โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เลื่อนอีก อัยการยังไม่มีคำสั่งคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' - ทหารยังเข้าสอบถามทุกเดือน

Posted: 25 Jan 2018 12:04 PM PST

อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ที่ถูกทหารกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 หลังติดป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ในงานไทยศึกษา กลางปีที่แล้ว นัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 26 ก.พ. 61 ระบุทหารยังเข้าสอบถามทุกเดือน

25 ม.ค. 2561 ความคืบหน้าคดีของ 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายข้อความว่า "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560

ล่าสุดวันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลตามนัดหมาย หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 26 ก.พ. 61 เวลา 13.30 น. โดยระบุว่าหลังจากนี้ทางอัยการแขวงจะสรุปสำนวนทำความเห็นเสนอให้อัยการภาค 5 พิจารณาก่อนจะมีคำสั่งว่าจะมีคำสั่งฟ้องต่อผู้ต้องหาทั้ง 5 คน หรือไม่ต่อไป

ศูนย์ทนายความฯ รายงานบรรยากาศในการเข้ารายงานตัวของผู้ต้องหาทั้ง 5 คนวันนี้ด้วยว่า ยังคงมีผู้มาให้กำลังใจ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามสังเกตการณ์ร่วมอยู่ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการแขวงได้ระบุว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการเข้ามาสอบถามความคืบหน้าของคดีเป็นประจำทุกเดือน โดยครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการเลื่อนฟังคำสั่งอัยการเป็นครั้งที่ 6 ตั้งแต่พนักงานสอบสวนมีการส่งสำนวนให้อัยการ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 60

ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้แก่ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักข่าวประชาธรรม
 
ศูนย์ทนายความฯ รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ทางฝ่ายผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพิ่มเติมจำนวน 6 ปาก เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ ซึ่งต่อมาได้นำพยานทั้งหมดเข้าให้การจนครบถ้วนแล้ว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ชาญวิทย์' ยันสู้คดีวิจารณ์กระเป๋าภรรยาประยุทธ์ เข้ารับฟังข้อกล่าวหา 31 ม.ค. นี้

Posted: 25 Jan 2018 09:58 AM PST

25 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.31 น. ของวันนี้ เฟสบุ๊คชื่อ 'Charnvit Kasetsiri' ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความยืนยันที่จะสู้คดี โดยจะเข้ารับฟังข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ศูนย์ราชการ ในวันพุธที่ 31 ม.ค. 2561 เวลา 13.00 น. พร้อมระบุว่าตนเชื่อมั่นด้วยใจจริงว่าสิ่งที่ได้กระทำไปนั้น ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม และยืนยันที่จะพิสูจน์ความถูกต้อง ในสิทธิ เสรีภาพ และความชอบธรรมในการแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ ชาญวิทย์ ถูกกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความที่มีลักษณะเข้าข่ายการบิดเบือนข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Charnvit Kasetsiri ซึ่งเป็นการแชร์โพสต์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ กระเป๋าถือของนราพร จันทร์โอชา ภริยาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี
 

'หมวดเจี๊ยบ' รับทราบข้อหา อีก 3 คดี หลังวิจารณ์ประยุทธ์

ขณะที่เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์รายงานว่า  จากกรณี พ.อ.บุรินทร์ ทอง ประไพ นายทหารปฏิบัติการ ประจำกอง บัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าย กฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ) เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.สมบัติ สมบัติโยธา รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง หรือหมวดเจี๊ยบ อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ความผิดเข้าข่าย 1.นำเข้าข้อมูลเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) และ2.ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หลังวิจารณ์นายกฯ และรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด ที่ บก.ปอท.ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง คณะทำงานสำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เดินมารับทราบข้อกล่าวหากับ ร.ต.อ.สมบัติ สมบัติโยธา รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. 

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า วันนี้ตนได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาอีก 3 คดี ในเรื่องของภัยต่อความมั่นคงในมาตรา 116 และความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่ทราบว่าจะโดนแจ้งข้อหากี่กระทง เนื่องจากในครั้งแรกทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 6 กระทง และครั้งที่สองมาแจ้งอีก 3 กระทง ซึ่งการแจ้งความนั้นได้นำเอกสารคือข้อความการโพสต์เก่าๆ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นใหม่ในการวิพากษ์วิจารณ์มาแจ้งความตนก็ไม่เข้าใจว่าทางรัฐบาลต้องการอะไร 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผ่านกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.-แถมเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งได้อีก 90 วัน

Posted: 25 Jan 2018 09:50 AM PST

สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่าน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยยืดโรดแมปได้อีก 90 วัน หลังแก้ไขมาตรา 2 ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ 90 วันนับตั้งแต่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา พร้อมปลดล็อกให้หาเสียงจัดมหรสพได้ ขยายเวลาเปิดหีบเป็น 10 ชม. เริ่ม 07.00 น. ปิดหีบ 17.00 น.

แฟ้มภาพที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

ตามที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีการประชุมเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 ม.ค. โดยมีวาระสำคัญเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และ 3 โดย วิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีทั้งหมด 178 มาตรา มีการแก้ไข 30 มาตรา ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นการพัฒนากระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ให้มีคุณภาพ เที่ยงธรรม และแก้ไขจุดอ่อนของการได้มาซึ่งผู้บริหารประเทศทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร

จากนั้นเป็นการเข้าสู่การพิจารณารายมาตรา โดยเฉพาะในมาตรา 2 ที่มีการปรับแก้ให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นจาก 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่สมาชิกฯ มีการอภิปรายเป็นจำนวนมาก โดยเบื้องต้นมี 3 แนวทาง คือ ให้ยืนตามร่างเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เสนอให้มีผลบังคับใช้ทันที หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา แนวทางที่สอง คือ ให้มีผลบังคับใช้หลัง 90 วัน ตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอ และแนวทางสุดท้าย คือ ให้มีผลบังคับใช้หลัง 120 วัน ตามที่มีคณะกรรมาธิการฯ สงวนญัตติไว้

โดยในมาตรา 2 ที่ประชุม สนช. ลงมติ 196 เสียง ต่อ 12 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง เห็นชอบปรับแก้เนื้อหามาตรา 2 ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน โดยแก้ไขข้อความในร่างฯ เดิมที่ระบุว่า "ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป"

นอกจากนี้ในมาตรา 75 มีการเสนอให้ยกเลิกการห้ามโฆษณาด้วยการหาเสียงด้วยการจัดงานมหรสพและงานรื่นเริง ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 136 เสียง ไม่เห็นด้วย 78 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ทำให้การหาเสียงเลือกตั้งสามารถจัดงานมหรสพและงานรื่นเริงได้

ที่ประชุม สนช. ยังเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 87 ด้วยคะแนน 156 เสียง ไม่เห็นด้วย 59 เสียง ให้ขยายเวลาลงคะแนนเสียงออกไปจากเดิม 08.00 - 15.00 น. เป็น 07.00 - 17.00 น.

จากนั้นที่ประชุม สนช. มีมติในวาระสาม ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 213 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง ก่อนที่จะมีการปิดการประชุมในเวลา 23.09 น.

ขณะที่วันพรุ่งนี้ที่ประชุม สนช. จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย ของ พ.ร.ป. 1 ใน 4 ฉบับที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามที่กำหนดเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจงแค่ 'องค์กรเอกชน' ถอนตัวจากองค์กรโปร่งใสนานาชาติ ยันไทยยังถูกจัดอันดับทุจริตโลกอยู่

Posted: 25 Jan 2018 09:26 AM PST

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน แจงไทยไม่เคยถอนตัวจากการจัดอันดับทุจริตโลก เผยจัดอันดับปี 60 จะมีขึ้น 21 ก.พ. นี้ ระบุเพียงแค่ "มูลนิธิเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย" ที่เคยเป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก เนื่องจากมีข้อจำกัดบางประการเมื่อราวสองปีที่แล้ว

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้เปิดเผย ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกปี 2016 จัดอันดับ 176 ประเทศทั่วโลก เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

25 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 9.40 น. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ว่า ไทยไม่เคยถอนตัวจากการจัดอันดับทุจริตโลก (CPI)  การประเมินและจัดอันดับคอร์รัปชันของประเทศทั่วโลก เป็นการสำรวจข้อมูลอย่างอิสระโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกประเมินและจัดอันดับทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา และเชื่อว่าจะยังคงมีต่อไป โดยการประกาศผลการประเมินและจัดอันดับประจำปี 60 จะมีขึ้นในวันที่ 21 ก.พ. นี้

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ระบุว่า เดิมที "มูลนิธิเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย" เป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติด้วย แต่เมื่อราวสองปีที่แล้วได้ "ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก" เนื่องจากมีข้อจำกัดบางประการ โดยจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการประเมินและจัดอันดับคอร์รัปชัน 

มานะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า "มูลนิธิเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย" ก่อตั้งปี 2543 โดยมีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และ รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เป็นเลขาธิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในสังคมไทย โดยมุ่งผนึกกำลังของปัจเจกบุคคลและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สื่อมวลชน ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ เพื่อให้การต่อต้านคอร์รัปชันประสบผลสำเร็จ มีผลงานสำคัญ เช่น โครงการโตไปไม่โกง

"ประเด็นที่ว่า ไทยถอนตัวจากการจัดอันดับการทุจริตโลก จึงเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ระบุท้ายโพสต์ดังกล่าว

'จุรี' ยันไม่ใช่การประท้วงที่ไทยได้ค่า CPI ต่ำลง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ช่อง 7 สี รายงานว่า จุรี เปิดเผยว่าองค์กรได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติแล้ว เนื่องจากมีหลายประเด็นที่เห็นว่าการชี้วัดขององค์กรดังกล่าวยังมีอคติและไม่สอดคล้องกับความจริงในประเทศไทย

จุรี ยืนยันว่าการถอนตัวดังกล่าว ไม่ใช่การประท้วงที่ประเทศไทยได้ค่า CPI ต่ำลง หรือได้รับการกดดันจากรัฐบาลให้ดำเนินการดังกล่าว โดยการทำงานของมูลนิธิยังคงเดินหน้าการสร้างจิตสำนึกต้านการคอร์รัปชั่นเช่นที่ปฏิบัติมา เพียงยุติบทบาทการเผยแพร่ค่าดัชนีความโปร่งใสขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ

Voice TV รายงานด้วยว่า ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมด้วย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประยงค์ ปรียาจิตต์ ร่วมกันแถลงถึงกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยถอดตัวออกจากการเป็นสมาชิก TI จะกระทบต่อความเชื่อมั่นภาพรวมการต่อต้านทุจริตในประเทศหรือไม่ว่า ในปีนี้ยังไม่มีผลการประกาศจาก TI ซึ่งจะประกาศภายในเดือน ก.พ.นี้ และในส่วนของกระแสข่าวที่ว่าไทยลาออกนั้นไม่เป็นความจริง เป็นเพียงองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่ประสานงานของไทยได้ออกจากการเป็นสมาชิกของเครือข่ายหลัก ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และเชื่อว่าจะไม่กระทบภาพลักษณ์ไทย

เมื่อถามว่าสาเหตุที่ TI ไทยลาออกเพราะว่าผลจากการประเมินชี้วัดไม่ตรงกับความเป็นจริงนั้น ปานเทพกล่าวว่า การประเมินนั้นจะชี้วัดประเทศไทยในหลายมิติ แต่ในเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันจึงถอนตัวออกไป แต่ผลยังมีเหมือนเดิมโดยจะประกาศในเดือน ก.พ. เมื่อถามว่าตัวแทนของไทยลาออกแล้วใครจะเป็นคนประสานนั้น พล.อ.อ.วีรวิทกล่าวว่า อาจจะใช้ทีไอของมาเลเซียประสานข้อมูลแทน จะต้องรอความชัดเจนก่อน

    
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาไทร่วมคว้ารางวัลดีเด่นสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนจากแอมเนสตี้

Posted: 25 Jan 2018 08:48 AM PST

แอมเนสตี้ประกาศรางวัล 14 ชิ้นงาน สื่อฯเพื่อสิทธิมนุษยชน ประชาไทได้รางวัลดีเด่นสื่อออนไลน์ จากผลงาน Sex in Jails: เรื่องเซ็กซ์ในที่ลึก แต่ไม่ลับในเรือนจำชาย ประธานกรรมการแอมเนสตี้ประเทศไทย ระบุสื่อต้องได้การคุ้มครองไม่ให้ถูกข่มขู่ คุกคาม

ที่มาภาพจาก: Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 ที่ ห้องกมลทิพย์ 3 ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดพิธิมอบรางวัล  "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560" โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตราภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระหว่างประเทศ เป็นประธานในการมอบรางวัล

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่ง่ว่าสื่อมวลชนเปรียบเสมือน "ครู" ผู้ทำหน้าที่ในการร่วมกันบ่มเพาะคนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน และในส่วนของแอมเนสตี้ประเทศไทยขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม

สำหรับปีนี้มีผลงานเข้ารอบทั้งหมด 14 ชิ้น แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งชิ้นงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมดมีดังนี้

ประเภทข่าวและสารคดีข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์

รางวัลดีเด่น : "Too little, too late for Lahu traumatized by youth's killing" จาก หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

รางวัลชมเชย : "สิทธิคืนสัญชาติ คนไทยพลัดถิ่น จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์

รางวัลดีเด่น : "อันวาร์ ปาตานี แม่น้ำจระเข้" จาก เว็บไซต์ the101.world

รางวัลดีเด่น : "Sex in Jails: เรื่องเซ็กซ์ในที่ลึก แต่ไม่ลับในเรือนจำชาย" จาก เว็บไซต์ประชาไท

รางวัลชมเชย : "ขอทาน AEC เขมรถึงพัทยา ไล่ล่านายหน้าค้ามนุษย์ ทารก 1 เดือนยังถูใช้หาเงิน" จาก เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

รางวัลชมเชย : "หนึ่งทริปกับดวงดาว" จาก เว็บไซต์ Detectteam 

ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 20 นาที)

รางวัลดีเด่น : "พลทหารถูกซ้อมเสียชีวิตในค่ายทหาร" จาก สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี

รางวลชมเชย : "ลวนลาม เท่ากับคุกคามทางเพศ สิทธิสตรีที่เงียบงัน" จาก สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์

รางวัลชมเชย : "โรฮิงญาคนไร้แผ่นดิน" จาก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รางวัลชมเชย : "วิสามัญฆาตกรรมเยาวชนลาหู่" จาก สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ 

รางวัลชมเชย : "วิสามัญฆาตกรรมเยาวชนลาหู่"จาก สถานีโทรทัศน์ Spring News

รางวัลชมเชย : "รื้อชุมชนริมน้ำ ล้างวิถีชีวิต" จาก สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี 

สารคดีและภาพยนตร์สารคดีสั้นประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที) 

รางวัลดีเด่น : "บ้านเรา กรรมสิทธิ์ใคร" รายการชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

รางวัลชมเชย : "ผ้าขาวเปื้อนเลือด" จาก รายการ Frontline สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 

รางวัลชมเชย : "เจ้า(ของ)ป่า" จาก รายการสารตั้งต้น สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: การศึกษาเพื่อเสรีภาพ (2)

Posted: 25 Jan 2018 08:11 AM PST

 

ระบบการศึกษาอเมริกันเชื่อมานานแล้วว่า นักเรียนหรือผู้เรียนส่วนหนึ่งถูกครอบโดยผู้สอนหรืออาจารย์ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ความเชื่อแนวนี้ คงจะนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดพิสดารอย่างยิ่งในระบบการศึกษาไทยที่ดำรงอยู่ภายใต้ความย้อนแย้ง ไร้ระบบ มายาวนาน

เช่น เราต้องการให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด ทั้งในเรื่องใกล้ตัว (ท้องถิ่น) เรื่องไกลตัว ให้นักเรียน  กล้าคิด กล้าแสดงออก แต่ชีวิตของเราดำรงอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการยาวนานกว่าบอบประชาธิปไตย  เราพูดถึงนวัตกรรมแนวส่งเสริม แต่เราปฏิเสธ หรือรับไม่ได้กับการแสดงความเห็นหรือการทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น

นักเรียนที่กล้าแสดงออกจากความคิดที่แตกต่างจากครูหรือเพื่อนร่วมชั้น มักเป็นเด็กมีปัญหาในโรงเรียน ในสังคม หรือแม้แต่กับรัฐบาล ถูกกีดกันถึงขนาดไม่ยอมให้ร่วมกิจกรรมในโรงเรียน ทั้งนี้เพราะสังคมไทยเรากลัวความแตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างจากผู้มีอำนาจในโรงเรียนซึ่งก็คือ ครู

เทียบกันไม่ได้เลยกับสังคมอเมริกันที่ดูเหมือนทั้งเด็กและผู้ใหญ่แข่งกันที่จะเป็นผู้ที่มีความคิดหรือใช้ชีวิตแตกต่างในโรงเรียนและในสังคม ผู้ที่มีความแตกต่างดังกล่าวรู้สึกว่า เขาเป็นใครคนหนึ่ง ทำนองว่า เป็นผู้มีทื่ยืนในสังคม หากแต่ในสังคมไทย กลับไม่ใช่

ยิ่งในสถาบันการศึกษาด้วยแล้ว นับเป็นความลำบากอย่างยิ่งยวดของผู้เรียนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะแทนที่เด็กเหล่านี้จะได้รับการส่งเสริม กลับถูกทารุณกรรมซ้ำ ด้วยการเหยียบย่ำจากครูอาจารย์ และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ว่าไปแล้วระบบการศึกษาของไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา แทบไม่ต่างไปจากช่วงเวลาของระบอบการปกครองส่วนใหญ่ของไทย คือ เผด็จการ และมันก็คือ เผด็จการในห้องเรียน

แน่นอนว่า การประเมินผลการศึกษาของผู้เรียนต้องอาศัยตัวชี้วัดหรือคุณสมบัติของผู้เรียน ตัวชี้วัดดังกล่าว ไม่ได้เป็นแบบเปิด คือจะออกมาอย่างไรก็ได้ หากแต่เป็นตัวชี้วัดแบบปิด คือขึ้นกับอำเภอใจของครูหรือตัวแทนของ สมศ. แต่ตัวชี้วัดที่มุ่งปรนัยกันมาหลายทศวรรษ ได้ทำให้คุณสมบัติของนักเรียนไทยด้อยและถูกพัฒนาได้ช้ากว่านักเรียนของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ดังที่เมื่อมีการแสดงผลออกมาแทบทุกครั้ง ผลการศึกษาของนักเรียนตกอยู่ในอันดับรั้งท้ายแทบทุกครั้ง 

นี่ยังไม่รวมถึงการทุจริต ในการสอบ ที่ทำกันอย่างเป็นประเพณี หรือเป็นวัฒนธรรมไปแล้วในทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาล ยันอุดมศึกษา  โดยมีครูผู้สอนร่วมมือทุจริตด้วย โดยนับนี้ ผลการเรียนหรือคะแนนจึงแทบไม่มีผลอะไรนักต่อการประเมินคุณภาพของการศึกษาไทย

การทุจริตดังกล่าวได้ลามไปถึงสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยบางสถาบันด้วยซ้ำ ไม่เชื่อลองถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบดูก็ได้

ในยุค 4.0 ดูเหมือนการเรียนการสอนที่ให้ครูอาจารย์ เป็นใหญ่เหนือผู้เรียนไปเสียหมด จะใช้ไม่ได้เสมอไป ขณะที่เทคโนโลยีการสื่อสารและการค้นคว้าพัฒนามากขึ้น โดยที่สุดแล้ว หากผลผลิตของผู้สอนออกมาเหมือนผู้สอน ไม่ต่างอะไรจากที่สิ่งที่ผู้สอนให้ ก็อย่าได้ไปคาดหวังถึงนวัตกรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสายสังคมหรือวิทยาศาสตร์

ในแง่ปรัชญาการศึกษานั้น ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกมีผู้กล่าวถึงความสำคัญของผู้เรียนไว้ก่อนหน้านี้ หลายปีมาแล้ว   อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ไง ท่านกล่าวไว้นานแล้วว่า "การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียนและจบลงด้วยความสำคัญของนักเรียน"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจารย์หรือครูผู้สอนก็มีความสำคัญ หากแต่การที่จะให้สังคม ได้เดินไปแบบก้าวหน้าในแบบที่เราสามารถอยู่ร่วมโลกกับสังคมประเทศอื่นได้อย่างทัดเทียมนั้น มิใช่ศูนย์กลางยังอยู่ที่ครู แต่ศูนย์กลางต้องอยู่ที่เด็กนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า "ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้" แต่มันอาจไม่เป็นไปแบบที่เราคาดหวัง แต่มันก็ไม่จำเป็นต้องผิดหวัง ความจริงที่เราผิดหวัง เพราะผลผลิตที่เกิดขึ้นไม่ได้ดังใจเรา เราตัดสินใจแทนเด็กหรือผู้เรียนตลอดเวลา เราไม่เคยไว้ใจพวกเขา ได้แต่คาดหวังว่านักเรียนต้องคิดแบบเดียวกับเรา ขณะที่เราเองไม่เคยเชื่อต่อความหลากหลายหลายในสังคมเลย เราอยู่กับเผด็จการมาจนชินและติดเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัว

ยิ่งผู้ที่เป็นครูอาจารย์ด้วยแล้ว อาการอาจหนักกว่าผู้เรียนเอาด้วยซ้ำ นอกจากอคติแล้ว การพยายามยัดเยียดความเชื่อส่วนบุคคลใส่หัวเด็ก มองว่าเด็กที่ไม่เชื่อเหมือนที่ครูเชื่อคือเด็กที่มีปฏิกิริยา ถ้าครูมีอาการที่ว่านี้ การศึกษาก็นับว่าประสบกับความล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มการเรียนการสอน

โลก 4.0 นั้น ถือเอาความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ซิลิคอนวัลเลย์เกิดและเจริญเติบโตขึ้นได้ เพราะความหลากหลายนี่เอง เรื่องความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา เป็นเรื่องพื้นๆ นับประสาอะไรกับการยอมรับความคิดที่แตกต่างกันของผู้คนหลากหลาย

ผมจำไม่ได้แล้วว่า สถาบันการศึกษาไหนในประเทศตะวันตกเคยทำการทดลองวิจัยเกี่ยวกับทักษะการแก้ไขปัญหา (โจทย์) ของคนชาติต่างๆ และพบว่า คนอเมริกันแก้ปัญหาจากการมีทักษะการพูดที่ดีเยี่ยม คือพูดไปพลาง เห็นทางแก้ปัญหาจากการพูดหรือการสนทนา ขณะชาติตะวันออก อย่างญี่ปุ่น กลับใช้การแก้ไขปัญหาโดยการไม่พูด นัยว่าเป็นการคิดที่ลึกซึ้งขบปัญหาเยี่ยงวิถีบูรพา

โลกวัตถุ 4.0 แม้เราจะพิสูจน์ได้ถึงพลังจิตตานุภาพ แต่อย่างไรเสีย หลักฐานเชิงประจักษ์ ก็ถูกนำมาอ้างเป็นลำดับแรกเสมอ  การพูดหรือการแสดงออกทางวาจาจึงถูกยอมรับได้ง่ายในโลกประชาธิปไตย เพราะมันเป็นการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายและชัดเจนมากที่สุดในบรรดาประเภทการสื่อสารทั้งหมดประดามี และเป็นที่มาของ Freedom of Speech หลักการที่โลกเผด็จการผิดหวัง

แต่ก่อนที่ Freedom of Speech จะเกิดขึ้นได้ หลายคนอาจลืมฐานที่มาสำคัญของหลักการนี้  ซึ่งก็คือ Freedom of Education สังคมปิด โรงเรียนปิด ห้องเรียนปิด ไม่อาจสร้างสังคมอุดมปัญญา ที่เสรีภาพในการพูด คือ แนวทางในการแก้ปัญหาสังคม ไล่ตั้งแต่ปัญหาครอบครัวยันปัญหาสังคมระดับชาติ สังคมอเมริกันได้พิสูจน์มาแล้ว ไม่มากก็น้อย

ยังไม่รวมนวัตกรรม อีกมากมายที่ทยอยเกิดตาม จากการมี Freedom of Speech ต่อเนื่องจากการมีเสรีภาพทางการศึกษา ชนิดที่ห้องเรียน โรงเรียน หรือแม้แต่อินเตอร์เน็ตในโรงเรียน ไม่สามารถมีให้ได้...

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ถามให้ถูก

Posted: 25 Jan 2018 07:50 AM PST


"ไม่มีรัฐบาลเราจะอยู่อย่างไร?"
"หัดช่วยเหลือตัวเองไว้อย่าง่อยเปลี้ย"
"งานของรัฐก็หนักหนาจนล้าเพลีย"
"อย่ามัวเสียเวลาตั้งตารอ"

งานอะไรมากมายถึงเพียงนั้น!
ไม่สำคัญเท่าปากท้องของคนหนอ
ทีภาษีขูดรีดไม่รู้พอ
จนอดยากมอซอจวนสิ้นแรง

"อย่าถามว่าถ้าไม่มีรัฐบาล"
"ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร" ใจมันแสลง
ต้องถามว่าถ้ารัฐไม่ช่วยดูดำดูแดง
"มีรัฐบาลตะบิดตะแบงไว้ทำอะไร?"

หน้าที่รัฐต้องท้องราษฎร์อิ่มเป็นหลัก
มิใช่นักซื้อเวลาโกงกินใหญ่
อ้างความดีถี่ห่างอ้างเรื่อยไป
แต่หัวใจ ชั่ว คับแคบ แอบกินคนเดียว!

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาหลังฉาย ‘The Human Scale’ สร้างเมืองแบบเข้าใจมนุษย์ พื้นที่สาธารณะที่เป็น 'ของเรา'

Posted: 25 Jan 2018 06:21 AM PST

ถอดบทเรียนจากหนัง 'The Human Scale' พื้นที่สาธารณะของไทยไม่ใช่ของเราแต่เป็นของรัฐ ประชาชนไม่รู้สึกมีส่วนร่วม ขาดเวทีกลางรับฟังความเห็น ขณะบางคำถามจากรัฐมีคำตอบรออยู่แล้ว ชี้ต้องสร้างเมืองแบบมีส่วนร่วม ไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษา หรือวิชาชีพ

"เรื่องทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลงพื้นที่ไปคุยกับคุณป้าที่อยู่ริมแม่น้ำ เขาบอกว่า พวกคุณศึกษากันดีนัก สุดท้ายก็สร้างทิ้งไว้แล้วก็ไป ฉันสิต้องอยู่กับมันทุกวัน คุณเป็นด็อกเตอร์คุณก็อึ้ง หรือเจอคุณยายบอกว่า เนี่ย รู้ไหม อยู่แบบลำบากแต่สบายดีกว่า คืออยู่แบบไม่ต้องสบายมากแต่สบายใจ ไม่ต้องมาทำแลนด์มาร์กอะไรวิลิศมาหรา หรือคุณยายบอกว่า จะมารื้อๆ จัดระเบียบอะไรกันริมน้ำ ช่วยบอกด้วยนะ ฉันจะได้ขุดรากเหง้าของฉันไปได้ทัน ต้องใช้การศึกษาสูงๆ เพื่อจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ไหม ไม่ มันเป็นเรื่องมนุษย์ คุณเข้าใจมนุษย์รึเปล่า"

คือคำบอกเล่าส่วนหนึ่งจากงานเสวนาหลังฉายหนัง 'The Human Scale' หนังที่เล่าเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ เพราะอะไรเมืองสมัยใหม่จึงกีดกันผู้คนธรรมดาๆ อย่างเราออกจากการพัฒนา และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้าง "เมือง" ซึ่งมองเห็นความต้องการและความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นปัจจัยแรก

งานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ม.ค. โดย "asa Cloud Exhibition Center" ร่วมกับ "Documentary Club" ที่ห้องออดิทอเรียมชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาโดย กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ร่วมผลักดันโครงการเส้นทางจักรยานเพื่อฟื้นฟูกรุงเทพมหานคร และยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "Friends of the river"  ดำเนินรายการโดย มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา มัณฑนากร สถาปนิก และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Hypothesis


(ซ้ายไปขวา) กัญจนีย์-ยศพล-มนัสพงษ์

ถอดบทเรียนจากหนัง 'The Human Scale'
พื้นที่สาธารณะไม่ใช่ของเราแต่เป็นของรัฐ

ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "Friends of the river" กล่าวว่า จากหนัง ถ้าเราถอดหมวกสถาปนิกออกไป แล้วเป็นพลเมืองที่เติบโตมาในประเทศใดๆ ก็แล้วแต่ จะเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญมันแย่ในแบบที่ต่างกันไป แต่ละเมืองก็ต้องต่อสู้กับเรื่องที่แตกต่างกันไป แต่อยากสะท้อนหลังจากดูหนังว่า แต่ละเมืองในหนังเหมือนมีโมเมนตัมหรืออะไรหลายอย่างที่เราไม่มี เราอาจจะไม่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีการออกแบบสำหรับผู้คน หรือเราไม่มีการชวนคิดชวนคุยแบบนิวซีแลนด์ เรายังไม่เห็นอิมแพคว่าถ้าเราแชร์ความคิดกันแล้วมันจะเกิดอะไร หรือถ้าเมืองมันเปลี่ยนแล้วมันเกิดอะไร มันมีหลายอย่างที่สะท้อนว่าเขามีและเราไม่มี

"มีประโยคในหนังที่เขาพูดว่า 'มันจะดีกว่าไหมถ้าเป็นสเปซที่ไม่ใช่ของคุณหรือฉัน แต่เป็นสเปซของเรา' เพราะมันคือของเรา แล้วเราก็จะได้ปฏิสัมพันธ์กัน แต่ถ้าเรามองย้อนในเมืองที่เราอยู่ มันมีสเปซของเราจริงๆ ไหม ตรงนี้ของรัฐ ตรงนั้นของการรถไฟ อันนี้ของท่าเรือ อันนี้ของ กทม. อันนั้นของทหาร อันนั้นเป็นของหน้าห้างสรรพสินค้า แล้วตกลงสเปซ 'ของเรา' มันอยู่ตรงไหน" ยศพลกล่าว

ยศพลกล่าวต่อเรื่องความเป็นสาธารณะ โดยยกตัวอย่างสวนสาธารณะของต่างประเทศ ที่พลเมืองเขาใช้และรู้สึกมีส่วนร่วม แต่สวนสาธารณะของไทย แม้จะเรียกว่าสวนสาธารณะและเราใช้ได้

"แต่จริงๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็น "ของเรา" เสียทีเดียว มันเป็นสวนสาธารณะในความดูแล กทม. ซึ่งจะมีกฎระเบียบมากมาย ห้ามทำนู่นทำนี่ ห้ามเล่นสเกตบอร์ด ห้ามเล่นบาสเกตบอล มีอันหนึ่งน่าสนใจมาก ห้ามเล่นไอซ์สเกต

"มันเหมือนเป็นการบอกว่า พื้นที่สาธารณะเป็นของรัฐ แต่เขามาสร้างให้คุณมีโอกาสได้ใช้ เพราะฉะนั้นคุณต้องทำตามกฎ ช่วยกันดูแลนะ เขาสั่งมา นี่คือวิธีการปกครอง หรือลักษณะวัฒนธรรมของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงไม่รู้สึกว่าเรามีส่วนในนั้น นำมาซึ่งลักษณะของพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ

ความรู้สึกว่าพื้นที่มันเป็นของรัฐมันมีมากกว่าเป็นพื้นที่ของเรา เช่น ตอนที่ กทม. มีแผนทำสะพานข้ามศิริราช-ท่าพระจันทร์ แล้วมีเสียงคัดค้าน เราก็ต้องบอกว่า ขอบคุณ กทม. ที่กรุณาไม่ทำสะพานข้ามศิริราช-ท่าพระจันทร์ คือประโยคนี้มีความผิดปกติบางอย่าง

"ปัญหาคือ ทำไมเราต้องขอบคุณ กทม. ที่ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีต่อเมือง ถ้าเราเข้าใจสถานะของรัฐและสถานะของพลเมืองที่มันเสมอภาคกัน รัฐก็มีหน้าที่ต้องคิดว่า ทำยังไงให้เมืองเป็นของผู้คน ทำยังไงให้เรารู้สึกเป็นเจ้าของแล้วไปร่วมใช้งาน แต่ตอนนี้กลายเป็นเราต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ แล้วเขาก็เป็นคนสั่งห้ามให้เราทำหรือไม่ทำอะไร จริงๆ ตามรัฐธรรมนูญ รัฐกับเราเท่ากัน รัฐมีหน้าที่ดูแลแทนเรา แต่เขาไม่ใช่เจ้าของที่นั่น ประชาชนเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการดูแล แต่ความคิดนี้ไม่ได้ถูกสร้างความเข้าใจร่วมกัน"

กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้ ประชาชนมีส่วนน้อยมากๆ ในการคิดหรือออกแบบพื้นที่สาธารณะ จนไม่อาจรู้สึกเป็นเจ้าของ


 

สร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นแค่พื้นที่สาธารณะหรือสร้างเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับคน

ยศพลยกตัวอย่างสนามกีฬาทางน้ำแห่งหนึ่งในพิษณุโลกซึ่งอยู่ติดกับบึงน้ำ แต่สนามกีฬาแห่งนี้ถูกใช้เพียงปีละครั้งหรืออาจไม่ได้ใช้เลย เขาอธิบายว่า เพราะคุณแค่เห็นที่ริมน้ำแล้วคุณก็คิดจะไปเปลี่ยนมัน สร้างสิ่งปลูกสร้างลงไป แต่มันไม่ได้ทำให้เป็นที่ของผู้คนจริงๆ เพราะเราไม่เห็นว่ามันสัมพันธ์ยังไงกับผู้คน

"คุณสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อให้มันเป็นแค่พื้นที่สาธารณะ หรือคุณกำลังสร้างเมืองเพื่อคน คำถามนี้เป็นคำถามใหญ่ ในหนังก็พยายามถามว่า ตกลงคุณต้องการเมืองแบบไหน คำถามนี้ต้องตอบโดยพวกเราทุกคน มันไม่ควรถูกตอบโดยนักออกแบบ ผู้ว่าฯ หรือผู้มีอำนาจ แต่เราควรจะถอดหมวกอันนั้นแล้วตอบในฐานะพลเมือง อย่างทางเดินเลียบแม่น้ำ เขาอยากได้จริงไหม แลกกับชุมชน ระบบนิเวศ อะไรต่างๆ" ยศพลกล่าว
 

พื้นที่สาธารณะ ความเข้าใจกันไปคนละทางของรัฐกับประชาชน

ยศพลอธิบายว่า คิดว่าอาจเป็นความซับซ้อนของบ้านเราตรงที่ หากรัฐมาดูหนังเรื่องนี้ เขาอาจจะคิดว่า เขาก็สร้างพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว เขาสร้างสนามกีฬาแล้ว มันก็คือที่สาธารณะ หรือเขาก็ทำทางเลียบแม่น้ำให้เป็นทางเดินของทุกคน เขาทำแล้วแต่พวกคุณนั้นแหละยังจะมาต่อต้านอีก

"เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ทัศนคติในการมอง ตกลงพื้นที่สาธารณะคืออะไร สำหรับรัฐมันอาจเป็นเรื่องของการสร้างความเท่าเทียม การที่เขาควบคุม จัดการได้ ดูแลรักษาง่าย แต่ของประชาชนอาจจะพูดถึงเรื่องความหลากหลาย ความยืดหยุ่น ก่อให้เกิดการผุดของบางสิ่งขึ้นมาได้ นี่คือชีวิต แต่พอมันอนุญาตให้เกิดอะไรขึ้นมาได้รัฐก็ยากที่จะควบคุม" ยศพลกล่าว


สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนคน

ยศพลยกตัวอย่างพื้นที่ริมน้ำอีกที่ที่จังหวัดกำแพงเพชร เขาเล่าว่ามีคนมานั่งดูพระอาทิตย์ตก คนมาวิ่ง มีแม่น้ำ มีหุบเขา ซึ่งเขามองว่าดี แต่ถามว่ามันดีกว่านี้ได้ไหม ลองคิดว่าถ้าเราเป็นเด็กกำแพงเพชรแล้วเติบโตขึ้นมากับสถานที่แบบนี้ ถ้าสถานที่แห่งนี้มันดีขึ้นได้อีก อาจจะมีต้นกก มีพื้นที่เรียนรู้ระหว่างริมน้ำ เราก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่ง เด็กที่อยู่ในสถานที่แวดล้อมที่ต่างกันก็อาจจะกลายเป็นคนที่ต่างกัน เราทุกคนไม่ว่าอยู่ในสถานะอะไรก็แล้วจะต้องก่อร่างมัน และคิดว่ามันดีได้มากกว่านี้

กัญจนีย์กล่าวว่า เนื่องจากเราเรียนสถาปัตย์มา เราเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนคน สิ่งแวดล้อมสร้างพฤติกรรมที่ดีหรือไม่ดีแก่คน เราในฐานะนักสร้างสิ่งแวดล้อม เรารู้สึกสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลตั้งแต่เรื่องสุขภาพไปจนถึงพฤติกรรม

กัญจนีย์กล่าวถึง เจน เจค็อบส์ ผู้เขียนหนังสือ The Death and Life of Great American Cities ซึ่งตั้งประเด็นตั้งแต่แรกที่เริ่มเขียนหนังสือว่าอยากจะวาดภาพว่าอะไรคือชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องมีภาพของ "อะไรคือชีวิตที่ดี" แล้วฉายภาพมันออกมาในเมืองที่เราอยู่ ช่วยกันสื่อสารมันออกมา ว่าเราอยากได้อะไรกับเมือง
 

ขาดเวทีกลางรับฟังความเห็น บางคำถามจากรัฐมีคำตอบอยู่แล้ว

ในเรื่องเวทีในการสื่อสาร ยศพลมองว่ายังไม่ค่อยมีเวทีในการสื่อสารของคนที่อาศัยในเมือง ว่าอยากได้เมืองแบบไหน รัฐอาจจะมองว่าเขาก็ถามไม่ใช่ไม่ถาม เขาก็พยายามไปถามตามบ้าน เก็บข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด แต่เชื่อว่ามันไม่ได้มีความเข้มข้น เพื่อจะให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก หรือนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เปิดเป็นคำถามปลายเปิด

เขาชี้ว่า การพัฒนาเมืองต้องอาศัยข้อมูล ข้อมูลก็มีหลายระดับ ข้อมูลจากพื้นที่ นักวิชาการ งานวิจัย แล้วก็ถูกนำมาประมวลและถูกแชร์ เพื่อให้การขับเคลื่อนหรือการตัดสินใจมันอธิบายได้ แต่ถ้าตอบไม่ได้มันมีความกังขา ก็ต้องมีความเป็นอารยะ

"บ้านเราเวลาพูดถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการถามคำถามบางอย่าง มันเหมือนจะมีคำตอบรออยู่แล้ว เพราะมันคือวิธีการที่คุณต้องการจะควบคุมให้ได้ ถ้าคุณโยนคำถามปลายเปิดไปมันยากที่จะควบคุม เพราะฉะนั้นมันจึงไม่นำไปสู่สิ่งที่ควรจะเป็นหรือเหมาะกับเราจริงๆ แต่เหมาะกับวิธีการปกครอง หรือวิธีการจัดการงบประมาณ ระยะเวลา หรืออื่นๆ" ยศพลกล่าว

กัญจนีย์กล่าวว่า ถ้าทำแบบเข้มข้นจริงๆ ต้องยอมทั้งในเชิงงบประมาณและเวลาด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกคนยอมรึเปล่า ก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง อย่างฝรั่งเศสหรือเยอรมนีเขาบอกว่าโปรเจกต์จัดการพื้นที่สาธารณะใช้ระยะเวลานานมากๆ นานจนเขาเบื่อ คนทำเบื่อ แต่เขาก็ทำ และก็เป็นขั้นตอนปกติของเขา หลายปีกว่าจะสรุปได้สักเรื่องหนึ่ง แต่เข้าใจว่าเมื่อสรุปแล้วมันได้สิ่งที่เป็นของคนที่นั่นจริงๆ

กัญจนีย์กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องการรับฟังความเห็นสาธารณะของเราอย่างหนึ่งคือการแชร์ข้อมูล รัฐมีความจริงอยู่หนึ่งชุดแต่แสดงแค่ส่วนเดียวของความจริงทั้งหมด เริ่มแบบนี้มันก็จบ แต่ถ้าทุกคนมีความจริงใจที่จะเป็นการรับฟังความเห็นสาธารณะจริงๆ ข้อมูลต้องเป็นชุดเดียวกัน ต้องเข้าใจเหมือนกัน

สร้างเมืองแบบเข้าใจมนุษย์ ทุกคนต้องร่วมกันสร้างไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษาหรือวิชาชีพ

กัญจนีย์กล่าวว่า "เรื่องของเมือง ไม่จำเป็นต้องจบโท จบเอก ทุกคนใช้เมืองอยู่ทุกวัน การศึกษาไม่ใช้ตัววัดว่าความคิดของคนนี้จะดี และคนนี้ไม่ดี ทุกคนต้องแชร์ทุกมุมมองและไอเดีย ถึงจะออกมาเป็นเมืองที่ทุกคนร่วมกันใช้"

ยศพลกล่าวว่า มันมีความสลับซับซ้อนอยู่ภายใต้คำถามว่าทำไมเมืองถึงไม่ดี ทำไมรัฐถึงทำแบบนั้น มันมีปัจจัยหลายอย่าง แต่ยังคิดว่ากลไกการมีส่วนร่วมสำคัญ "เราคุยกันแล้วเราเข้าใจกันไหม"

"เรื่องทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลงพื้นที่ไปคุยกับคุณป้าที่อยู่ริมแม่น้ำ เขาบอกว่า พวกคุณศึกษากันดีนัก สุดท้ายก็สร้างทิ้งไว้แล้วก็ไป ฉันสิต้องอยู่กับมันทุกวัน คุณเป็นด็อกเตอร์คุณก็อึ้ง หรือเจอคุณยายบอกว่า เนี่ยรู้ไหม อยู่แบบลำบากแต่สบายดีกว่า คืออยู่แบบไม่ต้องสบายมากแต่สบายใจ ไม่ต้องมาทำแลนด์มาร์กอะไรวิลิศมาหรา หรือคุณยายบอกว่า จะมารื้อๆ จัดระเบียบอะไรกันริมน้ำ ช่วยบอกด้วยนะ ฉันจะได้ขุดรากเหง้าของฉันไปได้ทัน ต้องใช้การศึกษาสูงๆ เพื่อจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ไหม ไม่ มันเป็นเรื่องมนุษย์ คุณเข้าใจมนุษย์รึเปล่า

"เราเล่าให้เพื่อนที่เป็นคนพิการฟังว่ามีคุณยายที่อยู่บ้านริมแม่น้ำแล้วจะได้รับผลกระทบจากการสร้างทางเลียบริมแม่น้ำ เราบอกว่ารัฐเขาบอกว่าทำแล้วจะให้คนพิการได้ใช้ เพื่อนคนนั้นฟังแล้วเขาก็ไม่อยากได้ คือเราจะไปเอาความเป็นสาธารณะทำไมถ้ามันไปรบกวนและทำลายวิถีชีวิตคนอื่น" ยศพลกล่าว

ยศพลกล่าวต่อว่า บางเรื่องแค่ข้อมูลมันไม่ช่วย ต้องอาศัยการพูดคุย ทำให้เราเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือเราไม่ได้รับฟังมันจริงๆ เราเก็บเพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อส่งตามเช็คลิสต์ของงานวิจัย แล้วก็เอาไปส่งรัฐบาล รัฐบาลก็บอก 80 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยแล้ว น้ำไหลผ่านสะดวกแล้ว ขยะไม่ติด น้ำทะเลไม่ขึ้นสูงแล้ว สร้างได้ แต่คุณจะเข้าใจไหมว่าคุณเสียอะไร ได้อะไร อนาคตลูกหลานเป็นยังไง

"หรือคำถามสำคัญคือคุณอยากได้เมือง และอยากมีชีวิตแบบไหน ไม่ต้องใช้การศึกษา ถามกันแบบใจ-ใจ ท่านประยุทธ์อยากได้เมืองแบบไหน ท่านประวิตรอยากได้เมืองแบบไหน แบบนี้เหรอ แต่คุณยายเขาไม่อยากได้นะ ท่านว่าไง มันควรจะเป็นไดอะล็อกแบบนี้" ยศพลกล่าว

ยศพลกล่าวในเรื่องวิชาชีพว่า แน่นอนเราเคารพในวิชาชีพ วิชาชีพมันเข้ามาคลี่คลาย เข้ามาเพื่อสรุปและเสนอทางเลือก กลไกในวิชาชีพจึงสำคัญ และก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพเดียวที่สามารถแปรความสลับซับซ้อนนี้ออกมาเป็นกายภาพ สิ่งที่เราเรียนรู้คือผลวิจัยหรือข้อสรุปในวันนี้มันอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ในอีก 5  ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น เหมือนในหนัง มันจึงไม่ควรเป็น master plan

"แม้เราเรียกร้องการมี master plan แต่มันควรเป็น inclusive master plan เพราะบางที master plan มันใช้เป็นเครื่องมือในการชวนคนคุยกัน จะตัดถนนตรงนี้ เอาไหม ไม่เอา เพราะอะไร มันเป็นเครื่องมือในการคุยกัน ข้อสรุปนี้มันอาจจะอยู่กับคนยุคนี้แต่มันอาจจะเปลี่ยนได้ ขยับได้ แต่คุณต้องเข้าใจเป้าหมายก่อน คือคุณมีคุณค่าอะไรและคุณอยากจะพัฒนาบนคุณค่าอะไร แล้วคุณค่านั้นมันเปลี่ยนทั้งเมืองไหม ถ้าคุณเข้าใจในรากฐานนี้ master plan จะกลายเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมของคน แต่ไม่ใช่เงิน 120 ล้านที่คุณจ่ายในการทำ master plan แต่ทำแล้วใช้ไม่ได้" ยศพลกล่าว

นอกจากนี้ยศพลยังมองว่าปัญหาของรัฐ เช่น การทำทางข้ามแม่น้ำจากศิริราชไปท่าพระจันทร์ ที่เสียงบก้อนหนึ่ง 50 ล้านในการทำงานวิจัย ทำการรับฟังความคิดเห็นตามที่กฎหมายกำหนด สุดท้ายบอกว่าไม่สร้างแล้ว ทำต่อไม่ได้ ถามว่าแล้วเราจะเสียเงิน 50 ล้านนั้นไปเพื่ออะไรถ้ามันไม่ได้นำไปสู่การพูดคุยและเข้าใจจริงๆ ว่าเราต้องการอะไร เมื่อเราเข้าใจเราจะตระหนักได้ว่าเราทำอะไรได้ และเราทำอะไรไม่ได้ในพื้นที่สาธารณะ และตัวคุณควรทำหน้าที่อะไร แต่พอคุณไม่ได้คุยกัน คุณก็ไม่เข้าใจ แล้วก็เป็นแบบนี้

กัญจนีย์กล่าวในฐานะสถาปนิกว่า สิ่งที่คนคิดถึงหลักๆ มีสามประเด็น คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ทั้งสามประเด็นนี้ต้องถูกพูดเวลาจะตกลงอะไรกัน แล้วเราในฐานะสถาปนิก ผู้ออกแบบเมือง จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการฉายภาพสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าทำตามแบบ A B C ในทั้งสามทิศทางคือ เศรษฐกิจจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งแวดล้อมจะเกิดอะไรขึ้น สังคมจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราฉายภาพได้ดีพอ การตัดสินใจจะง่ายขึ้น เพราะทุกอย่างมันเป็นประเด็นที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ตามเวลา แต่ถ้าเราพูดถึงครบตามประเด็นพวกนี้ แล้วกางออกมา มาตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานประเด็นพวกนี้ เราเชื่อว่าจะไปสู่ข้อตกลงได้
 

"Do Somethingเริ่มต้นด้วยตัวเรา ไม่ต้องรอ "top-down"

ยศพลกล่าวว่า เราต้องลุกขึ้นมา "Do something" สมมติกรณีเรื่องทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เราก็รอไปว่าเขาจะตัดสินยังไง จะสร้างหรือไม่ แต่บางทีวิธีคิดไม่จำเป็นต้องเป็น linear หรือไปตามเส้น เราต้องทำเอง เราจะลองเอาเรือที่มีสวนสาธารณะเล็กๆ อยู่ มาลอยในน้ำดูว่าจะเกิดปฏิกิริยาอะไร ที่เราจะทำการทดลองวันที่ 27 ม.ค. ที่งาน Design week

"มันเป็นการตั้งคำถามต่อพื้นที่สีเขียวในเมืองว่า คุณจะไปหาจากไหน ปัจจุบัน กทม.มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 6 ตารางเมตร/คน มันยากมากที่จะให้เพิ่มจากนี้ จะไปหาจากไหน สุดท้ายมันกลับมาที่ นี่ก็ที่ของทหาร นี่ก็ที่การรถไฟ จริงๆ มันสีเขียวเหมือนกันแต่มันไม่อยู่ในของ กทม. มันเอามาเป็นพื้นที่สาธารณะไม่ได้

"พื้นที่ริมแม่น้ำจึงเป็นพื้นที่ที่รัฐจับจ้อง เพราะมันเป็นพื้นที่เดียวที่จะสามารถเอามาทำได้ ดังนั้นการที่เราเอาเรือมาลองลอยดู สุดท้ายมันอาจเป็นทางออกของทุกฝ่ายว่า ไม่ต้องสร้างก็ได้ ทำเรือเหล่านี้แทน

เขาชี้ว่า มันสะท้อนกลไกการพัฒนาว่า ถ้ามันไม่เป็น top-down มันก็มีวิธี เริ่มจากคำถามง่ายๆ แต่ละคำตอบมันสะท้อนจริงๆ ว่าคนอยากได้อะไร ในฐานะนักออกแบบเราก็ต้องออกแบบข้อมูล เปลี่ยนเป็นการนำเสนอ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการสำรวจ ต้องลงไปในเชิงลึก พื้นที่นี้มีปัญหาอะไร เอาคนมาแลกเปลี่ยนกัน พื้นที่ของเรา จริงๆ มันเริ่มมาจากบนโต๊ะ เอา กทม.มานั่ง เจ้าของที่ดินรายใหญ่มานั่ง ชาวบ้านมานั่ง เด็กมานั่ง ทุกคนเท่ากัน สะท้อนสิ่งที่ทุกคนต้องการและมีปัญหา สุดท้ายจะนำมาสู่ว่า การที่คุณจะทำ มันกระทบเขาไหม การพัฒนาจะพัฒนาแบบไหนให้ยอมรับร่วมกันได้

กัญจนีย์เสริมว่า เท่าที่เห็น คนของ กทม.เองก็เข้าใจในความคิดของเรา เพราะอยู่ในเจเนอเรชั่นเดียวกัน เพียงแต่อำนาจการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่เขา เขาต้องไปขอเจ้านายอีกที ซึ่งเจ้านายอาจมีมุมมองอย่างอื่น มีข้อจำกัดอย่างอื่น แต่เราเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการพยายามทำงานกับ กทม.มา รุ่นนักเรียนนักศึกษาถ้าลุกขึ้นมาทำอาจจะได้ประสบการณ์ที่ดีกว่าเรา
 

โมเดลตัวอย่างที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

ทศพลยกตัวอย่างนิทรรศการที่เคยทำ เกี่ยวกับการออกแบบบริเวณรอบแม่น้ำ เขาทำโต๊ะจำลองสภาพแวดล้อมโดยรอบแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วมีโมเดลจำลองต่างๆ เช่น สนามเด็กเล่น ทางเดิน และคำตอบที่เขาได้น่าสนใจมาก มีเด็กสองคนบอกว่าไม่ต้องทำทางเลียบแม่น้ำหรอก เราทำทางอ้อมไปในชุมชน แล้วมีสนามเด็กเล่นในชุมชนก็ได้ ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่ปรุงแต่ง เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมทางความคิด เป็นการสะท้อนมาที่ผู้ใหญ่ เพราะเด็กก็เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาเหมือนกัน

หรืออีกตัวอย่างที่ทศพลยกคือ พื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ เสาตอม่อเป็นของกรมทางหลวง เสาไฟฟ้าเป็นของการทางพิเศษ พื้นที่ใต้ทางด่วนก็เป็นของการทางพิเศษ เขาลงไปสำรวจว่าคนในชุมชนอยากมีอะไร อยากใช้พื้นที่ยังไง ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจริงๆ คนในชุมชนก็รู้สึกเป็นเจ้าของจริงๆ สุดท้ายงานประสบความสำเร็จเพราะเกิดความร่วมมือ กทม.เข้ามาดูแล การทางพิเศษให้ใช้พื้นที่ ชุมชนก็ตั้งคณะกรรมการร่วมกับหน่วยงานรัฐในการดูแลรักษา ล่าสุดงานวันเด็กก็มีการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทำให้ 4 ชุมชนมาเจอกัน ซึ่งได้มากกว่าความเป็นสวนสาธารณะ แต่มันคือความร่วมมือของคน

"เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่ารัฐไม่ได้ลุกขึ้นมาทำ แต่ถ้ามันเกิดโมเดลและการเชื้อเชิญที่มันเกิดเหตุและปัจจัยถึงพร้อม มันก็อาจจะนำมาสู่เคสที่ดีได้ อย่างอันนี้มันประสบความสำเร็จเพราะมันอาศัยการบริจาคกับเงินลงทุนด้วย ไม่ใช่เงินของรัฐอย่างเดียว มีงบของ สสส.มาทำการวิจัย มีภาคเอกชนสนับสนุนงบก่อสร้างบางส่วน เพราะฉะนั้นมันแสดงให้เห็นว่าถ้ามันจะประสบความสำเร็จ ทุกคนต้องมาร่วมมือกันจริงๆ" ยศพลกล่าว

\

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ถูกทหารตำรวจเรียกพบ หลังร่วมลงชื่อค้านจำกัดสิทธิฯ ‘เดินเพื่อมิตรภาพ’

Posted: 25 Jan 2018 05:32 AM PST

แกนนำเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จ.ศรีสะเกษ ถูก จนท.พัฒนาสังคมฯ เรียกพบ ขณะที่ระดับเครือข่ายถูกทหารตำรวจเรียกพบ หลังร่วมลงชื่อร้องยุติการใช้คำสั่งหัวน้า คสช.ที่ 3/58 กับผู้จัดกิจกรรม 'เดินมิตรภาพ'

ภาพกิจกรรม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' 25 ม.ค.2561 (ที่มาภาพเพจ People GO network)

25 ม.ค.2561 จากกรณีเครือข่าย People Go ผู้จัดกิจกรรม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' เดินเท้ารณรงค์เป็นเวลา 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. - 17 ก.พ.2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยัง จ.ขอนแก่น เพื่อสื่อสารถึงความต้องการประชาชนที่จะมีส่วนร่วมใน 4 ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน และสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นกิจกรรมโดยตลอด และต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารฟ้องร้องดำเนินคดี 8 ตัวแทนเครือข่ายฯ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา จนมีองค์กรภาคประชาชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์คัดค้านการกระทำของเจ้าน้าที่รัฐดังกล่าวนั้น

ล่าสุดวันนี้ (25 ม.ค.61) ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้งว่า กลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จ.ศรีสะเกษและ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเรียกเข้าพบ ขณะที่แกนนำเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ถูกเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เรียกเข้าพบเช่นกัน

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ หนึ่งในเครือข่าย People Go Networkเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไท ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยนิมิตร์ อธิบายว่า จากกรณีวานนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ได้ร่วมลงชื่อใน แถลงการณ์จากกลุ่ม FTA watch เพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 กับผู้จัดกิจกรรม  'We Walk เดินมิตรภาพ' ซึ่งมันจะมีระบุว่า เป็นกลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ของจังหวัดอะไร ก็เลยมีเจ้าหน้าที่ไปติดต่อที่โรงพยาบาล บางอำเภอก็เป็นทหาร บางอำเภอก็เป็นตำรวจ ไปสอบถามกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล แล้วก็ให้ผู้อำนวยการเรียกกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ มาพบที่โรงพยาบาล เพื่อถามว่าไปร่วมกิจกรรมทำไม คือจะสอบปากคำ ส่วนแกนนำเครือข่ายระดับจังหวัดก็ถูกเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรียกเข้าไปพบ

"พวกเราที่เป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อต้องไปขึ้นทะเบียนเพื่อรับสาธารณะประโยชน์กับ พม. จังหวัด เพื่อรับโครงการสนับสนุนต่างๆ เขาเลยจะมีข้อมููลพวกชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ของพวกเรา แบบนี้มันก็มีผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของคนในพื้นที่ เหมือนกับมาข่มขู่ให้กลัว เราก็รู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกว่า ทำไมกิจกรรมแค่นี้ถึงทำไม่ได้" นิมิตร์ กล่าว

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า คนในเครือข่ายรู้สึกกลัว บางกลุ่มยกเลิกกิจกรรมของตัวเอง เพราะว่าเพิ่งลงชื่อกันไปเมื่อวาน คนที่ถูกเรียกตัวไม่ได้มีส่วนในการเดินเลย แต่เป็นเพียงกลุ่มที่ลงชื่อในแถลงการณ์เท่านั้น

เมื่อถามว่ากิจกรรมที่ยกเลิกคืออะไรนั้น นิมิตร์ กล่าวว่า เป็นกิจกรรมปรกติของเขาอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับกิจกรรมการเดิน เช่นกิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้ป่วย หรือให้คำปรึกษากับผู้ป่วยที่โรงพยาบาล พอเจอเจ้าหน้าที่มาแบบนี้แกนนำกลุ่มเขาก็ไม่กล้าทำอะไร กลัวว่าจะมีผลกระทบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมานฉันท์แรงงาน' ร้องประยุทธ์ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ เลี้ยงครอบครัวได้อย่างเพียงพอ

Posted: 25 Jan 2018 04:51 AM PST

'สมานฉันท์แรงงาน-สรส.' ค้านมติบอร์ดค่าจ้างปมปรับขึ้น 7 ระดับ ยันข้อเรียกร้องเดิม ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามหลักการสากล สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Nongmai Vijan

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟสบุ๊คตัวเองว่า คสรท. ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงจุดยืนค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องเท่ากันทั้งประเทศ ผ่านทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักนายกรัฐมนตรี ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น วาสนา ลำดี รายงานผ่าน เว็บไซต์ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ว่า  รองประธาน คสรท. ได้อ่านแถลงว่า ทั้ง คสรท. และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ดำเนินการทั้งการแถลงข่าวการขับเคลื่อนมวลชน การยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงาน และรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนในการปรับค่าจ้างหลายต่อหลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมทำแบบสำรวจสถานการณ์ การดำรงชีวิต ค่าจ้าง รายได้ หนี้สิน ของคนงานให้สังคมได้รับทราบและภายหลังจากที่ได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็นกลับถูกทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายทุนต่างๆแสดงอาการไม่เห็นด้วย คัดค้าน และมองว่าเป็นไปไม่ได้ทำให้ คสรท. และ สรส. ต้องหวั่นไหว เพราะทั้งสององค์กรเป็นตัวแทนของคนงาน ที่ทำงานและเคลื่อนไหวกับพี่น้องแรงงานในระดับฐานราก ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ไม่พอกิน พอใช้ เป็นหนี้ คุณภาพชีวิตตกต่ำ ยากจนข้นแค้น จึงต้องทำหน้าที่แม้จะทำให้บางคน บางกลุ่มไม่พึงพอใจ แต่ในส่วนรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ต้องเข้าใจความเป็นจริงว่า ผู้ใช้แรงงานคือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ หากแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ไม่ได้จะแก้ปัญหาประเทศชาติได้อย่างไร จะแก้ปัญหาความยากจน จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร จึงได้เสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561

ซึ่งข้อเสนอมีหลักการสำคัญ คือ 1. ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามหลักการสากล คือ สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2. ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ และให้มีการยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด 3. ให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเอง ให้คนงานสามารถวางแผนชีวิตในอนาคตได้ และ 4. ให้รัฐบาลวางมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีราคาแพงเกินจริง

แถลงการระบุต่ว่า แต่คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้มีการประชุมและมีมติออกมาเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป คือ ค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 จะปรับขึ้น 7 ระดับ ต่อมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และสื่อมวลชนเป็นวงกว้าง ซึ่งต่อมา คสรท.ได้มีการประชุมเร่งด่วนเพื่อพิจารณาในประเด็นดังกล่าว และมีความเห็นร่วมกันดังนี้ คือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปตามข้อเสนอของ คสรท. คือค่าจ้างไม่เป็นราคาเดียวกันทั้งประเทศ ยิ่งกว่านั้นค่าจ้างกลับขยายเพิ่มจาก 4 ราคาเป็น 7 ราคา ในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพนั้น เกือบทุกรายการเท่ากันทั้งประเทศไม่ได้มีราคาต่างกันเหมือนกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ยิ่งทำให้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น และค่าจ้างที่ปรับขึ้นมาส่วนมากไปกระจุกตัวที่การปรับเพิ่มในจำนวนเงินที่น้อย กล่าวคือ การปรับเพิ่ม 5 บาท มี 17 จังหวัด และปรับเพิ่ม 10 บาทมีถึง 27 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ปรับในสัดส่วนที่สูงกว่า มีเพียง 4 จังหวัด คือ 17 บาท มี 1 จังหวัด ปรับขึ้น 20 บาท(ฉะเชิงเทรา) และ 22 บาทมีเพียง 2 จังหวัด (ระยอง และชลบุรี) ซึ่งจะเห็นได้ว่า การปรับค่าจ้างไม่ได้มีจำนวนเงินสูงมาก และไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงคนในครอบครัวตามหลักสากล

นอกจากนั้นแล้ว การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ก็ยังมีมาตรการในการช่วยเหลือนายจ้างหลายประการ เช่นการลดหย่อนภาษีประมาณ 1.5 เท่า จากค่าจ้างแรงงาน และลดเงินส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมซึ่งคสรท.เห็นว่า การลดหย่อนภาษีให้นายจ้าง 1.5 เท่าจากค่าจ้างแรงงานก็เป็นประเด็นเคลือบแคลงว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไรทั้งระบบหรือเพียงแค่ผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือขนาดกลาง แต่ในส่วนการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอีก 1 เปอร์เซ็นต์ คสรท.ไม่เห็นด้วย เพราะอาจจะส่งผลกระทบกับกองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเองก็ยังค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองุทนประกันสังคมกว่า 5 หมื่นล้านบาท"

คสรท. จึงขอประกาศจุดยืนเดิมในการปรับค่าจ้างและขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลและคาดหวังว่าข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นย้ำเรื่องหลักการทางสากลและการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคม จะได้รับการพิจารณาเพื่อพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล

ในส่วนของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นนั้น แถลงการณ์ของ คสรท. ระบุว่า ได้มีการจัดเก็บข้อมูลมาแล้ว ตามที่รัฐอ้างว่า การปรับค่าจ้างจังหวัดต่างๆ เช่นกรุงเทพฯสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะว่า กรุงเทพฯ มีค่าครองชีพสูง ราคาสินค้าสูงกว่านั้นไม่เป็นความจริง ความจริงคือทุกจังหวัดมีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสูงเท่ากัน ผลจากการจัดเก็บข้อมูลมีจริงเราไม่ได้กล่าวกันแบบไม่มีข้อมูล จึงขอยืนยันในจุดยืนของ คสรท. และสิ่งที่รับไม่ได้คือการลดภาษีให้กับนายทุน 1.5 เท่า ก็พอทุนยังจะลดเงินสมทบประกันสังคมอีก 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรับไม่ได้ เพราะว่าวันนี้กองทุนประกันสังคมคาดว่าจะหมดในปี 2586 มีการไปรับฟังความคิดเห็น ของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศว่าจะมีการปรับขึ้นฐานเงินเดือน 15,000 บาทเป็น 20,000 บาทและจะมีการขยายอายุการเกษียณอายุ 55 ปีเป็น 60 ปี เพราะเงินกองทุนกำลังจะหมดไป แทนที่จะเก็บเงินสมทบ กับจะมาลดเงินที่จะเข้ากองทุนอีกร้อยละ 1 นั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเงินกองทุนจะหายไป ก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ทุนจะมาเอาเปรียบกับเงินภาษี และกองทุนประกันสังคม นี่คือเหตุผลวันนี้ที่ คสรท. มายื่นคัดค้าน

วาสนา รายงานด้วยว่า ในวันเดียวกัน สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ  อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้วย จากกรณีถูกนายจ้างปิดงานตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2560 เหตุด้วยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2560 และเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2560 และบริษัทฯ ตอบโต้กลับด้วยการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานในประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับเงินค่าจ้างประจำปีและโครงสร้างในระดับตำแหน่งงานต่างๆ การจัดเวลาเข้าทำงานใหม่(กะ) และขอยกเลิกหักเงินค่าบำรุงของสมาชิกให้แก่สหภาพแรงงาน ซึ่งข้อเรียกร้องของนายจ้างสหภาพแรงงานและสมาชิกเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนที่ไม่เป็นคุณไม่สามารถยอมรับได้ การเจรจายืดเยื้อหาข้อยุติไม่ได้จนเกิดข้อพิพาทแรงงานระหว่างกัน ซึ่งต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. - 27 ธ.ค. 2560 ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้และในวันเดียวกันเวลาประมาณ 22.35 น.บริษัทจึงประกาศปิดงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการใดๆให้แก่สมาชิกของสหภาพแรงงานและผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2560 เป็นต้นมา

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หญิงตาบอดโพสต์ 112 ได้ประกันตัวแล้ว ญาติ-ทนายความไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ประกัน

Posted: 25 Jan 2018 04:37 AM PST


ภาพประกอบจาก แฟนเพจไข่แมว

25 มกราคม 2561 อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม จ. ยะลา ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า นส.นูรฮายาตี มะเสาะ หญิงพิการทางสายตาวัย 24 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามไปยังครอบครัวของนูรยาฮาตี ได้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า วันที่ 23 มกราคม ทางครอบครัวได้รับโทรศัพท์จากทางเจ้าหน้าที่ศาลให้ไปรับตัวผู้ต้องขัง จึงได้ไปรับตัวกลับมาพักอยู่กับครอบครัว ทั้งนี้ทางครอบครัวและทนายความได้ยืนยันตรงกันว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำเรื่องขอประกันตัว และไม่ทราบว่าประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์วงเงินเท่าไหร่ แต่ อาดิลันยืนยันว่าทางศูนย์ทนายความมุสลิมยังจะช่วยทำคดีในชั้นอุทธรณ์และจะช่วยทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนูรยาฮาตีต่อไป 

 


 

เกี่ยวกับคดี นูรยาฮาตี มะเสาะ

นูรฮายาตี มะเสาะ อายุ 24 ปี เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นคนพิการตาบอดทั้งสองข้างได้รับการศึกษาจากศูนย์การศึกษาพิเศษตาบอด จ.สงขลา ถึงชั้น ป.2 (หลักสูตรสำหรับผู้พิการ) ใช้แอปพลิเคชันสำหรับคนตาบอด (สมาร์ทวอยซ์) โพสต์ความคิดเห็นและคัดลอกบทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ลงในเฟสบุ๊ค หลังข่าวการสวรรคตของ ร.9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559  จนเป็นเหตุให้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตาม ม.112 หมิ่นสถาบันฯ โดยที่ศาลไม่ได้นำเหตุที่จำเลยเป็นผู้พิการทางสายตามาพิจารณาลดหย่อนโทษ เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง

นูรยาฮาตีถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกและตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ทางครอบครัวของเธอได้นำตัวเธอเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตามหมายเรียก แต่ได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวนก่อนจะถูกคุมขังในเรือนจำช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ต่อมานูรฮายาตีให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดยะลาพิพากษาจำคุกเธอเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในวันที่ 4 มกราคม 2561
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ทอม ดันดี’ ถูกฟ้อง 112 คดีที่สาม จากการปราศรัยปี 53

Posted: 25 Jan 2018 03:22 AM PST

หลังถูกย้ายจากคุก กทม.ไปราชบุรีโดยไม่ทราบสาเหตุมาร่วม 2 เดือน วันนี้อัยการสั่งฟ้องอดีตนักร้องดังวัย 60 ปีต่อศาลราชบุรี เป็นคดีที่สาม หลัง 2 คดีแรกถูกศาลพิพากษาจำคุกรวม 10 ปี 10 เดือน พบเป็นคดีเก่าสมัยปราศรัยเมื่อปี 2553 พนง.สส.เคยสั่งไม่ฟ้องมาแล้ว ปัจจุบันเขาอยู่เรือนจำมาแล้ว 3 ปีครึ่ง


แฟ้มภาพ (2558)

25 ม.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้อัยการจังหวัดราชบุรีสั่งฟ้องนายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี วัย 60 ปี ต่อศาลจังหวัดราชบุรี ในความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา โดยศาลได้เบิกตัวจำเลยจากเรือนจำกลางจังหวัดราชบุรีมายังศาล โดยที่ญาติผู้ต้องหาทราบข่าวอย่างกระทันหันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาจากผู้ค้าขายบริเวณศาลราชบุรีว่าทอม ดันดี มาศาลในวันนี้ จึงได้โดยสารรถตู้จากกรุงเทพฯ ไปยังศาลโดยด่วน

"เมื่อวานพวกเรายังไปเยี่ยมคุณทอมที่เรือนจำราชบุรี และไม่รู้เลยว่าวันนี้อัยการจะฟ้อง จะต้องขึ้นศาล ตัวเขาเองก็ไม่รู้ ยังดีที่มีคนใจดีโทรแจ้งข่าว" ผู้ใกล้ชิดทอม ดันดี รายหนึ่งกล่าว

ก่อนหน้านี้ ทอม ดันดี ถูกพิพากษาจำคุกรวม 10 ปี 10 เดือนจากคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี เขาถูกทหารจับกุมตัวภายหลังการรัฐประหาร 2557 ไม่นานและถูกดำเนินคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี ทำให้เขาอยู่ในเรือนจำมาจนถึงปัจจุบันรวมแล้วเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 โดยทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกับการปราศรัยในช่วงที่เขาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับคนเสื้อแดง เขาถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่เรือนจำกลางจังหวัดราชบุรีตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 โดยไม่ทราบเหตุผล เจ้าหน้าที่แจ้งเพียงว่ามีคำสั่งย้ายด่วน จนกระทั่งมีการฟ้องคดีล่าสุดในวันนี้

ธำรงค์ หลักแดน ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวว่า ติดตามให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับทอม ดันดี ตั้งแต่ถูกย้ายมายังเรือนจำจังหวัดราชบุรี ทราบการสั่งฟ้องครั้งนี้อย่างกระทันหันทำให้ไม่สามารถไปยังศาลได้ คดีนี้เป็นคดีเก่าหลายปีมาแล้ว และทราบจากทนายคนเดิมว่า คาดว่าพนักงานสอบสวนเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องมาก่อนหน้านี้เพราะคดีไม่มีความเคลื่อนไหวเลยยาวนานหลังจากนี้ศาลราชบุรีนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 21 ก.พ.2561 เวลา 8.30 น. และนัดสอบคำให้การในวันที่ 23 เม.ย.2561

"นัดคุ้มครองสิทธิ หรือนัดสมานฉันท์ คือนัดที่ศาลจะอธิบายให้จำเลยฟังว่า หากคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพจะเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยอย่างไร เช่นสมมติว่า คดีนั้นๆ ศาลสามารถพิจารณาเพื่อรอลงโทษ หรือรอกำหนดโทษได้ เป็นต้น" ธำรงค์กล่าว


ผู้ใกล้ชิดกับทอม ดันดี กล่าวว่า ในวันนี้ทอมยังคงยิ้มแย้ม น่าจะเป็นเพราะทำใจและปรับตัวได้บ้างแล้ว แตกต่างจากช่วงที่ย้ายไปเรือนจำราชบุรีช่วงแรกๆ ที่มีความวิตกกังวลอย่างยิ่งและอยากย้ายกลับเรือนจำกรุงเทพฯ เพราะสภาพเรือนจำราชบุรีแออัดกว่ากรุงเทพฯ มาก

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุถึงพฤติการณ์แห่งคดีว่าเป็นการปราศรัยกับประชาชนประมาณ 1,000  คนที่อนุสรณ์สถานเขาแก่นจันทร์ จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2553 โดยมี 2 ข้อความที่เข้าข่ายดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2555 จำเลยเข้ามอบตัว และพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิ จำเลยให้การปฏิเสธ ปัจจุบันจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากคดีหมิ่นสถาบันก่อนหน้านี้ 2 คดี ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อกับโทษของทั้ง 2 คดีดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงว่าตามหลักกฎหมาย มาตรา 112 นั้นให้ความคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการฯ ที่ดำรงตำแหน่งปัจจุบันเท่านั้น ไม่รวมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายคนหนึ่งอธิบายว่า ในกรณีนี้เหตุเกิดในปี 2553 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในขณะนั้น จึงอยู่ในขอบข่ายที่สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กป.อพช อีสาน ร้อง จนท. 'ยุติ' ใช้คำสั่ง คสช. ดำเนินคดี 8 เดินมิตรภาพ ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

Posted: 25 Jan 2018 02:08 AM PST

กป.อพช อีสานและ 53 เครือข่าย แถลงสนับสนุนเดินมิตรภาพ ร้องตำรวจ-ทหาร "ต้องยุติ" การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ดำเนินคดีกับตัวแทนเครือข่ายทั้ง 8 คน ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมร้องประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อ "ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558" ชี้เป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชนอย่างร้ายแรง    

 

25 ม.ค.2561 จากกรณีเครือข่าย People Go ผู้จัดกิจกรรม 'We Walk…เดินมิตรภาพ' เดินเท้ารณรงค์เป็นเวลา 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. - 17 ก.พ.2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยัง จ.ขอนแก่น เพื่อสื่อสารถึงความต้องการประชาชนที่จะมีส่วนร่วมใน 4 ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน และสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นกิจกรรมโดยตลอด และต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารฟ้องร้องดำเนินคดี 8 ตัวแทนเครือข่ายฯ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหานั้น

ล่าสุดวันนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช) และเครือข่าย 53 องค์กร ออกแถลงกรณ์ สนับสนุนเดินมิตรภาพ ( ฉบับที่ 1) เรียกร้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร "ต้องยุติ" การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการดำเนินคดีกับตัวแทนเครือข่าย People Go Network ทั้ง 8 คน ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และเรียกร้องให้ประชาชนคนไทยทั่วประเทศร่วมกันลงชื่อเพื่อ "ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558" ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชนอย่างร้ายแรง         
 
"เครือข่ายภาคประชาชนภาคอีสาน เหนือ กลาง ใต้ ขอแสดงจุดยืนไว้ ณ โอกาสนี้ว่า การเดินมิตรภาพของเครือข่าย People GO Network จะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงจุดหมายและไม่มีอุปสรรคใดจะมาขัดขวางเจตนารมณ์ดังกล่าวได้ "เราจะจับมือ รับธงและเดินเท้า" เพื่อส่งข่าวสารและยืนยันในสิทธิเสรีภาพประชาชนต่อไป" แถลงการณ์ระบุ 
 
รายละเอียดแถลงการณ์ : 
 

แถลงการณ์ สนับสนุนเดินมิตรภาพ ( ฉบับที่ ๑) และเรียกร้องให้ยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการดำเนินคดีกับแกนนำ  

 
การเดินเพื่อมิตรภาพ (We walk เดินมิตรภาพ) ของเครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network เป็นการกระทำโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ  ซึ่งอยู่ในขอบเขตสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์  5 วันที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ากลุ่มประชาชนที่เดินเพื่อมิตรภาพมีการกระทำใดๆ ที่ผิดต่อกฎหมาย ดังนั้นคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช. ภาคอีสาน) และเครือข่ายประชาชนที่มีรายชื่อท้ายนี้  จึงสนับสนุนกิจกรรมการเดินมิตรภาพ  ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2561ถึง 17 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, วิกฤตด้านการเกษตรที่ปนเปื้อนสารเคมีและความมั่นคงทางด้านอาหารที่ผูกขาดโดยระบบทุนขนาดใหญ่  ,ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะถูกแก้ไขให้เป็นระบบอนาถา  และการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอันพึงมีพึงได้ตามรัฐธรรมนูญ  โดยการ เดินเท้าจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดขอนแก่น   ซึ่งคณะผู้จัดงานได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  และแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินกิจกรรมเอาไว้แล้วและเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพการชุมนุมที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ของประชาชนตามปกติที่ไม่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ         
 
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐกลับทำในทางตรงกันข้าม มีการขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม กดดัน ตรวจค้นยานพาหนะของผู้เดินมิตรภาพ จงใจขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างเต็มที่ และอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ดำเนินคดีกับตัวแทนเครือข่าย People Go Network 8 คน ซึ่งเป็นคำสั่งที่อาจขัดกับ มาตรา 34 และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมไว้ อันเป็นการใช้อำนาจเหนือ รัฐธรรมนูญ ในนามคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช. ภาคอีสาน) และเครือข่ายภาคประชาชน "ขอประณาม" การกระทำดังกล่าวของรัฐที่มีเจตนาจงใจละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนคนไทยและขอเรียกร้องดังนี้ 
 
1) เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร "ต้องยุติ" การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการดำเนินคดีกับตัวแทนเครือข่าย People Go Network ทั้ง 8 คน ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 
 
2) ขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศร่วมกันลงชื่อเพื่อ "ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558" ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชนอย่างร้ายแรง       
 
เครือข่ายภาคประชาชนภาคอีสาน เหนือ กลาง ใต้ ขอแสดงจุดยืนไว้ ณ โอกาสนี้ว่า การเดินมิตรภาพของเครือข่าย People GO Network จะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงจุดหมายและไม่มีอุปสรรคใดจะมาขัดขวางเจตนารมณ์ดังกล่าวได้ "เราจะจับมือ รับธงและเดินเท้า" เพื่อส่งข่าวสารและยืนยันในสิทธิเสรีภาพประชาชนต่อไป
 
๒๕  มกราคม ๒๕๖๑ 
ด้วยจิตคารวะ
 
๑. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช)
๒. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน
๓. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน
๔. สถาบันชุมชนอีสาน
๕. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน
๖. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
๗. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
๘. เครือข่ายแรงงานอกระบบภาคอีสาน
๙. เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
๑๐ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
๑๑. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ระยอง
 ๑๒. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จ.ระยอง
 ๑๓. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จ.ปราจีนบุรี
 ๑๔. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.ขอนแก่น
 ๑๕. สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สพอ.)
 ๑๖. สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ (สปส.)
 ๑๗. กลุ่มสุรินทร์เสวนา
 ๑๘. กลุ่มดอกคูนเสียงแคน จ.ขอนแก่น
๑๙. เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง Healthy forum
๒๐. ชมรมเพื่อนโรคไต แห่งประเทศไทย
๒๑. เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์
๒๒. ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพประชาชน จ.นครราชสีมา
๒๓. เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้
๒๔. เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนสงขลา
๒๕. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
๒๖. ชมรมเพื่อโรคไต จ.ขอนแก่น
๒๗. ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
๒๘.  เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน
๒๙. เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
๓๐.โครงการทามมูน 
๓๑.ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน  จ.ขอนแก่น
๓๒. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ จ.ขอนแก่น
๓๓. เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น
๓๔.สมาคมไทบ้าน
๓๕.เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี / เอดส์ ภาคอีสาน
๓๖. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี / เอดส์เขต ๗ ขอนแก่น
๓๗. สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน
๓๘. เครือข่ายต้านการทุจริตภาคประชาชน จ.นครราชสีมา
๓๙. กลุ่มบุรีรัมย์เสวนา
๔๐. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จ.มหาสารคาม
๔๒. เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขต ๑๐ อุบลราชธานี (มุกดาหาร  อำนาจเจริญ ยโสธร  อุบลราชธานี  ศรีสะเกษ )
๔๓. เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพปทุมธานี
๔๔. เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพพระนครศรีอยุธยา
๔๕.เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพนนทบุรี
๔๖.เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพอ่างทอง
๔๗. เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพลพบุรี
๔๘.เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพเชียงใหม่
๔๙.เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.กาฬสินธุ์ (ขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทย)
๕๐.ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ร้อยเอ็ด
๕๑.ชมรมเครือข่ายสื่อสารสังคมชุมชนกาฬสินธุ์ (องค์กรสาธารณะประโยชน์)
๕๒. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
๕๓. ชมรมชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำน้ำพอง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สหรัฐ-อียู' ยังหวังไทยยึดโรดแมปจัดเลือกตั้งไม่เกิน พ.ย.61

Posted: 25 Jan 2018 12:29 AM PST

พร้อมขอไทยยกเลิกข้อจำกัดมากมายต่อเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มอย่างสงบ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม ตามที่เคยคุยไว้เมื่อ ธ.ค.ปีที่แล้ว

แฟ้มภาพ

25 ม.ค. 2561 จากเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เสนอแก้ไขร่างกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ถัดไปอีก 90 วัน ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาจทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ทันภายในปี 2561 ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเคยประกาศเอาไว้ระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกาว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 แต่เรื่องการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนนายกฯ เป็นฝ่ายบริหาร ดังนั้น เป็นคนละส่วนกัน

ต่อมาวานนี้ (24 ม.ค.61) มติชนออนไลน์ รายงานปฏิกิริยาจากสหรัฐฯ ว่า  จิลเลียน บอนนาร์โด โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ กล่าวว่า จุดยืนเรื่องการเลือกตั้งในประเทศไทยของสหรัฐอเมริกานั้นยังไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐยินดีที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้แสดงพันธกรณีต่อสาธารณชน ในการที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นไม่เกินเดือนพฤศจิกายนนี้

"เรายังรอให้ไทยกลับคืนสู่การบริหารงานโดยรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรื่องนี้จะทำให้สหรัฐสามารถสร้างเสริมความสัมพันธ์ เพื่อที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศที่แข็งแกร่งและเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้"  บอนนาร์โด กล่าว

มติชนออนไลน์ ยังรายงานปฏิกิริยาจากสหภาพยุโรปหรืออียูด้วย โดย เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า  อียูเข้าใจดีถึงความแตกต่างระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเป็นฝ่ายอำนาจที่จำเป็นและเป็นอิสระในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่สหภาพยุโรปสนับสนุนการกลับคืนสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางความท้าทายที่ยังคงเหลืออยู่สำหรับการจัดเตรียมการเลือกตั้งอย่างทันท่วงที หนึ่งในนั้นคือยังคงมีข้อจำกัดมากมายต่อเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มอย่างสงบ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม ดังที่กล่าวไว้ในผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2560 เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกข้อจำกัด เหล่านี้โดยเร็วที่สุด
 
"เราเข้าใจว่ายังคงเป็นไปได้ที่จะมีการจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายให้ความเคารพต่อโรดแมปเพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทยที้ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน สหภาพยุโรปพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศไทยในความพยายามนี้" เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาอาญายกฟ้อง 'รินดา' โพสต์ข่าวลือประยุทธ์โอนหมื่นล้าน ไม่เข้าข่าย 'กระทบความมั่นคง'

Posted: 25 Jan 2018 12:00 AM PST

ยกฟ้องแม่เลี้ยงเดี่ยวเสื้อแดง คดีโพสต์ข่าวลือเมื่อปี 58 หลังตำรวจฟ้องตามมาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำคนตระหนก เป็นคดีความมั่นคง ก่อนหน้านี้เคยฟ้องที่ศาลทหารมาแล้วด้วยมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น แต่ศาลจำหน่ายคดีเหตุไม่เข้าข่ายความมั่นคง

 

รินดา พรศิริพิทักษ์ (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Banrasdr Photo)

25 ม.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญา ถนนรัชดา พิพากษายกฟ้อง รินดา พรศิริพิทักษ์ วัย 44 ปี แม่เลี้ยงเดี่ยวที่โดนข้อหาตามมาตรา 14(2) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีโพสต์เฟสบุ๊คข้อความข่าวลือว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาโอนเงินหมื่นล้านไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจจะกระทบกระเทือนหรืออาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้ถูกพาดพิง แต่ยังไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคง และฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าข้อความเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร

มาตรา 14 (2) ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นราวเดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาลประยุทธ์กำลังเจอกระแสกดดันจากการฝากขังนักศึกษาจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) หลังทหารบุกจับกุมรินดาแล้วส่งต่อให้ตำรวจ มีการจัดแถลงข่าวว่าจะมีการสืบสวนหาเครือข่ายที่เชื่อมโยงต่อไปและเตือนประชาชนไม่ให้กระทำการในลักษณะนี้ 

แรกเริ่มคดีนี้ส่งฟ้องคดีที่ศาลทหารด้วยมาตรา 116 ก่อน ในตอนนั้นรินดาถูกคุมขังในเรือนจำอยู่ 4 วันก่อนได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดศาลทหารและศาลอาญาเห็นร่วมกันว่า คดีไม่เข้าข่ายเป็นคดีความมั่นคง ตามมาตรา 116 เพียงเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทโดยทั่วไป ศาลทหารจึงสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณา แต่แล้วตำรวจได้ยื่นฟ้องเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออีกครั้งต่อศาลอาญา และศาลอาญามีคำพิพากษาในวันนี้  

มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ในรายละเอียดเกี่ยวกับการสืบพยานนั้น คดีนี้ใช้เวลาสืบพยาน 2 วัน พยานโจทก์ได้แก่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) 3 คน พยานจำเลยได้แก่ ตัวจำเลย และสาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งสังเกตการณ์และรายงานการสืบพยานทั้งหมดระบุด้วยว่า การสืบพยานในคดีนี้ แม้ว่าศาลจะไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาคดีลับ แต่ก็ได้สั่งห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างพยานเบิกความต่อศาล

รินดาเบิกความต่อศาลว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง โดยคัดลอกมาจากในไลน์ที่มีการส่งต่อกัน เนื้อหาของข่าวพาดพิงถึงพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีและภรรยาในทางลบ แต่ก็ไม่ได้อ่านละเอียด จนกระทั่งถูกจับกุมแล้วเจ้าหน้าที่ทหารนำมาให้อ่านอีกครั้ง

ตำรวจระบุว่าตรวจพบสเตตัสเฟสบุ๊คของรินดาที่ตั้งการเผยแพร่เป็นสาธารณะ (Public) ในวันที่ 7 ก.ค. 2558 ซึ่งข้อความดังกล่าวโพสต์เอาไว้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.เห็นว่าเป็นข้อความเท็จ ทำให้ผู้อื่นตระหนกตกใจและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงตรวจสอบประวัติบุคคลดังกล่าวแล้วไปร้องทุกข์กล่าวโทษวันที่ 8 ก.ค.ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งว่าศาลทหารได้ออกหมายจับรินดาในวันที่ 9 ก.ค. และยังได้รับแจ้งจาก มทบ.11 ว่าได้จับกุมตัวหลินเอาไว้แล้ว (ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.- ประชาไท) จึงเดินทางไปรับตัวผู้ต้องหามา

นอกจากนี้ทนายความยังได้นำชุดเอกสาร "ผลการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง" ซึ่งเป็นประมวลผลการสืบสวนเกี่ยวกับข่าวลือดังกล่าวและใช้ในการแถลงข่าวมาถามพยานตำรวจด้วย เนื่องจากในเอกสารระบุว่ารินดาเป็น "เป้าหมาย" และการดำเนินการกับเธอเป็น "การป้องปรามบุคคลที่มีแนวคิดต่อต้าน คสช. และนายกรัฐมนตรีโดยตรง" เพื่อลดระดับแนวร่วม และน่าจะส่งผลให้ "เกิดความเกรงกลัวในการเผยแพร่ข้อความที่ไม่เหมาะสม" ในเอกสารดังกล่าวยังมีภาพถ่ายที่รินดาถ่ายกับแกนนำกลุ่ม นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นกลุ่มย่อยต่างๆ แต่ในเอกสารไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลินเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้นอย่างไร ในตอนแรกพยานตำรวจไม่รับว่าเป็นผู้จัดทำ แต่ท้ายสุดก็รับกับอัยการว่าเขาเป็นผู้จัดทำ และเป็นเพียงการสืบสวนวิเคราะห์รายงานต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ได้อ้างอิงหลักฐานเพื่อใช้ในคดี

พยานตำรวจอีกนายหนึ่งยังให้การว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีพล.อ.ประยุทธ์ไปยังธนาคารกสิกร ซึ่งเป็นธนาคารที่ปรากฏในข่าวลือด้วย ปรากฏไม่พบว่าพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาได้เปิดปัญหาที่ธนาคารกสิกร

ด้าน สาวตรี พยานฝ่ายจำเลยได้เบิกความไว้ในหลายประเด็น สรุปความได้ว่า

1.คดีไม่เข้าข่ายความผิดตามฟ้อง เนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา14(2) มีการแก้ไขใหม่ให้ชัดเจนในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า มุ่งไปที่ข้อความเท็จที่กระทบความมั่นคง เนื้อหาของข้อความตามฟ้องกล่าวถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาเท่านั้น และเป็นเพียงข่าวลือที่เรียกร้องให้ช่วยกันตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ฝ่ายอัยการซึ่งเป็นโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความดังกล่าวจะกระทบความมั่นคงอย่างไร และศาลทหาร-ศาลอาญาต่างเคยวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่คดีความมั่นคง

2.การฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทนั้น ผู้เสียหาต้องเป็นผู้กล่าวโทษเอง แต่ไม่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์และภรรยามาแจ้งความดำเนินคดีกับรินดาแต่อย่างใด

3.ฝ่ายโจทก์ไม่ได้นำสืบได้ว่าการโอนเงินของพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ข้อความที่รินดาโพสต์ไม่ได้กล่าวถึงเพียงบัญชีส่วนตัวของคนทั้งสอง แต่ยังได้กล่าวถึงบัญชีที่ทั้งสองคนอาจจะให้บุคคลอื่นไปเปิดบัญชีแทนด้วย แต่จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทยมีเพียงว่าทั้งสองคนไม่ได้เปิดบัญชีกับทางธนาคารเท่านั้น แต่ไม่ได้มีข้อมูลบัญชีของคนอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง และระยะเวลาที่ทำการตรวจสอบก็เพียงแค่วันที่ 5-16 มิ.ย. 2558 เท่านั้น ข้อเท็จจริงที่มีอยู่จึงยังไม่พอจะกล่าวได้ว่าข้อความในสเตตัสของหลินเป็นเท็จหรือไม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น