4. ขอเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ และพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศร่วมลงนาม หรือออกแถลงการณ์ ประณาม และแสดงให้เห็นว่า "ประชาชนไม่เอาความรุนแรง" และ 5. คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ ร่วมออกแถลงการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเยี่ยมเหยื่อ และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน
 
ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สัมภาษณ์ รักชาติ สุวรรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นประชาชนจาก อ.เมือง จ.ยะลา ถึงกรณีนี้ด้วย ดังนี้ 

ชุมชนคนไทยพุทธที่ยะลาวิจารณ์เหตุระเบิดที่ตลาดยะลากันว่าอย่างไรบ้าง?

รักชาติ : ชุมชนก็ด่า ประณามคนก่อเหตุ และรู้สึกหวาดระแวง รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บอกว่า รัฐดูแลเขาไม่เต็มที่ ส่วนตัวผมมองว่า รัฐก็ดูแลดีอยู่ แต่ก็ยังหลุดเข้ามาได้ ผมมองว่า เราจะเรียกร้องจากรัฐอย่างเดียวไม่ได้ ประชาชนซึ่งเป็นคนใช้พื้นที่ก็ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐด้วย เช่น ที่รัฐรณรงค์ให้จอดรถไว้นอกตลาดแล้วค่อยเดินเข้าไปซื้อของในตลาด ผมว่า เราก็ต้องให้ความร่วมมือกับกฎระเบียบเหล่านี้อย่างแข็งขันด้วย
 
เพราะระเบิดครั้งนี้ ก็มีความคิดว่า จะทำให้มีระบบระเบียบมากขึ้น เช่น มีสติ๊กเกอร์ติดรถให้พ่อค้าแม่ค้า และเฉพาะรถที่มีสติ๊กเกอร์ถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปจอดข้างใน ส่วนรถที่ไม่มีสติ๊กเกอร์ ของประชาชนที่มาซื้อของก็จอดข้างนอกไป ผมมองว่า ชุมชนต้องร่วมมือ และมีส่วนร่วมในการออกแบบมาตรการรักษาความปลอดภัยร่วมกับรัฐ

มองการก่อเหตุที่หน้าเขียงหมูว่าอย่างไร?

การไปจอดรถหน้าเขียงหมู เป็นสัญลักษณ์ชัดเจนว่า ต้องการทำร้ายคนพุทธ คนจีน เพราะเป็นกลุ่มคนที่จะไปซื้อหมูตรงนั้น แต่จริงๆ แล้วตลาดแห่งนี้เป็นที่ที่คนทุกเชื้อชาติ ศาสนามาขายของและจับจ่าย คนพม่าก็โดนด้วย ผมมองว่า การกระทำแบบนี้ละเมิดกฎจากเหตุที่ผ่านมา อย่างการเผารถบัส ที่บันนังสตา เหตุการณ์นั้นก็ไม่ได้ทำร้ายใคร  แต่แบบนี้กลายเป็นการมุ่งเป้าทำร้ายประชาชนอย่างชัดเจน
 
ผมยังมองว่า เป็นฝีมือของขบวนการ ขบวนการยังมีอยู่ จะเกิดเหตุไหมขึ้นอยู่กับว่า เขาหาโอกาสเหมาะที่จะลงมือปฏิบัติการได้แค่ไหน ที่สองสามปีที่ผ่านมาไม่มีเหตุในเมืองยะลาก็เพราะที่ผ่านมา เขาหาโอกาสไม่ได้ แต่ครั้งนี้ได้โอกาส ก็เลยลงมือ

ตลาดนี้อยู่ในเขตเซฟตี้โซนหรือเปล่า?

ตลาดนี้ไม่ได้อยู่ในเซฟตี้โซน ซึ่งตลาดนี้ก็เคยมีเหตุระเบิดแผงหมูมาแล้วด้วย หลังมีระเบิดรัฐก็เคยทำเซฟตี้โซนอยู่พักนึง เช่น มีการตรวจรถ แต่ทำแล้วก็หละหลวม ประชาชนก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ พอมาเกิดเหตุอีก ก็ทำให้มีแนวคิดจะรื้อฟื้นเซฟตี้โซนบริเวณนี้ขึ้นมาใหม่ ซึ่งถ้ามีพ่อค้าแม่ค้าควรจะให้ความร่วมมือ

อยากฝากสารอะไรไปยังขบวนการเพื่อเอกราชปาตานี?

มารา ปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อการที่กำลังเจรจากับรัฐอยู่ควรจะส่งสารต่อประชาชน อย่างที่มาราเคยออกมาปฏิเสธและประณามเหตุบุกยึดโรงพยาบาลที่เจาะไอร้อง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ณัฏฐิกา' แอดมินเพจล้อประยุทธ์-คดี 112 เปิดใจลี้ภัยไปอเมริกาเพื่อแม่และหวัง

Posted: 24 Jan 2018 01:34 AM PST

แอดมินเพจล้อประยุทธ์ ผู้หญิงคนเดียวท่ามกลาง 8 คนที่โดนคดีหนัก ลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกาหลายเดือนแล้วก่อนตัดสินใจเปิดเผยเรื่องราวตัวเองกับสื่อหลายสำนัก ครั้งล่าสุดกับผู้สื่อข่าวผู้ลี้ภัยด้วยกัน "จอม เพชรประดับ" ประชาไทถอดความ พร้อมรวบรวมสเตตัสเรื่องคุกของเธอไว้ด้วย 

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ หรือ นัท วัย 44 ปี หนึ่งใน admin เพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" (ภาพเล็ก เป็นภาพตัวอย่างที่โพสต์ในเพจดังกล่าว)

ภูมิหลังคดีและผู้ต้องหาทั้ง 8 คน
ที่มา: iLaw

ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนถูกจับกุมตัวและถูกกล่าวหาว่า รับจ้างทำเพจเฟสบุ๊ค "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งเนื้อหามีลักษณะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและการทำงานของรัฐบาล การกระทำเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) และ (3) และข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 นอกจากนี้ 2 คนในจำนวนทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม

แฟ้มภาพ 8 แอดมินเพจเดินทางมาศาลทหาร

-ณัฏฐิกา พื้นเพเป็นชาว จังหวัดนนทบุรี จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมีสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก่อนหน้านี้เคยประกอบอาชีพพนักงานบริษัทมาก่อนและลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างทำเพจ

-หฤษฎ์ จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร๋ มีความสามารถทางด้านการเขียนนิยาย โดยใช้นามปากกาว่า "ฟ้าไร้ดาว" นิยายเรื่อง "ทูตแห่งเซนทาเรียกับมงกุฎสายรุ้ง" ของเขาเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับสองจากสำนักพิมพ์แจ่มใสและตีพิมพ์ออกสู่ตลาด ปัจจุบันเขาประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นที่จังหวัดขอนแก่น และเปิดร้านข้าวมันไก่ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว 

-ธนวรรธ พื้นเพเดิมเป็นชาวอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บวชเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง กระทั่งจบการศึกษาจากคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ หลังจากนั้นจึงสึกและรับจ้างเป็นฟรีแลนซ์ ก่อนหน้านี้เคยเป็นโปรดิวเซอร์รายการที่ Peace TV ไม่มีความสนใจในประเด็นทางการเมืองและไม่เคยตั้งใจไปร่วมชุมนุมทางการเมืองนอกจากต้องไปทำงานที่ได้รับมอบหมาย

-โยธิน จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประกอบอาชีพขายของตามตลาดนัดและฟรีแลนซ์ทั่วไปเกี่ยวกับงานศิลปะทั่วไปและงานปั้น มีความสนใจทางการเมืองและติดตามข่าวสารทางการเมืองจากสถานีโทรทัศน์เช่น ASTV และ NATION

-กัณสิทธิ์ เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ประกอบอาชีพเป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านอาหาร มีความสนใจทางการเมืองโดยจะติดตามผ่านเว็บไซต์ข่าวเช่น ไทยรัฐ มติชน เป็นต้น แต่ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

-วรวิทย์ เป็นชาวสมุทรปราการ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง ประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ รวมทั้งรับหน้าที่ติดตามและถอดเทปให้กับ Peace TV เป็นเวลากว่า 1 ปี วรวิทย์มีความตื่นตัวทางการเมือง ติดตามข่าวสารจากทั้งกลุ่ม กปปส. และ นปช.

-ศุภชัย พื้นเพเป็นชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาชั้น ปวช. ประกอบอาชีพเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ รับถ่ายงานรับปริญญาและงานแต่งงาน มีความสามารถในการทำกราฟฟิค มีความสนใจและติดตามข่าวสารทางการเมือง

 ===============

27 เมษายน 2559  

ในช่วงเช้าตั้งแต่เวลาประมาณ 5.00 น. มีทหารเข้าควบคุมตัวบุคคลทั้งในกรุงเทพมหานครและในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นรวมแปดคน

28 เมษายน 2559

พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาลหก แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาทั้งแปดคนว่า ผู้ต้องหาได้ร่วมกันเผยแพร่ภาพและข้อความทางเพจเฟสบุ๊คมีเนื้อหาต่อต้านการทำงานของคสช. ในลักษณะที่มีการจ้างทำจ่ายเป็นรายเดือน นอกจากนี้ในกรณีของหฤษฏ์และณัฏฐิกา เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ส่วนบุคคลยังพบว่า มีข้อความก้าวล่วงพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งทาง พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายเฉพาะกิจปฏิบัติการข่าวและรักษาความสงบแห่งชาติ ได้พิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

29 เมษายน 2559

ฝากขัง 8 ผู้ต้องหาผลัดแรก ทนายยื่นประกัน ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาต

3 พฤษภาคม 2559

ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งแปดคนเป็นหลักทรัพย์เงินสดคนละ 150,000 บาท ต่อศาลทหารกรุงเทพ รวมเป็น 1,200,000 บาท ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้อง

10 พฤษภาคม 2559

ฝากขังผลัดที่สอง มีการยื่นประกันตัว ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด ตีราคาหลักประกัน คนละ 200,000 บาท ช่วงค่ำ ผู้ต้องหาทั้งแปดคนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิง อย่างไรก็ตาม หฤษฎ์และณัฎฐิกา สองผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหา 112 มีรายงานว่า จะถูกนำตัวไปกองบังคับการปราบปรามทันที

11 พฤษภาคม 2559

อายัดตัวหฤษฎ์และณัฏฐิกา ฝากขังผลัดแรก

19 พฤษภาคม 2559

ฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผลัดที่สอง ทนายยื่นประกันวางหลักทรัพย์รายละ 700,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาต

3 มิถุนายน 2559

ฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผลัดที่สาม วันเดียวกันครอบครัวของทั้งสองได้เดินทางเข้าถวายพระพรพร้อมทูลเกล้ายื่นถวายฎีกากับสำนักราชเลขาธิการ ขอให้ผู้ต้องหามีสิทธิ์ประกันตัว

16 มิถุนายน 2559

ฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผลัดที่สี่

7 กรกฎาคม 2559

ศาลทหารอนุญาตให้หฤษฏ์และณัฏฐิกาประกันตัว เงินประกันคนละ 500,000 บาท

23 สิงหาคม 2559

อัยการสั่งฟ้องทั้งแปดคนข้อหา ปลุกปั่นยั่วยุฯ ตามม.116

 6 ธันวาคม 2559 

นัดสอบคำให้การ ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ

 

วันที่ 23 มกราคม 2561 ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ หรือ นัท วัย 44 ปี หนึ่งใน admin เพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" ให้สัมภาษณ์ จอม เพชรประดับ ผ่านรายการ Thai Voice ทางยูทูป เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง บอกเล่าสาเหตุที่ตัดสินใจลี้ภัยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ดังมีเนื้อหาปรากฏดังนี้

ในสหรัฐอเมริกามีผู้ลี้ภัยไทยอยู่หลายสิบคน ตัดสินใจอย่างไร เตรียมใจอยู่นานแค่ไหน

หลังจากที่ออกมาจากเรือนจำ ตอนแรกยังไม่คิดเรื่องนี้ พยายามปรับตัวเองให้ใช้ชีวิต แต่พอออกมาแล้วเราได้รับรู้เรื่องราวของคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุของตัวเรา ตอนติดคุกก็คิดว่ามันกระทบแค่ตัวเราออกมาก็ต้องดูแลจิตใจตัวเอง แต่จริงๆ แล้วผลกระทบมันลามไปหมด แม่ พี่น้อง ครอบครัว เพื่อน มันสร้างความบอบช้ำให้คนอื่นด้วย ที่มากที่สุดคือ แม่ แม่มีอาการลืม จำอะไรไม่ได้ นัทถามแม่ย้อนหลังว่าวันที่ถูกจับแม่ทำอะไรต่อ แม่ไปไหนต่อ แม่บอกว่าจำไม่ได้ ใช้เวลาระยะหนึ่งที่นัทอยู่กับแม่ถึงจะเริ่มฟื้น แล้วจำเหตุการณ์ได้ มันเหมือนเวลาที่เราติดคุกแม่ blank ไปเลย เครียด ผอม ช่วงเวลาหลังจากนั้น เราไปแฮงก์เอ้าท์กับเพื่อนกลับดึกหน่อยแม่ก็จะโทรถามตลอดว่าอยู่ไหน ภาพทหารมาจับตัวเรามันคงหลอนเขา เขาจะไม่ยอมนอนถ้าเราไม่กลับบ้าน

ฝากขัง 70 กว่าวัน แม่ไปเยี่ยมทุกวัน วันไหนไปศาลก็จะไปนั่งรอที่ศาลทุกครั้ง เราอยู่ในคุกเราไม่รู้ว่าแม่เป็นอย่างไร แต่พอออกมาแล้วไปเจอญาติเจอน้องเขาจะเล่าให้ฟังว่า แม่ไม่กินอะไรเลย เขาตรอมใจ 71 วัน รู้เลยว่าถ้าไม่ได้ออกมา ไม่รู้ว่าแม่จะอยู่อย่างไร เป็นอย่างไรต่อไป

เหตุที่ลี้ภัยเป็นเพราะแม่ด้วยหรือเปล่า

ใช่ เพราะสงสารแม่ ไม่อยากเห็นภาพนั้นอีกแล้ว มันเหมือนเป็นตราบาปในใจ คนอื่นอาจไม่ได้มองว่าเป็นความผิดเราที่ต้องไปติดคุกคดีแบบนั้น แต่ในฐานะลูกรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไปกระทบกับบุพการี ท่านทุกข์ใจที่สุดในชีวิต นัทต้องทำอะไรก็ได้ให้แม่ไม่เป็นแบบนั้นอีก มันคือความรับผิดชอบของเรา แม้ลี้ภัยจะยิ่งห่างไกลแม่ แต่อย่างน้อยมันปลอดภัย มันเหมือนอะไรก็ได้ที่ทำให้ลูกปลอดภัย การลี้ภัยจริงๆ แล้วเป็นการตัดสินใจของเราล้วนๆ แต่การเตรียมใจไม่ใช่เราเตรียมใจคนเดียว มันต้องเตรียมกันทุกคน

ตอนเป็นนักโทษ ความที่เป็นนักโทษการเมืองจะถูกล็อคให้อยู่ห้องเยี่ยมเฉพาะห้องเดิมทุกวัน อยู่ตรงข้ามบันไดเป็นกระจกใสกั้น ภาพที่เห็นทุกวันคือ แม่ซึ่งอายุแปดสิบแล้วค่อยพาตัวเองก้าวขึ้นบันไดมาทีละขั้น ภาพที่เห็นมาคาอยู่ที่ใจเรามากๆ ไม่อยากเห็นภาพนั้นอีก

หลังได้รับการประกันตัว ตัดสินใจอยู่นานเรื่องลี้ภัย ตัวสถานการณ์การเมืองก็มีส่วนด้วย เรามีความหวังอยู่ตลอดว่าสถานการณ์การเมืองจะเปลี่ยน โอกาสสู้คดีของเราจะดีขึ้น จนกระทั่งผ่านไปครึ่งปีที่มีความคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรดีขึ้น เขายังสามารถอยู่ในอำนาจ มีการสนับสนุนอำนาจต่อเนื่องอย่างไม่เห็นฝั่ง จึงตัดสินใจว่าอยู่เมืองไทยต่อก็ไม่สามารถมีชีวิตปกติได้

การลี้ภัยจะส่งผลอย่างไรต่อคดีหรือไม่

ในส่วนของคดี ณ ปัจจุบันทั้งสองคดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ปากแรก ผ่านเวลามาเกินปีครึ่งแล้ว ยังคาดการณ์คดีไม่ได้เพราะยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเต็มที่ แต่ในระยะเวลาของการสู้คดี มองออกแล้วว่าใช้เวลานาน นัทไม่สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติ นั่นทำให้ตัดสินใจไม่อยู่ในไทย คดีทั้งสองคดีในส่วนตัวเองมองว่า หลักฐานในการส่งฟ้องก็ไม่สมเหตุสมผลจะฟ้องได้แล้ว ไม่ควรเป็นคดีเลยด้วยซ้ำ นัทถึงไม่ได้เชื่อในกระบวนการยุติธรรมจากหลักฐานตรงนั้นเลย

หลังจากตัดสินใจ นานไหมกว่าจะได้ออกมาและทำไมเลือกอเมริกา

เมื่อตัดสินใจแล้วก็ใช้เวลาอีกเกินครึ่งปีกว่าจะออกมาได้ ค่อยๆ ดำเนินการต่างๆ ก่อนอื่นยังไม่ได้คิดว่าจะมาอเมริกา ตอนแรกคิดว่าอาจจะไปในประเทศอื่น แต่ไม่มีพาสปอร์ตเพราะโดนยึดไปตอนถูกจับและไม่คิดว่าจะทำพาสปอร์ตใหม่ได้ ขอความช่วยเหลือทางไหนก็ไม่สำเร็จ พยายามแล้วก็ล้มเหลวตลอด เลยตัดสินใจลองทำพาสปอร์ตดู ปรากฏว่าได้จึงตัดสินใจไปอเมริกา

บอกแม่เป็นคนแรก บอกให้เขาทำใจ เวลาพูดกับคนอื่นก็พูดเพียงว่า ชาตินี้เราอาจไม่ได้เจอกันอีก ส่วนแม่บอกว่า อะไรก็ได้ที่ลูกปลอดภัย อะไรก็ได้ที่จะสามารถเห็นลูกสาวมีชีวิตปกติ

นัทอ่านบทสัมภาษณ์พี่จอมหรือคนอื่นที่ลี้ภัย เราก็หาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ จริงๆ มีหลายออฟชันสำหรับการทำเรื่องลี้ภัย เราต้องมาร์คประเทศก่อนแล้วศึกษาของประเทศนั้นๆ แต่ก็ไม่เคยติดต่อผู้ลี้ภัยในอเมริกาเลย เพราะมองว่าสิ่งที่เราทำต้องเก็บเป็นความลับสุดยอด

มันมีคำพูดหนึ่ง ชีวิตนี้มันอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่าการติดคุกอีกแล้ว นี่เป็นคำพูดที่เป็นแรงผลักดันเราตลอด

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ 

กังวลไหมว่าที่นี่จะต้อนรับหรือไม่

อเมริกาการขอสถานะผู้ลี้ภัยใช้เวลานานมาก และยากมากในสมัยของทรัมป์ เรื่องนี้ทราบดี นัทไม่เคยมาอเมริกา แต่เคยไปประเทศอื่นแล้วในยุโรป แต่ที่ตัดสินใจเลือกประเทศนี้คือ เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ถ้าต้องไปเริ่มภาษาใหม่อาจลำบากกว่านี้ และมองว่าอเมริกาเป็นประเทศแห่งความหวังต่อให้นโยบายทางการเมืองจะเปลี่ยนไปจากการได้ประธานาธิบดีคนใหม่ก็ตาม มันมีความหวังทุกซอกทุกมุมของอเมริกา เลยคิดว่าจะได้ใช้ชีวิตใหม่ที่นี้

เพื่อนๆ คนอื่นที่โดนคดีด้วยกันคิดเห็นอย่างไรหลังทราบเรื่อง

คนอื่นๆ ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีก็มาทราบเรื่องทีหลังกันหมด เมื่อทราบก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วยมองว่านัทอาจไปสร้างความยุ่งยากให้คดีของเขาได้ อีกส่วนหนึ่งก็สนับสนุนบอกว่า ดีแล้วพี่ พี่อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่โดยรวมทุกคนก็เคารพในการตัดสินใจของนัท จริงๆ ก็เสียใจหากจะมีเพื่อนที่ไม่เข้าใจ เวลาปีกว่าที่ผ่านมา เราไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ไม่สามารถทำงานได้ ถ้าอยู่ต่อก็ไม่รู้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีปัญหาทางจิตหรือเปล่า หลายคนเห็นสภาพและรู้ว่าทางเลือกนี้อาจจะดีกว่าสำหรับนัท

การหลบหนีแบบนี้จะส่งผลอะไรในแง่คดีไหม

ทางกฎหมายไม่น่าจะเกี่ยวกัน การประกันตัวน่าจะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่เรื่องเนื้อคดีอาจมีบางส่วนที่เกี่ยวพันกัน ตรงนี้ยังคงคุยกับพวกเขาตลอด บางครั้งก็ปรึกษาทนายบ้าง ไม่ใช่ว่าเราเอาตัวรอดชิ่งหนีไปเลย แต่ยังห่วง ยังคุยปรึกษาทนาย เพียงแต่ตอนนี้คดียังไม่เข้าไปสู่กระบวนการลึกๆ มันจึงคุยเนื้อหาคดียาก

การตัดสินใจของเราทำให้ทั้งเจ็ดคนเคลื่อนไหวได้ยากไหม

ไม่แน่ใจแต่หลังๆ ทั้งหมดก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอยู่แล้ว

คดี 112 มาตอนไหน

แอดมินเพจแปดคน มีหกคนได้ออกตั้งแต่ฝากขังผัดแรก ส่วนนัทกับหฤษฏ์ อายัดตัวคดี 112 ต่อเลยกลายเป็นสองคนที่อยู่คุก 71 วัน ถามว่า 112 เข้ามาตอนไหน จริงๆ แล้วเขาแจ้ง 112 ตั้งแต่ที่กองปราบฯ ในค่ายทหารเราจะไม่รู้อะไรเลยว่าจะโดนคดีไหม ทุกคนถูกแยกกันหมด แล้วเขาก็บอกเราแค่ว่าต้องไปกองปราบฯ จนกระทั่งถึงกองปราบฯ ตำรวจจึงแจ้งรายละเอียด

ทำไมจึงโดน 112

คดี 112 หลักฐานคือ การแชทสองคนคุยกันในเฟสบุ๊ค ในลักษณะการแค็ปหน้าจอเป็นหลักฐาน ไม่มีอะไรบ่งชี้ได้เลยว่าเป็นการเอามาจากเฟสบุ๊คเราจริง และการนำมาฟ้องก็นำมาเป็นท่อนๆ ไม่ใช่บทสนทนายาวๆ แล้วในบทสนทนาที่เอามาฟ้องก็ไม่น่าจะเข้าข่ายมาตรา 112 เลยด้วยซ้ำ

ทำไมต้องเป็นนัทกับปอนด์ (หฤษฏ์)

ตั้งแต่ที่แถลงข่าวและที่ใช้ฟ้องในศาล เขามองว่าเราสองคนเป็นหัวโจก อารมณ์ประมาณนั้น เขาเชื่อว่าพวกเราถูกจ้างให้ยุยงปลุกปั่นแล้วก็ล้มล้าง คสช.  แต่นัทคิดเองว่าบริบทอาจมีส่วน จังหวะที่ถูกจับและติดคุกเป็นช่วงก่อนทำประชาติรัฐธรรมนูญ 2559 ถ้าตามข่าวจะเห็นเลยว่า นายกฯ และคณะพูดประจำว่า ไซเบอร์เป็นอะไรที่กวนประสาทมากแล้วเขาควบคุมตรงนี้ไม่ได้ การจับกุมเราทั้งแปดคนเป็นที่มาให้หลายคนในโลกออนไลน์กลัว เพจการเมืองดังๆ หลายเพจก็ปิดตัวในตอนนั้นก่อนทำประชาติ มันเหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว ซึ่งมีผลมากด้วย มันมีแค่ในโลกออนไลน์เท่านั้นที่มีอิสระ ในขณะที่ประเทศไทยเต็มไปด้วยความกลัว สื่อหลักถูกครอบงำไปหมดแล้ว สื่อหลักมีมุมเดียวด้านเดียวตลอดเราก็เห็นอยู่

ที่สำคัญ นัทเชื่อมากๆ ว่าการถูกจับกันแปดคนเกิดการจาการถูกแฮ็กเฟสบุ๊ค ตอนที่ทหารมาจับกุมที่บ้านมันมีคำพูดบางอย่างที่ทำให้เราเชื่อได้ว่าเขาแฮ็กเฟสบุ๊คเรา โอกาสที่เขาจะรู้ว่าเราเป็นแอดมินเพจมันยากมากนอกจากใช้วิธีนี้ แล้วการที่แพร่กระจายว่าเฟสบุ๊คแฮ็กได้ เป็นอะไรที่น่ากลัวมากในกลุ่มที่เคลื่อนไหวในโลกออนไลน์

แล้วเพจเรารักพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจากใคร

เจ้าหน้าที่ถามตลอดว่ารู้จักคุณทักษิณ ชินวัตร ไหม เรารู้จักเขา แต่ใครจะรู้จักเราได้ยังไงเราเป็นคนโนบอดี้ แล้วเฟสบุ๊คเราก็ไม่ใช้ชื่อจริงด้วย เราปฏิเสธตลอดตรงนี้ มันเป็นสิทธิของเราที่จะยืนยันแต่เขาจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่เขา

ที่มาของเพจนี้คือ เมื่อ 22 พ.ค.2557 เกิดการรัฐประหาร ทุกอย่างหยุดชะงัก ก่อนหน้านั้นคนเสื้อแดงชุมนุมที่อักษะ แล้วคนก็คุยการเมืองกันมากมาย แต่อยู่ดีๆ ทุกอย่างก็ชะงัก มันเหมือนถูกมัดมือ แต่โลกออนไลน์มันยังได้อยู่ก็เลยคิดตั้งเพจ จริงๆ นัทก็ทำเพจอยู่แล้วหลายๆ เพจ จนวันนั้นจึงทำเพจขำๆ ในเมื่อเขาห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างอื่น เราก็บอกว่าเรารักพล.อ.ประยุทธ์แล้วกัน แล้วตรง category เราก็บอกว่าเป็น comedian เป็นการเสียดสี เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารด้วยมุมมองไม่รุนแรง ขำๆ

อาชีพก่อนหน้านี้ที่จะมาทำเพจคืออะไร

เรียนจบวิศวกรรมเคมีและสิ่งทอมา แต่มาทำงานในสายงานมาเก็ตติ้งตลอด ก่อนโดนจับเป็นฟรีแลนซ์ทำเกี่ยวกับดิจิตอลมาเก็ตติ้ง ในระหว่างการทำงานด้วยความเป็นฟรีแลนซ์ก็เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์อยู่แล้ว แล้วเราชอบการเมืองก็ทำเพจการเมืองเป็นงานอดิเรก ทำตั้งแต่ปี 2552 มาเรื่อยๆ

ทั้งแปดคนที่โดนจับรู้จักกันมาก่อนไหม

ทั้งแปดคนก็รู้จักในโลกออนไลน์นี่เอง คนนี้ทำอันนี้ได้ คนนั้นทำอันนู้นได้ คนนี้เป็นแอดมินแพจนั้นเพจนี้ เราต่อกันอยู่แบบนี้อยู่แล้วในโลกไซเบอร์ แล้วพอเราสร้างเพจก็คอนเน็กมาเป็นแอดมินด้วยกัน มันเป็นลักษณะปกติของโลกอินเทอร์เน็ต

อย่างเพจไข่แมวหายไป ในฐานะที่เคยทำสื่อพวกนี้คิดอย่างไร

นัทไม่คิดว่า คสช.ทำให้เพจหายไปหรือจับแอดมินไป ถ้าแอดมินเพจไข่แมวโดนจริงก็ต้องถูกดำเนินคดีแล้วแถลงข่าวใหญ่โต เหมือนตอนพวกนัทโดนจับ พวกเขาแถลงเหมือนเป็นผลงานยิ่งใหญ่ ยิ่งเป็นไข่แมวมีหรือที่จะไม่ทำ ส่วนเหตุผลที่หายไป คิดว่าอาจเป็นเพราะ หนึ่ง ถูกรีพอร์ต อาจโดนจากไอโอของทหาร หรือสอง ตัวแอดมินเองอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะแง่ไหน ไม่มีแอดมินคนไหนหรอกแบบที่จะปิดลับแบบไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นใคร เขาเลยตัดสินใจระงับ อาจปิดชั่วคราวของเขาเองก็ได้

มีข้อคำถามว่า ผู้ต้องหาคดี 112 หรือ 116 ที่พ่วงด้วย ทำไมถึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

ตอนที่ได้รับการประกันตัวก็ไม่มีการชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงได้ แต่เข้าใจว่าระหว่าง 71 วันในเรือนจำ ไม่ว่าทนาย ครอบครัว นักกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ ต่างก็ช่วยกันเรียกร้อง ไม่ว่าการยื่นหนังสือกับองค์กรต่างๆ การล่ารายชื่อของแอมเนสตี้ฯ คิดว่าเป็นแรงกดดันที่ทำให้เขาตัดสินใจปล่อยออกมา ต้องขอบคุณทีมทนาย สกสส. โดยเฉพาะคุณวิญญัติ ชาติมนตรี มาก แกไม่เคยทิ้งเราเลย เยี่ยมตลอด ยื่นประกัน ยื่นหนังสือให้ตลอด ค่อยอัพเดทข่าวสารต่างๆ ด้วยและยังพาแม่นัทและพ่อปอนด์ไปถวายฎีกา

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ 

การหนีคดีจะส่งผลต่อทนายไหม

นัทขอโทษทางทีมทนายไปแล้วที่ทำให้ยุ่งยาก เพราะปัญหาต่อจากนี้คงเป็นทนายที่ต้องรับภาระ แต่ในมุมของความเป็นมนุษย์ที่ทนายมีให้กับตัวนัท เขาอวยพรให้เรามีชีวิตที่ดี

ถึงวันนี้คิดว่าตัดสินใจถูกต้องไหม

ตอนนี้ผ่านมาห้าหกเดือนที่ใช้ชีวิตในอเมริกา การตัดสินใจลี้ภัย ณ วันนี้คิดว่า คิดถูกต้องแล้ว ตอนอยู่เมืองไทยเหมือนชีวิตถูกดอง ไม่สามารถทำงานได้ ไม่มีเงินใช้ กลายเป็นภาระครอบครัวทั้งที่เราเป็นคนทำงานมาตลอด มันทำให้เราฟุ้งซ่าน มาอยู่นี่มันเหมือนได้นับหนึ่ง มีก้าวแรก ไม่ใช่มันง่าย ไม่ใช่สบาย เหนื่อย หนัก แต่ปัญหาทุกอย่างที่มีเราแก้ได้ เราอดทนได้ แต่การที่ยังอยู่ในเมืองไทยมันดำเนินชีวิตไม่ได้ จะบอกตัวเองว่าจงอดทนจนกว่าจะสิ้นกระบวนการแล้วต้องติดคุก ก็บอกตัวเองแบบนั้นไม่ได้

สิ่งที่หนักและเหนื่อยที่สุดสำหรับผู้ลี้ภัยคืออะไร

มันเหมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ มันไม่มีความแน่นอนในอนาคต ชีวิตเดินไปวันต่อวัน ยังไม่ settle down อย่างไรก็ตาม เราได้รับกำลังใจเยอะมาก จากผู้ลี้ภัยที่นี่และที่อื่นด้วย ได้รับโทรศัพท์เรื่อยๆ บางคนติดต่อเราเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ก็มี ได้รับกำลังใจจากคนไม่รู้จักไม่เคยเจอก็มาก หลายคนยังอยู่เมืองไทยด้วยซ้ำ มันมีเสียงสนับสนุนเราตลอดว่า "ดีแล้วน้อง พี่ขอให้น้องสู้ พี่ขอให้น้องโชคดี" เราอาจตอบกลับไปสั้นๆ ว่า "ขอบคุณ" แต่จริงๆ มันตื้นอยู่ในใจเราเสมอ คนอาจมองว่าอยู่อเมริกาแล้วดี แต่มันไม่ง่าย ต่อให้ไม่ได้มาแบบนี้ มาเริ่มต้นชีวิตใหม่แบบไหนก็ไม่ง่ายทั้งนั้น

ขั้นตอนการขอสถานะผู้ลี้ภัยตอนนี้ไปถึงไหน

ยังไม่ได้ยื่น เพราะต้องเตรียมเอกสารเยอะ อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสาร

อยากฝากอะไรถึงเมืองไทย

ฝากเรื่องเรื่องหนึ่งที่อาจถูกมองข้าม การที่อยู่ในคุก 71 วัน เมื่อเราออกมา เราไม่ได้แค่รับอิสรภาพ แต่เราแบกความทุกข์ของคนอื่นออกมาด้วย นัทคิดตลอดเวลาว่า เราเสียใจมากที่ไม่สามารถทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคนในคุกได้มากกว่านี้เลย แต่วันหนึ่งเห็นน้องกอล์ฟ (ภรณ์ทิพย์ มั่นคง) รวมกลุ่มกับเพื่อนทำกลุ่ม Fairy Tell พยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขัง ผู้พ้นโทษไม่เฉพาะนักโทษการเมืองด้วยแต่ช่วยเหลือทุกคน ได้มีโอกาสคุยกับกอล์ฟ ขอบคุณเขาที่ทำสิ่งนี้ เขาบอกว่าคนอยู่ด้วยกันมาขนาดนี้มันทิ้งกันไม่ได้ มันใช่เลย มันคือสิ่งที่อยู่ในใจเรา แต่เราทำไม่ได้ อยากให้สนับสนุนสิ่งนี้ให้ดำเนินต่อไป อยากให้ได้รับการสนับสนุนในวงกว้าง

เมื่อสามารถลงหลักปักฐานในต่างประเทศได้จะต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อหรือจะหยุดพูดเรื่องการเมือง

ด้วยความที่เราห่วงความปลอดภัยของครอบครัวเป็นหลักและอยู่ระหว่างการเริ่มต้น ทำให้เราเคลื่อนไหวอะไรลำบาก แต่อุดมการณ์มันอยู่ในสายเลือด เมื่อไรที่พร้อมก็จะพูดเรื่องการเมืองได้เหมือนเดิมที่เคยพูด แต่ด้วยเวลาและโอกาสตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ แต่ยืนยันได้ว่าอุดมการณ์ที่นัทมีอยู่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

นัทยังรักประเทศไทยที่เป็นบ้านเกิดเหมือนเดิม อยากให้ประเทศมีเสรีมากกว่านี้ ...ถ้าเราตามแต่ข่าวตอนนี้เรารู้สึกไม่มีข่าวดี แต่บางครั้งเราได้เห็นเด็กรุ่นใหม่ๆ แสดงความคิดเห็น แค่นั้นเราก็รู้สึกว่าเป็นข่าวดี

มีความหวังจะได้กลับประเทศไหม

พยายามจะไม่หวังแต่ลึกๆ ก็หวังเสมอว่าจะได้กลับไปเหยียบแผ่นดินเกิด ซึ่งนั่นแปลว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปจนกระทั่งยอมรับให้นักโทษการเมืองกลับบ้านได้ มันต้องเป็นช่วงที่วิเศษมากๆ มันไม่ใช่แค่ฝันอยากให้ตัวเองได้กลับไป

 

ตัวอย่างสเตตัสเฟสบุ๊คของ nuttigar woratunyawit  เล่าเรื่องในเรือนจำและการลี้ภัย

13 มกราคม 2561

#คืนสุดท้าย

หลังการตัดสินใจของเราแล้วว่า จะทิ้งแผ่นดินเกิด ทิ้งครอบครัวที่รักและเพื่อนฝูงคนสนิท มาใช้ชีวิตแบบตายเอาดาบหน้าที่อเมริกา เราก็พยายามใช้ชีวิตกับคนเหล่านั้นให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับ "แม่"

ทั้งๆ ที่เราและแม่ติดการนอนคนเดียว แต่แม่ก็ย้ายมานอนเตียงเดียวกับเรา จวบจน "คืนสุดท้าย" ที่ได้นอนด้วยกัน

คืนนั้นเรานอนหลับเป็นปกติ แต่ก็ตัองตื่นกลางดึกเมื่อรู้สึกตัวว่า มีคนลูบแขนลูบหน้าเราอยู่

ลืมตาตื่นพบว่า แม่นอนลืมตา มองหน้าเรา และลูบหน้าเราอย่างรักใคร่อาวรณ์

นาทีนั้นเราทำได้แค่ดึงมือแม่มาจับไว้แบบปลอบใจว่า ไม่เป็นไรหรอกนะ

เรารับรู้เพียงว่า แม่ไม่อาจข่มตาหลับได้ เมื่อแน่ชัดในใจว่า คืนนี้จะเป็นคืนสุดท้ายที่ได้กอดลูกสาวคนเดียวของเค้า

คืนนั้นเราปัดความกังวลออกจากใจ และหลับลงได้อย่างสนิท เก็บแรงไว้กับการผจญภัยในวันรุ่งขึ้น

หลังการจากลา เราเองไม่อาจลืมสายตาและสัมผัสของแม่ในคืนนั้นได้เลย

และซาบซึ้งถึงขั้วหัวใจอย่างที่สุดว่า แม่รักเรามากขนาดไหน และต้องหักใจขนาดไหนเพื่อความปลอดภัยของลูก

เราใช้ความเข้าใจในความรักของแม่ในคืนนั้นผลักดันใจเราให้ไม่กลัวที่จะฝ่าฟัน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ต้องเจอ

เราจะไม่ทำให้แม่ผิดหวัง ให้สมกับที่แม่ต้องตัดใจเพื่อเรา

นึกถึงคืนนั้นทีไร เราก็ร้องไห้ทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน

#รักแม่ที่สุดนะคะ

 

31 ธันวาคม 2560

#2017ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต #บันทึกไว้ในความทรงจำ

อย่างที่เคยเกริ่นไว้ ปี 2017 เป็นปีที่เราเดินทางเพื่อเปลี่ยนชีวิตถึงสองครั้งสองครา

การเดินทางครั้งแรก เกิดจากการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะไม่จมปลักในวังวนของชีวิตที่ไร้ทิศทางและกำหนดเองไม่ได้ ความต้องการหลุดพ้นจากความกังวลทั้งมวลที่สร้างบาดแผลและความทุกข์ไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่กระทบทุกคนที่รักและห่วงใยเรา

การตัดสินใจครั้งนี้ เกิดจากการลองผิดลองถูกทั้งหมด เหมือนเราตั้งเป้าแล้วลองเดินตามเป้าดู ทุกอย่างสำเร็จออกมาแบบฟลุ้คๆทั้งนั้น

การตัดสินใจครั้งนี้อาจดูยากสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับเรา มันเหมือน nothing to lose ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว

แต่แล้วเมื่อถึงจุดหมาย เราพบว่า ทุกอย่างผิดแผนไปหมด หลายสิ่งเต็มไปด้วยความผิดหวัง เราต้องใช้ความอดทนและเข้มแข็งอย่างมหาศาล และเราก็ผ่านมาได้

และนั่นเองคือที่มาของการเดินทางครั้งที่ 2

เราตัดสินใจเปลี่ยนแปลงขีวิตอีกครั้ง ครั้งแรกว่าตัดสินใจยากแล้ว ครั้งที่ 2 กลับยากยิ่งกว่า เพราะ ณ จุดหมายปลายทางนั้น เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า เราจะพบเจออะไร

เรานั่งร้องไห้ตลอดการเดินทาง ความรู้สึกเหมือนคนกำลังจะจากลากับอะไรบางสิ่งที่ไม่อาจหวนคืน บวกกับความกังวลต่ออนาคตอันใกล้ ที่เรามิอาจหยั่งรู้ได้

แต่เมื่อพาหนะที่เราโดยสาร ผ่านเข้าสู่ประตูของปลายทาง เวลานั้นเป็นเวลาเย็นพระอาทิตย์กำลังตกดิน แสงสีทองของดวงอาทิตย์ทาบขอบฟ้า ราวกับว่าเป็นแสงทองต้อนรับชีวิตใหม่ของเรา นาทีนั้นใจเราก็เต็มตื้นไปด้วยความหวังอีกครั้ง บอกตัวเองเพียงว่า เรามาไม่ผิดที่แล้ว

เรามาถึงแล้ว ที่ที่เราจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้

จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านไปสองเดือนกว่าแล้ว สองเดือนของชีวิตใหม่ที่เต็มไปด้วยเสรีภาพและการเริ่มต้น.....ซะที

และนี่เอง ชีวิตใหม่ที่เราต้องฟันฝ่า และนี่เป็นเพียงแค่จุดสตาร์ทเท่านั้น

#ขอบคุณทุกกำลังใจที่ช่วยโอบอุ้มให้ใจดวงนี้เข้มและแข็ง #ขอบคุณความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่ทำให้เรากัดฟันเอาชนะมันให้ได้

 

16 ตุลาคม 2560

นักโทษคดีดังที่สุดที่เราได้คุยด้วยในทัณฑสถานหญิงกลาง ก็คือ "พี่พรชนก" คดีฆ่าหั่นศพสามีชาวญี่ปุ่น

เมื่อปี 2557 ข่าวใหญ่พาดหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ เป็นที่โจษขานวิจารณ์กันทั้งปีคือ คดีฆ่าหั่นศพครูสอนภาษาชาวญี่ปุ่น โดยฆาตกรเป็นสองสามีภรรยาชาวไทย โดย "พรชนก" ผู้เป็นภรรยาของครูชาวญี่ปุ่นคนนี้ก็คือ 1 ในฆาตกรนั่นเอง

เราพบพี่พรชนกตั้งแต่คืนแรกในเรือนจำโดยที่เราไม่รู้ว่าเธอคือใคร รู้เพียงว่าเธอคือหมอนวดมือดีขาประจำของแม่อำไพที่นอนติดกัน ในคืนแรกเธอเอื้อเฟื้อกับเราด้วยการแบ่งปันหนังสือสวดมนต์ที่เป็นลายมือเธอทั้งเล่มให้

หลังจากพอทราบประวัติพี่พรชนกมาพอสังเขปแล้ว เราก็ยังคงพูดคุยกับเธอตามปกติ เธอเป็นผู้หญิงวัยใกล้ 50 ปีที่สวย ผิวพรรณดี ไม่พูดมาก ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร และธรรมะธัมโม

วันนึงขณะที่เธอนวดให้แม่อำไพตามปกติ เราถามเธอว่า ได้วิชาการนวดมาจากไหน เธอเล่าว่า มาเรียนรู้เอาตอนติดคุกแล้วนี่ล่ะ ตอนอยู่ข้างนอกน่ะ ไม่นวดหรอก ได้ชั่วโมงละ 200-300 บาท สู้ขายตัวไม่ได้

เธอเล่าว่า ชะตาชีวิตเธอผกผันมาตลอด ในวันนึงที่ลำบากที่สุด ไม่เหลือเงินในกระเป๋าแล้ว เธอเดินไปทำงานที่แยกอโศก เลยแวะไหว้พระพรหม ขอให้พ้นจากความจนและวังวนความทุกข์ เมื่อไปทำงาน เธอได้แขกญี่ปุ่นคนแรกที่ตกหลุมรักเธอในวันนั้นเลย และได้กลายเป็นสามีชาวญี่ปุ่นคนแรกของเธอ

แม้จะเล่าเรื่องราวมากมายให้เราฟัง ทั้งเรื่องลูกสาวที่เธอแสนรักและภูมิใจ เรื่องราวชีวิตที่พ้นความจนและมีสมบัติพัสถานหลังการแต่งงาน แต่พี่พรชนกกลับไม่เคยเอ่ยปากใดๆถึงคดีของเธอเลย

ด้วยความที่คุยกันบ่อยๆ พี่พรชนกเอามือเราไปดูลายมือให้ และบอกว่าไม่นานเราจะได้ออกไปจากคุก เธอบอกเราว่า เธอไม่ค่อยดูให้ใครหรอกนะ เธอรำคาญคน

เธอยังฝากเราอีกว่า หากได้รับอิสรภาพแล้ว ถ้าจะไปทำบุญที่ไหน ช่วยไปหนองคายด้วย เพราะเธอฝันอยากไปไหว้พระและทำบุญที่หนองคาย วันนี้เราได้ทำแทนฝันของเธอแล้ว

ก่อนเราได้รับอิสรภาพเพียงหนึ่งวัน พี่พรชนกยังให้เราช่วยเขียนหนังสือสวดมนต์ให้ เธอบอกว่าเธอจำบทสวดแผ่เมตตาได้หลายบท ท่องได้ แต่เวลาเขียนจะลืม ต้องให้เราช่วยเขียนให้

หลังออกจากเรือนจำ เราลองค้นในกูเกิ้ลเพื่อตามอ่านเรื่องราวของเธอ และแทบไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงพูดน้อย สวดมนต์ตลอดเวลาและธรรมะธัมโมอย่างพี่พรชนก จะคือฆาตกรเลือดเย็นที่สามารถร่วมกันฆ่าและหั่นศพคนได้

#ทัณฑสถานหญิงกลาง #ฆ่าหั่นศพสามีชาวญี่ปุ่น #บันทึกในเรือนจำ

 

14  ตุลาคม 2560

ชีวิต 71 วันในทัณฑสถานหญิงกลางของเรานั้น ยังโชคดีนักหนาที่มีกลุ่มผู้ต้องขังที่เป็นผู้ช่วยงานคอยให้ความช่วยเหลือ

หนึ่งในนั้นที่เราไม่มีวันลืมเลยคือ "บี"

บีเป็นนักโทษเด็ดขาดคดีนำเข้าโคเคน ถูกตัดสินจำคุก 26 ปี ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มากว่า 4 ปีแล้ว

เราสนิทและรู้สึกไว้ใจกับบีมากกว่าคนอื่นๆ สำหรับเราน้องแตกต่าง มันมีความรู้สึกบางอย่างว่าน้องไม่ใช่อาชญากร

บีเล่าว่าเธอถูกจับพร้อมแฟนหนุ่มชาวไนจีเรีย ในวันเกิดครบรอบเบญจเพสแบบพอดิบพอดีที่ที่ทำการไปรษณีย์

เธอคบแฟนหนุ่มผิวดำคนนี้มาไม่ถึงปี โดยไม่เคยระแคะระคายมาก่อนว่าเค้าจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

วันที่ถูกจับ เธอไปพร้อมแฟนหนุ่มเพื่อขอรับพัสดุที่ไม่ใช่ชื่อตนเอง โดยแฟนเธออ้างว่า ไปรับแทนเพื่อน และให้บีที่เป็นคนไทยช่วยรับแทน

เมื่อแสดงตัวขอรับพัสดุ เธอก็ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจับทันที

ศาลตัดสินว่า เหตุที่เธอมีการศึกษา จึงทำให้เธอวางแผนแยบยลและเป็นตัวการนำเข้าโคเคนที่ส่งมาจากอาเจนติน่า

ศาลตัดสินว่า "ผิด" โดยไร้หลักฐานทางการเงิน ไร้อีเมล์ที่แสดงการติดต่อประเทศต้นทาง และไร้ความเชื่อมโยงใดๆกับชื่อและที่อยู่ที่ปรากฎในพัสดุนั้น

มีร่องรอยเดียวที่เป็นเค้าลางว่าเธอจะไม่ชนะคดีนี้ก็คือ ความเกรี้ยวกราดและใช้คำพูดแบบไม่ให้เกียรติของศาลที่แสดงท่าทีดูถูกคนผิวดำและผู้หญิงไทยที่มีความสัมพันธ์กับคนผิวดำ

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผิด และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 26 ปี

ทั้งบีและครอบครัวก็ท้อต่อการยื่นฎีกา

เราได้รับอิสรภาพออกมาพร้อมจำเบอร์โทรศัพท์ของแม่บีไว้ในหัว

หลังพ้นอาทิตย์แรกเราโทรไปทักทายแม่ของบีและเอ่ยปากว่าอยากช่วยเหลือน้องในการขอฎีกาอีกซักครั้ง

แม่เล่าว่า หลังการตัดสินของศาลอุทธรณ์ อัยการพูดกับแม่ว่า "อย่าสู้อีกเลย เงินก็ไม่มี คอนเนคชั่นก็ไม่มี สู้ไปก็แพ้เปล่าๆ"

แค่นั้นทั้งแม่และบีก็ท้อ ก้มหน้ารับชะตากรรมที่ยาวนานในคุก

จากเด็กสาวสวย พนักงานบริษัททัวร์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ต้องหมดอนาคตลงตั้งแต่บัดนั้น

วันนึงบีบอกเราว่า "หนูรู้ตั้งแต่วันที่หนูแพ้คดีเลยว่า ประเทศไทยไม่มีวันเจริญหรอก เพราะประเทศนี้เรียกหาความยุติธรรมไม่ได้เลย"

เรายังสะท้อนใจคำพูดนี้จนบัดนี้

#ชีวิตในเรือนจำ #ความยุติธรรมไม่มีจริง #ทัณฑสถานหญิงกลาง

 

10 ตุลาคม 2560

ใครผ่านคุกจะซ่อนน้ำตาเก่ง คงเป็นเรื่องจริง

เพราะการร้องไห้ระหว่างถูกกักขัง คือการ #ส่งต่อความทุกข์ ที่ทุกคนล้วนแบกเอาไว้อยู่แล้ว ให้หนักหนาขึ้นไปกว่าเดิม

ทุกครั้งที่ใครคนนึงร้องไห้ มักมีใครอีกหลายคนร้องตาม

และวิบากกรรมที่แบกกันไว้ก็ไม่พ้นความห่วงและคิดถึงคนที่อยู่นอกกำแพงสูงนี้

"อ้อม" ผู้ช่วยงานฝ่ายพยาบาล เป็นคนยิ้มง่าย พูดเพราะแบบที่ผู้ช่วยงานไม่ค่อยเป็นกัน

วันนึงอ้อมเล่าให้เราฟังว่า "ฝันร้าย" เห็นเจ้ากรรมนายเวรของพ่อมาทวงชีวิต เราปลอบว่า น่าจะเกิดจากความกังวลใจที่พี่สาวของอ้อมเพิ่งมาเยี่ยมและส่งข่าวว่า #พ่อป่วย

อ้อมบรรเทาทุกข์ด้วยการลงคอร์สปฏิบัติธรรม ที่ทางทัณฑสถานจะจัดไว้ให้นักโทษเด็ดขาดที่ถูกตัดสินคดีแล้ว และมักมีอัตราโทษสูงๆไว้เข้าร่วม เพื่อ #บรรเทาทุกข์

วันนึงขณะเรากำลังเดินกลับจากเยี่ยมญาติ เราได้ยินเสียงฝีเท้านึงวิ่งมาข้างหลังและตะโกนเรียกเรา อ้อมวิ่งเข้ามากอดและร้องไห้โฮ เธอเล่าว่าพี่สาวมาแจ้งว่าพ่อเสียตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว จัดการงานศพเสร็จถึงได้มาเยี่ยมและแจ้งข่าว

อ้อมร้องไห้จนตาบวม หน้าตาหมองคล้ำไปร่วมอาทิตย์ หลายคนที่รับทราบและปลอบใจต่างก็สะท้อนใจ ไม่อยากให้เหตุการณ์ร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นกับตนเอง

การจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก นับเป็นความทุกข์ใหญ่หนักหนาพอแล้ว

แต่การจากไปโดยไม่มีโอกาสแม้ร่ำลาดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต

มันหนักหนาสาหัสอย่างที่สุด

คุกจึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่ขังอิสรภาพ ขังความคิด

คุกยังขังและทำลายความรู้สึก ความผูกพันของมนุษย์ทุกคนที่ทั้งถูกขัง และคนที่รักถูกกักขัง

วันนึงแค่เราทราบข่าวว่าแม่ตกเก้าอี้จนเขียวช้ำ เราเดินร้องไห้ตั้งแต่ห้องเยี่ยมจนกลับแดน

จนเพื่อนผู้ต้องขังคนนึงกระซิบว่า "อย่าร้อง" เพราะการร้องไห้ของเรา มันไปทำให้คนอื่นทุกข์และอยากร้องไห้ตาม

ตั้งแต่นั้น เราต้องเรียกสติทุกครั้งที่มีความทุกข์ และนั่นทำให้เรา #ร้องไห้ยากขึ้น กว่าเดิม

#เรื่องเล่าจากเรือนจำ #ความทุกข์หลังกำแพงคุก

 

5 ตุลาคม 2560

ในเรือนจำหญิง จะว่าผู้คุมร้ายแล้ว ผู้ช่วยงานก็ไม่ธรรมดาทีเดียว

ผู้ช่วยงานมักเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ที่ถูกตัดสินคดีมาแล้วด้วยโทษสูงๆ หลักสิบปีขึ้นไป ในแดนแรกรับผู้ช่วยงานมักจะเป็น "พวกเดินแดน" คือพักแดนนอก แต่เข้ามาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับในแดนแรกรับ

คุณสมบัติของผู้ช่วยงานมักจะปากร้าย เสียงดัง ตาขวาง กร่างและเบ่ง เพราะทำงานรับใช้ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ทำความสะอาดพื้นที่ที่ดูแล จัดการอาหารการกินให้เจ้าหน้าที่ ตามตัวนักโทษ ไปจนถึงด่านักโทษแทน เรียกได้ว่าเป็นมือเป็นเท้าแทนทุกอย่าง

แต่ทุกคนจะมีหน้าที่หลักประจำตัวเช่น ผู้ช่วยงานส่วนโต๊ะญาติ ผู้ช่วยงานตรวจตรงประตูเข้าออก กองกลาง พี่เลี้ยง กองเลี้ยง หน่วยพยาบาล เป็นต้น

ด้วยเหตุว่าเราถูกดูแลพิเศษโดยเจ้าหน้าที่อย่างที่เคยเล่าไป ในสายตาของผู้ช่วยงาน เราจึงเหมือน "พวกเดียวกัน"

เพราะการปฏิบัติของผู้ช่วยงานที่มีต่อนักโทษทั่วไป เรียกได้ ว่า "ด่าจิกหัว" กันเลยทีเดียว

ในวันแรกที่เราเดินเข้าเรือนจำ เราเดินเข้าแดนแรกรับพร้อมเพื่อนผู้ต้องขังที่สายตาสั้นเกือบ 1000 และถูกบังคับให้ถอดคอนแทคเลนส์ทิ้งตามระเบียบ เราจึงต้องเดินจูงเธอฝ่าความมืดของหัวค่ำเข้าประตูแดน

เมื่อผู้ช่วยงานที่มีหน้าที่เปิดประตูแดนเห็นก็ตะโกนเหน็บทันทีว่า "กระแดะ"

เมื่อถึงจุดที่พี่เลี้ยงรอรับนักโทษใหม่ ก็มีการซักถามประวัติโดยย่อ ด้วยเสียงกระโชก ห้วนและหยาบจากผู้ช่วยงาน และแน่นอน พฤติกรรมเหล่านี้อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ตลอด

คำด่าที่ถูกสรรมาจากจากปากผู้ช่วยงานก็เรียกได้ว่า "หยาบ" ถึง "หยาบที่สุด" พร้อมสายตาที่กดหัวคน ราวกับลืมไปแล้วว่า คนที่ตนกำลังก่นด่านั้น คือเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ไร้อิสรภาพเช่นตน

ถ้าถามว่าการเป็นผู้ช่วยงาน ทำแล้วได้อะไร เท่าที่เราเห็นก็คือ ได้อภิสิทธิ์บางอย่างที่เหนือกว่านักโทษทั่วไป

เช่น สามารถนำอาหารกองเลี้ยงออกมาทานได้ตามโควต้า ไม่ต้องเข้าแถวเวลาซื้อของและอาบน้ำ สามารถมีสิทธิ์ใช้สมุดปากกาและเครื่องเขียนต่างๆในแบบที่นักโทษทั่วไปยากจะเข้าถึง

แต่พวกเค้าเองก็แลกมากับการทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ คือ ตื่นก่อนนอนทีหลัง และบางครั้งก็เป็นที่ระบายอารมณ์เหวี่ยงๆจากเจ้าหน้าที่นั่นล่ะ

ถ้าถามนักโทษว่า ในคุกเกลียดใครที่สุด บางคนอาจบอกว่าเจ้าหน้าที่ผู้คุม แต่บางคนอาจเกลียดผู้ช่วยงานนี่ล่ะมากกว่า

แต่อย่างที่บอก เราค่อนข้างใกล้ชิดกับน้องๆผู้ช่วยงาน และก็ได้น้องๆนี่ล่ะที่ดูแลเราด้วยดีมาโดยตลอด

รวมถึงข้อมูลลึกๆ เรื่องลับๆของเจ้าหน้าที่ ที่ยากจะรอดพ้นสายตาของคนทำงานใกล้ชิดอย่างผู้ช่วยงาน

ก็ล้วนได้รับการถ่ายทอดมาสู่เรา ด้วยเหตุผลเดียวกันว่า "อยากให้ใครมากระทุ้งให้ที่นี่ปฏิบัติต่อนักโทษให้เหมือนคนหน่อย"

และนักโทษการเมืองคดีดังเช่นเรา ก็เป็นความหวังของพวกเค้าเช่นกัน

#เรื่องเล่าในเรือนจำหญิง #ทัณฑสถานหญิงกลาง #ผู้ช่วยงาน

 

3 ตุลาคม 2560

มีหลังไมค์มาคุย อยากรู้ว่าความสัมพันธ์ของสาวๆในเรือนจำ เค้าอยู่กันอย่างไร

ในเวลานอกตารางที่ผู้ต้องขังตัองเข้าหน่วยงานประจำแล้ว ก็จะเป็นเวลา อาบน้ำ แต่งตัว และทานข้าว โดยสาวๆจะมีพื้นที่ส่วนตัวตามใต้ตึกมุมต่างๆ มีความกว้างขนาดผ้าใบสีฟ้ากว้างยาวราวๆเมตรครึ่งได้ โดยทุกคนจะเรียกพื้นที่นี้ว่าบ้าน

บ้านนึงจะนั่งกัน 2-4 คน แต่งตัวแต่งหน้าด้วยกันตอนเช้าและบ่ายก่อนเข้าห้องขัง และทานอาหารร่วมกันหลังแต่งตัวเสร็จ

สาวๆที่อยู่บ้านเดียวกัน จะแบ่งปันข้าวของเครื่องใช้และอาหาร บางบ้านเด็กสาวจะดูแลคนชรา และบางบ้านก็เป็นที่ช่วยกันเสริมสวยทั้งแต่งหน้าและทำผม

เราไม่มีบ้านประจำ เหตุจากการถูกแยกไปนั่งกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตั้งแต่ต้น อาหารเช้าและกลางวันจึงทานร่วมกับน้องๆผู้ช่วยยงานที่มีบ้านเป็นโต๊ะยาวพิเศษกว่าคนอื่น และแต่งตัวกับทานข้าวเย็นร่วมบ้านกับแม่อำไพ ผู้ต้องขังสาวใหญ่ที่นอนติดกัน

นอกจากนี้ เรายังค่อนข้างสนิทกับกลุ่มที่นอนบริเวณเดียวกัน เพราะเราไม่ติดละคร ส่วนใหญ่จะนอนคุยแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตกันกับเพื่อนๆผู้ต้องขังคนอื่นซะมากกว่า

ว่ากันว่าในแดนแรกรับ เป็นแดนที่ผู้ต้องขังยังอยู่ในช่วงการสู้คดี ยังมีความไม่แน่นอนในชีวิตตลอดเวลา ดังนั้นสังคมข้างในแดน ยังคงมีความแบ่งปัน เอื้ออาทรกันมากกว่าแดนนอก

ในแดนนอก "ผู้ต้องขังหญิง" จะถูกเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น "นักโทษหญิง" อย่างเต็มตัวหลังการตัดสินคดี และกลายสภาพเป็นนักโทษเด็ดขาดแล้ว

ว่ากันอีกว่า นักโทษหญิงในแดนนอกจะต่างคนต่างอยู่มากกว่า และด้วยความที่รู้ชะตาชีวิตที่ชัดเจนแล้วว่าต้องใช้ชีวิตในเรือนจำอีกนานเท่าไหร่ พวกเธอจึงมักลดความเอื้ออาทรต่อกันลงไปด้วย

ในแดนแรกรับ บทสนทนาประจำวันจะหนักไปเรื่องของ "คดี" และ "ความห่วงใย" ต่อคนข้างนอก การแชร์ความทุกข์ การระบาย คำปลอบโยน แลกจดหมายกันอ่าน ไปจนถึงการร้องไห้ร่วมกัน ล้วนทำให้สถานะของผู้ต้องขัง มีความใกล้ชิดกับคำว่า "เพื่อน" ทีเดียว

เราเป็นทั้ง "เพื่อนร่วมชะตากรรม" "เพื่อนที่คอยแบ่งปันความทุกข์กัน" จนบางคนเคยเอ่ยกับเราไว้ว่า หากพ้นโทษออกไป คงคบแต่เพื่อนที่เคยติดคุกมาด้วยกันนี่ล่ะ

บางคนที่อยู่กันนานๆ เป็นธรรมดาที่จะผูกพันเป็นเพื่อนรัก บางคนเป็นแฟนกัน และหลายคนดำเนินความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันจนพ้นโทษ

ทุกวันนี้ แม้เราได้รับอิสรภาพมาเกินปีแล้ว แต่เราจะยังคงระลึกถึงความรัก ความห่วงใยและความหวังที่มีร่วมกันกับเพื่อนๆในแดนแรกรับ

แต่ก็ทำได้เพียงฝากข่าวไปกับน้องบางคนที่ได้กลับบ้านแล้ว แต่ยังเขียนจดหมายติดต่อกับด้านในเรือนจำอยู่

เราออกมาพร้อมแบกความคาดหวังว่า เราจะมีส่วนที่ทำให้ "คุก" เป็นสถานที่ที่ดีกว่านี้ ละเมิดผู้คนน้อยกว่านี้

แต่เราทำได้เพียงการเขียนบอกเล่าเรื่องราวของ "คุกหญิง" แดนสนธยาที่ไม่มีใครอยากเหยียบเข้าไปแม้แต่ก้าวเดียวในชีวิต

โดยที่เราต้องก้มหน้ายอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพของ "คุก" นั้น ยังเป็นอะไรที่คาดหวังยาก และเพียงมือสองมือของเรา ไม่อาจทำอะไรได้เลย

#ทัณฑสถานหญิงกลาง #เพื่อนร่วมชะตากรรม #ความสัมพันธ์ของคนในคุก #ความทรงจำในเรือนจำ

 

2 ตุลาคม 2560

วันสุดท้ายในเรือนจำ เราตื่นเช้าเพื่อไปศาลตามปกติ วันนั้นรถที่พาเรามุ่งหน้าสู่ศาลทหาร เป็นรถกะบะสองตอนที่ทำหลังคาและกรงขังไว้ด้านหลัง เรานั่งข้างหลังไปคนเดียว ตลอดเส้นทางคิดภาวนาในใจว่า อยากให้เกิดอุบัติเหตุ เราจะได้ตายพ้นๆไปจากเคราะห์กรรมนี้เสียที

เมื่อถึงศาลทหาร เราพบแม่นั่งรออยู่เช่นเคย พร้อมเพื่อน พี่ๆและน้องๆที่มารอเยี่ยม เราถามทนายทันทีว่าจะยื่นประกันอีกมั้ย ในความคิดเราคือ ไม่ต้องยื่นแล้ว เราสิ้นหวังแล้ว แต่ทนายบอกว่าจะยื่น เพราะเป็นสิทธิ์ของเรา

ตามปกติเมื่อทนายยื่นเรื่องขอประกันตัว เราจะทราบผลจากศาลราวๆบ่าย 2-3 โมงเป็นประจำ

ประมาณ 11.30 น. ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี เดินเข้ามาหาในห้องที่เรากำลังนั่งคุยกับเพื่อนๆ ทนายบอกว่า "คุณนัท มากอดหน่อย" และเมื่อเราลุกขึ้นกอด คุณวิญญัติก็พูดว่า

"ได้กลับบ้านแล้วนะ"

เราชาๆ ยังไม่รู้สึกใดๆ จนกระทั่งแม่เดินตัวเซร้องไห้เข้ามากอดนั่นล่ะ เราถึงได้ร้องไห้กอดกับแม่

เมื่อรู้ว่าได้ประกันตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ที่พามาศาลก็มีท่าทีที่ผ่อนปรนขึ้น เจ้าหน้าที่ผู้คุมชายเข้ามานั่งคุย เจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาแสดงความยินดีพร้อมบอกว่า ช่วยลุ้นทุกครั้งที่เรายื่นประกัน

วันนั้นเจ้าหน้าที่ได้รับโทรศัพท์เร่งให้รีบนำตัวทั้งเราและปอนด์กลับเรือนจำโดยเร็ว เพื่อที่จะได้รีบปล่อยตัว เรารับรู้จากเจ้าหน้าที่แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรีบ

เมื่อถึงเรือนจำ เพื่อนๆรอเราราวกับรับรู้ข่าวดีกันแล้ว ต่างเดินเข้ากอดร้องไห้กันระงม หลายคนถาม "พี่นัทจะลืมหนูมั้ย"

ผู้ช่วยงานพาเราไปอาบน้ำ ส่วนข้าวของในล้อคเกอร์เราถูกรื้อออกมาเตรียมใส่ถุงไว้ให้หมดแล้ว แต่เราไม่เอาอะไรออกมาทั้งสิ้น ฝากไว้ให้แม่อำไพที่นอนติดกันจัดการส่งต่อให้ผู้ที่ขาดแคลนต่อไป

ก่อนจากลา ด้วยความเชื่อว่า ให้นำผมของผู้ต้องขังที่ยังติดอยู่ผูกติดกับผมของคนที่ได้รับอิสรภาพออกมา เราจึงถูกกุ้มรุมเอาผมมาผูกกันหลายคนทีเดียว

และอีกภารกิจของเราคือ ให้จำชื่อเพื่อนไว้ให้มากที่สุด เมื่อเดินออกจากเรือนจำ ห้ามหันหลังกลับ และให้พูดชื่อเพื่อนๆออกมา ราวกับว่า จะเรียกให้พวกเค้าตามออกมาในเร็ววัน

เราออกมาราวๆ 5 โมงเย็น ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติของระเบียบการปล่อยตัวที่มักจะได้ออกมาก็ค่ำมืดแล้ว มารับทราบทีหลังว่า ทางเรือนจำต้องการปล่อยหนีสื่อและผู้มาตัอนรับ ไม่ต้องการให้มีภาพคนมารอรับมากมายออกหน้าสื่อ

แต่กระนั้นก็มีเพื่อนๆพี่ๆที่น่ารักมากมายมารอให้กำลังใจ

ก่อนหน้านั้นเพียงสองวัน เรามาทราบจากการอ่านข่าวย้อนหลังว่า มีการปล่อยตัวน้องๆนักศึกษา 6 คน และมีสื่อมารอทำข่าวมาก จนกระทั่งทางเรือนจำต้องนำรถน้ำคันใหญ่ๆมาจอดบังป้ายเรือนจำ

นี่กระมังที่ทำให้เราได้ออกมาเร็วผิดปกติ แต่ก็ถือว่าเป็นผลดีที่ไม่ต้องผ่านระเบียบจุกจิกมากมายกว่าจะได้ออกมา ดังเช่นที่เพื่อผู้ต้องขังคนอื่นๆต้องประสพ

#วันแห่งอิสรภาพ #8กรกฏาคม2559 #วันปล่อยตัว #ประสบการณ์ในเรือนจำ

 

1 ตุลาคม 2560

คุณอาจจะคิดว่า "คุก" หรือ "เรือนจำ" ไม่ใช่สถานที่ที่คุณจะมีโอกาสเข้าไปเหยียบย่างได้หรอก เพราะคุณเป็นคนดี มีการศึกษา เกิดมาในครอบครัวที่ดี ถือศีลครบ 5 ข้อ และที่สำคัญ ไม่เคยทำอะไรที่ผิดกฎหมาย

แต่ชีวิตคนไม่มีอะไรการันตีได้ เช่นเรา ที่มีพ่อเป็นตำรวจ แต่ตัวเองกลับมีโอกาสตีตั๋ว VIP เข้าไปเที่ยวนรกบนดินถึงสองเดือนกว่า

เรื่องราวต่างๆของเรา หลายคนคงได้อ่านและรับทราบกันไปพอควรแล้ว วันนี้เราจะขอเล่าเรื่องการเตรียมตัวเพื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังนะคะ

เนื่องจากในระยะแรกของการสู้คดีของผู้ต้องขัง ยังต้องมีการเดินทางไปศาลตามกำหนดวันนัดของศาล ดังนั้นโอกาสที่ญาติมิตรจะสามารถพบผู้ต้องขังได้ จึงมีทั้งที่เรือนจำและศาล

ระเบียบการเข้าเยี่ยมของเรือนจำ เคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า จะต้องเป็นบุคคลที่ถูกระบุชื่อไว้ใน 10 รายชื่อที่ผู้ต้องขังให้ไว้เท่านั้น แต่หากมีความประสงค์จะเยี่ยมโดยท่านไม่มีรายชื่อ ก็สามารถถ่ายเอกสารบัตรประจำตัวประชาชน ยื่นความจำนงเข้าไปได้ แต่จะสามารถเยี่ยมได้เลยหรือไม่ ไม่มีใครรับประกันได้ค่ะ

ส่วนการเยี่ยมของศาลทหารกรุงเทพฯ จะขึ้นกับวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังไปศาล โดยปกติจะอนุญาตให้เยี่ยมได้ครั้งละ 5 คน เข้าไปได้ทีละคน หรือทีละกลุ่ม โดยต้องลงชื่อและยื่นสำเนาบัตรประชาชนเช่นกัน

การเยี่ยมระหว่างไปศาลของผู้ต้องขังหญิงที่ศาลทหารกรุงเทพฯนั้น เจ้าหน้าที่จะนำผู้ต้องขังมานั่งที่ห้องพักทนาย ต่างจากผู้ต้องขังชายที่จะถูกนำไปไว้ที่คุกใต้ศาล ดังนั้นวันที่ไปศาล จะเป็นวันที่เราได้ใกล้ชิดแม่ และเพื่อนที่สุด

เจ้าหน้าที่จะถามความเห็นเราก่อนว่าจะให้ใครเข้าเยี่ยมบ้าง และผู้เยี่ยมจะถูกห้ามนำโทรศัพท์มือถือออกมา เนื่องจากกลัวการถ่ายภาพ และยังห้ามนำน้ำหรืออาหารมาให้อีกด้วย

และส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะกีดกันสื่อ และเคยขอร้องเราไม่ให้เล่าให้สื่อฟังถึงเรื่องราวในเรือนจำ

อีกเรื่องที่ทุกคนควรเตรียมตัวและเตรียมใจก่อนการเข้าเยี่ยม ไม่ว่าจะที่ศาลหรือเรือนจำ ก็คือ ผู้เข้าเยี่ยมไม่ควรเป็นฝ่ายรัองไห้ หรือฟูมฟายซะเอง

อย่าลืมว่า เวลาเพียง 20 นาทีที่ท่านร้องไห้ฟูมฟายนั้น เดี๋ยวท่านก็ออกมาสู่โลกกว้างและลืมไปสิ้นว่าวันนี้ไปไหนมา

แต่กับผู้ต้องขัง จะแบกความฟูมฟายของท่านกลับเข้าไปในเรือนจำ พร้อมความเศร้าหมองและจิตตกไปอีกจนกว่าจะมีผู้มาเยี่ยมใหม่

สิ่งที่นักโทษทุกคนอยากได้ยิน คือ เรื่องราวการอัพเดทชีวิตของคนที่รัก ข่าวสารบ้านเมือง หรือหนทางการสู้คดี หรือเรื่องราวที่ทำให้ยิ้มได้

วันนึงมีน้องคนนึงไปเยี่ยมเราที่เรือนจำ ด้วยท่าทีร่าเริง ระหว่างบทสนทนาที่กำลังสนุก น้องก็บอกว่า "ผมกำลังหางานนะ เดี๋ยวจะมาทำใกล้ๆแถวนี้ จะได้มาเยี่ยมพี่ได้บ่อยๆ"

ดูดี มีความเป็นห่วง แต่เราฟังแล้วจิตตกไปค่อนวัน นี่แสดงว่า เราต้องติดที่นี่อีกนานเลยเหรอ เราไม่มีหวังแล้วเหรอ

หรือเหมือนคราวเพื่อนสนิทเรามาเยี่ยมและบอกว่า "แกไม่ต้องห่วงอะไรนะ ชั้นจะหาเงินไว้เยอะๆ เดี๋ยวแกออกมา ชั้นจะดุแลเอง" เราคิดเลยว่า เพื่อนหมดหวังที่จะเห็นอิสรภาพของเรา และเราเองตอนนั้น แทบเกือบฆ่าตัวตาย

บางคำพูดเต็มไปด้วยความหวังดี บางคำพูดเต็มไปด้วยกำลังใจ หากแต่มันแฝงไปด้วยความสิ้นหวัง มันเหมือนยาพิษที่สามารถสังหารผู้ต้องขังให้ตายได้ทั้งเป็น

คำพูดที่ชื่นใจที่สุดจากเพื่อนรักในยามนั้นคือ "อดทนนะ เพื่อนๆทุกคนรอแกออกมา แล้วแกจะรู้ว่าเพื่อนรักแกแค่ไหน"

#ชีวิตในเรือนจำ #การเตรียมตัวก่อนเข้าเยี่ยม #ความหวังและกำลังใจของคนมาเยี่ยม

 

29 กันยายน 2560

นอกจากแหวนที่อยู่แดนแรกรับด้วยกันแล้ว เราก็ไม่ได้สนิทกับนักโทษการเมืองคนไหนอีก แต่มีอีกคนนึง ที่จะไม่พูดถึงเลย ก็ดูจะขาดรสชาติการใช้ชีวิตในคอนแวนต์ลาดยาวไปหน่อย

วันนึงขณะต่อแถวรอเยี่ยมญาติ เราได้ยินเสียงกระซิบกระซาบทางด้านหลัง พูดถึงการมีนักโทษการเมืองหน้าใหม่เข้ามา ไม่แน่ใจเรื่องคดี เป็นใครยังไงบ้างไม่รู้จัก แต่ฟังชัดๆแล้ว พูดถึงเราแน่นอน

เราแอบหันหลังไปมอง พบเด็กผู้หญิงหน้าทะเล้นตัวเล็กๆ ที่มีป้ายชื่อเขียนว่า "นญ.ภรทิพย์ มั่นคง"

เมื่อได้หมายเลขห้องเยี่ยมแล้ว และสองสาวที่กระซิบกันแยกกันแล้ว เราเดินไปหา "กอล์ฟ" และก้มลงกระซิบบอกว่า "ที่พูดถึงเมื่อกี้น่ะ พี่เอง"

เราจำกอล์ฟได้จากข่าวการเมืองหลังช่วงรัฐประหาร ยังเห็นใจในชะตากรรมของน้องตลอดมา และไม่เคยคิดมาก่อนว่า ชะตากรรมของเราจะมาบรรจบกันในทัณฑสถานหญิงกลางแห่งนี้ ด้วยคดีเดียวกัน

วันนั้นเราไม่ได้คุยไรกันมาก และคาดว่ากอล์ฟก็จำไรเราไม่ได้ หลังจากนั้นเราก็ได้ยินชื่อกอล์ฟเยี่ยมญาติในรอบแรกๆของเกือบทุกวัน จนกระทั่งวันที่แม่เราเปลี่ยนเวลาเยี่ยมเราเร็วขึ้นกว่าปกติ

เราเดินออกมาเยี่ยมญาติด้วยหมายเลขเบอร์ห้องเยี่ยมติดกับกอล์ฟ แต่เหมือนกอล์ฟจะจำเราไม่ได้ เราจึงไม่ได้ทักอะไร ขณะทักทายกับแม่ เราเห็นป๊อก ทนายหนุ่มหล่อจากศูนย์ทนายฯเดินขึ้นมา ป๊อกและเราเจอกันหลายครั้งในศาลทหารหลังจากเราต้องคดี ป๊อกหันมาไหว้ทั้งเราและแม่ และเราเพิ่งได้รู้ว่า ป๊อกคือแฟนกอล์ฟที่มาเยี่ยมบ่อยๆนี่เอง

หลังเยี่ยมญาติเสร็จ เราเดินคุยกันมาระหว่างทางเดินกลับแดนแรกรับ เราคุยให้กอล์ฟฟังว่า เรากำลังพยายามประกันตัว กอล์ฟยังปลอบใจเราว่า "คดีนี้จะประกันได้เหรอพี่" ฮ่าฮ่า

กอล์ฟเดินมาส่งจนสุดทางของแดนนอก พร้อมบอกว่า ไว้คุยกันใหม่ เดี๋ยวมีอะไรกอล์ฟจะฝากเข้าไป นั่นหมายถึง กอล์ฟจะฝากจดหมายซ่อนเข้าไป หรือส่งข่าวผ่านคนในแดนแรกรับเข้าไป ซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องผิดระเบียบในเรือนจำของการติดต่อกันข้ามแดน เรารีบบอกว่า "ไม่ต้องเลย"

หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้คุยกันอีก เพียงได้ยินชื่อประกาศเยี่ยมญาติบ้าง เห็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆในชุดนักโทษสีฟ้าที่ผูกโบว์อันใหญ่ๆแสดงความเก๋าพอตัวในเรือนจำบ้าง

แต่ในแดนแรกรับ หลายคนรู้จักกอล์ฟดี เมื่อเราเอ่ยถึง

"อ๋อ กอล์ฟที่แฟนมาเยี่ยมบ่อยๆนะพี่ แฟนหล่อมว๊ากกกอ่ะ"
"เคยไปศาลด้วยกัน งงเลย นักข่าวมารอเพียบ เลยรู้ว่าดัง"
"ออ กอล์ฟนิสัยดีพี่ ภาษาอังกฤษก็เก่ง"
"น้องเค้ามองโลกบวกมากเลยพี่ กอล์ฟบอกว่า การติดคุกครั้งนี้ สร้างโอกาสดีๆให้กอล์ฟ ให้ได้เรียนรู้ที่นี่ ให้มีคนรู้จัก ให้กอล์ฟสามารถสานต่อสิ่งที่อยากทำได้"

สรุปว่า นางป๊อปปูล่าพอสมควรทีเดียว

เราได้ประกันตัวออกมาก่อน และในอีกเดือนถัดมาเราก็ได้ยินข่าวดีเรื่องอภัยโทษ และกอล์ฟได้รับอิสรภาพก่อนกำหนดพร้อมนักโทษการเมืองอีกหลายคน

เราไม่ได้ไปรับ บอกตามตรงว่าตอนนั้นมีอาการกลัวคุก ไม่กล้ากลับไปเหยียบอีก แต่ก็แอบแสดงความยินดี และไปแอดเพื่อนในเฟสบุ๊คทันทีที่เห็น

กอล์ฟได้อิสรภาพออกมา แต่ยังเดินหน้าทำเรื่องช่วยเหลือนักโทษหญิงในเรือนจำ ด้วยเหตุผลสั้นๆว่า "อยู่ด้วยกันมา ทิ้งกันไม่ได้หรอก"

ทั้งโปรเจกต์ขอรับบริจาคลิปสติกให้นักโทษหญิง ที่เราแอบรวบรวมแล้วเอาไปวางเงียบๆให้ใต้คอนโดกอล์ฟ และล่าสุดกับโครงการขอรับบริจาคเงินเพื่อจัดซื้อของจำเป็นให้เรือนจำหญิง จ.ตราด

ใครสนใจอยากช่วยสนับสนุนโครงการของกอล์ฟ แอดไปตามแทกเลยนะคะ เราเชื่อว่า น้องยังมีโครงการดีๆให้เราร่วมบุญกันอีกเรื่อยๆแน่นอน

#เรื่องราวในเรือนจำหญิง #ทัณฑสถานหญิงกลาง #เจ้าสาวหมาป่า

 

27 กันยายน 2560

#ผู้คุมฝ่ายธรรมะ

เล่าเรื่องตัวเจ็บไปหลายตอน เพื่อความยุติธรรมขอเล่าเรื่องเจ้าหน้าที่ดีๆในเรือนจำบ้าง

ตอนเราเข้าไปนั้น ฝ่ายปกครองแดนแรกรับดูแลโดย "คุณอ้อ" เจ้าหน้าที่สาวรูปร่างบาง ท่าทางห้าว และเราก็ต้องอยู่ในความดูแลของคุณอ้อโดยอัตโนมัติ

ภายใต้ฝ่ายปกครองแดนแรกรับ มีผู้ช่วยงานคือเหล่านักโทษชั้นเยี่ยมประมาณ 10 คน ที่เรียกง่ายๆว่าเป็นเด็กคุณอ้อ สิ่งที่เราได้ยินในครั้งแรกๆที่รู้จักพวกเค้าคือ

"พี่โชคดีมากเลยนะที่อยู่ใต้การดูแลของคุณอ้อ อยู่ไปพี่ก็จะรู้เอง"

วันนึงหลังเราถูกอายัดตัวและส่งกลับเข้าเรือนจำในคดี 112 เรามีอาการเครียด นอนไม่หลับ และหน้ามืด น้องในส่วนพยาบาลก็ไปแจ้งคุณอ้อ เธอเดินเข้ามาถามไถ่ และพูดคุย พร้อมบอกว่า ให้เราไปช่วยงานตรงโต๊ะญาติแดนแรกรับ มีอะไรทำเผื่อจะเครียดน้อยลง

เรามารู้ทีหลังจากนักโทษการเมืองคนอื่นว่า ได้มาทำงานนั่งโต๊ะตรงนี้ เรียกว่า หรูหราไฮโซทีเดียวในแดนแรกรับ

ระยะเวลา 71 วัน เรารับรู้ได้ว่า คุณอ้อเป็นผู้หญิงไม่จุกจิก มีเหตุผล ไม่วีน ไม่เหวี่ยง ไม่เอาแต่ใจ ทุกอย่างตั้งบนหลักการและมีความยุติธรรมให้นักโทษเสมอ

วันสุดท้ายในเรือนจำ เราถูกปล่อยตัวตอนคุณอ้อออกเวรแล้ว เราคิดเสียดายที่ไม่ได้ลาเธอ แต่เมื่อเราเดินออกมาก่อนจะพ้นประตูเรือนจำ เราหันไปทางบ้านพักเจ้าหน้าที่ เราพบคุณอ้อกำลังยืนทำธุระข้างๆรถ เราเดินไปหา เธอทักว่า "มีคนมารับมั้ย" พร้อมอาสาจะออกไปส่ง พอเราแจ้งว่าแม่มารับ แต่ยังไม่เจอกัน เธอก็ใจดีให้ยืมโทรศัพท์โทรหาแม่

ยังมีฝ่ายธรรมะอีกหลายคนในเรือนจำ คนเหล่านี้เรียกได้ว่า คือนางฟ้าดีๆนี่เอง นางฟ้าที่ให้กำลังใจคนตกทุกข์ได้ยากโดยแท้

ทั้งป๋าทอมผู้ใจดีและตลก ทั้งคุณที่ตรวจร่างกายเราตอนไปศาลแล้วอวยพรขอให้ได้ประกัน ทั้งคุณผู้ดูแลเรือนนอนที่ช่วยทำเรื่องให้เราได้เยี่ยมสองรอบในวันแรก

รวมถึงคุณๆที่พาไปศาลแล้วอนุญาตให้แม่เข้ามานั่งอยู่ด้วยจนแยกกัน คุณที่เอาข้าวมาให้ทานแทนข้าวโรงอาหารในวันแรกๆ แม่ที่เรียกเข้าไปคุยและสำทับมาว่ามีอะไรให้มาหา

ในวันสุดท้ายที่เรากลับเรือนจำพร้อมข่าวดีเรื่องการได้รับการประกันตัว เราเดินกลับเข้าประตูพร้อมการตรวจร่างกายจากเจ้าหน้าที่ที่ทุกคนเรียกว่า "แม่" คนนึง เธอถามตามระเบียบว่า วันนี้ไปศาลทำอะไร เราตอบว่า "ไปประกันตัวค่ะ" เธอถามว่า "ได้มั้ย" เราตอบว่า "ได้ค่ะ"

เธอถอนหายใจเฮือกใหญ่ และบอกว่า "ยินดีด้วยนะ เธอไม่ใช่อะไรที่ต้องมาอยู่ในนี้"

คำพูดให้กำลังใจเล็กๆน้อยๆจากเจ้าหน้าที่ที่ดูสูงส่งด้วยตำแหน่งและเครื่องแบบในเรือนจำ บางทีมันเหมือนน้ำอมฤตที่รดลงมาบนต้นไม้ที่แห้งผาก มันต่อชีวิต เสริมพลังใจให้คนคุกที่แสนลำบากได้มากทีเดียวนะ

#บันทึกในเรือนจำ #เจ้าหน้าที่ผู้คุมหญิง #ทัณฑสถานหญิงกลาง

 

26 กันยายน 2560

#บันทึกความทรงจำ

8 กรกฎาคม 2559 คือวันที่เราได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังถูกกักขังรวมแล้ว 71 วัน

หลังการเลี้ยงฉลอง เราก็กลับไปนอนยังที่นอนหลังเดิม

ในห้วงคำนึง คืนนี้จะเป็นคืนแรกในรอบ 71 วันที่ได้นอนปิดไฟและกอดแม่

หลายคนทักว่า สามารถนอนปิดไฟได้มั้ย ชินกับการนอนเปิดไฟจากในเรือนจำมาหรือเปล่า

เราตอบเลยว่า เราสามารถกลับมานอนมืดๆได้แบบไม่ต้องปรับตัวใดๆเลย เพราะโดยนิสัย เราติดการนอนมืดๆและเงียบๆ

ผ่านไปราว 1 อาทิตย์ ในเย็นวันนึงที่เราเผลอหลับที่โซฟาบ้าน และเปิดไฟอยู่

เราฝันร้าย!!!

ในฝันนั้น วนเวียนด้วยภาพในคุก เหมือนเราตะเกียกตะกายจะตื่น และบอกตัวเองตลอดว่า ไม่นะ เราออกจากคุกมาแล้ว เราอยู่บ้านแล้ว

เราตกใจตื่น และคำแรกที่ตะโกนออกมาคือ "แม่"

เราเป็นแบบนี้อีก 2-3 ครั้ง จนมั่นใจแล้วว่า เหตุมาจากการเผลอหลับไป โดยที่ไฟยังเปิดอยู่

ในตอนที่ออกจากเรือนจำ มีแต่คนห่วงว่า ต้องนอนเปิดไฟเพื่อให้ชินซักระยะ จากการนอนในคุก

แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว กลับเป็นการกระตุ้นเตือนถึงเหตุการณ์ร้ายที่ยังฝังลึกในจิตใต้สำนึกของเรา

เราดูเหมือนปกติ ไม่บุบสลายจากคุก

แต่ที่จริง มันมีความกลัว ความกังวล ที่ค้างออกมาในใจอีกมากมาย

เราตระหนักทันทีว่า เรามีอาการกลัวคุก และกลัวอย่างจับจิต

และไม่ใช่แค่เหตุผลของความทรงจำที่ตกค้าง ที่ทำให้เรากลัว

มันยังมีเหตุผลประกอบอีกมากมาย ที่ไว้จะเล่าให้ฟังกันต่อไปค่ะ

#อาการกลัวคุก #ฝังใจ

 

26 ก.ย.2560

มาต่อกันด้วยเรื่องผู้คุมตัวเจ็บในเรือนจำหญิง

เมื่อถึงกำหนดพ้นโทษ นักโทษทุกคนจะต้องรายงานตัวพร้อมสิ่งของที่ต้องการจะนำออก บางคนเชื่อโชคลาง จะไม่นำไรออกไปเลย ในขณะที่บางคนสะสมของไว้มากมายเพื่อเอากลับไปให้ครอบครัว

วันนึงมีนักโทษหญิงคนนึงมารายงานตัวพ้นโทษพร้อมของใช้มากมาย เช่น ผ้าขนหนูลายการ์ตูนใหม่เอี่ยม น้ำหอม(ราคาถูกที่นักโทษนิยมฉีดเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม) แป้งเด็ก เธอแจ้งว่ารับจ้างนวดแลกกับสิ่งของที่สะสมไว้เพื่อให้ลูก "เราไม่มีอะไรไปฝากลูก มีแค่นี้แหล่ะ" เมื่อผู้ช่วยงานตรวจแล้วก็ส่งตัวออกไปยังฝ่ายปกครองแดนนอก เพื่อเข้าขั้นตอนต่อไป

มารู้อีกทีวันรุ่งขึ้นว่า สิ่งของที่นักโทษคนนั้นขอนำออก โดนเจ้าหน้าที่ตัวเจ็บยึดไว้หมด ไม่ว่าจะร้องไห้ขอร้องยังไงก็ไม่เห็นใจ อ้างแต่ว่าการรับจ้างทำงานในเรือนจำเป็นสิ่งที่ผิดระเบียบ

--------

ในวันเสาร์อาทิตย์ของหลายคน คงจะเป็นวันหยุดพักผ่อนหย่อนใจ แต่เสาร์อาทิตย์ในคุก จะเต็มไปด้วยแรงกดดัน เนื่องจากเป็นวันที่ไม่มีการเข้าเยี่ยมของทั้งญาติและทนาย นักโทษทุกคนจึงต้องนั่งประจำที่ ห้ามลุกไปไหน

หากเสาร์อาทิตย์ไหนเป็นเวรของเจ้าหน้าที่ตัวเจ็บแล้วล่ะก็ อย่าหวังว่าจะทำอะไรได้อย่างอิสระ แม้แต่เข้าห้องน้ำ

คุณเคยเห็นคนต่อคิวเข้าห้องน้ำแถวยาวเหยียดในคุกมั้ย ห้องน้ำที่เปิดโล่งเป็นแถวๆนับสิบห้อง แต่มีคนรอเข้าแถวเพื่อทำธุระ เพียงเพราะเจ้าหน้าที่กำหนดเวลาเข้าห้องน้ำ

ไม่ใช่ว่า คุณปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำตอนไหนก็ได้ คุณต้องรอให้เจ้าหน้าที่กำหนดเวลาก่อน คุณถึงสามารถจัดการธุระส่วนตัวได้

--------

อีกเรื่องเราเจอกับตัว เมื่อนั่งอยู่ในเช้าวันนึง มีเจ้าหน้าที่หญิงดูแล้วอายุไม่เกิน 30 ปี เดินมาเห็นเรานั่งคนเดียว นางก็เอ่ยปากถามคำถามที่ชวนตกใจว่า

"มาติดคุกเนี่ย ด่าในหลวงมาเหรอ" เราช๊อค แต่ก็ตอบนางกลับไปว่า "เปล่าค่ะ คดีมีรายละเอียดมาก แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับในหลวง"

นางไม่ละความพยายาม ถามอีกว่า "ทำไมต้องเป็นเสื้อแดง" "แล้วทำไมเสื้อแดงต้องด่าในหลวง"

เราเริ่มหมดความอดทน ตอบนางกลับไปเสียงแข็งว่า "คุณไม่ควรเหมารวมทุกอย่าง ถ้าเราบอกคุณว่า นักโทษเป็นพวกไม่มีมารยาท นั่นหมายถึงคนที่อยู่นอกคุก คือคนมีมารยาททั้งหมดหรือเปล่าคะ"

และโดยไม่รอคำตอบ เรายิงคำถามกลับไปอีกว่า "คุณว่าประเทศนี้ ทางการเมืองแล้วใครใหญ่สุด" ซึ่งนางก็ตอบมาด้วยความฉับไวว่า "ในหลวงสิ"

เราเลยได้โอกาสสวนกลับไปยาวๆว่า "ในหลวงท่านอยู่เหนือทุกสิ่ง ทำไมคุณต้องดึงท่านลงมาเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ถ้าทางการเมือง ทำไมคุณไม่มองว่า ประชาชนควรใหญ่ที่สุดบ้างล่ะ"

นางเริ่มเฉไฉ ก่อนเปรยออกมาว่า "ทหารปกครองก็สงบดีแล้วนี่"

เราเลิกตอบ เพราะเชื่อได้ว่า คำตอบของเราไม่ใช่สิ่งที่นางต้องการ นางเพียงต้องการปั่นประสาทเราแค่นั้น

ความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องของปัจเจก และในคุกก็เช่นกัน เราจะพบเจอนักโทษแดง ผู้คุมเหลือง ได้พอๆกับนักโทษเหลืองและผู้คุมแดง

และความเมตตา ปราณี รวมถึงน้ำใจไมตรี ก็ล้วนเป็นเรื่องเฉพาะตัวเช่นกัน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกีฬาสีนอกคุกเลย

เล่าฝ่ายอธรรมไปเยอะแล้ว คราวหน้าจะขอเล่าต่อกับผู้คุมฝ่ายธรรมะกันบ้าง

#ผู้คุมตัวเจ็บ #ทัณฑสถานหญิงกลาง #เรือนจำหญิง

 

25 กันยายน 2560

ตอนที่ได้รับอิสรภาพใหม่ๆ คำถามยอดฮิตที่ถูกถามบ่อยๆคือ "ผู้คุมหญิงโหดจริงมั้ย" "ผู้คุมร้ายๆมีแบบไหน" และ"เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นยังไงบ้าง"

เรามักจะตอบไปว่า ขึ้นอยู่กับคนนะ คนดีก็มี คนร้ายก็เยอะ เหมารวมไม่ได้หรอก

แต่คนร้ายๆ ก็ถูกจัดอันดับและกาหัวโดยนักโทษไว้แล้วทั้งนั้น หนึ่งในนั่นคือ "นังแม่มด"

ในบ่ายวันนึงก่อนจะเข้าห้องขัง น้องผู้ช่วยงานคนนึงก็ได้บอกเราว่า พรุ่งนี้พี่นัทนั่งเฉยๆเลยนะ ห้ามเดินเพ่นพ่าน ห้ามทำไรเลยนะ

เรางง เลยถามไปว่าทำไม นางตอบกลับมาว่า พรุ่งนี้คือเวรของ "นังแม่มด"

"นังแม่มด" เป็นเจ้าหน้าที่ผู้คุมสาวใหญ่ โสด ปากจัด นางสามารถหาเรื่องด่าและลงโทษได้ตลอดเวลา และจากคำบอกเล่า นางมักจะโอ้อวดว่าชอบเข้าวัดและทำบุญบ่อย แต่กับนักโทษแล้ว นางจะไร้คำว่า "เมตตา"

อย่างที่เคยเล่าๆไปก่อนหน้าว่า ด้วยความเป็นนักโทษการเมือง ที่สร้างความเกร็งให้เจ้าหน้าที่ เราจึงถูกเรียกให้นั่งแยกออกจากนักโทษคนอื่นๆภายใต้อาคารฝ่ายปกครอง นั่งกับพื้นใกล้ๆเจ้าหน้าที่เวร

เช้าวันที่เราได้สบตากับ "นังแม่มด" ก็มาถึง นางเดินมาดขรึมมานั่งเก้าอี้ประจำของเจ้าหน้าที่เวร นางปรายตามองเราแว๊บนึงเหมือนรู้ดีอยู่แล้วว่า เหตุใดเราจึงต้องมานั่งตรงนี้ และในวันนั้นเรามีหน้าที่เพียงเป็น "อากาศธาตุ" ในสายตานาง

แต่ตรงกันข้ามกับคนอื่น นางจิกเรียกผู้ช่วยงานมาจัดระเบียบ ด่า ลงโทษ นางจิกด่านักโทษที่นั่งรุกล้ำเข้าไปบริเวณต้นไม้ นางบ่นยันเรื่องการใช้น้ำไฟของนักโทษ นางสามารถพูด พ่นจนหมดเวรวันนั้นของนาง

เรายินดีมากที่สามารถแปลงร่างเป็น "อากาศธาตุ" สำเร็จ เพราะนั่นทำให้เรา "รอด"

แต่แล้ววันนึงโชคด็ไม่เป็นใจ เมื่อก่อนหน้าจะถึงเวรนังแม่มดหนึ่งวัน เรากับแจน น้องผู้ช่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรา ได้ไปจดยอดข้าวพร้อมกัน และวันนั้นร้านค้าได้นำกางเกงในลายสวยมาขาย ด้วยระเบียบที่จำกัดสิทธิการซื้อกางเกงในได้แค่ 1 ตัวต่อ 1 คน แจนจึงขอให้เราซื้อให้แลกกับที่แจนซื้อข้าวให้เรา

ตามระเบียบการซื้อข้าวกินในเรือนจำ นักโทษต้องจดยอดข้าวล่วงหน้า 1 วัน โดยไปจ่ายเงินแล้วเก็บใบเสร็จไว้ นำมาแลกข้าวกินในวันถัดมา

ดังนั้นใบจดยอดข้าวของเราจึงเป็นชื่อแจน และด้วยเหตุผลใดเราก็จำไม่ได้ เราดันเอาใบจดยอดวันนั้นฝากไว้กับเพื่อนนักโทษอีกคน

วันรุ่งขึ้นขณะที่เรากำลังแปลงร่างเป็น "อากาศธาตุ" อยู่ข้างนังแม่มด เพื่อนที่เราฝากใบจดยอดเอาไว้ ก็เดินมายื่นให้เรา และเพียงเราคืบตัวไปรับใบนั้น นังแม่มดก็ตวัดสายตามาหาเรา และถามทันทีว่า "ทำอะไรกัน"

เราตอบกลับด้วยน้ำเสียงเรียบๆว่า "ใบจดยอดข้าวค่ะ ลืมไว้ที่เพื่อน" และงานก็เข้าทันทีที่นางขอดูและเห็นว่าชือในใบจดยอดไม่ใช่ชื่อเรา

นางซักไซ้ที่มา พร้อมลงท้ายว่า "นี่เพิ่งมาอยู่แท้ๆ ร้ายนะเธอเนี่ย"

และเหมือนราดน้ำมันลงบนกองไฟ เมื่อเราดันตอบไปว่า "ไม่มีอะไรร้ายนี่คะ"

นางเกรี้ยวกราด และสั่งให้ผู้ช่วยงานไปตามตัวแจนมา เมื่อแจนคลานเข่าเข้ามา ก้มหน้าพูดอธิบายด้วยเสียงเบาๆแบบผิดวิสัย นังแม่มดก็ซักไซ้จนได้ความว่าที่ต้องซื้อข้าวให้เรา เพราะเราซื้อกางเกงในให้แจน

"จะเอากางเกงในไปทำไมสองตัวยะ หล่อนใส่ทีละสองตัวหรือไง"

แจนรับละล่ำละลักว่า "ซื้อไปฝากน้องอีกคนที่เค้าไม่มีเงิน"
"หนูขอโทษค่ะ หนูผิดไปแล้ว จะไม่ทำแบบนี้อีกแล้ว" พร้อมยกมือไหว้

ทั้งๆที่เรางง แต่ก็เห็น "นังแม่มด" ลดความเกรี้ยวกราดลงอย่างเห็นได้ชัด เปลี่ยนท่าทีเป็นสั่งสอน เทศนายาวเหยียด

"เธอสองคนต้องรู้จักประหยัดสิ กว่าพ่อแม่เธอจะหาเงินมาได้ลำบากแค่ไหน ไม่ต้องไปสงสารคนอื่น สงสารคนทำงานส่งเงินมาให้เธอใช้นี่" นางพูดเทศน์สั่งสอนราวกับพระโพธิสัตว์กำลังโปรดสัตว์

ขณะนั้นเราอึดอัดมาก คิดในใจว่า นี่เราต้องทนฟังคำเทศนาจากคนศีลต่ำแบบนี้จริงๆเหรอ

เมื่อนางอิ่มบุญแล้ว นางก็ปล่อยเราสองคนให้เป็นอิสระ เรารีบถามแจนทันทีว่า ทำไมต้องยอม ทำไมต้องขอโทษด้วย เราไม่ได้ทำไรเลวๆเลยนะ

แจนบอกว่า ต้องทน ต้องยอม ต้องกัดฟันไป ไม่งั้นนางจะจองเวรไม่เลิก และแจนอาจจะกระเด็นจากการเป็นผู้ช่วยงานได้ มีคนโดนมาแล้ว

ในความเป็นนักโทษ ไม่มีอะไรต่อกรได้เลยกับเจ้าหน้าที่ จะผิดจะถูกมีทางรอดเดียวคือ "ยอม" ส่วนลับหลังก็อีกเรื่อง

"พี่คิดเองแล้วกันนะว่า คนที่ถูกสาปแช่งจากคนมากมายอยู่ทุกๆวันน่ะ มันจะมีชีวืตที่มีความสุขได้อย่างไร" แจนทิ้งท้ายให้เราคิด

"แต่คนดีๆ เจ้าหน้าที่ที่เมตตา ให้ความยุติธรรมกับเรานะ เราก็สวดมนต์ไหว้พระขอให้เค้าเจริญๆนะพี่" แจนจบบทสนทนาในวันนั้นกับเรา

#ผู้คุมหญิง #เจ้าหน้าที่เรือนจำหญิง #ทัณฑสถานหญิงกลาง #อยากเขียนนานแล้วแต่ใจไม่เด็ดพอ #ไม่อยากให้กระทบถึงคนที่ยังอยู่ข้างใน #นังแม่มด

 

21 กันยายน 2559

"จดหมาย" นับเป็นสมบัติล้ำค่าของผู้ต้องขังในเรือนจำหญิง เพราะเสมือนเป็นสิ่งแทนใจที่บอกเล่าความรัก ความห่วงใยจากผู้ที่อยู่ในอีกโลกนอกกำแพงเรือนจำ

ในบรรดาผู้ต้องขังด้วยกัน เราค่อนข้างสนิทกับ "จอย" (นามสมมติ) นักโทษคดียาเสพติดผู้ถูกตัดสินจำคุก 25 ปี จอยจะช่วยเหลือและดูแลให้เราช่วยงานในส่วนโต๊ะญาติในแดนแรกรับ เพื่อให้เรามีอะไรทำระหว่างวัน จะได้ไม่เครียดเกินไป

จอยจะมีจดหมายปึกใหญ่อยู่ในลิ้นชักทำงาน เป็นจดหมายจากแฟนสาวหล่อที่ได้รับอิสรภาพไปจากการถูกยกฟ้อง ทุกเวลาที่ว่าง จอยจะหยิบจดหมายเหล่านั้นมาอ่านซ้ำไปซ้ำมา และหลายครั้งก็จะแบ่งปันให้เพื่อนๆนักโทษได้อ่านด้วย

หลายครั้งเธอจะอ่านพร้อมรอยยิ้มกริ่ม และหลายคราวที่จะมีน้ำตาไหลออกมา บางครั้งเธอจะเงยหน้าขึ้นถามเราว่า "พี่ว่าเค้ายังรักหนูมั้ย" "พี่ว่าเค้าลืมหนูหรือยัง" "พี่นัทอ่านตรงนี้สิ เค้าน่ารักเนอะ"

ความรักเป็นสิ่งสวยงามก็จริง แต่ความรักที่มีกำแพงและระยะทางขวางกั้น ก็บั่นทอนจิตใจได้อย่างเหลือเชื่อ

ด้วยระเบียบของเรือนจำ ที่ห้ามผู้ต้องขังที่ออกไปแล้วกลับมาเยี่ยมผู้ต้องขังที่ยังติดอยู่ "จดหมาย" จึงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวที่ใช้แทนใจคนสองคน

ทั้งนี้ในนักโทษหลายๆคน ก็ใช้จดหมายเพื่อติดต่อกับครอบครัวและญาติมิตรที่อยู่ไกล ไม่สะดวกมาเยี่ยมด้วยตัวเอง รวมไปถึงใช้เป็นสื่อรัก ติดต่อกับเพศตรงข้ามที่อาจจะสูญเสียอิสรภาพอยู่ในเรือนจำอื่นๆ

ระเบียบของที่นี่จะกำหนดวันส่งออกและรับเข้าจดหมาย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ นั่นหมายถึงผู้ต้องขังจะสามารถส่งออกจดหมายได้เพียง 1 วัน และรอรับจดหมายได้อีกเพียง 1 วันในแต่ละสัปดาห์

และแน่นอนว่า "จดหมาย" ทุกฉบับ ไม่ว่าจะเข้าหรือออก จะต้องถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ทุกครั้งไป

จดหมายออก จะถูกกำหนดจำนวนบรรทัดในการเขียนต่อหนึ่งฉบับ (ถ้าจำไม่ผิด 10 บรรทัดในหนึ่งฉบับ) และห้ามเขียนเล่าเรื่องราวความลำบาก ห้ามมีคำว่า "ลำบาก" "เหนื่อย" หรืออะไรก็ตามที่สื่อถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ในเรือนจำ

ส่วนจดหมายขาเข้าที่ถูกส่งมาจากญาติมิตร ก็จะต้องไม่เป็นข้อความที่ปลุกระดม ลามกอนาจาร หรือเรื่องราวการเมือง

ระยะเวลาในการตรวจสอบจดหมายจากเจ้าหน้าที่จนกว่าจะถูกส่งออกหรือถึงมือผู้ต้องขัง แต่ละครั้งใช้เวลาร่วม 1 เดือน

นั่นคือหากญาติเขียนจดหมายเข้ามา กว่าจะได้อ่านกันก็ต้องผ่านไปน้อยๆก็ 1 เดือนขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีระเบียบเรื่องจดหมายออกอีกว่า ผู้ต้องขังจะสามารถส่งจดหมายออกได้เฉพาะผู้ที่มีรายชื่อพร้อมที่อยู่ที่แจ้งไว้แค่ 10 คนเท่านั้น และหากต้องการเพิ่มชื่อหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อ ก็ต้องใช้เวลาเขียนคำร้องอีกนานร่วมเดือน

ดังนั้น แม้จดหมายจะมีค่ามากและดูจะเป็นหนทางเดียวที่ใช้ติดต่อ แต่กว่าจะเขียนติดต่อกันได้ ก็ไม่ง่ายนัก

อีกทั้งกฎที่เพิ่งถูกกำหนดไม่นานนี้คือ ห้ามส่งรูปใดๆทั้งสิ้นเข้าไปพร้อมจดหมาย ซึ่งสร้างความไม่พอใจและอึดอัดใจอย่างมากแก่นักโทษหญิงในเรือนจำ

การถูกจำกัดอิสรภาพ ต้องใช้กำลังใจจากคนข้างนอกเท่านั้นเป็นน้ำอำมฤตหล่อเลี้ยงความหวัง แต่การต้องถูกจำกัดแม้กระทั่งจดหมาย จึงนับว่าเป็นเรื่องโหดร้ายและไร้ความเมตตามากเกินไปจริงๆ

#เรื่องราวในเรือนจำ #จดหมาย

 

7 กันยายน 2559

"ของหายและเป็นเหา เป็นเรื่องธรรมชาติในเรือนจำ"

ใครก็ตามที่เคยผ่านการใช้ชีวิตในเรือนจำ จะรู้ดีว่าต้องทำใจกับสองเรื่องนี้

เรื่องของหายที่เกิดกับเราถือว่าเล็กน้อย เพราะของเราแค่ถูกขโมยรองเท้าแตะไปแค่ 4 คู่แค่นั้นเอง และลงเอยด้วยการเดินเท้าเปล่าซะเลย

ในวันแรกๆที่เข้าไป เราก็ได้ล็อคเกอร์ประจำตัวไว้เก็บของใช้เรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยเหตุว่ายุ่งจากการเข้าออกเพื่อเยี่ยมญาติและพบทนาย จึงยังไม่มีเวลาหากุญแจมาล๊อค ผลคือ มีผู้หวังดีนำกุญแจมาล๊อคให้เรียบร้อย พร้อมกับตั้งใจจะยึดของใช้เราทั้งหมดในตู้เป็นของตนเอง สุดท้ายพี่เลี้ยงก็ช่วยตัดกุญแจและหาล๊อคมาจัดการให้

ในเวลาอาบน้ำ ทั่วไปจะใส่ของใช้พวกครีมอาบน้ำ แชมพู ยาสีฟัน และของจำเป็นอื่นๆในตะกร้าเล็กๆ เพื่อสะดวกในการหิ้วเข้าบัวอาบน้ำ แต่บางคนเผชิญกับมือดีที่หิ้วของๆเราหายไปทั้งตะกร้าในเวลาสระผมหรือเพลินกับการอาบน้ำ บางคนใช้วิธีสระผมไป แต่ใช้นิ้วเท้าเกี่ยวตะกร้าไว้กันหายก็มี

สิ่งของยอดฮิตที่ถูกขโมยมากที่สุด หนีไม่พ้น "ชุดนอน" เพราะนับว่ามีความต้องการและมีมูลค่าสูง ไม่ใยที่หลายคนเพียรอุตส่าห์เขียนชื่อ นามสกุล ห้องนอน หน่วยงานไว้ซะรอบตัว

ด้วยว่าชุดนอนจะมีขายเป็นรอบๆ และขาดการนำมาขายเป็นเวลานานแล้ว จึงมีการซื้อขายกันเองในสนนราคา 300-700 บาท/ชุด ขึ้นอยู่กับแบบและสีที่เป็นที่นิยม ดังนั้นหัวขโมยที่ต้องการทำรายได้ จึงจับจ้องขโมยกันเป็นล่ำเป็นสัน และหลายครั้งก็เกิดเหตุตบตีกันจากชุดนอนนี่ล่ะ

สุดท้ายปัญหาเบาบางลง เมื่อทางเรือนจำเปิดให้นักโทษเขียนคำร้องขอซื้อชุดนอนในราคา 300 บาท/ชุด

ในเรือนจำหญิงจะมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากที่สุด หลายคนทั้งขายทั้งเสพ หลายคนมาจากแหล่งเสื่อมโทรม คนเหล่านี้มักปล่อยปละละเลยไม่ดูแลตัวเอง และแน่นอนว่า หลายคนก็มักจะเป็น "เหา" ตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ

ด้วยอย่างที่เล่าไปว่า ลักษณะการนอนที่แออัดเบียดเสียดกัน ดังนั้นเมื่อมีคนหนึ่งเป็นเหา ก็มักจะติดต่อกันเป็นไฟลามทุ่ง

ในวันหนึ่งที่เราทราบว่า ผู้ต้องขังหญิงผมยาวที่นอนถัดไปสองคน "เป็นเหา" เธอบอกเราพร้อมชี้เป้าต้นตอที่นำเหามาติดคือคนที่นอนหัวชนกัน พอเรามองไปที่นอนเธอก็พบว่า ผู้ต้องขังที่นอนข้างเธอก็เพิ่งหั่นผมยาวทิ้งจนสั้นเต่อ เหตุจากเพราะ "ติดเหา"

วันรุ่งขึ้นเรานำเรื่อง "เหา" มาคุยกับน้องผู้ช่วยงานที่สนิทกัน เธอบอกสั้นๆว่า "เรื่องเหาเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นทุกคน ไม่มีใครรอด"

เรียกได้ว่า ฟังแล้วได้แต่ทำใจว่า ถ้าติดขึ้นมาก็รักษากันไป

ซึ่งในที่นี้ก็เปิดโอกาสให้ผู้เป็นเหารับการรักษาด้วยการหมักหัวด้วยยาได้ แต่เท่าที่เห็น น้อยคนจะยอมรับว่าเป็นและรักษา

แต่สุดท้าย เราก็รอดหลุดรั้วลูกกรงคุกมา โดยไม่มีเหาบนหัว ซึ่งนับว่าโชคดีที่สุด

#ชีวิตในเรือนจำ #เหา #ของหายจนชิน

 

3 กันยายน 2559

ระเบียบการตรวจร่างกายของทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ ตกเป็นดราม่าทางสังคมก็หลายครั้ง และนั่นก็ทำให้เราได้พบกับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเท้าเข้าไป

ผู้ต้องขังหญิงต้องถูกตรวจร่างกายทุกครั้งที่เข้าออกเรือนจำ เพื่อกันทั้งสิ่งของออกไปและสิ่งของที่จะถูกนำเข้ามา

ในวันแรกที่ทุกคนมาจากศาล ก้าวแรกคือ ต้องผ่านการตรวจร่างกายที่ พ.บ. (สถานพยาบาล) ทุกคนต้องถอดเสื้อผ้าทุกชิ้น แม้กระทั่งยางรัดผม โดยสิ่งของเหล่านี้จะได้คืนวันที่ได้รับการปล่อยตัว

ทุกคนจะต้องนุ่งผ้าถุงเดินเข้าไปในห้องที่กั้นโดยผ้าม่านที่เลื่อนแบ่งเป็นห้องๆ ในแต่ละห้องจะมีเจ้าหน้าที่ 2 คนยืนด้านหน้าและด้านหลังเรา คนที่ยืนด้านหน้าจะจับชายผ้าถุงด้านนึงไว้ และใช้สายตาสำรวจเรือนร่างเปลือยเปล่าของผู้ต้องขังเพื่อหาสิ่งของที่อาจจะถูกลักลอบเข้าไป รวมทั้งข้อความต่างๆที่อาจจะถูกเขียนไว้ตามร่างกาย

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้ผู้ต้องขังทำการหมุนตัวในผ้าถุง เพื่อสำรวจโดยรอบ และให้กางแขนกางขาออกทั้งสองข้าง แล้วย่อตัวขึ้นลงราวสองรอบ จากนั้นให้อ้าปาก แลบลิ้น เปิดริมฝีปากบนล่างให้ดูด้านใน พับใบหูทั้งสองข้าง ก้มคอเพื่อตรวจหลังคอ ก่อนจะให้แบและหงายมือ และสุดท้ายก็ตรวจฝ่าเท้า เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีในห้องนี้

จากนั้นทุกคนจะถูกตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดและตรวจการตั้งครรภ์

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเราว่าให้ขึ้น "ขาหยั่ง" เราชะงักไปนิดก่อนจะถามว่า ทำไมต้องตรวจ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ต้องการแค่ตรวจว่าเป็นผู้หญิงจริงๆเท่านั้น

หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่อีกคนเดินหน้าบึ้งตึงมา่เปิดผ้าถุงและปิดลงอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างเป็นอันเสร็จสิ้นการตรวจร่างกายในวันแรก

เรามารู้ทีหลังว่า โดยปกติทุกคนจะต้องถูกตรวจภายใน ไม่ใช่แค่ดูความเป็นหญิง แต่มีการควานล้วงเพื่อหาสิ่งผิดระเบียบที่อาจซุกซ่อนเข้ามาได้ แต่ทุกอย่างถูกยกเลิกไปหลังจากการถูกร้องเรียนในกรณีน้องปั๊บ กรกนก นักศึกษาที่ถูกตรวจร่างกายราวกับนักโทษ ทั้งๆที่เธอได้รับการประกันตัวแล้วแท้ๆ

จากเหตุการณ์นั้น นำมาซึ่งการยกเลิกการตรวจภายในทั้งหมด และมีเจ้าหน้าที่ถูกสอบทางวินัย 2 คน และจากวันแรกนั้น ก็เป็นครั้งเดียวที่เราต้องขึ้นขาหยั่ง

และแน่นอนว่า การเดินเข้าเรือนจำในฐานะนักโทษการเมืองในวันนั้น จะนำมาซึ่งความเกร็งของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อเรา

หลายคนถามเราว่ารู้จักน้องปั๊บมั้ย หลายคนพยายามถามความคิดเห็นต่อการตรวจร่างกายแบบนี้ ในขณะที่หลายคนพยายามอธิบายเหตุผลของการตรวจภายใน

ในอดีตเคยมีนักโทษซุกซ่อนยาเสพติด เครื่องมือสื่อสารเข้ามาจริง แต่เท่าที่เรารับรู้ก็ไม่ใช่จะพบเจอบ่อยๆ เรียกได้ว่า แทบไม่เคยมีมาเลยด้วยซ้ำ แต่กระนั้นเจ้าหน้าที่เองก็เลือกใช้วิธีเข้มงวดมากๆ เพื่อกำราบให้นักโทษ"ไม่กล้า"

สิ่งของที่กลัวว่าจะถูกนำเข้าเรือนจำหลักๆ ก็มีแค่ยาเสพติดและโทรศัพท์ ส่วนสิ่งของที่กลัวว่าจะถูกนำออกส่วนใหญ่จะเป็นการแอบเขียนเบอร์โทรของเพื่อนผู้ต้องที่ฝากให้ญาติเราโทรหาญาติเขาเพื่อแจ้งข่าวสารบางอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการฝากบอกให้มาเยี่ยมกันบ้างเท่านั้น

ซึ่งการฝากข่าวกันของผู้ต้องขังสู่ญาติๆของคนอื่น ถือเป็นการทำผิดระเบียบร้ายแรง จนบางคนอาจถูกทำโทษได้เลย

การตรวจร่างกายจะถูกกระทำทุกครั้งที่ต้องเข้าออกเรือนจำ และกิจธุระเดียวของนักโทษที่ได้ออกสู่โลกภายนอกก็คือการไปศาล และแน่นอนเราต้องออกไปศาลทุกผลัดในช่วงเวลา 71 วัน เรียกได้ว่า ถูกแก้ผ้าตรวจร่างกายจนชินชา

ได้ยินมาว่ากรมราชทัณฑ์กำลังสั่งซื้อเครื่องมือเพื่อสแกนร่างกาย ที่จะถูกนำมาใช้ทดแทนการตรวจร่างกายที่ต้องแก้ผ้าให้อิหลักอิเหลื่อทั้งผู้ตรวจและผู้ถูกตรวจ

ก็หวังว่าเทคโนโลยีที่ก้าวไปไกลมากแล้วในโลกภายนอก จะถูกนำมาใช้ทดแทนพิธีกรรมแสนโบราณในเรือนจำได้ซะที

#ชีวิตในเรือนจำ #การตรวจร่างกาย #การตรวจภายใน

 

30 สิงหาคม 2559

#ผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยทางจิตตอน2

"คุณคะ วารีป่วนเพื่อนค่ะ" คือเสียงจากแม่ห้องเรือนนอนห้องเรา ที่ตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่ผู้คุมเรือนจำหญิง เมื่อ "วารี" ผู้ต้องขังคดีลักทรัพย์ที่ต้องบำบัดทางจิตป่วนเพื่อนในห้องด้วยการวิ่งรอบห้อง และพยายามพูดจาเย้าแหย่

เจ้าหน้าที่สาวนางหนึ่งเดินมาส่องดูผ่านลูกกรงห้องขัง และบอกด้วยเสียงเข้มๆว่า "จะทำไรกันก็ทำไปสิ ถือว่าฉันไม่รู้ไม่เห็นด้วยนะ"

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วารีป่วนจนไม่ได้หลับได้นอน ผู้ต้องขังรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ก่อนเราจะเข้ามาที่เรือนจำแห่งนี้ วารีก็ป่วนจนถูกรุมทำร้ายด้วยการซ้อม และจับมัดกับเสาห้องจนถึงเช้า จึงจะถูกส่งออกไปรักษาตัวทั้งความบาดเจ็บทางร่างกายและความผิดปกติทางจิต

เธอหายไปราวหนึ่งเดือนเต็ม และกลับมาด้วยท่าทีร่าเริงเหมือนได้เจอเพื่อนเก่า แต่เหตุการณ์เดิมๆก็กลับมา เมื่อเธอป่วนและถูกรุมทำร้ายอีกรอบ

เราค่อนข้างละอายใจที่ไม่กล้าลุกขึ้นห้ามหรือปกป้องใดๆ ทำได้แค่เบือนหน้าหนีอย่างสลดใจกับภาพที่เห็น ผู้ต้องขังที่นอนใกล้ๆกันบอกไว้ว่าห้ามไปยุ่ง เพราะวารีก็ "สมควร" โดน

สุดท้ายเรื่องนี้จบลงด้วยการที่เจ้าหน้าที่ย้ายวารีออกไปห้องอื่น

ยังมีผู้ต้องขังที่ต้องได้รับการบำบัดอีกหลายคนที่ถูกละเลย ไม่ใส่ใจราวกับพวกเธอ "แกล้งบ้า"

วันหนึ่งขณะที่เรานั่งอยู่บริเวณเดียวกับโต๊ะยา มีผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งมาติดต่อ เธอบอกว่ามีอาการหน้ามืด เวียนหัวและอยากกรี๊ด ขอให้ส่งตัวเธอออก พ.บ.เพื่อรับการรักษา

เจ้าหน้าที่เวรยกสายต่อไป พ.บ. และสิ่งทีตอบรับมาคือ ไม่ต้องให้ออกมา ไม่ขอรับตัว ถ้าอยากกรี๊ด ให้กรี๊ดในถุง

อะไรคือ "กรี๊ดในถุง" เราได้แต่แอบคิดในใจ ในที่สุดเธอคนนี้ก็ถูกส่งกลับหน่วยงานพร้อมคำสั่งกำชับไปถึงพี่เลี้ยงว่า ให้หาถุงให้เธอใบนึง "เพือกรี๊ด"

ทุกเช้าตอนเข้าแถวเพื่ออาบน้ำ เราจะนั่งข้าง "แม่สำลี" นักโทษเด็ดขาดสูงวัยคนหนึ่ง เราพยายามยิ้มให้เธออยู่หลายครั้ง แต่เธอทำเพียงหลบตาและไม่พูดด้วย

แม่สำลีจะรักแมวมาก ไม่ว่าตัวไหนที่ใครว่าดุ เธอก็จะเข้าไปอุ้มด้วยความรักและความเอ็นดู เรามารู้ภายหลังว่า สิ่งที่ทำให้เธอต้องถูกกักอิสรภาพ ณ ที่แห่งนี้ เพราะเธอพลาดทำหลานน้อยวัยทารกหลุดจากมือ ตกพื้นจนเสียชีวิต และลูกเขยแจ้งความเอาผิดเธอ เราไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดเธอถึงต้องใช้ชีวิตที่นี่อย่างพึ่งพา "ยานิติ"

หลายชีวิตที่ต้องติดคุกเพราะความโชคร้าย หลายคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และหลายคนเพราะโอกาสทางสังคมที่ต่ำเตี้ยกว่าคนอื่นๆ การใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวให้รอดในเรือนจำ นอกจากต้องดูแลตัวเองให้รอดจากการถูกเอาเปรียบแล้ว ยังต้องดูแลจิตของตัวเองให้ดี เพื่อให้รอดจากอำนาจบางอย่างที่คอยกัดกินวิญญาณเราด้วย

อย่างที่บอกว่า อย่าหวังการดูแลเยียวยาทางใจใดๆจากที่นี่ ทางรอดเดียวคือความอดทนและมองบวก และท่องไว้เสมอว่า มีเพียงเราเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของเราเอง

ปล. ชื่อผู้ต้องขังที่กล่าวถึงทั้งหมดเป็นเพียงนามสมมติ

#ชีวิตในเรือนจำ #ทัณฑสถานหญิงกลาง #ผู้ป่วยจิตเวช

 

29 สิงหาคม 2559

"ถ้ารู้ว่าต้องมาติดคุกแบบนี้ ฉันคงแทงตัวเองแทนการแทงผัว" ผู้ต้องขังคดีฆ่าสามีซึ่งต้องบำบัดทางจิตกล่าวขึ้น

ในเรือนจำหญิงเต็มไปด้วยนักโทษที่จำเป็นต้องทานยาบำบัดทางจิต ที่เรียกกันในนั้นว่า "ยานิติ" เราไม่รู้หรอกว่าย่อมาจากอะไร และคำเต็มคืออะไร รู้แต่ว่ายาชนิดนี้มีผลระงับอาการคุ้มคลั่ง และหลายคนมีอาการเซื่องซึม

อย่างที่เคยเล่าว่า ผู้ต้องขังหญิงเดินเข้าคุกด้วยความกังวลจากภาระที่เต็มบ่า พวกเธอเหล่านั้นทิ้งบทบาท "แม่" "เมีย" หรือ "ลูก" ที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว มารับบทบาทนักโทษที่เต็มไปด้วยความยากลำบากและสะสมแต่ความเครียด

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่หลายคนจะมีอาการซึมเศร้า บางคนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง และลงเอยด้วยการต้องกิน "ยานิติ"

ในบางค่ำคืนจะปรากฎเสียงกรี๊ดลั่นเรือนนอนจนผู้ต้องขังต้องตื่นกลางดึก บางคราวเราก็ได้พบเห็นคนคลุ้มคลั่งวิ่งเอาหัวชนเสา และบางคราวก็พบเห็นคนร้องไห้และพยายามทำร้ายตัวเอง

ทั้งหมดนี้จะว่าไปก็ท้าทายความสามารถในการดูแลปกครองของเจ้าหน้าที่ทีเดียว

วารี (นามสมมติ) ผู้ต้องขังหญิงคดีลักทรัพย์ผู้มีอาการทางจิตจากการเสพยาอย่างต่อเนื่อง พยายามขอกาแฟจากเราด้วยเหตุผลว่า อยู่ในนี้ไม่มียาให้เสพ ต้องพึ่งพาคาเฟอีนจากกาแฟแทน

ในเวลาปกติวารีจะเป็นสามทอมช่างยิ้ม ช่างเจรจา เธอยังมีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษที่สำเนียงและไวยากรณ์ใช้ได้ทีเดียว แต่เมื่อไหร่ที่เธอดื่มกาแฟ จะทำให้เธอนอนไม่หลับ และป่วนเพื่อนร่วมเรือนนอนจนไม่มีใครต้องหลับต้องนอน

เกม (นามสมมติ) ในยามปกติเกมจะเป็นเอนเตอเทรนเนอร์ที่เยี่ยมทั้งร้องทั้งเต้นเรียกเสียงหัวเราะให้เพื่อนๆ และบางคราวเธอยังเป็นหมอดูแบบจิตสัมผัสให้กับหลายคน แต่ในยามที่เธอได้ยินเสียงค่อนแคะดูถูก เธอจะคุ้มคลั่งร้องไห้ และลงเอยด้วยการชักหรือทำร้ายตัวเอง

สุชิน (นามสมมติ) จะมีอาการเซื่องซึม เดินลอยๆ ตาลอยๆ แต่เมื่อใดที่ปรากฎเสียงประกาศว่ามีญาติมาเยี่ยม เธอจะลุกลี้ลุกลนเดินมาติดต่อโต๊ะญาติ และลงเอยด้วยการบอกว่า "ไม่ขอเยี่ยม" และเดินหนี จนผู้ช่วยงานที่รับผิดชอบส่วนนี้ต้องเกลี้ยกล่อมกันทุกครั้งไป

ยังมีผู้ต้องขังหญิงอีกหลายคนที่มีอาการทางจิต บางคนเมื่อเกิดความเครียดและรู้สึกว่าตนเองป่วย จะมาติดต่อเพื่อขอออก พ.บ.แต่หลายครั้งก็ถูกปฏิเสธ

การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อหวังผลการบำบัดแบบจริงจัง อย่าหวังเลยว่าจะได้เห็นที่นี่ การบำบัดด้วยยามีไว้เพียงเพื่อกดอาการไม่ให้คุ้มคลั่งจนควบคุมไม่ได้เท่านั้น

อย่างว่าล่ะ "คุกก็คือคุก จะมาหวังเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอะไรในนี้" ดังที่เจ้าหน้าที่คนนึงได้เคยกล่าวเอาไว้กับเรา

#ชีวิตในเรือนจำ #ทัณฑสถานหญิงกลาง #จิตเวช

 

21 สิงหาคม 2559

ก่อนจะครบฝากขังในผลัดแรก เราก็เป็นหวัด มีน้ำมูกไหลจนเจ้าหน้าที่จัดการส่งเราออก พ.บ. (สถานพยาบาล) เพื่อพบหมอเวรตรวจอาการ

และด่านแรกที่เราพบที่ พ.บ. ก็คือ นักโทษผู้ช่วยงานที่ประจำจุดนั้น
ผู้ช่วยงาน : เป็นอะไรมา
เรา : เป็นหวัด มีน้ำมูก
ผู้ช่วยงาน : แล้วทำไมไม่มาตั้งแต่เช้า หมอจะออกเวรแล้ว มาตอนนี้ก็ไม่ได้ตรวจหรอก (น้ำเสียงตวาด ราวกับพยาบาล ร.พ.รัฐก็ไม่ปาน)
เรา : ไม่ได้อยากมาค่ะ เพราะไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่ขัดเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เค้าส่งออกมา
ผู้ช่วยงานชะงักเล็กน้อยเมื่อได้ยินคำว่า "เจ้าหน้าที่" ก่อนจะเดินหายไปและกลับมาบอกให้เรานั่งรอพบหมอ

เรานั่งรอคิวพบหมอเป็นคิวสุดท้ายของวันนั้น โดยมีคิวก่อนหน้าประมาณ 6-7 คน เราก็ทำใจว่าคงนานเพราะน่าจะใช้เวลาตรวจคนละ 5-10 นาที

แต่ความจริงคือ นักโทษทุกคนหายเข้าไปในห้องตรวจและออกมาเร็วมาก ราวกับหมอแทบไม่ได้ลงมือตรวจอะไรเลย และในเวลาอันรวดเร็วก็ถึงคิวเรา

หมอ : ตกลงพี่โดน 112 ด้วยใช่ปะ
เรา : ใช่ค่ะ (งงๆ)
หมอ : แล้วทำไมถึงโดนล่ะ
เรา : (เล่าเรื่องคดีเท่าที่เล่าได้)
หมอ : แล้วแม่จ่านิวนี่แค่ "จ้า" เองใช่ปะ
เรา : พี่ไม่ทราบอะไรเลยค่ะ
หมอ : แล้วจะสู้คดียังไงอ่ะ
เรา : (เล่าเท่าที่จะเล่าไดั)
หมอ : อ่ะ ตกลงมีน้ำมูกนะ เดี๋ยวสั่งยาให้

สรุปวันนั้นกลายเป็นเราที่ได้คุยกับหมอนานสุด และได้ยากลับมากิน

โดยปกติเวลานักโทษเจ็บป่วย จะต้องมาติดต่อโต๊ะยาในแดนแรกรับ ที่มีนักโทษผู้ช่วยงานที่เป็นอดีตพยาบาลประจำอยู่ เธอจะเป็นคนพิจารณาว่าความเจ็บป่วยของนักโทษรายนั้นเพียงพอที่จะส่งออก พ.บ.มั้ย

และด้วยความจำกัดเวลาของหมอที่ผลัดเวียนกันมาเข้าเวรในวันจันทร์-ศุกร์ เวลาในการเข้าตรวจจึงน้อยมาก น้อยขนาดที่เหล่านักโทษต้องเตรียมตัวเพื่อแจ้งอาการแก่หมอ โดยไร้การตรวจแต่อย่างใด

ส่วนนอกเวลาหมอ ก็จะมีพยาบาลประจำอยู่ พ.บ. โดยเธอจะนั่งอยู่ในคอกด้านในที่จ่ายยา นักโทษที่ป่วยจะยืนด้านนอกบอกอาการ เธอก็จะมองด้วยสีหน้าเหยียดๆ บึ้งๆ และจดใบสั่งยาให้ และเช่นเคย ไม่มีการตรวจอาการใดๆ

ในห้องนอนเราเป็นห้องรวมคนแก่และคนป่วย จึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนป่วยมาถึงเราบ่อยครั้ง

รายนึงเป็น HIV นอนป่วยด้วยอาการแทรกซ้อนจนหนักกว่าจะทำเรื่องส่งออก พ.บ. และไม่ถึงเดือนเธอก็เสียชีวิตที่นั่น

อีกรายเป็น HIV และมีตุ่มพองตามลำตัวและหัว นอนน้ำเหลืองไหลเลอะเต็มหมอนกว่าจะได้ส่งออก

อีกรายมีอาการทางจิต คอยป่วนเวลานอนจนถูกรุมซ้อมและหามส่ง พ.บ. กลับมานอนที่เดิมและเริ่มป่วนอีกจนโดนซ้อมอีก เจ้าตัวขอออก พ.บ. แต่ถูกปฏิเสธ

โดยปกตินักโทษไม่ได้ถูกส่งออก พ.บ.ง่ายๆนักหรอก ด้วยเหตุผลว่าหลายคนก็แกล้งป่วย ส่วนบางคนที่ป่วยจนอาการออกจริงๆก็ถูกค่อนแคะว่าไม่รู้จักดูแลตัวเอง

สำหรับคนที่ป่วยหนักๆ ก็จะถูกส่งตัวต่อไปยัง ร.พ.ราชทัณฑ์ เพื่อรับการรักษา และหากมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการผ่าตัดหรือรักษาอื่นๆ นักโทษก็ต้องรับผิดชอบตรงนี้เองด้วย

ส่วนยาที่ใช้รักษานักโทษก็จะเป็นยาทั่วไป พวกยาแก้อักเสบหรือพาราเซตามอล หรือยารักษาโรคประจำตัวพวกความดัน เบาหวาน หากนักโทษต้องการยาพิเศษเฉพาะทาง หรือต้องการให้ญาติจัดการมาให้ บอกได้คำเดียวสั้นๆเลยว่า "ไม่ได้ เพราะผิดระเบียบ"

ทางที่ดีที่สุดหากต้องเข้ามาใช้ชีวิตในเรือนจำก็คือ "ห้ามป่วย" คุณไม่มีสิทธิป่วย เพราะหากป่วย คุณก็ไม่มีสิทธิได้รับการดูแลที่ดีพอ เพราะทุกนาทีในนั้น คุณต้องตระหนักเสมอว่า คุณคือนักโทษ วรรณะชั้นต่ำสุดของสังคม ที่ใครๆก็ไม่เห็นค่า

#ชีวิตในเรือนจำ #สถานพยาบาล #เจ็บป่วย

 

10 สิงหาคม 2559

ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ต้องโทษ มักจะมาจากการกระทำความผิดโดยประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือถูกพ่วงมาพร้อมสามีหรือแฟน

พวกเธอส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้มากนัก แต่กลับแบกภาระหน้าที่เอาไว้เต็มบ่า ทั้งความเป็นแม่ เป็นเมียและเป็นลูก

บางคนเพิ่งคลอดลูก เดินเข้าเรือนจำทั้งๆที่น้ำนมยังไหลเลอะเปรอะเสื้อ บางคนดูแลพ่อแม่ที่ป่วยชราอยู่บ้าน

ด้วยความรู้ทางกฎหมายที่น้อยนิด บวกกับความเครียดและกังวลทางคดี ที่พึ่งเดียวในเรือนจำของเธอ กลับกลายเป็น "หมอดู"

หมอดูในทัณฑสถานหญิงกลางมีทุกรูปแบบ บางคนเคยเป็นคนทรง มีชื่อเสียงขนาดมีตำหนัก บางคนเป็นหมอดูที่เคยผ่านการดูดวงให้คนระดับสูง

ความโด่งดังของหมอดูในแดนแรกรับเป็นที่ประจักษ์ ถึงขนาดเจ้าหน้าที่ที่มาเข้าเวรต้องเรียกใช้กัน

ส่วนจะแม่นมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ศรัทธาส่วนบุคคลแล้วล่ะ

สำหรับเรา ด้วยความอยากรู้บวกกับกังวลเรื่องคดี เราจึงเคยผ่านมือหมอดูอยู่ 3 ครั้ง

ครั้งแรกเป็นหมอดูที่จัดว่าดังที่สุดในแดนแรกรับ เธอคนนี้เคยดูให้คนระดับสูงมาก่อน โด่งดังขนาดเจ้าหน้าที่เรียกใช้ประจำ

วิธีการดูคือเธอจะดูจากบัตรประจำตัวและทำนาย สำหรับเรา คนติดคุกยังไงก็ไม่มีใครทำนายว่าดีหรอก และเธอก็ทำนายว่าเราติดคุกเพราะ "กรรมเก่า" และเรื่องของเราไม่จบง่ายๆ

ครั้งที 2 น้องที่นอนติดกันแนะนำว่าดูลายมือและแม่นหนักหนา ลากมาดูให้เราถึงที่นอน เธอจะมีพิธีกรรมด้วยการเป่ามือและหลับตานั่งสมาธิ ก่อนจะบอกเราว่า ไม่กล้าทำนายให้เราเพราะไม่แน่ใจในหลายๆเรื่อง ทั้งๆที่ก่อนหน้าเธอเพิ่งดูให้คนอื่นเป็นตุเป็นตะ

ครั้งสุดท้ายเป็นคนที่มาดูให้พี่คนที่นอนใกล้ๆเรา และเค้าคะยั้นคะยอให้ดูเรา วิธีการคือเค้าจะหลับตาจับมือเรา ก่อนจะเงยหน้าถามเราว่า "พี่เคยทำแท้งมาใช่มั้ย" เท่านั้นเองก็วงแตก พร้อมคำตอบจากเรากลับไปว่า "สามีพี่ยังไม่เคยมีเลยค่ะ"

จากประสบการณ์ทั้งสามครั้ง เราได้ข้อสรุปว่า หมอดูในเรือนจำเป็นเพียงอาชีพสำหรับหาเงินเล็กๆน้อยๆ บวกกับการได้รับการนับหน้าถือตา แต่หาความเชื่อถือได้ยากยิ่ง พวกนางรู้ดีว่าต้องพูดอย่างไรให้โดน ต้องถามอย่างไรถึงจะเข้าข่าย เพราะโดยทั่วไปคนในคุกก็ล้วนแต่ต้องการในเรื่องเดียวกัน คือการหลุดพ้นจากคดี

แต่จะว่าไป หลายครั้งการสุมหัวกันดูหมอก็ช่วยฟื้นฟูความหวังและกำลังใจให้หลายคนที่มืดบอดไปทุกด้านด้วยไร้ญาติขาดมิตร ไร้คนช่วยเหลือทางคดี

สำหรับเรา ด้วยความเชื่อส่วนตัวว่าวิชาโหราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ต้องมาพร้อมกับการถือศีล ดังนั้นคนที่ทุศีลจนต้องมาติดคุกด้วยคดีลักทรัพย์ รับของโจร ไม่น่าจะมีวิชาพอที่จะทำนายโชคชะตาให้ใครได้

ดังนั้นเมื่อผู้ต้องขังหลายคนที่มาขอคำปรึกษาให้เราช่วยเหลือเรื่องคดี เราจึงมีคำพูดตั้งแต่แรกเลยว่า ถ้าอยากปรึกษาเราขอเรื่องเดียว "ขอให้เลิกเชื่อหมอดูในเรือนจำ" เป็นอันดับแรก

ปล. มีหมอดูตัวเด่นถึง 2 คนในแดนแรกรับที่ต้องโทษคดี 112

 

6 สิงหาคม 2559

ถ้าคุณมีโอกาสเหยียบย่างเข้าทัณฑสถานหญิงกลางเข้า คุณจะเข้าใจคำว่า #ผู้หญิงอย่าหยุดสวย โดยแท้จริง

ด้วย 70% ของผู้ต้องขังที่นี่มาจากคดียาเสพติด หลายคนจึงมีเงินพอที่จะดูแลตัวเอง หลายคนผ่านงานประเภทพริตตี้ บางคนเคยเป็นเน็ตไอดอล จึงมีพื้นฐานความสวยงามและการผ่านมีดหมอมาแล้วทั้งสิ้น

"คนสวยๆน่ะ ติดคุกหมดแล้วพี่" คือคำพูดของผู้ต้องขังคดียาเสพติดสาวสวยวัย 28 ปีนางนึงที่บอกกับเราอย่างติดตลก

อันที่จริงเครื่องประทินโฉมต่างๆ ทั้งแป้ง ลิปสติก อายไลน์เนอร์ มาสคาร่า ล้วนเป็นสิ่งผิดกฎระเบียบทั้งสิ้น แต่ของเหล่านี้ก็พอจะหาได้สำหรับผู้ที่มีปัญญาจ่ายได้จาก "ตลาดมืด"

ส่วนกระจกก็นับว่าเป็นของหายากและมีราคาสูง เนื่องจากร้านค้าเคยเอาเข้ามาขายล็อตเดียวแล้วไม่มีอีก ของที่มีอยู่ในล็อตนั้นจึงมีค่ามหาศาล

สำหรับบางอย่าง เหล่าสาวสวยก็ใช้วิธีดัดแปลงเอาได้อย่างน่าทึ่ง

ในวันแรกๆที่เข้าไป เราเห็นสาวๆส่วนมากในแดนแรกรับ ล้วนมีคิ้วสวย โก่ง ได้รูปราวกับผ่านการสักแบบ 3 มิติมา

พอสอบถามด้วยความสนใจจึงรู้ว่า พวกเธอ "ย้อมคิ้ว" ด้วยการนำยาย้อมผมยี่ห้อบีเง็น ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวที่มีขายในนั้น นำมาย้อมคิ้วและปัดด้วยคอตตอนบัด ให้ได้สีและรูปตามต้องการ

คิ้วแต่ละนางจึงโก่ง สวย ได้สีแบบค่อนข้างถาวร

พอมาถึงแก้ม อย่าถามหาเลยบรัชออนน่ะ ไม่มีหรอก น้ำยาอุทัยล้วนๆค่ะ

มาถึงปาก ด้วยลิปสติกเป็นของหายากและราคาสูง พวกนางก็ใช้วาสลีน (Vasaline pitroleum jelly) นำมาผสมกับสีผสมอาหารสีต่างๆ ใช้แทนลิปสติก ทั้งสวยงามทั้งติดทนนานนะเออ

ส่วนการดูแลร่างกายส่วนต่างๆ เราเคยได้รับบริการถอนขนจักกะแร้ด้วยเส้นด้ายเพียงเส้นเดียวมาแล้ว เรียบกริบและไม่เจ็บด้วย

ส่วนผม ในทัณฑสถานหญิงกลางจะมีร้านเสริมสวยให้บริการด้วยสนนราคาค่อนข้างถูก คือ ทำสี 300 บาท ตัดสระไดร์ 40 บาท

แต่หากคุณต้องการทรงแบบที่ในร้านไม่สามารถทำให้ได้ ก็มีช่างผมมือดีแบบให้บริการแบบลับๆได้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทรงสั้นเกรียนคล้ายผู้ชายของเหล่าผู้หญิงพันธุ์พิเศษ เพราะทรงผมแบบนี้เรียกได้ว่า ผิดระเบียบไปเต็มๆ

ผู้หญิงหลายคนดูแลตัวเองได้ดีไม่ต่างจากสาวสวยข้างนอกหรอก ทั้งสรรหาน้ำหอมมาไว้ฉีดใส่เสื้อผ้าไม่ให้เหม็น ในขณะที่สาวบางคนตัดเล็ม หรือถึงขั้นแว๊กซ์อวัยวะส่วนล่างเพื่อความสะอาด

มีเพียงเรื่องเดียวที่ค่อนข้างถูกจำกัดจากเวลาและสถานที่ ก็คือ "การออกกำลังกาย" สาวๆที่นี่ต่อให้ไม่อ้วน แต่ก็มีหุ่นที่ค่อนข้าง "ย้วย" กันโดยถ้วนหน้า

หากถามว่า "จะสวยไปอวดใคร" บอกเลยว่า หลายคนสวยรอญาติมาเยี่ยม หลายคนสวยหาคู่ หลายคนสวยตอนไปศาลเผื่อเจอผู้ต้องขังชายหรือญาติมิตร ส่วนหลายคนสวยไว้ดูกันเอง

ด้วยการถูกกักขังเป็นความทุกข์และทรมานอย่างแสนสาหัส ผู้ต้องขังหญิงจึงต้องหาทางออกที่เป็นการผ่อนคลายความเครียด

หลายคนมุ่งหน้าสู่พระพุทธศาสนา นำธรรมะเข้าข่ม สวดมนต์ทั้งวัน บางคนกินๆๆๆๆ แก้เครียดตามแนวถนัดของผู้หญิง แต่หลายคนก็ใช้ความสวยงามและเครื่องประทินโฉมเพื่อเยียวยาตนเอง

อันที่จริงที่เล่ามา ทั้ง "การย้อมคิ้ว" "การทำลิปสติกจากสีผสมอาหาร" "ตลาดมืด" หรือแม้แต่การลักลอบตัดผมให้กัน ล้วนเป็นเรื่องที่ผิดระเบียบทั้งสิ้น ผิดขนาดที่ว่าหากจับได้ ต้องถูกทำใบบันทึกซึ่งมีอำนาจพอๆกับการถูกทัณฑ์บน

แต่ก็มิอาจหยุดยั้งสาวๆเหล่านี้ได้หรอก

ก็อย่างที่บอก #ผู้หญิงอย่าหยุดสวย

 

4 สิงหาคม 2559

ภายใต้รั้วรอบขอบชิดและระเบียบที่เข้มงวดของเรือนจำ แม้แต่ข่าวสารข้างนอกยังรอดเข้ามาได้ไม่ง่าย

"ข่าวลือ" จึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการใช้ชีวิตในทัณฑสถานหญิงกลางแห่งนี้

วันๆนึงจะมีผู้มีญาติมาเยี่ยมราวๆ 200-300 คน จากจำนวนนักโทษเกือบ 5,000 คน นั่นเท่ากับผู้ที่พอจะรับทราบข่าวสารได้ มีไม่ถึง 10%

และข่าวลือยอดฮิตก็หนีไม่พ้นเรื่อง "อภัยโทษ"

ในช่วงที่เราเข้าไป เหล่านักโทษต่างลือกันว่าปีนี้จะมีพระราชทานอภัยโทษในวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 60 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์

ข่าวลือแพร่สะพัดไปพร้อมความหวังของเหล่านักโทษเด็ดขาด (หมายถึงนักโทษที่ถูกตัดสินคดีและเป็นที่สิ้นสุดแล้ว) เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่จะได้ลดโทษและกลับบ้านเร็วขึ้น

ยิ่งลือ ยิ่งบอกต่อกัน ก็ยิ่งก่อเกิดความหวังกันอย่างมาก

และในฐานะนักโทษการเมืองที่มีญาติมาเยี่ยมทุกวัน บวกกับทนายมาดูแลบ่อยๆ หลายคนที่นี่จึงฝากความหวังให้เราเช็คข่าวให้

ทั้งๆที่เพียรบอกว่า "ไม่มี" แน่ในวันนั้น ก็ไม่มีใครอยากเชื่อเราเลย

จวบจนราวๆวันที่ 6 มิถุนายน ทุกคนต่างจดจ้องฟังเสียงประกาศจากแดนนอก

ในวันนั้นมีเสียงประกาศจากแดนนอกว่า ขอให้ทุกคนหลบออกจากถนนเพื่อความปลอดภัย (เนื่องจากมีรถเข้ามาทำงาน)

แต่ด้วยความหวังเรื่องอภัยโทษที่เต็มเปี่ยม ทำให้นักโทษในแดนแรกรับก็พร้อมใจกันหูเพี้ยน ได้ยินคำว่า "ปลอดภัย" เป็น "อภัย"

ทั้งๆที่เราที่ออกไปเยี่ยมญาติและได้ยินประกาศเต็มสองหู ก็ไม่มีใครเชื่อเรา

ผลคือ หลังจากพ้นวันที่ 9 มิถุนายนไปอย่างเงียบเชียบ หลายคนถึงขั้นต้องแอดมิทที่สถานพยาบาล

ในขณะที่หลายคนเลือกที่จะลือกันต่อว่า จะประกาศในอาทิตย์ถัดไปแทน

ในวันนี้ที่เราได้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกแล้ว แต่ก็นึกภาพออกว่า ข่าวลือในเรือนจำตอนนี้ก็คงไม่พ้นเรื่อง "พระราชทานอภัยโทษ" ในวันที่ 12 สิงหาคม

และในคราวนี้เราเองก็หวังเช่นกันว่าคงไม่ได้เป็นเพียงแค่ข่าวลือ

การมีชีวิตที่นับคืนวันแห่งอิสรภาพล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์

และความหวังเล็กๆน้อยๆที่ติดมากับข่าวลือ ก็ทำให้พวกเขาคาดหวังไปมากกว่าปกติ

ชีวิตที่มีแต่การรอคอย ความหวังเล็กๆน้อยๆเพียงแค่ชะโลมใจ.....ก็ยังดี

 

2 สิงหาคม 2559

เคยเล่าไปหลายครั้งแล้ว เมื่อถูกถามเรื่องการอาบน้ำในเรือนจำหญิง แต่ยังไม่เคยได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คซักที วันนี้ล่ะได้ฤกษ์

ทุกเช้าเมื่อลืมตาตื่นจากเรือนนอนหรือห้องขัง ภารกิจแรกของทุกคนก็คือ "การอาบน้ำ" โดยชุดแรกที่ได้รับการปล่อยเพื่ออาบน้ำคือคนที่ต้องเดินทางไปศาลในวันนั้น ชุดต่อมาก็คือ คนที่มาใหม่(เพิ่งอาบน้ำวันแรก) คนแก่ (อายุ 60 ปีขึ้นไปโดยประมาณ) คนท้องและคนป่วย (พิการหรือเป็นโรคที่ช่วยตัวเองลำบาก)

หลังจากนั้นผู้ต้องขังที่เหลือในแดนแรกรับก็จะถูกปล่อยออกมาจากห้องนอนพร้อมๆกันราวกับผึ้งแตกรัง ทุกคนต่างกรูกันเข้าล๊อคเกอร์เพื่อหยิบของใช้ และก็กรูกันต่อไปยังลานอาบน้ำ

สภาพทุกคนตอนเช้าจึงเป็นภาพที่รีบเร่ง แข่งขัน วิ่งได้วิ่ง แซงได้ก็แซงเลย

การกระทบกระทั่งกันตั้งแต่ด่าทอจนถึงขั้นตบตีจึงมีให้เห็นในช่วงเวลานี้ "ประจำ"

รวมไปถึงอุบัติเหตุ ทั้งล้มหัวฟาดแท้งค์น้ำ ล้มฟาดพื้นก็มีให้ประสบกันอย่างเนืองๆ

ลานอาบน้ำจะเป็นลานพื้นคอนกรีตที่ฟากนึงจะเป็นบริเวณที่ใช้ตากผ้า จะมีราวตากผ้าทำจากท่อเหล็กกลมๆเอามาประกอบกันเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสเรียงกันเป็นแถวๆ แบ่งเป็นโซนตากผ้ากันตามหน่วยงานที่สังกัด

และด้วยลานตากผ้าจะเปิดโล่ง เสื้อผ้าที่ตากไว้จึงหายกันเป็นเรื่องปกติ

ขนาดเราที่จ้างซักผ้าทุกชนิดยันชุดชั้นใน ยังหายเป็นประจำ (ที่ต้องจ้างซักทุกอย่างเพื่อตัดปัญหาเรื่องการตากผ้านี่ล่ะ)

ถัดจากโซนตากผ้าก็จะเป็นแท้งค์น้ำที่ก่อโดยปูนขึ้นมาเป็นแท้งค์ยาวๆเรียงกัน ตอนเข้าไปแรกๆน้ำจากแท้งค์ใช้ทั้งเพื่ออาบน้ำและซักผ้า แต่ในระยะหลังน้ำจากแท้งค์จะสงวนไว้เพื่อซักผ้าเท่านั้น

ส่วนการอาบน้ำจะอาบในส่วนที่เรียกกันว่า "เข้าบัว" คือเป็นท่อน้ำกลมๆยาวเหนือหัว ถูกนำมาเจาะรูเพื่อให้น้ำออกมาเป็นสายๆคล้ายฝักบัว แต่ละรูจะมีเบอร์บอกไว้ ทุกคนจะเข้าไปยืนประจำแต่ละเลข ก่อนที่น้ำจะถูกเปิด

ระยะเวลาในการอาบน้ำจะถูกนับโดยผู้ช่วยงานกองกลางที่ดูแลบริเวณนั้น โดยจะนับ 1-20 ช้าเร็วก็แล้วแต่คนนับ

แต่สำหรับเรา หากวันไหนจะสระผม ต้องทำใจว่าจะอาบน้ำได้ไม่เต็มที่ และหากวันไหนจะอาบน้ำอย่างเดียว ก็เลือกเอาว่าจะเน้นช่วงล่างหรือช่วงบน

เพราะจะหวังให้สะอาดเอี่ยมตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่มีทางทันเวลานับที่ให้มาแน่นอน

ขี้ไคลเกาะน่ะเป็นเรื่องปกติ เพราะผู้ต้องขังในแดนแรกรับเป็นโรคที่เกี่ยวกับเชื้อรากันจนชิน

ผู้ต้องขังจะถูกกำหนดให้อาบน้ำ 2 เวลาคือเช้า (ประมาณ 5.30-6.15 น.) และเย็น คือเริ่มปล่อยน้ำเป็นหน่วยงาน ตั้งแต่ 13.30-15.00 น. ด้วยเหตุนี้การอาบน้ำในช่วงเย็นจึงไม่โกลาหลเท่าตอนเช้า

และด้วยเวลาอาบที่ยังเป็นช่วงบ่าย เราจึงได้อาบน้ำกลางแดดกัน นอกจากวันที่ฝนตกก็จะเปลี่ยนมาอาบน้ำพร้อมน้ำฝนแทน

การอาบน้ำคือ ทุกคนจะนุ่งผ้าถุงกระโจมอกเพื่ออาบ แต่ก็มีสาวๆใจกล้าหลายคนที่เปลือยท่อนบนอาบ

ส่วนการอาบน้ำขันก็ใช้วิธีนับขันกันคือใช้น้ำได้ 8-10 ขันต่อคน

แต่กระนั้นสาวๆในเรือนจำก็รักสวยรักงาม โดยพวกเธอก็มีวิธีดูแลตัวเองที่แสนน่าทึ่ง ไว้จะเล่าให้ฟังต่อไปนะคะ

 

2 สิงหาคม 2559

ด้วยระเบียบการประกันตัวของศาลทหาร เราจึงต้องเดินทางกลับเข้าเรือนจำและทำเรื่องปล่อยตัวที่นี่

เท่าที่ทราบแต่เดิม ทุกคนต้องผ่านขั้นตอนการตรวจร่างกายและเข้าไปรอที่เรือนนอน จนกว่าหมายปล่อยตัวจะมาถึง หรือจนกว่าขั้นตอนทางเอกสารจะเสร็จสิ้น ซึ่งทั้งหมดกินเวลาหลายชั่วโมง และกว่าจะได้ออกสู่ประตูอิสรภาพอีกรอบก็ราวสองถึงสามทุ่ม

แต่น่าจะด้วยสาวๆนักสู้หลายท่านที่ออกมาไฟท์เรื่องขั้นตอนเหล่านี้แน่ๆ ที่ทำให้วันนี้เราใช้เวลาในเรือนจำไม่ถึงสองชั่วโมง

ทุกอย่างเสร็จสิ้นแค่ด้านหน้าประตูทางเข้าเรือนจำแค่นั้น ทั้งการรับตัวเข้าและการปล่อยตัวออก

ตัดขั้นตอนการตรวจร่างกาย การต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและเดินเข้าเรือนนอน

เหลือเพียงการพิมพ์ลายนิ้วมือ การทำประวัติ การตรวจสอบบุคคลเท่านั้น

บอกตามตรงว่าการต้องเดินกลับมาเรือนจำอีกรอบ ค่อนข้างหลอนสติเราพอสมควรกับบรรยากาศเดิมๆ

ต่อให้เรากำหมายปล่อยตัวไว้ในมือก็ตามเถอะ

ต้องขอบคุณเหล่าสาวนักสู้ทั้งน้องปั้บ กรกนก Pup Kornkanok Khumta และคุณจิตรา คชเดช Jittra Cotchadet มากที่ทำให้อะไรๆมันสมเหตุสมผลมากขึ้น

และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลางที่เป็นธุระเดินเรื่องให้อย่างเร่งมือ พร้อมการต้อนรับที่น่ารักมากๆ

ขอบคุณทนายทั้งสอง คุณวิญญัติ ชาติมนตรี และพี่บอนด์ Kunpat Singhathong ที่ทำคดีด้วยใจจริงๆ วันนี้คุณวิญญัติเป็นฮีโร่มากที่มาทำเรื่องประกันได้ทันเวลา ทั้งๆที่กำลังจะก้าวขาผ่านประตูเครื่องบินไปทำคดีที่เชียงใหม่

ขอตัวพักผ่อนซะทีนะคะ #MyLongDay

 

27 กรกฎาคม 2559

เรื่องที่เป็นที่โจษขานกันมานานเกี่ยวกับความแออัดในเรือนจำ คงหนีไม่พ้น "การนอน"

ในแดนแรกรับของทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ มีเรือนนอน 2 หลัง คือ อาคารเพชรและอาคารทับทิม ไม่รวมอาคารใหม่ที่กำลังก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน

เรานอนอยู่อาคารทับทิม ห้อง 7 ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นห้องสำหรับคนป่วยและคนแก่ และเหตุที่เราได้นอนห้องนี้น่าจะเพราะเรารอการประกันตัวเพื่อกลับบ้าน

ในห้องจุคนเกือบ 200 คน ในช่วงปกติจะมีคนนอนประมาณ170-180 คน แต่มีช่วงพีคที่ตัวเลขพุ่งไปเกือบ 190 คน

ลักษณะการนอนจะนอนเรียงกันเป็นแถว เบ็ดเสร็จก็ 5 แถว โดยคนหนึ่งจะมีพื้นที่นอนไม่เกินกระเบื้องครึ่ง คือนับเอาจากกระเบื้องแผ่นขนาดประมาณ 10x10 นิ้วที่ใช้ปูพื้น

ในช่วงคนไม่แน่นมากก็พอนอนหงายได้แบบเบียดๆ แต่ช่วงพีคๆจำเป็นต้องนอนตะแคงไปในทิศทางเดียวกันหมด

เรายังโชคดีที่ยังไม่มีโอกาสเจอสภาพแบบที่เรียกกันว่า "ขี่ฮาร์เลย์" คือต้องนอนตะแคงข้างเดียวกันทั้งแถว ถ้าใครจะพลิกก็ต้องพลิกทั้งแถว

ส่วนปลายเท้าก็นอนแบบเอาเท้าเกยกัน ถ้านอนชนกับคนที่โอเค ก็จะนอนแบบสับหว่างได้ แต่ถ้าเจอคนที่เห็นแก่ตัว เค้าก็จะนอนหงายแบบที่เราไม่สามารถแทรกขาลงจนต้องนอนชันเข่าหรือตะแคงงอเข่าได้เท่านั้น

และด้วยความที่ห้องที่เราพักอยู่ชั้น 1 บวกกับเป็นฤดูร้อน ไอร้อนจากกระเบื้องและจากอุณหภูมิร่างกายก็จะระอุขึ้นมาจนเหงื่อหยดติ๋งตลอดคืนแบบที่เรียกว่า พัดลมช่วยไรไม่ได้เลย

ในห้อง 7 นี้นอกจากจะอุดมไปด้วยคนแก่ ก็ยังเต็มไปด้วยคนป่วยสารพัดโรคมานอนรวมกัน ทั้ง HIV วัณโรค เบาหวาน ความดัน ไปจนถึงผู้ป่วยทางจิต

ในแถวที่นอนขาชนกับเราจะมีผู้ป่วย HIV หลายคนและเราจำเป็นต้องนอนเกยขากับเค้า จนเพื่อนผู้ต้องขังต้องคอยเตือนให้เราตัดเล็บเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้ไปข่วนโดนผู้ป่วยเหล่านั้นได้

นอกจากนี้โรคยอดฮิตที่เป็นกันแทบทุกคนในเรือนจำ ก็คือ "เหา" และ "เชื้อรา" ที่เราโชคดีมากมายที่รอดมาได้ทั้งคู่

นี่คือสภาพการนอนที่ไม่มีใครเคยเจอแน่นอน และยากที่จะทำใจให้ชินได้

ในช่วงแรกเราทั้งปวดตัวและเป็นรอยช้ำจ้ำๆบริเวณขาเนื่องจากรอยกดทับกับพื้นกระเบื้อง

แต่อย่างที่เคยบอกว่า อยู่ในคุก ต้องกินให้ได้ นอนให้หลับ นับยอดให้ถูก

เราจึงนอนได้หลับทุกคืน ถึงแม้จะตื่นแทบจะทุกชั่วโมงตลอดคืนในช่วงแรกๆก็ตาม

ปล.รายละเอียดเรื่องการนอนยังมีอีกมาก ไว้มาต่อภาค 2 นะคะ

 

25 กรกฎาคม 2559

ความบันเทิงหนึ่งเดียวในเรือนจำก็จะเป็นช่วงเวลาดูทีวีก่อนนอนของทุกคืน

ในวันจันทร์-ศุกร์ก็จะเป็นละครไทยสลับกับซีรี่ย์เกาหลี

ในขณะที่เสาร์-อาทิตย์ก็จะเป็นภาพยนตร์สลับกับเกมโชว์

ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านแผ่นดีวีดีฉายบนทีวีจอเล็กที่ไร้ซึ่งความคมชัดและระบบเสียงที่แสนอู้อี้

แต่กระนั้นทุกคนก็ตั้งตาดูแบบอินจัด เพื่อที่จะสามารถนำมาเม้ากันต่อได้ในเช้าวันถัดไป

เราเป็นคนไม่นิยมละครไทยเลย รู้สึกไร้สาระและหาตรรกะไม่ได้

แต่ในช่วงที่ใช้ชีวิตในเรือนจำก็เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่นำละครไทยยอดฮิตมาให้ดู

นั่นก็คือ "เพื่อนรักเพื่อนร้าย" และ "กำไลมาศ"

เรียกได้ว่า ตั้งตารอดูลุ้นกันทั้งแดน อินชนิดที่เรียกว่าถ้ากระชากนางตัวร้ายออกมาตบได้ พวกนางคงทำจนสาแก่ใจ

วันนึงขณะฉาย "เพื่อนรักเพื่อนร้าย" เป็นฉากที่ตัวร้ายใส่ร้ายนางเอกให้พระเอกฟัง และพระเอกก็เชื่อจนต่อว่านางเอก มีเสียงหนึ่งตะโกนขึ้นมาลั่นแดนว่า "ไอ้ควาย" เท่านั้นล่ะ เราขำไม่หยุด

ด้วยความที่ไม่มีอะไรทำขณะเข้าเรือนนอน เราก็มักจะคุยหรือไม่ก็หลับก่อนชาวบ้าน แต่ด้วยความที่เรานอนค่อนมาทางหน้าห้องซึ่งเป็นที่ตั้งของทีวีแขวนผนัง หลายคนที่นอนท้ายห้องก็มานั่งแทรกเราจนไม่สามารถนอนได้ สุดท้ายเราก็เลยดูละคร

และไม่น่าเชื่อ เราติดละคร "กำไลมาศ" งอมแงม

เดชะบุญที่ คืนสุดท้ายของชีวิตในเรือนจำคือตอนอวสานของ "กำไลมาศ" พอดี

และด้วยความที่ใครๆก็ตั้งตารอดูหนังละคร การถูกลงโทษด้วยการปิดทีวีในคืนนั้นจึงเป็นอะไรที่บีบคั้นและสร้างความเจ็บใจต่อผู้ต้องขังอย่างมาก

ปล. ไว้จะเล่าการนอนที่แสนเบียดเสียด ขอติดไว้ในคราวหน้านะคะ

 

24 กรกฎาคม 2559

ไหนๆเล่าถึงเรื่องอาหารการกินในคุกแล้ว ก็ขอเล่าต่อเรื่อง "ขัน" สารพัดประโยชน์ที่ติดค้างกันไว้เลยแล้วกัน

ภาชนะที่ใช้รับประทานอาหารในกองเลี้ยงจะเป็นถาดหลุม แต่โดยทั่วไปหากเราซื้ออาหารทานเอง ก็มักจะทานจากถุงนั่นเลย

ทุกๆคนจะมีอุปกรณ์ทานอาหารเพียงแค่ช้อนพลาสติกยาวๆคนละ 1 อัน (ห้ามซื้อเกิน) จะมีเพียงคนที่มีเงินและอยู่มานานๆแล้วเท่านั้นที่จะพอมีแวร์ (tupperwear) ใช้กัน

ดังนั้น "ขัน" ที่ทุกคนใช้ทั้งเข้าส้วม อาบน้ำ แปรงฟัน ซักผ้า ก็จะถูกนำมาใช้เป็นภาชนะใส่และปรุงอาหารด้วย

แรกๆที่ไปอยู่ ให้ตายยังไงก็ไม่คุ้น กินข้าวในขันไม่ลงจริงๆ แต่อยู่ๆไป ก็เริ่มกินได้ตามวัฒนธรรมองค์กรเรือนจำ

ยำไส้กรอกในขัน ยำมาม่าในขัน ไก่ต้มน้ำปลาฉีกใส่ขัน ขนมจีนเขียวหวานในขัน ไปยันแกงจืดในขัน

มีเรื่องเล่าจากน้องผู้ต้องขังยาเสพติดคนนึงว่า มีผู้ต้องขังสูงวัยคนนึงติดอยู่มา 15 ปี พอได้รับอิสรภาพออกไปไม่ถึง 2 ปีก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เพราะกินข้าวจากขันนี่ล่ะ

ในช่วงเช้าของทุกวัน เรือนจำจะมีบริการน้ำร้อนแจก เพื่อไว้ทานกาแฟ ต้มมาม่า ตามแต่จะทำกัน

และภาชนะหลักที่ถูกนำมาใช้เพื่อใส่น้ำร้อนก็คือ กระป๋องถั่วโก๋แก่ที่เป็นพลาสติก หรือไม่ก็ขวดน้ำพลาสติก

โชคดีที่เราเป็นคนไม่ดื่มกาแฟเลยหลีกเลี่ยงข้อนี้ไปได้ในระยะแรก แต่ตอนหลังก็มาจบที่เราใช้กระป๋องโก๋แก่ทานมาม่าในตอนเช้า

สิ่งที่ตั้งใจจะสื่อต่อกรมราชทัณฑ์ก็คือ การนำแวร์หรืออุปกรณ์การรับประทานอาหารที่มีคุณภาพดีหน่อยมาขายให้กับนักโทษ มันคงไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงหรอก

หรือว่าความเป็นนักโทษก็แค่วรรณะต่ำสุดทางสังคม ที่ไม่ต่างอะไรจากวรรณะจัณฑาลในอินเดีย

กระนั้นหรือ

ปล. ตามระเบียบ "ขัน" ก็สามารถซื้อได้แค่คนละใบ และด้วยสภาพล๊อคเกอร์เก็บของที่เล็กด้วย ทุกคนจึงจำเป็นต้องมีแค่ขัน 1 ใบ ต่อการนำไปใช้ประโยชน์อีกสารพัด และอย่างที่เคยเล่าว่า การปรุงอาหารในเรือนจำเป็นเรื่องผิดระเบียบ แม้แต่ยำไส้กรอก ยำมาม่า แต่หลายๆคนก็ทำกัน และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เข้มงวดมาก ซึ่งไม่มีใครรู้เหตุผลของการห้ามในข้อนี้เลย รู้แต่ว่าไร้สาระมาก

 

21 กรกฎาคม 2559

จริงอยู่ว่า "เรือนจำ" จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม ที่ทำหน้าที่นำคนผิดมาลงโทษด้วยการจองจำจนกว่าจะครบกำหนด

แต่กรมราชทัณฑ์เองก็ควรตระหนักว่า นักโทษแต่ละคนที่พ้นโทษออกไป ได้กลับไปเป็นภาระแก่สังคมอีกหรือไม่

ความลำบากหรือกฎระเบียบหลายๆอย่าง ไม่ได้มีผลต่อการกลับตัวกลับใจเลย

แต่กลับส่งผลให้ทุกคนที่ผ่าน "หลักสูตรเรือนจำ" มีทักษะการเอาตัวรอดที่สูงขึ้น ซึ่งก็คือทักษะการแก่งแย่งชิงดี ที่สามารถทำให้คนดีๆกลับกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวได้ไม่ยาก

รวมไปถึงการฝึกอาชีพที่น้อยคนนักจะสามารถได้ทักษะจนสามารถนำไปเป็นอาชีพได้จริงๆ

ไหนจะเหล่านักโทษคดียาเสพติดที่วนเวียนเข้าออกเรือนจำราวกับบ้านหลังที่ 2 เพราะไม่ได้สำนึกถึงโทษที่ร้ายแรงและกัดกร่อนชาติของยาเสพติด

นี่ยังไม่รวมไปถึงนักโทษที่ป่วยทางจิตไปเพราะความกดดันและเครียดจากชีวิตในเรือนจำ

การถูกกล่าวขานว่าเป็น "เรือนจำสีขาว" เพราะปลอดยาเสพติดอย่างที่ภูมิอกภูมิใจกัน

ไม่น่าจะสำคัญเท่ากับความสามารถในการ "คืนคนดีจริงๆสู่สังคม" ได้

หรือเป็นแค่ที่ที่พักชั่วคราวเพียงคั่นเวลาของคนกระทำความผิดจริงๆ

แต่เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่กลายเป็นเหยื่อ เป็นแพะของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

 

19 กรกฎาคม 2560

หลายคนอยากรู้กันจริงๆว่า "สุขา" หรือ "ส้วม" ในเรือนจำมีหน้าตายังไง

คืนแรกในเรือนนอน หลังเข้าประจำที่ แม่อำไพสาวใหญ่ที่นอนข้างๆก็ชี้ไปหลังห้องเพื่อชี้แจงการใช้งานส้วมในนั้น

"บล๊อคแรกห้ามขี้ ถ้าจะขี้ก็ใช้บล๊อคสองกับสามเท่านั้นนะ"

ที่เรียกบล๊อค ไม่ได้เรียกห้อง เพราะสภาพ "ส้วม" ที่เราเห็นนั้นเปิดโล่ง ไร้กำแพงหรือสิ่งใดๆกั้น ในห้วงเวลานั้นคือสองทุ่มกว่าๆ ในห้องที่จุคนขนาดเกือบสองร้อยคนกับสามบล๊อคนั้น จึงมีผู้คนยืนเรียงรอคิวเข้า "ส้วม" กันอย่างคับคั่งทีเดียว

ส่วนสุขาด้านนอกนั้น ก็เป็นบล๊อคเรียงต่อกันราว 10 บล๊อค โดยมีกำแพงกั้นสามด้านคือด้านหลังและด้านข้างทั้งสองสูงประมาณหัวไหล่เรา ส่วนด้านหน้าก็สูงแค่พอข้ามได้ มองไกลๆก็จะเห็นคนนั่งเรียงกันเพื่อทำธุระ

ทุกคนจะมีขันประจำตัวเพื่อใช้ทำธุระ (ไว้จะเล่าเรื่องขันสารพัดประโยชน์ในภายหลัง) และด้วยเครื่องแต่งกายผู้ต้องขังเป็นผ้าถุงยาวกรอมเท้า เวลาทำธุระใน "ส้วม" ก็ใช้ผ้าถุงนั่นล่ะบังส่วนสงวนเอาไว้

แรกๆต้องบอกว่าเรากระอักกระอ่วนมาก และหลีกเลี่ยงการเข้า "ส้วม" ด้วยการแทบไม่ทานอะไร รวมถึงไม่ยอมดื่มน้ำด้วย แต่เมื่อทำใจรับสภาพ พร้อมบอกตัวเองว่าต้องดูแลตัวเองให้ได้ เราก็ใช้วิธีเลือกเวลาที่คนน้อยๆเพื่อทำธุระใน "ส้วม"

เหตุผลที่สุขาในเรือนจำมีลักษณะนี้ก็เพื่อป้องกันการทำร้ายตัวเองหรือการแอบกระทำความผิดในที่ลับตา "ส้วม" จึงเปิดโล่งสู่สายตาสาธารณะด้วยเหตุนี้

แต่จะว่าไป ผู้ต้องขังที่นี่ก็ชินชากับการใช้งานในลักษณะนี้กันหมดแล้ว ถึงขนาดยืนคุยกันในขณะที่อีกฝ่ายทำธุระไปด้วย หรือตะโกนคุยกันข้ามบล๊อค

จะว่าไปการอาบน้ำ การนอนทุกอย่างในเรือนจำก็ล้วนอยู่ในสภาพกระอักกระอ่วนใจทั้งสิ้น ดังนั้นการใช้ชีวิตอยู่ในนั้นให้ได้ ทุกคนจึงต้อง "ลดขนาดตัวเอง" ให้ได้

ไม่ว่าข้างนอกจะยิ่งใหญ่ ร่ำรวย หรูหราเพียงใด แต่การต้องเข้าไปใช้ชีวิตในนั้น ต้องสะกดตัวเองเสมอว่า คนอื่นอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้

และสิ่งที่เราคอยบอกตัวเองตลอดก็คือ อยู่แบบอดทน อยู่เพื่อประทังชีวิต ยังไงซะวันนึงเราก็ต้องได้ออกมาแน่ๆ

#ทัณฑสถานหญิงกลาง #ส้วมในเรือนจำ #ชีวิตในคุก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น