โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พีมูฟประกาศยอมถอย 2 ก้าว ย้ายไปชุมนุมข้าง ก.ศึกษาฯ แต่ยันปักหลักอยู่จนถึงที่สุด

Posted: 11 May 2013 02:26 PM PDT

พีมูฟ ประกาศแถลงการณ์ ฉบับที่ 24 'เรายอมถอย 2 ก้าว เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงาน และพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล' ก่อนเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปบริเวณริมคลอง ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ด้านกลุ่มขบวนการแรงงานเดินทางมาร่วมให้กำลังใจ

 
วันที่ 11 พ.ค.56 เวลาประมาณ 9.30 น.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ประกาศแถลงการณ์ ฉบับที่ 24 'เรายอมถอย 2 ก้าว เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงาน และพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล' ก่อนที่จะมีการเก็บข้าวของและเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปยังบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างกระทรวงศึกษาธิการ
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมถูกกดดัน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้รถสุขา และรถน้ำหยุดให้บริการแก่ผู้ชุมนุม แต่ต่อมามีการเจรจาจนรถสุขากลับมาประจำที่ตำแหน่งเดิม
 
ผู้ชุมนุมกำลังขนย้ายข้าวของไปยังที่ชุมนุมใหม่ 
ภาพโดย: Bee Sangtawan
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันหน้าทำเนียบตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.56 ตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบหมายให้ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประสานงานในหลายครั้ง และในการเจรจาครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 10 พ.ค.56 แม้ดูเหมือนจะได้ข้อสรุปหลายเรื่อง แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว พบว่ามีการบิดเบือนสาระสำคัญในหลายเรื่อง
 
นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาในกลไกของอนุกรรมการชุดต่างๆ ก็เป็นแค่เพียงได้กำหนดวันประชุมเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีหลักประกันได้ว่า ปัญหาความเดือดร้อนของพีมูฟจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
 
แถลงการณ์ระบุว่า การประกาศยอมถอย 2 ก้าว ในครั้งนี้ เป็นการถอยจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ก้าวที่ 1 พีมูฟขอเปิดการเจรจากับรัฐบาลโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่รัฐบาลไม่ยอมเปิดการเจรจา กลับเปิดการหารือซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
 
ก้าวที่ 2 พีมูฟยืนยันว่าจะต้องนำกรณีปัญหาทั้ง 4 เรื่องคือ การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล การแก้ไขปัญหาที่ดิน กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชนภาคเหนือ เรื่องผลการเจรจาแก้ปัญหาของเครือข่ายสลัม 4 ภาค และการแก้ไขปัญหาที่ดินพิพาท กรณีพื้นที่ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประสานจัดการให้มีโฉนดชุมชนแล้ว เรื่องเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม.ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ แต่สุดท้ายมีเพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้นที่คาดว่าจะสามารถพิจารณาได้ทันในการประชุม ครม.ครั้งนี้
 
นอกจากนี้ พีมูฟยังประกาศว่า จะยอมถอยโดยเคลื่อนย้ายการชุมนุมจากบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลไปปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณริมคลองข้างกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากในช่วงวันที่ 12-13 พ.ค.56 เป็นวันพืชมงคล ซึ่งพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะมีการใช้ถนนราชดำเนินเป็นเส้นทางของขบวนเสด็จไปยังพระราชพิธี ประกอบกับมีความคืบหน้าในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านพอสมควร แม้จะเป็นเพียงแค่การตกลงแนวทางการดำเนินงาน ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ตาม
 
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงานและประสานงานร่วมกันให้ลุล่วง ในระหว่างรอฟังผลพิจารณาการประชุมการแก้ไขปัญหา อีกทั้งสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการหลายชุดตลอดทั้งสัปดาห์
 
"อย่างไรก็ตาม พวกเราขอเรียนไปยังผู้เกี่ยวข้องให้ทราบร่วมกันว่า การประกาศถอย 2 ก้าวในครั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาภาพพจน์ของรัฐบาล เท่านั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพวกเรา" แถลงการณ์ระบุ และว่าแนวทางที่ถูกต้อง รัฐบาลควรมุ่งมั่นและเร่งรีบแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามข้อสรุปของที่ประชุมตามที่ตกลงกันไว้
 
แถลงการณ์ของพีมูฟยังระบุถึง ตัวอย่างกรณีปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ซึ่งต้องมีการแก้ไขโดยเร็ว อาทิ การบังคับคดีชาวบ้านโคกโตนด จังหวัดภูเก็ต ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พ.ค.56 กรณีนายดิเรก กองเงิน ที่อัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้นัดส่งฟ้องในวันที่ 16 พ.ค.56 นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่จะต้องเริ่มเปิดเขื่อนปากมูลในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ปลาเดินทางเข้ามาสู่แม่น้ามูน เพื่อให้คนหาปลาสามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไข ผู้ชุมนุมก็ไม่สามารถเชื่อคำสัญญาของรัฐบาลได้
 
"พวกเรา ขอยืนยันมาอีกครั้งว่า เราจะยังคงปักหลักชุมนุมอย่างสงบ ต่อไป จนกว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพวกเราจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จึงจะพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการต่อไป ในรูปแบบใด" แถลงการณ์ระบุ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมขอพีมูฟในวันนี้มีบุคคลและกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เดินทางมาร่วมให้กำลังใจ อาทิ สุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สุธี ประศาสน์เศรษฐ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
 
บรรยากาศการชุมนุมพีมูฟที่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เอ็นจีโอ’ หวั่นทุนจีนรุกกว้านซื้อที่ดินขอนแก่น ผุดนิคมอุตฯ สีเขียว-เหมืองโปแตช

Posted: 11 May 2013 12:32 PM PDT

เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน เผยข้อมูลแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ระบุทุนจีนสนใจทำโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ขอนแก่น-สร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ชี้ชาวบ้านถูกปิดกั้นข้อมูล เตรียมเกาะติดหวั่นผลกระทบตามมา

 
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 11 พ.ค.56 เวลา 09.00 น. นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช.อีสาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่าขณะนี้มีนายทุนจากประเทศจีนให้ความสนใจที่จะทำโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่ จ.ขอนแก่น โดยควบคู่ไปกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ที่บริษัท เอดีเอส ของจีนได้มีการกว้านซื้อที่ดินใน ต.ท่าพระ อ.เมืองจำนวน 4-5 พันไร่ เตรียมไว้แล้ว
 
"มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนจากสถานกงสุลจีน ว่าทุนจีนต้องการที่จะลงทุนทำเหมืองแร่โปแตช ใน จ.ขอนแก่น ซึ่งจากข้อมูลเราก็พบว่าปัจจุบันได้มีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจหาแหล่งแร่ โดยบริษัท กรุงเทพโยธาอุตสาหการ จำกัด ในพื้นที่ ต.บ้านทุ่ม ต.บ้านหว้า อ.เมือง และ ต.บ้านฝาง ต.บ้านเหล่า อ.บ้านฝาง จำนวน 10 แปลง เนื้อที่จำนวน 100,000 ไร่" นายสุวิทย์กล่าว
 
เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวอีกว่า ภาคอีสานเป็นที่น่าจับตา เพราะว่าตอนนี้มีการเคลื่อนตัวของทุนจีนเข้ามาเป็นอย่างมาก โดยการชักนำของนักการเมืองร่วมกับนายทุนในนาม "สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน" ซึ่งมีนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นนายกสมาคมฯ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่
 
นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ของภาคอีสานก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นจากการรุกเข้ามาของทุนจีน โดยเฉพาะการกว้านซื้อที่ดินเป็นจำนวนมากในจังหวัดที่สำคัญและเหมาะแก่การลงทุน ซึ่งส่งผลให้ที่ดินมีราคาสูงและมีแนวโน้มที่จะหลุดมือจากชาวบ้านไปเป็นของนายทุนเพื่อจะเข้ามาลงทุนโครงการต่างๆ
 
"ประเด็นก็คือชาวบ้านถูกปิดกั้นข้อมูล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก ดังนั้น เราจะต้องมีการติดตาม และตรวจสอบเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วชุมชนอีสานจะมีผลกระทบตามมามากมาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน คุณภาพชีวิต ฯลฯ"
 
ด้านนายบุญชู พันธ์ภักดี ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชน ต.หนองแซง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น เผยเปิดว่า ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และอบต.หนองแซง มีแผนที่จะผลักดันให้พื้นที่ป่าหนองเม็กหนองลุมพุก จำนวนกว่า 2,000 ไร่ ใน อ.บ้านแฮด เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการจัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ชาวบ้านจึงคัดค้านเพราะหวั่นวิตกว่าจะมีผลกระทบ
 
อีกทั้งที่ดินส่วนใหญ่ก็เป็นเขต สปก.และพื้นที่ป่าสงวน จนกระทั่งเร็วๆ นี้ได้ทราบข่าวว่าจะมีการย้ายพื้นที่ไปสร้างที่ตำบลท่าพระ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ห่างจากตำบลหนองแซงประมาณ 10 กิโลเมตร
 
"ประธานสภาอุตสาหกรรมได้ประกาศออกมาว่าจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ในพื้นที่ ต.ท่าพระ และ ต.ดอนหัน โดยมีการซื้อที่ดินเอาไว้แล้วจำนวนมาก ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้ข้อมูลว่าจะมีโครงการอะไรในบริเวณนั้น ฉะนั้นในส่วนของภาคประชาชนจะต้องเฝ้าติดตามปัญหาร่วมกัน เพราะโครงการฯ จะส่งผลกระทบต่อพวกเราอย่างแน่นอน" นายบุญชูกล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: ชำแหละคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ‘คดีเจริญ วัดอักษร’

Posted: 11 May 2013 10:26 AM PDT

กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ร่วมกับกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย และสมาคมนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดเสวนา วิชาการ 'ชำแหละคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีเจริญ วัดอักษร' เมื่อวันที่ 28 เม.ย.56 เวลา 13:00-16:00 น. ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
 
ร่วมเสวนาโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, สุรสีห์ โกศลนาวิน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ดำเนินการเสวนาโดย กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความคดีโรงไฟฟ้าบ่อนอก
 
 
คดีจ้างวานฆ่านายเจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ผู้นำขบวนการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.47อัยการคดีพิเศษ ได้ส่งฟ้องจำเลยรวมทั้งสิ้น 5 ราย
 
ศาลอาญาได้พิพากษาในชั้นต้น เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.51 ให้ประหารชีวิตนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานจ้างวาน และยกฟ้องจำเลยที่ 4-5 ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งรับสารภาพว่าเป็นผู้ยิงนายเจริญ จนเสียชีวิตและซัดทอดจำเลยที่ 3-5 เป็นผู้ใช้จ้างวานนั้น เสียชีวิตในระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเมื่อปี 2549 ทั้งสองคน
 
ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 โดยวินิจฉัยว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของมือปืนทั้งสองคน ซึ่งไม่ได้มาเบิกความต่อศาลเพราะเสียชีวิตไปก่อนนั้น ถือเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่มีน้ำหนักน้อย จึงให้ยกฟ้อง
 
จากกรณีดังกล่าว กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกและสมาคมนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานเสวนาเชิงวิชาการ 'ชำแหละคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีสังหารเจริญ วัดอักษร' ขึ้น โดยในการเสวนาได้มีการวิเคราะห์เชิงวิชาการเกี่ยวกับข้อบกพร่องของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ ที่ไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในคดี รวมทั้งไม่เป็นไปตามหลักในการเขียนคำพิพากษา ที่กำหนดว่าจะต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงให้ชัดเจนด้วย
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พ.ค.56 กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 50 คน นำโดยกรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มฯ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด โดยรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นจากการเสวนาดังกล่าวยื่นต่ออัยการสูงสุด เพื่อใช้ในการจัดทำคำฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้
 
ส่วนความคืบหน้ากระบวนการฎีกา ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายเวลาการยื่นคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในครั้งแรก ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หากไม่มีการยื่นขยายเวลาออกไปเป็นครั้งที่ 2

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตผู้นำกัวเตมาลา ถูกตัดสินจำคุก 80 ปีฐานสังหารหมู่

Posted: 11 May 2013 10:09 AM PDT

อดีตผู้นำทหาร อีฟราอิน ริออส มอนท์ ที่ปกครองกัวเตมาลาช่วงปี 1982-1983 ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานเป็นมีส่วนในการสังหารหมู่ชาวพื้นเมืองอิกซิลช่วงสงครามกลางเมือง โดยมีญาติและเหยื่อผู้อยู่ในเหตุการณ์เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี

11 พ.ค. 2013 - ศาลทางการกัวเตมาลาตัดสินให้อดีตผู้นำทหาร อีฟราอิน ริออส มอนท์ มีความผิดฐานเป็นมีส่วนในการสังหารหมู่ รวมถึงมีความผิดในข้อหาอาชญากรสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยสั่งลงโทษจำคุก 80 ปี

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมของกัวเตมาลา ตัดสินคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากพิจารณาคดีผ่านมาเป็นเวลา 2 เดือน มีเหยื่อหลายสิบคนผู้อยู่ในเหตุการณ์เป็นผู้กล่าวให้ปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น

ผู้พิพากษา จัสมิน บาริออส กล่าวว่า จำเลยมีความผิดจากการเป็นผู้สั่งการเบื้องหลังเหตุการสังหารหมู่ และจะต้องถูกลงโทษตามความเหมาะสม ทางด้านอัยการกล่าวว่า ในช่วงที่ ริออส มอนท์ ปกครองประเทศระหว่างเดือน มี.ค. 1982 ถึงเดือน ส.ค. 1983 ซึ่งเหตุการณ์สงครามกลางเมือง 36 ปีระอุถึงจุดสูงสุด เขาเป็นผู้รู้เห็นการสังหารหมู่ของชาวอิกซิล ชนพื้นเมืองที่มีเชื้อสายชาวมายาในประเทศกัวเตมาลา

อัยการเปิดเผยรายละเอียดว่า มีชาวอิกซิลถูกสังหารไป 1,771 ราย ในเมืองซานฮวนคอทซอล, ซานแกสปาร์ชาซูล และซานตามาเรียเนปาจ โดยที่ริออส มอนท์เป็นผู้รู้เห็นจึงถือว่ามีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์

ในศาลมีเหยื่อและญาติๆ เข้ารับฟังการพิจารณาคดี พวกเขาพากันปรบมือและส่งเสียงแสดงความยินดีเมื่อมีการประกาศผลการตัดสิน

ขณะที่ริออส มอนท์ ให้การยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือออกคำสั่งให้มีการสังหารหมู่ในชณะที่เขาอยู่ในอำนาจ เขาไม่ได้แสดงอารมณ์ใดๆ ในช่วงที่มีการตัดสินคดี และเมื่อผู้พิพากษากล่าวว่าเขาจะถูกสั่งกักบริเวณในบ้านและจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในเวลาต่อมา ริออส มอนท์ก็พยักหน้ายอมรับ

ต่อมาริออส มอนท์ก็ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าเขายังสติดีอยู่และแสดงท่าทีเย้ยหยันต่อคำตัดสิน

"มันเป็นปาหี่ของการเมืองระหว่างประเทศที่จะมาทำร้ายจิตวัญญาณของประชาชนชาวกัวเตมาลา แต่พวกเราก็อยู่อย่างสันติ เพราะพวกเราไม่เคยหลั่งเลือดหรือทำให้มือตัวเองเปื้อนเลือดพี่น้องประเทศเดียวกัน" ริออส มอนท์กล่าว

"ผมไม่ได้รู้สึกไม่ดีอะไร เพราะผมแค่ยอมปฏิบัติตามกฏหมาย" ริออส มอนท์ กล่าว เขายินยันว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้องต่อประเทศจากการที่เขาต่อสู้กับกลุ่มกบฏที่เขาบอกว่า 'เป็นปัยหาของประเทศ'

สงครามระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายในกัวเตมาลาทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 200,000 คน สงครามจบลงหลังจากที่มีสนธิสัญญาสันติภาพในปี 1996

เบนจามิน เจอโรนิโม ประธานกลุ่มสมาคมเพื่อความยุติธรรมและการปรองดอง หนึ่งในชาวอิกซิล กล่าวให้การในศาลว่า เขาเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ทำให้ประชาชนในชุมชนเขาเสียชีวิตไป 256 คน

"ผมเห็นมากับตาตัวเอง ผมไม่ได้โกหก ทั้งเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และคนสูงอายุต่างก็ถูกสังหาร" เจอโรนิโมกล่าว

อีฟราอิน ริออส มอนท์ ปัจจุบันอายุ 86 ปี ถือเป็นอดีตผู้นำคนแรกในละตินอเมริกาที่ถูกตัดสินให้มีความผิดในโทษฐานเป็นผู้สั่งการสังหารหมู่ อาชญากรสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ


เรียบเรียงจาก

Former Guatemala leader guilty of genocide, Aljazeera, 11-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุใดผู้หญิงอินเดีย ถึงถูกโจมตีในโซเชียลมีเดีย

Posted: 11 May 2013 10:06 AM PDT

การคุกคามทางเพศและทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ในอินเดียลามเข้ามาในโลกอินเตอร์เน็ต เช่น ขู่ว่าจะรุมโทรม หรือตามหาข้อมูลคนในครอบครัวมาเผยแพร่ และเหยื่อการคุกคามเหล่านี้มักจะเป็นผู้หญิงที่แสดงความเห็นทางการเมืองหรือด้านความเชื่อศาสนา

 

สำนักข่าว BBC รายงานเรื่องผู้หญิงในอินเดียมักจะถูกกล่าวโจมตีในโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงกรณีของ ซาการิกา โกศ ผู้ประกาศข่าวชื่อดังในรายการข่าว CNN-IBN และเป็นผู้เขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ชั้นนำในอินเดียถูกกล่าวโจมตีและคุกคามผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 177,000 คนด้วยคำขู่ว่าจะเปลื้องผ้าและรุมข่มขืน รวมถึงมีการข่มขู่ด้วยการหาชื่อและรายละเอียดของลูกสาวเธอไปโพสต์ในทวิตเตอร์

ซาการิกา กล่าวถึงการที่ลูกสาวเธอถูกข่มขู่ว่า มันเป็นเรื่องน่ารังเกียจมาก สองสามวันหลังจากนั้นเธอต้องไปรับไปส่งลูกเธอเองแทนการใช้ขนส่งมวลชนเนื่องจากความกลัว

"ถ้าพวกเขาว่ากล่าวฉันในแง่ความเป็นนักข่าวก็ไม่เป็นไร แต่การที่พวกเขาใช้วาจาในเชิงเหยียดหยามทางเพศ ทำให้ฉันโกรธมาก ในตอนแรกฉันก็โต้ตอบกลับไป แต่มันก็จะทำให้มีการคุกคามเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น" ซาการิกากล่าว

ซาการิกาเปิดเผยว่าผู้หญิงในอินเดียที่ถูกคุกคามผ่านทวิตเตอร์ มักจะเป็นคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมหรือฆราวาสนิยม เธอบอกอีกว่า ผู้คุกคามเป็นกลุ่มชาตินิยมฝ่ายขวาที่รู้สึกโกรธเมื่อผู้หญิงพูดแสดงความคิดเห็นออกมา พวกเขาถึงขั้นสร้างคำใหม่ขึ้นมาเรียกพวกเธอคือคำว่าซิกคิวลาร์ หรือ "พวกป่วยไข้" (sickular ล้อเลียนคำว่า secular ที่หมายถึงฆราวาสนิยม)

ซาการิกาบอกว่าเธอจำเป็นต้องเลิกแสดงความเห็นลงในทวิตเตอร์ "ฉันทำแค่การนำเสนอรายการและเผยแพร่ข้อมูล แต่ว่าฉันก็ยังโต้ตอบ (รีทวิต) ข้อความที่คุกคามกลับไป เพราะฉันคิดว่าจำเป็นต้องแสดงให้เห็นความคระหนักในสิ่งที่นักข่าวสตรีต้องพบเจอ คุณจะทำอะไรได้มากกว่านั้นอีก"

กาวิตา กฤชนัน นักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีที่มีชื่อเสียงในอินเดียก็ถูกกล่าวโจมตีเช่นกัน ขณะที่เธอกล่าวถึงเรื่องความรุนแรงต่อสตรีผ่านระบบแช็ทออนไลน์ของเว็บไซต์ rediff.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวชั้นนำของอินเดีย

"เริ่มต้นมาก็ดี ฉันได้ตอบคำถามที่น่าสนใจสองสามคำถาม แล้วจากนั้นก็มีคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า @RAPIST โพสท์คอมเมนต์ในเชิงคุกคาม เขาถามฉันว่าเขาจะมาข่มขื่นเธอโดยสวมถุงยางได้อย่างไร" กาวิตากล่าว

กาวิตาตัดสินใจออกจากการสนทนาครั้งนั้นหลังจากที่การคุกคามดำเนินต่อไป เธอบอกว่าเธอคิดว่าตัวเองเป็น 'คนหนังหนา' ที่สามารถตอบคำถามยากๆ พร้อมกับรับมือการคุกคามได้ แต่สำหรับเธอแล้วในกรณีนี้ถือเป็นการคุกคามทางเพศ

"สิ่งที่ทำให้ฉันโกรธคือการที่ Rediff ไม่สามารถทำให้ผู้มาเยือนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยได้ การพูดคุยไม่มีการกลั่นกรอง หรือผู้ที่ทำตัวคุกคามก็ไม่ถูกบล็อก"

Rediff ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อ BBC อย่างไรก็ตามพวกเขาได้โพสท์ข้อมูลการแช็ทที่ถูกดัดแปลงแล้วบนเว็บไซต์ โพสท์ที่เป็นข้อความในเชิงคุกคามถูกลบออก และมีการขอโทษกาวิตา

ผู้ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คในอินเดียมีมากกว่า 90 ล้านคน และมีผู้หญิงใช้อยู่จำนวนมาก การสะกดรอยตามและการรังแกข่มเหงทางอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องปกติ

มีนา กานดาซามี ผู้เป็นนักเขียนและนักกิจกรรม ตัดสินใจไปพบตำรวจเมื่อเธอถูกคุกคามทางเพศบนอินเตอร์เน็ต

เมื่อปีที่แล้ว (2012) เธอเขียนทวิตเกี่ยวกับเทศกาลกินเนื้อวัวที่มหาวิทยาลัยในเมืองไฮเดอราบัด หลังจากนั้นเธอก็ถูกข่มขู่ว่าจะข่มขืนหมู่พร้อมถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ จะเผาเธอทั้งเป็น และจะใช้น้ำกรดโจมตี

ชาวฮินดูซึ่งเชื่อว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และการทานเนื้อวัวเป็นสิ่งต้องห้ามได้ปะทะกับกลุ่มดาลิท กลุ่มชนชั้นล่างผู้ที่เคยถูกเรียกว่าจัณฑาล ซึ่งเป็นผู้จัดงานดังกล่าวขึ้น

มีนาเปิดเผยว่าเธอได้รับข้อความทวิตเตอร์ 30-50 ข้อความในช่วงหลายวัน จากที่มีคนโพสท์ทวิตเตอร์ราว 800 ข้อความภายใน 2-3 ชั่วโมงในช่วงที่มีเทศกาล

มีนาเชื่อว่าชายชาวอินเดียหลายคนทำเพื่อโต้ตอบโพสท์ที่เธอวิพากษ์วิจารณ์เรื่องระบบชนชั้นวรรณะของแนวคิดชาตินิยมแบบฮินดู

"ฉันถูกข่มขู่ใช้ความรุนแรงแม้กระทั่งนอกโลกอินเตอร์เน็ต จากคนที่ไม่ชอบข้อเขียนของฉัน ไม่ชอบแนวคิดการเมืองของฉัน หนังสือของฉันถูกเผา ฉันรู้สึกว่าความเจ็บปวดนั้นจริงและลึกกว่าสิ่งที่มาจากการกลั่นแกล้งและคุกคามของกลุ่มคนนิรนาม" มีนากล่าว

เค ใจชังการ์ ครูสอนวิชาอาชญวิทยาที่เคยศึกษาเรื่องการข่มเหงรังแก การลอบสะกดรอยตาม และการเหยียดหยามผู้หญิงทางอินเตอร์เน็ตกล่าวว่า "ความคิดแบบปิตาธิปไตยมีในอินเตอร์เน็ตเต็มไปหมด"

"ผู้ชายไม่ชอบให้ผู้หญิงพูดตอบกลับ คนสาธารณะที่แสดงความเห็นอย่างจริงจังจะถูกกลั่นแกล้งและบีบบังคับให้ออฟไลน์ไป" เค ใจชังการ์ กล่าว

ใจชังการ์ ผู้เคยให้คำปรึกษาผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตกล่าวว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในอินเดียส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเก็บตัวที่ค้นพลว่าเว็บไซต์เป็นพื้นที่ที่พวกเขาสามารถเปิดเผยความคิดได้อย่างอิสระและอย่างเป็นนิรนาม

"คนเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่มีอาชีพซึ่งเป็นที่เคารพ อย่างเช่น แพทย์ ทนายความ หรืออาจารย์ ในโลกความจริง แต่เมื่อเขาเข้าสู่โลกออนไลน์ เขาก็แสดงด้านมืดออกมา" ใจชังการ์ กล่าว

เดบาราตี ฮัลดาร์ ผู้ช่วยของใจชังการ์กล่าวว่าผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบในโลกออนไลน์มักจะไม่ค่อยไปหาตำรวจ แต่มักจะพยายามทำให้ข้อความน่ารังเกียจถูกลบออกไปซึ่งไม่ได้ง่ายนัก

ในกฏหมายของอินเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้มีระบุไว้ในมาตราที่ 66A ของกฏหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวห้ามการส่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในเชิงยั่วยุและลามกอนาจาร แต่ในขณะเดียวกันกฏหมายฉบับนี้กลับถูกรัฐนำมาใช้ในการปราบปรามผู้ต่อต้านในปัจจุบัน และในขณะเดียวกัน เดบาราตี บอกว่าผู้หญิงที่ถูกกล่าวข่มเหงทางเพศผ่านอินเตอร์เน็ตมักจะไม่สามารถทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการตามกฏหมายใดๆ ก็ตามต่อผู้ที่กล่าวข่มเหงได้

"ในหลายๆ ครั้ง เมื่อฉันสนับสนุนให้ผู้หญิงไปหาตำรวจ พวกเธอจะกลับมาแล้วบอกฉันว่าการร้องเรียนของพวกเธอถูกเพิกเฉยว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่พวกตำรวจก็บอกเธอว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย"

เดบาราตี มีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรทำคดีจริงจังมากขึ้นและฟ้องผู้กระทำผิดภายใต้กฏหมายไอทีมาตรา 66A แต่เธอก็บอกอีกว่าแค่การฟ้องผู้กระทำผิดภายใต้กฏหมายที่มีอยู่ในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศแต่อย่างเดียวก็ยังเป็นแค่เรื่องริมขอบในการแก้ปัญหาการคุกคามสตรีซึ่งมีหนทางอีกยาวไกล


เรียบเรียงจาก

Why are Indian women being attacked on social media?, BBC, 08-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งถอดพิมพ์เขียวปืนจากเครื่องพิมพ์สามมิติออกจากอินเตอร์เน็ต

Posted: 11 May 2013 10:01 AM PDT

หน่วยงานควบคุมการค้าอาวุธของสหรัฐฯ แจ้งให้โคดี วิลสัน ผู้สร้างปืนจากเครื่องพิมพ์สามมิติ ให้นำไฟล์พิมพ์เขียวออกจากอินเตอร์เน็ต เพราะเกรงว่าจะเป็นการทำให้มีอาวุธที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าถึงประชาชนทั่วไปและอาจเป็นการฝ่าฝืนกฏหมายการส่งออกอาวุธไปต่างประเทศ

รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งให้โคดี วัลสัน ผู้คิดวิธีสร้างปืนขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์สามมิติให้นำไฟล์พิมพ์เขียววิธีสร้างปืนออกจากเว็บไซต์ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ผู้ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสามารถนำไปสร้างเป็นปืนที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนที่บ้านได้

The Independent รายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2556 ว่าในตอนนี้มีผู้ดาวน์โหลดพิมพ์เขียวการสร้างปืนด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติไปแล้ว 100,000 ครั้ง ตั้งแต่ที่กลุ่มดีเฟนซ์ ดิสทริบิวเต็ด (Defense Distributed) ใช้เวลา 1 ปี ในการออกแบบปืนพกที่ชื่อ "ลิเบอร์เรเตอร์" เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วพวกเขาสร้างปืนดังกล่าวจากพัสดุพลาสติกเป็นผลสำเร็จ และสามารถนำมาใช้ยิงได้จริง โดยพวกเขาประกอบปืนด้วยชิ้นส่วนที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติที่ซื้อมาจากอีเบย์ด้วยราคา 8,000 ดอลลาร์ (ราว 238,000 บาท)

ฝ่ายความร่วมมือของสำนักงานควบคุมการค้าอาวุธของสหรัฐฯ เขียนจดหมายแจ้งไปยังโคดี วิลสัน ผู้ก่อตั้งกลุ่ม เรียกร้องให้มีการนำแบบปืนออกเพื่อไม่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ จนกว่าเขาจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่ได้ฝ่าฝืนกฏหมายการส่งออกอาวุธข้ามประเทศ

วิลสันกล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อนิตยสารฟอร์บว่าเขาจำเป็นต้องทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ก็บอกว่ากลุ่มดีเฟนซ์ ดิสทริบิวเต็ด ถูกก่อตั้งมาเพื่อให้มีการงดเว้นจากข้อบังคับดังกล่าวโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการนำแบบพิมพ์เขียวออกจากเว็บไซต์ Defcad แล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นการป้องกันการเข้าถึงโดยประชาชนทั่วไปได้ เนื่องจากยังมีการอัพโหลดเข้าสู่เว็บไซต์แชร์ไฟล์อย่าง ไพเรท เบย์ ทำให้พิมพ์เขียวนี้เป็นที่แพร่หลาย

วิลสันเรียกตัวเองว่าเป็น 'นักอนาธิปไตยโลกไซเบอร์ (Crypto-Anarchist)' ผู้ที่เชื่อว่า ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะมีปืน เขายอมให้รัฐบาลแทรกแซงโดยอ้างว่ามันจะเป็นการเน้นย้ำในประเด็นเรื่องที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหยุดการแพร่กระจายของอาวุธที่มาจากเครื่องพิมพ์สามมิติ

เว็บไซต์ของกลุ่มดีเฟนซ์ ดินทริบิวเต็ดในตอนนี้มีป้ายสีแดงอยู่บนหัวเว็บ เขียนไว้ว่า "ไฟล์ DEFCAD ถูกนำออกจากการเข้าถึงโดยประชาชนทั่วไป โดยคำสั่งของสำนักงานควบคุมการค้าอาวุธของสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างสิทธิในการควบคุมข้อมูลจนกว่าจะมีความคืบหน้าแจ้งให้ทราบต่อไป"

วิลสันกล่าวไว้ในเว็บล็อก Betabeat ซึ่งเป็นบล็อกเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีว่า "พวกเราได้รับจดหมายจากรัฐมนตรี บอกว่าพวกเขาเป็นใคร พวกเขามีอำนาจอะไรตามกฏหมายของสหรัฐฯ และบอกว่าพวกเขาต้องการดูไฟล์เหล่านี้รวมถึงพิมพ์เขียวเพื่อประเมินว่ามันถูกจัดเป็นยุทโธปกรณ์ชั้นหนึ่งหรือไม่"


เรียบเรียงจาก
US government orders Cody Wilson and Defense Distributed to remove blueprint for 3D-printed handgun from the web, The Independent, 10-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"วสิษฐ-แก้วสรร" ล่าชื่อปฏิเสธปาฐกถาอูลานบาตอร์ของนายกรัฐมนตรี

Posted: 11 May 2013 09:29 AM PDT

"วสิษฐ เดชกุญชร" และ "แก้วสรร อติโพธิ" นำขบวนล่าชื่อในเว็บไซต์ change.org ปฏิเสธปาฐกถาอูลานบาตอร์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เผยให้โลกเข้าใจว่าไทยกำลังอยู่ภายใต้การคุกคามข่มเหงรังแกของระบบเผด็จการทุนนิยมสามานย์

 
 
11 พ.ค. 56 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีแคมเปญ "ร่วมลงชื่อปฏิเสธปาฐกถาอูลานบาตอร์ของนายกรัฐมนตรี" ในเว็บไซต์ change.org ซึ่งมีข้อความระบุว่าพลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร และ นายแก้วสรร อติโพธิ เป็นผู้เชิญชวนให้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
 
ขอเชิญลงนามจดหมายเปิดผนึก ปฏิเสธปาฐกถาอูลานบาตอร์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
Please sign the following petition, an Open Letter from Concerned Thai Citizens informing the "Community of Democracies" that Ms Yingluck Shinawatra is not a representative of Thai democracy, not a representative of the truth, and not a responsible representative of the Thai people at all.
 
ปาฐกถาอูลานบาตอร์ ณ ประเทศมองโกเลียของ นส.ยิ่งลักษณ์  เมื่อ ๒๙ เมษายน นี้   แท้ที่จริงคือความจงใจที่จะบิดเบือนสร้างภาพให้สากลเข้าใจผิดว่าขบวนการล้มล้างการปกครองโดยรัฐธรรมนูญ ที่ระบอบชินวัตรกำลังทุ่มเทเหยียบย่ำศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในทุกวันนี้เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของครอบครัวชินวัตรและบริวาร  แม้จะมีเสียงคัดค้านท้วงติงปาฐกถานี้สักเพียงใด  นางและบริวารก็กลับบิดเบือนปิดปากโดยยืมมือตำรวจเข้าจัดการด้วยข้อหาต่างๆดังเช่นที่คุณชัย ราชวัตร ได้ประสบอยู่อย่างไม่เป็นธรรมในทุกวันนี้
 
เราเห็นด้วยกับปาฐกถาส่วนหนึ่งของนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่กล่าวว่า"คำว่า ไทย หมายความว่า อิสระ"  ดังนั้นเราเชื่อว่าคนไทยไม่ใช่ทาสหรือ"หุ่นเชิด" 
 
บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่คนไทยผู้รักชาติบ้านเมืองจะลุกขึ้นยืนต่อสู้กับครอบครัวนี้  โดยเริ่มจากการร่วมกัน"ทำความจริงให้ปรากฏ" เพื่อให้โลกเข้าใจว่า เรากำลังอยู่ภายใต้การคุกคามข่มเหงรังแกของระบบเผด็จการทุนนิยมสามานย์เช่นไร
 
พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร และ นายแก้วสรร อติโพธิ  จึงขอเชิญทุกท่านร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึง ประชาคมประชาธิปไตย และประเทศสมาชิก  กับคณะทูตในประเทศไทยเพื่อปฏิเสธปาฐกถา อันไร้ยางอาย ของนส.ยิ่งลักษณ์  โดยเข้าไปลงนามเห็นด้วยโดยกรอกข้อมูลของท่านในช่องว่างในกรอบทางด้านขวามือของหน้านี้แล้วกดปุ่มสีแดงที่มีสัญลักษณ์ "Sign >" หรือ "ร่วมลงชื่อ >" เมื่อได้รายชื่อครบหนึ่งพันชื่อเมื่อใด ผู้ประสานงานทั้งสองก็จะทยอยส่งจดหมายและรายนามไปให้ประชาคมและผู้เกี่ยวข้องเป็นลำดับทุกหนึ่งพันชื่อ
 
 
เพื่อความเป็นส่วนตัว Website change.org นี้จะไม่แสดง email address ของทุกท่านให้ผู้อื่นเห็นหลังจากที่ท่านได้ร่วมลงชื่อแล้ว
 
ด้วยจิตคารวะ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เครือข่ายประชากรข้ามชาติห่วงเด็กข้ามชาติไร้โอกาสทางการศึกษา

Posted: 11 May 2013 09:15 AM PDT

ปัญหาการศึกษายังไม่จบ!! เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติห่วงเด็กข้ามชาติไร้โอกาสทางการศึกษา ชี้มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าถึงการศึกษาตามระบบ แนะกระทรวงศึกษาธิการ เร่งออกแนวปฏิบัติจัดศูนย์การเรียนรู้

 

 

 

 
11 พ.ค. 56 - ภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีคำสั่งให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศไทยทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งนอกจากเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็กแล้วยังประเด็นปัญหาเรื่องการศึกษาอีกเป็นจำนวนมากที่รอให้รัฐบาลแก้ไขให้ตรงจุด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่ยังไม่มีความชัดเจนถึงการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
 
น.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ปี พ.ศ. 2547 ของกระทรวงมหาดไทย ระบุสถิติของเด็กข้ามชาติอายุ 0-15 ปี ที่อยู่ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 93,082 คน ที่มีการกระจายตัวหนาแน่นบริเวณจังหวัดตามตะเข็บชายแดนและพื้นที่ทางเศรษฐกิจ โดยจำนวนเด็กต่างชาติที่จดทะเบียนกับสำนักงานทะเบียนราษฎร์ในปีพ.ศ. 2547 ที่จังหวัดเชียงใหม่ 14,000 คน ตาก 13,036 คน ระนอง 9,673 คน กาญจนบุรี 6,432 คน เชียงราย 5,266 คน พังงา 3,960 คน สมุทรสาคร 3,679 คน ตราด 3,574 คน สุราษฏร์ธานี 3,340 คน กรุงเทพ 2,390 คน  ซึ่งเด็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับการศึกษาจากรัฐบาลไทย
 
ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลไทยก่อนปีพ.ศ. 2548 รัฐบาลไทยไม่มีแนวปฏิบัติในการรับเด็กต่างชาติเข้าโรงเรียนไทยที่แน่ชัด แต่ได้มีจุดเปลี่ยนในปีนั้น โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้เข้าเรียน โดยได้มีการออกเป็นระเบียบคณะรัฐมนตรี คือ 1. ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย 2. จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว 3. ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำฐานข้อมูล เลขประจำตัว 13 หลัก เกี่ยวกับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานหรือไม่มีสัญชาติไทย 4. ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะแก่เด็กและเยาวชนที่หนีภัยจากการสู้รบ
 
ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับทางเลือกในการจัดการศึกษาให้กับเด็กข้ามชาติมีหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือ การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ที่ดำเนินการโดยชุมชนของแรงงานข้ามชาติหรือองค์กรเอกชน เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการให้การศึกษาต่อเด็กข้ามชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชุมชนต่างๆที่มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งจากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการขององค์ที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) เมื่อวันที่ 15 กันยายน  2552  ประมาณการณ์ว่า มีจำนวนศูนย์การเรียน 116 ศูนย์ กระจายอยู่ใน จ.ตาก 70 แห่ง  จ.เชียงใหม่ 16 แห่ง จ.ระนอง 13 แห่ง  จ.พังงา 10 แห่ง จ.กาญจนบุรี 5 แห่ง  กรุงเทพมหานคร 2 แห่ง  และ จังหวัดอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนต่างชาติเป็นนักเรียนในศูนย์การเรียนประมาณ 15,000-20,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมกลุ่มผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงรูปแบบการศึกษาใดๆทั้งสิ้น
 
ซึ่งการออกกฎกระทรวงของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปแบบศูนย์การเรียน 3 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554, กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียนพ.ศ. 2555 ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ยังไม่มีสัญชาติ รวมถึงเด็กที่ขาดโอกาสในการได้รับการศึกษาในระบบการศึกษาปรกติได้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเองมากขึ้น ขณะนี้ยังติดอยู่ในขั้นตอนของการขอจัดตั้งศูนย์การศึกษาตามกฎกระทรวงที่เกิดขึ้น ซึ่งรอแนวปฏิบัติที่ชัดเจน
 
อย่างไรก็ตามยังมีการจัดการศึกษาในรูปแบบ School within school หรือ โรงเรียนพี่น้อง ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและศูนย์การเรียนในพื้นที่ หรือที่เรียกกันว่า School within school ในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีในความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชนในการที่จะผลักดันให้เด็กในประเทศไทยทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามความพยายามในการผลักดันให้เด็กข้ามชาติให้ได้รับการศึกษาในระบบศูนย์การเรียนที่จะจัดตั้งตามกฎกระทรวงข้างต้นนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าในการจัดการมากนัก ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่เหมาะสมสอดคล้องกับเด็กข้ามชาติกลุ่มต่าง ๆ
 
น.ส.โรยทรายกล่าวต่อว่า หากรัฐบาลไทยออกฎกระทรวงเพื่อรองรับการจัดการการด้านการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเป็นการเปิดโอกาสด้านการศึกษาเมื่อเด็กกลับไปยังประเทศต้นทางซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ขณะเดียวกันยังจะส่งผลดีต่อประเทศไทยทั้งในเรื่องการจัดการการเคลื่อนย้ายเด็กข้ามชาติและเป็นการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็กที่ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายจนทำให้นานาชาติปฏิเสธที่จะสั่งซื้อสินค้าบางชนิดของประเทศไทย
 
นางอธิตา ออร์เรลล์ ผู้ประสานงานองค์การ World Education กล่าวว่า ในปัจจุบันมีตัวเลขประมาณการของเด็กข้ามชาติประมาณ 200,000-400,000 คน  ซึ่งแบ่งเป็นเด็ก 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ลูกของแรงงานต่างด้าวที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย  2.แรงงานเด็กซึ่งอาจเดินทางมาด้วยตนเอง หรือด้วยความช่วยเหลือของนายหน้าเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงาน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 3. เด็กต่างด้าวที่อยู่บริเวณชายแดนเดินทางมาเรียนหนังสือหรือทำงานบริเวณชายแดนของประเทศไทย แต่ไปกลับที่พักหรือภูมิลำเนาในประเทศต้นทาง  และถึงแม้รัฐบาลไทยจะมีนโยบายเปิดให้เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐได้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา แต่จากตัวเลขสถิติในการเข้าเรียนของเด็กข้ามชาติในโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ.พบว่ามีเด็กข้ามชาติสามสัญชาติเข้าเรียนในระดับ อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งตามสัญชาติ  กัมพูชา 8,180 คน พม่า 49,677 คน ลาว 4,091 คน รวม 3 สัญชาติ 61,948 คน ขณะเดียวกันมีกลุ่มไม่ปรากฎสัญชาติ 18,385 คน หากตัวเลขประมาณการของเด็กข้ามชาติอยู่ที่ประมาณ 200,000 - 400,000 คน น้อยที่สุดเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ประมาณ 40% ของระบบเท่านั้น หากตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 400,000 คนจริง เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนไทยได้เพียง 20 % โดยประมาณเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การศึกษาของเด็กข้ามชาติเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงเกิดจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ  อุปสรรคในการสื่อสาร เพราะว่านักเรียนมักสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ทำให้ครูกับนักเรียนไม่เข้าใจกัน จำนวนครูและห้องเรียนที่ไม่พอ  คือ โรงเรียนไทยขนาดเล็กและกลางไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเด็กต่างชาติในพื้นที่เข้าสู่ระบบการศึกษาเพิ่มเติมได้โดยทันทีหากยังมีทรัพยากรเท่าเดิม เช่น กรณี  อ.แม่สอด มีศูนย์การเรียนตั้งอยู่รวมทั้งสิ้น 75 ศูนย์ และเด็กต่างชาติที่อยู่ในศูนย์ฯประมาณ 12,800 คน  แต่มีโรงเรียนไทยเพียง 43 โรงและมีบุคคลากรเพียง 552 คน 
 
นอกจากนี้ทัศนคติของผู้ปกครองไทยมักไม่ยอมรับให้บุตรหลานตนเรียนร่วมกับเด็กไทย เพราะกังวลเรื่องคุณภาพการศึกษาและการรังเกียจหรือเลือกปฏิบัติทางชาติพันธ์   อีกทั้งผลการเรียนของเด็กต่างชาติฉุดมาตรฐานการศึกษา คือ เนื่องจากทักษะการสื่อสารภาษาไทยนั้นส่งผลโดยตรงต่อผลงานทางวิชาการของเด็กอีก บางครั้งสถานศึกษาที่รับเด็กต่างชาติจะถูกประเมินว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ  และที่สำคัญคืองบประมาณ เพราถึงแม้ว่าเด็กต่างชาติจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเช่นเดียวกับเด็กไทย แต่ว่างบประมาณสนับสนุนการศึกษา เช่น อาหารกลางวัน ได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งก็จะคลอบคลุมเฉพาะเด็กไทยเท่านั้น ทำให้โรงเรียนที่รับเด็กต่างชาติต้องเบิกรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นเอง
 
ผู้ประสานงานองค์การ World Education กล่าวต่อว่า  สิ่งที่กระทรวงศึกษาควรดำเนินการต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาให้เด็กข้ามชาติ คือ  ปรับเงื่อนไขในการจัดการศึกษาในระบบให้รองรับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กข้ามชาติมากขึ้น เช่น ทำความเข้าใจกับโรงเรียนในการรับเด็ก ปรับเงื่อนไขการประเมิน  เร่งออกแนวปฏิบัติในเรื่องการจัดศูนย์การเรียน และปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกับผู้เรียนที่เป็นเด็กข้ามชาติ   จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการร่วมกันในรูปแบบ School within school ระหว่างโรงเรียนกับศูนย์การเรียน และหารือกับประเทศต้นทาง เพื่อพัฒนาการรับรองวุฒิการศึกษา และระบบการเข้าศึกษาต่อของเด็กข้ามชาติที่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางในอนาคต
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านสะเอียบแพร่ เชียงม่วนพะเยาไล่ตะเพิดกรมชล บ.ที่ปรึกษาเขื่อน

Posted: 11 May 2013 09:05 AM PDT

เวทีรับฟังความเห็นเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างของกรมชลประทานล้มไม่เป็นท่า เมื่อชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมมือกับชาวบ้าน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา กว่า 1,000 คน ไล่ตะเพิดเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษาให้ออกนอกพื้น

 

 
 
 
 
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมาที่ศาลาว่าการอำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีโครงการเขื่อนยมบน และเขื่อนแม่น้ำยม (เขื่อนยมล่าง ) ที่มีแผนที่จะสร้างทั้ง 2 เขื่อนที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด แต่ยังไม่ทันได้เริ่มงานเวทีก็ล่มเสียก่อน เพราะชาวบ้าน ต.สะเอียบ จ.แพร่ และชาวบ้าน อ.เชียงม่วน จ.พะเยากว่า 1,000 คน ได้เข้าสังเกตการณ์ในเวทีประชุม ทำให้เวทีไม่สามารถเปิดดำเนินการตามวาระที่กำหนดไว้ เพราะชาวบ้านโห่ไล่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษา ทำให้เจ้าหน้าที่หนีหัวซุกหัวซุนออกจากสถานที่จัดเวทีประชุมอย่างทุลักทุเล เป็นเหตุให้ไม่มีผู้ดำเนินการประชุมและเวทีล่มในที่สุด
 
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้าเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า "ชาวบ้านได้ทราบข่าวว่าจะมีการจัดเวทีเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ขึ้นที่นี่ จึงได้มาสังเกตการณ์ เพราะชาวบ้านเบื่อหน่ายและเอือมระอากับพฤติกรรมของกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา ที่หลอกลวงชาวบ้านมาครั้งแล้วครั้งเล่า ศึกษาทีไรก็สร้างเขื่อนทุกที ไม่เคยคิดถึงทางออกหรือทางเลือกอื่นๆเลย พวกเราชาวสะเอียบได้เสนอทางออก ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมทั้ง 12 แนวทางมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เคยได้รับการพิจารณาเลย บทเรียนหลายต่อหลายครั้งทำให้เราเห็นว่าการจัดเวทีปาหี่อย่างนี้แล้วก็ไปสรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ซึ่งไม่จริง วันนี้เราจึงต้องมาแสดงตัวให้เห็นว่าชาวสะเอียบไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น และยืนยันที่จะใช้สิทธิของพวกเราชาวบ้านตาดำดำในการคัดค้านโครงการเหล่านี้จนถึงที่สุด" นายสมมิ่งกล่าว
 
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ได้จัดเวทีเช่นเดียวกันนี้ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สุโขทัย ซึ่งไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีตัวแทนชาวบ้านจังหวัดสุโขทัย ยื่นหนังสือสนับสนุนให้สร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ที่ อ.สอง จ.แพร่ อีกด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เพราะเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เป็นเขื่อนขนาดใหญ่มีผลกระทบร้ายแรงตามกฎหมายต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ศึกษาผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้เขื่อนยมบนหรือเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน มีแผนที่จะสร้างปิดกั้นแม่น้ำยม บริเวณใกล้กับผาอิง ห่างจากบ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประมาณ 2 กิโลเมตร ระดับกักเก็บที่ 258 เมตร รทก. ความจุ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงของสันเขื่อน 40 เมตร จากท้องน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำจะยาวไปถึงอำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา รวมความยาวประมาณ 40 กิโลเมตร ท่วมพื้นที่ 10856 ไร่
 
 ขณะที่ เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแม่น้ำยม มีแผนที่จะสร้างปิดกั้นแม่น้ำยม บริเวณใต้จุดบรรจบแม่น้ำงาวลงมา 5.3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเขตตำบลเตาปูน ที่ติดกับเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ห่างจากจุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเดิม ประมาณ 10 กิโลเมตร ระดับกักเก็บที่ 230 เมตร รทก. ความจุ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงของสันเขื่อน 54.5 เมตร จากท้องน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำจะยาวเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ผ่านผืนป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ ไปจนถึง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ รวมความยาวประมาณ 37.5 กิโลเมตร ท่วมพื้นที่ 21,000 ไร่
 
ด้านนายวิชัย รักษาพล ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า "กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาได้หลอกลวงเราหลายต่อหลายครั้ง บิดเบือนข้อเท็จจริงหลายต่อหลายครั้ง จนเราไม่ไว้วางใจอีกต่อไป ล่าสุดเราไปสังเกตการณ์การประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่เตาปูน ก็ไปสรุปว่าชาวสะเอียบเข้าร่วมและเห็นด้วยกับเขา เราจึงมีมติว่า ห้ามบุคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากพบเจอจะไม่รับประกันความปลอดภัย" นายวิชัย กล่าว
 
เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.นายก่อบุญญ์ ปัญญาบุญ นายอำเภอเชียงม่วนได้กล่าวเปิดงาน แต่ยังไม่ทันได้กล่าวอะไรมากชาวบ้านสะเอียบที่เตรียมป้ายผ้าคัดค้านเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้เดินขึ้นไปขึงป้ายผ้าบนเวที ทำให้เวทีเกิดความวุ่นวายขึ้นจนไม่สามารถดำเนินการต่อได้ นายก่อบุญญ์ ปัญญาบุญ นายอำเภอเชียงม่วนได้ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อพี่น้องชาวสะเอียบได้เดินทางมาประท้วงเวทีจำนวนมาก ก็เลยไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ตนในฐานะฝ่ายปกครองและเจ้าของสถานที่ก็คงได้แค่อำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านทั้งสะเอียบและชาวเชียงม่วนให้หารือกันแบบชาวบ้าน ซึ่งคิดว่าคงไม่มีปัญหาแต่อย่างได ส่วนเวทีคงต้องยุติไปเพราะคงไม่สามารถดำเนินการต่อได้แต่อย่างได" นายก่อบุญญ์ กล่าว
 
หลังจากนั้นชาวสะเอียบก็ได้นำรถเครื่องเสียงเข้ามาจอดปราศรัยอยู่ด้านหน้าห้องประชุม ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ที่มาสังเกตการมากๆ เพราะไม่อยากให้กรมชลและบริษัทที่ปรึกษาโกหกหลอกลวงประชาชนอีกต่อไป จากนั้นได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน อ.เชียงม่วนขึ้นปราศรัยกับชาวบ้าน โดยนายอดุล กุลตาล อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งมอก อ.เชียงม่วน จ.พะเยา กล่าวว่า "ชาวเชียงม่วนก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เพราะกระทบกับพี่น้องเชียงม่วนตั้ง 11 หมู่บ้าน แต่ชาวเชียงม่วนได้ร้องขออ่างเก็บน้ำขนาดกลาง คือ อ่างน้ำปี้ ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำยม ในเขตอำเภอเชียงม่วน แต่กรมชลก็ไม่สร้างให้ซักที จะรอแต่แก่งเสือเต้น รอยมบนยมล่างคงไม่ได้สร้างแน่ อยากให้กรมชลพัฒนาอ่างขนาดกลางขนาดเล็กจะดีกว่า ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่า" นายอดุล กล่าว
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดค้าเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ยังได้ออกแถลงการณ์ใจความว่าถูกกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาหลอกมาหลายครั้งแล้ว จึงต้องมีมาตรการในการห้ามบุคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้นเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากพบเจอจะไม่รับรองความปลอดภัย แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ให้กรมชลประทานยกเลิกสัญญาจ้างงานบริษัทที่ปรึกษา และคืนเงินงบประมาณให้กับแผ่นดิน
 
จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. แกนนำได้ประกาศว่าเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่บริษัทปัญญา ได้ไปกินข้าวเที่ยงที่ร้านอาหารอุ่นเรือนในตัวเมืองเชียงม่วนแล้ว จึงประกาศให้ชาวบ้านนำข้าวปลาอาหารออกมากินกัน พร้อมเปิดเพลงขับกล่อมอย่างเป็นกันเอง จนถึงเวลาประมาณ 12.30 น. แกนนำได้ประกาศว่าเจ้าหน้าที่กรมชลและเจ้าหน้าที่บริษัทได้เดินทางออกจากอำเภอเชียงม่วนมุ่งหน้าไปจังหวัดแพร่แล้ว จึงประกาศให้ชาวบ้านเดินทางกลับได้ ทั้งยังประกาศว่าจะไปที่ห้องประชุมโรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ อีกให้มากกว่าเดิม และได้ขอบคุณทางอำเภอเชียงม่วน ที่อำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี
 
อนึ่ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา ยังมีแผนที่จะจัดเวทีเช่นเดียวกันนี้ขึ้นที่โรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ เป็นเวทีที่ 3 ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายสุดท้าย ต่อไป
..........
 
แถลงการณ์ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
หยุดเวทีปาหี่... กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา หยุดหลอกลวงประชาชน
ยกเลิกสัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษา คืนเงินงบประมาณให้กับแผ่นดิน
10 พฤษภาคม 2556 ณ ศาลากลางอำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา
 
จากการที่กรมชลประทาน ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา จัดเวทีปาหี่ หลอกลวงประชาชน โดยอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ การจัดเวทีดังกล่าวเริ่มขึ้นที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัยในวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดฉากให้หน้าม้ามายื่นหนังสือสนับสนุนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ซึ่งทั้ง 2 เขื่อนมีแผนที่จะสร้างที่ อ.สอง จ.แพร่ กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาได้มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้มาหลายต่อหลายครั้ง จัดฉากสร้างเวทีให้ดูเหมือนประชาชนมีส่วนร่วม แล้วก็สรุปตามที่ตนเองต้องการ
 
เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาศึกษาได้ข้อสรุปว่าไม่มีป่าสักทองแล้ว บรรหาร เสธหนั่น สั่งเดินหน้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อนุมัติงบออกแบบก่อสร้างผลาญงบประมาณแผ่นดินไป 200 ล้านบาท
 
เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว บิ๊กจิ๋ว ผลาญงบประมาณแผ่นดินด้วยการอนุมัติงบประมาณ 94 ล้านบาท มาศึกษาเพิ่มเติม พบว่ามีรอยเลื่อนแม่ยม ยาวกว่า 22 กิโลเมตรพาดผ่านแนวสันเขื่อน กรมชลประทานจึงจ้างบริษัทที่ปรึกษาและจุฬาลงกรมหาวิทยาลัย มาศึกษารอยเลื่อนแม่ยม สรุปว่าสร้างได้แต่ต้องเพิ่มงบประมาณจาก 4,700 ล้านบาทมาเป็น 12,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันแผ่นดินไหว 7.5 ริกเตอร์ แต่หากแผ่นดินไหวเกิน 7.5 ริกเตอร์ก็ตัวใครตัวมัน
 
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว บรรหาร เสธหนั่น ผลักดันงบประมาณอีก 80 ล้านบาท ให้กรมชลประทานว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัยมหิดล มาหลอกชาวบ้านให้เข้าร่วมเวทีและสรุปว่าควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นตามที่กรมชลประทานและกระทรวงเกษตรของบรรหารต้องการ ทั้งที่ชาวสะเอียบคัดค้านอย่างเต็มที่มาตลอดต่อเนื่อง วิธีการดำเนินการเยี่ยงนี้ เป็นบทเรียนให้ชาวสะเอียบต้องประกาศห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด แต่เมื่อสร้างแก่งเสือเต้นไม่ได้ จึงเริ่มหันมาหาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างแทน โดยใช้วิธีเดิมๆ อีก
 
ล่าสุดกรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญาเจ้าเก่า มาศึกษาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างอีก 720 วัน ผลการศึกษาคงสรุปออกมาตามที่กรมชลประทานผู้ว่าจ้างต้องการเช่นเดิม พวกคุณผลาญงบประมาณแผ่นดินมามากพอแล้ว หยุดการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้นได้แล้ว
 
เขื่อนยมล่างมีแผนที่จะสร้างห่างจากเขตสะเอียบ 5 กิโลเมตร น้ำท่วมเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ 32.5 กิโลเมตร รวมพื้นที่เขื่อนยาว 37.5 กิโลเมตร ท่วมป่าสักทอง ท่วมที่ทำกินชาวสะเอียบเหมือนเดิม และท่วมเข้าไปในเขตอำเภองาว จังหวัดลำปางอีกด้วย
 
เขื่อนยมบนมีแผนที่จะสร้างห่างจากบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ 2 กิโลเมตร ท่วมบ้านแม่เต้น ท่วมป่าแพะป่าเบญจพรรณในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงที่สำคัญของภาคเหนือ อีกทั้งยังท่วมบ้านแม่เต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และที่ทำกินของพี่น้อง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา อีก 11 หมู่บ้าน
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้รู้เช่นเห็นชาติ และเอือมระอากับพฤติกรรมของ กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษามามากพอแล้ว จึงขอให้ท่านหยุดดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้น และคืนเงินงบประมาณให้กับแผ่นดิน เพื่อนำไปพัฒนาจัดหาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนผู้ยากไร้จะมีประโยชน์กว่า
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้จัดทำหนังสือเป็นทางการ ลงวันที่ 29 เมษายน 2556 ส่งลงทะเบียนเร่งด่วนไปยังอธิบดีกรมชลประทานแล้ว หากยังไม่มีการตอบรับ หรืออ้างว่าไม่รู้เรื่อง คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ คงต้องไปเยี่ยมท่านอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 12 แนวทางมาโดยตลอด หรือยังไม่รู้ไม่เห็น คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จะได้หาโอกาสไปยื่นให้กับมือท่านอีกวาระหนึ่ง
 
 
ด้วยจิตรคารวะ
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถอดสรุปประสบการณ์คดีคลิตี้: กว่าจะถึงคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์

Posted: 11 May 2013 07:03 AM PDT

คดีสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ชาวกะเหรี่ยงลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีโรงแต่งแร่ปล่อยสารตะกั่วลงลำห้วยที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน ซึ่งหลังจากใช้เวลาพิจารณาคดียาวนานกว่า 9 ปี ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านคลิตี้ล่าง ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกในประเทศไทยที่มีคำพิพากษาศาลสูงวางบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในเรื่องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชี้ให้เห็น "จุดอ่อน" ในการแก้ปัญหาการปนเปื้อนมลพิษของประเทศไทย

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้โดยตรง ผ่านคณะทำงานช่วยเหลือชุมชนคลิตี้ สภาทนายความ ได้ทำการถอดสรุปประสบการณ์การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมทั้งขั้นเตรียมฟ้อง การดำเนินการในคดี และเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ด้วยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการปรับใช้กับการทำคดีด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังลุกลามไปในหลายพื้นที่และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นต่อไป

 

จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดี

กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ แม้จะเริ่มเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชน ตั้งแต่ปี 2541 และหลากหลายหน่วยงานต่างก็ลงพื้นที่แก้ไขปัญหา แต่แล้วผ่านมา 5 ปี การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมยังคงไม่เห็นเป็นรูปธรรม ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างยังคงเจ็บป่วย สัตว์น้ำยังคงอันตราย กรมควบคุมมลพิษซึ่งเคยประกาศแผนการฟื้นฟู กลับไม่ปฏิบัติตามแผนนั้น และเมื่อมีการทำหนังสือทวงถามให้ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วย กรมควบคุมมลพิษก็นิ่งเฉยไม่ชี้แจงแต่อย่างใด นี่จึงเป็นเหตุให้ชุมชนคลิตี้ล่าง, EnLAW และคณะทำงานตัดสินใจยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีเกี่ยวกับผลกระทบจากมลพิษนั้น จากบทเรียนการทำคดีโคบอลต์ 60 ทำให้เห็นว่าการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายเพียงอย่างเดียวไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และไม่สามารถบรรลุผลเพื่อประโยชน์สาธารณะในระยะยาวได้ การฟ้องในคดีนี้  จึงตั้งฐานจากการที่หน่วยงานรัฐละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่และไม่ควบคุมดูแลจนทำให้เกิดการปล่อยตะกอนตะกั่วลงสู่ลำห้วย ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำห้วยได้ตามปรกติอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่หน่วยงานของรัฐต้องคุ้มครอง เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม อันเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ชาวบ้านคลิตี้หน้ากระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2544

ทำไมจึงฟ้อง "กรมควบคุมมลพิษ"

ในการเตรียมคดี มีความพยายามในการศึกษาข้อกฎหมายเพื่อฟ้องกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เพราะเป็นหน่วยงานที่อนุมัติอนุญาตให้เกิดการทำเหมืองแร่ จึงต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น แต่สุดท้ายพบว่าไม่มีกฎหมายกำหนดให้กพร.มีอำนาจหน้าที่ฟื้นฟูมลพิษนอกเขตเหมืองแร่ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการซื่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ประกอบกับข้อมูลจากคุณสุรพงษ์ กองจันทึกและองค์การพัฒนาเอกชนได้ชี้ให้เห็นว่ากรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้เข้ามาติดตามควบคุมให้เกิดการฟื้นฟูลำห้วยอย่างเพียงพอ และมาตรา 96 , 97 พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 ที่ให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการเรียกค่าเสียหายจากการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อมลพิษได้  ดังนี้ จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่จะฟ้องกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้กฎหมายที่บัญญัติได้นำมาบังคับใช้ และเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในการบริหารงานของรัฐในการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนสารพิษ

 

เน้นฟื้นฟูลำห้วย แถมค่าเสียหาย

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การฟ้องคดีนี้ มุ่งหวังให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างแท้จริง ดังนั้น คำฟ้องแรกจึงขอให้ศาลสั่งกรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่หลังจากยื่นฟ้องได้ไม่นาน กรมควบคุมมลพิษกลับยื่นคำให้การยืนยันว่าจะยุติการดำเนินการและปล่อยให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ ทำให้ชุมชนและภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเช่นนี้ เพราะการจัดทำแผนการฟื้นฟูควรต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสียและต้องตั้งอยู่บนฐานความรู้ทางวิชาการ เมื่อไม่ได้เป็นเช่นนั้นจึงมีการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง เรียกค่าเสียหายจากการละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย เพื่อเร่งรัดให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ทั้งยังเป็นการเยียวยาชาวบ้านจากการถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญในระหว่างที่มีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

สำหรับรายละเอียดค่าเสียหาย ชาวบ้านตกลงกันว่า ค่ากับข้าวที่ต้องจ่ายไปเนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำห้วยนั้นจะเรียกจากหน่วยงานรัฐ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปจากการเจ็บป่วยด้านสุขภาพจะเรียกจากผู้ประกอบการ โดยคุณจีรวรรณ บรรเทาทุกข์ ได้เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลการจ่ายค่าอาหารของชาวบ้านและนำมาเฉลี่ยโดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจนกว่าจะเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าวให้กลับสู่สภาพเดิม

 

ต้องแสวงหา "เพื่อนร่วมทาง"

หลังยื่นฟ้องคดี ทีมทนายได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านในเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกระบวนการในชั้นศาล พร้อมกันนี้ได้ตั้งคณะทำงานในทางคดีโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วย เพราะการต่อสู้ในทางคดีนอกจากจะมีเรื่องการละเลยล่าช้าในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแล้วยังมีเรื่องวิธีการฟื้นฟูที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ต้องมีงานศึกษาหรืองานวิจัยเข้ามาให้น้ำหนัก ดังนั้น ทนายความจึงเชิญอาจารย์อาภา หวังเกียรติ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ จากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมาเป็นคณะทำงานและเสนอความเห็นทางวิชาการต่อศาล อย่างไรก็ตาม ในการทำคดีขณะนั้น ก็มีข้อจำกัดในการสร้างเครือข่ายนักวิชาการและรวบรวมองค์ความรู้เรื่องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เพื่อเสนอทางเลือกอื่น ๆ ต่อศาล รวมทั้งประเด็นคลิตี้ก็เริ่มถูกหลงลืมในหน้าสื่อสาธารณะ

 

คำตัดสินศาลชั้นต้น

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อปี 2551 ใน 2 ประเด็นตามคำขอท้ายฟ้องคือ 1.  กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาจริง แต่มิได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนก่อให้เกิดความเสียหาย และ 2. ให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านทั้ง 22 รายรายละ 33,783 บาท โดยยกคำขอในเรื่องค่าเสียหายในอนาคตของชาวบ้าน เพราะศาลเห็นว่าการปนเปื้อนในลำห้วยเริ่มเจือจางและใช้ประโยชน์ได้บางส่วนแล้ว

 

ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อ...

หลังมีคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ทีมทนายความเห็นว่าคำพิพากษาไม่ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหา เพราะศาลไม่ได้พิพากษาบังคับให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟู ทั้งที่มีคำวินิจฉัยว่ากรมควบคุมมลพิษล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ จึงนำมาสู่การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในหลายประเด็น คือ1) ยืนยันว่ากรมควบคุมมลพิษละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เพียงแต่ล่าช้าดังที่ศาลชั้นต้นตัดสิน2) เรื่องค่าเสียหายในอนาคตจากการกระทำละเมิดที่ยังมีต่อเนื่องและชาวบ้านยังได้รับความเสียหาย และ3) ขอให้กรมควบคุมมลพิษเข้าดำเนินการฟื้นฟูโดยจัดทำแผนงานที่ชัดเจน และกำหนดมาตรการอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน

 

ศาลสูงกลับคำตัดสิน

หลังพิจารณาคดีเกือบ 5 ปี ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลางในหลายประเด็นอันได้แก่ การชี้ว่ากรมควบคุมมลพิษละเลย/ล่าช้าการปฏิบัติหน้าที่ในหลายประเด็นสำคัญจนทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายจนถึงปัจจุบัน จึงกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษต้องกำหนดแผนการฟื้นฟู และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยทุกฤดูกาลจนกว่าจะไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยปิดประกาศผลการตรวจให้ชุมชนทราบ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้เงินเกือบ 4 ล้านบาท โดยรวมดอกเบี้ยและค่าเสียหายในอนาคตไว้ด้วย

และนี่คือบทเรียนและประสบการณ์ในการทำคดีคลิตี้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนี้เสมือนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เท่านั้น หลังจากนี้ กรมควบคุมมลพิษจะต้องเริ่มกำหนดแผนการฟื้นฟู โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และต้องมีการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจนกว่าสารตะกั่วจะไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่ง EnLAW และเครือข่าย ในนามคณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ภาคประชาสังคม จะได้ติดตามตรวจสอบการทำงานของกรมควบคุมมลพิษในเรื่องนี้ต่อไป

EnLAW หวังว่าคดีที่ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสังคมไทยนี้ จะสะท้อนให้เห็น "บทเรียน" จากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขาดการวางระบบและสร้างองค์ความรู้ทั้งเรื่องการตรวจสอบ การจัดการกับปัญหามลพิษที่รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม และการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษในสิ่งแวดลอม รวมทั้งเป็นกรณีตัวอย่างให้เกิดการพัฒนาระบบการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครูใต้ยื่นข้อเสนอเพื่อความปลอดภัย ยอมรับกลัวมากกว่าทุกครั้งที่เปิดเทอม

Posted: 11 May 2013 06:51 AM PDT

 

ยื่น 10 ข้อ มาตรการรักษาปลอดภัย เช่น ติดตั้งวงจรปิดในโรงเรียน หาดมีการปิดล้อมตรวจค้น ให้โรงเรียนหยุดสอนทันทีป้องกันถูกตอบโต้ ประธานสมาพันธ์ชี้จะแก้อย่างไรก็ได้ แต่ขอให้ครูปลอดภัย ยอมรับรู้สึกกลัวมากกว่าทุกครั้งที่เปิดเทอม

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี มีการประชุมบูรณาการ 3 ฝ่ายในการดูแลการรักษาความปลอดภัยครู บุคคลกรทางการศึกษาและสถาบันการศึกษาจังหวัดปัตตานี ที่กำลังจะเปิดภาคเรียนในสัปดาห์หน้า โดยมีนายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรักษาความปลอดภัยครูและบุคคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมประชุม

นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีข้อเสนอต่อที่ประชุม 10 ข้อ ในการรักษาความปลอดภัยของครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

โดยข้อเสนอดังกล่าว เช่น ขอให้ติดตั้งกล้องวงจรปิด(cctv) ภายในโรงเรียน ขอให้มีการจ้างยามรักษาความปลอดภัยเฉพาะภายในโรงเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งข้อเสนอนี้ได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการมาแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

ขอให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณทางแยกที่มีสัญญาณไฟจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากคนร้ายมักก่อเหตุขณะติดไฟแดง

ขอให้โรงเรียนต่างๆ ยกเลิกการเรียนการสอนเกินเวลาในช่วงนี้ หากเจ้าหน้าที่มีการปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่ขอให้แจ้งให้โรงเรียนทราบและให้ทางโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าว หยุดการเรียนการสอนทันที เพื่อความปลอดภัยของเด็กและครู เนื่องจากเกรงว่าอาจมีการตอบโต้จากกลุ่มผู้ก่อเหตุได้

นอกจากนี้ หากเจ้าหน้าที่มีการสับเปลี่ยนกำลังก็ขอให้แจ้งทางโรงเรียนทราบด้วย เพื่อให้รู้ว่ามีเจ้าหน้าที่ชุดใหม่เข้ามาดูแลแทนแล้ว

และอยากให้มีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมแก่โรงเรียนในพื้นที่ เพื่อใช้จัดกิจกรรมกับชุมชน โดยให้คณะกรรมการสถานศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลครูด้วย และขอให้มีการประชุมมาตรการรักษาความปลอดภัยครูอย่างน้อยเดือนละครั้ง

นายบุญสม กล่าวว่า ขณะนี้ครูและบุคคลากรทางการศึกษาในพื้นที่รู้สึกวิตกกังวลกับสถานการณ์ความไม่สงบในช่วงเปิดเทอมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากความรุนแรงของสถานการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานีที่มีเหตุรุนแรงหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะเหตุกราดยิง 6 ศพ

นายบุญสม กล่าวอีกว่า ตอนนี้ครูขออย่างเดียวคือความปลอดภัย ถึงแม้ว่าการแก้ปัญหาในพื้นที่จะใช้วิธีใดก็ตาม เช่น จะเป็นเขตปกครองพิเศษหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้ความปลอดภัยของครูต้องมาก่อน

จากนั้น นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้สังการให้ปลัดจังหวัดปัตตานีหารือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกอำเภอเพื่อจัดทำแผนร่วมในการรักษาความปลอดภัยครู แล้วแจกจ่ายไปยังทุกอำเภอเพื่อทำความเข้าใจและปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ โดยแผนนี้จะต้องเป็นความลับ

นายเสรี กล่าวต่อที่ประชุมว่า การก่อเหตุต่อครูจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก โดยต้องมีข้อมูลด้านการข่าว ต้องตัดโอกาสในการก่อเหตุ ต้องควบคุมเส้นทางที่ครูใช้สัญจร ต้องเพิ่มมาตรการพิเศษในการดูแลครู และจะต้องมีแผนพิเศษสำหรับครูที่มีภารกิจจำเป็นที่จะต้องออกนอกเขตโรงเรียน เป็นต้น

นอกจากนี้ ครูเองก็ต้องมีวิธีป้องกันตัวเองได้ ต้องมีระบบการดูแลความปลอดภัยครู 3 ชั้น ได้แก่ แผนก่อนเปิดเทอม ระหว่างเปิดเทอม และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำศาสนา เป็นต้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงก้องจากผู้หญิง ต่อสันติภาพชายแดนใต้

Posted: 11 May 2013 06:44 AM PDT

 

หลังจากเริ่มมีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ได้เกิดกระแสการตอบรับอย่างต่อเนื่องหลากหลาย ด้วยความหวังที่จะให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่ แต่ก็มีทั้งที่เชื่อมั่นและไม่มั่นใจว่าจะเกิดสันติภาพได้จริง แต่ไม่อยากให้ใครตกเป็นเหยื่ออีกแล้ว

 

หลังจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในชายแดนใต้เริ่มขึ้นระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ได้เกิดกระแสการตอบรับอย่างต่อเนื่องหลากหลาย ด้วยความหวังที่จะให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่

ต่อไปนี้เป็นความคิดความเห็นจากกลุ่มผู้หญิงหลากหลายอาชีพ ซึ่งมีทั้งที่เชื่อมั่นและยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพดังกล่าวมากนัก

 

เสียงจากครูสตรีชายแดนใต้ : สันติภาพต้องไม่มีการสูญเสีย

ครูสาวคนหนึ่งจากโรงเรียนเทศบาล 5 ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่ง กล่าวว่า การเจรจาสันติภาพดังกล่าว อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ไม่มาก เพราะปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เท่านั้น น่าจะมีกลุ่มอื่นอีกที่ยังต้องมีการเจรจาด้วย ทั้งยังไม่มีความมั่นใจสักเท่าไรกับการเจรจาครั้งนี้ว่าจะดูแลชายแดนใต้ได้มากน้อยแค่ไหนหรือจะนำซึ่งความปลอดภัยให้กับคนในพื้นที่ได้แค่ไหน

เมื่อถามถึงสันติภาพเป็นอย่างไร ครูโรงเรียนเทศบาล 5 กล่าวว่า อยากให้ช่วยเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทุกวันนี้เศรษฐกิจซบเซาถ้าไม่มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนน่าจะดีกว่านี้ อีกอย่างคนตกงานก็น่าจะน้อยลงเพราะคนต่างพื้นที่ไม่กล้าที่จะเข้ามาในพื้นที่ ทำให้สินค้าบางอย่างต้องมีการยกเลิกจากร้านค้า ทำให้ต้องขาดทุน อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายก็ไม่กล้าเสี่ยงเข้ามาในพื้นที่เพราะไม่มีความมั่นใจด้านชีวิตและทรัพย์สิน

"ไม่อยากให้มีการสร้างสงครามเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธหรืออะไรก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำความสูญเสียให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และอยากให้ลดความรุนแรงในด้านต่างๆ แล้วหันหน้ามาพูดคุยกัน การเจรจาครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ความต้องการของกันและกันที่จะนำไปสู่การยุติเหตุการณ์ได้"

น.ส.สุไรดา เจ๊ะหะ ชาวจังหวัดนราธิวาส แต่เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านตะโล๊ะใส จังหวัดสตูล เห็นว่า การเจรจาครั้งนี้ถ้ามันก่อให้เกิดสันติภาพจริงมันจะเกิดผลดีแก่คนในพื้นที่ทุกคน ความหวาดระแวงจะลดลง ถึงแม้ตนเองไม่ได้สอนอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ก็รู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดที่ครูในพื้นที่ต้องประสบกับความสูญเสีย

"ในเมื่อมีการเจรจากันแล้วก็อยากให้จริงจังและนึกถึงประชาชนให้มากๆ เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นประชาชนจะรับไปเต็มๆ อีกทั้งเราไม่สามารถรู้ว่าใครจะได้ใครจะเสียกับผลประโยชน์ฉะนั้นควรที่จะไตร่ตรองกับการเจรจาในครั้งนี้ด้วย"

เมื่อถามถึงสันติภาพ สุไรดากล่าวว่า สิ่งที่อยากให้เกิดสันติภาพก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนไม่เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพราะที่ผ่านมาประชาชนเกิดการสูญเสียมามากพอแล้ว หยุดได้แล้วกับการกระทำที่ก่อความไม่สงบและวุ่นวายต่างๆ

"อยากเสนอให้การเจรจาครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดว่าเหตุการณ์ก่อความไม่สงบจะยุติหรือไม่ การเจรจาครั้งนี้ใครได้ประโยชน์มากที่สุด ประชาชนที่สูญเสียจะได้รับการเยียวยาหรือไม่และใครจะรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านๆ มาเมื่อกระบวนการสันติภาพเจรจาสำเร็จ"

 

เสียงของผู้หญิงภาคประชาสังคม : ขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

ดวงสุดา สร้างอำไพ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เสนอให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาให้มากกว่านี้ ผู้หญิงจะมีน้ำหนักการพูด จะมีคำพูดที่นุ่มนวล ฟังแล้ว รู้สึกว่าอาจจะเปลี่ยนความคิดจากการแข็งกระด้าง  ถ้าเป็นผู้หญิงมีส่วนในการเจรจา อาจจะทำให้ความคิดซ๊อฟลง การตอบโต้จะอ่อนลงเพราะกระบวนการสันติภาพ ผู้หญิงก็เป็นหนึ่งที่จำเป็นในกระบวนการสันติภาพ

เมื่อถามถึงสันติภาพแบบไหนที่อยากให้เห็นและต้องการ ดวงสุดากล่าวว่า ที่อยากเห็นคือ ความเท่าเทียมกันในทุกๆ เรื่องของคนในพื้นที่ การดำรงชีวิต การประกอบทำอาชีพ  เพราะ เพราะมีทุกคนต้องการความเทียมกัน ไม่ว่าจะทุกเชื่อชาติ ศาสนา อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ สันติภาพก็น่าเกิดได้ เพราะความยุติธรรมเท่านั้นที่จะสร้างสันติภาพได้ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย  การให้ความยุติธรรมในการใช้ชีวิตอยู่ อย่างมีอิสรภาพ

"ถ้าเราอยากจะได้ในเรื่องของสันติภาพในบ้านเมือง เราจะต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เพราะเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนความของคนอื่นได้ ถ้าเราอยากได้สันติภาพ เราต้องสร้าง ถ้าเราไม่สร้างสันติภาพก็จะไม่เกิด"

ดวงสุดากล่าวว่า การเกิดสันติภาพได้นั้นเริ่มจากตัวเราก่อน แล้วจากกลุ่มแล้วเข้าสู่สังคม ถ้าเราอย่างไมเริ่มพัฒนาจากตัวเรา หรือคนรอบข้าง มันก็จะยังไม่เกิดสันติภาพ เพราะสันติภาพมันเริ่มเกิดขึ้นในครอบครัวก่อน แล้วไปสู่สังคมใหญ่

การสร้างสันติภาพมันก็เหมือนการการสอนหลักจริยธรรมในครอบครัว  ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรที่จะให้เกิดสันติภาพ ถ้าหากบางครอบครัวที่ไม่ได้สอนหลักจริยธรรม ก็เหมือนกับว่าครอบครัวนั้น อาจจะมีความรุนแรง เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะติดตัวไปตลอด และการที่เรามองโลกในแง่ดี มันก็จะส่งผลให้กับสังคม

ฐิตารีย์ ศรีสุรัตน์ บรรณาธิการจัดการวารสารรูสมิแล ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่ารัฐบาลและนักวิชาการมีความคิดเห็นที่ดี ที่มีการเจรจาเกิดขึ้นระหว่างรัฐไทยกับ BRN เพื่อระดมหาทางช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่เป็นเหยื่อไม่ว่าจะเป็น ทหาร ครู เด็ก ผู้หญิง รวมทั้งรัฐยังต้องหางบประมาณมาเยียวยาส่วนนี้อีก

ฐิตารีย์สะท้อนว่า เด็กที่เรียนอยู่ มอ. ปัตตานี ที่อยู่ต่างพื้นที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัยไม่เหมือนในอดีต เมื่อก่อนตั้งแต่ตี 5 จะมีประชาชนมาออกกำลังกายใน ม.อ. แต่เดี่ยวนี้แม้แต่จะออกกำลังกายช่วงประมาณตี 5 ประชาชนก็ไม่กล้าแล้ว กลัวจะตกเป็นเหยื่อ

"ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนที่ลอบยิงผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เขาเอาวัตถุประสงค์หลักอะไรมายิงมนุษย์ด้วยกัน ยิงแม้กระทั้งเด็ก จนมีความรู้สึกว่าเขาไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง"

จะสังเกตว่าการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่มีเลยที่มันจะบั่นทอนให้คนที่จะมาเรียนน้อยลง เพราะดูจากสถิติของนักศึกษาที่ต้องการมาเรียน มอ. ปัตตานียังสูงอยู่และจะมีโครงการให้เด็กต่างพื้นที่มาเรียนกัน เป็นวิธีการที่จะให้คนข้างบนทราบว่าเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้มันไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิดเพราะข่าวนำเสนอในรูปแบบที่รุนแรงเกินไป

บรรณาธิการจัดการวารสารรูสมิแล กล่าวอีกว่า วารสารพยายามนำเสนองานเขียนด้านบวกเกี่ยวกับบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะรู้ว่าเนื้อแท้ของสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างไร ข่าวลือที่ออกไปมันไม่มีที่มา มันผ่านมาแล้ว มันก็ผ่านไปเลยไม่รู้สึกกลัว

ในส่วนการเจรจาเพื่อสันติภาพนั้นยังไม่รู้ว่าคนที่ไปเจราคือตัวจริงหรือเปล่า แต่ทุกท่านที่ไปเจรจาเชื่อว่าต้องมีการเตรียมตัวหรือเตรียมข้อมูลก่อนหน้านี้แล้ว อยู่ๆ จะไปเจรจามันจะเสียทั้งงบและเวลาแสดงว่าต้องมีข้อมูลไปไม่อย่างนั้นคงไม่เสียเวลาเดินทางไปมาเลเซีย ดังนั้นต้องมีการรวบรวมข้อมูลใช้เวลาพอสมควร

"เราไม่รู้ว่าที่เป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรใครจะเป็นคนลงนามให้ยุติ แค่บอกว่าสิ้นสุดการเจรจาแต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นสุดการยิง พันธะสัญญานั้นเชื่อได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าการเจรจาสิ้นสุดลงก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะยุติลงเพราะไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ลงนามยุติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น"

 

ผู้หญิงในวงการสื่อชายแดนใต้ : ต้องให้สังคมรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าทัน

นวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่ม Ft Media ซึ่งเป็นกลุ่มสื่อทางเลือกในพื้นที่ กล่าวว่า สันติภาพไม่ได้หมายความว่าไม่มีความขัดแย้ง แต่เป็นความขัดแย้งที่มีกลไกลในการหาทางออกที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงซึ่งคนจำนวนมากไม่อยากใช้ความรุนแรง มันจะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนหันไปใช้ความรุนแรง การใช้ความรุนแรงกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องทีจะทำกันง่ายๆ เพราะว่าถ้าเรารักตัวเราเท่าไรเราก็ไม่อยากทำร้ายคนอื่นเท่านั้น

นวลน้อยกล่าวต่ออีกว่า เราไม่มีทางที่จะขจัดความขัดแย้งให้หมดไป แต่เราต้องสรรหากลไกในการที่จะทำให้ผู้คนสามารถที่จะต่อสู้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง มันจะเป็นไปได้หรือไม่ อาจไม่รู้แต่ว่าในสังคมหลายๆ สังคมเขาก็พยายามกันเพราะฉะนั้นสังคมเราก็จะต้องพยายามด้วย

ในฐานะสื่อที่ทำงานในพื้นที่ นวลน้อยกล่าวว่า ตนได้พยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการหนุนเสริมสันติภาพ หนึ่งในฐานะประชาชนธรรมดาโดยทั่วไป และเป็นคนไทยที่อยู่นอกพื้นที่ทั้งยังเป็นสื่อซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือติดตามข่าวสารในเรื่องของกระบวนการสันติภาพ การติดตามก็จะทำให้ได้ข้อมูลว่ากำลังทำอะไรไปถึงไหน และสังคมที่มีข้อมูลคือสังคมที่จะส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้น

สองในฐานะสื่อได้พยายามเผยแพร่ข้อมูลในแวดวงเท่าที่จะทำได้ ซึ่งไม่ได้ทำสื่อในกลุ่มใหญ่หรือสังกัดในช่องทางที่สามารถเผยแพร่ได้ทุกๆ วัน สิ่งที่จะทำได้ก็คือ สื่อสารกับคนใกล้ตัว สื่อสารกับคนที่รู้จักหรือสื่อสารกับคนที่ทำสื่อด้วยกันเองเพื่อให้เขารู้สึกว่าพวกเขาควรทำบทบาทอะไรอย่างไร เสนอแนะพวกเขาได้

หากต้องการที่จะเสนอเกี่ยวกับสันติภาพคิดว่าในช่วงเวลานี้สื่อเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าในกระบวนการสันติภาพนี้เราไม่อยากให้การขับเคลื่อนจะต้องไปอยู่ที่คู่ความขัดแย้ง เราอยากจะให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะว่าทุกๆ คนก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมนี้ทั้งสิ้น

"ถ้าหากว่าเราอยากจะเห็นคนจำนวนมากมีส่วนร่วม แน่นอนการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะว่าจะทำให้คนส่วนมากมีส่วนร่วมได้อย่างไร อย่างแรกพวกเขาต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารพอๆ กันและพวกเขาต้องรู้ว่ากระบวนการต้องเดินหน้าไปถึงไหน"

นวลน้อยกล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนทั่วไปต้องรู้ทันสถานการณ์ ต้องรู้ทั้งสองฝั่ง สามารถที่จะแสดงความเห็นกับสิ่งที่กำลังดำเนินไป ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะให้ความเห็นของตัวเองส่งไปถึงคู่ขัดแย้งได้ แล้วทำให้มีกระบวนการที่ประชาชนจำนวนมากสามารถเข้าร่วมได้ซึ่งต้องเป็นเวทีที่สื่อเป็นคนเปิดพื้นที่ให้ เพราะว่าไม่มีทางที่ให้จะประชาชนจำนวนมากมานั่งประชุมด้วยกันได้ในทุกๆ วันและก็นั่งพูดนั่งฟังด้วยกันในทุกๆ เรื่องได้

 

ผู้หญิงเครือข่ายชาวพุทธ : ยืนยันสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ขอที่ยืนให้คนส่วนน้อย

ลม้าย มานะการ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี เป็นองค์กรประชาชนที่ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำที่โหดเหี้ยมของผู้ก่อเหตุ และยืนยันสนับสนุนการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ การออกแถลงการณ์เพราะคิดว่าชาวพุทธในพื้นที่เป็นเป้าหมายหลักของการก่อเหตุมานานแล้ว แต่ช่วงก่อนหน้านี้ไม่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน

เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นที่มีผู้เสียชีวิต 6 คนส่งผลสะเทือนโดยเฉพาะกับคนพุทธในพื้นที่ แต่ไม่มีความปรารถนาที่จะย้ายออกนอกพื้นที่ ซึ่งทุกวันนี้ทางเครือข่ายได้ออกเยี่ยมเยียนคนพุทธที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โดยสะท้อนว่าบ่อยครั้งที่คนพุทธจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและเหมารวมว่าคนมุสลิมเป็นผู้ก่อเหตุ

ลม้าย กล่าวว่า คนพุทธรู้สึกดีต่อการเจรจาสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 จากที่มีการเจรจาสันติภาพที่ ฮาซัน ตอยยิบ ได้ออกมากล่าวถึงข้อเรียกร้อง 5 ข้อ และมีการพูดถึงชาวสยาม และชาวจีน รู้สึกดีที่เขาพูดอย่างนั้น เป็นการให้ความสำคัญกับชาวพุทธ ชาวจีนและยอมรับในการเป็นพลเมืองของที่นี่

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมนักข่าวฯ ป้องสิทธิสื่อ-เคารพความเห็นต่าง กรณีปาประทัดหน้า 'ไทยรัฐ'

Posted: 11 May 2013 03:43 AM PDT

'สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย' ออกแถลงการณ์หลังมีผู้บุกปาประทัดใส่ป้อมยามสำนักงานไทยรัฐเมื่อเช้ามืดวันนี้ วอนเคารพสิทธิสื่อ ชี้ไม่พอใจการทำงาน ฟ้องร้องได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง-คุกคาม เร่ง ตร.จับกุมคนร้าย



(11 พ.ค.56) กรณีที่มีบุคคลไม่ทราบฝ่าย จำนวน 4 คน บุกขว้างลูกเปตองและประทัดใส่ป้อมยาม บริเวณทางเข้า-ออก ประตู 3 สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. เมื่อเวลาประมาณ 03.20 น.วันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้ที่ก่อเหตุ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเคารพสิทธิเสรีภาพ และเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อนำความจริงมาสู่สังคม พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในความเห็นที่แตกต่างและหยุดใช้ความรุนแรงในทุกกรณี

นอกจากนี้ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อเห็นว่าสื่อใช้สิทธิเกินขอบเขต สามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย หรือใช้กลไกควบคุมจริยธรรมขององค์กรสื่อผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง คุกคามสื่อ พร้อมทั้งเรียกร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว

--------------------------

แถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
กรณีคนร้ายปาประทัดใส่ป้อมยาม สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

จากกรณีที่มีบุคคลไม่ทราบฝ่าย จำนวน 4 คน บุกขว้างลูกเปตองและประทัดใส่ป้อมยาม บริเวณทางเข้า-ออก ประตู 3 สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. เมื่อเวลาประมาณ 03.20 น.วันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  มีความเห็นว่า
1.เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่อุกอาจ ใช้ความรุนแรงเพื่อมุ่งข่มขู่ และการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรสื่อมวลชน ด้วยพฤติกรรมและเจตนาของผู้ก่อเหตุแม้ว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้เข้าไปห้ามปรามแล้ว แต่ผู้ก่อเหตุยังไม่หยุดการกระทำ แสดงให้เห็นถึงความจงใจกระทำที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่ก่อเหตุ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเคารพสิทธิเสรีภาพ และเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อนำความจริงมาสู่สังคม พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในความเห็นที่แตกต่างและหยุดใช้ความรุนแรงในทุกกรณี

2.การปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน สามารถตรวจสอบได้ตามกลไกที่ชอบด้วยกฎหมาย หากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่สื่อมวลชน กรณีเห็นว่าสื่อมวลชนใช้สิทธิเกินขอบเขต สามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย หรือใช้กลไกควบคุมจริยธรรมขององค์กรสื่อผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง คุกคามสื่อ

3.ขอเรียกร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในการข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน รวมทั้งขอให้แถลงผลความคืบหน้าคดีอย่างต่อเนื่องให้สาธารณชนทราบ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ประชาชนและสังคมไทย

ทั้งนี้ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคม การเมือง ที่ดำรงอยู่ ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่ยึดมั่นในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ นำเสนอข่าวสารด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ด้วยข้อมูลที่รอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและสื่อมวลชนทุกแขนง ขอให้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง  ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ เพื่อประโยชน์และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนต่อไป

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
11 พฤษภาคม 2556


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำแหละร่างใหม่ พ.ร.บ.คอมฯ นักกฎหมายชี้หลายมาตราละเมิดสิทธิมากขึ้น

Posted: 11 May 2013 03:01 AM PDT

เปิดวงวิพากษ์ร่างใหม่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สาวตรี สุขศรี ชี้มีหลายมาตราน่าห่วง มาตรา 14 (1) ดีขึ้นเขียนชัดไม่ให้เอาไปฟ้องหมิ่นประมาท แต่เรื่องความมั่นคงอยุู่ครบ เพิ่มภาระผู้บริการ เพิ่มเหตุผลบล็อกเว็บ เพิ่มความผิดทำซ้ำข้อมูล, ครอบครองไฟล์ภาพลามกเด็กโดนคุก 6 ปี ฯลฯ


 

11 พ.ค.56 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เครือข่ายพลเมืองเน็ต และเว็บไซต์ประชาไท โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ จัดสัมมนาระดมความเห็นต่อ "ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์" ฉบับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2556" ณ โรงแรม S31 ซอยสุขุมวิท 31

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) มีข้อเสนอแก้ไขร่างดังกล่าว ผ่านการรับฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน โดย ผอ.สพธอ. ระบุว่าจะเสนอ รมว.ไอซีที ในไม่กี่เดือนนี้ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงสำคัญในการเสนอพัฒนาปรับแก้ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้

ทั้งนี้ ในการนำเสนอนั้น แบ่งการวิพากษ์ร่างออกเป็น 4 หัวข้อ ในเรื่อง ความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ , ความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาออนไลน์, ภาระความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ, อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญา โดยสาวตรี สุขศรี อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นผู้นำเสนอหลัก และมีผู้วิจารณ์ รวมถึงร่วมแสดงความเห็นในแต่ละช่วง

สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่างใหม่มีการแก้เรื่อง "การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น"  ไม่ว่าจะมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงหรือไม่ให้ถือว่ามีความผิดด้วย จากเดิมที่ต้องเป็นการเข้าถึงระบบที่มีการป้องกันไว้เท่านั้นจึงจะถือเป็นความผิด โดยได้กำหนดโทษไว้ต่างกันสำหรับการเข้าถึงระบบที่ไม่ได้ป้องกันไว้นั้นสามารถยอมความได้เพื่อป้องกันกรณีกลั่นแกล้งกัน อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการกำหนดความผิดอันยอมความได้อาจไม่ได้แก้ปัญหา เพราะการป้องกันการกลั่นแกล้งควรเกิดจากการเขียนกฎหมายให้รัดกุม ไม่ให้สามารถฟ้องร้องกันได้แต่ต้นมากกว่า

พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ยกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับ 2550 และผู้เข้าร่วมในการรับฟังความเห็นร่างใหม่ กล่าวว่า คำว่า "ระบบคอมพิวเตอร์" มีเจตนาครอบคลุมไปถึงโทรศัพท์มือถือด้วย เพื่อจะบังคับใช้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในการเก็บข้อมูล แต่ที่ผ่านมาผู้ให้บริการมือถือมักปฏิเสธและให้ไปฟ้องร้องแทน ซึ่งมีปัญหามากเพราะปัจจุบันมีคดีที่ใช้อินเทอร์เน็ตจากบัตรเติมเงินจำนวนมาก

สาวตรี กล่าวถึงมาตราใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ "การทำซ้ำข้อมูลคอมพิวเตอร์" ของผู้อื่นเพื่อให้ได้ซึ่งสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อสังเกตประการแรกคือ อาจซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ การทำซ้ำข้อมูลนั้นง่ายเพราะทุกครั้งที่เปิดเว็บก็คือการทำซ้ำที่ระบบแล้ว ถามว่าอย่างนี้จะถือว่าผิดหรือไม่ ข้อสังเกตประการที่สอง เหตุใดการทำซ้ำดังกล่าวจึงมีความผิดจำคุก 1 ปีขณะที่การเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงไว้แต่ไม่ได้ทำซ้ำ กลับมีโทษมากกว่าคือ จำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นเสนอว่า ต้องเอามาตราที่ซ้ำซ้อนและลักลั่นออกไป รวมถึงและควรเขียนให้ชัดว่าไม่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์

กิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ วิศวกรไอที จากบริษัท XimpleSoft กล่าวว่า มีการแก้ไขมาตราเรื่องการรบกวนระบบ กรณีทำความเสียหายกับประชาชนและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ โดยตัดเรื่องการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ออกไป เพื่อครอบคลุมกรณีที่เข้าไปในระบบเพื่อทำความผิด แต่ไม่ได้ก่อความเสียหายต่อข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ เช่น เข้าไปในระบบเพื่อปล่อยจรวด ในแง่ความครอบคลุมของกฎหมายเห็นด้วยว่าร่างดีขึ้น แต่ที่เป็นปัญหาคือความคลุมเครือของคำว่า "ความเสียหายแก่ประชาชน" "กระทบความมั่นคง" จะใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน

กรณีมีการเพิ่มเติมเรื่องการส่ง "สแปมเมล" ว่าเห็นด้วยกับการเขียนให้ชัดเจนขึ้นและไม่มีโทษจำคุก แต่มีโทษปรับหนึ่งแสนบาทถือว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพราะสแปมก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจมาก ยกตัวอย่างข้อมูลบริษัทที่ตนเองดูแล ในเมลเซิร์ฟเวอร์ มีสัดส่วนของสแปมเมล 95% ของจดหมายทั้งหมด การจะกรองได้ ต้องใช้ทรัพยากรเยอะมาก สร้างความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

ในส่วนความผิดเกี่ยวกับ "เนื้อหาออนไลน์" สาวตรี สุขศรี ยังกล่าวถึงความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาออนไลน์ด้วยว่า มาตรา 14(1) ซึ่งเขียนเรื่องการนำเข้า "ข้อมูลอันเป็นเท็จ" สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่ผ่านมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์นำไปฟ้องหมิ่นประมาทกันเป็นจำนวนมาก แต่เจตนารมณ์ของผู้ร่างต้องการใช้กับกรณี Phishing (อ่อยเหยื่อออนไลน์ :การส่งอีเมล์ปลอมตัวไปหลอกลวงว่าเป็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อหลอกเอา password) หรือ Farming (ปลอมหน้าเว็บของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพื่อหลอกให้ผู้ใช้ใส่ข้อมูลโดยเข้าใจว่าเป็นเว็บที่ตนต้องการ) ในร่างใหม่มีการกำหนดให้ใช้กับ phishing และ farming โดยเฉพาะ โดยระบุข้อความให้ชัดเจนขึ้นว่า "ข้อความเท็จ" หรือ "ปกปิดความจริงบางส่วน" ทำให้คนเข้าใจผิด รวมทั้งกำหนดด้วยว่า "และทำให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนบุคคล" แต่ก็ยังจะมีปัญหาว่า หากปลอมหน้าเว็บยังไม่ผิดกฎหมายหากไม่ได้ข้อมูลส่วนบุคคลกลับไป จึงเสนอว่า ควรใช้คำว่า "เพื่อทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคล" แทน คำว่า "และทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคล" ซึ่งจะเป็นการดูแรงจูงใจในการกระทำความผิด

ส่วน มาตรา 14(2)(3)นั้น ในกฎหมายเดิมเป็นการพูดถึงความผิดที่ "กระทบต่อความมั่นคง และสร้างความตื่นตระหนกของประชาชน" คำเหล่านี้เป็นคำกว้าง ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ควรมีอยู่ในกฎหมายเพราะเปิดให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจจนเกิดความไม่มั่นคงกับประชาชน มีการเสนอมาโดยตลอดว่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ควรเป็นความผิดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหา อย่างไรก็ตาม ในร่างใหม่ฉบับนี้ยังคงเรื่องเหล่านี้ไว้ทั้งหมด ด้วยถ้อยคำเดิม แต่แยกมาตรา ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือ "การครอบครองภาพลามกเด็ก" โดยในร่างใหม่เขียนไว้ 2 แนวทางคือ 1. แก้กฎหมายอาญาให้ครอบคลุมภาพลามกเด็ก 2. เพิ่มมาตราเข้าไปในกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองภาพลามกเด็ก กำหนดโทษจำคุก 6 ปี

สาวตรีกล่าวว่า มาตรานี้เป็นการกำหนดว่าแค่เพียงครอบครองก็ผิดแล้ว ต่างประเทศอย่างเยอรมันก็มีการกำหนดแบบนี้ แต่เขามุ่งคุ้มครองสิทธิเยาวชน มากกว่าจะควบคุมพฤติกรรมคนเหมือนกฎหมายไทย อย่างไรก็ตาม ในร่างใหม่ยังไม่มีการนิยามว่า "เด็กและเยาวชน" คือบุคคลที่อายุเท่าไร ควรกำหนดให้ชัดเจน ในเยอรมัน กำหนดว่า เด็ก อายุไม่เกิน 14 ปี ส่วนเยาวชนอายุ 14-18 ปี ปัญหาต่อมาคือเรื่องช่องว่างของภาพลามกเด็ก เนื่องจากร่างใหม่ระบุเพียงการครอบครอง "ข้อมูลคอมพิวเตอร์" แล้วการครอบครอง hard copy ผิดหรือไม่

จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า เสนอความเห็นเกี่ยวกับภาพลามกเด็กและเยาวชนว่า เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่นิยามอายุไม่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องมีข้อนิยามอายุให้ชัดเจน และในเรื่องการครอบครอง หากเป็นกรณีที่เคยเซฟมาไว้ในเครื่องแล้วลบไปแล้ว แต่ยังถูกกู้มาได้ จะมีความผิดหรือไม่ กรณีเป็นแอนิเมชั่น การ์ตูนลามกเด็กจะมีความผิดหรือไม่ เพราะไม่ได้ละเมิดสิทธิเด็กจริงๆ นอกจากนี้ ขณะนี้มีการร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุ หากกฎหมายนี้ผ่านก็จะมีกฎหมายที่บัญญัติเรื่องนี้ซ้ำซ้อนกัน

สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางสังคม ให้ความเห็นว่า เขามีปัญหากับกฎหมายนี้ตั้งแต่เรื่องที่มา เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐสภา แต่ทำคลอดในสภานิติบัญญัติแห่งขาติ (สนช.) ซึ่งเป็นผู้แทนฯ สรรหา สถานะของกฎหมายฉบับนี้จึงมีคำถามแต่ต้น และเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ไอซีทีดันทันทีหลังรัฐประหารเพื่อควบคุมประชาชน

"ถ้ากฎหมายอาญาอื่นมีโทษอยู่แล้ว ไม่เห็นว่าพ.ร.บ.คอมจะควรทำหน้าที่เบิ้ลเสียเลย การควบคุมต่างๆ ก็ควรเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิ อย่างเรื่องโป๊เด็กผมก็เห็นด้วย แต่ก็น่าจะกำหนดอายุให้ชัดเจน เพราะเยาวชนอาจถูกตีความถึงอายุ 35 ปี" สมบัติกล่าว และพูดถึงปัญหาสำคัญที่ยังไม่มีทางออกคือ จากข้อมูลของโครงการ IT Watch พบว่าเรื่องร้องเรียนจำนวนมากเป็นปัญหา คลิปหลุด นี่ สถานการณ์นี้จะขยายวงกว้างมาก สำหรับผู้เข้าชมอาจเป็นความบันเทิงแต่สำหรับเหยื่อเรื่องนี้เป็นอาชญากรรมร้ายแรง

สมบัติยังเสนอว่าอยากเห็นกฎหมายนี้มีบทบัญญัติด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวประชาชนด้วย และไม่เห็นด้วยกับการกำหนดโทษจำคุกที่ค่อนข้างสูง

สำหรับผู้ร่วมฟังเสวนา มีหลายคนที่นำเสนอว่า ควรตัดเรื่องความผิดต่อเนื้อหาออกไปจากร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และทำให้ร่างกฎหมายนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีอยู่ในกฎหมายอื่นๆ แล้วทั้งหมด และเมื่อพูดประเด็นเรื่องเนื้อหาก็มีความซับซ้อนอย่างยิ่งการทำให้ร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายรวมมิตรจะทำให้เกิดปัญหาการตีความและการบังคับใช้

ในส่วนของ "ผู้ให้บริการ" สาวตรี สุขศรี กล่าวว่า เนื้อหาเกี่ยวกับผู้ให้บริการอยู่ในมาตรา 15 ของกฎหมายปัจจุบันซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเยอะ เจ้าพนักงานผลักภาระความรับผิดให้ผู้ให้บริการหรือตัวกลางทั้งหลาย เพราะไม่ต้องสืบหาผู้กระทำผิดจริงที่โพสต์ข้อความแต่เอาผิดกับตัวกลางแทน แต่ในร่างใหม่นั้นเขียนไว้สองแนวทาง แนวทางแรกนั้นแย่กว่าของเก่าร้อยเท่าเพราะกำหนดว่า "ผู้ให้บริการผู้ใดรู้ หรือ ควรรู้ ว่ามีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีความผิด"  แล้วไม่ได้แก้ไขหรือระงับให้มีความผิดด้วย ซึ่งเป็นการยกอำนาจให้กับวินิจฉัยของเจ้าพนักงานในเรื่อง "ควรรู้" ขณะที่ของเดิมใช้คำว่า "ผู้ให้บริการใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม" ยังเปิดโอกาสให้ต่อสู้ในชั้นศาลได้มากกว่า ส่วนแนวทางที่สองนั้นสนับสนุนการแจ้งไปแล้วเอาออก คือให้ผู้ให้บริการรีบจัดการข้อมูลเมื่อมีเจ้าพนักงานแจ้งให้ทราบ

อย่างไรก็ตาม สาวตรีกล่าวว่า มาตรา 15 นี้ยังมีปัญหาในส่วนที่เจ้าพนักงานสามารถสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการเผยแพร่ได้ด้วย จากที่ในกฎหมายเดิมการจะระงับการเผยแพร่ได้ต้องมีคำสั่งศาล ผ่านการวินิจฉัยของศาล 

นอกจากนี้ สาวตรี ยังกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ในร่างฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "การขยายเวลาเก็บล็อกไฟล์" ว่ามีการขยายเวลาให้เจ้าพนักงานร้องขอล็อกไฟล์จากผู้ให้บริการเพิ่มจากเดิม 1 ปี เป็น 2 ปี กรณีจำเป็นรัฐมนตรีสามารถประกาศให้เก็บล็อกได้นานไม่มีเพดานเวลา ซึ่งผู้ให้บริการเห็นว่าเป็นภาระเกิดความจำเป็น, "การเพิ่มเหตุผลในการบล็อคเว็บ" จากเดิมที่กำหนดความผิดที่บล็อคได้ว่า เรื่องลามก ความมั่นคง ข้อมูลปลอม ขยายให้รวมถึงความผิดในกฎหมายอื่นๆ ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเมืองว่าด้วย “พลังงานไทย” (ตอนที่ห้า): น้ำมันแพงเพราะภาษีและกองทุนฯ

Posted: 11 May 2013 02:04 AM PDT

ข้อโจมตีอีกประการหนึ่งของ "กลุ่มทวงคืนพลังงาน" คือ ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศไทยมีราคาแพงในอันดับต้น ๆ ของโลก ตัวอย่างที่คนพวกนี้เผยแพร่ไปทั่วคือ ราคาขายปลีกในประเทศไทยยังแพงกว่าในสหรัฐอเมริกาทั้งที่คนไทยโดยเฉลี่ยมีรายได้ต่ำกว่าคนอเมริกันอย่างมาก

คนพวกนี้จงใจเลือกหยิบข้อมูลเฉพาะจุดโดยไม่กล่าวถึงภาพรวมทั้งหมด เป็นความจริงที่ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯมีราคาต่ำกว่าไทย โดยปัจจุบันราคาขายปลีกในสหรัฐฯเท่ากับลิตรละ 32.60 บาท ขณะที่ราคาขายปลีกของไทยอยู่ที่ลิตรละ 45.25 บาท

แต่จากสถิติราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกในเดือนเมษายน 2556 จะพบว่า ประเทศไทยมีราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับกลาง ๆ อันดับที่ 95-100 และยังมีอีกหลายประเทศที่พลเมืองมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าคนไทย แต่มีราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินแพงกว่า เช่น ศรีลังกา (46.8 บาท) เนปาล (47.8 บาท) กัมพูชา (49.2 บาท) ราวันดา (69.6 บาท) เป็นต้น ประเทศที่มีราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินแพงที่สุดในโลกคือ ตุรกี ที่ลิตรละ 90 บาท!

ความจริงคือ ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินไม่ได้สัมพันธ์กับระดับรายได้ของประชากรในแต่ละประเทศ ประเทศยากจนไม่จำเป็นต้องมีราคาน้ำมันถูกกว่าประเทศร่ำรวย เพราะแม้ว่าราคาตัวเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่นจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่รัฐบาลในแต่ละประเทศก็มีนโยบายภาษีน้ำมันที่ไม่เหมือนกัน ประเทศที่จัดเก็บภาษีน้ำมันสูงก็จะมีราคาขายปลีกสูง ประเทศยากจนที่มีราคาน้ำมันแพงมาก เช่น ในอาฟริกา มักมีสาเหตุจากต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ มีภาวะขาดแคลนน้ำมัน และรัฐบาลมีฐานจัดเก็บภาษีแคบ จึงต้องหันมาขูดรีดภาษีจากน้ำมันเป็นหลัก เป็นต้น

หากจำแนกโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเฉลี่ยในประเทศไทยเดือนเมษายน 2556 ที่ราคาลิตรละ 45.25 บาท จะพบว่า เป็นราคาเนื้อน้ำมัน 21.80 บาท (ร้อยละ 48.2) ภาษีทุกชนิด 10.66 บาท (ร้อยละ 23.6) เงินสมทบกองทุนน้ำมันฯและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 9.45 บาท (ร้อยละ 20.9) และค่าการตลาด 3.34 บาท (ร้อยละ 7.4)

ราคาเนื้อน้ำมันคือราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งกำหนดเทียบเท่าราคากลางที่ตลาดสินค้าสิงคโปร์ โดยมีค่าแตกต่างไม่เกินกว่าค่าขนส่งและประกันภัย เหตุที่ต้องอ้างอิงราคากลางสิงคโปร์เนื่องจากการกลั่นน้ำมันมีวัตถุดิบเป็นน้ำมันดิบ แต่มีผลผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปและผลพลอยได้รวมกว่าสิบชนิด (เช่น เบนซิน ดีเซล น้ำมันก๊าด น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา แอลพีจี น้ำมันหล่อลื่น ยางมะตอย เป็นต้น) ซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยและความต้องการในตลาดที่แตกต่างกันมาก จึงไม่สามารถใช้ต้นทุนเฉลี่ยน้ำมันดิบมากำหนดต้นทุนของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดเท่า ๆ กันได้ จำเป็นต้องใช้ราคาซื้อขายของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดในตลาดกลางที่มีขนาดใหญ่เป็นราคาอ้างอิง ซึ่งที่ใกล้ที่สุดคือ ตลาดกลางสิงคโปร์ ซึ่งมีปริมาณการซื้อขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมากเป็นอันดับสามของโลก

ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยมีขนาดเล็กจิ๋ว มีผู้ซื้อผู้ขายน้อยราย หากกำหนดราคาซื้อขายกันเองที่สูงกว่าราคากลางสิงคโปร์บวกค่าขนส่ง โรงกลั่นจะเกิดแรงจูงใจนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาจากสิงคโปร์ หรือในทางกลับกัน หากราคากำหนดเองในประเทศไทยต่ำกว่าราคากลางสิงคโปร์หักด้วยค่าขนส่ง ก็จะมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายสิงคโปร์ ในที่สุด การไหลเข้าออกของน้ำมันสำเร็จรูประหว่างไทยกับสิงคโปร์จะทำให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในไทยเท่ากับราคาสิงคโปร์โดยมีส่วนต่างไม่เกินกว่าค่าขนส่ง (ยกเว้นกรณีรัฐบาลห้ามส่งออกนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปโดยสิ้นเชิง ดังที่ "กลุ่มทวงคืนพลังงาน" เรียกร้อง)

โรงกลั่นได้รับประโยชน์ในรูปของ "ค่าการกลั่นรวม" ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างต้นทุนน้ำมันดิบ (บวกค่าขนส่งถึงโรงกลั่น) กับราคาเฉลี่ยหน้าโรงกลั่นของผลผลิตการกลั่นทุกชนิด (อ้างอิงราคาสิงคโปร์) แต่ค่าการกลั่นดังกล่าวยังไม่ใช่ "กำไร" ของโรงกลั่นเพราะยังไม่ได้หักต้นทุนค่าใช้จ่ายภายในโรงกลั่น ต่อเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว จึงเรียกว่า "ค่าการกลั่นสุทธิ" ซึ่งเป็นกำไรของโรงกลั่น จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับทิศทางของราคาน้ำมันดิบเทียบกับทิศทางของราคาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและต้นทุนการกลั่น (ซึ่งก็มีทิศทางเดียวกันกับราคาผลิตภัณฑ์เพราะการกลั่นก็ต้องใช้พลังงานเช่นกัน)

ค่าการกลั่นรวมสามารถคำนวณได้จากตัวเลขราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทุกชนิดรวมกัน แต่ "ค่าการกลั่นสุทธิ" เป็นข้อมูลภายในของธุรกิจโรงกลั่น ในประเทศไทย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นธุรกิจโรงกลั่นล้วน ๆ ฉะนั้น "กำไรสุทธิ" ของไทยออยล์น่าจะสะท้อนแนวโน้มค่าการกลั่นสุทธิโดยคร่าว ๆ ได้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แสดงว่า ในปี 2555 ไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 12,320 ล้านบาท ขณะที่ในปีเดียวกัน ไทยออยล์กลั่นน้ำมันดิบประมาณ 100 ล้านบาร์เรล คำนวณเฉลี่ยแล้ว คิดเป็นกำไรสุทธิลิตรละ 0.77 บาทเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้น กำไรสุทธิดังกล่าวยังคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.75 ของยอดขายรวม 447,432 ล้านบาท เป็นร้อยละ 7.2 ของสินทรัพย์รวม 170,676 ล้านบาท และเป็นร้อยละ 13.6 ของส่วนผู้ถือหุ้นสุทธิ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากและไม่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยของทั้งตลาดหลักทรัพย์มากนัก ข้อสังเกตคือ กำไรสุทธิของไทยออยล์ขึ้นลงผันผวน เช่น ปี 2553 มีกำไรสุทธิ 8,956 ล้านบาท ขณะที่ปี 2551 มีกำไรสุทธิเพียง 224 ล้านบาทเท่านั้น

ธุรกิจโรงกลั่นซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากความผันผวนของต้นทุนกับราคาผลิตภัณฑ์ และก็มิได้มีผลตอบแทนที่ห่างไกลจากธุรกิจที่มีกำไรโดยทั่วไป

ฉะนั้น ตัวการที่ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันแพง ก็คือ ภาษีและเงินสมทบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั่นเอง ดังจะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่น ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 เท่ากับลิตรละ 21.85 บาทและ 22.20 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาขายปลีก ณ สถานีจำหน่ายกลับสูงถึงลิตรละ 44.35 บาทและ 29.99 บาทตามลำดับ นัยหนึ่ง ภาษีบวกเงินสมทบกองทุนฯ รวมกันสูงถึง 22.50 บาทในกรณีเบนซิน และ 7.79 บาทในกรณีดีเซล ลักษณะดังกล่าวเป็นผลจากนโยบายบิดเบือนราคาพลังงานที่ตกทอดต่อเนื่องกันมาหลายรัฐบาลนับสิบปีจนถึงปัจจุบัน

แต่เหตุใด "กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย" จึงมุ่งโจมตีแต่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทโรงกลั่นเป็นหลัก? ก็เพราะพวกเขาพยายามจะเบี่ยงเบนประเด็นจากนโยบายราคาน้ำมันของรัฐบาลที่ตกทอดกันมา ไปเป็นประเด็นการเมือง โดยชี้ให้เห็นว่า มี "กลุ่มทุนสามานย์" เข้าไปแสวงประโยชน์อยู่ในสัมปทานปิโตรเลียมและในปตท. ด้วยความร่วมมือจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั่นเอง แม้คนพวกนี้จะไม่ได้ระบุชัดในเวทีสาธารณะว่า ใครคือ "ทุนสามานย์" แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า พวกพันธมิตรฯเสื้อเหลืองใช้คำนี้หมายถึงทักษิณ ชินวัตรและพรรคพวกนั่นเอง

 

 

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข"

ฉบับวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น