ประชาไท | Prachatai3.info |
- เปิดแสดง 'ภาพสุดท้าย' ของ 'ฟาบิโอ โปเลนกี' ก่อนถูกยิงในเหตุการณ์พ.ค. 53
- 3 ปีผ่านไป เสื้อแดง-ขบวนการประชาธิปไตย อยู่ตรงไหนหลังสลายการชุมนุม
- กวีประชาไท: รบเถิด อรชร
- วีดิโอต้านคอร์รัปชั่นแบบโหดๆ กลายเป็นข้อถกเถียงในหมู่ชาวรัสเซีย
- กูเกิ้ล - เครื่องด่าออโตเมติก?
- สหภาพแรงงานระบุมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย เหตุโรงงานรองเท้าถล่มที่กัมพูชา
- เปิดตัว NBTC Policy Watch ส่อง 'ทีวีดิจิตอลสาธารณะ' หรือจะเป็นตลกร้ายของการปฏิรูปสื่อ?
- Flash Mob ทั่วกรุงฯ เครือข่าย LGBT ไทย ประกาศ “สิทธิ LGBT คือสิทธิมนุษยชน”
- ไม่พอใจรูปแบบเลือกตั้งก็ให้ "ย้ายไปที่อื่น": วาทะล่าสุดจาก มท.1 มาเลเซีย
- ประชุม GBC ไทย-กัมพูชา เห็นพ้องทำพื้นที่ชายแดนให้สงบเรียบร้อย
- แนวร่วมคนไทยรักชาติประกาศยกระดับการชุมนุมพรุ่งนี้
- เสื้อแดงตั้งกองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์เชียงใหม่ ป้องกันประท้วงประชุมน้ำโลก
- ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ เบิกความคดีแดงก่อการร้าย เชื่อมีชายชุดดำอยู่ในที่ชุมนุม
- โรฮิงญา: ชีวิตที่ห้องกัก ตอนที่ 1 ตม. สงขลา
- พีมูฟแถลง 'หยุดการใช้มาตรการทางกฏหมาย ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ร่วมในการแก้ไขปัญหา'
เปิดแสดง 'ภาพสุดท้าย' ของ 'ฟาบิโอ โปเลนกี' ก่อนถูกยิงในเหตุการณ์พ.ค. 53 Posted: 17 May 2013 12:09 PM PDT 'อิซา โปเลนกี' น้องสาวช่างภาพอิตาเลียนที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 53 จัดแสดงภาพชุดสุดท้ายก่อนพี่ชายถูกยิงเสียชีวิต ก่อนศาลตัดสินสาเหตุการตาย 29 พ.ค. นี้ 18 พ.ค. 56 - ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เอลิซาเบตต้า โปเลนกี น้องสาวของช่างภาพอิตาเลียนที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วงพ.ค. 53 ฟาบิโอ โปเลนกี ได้เปิดงานแสดงนิทรรศการ 'ภาพสุดท้าย กรุงเทพ 2553' ซึ่งเป็นภาพถ่ายของนายฟาบิโอในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงระหว่างเดือนเม.ย. - พ.ค. 53 ก่อนที่เขาจะถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พ.ค. 53 บริเวณแยกสารสิน จุดประสงค์ของงานดังกล่าว ผู้จัดงานระบุว่า เพื่อต้องการรำลึกถึงฟาบิโอในช่วงสุดท้ายของชีวิต และความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์และความยุติธรรมของเขา ผ่านรูปถ่ายที่เขาต้องการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ท่ามกลางความขัดแย้ง นอกจากภาพถ่ายจากเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 53 ที่ประเทศไทยแล้ว ในงานยังได้ฉายภาพถ่ายของฟาบิโอที่ประเทศอื่นๆ เช่น ชุมชนในบราซิล และชะตากรรมของผู้อพยพในพม่า อิซากล่าวว่า ใช้เวลารวบรวมภาพที่มีอยู่ทั้งหมดของฟาบิโอเป็นเวลาราว 1 ปี และใช้เวลาราว 4 เดือนเพื่อเลือกรูปจากกว่า 500 ภาพให้เหลือราว 30 ภาพเพื่อมาจัดแสดง ภาพสุดท้ายจากคอมพิวเตอร์ของฟาบิโอ ถ่ายเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 53 เธอกล่าวว่าการเลือกภาพมาจัดแสดงเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเป็นเสมือนการใช้ชีวิตและทำความเข้าใจช่วงเวลาสุดท้ายของฟาบิโอก่อนถูกยิง เพราะเธอมิได้อยู่ด้วยกับเขาตอนที่ฟาบิโอเสียชีวิต ต่อเรื่องคำตัดสินของศาลอาญากรุงเทพใต้ในการใต่สวนสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งดำเนินมาได้กว่าหนึ่งปีแล้ว อิซากล่าวว่า จากการไต่สวนและหลักฐานต่างๆ ที่มี ก็สามารถชี้ได้ว่าทิศทางของกระสุนที่ทำให้ฟาบิโอเสียชีวิตมาจากทหาร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าศาลคงจะตัดสินได้อย่างถูกต้อง และกล่าวด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมที่นี่เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด เพราะตอนแรกตนเชื่อว่า คดีของฟาบิโออาจมิได้มาถึงชั้นศาลเลยด้วยซ้ำ "แต่สำหรับความรู้สึกของฉัน ไม่ว่าจะอย่างไร มันเป็นความรู้สึกที่ยากมากในการจะก้าวไปแต่ล่ะจุด ในที่สุดแล้วฉันก็ไม่ได้คาดหวังอะไร ไม่ได้อยากให้คนฆ่าน้องชายต้องถูกประหารชีวิตหรือถูกลงโทษ แต่เพียงขอให้วามจริงมันปรากฎออกมาเท่านั้น" อิซ่ากล่าว นิทรรศการภาพดังกล่าว จะจัดแสดงถึงวันที่ 30 พ.ค. 56 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ถ. เพลินจิต กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในวันที่ 29 พ.ค. 56 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีกำหนดอ่านคำตัดสินในคดีการไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ เพื่อทำคำสั่ง แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหนเมื่อใด และพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
3 ปีผ่านไป เสื้อแดง-ขบวนการประชาธิปไตย อยู่ตรงไหนหลังสลายการชุมนุม Posted: 17 May 2013 11:49 AM PDT
ครบรอบ 3 ปีแห่งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเริ่มเคลื่อนขบวนชุมนุม 12 มีนาคม และต่อเนื่องมาถึงเดือนพ.ค. 2553 การชุมนุมเกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง จนกระทั่งจบลงด้วยการถูกกระชับพื้นที่ในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม(ศปช.) ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตรวม 95คน บาดเจ็บนับพันคน ทั้งฝ่ายประชาชน และทหาร ประเด็นที่คนเสื้อแดงชูขึ้นเป็นข้อเรียกร้องคือประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แน่นอนว่า แนวคิดและจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารอาจจะยังเป็นจุดยืนร่วมกัน แต่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองเสียงข้างมากคือพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากคนเสื้อแดง ปัญหาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย และปัญหานักโทษทางการเมืองอันยืดเยื้อต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อนหน้ากลับยังไม่ได้แก้ไข บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยน การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหลายครั้งถูกตอบโต้ว่าเป็นการบ่อนทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ความท้าทายในรูปแบบของคำถามต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงก็เพิ่มมากขึ้น ประชาไทรวมรวมความคิดเห็นจากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักวิชาการที่มีบทบาททั้งต่อประเด็นการเรียกร้องประชาธิปไตย และบทบาทในการแสดงการคัดค้านการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ร่วมทบทวนและตั้งคำถามถึงขบวนการทางการเมืองที่เรียกว่าคนเสื้อแดงที่ภายหลังได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งแล้ว ก็มีคำถามที่ท้าทายตามมามากมายถึงความเข้มแข็งต่อข้อเรียกร้องของตนเองเมื่อ 3 ปีก่อน --ต้านรัฐประหาร สู้เพื่อประชาธิปไตย!? ต่อไปนี้ คือการตั้งข้อสังเกต และคำถามจากพวกเขาเหล่านั้น "พลังเสื้อแดงยังห่างไกลจากความสำเร็จในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงการสร้างเมืองแบบเดิม" ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ผู้ริเริ่มรณรงค์แคมเปญก้าวข้ามความกลัว หรือ "ฝ่ามืออากง" และมีบทความในเว็บไซต์วิชาการต่างประเทศวิพากษ์การรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันระยะหลัง เขาก็วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึงความจริงใจในการแก้ปัญหานักโทษการเมือง และนักโทษทางความคิด: โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ร่วมชุมนุมเสื้อแดงเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นความเลวร้ายทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่ด้อยไปกว่าเหตุการณ์สังหารนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์เมื่อปี 2516 และ 2519 แต่การต่อสู้ของเสื้อแดงในยุคนี้มีความแตกต่างจากกลุ่มเคลื่อนไหวที่ต่อต้านระบบเผด็จการในอดีตอย่างมาก กลุ่มเสื้อแดงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวของพลังประชาสังคม (ที่มีความหลากหลายและมีสมาชิกที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน) ที่มาจากฐานล่างของปีระมิดโครงสร้างอำนาจของไทย เป็นพลังที่ผลักดันมาจากระดับล่างของสังคม เพื่อจะเรียกร้องและกดดันให้ชนชั้นปกครองที่ครอบงำโครงสร้างการเมืองไทยมานาน ได้ยอมรับในกฏกติกาทางการเมืองที่มีความยุติธรรมมากขึ้น นับว่าเป็นพลังจาก bottom-up (จากล่างขึ้นบน) ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย อย่างไรก็ดี พลังเสื้อแดงยังห่างไกลจากความสำเร็จในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงการสร้างเมืองแบบเดิม ปัญหามีอยู่หลายประการ นับตั้งแต่การขาดผู้นำที่น่าเชื่อถือในกลุ่มคนเสื้อแดง อุดมการณ์ส่งเสริมประชาธิปไตยที่ยังไม่เด่นชัด การขาดการวางโครงสร้างองค์กรและจัดระบบสมาชิกภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ พลังเคลื่อนไหวเสื้อแดงต้องมีจุดยืนทางการเมืองที่แน่ชัด จะต้องไม่ถูก compromise (ประนีประนอม)ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่เกิดจากการนำเอาขบวนการเสื้อแดงไปผูกยึดโยงกับพรรคเพื่อไทยอย่างเหนียวแน่น จนถึงจุดที่เสื้อแดงไม่กล้าที่จะคัดค้าน/วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายที่อาจส่งผลในทางลบต่อขบวนการเสื้อแดงเอง หรือต่อหลักการทางประชาธิปไตยด้วยซ้ำ "คนเสื้อแดงที่บอกว่าสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น ที่ผ่านมายังพิสูจน์ตัวเองไม่ได้" สุริยะใส กตะศิลา อดีตเลขาธิการ ครป และเป็นอดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีบทบาทสูงในการขับไล่รัฐบาลทักษิณต่อเนื่องนับจากปี 2548 เป็นต้นมา เขาคือผู้อ่านแถลงการณ์ของพธม. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎหมายอย่างเต็มที่กับผู้ชุมนุมเพื่อป้องปรามความรุนแรงทุกรูปแบบ ปัจจุบันเขาเป็นผู้ประสานงานกลุ่มกรีนการเมือง: เสียดายโอกาสของคนเสื้อแดง ที่ไม่สามารถยกระดับพลังการต่อสู้ เพื่อให้ไปไกลกว่าเรื่องของลัทธิการเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยที่ยกระดับไปไกลกว่าการเอารัฐสภาเป็นศูนย์กลาง คนเสื้อแดงทำลายโอกาสโดยเฉพาะการที่พรรคเพื่้อไทยได้เป็นรัฐบาล แทนที่จะได้ออกนโยบายเพื่อคนจน หรือปฏิรูปโครงสร้างทางสังคม-การเมือง ซึ่งที่ผ่านมาวาทกรรมเรื่อง "ไพร่/อำมาตย์" ทำให้คนเสื้อแดงย่ำอยู่กับที่ หนำซ้ำวาทกรรมนี้ยังกลายเป็นการกัดกินตัวเอง ทั้งนี้ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ที่แกนนำคนเสื้อแดงที่ร่วมกับการต่อสู้กับคนเสื้อแดงได้มีตำแหน่งแห่งที่ทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้ใช้ตำแหน่งแห่งที่นั้นขับเคลื่อนหรือปฏิรูปทางการเมืองใดๆ ส่วนมวลชนก็ถูกมอมเมาด้วยประชานิยม จนทำให้ขบวนออนเปลี้ยเพลียแรง คำว่า "ประชาธิปไตย" ถูกย่อส่วนลงกลายเป็นเรื่องชะตากรรมของทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปนโยบายใหม่ๆ ทั้งที่ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่ก็ชูธงเรื่องความเสมอภาค ต่อต้านความเหลื่อมล้ำ แต่พอมีอำนาจก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้น ในแง่ตำแหน่งแห่งที่ มีคำถามว่า คนเสื้อแดงจะอยู่ในฐานะใด จะเป็นหางเครื่อง กองเชียร์ หรือเจ้าของพรรคเพื่อไทย? แต่ที่ผ่านมาคนเสื้อแดงตกอยู่ในฐานะหางเครื่อง ด้วยเงื่อนไขเพื่อทักษิณ ชินวัตร ส่วนคนเสื้อแดงที่บอกว่าสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น ที่ผ่านมายังพิสูจน์ตัวเองไม่ได้ ว่าจะเอาทักษิณเป็นธงนำ หรือเอาการเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาธิปไตยเป็นธงนำ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่คิดต่างออกไปเช่น กลุ่มแดงก้าวหน้า แม้บางประเด็นจะยังก้าวไม่พ้นประเด็นทักษิณ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีเพราะกลุ่มแดงก้าวหน้า มีข้อเสนอเรื่องปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม และข้อเสนอเรื่องประชาธิปไตยกินได้ ทั้งนี้สำหรับคนเสื้อแดงก้าวหน้าที่ปวารณาตนว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า ก็ต้องระมัดระวังท่วงทำนองเคลื่อนไหว ทั้งนี้บางข้อเสนอเช่น ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้น หลายฝ่ายที่ไม่ใช่คนเสื้อแดงก็เห็นด้วย แต่การเคลื่อนไหวบางอย่างที่ไปคุกคามศาล หรือข่มขู่จะเอาชีวิต หมิ่นศาล ก็อาจกลายเป็นการทำลายแนวร่วม หรือแม้แต่ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พูดกันตรงๆ คนกลางๆ แม้ไม่ใช่เสื้อแดงเขาก็เงี่ยหูฟัง หรือคนเสื้อเหลืองอย่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ หรือ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ บางเรื่องเขาก็เห็นด้วย แต่พอคนเสื้อแดงมีท่วงทำนองกระทบสถาบัน หมิ่นสถาบัน ก็อาจกลายเป็นการทำลายแนวร่วม โดยการเคลื่อนไหวของแกนนำคนเสื้อแดงเองก็ต้องออกแบบขบวนการเคลื่อนไหวให้สร้างสรรค์ ไม่ทำลายแนวร่วม ถ้ากลุ่มแดงก้าวหน้าจะก่อรูป จะขยายมวลชน ก็คงต้องขบคิดว่าจะเคลื่อนไหวให้ข้ามสี ข้ามกลุ่มได้อย่างไร "ผมอยากเห็นเสื้อแดงเรียกร้องอะไรที่เป็นเนื้อนาบุญของชีวิต" น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสีซึ่งมีกิจกรรมการชุมนุมต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดงทั้งในโซเชียลมีเดียและพื้นที่ออฟไลน์ รวมถึงการเดินทางไปชุมนุมให้กำลังใจทหารที่ราบ 11 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2553 อย่างไรก็ตาม เขาเป็นนักกิจกรรมที่ไม่ปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด: ไม่ว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือเสื้อฟ้า เหมือนกับทุกคนถูกชี้นำโดยสื่อที่ตัวเองชอบ ซึ่งปัจจุบัน สื่อเป็นสื่อเลือกข้างเยอะ และมีลักษณะชี้นำ ทำให้บางครั้งข้อเท็จจริง ความเป็นจริงของประเด็นที่กำลังต่อสู้อยู่มันไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง แม้กระทั่ง ส.ส. โดยในแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ข้อมูลต่างๆ บางทีก็ผิด เช่น ข้อ 4 ที่บอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญรีบรับคำร้อง ขณะที่กรณี เสธ.อ้ายรอจนครบ บอกได้ว่าเสธ.อ้ายไม่ได้ร้องศาลรัฐธรรมนูญและไม่มีสิทธิร้องศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะไม่ใช่มาตรา 68 ขนาดคนเป็น ส.ส. ส.ว.ยังไม่รู้เลย ทางเดียวที่จะลดความขัดแย้งได้ คือคุณศึกษาคำพิพากษาบ้าง ไม่ใช่ฟังจากที่สื่อที่ตัวเองชอบ ย่อมาให้ และมีสแตมป์มาเสร็จว่ามันถูกหรือมันผิดยังไง แล้วเราก็บอกความผิดความถูกตามนั้น โดยที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องน่ากลัว การรับสื่อเป็นที่มาของทั้งหมด ขบวนการอย่างเสื้อแดงเป็นขบวนการที่มีพลังมาก เพราะมีจำนวนมาก ถ้าเขามีข้อมูลข้อคิดในทางที่ถูกต้อง ก็จะพุ่งเป้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง สอง อยากให้เรียกร้องสิ่งที่มันเป็นปัญหาชีวิตจริงๆ ดีกว่ามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ตั้งแต่ปี 53 จน 56 สามปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่เคยเห็นเสื้อแดงเรียกร้องเพื่อปากท้องเขาจริงๆ เลย เสื้อแดงเรียกร้องเพื่อการเมืองของพรรคที่เขาชื่นชอบอยู่ โดยหวังว่าถ้าเกิดทักษิณได้กลับมาแล้ว ชีวิตเขาจะดีขึ้น ผมอยากเห็นเสื้อแดงเรียกร้องอะไรที่เป็นเนื้อนาบุญของชีวิต ผมเชื่อว่า 80-90% ของเสื้อแดง เป็นเกษตรกร ซึ่งน่าจะอยากให้ลูกหลานมีการศึกษา มีน้ำ มีปุ๋ย มีเงินกู้ ยิ่งตอนนี้เป็นรัฐบาลของคุณ คุณควรจะเรียกร้องเรื่องปากท้องมากกว่าการเมือง นอกจากนี้ กรณีเหตุการณ์ปี 53 เรื่องความขุ่นข้องหมองใจควรรอให้ศาลเคลียร์ ไม่ใช่กล่าวหาว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นฆาตกรหรือตนเองเรียกร้องให้มีการฆ่า อยากเรียกร้องให้เสื้อแดงทำความเข้าใจ ไม่อยากให้เข้าใจว่าคนนั้นฆ่าคนนี้ฆ่า โดยยังไม่ได้ผลสรุปที่แน่นอน ว่าใครเป็นตัวจริง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่า เราเกลียดชัง เราแตกแยกกันไปแล้ว และเรียกร้องให้ศาลรีบไต่สวน และหาความเป็นจริงของปี 53 ให้เร็วที่สุด "สร้างแนวร่วมคนชั้นกลาง-ส่งสารประโยชน์ของประชาธิปไตยต่อคนกลุ่มอื่น" สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมคนสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของการสวมเสื้อแดงในวันอาทิตย์เพื่อต่อต้านการการรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และหลังการสลายการชุมนุมซึ่งบรรยากาศการแสดงออกทางการเมืองขณะนั้นอยู่ในภาวะตึงเครียดและหวาดกลัว เขาเป็นผู้เริ่มกิจกรรมแกนนอนโดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ระดมพลเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ออฟไลน์ : สิ่งที่เสื้อแดงต้องเรียนรู้คือ อย่าเข้าไปอยู่ในทุ่งสังหาร คนกุมอำนาจรัฐพร้อมที่จะใช้มาตราการทางการทหารเสมอ 6 ต.ค. โมเดล ยังมีใครใช้อยู่ และเขาคิดว่ามันยังใช้ได้ เพียงแต่ครั้งล่าสุดใช้แล้วมันไม่สำเร็จ มันฟื้นขึ้นมาได้ ที่สำคัญอีกเรื่องคือ การเคลื่อนไหวในปี 53 เสื้อแดงได้ละเลยแนวร่วมคนชั้นกลาง และทำให้คนกลุ่มนี้ไปเข้ากับอภิสิทธิ์ ซึ่งน่าเสียดายมาก ดังนั้นการเคลื่อนไหวใดๆ ต้องพิจารณาประเด็นแนวร่วม และลดผลกระทบถึงคนกลุ่มต่างๆ ด้วย เราต้องยอมรับว่ามันมีอาการต่อต้านมาจากในปีกชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เพราะว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในปี 52-53 เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เขายังไม่อินกับเสื้อแดง แต่เราปิดเมืองประท้วงกัน ดังนั้น แนวร่วมกลุ่มนี้มันจึงเป็นการผลักคนกลุ่มนี้ไปร่วมหรือไปหนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ในเวลานั้น ผ่านมาสามปี มันค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ไม่แน่ใจว่ามันเกิดจากการเข้าใจว่าต้องไม่สร้างผลกระทบหรือเปล่า คือกระทบได้บ้าง แต่การออกแบบนั้นได้คำนึงการลดผลกระทบ พิจารณาจากปัจจัยว่ามันอาจทำให้คนในเมืองที่ไม่ค่อยชอบวิธีการขับเคลื่อนแบบชุมนุมปิดถนนเขาสบายใจ แต่ส่วนหนึ่งมองว่ากิจกรรมการเมืองมันลดลงเพราะมันมีการเปลี่ยนฟากรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังสำคัญมาก เพราะสุดท้ายยังเชื่อว่าเราสามารถดึงคนชั้นกลางเข้ามาเป็นแนวร่วมได้ ดังนั้น ต้องทำสองเรื่อง หนึ่ง เสื้อแดงต้องไม่ทำให้คนเสื้อแดงรู้สึกว่าเสื้อแดงเป็นภัยกับคนชั้นกลาง สอง ต้องสื่อสารประเด็นเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยกับคนชั้นกลางให้เป็นรูปธรรมกว่านี้ เมสเสทของเสื้อแดงมักบอกว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้ว คนจนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าไม่ใช่คนจนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไรจากการมีประชาธิปไตยหรือการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง สารแบบนี้ไม่ได้ถูกส่งออกมา "เสื้อแดงได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อน และล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม" รศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนักวิชาการที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อในการรายงานการชุมนุม ปัจจุบัน นอกเหนือจากงานวิชาการแล้ว เขาเป็นผู้ดำเนินรายการเวคอัพ ไทยแลนด์ ทางสถานีวอยซ์ทีวี: เสื้อแดงได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อน และล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง เรียนรู้ว่าการเคลื่อนไหวตามท้องถนนยังไม่เพียงพอ ต้องผลักดันทั้งเรื่องการดำเนินคดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปรองดอง สัญญาณเชิงบวกของคนเสื้อแดงคือมีการเอาจริงเอาจังในการหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาเช่น 14 และ 6 ตุลาฯ นอกจากเรื่องการเคลื่อนไหว เสื้อแดงยังเรียนรู้ว่าการดำเนินการทางการเมืองและการจัดการองค์กรมีความสำคัญ เนื่องเนื่องจากทุกวันนี้เสื้อแดงเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นภายในขบวนการ รวมทั้งความเชื่อมโยงที่มีกับพรรคการเมืองเช่นพรรคเพื่อไทยเอง ดังนั้นจึงต้องหมั่นสรุปบทเรียนให้มากขึ้น "หน้าที่ของนักคิดในขบวนการเสื้อแดงก็ต้องคิดว่าระบอบประชาธิปไตยในเชิงอุดมคติเป็นอย่างไร" จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงานซึ่งต่อต้านการรัฐประหารและเรียกร้องสิทธิในการแสดงความเห็น เธอเข้าร่วมชุมนุมในเวทีรอบราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุติการสลายการชุมนุม และอยู่ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิช่วงค่ำของวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังเวทีหลักที่ราชประสงค์ถูกสลายในช่วงบ่าย เธอกล่าวถึงขบวนการเสื้อแดงและขบวนการประชาธิปไตยหลังการสลายการชุมนุม: หลังสลายการชุมนุมในปี2553 ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นเวลาที่ไม่มีประชาธิปไตย คนแสดงความคิดเห็นต่างไม่ได้ มีการฆ่า การถูกจับกุมคุมขังมากมาย แต่หากเปรียบเทียบกันความรุนแรงที่มีมาในอดีต ความสูญเสียครั้งนี้ก็ทำให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อต้านได้ดีที่สุด เรียกร้องและตอบโต้กลับได้อย่างรวดเร็วกว่าครั้งก่อนๆ รวมไปถึงสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลความสูญเสียไว้ได้ ภาคประชาชนไม่ได้เงียบไปหลังมีอาชญากรรมที่กระทำโดยรัฐ ที่ผ่านมาต้องเข้าใจว่าเสื้อแดงเป็นกลุ่มที่มีหลายชนชั้น ตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดา ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง การรวมตัวของหลายชนชั้น แม้ว่าจะทำไปโดยมีจุดประสงค์เดียวกัน คือต้องการประชาธิปไตยและต้านรัฐประหาร แต่ก็จะมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ในบางครั้งก็อาจทำให้ข้อเรียกร้องต่างๆไม่ตรงกัน ความขัดแย้งแบบนี้ดำรงอยู่ตลอดท่ามกลางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง และเป็นเรื่องยากที่จะยุติ ทำให้เราเห็นว่าขบวนการเสื้อแดงไม่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้จริง เพราะยังเป็นเพียงการต่อสู้เหตุการณ์เฉพาะหน้า เมื่อต่อสู้ไปครั้งหนึ่ง ก็ถูกทำลายลงครั้งหนึ่ง ฉะนั้นต้องหาทางที่จะทำให้มวลชนเข้าไปสู่กลไกทางการเมืองด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอพึ่งพาพรรคการเมืองอย่างเดียว เพราะทราบกันดีว่าเอาเข้าจริงแล้ว พรรคเพื่อไทยซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคของเสื้อแดงก็ยังมีนโยบายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเกี่ยวกับคนจน กรรมกร แม้จะมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านโยบายด้านอื่นจะดี เช่น เรื่องสิทธิการรวมตัวของแรงงาน นอกจากนี้นักการเมืองเองก็เป็นนายทุนด้วย การจะเรียกร้องประชาธิปไตยให้สำเร็จ คนงานจะต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง แต่ก่อนอื่นก็ต้องมีกลไกการต่อสู้ร่วมกันก่อน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้คนงานก็มีสิทธิรวมกลุ่มง่ายขึ้นอย่างชัดเจนเห็นภาพ เช่น ตั้งพรรคการเมืองของแรงงานได้ มีนโยบายชัดเจนเป็นสังคมนิยมหรือเสรีนิยมก็ได้ การกำหนดนโยบายอย่างเข้มข้น เรียกร้องให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจริง ซึ่งขณะนี้เสื้อแดงเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างเข้มข้น จนกล่าวได้ว่ามีความก้าวหน้าแต่ยังก้าวไปไม่สุด เพราะติดที่ความหลากหลายทางชนชั้นนั่นเอง ทางที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็คือต้องนำทฤษฎีการเมืองเข้ามาเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้การต่อสู้ทำได้แค่เรื่องเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ เมื่อไรสำเร็จก็รู้สึกดี เมื่อไรพ่ายแพ้ก็ท้อถอย แต่ใช้ทฤษฎีเข้ามาอธิบายอธิบายว่า แพ้เพราะอะไร ชนะเพราะอะไร นอกจากนี้การชุมนุมทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการรำลึกความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนหรืออื่นๆ ก็ต้องมีข้อเรียกร้องชัดเจนด้วย ทั้งการต่อต้านการฆ่าประชาชน การปล่อยตัวทักทาการเมือง และนำฆาตกรสั่งฆ่าประชาชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ "..หน้าที่ของนักคิดในขบวนการเสื้อแดงก็ต้องคิดว่าระบอบประชาธิปไตยในเชิงอุดมคติเป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าจะได้ผลักดันให้ขบวนการไปให้ถึงมากกว่าการถกเถียงในเรื่องรายวัน เพราะเอาเข้าจริงคนที่ถกเถียงเรื่องรายวันได้ดีที่สุดคือนักการเมือง" "เสื้อแดงต้องไปให้ไกลกว่าการปกป้องรัฐบาลรายวัน" ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม ผู้ที่เมื่อ 3 ปีที่แล้วร่วมชุมนุมในเวทีรอบราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุติการสลายการชุมนุม วิจารณ์การเคลื่อนไหวของเสื้อแดง 3 ปีหลังสลายการชุมนุมว่า ด้านหนึ่งขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการที่ต้องการจะปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยนอกจากด้านการปกป้องแล้วอีกด้านหนึ่งคือหน้าที่ในการขยายความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถ้ามองในแง่ของการปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเอาเข้าจริงขบวนการเสื้อแดงไม่ได้มีบทบาทในการปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยตัวเอง เพราะรัฐบาลสามารถอยู่ได้ด้วยนโยบาย ที่มีการดำเนินการต่อรองกับกลุ่มต่างๆ ชนชั้นนำ รวมถึงฝ่ายอำมาตย์ด้วย เพราะฉะนั้นเสื้อแดงจึงไม่มีบทบาทในด้านนี้เพราะในความเป็นจริงรัฐบาลและชนชั้นนำดำเนินการปกป้องเองอยู่แล้ว หากมองอีกด้านหนึ่งว่าขบวนการเสื้อแดงขยายความคิดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมมากน้อยแค่ไหนนั้น คิดว่ายังคงมีความหลากหลาย แต่ด้านหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือคนเสื้อแดงจำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพที่มากขึ้น เพราะกลายเป็นว่าขบวนการเสื้อแดงจมอยู่กับการปกป้องรัฐบาลหรือนโยบายของรัฐบาลมากกว่าขับเคลื่อนเพื่อสร้างแนวร่วมในวงกว้าง หรือสร้างความเข้าใจหรือปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มอื่นที่ไม่ได้เป็นกลุ่มที่เชียร์รัฐบาล เช่น กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่สะท้อนว่าไม่มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น และหากมองในหมู่ปัญญาชนนักคิด นักวิชาการที่อยู่ฝ่ายเสื้อแดงจำนวนมากไม่ได้ทำหน้าที่ขยายความคิดเรื่องประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน หรือการถกเถียงอย่างมาก เพราะถ้าดูการถกเถียงของหมู่ปัญญาชนนักวิชาการเหล่านี้ก็จะมุ่งถกเถียงในส่วนของตัวปรากฏการณ์และการปกป้องนโยบายของรัฐบาล มากกว่าที่จะพูดถึงหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ ขยายความคิดความเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร เรื่องเสรีนิยมคืออะไร จะเห็นว่าขบวนการเสื้อแดงในรอบหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้มีส่วนในการผลักดันขยายสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยในภาพรวมและหลักการจริงๆ สิ่งที่ทำได้ก็คือการปกป้องรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาลมากกว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการที่จะให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หรือใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม ดังนั้นหากต้องการทำให้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอยู่ได้จริงๆนั้นต้องพูดไปสู่การถกเถียงเรื่องหลักการว่าด้วยการสร้างสังคมที่ดี เพราะประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจมันยังไม่ไปไกลไปกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือชนชั้นนำที่อยู่ในรัฐสภา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเชียร์คือเชียร์ผลประโยชน์ของชนชั้นนำผ่านระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งในที่สุดมันจะกลับมาทำลายหลักการเรื่องความเท่าเทียมเรื่องเสรีภาพจริงๆของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นสิ่งที่อยากให้เสื้อแดงขยายคือการขยายไปพูดเรื่องประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจหรือเรื่องอื่นๆที่ไปไกลกว่าการปกป้องรัฐบาลรายวัน ปัญญาชนที่อยู่ในขบวนการเสื้อแดงมีลักษณะที่ไม่จริงจังกับการถกเถียงจริงๆ ปัญญาชนวุ่นอยู่กับการถกเถียงปกป้องนโยบายของรัฐบาลแบบรายวัน สิ่งที่เขาถกเถียงคือถกเถียงปรากฏการณ์แบบรายวัน ไม่ได้ถกเถียงเชิงหลักการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นหน้าที่ของนักคิดในขบวนการเสื้อแดงก็ต้องคิดว่าระบอบประชาธิปไตยในเชิงอุดมคติเป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าจะได้ผลักดันให้ขบวนการไปให้ถึงมากกว่าการถกเถียงในเรื่องรายวัน เพราะเอาเข้าจริงคนที่ถกเถียงเรื่องรายวันได้ดีที่สุดคือนักการเมือง "ถ้าภาคประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขบวนก็จะถูกย่อยสลาย" สุริยันต์ ทองหนูเอียด เป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และแกนนำพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งเขามองว่าการเคลื่อนไหวในประเด็นก้าวหน้ายังไม่มีให้เห็นนักภายหลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตย: ข้อเรียกร้องที่มองว่าเป็นความก้าวหน้าของคนเสื้อ แดง เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องปัญหาโครงสร้าง เรื่องความยากจน ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเลยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา การนำของคนเสื้อแดงผูกติดกับนักการเมืองไทยรักไทย แกนนำก็นำโดย นปช.ทำให้กลุ่มคนที่ต้องการทำงานในเชิงก้าวหน้าไม่มีพื้นที่ ถ้ามีก็เป็นพื้นที่ทางเลือก ไม่ได้เป็นกระแสหลัก แล้วก็มีแนวโน้มว่าคนที่มีอำนาจอยากจะสลายการรวมตัวของคนเสื้อแดง ไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความเข้มแข็ง หากพูดถึงโรงเรียนการเมืองของ นปช.ก็ผูกติดอยู่กับแกนนำเพียงไม่กี่คน ไม่ได้เป็นการสร้างหลักสูตรความรู้ทางการเมือง ประชาธิปไตย และมีแกนนำที่เป็นดาราชูโรงเพียงไม่กี่คน หากมองการชำระประวัติศาสตร์ ที่คนเสื้อแดงเรียกร้องจะมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการช่วยเหลือญาติและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ซึ่งอาจเป็นผู้บริสุทธิ์บางส่วน และมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สังคมอาจยังเคลือบแคลงสงสัยแต่การรวมกลุ่มเป็นคณะกรรมการเหมือนเช่นกรณีญาติวีรชนจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ในส่วนของคนเสื้อแดงไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวจัดตั้งในลักษณะนั้น และเหมือนกับว่าต่างคนต่างช่วยเหลือตัวเองมากกว่า รวมไปถึงในเรื่องมิติของการต่อสู้ทางคดี ทั้งๆ ที่มีทิศทาง หรือแนวทางการต่อสู่ในขบวนการกันอยู่แล้ว ไม่ว่าคดีมันจะหนักแค่ไหน และเราก็รู้ว่านี่เป็นคดีการเมือง ยิ่งฝ่ายที่เขาต่อสู้ เขามีอำนาจรัฐ ก็ควรจะมีกระบวนการที่ทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมในเรื่องการประกันตัวได้ง่ายกว่านี้ ซึ่งตรงนี้ปมเรื่องคดีเขาไม่มายุ่งเลย อ้างว่าเป็นอำนาจศาล ทั้งที่ความจริงมีกระบวนการที่จะประกันตัวได้อยู่แล้ว ตรงนี้ไม่อยากยกตัวอย่างถึงพันธมิตรเพราะเป็นคนละเรื่องกัน และตรงนี้ไม่ใช่การแทรกแซงแต่เป็นการใช้สิทธิตามที่มีอยู่แล้ว ถ้าถามว่ามันไปกระทบเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรบ้าง คือตอนที่เขาเคลื่อนไหวและพูดเรื่อง 2 มาตรฐาน และเรื่องความเหลี่ยมล้ำนั้น ไม่ได้พูดกันอย่างเอาจริงเอาจังในระดับนำ แต่ว่ากลายเป็นกระแส ในส่วนกระบวนการยุติธรรมหากจะปรับปรุงก็ต้องมาดูว่าส่วนไหนที่มันต้องแก้ เช่น ในชั้นตำรวจ ถ้าเมื่อไหร่ตำรวจขึ้นตรงกับฝ่ายการเมือง ตำรวจก็ถูกแทรกแซง ซึ่งชัดเจนแล้วการที่ตำรวจบอกว่า "ได้ดีเพราะพี่ให้" แต่คนเสื้อแดงก็ไม่ได้คิดที่จะไปปฏิรูปตรงนั้นเลย ส่วนในชั้นอัยการที่มีอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุลกับพนักงานสอบสวนก็ไม่มีการเรียกร้องให้อัยการใช้ดุลยพินิจโดยอิสระ ส่วนมากก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลอย่างชัดเจน สำหรับในชั้นศาลหากจะปรับปรุงก็ต้องดูว่าปัญหาของศาลคืออะไร เช่น จำนวนองค์คณะ ผู้พิพากษาน้อยไป กระบวนการในการดำเนินคดีล่าช้า หรือเรื่องของกระบวนการให้ประกันตัว แม้แต่เรื่องกระบวนการหลังจากที่พิจารณาคดีไปแล้ว ที่ว่าคดีเบาๆ ไม่ควรอยู่ในคุก หรือคดีที่ไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นอาชญากร เป็นความพลั้งเผลอ ซึ่งในต่างประเทศก็มีมาตรการมากมายที่จะทำให้คนออกจากคุก ไม่ถูกกักขัง ตรงนี้ก็เห็นเลยว่าคนเสื้อแดงพูด แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการที่ชัดเจนว่าจะนำเอาเรื่องนี้ไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งๆ ที่ในคนเสื้อแดงเองก็มีทั้งทนาย อดีตผู้พิพากษา และตำรวจหลายๆ คน แต่เป็นเรื่องของการนำเอาไปเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนบางคน ซึ่งเราก็รู้ว่าหลายครั้งก็จะไปตรงกับประเด็นว่าคุณทักษิณถูกกลั่นแกล้งโดยกระบวนการยุติธรรม และเอาเรื่องคุณทักษิณเป็นหลักที่จะให้ได้รับความเป็นธรรมคนเดียว อันนี้คือปัญหา แล้วมันตอบไม่ได้ว่าคนที่เข้าร่วมเขาจะได้อะไร ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้มีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำในมิติความยากจนที่มันห่างออกไป เช่น มิติของการเข้าถึงทรัพยากรที่คนจนมันเข้าไม่ถึง หรือทิศทางการพัฒนาที่คนจนกลายเป็นเหยื่อ จึงกลายเป็นการนำเอาเรื่องความเหลื่อมล้ำไปเป็นคำขวัญ เพื่อที่จะดึงคนเข้ามาร่วม หรือสร้างความชอบธรรมเฉพาะหน้า แต่ว่าในเชิงของการนำเอามาปฏิบัติในระยะยาวกลับไม่มี ยกตัวอย่างการชุมนุมของพีมูฟ (ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม) ที่ข้างทำเนียบซึ่งก็ไม่มีการลงไปสนับสนุนหรือส่งเสริม ในขณะที่หากเป็นการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็จะมีการบอกว่าอย่าเพิ่งชุมนุม เพราะรัฐบาลกำลังอยู่ในอำนาจ เดี๋ยวจะกลายเป็นเครื่องมือของอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมันดูแล้วตลก หรือหากเป็นกลุ่มอื่นที่เป็นคนจนแต่สมมติว่าเป็นคนละฝั่งกันก็จะถูกมองว่าพวกนี้เมื่อก่อนมันอยู่คนละสีกับเรา เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ นี่คือปัญหาที่เจอ และมันก็นำไปสู่ความซับซ้อนที่มวลชนคนเสื้อแดงอยากให้มีความเปลี่ยนแปลง หรือส่วนที่ก้าวหน้าไม่รู้จะไปทางไหน ก็กลายเป็นแย่งกันไปมา บางคนก็พุ่งตรงไปเรื่องเดียวเอาแต่เรื่องสถาบัน บางคนก็มุ่งตรงแต่เรื่องการเมือง บางคนก็มุ่งตรงเรื่องกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นคำถามว่าแล้วประเทศได้อะไรจากการทำงานแบบนี้ เพราะความยากจนยังมีอยู่ กระบวนการยุติธรรมที่บอกว่าไม่เป็นธรรมหรือว่ามันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันก็ไม่ได้รับการปฏิรูป กลายเป็นการหยิบเอาเรื่องที่มันเป็นปัญหาไปเป็นเครื่องมือ มากกว่าการแก้ไขให้มันเป็นไปอย่างที่เรียกร้องต้องการ คนจนก็กลายเป็นว่าลงทุนในการต่อสู้ สุดท้ายมันก็เหมือนกับไม่มีความหวังว่าจะได้รับการแก้ปัญหา แต่ก็ต้องไปยอมรับนโยบาย ซึ่งประชาชนก็มีสิทธิเห็นต่างจากรัฐได้ นโยบายบางอันเราก็ไม่เห็นด้วย คนเสื้อแดงต้องยืนอยู่ในมิติของการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ ถ้าบอกว่าจะเป็นภาคประชาชนในเชิงของการตรวจสอบ แต่ถ้าภาคประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองขบวนก็จะถูกย่อยสลาย มันเป็นไปตามยุคสมัย ทุกครั้งที่ประชาชนตื่นตัวและเติบโตทางการเมือง เมื่อเขาจะเข้าไปตรวจสอบก็จะถูกอำนาจรัฐย่อยสลาย แต่จะย่อยสลายแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับยุคสมัยเท่านั้น บางครั้งก็ใช้ความรุนแรง บางครั้งก็ใช้ความละมุนละม่อมซึ่งก็ทำให้ประชาชนไม่มีพลังในการต่อรอง "ไม่มีอภิปรายอย่างจริงจังเรื่องนโยบายสาธารณะ แม้แต่ในส่วนคนเสื้อแดงที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางความคิด" กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ทำงานด้านประชาสังคมในตำแหน่งรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และแม้องค์กรพัฒนาเอกชนไทยจำนวนไม่น้อยได้ไหลไปกับกระแสต้านทักษิณจนถึงขั้นที่บางส่วนก็เห็นดีกับการรัฐประหาร แต่เธอหาได้อยู่ในกระแสเดียวกัน ในระยะเวลาที่ผ่านมา เธอยินดีกับชัยชนะของการเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ในประเด็นโดยสายงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและฐานทรัพยากรเธอเห็นว่าการอภิปรายและมีส่วนร่วมกับนโยบายขนาดใหญ่ ยังไม่เกิดขึ้น: การลุกขึ้นต่อสู้ (Rising) ในช่วงปี 53 ของคนเสื้อแดง มันหมายถึง การที่ประชาชนการเติบโตจากความเปลี่ยนแปลงในชนบท ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ โครงสร้างอาชีพ การเมือง การเข้าถึงทรัพยากร และอีกหลายๆ เรื่อง จนทำให้เกิด Rising เพราะว่ามันเกิดความไม่พอใจจนถึงที่สุดจากความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่สั่งสมมา ซึ่งเชื่อได้ว่าไม่ใช่เรื่องของการซื้อ จากตรงนั้นได้สร้างความหวังว่ามวลชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว และมวลชนได้ใช้เครื่องมือคือการโหวต การใช้สิทธิออกเสียงของตัวเอง รวมทั้งการปฏิบัติการทางตรง เช่น การชุมนุมยึดพื้นที่ หรือการสู้แบบยอมตาย แม้จะยอมให้แกนนำกล่อมอยู่บ้าง แต่โดยอุดมการณ์สามารถรวมคนมาชุมนุมได้เป็นเรือนแสนนั้นไม่ธรรมดา ซึ่งมันคือสิ่งที่สะท้อนว่า เขามีสำนึกของการต่อสู้ ท้าทาย แต่ไม่รู้ว่าตั้งคำถามหรือเปล่า แล้วมันก็ได้หายไปเลยหลังจากหมดยุคการต่อสู้ และจากนั้นก็เหลือแต่ภาวะของการอุ้มกันไป อุ้มกันมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เรื่องการชนะการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เมื่อชนะแล้วขบวนการทุกอย่างมันหยุดลง มันไม่มีการให้การศึกษามวลชนต่อมา ทั้งนี้ การได้ชื่อว่าชนะแล้ว สิ่งที่คุณชนะคือคุณสามารถทำให้เกิดการเลือกตั้งได้ เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ซึ่งเราก็ยินดีด้วย รวมทั้งยินดีกับการปราศรัยของคุณยิ่งลักษณ์ที่ เมืองอูลันบาตอ ของมองโกเลียที่พูดได้อย่างตรงไปตรงมาว่า ครอบครัวของเธอคือส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้น และกระบวนการถกเถียงก็ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอเป็นเหยื่ออย่างไร และคนอื่นๆ เป็นเหยื่อเช่นเดียวกันหรือไม่ เมื่อพ้นจากยุค Rising ตอนนี้เข้าสู่ยุครัฐบาลเพื่อไทย และกะบวนการทางนโยบายก็เดินหน้าไปตามครรลอง แต่โจทย์ของนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ หรือปัญญาชนที่บอกว่าตัวเองก้าวหน้ามันไม่น่าจะใช้แค่ตรงนี้ เมื่อคำถามคือมวลชนจะยกระดับไปสู่การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนา ฯลฯ เห็นด้วยว่าสิ่งที่ต้องผ่านในขั้นต้นคือการต้องเลือกเองได้ อย่างน้อยคือต้องเลือกรัฐบาลของตนเองได้ ไม่มีควรมีใครที่จะมามีความสามารถในการยุบพรรค ยุบแล้วยุบอีก แต่หลังจากนั้นมันก็ควรจะมีมาตรการทางสังคมซึ่งไม่ใช่อย่างที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้ ที่มีปรากฏการณ์ คือ 'มึงด่ากูด่ากลับ' ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ประเทืองปัญญา หากพูดถึงภาพประชาธิปไตยที่เราอยากเห็น มันก็คือเรามีสิทธิ์เลือกในทางการเมือง และเราควรจะมีสิทธิ์มีส่วนในการกำหนดนโยบายทั้งในกระบวนการโหวต หรือการถกเถียง ดีเบต (Debate) นโยบายสาธารณะในทุกระดับ ซึ่งบรรยากาศอย่างนี้ควรจะสร้างให้เกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยน แต่ที่ผ่านมาไม่เห็นแนวโน้มเลย และกลับแย่ขึ้นเพราะมันกลับไปสู่บรรยากาศการ Defence เหลือง-แดงแบบเดิมไม่มีผิด ยกตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณี 'ปลอด ประสพ' (ที่ห้ามการชุมนุมประท้วง) คนเสื้อแดงสามารถตั้งคำถามได้โดยไม่จำเป็นต้องถามหาเซเล็บ ถามหาคนที่มาคิดแทนคุณ คุณสามารถคิดสรุปและเชื่อในพลังความเป็นประชาชนของตัวเอง ซึ่งส่วนตัวมีความเชื่อในพลังของประชาชนที่มีไดนามิคอยู่ในตัว ถึงทุกวันนี้ประเด็นที่มี คือ การไม่มีการอภิปรายอย่างจริงจัง (Real Debate) เรื่องนโยบายสาธารณะแม้แต่ในส่วนคนเสื้อแดงที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางความคิด เมื่อนึกถึงขบวนการประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) องค์ประกอบคือการต้องมีเรียลดีเบตในเรื่องนโยบายสาธารณะ หากคุณเชื่อมั่นใน Liberal Democracy เรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งเราก็เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้ใครมาเล่นชักใย ต้องมาช่วยกันสร้างให้เรียลดีเบตเกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่การนั่งถล่มกันไปมาเหมือนทุกวันนี้ เมื่อมีคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับโครงการและแผนงานต่างๆ ของรัฐบาล จะเรียกว่าประชานิยมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งก็เป็นภาคประชาชนดั่งเดิมที่ดูโบราณ วิธีการถามอาจจะมีปัญหาแต่ก็มีสาระและความรู้อยู่ในนั้น แต่กลับถูกปัดออกไปหมดเลย ไม่ถูกรับฟัง และถูกตั้งข้อสังเกตว่าทำไมรัฐบาลนี้ถึงตั้งคำถาม แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ตั้งคำถาม ยอมรับว่าเอ็นจีโอที่ค่อนข้างเหลืองหรือกึ่งๆ เหลืองที่วิจารณ์การคอรัปชั่นนั้น วิจารณ์แบบมีดับเบิลสแตนดาร์ดจริง แต่รัฐบาลเพื่อไทยก็มีเรื่องที่สังคมต้องตรวจสอบ "หากอยากให้การต่อสู้ถึงเป้าหมาย สูญเสียน้อยที่สุด การรวมกันอย่างมีเอกภาพก็ย่อมดีที่สุด แต่จริงๆ อาจไม่เป็นอย่างนั้น" สุดา รังกุพันธุ์ เป็นนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เธอมีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับคนเสื้อแดง ทั้งก่อนจะมีการชุมนุมใหญ่ และหลังการสลายการชุมนุม ปัจจุบันนอกเหนือจากการจัดรายการโทรทัศน์เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มปฏิญญาหญ้าศาลเรียกร้องสิทธิให้กับนักโทษทางการเมืองและผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม: การเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนเสื้อแดงอาจแบ่งได้เป็นสองช่วง ช่วงแรก คือ หลังสลายการชุมนุม ช่วงนั้นคนเสื้อแดงถูกจำกัดด้วยการปิดกั้นอย่างมากโดยเฉพาะการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างต่อเนื่อง เข้มงวดและใช้แบบ 2 มาตรฐาน แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐอย่างค่อนข้างชัดเจน แสดงออกตรงไปตรงมา เป้าหมายชัดเจน ช่วงที่สอง เมื่อได้รัฐบาลที่คนเสื้อแดงสนับสนุนแล้ว หลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล สถานการณ์ที่ปรากฏก็อยู่ในภาวะที่เรียกว่า dilemma หรือทางสองแพ่ง อันหนึ่งต้องการรักษากลไกประชาธิปไตยหรือรัฐบาลไว้ได้นานที่สุดหรือครบวาระ แต่ขณะเดียวกันปัญหาที่ประชาชนได้ถูกละเมิดสิทธิภายในช่วงปี 52-53 อย่างรุนแรง แต่การชดเชย การฟื้นฟูก็เป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้าและมองว่ายังไม่เพียงพอ เพราะถูกจับจ้องโดยฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดต่อมาอยู่แล้วที่ต้องเยียวยาความเสียหายให้ประชาชนที่ถูกกระทำจากรัฐ คนจึงเริ่มมีความรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของรัฐบาลที่พยายามรักษาระยะห่างกับคนเสื้อแดง แต่ก็ออกเรียกร้องได้ไม่เต็มที่เพราะติดกับดักที่พยายามจะยึดอยู่ในเป้าหมายการรักษากลไกประชาธิปไตย จึงต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับสภาพนี้ อีกฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และเป็นแนวร่วมกับคนเสื้อแดง พวกเขาเหล่านี้ไม่ต้องการให้มีการเรียกร้องประเด็นการ เยียวยา การนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม เพราะมองว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นการเปิดจุดอ่อนให้รัฐบาล ถูกโจมตี ทำให้ขบวนการแตกออกเป็นสองฝ่าย กลุ่มที่เป็นองค์กรนำที่สำคัญ คือ นปช. มีแนวทางที่ชัดเจนว่าใช้ยุทธศาสตร์สองขา ขาหนึ่งคือพรรคการเมืองที่มีนโยบายเพื่อประชาชน เป็นประชาธิปไตย อีกขาคือ มวลชน แนวทางในการทำงานด้านมวลชนของแกนนำนปช.ค่อนข้างสอดคล้องรับไปกับนโยบายรัฐบาลมากกว่าที่จะเรียกร้องหรือคัดค้านในประเด็นบางประเด็นที่อาจไม่เป็นประโยชน์กับคนเสื้อแดง แม้นปช.จะเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม แต่ไม่เคยออกมานำมวลชนเรียกร้องในประเด็นนี้ ก็เห็นได้ว่า เป็นลักษณะที่เหมือนจะลดพลังของการขับเคลื่อนในงานมวลชนลงไป ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าภารกิจในการโค่นล้มระบอบอำมาตย์ที่ถูกชูขึ้นมานานแล้วไม่เสร็จสิ้น ปัญหาที่ชัดเจนอย่างยิ่งคืออำนาจของฝ่ายตุลาการ กระบวนการยุติธรรมที่มีสองมาตรฐาน รัฐบาลไม่สามารถทำให้กลไกของอำนาจตุลาการทำเพื่อประชาชนใช้ดุลยพินิจที่อยู่บนหลักประชาธิปไตยได้ การต่อสู้ในแนวรบเรื่องอำนาจตุลาการเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ซับซ้อน สุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุมคุมขังเสียเองและ ตรงนี้ก็ไมได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหลักของฝ่ายประชาชน ประเด็นที่จะเป็นรอยร้าวมากขึ้นคือ พ.ร.บ.ปรองดองที่ชะงักไปหลังจากพันธมิตรฯ ออกมาต่อต้าน หากรัฐบาลมีการให้การสนับสนุนในทางใดทางหนึ่ง อาจจะทำให้เกิดการแตกแยกมากขึ้น ขณะนี้ก็มีกระแสข่าวที่จะนำ พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับรองนายกฯ เฉลิมเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ มีการล่ารายชื่อของเสียงรับรองจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้มากถึง 149 คน น่ากังวลว่าถ้าพ.ร.บ. ปรองดองกลับมาอีกครั้งสถานการณ์ก็ไม่ต่างจากเดิม นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับวิฤตความขัดแย้งอย่างไร เราห่วงที่สุดคือ กรณีของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกองทัพที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถ้ารัฐบาลสนับสนุนจะแตกแยกใหญ่อีกครั้ง เพราะคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้จะคืนความเป็นธรรมกับประชาชนได้ และหวังว่าจะมีการสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษ ที่นำโดยวรชัย เหมะ ซึ่งนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทุกสีเสื้อ เป็นข้อเสนอที่หลายฝ่ายพอยอมรับได้โดยที่ไม่มีการคัดค้านอย่างรุนแรง หากอยากให้การต่อสู้ถึงเป้าหมาย สูญเสียน้อยที่สุด การรวมกันอย่างมีเอกภาพก็ย่อมดีที่สุด แต่จริงๆ อาจไม่เป็นอย่างนั้น ขณะนี้ชัดเจนว่า มีการแตกกลุ่มย่อยๆ อย่างชัดเจน มีอุดมการณ์ที่แยกย่อยลงมาในรายละเอียด ตามแต่ ldeology ของแต่ละกลุ่มว่าเปิดรับหลักสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคแค่ไหน บางกลุ่มอยากเห็นขั้นสมบูรณ์ไม่ว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศ ประเด็นศาสนา ฯลฯ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็อาจมองกว่าในภาวะของการต่อสู้เขาไม่ได้มองเห็นความสำคัญในประเด็นนั้น พร้อมใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิคนอื่น ตราบใดที่เขาไม่ได้มาเป็นพวกเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์ วิจารณ์ฝ่ายศัตรูได้ แต่วิจารณ์ฝ่ายเดียวกันจะทำให้เสถียรภาพไม่มั่นคง การคิดอย่างนี้ยังปรากฏอยู่มาก การผลักดันสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ที่ผู้มีพลังการสื่อสารเยอะๆ และแกนนำ แต่การพยายามจะโน้มน้าวให้เขาเห็นความสำคัญ ก็เหมือนเป็นการแตกไลน์ออกไปจากประเด็นหลักที่เขาสนใจอยู่ และเขาอาจมองแบบหวาดระแวงได้ง่ายๆ ว่า ถ้าปกป้องประเด็นนี้ก็เหมืนปกป้องบุคคล และเมื่อปกป้องบุคคลก็ไม่ใช่พวกเดียวกัน ความเป็นพวกเดียวกันมันแน่นมาก อาจเป็นเพราะเขาคงรู้สึกว่าถูกแบ่งแยกออกจากสังคมระดับนำของอีลีตมานานมาก และเมื่อวาทกรรมไพร่อำมาตย์มันชัดมาก ก็เลยเป็นแบบนี้ การอยู่ในขบวนการกับคนเสื้อแดงต้องจับจังหวะ อารม มวลชนพอสมควรว่าเขามีความพร้อมไปในทิศทางเดียวกับเราหรือยัง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 17 May 2013 10:19 AM PDT กี่ครากี่ครั้งแล้วเจ้าประกาศ จนวันนี้รอนานแล้วคำสัญญา รบเถิด อรชร รบเถิด อรชร รบสักนิด รบเถิด อรชร อรชร รบเถิด อรชร อรชร รบเถิด อรชร
หมายเหตุ: บทกวีชิ้นนี้เกิดจากแรงผลักของ "รบเถิด อภิสิทธิ์"บทกวีโดย สุริยันต์ ทองหนูเอียด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วีดิโอต้านคอร์รัปชั่นแบบโหดๆ กลายเป็นข้อถกเถียงในหมู่ชาวรัสเซีย Posted: 17 May 2013 09:07 AM PDT สปอตรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มียอดแชร์สูงมากในรัสเซียกลายเป็นที่ถกเถียงเรื่องความเหมาะสมเพราะเกรงว่าในเนื้อหาอาจกลายเป็นการสนับสนุนการใช้วิธี 'ศาลเตี้ย' วีดิโอชิ้นนี้ผลิตโดย ยูรี อตาเยฟ อดีตเอเจนซี่โฆษณาชาวรัฐดาเกสถาน
วีดิโอดังกล่าวถูกโพสท์ลงบนยูทูบตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.มีจำนวนผู้เข้าชมแล้วมากกว่า 280,000 ครั้ง เนื้อหาในวีดิโอขนาดความยาว 28 วินาที เผยให้เห็นชายคนหนึ่งในห้องขัง ตามมาด้วยผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินบางอย่าง จากนั้นจึงตัดภาพมาที่ชายหญิงสูงอายุสองคนซึ่งน่าจะเป็นพ่อแม่ของผู้ต้องหา ฝ่ายหญิงกำลังแสดงอาการเสียใจแต่ฝ่ายชายพูดปลอบว่า "ไม่ต้องห่วง ทุกอย่างถูกจัดการเรียบร้อยแล้ว" หลังจากนั้นผู้ต้องหาในวีดิโอก็ถูกตัดสินให้ไม่มีความผิด เขาเดินออกจากห้องพิจารณาคดีด้วยชัยชนะท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้คนโดยรอบ แต่จากนั้นก็มีผู้หญิงในชุดสีเทาปรากฏตัวมาจ่อยิงชายผู้ต้องหาในระยะเผาขน ช่วงท้ายของวีดิโอมีเสียงพร้อมตัวอักษรบรรยายประกอบว่า "หากเขายอมติดคุก ก็คงยังมีชีวิตอยู่" ตามมาด้วยคำบรรยายปิดท้ายว่า "เมื่อสนับสนุนการทุจริต พวกเราก็ต้องอยู่กับความเสี่ยง" คลิปดังกล่าวมีผู้แสดงความเห็นหลายร้อยความเห็น และถูกนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ข่าวหลายแห่งของรัสเซีย มีความเห็นหนึ่งกล่าวว่า "วีดิโอนี้ต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ หรือต้องการสนับสนุนการใช้วิธีศาลเตี้ย" เว็บไซต์ Gazeta.ru กล่าวว่า วีดิโอชิ้นนี้เป็นประกาศของทางราชการรัสเซีย ถูกสร้างโดย ยูรี อตาเยฟ อดีตเจ้าของบริษัทเอเจนซี่โฆษณาชื่อบริษัทเมก้าสตาร์ ซึ่งในปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งสมาชิกกรรมการบอร์ดกองทุนเพื่อการพัฒนาภาพยนตร์และอนิเมชั่นในดาเกสถาน อตาเยฟเปิดเผยว่าเมื่อสองปีที่แล้วเขาได้รับการจ้างวานจากคณะกรรมการด้านข่าวและสื่อสารมวลชนให้ผลิตวีดิโอดังกล่าวขึ้น สคริปวีดิโอของเขาเคยชนะการประกวดจากงานแข่งขันที่จัดโดยหน่วยงานเดียวกัน อตาเยฟบอกว่าเขาได้โพสท์วีดิโอลงยูทูบเมื่อสองปีที่แล้ว แต่ก็ไม่มีใครเห็นจนกระทั่งมีผู้ใช้คนอื่นนำไปโพสท์ใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อตาเยฟบอกอีกว่าวีดิโอของเขาได้รับการแพร่ภาพทางโทรทัศน์เมื่อสองปีที่แล้ว แต่ช่องโทรทัศน์ RGVK และ GTRK ก็บอกว่าไม่มีการฉายวีดิโอดังกล่าว สุไลมาน มูราดอฟ รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในสาธารณรัฐดาเกสถานผู้ดูแลเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นในพื้นที่กล่าวว่าเขาเห็นคลิปในอินเตอร์เน็ตแต่ไม่เห็นฉายผ่านทางโทรทัศน์ และเมื่อมูราดอฟได้เห็นวีดิโอดังกล่าวแล้วเขาก็บอกว่าได้มีการรายงานไปถึงผู้มีอำนาจ แต่ไม่รู้จะมีมาตรการอย่างไรบ้าง ผลงานซึ่งกลายเป็นที่ถกเถียงดังกล่าวไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกของอตาเยฟ ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานต่อต้านการโกงชื่อ Diploma ซึ่งเป็นเรื่องของพ่อซื้อปริญญาด้านการแพทย์ให้ลูกสาวตัวเอง ก่อนที่จะเกิดอาการปวดหน้าอกและลูกสาวของเขาไม่สามารถช่วยอะไรได้ อีกผลงานหนึ่งคือ Medicine ที่กล่าวถึงเด็กนักเรียน 3 คนติดสินบนเพื่อให้ได้ปริญญาการแพทย์มา ต่อมาหนึ่งในนั้นต้องเข้ารับการผ่าตัดแต่ก็พบว่าเพื่อนของเขาที่เคยโกงใบปริญญามาด้วยกันเป็นคนผ่าตัด เว็บไซต์เรดิโอฟรียุโรปกล่าวว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่นอร์ทคอเคซัสในดาเกสถานประเทศรัสเซียกลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มก่อการร้ายระดับภูมิภาค พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดในรัสเซียมีอัตราการว่างงานสูงและการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้าง เรียบเรียงจาก 'In Prison, He'd Still Be Alive': Anticorruption Video Goes Viral In Russia, RFERL, 16-05-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กูเกิ้ล - เครื่องด่าออโตเมติก? Posted: 17 May 2013 08:59 AM PDT หลายคนคงปฎิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันกูเกิ้ลเข้ามามีอิทธิ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สหภาพแรงงานระบุมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย เหตุโรงงานรองเท้าถล่มที่กัมพูชา Posted: 17 May 2013 06:16 AM PDT คลิปรายงานข่าวการถล่มของโรงงานผลิตรองเท้าใน จ.กัมปงสะปือ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา จากสื่อกัมพูชา (ที่มา: MrSabay855) 17 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โรงงานผลิตรองเท้าใน จ.กัมปงสะปือ ประเทศกัมพูชา ที่ถล่มลงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 6 คนจากการเปิดเผยของสมาชิกสหภาพแรงงานของโรงงานแห่งนั้น "มีคนงานอยู่ในโรงงานประมาณร้อยกว่าคนในขณะที่มันถล่มเมื่อเวลาประมาณ 7.00 น." ซัม ซกไน สมาชิกสหภาพแรงงานวัย 29 ปีกล่าวกับรอยเตอร์ โดยเธอระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 รายเป็นหญิง 5 คนและชาย 1 คน แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีการเปิดเมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) จากข้อมูลของตำรวจใน จ.กัมปงสะปือ คือ 2 คน และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 11 คน ซึ่งเป็นการปรับลดตัวเลขผู้เสียชีวิตจากครั้งแรกที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 3 คน โดยตำรวจให้ข้อมูลว่าเจ้าของโรงงานได้ถูกสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าโรงงานแห่งนี้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้บริเวณชั้นลอยของโรงงานได้ถล่มลงมา ซึ่งชั้นลอยนี้ใช้ในการเก็บเครื่องมือและวัตถุดิบในการผลิตรองเท้า และมีการคาดกันว่าเกิดจากโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงพอ พนมเปญโพสต์ได้รายงานว่าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าคนงานในโรงงานแห่งนี้เคยหยุดงานประท้วงและปิดถนนเพื่อเรียกร้องค่าแรงและสภาพการทำงานให้ดีกว่าเดิม โดยโรงงานแห่งนี้อยู่ในเครือของบริษัท Wing Star Shoes แม้ว่ากัมพูชาจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา 20% โดยคนงานที่ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่รับตัดเย็บเสื้อผ้าให้บรรษัทข้ามชาติจะถูกปรับค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนจาก 61 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นเป็น 75 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,830 บาท เป็น 2,250 บาท) แต่กลุ่มสหภาพแรงงานสิ่งทอของกัมพูชาได้เรียกร้องรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,000 บาท) ทั้งนี้การนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องสภาพการทำงานและค่าแรงที่จ่ายสำหรับแรงงานที่ยากจนเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศกัมพูชา เช่นเดียวบังคลาเทศ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของโรงงานผลิตเสื้อผ้าราคาถูกที่ส่งออกไปยังธุรกิจค้าปลีกในประเทศฝั่งอเมริกาและยุโรป โดยภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป สร้างรายได้หลักให้แก่กัมพูชา เม็ดเงินการส่งออกเมื่อปี 2012 อยู่ที่ประมาณ 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแรงงานส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปนี้ประมาณ 650,000 คน เป็นแรงงานหญิง ที่มาข่าวบางส่วนจาก: At least 6 dead after Cambodian factory collapses: union member (nbcnews.com, 17/05/2013) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดตัว NBTC Policy Watch ส่อง 'ทีวีดิจิตอลสาธารณะ' หรือจะเป็นตลกร้ายของการปฏิรูปสื่อ? Posted: 17 May 2013 05:01 AM PDT (17 พ.ค.56) ในการเปิดตัวโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ที่อาคารวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการ มสช.ระบุว่า โครงการดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อศึกษา วิเคราะห์ ติดตามและตรวจสอบนโยบายและกระบวนการทำงานของ กสทช. รวมถึงทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ กสทช. ทั้งนี้ หวังว่าจะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปสื่อและรู้สึกเป็นเจ้าของมากขึ้น ต่อมา พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยประจำโครงการ นำเสนอรายงานการศึกษาในหัวข้อ "ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ต่อการจัดสรรช่องรายการทีวีดิจิตอลธุรกิจ" โดยระบุว่า การที่ กสทช.แบ่งประเภททีวีดิจิตอลช่องบริการธุรกิจ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ช่องทั่วไป ช่องข่าว และช่องเด็ก สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของ กสทช.ที่อยากจะเห็นความหลากหลายในเนื้อหา ไม่เช่นนั้นความล้มเหลวของระบบตลาด จะทำให้รายการที่ดีแต่ไม่ได้รับความนิยม ไม่ถูกผลิต อย่างไรก็ตาม ลำพังการแบ่งช่องแม้จะแก้ปัญหาเชิงปริมาณได้ แต่ยังไม่แก้ปัญหาเชิงคุณภาพ ทั้งนี้ มีข้อเสนอว่า กสทช.อาจลดราคาตั้งต้นประมูลของช่องรายการข่าวและช่องรายการเด็กให้ต่ำลง เพื่อจูงใจให้คนเข้าสู่ตลาด แต่ก็จะทำให้รัฐได้รายรับน้อยลง นอกจากนี้ การอุดหนุนราคาเช่นนี้ยังไม่ยึดโยงกับคุณภาพของเนื้อหารายการ และผู้ประกอบการยังอยู่ใต้แรงจูงใจเพื่อแสวงหากำไร และยังมีความเสี่ยงคือ ช่องเหล่านี้อาจอากาศรายการที่มีเนื้อหาคลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์ ซึ่งหากนิยามหรือเกณฑ์ของรายการเด็กฯ และรายการข่าวฯ คลุมเครือ รวมถึงไม่มีกระบวนการตรวจสอบและรับผิดที่แข็งแรง สังคมก็อาจได้รับสินค้าที่คุณภาพไม่สอดคล้องกับราคาที่จ่ายไป พรเทพ เสนอว่า เพื่อรักษาเจตนารมณ์ตั้งต้นในการแบ่งประเภทช่องรายการ กสทช.ต้องให้ความสำคัญกับการกำกับด้านเนื้อหา ทั้งด้านนิยามและการตรวจสอบ โดยวางกรอบคุณสมบัติของรายการที่ช่องรายการต้องมีการผลิต กำหนดความหลากหลายของรายการ เช่น เวลาขั้นต่ำในการฉายรายการที่มีคุณสมบัติที่กำหนดในเวลาที่เหมาะสม กำหนดเนื้อหาโฆษณาสำหรับเด็ก เช่น ห้ามโฆษณาแฝง ชักจูงให้เด็กซื้อสินค้า รวมถึงกำหนดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในการออกอากาศให้ชัดเจน พรเทพ กล่าวถึงประเด็นราคาเริ่มต้นการประมูล ซึ่งคณะผู้วิจัยจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่ง กสทช.ว่าจ้างให้ศึกษามูลค่าคลื่นเพื่อกำหนดราคาประมูล เสนอให้ กสทช. ปรับราคาตั้งต้นประมูลตามจำนวนผู้เข้าร่วมและจำนวนใบอนุญาต โดยจะลดลงอย่างเป็นสัดส่วนเมื่อมีผู้เข้าประมูลมากขึ้น โดยอาจลดลงได้ถึง 20% ของมูลค่าประมูลที่ต่ำที่สุด เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาแข่งขันว่า แง่หนึ่งเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ เพราะจะมีส่วนให้การจัดสรรช่องรายการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การเลือกประกาศหรือไม่ประกาศเมนูราคาเริ่มต้นดังกล่าว ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การจัดประมูลด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ประกอบการร่วมมือกันเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลที่อาจไม่ได้ต้องการแข่งขันอย่างจริงจัง เพื่อดึงให้ราคาต่ำลง ซึ่งจะทำให้รัฐได้รายรับน้อยกว่าที่ควรถึง 20% พรเทพ กล่าวต่อว่า ดังนั้น การป้องกันและคัดกรองผู้เข้าร่วมประมูลที่ไม่จริงจังกับการประมูลจึงสำคัญมาก โดยอาจมีมาตรการ เช่น กำหนดให้วางหลักประกันการประมูล เพิ่มหลักประกันที่ต้องวางก่อนการประมูลให้สูงขึ้นจากปัจจุบันที่ 10% ของราคาขั้นต้น นอกจากนี้ การไม่เปิดเผยตัวตนของผู้เข้าร่วมประมูลและข้อมูลว่าใครประมูลในใบอนุญาตช่องรายการประเภทใดบ้าง อาจทำให้การร่วมมือระหว่างผู้เข้าประมูลเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น
"โอกาสปฏิรูปสื่อผ่านจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอลจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า หรือจะเป็นตลกร้ายของการปฏิรูปสื่อ ที่หน่วยงานรัฐพาเหรดเข้ามายึดครองหน้าจอ โดยอาจไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะเลย ทั้งยังเปิดช่องให้รัฐเอาภาษีของประชาชนมาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของตัวเอง จ้างสื่อเอกชนมาทำสื่อให้ภาครัฐ เป็นการซื้อสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม หน่วยงานรัฐอาจเอาคลื่นความมั่นคงไปใช้เชิงพาณิชย์หรือไม่เพราะเปิดให้หาโฆษณาได้ และอาจกระทบต่อการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ในกรณี ช่อง 5 ที่แข่งขันบนเงื่อนไขเดียวกับสื่อพาณิชย์โดยไม่ต้องเสียค่าคลื่นความถี่" วรพจน์กล่าว วรพจน์ กล่าวต่อว่า จะเห็นว่านิยาม "สื่อสาธารณะ" ของรัฐที่ออกมาดูจะเป็นสื่อของรัฐมากกว่า ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเรียกร้องให้มีการออกหลักเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติทีวีสาธารณะที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขอรับใบอนุญาตพิสูจน์ความเป็นสาธารณะและเป้าหมายสาธารณะได้ในระดับหนึ่ง พร้อมระบุว่า ในต่างประเทศนั้น จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติใน 4 มิติ ได้แก่ หนึ่ง โครงสร้างองค์กร เพื่อรักษาความเป็นอิสระขององค์กรให้ปลอดจากแรงกดดันทางการเมืองและธุรกิจ สอง กลไกการรับผิดรับชอบทั้งภายในและภายนอก สาม การหารายได้ ซึ่งต้องออกแบบระบบการเงินที่ยึดแนวทางความเป็นอิสระและยั่งยืน และสี่ ผังและเนื้อหารายการ ซึ่งต้องผลิตเนื้อหาที่สร้างผลกระทบเชิงบวกและตอบสนองผู้ถูกละเลยจากกลไกตลาด วรพจน์ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ กสทช. จะต้องกำกับดูแลหลังให้ใบอนุญาตด้วย โดยควรกำหนดให้มีช่วงทดลองหนึ่งปีแรก ถ้าทำตามที่เสนอไม่ได้จริง อาจพิจารณาไม่ต่ออายุใบอนุญาต รวมถึงควรมีมาตรการลงโทษหลายระดับกรณีมีการละเมิดกฎหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาต เช่น ปรับ ระงับการออกอากาศชั่วคราว จนถึงยกเลิกใบอนุญาต มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และ กสทช.จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลการดำเนินงานและส่งต่อเป้าหมายสาธารณะของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสาธารณะทุกปี เช่นเดียวกับ Ofcom ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสื่อและโทรคมนาคมของอังกฤษด้วย นอกจากนี้ นวลน้อยตั้งคำถามเรื่องการกำหนดเวลาประมูลว่า ในต่างประเทศ หากเป็นการจัดสรรคลื่นทีวี ส่วนใหญ่จะใช้วิธีบิวตี้คอนเทสต์ ขณะที่หากเป็นโทรคมนาคมจะใช้วิธีประมูล ซึ่งก็ทำกันข้ามวันข้ามคืน เพื่อแข่งราคา แต่ของไทย กลับใช้วิธีประมูลทีวี โดยให้เวลาหนึ่งชั่วโมง ซึ่งไม่น่าเป็นผลดีต่อการประมูลนัก ทั้งนี้ เห็นต่างจากพรเทพที่เสนอให้ไม่เปิดเผยผู้เข้าแข่งขัน เพราะมองว่า ที่ผ่านมา คนที่ไม่รู้รายละเอียดคือสาธารณชน แต่คนที่ประมูลรู้กันหมดอยู่แล้ว จึงน่าจะเปิดชื่อให้รู้กันไปเลย เพราะสื่อจะหาข้อมูลต่อเองว่าใครเป็นอย่างไร
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Flash Mob ทั่วกรุงฯ เครือข่าย LGBT ไทย ประกาศ “สิทธิ LGBT คือสิทธิมนุษยชน” Posted: 17 May 2013 04:48 AM PDT เครือข่าย LGBT จัด Flash Mob เนื่องในวัน IDAHOT วอนสังคมตระหนักปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ วันที่ 17 พฤษภาคม เครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศจัดกิจกรรม flash mob ตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เนื่องในวันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกันและการข้ามเพศ (IDAHOT) เพื่อเรียกร้องให้สังคมยุติความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีการกิจกรรมบริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงเช้า ที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ในช่วงบ่าย ที่สยามพารากอนในช่วงเย็น และที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิในช่วงค่ำ ในปีนี้เครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการผลักดัน 4 ประเด็นซึ่งมีฐานอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนได้แก่ 1. ผลักดันให้ครอบครัวและความสัมพันธ์ของคนทุกเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมทางกฎหมาย 2. ผลักดันให้การข้ามเพศออกจากบัญชีความเจ็บป่วยทางจิต 3. ผลักดันให้ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติยุติการเกลียดกลัวชายที่มีความสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง 4. ผลักดันให้ยุติการบีบบังคับให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบตามเพศบนบัตรประชาชนในสถาบันการศึกษา ผู้ร่วมกิจกรรมเดินขบวนธงสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ แต่งกายในชุดไทยหลากหลายสี และชุดแต่งงาน ตะโกนคำว่า "LGBT Rights is Human Rights. สิทธิ LGBT* คือสิทธิมนุษยชน" สำหรับเหตุผลที่แต่งชุดไทยเนื่องจากนี่เป็นกิจกรรมสากล ภาพกิจกรรมในวันนี้จะออกสู่สายตาประชาคมโลกจึงต้องการแต่งกายให้แสดงออกว่าประเทศไทยได้จัดกิจกรรม IDAHOT ด้วยเช่นกัน ส่วนเหตุผลที่แต่งชุดแต่งงานเนื่องจากต้องการให้สังคมยอมรับการแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สำหรับเหตุผลที่เลือกจัดกิจกรรมที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อต้องการแสดงสัญลักษณ์ว่ารัฐธรรมนูญต้องพิทักษ์สิทธิของประชาชนทุกคนร่วมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ เหตุผลที่จัดกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์เนื่องจากเป็นสถานที่เคยถูกใช้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน อีกทั้งยังต้องการให้สถาบันการศึกษาพิจารณาเรื่องเครื่องแต่งกายใหม่ ส่วนเหตุผลที่จัดกิจกรรมบริเวณสยามพารากอน และอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื่องจากเป็นที่มีคนพลุกพล่าน ต้องการให้ประชาชนที่สัญจรไปมาตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงทางสังคมที่กระทำต่อผู้รักเพศเดียวกันและบุคคลข้ามเพศ วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันที่ประเทศทั่วโลกเคลื่อนไหวพร้อมกัน เพื่อยุติการเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกัน (homophobia) การเกลียดกลัวคนที่รักได้มากกว่าหนึ่งเพศ (biphobia) และการเกลียดกลัวการข้ามเพศ (transphobia) วันนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า IDAHO และปัจจุบันมีการเพิ่มตัว T(Transphobia) เป็น IDAHOT และบางประเทศได้เพิ่มการรณรงค์ Bi (biphobia) เป็น IDAHOBiT การรณรงค์ในวันนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อองค์การอนามัยโลกถอดถอนการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีรายชื่อความเจ็บป่วยทางจิต หมายความว่า การรักเพศเดียวกันไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด วันนี้จึงถูกใช้เพื่อรณรงค์ต่อสังคมในวงกว้างให้หยุดการเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกัน สัญลักษณ์ของวัน IDAHO คือรูปเครื่องหมายตกใจ (!) เพื่อบอกให้สังคมหยุดความรุนแรงที่กระทำต่อผู้ที่รักเพศเดียวกัน และผู้ที่มีเพศแตกต่างออกไปจากความหมายของเพศตามกรอบกระแสหลักในสังคม สำหรับความรุนแรงต่อการรักเพศเดียวกันและการข้ามเพศที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้น เครือข่ายความหลากหลายทางเพศระบุว่า พบว่ามีการข่มขืน การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการฆ่า ในช่วงเวลา 5 ปี (2549-2554) พบการฆ่าหญิงรักหญิงและทอม 15 รายเฉพาะที่เป็นข่าว นอกจากนี้ ความรุนแรงต่อคนที่รักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศยังปรากฏในรูปของการทำร้ายจิตใจ การไม่ยอมรับในครอบครัว ในสถานศึกษา การบีบบังคับให้ยอมรับความเป็นเพศที่ไม่ตรงกับความต้องการของเจ้าตัว การกีดกันโอกาสทางการงานไปจนถึงการไล่ออก การตีตราว่าเป็นความผิดปกติหรือเป็นบาปกรรมทางศาสนา ไปจนกระทั่งการไม่มีกฎหมายคุ้มครองความสัมพันธ์และครอบครัวของคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กิจกรรมที่รถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม
*LGBT ย่อมาจาก Lesbian Gay Bisexual Transgender: เลสเบี้ยน เกย์ ผู้รักสองเพศ และบุคคลข้ามเพศ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไม่พอใจรูปแบบเลือกตั้งก็ให้ "ย้ายไปที่อื่น": วาทะล่าสุดจาก มท.1 มาเลเซีย Posted: 17 May 2013 04:15 AM PDT หลังพรรคฝ่ายค้านมาเลเซียไม่พอใจผลการเลือกตั้งที่แม้ฝ่ายค้านชนะคะแนนรวม แต่กลับได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยกว่ารัฐบาล เพราะเขตเลือกตั้งมีขนาดไม่เท่ากันนั้น ล่าสุด รมว.มหาดไทยมาเลเซีย เขียนบทความลง นสพ. ระบุใครที่จงรักภักดีต่อมาเลเซีย ควรยอมรับระบบการเมืองของประเทศนี้ ถ้าจะใช้รูปแบบเลือกตั้งแบบอื่นก็ให้ย้ายไปอยู่ประเทศอื่น อะหมัด ซาฮิด ฮามิดี (AHMAD ZAHID HAMIDI) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนล่าสุดของมาเลเซีย ภาพนี้ถ่ายในเดือนสิงหาคมปี 2553 สมัยที่อะหมัด ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และเข้าพบอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย (ที่มาของภาพ: Peerapat Wimolrungkarat/The Office of the Prime Minister of Thailand/Wikipedia)
มาเลเซียกินี รายงานเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า รัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่ของมาเลเซียกล่าวกับพรรคฝ่ายค้านว่าจะ "ย้ายไปอยู่ที่อื่น" ก็ได้ ถ้ารู้สึกไม่พอใจกับระบบการเลือกตั้งของประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้ง 5 พ.ค. ที่ผ่านมา พรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional - BN) ได้ ส.ส. 133 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat PR) ซึ่งได้คะแนนเสียงรวมหรือป็อบปูลาร์โหวตร้อยละ 51.78 ได้ที่นั่ง ส.ส. 89 ที่นั่ง ทั้งนี้มาเลเซียกินี อ้างถึงบทความของอะหมัด ซาฮิด ฮามิดี (AHMAD ZAHID HAMIDI) ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อูตูซัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาล ซาฮิดได้เรียกการชุมนุมหลังการเลือกตั้งของผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านว่าเป็นการรวมตัวกันที่ผิดกฎหมาย และเขียนด้วยว่า ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) และพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ได้สร้างความสับสนให้กับชาวจีนรุ่นหนุ่มสาว และผู้สนับสนุนที่ไม่ลืมหูลืมตา โดยบอกให้พวกเขาสวมเสื้อดำประท้วงผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ที่พรรคฝ่ายค้านชนะผลคะแนนรวมหรือป็อบปูลาร์โหวต บทความของซาฮิดระบุด้วยว่า การรวมตัวกันที่ผิดกฎหมายนี้ เพื่อซ่อนข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้เห็นแย้งในผลการเลือกตั้งที่รัฐปีนัง สลังงอร์ และกลันตัน "ถ้าเป็นเรื่องจริงว่าพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงข้างมาก วิธีนับแบบนี้ก็ถูกใช้เพื่อปลุกปั่น ... วิธีนับคะแนนของพรรคฝ่ายค้านเช่นนี้ ถูกใช้ในประเทศที่เลือกประมุขของประเทศและพรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น" เขากล่าวในบทความว่ามาเลเซียไม่ได้ใช้รูปแบบการเลือกตั้งที่รับรองคะแนน "ป็อบปูลาร์โหวต" ขณะที่ประเทศใช้ระบบ "Westminster System" ที่ผู้ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับการเลือกตั้ง (first past the post) อย่างที่ประเทศในเครือจักรภพใช้ บทความในซาฮิดกล่าวต่อว่า ด้วยระบบนี้ ผู้ลงคะแนนจะเลือกผู้แทนของพวกเขาจากพรรคการเมือง และผู้ชนะก็ควรจะเป็นพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก "ถ้าคนกลุ่มนี้ (หมายถึงพรรคฝ่ายค้าน) ต้องการใช้ระบบอื่นที่ใช้การลงคะแนนรวมอย่างที่ใช้ในประเทศแบบสาธารณรัฐ พวกเขาก็ควรย้ายไปอยู่ประเทศอื่น เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามความเชื่อทางการเมืองของพวกเขา" ซาฮิดกล่าวผ่านบทความที่ลงในอูตูซาน ใครก็ตามที่จงรักภักดีต่อมาเลเซีย ควรที่จะยอมรับระบบการเมืองที่ประเทศนี้ใช้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของระบบรัฐบาลที่มี ซึ่งยึดมั่นในรัฐธรรมนูญแบบสหพันธรัฐ การรวมตัวประท้วงแบบผิดกฎหมาย ซึ่งเดินสายจัดแบบโรดโชว์ของพรรคฝ่ายค้านนั้นเป็นเพียงการหนีออกจากความจริงของพรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องการซ่อนข้อเท็จจริงว่าพวกเขาล้มเหลวที่จะเอาชนะการเลือกตั้ง "พรรคฝ่ายค้านมีท่าทีมั่นใจเกินไป ต่อการสนับสนุนของผู้ลงคะแนน และผู้สนับสนุนเหล่านี้ถูกปลุกปั่นโดยหลายประเด็น รวมทั้งคำสัญญาจากพรรคฝ่ายค้านที่พวกเขาไม่สามารถทำได้" ซาฮิดกล่าวในบทความด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ในรอบหลายปีมานี้ ในมาเลเซียมีการวิจารณ์เรื่องระบบเลือกตั้ง รวมทั้งการบิดเบือนเขตเลือกตั้งและการโกงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตที่พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง เฉลี่ยแล้ว 1 เขตเลือกตั้ง มักจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าเขตเลือกตั้งของพรรครัฐบาล โดยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 นี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่พรรคฝ่ายค้านชนะเฉลี่ยอยู่ที่เขตเลือกตั้งละ 77,655 คน ขณะที่เขตเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายรัฐบาลชนะ ค่าเฉลี่ยของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ 46,510 คน ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย พรรครัฐบาลได้ที่นั่ง 133 ที่นั่ง คะแนนเสียงรวมอยู่ที่ 5.24 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 48.22 ส่วนพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่ง 89 ที่นั่ง ได้คะแนนเสียงรวมอยู่ที่ 5.62 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 51.78 สำหรับพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" หรือ BN ครองอำนาจในมาเลเซียนับตั้งแต่ได้เอกราชเมื่อ พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ตามแม้จะชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังสุด พรรครัฐบาลได้สูญเสียการเป็นเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่ง ส.ส. เพิ่มมากขึ้น และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรครัฐบาลแม้จะยังคงได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด แต่พรรคฝ่ายค้านได้รับคะแนนเสียงรวมมากกว่าพรรครัฐบาลเป็นครั้งแรก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประชุม GBC ไทย-กัมพูชา เห็นพ้องทำพื้นที่ชายแดนให้สงบเรียบร้อย Posted: 17 May 2013 02:57 AM PDT 17 พ.ค. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่า ไทย-กัมพูชา ได้ประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 9 เห็นชอบร่วมมือป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดตามแนวชายแดนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า และเตรียมแผนเก็บกู้ทุ่นระเบิด ให้เริ่มดำเนินการได้ในเดือนหน้า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 9 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม ที่อุทยานกอล์ฟวังจันทร์ จ.ระยอง ว่าเป็นการหารือความร่วมมือบริเวณชายแดนของทั้ง 2 ประเทศให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดย 2 ประเทศจะสนับสนุนและทำให้พื้นที่ชายแดนมีความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงอีกด้วย "2 ประเทศเห็นชอบร่วมมือภายใต้กรอบคณะกรรมการ GBC ที่จะร่วมกันป้องกันปราบปรามการกระทำผิดทุกรูปแบบตามแนวชายแดน โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด และการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนส่งเสริมความปลอดภัยทางทะเลให้เพิ่มมากขึ้นด้วย และยังมีแผนเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ทั้ง 2 ประเทศยังจะเผยแพร่ข่าวสารที่มีข้อเท็จจริงและสร้างสรรค์ในฐานะมิตรประเทศอันดีต่อกัน" พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว ด้าน พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา กล่าวว่า ไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์อันดีมาโดยตลอด และขอยืนยันว่าจะไม่มีการปะทะกันของทหารระหว่างที่มีการพิจารณาคดีของศาลระหว่างประเทศ กรณีกัมพูชาขอให้ตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ส่วนการเคลื่อนเสริมกำลังพลจะเป็นไปตามเหมาะสม และจะมีการแจ้งไทยทราบถึงเจตนาอย่างชัดเจน กรณีมีการซ้อมรบตามแนวชายแดน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แนวร่วมคนไทยรักชาติประกาศยกระดับการชุมนุมพรุ่งนี้ Posted: 17 May 2013 02:44 AM PDT 'ไชยวัฒน์' ลั่นยกระดับการชุมนุม เพิ่มเป็น 50,000 คนจากเดิม 35,000 คน วันที่ 18 พ.ค. นี้ หลังจากมีกลุ่มคนเคลื่อนไหวข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทนไม่ได้ 'เรดพาวเวอร์' ตีพิมพ์หน้าปกที่แสดงออกถึงความต้องการให้ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 17 พ.ค. 56 - เว็บไซต์เนชั่นทันข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น.ที่สนามหลวง นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน กล่าวว่า จากกรณีที่ ส.ส. ส.ว. กว่า 300 คนได้แสดงความไม่เคารพ และปฏิเสธศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนไหวข่มขู่ต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงแสดงออก ถึงเจตนารมณ์โค่นล้มศาลรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากนี้ล่าสุดนิตยสารเรดพาวเวอร์ ได้ตีพิมพ์หน้าปกที่แสดงออกถึงความต้องการให้ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเห็นว่าเป็นการกระทำของขบวนการเดียวกัน ทำให้มีความเห็นจะต้องยกระดับการเคลื่อนไหวจะชุมนุมใหญ่พรุ่งนี้ 17.00 น.เป็นต้นไป คาดว่าจะมีผู้ชุมนุมเพิ่มเป็น 50,000 คนจากเดิม 35,000 คน ส่วนมาตรการอะไรต้องประเมินสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้อีกครั้ง นายไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการคุกคามเสรีภาพคือถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามถ่ายภาพในเวลากลางคืน ตนตัดสินใจไม่ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ แต่จะป้องกันตัวเองภายใต้กฎหมาย ส่วนเมื่อช่วงเช้ามีการประกาศจากสำนักงานเขตพระนคร กทม.ให้ออกจากพื้นที่ แต่ตนยืนยันอยู่ในพื้นที่ต่อไป เพราะการยก พ.ร.บ.ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 รวมถึงมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ จริงๆเป็นโครงสร้างระบุว่าผู้อำนวยการเขตมีอำนาจอะไร แต่สิ่งที่กำหนดโทษนั้นเป็นลหุโทษ ถ้าสำนักเขตจะดำเนินการตามกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของสำนักเขต ส่วนเราก็จะทำตามสิทธิในรัฐธรรมนูญต่อไป เนื่องจากตนเคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. เคยดูแลสำนักงานเขต จึงทราบว่าอำนาจผู้ว่าฯ กทม.สามารถละเว้นได้ "ถ้าต่างคนต่างทำหน้าที่ก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เราไม่ได้ใช้สีข้างเข้าถู ส่วนจะใช้สนามหลวงกี่วันก็ขึ้นอยู่กับนักการเมืองจะพ้นจากอำนาจเมื่อไหร่เราจึงจะกลับบ้าน เพราะนักการเมืองเป็นต้นเหตุกอบโกยผลประโยชน์ของประเทศ" นายไชยวัฒน์ กล่าวและว่า ในเวลา 14.00 น. วันนี้ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน จะไปยื่นคำร้องกับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ว่า สมาชิกวุฒิสภาประพฤติมิชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสื้อแดงตั้งกองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์เชียงใหม่ ป้องกันประท้วงประชุมน้ำโลก Posted: 17 May 2013 02:32 AM PDT กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศตั้งกองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์เมืองเชียงใหม่ 500 คน พร้อมชนทุกรูปแบบกับทุกม็อบที่มาป่วนการประชุมน้ำโลก ห้ามเอ็นจีโอตั้งเวทีปราศรัยหรือรถเครื่องเสียงในรัศมี 20 กิโลเมตร จากศูนย์ประชุม 17 พ.ค. 56 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าที่โรงแรม วโรรสแกรนด์พาเลซ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 หรือกลุ่มเสื้อแดงเชียงใหม่ นายกฤษณะ พรมบึงรำ แกนนำของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 พร้อมแกนนำกลุ่มเสื้อแดงหลายกลุ่มในจังหวัด ร่วมแถลงข่าวกรณีการจัดตั้ง "กองกำลัง อาสาสมัคร พิทักษ์เมืองเชียงใหม่" โดยมีนโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน ในการต่อต้านม็อบเอ็นจีโอ ที่จะมาชุมนุมปั่นป่วนการประชุมผู้นำน้ำโลกที่ จ.เชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพ นายกฤษณะ กล่าวว่าตามที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้จัดให้มีการประชุมจัดการน้ำ ภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิก ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่เฉลิมพระเกียติ 7 รอบ ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค. โดยมีผู้นำของประเทศต่างๆมาร่วมงานครั้งนี้กว่า 35 ประเทศ ซึ่งมีทั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ตลอดจนประมุขระดับราชาธิบดี ซึ่งถือว่าเป็นมงคลแก่ จ.เชียงใหม่ เป็นอย่างยิ่ง และสิ่งสำคัญจะเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ด้านความพร้อมสำหรับการประชุมระดับนานาชาติ ตลาดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่ แต่ปรากกฏว่ามีกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นกลุ่มเอ็นจีโอ ได้ประกาศจะมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมครั้งนี้โดยประกาศจะตั้งเวทีปราศรัย คู่ขนานกับการประชุมระดับโลก ซึ่งพี่น้องชาวเชียงใหม่เห็นว่าพฤติกรรมของกลุ่มเอ็นจีโอพวกนี้ จะทำลายภาพลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ตลอดจนภาพพจน์ของประเทศไทยเสียหาย เป็นการทำลายบรรยากาศการประชุมที่มีผู้นำระดับโลกมากันมากมาย เป็นประวัติการณ์ของเมืองเชียงใหม่ เป็นการทำลายเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของล้านนา อย่างประเมินค่ามิได้ ทางกลุ่มคนเชียงใหม่นำโดยกลุ่มคนเสื้อแดงจึงได้รวมตัวกันก่อตั้ง"กองกำลัง อาสาสมัคร พิทักษ์เมืองเชียงใหม่" โดยมีนโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน และขอให้กลุ่มเอ็นจีโอ ที่จะมาสร้างความปั่นป่วนต่อการประชุมครั้งนี้จงยุติการกระทำดังกล่าว ห้ามมีการตั้งเวทีปราศรัยหรือรถเครื่องเสียงในรัศมี 20 กิโลเมตร จากศูนย์ประชุม โดยเด็ดขาด และเราจะมีศูนย์เฝ้าระวังผู้ที่จะเข้ามาทำลาย รบกวนการประชุมตั้งแต่วันนี้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเตรียมคนไว้ 500 คน พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับผู้ที่มาต่อต้านการประชุมโดยทันที และสามารถเคลื่อนพลไปถึงเป้าหมายภายใน 5 นาที ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ เบิกความคดีแดงก่อการร้าย เชื่อมีชายชุดดำอยู่ในที่ชุมนุม Posted: 17 May 2013 02:22 AM PDT อดีตเลขาธิการ สมช. เบิกความในฐานะพยานโจทก์ คดีเสื้อแดงก่อการร้าย ปี 53 เชื่อมีกลุ่มกองกำลังที่ใช้อาวุธเป็นชายชุดดำอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งมีทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในการดูแลของ 'เสธ.แดง' ชี้ตลอดการชุมนุมมีกลุ่มคนใช้ M79, M67, M26, RPG และ M16 คุกคามฝ่ายตรงข้ามกับ นปช. และพรรคพลังประชาชน ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. 16 พ.ค. 56 - ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการ Online รายงานว่า ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (16 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ 2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย,ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, และฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 2553 ต่อเนื่องกัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา โดยวันนี้ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พยานโจทก์ เบิกความต่อจากครั้งที่แล้วว่า ช่วงที่กลุ่ม นปช.เรียกร้องให้รัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภานั้นได้มีการเจรจากันระหว่างตัวแทน นปช.และตัวแทนของรัฐบาลจำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากแกนนำ นปช.ต้องการให้รัฐบาลยุบสภาทันที ขณะที่รัฐบาลเสนอว่าจะยุบสภาภายใน 9-10 เดือน ส่วนตัวแทนที่ แกนนำ นปช.ก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจได้ในทันที โดยเชื่อว่าผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้การชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 เป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. 2552 ซึ่งหวังผลอย่างชัดเจนที่จะล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ได้ เชื่อว่าสืบเนื่องมาจาก รัฐบาลที่ พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนแพ้การโหวตเสียงในสภาฯ และ ปี 2551 พ.ต.ท.ทักษิณถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 2 ปี ในคดีจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ และวันที่ 26 ก.พ. 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท โดยภายหลังการเจรจาระหว่าง นปช.และรัฐบาลไม่ได้ข้อยุติ กลุ่ม นปช.ก็มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งเวทีบริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2553 จากนั้นวันที่ 3 เม.ย. จึงเคลื่อนไปเปิดเวทีที่แยกราชประสงค์ เป็นการเปิดเวทีคู่ขนานกันโดยมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็กลุ่ม นปช.ก็มีการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตลอดมา โดยเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ได้นำมวลชนคนเสื้อแดงไปปิดล้อมรัฐสภา ซึ่งขณะนั้นมีการประชุมสภาอยู่ และมีการบุกเข้าไปปลดอาวุธของเจ้าหน้าที่ ที่ประจำการอยู่ภายในอาคารรัฐสภาและมีการคุกคาม จนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และส.ส.อีกหลายคนต้องหนีออกทางด้านหลังรัฐสภา อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. คือมีคนกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธคุกคามต่อสถานที่ องค์กร และสถาบันที่อยู่ตรงข้ามกับ นปช. และพรรคพลังประชาชน โดยเกิดขึ้นตลอดช่วงการชุมนุม มีทั้งการใช้อาวุธสงครามเช่น ระเบิดเอ็ม 79, ระเบิดเอ็ม 67, ระเบิดเอ็ม 26, อาร์พีจี และปืนเอ็ม 16 เช่นเหตุการณ์คนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 9 เข้าไปยังห้องทำงาน ของ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. และรองผอ.กอ.รมน. ถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ คนร้ายยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม ขว้างระเบิดเอ็ม 67 เข้าไปที่หน้าบ้านพักนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีการยิงอาวุธปืนเข้าใส่ ธนาคารกรุงเทพ หลายสาขา ซึ่งกลุ่ม นปช.เชื่อว่าธนคารกรุงเทพเป็นผู้สนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่กลุ่ม นปช.ได้ต่อต้านกลุ่มอำมาตย์รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีการยิงระเบิดเอ็ม 79 และอาวุธปืนเข้าไปในสถานที่ราชการต่างๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงการยิงระเบิดเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุขซึ่งรัฐบาลใช้เป็นสถานที่ประชุม ครม.นอกสถานที่ และมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายคุกคามต่อเป้าหมายที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่ม นปช. นายถวิลเบิกความต่อว่า ช่วง นปช.เคลื่อนไหวชุมนุมนั้น ทางสำนักงานนายกรัฐมนตรี เคยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งให้ นปช.ยุติการชุมนุมที่ราชประสงค์ ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีการปิดเส้นทางการจราจร กระทบกับการใช้ชีวิตปกติของประชาชน ขัดต่อความมั่นคงและเสรีภาพของประชาชน เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลได้ยกคำร้องคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ขณะนั้นรัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีอำนาจทางกฎหมายที่จะดำเนินการได้อยู่แล้ว และวันที่ 23 เม.ย. 2553 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้รัฐบาลสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า มาตรการปิดล้อมการชุมนุมของรัฐบาลนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และมีอำนาจกระทำได้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะคุ้มครองผู้ร้อง นายถวิลเบิกความว่า ภายหลังการบุกสภาของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 นั้น รัฐบาลเห็นว่าสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นรัฐบาลจึงได้ ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีข้อกำหนดต่าง ๆ เช่นห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามเข้าไปใช้สถานที่หรืออาคารที่กำหนด ห้ามชุมนุมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลบางแห่ง และบางอำเภอในจ.อยุธยาด้วย แต่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ก็ยังไม่ยุติ กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันที่ 8-9 เม.ย. 2553 กลุ่มผู้ชุมนุมได้บุกเข้าไปในสถานีดาวเทียมไทยคม ตั้งอยู่ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เพื่อไม่ให้ตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชลแนล ซึ่งขณะนั้น กลุ่ม นปช.ได้ใช้เป็นเครื่องมือ นัดหมายการชุมนุม เผยแพร่และยุยงปลุกปั่นผู้ชุมนุม โดยกลุ่ม นปช.สามารถฝ่าด่านทหารที่รักษาการอยู่ และเข้าไปในสถานีได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องถอนกำลังออกมา โดยมีทหารบาดเจ็บหลายนาย และเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ศอฉ.จึงได้ออกมาตรการขอคืนพื้นที่บริเวณราชดำเนิน เนื่องกลุ่ม นปช.ใช้พื้นที่จำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ร่วมชุมนุม โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดเส้นทางการจราจรบนสะพานพระปิ่นเกล้าและสะพานพระราม 8 ให้ใช้สัญจรได้ เนื่องจากได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่าได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งได้ใช้กำลังทหารเป็นหลักในการผลักดัน แต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ทั้งนี้ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติ ที่รายงานมายัง ศอฉ. ว่าการผลักดันกลุ่ม นปช. เริ่มตั้งแต่ช่วงสาย ของวันที่ 10 เม.ย. โดยเคลียร์พื้นที่และผลักดันผู้ชุมนุมจากแยกมิสกวันไปให้ไปอยู่บริเวณแยกกองทัพบก แต่ถูกต่อต้านจากกลุ่ม นปช. ที่เคลื่อนไหวมาขัดขวางอยู่ที่หน้ากองทัพบก โดยแกนนำคือ นายขวัญชัย ไพรพนา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ เกราะ โล่ กระบอง เป็นเครื่องมือในการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม และทราบภายหลังว่า มีประชาชนถูกยิงด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต 1 คนที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่มีการผลักดันกลุ่มนปช. อย่างไรก็ตามมาตรการผลักดันดังกล่าวไม่สำเร็จ เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมนปช.ขัดขวาง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย รัฐบาลจึงประกาศยกเลิก จากนั้นจึงมีการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ที่ถนนราชดำเนิน แต่ครั้งนี้มีการต่อต้านจากกลุ่มผู้ใช้อาวุธสงคราม เป็นเหตุการณ์ที่มีทหารเสียชีวิต 5 นาย ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 21 คน ทหารบาดเจ็บประมาณ 300 นาย ผู้ชุมนุมบาดเจ็บประมาณ 500 คน สาเหตุที่ทหารบาดเจ็บจำนวนมากเนื่องจากมีการใช้อาวุธจริง และเห็นว่าการสูญเสียครั้งนี้ยิ่งกว่าการต่อสู้ในสนามรบ ต่อมาในช่วงบ่าย นายถวิลเบิกความต่อว่า ตนเชื่อว่ามีกลุ่มกองกำลังที่ใช้อาวุธเป็นชายชุดดำอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในการดูแลของพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ. แดง และก็มีบางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของเสธแดง และจากการข่าวเชื่อว่ามีการฝึกการใช้อาวุธของกองกำลังในต่างจังหวัดและในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน และจากการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บในวันที่ 10 เม.ย.นั้นเชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะการปรากฏตัวของชายชุดดำ อีกทั้งยังมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้รายงานข่าวว่าในช่วงเวลา 17.30 น.พบชายชุดดำ5คนพร้อมอาวุธสงครามปืน AK47 และเครื่องยิงระเบิด M79 บริเวณ ถ.ตะนาว สี่แยกคอกวัว และก็มีรายงานว่าพบ เสธ.แดง ปรากฏตัวอยู่บริเวณนั้นอีกด้วย อีกทั้งในช่วงเวลาที่มีการแย่งอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารจากฝีมือของมวลชนนปช.บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า นั้นก็มีรายงานว่าพบนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก แกนนำ นปช. ปรากฏตัวอยู่ในกลุ่มมวลชนด้วย เเละหลังจากนั้นก็มีการนำอาวุธปืนที่แย่งได้จากเจ้าหน้าที่ทหารไปโชว์ที่เวทีการชุมนุมของ นปช.ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. และนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ปรึกษาทางกฎหมาย นปช. ในฐานะเป็นตัวแทนของสหภาพรัฐสภา สากลหรือไอพียู ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิเสรีภาพของสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมรับฟังการสืบพยานในครั้งนี้ด้วย โดยนายโรเบิร์ตกล่าวว่า การเข้าร่วมรับฟังการสืบ พยานคดีนี้เพราะส่วนตัวมีความกังวลในเรื่องของความยุติธรรมและกระบวนการของศาลไทยในการไต่สวน และสืบพยาน เนื่องจากคดีนี้ในองค์กรระหว่างประเทศถือเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โรฮิงญา: ชีวิตที่ห้องกัก ตอนที่ 1 ตม. สงขลา Posted: 17 May 2013 01:45 AM PDT บันทึกการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ลงพื้นทีกักกัน 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และตราด มาตั้งแต่เดือนมกราคม เรื่องราวการจับกุม และการอพยพจากอาระกันของชาวโรฮิงญา ได้รับการรายงานมาอย่างต่อเนื่องและเป็นกระแสข่าวใหญ่บนหน้าสื่อเป็นระยะๆ เมื่อมีกรณีการจับกุมชาวโรฮิงญากลุ่มใหญ่ ต้นปีที่ผ่านมา ข่าวใหญ่เกี่ยวกับการจับกุมชาวโรฮิงญาเป็นเรื่องในหน้าสื่อไทยอีกครั้ง ด้วยจำนวนกว่า 2,000 คนและในครั้งนี้มีเด็ก ผู้หญิง และผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องหลายคน อย่างเป็นทางการ ท่าทีรัฐบาลไทยโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ออกมาให้สัมภาษณ์เองว่า จะไม่รีบผลักดันคนกลุ่มนี้ออกไปและจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในขั้นต้น โดยหน่วยงานที่จะเขามรับผิดชอบในการดูแลผู้ต้องกักคือ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะทำหน้าที่ดูแลผู้ต้องกักเป็นเวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ระหว่างนี้ ก็จะประสานกับประเทศที่สาม เพื่อส่งต่อพวกเขาไปยังประเทศปลายทางต่อไป ระหว่างนี้ ประเด็นเรื่องการดูแลความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชาวโรฮิงญาในด่านกัก/บ้านของพม. การแยกกักผู้ต้องกักไปยังจังหวัดต่างๆ รวมถึงลักษณะการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ไทยอาจมีบางประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเพียงใดหรือไม่ และประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ประชาไท เปิดพื้นที่สำหรับนำเสนอบันทึกการลงพื้นที่ของคณคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ลงพื้นทีต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมา โดยลงพื้นที่กัก 6 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และตราด โดยจะทยอยลงตามลำดับการลงพื้นที่ 000 ห้องกัก ตม.จว.สงขลา (อ.สะเดา อ.ปาดังเบซาร์ และ บ้านแรกรับพม.)
วันที่ 15 มกราคม 2556 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประกอบด้วยดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทรและนางสาวเกศริน เตียวสกุล ได้เข้าเยี่ยมสอบถามข้อเท็จจริงและปัญหาข้อขัดข้องที่ห้องกัก ตม.จว.สงขลา(อ.สะเดา) การจับกุม พ.ต.อ.กานต์ ธรรมเกษม ผกก.ตม.จว.สงขลาได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 บริเวณใกล้ด่านตชด.ได้ปรากฏชาวมุสลิมสัญชาติพม่ากำลังจะข้ามชายแดน โดยวิธีใช้คีมตัดลวดตัดลูกกรงตรงด่านเพื่อลอดตัวออกไป และยังจับตัวได้ที่สุเหร่าซอย ไทย-จังโหลน 3 เป็นอาคารโกดังร้าง กำลังข้ามรั้วเข้าไปในป่ายางมาเลย์ (ด่านนอก) ทหารจากกอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายเสนาณรงค์ได้สนธิกำลังที่หมู่บ้านชายควน ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซียไม่เกิน 1 กม. เริ่มจับตัวประมาณ 20.00 น. ขนย้ายตัวมาถึงห้องกักตม.เวลาตีหนึ่งตีสอง จับตัวได้ 307 คน ตรงนี้เป็นการเริ่มจับตัวครั้งแรกแล้วได้แจ้งข่าวไปที่ด่านปาดังเบซาร์ เพราะคาดว่าจะมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน และพบว่าเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน จึงเริ่มจับกุมตัวตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนถึงเวลา 17.00 น.ของวันรุ่งขึ้น (10 มกราคม 2556 จับกุมได้ 393 คน เป็นเด็กและผู้หญิงจำนวน 83 คน ส่งต่อบ้านพักพม.สงขลา และส่งต่อไปที่ห้องกักตม.พังงา 150 คนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอต่างในจังหวัดสงขลา ทั้ง 8 แห่ง รวม 192 คน วิธีการข้ามผ่านชายแดน ขึ้นอยู่กับลักษณะของด่านกั้น ทำได้ 2 ทางคือ 1. ใช้คีมตัดลวดเพื่อลอดตัวออกไป เช่นที่ด่านสะเดา ซึ่งเป็นรั้วคอนกรีต มีตาข่ายกึ่งโปร่ง 2. ใช้การขุดดิน เอาตัวมุดลอดออกไปในกรณีที่เป็นรั้วคอนกรีตทึบ เหตุผลที่อพยพหลบหนีเข้าเมืองไทย ได้รับคำตอบว่า ที่รัฐยะไข่มีคนพุทธมากกว่า จึงพากันหนีไปประเทศที่ยินดีให้ความช่วยเหลือคนมุสลิม สภาพของชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่ถูกจับกุมตัว ไม่พบร่อยรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด ได้คัดแยกจัดทำประวัติ พบว่า มีอาการป่วย ขาดสารอาหาร อ่อนเพลียจากการเดินทาง มีไข้ ท้องเสีย วันที่ 11 มกราคม 2556 มีแพทย์มาทำการตรวจร่างกาย มีพี่น้องมุสลิมจัดหาอาหารมาเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แต่หากอยู่นานไป ขอให้บริจาคเป็นอาหารแห้ง เพื่อปรุงเอง จะดีกว่า เพราะขณะนี้ต้องคอยตรวจตราอาหารกล่องที่ส่งเข้ามา อาจบูดเสียได้เพราะอากาศร้อนและปรุงไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง อาหารจำพวกผักสด เช่น แตงกวาจะทำให้ท้องเสียได้ง่าย ต่อมาพ.ต.อ.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา ได้มาให้ข้อมูลต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(รายงานการประชุมครั้งที่ 4 / 2556 วันที่ 28 มกราคม 2556)ว่า ชุดแรก เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 จับกุมตัวได้307 คน จากนั้นวันที่ 13 ม.ค. มี 156 คน ก็ควบคุมตัวเอาไว้ ตร. ท้องที่ก็ออกหมายจับ รวมแล้ว 856 คน สามวันคือ 9,10 และ 13 ม.ค. เนื่องจากสถานที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สะเดาและปาดังไม่พอ จึงเอาไปฝากที่ตม. พังงา, ปาดัง, สะเดา หน่วยงานที่สอง คนที่เป็นเด็ก สตรี เอาไปฝากที่บ้านพักเด็กและสตรีสงขลา นราธิวาส ปัตตานี สาม สน. ในสงขลา ก็เอาไปฝากไว้เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ดี สามหน่วยนี้ดูแลเป็นหลัก ส่วนบ้านพักเด็กก็มีการจัดแพทย์พยาบาล ไปดูแลรักษา แยกคนป่วยไม่ป่วยออกจากกัน ส่วนการดำเนินการผลักดันจะเป็นเมื่อไหร่ก็คงต้องให้ส่วนของตม. ดำเนินการ ส่วนของท้องที่ก็ดำเนินการเฉพาะความผิดผู้เกี่ยวข้อง มีกรณีคนไทย 2 ราย ถูกจับ และแจ้งข้อหาเรื่องการให้ที่พักพิง เราได้ขออนุญาตขึ้นไปยังห้องกักชั้นสองของอาคาร ขออนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ ขอถ่ายภาพและสัมภาษณ์ผู้ที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เล็กน้อย คือ Mr Hajih Fawyos Ahaned Ahyab เขาเล่าว่า ในครอบครัวมีอยู่ 11 คน ถูกคนพม่าฆ่าไป 7 คน เขาได้หนีออกมาพร้อมกับชาวโรฮิงญาอีก 1,255 คน โดยสารเรือลำใหญ่เพียงลำเดียว เมื่อเข้าเยี่ยมถึงในห้องกัก ชาวโรฮิงญาได้เปิดบาดแผลที่ติดตัวมาให้ดูและบอกให้ถ่ายภาพไว้เพื่อแจ้งหน่วยงานที่ช่วยเหลือได้ ณ วันที่ 28 กพ. 2556 สรุปยอดผู้ต้องกัก ที่รับตัวไว้ตามลำดับ ดังนี้ 1. 9 มค. 2556 จำนวน 224 คน 2. 15 มค. 2556 จำนวน 19 คน 3. 16 มค. 2556 จำนวน 1 คน 4. 21 มค. 2556 จำนวน 12 คน 5. 22 มค. 2556 จำนวน 2 คน 6. 29 มค. 2556 จำนวน 1 คน 7. 31 มค. 2556 จำนวน 26 คน 8. 1 กพ. 2556 จำนวน 33 คน 9. 5 กพ. 2556 จำนวน 6 คน ส่งไปบ้านพักเด็กและครอบครัวพัทลุง 9 คน (เด็กชาย) 10. 6 กพ. 2556 จำนวน 11 คน 11. 7 กพ. 2556 จำนวน 3 คน
วันที่ 17 กพ. 2556 ส่งไปห้องกักตม.จว.หนองคาย 105 คน (*ที่นี่ ด่านนอก อ.สะเดาผู้ต้องกักขาวโรฮิงญาเสียชีวิต เพราะโรคประจำตัว 3 รายแล้ว ได้สอบถามเครือข่ายมุสลิมสงขลาที่ช่วยดูแล ทราบว่ารายแรกเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ และล่าสุดได้เสียชีวิตลงเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม โดยก่อนหน้านี้ แพทย์เสี้ยววงเดือนได้เข้าไปดูแล)
บ้านพักเด็กและครอบครัว พม.จ.สงขลา ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว พม.จ.สงขลา มีผู้หญิงและเด็กชาวโรฮิงญา รวม 83 คน แยกออกเป็นเด็กหญิง 33 คน เด็กชาย 30 คน และผู้หญิง 20 คน บรรยากาศเคร่งเครียด เพราะมีผู้สื่อข่าวเข้ามาติดตามการสอบสวนของเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบกับเจ้าหน้าที่อาจไม่มีประสบการณ์รับมือกับปัญหาผู้ต้องกักจำนวนมากก็ได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พีมูฟแถลง 'หยุดการใช้มาตรการทางกฏหมาย ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ร่วมในการแก้ไขปัญหา' Posted: 17 May 2013 12:41 AM PDT 17 พ.ค. 56 - ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 28 เรื่อง "หยุดการใช้มาตรการทางกฏหมาย ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ร่วมในการแก้ไขปัญหา" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ แถลงการณ์ฉบับที่ 28 หยุดการใช้มาตรการทางกฏหมาย ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ร่วมในการแก้ไขปัญหา สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา ในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) จากกรณีความขัดแย้งการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ไม่ว่าระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ หรือประชาชนกับเอกชนหรือนายทุน ได้ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ถูกดำเนินคดี ถูกคุกคามโดยใช้อาวุธและความรุนแรง สร้างผลกระทบต่อดำรงวิถีของชุมชนเป็นอย่างมาก ดังกรณีการใช้ความรุนแรงต่อชุมชนบ้านหมาก ตำบลบางสวรรค์ และชุมชนคลองไทร ตำบลไทรทอง อำเภอไชยบุรี จังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่ทั้งถูกดำเนินคดี ถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิตถึง 3 ราย เป็นผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 2 คน เหตุเพราะชาวบ้านต้องการให้ตรวจสอบพื้นที่ที่เอกชน 1 ราย ได้เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าโดยใช้ประโยชน์ในการปลูกปาล์ม จำนวน 1,410 ไร่ เป็นเวลามาเกือบ 30 ปี ชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้มีการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างถูกต้อง สิ่งที่ชาวบ้านต้องการเพียงนำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจัดสรรให้เกษตรกรในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพียงครอบครัวละ 11 ไร่ จำนวน 101 ครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้กฏหมายหรือมาตรการที่รุนแรง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ จนทำให้ชาวบ้านในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาฐานความผิดบุกรุกที่ดิน ที่อยู่อาศัย และปกป้องทรัพยากรของชุมชน ซึ่งมีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา จำนวน 1,000 กว่าคน 400 กว่าคดี ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถดำรงชีวิตในที่ดินตนเอง และต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาไปกับกระบวนการต่อสู้คดี จนหาความสงบสุขในชีวิตไม่ได้ การมาชุมชนในครั้งนี้ รัฐบาลกำลังเริ่มที่จะใช้หลักรัฐศาสตร์และคำนึงถึงความเป็นธรรมร่วมในการแก้ปัญหา จะเห็นได้จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาด้านคดีความ กฏหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่สามารถบรรเทาความรุนแรงจากการบังคับใช้กฏหมาย นับเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางที่ถูกต้องและลดความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานความเป็นธรรม ในการสร้างสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุข ในวันนี้จะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและฐานทรัพยากรที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้มาตรการทางกฏหมายกับชาวบ้านมากที่สุด รวมถึงปัญหาข้อพิพาทในที่ดินสาธารณะประโยชน์ และที่ดินเอกชน ที่อยู่ในความรับผิดของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานที่มีปัญหาหมักหมมมายาวนาน การแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว ให้ใช้หลักรัฐศาสตร์และความเป็นธรรมร่วม ตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ในข้อ 5 เรื่อง นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเกิดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ตามที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว อย่าให้เหมือนกับอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เหมืองแร่ และโรงโม่หิน ที่ผลการประชุมอนุกรรมการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่มีความคืบหน้า กรณีเหมืองแร่ทำได้เพียงการซื้อเวลาและกรณีโรงโม่หินก็เป็นการถอยหลัง ด้วยความเชื่อมันในวิถีประชาธิปไตย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 17 พฤษภาคม 2556 ข้างกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพ ฯ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น