โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

Nike พึ่งไหวตัวเรียกร้องโรงงานกัมพูชาเคารพสิทธิการรวมตัว แต่ปัดไม่เกี่ยวเรื่องการจ่ายค่าแรง

Posted: 31 May 2013 07:35 AM PDT

 

 
คลิปการประท้วงของคนงานในโรงงาน Sabrina จ.กำปงสปือ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา 
 
 
31 พ.ค. 56 - หลังจากที่เกิดเหตุสลายการชุมนุมการนัดหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานในประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nike ก็ได้ออกมาแสดงวิตกกังวลต่อการใช้กำลังตำรวจสลายการประท้วงของกลุ่มคนงานครั้งนี้
 
รายงานข่าวระบุว่ามีคนงานบาดเจ็บมากกว่า 20 คน หลังจากตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เพื่อยุติการหยุดงานประท้วงเรื่องค่าจ้างที่โรงงาน Sabrina ใน จ.กำปงสปือ ทางตะวันตกของกรุงพนมเปญ โดยโรงงานแห่งนี้เป็นผู้รับจ้างผลิตให้แก่แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Nike และ Lululemon Athletica 
 
โดย CNN ระบุว่าคนงานกว่า 4,000 คนของโรงงานดังกล่าว ได้หยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าแรงเพิ่มให้แก่คนงานอีกเดือนละ 14 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 420 บาท) จากที่ได้รับเพียง 74 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,220 บาท)
 
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากสหภาพแรงงานที่ระบุว่า ในการปะทะส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บที่เป็นหญิงตั้งครรภ์และแท้งลูกหลังจากถูกผลักล้มลงอีกด้วย
 
ต่อกรณีนี้ Nike แบรนด์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาแถลงโดยระบุว่าตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Code of Conduct) ของบริษัทนั้น บริษัทผู้ที่ผลิตสินค้าให้ Nike จะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของคนงาน แต่ในแถลงการณ์ก็ยังระบุว่าคนงานที่ออกมาเรียกร้องเป็นคนงานของโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าให้ Nike ไม่ใช่คนงานที่ Nike จ้างโดยตรง ซึ่งเรื่องค่าจ้างต่างๆ โรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าย่อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง 
 
ทั้งนี้แม้ว่ากัมพูชาจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา 20% โดยคนงานที่ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่รับตัดเย็บเสื้อผ้าให้บรรษัทข้ามชาติจะถูกปรับค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนจาก 61 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นเป็น 75 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,830 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,250 บาท) แต่กลุ่มสหภาพแรงงานสิ่งทอของกัมพูชาก็ได้ประท้วงเรียกร้องรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,000 บาท) อยู่เป็นระยะๆ 
 
โดยภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป สร้างรายได้หลักให้แก่กัมพูชา เม็ดเงินการส่งออกเมื่อปี 2012 อยู่ที่ประมาณ 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแรงงานส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปนี้ประมาณ 650,000 คน เป็นแรงงานหญิง
 
 
ที่มาข่าวบางส่วนเรียบเรียงจาก:
 
Garment workers, police clash in Cambodia (Gregory Pellechi and Elizabeth Joseph, CNN, 31/5/2013)
http://edition.cnn.com/2013/05/31/world/asia/cambodia-garment-workers-strike/
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: เมื่อนักวิทยาศาตร์ ปะทะนักการเมือง ปรากฏการณ์ แต่งดำในกระทรวงวิทย์

Posted: 31 May 2013 07:23 AM PDT

แต่ไหนแต่ไรมา คนทั่วไปอาจจะมีภาพความรับรู้เกี่ยวกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีห่างไกลตัวพอสมควร ขณะเดียวกัน ด้วยความเป็นกระทรวงที่ไม่ได้เป็นที่หมายปองของนักการเมืองนัก และไม่ค่อยมีข่าวคราวใดๆ ออกมา นอกจากเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องยอมรับว่า ยากที่จะเป็นข่าวที่ถูกไฮไลท์

ทว่า ราวสัปดาห์กว่าที่ผ่านมา ข่าวคราวข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนัดกันแต่งชุดดำประท้วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล โดยกำหนดวันเคลื่อนไหวในวันจันทร์ที่ 20 พ.ค. เล็ดลอดออกมาสู่สื่อมวลชน พร้อมจดหมายเปิดผนึกที่ระบุว่า "ไว้ทุกข์ให้กับความถถดถอยของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย"

จดหมายเปิดผนึกระบุประเด็นปัญหาหลักๆ อยู่ สองประการ คือ

ประการแรก การตัดงบประมาณสำหรับการวิจัยในเรื่องสำคัญลง อย่างเช่นการวิจัยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ งานวิจัยเทคโนโลยีรากฐานสำหรับการประยุกต์ใช้ในกาพัฒนาด้านต่างๆ ในระยะยาว ก็ถูกตัดงบประมาณลง โดยงบประมาณปี 2557 นั้น ถูกปรับลดงบวิจัยลงประมาณร้อยละ 30 ของที่เคยได้รับในปี 2556

ประการต่อมาก็คือระเบียบใหม่ที่ขาดความคล่องตัว เช่น การลงนามข้อตกลง แม้เป็นกรณีที่ได้รับทุนวิจัยจากต่างประเทศซึ่งเป็นความผูกพันระดับหน่วยงาน และการจัดซื้อจัดจ้างที่มีจำนวนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน แม้ว่าการวิจัยและการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ จะถูกระบุอยู่ในแผนแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นปัญหาเทคนิคที่ทำให้บุคลาการถูกจำกัดกรอบการทำงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่คนในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ส่วนหนึ่งคิดว่า การแทรกแซงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเสมือนการบั่นทอนอนาคตของชาติเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ที่อาจคุ้นเคยกับการแก้โจทย์ยากๆ ในห้องทดลอง เมื่อมาเจอกับการตอบโต้เร็วจากนักการเมืองอย่างนายวรวัจน์ ผลก็คือการนัดหมายแต่งดำถูกยกเลิกไปหลังจากที่นายวรวัจน์เรียกนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าพบเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพียงสามวันก่อนการนัดประท้วง และสั่งให้นายทวีศักดิ์สั่งไม่ให้พนักงาน สวทช.เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงซึ่งปรากฎในใบปลิว ให้กับพนักงาน สวทช. เป็นเหตุให้ผู้อำนวยการ สวทช.ส่งอีเมล์ไปยังพนักงานของสวทช.ทุกคน ไม่ให้แต่งชุดดำประท้วง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในวันที่ 20 พ.ค.

ไม่เพียงเท่านั้น แหล่งข่าวในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บางรายยังระบุว่า นายวรวัจน์ยังสั่งให้ตรวจสอบคอมพิวเตอร์และอีเมลภายในทั้งสำนักงาน สวทช. เพื่อค้นหาว่าใครเป็นผู้ทำใบปลิวและจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว

 

รัฐมนตรีมีปัญหา ?

กล่าวสำหรับนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล เป็นส.ส. จากจังหวัดแพร่ ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็น ครม. ชุดแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากนั้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นลำดับ ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในวันที่ 27 ต.ค. 2555

แม้เขาจะอธิบายว่าตัวเองเป็นคนประสานงานง่าย ใช้ความนุ่มนวล ไม่มีปัญหาเรื่องความไว้วางใจจากคนในพรรค แต่ก็หนีไม่พ้นถูกต่อต้านจากคนในกระทรวงที่เขาเข้าไปดำรงตำแหน่ง

ในสมัยดำรงตำแหน่งที่กระทรวงศึกษาธิการ นายวรวัจน์ก็เคยตั้งเป้า "ยกเครื่อง" กระทรวงศึกษาฯ โดยบอกว่าจะเน้นการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ขณะเดียวก็เผชิญกับการต่อต้านตั้งแต่เรื่องการปรับปรุงห้องทำงานขนาดใหญ่ มีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก จับตาอย่าให้วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุลโกงประเทศ แต่เมื่อไปดูข้อมูลในเพจ พบว่าเป็นข้อมูลที่ปรากฎในสื่อผสมด้วยอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ บางประเด็นก็เป็นเรื่องจับแพะชนแกะไป มีผู้ติดตามเพจอยู่ประมาณ 1300 คน

เมื่อมาอยู่กทระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เขาให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ระบุมีเป้าหมายว่ากระทรวงต้องพัฒนาเทคโนโลยีตัวเองออกไป โดย หนึ่ง ต้องบูรณาการในกระทรวง เทคโนโลยีต้องรองรับระบบการผลิตของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มองเป็นรายชิ้น นักวิจัยอยากทำอะไรก็ทำ ต่อไปต้องขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์รัฐบาล รองรับการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง

"เมื่อผมไปอยู่กระทรวงนี้ก็จะแก้ปัญหาเป็นรายชนิด ตอนผมอยู่สำนักนายกฯ ก็ทำงานคู่กับกระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ ผมจะเข้าไปดูแลการผลิตทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะเพิ่มขีดความแข่งขันของประเทศได้ ซึ่งนโยบายจะชัดเจน เพราะคนไม่เคยรู้ว่ากระทรวงนี้ทำอะไร"

แต่ข่าวใหญ่เกี่ยวกับตัวเขาคงไม่พ้นประเด็นเรื่องการเลื่อนลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ที่ซึ่งเขาขอเลื่อนกำหนดการไป แม้เจ้าตัวจะอธิบายว่าการเลื่อนเดินทางไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวการปรับ ครม. แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องความพร้อมของกระทรวงมากกว่า เพราะการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีผลผูกพันกับยุทธศาสตร์ และงานวิจัยต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องหารือโดยรอบคอบ และต้องหาข้อสรุปให้ชัดเจนและรัดกุม ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในกลุ่มข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถึงการเลื่อนการลงนาม MOU ไทย-สหรัฐฯ ในเรื่องวิทยาศาสตร์ออกไป ทั้งที่เจรจาตกลงร่วมกันระหว่างสองประเทศมานานนับสิบปี จนทำให้ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก

แทรกแซงกระทรวงวิทย์ บั่นทอนอนาคตชาติ!!?

จากข้อมูลที่ค่อยๆ ทยอยปรากฏออกมา นั้น ส่วนงานที่ได้รับผลกระทบและเป็นส่วนที่เป็นคลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ในกระทรวงก็คือ สวทช. ซึ่งเป็นส่วนงานที่ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ของกระทรวง กว่าร้อยละ 80

หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น อยู่บนวัฒนธรรมการบริหารที่ค่อนข้างเป็นอิสระ โดยมีหน่วยงานที่เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติองค์กรในกำกับของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรมหาชน มีหน่วยงานที่ขึ้นตรงในระดับกรมอยู่เพียงสี่หน่วยงานเท่านั้น ประเด็นนี้เองที่น่าจะเป็นประเด็นใหญ่ใจความของเรื่อง เมื่อหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐรู้สึกว่ากำลังถูกแทรกแซงจากข้าราชการการเมืองซึ่งลงรายละเอียดยิบย่อยในด้านการบริหารจัดการงบประมาณทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ขาดความเป็นอิสระ

สวทช. เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติในกำกับของรัฐที่มีบุคลากรวิจัยในระดับปริญญาโท-เอกอยู่กว่า 870 คน และกว่าร้อยละ 43 เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ ตามแนวนโยบายของรมว.คนปัจจุบัน บุคลากรสายงานวิจัยบางส่วนต้องไปศึกษางานด้านที่ไม่ถนัด ไปทำงานส่งเสริมรัฐบาลในประเด็นที่น่าจะไม่ใช่เรื่องของ สวทช. โดยตรง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความห่างไกลจากความรับรู้ของประชาชน แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนจะกล่าวว่า การแทรกแซงการทำงานของคนในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือการบั่นทอนอนาคตชาติ แต่ขณะนี้ ดูเหมือนว่า นักวิทยาศาสตร์ในกระทรวงจะยังหาแนวร่วมที่จะมาทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาได้น้อย ต่างกับกระทรวงอื่นๆ ที่ "เป็นการเมือง" อย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุขที่กำลังก่อหวอดอย่างมีประสิทธิภาพขับไล่รมว. จากการประกาศจะนำนโยบาย P4P มาใช้

จากบทความ 'การเมืองร้อน ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย' โดย paceyes ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่ประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างเจ้ากระทรวงกับพนักงาน สวทช. เท่านั้น แต่มันได้แพร่กระจายไปทั่วองค์กรต่างๆ ภายใน กวท. อย่างไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน ตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวง และการตีความและความเข้าใจต่อระบบวิจัยและระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National innovation System) ของ นักการเมืองและบุคลากรมีความแตกต่างกันมาก (โดยเฉพาะในกรณีนี้)

"บุคคลากรวิจัย ถือได้ว่าเป็นมันสมองของชาติ การที่มีเจ้ากระทรวงที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจการบริหารพวกเขาเหล่านั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองในรัฐบาล ที่จะต้องสรรหาบุคคลที่มีวุฒิภาวะเหมาะสมและเข้าใจงาน มาเป็นเจ้ากระทรวง และไม่เพียงแต่ กวท. เท่านั้น กระทรวงอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ก็เช่นกัน คงต้องฝากประเด็นนี้ไปถึงพรรคเพื่อไทยให้พิจารณาอย่างระมัดระวัง" บทความพยายามเสนอทางออก อย่างไรก็ตามหากมองในอีกมุมหนึ่ง บุคลากรภายในกระทรวงวิทย์ก็อาจจะต้องขยันให้ข้อมูลที่ไปพ้นประเด็นตัวบุคคลมากกว่านี้ และอธิบายให้สังคมเกิดความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ออนาคตการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมกว่านี้ด้วยเช่นกัน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเมืองร้อน ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย

วรวัจน์...รัฐมนตรี "เก้าอี้เจ๊แดง" "ท่านเยาวภา ผมว่าไม่มากเลย Low Profile"

ฟัง คน สวทช. เผยเบื้องหลังใบปลิว "มันอัดอั้น...เกินที่จะทน!"

"วรวัจน์" แจงปมใบปลิวยิบ เชื่อถูกต้านเพราะกลัวเปลี่ยนตัว ผอ.สวทช.

ผอ.สวทช.ร่อนอีเมล์ถึง พนง.ทุกคน ให้งดการเข้าร่วมกิจกรรมแต่งดำประท้วงในวันที่ 20 พ.ค.นี้.-หลัง "วรวัจน์" เรียกพบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[วิดีโอ] "คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง"

Posted: 31 May 2013 06:50 AM PDT

ตามที่เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา ประชาไทได้นำเสนอข่าว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และมูลนิธิมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเสวนาสาธารณะ "คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเสวนาสาธารณะเศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้ 'Economy of Tomorrow' โดยวิทยากรประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbook นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โอกาสนี้ประชาไทนำเสนอวิดีโอส่วนหนึ่งของการเสวนา "คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง" ดังกล่าว โดยวิดีโอการอภิปรายที่นำเสนอ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้

000

ช่วงแรก สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประเมินนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย สองช่วงคือสมัยทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามด้วยการอภิปรายของเกษียร เตชะพีระ กล่าว 4 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับนโยบายประชานิยม และอภิปรายเรื่องการเมืองแบบเทคโนแครต ที่ไม่มีน้ำยา เพราะไม่อาจคัดค้านการเมืองแบบประชานิยมได้ "ไม่มีน้ำยา" และข้อเสนอให้ฝ่ายต่างๆ "repositioning ให้พ้นการเมืองเสื้อสี และการเมืองแบบประชานิยม"

ขณะที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึงเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดนโยบายประชานิยมในโลกคือ หนึ่ง สังคมที่ผลิตสินค้าและบริการขาย ไม่ใช่สังคมเกษตร สอง สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง นอกจากนี้ความสัมพันธ์เชิงประเพณีที่กำหนดให้เกิดความมั่นคงสำหรับคนเล็กๆ ได้หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้นหลังรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อการเมืองแบบเลือกตั้งในไทยค่อนข้างมั่นคง นักการเมืองที่เข้ามาใหม่ก็มองเห็นทันทีว่าต้องเล่นเรื่องประชานิยม นอกจากนี้นิธิ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเงื่อนไขการเกิดประชานิยมในไทย และในลาตินอเมริกามีเงื่อนไขที่คล้ายกัน

นอกจากนี้นิธิเตือนด้วยว่านโยบายประชานิยมเหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นได้ ถ้าไล่ดูจะเห็นว่าเผด็จการมีช่วงของการใช้นโยบายลักษณะนี้หรือฝันว่าจะใช้นโยบายกระจายทรัพยากร ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเราไม่เอาใจใส่เรื่องที่มา ความถูกต้อง ความชอบธรรมของอำนาจ เราจะเปิดโอกาสให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จได้

000

ช่วงที่สอง เป็นการอภิปรายโดย อัมมาร์ สยามวาลา กลายว่านโยบายประชานิยมบางเรื่องก็เป็นนโยบายที่เห็นด้วย เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างไรก็ตามแต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ข้อสังเกตอันหนึ่งของความไม่เอาไหนของระบบประชานิยมคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในร้อยประเทศที่ไม่มีดัชนีค่าจ้างแรงงาน ไม่มีใครแคร์ ถ้าขาดแคลนแรงงานก็เอาพม่ามา เขมรมา ตรงนี้ผมเป็นชาตินิยม เพราะเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว แทนที่จะเพิ่มค่าแรงและปรับปรุงตัวเอง

อัมมาร์กล่าวถึงบทบาทของสถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอด้วยว่า ดูทุกนโยบายของรัฐบาล ปัญหาก็คือ คราวที่แล้วทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอนโยบายประชานิยมทั้งคู่ และระบบการเลือกตั้งพอลงคะแนนเสียง ได้เสียงข้างมากไปแล้วก็มีอำนาจล้นฟ้า ขณะที่พรรคฝ่ายค้านไม่มีน้ำยา ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีน้ำยาจริงๆ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดให้ฝ่ายค้านมีน้ำยา นอกจากนี้อัมมาร์ได้กล่าวยอมรับว่าได้ร่วมมือกับรัฐบาลหลังการรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน และว่ายุคทหารครองเมืองจากการปฏิวัติมันหมดแล้ว และมันสร้างพิษในระบบการเมืองของเราจนถึงทุกวันนี้ ผมหวังว่ามันค่อยๆ จางลงไปแล้ว"

ขณะที่เกษียร เตชะพีระ มีข้อเสนอให้มีการปรับจุดยืน (Repositioning) ทั้งนี้พอหลังเลือกตั้ง รัฐบาลเมื่อมีอำนาจมากขึ้นก็เริ่มแสดงท่าแบบที่เคยทำก่อนรัฐประหาร บวกกับความจริงทีว่า การเมืองเสื้อสีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การถกเถียงเชิงนโยบายลำบาก ดังนั้นจึงต้องต้องปรับจุดยืนตัวเองแล้วเป็นตัวแทนบทสนทนาที่หลากหลาย ต้องสร้างบทสนทนาของประชาชนกับผู้มีอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ

000

ช่วงที่สาม เป็นการอภิปรายช่วงท้ายของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่กล่าวถึงจุดยืนของนักวิชาการว่า อยากเห็นนักวิชาการและทีดีอาร์ไอเป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นแอคติวิสต์ การที่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้มแข็ง ไม่ควรเป็นเหตุให้สถาบันวิชาการทำหน้าที่แทนพรรคฝ่ายค้าน และว่าทีดีอาร์ไอยังอยากจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเป็นชิ้นๆ มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมือง เพราะมันเสี่ยงและเลี่ยงได้ยากมากที่จะพัวพันกับเสื้อสีต่างๆ การวิจารณ์นโยบาย ไม่ว่ารัฐบาลไหนมันมีทั้งนโยบายที่ดีและไม่ดี

ขณะที่ เกษียร เตชะพีระ เสนอให้กลุ่มประชาชนกลุ่มต่างๆ กลุ่มอาชีพ กลุ่มนักวิชาการ ที่ไม่ทะเลาะกันเรื่องสีแล้วสร้างบทสนทนากับรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งได้ เพราะสภาก็ไม่สามารถพูดแทนปัญหาจำนวนมากได้ ซึ่งการจะทำให้ประชาธิปไตย Healthy จำเป็นต้องการบทสนทนาที่แข็งแรงหลากหลาย

ต่อข้อเสนอปรับจุดยืนของเกษียรนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวว่า เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่มีความยุ่งยาก คนกลุ่มหนึ่งสามารถทำได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจทำไม่ได้ และคนจำนวนมากทำไม่ได้ อย่างเช่น จำนวนมากของคนเสื้อแดง เขาไม่ได้เห็นพ้องต้องกันกับธิดา หรือเกษียร แต่เขาเห็นร่วมกันว่าอย่าเผลอ ไม่อย่างนั้นทหารจะยึดอำนาจ เขาจึงต้องเล่นสุดโต่งต่อ

ขณะที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ยังเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีวินัยการคลัง เพื่อไม่ให้การเมืองทั้งสองฝ่ายแข่งขันกันจนทำลายตัวเองและระบบเศรษฐกิจ เขาเตือนด้วยว่าแม้ว่าประเทศไทยขณะนี้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไม่สูง แต่มันสามารถกระโดดขึ้นได้ถ้าเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เกิดแรงกระทบจากภายนอก เช่นในปี 1997 หนี้ต่อ GDP เคยกระโดดจาก 16% เป็น 61% ในเวลาปีสองปี และหนี้ต่อ GDP ขณะนี้อยู่สามารถ 44% ก็สามารถกระโดดขึ้นไปได้ เพราะขณะนี้กำลังจะมีโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เกิดขึ้นมา และถ้าเกิดภาวะเช่นนั้นความเดือดร้อนจะเกิดกับประชาชนทุกกลุ่ม

ขณะที่อัมมาร สยามวาลา เสนอว่าเงินทุกบาทที่รัฐบาลใช้จ่าย จะต้องอยู่ในงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการอนุมัติจากสภา เท่าที่ผมอ่านประวัติศาสตร์เมืองนอก ประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพราะข้อถกเถียงเรื่องการใช้เงินรัฐและการเก็บภาษีประชาชน จะขาดดุลก็ได้ตราบใดที่รัฐสภาตัดสินใจได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงนักการเมืองใต้ จี้ 2 ทีมเจรจาตกลงให้ชัดเรื่องคนกลาง-ความยุติธรรม

Posted: 31 May 2013 06:09 AM PDT

อดีต ส.ส.ปัตตานี เผยผลการเสวนานักการเมืองชายแดนใต้ จี้ 2 ทีมเจรจาตกลงให้ชัดเอาคนกลางหรือไม่ ชี้ใครก็ได้ที่เป็นกลางและมีทักษะ ไม่จำเป็นต้องมาเลเซียเท่านั้น เร่งตกลงหาทางสร้างความเป็นธรรมที่พอใจทั้งสองฝ่าย แนะรัฐรีบคว้าโอกาสแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ เพราะยิ่งเพิ่มทหารและทุ่มงบมหาศาลก็ไม่ได้ผล 

 
 
มุข สุไลมาน
 
นายมุข สุไลมาน สมาชิกกลุ่มวาดะห์และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปัตตานี เปิดเผยผลการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 12 ณ โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ได้แก่ เพื่อไทย มาตุภูมิ ความหวังใหม่ เพื่อนเกษตรไทย ดำรงไทย ชาติไทย ภูมิใจไทย และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค 
 
นายมุข เปิดเผยว่า การสานเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นายมุข เปิดเผยว่า ในเวทีสานเสวนาครั้งนี้ มีการพูดถึงข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งในวงเสวนาเห็นว่ามี 2 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรก คือ คนกลางในการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการ ซึ่งในวงเสวนาเห็นว่า จำเป็นต้องมีคนกลาง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศมาเลเซียเท่านั้น หากฝ่ายรัฐไทยไม่เห็นด้วย 
 
นายมุข เปิดเผยต่อไปว่า ในวงเสวนาเห็นว่า ตัวกลางอาจเป็นตัวแทนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) เพราะที่มีหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ของพี่น้องมุสลิมทั้งในประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม รวมทั้งมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมานาน
 
นายมุข เปิดเผยอีกว่า ประเด็นที่ 2 ความยุติธรรมในพื้นที่ จำเป็นต้องมีการพูดคุยเจรจาในเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชนพื้นที่ ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นและฝ่ายรัฐบาลไทย ได้หาจุดร่วมด้านความยุติธรรมที่ทุกฝ่ายต่างพึงพอใจ
 
นายมุข กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่ารัฐบาลไทยแก้ปัญหาความไม่สงบยังไม่เต็มที่เท่าที่ควร เห็นได้จากการใช้วิธีการเดิมๆ เหมือนกับรัฐบาลสมัยก่อน เพียงแต่มีความคืบหน้าในส่วนที่ยอมเปิดให้มีการเจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็นเท่านั้น 
 
"วิธีการเดิมๆ เช่น การส่งกำลังทหารเพิ่ม หรือการทุ่มงบประมาณทำโครงการต่างๆ แต่ไม่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ ทำให้บางครั้งอาจก่อให้เกิดจากความไม่เข้าใจ เพราะรัฐไม่ได้รับรู้ปัญหาอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสังคมมุสลิมในพื้นที่ เช่น อัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิม วิถีชีวิตความเป็น กระทั่งภาษา จนเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมของคนในพื้นที่" นายมุข กล่าว
 
นายมุข กล่าวด้วยว่า หากการเจรจาครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลไทยควรให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ อาจเป็นการทดลองใช้ก่อน เพื่อประเมินว่าความไม่สงบจะลดลงหรือไม่ เพราะอย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย
 
นายมุข กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายขบวนการได้เปิดช่องให้มีการพูดคุยเจรจากันแล้ว เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาข้อตกลงระหว่างกันในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญและคิดอย่างละเอียดรอบคอบกับโอกาสที่ได้มา เพื่อให้รัฐบาลได้แสดงถึงความจริงใจ และความร่วมมือกับขบวนการบีอาร์เอ็นในการหาข้อตกลงต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ให้สงบลง
 
"ในขณะเดียวกัน มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีและไม่มีอำนาจต่อรอง ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและสนับสนุนสังคมของตนเองให้เหมือนสังคมอื่นๆได้ จึงจำเป็นที่คนในพื้นที่ต้องเข้าสู่การเมืองเพื่อให้เข้าถึงอำนาจและสามารถต่อรองให้สังคมอื่นๆ ได้รับรู้และเข้าใจถึงความต้องการของคนในพื้นที่ได้" นายมุข กล่าว
 
นายมุข กล่าวอีกว่า ประชาชนในพื้นที่มีความสำคัญในการสนับสนุนนักการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนในการเข้าถึงอำนาจ เพราะไม่มีทางอื่นที่จะเข้าไปถึงอำนาจได้ ดังนั้น ต้องให้คนในพื้นที่ทำหน้าที่ของตนให้ดีและสมบูรณ์ที่สุดในการให้ความรู้ความเข้าใจว่า ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรในการส่งตัวแทนให้เข้าถึงอำนาจ เพราะถ้าตัวแทนคนในพื้นที่เข้าถึงอำนาจได้ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้
 
สำหรับผลการเสวนาครั้งนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปข้อเสนอและความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม ทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้
 
1.วงเสวนาสนับสนุนการสานเสวนาหรือพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งในการสานเสวนาสันติภาพควรให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย ตลอดจนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทั้งในประเทศมาเลเซียและในประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
 
อย่างไรก็ดี การสานเสวนาสันติภาพเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่จะต้องพัฒนาไปสู่ขั้นตอนการเจรจาสันติภาพต่อไป
 
2.ในขั้นตอนการเจรจาสันติภาพนั้น วงเสวนายืนยันให้ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ หาข้อตกลงในเบื้องต้นว่า จะหาประเทศหรือองค์กรที่มีความเป็นกลาง มีทักษะและได้รับความไว้วางใจจากทั้งสองฝ่ายมาทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา
 
"ทั้งรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น ควรพิจารณาข้อเสนอของบีอาร์เอ็น ที่ขอให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา โดยพิจารณาจากคุณลักษณะของความเป็นคนกลางว่า มาเลเซียหรือองค์กรอื่นใดบ้างที่มีความเหมาะสมหรือไม่ โดยที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ"
 
3.ความไม่เป็นธรรม เป็นต้นเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง ความเป็นธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ขณะนี้ในประเทศไทยกำลังมีการโหยหาความเป็นธรรมอยู่อย่างกว้างขวาง 
 
ในเรื่องนี้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ข้อ 2 (3) ความว่า "เร่งรัดการคลี่คลายเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชน และต่างประเทศให้กระจ่างชัด โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริง มีการเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว เพื่อขจัดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด ปลดเงื่อนไขของความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม"
 
ดังนั้น รัฐบาลพึงดำเนินการตามนโยบายนี้เห็นเกิดผลโดยเร่งด่วนด้วย
 
4.ในวงเสวนาขอสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เป็นความพยายามเข้าถึงและรับฟังเสียงของประชาชนทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและลดความหวาดระแวงในพื้นที่
 
5.การสานเสวนา/พูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สังคมไทยโดยรวมตลอดจนสังคมในพื้นที่ ควรได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ในการนี้ควรมีพื้นที่ในการแสดงออก โดยผ่านสื่อสารมวลชนและการจัดเวทีสาธารณะทั้งในพื้นที่และในส่วนกลาง โดยเฉพาะเวทีสำหรับชาวมุสลิมและชาวพุทธในพื้นที่ ได้นำเสนอปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ อย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 6 ของนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ความว่า "ให้สังคมไทยเกิดการรับรู้มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขึ้นโรงพัก-ใช้ ม.112 แจ้งจับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่พิษณุโลก - มุกดาหาร

Posted: 31 May 2013 03:35 AM PDT

ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฟ้องคนเล่นเฟซบุ๊ก 2 กรณี - รายแรก "คณะคนรักในหลวงฯ" ขึ้นโรงพักฟ้องที่พิษณุโลก อีกรายเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ "สาธิต ปิตุเตชะ" ไป สน.ดุสิตฟ้องแกนนำ นปช.มุกดาหารเล่นเฟซบุ๊กหมิ่นเบื้องสูง พร้อมติงซีทีไอซีทีตั้งงบ 335 ล้านบาทจัดการความผิดคอมพิวเตอร์ แต่เว็ยหมิ่นยังอื้อ

โพสต์ทูเดย์ รายงานเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมากลุ่ม "คณะคนรักในหลวงจังหวัดพิษณุโลก" นำโดยนางแน่งน้อย อัศวกิตติกร และนายทวี ทองถัน  ได้เดินทางไปยัง สภ.อ.เมืองพิษณุโลก เพื่อแจ้งความ โดยกล่าวหาว่ามีบุคคลใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งลงข้อความ-รูปภาพ เข้าข่ายผิด ม.112 ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยขอให้ตำรวจตรวจสอบและดำเนินคดี

ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.พิษณุโลก ได้คัดลอกและเผยแพร่ข่าวดังกล่าวลงในเฟซบุคบัญชีของเขา โดยมีผู้ใช้เฟซบุคจำนวนมากเข้าไปกดไลค์ และโพสต์สนับสนุนการกระทำของกลุ่มคนดังกล่าว

ขณะเดียวกันวันนี้ (31 พ.ค.) เดลินิวส์ รายงานว่า นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์  เดินทางพร้อมนำเอกสารหลักฐานเข้าพบ พ.ต.อ.ภัทรภณ สนิทวงศ์ ณ.อยุธยา ผกก.สน.ดุสิต เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายวรินทร์ อัฐนาค คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการแก้ปัญหาความยากจน และเป็นแกนนำคนเสื้อแดง จ.มุกดาหาร โดยกล่าวหาว่ามีการโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กผิด ม.112 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ข้อความดังกล่าวนายสาธิตระบุว่าไม่สามารถเปิดเผยได้  

นายสาธิต กล่าวผ่านโพสต์ทูเดย์ด้วยว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ตั้งงบจำนวน 335 ล้านบาท เกี่ยวกับการจัดการความผิดด้านคอมพิวเตอร์ แต่พบว่ามีคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ รัชทายาท  กลับไม่มีทีท่าลดลง และเมื่อไปเปิดดูจำนวนความผิดก็ยังเต็มไปหมด หากเปิดในเฟซบุ๊กก็จะพบอย่างแพร่หลาย จึงอยากรู้ว่าทำไมการกระทำความผิดยังมีสูง แต่การปิดกั้นและการดำเนินคดีกลับน้อยลง ซึ่งถ้าหากเปิดตอนนี้ก็จะพบการกระทำความผิด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภารับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบ 57 แล้ว ปชป.โวยถูกหั่นโควตาแปรญัตติ

Posted: 31 May 2013 02:45 AM PDT

สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการใน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 แล้ว ด้วยเสียง 292 เสียง กำหนดแปรญัตติ 30 วัน ปชป.โวยสภาหั่นโควตา กมธ.แปรญัตติ อัด ส.ส.ภูมิใจไทยข้ามห้วยนั่ง กมธ.เพื่อไทย จ่อยื่นศาล รธน.ตีความ

 
 
31 พ.ค. 56 - ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 แล้ว ด้วยเสียง 292 เสียง กำหนดแปรญัตติ 30 วัน
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 หลังการอภิปรายอย่างเข้มข้นกว่า 2 วันครึ่ง ด้วยคะแนน 292 ไม่เห็นด้วย 155 งดออกเสียง 27 ไม่ลงคะแนน 4 จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 478 คน พร้อมตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 63 คน ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีจำนวน 15 คน ส.ส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย 25 คน ประชาธิปัตย์ 15 คน ภูมิใจไทย 3 คน ชาติไทยพัฒนา 2 คน พลังชล 1 คน และพรรครักประเทศไทย พรรครักสันติ พรรคมาตุภูมิ พรรคมหาชน และประชาธิปไตยใหม่รวม 1 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ เป็นเวลา 30 วัน ประชุมนัดแรกในวันจันทร์ที่ 3 มิ.ย. 56
 
อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีการถกเถียงกรณี นางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย ได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย  และก่อนเสร็จสิ้นการประชุม รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556
 
ปชป.โวยสภาหั่นโควตา กมธ.แปรญัตติงบปี 57
 
วันเดียวกันนี้ (31 พ.ค.) เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเวลา 14.30 น.ที่รัฐสภา นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี สส.สมุทรสงคราม และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงตอบโต้การทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ภายหลังการประชุมสภามีการลดจำนวนคณะกรรมาธิการในโควตาสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ  
 
นายบุญยอด กล่าวว่า หากเทียบสัดส่วน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ในปีงบประมาณ 2556 พรรคมี ส.ส. 159 คนได้สัดส่วนโควตาในคณะกรรมาธิการ 16 คน แต่ปีนี้พรรคมี ส.ส.เพิ่มมากขึ้นเป็น 160 คน แต่กลับได้สัดส่วนกรรมาธิการลดลงเหลือเพียง 15 คน เมื่อสอบถามไปยังนายวิสุทธิ์กลับยืนยันว่า ได้มีการพูดคุยร่วมกันเเล้วให้สัดส่วนที่ปรับลดของพรรคประชาธิปัตย์ลง 1 คนไปให้กับพรรคเล็ก โดย จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ สส.รักสันติ เป็นกรรมาธิการในส่วนพรรคเล็ก
 
นายบุญยอด กล่าวต่อว่า สัดส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยจำนวน 25 คนที่ได้เสนอชื่อนางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน แต่กลับได้ที่นั่งในโควตาของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลนั้น ถึงแม้ให้เหตุผลว่าเป็นการตกลงส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย แต่การนั่งคณะกรรมาธิการข้ามพรรคเช่นนี้เท่ากับลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง และเดิมมีข้อครหาว่า ส.ส.ขายตัวข้ามพรรคอยู่แล้ว เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า นางนันทนาต้องย้ายพรรคไปสังกัดพรรคเพื่อไทยแน่นอน  แต่ขณะนี้ยังเป็นฝ่ายค้าน หากต้องการนั่งคณะกรรมาธิการโควตารัฐบาล ควรลาออกจากพรรคภูมิใจไทยก่อน         
 
ขณะที่ น.ส.รังสิมา กล่าวยืนยันว่า การเสนอชื่อของ ส.ส.ข้ามพรรคเพื่อเป็นคณะกรรมาธิการผิดข้อบังคับการประชุมข้อที่ 83 ที่ระบุว่าสัดส่วนของกรรมาธิการแต่ละพรรคต้องเสนอรายชื่อกรรมาธิการในส่วนของพรรคที่ตนเองสังกัด ไม่ใช่เสนอข้ามพรรค ถือเป็นความตั้งใจที่จะทำให้ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในมาตรา 135 ทั้งนี้จะมีการหารือกับฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป และหากผิดจริงขอท้าให้นายวิสุทธิ์ที่กล่าวในที่ประชุมว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบให้ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ และต้องรับผิดชอบผลพวงที่จะตามมาจากากรใช้กฎหมายงบประมาณปี 57 ด้วย
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: วิทยุรัฐสภา, โพสต์ทูเดย์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดีศาลอาญากรุงเทพฯใต้ แถลงย้ำหลักฐานไม่ชัดใครยิงฟาบิโอ

Posted: 31 May 2013 02:36 AM PDT

ศาลอาญากรุงเทพใต้ แถลงไม่ฟันธงใครยิงผู้สื่อข่าวอิตาลี เหตุหลักฐานยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง ขออย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง ในขณะที่ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนค้านการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิด
 
31 พ.ค. 56 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ แถลงชี้แจงถึงการแถลงข่าวที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของ นายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพอิสระ ชาวอิตาลี โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำสั่งของศาลไม่ชัดเจน และไม่ชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง นายฟาบิโอ และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อีกว่ามีคลิปวิดีโอ ที่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง นายฟาบิโอ มายื่นต่อศาล แต่ศาลไม่รับไว้พิจารณานั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยยืนยันว่า ศาลมีการไต่สวน และพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน ซึ่งในการไต่สวนไม่มีพยานปากใดที่เห็นว่าใครเป็นผู้ยิง มีแต่พยานที่เห็นภาพรวมในเหตุการณ์ทั่วไปเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม นายอุดม กล่าวด้วยว่า การพิจารณาคดีของศาลนั้นเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ได้มีการนำความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปตัดสินคดี ส่วนกรณีที่เกิดขึ้น ยังไม่ถึงกับต้องฟ้องร้องหรือดำเนินคดีข้อหาละเมิดศาล หรือทำหนังสือไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แต่ต้องการออกมาแถลงชี้แจง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงคำสั่งศาลเท่านั้น
 
ในขณะที่วันนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คัดค้านการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โดยระบุว่าต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามขั้นตอน และยุติการให้นิรโทษกรรม 
 
"ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต้องถูกระบุตัวให้ชัดเจนและนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อที่ไม่ให้การเสียชีวิตของนักข่าวผู้นี้ ไม่ว่าจะเป็นไปโดยอุบัติเหตุหรือไม่ก็ตาม เป็นไปอย่างไม่ได้รับการลงโทษ" ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดพิพากษาคดีคนงาน ‘ก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง’ สมัยรบ.อภิสิทธิ์ 11 ก.ค.นี้

Posted: 31 May 2013 01:55 AM PDT

เบิกคดีคนงานไทรอัมพ์ฯ เอนี่ออนและเวิลด์เวลล์การ์เม้น 'ก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง' สมัย รบ.อภิสิทธิ์ พยานจำเลยเบิกยันชุมนุมโดนสงบตาม รธน. อดีตที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ชี้สหภาพฯชุมนุมเป็นเรื่องปกติ  ส่วหน้าทำเนียบ-สภา มีการชุมนุมเป็นประจำออยู่แล้ว นัดฟังคำพิพากษา 11 ก.ค.นี้

ภาพคนงานไทรอัมพ์ฯ ชุมนุมหน้ารัฐสภา 27 ส.ค.52

เมื่อวันที่ 29 - 30 พ.ค.56 ที่ห้องพิจารณาคดี 707 ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลย ในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.บุญรอด สายวงศ์ นายสุนทร บุญยอด และ น.ส.จิตรา คชเดช ในความผิดฐานมั่วสุมกันก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 ว่าด้วยการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จากกรณีการชุมนุมของคนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือ และคนงานเวิลด์เวลล์การ์เม้น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552

โดยหลังพยานจำเลยเปิกความครบทุกปากแล้วศาลนัดฟังคำพิพากษา 9.00 น. วันที่ 11 ก.ค.56 ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญารัชดา ทั้งนี้ศาลได้ขอตัดพยานจำเลยออกหลายปาก เช่น ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมที่สาธารณะ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น โดยศาลให้เหตุผลว่าต้องการเพียงข้อเท็จจริงในการพิจารณาเป็นหลักไม่ใช่ความเห็น ส่วนข้อกฎหมายนั้นศาลทราบอยู่แล้ว

สุนทร บุญยอด จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ และให้การศึกษากับสมาชิก โดยช่วงดังกล่าว สมาชิกของสภาฯ คือ สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) ประสบปัญหาถูกเลิกจ้างจำนวน 300 กว่าคนและไม่ได้รับค่าชดเชย จึงช่วยเหลือในการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยแม้มีคำสั่งจากพนักงานตรวจแรงงาน ชลบุรี ให้บริษัทจ่ายเงินชดเชย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตาม จนเมื่อ 26 ส.ค.52 บรรจง บุญรัตน์ ซึ่งเป็นประธานสภาฯ แจ้งว่าได้ประสานกับลูกจ้างที่ประสบปัญหา ได้แก่ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์และคนงานเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ ว่าจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบในวันที่ 27 ส.ค.

สุนทร เล่าว่า ในวันดังกล่าว พบกับคนงานทั้งสามกลุ่มที่บ้านหน้าพิษณุโลก ซึ่งคนงานเอนี่ออนนั้นนำโดยกันยาภรณ์ ดวงเกิด รองประธานสหภาพฯ ส่วนลูกจ้างบริษัทอื่น ไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ ทั้งนี้ ในส่วนของสภาฯ และเอนี่ออน ตัวแทนที่เข้าไปยื่นหนังสือคือ บรรจงและกันยาภรณ์ ขณะที่ตนเองไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้า

ขณะเดินไปทำเนียบและรัฐสภา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกให้ตลอดทาง การจราจรทั้งที่ทำเนียบและรัฐสภา ไม่ได้ปิดตาย ยังสัญจรได้ แม้จะผ่านสถานที่ราชการต่างๆ เวลานั้น ผู้คนก็เข้าทำงานกันหมดแล้ว ขณะที่หน้ารัฐสภา บริเวณเขาดินที่ผู้ชุมนุมอยู่กันก็ไม่ใช่ทางเข้าหลัก ทั้งนี้ ตนเองได้ขึ้นปราศรัยนำเสนอปัญหาของคนงานเอนี่ออน ทั้งที่หน้าทำเนียบและรัฐสภา โดยไม่ได้มีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือ พล.ต.ต.วิชัย แต่อย่างใด

อัยการถามว่า พนักงานตรวจแรงงานให้จ่ายค่าชดเชยโดยกำหนดระยะเวลาให้จ่ายด้วยใช่หรือไม่ โดยคำสั่งลงวันที่ 17 ส.ค. สุนทร ตอบว่า ใช่ โดยให้ปฏิบัติใน 30 วันหลังรับทราบคำสั่ง ซึ่งไม่ทราบว่านายจ้างได้รับทราบคำสั่งเมื่อใด สุนทรตอบทนายซักค้านด้วยว่า ตามคำสั่งดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งได้ใน 30 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง จนปัจจุบันนี้นายจ้างก็ยังไม่จ่ายค่าชดเชย

ภาพคนงานทั้ง 3 โรงงานชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล 27 ส.ค.52

เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวประชาไท พยานในเหตุการณ์ เบิกความว่า ขณะนั้นเป็นผู้สื่อข่าวอิสระและนักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีความสนใจเรื่องนโยบายของรัฐด้านสวัสดิการ จึงไปติดตามการชุมนุม และได้บันทึกภาพนิ่งและวิดีโอ เพื่อรายงานข่าวและเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์

เทวฤทธิ์ ระบุว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนพันกว่าคน โดยเป็นผู้ชายราว 5% ในวันดังกล่าว ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่มีใครออกมารับหนังสือ คนงานจึงตัดสินใจเดินขบวนไปหน้ารัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโบกรถให้ และเมื่อไปถึงมีการวางแผงเหล็กกั้นปิดท้ายขบวน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชุมนุม ไม่ให้รถเข้ามาในบริเวณดังกล่าว ต่อมา ในช่วงบ่าย มีการใช้เครื่อง LRAD รบกวนการชุมนุม โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่แก้วหู

เทวฤทธิ์ กล่าวว่า ในการปราศรัยของผู้ชุมนุมทั้งที่หน้าทำเนียบและรัฐสภา มีการพูดถึงปัญหาการถูกเลิกจ้าง ขอความเป็นธรรม และพูดถึงการแถลงนโยบายของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯในขณะนั้น ที่จะประกันการเลิกจ้าง โดยไม่ได้มีการชักชวนให้ทำผิดกฎหมาย  ทั้งนี้ มองว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้สร้างความวุ่นวายใดๆ 

ภาพเครื่อง LRAD บริเวณรั้วด้านในรัฐสภา 27 ส.ค.52

พงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้ติดตามปัญหาแรงงานสัมพันธ์และรับผิดชอบติดตามกรณีปัญหาการเลิกจ้างคนงานไทรอัมพ์ฯ เบิกความว่า ติดตามการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์ฯ ตั้งแต่เริ่มที่หน้าโรงงาน มาสวัสดิการสังคมจังหวัด กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องทางสังคม เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ติดตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายคนงานไม่ต้องการถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ปกติคนงานก็จะแสดงออกหากไม่พอใจ ก็จะมีการชุมนุม เช่น ชุมนุมหน้าโรงงาน แรงงานจังหวัดและกระทรวงแรงงาน รวมทั้งที่หน้าทำเนียบ

พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า วันเกิดเหตุพยานอยู่สภา เนื่องจากเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการด้านแรงงาน  ซึ่งนอกจากคนงานไทรอัมพ์ฯ แล้ว ยังมีอีก 2 บริษัท ต้องการมายื่นหนังสือต่อรัฐบาล ผ่าน รมว.แรงงาน และในวันนั้นได้ยื่นหนังสือด้วย โดยก่อนหน้านั้น คนงานไทรอัมพ์ฯ มีการยื่นมาเป็นระยะด้วย โดยคนงานกลุ่มนี้เป็น สหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง สมาชิกของเขาร่วมกันเต็มที่ การชุมนุมในวันนั้นผู้ชุมนุมไม่มีการใช้อาวุธหรือใช้ความรุนแรง เป็นการไปใช้สิทธิด้านแรงงาน กับรัฐบาล โดยที่ผ่านมาการชุมนุมลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นช่องทางในการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการ โดยเฉพาะการมีปัญหารุนแรงก็จะมาชุมนุมจำนวนมากอย่างกรณีไทรอัมพ์ฯ ก็ประสบปัญหารุนแรง และการชุมนุมดังกล่าวก็ทำให้การแก้ปัญหาหรือจัดการโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น อีกทั้งขณะนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีนโยบายชะลอการเลิกจ้าง รวมทั้งรัฐบาลให้ประชาชนใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญได้ และโดยปกติจะมีการจัดระเบียบการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาอยู่แล้ว

พงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงกระบวนการการทำลายสหภาพแรงงานด้วยว่า ส่วนมากนายจ้างจะใช้การเลิกจ้างกรรมการสสหภาพแรงงาน และกรณีไทรอัมพ์ฯ ก็มีการเลิกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงานด้วย สำหรับการเลิกจ้างคนงานนอกจากบริษัทต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายในการเลิกจ้างแล้ว ต้องทำตามสภาพการจ้างที่มีการตกลงกับสหภาพแรงงานไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้นายจ้างได้มีการจ่ายค่าชดเชยขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ฝ่ายลูกจ้างประท้วงเรื่องการยุติการเลิกจ้าง และปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง รวมถึงสิทธิขั้นที่สูงกว่าที่กฎหมายไทยกำหนด ซึ่งข้อตกลงสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นประเด็นที่ นายจ้างกับคนงานมีกระบวนการเจรจากัน และมีเส้นตายของการที่คนงานไทรอัมพ์ฯ 1959 คนจะถูกเลิกจ้างในวันที่ 29 ส.ค. 52 เขาจึงมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาในวันที่ 27 ส.ค.52

บรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานศูนย์กลางแห่งประเทศไทย เบิกความว่า สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และแม็คคานิคส์ในเครือ เป็นสหภาพของคนงานเอนี่ออน ซึ่งร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุนั้นเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างฯ ซึ่งสหภาพฯ เริ่มมีข้อพิพาทแรงงานเมื่อปี 51 และมาร้องเรียนว่านายจ้างจ่ายเงินไม่ถูกต้อง จึงมีการไปร้องกับกระทรวงแรงงาน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต่อมามีการปิดกิจการและเลิกจ้างคนงานประมาณ 300 คนในเดือน ส.ค. 52 สหภาพฯ จึงร้องเรียนให้สภาองค์การลูกจ้างฯช่วย จึงร้องเรียนทั้งในระดับจังหวัด และกระทรวง แต่ก็ไม่เป็นผล จนยื่นเรื่องต่อนายก

บรรจง ระบุว่า หลังจากนั้น รองประธานสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ฯ ได้ประสานกับคนงานไทรอัมพ์ฯ เพื่อเดินทางไปทวงถามความคืบหน้าดับนายกฯ ในวันที่ 27 ส.ค. 52 พยานจึงคุยกับนายสุนทร บุญยอด จำเลยที่ 2 ที่เป็นเจ้าหน้าที่สภาองค์การลูกจ้างฯ ให้ไปดูแลคนงาน ที่นัดกันที่ บ้านพิษณุโลก ลูกจ้างของเอนี่ออนมาประมาณ 300 กว่าคน ของไทรอัมพ์ ประมาณ 600-700 คน รวมแล้วกว่าพันคน เดินไปหน้าทำเนียบ ระหว่างเดินไปทำเนียบรถก็เดินทางไปได้ ขณะนั้นสถานที่ราชการเข้าทำงานหมดแล้ว เพราะประมาณ 10.00 น. อยู่หน้าทำเนียบประมาณ 1 ชม. ทราบว่านายกไม่อยู่ และอยู่ที่รัฐสภา จึงเดินทางกันไปหน้ารัฐสภาโดยมีตำรวจนำขบวน และอำนวยความสะดวกให้ไปรัฐสภา

บรรจง  เบิกความต่อว่า ขณะอยู่หน้ารัฐสภา ประตูถูกปิดโดยตำรวจ สักพักตำรวจเปิดเสียงรบกวน ส่งผลกระทบมาก ขณะนั้น สวนสัตว์เขาดินสามารถเข้าได้เพราะทางซื้อบัตรเข้าออกไม่ได้อยู่บริเวณนั้น หลังจากนั้น 14.00 น. ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ได้เชิญพยานไปพบ รัฐมนตรีในรัฐสภา และได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีและรับปากว่าจะช่วยเหลือ รวมถึงกรณีของสหภาพฯ อื่นด้วย เมื่อเสร็จจากยื่นหนังสือแล้วก็เลิก โดยพยานสั่งการให้ผู้ชุมนุมคนงานเอนี่ออนเลิกจึงยุติการชุมนุม

ส่วนสุนทร จำเลยที่ 2 ที่อยู่ทั้งหน้าทำเนียบและรัฐสภานั้นไม่ได้เป็นผู้นำ และไม่ได้เข้าพบรัฐมนตรี แต่มีการปราศรัยปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่มายื่นหนังสือ โดยคนงานทั้งหมดที่มาวันนั้นเพียงแค่ต้องการให้ รัฐบาลแก้ปัญหา ไม่มีความคิดที่จะมาสร้างความวุ่นวายหรือยึดอำนาจรัฐ และจำเลยทั้ง 3 ไม่ได้เป็นหัวหน้าคนงาน เป็นเพียงตัวแทนของคนงาน

ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ เบิกความด้วยว่า พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างเอนี่ออนจ่ายค่าชดเชยกับแล้ว แต่นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตาม และนายจ้างได้หายไปจึงเรียกร้องให้นายกช่วยประสาน อย่างไรก็ตามในตอนนี้นายจ้างก็ยังไม่ปฏิบัติตาม

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชน ชึ่งในช่วงเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia) ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เบิกความว่า ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ขอให้ไปเป็นล่ามในการแปลระหว่างเจรจาด้านสวัสดิการและค่าจ้าง โดยลักษณะการทำงานของสหภาพแรงงานนี้ ตัวกรรมการไม่สามารถตัดสินใจได้ในทันทีเพราะต้องกลับไปคุยกับสมาชิกสหภาพก่อน

ต้นปี 52 พยานทราบจากคนงานว่าจะมีการเลิกจ้างจำนวนมาก รวมทั้งกรรมการ 13 คนจาก 20 คน สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯจึงยื่นข้อเสนอกับบริษัทเพื่อให้ยุติการเลิกจ้าง รวมทั้งให้รับจิตรา จำเลยที่ 3 ที่เป็นประธานสหภาพคนก่อนและถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่การเจรจาไม่เป็นผล จนทำให้คนงานไปยื่นข้อเรียกร้องกับนายกในวันที่ 6 ส.ค. 52 ซึ่งพยานไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย การชุมนุมวันนั้นใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากมีคนออกมารับแล้วคนงานก็กลับ

แต่หลังจากยื่นหนังสือรัฐบาลไม่ได้มีการแจ้งความคืบหน้ากับคนงาน จึงทำให้สหภาพแรงงานเดินทางมาอีก วันที่ 27 ส.ค. และพยานได้ไปสังเกตการณ์ด้วยมีผู้ชุมนุมมีประมาณ 1500 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกรวมทั้งมีแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่กันรถไว้ รวมทั้งบริเวณที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรถยังสามารถสัญจรไปได้

ปกป้อง เบิกความต่อว่า จากนั้นผู้ชุมนุมประชุมกันเนื่องจากทราบว่านายกฯ อยู่ที่รัฐสภา ก่อนเที่ยงจึงเดินทางไป ระหว่างทางมีตำรวจ อำนวยความสะดวก เมื่อมาถึงสภาขณะนั้นไม่มีรถสวนทางออกมา เพราะตำรวจกันรถเตรียมพื้นที่ชุมนุมไว้ให้ ตลอดการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ เนืองจากส่วนมากเป็นผู้หญิง โดยมีการปราศรัยเรื่องปัญหาเดือดร้อนที่คนงานประสบ แต่ยังไม่มีตัวแทนรัฐบาลออกมารับ จนกระทั่งตำรวจเปิดเครื่องขยายเสียงระดับไกลหรือ LRAD ผู้ชุมนุมจึงประสานไปกับตัวแทนฝ่ายค้านเพื่อยื่นหนังสือแทน

สำหรับเหตุผลที่เข้าไปสังเกตการณ์ชุมนุมนั้น ปกป้อง เบิกความว่า เนื่องจากการชุมนุมเป็นสิทธิ องค์กรของพยานก็ได้ติดตามการชุมนุมและประเด็นเรื่องสิทธิ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในไทย ได้เดินทางไปสังเกตการชุมนุมในประเทศอื่นในเอเชียด้วย การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันนั้นเนื่องจากมีวัตถุประสงค์มาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อน และส่วนมากผู้ชุมนุมเป็นผู้หญิง และมีอายุค่อนข้างมาก รวมทั้งมีการพาเด็กที่เป็นลูกหลานมาร่วมชุมนุมด้วย จึงถือเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มเพื่อนมหิดลออกแถลงการณ์ป้อง 'หมอวิทิต'

Posted: 31 May 2013 01:12 AM PDT

 
31 พ.ค. 56 - กลุ่มเพื่อนมหิดลออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 "ร่วมกันปกป้องคนดีในวงการสาธารณสุข : กรณีการสั่งปลดหมอวิทิต" และการใช้อำนาจการเมืองแทรกแซงองค์การเภสัชกรรม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์กลุ่มเพื่อนมหิดล ฉบับที่ 2
"ร่วมกันปกป้องคนดีในวงการสาธารณสุข : กรณีการสั่งปลดหมอวิทิต"
และการใช้อำนาจการเมืองแทรกแซงองค์การเภสัชกรรม
 
จากกระแสข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายประดิษฐ สินธวณรงค์) ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าตรวจสอบการบริหารของผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กรณีการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตพาราเซตามอล และกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โดยจงใจสร้างให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่องค์การเภสัชกรรม และยกเป็นเหตุให้บอร์ดองค์การเภสัชกรรมมีมติปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ในฐานะผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาอย่างมีเงื่อนงำ นำมาซึ่งข้อสงสัยของประชาชนโดยทั่วไป ถึงความไม่โปร่งใสและไม่ถูกต้องชอบธรรมในการดำเนินการดังกล่าว 
 
กลุ่มเพื่อนมหิดล ในฐานะองค์กรภาคีความร่วมมือของบุคลากรในแวดวงวิชาชีพสาธารณสุข วิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม และมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จึงติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยต่อระบบสุขภาพโดยรวม และมีความเห็นร่วมกันว่า
 
(1) จากประวัติและผลงานที่โดดเด่นของ นพ.วิทิตฯที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเป็นผู้บริหารระดับต้นที่โรงพยาบาลชุมชนบ้านแพ้ว จนถึงการเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวคือ
 
1.1) เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (ช่วงปี 2530 - 2550) ได้สร้างผลงานและความก้าวหน้าให้แก่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เช่น ผลักดันให้เกิดการผ่าตัดที่ยากๆ ได้โดยสามารถเชิญอาจารย์จากศิริราชไปช่วยผ่าตัดให้ จัดบริการ "เชิงรุก" โดยออกไปตั้งคลินิกผู้ป่วยนอกในชุมชน เพื่อให้ประชาชนสะดวกขึ้นและลดความแออัดในโรงพยาบาล จนเป็นที่ยกย่อง ได้รับการยอมรับและความร่วมมือเป็นอย่างมากจากประชาชนในพื้นที่ และในที่สุดก็สามารถพัฒนาให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็น "องค์การมหาชน"แห่งแรกของประเทศไทยที่มีการบริหารงานแบบอิสระ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 นอกจากนี้ยังได้ขยายการให้บริการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้วพร้อมมิตร คลินิกบ้านแพ้วที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคาร A และอาคาร B  เป็นต้น    
 
1.2) จากการบริหารงานโรงพยาบาลบ้านแพ้วของหมอวิทิตฯ ด้วยความทุ่มเทอุตสาหะมาเป็นระยะเวลายาวนานจนประสบความสำเร็จ จึงกลายเป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลของรัฐให้เป็นองค์กรมหาชนที่เป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.วิทิตฯได้รับรางวัลมหิดล-บีบราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 อันเป็นการแสดงถึงความสำเร็จในเรื่องนี้
 
1.3) นอกจากนี้ รูปแบบการบริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้วนี่เอง ได้กลายเป็นต้นแบบของโครงการ "30 บาท รักษาทุกโรค" เพราะ นพ.วิทิตฯ ได้บริหารงานโรงพยาบาลบ้านแพ้วโดยได้รับงบประมาณเป็นก้อนไปจากรัฐบาล แล้วดำเนินการรักษาพยาบาลให้ประชาชนในเขตอำเภอ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพียงครั้งละ 40 บาท เท่านั้น และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ รับนโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงใช้รูปแบบจากบ้านแพ้ว แต่ให้ปรับลดเก็บค่าบริการลงเหลือ 30 บาท
 
1.4) ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 เมื่อ นพ.วิทิตฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ก็ได้สร้างผลงานที่มีคุณูปการต่อระบบสุขภาพอย่างมากมาย โดยเฉพาะการทำ CL ยา และการจัดบริการยาเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งช่วยให้คนไข้โรคเอดส์ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมทั้งประชาชนโดยเฉพาะผู้สิทธิบัตรทอง(UC) สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นและราคาแพงได้อย่างทั่วถึง เช่น โอเซลทามิเวียร์ (ป้องกัน/รักษาโรคไข้หวัดนก H1N1) ยาขับเหล็ก Deferipone ให้กับคนไข้ Thalassemia หลายหมื่นคน (จากราคาเม็ดละ 30 บาทของอินเดีย ลดเหลือเม็ดละ 3.50 บาท) หรือ ยาจิตเวช Resperidone, Sertraline (จากราคาเม็ดละ 40-50 บาท ลดเหลือเม็ดละ 3 บาท ถึง 5 บาท) เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยจำนวนมากในระบบ UC แล้วยังทำให้ประเทศไทยประหยัดงบประมาณไปหลายพันล้านบาท
 
1.5) ในช่วงสถานการณ์อุบัติภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2545 องค์การเภสัชกรรมโดยการนำของ นพ.วิทิตฯ ก็ยังได้สนับสนุนช่วยเหลือยาสามัญประจำบ้าน ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำบรรจุแกลลอน เครื่องกรองน้ำ RO ส่งไปช่วยประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.ปทุมธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รวมทั้งสนับสนุนเรือท้องแบนให้โรงพยาบาลใหญ่ๆ แม้กระทั่งโรงพยาบาลในกรุงเทพหลายแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลใน จ.ปทุมธานี และ จ.ลพบุรีด้วย
 
(2) ด้วยผลงานและคุณูปการต่อระบบสุขภาพของไทยของ นพ.วิทิตฯข้างต้น จึงถือได้ว่า นพ.วิทิตฯ เป็นนักบริหารรุ่นใหม่ที่เก่งดีมีความสามารถ หนึ่งในวงการสาธารณสุข สมควรได้รับการสนับสนุนเชิดชูและยกย่อง แต่กลับถูกผู้บังคับบัญชาทั้งฝ่ายการเมืองและบอร์ดองค์การเภสัชกรรมใช้กระบวนการตรวจสอบที่รวบรัด โดยไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งแสดงเหตุผลอย่างเพียงพอ ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างโปร่งใส รวมทั้งกระบวนการตัดสินใจที่มีการตั้งธงไว้ของฝ่ายการเมืองแล้วชี้นำคณะกรรมการ(บอร์ด)อย่างมีอคติ โดยปราศจากการชั่งน้ำหนักถึงผลงานเชิงประจักษ์จากการบริหารองค์การเภสัชกรรมของผู้อำนวยการ(นพ.วิทิตฯ)ที่ผ่านมา กับ ผลกระทบของประเด็นที่หยิบขึ้นมาตรวจสอบ ด้วยความยุติธรรม 
 
กลุ่มเพื่อนมหิดลจึงขอคัดค้านมติของบอร์ดและมติคณะรัฐมนตรีในการปลด นพ.วิทิตฯ ออกจากตำแหน่ง "ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม" ครั้งนี้ และขอให้คณะรัฐมนตรีเพิกถอนคำสั่งปลดและคืนความเป็นธรรมให้ นพ.วิทิตฯ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมต่อไป
 
(3) ด้วยกระบวนการการปลดออกจากตำแหน่งอย่างเร่งรัด และหวังเข้าครอบงำองค์การเภสัชกรรม สร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มเพื่อนมหิดลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะ"องค์การเภสัชกรรม" ถือเป็นกลไกของรัฐเพียงแห่งเดียว(ที่ไม่เน้นการแสวงหากำไร) ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ในด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศและประชาชนที่เจ็บป่วย ด้วยการทำการผลิต จัดซื้อ/นำเข้ายาเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคาต่ำ ลดการผูกขาดราคายาของบริษัทยาข้ามชาติได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบสุขภาพที่หน่วยบริการจะสามารถให้การรักษาพยาบาลและการป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึง
  
นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมให้มีการยุติการสั่งการในการใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมจำนวน 4 พันล้านในการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข หรือการสั่งการให้องค์การเภสัชกรรมแทรกแซงการซื้อยาโรคหัวใจจำนวน 2,000 ล้านบาท และคัดค้านการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม เพื่อพิทักษ์ระบบยา อันมีความสำคัญยิ่งต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ผู้รับผิดชอบทั้งในภาครัฐและภาคการเมืองต้องใส่ใจอย่างจริงจัง
 
กลุ่มเพื่อนมหิดลจึงขอสนับสนุนสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมในการเคลื่อนไหวปกป้ององค์การเภสัชกรรมให้ปราศจากการครอบงำและแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจสุขภาพเชิงพาณิชย์ และขอเรียกร้องให้ภาคประชาสังคม กลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วย ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายภาคีความร่วมมือด้านสุขภาพ รวมทั้งสื่อสารมวลชน ได้ร่วมกันติดตามตรวจสอบความเป็นไปขององค์การเภสัชกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย
 
ด้วยจิตคารวะ
กลุ่มเพื่อนมหิดล
31 พฤษภาคม 2556
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ประณามการจัดประชุม 6 มิ.ย. ชี้บิดเบือนข้อเท็จจริง

Posted: 31 May 2013 12:58 AM PDT

31 พ.ค. 56 - สืบเนื่องจากการที่ทางรัฐบาลโดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ขอเจรจากับแพทย์ชนบทและเครือข่ายสุขภาพที่ออกมาขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และฏิเสธนโยบาย P4P ซึ่งจะมีการจัดการเจรจาในวันที่ 4 และ  6 มิ.ย. 56 โดยเป็นการเจรจาตามข้อเรียกร้องของแพทย์ชนบท, ทันตภูธร, เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน, เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกัน, สหภาพองค์การเภสัชกรรม, เครือข่ายผู้ป่วยและองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาและพิจารณาข้อเรียกร้องทีละประเด็นนั้น 
 
ต่อประเด็นนี้ นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส ได้กล่าวว่าแพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ขอประนามการบิดเบือนสาระการหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง รมว.ประดิษฐ ไม่ได้ร่วมประชุมด้วย 
 
"การจัด workshop P4P ในวันที่ 6 มิ.ย. ซึ่งเป็นการเจตนาบิดเบือนที่น่าละอายยิ่ง และเป็นการแสดงถึงธาตุแท้แบบนักธุรกิจสามานย์ที่มุ่งบรรลุผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่สนใจวิธีการ แม้การบิดเบือนผลการประชุมที่ตนไม่ได้เข้าร่วมก็ทำได้ นี่ไม่ใช่ workshop P4P เพราะ P4P คือยาพิษจะไม่มีการเจรจาลงรายละเอียดเรื่อง P4P แต่อย่างใด ไม่รับทั้งหมดและไม่มีการโอนอ่อน" นพ.สมชาย กล่าว
 
นพ.สมชาย กล่าวถึงจุดยืนว่าชมรมแพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ขอยืนยันข้อเรียกร้องที่ลดหย่อนไม่ได้เลยของแพทย์ชนบทและเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนนั่นคือ 
 
1. การยกเลิกนโยบาย P4P สำหรับโรงพยาบาลชุมชนโดยสิ้นเชิง แล้วเอาเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4,6 กลับมาใช้เช่นเดิม รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราสำหรับวิชาชีพอื่นที่นอกเหนือจากแพทย์ ทันตแพทย์ด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานและลดปัญหาการสมองไหลจากโรงพยาบาลชุมชน จะไม่มีการเจรจารายละเอียดใดๆในเรื่อง P4P  
 
2. รัฐบาลต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากการเป็นรัฐมนตรี และมอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รักษาการแทน  และให้เป็นผู้แทนการเจรจาในฝั่งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การเจรจาดำเนินไปได้ เพราะ รมต.ประดิษฐเป็นโมฆะบุรุษและเป็นเชื้อโรคร้ายที่บ่อนทำลายระบบสุขภาพ จึงไม่อาจให้มาทำหน้าที่ตัวแทนฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขได้
 
ด้าน นพ.รอซาลี ปัตยบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา กล่าวย้ำว่าการที่ผู้แทนท่านนายกรัฐมนตรีคือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาขอร้องให้ชมรมแพทย์ชนบทยอมรับการเจรจานั้น ไม่ได้แปลว่าชมรมแพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมดจะยุติความเคลื่อนไหวในการชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี แต่ทางชมรมแพทย์ชนบท โดยเฉพาะแพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชนใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ยังพร้อมที่จะมาออกให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรีทุกวัน และพร้อมจะชุมนุมยืดเยื้อหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี หากการเจรจาไม่นำไปสู่การตอบสนองข้อเรียกร้องทุกข้อ 
 
"การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ระบบสุขภาพให้ไม่ถูกทุนสามานย์ยึดครองไป เป็นการต่อสู้เพื่อระบบสุขภาพที่เอื้อให้กับการดูแลสุขภาพคนทุกคนในสังคมไทยไม่เฉพาะคนจนคนชนบท เป็นบทบาทการแพทย์เพื่อสังคมที่ต้องยืนหยัด และขอเชิญคนไทยทั้งประเทศติดตามและเข้าร่วมการปกป้องระบบสุขภาพไทยในครั้งนี้ด้วย" นพ.รอซาลี กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวทีวิพากษ์ความพร้อมไทยสู่ TPP ชี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวแข่งขันสูงขึ้น

Posted: 31 May 2013 12:40 AM PDT

สภาที่ปรึกษาฯ จัดวิพากษ์ความพร้อมของประเทศไทยต่อการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) กรมเจรจาการค้าชี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมาตรฐานการค้าและการแข่งขันที่สูงขึ้น

 
31 พ.ค. 56 - วานนี้ (30 พ.ค. 56) คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้ผู้บริโภค  จัดสัมมนาเรื่อง " ข้อตกลงทางการค้ากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค กรณี TPP และ EU-ไทย FTA"" เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค  นักวิชาการ ภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนและสื่อมวลชน ในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP)   ห้องประชุม 1  สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
 
โดยมี ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้ผู้บริโภค สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดสัมมนา โดยกล่าวว่า TPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีลักษณะกว้างขวาง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดภาษี ในประเทศสมาชิกลง 90 % ในปี 2549และมุ่งให้ภาษีเป็นศูนย์ภายในในปี 2558 นอกจากนี้ยังมีการเจรจาครอบคลุมประเด็นหลักอื่นๆ อาทิ การค้าสิ้นค้า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การเยียวยาทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญาและนโยบายการแข่งขันและการจัดซื้อจัดหาโดยรัฐ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การเจรจา TPP ประสบความสำเร็จ โดยประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะเข้าร่วมในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนดังกล่าว ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว แสดงการคัดค้านของกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชน ว่าอาจจะเกิดปัญหาขึ้น หากมิได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบครอบและรอบด้าน
 
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค ด้านบริการ กล่าวว่า หัวข้อในการสัมมนาจะศึกษาผลกระทบจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP และ การเจรจาความตกลง FTA ไทย EU ซึ่งประเด็นเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขไม่แตกต่างกันในนัยยะสำคัญ หลังจากที่ทางสภาที่ปรึกษาฯ เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้ (ร่าง) กรอบการเจรจาฯ ระบุอย่างชัดเจนให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก 
 
นางพิราภรณ์ กิจไพฑูรย์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณาการ ๒ (อเมริการิเหนือ) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP มีพัฒนาการมาจาก P4 ประกอบด้วย ประเทศชิลี นิวซีแลนด์ สิงค์โปร และบูรไน ต่อมาในปี 2551 ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมเจรจากับประเทศสมาชิก P4 ในปี 2553 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศว่า ความตกลง TPP จะเป็นต้นแบบสำหรับการเจราจาทำความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าในกลุ่มเอเปค (Free Trade Area of the Asia Pacific : ETAAP) ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ เวียดนาม แคนนาดา และเม็กซิโก โดยที่ TPP เป็นต้นแบบในการเปิดการค้าเสรีในเศรษฐกิจยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่มีมาตรฐานสูงและมีกรอบกว้างขวาง ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจเข้าร่วม แม้ประเทศสมาชิก 11  ประเทศก็มีฉันทามติให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมเป็น
 
สมาชิกลำดับที่ 12 ได้ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีเพราะต้องรอให้ประเทศสมาชิกปรับแก้ไขข้อกฎเกณฑ์ในประเทศก่อน ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ คือ การรักษาส่วนแบ่งตลาดของไทย เนื่องจากไทยทำการค้ากับสมาชิก TPP 11 ประเทศมีมูลค่าสูง ทำให้สินค้าส่งออกของไทยได้รับสิทธิพิเศษเรื่องภาษีนำเข้าสหรัฐฯเป็นศูนย์เป็นการถาวร อีกทั้งช่วยรักษาและดึงดูดการค้า การลงทุนจากสมาชิก TPP และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ให้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต การค้า ในภูมิภาค และมีส่วนช่วยผลักดันการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบเศรษฐกิจการค้าของไทย ในส่วนผลกระทบที่จะตามมาคือ การนำเข้าสินค้าและบริการจากสมาชิก TPP เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนกฏระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการค้าและการแข่งขันที่สูงขึ้น ตามเงื่อนไขและมาตรฐานของ TPP ด้วย
 
ดร.บัณทูร เศรษฐศิโรตน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับประเด็นการเจรจาในเรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้ TPP มีข้อเรียกร้องสำคัญหลายประการที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางบวกและทางลบ เช่น สหรัฐฯ มีข้อกำหนดให้คู่เจรจาต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม 7 ฉบับ  ซึ่งมีในนัยว่า สหรัฐต้องการให้ประเทศคู่เจรจายอมรับสิทธิและพันธกรณีในความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐฯเป็นสมาชิกอยู่เท่านั้น ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆให้รอบครอบก่อนที่จะดำเนินการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ประเทศไทยต้องคำนึงถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจ ต้องมีการศึกษาในภาพรวมมิใช่มองส่วนใดส่วนหนึ่ง จำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือในการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ ของ TPP ด้วย
 
ด้านคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล เลขานุการและสมาชิกคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการศึกษามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี เกี่ยวกับการเข้าร่วม TPP ในขณะที่อเมริกาเองก็มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศอาเซียน ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยเรื่อง TPP โดยเฉพาะ แต่มีเอกสารอ้างอิงมางานวิจัยของบริษัท ไบรอัน เคฟ ที่ร่วมกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ร่วมกันทำการศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย FTA ไทยสหรัฐฯ โดยการสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องการใช้ TPP ในการคานอำนาจกับประเทศจีน ไทยควรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ TPP โดยมีเงื่อนไขว่า 1.ประเทศสมาชิก TPP ยอมรับที่จะไม่ผลักดันให้ไทยขยายอายุสิทธิบัตรยา มากไปกว่าระดับความคุ้มครองภายใต้กรอบความตกลงหรืออนุสัญญาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยเป็นสมาชิก 2. ประเทศสมาชิก TPP ยอมรับที่จะไม่ผลักดันบทบัญญัติด้านบริการทางการเงินมากกว่าหลักการภายใต้ GATS 3.ประเทศสมาชิก TPP ยอมรับที่ไทยจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญา UPOV
 
ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ นักวิจัย HIA ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า ทริปส์พลัส ซึ่งนั่นจะบ่อนทำลายศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตยาชื่อสามัญทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จะเกิดผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เพราะว่ายาจะมีราคาที่แพงขึ้น จากสถิติแล้วคนไทยเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยามีน้อยถ้าเทียบกับ เจ้าของสิทธิบัตรจากต่างประเทศ ทำให้ไทยมีแนวโน้มในการนำเข้ายาจากต่างประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงร้อยละ 70 ขณะที่ประเทศไทยมีการอัตราการผลิตยาได้เองร้อยละ 30 
 
นายจักรชัย โฉมทองดี กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่สังคมไม่ทราบว่า  การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยจะได้อะไรบ้าง เกิดประโยชน์อะไร  ข้อตกลง FTA แทบจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศโซนยุโรปเลย  ทุกวันค่าเงินบาทแข็งค่าเพราะนักลงทุนจากต่างประเทศนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนตลอด ถ้ามีการเปลี่ยนก็ไม่อยู่ในปริมาณที่มีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด แต่อาจจะมีนักลงทุนชาติอื่นมาใช้ฐานการผลิตของไทยเพื่อมาส่งออกสินค้าไปสู่ยุโรปส่วนนี้ก็อาจจะมีผลบ้าง จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบ ออกมาชี้แจงผลดีผลเสียที่ได้พิจารณาและนำมาสู่ข้อสรุปในการแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วม TPP เพราะจนถึงขณะนี้สังคมยังไม่ทราบเลยว่า คณะรัฐมนตรีตัดสินใจบนฐานข้อมูลใด
 
และในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจาความตกลงดังกล่าวรวมทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาของคณะทำงานจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักโทษทางการเมือง ความคิดต่างที่ต้องโทษ

Posted: 31 May 2013 12:00 AM PDT

 
หลังจากวันที่ 1 พ.ค. 2556 โลกออนไลน์โดยเฉพาะสังคม facebook เริ่มมีการเคลื่อนประเด็นที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 12 ปี ฐานเป็นกบฏและสมาชิกขบวนการ BRN Coordinate ต่อนายมะกอรี และพวกรวม 9 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ นักสื่อสารภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ (ปาตานี) หรือเป็นเจ้าของบล็อกคอลัมน์ Patani Design ในเว็บศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)[1]
 
กระแสการรณรงค์เริ่มขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วผ่านเพจ "เพื่อนอันวาร์ Save Anwar" ซึ่งเป็นเพจที่สร้างความกังวลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในคำตัดสิน จนทำให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องออกมาแถลงถึงกรณีที่ศาลฎีกาตัดสินเช่นนี้ว่าเพราะเหตุใด[2]
 
บทสรุปสุดท้ายในคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN Coordinate จริง[3] เราเคารพในคำตัดสิน แต่ไม่ได้แสดงว่าเรายอมรับการกระทำผิดซึ่งหน้า มิได้แสดงว่าเมื่อคิดต่างจากรัฐแล้ว จะต้องเข้าไปเป็นสมาชิก BRN หรือองค์กรใด แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าเรามีความผิดที่คิดต่างทางการเมืองกับรัฐไทย
 
การคิดเห็นต่างทางการเมือง แล้วแสดงออกโดยการสื่อสารทั้งการสื่อสารแบบเก่าหรือแบบใหม่ หรือแสดงออกโดยวิธีการไม่เสียเลือดเนื้อของผู้คน การถ่ายทอดออกมาในรูปแบบสันติวิธีทั้งหลายเหล่านี้ เรากระทำโดยมิได้ผิดต่อหลักกฎหมายบ้านเมือง หรือข้อห้ามแต่อย่างใด ในทางกลับกันลองพลิกดูนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ของ สมช. ที่เป็นตัวแทนของรัฐไทยที่ไปนั่งเก้าอี้พูดคุยบนโต๊ะเจรจากับ BRN ที่มาเลเซีย นั้นเขียนระบุไว้อย่างไร ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 8 ที่ว่าด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพูดคุย หลักประกันการเข้ามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และในข้อที่ 2 ที่ระบุว่า ส่งเสริมกระบวนการพูดคุยกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ
 
กรณีศึกษาจากการตัดสินจำคุก 12 ปี นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะและพวกอีก 9 คน ที่มีการซัดทอดว่าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRN แต่มิได้มีความผิดฐานการกระทำผิดซึ่งหน้า หรือคดีฆ่าตัดคอตามที่เป็นข่าว หากมองขึ้นไปที่นโยบายข้างต้น แทบไม่มีประโยชน์ที่จะออกแถลงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาใต้ หากในทางปฏิบัติของหน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่นำไปปฏิบัติตาม
 
นักโทษทางความคิด คิดต่างทางการเมือง ที่มาจากความเป็นอยู่ ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา ที่ต่างกัน รัฐไทยคงจะต้องสร้างที่กักขังอีกหลายแห่งเพื่อรองรับบุคคลที่มีความเห็นต่างกลุ่มนี้ คงมิได้มีแต่เพียง อันวาร์ และเพื่อนอันวาร์เท่านั้น
 
สิ่งที่จำเป็นระดับระดับต้น ไม่ใช่นโยบายที่สวยหรู ไม่ใช่การประดิษฐ์คิดวาทกรรมทางการเมืองใหม่ๆ ออกมาผ่านนโยบายแถลงของรัฐ สิ่งที่รัฐไทย แม้จะนำโดยพรรคใดก็ตาม ต้องคำนึงคือ "ยอมรับ" ในความต่าง ในทุกๆ บริบทของชาวปาตานี ซึ่งมันจะสะท้อนถึงอุดมการณ์แนวคิดคนละขั้วจากความเป็นสยามออกมา
 
ท่านผู้ปกครองที่ใช้กฎหมาย มีอำนาจในมือ ปลายปากกา และกระบอกปืน สันติภาพที่สันติสุข สังคมไร้ซึ่งเสียงกระสุน เสียงดังของระเบิดจะไม่เกิดขึ้นถึงแม้ว่าจะจับกุม ควบคุมแนวร่วม แกนนำของขบวนฯ BRN ตัวจริงหรือเทียม มากเพียงใดก็ตาม เพราะสังคมเมอลายูปาตานีคงไม่มีวันที่จะเปลี่ยนสีฐานความคิด ฐานทางสังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ให้กลายหรือเหมือนผู้ปกครองอย่างรัฐไทยได้ ผู้ปกครองควรจักต้องเข้าใจ ยอมรับ รับฟัง ให้มากกว่าเดิมหลายเท่า และอย่าได้พยายามเปลี่ยนสีฐานความคิด หรือป้ายสีชาวเมอลายูปาตานี
 
เรายอมรับในความต่างที่คุณเป็นสยาม แต่เราไม่ยอมนอบน้อมในความอธรรมและอยุติธรรมจากการกระทำจากผู้ปกครอง
 
เมอลายูปาตานีจะไม่เลือนหายจากแผนที่แห่งความคิด เราจักรักษามันให้คงอยู่ เราจักปกป้องให้มันคงไว้ โดยวิถีสันติ มิใช่ความก้าวร้าว
 

 




[1] กรุณาคลิกดูรายละเอียดของบล็อกดังกล่าวได้ที่  http://www.deepsouthwatch.org/blog/1033
[2] กรุณาคลิกดู "บทแถลงข่าว" ของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ที่http://www.southpeace.go.th/th/News/explain/news-560507-3.html
[3] กรุณาคลิกอ่านรายละเอียดของคำพิพากษาศาลฎีกาได้ ที่นี่

 

 

 

ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/4304

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอเอสทีวีประกาศขายสติกเกอร์ "กายฟอว์กส์"

Posted: 30 May 2013 10:16 PM PDT

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์เชิญชวนให้ประชาชนซื้อสติ๊กเกอร์หน้ากากกายฟอว์กส์ ระบุเป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน "รัฐบาลเผด็จการทักษิณ" และประกาศให้โลกรู้ถึงการใช้อำนาจมิชอบของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" พร้อมลงท้ายว่าสามารถหาซื้อได้ที่ร้าน 'ASTV Shop' หรือแถมฟรีใน 'ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์'

ต่อปรากฎการณ์ที่เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้ใช้เว็บโซเชียลมีเดีย ได้เปลี่ยนหน้าโพรไฟล์เป็นรูป หน้ากากกายฟอว์กส์ (The Guy Fawkes mask) และโพสต์ข้อความในเพจต่างๆ พร้อมกันว่า "ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย" โดยที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการปิดพื้นที่การเมืองนั้น [อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง]

ภาพที่ปรากฏในพาดหัวข่าว "รวมปฏิบัติการ 'หน้ากาก V' !! ใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ เชิญชวนประชาชนให้หาซื้อสติกเกอร์มาติดเพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน "รัฐบาลเผด็จการภายใต้ระบอบทักษิณ"

ล่าสุดวันนี้ (31 พ.ค.) ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้รายงานข่าวโดยพาดหัวว่า ร่วมปฏิบัติการ 'หน้ากาก V' !! โดยมีข้อความว่า

"ปฏิเสธไม่ได้ว่าปฏิบัติการ 'หน้ากากV' ที่ใช้หน้ากากขาวของ "กาย ฟอว์กส์" (Guy Fawkes) (ซึ่งมีต้นแบบมาจากภาพยนตร์เรื่อง 'V for Vendetta') อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านผู้นำเผด็จการซึ่งกำลังกระหึ่มไปทั้งสังคมออนไลน์อยู่ในขณะนี้นั้นนับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่รัฐบาลเพื่อไทยมิอาจมองข้าม อีกทั้งยังเป็นการประกาศให้ประชาคมโลกรับรู้ถึงพฤติกรรมการในการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี

'ASTVผู้จัดการ' ขอเชิญท่านร่วมขยายเครือข่ายปฏิบัติการ 'หน้ากาก V' จากโลกไซเบอร์ สู่ท้องถนนและทุกซอกมุมในสังคม ด้วยการติด 'สติกเกอร์หน้ากากV' เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการภายใต้ระบอบทักษิณ ซึ่งเดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยไม่ฟังเสียงประชาชน" ข้อความใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ระบุ

ทั้งนี้ท้ายข่าวได้เชิญชวนให้ประชาชนมาซื้อ 'สติ๊กเกอร์กายฟอว์กส์" ที่ 'ASTV Shop' บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันนี้ (31 พ.ค.) หรือซื้อ "ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์" ฉบับล่าสุดที่มีสติ๊กเกอร์แถมในเล่ม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์และการไม่ยืนเคารพในโรงหนังของ ศ.ดร.สมภาร พรมทา

Posted: 30 May 2013 05:44 PM PDT


" การอ้างความเสมอภาค

เพียงเพื่อจะบอกว่าไม่นับถือพระ ไม่นับถือเจ้า

อันนี้ในทางวิชาการถือว่าไร้สาระ "

-ศ.ดร.สมภาร พรมทา –

http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/I%20Think%20Therefore%20I%20Speak.rar

 

บทไหว้ครู

ไม่ได้หมายความว่าผมจะเริ่มชกมวยดอกครับ แต่อยากจะเรียนว่าผมนั้นเป็นลูกศิษย์อาจารย์สมภาร พรมทา ตั้งแต่เป็นเณรน้อย ติดตามอ่านหนังสืออาจารย์มาตลอดตั้งแต่ยุคที่อาจารย์เป็น "พิลาปเหลือง" จนปัจจุบันก็ยังตามอ่านวาสารปัญญา (วารสารออนไลน์) ของอาจารย์อยู่เป็นประจำ ได้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญา และพุทธศาสนาจากอาจารย์มาก แถมยังได้อ่านบกวี ดูภาพวาดสวยๆ ฟังดนตรีเพราะๆ อันเป็นผลงานที่ไหลมาเทมาจากพลังภายในอันล้นเหลือของอาจารย์อีกต่างหาก ที่จะวิจารณ์ต่อไปนี้คือวิจารณ์ "ความคิด" ของอาจารย์ที่เป็นของสาธารณะที่ใครจะวิจารณ์ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับตัวตนของอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือแต่อย่างใด

 

บทวิจารณ์เชิงแลกเปลี่ยน

ผมเพิ่งได้อ่านคำให้สัมภาษณ์เรื่อง "มังสวิรัติ การเมือง และเรื่องสถาบันกษัตริย์" ของอาจารย์สมภาร (ใน "ฉันคิด ฉันจึงพูด" รวมบทสัมภาษณ์ช่วง 5 ปี วารสารปัญญา) เนื้อหาส่วนใหญ่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ โดยเฉพาะที่อาจารย์เสนอว่า "สถาบันกษัตริย์ควรมีบทบาททางวัฒนธรรมเท่านั้น" แต่เวลาที่อาจารย์อภิปรายประเด็นต่างๆ เหมือนกับว่าสภาพที่เป็นอยู่จริงเป็นดังข้อเสนอนั้นแล้ว ผมจึงอยากตั้งข้อสังเกตเชิงแลกเปลี่ยนดังนี้

1) ที่อาจารย์สมภารชมในหลวงว่าแปลเรื่องของติโตผู้เป็นคอมมิวนิสต์นั้น แสดงว่าในหลวงรู้พุทธศาสนาดี ยกย่องคนที่การกระทำ ถึงติโตจะเป็นสามัญชนแต่ก็เสียสละจนประชาชนรัก ทำนองว่าในหลวงใจกว้าง ไม่มองความสำคัญเรื่องชนชั้นของพระองค์เองหรือเรื่องที่เขาเป็นคอมมิวนิสต์เป็นหลักอะไรประมาณนี้

คำถามคือ ก็ในเมื่ออาจารย์ยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนว่า "คนเราเกิดมาเท่ากัน" แต่อัตราโทษของ ม.112 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำคุก 3 ปี ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น 7 ปี ในสมัยเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเป็น 15 ปี หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จะอธิบายว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกับ "คนเราเกิดมาเท่ากัน" ตามคำสอนของพุทธศาสนาอย่างไร 

2) ที่ว่าผู้ต้องการประชาธิปไตย "จินตนาการกันไปเองว่ามีอำมาตย์ มีไพร่ มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่" นั้น คำถามคือ ถ้าเป็นแค่จินตนาการกันไปเอง อะไรคืออุปสรรคของการแก้ไข/ยกเลิก ม. 112 ครับ ก็ถ้าไม่ระบบมีชนชั้น แต่มีความเสมอภาคอยู่แล้ว ทำไมจำเป็นต้องมี ม.112 (เป็นต้น) อยู่ต่อไป?

3) ที่ว่า "ฝ่ายนิยมกษัตริย์นั้นเขาเรียกร้องเพียงว่า ในระหว่างนี้ฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตย กรุณารักษาน้ำใจของคนที่รักพระเจ้าแผ่นดินบ้าง คนเราเห็นต่างกันได้ แต่อย่าเหยียดหยามน้ำใจของอีกฝ่าย ด้วยการแสดงความไม่เคารพ หรือแม้แต่ดูหมิ่นดูแคลนสิ่งที่เขาเคารพ"

ผมคิดว่าปัญหามันซับซ้อนกว่านั้นมาก โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่น่าจะใช่ประชาชนอีกฝ่ายต้องการ "เหยียดหยามน้ำใจของอีกฝ่าย" คำถามง่ายๆ คือ คนรักเจ้าเขาไม่มีที่ยืน ไร้พื้นที่ทางสื่อ และทาง ฯลฯ จะสรรเสริญเจ้าหรือครับ? ไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดงความเป็นคนดีที่จงรักภักดีสรรเสริญเจ้าหรือครับ? ไม่ใช่เลยครับ พื้นที่ของคนรักเจ้ามีอยู่ทุกอณูของแผ่นดิน อีกฝ่ายต่างหากที่เขาไม่มีพื้นที่จะวิจารณ์ด้วยเหตุผล พูดสิ่งที่เขาสงสัยออกมาตรงๆ ก็ไม่ได้ คนเขาถูกกระทำ ถูกฆ่าในนามข้ออ้างปกป้องสถาบันมากี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว พวกเขาทนไม่ไหวก็ระบายออกแบบนั้นในพื้นที่แคบๆ แต่ยังถูกไล่ล่า... ถามจริงๆ ครับคำด่าอย่างที่ดา ตอร์ปิโดด่าแล้วจำคุก 18 ปีนั้น (เป็นต้น) เปิดโอกาสให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างได้หรือเปล่าครับ

ยิ่งถ้าอาจารย์ยืนยันว่าเรื่องอำมาตย์ เรื่องไพร่ ความไม่เสมอภาคไม่มีแล้ว จินตนาการกันไปเอง ถ้าเช่นนั้นไม่มีอำมาตย์ ไม่มีไพร่ ก็ต้องมีความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตย ก็ต้องไม่มีการจำคุกประชาชนที่ทำผิดด้วยคำพูด/ข้อความ ตั้ง 18 ปี – 20 ปี ใช่ไหมครับ

ว่าตามจริงแม้แต่การใช้ "เหตุผล" ก็อาจถูกปฏิบัติจากอีกฝ่ายอย่างหยาบคายได้ เช่นโพสต์ในเฟซบุ๊คของอาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร (30 พ.ค.56) ช้างล่าง

วรเจตน์เล่าให้ผมฟังว่า... 

ตอนบ่ายวันนี้ ขณะลงไปที่ชั้นล่างของคณะฯ เจอผู้ชายและผู้หญิงแปลกหน้าโดยบังเอิญ เมื่ออยู่ใกล้กัน ผู้หญิงคนนั้นเปรยขึ้นมาว่า "วันนี้ โชคไม่ดี มาเจอเหี้ยที่นี่"

วรเจตน์ถามกลับด้วยความสุภาพว่า "ด่าผมหรือครับ" ผู้หญิงคนนั้น ก็ตอบกลับมาว่า "พูดลอยๆ ใครอยากรับ ก็รับไป"

หลังจากนั้น เมื่อคนแปลกหน้าทั้งคู่ เดินออกจากตึกคณะฯ ได้ประมาณ ๑๐ เมตร ผู้หญิงคนเดียวกัน ก็หันหน้ายื่นนิ้วกลางขึ้นมา พร้อมกับถอดรองเท้าแตะสะบัดใส่ แล้วก็เดินจากไป โดยวรเจตน์มองเห็นตัวหนังสือสีส้ม บนเสื้อสีดำด้านหลัง อย่างชัดเจนว่า "พสกนิกรผู้จงรักภักดี"

หลังเหตุการณ์นี้ วรเจตน์กับผมเห็นพ้องกันว่า ผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนใหญ่ คงไม่เป็นอย่างนี้หรอกครับ

4) ส่วนที่อาจารย์ว่าเรื่องนายกรัฐมนตรีหมอบกราบในหลวงเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม รักษาไว้ไม่เสียหายอะไรนั้น เท่าที่ผมอ่านปาฐกถาของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์หลายเรื่องยืนยันว่า รัชกาลที่ 5 ทรงให้เลิกพิธีหมอบคลานไปแล้ว การเข้าเฝ้าใช้วิธีโค้งคำนับ แต่พิธีหมอบคลานถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในยุคเผด็จการสฤษดิ์นี้เอง


อาจารย์สมภารกล่าวว่า

"พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่สอนว่าทุกคนเกิดมาเท่ากัน ชาติกำเนิดต่างกันไม่เป็นปัญหา เพราะชาติกำเนิดไม่ใช่สาระความเป็นคน สาระความเป็นคนอยู่ที่มีปัญญาฝึกฝนได้ ความเชื่อว่าคนเราเท่ากันหรือไม่เท่ากันนั้นในทางปรัชญาสำคัญมากนะครับ เราถือว่านี่เป็นจุดตั้งต้นของระบบคิดในทางสังคมการเมืองที่มีอะไรต่างๆ ตามมาอีกมากมาย"

แต่อาจารย์กลับแสดงความเห็นเรื่อง "ไม่ยืนเคารพในหลวงที่โรงหนัง" ไว้ดังนี้

"การอ้างความเสมอภาคเพียงเพื่อจะบอกว่าไม่นับถือพระ ไม่นับถือเจ้า อันนี้ในทางวิชาการถือว่าไร้สาระ บางคนไปดูหนังไม่ลุกยืนเพื่อถวายความเคารพในหลวง เพราะคนเราเท่ากัน ก็ไม่ว่ากันครับ จะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่พวกเราที่เป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า แม้ข้างในคนเราจะเท่ากันในความหมายของการที่จะถูกฝึกสอนให้ดีให้งามได้ แต่ข้างนอกเราก็ต้องมีวัฒนธรรม ผมแปลกใจอยู่หน่อยหนึ่งคือ คนที่ไม่ลุกในโรงหนังนั้น เขาก็น่าจะเคยไหว้ใครอยู่บ้าง เช่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เขาเคารพ คนเราหากถือเคร่งในเรื่องที่เกิดมาเท่ากัน ที่สุดแล้วก็อาจเหมือนคนบ้า อย่าเอาจริงเอาจังกับชีวิตมากขนาดนั้นเลยครับ สมมติว่าคนผู้นั้นไปบวช แล้วในหลวงเสด็จไปทอดกฐินที่วัดนั้น พระรูปนั้นลงมารับกฐิน ในหลวงก็ต้องไหว้ท่าน เห็นไหมครับ นี่คือวัฒนธรรม อย่าให้ความถือเคร่งเรื่องคนเราเท่ากัน ไปไกลเกินเลยขนาดนั้น เครียดเสียเปล่าๆ"


ผมมีข้อสังเกตดังนี้

1) การนับถือ ไม่นับถือใครเป็นสิทธิส่วนบุคคลไม่ใช่หรือครับ ทำไมการอ้างความเสมอภาคในเรื่องสิทธิที่จะนับถือไม่นับถือใคร (รวมทั้งพระ และเจ้า) จึงเป็นเรื่องไร้สาระทางวิชาการ

2) ถ้าพุทธะสอนว่า "ข้างในของคนเท่ากัน" สิ่งที่ตามมาก็ควรจะเป็นการสร้าง "วัฒนธรรมที่เคนเราเท่ากัน" ให้แสดงผลการปฏิบัติออกมาข้างนอก ดังระบบสังฆะที่เลิกระบบชนชั้นไป นี่หมายความว่าพุทธะเห็นว่าการสร้างวัฒนธรรมที่คนเราเท่ากันเป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้น การมีแบบแผนวัฒนธรรมรองรับสิทธิเท่าเทียมของทุกคนที่จะแสดงความเคารพหรือไม่เคารพใครก็ได้ก็คือการทำความหมายของความเสมอภาคให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ หรือเป็นวิถีชีวิตจริงๆ โดยวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่นั้น การไปแสวงหาความบันเทิงในโรงหนังก็ไม่ควรจะมีกฎข้อบังคับให้ใครต้องทำความเคารพบุคคลใดเป็นพิเศษไม่ใช่หรือ

3) ถึงแม้คนที่ไม่ยืนในโรงหนัง เขาจะเคยไหว้อาจารย์ และฯลฯ แต่เขาก็ทำด้วยความสมัครใจ มีเสรีภาพ ไม่มีใครบังคับเขา ไม่มีกฎหมายให้ใครคอยแจ้งความเอาผิดเมื่อเขาไม่อยากทำ

4) ทำไมจึงมองเพียงว่าคนที่ไม่ยืนในโรงหนังเป็นคนเอาจริงเอาจังกับชีวิตขนาดนั้นล่ะครับ คิดว่าการกระทำของเขาเป็น "เรื่องส่วนตัว" ล้วนๆ เลยหรือครับ คำถามคือ การกระทำของคนที่ไม่ยืนในโรงหนังต่างอย่างไรกับการที่พุทธะชี้ให้เห็นปัญหาของระบบวรรณะ ทำไมอาจารย์สรรเสริญการที่พุทธะชี้ให้เห็นปัญหาของระบบวรรณะ แต่เห็นการกระทำในความหมายคล้ายกัน (ชี้ให้เห็นปัญหาวัฒนธรรมความไม่เท่าเทียม-แม้แต่การไม่ยืนเคารพก็ต้องถูกกล่าวหาในทางกฎหมาย) ของคนที่ไม่ยืนในโรงหนังไปในทำนองว่า "อาจเหมือนคนบ้า" เพราะเอาจริงเอาจังกับชีวิตมากเกินไป เครียดเปล่า ๆ ตกลงการกระทำอะไรที่มี "เนื้อหา" คล้ายกัน มันไม่มีค่าเป็นความดีเหมือนกันหรือ

(บางคนบอกว่า คนที่มองการ "ไม่ยืน" เป็นปัญหา คอยสอดส่องจับผิด น่าจะเป็นพวกจริงจังกับชีวิตจนเกินไปมากกว่า ช่างไม่รู้จักปล่อยวางเรื่องของคนอื่นๆ บ้างเบย)

 

บทสรุป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงต้องการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและข้อเสนอส่วนใหญ่ของอาจารย์สมภารในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นไปในทางอยากให้แต่ละฝ่ายเปิดใจรับฟังและเข้าใจเหตุผลของกันและกัน เพื่อในที่สุดแล้วจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์มีบทบาททางวัฒนธรรมเท่านั้น โดยไม่ต้องเกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรงนองเลือดขึ้นอีก ซึ่งผมขออนุโมทนาในเจตนารมณ์อันดีนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรนันทน์คุยแพทย์ชนบท จัดเวทีหารือ 6 มิ.ย. แทนชุมนุมหน้าบ้านนายกฯ

Posted: 30 May 2013 03:11 PM PDT

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ เผยจัดเวิร์กช้อปกับชมรมแพทย์ชนบท-เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ วันที่ 6 มิ.ย. ที่ทำเนียบ แทนการชุมนุมหน้าบ้านยิ่งลักษณ์ ด้าน FB แพทย์ชนบทแจง ยังไม่เลิกชุมนุม แค่เลื่อนไปสองสัปดาห์

(30 พ.ค.56) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ  แถลงข่าวร่วมกัน ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยนายสุรนันทน์ กล่าวว่า  วันที่ 6 มิถุนายน 2556  เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กชอป เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาข้อเรียกร้องของเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ 4 กลุ่ม ที่ออกมาเรียกร้อง แทนการออกมาชุมนุมคัดค้านหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรีตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

"ผมและนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกและร่วมพูดคุยด้วย  โดยจะมีตัวแทนจากกลุ่มเรียกร้องจำนวน 20 คน นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อมาร่วมกันหาข้อสรุป" นายสุรนันทน์ กล่าว

นายสุรนันทน์ ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องที่จะมีการพูดคุยกันในวันดังกล่าว หากสามารถตกลงกันได้ ก็นำไปปฏิบัติได้ แต่หากประเด็นใดที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้พิจารณาแก้ปัญหา โดยต้องอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม และไม่ได้หมายความว่า วันที่ 6 มิถุนายน จะได้ข้อสรุปทุกเรื่อง เนื่องจากบางเรื่องมีรายละเอียด ที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ภายในวันเดียว  

"ขอยืนยันว่า การเปิดโอกาสให้มีการพูดคุย ไม่เกี่ยวกับการที่กลุ่มผู้ชุมนุมขู่จะชุมนุมหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี แต่เห็นว่าปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องที่ควรร่วมกันหาทางออก เพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับการชุมนุมลักษณะเคลื่อนไหวกดดัน" นายสุรนันทน์ กล่าว

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ ยืนยันว่า การออกมาเรียกร้อง จะออกมาชุมนุม ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบความเดือดร้อนของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และว่าเชื่อมั่นในตัวคนกลาง และเชื่อมั่นว่า ข้อมูลจะถึงมือนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุด หากไม่สามารถหาทางออกได้ นายกรัฐมนตรีก็จะเป็นผู้ตัดสินใจ

 

FB แพทย์ชนบทแจง ยังไม่เลิกชุมนุม แค่เลื่อน
ขณะเพจเฟซบุ๊กของชมรมแพทย์ชนบท แอดมินเพจโพสต์ข้อความชี้แจงโดยย้ำว่า แพทย์ชนบทยังไม่เลิกการชุมนุม แต่เลื่อนไปอีกสองสัปดาห์

"วันนี้มีการเจรจาจริง ระหว่างชมรมแพทย์ชนบท สุรนันท์ เวชชาชีวะ ตำรวจนครบาล เรื่องการชุมนุมวันที่ 6 มิถุนายน ที่จะไปไล่ประดิษฐหน้าบ้านนายกครับ และหลังการประชุม มีข่าวออกมาจาก voice TV ว่าผลการประชุมนั้นเลิกการชุมนุมวันที่ 6 มิย. ซึ่งไม่จริง และชมรมแพทย์ชนบทจะมีการแถลงข่าวเป็นทางการตามมาเร็วๆ นี้"

"การเจรจาวันนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เลื่อนการชุมนุม แต่ไม่ยกเลิก จะมีการตั้งกรรมการสามฝ่าย คือฝ่ายเราที่ประกอบด้วยชมรมวิชาชีพต่างๆ โรงพยาบาลชุมชน สหภาพองคืการเภสัช กลุ่มคนรักหลักประกัน กลุ่มผู้ป่วย หนึ่งฝ่าย ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งฝ่าย และฝ่ายรัฐบาลอีกหนึ่งฝ่าย จะมีการหารือในรายละเอียดเจรจาเต็มคณะสามฝ่ายตั้งแต่วันที่ 4-6 ที่ทำเนียบ จึงเลื่อนการชุมนุมไปสองสัปดาห์ ไม่ได้ยกเลิกการชุมนุม
หากผลการเจรจาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จะยืนยันชุมนุมหน้าบ้านนายกต่อแน่นอน

"พี่น้องครับ เรายังยืนยันจุดยืน ไล่ประดิษฐออกไป ไม่เอา P4P เตรียมพร้อมการชุมนุมต่อไป เลื่อนแต่ไม่เลิกจนกว่าเราจะชนะแบบไม่มีการต่อรอง รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งครับ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai