โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กสทช. เผยยอดขึ้นทะเบียนโดรนทั่วประเทศ ถึงวันที่ 9 ม.ค.61 กว่า 8 พันเครื่อง

Posted: 09 Jan 2018 08:51 AM PST

9 ม.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผย จำนวนการลงทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (โดรน) ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2560 ถึงวันที่ 9 ม.ค. 2561 ณ เวลา 16.00 น. มียอดขึ้นทะเบียนโดรนรวมทั้งสิ้น 8,391 เครื่อง แยกเป็นขึ้นทะเบียนที่สำนักงาน กสทช. 7,685 เครื่อง (สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง 3,813 เครื่อง และส่วนภูมิภาค 3,872 เครื่อง) และขึ้นทะเบียนที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จำนวน 706 เครื่อง

ทั้งนี้ ยอดการขึ้นทะเบียนดังกล่าวยังไม่รวมการขึ้นทะเบียน ณ สถานีตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการขึ้นทะเบียนเพื่อส่งมายังสำนักงาน กสทช.
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุด้วยว่า สำหรับผู้ที่มีโดรนไว้ในครอบครอง หรือใช้งาน ที่ไม่มาขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง 'รักษ์เชียงของ' หวังให้ ปชช. มีส่วนร่วมถกผลกระทบจากเขื่อนมากขึ้น

Posted: 09 Jan 2018 05:23 AM PST

ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง 'รักษ์เชียงของ' หวังปรับกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน ทั้งระดับระหว่างประเทศ และประชาชน นักวิชาการ พร้อมคำถามจีนจะยอมถอยหยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

9 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก เพียรพร ดีเทศน์ บุตรสาว ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ โดย เพียรพร ระบุว่า ตนเองได้สอบถามกับ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ แห่งกลุ่มรักษ์เชียงของ เกี่ยวกับการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง Lancang-Mekong Cooperation (LMC) Leaders' meeting ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.61) ที่กรุงพนมเปญ โดยสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ร่วมเป็นเจ้าภาพ สรุปดังนี้ เมื่อได้รับรู้ข่าวถึงที่ รมว.ต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ในรายงานข่าวว่า จีนยอมถอยเรื่องการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ประเด็นที่น่าสนใจคือ เป็นความรู้สึกที่ดีของพี่น้องชาวบ้านในลุ่มน้ำโขง ที่อย่างไรก็จะยังยืนยันว่าโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์นั้น จะสร้างความเสียหายแก่แม่น้ำโขงอย่างใหญ่หลวง และสร้างความเดือดร้อนให้เรา 

ข้อสรุปของ เพียรพร จากการคุยกับ นิวัฒน์ ระบุด้วยว่า สิ่งที่สำคัญกับพี่น้องในลุ่มน้ำโขง ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เนื่องจากขณะนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่มากมายที่สร้างปัญหาให้แม่น้ำโขง แต่ยังไม่ได้รับการพูดคุยระหว่างรัฐบาลในลุ่มน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะผลกระทบจากเขื่อน ต้องยอมรับว่าเขื่อน ได้สร้างวิกฤติแม่น้ำโขง ทั้งเขื่อนในจีน ที่สร้างไปแล้วถึง 8 เขื่อนในมณฑลยูนนาน และเขื่อนที่จะสร้างเพิ่มบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาแม่น้ำโขงไปสู่ความสมดุล ทั้งส่งเสริมการค้า และการรักษาทรัพยากร จะต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน ทั้งระดับระหว่างประเทศ และประชาชน นักวิชาการ  เพราะที่ผ่านมาโครงการต่างๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำโขง และโครงการเดินเรือหรือระเบิดแก่ง การศึกษาผลกระทบเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถตอบประเด็นปัญหาผลกระทบในภาพรวมที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเพียงการศึกษาเป็นจุดๆ ไม่ได้ศึกษาในภาพรวมของแม่น้ำโขงทั้งลุ่มน้ำ ดังนั้นการยกระดับเพื่อการศึกษา ทำความเข้าใจแม่น้ำโขงร่วมกันในภูมิภาค จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบปัญหาผลกระทบระดับลุ่มน้ำจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ 
 
ปัจจุบัน องค์กรต่างๆที่ ก่อตั้งขึ้นเพื่อบริหารแม่น้ำโขง เช่น คณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ เอ็มอาร์ซี และกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง LMC จะต้องให้ความสนใจ และยกเป็นวาระของการพัฒนาลุ่มน้ำโขงร่วมกัน เพราะที่ผ่านมา เรื่องราวต่างๆ ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการพูดถึงหรือผลักดันแก้ไขปัญหาร่วมกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบควรทำหน้าที่ หยิบยกประเด็นนี้เป็นวาระ 
 
ข้อสรุปของ เพียรพร ระบุด้วยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลจีนเริ่มเข้าใจมากขึ้นในเรื่องผลกระทบจากการที่จีนออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราในฐานะประเทศลุ่มน้ำโขง น่าจะใช้โอกาสนี้ในการปรึกษาหารือ พูดคุยกับรัฐบาลจีน เพื่อยกระดับการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ เผยปรับค่าแรงขั้นต่ำ กำลังหารือ ย้ำต้องไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

Posted: 09 Jan 2018 04:19 AM PST

ประยุทธ์ เผยการปรับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในขั้นตอนการหารือของคณะกรรมการ คาดเร็ว ๆ นี้ จะเสนอ ครม. ย้ำ ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะให้ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ก.แรงงานเผย ระงับการเดินทางผู้มีพฤติการณ์ลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้มากสุด

9 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า เป็นเรื่องการพิจารณาหารือของคณะกรรมการ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแล้ว โดยการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะให้ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ถ้าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงจะขึ้นเท่าไหร่ โดยจะมีการพิจารณาและดำเนินการอย่างเป็นธรรม ขอให้รอฟังผลการพิจารณาหารือ ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ทำความเข้าใจ หากผู้ประกอบการมีความเดือนร้อน รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือหาวิธีการดูแล โดยเฉพาะมาตราการเงินและการคลัง

ก.แรงงานเผย ระงับการเดินทางผู้มีพฤติการณ์ลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้มากสุด

ขณะที่ อนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีคนงานไทยเดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวน 5,732 คน โดยไปทำงานไต้หวันมากที่สุด 2,492 คน รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 368 คน ญี่ปุ่น 335 ฮ่องกง 113 คน ตามลำดับ ขณะที่มีการระงับการเดินทางของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 44 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 46.67 ซึ่งมีจำนวน 30 คน โดยประเทศที่ถูกระงับการเดินทางมากที่สุดเป็นเกาหลีใต้ รองลงมาเป็นบาห์เรน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเชค สิงคโปร์ และกาตาร์ 
 
อนุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการหลอกลวงคนหางานผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ จึงขอย้ำเตือนอีกครั้งว่าการไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงาน มีสัญญาจ้างที่ผ่านการรับรองสัญญาจ้างจากหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองประเทศ ใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการทำงานไม่ได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศจนต้องสูญเสียทรัพย์สินตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ จึงขอให้ตรวจสอบกับกรมการจัดหางานก่อน โดยสอบถามข้อมูล แจ้งเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0-2248-2278 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ พิพัฒน์ธนชัย สระกวี ชายตาบอดผู้ฟ้อง 112 หญิงตาบอด

Posted: 09 Jan 2018 04:15 AM PST

เกิดกระแสความสนใจข่าวจำคุก 1 ปี 6 เดือน หญิงตาบอดโพสต์เฟสบุ๊ค 112 ว่าเป็นความจริงหรือไม่ มีต้นสายปลายเหตุเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้ฟ้อง ฟ้องด้วยเหตุอะไร ประชาไทสัมภาษณ์ พิพัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมประชาคมคนตาบอดไทย ผู้แจ้งความเอาผิด นูรยาฮาตี สาเมาะ หญิงพิการตาบอดผู้ถูกลงทัณฑ์ ม.112


ภาพประกอบจากเฟสบุ๊ค พัฒน์ธนชัย สระกวี

พิพัฒน์ธนชัย  สระกวี ชายผู้พิการทางสายตาวัย 32 ปี ชาวสงขลา รับว่าตัวเองเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีเอาผิด นูรยาฮาตี 

ไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัว มีเพื่อนในกลุ่มคนตาบอดแจ้งมา ผมเห็นว่าเป็นปัญหาก็เลยเป็นคนไปแจ้งความที่ สภ.โชคชัย และหลังจากนั้นก็ได้ส่งหลักฐานบันทึกการแจ้งความไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้มอบให้ผู้แทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี


แล้วได้ติดตามความคืบหน้าไหม?

ผมไม่อยากให้เรื่องมันเงียบไป ผมพยายามติดตามความคืบหน้ามาเรื่อยๆ ตอนนั้นยังมี ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. ผมก็เลยโทรตามที่ รองผู้บัญชาการ ศชต.ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ ทางตำรวจเขาก็มีแนวคิดไม่สั่งฟ้อง แต่คราวนี้ผมเรียนท่านว่าเขาเป็นเพียงแต่คนตาบอด นอกนั้นทุกอย่างก็เหมือนกับคนทั่วไป ไม่น่าจะเป็นเหตุผลให้ไม่ดำเนินคดี

ทางผมเองคิดว่าควรจะสั่งฟ้อง เลยไล่เรียนกับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านในบ้านเมืองนี้ แล้วก็ผู้ใหญ่ท่านก็ให้ความสำคัญ สุดท้ายทางอัยการก็ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ไป ผมอยากเห็นเรื่องนี้ถูกดำเนินคดีเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แจ้งความแล้วหายไป

จริงๆ  ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน แต่ที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นเพราะว่าน้องเค้ารู้เท่าไม่ถึงการ เสพข่าวด้านเดียว


คิดยังไงกับผลการพิพากษา ให้ นูรฮายาตี ต้องโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ?

ผมมองว่าที่ศาลพิพากษาอย่างนี้ชอบแล้ว โทษที่ศาลลงไปนี่ถือว่าท่านปรานีมากเลยนะ จำคุก 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน ผมเข้าใจว่าเหตุหนึ่งที่ท่านไม่รอลงอาญาเนื่องจากว่าท่านมองว่ามันเป็นคดีความมั่นคง ถ้าท่านให้รอลงอาญา วันหน้าก็จะมีคนเอาเยี่ยงอย่าง เพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานเดียวกันน่ะ กฎหมายมันไม่ได้ยกเว้นคนพิการ

ท่านปรานีมากแล้วนะ (พูดซ้ำ) ท่านกรุณาให้สืบเสาะความประพฤติก่อนตัดสิน การทำความผิดก็ให้ลงโทษกันไป ในส่วนการจะช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวก็ช่วยกันไป แต่มันคนละเรื่องกับคนพิการทำความผิดแล้วไม่ต้องลงโทษ ต่อไปผู้ร้ายก็ใช้คนพิการเป็นเครื่องมือกระทำความผิด

ในส่วนการที่จะอุทธรณ์ ในมุมมองของผม ผมมองว่า ศาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วก็ไม่น่าจะไปอุทธรณ์อีก ถ้ายังจะอุทธรณ์ ทางผมก็จะมีความเห็นทำหนังสือถึงอัยการเหมือนกันเพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับศาล สิ่งที่เกิดขึ้น ภาพลักษณ์ของคนตาบอดก็เสียมากพอแล้ว


ในฐานะที่คุณเป็นคนตาบอดด้วยกัน คุณคิดอย่างไร ถ้าจะต้องมีผู้หญิงตาบอดต้องถูกกักขังอยู่ในเรือนจำ ?

คุณต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า คนตาบอดกับคนตาดีมันต่างกันเพียงแค่เขามีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจเพียงบางด้าน ในส่วนของคนตาบอดเขาก็เพียงแค่มองไม่เห็นเหมือนคนทั่วไป อย่างอื่นเขาก็ทำได้

การที่เขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำ มันก็เป็นการปรับปรุงนิสัยเขา มีงานอะไรที่เขาสามารถช่วยเรือนจำได้เขาก็ช่วยได้ครับ  ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรทั้งผู้หญิงผู้ชาย

เรือนจำที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็น่าจะคำนึงถึงผู้หญิงที่เป็นมุสลิมะห์ หรือผู้หญิงที่เป็นมุสลิมอยู่แล้วจึงไม่น่าจะเป็นห่วงอะไร ถ้าเขาไปอยู่ในเรือนจำ ทำตัวดีไม่มีปัญหาอะไร เขาก็จะได้รับการจำแนกชั้นนักโทษ ได้รับการอภัยโทษไปตามขั้นตอน

เรื่องคนพิการติดคุก รายนี้ไม่ได้เป็นรายแรกนะ ก็ไม่เป็นที่ต้องกังวลอะไร แต่สังคมอาจคิดมากหน่อยเพราะเห็นว่าเป็นคนพิการตาบอด เป็นผู้หญิง  แต่จริงๆ แล้ว ถ้าสังคมเข้าใจบริบทของคนพิการว่าเขาเป็นประชากรส่วนหนึ่งของสังคมเพียงแต่บกพร่องด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น


คุณบอกว่าคนพิการถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ คุณไม่รู้สึกสงสารบ้างเหรอ?

ผมคิดว่า พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือคนที่แวดล้อมเขา จะต้องบอกกับเขาว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราอยู่ในประเทศไทย ก็เหมือนกับอยู่ในบ้าน ไม่เคารพพ่อแม่ตัวเอง ไม่เคารพญาติผู้ใหญ่ มันก็ดูเป็นคนอกตัญญู


ตกลงว่าเป็นการอกตัญญูหรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์แน่?

น้องเขารับข้อมูลด้านเดียว ด้วยสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง ประกอบกับน้องเขาเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจมันคงพูดยาก แต่มีความผิดก็ต้องว่ากันไป เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง การลงโทษก็เพื่อให้ได้หลาบจำ ไม่ได้ฆ่าเขาให้ตาย ถ้าเขาพ้นโทษมา แล้วมีความสำนึกผิดสังคมก็พร้อมที่จะให้โอกาสเขากลับตัวเป็นคนดี

สุดท้าย พัฒน์ธนชัยบอกว่า ถ้ามีสื่อมวลชนที่ไหนต้องการสัมภาษณ์ก็ยินดีให้ความร่วมมือ หรือจะให้ไปออกรายการทีวีก็ยินดีที่จะไป

 



ภาพประกอบจาก เฟสบุ๊คแฟนเพจ ไข่แมว

เกี่ยวกับคดี นูรยาฮาตี สาเมาะ

นูรฮายาตี มะเสาะ อายุ 23 ปี เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นคนพิการตาบอดทั้งสองข้างได้รับการศึกษาจากศูนย์การศึกษาพิเศษตาบอด จ.สงขลา ถึงชั้น ป.2 (หลักสูตรสำหรับผู้พิการ) ใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับคนตาบอด (สมาร์ทวอยซ์) โพสต์ความคิดเห็นและคัดลอกบทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ลงในเฟสบุ๊ค หลังข่าวการสวรรคตของ ร.9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559  จนเป็นเหตุให้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตาม ม.112 หมิ่นสถาบันฯ โดยที่ศาลไม่ได้นำเหตุที่จำเลยเป็นผู้พิการทางสายตามาพิจารณาลดหย่อนโทษ เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง

นูรยาฮาตีถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกและตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ทางครอบครัวของเธอได้นำตัวเธอเข้ารายงาตัวต่อเจ้าหน้าที่ตามหมายเรียก แต่ได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวนก่อนจะถูกคุมขังในเรือนจำช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ต่อมานูรฮายาตีให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดยะลาพิพากษาจำคุกเธอเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในวันที่ 4 มกราคม 2561

ปัจจุบันแม้ว่ามีการตัดสินในศาลชั้นต้นแล้ว คดียังไม่สิ้นสุด ทั้งโจทก์และทางจำเลยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยปกติกฎหมายให้สิทธิ์กับโจทก์และจำเลยในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สามารถอุทรณ์ได้ภายใน 1 เดือนและยังให้ขอขยายเวลาในการอุทรณ์ได้ถ้ามีเหตุจำเป็น 


 

 


 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปอท.เรียก 'สายป่าน' รับทราบข้อหา 12 ม.ค.นี้ กรณีมือลั่นโพสต์อวัยวะเพศใน IG

Posted: 09 Jan 2018 01:41 AM PST

ปอท.เรียก 'สายป่าน' เพื่อเตรียมแจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) นำเข้าภาพลามกอนาจาร เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 12 ม.ค.นี้ กรณีมือลั่นโพสต์อวัยวะเพศชายในอินสตราแกรม

ภาพจาก อินสตราแกรม ของ สายป่าน

9 ม.ค. 2561 จากรณี สายป่าน หรือ อภิญญา สกุลเจริญสุข นักแสดงสาว ได้โพสต์รูปภาพที่มีอวัยวะเพศชายในอินสตราแกรม (ไอจี) ก่อนจะรีบลบภาพและออกมาขอโทษผ่านไอจีในเวลาต่อมา แต่ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ส่งต่อจนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากนั้น

ล่าสุดวันนี้ (9 ม.ค.61) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ได้ติดต่อ สายป่าน ให้มาพบพนักงานสอบสวน ในวันศุกร์ที่ 12 ม.ค. 2561 เวลา 13.30 น. เพื่อเตรียมแจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) นำเข้าภาพลามกอนาจาร เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า วานนี้ (8 ม.ค.61) พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 ปอท. เปิดเผยว่า หลังจากได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ดูแลคดีดังกล่าว ตนได้ส่งเรื่องให้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนในกองกำกับการ 3 หาหลักฐาน พยาน ข้อเท็จจริง และพบว่ามีหลักฐานพร้อมที่จะออกหมายเรียกตัว อภิญญา และแฟนหนุ่มของสายป่าน ที่ปรากฏในภาพ มาสอบถามเก็บข้อมูล ซึ่งถ้าพบว่าข้อมูลที่ได้ครบองค์ประกอบความผิดก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป อย่างไรก็ตามในช่วงเย็นวันนี้จะมีการติดต่อไปทาง น.ส.อภิญญา หากไม่สามารถติดต่อได้ก็จะมีการออกหมายเรียกในเร็วๆ นี้ แต่คาดว่าคงต้องให้เวลาในการเตรียมตัว และมั่นใจว่าบุคคลทั้ง 2 จะไม่หลบหนี

ภาพจาก อินสตราแกรม ของ สายป่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา  สายป่าน ได้ออกมาโพสต์ภาพยกมือไหว้ขอโทษ พร้อมข้อความผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว อธิบายถึงเหตุที่เกิดขึ้น ดังนี้ 

"จากกรณีไอจีสตอรี่ที่ป่านลง ป่านต้องขอโทษอย่างที่สุด  ทั้งหมดเกิดจากความไม่ตั้งใจ และขาดความรอบคอบ จนเกิดความผิดพลาด ของตัวป่านเอง ป่านขออนุญาตชี้แจงดังนี้นะคะ

1.ป่านตั้งใจบันทึกสตรอรี่สั้นๆนี้ในไอจีอีกอันที่ป่านใช้เล่นกับเพื่อนๆ 5 คนและตั้งเป็นส่วนตัวเอาไว้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้เห็นอะไรทั้งนั้น
 
2.ป่านไม่ทันสังเกตุว่าในคลิปสั้นๆได้บันทึกอะไรไว้บ้างเพราะป่านเองโฟกัสที่หน้าจอโทรศัพท์ที่อยู่ในมือ
 
3.ทันทีที่รู้ตัวป่านก็รีบลบสตอรี่ดังกล่าว แต่ด้วยความเร็วของโซเชียล ทำให้เรื่องราวถูกแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่ป่านจะแก้ไขอะไรได้อีก
 
ฃทั้งนี้ป่านต้องขอโทษทุกคนอีกครั้งค่ะที่ได้ทำผิดพลาดไป เรื่องทีเกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนให้ป่านทำอะไรอย่างมีสติและรอบคอบทุกครั้งโดยเฉพาะการโพสต์สตรอรี่ ที่เป็นคลิปสั้นๆและลงทันทีแบบนี้ ขอโทษจากใจค่ะ"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทนายอานนท์' เตรียมรับทราบข้อหาดูหมิ่นศาล 10 ม.ค.นี้

Posted: 08 Jan 2018 11:58 PM PST

10 ม.ค.นี้ 'ทนายอานนท์' เตรียมรับทราบข้อหาดูหมิ่นศาล หลังโพสต์เฟสบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้องกับ 'ไผ่ ดาวดิน' เจ้าตัวคาดดำเนินคดีมีมูลเหตุทางการเมือง แต่แปลกที่ดึงเอาอำนาจตุลาการเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งด้วย 

 

9 ม.ค. 2661 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่า อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในทีมทนายความของ 'ไผ่ ดาวดิน' เตรียมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฐานดูหมิ่นศาลและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังโพสต์เฟสบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้องกับ 'ไผ่ ดาวดิน' ในวันที่ 10 ม.ค. 2561 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

คดีนี้ พ.ต.ท.สุภารัตน์ คำอินทร์ แจ้งความต่อ ปอท. ว่า โพสต์เฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2560 ของ อานนท์ เข้าข่ายดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า โพสต์ที่คาดว่าเป็นสาเหตุของการแจ้งความ มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น ในคดีที่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว และนักศึกษาดาวดินรวม 7 คน ถูกตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลจากการวางดอกไม้และอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ซึ่งขณะนั้นถูกคุมขังด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแชร์ข่าวบีบีซีไทย

"ผมคิดว่าการดำเนินคดีครั้งนี้มีมูลเหตุทางการเมือง แต่แปลกที่เขาไปดึงเอาอำนาจตุลาการเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งด้วย ผมคิดว่าทุกโพสต์ที่ผมโพสต์เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ไม่ได้บิดเบือนข้อความหรือข้อมูลในคำพิพากษาแน่ ๆ และโดยส่วนตัวก็เชื่อว่าองค์กรใดที่ใช้อำนาจรัฐควรจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และติชมได้" อานนท์กล่าว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า พรุ่งนี้ (10 ม.ค. 2561) เวลา 10.00 น. อานนท์พร้อมทนายความจะเดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.ณัฐษนัย มงคลกุล พนักงานสอบสวน ปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

สำหรับข้อหาดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 มีโทษจำคุกระหว่าง 1-7 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 - 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในเดือน ม.ค.นี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังรายงานคดีที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพที่สำคัญอีก เช่น วันที่ 25 ม.ค. 61 เวลา 09.00 น. นัดฟังคำพิพากษาคดี รินดา (ขอสงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เฟสบุ๊คที่มีข้อความหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา และ นัดฟังคำพิพากษา วันที่ 29 ม.ค. 2561 เวลา 09.00 น. คดี 5 นักกิจกรรม นักศึกษาและนักข่าวที่บ้านโป่ง เมื่อวัน 10 ก.ค. 2559 กลุ่มนักกิจกรรม นักศึกษาได้เดินทางไปให้กำลังใจประชาชนที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองจากการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่ สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถยนต์ส่วนตัวและพบเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจับกุมและแจ้งข้อหา โดยคดีนี้เจ้าหน้าที่รัฐตีความกฎหมายอาญาอย่างกว้างเพื่อดำเนินคดีจากการครอบครองเอกสารโดยที่ยังไม่มีการแจกจ่าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมานฉันท์แรงงาน' ร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องเลี้ยง 3 คนในครอบครัว-เท่ากันทั้งประเทศ

Posted: 08 Jan 2018 11:09 PM PST

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากลและต้องเท่ากันทั้งประเทศ 

9 ม.ค. 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดแถลงข่าวในหัวข้อ เรื่อง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากลและต้องเท่ากันทั้งประเทศ 

"รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนโดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คนตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น และรัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเพื่ออนาคตของคนงาน พร้อมๆกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง" คสรท. และ สรส. ระบุ
 
รายละเอียดใบแถลงข่าว : 
 

แถลงข่าว เรื่อง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากลและต้องเท่ากันทั้งประเทศ

ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)ได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ดำเนินการทั้งการแถลงข่าว การขับเคลื่อนมวลชน การยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาล แสดงจุดยืนในการปรับค่าจ้างหลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมาพร้อมทำแบบสำรวจสถานะการดำรงชีวิต ค่าจ้าง รายได้ หนี้สิน ของคนงานให้สังคมได้รับทราบ และภายหลังที่ได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็นได้ถูกทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายทุนดาหน้าแสดงอาการไม่เห็นด้วย คัดค้าน และมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ คสรท.และ สรส.หวั่นไหว เพราะทั้งสององค์กรเป็นตัวแทนของคนงาน ทำงานและเคลื่อนไหวกับพี่น้องแรงงานในระดับฐาน ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ไม่พอกินพอใช้ เป็นหนี้ คุณภาพชีวิตตกต่ำ ยากจนค่นแค้น จึงต้องทำหน้าที่แม้จะทำให้บางกลุ่มบางคน กลุ่มทุนบางคน  และรัฐบาลไม่พอใจ ซึ่งคนเหล่านี้ก็ได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เพราะมีพื้นที่ มีช่องทางคลอบคลุม ถึงขั้นกรอกหูสังคมได้เป็นประจำอยู่แล้วโดยไม่ต้องฟังเสียงของคนงาน คนยากจน แต่เฉพาะในส่วนรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ ต้องปรับทัศนคติตัวเองและเข้าใจความเป็นจริงบ้างว่า ผู้ใช้แรงงานคือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ หากแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ไม่ได้จะแก้ปัญหาประเทศชาติได้อย่างไร จะแก้ปัญหาความยากจน จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร
 
ทำไมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเลี้ยงคนครอบครัวได้
 
1. ปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบัญญัติไว้ใน " ข้อ 23(3)ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย"
 
2. อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 131 บัญญัติไว้ใน "มาตรา 3 องค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำ ตราบเท่าที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับแนวปฏิบัติและสภาวการณ์ภายในประเทศต้องรวมถึง
 
(ก) ความจำเป็นของคนงานและครอบครัวของคนงาน โดยคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศ ค่าครองชีพ ประโยชน์ทดแทนต่างๆจากการประกันสังคมและมาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มสังคมอื่นๆ"
 
3. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2560 ได้ "ประกาศให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"
 
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจะพัฒนาประเทศโดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนนำเป็นเรื่องที่ดี "แต่ต้องทำให้จริง ทำให้ได้ อย่างเลือกทำบางเรื่อง ไม่ทำบางเรื่อง เลือกปฏิบัติสังคมไทยสังคมโลกจะประณามว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ดี เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ในหลักสากลว่าต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ก็จะเป็นเครื่องวัดว่า "รัฐบาลจริงจัง จริงใจ ในคำประกาศแค่ไหน" เพราะค่าจ้างปัจจุบัน 4 ราคา คือ 300, 305, 308, 310 บาทนั้นคนเดียวอยูได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่ รัฐบาล กลุ่มทุนและคนที่เห็นต่างลองตอบคำถามดู
 
ทำไมการปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ
 
1. ผลเสียของการปรับค่าจ้างที่ต่างกัน
 
ประการแรก ประเทศไทยเริ่มประกาศเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2516 วันละ 12 บาท และมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละช่วงแต่ละปีเรื่อยมา จนมาถึงปี พ.ศ.2537 รัฐบาลในเวลานั้นประกาศให้ค่าจ้างลอยตัวแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดสามารถปรับขึ้นค่าจ้างเองได้ผ่านคณะอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดแล้วส่งมาให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันของคนงานยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดูจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการเจรจาต่อรองรัฐไทยยังไม่รับรองทั้งๆที่เป็นอนุสัญญาหลักของ ILO ในต่างจังหวัดจึงแทบจะไม่มีองค์กรหรือบุคคลที่เป็นผู้แทนของคนงานอย่างแท้จริงร่วมพิจารณาการปรับค่าจ้าง จึงทำให้ค่างจ้างเหลื่อมล้ำกันมากบางพื้นที่รอยต่อจังหวัดต่อจังหวัดค่าจ้างต่างกันแต่ต้องซื้อสินค้าในราคาเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในการครองชีพแตกต่างกัน และที่สำคัญทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีค่าจ้างสูง ทำให้เกิดเมืองแออัดทั้งสภาพแวดล้อม วิกฤตการจราจร การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ เกิดปัญหาคนจนเมือง ในขณะที่ชนบทล่มสลาย ไม่มีคนหนุ่มสาว ภาคเกษตรไม่มีคนทำงาน ที่ดินถูกยึดครอง สภาพเช่นที่กล่าวมาก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพของประชากร เรื่องทรัพยากร ที่ดิน ซึ่งประเทศไทยตอนนี้ถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก
 
ประการที่สอง กล่าวคือ วันนี้คนงานคนหนึ่งต้องทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเพราะค่าจ้างต่ำในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภค ราคาสูงขึ้นอย่างมาก แม้จะอยู่ในต่างจังหวัดแต่วิถีชีวิตส่วนใหญ่ผูกพันกับร้านสะดวกซื้อซึ่งราคาสินค้าไม่แตกต่างกัน เท่ากันทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ และ บางรายการแพงกว่าในกรุงเทพฯด้วยซ้ำไป แค่เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่างจังหวัดก็แพงกว่ากรุงเทพฯเสียอีก แต่รัฐบาลก็ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะควบคุมราคาสินค้า หรือ กำหนดราคาสินค้าให้อยู่ในกรอบราคาเป็นเขตพื้นที่เหมือนกับค่าจ้าง ซึ่งจะมีข้ออ้างทุกครั้งว่าการปรับค่าจ้างแล้วราคาสินค้าจะขึ้นราคา แท้จริงแล้วในผลิตภัณฑ์สินค้าต่อชิ้นมีค่าจ้างแรงงานที่เป็นต้นทุนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์
 
2. ผลดีหากปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมตามหลักการสากลและเท่ากันทั้งประเทศ
 
ประการแรก จะทำให้แรงงานลดการอพยพคนงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เขตค่าจ้างสูงเพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงานกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบลอจิสติกส์ให้คล่องตัว ดูเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดีไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้คนงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้และสามารถอยู่กับท้องถิ่นชนบท ออกจากโรงงานก็ยังสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสริมได้ ที่ดินก็ไม่ถูกยึดครอง ครัวครัวไม่แตกสลาย
 
ประการที่สอง เมื่อปรับค่าจ้างให้คนงานมีกำลังซื้อ สินค้าที่ผลิตออกมาก็สามารถขายได้ เกิดการจ้างงาน เมื่อคนงานมีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน สถานประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้า รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล และการส่งออก รัฐก็มีรายได้มีเงินจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ อีกด้านหนึ่งเมื่อคนงานมีรายได้เพียงพอก็สามารถวางอนาคตตนเองและครอบครัวได้ เช่นการศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
 
ดังนั้นการปรับค่าจ้างจะมองมิติเดียวแคบๆ ไร้วิสัยทัศน์ไม่ได้เพราะจะทำให้การพัฒนาประเทศไร้ทิศทางไปด้วย คืออุตสาหกรรม กลุ่มทุนเติบโตร่ำรวยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ชีวิตครอบครัวคนงานยากจนลง ก็จะทำให้ประเทศชาติก้าวไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ ก้าวไม่พ้นเรื่องความยากจน ต่อให้กี่รัฐบาล ต่อให้กี่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ก็ยากที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ได้ คณะกรรมการสามานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอประกาศย้ำจุดยืนเดิมและแถลงให้ทราบทั่วกันโดยภาคีเครือข่ายทั่วประเทศว่า 
 
"รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนโดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คนตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น และรัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเพื่ออนาคตของคนงาน พร้อมๆกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง"
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)
9 มกราคม 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.สันติบาลเผย พล.อ.ประวิตรให้ 'นายพล' มารับนาฬิกาแทนถือว่าให้เกียรติเอกชัยมากแล้ว

Posted: 08 Jan 2018 10:10 PM PST

เอกชัย หงส์กังวาน หวังมอบนาฬิกาข้อมือให้พลเอกประวิตร เป็นครั้งที่ 3 แต่ยังไม่สำเร็จ ถูกคุมไปพูดคุยที่ห้องประชุมในสำนักงาน ก.พ.ร. แทน ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลนั่งหัวโต๊ะเจรจา เผยรองนายกฯ ติดประชุมมารับนาฬิกาเองไม่ได้ จึงมอบหมายทหารตำรวจระดับ 'นายพล' มารับแทนเพื่อเป็นการให้เกียรติ ด้านเอกชัยยันจะมอบให้เองกับมือ


ภาพจาก: Banrasdr Photo
 

9 ม.ค. 2561 เวลา 09.41 น. ทำเนียบรัฐบาล (ประตู 4) เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถือกล่องของขวัญลงจากรถเมล์สาย 157 ในทันใดนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งนอกและในเครื่องแบบที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณนั้นได้เข้าควบคุมตัว และเชิญเขาไปที่ห้องประชุมในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) แทน

ทั้งนี้เอกชัยเดินทางมาเพื่อติดต่อขอเข้ามอบนาฬิกาให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากกรณีการใส่นาฬิกาหรูในที่สาธารณะ โดยนาฬิกากว่าสิบเรือนที่ถูกบันทึกอยู่ในภาพข่าวไม่ได้ถูกแจ้งอยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ต้องเสนอ ต่อ ปปช. และมีผู้นำมาเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง

ต่างจากครั้งที่ผ่านมา กิจกรรมในครั้งนี้ เอกชัย ได้นัดหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางโซเชียลมีเดีย ให้ประชาชนนำนาฬิกามามอบให้พลเองประวิตรด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าให้เป็นนาฬิกาเรือนละไม่เกินสามพันบาท เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ครั้งนี้มีประชาชนมาร่วมประมาณสิบคน ซึ่งได้โดนคุมตัวไปอยู่ที่ห้องประชุม ก.พ.ร. ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาลก่อนหน้านี้แล้ว เอกชัย กับโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ นักเคลื่อนไหวการเมืองอีกคนหนึ่งที่มาพร้อมกับแผ่นชาร์ตข้อมูล ภาพ ยี่ห้อ รุ่น และราคานาฬิกาหรูที่ พล.อ.ประวิตรครอบครอง โดยที่ ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวการเมืองได้ติดตามและถ่ายทอดสดการเคลื่อนไหวผ่านทางเฟสบุ๊คไปด้วย

ห้องประชุม ก.พ.ร. เอกชัยได้พบกับ พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และพล.ท.ธนะเกียรติ ชอบชื่นชม ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหัวหน้าชุดเจ้าหน้าที่เจรจา และเป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร ในการรับมอบของขวัญจากเอกชัย

เอกชัยกล่าวว่า กรณีนาฬิกาของ พล.อ. ประวิตร ที่ให้เหตุผลว่า ยืมเพื่อนมา โดยส่วนตัวคิดว่า มันไม่ควรที่จะยืมของใครมาใส่นานๆ โดยเฉพาะเมื่อมีข้อครหาว่านาฬิกาเหล่านี้มันมีราคาที่สูงเกินไป นาฬิกา สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการใช้ดูเวลา มันจะราคาหลักร้อยหลักพันหรือหลักแสนหลักล้านมันก็ดูเวลาได้เหมือนกัน ผมใส่นาฬิกาหลักพันก็ใช้ดูเวลาได้

เอกชัยกล่าวด้วยว่านี่เป็นการมามอบให้เลย ไม่ได้ให้ยืม เพราะว่ายังไม่อยากตาย

"ที่สำคัญที่สุดคือ คนเรามันต้องรักษาเวลา อย่างที่รัฐบาล คสช. บอกในปี 2557 ว่า ขอเวลาอีกไม่นาน 2559 จะเลือกตั้ง ก็ยังไม่เลือก 2560 ก็ยังไม่เลือก 2561 ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เลือกจริงหรือเปล่า ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดมันได้อยู่ที่มูลค่าของนาฬิกา มันอยู่ที่เวลา คุณรักษาเวลาหรือเปล่า 
 
"คนเราทุกคนรวยจนไม่เท่ากัน การศึกษาไม่เท่ากัน ความรู้ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่ทุกคนมีไม่เท่ากันคือว่าเวลา ทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่าๆ กันหมด มันเลยเป็นเครื่องเตือนอย่างหนึ่งว่า ต้องรักษาเวลาด้วย ไม่ให้เอาไว้อวดของมีราคา ถ้าคุณไม่รักษาเวลามันก็ไม่มีคุณค่าอะไรเลย" เอกชัยกล่าว
 

 

จากนั้นพล.ต.ท.สราวุฒิ ระบุว่าการที่มีนายทหาร ตำรวจ ระดับนายพลมารับของขวัญจากเอกชัย ซึ่งเป็นการมอบหมายโดยตรงจาก พล.อ.ประวิตร นั้นถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ให้เกียรติกับเอกชัยมาก จึงขอให้เอกชัยได้มอบของขวัญผ่านตน และจะนำไปมอบให้ พล.อ.ประวิตรต่อไป โดยขณะนี้ พล.อ.ประวิตรกำลังติดประชุม ครม. อยู่จึงไม่สะดวกมารับของเอง พร้อมทั้งขอให้เอกชัยแกะของขวัญให้ดูว่าด้านในกล่องของขวัญเป็นนาฬิกาจริงหรือไม่ พร้อมพูดเล่นว่าเป็นระเบิดหรือไม่ด้วย

ด้านเอกชัย ระบุว่า จะเอากล่องไปสแกนดูก็ได้ถ้าคิดว่าเป็นระเบิด พร้อมทั้งแกะของขวัญออกมาให้ดู โดยด้านในเป็นนาฬิกา ยี่ห้อ Seiko ซึ่งซื้อมาประมาณ 10 ปีแล้วมีราคาที่ป้าย 6,500 บาท แต่ลด 50 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าผ่านมาถึงวันนี้คงมีราคาไม่ถึง 3,000 บาท อย่างไรก็ตาม เอกชัยยืนยันว่า จะไม่มอบนาฬิกาผ่านตัวแทน เพราะไม่ไว้วางใจว่าจะไปถึงมือพล.อ.ประวิตร จริง เนื่องเห็นบทเรียนว่ามีประชาชนหลายคนที่เคยมาร้องเรียนปัญหาในกรณีต่างๆ หลายครั้ง ซึ่งแทบทุกครั้งไม่มักจะไม่ได้รับการตอบสนอง

สำหรับกรณีการตรวจสอบความโปร่งใส ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลกล่าวว่า เรื่องนี้ท่านประวิตรได้แจ้งกับ ปปช. ไปแล้วทุกอย่างกำลังดำเนินการไปตามกฎหมายและกติกา ซึ่งประชาชนก็ต้องเคารพกติกาตรงนี้ด้วย พร้อมถามเอกชัยต่อว่า ราคานาฬิกาทึ่เอกชัยจะมอบให้ราคา 6,500 บาท ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าหนักใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะรับไว้ได้หรือไม่ พร้อมกล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่เอกชัยไม่มอบผ่านตัวแทน เพราะตั้งใจมารับ และทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับการให้เกียรติจากเอกชัย ด้านเอกชัยบอกว่าที่ไม่ให้ก็เพราะไม่ไว้วางใจ และต้องการให้กับมือประวิตร วันนี้ไม่ได้ให้ พรุ่งนี้หรือวันอื่นๆ ก็จะตามหาประวิตรไปจนกว่าจะได้มอบให้กับมือ

ท้ายสุด พล.ท.ธนะเกียรติ สรุปว่าหน้าที่ของตนในวันนี้คือการเป็นตัวแทนมารับมอบของขวัญจากเอกชัย ในเมื่อเอกชัยไม่ยินดีที่จะมอบให้ ก็ถือว่าตนก็ไม่ได้รับ จากนั้นได้ปิดการเจรจาลง และเอกชัย พร้อมประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมด้วยได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบริเวณด้านหน้าสำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามตลอดเวลา 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: กอดรูปจูบกระดาษ

Posted: 08 Jan 2018 09:08 PM PST

แต่กอดรูปจูบกระดาษเฝ้าวาดฝัน
ร้อนอกขวัญไหม้เกรียมแล้วเรียมเอ๋ย
นับนิ้วนับหลับตื่นหมายชื่นเชย
เจ้าลืมเลยลับลาไม่มาเยือน

เห็นแต่รูปเรียมโผล่โชว์กระเป๋า
ลอนดอนเหงาบ้างไหมเจ้าไกลเพื่อน
นกหวีดเร่งขวัญยิก จิกทุกเดือน
เห็นรูปเหมือนยิ่งร้องเหมือนพ่องตาย

อินเตอร์โพลพี่ก็ตาม ถามก็เงียบ
สลิ่มเพี่ยบ พี่ก็หนัก เหมือนรักหน่าย
กอดรูปเรียมรันทดหมดสิ้นอาย
แสนแสบคล้ายแสบแสน..ขวัญแค้นเรียมฯ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พุทธศาสนาไทยกับประชาธิปไตย

Posted: 08 Jan 2018 06:06 PM PST

"ประชาธิปไตยที่ไม่มีธรรมะ คือหายนะมวลรวมประชาชาติ" พระภิกษุผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่งเพิ่งโพสต์ลงฟบ.ของท่าน หลายคนคงนึกถามว่า "แล้วเผด็จการล่ะ?" ระบอบปกครองอะไรก็ตามที่เปิดให้คนคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ใช้อำนาจเด็ดขาดโดยปราศจากการตรวจสอบต่อรองจากใครทั้งสิ้น ยิ่งต้องการธรรมะหรือเครื่องเหนี่ยวรั้งทางใจเสียยิ่งกว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นไหนๆ ทำไมถึงไม่เตือนผู้นิยมเผด็จการ กลับมาเตือนผู้นิยมประชาธิปไตยอยู่ฝ่ายเดียว

คำถามเดียวกันนี้สามารถใช้กับคำกล่าวของพระภิกษุอีกท่านหนึ่ง ซึ่งแม้มรณภาพไปแล้ว ยังมีชื่อเสียงมากกว่ารูปแรกอีกซ้ำ คำกล่าวของท่านมีว่า "เมื่อไม่มีศีลธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว ระบบประชาธิปไตยนั่นแหละเป็นระบบที่เลวร้ายที่สุด"

อันที่จริงไม่ว่าระบบอะไรก็ต้องการศีลธรรมเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น โดยเฉพาะระบบที่ยกอำนาจให้คนๆ เดียวหรือกลุ่มเดียว หากไร้ศีลธรรมเป็นพื้นฐานแล้วย่อมเป็นระบบที่เลวร้ายกว่าประชาธิปไตยแน่

จะว่าคนไทยอยากเป็นประชาธิปไตยนัก จึงต้องเตือนไว้ก่อน ก็ฟังไม่ขึ้นนัก นับตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2475 จนถึงปัจจุบัน เราตกอยู่ใต้อำนาจของระบอบที่เป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบ หรือระบอบเผด็จการทหาร มากเสียยิ่งกว่าได้ลิ้มรสประชาธิปไตยจริงอย่างเทียบกันไม่ได้ หากจะเตือนอะไรใครล่ะก็ ไม่มีใครต้องเตือนมากไปกว่าจอมพลหรือนายพลที่ใช้อำนาจขึ้นไปนั่งบนหัวประชาชน และคำเตือนอะไรก็ไม่เหมาะไปกว่าคำเตือนที่อาจกำกับหรือรอนอำนาจอันไร้ขีดจำกัดของคนเหล่านั้น

เว้นไว้แต่"ธรรมะ"และ"ศีลธรรม"ในเมืองไทย ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงทางสังคม, เศรษฐกิจ, และการเมืองของไทยเลย และนี่แหละคือประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่อาจตั้งมั่นขึ้นได้สักที และจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม พระไทยนั่นแหละคือผู้สนับสนุนเผด็จการที่เหนียวแน่นที่สุดกลุ่มหนึ่ง

"ธรรมะ"หรือ"ศีลธรรม"ที่หมายถึงคืออะไรกันแน่ หากหมายถึงธรรมะและศีลธรรมของพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย ก็เห็นจะไม่ใช่แล้วละ ในสังคมประชาธิปไตยอื่นๆ อีกมากในโลก เขาก็อยู่กันโดยสงบสุขมาได้โดยไม่ได้มีธรรมะและศีลธรรมของพุทธเถรวาทแบบไทย

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ธรรมะหรือศีลธรรมของประเทศประชาธิปไตยเหล่านั้นล้วนไม่เป็นธรรมะหรือศีลธรรมของศาสนาใดทั้งสิ้น เพราะส่วนใหญ่ล้วนประกาศตนเป็นรัฐฆราวาส คือความเชื่อทางศาสนาก็ตาม การจัดองค์กรทางศาสนาก็ตาม ฯลฯ เป็นเสรีภาพของบุคคล ซึ่งรัฐไม่อาจเข้าไปแทรกแซงได้ นอกจากปกป้องเสรีภาพนั้นไว้อย่างเต็มที่

พระไทยอาจกล่าวว่า แม้ไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่โลกเราก็มี"ธรรมะ"และ"ศีลธรรม"อันเป็นสากล ซึ่งบางอย่างก็ตรงกับธรรมะและศีลธรรมทางศาสนา สมมติว่าเราเห็นด้วยว่ามีศีลธรรมที่เป็นสากลจริง ทำไมพระไทยไม่เคยสอนศีลธรรมเหล่านี้บ้าง เช่นความเสมอภาคระหว่างเพศ, ความเท่าเทียมของคน ไม่แต่เพียงเพราะต่างมีศักยภาพจะบรรลุพระนิพพานได้เท่านั้น แต่ควรเข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยเหมือนกัน, การศึกษาที่ดีเหมือนกัน, การรักษาพยาบาลที่ดีเหมือนกัน, มีเวลาและโอกาสที่จะแสวงหาความสุขในชีวิตได้เหมือนกัน, ฯลฯ หรือเสรีภาพในการนับถือศาสนา, แสดงความคิดเห็น, เดินทาง, ประกอบการทางเศรษฐกิจ, เป็นสมาชิกขององค์กร, และเสรีภาพด้านอื่นๆ อีกหลายอย่างที่คนบางกลุ่มเชื่อว่าเป็นศีลธรรมหรือคุณค่าอันเป็นสากลของโลกปัจจุบัน

นอกจากพระไทยไม่สอนหรือไม่พูดเรื่องเหล่านี้แล้ว ท่านยังมักเฉยเมยหรือบางครั้งถึงกับสนับสนุนการล่วงละเมิดศีลธรรมอันเป็นสากลเหล่านี้ด้วยซ้ำ (โดยส่วนตัวซึ่งอาจผิด ผมเชื่อว่าเราสามารถกลมกลืนเอาคุณค่าที่ควรเป็นสากลเช่นนี้เข้ามาในพุทธธรรมได้ด้วย ซึ่งนักคิดชาวพุทธไทยไม่เคยทำ) พระท่านเคยสังเกตหรือไม่ว่า นักบวชหรือผู้นำทางศาสนาของเกือบทุกสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนเคยมีบทบาทออกมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในประเทศของตนเอง เพื่อฟื้นฟูเอกราชของชาติบ้าง ประชาธิปไตยบ้าง เสรีภาพในการนับถือศาสนาบ้าง ยับยั้งอำนาจเผด็จการบ้าง ฯลฯ แต่พระไทยไม่เคยเคลื่อนไหวอะไรในเรื่องเหล่านี้เลย

ที่พูดนี้ไม่ได้ต้องการให้พระเป็นผู้นำการเดินขบวน แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่านักบวชหรือผู้นำทางศาสนาของโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ต้องเผชิญกับ"ธรรมะ-ศีลธรรม"ใหม่ที่อาจไม่ตรงกับ"ธรรมะ-ศีลธรรม"ทางศาสนานัก กลายเป็นปัญหาที่ต้องกลมกลืนเข้าหากัน หรือวางจุดยืนทางศาสนาของตนให้ตั้งอยู่ได้ในสถานการณ์ทางศีลธรรมซึ่งเปลี่ยนไปของโลกปัจจุบัน

โดยสรุปก็คือ"ธรรมะ-ศีลธรรม"ที่พระไทยใช้ในคำกล่าวเพื่อทอนความสำคัญของประชาธิปไตยนั้น ไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะเป็นธรรมะ-ศีลธรรมของพุทธลุ่นๆ โดยไม่ได้ผนวกกลืนเอาศีลธรรมของประชาธิปไตยลงไว้ด้วยเลย

ประชาธิปไตยมีศีลธรรมของตนเองที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา นักการเมืองในระบอบนี้ไม่ได้รับผิดชอบกับพระเจ้าหรือสวรรค์นรกที่ไหน แต่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เขาจะมีศีลธรรมทางศาสนาหรือไม่ก็ตาม ตราบเท่าที่ประชาชนเห็นว่าเขาเป็นตัวแทนที่ดีของตน เขาก็ยังได้รับเลือกตั้งสืบมา

ดังนั้นเสรีภาพในการเสนอและรับข่าวสารข้อมูลจึงเป็นศีลธรรมพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบตัวแทนของเขาได้ ตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่น่าพอใจ ประชาชนก็ต้องมีเสรีภาพในการจัดองค์กรและเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้มีผลต่อรัฐบาลและนักการเมืองได้ เสรีภาพด้านนี้ก็เป็นศีลธรรมพื้นฐานอีกอย่างของประชาธิปไตย ซึ่งจะล่วงละเมิดมิได้... คิดไปเถิด จะเห็นได้เองว่าประชาธิปไตยมี"ธรรมะ-ศีลธรรม"ที่สลับซับซ้อนและจำนวนมากเหมือนกัน ซึ่งไม่อาจทดแทนได้ด้วย"ธรรมะ-ศีลธรรม"ของพระพุทธศาสนา

พระจะพูดถึงประชาธิปไตยโดยละเลยต่อศีลธรรมประชาธิปไตยไม่ได้ อย่าลืมว่ากิจกรรมที่มนุษย์ต้องกระทำต่อคนอื่น ล้วนมีศีลธรรมกำกับทั้งสิ้น และไม่จำเป็นว่าศีลธรรมนั้นจะต้องตรงกับศาสนาเสมอไป ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็น"ธรรมราชา"ในอดีต จำเป็นต้องฆ่าคนก็ฆ่า (ปาณาติบาต) จำเป็นต้องจำขังคนก็จำขัง (ขาดเมตตา) จำเป็นต้องริบราชบาทว์ก็ริบ (อทินนาทาน) ไม่อย่างนั้นจะปกครองบ้านเมืองให้สงบสุข พอที่ผู้คนจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร

เพราะละเลยต่อศีลธรรมของประชาธิปไตยเช่นนี้แหละ ที่ทำให้พระไทยเป็นปราการอันแข็งแกร่งให้แก่ระบอบเผด็จการรูปแบบต่างๆ ในเมืองไทยตลอดมา

ที่น่าเศร้าไม่น้อยไปกว่าพระภิกษุก็คือ แนวคิดด้านสังคมของไทยที่อิงกับหลักพุทธธรรม ดูจะเอื้อต่อระบอบเผด็จการและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเสมอ เช่นทฤษฎีให้อำนาจแก่คนดี หรือสังคมสงบสุขที่ทุกคนเพียงทำหน้าที่ของตนเอง หรือบทบาท หน้าที่และสิทธิ ล้วนมาจาก"อัตภาพ" หรือ"เสถียรภาพ"คือความไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ หรือ"ระเบียบ"ทางสังคมย่อมตั้งอยู่บนฐานของช่วงชั้น

แม้แต่แนวคิดที่ไม่ได้อ้างหลักพุทธธรรมโดยตรง แต่อิงกับหลักความสามัคคีแบบพุทธไทย ก็มีส่วนเอื้อให้แก่ระบอบเผด็จการ เช่นทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา (ซึ่งกลายเป็นประชารัฐในปัจจุบัน) เพราะสามด้านของสามเหลี่ยมคือรัฐ-เอกชน-ประชาชนถูกเสนอให้ประหนึ่งเป็นเนื้อเดียวกันหมด ในขณะที่ในความเป็นจริง ใครๆ ก็รู้ดีว่า ที่เราเรียกว่า"รัฐ"นั้นประกอบด้วยหน่วยงานจำนวนมากที่ขัดแย้งกันเอง และแย่งอำนาจกันเอง จนไม่สามารถประสานงานกันทำอะไรได้สักอย่าง ที่เรียกว่าเอกชนหรือภาคธุรกิจ ยิ่งแข่งขันกันอย่างหนัก ซ้ำเป็นการแข่งขันที่ไม่สร้างสรรค์ด้วย เพราะไม่ได้อาศัยการพัฒนาเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน แต่อาศัยการเข้าถึง"เส้น"ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อชิงข้อได้เปรียบจากอำนาจรัฐ ส่วนประชาชนไทยไม่ได้เป็นชาวนาขนาดเล็กที่ผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองอีกแล้ว แต่เข้าสู่ตลาดด้วยบทบาทที่แตกต่างหลากหลาย และขัดแย้งกันเอง

หากมองจากความเป็นจริง สามเหลี่ยมเดียวที่อาจเขยื้อนภูเขาได้คือประชาธิปไตย ซึ่งเปิดให้ความขัดแย้งปรากฏเป็นสาธารณะ แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่สามด้านที่ไม่มีความขัดแย้งภายในหันหน้ามาร่วมมือกันด้วยความสามัคคีคือภาพของนิทานชาดก ซึ่งต้องมีพระโพธิสัตว์มากำกับด้วยธรรมะ-ศีลธรรมเท่านั้น

โดยสรุปก็คือ พุทธธรรมถูกใช้ในเมืองไทยโดยไม่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ทั้งพระและฆราวาสช่วยกันวางท้องเรื่องของปัจจุบันและอนาคตของไทย เหมือนเป็นชาดกนอกนิบาตอีกเรื่องหนึ่ง (หรือหลายเรื่อง) แต่ละเรื่องล้วนเอื้อให้ระบอบเผด็จการรูปแบบต่างๆ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในสังคม และทำให้นักประชาธิปไตยกลายเป็นคนบาปหรือคนพาล (คนโง่)

พุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาของเจ้าชายที่มีกำเนิดในรัฐที่เป็นสาธารณรัฐ กลับถูกนักปราชญ์ไทยทำให้กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตยไปอย่างมั่นคงแน่นอน

ในฐานะชาวพุทธ นี่เป็นเรื่องน่าสลดอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง


ที่มา: www.matichon.co.th (แก้ไขเพิ่มเติมบางข้อความโดยผู้เขียน)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การข้ามเพศ: การเดินทางจากเพศที่สามสู่โลกชายจริงหญิงแท้

Posted: 08 Jan 2018 05:40 PM PST


 

"เพศที่สาม" ถือว่าเป็นคำที่คนไทยแทบทุกคนคุ้นเคย และอาจใช้กันโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพื่ออธิบายคนกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างจากชายจริงหญิงแท้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเพศที่สามในสังคมไทย มีอิสระในการแสดงออกความเป็นตัวของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าสิทธิเสรีภาพทางด้านกฏหมายของไทยยังไม่เทียบเท่าประเทศพัฒนาบางประเทศก็ตาม ในปัจจุบันคนไทยบางส่วนอาจได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์เพศจิปาถะ ศัพท์วิชาการ ศัพท์ใหม่ ศัพท์วัยรุ่น ที่นอกเหนือไปจาก กะเทย ทอม ตุ๊ด สาวประเภทสอง เช่น เชอร์รี่ อดัม ทอมเกย์ กะเทยเลสเบี้ยน ไปจนถึง ผู้หญิงข้ามเพศ และ ผู้ชายข้ามเพศ ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งคำศัพท์เหล่านี้ยังคงถูกใช้ปะปนกันอยู่ เช่นในกรณีของ ตุ๊ดกับกะเทย หรือ ทอมกับผู้ชายข้ามเพศ แต่คำเรียกเพศแต่ละคำนั้น ต่างมีนัยยะสำคัญของตนเอง

ประเด็นของที่มาของการเป็นเพศที่สาม กะเทย ตุ๊ด ทอม และเพศอื่นๆ ยังคงเป็นที่ถกเถียงและพูดคุยอยู่ว่า มันเกิดจากธรรมชาติ การขัดเกลาทางสังคม หรือ เวรกรรมในอดีตชาติ ซึ่งบทความของผมไม่ได้ต้องการจะหาคำตอบและชี้เจาะจงว่า ท้ายที่สุดแล้ว "การข้ามเพศ" มีที่มาจากปัจจัยอะไร ผมเชื่อว่าตัวตนของแต่ละคนนั้นมีองค์ประกอบและปัจจัยที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นไปได้ว่า ธรรมชาติ การขัดเกลาทางสังคม หรือแม้แต่เวรกรรม ก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้เราเป็นสิ่งที่เราเป็นในทุกวันนี้ จุดที่ผมสนใจในบทความนี้มุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงของความรู้ ค่านิยม และวัฒนธรรมเกี่ยวกับการข้ามเพศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านจิตวิทยา และปรัชญาสังคมศาสตร์ทำให้ การข้ามเพศ ไม่ใช่หยุดอยู่ที่การกบฏต่อค่านิยมชายจริงหญิงแท้ แต่พัฒนาสู้การปรับเปลี่ยนตนเองเพื่ออยู่ในสังคมร่วมกับสังคมชายจริงหญิงแท้ได้มากขึ้น ซึ่งในบทความนี้ผมยกกรณีศึกษาของบุคคลข้ามเพศในไทยและญี่ปุ่น เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการข้ามเพศในบริบทของสังคมที่แตกต่าง แต่กลับมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจ


ไทย: จาก "กะเทย" สู่ "บุคคลข้ามเพศ"

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสังคมไทยได้ให้พื้นที่กับเพศที่สามอย่างกว้างขวาง เราเห็นกะเทย สาวประเภทสอง ตุ๊ด ทอม ได้อย่างทั่วไปบนพื้นที่สื่อ ตั้งแต่ภาพยนตร์ ซีรีย์ โฆษณา มิวสิควิดีโอ ไปจนถึงรายการโทรทัศน์อื่นๆ อย่าง The Face ที่ได้ขยายพื้นที่ให้สาวประเภทสองสามารถร่วมประกวดร่วมกับ "หญิงแท้" ได้ ส่วนในระดับระหว่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและต่อต้านการรักเพศเดียวกันและการข้ามเพศ ประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติจึงกลายเป็น ดินแดนแห่งกะเทย หรือ ladyboy ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Hangover II ที่ใช้ฉากนางโชว์ "กะเทยมีงู" มาแสดงลักษณะพิเศษของประเทศไทย หรือแม้แต่มุขตลกในเว็บไซต์ 9gag ซึ่งหลายคนมักจะแซวว่าผู้หญิงไทยที่สวยและน่ารักอาจจะเป็นกับดัก (trap) เพราะ นางๆ ทั้งหลายอาจจะไม่ใช่หญิงแท้ก็ได้

กะเทยไทยแม้ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่กะเทยก็อาจจะพ่ายแพ้ให้กับความไม่เท่าเทียมภายในบ้านของตนเอง ถึงแม้ว่าพื้นที่ในสังคมของกะเทยเหมือนจะมีอยู่กว้างขวาง แต่ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่เหล่านั้นมีขอบเขตจำกัด ท้ายที่สุดบุคคลที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตเยี่ยงกับชายจริงหญิงแท้ยังคงประสบอุปสรรคในการรับสิทธิเสรีภาพเท่ากับคนกลุ่มอื่น เช่นการถูกจำกัดโอกาสในการสมัครงาน และการไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านอื่นๆ (UNDP & USAID, 2014, pp. 7-9) ในทางสังคมแม้คนไทยจำนวนหนึ่งจะเอ็นดูกะเทย แต่ความเอ็นดูนั้นถูกตีกรอบด้วยความเชื่อที่ว่า กะเทยและเพศที่สามเป็นผู้สร้างเสียงหัวเราะ ตัวประหลาด และตัวตลก (Ünaldi, 2011, p. 64)  คุณนิติ ชัยชิตาทร (2559) หรือป๋อมแป๋ม ได้ตั้งข้อสังเกตบนเวที Ted Talk ไว้ว่า สังคมไทยมักเข้าใจ เด็กเนิร์ด คนอ้วน และกะเทย ในฐานะที่พวกเขาเป็น "ตัวประกอบ" ที่ขาดมิติความเป็นมนุษย์ ซึ่งในบางครั้ง พวกเขาอาจจะไม่ได้สนุกสนานตลอดเวลา ไม่ได้รู้สึกดีที่คนอื่นจะหัวเราะเยาะ และอาจจะไม่ได้พร้อมที่จะเป็นตัวตลกในสายตาใคร ส่วนในทางพุทธศาสนาหลายคนทราบดีว่า เพศที่สามเป็นตัวแทนของผู้กระทำผิดศีลข้อที่สาม คือ การเป็นชู้ การพรากผัวพรากเมียผู้อื่น (Jackson, 1997, p. 64; Winter, 2011, p. 253; Sinnott, 2012, p. 466; นฤพล ด้วงวิเศษ, 2557) ดังนั้นตามความเชื่อนี้ พวกเขาจึงเกิดมาอาภัพรัก ประสบอุปสรรคทางความรัก สังคมไทยได้ตีตราว่าเพศที่สามเป็นแค่ตัวสำรอง ท้ายที่สุดชายจริงหญิงแท้ที่เป็นคู่ของพวกเขา จะตัดสินใจเดินทางไปเพื่อสร้างครอบครัว มีลูก เช่นเดียวกับที่ชายหญิง "ปกติ" ทำกัน สังคมยังสร้างอคติว่าเพศที่สาม จะสามารถรักษาความรักได้ก็ต่อเมื่อมีเงินไว้เปย์คู่ของตัวเองเท่านั้น หรือไม่ก็ใช้เงินซื้อความสุขทางเพศชั่วครั้งชั่วคราว แต่จะไม่มีวันตามหารักแท้ได้เหมือนชายจริงหญิงแท้

ข้อจำกัดทางด้านสิทธิ และการถูกตีกรอบให้มีตัวตนในฐานะประชากรชั้นสอง ทำให้คนที่ถูกจัดประเภทให้เป็นเพศที่สามเข้าใจว่าทางออกเดียวที่พวกเขาจะมีชีวิตที่ดีในสังคมได้ คือ ความพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับบทบาทของชายจริงหญิงแท้ เช่นในกรณีของ กะเทย สาวประเภทสอง และผู้หญิงข้ามเพศ ความงามถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อรองเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม (นฤพล ด้วงวิเศษ, 2557) ยิ่งสวยเท่าไหร่ ยิ่งเหมือนผู้หญิงมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะได้รับพื้นที่ในสังคมมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาเองจึงพยายามวิ่งหนีจากภาพของ "กะเทยควาย ลามก ตลก แต่งตัวขาดๆ เกินๆ" ให้ไกลมากที่สุด เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลข้ามเพศ เราคงมองข้ามความพยายามของคุณ ยลลดา สวนยศ และสมาชิกในสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย (ซึ่งภายหลังเป็นสมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย) ที่ทำให้คำว่า "ข้ามเพศ" เป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมไทย จุดยืนของคุณยลลดายังชี้ให้เห็นว่านอกเหนือไปจากมุมมองเรื่อง "ชายใจหญิง" ที่ใช้อธิบายกะเทยในประเทศไทยนั้นยังมีความรู้อื่น คือ gender identity disorder (GID) หรือภาวะความไม่พอใจในเพศตัวเองในการอธิบายการข้ามเพศได้ GID ถูกยกขึ้นมาเป็นฐานในการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มบุคคลข้ามเพศเพื่อต่อรองกับรัฐและสังคมว่า พวกเขาควรได้รับความช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขาได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับบุคคลกลุ่มอื่น 

ถึงแม้ว่าการนำเสนอแนวคิดเรื่องการข้ามเพศตามกรอบ GID ในช่วงแรกจะได้รับแรงต่อต้านอย่างมาก เพราะเป็นการยกให้ผู้หญิงข้ามเพศเท่าเทียมกับผู้หญิงซึ่งถือว่าขัดกับมุมมองดั้งเดิมในสังคมไทย แต่ถือได้ว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเสียงหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยที่ถูกเชื่อว่า เปิดกว้างและยอมรับคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ไม่ได้เปิดกว้างและให้การยอมรับพวกเขาอย่างที่หลายคนคิด และทำให้กิดการถกเถียง พูดคุย เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อการข้ามเพศอีกครั้ง นอกเหนือไปจากผู้หญิงข้ามเพศ ในปัจจุบันสื่อไทยได้ขยายความสนใจไปถึงผู้ชายข้ามเพศมากขึ้น ถึงแม้ว่ายังคงมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างทอมกับผู้ชายข้ามเพศได้ แต่สังคมไทยเริ่มมองเห็นการมีตัวตนของพวกเขามากขึ้น เช่นในกรณีล่าสุดของคุณนวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือเกรซ ตัดสินใจที่จะขอใส่ชุดรับปริญญาชาย ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญครั้งหนึ่งที่ดึงความสนใจจากสื่อได้ ทำให้คนในสังคมได้มีโอกาสคิดเกี่ยวกับประเด็นสิทธิในการแต่งตัวให้ตรงกับเพศสภาวะของตนเอง และยังเป็นการเพิ่มความตระหนักของกลุ่มชายข้ามเพศในสังคมไทยมากขึ้นด้วย


ญี่ปุ่น: จากโลกใต้ดินสู่โลกเบื้องบน

จากสายตาคนนอก ญี่ปุ่นดูเหมือนเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่แหวกแนวในเรื่องเพศ ตั้งแต่ เซ็กส์ทอย ภาพยนตร์เอวี บาร์โฮสต์ บาร์สำหรับชายแต่งหญิง ไปจนถึงกระแสสาววาย หรือ ร็อคเกอร์ชายแนววิชัวร์ (Visual Style ヴィジュアル系) ที่ทั้งแต่งหน้าและแต่งหญิง อย่างไรก็ตามถ้าถามคนไทยที่ได้มีโอกาสอยู่ในสังคมญี่ปุ่นเป็นระยะเวลานานจะพบว่า ในความเป็นจริงแล้วสังคมญี่ปุ่นมีระเบียบเคร่งครัด และไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนญี่ปุ่นจะใช้ชีวิตนอกค่านิยมชายจริงหญิงแท้ อันเนื่องมาจากว่าสังคมญี่ปุ่นไม่ได้มีแนวคิดเรื่องตัวตนที่ชัดเจน คนญี่ปุ่นถูกปลูกฝังให้มองตนเองเป็นอณูเล็กๆ ในสังคมมากกว่าที่จะปัจเจกบุคคลที่มีอิสระจากกันและกัน พวกเขาจะมีตัวตนในสังคมได้นั้น ก็ต่อเมื่อเขาสามารถทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากสังคมได้สำเร็จ ความหวาดกลัวหนึ่งของคนญี่ปุ่นคือ การถูกตัดขาดสายสัมพันธ์จากผู้อื่นและการไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Kelly, 2001, p. 174; McLelland, 2005, pp. 5-6; Lebra, 2007, p. 111; Wieringa, 2007, p. 25) ค่านิยมทางสังคมนี้จึงส่งผลให้ความล้มเหลวส่วนบุคคลเช่น การสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยที่ดี การหางานไม่ได้ กลายเป็นปัญหาส่วมรวมที่จะทำลายรากฐานที่มั่นคงของสังคมญี่ปุ่นได้ ด้วยสาเหตุนี้คนญี่ปุ่นจึงต้องแบกรับความคาดหวังของสังคมไว้ที่ตัวเอง ความเครียดดังกล่าวถูกแสดงออกผ่านปัญหาทางสังคมในญี่ปุ่นจำนวนมาก เช่น ฮิคิโคะโมะริ (引きこもり) หรือผู้ที่ปลีกตัวออกจากสังคม อันเนื่องมาจากความละอายที่ตนเองไม่สามารถทำตามความคาดหวังของสังคมได้ (Cassegård, 2013, pp. 181-182) ยังไม่รวมถึงอัตราการตายเพราะทำงานหนักเกินไป (คะโรชิ 過労死) หรือ อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงอันเนื่องมาจากความล้มเหลวจากการเรียนและการทำงาน รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยทางเพศที่ได้รับแรงกดดันจากสังคมรอบข้างให้ทำตามค่านิยมชายจริงหญิงแท้ (Inochi Respect White Ribbon Campaign, 2014, p. 12) และเมื่อพวกเขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การฆ่าตัวตายกลายเป็นทางออกเดียวที่พวกเขานึกออกเพื่อหนีจากความเครียดเหล่านั้น เมื่อพูดถึงคนข้ามเพศแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพบกะเทยหรือทอมเดินปะปนกับคนกลุ่มอื่น อย่างที่เราเห็นในสังคมไทย

ญี่ปุ่นเองมีภาพลักษณ์ของกะเทย หรือ โอะคะมะ (オカマ) และ นิวฮาล์ฟ (ニューハーフ) ไม่ได้แตกต่างจากกะเทยของไทยมากนัก พวกเขาคือผู้ที่ให้ความบันเทิง สร้างเสียงหัวเราะ ความประหลาดใจ และให้ความสุขทางเพศกับลูกค้าบางกลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศชอบชายแต่งหญิง หรือ ผู้หญิงมีงู ด้วยสาเหตุนี้กะเทย ทอม ชายแต่งหญิง หญิงแต่งชาย จึงมีอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเองได้แค่ในวงการบันเทิงหรือในโลกกลางคืนเท่านั้น โลกของเพศที่สามจึงไม่ต่างจากโลกใต้ดินซึ่งจะครื้นเครงในเวลากลางคืนและเงียบเหงาในเวลากลางวัน กลายเป็นชุมชนที่ถูกแยกออกจากสังคมญี่ปุ่นอย่างชัดเจน และจนถึงทุกวันนี้ความรู้ความเข้าใจของคนญี่ปุ่นที่มีต่อการข้ามเพศนั้นยังถือว่าน้อยมาก อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นเข้าใจว่าการข้ามเพศคือการแสดงเพื่อความบันเทิงนั้นอาจจะต้องมองย้อนไปถึงรากฐานทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเอง ในภาษาญี่ปุ่นคำว่า "เกะ-อิ" (芸 - げい) ซึ่งแปลว่า ศิลปะแขนงต่างๆ พ้องเสียงกับคำว่า "เกะ-อิ" (ゲイ) หรือ "เกย์" ที่เป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษในการเรียกชายรักชาย (McLelland, 2003, p. 208, p. 212) ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งจึงมองว่าการเป็น "เกย์" หรือการแต่งหญิง เลียนแบบกิริยาของผู้หญิง เป็นศาสตร์แสดงแขนงหนึ่ง ไม่ต่างจากการแสดงคาบุคิ (歌舞伎) ซึ่งผู้ชายแต่งตัวและแสดงบทบาทของผู้หญิงบนเวทีได้ เช่นเดียวกับการแสดงของคณะละครหญิงล้วนทะคะระซุคะ (宝塚歌劇団) ที่ผู้หญิงจะเล่นบทและแต่งตัวเป็นผู้ชายได้  การข้ามเพศจึงได้รับการยอมรับในฐานะการแสดงเป็นหลัก ในขณะที่ในพื้นที่จริงในสังคมคนข้ามเพศไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่การผ่าตัดแปลงเพศเคยผิดกฏหมายในญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1965 (McLelland, 2003, p. 208, pp. 212-213) การผ่าตัดแปลงเพศถูกมองว่าเป็นการทำให้ผู้ชายหมดประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์โดยไม่จำเป็น และถูกใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสาวประเภทสองหรือทอมที่ทำงานขายบริการทางเพศเท่านั้น

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนข้ามเพศญี่ปุ่นได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญในก่อนที่จะเข้า ค.ศ. 2000 แนวคิดเรื่อง GID กระจายไปถึงญี่ปุ่นและทำให้บุคคลข้ามเพศหลายคนได้รับข้อมูลและความรู้ใหม่เกี่ยวกับการข้ามเพศที่แตกต่างจากความรู้ในอดีต ตอนนี้พวกเขารับรู้แล้วว่า พวกเขาไม่ใช่เพศที่สาม ไม่ใช่ชายใจหญิงหรือหญิงใจชาย แต่คือผู้ป่วยที่เกิดมาพร้อม "สภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ" (เซโดอิทซึเซ โชไก 性同一性障害) (McDemott, 2013, p. 191) เมื่อญี่ปุ่นได้ยอมรับความรู้เกี่ยวกับ GID การผ่าตัดแปลงเพศจึงกลับมาถูกต้องตามกฏหมายอีกครั้งในฐานะขั้นตอนการรักษาให้กับผู้ป่วย GID ญี่ปุ่นจึงเป็นกรณีศึกษาพิเศษที่คนข้ามเพศในญี่ปุ่นยอมรับสถานะตัวเองในฐานะผู้ป่วยหรือผู้มีความผิดปกติ ในขณะที่คนข้ามเพศในประเทศอื่นๆ พยายามอธิบายว่าการข้ามเพศของตัวเองนั้นไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต (Nakamura, 2012, p. 6, pp. 12-14; McDemott, 2013, p. 180) เช่น ในกรณีที่กะเทยและสาวประเภทสองบางส่วนไม่ยอมรับแนวคิดเรื่อง GID ของกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ ความสำคัญของ GID ในญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดอยู่ที่การทำให้การผ่าตัดแปลงเพศกลับมาถูกกฏหมายอีกครั้ง แต่มันยังทำให้คนข้ามเพศในญี่ปุ่นสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนกลุ่มอื่นในสังคมได้ จากการพูดคุยกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในญี่ปุ่นบางส่วนพบว่า สังคมญี่ปุ่นยอมรับ "สภาวะความผิดปกติ" (โชไก) ได้มากกว่าการรักเพศเดียวกัน จึงทำให้สังคมญี่ปุ่นยอมรับผู้ป่วย GID ได้ดีกว่าชายรักชายหรือหญิงรักหญิง แนวคิด GID ได้สนับสนุนให้คนข้ามเพศบางส่วนสร้างความแตกต่างของพวกเขาจาก เกย์ สาวประเภทสอง และทอมที่ทำงานโลกกลางคืน (Mitsuhashi, 2006, p. 202, p. 219; McDermott, 2013, pp. 218-219) นอกจากนั้นกลุ่มการเคลื่อนไหวของคนข้ามเพศในญี่ปุ่นที่สนับสนุน GID ประสบความสำเร็จในการให้รัฐยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพศในทะเบียนครอบครัว (โคะเซะคิ 戸籍) ของคนข้ามเพศได้ (Nakamura, 2012, p. 6, pp. 12-14; McDermott, 2013, p. 180; Amnesty International, 2017, p. 5)


การเดินทางสู่โลกชายจริงหญิงแท้

ถึงแม้พื้นฐานมุมมองต่อการข้ามเพศ และการตอบรับความรู้ใหม่เกี่ยวกับ GID ในไทยและญี่ปุ่นจะแตกต่างกัน การเคลื่อนไหวของคนข้ามเพศที่ต้องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตนเองนั้น ดูเหมือนจะดำเนินไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่านักเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศในไทยและญี่ปุ่นจะอธิบาย GID ว่าเป็นสภาวะทางจิตที่เกิดตามธรรมชาติและน่าจะเกิดขึ้นได้กับประชากรทุกกลุ่ม แต่ดูเหมือนว่าอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศจะถูกผูกโยงกับคุณสมบัติบางประการ คือ ความสมัยใหม่ ความเป็นตะวันตก และ ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ ผมเคยมีโอกาสพูดคุยและสัมภาษณ์สมาชิกจำนวนหนึ่งของสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ผู้หญิงข้ามเพศไม่จำเป็นจะต้องสวยเหมือนผู้หญิงและมีกิริยามารยาทเหมือนผู้หญิงเสมอไป ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นมองตัวเองว่าเป็นเพศไหน ถ้าหากเขาคิดว่าเขาเป็นผู้หญิงและรู้สึกกระอักกระอ่วมที่จะต้องใช้ชีวิตในร่างผู้ชาย แต่งตัวเป็นผู้ชาย เขาก็คือผู้หญิงข้ามเพศ เช่นเดียวกับกรณีของผู้ชายข้ามเพศที่แม้จะเกิดในร่างกายผู้หญิงแต่ถ้าหากเขาคิดว่าเขาเป็นผู้ชายมากกว่าที่จะเป็นแค่สาวหล่อ เขาก็คือผู้ชายข้ามเพศ อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับกะเทยและสาวประเภทสองบางส่วนเมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่า อัตลักษณ์ของ "ผู้หญิงข้ามเพศ" ถูกตีกรอบด้วยความงามบนบรรทัดฐานว่า คนๆนั้นจำเป็นจะต้องสวยเหมือนหญิงแท้ และสามารถใช้ชีวิตไม่แตกต่างจากผู้หญิง ซึ่งกะเทยและสาวประเภทสองบางส่วนเชื่อว่าพวกเขาแตกต่างจากทั้งชายจริงและหญิงแท้ จึงทำให้พวกเขาเชื่อว่า "ผู้หญิงข้ามเพศ" อธิบายตัวตนของพวกเขาไม่ได้

ถึงแม้ว่าผู้หญิงข้ามเพศและผู้ชายข้ามเพศเชื่อว่าตัวตนของพวกเขาเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และปัจจัยทางด้านการศึกษาและเศรษฐกิจไม่ได้กำหนดตัวตนของพวกเขา อัตลักษณ์ของพวกเขาถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ใหม่และไม่คุ้นเคย เพราะคำศัพท์เหล่านี้เติบโตมาพร้อมกับความรู้ทางการแพทย์ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ของตะวันตก แนวคิดเรื่อง GID ให้คำอธิบายเรื่องการข้ามเพศแตกต่างไปจากความเชื่อเดิมๆ อย่างในกรณีของประเทศไทย เรื่องเวรกรรม เพศที่สาม กะเทย หญิงใจชาย ชายใจหญิงเป็นคำอธิบายที่คนไทยคุ้นเคยมาเป็นระยะเวลานานกว่า ด้วยความไม่คุ้นเคยนี้ทำให้คำว่า "คนข้ามเพศ" ถูกจำกัดในวงการของวิชาการและการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งโดยส่วนมากคือผู้ที่ได้รับโอกาสที่ดีทางการศึกษาหรือสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จากตะวันตกได้ ข้อจำกัดในการเข้าถึงสังคมในวงกว้างของอัตลักษณ์ใหม่ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าไม่ใช่ชนชั้นกลาง ถ้าการศึกษาไม่สูง ถ้าไม่ได้ทำงานในวงการเฉพาะทางเกี่ยวกับ queer แล้ว คนๆนั้นจะเป็น หญิงข้ามเพศ หรือ ชายข้ามเพศ ได้หรือไม่? ผมเชื่อว่าผู้หญิงข้ามเพศและผู้ชายข้ามเพศยังประสบอุปสรรคอยู่มาก ที่จะให้คนในสังคมไทยทั้งชายจริงหญิงแท้และเพศที่สามยอมรับคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับการข้ามเพศว่าเป็นเรื่องทั่วๆไป ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดทางการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาวะในไทย ซึ่งทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการข้ามเพศของไทยอาศัยสื่อกระแสหลักมากกว่า โดยที่สื่อกระแสหลักเองก็ไม่ได้เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการข้ามเพศที่มีประสิทธิภาพเสมอไป

ในกรณีของญี่ปุ่น ความแตกต่างระหว่าง กะเทย ทอม และคนข้ามเพศนั้นมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้คนที่ผ่าตัดแปลงเพศอย่างสมบูรณ์เท่านั้นได้รับสิทธิในการเปลี่ยนเพศตนเองในทะเบียนครอบครัว และสามารถใช้ชีวิตตรงตามเพศของตนเองได้ นั่นหมายความว่าสิทธิทางกฏหมายนี้ไม่ได้กระจายไปสู่ผู้ที่มองว่าตัวเองว่าเป็น เพศที่สาม เช่น นิวฮาล์ฟ (ครึ่งชายครึ่งหญิง) ไม่ใช่ทั้งชายและหญิงอย่างเอ็กซ์เจนเดอร์ (x-gender) ในเวลาเดียวกันการใช้ชีวิตในฐานะคนข้ามเพศในญี่ปุ่นได้อย่างสมบูรณ์จึงต้องอาศัยเงินจำนวนมหาศาลเพื่อทำให้การแปลงเพศสมบูรณ์ก่อนที่จะสามารถเปลี่ยนเพศของตนเองตามกฏหมายได้ ในบางกรณีคนข้ามเพศในประเทศญี่ปุ่นต้องเดินทางมาทำการผ่าตัดแปลงเพศในประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งถือว่ามีเทคโนโลยีการผ่าตัดแปลงเพศที่พัฒนาและค่าใช้จ่ายไม่สูงจนเกินไป อย่างไรก็ตามการเดินทางเพื่อมาผ่าตัดแปลงเพศก็อาศัยค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าการเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายให้กับเอเจนซี่ที่ดูแลติดต่อเรื่องการเดินทาง  (Yuen, 2017) ดังนั้นอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศ (transgender - トランスジェンダー) จึงถูกผูกโยงกับความสามารถทางเศรษฐกิจในการเข้าถึงเทคโนโลยีในการผ่าตัดแปลงเพศ การรักษาด้วยฮอร์โมน และองค์ความรู้ทางการแพทย์จากตะวันตกที่แตกต่างไปจากความเข้าใจเกี่ยวกับการข้ามเพศเดิมๆ ในประเทศญี่ปุ่น      

ถ้าหากวิเคราะห์ในเชิงสังคมศาสตร์ วิวัฒนาการของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของความรู้เกี่ยวกับการข้ามเพศ ส่งผลให้อัตลักษณ์ทางเพศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปตามบริบทสังคมในช่วงเวลาต่างๆ ทั้งในกรณีของไทยและญี่ปุ่นก่อนที่ทั้งสองประเทศจะได้รับความรู้เกี่ยวกับ GID การข้ามเพศคือการข้ามจากเพศชายและหญิงไปสู่เพศที่สามซึ่งไม่สามารถเป็นทั้งชายและหญิงได้ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2000 เป็นต้นไป การข้ามเพศถูกแสดงออกมาในสองมิติคือ 1) จากชายเป็นหญิง หรือจากหญิงเป็นชาย และ 2) จากเพศที่สามสู่ชายจริงหญิงแท้ ปฏิเสธไม่ได้วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีขยายขอบเขตการจินตนาการของเรามากขึ้น และทำให้เราค่อยๆ เห็นว่าในปัจจุบันการข้ามเพศจากเพศหนึ่งไปอีกเพศหนึ่งนั้นมีความเป็นไปได้ ดังนั้นสิทธิเสรีภาพสำหรับบุคคลที่ข้ามเพศไปแล้วจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้น ด้านหนึ่งการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิของคนข้ามเพศในไทยและญี่ปุ่นมุ่งหวังให้คนข้ามเพศมีความแตกต่างจากประชากรส่วนใหญ่น้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะเพิ่มความเท่าเทียมในสังคม อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่งการที่คนข้ามเพศค่อยๆ ปรับตัวเองให้อยู่ในสังคมชายจริงหญิงแท้อย่างเต็มตัว และค่อยๆ ตีตัวออกห่างจากกลุ่มเพศที่สาม ความกำกวมทางเพศ อาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าท้ายที่สุด ไม่ว่าเราจะเกิดมาในร่างใด หรือเราจะตัดสินใจที่จะข้ามไปอีกเพศหรือไม่ เราไม่สามารถเป็นอิสระจากกรอบค่านิยมชายจริงหญิงแท้ได้

 

 

อ้างอิง

Amnesty International (2017). Human Rights Law and Discrimination Against LGBT   People in Japan. Retrieved from https://www.amnesty.org/download/
DocumentsASA2259552017ENGLISH.PDF

Cassegård, C. (2013). Youth Movements, Trauma and Alternative Space in     Contemporary Japan. Brill.

Inochi Respect White Ribbon Campaign. (2014). LGBTの学校生活に関する実態調  査 (2013) 結果報告書. Inochi Respect White Ribbon Campaign. Retrieved    from http://endomameta.com/schoolreport.pdf.

Jackson, P.A. (1997). Thai Research on Male Homosexuality and      Transgenderism and the Cultural Limits of Foucaultian Analysis.     Journal of the History of Sexuality, 8(1), 52-85.

Jackson, P. A. (2011). Capitalism, LGBT Activism, and Queer Autonomy in     Thailand In P. A. Jackson (Ed.), Queer Bangkok - 21st Century Markets,    Media, and Rights. (pp. 195-204). Hong Kong: Hong Kong University    Press.

Kelly, V. E. (2001). Peer Culture and Interaction - How Japanese Children     Express Their Internalization of the Cultural Norms of Group Life     (Shudan Seikatsu). In H. Shimizu, & R. A. LeVine (Eds.), Japanese     Frames of Mind - Cultural Perspectives on Human Development.  (pp.    170-201). Cambridge University Press.

Lebra T. (2007). Identity, Gender, and Status in Japan. Global Oriental.

McDermott, N. (2013). Resistance and Assimilation - Medical and Legal     Transgender Identities in Japan. In B. Steger, & A. Koch (Eds.), Manga    Girl Seeks Herbivore Boy: Studying Japanese Gender at Cambridge.    (pp. 179-226). LIT Verlag Münster.  

McLelland, M. J. (2003). Living More "Like Oneself", Journal of Bisexuality. 3(3/4),   203-230.

McLelland, M. J. (2005). Salarymen Doing Queer: Gay Men and the      Heterosexual Public Sphere in Japan. In M. J. McLelland, & R.     Dagupta (Eds.), Genders, Transgenders and Sexualities in Japan. (pp.    96-110). Routledge.

Mitsuhashi, J. (2006). The Transgender World in Contemporary Japan: the     Male to Female Cross-dressers' Community in Shinjuku (K. Hasegawa,    Trans.). Inter-Asia Cultural Studies. 7(2), 202-227.

Nakamura, K. (2012). Trans/Disability, Queer Sexualities, and Transsexuality from a   Comparative Ethnographic Perspective. Retrieved from http://www.p.u-
tokyo.ac.jp/cbfe/activity/doc/05_doc1_20120119.pdf

Sinnott, M., (2012). Korean-Pop, Tom Gay Kings, Les Queens and the     Capitalist Transformation of Sex/Gender Categories in Thailand. Asian    Studies Review, 36(4), 453-474.

UNDP, & USAID (2014). Being LGBT in Asia: Thailand Country Report. Bangkok.    Retrieved from https://www.usaid.gov/sites/default/files/documents/1861/   Being_LGBT_in_Asia_Thailand_Country_Report.pdf

Ünaldi, S. (2011). Back In the Spotlight - The Cinematic Regime of      Representation of Kathoeys and Gay Men In Thailand. In P. A. Jackson    (Ed.), Queer Bangkok - 21st Century Markets, Media, and Rights. (pp.    59-80). Hong Kong: Hong Kong University Press.

Wieringa, S. E. (2007). Silence, Sin, and the System: Women's Same-Sex     Practices in Japan. In S. E. Wieringa,  E. Blackwood, & A. Bhaiya     (Eds.), Women's Sexualities and Masculinities in Globalizing Asia. (pp.    23-45). New York: Palgrave Macmillan.

Winter, S. (2011). Transpeople (Khon kham-phet) in Thailand -       Transprejudice, Exclusion, and the Presumption of Mental Illness. In P. A.    Jackson (Ed.), Queer Bangkok - 21st Century Markets, Media, and Rights.    (pp. 251-267). Hong Kong: Hong Kong University Press.

Yuen, S. M. (2017, July). Politics of Trans Mobility - Japanese Female-to-Male    Transgender Medical Travellers in Thailand. Paper presented at the Inter-Asia  Cultural Studies Conference 2017, Sungkonghoe University, Seoul.

นิติ ชัยชิตาทร. (2558, กันยายน 2). โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง [ไฟล์วิดีโอ]. จาก    https://www.youtube.com/watch?v=48A9SU6_bQ8

นฤพล ด้วงวิเศษ. (2557). วิพากษ์ "ความเป็นหญิง" ของหญิงในร่างชาย.      จาก http://www.sac.or.th/main/content_detail.php?   
content_id=782.
 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล เป็นนักศึกษาปริญญาเอก จาก University of Auckland ปัจจุบันกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับเพศวิถี วัฒนธรรม ความหลากหลายในสังคมผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยและญี่ปุ่น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธิปไตยไทยวันนี้... ไม่ได้อยู่กับการเลือกตั้ง

Posted: 08 Jan 2018 05:16 PM PST

 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการปกครองตามระบอบที่ควรจะเป็น อย่างที่รู้ๆกันว่า การมอบอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยต่อรัฐบาลก่อนหน้า คสช ได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2557 แม้ว่ารัฐบาลชุดนั้นมีความตั้งใจที่จะคืนอำนาจอันพึงมีนั้น ให้กับประชาชน แต่ก็ถูกขัดขวาง จากการประท้วงของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "มวลมหาประชาชน" จนการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะในที่สุด

หลังจากการเลือกตั้งผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน การรัฐประหาร ครั้งที่ 13 ก็เกิดขึ้นและถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ค่อยจะน่าจดจำสักเท่าไร หลังจากนั้นประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ในขณะที่ประเทศอื่นก้าวไปไกล และรวดเร็ว เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต พัฒนาคิดค้นสิ่งต่างๆ ที่ทันสมัยมากมาย เมื่อย้อนดูประเทศไทย ประเทศไทยก็ยังคงพัฒนาอย่างช้าๆ และยังไม่มีวี่แววที่จะคืนอำนาจอธิปไตยนั้นให้กับประชาชนชาวไทย แม้ว่าที่ผ่านมา อาจมีหลายๆสิ่งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้จริง แต่จะเห็นได้ว่าไม่ตอบโจทย์คนหลายกลุ่ม เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(บัตรคนจน) โดยแท้จริงแล้ว บัตรคนจน ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมอันเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ให้กับคนในประเทศยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน ขณะที่คนมีรายได้ระดับกลางหรือรายได้สูง ไม่มีสิทธิ์ได้นั่งรถเมล์ฟรีในกรุงเทพ เช่นเดิม หรือรับสิทธิ์ลดครึ่งราคาเหมือนผู้ใช้บัตรคนจนทั้งๆที่จ่ายภาษีเช่นเดียวกันทั้งๆที่ คนมีรายได้ระดับกลางหรือรายได้สูงเสียภาษีให้กับประเทศเหมือนกันและมากกว่าผู้มีรายได้น้อย

 มีคำกล่าว อดีตนายกเทศมนตรี เอนริเก เปญาโลซา ว่า "เมืองที่พัฒนาแล้วจะไม่ใช่เมืองที่คนจนทุกคนหันมาใช้รถ แต่เป็นเมืองที่คนรวยทุกคนหันมาใช้ขนส่งมวลชน"1 เพียงแค่คำกล่าวสั้นๆนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าระบบขนส่งมวลชนเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บ่งบอกว่าประเทศนั้นๆมีการพัฒนา และมีการจัดการ การคมนาคมได้เป็นอย่างดีตอบสนองคนในสังคมและแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในประเทศที่สามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนของประเทศโดยได้รับการจัดสรรการปฏิบัติเสมอกัน อันเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำหรับประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย

การที่ประเทศที่ได้ชื่อว่า พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ รัฐให้ความสำคัญในเรื่องการจัดสวัสดิการ(Welfare state) คือสร้างความมั่นคงและจัดสรร สวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีมาตรฐานที่ดีที่สุด คำนึงถึงความเสมอภาคของคนในสังคมโดยไม่เจาะจงว่าต้องเป็น คนจนเท่านั้น การวัดความยากจนนี้ ทำให้ลดคุณค่าความเป็นคนโดยเพียงแค่นำเส้นแบ่งทางรายได้มาวัดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคน สำหรับประเทศไทยยังคงจัดเป็น สวัสดิการโดยรัฐ (State welfare) ที่ประชาชนยังคงมีความเหลื่อมล้ำกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รายได้ คุณภาพชีวิต สิทธิ และโอกาสต่างๆ ประเทศไทยมักจะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เช่น การแจกผ้าห่ม ในช่วงฤดูหนาวมักแจก เฉพาะคนที่มีรายได้น้อยหรือขาดแคลน เท่านั้นซึ่งทำให้การจัด สวัสดิการ ของรัฐคนทุกคนไม่เสมอภาคกันเหมือน รัฐสวัสดิการ

นอกจากนี้คนทำบัตรคนจนในต่างจังหวัดได้รับสิทธิ์ในการลดราคาในระบบขนส่งมวลชนจริง แต่น้อยมากที่ผู้ทีอยู่ตามชนบทจะได้ใช้ ซึ่งไม่ตอบโจทย์สำหรับคนส่วนใหญ่ มีเพียงแต่เงินเดือน 300 บาทที่ได้รับอย่างแน่นอนกับสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ มิเพียงแต่เท่านี้บางคนไม่มีความซื่อสัตย์ (อันเป็นลักษณะพื้นฐานที่ติดตัวของคนไทยบางคน) เห็นแก่ประโยชน์ของตน สวมรอยทำบัตรดังกล่าวแม้ว่าฐานะจะดีแต่ได้รับบัตรนี้อย่าง่ายดาย จะเห็นได้ว่าปูพื้นฐานประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี  มองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมแม้แต่นิดเดียว

ที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างคือ เรื่องค่านิยม 12 ประการ เป็นสิ่งที่เด็กๆ หลายคนท่องจำจนขึ้นใจแต่หลายๆข้อ ผู้ใหญ่ยังไม่สามารถแสดงให้เด็กดูได้ ออกข่าวจนรู้สึกเอือมละอาที่จะเปิดโทรทัศน์หรือสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีข่าวอาชญากรเต็มไปหมด ข่าวทุจริตคอรัปชั่น ความไม่ซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ของผู้มีอำนาจ นักการเมือง ทหาร ตำรวจ รวมไปถึงหลายสาขาอาชีพที่มักจะมีการรายงานตามแหล่งข่าวต่างๆ

ในข้อเรียนรู้อธิปไตยของประชา คือ ไม่มีให้เรียนรู้เพราะหลายๆคน ไม่ทราบว่า อำนาจอธิปไตยคืออะไร จนถึงวันนี้ ปีพุทธศักราช 2561 กล้าที่จะพูดว่า ประชาชนชาวไทย มากกว่า 4 ล้านคนไม่ทราบว่าอำนาจอธิปไตยคืออะไร การเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีคนจำนวนหนึ่งที่ตระหนักถึงการใช้สิทธิพื้นฐานของตน ในการเลือกผู้แทนราษฎรหรือรัฐบาลที่เลือกโดยการพิจารณาไตร่ตรอง และคำนึงถึงการพัฒนาประเทศเป็นหลัก แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกเพราะปัจจัยต่างๆ ยกตัวอย่างการเปรียบเทียบพฤติกรรมการออกเสียง A General model of voting ²

1. ภูมิหลังเศรษฐกิจสังคม ครอบครัว (Social context) สำหรับประเทศไทยจริงๆ ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีคนจนเป็นจำนวนมากและมีคนรวยจำนวนหนึ่งซึ่งช่องว่างของรายได้เหลื่อมล้ำกันมาก มีคนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง หากพูดให้เห็นภาพอย่างชัดเจนคือ การที่ครอบครัวคนจนเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งโดยพ่อเลือกเบอร์ 1 ทุกคนในบ้าน หรือวงศาคณาญาติ ก็อาจจะเลือกเบอร์ 1 เช่นเดียวกัน และเห็นได้ชัดเจนมากในแถบชนบทที่มีการลงคะแนนเสียงดังนี้ แต่ชนชั้นกลางก็จะค่อนข้างมีเหตุผลของตัวเอง มีความรู้หรือแนวคิดที่ก้าวหน้ากว่ามาโต้แย้งกันได้

2. ความนิยมในตัวพรรค (Party idenfication) ประเทศไทยมีความชัดเจนเป็นอย่างมาก แบ่งเป็น กีฬาสีของประเทศอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่า 2 พรรคใหญ่ จะมีคนที่เชื่อหรือมีอุดมการณ์ร่วมกับพรรคๆ นั้น เมื่อพรรคนั้นลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งใดก็ตั้งใจจะเลือกพรรคนั้นตลอด

3. ปัจจัยด้านพรรค (Government and Party action) วิปรัฐบาลค่อนข้างได้เปรียบเพราะเป็นผู้ควบคุมงบประมาณ บริหารจัดการงบ และจัดทำนโยบายหากทำได้ดี ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การเลือกตั้งครั้งหน้ารัฐบาลชุดนี้ก็จะได้รับความนิยมได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง แต่ถ้าทำผิดพลาด ทุจริตขึ้น หรือถูกฝ่ายค้านโจมตี หรือถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ความนิยมของพรรคก็จะเปลี่ยนไป ในส่วนของประเทศไทยนั้นจะมีวงจร อิจฉาริษยา เกิดขึ้นกับรัฐบาล หากพรรคใหญ่พรรคหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลขึ้นก็จะเกิดการประท้วง หรือปิดสถานที่ราชการขึ้น จนในที่สุดอำนาจอธิปไตย ตกไปอยู่ในมือของ ท.ท....

4. ปัจจัยด้านสื่อ (Media context) สื่อเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนมากในยุคสมัยนี้ จะเห็นได้ว่า ข่าวบางข่าวไม่ได้เป็นเรื่องจริงแต่มีการเผยแพร่เกิดขึ้น เช่น ในโลกออนไลน์ หลายๆคนมักเชื่อถือข่าวเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย และสื่อมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะ จะมีการพูดสนับสนุนพรรคตลอดเวลาในทางกลับกันมักโจมตีและเสียดสีพรรคตรงข้ามอยู่เป็นประจำ ดังนั้นเมื่อผู้รับสื่อเป็นแฟนคลับช่องไหน ก็จะเลือกพรรคนั้น

จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งมีปัจจัยต่างๆ ทั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่มีการวางรากฐานหรือเตรียมการ การเลือกตั้งของไทยก็มีความบกพร่องในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดๆนั้น ความพร้อมของประชาชน ปัจจัยต่างๆที่มีอิทธิพลต่อประชาชน ก็ส่งผลในการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ไม่ใช่การมอบอำนาจให้กับรัฐบาลเพื่อมาพัฒนา ดูแล ประเทศชาติอย่างแท้จริงแต่เป็นการนึกถึงผลประโยชน์ของตนมากกว่า เช่น ต้องการเอาชนะ ต้องการนโยบายประชานิยม หรือที่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งคือ การเลือกตั้งเพราะได้รับค่าจ้าง ของคนไทยบางคนเมื่อได้เงินแล้วจึงออกไปใช้สิทธิ์ของตนอย่างสนุกสนานโดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น

 การเลือกตั้งจะไม่มีความหมาย หากคนไทยไม่มีความรู้ การศึกษา และไม่ตระหนักถึงสิ่งที่ควรจะมี ควรจะเป็นแม้ว่าการเลือกตั้ง จะเป็นอำนาจอันพึง แต่ถ้าหากมีแล้วใช้ในทางผิดๆ อย่างที่ผ่านมาก็จะทำให้สังคมไทยมักมีรัฐบาลที่อยู่ไม่ครบวาระ4 ปี อย่างที่ผ่านมา รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้อาจจะไม่เลือกตั้งในปีนี้ตามที่เคยกล่าวไว้ หากจะดำรงตำแหน่งอยู่ถึง10-20ปี ก็ควรจะออกนโยบายหรือสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับปวงชนชาวไทยเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง มิใช่ออกนโยบายเอาใจคนไทยอย่างเช่นทุกวันนี้ที่ไม่รู้ว่าคืนความสุขให้ใครกันแน่

 

เชิงอรรถ

1 รถเมล์ สัญลักษณ์ประชาธิปไตยในเชิงปฏิบัติ. (n.d.). Retrieved from https://www.ted.com/talks/enrique_penalosa_why_buses_represent_democracy_in_action/transcript?utm_source=directon.ted.com&awesm=on.ted.com_g0RNQ&share=1758b59b4a&utm_medium=on.ted.com-none&language=th&utm_content=roadrunner-rrshorturl&utm_campaign=

2 เชียงกูล, ร. (2560). การปฏิวัติประชาธิปไตยคนไทยควรรู้อะไร. กรุงเทพ: ISBN.


เกี่ยวกับผู้เขียน: อนินท์ญา ขันขาว เป็น นศ.ชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แครี เกรซี บ.ก.บีบีซีจีน ลาออกประท้วงค่าจ้างเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ

Posted: 08 Jan 2018 05:06 PM PST

แครี เกรซี บรรณาธิการสำนักข่าวบีบีซีจีนลาออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วงเรื่องการจ่ายค่าจ้างไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศพร้อมเขียนจดหมายชี้แจงในเรื่องดังกล่าว

แครี เกรซี ทำงานกับบีบีซีมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปีแล้ว แต่ล่าสุดเธอก็ลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการฝ่ายจีนเนื่องจากไม่พอใจที่ไม่มีการจัดการปัญหาค่าจ้างไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย เธอกล่าวหาว่าบีบีซีมี "วัฒนธรรมการจ่ายค่าแรงที่ปิดลับและผิดกฎหมาย" โดยบอกว่าบีบีซีมีการจัดการที่ละเมิดกฎหมายความเท่าเทียมเนื่องจากจ่ายค่าแรงให้กับคนทำงานเพศชายแตกต่างจากผู้หญิงอย่างมาก จากข้อมูลรายงานประจำปีของบีบีซีเอง

"ด้วยความน่าเสียดาย ฉันออกจากตำแหน่งของตัวเองในฐานะบรรณาธิการฝ่ายจีนของบีบีซีเพื่อบอกกับประชาชนให้รับทราบถึงวิกฤตศรัทธาต่อองค์กรบีบีซี" เกรซีระบุในจดหมายเปิดผนึกที่ระบุถึงสาเหตุของการลาออก มีการเปิดเผยจดหมายฉบับนี้เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา

ในจดหมายของเกรซียังระบุอีกว่าตัวเธอเองไม่ได้เรียกร้องอยากได้รับเงินเดือนมากขึ้นเพราะเธอเชื่อว่าตัวเองได้รับเงินเดือนดีพอแล้ว เพียงแต่เธอต้องการเรียกร้องให้บีบีซีเคารพในกฎหมายความเท่าเทียมระหวางเพศ และให้คุณค่าของเพศชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกัน

จากเมื่อปีที่แล้วมีนักข่าวหญิงและผู้จัดรายการที่มีชื่อเสียงในบีบีซีหลายคนเรียกร้องความเท่าเทียมกับพนักงานหญิง เมื่อพิจารณารายงานประจำปีแล้วเห็นว่ามีช่องว่างค่าจ้างสูงมากระหว่างหญิงและชายโดยที่ดาราในบีบีซี 2 ใน 3 ที่ได้รับค่าแรงมากกว่า 150,000 ปอนด์ (ราว 6,500,000 บาท) เป็นผู้ชาย แต่เกรซีก็ไม่พอใจที่ผู้จัดการบีบีซียังคงปฏิเสธว่าไม่ปัญหาเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ

"ในเรื่องการจ่ายค่าจ้าง บีบีซีไม่สามารถทำได้ในระดับที่อ้างไว้เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อมั่น, ความซื่อตรง และความโปร่งใส การเปิดเผยเรื่องเงินเดือนที่บีบีซีถูกบีบให้เผยออกมาเมื่อ 6 เดือนที่แล้วไม่เพียงแค่พวกคนที่เป็นพรีเซนเตอร์และผู้จัดการระดับสูงจะได้รับค่าจ้างที่สูงลิ่วอย่างยอมรับไม่ได้ แต่ยังมีช่องว่างค่าจ้างระหว่างชายและหญิงที่ทำงานเท่าๆ กันด้วย" เกรซีระบุในจดหมาย

ตามกฎหมายความเท่าเทียมปี 2553 ของสหราชอาณาจักรระบุว่าผู้หญิงและผู้ชายที่ทำงานเท่ากันควรจะได้รับค่าจ้างเท่ากัน แต่เกรซีก็เปิดเผยในจดหมายว่าผู้ชายสองคนที่ทำงานเป็นบรรณาธิการนานาชาติได้รับค่าจ้างมากกว่าผู้หญิงสองคนในตำแหน่งเดียวกันถึงร้อยละ 50 โดยได้ทราบจากข้อมูลประจำปีงบประมาณ 2560

เกรซีเปิดเผยอีกว่าเธอพยายามเรียกร้องให้บีบีซีจ่ายค่าแรงเท่ากันระหว่างเพศแต่ทางบีบีซีกลับเสนอจะขึ้นค่าแรงให้เธอซึ่งก็ไม่มากพอจะเรียกว่าเท่ากับชาย ทางบีบีซีอ้างว่าที่จ่ายค่าแรงไม่เท่ากันเพราะมี "ความแตกต่างระหว่างบทบาท" แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า "บทบาทที่แตกต่าง" ที่ว่าคืออะไร นั่นทำให้เธอออกจากบรรณาธิการฝ่ายจีนและกลับไปทำงานในห้องข่าวเหมือนเดิมโดยหวังว่าจะมีการจ่ายค่าแรงเท่าเทียมกันระหว่างเพศ

เกรซีระบุอีกว่ายังมีผู้หญิงที่ทำงานในสำนักข่าวจำนวนมากที่ไม่ใช่ "ดาราดัง" ที่มีค่าตัวสูงๆ แต่เป็นฝ่ายผลิตที่ทำงานหนัก หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติยิ่งถูกเลือกปฏิบัติด้านค่าแรงมากกว่าคนอื่นๆ

"มันเป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติด้านค่าแรงและมันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย" เกรซีระบุในจดหมาย

อย่างไรก็ตามโฆษกของบีบีซีแถลงปฏิเสธปฏิเสธข้อกล่าวหาของเกรซี ในถ้อยแถลงระบุว่าการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญ และอ้างว่าเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรแล้วพวกเขามีค่าจ้างที่เท่าเทียมกันมากกว่าระหว่างชายหญิงอีกทั้งยังให้กรรมการอิสระมีส่วนตรวจสอบบัญชีของพนักงานระดับล่างพบว่า "ไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิง"

อย่างไรก็ตามมิเชลล์ สตานิสตรีท เลขาธิการของสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติสหราชอาณาจักรกล่าวว่าการออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วงของเกรซีไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะเธอไม่ยอมที่จะนิ่งเฉยต่อการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างใหญ่หลวงในบีบีซี

นอกจากนี้ยังมีผู้แสดงการสนับสนุนเกรซีจำนวนมากในทวิตเตอร์รวมถึงนักข่าวบีบีซีด้วยแฮชแท็ก #IStandWithCarrie จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการใช้ #BBCWomen ประท้วงในเรื่องค่าจ้างมาก่อน

สื่อบีบีซีเองรายงานว่าจากข้อมูลของปีที่แล้วแสดงให้เห็นการที่ผู้ชายในบีบีซีได้รับค่าแรงมากกว่าหญิงร้อยละ 10.7 เมื่อคิดตามค่าเฉลี่ยของค่าแรงต่อชั่วโมง

 


เรียบเรียงจาก

A Top BBC Journalist Has Quit As China Editor And Accused The Corporation Of Having A "Secretive And Illegal" Pay Culture, Buzzfeed, 08-01-2018
https://www.buzzfeed.com/markdistefano/a-top-bbc-journalist-has-quit-as-china-editor-and-accused

BBC China editor Carrie Gracie quits post in equal pay row, BBC, 08-01-2018
http://www.bbc.com/news/uk-42598775

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น