โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักสิทธิแรงงานวิจารณ์ รง.สับปะรดกระป๋อง ขึ้นศาลนัดแรกวันนี้

Posted: 06 May 2013 11:02 AM PDT

องค์กรสิทธิ์เรียกร้องถอนฟ้อง อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยแรงงานข้ามชาติที่ถูกฟ้องเหตุระบุว่าสภาพการจ้างงานเข้าข่ายละเมิดสิทธิลงไปในรายงานวิจัย ขณะที่ศาลนัดไต่สวนนัดแรกวันนี้

7 พ.ค. องค์กร เบอร์มา แคมเปญ ยูเค (Burma Campaign UK) ได้เรียกร้องให้ร่วมสนับสนุน นายอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยแรงงานข้ามชาติที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยเบอร์มา แคมเปญ ยูเค  ระบุว่าอานดี้ ฮอลล์ถูกฟ้องร้องเพื่อปิดปาก 

ทั้งนี้ หลังจากอานดี้ ฮอลล์ระบุลงไปในรายงานของเขาว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติในโรงงานของ บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ในประเทศไทย ฮอลล์ถูกดำเนินการคดีตามกฎหมายฐานหมิ่นประมาทซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้มีการเรียกค่าเสียหายสูงถึง 300 ล้านบาท

อานดี้ ฮอลล์บริหารทีมวิจัยเพื่อเป็นข้อมูลในรายงานสภาพการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในโรงงานต่างๆ ในประเทศไทย รายงาน 'ของถูกมีราคาสูง' ตีพิมพ์โดย Finnwatch องค์กรเอกชนจากประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2013 ซึ่งเผยเเพร่ออนไลน์ ตามลิ้งค์: http://www.finnwatch.org/uutiset/80-serious-human-rights-violations-behind-european-food-brands

รายงานนี้บรรยายลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงงานของ บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ในประเทศไทย อันเป็นโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สับปะรด คนงานส่วนใหญ่ของมาจากประเทศพม่า โดยรายงานระบุว่าพบการใช้แรงงานเด็กแรงงานถูกทุบตีโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและผู้จัดการ สภาพการทำงานที่เป็นอันตราย แรงานเป็นลมแดดและเป็นลมบ่อยๆ เนื่องมาจากทำงานในอุณหภูมิสูง ถูกไฟฟ้าช็อตและการบาดเจ็บอื่นๆ มีการบังคับให้ทำงานล่วงเวลา จ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายมาก มีการตัดเงินค้าจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและการหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือน เเละการยึดพาสปอร์ตและเอกสารประจำตัว ซึ่งเเรงงานไม่ได้เอกสารกลับมาเมื่อร้องขอ

"ผมคิดว่ากรณีนี้เป็นอันตรายและเป็นความพยายามที่จะให้ผมเงียบ" อานดี้ ฮอลล์ กล่าว ขณะที่ องค์กร เบอร์มา แคมเปญ ยูเค ระบุว่า การที่บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ฟ้องร้อง อานดี้ ฮอลล์ เป็นทำลายเสรีภาพการเเสดงออกและคุกคามการทำงานเพื่อปรับปรุงสิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 2-3 ล้านคน แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่า ลาวและกัมพูชา  เชื่อว่าผู้ย้ายถิ่น ราวร้อยละ 80 ทั้งหมดในประเทศไทยมาจากประเทศพม่า

มาร์ค ฟาร์มาเนอร์ ผู้อำนวยการ เบอร์มา แคมเปญ ยูเค กล่าวว่า "บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ต้องถอนฟ้องอานดี้ ฮอลล์" "แทนที่ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด จะฟ้องร้อง อานดี้ ฮอลล์ รัฐบาลไทยควรจะดำเนินคดีเเละฟ้องบริษัท เนเชอรัล ฟรุตในข้อหาละเมิดกฎหมาย ถ้าบริษัท เนเชอรัล ฟรุตไม่ถอนฟ้องคดีที่ไม่สมเหตุผลนี้จะทำเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทมากขึ้น วิธีการแก้ปัญหาคือ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ต้องปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ทำลายผู้ส่งสาร"

บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด มีเครือข่ายทางการเมืองที่เข้มแข็งในประเทศไทย วิรัช ปิยพรไพบูลย์ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท เป็นพี่ชายของเฉลิมชัย ศรีอ่อน  ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์


เว็บเกี่ยวกับคดีของ อานดี้ ฮออล์: http://andyjhall.wordpress.com/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพ: การเดินทาง ‘ขบวนคนจน’ ทั่วประเทศ ถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล

Posted: 06 May 2013 10:22 AM PDT

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 เม.ย.56 ชาวบ้านตัวแทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ (Pmove) เดินทางมายื่นหนังสือแจ้งถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ พร้อมระบุ จะมีการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.56 เป็นต้นไป เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหา เนื่องจากการติดตามการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงปัจจุบันปัญหากลับยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
 
วันนี้ (6 พ.ค.56) ตั้งแต่ช่วงเช้า สมาชิกพีมูฟจากทั้วประเทศ อาทิ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) จากจังหวัดภูเก็ตและอุบลราชธานี เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ทยอยเดินทางถึงกรุงเทพฯ
 
5 พ.ค.56 สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) รวมพลเคลื่อนขบวนขึ้นรถไฟมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล 
 
6 พ.ค.56 ชาวบ้านจากจังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลาเดินทางโดยรถไฟกว่า 18 ชั่วโมงมาถึงหัวลำโพงตั้งแต่เช้ามึด
 
ขบวนชาวบ้านจากอีสานทะยอยเดินทางกันมาถึง
 
ขณะรอรถของรัฐมาขนสัมภาระไปยังที่หน้าทำเนียบ
 
ขสมก.จัดขบวนรถเมล์มารับชาวบ้านไปหน้าทำเนียบ (หลังการเจรจา)
 
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จากสุราษฐ์ ถึงสถานีรถไฟสามเสน
 
จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง เรียกร้องการแก้ปัญหาจากรัฐบาล
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดินทางถึงบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ผู้ชุมนุมเริ่มตั้งเวทีปราศรัย ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาห้าม เพราะไม่ได้รับแจ้งหนังสือตอบรับการชุมนุม แต่หลังจากการเจรจานาน 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงให้ตังเวทีชุมนุมได้ แต่ให้ติดตั้งอุปกรณ์ขยายเสียงหลังเวลา 08.00 น.เนื่องจากจะมีขบวนเสด็จ ผู้ชุมนุมจึงช่วยกันเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ทั้งหมดไม่ให้มีสิ่งกีดขวางเส้นทางเพื่อรอรับเสด็จในเวลา 09.00 น.หลังจากนั้นจึงตั้งเวทีและอุปกรณ์ได้
 
เดินทางถึงหน้าทำเนียบ สถานที่นัดหมายการชุมนุม
 
 
 
 
 
 
 
 
ต่อมา เมื่อเวลา 10.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 19 รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาอย่างเสมอหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม โดยระบุว่าในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา พีมูปได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการติดตาม และผลักดันให้กลไกการแก้ไขปัญหาทำหน้าที่แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากกับอุปสรรคที่เกิดจากความไม่จริงใจของรัฐบาล ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา
 
 
แม้จะมีการเจรจากับนายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้าเลย ขณะที่ในพื้นที่ยังมีการคุกคาม จับกุมชาวบ้านอยู่
 
นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังได้สรุปกรณีปัญหา 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.ปัญหาในระดับนโยบาย ที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไว้แล้วคือ การให้โอกาสประชาชนทีมีฐานะยากจนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง สนับสนุนการจัดการอย่างมีส่วนร่วมระหว่างคนกับป่า และการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย และผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่า ไม้และทะเล รวมทั้งการส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อการคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส
 
2.ปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ คือ การแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล การจัดซื้อที่ดินพื้นที่นำร่อง ธนาคารที่ดิน การออกเลขที่ทะเบียนบ้านให้กับชุมชนเมือง การคุ้มครองพื้นที่ที่ผ่านการอนุมัติให้จัดทำโฉนดชุมชนที่ได้ข้อยุติเป็นมติคณะอนุกรรมการแล้ว ซึ่งรัฐฯ ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการปฏิบัติ แต่กลับมีการแช่แข็งไว้
 
3.กลไกอนุกรรมการไม่ทำหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งกลไกการแก้ไขปัญหาในรูปของอนุกรรมการฯ ที่มีการแต่งตั้งแล้ว โดยลงนามเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.55 แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ อนุกรรมการบางชุดยังไม่มีการประชุมเลย ดังนี้ ขณะที่บางอนุกรรมการมีการดำเนินการล่าช้าซื้อเวลา
 
"ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นได้รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้น โดยพวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส) จึงปักหลักชุมนุมอย่างสงบ จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม" แถลงการณ์ระบุ
 
ค่ำคืนแรกของการชุมนุม
 
สำหรับการเคลื่อนไหวในวันที่ 7 พ.ค.56 ช่วงเช้าเวลาประมาณ 7.30 น. ผู้ชุมนุมพีมูฟจะเข้าไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ตามประเด็นปัญหาที่ประสบเป็นรายบุคคล เนื่องจากที่ผ่านมา ความเดือดร้อนต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะเคยมีการยื่นเรื่องในนามเครือข่ายมาหลายครั้งแล้วก็ตาม และเพื่อเป็นการให้ความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้ชุมนุมจะมีการแบ่งกำลังคนในการเข้ายื่นหนังสือฯ ตามประตูต่างๆ ของทำเนียบรัฐบาล
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับที่ 19 ของพีมูฟมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 แถลงการณ์ฉบับที่ ๑๙
รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาอย่างเสมอหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม
 
พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้ รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม ๔ ภาค , สหพันธ์เกษตรกรภาค เหนือ (สกน.) , เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) , สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) , เครือข่ายชุมชนเพื่อ การปฏิรูปสังคมและการเมือง(คปสม.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) ,สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ,เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ,เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล อันเป็น ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน ปัญหาการไร้สิทธิสถานะและชาติ พันธ์ ปัญหาจากเหมืองและโรงไฟฟ้า ปัญหาการทำเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งปัญหาความไม่เป็นธรรมจาก กระบวนการยุติธรรม ทั้งจากชนบทและคนจนในเมืองได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
 
ในช่วงเวลากว่า ๑ ปีที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการติดตาม และผลักดันให้กลไกการแก้ไขปัญหาทำหน้าที่ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในท้ายที่สุดจนพวกเราได้พบกับอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา ที่เกิดจากความไม่จริงใจของรัฐบาล ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑ และ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้เจรจากับนายกรัฐมนตรี และมีข้อสรุปร่วมกันว่า "นายกรัฐมนตรีจะเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการภายในเดือนกลางพฤศจิกายน ๒๕๕๕ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่การเจรจาอย่างเป็นทางการ ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้าเลย ขณะที่ในพื้นที่ยังมีการคุกคาม จับกุมชาวบ้านอยู่
 
ความล่าช้าที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ และไม่จริงใจของรัฐบาล ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้รับการแก้ไข โดยสามารถ ประมวลสรุปได้ ๓ กลุ่ม ดังนี้
 
กลุ่มที่ ๑. ปัญหาในระดับนโยบาย ซึ่งรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไว้แล้ว ดังนี้
๑.๑ นโยบายข้อ ๔. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต ข้อ๔.๕. .....นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม ข้อ ย่อยที่ ๔.๕.๒ การให้โอกาสประชาชนที่มีฐานะยากจนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง.....
 
๑.๒ นโยบายข้อ ๕. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อ๕.๑ ......สนับสนุนการจัดการอย่าง มีส่วนร่วมและให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลป่าให้มีความยั่งยืน โดยการปรับปรุงกฎหมาย ป่าไม้ 5 ฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ.....
 
๑.๓ นโยบายข้อ ๕.๔ สร้างความเป็นธรรมและลดความเลื่อมลํ้าในการใช้ประโยชน์ที่ดินและ ทรัพยากร..... .....ให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดิน ให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย......ผลักดันกฎหมายในการรองรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน นํ้า ป่า ไม้ และทะเล .....ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน......
 
๑.๔ นโยบายข้อที่ ๘. นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดิน (ข้อ ๘.๒.๒ ....ส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อ การคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส....) ซึ่งเป็นผลผูกพันให้รัฐบาลต้องดำเนินการ แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการ
 
กลุ่มที่ ๒. ปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยมีกรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว ดังนี้ (๑) การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล (๒) การดำเนินการจัดซื้อที่ดินพื้นที่นำร่อง ธนาคารที่ดิน (๓) การออกเลขที่และทะเบียน บ้านให้กับชุมชนเมือง (๔) การคุ้มครองพื้นที่ ที่ผ่านการอนุมัติให้จัดทำโฉนดชุมชน กรณีปัญหาที่ได้มีข้อยุติเป็นมติคณะอนุกรรมการและข้อตกลงในการเจรจาแล้ว ซึ่งรัฐบาลจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ปฏิบัติการได้ แต่รัฐบาลกลับแช่แข็งข้อตกลงนี้ไว้
 
กลุ่มที่ ๓. กลไก (อนุกรรมการ) ไม่ทำหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา กลไกการแก้ไขปัญหาในรูปของอนุกรรมการฯ ที่ มีการแต่งตั้งแล้ว (ลงนามเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕) แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหา ได้
 
๓.๑ อนุกรรมการที่ยังไม่มีการประชุมเลย ดังนี้ (๑) อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่ดิน เอกชนปล่อยทิ้งร้าง (๒) อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม
 
๓.๒อนุกรรมการที่ดำเนินการล่าช้าซื้อเวลาและไมส่ามารถแก้ไขปัญหาได้มีดังนี้(๑)อนุกรรมการแก้ไข ปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล(๒)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ(๓)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ฯ (๔) อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ฯ
 
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นได้รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้น โดยพวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จึงปักหลักชุมนุมอย่างสงบ จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ หน้าทำเนียบรัฐบาล
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "รับใช้เผด็จการ"

Posted: 06 May 2013 09:38 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "รับใช้เผด็จการ"

จอม เพชรประดับ: จะเฝ้ารอ “สันติภาพในภาคใต้” อย่างอดทน

Posted: 06 May 2013 07:56 AM PDT

ในภาวะที่เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องระหว่างการเจรจาสันติภาพ รัฐไทยจะต้องมีหลักประกันกับประชาชนว่า  กระบวนการพูดคุยสันติภาพ จะช่วยลดความรุนแรงลงได้อย่างไร

ความปั่นป่วน ความรุนแรง และความสูญเสีย ที่เพิ่มความถี่มากขึ้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้   แม้จะเป็นสิ่งที่ถูกวิเคราะห์ ถูกคาดการณ์เอาไว้แล้วว่า เมื่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นขึ้น ความโกลาหล ความปั่นป่วน และความรุนแรงที่จะแสดงออก โดย กลุ่มขบวนการต่าง ๆ ทั้ง ขบวนการที่มีตัวแทนร่วมโต๊ะพูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทย หรือ กลุ่มที่ไม่มีโอกาสร่วมโต๊ะพูดคุย หรือ กลุ่มที่เสียประโยชน์จาก กระบวนการสร้างสันติภาพที่เริ่มต้นขึ้น ต่างก็ฉวยโอกาส แสดงออก ด้วยก่อเหตุความรุนแรง เพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาลไทย
แต่ทุกครั้งของ การก่อเหตุความรุนแรง และเกิดความสูญเสียขึ้นกับประชาชนทั่วไป หรือกับเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ตาม   ย่อมส่งผลให้ขวัญกำลังใจ ของคนที่อยู่ในพื้นที่ และคนไทยทั้งประเทศ ที่คาดหวังต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับลดน้อยและเสื่อมถอยลงเป็นลำดับ   กลายเป็นความกังวลสงสัย และแคลงใจว่า สุดท้ายแล้ว กระบวนการสร้างสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ จะทำให้ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กลายเป็น คบเพลิงแห่งสันติภาพที่ส่องสว่างไปทั่วประเทศได้หรือไม่
โดยเฉพาะ เหตุการณ์ที่ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ยิงกราดประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 6 ศพที่ รูสะมิแล ปัตตานี และในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 3 ขวบรวมอยู่ด้วย เป็นสิ่งที่สร้างความเศร้าสลดใจหดหู่ใจอย่างยิ่ง   แม้ว่านี่ไม่ใช่ เด็กศพแรกที่ต้องสังเวยให้กับความรุนแรงป่าเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2005 ก็มีการบุกเข้ายิงในครอบครัวประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำให้สมาชิกในครอบครัว 9 คนเสียชีวิตทันที ในจำนวนมีเด็กวัย 8 เดือนรวมอยู่ด้วย และหลังจากนั้นก็มีอีกในหลายเหตุการณ์ที่เด็กทารกต้องมาจบชีวิตลงอย่างน่าเวทนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อ กระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ ได้เริ่มต้นขึ้น คนไทยส่วนใหญ่ก็คาดหวังว่า ความรุนแรงที่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก และประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายรัฐไทย เสนอให้กับ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้วที่เริ่มต้นการพูดคุย แต่แม้ว่ากระบวนการสันติภาพจะผ่านพ้นไปแล้ว 2 เดือน ความโหดร้ายป่าเถื่อนก็ยังไม่ลดลง กลับจะเพิ่มมากขึ้น

ความรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อ กระบวนการสร้างสันติภาพ ระหว่าง รัฐไทย กับ แกนนำบีอาร์เอ็น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อบรรยากาศเป็นแบบนี้ รัฐไทย จะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกเชื่อมั่นจากสังคม ไม่น้อยไปกว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ กับ ฝ่ายขบวนการเพียงด้านเดียว

รัฐไทย จะต้องแสดงให้ คนไทยทั้งประเทศ เห็นว่า ยุทธศาสตร์ในการสร้างสันติภาพภาคใต้ เป็นยุทธศาสตร์ที่จะสร้างความหวังให้กับคนไทยที่ต้องการเห็นสันติภาพเกิดขึ้นจริง แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า สันติภาพที่แท้จริงจากการะบวนการพูดคุยนั้นจะต้องอาศัยเวลา แต่ด้วยสถานการณ์ที่ กลุ่มขบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสันติภาพ หรือ กลุ่มขบวนการที่กำลังสร้างอำนาจต่อรอง โดยการเร่งสร้างความถี่ก่อเหตุความรุนแรงอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐไทย จะต้องแสดงความรับผิดชอบ และมีหลักประกันกับประชาชนว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพ จะช่วยลดความรุนแรงลงได้อย่างไร

ไม่เพียงแต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มขบวนการ หรือ กลุ่มที่เสียประโยชน์ จากการสร้างสันติภาพในภาคในใต้เท่านั้น แต่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ทั้งกลุ่มการเมือง และพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ถือเป็นตัวแปรสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ที่จะนำไปสู่การล่มสลาย หรือ การคงอยู่ของกระบวนการสร้างสันติภาพภาคใต้  

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การสร้างสันติภาพภาคใต้ ของรัฐบาลไทย นอกจากจะต้องรับมือกับ ฝ่ายขบวนการแล้ว ยังจะต้องรับมือ กับ กลุ่มการเมือง และพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยสันติภาพในภาคใต้ และต่อสังคมโลกที่เฝ้าจับตาการสร้างสันติภาพในภาคใต้ของรัฐไทย

ยุทธศาสตร์สันติภาพใต้ของรัฐบาลไทย จึงต้องผ่านการระดมสรรพกำลัง ระดมองค์ความรู้จากทุกกลุ่มทุกฝ่าย มีคณะทำงานที่ชัดเจนในแต่ละยุทธศาสตร์ เพื่อที่จะกำหนดย่างก้าวที่จะทำให้ กระบวนการสันติภาพในภาคใต้ ไม่สะดุดหยุดลง และเป็นกระบวนการที่เป็นความหวังให้กับคนไทยทั้งประเทศ และทำให้คนไทยทั้งประเทศพร้อมที่จะให้การสนับสนุนกระบวนการนี้ต่อไป

สำหรับคนไทยทั้งประเทศ สิ่งที่ทำได้ ในช่วงเวลาอันโหดร้ายนี้ คือการเฝ้ารอ "สันติภาพในภาคใต้" อย่างอดทน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทบทวนการให้ความหมายของการถูกกดบังคับ (กับคนไทย ?)

Posted: 06 May 2013 07:10 AM PDT

เกริ่นนำ

 "การถูกกดบังคับเป็นกิจกรรมตามปกติของอำนาจที่ดำเนินไปในกรอบพื้นที่และช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์"  ประโยคนี้เป็นข้อเสนอหลังสมัยใหม่ (Post Modern Trend) ซึ่งท้าทายมโนทัศน์ของนักคิดสมัยใหม่ (Modern Trend) เป็นอย่างมาก เพราะการกดบังคับแง่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านระเบียบวิธี (Method) เช่น แบบแผนของจารีตที่ชำระใหม่ หรือกฎหมายที่ถูกแก้ ก็ล้วนแต่น่าเชื่อว่าจะนำสังคมไปสู่ความมีระบบระเบียบอันเป็นภาพลักษณ์เบื้องต้นของความสงบสุขในสังคมได้ทั้งสิ้น? กระนั้น ระเบียบวิธีแบบที่ว่า ยังรวมถึงนวัตกรรมที่เป็นมรดกจากยุคโครงสร้างนิยมอย่าง สายพานการผลิตของสังคมโรงงาน ระบบเงินกู้และตลาดหุ้น อีกด้วย และพวกนี้เองก็เป็นผลโดยตรงให้เกิดความยากดีมีจนในโลกอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ความแตกต่างทางรายได้ของผู้ที่ร่ำรวยและเต็มเปี่ยมไปด้วยโอกาส กับ คนยากจนซึ่งด้อยโอกาส จะมีสูงกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์หลายเท่าตัว ฉะนั้น เมื่อนักคิดหลังสมัยใหม่ตั้งคำถามกับ "การถูกกดบังคับ" จึงกลายเป็นการศึกษาที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยคำอธิบายที่คลุมเครือ และแน่นอน ในรัฐไทยมีนักคิดมากมายพยายามพูดถึงการถูกกดบังคับเนื่องมาจากอำนาจต่างๆโดยพยายามสร้างระเบียบวิธีในการอธิบาย (Method)? ทว่า ปฏิบัติการของอำนาจและวาทกรรมที่เลื่อนไหลไปตามวิธีตีความแบบหลังใหม่กลับมีความเฉพาะตัวสูง และไม่จำเป็นต้องมีระเบียบวิธีทุกครั้งไป (Anti-method) จึงการทบทวนการตีความหลังสมัยพอสังเขปเกี่ยวกับการถูกกดบังคับ อาจช่วยทำให้เกิดการเลื่อนไหลทางภาษาที่เป็นประโยชน์ต่อการ "ถอดรื้อ-รื้อสร้าง" (De/Re-Construct) ของนักคิดผู้สนใจเกี่ยวกับการกดบังคับในประเทศไทยได้บ้าง

 

เนื้อหา

1. "อำนาจ" นามธรรมซึ่งถูกตีความใหม่โดยหลังสมัยใหม่

 "อำนาจ" (Power, Authority) ให้ภาพพจน์ (image) ที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามประสบการณ์เฉพาะของแต่ละสังคม เช่นถ้าเราพูดว่า นักการเมืองคนนี้มีอำนาจ กับ หลวงปู่รูปนี้มีอำนาจ เราจะเห็นว่าภาพพจน์ของทั้งสองวลีนี้ไม่เหมือนกัน แบบแรกอาจเป็นอำนาจที่กดบังคับสิ่งที่มองเห็น เช่น ลูกน้อง ข้าราชการชั้นผู้น้อย และแบบหลังอาจเป็นอำนาจที่กดบังคับสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ภูตผีปีศาจ แต่ทว่าคำว่า "อำนาจ" ในรัฐไทยบ่อยครั้งมักใช้ในความหมายเดียวกัน เช่น ท่านผู้นำเปี่ยมไปด้วยอำนาจ(และบารมี) นั่นหมายถึง ผู้ที่ถูกพูดถึงมีทั้งอำนาจที่มองเห็น (Authority) และเทวสิทธิ์ (Divinity) ในระดับขั้นต่างๆ ซึ่งลักษณะแบบนี้จะกระจัดกระจายอยู่เป็นปกติในประวัติศาสตร์ของชนชาติทั่วโลก แต่เมื่อ "รัฐ" ในฐานะสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาราวกับจะแทนที่อำนาจเก่า เพื่อความอยู่รอดของ "แบบแผนเดิมหรือจารีต" ฉะนั้น การประนีประนอม (Compromise/Syncretism) ต้องเกิดขึ้น เพื่อให้อำนาจมีความต่อเนื่อง (และหวังว่าจะมีอำนาจตลอดไป) ทีนี้ ปัญหาทั่วไปของอำนาจมีผู้สรุปไว้ว่า "ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมต่อต้านการกดบังคับ" (Foucault,1978:95-96) สมมติว่า เราเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ จะได้ว่า อำนาจไม่ใช่แต่การกดบังคับเท่านั้น ยังมีภาพพจน์ของการครอบงำและการต่อต้านเกิดขึ้นพร้อมๆกันในขณะที่เราพูดถึงอำนาจอีกด้วย


2. หลังสมัยใหม่อธิบายการมีอยู่ของอำนาจอย่างไร?

อำนาจจะมีอยู่ (Exist, Appear) ถ้ามีการเคลื่อนไหว (Exercise) ซึ่งในการเคลื่อนไหวนี้ คือ การเปลี่ยนผ่าน (Tran) นั่นคือ กระบวนการผลิตซ้ำการให้ความหมายโดยภาษาและสัญลักษณ์ ซึ่งปรากฏตัวในรูปแบบที่เรียกว่า เรื่องเล่าหลักของสังคม (Grand Narrative) คือ มีการปรากฏอยู่ของเรื่องเล่านี้ทั่วไปตามสื่อมวลชน สื่อสิ่งพิมพ์ และถ้ามีการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องเล่าจะเป็นฝ่ายที่ถูกมองว่าผิดไว้ก่อน เหตุผลที่ถูกมองว่าผิดโดยอัตโนมัติ เนื่องจาก โครงสร้างของการผลิตซ้ำที่มุ่งครอบงำอย่างเข้มข้นในลักษณะที่ชวนให้รู้สึกว่า สิ่งที่ตรงข้ามกับเรื่องเล่านี้เป็นความชั่วร้าย ฉะนั้น กลายเป็นว่า อำนาจใดก็ตามจะยืนอยู่อย่างมีตัวตนบนเรื่องเล่าที่ประกอบสร้างขึ้น เพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่างเสมอ และมีความเข้มข้นของการครอบงำแตกต่างกันตามลักษณะการสื่อสาร เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตที่มักมีอนุภาคเกี่ยวกับความทุจริตมาเป็นเนื้อเรื่องเปรียบเทียบ ลักษณะเช่นนี้ปรากฏพร้อมกับอำนาจ (และการเถลิงอำนาจ) จนนักคิดหลังสมัยใหม่เห็นว่า การมีอยู่ของอำนาจที่กล่าวอ้างก็เป็นการบอกถึงสิ่งที่อำนาจนั้นจะปฏิเสธด้วย เช่น อำนาจของการปกครองโดยชอบธรรมย่อมเน้นสิ่งที่อำนาจของการปกครองโดยชอบธรรมปฏิเสธ (คือการปกครองที่ไม่ชอบธรรม)


3. เมื่ออำนาจมีอยู่นักคิดหลังสมัยใหม่อธิบายคุณลักษณะของอำนาจอย่างไร?

เนื่องจากอำนาจเป็นสิ่งที่มีลักษณะเกี่ยวพันอย่างไม่อาจแยกออกกับทุกสิ่ง (Intertwine) นักคิดหลังสมัยใหม่จึงชี้ให้เห็นว่า ความพยายามในการหาจุดต้นชนปลายและสร้างคำอธิบายของนักคิดสมัยใหม่ในรูปแบบข้อสรุปและสูตรสำเร็จ (ตามอิทธิพลวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์) อาจไร้ประโยชน์และไม่นำไปสู่วิธีการแก้ปัญหา เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็จะไม่มีใครอ้างได้อย่างชอบด้วยเหตุผลว่า "อำนาจมาจากที่ใด?" แต่จะมีสิ่งที่ปรากฏเป็นเนื้อเดียวกันกับอำนาจซึ่งสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า คือ "วาทกรรม" (Discourse) อันเป็นภาคปฏิบัติการของอำนาจ (และผู้ต่อต้าน) ซึ่งมิตินี้เสนอให้เห็นในรูปแบบการสื่อความที่พยายามโน้มน้าวให้เชื่อ (Convince) ว่า "สิ่งใดเป็นอำนาจที่กดบังคับ" เพื่อที่จะ "ปลดปล่อยการถูกกดบังคับนั้น" นั่นคือ การสร้างวาทกรรมใหม่ขึ้นมาเพื่อแทนที่อำนาจที่กดบังคับอยู่ เช่น กระแสการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเพศที่สาม เนื่องจาก เพศที่สามในแง่หนึ่งเป็นผู้ถูกอำนาจกดบังคับ เพื่อที่จะปลดปล่อยการถูกกดบังคับนั้นต้องเรียกร้องพื้นที่ของตน เพื่อการันตี (Guarantee) ว่า จะไม่มีอำนาจใดมากดบังคับตนอีกต่อไป (ในขณะที่วาทกรรมของผู้เรียกร้องเองจะกลายเป็นอำนาจใหม่ที่เถลิงขึ้นและเข้ามาเทียบเคียงหรือแทนที่การกดบังคับเดิม)


4.เสรีภาพไม่มีอยู่จริงและอำนาจก็กดบังคับอยู่ตลอดเวลา

มโนทัศน์แบบสมัยใหม่มักแสวงหาข้อสรุป ซึ่งเรียกร้องกระบวนการจัดจำแนกหรือกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของนิยามแบบวิทยาศาสตร์ และจะไม่ยอมให้เลื่อนไหลด้วย ตัวอย่างคือ อำนาจทุนของระบบทุนนิยมซึ่งควบคุม (Control) มนุษย์ให้ต้องอยู่ในสถานที่จำกัดจำเขี่ยภายใต้กฎกติกาของสถานที่นั้น เช่น ระบบการศึกษา นั่นคือ การเลือกที่จะอยู่ภายใต้กฎกติกาของสถานที่นั้น และในกรณีที่สถานศึกษานั้นมีกฎห้ามละเมิดกติกาบางอย่าง เช่น ทุจริตข้อสอบ อาจกล่าวได้ว่า "ไม่มีเสรีภาพในเรื่องที่กติกานั้นได้ห้าม" (แต่อาจจะมีเสรีภาพเรื่องอื่น) อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปมนุษย์ไม่มีเสรีภาพที่แท้จริง (สัมบูรณ์) อยู่แล้ว เสรีภาพโดยมากเป็นการพรรณนาเชิงอุดมคติของมนุษย์ที่ถูกกดบังคับจากอำนาจที่ดำเนินไปในกรอบพื้นที่และช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ เช่น ความเป็นทาสเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว กับความเป็นทาสในปัจจุบัน แตกต่างสิ้นเชิงเรื่องพื้นที่และเวลา เราสามารถกล่าวได้ว่า การกักขังร่างกายตามภาพพจน์ทาสในอดีตนั้นไม่มีอยู่แต่การสมัครใจให้ถูกกักขังกลายๆ ในสภาพของมนุษย์เงินเดือนนั้นมีอยู่จริง หารู้ไม่ว่า ในแง่หนึ่งทาสแบบแรกสามารถอยู่อย่างสำมะเลเทเมาได้คล่องแคล่วกว่ามนุษย์เงินเดือนเนื่องจากใช้กฎเกณฑ์คนละชุดกัน นั่นคือ ความจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและปฏิบัติการทางอำนาจที่เคลื่อนไหวผลักดันเพื่อที่ท้ายที่สุดเราต้องจ่ายบางอย่างเป็นค่าเถลิงอำนาจใหม่

5. การเถลิงอำนาจเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ นั่นคือ การยอมให้กดบังคับใหม่

ในเมื่อเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการกดบังคับจากอำนาจ ฉะนั้น เมื่อเคลื่อนไหวให้เกิดการอภิวัฒน์อำนาจ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การเถลิงอำนาจใหม่ เช่น การรุกคืบเข้ามาของอำนาจทุนจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบทาสในเรือนเบี้ย เราสามารถทดสอบพลังการกดบังคับของอำนาจได้ ด้วยการตั้งคำถามว่า ลองมีสินค้าที่กลายเป็นของจำเป็นไปแล้วชิ้นหนึ่ง เช่น ถ้าธุรกิจขายผ้าอนามัยเกิดไม่ยอมขายขึ้นมา สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้น ปฏิกิริยาจากผู้หญิงที่มีประจำเดือนทั่วโลก จากนั้น จะมีใคร (หรือธุรกิจใด) เถลิงอำนาจขึ้นมาเพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นได้ชัดเจนว่า โรงงานผลิตผ้าอนามัยมีอำนาจกดบังคับที่มองไม่เห็นอยู่ เป็นการควบคุมรูปแบบใหม่ที่ไม่สิ้นเปลือง คือ ไม่ได้กักขังร่างกายแบบทาสเหมือนสมัยก่อน มากไปกว่านั้น ปฏิบัติการของอำนาจในยุคใหม่ยังก้าวไกลเกินกว่าเรื่องของสินค้าที่จับต้องได้ ก็คือการเล่นกับความผันผวนของมูลค่าที่อุปโลกน์ขึ้นมา เช่น เงิน และจากประวัติศาสตร์ก็มีนักคิดพยายามจะปฏิวัติเพื่อโค่นล้มอำนาจของสิ่งเหล่านี้หลายครั้งอย่างที่รู้กัน เช่น ระบบคอมมิวนิสต์ ประเด็น คือ หากจะโค่นล้มอำนาจเก่า แล้วอะไรเป็นอำนาจใหม่ที่เรายอมให้กดบังคับได้?


6. ลักษณะการกดบังคับที่ทับซ้อนของรัฐไทย

เป็นไปไม่ได้ที่การกดบังคับจะมาจากแหล่งเดียวหรือวาทกรรมเดียว เพราะ การต่อต้านอำนาจ (Résistance) เป็นว่าที่หรือทางเลือกของการกดบังคับแบบใหม่ที่กำลังจะมาถึง ฉะนั้น ในสังคมทั่วโลกจะมีลักษณะเฉพาะของการกดบังคับที่แตกต่างกัน(ดังนั้น ย่อมต่อต้านแตกต่างกันด้วย) เป็นต้น ในรัฐไทย ควรพิจารณาวาทกรรมซึ่งพยายามเบียดแทรกแข่งขันเพื่อเถลิงอำนาจหรือชิงความเป็นกระแสหลัก (จากเดิมในประวัติศาสตร์ที่มีอัตราการแข่งขันต่ำ) และบางวาทกรรมก็มีลักษณะผสมกันอย่างแยกไม่ออก เช่น วาทกรรมเชิงอำมาตยาธิปไตย (เชื่อมั่นในระบบแบบแผนลักษณะขุนนางหรือทหาร) วาทกรรมแบบธุรกิจ (เชื่อมั่นในการสานประโยชน์แบบไม่ใส่ใจวิธีการ) วาทกรรมแบบเหนือธรรมชาติ (เชื่อมั่นในการดลบันดาลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งแต่ละวาทกรรมก็ใช้การตีความของตนเองในการนิยามว่า "สิ่งที่ดีกับผู้ฟัง คือ อะไร?" เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ฟังรู้สึกยอมรับได้หากถูกกดบังคับโดยอำนาจที่นำเสนอนั้น จะเห็นว่า ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าการกดบังคับเหล่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย (คุณภาพชีวิต) ของผู้สมัครใจให้กดบังคับ เช่น การสมัครใจให้วาทกรรมเชิงอำมาตยาธิปไตยกดบังคับทำให้เกิดคำถามว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นจริงหรือ? เมื่อเทียบกับวาทกรรมแบบธุรกิจ ซึ่งในความเป็นจริงลักษณะของความเป็นทาสอาจแตกต่างกันเพียง เป็นทาสในความรู้สึก (ลูกน้อง,คนรับใช้,ผู้ต่ำกว่า) กับ ทาสเงิน เหตุผลหลักของการขบวนการปลดปล่อยคือเพื่อความรู้สึกว่าจะได้รับเสรีภาพแบบรูปธรรม เริ่มจากร่างกาย เช่น ปาก (การพูด) มือ(การเขียน) และหวังว่าจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

แต่การผลิตซ้ำอย่างน่าตกใจของรัฐไทยเกี่ยวกับวาทกรรมต่างๆ ทำให้เห็นภาพของการแข่งขันที่ล้นเกิน น่ากลัว (ภาพพจน์ของมนุษย์ที่ถูกวาทกรรมครอบงำ) และทำให้เข้าใจได้ว่า คนไทยในฐานะผู้ช่วยวาทกรรมปฏิบัติการ ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับชุดคำอธิบายปรากฏการณ์ซึ่งใช้เครื่องมือจากแนวคิดหลังสมัยใหม่ที่ว่า "ไม่มีเสรีภาพ(สัมบูรณ์)ที่แท้จริง การกดบังคับยังมีอยู่เสมอ เพียงแต่คุณต้องใช้เจตจำนงในการเลือก และเสรีภาพในการโน้มน้าวให้เพื่อนคุณเชื่อได้ว่า การยอมให้ถูกกดบังคับแบบใหม่ดีกว่าแบบเก่าด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่ขัดกับระบบที่คุณเชื่อ"


7. แนวโน้มของความเลื่อนไหลและเลื่อนเปื้อนในรัฐไทย

ความเลื่อนไหลของการตีความว่าด้วยอำนาจและการกดบังคับทำให้เกิดมุมมองและแนวคิดแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อาจนำมาซึ่งการประนีประนอมระหว่างรัฐกับอำนาจเทวสิทธิ์ในแบบแผนที่ชัดเจนขึ้น (เช่นเดียวกับระบบคิดเรื่องเวอร์ชั่นของคอมพิวเตอร์ที่จะมีการปรับปรุงอยู่เสมอ) ในขณะเดียวกันความเลื่อนเปื้อน (การเลื่อนไหลของการตีความที่น่าสงสัย) จะนำมาซึ่งความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นกับคุณภาพชีวิตของตนเองและผู้อื่น เพราะการปลดปล่อยทางแนวคิดที่ว่า "จะตีความตัวบทอย่างไรก็ได้" ของนักคิดหลังสมัยใหม่ ย่อมทำให้เกิดความเลื่อนเปื้อนในลักษณะ "ตีความอย่างไรก็ได้" โดยไม่เกี่ยวข้องหรือพิสูจน์ไม่ได้ว่าเชื่อมโยงกับตัวบทเลย เป็นต้น การกล่าวอ้างอำนาจเหนือธรรมชาติขึ้นมาอย่างลอยๆ โดยไม่มีจุดเชื่อมโยงที่พอรับฟังได้กับตัวบท เช่น การอ้าง (หรือคิด) ว่า "สวรรค์สั่งมา เบื้องบนสั่งไป" โดยไม่สามารถตอบจุดประสงค์ หรือวิเคราะห์เป้าหมายในพฤติกรรมได้ นั่นอาจเป็นผลมาจากการกดบังคับที่ทับซ้อนจนทำให้พฤติกรรมมีความผิดปกติ (การถูกครอบงำเนื่องจากเสพการผลิตซ้ำของวาทกรรม) นี่เป็นลักษณะที่พบมากในรัฐไทย นั่นอาจไม่เรียกว่าเป็นความเลื่อนไหล แต่ควรยิ่งที่จะต้องพิจารณาเป้าหมายที่แท้จริงของผู้พูด หรือไม่ก็ควรพิสูจน์ว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดปกติในจิตใจ (Mental Illness) เช่น โรคเครียด หรือ โรคซึมเศร้า


สรุป

ในเมื่อการถูกกดบังคับเป็นเรื่องปกติของอำนาจซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขับเคี่ยวกันระหว่างการต่อต้านและสนับสนุน ซึ่งในพื้นที่หลังสมัยใหม่ (หรือหลังไปกว่านั้น) ความหมายของคำนี้ได้รับสิทธิ์ให้เลื่อนไหลไปได้อย่างอิสระ เนื่องจากอำนาจไม่สามารถแยกออกจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้เลย เฉพาะอย่างยิ่งในระบบทุนนิยม นั่นทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกกดบังคับอยู่ในอำนาจต่างๆตลอดเวลา ไม่มีเสรีภาพสัมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ มนุษย์มีสิทธิ์และเสรีภาพส่วนหนึ่งซึ่งเพียงพอที่จะเลือกได้ว่า จะสมัครใจอยู่ภายใต้สภาพการกดบังคับแบบใด และกระบวนการเปลี่ยนแปลงอำนาจเก่าเพื่อประนีประนอมกับอำนาจใหม่ที่ต้องการนี้ ที่จริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของอำนาจ และจะค่อยๆเป็นค่อยๆไปตามทิศทางของผู้ร่วมสร้างสรรค์อำนาจนั้น แต่ปัญหาซึ่งมีอยู่ตลอดในประวัติศาสตร์อยู่ตรงที่ การถูกครอบงำเนื่องจากเสพการผลิตซ้ำของวาทกรรมมากจนเกินไป ซึ่งทำให้เกิดการบ่อนทำลายคุณภาพชีวิตกันระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้าน อาศัยความไม่มีเสถียรภาพทางจิตใจ ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การเถลิงอำนาจอย่างเด็ดขาดและปัจจุบันทันด่วนมักเข้ามาฉวยโอกาสแต่ก็ไม่เคยได้ผลลัพธ์ที่ดีกับมนุษย์ผู้ถูกกดบังคับเลยสักครั้ง โลกนี้จึงต้องมีการเรียนวิชาทูตและเจรจา คือ การเรียนรู้ที่จะสื่อสารแบบสานประโยชน์ แล้วตกลงกันที่จะละเว้นการทำลายคุณภาพชีวิตของกันและกัน ซึ่งที่จริงน่าจะเป็นเรื่องของสามัญสำนึกด้วยซ้ำไป กระนั้น ประวัติศาสตร์ได้บอกเราอีกเช่นกันว่าการพัฒนาดังกล่าวยังไม่เคยสำเร็จ เพราะ มักจะมีบางอย่างกดบังคับเข้าแทรกแซงอยู่นั่นเอง สำคัญที่ว่า ผู้ถูกกดบังคับจะกล้าตอบหรือไม่ว่า อะไรที่กดบังคับคุณอยู่?

 

 

หมายเหตุ

เกี่ยวกับการตีความหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องเก่าไปแล้วในสังคมโลก มีนักคิดเสนอความเห็นแย้งวิธีวิทยาของหลังสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง หรือแม้แต่พัฒนาการของความคิดหลังสมัยใหม่เองก็ยังมีคำเรียกเล่นๆกันต่อไปว่า ยุคหลังของหลังสมัยใหม่ (Post-Postmodern) ด้วยซ้ำ แต่สำหรับรัฐไทยแล้ว คนไทยกลับไม่รู้จักนักคิดหลังสมัยใหม่ (ที่จริงนักคิดสมัยใหม่ด้วย) ด้วย เช่น Sartre หรือ Foucault กลับกันการเคลื่อนไหวเชิงปลดปล่อยของสังคมไทยสมัยใหม่กลับมีอิทธิพลสำคัญมาจากนักคิดเหล่านี้  ผู้เขียนพยายามเสนอบางแง่ของการให้ความหมายตามวิธีการหลังสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการเลื่อนไหลของผู้อ่านในลำดับถัดไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จักรภพ เพ็ญแข: วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งมาเลย์

Posted: 06 May 2013 06:00 AM PDT

ผลการเลือกตั้งในมาเลเซียออกมาตามคาด นั่นคือพรรคผสมฝ่ายค้าน 3 พรรคที่รวมกันเป็นแนวร่วมประชาชน (PR) ได้รับคะแนนนิยมมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ยังไม่มากพอจะเอาชนะอย่างเด็ดขาดต่อแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ของฝ่ายรัฐบาล แต่ทำลายเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของรัฐบาลได้เป็นครั้งที่สองในรอบห้าปี ซึ่งแปลว่าฝ่ายรัฐบาลต้องสูญเสียอำนาจทางการเมืองไปหลายอำนาจ รวมทั้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย แนวโน้มนี้จะทำให้มาเลเซียเกิดความระส่ำระสายในทางการเมืองและจะส่งผลมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

จากที่นั่ง 222 ที่นั่ง ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นแนวร่วมพรรคการเมือง 33 พรรคคว้าไปได้ 133 ฝ่ายค้านได้ 89 ที่นั่ง รวมกัน 222 ที่นั่งพอดี มาเลเซียเขาไม่นิยมระบบพรรคเล็กพรรคน้อย ใครรู้ว่าอยู่ข้างไหนก็ให้เข้าเป็นแนวร่วมของข้างนั้น มีแนวร่วมพรรคการเมืองอยู่เพียงสองด้าน เสมือนระบบสองพรรคเช่นกัน

นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคอ่านการเมืองเก่ง เขาออกมาสื่อสารทันทีว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แสดงความไม่พอใจของคนมาเลย์เชื้อสายจีน และรัฐบาลของเขาจะจับประเด็นนี้ขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน แต่ผู้นำแนวร่วมฝ่ายค้านคืออันวาร์ อิบราฮิมก็ใช่ย่อย ออกมาประกาศเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนออกมาร่วมประท้วงในความผิดปกติระหว่างการเลือกตั้ง โดยให้ออกมาในวันพุธที่ 8 พ.ค.นี้ และเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการสอบสวนในหลายจุดที่เขากล่าวหาว่าเกิดการทุจริตขึ้น

บทที่ฝ่ายค้านเล่นความจริงก็ไม่แปลกนัก เกือบจะเป็นบทบังคับอยู่ สุดแต่ว่าจะเล่นไปถึงขนาดไหนเท่านั้น แต่การที่ฝ่ายรัฐบาลมุ่งตรงไปที่คนจีนในประเทศนับเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาด เพราะธุรกิจคนจีนเป็นตัวจักรทางเศรษฐกิจสำคัญของมาเลเซีย ถ้าประชาคมนี้ปันใจให้กับฝ่ายค้านอย่างถาวรแล้ว นอกจากคะแนนเสียงที่อาจจะสูญเสียเป็นอันมากแล้ว ยังมีโอกาสสูญเสียเงินสนับสนุนในทางการเมืองอย่างมหาศาลด้วย

มาเลเซียเป็นประเทศประหลาดที่สุดประเทศหนึ่งในแง่เชื้อชาติ ถึงคนมาเลย์จีนจะเป็นแรงขับเคลื่อนอันดับหนึ่งทางเศรษฐกิจ แต่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรธุรกิจชั้นนำกลับถูกบังคับว่าต้องเป็นคนมาเลย์เท่านั้นที่จะนั่งได้ เรียกคนเหล่านี้ว่า ภูมิบุตร หรือ ลูกของแผ่นดิน นับเป็นนโยบายกดขี่ทางเชื้อชาติอย่างเปิดเผยที่สุดในโลกก็ว่าได้

ในระบบราชการที่กล่าวอ้างว่าเป็น "ความมั่นคง" ทุกหนแห่ง คนจีนและคนอินเดียเข้าทำงานไม่ได้ทั้งนั้น ถือว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับงานด้านความมั่นคง ผมยอมรับว่าไม่ค่อยเข้าใจในความอดทนแบบนี้นัก ถ้าเราถูกใช้ให้ทำงานอย่างเหนื่อยยากเพื่อหาเงินเข้าบ้าน แต่เรากลับถูกดูถูกและถูกระแวงสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าจงรักภักดีเพียงพอหรือไม่ ก็คงระเบิดเถิดเทิงไปเสียนานแล้ว ไม่ยอมอยู่เป็นน้ำใต้ศอกกันชัดๆ อย่างนี้หรอก

อย่างไรก็ตามเมื่อเขาทนกันมาได้เกือบ 60 ปีจนระบายออกมานิดๆ ในการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมานี้ เราก็ควรติดตามต่อไปว่านโยบาย "เอาใจจีน" ภายในประเทศมาเลเซียจะประสบความสำเร็จสักแค่ไหน และฝ่ายค้านจะสามารถนำภาวะ "14 ตุลา" มาสู่ประเทศของตนได้หรือไม่ เรดาร์ของเราคงต้องจับกระแสทั้งสองทางนั้น

ส่วนผลกระทบต่อการเจรจาดับไฟใต้นั้น ข่าวไม่สู้จะดีนัก เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในฝ่ายค้านหลายคนมาจากฝ่ายที่คัดค้านนโยบายช่วยเหลือไทยของรัฐบาล และหลายคนก็เคยแสดงจุดยืนสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนในเมืองไทยอยู่ ผมขอตัวที่จะไม่เอ่ยชื่อและระบุรัฐที่ ส.ส. เหล่านี้พำนักอยู่ เชื่อว่าหน่วยงานความมั่นคงของไทยคงทราบอยู่บ้างแล้ว ผมจะส่งรายชื่อเพิ่มเติมกันหลังไมค์ต่อไปเพื่อให้รายชื่อนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เอาเถิดครับ ถึงเราจะบังคับเหตุการณ์รอบๆ ตัวเราให้ถูกใจเราหรือสอดรับต่อผลประโยชน์แห่งชาติของเราทั้งหมดไม่ได้ แต่เราก็วางแผนต่างๆ ตามข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ ไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาไปกว่าเดิมหรอกครับ เพียงเราอย่าประมาทเหมือนเดิมเท่านั้น

 

เผยแพร่ครั้งแรก เฟซบุ๊กเพจ จักรภพ เพ็ญแข

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟ ปักหลักทำเนียบฯ เตรียมยื่นหนังสือ ‘ยิ่งลักษณ์’ ทวงการแก้ปัญหาพรุ่งนี้

Posted: 06 May 2013 05:04 AM PDT

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจากทั่วประเทศถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล ปักหลักชุมนุมรอยื่นเอกสาร นายกฯ ทวงการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม รอ 3 วัน ไม่ได้คำตอบ เตรียมยกระดับการชุมนุม

 
 
วันนี้ (6 เม.ย.56) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ Pmove ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูน (สคจ.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายปฏรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยด่วน บริเวณทำเนียบรัฐบาล
 
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (pmove) กล่าวถึงเป้าหมายหลักในการชุมนุมครั้งนี้ว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีจัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 9 ปัญหาของ pmove ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ ปัญหาส่วนที่แรก คือนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อสภาก่อนการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 23ส.ค.54 หลักๆ คือ นโยบายในด้านทรัพยากรและนโยบายด้านคุณภาพชีวิต ซึ่งนโยบายคุณภาพชีวิตพูดไว้ชัดเจนว่า จะดำเนินการเพื่อให้คนจนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง มีอาชีพที่ภูมิใจ แต่หลังจาก 2 ปีผ่านมายังไม่มีความชัดเจน
 
ด้านเรื่องโครงการบ้านมั่นคงซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนชุมชนเมือง รัฐบาลยังไม่อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม อีกทั้ง ยังมีการตัดงบประมาณในส่วนนี้เพื่อนำไปใช้ในแผนงานอื่นของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
ปัญหาส่วนที่ 2 คือ นโยบายที่ดินและทรัพยากรซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะกระจายสิทธิ์การถือครองที่ดิน โดยใช้มาตรการภาษี นั่นหมายความว่าต้องมีการออกภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อเก็บภาษีที่ดินคนที่มีที่ดินเยอะ และจะมีการจัดตั้งธนาคารที่ดินคนจนและเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร
 
"ตัวสถานบันบริหารจัดการองค์กรที่ดิน เป็นองค์กรมหาชนซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นในรัฐบาลที่แล้ว และมีการอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการโครงการนำร่องในพื้นที่ มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะสั่งยุบสถาบันนี้ ทั้งๆที่สถาบันนี้ยังไม่ได้ทำงานเลย ซึ่งขัดแย้งต่อนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา เพราะว่าสถาบันนี้สำคัญที่จะนำไปสู่การยกร่างกฎหมายธนาคารที่ดินในอีก 5 ปีข้างหน้า" นายประยงค์กล่าว
 
ที่ปรึกษา pmove กล่าวอีกว่า วันที่ 7 พ.ค.56 จะมีการไปยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการถึงนายกรัฐมนตรีในนามของ pmove เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณากำหนดวันประชุม และกำหนดแนวทางว่าแต่ละเรื่องจะมีแนวทางมีขั้นตอนอย่างไรให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามหลังการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว จะให้เวลานายกรัฐมนตรีถึงวันที่ 9 พ.ค.56 ในการตัดสินใจ ขณะเดียวกันประชาชนที่มาร่วมชุมนุมจะมีจดหมายส่วนตัวมายื่นผ่านเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีด้วย
 
หากหลังจากยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้วไม่มีอะไรชัดเจนจะมีการกำหนดมาตรการและยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นมากขึ้น
 
 
 
 
 
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ทวงคำตอบ กฎกระทรวง 'บ้านมั่นคงแช่แข็ง'
 
นางประทิน เวคะวากยานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยตามนโยบายบ้านมั่นคง ซึ่งนโยบายดังกล่าวไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างชัดเจน และโครงการนี้มีปัญหาอุปสรรคมากมายตั้งแต่เรื่องขอผัง แบบบ้าน รวมไปถึงเรื่องการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งตนเองได้รับผลกระทบจนกระทั่งไม่ได้ใบอนุญาตก่อสร้าง ทำให้ไม่มีทะเบียนบ้าน แต่บ้านของตนเองปลูกเสร็จมา 2 ปีแล้ว ซึ่งการไม่มีทะเบียนบ้านทำให้ ไม่สามารถทำทุรกรรมต่างๆได้ ลูก หลาน ไม่สามารถทำอะไรได้เลย
 
นางประทิน กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีโครงการบ้านมั่นคงในเมือง การจัดการพื้นที่น้อยแต่สมาชิกเยอะ พอได้พื้นที่มาต้องมีการจัดสรรแบ่งให้ชาวบ้าน ซึ่งไม่สามารถทำตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารของเขตได้ จึงพยายามไปแก้ไขกฎกระทรวง ที่เคยบังคับว่าพื้นที่ระหว่างบ้านให้ออกไปข้างละ 2 เมตร ด้านหน้า 1.50 เมตร ด้านหลัง 2 เมตร ซึ่งถ้าบ้านมีพื้นที่ 5x9 ตารางเมตร ถ้าต้องไปแบ่งออกข้างละ 2 เมตร จะเหลือตรงกลางแค่ 1 เมตร เพราะฉะนั้นตามกฎกระทรวงที่แก้ไขแบ่งให้เหลือข้างละ 50 เซนติเมตร เช่นนี้คนที่ได้พื้นที่หน้าบ้าน 4 เมตร จะเหลือ 3.50 เมตร
 
"พอเราทำแบบนี้เขตยังไม่ยอมออกให้ ต้องไปแก้กฎกระทรวง กฎกระทรวงผ่อนปรนให้ แต่พอเราไปขอใบอนุญาตก่อสร้างปรากฏว่าทางเขตไม่ออกให้ โดยให้เหตุผลว่าแบบไม่ตรงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งในชุมชนสลัมบางพื้นที่ ต้องประสบปัญหาปลูกบ้านไม่ได้ โดยยื่นใบอนุญาตก่อสร้างเสร็จและมาปลูกบ้าน พอเราปลูกเสร็จก่อน ใบอนุญาตก่อสร้างไม่ออก ก็ไม่ได้ทะเบียนบ้าน ทำให้ยุ่งยาก" นางประทินชี้แจงถึงสภาพปัญหา
 
"มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยากเย็น ซึ่งตอนนี้มีการพูดคุยกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมา เพื่อเสนอต่อ ครม.ซึ่งอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ทางเครือข่ายต้องการเข้าไปย้ำ เพราะมันยังค้างอยู่ ไม่ส่งเรื่องกลับมา ถ้าในวันพรุ่งนี้มีการประชุมเค้าไปดึงเอกสารเข้ามา ทุกอย่างก็จบ" นางประทินกล่าว
 
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 พ.ค.56 นางประทิน ผู้ประสานงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะเป็นผู้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาในวันที่ 9 พ.ค.56 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ. รพ. ชายแดนใต้ชี้ ปัญหา P4P เหมาจ่ายฝ่ายบริหารหายไป

Posted: 06 May 2013 03:06 AM PDT

นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ จังหวัดนราธิวาส และนพ.รอซาลี ปัตยบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา ร่วมชี้ปัญหา กรณีกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ P4P  เพิ่มความเหลื่อมล้ำในสายงานบริหาร

เมื่อกระทรวงสาธารณสุขโดยนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ได้ยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายประกาศฉบับ 4,6 ออกมติ ครม.วันที่ 31 มีนาคม 2556 ให้ใช้การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานหรือ P4P และออกประกาศฉบับที่ 8, 9 ออกมา โดยทุกวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนยังคงได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายน้อยลงมากน้อยขึ้นกับประเภทของโรงพยาบาลชุมชน แต่สายงานบริหารทั้งหมดอันได้แก่ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป การเงิน พัสดุ งานการเจ้าหน้าที่และธุรการ เป็นต้น กลับตกหล่นไม่อยู่ในประกาศฉบับ 8 ทำให้ไม่ได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแม้แต่บาทเดียว จากเดิมที่ได้ 600-1,800 บาท  แต่บัดนี้ได้เพียงค่าตอบแทนตามภาระงานหรือ P4P เพียง 1% ของเงินเดือน  แต่สำหรับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปนั้น ตามประกาศฉบับที่ 9 มีสิทธิเบิกค่าตอบแทนตามภาระงานหรือ P4P ไม่ต่ำกว่า 8.5% ของเงินเดือน 

นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ จังหวัดนราธิวาส ได้ยกตัวอย่างว่า "เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนไม่ว่าใกล้เมืองหรือห่างไกลชายแดนหรือบนดอยก็มีค่าตอบแทนจูงใจ P4P ให้อยู่ในชนบทเท่ากับ 1% ของเงินเดือน หากเงินเดือนที่ 20,000 บาทก็ได้เพียงเดือนละ 200 บาท และยังต้องเก็บแต้มกันอย่างยุ่งยากอีกต่างหาก  ในขณะที่เจ้าหน้าที่คนนี้หากย้ายมาทำหน้าที่เดียวกันนี้ในโรงพยาบาลจังหวัดในเมืองใหญ่จะได้รับค่าตอบแทนตามภาระงานอย่างร้อย  8.5%  แปลว่าได้ค่าตอบแทนเดือนละ 1,700 บาท  นี่หรือการออกประกาศฉบับ 8,9 มาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่แท้จริงยิ่งกว่าเหลื่อมล้ำ อนาคตอันใกล้จะเกิดภาวะสมองไหลโดยเฉพาะกับฝ่ายบริหารที่เป็นบุคลากรสายสนับสนุนที่สำคัญมากๆที่หายากอยู่แล้ว นอกจากจะไหลเข้าเมืองใหญ่แล้วยังจะยิ่งไม่มีใครย้ายมาบรรจุ อยู่ไกลแล้วยังได้ค่าตอบแทนน้อยกว่า ความถูกต้องเป็นธรรมไม่มีในกระทรวงสาธารณสุขยุคนี้"

นพ.รอซาลี ปัตยบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา กล่าวว่า "การขาดแคลนบุคลากรในชนบทนั้นเป็นในทุกวิชาชพไม่เฉพาะแพทย์ สายงายบริหารเช่นพ่อบ้านและการเงินก็ขาดแคลนมาก แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยเห็นความสำคัญของสายงานสนับสนุน ดูตัวอย่างกระทรวงยุติธรรม ได้ออกระเบียบค่าตอบแทนพิเศษข้าราชการศาลยุติธรรม พศ. 2554 ตำแหน่งประเภททั่วไประดับชำนาญงานหากทำงานครบ 3 ปีได้ค่าตอบแทนเพิ่มเดือนละ 9,000 บาท ประเภทวิชาการระดับชำนาฐการได้ 10,500 บาท แต่กระทรวงสาธารณสุขเท่าเดิมยังไม่ให้ไม่ได้ ยังตัดทิ้งค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของกลุ่มบริหารทั้งหมด เป็นความผิดพลาดที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ การทำเช่นนี้เท่ากับรังแกเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชน"

นพ.สมชายสรุปความว่า "หากรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงยังมีหัวใจของความเป็นธรรม ก็ขอให้ยอมรับความผิดพลาด เพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับสายงานบริหารในโรงพยาบาลเช่นเดิมโดยนำประกาศฉบับที่ 4, 6 เดิมที่ดีอยู่แล้วกลับมาใช้กับโรงพยาบาลชุมชน  และในวันที่ 10  พฤษภาคมนี้ที่หาดใหญ่ ซึ่งรัฐมนตรีประดิษฐจะมาเปิดการประชุมชี้แจงการทำ P4P จะมีตัวแทนของฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลชุมชนใน 7 จังหวัดชายแดนใต้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีเพื่อให้นำประกาศฉบับ 4,6 กลับมาใช้เหมือนเดิม"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 เม.ย. - 6 พ.ค. 2556

Posted: 06 May 2013 03:05 AM PDT

 

สหพันธ์แรงงานไทย 43 องค์กรร่วมจัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล เดินขบวนเรียกร้องสิทธิแรงงาน

เมื่อ 1 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ  คสรท. ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วยองค์กรภาคีสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รวม 43 องค์กร ร่วมจัดกิจกรรม  "วันกรรมกรสากล สามัคคีกรรมการ ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน" เนื่องในโอกาสครบรอบ 123 ปี วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.56  เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการจ้างแรงงานและสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจาก รัฐบาล โดยมีการเดินขบวนจากบริเวณหน้ารัฐสภา มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ออกมาช่วยเหลือ

โดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องเร่งด่วนต่อรัฐบาล 5 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 รวมทั้งเร่งรัดพิจารณาร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับประชาชน 12,130 คน เป็นผู้เสนอ 2.รัฐบาลต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ 13 คน และแรงงานภาคเอกชน 3.รัฐบาลต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม 4.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และยุติการแทรกแซงรัฐวิสาหกิจ และ 5.รัฐบาลต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นอิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วม

นอกจากนี้จะมีการติดตามทวงถามข้อเรียกร้องที่ได้เสนอไปแล้วจากรัฐบาล อาทิเรื่องการกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม / การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในระดับชาติ / การเข้าถึงสิทธิ์ พ.ร.บ.ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน / การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน / การคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบ /และการยกเว้นภาษีกรณีเงินก้อนสุดท้ายของคนงานผู้เกษียณอายุ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วงเช้า ว่ามีกลุ่มผู้ใช้แรงงานเริ่มทยอยมายังจุดนัดหมายซึ่งในช่วงเช้านี้ จะมีพิธีทางศาสนา โดยมีรถเครื่องขยายเสียง รถ 6 ล้อ ป้ายข้อความต่างๆในการเรียกร้องสิทธิ์ประโยชน์ ค่าแรงขั้นต่ำ และสวัสดิ์การต่างๆ ของกลุ่มสหภาพแรงงาน  ในเวลาต่อมา นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงานและสวัสดิ์การสังคม เดินทางมาถึงลานพระบรมรูปทรงมา เพื่อเข้าร่วมพิธีทางศาสนา ก่อนจะเดินทางต่อไปยังท้องสนามหลวง

เวลา 08.30 น. กลุ่มผู้แรงงานทั้งสิ้น 43 กลุ่ม กว่า 10,000 คน จัดขบวนเดินทางมุ่งหน้าท้องสนามหลวง โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาถนนราชดำเนินใน  สู่ท้องสนามหลวงเพื่อเข้าร่วมพิธี เปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน เปิดงานวันแรงงาน แห่งชาติ โดยกิจกรรมต่างๆ  จะมีไปถึง 22.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล จำนวนกว่า 300 คน ได้เดินปิดท้ายขบวนกลุ่มแรงงาน ก่อนที่จะหยุดอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มแรงงาน  ก่อนที่จะสลายตัวไป

(ข่าวสด, 1-5-2556)

 

นายกฯฟุ้งดูแลแรงงานทุกกลุ่มมอบ"เผดิมชัย" รับ11ข้อเรียกร้องไว้ช่วยเหลือ

(วันนี้ 1พ.ค.)ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า   กระทรวงแรงงานร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยและหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2556  ภายใต้คำขวัญ"แรงงานไทยสามัคคี สดุดีองค์ราชัน ก้าวทันประชาคมอาเซียน" โดยเวลา 07.00 น. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์  รมว.แรงงาน เป็นประธานในพิธีทางศาสนา ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์  9  รูป จากนั้นเวลา 08.30 น.ได้เคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติ 85 พรรษาฯ โดยกลุ่มข้าราชการ และริ้วขบวนผู้ใช้แรงงานไปตามถนนราชดำเนินสู่ท้องสนามหลวง

จากนั้นเวลา 11.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์   ชินวัตร   นายกรัฐมนตรี  เดินทางมาประธานมารับหนังสือข้อเรียกร้องวันแรงงานจากนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศและนางสุจิน   รุ่งสว่าง  ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ


น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานมาตลอด เช่น การติดตามแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบค่าจ้าง 300 บาทและมีมาตรการต่างๆช่วยเหลือสถานประกอบการจากปัญหาน้ำท่วมปี 2554  ขอให้แรงงานเร่งพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่ สถานประกอบการ  ทำให้มีรายได้สูงขึ้นซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันการถูกเลิกจ้าง   รวมทั้งรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)เพื่อให้แข่งขันกับ ประเทศอื่นได้ นอกจากนี้จะให้กระทรวงแรงงานทบทวนข้อมูลด้านการจ้างงาน เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รองรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและโครงการพัฒนาประเทศวงเงิน  2 ล้านล้านซึ่งต้องการแรงงานสาขาต่างๆจำนวนมาก  รวมทั้งจะส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้รับการคุ้มครอง นอกจากนี้รัฐบาลจะขยายการจัดตั้งมุมนมแม่ และศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ และขยายโครงการโรงงานสีขาวป้องกันยาเสพติด  ทั้งนี้ตนได้รับข้อเรียกร้องทั้ง 11 ข้อไว้  และจะมอบให้รมว.แรงงานไปดำเนินการต่อไป


นายชินโชติ กล่าวถึงข้อเรียกร้อง 11ข้อ ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 ,98 ข้อ 2.ออกกฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง  3.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้งวดสุดท้ายของลูกจ้าง  4.ขอให้เร่งแก้ไขพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2550 ให้เป็นแนวทางเดียวกับข้าราชการพลเรือน  5.ผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ 6.ออกพ.ร.ฎ.สถาบันความปลอดภัยฯในการทำงาน 7.นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 39 ,40 ที่ขาดส่งเงินสมทบกลับมาเป็นผู้ประกันตนได้  8.จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบการ 9.แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ลูกจ้างชายมีสิทธิลาดูแลบุตรได้ 15 วัน 10.ออกพ.ร.ฎ.การจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบ กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และ11.ตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานปี 56


ด้านนางสุจิน กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้อง 4 ข้อได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งประกาศรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ 2.แต่งตั้งผู้แทนแรงงานนอกระบบเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคม 3.เร่งออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านพ.ศ.2553 และ4.บรรจุเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานไว้ในระบบหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ


ขณะที่นายเผดิมชัย   สะสมทรัพย์     รมว.แรงงาน  กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการระบุว่ามีแรงงานในระบบ  4 ล้านคนยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทว่า หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาท มีโทษตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จำคุกไม่เกิน  6  เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากแรงงานไม่ได้รับการปรับค่าจ้างสามารถร้องเรียนได้  ส่วนปัญหาการเลิกจ้างนั้น  ขณะนี้มีแรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้างเพราะได้รับผลกระทบ  แต่มีจำนวนน้อย ขอให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างมาสมัครงานกับกระทรวง ที่มีตำแหน่งงานว่างรองรับกว่าแสนอัตรา  ส่วนผลโพลที่ระบุว่า  หลังจากขึ้นค่าจ้าง 300 บาทแล้ว ชีวิตแรงงานไม่ดีขึ้นนั้น ยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าจ้างทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ ดีขึ้น ซึ่งโดยภาพรวมมีการปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40  ถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด  แม้ราคาสินค้าจะพุ่งสูงขึ้นแต่ยังถือว่ามีอัตราที่ต่ำกว่าค่าจ้างที่ปรับ เพิ่มขึ้น  ส่วนปัญหาหนี้สินของแรงงานที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าเป็นหนี้เก่าสะสมไม่ได้เกิดจากปัญหาภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
 

นางชญานุตน์     ศักดิ์กาญจนกุล     พนักงานฝ่ายผลิตบริษัทโกลด์ไมน์การ์เม้นท์ จำกัด  จ.สมุทรปราการ  ซึ่งผลิตเสื้อผ้าส่งออกต่างประเทศ  กล่าวว่า  การได้รับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทแล้ว ทำให้รายได้สูงขึ้น แต่ค่าครองชีพก็พุ่งขึ้นตามไปด้วย  อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า เช่น ค่ารถเมล์ ค่าไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมทุนการศึกษาให้แก่บุตรหลานแรงงาน และปรับการให้บริการรักษาพยาบาลและยาของกองทุนประกันสังคมให้มีมาตรฐานเดียว กับกองทุนสุขภาพอื่นๆ


วันเดียวกันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ร่วมกับสมาพันธ์แรงงาน รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติโดย ได้รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภาตั้งแต่เวลา 09.00 น. จากนั้นได้เดินขบวนไปยังด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลและตั้งเวทีที่บริเวณประตู 5 และจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันกรรมกรสากลสลับกับการไฮปาร์คบนเวที ก่อนจะเดินทางไปหน้าทำเนียบทวงถามข้อเรียกร้องวันแรงงานปี 55

(เดลินิวส์, 1-5-2556)

 

วันแรงงาน คนงานปราศรัยหน้าสภา-ยื่นหนังสือคัดค้าน ส.ส. ลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

1 เม.ย. 56 - ที่บริเวณหน้ารัฐสภา กลุ่มแรงงานนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ทำการเปิดเวทีปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยมีคนงานและสภาพแรงงานจากกลุ่มต่างๆ ร่วมสมทบอย่างคับคั่ง
 
โดยข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ของคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย 5 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 รวมทั้งเร่งรัดพิจารณาร่าง พรบ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับประชาชน 12,130 คน เป็นผู้เสนอ 2.รัฐบาลต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ 13 คน และแรงงานภาคเอกชน 3.รัฐบาลต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม 4.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และยุติการแทรกแซงรัฐวิสาหกิจ และ 5.รัฐบาลต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นอิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วม
 
นอกจากนี้ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนผู้เสนอชื่อร่าง พ.ร.บ.ประนสังคม ฉบับขบวนการแรงงาน พร้อมด้วยประชาชนจำนวน 150  คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เกียตรสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือแทน เพื่อคัดค้านกรณีที่สภาลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คนเป็นผู้เสนอ
 
โดย น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า เมื่อครั้งที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสภาได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับดังกล่าว และลงมติไม่รับหลักการ ส่งผลให้ร่างนี้เป็นอันตกไป ตนและประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเห็นว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาครั้งนี้ ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 ซึ่งรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในการเสนอกฎหมาย โดยให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายมีสิทธิเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3  ของจำนวน กมธ.ทั้งหมด เมื่อสภาไม่รับหลักการ ถือว่าสภาชุดนี้ไม่สนองตอบความต้องการของประชาชนผู้เสนอกฎหมาย ในการปฏิรูประบบบริหารกองทุนประกันสังคม จึงขอให้ประธานสภาดำเนินการเพื่อให้สภามีมาตรการที่เป็นหลักประกันต่อการ พิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
 
ด้านนายสุวิจักขณ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าชื่อ เสนอกฎหมายมาโดยตลอดซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีงาม ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ลงมติรับหลักการแต่ ประชาชนก็สามารถยื่นเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวมาใหม่ได้ตามสิทธิรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป

(เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน, 1-5-2556)

 

บอร์ดค่าจ้างเมินเลิกมติคงค่าจ้าง 300 บาท 2 ปี

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างยกเลิกมติการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไว้เป็นเวลา 2 ปีไปจนถึงปีพ.ศ.2558นั้น มองว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ส่วนข้อเรียกร้องของแรงงานที่เสนอว่าหากไม่มีการยกเลิกการคงอัตราค่า จ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไว้ 2 ปี ก็ให้กระทรวงแรงงานส่งเสริมให้สถานประกอบการต่างๆ ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามอายุงานและประสบการณ์ทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์รองรับ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานจะสนับสนุนให้แรงงานมีการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อให้ได้รับค่า จ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.)ได้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรง งานไว้ประมาณ 200 สาขาอาชีพ แต่ในจำนวนนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 22 สาขาอาชีพและขณะนี้กพร.ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)สมาคม วิชาชีพต่างๆ และภาคเอกชนจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะให้ได้ครบ 100 สาขาอาชีพ

(โพสต์ทูเดย์, 2-5-2556)

 

รมว.แรงงาน เผยแรงงานถูกเลิกจ้าง 1,300 คน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการติดตามผลกระทบและสถานการณ์เลิกจ้าง หลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 56 พบว่า สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำนวน 40 แห่ง เลิกจ้างแรงงานรวม 1,385 คน ซึ่งสถานประกอบการดังกล่าวเป็นการปิดกิจการ 3 แห่ง และเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน 37 แห่ง ซึ่งได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดูแลแรงงานที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับเงินชดเชย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พร้อมระบุหากนายจ้างรายใดไม่จ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และลูกจ้างรายใดไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงาน ได้

(ครอบครัวข่าว, 3-5-2556)

 

ข้อเสนอร่างคุณสมบัติผู้เข้าสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานฯ 44 สาขาอาชีพ

3 พ.ค.- อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เห็นด้วยกับภาคเอกชนที่เสนอให้ผู้ประกอบการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานตามความ ต้องการโดยให้รัฐเป็นผู้รับรอง คาดภายในเดือนนี้จะมีความชัดเจนก่อนสรุปผลและเสนอเข้าคณะอนุฯ กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กพร.ได้จัดสัมมนาประชาพิจารณ์ร่างคุณสมบัติผู้เข้ารับการทดสอบ วิธีการทดสอบมาตรฐานและอัตราค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 44 สาขาอาชีพใน 11กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น พนักงานประกอบมอเตอร์ ช่างทำสีฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมวิชาชีพต่างๆและภาคเอกชนโดยได้ข้อสรุปว่า ควรให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ กลุ่มอาชีพและสถานประกอบการต่างๆ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานและภาครัฐเป็นผู้รับรอง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง ซึ่ง กพร.เห็นด้วยกับเรื่องนี้

ส่วนอัตราค่าทดสอบนั้น ควรจัดเก็บตามความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาอาชีพว่ามีค่าใช้จ่ายในการทดสอบและอุปกรณ์ต่างๆ มากน้อยเพียงใด แต่ไม่ควรสูงเกินไปจนไม่มีผู้เข้าทดสอบ อย่างไรก็ตาม กพร.จะขอความร่วมมือสถานประกอบการต่างๆ ในเรื่องสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือการทดสอบ โดยจะรวบรวมผู้เข้าทดสอบเป็นกลุ่มและจัดทดสอบในคราวเดียว เพื่อลดค่าใช้จ่ายและไม่สร้างภาระแก่สถานประกอบการ  ซึ่งคาดว่าภายในเดือนนี้จะได้ความชัดเจนในเชิงลึกมากยิ่งขึ้นก่อนสรุปผลและ เสนอเข้าคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หากผ่านความเห็นชอบ จะเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานต่อไป คาดว่าจะผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ร่างวิธีการทดสอบภายในปีนี้

ส่วนของผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช.และ ปวส.สาขาช่างฝีมือต่างๆ ซึ่งหน่วยงานด้านการศึกษาห่วงว่าจะไม่ผ่านการทดสอบนั้น กพร.จะเข้าไปช่วยจัดอบรมเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการทดสอบก่อนจบการศึกษา

(สำนักข่าวไทย, 3-5-2556)

 

สธ.บรรจุลูกจ้างชั่วคราวกว่า 1 แสนคน เป็น "พนักงาน กสธ." เสร็จในสิงหาคมนี้

4 พ.ค. 56 - ที่โรงพยาบาลนครนายก จ.นครนายก นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมสมาชิกสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ใน 17 จังหวัดภาคกลางจำนวน 600 คน เพื่อชี้แจงนโยบายและความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนสถานภาพของลูกจ้างชั่วคราว ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือพกส. เป็นไปตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เป็นต้นมา

นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายปรับปรุงรูปแบบการจ้างงานเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสอดคล้องกับนโยบายในการแก้ไขปัญหาความขาดแคลน อัตรากำลังคน ในการให้บริการดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย โดยหลังจากที่ได้ออกระเบียบว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และมีผลบังคับใช้มาแล้ว 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 เป็นต้นมา  กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งดำเนินการบรรจุลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมีทั้งหมด 117,000 คน  มีทั้งสายวิชาชีพเฉพาะเช่นพยาบาลวิชาชีพ  และสายสนับสนุนต่างๆ ที่ก.พ.รับรองคุณวุฒิการศึกษา แล้ว  เข้าเป็นพนักงานกระทรวงฯ ให้เสร็จสิ้นพร้อมกันทั่วประเทศภายในเดือน สิงหาคม 2556 นี้ มีสัญญา 4 ปี เหมือนพนักงานราชการ  พร้อมเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า  อัตราการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จะใช้บัญชีเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ยกเว้นสายงานวิชาชีพ เช่นพยาบาล จะได้รับ 1.2 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ ขั้นต้น 15,960 บาท ขณะที่ตามระบบเดิมจะได้รับ 11,340บาท เลื่อนค่าจ้างทุกวันที่ 1 ตุลาคมของปี และปรับเพิ่มค่าจ้างไม่เกินร้อยละ 12 ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ นอกจากนั้นยังได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆไม่ต่างจากข้าราชการ มีสิทธิลา การศึกษาต่อ ลาคลอดบุตร ส่วนผู้ชายมีสิทธิลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรได้ไม่เกิน 15 วันทำการ  

ด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จะมีคณะกรรมการของหน่วยบริการดำเนินการประเมิน ทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะและคุณลักษณะของบุคคล  โดยแบ่งพนักงานกระทรวงออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภททั่วไป มี 3 กลุ่มงาน ได้แก่ 1.กลุ่มเทคนิคบริการและบริหารทั่วไป 2.กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ 3.กลุ่มเชี่ยวชาญ และประเภทพิเศษได้แก่ กลุ่มที่ต้องใช้ความสามารถสูงและมีความจำเป็นของหน่วยงาน ที่สำคัญมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสร้างความมั่นคงให้แก่พนักงานฯทุกคน เมื่ออายุมากขึ้นจนถึงวัยเกษียณก็จะมีเงินสะสม รวมกับเงินสมทบพร้อมทั้งผลกำไรที่เกิดจากการลงทุนคืนให้สมาชิกทุกคน    

(มติชนออนไลน์, 4-5-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยเรื่องเซ็กซ์กับ ชลิดาภรณ์: ความไม่หลากหลายในความหลากหลายทางเพศ

Posted: 06 May 2013 02:46 AM PDT

 

บ่ายวันพฤหัสฯที่ 25 เมษายน อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในโครงการ "สร้างเสริมศักยภาพนักกิจกรรมรุ่นใหม่เรื่องสิทธิทางเพศครั้งที่ 1 : เรา เรื่องเพศ และงานพัฒนา" โดยการบรรยายเป็นลักษณะการถามตอบระหว่างผู้บรรยายกับผู้ร่วมเสวนา

ชลิดาภรณ์เริ่มต้นด้วยหลักเกณฑ์บางประการว่า การจะพูดคุยกันเรื่องเซ็กซ์ต้องยึดหลักการ 3 ข้อ 1. เรื่องเพศต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน 2. เรื่องเพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหล อย่าไปยึดติดหรือโหยหาสิ่งที่ผ่านไปแล้วในอดีต 3. อย่าตั้งคำถามกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนลืมตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ อาจจะยังไม่เข้าใจว่า 3 ข้อนี้คืออะไร แต่พอพูดคุยกันไปก็จะเข้าใจขึ้นเอง

คำถาม 1: นิตยสารแฟชั่นฉบับหนึ่งเคยทำโพลสำรวจ พบว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างใหญ่มีผลต่อการสร้างความประทับใจครั้งแรก (first impression) ฟังแล้วรู้แปลกแยก สรุปแล้วความอ้วนเป็นอุปสรรคจริงๆ หรือไม่

ตอบ: แน่นอนว่าเราไม่ได้มองคนอ้วนเป็นก้อนไขมันเดินได้ไม่มีหน้ามีตา ความอ้วนเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เราจะชอบคนแบบไหนมันขึ้นอยู่กับรสนิยม บางคนอาจจะชอบคนแก่เพราะดูเป็นผู้ใหญ่ บางคนอาจชอบคนตัวอ้วนเพราะดูอบอุ่น มันก็สร้างความประทับใจได้ทั้งนั้น แต่อย่างลืมว่ารักแรกพบมันเป็นเรื่องของการปิ๊ง การปิ๊งกันมันไม่ซับซ้อน ที่ซับซ้อนกว่าคือการรักกันต่างหาก และที่สำคัญที่สุดอย่าคิดจะแก้ปัญหานี้โดยอ้างว่า "ก็แค่อย่าเลือกคนรักที่มองที่รูปลักษณ์ภายนอก" เพราะในขณะที่คุณเลือกคนอื่น คนอื่นก็เลือกคนอยู่เหมือนกัน จะไม่แคร์สายตาชาวบ้านเลยคงไม่ได้

คำถาม 2: เราเป็นคนชอบมองผู้หญิงน่ารักๆ ไปเที่ยวกับผู้หญิง ไปไหนมาไหนกับผู้หญิง แต่มีเซ็กซ์กับคู่ของเราที่เป็นผู้ชาย แบบนี้แปลว่าเราชอบเพศเดียวกันไหม?

ตอบ: คำถามนี้น่าสนใจเพราะจากคำถาม เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนถามเขามีเพศต้นกำเนิดเป็นหญิงหรือชาย แต่เราไม่ต้องคิดถึงเรื่องนั้นก็ได้ ประเด็นอยู่ที่เราทุกคนสับสนว่าเราเป็นใคร เราอยู่ในสังคมที่ต้องมีการจัดประเภท เหมือนเราพยายามเอาตัวเราไปใส่กล่องที่สังคมจัดวางไว้ให้ และเราก็บังคับตัวเองให้ซื่อสัตย์อยู่กับกล่องนั้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง เรื่องเพศมันลื่นไหลมาก คนที่นิยามตัวเองว่าเป็นเลสเบี้ยนวันหนึ่งก็อาจจะหันมาชอบผู้ชายได้ และการที่เราบอกตัวเองว่าเราชอบเพศอะไร ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะชอบคนทุกคนที่เป็นเพศนั้น ทอมก็ไม่ได้ชอบดี้ทุกคน ผู้ชายก็ไม่ได้ชอบผู้หญิงทุกคน เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงความหลากหลายทางเพศ จริงๆ แล้วมันไม่ได้หลากหลายเลย มันมีทางเลือกให้เราน้อยมากเมื่อเทียบกับความลื่นไหลทางเพศของมนุษย์ ถึงจะพยายามหลากหลายแต่ก็หลากหลายอย่างจำกัด เมื่อมันจำกัดจนเราจึงไม่สามารถจัดตัวเองได้ว่าควรอยู่ในกล่องไหน จนเรามักตั้งคำถามกับตัวเองว่า "เราปกติดีหรือเปล่า" จนรู้สึกอึดอัดกับตัวเอง

คำถาม 3: กรณีที่ผู้ชาย 2 คนมีภรรยาแล้วทั้งคู่แต่ก็มีเซ็กซ์กันแบบผลัดกันรุกผลัดกันรับ อยากรู้ว่าเขาคิดอะไร! รู้สึกอย่างไร! ทำไมถึงทำเช่นนั้น!

ตอบ: ถ้าดิฉันตอบได้ว่าคนมีเซ็กซ์กันรู้สึกอย่างไร ดิฉันคงเลิกเป็นอาจารย์ไปแล้ว คำถามนี้คล้ายคลึงกับข้อที่แล้ว นี่คือปัญหาของความไม่หลากหลายในความหลากหลายทางเพศ ข้อที่แล้วคือ "เราเป็นอะไร?" ส่วนข้อนี้คือ "เขาเป็นอะไร?" เพราะเราไม่สามารถจับเขาเข้าไปใส่ในกลองที่สังคมมีให้ มันจึงเกิดคำถามอื่นๆ ตามมาอีกเช่น "เราต้องวางตัวอย่างไร?" "เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างไร" เราคาดหวังให้คนในสังคมสามารถจัดประเภทได้ เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมันง่ายขึ้น เช่นถ้าหากเราชอบผู้ชายแท้แล้วรู้ว่าคนนี้เป็นเกย์เราก็จะได้ปิดประตู ซึ่งความจริงแล้วเพศมันลื่นไหลเกินกว่าที่เราควรจะรีบปิดประตู

เพราะฉะนั้นจากสองคำถามข้างต้นทำให้เราเห็นแล้วว่าการจัดประเภทไม่ใช่หนทางที่ดีนัก ที่เรามักพูดกันว่าความหลากหลายทางเพศจริงๆ แล้วมันไม่ได้หลากหลายเลย

คำถาม 4: ผู้ชายเจ้าชู้มาจากไหน/ ที่มาและที่ไปเป็นอย่างไร

ตอบ: ความน่าสนใจของคำถามนี้คือทำไมคำว่าเจ้าชู้จึงผูกติดกับผู้ชาย จริงๆ แล้วเพศอะไรก็เจ้าชู้ได้ และไม่ใช่ว่าผู้ชายจะเจ้าชู้ได้ทุกคน การเจ้าชู้เป็นศิลปะชั้นสูง ไม่เก่งจริงเจ้าชู้ไม่ได้ แต่สังคมทำให้เราคิดว่าผู้ชายเท่านั้นที่เจ้าชู้ได้ มันเหมือนการสร้างมาตรฐาน และสงวนสิทธิ์บางอย่างไว้ให้ผู้ชายเท่านั้น อัตราการถูกประณามหากคนที่เจ้าชู้เป็นผู้หญิงจะสูงกว่าผู้ชายมาก เรื่องนี้สะท้อนความอึดอัดที่เกิดจากกรอบกติกาทางเพศ สรุปแล้วความรักเป็นเรื่องของคนสองคนหรือมากกว่านั้น หากความรักระหว่างคนสองคนเป็นเรื่องดีจริง ก็ต้องใช้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกันไม่ว่าเพศอะไร

คำถาม 5: เซ็กซ์แบบไม่ผูกมัด แต่ยังคงดูแลกันคืออะไร

ตอบ: นี่เป็นอีกหนึ่งแนวคำถามแบบ "มันเรียกว่าอะไร" แต่คราวนี้เปลี่ยนจากเรื่องเพศมาเป็นเรื่องเซ็กซ์ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จัดประเภทไม่ได้เหมือนกัน เพราะคำว่าไม่ผูกมัดมันก็มีหลายระดับตั้งแต่สุดขั้วแบบน้ำแตกแล้วแยกทาง หรือแบบยังมีรอบสองแต่ไม่เป็นแฟนกัน หรืออาจเป็นแฟนกันแต่ไม่ต้องรักเดียวใจเดียว มันเยอะมากจนเราไม่สามารถจำแนกให้มันครอบคลุมได้

คำถาม 6: การแต่งงานเป็นเครื่องรักษาสัมพันธภาพระหว่างชาย-หญิงจริงหรือไม่

ตอบ: การแต่งงานเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการจัดระเบียบสังคมแบบผัวเดียวเมียเดียว มันทำให้คนในสังคมกลายเป็นศาลเตี้ย คอยจ้องจับผิดว่าคนที่แต่งงานแล้วแอบนอกใจคู่ของตนหรือไม่ แล้วก็คาบข่าวไปบอกชาวบ้านอีกที ผู้ที่มีประสบการณ์มาแล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้การันตีว่าสัมพันธภาพจะยืนยาวเลย บางคนแต่งงานแล้วเลิกกันเลยก็มี แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือหากสังคมเชื่อว่าสถาบันการสมรสดีจริง เหตุใดจึงไม่เปิดให้มันเป็นสถาบันของคู่รักทุกเพศ เหตุใดจึงยังสงวนไว้ให้แค่คู่รักหญิงชาย

คำถาม 7: เราจะเยียวยาการที่แฟนขอเลิกเพื่อไปคบกับคนที่เรารู้จักได้อย่างไร เราจะเป็นเพื่อนกันต่อไปได้จริงหรือ?

ตอบ: การโดนบอกเลิกเป็นเรื่องที่เจ็บปวด มันเจ็บปวดกว่าคำถามที่ว่า "เราเป็นเพศอะไร?" หรือ "เขาเป็นเพศอะไร" มันเป็นความเจ็บที่จริงมาก ยิ่งไปคบกับคนที่เรารู้จักยิ่งทำให้รู้สึกเจ็บจากการถูกเปรียบเทียบ แน่นอนว่ามันต้องใช้เวลา มันไม่เหมือนเข้าส้วมที่ใช้เวลานิดเดียวก็หาย อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเยียวคือคนให้คำปรึกษา เรามักเอาความสุขของเราไปเยียวยาความทุกข์ของคนอื่นเช่น "เจ็บแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย" ทั้งๆ ที่มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะคนที่อกหัก หัวใจเขากำลังแตกเป็นชิ้นๆ เราใช้ความรู้สึกของเราหลังจากหัวใจเราฟื้นตัวไปปลอบใจคนอื่น แต่เราลืมนึกไปว่าช่วงระหว่างการฟื้นตัวมันทรมานขนาดไหน เสียน้ำตาไปขนาดไหน ถามว่าเลิกกันแล้วเป็นเพื่อนกันได้ไหม บอกได้เลยว่ายาก เพราะวิธีที่ดีที่สุดในการเยียวยาอาการอกหักคือ 1. หาแฟนใหม่ แต่วิธีนี้ถ้าไม่เก่งจริงก็ทำไม่ได้ 2. หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า การเจอกันมีแต่จะทำให้แย่ลง เราอาจจะกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ใหม่ แต่ในช่วงแรกบอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เราอาจจะเสียดายช่วงเวลาหรือมิตรภาพที่เคยมีร่วมกัน แต่อย่างน้อยเราต้องจัดการกับหัวใจเราเองก่อน อีกสองวิธีที่ช่วยทำให้การเยียวยาง่ายขึ้นคือ 1. รวบรวมแรงที่มีมาจัดการหัวใจตัวเองให้เข้มแข็งให้ได้ 2. หาเพื่อนดีๆ ซักคนเป็นที่ปรึกษา อย่าแบกมันไว้คนเดียว

คำถาม 8: ชีวิตรักระหว่างกระเทยกับผู้ชายถูกทำให้เชื่อว่ากระเทยต้องเป็นฝ่ายให้เสมอทั้งเงินและความรัก ความสัมพันธ์จึงจะยืนยาว อยากทราบว่าความคิดเหล่านี้มาจากไหน เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ชาย-หญิงด้วยหรือไม่

ตอบ: เรามักเข้าใจกันว่าความรักที่มีคุณภาพคือความรักที่ยืนยาว แต่ความจริงแล้วมันไม่มีคู่รักไหนหรอกที่รักกันไปจนแก่ฒ่า หากลองไปถามคู่รักวัยทองว่าเหตุใดจังยังอยู่ด้วยกันก็มักได้คำตอบว่า "อยู่เพื่อลูก" หรืออาจหนักถึงขั้น "กลัวเลิกกันแล้วจะไม่มีอะไรกิน" คืออยู่กันเพราะแรงเฉื่อยของความรัก รักโรแมนติกชนิดที่ว่าหายใจเข้าออกก็เป็นเธอมันอายุสั้นมาก แต่มันถูกแทนที่ด้วยสิ่งอื่นเช่น มิตรภาพ หรือข้อผูกมัด (commitment) เช่นบ้านหรือลูก ฉะนั้นความรักมันไม่ได้ยั่งยืนโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

ความรักระหว่างเพศเดียวกันก็ไม่ต่างกันหรอก แต่ที่พูดอย่างนี้อย่าเข้าใจผิดว่ารักแท้ไม่มีจริง "รักแท้มีจริง ณ ช่วงเวลาที่กูรักมึง" มันอาจจะเป็นเพราะกำลังเคลิบเคลิ้มกับเสียงเพลงรัก หรือบทกวีหวานหู ความรู้สึกรักมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ทีนี้เมื่อพูดเรื่องเงิน บางคนอาจมองว่ารักที่ดีต้องไม่มีเงินมาเกี่ยวข้อง แต่มันอาจไม่ตายตัวอย่างนั้น บางคู่ที่รักกันนานก็เพราะช่วยกันทำมาหากินหาเงินทองมาด้วยกัน มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ทำไมเราจะรักใครเพราะเงินไม่ได้ ความรักมันก็เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างปัจจัยต่างๆ ทั้งฐานะ การศึกษา หน้าตา อัธยาศัย แต่ที่เราไปหลงคิดว่ารักที่ดีต้องไม่มีเงินมาข้อเกี่ยวเพราะเราไปติดกับปล่อยให้สังคมสร้างนิยามความรักให้กับเรา และขังเราไว้ในกรอบคำนิยามนั้น

คำถามข้อนี้แสดงให้เราเห็นว่าบางครั้งเราอยากได้ หรืออยากเห็นในสิ่งที่เราคาดหวัง แต่สุดท้ายสิ่งที่เราคาดหวังอาจไม่มีตัวตนจริงก็ได้ แต่มันตลกตรงที่มันก็เป็นความคาดหวังของคนอื่นด้วยเช่นกัน ต่อให้เรารู้ตัวว่าเราถูกค่านิยมทางสังคมกักขังอยู่ เราอาจจะพยายามดิ้นให้หลุดจากกรอบ แต่ก็ใช่ว่าคนอื่นๆ เขาจะดิ้นหลุดเหมือนเราและเข้าใจสิ่งที่เราคิด

คำถาม 9: ทำไมการคุยเรื่องเซ็กซ์กับคนในสังคม หรือแม้กระทั่งกับคู่ของเราจึงเป็นเรื่องยาก

ตอบ: ตอบประเด็นเรื่องคู่ก่อน ของแบบนี้ไม่จำเป็นต้องคุยกันเพราะมันสังเกตได้จากท่าทาง ถ้าเราแคร์คู่ของเรา เราจะไม่อยากคุยเรื่องนี้เพราะกลัวจะรับความจริงไม่ได้และอาจกระทบความสัมพันธ์ ลองจินตนาการว่าถ้าเราบอกแฟนเราว่า "เราไม่ชอบสไตล์การมีเซ็กซ์ของเธอ" แฟนเราจะทำหน้ายังไง ในขณะเดียวกัน ในมุมของสังคม ลองจินตนาการว่าถ้าเราไปบอกคนอื่นในสังคมว่า "เราเป็นคนชอบคุยเรื่องเซ็กซ์" คนอื่นจะทำหน้าอย่างไร เราจะโดนดูถูกในทันที สังคมสั่งให้เราอย่าไปหมกมุ่นเรื่องเพศ ในขณะเดียวกันสังคมก็กำหนดกรอบกติกาการมีเซ็กซ์ไว้อย่างเคร่งครัดและบังคับให้เราชื่นชอบมัน กติกาดังกล่าวมันยิ่งทำให้เรากลัวจนไม่กล้าเปิดเผยรสนิยมทางเพศของเรา แต่เอาเข้าจริง กติกาดังกล่าวก็ไม่สามารถมากำหนดรสนิยมทางเพศของเราได้จริงๆ หรอก เราอาจชอบมีเซ็กซ์กับเด็ก เกิดอารมณ์ทางเพศกับหมา ฯลฯ แต่เราก็จะไม่บอกใคร เพราะมันมีความเสี่ยงสูงหากสิ่งที่เราพูดมันผิดแผกไปจากกติกาของสังคม เซ็กซ์จึงเป็นเรื่องที่ "คนทำแต่คนไม่พูด" ปัญหาของเรื่องนี้คือ ยิ่งเราอยู่ในสังคมที่ยังคงเชื่อว่าทุกคนชื่นชอบกติกาทางเพศแบบเดิมๆ มากเท่าไร การพูดคุยเรื่องเซ็กซ์ก็ทำได้ยากมากขึ้นเท่านั้น

คำถาม 10: วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ส่งผลต่อการรุก-รับเวลามีเซ็กซ์หรือเปล่า

ตอบ: ก่อนจะตอบคำถามนี้ขอทำความเข้าใจกับคำว่า "ชายเป็นใหญ่" ก่อน สังคมที่มีวิธีคิดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายในสังคมจะได้ทุกอย่างดั่งใจ ตรงกันข้ามผู้ชายบางคนอาจล้มเหลวตลอดชีวิต การพูดว่าสังคมชายเป็นใหญ่จึงไม่ถูกต้อง เราควรเรียกว่า "สังคมนิยมชาย" กล่าวคือผู้มีคุณสมบัติความเป็นชายจะได้เปรียบในสังคมนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายมีอำนาจในการสั่งการเสมอไป ยกตัวอย่างเช่นเวลามีการโต้เถียงกันระหว่างผู้หญิง-ผู้ชาย ผู้ชายจะสามารถหยิบเอาคำบางคำมาลดทอนคุณค่าของฝ่ายหญิงได้ตลอดเวลา เช่น "อีร่าน" "อีดอกทอง" ซึ่งคำพวกนี้ด่าผู้ชายแทบไม่รู้สึกอะไร ซึ่งแนวคิดแบบนิยมชายก็ส่งผลไปถึงเรื่องเซ็กซ์ด้วย เคยมีงานวิจัยว่าภาพแบบใดที่ทำให้ผู้หญิงเกิดอารมณ์ทางเพศได้มากที่สุด ผลปรากฎว่าภาพที่ทำให้ผู้ชายเกิดอารมณ์ทางเพศเช่นภาพเนินออก ภาพผู้หญิงโป้เปลือย สามารถทำให้ผู้หญิงเกิดอารมณ์ทางเพศได้มากที่สุด ส่วนภาพผู้ชายโป้เปลือยและอวัยวะเพศชายตามมาเป็นอันดับสอง

เรื่องการรุก-รับก็เป็นความรุนแรงอีกแบบหนึ่งที่เกิดจากสังคมนิยมชาย เรามักเข้าใจว่าเซ็กซ์คือการสอดใส่ลึงค์เข้าไปในช่องคลอด เสียดสีกันให้เกิดความเสียวซ่าน (fiction) และสิ้นสุดเมื่อถึงจุดสุดยอด (orgasm) ซึ่งความเข้าใจนี้ทำให้ผู้หญิงเสียเปรียบ เพราะ 60% ของผู้หญิงไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ระหว่าง การสอดใส่แม้แต่ท่าที่ดูเหมือนผู้หญิงจะเป็นฝ่ายคุมหรือ women on top ก็มีจุดประสงค์เพื่อสร้างการเสียดสีและนำไปสู่การถึงจุดสุดยอดของผู้ชายอยู่ดี ความสุขที่ผู้หญิงได้จากการมีเซ็กซ์จึงน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปชป. เตรียมออกแถลงการณ์แจงนานาประเทศ โต้ปาฐกถานายกปูบิดเบือน

Posted: 06 May 2013 02:33 AM PDT

ชวนนท์ ควง กษิต ภิรมย์ แถลงชี้ปาฐกถาพิเศษที่มองโกเลียอาจส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนและภาพลักษณ์ประเทศ เตรียมแจงปัญหารัฐบาลทักษิณและคนเสื้อแดงยังไม่หยุดพฤติการณ์คุกคามผู้มีความเห็นต่างและองค์กรอิสระ 

6 พ.ค. 2555 เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์รายงานว่า วันนี้ นายชวนนท์   อินทรโกมาลย์สุต   โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  และนายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวกรณี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวันตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ณ ประเทศมองโกเลีย โดยในสาระสำคัญเป็นข้อมูลบิดเบือน ใส่ร้ายประเทศไทย  วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการโค่นล้มประชาธิปไตยในประเทศไทยและองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นข้อมูลที่บิดเบือนความจริง  อาจส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งภาพรวมที่ต่างประเทศมองประเทศไทย

ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องออกแถลงการณ์ในนามของพรรคส่งไปยังประเทศต่างๆ  เพื่อชี้แจงการทำงานของรัฐบาล   ตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี   โดยเริ่มตั้งแต่การได้สัมปทานภาครัฐโดยมิชอบ  การลุแก่อำนาจ   การทุจริตคอรัปชั่น  โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในครอบครัว  รวมทั้งมาตรการปราบปรามยาเสพติด จนเป็นที่มาของการฆ่าตัดตอนหลายพันศพ

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุถึงการแทรกแซงองค์กรอิสระ ในยุครัฐบาลทักษิณ  จนเป็นที่มาของการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ  และการปฏิวัติรัฐประหารในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ รักษาการนายกฯ หลังยุบสภา  ตลอดทั้งโทษจำคุกของ พ .ต.ท.ทักษิณ  รวมทั้งเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ปี 52-53 ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เบื้องหลังคอบปลุกปั่นจนเกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศไทย  ที่สำคัญคือ  นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกฯคนปัจจุบันของไทยก็มีส่วนร่วมในการชุมนุมนั้นด้วย  ซึ่งการชุมนุมนั้น เป็นการชุมนุมใช้กองกำลังติดอาวุธคุกคามประชาชน  ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร   จนเป็นที่มาของความเสียหายที่เกิดขึ้น  โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย 

และท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีสรุปว่า จนปัจจุบันกลุ่มคนเสื้อแดงยังไม่ยุติพฤติกรรมคุกคาม  ผู้ที่มีความเห็นต่าง ทั้งองค์กรอิสระ  ศาลรัฐธรรมนูญ  พรรคการเมือง  ภาคประชาชน   หากมีความเห็นต่างจากรัฐบาล ก็จะถูกคนกลุ่มนี้เข้าคุกคาม

นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า คาดว่าจะส่งในวันพรุ่งนี้ (7พ.ค.) ไปยังคณะทูตประจำประเทศไทยของแต่ละประเทศก่อน จากนั้นจะส่งไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และหอการค้าต่างประเทศ  หลังจากนั้นจะส่งแถลงการณ์ไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะแจ้งต่อเลขาธิการองค์กรประชาธิปไตย ที่เป็นผู้จัดงานที่ประเทศมองโกเลีย ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะให้เวียนแถลงการณ์ไปยังประเทศสมาชิกให้ทราบโดยทั่วกัน และจะส่งไปยังพรรคการเมืองทั่วโลกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มเยาวชนสตรีในปากีสถาน จัดอาสาสมัครคุ้มครองผู้หญิงลงคะแนนเลือกตั้ง

Posted: 05 May 2013 11:43 PM PDT

หลังจากที่มีใบปลิวในเชิงปรามไม่ให้ผู้หญิงไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปของปากีสถาน รวมถึงมีเหตุรุนแรงและการข่มขู่ แต่ทางกลุ่มเยาวชนสตรี Aware Girls ก็พยายามสนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาเลือกตั้งด้วยการจัดอาสาสมัครคุ้มครองตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ

 

สำนักข่าวเดอะ การ์เดียนรายงานว่ากลุ่มนักกิจกรรมสตรีในปากีสถานวางแผนจัดทีมคุ้มกันผู้หญิงตามหน่วยเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ค. ที่จะถึงนี้หลังจากที่มีใบปลิวเวียนไปตามพื้นที่เตือนไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปตามคูหาเลือกตั้ง

ท่ามกลางเหตุรุนแรงและปัญหาในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั้วไปของปากีสถาน มีใบปลิวเตือนว่าการที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยเป็นเรื่อง 'ขัดต่อศาสนาอิสลาม' แต่ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งก็มีกลุ่มเยาวชนสตรีที่ต้องการฝ่าฟันอุปสรรคทางการเมืองและวัฒนธรรมเพื่อเรียกร้องการมีสิทธิมีเสียงของตนเอง

กลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนสตรีรุ่นใหม่ในนาม Aware Girls วางแผนท้าทายในเรื่องที่พวกเขาเรียกว่าเป็นความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการปกป้องการลงคะแนนเสียงของสตรี โดยการที่พวกเขาจะจัดให้มีทีมคุ้มกันผู้หญิงตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในจังหวัดไคเบอร์-ปัคตุนควา หนึ่งในสี่จังหวัดที่เคยรู้จักในนามจังหวัดชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือ

กลุ่ม Aware Girls เป็นกลุ่มสันติภาพนำโดยเหล่าเยาวชนสตรีผู้มีการฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำ ซาบา อิสมาอิล อายุ 23 ปี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของกลุ่มกล่าวว่า พวกเขามีอาสาสมัครคอยสังเกตการณ์อยู่ตามหน่วยเลือกตั้ง 30 หน่วย เพื่อคอยช่วยเหลือผู้หญิงที่ออกมาลงคะแนน และหวังว่าจะสามารถเข้าถึงหน่วยเลือกตั้งได้มากกว่านี้

มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงนักกิจกรรมอายุ 15 ปีผู้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกหลังถูกกลุ่มตาลีบันพยายามลอบสังหารเมื่อเดือน ต.ค. 2012 ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกฝึกฝนมาจากกลุ่ม Aware Girls

"มาลาลาไม่ใช่คนเดียวที่กล้าหาญ แต่เธอก็กลายเป็นวีรสตรีของพวกเราไปแล้ว" อิสมาอิลกล่าว "เธอเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและเป็นแบบอย่าง ฉันรู้สึกประทับใจเธอมาก ผู้หญิงหลายคนจะรู้สึกว่าตนมีพลังจากมาลาลาหากพวกเธอออกมาเลือกตั้ง เป็นที่แน่ชัดว่าผู้หญิงในปากีสถานถูกห้ามไม่ให้ลงคะแนน และในเขตพื้นที่ชนบทก็มีความเสี่ยง ดังนั้นพวกเราจึงนำอาสาสมัครออกมาช่วยให้ผู้หญิงรู้สึกว่าพวกเธอสามารถออกมาได้ในวันสำคัญเช่นนี้"

อิสมาอิลเล่าว่าในช่วงการเลือกตั้งปี 2008 มีหน่วยเลือกตั้งจำนวนมากถูกเผาและและผู้หญิงก็ถูกบอกว่าการที่พวกเธอไปลงคะแนนเสียงถือเป็นเรื่อง 'กักขฬะ' อิสมาอิลบอกว่าเธอต้องการให้ประเทศปากีสถานมีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและเป็นอิสระ ซึ่งผู้หญิงจะสามารถลงคะแนนได้อย่างเป็นความลับและไม่ถูกครอบครัวสั่งให้ลงคะแนน

อิสมาอิลบอกอีกว่าแม้แต่นักการเมืองหญิงอยู่ไม่กี่คนในระบบการเมืองของปากีสถานก็มักจะถูกครอบครัวคอยบงการเนื่องจากนักการเมืองเหล่านี้เป็นภรรยาและลูกสาวของคนที่ต้องการบงการพวกเธอ และนักการเมืองเหล่านี้ก็มีจำนวนเพียงแค่ให้พอกับโควต้าที่กำหนดไว้เท่านั้น

"ในรายการโทรทัศน์ที่ให้นักการเมืองหญิง 3 คน มาอภิปรายผ่านห้องส่งรายการก็มีคำถามอย่าง 'ผู้หญิงควรจะอนุญาตให้ทำงานหรือไม่เนื่องจากพวกเธอใช้เวลาแต่งหน้านานกว่าปกติ' " อิสมาอิลกล่าว

การกลับมาของกลุ่มสุดโต่งที่พยายามไม่ให้ผู้หญิงออกไปเลือกตั้งทำให้อิสมาอิลรู้สึกผิดหวัง กลุ่มของอิสมาอิลต้องย้ายที่ทำการถึงสองครั้งเนื่องจากมีคนข่มขู่

กองทัพปากีสถานประกาศว่าจะมีการวางกำลังทหาร 70,000 นาย ในเขตสี่จังหวัดในช่วงเลือกตั้ง ร่วมกับกำลังเสริมของตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความสงบหลายพันนาย ขณะเดียวกันประชาชนก็กลัวว่าคูหาเลือกตั้งในบางพื้นที่จะไม่เปิดทำการเนื่องจากคณะทำงานในจังหวัดบาลูจิสถานปฏิเสธที่จะประจำการในหน่วยเลือกตั้งโดยเกรงเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตามผลสำรวจโพลล์เปิดเผยว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้อาจมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าช่วงปี 2008 ที่มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 44

การเลือกตั้งปี 2013 นี้มีขึ้นหลังการหมดวาระเป็นครั้งแรกของผู้นำปากีสถานที่ได้รับเลือกมาตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยที่ผ่านมาการเมืองของปากีสถานมักถูกขัดขวางด้วยการทำรัฐประหารและการปกครองแบบเผด็จการ

"สงครามหมายถึงการที่ผู้ชายรู้สึกโกรธ แล้วเอาพฤติกรรมรุนแรงมาระบายลงกับครอบครัว" อิสมาอิลกล่าว "สำหรับผู้หญิงแล้ว พวกเธอถูกใช้ไม่ใช่เพื่อสันติภาพ แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลยุทธ เป็นผู้ผลิตทหารและผลิตสงคราม ในปากีสถาน ผู้หญิงถูกทำให้เชื่อแบบฝังใจว่าพวกเธอเป็นคนที่ต้อยต่ำกว่า แต่ฉันเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง"

สำนักข่าว The Guardian ระบุว่า สถานการณ์ในช่วงก่อนวันที่ 11 พ.ค. ดูเหมือนจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นการเผชิญหน้าของกลุ่มที่ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มตาลีบันหรือกลุ่มอื่นๆ กับความพยายามผลักดันประเทศไปสู่ประชาธิปไตยของชาวปากีสถาน โดยเม่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักการเมืองทั้งสามพรรคถูกข่มขู่จากกลุ่มตาลีบันแต่พวกเขาก็ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าพวกเขาจะไม่กลัว

สถานการณ์อีกด้านหนึ่งก็มีการลอบสังหารผู้ลงสมัครเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้สมัครพรรคอวามีถูกสังหารพร้อมกับลูกชายอายุสามขวบในเมืองการาจี และในวันเดียวกันที่กรุงอิสลามาบัด เชาธรี ซุลฟิการ์ ก็ถูกลอบสังหารหลังเข้ารับฟังการพิจารณาคดีลอบสังหารเบนาซี บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานผู้ถูกลอบสังหารในปี 2007 โดยเชาธรีเป็นเจ้าหน้าที่อัยการของรัฐของรัฐผู้ดูแลดังกล่าวอยู่


เรียบเรียงจาก

Pakistan's women face battle for the right to vote, The Guardian, 04-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แยกจัดงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ‘จรัล’ แจงไม่อยากร่วมงานผู้หนุนรัฐประหาร

Posted: 05 May 2013 10:08 PM PDT

ที่มาภาพ : PITV แฟนเพจ

3 พ.ค.56 ที่ห้อง F332 ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 2 ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ แถลงเตรียมจัดกิจกรรมรำลึก 40 ปี 14 ตุลา 16 โดยใช้ชื่องานว่า "40 ปี 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์" ซึ่งจะมีกิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่ มิ.ย.- ต.ค.56 โดยแบ่งกิจกรรมเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 การปราศรัยทางการเมืองเพื่อรำลึกเหตุการณ์นี้ การจัดแสดงศิลปะและวัฒนธรรม บทเพลง บทกวี รวมไปถึงการรณรงค์ทางการเมือง ด้วยคำขวัญของงานว่า "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลา" ซึ่งเป็นคำขวัญที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ไว้หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.16

จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวว่า กิจกรรมรำลึก 14 ตุลา 16 นั้นทุกๆ ปีก็จะมีการจัด โดยเมื่อก่อนที่จัดงานจะเป็นองค์การนักศึกษาและคนรุ่น 14 ตุลา ซึ่งต่อมาก็มีการตั้งเป็นคณะกรรมการ และสุดท้ายก็เป็นมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งก็จะจัดกิจกรรมทุกปี

สำหรับสาเหตุการแยกจากมูลนิธิ 14 ตุลา ในการจัดกิจกรรมรำลึกนั้น ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวว่า ในช่วง 7 ปีมานี้มีความเปลี่ยนแปลงภายในคนรุ่น 14 ตุลา คนส่วนหนึ่งที่มีไม่น้อยเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองไปสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 และเป็นไปในทางต่อต้านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในนั้นก็มีมูลนิธิ 14 ตุลา มีคนที่เป็นคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 14 ตุลา ในส่วนที่มีมูลนิธิ 14 ตุลา เป็นแกนหลักในการจัด ตนเองและอีกหลายคนไม่อยากร่วมงานกับคนที่ต่อต้านประชาธิปไตย คนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ เขามีสิทธิในการจัดงานของเขา และพวกเราก็มีสิทธิจะจัด ซึ่งไม่ใช่การแข่งกัน แต่ต่างคนต่างจัด เป็นเรื่องธรรมดาที่อยู่ภายในสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกันทางความคิด

คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประกอบด้วยกลุ่มองค์กรประชาธิปไตยหลายองค์กร เช่น สมาคมญาติ14 ตุลา 2516, เครือข่ายเดือนตุลา, ชมรมโดมรวมใจ, กลุ่มสภาหน้าโดม, กลุ่มละครมะขามป้อม, กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.), อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ และคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยาน เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 โดยนอกจากมีจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นประธานแล้ว ยังมี วิสา คัญทัพ, วุฒิพงษ์ เลาหไพโรจน์ และ ละเมียด บุญมาก  เป็นรองประธาน และมีกรรมการอีก 20 กว่าคน

โดยมีวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย

1. เพื่อรื้อค้น บันทึก และศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

2. เพื่อร่วมสืบสานเจตนารมณ์วีรชนประชาธิปไตย ผ่านกิจกรรมวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมและสื่อทุกแขนง

3. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในหมู่นักกิจกรรม นักวิชาการและผู้รักประชาธิปไตย บนสายธารประวัติศาสตร์ ที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน

4. เพื่อเป็นเวทีที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง แก่นักประชาธิปไตยหลากรุ่น

ซึ่งมีกรรมการที่ปรึกษาประกอบด้วย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จาตุรนต์ ฉายแสง, วีรกานต์ มุกสิกพงษ์, สุธรรม แสงประทุม, สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี, คำสิงห์ ศรีนอก, อดิศร เพียงเกษ, ธิดา ถาวรเศรษฐ, วีรประวัติ วงศ์พัวพัน, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, วิจิตร ศรีสังข์, สุรชาติ บำรุงสุข, ธเนศวร์ เจริญเมือ'

 

คำแถลงคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ :

ปีนี้ ครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

สี่สิบปีผ่านไป สำหรับคนรุ่นใหม่ย่อมเกิดไม่ทัน และอาจเกิดความสับสน เรียกเป็น เหตุการณ์ 16 ตุลา หรือสับสันระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519

อันที่จริง ได้มีการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม กันเรื่อยมา นับตั้งแต่ปีแรกๆ จนถึงวาระ 20 ปี 30 ปี และ 40 ปี ในปีนี้

รำลึกอะไร..

ก็คือรำลึกวีรกรรมและจิตใจบริสุทธิ์ของพลังนิสิตนักศึกษาประชาชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน สละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย

รำลึกเจตนารมณ์ 14 ตุลา ประเทศต้องมีเอกราช ประชาชนต้องมีประชาธิปไตย สังคมต้องมีความเป็นธรรมนั่นคือจุดหลักในการรำลึกเรื่อยมา ถึงแม้ว่า ในบางช่วงบางปีการรำลึกเช่นนี้ อาจถูกค่อนขอดว่าเป็น "งานเช็งเม้ง" เพราะเคลื่อนไหวกันในกลุ่มเล็กๆเดิมๆ แต่มีการรำลึก ย่อมดีกว่าไม่มีอะไรเลย เพื่อแย่งยึดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านไปแล้วถึง 40 ปี คนหนุ่มสาวรุ่น 14 ตุลา มาถึงวันนี้อยู่ในวัยกำลังสุกงอมด้วยประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ทางการเมือง และอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง

คนที่เคยร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เคยต่อต้านรัฐประหาร 30 - 40 ปี ผ่านไป บางคนกลับกลายเป็นพวกสนับสนุนการฉีกรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการรัฐประหาร นี่คือความเป็นจริงชัดเจน มิใช่ใส่ร้ายป้ายสี

และคนรุ่น 14 ตุลา ที่ยังยืนหยัด พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เคารพอำนาจของปวงชนชาวไทย ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำนาจนอกระบบ ก็ยังมีพลังอยู่ด้วยเช่นกัน

40 ปี ผ่านไป เอาเข้าจริงเรายังไม่สามารถเขียนประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นมาได้

ประวัติศาสตร์ อาจมีได้หลายด้าน หลายมุมมองของผู้ร่วมประวัติศาสตร์ ไม่ควรให้ฝ่ายหนึ่งผูกขาด เพียงแต่ว่า ประวัติศาสตร์หลายมุม หลายด้านนั้น ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ ต้องสามารถนำเสนอความเป็นจริงได้อย่างตรงไปตรงมา

เอาเข้าจริง ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ยังเป็นประวัติศาสตร์อ้ำอึ้ง พูดความจริงไม่ได้ หรือบางประเด็น อาจถึงขั้น ตายแล้วก็พูดไม่ได้ เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์อื่นๆ ในรอบแปดสิบปีประชาธิปไตยไทย เพราะบ้านเมืองเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ยังไม่มีสิทธิเสรีภาพที่แท้จริง ตัวละครสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองยังทรงอิทธิพลอำนาจ จนทำให้การบันทึกประวัติศาสตร์เป็นไปไม่ได้

ดังนั้น การรำลึก 40 ปี ของเหตการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในปีนี้ จึงมิใช่แค่การรำลึกแบบเช็งเม้ง หรือมองด้านเดียว จำเพาะเหตุการณ์เดียวอย่างที่เคยเป็นมา หากแต่จะต้องมีการ "ตอบโจทย์ 14 ตุลา" อย่างมีเหตุมีผล มีหลักการ โดยวิธีการ หรือโดยตัวบุคคลที่เคยมีประสบการณ์โดยตรง และตัวบุคคล ที่มีมาตรฐานทางวิชาประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่สำคัญอันมีความต่อเนื่อง และส่งผลกระทบถึงกัน

นอกจากนั้น ความงดงามของ 14 ตุลาคม 2516 ได้แก่ ผลพวงที่เกิดติดตามมา จากปี 2516 ถึง 2519 คือการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ของแนวรบศิลปวัฒนธรรม เช่นเกิด เพลงเพื่อชีวิต วรรณกรรมเพื่อชีวิต กวีการเมือง จิตรกรรมการเมือง ละครสะท้อนสังคม อันเป็นพลังทางศิลปะที่หลอมรวมเข้ากับความคิดการเมืองเพื่อประชาธิปไตย อย่างมีพลัง

ดังนั้นในวาระ รำลึก 40 ปี 14 ตุลาคม ในปีนี้ ย่อมต้องรำลึก ทบทวน และสร้างใหม่ ให้กับงานแนวรบวัฒนธรรมเหล่านี้ ในแบบ ให้อดีตรับใช้ปัจจุบัน รำลึกเพื่อเดินต่อไป จากคนรุ่นก่อน สืบต่อถึงคนรุ่นใหม่ ด้วยกิจกรรมต่างๆในงานครั้งนี้

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นจากการรวมพลังของมวลมหาประชาชน ดังนั้น จึงไม่ควรที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะคิดผูกขาดการเป็นเจ้าของแต่กลุ่มเดียว

อันที่จริง ประเด็นนี้ ก็สำแดงมาตั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านไปหมาดๆ เช่น ฝ่ายหนึ่งบอกว่า "14 ตุลา วันมหาวิปโยค" อีกฝ่ายว่า " 14 ตุลา วันมหาปิติ" ไม่แปลกที่แต่ละบุคคลจะมีทรรศนะท่าทีทางการเมืองแตกต่างกันไป การรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ย่อมต้องมีขึ้นได้อย่างหลากหลาย ตามเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรที่ใครจะคิดมาครอบครองผูกขาดประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม

คณะกรรมการ14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์เกิดขึ้นในสภาพการณ์เช่นว่ามา และมีจุดมุ่งหมายตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เราขอยืนยันว่า เราจะจัดกิจกรรมร่วมรำลึก 14 ตุลาคม 2516 ครบรอบ 40 ปี และปีถัดๆไป เพื่อพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตย ภายใต้คำขวัญอันทรงคุณค่า ของปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้อภิวัฒน์ว่า "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม " ประเทศต้องมีเอกราช ประชาชนต้องมีประชาธิปไตย สังคมต้องมีความเป็นธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรครัฐบาลชนะเลือกตั้งมาเลเซีย-แต่เป็นหนแรกที่ฝ่ายค้านได้คะแนนรวมมากกว่า

Posted: 05 May 2013 07:14 PM PDT

ผลคะแนนรวมพรรคฝ่ายค้านได้ 4.84 ล้านคะแนน พรรครัฐบาลได้ 4.49 ล้านคะแนน แต่ระบบเลือกตั้งมาเลเซียมีแต่แบบแบ่งเขต ทำให้พรรครัฐบาลมาเลเซียยังคงชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่ง ส.ส. 133 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ได้ 89 ที่นั่งเพิ่มจากเดิม 7 ที่นั่ง "นาจิป ราซัก" ลั่นถ้าจะร้องเรียนให้ไปฟ้องที่ศาล

ตามที่มาเลเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) นั้น ผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการล่าสุดพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional/BN) ยังคงชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่ง ส.ส. 133 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat/PR) แม้จะแพ้การเลือกตั้งแต่ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเป็น 89 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งคราวก่อน 7 ที่นั่ง

ทั้งนี้เมื่อดูตามผลคะแนนรวมแบบไม่เป็นทางการ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 4.84 ล้านคน ลงคะแนนเลือกพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) หรือคิดเป็นร้อยละ 50.27 ขณะที่มีผู้เลือกพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) 4.49 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 46.57% นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ตั้งประเทศในปี พ.ศ. 2510 ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านมากกว่าลงคะแนนให้กับพรรครัฐบาล อย่างไรก็ตามแม้ฝ่ายค้านจะได้คะแนนรวมมากกว่า แต่จะไม่มีผลอะไรสำหรับการตั้งรัฐบาล เพราะระบบการเลือกตั้งมาเลเซียเป็นแบบแบ่งเขต ไม่มี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

 

"นาจิป" แถลงใครจะร้องเรียนขอให้ไปที่ศาล ยันการเลือกตั้งโปร่งใส

ภาพจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ โดยเป็นการแถลงข่าวของพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) นำโดยรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคแนวร่วมแห่งชาติ นาจิป ราซัก (ยืนโพเดียม ซ้ายมือ) เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา

 

ด้านพรรครัฐบาลได้แถลงข่าวกลางดึก ในเวลาประมาณ 1.10 น. เข้าสู่วันใหม่ของวันที่ 6 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น นาจิป ราซัก รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และผู้นำพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ได้ประกาศชัยชนะและแถลงข่าวว่า "เราได้แสดงให้โลกเห็นว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตยแท้จริง" และ ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่าเกิดแนวโน้มของการเมืองแบบสองขั้ว ซึ่งสิ่งนี้แสดงความกังวลต่อรัฐบาล และถ้าหากไม่มีการจัดการปัญหา สิ่งนี้จะสร้างความตึงเครียดหรือเกิดการแบ่งแยกขึ้นในประเทศ

ในระหว่างแถลงข่าว ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ด้วย นาจิปกล่าวด้วยว่า ถ้าใครมีข้อร้องเรียนเรื่องการเลือกตั้งขอให้ไปที่ศาล และกล่าวด้วยว่ากระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส ถ้ามีปัญหาขอให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน นอกจากนี้นาจิปยังย้ำต่อฝ่ายค้านด้วยว่า การเลือกตั้งเป็นไปด้วยกระบวนการที่โปร่งใส กรุณายอมรับผลการเลือกตั้ง

อนึ่งการเลือกตั้งมาเลเซียรอบนี้มีการร้องเรียนเรื่องความไม่ชอบมาพากลหลายกรณี เช่น หมึกที่ใช้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อแสดงว่าลงคะแนนแล้ว ซึ่งใช้งบประมาณจัดซื้อราว 5 ล้านริงกิต (48 ล้านบาท) คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่าเป็นหมึกชนิดลบไม่ออกนั้น ปรากฎว่ามีการร้องเรียนรวมถึงโพสต์รูปเผยแพร่ในเว็บโซเชียลมีเดียว่าสามารถลบออกได้

นอกจากนี้มีการกล่าวหาว่าจะมีการ "ลงคะแนนผี" โดยพรรครัฐบาลมอบบัตรประชาชนแก่แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากบังกลาเทศ และอินโดนีเซีย เพื่อให้ลงคะแนนให้กับพรรครัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งแข่งขันกับฝ่ายค้านสูสี ดังนั้น ทำให้ตลอดทั้งวันที่มีการเลือกตั้งผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านได้รวมตัวจับตาตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ เมื่อพบคนที่น่าสงสัยว่าไม่มีสัญชาติมาเลเซีย ก็จะเข้าไปสอบถาม อย่างไรก็ตามก็มีการร้องเรียนด้วยเช่นกันว่าเกิดกรณีเข้าใจผิดหลายกรณี เช่น ชาวมาเลเซียที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากประเทศย่านเอเชียใต้ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 พ.ค. บล็อกเกอร์ในปีนังรายหนึ่ง ได้เผยแพร่คลิปความยาว 2.40 นาที (ชมคลิป) แสดงให้เห็นภาพคนจำนวนมากยืนเข้าแถวเพื่อรอรับสิ่งของ ที่หน้าสำนักงานโครงการ 1Malaysia Development Berhad ของรัฐบาล ที่ย่าน Air Puteh เกาะปีนัง พื้นที่ซึ่งขับเคี่ยวกันระหว่าง ส.ส.พรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ซึ่งอยู่ในพรรคฝ่ายค้าน และพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ทั้งนี้มาเลเซียกินีอ้างรายงานของมาเลย์เมล์  ว่า ผู้คนที่มายืนเข้าแถวดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาไม่ได้มาเข้าแถวเพื่อลงทะเบียนจองโครงการอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่มารับเงินสดจำนวน 500 ริงกิต (ประมาณ 4,800 บาท)

 

รัฐบาลสูญเสียที่นั่ง "เสียงข้างมาก 2 ใน 3" ติดต่อกันในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังสุด

ทั้งนี้พรรครัฐบาลมาเลเซีย "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ชนะการเลือกตั้งและครองอำนาจในมาเลเซียมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" หรือ PR ก็ได้เสียงในสภามากขึ้น โดยการเลือกตั้งครั้งก่อนนี้ในปี 2551 พรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. 82 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายรัฐบาลได้ 140 ที่นั่ง ซึ่งลดลง 58 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้ 198 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2547 ขณะที่การเลือกตั้งรอบนี้พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งรวม 89 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ 133 ที่นั่ง

แม้พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) จะชนะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น 7 คน โดยได้มาจากพื้นที่รัฐซาบาห์ และซาราวัก แต่ได้เสียพื้นที่รัฐเคดะห์ให้พรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) จากเดิมที่เคยชนะได้เมื่อการเลือกตั้งปี 2551 อย่างไรก็ตามฝ่ายค้านยังคงรักษาที่นั่ง ส.ส. ในเขตกัวลาลัมเปอร์ รัฐสลังงอร์ รัฐปีนัง และรัฐกลันตันไว้ได้ ส่วนรัฐที่เหลือพรรครัฐบาลยังคงมีจำนวน ส.ส. มากกว่า

นอกจากนี้ยังถือได้ว่าพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ไม่ได้มี ส.ส. เป็นจำนวนเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ติดต่อกันในการเลือกตั้ง 2 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2551

สำหรับผลการเลือกตั้ง ส.ส. มาเลเซีย ที่น่าสนใจนั้น หลิม กิต เสียง ผู้นำอาวุโสจากพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ซึ่งอยู่ในพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) สามารถชนะอับดุล กานี ออตมาน อดีตผู้ว่าการรัฐยะโฮร์ และผู้สมัครจากพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ที่เขตเกอลัง ปาตาห์ รัฐยะโฮร์ ด้วยคะแนนไม่เป็นทางการ 37,718 ต่อ 21,960

ส่วนผู้นำพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) เจยะกุมาร์ ซึ่งลงเลือกตั้งในนามพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) ก็สามารถชนะ เดวามานี กฤษณะซามี รองประธานพรรคคองเกรสอินเดีย (MIC) ซึ่งอยู่ในพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (BN) ด้วยคะแนนไม่เป็นทางการ 21,511 ต่อ 16,735 คะแนน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น