โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พีมูฟพอใจท่าทีรัฐบาล หลังประชุมระดับอนุกรรมการเดินหน้า แต่ย้ำห้ามเบี้ยว!

Posted: 16 May 2013 01:43 PM PDT

'พีมูฟ' เน้นย้ำรัฐบาลต้องเดินหน้ากระบวนการแก้ปัญหาร่วมกันตามข้อตกลงทุกขั้นตอน ไม่เลื่อนการประชุม ไม่ปรับเปลี่ยนเวลานัดหมายต่างๆ ที่ตกลงไว้แล้ว ชี้อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม

 
วันนี้ (16 พ.ค.56) ที่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา เป็นวันที่ 11 ตัวแทนชาวบ้านร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 27 'บทพิสูจน์ความจริงใจในข้อตกลงร่วมกันแก้ปัญหาของรัฐบาลกับพีมูฟ' ระบุว่า หลังจากเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีการนำข้อเสนอ 4 เรื่องของพีมูฟ เข้า ครม.แต่จากการประสานงานใหม่อีกครั้งระหว่างรัฐบาลกับพีมูฟ ซึ่งร่วมยืนยันให้กระบวนการประชุมระดับอนุกรรมการทุกชุดเดินหน้าไปได้ เพื่อนำไปสู่การประชุมครั้งใหญ่ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ รวมทั้งคลี่คลายปัญหาเร่งด่วนบางประการในพื้นที่ ทำให้กระบวนการเกิดความคืบหน้าขึ้น
 
นอกจากนี้ ในวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทยพร้อมคณะได้เดินทางเข้าไปในที่ชุมนุมเพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาที่ดินเอกชนและที่ดินสาธารณะ ก่อนนำไปประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ อีกทั้งการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในวันเดียวกัน ได้ผลออกมาเป็นบวกอย่างมาก ทำให้เห็นสัญญาณที่ดีจากรัฐบาล
 
"ความเปลี่ยนแปลงด้านบวกที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจริงของปัญหาที่พีมูฟนำเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งทุกประเด็นปัญหาถ้ามีการแก้ไขลุล่วงไปด้วยดีก็จะส่งผลดีต่อประชาชนในวงกว้างและสังคมไทย ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น" แถลงการณ์ระบุ
 
แถลงการณ์ระบุ ด้วยว่า พีมูฟ มีข้อเสนอเน้นย้ำ คือ 1.รัฐบาลต้องเดินหน้ากระบวนการแก้ปัญหาร่วมกับพีมูฟตามข้อตกลงทุกขั้นตอน 2.รัฐบาลต้องไม่เลื่อนการประชุม ไม่ปรับเปลี่ยนเวลานัดหมายต่างๆ ที่ตกลงกันไว้แล้ว เพราะอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการกำหนดท่าทีความเคลื่อนไหวของพีมูฟ
 
อีกทั้ง ยังยืนยันว่า จะชุมนุมอย่างสงบรอฟังผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากกระบวนการประชุมร่วมกับรัฐบาล  และจะส่งตัวแทนเข้าไปติดตามความคืบหน้าการนำกรณีปัญหาทั้ง 4 เรื่อง เข้าสู่การประชุมครม.ในวันที่ 21 พ.ค.นี้อีกครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นเหมือนการประชุมวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา
 
หลังจากนั้น ผู้ชุมนุมพีมูฟได้ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่นายเด่น คำแหล่ ที่ได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำ หลังจากที่ต้องถูกคำพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 15 วัน ในข้อหาที่เรียกได้ว่าเป็นการบุกรุกที่ดินทำกินของตนเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนอีสานประกาศไล่ ‘ปลอดประสพ’-ต้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

Posted: 16 May 2013 12:13 PM PDT

เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน จี้ 'ปลอดประสพ' ลาออกรองนายกฯ-ประธาน กบอ. เฉ่งใช้คำพูดดูถูกประชาชน-ข่มขู่ไม่ให้ชุมนุมประท้วง ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมีรัฐธรรมนูญรับรอง ส่อเป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย

 
จากกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการและอุทกภัย (กบอ.) ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2556 ระหว่างการเดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่จัดงานสัมมนาและนิทรรศการด้านการ บริหารจัดการน้ำระดับนานาชาติ หรือการประชุมผู้นำด้านน้ำ เอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific water summit) ครั้งที่ 2 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ว่า
 
"หากมีการชุมนุมประท้วงก็จะสั่งให้ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงทั้งหมดไปดำเนินคดี ดังนั้น ขอเตือนอย่ามาชุมนุมประท้วงเด็ดขาด เพราะสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่สถานที่จัดการประท้วง จะไม่จัดสถานที่ไว้ให้ มีแต่จัดคุกไว้ให้เท่านั้น และจะไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่จับอย่างเดียว และคนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้คนพวกนี้ที่เหมือนขยะมาเกะกะด้วย"
 
วันนี้ (16 พ.ค.56) เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน นำโดยนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดการน้ำของรัฐบาล ได้ออกมาตอบโต้นายปลอดประสพ โดยแสดงความเห็นว่า มีพฤติกรรมแบบอำนาจนิยม ขาดภาวะความเป็นผู้นำ และเรียกร้องให้ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ.
 
เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่า นายปลอดประสพ เป็นถึงรองนายกฯ แต่กลับไม่ก้าวหน้าทางความคิด ส่อถึงการเป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย ด้วยการใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามประชาชน และข่มขู่ว่าจะจับถ้าหากมีการชุมนุมประท้วง ทั้งที่สิทธิการชุมนุมที่ไม่ทำผิดกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญรับรอง
 
"รัฐบาลชุดนี้บอกว่าได้อำนาจมาจากประชาชนตามหลักประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมของนายปลอดประสพที่ให้สัมภาษณ์ดังกล่าว กลับแสดงออกถึงความเป็นเผด็จการ และขาดภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่งไม่มีความเหมาะสมที่จะมาบริหารประเทศ จึงสมควรลาออกจากการเป็นรองนายกฯ และประธาน กบอ." นายสุวิทย์กล่าว
 
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายประชาชนอีสาน ได้ติดตามคัดค้านโครงการจัดการน้ำของรัฐบาล 3.5 แสนล้าน เพราะเป็นโครงการที่ไม่โปร่งใส ประชาชนไม่มีส่วนร่วม นอกจากนี้ปัญหาการจัดการน้ำของรัฐที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล
 
"หากมีการจัดเวทีเกี่ยวกับการจัดการน้ำในภาคอีสาน ชาวอีสานจะออกมาคัดค้าน และใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญขับไล่นายปลอดประสพอีกด้วย" นายสุวิทย์กล่าว
 
ในขณะที่นางผา กองธรรม แกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การจัดการน้ำร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งถ้าหากภาครัฐมีการฟังเสียงสะท้อนของประชาชนยิ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาดีขึ้น แต่ถ้าภาครัฐคิดที่จะรวบอำนาจทุกอย่างเอาไว้เอง จะมีประชาชนไว้ทำไม คิดเอง ทำเอง ทุกอย่าง ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงออกและเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ฟังเสียงประชาชน แล้วยังเปรียบเทียบประชาชนคนทุกข์ยากว่าเป็น สวะ หรือ ขยะ อีก อย่างนี้ใช้ไม่ได้
 
"นักการเมืองมาจากไหน มันก็มาจากประชาชนเลือกตั้งทั้งนั้น ถ้าไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม แล้วจะไปฟังเสียงใครกัน ข้อเรียกร้องของประชาชนที่จะนำเสนอถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดแล้ว เพราะชาวบ้านรู้ว่าจะใช้ทรัพยากรของตัวเองอย่างไร เพราะพวกเราอยู่กับมันมาตั้งแต่เกิดจนตาย" นางผากล่าว
 
นางผา กล่าวต่อว่า โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน นั้น ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมาเร่งดำเนินโครงการในตอนนี้ เพราะหากจะมีโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม 1.) จะต้องแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการจัดการน้ำโดยรัฐในทุกๆ ประเด็นให้จบสิ้นเสียก่อน 2.) การจัดการน้ำต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือละเมิดความเป็นชุมชนโดยเด็ดขาด
 
ด้านนายคงเดช เข็มนาค ชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่จะเกิดขึ้น เป็นโครงการที่นำเงินมาผลาญงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ชาวบ้านเคยมีบทเรียนจากการจัดการน้ำของรัฐฝ่ายเดียวมาแล้ว รู้ดีว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่จะทำให้เกิดผลกระทบตามมา
 
"ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำเก่าที่รัฐเคยสร้างปัญหาไว้ ยังแก้ไขไม่จบเลย ยังจะเอาโครงการใหม่เข้ามาสร้างปัญหาทับถมกันลงไปอีก อย่างนี้ประชาชนที่เคยมีบทเรียนไม่เห็นด้วยแน่นอน" นายคงเดชกล่าว
 
นายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจาการขุดลอกน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับความเจ็บซ้ำมามากพอแล้วกับการจัดการน้ำ โดยที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเลย ภาครัฐคิดเอาเองทั้งหมดว่าต้องการทำอย่างไร โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น 3.5 แสนล้านบาท ก็จะเป็นเหมือนโครงการจัดการน้ำของรัฐที่เคยสร้างผลกระทบแก่ชาวบ้าน ซึ่งไม่มีหน่วยงานไหนมารับผิดชอบ
 
"โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นถ้าไม่สร้างการมีส่วนร่วมแก่ประชาชน ให้ประชาชนเป็นผู้ออกแบบ ก็อย่าหวังเลยว่าชาวบ้านที่เคยมีบทเรียนจะเห็นดีด้วย" นายวิเชียรกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงจำเลยคดี ‘รุกป่า’ จากที่ชุมนุมพีมูฟ คนชายขอบที่รัฐฯ อาจมองไม่เห็น

Posted: 16 May 2013 10:15 AM PDT

"พวกเราพี่น้องที่ทุกข์ยาก ไม่อยากถูกดำเนินคดีอีก และไม่อยากกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เป็นคนตกขอบของแผ่นดิน..." นายเด่น คำแหล่ จำเลยคดีบุกรุกที่ดินของตัวเอง เดินหน้าปักหลักร่วมต่อสู้กับ 'พีมูฟ' หลังคืนสู่อิสรภาพ (ชั่วคราว) อีกครั้ง

 
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ค.56 ที่ประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟจากทั่วประเทศกว่า 2,000 คนได้เดินทางมารวมตัวที่ข้างรั้วทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามและติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้  
 
วันแต่ละวันผ่านไป จนมีการเคลื่อนย้ายที่ชุมนุมไปบริเวณริมคลอง ข้างกระทรวงศึกษา เพื่อหลีกทางให้กับงานพระราชพิธี ถึงขณะนี้ ยังไม่มีทีท่าของความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาจากคนในฝากฝั่งของรัฐบาล ขณะที่กำหนดวันเวลายุติการชุมนุมก็เคลื่อนออกไปเรื่อยๆ
 
อย่างไรก็ตาม ในที่ชุมนุมก็ยังมีกิจกรรมเคลื่อนไหวไม่เคยขาด เพื่อสร้างบรรยากาศของการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม
 
ล่าสุดวันนี้ (16 พ.ค.56) ในที่ชุมนุมพีมูฟ มีการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ นายเด่น คำแหล่ วัย 62 ปี ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งเพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากต้องถูกจองจำจากคดีบุกรุกที่ป่า ในพื้นที่สวนป่าโคกยาว เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม 
 
 
000
 
เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา นายเด่น ในฐานะแกนนำคนหนึ่งของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้นำสมาชิกในเครือข่าย กว่า 30 ชีวิต เดินทางเข้าสมทบกับสมาชิก คปอ. ซึ่งร่วมชุมนุมกับพีมูฟ
 
"เมื่อเกิดความไม่เท่าเทียม ถูกกดขี่ ข่มแหง พวกเราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และจัดสรรที่ดินให้อย่างเป็นธรรม" นายเด่นกล่าว
 
ก่อนหน้านี้ กลุ่มชาวบ้านฟีมูฟได้ร่วมกันเดินรณรงค์จากที่ชุมนุมไปยังศาลฎีกา บริเวณฝั่งตรงข้ามสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงประธานศาลฎีกา กรณีที่นายเด่น คำแหล้ และภรรยา ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา สั่งจำคุกทั้งสองเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว 
 
ในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลฎีกาก็ได้มีคำสั่ง อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสองชั่วคราวในระหว่างฎีกา โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท
 
"ชาวบ้านโดนจับกุมฐานบุกรุกในที่ดินของตัวเอง" นี่คือคำอธิบายต่อกรณีที่เกิดขึ้น ตามความเห็นของชาวบ้าน
 
000
 
นายเด่น เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตให้ฟังว่า เดิมเป็นคน ภุมภวาปี จ.อุดรธานี และได้เข้าร่วมเป็นทหารแนวหน้าตามป่าเขา ในเขตงาน 196 พื้นที่ภูเขียวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ (พคท.)
 
ประสบการณ์ชีวิตในช่วงหนึ่ง เขาต้องลุกขึ้นมาถือปืนต่อสู้ ด้วยเหตุจากความเห็นต่างทางการเมือง และต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากโครงสร้างสังคมขณะนั้นประชาชนถูกผู้มีอำนาจเอาเปรียบเรื่อยมา กระทั่งเกิดเหตุการณ์นองเลือด เมื่อ 6 ต.ค.19 นักศึกษา ประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หลายพันคนต้องสังเวยชีวิต
 
ภายหลังออกจากป่า นายเด่น เล่าว่า เข้ามายึดอาชีพรับจ้างเป็นจับกังแบกหามข้าวโพด ที่ ต.ทุ่งลุยลาย กระทั่งมาพบรักกับนางสุภาพ สนิทนิตย์ จากนั้นปี 2527 จึงได้จดทะเบียนสมรส และยึดอาชีพเกษตรกร บนพื้นที่ของพ่อตา และแม่ยายที่มอบเป็นมรดกตกทอดนับแต่นั้นเรื่อยมา
 
แต่ชีวิตที่ดูจะราบรื่นต้องกลับเข้ามาสู่วังวนแห่งการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมอีกครั้ง เมื่อสิทธิในการทำกินทำกินบนผืนแผ่นดินของครอบครัวถูกลิดรอนจากกฎหมายของรัฐ  
 
 
000
 
กรณีพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาวของนายเด่นและชาวบ้านในชุมชนโคกยาว ต้องนับย้อนไปถึงความขัดแย้งตั้งแต่เมื่อครั้งพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ครอบคลุมพื้นที่ ต.ทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งพระ ต.ทุ่งนาเลา ต.ห้วยยาง ต.ดงกลาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประมาณกว่า 290,000 ไร่ เมื่อปี 2516
 
ต่อมา มีโครงการปลูกสวนป่าโคกยาว ทดแทนพื้นที่สัมปทาน ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกในพื้นที่ เมื่อปี 2528 ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้และกองกำลังทหารพรานได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ให้รายละ 15 ไร่
 
แต่เมื่อชาวบ้านบางส่วนออกจากพื้นที่ เพื่อเตรียมการจะเข้ามาอยู่ตามพื้นที่จัดสรร กลับปรากฏว่าเป็นที่ดินผืนนั้นมีเจ้าของเป็นผู้ครอบครองอยู่แล้ว ทำให้ชาวบ้านจึงเสมือนตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ กลายเป็นคนไร้ที่ดิน
 
ดังนั้น ชาวบ้านบางส่วนจึงลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องต่อสู้เพื่อนำที่ดินทำกินของตนเองกลับคืนมา โดยหนึ่งในวิธีการคือการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ทำกินเดิม
 
000
 
นายเด่น เล่าว่า ผลจากการต่อสู้ชีวิตเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม สุดท้ายตนเองกับภรรยาและชาวบ้านรวม 10 ราย กลับต้องตกเป็นจำเลยในคดีความของศาล
 
จากเหตุการณ์เมื่อเช้ามืดของวันที่ 1 ก.ค.54 นายประทีป ศิลปะเทศ นายอำเภอคอนสาร ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และอาสาสมัคร กว่า 200 นาย บุกเข้าจับกุมชาวบ้าน หิ้วขึ้นสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง แจ้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ และส่งฟ้องชาวบ้านโดยแยกออกเป็น 4 คดี
 
กระทั่ง คดีเดินหน้าผ่านศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งล้วนตัดสินว่าชาวบ้านมีความผิด โดยอ้างอิง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 
 
"โดยส่วนตัว แม้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ประกันชั่วคราว ในกระบวนการยุติธรรมนั้นจะต้องมีจิตสำนึกที่แน่วแน่ในการวินิจฉัย ตัดสินคดีความด้วยความเป็นธรรม โดยเท่าเทียม ด้วยว่าผู้ถูกคดีและผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงเกษตรกรคนยากจน ทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าฯ ชาวบ้านมีสิทธิในพื้นที่มามากกว่าที่จะเอากฎหมายมาเล่นงาน ที่สำคัญเขามีวิถีการดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพียงเลี้ยงชีวิตไปวันๆ" นายเด่นให้ความเห็น
 
ในส่วนรัฐบาล นายเด่นกล่าวว่า ควรต้องมีการวางแนวทางและนโยบาย โดยสิ่งที่เก่าและล้าสมัยควรนำมาปรับลดให้สอดคล้อง สมดุล เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะในแง่ของกฎหมาย หรือการจัดสรรปฏิรูปที่ดินให้ครบถ้วนรอบด้าน
 
"พวกเราพี่น้องที่ทุกข์ยาก ไม่อยากถูกดำเนินคดีอีก และไม่อยากกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เป็นคนตกขอบของแผ่นดิน เพราะเราต่างเป็นคนไทยที่มีสิทธิ์บนผืนแผ่นดินนี้โดยเท่าเทียมกัน พวกเราจึงต้องมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ได้รับความเดือดร้อน" ประธานโฉนดชุมชนโคกยาวเน้นย้ำ
 
 
000
 
ช่วงเวลาที่ผ่านมา นโยบายของรัฐ ทั้งการประกาศพื้นที่ป่าทับที่ทำกินเดิม และการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ได้ก่อปัญหา จนทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง กระทั่งเกิดเป็นคดีความกับประชาชนมากมาย และบทสรุปสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านซึ่งเป็นเพียงเกษตรกรคนจนๆ ธรรมดา มักจะถูกตัดสินโดยเป็นผู้ตกเป็นฝ่ายผิดโดยเสมอ บางรายถูกกุมขังอยู่ในเรือนจำ
 
ดังกรณี ของสมาชิก คปอ. 6 จังหวัด ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหา 'บุกรุก' ที่ทำกินตัวเอง กว่า 90 ราย ทั้งในพื้นที่ทับซ้อนเขตป่า ตัวย่าง กรณีเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กรณีเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ต.ห้วยยาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กรณีสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ (บ้านบ่อแก้ว) อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และพื้นที่พิพาทที่ดินสาธารณะประโยชน์ ชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ จ.ร้อยเอ็ด
 
รวมถึงอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ
 
แน่นอนว่า ปัญหาที่สั่งสมมายาวนานย่อมไม่สามารถแก้ไขในเวลาเพียงข้ามคืน และสำหรับชาวบ้านความต้องการคงไม่ให้แค่เพียงการประชุม แต่คือรูปธรรมของของการแก้ปัญหาที่ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กับการมีส่วนร่วมของพวกเขา
 
"ที่ผ่านมารัฐบาลรับปากชาวบ้านมาหลายครั้ง แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ดำเนินการใดๆ ครั้งนี้พวกเราทุกเครือข่ายต่างปักหลักร่วมกันแล้วว่า หากครั้งนี้คำสัญญาที่รัฐเคยให้ไว้ หากไม่มีความชัดเจน ไม่สามารถแตะต้องได้ พวกเราจะไม่กลับ จะคงยืนหยัดจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข ตามที่รัฐบาลได้มีข้อตกลงร่วมกันไว้" นายเด่นกล่าวย้ำ
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วสิษฐ-แก้วสรร ตั้ง 'ไทยสปริง' ล่าชื่อคนค้านปาฐกถานายกฯ

Posted: 16 May 2013 07:47 AM PDT


http://www.change.org/users/thaispring หน้าของกลุ่มไทยสปริงในเว็บ change.org
 

 

(16 พ.ค.56) เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นายแก้วสรร และนายขวัญสรวง อติโพธิ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการล่ารายชื่อในจดหมายเปิดผนึกในนาม ไทยสปริง เพื่อปฏิเสธปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ เมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย

ทั้งนี้ พวกเขาเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ปรากฏการณ์ไทยสปริง (Thai Spring) หรือ "ดอกบัวแห่งการตื่นรู้" เพื่อปฏิเสธการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ดำเนินการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องโดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่แต่งตัวเป็นประชาธิปไตย

โดย พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า ได้ผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ผ่านมาพบว่ามีความพยายามจากคนบางกลุ่มในการทำลายระบอบประชาธิปไตย กระทำการจาบจ้วงก้าวล่วงสภาบันอย่างต่อเนื่อง อย่างมีแผนการเพื่อล้มล้างและยึดประเทศไทย รวมถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งยอมไม่ได้

"ที่ผ่านมาเรามีอาวุธมากมายที่จะต่อสู้ แต่วันนี้เรามีอาวุธอีกอย่าง คือ การแสดงอารมณ์ ผ่านสื่อสังคม (โซเซียลมีเดีย) อาทิ เว็บไซต์ http://www.change.org/users/thaispring ที่ร่วมลงชื่อปฏิเสธปาฐกถาอูลานบาตอร์ของนายกรัฐมนตรี และขณะนี้ประชาชนได้ร่วมลงชื่อสนับสนุน กว่า 10,000 รายชื่อ ถือเป็นการแสดงจุดยืนให้เห็นว่ารัฐบาลดำเนินการไม่ถูกต้อง และการรวมพลังแบบนี้ จะเกิดผลมากกว่าที่จะไปเรียกให้คนออกมาที่ท้องสนามหลวง ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก"พล.ต.อ. วสิษฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรทบทวนบทบาทของตัวเองที่คิดว่าไม่เข้าท่า ไม่ถูกต้อง แต่นายกฯไม่รู้จะคิดออกหรือไม่ แต่แน่ใจว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะคิดออก ถ้าเกิดยังดึงดันในท่าทีอย่างนี้ต่อไป เชื่อว่าปรากฏการณ์ไทยสปริงก็คงจะนำไปสู่เหตุการณ์อื่น เช่นเดียวกับเหตุการณ์อาหรับสปริงที่มีคนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมากจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ 

ด้านนายแก้วสรร กล่าวว่า  รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ เพราะว่ารัฐบาลนี้มีนายกฯที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์ฯอย่างถูกต้อง แต่กลับมีนายกฯอีกคนคอยเชิดอยู่เบื้องหลัง สั่งการตลอดเวลา ซึ่งการกระทำหลายอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ครอบครัวชินวัตร ทำให้รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก พยายามที่จะย่ำยีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงขั้นให้ลูกน้องไปขู่ฆ่าศาล เป็นการกระทำที่ใช้ไม่ได้

ส่วนสถานการณ์ขณะนี้ เป็นเหมือนการปิดประตูตีแมว รัฐบาลพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายต่างๆ เพื่อล้างผิดให้กับนักการเมือง และครอบครัวตนเอง นอกจากนี้ การไปปาฐกถาที่ เมืองอูลานบาตอร์ เป็นการโดดเดี่ยวคนไทยที่มีประชาธิปไตย การที่นายกฯพยายามบอกว่ารักประชาธิปไตย แต่แท้จริงเป็นการพูดเพื่อทำลายระบอบการปกครอง ซึ่งทางกลุ่มจะได้รวบรวมรายชื่อดังกล่าว ส่งไปยังประเทศสมาชิกประชาคมประชาธิปไตย 106 ประเทศ ผ่านสำนักเลขาของประชาคมที่กรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ รวมทั้งส่งให้คณะทูตประจำประเทศไทยด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.กู้เงินฯ 2 ล้านล้าน ตีกลับ 'รถไฟรางคู่' ให้ลดราคาก่อสร้าง

Posted: 16 May 2013 06:26 AM PDT

กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีมติส่งโครงการรถไฟรางคู่ให้ รฟท.หารือร่วมกับสำนักงบฯ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะพิจารณาปรับลดค่าก่อสร้างที่แพงเกินจริง



สำนักข่าวไทย รายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 2 ล้านล้านบาท สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ นายวิฑูรย์ นามบุตร และนายอนุชา บูรพชัยศรี แถลงถึงความคืบหน้าการพิจารณาโครงการรถไฟรางคู่ว่า กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยได้ทวงถามข้อมูลเอกสารจากรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ แต่ได้รับน้อยมาก จึงตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลต้องการปิดบังข้อมูลหรือไม่

นายสามารถ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ทั้ง 11 โครงการ มีถึง 6 โครงการที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาและออกแบบรายละเอียด ส่วนอีก 5 โครงการที่เหลือมีรายละเอียด แต่รัฐบาลกลับนำเอกสารมาแจกในที่ประชุม ไม่ได้แจกล่วงหน้า จึงทำให้ตรวจสอบไม่ทัน ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับค่าก่อสร้างในโครงการรถไฟรางคู่ที่ราคาสูงกว่าที่การรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟท.) เคยก่อสร้างไว้ โดยรถไฟรางคู่สายฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง มีค่าก่อสร้างเฉลี่ยเพียง 69 ล้านบาทต่อกิโลเมตร แต่ค่าเฉลี่ยของการก่อสร้างรถไฟรางคู่นี้อยู่ที่ 125 ล้านบาทต่อกิโลเมตร จึงเท่ากับว่าโครงการรถไฟรางคู่ใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทแพงกว่าโครงการที่ รฟท.เคยทำถึงร้อยละ 81

ดังนั้น ที่ประชุมกรรมาธิการฯ มีมติให้ รฟท.นำกลับไปหารือกับสำนักงบประมาณและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อพิจารณาปรับราคาแล้วนำกลับมาเสนอให้กรรมาธิการฯ พิจารณาใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ หากมีการตัดค่าที่ปรึกษาบริหารงานโครงการออกจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงประมาณร้อยละ 2.7 ของการก่อสร้าง

ด้านนายอนุชา กล่าวว่า มีการตั้งวงเงินที่สูงเกินจริงและมีความซ้ำซ้อน เช่น แผนงานปรับปรุงอาณัติสัญญาณไฟของการรถไฟฯ มีการตั้งวงเงินซ้ำซ้อนกันถึง 2.3 พันล้านบาท ซึ่งวงเงินนี้ก็ไปปรากฏอยู่ในโครงการรถไฟรางคู่อีกเช่นกัน

ขณะที่ นายวิฑูรย์ กล่าวว่า โครงการทั้ง 57 โครงการใน พ.ร.บ.งบประมาณเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มีความพร้อมไม่ถึงร้อยละ 80 ขณะที่โครงการรถไฟรางคู่มีราคาค่าก่อสร้างที่แพงกว่าปกติเมื่อเทียบกับราคาของกรมทางหลวง เช่น ดินถมของโครงการนี้ราคา 311 บาทต่อคิว แต่ของกรมทางหลวงราคากว่า 100 บาท/ลูกรัง 932 บาทต่อคิว แต่ของกรมทางหลวงไม่เกิน 300 บาท ทั้งนี้ ให้ติดตามการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ในสัปดาห์หน้าที่จะมีการพิจารณารถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟลอยฟ้า และรถไฟใต้ดินด้วย เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปเรื่องการก่อสร้างรถไฟสายหลัก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อดีต รมว.คลัง' ห่วงทุนญี่ปุ่นไหลเข้า กดบาทแข็งอีกรอบ

Posted: 16 May 2013 06:08 AM PDT

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง แนะหามาตรการรับมือบาทแข็ง เชียร์ 'แบงก์ชาติ' แทรกค่าบาท ระหว่างยังไม่ตัดสินใจใช้มาตรการคุมเงินไหลเข้า

(16 พ.ค.56) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในเวทีราชดำเนินเสวนา "บาทแข็ง!!! นโยบายการเงิน การคลังที่ควรจะเป็น" ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกีบสถาบันอิสรา ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เงินทุนจากต่างประเทศอาจไหลเข้ามากดดันให้ค่าเงินบาทไทยกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเงินเยนที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานี้คนพูดกันเสมอว่า รถไฟได้ออกจากสถานีโตเกียวแล้ว รอว่าจะมาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่ ดังนั้น ธปท.ควรหามาตรการในการรับมือ

สำหรับเครื่องมือที่ ธปท.สามารถนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินบาทได้นั้นมี 3 หลัก คือ การแทรกแซงในตลาดเงิน, การลดดอกเบี้ยนโยบาย และการออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งในความเห็นส่วนตัวมองว่าการแทรกแซงตลาดเงินเหมาะสมสุดในกรณีที่ ธปท. ยังไม่ออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย

อย่างไรก็ดี เครื่องมือที่นายธีระชัย เห็นว่าเหมาะสม และตรงจุดที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาเงินทุนที่ไหลเข้าจนทำให้ค่าเงินบาทแข็ง คือ การออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ซึ่งตรงนี้นอกจากจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว ยังลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ส่วนเครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย นั้น เขากล่าวว่า เป็นหมากกล ถ้าใช้ไม่ดีอาจสร้างปัญหาให้ระบบเศรษฐกิจได้ ดังนั้น การจะใช้เครื่องมือดังกล่าวจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างแท้จริง เพราะดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเครื่องมือที่คุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอายุ 1 วัน ในขณะที่ดอกเบี้ยตลาดเงินมีหลายรุ่นมากตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 47 ปี

สำหรับข้อเสนอที่ว่าให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้านั้น นายธีระชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าคิดว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะถ้าดูเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรนั้น 71% เข้าในรุ่นที่อายุเกิน 1 ปี ดังนั้นการลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้า กลับไปเพิ่มความเสี่ยงเรื่องฟองสบู่ เครื่องมือในเรื่องดอกเบี้ยจึงถือเป็นหมากกลที่ต้องระวัง

ขณะที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 พ.ค.นี้ อดีตรมว.คลัง ตั้งความหวังเอาไว้ว่า กนง.จะยึดหลักการในการดูภาพรวมเศรษฐกิจ เพื่อตัดสินใจคุมปริมาณเงินที่เหมาะสมในระบบเศรษฐกิจ หาก กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวควรต้องเพิ่มปริมาณเงินเข้าระบบ ก็อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงมาได้ แต่หาก กนง.เห็นว่าสัญญาณการชะลอตัวไม่ได้ชัดเจน ก็อาจยังไม่ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็เป็นได้

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วิธีที่จะลดการแข็งค่าของเงินบาทให้ได้ผลมากที่สุด คือ ต้องแสดงให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งทำได้โดยรัฐบาลและธปท.ต้องถอยคนละก้าว โดย ธปท.ควรต้องยอมลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25-0.5% พร้อมทั้งนำมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมาใช้

"การลดดอกเบี้ยอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่จำเป็นต้องลด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเงินจะไหลเข้ามาตลอด จึงควรต้องลดเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติรู้ว่าเราเริ่มเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหานี้ เพียงแต่นอกจากลดดอกเบี้ยแล้วยังต้องหามาตรการอื่นมารองรับด้วย ทั้งการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้งการนำมาตรการด้าน Macro Prudential (การกำกับดูแลผ่านระบบสถาบันการเงิน) ขึ้นมาเพื่อป้องกันฟองสบู่ด้วย" นายพิชัย กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า นอกจากการหาวิธีแก้ปัญหาเงินบาทระยะสั้นแล้ว จำเป็นต้องมองภาพในระยะยาวด้วยว่า มีวิธีใดบ้างที่จะนำเงินทุนที่ไหลเข้ามาเหล่านี้ไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ ธปท.ควรต้องนำมาคิด

 

 

**สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3219:-q--q&catid=32:rachdmenin-talk&Itemid=25

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

Posted: 16 May 2013 05:25 AM PDT

"เราจะเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษกับคดีสังหารหมู่ประชาชนเลย การเยียวยาเป็นสิ่งที่ คอป. เสนอมาและเขาตั้ง ปคอป.ไปรองรับ เยียวยาเป็นผลงานอภิสิทธิ์ด้วยซ้ำ เพียงแต่มาอนุมัติในยุคของเพื่อไทยเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าอภิสิทธิ์เป็นนายกต่อไปเขาก็อาจจะทำต่อก็ได้"

15 พ.ค.56 พ่อ 'เฌอ' กล่าวถึงความจริงจังในการแสวงหาความจริงกรณีสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 ของเพื่อไทยในงานครบรอบ 3 ปีการเสียชีวิตของลูกชายตนเอง

หมอประดิษฐจับมือเลขา สปสช. บังคับ ปชช.ร่วมจ่าย-ภาคปชช.จวกสร้างความเหลื่อมล้ำ

Posted: 16 May 2013 03:17 AM PDT

รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานได้สั่งให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. นำข้อเสนอแนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ป่วย (co-pay) ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าพิจารณาโดยไม่มีการหารือกับกรรมการอื่นๆ มาก่อน

สาระสำคัญของวาระนี้ คือต้องการให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังพิจารณามาตรการต่างๆ ไปพิจารณาให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายสมทบเงินเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพ ต่อจากนี้รัฐจะจ่ายให้บริการแค่สุขภาพที่เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานเท่านั้น โดยไปพิจารณา 3 ทางเลือกคือ 1.การให้ประชาชนรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนแรกก่อน (Deductible) ซึ่งกฤษฎีกาเคยตีความว่า ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ไม่แบ่งแยกเศรษฐานะผู้ใช้บริการ และค่าใช้จ่ายส่วนแรกอาจกีดดันการเข้าถึงการรักษา 2.การสมทบโดยประชาชน เป็นการบังคับให้ประชาชนที่มีความสามารถในการจ่าย จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 3.มาตรการทางภาษี ซึ่งมี 2 แหล่ง คือ ภาษีบาป หรือภาษีจากสินค้าที่มีอันตรายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ สุรา แต่มีประเด็นว่า จะทำอย่างไรกับผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีโดยเฉพาะคนที่มีฐานะยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในระบบหลักประกันสุขภาพ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า การที่รัฐมนตรีสาธารณสุขเร่งให้เลขาธิการ สปสช.นำเรื่องนี้เข้าพิจารณา จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ โดยผู้ที่เดือดร้อนที่สุด คือ คนยากจน

"หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ เป็นระบบหลักประกันถ้วนหน้า ไม่กีดกันใคร และไม่ใช่กองทุนอนาถา แต่การที่รัฐมนตรีประดิษฐและเลขา สปสช.จะผลักดันให้ประชาชนต้อง co-pay ทั้งที่เมื่อตอนสั่งเก็บ 30 บาทก็บอกว่าร่วมจ่ายแล้ว คือการทำให้คนไม่มีศักดิ์ศรี เป็นกองทุนคนจน แล้วก็จะกันคนจนออกไปในที่สุด

"รัฐมนตรี สธ.และกรรมการ สปสช.บางคนยังมีทัศนะที่ดูถูกประชาชนว่า ประชาชนไปใช้บริการอย่างฟุ่มเฟือย เลยมาเรียกเก็บเงิน ทั้งที่งานศึกษาต่างๆ ก็ชี้ชัดว่า ประชาชนในระบบหลักประกันไม่ได้ใช้บริการเกินความจำเป็น ใช้บริการน้อยกว่าข้าราชการและประกันสังคมด้วยซ้ำ ทำไมยังมีวิธีคิดที่ดูถูกคนเช่นนี้ คนไปชุมนุมรัฐมนตรีคนนึงก็เรียกประชาชนว่า ขยะ นี่พอป่วยก็ให้ทนเอา ทนจนทนไม่ไหวค่อยไปหาหมอ เอาเงินมากั้นคนเข้าถึงระบบสุขภาพ

"นอกจากนี้ ยังมีวิธีคิดว่า ประชาชนทุกคนทำงานมีเงินเดือน มีรายได้ประจำ เพื่อเรียกเก็บรายเดือน รัฐมนตรีและเลขา สปสช.ไม่คิดถึงคนที่ทำเกษตร ชาวไร่ชาวนา คนหาเช้ากินค่ำ ไม่ทราบว่าใช้อะไรคิด จะหักเปอร์เซ็นเหมือนแรงงานในโรงงาน และหากยิ่งไปขยายฐานภาษีในกลุ่มนี้จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ แล้วในที่สุดจะได้มีข้ออ้างให้เอกชนเข้ามารับประกันโดยรัฐจ่ายค่าหัวพื้นฐานใช่หรือไม่ เราขอให้นายกฯ ช่วยพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่วางรากฐานมาตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง"

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ตัวแทนภาคประชาชนจะไปชุมนุมหน้าห้องการประชุมบอร์ด สปสช.ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ "เราอยากให้ นพ.วินัย สวัสดิวร มีศักดิ์ศรีในความเป็นคน สปสช.มากกว่านี้ หากเรื่องใดที่เป็นการทำลายหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรแจ้งและแย้งรัฐมนตรี ไม่ใช่คอยแต่เป็นขุนพลพลอยพยัก"
 
รายงานข่าวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้อำนวยการเขต สปสช. 12 คนได้เข้าพบ นพ.วินัย และแสดงความผิดหวังต่อการทำหน้าที่ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติศาล รธน. 7 ต่อ 2 รับคำร้องพิจารณาสมาชิกภาพ ส.ส. 'อภิสิทธิ์' ปมถอดยศ

Posted: 16 May 2013 02:43 AM PDT

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 รับคำร้อง ถอดยศ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ให้ยื่นคำชี้แจงใน 15 วัน ขณะเดียวกัน รับคำร้องแก้ รธน.รายมาตรา ผิดรธน.ม.68 ไว้พิจารณา แต่ไม่รับวินิจฉัยแก้ ม. 190 ผิด ม.68 ชี้เป็นคนละกรณี

(16 พ.ค.56) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการพิจารณาในประเด็นคำร้องของส.ส. 134 คน ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ศาลวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็นส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ หลังจากกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากนายทหารกองหนุน โดยที่ประชุมมีมติรับคำร้องด้วยคะแนน 7 ต่อ 2 โดย 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้องคือนายนุรักษ์ มาประณีต และนายชัช ชลวร โดยให้เหตุผลว่า คดีดังกล่าวยังไม่เป็นข้อยุติ และหลังจากนี้จะให้ผู้ถูกร้องส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือประมาณ 15 วัน

ส่วนกรณีที่นายบวร ยสินทร และคณะขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ประธานรัฐสภากับพวก 315 คน ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งมีหลักการที่จำกัดสิทธิ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ลิดรอนพระราชอำนาจในการมีพระบรมราชวินิจฉัย และมีผลนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง หรือได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ศาลเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 190 เป็นคนละกรณีกับการแก้มาตรา 68 จึงไม่มีมูลที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จึงมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง

นอกจากนี้ กรณีนายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส. ผู้เสนอร่างฯ ส.ว.ผู้รับร่าง กระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมผิดมาตรา 68 ส่วนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นั้นเห็นเช่นเดียวกับคำร้องของนายบวร ยสินทร คือเป็นคนละประเด็นกับการแก้มาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องส่วนนี้ไว้พิจารณา

 

 

ที่มา
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“เฌอ...อย่าลืมฉัน” 3 ปีแล้วที่ลูกชายไม่กลับบ้าน

Posted: 16 May 2013 01:34 AM PDT

ครอบครัวศรีเทพและเพื่อน รำลึก "เฌอ" เด็กหนุ่มวัย 17 เหยื่อกระสุน พ.ค.53 แม่เผยรำลึกปีสุดท้าย เปลี่ยนเป็น "กองทุนเฌอ" ให้ทุนหนุนนักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม พ่อวอนรัฐบาลค้นหาความจริงอย่างเป็นระบบ เผยคดีไม่คืบเพราะไม่มีประจักษ์พยาน

15 พ.ค.56 เวลา 18.00 น. บริเวณบาทวิถีตรงข้ามสถานีจำหน่ายนำมันเชลล์ ถนนราชปรารภ ครอบครัวและเพื่อนของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ "เฌอ" นำโดยนายพันธ์ศักดิ์และนางสุมาพร ศรีเทพ ผู้เป็นบิดาและมาดารของ "เฌอ" จัดกิจกรรม "เฌอ...อย่าลืมฉัน" เพื่อรำลึก 3 ปีการเสียชีวิตของ "เฌอ" ณ บริเวณดังกล่าว ที่มีหมุดซึ่งได้มีการปักไว้เมื่อปีที่แล้ว พร้อมข้อความว่า "Cher laid down his life here. 15.05.2010 เฌอถูกยิงเสียชีวิตที่นี่"

"เฌอ" เด็กหนุ่มวัย 17 ปี นักกิจกรรมทางสังคม เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ที่ถูกยิงเสียชีวิตช่วงสายของวันที่ 15 พ.ค.53 จากการกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)

โดยกิจกรรมประกอบด้วย  การอ่านบทกวี เล่นดนตรี ร้องเพลง ละครใบ้ ละครเสียง ภาพยนตร์สั้นกว่า ศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกาย แสดงกายกรรม ศิลปะติดตั้งจัดวาง วางดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน

นายพันธ์ศักดิ์และนางสุมาพร ศรีเทพ ผู้เป็นบิดาและมาดารของ "เฌอ"

นายพันธ์ศักดิ์ "พ่อเฌอ" อธิบายถึงกิจกรรมดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กถึงคำถามที่ว่า "ตายแล้วไปไหน" มักจะเป็นคำถามที่ข้องใจใครหลายหลายคนที่สนใจเรื่องชีวิตหลังความตาย บางคนอาจไม่ได้ไปไหน เอาแต่วนเวียนอยู่รอบข้างคนที่เขารัก หรือคนที่เธอคิดว่าต้องรับผิดชอบกับการตายของเธอ บางเขาอาจนั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องสมุด บางเธออาจจะถูกขังอยู่ในแก้วน้ำที่คว่ำทิ้งไว้รอใครสักคนมาเลื่อนไปตามแผ่นอักษร ฯลฯ แต่เราเคยตั้งข้อสงสัยกับตัวเองหรือไม่ว่า จะเป็นอย่างไร หากเราตายตามคนที่เรารักแต่เขาหรือเธอกลับจำเราไม่ได้ ครอบครัวศรีเทพ ขอชวนมิตรสหายที่ไม่ติดภารกิจและอยากหาคำตอบให้กับตัวเอง ร่วมกิจกรรม "เฌอ...อย่าลืมฉัน" ณ จุดที่ สมาพันธ์ "เฌอ" ศรีเทพ ถูกพรากดวงวิญญาณออกจากร่างด้วยลูกกระสุนจากฟากฟ้าแสนไกล

นางสุมาพร "แม่เฌอ" กล่าวว่า "วันนี้เป็นวันที่ 15 พ.ค. อีกครั้งหนึ่ง 3 ปีแล้วที่ลูกชายคนหนึ่งไม่กลับบ้านเลย ยังไม่รู้เหมือนกันว่าไปเที่ยวอยู่แถวไหน ปีที่ 1 และ 2 ก็ยังทำใจไม่ได้ รู้สึกว่าเราอาจจะฝันไปก็ได้ เขาอาจจะกลับมา แต่ปีที่ 3 เราเริ่มทำใจแล้วว่ามันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตและครอบครัวของเรา วันนี้ขอบคุณมากๆที่ทุกคนมาร่วมรำลึกด้วยกัน สำหรับปีนี้ก็คงเป็นปีสุดท้ายที่เราจะได้มีโอกาสมานั่งตรงนี้พร้อมๆกัน เพราะมันไม่ใช่เรื่องของปัจเจกชนที่เราจะต้องมารำลึกถึงเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เราควรจะมีกิจกรรมที่จะให้คนอื่นมากกว่า สำหรับเฌอคงไม่รู้หรอกว่าใครมาตรงนี้บ้าง แต่สำหรับพ่อกับแม่ของเฌอรู้ และเห็น และขอบคุณมากๆ อยากเชิญทุกคนร่วมรำลึกถึงเจ้าเด็กเกเรคนนั้นที่ไม่ยอมเชื่อแม่และก็ออกมากลางคืนคืนนั้น"

นางสุมาพร "แม่เฌอ"

แม่เฌออธิบายถึงเหตุที่ปีนี้จะจัดงานรำลึกเป็นปีสุดท้ายว่า เนื่องงานการจัดงานเราเป็นเพียงผู้รับจากหลายๆ ฝ่ายในการจัดงาน รู้สึกว่าครอบครัวเป็นผู้รับมากเกินไปแล้ว จึงอยากเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้ครอบครัวเป็นคนให้คนอื่นบ้าง จึงอาจจะจัดเป็นลักษณะของการให้ทุนเป็นกองทุนสำหรับคนที่ทำกิจกรรมทางการเมือง หรือเป็นนักเขียนนักศิลปะที่ผลักดันเรื่องการเมืองและสังคมวงกว้างมากกว่า

นายพันธ์ศักดิ์เล่าถึงเหตุการณ์วันเกิดเหตุจากการรวบรวมข้อมูลและคำบอกเล่า รวมทั้งคำบอกเล่าของเฌอและภาพถ่ายที่เฌอถ่ายก่อนถูกยิงด้วยว่า ตั้งแต่เฌอออกมาจากบ้านคืนวันที่ 14 พ.ค.53 ก็มาอยู่บริเวณที่เกิดเหตุจนเช้า(วันที่ 15 พ.ค.)และก็กลิ้งยางไปจนสุดท้ายถูกยิงโดยทหาร แต่ยังไม่เสียชีวิตในทันทีและไม่มีใครสามารถเข้ามาช่วยชีวิตหรือเอาร่างออกไปได้ การช่วยเหลือจึงเป็นไปโดยผู้ชุมนุมเอง ประกอบกับมีคนเจ็บคนอื่นที่อาการไม่หนักและมีโอกาสรอดมากกว่าจึงเอาออกไปก่อน หลังจากนั้นเฌอก็เสียชีวิต

นายพันธ์ศักดิ์เผยถึงความคืบหน้าของคดีว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอบอกว่ากรณีเฌอนี้ไม่มีประจักษ์พยานที่จะให้ปากคำในจุดที่เฌอเสียชีวิต เมื่อเทียบกับกรณีใกล้เคียงอย่างนายชาญรงค์ พลศรีลา ก็จะเห็นว่ามีประจักษ์พยาน หรือกรณี 6 ศพ วัดปทุม ก็จะมีตำรวจที่เป็นประจักษ์พยานให้ ส่วนคดีของเฌอนั้นมีปัญหาเรื่องประจักษ์พยาน อย่างพยานที่มีก็เป็นเพียงพยานแวดล้อม การมีประจักษ์พยานก็เพื่อจะสามารถนำคดีขึ้นไต่สวน แม้เคยเจอประจักษ์พยานที่เคยมาคุยด้วยกับตนเอง แต่เขาก็ไม่พร้อมที่จะเปิดเผยตัว จึงไม่สามรถคาดคั้นให้เขามาเป็นประจักษ์พยานในคดีได้

"สิ่งที่ครอบครัวมองคือ คดีส่วนใหญ่นำขึ้นไต่สวนแล้วเป็นปฏิบัติการทางการทหารจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบนี้(ถนนราชปรารภ)ที่เขายืนยันว่าเป็นทหารแน่นอน แม้ในทางคดีทางกฎหมายเราทำอะไรไม่ได้ แต่ก็เห็นอยู่แล้วว่ามันเป็นอย่างนั้น หรือกรณีภาพของเฌอที่ส่วนใหญ่เป็นภาพมุมสูงมา แต่ก็มีภาพมุมล่างที่เห็นว่าฝั่งตรงข้ามก็คือทหาร หรือกรณีที่ดีเอสไอมาดูหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือวิถีกระสุน หรือเวลาที่ทหารเข้ามา มันก็คือทหารอยู่แล้ว" นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว

นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อไทยต่อกรณีการแสวงหาความจริงการเสียชีวิตของเฌอด้วยว่า ไม่มีการเร่งรัดจากรัฐบาลที่จะดึงกรณีนี้เป็นกรณีพิเศษของคดีพิเศษคนที่ดูคดีของเฌอก็มีภารกิจอื่นซึ่งก็เข้าใจการทำงานของดีเอสไอ แต่ว่ารัฐบาลก็สามารถสั่งเรื่องนี้ได้ในการดึงคนเข้ามาทำ ถ้าเทียบกันจริงๆ แม้ตนเองไม่ให้น้ำหนักอะไรกับ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)แต่อย่างน้อยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังตั้ง คอป.ในการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบ กรณีการเสียชีวิตของเฌอนั้นมีคนได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ก็ควรที่จะมีความพยายามในการหาประจักษ์พยานได้ รัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมต้องดำเนินการตรงนี้ไม่ใช่ผลักภาระให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตไปหา

"เราจะเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษกับคดีสังหารหมู่ประชาชนเลย การเยียวยาเป็นสิ่งที่ คอป. เสนอมาและเขาตั้ง ปคอป.(คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ไปรองรับ เยียวยาเป็นผลงานอภิสิทธิ์ด้วยซ้ำ เพียงแต่มาอนุมัติในยุคของเพื่อไทยเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าอภิสิทธิ์เป็นนายกต่อไปเขาก็อาจจะทำต่อก็ได้" นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว

นายศุภวัฒน์ เกตุสุวรรณ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้รับผิดชอบภาพรวมคดีบริเวณถนนราชปรารภ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีนี้ว่า ยังไม่ได้มีการดำเนินการส่งศาลเนื่องจากยังไม่ชัดเจนเรื่องทิศทางกระสุนและพยาน ทั้งนี้ในส่วนคดีบริเวณราชปรารภมี 3 กรณีคือพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณและนายชาญรงค์ พลศรีลา ที่ส่งศาลไปก่อนหน้านี้เนื่องจากมีภาพและวิดีโอชัดเจน และศาลก็ได้ตัดสินแล้ว ดังนั้นของเฌอจึงต้องรอนโยบายของทางผู้บังคับบัญชาอีกที เพราะขณะนี้หลักฐานยังคงไม่ชัดเจนเกรงว่าส่งศาลไปแล้วอาจไม่สามารถระบุว่าใครยิง ส่วนเรื่องพยานในที่เกิดเหตุขณะนี้มีพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนอยู่ ซึ่งบริเวณที่เฌอถูกยิงในเวลานั้นนอกจากเฌอก็มีศพอื่นด้วย และต้องดูประกอบกัน

 

ภาพบรรยากาศกิจกรรม :

ส่วนหนึ่งของร่องรอยกระสุนบริเวณที่เกิดเหตุที่ยังคงหลงเหลือพอพบเห็นได้

ได้รับความสนใจจากประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ทางลัดของแบงก์ไทย

Posted: 16 May 2013 01:29 AM PDT

ขณะที่เมืองไทยกำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ บทบาทในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งของธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) รวมถึงความขัดแย้งด้านการกำหนดนโยบายการเงินการคลัง ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายแบงก์ชาติที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล  เป็นผู้ว่าการฯอยู่นั้น

อีกด้านหนึ่งที่สถานการณ์กลับเงียบงันเป็นพิเศษ โดยแบงก์ชาติซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงปล่อยผ่านมานาน นั่นคือ การฟันกำไรจากค่าธรรมเนียมของบรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทย อย่างขาดชั้นเชิงธุรกรรมการเงินที่เป็นมาตรฐานสากล

ยิ่งไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน กำลังจะก้าวสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ด้วยแล้ว ประเด็น "ค่าธรรมเนียมของธนาคาร" นับว่า มีค่าควรแก่การสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียมของแบงก์จะกลายเป็นอุปสรรคของการเปิดเสรีการเงินอย่างฉกาจฉกรรจ์

ประการสำคัญ คือ หากมีการปรับลด หรือเลิกค่าธรรมเนียมในหลายรายการหรือบางรายการ ก็จะช่วยลดการเอารัดเอาเปรียบของแบงก์ไทยต่อลูกค้า ที่จำต้องยอมเสียค่าธรรมเนียมให้แบงก์อย่างไม่สามารถเลี่ยงได้

เพราะแบงก์ไทยยังจัดอยู่ในกลุ่ม ที่สร้างรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจำนวนมากติดอันดับต้นๆของประเทศด้อยพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ หากหมายให้ความด้อยพัฒนาของประเทศดังกล่าว หมายถึงการทำธุรกรรมแบบกดขี่ขูดรีดเอากับลูกค้า โดยที่ลูกค้าต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้

รายได้ของธนาคารพาณิชย์ไทย มีแหล่งที่มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ  และเป็นรายได้ที่งดงามเป็นกอบเป็นกำ

เฉพาะที่เห็นกันง่ายๆ และประจำ(วัน)เลยก็คือ การคิดค่าธรรมเนียมเมื่อมีการถอนเงินของลูกค้า จากตู้ถอนเงินอัตโนมัติ(เอทีเอ็ม) การชาร์จค่าธรรมเนียมจากการถอนเงินสาขาต่างเขต และการชาร์จค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน รวมถึงการชาร์จค่าธรรมเนียมในการทำบัตรเอทีเอ็ม

ค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ กลายเป็นรายได้หลักหรือรายได้ส่วนใหญ่ของบรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งสามารถถูกทำให้เรียกได้ว่า แบงก์เหล่านี้เป็น "เสือนอนกิน"

รายได้จากจากค่าธรรมเนียมเหล่านี้ เพิ่มขึ้นอย่างเมามันทุกปี  ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ติดอันดับหนึ่งในสามแห่งหนึ่ง  เมื่อไม่กี่มานี้ แบงก์พาณิชย์ของไทยรายได้จากค่าธรรมเนียมถึงร้อยละ 28  ของรายได้รวมทั้งหมด คาดว่ารายได้ประเภทเดียวกันนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49 ในอนาคตอันใกล้นี้

ที่ผ่านมาแบงก์ชาติ พิจารณากรณีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของแบงก์ไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทย แต่ดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้าสำหรับการแก้ปัญหานี้ ทั้งๆที่นายประสารเองก็เคยทำงานอยู่ในเครือข่ายของแบงก์พาณิชย์ไทยมาก่อน มีเพื่อนฝูงและวงศ์วานเพื่อนพ้องจำนวนมาก

เรื่องนี้ ยากเหมือนง่าย ง่ายกลายเป็นยาก

ขณะที่การตั้งค่าธรรมเนียมของแบงก์ไทยดูเหมือนจะสูงขึ้นตลอดมา ตามข้ออ้าง ต้นทุนที่เกิดจากการซื้อและการติดตั้งระบบและเครื่องอิเลคทรอนิกส์ทั้งหลายแหล่

หากความจริงแล้ว การขึ้นค่าธรรมเนียมของแบงก์ดังกล่าว ย่อมหมายถึง การผลักดันภาระต้นทุนดังกล่าวนี้ ไปยังผู้ใช้บริการหรือลูกค้าของธนาคาร ในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับชาวบ้าน คนธรรมดาๆ ที่ "จำเป็นต้องมี" บัญชีออมทรัพย์ บัญชีสะสมทรัพย์เล็กๆ พร้อมด้วยบัตรเอทีเอ็มใบหนึ่ง ไว้กดถอนเงิน โดยที่มีไม่ต้องเสียเวลา ค่ารถ ค่าน้ำมันรถวิ่งไปยังสาขาของธนาคาร

ช่วงที่ผ่านมาฝ่ายผู้บริโภค หรือกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการของธนาคารบางส่วน อย่างเช่น เครือข่ายลูกค้าธนาคาร ที่มีนายเกริกไกร เดชธีรากุล เป็นผู้ก่อตั้ง ได้เคยร่วมหารือ ผลักดันเรื่องนี้ต่อแบงก์ชาติ  ซึ่งก็ยังไม่เป็นผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ส่งผลให้แบงก์พาณิชย์ ผ่านสมาคมธนาคารไทย คัดค้านเรื่องนี้ ซึ่งก็ขึ้นกับแบงก์ชาติว่า จะเด็ดขาดกับการควบคุมการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารไทยมากน้อยขนาดไหน เพราะเท่าที่เห็นที่ผ่านมา ปล่อยปละละเลยต่อเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน

จนแทบไม่น่าเชื่อว่า แบงก์พาณิชย์ไทยฮั้วกันตั้งค่าธรรมเนียม จนสามารถทำรายได้จากลูกค้าของธนาคารเป็นกอบเป็นกำ โดยที่แบงก์ของรัฐ อย่าง ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอื่น ที่มีไว้โดยวัตถุประสงค์แทรกแซงตลาดเงินตลาดทุนและป้องกันการเอาเปรียบผู้ บริโภคมากจนเกินไป ก็ร่วมเป็นผู้กระทำต่อลูกค้าเหมือนเช่นธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปดุจเดียวกัน

ข้อแตกต่างของการเก็บค่าธรรมเนียมระหว่างแบงก์ไทยกับแบงก์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น แบงก์อเมริกัน สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ ที่เมืองไทยนั้น ตู้เอทีเอ็มเกลื่อนแทบทุกหัวมุมถนน กระทั่งในหุบเขาดงดอย ป่าปาล์ม สวนยางพารา นาข้าว ชนิดที่หาดูได้ยากยิ่งในประเทศใดอื่น

กรณีของแบงก์อเมริกันนั้น แบงก์พาณิชย์ถูกควบคุม จากรัฐและระบบการแข่งขัน ไม่ให้มีน้ำหนักของรายได้ที่เกิดจากค่าธรรมเนียม เกี่ยวกับการเบิกถอน และรับฝากเงินมากจนเกินไป

พูดกันตรงๆก็คือ แบงค์อเมริกัน แทบไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมพื้นฐาน

เช่น การถอนและการฝากเงิน ทั้งผ่านเอทีเอ็มหรือถอนหน้าเคาน์เตอร์  หากเป็นธนาคารเดียวกัน(ซึ่งลูกค้ามีบัญชีอยู่กับธนาคารแห่งนั้น)  การเบิกถอน ฝาก หรือโอนเงินต่างเขต(รัฐ) ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม ลูกค้าของธนาคารสามารถทำธุรกรรมที่ใด (ในอเมริกา)ก็ได้ มียกเว้น ที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม คือ การทำธุรกรรมข้าม(ต่าง)ธนาคาร แต่ค่าธรรมเนียมก็ไม่สูงมาก

การทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดา และเดบิตการ์ด(บัตรเงินสด) ที่มีตราวีซ่าและมาสเตอร์ ของทุกธนาคาร ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม(ทำฟรี)

การแยกบัญชีเงินฝากออกมาเป็นอีกประเภท ได้แก่ เงินฝากสำหรับจ่ายเช็ค(Checking Account) ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ เพียงแต่อัตราไม่สูงเท่ากับบัญชีเงินฝาก(ตามระยะเวลา)ประเภทอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไปและป้องกันแบงก์เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งตามปกติส่วนใหญ่ ผู้บริโภคหรือลูกค้า จำเป็นต้องจ่ายบิลชำระค่าบริการต่างๆผ่านระบบธนาคารประจำแต่ละวันหรือแต่ ละเดือนอยู่แล้ว 

ปัจจุบันผลพวงจากการแข่งขันระหว่างธนาคาร ทำให้ประเภทบัญชีเงินฝากสำหรับจ่ายเช็คของธนาคารส่วนใหญ่ในอเมริกาไม่มีการ จัดเก็บค่าธรรมเนียม จากการที่ลูกค้าเหลือยอดเงินสำรองไว้ในธนาคารต่ำกว่าจำนวนที่ธนาคารกำหนด   นั่นคือ ธนาคารอเมริกันส่วนใหญ่กันมาใช้ระบบดึงดูดลูกค้าที่เรียกว่า Free Checking Account กันส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ว่าลูกค้าจะเหลือเงินฝากในบัญชีจำนวนเท่าใดก็ตาม ธนาคารจะไม่คิดค่าธรรมเนียม ยกเว้นแต่เพียงลูกค้าสั่งจ่ายเช็ค หรือถอนเกินวงเงินที่มีอยู่ในบัญชีเงินฝาก ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือถูกธนาคารปรับเอาโดยชอบธรรม(จากความไม่มี ระเบียบวินัยของลูกค้าเอง)

กรณีที่ว่านี้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นระบบที่เชื่อมโยงถึงชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป ยิ่งในปัจจุบันที่มีการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์หรือคอมพิวเตอร์มากขึ้น คนส่วนใหญ่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้บริการของธนาคาร เพียงแต่ทำอย่างไร ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าธนาคารไม่เอาเปรียบลูกค้าจนเกินไป รวมทั้งทำให้การแข่งขันระหว่างธนาคารเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่การผูกขาด หรือการฮั้วกันเหมือนในบางประเทศ

ความแตกต่างระหว่างธนาคารของไทยและธนาคารอเมริกันอีกอย่าง คือ การทำธุรกรรมของธนาคารในอเมริกา ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบข้อมูลระหว่างธนาคารเป็นหนึ่งเดียว หรือพูดแบบบ้านๆ ก็คือ แบงก์อเมริกันมีสาขาแบบ(เสมือน)ไร้สาขา หรือทุกสาขาเหมือนกันหมด ไม่ว่าลูกค้าจะเปิดบัญชีที่สาขาไหน สามารถทำธุรกรรมได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องย้อนกลับไปสาขาเดิมที่เปิดบัญชีไว้เหมือนอย่างแบงก์ในเมืองไทย เช่น การปิดบัญชี  ลูกค้าแบงก์อเมริกันสามารถปิดบัญชีที่สาขาใดของแบงก์ก็ได้

ขณะเดียวกัน ระบบอิเลคทรอนิกส์ แบงกิ้ง ในอเมริกา ทำให้ลูกค้าของธนาคารไม่ต้องพะวงกับการถือสมุดบัญชีเงินฝากเป็นเล่มไปธนาคาร แค่พกบัตรพลาสติก(เอทีเอ็มหรือเดบิตการ์ด)และบัตรประชาชน(I.D.)เท่านั้น ก็สามารถทำธุรกรรมได้ทั่วประเทศ โดยแทบไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนใหญ่ที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมก็คือ การทำธุรกรรมต่างธนาคารเท่านั้น

เรื่องนี้หากว่าไปแล้วแบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง ลูกค้าประชาชน น่าที่จะใส่ใจมานานแล้ว เพราะระบบอิเลคทรอนิกส์แบงกิ้งของไทยถูกพัฒนามานานและทันสมัยพอเพียงในการทำ ให้สาขาธนาคารเป็นเสมือนสาขาเดียวกัน ทั้งเมืองไทยเองก็น่าจะดำเนินการได้สะดวกกว่าอเมริกาเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นประเทศเล็ก ใช้กฎหมายเดียวกันทั้งประเทศ ขณะที่อเมริกายังมีความแตกต่างของการใช้กฎหมายในแต่ละรัฐ

หากที่ติดอยู่ ก็เป็นเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า แบงก์ชาติไม่ใส่ใจและคงข้ออ้างของแบงก์พาณิชย์เรื่องต้นทุนการจัดการและการ จัดหาระบบอิเลคทรอนิกส์ ที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งผลักภาระไปยังลูกค้าหรือผู้บริโภค

ทั้งๆที่หากหันไปใช้ "ระบบหนึ่งสาขา"(ที่สามารถทำได้ทันทีในขณะนี้)แล้ว จะช่วยประชาชนทั่วไปที่เป็นลูกค้าของธนาคารได้ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

เพียงแต่ข้อเสียก็คือ แบงก์พาณิชย์ จะสูญเสียค่าธรรมเนียมจากการโยกย้ายถ่ายเงินในแต่ละวันของลูกค้า ที่เคยได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เป็นกำไรก้อนโต ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นวิธีการหากินที่ง่ายเต็มที ต่างจากระบบธนาคารของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในอเมริกา  

รายได้ของแบงก์โดยทั่วไปถ้าจะว่าไปแล้วมาจาก 3 ทางหลัก คือ ค่าธรรมเนียม ส่วนต่างดอกเบี้ยและวาณิชธนกิจ

ของแบงก์ไทยเรา มาจากทางแรกเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือก็เป็นส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ขณะที่แบงก์อเมริกัน มีรายได้จากวาณิชธนกิจ เป็นหลัก ลองคิดดูก็แล้วกันครับว่าระบบมันพิลึกหรือเปล่า

ถามว่าแบงก์ชาติ และนายธนาคารทั่วไปทราบเรื่องเหล่านี้ไหม

คำตอบ ก็คือ ทราบอย่างชัดเจน !

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชนบท เตรียมบุกบ้านยิ่งลักษณ์ 6 มิ.ย. ย้ายประดิษฐ-เลิกP4P

Posted: 16 May 2013 12:56 AM PDT

แพทย์ชนบทแฉมีพยานบุคคลและเอกสารชัดชี้ ไอ้โม่ง โทรสั่งองค์การเภสัชกรรมให้เปลี่ยนเส้นทางเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐปี 2555 จำนวน 75 ล้านบาท เข้ากระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดสรรให้ทีมงานการเมืองชั้น  4   แต่ถูก หมอวิฑิต ออกหนังสืออ้างระเบียบขวางไว้ เป็นเหตุต้องเด้ง ผอ.องค์การเภสัชกรรม ประกาศเคลื่อนไหวแตกหัก อารยะขัดขืนทั่วประเทศ และเตรียมผนึกกำลังกับสหภาพรัฐวิสาหกิจ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายผู้ป่วยทั่วประเทศบุกบ้านนายกยิ่งลักษณ์ 6 มิย.นี้ เรียกร้องให้เลิกพีฟอร์พี  ย้าย รมว.สาธารณสุข ก่อนระบบสาธารณสุขของรัฐจะล่มสลาย

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยหลังประชุมกรรมการและอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เมื่อวันที่ 14 พค. นี้ว่า จากเอกสารและการเปิดเผยของพยานบุคคลที่ขอสงวนนามในขั้นตอนนี้ ได้ระบุชัดว่ามีไอ้โม่งในกระทรวงสาธารณสุขที่มีอำนาจเหนือบอร์ดองค์การเภสัชกรรม และ สปสช. สั่งเปลี่ยนเส้นทางของเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐหรือเงินที่องค์การเภสัชกรรมต้องจ่ายให้หน่วยงานต่างๆที่สั่งซื้อยาและชำระเงินสดภายใน 60 วัน ของปี 2555 จำนวนกว่า 91 ล้านบาท ที่เตรียมจัดส่งให้ รพ.ต่างๆ ตามหนังสือแนะนำของ สตง. ลงวันที่ 27 กค. 2554 โดยไอ้โม่งได้สั่งระงับการส่งเงินให้ รพ.และสั่งให้ สปสช. มีหนังสือลงวันที่ 31 มค. 2556 แจ้งให้องค์การเภสัชกรรมแบ่งเงิน 75 ล้านบาท ส่งเข้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้บริหารระดับ ซี 10  ที่เคยมีข่าวว่าจะถูกย้ายเพราะไม่สนองนโยบายจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด เป็นผู้ดูแลจัดสรรให้กลุ่มใกล้ชิดการเมืองบนตึกชั้น 4 แต่ถูก นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรมมีหนังสือ ลงวันที่ 4 เมย. 2556 ขวางไว้ว่าจะส่งเงิน75 ล้านบาทตามสั่งได้ต่อเมื่อมีการจัดทำโครงการสนับสนุน รพ.ต่างๆ อย่างชัดเจนก่อน ทำให้ไอ้โม่งต้องสั่ง สปสช. ให้มีหนังสือเมื่อวันที่ 23 เมย. 2556 มอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณาโครงการแบบเบ็ดเสร็จเอง

"การเริ่มขัดขวางไม่ยอมส่งเงิน 75 ล้านบาทตามคำสั่ง สร้างความไม่พอใจและกดดัน ข่มขู่จากกลุ่มผู้ใกล้ชิดนักการเมืองบนชั้น  4  ที่เร่งรัดต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเพื่อให้ นพ.วิฑิต เบิกจ่ายเงินดังกล่าวให้ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การรับรู้ของข้าราชการซี10 คนหนึ่งที่พร้อมจะเปิดเผยตัวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมถ้ามีการตั้งบุคคลภายนอกที่สังคมไว้วางใจเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหมือนกรณีทุจริตยาและงบไทยเข้มแข็งที่ผ่านมา ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจอยู่เหนือบอร์ดองค์การเภสัชกรรม และ สปสช.มีเป้าหมายเข้าไปเปลี่ยนทีมบริหารของบริษัทผลิตน้ำเกลือเอกชนที่องค์การเภสัชกรรมถือหุ้นอยู่ 49 % เพื่อให้ขยายการผลิตน้ำเกลือป้อนให้กับธุรกิจ รพ.เอกชนในเครือข่ายผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ได้ขยายรองรับการเปิดตลาดเสรีอาเซียนไว้แล้ว รวมทั้งกดดันให้องค์การเภสัชกรรมซึ่งมียอดขายปีที่ผ่านมา กว่า 12,000 ล้านบาทให้สนับสนุนบริษัทยาเอกชนและไม่ให้แข่งขันกับบริษัทยาข้ามชาติ แต่ทั้งหมดไม่ได้รับการสนองตอบอย่างเต็มที่จาก ผอ.องค์การเภสัชกรรมเป็นสาเหตุแตกหัก ต้องให้ DSI เข้าสอบสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การย้าย นพ.วิฑิตที่กำลังจะเกิดขึ้น"

ประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยต่อว่า " เป้าหมายต่อไปของกลุ่มธุรกิจการเมือง คือ เปลี่ยนเส้นทางการเงินสามกองทุนปี2557 ของ สปสช. กรมบัญชีกลางและประกันสังคมรวมกว่า  200,000 ล้านบาทให้เอื้อกับธุรกิจ รพ.เอกชนที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ได้มีการกว้านซื้อเตรียมขยายตลาดทั่วประเทศรองรับไว้แล้ว"

นพ.วชิระ บถพิบูลย์  อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทและแกนนำเคลื่อนไหวของกลุ่มคนไม่เอา นพ.ประดิษฐ์  สินธวณรงค์  เป็นรมว.สาธารณสุขเปิดเผยว่าขณะนี้ รพ.ชุมชมและภาคประชาชนเห็นอันตรายของนโยบายพีฟอร์พี และผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงนโยบายที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐเสียหาย เอื้อประโยชน์ธุรกิจเอกชน เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ไร้ที่พึ่ง ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วยทั่วประเทศ เตรียมจับมือกับสหภาพวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม และรัฐวิสาหกิจอื่นๆชุมนุมใหญ่ เพื่อเข้าพบนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บ้านพัก เรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายพีฟอร์พี การทำลายระบบสาธารณสุข ทำร้ายองค์การเภสัชกรรมของรัฐ และให้ย้าย นพ.ประดิษฐ์ ออกจากกระทรวงสาธารณสุข

แหล่งข่าวกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า "ขณะนี้ รพ.ชุมชนทั่วประเทศมีการเคลื่อนไหวรับลูกอย่างต่อเนื่องไม่เอาพีฟอร์พี และขับไล่ นพ.ประดิษฐ ทุกจังหวัดที่มีกำหนดการไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ และมีรายงานว่าการชุมนุมใหญ่ขอคำตอบจากนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักของ รพ.ชุมชน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วยทั่วประเทศ ภายใต้การอำนวยความสะดวกของสหภาพรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัช และรัฐวิสาหกิจอื่นที่กำลังอยู่ระหว่างประสานงาน จะมีขึ้นในวันที่ 6 มิย.นี้โดยจะมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จาก รพ.ชุมชน ต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันตั้งจุดบริการตรวจสุขภาพฟรีให้ประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยรอบๆบริเวณบ้านพักนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะได้คำตอบ"แหล่งข่าวเปิดเผย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เฌอ

Posted: 16 May 2013 12:37 AM PDT

ผมรู้ว่าคุณอยู่ที่นี่

เขียนบทกวีและอ่านมันผ่านริมฝีปากของผม

ภาพเคลื่อนผ่านสายตาคุณไปอย่างกระท่อนกระแท่น

ราวทุกอย่างถูกแช่แข็ง

คุณรู้สึกตัวเบาเท่าช็อคโกแล็ตแท่งหนึ่ง

ผู้คนใบหน้าเกรียมกร้านถมึงทึง

วนเวียนผ่านสายตาไม่จบสิ้น

วัตถุความเร็วสูงกรีดร้องแหวกอากาศไปมา

ช็อคโกแลตแท่งแล้วแท่งเล่าลอยผ่านคุณไป

แล้วคุณก็รู้สึกเจ็บเหนือท้ายทอย

ความทรงจำเก่าที่เหลืออยู่น้อยนิดกำลังระเหิดหายลงไปอีก

คุณจึงรีบตะครุบไว้และพูดมันออกมา

ฝูงช็อคโกแล็ตเดินสวนทางลงมาจากสวรรค์

ขณะผู้ยังมีลมหายใจถูกกวาดต้อนเข้าไป

ในภาพเขียนอิมเพรสชั่นนิสต์

ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากวันที่คุณจากมา

ผู้คนยังถากถางการหยุดหายใจของคนต่างฝูง

และนิทานปรัมปราเกี่ยวกับคนโง่ฝูงหนึ่ง

ที่ถูกปีศาจหลอกใช้ให้เผาเมืองและฆ่ากันเอง

คุณกำลังลืมพวกเขาอย่างช้าช้า

ภาพเหนือจริงผุดฉายวนซ้ำทำลายความทรงจำเก่าของคุณ

หรือเป็นคุณเองที่เหนือจริงในความทรงจำของพวกเขา

คุณจึงต้องล้มและคลานซ้ำซ้ำอยู่ตรงนี้

เพื่อให้ความปรารถนาของคุณดำรงอยู่

และเพื่อให้พวกเขาจดจำตัวเองได้

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์เผยอนุฯแข่งขัน ท้วง 5 ประเด็นร่างประกาศประมูลดิจิตอล

Posted: 15 May 2013 11:56 PM PDT

ธวัชชัยฯ/ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ กังวลผลประโยชน์ทับซ้อนของอนุฯดิจิตอลผ่านเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิตอล พร้อมเสนอแก้ไขร่างประกาศ 5 ข้อ หนังสือค้ำประกัน – แยก MUX กับเจ้าของช่องป้องกันการผูกขาด – เรียงลำดับการประมูลมากไปหาน้อย – เพิ่มเวลา 5 นาทีก่อนสิ้นสุดประมูล และเลื่อนเวลาชำระเงินค่าประมูลอีก 3 ปี


(16 พ.ค.56) ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์  และในฐานประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขัน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. ....(หลักเกณฑ์การประมูลโทรทัศดิจิตอล) ซึ่ง กสท.มีมติรับหลักการเมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2556 เป็นร่างหลักเกณฑ์ที่นำเสนอโดยผ่านความเห็นจากคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (อนุ DSO) โดยที่คณะอนุกรรมการชุดนี้มีผู้ประกอบการโทรทัศน์ช่องหลักหลายช่องร่วมอยู่ในคณะ และผู้ประกอบการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ร่วมในการประมูลโทรทัศน์ดิจิตอลในครั้งนี้ด้วย จึงทำให้หลักเกณฑ์ที่ออกมานั้นมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ไม่ชอบธรรมทั้งในขั้นตอนการดำเนินการ และอาจมีข้อกำหนดที่ขัดต่อหลักการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯจึงร่วมกันพิจารณาให้ข้อเสนอและตั้งข้อสังเกตในการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวโดยมีประเด็นหลักๆ ที่เห็นควรแก้ไขดังนี้

1. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานในการวางหลักประกันการประมูล และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยที่เชื่อถือได้มีโอกาสเข้าร่วมการประมูลโดยไม่ติดขัดในการต้องเร่งหาเงินสดหรือออกเช็คมาวางเป็นหลักประกัน คณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ เสนอให้เพิ่มเติมการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 (Bank Guarantee) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวางหลักประกัน

2. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือเลือกปฏิบัติในภายหลัง หลายประเทศเลือกใช้วิธีการกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX operator) แยกออกจากผู้ให้บริการช่อง (Channel provider) (ห้าม MUX เป็นเจ้าของช่อง) เว้นแต่ในกรณีกิจการสาธารณะ (Public Service Broadcasting) ในกรณีประเทศไทยเนื่องจากผู้ให้บริการโทรทัศน์รายเดิมเป็นเจ้าของโครงข่ายและเป็นผู้ให้บริการช่องรายการ และมีแนวโน้มที่จะขอให้บริการในทั้งสองลักษณะต่อไปในโทรทัศน์ระบบดิจิตอล จึงมีข้อกำหนดในลักษณะดังกล่าวได้ยาก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการที่ผู้ให้บริการโครงข่ายและผู้ให้บริการโทรทัศน์ (ช่องรายการ) เป็นรายเดียวกันสามารถส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) เมื่อเปรียบเทียบกับรายอื่น ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจนำไปสู่การผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ในภายหลัง คณะอนุกรรมการฯ จึงขอพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ โดยขอเป็นผู้ยกร่างหลักเกณฑ์การเลือกใช้โครงข่ายโทรทัศน์ของผู้ให้บริการช่องรายการ เพื่อเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยจะเร่งเสนอต่อ กสทช. โดยเร็วก่อนมีการประมูล

3. การประมูลของที่มีลักษณะทดแทนกันได้ โดยกำหนดให้มีการเรียงลำดับการประมูลแยกตามหมวดหมู่ประเภทช่องรายการนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดลำดับการประมูล โดยคณะอนุกรรมการฯเห็นว่า ลำดับที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการประมูลนั้น ควรเรียงโดยอาศัยข้อมูลความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล หรือเรียงลำดับตามมูลค่า หรือราคาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประมูล ในที่นี้เมื่อไม่มีข้อมูลการประมาณการที่ชัดเจน จึงเสนอให้นำราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่มาเป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับ เนื่องจากราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่กำหนดขึ้นจากการประเมินมูลค่าและความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรเห็นควรให้เรียงลำดับการประมูลจากราคาที่สูงสุดไปหาต่ำสุดคือเริ่มจาก วาไรตี้ HD  วาไรตี้ SD ข่าวสารสาระ แล้วจบลงที่หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว

4. โดยทั่วไปการประมูลที่เน้นประสิทธิภาพในการแข่งขันจะไม่กำหนดระยะเวลาตายตัวว่าควรจบลงภายในระยะเวลาเท่าใด แต่จะกำหนดให้หยุดลงเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด  ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น คณะอนุกรรมการฯเสนอให้ เพิ่มเติมเงื่อนไขการสิ้นสุดการประมูลเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มภายในห้านาทีนับแต่การเสนอเพิ่มราคาครั้งก่อนหน้า โดยการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ได้ราคาประมูลที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดให้มีการตัดสินใจอย่างเพียงพอในการประมูลรอบสุดท้าย และป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูล

5. เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถมีการประมาณการรายรับรายจ่ายและบริหารเงินสดได้ง่ายขึ้น และมีเงินทุนเพียงพอในการให้บริการตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด คณะอนุกรรมการฯเสนอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนระยะเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ โดยให้ดำเนินการได้ภายหลังจากผ่านพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่ที่ได้รับใบอนุญาต
 
นายธวัชชัย กล่าวว่าคณะอนุกรรมการฯจะเสนอความเห็นต่อการประชุม กสท. ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 หาก กสท.มีมติรับข้อเสนอในส่วนที่ขอปรับปรุงแก้ไข จะต้องนำร่างประกาศนี้เข้าสู่ที่ประชุม กสทช. (บอร์ดใหญ่) เพื่อขอความเห็นและขอความเห็นชอบให้จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนต่อไป และเชื่อว่าหลักเกณฑ์นี้ยังมีโอกาสแก้ไขในรายละเอียดได้อีกหากผู้มีส่วนได้เสียมีความเห็นที่มีน้ำหนักเพียงพอว่าจะส่งผลกระทบต่อความไม่เป็นธรรมในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง โดยเฉพาะด้านการแข่งขัน ดังนั้นจึงขอให้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดของร่างหลักเกณฑ์นี้อย่างรอบคอบเมื่อบอร์ดมีมติให้เผยแพร่ได้ และขอให้เตรียมการเสนอความเห็นในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น