โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รมว.ไอซีทีแจงไม่มีอำนาจปิดเว็บ ชี้อำนาจอยู่ที่ศาล

Posted: 07 May 2013 09:03 AM PDT


(7 พ.ค.56) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โพสต์ชี้แจงลงในเพจเฟซบุ๊ก "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ,สำนักงานปราบโกง Anti-corruption" โดยระบุว่า  จากพฤติกรรมการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านที่กล่าวหากระทรวงไอซีทีว่า ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบในการปิดกั้นเว็บไซต์ ที่แสดงความเห็นทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มีการกระทำที่ลุแก่อำนาจและไม่เป็นประชาธิปไตย โดยมีการแอบตีกิน แอบอ้างว่าเขาให้สัมภาษณ์ว่า หากมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี จะสั่งปิดเว็บไซต์ ทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสารเกิดความเข้าใจผิดและบางส่วนเกิดความเกลียดชัง โดยเข้าใจว่า กระทรวงไอซีทีใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบ

น.อ.อนุดิษฐ์ ชี้แจงใน 4 ประเด็น ได้แก่
1. กระทรวงไอซีทีเป็นผู้รักษาการ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ปี 2550 ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจใดๆ ในการสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ อำนาจในการสั่งปิดเว็บไซต์นั้น อยู่ในดุลยพินิจและคำสั่งของศาลอาญาเท่านั้น โดยหลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาให้ทำการปิดกั้นเว็บไซต์นั้น กระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้แจ้งคำสั่งศาลดังกล่าวให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งต่อไป ดังนั้น การกล่าวหาว่ากระทรวงไอซีทีใช้อำนาจในการปิดกั้น เว็บไซต์และเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่เป็นความจริง

2. การใช้ช่องทางเว็บไซต์ และ Social network ในการแสดงความเห็นของพี่น้องประชาชนในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ และไม่มีใครหรืออำนาจใด ๆ มาก้าวล่วงได้ แต่อย่างไรก็ดี การใช้ช่องทางดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการคุกคาม กล่าวหา ให้ร้ายดูถูกดูแคลน หรือใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อบุคคลอื่น และทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 หรือเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว หากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องมีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งจากกรณีนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจว่า การแสดงออกหรือความเห็นอย่างไรที่ไม่ควรกระทำ ผู้แสดงความเห็นเพียงคิดถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองหรือครอบครัว ที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดล่วงละเมิด เฉพาะประเด็นนั้นๆ ก็ไม่ควรไปล่วงละเมิดบุคคลอื่นในเรื่องนั้นๆ เช่นเดียวกัน

3. กระทรวงไอซีทีไม่มีสิทธิในการเลือกปฏิบัติหรือกระทำการใดๆ แบบสองมาตรฐาน การกล่าวหาว่า กระทรวงไอซีทีที่ให้ความสำคัญเฉพาะกรณีของฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริง

ตลอดเวลาที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่ได้รับความเสียหาย ทุกคน ทุกกรณีอย่างเท่าเทียมกัน ตามอำนาจหน้าที่ ที่ได้รับตามกฎหมาย เพราะการดำเนินการใดๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าทำเกินอำนาจหน้าที่ หรือการดำเนินการใดๆ ที่ละเลยไม่ปฏิบัติ กระทรวงไอซีทีไม่สามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 กรณี เพราะผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับกระทรวงไอซีทีได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การกล่าวหาด้วยคำพูดว่ากระทรวงไอซีทีละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ นอกเหนือจากอำนาจที่ได้รับจึงไม่เป็นความจริง

4. การดำเนินการกับเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน เป็นการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงไอซีทีเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคณะกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ที่ทุกคนที่รับผิดชอบให้ความสำคัญสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ผู้รับผิดชอบทุกคนเป็นข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่จงรักภักดีและเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น การกล่าวหาว่า ข้าราชการทั้งการเมือง และประจำที่รับผิดชอบเหล่านี้ ปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการกับเว็บหมิ่น จึงไม่เป็นความจริง และคงไม่มีใครผู้ใดสามารถบงการข้าราชการทุกคน ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองได้อย่างแน่นอน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิง 6 ศพปัตตานี: 'พฤติการณ์' ชวนสงสัยในสายตา 'ผู้สังเกตการณ์'

Posted: 07 May 2013 09:02 AM PDT

 

- 1 -

 มันเป็นช่วงเวลาประมาณบ่าย 2 ของวันที่ 30 เมษายน 2556 ที่เราถึงไปยังปัตตานี อากาศในวันนั้น แม้หลบอยู่ในร่มเงา ยังรู้สึกร้อนอ้าวราวมีไฟกองใหญ่สุมอยู่ใต้แผ่นดิน 

แต่การเคลื่อนไหวของสังคมปัตตานี ตรงข้ามกับสภาพอากาศและสถานการณ์ ชีวิตประจำวันของชาวบ้านดูดำเนินไปเป็นปกติดี

ห้วงวันที่ 27-28 เมษายน 2556 ไม่มีรายงานเหตุร้ายรุนแรงในปัตตานี ครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์กรือเซะ บรรยากาศทั่วไปไม่น่ากังวลใจอย่างที่คิด ขนาดวันที่ 27 เมษายน ก่อนถึงวันครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ 1 วัน เวลาประมาณ 4 ทุ่ม จากดอนยางเข้าเมืองปัตตานีเราขับรถผ่านด่านทางเข้าตัวเมืองปัตตานี หน้าโรงงานปัตตานี คอนกรีต โดยไม่ต้องชะลอความเร็ว ลงกระจกรถ และแสดงบัตรประชาชน เพราะที่ด่านมีแต่ไฟ ไม่้มีใครอยู่ การไม่มาประจำด่านตรวจของตำรวจ ทำให้เราอุ่นใจว่าคืนนี้คงไม่มีเหตุร้ายใดๆ เจ้าหน้าที่จึงได้กลับไปพักผ่อน

 - 2 -

ย้อนไปในเช้าวันที่ 28 เมษายน 2556 คลิปวีดีโอของแกนนำขบวนการ BRN ในยูทูป เป็นปฏิกิริยาช่วยเร่งอุณหภูมิของสภาพอากาศและสถานการณ์ ให้ร้อนขึ้นและดำเนินไปตลอดทั้งวัน การเคลื่อนไหวของสังคมปัตตานีรุ่มๆ อยู่ตั้งแต่เช้ายาวไปจนตะวันตกดิน

"เช้ายันเย็นวันนี้เหตุการณ์ทั่วไปยังปกติดีนะ ถึงว่าทำไมตำรวจ ทหารไม่ค่อยตั้งด่านตรวจ"

รายงานสถานการณ์ โดยนักสังเกตการณ์นี้ ลอยออกมาพร้อมควันบุหรี่ ตามหลังด้วยเสียงระบายลมหายใจและตลกร้าย

"แบบนี้ถือว่าไม่ปกติ เพราะปกติ สถานการณ์มันไม่ปกติ"

 - 3 -

เป็นบ่ายของวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ที่นักสังเกตการณ์เห็นสิ่งที่เปลี่ยนไปจากปกติ ในเขตเมืองปัตตานี มีทหารพรานชุดดำเด่น วางกำลังตามจุดต่างๆ หลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่ทางทิศตะวันออกของเมืองปัตตานี ที่เป็นเขตชุมชนเมือง นักสังเกตการณ์ประหลาดใจ เพราะก่อนหน้านี้มีแต่ทหารชุดเขียว และตำรวจชุดสีกากี ไม่ค่อยเห็นทหารพรานชุดดำในตัวเมืองปัตตานี

เมื่อออกตระเวนไปนอกเมือง เราพบใบปลิวฉบับหนึ่งตัวหนังสือไทยพิมพ์โดยโปรแกรมพิมพ์เอกสารในคอมพิวเตอร์ เนื้อหาโจมตีขบวนการ BRN ว่าเป็นอาชญากรเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่นักรบปลดปล่อย เพิ่มความประหลาดใจให้ผู้สังเกตการณ์ ที่เริ่มปะติดปะต่อปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์

1.เมื่อวานซืน (29 เมษายน 2556) คณะสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เดินทางไปพูดคุยสันติภาพกับ BRN ที่มาเลเซีย

2.ถัดมาวันนี้ (1 พฤษภาคม 2556) มีใบปลิวโจมตี BRN คนที่จัดทำมีวัตถุประสงค์อะไร

3.ใครบ้างที่อยู่ตรงข้าม BRN 

4.ทหารพรานมาวางกำลังหลายจุดทำไม ในตัวเมืองปัตตานี

5.ทำไมก่อนหน้านี้ ที่เป็นวันครบรอบ 9 ปีกรือเซะ ทำไมไม่มีทหาร ทหารพราน ตำรวจ ตั้งด่านในเขตเมือง 

6.สถานการณ์วันนี้น่าจะไม่ปกติ ถ้ามีเหตุร้ายอาจจะเชื่อมโยงกับประเด็นที่กล่าวข้างบนหรือไม่

 - 4 -

แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้น เวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ ของวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ชาวบ้าน 6 คนถูกยิงเสียชีวิต ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี นักสังเกตการณ์ บอกกับผู้สังเกตการณ์อีกคนหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้นักข่าวเข้าที่เกิดเหตุ ทั้งที่เก็บศพคนตายออกไปหมดแล้ว ปกติไม่เห็นจะห้าม จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากด่านตรวจ เพียงประมาณ 150 เมตร ส่วนผู้อยู่ในเหตุการณ์ บอกว่า

"คนที่มายิงแต่งชุดเหมือนดำเหมือนๆ กับทหารพราน ใส่รองเท้าทหาร มีผ้าพันที่คอสีชมพู ชมพู เหมือนทหารพรานทั่วไป ฉันก็คิดว่าเขาเป็นทหารพราน แต่พอเขายิงคนถึงได้รู้ว่าเป็นโจร"

ใช่ ชุดทหารพราน ตามที่เขาเล่าให้ฟัง เราเห็นมาบ้างแล้วเมื่อกลางวัน ทหารพรานมีผ้าพันคอสีดำขลิบฟ้า บางคนมีผ้าพันคอสีดำขลิบชมพู 

"จริงๆ วันนี้ทหารพรานอยู่กันเยอะ โจรมันยังหาช่องก่อเหตุจนได้ น่าสงสารชาวบ้านที่ตาย เด็กก็ถูกยิงไม่เว้น"

 - 5 -  

วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 มีใบปลิวออกมาอีกฉบับ พิมพ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ภาษาไทย อ้างว่าเป็นนักรบฟาตอนี รบเพื่อ BRN และเป็นผู้ก่อเหตุกราดยิงไทยพุทธ (ความจริงมีมุสลิมด้วย) เพื่อล้างแค้นให้เพื่อนร่วมขบวนการที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตายระหว่างการปะทะกัน 

นักสังเกตการณ์มองว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น BRN นับว่าเหิมเกริมและไม่จริงใจกับการพูดคุยสันติภาพ เพราะลงจากโต๊ะเจรจาวันเดียว ข้อเสนอที่รัฐไทยขอให้ยุติโจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอก็ถูกปฏิเสธ สวนทางกับท่าทีบนเวทีพูดคุยที่บอกว่าจะรับไปพิจารณา 

และถ้า BRN ทำจริงๆ ก็เท่ากับว่าไม่อยากจะพูดคุยสันติภาพอีกต่อไป ซึ่งสวนทางกับคำบอกเล่าของทีมเจรจาที่ว่า BRN เห็นด้วยที่จะพูดคุยสันติภาพกันต่อไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฏข่าวว่า BRN ขอยุติการพูดคุย เพื่อจับอาวุธสู้รบต่อ

แต่มองอีกมุมถ้า BRN ไม่ได้ทำทั้งใบปลิว และกราดยิงชาวบ้าน แล้วใครทำ?

ฆาตกรในชุดคล้ายทหารพรานคืนนั้นเป็นคนของใคร แต่ตลอดทั้งวันนี้ (2 พ.ค.) กลับไม่มีทหารพรานแล้วในเขตเมืองปัตตานี  

 - 6 -

วันที่ 3 พฤษภาคม 2556 พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีกลาโหม บินด่วนมาที่ยะลา นักข่าวนักสังเกตการณ์คิดว่าคงจะมาเพื่อให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสีย เพราะมีเด็กกับคนพิการถูกยิงตายด้วย แต่คาดการณ์ผิดหมด สนามหญ้าหน้ากองอำนวยการ ค่ายสิรินธร มีหน่วยทหารพรานมาตั้งแถวรอรับรัฐมนตรีกลาโหมพร้อมหน้าพร้อมตา รัฐมนตรีกลาโหม มาเพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังทหารพราน นักสังเกตการณ์บอกกับผู้สังเกตการณ์ว่า นับเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกลาโหม เดินทางมาพบทหารพรานโดยเฉพาะเจาะจงเช่นนี้

และรัฐมนตรีกลาโหม หงุดหงิด ที่นักข่าวถามว่ารู้ตัวคนที่ทำใบปลิวหรือยัง? ทั้งที่คำถามนี้น่าจะตอบง่ายกว่าออกปากด่าทอสื่อมวลชน ในวันเสรีภาพสื่อมวลชน พอดี

- 7 -

ขณะที่ผลการตรวจสอบปลอกกระสุนของอาวุธปืน HK 33 ที่ใช้ก่อเหตุกราดยิงชาวบ้านไทยพุทธและมุสลิมเสียชีวิต 6 ศพ พบว่าเคยใช้ก่อเหตุมาแล้ว 19 คดี นับตั้งแต่ปี 2550 ได้ยิงทั้งประชาชน ตำรวจ ทหาร

เช่น- ยิง ด.ต.มะรอซี สุหรง ที่ อ.เมืองปัตตานี เมื่อ 31 ส.ค.51 - ยิง จ.ส.อ.สุรชัย ก้าวประเสริฐ ภายในปั๊มเอสโซ่ เมืองปัตตานี เมื่อ 21 มี.ค. 52 ยิงนายยะโก๊ป หร่ายมณี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อ 11 ต.ค.53 - ยิง ทหารร้อย ร 1523 ถนนเลียบสะพานตะลุโบะ เมื่อ 4 ม.ค.2556 ส่วนปืนอีกกระบอกคือ AK102 หรืออาก้าร์เคยก่อเหตุมา 1 คดี คือ ยิงหม้อแปลงไฟฟ้า ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง ปัตตานี เมื่อ 23 ก.พ.56 

 - 8 -

ถึงแม้ว่าอาวุธปืนทั้ง 2 ชนิด จะมีใช้เฉพาะแต่ในหน่วยทหารพราน กับ กลุ่มก่อความไม่สงบ ก็ตาม ยังไม่อาจชี้ชัดว่าเหตุร้ายในครั้งนี้เป็นฝีมือของใคร สรุปได้แต่เพียงว่าผู้ก่อเหตุใส่ชุดคล้ายหรือเหมือนทหารพราน เท่านั้น 

 

 

 

ที่มา: ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  deepsouthwatch

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดี 'อานดี้ ฮอลล์' เลื่อนอีก นัดใหม่ 8 ก.ค.

Posted: 07 May 2013 05:46 AM PDT

(7 พ.ค.56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีที่ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด บริษัทผลิตสับปะรดกระป๋องเป็นโจทก์ฟ้อง นายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานข้ามชาติ ฐานหมิ่นประมาททางอาญา ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง หลังอานดี้ ฮอลล์ เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติในกิจการผลิตสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 15-21 ม.ค. 56 โดยการเรียกค่าเสียหาย 300 ล้านบาท ซึ่งมีการนัดพิจารณาในวันนี้ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ปรากฏว่า สมศักดิ์ โตรักษา ทนายโจทก์ไม่มาศาล โดยส่งตัวแทนขอเลื่อนนัดเป็น 8 ก.ค.56 ซึ่งศาลอนุญาต ด้าน อานดี้ ฮอลล์ จำเลย ไม่ได้มาศาลเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ องค์กร เบอร์มา แคมเปญ ยูเค ได้เรียกร้องให้ร่วมสนับสนุน นายอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยแรงงานข้ามชาติที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยระบุว่าการที่บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ฟ้องร้อง อานดี้ ฮอลล์ เป็นทำลายเสรีภาพการเเสดงออกและคุกคามการทำงานเพื่อปรับปรุงสิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 2-3 ล้านคน แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่า ลาวและกัมพูชา  เชื่อว่าผู้ย้ายถิ่น ราวร้อยละ 80 ทั้งหมดในประเทศไทยมาจากประเทศพม่า

มาร์ค ฟาร์มาเนอร์ ผู้อำนวยการ เบอร์มา แคมเปญ ยูเค กล่าวว่า "บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ต้องถอนฟ้องอานดี้ ฮอลล์" "แทนที่ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด จะฟ้องร้อง อานดี้ ฮอลล์ รัฐบาลไทยควรจะดำเนินคดีเเละฟ้องบริษัท เนเชอรัล ฟรุตในข้อหาละเมิดกฎหมาย ถ้าบริษัท เนเชอรัล ฟรุตไม่ถอนฟ้องคดีที่ไม่สมเหตุผลนี้จะทำเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทมากขึ้น วิธีการแก้ปัญหาคือ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ต้องปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ทำลายผู้ส่งสาร"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนเสื้อแดงอุดรฯ พบอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ทวงเงินเยียวยา - คาดได้เงิน พ.ค.นี้

Posted: 07 May 2013 05:26 AM PDT

 

(7 พ.ค.56) ปฐมาวดี วินิจจามร หรือ ดีเจรัตน์ ดีเจวิทยุชุมชน 101.75 เปิดเผยว่า วันนี้ คนเสื้อแดงจำนวน 13 คน ซึ่งถูกกล่าวหาในคดีวางเพลิงเผาสถานที่ราชการจังหวัดอุดรฯ และถูกขังนาน 1 ปี 3 เดือน และต่อมาศาลจังหวัดอุดรธานีได้ยกฟ้องในที่สุด เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อทวงถามถึงเงินเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรม

ปฐมาวดี กล่าวถึงข่าวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ซึ่ง พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ให้ข่าวกับสื่อว่า ได้ขอชะลอเรื่องที่เสนอขอรับค่าเยียวยา ในส่วนผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแต่ขังเกินกำหนดโทษจริงจำนวน 13 รายในพื้นที่อุดรธานีไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการพิจารณาว่า ที่ผ่านมา พวกตนได้ยื่นเอกสารไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและกรมฯ ก็ทำหนังสือแจ้งว่าได้รับเอกสารแล้ว หากเป็นเรื่องเอกสารไม่ครบก็ควรแจ้งมา ทั้งนี้ คดีของพวกตน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงสุดภาค 4 ก็แจ้งว่าไม่อุทธรณ์คดีถึงที่สุดแล้ว อยากถามว่ายังมีเงื่อนไขอะไรอีกที่ไม่ยอมจ่ายเงินเยียวยา

ปฐมาวดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา สังคมเข้าใจผิดว่าเราได้รับการเยียวยาแล้ว บอกเผาแล้วยังได้ตบรางวัล บ้างก็ว่าถูกหวย เราเจ็บช้ำน้ำใจ ทั้งที่ก็ต่อสู้อย่างประชาชนคนหนึ่งและไม่เคยคิดว่าจะได้อะไรตอบแทน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 นั้น ตนเองนั้นเพียงแค่ขึ้นปราศรัยหน้าศาลากลางเพียงสิบนาที ก็ถูกตั้งข้อหาวางเพลิง ทั้งยังถูกจับขังเดี่ยวถึง 12 วัน ก่อนจะคุมขังอีกร่วมปี ธุรกิจที่เคยทำก็เสียหาย ที่ผ่านมาก็เงียบมาตลอด แต่เมื่อมีข่าวว่ามีการอนุมัติเงินเยียวยาแล้ว ก็อยากจะถามว่าตอนนี้เงินนั้นอยู่ที่ใคร

ต่อมาในช่วงบ่าย ปฐมาวดี กล่าวว่า ได้เข้าพบ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งได้รับการแจ้งว่า ขาดเพียงหนังสือรับรองการสิ้นสุดคดีเท่านั้น พวกตนจึงจะเดินทางกลับไปคัดหนังสือดังกล่าวจากศาลอุดร และส่งแฟกซ์มาที่กรุงเทพฯ ในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ อธิบดีฯ รับว่าภายในวันที่ 21 พ.ค. จะนำเรื่องเข้าอนุกรรมการเพื่ออนุมัติเงินเยียวยา จากนั้นในวันที่ 31 พ.ค. คาดว่าจะนำเช็คไปจ่ายให้ที่อุดรฯ

ทั้งนี้ ปฐมาวดี ระบุด้วยว่า กังวลเหมือนกันว่าหากกลับไปแล้วจะเงียบไปอีก เพราะเรื่องที่เอกสารไม่ครบนั้นก็ไม่เคยมีการแจ้งพวกตนแต่อย่างใด ต้องมาติดตามเรื่องเองที่กรุงเทพฯ ก็ได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย


อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ศาลจังหวัดอุดรธานีอ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี ยื่นฟ้องผู้ต้องหากลุ่มคนเสื้อแดง เป็นจำเลย 22 คน ฐานความผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บุกรุกสถานที่ราชการ ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน เป็นผู้โฆษณาให้ผู้อื่นกระทำผิด และวางเพลิงเผาอาคารที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี อาคารเทศบาลนครอุดรธานี และศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 มีจำเลยทั้งสิ้น 22 คน โดยศาลตัดสินจำคุกจำเลยรวม 9 คน ในความผิดข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ 5 คน ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ 4 คน ส่วนจำเลยที่เหลือ 13 คน ศาลตัดสินให้มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมั่วสุม แต่ยกฟ้องข้อหาบุกรุก เผาสถานที่ราชการ ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 13 คนถูกขังมาแล้ว 1 ปี 3 เดือน

รายละเอียดจำเลยที่ศาลยกฟ้องมีดังนี้ จำเลยที่ 1 นายวิทยา ชาวเวียง และจำเลยที่ 2 นางปฐมาวดี วินิจจามร มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมั่วสุมเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุก 1 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ยกฟ้องข้อหาเป็นผู้โฆษณาให้ผู้อื่นกระทำผิด บุกรุก วางเพลิงทำให้เสียทรัพย์ ศาลากลางทรัพย์สินรถยนต์ที่จอดในศาลากลาง และจำเลยที่ 5 นายธนพล มาดีประเสริฐ  มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มั่วสุม จำคุก 1 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ยกฟ้องข้อหาบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ศาลากลาง วางเพลิงศาลากลางหลังเก่าหลังใหม่ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ยกฟ้องข้อหาร่วมกันพยายามวางเพลิงจวนผู้ว่าฯ ที่ว่าการอำเภอ จำเลยที่ 9-19 ได้แก่ นายสมศรี ไกลพล นายอุดร หลาบยองศรี นายแสงทอง ประจำเมือง นายสมจิตร อารีย์ นายคำพอง ทัดศรี นายเหมือนทอง สมบุญมี นายมงคล ชมคุณ นางแสงเดือน สุภาพล นางรัศมี ทองสีดำ นางปาริชาติ จวงจันทร์ มีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมั่วสุม จำคุก 1 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ยกฟ้องข้อหาบุกรุกและพยายามวางเพลิงจวนผู้ว่าและที่ว่าการอำเภอ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พีมูฟ’ ปฏิบัติการยื่นปัญหารายคน - ผลเจรจา ‘เฉลิม’ รับ 4 ประเด็นเข้า ครม.

Posted: 07 May 2013 05:13 AM PDT

'เฉลิม' เปิดโต๊ะเจรจาตัวแทนพีมูฟ รับปากเอาประเด็น 'โฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน-บ้านมั่นคง-เขื่อนปากมูล' เข้า ครม. 14 พ.ค.นี้ ด้านชาวบ้านปฏิบัติการดาวกระจาย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เป็นรายบุคคล

 
วันนี้ (7 พ.ค.56) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ Pmove (พีมูฟ) ในการชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ว่า ช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 07.00 น.ผู้ชุมนุมได้กระจายตัวกันเป็นเครือข่ายกรณีปัญหาและเดินขบวนเข้าไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามประเด็นปัญหาที่ประสบ ที่หน้าประตูต่างๆ เหลือเพียงแต่ประตูทางเข้าออกด้านสะพานอรทัย 
 
ผู้ชุมนุมให้เหตุผลว่า เนื่องจากที่ผ่านมาความเดือดร้อนของชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะเคยมีการยื่นเรื่องในนามเครือข่ายมาหลายครั้งแล้วก็ตาม จึงแบ่งกำลังคนในการเข้ายื่นหนังสือฯ ตามประเด็นปัญหาเพื่อให้เรื่องความเดือดร้อนถูกส่งถึงนายกรัฐมนตรีและทางรัฐบาล อีกทั้งประหยัดเวลาในการรับเรื่องและไม่ขัดขวางต่อการจราจร
 
 
 
ประตู 5 กลุ่มผู้เดือดร้อนคือสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต ) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เกษตรพันธะสัญา แจงจุดประสงค์ในการมาทำเนียบรัฐบาลก็เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนให้ชวยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกรณีปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลหนี้สินและความไม่เป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธะสัญญา
 
 
 
ประตู 1 ชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล ที่มาเข้าร่วมชุมนุมกับ Pmove ได้เดินจากประตู 5 ไปยังประตู 1 บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องรายบุคคล ให้คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ตามมติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส.ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงนั่งเป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 ก.พ.56 ที่ผ่านมา เพราะจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามที่มีมติไว้
 
อีกทั้ง มีเป้าหมายให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวร เพราะกว่า 24 ปีที่ผ่านงานวิจัยหลายชิ้นและข้อเท็จจริงก็ได้ปรากฏให้เห็นชัดว่าการมีเขื่อนปากมูลส่งผลด้านลบมากกว่าสร้างประโยชน์
 
 
 
 
ประตู 6 เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล เรียกร้องให้นายกฯ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย ขาดสาธารณูปโภค เเละถูกเลือกปฏิบัติ ส่วนเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ มาเพื่อยื่นร้องเรียนเพื่อให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาจากการทำเหมืองแร่ การระเบิด เสียงดัง สารพิษทำลายสุขภาพ
 
บรรยากาศตึงเครียด เนื่องจากเวลา 9.00 น. ตำรวจนายหนึ่งได้อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเข้าไปแลกบัตร แต่กลับไม่มีผู้ใดมารับเรื่องที่หน้าประตู เมื่อหมดความอดทนชาวบ้านจึงพังประตูรั้วเข้าไป ประกาศให้เวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปประสานงาน จึงทำให้มีเจ้าหน้าที่ออกมารับเรื่องร้องทุกข์ในทันที
 
ต่อมา เมื่อเวลา 10.24 น. หน้าประตู 6 มีเจ้าหน้าที่ออกมารับเรื่องร้องเรียน
 
 
 
 
ประตู 4 เครือข่ายสลัม 4 ภาค และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เรียกร้องในเรื่องของที่ดินและที่อยู่อาศัยให้เป็นธรรมกับประชาชน เช่น เรื่องโฉนดชุมชน ของ สกน. จังหวัดน่าน เรื่องติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีที่อยู่อาศัยและสินเชื่อของคนจนเมือง 
 
ผู้ชุมนุมรอ นายสมภาส นิลพันธ์ ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกฯ ซึ่งได้ออกมาพูดคุยกับผู้ชุมนุมในช่วงเช้าให้ออกมารับจดหมายร้องทุกข์ จนผ่านไป 3 ชั่วโมง นายสมภาสยังไม่ปรากฏตัว ความเฉยเมยดังกล่าวทำให้มีผู้ชุมนุมไม่พอใจพยายามเข้าไปเขย่ารั้วประตูจนได้รับบาดเจ็บ รั้วประตูบาดนิ้วหัวแม่โป้งขาดต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
 
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ได้เดินทางมาเจรจาในบริเวณ ประตู 4 โดยระบุว่าให้ผู้ชุมนุมรวบรวมเรื่องและส่งให้ตนทีเดียวเพราะไม่สามารถให้ทุกคนเข้าไปภายในได้ แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม และเสนอว่าจะเข้าเป็นชุด ชุดละ 10 คน แต่นายสุภรณ์ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ และยื่นข้อเสนอใหม่ว่าตนจะออกไปรับหนังสือด้วยตัวเองจากทุกคน แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังไม่ยอม สุดท้ายจึงได้ข้อยุติว่า ให้เจ้าหน้าที่นำโต๊ะมาตั้งรับเรื่องที่ด้านนอกประตู 4
 
 
จากนั้นในเวลา 10.50 น. แกนนำพีมูฟได้อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 20 แสดงท่าทีในการชุมนุม ที่ประตู 4 หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเปิดประชุมเพื่อพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ และเป็นประธานการประชุมด้วยตนเอง ตามคำมั่นเมื่อวันที่ 2 ต.ค.255 เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งต้องการแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่กลับถูกรัฐบาลเองแช่แข็งมาเกือบ 2 ปีแล้วโดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
ต่อมา เวลา 13.20 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เข้าเจรจากับตัวแทนพีมูฟ โดยผลการประชุมในครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิมได้รับปากจะนำประเด็นปัญหา 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน 2.โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 3.เรื่องการอนุญาตก่อสร้างบ้านมั่นคง 4.การตั้งคณะกรรมการการแก้ปัญหาชาวบ้านปากมูล เข้า ครม.ในวันอังคารที่ 14 พ.ค.นี้ ส่วนกรณีอื่นๆ จะทำการนัดวันเพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาของพีมูฟที่มี ร.ต.อ.เฉลิมเป็นประธานต่อไป
 
 
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของพีมูฟแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มปัญหา คือ 1.ปัญหานโยบายที่ไม่สำเร็จลุล่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายโฉนดชุมชน 2.ปัญหาคดีความคนจนที่ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาและเยียวยาจากรัฐบาล แต่กลับมีการเดินเนินคดีอย่างต่อเนื่อง 3.ปัญหาที่ดินชุมชนทับซ้อนกับที่ดินรัฐ 4.ปัญหาที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค 5.ปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าและโรงโม่หิน 6.ปัญหาสัญชาติและชาติพันธุ์ และ 7.ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้านซ่อมเสื้อผ้าตลาดเบตงคึกคักรับเปิดเทอมใหม่

Posted: 07 May 2013 03:19 AM PDT

ร้านซ่อมเสื้อผ้าที่ตลาดเทศบาลเบตงคึกคัก เนื่องจากผู้ปกครองนิยมนำชุด นร.เก่ามาซ่อมแซม แทนการซื้อใหม่ 

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานบรรยากาศช่วงใกล้เปิดเทอมใหม่ที่ตลาดเทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลาว่า ร้านตัดเย็บเสื้อผ้าและร้านซ่อมเสื้อผ้ามือสองที่ตั้งอยู่ริมถนนที่มีจำนวนหลายสิบร้าน มีผู้นำชุดนักเรียนเก่ามาใช้บริการซ่อมแซมกันอย่างคึกคักไม่แพ้ร้านจำหน่ายชุดนักเรียนใหม่

สาเหตเนื่องจากว่า ผู้ปกครองของนักเรียนจำนวนมากเลือกที่จะนำชุดนักเรียนเก่าของลูกหลานมาซ่อมแซม เพราะต้องการนำเงินไปใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ และต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายเนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพมีราคาแพง ขณะที่นางฮามีด๊ะ ช่างซ่อมเสื้อผ้าในตลาดเทศบาลเมืองเบตงกล่าวว่า ช่วงนี้มีผู้ปกครองนำชุดนักเรียนมาให้แก้ไขเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่ต้องการซื้อใหม่เพราะมีราคาแพง และมีผู้ปกครองนำเสื้อผ้ามาให้แก้ไขนับสิบรายในแต่ละวัน

ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท.กำหนดราคาประมูลทีวีดิจิตอลแล้ว

Posted: 07 May 2013 02:57 AM PDT

วันนี้ ที่ประชุม กสท.มีมติกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำทีวีดิจิตอลช่องธุรกิจ 24 ช่อง รวมมูลค่า 15,190 ล้านบาท ช่อง HD แพงสุด

7 พ.ค.56 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสท.พิจารณามูลค่าประมูลคลื่นความถี่สำหรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นในระบบดิจิตอล (ทีวีดิจิตอล) โดยใช้การศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กสท.มีมติเห็นชอบให้กำหนดราคาประมูลขั้นต่ำคลื่นความถี่สำหรับโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ราคาประมูลขั้นต่ำสำหรับ 24 ช่องธุรกิจ มูลค่า 15,190 ล้านบาท แบ่งเป็นช่อง HD รายการทั่วไป 1,510 ล้านบาท (7 ช่อง), ช่อง SD รายการทั่วไป 380 ล้านบาท (7 ช่อง), ช่อง SD ข่าวสารและสาระ 220 ล้านบาท (7 ช่อง) และ SD รายการเด็ก 140 ล้านบาท ( 3 ช่อง) โดยหลังจากนี้ กสท.จะนำข้อสรุปดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช. ก่อนจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป และคาดว่าจะสามารถประกาศประมูลคลื่นความถี่ได้ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

ที่มา : สำนักข่าวไทย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วุฒิสภาสหรัฐผ่านร่าง กม.เก็บภาษีขายของออนไลน์

Posted: 07 May 2013 02:17 AM PDT

(7 พ.ค.56) สำนักข่าวไทย รายงานว่า วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาลงมติผ่านร่างกฎหมายเก็บภาษีจากสินค้าและบริการทางออนไลน์ด้วยคะแนน 69 ต่อ 27 เสียงในวันจันทร์ที่ผ่านมา และส่งมาพิจารณายังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งสมาชิกสภาบางส่วนคัดค้านเนื่องจากมองว่าเป็นการขึ้นภาษี

ร่างกฎหมายดังกล่าวระบุให้รัฐสามารถเรียกเก็บภาษีสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีรายได้เกินกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการขายสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต ทั้งการจำหน่ายตามรายการสินค้า หรือผ่านโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์ ตามร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่ารายได้จากภาษีขายจะนำส่งแต่ละรัฐ ซึ่งเป็นที่ตั้งของผู้ขายสินค้าและบริการ ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันการจำหน่ายสินค้าและบริการทางออนไลน์ส่วนใหญ่มักปลอดภาษี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รู้จักแธตเชอร์ รู้จักเสรีนิยมใหม่ ผ่านมุม พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์–วิโรจน์ อาลี

Posted: 07 May 2013 12:34 AM PDT


หลังมรณกรรมของ Margaret Thatcher เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2556 เรื่องราวของเธอก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสื่อต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทยเพราะ "ผู้หญิงเหล็ก" คนนี้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก ผลักดันนโยบาย 'เสรีนิยมใหม่' และแผ่ขยายลัทธิเสรีนิยมใหม่

ปลายเดือนเดียวกันนั้น The Reading room จัดเสวนา Thatcher Is Dead! Long Live Thatcherism! ทำความเข้าใจอิทธิพลและมรดกของอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในทศวรรษ 1970-1980 คนนี้ โดยร่วมสนทนากับ อ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.วิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผ่านนโยบายต่างๆ ของแธตเชอร์ โดยเฉพาะเรื่องการกำเนิดและล่มสลายของระบบรัฐสวัสดิการซึ่งเกิดที่อังกฤษเป็นที่แรก
 


พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

เมื่อกล่าวถึงแธตเชอร์ก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงกระแสความคิดปรัชญาทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีอิทธิพลต่อแธตเชอร์มาก่อน ก่อนที่เธอจะชนะการเลือกตั้ง ต้องผ่านการต่อสู้ทางความคิดโดยเฉพาะในแวดวงของปัญญาชนอังกฤษอย่างหนักและยาวนาน มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่กระแสความคิดแบบแธตเชอร์จะถูกดึงขึ้นมา จนมีการปฏิรูปประเทศอังกฤษที่ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันนี้ เหล่านี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ หากไม่มีแธตเชอร์ก็ย่อมมีคนอื่นทำในลักษณะเดียวกัน เพราะเป็นกระแสความคิดที่มาจากรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งในยุโรปตะวันตก กระแสความคิดที่มีอิทธิพลในเวลานั้น เป็นของ ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ค (Friedrich von Hayek)

การขึ้นมาของแธตเชอร์ เป็นผลมากจากความล้มเหลวของรัฐสวัสดิการอังกฤษ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปีค.ศ.1945 ในยุโรปสงครามยุติเมื่อเดือนพฤษภาคม อังกฤษในเวลานั้นเป็นรัฐบาลผสมแห่งชาติ เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม พรรคการเมืองจึงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสู้กับฝ่ายศัตรู เมื่อชนะสงครามผ่านไปสักพัก พรรคแรงงานที่อยู่ในรัฐบาลก็ถอนตัวทันที ทำให้รัฐบาลล้ม ต้องเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านมาตลอด หันมาหาเสียงด้วยการชูนโยบายรัฐสวัสดิการว่ารัฐจะดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย มีระบบบริการสุขภาพแห่งชาติและการจ้างงานเต็มที่ เรียกได้ว่าจะดำเนินนโยบายเศรษฐศาสตร์แบบเคนเซียน (Keynesian) กระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณ เก็บภาษีเพื่อรัฐสวัสดิการ

ขณะที่ฝ่ายเชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) ฮีโร่สงคราม นำประเทศรบชนะฮิตเลอร์มา หาเสียงและโจมตีพรรคแรงงานว่าการนำรัฐสวัสดิการครบถ้วนเข้ามาจะนำไปสู่ระบอบรัฐเผด็จการ เพราะรัฐดูแลทุกสิ่งจนสุดท้ายอาจเข้าแทรกแซงสิทธิส่วนบุคคล ความคิดเช่นนี้เชอร์ชิลได้มาจากหนังสือ The Road to Serfdom ของฮาเย็ค แต่กระนั้นก็ตามพรรคแรงงานกลับชนะการเลือกตั้งอย่างไม่มีใครคาดคิด ได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล

เคลแมนท์ แอตต์ลี (Clemant Atlee) เข้ามาผลักดันรัฐวิสาหกิจ สร้างสวัสดิการแม่และเด็กเงินชดเชยบำเหน็จบำนาญคนชรา การสาธารณสุขแห่งชาติ สวัสดิการการศึกษา โอนกิจการอุตสาหกรรมหนักเป็นของรัฐ ไม่ใช่แค่สาธารณูปโภค แต่ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหิน โทรศัพท์ โทรคมนาคม ขนส่งมวลชน พลังงาน ฯลฯ ปรับอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเพื่อจุนเจือรัฐสวัสดิการ การกำหนดค่าจ้างงานก็ให้รัฐบาล สหภาพแรงงาน และนายจ้างมาประชุมกันเพื่อต่อรองการขึ้นค่าจ้างประจำปี เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีคนงานประท้วงเพิ่มโดยรัฐมีหน้าที่อยู่ตรงกลาง  สหภาพแรงานของอังกฤษจึงเข้มแข็งมากในเวลานั้น และผ่านการต่อสู้มาจนมีประวัติยาวนานนับร้อยปีแล้ว จนรัฐบาลยอมรับการมีอยู่ของสหภาพ และเกิดเป็นพรรคแรงงาน

ยุคทองของรัฐสวัสดิการและการนัดหยุดงานในอังกฤษ

เมื่อเข้าสู่ยุค 1950-60 ก็เป็นช่วงยุคทองของรัฐสวัสดิการอังกฤษ เศรษฐกิจเติบโตดี รัฐบาลดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวเคนเซียนโดยตลอด แม้ว่าต่อมาพรรคแรงงานจะแพ้เลือกตั้ง มีพรรคอนุรักษ์นิยมขึ้นมาแทนก็ยังใช้นโยบายเดิม เพราะเป็นระบบที่คนอังกฤษต้องการ เศรษฐกิจยังเจริญเติบโตได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่มาในยุค70 เกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันจากต่างชาติ อังกฤษเองก็เริ่มมีปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดเวลา อัตราการว่างงานต่ำยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจเริ่มโตช้า ในที่สุด คนก็เริ่มว่างงานมากขึ้น สวนทางกับแนวคิดของเคนเซียนที่ว่า เมื่อคนว่างงานเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะลดลง แต่กลับกลายเป็นว่า เงินเฟื้อก็เรื้อรัง คนว่างงานก็มาก รัฐวิสาหกิจก็ขาดทุนอย่างหนักเนื่องจากการขึ้นค่าจ้างแต่ละปีจะบวกอัตราเงินเฟ้อเพิ่มทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมถ่านหินของรัฐที่มีอยู่เกือบ 200 แห่งล้วนแต่ขาดทุน ยิ่งราคาน้ำมันขึ้น ต้นทุนการผลิตก็เพิ่ม ทำให้ขาดทุนอย่างหนัก คนงานก็เรียกร้องเพิ่มค่าจ้าง รัฐบาลก็ต้องเข้ามาอุ้มตลอดเวลา ทั้งที่เศรษฐกิจตกต่ำทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง ในที่สุดวิกฤติเศรษฐกิจจากการขาดดุลงบประมาณอย่างหนักก็มาถึง ราคาสินค้าในประเทศขึ้นเร็ว ส่งออกได้น้อยลง เงินปอนด์อ่อนค่า ในที่สุดก็ต้องของให้ IMF ช่วย

นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว  ยุค70 ยังเป็นยุคทองของการสไตรค์ (การนัดหยุดงาน) ของคนงานอังกฤษทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างเหมืองถ่านหิน คนขับรถเมล์ พยาบาล ฯลฯ  เพราะนายจ้างไม่อยากขึ้นค่าจ้าง ทำให้เกิดความขัดแย้ง นอกจากนี้ฐานภาษีในยุคนั้นยังแคบลงเรื่อยๆ คนเริ่มไม่อยากทำธุรกิจ เพราะรัฐเก็บภาษีมากจึงขาดแรงจูงใจ คนส่วนใหญ่เรียนจบแล้วก็อยากทำงานในรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ มากกว่าทำธุรกิจส่วนตัว จนเกิดวัฒนธรรมพึ่งพารัฐ ดูได้จากระบบช่วยเหลือคนว่างงานเป็นอัตราค่าจ้างรายได้ที่สูงมาก ทำให้คนไม่อยากทำงาน

พูดง่ายๆ ว่า Welfare State มันดูดี แต่มันแพง ต้องอาศัยโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งพอ

จุดเปลี่ยนทางการเมืองสำคัญที่ทำให้แธตเชอร์ขึ้นมาสู่อำนาจ ไม่ใช่ปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่เธอชนะการเลือกตั้ง หากแต่เป็นปี1974  หลังวิกฤตราคาน้ำมันและการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในปี 1973 เป็นช่วงเวลาที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละวัน คนงานหยุดงานยืดเยื้อ โดยเฉพาะคนงานเหมืองถ่านหินจนกระทั่งไฟฟ้าในประเทศดับ รัฐบาลพรรอนุรักษ์นิยมต้องยอมยุบสภาเลือกตั้งใหม่เพราะไม่สามารถควบคุมเหล่าสหภาพแรงงานทั้งหลายได้ ผลคือไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก แต่พรรคแรงงานได้คะแนนเสียงมากที่สุด ได้ตั้งรัฐบาล มีเฮโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson)  เป็นนายกฯ ในขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งแพ้เลือกอย่างราบคาบตั้งก็เข้าสู่วิกฤตการณ์ภายในพรรค เกิดวิกฤตการต่อสู้ทางแนวคิดในพรรค 2 แนวทางหลักซึ่งผู้คนเรียกกันว่า Wets Tory กับ Dries Tory  ทั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมนั้นถูกเรียกว่า พรรคทอรี โดยสมาชิกพรรคยุคแรกเป็นพวกเจ้าขุนมูลนาย เรียกว่า Wet ในยุคต่อมาสมาชิกพรรคมาจากคนธรรมดา เรียกว่า Dry

แธตเชอร์ เองก็มีพื้นเพเป็นลูกสาวเจ้าของร้านของชำในเมืองลิเวอร์พูล เป็นสมาชิกรุ่นใหม่ของพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นคนสามัญธรรมดา เริ่มแรกชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เวลานั้นอังกฤษเต็มไปด้วยการแบ่งชนชั้น โดยสังเกตจากสำเนียงภาษา แธตเชอร์เองก็เป็นคนบ้านนอกที่พยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง ในขณะที่ ภายในพรรคอนุรักษ์นิยมก็เกิดลักษณะ 2 ขั้วขึ้นมา คือกลุ่มเก่าที่เป็นขุนนาง กับพวกสามัญชนอย่างแธตเชอร์ นำโดยคีธ โจเซฟ (Keith Joseph) เบอร์หนึ่ง และแธตเชอร์ เป็นเบอร์สอง


เดินสายท้าทายถึงมหา'ลัย โจมตีแนวสังคมนิยมอย่างหนัก

การต่อสู้ทางความคิดนั้นไม่ใช่เฉพาะแค่ในพรรค แต่เคลื่อนไหวภายนอกด้วย เพื่อโน้มน้าวสาธารณชน ปัญญาชนต่างๆ มีการร่วมมือกับสถาบันกิจการเศรษฐกิจเพื่อวิจัยบนฐานของเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดแข่งขันเสรี ต่อต้านรัฐสวัสดิการ แต่สถาบันเหล่านี้ก็เป็นวิชาการมากเกินไป ไม่พอที่จะเป็นถังความคิด(Think Tank)ที่จะเสนออะไรท้าทายสังคม ไม่เน้นการผลักดันให้เกิดความคิดความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งในสังคม ทั้งสองจึงตัดสินใจตั้ง Center for Policy Study (CPS) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อรณรงค์ทางความคิดต่อผู้มีอิทธิพลต่อสาธารณชน เพราะในอังกฤษจะยังไม่เคยมีหน่วยงานแบบนี้มาก่อนเลยก็ตาม ในขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกากลับมีหน่วยงานเช่นนี้จำนวนมาก

ตลอดเวลา 3-4 ปีนั้นโจเซฟเดินทางปาฐกถากว่า 500 ครั้ง มีสนามสำคัญอยู่ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อวิพากษ์รัฐสวัสดิการและสังคมนิยมว่าสร้างวัฒนธรรมพึ่งพารัฐ บั่นทอนความคิดริเริ่มทางธุรกิจ แล้วเสนอนโยบายปฏิรูปตลาด ลดบทบาทของรัฐ เพิ่มบทบาทของเอกชน เน้นการใช้กลไกราคา ลดภาษี ส่งเสริมธุรกิจเอกชน ขจัดเงินเฟ้อ ลดอำนาจสหภาพแรงงาน

ปี 1974 พรรคอนุรักษ์นิยมมีการเลือกผู้นำคนใหม่ โดยแธตเชอร์ได้ก้าวมาเป็นผู้นำพรรค เนื่องจากเบอร์หนึ่งอย่างโจเซฟ ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพราะในช่วงหาเสียงนั้นเขาเผลอพูดทำนองว่า "รัฐสวัสดิการทำให้ลูกไม่มีพ่อเต็มไปหมด" ซึ่งสร้างประเด็นถกเถียงจนทำให้เขาต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคและแธตเชอร์ขึ้นเป็นผู้นำแทน

ปี 1976 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องมีการกู้เงินจาก IMF

ปี1978สหภาพแรงงานนัดหยุดงานทั่วประเทศในขณะที่หิมะตกหนัก พรรคแรงงานเจรจากับคนงานไม่ได้จึงสูญเสียความน่าเชื่อถือไป นี่จึงเปลี่ยนจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แธตเชอร์ขึ้นมามีอำนาจ ปี1979 ภายหลักพรรอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง แธตเชอร์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ช่วงแรกฐานอำนาจยังไม่เด็ดขาด มีทั้ง 'Wet' และ 'Dry' ปะปนกันไป รัฐบาลจึงมีคนกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ปนกันและทำให้มีปัญหาในเวลาต่อมา แต่ภายหลังกลุ่มเก่าก็ค่อยๆ หมดอำนาจลงในที่สุด

เมื่อแธตเชอร์เข้ามาก็ปฏิรูปเศรษฐกิจ ออกกฎหมายลดอำนาจสหภาพแรงงาน เพิ่มอำนาจนายจ้าง เช่น หากจะนัดหยุดงานต้องประชุมสมาชิกและมีมติก่อน หรือแม้กระทั่งมาตรการตัดเงินช่วยเหลือครอบครัวคนงานที่หยุดงาน เจรจากับสหภาพแรงงานอย่างแข็งข้อ เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานและการประกอบการด้วยการลดอัตราภาษี ดำเนินนโยบายการเงินตามแนวทางของมิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) คือหยุดเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูง ธุรกิจโรงงานพังระเนระนาด คนว่างงาน พาเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยเพื่อปราบเงินเฟ้อ

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นความตั้งใจ

เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะช็อก อัตราเงินเฟ้อต่ำลงกะทันหัน ประชาชนไม่พอใจแธตเชอร์ เกิดกบฏในพรรคอนุรักษ์นิยม ทว่าปี1982 กลับเกิดสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ขึ้นมาเสียก่อน แธตเชอร์นำอังกฤษชนะสงคราม และตามมาด้วยการเลือกตั้งใหม่ในปี 1983 การกลับมาเป็นรัฐบาลแธตเชอร์ 2 นั้นได้คะแนนเสียงท้วมท้น เธอจัดการถีบพวก Wet ออกไปจากพรรค ทำให้มีฐานทางการเมืองมั่นคง แล้วจึงเริ่มลงมือจัดการกับสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน ซึ่งเข้มแข็งที่สุด และเคยโค่นล้มพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อปี 1974

การสิ้นสุดยุค 'สหภาพแรงงานครองเมือง'

ในปี1984 คณะกรรมการถ่านหินประกาศปิดเหมืองถ่านหินที่ขาดทุน ทั้งแบบเร่งด่วนและทยอยปิด คนงานเองก็รู้ตัว จึงเริ่มปลุกระดมนัดหยุดงาน การนัดหยุดงานดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองยอร์คเชียร์ (Yorkshire) เป็นการหยุดงานที่ยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่เดือนมีนาคม1984  ข้ามไปถึงปี1985 รวมแล้ว 11 เดือน มีการไล่คนงานออกถึงราว 200,000 คน จากทั้งหมด 1.8 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังมีคนงานที่ทำงานอยู่ เพราะคนหยุดงานไม่สามารถขัดขวางคนที่จะเข้าไปทำงานได้เนื่องจากแธตเชอร์มีการเตรียมการไว้อย่างดีโดยแก้กฎหมายห้ามเรื่องนี้ไว้ นอกจากนี้ยังส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลเข้มงวด จึงเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ครั้งนี้ แธตเชอร์ได้บทเรียนจากปี 1974 มาแล้ว จึงตระเตรียมโครงสร้างไว้อย่างดี โดยค่อยๆ เปลี่ยนให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นก๊าซและน้ำมัน ลดการพึ่งพาเหมืองถ่านหิน หากโรงไฟฟ้าใดยังใช้ถ่านหินอยู่จะต้องสะสมถ่านหินให้ใช้ได้อย่างน้อย 1 ปี รวมไปถึงการแก้กฎหมายไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวคนงานที่นัดหยุดงาน

ในที่สุดคนหยุดงานมาประท้วงเริ่มสับสนวุ่นวาย เพราะไม่ได้ค่าจ้าง ครอบครัวก็ไม่เงินช่วยเหลือจากรัฐ เมื่อถึงหน้าหนาว ไฟฟ้าก็ไม่ดับ ดังนั้นนอกจากคนหยุดงานและครอบครัวแล้วก็ไม่มีใครได้รับผลกระทบ ครอบครัวคนงานไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ ไม่มีฮีทเตอร์ ไม่มีเงินซื้ออาหาร เมื่อถึงต้นปี 1985 คนงานก็หมดแรง ยอมแพ้ สิ้นสุดยุคสหภาพแรงงานครองเมือง และหลังจากนั้นมาก็ไม่อาจท้าทายอำนาจรัฐได้อีกต่อไป ในขณะที่รัฐก็ดำเนินการแปรรูปกิจการต่างๆ เป็นของเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อถึงปี1987 แธตเชอร์ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 จึงปรับเปลี่ยนระบบประกันสุขภาพ (National Health Service/NHS)  ที่ขาดดุลอย่างหนักเนื่องจากผู้สูงอายุเยอะขึ้นด้วย เป็นการตัดรายจ่ายของรัฐ ดึงภาคเอกชนเข้ามาทำแทน

แต่เมื่อถึงในช่วงปี 1989 คะแนนนิยมของแธตเชอร์ก็เริ่มตกต่ำลง

คะแนนนิยมของแธตเชอร์ตกด้วย 2 สาเหตุหลัก หนึ่งคือ นโยบายต่อต้านสหภาพยุโรปหรือ อียู เวลานั้นกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกเริ่มรวมตัวกันตั้งสหภาพ วางแผนจะใช้เงินสกุลเดียวกัน แต่แธตเชอร์ต่อต้านอย่างหนัก ตามแนวคิดของฮาเย็ค เธอเชื่อว่าการรวมเป็นสหภาพยุโรปมีรัฐบาลเดียวจะเป็นรัฐเผด็จการ จนสร้างความเบื่อหน่ายให้กับพรรคพวกของเธอเอง ในขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่เห็นว่าอังกฤษต้องเข้าร่วมสหภาพ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ต้องตามกระแส ทว่าตัวชี้ขาดที่ทำให้แธตเชอร์ตกเก้าอี้ก็คือ ภาษีท้องถิ่น หรือภาษีบำรุงท้องที่ แธตเชอร์จะคิดภาษีเป็นอัตราเดียวจากการนับจำนวนประชากรรายบุคคล แทนที่จะแบ่งประเภทว่าอยู่ใกล้ไกล และคิดจากพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ ทำให้คนไม่พอใจ เพราะเดิมคนไม่เสียภาษีก็ต้องเสียขึ้นมา เกิดการจลาจลประท้วง ต่อต้านไม่ยอมจ่าย และสุดท้ายเมื่อหมดวาระแธตเชอร์ก็ถอนตัวออกไปในเดือนพ.ย. ปี1989

โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน ทุนนิยมนี่มันทุนนิยมจริงๆ

จะเห็นได้ว่าแธตเชอร์ได้เข้ามาในยุคสมัยที่สังคมนิยมรัฐสวัสดิการของอังกฤษกำลังมีปัญหาอย่างมาก แล้วก็สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้น สิ่งที่แธตเชอร์ทำก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของยุโรปและอเมริกา ที่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรม มาเป็นการบริการ ความสำคัญของอุตสาหกรรมเดิมในยุโรปและอเมริกาลดลงแต่กลับเคลื่อนไปเติบโตที่เอเชียแทน เนื่องจากแข่งขันไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก เหล็กกล้า หรือเหมืองถ่านหิน ปัจจุบันเหมือนถ่านหินในอังกฤษเหลือเพียง 6 แห่ง

กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมทุนนิยมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีวิวัฒนาการเป็นของตัวเอง เมื่อนั้น กำลังแรงงาน โครงสร้างอาชีพต่างๆ ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย คนที่เคยประกอบอาชีพแบบเก่าๆ มีทักษะเดิมๆ ก็กลายเป็นล้าสมัย ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม แต่คนก็ล้าสมัยไปด้วย จึงต้องหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น ซึ่งมีรายได้น้อยลง แต่ก็ต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้โทนี แบลร์  (Tony Blair) ชนะการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

 

วิโรจน์ อาลี

ประเด็นที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต(flexible production) การผลิตมากๆ ให้ต้นทุนถูก ใช้แรงงานไร้ฝีมือเริ่มหมดความสำคัญลงเพราะมีการแข่งขันมากขึ้น ในขณะที่อเมริกาก็สร้างสร้างตัวละครผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมาทดแทนสิ่งที่ยุโรปเคยผลิตได้ อย่างในเอเชียตะวันออกเช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย มีหลายคนตั้งคำถามว่า แธตเชอร์กับเรแกนด์ร่วมกันตั้งเสรีนิยมใหม่(Neo Liberalism) จึงทำให้ระบบการผลิตเปลี่ยนไป หรือเศรษฐกิจเปลี่ยนไปแล้วเพราะ Fordism ได้สร้างชนชั้นกลางที่มีความต้องการบริโภคหลากหลายขึ้นมา ทำให้ระบบการผลิตเปลี่ยนไป

มีหลายเสียงเห็นว่ารัฐบาลของแธตเชอร์สร้างประโยชน์ให้คนชนชั้นหนึ่ง แต่ก็ทำให้อังกฤษเสียหายมากเช่นกัน ทำให้เกิดคำถามว่าโทนี แบลร์คืออะไร เป็นภาคต่อหรือเป็นวิวัฒนาการตรงข้ามกับแธตเชอร์(Antithesis) แบลร์ให้ความสำคัญกับสังคม เป็นการสร้างจุดขายแบบชนกับแธตเชอร์ซึ่งพูดเอาไว้ว่าไม่มีสังคม ''There is no such thing as society. There are individual men and women, and there are families'' แต่แบลร์บอกว่าจำเป็นต้องมีสังคม ต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมให้ขยายตัวได้ และเอาส่วนต่างนั้นกลับไปจุนเจือสังคมได้ เพื่อให้สร้างรัฐสวัสดิการได้ ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนระบบการผลิตได้ ทำให้อังกฤษมีความสามารถในการแข่งขัน และยุคนี้ก็เป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูจริง

พิชิต: แบลร์เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้ามาแบบมีธงชัดเจนว่าจะต้องเลิกสังคมนิยม แม้พรรคแรงงานของเขาจะตั้งขึ้นมาบนแนวคิดสังคมนิยมเกือบร้อยปีแล้ว แต่แบลร์ก็ค่อยๆ ลดสัดส่วนอำนาจของสหภาพแรงงานที่เคยมีอิทธิพลต่อพรรคแรงงานอย่างมากลงเรื่อยๆ เสนอทางเลือกที่สาม คือไม่สังคมนิยมสุดโต่ง และไม่ทุนนิยมเกินไป แต่เขาก็ยังต้องต่อสู้อย่างหนักมากกว่าจะชนะการเลือกตั้ง ทั้งสู้กับประเพณีภายในพรรคที่สืบทอดมาเป็นร้อยปี และสู้กับสหภาพแรงงานซึ่งมีอำนาจมาก เมื่อขึ้นมาได้จึงมีอำนาจมาก แต่ฝ่ายสังคมนิยมก็เกลียดแบลร์ เชื่อว่าทางเลือกที่สามก็เป็นเพียงการตกแต่งลัทธิแธตเชอร์ เท่านั้น แบลร์เองก็ไม่ได้ให้สวัสดิการมากขึ้นจากเดิมแถมยังตัดบางอย่างออกไปมากกว่ายุคของแธตเชอร์ด้วยซ้ำ มีการปรับลดค่าใช้จ่ายของรัฐลงไปเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ แต่ที่ทำที่ไม่สำเร็จก็คือ การปฏิรูประบบราชการ การพยายามเปิดเสรีข้าราชการท้องถิ่น

 

คำถาม

1. แนวคิดระบบเศรษฐกิจของอังกฤษใน 30 ปีที่ผ่านมาวางอยู่บนแนวความคิดแบบใด

พิชิต: ต้องกล่าวถึง ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ค ในฐานะเป็นคู่ชกคู่แค้นของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ตอนที่เคนส์เขียนหนังสือเศรษฐศาสตร์มหภาคออกมา ยืนยันว่ารัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจ กลไกตลาดมีปัญหาที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ได้ รัฐบาลต้องเข้าช่วย สองคนนี้เจอกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่เคมบริดจ์ มีการโต้ถียงกัน ช่วง20ปีแรก ความคิดของเคนส์เป็นฝ่ายชนะ กลายเป็นนโยบายเศรษฐกิจมาตรฐานของซีกโลกทางตะวันตกทั้งหมด ฮาเย็คก็หันมาเขียนงานวิชาการ ปรัชญาการเมือง

เรแกน + แธตเชอร์

ปัจจุบันเมื่อพูดถึงเสรีนิยม ฮาเย็คก็เป็นคนสำคัญที่มีบทบาทมาก แต่เมื่อพูดคำว่าเสรีนิยมจะต้องระวัง เพราะในสหรัฐอเมริกา เสรีนิยมหมายถึงพรรคเดโมแครต ซึ่งค่อนไปทางซ้ายสังคมนิยมหรือรัฐสวัสดิการ เช่น โอบามา ไม่ใช่เสรีดั้งเดิมที่เน้นบทบาทปัจเจกชน ลดบทบาทรัฐ ดังนั้นพวกเสรีนิยมจริงๆ ที่ยังเชื่อในสิทธิส่วนบุคคลเหนือรัฐ จึงต้องหาชื่อใหม่ เป็นเสรีนิยมคลาสสิกแบบจอห์น ล็อก(John Locke) ซึ่งฮาเย็คเป็นผู้นำทางความคิดในกระแสนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเน้นปัจเจกชนเป็นจุดเริ่มต้น สิทธิทางบุคคลเหนือสิทธิส่วนใหญ่ เชื่อว่าสังคมจะมีระเบียบและสงบสุขได้เองหากถูกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องเข้าแทรกแซง รัฐบาลที่จะมีจึงต้องมีอำนาจจำกัดมากที่สุด มีเพื่อส่งเสริมสิทธิส่วนบุคคลทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต้องแข่งขันกันให้เกิดการผลิตและความมั่งคั่งในสังคม ทุกคนจะได้ประโยชน์แม้ว่าจะมีความขัดแย้งบ้างแต่จะมีสันติภาพ นี่คือหลักความคิดที่นำไปแนวคิดสู่ตลาดเสรี ซึ่งเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงปี 1970 เพราะเศรษฐศาสตร์แบบเคนเซียนเริ่มมีปัญหาเหมือนกันทั่วยุโรป

 แนวความคิดดังกล่าวเกิดในสหรัฐก่อน แล้วจึงแพร่มาในอังกฤษ เข้าไปมีอิทธิพลต่อนักการเมืองในสหรัฐส่งอิทธิพลต่อปีกการเมืองหนึ่งของพรรครีพับบิกันซึ่งมีโรนัลด์ เรแกนอยู่ ส่วนในอังกฤษ ความคิดนี้เข้าไปมีอิทธิพลทางปีกของแธตเชอร์ จึงการเกิดการปฏิวัติของเรแกนในอเมริกา ควบคู่ไปกับการปฏิวัติของแธตเชอร์ในอังกฤษ นโยบายที่ทั้งสองคนทำค่อยซึมเข้าสู่องค์กรระหว่างประเทศสององค์กรคือ world bank กับ IMF กระทั่งยุคต้น 90 ทั้งสององค์กรก็ประกอบเป็นชุดนโยบายที่ส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ที่จะรับความช่วยเหลือจากสององค์กรนี้ในการกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือให้สร้างความเจริญในประเทศ เช่น การสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า และเนื่องจากทั้งสององค์กรมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองวอชิงตัน จึงเรียกนโยบายนี้ว่าฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะใช้วิธีการช็อกเศรษฐกิจแบบที่แธตเชอร์ทำ คนจนที่ต้องพึ่งพารัฐสวัสดิการได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งนี้ในทางรัฐศาสตร์เรียกฉันทามติวอชิงตันว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ เป็นคำที่คิดโดยสังคมนิยมฝ่ายซ้ายเพื่อบอกว่าการกลับมาใหม่ที่โหดเหี้ยมยิ่งกว่าเดิมของเสรีนิยม เพราะทำงานได้แม้ในระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตามหลักใหญ่ของเสรีนิยมก็คือการสร้างเสถียรภาพทางมหภาค เปิดเสรีการค้าและการลงทุน ลงทุนข้ามชาติได้เยี่ยงคนชาติ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ แยกโครงสร้างพื้นฐานออกจากการบริการ โครงสร้างพื้นฐานเป็นของรัฐ แต่ให้เอกชนแข่งกันบริการ ลดการกำกับควบคุม สร้างวินัยการคลัง จัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐให้เน้นเฉพาะการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึง ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น ลดอัตราภาษีลง เพื่อให้เก็บได้มากขึ้น

2. มีข้อถกเถียงว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษหรืออเมริกา ถ้าสามารถทำได้จะมีเอกชนเข้ามาแข่งขันกันมากกว่าประเทศโลกที่สาม นี่ถือเป็นมายาคติ หรือเป็นความจริง

พิชิต: ขึ้นอยู่กับวิธีการ ไม่ว่าเป็นการแจกคูปองไว้แลกหุ้น การนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือแจกหุ้นไปเปล่าๆ ก็ได้ ว่าจะโปร่งใสแค่ไหน แต่เมืองไทยยังไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง มีเพียงการเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจให้เป็นมหาชน  (Corporatization) แต่รัฐยังถือหุ้นมากกว่าร้อยละ50-60 ซึ่งมีข้อดีคือทำให้โปร่งใสมากขึ้น ตรวจสอบได้ มีข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึง       

3. วิธีคิดของแธตเชอร์ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล ทว่าทำไมนโยบายต่างประเทศของเธอจึงมีลักษณะเป็นชาตินิยมมาก

วิโรจน์:  เรื่องการระหว่างประเทศเป็นแนวคิดสัจนิยมที่ชัดเจน เน้นการหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด พรรคอนุรักษ์นิยมเชื่ออยู่ตลอดว่าการรวมยุโรปจะทำให้เกิดปัญหาในที่สุด เพราะต้องตัดอำนาจอธิปไตยของตนเองให้ฝ่ายอื่นบริหาร การตรวจสอบยาก ระบบราชการขนาดใหญ่ทำให้ค่าใช้จ่ายในแต่ละปีหายไปกับการอุดหนุนสินค้าเกษตร และอื่นๆซึ่งทำให้การรวมกันมีปัญหา ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เดวิด แคเมอรอนได้ใช้เรื่องนี้เป็นเดิมพันในการเลือกตั้งว่าจะให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป

พิชิต: กรณีของสหภาพยุโรป แธตเชอร์ไม่ได้เริ่มต่อต้านจากฐานคิดชาตินิยม แต่เริ่มจากความเป็นไปได้ ที่จะปรับให้เข้ากับแนวคิดตัวเอง คือ  ไม่ต้องการให้มีรัฐบาลขนาดใหญ่เกินไป เป็นระบบขุนนาง จะมีธนาคารแห่งชาติซึ่งมีอำนาจครอบคลุมหลายประเทศขึ้นมา เป็นเรื่องที่อันตรายมาก

วิโรจน์ : เนื่องจากเวลานั้นเยอรมนีกับฝรั่งเศสเป็นรัฐสวัสดิการทั้งคู่ ทำให้แธตเชอร์ระแวงว่ารูปแบบของสหภาพยุโรปจะออกมาเป็นแบบนี้ด้วย แล้วจะมีผลมาบังคับประเทศอังกฤษ จนรัฐบาลไร้กลไกจัดการกับระบบเศรษฐกิจของตัวเอง

พิชิต: ในเวลานั้นมีเสียงต่อต้านแธตเชอร์ มีกระแสความเชื่อว่ายังไงก็ต้องรวมเข้า เมื่อเกิดสหภาพยุโรป การใช้จ่ายของภาครัฐไม่เหมือนกัน บางประเทศขาดดุลงบประมาณมาก ในขณะที่บางประเทศขาดดุลงบประมาณน้อย ปริมาณงานและระดับเงินเฟ้อก็ไม่เท่ากัน อัตราดอกเบี้ยก็ไม่เท่ากัน แต่ใช้เงินในสกุลเดียวกัน สุดท้ายก็จะเห็นว่าธนาคารแห่งชาติของแต่ละประเทศก็ยังมีอำนาจในการดูแลตัวเอง แยกไปจากกลุ่ม เมื่อเกิดไม่ประสานกันขึ้นมาก็มีปัญหาทั้งหมด เช่น ภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจกรีซ ทำให้ค่าเงินยูโรของกรีซต่ำ แล้วค่าเงินระบบเดียวกันคือยูโรก็ตกตามไปด้วย

4. การเปลี่ยน mode of production จาก Fordism มาเป็นการบริการแล้ว มีการรองรับการจ้างงานคนอย่างไร เพราะ Fordismวางอยู่บนฐานการผลิตเชิงปริมาณ

วิโรจน์: ตอนแธตเชอร์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีมีคนตกงานกว่าล้านคน หลังแธตเชอร์ออกไปกลายเป็นสองล้านกว่า หลังเมเยอร์ออกไปกลายเป็นสามล้านกว่า ในภาพรวมจึงถือว่าแก้ปัญหาอุปทานแรงงานไม่ได้ แต่มันเกิดช่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ให้คนเข้าไปสู่งานที่มีรายได้สูงได้ แล้วก็ตามมาด้วยการบริการต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ทำให้เกิดงานทดแทนงานในโรงงานอุตสาหกรรม เกิดงานหลากหลาย เช่น ทำงานเป็นกะได้ เลือกได้ มีความยืดหยุ่นสูง

พิชิต: ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จคือสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง ซอฟท์แวร์ ยา ล้วนมีสิทธิบัตร แล้วยังมีแอนนิเมชั่นในสิงคโปร์ ส่วนเรื่องคนงาน ปัญหาอยู่ที่ไม่เคยมีการเปิดช่องให้คนงานที่ตกงาน จนถึงทุกวันนี้คนงานรุ่นเดิมก็ยังข่มขื่นมากเมื่อพูดถึงแธตเชอร์ เพราะชุมชนเดิมถูกทำลายลงไปเลย กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมของผู้อพยพใหม่ แต่คนที่ได้รับประโยชน์คือคนอีกรุ่นหนึ่งที่อายุยังไม่มากและยังสามารถปรับทักษะตัวเองเข้ากับโครงสร้างที่เปลี่ยนไป

5.คิดว่าแธตเชอร์จะได้รับการจดจำในประวัติศาสตร์อย่างไร

พิชิต:  แธตเชอร์มีที่ยืนในประวัติศาสตร์ยุโรปแน่นอน เพราะสิ่งที่เธอทำไม่ใช่เพียงกระแสในอังกฤษ แต่ในยุโรปตะวันตกทั้งหมด แต่หากจะนำมาเทียบกันนายกรัฐมนตรีไทยคนไหน ก็ต้องไม่ลืมว่าคนอังกฤษที่ไม่ชอบเธอก็แทบจะถุยน้ำลายเมื่อพูดถึงเธอ แต่คนที่ชอบก็ชอบเอามากๆ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝ่ายกบฏซีเรียปฏิเสธเรื่องใช้อาวุธเคมีหลังถูกกล่าวหาโดยคณะสืบสวนยูเอ็น

Posted: 06 May 2013 11:13 PM PDT

คณะสืบสวนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเผยหลังการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานว่ามีการใช้แก็สซารีนจากฝ่ายกบฏอย่างค่อนข้างแน่ชัด แต่ฝ่ายกบฏในซีเรียปฏิเสธข้อกล่าวหาบอกว่าไม่เป็นธรรมและเป็นการท้าทายประชาชนชาวซีเรีย

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2013 กองกำลังกบฏปลดปล่อยซีเรีย (FSA) ปฏิเสธข้อกล่าวหาของคณะสืบสวนของสหประชาชาติที่บอกว่ากองกำลังฝ่ายกบฏเป็นฝ่ายที่ใช้อาวุธเคมี

คาร์ตา เดล พอนเต หัวหน้าคณะสืบสวนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า จากการไต่สวนของคณะกรรมการ รวมถึงการรวบรวมหลักฐานจากผู้เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองและจากหน่วยแพทย์ชี้ให้เห็นว่ากองกำลังฝ่ายกบฏเป็นผู้ใช้แก็สซาริน ที่มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท

ทางด้านเสนาธิการกองกำลังฝ่ายกบฏ ซาลีม เอดริส กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีร่าต่อเรื่องดังกล่าวว่า การกล่าวหาของทางสหประชาชาติเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างมาก และเป็นการท้าทายประชาชนชาวซีเรีย

เดล พอนเต กล่าวอีกว่า จากการไต่สวนพวกเขายังไม่พบหลักฐานว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี ซึ่งเป็นอาวุธที่ถูกสั่งห้ามตามกฏนานาชาติ

"คณะสืบสวนของพวกเราลงพื้นที่ไปยังประเทศใกล้เคียง มีการสัมภาษณ์เหยื่อ, แพทย์ กับหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ และจากข้อมูลรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องวิธีการรักษาเหยื่อ ก็พบว่ามีข้อน่าสงสัยอย่างมากซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นว่ามีการใช้แก็สซารีน แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่โต้แย้งได้" เดล พอนเต กล่าวให้สัมภาษณ์

"อาวุธดังกล่าวถูกใช้จากฝ่ายของกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาล ไม่ได้มาจากฝั่งรัฐบาล" เดล พอนเตกล่าว

สำนักข่าวอัลจาซีร่าเปิดเผยว่า คาร์ตา เดล พอนเต เป็นอดีตอัยการสูงสุดของสวิสเซอแลนด์ เคยทำงานเป็นพนักงานอัยการในศาลปกครองระหว่างประเทศของอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) โดยเดล พอนเต ไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีอาวุธเคมีในซีเรีย

ทางด้านกลุ่ม SNC ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียอีกกลุ่มหนึ่งที่มีฐานที่มั่นอยู่ในตุรกีบอกว่าพวกเขาจะจัดให้มีการประชุมอภิปรายเรื่องการใช้อาวุธเคมีในวันอังคารที่อิสตันบูลโดยมีทนายความและแพทย์ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเข้าร่วมอภิปราย รวมถึง อัดนัน ซิลโล อดีตทหารซีเรียผู้เคยทำงานอยู่ในหน่วยสงครามเคมี

คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติพยายามเข้าไปในประเทศซีเรีย 2 ปีมาแล้วแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ พวกเขามักจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในการประกอบรายงาน ทางยูเอ็นยังได้ฟ้องร้องทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลโทษฐานอาชญากรรมสงคราม

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าของสหรัฐฯ ก็เคยประกาศว่าการใช้อาวุธเคมีในซีเรียถือเป็นการ 'ล้ำเส้น' แต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ จากสหรัฐฯ

ซารินเป็นสารที่มีพิศต่อระบบประสาทคิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์นาซีในช่วงปี 1930s ในญี่ปุ่นเคยมีเหตุการณ์ที่กลุ่มลัทธินำมาใช้สังหารผู้คนสองครั้งในช่วงปี 1990s ในช่วงปี 1988 ก็มีการนำมาใช้สังหารชาวเคิร์ดในหมู่บ้านฮาลาบยาทางตอนเหนือของประเทศอิรัก


เรียบเรียงจาก

Syria rebels reject UN chemical weapons claim, Aljazeera, 06-05-2013

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น