ประชาไท | Prachatai3.info |
- ‘พีมูฟ’ เตรียมแถลงย้ายที่ตั้งการชุมนุมใหม่ ยันยังปักหลักรอจนรัฐแก้ปัญหา
- กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนใบไต่สวนเขตเหมืองโปแตช
- ชาวมาเลเซียใน กทม. ประท้วงเงียบ - ฝ่ายค้านชุมนุมต้านโกงเลือกตั้งเสาร์นี้ที่ปีนัง
- รมว.คมนาคม แจงโครงการ 2 ล้านล้านในวงทีดีอาร์ไอ ภาคสังคมจับตาหนัก
- รำลึก 20 ปีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ ชี้ยังขาดการชดเชย-ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ
- ยื่นศาลฎีกา ประกัน ‘สมยศ’ 3 องค์กรต่างประเทศแถลงไม่ให้ประกันขัดกติการะหว่างประเทศ
- กสทช.หาโมเดลกำกับสื่อ-นักวิชาการสื่อแนะต้องยอมให้มีเนื้อหาที่ไม่ถูกใจ
‘พีมูฟ’ เตรียมแถลงย้ายที่ตั้งการชุมนุมใหม่ ยันยังปักหลักรอจนรัฐแก้ปัญหา Posted: 10 May 2013 01:48 PM PDT พีมูฟเตรียมย้ายจุดที่ตั้งการชุมนุมใหม่ เหตุช่วงงานวันพืชมงคลจะมีการใช้เส้นทางถนนราชดำเนิน เพื่อเป็นการอำนวยและสร้างบรรยากาศการประสานงานร่วมกับรัฐบาล แจงคุยกับแรมโบ้เพียงแค่ก้าวแรกการทำงาน ยังไม่มีหลักประกันการแก้ปัญหา วันที่ 10 พ.ค.56 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ยังคงปักหลักชุมนุมที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยในช่วงเช้าตัวแทนพีมูฟเข้าร่วมประชุมกับนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องที่ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 10 ชุดก่อนหน้านี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติในปัญหาแต่ละเรื่อง ก่อนนำเข้าหารือที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟชุดใหญ่ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 27 พ.ค.ต่อไป ต่อมาเวลา 13.00 น. พีมูฟอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 23 'เพียงแค่ก้าวแรกการทำงาน ยังไม่มีหลักประกันว่าปัญหาจะถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม' ระบุถึงการหารือกับนายสุภรณ์ว่ามีข้อสรุป ดังนี้ 1.ยังไม่มีความชัดเจนว่าปัญหาทั้ง 4 เรื่อง คือ เรื่องการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล การแก้ไขปัญหาที่ดิน กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชนภาคเหนือ เรื่องผลการเจรจาแก้ปัญหาของเครือข่ายสลัม 4 ภาค และการแก้ไขปัญหาที่ดินพิพาท กรณีพื้นที่ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประสานจัดการให้มีโฉนดชุมชนแล้ว ว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมครม.ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ หากแต่เป็นเพียงความชัดเจนว่ากำลังพยายามดำเนินการอยู่ 2.การแก้ไขปัญหาในรูปแบบกลไกอนุกรรมการทั้ง 10 คณะ เป็นเพียงแค่การกำหนดวันประชุมเท่านั้น ซึ่งไม่มีหลักประกันใดยืนยันว่า การประชุมของอนุกรรมการในแต่ละคณะจะสามารถหาข้อสรุปได้หรือไม่อย่างไร แถลงการณ์ดังกล่าวระบุข้อเรียกร้องด้วยว่า รัฐบาลต้องลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.ครม.ต้องให้ความเห็นชอบในการแก้ปัญหาตามข้อสรุปของคณะกรรมการทั้ง 4 เรื่อง ภายในวันที่ 14 พ.ค. และ 2.อนุกรรมการทั้ง 10 คณะต้องประชุมและมีข้อสรุปให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมในวันที่ 27 พ.ค. และการประชุมในวันดังกล่าว จำเป็นต้องได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมด้วย "พวกเราจึงขอปักหลักเพื่อรอคอยการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมก่อน จึงจะพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการต่อไป ในรูปแบบใด" แถลงการณ์ระบุ อย่างไรก็ตาม พีมูฟได้เผยแพรจดหมายข่าวระบุว่า เนื่องจากในช่วงวันที่ 12 และ 13 พ.ค.นี้ เป็นช่วงงานวันพืชมงคล ซึ่งจะมีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และจะมีการใช้เส้นทางถนนราชดำเนินเป็นเส้นของขบวนเสด็จไปยังพระราชพิธี ประกอบกับได้มีความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาพอสมควร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงานและประสานงานร่วมกันให้ลุล่วงตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ในระหว่างรอฟังผลพิจารณาการประชุมการแก้ไขปัญหา และเนื่องด้วยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการหลายชุดตลอดทั้งสัปดาห์ พีมูฟจึงจะมีการย้ายจุดที่ตั้งการชุมนุมใหม่ โดยจะจัดให้มีการแถลงข่าวความชัดเจนในวันที่ 11 พ.ค.นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนใบไต่สวนเขตเหมืองโปแตช Posted: 10 May 2013 12:39 PM PDT แจงเนื้อหารายงานการไต่สวนตามคำขอประทานบัตรเหมืองแร่หลบเลี่ยง และคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง อาจเป็นเหตุให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเสียหายจากใบไต่สวนดังกล่าว จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอน เมื่อวันที่ 9 พ.ค.56 เวลา 13.30 น. ขบวนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 200 คน นำเอาเอกสาร หลักฐานเกี่ยวกับการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จำนวน 8 ชุด เดินทางไปที่ศาลปกครองอุดรธานี เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแผนกคดีสิ่งแวดล้อม กรณีรายงานการไต่สวนตามคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดิน เลขที่ 1/2547-4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลเพิกถอนรายงานดังกล่าวเสีย ตามคำฟ้องได้ระบุว่ามี นายเตียง ธรรมอินทร์ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 12 ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 47 คน มอบอำนาจให้นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องจำนวน 8 ราย ซึ่งประกอบด้วย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี, กำนันตำบลนาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี, กำนันตำบลหนองขอนกว้าง อ.เมือง จ.อุดรธานี, กำนันตำบลโนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี, กำนันตำบลหนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี, นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองโนนสูง – น้ำคำ อ.เมือง จังหวัดอุดรธานี และกำนันตำบลห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ตามลำดับ โดยเจ้าหน้าที่ศาลได้ตรวจสอบ และลงทะเบียนรับเอกสาร เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2/2556 นายเตียง ธรรมอินทร์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า พื้นที่ตั้งโครงการเป็นเขตสันปันน้ำ อยู่บนที่สูง มีเส้นทางน้ำ ทางสาธารณะประโยชน์ และแหล่งน้ำบาดาล แหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชน และสถานที่ราชการ เช่น โรงเรียน วิทยาลัยเทคนิคกาญจนา ศูนย์รักษาโรคมะเร็ง วิทยาลัยพยาบาล และค่ายทหาร ฯลฯ ที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง แต่เนื้อหาในใบไต่สวนหลบเลี่ยง และคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง "ใบไต่สวนเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำไปประกอบการขออนุญาตประทานบัตร ซึ่งผู้ถูกฟ้องทั้งหมดได้ดำเนินการจัดทำและลงชื่อรับรองในรายงานใบไต่สวนคำขอประทานบัตรฯ โดยที่ข้อมูลไม่ถูกต้องตามสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่โครงการฯ จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเสียหายจากใบไต่สวนดังกล่าว และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในวันนี้" นายเตียงกล่าว ด้านนางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า เป็นการต่อสู้ของชาวบ้านโดยการใช้ช่องทางตามกระบวนการยุติธรรม ต่อไปก็ต้องรอฟังว่าศาลจะรับฟ้องคดีหรือไม่ เพราะเป็นดุลยพินิจของศาลในการพิจารณา "ถึงแม้ว่าจะมีการฟ้องประเด็นเดียวกันนี้ในพื้นที่ตำบลบ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ชาวบ้านคัดค้านเหมืองลิกไนต์ ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าในกระบวนการนี้ชาวบ้านยังไม่ได้รับส่งผลกระทบจึงยังไม่มีสิทธิฟ้อง แต่การยื่นฟ้องของชาวบ้านที่อุดรฯ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากบริษัทฯ จะได้มาซึ่งใบอนุญาตประทานบัตรในวันข้างหน้านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ชอบ และชาวบ้านได้สิทธิคัดค้านตามกฎหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว" นางสาว ส.รัตนมณีกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชาวมาเลเซียใน กทม. ประท้วงเงียบ - ฝ่ายค้านชุมนุมต้านโกงเลือกตั้งเสาร์นี้ที่ปีนัง Posted: 10 May 2013 11:51 AM PDT ชาวมาเลเซียใน กทม. แต่งดำ-นัดประท้วงเงียบผลการเลือกตั้ง และเพื่อสนับสนุนการชุมนุมหลังการเลือกตั้ง ที่จัดโดยพรรคฝ่ายค้านซึ่งเสาร์นี้เตรียมปราศรัยใหญ่ถึงเกาะปีนัง ด้าน "หลิม กิต เสียง" ปฏิเสธพาดหัวข่าว นสพ.จีนในมาเลเซีย "Sin Chew Daily" ที่ระบุว่าจะสนับสนุนพรรค DAP เข้าร่วมรัฐบาล แนะสื่อมวลชนพาดหัวข่าวไม่ระวังจะสร้างความเข้าใจผิด "แต่งดำ-ประท้วงเงียบ" ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อค่ำวานนี้ (10 พ.ค.) ชาวมาเลเซียในกรุงเทพมหานคร ได้รวมตัวที่หน้าห้าง Asiatique The Riverfront ถ.เจริญกรุง เพื่อร่วมกิจกรรม "Blackout Day" เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในมาเลเซีย และปฏิเสธการเลือกตั้งทั่วไป 5 พ.ค. 56 ที่พวกเขาเห็นว่ามีการทุจริตและไม่มีความยุติธรรม ซึ่งในรอบสัปดาห์นี้ กิจกรรมรวมตัวเช่นนี้เกิดขึ้นหลายเมืองทั่วโลกที่ชาวมาเลเซียพำนักอาศัย เช่น ที่ออสเตรเลีย ไต้หวัน และสิงคโปร์ ฯลฯ เพื่อแสดงการสนับสนุนการชุมนุมในมาเลเซีย ทั้งนี้ระหว่างที่จัดกิจกรรม มีชาวมาเลเซียกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งชาวไต้หวัน ได้เข้ามาทักทายผู้จัดกิจกรรมประท้วงเงียบดังกล่าว รวมทั้งขอถ่ายรูปด้วย โดยในระหว่างที่มีการจัดกิจกรรม ได้มีการเดินไปรอบๆ พื้นที่ห้าง ซึ่งภายในห้าง ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศมาเลเซีย โดยการท่องเที่ยวมาเลเซียด้วย โดยกลุ่มผู้จัดกิจกรรมประท้วงเงียบได้เดินไปอยู่ด้านหลังของบริเวณจัดงาน และยืนชูป้ายด้วยอาการสงบ อย่างไรก็ตามมีชาวมาเลเซียซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มาขอร้องให้ไปจัดกิจกรรมในพื้นที่อื่น ทำให้ผู้จัดกิจกรรมประท้วงเงียบคนหนึ่งกล่าวว่า ที่มาชุมนุมก็เพื่อเชิญชวนคนให้ไปเที่ยวประเทศมาเลเซียที่มีความยุติธรรม และมีการเลือกตั้งที่สะอาดเช่นกัน โดยกิจกรรมประท้วงเงียบ "Blackout Day" นี้ดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 40 นาที ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็แยกย้ายกลับโดยไม่มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งใดๆ 'นาตาชา ลี' ชาวมาเลเซียซึ่งพำนักอยู่ใน กทม. หนึ่งในผู้ร่วมการประท้วงเงียบครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ที่มาเข้าร่วมก็เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม และเพื่อประท้วงการเลือกตั้งที่เพิ่งจัดขึ้น ซึ่งพวกเรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม ส่วนที่จัดกิจกรรมที่นี่เนื่องจากเป็นแหล่งที่ท่องเที่ยวยอดนิยม หวังว่าจะมีคนจำนวนมากได้เห็นกิจกรรมนี้ และกิจกรรมนี้ก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนการชุมนุมที่เพิ่งจัดขึ้นที่สนามกีฬา Kelena Jaya ที่รัฐสลังงอร์ ในมาเลเซีย โดยพรรคฝ่ายค้านในมาเลเซียได้จัดชุมนุมหลังการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ค. ที่สนามกีฬา Kelana Jaya รัฐสลังงอร์ ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยมาเลเซียกินี รายงานว่ามีผู้เข้าร่วมเรือนแสน และในวันพรุ่งนี้ 11 พ.ค. จะมีการชุมนุมที่สนามกีฬา Bukit Kawan รัฐปีนัง ทั้งนี้ มาเลเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 เมื่อ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยผลการเลือกตั้ง "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional/BN) ยังคงชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่ง ส.ส. 133 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat/PR) ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 7 ที่นั่ง เป็น 89 ที่นั่ง ท่ามกลางรายงานข่าวความไม่ชอบมาพากลของพรรครัฐบาลในช่วงจัดการเลือกตั้ง เช่น การซื้อเสียง การให้แรงงานต่างชาติสวมสิทธิเลือกตั้ง คะแนนผีจากการขนคนมาลงคะแนน ไฟดับระหว่างที่มีการนับคะแนนในบางหน่วยเลือกตั้ง ขณะที่เมื่อพิจารณาคะแนนรวมแบบไม่เป็นทางการ พบว่ามีผู้ลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านรวม 5.62 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 50.87 และผู้ลงคะแนนให้พรรครัฐบาล 5.23 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 47.38 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ตั้งประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2510 ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านมากกว่าลงคะแนนให้กับพรรครัฐบาล อย่างไรก็ตามแม้ฝ่ายค้านจะได้คะแนนรวมมากกว่า แต่จะไม่มีผลอะไรสำหรับการตั้งรัฐบาล เพราะระบบการเลือกตั้งมาเลเซียเป็นแบบแบ่งเขต
หลิม กิต เสียง ชี้แจง หลังมีข่าวว่าเสนอให้ "DAP" ร่วมรัฐบาล ชี้มาจากพาดหัวข่าวที่สรุปข่าวผิด นอกจากนี้ วันนี้ หลิม กิต เสียง ผู้นำอาวุโส และที่ปรึกษาพรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party - DAP) หนึ่งในพรรคฝ่ายค้านใน "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat - PR) ได้โพสต์แสดงความเห็นในบล็อกของเขาด้วย โดยเป็นการปฏิเสธพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์จีนในมาเลเซีย "Sin Chew Jit Poh" (星洲日報) หรือ "Sin Chew Daily" ที่พาดหัวข่าวว่า "หลิม กิต เสียง: สามารถร่วมรัฐบาลกับแนวร่วมแห่งชาติ" และตามมาด้วยพาดหัวข่าวรองซึ่งใช้ขนาดตัวหนังสือเล็กกว่ามาก เขียนกว่า "เงื่อนไขก็คือ ต้องยอมรับคำประกาศในการเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้าน 'ภาคีประชาชน'" โดยเขาชี้แจงว่าการนำเสนอข่าวเช่นนี้ของ "Sin Chew Jit Poh" จะทำให้คนที่อ่านที่อ่านแต่พาดหัวแรก และไม่ได้อ่านแม้แต่พาดหัวที่สองเข้าใจไปว่าตัวเขาสนับสนุนแนวคิดที่จะให้พรรคกิจประชาธิปไตย "DAP" เข้าร่วมกับพรรครัฐบาล "BN" แทนที่พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย "MCA" ซึ่งพาดหัวนี้ "หลิม กิต เสียง" ได้ชี้แจงว่า สิ่งนี้ควรจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าให้กับ Sin Chew Jit Poh และผู้ช่วยบรรณาธิการที่ดูเรื่องพาดหัวข่าว ให้มีการระมัดระวัง และแน่ใจว่าพาดหัวแรกจะไม่นำไปสู่การสรุปเนื้อหาข่าวที่ผิดและสร้างความเข้าใจผิด ทั้งนี้เพราะพวกเขาก็ไม่แน่ใจหรอกว่าคนอ่านจะอ่านเนื้อข่าวทั้งหมด หรือแม้แต่จะอ่านพาดหัวรอง โดยหลิม กิต เสียงแนะนำด้วยว่า เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด พาดหัวข่าวดังกล่าวควรจะเป็นพาดหัวแถวที่หนึ่งทั้งหมด และไม่ควรแยกเป็นพาดหัวแถวหนึ่ง และพาดหัวแถวสอง อย่างที่นำเสนอในข่าว ทั้งนี้ KiniTV ได้รายงานการชี้แจงของหลิม กิต เสียงด้วย (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รมว.คมนาคม แจงโครงการ 2 ล้านล้านในวงทีดีอาร์ไอ ภาคสังคมจับตาหนัก Posted: 10 May 2013 09:38 AM PDT
10 พ.ค.56 ที่มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทีดีอาร์ไอร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง "เงินกู้ 2 ล้านล้าน ลงทุนอย่างไรให้โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ: นโยบายของรัฐและบทบาทของประชาสังคม" โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร. สิริลัษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ ป.ป.ช. คุณวิชัย อัศรัสกร รองประธานหอการค้าไทย และ ดร. สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอวุโสของ TDRI และมี รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวปาฐกถา
ชัชชาติ กล่าวว่า การช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์โครงการต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเป็นเรื่องดี เพราะเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เหตุผลที่เราต้องพัฒนาระบบคมนาคมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้วยเงินจำนวนมากขนาดนี้ก็เพื่อการแข่งขันกับต่างชาติ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ใช่โครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เป็นการลงทุนใน back bone ที่เราเสียโอกาสมานาน การทำโครงการใหญ่ในภาพรวม 7 ปีจะช่วยให้นักลงทุน และหน่วยต่างๆ ในสังคมเห็นภาพร่วมกันและพัฒนาส่วนต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การออกพ.ร.บ.เงินกู้โครงสร้างพื้นฐานนี้ก็เป็นเพียงกรอบทั้งหมดเท่านั้น ไม่ได้กู้เงินทีเดียวและอนุมัติทุกโครงการทีเดียว หากแต่แต่ละโครงการจะต้องมีการศึกษา ต้องได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเป็นรายโครงการอีกครั้ง ซึ่งต้องพิจารณาบริบทในช่วงเวลานั้นด้วยหากในอนาคตเศรษฐกิจโลกพังอย่างที่หลายคนเป็นห่วงโครงการก็อาจไม่ได้รับอนุมัติ นอกจากนี้โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ล้วนเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาไว้นานแล้ว และหลายโครงการ ครม.ในรัฐบาลต่างๆ ก็ได้อนุมัติกรอบโครงการไว้แล้ว ไม่ใช่เครดิตของรัฐบาลนี้ รัฐบาลนี้เพียงแต่มาจัดระบบ จัดลำดับความสำคัญ และเชื่อมโยงมันในภาพใหญ่ โดยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมมี 3 เรื่องหลักคือ 1.ปรับเปลี่ยนการขนส่งสินค้าจากถนนสู่ราง ซึ่งต้นทุนต่ำกว่า 2.การเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคต่างๆ ในประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 3.พัฒนาระบบขนส่งให้คล่องตัว รมว.คมนาคม นำเสนอเหตุผลที่ต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางรางด้วยว่า ต้นทุนค่าขนส่งของไทยค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่รัฐไทยก็ละเลยการพัฒนา ปรับปรุงระบบขนส่งมานาน โดยเฉพาะการขนส่งทางราง ขณะที่การขนส่งทางอากาศนั้นไทยค่อนข้างอยู่ในส่วนที่แข่งขันได้ เช่น ปี 2555 ต้นทุนเรื่องลอจิสติกส์มีสัดส่วน 15.2% ของจีดีพี, ปี 2554 มีการใช้พลังงานเทียบเท่ากับน้ำมัน 71 ล้านตัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม 36% และใช้ในภาคขนส่ง 35% ถือว่าสัดส่วนของการขนส่งสูงมาก เกือบเท่ากับภาคการผลิต ซึ่งหากเปลี่ยนโหมดการขนส่งได้สำเร็จจะทำให้ลดการใช้น้ำมันลงราวปีละ 1 แสนล้านบาท สำหรับการจำแนกสัดส่วนงบประมาณการลงทุนนั้น แบ่งเป็น 1.รถไฟความเร็วสูง 783,230 ล้านบาท (39%) 2.รถไฟฟ้า 472,448 ล้านบาท ( 24%) 3.รถไฟทางคู่ 403,214 ล้านบาท (20%) 4. ถนน 4 ช่องทาง ซ่อมแซมเส้นทางเดิมเชื่อมประตูการค้า 183,569 ล้านบาท (9%) 5.มอเตอร์เวย์ 91,820 ล้านบาท (5%) 6.สถานีขนส่งสินค้า 14,093 ล้านบาท (1%) 7.ลำน้ำและชายฝั่ง 29,820 ล้านบาท (1%) ด่านศุลกากร 12,545 ล้านบาท (1%) สำหรับเป้าหมายของโครงการนั้น รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงจากปัจจุบันไม่น้อยกว่า 2% (ปัจจุบัน 15.2%)สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคลลดลงจาก 59% เหลือ 40% สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 5% สัดส่วนการเดินทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 30% ปริมาณผู้โดยสารทางรถไฟเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนเที่ยว/ปี เป็น 75 ล้านเที่ยว/ปี ลดระยะเวลาการเดินทางจาก กทม. ไปยังเมืองภูมิภาค ด้วยรถไฟความเร็วสูงภายในรัศมี 300 ก.ม. รอบกรุงเทพมหานคร ในระยะเวลาไม่เกิน 90 นาที จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง เป็นต้น ชัชชาติกล่าวด้วยว่า หลายคนตั้งคำถามว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือไม่ คำตอบคือเราไม่ได้พัฒนาเพียงรถไฟความเร็วสูง แต่เรายังพัฒนาระบบถนนและระบบรางคู่ให้ผู้มีรายได้น้อยได้ใช้ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างรถไฟความเร็วสูงยังกระตุ้นการท่องเที่ยว และกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังจังหวัดต่างๆ ด้วย ในเรื่องของความพร้อม รมว.คมนาคมยอมรับว่าทั้ง 53 โครงการยังไม่พร้อมทั้งหมด เนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นแค่การกำหนดกรอบการใช้เงินคร่าวๆ ภายในระยะเวลา 7 ปี หลายโครงการยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบของโครงการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้เปิดช่องทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามาตรวจสอบ อิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิจัยของทีดีอาร์ไอ นำเสนอกรณีศึกษาผลของการทุจริตโครงการขนาดใหญ่ (Mega project) ที่ประเทศไทยเคยประสบมา ภายใต้โครงการวิจัย "คู่มือประชาชนรู้ทันคอรัปชั่น" โดยกล่าวว่าการทุจริตสามารถเกิดขึ้นได้ใน 3 ขั้นตอนของการดำเนินโครงการได้แก่ 1. ขั้นตอนก่อนดำเนินโครงการ 2.ขั้นตอนการดำเนินโครงการ และ 3.ขั้นตอนหลังการดำเนินโครงการ การทุจริตจากขั้นตอนดังกล่าวทำให้บางโครงการรัฐบาลต้องสูญเงินเป็นจำนวนมหาศาลแต่เอกชนทำไม่ได้ตามคุณภาพ บางโครงการไม่เคยเกิดขึ้น โดยจากการศึกษา 4 กรณี มีมูลค่าความเสียหายทั้งหมดสูงถึง 3.8 หมื่นล้านบาท (1.เงินชดเชยการลงทุนให้แก่คู่สัญญาในโครงการระบบขนส่งมวลชนทางบกบริเวณสถานีหมอชิตเดิม 1.1 พันล้าน 2. โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 2.3 หมื่นล้าน 3.ค่าจัดจ้างต่อเรือขุดหัวสว่าน 2 พันล้าน 4.เงินชดเชยโครงการโฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล้าน) ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ทีมวิจัยทีดีอาร์ไอจึงมีข้อเสนอ 3 ข้อได้แก่ 1. การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างมีคุณภาพและน่าเชื่อถือ เปิดเผยต่อสาธารณะก่อนการอนุมัติของครม.2. การสร้างธรรมาภิบาลในโครงการลงทุน เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง จัดทำ Integrity Pacts หรือสัญญาคุณธรรมระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับเอกชนเพื่อให้ร่วมตรวจสอบ 3. การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 สิริลักษณา คอมันตร์ ได้แสดงความเป็นห่วงต่อโครงการว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงโดยหลักการแล้วเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังมีความน่าเป็นห่วงเรื่องการทุจริต เรามักเข้าใจว่าการทุจริตจะเกิดในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดสเป็กและการฮั้วประมูล แต่ความจริงการทุจริตเกิดขึ้นตลอดขั้นตอนการดำเนินโครงการ โครงการที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบจากกรมชลประทาน มาเป็นสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สอบช.) ซึ่งจัดตั้งโดยรัฐบาล มีคนในรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อเป็นแบบนี้หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเรื่องนี้จึงไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งๆ ที่เป็นงานที่เขาควรรับผิดชอบ เมื่อโครงการสิ้นสุด สอบช. ก็จะมอบหมายงานต่อให้หน่วยงานราชการเดิมกลับไปดูแล นอกจากหน่วยงานราชการจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแล้ว ยังต้องรับงานต่อ ทั้งๆ ที่ตนไม่ได้ทำมาแต่ต้น สุเมธ องกิตติกุลกล่าวว่า การทุจริตจากโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับระบบรางเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก เพราะเรามีประสบการณ์น้อยมากในเรื่องนี้ มีเพียงโฮปเวลล์เป็นบทเรียนเดียวเท่านั้น อีกทั้งโครงการระบบรางมีความสลับซับซ้อนมากกว่าโครงการระบบถนน โครงการระบบรางที่ประเทศไทยเคยทำมามีทั้งสิ้น 3 โครงการได้แก่ 1. โฮปเวลล์ซึ่งเกิดปัญหาจากการทำ สัญญาที่หละหลวม และการไม่มีกฎหมายควบคุม จนทำให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาล 2. รถไฟฟ้าลอยฟ้า (BTS) ที่มีการทำสัญญาที่รัดกุม 3. รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ซึ่งเกิดจากการศึกษาความเป็นไปได้ที่รอบคอบ และการมี พ.ร.บ. ร่วมทุนซึ่งเป็นผลพวงจากกรณีโฮปเวลล์ สุเมธกล่าวว่า เมื่อพูดถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง เราต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในส่วนภูมิภาคควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะพุ่งสูงขึ้น และรัฐบาลยังขาดแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบรางที่มีอยู่เดิม ส่วนเรื่องที่น่าเป็นห่วงของโครงการนี้คือการกำหนดราคากลาง เราเห็นว่าไม่น่าจะกำหนดได้ เพราะแต่ละประเทศก็มีเทคโนโลยีและราคารถไฟความเร็วสูงของตัวเอง รัฐบาลมีตัวเลือกจำกัด การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการไม่มีความเที่ยงตรง จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าต้นทุนเฉลี่ยของโครงการระบบรางสูงกว่าที่มีการศึกษาไว้ถึง 44.7% ปริมาณผู้ใช้บริการจริงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 51.4% สุเมธกล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการระบบรางเป็นโครงการที่มีน้อย ยิ่งมีน้อยเอกชนยิ่งแข่งขันกันเพื่อที่จะเข้ามาลงทุน การติดสินบน และการคอรัปชั่นจึงมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้มาก วิชัย อัศรัสกร กล่าวว่า วันนี้ตนมาในนามขององค์กรต่อต้านคอรัปชั่น เป็นเครือข่ายของภาคเอกชน ประชาสังคม และหน่วยงานราชการกว่า 40 องค์กร ที่ต้องการเห็นประชาชนไม่ยอมรับการคอรัปชั่นในทุกรูปแบบ และขอกล่าวถึงเรื่อง integrity pact ซึ่งเป็นแนวทางที่ต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ใช้ในการตรวจสอบการทุจริต เราเชื่อว่ากระบวนการทุจริตไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตอนประมูลเท่านั้น แต่เกิดขึ้นตั้งแต่การตั้งงบประมาณ ยกร่าง TOR และกำหนดสเป็กแล้ว แต่เหตุที่เราไม่สามารถล่วงรู้การทุจริตรงนั้นได้เพราะที่ผ่านมาเราขาดข้อมูลเชิงลึก แต่องค์กรของเรามีเครือข่ายของภาคเอกชนกว้างขวาง จึงสามารถเห็นการเคลื่อนไหวในวงการการลงทุน และสามารถรู้ได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นที่ตรงไหน หลักการของ integrity pact คือเราจะเปลี่ยนจากการทำสัญญาโครงการ 2 ฝ่ายระหว่างรัฐบาล-เอกชน มาเป็น 3 ฝ่ายโดยเพิ่มฝ่ายผู้ตรวจสอบ (observer) เข้าไปเป็นคนกลางในการทำสัญญา ซึ่งทางองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นจะเป็นผู้สรรหาผู้ตรวจสอบ เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ที่ 100 คน ในขณะนี้เราได้มาแล้ว 30 คน โดยผู้ตรวจสอบเหล่านี้ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ มีประสบการณ์ในการลงทุน มีข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์กับการตรวจสอบ วิชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้ทุกคนมองว่าปัญหาการคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ แต่ให้คิดว่าเรายังไม่ได้ลงมือทำมากกว่า หากเราดูอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้เคยมีการคอรัปชั่นมากกว่าเรา แต่ทุกวันนี้เขาแก้ได้เพราะประชาชนในประเทศเขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง สื่อมวลชนเองก็เป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาล และอยากให้ทุกคนวางใจว่าจะไม่มีการชุลมือเปิบในเรื่องนี้ พวกเราทุกคนเป็นผู้มีชื่อเสียงในแวดวงการลงทุน เราไม่กล้าเอาชื่อเสียงมาเสี่ยงอย่างแน่นอน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก presentation บางส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่นำเสนอในงาน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รำลึก 20 ปีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ ชี้ยังขาดการชดเชย-ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ Posted: 10 May 2013 07:39 AM PDT (10 พ.ค.56) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 11 องค์กรพันธมิตร จัดเวทีสาธารณะเรื่อง บทเรียน 20 ปี โศกนาฎกรรมเคเดอร์: กับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ภายในงาน มีการยืนไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม และตึกถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536
รัศมี ศุภเอม อดีตคนงานเคเดอร์ ซึ่งปัจจุบันรับราชการนิติกรเทศบาล เล่าว่า ขณะเกิดเหตุ ยังเรียนอยู่นิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ปี 2 ตอนนั้นหนีด้วยการกระโดดลงมา ส่งผลให้กระดูกสันหลังหัก ขาทั้งสองข้างขยับไม่ได้ หลังกายภาพบำบัดประมาณ 1 ปี จึงเริ่มเดินได้บ้าง ช่วงนั้นก็หยุดเรียนไปหลายปี เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ก่อนจะกลับไปเรียนอีกครั้งในปี 43 รัศมี เล่าว่า ในช่วงสิบปีแรก มีการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล แต่ค่ารถต้องหาเอง ส่วนประกันสังคม มีการจ่ายให้ปีเดียว ทั้งนี้ เธอถูกวินิจฉัยว่าพิการระดับ 4 ไม่ได้ทุพพลภาพ จึงไม่มีเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เธอรับราชการ จึงมีสิทธิเบิกค่ารักษาได้ แต่ถามว่า ในรายที่ไม่ได้ทำงาน จะมีประกันสังคมหรือค่ารักษาพยาบาลจากไหน จึงอยากให้มีการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องการการรักษาต่อเนื่องด้วย ด้านวรวิทย์ เจริญเลิศ ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กล่าวว่า แม้หลังเกิดโศกนาฏกรรมเคเดอร์ จะมีการต่อสู้จนเกิดเครือข่ายในระดับภูมิภาคและสากลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ซึ่งได้มาบางส่วน เช่น ค่าชดเชยนอกเหนือกฎหมาย และค่าเลี้ยงดูบุตรระหว่างศึกษา เช่น กรณีเคเดอร์ โรงงานลำไยระเบิด แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือ กฎหมายอาชญากรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่จะสามารถนำตัวนายทุนที่กระทำผิดมารับโทษในประเทศ การแก้กฎหมายกองทุนเงินทดแทนโดยเฉพาะบทลงโทษผู้กระทำการละเมิดที่มีโทษหนักขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่าง การชดเชยการสูญเสียรายได้ตลอดชีวิตเพื่อความมั่นคงของครอบครัวคนงานที่เสียชีวิต ให้กองทุนเงินทดแทนมีบทบาทมากขึ้นในการทำงานเชิงป้องกัน รวมทั้งรัฐบาลต้องมีนโยบายระยะยาวในการจัดสวัสดิการเพื่อฟื้นฟูคนงานและครอบครัวผู้ถูกกระทบให้มีความมั่นคงในชีวิต นอกจากนี้ วรวิทย์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน แต่ยังมีช่องว่างระหว่างกฎหมายกับความเป็นจริงในสังคม เช่น ในสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานภายใต้กองทุนเงินทดแทน สิ่งที่ไม่ปรากฏคือ จำนวนคนที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงานโดยเฉพาะการทำงานที่สัมผัสสารเคมี ฝุ่นฝ้าย ฝุ่นหิน ฯลฯ ปีหนึ่งๆ ไม่ถึง 50 คน บางปีไม่มีเลย ทั้งที่ไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมเคมีมา 30 ปีแล้ว น่าสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่มีคนป่วยปรากฏ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนงานไม่ทราบว่าตัวเองป่วย คนงานมีอาการเจ็บป่วยแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงาน และถูกส่งไปใช้สิทธิประกันสังคม หรือหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงาน แต่กลับไม่ได้รับการรับรองการเจ็บป่วยจากคณะกรรมการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น และแม้จะมีความพยายามในส่วนของภาคราชการเพื่อให้เกิดโครงสร้างของการทำงานเชิงป้องกัน เช่น มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) และคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ในโรงงาน แต่ก็ไม่ให้อำนาจที่จะเข้าไปจัดการกับความปลอดภัยในโรงงานอย่างแท้จริง โดยในส่วนของ คปอ. ยังเปิดโอกาสให้นายจ้างเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลสูงในการกำหนดการทำงานของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานด้วย วรวิทย์ กล่าวถึงการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย ซึ่งจะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วยว่า ผู้ใช้แรงงานยังตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระในการทำงานของสถาบันดังกล่าว โดยเฉพาะโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารที่ไม่ได้มาจากการสรรหา การไม่ให้อำนาจสถาบันฯ ในการเข้าไปทำการศึกษา หาข้อมูลความไม่ปลอดภัยในการทำงานในโรงงาน ไม่มีการรับเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ผู้ใช้แรงงาน องค์กรผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบ ควรรวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานให้มากขึ้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ยื่นศาลฎีกา ประกัน ‘สมยศ’ 3 องค์กรต่างประเทศแถลงไม่ให้ประกันขัดกติการะหว่างประเทศ Posted: 10 May 2013 04:34 AM PDT
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.56 ที่ผ่านมา นายวสันต์ พานิช ทนายความของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ได้ยื่นฎีกาเพื่อขอปล่อยชั่วคราวนายสมยศอีกครั้ง หลังถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน นับแต่วันจับกุม และยื่นประกันตัวแล้ว 12 ครั้ง ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ได้ปฏิเสธการปล่อยชั่วคราว เมื่อวันที่ 3 เม.ย.56 โดยให้เหตุผลว่า "พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อหาตามฟ้องเป็นความผิดอาญาร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดีกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยถึง 10 ปี หากปล่อยชั่วคราวไป ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง" สำหรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลฎีกาในครั้งนี้ระบุเหตุผลในการขอปล่อยชั่วคราวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (2) รับรองสิทธิในการรับทราบเหตุผลประกอบคำสั่ง คำวินิจฉัย คำพิพากษาแต่คำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้โต้แย้งเหตุผลที่จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคำพิพากษานั้นขัดรัฐธรรมนูญ จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี รวมทั้งมีโรคประจำตัว ย่อมถือได้ว่าศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งที่แสดงเหตุผลตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่กลับอ้างเหตุผลอื่นๆ คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในคำร้องยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้คำสั่งศาลอุทธรณ์ยังไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (5) ซึ่งบัญญัติให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปตามข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ ซึ่งศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยอ้างเหตุผลว่า คดีนี้พฤติการณ์แห่งคดีกระทบความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเหตุผลดังกล่าวมิได้มีการพิจารณาหรือว่ากล่าวกันในชั้นศาลอาญาหรือศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด หากน่าเกิดขึ้นจากแนวคิดหรือการคาดการณ์ของศาลอุทธรณ์เอง ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่จำเลยอย่างยิ่ง เสมือนหนึ่งศาลอุทธรณ์เป็นผู้กำหนดเองว่า คดีใดมีผลกระทบความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากคดีจำนวนมากที่มีผลกระทบความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารประชาชน แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประหารและจำคุกตลอดชีวิตบรรดาเจ้าหน้าที่ แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังให้ประกันตัว (คดีหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 และหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555) "การกระทำของจำเลยหากศาลพิจารณาและพิพากษาแล้ว คดีของจำเลยย่อมต่างจากคดีอาญาโดยทั่วไป เพราะจำเลยมิได้มีเถยจิตเป็นโจรหรืออาชญากรทางอาญาแต่อย่างใด ในนานาอารยะประเทศย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นนักโทษทางความคิดเท่านั้น จำเลยจึงสมควรได้รับอิสรภาพโดยการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของชั้นอุทธรณ์ต่อไป" คำร้องระบุ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศ 3 แห่งร่วมกันส่งคำแถลงไปยังสำนักงานศาลฏีกา เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นในกรณีการยื่นประกันตัวของสมยศด้วย โดยองค์กรดังกล่าวได้แก่ สหพันธ์ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน (FIDH) เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม (MLDI) และเครือข่ายนักกฎมายสื่อสารมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MD-SEA) คำแถลงดังกล่าวระบุถึง คำสั่งของศาลที่ไม่อนุญาตให้สมยศได้รับการประกันระหว่างต่อสู้คดี ซึ่งขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นภาคี โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับด้านสิทธิมนุษยชน โดยเหตุผลที่ศาลใช้อ้างเกี่ยวกับ "ความร้ายแรงของความผิด" และ "ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน" ไม่ควรถูกนำใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธการประกันตัว และคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวคุณสมยศเป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดยอำเภอใจ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการรับรองข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (กติการะหว่างประเทศ) ว่าด้วยเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพ "FIDH MLDI และ MD-SEA จึงขอแถลงว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ต่อการขอประกันตัวของคุณสมยศนั้น เป็นคำสั่งที่มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการควบคุมตัวและการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งผูกพันประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ศาลได้ละเลยที่จะทบทวนพฤติการณ์ของแต่ละรายบุคคลเป็นสำคัญในอันที่จะพิจารณาถึงมาตรการอื่นแทนการควบคุมตัว อีกทั้งศาลยังอาศัยการคาดเดาและเหตุที่คลุมเครือมาใช้เป็นฐานแห่งการควบคุมตัว ท้ายสุดนี้ เมื่อได้พิจารณาจากความเห็นที่ให้ไว้โดยบรรดาหน่วยงานแห่งสหประชาชาติแล้ว องค์กรร่วมลงนามเชื่อว่าการควบคุมตัวคุณสมยศนั้นเป็นไปโดยอำเภอใจ จึงร้องขอให้ศาลฎีกาของประเทศไทยทบทวนคำสั่งการประกันตัวของศาลอุทธรณ์โดยอาศัยหลักการที่กล่าวไว้ในคำแถลงนี้มาพิจารณาประกอบด้วย" คำแถลงระบุ ทั้งนี้ นายสมยศถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ที่ด่านอรัญประเทศขณะนำลูกทัวร์เดินทางไปประเทศกัมพูชา หลังถูกจับกุมตัวนายสมยศถูกนำไปฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เขาถูกฟ้องในฐานะบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Thaksin) ซึ่งตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้น อันอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเขา 10 ปี รวมกับคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตรอีก 1 ปี รวม 11 ปี (รายละเอียดคดีและบันทึกสังเกตการณ์คดี อ่านได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/61#detail )
อ่านรายละเอียดด้านล่าง ==========================================
ยื่นต่อศาลฎีกาแห่งราชอาณาจักรไทยสังเกตการณ์โดยสหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม และเครือข่ายนักกฎหมายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 พฤษภาคม 2556 ซูเฮร์ย เบลฮัซเซน ประธาน สหพันธ์ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
ปีเตอร์ นูแลนเดอร์ ผู้บริหารสูงสุด เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม
เอช. อาร์. ดิเพ็นดร้า ผู้อานวยการ เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1. บทนำ
2. องค์กรร่วมลงนามและความสนใจ นอกจากนี้ FIDH ยังได้รวมสมาชิกไว้หลายท่านรวมถึง คุณชิริน อีบาดิ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านสันติภาพ คุณแอสมา จาฮานเกอร์ อดีตผู้เสนอรายงานพิเศษด้านเสรีภาพทางศาสนาแห่งสหประชาชาติ คุณอาร์โนลด์ ซุท์งก้า ผู้ได้รับรางวัลมาร์ติน เอนนาลส์ คุณดริส เอล ยาสะมิ ประธานสภาสิทธิมนุษยชนแห่งโมร็อกโก และคุณโอลิเวอร์ ดิ ชุทเตอร์ ผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสิทธิในด้านอาหารแห่งสหประชาชาติ เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม (MLDI) MLDI ได้ทำงานทั่วโลกเพื่อปกป้องสิทธิทางกฎหมายของนักข่าวและสื่อมวลชน พันธกิจขององค์กรเป็นไปเพื่อรับรองให้บรรยากาศทางกฎหมายของสื่อมวลชนเป็นไปตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเพื่อรับรองให้นักข่าวและสื่อมวลชนได้รับการปกป้องตามกฎหมายเมื่อใช้เสรีภาพในการแสดงออก MLDI มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน อีกทั้งมีเครือข่ายทางด้านสื่อมวลชนและนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียน MLDI ได้รวมบุคคลอย่าง คุณพาราม คัมมาราซวามมี่ ซึ่งเป็นอดีตผู้เสนอรายงานพิเศษด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและนักกฎหมายแห่งสหประชาชาติ คุณฮินา จินาลิ ผู้แทนพิเศษด้านนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนแห่งเลขาธิการสหประชาชาติ คุณมากาเร็ต เซแก็กยา ผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสถานการณ์ของนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และคุณโซลี โซรับจี อดีตอัยการสูงสุดของประเทศอินเดีย ไว้ในเหล่าผู้ให้การอุปถัมภ์ นอกจากนี้ MLDI ยังได้รับคำแนะนาจากคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศอันประกอบไปด้วยนักข่าวที่โดดเด่นและนักกฎหมายจากทั่วโลก เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียใต้ (MD-SEA) MD-SEA เป็นองค์กรเอกชนระดับภูมิภาค ประกอบไปด้วยนักกฎหมาย นักข่าว และนักกิจกรรมด้านสื่อจากทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้รวมถึงนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮ่อง มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัยมาลายา มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ MD-SEA ให้ความสนใจต่อการปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่นักข่าวและองค์กรสื่อ ช่วยสนับสนุนในการจัดฝึกอบรมกฎหมายด้านสื่อ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล วิธีการว่าความ และยุทธศาสตร์แก่นักกฎหมายที่ทางานคดีด้านเสรีภาพของสื่อ บรรดาสมาชิกของ MD-SEA นั้นรวมถึง รองศาสตราจารย์ดอรีน เวย์เซ็นฮอส จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ศาสตราจารย์แฮรี่ ร็อคเก้ จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และศาสตราจารย์แจ็ค ลี จากมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงค์โปร์ ความสนในของ FIDH MLDI และ MD-SEA ในการยื่นคาแถลงครั้งนี้ องค์กรร่วมลงนามนั้นต้องการแน่ใจว่า การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกนั้นเป็นไปโดยสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวคือ การจำกัดเสรีภาพนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ โดยกฎหมายนั้นจะต้องชัดเจน มีการบังคับใช้ที่สามารถคาดการณ์ได้ และเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย หากกล่าวโดยเจาะจงแล้ว กฎหมายควรกำหนดเฉพาะแต่ข้อจำกัดที่ได้สัดส่วนและเท่าที่จำเป็นอย่างเคร่งครัดต่อสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศนั้น รัฐสามารถกำหนดข้อจำกัดต่อการปราศรัยทางการเมืองเป็นกฎหมายอาญาได้เฉพาะในกรณีที่ถึงขนาดเท่านั้น และเมื่อรัฐตัดสินใจที่จะทำเช่นว่านั้นแล้ว สารบัญญัติและวิธีสบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวต้องได้รับการตีความโดยเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยประการใด ควรยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยนั้นให้จำเลย ทั้งนี้เป็นไปตาม lenity doctrine (in dubio pro reo) ที่ว่าการตีความบทบัญญัติที่คลุมเครือของศาลควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลย บทบัญญัติหรือกฎหมายที่คลุมเครือดังกล่าวควรอนุมานไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่จำเลย เมื่อปรากฏว่าข้อจำกัดต่อเสรีภาพการแสดงออกภายใต้กฎหมายอาญาเป็นเหตุแห่งการลิดรอนสิทธิในเสรีภาพด้วยแล้ว องค์กรร่วมลงนามจึงต้องการที่จะมั่นใจว่าการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ องค์กรร่วมลงนามมีความกังวลว่า คำสั่งต่อการประกันตัวล่าสุดในคดีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขนั้นเป็นไป โดยไม่สอดคล้องกับกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับใช้กับประเทศไทย การยื่นคำแถลงครั้งนี้เป็นไปเพื่อแจ้งต่อศาลถึงมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังที่ว่าศาลจะนำมาตรฐานดังที่จะกล่าวมาพิเคราะห์สำหรับคดีนี้ในคราวต่อไป
3. ความเป็นมาและประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขถูกควบคุมตัวมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว โดยเริ่มถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 คุณสมยศถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่ากระทาความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ สองกรรม โดยการตีพิมพ์บทความสองชิ้นลงในนิตยาสาร Voice of Taksin ในปี 2550 วันที่ 1 เมษายน 2556 คุณสมยศยื่นอุทธรณ์คาตัดสินของศาลชั้นต้นและในวันเดียวกัน คุณสมยศยังได้ยื่นคาขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 14 แต่ถูกศาลอุทธรณ์ปฏิเสธคาขอไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลในคำสั่งไม่อนุญาตตามคำขอว่า "พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อหาตามฟ้องเป็นความผิดอาญาร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดีกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกถึง 10 ปี หากปล่อยชั่วคราวไปไม่น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง แจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยทราบโดยเร็ว" (1) FIDH MLDI และ MD-SEA ขอแถลงด้วยความเคารพว่า ศาลไทยยังมิได้พิเคราะห์คาร้องขอประกันโดยอาศัยกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้บังคับกับประเทศไทยอย่างเหมาะสม องค์กรร่วมลงนามจึงขอเสนอต่อศาลประเด็นดังต่อไปนี้ ก. ศาลต้องพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งหมดเป็นสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งคาสั่งที่รับฟังได้ในการปล่อยตัวชั่วคราว ข. การอ้างซ้ำถึง "ความร้ายแรงของความผิด" และ "ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน" ไม่ควรถูกนำใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธการประกันตัว ค. คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวคุณสมยศเป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดยอำเภอใจ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการรับรองข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (กติการะหว่างประเทศ) ว่าด้วยเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพ
4. คำอภิปราย ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 (2) ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาจากกฎหมายระหว่างประเทศ กติการะหว่างประเทศ(3) และมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว (4) ประเทศไทยย่อมต้องปฏิบัติตามข้อบทต่างๆ ภายใต้กติการะหว่างประเทศ อีกทั้งต้องประกันและคุ้มครองสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในนั้นด้วย ในฐานะองค์กรของรัฐไทย การกระทำของตุลาการไทยย่อมถือว่าเป็นการกระทำของราชอาณาจักรไทยเช่นกัน ดังที่คณะกรรมการกฎหมายระหว่างประเทศได้เคยกล่าวไว้ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้อ้างถึงเช่นกันในความเห็นต่อกรณีข้อแตกต่างที่เกี่ยวเนื่องกับความคุ้มกันจากกระบวนการทางกฎหมายของผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า: ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ การดำเนินการขององค์กรของรัฐจะได้รับการพิจารณาเสมือนว่าเป็นการกระทำของรัฐนั้นเอง ไม่ว่าองค์กรดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ หรืออำนาจอื่นใด ไม่ว่าการปฏิบัติหน้าที่นั้นจะเป็นไปในทางระหว่างประเทศหรือในประเทศ และไม่ว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชาขององค์กรนั้น (หนังสือปีของคณะกรรมการกฎหมายระหว่างประเทศ, 2486, เล่ม 2, หน้า 193) (5) ดังนี้ ศาลไทยจึงมีหน้าที่ผูกพันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในอันที่จะต้องรับรองว่า สิทธิต่างๆ ที่ระบุไว้ภายใต้กติการะหว่างประเทศจะได้รับประกันและคุ้มครองในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตน ข้อบทที่ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศรับรองว่าบุคคลทุกคนที่ถูกตั้งข้อหาอาญา ย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ส่วนข้อบทที่ 9 แห่งกติการะหว่างประเทศระบุให้บุคคลทุกคน "มีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย... บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนไม่ได้ เว้นแต่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย" ในส่วนของการเติมเต็มพันธกรณีภายใต้มาตรฐานระหว่างประเทศและกติการะหว่างประเทศนั้น มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ระบุให้บุคคลทุกคนซึ่งถูกตั้งข้อหาทางอาญาได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่า "มีคาพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด" และยิ่งไปกว่านั้นก่อนที่จะมีคาพิพากษา "จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้" นอกจากการรับรองสิทธิของผู้ต้องหาในอันที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามมาตรา 39 แล้ว มาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญยังให้สิทธิผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอคำพิพากษาของคดี ก.ศาลต้องพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งหมดเป็นสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสั่งที่รับฟังได้ในการปล่อยตัวชั่วคราว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (คณะกรรมการ) ซึ่งมีพันธกิจในการตีความและตรวจดูกระบวนการอนุวัติการของกติการะหว่างประเทศ ได้กล่าวล่าสุดไว้ในความเห็นทั่วไปข้อที่ 35 ว่า "การควบคุมตัวบุคคลใดไว้ในการคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีนั้น ต้องเป็นเพียงข้อยกเว้นแทนที่จะเป็นหลัก" เมื่อดูจากการที่คณะกรรมการอภิปรายถึงมาตรฐานของการควบคุมตัวก่อนการพิจารณา เช่น สำหรับผู้ต้องหาที่รอการพิสูจน์ความผิด เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้ระบุให้ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหานั้นดำรงอยู่ตลอดกระบวนการตุลาการและกระบวนการในชั้นอุทธรณ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดเช่นกัน ดังนั้นสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและมาตรฐานต่างๆ ที่รัฐสามารถใช้ลิดรอนเสรีภาพของผู้ต้องหา (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป) ย่อมมีอยู่ตลอดสายกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ความเห็นทั่วไปข้อที่ 35 ของคณะกรรมการได้วางกรอบของมาตรฐานไว้สาหรับการพิจารณาดังนี้ (6) ในการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณา [หรือก่อนมีคำพิพากษา] การทำคำสั่งต้องเกิดจากการตัดสินใจเป็นเฉพาะรายบุคคลไป ว่าการควบคุมตัวมีความพอสมควรแก่เหตุและจำเป็นแห่งพฤติการณ์หรือไม่ เช่น การควบคุมตัวเป็นไปเพื่อป้องกันการต่อสู้ ป้องกันการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือป้องกันการกระทำความผิดซ้ำอีก เหตุที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ควรบัญญัติไว้ในกฎหมายและไม่ควรมีมาตรฐานที่คลุมเครือหรือกว้างเกินไปเช่นคำว่า "ความมั่นคงต่อสาธารณะ" การควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างที่มีการพิสูจน์ความผิด] ไม่ควรเป็นบทบังคับสำหรับจำเลยที่ถูกตั้งข้อหาในความผิดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์เป็นรายบุคคล อีกทั้งคำสั่งให้ควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างเป็นผู้บริสุทธิ์] สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้น ไม่ควรถูกกำหนดโดยอาศัยความเป็นไปได้ของโทษที่จำเลยน่าจะได้รับสำหรับความผิดที่ถูกกล่าวหา หากแต่ควรคำนึงในเรื่องของความจำเป็นแทน คณะกรรมการยังได้ชี้แจงต่อไปว่า ในคดีของบุคคลแต่ละรายนั้น ศาลควรตรวจดูว่ามีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการควบคุมตัวหรือไม่ เช่น การให้ประกันตัว การใส่ข้อมือไฟฟ้า หรือการกำหนดเงื่อนไขอย่างอื่นเพื่อให้หมดความจำเป็นที่จะควบคุมตัวสาหรับบางกรณี (7) สุดท้ายนี้ คณะกรรมการได้กล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนคำสั่งที่ให้ไว้เบื้องต้นเกี่ยวกับการควบคุมตัวระหว่างการพิสูจน์ความผิดอย่างสม่ำเสมอ(8) หลังจากที่ได้มีการทำคำสั่งเบื้องต้นไปแล้วว่าการควบคุมตัวนั้นจำเป็น ควรที่จะมีการทบทวนคำสั่งเป็นช่วงๆ ว่ายังคงมีเหตุอันควรและความจำเป็นที่จะควบคุมตัวต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อพิจารณาถึงมาตรการอื่นที่เป็นไปได้ คณะกรรมการได้รับรองไว้อีกหลายครั้งว่า การลิดรอนเสรีภาพนั้นควรเป็นเพียงข้อยกเว้นตามที่กำหนดภายใต้ข้อบทที่ 9(3) แห่งกติการะหว่างประเทศ และคณะกรรมการได้กล่าวไว้ในความเห็นทั่วไปข้อที่ 8 ว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหานั้น "ควรเป็นเพียงข้อยกเว้นและสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"(9) นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้กล่าวย้ำจุดยืนดังกล่าวอย่างเป็นต่อเนื่องทั้งในความเห็น(10)และข้อสังเกตเชิงสรุป(11) โดยในข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศอาร์เจนตินา คณะกรรมการได้ย้ำว่าการควบคุมตัวนั้นควรเป็นเพียงข้อยกเว้น และได้เน้นกับศาลให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการอื่น: (12) รัฐภาคีควรใช้มาตรการอื่นโดยไม่ชักช้าเพื่อลดจำนวนบุคคลที่ถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณา โดยเพิ่มการใช้มาตรการเชิงป้องกันอย่างอื่นแทน มีการให้ประกันตัวหรือการใช้ข้อมือไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการได้กล่าวย้ำว่า การควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์] ไม่ควรนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติ หากแต่ควรใช้เป็นมาตรการยกเว้นอย่างจำเป็นเท่าที่สอดคล้องกับกระบวนการและวิถีทางตามกฎหมาย และสอดคล้องกับข้อบทที่ 9 ย่อหน้าที่ 3 แห่งกติการะหว่างประเทศ การควบคุมตัวก่อนการพิจารณาไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นบทบังคับไม่ว่าสำหรับฐานความผิดใดก็ตาม คณะกรรมการยังได้กำหนดว่า เงื่อนไขอื่นๆ สำหรับการควบคุมตัวควรต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย (13) และแม้ว่าการจับกุมและการควบคุมตัวจะชอบด้วยกฎหมายก็ตาม การควบคุมตัวนั้นยังคงต้องมีเหตุอันควรและเป็นไปโดยเท่าที่จำเป็นต่อพฤติการณ์ของแต่ละรายบุคคล มิเช่นนั้นแล้ว การควบคุมตัวดังกล่าวอาจเข้าข่ายว่าเป็นการกระทำโดยอำเภอใจ คณะกรรมการได้กล่าวไว้ในคดีระหว่าง ฮิวโก้ แวน แอลเพ็น และ ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่า: (14) ที่มาของการร่างข้อบทที่ 9 ย่อหน้าที่ 1 รับรองว่า "การกระทาโดยอำเภอใจ" ไม่ถือว่า "ขัดต่อกฎหมาย" แต่ต้องตีความกว้างกว่านั้นเพื่อรวมองค์ประกอบแห่งความไม่เหมาะสม ความอยุติธรรม และการขาดซึ่งการคาดการณ์ได้ ทั้งนี้หมายความว่า การคุมขังระหว่างพิจารณาตามการจับกุมที่ชอบด้วยกฎหมายจะชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีเหตุอันสมควรในทุกพฤติการณ์ กรณีจึงชัดแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์มิได้นำพฤติการณ์ของแต่ละรายบุคคลมาพิจารณาในการให้เหตุผล การที่ศาลกล่าวถึงแต่หลักทั่วไป เช่น ความร้ายแรงของความผิด โทษที่ได้รับ และ "ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน" (เหตุผลที่ไม่น่ามีบทบาทต่อการทำคำสั่งการควบคุมตัวผู้ต้องหาซึ่งจะได้กล่าวในส่วนถัดไป) และไม่พิจารณาถึงมาตรการอื่น ศาลได้ละเลยที่จะนำเอามาตรฐานที่เหมาะสมตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกติการะหว่างประเทศมาปรับใช้ ดังนั้น ถือว่าศาลได้ทำคำสั่งออกมาโดยอำเภอใจและละเมิดพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ โดยเฉพาะในข้อบทที่ 9 และ 14 โดยการปฏิเสธคำขอประกันตัวของคุณสมยศตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ข. การอ้างซ้ำถึง "ความร้ายแรงของความผิด" และ "ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน" ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธการประกันตัว องค์กรร่วมลงนามขอถือโอกาสกล่าวซ้ำคำพูดบางส่วนของคณะกรรมการว่า: (15) เหตุที่เกี่ยวข้อง [สำหรับการควบคุมตัวผู้ต้องหา] ควรบัญญัติไว้ในกฎหมายและไม่ควรมีมาตรฐานที่คลุมเครือและกว้างเกินไปเช่นคำว่า "ความมั่นคงต่อสาธารณะ" การควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างที่มีการพิสูจน์ความผิด] ไม่ควรเป็นบทบังคับสำหรับจำเลยที่ถูกตั้งข้อหาในความผิดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์เป็นรายบุคคล อีกทั้งคำสั่งให้ควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างเป็นผู้บริสุทธิ์] สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้นไม่ควรถูกกำหนดโดยอาศัยความเป็นไปได้ของโทษที่จำเลยน่าจะได้รับสำหรับความผิดที่ถูกกล่าวหา หากแต่ควรคำนึงในเรื่องของความจำเป็นแทน กล่าวโดยสั้นแล้ว ประโยคข้างต้นหมายถึง (1) ขอบเขตที่ใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาและเหตุในการปล่อยตัวโดยประกันระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาควรบัญญัติไว้ในกฎหมาย (2) ประเภทของความผิดที่จำเลยกำลังถูกดำเนินคดีไม่สามารถใช้เป็นเพียงเหตุปัจจัยเดียวในการทำคำสั่งการควบคุมตัว ข้อพิจารณา (1): บัญญัติไว้ในกฎหมาย คำกล่าวที่ว่า ขอบเขตของฐานในการทำคำสั่งเกี่ยวกับการควบคุมตัวระหว่ารอคำพิพากษาจนถึงที่สุดนั้นควรบัญญัติไว้ในกฎหมาย หมายถึง ศาลควรจำกัดการพิเคราะห์เหตุต่างๆ เท่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีเป็นที่ชัดแจ้งตามมาตรา 108/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยว่า ศาลไทยจะปฏิเสธคาขอประกันตัวได้เมื่อมีเหตุตามที่กำหนดไว้ กล่าวคือ เสี่ยงว่าจำเลยจะหลบหนี จำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จำเลยจะไปก่อเหตุอันตราย จำเลยมีหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเหตุผลด้านความปลอดภัยหากการปล่อยชั่วคราวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดี คณะกรรมการได้แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องไว้ในข้อสังเกตเชิงสรุป เมื่อปรากฏว่ารัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศทำการชี้แจงเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยอาศัยเหตุอื่นนอกเหนือไปจากเหตุที่บัญญัติไว้อย่างมั่นคงเหมาะสมตามกฎหมาย(16) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความเห็นในข้อสังเกตเชิงสรุปที่คณะกรรมการให้ไว้ต่อประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โดยก่อนหน้านี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132(d) ของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนานั้น อนุญาตให้รัฐควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อนมีการพิจารณาได้ หากความผิดที่ผู้ต้องสงสัยถูกกล่าวหานั้นสามารถลงโทษได้มากกว่า 10 ปีขึ้นไป และตราบเท่าที่ศาลเห็นว่า "ลักษณะของการกระทำความผิดและผลกระทบของความผิดอาญานั้น จำเป็นต้องสั่งให้มีการควบคุมตัวเพื่อเหตุแห่งความมั่นคงต่อสาธารณะหรือทรัพย์สิน" ถึงแม้ว่าในเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเพิ่งประสบกับสงครามเชื้อชาติ วิกฤติทางสังคมและการเมือง เหตุการณ์ที่ว่าผู้กระทำความผิดกับเหยื่อในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ความรุนแรงทางเพศ และอาชญากรรมสงครามอื่นๆ ต้องอยู่ร่วมในชุมชนเดียวกัน มีการข่มขู่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มีอาชญากรรมจากความเกลียดชัง และมีอาชญากรรมองค์การเกิดขึ้น แต่คณะกรรมการยังคงกล่าวว่า ศาลไม่ควรให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงต่อสาธารณะมาเป็นเหตุในการปฏิเสธการให้ประกันตัวของผู้ต้องหาหรือผู้ที่กำลังถูกพิจารณาคดีสำหรับความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม (17) คณะกรรมการแนะว่า ไม่มีสถานการณ์ใดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่จะไปถึงระดับที่เรียกว่าภัยอย่างแท้จริงต่อความสงบเรียบร้อย จนถึงขนาดจำเป็นต้องอนุญาตให้ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวโดยอาศัยเหตุแห่งความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงต่อสาธารณะ อีกทั้งคณะกรรมการยังแนะว่า ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาควรตัดเหตุแห่งความสงบเรียบร้อยออกจากฐานการพิจารณาการควบคุมตัว ดังที่ได้กล่าวข้างต้น การอ้างถึงศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชนมาเป็นเหตุในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวจึงเป็นปัญหาในสองแง่ ประการแรก กล่าวคือ เหตุดังกล่าวประเทศไทยไม่ได้บัญญัติไว้ภายใต้กฎหมาย ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายที่ว่า "ต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย" ประการที่สอง ถึงแม้ว่าจะมีการบัญญัติเหตุดังกล่าวไว้เป็นกฎหมายก็ตาม การใช้ถ้อยคำที่คลุมเครืออย่างเช่น "ศีลธรรมอันดี" หรือ "ความรู้สึกของประชาชน" ไม่ถือว่าเพียงพอที่จะเข้าขอบเขตตามที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้สำหรับคำว่า "บัญญัติไว้ในกฎหมาย" เมื่อมีการลิดรอนเสรีภาพเกิดขึ้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะจะดำรงอยู่ และการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต้องสามารถที่จะคาดการณ์ได้ ยิ่งไปกว่านี้ คาสั่งของศาลไม่ได้พูดถึงเหตุที่ให้ไว้ว่า การปล่อยตัวคุณสมยศจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงสาธารณะหรือทรัพย์สินอย่างไร ศาลเพียงแต่กล่าวลอยๆ ว่า การปล่อยตัวคุณสมยศอาจกระทบต่อ "ศีลธรรมอันดี" และ "ความรู้สึก" ของประชาชน อย่างไรก็ดี แม้ว่าการปล่อยตัวคุณสมยศจะก่อให้เกิดภัยอย่างแท้จริงต่อสาธารณะ การอ้างถึงความสงบเรียบร้อยก็ไม่อาจสร้างความชอบธรรมต่อการควบคุมตัวคุณสมยศได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตามที่คณะกรรมได้กล่าวไว้ในช่วงภาวะสงครามของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาว่า หลักดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงความคลุมเครือของคำว่า "ศีลธรรมอันดี" และ"ความรู้สึก" หากมีการใช้ถ้อยคำเช่นว่า "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" อย่างเป็นประจำแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการควบคุมตัวโดยอำเภอใจได้มาก (18) ข้อพิจารณา (2): การควบคุมตัวต้องไม่เป็นบทบังคับ หากคำสั่งให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาเกิดขึ้นโดยพิจารณาแต่เพียงประเภทของฐานความผิดที่จำเลยถูกตั้งข้อหาโดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์อย่างอื่นของแต่ละรายบุคคลด้วยแล้ว ย่อมถือว่ารัฐภาคีนั้นละเมิดพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ คณะกรรมการได้กล่าวถึงกรณีนี้ไว้อย่างชัดเจนในความเห็นทั่วไปข้อที่ 35 (19) และในข้อสังเกตเชิงสรุปอีกหลายโอกาส ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการได้เคยแสดงความกังวลในข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศโบลิเวีย ด้วยเหตุว่า ไม่เคยมีการให้ประกันตัวแก่บุคคลซึ่งถูกตั้งข้อหาด้วยความผิดที่มีโทษจาคุกตั้งแต่ 2 ปีหรือมากกว่านั้น(20) และก่อนหน้านี้ คณะกรรมการยังกล่าวในข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศอาร์เจนตินาว่า(21) เมื่อการควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวของผู้ต้องหา] ถูกกำหนดขึ้นโดยอ้างถึงระยะเวลาของโทษที่ผู้ต้องหาน่าจะได้รับหลังคำพิพากษาแทนที่จะพิจารณาถึงความจำเป็นในการนำผู้ถูกควบคุมมาปรากฏตัวต่อหน้าศาล คณะกรรมการได้เน้นย้ำว่า การกำหนดการควบคุมตัวกรณีดังกล่าวไม่ควรนามาใช้เป็นหลัก แต่ควรนำมาใช้เป็นเพียงข้อยกเว้นหากการควบคุมตัวนั้นเข้าข่ายกรณีจำเป็น เป็นไปโดยสอดคล้องกับกระบวนการและวิถีทางตามกฎหมาย และสอดคล้องกับข้อบทที่ 9(3) แห่งกติการะหว่างประเทศ ในทำนองที่คล้ายกัน คณะกรรมการได้เคยแสดงความกังวลในข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศศรีลังกาเกี่ยวกับบทบัญญัติภายใต้พระราชบัญญัติการป้องกันการก่อการร้ายของประเทศที่ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหามีโอกาสโต้แย้งคำสั่งการควบคุมตัว (22) กล่าวโดยสรุปแล้ว คณะกรรมการมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ลำพังลักษณะความผิดของข้อหาที่จำเลยถูกตั้งนั้น (หรือระยะเวลาของโทษที่จำเลยน่าจะได้รับเมื่อถูกพิพากษาว่ามีความผิด) ไม่สามารถนำมาใช้เป็นฐานของการพิจารณาการให้ประกันตัวได้ ดังนี้ คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อ้างถึงความร้ายแรงของความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มาเป็นปัจจัยหลักในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวจึงไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ ค. คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวคุณสมยศเป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดยอำเภอใจ อันเป็นผลมาจากการรับรองข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพ กระบวนการที่ได้ดำเนินต่อคุณสมยศนั้น ไม่เข้าหลักในอันที่จะกำหนดการใช้สิทธิโดยสันติวิธีให้เป็นความผิดอาญาตามที่กติการะหว่างประเทศรับรองไว้ สิทธิในอันที่จะแสดงความคิดเห็นทั่วไปได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อบทที่ 19 แห่งปฏิญญาสากล และข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศ คณะกรรมการได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในความเห็นทั่วไปสำหรับข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่า "ภายใต้สถานการณ์ที่มีการปราศรัยในที่สาธารณะ เกี่ยวกับบุคคลสาธารณะในแวดวงการเมือและหน่วยงานสาธารณะ กติการะหว่างประเทศจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากหากการแสดงออกนั้นถูกปิดกั้น ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าลักษณะของการแสดงออกดังกล่าวเป็นไปในเชิงหมิ่นประมาทบุคลคลสาธารณะยังไม่เพียงพอที่จะให้ความชอบธรรมต่อการระวางโทษได้ แม้บุคคลสาธารณะที่ถูกกล่าวถึงอาจได้รับความคุ้มครองภายใต้ข้อบทแห่งกติการะหว่างประเทศเช่นกัน"(23) คณะทำงานด้านการควบคุมตัวโดยอำเภอใจแห่งสหประชาชาติ(24) สรุปในความเห็นต่อกรณีคุณสมยศว่า การควบคุมตัวคุณสมยศเป็นการควบคุมตัวที่เป็นไปโดยอำเภอใจและขัดต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ด้วยเหตุผลดังกล่าว การควบคุมตัวของคุณสมยศระหว่างอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าคุณสมยศจะต้องคาพิพากษาและลงโทษโดยศาลชั้นต้นแล้วหรือไม่ก็ตาม
5. บทสรุป FIDH MLDI และ MD-SEA จึงขอแถลงว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ต่อการขอประกันตัวของคุณสมยศนั้น เป็นคำสั่งที่มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการควบคุมตัวและการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งผูกพันประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ศาลได้ละเลยที่จะทบทวนพฤติการณ์ของแต่ละรายบุคคลเป็นสำคัญในอันที่จะพิจารณาถึงมาตรการอื่นแทนการควบคุมตัว อีกทั้งศาลยังอาศัยการคาดเดาและเหตุที่คลุมเครือมาใช้เป็นฐานแห่งการควบคุมตัว ท้ายสุดนี้ เมื่อได้พิจารณาจากความเห็นที่ให้ไว้โดยบรรดาหน่วยงานแห่งสหประชาชาติแล้ว องค์กรร่วมลงนามเชื่อว่าการควบคุมตัวคุณสมยศนั้นเป็นไปโดยอำเภอใจ ด้วยเหตุดังกล่าว FIDH MLDI และ MD-SEA จึงร้องขอให้ศาลฎีกาของประเทศไทยทบทวนคำสั่งการประกันตัวของศาลอุทธรณ์โดยอาศัยหลักการที่กล่าวไว้ในคำแถลงนี้มาพิจารณาประกอบด้วย
เชิงอรรถ (1) ศาลอุทธรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย, 1 เมษายน 2556, คดีแดงหมายเลขที่ อ.272/2556 (2) ประเทศไทยภาคยานุวัติกติกาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 ดู http://treaties.un.org/Pages/ViewDetails.aspx?src=TREATY&mtdsg_no=IV-4&chapter=4&lang=en. (3) ข้อบทที่ 2 แห่งกติการะหว่างประเทศ: (1) รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติการะหว่างประเทศรับที่จะเคารพและประกันแก่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงภายในดินแดนของตนและภายใต้เขตอำนาจของตนในสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ (2) ในกรณีที่ยังไม่มีมาตรการทางนิติบัญญัติ หรือมาตรการอื่นใด รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของตนและบทบัญญัติแห่งกติกานี้เพื่อให้มีมาตรการทางนิติบัญญัติหรือมาตรการอื่นใดที่อาจจำเป็นเพื่อให้สิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้เป็นผล (4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 (2006) [ประเทศไทย], พ.ศ. 2549 (2006), สามารถดูได้ที่: http://www.refworld.org/docid/46b326e42.html (5) ข้อแตกต่างที่เกี่ยวเนื่องกับความคุ้มกันจากกระบวนการทางกฎหมายของผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, ความเห็นทางกฎหมาย, รายงาน ICJ 2542, หน้า 87, ย่อหน้า (6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ร่างความเห็นทั่วไปข้อที่ 35, ข้อบทที่ 9: เสรีภาพและความปลอดภัยในร่างกายของบุคคล, 28 มกราคม 2556 (7) อ้างแล้ว (8) อ้างแล้ว (9) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ความเห็นทั่วไปข้อที่ 8, สิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยในร่างกายของบุคคล (ข้อบทที่ 9), 30 มิถุนายน 2525, ย่อหน้าที่ 3 (10) โปรดดู คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในคดีระหว่าง ฮิล และ ประเทศสเปน, Communication No. 526/1993, 2 เมษายน 2540, CCPR/C/59/D/526/1993, ย่อหน้าที่ 12.3; ในดคีระหว่าง W.B.E. และ ประเทศเนเธอร์แลนด์ Communication No. 432/1990, 23 ตุลาคม 2535, CCPR/C/46/432/1990, ย่อหน้าที่ 6.3 (11) ข้อสังเกตเชิงสรุปจากประเทศเอลซัลวาดอร์, 18 พฤศจิกายน 2553, CCPR/C/SLV/CO/6, ย่อหน้าที่ 15 (12) ข้อสังเกตเชิงสรุปจากประเทศอาร์เจนตินา, 31 มีนาคม 2553, CCPR/C/ARG/CP/4, ย่อหน้าที่ 16 (13) โปรดดู คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ความเห็นทั่วไปข้อที่ 35 , ย่อหน้าที่ 39, อ้างซ้ำ (14) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในคดีระหว่าง ฮิวโก้ แวน อัลเพ็น และ ประเทศเนเธอร์แลนด์, Communication No. 305/1988, 23 กรกฎาคม 2533, CCPR/C/39/D/305/1988 (15) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ความเห็นทั่วไปข้อที่ 35, ย่อหน้าที่ 39, อ้างซ้ำ (16) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อเสังเกตเชิงสรุปสาหรับสาธารณรัฐเกาหลี, 27 สิงหาคม 2544, CCPR/CO/72/PRK, ย่อหน้าที่ 18; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศเซเนกัล, ๅต พฤศจิกายน 2540, CCPR/C/79/Add.82, ย่อหน้าที่ 14; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศอาร์เมเนีย, 19 พฤศจิกายน 2541, CCPR/C/79/Add.100, ย่อหน้าที่ 11; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศคีร์กีซฐาน, 24 กรกฎาคม 2543, CCPR/CP/69/KGZ, ย่อหน้าที่ 9 (17) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับสาธารณรัฐเกาหลี, 27 สิงหาคม 2544, CCPR/CO/72/PRK, ย่อหน้าที่ 18; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศเซเนกัล, 19 พฤศจิกายน 2540, CCPR/C/79/Add.82, ย่อหน้าที่ 14; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศอาร์เมเนีย, 19 พฤศจิกายน 2541, CCPR/C/79/Add.100, ย่อหน้าที่ 11; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศคีร์กีซฐาน, 24 กรกฎาคม 2543, CCPR/CP/69/KGZ, ย่อหน้าที่ 9 (19) ดูอ้างอิงที่ 15 และคาบรรยายประกอบ (20) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศโบลิเวีย, 1 พฤษภาคม 2550, CCPR/C/79/Add.74, ย่อหน้าที่ 18 (21) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศอาร์เจนตินา, 3 พฤศจิกายน 2543, CCPR/CO/70/ARG, ย่อหน้าที่ 10 (22) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศศรีลังกา, 1 ธันวาคม 2546, CCPR/CO/79/LKA, ย่อหน้าที่ 13 (23) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ความเห็นทั่วไปข้อที่ 34 'ข้อบทที่ 19: เสรีภาพในความเห็นและการแสดงออก', 12 กันยายน 2554, CCPR/C/GC/34, ย่อหน้าที่ 38 (24) คณะทางานด้านการควบคุมโดยอำเภอใจแห่งสหประชาชาติ, ยกความเห็นโดยคณะทางานด้านการควบคุมตัวโดยอำเภอใจในวาระที่ 64, 27-31 สิงหาคม 2555, No. 35/2012 (ประเทศไทย), 15 มิถุนายน 2555, A/HRC/WGAD/2012/35, ย่อหน้าที่ 25-28
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสทช.หาโมเดลกำกับสื่อ-นักวิชาการสื่อแนะต้องยอมให้มีเนื้อหาที่ไม่ถูกใจ Posted: 10 May 2013 04:31 AM PDT (9 พ.ค.56) สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "กลไก Self-Censorship/Self-Regulation" จัดโดย กสทช.ที่ โรงแรมเดอะสุโกศล ว่า กฎหมายออกแบบให้ กสทช. ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ ด้านการกำกับดูแลในกฎหมายแบ่งเป็นสองส่วนสำคัญ คือ การกำกับดูแลในส่วนที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา 37 มีเนื้อหาบอกกว้างๆ ว่า ถ้าเห็นอะไรที่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่างๆ ให้ กสทช. สามารถยุติการออกอากาศด้วยวาจาได้เลย แต่จนบัดนี้ กสทช. ยังไม่เคยใช้อำนาจดังกล่าว ใช้เพียงการปรับทางปกครองไป คือรายการ ไทยแลนด์ ก็อต ทาเล้นท์ โดยที่ยังไม่ได้มีเกณฑ์กติกาอะไร แต่ใช้ดุลพินิจของกรรมการ 5 คน ในการตัดสินใจ นอกจากนี้ กสทช.มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลขององค์กรวิชาชีพ โดยขณะนี้ กสทช.กำลังหาต้นแบบหรือโมเดลที่เหมาะสมกับการกำกับดูแลทั้งแบบผ่านองค์กรวิชาชีพ หรือรวมกันกำกับดูแลโดยมีกรรมการจรรยาบรรณที่เป็นข้อถกเถียงว่าจะมาจากไหน โดยจะต้องผ่านออกมาเป็นประกาศฯเพื่อบังคับใช้ สุภิญญา กล่าวต่อว่า การเซ็นเซอร์ตัวเองอาจเป็นกระบวนการหนึ่งในการกำกับดูแลในภาพรวมทั้งหมด แต่ว่าโดยตัวของมันเอง การกำกับดูแลตัวเอง (self-regulation) ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) เพราะว่า ทุกคนพยายามพูดให้ชัดอยู่แล้วว่ากระบวนการกำกับดูแลกันเองเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเลือกเรื่อง จะทำไม่ทำ ถ้ามีกระบวนการกลั่นกรองอะไรมา แต่ว่าการเซ็นเซอร์คือการตัดสินใจเพราะความกลัว ซึ่งมันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภค ดังนั้น เวทีเสวนาในครั้งนี้ต้องการบอกว่ามันไม่ใช่ส่วนเดียวกัน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือ กสทช. เองไม่ควรจะทำเรื่องนี้ให้สับสน เพราะหลายครั้งสื่อก็กลัวเกินไปและอ้างว่าเป็นการกำกับกันเอง พิรงรอง รามสูตร ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ค่านิยมพื้นฐานของการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นความกลัวที่ผูกพันกับความอยู่รอดจากบางเรื่องผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อความอยู่รอด โดยเลือกที่จะไม่ทำบางเรื่องตั้งแต่ต้น รู้สึกว่ามีความอ่อนไหวอาจจะไม่ผ่านเซ็นเซอร์ พิรงรอง กล่าวอีกว่า ส่วนการกำกับดูแลตนเอง ท้ายที่สุดจะใช้สำนึกของผู้ประกอบการสาธารณะเป็นพื้นฐานว่าถ้าทำเรื่องนี้ออกไปมันจะเกิดผลอะไร ซึ่งบางเรื่องเป็นอะไรที่ดูลำบาก ตัวอย่างเช่น กรณี BBC ทำสารคดี พูดถึงกรณีของการวางระเบิดในลอนดอนปี 2005 ทำอย่างดีมาก มีแหล่งข้อมูลต่างๆ ในกรณีนั้นผู้ที่วางระเบิดเป็นเด็กมุสลิม ท้ายที่สุด BBC ไม่เอาออกอากาศ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้านำเสนอความจริง แต่อีกด้านหนึ่งมองว่าเป็นการกำกับดูแลตัวเอง มองว่าถ้าเกิดออกอากาศไปแล้วอาจเกิดอคติได้ "self-censorship มันค่อนข้างจะเป็นลูกศรไปทางเดียว มีพวกปัจจัยที่เข้ามา มาจากเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย นักวิชาชีพสื่อเป็นตัวกลางไปสู่ผู้รับคือ ผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง ในฐานะที่เป็นพลเมืองและผู้บริโภค ส่วน self- regulation นักวิชาชีพสื่อเป็นตัวกลาง แต่จะมีอีกกรอบหนึ่งคือ องค์กรวิชาชีพที่ดูแลกันเองมารวมตัวกัน และมีการร่วมมือสอดส่องดูแลจากผู้บริโภคและพลเมือง เพราะเรามองว่าคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียนองค์กรวิชาชีพ ถ้าไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจากผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง มันก็ไม่เกิดกระบวนการร้องเรียนนี้ เพราะเขาเห็นว่าไม่มีอะไรเดือดร้อน เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องส่งเรื่องเข้ามา ในทำนองเดียวกัน องค์กรอิสระต้องดูด้วยว่า self-regulation ดีหรือไม่ดี" พิรงรอง กล่าว จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า จุดยืนของตนเองไม่เชื่อเรื่องเซ็นเซอร์ แต่ว่าเชื่อในเรื่องรสนิยม เชื่อเรื่องการพยายามอยากจะจัดอะไรที่ดี คนทุกคนมีความตั้งใจดี ไม่มีใครอยากทำสื่อที่เลว เพราะฉะนั้นเราจึงอยากเห็นคนที่สามารถทำเนื้อหาสาระในลักษณะที่เป็นอิสระ ไม่ติดอยู่ภายใต้กรอบที่เป็นอิทธิพลมืด ดังนั้น เรื่องของการสื่อสารจึงควรจะมีความหลากหลาย จีรนุช กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะกลัวว่าสิ่งที่นำเสนอออกไปจะทำให้เกิดความเสียหายนั้น ตั้งคำถามว่าการสื่อสารใดๆ จะทำให้เกิดความเสียหายจริงหรือไม่ และถึงแม้อาจเกิดความเสียหายจริง ก็ไม่ควรเหมารวมว่าทุกอย่างเป็นความเดือดร้อนรุนแรง เป็นภัยต่อศีลธรรมอันดีต่อชาติทั้งหมด จนไม่สามารถพูดอะไรได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะต้องตกอยู่ภายใต้การสื่อสารในบรรยากาศของความกลัว ซึ่งก็น่าเป็นห่วงถ้าต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศที่โลกแคบลง "การกำกับเนื้อหาข่าวกับตัวรายการเนื้อหาสาระอาจจะต้องแยกจากกัน โดยเฉพาะในเรื่องของข่าว การตรวจสอบก่อนเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำเลย เป็นเรื่องที่ควรให้อิสระในการทำงาน" จีรนุช กล่าว ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นักแสดง ผู้เขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า เส้นแบ่งของการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์และทีวีควรจะกำหนดให้แตกต่างกัน ซึ่งเป็นความยุ่งยากที่ทุกคนอยากแก้ปัญหา ในกระบวนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ไม่มีการเปิดให้แสดงความเห็น เพราะภาพยนตร์เป็นสมบัติของรัฐไม่เหมือนทีวีที่ยังสามารถมาเจรจา ต่อรองกันได้ ทั้งๆ ที่หนังฉายในโรงและต้องเสียเงินไปดู ช่องทางในการดูไม่ใช่เรื่องง่าย ธัญญ์วาริน กล่าวอีกว่า นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้วงการภาพยนตร์เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าการทำหนังเรื่องหนึ่งต้องลงทุนสูง ทุกคนต่างเกรงกลัวว่าทำไปแล้ว หนังจะถูกห้ามฉาย ทำให้หนังในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่แบบ ไม่กี่แนว เพราะคนทำหนังพยายามจะเซ็นเซอร์ตัวเองตั้งแต่แรก ไม่คิดจะสร้างเรื่องที่จะโดนแบนแน่นอน พอมี พ.ร.บ.เรตติ้งขึ้นมา เราคิดว่าสิ่งที่เราทำน่าจะอยู่ใน ฉ 20+ เราก็ทำด้วยความปรารถนาดีต่อสังคม แต่สุดท้ายยังโดนแบน ซึ่งตนเองไม่มีสิทธิ์พูดด้วยซ้ำ คนดูเองก็ไม่มีสิทธิได้ดู เพราะฉะนั้น เชื่อว่าการกำกับดูแลกันตามกฎหมายควรมี แต่ความเข้มแข็งทางความคิดของทุกคนต้องมีไปพร้อมกับการเรียนรู้และเท่าทัน เพื่อทำให้สังคมเติบโต นอกจากนี้ ศาสวัต กล่าวถึงการเซ็นเซอร์รายการทีวีกับภาพยนตร์ด้วยว่า กรณีทีวีนั้นยังโชคดีที่แม้จะใช้การจัดเรตแต่ก็ยังสามารถดูได้ ขณะที่ภาพยนตร์นั้น เมื่อจัดเรตแล้ว คนบางกลุ่มก็หมดโอกาสดู ศาสวัต กล่าวอีกว่า การเซ็นเซอร์ตัวเองมาจากสองทาง คือ เรื่องการเป็นเจ้าของคลื่น ทำให้ไม่สามารถวิจารณ์อะไรที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของคลื่นได้ ปัญหาด้านที่สองเรื่องของสปอนเซอร์ ต้องยอมว่าองค์กรสื่อทุกองค์กรคือการทำธุรกิจ ไม่มีใครทำองค์กรสื่อโดยไม่หวังกำไร จะต้องมีโฆษณาเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น ถ้าอยากให้ประเทศไทยอยู่ต่อไปได้ ทุกคนต้องยอมให้เกิดการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ถูกใจ ต้องกล้านำเสนอสิ่งที่คนทั่วไปไม่เชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ดำเนินรายการพื้นที่ชีวิต ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า อยู่ไทยพีบีเอสรู้สึกคล่องตัวมากกว่าช่องอื่น เพราะไม่มีโมเดลด้านธุรกิจ ไม่ต้องมีโมเดลโครงสร้างการเมืองมาเสริมเพื่อให้อยู่รอด ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ที่เจอมักเป็นมือที่มองไม่เห็นในลักษณะ "ผู้ใหญ่บอกว่า……" แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นคือใคร วรรณสิงห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวพูดได้เลยว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองแทบไม่มี เพราะว่าตัดความกลัวออกไปหมดแล้ว หลังจากถูกด่าบ่อยจากหลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นในอินเทอร์เน็ตหรือต่อหน้า และที่สุดก็ยังมีช่องคอยกำกับดูแล สมมติว่าสิ่งที่ทางช่องติงมาเป็นสิ่งที่ตนเองเห็นด้วย เช่น แต่งตัวไม่สุภาพเกินไปออกรายการ ก็จะทำให้กระบวนการเซ็นเซอร์ตัวเองกับการกำกับดูแลตัวเองไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าสิ่งที่ทางช่องเซ็นเซอร์ไปเป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แต่ตนเองยอม นั่นก็กลายเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองไป เพราะว่าเราทำสิ่งที่เราไม่เชื่อแต่ว่าเรายอมเพราะความกลัว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น