โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มอบทุนเหยื่อไฟใต้ รวมลูกผู้ถูกคดีครูจูหลิง

Posted: 15 May 2013 01:14 PM PDT

 

เมื่อวันที่ 14 พ.ค.56 ที่ห้องประชุมใหญ่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดยะลา นายประกิจ ประจนปัจจนึก อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและรองประธานกรรมการมูลนิธิพิทักษ์ประชาชาติ เป็นประธานมอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยมีเยาวชนที่ได้ทุน 50 คน ทุนละ 10,500 บาท ทั้งหมดกำลังศึกษาอยู่ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา

นายนิมูฮัยมิง นิเฮาะ นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยราคำแหง หนึ่งในผู้ได้รับทุนนี้ โดยมารดาตกเป็นจำเลยคดีฆ่าครูจูหลิง ปงกันมูล กล่าวว่า ได้รับทุนนี้เป็นครั้งแรก อยากให้โครงการนี้ดำเนินต่อไป เพื่อช่วยเยาวชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ให้มีโอกาสทางการศึกษาเหมือนคนอื่น

นายนิมูฮัยมิง เปิดเผยด้วยว่า มารดาของตนถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี แต่ต่อมาได้รับการอภัยโทษโดยให้ลดโทษลงเหลือ 2 ปีเศษ ปัจจุบันพ้นโทษแล้ว

นางสาวสุพัตรา คงเจริญ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ชั้นปี 3 หนึ่งในผู้ได้รับทุนนี้ ซึ่งบิดาเสียชีวิตจากเหตุไม่สงบเมื่อปี 2547 กล่าวว่า การได้รับทุนของมูลนิธินี้เป็นแรงบันดาลใจที่จะเรียนให้จบ และยังทำให้ได้เจอและทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อนๆ ที่ได้รับทุนด้วยกัน และสามารถเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของภาคใต้อีกด้วย ที่ผ่านมาได้รับทุนจากมูลนิธินี้มา 3 ปีติดต่อกันแล้ว

นายประกิจ กล่าวระหว่างมอบทุนว่า มูลนิธิพิทักษ์ประชาชาติได้ดำเนินการมอบทุนการศึกษามาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7

นายประกิจ กล่าวว่า มูลนิธิมูลนิธิพิทักษ์ประชาชาติตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และครอบครัว รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสแห่งอนาคตทางการศึกษาของเยาวชน ให้เป็นพื้นฐานสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

สำหรับเงื่อนไขของการรับทุนจากมูลนิธิมูลนิธิพิทักษ์ประชาชาติ คือ 1.กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา 2.เป็นผู้ที่ได้รับผกระทบจากความไม่สงบ 3.มีผลการเรียนดี 3.มีความยากลำบาก 4.มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนให้จบระดับปริญญาตรี 5.ให้ทุนปีต่อปี 5.ให้ทุนปีละ 50 ทุน ทุนละ 10,500 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอร้องนายกฯ สอบปลด ผอ.องค์การเภสัช การเมืองแทรกตอบแทนพวกพ้อง

Posted: 15 May 2013 12:52 PM PDT

 

15 พ.ค.56 นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีการประชุมบอร์ดองค์การเภสัชกรรมในวันศุกร์ที่ 17 พ.ค.นี้มีวาระสำคัญจะปลด นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.ว่า ได้ยินข่าวนี้เช่นกันว่าเป็นใบสั่งทางการเมือง โดยบอร์ดจะใช้วิธีเลี่ยงให้ออกโดยจ่ายเงินจ้างออกเพื่อไม่ให้มีปัญหาการฟ้องร้อง ซึ่งสังคมคงต้องช่วยกันตั้งคำถามกับบอร์ด อภ. โดยเฉพาะประธานบอร์ด นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี และ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่ากำลังทำอะไรกับองค์การเภสัชกรรม    

"เรากำลังตั้งคำถามกับฝ่ายการเมืองที่ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือตอบแทนผลประโยชน์พรรคพวก ทำให้รัฐวิสาหกิจที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเสียความเป็นอิสระ บ่อนทำลายศักยภาพขององค์การเภสัชฯที่เป็นเสาหลักของความมั่นคงทางยาของประเทศ  สังคมไทยจะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือต่างตอบแทนทางการเมือง ให้กับผู้มีอุปการะคุณของนักการเมือง โดยที่ไม่ได้มองเรื่องความสามารถ  เราตั้งคำถามถึง นพ.พิพัฒน์ ประธานบอร์ด เป็นข้าราชการเกษียณ ที่เผอิญ เข้ามาตามวังวนนี้ และกำลังจะเอาผลงานคุณความดีในชีวิตราชการที่ผ่านมา มาเป็นส่วนหนึ่งของการ บ่อนเซาะทำลายความมั่นคงทางยาของประเทศ ที่หมอพิพัฒน์เคยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางยานั้น การเร่งรีบดำเนินการที่อาจจะเกิดขึ้น ในการประชุมบอร์ดวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เป็นสิ่งชี้วัดที่สำคัญ ที่จะพิสูจน์ ธรรมาภิบาลในการทำงานของ บอร์ด อภ.ในการนำของ หมอพิพัฒน์" นายนิมิตร์ กล่าว

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความพยายามทำลายองค์การเภสัชกรรมทั้งในฐานะองค์กรที่ผลิตยาชื่อสามัญหลักของประเทศ และทำลายภาพพจน์ของยาชื่อสามัญของรัฐมนตรีสาธารณสุขและคณะ มีความสอดคล้องอย่างมากกับความต้องการของสหภาพยุโรปในการเจรจาเอฟทีเอ ที่ส่งสัญญาณว่า ต้องการยกเลิกระเบียบการจัดซื้อพัสดุ ในการเจรจาหัวข้อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) และการพยายามทำให้ยาชื่อสามัญผนวกเข้าไปในนิยามยาปลอม ทั้งๆที่ไม่ใช่

"เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปแพลมออกมาว่า ต้องการยกเลิกระเบียบการจัดซื้อพัสดุ ในการเจรจาหัวข้อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) และการพยายามทำให้ยาชื่อสามัญถูกผนวกเข้าไปในนิยามยาปลอม ทั้งๆที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย และไม่ใช่หน้าที่ของ อย.ที่ต้องไล่จับยาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย.มีหน้าที่ดูแลเรื่องคุณภาพยาเท่านั้น เห็นชัดเลยว่า ต้องการทำลายผู้ผลิตยาชื่อสามัญ ซึ่งองค์การเภสัชเป็นผู้ผลิตยาชื่อสามัญรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และที่ผ่านมาผลงานขององค์การเภสัชฯโดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เพิ่มอำนาจต่อรองกับบริษัทยาข้ามชาติได้อย่างมาก จนยา วัคซีน และวัสดุเภสัชภัณฑ์ของบริษัทยาข้ามชาติต้องลดราคาลงอย่างมาก มีส่วนเพิ่มศักยภาพให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลประชาชนได้ ดังนั้น ภาคประชาชนจึงต้องออกมาติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือการทำลายความมั่นคงของยาและระบบหลักประสุขภาพแห่งชาติ ไม่อยากคิดว่านี่เป็นเรื่องบังเอิญตรงกันกับบริษัทยาข้ามชาติ เราขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะท่านอาจไม่รู้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพหรือ 30 บาท ที่พรรคของท่านสร้างมานั้นกำลังถูกทำลาย" นางสาวสารี กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายประชาชนจี้ ‘ปลอดประสพ’ ขอโทษ กรณีว่าผู้ประท้วงเป็น “พวกขยะ”

Posted: 15 May 2013 12:46 PM PDT

 

15 พ.ค.56 เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ออกแถลงการณ์กรณีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีของประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 12 พ.ค.56 ว่าประชาชนที่จะมาแสดงออกความคิดเห็นในช่วงการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เชียงใหม่นั้นเป็น "พวกขยะ"  โดยเรียกร้องให้ 1) ออกมาขอโทษต่อประชาชนโดยเร็ว   2) ลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ทันที เพราะพฤติกรรมลุแก่อำนาจเช่นนี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อการจัดการน้ำของบ้านเมือง   และ 3) หยุดการแสดงละครเป็นพญาเม็งราย อันเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนล้านนาโดยเด็ดขาด

 

=================

 

แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

"จะจัดการน้ำประเทศไทยต้อง ปลอดนักการเมืองขยะ"

 

ตามที่นาย ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีของประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 12 พ.ค.56 ดังที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ว่าประชาชนที่จะมาแสดงออกความคิดเห็นในช่วงการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เชียงใหม่นั้นเป็น "พวกขยะ"    เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำต่างๆทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งเครือข่ายประชาชนด้านอื่นๆ อันประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่น กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายต่างๆตามรายชื่อแนบท้าย ฟังแล้วรู้สึกหดหู่อย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทยที่มี "นักการเมืองขยะ" อย่างนี้บริหารประเทศ นักการเมืองที่ดูถูกประชาชนอย่างนี้จึงไม่ต่างอะไรไปจากเศษขยะทางสังคม    เรารู้สึกตกใจอย่างยิ่งที่รู้ว่ามีความคิดอย่างนี้อยู่ในหัวสมองของผู้ทำหน้าที่นำพาประเทศชาติ เพราะเราคิดอยู่เสมอว่าเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้ยกระดับสังคมและการเมืองไทยพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น "ความคิดขยะ" เช่นนี้น่าจะหมดไปจากสังคมไทยแล้ว

กรณีการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ "ความมั่นคงด้านน้ำ: ภาวะผู้นำและพันธะผูกพัน" โดยมีเป้าหมายให้ผู้นำของแต่ละประเทศมาพบปะกันเพื่อส่งเสริมการเจรจา และสร้างความร่วมมือในภูมิภาคนั้น ทางภาคประชาชนรู้สึกดีใจที่ผู้นำเห็นความสำคัญต่อการจัดการน้ำ    เพราะความสูญเสียมหาศาลจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ได้แลกมาด้วยข้อสรุปอันมีค่าอย่างหนึ่งของสังคมว่า "รัฐหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่จะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและการสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน"

แต่พฤติกรรมของนักการเมืองที่เป็นผู้นำในการจัดการน้ำของประเทศไทยเช่นนี้ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างชัดเจนของการจัดการน้ำที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต   นอกจากนี้มันยังชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาว่าอยู่ที่ผู้นำ คำพูดที่ออกมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการขาดภาวะของผู้ที่จะนำใครๆได้ นอกจากดูถูกแล้วยังมีการข่มขู่ประชาชนไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นหากออกมาจะจับขังคุกให้หมด    ที่สำคัญไปกว่านั้นยังมีพฤติกรรมลบหลู่เหยียบย่ำสิ่งเคารพบูชาของคนล้านนาโดยการจะแสดงละครเป็นพญามังรายท้ารบกับเทวดาที่เวียงกุมกาม ทั้งยังขัดต่อภูมิปัญญาและจารีตประเพณีเพราะแม้แต่ "ผี" ประจำเหมืองฝายและแม่น้ำ ชาวบ้านก็ยังกราบไหว้และเลี้ยงผีฝายอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆประหลาดใจเป็นอย่างมากที่เห็นผู้นำในรัฐบาลหลายคนออกมาให้ข่าวอย่างใหญ่โตว่าจะมีการมาประท้วงในช่วงการประชุมดังกล่าว ทั้งที่ตำรวจสันติบาลและตำรวจท้องที่ในพื้นที่ต่างๆที่ลงหาข่าวกันอย่างมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงนี้ ต่างได้รับคำตอบที่ชัดเจนตรงกันว่าพวกเราไม่ได้มีแผนที่จะทำการประท้วงใดๆ  ไม่รู้ว่านี่เป็นการเต้าข่าวเพื่อเป็นข้ออ้างในการผลาญเงินงบประมาณประเทศร้อยกว่าล้านเพื่อรักษาความปลอดภัยในการประชุมครั้งนี้หรือเปล่า

ดังนั้นเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานตามรายชื่อลงนามแนบท้ายขอเรียกร้องให้นายปลอดประสพ   1) ออกมาขอโทษต่อประชาชนโดยเร็ว   2) ลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ทันที เพราะพฤติกรรมลุแก่อำนาจเช่นนี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อการจัดการน้ำของบ้านเมือง   และ 3) หยุดการแสดงละครเป็นพญาเม็งราย อันเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนล้านนาโดยเด็ดขาด

 

เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

15 พฤษภาคม 2556

 

รายชื่อผู้ลงนามแถลงการณ์

  1. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
  2. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
  3. เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
  4. เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
  5. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
  6. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
  7. เครือข่ายทรัพยากรและสิ่่งแวดล้อมภาคอีสาน
  8. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
  9. ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง
  10. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
  11. คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv.จ.อุดรธานี
  12. กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง
  13. กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
  14. กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
  15. มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม
  16. เครือข่าย 19 เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม
  17. สถาบันอ้อพญา
  18. คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่
  19. กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  20. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่
  21. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน หมู่บ้านแม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
  22. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา และ เชียงใหม่
  23. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
  24. สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล
  25. สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)
  26. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
  27. เครือข่ายสลัม 4 ภาค
  28. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
  29. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
  30. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)
  31. เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา
  32. เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล
  33. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 
  34. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
  35. กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่
  36. โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า
  37. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น
  38. กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
  39. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยปลดตรวนนักโทษ แอมเนสตี้หนุน พร้อมเรียกร้องรัฐยกเลิกโทษประหาร

Posted: 15 May 2013 12:35 PM PDT

 

15 พ.ค. 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีวันประกาศถอดตรวนผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และนายก่อแก้ว พิกุลกอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดงที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำ

ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างหลักประกันความมั่นคงในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการ ขจัดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ โดยมอบนโยบายให้กระทรวงยุติธรรมดูแลสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญใน ส่วนของกรมราชทัณฑ์ มอบหมายให้ศึกษาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ ในการผ่อนปรนหรือปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการโดยเฉพาะตรวนให้กับผู้ต้องขัง ที่ต้องจำตรวนตลอดเวลาภายในเรือนจำ

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายวสันต์ สิงคเสลิต ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง รับไปดำเนินการนำร่องโครงการปลดตรวนเนื่องจากเรือนจำกลางบางขวางเป็นเรือนจำ ความมั่นคงสูง รับควบคุมผู้ต้องขังโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตจึงเป็นเรือนจำเดียวที่มีแดน ประหารชีวิต โดยเรือนจำลางบางขวางได้เริ่มทดลองถอดตรวนให้กับผู้ต้องขังตั้งแต่เมื่อวัน ที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ต้องขังที่ได้รับการถอดตรวนจำนวน 563 ราย แยกเป็น ผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษาต่ำกว่า 50 ปี จำนวน 16 ราย ผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต จำนวน 34 ราย และผู้ต้องขังประหารชีวิต จำนวน 513 ราย

โดยการถอดตรวนทำให้ผู้ต้องขังมีอิสรภาพในการเคลื่อนไหวร่าง กายและพบว่าหลังจากถอดตรวนผู้ต้องขังไม่ทำผิดทางวินัยเรือนจำ หากในอนาคตกรมราชทัณฑ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือมาทด แทนการจำตรวนได้ก็จะยกเลิกหรือปลดตรวนให้กับผู้ต้องขังอื่น ๆ

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี สนับสนุนรัฐบาลต่อโครงการนำร่องในการถอดตรวนผู้ต้องขังจำนวน 500 คนที่เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และเรียกร้องให้รัฐบาลควรกำหนดให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนในการยกเลิกการใส่โซ่ตรวนผู้ต้องขังทั่วประเทศต่อไป รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต เพื่อแสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการให้คุณค่ากับชีวิตมนุษย์ทุกคน

นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า การรณรงค์เรียกร้องให้ถอดโซ่ตรวนผู้ต้องขังในเรือนจำมีการดำเนินการมาอย่างยาวนานจากนักสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีลักษณะเป็นการทรมานซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

"การใช้เครื่องพันธนาการประเภทตรวนแก่ผู้ต้องขัง เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ การจำตรวนไว้ตลอด24 ชั่วโมงทั้งๆ ที่ผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำถือเป็นทรมาน และเป็นการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"

เขาระบุว่า การที่รัฐบาลและกรมราชทัณฑ์จัดให้มีการถอดโซ่ตรวนนักโทษ 500 คนในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดว่าบรรดาเครื่องพันธนาการ เช่น กุญแจมือ โซ่ ตรวน และสายรัดแขน จะต้องไม่ถูกนำมาใช้เพื่อการลงโทษ รวมทั้งไม่ใช้โซ่ตรวนในระหว่างการจองจำนักโทษ เครื่องพันธนาการอาจจะใช้ได้เพียงเฉพาะระยะเวลาที่จำกัดและเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น

"เราหวังว่าโครงการนำร่องนี้จะพัฒนาให้เป็นนโยบายที่ประกาศยกเลิกการใช้โซ่ตรวนกับผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศและในห้องพิจารณาของศาลในที่สุด และเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ ด้วย เช่น แก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำ การจำแนกผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี กับผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาแล้ว การเพิ่มช่องทางเพื่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและทันท่วงที" สมชายกล่าว

นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินการให้การศึกษา สร้างความเข้าใจในการเคารพสิทธิมนุษยชนมากว่า 50 ปี ปัจจุบันมี 140 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของทุกประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้

"รัฐบาลไทยควรพิจารณาสนับสนุนแนวโน้มระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในทางที่ยกเลิกโทษประหาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต และโทษดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม"

จดหมายระบุด้วยว่า เพื่อเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์อันดีในการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงเรียกร้องรัฐบาลพิจารณาสนับสนุน ดังนี้

            1. ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 2 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด

            2. เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษประหารชีวิต 

            3. บรรจุวาระการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกไว้ในแผนแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 3

            4.    ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต

 


เรียบเรียงบางส่วนจากเว็บไซต์คมชัดลึก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟผิดหวังรัฐบาลเบี้ยวไม่นำเรื่องชาวบ้านเข้าครม. รมว.มหาดไทยรับปากใหม่

Posted: 15 May 2013 12:12 PM PDT

 

 

15 พ.ค.56   ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) ซึ่งปักหลักชุมนุมอยู่ข้างกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาของชาวบ้านในหลายพ้นที่ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังอย่างรุนแรง หลังจากรัฐบาลรับปากว่าจะนำเรื่องความเดือดร้อนต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าไม่มีการพิจารณาใดๆ ตามที่รับปากไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหากรณีเขื่อนปากมูล โฉนดชุมชนภาคเหนือ ข้อเรียกร้องเครือข่ายสลัมสี่ภาค และกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน โดยพีมูฟสะท้อนความผิดหวังอย่างมากและยืนยันจะชุมนุมต่อเนื่องอย่างมีวุฒิภาวะ เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาสัญญาแก้ปัญหาชาวบ้าน และสาธารณชนสนับสนุนกระบวนการของพีมูฟ (อ่านแถลงการณ์ด้านล่าง)

วันเดียวกัน เวลาประมาณ 13.30 น.นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าพบกลุ่มผู้ชุมนุมพีมูฟ เพื่อรับฟังปัญหาที่ดินของพีมูฟ โดยมีข้อสรุปจะมีการนัดประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ที่ตึกบัญชาการ 1 กระทรวงมหาดไทย เวลา 13.30 น. ซึ่งนายประชายืนยันจะนั่งเป็นประธานในที่ประชุมเอง พร้อมทั้งรับปากว่าจะนำทุกกรณีปัญหาของพีมูฟเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการในวันดังกล่าว หากประเด็นใดสามารถแก้ปัญหาได้โดยคณะอนุกรรมการจะมีมติทันที  สำหรับประเด็นที่ยังไม่สามารถแก้ได้ในอนุกรรมการจะนำเรื่องไปรายงานต่อนายกรัฐมนตรี 

นอกจากนั้นนายประชา ประสพดียังได้ยืนยันว่ากรณีการขออนุญาตก่อสร้างบ้านมั่นคง ที่จะพีมูฟได้ผลักให้นำเข้าสู่การพิจารณาของครม.แต่ไม่ได้นำเข้าเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่เรื่องยาก โดยจะให้มีการประชุมกลุ่มย่อยแก้ปัญหาเรื่องนี้ในวันที่ 17 พ.ค. ร่วมกับอธิบดีกรมที่ดิน 

 

======================

 

แถลงการณ์ฉบับที่ ๒๖

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 

สืบเนื่องจากการประสานงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลโดยรองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง กับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อวันที่ ๗ พ.ค.๒๕๕๖ ได้มีข้อตกลงที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาของ ขปส.ไว้ ๓ ขั้นตอนคือเบื้องต้น จะนำ 4 เรื่องที่มีความเห็นร่วมกันแล้วจากการประชุมระดับต่างๆ เข้าครม.ในวันที่ ๑๔ พ.ค.๒๕๕๖ ทั้ง 4 เรื่องประกอบด้วย

๑. นำผลการเจรจาแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ระหว่างสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖ และมติที่ประชุมคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

๒. นำผลการเจรจาแก้ไขปัญหาที่ดิน กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ๕ ชุมชนภาคเหนือ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๖ เข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

๓. นำผลการเจรจาการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายสลัมสี่ภาค กรณีการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ของชุมชนที่ดำเนินโครงการบ้านมั่นคง เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๖ เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการก่อสร้างอาคาร ตามกฎกระทรวงของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๐

๔. การแก้ไขปัญหาที่ดินพิพาท กรณีพื้นที่ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชนแล้ว เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมอบพื้นที่ และในระหว่างการส่งมอบพื้นที่ให้มีการคุ้มครองพื้นที่ให้สามารถอยู่อาศัยตามวิถีดั้งเดิมได้ และเข้าถึงการบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ

จากนั้น ในวันที่ ๒๐ พ.ค.๒๕๕๖ ก็จะจัดให้มีการประชุมกรรมการโฉนดชุมชนที่รองฯ เฉลิมเองเป็นประธาน และขั้นตอนสุดท้ายคือการนาเรื่องทั้งหมดที่ผ่านการประชุมอนุกรรมการทั้ง ๑๐ ชุด ที่จะจัดให้มีการประชุมขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๒๕ พ.ค.นี้ เข้าประชุมหาข้อยุติของกรรมการอำนวยการฯ ชุดใหญ่วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่รองฯ เฉลิมเป็นประธานเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้รองนายกฯ เฉลิมเป็นผู้ปรึกษาทาข้อตกลงกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม( ขปส.) ด้วยตัวเองในห้องทาเนียบรัฐบาลเมื่อบ่ายวันที่ ๗พ.ค.๕๖

เมื่อมีข้อตกลงเป็นมั่นเหมาะดังกล่าว รัฐบาลได้ประสานงานให้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)ได้ย้ายที่ชุมนุมจากหน้าทำเนียบไปอยู่ในจุดอื่นเพื่อความเหมาะสม

ซึ่งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ให้ความร่วมมือโดยการย้ายที่ตั้งชุมนุมไปอยู่ด้านริมคลองรั้วกระทรวงศึกษาธิการอย่างสงบ และรอคอยความคืบหน้าอย่างมีความหวัง ด้วยความมั่นใจในคาสัญญาจากรองนายกฯ ที่ได้ขอโทษจากการดำเนินการล่าช้าใน 3 เดือนที่แล้ว แต่ได้รับบัญชาอีกครั้งจากนายกฯ ในการประชุม ครม.เช้าวันที่๗ พ.ค.๕๖

แต่แล้วรัฐบาลก็ได้ผิดสัญญากับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) อีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่มีการนำเรื่องใดๆ ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เข้า ครม.วันอังคารที่๑๔ พ.ค.แม้แต่เรื่องเดียว ซึ่งแน่นอนว่าได้สร้างความผิดหวังอย่างสาหัสต่อประชาชนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เพราะไม่มีวี่แววใดๆ มาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการผิดสัญญาของรัฐบาลครั้งนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาประชาชน ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) อย่างใหญ่หลวงนักก็ตาม แต่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) ก็ยังเห็นว่า กระบวนการโดยรวมของการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการประชุมอนุกรรมการทั้ง ๑๐ ชุด จะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งจากนี้ไปขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จะยังคงปักหลักร่วมกันแก้ปัญหากับรัฐบาลต่อไป โดยที่มีเป้าหมายการมุ่งแก้ปัญหาความยากจนโดยไม่มีวาระซ่อนเร้นอื่นใดทั้งสิ้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)จะมองไปที่อนาคตอย่างมีวุฒิภาวะที่จะไม่ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าและอุปสรรคใดๆ มาเป็นอุปสรรคขัดขวาง การเจรจาหาข้อยุติต่างๆ ดังนั้นขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จึงมีข้อเสนอดังนี้

๑.ขปส.จะยังคงปักหลักชุมนุมต่อไปจนกว่ากระบวนการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาลทุกขั้นตอนตามที่ได้ตกลงไว้

๒.ขปส.ขอให้รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบต่อสัญญาประชาคมที่ตกลงไว้ให้ครบถ้วนกระบวนการ และต้องไม่ให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอีกต่อการแก้ปัญหาคนจน

๓.ขปส.ขอเรียกร้องให้สังคม สาธารณะชนทุกภาคส่วน ร่วมสนับสนุนกระบวนการเจรจาของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กับรัฐบาลในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดรูปธรรมการแก้ปัญหา นำสู่รูปธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ขอยืนยันอีกครั้งว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และรัฐบาลก็อยู่ร่วมกันในกระบวนการประชาธิปไตย ที่ทุกฝ่ายจะสามารถใช้สิทธิในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ วิถีทางที่ได้มาซึ่งอำนาจประชาธิปไตยของรัฐบาล ก็ได้ผ่านกิจกรรมกระบวนการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ จนนำไปสู่การประกาศเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวมวลชนตามระบบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ต่างกับการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เพียงแต่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อจุดมุ่งหมายเพื่อมีอำนาจทางการเมือง

จึงหวังว่ารัฐบาลที่ประกาศตน "ว่าตัวเองมาจากวิถีประชาธิปไตย" จะยอมรับและ เปิดพื้นที่การเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของประชาชน และยึดมั่นในคำมั่นสัญญา ข้อตกลงที่เกิดขึ้นร่วมกัน และนั่นคือหนทางที่จะนาไปสู่ความสงบสุขและความเป็นธรรมของสังคมในที่สุด

ด้วยความเชื่อมั่นในวิถีทางประชาธิปไตย

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ เตรียมเปิดข้อเสนอเชิงนโยบายยุบโรงเรียนเล็ก เล็งโอนให้อปท.ดูแล

Posted: 15 May 2013 11:34 AM PDT

 

15 พ.ค.56  นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ระบุว่า ตามที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนว่ากระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวคิดเกี่ยวกับการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โดยคำนึงถึงคุณภาพการศึกษา และจะให้ความสำคัญในการดำเนินการที่จะใช้วิธีการผสมผสานตั้งหลักเกณฑ์ เรื่อง จำนวนเด็ก และความรับรู้ความเข้าใจของชุมชนด้วย กรณีจะยุบต้องเป็นการยุบตามธรรมชาติ กล่าวคือไม่มีเด็กนักเรียน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือชายขอบจะไม่ยุบ แต่ก็ยังปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชนด้วยว่า  ทางกระทรวงศึกษาธิการจะยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยมาก และเป็นโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพและมีโรงเรียนใกล้เคียงที่มีคุณภาพรองรับ

ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เคยรับเรื่องร้องเรียนกรณีคัดค้านการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ รวม 2 คำร้อง คือ คำร้องที่ 270/2554 และคำร้องที่ 59/2556 ซึ่งทาง กสม. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคลรับผิดชอบ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้ร้องและผู้ถูกร้องเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และลงพื้นที่เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลประกอบการดำเนินการในพื้นที่บางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยในขณะเดียวกันได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ขอความร่วมมือสั่งการชะลอการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไว้ก่อนจนกว่าจะมีแนวทางที่เหมาะสม เพื่อดำเนินนโยบายในเรื่องนี้ร่วมกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งให้ กสม. ทราบว่าได้ส่งเรื่องนี้ให้ทาง สพฐ. รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 กสม. ยังได้มีหนังสือถึงเลขาธิการ สพฐ. ขอทราบข้อมูลว่าในปัจจุบันได้ดำเนินการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้วกี่โรงเรียน พร้อมโรงเรียนที่ยุบ โรงเรียนหลักและโรงเรียนที่มาเรียนร่วม และเมื่อดำเนินการยุบควบรวมไปแล้วเกิดผลดีและผลเสียอย่างไร รวมถึงมีหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่พร้อมที่จะจัดการศึกษาหรือรับโอนโรงเรียนขนาดเล็กจาก สพฐ. ซึ่ง กสม. ได้รับหนังสือตอบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2554 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 551 แห่ง และมีจำนวนโรงเรียนในสังกัดฯ ทั้งที่จัดการศึกษาเองและรับโอนสถานศึกษาจาก สพฐ. มาแล้ว จำนวน 1,290 แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการฯ ที่พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลบางพื้นที่ก็มีความพร้อมที่จะรับโอนสถานศึกษามาจากกระทรวงศึกษาธิการ

ขณะนี้ กสม. โดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคลอยู่ระหว่างการประมวลข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบ เพื่อจัดทำรายงานและมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เน้นว่ากระทรวงศึกษาธิการควรคำนึงสิทธิและโอกาสของเด็กตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๔๙ ที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษา ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย" และ"การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ" ประการสำคัญการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญก็ได้ระบุไว้ในมาตรา 26 ด้วย 

นางวิสาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย โดยเฉพาะคุณภาพของเด็ก ซึ่งเป็นที่ทราบว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดของเด็กต่ำลง ดังนั้นสังคมจึงเห็นพ้องกันว่า ควรต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพของเด็กเป็นสำคัญโดยระดมทรัพยากรสนับสนุน ซึ่งการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาถือเป็นการลงทุนทางสังคมที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาควรต้องเน้นการทำให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอย่างพึ่งพิงตนเองได้ในวิถีชุมชนและควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเด็กจำนวนมากทั้งที่ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคันและกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และรัฐบาลต้องรับฟังข้อเสนอแนะที่มาจากการจัดเวทีของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนซึ่งได้ระดมความคิดเห็นได้ข้อเสนอแนะที่ล้วนคำนึงถึงผลประโยชน์อันสูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ อันเป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยต้องถือเป็นปฏิบัติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงจรความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ประสบการณ์ในทวีตภพ

Posted: 15 May 2013 11:12 AM PDT

           
'ประชาชนชาวอเมริกันได้กลายเป็นตำรวจทางความคิดของตนเอง และกำจัดข่าวที่ไม่พึงประสงค์หรือที่มีลักษณะไม่เป็นที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพจนแม้กระทั่งหน่วยเซ็นเซอร์ของรัฐบาลและตัวแทนแก้ต่างให้กองทัพยังอดอิจฉามิได้'
'American people have become their own thought police, purging the news of unwanted and unwelcome features with an efficiency that government censors and the military flacks can only envy."
  

Michael Massing,  "Our Own Thought Police," What Orwell Didn't Know: Propaganda and the New Face of American Politics


 
แม้จะมีการถกเถียงเรื่องมาตรา112 อย่างเข้มข้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีใครพยายามทำความเข้าใจคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงอย่างจริงจังนัก ผู้เขียนได้มีโอกาสถกเถียง แลกเปลี่ยน และเรียนรู้จากคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ที่อาจเรียกสั้นๆ ว่า คนคลั่งเจ้า ทางทวีตภพ (น่าสนใจในแง่ที่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มิได้ใช้ชื่อนามสกุลจริง พวกเขาจึงสามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างค่อนข้างเต็มที่) เป็นเวลาปีกว่า จึงขอเสนอความเห็นพอเป็นสังเขปในบทความนี้  (ข้อสังเกตเหล่านี้ไม่รวมถึงคนรักเจ้าที่มีเหตุผล และบรรดาคนและองค์กรที่ประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือทางสังคมเป็นหลัก และเป็นปัจจัยสำคัญในการคงไว้ซึ่งวงจรรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเช่นกัน)
  
คำว่า "คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง" หรือที่อาจเรียกสั้นๆ แต่มีนัยลบกว่าคือ "คนคลั่งเจ้า" นั้น หมายถึงผู้ที่ยินดีและต้องการเสพแต่ข้อมูล 'ดีๆ' ด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทนกับความเห็นที่แตกต่างเรื่องเจ้าไม่ได้ และมักมีอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง (หรือแม้กระทั่งใช้คำหยาบ) และเกลียดชังผู้ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ม.112  และสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งสนับสนุนการปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนผ่าน ม.112 อย่างเต็มที่ ซึ่งต่างจากผู้ที่รักเจ้าอย่างมีเหตุผล ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ยอมรับว่า ม.112 มีปัญหาบางส่วน เช่น การกำหนดให้ผู้ใดแจ้งความกล่าวโทษก็ได้ หรือมองว่าโทษนั้นหนักเกินไป และรู้สึกเสียใจที่มีคนต้องตายในคุกภายใต้ ม.112 อย่างอากง ในขณะที่คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงรู้สึกสะใจกับการตายของอากงและอยากเห็นโทษ ม..112 หนักกว่าปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ
 

ทำไมประชาชนจำนวนหนึ่งจึงรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง?
1) ภายใต้ ม.112 ประชาชนทั้งสังคมถูกป้อนแต่ข้อมูล 'ดีๆ' ด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่องทุกวัน

สังคมไทยในปี พ.ศ. 2556 หรืออย่างน้อยตั้งแต่ยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการกลับมาสนับสนุนการเชิดชูบทบาทกษัตริย์อย่างจริงจังภายหลังการอภิวัฒน์ 2475 ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน เต็มไปด้วยการประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ [1]
   
ทุกค่ำคืน ตึกใบหยก ตึกที่สูงที่สุดในประเทศ จะมีตัวอักษรบนจอ LCD ยักษ์ถวายพระพรซ้ำๆ สลับกับการโฆษณาสินค้าต่างๆ นานา สามารถมองเห็นได้จากที่ไกลหลายกิโลเมตร สถานีทีวีเคเบิล 24 ชั่วโมง True Visions มีช่องพิเศษเฉลิมพระเกียรติชื่อ Royal TV ข่าวสองทุ่มในฟรีทีวี สถานีวิทยุที่ออกอากาศพระราชดำรัสของ 'ในหลวงของเรา' ทุกวันๆ ละหลายเวลา ร้านหนังสืออย่างร้านหนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหนังสือเทิดทูนเจ้ารวบรวมขายเป็นแผนกแยกต่างหาก สติ๊กเกอร์ยักษ์ติดผนัง กระจกสูงหลายชั้นหน้าสนามบินสุวรรณภูมิ การให้ข้อมูล 'ดีๆ' ด้านเดียวในสถาบันการศึกษาทุกระดับ การจัดงานเทิดพระเกียรติสารพัด การติดป้ายเรารักในหลวงแบบถาวรขนาดใหญ่ตามบริษัทใหญ่ๆ อย่าง King Power การขายสติ๊กเกอร์และเสื้อยืดประเภท 'เรารักในหลวง' เพื่อการกุศล ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่อง 'ปกติ' ในสังคมไทยปัจจุบัน
 
ข้อมูลเหล่านี้มีปัจจัยเสริมจากประชาชน นักธุรกิจและนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่อาจเพียงประจบเจ้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง และ/หรือ เศรษฐกิจสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยผลิตซ้ำวงจรการประจบเทิดทูนเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ย่อมต้องการรักษาไว้ซึ่งวงจรที่พวกเขาได้ผลประโยชน์
  
สื่อกระแสหลักไทยเกือบทั้งหมดก็มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่แต่ข้อมูล 'ดีๆ' ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าอย่างถี่ๆ ซ้ำๆ และเซ็นเซอร์ข้อมูลและข่าวที่เท่าทันหรือเป็นลบจากภายในและภายนอกประเทศ และเป็นกลไกสำคัญของการผลิตซ้ำข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับกษัตริย์ แถมส่วนใหญ่ก็สนับสนุนการคงไว้ซึ่ง ม.112 ที่ก่อให้เกิดการปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนด้วย

บ่อยครั้งที่คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงจะอ้างเพียงข้อมูล 'ดีๆ' ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมเป็นเครื่อง 'พิสูจน์' ว่ากษัตริย์ไทยนั้นดีเลิศ จึงมิจำเป็นต้องตรวจสอบวิพากษ์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่คนชั่วคนเนรคุณเจ้าและแผ่นดินเท่านั้นที่ต้องการวิพากษ์หรือด่าเจ้า

อย่างไรก็ตาม ลำพังการเสพข้อมูลด้านเดียวไม่น่าเป็นปัจจัยชี้ขาดตัวเดียว หากมีปัจจัยอื่นๆ ด้วยดังนี้



2) ความต้องการสร้างและรักษาไว้ซึ่งความเชื่อในอุดมคติเกี่ยวกับกษัตริย์โดยคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง
เป็นการไม่ง่ายที่จะสรุปแบบฟันธงว่าคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเป็นใครบ้าง อายุ ชนชั้น ระดับการศึกษา รสนิยม และความมุ่งหวังในชีวิตต่างจากคนที่ไม่คลั่งเจ้าอย่างไร ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยองค์ประกอบหลากหลาย และคนเหล่านี้พบได้ทั้งในหมู่ผู้ที่มีการศึกษามากเช่นเดียวกับผู้ที่มีการศึกษาน้อย หากคนส่วนใหญ่ที่เรียกว่าคนคลั่งเจ้าอาจเป็นคนชั้นกลางเสียเป็นจำนวนมาก และเสพข้อมูลด้านเดียวจากสื่อเป็นปริมาณมาก อนึ่ง มันยากที่จะตอบว่าทำไมคนๆ หนึ่งชอบข้าวต้มในขณะที่คนอีกคนชอบข้าวผัดทั้งๆที่เป็นพี่น้องมีพื้นฐานคล้ายกันเสียด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าปัจจัยทางจิตวิทยาและอารมณ์มีความสำคัญยิ่ง
   
กว่าสองสามทศวรรษที่นักการเมืองถูกตรวจสอบ เปิดโปง และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คนไทยจำนวนหนึ่งได้เกิดอาการหมดศรัทธา เบื่อหน่าย หรือแม้กระทั่งเกลียดชังนักการเมืองอย่างรุนแรง (อย่างที่จะสรุปในท้ายบทความ ส่วนหนึ่งของความเกลียดชังนักการเมืองก็เกิดจากการสร้างของเครือข่ายคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงด้วย ดังเช่นจะเห็นได้ในโคลงเปรียบเทียบเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตว่านักการเมืองทำอะไรบ้างเมื่อเทียบกับในหลวง)
   
พวกเขาอยากจะเชื่อในสถาบันกษัตริย์ที่มีแต่ด้านดีด้านเดียว มักทนความเห็นที่แตกต่างหรือเท่าทันเจ้ามิได้ และมักแยกไม่ออกระหว่างการหมิ่นเจ้า กับการแสดงความเห็นเท่าทันเจ้า รวมถึงมักแยกไม่ออกระหว่างคนเกลียดเจ้า คนเท่าทันเจ้าแต่อาจมิได้เกลียดเจ้า และประชาชนที่มีใจสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐนิยม ทั้งหมดถูกเหมารวมแบบง่ายๆ ว่าเป็นพวกล้มเจ้า – สำหรับคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงแล้ว ดูเหมือนกลุ่มคนทั้งสามประเภทเป็นคนล้มเจ้าและเป็นศัตรูของพวกเขา
   
"ผมก็ไม่คิดว่าท่านคือ พระเจ้า แต่ผมเคารพมากกว่าพระเจ้า เพราะท่านมีตัวตน จับต้องได้" คือข้อความที่ @Thawaitchai013  ทวีตเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2556  ถึงผู้เขียน คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงต้องการจะเชื่อในสิ่งที่พวกเขาอยากจะเชื่อ และสิ่งที่พวกเขาอยากจะเชื่อคือภาพในอุดมคติของความสัมพันธ์ระหว่างพสกนิกรไทยกับกษัตริย์ และบรรดาข้อมูลที่แตกต่างเรื่องเจ้านั้นถือเป็นสิ่งที่คุกคามความเชื่อของบรรดาคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง
 
หากพระเจ้าไม่มีจริง มนุษย์จำนวนหนึ่งก็จักยังคงสร้างพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงแต่ความดีงามและวิเศษมหัศจรรย์เป็นเลิศอย่างสมบูรณ์ไว้เพื่อให้มนุษย์เชื่อถือยึดเหนี่ยว ความรู้สึกอยากมีความสัมพันธ์กับเจ้าในแบบอุดมคติของคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงก็เช่นกัน พวกเขาต้องการอะไรที่จะสามารถยึดเหนี่ยวในระดับจิตวิญญาณแบบ 'จับต้องได้' อย่างที่ @Thawaitchai013 กล่าวข้างต้น พวกเขายึดเหนี่ยวเจ้าเหมือนเสพติดในความรักเจ้า และจะรู้สึกไม่พอใจหรือแม้กระทั่งโกรธเคืองมากเวลาถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือพบว่ามีคนที่ไม่ได้รักเจ้า [2]
  
ผู้เขียนเคยลองทวีตไปเมื่อต้นปี 2556 ว่าผู้เขียนมิได้รักเจ้า ปรากฏว่าปฏิกิริยาตอบกลับจากหลายคนที่รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงนั้นออกจะเต็มไปด้วยความรุนแรงเกลียดชังและหยาบคาย ดังขอคัดมาให้พิจารณาข้างล่างดังนี้:


@Saakuragl  'มึงไม่น่าเกิดมาให้หนักแผ่นดินไทยเลยว่ะ'
@Opor_4Ever  'แม่มันไม่น่าให้เกิดเลย เลวยิ่งกว่าสัตว์อีก'
@Highlovemarker 'ประเทศไทยเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขครับ รับไม่ได้เลิกใช้แบ้งค์ไทย เลิกเรียกตัวเองว่าคนไทย'
@AnnYada  'เหี้ย @PravitR ไม่น่าเกิดเป็นคนไทยนะคะ'
@CHOCOLII 'ถ้าคนรักในหลวงอย่างพวกฉันเป็นฟาสซิสต์ คนเนรคุณชาติอย่างแกก็เป็นซากพยาธิส้วมขี้ล่ะสินะ @PravitR'
@aonmann  'ตายๆไปเหอะลุง แผ่นดินจะได้สูงขึ้น'
@OhYes96707923  'ถ้าโหยหาเสรีภาพนักทำไมไม่ไปอยู่ที่อื่น มาอยู่ให้หนักแผ่นดินไทยทำไม ถ้าไม่รักพ่อก็หุบปากไปซะอย่ามาพ่นน้ำลายเน่าๆให้คนอื่นเขามาด่าเลย'
@SAiNiDa_B2uty  'คุณเป็นใครถึงพูดงี้คะ พ่อแม่ไม่ได้เป็นคนไทยหรือค่ะ พ่อแม่ไม่เคยสั่งสอนคุณเหรอว่าในหลวงคือผู้สร้างของคนไทย #โง่มากน่ะคุณ'
@ChikenSmile 'ลุงค่ะ ไปตายเถอะค่ะ อย่าแย่งอากาศหมาเลยค่ะ เสียดายออกซิเจน'
@JuwKheeKak 'ทวีตแบบนี้น่าไปเลียไข่พ่อมึงที่ดูไบนะไอ้สัตว์ ปว @PravitR'
@HyperChatz '@PravitR แม่งกากสัส'
@noomhippie 'ควยเหอะ'
@minttnims 'ไป ตาย ซะ…'
@krianfiction 'มึงพูดได้ไง แต่มึงต้องไปพูดที่อื่น ไปตายที่อื่นด้วย'
@minilady_137 '@PravitR ไปอยู่ประเทศอื่นไป๊'


ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นถึงอารมณ์โกรธแค้นอย่างรุนแรง การใช้คำหยาบคายเช่น 'เหี้ย' 'ควยเหอะ' 'เลวยิ่งกว่าสัตว์' 'ไอ้สัตว์' 'แม่งกากสัส' และการสาปแช่งเช่น 'ไปตายซะ' 'ไปตายเถอะค่ะ อย่าแย่งอากาศหมาเลยค่ะ' โดยปราศจากความยับยั้งชั่งใจ รวมถึงการพยายามสร้างความเป็นอื่นให้กับผู้เขียนเช่น 'พ่อแม่ไม่ได้เป็นคนไทยหรือคะ' 'เลิกเรียกตัวเองว่าคนไทย' และการยึดติดวาทกรรมเรื่องเจ้าแบบอุดมคติเช่น 'พ่อแม่ไม่เคยสั่งสอนคุณเหรอว่า ในหลวงคือผู้สร้างของคนไทย' – เหล่านี้เป็นตัวอย่างอันชัดเจนของความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง [3]
 
ในขณะเดียวกัน คนรักเจ้าจำนวนมิน้อยใช้พื้นที่อธิบายตัวตนพวกเขาใน profile ของทวิตเตอร์ด้วยการแสดงความรักและจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น @love_pma และ @KophlnoSS เขียนในส่วนหนึ่งของ profile ว่า 'รักในหลวง' เป็นต้น ส่วนบางคนก็แสดงความเกลียดชังต่อผู้ที่ไม่รักเจ้าหรือพวกทักษิณใน profile เช่น @sapaonoi ที่เขียนใน profile ว่า 'รักในหลวง, เกลียดแม้วและสาวก' ในอีกด้านหนึ่ง เราอาจมองได้ว่าคนเหล่านี้ต้องการภาคภูมิใจกับกษัตริย์อย่างเต็มที่โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ เพราะประเทศไทยมีอะไรเพียงไม่กี่อย่างที่จะสามารถภูมิใจในระดับโลกได้ อันได้แก่ อาหารไทย การท่องเที่ยวไทย และมวยไทย ส่วนเรื่องธุรกิจขายเซ็กส์นั้นคนไทยจำนวนมากก็มิได้ภูมิใจอะไร กลับรู้สึกอับอาย ทั้งๆ ที่การขายกามเป็นอาชีพที่สุจริตชนิดหนึ่ง ต่างจากการขายวิญญาณของคนที่ต้องโกหกเพื่ออำนาจและ/หรือความร่ำรวย [4]

(บางคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมคนเท่าทันเจ้าจึงมิได้อยากภูมิใจในสถาบันกษัตริย์ คำตอบส่วนหนึ่งคงอยู่ที่การเข้าถึงข้อมูลเท่าทันเจ้าของพวกเขา และสภาวะทางอารมณ์และทางจิตของพวกเขา ที่ไม่เอาความภาคภูมิใจไปยึดตึดกับสถาบันกษัตริย์)
 

3) วัฒนธรรมอุปถัมภ์และการเปรียบกษัตริย์เป็นพ่อของประชาชน
วัฒนธรรมอุปถัมภ์แบบสมมติเรื่องพ่อลูกทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกอบอุ่นมั่นคงและมีความสุขซาบซึ้ง เสมือนหนึ่งสังคมไทยเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งซึ่งมี 'พ่อหลวง' เสมือนบิดาของคนรักเจ้า ดังเห็นได้จากวาทกรรมเช่น 'ถ้าไม่รักพ่อ จงออกจากแผ่นดินนี้ เพราะที่นี่คือแผ่นดินของพ่อ' ของนักแสดงที่มีชื่อเสียง พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง และสติ๊กเกอร์รวมถึงเสื้อยืดต่างๆ  ผู้เขียนได้เคยแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า
 

ประชาชนผู้เชื่อว่า กษัตริย์คือพ่อหลวงของพวกเขา มองความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนผ่านแว่นตาของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก เกิดความผูกพันพึ่งพิงทางความคิดและจิตใจ และเสริมสร้างความรู้สึกในหมู่ประชาชน (ลูกๆ) ว่าการคิดเท่าทัน วิจารณ์ หรือไม่รักกษัตริย์ (พ่อ) นั้นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ เป็นการกระทำที่เลว อกตัญญู เช่นนี้แล้ว มาตรา 112 จึงกลายเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง "พ่อ-แม่" ไปโดยปริยาย [5]

 
การใช้กลไกทางวัฒนธรรมเช่นนี้ เอาเข้าจริงอาจมีอานุภาพมากกว่าการใช้กฎหมายอันไม่เป็นประชาธิปไตยและป่าเถื่อนอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียอีก เพราะการตอกย้ำเปรียบเทียบแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกซาบซึ้งถึงระดับอารมณ์และจิตใจ และโกรธหากผู้ใดจะมาวิจารณ์หรือตั้งคำถามกับพ่อของพวกเขา แถมมันยังช่วยตอกย้ำ (reinforce) ว่า มาตรา 112 นั้นชอบธรรมแล้ว และทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมมี "ลูก" จำนวนหนึ่งที่ต้องการวิจารณ์พ่อ (กษัตริย์) 
    
กฎหมายเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความรู้สึกแบบพ่อลูกนั้นหยั่งรากลึกถึงก้นบึ้งของจิตใจ และเมื่อประชาชนเชื่อว่าเป็นจริงแล้ว มันเปลี่ยนแปลงแทบไม่ได้ ดั่งความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของพ่อ-ลูกที่แท้จริงทางสายเลือด (คำถามที่น่าสนใจคือคำถามที่ว่า ถ้าความสัมพันธ์สมมติแบบพ่อลูกแทบจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเท่าทันเจ้า และไม่มองตนเองอยู่ภายในกรอบความสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้น คำตอบอยู่ที่สติปัญญาและภาวะทางจิตของคนเหล่าที่มีความแตกต่างหลากหลาย มนุษย์มีความสลับซับซ้อนและมิได้มีปฏิกิริยาต่อข้อมูลแบบเดียวกันเหมือนกันไปทุกคน  อนึ่ง ผู้ที่อยากจะเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักพร้อมที่จะมองสิ่งที่ตนอยากจะเชื่อโดยปราศจากความคิดเชิงวิพากษ์แบบเป็นเหตุเป็นผล)
   
สื่อกระแสหลักและกระแสรองส่วนใหญ่ บริษัทห้างร้านต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอ็นจีโอ มักมีบทบาทสำคัญในการตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ต่อสังคมจนเห็นเป็นเรื่อง "ปกติ" "เป็นจริง" อย่างมิควรต้องสงสัยใดๆ หากคุณเชื่อว่ากษัตริย์คือพ่อ คุณจะไม่รู้สึกอยากตั้งคำถามกับพ่อ แถมหน้าที่ของลูกที่ดีก็คือ การเชื่อฟังพ่อ (พระราชา) และแม่ (พระราชินี) และหากลูกคนใดไม่เชื่อฟัง ก็ดูผิดธรรมชาติ พวกเขาควรถูกประณาม ลงโทษ จองจำ หรือตัดออกจากการนับญาติอย่างถาวร โดยอาจถูกกล่าวหาว่า พวกเขาไม่ใช่คนไทย และเป็นคนที่ต้องการทำลายหรือล้มล้างพ่อแม่ (ดูกรณี 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 เป็นตัวอย่าง) เพราะคนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้อกตัญญูหรือทรพี เพราะไม่ว่าพ่อจะดีหรือไม่ ลูกก็ควรเชื่อฟังและเคารพรัก และในด้านตรงกันข้าม การทำอะไรเพื่อกษัตริย์ (พ่อหลวง) จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้นและสนิทใจขึ้น เหมือนกับการบูชาคุณของบิดาแท้ๆ 
  
นอกจากนี้ การเปรียบกษัตริย์เป็นพ่อของประชาชนยังทำให้ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ซึ่งมีมิติของความไม่เท่าเทียมและมีความตึงเครียดทางชนชั้นพร่ามัว ถูกกลบเกลื่อน ลบเลือนให้มองเห็นได้ยากยิ่งขึ้น  และกลายมาเป็นความสัมพันธ์เชิงครอบครัวแบบสมมติ ซึ่งเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่นและความห่วงใยระหว่างพ่อ-ลูกแทน โดยที่ไม่จำเป็นต้องสงสัยในเรื่องชนชั้นหรือความไม่เท่าเทียม แล้วยังไม่จำเป็นต้องคิดเท่าทันหรือเรียกร้องความโปร่งใสเพื่อการตรวจสอบใดๆ เพราะแว่นตาของการมองแบบพ่อ-ลูก ไม่เอื้อให้ประชาชนรู้สึกหรือคิดเป็นอื่น ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ประชาชนอีกมากยากจน แต่กษัตริย์ (พ่อหลวง) ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน หรือผู้คนมักไม่สงสัยว่า ในความสัมพันธ์แบบนี้ ทำไมสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงยังคงเก็บค่าเช่าที่จากประชาชนอยู่ …
  
หากพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า การถ่ายโอน (transplant) ลักษณะความสัมพันธ์พ่อ-ลูก สู่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ถูกตอกย้ำเป็นพิเศษในทุกวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งวันเกิดของกษัตริย์กลายเป็น "วันพ่อ" เพื่อตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ คนไทยจำนวนไม่น้อยถือว่า 5 ธันวา เป็นวันที่พวกเขาจะใช้เวลากับพ่อบังเกิดเกล้าของพวกเขา รวมถึงอาจให้ของขวัญกับพ่อหรือกินอาหารมื้อพิเศษเพื่อทดแทนบุญคุณและเฉลิมฉลอง "วันพ่อ" จนมีผลให้แม้กระทั่งบางคนที่คิดว่าตนคิดเท่าทันสถาบันฯ ก็ยังถือว่า วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันพ่อไปโดยไม่รู้ตัวและโดยปริยาย ถึงแม้พวกเขาจะยืนยันว่า "พ่อ" ของเขามีเพียงคนเดียว ซึ่งได้แก่บิดาโดยสายเลือด ที่พวกเขาจะไปกราบใน "วันพ่อ" วันที่ 5 ธันวาคมอยู่ดี (หรือถ้าพ่อแท้ๆ ของเขาและครอบครัวต้องการก็ไม่แปลก  เพราะมันก็สะท้อนความสำเร็จของการโยงวันที่ 5 ธ.ค.เป็นวันพ่ออยู่ดี)
 

บทสรุป
การที่คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงอ้างแต่ข้อมูล 'ดีๆ' ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าจากสื่อกระแสหลักไทยที่ป้อนแต่ข้อมูล 'ดีๆ' ด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าภายใต้ ม.112 มีลักษณะเหมือนไก่กับไข่ เป็นวงจรความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงที่ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดยุติสิ้นสุด เป็นระบบนิเวศทางสังคมและทางวาทกรรม เรื่องนี้อาจเข้าใจได้ง่ายขึ้นหากลองศึกษาทฤษฎีความสลับซับซ้อน (complexity theory) และทฤษฎีไร้ระเบียบ (chaos theory) ที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศทางสังคมที่มีปัจจัยหลายอย่างสัมพันธ์กัน เป็นห่วงโซ่แห่งปฏิกิริยา (chain reaction)
   
ตัวอย่างอันหนึ่งของวงจรนี้ได้แก่ความเห็นของผู้ใช้ทวีตนาม @AmmMurder ซึ่งทวีตถึงผู้เขียนว่า "แล้วประวิตรไม่คิดหรอกเหรอว่า ปชช เสียงส่วนใหญ่ยังต้องการคงไว้ซึ่ง 112…" (12 มีนาคม 2556)
   
ทวีตดังกล่าวเป็นความเห็นที่อ้างว่าคนส่วนใหญ่ต้องการคง ม.112 ไว้ แบบลอยๆ โดยมิได้ดูว่าประชาชนส่วนใหญ่ถูกป้อนแต่ข้อมูล 'ดีๆ' ด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาเป็นเวลากี่ทศวรรษแล้ว แท้จริงแล้วเราไม่มีวันรู้เพราะไม่มีการทำโพล และถึงทำโพลได้ ก็จะเป็นการทำโพลในสภาพที่สังคมมีแต่ข้อมูลด้านเดียวเผยแพร่ในที่สาธารณะอย่างถูกกฎหมายมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ส่วนตัว @AmmyMurder เองก็เป็นผลผลิตของการรับและยึดกับข้อมูลด้านเดียวมาตลอดชีวิต และนี่คือตัวอย่างของวงจรความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง
  
หากมองเป็นวงจรแบบ 1>2>3 แล้วกลับไป 1 ใหม่ เราจะเห็นดังนี้:
1) ประชาชนรับแต่ข้อมูล 'ดีๆ' ด้านเดียวเพราะ ม.112  > 2) ประชาชนเกิดความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง > 3) ประชาชนปกป้อง ม.112 ที่ทำให้พวกเขาได้รับแต่ข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง > กลับไปที่ 1) ใหม่อีกรอบ และเป็นวงจรไม่มีสิ้นสุด ไม่มีจุดเริ่ม ไม่มีจุดจบ (คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าไม่มี ม.112 คนคลั่งเจ้าจะเปิดใจรับข้อมูลอีกด้านหนึ่งหรือไม่ คำตอบคือ ส่วนใหญ่คงไม่ เพราะพวกเขามีความต้องการทางจิตอารมณ์ในการรักษาไว้ซึ่งภาพในอุดมคติของความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม การคงไว้ซึ่ง ม.112 ทำให้พวกเขารู้สึกว่าความเชื่อของพวกเขาไม่ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วง หรืออย่างน้อยผู้ที่ท้าทายก็ต้องทยอยถูกจองจำในคุก มันจึงทำให้พวกเขาอ้างถึงข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้ง่ายและดูสมจริงยิ่งขึ้น และแม้สื่อต่างประเทศจำนวนมิน้อยก็มักเสนอข่าวว่าคนไทยเกือบทั้งหมดรักเทิดทูนในหลวง ซึ่งเอาเข้าจริงก็พิสูจน์ไม่ได้ เพราะไม่มีการทำวิจัยเป็นระบบอย่างแท้จริง และถึงทำได้ มันก็จะเป็นการทำวิจัยหรือโพลในสภาวะที่สังคมไทยสามารถเผยแพร่แต่ข้อมูลด้านบวกด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้าได้อย่างถูกกฎหมายเท่านั้น และประชาชนได้รับข้อมูลด้านเดียวผ่านสื่อกระแสหลักมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว)
 
ในสภาพเช่นนี้ แทบไม่มีพื้นที่สีเทาที่จะแสดงความเห็นเท่าทันเจ้าได้ หากคุณไม่ประจบหรือแสดงตนว่ารักเจ้า คุณก็มักจะถูกตัดสินตราหน้าว่าเป็นพวกล้มเจ้าหรือขี้ข้าทักษิณ ทุกอย่างถูกผลักไสไปแบบโลกทัศน์ขาวดำดีชั่ว นี่คือสิ่งที่เกิดกับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการตอบโจทย์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกล้มเจ้า ทั้งๆ ที่เจ้าตัวปฎิเสธ หลังจากจัดรายการตอบโจทย์เรื่องสถาบันกษัตริย์ทางโทรทัศน์ไทยพีบีเอสโดยเชิญสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ส. ศิวรักษ์ มาโต้กันในเดือนมีนาคม 2556
 
ในความเป็นจริง คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงคงทราบว่ามีข้อมูลเท่าทันหรือแม้กระทั่งด้านลบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แพร่กระจายในอินเทอร์เน็ต ใต้ดิน และในต่างประเทศ  (ตัวอย่างคือหนังสืออย่าง The King Never Smiles ของ Paul Handley และงานเขียนของ Andrew MacGregor Marshall และข้อมูลจาก WikiLeaks สารคดี ABC หรืองานเขียนของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจจะกูล ตลอดจน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น) แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่เชื่อหรือไม่ก็ปฏิเสธการมีอยู่ของข้อมูลเหล่านี้
  
Eviatar Zerubavel ศาสตรจารย์ทางด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Rutgers ตั้งข้อสังเกตว่าในแง่จิตวิทยาแล้วการปฏิเสธการมีอยู่ของบางสิ่งบางอย่างเกิดจากความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด  "เวลา [เรา] ตระหนักถึงบางอย่างที่เครียดเป็นพิเศษและคุกคามความรู้สึกที่ดีของจิตใจ เรามักสร้างเขื่อนเพื่อปกป้องตนจากการรับรู้ข้อมูลอันน่าสะเทือนใจ" [6]
  
Zerubavel พูดถึงกฎอย่างไม่เป็นทางการที่รักษาความเงียบงัน (informal code of silence) และบทบาทของสมาชิกในสังคมในการคงไว้ซึ่งการปฏิเสธความจริง [7] ซึ่งทำให้ผู้เขียนนึกถึงความคิดในหมู่คนรักเจ้า และโดยเฉพาะคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงว่า พวกเขาถือว่าเป็นสิ่งไม่สมควรยิ่งที่จะแสดงความคิดเห็นเท่าทันเจ้า หรือวิพากษ์เจ้าผู้มีพระคุณมหาศาลต่อประชาชนในมุมมองของพวกเขา พวกเขาเองจึงไม่ต้องการและต่อต้านการพูดเขียนอะไรที่เท่าทันหรือเป็นด้านลบเกี่ยวกับเจ้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และมองว่าแค่คิดก็มิสมควรแล้ว ซึ่งบางคนในทวีตภพได้แสดงความเห็นเช่นนี้ต่อผู้เขียน
 
ในอีกมุมมอง Michael Massing ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงสงครามอิรัก ประชาชนอเมริกันเลือกที่จะปฏิเสธตนเองจากการรับรู้ข่าวสารและข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับกองทัพสหรัฐอเมริกาในอิรัก เพราะพวกเขาเชื่ออย่างลึกๆ ว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายถูกต้อง [8]
 
โดยสรุปแล้ว วงจรรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงมีส่วนสำคัญในการตอกย้ำวาทกรรมว่าด้วยความเป็นไทยที่ถูกผูกติดกับความจงรักภักดีต่อกษัตริย์โดยมิต้องสงสัย ดังจะเห็นได้จากการที่คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงมักถามผู้ที่ต่อต้าน ม.112 ว่าเป็นไทยหรือเปล่า - มันเป็นการเผชิญหน้าระหว่างโลกทัศน์ที่แตกต่างกันแทบสิ้นเชิง ระหว่างมุมมองเรื่องความจงรักภักดีต่อเจ้าชีวิตที่มีรากอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอุดมคติ กับความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกเท่าทันและตรวจสอบวิพากษ์กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงมักไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยจำนวนหนึ่ง ถึง 'เนรคุณ' เจ้าได้เช่นนี้ และคนที่เท่าทันเจ้าก็อาจไม่เข้าใจคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเช่นกัน
  
คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงต้องการปฏิเสธข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เพราะมันคุกคามต่อความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าในแบบอุดมคติของพวกเขา แต่ ม.112 ที่พวกเขาสนับสนุนก็เป็นตัวทำให้สังคมไม่มีที่ๆ จะแสดง feedback เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง หากเต็มไปด้วยการประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ลึกๆ คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงอาจมิแน่ใจว่าจริงๆ แล้วประชาชนที่จงรักภักดีต่อเจ้าจริงๆ โดยมิได้หวังผลใดๆ หรือมิได้ทำไปตามกระแสสังคมนั้นมีจำนวนมากน้อยเพียงใด แถมเรื่องอนาคตของสถาบันฯ หลังยุครัชกาลที่ 9 ก็มิสามารถถกเถียงอย่างโปร่งใสเปิดเผยตามความเป็นจริงได้เพราะกฎหมาย ม.112 ที่พวกเขาสนับสนุน คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงจึงมีความรู้สึกไม่มั่นคงและหวาดระแวงอยู่ลึกๆ และอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อของกฎหมาย ม.112 ที่ปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนอย่างไม่รู้จักพอเพียง และเป็นเหยื่อวงจรความรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเช่นกัน

 

ความท้าทายต่อวงจรรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงในยุคหลังรัชกาลที่ 9
แม้คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงจำนวนมากจะมีลักษณะยึดติดตัวบุคคล กล่าวคือกับองค์รัชกาลที่ 9 แต่ปัจจัยอื่น เช่น กลุ่มคนและองค์กรที่ประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมยังคงน่าจะคงอยู่ต่อไปในยุครัชกาลที่ 10 เพราะมันเป็นเรื่องคนประจบเจ้าเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง (สำหรับคนที่อาจมิได้รักเจ้าอย่างจริงใจ การประจบเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง หรือถวายเงินเยอะๆ ทำให้พวกเขาได้หน้าตาทางสังคม ในขณะเดียวกันการตรวจสอบวิพากษ์พระราชกรณียกิจของกษัตริย์ ซึ่งทำมิได้ภายใต้ ม.112 อาจเปิดช่องทางให้คนจำนวนหนึ่งหาผลประโยชน์ได้ ในขณะที่ประเทศอย่างอังกฤษ ราชวงศ์ถูกสื่อและประชาชนตรวจสอบเป็นประจำว่ามีผู้ใดหาผลประโยชน์จากสถานะของราชวงศ์หรือไม่ หรือมีสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใดมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่)
 
มันจึงเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับวงจรรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงในยุคหลังรัชกาลปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน คนเสื้อแดงบางส่วนก็เริ่มหันมาใส่เสื้อ 'เรารักพระบรมฯ' กันแล้ว

 

 

เชิงอรรถ
[1] ตัวอย่างล่าสุดเช่น นิตยสาร F3 ของไทยทีวีสีช่อง 3 ฉบับ 37 เดือนธันวาคม 2555 มีการเทิดทูนเจ้าว่าในหลวงทรงเป็นอัครศิลปินและทรงพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ดังนี้: ด้านจิตรกรรม ด้านประติมากรรม ด้านภาพถ่าย ด้านดนตรี ด้านหัตถศิลป์ ด้านวรรณศิลป์ ด้านวาทศิลป์ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม
[2] อ่านเรื่องมิติทางศาสนาของความรักเจ้าได้ใน ประวิตร โรจนพฤกษ์: มิติทางศาสนาของคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง  http://prachatai.com/journal/2012/08/42074
[3] ในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างความเป็นอื่นนั้น ผู้เขียนนึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อเร็วๆ นี้ที่ผู้เขียนไปพบปลาสวายที่ถูกตกเบ็ดนอนดิ้นรอหมดลมหายใจในกะละมังที่ท่าเรือสะพานกรุงธน ผู้เขียนทนดูไม่ได้เพราะความสงสารจึงรี่ไปขอซื้อปลาสวายสองตัวน้อยๆ เพื่อให้พรานจับปลาปล่อยมันกลับแม่น้ำ ในขณะที่ผู้อื่นที่อยู่ตรงท่าเรือมิได้สนใจอะไร ผู้เขียนมานึกได้ตอนหลังว่าในวัยเยาว์ ตนเคยเลี้ยงปลาสวาย และอาจผูกพันมองปลาสวายมิได้ 'เป็นอื่น' เมื่อเทียบกับผู้อื่นในที่นั้น
[4] นิตยสาร เปรียว (หน้า 44 ธ.ค.2555) กล่าวไว้ว่า 'ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นชาติหนึ่งที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันพ่อแห่งชาติได้อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก…'
[5] ดู ประวิตร โรจนพฤกษ์ "พลานุภาพการเปรียบกษัตริย์เป็น 'พ่อ' ของประชาชน'" http://prachatai.com/journal/2011/12/38111
[6] Eviatar Zerubavel,  The Elephant in the Room: Silence and Denial in Everyday Life (New York: Oxford University Press, 2006), p. 5
[7] Eviatar Zerubavel, p. 26, p. 71
[8] Massing, Michael,  "What Orwell Didn't Know: Propaganda and the New Face of American Politics,"   In Szanto, Adras ed. What Orwell Didn't Know: Propaganda and the New Face of American Politics (New York: Public Affairs, 2007), pp. 176-177  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เคนย่าชุมนุมเทเลือด-ปล่อยหมูหน้ารัฐสภา ประท้วงส.ส.ขึ้นเงินเดือนตัวเอง

Posted: 15 May 2013 09:48 AM PDT

ชาวเคนย่า 250 คน ที่จัดตั้งโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Occupy Parliament ประท้วงโดยการนำเลือดมาเทที่ถนนหน้าอาคารรัฐสภา พร้อมนำหมูที่เพนท์สีปล่อยหน้าอาคาร เพื่อสื่อถึงความโลภของส.ส. ซึ่งขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ 131 เท่า

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า มีกลุ่มผู้ประท้วงออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจที่ ส.ส. พยายามเรียกร้องให้มีการขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเองมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 131 เท่า โดยมีการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเทเลือดและการปล่อยหมูที่เต็มไปด้วยรอยสีหน้าอาคารรัฐสภา

The Independent รายงานว่าผู้ประท้วงได้นำถังมาเทเลือดบนถนนหน้าอาคารและปล่อยหมูออกมา โดยที่ตัวหมูมีการเขียนสีกราฟิตี้วิพากษ์วิจารณ์การที่ส.ส. ขอขึ้นเงินเดือนตัวเองเป็น 6,540 ปอนด์ (ราว 295,000 บาท) ต่อเดือน

เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลได้สลายการชุมนุมด้วยการยิงแก็สน้ำตาและใช้ไม้กระบองเข้าจู่โจมฝูงชนที่ชุมนุมอย่างสงบราว 250 คน The Independent ระบุว่าตัวตำรวจปรายจลาจลเองก็ได้รับเงินเดือนเพียง 100 ปอนด์ (ราว 4,500 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น

โบนิฟาซ มวันกิ นักรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกล่าวว่า หมูในการประท้วงครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์แทนความโลภของเหล่าผู้แทนในประเทศ มวันกิเป็นหนึ่งในหลายสิบคนที่ถูกจับกุมตัวเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม กลุ่ม การประท้วงเรียกร้องความสนใจดังกล่าวจัดตั้งโดยกลุ่มเรียกตัวเองว่า Occupy Parliament ซึ่งเป็นกลุ่มที่หมายลุกฮือต่อต้านความโลภของส.ส.เคนย่า

โดยเมื่อเดือนที่แล้วก็มีผู้ประท้วงชุมนุมแบกโลงศพมาที่อาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์แสดงให้เห็นผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่เกิดจากการพยายามหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองของส.ส.

เมื่อสามปีที่แล้วมีผู้ลงประชามติสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเคนย่าอย่างท่วมท้น โดยร่างรธน. ฉบับดังกล่าวมีการนำค่าจ้างเงินเดือนข้าราชการมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยที่มีการเสนอแนะให้ปรับลดเงินเดือนของส.ส. จาก 78,500 ปอนด์  (ราว 3,560,000 บาท) ต่อปี เหลือ 51,650 ปอนด์ (ราว 2,300,000 บาท) ต่อปี ขณะที่ส.ส. ซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาในตำแหน่งเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้มีการขึ้นเงินเดือนเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นค่ายานพาหนะหรูๆ ค่าเดินทาง ค่าบอดี้การ์ด และค่าเข้าห้องเลานจ์วีไอพีในสนามบิน โดยที่ส.ส. ในสมัยก่อนหน้านี้ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจในเคนย่ามาแล้วจากการที่พวกเขาให้เงินบำนาญเกษียณอายุแก่ตัวเอง 70,400 ปอนด์ (ราว 3,200,000 บาท)

The Independent กล่าวว่าแม้ประเทศเคนย่าจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตมากที่สุดในแอฟริกาตะวันออก แต่ชาวเคนย่าส่วนมากมักจะเป็นแรงงานนอกระบบ (informal sector) และหลายคนต้องต่อสู้ชีวิตกับค่าแรงขั้นต่ำ 50 ปอนด์ (ราว 2,300 บาท) ต่อเดือน

เมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่าหากประเทศเคนย่าปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่นและการบริหารประเทศที่ย่ำแย่ เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตร้อยละ 7 ต่อปี และกลายเป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางภายในปี 2018

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เคยจัดอันดับรายปีให้เคนย่าเป็นหนึ่งในประเทศที่แย่ที่สุด (อันดับที่ 139 จาก 174 อันดับ) จากดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น


เรียบเรียงจาก

Graffitied pigs and buckets of blood on the streets of Nairobi as protests over MPs' pay continue, The Independent, 14-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: สุลต่านซูลู ชนชั้นจารีตและข้อพิพาทในโลกยุคใหม่

Posted: 15 May 2013 09:36 AM PDT

ASEAN Weekly โดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช์ สัปดาห์นี้ฟังการวิเคราะห์กรณี "กองทัพสุลต่านซูลู" ที่นั่งเรือยนต์มาจากหมู่เกาะเล็กๆ ใกล้กับเกาะมินดาเนา ชายแดนทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เข้ามายังเมืองลาฮัด ดาตู เมืองชายแดนตะวันออกสุดของรัฐซาบาห์ มาเลเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่ออ้างกรรมสิทธิเหนือรัฐซาบาห์ว่าเป็นดินแดนของสุลต่านซูลูที่เคยยกให้อังกฤษเช่า ก่อนที่จะถูกทางการมาเลเซียปราบในเดือนมีนาคม

ซึ่งปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐสมัยใหม่กับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ที่เป็นชนชั้นนำจารีตเดิมยุคก่อนรัฐชาติ แต่ไม่ได้รับการรับรองในมุมมองของตัวแสดงที่เป็นรัฐสมัยใหม่ ทั้งกรณีกรณีที่เกิดขึ้นในบริเวณทะเลซูลูดังกล่าว  คล้ายกบฎผู้มีบุญในอดีต ที่ชนชั้นนำจารีตต้องการย้อนกลับไปหาโครงสร้างสังคมเก่า คิดอยากจะมีสังคมใหม่แต่อยู่ในกรอบสังคมเก่าในอนาคต

โดยที่กรณีของสุลต่านซูลู ไม่ได้เป็นกรณีเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีกรณีที่ใกล้เคียงกันอย่างกรณีอินโดนีเซียที่เกาะปาปัว ซึ่งเกาะปาปัวด้านตะวันตกเป็นของเนเธอร์แลนด์ ต่อมาถูกอินโดนีเซียผนวกเป็นจังหวัดปาปัว และปาปัวตะวันตก ขณะที่เกาะปาปัวด้านตะวันออกได้รับเอกราชจากอังกฤษ เป็นปาปัวนิวกินี เป็นประเทศในเครือจักรภพ ทั้งนี้โครงสร้างประชากรของเกาะเป็นเมลานีเซียน ซึ่งไม่ใช่ชาวชวา หรือโมลุกกะ หรืออาเจะห์ แบบหมู่เกาะอื่นในอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชาวปาปัวที่อยู่ฝั่งอินโดนีเซียเคลื่อนไหวตั้งกองกำลังติดอาวุธอยากแยกออกจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้กองทัพอินโดนีเซียก็ไม่สามารถปราบได้เบ็ดเสร็จ เพราะขบวนการได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนบ้าน แต่ขบวนการเองก็ไม่แข็งแกร่งพอที่จะชนะรัฐบาลจาร์กาต้าได้ สุดท้ายทำให้ปัญหายืดเยื้อ

ทั้งนี้ปัญหาของเกาะปาปัว ถูกทำให้เหมือนเป็นความขัดแย้งภายในอยู่ในรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งผิดกับกรณีสุลต่านซูลู ที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ แต่ต้องการแยกดินแดนและทำให้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทั้งนี้ความสามารถในการกระพือข่าว สมรรถนะทางการทูตของรัฐคู่ปรปักษ์อย่างมาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ได้เกิดความอิหลักอิเหลื่อในการจัดการ เพราะตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมีกำลังพอ ที่จะเขย่าให้เกิดกระแสข่าว แต่เป็นกำลังระยะสั้น อย่างไรก็ตามระยะยาวอาจจะแผ่วบ้าง แต่ก็จะยังอยู่รอด โดยกรณีแบบนี้มีอยู่ทั่วไปในตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในกรณีของสุลต่านซูลูมีความพิเศษตรงที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ แต่เข้าไปแย่งดินแดนของรัฐต่างประเทศ ต่างจากกรณีปาปัว หรืออาเจะห์ ในอินโดนีเซีย ที่คู่ตรงข้ามยังเป็นรัฐบาลประเทศนั้นๆ อยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: “ย่อหน้าแรก วรรคสุดท้ายของลมปาก”

Posted: 15 May 2013 09:06 AM PDT

 

 

อย่าได้เศร้าโศกไปเลย  คุณก็แค่มาสังสรรค์
อย่าได้เสียใจไป หากยังมีอีกหลายศพให้คุณได้อ่านบทกวีรำลึก

 

อย่าได้เสียใจไปกว่า
หากวัตถุพยานรายล้อมรอบตัวคุณ
ที่มาร่วมรับฟังพจนประกาศกลางสถานที่เกิดเหตุ
จะกลายเป็นอากาศธาตุ เพียงชั่วข้ามคืน-วัน

 

อย่าได้เสียใจไปกว่านี้ 
หากถ้อยคำที่หลุดออกมาจากปาก
ไมได้ตกตะกอนลงไปซึมแทรกอยู่กลางเลือดเนื้อวิญญาณ


อย่า... อย่าได้เศร้าโศก 
หากคนตาย จะไม่อยากได้ยินถ้อยคำโกหก
บนสวรรค์ไม่ได้ว่างเปล่า และนรกไม่ได้แออัด

 

อย่าได้เสียใจไปกับความตายบนหน้ากระดาษ
หากพรุ่งนี้คุณเขียนให้เขาฟื้นคืนมาใหม่
 

อย่าได้เศร้าโศก
หากจิตสำนึกอันทรงเกียรติ  สู่ปลายปากกา เพียงไหลผ่านสมอง
โดยไม่ได้รับอนุญาตให้แล่นผ่านหัวใจ
 

วฒน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิกฤติรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญจะจบอย่างไร

Posted: 15 May 2013 08:56 AM PDT

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะวิกฤติที่สมาชิกรัฐสภาจำนวน 312 คนร่วมกันออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเสียงข้างมากรับคำร้องการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ไว้วินิจฉัยตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฯ ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการทำหน้าที่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง รวมทั้งขัดต่อการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งการเผชิญหน้ากันในครั้งนี้อยู่ในความสนใจของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายนักวิชาการและผู้ที่สนใจสถานการณ์บ้านเมืองว่าจะจบลงอย่างไร

แน่นอนว่ากองเชียร์ของฝ่ายใดก็ล้วนแล้วแต่ให้ความเห็นว่าจะต้องจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายตนเอง โดยฝ่ายแรกอ้างการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกระทำที่นอกเหนืออำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติและอ้างความชอบธรรมจากการเป็นผู้แทนของประชาชนเสียงข้างมาก ส่วนฝ่ายหลังนั้นก็อ้างความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้าว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ

เหตุการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าเมื่อฝ่ายรัฐสภาออกมาปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ยอมส่งคำชี้แจงตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญแล้วรัฐสภาก็ย่อมที่ดำเนินการต่อไปตามวาระที่ 2 และ 3 ตามลำดับและนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามมาตรา 291(7)ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และ 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งผู้ที่จะทูลเกล้าฯและรับสนองพระบรมราชโองการในที่นี้ก็คือนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เรียกว่าทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารผนึกกำลังกันว่างั้นเถอะ

ในขณะเดียวกันฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ วินิจฉัยยกคำร้องเพราะไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่องก็จบเป็นการถอยก้าวเล็กๆก้าวหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะให้ถึงขนาดยกเลิกกระบวนพิจารณาไปจำหน่ายคดีเลยนั้นศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ทำแน่เพราะคงเป็นการเสียหน้ามากมายพอสมควร

แต่ถ้าเหตุการณ์เป็นไปในทางตรงกันข้าม ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าเข้าข่ายตามมาตรา 68  โดยสั่งเลิกการกระทำตามมาตรา 68 วรรคสองและหากเลวร้ายไปกว่านั้นโดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดเป็นระยะเวลาห้าปีตามมาตรา 68 วรรคสามและวรรคสี่ ซึ่งผลทางการเมืองที่ตามมาก็สุดแล้วแต่ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้จะออกมาในช่วงระยะเวลาใด

หากคำวินิจฉัยออกมาหลังทูลเกล้าฯและประกาศร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาใช้แล้วก็คงไม่มีผลใดๆเพราะมาตรา 68 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่หากคำวินิจฉัยออกมาก่อนทูลเกล้าฯ แน่นอนว่าย่อมมีผลสะเทือนแน่ เพราะพรรคจะถุกยุบแต่คุณยิ่งลักษณ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีและ ส.ส.อยู่เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคและสามารถหาพรรคใหม่ได้ภายในหกสิบวันและผมเชื่อว่าคงมีพรรคสำรองไว้แล้วและคงสามารถตั้งรัฐมนตรีแทนผู้ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคได้ภายในสองสามวัน

รัฐบาลคงไม่เลือกวิธีการที่จะเดินต่อด้วยการยืนยันทูลเกล้าเสนอร่างแก้ไขต่อไปตามมาตรา 151 (แม้ว่าจะทำได้) ซึ่งหากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างแก้ไขฯนั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างฯนั้นขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดข้างต้นนั้นคงไม่เกิดขึ้นแน่เพราะจะถูกกระหน่ำด้วยข้อหาว่าเป็นการทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่รัฐบาลก็จะเลือกวิธีการยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าจะแก้รัฐธรรมนูญตามที่ว่านี้ ประชาชนจะว่าอย่างไร

แล้วจะจบลงอย่างไร

จริงอยู่แม้ว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีการยุบสภาเพื่อหาเสียงสนับสนุนที่ถึงจะได้มาอย่างถล่มทลาย แต่ก็ไม่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะการพ้นตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 209 นั้น นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระแล้วก็พ้นด้วยการตาย /มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์/ ลาออก/ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 205 กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 207/ วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง /ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เป็นต้น แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะถูกกดดันอย่างหนักให้ลาออก หากไม่ลาออก รัฐบาลและรัฐสภาก็มีวิธีการเดียวคือการเลือกวิธีการตามมาตรา 153 วรรคสอง โดยลงมติวาระสามของร่างแก้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ยังค้างอยู่ก่อนยุบสภายกขึ้นมาให้ความเห็นชอบ แล้วร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีศาลรัฐธรรมนูญต่อไปก็อาจเป็นได้ ก็เป็นอันว่าสิ้นสุดศึกสงครามระหว่างฝ่ายบริหาร รัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามไม่ว่าผลจะออกมาในทางใดล้วนแล้วแต่มีผลกระทบทางการเมืองทั้งสิ้น จะกระทบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ว่าวิกฤตินี้จบลงในขั้นตอนไหนเท่านั้นเอง ยิ่งจบช้าเท่าใดก็ยิ่งกระทบมากเท่านั้น หากวิกฤติเดินไปจนถึงที่สุดตามที่ว่าไว้ผลที่เลวร้ายที่จะได้รับก็คือ แม้ว่าฝ่ายบริหารและรัฐสภาจะเป็นฝ่ายชนะในที่สุด การเมืองบนท้องถนนก็จะตามมา ความวุ่นวายจะเกิดมากกว่าครั้งปี 52-53 แต่คงจะไม่มีการกระชับพื้นที่จากทหารจนคนตายเป็นร้อยเหมือนคราวนั้นอีก เพราะมีบทเรียนมาแล้ว แต่คนไทยจะหันมาฆ่ากันเองตายเป็นเบือ สภาพรัฐไทยก็จะตกอยู่ในสภาวะรัฐล้มเหลวหรือล้มละลาย(Failed State) เพราะรัฐไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างเต็มที่และประชาชนมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง หรือที่เราเรียกว่า "มิคสัญญี" นั่นเอง

คิดแล้วหนาวขึ้นมาจับขั้วหัวใจเลยทีเดียวเชียว

 

-------------

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: Save ‘Anwar’ ผู้ปลุกชีวิตมลายู ปลดเงื่อนไขความรุนแรง

Posted: 15 May 2013 08:37 AM PDT

 

ภาพรณรงค์เกี่ยวกับอันวาร์ ภายหลังคำพิพากษา ที่มีการเผยแพร่กันในโซเชียลมีเดีย

 

คำพิพากษาอันวาร์

ในห้วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคำพิพากษาฎีกาให้จำคุกนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ อดีตคนทำงานสื่อทางเลือกในพื้นที่ชายแดนใต้ ถึง 12 ปี ในข้อหาเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง หลายคนรู้จักนายมูฮาหมัดอัณวัรว่า อันวาร์บูหงารายา หรือหากมีการพูดถึงอันวาร์ คนก็จะนึกถึงบูหงารายา หรือหากพูดถึงบูหงารายา คนก็จะนึกถึงอันวาร์

ทว่าในความเป็นจริงแล้วอันวาร์ ไม่ได้มีบทบาทเพียงการทำสื่อทางเลือกอิสระในนามสำนักสื่อบูหงารายาเท่านั้น แต่ทุกคนหรือทุกองค์กรที่เขาไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย แม้เพียงเวลาสั้นๆ กลับเป็นการจุดประกายให้คนอื่นได้ทำงานต่อไปได้อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะงานด้านสื่อสันติภาพและสื่อภาษามลายู อันเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิมปาตานี

นับเป็นบทบาทสำคัญในระยะเวลาเพียง 3 - 4 ปีที่เขาโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อประชาสังคมในพื้นที่ หรือหลังจากได้รับการปล่อยตัวเมื่ออุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 แต่อันวาร์ก็ถูกจำคุกไปแล้วเป็นเวลา 1 ปีเศษ เพราะศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกในคดีเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 เป็นเวลา 12 ปี

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา เป็นวันที่อิสรภาพของเขาต้องสิ้นสุดลงอีกครั้ง เมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ด้วยข้อหาเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือ ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต เป็นอั้งยี่และกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย ฯลฯ


อันวาร์ กับสำนักสื่อบูหงารายา

ทวีศักดิ์ ปิ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของอันวาร์ ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการวิทยาลัยประชาชน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นคนหนึ่งที่สามารถบอกเล่าถึงบทบาทของอันวาร์ในบทบาทงานด้านสื่อประชาสังคมในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะบทบาทในช่วงของการเป็นบรรณาธิการสำนักสื่อบุหงารายา หรือ Bungaraya

ทวีศักดิ์ เล่าวว่า อันวาร์ เป็นคนหนึ่งที่คิดทำเรื่องทางเลือกขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คนแรกๆ แต่สำนักสื่อบุหงารายา ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 เป็นการรวมตัวของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างสื่อทางเลือกในการรายงานข่าวและความคืบหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้คนในพื้นที่มีกระบอกเสียงเป็นของตนเองในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยไม่บิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง และไม่ใช่การรายงานจากแหล่งข่าวศูนย์กลางของรัฐไทยเท่านั้น

ต่อมาในปี 2552 อันวาร์ได้เริ่มเข้ามาร่วมงานกับสำนักสื่อบุหงารายาในฐานะบรรณาธิการ โดยได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกในองค์กร ด้วยเหตุผลที่ว่า อันวาร์มีทักษะในการเขียนข่าวและบทความ อันเป็นความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการของสำนักข่าวเนชั่น (Nation)

อีกเหตุผลหนึ่งคือ เพราะอันวาร์มีเวลาว่างมากกว่าสมาชิกคนอื่นๆ ที่เป็นนักศึกษา โดยอันวาร์เข้ามาทำหน้าที่ตรวจชิ้นงานของสมาชิกที่ส่งมาให้ ทั้งที่เป็นบทความหรือข่าว ก่อนที่จะอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ของสำนักสื่อบูหงารายา BungarayaNews ในการเผยแพร่ข้อมูลตั้งแต่แรก

ต่อมาอันวาร์และสมาชิกได้ร่วมคิดค้นหาวิธีการเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยช่องทางวิทยุของสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน(Media Selatan) และสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) จังหวัดปัตตานี ในรูปแบบของการร่วมจัดรายการ มีการทำหนังสือบุหงารายาบุ๊ก (Bungaraya Book) และจดหมายข่าวบุหงารายอนิวส์ (Bungaraya News) ขึ้นมา

อันวาร์เป็นคนที่มีความฝันแนวแน่ที่จะทำสื่อทางเลือกในพื้นที่ ด้วยความรัก ความชอบของเขา เขาจึงมีความพยายามอย่างมากในการสร้างสื่อให้เกิดขึ้นจริง เป็นสมาชิกคนหนึ่งที่คิดค้นวิธีการต่างๆในการเผยแพร่ข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หนังสือ จดหมายข่าว เป็นต้น เพื่อช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนในพื้นที่ตามข้อเท็จจริง

แต่ในปี 2554 สื่อทางเลือกในพื้นที่ได้เกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว อันวาร์จึงได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบในการนำเสนอด้วยการเน้นไปทางการการทำโครงการด้านการศึกษาทางเลือก เช่น มีการอบรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิต่างๆ ในพื้นที่ เรื่องสันติภาพ เรื่องเยาวชน เรื่องตาดีกา เป็นต้น ซึ่งทำให้อันวาร์กลายเป็นนักกิจกรรมไปในตัวด้วย เพราะต้องเป็นวิทยากรในกิจกรรมต่างๆ แต่ก็ทำในนามของสำนักสื่อบุหงารายาตลอดเวลา

ที่ผ่านมา สำนักสื่อบูหงารายาเคยทำงานร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมในการจัดโครงการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ เช่น การอบรมการเขียนข่าว การเขียนบทความ อบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและกิจกรรมด้านสันติภาพ

ต่อมา อันวาได้ร่วมกับกลุ่มที่มีชื่อว่า เครือข่ายเยาวชนกับการสร้างสันติภาพที่ร่วมกับกลุ่มมะขามป้อม จังหวัดเชียงใหม่จัดโครงการฟอรั่มระยัตในพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น และได้ร่วมเป็นทีมงานเครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนาสู่อาเซียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)

ด้วยวิธีการทำงานของเขาที่มีหลากหลายรูปแบบ และได้ร่วมงานกับทีมงานต่างๆ มากมาย แต่ยังใช้ชื่อของสำนักสื่อบูหงารายา จนทำให้อันวาร์ได้รับฉายาว่า อันวาร์บุหงารายา ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงชื่ออันวาร์คนก็จะนึกถึงบูหงารายา และถ้าเอ่ยถึงบูหงารายา คนก็จะนึกถึงอันวาร์ ซึ่งทุกคนที่ทำงานในภาคประชาสังคมในพื้นที่ รวมทั้งคนทั่วไปส่วนใหญ่ล้วนจะรู้จักดี

ในอีกด้านหนึ่งของอันวาร์ เป็นคนที่เห็นความสำคัญของภาษามลายู จึงได้เริ่มและเน้นการใช้ตัวอักษรยาวีในการเขียนงานเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภาษามลายูในพื้นที่ด้วย เนื่องจากภาษามลายูที่ใช้อักษรยาวีเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของคนในพื้นที่ ในขณะที่สังคมมลายูส่วนใหญ่ทั้งในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียจะใช้อักษรรูมี

อันวาร์เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการออกแบบมาก เขาพยายามใช้ตัวอักษรยาวีในการเขียนงานภาษามลายูในงานต่างๆ ทั้งการออกแบบป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ การเขียนนิตยสาร เอกสารต่างๆ เพราะถือว่าเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษามลายูต่อไปในอนาคตต่อไปด้วย

 

ผู้จุดประกายผลิตสื่อภาษามลายู

ขณะที่ "รอมละห์ แซแยะ" ภรรยาของอันวาร์ ก็เป็นอีกคนที่รับรู้และเห็นถึงบทบาทของเขาในงานภาคประชาสังคม และมองเห็นถึงแรงบันดานใจที่ต่อมากลายเป็นการจุดประกายให้หลายๆ คนได้สานต่อจนถึงปัจจุบัน

รอมละห์ เล่าว่า อันวาร์เริ่มเข้าทำงานในภาคประชาสังคมในปี 2552 ช่วงหลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ก็เลือกที่จะไม่ไปเรียนต่ออีกหลังจากถูกจับขณะเรียนอยู่ปี 2 ในคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ต่อมาปี 2553 อันวาร์ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสันติภาพ หรือ School of Peace ที่ประเทศอินเดีย ประกอบกับเริ่มทำกิจกรรมเล็กๆ อีกหลายกิจกรรม โดยเฉพาะการทำสื่อสันติภาพกับองค์กรในมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นจุดแรกเริ่มที่อันวาร์ได้ทำงานสื่อสันติภาพอย่างจริงจัง ในช่วงนั้นเองที่รอมละห์ได้รู้จักกับอันวาร์

ในช่วงอันวาร์เริ่มจัดฝึกอบรมข่าววงเล็กๆ อันวาร์เองก็ได้เข้าฝึกอบรมข่าวที่โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ด้วย นับเป็นรุ่นแรกๆ ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ โดยอันวาร์เริ่มพูดคุยถึงแนวคิดที่จะผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จนกระทั่งโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ จะจัดโครงการค่ายฝึกอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงเดือนเมษายน 2555 อันวาร์ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและเริ่มเดินสายไปยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะในพื้นที่ แม้กระทั่งทีมพี่เลี้ยงค่ายส่วนใหญ่ก็มาจากฝ่ายการศึกษาของสำนักสื่อบูหงารายา ซึ่งโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติเพื่อผลิตนักข่าวและสื่อภาษามลายูในพื้นที่ชื่อ "ซินารัน" ในช่วงปลายปีเดียวกัน

แต่ก็ใช่ว่าอันวาร์จะมีแต่งานสื่อที่ดูเหมือนเป็นอาสาสมัครเท่านั้น อันวาร์ยังได้สมัครเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อดังของภาคใต้ มีสำนักงานอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่ทำงานได้เพียงไม่กี่เดือนก็ลาออก เนื่องจากความไม่สะดวกหลายอย่าง

รอมละห์ เล่าว่า เดิมมีการพูดคุยกันว่าอันวาร์จะมีอิสระในการทำงานอยู่ในพื้นที่ โดยเขียนข่าวส่งข่าวไป แต่ในความเป็นจริงคือ ต้องเดินทางไปหาดใหญ่ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3-4 วัน ซึ่งการเดินทางไปมาดังกล่าวทำให้ไม่สะดวก จึงลาออกมาทำงานอิสระ คือทำข่าวลงเว็บไซต์บูหงารายา

ในช่วงของการทำหนังสือบุหงารายาบุ๊ก ได้ตั้งเป็นสำนักพิมพ์เพื่อผลิตสื่อส่งพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อการเรียนการสอน 3 ภาษา คือ ภาษามลายู ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยมีผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาแล้ว เช่น เป็นหนังสือการ์ตูน 3 ภาษา ต่อมาหลังจากอันวาร์ได้ถอนตัวไปคนที่เหลือได้ตั้งเป็นกลุ่มAWAN BOOK และดำเนินการรณรงค์เรื่องการใช้สื่อภาษามลายูและผลิตสื่อ 3 ภาษาต่อไป

รอมละห์ เล่าว่า อันวาร์ชอบทำงานสื่ออิสระที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านได้ อันวาร์มักบอกว่า ความเป็นมลายูมุสลิมปาตานีมีความสวยงามอยู่หลายอบ่างที่จะต้องนำเสนอออกมา "โดยเฉพาะภาษามลายู ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของเรา แต่เราลืมไปแล้ว แต่เราก็ไม่มีสื่อภาษามลายูมากนัก ที่จะทำให้คนได้อ่านและพูดภาษามลายูได้"

สำหรับสำนักสื่อบูหงารายา ไม่เพียงเป็นสื่ออิสระเท่านั้น แต่มีคุณค่าทางความรู้สึก แม้ว่าอันวาร์ไม่ใช่คนที่ก่อตั้งสำนักสื่อนี้ แต่อันวาร์ชอบชื่อนี้ เพราะคำว่า บูหงารายา แปลว่าดอกชบา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของพื้นที่

แม้ว่าปัจจุบันสำนักสื่อบูหงารายาสลายตัวไปแล้ว กลุ่มคนที่ทำงานร่วมในสำนักสื่อนี้ต่างก็มีงานขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่อยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่อันวาร์เข้าไปมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสื่อสันติภาพและสื่อภาษามลายู

รอมละห์ บอกว่า อันวาร์กลายเป็นขวัญใจหรือไอดอลของรุ่นน้องๆ ในพื้นที่หลายคน โดยพยายามเดินตามรอยและผลงานของอันวาร์เองก็มีคนนำมาฉายซ้ำมากขึ้น

 

ความหมายของสันติภาพ

แม้สถานะอันวาร์ในปัจจุบันคือ ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงต่อรัฐ ทว่ารอมละห์ก็ย้ำว่า "บทบาทของอันวาร์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นภาพที่ชัดเจนถึงการต่อสู้ด้วยปากกาและตัวอักษร โดยเชื่อว่านั่นเป็นการสู้เพื่อสันติภาพ คนที่รู้จักอันวาร์จึงพยายามช่วยเขาทุกวิถีทางที่เชื่อว่าจะมีผล"

สิ่งที่กล่าวมานั้น อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เชื่อว่าหากลองค้นหาชื่อของเขาในอินเตอร์ไม่ว่าด้วยภาษาไทยหรือภาษามลายู ก็อาจจะพบผลงานของเขาอีกหลายชิ้น ทั้งที่เป็นงานเขียนและภาพเคลื่อนไหวในชื่อและหัวข้อต่างๆ โดยเฉพาะผลงานเกี่ยวกับภาษามลายู ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกกระแสการรื้อฟื้นภาษามลายูเพื่อการสื่อสารขึ้นในพื้นที่ จนสามารถกล่าวได้ว่า ปัจจุบันภาษาไม่ได้เป็นเงื่อนไขของความรุนแรงในพื้นที่อีกต่อไปแล้ว อันเนื่องมาจากมีการยอมรับและส่งเสริมสนับสนุนภาษามลายูในระดับนโยบายของรัฐไทยแล้ว

จึงไม่น่าแปลกใจที่กระแส "Save Anwar" หรือ "Free Anwar" จะกระจายไปได้อีก อย่างที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ หากแต่การขับเคลื่อนเรื่องของเขาภายในพื้นที่ ยังอาจไม่ร้อนแรงมากนัก ด้วยเกรงว่าอาจมีผลกระทบศาลสถิตยุติธรรม และผู้ต้องขังคดีความมั่นคงก็หาได้มีอันวาร์เพียงคนเดียว

 

=================

 

ข้อมูลประกอบ

 

สรุปคำพิพากษา

(คัดลอกจากรายงานเรื่อง "วิเคราะห์คำพิพากษาคดี "มูฮาหมัดอัณวัร" กับคำชี้แจงของ กอ.รมน." ของสำนักข่าวอิศรา)

ศาลจังหวัดปัตตานี ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 มีด้วยกัน 4 สำนวน โดย นายมูฮาหมัดอัณวัร เป็นจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกจากจำเลย 6 คน ขณะที่อีก 3 สำนวนมีจำเลย 5 คน

คำฟ้อง :

คำฟ้องของโจทก์ (พนักงานอัยการ) สรุปว่า ระหว่างเดือน สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้ง 11 คนกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

- เป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือ ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต

- เป็นอั้งยี่และกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย และยึดอำนาจปกครองในส่วนของ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน เพื่อตั้งประเทศหรือรัฐใหม่ที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง

- สะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันตระเตรียมการและวางแผนการเพื่อเป็นกบฏและเพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย ใช้กำลงประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐและประชาชนทั่วไป

พฤติการณ์ :

จำเลยทั้ง 11 คนกับพวกสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จับกลุ่มปรึกษากันเพื่อจะกระทำการก่อการร้ายในเขตพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน

พื้นที่เกิดเหตุ :

ต.ปูยุด อ.เมืองปัตตานี, ต.ยะรัง ต.ปิตูมุดี อ.ยะรัง, ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา

เส้นทางคดี :

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายมูฮาหมัดอัณวัร กับจำเลยรวม 9 คนมีความผิดจริง ให้ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี ยกเว้นจำเลยที่ 2 ที่ 10 และ 11 ที่อายุไม่เกิน 20 ปี ให้ลดโทษ 1 ใน 3 ต่อมาในศาลอุทธรณ์ ศาลให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 คือนายมูฮาหมัดอัณวัร โจทก์และจำเลยบางรายยื่นฎีกา

ข้อเท็จจริงประกอบพยานหลักฐานที่ศาลฎีกาพิจารณา :

- วันที่ 5 กรกฎาคม 2548 มีคนร้ายร่วมกันฆ่า ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นโรงเรียนประสานวิทยามูลนิธิ หรือ ปอเนาะพงสตา และโรงเรียนบุญบันดาล หรือ ปอเนาะแนบาแด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ และได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 7 รายซึ่งพักอาศัยอยู่ในโรงเรียนทั้งสองแห่งไปซักถาม ก่อนออกหมายจับจำเลยทั้ง 11 คนมาดำเนินคดี

- พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ เบิกความถึงสาเหตุที่เข้าตรวจค้นโรงเรียนว่า จากการตรวจศพ ด.ต.สัมพันธ์ พบว่าคนร้ายนำโทรศัพท์มือถือของผู้ตายไปด้วย และต่อมาตรวจสอบพบว่า บุคคลที่เรียนและพักอาศัยอยู่ที่โรงเรียนบุญบันดาลรายหนึ่งเป็นผู้นำโทรศัพท์ของผู้ตายไปใช้ และนำไปติดต่อกับบุคคลต่างๆ เช่น ผู้ต้องหาชุดแรก 7 ราย เจ้าหน้าที่จึงคุมตัวไปซักถามโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457) และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548)

- ผู้ต้องสงสัยทั้ง 7 รายซึ่งให้การเป็นพยานโจทก์ ยอมรับว่าบุคคลที่เรียนและพักอยู่ในโรงเรียนทั้ง 2 แห่งต่างถูกชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต มีการเข้าพิธีซูเปาะ (สาบาน) ร่วมรับฟังคำบรรยายปลุกระดมเพื่อกอบกู้เอกราชของรัฐปัตตานีกลับคืนมา และฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย พร้อมฝึกจิตใจให้กล้าหาญด้วยการกระทำความผิดกฎหมายรูปแบบต่างๆ รวมทั้งฝึกยุทธวิธีการสู้รบและการใช้อาวุธ

- พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจอีกนายหนึ่ง เบิกความว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเริ่มมีมาตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง กระทั่งกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตริเริ่มจัดระบบการต่อสู้ให้เข้มแข็ง เปลี่ยนยุทธวิธีโดยใช้การหาสมาชิกจากนักเรียนตามโรงเรียนปอเนาะและตาดีกา มีการฝึกพัฒนาเยาวชนที่เป็นสมาชิกเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อแบ่งแยกดินแดน และขบวนการนี้ได้ปฏิบัติการรูปแบบต่างๆ โจมตีหน่วยทหาร ปล้นอาวุธปืน ฆ่าผู้นำท้องถิ่น และล่าสุดคือลักลอบฆ่าตัดคอ ด.ต.สัมพันธ์

- ศาลเชื่อว่ามีขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหมายกระทำการแบ่งแยกราชอาณาจักร ยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ทั้งใช้กำลังประทุษร้ายกระทำการอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย รวมทั้งกระทำการอันใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ โดยมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาล อันเป็นความผิดฐานกบฏและก่อการร้ายจริง แม้คำเบิกความจะเป็นคำให้การชั้นสอบสวนและซักถามจะเป็นการซัดทอดจากผู้เป็นสมาชิกของขบวนการด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นการปัดความผิดของตน เป็นเพียงการเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่ประสบพบเห็นมา มีการนำชี้สถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามีอยู่จริง

คำพิพากษา :

- คดีรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจริง (เป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานีที่มุ่งหมายกระทำการแบ่งแยกราชอาณาจักร) เฉพาะจำเลยที่ 3 นายมูฮาหมัดอัณวัร กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลจึงพิพากษาแก้ (แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์) ให้จำคุก 12 ปีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

คำชี้แจงจาก กอ.รมน.

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2556 ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 25 กรกฎาคม 2550 ให้จำคุกจำเลยคนละ 12 ปีจำนวน 9 คน คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 (นายมูฮาหมัดอัณวัร เป็นจำเลยที่ 3) จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 ถึงที่ 11 ในความผิดต่อความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร แต่ในขณะที่กระทำความผิด จำเลยที่ 2 ที่ 10 และที่ 11 มีอายุไม่ถึง 20 ปี ให้ลดมาตราส่วนโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 8 ปี และให้ยกฟ้องจำนวน 2 คน คือจำเลยที่ 4 และที่ 6

ต่อมาจำเลยทั้ง 9 คนยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำพิพากษาเมื่อ 16 มิถุนายน 2552 ให้ยกฟ้องเพิ่มเติมจำนวน 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 (นายมูฮาหมัดอัณวัร) พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีและจำเลยที่เหลือ 7 คนได้ยื่นฎีกาขัดค้าน ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า จากคำพิพากษาดังกล่าวได้มีการสร้างกระแสในเชิงปฏิเสธและไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจดังนี้

1.ผู้พิพากษาของประเทศไทยปฏิบัติหน้าที่ในพระนามขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์ศาสนูปถัมภก คือให้การอุปถัมภ์ทุกศาสนา ไม่แบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติต่อทั้งศาสนาพุทธ อิสลาม คริสต์ หรือศาสนาอื่นๆ ดังนั้นการอ้างอิงถึงความไม่ยุติธรรมจากเรื่องศาสนาจึงไม่มีเหตุผลอันควรสำหรับกระบวนการยุติธรรมของศาลไทย อีกทั้งผลการพิจารณาของศาลไทยมิได้มีผลความเชื่อถือเฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงสามารถนำไปประกอบเป็นหลักฐานในการพิพากษาคดีระดับสากลด้วย

2.กระบวนการศาลยุติธรรมของไทยมีขั้นตอนที่ได้ให้ความเสมอภาคระหว่างจำเลยและผู้กล่าวหา ตลอดทั้งยึดถือในหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมอยู่ในตัว จึงได้มีขั้นตอนที่ใช้ความละเอียดในการพิพากษาคดีถึง 3 ขั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มิได้ตัดสินโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ อีกทั้งศาลแต่ละระดับจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีที่แยกจากกัน และไม่มีการแทรกแซงซึ่งกันและกัน โดยจำเลยทุกคดีจะมีสิทธิในการร้องขอความยุติธรรมได้รวม 3 ชั้น และสิ้นสุดที่ศาลฎีกา จึงเห็นได้ว่าศาลของประเทศไทยได้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในการให้โอกาสต่อทั้งจำเลยและฝ่ายผู้ฟ้อง คืออัยการ

3.นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกับพวกอีก 11 คน เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2548 จากพฤติกรรมร่วมกันซ่องสุมผู้คนทำการฝึกเพื่อต่อต้าน ทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาจากหลักฐานและพยานบุคคลแล้วพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี

หลังจากนั้น นายมูฮาหมัดอัณวัร และเครือญาติมีความเห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้ให้ความยุติธรรมเพียงพอ จึงได้ดำเนินการร้องขอความยุติธรรมผ่านศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้อง ต่อมาฝ่ายอัยการซึ่งเป็นทนายความของรัฐเห็นว่ารูปคดีของ นายมูฮาหมัดอัณวัร ยังมีข้อสงสัยในพฤติกรรมอันมีผลต่อความมั่นคงสันติสุขของประชาชน ชุมชน และประเทศ จึงได้เสนอเรื่องให้พิจารณาในระดับสูงสุดคือศาลชั้นฎีกา ด้วยพยานหลักฐานที่ครบถ้วนและมีความชัดเจนมิอาจโต้แย้งได้ ศาลฎีกาจึงได้พิพากษายืนตามศาลขั้นต้น คือ จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี นับว่าเพียงพอต่อการให้ความยุติธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว

4.ในอดีตก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ศาลของประเทศไทยได้เคยพิพากษายกฟ้องคดีความที่มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมตกเป็นผู้ต้องหาจำนวนหลายราย ดังนั้นการที่จำเลยผู้หนึ่งผู้ใดจะถูกพิพากษาอย่างไรจะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลยพินิจของผู้พิพากษาที่มิได้มุ่งแต่จะใช้บทลงโทษเฉพาะต่อประชาชนแต่เพียงประการเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงหลักการอื่นๆ ที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: 3 ปีความตาย ‘มานะ ป่อเต็กตึ๊ง’ เหยื่อกระสุน พ.ค.53

Posted: 15 May 2013 07:06 AM PDT

ย้อนรอย 15 พฤษภาคม กรณีการเสียชีวิตของอาสาป่อเต็กตึ๊ง วัย 22 ปี  มานะ แสนประเสริฐศรี และผู้เสียชีวิตบริเวณปากซอยงามดูพลี คนที่ถูก ศอฉ.นำภาพร่างเขาไปใช่อธิบายว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในวันที่ 19 พ.ค. ขณะนี้เริ่มมีการไต่สวนการตายแล้ว

ภาพมานะ(คนซ้าย)ขณะปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บค่ำวันที่ 14 พ.ค.53 ปาก ซ.งามดูพลี

วันนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (15 พฤษภาคม) ที่บริเวณปากซอยงามดูพลี หน้าธนาคารกสิกรไทย ถนนพระราม 4 ในเหตุการณ์ "กระชับวงล้อม" ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กระทำต่อการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำให้อาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รหัสทองหล่อ 016 หรือนายมานะ แสนประเสริฐศรี วัย 22 ปี ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ กระสุนปืนทำลายสมอง โดยบาดแผลที่ 1 กระสุนทะลุกะโหลกด้านหลังซ้ายผ่านสมองใหญ่ซีกซ้ายและขวา ทะลุเบ้าตา ลูกตาด้านขวาแตก ทะลุออกที่หางตาขวา บาดแผลที่ 2 พบเศษโลหะคล้ายตะกั่วเป็นเศษผงเล็กๆ ติดอยู่บางส่วนตามทางผ่านบาดแผล ทิศทางจากซ้ายไปขวา หลังไปหน้า บนลงล่างเล็กน้อย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ในเวลาประมาณ 14.00 – 15.00 น.

 

การไต่สวนการตายนัดแรก

มานะ ถูกยิงขณะกำลังเข้าไปช่วยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือพรสวรรค์ นาคะไชย ซึ่งถูกยิงก่อนหน้าและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยขณะที่มานะเข้าไปให้การช่วยเหลือก่อนที่จะถูกยิงนั้นมีการถือธงที่เป็นสัญลักษณ์กาชาด

กรณีมานะและพรสวรรค์ (คดีหมายเลขดำที่ ช.1/2556) ถูกรวมเป็นคดีเดียวกันและเริ่มมีการไต่สวนการตายตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา นัดไต่สวนครั้งต่อไปคือวันที่ 8 ก.ค.นี้

 

แม่มานะเบิกลูกชายชอบช่วยเหลือผู้อื่น

นางนารี แสนประเสริฐศรี อายุ 53 ปี มารดาของนายมานะ เบิกความสรุปว่า ลูกชายเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย วันเกิดเหตุ ขณะลูกชายกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ เพื่อนที่หน่วยกู้ภัยแจ้งมาทางวิทยุว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณปากซอยงามดูพลี ชุมชนบ่อนไก่  ถ.พระราม 4 ให้ออกไปช่วย ลูกชายจึงออกจากบ้านซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุไปช่วย ต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. เธอจึงได้รับแจ้งจากเพื่อนลูกชายที่เป็นเจ้าที่หน่วยกู้ภัยว่า ลูกชายถูกยิงเสียชีวิต ศพอยู่ที่ รพ.เลิดสิน เมื่อไปถึงก็พบศพลูกชายมีบาดแผลถูกยิงเข้าท้ายทอยซ้ายทะลุคิ้วด้านขวา ภายหลังทราบจากหน่วยกู้ภัยว่าลูกชายออกไปช่วยนำนายพรสวรรค์ที่ถูกยิงอยู่กลาง ถ.พระราม 4  มาที่ริมฟุตบาธ และขณะกำลังออกจากที่กำบังเพื่อไปช่วยผู้บาดเจ็บอีก 2 คน ก็ถูกยิงเสียชีวิตคาที่ ขณะที่ถูกยิงยังถือธงสัญลักษณ์กาชาดอยู่ด้วย ก่อนเกิดเหตุพยานทราบว่ามีการชุมนุมกันอยู่ที่แยกราชประสงค์ แต่ทหารมาตั้งแถวอยู่บนสะพานไทย-เบลเยียม และอยู่ทั้ง 2 ฝั่งของ ถ.พระราม 4 พร้อมกับตั้งด่านตรวจเข้า-ออกเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 14  พ.ค.53

นางนารี เบิกความด้วยว่ามานะเป็นคนดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น จึงเป็นอาสาป่อเต็กตึ๊ง รวมทั้งช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์นี้ด้วย

 

พี่พรสวรรค์อ้างเพื่อนน้องบอกกระสุนมาจากฝั่งสนามมวยลุมพินี

นายนันทวัน นาคะไชย อายุ 34 ปี อาชีพรับจ้าง พี่ชายนายพรสวรรค์ เบิกความสรุปว่า น้องชายมีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างและไม่ได้เป็นผู้ชุมนุม วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18.00 น. ได้รับแจ้งจาก รพ.เลิดสิน ว่า น้องชายถูกยิงอาการสาหัส เขาจึงเดินทางไปพร้อมกับแฟนสาวของพรสวรรค์ แต่เมื่อไปถึงก็พบน้องชายเสียชีวิตอยู่ในห้องดับจิตโดยมีบาดแผลถูกยิงเข้าที่ช่องท้องด้านขวา ภายหลังทราบจากเพื่อนของน้องชายว่า ก่อนเกิดเหตุ น้องชายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งแฟนสาวบริเวณสีลม จากนั้นจึงเดินทางไปพบเพื่อนที่ซอยงามดูพลี ถ.พระราม 4 แล้วถูกยิง โดยเพื่อนของน้องชายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุบอกว่ากระสุนมาจากฝั่งสนามมวยลุมพินี

 

เพื่อนอาสาป่อเต็กตึ๊งคาดกระสุนมาจากสนามมวยลุมพินี

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ไม่นาน VoiceTV ได้สัมภาษณ์นายอัฐชัย ทัพจี อาสาป่อเต็กตึ๊งเพื่อนนายมานะและคลานอยู่ตามหลังมานะก่อนจะถูกยิงเล่าว่านายมานะถูกยิงขณะที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ถูกยิงก่อนหน้า โดยคาดว่าทิศทางของกระสุนน่าจะมาจากสนามมวยลุมพินี

 

ศอฉ.นำภาพไปแถลงระบุเป็นหน่วยดับเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์

นอกจากนี้ในวันที่ 20 พ.ค.53 ภาพการเสียชีวิตของนายมานะยังถูกพล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก นำไปใช้แถลงข่าวเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารในการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงถูกยิงจากการพยายามเข้าไปดับเพลิงที่เซ็นทรัลเวิลด์  ทั้งๆ ที่เป็นภาพที่ต่างสถานที่ ต่างเวลา โดยพล.ท.ดาว์พงษ์ แถลงว่า "จังหวะเวลาที่เรารอยังไม่เข้าในช่วงนั้น ผู้ที่อยู่ข้างในบางส่วนก็เริ่มเผาทำลาย ภายในก็เริ่มเผาตรงเซ็นทรัลเวิลด์ โรงแรมเซนทารา แกรนด์  ดับไปแล้วก็มาเผาใหม่ เราก็พยายามเอารถดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่ พอรถดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่ก็ถูกยิงออกมา ทำให้ไม่สะดวกในการเข้าไป  ก็ทำให้เกิดความสูญเสีย  แต่เราก็พยายามเต็มที่ที่จะพยายามนำรถดับเพลิงเข้าไป  แต่มีการต่อต้านอยู่ตลอดเวลา" (พล.ท.ดาว์พงษ์แถลงพร้อมนำภาพมานะ ซึ่งถูกยิงวันที่ 15 ตรงปากซอยงามดูพลีมาแสดงประกอบ )

ภาพร่างนายมานะที่ ศอฉ.นำมาแถลงในวันที่ 20 พ.ค.53

วีดีโอคลิปที่ พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ แถลงในวันที่ 20 พ.ค.53

2 พลแม่นปืน กับ ทิศทางกระสุนสังหาร

นอกเหนือจากทั้งหมดที่กล่าวมา หลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งในกรณีนี้ คือคลิปอันโด่งดังของ "พลแม่นปืนระวังป้องกัน" 2 นาย ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค.53 เวลาประมาณ 14.00 น. บริเวณชั้น 2 อาคารหน้าสนามมวยลุมพินี (คลิกดู) นาทีที่ 0.29 มีเสียงตะโกนว่า "อย่าเพิ่งยิง ดับไฟก่อน" ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นช่วงเดียวกับที่นายมานะกำลังดับเพลิงหน้าธนาคารกสิกรไทย ตรงตู้โทรศัพท์ เพราะหากพิจารณาภาพเหตุการณ์ตรงบริเวณดังกล่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ หลายแห่งจะเห็นภาพขณะที่มานะกำลังดับเพลิงอยู่ รวมทั้งภาพมานะกำลังช่วยผู้บาดเจ็บในบริเวณดังกล่าวก่อนถูกยิง ซึ่งทั้งหมดเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 14.00 - 15.00 น.

วีดีโอคลิปคลิป 2 พลแม่นปืนระวังป้องกัน

นอกจากมานะและนายพรสวรรค์ที่ถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณดังกล่าวแล้ว ยังมีนายเกรียงไกร เลื่อนไธสง และนายวารินทร์ วงศ์สนิท อาสากู้ชีพศูนย์นเรนทรถูกยิงเสียชีวิตด้วย


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

จุดที่มานะและพรสวรรค์ ถูกยิง ปากซอยงามดูพลี ตู้โทรศัพท์หน้าธนาคารกสิกรไทย


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

อาคารหน้าสนามมวยลุมพินี(ปัจจุบันปรับปรุงเสร็จแล้ว)ที่ 2 พลแม่นปืนระวังป้องกันประจำ

รอยกระสุนบริเวณตู้ TOT ใกล้ที่เกิดเหตุที่แสดงทิศทางจากฝั่งสนามมวยลุมพินีมายิงหน้า ธ.กสิกรไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาธารณสุขเล็งให้ผู้หญิงปั๊มลูกเพิ่มเฉลี่ย 2.1 คน แก้ปัญหาคนแก่ล้นเมือง

Posted: 15 May 2013 12:24 AM PDT

กระทรวงสาธารณสุขเตรียมวางมาตรการให้ผู้หญิงเพิ่มจำนวนบุตรเฉลี่ย 2.1 คน แก้ปัญหาระยะยาวคนแก่ล้นเมือง สร้างสมดุลโครงสร้างประชากร พร้อมดึงชุมชนร่วมดูแลผู้สูงอายุ

15 พ.ค.56 ASTVผู้จัดการออนไลน์  รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม.  นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการเปิดประชุมระดับชาติ โครงการพัฒนารูปแบบบริการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงรวมทั้งกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นและไทย ว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จากรายงานการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2554 พบว่ามีประชากรสูงอายุประมาณร้อยละ 12  ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 9 ล้านคน และพบว่าผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มจากร้อยละ 10 ของประชากรสูงอายุทั้งหมดในปี 2543 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2553 โดยอัตราเกิดของไทยลดลง หญิงวัยเจริญพันธุ์ไทยอายุ 15-49 ปี 1 คนมีบุตรเฉลี่ย 1.5 คน ทำให้โครงสร้างประชากรไทยอยู่ในสภาวะไม่สมดุลสัดส่วนระหว่างผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกับเด็กอายุ 0-14 ปี ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 1: 2.56 ในปี 2543 เป็น 1 : 1.49 ในปี 2553

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ในการรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทย ได้มียุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ  เอกชนและชุมชน  มี 2 มาตรการ โดยมาตรการระยะสั้นเน้นการจัดบริการการดูแลระยะยาวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่วนในระยะยาวได้มียุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการเพิ่มจำนวนบุตรเฉลี่ยของหญิงไทยให้สูงขึ้นจาก 1.5 เป็น 2.1 เพื่อให้โครงสร้างประชากรมีความสมดุล  ลดภาระครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุ และเน้นการส่งเสริม สุขภาพกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต (Productivity) ยาวนานมากขึ้น มอบหมายให้ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้อำนวยการโครงการ (Project Director) และนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดการโครงการ (Project Manager)

นพ.ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ปลัด สธ.  กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และอาสาสมัคร โดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องพึ่งพิง ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 1 ล้านคน มี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ต้องพึ่งพาคนอื่นเมื่อออกนอกบ้าน มีประมาณร้อยละ 10 หรือประมาณ 900,000 คน และประเภทนอนติดเตียง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีประมาณร้อยละ 1 หรือประมาณ 90,000 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะไม่ต้องการการดูแลทางการแพทย์ แต่ต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือตลอดอายุขัยจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันพบว่าเป็นภาระที่หนักของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวขนาดเล็ก ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเตรียมความพร้อมด้านระบบบริการผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง 2 กลุ่มนี้  โดยร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งภาครัฐ เอกชน จัดระบบดูแลหลายด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมมีระยะเวลาดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2556-2560

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวนำร่องดำเนินการ 6 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น  เชียงราย สุราษฎร์ธานี  นนทบุรี  นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร โดยเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ได้ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นระยะเวลาดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2550-2553ในพื้นที่เดิม   เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่กับครอบครัว ชุมชน อย่างอบอุ่นตลอดไป  หากสำเร็จ ไทยจะเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง ให้แก่ประเทศอาเซียนด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสูงสหรัฐฯ ตัดสินมอนซานโตชนะคดีห้ามนำเมล็ดที่มีสิทธิบัตรปลูกซ้ำ

Posted: 14 May 2013 10:48 PM PDT

ศาลสูงของสหรัฐฯ มีมติเอกฉันท์ให้มอนซานโตชนะคดีฟ้องเกษตรรายย่อยในรัฐอินเดียน่าข้อหานำเมล็ดพันธุ์มีสิทธิบัตรไปปลูกซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่ศูนย์ความปลอดภัยทางอาหารชี้การยึดถือสิทธิบัตรเป็นการทำลายเกษตรรายย่อย

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2013 ศาลสูงของสหรัฐฯ ตัดสินว่าชาวนาในสหรัฐฯ ผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีการจดสิทธิบัตรโดยบรรษัทมอนซานโตไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์มาใช้เพาะปลูกได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตร

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีความขัดแย้งระหว่างชาวนาในรัฐอินเดียนากับบรรษัทเกษตรอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโต ต่อเรื่องการใช้เมล็ดพันธุ์ที่จดสิทธิบัตร โดยเวอร์นอน โบว์แมน ชาวนาในสหรัฐฯ ถูกฟ้องร้องโดยมอนซานโตในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร โดยที่โบว์แมนได้ซื้อเมล็ดถั่วเหลืองผสมจากโรงเก็บในท้องถิ่นแต่ว่าในเมล็ดเหล่านั้นมีเมล็ดที่มอนซานโตจดสิทธิบัตรอยู่ด้วย

หลังจากนั้นโบว์แมนนำจึงนำเมล็ดไปเพาะปลูกและพ่นสารกำจัดศัตรูพืชโดยที่มีเมล็ดพันธุ์ "ราวด์อัพเรดี" ของมอนซานโตซึ่งมีฤทธิ์ทนทานต่อยารวมอยู่ด้วย โบว์แมนให้เหตุผลว่าที่เขาทำเช่นนั้นเพราะต้องการให้เมล็ดพันธุ์ของเขาทนต่อยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งมอนซานโตกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิบัตร

อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงตามหลักการข้อสิ้นสุดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (Patent exhaustion) ที่กล่าวไว้ว่าหลังจากวัตถุที่ถูกจดสิทธิบัตรถูกจำหน่ายออกไปแล้ว ผู้ซื้อมีสิทธิในการขายต่อหรือนำมาใช้ตามแต่ที่เขาเห็นสมควร

แต่รายงานความคิดเห็นของศาลกล่าวว่ากรณีข้อสิ้นสุดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาถูกนำมาใช้อย่างเจาะจงแต่เฉพาะตัวสินค้าที่ถูกซื้อไปเท่านั้น ในที่นี่คือตัวเมล็ดพันธุ์ที่ถูกซื้อมา หมายความว่ายังคงมีการห้ามไม่ให้นำ 'สิ่งผลิตซ้ำ' จากสินค้ามาสร้างใหม่ มาใช้ หรือนำไปขายต่อ

ศาลกล่าวว่าแม้ว่าทางมอนซานโตจะไม่มีสิทธิในการแทรกแซงการใช้เมล็ดพันธู์ราวด์อัพเรดี แต่หลักการข้อสิ้นสุดทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่ได้อนุญาติให้โบว์แมนนำเมล็ดพันธุ์ไปผลิตซ้ำโดยปราศจากคำยินยอมจากมอนซานโต วิ่งที่โบว์แมนทำได้คือการนำเมล็ดพันธุ์มาบริโภคเองหรือนำไปเลี้ยงสัตว์ของเขาเท่านั้น

โดยก่อนหน้านี้ในศาลชั้นต้นมอนซานโตได้ฟ้องศาลและชนะคดีโดยการให้มอนซานโตเสียหาย 84,456 ดอลลาร์ (ราว 2,500,000 บาท) จนกระทั่งมีการยื่นเรื่องให้ศาลสูงพิจารณาคดีอีกครั้ง

แม้ว่าผู้บริหารของมอนซานโตจะให้เหตุผลว่าการปกป้องสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรกระทำเพราะเทคโนโลยีชีวภาพของพวกเขาจะช่วยหล่อเลี้ยงความต้องการอาหารของโลก แต่ศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร (Center for Food Safty) ไม่เห็นด้วย โดยที่ แอนดรูว์ คิมเบรลล์  ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่าศาลตัดสินปกป้องมอนซานโตแทนที่จะปกป้องชาวนาเป็นเรื่องขัดกับหลักตรรกะและวิทยาศาสตร์เกษตร เพราะว่าการผลิตซ้ำเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งที่ธรรมชาติกระทำ ไม่ใช่ชาวนา

ทางด้าน บิลล์ ฟรีส นักวิเคราะห์นโยบายวิทยาศาสตร์ของศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางอาหารกล่าวว่าการจดสิทธิบัตรเป็นการให้อำนาจกับบรรษัทอย่างมากและเป็นการสร้างความเสียหายต่อชาวนา และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีของโบว์แมนเป็นสิ่งที่ช่วยลดภาระด้านราคาเมล็ดพันธุ์ชีวเทคโนโลยีที่ถีบราคาสูงขึ้นอย่างมาก โดยมอนซานโตมีการวางเงื่อนไขให้ชาวนาที่ซื้อเมล็ดเซนต์สัญญาไม่เก็บกักเมล็ดพันธุ์ทำให้พวกเขาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี

ศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางอาหารได้เก็บข้อมูลการฟ้องร้องคดีโดยมอนซานโต ซึ่งระบุว่ามอนซานโตได้ฟ้องร้องคดีละเมิดสิทธิบัตรมาแล้ว 140 คดี มีผู้เกี่ยวข้องเป็นชาวนา 410 ราย ธุรกิจฟาร์มขนาดเล็ก 56 แห่ง และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้เป็นเงินรวมทั้งหมดราว 23.67 ล้านดอลลาร์ (ราว 702 ล้านบาท)

โบว์แมนบอกว่าเขายอมรับเงื่อนไขของมอนซานโตและซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี เมล็ดพันธุ์เทคโนโลยีดังกล่าวมีเกษตรกรในสหรัฐฯ นำมาใช้ร้อยละ 90 เนื่องจากมียีนส์ทนต่อยากำจัดศัตรูพืช แต่โบว์แมนก็นำเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูกซ้ำครั้งที่สองในช่วงฤดูเพาะปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวสาลี เพราะเมล็ดพันธุ์ช่วงปลายปีมักจะปลูกขึ้นยากและเขาไม่ต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์ราคาสูงที่มีสิทธิบัตร

 

เรียบเรียงจาก


US Supreme Court Rules In Favour Of Monsanto In Patent Exhaustion Case, IP-Watch, 13-05-2013

High court backs Monsanto patent in seed case, Boston Globe, 14-05-2013

Supreme Court sides with Monsanto in major patent case, USA Today, 13-05-2013

Farmer's Supreme Court Challenge Puts Monsanto Patents at Risk, New York Times, 15-02-2013


ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น