โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประธานป.ป.ช.ระบุปมนาฬิกาหรูยังไม่คืบ ยันพร้อมออกหากคุณสมบัติขัด รธน.

Posted: 15 Jan 2018 11:57 AM PST

ประธานป.ป.ช. ระบุปมนาฬิกาหรูยังไม่คืบ ยันไม่หวั่นถูกยื่นตีความ กรณีสนช.ต่ออายุจนครบวาระ ย้ำเป็นเรื่องดี ไม่ทำให้คลุมเครือต่อการทำงาน พร้อมพ้นตำแหน่งหากคุณสมบัติขัดรธน. ด้าน รอง ปธ. สนช.ยัน สมาชิก สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณียกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ 

 

15 ม.ค. 2561 รายงานข่าวระบุว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการครอบครองนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลให้ครบทุกด้าน ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้า แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ยิ่งประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ยิ่งต้องดำเนินการให้รอบคอบ จึงไม่ได้กำหนดกรอบเวลา เพราะมีแนวทางทำงานอยู่แล้ว ส่วนจะต้องนำส่งนาฬิกาทุกเรือนให้ป.ป.ช ตรวจสอบหรือไม่ เป็นแนวทางการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ และต้องตรวจสอบภาพที่พล.อ.ประวิตรสวมนาฬิกาว่าเกิดขึ้นเมื่อใด 

ส่วนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน 40 อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ร่วมผลักดันกฎหมาย นิรโทษกรรม ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ไม่คิดว่าจะรวดเร็วตามที่เกิดกระแสข่าว เพราะ ป.ป.ช.มีเรื่องค้างการพิจารณาจำนวนมาก ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายลูก  อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหามีจำนวนมากและเป็นผู้ใหญ่ทั้งรัฐมนตรีและอดีตส.ส. จึงต้องให้ความเป็นธรรมในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน 

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าคดีนี้จะเป็นการล้างส.ส.พรรคเพื่อไทยหรือไม่ นั้น ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า คงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากการพิจารณาคดีต้องทำเป็นองค์คณะ ทุกอย่างต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะกฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้ที่มีความสงสัยในมติป.ป.ช.สามารถขอตรวจสอบมติที่ออกมาได้ ในฐานะประธานป.ป.ช.ได้ย้ำเสมอว่าทุกเรื่องที่มีความสำคัญ กรรมการต้องครบองค์ประชุม 9 คน จะไม่ยอมให้ขาด ลา เว้นแต่กรรมการคนนั้นต้องห้ามร่วมประชุมตามข้อกฎหมาย ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง

สำหรับกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการดำรงตำแหน่งจนครบวาระของกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลใจ แต่มองว่าเป็นเรื่องดีจะได้ไม่เกิดความคลุมเครือต่อการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคต หากจะต้องพ้นจากตำแหน่งมีเพียง 2 คน คือ ตนเองและนายวิทยา อาคมพิทักษ์เท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นต้องสรรหาใหม่ ส่วนกรรมการ ป.ป.ช.ที่เหลือสามารถทำงานต่อไปได้ 

"ผมอยากให้เรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ยืนยันไม่หวั่นไหว เพราะไม่เคยเดินหนีปัญหา โดยขอให้ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย หากศาลเห็นว่าคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามต้องขัดต่อรัฐธรรมนูญก็พร้อมพ้นจากตำแหน่ง ดีกว่าจะให้มติของป.ป.ช.ที่ผ่านมาต้องมีข้อครหา แต่หากไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องทำงานเต็มที่และทำให้ดีกว่าเดิม" ประธานป.ป.ช. กล่าว

ส่วนความเห็นต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วย ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ได้ส่งความเห็นกลับไปยังสนช.แล้วและไม่มีข้อท้วงติง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งสุดท้ายจะตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่อยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รอง ปธ.สนช. ยันสมาชิกร้องศาล รธน.วินิจฉัย กรณียกเว้นคุณสมบัติ ป.ป.ช.ได้ 

ด้าน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่หนึ่ง กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิก สนช.บางส่วนเตรียมเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื้อหาของ พ.ร.ป. ว่าด้วย ป.ป.ช.ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ สนช.ไปแล้ว ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ป.ป.ช. นั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า สมาชิก สนช. บางส่วน เห็นว่าคำวินิจฉัยเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยกเว้นเฉพาะคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระเท่านั้น แต่ไม่ได้ครบคลุมถึงลักษณะต้องห้าม ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อยุติจึงควรยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว

สุรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ได้ข้อยุติที่ชัดเจนแล้ว จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะ ป.ป.ช. จะได้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและไม่มีข้อครหาตามมาในอนาคต หรือหากมีประเด็นอย่างหนึ่งอย่างใด จะได้มีการแก้ไขร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช.ก่อนที่ประธาน สนช. จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาเคยมี สมาขิก สนช.เข้าชื่อ เพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื้อหาของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมาแล้ว เชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวสังคมจะให้การยอมรับ
 
รายงานข่าวระบุว่า สมาชิก สนช. ที่ติดใจเนื้อหากฎหมายดังกล่าว ต้องรวมกลุ่มกันเข้าชื่อจำนวน 1 ใน 10 ของสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ คือ 25 คน โดยสามารถยื่นผ่าน สนช. หรือยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้ ซึ่งเป็นสิทธิที่สมาชิก สนช. สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ ประธาน สนช.จะต้องส่งร่างกฎหมายไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งหาก สมาชิก สนช.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สนช.ก็ต้องรอให้ศาลมีคำวินิจฉัยแล้วเสร็จก่อน จึงจะดำเนินการต่อไปได้
 
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ตามบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.นั้น สนช.มีมติเสียงข้างมาก ให้ยกเว้นการใช้ลักษณะต้องห้าม เพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันอยู่ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ อาทิ ลักษณะต้องห้ามที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. หรือ ส.ว. มาก่อนระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช.ที่ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.มาในปี 2557 และยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองให้กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมาก่อนด้วย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] แถลงข่าวและเสวนา "เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช."

Posted: 15 Jan 2018 08:47 AM PST

15 ม.ค. 61 ตัวแทนภาคประชาชนร่วมเวที ชี้แจงปัญหาผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. ระหว่างแถลงข่าวที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเปิดตัวโครงการเข้าชื่อผู้สิทธิเลือกตั้ง 10,000 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติ "ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน)"

ทั้งนี้เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรที่จะได้มาจากการเลือกตั้งพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.รวม 35 ฉบับ ซึ่งซึ่งทางเครือข่ายเห็นว่ามีเนื้อหาจำกัดขัดต่อหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างร้ายแรง

คลิปช่วงแถลงข่าวเพื่อล่า 10,000 รายชื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 35 ฉบับ

คลิปช่วงเสนาโดยตัวแทนภาคประชาชนชี้แจงผลกระทบจากประกาศ-คำสั่ง คสช.

บารมี ชัยรัตน์ จากเครือข่ายสมัชชาคนจน ระบุว่า ทางสมัชชาคนจนได้รับผลกระทบจากประกาศคำสั่ง คสช.หลายๆ ฉบับโดยเฉพาะประกาศคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งสมาชิกสมัชชาคนจนถูกผลักดันออกจากที่อยู่อาศัยโดยไม่สามารถต่อรองหรือทำอะไรได้ นอกจากนี้ก็ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมาย สปก.เปิดโอกาสให้นายทุนเข้าไปใช้พื้นที่ สปก.ได้

ด้านนุชนารถ แท่นทอง จากเครือข่ายสลัมสี่ภาคก็ระบุว่า กลุ่มของตนได้พยายามผลักดันเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัยของคนจนเป็นสำคัญ แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มหรือว่าพยายามประชุมกรรมการในกลุ่มตนกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช. 7/2557 ว่าห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ผลกระทบจากคำสั่ง คสช. เช่นนี้ถือเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพจากกลุ่มคนจน และทำให้ปัญหาหลายส่วนนั้นไม่ได้รับการสะท้อนออกไปสู่สังคมอย่างแท้จริง

สามารถลงชื่อได้ที่ https://ilaw.or.th/10000sign

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สามชาย ศรีสันต์: งานวันเด็กสะท้อนอะไรในสังคมไทย ?

Posted: 15 Jan 2018 06:33 AM PST

1. สะท้อนว่าทหารยึดอำนาจมานานปี ประชาธิปไตยไทยมีช่วงเวลาน้อยนิด ภาพงานวันเด็กคืองานที่เด็กได้มาทดลองจับปืนจริง ปีนขึ้นไปบนรถถัง สำรวจเรือรบ BBC Thai ระบุว่า 62 ปีที่ผ่านมา มีนายกฯ มาจากทหาร 9 คน มอบคำขวัญวันเด็ก รวม 36 ปี 33 คำขวัญ มีนายกนายกฯ พลเรือน และตำรวจ มอบคำขวัญวันเด็ก 24 ปี 21 คำขวัญ  จึงไม่แปลกที่ภาพวันเด็กเป็นเสมือนวันจัดแสดงอาวุธของกองทัพ

2. กิจกรรมยอดนิยมในงานวันเด็กคือ ให้เด็กสวมบทบาทสมมติตามอาชีพของผู้ใหญ่ ผ่านอุปกรณ์ เครื่องมือทางวิชาชีพ แต่อาชีพที่ถูกนำมาจัดแสดงล้วนเป็นอาชีพที่ทรงอิทธิพล มีสถานะในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล นักบิน แต่อาชีพที่ไม่เคยถูกนำมาจัดแสดงให้เด็กๆ ได้สวมรับบทบาทเลยคือ เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง คนถีบสามล้อ แม่ค้าหาบเร่แผงลอย เด็กไทยจึงซึมซับแต่เกียรติภูมิความสูงส่งของอาชีพบางอาชีพ ที่เป็นฝ่ายกระทำ ไม่เคยรับรู้ความทุกข์ยาก เข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจต่อคนในอาชีพอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำจากอาชีพที่มีเกียรติ มีอำนาจ

3. งานวันเด็กผลิตซ้ำเด็กที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ ในแบบอำนาจนิยม สิ่งที่จัดแสดงให้เด็กล้วนเป็นเรื่องของอำนาจ สิทธิพิเศษ ที่ได้มาจากตำแหน่งหน้าที่ ไม่สนใจเสนอถึงหลักการ วิธีคิด จริยธรรมในวิชาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการได้มาซึ่งสิทธิพิเศษของตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ ด้วยเหตุนี้ การได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หรือได้จับมือกับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เป็นสิทธิพิเศษที่พึงไขว่คว้าหาโอกาส โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นจะได้มาโดยชอบหรือไม่

4. สังคมไทยส่งมอบลักษณะอำนาจนิยมผ่านคำขวัญวันเด็กในทุกปี คำขวัญในทุกปีจะสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและนโยบายรัฐบาลในขณะนั้น และใช้คำประเภทคำสั่งให้กระทำ หรือให้นิยามเกี่ยวกับความดี แนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะกับเด็กแต่เป็นประชาชนทั่วๆ ไปที่ควรจะได้น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติด้วย(thematter.co/pulse/childrens-day-motto)

5. ส่วนที่ผู้ใหญ่จะพูดกับเด็ก หรือพูดถึงตัวเด็กโดยตรงก็คือ การฝากอนาคตไว้กับเด็กพร้อมไปกับหน้าที่ ที่จะต้องกระทำ โดยไม่เคยบอกเลยว่า ได้วางอนาคตของประเทศในวันที่เด็กเหล่านี้จะเติบโตไว้อย่างไร วันเด็กจึงควรเป็นวันที่ผู้ใหญ่มาบอกกล่าวต่อเด็กว่า ได้ให้สิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการแก่เด็กเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง และจะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางใดเพื่อส่งมอบต่อให้กับเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

6. เอาเข้าจริงๆ วันเด็กดูจะเป็นวันที่ผู้ใหญ่ใช้หวนรำลึกถึงความหลังในวันเด็กของตัวเองมากกว่า ที่จะทำอะไรให้กับเด็กๆ จะเห็นได้จากในสื่อออนไลน์ ที่ทุกคนพยายามสื่อภาพถ่ายของตัวเองในวัยเด็ก สถานที่ท่องเที่ยว ขนมที่เคยกิน การเล่นซนที่สร้างความผิดพลาด ไม่ได้มีเวทีถกเถียงถึงสวัดิภาพ การคุ้มครอง ปกป้องเด็ก หรือปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวเด็ก ที่ควรจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในปีต่อไป

7. ในวันธรรมดา ที่ไม่ใช่วันเด็ก หน่วยราชการ และธุรกิจเอกชนของไทยไม่เคยมีพื้นที่ให้กับเด็ก วันเด็กจึงเป็นวันเดียวที่เด็กจะได้ใช้พื้นที่ ซึ่งไม่เคยมีได้มีโอกาส วันเด็กจึงมีไว้เพื่อให้วันอื่นๆ สามารถปิดกั้นพื้นที่ไว้ไม่ให้เด็กเข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจการของผู้ใหญ่ ซึ่งยังไม่นับรวมเด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่เคยได้มีโอกาสสัมผัสวันเด็ก

สรุป วันเด็กของไทยไม่ใช่วันที่จะเปิดพื้นที่ให้กับเด็กได้เรียกร้อง แสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ แต่เป็นวันที่เด็กจะต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งสอน เป็นวันที่ผู้ใหญ่จะได้มาแสดงเกียรติภูมิแห่งอาชีพ ย้ำเตือนถึงสิทธิ อำนาจที่มีอยู่ เพื่อปลูกฝังให้เด็กเดินตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ชี้บอก



เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook สามชาย ศรีสันต์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'7 เจ้าของรางวัลโนเบล' เสียใจจุฬาฯ ลงโทษตัดคะแนนนิสิตเดินออกพิธีถวายสัตย์ฯ ชี้ลิดรอนเสรีภาพ

Posted: 15 Jan 2018 05:13 AM PST

7 ผู้ได้รับรางวัลโนเบล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ส่งแถลงการณ์ถึง จุฬาฯ ระบุเสียใจกรณี 8 นิสิตที่เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณถูกตัดคะแนน ชี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพ แนะหาทางออกที่ดีกว่านี้ 

15 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามี 7 ผู้ได้รับรางวัลโนเบล รวมทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย นักวิชาการการศึกษา ต่างประเทศ ส่งแถลงการณ์ถึง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ธงทอง จันทรางศุ ประธานและคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงคว่มรู้สึกเสียใจต่อกรณีที่พวกเรารู้สึกเสียใจที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งแปดคนซึ่งได้เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณถูกตัดคะแนน ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้อีก โดยระบุว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพ พร้อมเรียกร้องให้หาทางออกที่ดีกว่านี้ เพื่อสนทนาทำความเข้าใจระหว่างความเห็นที่แตกต่างกว่าการใช้ทัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเกลียดชังให้ร้าวลึกยังส่งผลต่อภาพลักษณ์และระดับทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

รายละเอียด : 

แถลงการณ์จากผู้ได้รับรางวัลโนเบล อธิการบดีมหาวิทยาลัย นักวิชาการการศึกษา ถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ. ธงทอง จันทรางศุ ประธานและคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พวกเรา ผู้ได้รับรางวัลโนเบล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ได้เห็นและทราบข่าวของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งแปดคนซึ่งได้เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ 

พวกเราเห็นว่าวัฒนธรรมหนึ่งๆ ก็สำคัญ แต่สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกที่แตกต่างในรั้วของมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งที่สำคัญเสมอกัน เพื่อให้ความงอกงามทางความคิดและการเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวกได้มีพื้นที่ทดลองเกิดขึ้น 

พวกเรารู้สึกเสียใจที่นิสิตทั้งแปดคนถูกตัดคะแนน ซึ่งมีผลทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้อีก การกระทำเช่นนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพ

พวกเราคิดว่ามหาวิทยาลัยน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ ที่เป็นการสนทนาเพื่อทำความเข้าใจระหว่างความเห็นที่แตกต่างกว่าการใช้ทัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเกลียดชังให้ร้าวลึกยังส่งผลต่อภาพลักษณ์และระดับทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

พวกเราขอให้ทางคณะกรรมการอุทธรณ์โปรดพิจารณาสิ่งที่พวกเราเสนอ

ผู้ลงนาม

1. Dudley Herschbach ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 1986 : นิสิตกลุ่มนี้ได้ประพฤติตัวไว้อย่างน่ายกย่อง คณะกรรมการที่(ตัดคะแนน)ในมหาวิทยาลัยต่างหากที่ประพฤติตัวได้อย่างน่าอัปยศ มหาวิทยาลัยที่แท้จริงย่อมสนับสนุนนิสิตแบบนี้

2. Sir Richard Roberts ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 1993 : ทุกเสียงควรได้รับการรับฟังโดยปราศจากความเสี่ยงที่ต้องถูกจองจำกักขัง เมื่อนั้นเท่านั้นที่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้มีการศึกษาและพร้อมสำหรับบทบาทในสังคมของพวกเขา

3.John Mather ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2006 : การลงโทษผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นของพวกเขา มีแต่จะทำให้สถาบันนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง และส่งเสริมชื่อเสียงของผู้ที่ถูกลงโทษ

4. Roy Glauber ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2005 : การลงโทษต่อการแสดงเสรีภาพทางความคิดไม่สามารถแก้ต่างได้ด้วยข้ออ้างใดๆ

5. Jerome Friedman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2000 : มหาวิทยาลัยที่ลงโทษนักศึกษาจากความคิดเห็นของพวกเขา แทนที่จะให้โอกาสเปิดวงถกประเด็น ถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เพิกเฉยต่อความรับผิดชอบทางการศึกษาที่มี และจำกัดเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับจุดประสงค์ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกย่องใดๆ

6. Sheldon Lee Glashow ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1979

7. Brian Josephson ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1973

8. Gerhard Casper ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านนิติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา :  ในฐานะของอดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผมรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินการทางวินัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กระทำกับนักศึกษาทั้งแปดคน เนื่องจากพวกเขาเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ที่จัดขึ้นประจำปี นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต้องมีเสรีภาพในการคัดค้านประเพณีเก่าแก่ที่มีมาแต่ดั้งเดิมโดยสงบ และพวกเขาต้องมีเสรีภาพในการแสดงมุมมองความเห็นของพวกเขาอย่างง่ายๆ และตรงประเด็น ในฐานะมิตรของประเทศไทย ผมรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่การกระทำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะทำให้ชื่อเสียงในฐานะของสถาบันการศึกษาชั้นนำต้องเสื่อมเสียไป

9. Gráinne de Búrca, ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

10.  Herbert C. Kelman,  ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านจริยศาสตร์สังคม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

11. James McGaugh ศาสตราจารย์กิตติเมธีด้านประสาทชีววิทยาและพฤติกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์

12. Erica Chenoweth ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ : เสรีภาพในการแสดงออกเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันระดับอุดมศึกษา

13. Peter McLaren ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยแชมปแมน : เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกเป็นสิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนทุกคน เสรีภาพมิใช่เงื่อนไขที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หากแต่เป็นการตั้งมั่นในศีลธรรมที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมในสังคม

14. Philip Zimbardo ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด : พวกเราต้องธำรงไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษา!

15. Sidney Harring ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยเมืองนิวยอร์ก (CUNY) : เสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งแรกที่มหาวิทยาลัยทุกที่ต้องมี – นั่นคือสิทธิที่จะถกเถียงทุกประเด็นได้อย่างเต็มที่โดยเสรี

16. Henry Giroux ศาสตรเมธาจารย์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ : การลงโทษนักศึกษาจากการใช้สิทธิในการเห็นแย้ง เป็นการขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในฐานะของการเป็น "ปริมณฑลสาธารณะ" (Public sphere) ตามหลักของประชาธิปไตย ในกรณีของการลงโทษนี้ มหาวิทยาลัยนี้ได้ละเมิดหนึ่งในหลักที่ไม่ควรละเมิด นั่นคือเสรีภาพในการแสดงความเห็น และสิทธิในการเห็นแย้ง

17. Shirley Steinberg ศาสตราจารย์กิตติเมธีด้านเยาวชน มหาวิทยาลัยแคลกะรี

18.Antonia Darder, ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยโลโยลา เมรีเมาส์

19.Chandler Davis, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยโทรอนโต

20.John Braithwaite, ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

21.Kenneth Saltman, ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยแมสซาซูเซส ดาร์ทเมธาส์

22.Michael W. Apple, ศาสตราจารย์ด้านการวางหลักสูตรและนโยบายการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน

23.David Graeber ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน : ประเด็นนี้เป็นเสมือนประเด็นพื้นฐานของความเหมาะสมในการเป็นมนุษย์ ผมขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยนี้ปฏิบัติตามหลักการที่พวกเขาอ้างว่าได้สอน ได้ปกป้อง และได้ทำตัวเป็นตัวอย่าง

24.Lawrence Lessig ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด : มหาวิทยาลัยอบรมบ่มเพาะนักศึกษาด้วยถ้อยคำและการกระทำ บทเรียนครั้งนี้ถือเป็นความอดสูต่อประเพณีของการศึกษาในทุกๆที่ ประเทศไทยมีดีกว่านี้ และมหาวิทยาลัยของประเทศนี้ก็ควรจะทำตัวให้ดีเยี่ยงคนในประเทศด้วย

25.Diane Ravitch ศาสตราจารย์กิตติเมธี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก : ดิฉันขอสนับสนุนเสรีภาพที่จะได้ศึกษาและเอ่ยวาจาโดยปราศจากความหวาดกลัว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาววานรนิวาสโวย อุตสหกรรมจังหวัดจงใจปกปิดข้อมูลสำรวจแร่โปแตชสกลนคร

Posted: 15 Jan 2018 03:17 AM PST

ชาววานรนิวาสยื่นหนังสือรอบ 4 ทวงถามปมเอกสารแนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชวานรนิวาส โวยอุตสหกรรมจังหวัดละเลยการปฏิบัติหน้าที่และจงใจปกปิดข้อมูลสำรวจแร่โปแตชสกลนคร 

15 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ เวลาประมาณ 11.00 น. ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายประชาชนวานรนิวาสประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือเรื่องทวงถามเอกสารแนบท้ายการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชและแผนผังสำรวจแร่ของบริษัทไชน่าหมิงต๋า โปแตช คอร์เปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จากอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร โดยมี ณัฐฏิกา สาระลักษ์ นักวิชาการประจำนำนักงานอุตสหกรรมจังหวัด รักษาการอุตสาหกรรมจังหวัดสกลคร มารับหนังสือ ทั้งนี้ได้มีทหารจากกรมน.จังหวัดและสันติบาลร่วมสังเกตการณ์และให้ข้อมูล

รายงานข่าวระบุว่า สืบเนื่องจากบริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ ได้รับอาชบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชในเขต อ.วานรนิวาส จำนวน 12 แปลง พื้นที่ 116,875 ไร่ ครอบคลุม 6 ตำบล 82 หมู่บ้าน เริ่มทำการขุดเจาะสำรวจตั้งแต่กลางปี 2559 แต่ทำได้เพียง 2 หลุม เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวคัดค้าน ด้วยหวั่นเกรงผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารและการแย่งชิงน้ำใช้ในพื้นที่ และกลายเป็นกระแสความขัดแย้งมาโดยตลอด เนื่องจากบริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ ก็พยามเปิดหลุมใหม่ก่อนหมดอายุอาชบัตรในต้นปีพ.ศ.2563

ศรี ชันถาวร ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้เข้ามายื่นหนังสือเพื่อขอเอกสารแนบท้ายการขุดเจาะสำรวจมาแล้วถึง 3 ครั้ง ติดตามทวงถามอีก 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ได้มายื่นหนังสืออีกครั้งเพราะสามครั้งที่ผ่านมาไม่เคยได้รับข้อมูล การเดินทางมาจากอำเภอวานรนิวาสซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสกลนครถึงกว่า 80 กิโลเมตรนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยแต่นี่เราต้องเดินทางมาถึง 4 ครั้งโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้เห็นข้อมูลข่าวสารนั้นหรือไม่ ครั้งก่อนมาขออุตสาหกรรมจังหวัดก็บอกให้ไปขอที่กระทรวงอุตสาหกรรม ที่โน้นก็บอกให้กลับมาขอที่นี้ เตะถ่วง ทำเหมือนเราเป็นลูกฟุตบอล ทั้งๆที่เป็นสิทธิของชาวบ้าน ในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงแผนการสำรวจ แผนที่แผนผังการสำรวจ วิธีการสำรวจว่าจะใช้อะไรขุด ขุดแล้วดินแร่ที่ปนเปื้อนขึ้นมาเขาจะเอาไปไว้ที่ไหน แต่ทำไมอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครต้องกีดกันเรา เขาไม่ทำหน้าที่จัดหาข้อมูลข่าวสารที่เป็นสิทธิของประชาชนที่จะรับรู้ได้ และการกีดกันการเข้าถึงข้อมูลนี้ก็ถือว่าละเมิดสิทธิของเรา

มะลิ แสนบุญศิริ ชาววานรนิวาส กล่าวเสริมด้วยว่า ตนไม่เข้าใจว่าทำไมหน่วยงานรัฐไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้กับชาวบ้าน ทั้งๆที่เป็นบ้านของพวกเรา ทุกวันนี้อยู่อย่างหวาดระแวงเห็นรถขนปูน เห็นรถหัวจักรแล่นผ่านก็กลัว ต้องพากันขับรถไล่ตามดู เราไม่อยากได้ แต่ทำไมต้องมาปิดปังข้อมูลกับประชาชน พร้อมย้ำว่า อย่าฆ่าประชาชนด้วยเหมืองฯ เลยขอให้เราตายด้วยความแก่เฒ่า

ด้าน ณัฐฏิกา ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัด กล่าวกับชาวบ้านว่า อำนาจจะอนุญาตให้เอกสารแนบท้ายหรือไม่ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมจังหวัด แต่ว่าขณะนี้ตนทำหน้าที่เพียงรักษาการฯ ซึ่งท่านอุตสาหกรรมจังหวัดไม่อยู่ในวันนี้ ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดยังกล่าวอีกว่าที่ผ่านมาทางอุตสาหกรรมจังหวัดก็ไม่มีแผนการสำรวจของบริษัทเช่นกันว่าจะเจาะสำรวจจุดไหน เมื่อไหร่ โดยทางบริษัทจะทำหนังสือเข้ามาแจ้งเมื่อจะมีการขุดเจาะเป็นครั้งๆ ไป  นางณัฐกิกาย้ำว่า สิทธิการอนุญาตให้ขุดเจาะอยู่ที่เจ้าของที่ดิน ซึ่งชาวบ้านควรจะไปถามจากเจ้าของที่ดินเอง

มะลิ กล่าวก่อนกลับด้วยว่า ในวันนี้แม้จะไม่ได้รับคำตอบเรื่องข้อมูลการเจาะสำรวจรวจแร่หรือเอกสารแนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษที่ร้องขอมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปีและเข้ายื่นหนังสือ 4 ครั้ง โดยครั้งนี้จะไม่ยอมรออีกต่อไปหากครบกำหนดเวลาทีสมควรแล้วอุตสหกรรมจังหวัดไม่แจ้ง หรือไม่ส่งข้อมูลข่าวสารที่ร้องขอให้ ชาววานรก็จะร้องต่อหน่วยงานระดับสูงขึ้นไปถึงการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารซึ่งจะได้ร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

23 องค์กรภาคประชาชนเสนอ ปลดอาวุธ คสช. ล่าหมื่นรายชื่อ ทวงคืนสถานการณ์ปกติ

Posted: 15 Jan 2018 03:15 AM PST

เครือข่ายภาคประชาชน 23 องค์กร จับมือเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 35 ฉบับ เตรียมล่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ พร้อมประกาศทวงคืนประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ภาพจาก iLaw

คลิปช่วงแถลงข่าวเปิดตัวการเข้าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติ "ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน)"

15 ม.ค. 2561 เวลา 09.30 น. ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 23 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเข้าชื่อผู้สิทธิเลือกตั้ง 10,000 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติ "ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน)" เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรที่จะได้มาจากการเลือกตั้งพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.รวม 35 ฉบับ ซึ่งซึ่งทางเครือข่ายเห็นว่ามีเนื้อหาจำกัดขัดต่อหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างร้ายแรง โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆและประชาชนทั่วไปร่วมงานประมาณ 150 คน (สามารถเข้าเสนอชื่อออนไลน์ได้ที่นี่)

 

โดยวันนี้ตัวแทน 23 องค์กรเครือข่ายดีรวมกันอ่านแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

นับถึงเดือนมกราคม 2561 ก็เป็นเวลา 3 ปี 8 เดือนแล้ว ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจตลอดช่วงเวลาดังกล่าว คสช. อ้างความชอบธรรมจากสถานการณ์ไม่ปกติทางการเมือง ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 533 ฉบับ โดยมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 รับรองให้ประกาศและคำสั่งทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายและจะมีผลบังคับใช้เรื่อยไป จนกว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติมายกเลิก

ในบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัว คสช. ทั้ง 533 ฉบับ มีอย่างน้อย 35 ฉบับที่มีเนื้อหาในทางละเมิดสิทธิเสรีภาพ สิทธิทางการเมือง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชนของประชาชน รวมทั้งจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างร้ายแรง

ตัวอย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจทหารเรียกตัวประชาชนมารายงานตัวและควบคุมในสถานที่ปิดลับโดยไม่ตั้งข้อกล่าวเป็นเวลา 7 วัน พร้อมยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งห้ามปราชนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีบางคดีของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ที่จำกัดแนวทางการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน, การดำเนินนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า" ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ทำให้มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีไปแล้วหลายพันคน เป็นต้น

ในปี 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งสิทธิในการบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจก่อนการดำเนินโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเอาไว้ด้วย ประกาศและคำสั่งของ คสช. เหล่านี้จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับยังอ้างอิงและบังคับใช้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้มาโดยตลอด

ในปี 2561 เป็นช่วงเวลาที่ต้องเดินหน้าตาม "โรดแมป" ของรัฐธรรมนูญ เพื่อไปสู่การเลือกตั้งลาประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่หากประกาศและคำสั่งของ คสช. เหล่านี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายใต้กลไกต่างๆ ของทหารย่อมไม่อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรม การตัดสินใจออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ จะยังคงทำโยย คสช. แต่เพียงผู้เดียว ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งภายหลังการเลือกตั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะยังถูกเจ้าหน้าที่ละเมิดได้โดยอำเภอในต่อไป และย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เครือข่ายภาคประชาชนอย่างน้อย 23 เครือข่าย ซึ่งได้รับผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านี้ จึงเห็นควรเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ในเบื้อต้น 35 ฉบับ

เครือข่ายภาคประชาชน จึงพร้อมกันใช้สิทธิตามมาตรา 133 (3) ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเตรียมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน)" ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพ่อพิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหาย ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้ง 35 ฉบับ เพื่อ "ปลดอาวุธ คสข. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ"

สำหรับองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมลงแถลงการณ์ครั้งนี้ประกอบด้วย

1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

2. เครือข่ายหลักประกันสุขภาพ

3. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

4. เครือข่ายแรงงาน

5. เครือข่ายแรงงานนอกระบบ 

6. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

7. เครือข่ายผู้บริโภค

8. เครือข่ายประชนผู้เป็นเจ้าของแร่

9. เครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ  

10. เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน

11. เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

12. เครือข่ายสลัมสี่ภาค (ทุกภาค)

13. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

14. เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (คอป.)

15. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ

16. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

17. สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ

18. สมัชชาคนจน

19. ขบวนการอีสานใหม่

20. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)

21. ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)

22. กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)

23. กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)

 

สำหรับ ประกาศและคำสั่ง คสช. และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ได้มีการเสนอให้ยกเลิกประกอบด้วย 

1. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557

2. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 12/2557

3. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 17/2557

4. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 25/2557 (เฉพาะ)

5. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 26/2557

6. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 29/2557

7. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557

8. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 38/2557

9. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 39/2557

10. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 40/2557

11. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 41/2557

12. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 43/2557

13. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 49/2557

14. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 50/2557

15. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 57/2557

16. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 97/2557

17. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 103/2557

18. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 64/2557

19. คำสั่งงคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 66/2557

20. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 72/2557

21. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 109/2557

22. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558

23. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 4/2558

24. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 5/2558

25. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 17/2558

26. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2559

27. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 4/2559

28. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 9/2559

29. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 13/2559

30. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 55/2559

31. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 74/2559

32. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 5/2560

33. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 31/2560

34. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 46/2560

35. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 47/2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ: สิ่งที่หายไปในรัฐสภา (ของเผด็จการ)

Posted: 15 Jan 2018 02:55 AM PST

ชวนทบทวนกลไกการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยรัฐสภา นับแต่มีรัฐประหาร การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถูกปิดตาย แต่หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้สามารถทำได้  ขึ้นอยู่กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่ากล้าหรือไม่


ที่มาภาพ: วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

มีให้เห็นกันอย่างต่อเนื่องสำหรับข่าวคราว พฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ส่อไปในทางทุจริต และมีพฤติกรรมที่ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ แต่ดูเหมือนทุกครั้งเรื่องราวมักจะจบลงด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ไมค์ทองคำในห้องประชุม ครม. ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในราคาแพงเกินกว่าปกติ ปมการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ ทัวร์ฮาวายที่เรื่องจบไปแล้ว แหวนเพชรของมารดา นาฬิกาหรูที่ยืมเพื่อน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารเช่นเรือดำน้ำจากประเทศจีน การทำสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางกับประเทศจีนที่เหมือนจะเสียเปรียบทุกทาง เรื่องเล่านี้ถูกตั้งคำถาม และถูกพูดถึงอยู่บนหน้าสื่อเรื่อยมา หากแต่ไม่เคยถูกพูดถึงในรัฐสภาเลยสักครั้ง

หากยังจำกันได้ ก่อนการเข้ายึดอำนาจบริหารราชการแผ่นดินโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ตอนนั้นบ้านเมืองเรามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยแบ่งอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐออกเป็น 3 ส่วนคืออำนาจฝ่ายบริหารคือรัฐบาล อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา และอำนาจฝ่ายตุลาการคือศาล โดยอำนาจทั้งสามต่างตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เกินเลยขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้

สำหรับการควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหรือผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารนั้น กระบวนการที่มีการใช้กันโดยปกติคือ การควบคุมตรวจสอบผ่านกลไกรัฐสภา ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การให้ความเห็นชอบต่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การให้ความเห็นชอบต่อการแถลงนโยบายในการบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายทั่วไป การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญๆ เช่น การประกาศสงคราม การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ และการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ
 

ความเหมือนที่แตกต่างของรัฐสภาพลเรือนและรัฐสภาของเผด็จการ

องค์ประกอบของรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติก่อนหน้านี้ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 150 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 กำหนดให้มีที่มาจาก 2 ทางคือ มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนแบ่งเขตโดยใช้จังหวัดเป็นตัวกำหนดรวมทั้งสิ้น 76 คน ส่วนอีก 74 คน มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ประกอบไปด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวน 1 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ ขณะที่ปัจุบันองค์กรซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติภายใต้การปกครองของ คสช. คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจำนวนทั้งหมดไม่เกิน 220 คน ซึ่งล้วนได้มาจากการคัดเลือกโดย คสช.

บรรยากาศในรัฐสภาในช่วงเวลาปกติ เรามักจะเห็นสีสันของการถกเถียงอย่างออกรส ผ่านการตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจ ฯลฯ แต่สำหรับการปกครองของ คสช. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าบรรยากาศของการถกเถียงน้อยลงไปมาก หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นสภาที่มีความเห็นพ้องต้องกันไปเสียทั้งหมด

นอกจากเรื่องที่มา และโครงสร้างซึ่งแตกต่างกันของรัฐสภาในยุครัฐบาลพลเรือนกับยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ความต่างอีกประการหนึ่งคือ อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการตรวจสอบรัฐบาล แม้ว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จะกำหนดอำนาจหน้าที่ของ สนช. ไว้ให้เป็นไปในทางเดียวกันกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาคือการเสนอและพิจารณากฎหมายต่างๆ มีอำนาจในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่นการตั้งกระทู้ถามทั่วไป ตั้งกระทู้ถามสด และการอภิปรายทั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ขอบเขตของการอภิปรายของ สนช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้อำนาจในการอภิปรายไว้เพียง 2 กรณี คือ

1.การอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจากคณะรัฐมนตรีเมื่อมีปัญหาสำคัญ โดยสมาชิก สนช .จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจากคณะรัฐมนตรีซึ่งจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาสำคัญในเรื่องใดบ้าง แต่จะลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจไม่ได้

2.การอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก สนช. ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าสมควรจะรับฟังความคิดเห็นของ สนช. นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธาน สนช. เพื่อให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมของ สนช. แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายไม่ได้

ขณะที่อำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุให้อำนาจรัฐสภาสามารถเปิดอภิปรายได้ 4 กรณี คือ

1.การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย

เมื่อมีการเสนอญัตติแล้วจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ และหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้ยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ก่อนการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

2.การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้ โดยหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของรัฐมนตรีให้ยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งก่อนการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

3.การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งไม่ได้อยู่ในพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ หากคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินเกินกว่า 2 ปี แล้ว

4.การอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ กรณีมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติได้

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้าวันที่ 6 เม.ย. 2560 กลไกในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยรัฐสภาในยุค คสช. ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557
 

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 สนช. มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ?

แต่หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ประกาศใช้แล้ว ในมาตรา 263 ระบุชัดว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ ยังคงให้ สนช. ทำหน้าที่รัฐสภาต่อไป และให้สมาชิก สนช. ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทําหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลําดับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้สิ้นสุดหน้าที่ลงในหนึ่งวันก่อนวันเเรกของการประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังจากการเลือกตั้ง
ขณะที่มาตรา 151 ในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ

นั่นหมายความว่า สนช. มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ในการตรวจการทำงานของรัฐบาล แต่นับจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ประกาศใช้จนถึงวันนี้ได้ผ่านไปราว 9 เดือนแล้ว แต่กลับไม่มีความพยายามที่จะทำหน้าของรัฐสภาในส่วนของการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง

แม้เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2560 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ กลุ่มสตาร์ทอัพพีเพิล ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ขอให้เปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และลงมติถอดถอนรัฐบาล คสช. ทั้งคณะ โดยพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล ที่ปรึกษาด้านการเมืองการปกครองและการบริหารจัดการของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่าจะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) พิจารณาต่อไป แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จาก สนช. แม้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาล คสช. จะมีพฤติกรรมและการดำเนินการต่างๆ ที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่น่าไว้วางใจเพียงใดก็ตาม

เรื่องที่ดูจะร้อนแรงมากที่สุดในเวลานี้เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้ว่าจะมีการยื่นคำตอบเรื่องที่มาของนาฬิกาให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว แต่ในการแถลงข่าวเรื่องดังกล่าวกลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ ออกมาเลย ขณะที่เพจ CSI LA ซึ่งติดตามประเด็นนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตรอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า รวมแล้วตอนนี้มีทั้งหมด 19 เรือน รวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นทรัพย์ที่มีอยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ต้องยื่นให้กับ ป.ป.ช. และเมื่อมีผู้สื่อข่าวที่ติดตามถามเรื่องนี้กับพลเอกประวิตร คำตอบที่ได้รับกับมาคือ เสียงร้อง โอ้ย! และเดินจากไปเพื่อหลีกที่จะให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าว ท้ายที่สุดยังไม่ชัดเจนว่าเรื่องดังกล่าวจะจบลงอย่างไร แต่หากเรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐสภาปกติ เห็นทีพลเอกประวิตรคงหนีไม่พ้นการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความก้าวหน้าท่ามกลางความล้าหลัง (2)

Posted: 15 Jan 2018 01:03 AM PST




อเมริกันอาจเป็นเจ้าอาณานิคมที่ "หล่อ" สุด หลังจากใช้กำลังเข้าปราบปรามกระบวนการปฏิวัติกู้ชาติของฟิลิปปินส์อย่างทารุณโหดร้าย จนมีผู้เสียชีวิตเป็นแสนแล้ว อเมริกันก็จัดให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ผลิตสินค้าที่ตลาดอเมริกันต้องการในราคาถูก วางโครงสร้างอำนาจให้ชาวพื้นเมืองที่ได้ประโยชน์จากการค้ากับอเมริกันมีอำนาจสูงสุดในจังหวัดต่างๆ ของฟิลิปปินส์ ประกาศเลยว่าจุดหมายของการยึดครองฟิลิปปินส์คือการให้เอกราช ใน ค.ศ.1907 ก็เปิดให้มีสภาแห่งชาติซึ่งมาจากการเลือกตั้งขึ้น

อังกฤษตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นในพม่าใน ค.ศ.1897 สภาแห่งนี้ขยายจำนวนสมาชิกจาก 9 คนในตอนแรกขึ้นไปจนถึง 30 คนใน 1915 แม้ว่าสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง แต่ก็แต่งตั้งขึ้นจาก "ตัวแทน" ของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ พอมาถึงช่วงทศวรรษ 1920 ก็เริ่มมีสมาชิกจากการเลือกตั้งผสมเข้ามา

ในรัฐมลายูและสิงคโปร์ อาจไม่ก้าวหน้าเท่าพม่า แต่อังกฤษก็ตั้งสภาบริหารและสภานิติบัญญัติในนิคมช่องแคบ (Strait Settlements – ปีนัง, มะละกา, สิงคโปร์) มาตั้งแต่แรก สมาชิกล้วนมาจากการแต่งตั้ง เช่นเดียวกับในสหพันธรัฐมลายู (Federated Malay States) แม้ว่าสมาชิกของสภาแห่งรัฐจะมาจากการแต่งตั้ง แต่ก็ประกอบด้วย "ตัวแทน" ของกลุ่มอำนาจสำคัญๆ เช่น สุลต่านของรัฐมลายู, ชนชั้นนำชาวมลายู และชาวจีน สภาแห่งนี้มีหน้าที่ทางนิติบัญญัติ

การปกครองของดัตช์บนเกาะชวายิ่งน่าสนใจ เพราะเขาจัดให้มีการรวมตัวกันของประชาชน (Vergadering) ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่ระดับตำบล (Regency) ขึ้นมาถึงระดับบนสุดอยู่เป็นประจำ จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อฝึกการปกครองตนเอง แต่เพื่อให้คำสั่งรัฐมีความยืดหยุ่น สามารถปฏิบัติได้นับตั้งแต่ระดับล่างสุดขึ้นมา แม้กระนั้น ในการรวมตัวกันดังกล่าว ชาวบ้านก็สามารถอภิปรายถึงอุปสรรคในการจะทำตามคำสั่ง สามารถปรับเปลี่ยนคำสั่งให้เหมาะกับสถานการณ์ของตนได้

ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา รัฐบาลฮอลันดาตั้งสภาขึ้นตั้งแต่ระดับตำบลขึ้นมาหลายระดับ แต่จุดมุ่งหมายก็เพื่อทำให้ระบบปกครองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อการปกครองตนเอง จนกระทั่งใน ค.ศ.1916 ก็ตั้งสภาประชาชน (Volksraad) ขึ้นในระดับทั้งอาณานิคม ถึง 1925

สภาประชาชนมีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณ และออกกฎหมายภายในได้ สมาชิกมาจากการเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง และแต่งตั้งจำนวนหนึ่ง

ฝรั่งเศสอาจไม่ได้ทำอะไรอย่างนี้กับอาณานิคมของตนเลย แม้กระนั้นในโคชินไชนา (ที่ราบลุ่มปากน้ำโขง) ซึ่งฝรั่งเศสแยกออกต่างหาก ก็มีสภาอาณานิคมอยู่ด้วย สมาชิกอาจมาจากการเลือกตั้ง แต่เลือกตามกลุ่มผลประโยชน์ เช่น กลุ่มสวนยาง, กลุ่มกาแฟ ฯลฯ และล้วนเป็นพลเมืองฝรั่งเศส ในภายหลังมีชาวเวียดนามที่สามารถโอนชาติเป็นฝรั่งเศสแล้ว ได้รับเลือกเป็นสมาชิกด้วย

ส่วนในลาว, กัมพูชา, ตังเกี๋ย และอันนัม ฝรั่งเศสถือโดยทฤษฎีว่าเป็นรัฐในอารักขา การปกครองภายในจึงเป็นเรื่องของผู้ปกครองชาวพื้นเมือง (ซึ่งก็ไม่มีอำนาจจริง ในทางปฏิบัติ) จึงไม่มีสถาบัน "ตัวแทน" ในพื้นที่ทางการเมืองของรัฐเหล่านี้

J. S. Furnivall อธิบายว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในพม่าไม่ได้ช่วยให้ประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง เพราะชาวบ้านไม่ได้สนใจสภาแห่งนี้เลย นักการเมืองพม่าซื้อเสียงด้วยการเขียนสัญญาว่าจะจ่ายเงินให้หลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว ผู้นำพรรคการเมืองชาวพม่าที่ได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรี ได้รับเงินเดือนสูงลิบลิ่วจนกระทั่งไม่อยากให้รัฐบาลล้ม จึงแทนที่จะทำตามที่ได้สัญญากับชาวบ้านตอนหาเสียง กลับไปร่วมมือกับรัฐบาลอาณานิคมเสียเอง (Colonial Policy and Practice)

ในฟิลิปปินส์ "เจ้าพ่อ" ซึ่งเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ในจังหวัดต่างๆ คือผู้อุปถัมภ์ใหญ่สุดของชาวบ้าน เหตุดังนั้นประชาชนจึงไม่ได้เลือกใครเป็น ส.ส. มากไปกว่าพวก cacique (หัวหน้า, หัวโจก, นายหัว) เหล่านี้ ประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ ทั้งภายใต้สหรัฐและสืบมาจนทุกวันนี้จึงมักถูกเรียกว่า "ประชาธิปไตยนายหัว" (cacique democracy)

แม้ว่าสภาประเภทนี้ในอาณานิคมต่างๆ ไม่เป็นสะพานเชื่อมโยงให้ประชาชนได้อำนาจในการปกครองตนเอง แต่สถาบันการเมืองประเภทนี้กลับเอื้อให้เกิดบรรยากาศของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางซึ่งมีการศึกษา ในทุกวันนี้เรามักเรียกขบวนการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวชาตินิยมเพื่อปลดปล่อยชาติเป็นเอกราช แต่ความจริงแล้วจุดมุ่งหมายในการเคลื่อนไหวสลับซับซ้อนกว่านั้นมาก ชาวพม่าที่ทนมองฝรั่งสวมรองเท้าขึ้นไปเดินบนลานพระเจดีย์ไม่ไหว มีทั้งที่อยากไล่ฝรั่งออกไป และทั้งคนที่อยากปกป้องพระพุทธศาสนา หรือด่าฝรั่งเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวบางอย่าง

ในเวียดนาม แม้ไม่มีสภาให้ชาวพื้นเมืองได้เข้าไปนั่ง แต่มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองเกิดขึ้นมาก บางขบวนการไม่เกี่ยวกับเอกราชเลย เช่น ขบวนการของปัญญาชนบางคนที่เห็นว่า การยึดครองของฝรั่งเศสนั้นเป็นคุณแก่บ้านเมือง ทำให้เวียดนามหลุดพ้นจากอำนาจศักดินาโบราณคร่ำครึ ฉะนั้น ต้องร่วมมือกับฝรั่งเศส และเรียนรู้จากฝรั่งเศสให้เต็มที่เพื่อทำให้เวียดนามเข้าสู่ความทันสมัยอย่างแท้จริง อันจะเป็นผลดีแก่ประชาชนชาวเวียดนามเอง

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการปกครองโดยเทศบาล ซึ่งเจ้าอาณานิคมนำมาสู่อาณานิคมของตนทุกแห่ง บ้างก็อ้างอย่างเดียวกับในเมืองไทยว่าเพื่อฝึกการปกครองตนเอง บ้างก็บอกตรงๆ เลยว่า เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอาณานิคมในการดูแลด้านสุขาภิบาล Furnaivall ประเมินว่าไม่ได้ผลอะไรนัก เพราะระบบสุขาภิบาลที่เทศบาลนึกถึงคือสุขาภิบาลฝรั่ง ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องการ แต่กลับต้องเสียภาษีบำรุง เช่นในชวา เทศบาลระดมสร้างส้วมในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านปิดล็อกกุญแจไว้เพื่อรักษาความสะอาดของส้วม คือไม่มีใครได้ใช้เลย (เหมือนเมืองไทยยุคพัฒนาสมัยที่ผมเป็นหนุ่มเปี๊ยบเลย)

แต่ทั้งหมดนี้ให้ประสบการณ์ (แม้อย่างไม่น่าประทับใจนัก) แก่ประชาชนทั่วไป รู้จักการรวมตัวกันเพื่อขึ้นสู่เวทีต่อรองอย่างมีพลัง ไม่จำเป็นว่าการเมืองมวลชนในลักษณะนี้จะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง แต่ประชาธิปไตยที่มั่นคงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการเมืองมวลชนเป็นฐาน

ย้อนกลับมาเมืองไทยหรือประเทศสยามก่อน 1932 เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการทั้งหมด สยามไม่เคยมี "สภา" ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง ไม่มีแม้แต่สภาที่ปรึกษาที่แต่งตั้งจากคนหลากกลุ่มด้วย อันเป็นข้อเสนอของประชาชนหลายกลุ่มนับแต่ปลาย ร.6 เป็นต้นมา แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงตั้งคณะอภิรัฐมนตรีขึ้น กลับทำความผิดหวังให้แก่ผู้คนจำนวนมาก เพราะ "สภาที่ปรึกษา" นี้ กลับทรงคัดเลือกมาแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ไม่มีขุนนางหรือพ่อค้าไทยที่ประสบความสำเร็จอยู่เลย ในขณะที่สภาที่ปรึกษาของอาณานิคมในช่วงนี้ มี "คนนอก" รัฐบาลประเภทต่างๆ อยู่จำนวนมาก

แม้มีสื่อเอกชนที่ไม่อยู่ในควบคุมของรัฐเกิดขึ้นบ้างแล้ว รวมทั้งบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐ แต่ไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศสยาม ยกเว้นขบวนการที่ต้องปิดลับ เช่น คณะก่อการใน ร.ศ.130 หรือคณะราษฎร จึงไม่อาจนับเป็นประสบการณ์ทางการเมืองของประชาชนได้ คนไทยยังคงเขียนฎีการ้องทุกข์ หรือเสนอแนะด้านนโยบายแก่รัฐเป็นรายบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ ยกเว้นแต่รายที่ร้องทุกข์ยังหนังสือพิมพ์

ที่น่าประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือสถาบัน "ตัวแทน" ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง แทบไม่เคยเป็นประเด็นในบรรดาชนชั้นปกครองสยามเอาเลย ดูเหมือนจะตกลงเห็นพ้องกันหมดในหมู่ชนชั้นปกครอง ว่าสยามยังไม่พร้อมจะมีสถาบันประเภทนี้ ไม่พร้อมเพราะไม่มีใครกล้าแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกับพระราชดำริ หรือไม่พร้อมเพราะราษฎรไม่มีความรู้พอจะเลือก "ตัวแทน" ที่ดีก็ตาม

ความเห็นทำนองเดียวกันนี้ขยายไปรวมเอาที่ปรึกษาชาวยุโรปและสหรัฐที่เราจ้างเข้ามาทำงานด้วย ไม่มีใครสักคนที่เคยให้คำเสนอแนะให้สยามปรับระบบการปกครองเพื่อมีสถาบัน "ตัวแทน" เข้ามาร่วมในการเมืองการปกครองด้วย

นับตั้งแต่ต้น ร.5 มาจนถึงทศวรรษ 1930 ชนชั้นนำของไทยนับตั้งแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงมาถึงพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ได้เดินทางไปยังเพื่อนบ้านอาณานิคมของสยามหลายครั้ง และหลายพระองค์ แต่ในพระราชนิพนธ์, จดหมายเหตุรายวัน และพระนิพนธ์เกี่ยวกับการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ไม่มีพระองค์ใดพูดถึงสถาบันตัวแทนที่เกิดขึ้นในพม่า, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ หรือนิคมช่องแคบเลย จะเป็นว่าเพราะท่านเหล่านั้นไม่สนพระทัย หรือเพราะเจ้าภาพซึ่งก็ไม่ได้นิยมชมชอบสถาบันเหล่านี้เช่นกัน ไม่ได้นำไปชมก็ไม่ทราบได้

แต่หลายพระองค์มักได้เยี่ยมหรือทรงพบกับกษัตริย์หรือคนในราชสำนักของประเทศอาณานิคม แต่ในต้นศตวรรษที่ 20 เจ้าอาณานิคมตะวันตกมักรักษาสถาบันกษัตริย์ของอาณานิคมเอาไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการครองอำนาจของตนเท่านั้น (โดยเฉพาะฝรั่งเศสในอินโดจีน) สถาบันกษัตริย์เหล่านี้สูญสิ้นบทบาททางการเมืองไปหมดแล้ว (แม้แต่กษัตริย์กัมพูชาก่อนสมเด็จสีหนุ) ในขณะที่สถาบันตัวแทนกลับมีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ

ผมไม่ปฏิเสธว่า ไม่มีประเทศอาณานิคมใดที่ได้เอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง แม้ว่าเคยมีประสบการณ์ของการเมืองภาคประชาชนมามากแล้วก็ตาม แต่ผมคิดว่ามีพลังบางอย่างที่ช่วยให้ประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ ของหลายประเทศแถบนี้ ไม่ถอยหลังลงคลองสุดกู่เหมือนในประเทศไทย

ประชาธิปไตยในสิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่อินโดนีเซีย ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่น่าพอใจนักก็จริง แต่อย่างน้อยมันก็ยังดำรงอยู่อย่างครึ่งๆ กลางๆ มาได้ ถึงมีช่วงว่างเว้นไปบ้างในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย แต่ในที่สุดมันก็กลับมา

ยิ่งไปกว่านั้น หากดูในรายละเอียดก็จะพบอะไรที่แตกต่างจากการเมืองไทยอย่างยิ่ง การเมืองอินโดนีเซียนับตั้งแต่ก่อนได้รับเอกราช เป็นการเมืองมวลชนโดยแท้ พรรคการเมืองของเขามีฐานมวลชนเป็นแสนเป็นล้าน พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเคยเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีจำนวนสมาชิกสูงสุดในบรรดาประเทศที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ทั้งหลาย แม้แต่ภายใต้ประชาธิปไตยชี้นำของซูการ์โน ก็ยังต้องอาศัยการเมืองมวลชนเป็นฐานอำนาจ ระบอบ "ระเบียบใหม่" (New Order) ของเผด็จการซูฮาร์โต ที่ครองอำนาจมากว่า 30 ปี แสวงหาความชอบธรรมจากสองด้านคือชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง และอำนาจเถื่อนในการแทรกแซงและกำกับควบคุมอีกอย่างหนึ่ง

รัฐบาลประชาธิปไตยของพม่าดำรงอยู่ได้ประมาณ 10 ปี เผชิญวิกฤตหลายอย่าง เช่น กองกำลังกะเหรี่ยงที่ประกาศไม่ยอมร่วมในสหพันธ์ยกเข้าตีจนถึงชานเมืองย่างกุ้ง กองกำลังกบฏของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าแทบจะแยกประเทศไปครึ่งหนึ่ง กองทหารก๊กมินตั๋งด้วยความร่วมมือของสหรัฐเข้ามายึดและปกครองภาคเหนือของพม่า แม้กระนั้น รัฐบาลประชาธิปไตยก็ยังสามารถออกกฎหมายสำคัญได้คือยกหนี้ให้แก่ชาวนาทั้งหมด และกฎหมายควบคุมค่าเช่านา ทั้งนี้ โดยกองทัพไม่ได้ยึดอำนาจไปเสียก่อนดังในประเทศสยาม/ไทย

ผมยอมรับว่า ปัจจัยอื่นๆ ก็คงมีส่วนอยู่ด้วยที่ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศอดีตอาณานิคมเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ เช่น สงครามเย็นและการเมืองระหว่างประเทศหลังสงคราม หรือ ฯลฯ แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความตื่นตัวทางการเมืองที่กว้างขวางกว่าของประชาชนด้วย อย่าลืมว่าในประเทศไทย ประชาธิปไตยมีอายุเพียงประมาณ 5 ปีหลัง 2475 กองทัพก็กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดทางการเมืองไปมากกว่าผลการเลือกตั้งเสียแล้ว

ทำให้ผมอยากสรุปว่า ความล้าหลังทางการเมืองของสยามเองก็มีส่วนอย่างหนึ่งในการทำให้ประชาธิปไตยไทยอ่อนแอ

 

ที่มา: www.matichonweekly.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ ฉายแสง: ถ้าปปช.ชุดนี้อยู่ได้ คสช.ก็พังแน่

Posted: 15 Jan 2018 12:30 AM PST



 

ทั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ปปช.ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด พรป.จะหักล้างหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

คุณสมบัติของกรรมการ ปปช.อยู่ในรัฐธรรมนูญในมาตรา 232 ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้ที่เป็นกรรมการ ปปช.อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 216

กรรมการ ปปช.บางคนในชุดนี้สรรหาโดยการที่ คสช.ออกคำสั่งกำหนดองค์ประกอบกรรมการสรรหาขึ้นใหม่ให้ประธาน สนช.และรองนายกฯร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ใช้กับกรรมการ ปปช.ชุดนี้ เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับ ปปช.ซึ่งอิงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงอ่อนกว่าที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปัจจุบันอย่างมาก ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ คือ ถ้าเป็นข้าราชการประจำจะต้องเคยเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และถ้าเคยเป็นข้าราชการการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

กรรมการบางคนขาดคุณสมบัติ บางคนเข้าลักษณะต้องห้าม โดยเฉพาะประธาน ปปช.ขาดทั้งคุณสมบัติและเข้าลักษณะต้องห้ามด้วย จึงไม่สามารถเป็นกรรมการ ปปช.ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่ากรรมการ ปปช.ชุดที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับจะอยู่ในตำแหน่งอีกนานเท่าใด ให้กำหนดโดย พรป.

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า สนช.จะใช้ พรป.ต่ออายุให้กรรมการ ปปช.ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือทั้งสองอย่างได้หรือไม่

ดูจากเจตนาของการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก ที่ต่อมาเรียกกันว่าเป็นคุณสมบัติขั้นเทพ กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้เข้มงวดเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาล อย่างที่โอ้อวดกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง รัฐธรรมนูญนี้ย่อมมีเจตนาให้ใช้เรื่องเหล่านี้ทันที ไม่ใช่อีก 7-8 ปีข้างหน้า

สนช.จะทำได้อย่างมาก ก็คือ กำหนดใน พรป.ให้กรรมการ ปปช.ชุดนี้พ้นไปทันทีที่ พรป.ใช้บังคับ แต่ให้รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการ ปปช.ชุดใหม่หรือมากกว่านั้น ก็คือ ให้กรรมการ ปปช.ชุดนี้ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการ ปปช.ชุดใหม่ทีมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ใช่ให้ชุดนี้เป็นไปจนครบวาระ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามอย่างที่เป็นอยู่

การออก พรป.นั้น ต้องทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ซึ่งกำหนดว่า เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และต้องมุ่งหมายให้มีการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

การต่ออายุกรรมการ ปปช.ชุดนี้ทั้งชุดไปจนกว่าจะหมดวาระเดิมนั้น จึงขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน

หาก ปปช.ชุดนี้ยังทำหน้าที่ต่อไป ก็เท่ากับเรากำลังมี ปปช.ที่ตั้งโดยการแทรกแซงของ คสช.จนได้คนของ คสช.มาคุม ปปช. ในขณะที่ คสช.กำลังทำทุกอย่างเพื่อให้พวกตนได้อยู่ในอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง

ปัญหาก็คือ ถ้า คสช.ทำสำเร็จ ตั้งรัฐบาลนายกคนนอกได้ ใครจะตรวจสอบรัฐบาล จะไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชันกันใหญ่หรือ

นี่หรือ คือ รัฐธรรมนูญปราบโกง

นี่หรือ คือ ที่ คสช.บอกว่าเข้ามาเพื่อปราบคอร์รัปชัน

หากปล่อยให้ ปปช.ชุดนี้ทำหน้าที่ต่อไป ไม่แก้พรป. ปปช.เสียให้ถูกต้อง คสช.เตรียมพังทั้งระบบได้เลย

 

ที่มา: Facebook Chaturon Chaisang

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสวัสดิการจึงเป็นแนวคิดที่จำเป็น?

Posted: 15 Jan 2018 12:15 AM PST

 

แนวคิดเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วในสังคมไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร พ.ศ. 2475 ด้วยการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในสมุดปกเหลือง ตลอดจนแนวคิดจากหนังสือ "คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2516 หรือกว่า 40 ที่แล้ว

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่มีความสลับซับซ้อนในปัจจุบัน ทำให้คำถามเกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพชีวิตของคนไทยไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนในสังคมมากนัก เนื่องจากเราถูกค่านิยมแบบกระแสหลักปิดกั้นคุณค่าที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพและประโยชน์ที่เราควรจะได้รับจากการจัดสวัสดิการสังคม อันเกิดจากเหตุผลพื้นฐานคือ เพราะเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ของรัฐที่จะให้การดูแลประชาชนทุกคนอย่างสุดความสามารถ

มนุษย์แต่ละคนที่เกิดขึ้นมาในสังคมจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรต่างๆเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด  การมีสวัสดิการทำให้แต่ละคนมีจุดเริ่มต้นในการแข่งขันที่เท่าเทียมกันมากขึ้น  หลายปีที่ผ่านมาเราไม่ค่อยพบคำถามสำคัญที่ถามว่า "คนรุ่นหนึ่งควรจะได้รับการดูแลจากรัฐอย่างไร"  เนื่องจากรัฐพยายามหล่อหลอมขัดเกลาคุณค่าของสังคมให้เหลือเพียงการพึ่งพาตัวเอง ด้วยการผลิตซ้ำวาทกรรมผ่านสื่อกระแสหลักในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดรับกับแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่รัฐพยายามผลักภาระในการดูแลประชาชนไปให้เอกชนเป็นผู้ดูแลมากขึ้นอันจะสังเกตได้จากค่าใช้จ่ายภาคสาธารณะ อาทิ งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ที่รัฐจัดสรรงบประมาณเพียงร้อยละ 1 ของจีดีพีของประเทศ  แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศสวีเดนที่รัฐจัดสรรงบประมาณในด้านนี้ถึงร้อยละ 9  เพื่อจัดสรรบริการทางสุขภาพให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นหลังจากการถือกำเนิดของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมกลับไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐรวมถึงภาคประชาสังคมอย่างที่ควรจะเป็นแม้ว่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่หลายประเทศในทวีปยุโรปยกให้เป็นเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเป้าหมายหลักคือการพัฒนามนุษย์ (Human Development)

ตามหลักแล้วมนุษย์แต่ละคนที่เกิดขึ้นมาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้นั้นก็ด้วยการได้รับการดูแลและการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ  สำหรับประเทศไทยพบว่าชนชั้นแรงงานเป็นชนชั้นที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ดังนั้นแรงงานคือผู้มีบทบาทสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเศรษฐกิจไทย  อย่างไรก็ตามระบบทุนนิยมกลับไม่ได้มองว่าแรงงานคือมนุษย์คนหนึ่งที่จำเป็นต้องผลิตซ้ำกำลังแรงงานของตนเอง (reproduction labor power) เพื่อนำออกมาขาย  การผลิตซ้ำกับลังแรงงานคือการได้รับอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม เวลาในการพักผ่อน ฯลฯ เพื่อฟื้นฟูความสามารถในการทำงานหรือเพื่อให้กำลังแรงงานที่ถูกใช้ไปถูกฟื้นฟูกลับมาใช้ใหม่ (capacity for creation)

ทว่านับตั้งแต่แนวคิดเสรีนิยมใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย รัฐก็ปล่อยให้ระบบตลาดคืบคลานเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการทำให้ปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตกลายเป็นสินค้า (commodification of basic needs) อย่างหนักหน่วงและมีแนวโน้มที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต  ผลกระทบจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ผ่านแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน (privatization) เช่น การแปรรูปบริษัท ปตท. หรือการแปรรูปองค์กรโทรคมนาคม นั้นคล้ายกับบริบทที่เกิดขึ้นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในยุคแธชเชอร์กับเรแกนที่รัฐปรับลดสวัสดิการและพยายามสร้างคำอธิบายเพื่อมาสนับสนุนการดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ที่ให้ทุนเข้ามาแสวงหากำไรจากการนำบริการทางสังคม โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ เข้าสู่ระบบตลาด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ประชาชนต้องหันมาพึ่งพาตนเองนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

สถานการณ์ที่รัฐผลักภาระให้ประชาชนดูแลตัวเองส่งผลให้แรงงานจำนวนมากสูญเสียโอกาสในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับกลไกตลาด  กล่าวคือนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่กลับทำให้การดำรงชีวิตของแรงงานขึ้นกับการขายกำลังแรงงานในระบบตลาดมากขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันการทำให้กำลังแรงงานกลายเป็นสินค้าจึงทวีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งการทำให้แรงงานกลายเป็นสินค้าหมายถึงการที่แรงงานไม่สามารถเป็นอิสระจากระบบตลาด (Espring-Andersen, 1990) กล่าวคือ แรงงานจำนวนมากต้องพึ่งพาตลาดเพื่อความอยู่รอด การพึ่งพาตลาดคือการที่รัฐปล่อยให้ผู้ใช้แรงงานแบกรับสภาวะความไม่มั่นคงในชีวิตอย่างไม่มีทางเลือก เช่น ความไมมั่นคงจากการไม่ได้รับยาและการรักษาพยาบาลจากแพทย์ในกรณีเจ็บป่วยแม้ว่ายาที่มีในระบบจะถูกผลิตขึ้นเพียงพอต่อความต้องการใช้ยา  หรือความไม่มั่นคงจากการที่ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถทานอาหารได้ครบสามมื้อเนื่องจากไม่มีเงินในการซื้อหาอาหารมาบริโภคแม้ว่าปริมาณอาหารในแต่ละวันจะมีมากพอที่จะเลี้ยงทุกคนในประเทศได้  เป็นต้น

ดังนั้นการทำให้ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตรวมถึงกำลังแรงงานกลายเป็นสินค้าจึงกลายเป็นข้อจำกัดในการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพของแรงงาน ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับถูกผลิตขึ้นโดยรัฐและลัทธิเสรีนิยมที่ทำให้คนเชื่อว่าตลาดเป็นสิ่งที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ได้ดีที่สุด  และสวัสดิการจะถูกกระจายออกไปโดยอัตโนมัติเมื่อระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโต อย่างไรก็ตามภาพสะท้อนที่ตามมากลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากการทำงานของกลไกตลาดก่อให้เกิดการกำหนดค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม  การปรับสดสวัสดิการของรัฐ และการลดภาษีในภาคการลงทุนเพื่อเอื้อประโยชน์ในการเข้ามาแสวงหากำไรของทุน  ที่ก่อให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมในสังคม  โครงสร้างเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำโดยรัฐและนายทุนผู้ประกอบการเพื่อธำรงค์รักษาสภาพที่แรงงานต้องนำกำลังแรงงานออกมาขายหรือเพื่อรักษาสถานะ "สินค้า" ของแรงงาน อันเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นให้แรงงานต้องกลับเข้าไปในตลาดแรงงานโดยอัตโนมัติเพื่อรับใช้ทุนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้นแทนที่การผลิตซ้ำกำลังแรงงานของมนุษย์จะมีขึ้นเพื่อกิจกรรมทางสังคม ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมตลอดจนการใช้เวลาว่างเพื่อเพลิดเพลินไปกับวิถีชีวิตตามธรรมชาติและการผลิตในภาคการเกษตร ระบบทุนนิยมกลับทำให้มิติทางสังคมที่เคยมีหลากหลายถูกย่นย่อให้เหลือเพียงมิติทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว การผลิตซ้ำกำลังแรงงานเพื่อนำมาขายจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะการดำรงชีวิตของมนุษย์ไม่ควรจะเกิดขึ้นในลักษณะข้างต้น แต่มนุษย์ควรมีสิทธิในการแสวงหาคุณค่าและความหมายในการมีชีวิต  ลักษณะที่ระบบทุนนิยมบังคับให้ผู้ใช้แรงงานต้องมีชีวิตเพื่อนำกำลังแรงงานออกมาขายจึงไม่ใช่ทางเลือกแต่กลับเป็นสภาพที่มนุษย์ถูกบังคับให้ทำงานเพื่อแลกกับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรเป็นสิ่งที่พึงได้โดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย ฯลฯ ดังนั้นระบบเศรษฐกิจจึงเป็นสถาบันที่ทำลายและลดทอนคุณค่าของมนุษย์โดยตีกรอบให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งคือชนชั้นนายทุนเป็นมนุษย์ที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งคือชนชั้นแรงงานด้วยการออกแบบโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันผ่านกลไกการสะสมทุนที่ทำให้แรงงานกลายเป็นเพียงสินค้า

ดังนั้นสวัสดิการจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเข้ามาชดเชยผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้า (de-commodification of labor)  โดยเปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าสถานะ "สินค้า" ในตัวแรงงานจะไม่ได้หายไป (Espring-Andersen, 1990)

อย่างไรก็ตามในโลกของความเป็นจริงการให้สวัสดิการย่อมทำให้กำไรของนายทุนลดลงจากการนำส่วนแบ่งกำไรมามอบให้ผู้ใช้แรงงาน แรงต้านทานจากกลุ่มทุนจึงปรากฏขึ้นมาโดยอัตโนมัติและคอยขัดขวางมิให้แรงงานมีชัยชนะต่อข้อเรียกร้องของพวกเขา เช่น การประกาศปลดพนักงาน การปรับลดสวัสดิการและเงินเดือน การใช้กฎหมายควบคุมการประท้วง และอื่นๆ ทำให้การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานต้องยุติลงจากการมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า

ดังนั้นสังคมจึงควรหันมาทบทวนและตระหนักถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับอย่างไม่มีเงื่อนไข นั่นคือสิทธิที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่รอดอย่างมีคุณภาพด้วยการกระจายปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตออกไปให้กับผู้ใช้แรงงานผ่านอัตราค่าแรงที่เป็นธรรม การได้รับหลักประกันทางสังคม เช่น หลักประกันสุขภาพ หลักประกันการว่างงาน หลักประกันอุบัติเหตุ หลักประกันชราภาพ ฯลฯ  อันจะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐาน (social norms) และคุณลักษณะใหม่ร่วมกันของสังคมที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่หลักในการทำให้ปัจจัยที่นำไปสู่เป้าหมายในการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพ ตลอดจนการมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมปรากฏขึ้นในสังคมอันจะเป็นการสร้างโอกาสและเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้แรงงานในอนาคตมากขึ้น

ทั้งนี้ในต่างประเทศการสร้างบรรทัดฐานร่วมกันของสังคมข้างต้นอาจไม่ได้ถูกหยิบยื่นให้จากรัฐแต่เกิดจากบริบทการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อทวงสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ที่สังคมไทยสามารถเรียนรู้บริบทเหล่านั้นเพื่อนำมาปรับใช้และเป็นแบบอย่างในการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนพรรคการเมืองและชนชั้นกลางของไทยเพื่อปฏิรูปและพัฒนาระบบสวัสดิการของไทยในอนาคตต่อไป แม้ว่าการปฏิรูประบบสวัสดิการของไทยจะไม่สามารถทัดเทียมกับประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ แต่การต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคมนั้นสามารถทำให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งจะช่วยให้สังคมโดยรวมดีขึ้นไปด้วย สวัสดิการจึงเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ไม่ต้องขึ้นกับสถาบันเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญคือสวัสดิการสามารถลดทอนสภาพ "สินค้า" ของมนุษย์ได้มากขึ้น

 

 

หมายเหตุ: เนื้อหาบางส่วนเรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของผู้เขียน

อ้างอิง

นวลน้อย ตรีรัตน์, & แบ๊งค์ งามอรุณโชติ. (2555). การเมืองและดุลอำนาจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)

Espring-Andersen, G. (1 9 9 0 ) . The Three Worlds of Welfare Capitalism (1 ed.). New Jersey: Princeton University Press.

Panitch, V. (2011). Basic income, decommodification and the welfare state. Philosophy
and Social Criticism.

Papadopoulos, T. (2005). The Recommodification of European Labour: Theoretical and
Empirical Explorations. Working Paper. Bath, UK: European Research Institute,
University of Bath.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: วนุชประภา โมกข์ศาสตร์  การศึกษา : ปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หัวข้อวิทยานิพนธ์ : การศีกษาการลดผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้า (The Study of the De-commodification of labor)   

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เด็กในวันนี้ จะไม่เป็นพลเมืองที่ดีในวันนี้และวันหน้า

Posted: 14 Jan 2018 11:58 PM PST

เด็กและเยาวชนของชาติเป็นสมาชิกในสังคมที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเด็กเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนจึงควรพัฒนาในทุกด้าน ทั้งด้านความรู้  คุณธรรมจริยธรรม สิ่งที่สำคัญคือ สร้างการเป็นพลเมือง ที่จะเห็นได้น้อยมากจากเด็กไทย

พลเมือง คำนี้ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า พลเมืองคืออะไร พลเมืองต่างจาก ประชาชน ราษฎร ฝูงชน ไพร่ฟ้า อย่างไร แม้ว่าในระดับมัธยมจะมีการศึกษาวิชาหน้าที่พลเมือง แต่น้อยคนที่จะทราบว่า พลเมือง คือ สถานภาพของบุคคลที่จารีตประเพณีหรือกฎหมายของรัฐรับรองซึ่งให้แก่สิทธิและหน้าที่แห่งความเป็นพลเมืองแก่บุคคล (เรียก พลเมือง) ซึ่งอาจรวมสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศ สิทธิกลับประเทศ สิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ การคุ้มครองทางกฎหมายต่อรัฐบาลของประเทศ [1]

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ศึกษาวิชาหน้าที่พลเมือง เพราะทางโรงเรียนมีการเปิดรายวิชานี้เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น (ประมาณ 2 ปีที่แล้ว) แต่วิชานี้ คือ จะมอบหมายให้ทำโครงงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือชุมชน โดยแท้จริงแล้ว ขณะนั้นต้องยอมรับว่า เกิดจากการสร้างภาพ เพื่อให้ได้คะแนน เมื่อลองย้อนดูก็รู้สึกว่า บางครั้งเราในฐานะเด็กไทยคนหนึ่งที่ศึกษาในระบบ ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเกรดมาถึงขนาดนี้ ไม่ใช่เพียงแต่โครงงาน ทางวิชานี้ วิชาพระพุทธศาสนา และหลายๆ วิชา มักจะให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ พิธีทางศาสนา แล้วถ่ายรูปส่งเพื่อได้คะแนนมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้ได้เข้าร่วมกับกิจกรรมของสังคม หรือ พิธีกรรมทางศาสนา แต่จะรู้สึกดีกว่า ถ้าขณะนั้นเกิดความตระหนักในการเป็นพลเมืองอย่างแท้จริง เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักในความเป็นพลเมืองสักเท่าไร

ด้วยการที่เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยที่จะได้รับการปลูกฝังในความเป็นพลเมือง เนื่องจากผู้ปกครอง ก็ไม่ทราบว่า พลเมืองคืออะไร รู้แต่เพียงว่า ต้องไปเลือกตั้ง จึงสร้างความตระหนักกับเด็กในเรื่องนี้ไม่ได้ และอีกประเด็นที่น่าสนใจในสังคมไทยปัจจุบัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ปกครองส่วนหนึ่งมักเลี้ยงดู บุตรหลานด้วยเทคโนโลยี ให้ลูกอยู่กับโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ทำให้การอบรมเลี้ยงดู ลดน้อยลง ผู้ปกครองสนใจหาเงินมาสร้างความสุขมากกว่าอบรมสั่งสอน ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม มารยาททางสังคมให้กับบุตรหลาน ยิ่งนำมาซึ่งปัญหามากขึ้นกว่าในอดีต เช่น สร้างสังคมก้มหน้าตั้งแต่เด็ก เด็กบางคนติดเกมอยู่บ้านกิจกรรมทางสังคมไม่เข้าร่วมไม่พบปะผู้คนในสังคม ไม่ค่อยรับรู้ถึงจารีตประเพณี หรือมารยาททางสังคมที่ประพฤติกันมา  บางคนเสพติดวัฒนธรรม ประเพณีต่างชาติ มากกว่าของไทย  แต่หากมองอีกมุมหนึ่งเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อไป ถ่ายภาพ เช็คอิน ลงโซเชียลมีเดีย ว่ามาเข้าร่วมกิจกรรม จากนั้นก็กลับบ้านไป ไม่ได้เข้าร่วมเพราะเห็นความสำคัญ ไม่ได้เข้าร่วมเพราะต้องการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงานให้คงอยู่สืบต่อไป เป็นต้น

เด็กส่วนหนึ่งมักไม่กล้าแสดงออกในความคิดของตน ไม่กล้าตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ไม่กล้าที่จะคัดค้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูในฉบับสังคมไทย ที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นไม่เต็มศักยภาพ ยกตัวอย่าง การตั้งคำถามในชั้นเรียน สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยไม่กล้าที่จะถามหรือตอบ  คือ เมื่อถาม-ตอบผิด หรือไม่ถูกประเด็นแน่นอนว่าเพื่อนร่วมห้องต้องหัวเราะอย่างไร้มารยาทนี่คือสังคมไทยที่หลายคนคงเคยมีประสบการณ์เช่นนี้ อาจจะหลายครั้งในชีวิตที่ผ่านมา   ครูหรือตำราเรียนถูกเสมอ แท้ที่จริงแล้วถ้าเด็กไทยได้รับโอกาสในการแสดงออกทางความคิด หรือได้อภิปรายโต้แย้งกับผู้สอนจะทำให้ทั้งผู้สอนและเด็ก ได้เปิดโลกทัศน์มากขึ้น แต่สังคมไทยน้อยมากที่จะเห็นภาพเช่นนี้ ทำให้เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็จะติดนิสัย เป็นกลาง รู้สึกเฉยๆ กับทุกสิ่งที่เกิดในสังคม

ในทางกลับกันเด็กในต่างประเทศถูกปลูกฝังในเรื่องความเป็นพลเมือง หรือมีสำนึกในการเป็นพลเมือง เช่น ประเทศอังกฤษ เด็กหญิงวัยเพียง 9 ขวบ ชื่อ อลิซ ฮายด์ วันหนึ่งเธอได้ยินพ่อแม่ของเธอคุยกันเรื่อง ตัดต้นไม้ริมทางเพื่อขยายถนนในชุมชน ซึ่งพ่อแม่เธอไม่เห็นด้วย อลิซ ฮายด์ จึงเขียนจดหมายถึงพระราชินีเอลิซาเบ็ทที่ 2 คัดค้านการตัดต้นไม้ เธอและเพื่อนอีก 200 คน รวบรวมลายเซ็น คน 1หมื่นคน จนสำเร็จ รัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจไม่โค่น ต้นไม้บริเวณนั้น ทั้งที่เธอ อายุเพียง 9 ขวบ แต่ทำไมถึงมีอิทธิพลมากขนาดนี้ ทั้งนี้คงด้วยความตระหนักในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมรู้สิทธิ หน้าที่ นั้นเอง ที่ทำให้เธอกล้าที่จะทำสิ่งนี้ขึ้นมา และที่น่าจดจำ อลิซ เชื่อมั่นว่าเด็กสามารถทำอะไรได้ไม่น้อยผู้ใหญ่ เธอพูดว่า "ฉันเชื่อว่าเด็กมีอิทธิพลบางอย่างมากกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ...เวลานักการเมืองเห็นเด็ก รณรงค์อะไรสักอย่างนักการเมืองต้องคิดหนักว่าเขากำลังทำอะไรกัน"[2]

ในสังคมไทยไม่ได้ปลูกฝังเช่นนี้ มีแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีนักเรียน นักศึกษาไทยออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจริง แต่เป็นเพียงบางส่วน และช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่อาจรับรู้ไดว่าแท้ที่จริง อาจจะมีบางคนที่ออกมาด้วยความเต็มใจหรือบางคนอาจมาเพราะกระแสสังคมขณะนั้น เด็กไทยไม่ค่อยกล้า  เช่น การทำอะไรคนเดียว จะกลัวสายตาจากคนในสังคม กลัวการถูกมองแปลกๆ ทำให้ขาดความมั่นใจ แม้จะเข้าห้องน้ำยังไม่กล้าที่จะไปคนเดียวต้องชวนเพื่อนฝูงตามไปด้วย การลงทะเบียนเรียน หรือเลือกเรียนสาขาวิชาต่างๆ เช่นกัน บางคนก็ลงตามเพื่อนเพราะไม่กล้าที่จะเรียนคนเดียว ทั้งๆ ที่ไม่ชอบวิชานั้นก็ตาม ขาดการเป็นตัวของตนเอง ไม่รู้ว่าตนชอบอะไร

นอกจากนี้การประชุมหรือทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้เข้าร่วมด้วยความตระหนัก เต็มใจ แต่เข้าร่วมเพราะถูกการปลูกฝังโดยการบังคับตั้งแต่เด็ก เช่น ทำกิจกรรม อบรม ร่วมประชุมแสดงความคิดต่างๆ มีไม่กี่คนที่จะทำด้วยจิตอาสา ด้วยสำนึก กล้าเสนอความคิด ในขณะที่คนอื่นก็อยู่เงียบๆ เฉยๆ ไม่ได้รู้สิทธิหน้าที่ของตน หรืออาจจะรู้แต่ไม่มีเพื่อน ไม่กล้า จึงเพิกเฉย หากเป็นเช่นนี้ อนาคตการคำนึงใน หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของสังคมน่าจะหายไป ใครจะทำอะไรก็ทำ  ไม่ชอบไม่พอใจแต่ไม่กล้าคัดค้าน อยู่เฉยๆดีกว่า

จะเห็นว่าปัจจัยหลายอย่างในสังคมไทยไม่ได้สร้างเด็กและเยาวชน ให้มีความกล้าในทางที่ถูกที่ควร ไม่ได้รับการปลูกฝังเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ และการศึกษาไทยที่ค่อนข้างจะมีปัญหา และการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองโดยเฉพาะปัจจุบันที่ไม่ค่อยจะมีเวลาในการปลูกฝังความรู้ คุณธรรมและมารยาทในสังคมให้บุตรหลาน สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เด็กในวันนี้ เป็นผู้ใหญ่ ที่ไม่มีสำนึกการเป็นพลเมืองในวันนี้หรือวันหน้า อย่างแน่นอน

                                                                                                                                                                             

เชิงอรรถ                                                                          

 

[1]https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87

[2] เจริญเมือง, ธ. (2560). In ธ. เจริญเมือง, พลเมืองกับสังคมประชาธิปไตย (p. 264). กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หรือรัฐบาลกำลังเปลี่ยน กม.สิ่งแวดล้อม ให้เป็น กม.ส่งเสริมการลงทุน?

Posted: 14 Jan 2018 11:14 PM PST

ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ในชั้นพิจารณาของ สนช. กำลังจะถูกดันออกมาในวันที่ 19 ม.ค. นี้ ชาวบ้าน-นักวิชาการ-เอ็นจีโอ รุมสับ ไม่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการทำอีไอเอที่ล้มละลายด้านความน่าเชื่อถือไปแล้ว แต่ทำให้กฎหมายสิ่งแวดล้อมกลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุน

14 ม.ค. 2561 มีการจัดเสวนาหัวข้อ กฎหมายสิ่งแวดล้อม "คุ้มครองหรือลดทอน" มาตรการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ. เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เพื่อสะท้อนปัญหาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีไอเอ/เอชไอเอและประเด็นอื่นๆ ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... ที่กำลังอยู่ในชั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ภายในงานเสวนามีตัวแทนชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งของรัฐและเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อย่อยว่า ประเด็นปัญหากระบวนการ EIA/EHIA กับร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. มัธยม ชายเต็ม จากเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า กระบวนการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีไอเอมีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ชอบธรรม โดยครั้งแรกมีการเกณฑ์คนมาเข้าร่วมและเซ็นชื่อเพื่อรับข้าวสาร แต่เวทีครั้งแรกก็สรุปว่ามีคนที่เห็นด้วยถึงร้อยละ 80
 

กระบวนการรับฟัง-อีไอเอที่ไม่มีความชอบธรรม

"เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 คนเห็นต่างไม่สามารถเข้าร่วมได้ ครั้งที่ 3 ก็มีการกีดกัน มีรั้วลวดหนามกั้นรอบพื้นที่ไม่ให้คนเห็นต่างเข้า มีป้ายประกาศจากผู้ว่าฯ ห้ามผู้เห็นต่างเข้าร่วมเพราะกลัวจะสร้างความวุ่นวาย"

มัธยมยังกล่าวว่าข้อมูลในรายงานอีไอเอโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นเท็จ โดยระบุว่าทะเลในพื้นที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ มีปลาเพียง 4 ชนิด มีชาวประมงจำนวนน้อย อีกทั้งการศึกษาผลกระทบก็ไม่ครอบคลุม เพราะไม่มีการศึกษาทางด้านปัตตานีซึ่งอยู่ห่างจากเทพาเพียงสองสามกิโลเมตรเท่านั้น

"แต่ที่สำคัญกว่านั้น พวกเราพยายามยื่นเรื่องคัดค้านและขอชี้แจงว่า รายงานที่ทำไปไม่สมบูรณ์ เนื้อหาไม่ตรงความจริง ยื่นให้กับ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) แต่ไม่ได้รับการพิจารณา จนรายงานไปถึง คชก. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ก็ดูเนื้อหาไม่ถี่ถ้วน ผมคิดว่าเรายื่นหนังสือแล้วก็น่าจะตรวจสอบบ้าง แต่ไม่มีการตรวจสอบใดๆ บอกว่าข้อมูลเท็จก็ยังเฉย จนตอนนี้รายงานไปถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเราคิดว่าไม่มีความเป็นธรรม

"ที่ผมคิดว่าเจ็บปวดที่สุดคือการที่ผู้ปกป้องชุมชนและทรัพยากรกลับต้องถูกดำเนินคดี ถูกมองว่าเป็นพวกขวางการพัฒนาประเทศ ถูกดำเนินคดี 17 คน กฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่ได้คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ"

ด้านโยธิน มาลัย จากเครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา เล่าประสบการณ์คล้ายๆ กันเกี่ยวกับปัญหาในกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีการแจกของ และการศึกษาผลกระทบที่ไม่ครอบคลุมทุกมิติ

"ที่เราอยากให้แก้กฎหมายคือกรอบเวลาในการพิจารณา ไม่ใช่ทำรายงานออกมาแล้ว ชาวบ้านบอกว่าไม่ดี ก็ให้เอาไปแก้ใหม่เหมือนเด็กแก้การบ้านไม่จบสิ้น คชก. ควรมีอำนาจว่าถ้าทำแล้วไม่จบสิ้นควรให้ยกเลิกไปเลย"

หรือกรณีของชฎาพร ชินบุตร จากกลุ่มคนรักบ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เล่าถึงประสบการณ์ต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จนผู้ดำเนินโครงการเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งนำมาสู่การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในเดือนกรกฎาคม 2560 แต่ก็ไม่มีการบอกรายละเอียดใดๆ ซ้ำยังมีข่าวลือออกมาต่อเนื่องว่าให้ไปรับเบี้ยประชุม 300 บาท ซึ่งมีชาวบ้านไปรับเป็นจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มคนรักบ้านเกิดฯ ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

เพิ่มความชอบธรรมทางประชาธิปไตยผ่านอีไอเอ

เหล่านี้คือตัวอย่างจำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการการจัดทำอีไอเอ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่มีการกำหนดเรื่องนี้ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2535 แต่ไม่ใช่เพียงแค่กระบวนการมีส่วนร่วมเท่านั้นที่มีปัญหา สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงประเด็นการจัดทำอีไอเอที่ผ่านมาว่า แม้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมจะพูดถึงการพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และหลักธรรมาภิบาล แต่ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้กลับถูกเพิกเฉยละเลย ไม่ได้ถูกนำมากล่าวถึงอย่างเป็นรูปธรรมในร่างกฎหมายแต่อย่างใด เป็นเพียงการเร่งรีบแก้ไขกฎหมายเฉพาะหมวดอีไอเอให้เสร็จทันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งก็คือวันที่ 19 มกราคมนี้เท่านั้น

สุทธิชัยเท้าความถึงความสำคัญของอีไอเอ 3 ประการว่า หนึ่ง ใช้เป็นฐานข้อมูลให้เจ้าหน้าที่รัฐในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการดำเนินโครงการ และยังต้องเป็นฐานข้อมูลให้รัฐพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ได้ด้วย ดังนั้น โดยหลักการถ้ารายงานมีข้อมูลที่ผิดพลาดหรือเป็นเท็จก็อาจทำให้การใช้ดุลพินิจผิดพลาดไปด้วย

สอง การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชน เป็นการคุ้มครองสิทธิก่อนกระบวนการศาล โดยเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาถกเถียงกับทางโครงการและเจ้าหน้าที่รัฐว่าตนเองอาจได้รับผลกระทบจากโครงการเหล่านั้น เพื่อจะได้แก้ไขไว้ก่อนล่วงหน้า ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลังที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องคดีในศาล ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และสาม ทำให้การตัดสินใจดำเนินกิจกรรมหรือโครงการของรัฐมีความชอบธรรม โดยเฉพาะความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยทางตรงจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่

"ปัจจุบัน เหตุการณ์ทางสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น กฎหมายระดับ พ.ร.บ. ที่ออกมาตอนนี้เขียนไว้กว้างมาก รายละเอียดที่จะตามมากลายเป็นดุลพินิจของฝ่ายปกครองแทบทั้งสิ้น ในทางวิชาการคือมันเริ่มมีระยะห่างระหว่างฝ่ายปกครองกับประชาชน ทำให้ความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยอ่อนกำลังลง ดังนั้น การมีอีไอเอในโครงการสำคัญจึงพยายามแก้ไขข้อบกพร่องตรงนี้ ฝ่ายปกครองที่มีดุลพินิจมากตามกฎหมายจะต้องถูกเพิ่มเติมความชอบธรรมทางประชาธิปไตยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยเหตุที่อีไอเอมีความสำคัญ ถ้าการจัดทำไม่ชอบก็ต้องนำไปสู่การเพิกถอนได้ ซึ่งศาลปกครองไทยวางหลักไว้ค่อนข้างดี ถ้ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีปัญหา ศาลก็เคยเพิกถอน"


นักกฎหมายชี้ปัญหาอีไอเอ-ร่างกฎหมายใหม่ไม่ตอบโจทย์

อย่างไรก็ตาม การจัดทำอีไอเอตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมากลับพบปัญหาหลายประการ หนึ่ง การประเมินอีไอเอเป็นการประเมินเฉพาะโครงการแยกส่วนกัน แม้จะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกัน แต่กลับไม่มีการประเมินในระดับยุทธศาสตร์และประเมินศักยภาพในการรองรับของพื้นที่

สอง การเข้าถึงข้อมูลในขั้นตอนการจัดทำอีไอเอ ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐก็ใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 แต่ก็เรียกว่าต้องใช้เรี่ยวแรงมากในการใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมา แต่ถ้าเป็นโครงการของเอกชน ข้อมูลส่วนนี้ไม่ถือว่าอยู่ในขอบเขตของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ชาวบ้านจึงขอข้อมูลตรงนี้ไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ในตัวร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ไม่มีการเขียนไว้เป็นการเฉพาะว่าประชาชนจะสามารถร้องขอได้หรือไม่

สาม การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงแบบพิธี ไม่มีความหมายอย่างแท้จริง ในร่างกฎหมายไม่มีการกำหนดว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องทำอย่างไร แต่ปล่อยให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนดเองทั้งสิ้น ทั้งที่ประเด็นนี้เป็นหัวใจสำคัญของการทำอีไอเอ หลักการสำคัญเช่นนี้ควรกำหนดอยู่ในระดับ พ.ร.บ. ไม่ใช่ให้เป็นดุลพินิจของฝ่ายปกครองทั้งหมด

"จากประสบการณ์ที่พบด้วยตนเองที่เทพา ประชาชนแจ้งความจำนงขอแสดงความคิดเห็น 60 คน ในเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่ละคนก็จะมีเวลาประมาณคนละ 5 นาที เมื่อพูดแล้วก็ไม่มีการตอบสนองในทันที แต่จะไปเขียนในคำชี้แจงอีไอเอ ประชาชนจะไม่ได้คำตอบในขณะนั้น และตัวรายงานเองก็ไม่ได้นำความเห็นของประชาชนมาพิจารณาอย่างจริงจังว่าโครงการควรปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อนำไปสู่ทางเลือกแบบอื่นๆ"

สี่ การประเมินผลกระทบเป็นการคาดการณ์ผลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากการประเมินไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ร่างกฎหมายนี้ก็ไม่ได้กำหนดกระบวนการให้มีการทบทวนอีไอเอเอาไว้

ห้า ผู้จัดทำรายงานไม่มีอิสระอย่างแท้จริงจากเจ้าของโครงการ ตามหลักกฎหมาย การศึกษาผลกระทบต้องเป็นต้นทุนของเจ้าของโครงการ จุดนี้ถือว่าถูกต้อง เพราะผู้ประกอบการกำลังใช้ทรัพยากรบางอย่างประกอบธุรกิจ แล้วสุดท้ายภาระตกอยู่กับสังคม ปัญหาคือจะทำอย่างไรจึงจะได้ที่ปรึกษาที่เป็นอิสระและทำงานบนหลักวิชาการ ซึ่งก็มีข้อเสนอ เช่น ควรมีการตั้งกองทุนขึ้นเพื่อจ้างที่ปรึกษา เพียงแต่เงินที่เข้ากองทุนต้องมาจากผู้ประกอบการ

"มีประเด็นหนึ่งที่ร่างเดิมของกระทรวงทรัพย์ฯ พูดถึง ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าประการหนึ่ง คือมีการกำหนดค่าธรรมเนียมการปล่อยมลพิษจากผู้ประกอบกิจการ ค่าธรรมเนียมจะนำเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม แต่พอเข้าคณะรัฐมนตรีปรากฏว่าตัดสินใจจะแก้เฉพาะเรื่องอีไอเอ ก็เลยตัดเรื่องนี้ออกไป ผมคิดว่าถ้าเราดูแนวโน้มภาพรวม รัฐบาลพยายามส่งเสริมการลงทุนอย่างมาก อะไรที่เป็นภาระ เป็นต้นทุน หรือไม่ดึงดูดนักลงทุนก็จะถูกตัดออก"

หก ระยะเวลาการพิจารณาของ คชก. ค่อนข้างจำกัด ในร่างกฎหมายกำหนดไว้ 45 วันและไม่เปิดโอกาสให้ขยาย ร่างยังเขียนล็อกไว้ว่าหากพิจารณาไม่ทันภายในกำหนดให้ถือว่าเห็นชอบ แต่การเขียนแบบนี้อาจไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ เพราะหาก คชก. พิจารณาไม่ทันก็อาจไม่เห็นชอบก็ได้ ต้นทุนของผู้ประกอบการอาจเพิ่มขึ้นเพราะเสียเวลาเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ แต่จุดนี้จะเห็นได้ชัดว่าร่างกฎหมายโน้มเอียงไปทางใด จุดนี้ควรขยายระยะเวลาได้แต่ต้องมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ

เจ็ด การตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในอีไอเออ่อนแอมาก ในตัวร่างมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้บ้าง เช่น ผู้ประกอบการต้องทำรายงานการปฏิบัติตามมาตรการในอีไอเอปีละ 1 ครั้ง หากไม่ทำรายงานจะมีโทษปรับ โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ซึ่งร่างเดิมของกระทรวงทรัพย์ฯ มีการพูดถึง แต่ถูกตัดออกไป

"นี่คือ 7 ข้อบกพร่องที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญ แต่ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใน สนช. ไม่ได้ตอบโจทย์ 7 ข้อนี้เลย นอกจากนี้ ตัวร่างกฎหมายยังสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นจุดด่างพร้อยอีก 2 ข้อ คือการรับฟังความคิดเห็นไม่ใช่การรับฟังความคิดเห็นที่ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านและมีส่วนร่วม และให้ระยะเวลาน้อยมาก ช่องทางในการติดต่อก็มีน้อยทาง

"อีกจุดคือการนำคำสั่ง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่ 9/2559 เข้ามาใส่ในร่างกฎหมายก็คือโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอาจไม่จำเป็นต้องรออีไอเอผ่าน สามารถหาเอกชนผู้ดำเนินโครงการรอไว้ก่อนได้เลย การเขียนกฎหมายแบบนี้เห็นชัดว่า ผู้ร่างกฎหมายให้ความสำคัญกับมิติการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมมันกลายเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนไป"
 

กฎหมายสิ่งแวดล้อมและอีไอเอล้มละลายด้านความน่าเชื่อถือ

ด้านภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ จากสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) กล่าวว่า ราวปี 2530 กระแสสิ่งแวดล้อมเริ่มพูดถึงมากขึ้น กระทั่งปี 2535 จึงเกิดการผลักดันกฎหมายสิ่งแวดล้อมออกมา พร้อมกับระบุการทำอีไอเอไว้ในกฎหมาย ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้ามากในยุคนั้น

"ปรากฏว่าตอนนี้ทั้งกฎหมายและอีไอเอล้มเหลวทั้งสองเรื่อง ล้มละลายด้านความน่าเชื่อถือ เพราะได้สะสมความล้มเหลวมานาน เป็นกระบวนการที่ไม่ตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาได้"

ภาคภูมิ กล่าวว่าทางออกจากความล้มเหลวคือการปฏิรูปกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั้งฉบับและปฏิรูปการทำอีไอเอทั้งระบบ แต่ในร่างที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปที่ว่า เขาเสนอว่าต้องตัดวงจรความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกจ้างระหว่างเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและไม่มีอิทธิพลของผู้จ้างในการกำหนดผลการศึกษา ระบุความรับผิดชอบของ คชก. ในฐานะผู้ให้ความเห็นชอบให้ชัดเจน ประชาชนจะได้สามารถตรวจสอบและฟ้องร้องในทางปกครองได้ ขณะที่ สผ. ก็ต้องปฏิรูปตนเอง ทำให้การทำอีไอเอเป็นอิสระ มีความยืดหยุ่น รับผิดชอบ และเป็นวิชาการมากขึ้น

"อีกประเด็นหนึ่งคือมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เราพบว่าหลายมาตรการถูกเขียนแบบขอไปที อย่างกรณีอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอุตรดิตถ์ ถ้าบ้านประชาชนหลังไหนถูกน้ำท่วมให้ไปอยู่ในนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน แต่ทางนิคมบอกว่าไม่มีที่ให้ แล้วตอนเขียนมาตรการลดผลกระทบ คชก. ได้ถามหรือไม่ว่ามีที่ให้มั้ย เพราะข้อเท็จจริงไม่มีที่มาก่อนแล้ว

"นอกจากนี้ มันไม่ใช่อีไอเออย่างเดียว แต่เป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาของท้องถิ่น ต้องคุยให้รู้เรื่องก่อนพูดเรื่องกิจกรรมหรือโครงการ ในแต่ละจังหวัดมีการพูดกันอยู่แล้ว มียุทธศาสตร์จังหวัด ในกลุ่มจังหวัดก็มีวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ มีหมด แต่เหล่านี้ เวลารัฐบาลอยากทำอะไรก็ไม่สนสิ่งเหล่านี้ ต้องทำให้เกิดดุล ส่วนกลางต้องคำนึงถึงเป้าประสงค์การพัฒนาในพื้นที่ เป็นการขับเคลื่อนของประชาชนในจังหวัดที่จะสร้างดุลอำนาจกับส่วนกลางซึ่งเน้นเรื่องทุนเป็นหลัก
"ผมคิดว่าตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้แล้วกับร่างที่อยู่ใน สนช. ที่กำหนดว่าต้องเสร็จวันที่ 19 นี้ ส่วนทั้งฉบับจะทำยังไงกันต่อก็เป็นประเด็นที่ต้องปรึกษาหารือกันต่อ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตผู้พิพากษาอิหร่านถูกฟ้องข้อหา 'อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ' ขณะรักษาตัวในเยอรมนี

Posted: 14 Jan 2018 09:05 PM PST

กลุ่มสิทธิฯ อิหร่านและนักการเมืองเยอรมนียื่นฟ้องอดีตหัวหน้าผู้พิพากษาของอิหร่าน ข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ระหว่างที่เขามารักษาตัวในเยอรมนี ผู้พิพากษาผู้นี้อื้อฉาวในเรื่องการร่วมละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งคุมขังและประหารชีวิตผู้ประท้วงรัฐบาลในอิหร่าน ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีการจับกุม แต่ทางการเยอรมนีแถลงว่าจะมีการสืบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าว

14 ม.ค. 2561 สื่อโกลบอลวอยซ์รายงานว่าในขณะที่อดีตหัวหน้าผู้พากษาของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ มาห์มูด ฮาเชมี ชาห์รูดี กำลังรับการรักษาที่สถาบันประสาทวิทยานานาชาติในประเทศเยอรมนี กลุ่มแนวร่วมองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านก็ยื่นฟ้องต่อรัฐบาลเยอรมนีโดยกล่าวหาชาห์รูดีในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

นอกจากการฟ้องร้องโดยแนวร่วมองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านหลายองค์กรแล้ว กลุ่มสภาต่อต้านแห่งอิหร่าน (National Council of Resistance of Iran หรือ NCRI) และ โฟลเคอร์ เบค นักการเมืองพรรคกรีนของเยอรมนีร่วมฟ้องร้องทางอาญาเพิ่มเติมต่อชาห์รูดีด้วย

พายอม อัควัน หนึ่งในผู้นำทนายความด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติเป็นผู้นำการฟ้องร้องในครั้งนี้โดยให้เหตุผลว่าผู้ที่มีอำนาจควรจะต้องรับผิดชอบต่อผู้คน ถ้าหากพวกเขาไม่มีความยุติธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ควรจะต้องเผชิญกับผลที่ตามมา

อัควันผู้ที่เป็นทั้งทนายความที่มีชื่อเสียงและเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแมคกิลในแคนาดากล่าวว่าอดีตผู้พิพากษาชาห์รูดีก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา โดยกล่าวหาว่าชาห์รูดีมีส่วนพัวพันกับการปราบปราม คุมขัง ละเมิดสิทธิ และประหารชีวิตผู้ต่อต้านรัฐบาลอิหร่านหลายคนจากหลายเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีการประท้วงของนักศึกษาในปี 2542 ไปจนถึงการประท้วงในช่วงปี 2552

โกลบอลวอยซ์ระบุว่าถ้าหากมีการดำเนินคดีกับชาห์รูดี จะต้องมีการพิจารณาคดีตามหลักการเขตอำนาจศาลสากล (universal jurisdiction) ที่ให้ศาลในประเทศนั้นๆ พิจารณาลงโทษบุคคลที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงอันขัดกับหลักกฎหมายนานาชาติได้ หลักการนี้เองที่ให้การสนับสนุนการลงโทษอดีตผู้นำเผด็จการ ชิลีออกุสโต ปิโนเชต์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในกัวเตมาลา

ทั้งนี้ อัควันชี้ว่า การตั้งเงื่อนไขที่สูงสำหรับการให้หลักฐานเพื่อให้มีการออกหมายจับตามมาตราที่ 7 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ที่ระบุให้ต้องมีหลักฐานการก่ออาชญากรรมที่กระทำต่อประชาชนอย่างเป็นระบบ เป็นงานที่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะมาก

ผู้พิพากษาชาห์รูดีเป็นที่อื้อฉาวทั้งในและนอกประเทศอิหร่านจากนโยบายการลิดรอนเสรีภาพในช่วงที่เขาเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาในช่วงปี 2542-2552 หนึ่งในนั้นคือการพิพากษายืนยันให้ประหารชีวิต เรย์ฮาเนห์ จับบารี หญิงชาวอิหร่านผู้ถูกกล่าวหาว่าสังหารอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงข่าวกรองอิหร่านหลังจากที่ชายผู้นี้พยายามข่มขืนเธอ เธอถูกให้จำคุกตั้งแต่อายุ 19 ปีและถูกประหารชีวิตเมื่ออายุเพียง 26 ปี ซึ่งองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่าการตัดสินลงโทษจับบารีตั้งแต่ปี 2542 มาจากการสืบสวนที่มีข้อบกพร่องอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีญาติของเหยื่อรายอื่นๆ ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ เช่น ลูกชายของช่างภาพข่าวชาวอิหร่าน-แคนาดา ซาห์รา คาเซมี ผู้ที่เสียชีวิตในเรือนจำของอิหร่านหลังจากถูกจับกุมได้ 19 วัน

การเรียกร้องในเรื่องนี้มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่เกิดการประท้วงลุกลามไปทั่วอิหร่านในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนถูกจับกุมจำนวนมากและมีรายงานข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตในเรือนจำ ถึงจะถูกปราบปรามแต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลเดินขบวนประท้วงอยู่นอกเรือนจำเอวีน ที่กรุงเตหะรานเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ประท้วงที่ถูกคุมขังในเรือนจำ

อัควันกล่าวว่าการเรียกร้องให้มีการเอาผิดรัฐบาลตามกฎหมายนานาชาติจะส่งผลบวกต่อการเคลื่อนไหวภายในประเทศและเป็นการที่ชาวอิหร่านพลัดถิ่นและประชาคมโลกจะสามารถแสดงการสนับสนุนผู้ต่อต้านรัฐบาลอิหร่านได้และเป็นการแสดงให้รู้ว่าคนที่ดูเหมือนจะไม่สามารถเอาผิดได้อาจจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำลงไปตามกระบวนการพิจารณาคดีเช่นกัน โดยอัควันเชื่อว่าจะป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยได้

สื่อเยอรมนีรายงานตามการกล่าวอ้างของแหล่งข่าวที่เป็นตำรวจเยอรมนีว่า ชาห์รูดีเดินทางออกจากเยอรมนีช่วงกลางวันของวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมาหลังจากได้รับการรักษาแล้วแม้ว่าจะมีการเรียกร้องจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนอิหร่านให้จับกุมตัวเขา ด้านสำนักงานอัยการรัฐบาลกลางเยอรมนีแถลงต่อเรื่องนี้โดยย้ำว่าพวกเขามีพันธกิจต้องสืบสวนเกี่ยวกับการร้องเรียนนี้อย่างแน่นอนไม่ว่าชาห์รูดีจะยังอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ก็ตาม

เบค นักการเมืองพรรคกรีนของเยอรมนีสัมภาษณ์ต่อสื่อดอยเซอเวลเลอในกรณีการรักษาตัวของชาห์รูดีและสาเหตุที่เขาร้องเรียนต่ออัยการเยอรมนีในประเด็นนี้ว่า "เยอรมนีไม่ควรจะเป็นแหล่งกบดานของอาชญากร"


เรียบเรียงจาก

While Iran's Former Head of Judiciary Receives Medical Treatment in Germany, Activists Urge his Prosecution for Crimes Against Humanity, Global Voice, 11-01-2018
https://globalvoices.org/2018/01/11/while-irans-former-head-of-judiciary-receives-medical-treatment-in-germany-activists-urge-his-prosecution-for-crimes-against-humanity/

Iranian ayatollah Shahroudi in Hanover - 'Germany should not be a haven for criminals', De
http://www.dw.com/en/iranian-ayatollah-shahroudi-in-hanover-germany-should-not-be-a-haven-for-criminals/a-42109121

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น