โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แผ่นดินไหวหลายระลอกในพม่า-รับรู้แรงสั่นสะเทือนถึงไทย

Posted: 11 Jan 2018 11:26 AM PST

สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุเมื่อเวลา 01.26 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศพม่าขนาด 5.9 ห่างจาก อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 224 กิโลเมตร และมีผู้แจ้งเหตุรู้สึกสั่นไหวทั้งในภาคเหนือและอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายครั้ง

สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเหตุแผ่นดินไหวว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 01.26 น. ตามเวลาประเทศไทย (00.56 น. ตามเวลาประเทศพม่า) เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศพม่า ที่ละติจูด 18.39 องศาเหนือ ลองจิจูด 96.06 องศาตะวันออก ขนาด 5.9 ความลึก 10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 224 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ และ อาคารสูงในกรุงเทพมหานคร หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบโดยด่วนต่อไป โดยหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวมีประชาชนในภาคเหนือรวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารสูงที่กรุงเทพมหานครแจ้งเหตุรู้สึกสั่นไหวเป็นจำนวนมาก (อ่านรายละเอียด)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าบริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวดังกล่าว อยู่ในภาคพะโค ประเทศพม่า อยู่ห่างจากนครย่างกุ้งไปทางเหนือ 175 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองตองอู ในภาคพะโค ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 71 กิโลเมตร

โดยหลังจากนั้นยังเกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายระลอก ศูนย์กลางอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวระลอกแรก โดยในเวลา 01.38.14 เกิดแผ่นดินไหว ศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 18.47 องศาเหนือ ลองติจูด 95.96 องศาตะวันออก ขนาด 5.2 ความลึก 10 กิโลเมตร

เวลา 01.43.00 น. เกิดแผ่นดินไหว ศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 18.50 องศาเหนือ ลองติจูด 96.06 องศาตะวันออก ขนาด 5.1 ความลึก 10 กิโลเมตร

และเวลา 01.43.59 น. เกิดแผ่นดินไหว ศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 18.28 องศาเหนือ ลองติจูด 95.94 องศาตะวันออก ขนาด 5.2 ลึก 10 กิโลเมตร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอกชัย' มาอีก แต่อดมอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร - 'ศรีสุวรรณ' ส่งหลักฐานเพิ่มให้ ป.ป.ช.

Posted: 11 Jan 2018 11:00 AM PST

'เอกชัย' มาอีก แต่ก็ไม่ได้มอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร ที่ทำเนียบ ยันวันเด็กมาใหม่ แต่เอาปฏิทินมาแจกแทน 'ศรีสุวรรณ' ชี้แจงปมนาฬิกาหรูพล.อ.ประวิตร พร้อมยื่นข้อมูลเพิ่ม มั่นใจพยานหลักฐานแน่น ระบุมีพฤติการณ์ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน

เอกชัย โพสต์ยืนยันผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว

11 ม.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อ ‪เวลา‬ ‪10.00 น.ที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง เดินทางมามอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกครั้ง โดยได้เตรียมนาฬิกามาจำนวน 3 เรือน เพื่อมอบให้ พล.อ.ประวิตร เนื่องจากทราบว่า พล.อ.ประวิตร มีประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวนายเอกชัยไปพูดคุยที่ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดย เอกชัย กล่าวหลังมั่นใจว่าจะไม่ได้พบ พล.อ.ประวิตร จึง ว่า พล.อ.ประวิตรเป็นชายชาติทหาร แต่ไม่กล้ามาพบตน จึงไม่เข้าใจว่าเป็นชายชาติทหารประเภทใด หากเป็นรัฐบาลพลเรือนมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นคงอยู่ไม่ได้ คงต้องออกไปแล้ว ไม่ลาออกไปเอง ก็ถูกบีบให้ออก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเด็กตนก็จะตามไปมอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตรต่อไป

เอกชัย โพสต์ยืนยันผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า ยังคงยืนยันที่จะมอบนาฬิกาเหล่านี้ให้ถึงมือ ประวิตร เท่านั้น

ต่อมา เอกชัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กด้วยว่า จากการตรวจสอบกำหนดการไม่พบปีนี้ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร่วมงานวันเด็กที่ใด ดังนั้นวันเด็กนี้ (13 ม.ค.61) เวลา 10.00 น. ขอเชิญชาวไทยร่วมแจกปฏิทินแบบพกพาให้กับเด็กๆที่มาร่วมงานวันเด็กที่ทำเนียบรัฐบาล (ประตู 4)

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า ภายหลัง พล.อ.ประวิตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้ปฏิเสธตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการชี้แจงประเด็นนาฬิกาหรูต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "โอ๊ย" แล้วเดินขึ้นรถยนต์ส่วนตัวออกทำเนียบรัฐบาลไปทันที

ศรีสุวรรณส่งหลักฐานปมนาฬิกาหรูเพิ่มให้ ป.ป.ช.

สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การ พิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเดินทางไปชี้แจงและยื่นหลักฐานเพิ่มเติม กรณียื่นคำร้องตรวจสอบที่มานาฬิกาหรูและแหวนเพชรของพล.อ.ประวิตร  โดย ศรีสุวรรณ กล่าวก่อนเข้าให้คำชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ว่า มั่นใจในเอกสารและหลักฐานที่นำมาให้ป.ป.ช.เนื่องจากเห็นว่า พล.อ.ประวิตร มีพฤติการณ์ปกปิดบัญชีทรัพย์สินและร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ส่วนเอกสารที่นำมาให้ป.ป.ช.เพิ่มเติมคือ รูปภาพที่พล.อ.ประวิตรถ่ายในวันที่ 4 ธ.ค. 2560 และรวบรวมภาพนาฬิกาจากเว็บไซต์ต่างๆ  

"ป.ป.ช.จะต้องดำเนินการอย่างเที่ยงตรง เพราะผมทราบมาว่าประธานป.ป.ช.ชุดปัจจุบันสนิทกับพล.อ.ประวิตร เนื่องจากเคยเป็นรองเลขาฯ มาก่อน เพราะฉะนั้นการทำอะไรจะต้องอยู่ในสายตาของสาธารณชน ป.ป.ช.จึงต้องฉีกตัวเองออกมาจากจุดนั้น เพราะการทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐของข้าราชการระดับสูงจะเป็นผลงานของป.ป.ช. จึงต้องจริงจังกับการทำหน้าที่ กรณีนี้จึงเป็นการวัดใจป.ป.ช. รวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะเคยบอกว่าจะเอาจริงกับการปราบปรามการคอร์รัปชั่นและการทุจริตทุกรูปแบบ" ศรีสุวรรณ กล่าว

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า หากป.ป.ช.มีมติส่งฟ้องกรณีดังกล่าว บทบาทของป.ป.ช.จะโดดเด่นมากขึ้น แต่หากไม่ส่งฟ้องสาธารณชนจะพุ่งเป้า และป.ป.ช.จะสั่นสะเทือน และหากป.ป.ช.ไม่สั่งฟ้อง จะรวบรวมรายชื่อประชาชน 20, 000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนการทำหน้าที่ของป.ป.ช.

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ภายหลังชี้แจง ศรีสุวรรณ เปิดเผยว่า คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงของป.ป.ช.สอบถามเกี่ยวกับหลักฐานที่นำมาเพิ่ม ซึ่งชี้แจงไปว่าครั้งก่อนได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับนาฬิกา 3-4 เรือน ครั้งนี้ยื่นเอกสารเพิ่มอีก 16 เรือน รวมเป็น 19 เรือน เพื่อให้ป.ป.ช.มีหลักฐานชัดเจนมากขึ้น  และได้ขอให้ป.ป.ช.เชิญอธิบดีกรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลกับทาง ป.ป.ช. ว่าใครบ้างเป็นคนสั่งเข้ามา เนื่องจากนาฬิกามีมูลค่าหลายล้านบาท การนำเข้าประเทศมาจะต้องผ่านกรมศุลกากรเพื่อจ่ายภาษีก่อน และอยากให้ตรวจสอบนาฬิกาของพล.อ.ประวิตรด้วยว่าเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กทม. ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในเขตเมืองใหญ่

Posted: 11 Jan 2018 10:20 AM PST

ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กทม.จับมือ สปสช. ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในเขตเมืองใหญ่ เผย 1 ปีขยายดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงสู่ 1.2 พันคน เน้นสร้างความร่วมมือเครือข่ายบริการและสหวิชาชีพ ดูแลที่บ้านแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติ พร้อมหนุนปี 61 ขับเคลื่อนกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม. ช่วยสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ลดภาวะเจ็บป่วย 

  

11 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เยี่ยมชมการดำเนินงาน "ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร" เพื่อศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ที่ได้ดำเนินงานงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธผล เน้นการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ และความร่วมมือภาคีเครือข่าย 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า กทม.เป็นพื้นที่มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น รวมถึงกลไกบริหารจัดการสาธารณสุขในพื้นที่ เพราะด้วยความเป็นเมืองขนาดใหญ่และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยมีกลุ่มประชากรหลักและประชากรแฝงจากจังหวัดต่างๆ ทั้งยังมีความหลากหลายและความแตกต่างของประชากรอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก และเป็นโจทย์ใหญ่ในการบริหารจัดการด้านสุขภาพใน กทม.เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างครอบคลุมและทั่วถึง   

เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีนโยบายเพื่อมุ่งให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่ ( Healthy city) เน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตชาว กทม.นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และเป็นที่จับตามองของหลายประเทศ ในการดำเนินงานภายใต้ "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เพื่อสนับสนุนนั้น ในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่ม "กองทุนดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง" (Long Term Care: LTC) ในพื้นที่ กทม. เพื่อนำไปสู่การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยดำเนินงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร มีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 เป็นหนึ่งในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ที่มีการดำเนินงานกองทุนLTC ที่ดี นอกจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของทีมแพทย์และสหวิชาชีพเพื่อดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่แล้ว ยังเกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายหน่วยบริการ ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลที่ได้มีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล

เลขาธิการ สปสช. ระบุต่อว่า ในปี 2561 นี้ กรุงเทพมหานครยังเตรียมขับเคลื่อน "กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่" ภายหลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณ และกรุงเทพมหานครร่วมสมทบ ทำให้มีงบประมาณ400 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานมุ่งสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนพื่อดูแลสุขภาพตนเอง ลดการเจ็บป่วย โดยมีผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย

พญ.ดลจรัส ทิพย์มโนสิงห์ ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข60ฯ ในพื้นที่มีประชากรสูงอายุ 24,745 คน ในจำนวนเป็นผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี ถึง 15,364 คน ในการดำเนินงาน LTC เป้าหมายสำคัญคือการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมและครอบคลุมทุกมิติ แก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างเหมาะสม ลดภาวะแทรกซ้อนและความพิการ เข้าถึงบริการทางกายและใจที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ขณะเดียวกันให้มีการจัดระบบและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมโดยทีมสหวิชาชีพ จัดระบบการพยาบาลที่บ้าน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย พร้อมจัดระบบการส่งต่อที่เชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย     

"จากกองทุน LTC ส่งผลให้ในปีนี้มีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงและผู้พิการในพื้นที่ได้รับการดูแลต่อเนื่องที่บ้านเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 2558 อยู่ที่ 96 ราย ปี 2559 อยู่ที่ 194 ราย และในปี 2560 ก้าวกระโดดขึ้นไปอยู่ที่ 1,384 ราย หรือเพิ่มขึ้น1,190 ราย ซึ่งในปี 2561 ศูนย์บริการสาธารณสุข 60ฯ ยังมีแผนขยายการดูแลเพื่อให้ครอบคลุมผู้สูงอายุและผู้พิการที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มขึ้น" พญ.ดลจรัส กล่าว   

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.จัดสิทธิประโยชน์ดูแลสุขภาพเด็กไทย สร้างประชากรคุณภาพสู่การพัฒนาประเทศ

Posted: 11 Jan 2018 08:34 AM PST

สปสช.จัดสิทธิประโยชน์บัตรทองดูแลสุขภาพเด็กไทย ครอบคลุมทั้งการรักษา ป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ พร้อมสนับสนุนพัฒนาการต่อเนื่อง เจริญเติบโตอย่างสมวัย หนุนสร้างประชากรคุณภาพสู่การพัฒนาประเทศ เผยปี 61 เพิ่มสิทธิประโยชน์ 'ยาเม็ดขับธาตุเหล็ก' เพื่อคุณภาพชีวิตเด็กป่วยธาลัสซีเมีย  

11 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่มีค่าอย่างยิ่ง นำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า การมีสุขภาพดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานพัฒนาการในทุกด้านเพื่อเติบโตอย่างสมวัย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เล็งเห็นความสำคัญในการจัดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อดูแลสุขภาพเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งรักษาโรคทั่วไป สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ยึดหลักตามแนวเวชปฏิบัติและมาตรฐานบริการของกระทรวงสาธารณสุข, ราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง แบ่งสิทธิประโยชน์เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กเล็ก อายุ 0-5 ปี และกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี

เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า สิทธิประโยชน์เพื่อดูแลสุขภาพเด็กไทยเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เตรียมพร้อมผู้เป็นแม่ด้วยการให้วิตามินเสริมเหล็กและกรดโฟลิคก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน เมื่อตั้งครรภ์แล้ว สามารถรับบริการฝากครรภ์ฟรียังหน่วยบริการตามสิทธิ์ โดยการฝากครรภ์ครั้งแรกควรมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และรับบริการตามระบบฝากครรภ์คุณภาพจนถึงทารกคลอด โดยจะได้รับการประเมินความเสี่ยงของครรภ์, การให้วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก, วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล, การให้ยาเสริมธาติเหล็ก, กรดโฟลิก, ไอโอดีน, การคัดกรองความผิดปกติ เช่น ภาวะโลหิตจางธาลัสซีเมีย และกลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น และเมื่อคลอดทารกจะได้รับวิตามินเค, วัคซีนป้องกันวัณโรค, ไวรัสตับอักเสบบี, การคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และการส่งเสริมกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ในกรณีหากแม่เป็นพาหะตับอักเสบบีจะได้รับวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีอีก 1เข็ม

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เด็กในช่วงอายุ 1-18 เดือน เป็นช่วงที่สมองและร่างกายมีพัฒนาการที่รวดเร็ว สิทธิประโยชน์ช่วงวัยนี้เน้นตรวจพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมและเป็นไปตามวัย อาทิ ประเมินความเจริญเติบโตตามช่วงวัย, เฝ้าระวังความผิดปกติสมองและภาวะโภชนาการ, ตรวจสุขภาพช่องปากและทาฟูลออไรด์วาร์นิช, ให้ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กและให้คำปรึกษาพ่อแม่ในการดูแล รวมถึงกระตุ้นพัฒนาการในเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัย พร้อมให้การป้องกันโรคโดยวัคซีน อาทิ วัคซีนป้องกันวัณโรค, ตับอักเสบบี, โปลิโอ คอตีบ บาดทะยักและไอกรน และไข้สมองอักเสบเจอี เป็นต้น โดยมีการให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามช่วงอายุเพิ่มเติม  

เลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า เมื่อเข้าสู่วัยเรียนเป็นการสนับสนุนการดูแลสุขภาพผ่านโครงการ "อนามัยโรงเรียน" ในกรณีที่เด็กไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนจะได้รับในช่วงนี้ ส่วนเด็กที่ได้รับวัคซีนตามช่วงอายุแล้วจะได้รับการกระตุ้นเพิ่มเติม รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังได้รับคัดกรองและตรวจสุขภาพที่จำเป็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพื่อเติบโตสมวัย อาทิ การประเมินภาวะโภชนาการ การคัดกรองสายตาผิดปกติ และการตรวจสุขภาพช่องฟัน กรณีเด็กมีภาวะผิดปกติจะได้รับการแก้ไขปัญหาสุขภาพทันเวลา โดยในส่วนการตรวจคัดกรองโลหิตจางจากการขาดธาติเหล็ก เด็กจะได้รับยาธาตุเหล็กเสริม แต่ในกรณีโลหิตจางจากเหตุอื่น เช่น โรคธาลัสซีเมีย หากเป็นชนิดรุนแรงจะได้รับการส่งต่อเพื่อรักษา

"ด้วยผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงต้องได้รับเลือดเป็นประจำและต้องได้รับยาขับธาตุเหล็กควบคู่เพื่อปรับระดับความเข้มขันของเลือดให้มีค่าปกติ ไม่เกิดภาวะธาตุเหล็กเกินในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง เบาหวาน และหัวใจวายได้ แต่เดิมยาขับเหล็กที่เด็กๆ ได้รับเป็นยาฉีดที่สร้างความเจ็บปวดอย่างมาก เพราะต้องรับการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังโดยใช้เครื่องช่วยฉีดยา 8–12 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นในปี 2561 นี้ บอร์ด สปสช.จึงอนุมัติสิทธิประโยชน์ยาขับเหล็กชนิดกินภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับเด็กอายุ 2-6 ปี ที่ป่วยด้วยโรคโลหิตจากธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง กินวันละ1-2 เม็ด ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้ใช้ชีวิตเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป" เลขาธิการ สปสช. กล่าว พร้อมกล่าวว่า นอกจากนี้ สปสช.ได้สนับสนุนดูแลเด็กพิการแต่กำเนิดโดยจดทะเบียนเด็กที่มีความพิการ 5 อันดับโรคแรกที่พบความพิการได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แขนขาพิการแต่กำเนิด ปากแหว่งเพดานโหว่ กลุ่มอาการดาวน์ และภาวะหลอดประสาทไม่ปิด เพื่อให้ได้รับการดูแลต่อเนื่อง

"บอร์ด สปสช.ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น โดยได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็กให้เติบโตอย่างสมวัยและเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต นับเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิพากษ์สื่อไม่ตั้งคำถามเชิงระบบ ปัจเจกรับผล แต่คนรับผิดชอบเชิงระบบลอยนวล

Posted: 11 Jan 2018 03:39 AM PST

วงเสวนา "เมื่อ 'สื่อ' ละเมิด 'สิทธิ'" ชี้ สื่อต้องตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน เผยยังมีสื่อตีตราผลิตซ้ำ ความจริงด้านเดียว  ตั้งตัวเป็นมาตรฐานศีลธรรมตัดสินดีชั่ว วิพากษ์ 'คำถามเชิงระบบ' ที่สื่อไม่เคยไปถึง ร่วมแชร์ประสบการณ์จริงของช่างภาพข่าว เหตุใดลงพื้นที่ทุกครั้งไม่อาจทำตามหลักการได้

10 ม.ค. 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มช่างภาพ Realframe และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเสวนาในหัวข้อ "เมื่อ 'สื่อ' ละเมิด 'สิทธิ'" ร่วมแลกเปลี่ยนโดย สังกมา สารวัตร อาจารย์คณะ ICT มหาวิทยาลัยศิลปากร ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพบางกอกโพสต์ ดำเนินรายการโดย วิรดา แซ่ลิ่ม จากรายการ Backpack Journalist


(ซ้ายไปขวา) สังกมา สารวัตร, ทิชา ณ นคร, ปฏิภัทร จันทร์ทอง
ภาพจาก Realframe

สังกมา สารวัตร: สิทธิของสื่อกับความรับผิดชอบต่อสังคม

อาจารย์คณะ ICT มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มจากการอธิบายถึงคำว่า สิทธิมนุษยชน คือสิทธิที่คุณเกิดมาแล้วคุณได้รับทันที ซึ่งกินความหมายกว้างมาก ทั้งสิทธิในการเลือก สิทธิในการชุมนุม การเคลื่อนไหว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ขณะเดียวกันสิทธิของสื่อ มันไม่ได้มาเอง สิทธิของสื่อคือคุณต้องมีหน้าที่เป็นสื่อก่อนแล้วคุณถึงได้รับสิทธิในการถ่าย การบันทึก ดังนั้น สิทธิของสื่อและสิทธิมนุษยชนจึงต่างกัน

แนวคิดสิทธิของสื่อของต่างประเทศนั้นหนักแน่นบนฐานที่เขาต่อสู้เรื่องสิทธิมาตั้งแต่ศาสนจักร ล้มกษัตริย์ ในขณะที่ไทย คนที่เอากล้องและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นชนชั้นสูง เพราะฉะนั้น ฐานการต่อสู้มันต่าง รัฐธรรมนูญอเมริกาปี 1700 กว่าๆ เขาไม่เคยแก้เรื่อง Freedom of right เลย ไม่เคยแก้เรื่องสิทธิเลย

แต่ในขณะเราอยู่ในโลกที่คนไม่เชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน เชื่อว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องที่นำเข้ามาจากตำราต่างประเทศ ไม่เข้ากับสังคมไทย เวลาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันทางเพศ ทางผิว เชื้อชาติ การศึกษา มันเป็นเรื่องที่แปลกแยกต่อสังคมไทยในระดับหนึ่ง

มันมีดีเบตเรื่องสิทธิตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ฝั่งหนึ่งบอกว่าการที่เราเดือดร้อนแล้วไปสั่นระฆัง อันนี้ก็ถือเป็นสิทธิแล้ว แต่อีกฝั่งหนึ่งบอกว่าเราไม่มีสิทธิ เราเกิดมาแล้วก็เป็นแค่ object บางอย่าง เราไม่มี natural right หรือการมีสิทธิเสรีภาพตั้งแต่เกิด สังคมไทยเราเกิดมาไม่ได้เป็นตัวเราแต่เป็นใต้ฝ่าละออง หรือเรื่องอำแดงเหมือน ผู้หญิงถือเป็นทรัพย์สินของผู้ชาย ผู้ชายจะขายไปเมื่อไหร่ก็ได้

แล้วในขณะที่ยุคนี้ที่ใครก็เป็นสื่อได้ เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน สิทธิของสื่อจะเปลี่ยนไปหรือไม่ มันกำลังเกิดการถกเถียง แต่ที่สุดเราต้องกับมาดูว่ามันเป็นหน้าที่ของสื่อหรือไม่ ซึ่งได้แก่ common good หรือเรื่องส่วนรวมรึเปล่า และคุณต้องรับผิดชอบ free choice คือทุกคนต้องมีสิทธิเลือก และเราต้อง openness เปิดข้อมูลให้ทุกฝ่าย รวมทั้งมีเรื่อง moral หรือศีลธรรม
ทั้งนี้คำว่าศีลธรรมก็เป็นหน้าที่อันหนึ่งของสื่อที่จะรับผิดชอบต่อสังคม แต่สื่อเองก็ไปติดในการตัดสินผู้คนเสียเอง ว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งสิ่งที่จะช่วยได้คือคุณต้องมี openness เปิดเรื่องความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และเราคิดว่าเด็กรุ่นใหม่เขาเปิดมากๆ ในเรื่องความหลากหลาย

ขณะที่โลกเปลี่ยนเร็วขนาดนี้สิ่งที่สื่อละเมิดมีอะไรบ้าง เช่น ซีรีส์ฮอร์โมน เมื่อผู้ชายกับผู้ชายมีอะไรกัน วันรุ่งขึ้นมีสื่อหลักพาดหัวว่า "ระเบิดถังขี้" หรือการพาดหัว "ตุ๊งติ๊งโดนฆ่า" หรือการตีตรา เช่น "ม้งค้ายา" หรือการเปิดเผยชื่อ ที่อยู่ ไม่ใช่บุคคลในข่าวแต่อาจจะเป็นพ่อแม่ของเขาแทน หรือกรณี 'เปรี้ยว' กับรูปแบบการนำเสนอให้กลายเป็นเซเล็บฆาตกร ขณะเดียวกันการเปิดเผยชื่อของบุคคลในข่าวที่ต่อมากลายเป็นเพียง "แพะรับบาป" แต่มีผลให้ชีวิตเขาไม่สามารถไปสมัครงานที่ไหนได้อีก สังคมไม่ยอมรับ ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง อีกรูปแบบคือเรื่องเชิงนโยบาย มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะโจมตีเรื่องบางเรื่อง ทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะโดนหนักมากในเรื่องนี้ พยายามสร้างจุดอ่อน สร้างความไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น

เหล่านี้คือการที่สื่อละเมิดสิทธิ ซึ่งอาจจะมาจากมาตรฐานความคิด การใช้ชีวิต ระบบการศึกษา โครงสร้างของสังคมที่สื่อเองได้รับมา แต่ทั้งนี้สื่อควรตระหนักว่าต้องทำตัวเป็นตะเกียงนำทางสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงกระจกสะท้อนสิ่งที่สังคมชอบเสพ
 

ทิชา ณ นคร: กรณีตัวอย่าง สื่อตั้งคำถามเพียงปัจเจก นำเสนอด้านเดียว

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เล่าถึงกรณีตัวอย่างว่า คนที่เรานึกถึงเลยคือกรณีของ 'หมูหยอง' วัยรุ่นอายุไม่ถึง 18 ปีที่ฆ่าใครบางคนไป แล้วสื่อไปสัมภาษณ์เขา แต่สิ่งที่มันออกไปสู่สาธารณะเป็นด้านมืดด้านดิบของหมูหยอง ซึ่งเราคิดว่ามันมีกระบวนการบางอย่างที่สังคมยังต้องทำความเข้าใจกับมัน แค่ด้านมืดและด้านดิบที่ถูกหยิบออกมาไม่ถูกคัดกรองเลย ทั้งที่ผู้ก่ออาชญากรรมเขามีบาดแผลมาก่อน แต่หมูหยองก็ถูกส่งเข้าสถานพินิจได้คืนเดียวแล้วถูกส่งเข้าเรือนจำ ซึ่งการที่เขาถูกส่งเข้าเรือนจำมันเป็นผลมาจากประเด็น talk of the town ด้านมืดและด้านดิบของเขาที่สื่อลงก่อนหน้านั้นจนสถานพินิจไม่กล้ารับเขา

เรามีโอกาสไปเยี่ยมหมูหยองหลายครั้งที่เรือนจำชัยภูมิ แล้วเราก็พบว่าหมูหยองเป็นผลลัพธ์และผลผลิตที่ชัดเจนของครอบครัวที่ไม่ดูแล และระบบกลไกของรัฐที่มีอยู่ไม่ดูแลผู้คนที่เปราะบาง เมื่อข่าวให้ภาพด้านมืดและด้านดิบของหมูหยองก็เป็นการตอกย้ำด้วยว่าวุฒิภาวะของสังคมไทยไม่มีทางไปถึงไหน เพราะเราไม่สามารถมองปรากฏการณ์ได้ลึกลงไปกว่านั้นอีกแล้ว เราจะมองแค่ว่ามันเป็นปัญหาของปัจเจก และคุณต้องรับผิดชอบเอง

แน่นอนว่าการก่อเหตุแต่ละครั้ง ปัจเจกต้องเป็นผู้รับผลเพราะเป็นผู้กระทำ กฎหมายก็ยืนยันอยู่ แต่ถ้าเราอยากจะขับเคลื่อนสังคมเราต้องมองให้ออกว่า ปัจเจกแต่ละคนมีเจตจำนงอิสระขนาดนั้นเลยเหรอ เอาเข้าจริงเราเชื่อว่าผู้ก่อเหตุอาชญากรรมไม่ว่าจะร้ายแรงขนาดไหน มันไม่ใช่แค่เป็นผลลัพธ์และผลผลิตของตัวเอง

ครั้งแรกที่เราไปเยี่ยมหมูหยอง จำได้ว่าแนะนำตัวว่าหนูไม่รู้จักป้าหรอกลูก และป้าก็ไม่รู้จักหนู ป้าไม่ได้มาเยี่ยมหนูเพราะว่าหนูฆ่าคน แต่ป้ามีความเชื่อที่แข็งแรงมากว่า หนูต้องมีใครอีกคนอยู่ในตัว และคนๆ นั้นมันต้องสว่าง เพียงแต่คนที่เรารู้จักผ่านสื่อคือคนมืด แต่ป้ายังเชื่อว่าหนูมีคนๆ นั้นอยู่ ป้าตั้งใจมาหาแล้วมาเจอคนๆ นั้น และป้าคิดว่าป้าต้องเจอ ซึ่งพอเราคุยกันสองชั่วโมงเราก็เห็นหมูหยองอีกคนหนึ่งจริงๆ ซึ่งเราคิดว่าหมูหยองเกิดมาก็ไม่ได้ตั้งเป้าจะฆ่าใคร เขาก็อยากเป็นคนดี เขามีประวัติเรียนหนังสือเก่งด้วยซ้ำไป แต่พอเราไปตั้งให้คุณค่าและความหมายในด้านลบเกินไป มันทำให้มุมอื่นไม่ถูกพูด ซึ่งมันแปลว่าวิธีคิดของสังคมไทยต่อผู้ก่ออาชญากรรมมันออกมาแนวนี้ทั้งหมด

ถึงที่สุดแล้วเราคงไม่สามารถกวาดคนเหล่านี้ทิ้งไปไม่ได้ เขาไม่ใช่ขยะ แม้เขาอาจสรุปตัวเองไปแล้วว่าเขาเป็นขยะ หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรจะเยียวยาคนเหล่านี้ให้เขากลับคืนสู่สังคมได้ หน้าที่ของสื่อ สื่อก็ต้องตอบตัวเองเหมือนกันว่าตกลงเราจะเป็นกระจกให้สังคม หรือเราจะเป็นตะเกียงเพื่อนำสังคมไป สังคมไทยถึงจุดที่ต้องเลือก แม้ตอนนี้เราอาจจะยังไม่เลือกก็ตาม แต่ใครบางคนต้องกล้าหาญที่จะเลือกก่อน ถึงที่สุดคนๆ หนึ่งต้องตัดสินใจ แม้ในเชิงระบบเราไม่อาจตัดสินใจได้ ถึงที่สุดสเกลเล็กๆ กับคนแค่บางคน ก็อาจกลายเป็นสเกลอัพเป็นคนหลายๆ คนได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในวันที่มันสุกงอมพอ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้มันตามน้ำไปแบบนี้

สังคมไทยไม่เคยไปถึงการตั้งคำถามเชิงระบบ
ทิชาวิพากษ์ว่า สังคมไทยวุฒิภาวะเราไปไม่ถึง ระหว่างการตั้งคำถามเชิงปัจเจก กับการตั้งคำถามเชิงระบบ สังคมไทยไม่เคยตั้งคำถามเชิงระบบ ใครทำผิดทำชั่ว เราก็จะถามเชิงปัจเจกทั้งหมด แล้วหน้าที่ของปัจเจกคือต้องรับผลนั้นเสมอ ซึ่งถามว่าความเสียหายมันอยู่ตรงไหน ทำผิดก็ต้องรับผิดสิ แต่เมื่อไม่ตั้งคำถามกับระบบ คนขับเคลื่อนเชิงระบบก็ไม่ต้องปรับอะไร เช่น สื่อจะพาดหัวเลยว่า วันนี้วันเกิดบุคคลสำคัญจะออกมาสามหมื่นคน ระวังกันให้ดี เราไม่ถามเลยว่าแล้วคุกเอาคนไปทำอะไร กี่ปีๆ เอางบประมาณไปมหาศาล ภาษีอากรของเรา ภายใต้ระบบของคุกสร้างคนแบบไหน เมื่อเราไม่ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ อย่าหวังว่าระบบจะเปลี่ยน เพราะระบบไม่เคยถูกตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น น้ำหนักก็ไม่อยู่ที่ปัจเจกซึ่งเป็นผลจากตัวระบบอีกที แล้วถ้าเราไม่ทำอะไร ไม่กู้คืน เขาก็จะรู้สึกเป็นขยะของสังคม เราสนุกกับการตั้งคำถามปัจเจกตลอดมาจนกระทั่งทักษะการตั้งคำถามเชิงระบบของเรามันตายไปแล้ว

อย่างหมูหยอง ถ้าเราไปสัมภาษณ์เขาตอนทำความผิดใหม่ๆ เราก็จะเห็นแต่ด้านมืดและด้านดิบของเขา เท่ากับมันไปตอกย้ำมุมนี้ของเขาจนมันเสียสมดุล ตอนที่เราไปถามเขาว่าถ้าเขามีโอกาสพูดได้ใหม่เขาจะพูดอะไร หมูหยองบอกว่า ผมอยากบวชให้เขาครับ

จริงๆ แล้วเรายังมีคนอีกเยอะแยะให้ถามได้ ย้อนไปนิดเดียวก็จะเห็นว่าหมูหยองมีเรื่องความรุนแรงในครอบครัวปนอยู่เยอะมาก ย้อนกลับไปถามว่าไทยเรามีกลไกอะไรที่จะคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว เรามี พ.ร.บ.ยุติผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางครอบครัว มาหลายปีแล้วแต่มันไม่ฟังก์ชั่น แต่ท้ายสุดพอมันมีมันก็ไม่ได้ใช้ได้จริง ความรุนแรงในครอบครัวยังอยู่ ถ้าเราถามซ้ำแล้วซ้ำอีกเกี่ยวกับกลไกเหล่านี้เหมือนที่เราถามซ้ำผู้กระทำ เราเชื่อว่ากลไกที่มันหลับใหลมานานมันต้องถูกปลุกให้ตื่นขึ้น ไม่ต้องรอให้คนมาจี้ แต่แน่นอนหนึ่งเคสสองเคสคงไม่ อาจจะต้องทำซ้ำไปเป็นปี แต่เราต้องอดทน และไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะทำ  

การเยียวยาที่ดีที่สุดคือให้เขาได้สื่อสารเรื่องราวเขาในที่สาธารณะ
ทิชากล่าวถึงกรณีให้เด็กเปิดหน้าสัมภาษณ์ได้เมื่อเขาเห็นในด้านสว่างของตัวเอง "ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นอาชญากร พอเขามาอยู่กับเรา หน้าที่ของเราคือการเยียวยา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย การพบจิตแพทย์ก็ไม่ได้มียาวิเศษที่จะช่วยเยียวยาได้โดยง่าย แล้วเราก็ค้นพบโดยบังเอิญเมื่อเขาได้ไปพูด ให้สัมภาษณ์ เวลาเขาเขียนไดอารี่ก่อนนอน เขารู้สึกภูมิใจ บางคนใช้คำว่า ขอบคุณครับที่ให้ผมได้เยียวยาตัวเอง คำพวกนี้ไหลมาตลอด เราพบว่าการที่เด็กซึ่งเคยอยู่ในมุมมืดของสังคม ได้มาอยู่ในที่สว่าง มีคนยอมรับ เห็นตัวตนเขา ให้คุณค่า ให้ความหมาย มันคือการเยียวยาที่เป็นธรรมชาติ ราคาถูก แต่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่สูงมาก" ทิชากล่าว

ทิชากล่าวต่อว่า อันหนึ่งที่เราเรียนรู้จากเด็กคือตอนที่เขาถูกจับ ตำรวจและนักข่าวคุยกันยังไงไม่รู้แต่ถึงที่สุดเขาต้องถูกจับมานั่งหน้ากล้องเต็มไปหมด โดยมีผ้าคลุมหรือหมวกกันน็อคปิดอยู่ แล้วสื่อซึ่งเป็นตัวแทนของความดีงามก็จะเริ่มตั้งคำถาม ซึ่งในนาทีนั้นเด็กเขาก็บอกชัดว่า ไม่เคยมีใครถามผมสักคำว่าผมอยากออกสื่อไหม ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าเขาทำผิด เมื่อเขาทำผิดต้องได้รับผล และทำให้เขารู้สึกว่าชาตินี้กูดีไม่ได้ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ของเด็กคนหนึ่งมันจะกลายเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาตลอดกาล และเมื่อมันกลายเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาตลอดกาล ระยะยาวเราจะเดือดร้อนกันหมด

แต่ที่มันแปลกก็คือ เมื่อวันหนึ่งเรื่องราวชีวิตของเขาเป็นหนึ่งในเรื่องในหนังสือเล่มหนึ่ง เขาได้ไปงานเปิดตัวหนังสือ ขึ้นพูดบนเวที แต่พวกผู้ใหญ่กลับปรึกษากันว่าเด็กสถานพินิจจะออกสื่อได้ไหม เขาหันมาบอกเราว่า ผมแปลกใจจังครับ วันนั้นที่โดนจับไม่มีใครถามผมสักคำว่าอยากออกสื่อไหม แต่วันนี้ผมทำในสิ่งที่ถูกต้อง อยากให้สังคมได้เรียนรู้ผ่านเรื่องราวของผม แต่ผู้ใหญ่กลับคิดกันน่าดูว่าควรออกสื่อไหม

ตกลงแล้วเขาก็เลยไม่รู้ว่าการออกของเขามันผูกโยงกับอะไรกันแน่ ความชั่วหรือความดี แล้วถ้าการทำดีแบบนี้สำหรับเขามันปลดล็อกความผิดพลาดและทำให้เขารู้สึกเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งในทางความรู้สึก ซึ่งมันยิ่งใหญ่ในทางความรู้สึก พบจิตแพทย์ก็ใช่ว่าจะช่วยได้แบบนี้ แต่การได้พูดในสาธารณะมันทำได้ ทำไมสังคมไม่ยอมจ่าย เพราะเรารู้สึกไงว่า ไอ้นี่มันเคยฆ่าคนมา แล้วมันก็ไปเปิดตัว สังคมก็จะจำได้ คำถามคือ ถึงที่สุดสังคมเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวตนใหม่ของผู้คนด้วยใช่ไหม และถ้าสังคมมันยกระดับไปถึงแบบนี้ได้ มันก็คือการเติบโตของสังคม
 

ปฏิภัทร จันทร์ทอง: การทำงานจริงที่ไม่อาจทำตามหลักการได้ทุกครั้ง

ปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพบางกอกโพสต์ เล่าว่า ตอนทำงานเราไม่ได้ยึดหลักการซะทีเดียว แต่เราทำยังไงก็ได้ให้เรารู้สึกไม่ไปก้าวล่วงเขา มันอยู่ที่เจตนาและวิธีการสื่อสารของเรา สำหรับงานข่าว บางอย่างเราไม่สามารถไปขอเขาได้ ซึ่งอาจแตกต่างจากงานสารคดีนิดหน่อย งานข่าวมีเรื่องของเวลาเป็นตัวกำหนด เราอาจต้องรีบปิดต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์ เพราะฉะนั้นบางเหตุการณ์เราไม่สามารถไปบอกหรือไปอธิบายทั้งหมดว่า ผมเข้ามาตรงนี้เพื่อแบบนี้ และขอถ่ายรูปคุณเพื่อแบบนี้ แล้วมันจะออกไปเป็นแบบนี้ บางเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาสั้นมาก บางอย่างเราต้องการธรรมชาติของมัน ถ้าเราเข้าไปคุยท่าที แอคชั่นก็จะเปลี่ยนไป ในขณะที่งานสารคดีใช้เวลาเยอะกว่า มีเวลาในการพูดคุยเยอะกว่า

มีเคสตัวอย่างที่บอกไม่หมด คือหลังเกิดเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ ปี 2553 ตำรวจก็จะไปตรวจตามจุดต่างๆ เราไปทำข่าวตำรวจตรวจค้นแถวรามฯ มีคนอิตาลีอยู่แถวนั้น เราเข้าไปขอถ่ายรูปเขา ถามเขาว่าเป็นคนชาติไหน วันต่อมาออฟฟิศ (บางกอกโพสต์) ตีพิมพ์รูปเขาลงหน้าหนึ่ง เขาโทรมาที่ออฟฟิศบอกว่าจะฟ้องบางกอกโพสต์

ตอนที่เขียนแคปชั่นใต้ภาพเราเขียนแค่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่และได้พูดคุยกับชาวอิตาลีที่พักอาศัยอยู่อพาร์ตเมนต์แถวนี้ แต่ตัว Text ที่เขียนต่อจากนั้นเขียนว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สืบเนื่องจากเหตุระเบิดราชประสงค์ เขาจึงรู้สึกว่าเขาถูกผูกโยงกับเรื่องนี้ ทางกองบ.ก.ก็โทรไปคุย สุดท้ายก็เจรจาต่อรองกันได้ ไม่มีการฟ้องร้อง แต่เคสนี้ทำให้เราเห็นว่าตอนที่เราลงพื้นที่ เราถ่ายเขา ถ่ายคนอื่นด้วย สมมติเราส่งไป 20 รูป เราไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายแล้วรูปไหนจะได้ลงข่าว รูปที่จะเผยแพร่ส่วนหนึ่งมันผ่านจากช่างภาพ อีกส่วนมันผ่านจาก กอง บ.ก. ไป

อีกส่วนหนึ่งคือเวลาเราลงพื้นที่ เราไม่มีเวลาจะอธิบายเขาทั้งหมดหรอกว่าเราจะนำเสนอยังไงแบบชัดๆ และสมมติตำรวจเดินไปค้นคนนี้ แล้วตำรวจเดินไปค้นอีกคน เราก็ต้องตามไปถ่ายแล้ว ไม่มีเวลาที่จะอธิบายทุกคนจริงๆ ยกเว้นบางเคสที่เรามีเวลา เราก็จะอธิบาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหล่าทัพประกาศ ‘เป็นกองหนุนรัฐบาล’ ไม่หวั่น ปลายปี ผบ.เหล่าทัพ เกษียณฯยกแผง

Posted: 11 Jan 2018 01:58 AM PST

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดย้ำกองทัพหนุนรัฐบาล ทุกอย่างมีกฎหมาย ขั้นตอนอยู่แล้ว ระบุที่ประชุม ผบ.เหล่าทัพไม่ได้ถกปมการเลือกตั้งในปีนี้ ยันไม่กังวลแม้ ผบ.เหล่าทัพจะเกษียณทั้งหมด ปลายปีนี้ เหตุมีระบบการทำงานอยู่แล้ว ย้ำทุกเหล่าทัพหนุนงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว" 8 ก.พ. - 11 มี.ค.นี้

ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Army PR Center' 

11 ม.ค. 2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วานนี้ (10 ม.ค.61) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ถึงการเตรียมพร้อมดูแลสถานการณ์ที่จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ว่า ที่ประชุมไม่ได้พูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่กองทัพจะสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล โดยทุกอย่างมีกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนการดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การปลดล็อกให้พรรคดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางกองทัพก็ทำหน้าที่ตามปกติ ส่วนการดูแลความเคลื่อนไหวของนักการเมืองนั้น ยังมีกรอบกำหนดอยู่ เชื่อว่านักการเมืองยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ และเชื่อว่าไม่มีผลกระทบอะไร

เมื่อถามว่าปีนี้ ผบ.เหล่าทัพจะเกษียณอายุราชการทั้งหมด จะสานงานต่ออย่างไร เพราะถือเป็นช่วงรอยต่อที่จะมีการเลือกตั้งช่วงปลายปี พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า กองทัพมีระบบการทำงาน ขั้นตอนและบุคลากรชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องกังวล

ต่อกรณีคำถามที่ว่าว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ประกาศตัวเป็นนักการเมืองแล้ว ทางกองทัพจะวางตัวอย่างไร พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า นายกฯได้ชี้แจงแล้วว่าความหมายนักการเมืองของท่านหมายความว่าอย่างไร ซึ่งเราได้รับทราบแล้ว ส่วนบทบาทกองทัพโดยเฉพาะหน้าที่และภารกิจยังดำเนินการตามปกติ ทั้งการสนับสนุนรัฐบาลและเป็นเครื่องมือให้กับคสช.

เมื่อถามว่าที่ประชุมได้พูดคุยถึงกรณีมีการเผยแพร่ภาพ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในประเทศอังกฤษหรือไม่ พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดำเนินการ ในที่ประชุมไม่ได้พูดถึง เพียงแต่รับทราบและเห็นภาพจากสื่อเท่านั้น ส่วนจะประสานกับตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพลหรือไม่นั้น เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำงานตามระเบียบและขั้นตอน

เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Army PR Center' รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพดังกล่าว เน้นย้ำให้ทุกเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนการจัดงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว" ที่จะจัดขึ้นวันที่ 8 ก.พ. - 11 มี.ค.นี้อย่างเต็มขีดความสามารถ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ขอบคุณเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สนับสนุนโครงการจิตอาสา "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" และชื่นชมกองทัพบก ที่มีผลการดำเนินการเป็นรูปธรรมทุกด้าน สนับสนุนรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมทั้งช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ชื่นชมกองทัพเรือ เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกผสมพหุภาคีกองทัพเรืออาเซียน ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพเรือของประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกัน รวมทั้งเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่กองทัพเรือและประเทศไทยได้รับความไว้วางใจในการจัดงานครั้งนี้ กองทัพอากาศจัดการแข่งขันปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธี ประจำปี 2561 แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถและศักยภาพกำลังทางอากาศของกองทัพอากาศ ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อมั่นได้ว่ากองทัพอากาศ มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจเพื่อความมั่นคงของชาติและความผาสุกของประชาชน รวมทั้งชื่นชมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ประเด็น กองหนุน ของ คสช. นั้น เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังจากเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวตอนหนึ่งขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพ เข้าอวยพร ว่า "ตู่ (พล.อ.ประยุทธ์) ได้ใช้กองหนุนไปหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเราสามารถแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีของเราที่มีต่อประชาชนชาวไทย กองหนุนจะมาเอง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ดค่าจ้างไร้มติเลื่อนเป็น 17 ม.ค. ยันขึ้นแน่ แต่ไม่เท่ากันทุกจังหวัด

Posted: 11 Jan 2018 12:21 AM PST

บอร์ดค่าจ้างไร้มติ เลื่อนไปเป็น 17 ม.ค.นี้ ประธานบอร์ดค่าจ้าง ยันขึ้นแน่แต่ไม่เท่ากันทุกจังหวัด ขณะที่รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ชงยกเลิกอนุ คกก.ค่าจ้างจังหวัด แนะ ประยุทธ์ ใช้ม.44 ปรับค่าจ้าง ยันตัวเลข 360 บาททั่วประเทศ

แฟ้มภาพ

11 ม.ค.2561 ความคืบหน้าการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ของคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) วานนี้ (10 ม.ค.61) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง กล่าวว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย เข้าร่วมประชุมพิจารณาการปรับค่าจ้าง ซึ่งมาประชุมครบทุกคน แต่พบกว่าตัวเลขที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมาแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างกันมาก บางจังหวัดอัตราค่าจ้างต่ำ บางจังหวัดอัตราค่าจ้างสูงเกินไป บางจังหวัดไม่มีตัวแทนลูกจ้าง

"บอร์ดค่าจ้างจึงไม่สามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ได้ ขอให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดกลับไปทบทวนอัตราค้าจ้าง ก่อนเสนอมาอีกครั้งในการประชุมบอร์ดค่าจ้างนัดต่อไปวันที่ 17 มกราคม 2561" จรินทร์ กล่าว

"ส่วนจะมีการปรับขึ้นเท่าไหร่ ต้องดูจากหลายปัจจัยประกอบ อาทิ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ความสามารถในการผลิต ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รวมถึงศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลังจากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ไม่มีการปรับขึ้นมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 เพิ่งจะปรับ ในปีที่ผ่านมา สูงสุด 310 บาท" ประธาน บอร์ดค่าจ้าง กล่าว

ไทยพีบีเอส รายงานดวยว่า ประธาน บอร์ดค่าจ้าง ยืนยันว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกจังหวัด แต่ไม่เท่ากัน ส่วนตัวเลขอยู่ที่ 2-15 บาทหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบอร์ดค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย ที่จะพิจารณาจากข้อมูลที่อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอตัวเลขเข้ามา 

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานความเห็นของ ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ด้วย โดย ชาลี กล่าวว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างวันนี้แม้ครบองค์ประชุม แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดค้าจ้างแล้ว กลับมีข้อท้วงติงจากส่วนกลางมากมาย เหมือนไม่เชื่อใจอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 76 จังหวัด ที่เสนอตัวเลขมามีความแตกต่างกัน จึงถูกตีตกไป ทำให้เสียเวลาในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ออกไปอีก

"ผมมองว่าบอร์ดค้าจ้าง ยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ อาศัยอนุกรรมค่าจ้างจังหวัดเป็นเกราะกำบัง หรือเป็นข้ออ้างในการเตะถ่วงไม่ยอมปรับค่าจ้างขั้นต่ำเสียที ผมขอเสนอให้ยกเลิกอนุกรรมการต่าจ้างจังหวัด เพราะเสนอตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำมาแต่ละครั้งก็ถูกส่วนกลางตำหนิหรือตีตกไปทุกครั้ง ทำให้เสียเวลาเสียโอกาส" ชาลี กล่าว

ชาลี กล่าวอีกว่า ควรจะมีหน่วยงานกลางหรือคนกลาง เช่น สถาบันทีดีอาร์ไอ หรือมหาวิทยาลัยทำการศึกษาวิจัยค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมกับประเทศไทย ที่นายจ้าง ลูกจ้างอยู่ได้ ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ยังยืนยันตัวเลขเดิม ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศที่ 360 บาท ส่วนข้อเสนอให้ปรับ2-15 บาทนั้น ในสภาพความจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะเงิน 2 บาทแทบจะทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

"ผมไม่มั่นใจว่า 17 ม.ค. 2561 บอร์ดค่าจ้างจะสามารถเคาะค่าจ้างขั้นต่ำปี2561ได้หรือไม่ ผมขอเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ใช้ม.44 ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะดีกว่า"  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าว

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุม ครม. ถึงกรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า เป็นเรื่องการพิจารณาหารือของคณะกรรมการ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแล้ว โดยการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะให้ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ถ้าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงจะขึ้นเท่าไหร่ โดยจะมีการพิจารณาและดำเนินการอย่างเป็นธรรม ขอให้รอฟังผลการพิจารณาหารือ ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ทำความเข้าใจ หากผู้ประกอบการมีความเดือนร้อน รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือหาวิธีการดูแล โดยเฉพาะมาตราการเงินและการคลัง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์: รัฐบาล 'ทรัมป์' จะทำให้จีน 'ยิ่งใหญ่อีกครั้ง' จริงหรือ?

Posted: 10 Jan 2018 11:10 PM PST

นักข่าวอีวาน ออสนอส ผู้มีประสบการณ์ในจีน ตามสัมภาษณ์ผู้ศึกษาจีน-สหรัฐฯ และเรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับการที่จีนพยายามผงาดขึ้นมาในเวทีโลกช่วงที่สหรัฐฯ ล่าถอยในรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ดูเหมือนว่าหลายคนยังประเมินว่าจีนจะเพลี่ยงพล้ำถ้าพยายามฉวยโอกาสเร็วเกินไป อีกทั้งการที่จีนไม่เคารพในเสรีภาพและประชาสังคมของตัวเองทำให้จีนไม่เป็นที่นับถือในสายตาของชาวโลกทั่วไป ขณะที่สหรัฐฯ ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนยังอาจจะสำรวจตัวเองและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

ในรายงานของนิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2561 โดยนักข่าวอีวาน ออสนอส นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการพยายามขึ้นมาเป็นผู้นำบนเวทีโลกในยุคสมัยที่สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามปิดตัวเองด้วยคำขวัญว่า "อเมริกามาก่อน" ส่วนจีนพยายามสร้างภาพให้ตัวเองดูเป็นผู้ให้ผลประโยชน์กับประเทศอื่นในเวทีโลก

ออสนอสยกตัวอย่างการนำเสนอภาพตัวเองในเวทีโลกของจีนผ่านทางภาพยนตร์ "กองพันหมาป่า" หรือ "Wolf Warrior II" ซึ่งเป็นภาพยนตร์แอคชั่นที่รายได้ถล่มทลายในจีนช่วงสองสัปดาห์แรก เรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยรบพิเศษของกองทัพจีนที่เข้าไปปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนจีนที่ประเทศสมมติแห่งหนึ่งในแอฟริกาและมีตัวร้ายเป็นกลุ่มกบฏที่มีตะวันตกหนุนหลัง มีการพยายามสร้างภาพว่าจีนและแอฟริกา "เราเป็นเพื่อนกัน" และมีตัวร้ายเป็นนักแสดงชาวอเมริกันที่พยายามพูดดูถูกตัวเอกชาวจีนแต่ตัวร้ายก็ถูกซ้อมจนเสียชีวิตแล้วตัวเอกก็บอกว่า "นั่นเป็นอดีตไปแล้ว"

ออสนอสเคยย้ายเข้าไปอาศัยในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2548 เขาบอกว่าเรื่องเหล่านี้สะท้อนความพยายามเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลกด้วยปฏิบัติการทางทหารในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เช่น การส่งกองกำลังเข้าไปช่วยเหลือพลเรือนในสงครามเยเมน รวมถึงการเข้าไปตั้งฐานทัพในประเทศจิบูตี มีการตั้งข้อสังเกตว่าจากที่ก่อนหน้านี้ชาตินิยมของจีนตั้งอยู่บนแนวคิดแบบทำให้ตัวเองดูเป็นเหยื่อทั้งจากการรุกรานและจากจักรวรรดินิยม แต่การนำเสนอภาพยนตร์เรื่องกองพันหมาป่าเป็นการพยายามแสดงออกถึงความเข้มแข็งของจีนด้วยการเล่าในแบบของตัวเองไม่ต่างจากภาพยนตร์แอคชั่นในช่วงสมัยประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ

ออสนอสยังเคยพูดคุยกับอู๋จิง นักแสดงนำและผู้กำกับ Wolf Warrior II ช่วงที่เขาเดินทางมาโปรโมทภาพยนตร์เพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ อู๋จิงบอกว่าก่อนหน้านี้ภาพยนตร์ในจีนเน้นแต่เรื่องสงครามฝิ่น เน้นแต่เรื่องที่ว่าประเทศอื่นทำสงครามกับจีนอย่างไร แต่ในตอนนี้จีนจะเล่าเรื่องในทำนองที่ว่าพวกเขาจะเป็นประเทศที่ปกป้องสันติภาพของโลกได้ อย่างไรก็ตามอู๋จิงถือเป็น "เด็กปั้น" ของรัฐบาลจีนเขาจึงไม่พูดถึงเรื่องการเซ็นเซอร์และการโฆษณาชวนเชื่อที่เกิดขึ้นในประเทศตัวเองเลย


'จีนผงาดสู่เวทีโลก' ?

รายงานในนิวยอร์กเกอร์ตั้งข้อสังเกตว่าในตอนนี้บทบาทของสหรัฐฯ และจีนดูจะกลับกัน ในขณะที่รัฐบาลทรัมป์ของสหรัฐฯ พยายามแสดงออกเสมือนลดบทบาทลงในเวทีโลก แต่เป็นจีนที่บทบาทในเวทีโลกดูเด่นขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยปี 2502 ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์เคยกล่าวไว้ว่าบทบาทอำนาจของรัฐไม่ควรจะมีแต่อำนาจทางทหารแต่อย่างเดียว ประเทศร่ำรวยที่เข้มแข็งทางการทหารก็เคยแพ้สงครามมานักต่อนักแล้ว สหรัฐฯ ต้องพยายามปกป้องโลกใหม่เสรีภาพและมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ควรทำให้สหรัฐฯ เป็นแค่ "ประเทศร่ำรวยในสุสานทางประวัติศาสตร์"

ขณะที่นโยบายทรัมป์พยายามตัดขาดสหรัฐฯ ออกจากเวทีโลกด้วยการยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกและนโยบายกีดกันคนจากประเทศมุสลิมเข้าเมือง เทียบกับนโยบายต่างประเทศยุคสมัยบารัก โอบามา ที่เน้น "การเป็นผู้นำอยู่เบื้องหลัง" จีนก็แสดงออกถึงความทะเยอทะยานในพื้นที่ที่เคยเป็นการวางรากฐานทางอำนาจของสหรัฐฯ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การให้ความช่วยเหลือด้านกองทุนการพัฒนาในต่างประเทศ การแผ่อิทธิพลการต่างประเทศและการทหาร รวมถึงการพยายามพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างระบบปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งจีนยังกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำการให้ความช่วยเหลืองบประมาณแก่สหประชาชาติและกองกำลังรักษาสันติภาพ และพูดถึงปัญหาต่างๆ ในเวทีโลก

การพยายามแผ่อิทธิพลของจีนยังเกิดขึ้นจากแผนการด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานในทวีปเอเชียและแอฟริกาอย่างโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ขณะเดียวกันในเวทีโลกร้อนที่ปารีส ผู้นำจีนก็แสดงการสนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อนพร้อมๆ กับวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการคุ้มครองทางการค้า (protectionism) ซึ่งดูย้อนแย้งกับจีนในอดีตที่มีนโยบายปกป้องและกีดกันสินค้าต่างชาติในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบันจีนเองพยายามเจรจาให้เกิดสนธิสัญญาการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ที่ไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย

ในประเด็นด้านความมั่นคงจีนก็สอดตัวเองเข้าไปมีบทบาทในองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) ได้สำเร็จในปี 2559 โดยที่ เหมิง หงเหว่ย จากฝ่ายความมั่นคงของจีนกลายเป็นประธานตำรวจสากลคนแรกที่เป็นชาวจีน ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนตื่นตัวในเรื่องนี้เพราะตำรวจสากลเป็นองค์การที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องให้ความช่วยเหลือรัฐบาลเผด็จการในการข่มเหงรังแกผู้ต่อต้านรัฐบาลและนักกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในต่างประเทศ


'แบบแผนฉบับจีน'

รายงานของออสนอสประเมินว่าถึงแม้สหรัฐฯ จะยังคงมีอำนาจนำต่อไปอีกหลายปีเพราะมีกำลังทางการทหารและสนธิสัญญาด้านกลาโหมกับประเทศอื่นๆ มากกว่า 50 ประเทศ ขณะที่จีนมีเกาหลีเหนือประเทศเดียว แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นผู้คนก็ดูจะเชื่อมั่นในสหรัฐฯ น้อยลงขณะที่จีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ตนต้องการมากขึ้นโดยชักจูงประเด็นต่างๆ ทั้งการแข่งขันในการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างไปในทางที่ตัวเองต้องการแม้ว่าจะเป็นไปในทางทำลายสิ่งเหล่านี้ก็ตาม

ขณะที่ศูนย์วิจัยพิวเคยทำสำรวจพบว่าผู้คนไว้ใจสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนในเรื่องกิจการของโลกมากกว่าทรัมป์ แต่สีจิ้นผิงก็มีลักษณะอำนาจนิยมที่เน้นตัวบุคคลโดยเอาความคิดของตัวเองเข้าไปใส่ในหลักการรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจอย่างไม่ค่อยมีการขัดขวาง และสีจิ้นผิงก็เริ่มท้าทายระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐฯ ด้วยการประกาศในที่ประชุมพรรคว่าจีนจะเป็น "ทางเลือกใหม่ให้กับประเทศอื่น" และเรียกทางเลือกที่นอกเหนือจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกว่า "จงกั๋วฟางอั้น" หรือ "แบบแผนฉบับจีน"

จนถึงบัดนี้ กลุ่มชาตินิยมจีนมีความปรารถนาจะได้รับการยอมรับจากโลกภายนอก แต่พวกเขาก็กล่าวโจมตี "พวกบัวขาว" ที่หมายถึงกลุ่มเสรีนิยมจีน ขณะเดียวกันพวกเขากลับไม่สนใจความถูกต้องทางการเมืองในเวทีโลก เช่นพอมีนักแสดงพูดถึงวิกฤตผู้ลี้ภัยในประเทศอื่นเธอก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทางอินเทอร์เน็ตและถูกบีบให้ออกมาแถลงว่าไม่ได้หมายถึงอยากให้จีนรับผู้ลี้ภัย

ในรายงานยังตั้งข้อสังเกตเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับผู้นำจีนอีกว่าจากการพบปะกันหลายครั้งพวกเขาดูจะมีความชอบพอกันดีและทรัมป์เองก็กล่าวชื่นชมจีน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยอภิปรายโจมตีว่าชาวจีนขี้โกงในการทำธุรกิจ ซ้ำยังชื่นชมความ "ชาตินิยม" แบบผู้นำจีน ทำให้มองไม่ออกว่าผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันจะคัดง้างอะไรจีนในเวทีโลก

เรื่องนี้อาจจะแสดงให้เห็นว่าจีนเริ่มพัฒนาตัวเองเรื่องการโน้มน้าวใจด้วยอำนาจอ่อนแล้วก็เป็นได้ ผู้ที่พูดเช่นนี้คือโจเซฟ นาย นักวิชาการรัฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ดผู้ประดิษฐ์คำว่า "อำนาจอ่อน" (soft power) ขึ้นมาเพื่ออธิบายการใช้แนวคิดหรือแรงดึงดูดแทนการใช้กำลังเพื่อทำให้คนเชื่อตาม ก่อนหน้านี้ประเทศที่ใช้อำนาจอ่อนคือสหรัฐฯ ผ่านทั้งทางภาพยนตร์ฮอลลิวูด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมูลนิธิของบิล เกตส์ แต่นายก็เห็นข้อด้อยของจีนในเรื่องนี้คือการที่จีนไม่เชื่อในเรื่องพลังของภาคประชาสังคม นายบอกอีกว่าความไม่เป็นที่นิยมของทรัมป์จะไม่ถึงขั้นทำให้สหรัฐฯ ถึงจุดเปลี่ยน ทรัมป์เป็นแค่ประธานาธิบดีที่ผิดแผกออกไปบ้างตามที่เคยมีในประวัติศาสตร์ เว้นแต่ถ้าหากทรัมป์นำสหรัฐฯ ไปสู่สงครามใหญ่ๆ หรือได้รับเลือกตั้งเข้ามาสร้างความเสียหายอีกครั้ง


ทำไมการให้จีนกุมบังเหียนโลกถึงน่าเป็นห่วง

ออสนอสระบุว่าสาเหตุที่เรื่องนี้น่าเป็นห่วง หนึ่งในนั้นเพราะความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีของจีนกับบริษัทอเมริกันที่ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องผลกำไรอย่างเดียวเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของการปั้นแต่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งเรื่องความเป็นธรรม สิทธิความเป็นส่วนตัว และการเซ็นเซอร์ด้วย โดยที่นอกจากจีนจะเซ็นเซอร์เว็บไซต์ชั้นนำใหญ่ๆ ของต่างประเทศแล้ว พวกเขายังมีบริษัท SenseTime ที่กำลังพัฒนาระบบการจดจำใบหน้าของบุคคลด้วย ขณะที่เรื่องเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าทำให้เกิดขัอถกเถียงอภิปรายกันในสหรัฐฯ ที่มีวัฒนธรรมการให้คุณค่าสิทธิระดับปัจเจกบุคคล แต่ในจีนที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบนี้ก็มีการถกเถียงกันเรื่องนี้น้อยมาก

รายงานในนิวยอร์กเกอร์ยังเปรียบเทียบสหรัฐฯ กับจีนว่า ขณะที่การเสนองบประมาณของรัฐบาลทรัมป์ในปี 2561 จะตัดงบการวิจัยวิทยาศาสตร์ไปมากถึงร้อยละ 15 คิดเป็นราว 11,100 ล้านดอลลาร์ แต่จีนก็กลับทุ่มทุนไปกับระบบปัญญาประดิษฐ์

อิริค ชมิดธ์ ผู้ที่เคยเป็นประธานอัลฟาเบตบริษัทแม่ของกูเกิลเคยกล่าวในที่ประชุมด้านปัญญาประดิษฐ์และความมั่นคงของโลกว่าจีนอาจจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ภายในช่วงปี 2568 ถ้าหากสหรัฐฯ ยังสั่งแบนไม่ให้ชาวอิหร่านที่มีนักวิทยาการคอมพิวเตอร์เก่งๆ เดินทางเข้าประเทศ

มีบางส่วนที่เริ่มโต้ตอบการพยายามขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วของจีนบ้างแล้ว เช่น ออสเตรเลียมีสื่อขุดคุ้ยและสามารถเปิดโปงได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่งอิทธิพลต่อรัฐบาลออสเตรเลียอย่างไร ในเดือน ส.ค. ปีที่แล้วก็มีนักวิชาการแสดงความไม่พอใจที่เคมบริดจ์นำบทความที่อ่อนไหวต่อจีนอย่างกรณีการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินออกจากเว็บ รัฐบาลประเทศอื่นๆ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็แสดงความกังวลต่อเรื่องที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนแผ่ขยายไปสู่นอกอาณาเขตจีน เช่นกรณีการลักพาตัวคนตีพิมพ์หนังสือวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำจีนไปจากฮ่องกงและไทย

กรณีโครงการของจีนก็มีปัญหาจากการสร้างปัญหาโดยจักรวรรดินิยมแบบจีนเองเช่นกรณีในศรีลังกาที่มีคนประท้วงต่อต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกในเรื่องการแทรกแซงอธิปไตยศรีลังกา วิธีการทำธุรกิจของจีนเองก็มีลักษณะชอบลงโทษประเทศเล็กกว่าที่แสดงออกทางการเมืองในแบบที่จีนไม่พอใจ เช่นหลังจากที่มีการให้รางวัลโนเบลแก่หลิวเสี่ยวโป จีนก็หยุดค้าขายกับนอร์เวย์ไป 7 ปี ในช่วงที่มีการพิพาทเรื่องดินแดนกับฟิลิปปินส์ จีนก็ตัดการนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์ ช่วงที่มีข้อพิพาทกับเกาหลีใต้ก็มีการจำกัดการท่องเที่ยวและสั่งปิดห้างสัญชาติเกาหลี

นักวิเคราะห์การเมืองในวงการของจีนก็กังวลเช่นกันว่าถ้าจีนก้าวเร็วเกินไปในการพยายามเป็นผู้นำโลกช่วงสหรัฐฯ มีช่องโหว่จะเกิดผลเสียแม้แต่กับจีนเอง เจียฉิงกั่ว คณบดีภาควิชาการทูตของมหาวิทยาลัยปักกิ่งบอกว่าสหรัฐฯ ยังไม่เสียตำแหน่งการนำไปง่ายๆ แม้ว่าจีนจะพยายามขึ้นมากุงบังเหียนแต่การขาดประสบการณ์ไม่คุ้นเคยกับเวทีโลกของจีนอาจจะทำให้จีนเพลี่ยงพล้ำได้ แม้แต่มหาวิทยาลัยในจีนเองก็ผลิตคนที่เข้าใจโลกภายนอกที่ดูห่างไกลสำหรับจีนอย่างทันด่วนไม่ได้


อะไรที่ทำให้หลายคนคิดว่าสหรัฐฯ ยังจะไม่เสื่อมไปง่ายๆ

ออสนอสระบุว่าจากการสัมภาษณ์ทั้งในจีนและสหรัฐฯ ส่วนมากก็บอกว่าจีนคงจะยังไม่สามารถแทนที่สหรัฐฯ ได้ง่ายๆ เพราะอุปสรรคทางเศรษฐกิจของจีนเองและระบอบการเมืองที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนา และบั่นทอนภาคประชาสังคม ทำให้เหล่านักคิดผู้ประกอบการเก่งๆ ออกจากประเทศไปหมด ระบอบแบบสีจิ้นผิงมีแต่พวกนักเผด็จการเท่านั้นที่จะอิจฉาพวกเขาจะได้รับการชื่นชมจากประชาชนทั่วไปในประเทศอื่นๆ น้อยมาก แนวทางแก้ไขปัญหาของจีนเองก็ไม่สอดรับกับปัญหาใหญ่ๆ ในโลกเช่นสงครามกลางเมืองซีเรีย การแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ นี้มีราคาต้องจ่ายสูงมากและจีนก็ยังไม่พร้อมที่จะจ่าย

อดีตรัฐมนตรีการต่างประเทศของอินเดีย ชิฟชังการ์ มีนอน กล่าวว่าสหรัฐฯ จะยังคงความเป็นผู้นำโลกไว้ได้ สาเหตุเพราะสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองผ่านกระบวนการตรวจสอบตัวเอง เช่น เมื่อสหรัฐฯ ส่งทหารไปในอิรักก็มีผู้คนทักท้วงในเรื่องนี้ว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือ และในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายครั้ง

ศาสตราจารย์ในกรุงปักกิ่งคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อเป็นคนที่ศึกษาสหรัฐฯ มานานเปิดเผยว่าตัวเขาชอบสหรัฐฯ เคยคิดว่าพหุวัฒนธรรมแบบในสหรัฐฯ น่าจะนำมาใช้ในจีนได้ แต่มันก็ไม่สำเร็จ ทั้งนี้เขามองว่าสหรัฐฯ เองมีปัญหาเรื่องการแข่งขันเสรีของตัวเองที่ทำให้เกิดการเมืองแบบมีได้มีเสีย (Zero-sum politics) และชวนให้มองโลกในแง่ร้าย ทำให้ผลประโยชน์ของอภิชนมาก่อนแรงบันดาลใจ ที่น่าสนใจคือศาสตราจารย์ผู้นี้เห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทั้งสองประเทศต่างก็มีผู้คนที่ไม่พอใจจากช่องว่างรายได้และความไม่เท่าเทียมด้านโอกาสหันเข้าหาแนวทางแบบชาตินิยมและผู้นำแบบโหยหาอดีตมองโลกภายนอกเป็นภัยไปหมด


เรียบเรียงจาก

Making China Great Again, Evan, Osnos, The New Yorker, 08-01-2018
https://www.newyorker.com/magazine/2018/01/08/making-china-great-again

ขอบคุณภาพต้นฉบับจาก Michel Temer และ Gage Skidmore (CC BY-SA 2.0)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ออกระเบียบรับจดแจ้งองค์กรเอกชนด้านสิทธิฯ - เตรียมคัดเลือก กก.สรรหา กสม. ชุดใหม่

Posted: 10 Jan 2018 10:34 PM PST

กสม. ออกระเบียบรับจดแจ้งองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพซึ่งจะมีสิทธิและหน้าที่ในการเสนอชื่อผู้แทนเพื่อเลือกกันเองให้เป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ 

11 ม.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) แจ้งว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 60 กำหนดให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้ (13 ธ.ค. 60) แต่ยังคงให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

โดยมาตรา 61 (1) (2) และ (3) กำหนดให้จัดทำระเบียบและดำเนินการเกี่ยวกับการจดแจ้ง การรับจดแจ้ง และการเลือกกันเองขององค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพ และให้องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพที่ได้รับการจดแจ้งดำเนินการเลือกกันเองเพื่อเป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงมีมติเมื่อวันที่ 9 ม.คที่ผ่านมา เห็นชอบ "ระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดแจ้ง การรับจดแจ้ง และการเลือกกันเองขององค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพ พ.ศ. 2561" เพื่อให้มีการจดแจ้งองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพซึ่งจะมีสิทธิและหน้าที่ในการเสนอชื่อผู้แทนเพื่อเลือกกันเองให้เป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ทั้งนี้องค์กรเอกชนที่จะยื่นคำขอจดแจ้งเป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน กำหนดให้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายไทย 2) มีวัตถุประสงค์และการดำเนินการเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 3) มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่จัดตั้ง และมีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ และ 4) ไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมือง หรือแสวงหากำไรจากการดำเนินการ

สนง.กสม. ระบุด้วยว่า ระเบียบดังกล่าวอยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา องค์กรเอกชนและสภาวิชาชีพที่สนใจสามารถยื่นคำขอที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อพิจารณาการจดแจ้งเป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต่อจากนั้นองค์กรเอกชนและสภาวิชาชีพที่ได้รับการจดแจ้งแล้ว จะดำเนินการเลือกกันเองให้เป็นกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันต่อไป รายละเอียดต่าง ๆ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ www.nhrc.or.th

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น