โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สาระ+ภาพ: วันเด็ก 2561 ในวันที่เด็กไทยน้อยลงแต่มีความท้าทายอยู่ข้างหน้า

Posted: 12 Jan 2018 02:08 PM PST

ร่วมฉลองวันเด็ก 2561 พิจารณาสถานการณ์ประเทศไทยที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง แต่ปัญหาและสวัสดิภาพของเด็กยังไม่ดีขึ้น เด็กยังคงถูกแจ้งหายเป็นอันดับต้นๆ แม่วัยรุ่นไทยอยู่ตรงไหนกันแน่ของอาเซียน โครงสร้างครอบครัวไทยแบบพ่อแม่ลูกที่มีลูกไม่เกิน 1-2 คน รวมทั้งเทรนด์ครอบครัวใหม่แบบสังคมผู้สูงวัย และผู้คนที่เริ่มอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น รวมทั้งโครงสร้างประชากรในอนาคตที่ประชากรวัยเด็กจะมีน้อยกว่าประชากรผู้สูงอายุ


ยุคเด็กไทยเกิดใหม่ไม่ถึงปีละล้าน

จำนวนเด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เข้าสู่ต้นทศวรรษ 2500 จากจำนวนการเกิดในปี 2493 คือ 525,800 คน และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนสถิติการเกิดแตะหลักล้านครั้งแรกเมื่อปี 2506 คือ 1,020,051 คน และรักษาสถิติหลักล้านจนถึงปี 2526 ที่มีจำนวนการเกิด 1,055,802 คน ทั้งนี้ในปี 2514 มีจำนวนการเกิดสูงสุดคือ 1,221,228 คน ก่อนที่ในปี 2516 จะเริ่มมีโครงการวางแผนครอบครัวในระดับชาติ และนับตั้งแต่ปี 2527 จำนวนการเกิดไม่ถึงหลักล้านอีกเลย โดยมีจำนวนการเกิดรวม 970,760 คน และในปี 2531 มีจำนวนการเกิดเหลือ 873,842 คน

ทั้งนี้ระหว่างปี 2532-2539 ที่มีการเกิดเพิ่มขึ้นจนมาแตะระดับ 9 แสนคนโดยในปี 2539 มีจำนวนการเกิด 983,395 คน อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2540 จำนวนการเกิดรวมเหลือเพียง 880,028 คน และมีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ จนในปี 2559 จำนวนการเกิดรวมเหลือเพียง 666,207 คน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนการเกิดเมื่อปี 2497 (เกิด 681,192 คน) หรือปี 2498 (เกิด 694,985 คน)

ที่มา: 1. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2520 - 2524 กองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
2. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2524 - 2528 กองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
3. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2528 - 2532 กองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
4. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2534 - 2538 กองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
5. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2559 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
5. จำนวนประชากร การเกิด และการตาย ทั่วราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2536 - 2559 รายปี สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

อัตราเจริญพันธุ์ของมารดา

ผลจากอัตราการเกิดที่ลดต่ำ ทำให้ขนาดของครอบครัวไทยโดยเฉลี่ยลดลง หญิงไทยเคยมีจำนวนบุตรเฉลี่ย 6.1 คนในปี 2507 ปัจจุบันในปี 2558 ลดลงเหลือ 1.5 คน

ที่มา: Fertility rate, total (births per woman), World Bank

 

ขนาดครอบครัวไทย

และเมื่อพิจารณาขนาดครอบครัวไทย ในปี 2523 มีครอบครัวไทยมีขนาดเฉลี่ย 5.2 คน ปี 2533 ลดลงเป็น 4.4 คน ปี 2543 ลดลงเป็น 3.1 คน และข้อมูลของสำนักงานทะเบียนราษฎร์ล่าสุดในปี 2557 ขนาดครอบครัวไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 คน

ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย พบว่าครอบครัวไทยมีขนาดเฉลี่ยน้อยกว่าครอบครัวสิงคโปร์ที่มีสมาชิก 3.5 คน ขณะที่มีขนาดใกล้เคียงกับครอบครัวญี่ปุ่นที่มีสมาชิก 2.71 คน และครอบครัวเกาหลีใต้ที่มีสมาชิก 2.97 คน

โดยปัจจัยที่ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความต้องการวางแผนครอบครัวให้เอื้อต่อรายได้ที่แท้จริงของตนเอง การเลือกที่จะครองโสดมากขึ้น หรือหรือชะลอการสมรสออกไปจนกว่าจะมีการศึกษา หรือสถานภาพทางเศรษฐกิจสูงในระดับหนึ่งก่อน ทั้งนี้ คู่สามีภรรยาจำนวนมากไม่ต้องการมีบุตรด้วยเชื่อว่าเป็นภาระอันหนักอึ้งทางการเงิน นอกจากนี้ยังมีประชากรที่อยู่ในภาวะมีบุตรยากและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

ที่มา: 1. Fertility rate, total (births per woman), World Bank
2. รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558, สศช. และ UNFPA

 

ภาพรวมครอบครัวไทย
รูปแบบครอบครัวพ่อแม่ลูกลดลง
ครอบครัวสามรุ่น ครอบครัวข้ามรุ่น อยู่ตัวคนเดียวเพิ่มขึ้น

ส่วนภาพรวมของครัวเรือนไทย จากรายงานในปี 2558 ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมชาติ (สศช.) พบว่าในรอบ 25 ปีมานี้ ครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกไม่ใช่รูปแบบหลักของครอบครัวไทยอีกต่อไป โดยพบว่าครอบครัวสามรุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นครอบครัวประเภทหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตชนบท ส่วนครอบครัวพ่อแม่ลูก ซึ่งเคยเป็นครอบครัวประเภทหลักลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง

ขณะที่ครอบครัวคู่สามีภรรยาและไม่มีลูก เพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มขึ้นในเขตชนบทสูงกว่าในเขตเมือง ส่วนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 9.7 แสนครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน โดยครอบครัวข้ามรุ่นเพิ่มขึ้น 2 เท่า เช่นเดียวกับครัวเรือนคนเดียวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา

ในส่วนของครอบครัวขยายที่เพิ่มจำนวนขึ้นในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท จำแนกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ 1. ครอบครัวข้ามรุ่นที่มีปู่ย่าตายายอาศัยอยู่ร่วมกับหลานโดยไม่มีคนวัยแรงงานอาศัยอยู่ในครัวเรือน และ 2. ครอบครัวสามรุ่น หรือครอบครัวขยายโดยทั่วไป ที่มีรุ่นปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กับรุ่นลูก

วัยแรงงานและรุ่นหลาน ทั้งนี้ คนรุ่นปู่ย่าตายายในครอบครัวขยายนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สูงอายุอายุเกิน 60 ปี ส่วนครอบครัวสามรุ่นนั้น อาจรวมเครือญาติคนอื่นๆ หรือบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัวอาศัยอยู่ในครัวเรือนด้วย แม้ว่าครอบครัวข้ามรุ่นจะยังคงมีจำนวนไม่มากแต่ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท

แนวโน้มที่ครอบครัวขยายมีจำนวนเพิ่มขึ้นนี้ ดูเหมือนจะขัดกับความทันสมัยของสังคมไทยอย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน และยังคงอยู่ในช่วงเวลาที่มีการผสมกันระหว่างประชากรรุ่นต่างๆ โดยผู้สูงอายุในปัจจุบันจำนวนมากยังคงเป็นประชากรรุ่นที่มีบุตร 3-4 คน ในขณะที่รุ่นลูกของผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีจำนวนบุตรน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนรุ่นหลานก็มีแนวโน้มว่าจะยิ่งมีบุตรน้อยลงไปอีก กระนั้นก็ยังคงถือเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่วัยสูงอายุจะมีลูกวัยผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 คนที่อาศัยอยู่ด้วยกันหรืออยู่ในละแวกใกล้เคียง ขณะที่ลูกคนอื่นๆ อาจจะไปอาศัยอยู่ที่อื่น ส่วนเหตุผลประการอื่น เช่น การขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือความจำเป็นในการดูแลเด็กหรือเลี้ยงดูพ่อแม่ อาจทำให้บุคคลวัยแรงงานบางคนเลือกให้พ่อแม่วัยสูงอายุอาศัยอยู่กับตนเอง

ที่มา: รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558, สศช. และ UNFPA

 

สัดส่วนประชากร:
เด็กและวัยแรงงานลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

รายงานในปี 2558 ของ UNFPA และ สศช. ยังระบุด้วยว่าสัดส่วนประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปขยายตัวเพิ่มขึ้น และสัดส่วนประชากรวัยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลดน้อยลง โดยในปี 2513 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทยทั้งหมด ส่วนผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างประชากรกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยในปี 2553 สัดส่วนประชากรวัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลดลงเหลือเพียง 19.2% ขณะที่ผู้สูงอายุกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 12%

นอกจากนี้ ยังมีการคาดประมาณว่าภายในปี 2583 สัดส่วนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จะมีสัดส่วนเหลือเพียง 15.9% ของประชากรไทยทั้งหมด ขณะที่ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนถึง 32.1% ส่วนประชากรวัยแรงงานได้ไปถึงจุดสูงสุดแล้วคือ 50 ล้านคน และคาดว่าจะค่อยๆ ลดลงมาต่ำกว่า 38 ล้านคนภายในเวลา 30 ปี

ที่มา: รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558, สศช. และ UNFPA

 

จำนวนนักเรียนชั้น ป.1 ถึง 6 ทั่วประเทศ พ.ศ. 2514 ถึง 2558

ทั้งนี้สัดส่วนประชากรวัยเด็กที่มีสัดส่วนลดลง ยังสะท้อนผ่านจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศด้วย โดยในปี 2514 มีจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ทั่วประเทศ 5,393,793 คน ปี 2520 มีจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 6,427,769 คน และในปี 2530 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ทั่วประเทศสูงถึง 7,100,226 คน ก่อนที่จะมีแนวโน้มลดลงในเวลาต่อมา

โดยในปี 2540 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม  5,927,902 คน ปี 2550 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 5,564,624 คน และในปี 2558 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 4,867,077 คน

ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ [1], [2]  และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

หมายเหตุ: ข้อมูลปี 2514 และ 2520 เป็นการนับเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 โดยไม่รวมนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

 

จำนวนนักศึกษาปริญญาตรีทั่วประเทศ พ.ศ. 2514 ถึง 2558

เมื่อพิจารณาจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั่วประเทศ จะพบว่าแม้ว่าอัตราการเกิดและสัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลง แต่ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยที่เริ่มมั่นคงขึ้น รวมทั้งนโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั่วประเทศในช่วงทศวรรษ 2510-2550 ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้น จากในปี 2514 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีจำนวนนักศึกษาทั่วประเทศ 77,753 คน ขณะที่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในปี 2520 มีจำนวนนักศึกษาทั่วประเทศ 145,161 คน

ทั้งนี้ในปี 2530 มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2520 มาเป็น 338,650 คน และในปี 2540 ซึ่งจำนวนนักเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศมีแนวโน้มลดลงแล้ว แต่จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรียังเพิ่มขึ้นกว่า 4.3 เท่าตัวจากปี 2530 มาเป็น 1,459,489 คน ในปี 2550 จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเป็น 2,212,619 คน และมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย โดยในปี 2558 มีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี 2,181,601 คน

โดยในระยะหลังสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศต่างหาวิธีรักษาจำนวนนักศึกษา ทั้งด้วยการเปิดภาคพิเศษ และเปิดหลักสูตรนานาชาติเพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติเข้ามาทดแทนจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลง

ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ [1], [2] และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

สาเหตุที่เปลี่ยนไปของการออกเรียนกลางคัน

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ออกเรียนกลางคันของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาระหว่างปี 2550 และ 2558 พบว่าสถิตินักเรียนออกเรียนกลางคันลดลงต่อเนื่องเป็นลำดับจากปี 2550 มีนักเรียนออกกลางคัน 110,881 คน ปี 2555 มีนักเรียนออกกลางคัน 27,930 คน และในปี 2558 มีนักเรียนออกกลางคัน 8,814 คน

โดยในปี 2550 สาเหตุออกเรียนกลางคัน อันดับ 1 เป็นเรื่องฐานะยากจน 30.88% รองลงมาคือกรณีอื่นๆ 27.15% และอพยพตามผู้ปกครอง 14.46% ส่วนในปี 2558 สาเหตุออกเรียนกลางคัน อันดับ 1 เป็นเรื่องอพยพตามผู้ปกครอง 27.40% รองลงมาคือ มีปัญหาในการปรับตัว 22.54% และมีปัญหาครอบครัว 19.23%

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

เด็กหายทุกปีและมีแนวโน้มน่าห่วง

สถิติการรับแจ้งผู้สูญหายของศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกแจ้งหาย 422 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.43 จากจำนวนผู้สูญหายทั้งหมด 929 คน โดยประเภทการแจ้งสูญหายส่วนมากเป็นการสมัครใจหนีออกจากบ้านสูงถึงร้อยละ 83.5 ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงอายุ 11-15 ปี รองลงมาคือ พลัดหลง 8% ลักพาตัว 1% อุบัติเหตุ 0.5% อื่นๆ เช่น ขาดการติดต่อ และแย่งความปกครองบุตร 7%

ขณะที่ในปี 2559 มีเด็กและเยาวชนถูกแจ้งหาย 419 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 50.48 จากจำนวนผู้สูญหายทั้งหมด 830 คน และเมื่อพิจารณาแนวโน้มในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกแจ้งหายคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของการรับแจ้งผู้สูญหาย

โดยในปี 2556 มีเด็กและเยาวชนถูกแจ้งหาย 120 คน คิดเป็นร้อยละ 78.95 จากจำนวนผู้สูญหาย 152 คน ในปี 2557 มีเด็กและเยาวชนถูกแจ้งหาย 204 คน คิดเป็นร้อยละ 78.76 จากจำนวนผู้สูญหาย 259 คน และในปี  2558 มีเด็กและเยาวชนถูกแจ้งหาย 539 คน คิดเป็นร้อยละ 60.97% จากจำนวนผู้สูญหายทั้งหมด 884 คน

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา

 

แม่วัยรุ่นไทย: อยู่ตรงไหนของอาเซียน

ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไม่เพียงแต่เป็นปัญหาด้านสุขภาพ แต่ยังเป็นปัญหาด้านประชากรที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยองค์การสหประชาชาติกำหนดให้การลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี (Adolescent birth rate) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ที่นานาชาติต้องบรรลุให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย

โดยเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แม่วัยรุ่นของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ พบว่าในปี พ.ศ. 2558 ไทยอยู่ในลำดับที่ 6 คือมีอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีอยู่ที่ 44.605 ต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่ลาวเป็นประเทศที่มีอัตราการคลอดในวัยรุ่นสูงสุดคือ 63.734 ต่อประชากร 1,000 คน ลำดับถัดมาคือฟิลิปปินส์ 62.654 ต่อประชาก 1,000 คน

สำหรับประเทศที่มีระดับการคลอดในวัยรุ่นต่ำที่สุดคือ สิงคโปร์ 3.796 ต่อประชากร 1,000 คน รองลงมาคือ มาเลเซีย 13.717 ต่อประชากร 1,000 คน

ที่มา: World Bank / United Nations Population Division, World Population Prospects และ สถิติการคลอดของแม่วัยรุ่นประเทศไทย ปี พ.ศ. 2558, สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรพิทักษ์สื่อจัดอันดับผู้นำที่กดปราบเสรีภาพ 5 สาขา 'อองซานซูจี' ชนะสาขาถอยหลังเข้าคลอง

Posted: 12 Jan 2018 10:16 AM PST

ตุรกีติด 2 สาขาหน้าบางและใช้กฎหมายปราบสื่อ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ได้รางวัลบ่อนทำลายเสรีภาพสื่อสำเร็จระดับโลกจากความล้มเหลวในการสนับสนุนเสรีภาพสื่อจนทำให้ผู้สื่อข่าวติดคุกเพิ่มขึ้นทั่วโลก 'อองซานซูจี' ชนะเลิศ สาขาถอยหลังเข้าคลอง

ภาพจาก wikipedia.org

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว (Committee to Protect Journalism - CPJ) ประกาศให้มี "รางวัลสำหรับผู้กดขี่สื่อ" ขึ้นมาท่ามกลางกระแสสังคมในประเด็นข่าวลวงและทวิตจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ว่ามีแผนที่จะจัดพิธีมอบรางวัลข่าวปลอม

เพื่อตอบโต้กระแสจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซีพีเจได้กางรายชื่อผู้นำชาติต่างๆ ที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดต่อนักข่าวและบ่อนทำลายหลักเสรีภาพสื่อด้วยวิธีการสารพัด ตั้งแต่การไม่กล้าฟังข้อวิจารณ์และข้อเท็จจริงไปจนถึงการปิดกั้นการนำเสนออย่างไม่ลดละ ซีพีเจเลือกผู้นำจำนวน 5 ชาติ เข้ารับรางวัลในสาขาต่างๆ นอกจากนั้นในแต่ละรางวัลยังมีผู้ที่ได้รับรางวัลชมเชยอีกด้วยสำหรับพฤติกรรมการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์และบ่อนทำลายประชาธิปไตยของพวกเขาและเธอ

สาขาหน้าบาง

ชนะเลิศ: ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิป เออร์โดกาน จากตุรกี

ทางการตุรกีได้ฟ้องร้องเหล่านักข่าว สำนักข่าวและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียฐานดูหมิ่นเออร์โดกานและผู้นำตุรกีคนอื่นๆ รวมไปถึงการดูหมิ่น "ความเป็นตุรกี" อีกด้วย หนังสือพิมพ์รายวัน Cumhuriyet ของตุรกี นำเสนอข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม เรื่องจำนวนคดีดูหมิ่นสารพัด ตั้งแต่ตัวประธานาธิบดี ชาติและสาธารณรัฐตุรกี รัฐสภา รัฐบาล สถาบันยุติธรรมต่างๆ ที่เข้าสู่ชั้นศาลในปี 2559 มีจำนวนถึง 46,193 คดี

รองชนะเลิศ: ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐฯ

ทรัมป์เลือกที่จะตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อด้วยการขู่ว่าจะบัญญัติกฎหมายตีพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาท (libel laws) ขู่ว่าจะฟ้องร้องสื่อ และทบทวนใบอนุญาตการแพร่ภาพกระจายเสียง ทั้งนี้ ประธานาธิบดีชื่อดังยังได้โจมตีสื่อผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวและการออกมาพูดเองอยู่เนืองนิจ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกสื่อว่า "น่าเศร้า" "ล้มเหลว" หรือกระทั่ง "ขยะ"

ตั้งแต่รับตำแหน่งในปี 2558 ทรัมป์ทวีตโจมตีสื่อไปแล้วกว่า 1,000 ทวีต งานวิจัยจากซีพีเจรายงานว่า การตัดสินใจโต้ตอบ ดูหมิ่นสื่อของเหล่าผู้นำทางการเมืองและบุคคลสาธารณะ จะเป็นแรงหนุนให้สื่อเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ทั้งยังทำให้นักข่าวอาจพบเจอกับภาวะเสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็น

สาขาการใช้กฎหมายสร้างความหวาดกลัวกับสื่ออย่างอุกอาจ

ชนะเลิศ: ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิป เออร์โดกาน จากตุรกี

กวาดคนเดียวสองรางวััลสำหรับผู้นำแห่งประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นคุกคุมขังสื่อที่ย่ำแย่ที่สุด ซีพีเจนับจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมามีจำนวนอย่างน้อย 73 คน โดยผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกเพราะการทำงานในตุรกีกำลังถูกสอบสวน และถูกกล่าวหาในข้อหากระทำอาชญากรรมต่อต้านรัฐ ข้อกล่าวหาส่วนมากระบุว่าจำเลยให้การช่วยเหลือ จัดทำโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรผู้ก่อการร้าย

รองชนะเลิศ: ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัลซิซี จากอียิปต์

ประธานาธิบดีที่ขึ้นมาจากการรัฐประหารรัฐบาลเลือกตั้งของโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ภายใต้การปกครองโดยอัลซิซี ทางการอียิปต์จำคุกนักข่าวไปแล้ว 20 คนเป็นอย่างน้อย โดย 18 คนถูกจับในข้อหาอาชญากรรมต่อรัฐ เช่นให้การสนับสนุน ปลุกระดมการก่อการร้าย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ถูกแบน

ในปี 2560 รัฐบาลอัลซิซีผ่านกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ที่เป็นผลให้การปราบปรามสื่อยิ่งหนักข้อ รายงานข่าวระบุว่า กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจทางการขึ้นบัญชีนักข่าวที่ถูกตัดสินว่าไม่เกี่ยวข้องกับข้อหาก่อการร้าย โดยนักข่าวที่ถูกขึ้นบัญชีโดนควบคุมสิทธิทางการเงินและอื่นๆ

สาขายึดกุมสื่ออย่างแน่นหนาที่สุด

ชนะเลิศ: ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จากจีน

รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของสีจิ้นผิงผสมผสานการเซ็นเซอร์ในแบบฉบับของจีนกับการควบคุมอินเทอร์เน็ตเพื่อให้สื่ออยู่ในระเบียบ จีนเป็นประเทศหนึ่งที่คุมขังนักข่าวมากที่สุดในโลก ในปี 2560 จำนวนนักข่าวที่ถูกจำคุกในจีนมีจำนวน 41 คน เป็นอันดับสองรองจากตุรกี

ในประเทศจีน สื่อดั้งเดิม (สื่อที่มาก่อนยุคสื่อดิจิตัล เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ - ที่มา igi-global) ส่วนมากถูกรัฐบาลควบคุม นักข่าวเองก็มีความเสี่ยงที่จะตกงานหรือถูกสั่งห้ามเดินทางถ้าหากนำเสนอเนื้อหาที่เป็นการท้าทายขอบเขตการเซ็นเซอร์ไม่ว่าจะผ่านพื้นที่สื่อหรือบล็อกส่วนตัว นอกจากนั้น แหล่งข่าวหรือผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศเองก็ถูกกีดกันและถูกกดขี่ การควบคุมอินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์ด้วยมนุษย์ เครื่องจักร หรือโดยการพิจารณาอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า เกรตไฟร์วอลล์รวมไปถึงการกดดันบริษัทด้านเทคโนโลยีให้ยอมปฏิบัติตามข้อบังคับ

รองชนะเลิศ: ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จากรัสเซีย

ภายใต้การปกครองของปูติน สื่ออิสระถูกกำจัดมาตรการข่มขู่ผ่านการใช้ความรุนแรงและการคุมขัง รวมไปถึงการล่วงละเมิดด้วยวิธีอื่น รัฐบาลปูตินเพิ่งสั่งให้สื่อต่างชาติรวมถึงสื่อ วอยซ์ ออฟ อเมริกา เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ให้จดทะเบียนเป็นสื่อต่างชาติและปิดกั้นไม่ให้ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวดังกล่าวเข้าไปในรัฐสภา นอกจากนั้นรัสเซียยังประสบความสำเร็จในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตผ่านการลอกเลียนแบบอย่างจากจีน

*การจัดอันดับสาขานี้ไม่นับประเทศที่ไม่มีสื่ออิสระ ยกตัวอย่างเช่นเกาหลีเหนือและเอริเทรีย

สาขาถอยหลังเข้าคลอง

ชนะเลิศ: ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำพม่าในทางพฤตินัย อองซานซูจี

ภายหลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่นำโดยอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งและขึ้นเถลิงอำนาจในปี 2559 ความหวังต่อเสรีภาพสื่อมีมากขึ้นหลังจากมีการอภัยโทษให้กับนักข่าว 5 คนสุดท้ายที่ถูกจำคุกอยู่ อย่างไรเสีย โครงสร้างกฎหมายที่มีอยู่เดิมที่มีลักษณะควบคุมการทำงานของสื่อไม่ได้ถูกแก้ไข นักข่าวยังคงถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจากความพยายามในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในตอนเหนือของรัฐยะไข่ที่องค์การสหประชาชาติระบุว่าเป็น "ตัวอย่างในหนังสือเรียนว่าด้วยเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ในวันที่ 12 ธ.ค. 2560 นักข่าวรอยเตอร์ 2 คนที่ทำข่าวประเด็นข้างต้นถูกจับกุมและถูกตั้งข้อสงสัยว่าล่วงละเมิดกฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการ ผู้สื่อข่าวทั้งสองถูกคุมขังโดยไม่ให้ติดต่อผู้ใดอยู่เป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้พบครอบครัวและทนายความ รอยเตอร์เปิดเผยว่าโทษสูงสุดที่ทั้งคู่จะได้รับคือการจำคุกเป็นเวลา 14 ปี

รองชนะเลิศ: ประธานาธิบดีอันเดรซ ดูดา จากโปแลนด์

ชื่อเสียงของโปแลนด์เปลี่ยนสภาพไปอย่างมากภายใต้การปกครองของรัฐบาลชาตินิยม-อนุรักษ์นิยมนำโดยพรรคกฎหมายและความยุติธรรม เดิมโปแลนด์เป็นที่รู้จักในฐานะสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยจากการเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมมิวนิสต์สู่การเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) และสื่อเองก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว แต่ปัจจุบัน รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลกลับเข้าควบคุมสื่อสาธารณะโดยตรง ทั้งยังประกาศแผนที่จะเปลี่ยนข้อปฏิบัติในทางที่จะบังคับให้เจ้าของสำนักข่าวที่เป็นชาวต่างชาติต้องสูญเสียสถานะการเป็นหุ้นส่วนใหญ่

ในขณะเดียวกัน กลุ่มจับตาเสรีภาพแห่งสหรัฐฯ (U.S. watchdog Freedom House) รายงานว่า รัฐบาลโปแลนด์ได้ยกเลิกการติดตาม (subscription) สื่อที่มีจุดยืนสนับสนุนฝ่ายค้าน แต่ในขณะเดียวกันบริษัทรัฐวิสาหกิจกลับให้เงินสนับสนุนสื่อที่เป็นมิตรกับรัฐบาล

เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ช่อง TVN 24 ของโปแลนด์ถูกหน่วยงานควบคุมด้านสื่อของโปแลนด์ปรับเงินจำนวนราว 415,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังทำข่าวเรื่องการประท้วงที่เกิดขึ้นภายในรัฐสภาเมื่อปี 2559 รายงานข่าวระบุว่ารัฐบาลโปแลนด์พยายามส่งสัญญาณให้สื่อทำการเซ็นเซอร์ตัวเอง

สาขาความสำเร็จในการบ่อนทำลายเสรีภาพสื่อทั่วโลก

ชนะเลิศ: ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐฯ

แม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ จะวิพากษ์วิจารณ์สื่อ แต่พวกเขายังคงแสดงความตั้งใจว่าจะเชิดชูเสรีภาพสื่อในฐานะปัจจัยสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย แต่ทรัมป์กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามด้วยการบ่อนทำลายเสรีภาพสื่ออย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่สหรัฐฯ มีสถานะเป็นผู้นำในเรื่องเสรีภาพสื่อให้กับทั่วโลกมาอย่างยาวนานข้อบัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญข้อที่ 1 ว่าด้วยเสรีภาพสื่อ แต่ปัจจุบันผู้นำที่กดปราบสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสีจิ้นผิง เออร์โดกาน อัลซิซี รวมถึงทางการจีน ซีเรียและรัสเซียต่างก็สมาทานแนวคิดเรื่อง "ข่าวปลอม(Fake News)" ที่มาจากทรัมป์

ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ กระทรวงยุติธรรมประสบความล้มเหลวในการจัดทำแนวทางเพื่อปกป้องแหล่งข่าว กระทรวงการต่างประเทศเองก็ได้เสนอให้ตัดการสนับสนุนงบประมาณต่อองค์กรต่างชาติที่ช่วยสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนั้น ความล้มเหลวของรัฐบาลทรัมป์ที่ไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้กับผู้นำที่ทรงอำนาจให้สร้างเสริมเสรีภาพสื่อก็ยิ่งทำให้จำนวนผู้สื่อข่าวที่ต้องเข้าไปอยู่หลังลูกกรงสูงขึ้นทั่วโลก

 

แปลและเรียบเรียงจาก

In response to Trump's fake news awards, CPJ announces Press Oppressors award, CPJ, Jan. 8, 2018

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลไม่อนุญาตออกหมายจับ 'เอกชัย' หลัง 'ศรีวราห์' ยื่นอ้างผิดโพสต์ลามก

Posted: 12 Jan 2018 05:30 AM PST

ศาลไม่อนุญาตออกหมายจับ 'เอกชัย' นักเคลื่อนไหวประเด็นนาฬิกา พล.อ.ประวิตร หลัง รองผบ.ตร. ร้องศาลขอหมายจับ อ้างโพสต์เฟสบุ๊คเข้าข่ายลามกอนาจาร โดยศาลชี้ควรมีการออกหมายเรียกก่อน ด้านเอกชัย งง ไม่ทราบโพสต์ไหน ยันพรุ่งนี้ยังไปแจกปฏิทินที่ทำเนียบ

เอกชัย หงส์กังวาน (ภาพจาก: Banrasdr Photo)

12 ม.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) พร้อมคณะเดินทางมายื่นคำร้องขอศาลอาญาออกหมายจับ เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ก่อนหน้านี้ไปทำกิจกรรม มอบของขวัญให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ต่อมาเวลา 17.30 น.พล.ต.อ. ศรีวราห์ เดินทางกลับโดยกล่าวสั้นๆ ว่า  "ศาลท่านไม่ให้ กลับ"

มติชนออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า ที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ เเละคณะเดินทางมายื่นคำร้องขอศาลออกหมายจับวันนี้เป็นข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เฟสบุ๊คของ เอกชัย ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายลามกอนาจาร โดยศาลพิจารณาคำร้องเเล้วเห็นควรยกคำร้องขอออกหมายจับเนื่องจากในชั้นนี้เห็นว่า ควรมีการออกหมายเรียก เอกชัย มารับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอนก่อน ที่จะมีการออกหมายจับ

ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถาม เอกชัย เพิ่มเติม โดย เอกชัย กล่าว่า ยังนึกไม่ออกว่าตนเองโพสต์อะไรที่เป็นในเชิงลามกอนาจาร

สำหรับกิจกรรมที่วางไว้จะนำปฏิทินนาฬิกาไปแจกที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้นั้น เอกชัย ยืนยันว่าจะจัดเหมือนเดิมในเวลา 10.00 น. แต่คาดว่าอาจจะมีตำรวจไปดักตนในช่วงนั้นเพื่อนำตัวไปโรงพักเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นฟ้องศาล หรืออาจจะเพียงนำตัวไปคุย เพราะหากมีหมายเรียกควรส่งมาที่บ้านก่อน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้รับ

สำหรับสิ่งที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับเอกชัยขณะที่เขากำลังเคลื่อนไหวประเด็นนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่นั้น เอกชัยมองว่า ก็แบบเดียวกับนักเคลื่อนไหวอื่นๆ เขาพยายามจะปิดปากเด้วยข้อหา ซึ่งคนอื่นจะโดนข้อหา ม.112 ม.116 ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หรือล่าสุด ทนาย อานนท์ นำภา โดนข้อหาหมิ่นศาล แต่ของตนแหวกแนวกลายเป็นข้อหาโพสต์ลามกอนาจาร ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ทราบว่าเป็นโพสต์ไหนที่เข้าข่ายข้อหาดังกล่าวเลย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการสั่งฟ้อง 16 ผู้ต้องหาเครือข่ายเทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

Posted: 12 Jan 2018 04:25 AM PST

อัยการจังหวัดสงขลา มีความเห็นสั่งฟ้องแกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 16 คน ในข้อขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่่รัฐ พกพาอาวุธในที่สาธารณะ กีดขวางการจราจร และฝ่าฝืน พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ

(แฟ้มภาพ) หลังเรือนจำ จ.สงขลาปล่อยตัว 15 แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว เมื่อวันที่ 29 พ.ย.60 (ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ หยุดถ่านหินสงขลา )

12 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ อัยการจังหวัดสงขลา มีความเห็นสั่งฟ้องแกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 16 คน ในข้อขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่่รัฐ พกพาอาวุธในที่สาธารณะ กีดขวางการจราจร และฝ่าฝืน พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ จากกรณีที่แกนนำทั้ง 16 คน เข้าร่วมกิจกรรม "เดิน...เทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน" เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยอัยการได้นัดแกนนำทั้ง 16 คน มารายงานตัว และสอบคำให้การอีกครั้งในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

กฤษดา ขุนรณงค์ ทนายความของผู้ต้องหาในคดี กล่าวว่า ในเบื้องต้น ทั้ง 16 คนได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และให้การเพิ่มเติมว่าทางผู้ชุมนุมไม่ได้ละเมิด พ.ร.บ. การชุมนุมฯ เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบ และมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองที่เข้ามาขัดขวางและจับกุมผู้ชุมนุม ส่วนข้อกล่าวพกพาอาวุธก็ไม่เป็นความจริง เพราะฝ่ายผู้ชุมนุมใช้เพียงด้ามธงในการป้องกันตัวเองจากเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น

"ส่วนตัวคิดว่าการดำเนินคดีในครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลลบต่อการเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้ามากนัก เพราะทางชาวบ้านก็ยืนยันในสิทธิ์ตรงนี้ ไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวอะไร และยืนยันว่าจะสู้คดีจนถึงที่สุด" กฤษดากล่าว

กฤษดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ชุมนุม 15 คนได้รับสิทธิ์ในการประกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 29 พ.ย. มีเพียง มุสตารซีดีน วาบา หรือ แบมุส ซึ่งไม่ได้อยู่ในการฝากขังร่วมกับอีก 15 คน จึงจำเป็นต้องมายื่นประกันตัวในวันนี้ โดยบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินมูลค่า 90,000 บาท และศาลให้ประกันตัว

Patani Society รายงานวา เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมาแบมุสและพวกที่ถูกจับกุมได้เข้ายื่นหนังสืออัยการสงขลาเพื่อขอความเป็นธรรมแต่อัยการยังไม่พิจารณาหนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าว วันนี้อัยการดำเนินการส่งฟ้องศาล 
รายละเอียดของหนังสือที่ยื่นขอความเป็นธรรม 

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

ข้าพเจ้าทั้ง 17 คน ดังมีรายชื่อท้ายหนังสือฉบับนี้ ได้ถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายฐาน "ร่วมกันปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล เดินขบวนในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปต่อสู้ขัดขวางการจับกุม 

และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยมีและใช้อาวุธ ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร และ ในความผิดฐานเป็นแกนนำหรือได้เข้าร่วมชุมนุมไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มเวลาชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผัน กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใดๆ นอนขวางช่องทางเดินรถ ในลักษณะกีดขวางการจราจร ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่สัญจร และเป็นการปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะ" เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 นั้น

​ข้าพเจ้าทั้ง 17 ขอเรียนว่า ข้าพเจ้าทั้งหมดเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานีและสตูล ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่มีขนาดกำลังการผลิตมากถึง 2,200 เมกะวัตต์ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่และจะมีผลกระทบในวงกว้าง ข้าพเจ้าและชาวบ้านตลอดทั้งชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ จึงได้เริ่มศึกษาข้อมูลผลดีและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ โดยได้รวมตัวกันในนาม "เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดถึงนำเสนอข้อกังวลหรือข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล 

แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานเจ้าของโครงการและรัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจังโดยเฉพาะในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) และเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 (ค.3) ได้มีการกีดกันขัดขวางไม่ให้ผู้เห็นต่างเข้าร่วมเวทีไปแสดงความคิดเห็นและแสดงเหตุผลในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยใช้รถหุ้มเกราะ เฮลิคอปเตอร์ รั้วลวดหนาม และกำลังทหารจำนวนมาก 

มีการจัดตั้งเกณฑ์คนมาสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินและแจกข้าวสารแก่ผู้เข้าร่วมเวที ซึ่งข้าพเจ้าทั้งหมดเห็นว่าเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งของการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) 

อีกทั้ง ปรากฏว่า เนื้อหาในรายงาน EHIA ก็มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและสภาพพื้นที่ ซึ่งข้าพเจ้ากับพวกและเครือข่ายได้ร่วมกันคัดค้านด้วยการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆเพื่อแสดงเหตุผลคัดค้านมาโดยตลอด ซึ่งแม้เครือข่ายฯ ได้พยายามยื่นหนังสือขอให้ทบทวนแก้ไขหลายครั้งแต่ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง และปรากฏว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการซึ่งมีหน้าที่พิจารณาได้อนุมัติผ่านความเห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไปในที่สุด ทั้งๆที่ยังมีข้อโต้แย้งทางวิชาการในหลายประเด็น

​ต่อมา ข้าพเจ้าและเครือข่ายฯ ทราบว่า นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เห็นว่า เป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้ยื่นหนังสือและชี้แจงข้อเรียกร้องโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีอำนาจในการตัดสินใจโครงการ 

โดยตกลงที่จะเดินเท้าจากอำเภอเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อจะได้ให้ข้อมูลกับชุมชนต่างๆ ตลอดเส้นทางที่เดินผ่านด้วย โดยข้าพเจ้าทั้งหมดเห็นว่า การเดินเท้าเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การชุมนุม แต่เป็นการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 (3) ในการที่จะยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใด ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนหรืองดเว้นการกระทำใดๆอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน อันถือเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย 

แต่เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า การเดินเท้าเพื่อไปยื่นหนังสือดังกล่าวเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะตาม พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ข้าพเจ้าและเครือข่าย ฯ ก็ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งในการแจ้งการชุมนุม แจ้งรายละเอียดการเดินทาง และได้ยื่นขอผ่อนผันต่อเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วน โดยมอบหมายให้ นายเอกชัย อิสระทะ และ นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ เป็นผู้ดำเนินการแจ้งการชุมนุม​ข้าพเจ้าทั้งหมด

ขอเรียนว่า ตลอดระยะเวลาการเดินเท้าจากอำเภอเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เป็นไปอย่างสงบ เปิดเผย มีเพียงการแจกเอกสารข้อมูล ป้ายผ้าและธงขนาดเล็ก เพื่อเขียนข้อความรณรงค์เท่านั้น ซึ่งการเดินก็เป็นลักษณะแถวตอนเรียงหนึ่ง มิได้กีดขวางหรือเป็นอันตรายกับการจราจรแต่อย่างใด โดยในระหว่างการเดินทางก็ได้ประสานเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้วยดีมาโดยตลอด 

ส่วนเหตุคดีนี้นั้น เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดต่อกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อจะปิดกั้น กดดัน ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่ให้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ช่วงเวลาประมาณก่อนเที่ยง หลังจากที่ข้าพเจ้ากับพวกได้เดินเท้ามาโดยสงบเหมือนเช่นวันก่อนๆ ได้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายตั้งแถวปิดการจราจรบริเวณด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาขัดขวางมิให้ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่น ๆ เดินเท้าต่อไป ตามที่ได้แจ้งและตกลงกันไว้ 

ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่นๆ มิได้มีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหา หากแต่กลับปรากฏว่า มีการสั่งการให้ใช้กำลังจำนวนมากเข้าจับกุมข้าพเจ้ารวมทั้งชาวบ้านคนอื่นๆ โดยไม่มีอำนาจ ไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้แจ้งเหตุให้ข้าพเจ้าทราบ ทำให้ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่น ๆหลายคนได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังเข้าจับกุมดังกล่าว

​ข้าพเจ้าทั้งหมดขอเรียนว่า การจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่าข้าพเจ้าร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปต่อสู้ขัดขวางการจับกุม และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยมีและใช้อาวุธนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอีกทั้งการกล่าวหาว่าข้าพเจ้าทั้งหมดเป็นแกนนำจัดการชุมนุมหรือเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สงบและมีอาวุธ นั้น 

ก็เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินเลยต่อความเป็นจริง บิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ข้าพเจ้าทั้งหมดเคยขอให้พนักงานสอบสวนสอบสวนพยานบุคคลซึ่งเป็นเชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณา แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่ดำเนินการใด แล้วส่งฟ้องข้าพเจ้าต่อพนักงานอัยการ

​ข้าพเจ้าจึงเรียนมาเพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากท่าน เพื่อขอให้ท่านได้โปรดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมพยาน ดังต่อไปนี้

1. ผศ.ดร. จันทร์จิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
​2. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

​นอกจากนี้ ข้าพเจ้าขอให้ท่านสอบสวนถึงความเป็นมาของการลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการของข้าพเจ้ากับพวก เพื่อให้เห็นถึงมูลเหตุที่จำเป็นจะต้องเดินทางด้วยเท้าเพื่อไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี โดยขอให้ท่านมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มพยาน ดังต่อไปนี้

​1. ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
​2. ดร.อาภา หวังกียรติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยรังสิต
​4. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ
​5. นายสุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

​ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ได้กราบเรียนมาข้างต้นข้าพเจ้าทั้ง 17 คนจึงมิได้กระทำความผิดหรือมีเจตนากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา การจับกุมและตั้งข้อกล่าวหามิได้ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงเพื่อประสงค์จะปิดกั้นการใช้สิทธิของชุมชน 

ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ข้าพเจ้าทั้งหมดมิได้กระทำความผิดในลักษณะเป็นอาชญากร การจับกุมดำเนินคดีข้าพเจ้าทั้งหมดไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะหรือประเทศชาติแต่อย่างใด 

จึงขอให้ท่านโปรดมีคำสั่งให้สอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติม และขอให้พิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ อันจะเป็นการรักษาเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมาย คุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและดำรงไว้ซึ่งการให้ความยุติธรรมต่อประชาชนตามกฎหมายต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิยรัฐ จงเทพ เข้ายื่นหลักฐานข้อมูลนาฬิกาหรู 19 เรือนให้ ป.ป.ช. หวังตรวจสอบพล.อ.ประวิตร

Posted: 12 Jan 2018 02:53 AM PST

ปิยรัฐ จงเทพ ยื่นเอกสารหลักฐานข้อมูลนาฬิกาหรู 19 เรือนรวมมูลค่า 29.66 ล้านบาท ให้ ป.ป.ช. หวังตรวจสอบพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ระบุประชาชนรวบรวมหลักฐานให้แล้ว ที่เหลือเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.

ภาพจาก: Banrasdr Photo

12 ม.ค. 2561 เวลา 10.30 น. ปิยรัฐ จงเทพ นายกสมาคมเพื่อเพื่อน พร้อมประชาชน เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติ่ม หลังจากที่วีระ สมความคิด ได้มายื่นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชีที่เปิดเผยต่อ ป.ป.ช. ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลนาฬิกาหรูทั้งหมด 10 รายการ โดยปิยรัฐได้นำหลักฐานเพิ่มเติมมายื่นอีก 9 รายการ รวมเป็น 19 รายการ รวมเป็นมูลค่า 29.66 ล้านบาท

"คิดว่า ป.ป.ช. คงจะได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนเท่าที่ประชาชนส่วนหนึ่งจะทำได้ หลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะสืบต่อ และสอบสวนต่อไป และให้ความกระจ่างกับประชาชน เอกสารที่รวมมา และนาฬิกาที่ปรากฎอยู่บนหน้าสื่อมวลชนทั้งหลายไม่ได้ที่การจดแจ้งในบัญชีทรัพย์อื่น ที่มีมูลค่าเกิน 200,000 บาท ตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ฉะนั้นแล้วก็ต้องขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนกรณีของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่ามีการปกปิดข้อเท็จจริง บัญชีทรัพย์สิน ในฐานะที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี" ปิยรัฐ กล่าว

นอกจากนี้ ปิยรัฐ ยังได้นำปฏิทินปีใหม่ ที่มีข้อมูลนาฬิกาทั้ง 19 เรือนของพลเอกประวิตร ที่ปรากฏตามสือมวลชน มาแจกให้กับประชาชน และข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การเป็นข้าราชการนั่นร่ำรวย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟสบุ๊คจ่อลดการแสดงผลข้อมูลบนนิวส์ฟีดของเพจลง เพิ่มเพื่อน-ครอบครัวมากขึ้น

Posted: 12 Jan 2018 02:42 AM PST

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประกาศเฟสบุ๊คจะลดการแสดงผลข้อมูลบนนิวส์ฟีดของเพจต่างๆ ลง เพิ่มเนื้อหาเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น

12 ม.ค. 2561 รายงานข่าวระบุว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ของเฟสบุ๊ค ประกาศบนเพจอย่างเป็นทางการของตัวเอง ว่าบริษัทมีแผนปฏิรูปนิวส์ฟีด (News Feed) ครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเป็นสื่อกลางของการสื่อสารถึงกันระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว และกลุ่มเพื่อนบนเฟสบุ๊ค ด้วยการให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่เป็นความสนใจระหว่างผู้ใช้งานในเครือข่ายเดียวกันมากขึ้น ทั้งนี้ ซัคเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่า บริษัทได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้จำนวนมากมานานระยะหนึ่งแล้ว ว่าบนนิวส์ฟีดของเฟซบุ๊กในตอนนี้มีการแสดง "เนื้อหาเชิงธุรกิจ" มากเกินไป

blognone.com รายงานความเห็นของ ซัคเคอร์เบิร์ก เพิ่มเติมว่า ซัคเคอร์เบิร์ก บอกว่าเขาได้ให้เป้าหมายกับฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ปีนี้ โดยเปลี่ยนจากการเลือกเนื้อหาที่คนน่าจะสนใจบนนิวส์ฟีดมาเป็นเนื้อหาที่มีคุณค่าในแง่ความสัมพันธ์ทางสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นคือ นิวส์ฟีด จะแสดงโพสต์จากเพื่อน, ครอบครัว และกลุ่มที่เราเข้าร่วมมากขึ้น และลดการแสดงเนื้อหาสาธารณะจากเพจธุรกิจ, แบรนด์ และสื่อต่างๆ ลง โดยเนื้อหาสื่อสาธารณะที่ถูกเลือกแสดงจะอยู่บนหลักการเดียวกับโพสต์ของเพื่อนๆ คือมีคุณค่าในแง่ความสัมพันธ์ทางสังคม

เฟสบุ๊คประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบกับตัวเลขเวลาที่คนใช้งานเฟสบุ๊คและจำนวน Engagement เช่น การไลก์ การแชร์และการแสดงความเห็นที่ลดลง แต่จะเป็นเวลาที่มีคุณค่ากับผู้ใช้มากขึ้นซึ่งดีกับเฟสบุ๊คในระยะยาว

เฟสบุ๊คสรุปผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังนี้ : 

- เพจต่างๆ จะพบว่า Reach ลดลง แต่จะลดลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยว่าเนื้อหานั้นคืออะไร ผู้คนมีปฏิสัมพัทธ์อย่างไร โพสต์จากเพจที่ไม่มีคนคอมเมนต์หรือปฏิสัมพัทธ์ใดๆ ย่อมถูกลด Reach รุนแรง ส่วนเพจที่มีเพื่อนๆ ไปคอมเมนต์ ก็จะกระทบน้อยกว่า
- เพจที่ผู้ใช้กด See First ก็จะยังได้เห็นได้รับเนื้อหาจากเพจนั้นๆ บนนิวส์ฟีดต่อไป เนื่องจากตั้งค่าเป็นเพจที่ชื่นชอบไว้ 
- ลักษณะของโพสต์จากเพจที่จะถูกแสดงมากขึ้นบนนิวส์ฟีดนั้นเฟสบุ๊ค ยกตัวอย่างเช่นการ Live ที่ทำให้คนพูดคุยกันเยอะ, โพสต์จากบุคคลมีชื่อเสียง, โพสต์ในกลุ่มที่เป็นเนื้อหาสาธารณะ และทำให้คนพูดคุยกัน, ข่าวที่ทำให้คนถกเถียงกันในประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตามโพสต์แนว Engagement Bait จะยังถูกลดความสำคัญอยู่ดี
- เฟสบุ๊คจะไม่แยกมีการฟีดสำหรับเพจแบบที่เคยทำการทดลอง และยืนยันว่าโพสต์จากเพจจะถูกแสดงน้อยลงแน่นอน

เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า การประกาศของซัคเคอร์เบิร์กสอดคล้องกับรายงานที่เคยเปิดเผยเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ว่าเฟสบุ๊คเตรียมปรับปรุงการประมวลผลแบบอัลกอริทึมบนนิวส์ฟีด ให้แบ่งสรรการแสดงผลการโพสต์ของผู้ใช้งานกับการโพสต์จากเพจ "อย่างเป็นสัดส่วน" นอกจากนี้ เฟซบุ๊กและบริษัทที่ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์อีกหลายแห่งในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ วิโดว์ส และกูเกิ้ล ถูกตรวจสอบจากสภาคองเกรสอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว ว่าล้มเหลวในการคัดกรองการเผยแพร่ "ข้อมูลเท็จ" บนแพลตฟอร์มของตัวเอง สืบเนื่องจากกรณีการสืบสวนเรื่องรัสเซียอาจแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2559 

ที่มา : เฟสบุ๊ค 'Mark Zuckerberg', เดลินิวส์ และ blognone.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคการเมืองเสี่ยงทาย: เอาไงดีกับพรรค คสช.-2 พรรคใหญ่รวมกันเฉพาะกิจ

Posted: 12 Jan 2018 02:37 AM PST

 

การเลือกตั้งทั่วไปอาจจะมีขึ้นในปลายปีนี้ มีการคาดการณ์ไปหลายซีนาริโอว่า หัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหาวิธีสืบทอดอำนาจอย่างไรในระบบการเมืองแบบรัฐสภา ตั้งแต่การเป็น "นายกฯ คนนอก" หรือลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ในขณะเดียวกัน พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีข้อเสนอให้พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อคานอำนาจกับพรรคของคสช. และป้องกันไม่ให้มี นายกฯ คนนอก

ที่ผ่านมา กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าสื่อมักปรากฏเพียงเสียงของคนใน คสช. หรือไม่ก็แกนนำของพรรคใหญ่เท่านั้น ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้โยนคำถามหยั่งเสียงประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวน 11 คนจากเหนือจรดใต้ ทั้งที่เคยเป่านกหวี คนเสื้อแดง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ คนต้านรัฐประหาร ฯลฯ เพื่อสะท้อนปฏิกิริยาต่อ 2 โจทย์การเมืองนี้

คำถามสองคำถามของประชาไท คือ
ข้อ 1 เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
ข้อ 2 หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?


จุฑารัตน์ (สงวนนามสกุล) พนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุ 59 ปี ปทุมธานี
เคยไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ และ กปปส.


1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
ไม่เลือกพรรคแต่เลือกคน ถ้าประยุทธ์ลงเองดิฉันจะเลือก แต่ถ้ามีพรรคทหาร หรือมีพรรคที่เสนอชื่อประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็จะไม่เลือก ที่เลือกเพราะเห็นความตั้งใจจริงของเขา เขาเป็นคนทำงานพูดตรงตั้งใจทำ ทำอะไรไม่อ้อมค้อม ใครไม่ชอบแต่เราชอบ เขาไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
ไม่เห็นด้วยเพราะเกลียดเพื่อไทย อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวคือไม่มีวิชาการใดๆ ถ้าร่วมมือกันจริงก็น่าจะพาลเกลียดอีกพรรคหนึ่งไปด้วย


ทวีชัย (สงวนนามสกุล) วิศวกรเกษียณ อายุ 64 ปี คนกรุงเทพฯ
เคยไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ และกปปส.


1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?คสช. มาลงเลือกตั้งก็ไม่เลือก เพราะหนึ่ง เราเคยเลือกแต่ ปชป. และสอง คสช. ขนาดตอนนี้มีอำนาจพิเศษ ยังบริหารบ้านเมืองได้ไม่ดีเลย ขนาดมีอำนาจแล้ว ไม่เก่ง ถ้าหากมาเป็นนักการเมืองเหมือนคนอื่นๆ ไม่มีอำนาจพิเศษก็คงยิ่งไม่มีประโยชน์ ต่อให้เป็นรัฐบาลก็เป็นอะไรไม่ได้  คสช. ไม่มีความสามารถ และคงเป็นนักการเมืองที่ดีไม่เก่งไม่ได้ ไม่มีข้อดีเลยสักอย่าง

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
ไม่เห็นด้วยกับการจับมือกันของทั้งสองพรรค ถ้าจะทำแบบนี้ ผมไม่พอใจแน่นอน ต่อให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลด้วยตัวมันเอง เราก็ไม่พอใจแล้ว ถ้า ปชป.ไปช่วยเพื่อไทยเพื่อตั้งรัฐบาล มันจะเป็นการเหยียบย่ำความรู้สึกของเรามากเลย เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย เปลี่ยนชื่อพรรคมาหลายครั้ง พิสูจน์แล้วว่า มีแต่จะคอร์รัปชัน โกงกิน แล้วผมก็ไปขับไล่มันมาหลายรัฐบาลแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าสองพรรคมารวมกันตั้งรัฐบาล เราก็คงจะเกลียดนักการเมืองไปหมด ตลอดกาล


ประสาท จูมพล บุคลากรมหาวิทยาลัย วัย 39 ปี จากจังหวัดมหาสารคาม
เคยไปสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นปช. และ กปปส.
เคยเลือกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนาและพรรคไทยรักไทย (ยุคแรก)

1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
ถ้าเป็นการตั้งพรรคทหารมาหนุนอำนาจให้ คสช. เป็นรัฐบาลต่อก็ไม่ดี เพราะเขาไม่ถนัดเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง เหมาะแต่ทำให้ประเทศสงบ แต่นั่นก็เหมือนเอาปัญหามาซ่อนไว้ใต้พรม ถ้าประชาชนยังยากจน กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับก็อยู่ได้ไม่นาน สิ่งที่อยากเห็นคือการเสนอนโยบายที่ประชาชนรากหญ้าอยู่ดีกินดีบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้ทำไปฉาบฉวยเพียงเพื่อสร้างฐานเสียง

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
ผมไม่เลือกทั้งสองพรรคนี้อยู่แล้ว เพราะไม่ว่าพรรคไหนขึ้นมาก็แก้ปัญหาความขัดแย้งหรือเป็นช่องทางที่จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากไม่ได้ เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังมีความนิยมเก่าๆ ไม่ได้เสนอไอเดียใหม่ให้ประเทศก้าวทันคนอื่น ส่วนพรรคเพื่อไทยเองก็เป็นบุคคลนิยม ถ้าประชาธิปัตย์และเพื่อไทยถ้าจับคู่กันก็อาจจะทำงานด้วยกันยากเพราะฐานคิดไม่เหมือนกัน ส่วนตัวไม่ได้สนใจว่าเป็นพรรคไหน แต่จะดูว่าทำเพื่อประชาชนจริง นโยบายจับต้องได้ไหมและมีวินัยหรือไม่ แต่ถ้ามีทางเลือกที่สามที่เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ฝักใฝ่ทหารและการเมืองเดิมก็อาจจะเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนไทย ส่วนตัวชอบพรรคไทยรักไทยยุคแรก แต่หลังๆ เริ่มไม่มีการคานอำนาจกันในพรรค ก็เลยไม่เลือก


โอ (นามสมมติ) บุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อายุ 28 ปี จากจังหวัดขอนแก่น
เคยไปร่วมประท้วงเฉพาะในช่วงที่พรรคเพื่อไทยผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม


1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
ไม่เห็นด้วย เพราะว่าทหารมีระบบที่ถูกฝึกมาเพื่อให้รับคำสั่งไปปฏิบัติ ไม่ใช่การเอื้อถึงประโยชน์สาธารณะเท่าที่ควร ไม่ได้บอกว่าเขาไม่เก่ง แต่เรื่องของการบริหารประเทศ ผลประโยชน์สาธารณะเป็นเรื่องที่ต้องแคร์สังคมค่อนข้างสูง โครงการที่รัฐบาลไม่ได้มองการจัดผลประโยชน์และผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตเท่าที่ควร เช่น บัตรสวัสดิการคนจนที่มีความซ้ำซ้อน ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า การที่เอานักวิชาการและผู้มีความรู้เข้าไปช่วยในแต่ละส่วนแต่ก็ยังเป็น คสช. ที่มีอำนาจที่จะรับฟังหรือไม่รับฟัง ไม่ได้เลือกและตัดสินตามที่ประชาชนร้องขอ

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
ถ้ามีการรวมกันจริงๆ คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะสองพรรคต่างก็มีแนวคิดที่ย้อนแย้งแข่งขันกัน ถ้าทั้งสองพรรคต่างมีความเป็นประชาธิปไตย ยอมรับฟังเสียงส่วนมาก ยอมที่จะผ่อนหนักผ่อนเบาแล้วมองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักในการทำงานถึงแม้จะมีความคิดแตกต่างกันก็คงเป็นเรื่องที่ดี คิดว่าคนกลุ่มนี้มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถที่จะเป็นประโยชน์ได้ แต่ก็มองภาพไม่ออกเพราะไม่เคยเห็นการรวมตัวกันของสองพรรคใหญ่


ยา อายุ 60 ปี เกษตรกรชาวสวนยางใน อ.กันตัง จ.ตรัง
เคยสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของ กปปส.


1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
เป็นเรื่องที่ตอบยากอยู่เหมือนกัน เนื่องจากในปีที่ผ่านมาทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวผ่านสื่อว่าตนเองจะไม่ลงเลือกตั้ง แม้ในกรณีล่าสุดจะมีการออกมายืนยันว่าตนเองเป็นนักการเมืองก็ตาม ต่อให้นายกรัฐมนตรีมีการอ้างว่าตนเองจะเป็นทหารหรือนักการเมืองหรือไม่ ผมก็จะเลือกนักการเมืองเท่านั้น เพราะนักการเมืองเขาบริหารประเทศอยู่แล้วตลอด มันต้องมาจากเสียงของประชาชน แต่ทหารเขาจัดตั้งเอง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลหรือผู้นำมันต้องมาจาการเลือกตั้งอย่างเดียว

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
คงเป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควร แต่ก็เชื่อว่าถ้าในที่สุดแล้วสามารถรวมกันได้ ส่วนตัวก็ยอมรับได้ ก็ดูกันไปว่าหัวหน้าพรรค (ของแต่ละฝ่าย) เป็นใคร หากเข้ากันได้ก็จะเลือก เพราะคิดว่าคนภาคใต้ส่วนใหญ่ก็นิยมพรรคประชาธิปัตย์ หากพรรคประชาธิปัตย์มีความยินดีที่จะเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย บางทีคนภาคใต้อาจยอมรับ ก็ดูกันไปว่าเขาจะรวมกันได้ไหม ถ้ารวมได้ก็เลือกอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งต่อให้รวมไม่ได้ก็ตาม

 

อึ่ง บ่าวอุบล (นามสมมติ) วัย 44 ปี คนเสื้อแดง เข้าร่วมการชุมนุม นปช. ตั้งแต่ปี 2552
เข้าร่วมชุมนุมทั้งที่กรุงเทพฯ และที่อุบลฯ
ล่าสุดเขาถูกจับกุมตัว อยู่ระหว่างการดำเนินคดี จึงขอสงวนชื่อและนามสกุลด้วยเกรงว่าทัศนะของเขาจะทำให้ตัวเขาเดือดร้อนมากขึ้น ทั้งในด้านคดีที่ยังค้างคาและการคุกคาม เชิญตัวพูดคุยหรือมาตรการอื่นที่แรงกว่านั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหาร

1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
ผมไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแมป ปี 61 ผมไม่เชื่อว่าประยุทธ์จะจัดให้มีการเลือกตั้งตามที่พูดไว้ ประยุทธ์เคยสัญญาอะไรทำนองนี้หลายหนแล้วแต่สุดท้ายก็ไม่เคยตรงตามสัญญา และถึงมีการเลือกตั้งจริง ผมไม่เชื่อว่าพรรคที่สนับสนุนประยุทธ์จะได้รับการเลือกเข้าสภา ตอนนี้คนอีสานไม่เอาประยุทธ์ คนภาคอื่นด้วย

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
ผมไม่ค้านหัวชนฝานะ ผมให้โอกาสคน พรรคประชาธิปัตย์ก็อาจพัฒนาขึ้นได้ แต่ผมอยากบอกว่า ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยคนไหนย้ายค่าย ย้ายพรรค ผมถือว่าเป็นพวกเนรคุณประชาชน รับรองว่าสอบตก ไม่ได้เลือกตั้งหรอก


ตูแวดานียา ตูแวแมแง อายุ 34 ปี นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม 
ชาวมลายูมุสลิม จากจังหวัดปัตตานี

1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
ถ้าเลือกตั้ง ก็เป็นประโยชน์กับประชาชนชัดเจนอยู่แล้ว ก็ต้องดูที่นโยบายเป็นหลัก ถ้าทหารกล้าเปิดตัวจะมาเป็นนักการเมือง ถ้ามีนโยบายดี ประชาชนมองว่า ได้ประโยชน์จริงๆ และเล่นตามกติกาประชาธิปไตยจริงๆ ประชาชนก็คงเลือก อย่างผม ในฐานะคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ผมอยากเห็นนโยบายสร้างสันติภาพที่จับต้องได้ เช่น คนที่จะสามารถนำขบวนการตัวจริงมาอยู่บนโต๊ะเจรจา และให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพอย่างแท้จริง ที่นำไปสู่การยุติความรุนแรง

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายอีกนั่นแหละว่า พรรคการเมืองที่อยู่คนละขั้วกันมาตลอด  ถ้าจับมือกันได้จริงๆ ก็อาจตอบโจทย์เรื่องความปรองดองก็ได้ ก็จะเป็นโมเดลใหม่ ที่เป็นรัฐบาลผสมจากสองขั้ว ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

 



รักชาติ สุวรรณ์ อายุ 54 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
คนจังหวัดยะลา เคยร่วมม็อบ กปปส. เคยเลือก ปชป. สม่ำเสมอ

1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
ประเด็นแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าเราต้องการจะปฏิวัติการเลือกตั้ง เราต้องดูคุณภาพของนักการเมือง ถ้ามีพรรค คสช. ที่อุดมไปด้วยทหาร ผมคงต้องคิดดู การบริหารประเทศปัจจุบันก็เป็นตัวอย่างให้เห็นการทำงานของ คสช.อยู่  ส่วนตัวเองคงไม่เลือก เพราะปัจจุบันผมก็รู้สึกอึดอัดกับการปกครองแบบนี้ คงไม่ไปเลือกพรรคนี้อีก ผมอึดอัดกับรัฐบาลทหารตอนนี้ ถึงประยุทธ์มาลงรับสมัครเป็นนายกฯ เอง ผมก็ไม่เลือก ถึงมีพรรคของสุเทพ ผมก็ไม่เลือก เพราะมีหลายอย่างที่น่าผิดหวังเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่ทำให้ผมคิดว่า ผมไม่น่าไปเป่านกหวีดเลย ผมไม่ได้ไปเป่านกหวีดเพื่อเรียกทหารเข้ามา ตอนนั้นก็คิดว่า เออ ทหารอาจจะต้องเข้ามาช่วย แต่ไม่คิดว่า ทหารจะมาอยู่นานขนาดนี้

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
ถ้าเป็นพรรคพลเรือนมาจับมือกัน เพื่อลดทอนอำนาจของทหาร ผมก็โอเคนะ มีสโลแกนที่ว่า การเมืองนำการทหาร แต่ที่ผ่านมา ทหารนำการเมืองตลอด เวลาตัดสินใจอะไร ทหารก็เป็นคนตัดสินใจสุดท้าย โดยเฉพาะสามจังหวัด เพราะฉะนั้นถ้าพลเรือนจะคิดการใหญ่เพื่อโค่นอำนาจทหารผมก็สนับสนุน

ผมมองว่า ปชป. ทำงานไม่สมศักดื์ศรีพรรคเก่าแก่ ต้องดูอีกที อาจจะกาช่องไม่เลือกก็ได้  ผมว่า พรรคการเมืองมีความจำเป็นต้องปฏิรูปตัวเอง ถ้าทำตัวเองเชื่องช้า เกาะกระแสไป คงปกครองประเทศลำบาก

 

เอ (นามสมมติ) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเสื้อแดงวัย 50 ปี ชาวอีสาน ไม่ขอระบุชื่อ
เนื่องจากว่าถูกทหารบุกจับตัวที่บ้านมาแล้วสองครั้ง แต่ยังไม่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดี

1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
เห็นด้วยให้ประยุทธ์ลงมาเล่นการเมือง ก่อตั้งพรรคการเมือง ช่วงเวลานี้ก็เริ่มเห็นมีกระแสการลงมาพยายามเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วโดยบรรดาอดีตสหายที่สนับสนุนการรัฐประหาร เข้าใจว่าเป็นการจัดตั้งเพื่อรองรับการลงมาเล่นการเมืองของประยุทธ์

ในอดีต การคลี่คลายทางการเมืองหลังการรัฐประหาร กรณีลักษณะนี้ไม่ใช่กรณีแรก จอมพล ป.  สฤษดิ์ หรือถนอม ก็ใช้วิธีการแบบนี้ ให้ลงมาเล่นการเมืองเป็นเรื่องดี อย่างน้อยก็ยังมีกรอบรัฐธรรมนูญกำหนดอยู่ ไม่ใช่ว่านึกจะทำอะไรก็ทำตามใจแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
ในทางหลักการไม่เห็นด้วยในการร่วมมือระหว่าง พท.กับ ปชป.  แต่ในทางปฏิบัติ ก็ต้องมาดูกันว่าเป็นการรวมกันเพื่อเป้าหมายอะไร หากมีเป้าหมายชัดเจน เป็นการร่วมมือแบบชั่วคราว มันก็คงพอจะทำได้   แต่โดยส่วนตัว ยังไงก็ไม่สังคายนากับ ปชป.แน่ๆ แต่ถ้าเพื่อไทยจะทำก็ทำไป ไม่ค้าน

กรณีการสลายขั้วอย่างที่เสนอมามันก็เคยมีในอดีต หลังการปราบในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคเอกภาพ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศจุดยืนว่าไม่เอานายกฯ คนนอก ถูกเรียกว่า พรรคเทพ ก็ได้มีการร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลกับ พรรคกิจสังคม ที่เคยสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา ขึ้นมาเป็นนายกฯ จนเกิดเหตุนองเลือด จนถูกเรียกเป็นพรรคมาร มันเป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อให้การเมืองในระบอบมันไปต่อได้

 

ชัยพงษ์ สำเนียง อายุ 34 ปี จากจังหวัดแพร่ นักศึกษาปริญญาเอก ม.เชียงใหม่
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ หรือ กปปส.
ผู้ต้องหาข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน เพื่อต่อต้านรัฐประหาร ในงานไทยศึกษา เมื่อปี 2560

1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
ผมไม่เลือกแน่นอน เพราะว่า พรรคทหารมันแสดงถึงการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ เขาไม่น่าจะมีศักยภาพที่ทำการเมืองรัฐสภาได้ แต่น่าจะเป็นการเอากลุ่มการเมืองเก่าๆ มารวมตัวกัน แต่ผลได้ของการเอามารวมกันแล้วได้เสียงหรือไม่ คงเป็นอีกเรื่องนึง

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
ถ้ารวมกันเพื่อต้านนายกฯ คนนอก หรือแก้รัฐธรรมนูญ ผมโอเค แต่ผมก็คิดว่า เขารวมกันไม่ได้หรอก เพราะฐานวิธีคิดทางการเมืองการปกครองแตกต่างกันมาก  ปชป. คิดว่า ใช้อำนาจอะไรก็ได้เพื่อนำไปสู่การเมืองของคนดี ส่วนเพื่อไทยเป็นการเมืองของมวลชน ผมคิดว่า มันต่างกันมากจนไม่น่าจะรวมกันได้


วุฒิ โมเดล ชื่อในฐานะดีเจ วัย 42 ปี อดีตผู้จัดรายการวิทยุชุมชน ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ
เลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2554

1. เห็นด้วยกับการตั้งพรรค คสช. หรือพรรคทหารเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกพรรคทหารหรือไม่ เพราะอะไร?
ไม่ว่า คสช. ตั้งพรรคการเมือง พรรคทหารหรือนอมินีของทหาร ลงเลือกตั้งนั้น ผมเห็นด้วย ในกรณีตั้งพรรคแล้วลงมาให้ประชาชนได้เลือกตั้งกันตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยสากลก็ว่ากันไป แต่ที่ไม่เห็นด้วยและยอมรับไม่ได้คือการเขียนกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือที่เรียกว่าเขียนเอื้อประโยชน์ให้ คสช.และพวกพ้องสืบทอดอำนาจหรือเข้าสู่อำนาจง่ายขึ้น เช่น 1) การมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน 2) การกำหนดคุณสมบัติผู้ลงสมัครเลือกตั้ง 3) การแบ่งเขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4) ผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ต้องสังกัดพรรค ซึ่งจะเกิดการขายตัวของ ส.ส.บางกลุ่มหรือบางคนได้ 5) นายกมาจากคนนอกได้ นอกเหนือจากที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอชื่อมา และ 6) กกต.จังหวัด มีอำนาจมากขึ้นจนล้นฟ้าตัดสินใบเหลืองหรือใบแดงได้เลยหรือตัดสินการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้เลย ผมจึงมองว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เป็นเพียงการเล่นลิเกหลอกลวงชาวบ้านและชาวโลกเท่านั้น

2. หากพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่น เพื่อคานอำนาจทหารหรือป้องกันนายกฯ คนนอกนั้น เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด?
จะจับมือกันชั่วคราวหรือค้างคืนนั้น ผมก็ไม่เห็นด้วยด้วยประการทั้งปวง  ผมไม่จับมือกับฆาตรกรมือเปื้อนเลือดแน่นอน และพรรคประชาธิปัตย์ยังเคยขนคนมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีก เป็นพรรคที่สนับสนุนทหารให้มาทำการยึดอำนาจของประชาชน จึงไม่เห็นด้วย

ถ้าพรรคเพื่อไทยลืมอดีตที่เจ็บปวดที่ผ่านมาก็ตัวใครตัวมัน ผมจะไม่เลือกเด็ดขาดครับ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รังสิมันต์ โรม: 14 ปี ปาตานี เราจะส่งต่ออนาคตอย่างไรให้เด็กรุ่นหลัง

Posted: 12 Jan 2018 02:19 AM PST


ภาพเด็กที่บันนังสตาร์ :โดยรังสิมันต์ โรม

ในช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปยังบันนังสตา จังหวัดยะลา หนึ่งในพื้นที่สีแดงที่มีการประกาศใช้ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และแน่นอนบรรดากฎหมายความมั่นคงอื่นๆ

สองข้างทางที่ผมไป เต็มไปด้วยกำลังทหาร ที่คอยตรวจเช็คบรรดารถที่สัญจรผ่านไปผ่านมา โชคดีที่การเดินทางของเราในครั้งได้มิตรสหายหน้าตาจีน วรวุฒิ บุตรมาตร เป็นผู้ขับรถ ทำให้เราไม่ตกเป็นเป้าของการตรวจเช็คอย่างละเอียดมากนัก

(1) ก่อนอื่น ผมต้องขอเรียนกันตามตรงว่าข้อเขียนนี้คงไม่เป็นที่ถูกใจของใครหลายคน เพราะสิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้คือ การแสดงจุดยืนของผมต่อประเด็นสันติภาพของปาตานีที่ยืนยันว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้คือ การนำทหารออกจากพื้นที่ ซึ่งความตั้งใจของผมไม่ได้ต้องการกล่าวหาทหารเฉพาะบุคคล เพราะเข้าใจดีว่า ได้รับคำสั่งมา (และว่ากันตรงไปตรงมา โดยเฉพาะทหารผู้น้อย ท่านเองก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ถูกเอาเปรียบ ถูกทอดทิ้ง ขณะที่ทหารผู้บังคับบัญชา คือ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่ท่านเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย)

(2) อย่างที่หลายคนพอจะจำได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว เราใช้งบประมาณภาษีไปมากมายมหาศาลเพื่อเปลี่ยนจังหวัดที่เคยสวยงามให้เป็นทั้งสมรภูมิและค่ายทหาร ความรุนแรงต่างๆกลับไม่เคยลดน้อยถอยลงเลย ซึ่งต้องย้ำด้วยว่าความรุนแรงที่ผมกำลังหมายถึง ยังรวมถึงความรุนแรงทั้งจากฝั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำต่อประชาชนด้วย

(3) จากการที่ผมได้พุดคุยกับคนในพื้นที่ ซึ่งจำนวนไม่น้อยล้วนมีประสบการณ์จากการถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ หลายคนยืนยันว่า เคยถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน บางคนก็อาจจะบอกว่า ก็สมแล้วในเมื่อเป็นผู้ก่อการร้ายสร้างความไม่สงบ แต่ท่านต้องไม่ลืมนะว่า จากประสบการณ์ของพวกเราเองที่เคยประสบกันมาในเรื่องอื่นๆ หลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติหน้าที่แบบชุ่ยๆ สนใจแต่แค่จะปิดคดีให้ได้ สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การใช้มาตรการจำนวนมากมายที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางสิทธิมนุษยชนอย่างกว้าขวาง ลองนึกภาพคนใกล้ตัวหรือตัวท่านเองถูกขู่ว่าถ้าไม่สารภาพจะเอาไฟชอตอัณฑะดูสิ ท่านจะสารภาพมั้ย

(4) พื้นที่ที่น่าจะเป็นพื้นที่ไฮไลท์ที่ผมเดินทางในครั้งนี้ คือ บันนังสตา จังหวัดยะลา เนื่องจากขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างปฏิบัติพิชิตบันนังสตา#2 ซึ่งมีเป้าหมายการจับกุมผู้ต้องสงสัยให้ได้ในจำนวน 30 คน (จากการสอบถามคนในพื้นที่)โดยในวันที่ผมลงพื้นที่ ผมได้รับทราบข้อมูลว่า มีชาวบ้าน และเยาวชนในพื้นที่มากกว่า 20 คนถูกพาตัวไปยังค่ายทหารเพื่อสอบสวนหาตัวคนที่เผารถบัส โดยมีจำนวนประมาณ 4 คนที่โชคดีกว่าคนอื่นหน่อย เพราะหลังการสอบสวนซึ่งกินเวลาหลายชั่วโมง ก็ได้รับการปล่อยตัว น่าเสียดายที่อีกยี่สิบกว่าคนไม่โชคดีแบบนั้น

ดังนั้นการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เพื่อจับกุมให้ได้ยอดดังกล่าวจึงยังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้ครบตามจำนวนที่วางเอาไว้ ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างหวาดกลัว บางคนถึงขนาดเตรียมการกักตุนอาหาร เพราะไม่รู้ว่า ความเลวร้ายเช่นนี้จะจบลงเมื่อไหร่ ขณะที่ผู้เป็นพ่อของผู้ต้องสงสัยบางคนถึงกับหลั่งน้ำตา เมื่อถูกถามว่าลูกชายตัวเองเป็นยังไงบ้าง สภาพเช่นนี้คือ สภาพที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้านในบันนังสตา จังหวัดยะลา พื้นที่แห่งความหวาดกลัวที่ถูกสร้างขึ้นจากกองทัพที่เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนเผารถบัส ใครคือ BRN ใครคือคนที่ก่อการร้ายอยากแยกดินแดน สิ่งที่ผมรู้มีเพียงอย่างเดียว คนปาตานีก็คือคนแบบเดียวกับพวกเรา การไปเยือนของผมครั้งนี้ ผมไม่เห็นอะไรอื่นเลยนอกจากชีวิตที่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำเหมือนๆกับที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หรือภูเก็ต

14 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นระยะเวลาที่นานเพียงพอแล้วว่าปฏิบัติการทางทหาร คือ ความล้มเหลว คือ ความผิดพลาด ปาตานีไม่เคยพบกับความสงบสุข และการปฏิบัติการทหารรังแต่จะสร้างความขัดแย้งให้กับคนในพื้นที่มากขึ้นมากขึ้น

ผมเคยจินตนาการเล่นๆว่า ถ้าผมต้องมาเกิดและเติบโตในที่ที่รายล้อมไปด้วยความรุนแรงแบบนี้ ผมจะกลายเป็นคนแบบไหนกันนะ ผมจะเข้าร่วมกับขบวนการเพื่อล้างแค้นให้กับพี่ชายที่ถูกซ้อมจนตายหรือเปล่า หรือ ผมจะพยายามบอกผู้คนรอบตัวว่าหนทางเดียวของการแก้ปัญหาคือสันติวิธี โดยที่บ้านข้างๆกำลังมีปฏิบัติการกวาดล้อมชาวบ้านไปสอบสวนแบบสุ่ม ตกลงแล้วเราจะสร้างสังคมแบบไหนกัน สังคมแบบไหนกันที่เรากำลังจะส่งต่อเพื่อให้เด็กเหล่านี้อยู่ เด็กที่เติบโตมากับความรุนแรงที่เขาไม่ได้ก่อ ความรุนแรงที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เด็กเหล่านี้จะเป็นอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ยากจะทำนาย แต่เรื่องหนึ่งที่เราพอจะรู้ได้ ทหารไม่เคยเป็นผู้ปกครองที่ดีแต่อย่างใด

จงอย่าให้อำนาจกับคนที่ถือปืน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค Rangsiman Rome

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการเยอรมันสั่งไม่ฟ้องเด็กชายวัย 14 ใช้ปืนลมยิงใส่ขบวนเสด็จจักรยาน ร.10

Posted: 12 Jan 2018 01:55 AM PST

บีบีซีไทย รายงาน อัยการเยอรมันสั่งไม่ฟ้องเด็กชายวัย 14 ใช้ปืนลมยิงใส่ขบวนเสด็จจักรยาน ร.10 กลางดึก 10 มิ.ย.ปีที่แล้ว ใกล้กับสนามบินมิวนิก เหตุอาวุธปืนลมที่ใช้ไม่ได้ทำอันตรายต่อผู้ใด พร้อมระบุ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่มีพระประสงค์ที่จะให้ดำเนินคดีกับเด็กทั้งสองด้วย

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา บีบีซีไทย รายงาน ความคืบหน้าคดีเด็กชายวัย 14 ที่ใช้ปืนพกอัดลม ยิงจากหน้าต่างของบ้านหลังหนึ่งเข้าใส่ขบวนเสด็จโดยจักรยานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่เสด็จพระราชดำเนินไปในสวนแห่งหนึ่งใกล้กับสนามบินมิวนิก ประเทศเยอรมนี

โฆษกของสำนักงานอัยการเมืองลันด์สฮูท ในรัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ทางสำนักงานอัยการได้มีคำสั่งในเดือนนี้ ไม่ฟ้องเด็กชาย ดังกล่าว เนื่องจาก อาวุธปืนลมที่ใช้ไม่ได้ทำอันตรายต่อผู้ใด

"พิสูจน์ไม่ได้ว่า วัยรุ่นรายนี้มีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่น และ นอกจากนี้ เด็กทั้งสองไม่ทราบว่าพระองค์เป็นใครด้วย" โฆษกของสำนักงานอัยการเมืองลันด์สฮูท ระบุในอีเมล

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ โทมาส เราสเชอร์ โฆษกของสำนักงานอัยการเมืองลันด์สฮูท ในรัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เมื่อเวลา 23:00 น ของ วันที่ 10 มิ.ย. 2560 ตำรวจได้รับแจ้งจากสมาชิกของขบวนเสด็จโดยจักรยานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ว่าถูก "ยิง" แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ จากการสอบสวนพบว่า เด็กชายสองคน ในวัย 13 และ 14 ปี ใช้ปืนพกอัดลม ยิงจากหน้าต่างของบ้านหลังหนึ่งเข้าใส่ขบวนจักรยานที่เสด็จพระราชดำเนินไปในสวนแห่งหนึ่งใกล้กับสนามบินมิวนิก

"พระองค์ไม่มีพระประสงค์ที่จะให้ดำเนินคดีกับเด็กทั้งสอง... แต่ในเยอรมนีเป็นหน้าที่ของทางการที่จะสืบสวนและพิจารณาว่าจะดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุหรือไม่" เราสเชอร์ กล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับบีบีซีไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ณัฐวุฒิ ทวงถาม ป.ป.ช. เมื่อไหร่จะได้เห็นสำนวนยกคำร้อง กรณีสลายชุมนุมปี 53

Posted: 12 Jan 2018 01:44 AM PST

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้าทวงคำตอบจาก ป.ป.ช. หลังจากขอดูสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. กรณียกคำร้องเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ตั้งแต่ปีก่อน พร้อมมอบหนังสือ "คนตายที่มีใบหน้า คนถูกฆ่าที่มีชีวิต" และ "ความจริงเพื่อความยุติธรรม" ให้ ป.ป.ช. เก็บไว้อ่าน

ภาพจาก: Banrasdr Photo

12 ม.ค. 2561 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทนายความ และญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อทวงถามความเป็นธรรม และขอสำนวนการไต่สวนคดีการสลายการชุมนุม ที่ ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูลความผิด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมทั้งมอบหนังสือ "คนตายที่มีใบหน้า คนถูกฆ่าที่มีชีวิต" และหนังสือ "ความจริงเพื่อความยุติธรรม" ให้กับ ป.ป.ช. ด้วย

ณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การมาครั้งนี้ไม่เมีเจตนาที่จะเผชิญหน้า หรือท้าทาย ป.ป.ช. และผู้มีอำนาจในบ้านเมือง แต่ที่มาเพราะเห็นว่าเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553 มีคนตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทย แม้ ป.ป.ช. จะมีมติไม่ชี้มูลความผิด ยกคำร้อง กับ อภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ อดีตรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงไปแล้ว แต่ตามกฎหมายยังมีช่องทางที่จะดำเนินการต่อไปได้ จึงต้องการเพื่อติดต่อสอบถาม ขอดูสำนวนดังกล่าวจาก ป.ป.ช. เพื่อจะนำไปพิจารณาว่า ป.ป.ช. ใช้หลักฐานใดในการพิจารณาคดีดังกล่าว และหลังจากนั้นจะได้รวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น ซึ่งเป็นหลักฐานใหม่เพื่อดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป

ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า การขอสำนวนนี้เพราะต้องการเทียบดุลพินินจของ ป.ป.ช. กับกรณีที่ ป.ป.ช. มีการจ้างทนายความฟ้องร้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก จากกรณีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2551 ทั้งที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยการที่ ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลความผิดกรณีการสลายการชุมนุมในปี 2553 แล้วถือว่าสิ้นสุดในชั้นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ ต้องการให้คดีที่มีคนเจ็บ คนตาย เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล จากนี้หาก ป.ป.ช. ยังนิ่งเฉย ไม่ส่งสำนวนดังกล่าวให้ จะใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารติดตามความคืบหน้าต่อไป

ภาพจาก: Banrasdr Photo

"วันนี้ผมได้นำหนังสือที่ได้มีคณะจัดทำหลังจากเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ มีทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน และนักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายท่าน มันเป็นหนังสือเก่าครับ เพียงแต่ผมเข้าใจว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลายท่านวันนี้เป็นคณะกรรมการชุดใหม่ซึ่งอาจจะได้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ไปเป็นเวลา 7-8 ปี เป็นอย่างน้อย ดังนั้นจึงขอนำหนังสือเรื่อง คนตายที่มีใบหน้า คนถูกฆ่าที่มีชีวิต มามอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ศึกษาดู และยังมีหนังสือความจริงเพื่อความยุติธรรมเอามาให้ดูด้วย" ณัฐวุฒิ กล่าว

"ผมมาด้วยความหวังว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 ท่าน เมื่อท่านได้มีโอกาสปฏิบัติงานโดยไม่ต้องกังวลกับการเซ็ตซีโร่แล้ว ก็อยากจะให้ท่านได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว และจริงจัง เราหวังว่าที่นั่งทำงานอยู่ 9 ท่านวันนี้จะเป็น ป.ป.ช. ตัวจริงไม่ใช่สแตนดี้ เพราะว่าถ้าเป็นสแตนดี้ท่าคงนั่งหรือยืนอยู่เฉยๆ ดูความอยุติธรรมหรือเพิกเฉยต่อคำถามของประชาชนได้ แต่ถ้าเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตัวจริงผมหวังว่าจะเห็นความคืบหน้า เพราะครั้งนี้มาทวงถามครั้งที่เท่าไหร่ผมจำไม่ได้จริงๆ ไม่ได้พูดประชด เพราะเราทำทั้งมาที่นี่ ไปที่อัยการ ติดตามทวงถามต่างๆ ตั้งข้อสังเกตุ ตั้งคำถามผ่านสื่อมวลชน เป็นครั้งที่มากมายเหลือเกินแต่ทุกครั้งได้รับคำตอบเดียวคือความเงียบ ไม่มีการชี้แจง ไม่มีการตอบคำถามแต่อย่างใด" ณัฐวุฒิ

จากนั้น ณัฐวุฒิ พร้อมทนายความ และญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าพูดคุยกับ จักรกฤช ตันเลิศ ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง 1 เพื่อติดตามความคืบหน้า หลังจากนั้น ณัฐวุฒิ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อว่า เรื่องดังกล่าว ป.ป.ช. ชี้แจงว่าไม่ได้เพิกเฉย มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะมีการเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ป.ป.ช. ในสัปดาห์หน้า ส่วนจะมีการเปิดเผยสำนวนการไต่สวนหรือไม่เป็นดุลพิจนิจของ ประธาน ป.ป.ช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนาไม่ช่วยให้มีศีลธรรมในโลกสมัยใหม่

Posted: 12 Jan 2018 12:58 AM PST

 


มีบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร "Nature Human Behaviour" พูดถึงการสำรวจความคิดเห็นของประชากร 3,256 คน จากประเทศต่างๆ 13 ประเทศ ซึ่งมีทั้งประเทศที่เป็นรัฐโลกวิสัยและประเทศที่ศาสนายังมีอิทธิพลสูง ผลสำรวจระบุว่า คนส่วนมากมองว่า คนที่เป็นเอธีสต์ (Atheist) มีแนวโน้มจะเป็นบุคคลอันตรายและขาดศีลธรรมมากกว่าคนที่นับถือศาสนา

งานวิจัยไม่ได้บอก "ข้อเท็จจริง" ว่าเอธีสต์เป็นคนไม่มีศีลธรรม หรือมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น แต่บอกถึง "ทัศนคติ" ของคนจำนวนมากที่มองเอธีสต์เช่นนั้น

ผู้เขียนบทความดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า "แม้แนวคิดโลกวิสัย (secularism) จะทำให้ความเคร่งศาสนาในที่ต่างๆ ลดลงมาก แต่ศาสนาก็ยังคงทิ้งมาตรฐาน(ตัดสินถูก, ผิด) ไว้บนความรู้สึกทางศีลธรรมของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง" จึงทำให้คนในวงกว้างมองเอธีสต์ซึ่งเป็นคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า หรือไม่นับถือศาสนา (ที่จริง "เอธีสต์" คือ คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า แต่คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าก็อาจจะเป็นคนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย หรือเป็นผู้นับถือศาสนาอเทวนิยมก็ได้) ว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นคนไม่มีศีลธรรม หรือทำผิดศีลธรรมมากกว่าคนที่นับถือศาสนา

มุมมองดังกล่าวสะท้อน "อคติแอนตี้เอธีสต์" ที่ยังคงมีอยู่ทั้งในกลุ่มคนที่นับถือศาสนา และแม้แต่ที่เป็นเอธีสต์ด้วยกันเอง ทั้งในประเทศประเทศที่ให้ความสำคัญกับศาสนาและประเทศที่เป็นรัฐโลกวิสัย

แต่อันที่จริง ศาสนาก็ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะมีพลังยับยั้งไม่ให้คนเราทำผิดศีลธรรม เพราะว่าการไม่ทำผิดศีลธรรมไม่จำเป็นต้องมาจากความกลัวการลงโทษของพระเจ้า หรือมาจากความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ กฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วและอื่นๆ ตามคำสอนของศาสนาต่างๆ เท่านั้น

การไม่ทำผิดศีลธรรม อาจเกิดจากจิตสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ หรือจิตสำนึกเคารพหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้นก็ได้

ในทางตรงข้าม ความเชื่อเรื่องความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ ระบบชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกดขี่เพศหญิง การกีดกันเพศที่สามที่สี่ การสร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่นับถือศาสนาต่างกัน ความรุนแรง การฆาตกรรม ก่อการร้าย สงคราม ก็มีสาเหตุมาจากความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ได้เช่นกัน

บางคนอาจโต้แย้งว่า การอ้างสิทธิมนุษยชนก็ทำให้ประเทศมหาอำนาจรุกราน หรือแทรกแซงการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งการทำเช่นนั้นย่อมเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนเสียเอง

แม้ข้อโต้แย้งดังกล่าวจะจริง แต่เมื่อว่าโดย "เนื้อหา" ของหลักสิทธิมนุษยชนเองแล้ว มันไม่อนุญาตให้ทำตามความเชื่อเรื่องความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ ระบบชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกดขี่เพศหญิง การกีดกันเพศที่สามที่สี่ การสร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่นับถือศาสนาต่างกัน (เป็นต้น) ได้ แต่ตัวเนื้อหาคำสอนศาสนาต่างๆ ดูเหมือนจะอนุญาตให้ทำสิ่งเหล่านั้นได้ ดังประวัติศาสตร์ของการกระทำสิ่งเหล่านั้นในนามศาสนาเป็นสิ่งยืนยัน และปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาบวกชาติพันธุ์ในยุคปัจจุบันก็ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้ชัดเจน

จริงอยู่ที่ว่า ศาสนาล้วนเสนอ "วิถีที่ควรจะเป็น" (The way it should be) สำหรับชีวิตของปัจเจกบุคคลและสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องของ "ศีลธรรม" แต่ทุกศาสนาต่างถือว่าศีลธรรมของตนเป็น "คุณค่าอมตะ" (Enduring values) หรือเป็น "อกาลิโก" ซึ่งบางเรื่องก็มีเหตุผลที่จะเชื่อเช่นนั้น

เช่น เรื่องความสงบทางใจ ความหลุดพ้น การสัมผัสนิพพาน, พระเจ้า ของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นเรื่อง "ความเชื่อส่วนบุคคล" ที่ไม่เกี่ยวกับ "ศีลธรรมทางสังคม" เพราะรัฐไม่สามารถจะนำความเชื่อเช่นนั้นมาเป็นฐานในการกำหนดกติกาทางสังคมใช้บังคับ หรือส่งเสริมให้พลเมืองปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาเพื่อเข้าถึงนิพพานหรือพระเจ้าได้

ส่วนคำสอนศาสนาที่เคยใช้เป็นศีลธรรมทางสังคมในอดีต เช่นเป็นอุดมคติในการปกครอง การบัญญัติกฎหมายต่างๆ ก็อาจจะเหมาะกับสภาพสังคมในอดีต แต่ย่อมไม่เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายเสียแล้ว ยกเว้นบางประเทศที่ยังเป็น "รัฐศาสนา" ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า เป็นรัฐที่ปฏิเสธสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ รสนิยม และเรื่องอื่นๆ ของมนุษย์

หรือพูดตรงๆ ก็คือ รัฐศาสนาเป็นรัฐที่ปฏิเสธความเป็นมนุษย์ในความหมายสมัยใหม่ อันได้แก่ ความเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) ผู้มีสิทธิและอำนาจเป็นของตนเอง ซึ่งหมายถึง สิทธิในอิสรภาพที่จะกำหนดคุณค่า, เป้าหมายชีวิต, ศีลธรรมและเรื่องอื่นๆ ให้กับตนเอง รวมทั้งการมีสิทธิและอำนาจทางสาธารณะต่างๆ ด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ศีลธรรมศาสนาจึงไม่อาจใช้เป็นศีลธรรมทางสังคมในโลกสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าว (เป็นต้น) ได้ เนื่องจากคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ยึดโยงอยู่กับกรอบคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือพูดรวมๆ คือ "สิทธิมนุษยชน" ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับพระเจ้าหรือนิพพาน (แต่ก็ไม่ได้กีดกันใครที่จะเชื่อเรื่องพระเจ้าหรือนิพพาน ตรงกันข้าม หลักสิทธิมนุษยชนรับรอง "เสรีภาพ" ที่ใครจะเชื่อเช่นนั้น) และที่สำคัญกรอบคิดและเนื้อหาของศีลธรรมศาสนาก็ไม่ครอบคลุมและเพียงพอที่จะใช้เป็นกติกาทางสังคมในยุคปัจจุบันได้เท่าหลักสิทธิมนุษยชน

โดยเฉพาะเมื่อศาสนาต่างๆ ล้วนมีความเชื่อแบบอุรักษ์นิยมเข้มข้นว่า ศีลธรรมตามคำสอนศาสนาของตนเป็น "คุณค่าอมตะ" ที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ยิ่งไม่สอดคล้องกับความจริงของสังคมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่สิทธิมนุษยชนหรือศีลธรรมสมัยใหม่เป็นเรื่องของการถกเถียงต่อรองระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง (ไม่ขึ้นต่ออำนาจของพระเจ้า,ศาสดาผู้มีญาณวิเศษ หรือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ใดๆ)  จึงอาจเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงให้ดีขึ้นสอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไปได้เสมอ

แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะตีความหลักการทางศาสนาสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่ เช่นสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ขันติธรรม สันติภาพ ก็ย่อมเป็นไปได้ และมีความพยายามเช่นนั้นอยู่จริง แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้จริงในสังคมที่ให้คุณค่าสูงต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากกว่า ส่วนในสังคมศาสนาโดยทั่วไป อิทธิทางความเชื่อและวัฒนธรรมศาสนามักจะขัดแย้ง หรือเป็นอุปสรรคต่อความเจริญงอกงามของคุณค่าสมัยใหม่

ไม่ต้องพูดถึงสังคมพุทธเถรวาทอย่างศรีลังกา ที่ชาวพุทธสิงหลกับชาวฮินดูทมิฬทำสงครามยืดเยื้อถึง 26 ปี มีคนตายกว่า 100,000 คน สังคมพุทธพม่าที่ขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญาอพยพออกนอกประเทศหลายแสนคน หรือในไทยที่ความขัดแย้งในชายแดนใต้ กลายเป็นชนวนให้เกิด "โรคกลัวอิสลาม" ในชาวพุทธหลายกลุ่ม ที่สำคัญกว่า (และเป็นปัญหาที่พูดกันน้อย) คือ การบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในโรงเรียน การมีองค์กรศาสนาของรัฐที่นักบวชและผู้นำศาสนามีตำแหน่งและอำนาจทางกฎหมาย ก็ย่อมขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาอยู่แล้ว และขัดกับหลักการที่รัฐต้องเป็นกลางและรักษาความเสมอภาคในการนับถือและไม่นับถือศาสนาอยู่แล้ว

ยิ่งกว่านั้น การแสดงความเห็นทางสาธารณะและบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงและชาวพุทธบางกลุ่ม ก็มักสวนทางกับ "ความชอบธรรม" ตามระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเสมอมา

ฉะนั้น ปัญหาระดับรากฐานจริงๆ จึงไม่ใช่เพียงว่า ความเชื่อตามหลักศาสนาไม่ได้สนับสนุนการมีศีลธรรมในสังคมสมัยใหม่เท่านั้น ที่ยากยิ่งกว่านั้นมาก คือ จะทำอย่างไรถึงจะแก้ไขให้ระบบการศึกษาของรัฐที่มุ่งปลูกฝังศีลธรรมศาสนา, สถานะและอำนาจของสถาบันศาสนา, บทบาทของนักบวช, ปัญญาชนพุทธ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามพุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) เป็นไปในแนวทางทีไม่ขัดแย้ง หรือสวนทางกับคุณค่าสมัยใหม่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น