โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เอฟทีเอ ว็อทช์ห่วงเจรจาเอฟทีเออียูประเด็นการผูกขาดข้อมูลทางยา พรุ่งนี้

Posted: 26 May 2013 09:58 AM PDT

ชี้ประเด็นน่าห่วงกระทรวงสาธารณสุขถูกจำกัดไม่ให้ร่วมเจรจาในภาพรวมทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการลงทุน ระบุคณะทำงานร่วมแก้ปัญหาประเด็นอ่อนไหว ไม่เรียกประชุมตามที่ตกลง จี้กรรมาธิการร่วม อย่าแก้ รธน.190  จนเป็นรธน.ฉบับคุณชายจุฑาเทพ

 
26 พ.ค.56/กรุงเทพฯ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ครั้งแรกที่จะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 27 นี้ ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม นั้นจะต่างจากการเจรจาเอฟทีเอที่ผ่านมาๆ เพราะฝ่ายไทยต้องการเจรจาอย่างรวบรัดเพื่อให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี เพื่อต้องการให้ทันการต่อสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ จีเอสพีให้กับบางสินค้าส่งออก ดังนั้น ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมักจะเสนอช่วยกลางของการเจรจา จึงถูกหยิบยกขึ้นมาในการเจรจารอบแรกนี้ ความน่าห่วงใยอยู่ที่ กระทรวงพาณิชย์พยายามจำกัดบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก แม้จะให้ดูเนื้อหาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ก็จริง แต่โดยเนื้อแท้ดูเฉพาะข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการขยายอายุสิทธิบัตรผูกขาดอันเนื่องจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา และหัวข้อการผูกขาดข้อมูลทางยา (Protection of Pharmaceutical Data Submitted to Obtain a Marketing Authorization) เท่านั้น
 
ทั้งนี้ 2 ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ความมุ่งหมายที่แท้จริงของสหภาพยุโรป เพราะอียูได้ยอมยกเลิกข้อเรียกร้องดังกล่าวกับอินเดียไปแล้ว คือถ้าฝ่ายไทยไหวตัวไม่ทัน ยอมตามข้อเรียกร้องนี้ เขาก็กำไรไป แต่ความมุ่งหมายจริงอยู่ที่การยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้นในหมวดย่อยการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Enforcement of Intellectual Property Rights) รวมทั้งมาตรการ ณ จุดผ่านแดน (Border Measures) ซึ่งสหภาพยุโรปต้องการให้มีการยึดจับยาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจนำไปสู่การยึดจับยาชื่อสามัญ และทำลายผู้ผลิตยาชื่อสามัญด้วยการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น ต้องไม่ยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แล้วเสนอเนื้อหาที่สร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้ทรงสิทธิและสร้างความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา
 
"ตัวอย่างข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป จะขยายการยึดจับอายัดสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูได้ด้วยตาเปล่า นั่นคือ เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ให้รวมไปถึงสินค้าที่ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิบัตร ทั้งที่ดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ แม้คดีขึ้นสู่ศาลทรัพย์สินฯก็ยังใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี และยังเรียกร้องให้สามารถร้องต่อศาลให้ยึดจับและระงับโดยแม้ไม่มีหลักฐานเพียงพอ, ไม่วางเงินประกัน, ไม่ฟังคำชี้แจงอีกฝ่ายหนึ่ง, ไม่กำหนดระยะเวลาการยึด, ให้ระงับทุกกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่ถูกกล่าวหานั้น เช่นการขนส่ง การจัดหาวัตถุดิบ, ให้ยึดจับแม้อาจยังไม่ได้ละเมิด ฯลฯ ซึ่งนี่จะเป็นการแก้กฎหมายเพื่อเข้าข้างผู้ทรงสิทธิจนละเมิดสิทธิผู้อื่น"
 
ผู้ประสานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ยังเปิดเผยว่า สหภาพยุโรปแสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนที่จะยกเลิกสิทธิบางประการของหน่วยราชการในการจัดหาจัดหายาจำเป็นที่มีคุณภาพ มาตรการด้านราคาและการเบิกจ่ายค่ายา ตลอดจนการเข้าถึงยาเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการเจรจาหัวข้อ Government Procurementและยังมีความต้องการกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement) ครอบคลุมยาและเวชภัณฑ์ด้วย
 
"น่าวิตกมาก เพราะเนื้อหาใหญ่ๆและต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านในการจัดระบบยาและเวชภัณฑ์เช่นนี้ เจ้าหน้าที่ อ.ย. ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเจรจา แต่กลับตกอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตให้ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ด้วย"
 
ทางด้านนายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวถึงการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อแก้ไขประเด็นอ่อนไหว/ปัญหาอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. มีการประชุมวางกรอบการทำงานไปแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
 
"จากเดิมตกลงกันว่า จะประชุมทุก 2 สัปดาห์ แต่ขณะนี้ประชุมไปได้แค่เพียง 1 ครั้งเป้นการวางกรอบการทำงานคร่าวๆ ก่อนไปเจรจาครั้งนี้ก็ไม่มีการประชุมหารือก่อน อยากให้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและมีความจริงใจเพื่อทำให้การเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปครั้งนี้ มีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
 
ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ขณะนี้ ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ยังมีข้อสังเกตในหลายประเด็น        
 
"เราขอให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ เพราะขณะนี้ ร่างที่กรรมาธิการเห็นชอบไปแล้วส่วนใหญ่ ทำให้ รธน.มาตรานี้ เป็นเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับวังจุฑาเทพ...ลดทอนความสำคัญของประชาชนและผู้แทนปวงชนโดยการโอนอำนาจกลับไปฝ่ายบริหารและโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการประจำ" ในร่างล่าสุด หนังสือสัญญาที่มีความสำคัญอย่างมากไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร พลังงาน ฯลฯ ประชาชนและรัฐสภาจะไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ขณะที่หนังสือสัญญาทางการค้าการลงทุนที่มาตรานี้กำหนดให้ประชาชนและรัฐสภามีบทบาทก็ขีดเส้นเพียงประเด็นการเปิดเสรี นั้นหมายถึงว่าหนังสือสัญญาด้านการคุ้มครองการลงทุน หรือด้านทรัพย์สินทางปัญญาและอีกมาก จะไม่เป็นเรื่องของประชาชนอีกต่อไป อีกทั้งขั้นตอนที่ประชาชนพอจะมีบทบาทอยู่บ้างก็มีความกำกวมไม่ชัดเจน ไม่มีทีท่าว่าจะแก้ความคลุมเครือที่มีมาแต่เดิม
 
"การกระทำของกรรมาธิการร่วมซึ่งฝ่ายรัฐบาลคุมเสียงข้างมาก ร่วมกับข้าราชการประจำซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลอย่างสูงในกรรมาธิการนี้ เปรียบเสมือนการยึดคืนพื้นที่ทางการเมืองและนโยบายของประชาชน โดยมองว่าประชาชนโง่ ผู้แทนประชาชนก็ไม่ไมความรู้เพียงพอ เรื่องการเจรจากับต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องให้ผู้มีการศึกษาสูง มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น ชาวบ้านไม่เกี่ยว"
 
กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ เรียกร้องให้กรรมาธิการร่วมทบทวนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างเร่งด่วนที่สุด โดยให้ครอบคลุมถึงหนังสือสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสังคม โดยให้มีกฎหมายลูกที่จะกำหนดลักษณะเฉพาะของหนังสือสัญญาที่มีความสำคัญที่จะเข้าตามมาตรา 190   พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความชัดเจนและไม่ถดถอยไปกว่าเดิ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บึ้มปากซอยรามฯ 43/1 บาดเจ็บ 6

Posted: 26 May 2013 09:48 AM PDT

ไทยรัฐรายงานเกิดเหตุระเบิดบริเวณปากซอย รามคำแหง 43/1 มีผู้บาดเจ็บ 6 ราย สาหัส 2 ราย พิสูจน์หลักฐานเร่งตรวจสอบ 


เมื่อเวลา 20.50 น. มีรายงานว่า ได้เกิดเหตุระเบิด บริเวณปากซอยรามคำแหง 43/1 ที่เกิดเหตุใกล้ร้านเสริมสวยชื่อร้านออกัสได้รับความเสียหาย เบื้องต้น มีทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ 6 ราย ในจำนวนนี้สาหัส 2 ราย โดยได้นำตัวส่ง รพ.เวชธานี 3 ราย และ รพ.รามคำแหง 3 ราย 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางตำรวจได้ปิดกั้นพื้นที่ และรอหน่วยพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ โดยยังไม่สรุปว่าเป็นเหตุลอบวางระเบิด หรือ หม้อแปลงระเบิด

ด้าน พ.ต.อ.ณรงค์ฤทธิ์ พรหมสวัสดิ์ ผกก.สน.หัวหมาก เปิดเผยว่า ขณะนี้กองพิสูจน์หลักฐานกำลังมาตรวจสอบอยู่ ส่วนสาเหตุมาจากอะไรนั้น คงต้องรอให้เจ้าหน้าที่ทำงานก่อน ส่วนกรณี ข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ก่อเหตุวางระเบิดแล้วนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังทำงานอย่างเต็มที่อยู่

 

 

ที่มา:http://www.thairath.co.th/content/region/347226

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิวาทะว่าด้วย "การเมืองเสื้อสีไม่มีอนาคต" เกษียร สมศักดิ์ ใบตองแห้ง และ ธเนศวร์ เจริญเมือง

Posted: 26 May 2013 08:55 AM PDT

เกิดวิวาทะในเรื่องการประเมินถึงอนาคตของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในอนาคตระหว่างนักวิชาการคอลัมนิสต์บนพื้นที่เฟซบุ๊กหลายท่าน นอกจากการเหน็บแนม จิกกัดกันเล็กน้อย ตามลีลาส่วนตัวของแต่ละท่านแล้ว ประชาไทเห็นว่าประเด็นเรื่องอนาคตของขบวนการเหลือง-แดง และความเห็นแย้งในเรื่องการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหว เป็นประเด็นที่ควรบันทึกและศึกษาต่อไป

รายการ  intelligence  ทางวอยซ์ ทีวี ได้สัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ ในประเด็น การเมืองเสื้อสีไม่มีอนาคต  intelligence 25 05 56  

โดยก่อนหน้าออกอากาศ ใบตองแห้ง ประชาไท  ได้ "โฆษณา"  บทสัมภาษณ์ดังกล่าวว่า 

...........................

ใบตองแห้ง ประชาไท

เห็นด้วยว่าเกษียรคงถูกวิจารณ์หนักทั้งเหลืองแดง แต่นี่เป็นการมองข้ามช็อตอย่างเฉียบคมที่สุด ฟังตอนบันทึกเทปแล้วยังเปิดฟังอีกรอบ เพื่อพาดหัวและเขียนโปรโมท ยังรู้สึกทึ่ง อันที่จริง ผมก็คิดแบบเดียวกัน (อย่างที่สะท้อนในเรื่อง "เป็นแดงไม่ใช่เพื่อไทย") แต่ผมยังคิดได้ไม่เป็นระบบเท่าเกษียร

รัฐบาลประสบความสำเร็จในการสร้างอำนาจนำทางเศรษฐกิจ กุมกระแสข้างมากในสังคมไว้ได้ กลุ่มทุนธุรกิจ คนกลางๆ ที่ไม่อยู่สีใด ต้องการให้รัฐบาลนำประเทศไปสู่การก้าวกระโดดใหญ่ การเมืองเสื้อสีกำลังจะกลายเป็นคนชายขอบ พวกเสื้อเหลือง สลิ่ม สปริง แมลงสาบ กลายเป็นตัวตลก อาจจะมีคนฟังบ้างเมื่อรัฐบาลเหลิงอำนาจหรือคอร์รัปชั่น แต่พออ้าปากเรียกหารัฐประหารหรือจะเอาศาลมาล้มรัฐบาลก็มีแต่คนร้องยี้

เสื้่อแดงก็เช่นกัน แม้เสื้อแดงจะบรรลุเป้าหมายพื้นฐาน อำนาจจากการเลือกตั้งมั่นคง อำนาจนอกระบบไม่สามารถล้มรัฐบาลอีก แต่ถ้าจะไปไกลถึงขั้น "โค่นอำมาตย์" รัฐบาลเพื่อไทยก็คงไม่เอา เกษียรมองว่ารัฐบาลเพียงแต่ต้องการจัดการศาลและองค์กรอิสระเพื่อไม่ให้ประเทศอยู่ในสภาพที่มีอำนาจนำ 2 ขั้ว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ (แต่จะไปไกลถึงขั้นปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปสถาบัน เพื่อไทยก็คงไม่เอา-นี่ผมต่อเติมเอง)

เสื้อแดงยังผูกกันอยู่ด้วยประเด็นนิรโทษกรรมและทวงความยุติธรรมพฤษภา 53 แต่นอกจากนี้ก็ไม่มีประเด็นอะไรที่ลึกซึ้้งร่วมกัน ความต้องการปฏิรูปด้านต่างๆ ก็ยังไม่ใช่จุดร่วมกันทั้งขบวน ซึ่งมีทั้งแดงทักษิณ แดง นปช.แดงอิสระกลุ่มต่างๆ

ประเด็นที่น่าห่วงเมื่อมองไปข้างหน้าคือรัฐบาลจะมีอำนาจมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เริ่มมีท่าที "อำมาตย์จากการเลือกตั้ง" แบบปลอดประสพ แบบวรวัจน์ แบบหมอประดิษฐ์ ขณะเดียวกันแนวทางพัฒนาประเทศก็จะมุ่งไปที่ประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจเป็นสำคัญ ซึ่งจะกระทบกับประชาชนคนเล็กคนน้อยในขณะที่ภาคประชาสังคมอ่อนแอ ยังไม่ Repositioning ให้พ้นจากการเมืองเสื้อสี แบบว่าจะต่อต้านการพัฒนาเรื่องอะไร อันที่จริงเป็นเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน แต่พอยะใสโดดเข้ามาใส่ซอสศรีราชา (ฟ้องผู้ตรวจการ) หรือศรีสุวรรณ จรรยา ฟ้องศาลปกครอง เป็นอันจบกัน ไม่มีใครอยากฟัง

ป.ล.ตอนท้ายๆ ไม่ใช่เกษียรพูดแต่ผมฟังแล้วเอามาเขียนเอง 555

 

.......................... ต่อมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  มีความเห็นต่อบทสัมภาษณ์ของเกษียรว่า 

 

(1)

หนึ่งในประเด็น "การเมืองเสื้อสี" ทีเกษียร เรียกว่า เป็นการเมือง "สุดโต่ง" และเสนอให้สังคมช่วยกันทำให้ "เป็นเรืองตลก" คือ ข้อเรียกร้องของเสื้อแดง ทีต้องการเห็น "ฆาตรกร" ได้รับโทษ นะครับBy the way, "สุดโต่ง" นี่ จะนิยามว่าอย่างไรดี? ประเด็นทีเพิ่งว่ามานี ในหมู่เสื้อแดง จะถือว่า "สุดโต่ง" ไหม? ควรทำให้เป็น "เรืองตลก" ไหม?

By the way (2) ประเด็นสถาบันกษัตริย์นั้น ถ้ามันง่ายเพียงแค่ว่า "ต้องไม่โหน ต้องไม่อ้าง" ฯลฯ อย่างที่วา ป่านนี้ วิกฤติ มันจบไปนานแล้วกระมัง? สถาบัน คงไมใช่แค่อะไรที "ถูกอ้าง" เท่าน้น กระมัง?

 

(2)

ทีน่าสังเกตด้วยว่า ในตอนท้ายสุด คุณตวงพร ซึงยังมองเป็นอะไรมากกว่า นักวิชาการใหญ๋ ยังถามว่า แล้วเสื้้อแดง ซึงดูยังมีพลัง ล่ะ? (คำตอบ เกษียร ถ้าสังเกตดีๆ ไม่สามารถ โยงเข้ากับการ "ฟันธง" ในตอนต้นได้ด้วยซ้ำ)

ประเด็นสำคัญในเรือง "เสื้อสี" ในส่วนสีแดง จริงๆ (ซึงต่างจากฝั่ง "เหลือง") คือ นี่เป็น"ฐานมวลชน" สำคัญของฝ่ายทักษิณ เพื่อไทย ซึง ตราบเท่าที ฝ่ายนี้ ยังไม่สามารถ secure ชัยชนะ เหนืออีกฝ่ายเด็ดขาด ก็ไม่มีทางทีมันจะหายไปไหนหรอก เห็นได้ง่ายๆ เมือวันอาทิตย์ทีแล้ว ที่เขาระดมมา เพื่อ "ส่งสัญญาณให้ "บางคน"

 

(3)

Finally ฟังยังไง ก็นึกไม่ออกว่า ที่เกษียร พูดนั้น โดยเฉพาะ ประเด็น "การเมืองเสื้อสีจบแล้ว" .. จะเป็น "ทางออก" ให้ "ออกจากการเมืองเสื้อสี" อย่างไร

เรืองเสื้อสี เป็นเพียงปรากฏการณ์ ทีสะท้อนปัญหาใหญ่กว่านั้น คือ การปะทะ ระหว่าง อำนาจ 2 แบบ แบบหนึ่ง คืออำนาจ เลือกตั้ง ทีทักษิณ เป็นตัวแทน และเป็นแกนนำ โดยมี "เสื้อสี" (แดง) เป็นฐานมวลชนสนับสนุน อีกอำนาจหนึง คือ อำนาจทีล้อมรอบสถาบันกษัตริย์ ตอนนี้ "ฐานมวลชน" ในลักษณะ "สีเสือ" (เหลือง) ของฝ่ายนี้ อ่อนกำลังไปเยอะ มาสักระยะหนึงแล้ว จริง แต่ว่า ฐานด้าน ตุลาการ ทหาร และ "ฐานมวลชน" ในลักษณะ "วัฒนธรรม" (คนยังเชียร์เจ้าเยอะ) ยังอยู่เยอะ

ความขัดแย้ง ระหว่าง อำนาจ 2 แบบนี้ ไม่ได้เปลี่ยนไปโดยพืนฐาน และยังมีลักษณะ stalemate กันอยู่ มันคงไม่ง่ายทีจะบอกว่า "เสื้อสีจบ"แล้วอะไรแบบนั้นกระมัง ตราบเท่าที ความขัดแย้งพื้นฐานนี้ยังอยู่ ไม่ออกมาในรูป "เสือ้สี" ก็ออกมาแบบอืน

 

 

รวมทั้งความเห็นต่อ "ใบตองแห้ง ประชาไท" ด้วยว่า

............................

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ตอบความเห็น "ใบตองแห้ง"

ที่ "ใบตองแห้ง" พูดถึง "เสื้อแดง" นั้น มาจากฐานคิดที่วา เสื้อแดง กับ รัฐบาล เป็นอะไรทีแยกกัน ซึ่งจริงๆ มันไมใช่

รัฐบาล (หรือถ้าจะใช้คำอีกอย่าง ให้คู่กัน คือ "ปีกการเมือง ของค่ายทักษิณ" ขณะที เสื้อแดง คือ "ปีกมวลชน") ต้องการ ทำเรืองเศรษฐกิจจริง แต่นี่เป็นส่วนหนึงของยุทธศาสตร์ ทีพยายามไม่ให้รัฐบาลมีลักษณะ "การเมือง" มากไป เพือป้องกันการถูกโจมตีมาก ทีวา "รัฐบาลเพียงแต่ต้องการจัดการศาลและองค์กรอิสระเพื่อไม่ให้ประเทศอยู่ในสภาพที่มีอำนาจนำ 2 ขั้ว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ" เป็นการกลับตาลปัตร คือ เอาปัญหาพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นประเด็นใหญ่ ของความขัดแย้งปัจจุบัน ซึง จริงๆแล้ว เนื้อแท้อยู่ทีใคร หรือ ฝ่ายไหน (หรืออำนาจแบบไหน) กุมอำานจรัฐ การ "จัดการศษลและองค์กรอิสระ" จึงไมใช่เป็นเพียงแค่อะไรบางอย่างที่ แค่ต้องการจัดการ เพือบริหารทางเศรษฐกิจเท่าน้้น แต่เป็นเนื้อแท้ และหัวใจสำคัญของการต่อสู้ทางอำนาจคร้ังนี้

ดังนั้น ตราบเท่าที่การต่อสู้ทางอำนาจนี้ ยังไม่บรรลุผล คือ ไม่มีข้างใดชนะ เหนือกว่าอีกข้างหนึง เด็ดขาด เรืองอะไรที "รัฐบาล" หรือ พูดให้ถูก คือ ทักษิณ จะโง่ ไม่รักษา "ปีกมวลชน" คือเสื้อแดงไว้? และในแง่นี้ การพูด่า การเมืองเสื้อสี เป็นเรืองของอะไรที "สุดโต่ง" ทีต้องช่วยกันทำให้กลายเป็น "ตัวตลก" จึงเป็นอะไรที "ตลก" มาก

โดยรวม ทั้งเกษียร และ "ใบตองแห้ง" หันไปสู่ "โหมด 2 ไมเอา" ทีไม่เอาไหน เหมือนสมัยก่อน จนมองไม่เห็นว่า ปัญหาการเมือง 2 ขั้วอำนาจ มันไมง่ายอย่างที่ว่า เหลือเพียงอะไรที่เป็นเพียง "ชายขอบ" "สุดโต่ง"

ปล. คำว่า "สุดโต่ง" ทีเกษ๊ยร ชอบใช้มาก ฟังแล้ว ขำแบบน่าสมเพชคนทีเขียนอะไรแบบ "สุดโต่ง" เกือบ 10 ปีแบบเกษียร คือ เอาแต่อัดนักการเมือง อย่างไม่เว้น (relentless) จน "ตกผลึก" เป็นไอเดียเรือง "ระบอบทักษิณ" ... ทังยัง เชียร์เจ้า ไปพร้อมๆกันด้วย ... การกระทำที "สุดโต่ง" มากๆ แบบนี้ ทีมีส่วนรับผิดชอบ ต่อการ "ปูบรรยากาศ" ให้เกิดวิกฤติ และรัฐประหาร (และดังนั้น จึงมี moral responsibility ต่อสิ่งทีเกิดในไม่กีปีนี้ และปัจจุบัน)

ตอนนี้ ดันหันมาค่อยว่าคนอืน "สุดโต่ง" ... เหอๆๆ น่่าสมเพชมากว่ะครับ

 ....................... 

ต่อมา

เกษียร เตชะพีระ

 ได้ "ตอบ" ข้อวิจารณ์ ว่า 

Kasian Tejapira เนื่องจากมี "นักวิชาการเล็ก" (อะไรเล็กก็ไม่ทราบ ต้องถามเจ้าตัวเอง แต่ตอนนี้เข้าใจว่าโดนปิด FB ไปเดือนนึง โพสต์ไม่ได้เพราะสุดโต่งเกินไป.....) บิดเบือนว่าผมกล่าวว่าการเรียกร้องให้เปิดเผยความจริงและเอาผิดฆาตกรเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา ๕๓ เป็น "การเมืองสุดโต่ง" 

ท่านที่สนใจสามารถฟังการสนทนาระหว่างผมกับผู้ดำเนินรายการ Intelligence ตามลิงค์ด้านล่างได้เองว่านี่เป็นความจริงหรือความเท็จ ตามเคย? ผมพูดย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าการเรียกร้องความเป็นจริงและความเป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เคลื่อนไหวในอดีตควรดำเนินต่อไป ใช่หรือไม่? และ "การเมืองสุดโต่ง" คำนี้ผมนิยามและใช้ในความหมายอันใดกันแน่?

ส่วน "นักวิชาการเล็ก" นั้น หากอยากทราบว่า "การเมืองสุดโต่ง" หมายถึงอะไร? ผมขอแนะนำให้หาอุปกรณ์ ๒ อย่างมาก็จะทราบเอง คือ ๑) น้ำ ๒) กะลามะพร้าว

......................

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ได้ตอบประเด็นดังกล่าวว่า 

(1) การเรียกร้องเรืองฆาตกร ใช่ประเด็นสำคัญของการเมืองของเสื้อสี(แดง) ในขณะนี้หรือไม่? ถ้าใช่ (และมองไม่เห็นว่า จะมีทางตอบเป็นอย่างอืนได้ยังไง) ก็หมายความว่า ต่อให้ เกษียร พูดว่า ตัวเอง "เห็นด้วย" เรืองลงโทษคนผิด การพูดในขณะเดียวกันว่า การเมืองเสื้อสีควรเป็นเรือง"ตลก" ก็ผิดแน่ๆ เพราะการเมืองเสื้อสี มีสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่แน่ๆ

(2) หนึ่งในตัวอย่าง การเมือง "เสื้อสี" ที่เกษียร ยกของฝั่งเสื้อแดง คือ "การมองว่าปัญหาอยู่ทีอำมาตย์" ซึ่ง นี่เป็นอะไรทีเกษียร เสนอว่า "สุดโต่ง" และ ต้องทำให้ "เป็นเรืองตลก" ทีอยู่แค่ ชายขอบเสื้อแดง อาจจะมองหลายอย่างไม่รอบด้านจริง แต่ว่า การบอกว่า การโจมตีอำมาตย์ (ซึงจริงๆ ทุกคนรู้ว่า ส่วนใหญ่ทีสุด ทีเขาโจมตี ไมใช่ "อำมาตย์" แต่คือ คนทีอยู่หลัง อำมาตย์) เป็นเรื่อง "สุดโต่ง" เป็นอะไรทีควรทำให้เป็น "เรืองตลก" .. ?

(3) ระหว่าง สีเสื้อ ทีมองว่า ปัญหาอยู่ที่ทักษิณกับสีเสื้้อ ทีมองว่า ปัญหาอยู่ที อำมาตย์สองประเด็นนี้ และการมอง 2 แบบนี้ ไมได้ "เท่ากัน" ไม่เคยเท่ากัน หรือเหมือนกันเลย การมองว่า ปัญหาอยู่ที่ทักษิณ คือการไม่ยอมรับ การเลือกตังเลย (by the way นี่ ไมใช่จุดยืนของเกษียรเอง เรือง "ระบอบทักษิณ" หรอกหรือ? เคยได้ยิน ทีเขากล้าพอจะยอมรับว่า ที่โจมตี "ระบอบทักษิณ" ไปหลายปี เป็นเรือง "สุดโต่ง" ไหม?)ในขณะทีคนทีมองเรื่อง"อำมาตย์" เป็นการมอง ในเรื่องอำนาจที่ไม่ได้รับการเลือกมา ไม่ได้รับการยินยอมพร้อมใจในทางใดๆใครทีอ้าง "ประชาธิปไตย" แต่บอกว่า 2 อันนี เหมือนๆกัน ควรทำให้เป็น"เรืองตลก" เหมือนๆกัน คนนั้น เป็นพวกประชาธิปไตยดัดจริต

 

..................... 

นอกจากนั้น

ธเนศวร์ เจริญเมือง

ก็มีความเห็นต่อบทสัมภาษณ์ดังกล่าวว่า   

ข้อคิดของ ศ.ดร.เกษียร เสนอให้มองหาประเด็นทางการเมือง ให้ยุติเรื่องสี แต่ว่ามีข่าวฝ่ายตรงข้ามต้องการจะขย้ำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันก็เลยทำให้สีหายไปยากขึ้น ยิ่งสีแดงที่รักประชาธิปไตย และรักความเป็นธรรม สีแดงหายไมได้เด็ดขาด ถ้าหายไปสีเขียวอำมาตย์จะขย้ำทันที โดยเฉพาะในรอบ 2 ปีข้างหน้าเสนอได้ครับ แต่มันไม่มีทางหายไปได้หรอกในเร็ววัน ตราบใดที่ความพยายามขย้ำรัฐบาลของคนเสื้อแดงยังไม่หมดไป

ถ้ารัฐบาลนี้อยู่ครบเทอม เลือกตั้งแล้วชนะขาดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ถึงตอนนั้น ก็จะเป็นหนที่สองของการเลือกตั้ง แบบนี้ (ครั้งแรกคือ กุมภา ปี 2548) ถ้าอย่างนั้น ถ้าสีเหลืองลงแดงกันมากๆ กินน้ำใบบัวบกเพราะแพ้เลือกตั้งอีกครั้ง แพ้ยิ่งลักษณ์ราบคาบ ดื่มน้ำใบบัวบก กินแห้วจนหายใจไม่ออก ล้มลงสิ้นใจ การเมืองสีจะค่อยๆจางไป แต่ก็คงช้าๆครับ พูดว่า repositioning ก็ทำได้ แต่พูดก่อน แล้วค่อยๆทำ คนอยากให้เกิดรัฐประหารนั้น คิดหรือครับว่าเขาจะเลิกคิดเลิกอยาก ข้อเสนอของ อจ.เกษียร มันต้องมีเงื่อนไข อำมาตย์ไม่หยุดต่อต้านประชาธิปไตย สีมันจะหายไปได้อย่างไร หัวโจกอยู่ สีก็ต้องอยู่แน่นอนครับ

 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ไม่รับปรองดองฉบับเฉลิม

Posted: 26 May 2013 05:19 AM PDT

เมื่อวันพฤหัสที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า เขาได้เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการปรองดองแห่งชาติ เพื่อที่จะนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย โดยมี ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงชื่อสนับสนุนแล้ว 149 คน และคาดหมายว่า จะเสนอร่างพระบัญญัตินี้ในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า ซึ่งข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิมเช่นนี้ นำมาซึ่งการคัดค้านจากหลายฝ่ายโดยทันที

ร่างกฎหมายปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่จะนำเสนอมี 6 มาตรา ใจความสำคัญเสนอว่า บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำเช่นนั้น นับตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ให้ถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ผู้ที่กระทำก็จะพ้นจากความผิด ถ้าเป็นคดีความไม่ว่าอยู่ในขั้นใดให้ระงับการดำเนินคดี ถ้าศาลพิพากษาให้รับโทษแล้ว ก็ให้โทษนั้นสิ้นสุดลง ในกรณีของความผิดที่เกิดจากการกล่าวหาที่เกิดจากคำสั่งของคณะรัฐประหาร ก็ให้ระงับไป ประเด็นสำคัญจากข้อเสนอนี้ ก็คือการนำมาซึ่งการนิรโทษทั้งฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฝ่ายกองทัพบกที่ก่อการสังหารประชาชน ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งประชาชนคนเสื้อแดง และคนเสื้อเหลืองทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดีในขณะนี้

เหตุผลสำคัญในการเสนอการปรองดองลักษณะนี้ มาจากการอธิบายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงที่ว่า การนิรโทษกรรมทุกฝ่ายจะนำมาซึ่งการสมานฉันท์อย่างแท้จริงในสังคมไทย โดยการไม่เอาผิดฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกเปลี่ยนกับการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระบวนการนี้ถือว่าเป็นแนวทางเดียวกับการสมานฉันท์ในอัฟริกาใต้ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยได้ประโยชน์โดยการเลิกแล้วต่อกัน คนบาดเจ็บล้มตายก็จ่ายเงินเยียวยาตามสมควร พ.ต.ท.ทักษิณก็จะได้กลับบ้าน โดยความคาดหวังของการดำเนินการก็คือการทำให้สังคมไทยกลับสู่สถานะเดิมดังเช่นก่อนเหตุการณ์ พ.ศ.2549

ความจริงแล้ว ข้อเสนอเพื่อนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเพื่อนิรโทษทุกฝ่ายโดยให้รวมการนิรโทษเจ้าหน้าที่รัฐ เคยถูกเสนอมาแล้วเมื่อ พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา โดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร และปัจจุบันเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายนี้ยังคงค้างอยู่ในระเบียบวาระของรัฐสภา แต่ในที่นี้ คงต้องกล่าวว่า ข้อเสนอลักษณะเช่นนี้ ถ้าหากเสนอมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2553 ก็คงพอที่จะสนับสนุนได้ แต่เหตุการณ์การเข่นฆ่าสังหารประชาชนใน พ.ศ.2553 ทำให้ข้อเสนอปรองดองเช่นนี้กลายเป็นเรื่องไร้สาระ ขบวนการคนเสื้อแดงคงไม่อาจสนับสนุนได้ เพราะการก่อการสังหารหมู่เข่นฆ่าประชาชนดังที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจให้อภัยหรือนิรโทษฆาตกรได้ ดังนั้นการปล่อยให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) รวมทั้งผู้บัญชาการทหารที่เข่นฆ่าประชาชน ลอยนวลไป ไม่ถูกพิจารณาแม้กระทั่งการไต่สวนความผิดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ในทางประวัติศาสตร์ การที่คนสั่งฆ่าประชาชนลอยนวลมาทุกครั้งด้วยการนิรโทษกรรม ตั้งแต่กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จนถึงกรณีพฤษภาคม พ.ศ.2535 ได้สร้างความเคยชินแก่ชนชั้นนำไทยที่ครองอำนาจ ในการเข่นฆ่าประชาชนต่อไป และยังไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายและถูกดำเนินคดีอยู่ฝ่ายเดียวในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มาตรการที่เหมาะสมกว่า ก็คือ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของกลุ่มนายวรชัย เหมะ นายสมคิด เชื้อคง และ 42 ส.ส. ที่ได้รับการสนับสนุนจากมติของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้รวดเร็วกว่านั้น รัฐบาลควรที่จะใช้การออกเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมประชาชนโดยทันที จะเป็นการดีสำหรับประชาชน

สำหรับท่าทีของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็คัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างเต็มที่ เหตุผลของการคัดค้านก็คือ การนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอาจจะนำมาซึ่งการคืนทรัพย์สิน ซึ่งฝ่ายนายอภิสิทธิ์ไม่อาจยอมรับได้ ในส่วนการนิรโทษกรรมให้กับนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ ฝ่ายทหาร นายอภิสิทธิ์ก็ปฏิเสธเสมอมา เพราะได้มีการสร้างวาทกรรมศาลาโกหก และฟอกขาวว่า ฝ่ายตนเองไม่มีความผิด การชุมนุมเมื่อ พ.ศ.2553 เป็นเรื่องของประชาชนคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรงต่อรัฐ ฆ่ากันเอง แล้วก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง รัฐบาลและฝ่ายกองทัพเป็นเพียงใช้มาตรการทางกฎหมายให้สังคมกลับคืนสู่ภาวะปกติ จึงไม่ต้องรับผิด แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ นายอภิสิทธิ์ตระหนักได้ดีว่า ไม่มีศาลและขบวนยุติธรรมใดในไทย คิดเอาผิดแก่นายอภิสิทธิ์และกองทัพอย่างแท้จริง การเข่นฆ่าประชาชนเมื่อ พ.ศ.2553 ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากชนชั้นนำในสังคมไทย ฆาตกรจึงได้รับการโอบอุ้ม ส่วนประชาชนคนเสื้อแดงที่ตายก็ถูกทอดทิ้ง ถูกจับกุมและดำเนินคดีอยู่ฝ่ายเดียวตลอดมา ก็เป็นเรืองอันสมควร ด้วยแนวคิดของชนชั้นนำเช่นนี้ ความเป็นธรรมในสังคมไทยจึงเกิดขึ้นได้ยาก

ทางออกหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ ก็คือการที่รัฐบาลไทยควรจะลงนามรับเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี ซึ่งจะเปิดทางให้ศาลระหว่างประเทศได้เข้ามาสอบสวนคดีนี้อย่างเป็นธรรม แต่กระทรวงต่างประเทศไทยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็รีรอแช่แข็งเรื่องนี้มาแล้ว 2 ปี ไม่ยินยอมลงนาม คงเป็นด้วยเหตุผลว่า ถ้ารับเขตอำนาจของศาลระหว่างประเทศแล้วนำมาซึ่งการสอบสวนคดีคนเสื้อแดงอย่างเป็นธรรม จะไปกระทบกับอำนาจจารีตนิยมที่ครอบงำสังคมไทยและสนับสนุนการฆ่าประชาชน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเกรงใจไม่กล้าดำเนินการ

กรณีที่อ้างเรื่องการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องถือเป็นเรื่องตลกในทางประวัติศาสตร์ เพราะจนถึงขณะนี้ ฝ่ายจารีตนิยมก็ไม่ประสบความสำเร็จในการหาความผิดที่เป็นจริงของ พ.ต.ท.ทักษิณได้เลย ที่มีการประโคมโหมกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำการทุจริตคอรับชั่นมากมายมหาศาล เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานรองรับ กลายเป็นว่า ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาจากการถูกรัฐประหาร และถูกกลั่นแกล้งโดยศาล ใช้กฎหมายรัฐประหารมาเล่นงาน ความเกลียดชังต่อ พ.ต.ท.ทักษิณที่สร้างกันขึ้นมา จึงวางอยู่บนรากฐานอันเหลวไหล

 

บทความนี้จึงขอจบด้วยบทกวีของ"ยังวัน"ที่กล่าวถึงกฎหมายปรองดองฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงว่า

"สังหารโหด นิรโทษ-จบ กี่ศพแล้ว     กี่ขบวน ถ้วนแถว ที่เงียบหาย

ข้ามคนล้ม ข่มคนกล้า ฆ่าคนตาย         แล้วละลาย คล้ายคลื่นสาด ซบหาดซา

ให้เลิกแล้ว ลืมเลย เคยมักง่าย            คนจึงตาย ศพจึงเพิ่ม บวกเติมค่า

ทรราช จึงเพิ่มกรรม ไม่นำพา               ประวัติศาสตร์ จึงเพิ่มหน้า การฆ่าคน

ผิดต้องว่า ตามผิด อย่าคิดกลบ            กระบวนการ ต้องครบ แจ้งจบผล

นักการเมือง ที่โลดเต้น หมายเล่นกล   จำไว้ว่า ประชาชน จะเล่นคืน

 

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 412  วันที่ 25 พฤษภาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แดงตรงเน็คไท"

Posted: 26 May 2013 05:12 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แดงตรงเน็คไท"

วันเดียวบึ้มใต้ 5จุด เจ็บรวม 14 คน

Posted: 26 May 2013 04:19 AM PDT

วันเดียวเกิดระเบิด 5 จุด เจ็บรวม 14 คน จุดแรกลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าใน อ.ยะหาและกาบัง จนไฟฟ้าดับทั้งอำเภอ บริเวณหน้าปั้มน้ำมันในอ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ถัดมาลอบวางระเบิดขบวนรถชุด EOD เจ็บ 8 ที่รือเสาะ ระเบิดทหารเจ็บ 6

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 เกิดเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จุดมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 14 คน

จุดแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลา 05.14 น. เป็นการลอบวางระเบิดบริเวณเสาไฟฟ้า 3 จุด ใน อ.ยะหา จ.ยะลา ทำให้กระแสไฟฟ้าดับทั้งอำเภอ ได้แก่ บริเวณถนนสามแยกเข้าเทศบาลตำบลยะหาทำให้เสาไฟฟ้าหัก 1 ต้นจุดที่2 บนถนนสายยะหา-กาบังทำให้เสาไฟฟ้าหักและล้มขวางถนนจำนวน 5 ต้น ตั้งแต่สามแยกถึงหน้าโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหาและจุดที่ 3 บนถนนสายยะหา-ปะแต เสาไฟฟ้าหัก1 ต้น

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทั้ง 3 จุดพบเศษแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เศษถ่ายไฟฉายรวมทั้งเศษกล่องเหล็กที่คนร้ายใช้บรรจุระเบิดจึงเก็บรวบรวมเอาไว้เป็นหลักฐานในเบื้องต้นเชื่อว่ากลุ่มคนร้ายได้นำระเบิดชนิดแสวงเครื่องยังไม่ทราบขนาดจำนวน 3-4 ลูกไปแขวนตามเสาไฟฟ้าทั้ง 3 จุดก่อนจุดชนวนระเบิดพร้อมๆกันเชื่อเป็นฝีมือของกลุ่มก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ต่อมาเวลา 05.20 .เกิดเหตุลอบวางระเบิดบริเวณหน้าตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสินสาขากาบัง อ.กาบัง จ.ยะลาและลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าจำนวน1 ต้น ทั้ง เหตุการณ์ทั้งหมดไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเจ้าหน้าที่ได้ประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าซ่อมแซม

ต่อมาเวลา 07.05 เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดบริเวณหน้าปั้มน้ำมันคาลเท็กซ์ ริมถนนจารุเสถียร บ้านตลาดล่างหมู่ที่ 1 ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส แต่ไม่มีผู้ไดได้รับบาดเจ็บ พบเป็นระเบิดแสวงเครื่องไม่ทราบภาชนะบรรจุและการจุดชนวน

เวลา 10.44 น.เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดขบวนรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดของศูนย์ปฏิบัติการตํารวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จนท.ชุด EOD ศชต.)บนถนนสายยะลา – ยะหาบริเวณหน้าหจก.ย่งฮวดยะลาบ้านลิมุดหมู่ที่3ต.ท่าสาปอ.เมืองจ.ยะลาขณะเดินทางกลับจากตรวจสอบเหตุลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าในพื้นที่ อ.ยะหาและอ.กาบัง จ.ยะลาเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย

แรงระเบิดทำให้รถกระบะของชุด EOD ศชต.ได้รับความเสียหายบริเวณด้านหน้าและรถตู้พยาบาลของตำรวจภูธรจังหวัดยะลาเสียหลักลงข้างทางจากนั้นกลุ่มคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงโจมตีทางเจ้าหน้าที่จึงยิงตอบโต้ จึงทำให้คนร้ายล่าถอยและหลบหนีไป

จากการตรวจสอบพบเป็นระเบิดแสวงเครื่องไม่ทราบภาชนะบรรจุและการจุดชนวนโดยคนร้ายนามาฝังไว้ใต้พื้นผิวถนน

สำหรับผู้บาดเจ็บมีรายชื่อดังนี้ 1.ด.ต.สราวุธดาวกระจายอายุ 48 ปี 2.ด.ต.ชัยยุทธ จันทร์มณี อายุ 42 ปี 3.ส.ต.อ.ชาญวิทย์ ศิริมล อายุ 28 ปี 4.ส.ต.ต.สมเกียรติ์ เตยแก้ว อายุ 35 ปี 5.ร.ต.ต.สว่าง มาลัย อายุ 53 ปี 6.นางยุภา ผมน้อย อายุ 38 ปี 7.นายดาไม่ทราบนามสกุล (ชาวพม่า) อายุ 22 ปี 8.ด.ญ.อูมมีกัลซูม หะยีอาแวอายุ 8 ปี

ต่อมาเวลา 11.20 น.เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดชุดปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15122 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 30 (ชป.ร้อย.ร.15122ฉก.นราธิวาส30) บริเวณบ้านตะแมง หมู่ที่ 1 ต.บาตง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 6 ราย

เหตุเกิดขณะทหารชุดดังกล่าวเดินทางกลับจากการปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยกำลังพลที่ไปอบรมการใช้รถยนต์หุ้มเกราะรีว่าที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยใช้รถปิคอัพหุ้มเกราะ 1 คันและรถยนต์บรรทุกยูนิม๊อค 1 คัน

เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุคนร้ายได้จุดชนวนระเบิด และใช้อาวุธปืนยิงโจมตีฝ่ายทหารที่อยู่บนรถยูนิม๊อคจึงยิงตอบโต้จนคนร้ายล่าถอยและหลบหนีไปตรวจสอบพบเป็นระเบิดแสวงเครื่องไม่ทราบภาชนะบรรจุและการจุดชนวนโดยคนร้ายนามาฝังไว้ใต้พื้นผิวถนน

สำหรับทหารที่บาดเจ็บ ได้แก่ 1.ส.อ.สุนทร แพ่งอินทร์ 2.ส.อ.ไพโรจน์ แก้วนิ่ม 3.ส.ท.ชัยวัฒน์ กาหลง 4.พลทหารวุฒิชัย ถึงชุมพร 5.พลฯภูมรินทร์ ฟักทอง 6.พลฯสุรวิทย์ อ่อนจันทร์อบ

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

BRN ปล่อยคลิปรอบ 2 ดันสู่การเจรจา “Rudingan Damai”

Posted: 26 May 2013 04:06 AM PDT

BRN ปล่อยคลิปรอบ 2 แจงเหตุผลข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ดันสู่การเจรจาสันติภาพเหตุใช้คำว่า "Rudingan Damai" แทนคำว่า "Pembicaraan" ที่แปลว่าการพูดคุย ร่ายอดีตย้ำปัญหาเกิดจาก "นักล่าอาณานิคม" แต่ขอให้ "รัฐบาลไทย" ทำตามข้อเรียกร้อง

บุคคลที่อ้างตัวเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ได้แถลงผ่านคลิปเผยแพร่ในเว็บไซต์ youtube ระบุวันเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 เนื้อหาหลักเป็นการอธิบายเหตุผลของข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่ นายฮัสซัน ตอยิบ กับ นายอับดุลการิม คาลิบ สองแกนนำบีอาร์เอ็น เคยแถลงผ่านเว็บไซต์ youtube ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ก่อนวันนัดพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 2 ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นในวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา

โดยผู้ที่ออกมาแถลงระบุว่าชื่อ ฮัจญี อาดัม มูฮำหมัด นูร (Hj. Adam Muhammad Nur) เป็นตัวแทนคณะพูดคุยเจรจาและตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น ความยาว 6.05 นาที ใช้ชื่อหัวข้อ "penjelasan 5 tuntutan awal : BRN 29.04.2013" แปลเป็นไทยว่า "คำอธิบาย 5 ข้อเรียกร้องเบื้องต้นของบีอาร์เอ็น เมื่อ 29 เมษายน 2556" (ลิงค์ http://www.youtube.com/watch?v=x6r5WxFlBlY)

แม้ว่า ทั้งฉากหลังและรูปแบบการบันทึกคลิปวีดีโอนี้ มีคล้ายคลึงกับคลิปวีดีโอที่บันทึกคำแถลงของ นายฮัสซัน ตอยิบ กับ นายอับดุลการิม แต่หากพิจารณาถ้อยคำที่ใช้แล้ว พบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างทั้ง 2 คลิป โดยคลิปแรกนายฮัสซัน ตอยิบ กับ นายอับดุลการิม ใช้คำว่า "Pembicaraan" แปลว่าการพูดคุย แต่คลิปล่าสุด ฮัจญี อาดัม มูฮำหมัด นูร ใช้คำว่า "Rudingan Damai" แปลว่า การเจรจาสันติภาพ

แม้เนื้อหาของคำแถลงยังคงเรียกประเทศไทยว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" ในช่วงแรก พร้อมกับบรรยายถึงการกดขี่ข่มเหงที่กระทำต่อประชาชนมลายูมสุลิมปาตานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในช่วงหลังที่มีการอธิบายเหตุผลของข้อเรียกร้อง 5 ข้อ มีการเรียกฝ่ายไทยว่า "รัฐบาลไทย"

สำหรับเนื้อโดยละเอียด ถอดความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

"ขอความสันติจงมีแด่ท่าน

ข้าพเจ้าฮัจญี อาดัม มูฮัมหมัดนูร ในฐานะตัวแทนขององค์กรแนวรวมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี บีอาร์เอ็น

ในการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมานั้น

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่ปาตานี ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ การลุกขึ้นมาของประชาชน ภายหลังจากที่ประชาชนต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่และข่มเหงมานานนับร้อยปี

การเข่นฆ่ากันได้เกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกระหัวระแหง โดยไร้ซึ่งผู้คอยให้ความดูแล มีจำนวนไม่น้อยที่ชาวมลายูปาตานีถูกประทุษร้ายถึงชีวิตโดยที่ไม่มีแม้กระทั่งหลุมฝั่งศพ

ในด้านการศึกษา นักล่าอาณานิคมสยามได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาแบบมลายูไปเป็นระบบแบบสยาม ซึ่งหนุ่มสาวมลายูจำนวนมิน้อยที่ต้องสูญเสียอัตลักษณ์แห่งตัวตนไป

ในด้านเศรษฐกิจ แผ่นดินนั้นอุดมสมบูรณ์ แต่ประชาชนอยู่ในภาวะยากจน จนทำให้หนุ่มสาวปาตานีนับแสนจำเป็นต้องเร่ร่อนออกตามหาปัจจัยยังชีพสู่ประเทศมาเลเซียและที่อื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ ขบวนการปลดปล่อยปาตานี(บีอาร์เอ็น)จากการยึดครองของสยามก็ได้กำเนิดขึ้น  เพราะฉะนั้นเราพร้อมเสียสละเลือดเนื้อและทรัพย์สิน ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเพื่อได้รับอิสรภาพของปาตานีจากการยึดครองของสยาม

 

ดังนั้น เพื่อให้การเจรจาสันติภาพดำเนินการได้อย่างราบรื่น เราขอเสนอข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อ

1.การเจรจาในครั้งนี้ ถือเป็นการเจรจาระหว่างนักต่อสู้ปาตานี ที่นำโดยบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย เนื่องจาก

a. บีอาร์เอ็น เป็นองค์กรปลดปล่อย ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวมลายูปาตานี

b. บีอาร์เอ็นคือผู้ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาวปาตานี

c. บีอาร์เอ็นคือผู้ทำหน้าที่และนำพันธกิจของชาวมลายูปาตานี

 

2.บีอาร์เอ็นเห็นพ้องต้องกันที่จะให้มาเลเซียเป็นคนกลาง (mediatur) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงในการเจรจาครั้งนี้

a. เพื่อให้การเจรจาครั้งนี้สามารถดำเนินไปได้ด้วยดีและบรรลุตามเป้าหมาย

b. เพื่อให้การเจรจาครั้งนี้ได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากสังคมมลายูปาตานีและประชาคมโลก

c. เพื่อให้มีผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่แผ่นดินปาตานี

 

3. ตลอดช่วงการเจรจา ต้องมีตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน องค์กรโอไอซีและเอ็นจีโอต่างๆ เป็นพยาน เนื่องจาก

a. ในการตกลงระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐไทย จะต้องมีสักขีพยานจากสังคมระหว่างประเทศ และตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องการเห็นสันติภาพและความมั่นคง

b. เพื่อให้การเจรจาในครั้งนี้มีหลักประกันที่แน่นอนสำหรับทั้งสองฝ่าย

 

4. รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าชาวมลายูปาตานีย่อมมีสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนปาตานีแห่งนี้ เพราะว่า

a. รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่ดินแดนปาตานีแห่งนี้ คือการที่สิทธิความเป็นเจ้าของของชาวมลายูปาตานีถูกปล้นไป

b. ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง

c. ปัญหาด้านสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม และอื่น

 

5. ฝ่ายบีอาร์เอ็นขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการปล่อยตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีทั้งหมด และให้ยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข

วิกฤติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่ปาตานี เพราะมีระบบการปกครองแบบอาณานิคมสยามบนแผ่นดินปาตานี หากว่าไม่มีนักล่าอาณานิคมก็คงจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น

ผิดด้วยหรือที่ชาวมลายูปาตานีลุกขึ้นมาปกป้องจากการคุกคามของสยาม

ขอบคุณครับ

 

........................

รวบรวมลิงค์ แถลงการณ์ BRN ทั้งสองครั้ง

ลิงค์คลิปแรก ที่เผยแพร่ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 โดย Abdulloh Muhammad

http://www.youtube.com/watch?v=3XzxHyvRu1U

บทแปลเนื้อหาคลิปเป็นภาษาไทย โดย นายฮาร่า ชินทาโร่  

http://www.deepsouthwatch.org/node/4197

 

 

ลิงค์คลิปที่สอง ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 โดย Flyer Cryer

https://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=x6r5WxFlBlY

บทแปลเนื้อหาคลิปเป็นภาษาไทย โดย นายฮาร่า ชินทาโร่  http://www.deepsouthwatch.org/node/4301

บทแปลเนื้อหาคลิป โดยนายอับดุลเลาะห์ วันอะฮ์หมัด กลุ่ม Awan Book

http://www.deepsouthwatch.org/node/4300

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณิต ณ นคร

Posted: 26 May 2013 04:00 AM PDT

"มนุษย์เรามีความต้องการ 2 อย่าง ความต้องการประการแรกคือความมั่นคงในชีวิต ที่เราทำงาน ทำมาหากินต่างๆ ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต แต่แค่นั้นไม่พอ มนุษย์ยังต้องการความเป็นธรรมด้วย ความต้องการความมั่นคงในชีวิตเปรียบเทียบได้ว่าเป็นความต้องการภายนอก ส่วนความต้องการภายในคือความเป็นธรรม ถ้าเรามีสิ่งที่ตรงกับความต้องการภายนอกที่สมบูรณ์ทุกอย่าง แต่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม มันก็ชีช้ำ"

23 พ.ค.56, ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถา เรื่อง สิทธิมนุษยชนในช่องทางออกของอำนาจในดุลยพินิจสั่งประกันตัว

ฟ้าผ่า สาเหตุไฟดับทั้งภาคใต้จริงหรือ ?

Posted: 26 May 2013 03:09 AM PDT

จับตานิวเคลียร์ชี้ ไฟดับภาคใต้อาจไม่ใช่เพียงแค่เหตุสุดวิสัยหรือภัยธรรมชาติ

เหตุการณ์ไฟดับทั้งภาคใต้ 14 จังหวัดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถูกอธิบายว่าสาเหตุมาจากฟ้าผ่า สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปะติดปะต่อข้อมูลที่สื่อมวลชนได้นำเสนอในช่วง 3-4 วันมานี้ ดูเหมือนว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟดับ "ทั้งภาคใต้" ครั้งนี้ จะโทษว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจากภัยธรรมชาติคงจะไม่ได้เสียทีเดียว


ฟ้าผ่า ไฟไม่ได้ดับในทันที

ตามข้อเท็จจริงที่ กฟผ.ชี้แจง เหตุการณ์ฟ้าผ่าสายส่งเกิดขึ้นในเวลา 17.26 น. แต่ไฟดับเกิดขึ้นในเวลา 18.52 น. คือหลังจากฟ้าผ่าแล้ว 1 ชั่วโมง 26 นาที คำถามก็คือ ช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งก่อนที่ไฟจะดับ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินนี้อย่างไร และโอกาสที่ภาคใต้จะไม่เกิด blackout หรือไฟดับทั้งภาคนั้น เป็นไปได้หรือไม่ คำตอบคือ เป็นไปได้


ทำไมโรงไฟฟ้าในภาคใต้ถึงดับหมด

ประชาชนในภาคใต้ที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่นโรงไฟฟ้าจะนะ (สงขลา) หรือโรงไฟฟ้าขนอม (นครศรีธรรมราช) มีข้อสงสัยว่าเมื่อเกิดเหตุขัดข้องที่สายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางแล้วทำไมโรงไฟฟ้าเหล่านี้จึงจ่ายไฟไม่ได้ ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าไม่ได้เสียหาย เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของระบบไฟฟ้า กล่าวคือในการผลิตไฟฟ้านั้น "กำลังการผลิต" จะต้องสมดุลกับ "กำลังไฟฟ้าที่ใช้งาน" หรือโหลดในขณะนั้น หากปริมาณโหลดสูงกว่ากำลังผลิต ระบบผลิตไฟฟ้าทั้งหมดก็จะล่มได้เพราะโรงไฟฟ้าทั้งหลายเชื่อมโยงกันเป็นระบบเดียว

กรณีที่เกิดขึ้น กฟผ.ระบุว่า โรงไฟฟ้าในภาคใต้เดินเครื่องอยู่ที่กำลังผลิต 1,692 เมกะวัตต์ และรับจากภาคกลางอีก 430 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโหลด 2,242 เมกะวัตต์ เมื่อเกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่ง กำลังไฟฟ้าจากภาคกลางไม่ได้หายไปในทันใด เพราะสายส่งมีทั้งสิ้น 4 เส้น แม้จะอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง 1 เส้น และถูกฟ้าผ่าไปอีก 1 เส้น (ทั้งสองเส้นนี้มีขนาด 500 kV) ก็ยังเหลืออีก 2 เส้น (แต่เป็นสายขนาด 230 kV) ดังนั้นไฟจึงยังไม่ดับ

ในสถานการณ์ขณะนั้น ปัจจัยที่คาดได้ว่าจะเป็นปัญหาก็คือ พีคโหลดที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 1-2 ทุ่ม เนื่องจากผู้คนกำลังเลิกงานกลับบ้าน เปิดไฟ ดูโทรทัศน์ ฯลฯ ซึ่งทางการไฟฟ้าทั้งหลายต่างมีข้อมูล load profile อยู่ในมืออยู่แล้ว จึงน่าจะอยู่ในวิสัยที่จะประเมินได้ว่า สายส่ง 230 kV ที่เหลืออยู่มีขนาดไม่เพียงพอที่จะรับโหลดที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ นั่นหมายถึงวิกฤตกำลังรออยู่ในอีก 1-2 ชั่วโมงข้างหน้า

ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าดูจากข่าววิกฤตไฟฟ้าเมษายนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การไฟฟ้าทั้งสามต่างมีแผนหรือแนวปฏิบัติอยู่แล้ว นั่นก็คือ การตัดโหลดบางส่วนออกเพื่อรักษาสมดุลของแรงดันไฟฟ้า ซึ่งหมายถึงการตัดไฟในบางจุด (อย่างมากไม่เกิน 430 เมกะวัตต์ที่ต้องรับจากภาคกลาง) โดยในเรื่องนี้ กระทรวงพลังงานได้เปิดเผยกับเดลินิวส์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า หากมีการตัดไฟบางจุด ก็จะมีพื้นที่ที่ไฟฟ้าดับเพียงประมาณ 25% ไม่ใช่ดับทั้งภาคใต้

หากใช้แนวทางดังกล่าว ความเสียหายก็จะไม่กินบริเวณกว้าง นอกจากนี้ การแก้ไขสถานการณ์ก็จะทำได้รวดเร็วกว่า ไม่ต้องใช้เวลามากถึง 3-4 ชั่วโมงดังที่เกิดขึ้น เพราะระบบผลิตไฟฟ้าภาคใต้ไม่ได้ล่มทั้งระบบ 

เมื่อพิจารณาจากลำดับเวลาแล้ว กฟผ.มีเวลาชั่วโมงเศษซึ่งมากพอควรที่จะแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้ไปสู่ความวิกฤต แต่สุดท้ายก็ปล่อยให้โหลดในภาคใต้เพิ่มสูงขึ้นจนเกินกำลังสายส่ง 230 kV ทำให้กำลังผลิตจากภาคกลางหลุดออกไป และฉุดให้โรงไฟฟ้าทั้งภาคใต้ล่มตามไปด้วย


"โรงไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอ" ไม่ใช่ประเด็น

ดังนั้น ที่มีการอธิบายว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มจึงไม่ใช่ประเด็นในสถานการณ์นี้ เพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่ความผิดพลาดในการบริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหาก ทั้งนี้ ที่ควรกล่าวไว้ด้วยในเรื่องกำลังผลิตก็คือ ในปีหน้า (2557) โรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 ขนาด 800 เมกะวัตต์ก็จะก่อสร้างเสร็จ และในปี 2559 โรงไฟฟ้าขนอมขนาด 700 เมกะวัตต์ที่หมดอายุก็จะถูกทดแทนด้วยโรงใหม่ขนาด 900 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า กำลังผลิตในภาคใต้จะมีเพิ่มขึ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย แม้จะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาเพิ่มก็ตาม

ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรคกูเลเตอร์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ไฟดับเพื่อสอบสวนว่า กฟผ. ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือไม่ และจะต้องมีการชดเชยผู้เสียหายหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม กฟผ.ไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่จะต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะ กกพ.เองก็อาจอยู่ในข่ายมีส่วนเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟดับครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน เมื่อทางด้าน กฟผ.และกระทรวงพลังงานได้ออกมาระบุว่า อำนาจในการสั่งดับไฟของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าอยู่ที่ กกพ. ทำให้ กฟผ.ไม่กล้าดำเนินการเองเพราะจะเป็นการผิดกฎหมาย


จะสรุปบทเรียนอย่างไร

เหตุการณ์ไฟดับครั้งนี้ การสรุปบทเรียนให้ได้อย่างแท้จริงน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการไล่เบี้ยหาผู้บกพร่องมารับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย ซึ่งในแง่นี้ เหตุการณ์ไฟดับของเรามีบางอย่างที่สามารถเทียบเคียงได้กับอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ที่คนทั่วโลกต่างเข้าใจว่ามีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ แต่การสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการอิสระแห่งชาติของญี่ปุ่น กลับมีข้อสรุปออกมาว่า 

"…อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ แม้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ หากแต่เป็นภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์ (manmade disaster) ซึ่งสามารถและควรที่จะคาดการณ์และเตรียมการป้องกันได้ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นก็สามารถบรรเทาให้น้อยลงได้ด้วยการตอบสนองของมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้…"

การสรุปบทเรียนของญี่ปุ่นได้ให้ข้อคิดกับเรา 3 ประการคือ

1. การคาดการณ์และเตรียมการป้องกันเหตุจากภัยธรรมชาตินั้น มนุษย์สามารถทำได้และควรกระทำ (ในกรณีของเรา การวางแผนความมั่นคงไฟฟ้า นอกจากจะคิดเรื่องกำลังผลิตที่เพียงพอแล้ว ในด้านความมั่นคงของสายส่ง ได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบแล้วหรือไม่)

2. เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ผลกระทบสามารถบรรเทาให้น้อยลงได้ หากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อเหตุการณ์มากกว่านี้ (แผนฉุกเฉินและอำนาจในการสั่งตัดไฟเฉพาะจุด ทำไมถึงเกิดปัญหา) 

3. การสอบสวนที่ทำให้ได้ข้อสรุปเช่นนี้ มาจากการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระโดยรัฐสภาญี่ปุ่น เพื่อให้มีอำนาจเป็นอิสระจากผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ คือรัฐบาลญี่ปุ่น หน่วยงานกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์ และเจ้าของโรงไฟฟ้า (แต่กรณีของเรา ผู้มีส่วนรับผิดชอบเหตุการณ์เป็นคนสอบสวนเอง)

มาถึงตรงนี้ มีคำถามว่า คณะกรรมการสอบสวนเหตุไฟดับภาคใต้ครั้งนี้ ควรมีที่มาอย่างไรดี ที่จะทำให้เราสามารถเรียนรู้เพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาดครั้งนี้ได้อย่างแท้จริง

 

 

 

ที่มา: จับตานิวเคลียร์ http://nuclearwatch.blogspot.com

 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น