โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หวัง 20 ปีโศกนาฏกรรมเคเดอร์ สร้างบทเรียนคุ้มครองความปลอดภัยคนงาน

Posted: 08 May 2013 01:02 PM PDT

 


(8 พ.ค.56) ในวาระ 20 ปีโศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เครือข่ายแห่งเอเชียเพื่อสิทธิของผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม (Asian Network for the Rights of Occupational and Environmental Victims – ANROEV) จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับลูกจ้างที่ถูกลิดรอนสิทธิ ที่ห้องบอลรูมคริสตัลใหม่ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2556

ยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะตัวแทนเครือข่ายฯ จากประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญและการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้แรงงานว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังใช้หลักการทำงานชั่วโมงที่ยาวนาน รวมถึงค่าจ้างราคาถูก โดยมองว่าแรงงานนั้นคือต้นทุนอย่างหนึ่ง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเท่าไหร่นัก ซึ่งในนามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้รณรงค์กับรัฐบาลในวันกรรมกรสากลทุกปี ให้คำนึงถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งก็สำเร็จไปในส่วนหนึ่ง แต่ยังมีบางประเด็นที่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากสหภาพแรงงาน ดังนั้น จึงหวังว่า 20 ปีของเคเดอร์ จะเป็นบทเรียนที่ทำให้เครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเพื่อนำมาสู่การรณรงค์ ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความปลอดภัยในการทำงาน

ด้านตัวแทนจากประเทศฮ่องกง ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์เคเดอร์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นความเสียหายและเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่ง เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว หวังว่า ไทยจะเป็นที่ๆ สามารถจัดการและร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมไปถึงความยุติธรรมได้

เขาเล่าว่า ขณะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ คิดว่าเป็นอุบัติเหตุธรรมดาที่เกิดขึ้น แต่ต่อมากลับมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยขณะนั้นได้พยายามติดต่อกับนักลงทุนซึ่งเป็นชาวฮ่องกง เพื่อผลักดันให้เกิดการพูดคุยกันขึ้น

"มีผู้เสียหายสามคนที่เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพูดคุยและเจรจากับทางนักลงทุน แต่ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าเขาจะยอมพูดคุยด้วย และเรายังมีการประสานงานองค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ในฮ่องกงด้วย มีการไปประท้วงหน้าหอการค้า และส่งหนังสือร้องเรียนไปที่คณะกรรมการของบริษัทดังกล่าว เขาก็ปรากฏตัวและตั้งโต๊ะเจรจากับเรา และได้ข้อตกลงว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหาย"

ตัวแทนประเทศฮ่องกงกล่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการจัดตั้งเครือข่ายขึ้นเพื่อประสานงานกับองค์กรต่างๆ จนสุดท้ายก็เกิดเป็น ANROVE ขึ้นมา ซึ่งมีความสำคัญมาก ท่ามกลางภัยอันตรายที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราทำได้อย่างเดียวคือการจัดตั้งเครือข่ายของผู้เสียหายเพื่อที่ผู้เสียหายจะได้เข้าถึงสิทธิและความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม นอกจากการจัดตั้งองค์กรนี้นอกจากเรื่องค่าเสียหายชดเชยแล้ว สิ่งที่ผู้เสียหายต้องการคือ ไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ในอนาคต ดังนั้นจึงควรมีกฎหมายและเครือข่ายที่เข้มแข็งพร้อมจะเคลื่อนไหวเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 เกิดเหตุการณ์โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม ไฟไหม้และตึกถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย ต่อมามีการผลักดันให้วันที่ 10 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ โดยมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.40 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน และมีการผลักดันจนเกิด พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อวัตถุศึกษากับอธิป: พรรคไพเรตไอซ์แลนด์มีที่นั่งในรัฐบาลแล้ว

Posted: 08 May 2013 12:37 PM PDT

ติดตามข่าวสารด้านลิขสิทธิ์รอบโลกกับ 'อธิป จิตตฤกษ์' สัปดาห์นี้นำเสนอข่าวไพเรตปาร์ตี้ไอซ์แลนด์ได้เป็นส.ส.ในรัฐบาล,การสำรวจพบคนดำใช้ทวิตเตอร์มากกว่ากลุ่มอื่นๆ, บล็อกเกอร์เอธิโอเปียถูกจำคุก 18 ปี 

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

29-04-2013

Pirate Party ไอซ์แลนด์เป็น Pirate Party แรกที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเข้าไปในรัฐบาลระดับประเทศ

ทางพรรคได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งร้อยละ 5.1 ซึ่งเกินคะแนนขั้นต่ำที่ทางพรรคจะสามารถมีสมาชิกเข้าไปในสภาได้ที่ร้อยละ 5 ทำให้ทางพรรคมีสมาชิกเข้าไปอยู่ในสภา 3 คนด้วยกัน

ทั้งนี้ Pirate Party ไอซ์แลนด์เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษจิกายน 2012 นี้เอง โดย Birgitta Jónsdóttir กวีและแอคทิวิสต์ชื่อดังที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติหลังจากทาง FBI ให้พยายามสอบสวนความสัมพันธ์ของเธอกับ WikiLeaks

น่าสนใจว่าไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ฝ่าย "เสรีภาพในการแสดงออก" แข็งแกร่งมาก ล่าสุดศาลสูงของไอซ์แลนด์ก็เพิ่งตัดสินให้ทาง Visa ให้บริการทางการเงินกับ WikiLeaks ต่อไป และล่าสุด The Pirate Bay ก็ย้ายโดเมนเนมไปที่ไอซ์แลนด์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

News Source: http://falkvinge.net/2013/04/28/icelandic-pirate-party-wins-enters-parliament/, http://torrentfreak.com/pirate-party-enters-icelands-national-parliament-after-historic-election-win-130428/

 

30-04-2013

คนผลิตเกมทำการทดลองว่าคนเล่นเกมผลิตเกมแบบ "โหลด" มาจะคิดอย่างไรเมื่อเกมตัวเองโดนทำสำเนาเถื่อน

Greenheart Games อันเป็นบริษัทผลิตเกมส์เล็กๆ ทำการทดลองนำเกมที่ผู้เล่นเล่นเป็นบริษัทผลิตเกมไปเผยแพร่ในเว็บบิตทอร์เรนต์พร้อมๆ กับที่นำเกมออกมาขายในแบบถูกต้อง

แต่เกมส์เวอร์ชั่น "แคร็ค" ในเว็บบิตทอร์เรนต์ก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย โดยผู้เล่นพอเล่นๆ ไปก็จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เกมของตนในเกมโดนเอาไปปล่อยในเว็บบิตทอร์เรนต์จนบริษัทเจ๊งในที่สุดอยู่ร่ำไป ส่งผลให้ผู้เล่นจำนวนมากงงงวยเป็นอย่างยิ่งว่าจะเล่นอย่างไรให้ผ่าน

ทางบริษัทออกมาแถลงว่าพวกเขาอยากให้ผู้เล่นเกมทั้งหลายเข้าใจว่าพวกบริษัทเกมต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้โกรธอะไรกับคนที่โหลดเกมพวกเขาไป สมัยพวกเขายังเด็กๆ เขาก็เล่นเกมแบบสำเนาเถื่อนกันเป็นปกติเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในยุคนั้น อย่างไรก็ดีพวกเขาก็อยากให้คนที่มีงบประมาณเพียงพอช่วยสนับสนุนพวกเขาหน่อย โดยชี้ว่าการสนับสนุนพวกเขาหมายถึงว่ามันจะมีเกมส์นี้ในเวอร์ชั่นใหม่ที่ดีขึ้นออกมาในอนาคต นอกจากนี้พวกเขายังแสดงจุดยืนชัดเจนว่าหากผู้เล่นเกมไม่ต้องการให้เกมส์ในโลกมันเปลี่ยนไปเป็นเกมที่เล่นฟรีตอนแรกแต่เล่นๆ ไปเสียเงินหมดก็ต้องสนับสนุนคนอย่างพวกเขา นอกจากนี้พวกเขายังปฏิเสธกระบวนการบริหารลิขสิทธิดิจิทัล (DRM) ที่ค่ายเกมใหญ่จำนวนมากใช้เพื่อป้องกันการเล่นเกมแบบสำเนาเถื่อนด้วย (กรณีที่ฉ่าวโฉ่ระดับโลกล่าสุดคือ Simcity 5 ที่ผู้เล่นต้องเซฟเกมออนไลน์ผ่านเซิร์ฟเวอร์ตลอด แต่เซิรฟเวอร์กลับรองรับปริมาณผู้เล่นจำนวนมหาศาลตอนเกมออกมาไม่ได้) (ดูแถลงการณ์และสนับสนุกพวกเขาได้ที่ http://www.greenheartgames.com/2013/04/29/what-happens-when-pirates-play-a-game-development-simulator-and-then-go-bankrupt-because-of-piracy/ )

ทั้งนี้ ทางบริษัทผู้ผลิตเกมก็ได้เก็บสถิติอัตราส่วนของคนที่โหลดเกมส์ไปฟรีจากเว็บบิตทอร์เรนต์กับคนที่ซื้อไปอย่างถูกต้อง และก็ได้พบว่าคนซื้ออย่างถูกต้องนั้นนับเป็นปริมาณไม่ถึง 1 ใน 10 ของคนที่โหลดเกมไปจากเว็บบิตทอร์เรนต์ด้วยซ้ำ

News Source: http://torrentfreak.com/game-pirates-whine-about-piracy-in-game-dev-simulator-130429/

 

ศาลอุทธรณ์อเมริกาตัดสินว่าลำพังการใช้ "ที่แตกต่างไปจากเดิม" ก็เพียงพอแล้วจะทำให้การใช้นั้นไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

เรื่องของเรื่องคือ Patrick Cariou นั้นเป็นช่างภาพที่ถ่ายรูปชาวจาไมก้ามารวมในหนังสือ Yes Rasta ของเขา และ Richard Prince ก็เป็นศิลปินที่เอาภาพชาวราสต้าจาไมก้าจากหนังสือดังกล่าวผมาผลิตงานศิลปะต่างๆ ตั้งแต่คอลลาจยันภาพเขียน

ปรากฎว่า Cariou ฟ้อง Prince ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และศาลชั้นต้นก็ตัดสินว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยเหตุผลว่างานของ Prince ไม่ได้ทำการ "แสดงความเห็น" (comment) ต่องานของ Cariou

พอเรื่องขึ้นมาถึงศาลอุทธรณ์ ปรากฎว่าศาลอุทธรณ์พลิกคำตัดสินศาลชั้นต้นโดยการกลับไปตีความรัฐธรรมนูญส่วนที่พูดถึงลิขสิทธิ์อันโด่งดังที่ว่าสภาคองเกรสมีอำนาจที่จะ "สนับสนุนความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีประโยชน์"

ศาลอุทธรณ์ตีความว่าการตีความกฎหมายลิขสิทธิ์ต้องเน้น "ความก้าวหน้า" เป็นหลักดังนั้นมาตรฐานว่าต้อง "แสดงความเห็น" ถึงจะไม่ละเมิดของศาลชั้นต้นนั้นเป็นมาตรฐานที่สูงไปและตีความว่าลำพังการใช้ "ที่แตกต่างไปจากเิดิม" (transformative) นั้นก็เพียงพอแล้วที่งานจะถือว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ดีศาลก็ชี้ว่าลำพังแค่การดัดแปลงงานทุกรูปแบบนั้นก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการใช้ "ที่แตกต่างไปจากเดิมหมด" ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในรายละเอียด

News Source: http://www.jdsupra.com/legalnews/yes-rasta-appropriate-appropriation-se-38023/ , http://paidcontent.org/2013/04/29/court-backs-artist-in-rasta-case-less-copyright-control-for-image-owners/

 

01-05-2013

อิลลินอยส์ผ่านกฏหมายที่อนุญาตให้นายจ้างขอพาสเวิร์ดบัญชีเว็บเครือข่ายสังคมแล้ว

ทั้งนี้ กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อความปลอดภัยในที่ทำงานเป็นหลัก (กล่าวคือทำให้นายจ้างสามารถสอบสวนปัญหาต่างๆ ในที่ทำงานได้) และมันก็เป็นกฎหมายยืนยันสิทธิ์นายจ้างเท่านั้น ไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายใดๆ กับลูกจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามคำขอ

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130423/06214822806/il-follows-suit-employers-right-to-ask-social-media-passwords-codified-into-law.shtml

 

02-05-2013

กลุ่มลิขสิทธิ์ดนตรีของเบลเยี่ยมฟ้อง 3 ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียก "ภาษีสำเนาเถื่อน"

SABAM ซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องลิขสิทธิ์ดนตรีในเบลเยี่ยมเข้าฟ้อง 3 ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียกเงินร้อยละ 3.4 ของค่าสมาชิกอินเทอร์เน็ตรายเดือนโดยอ้างว่าพวกเขามีความชอบธรรมในส่วนแบ่งนี้ เพราะผู้คนก้ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำสำเนาเถื่อนกัน

ทั้งนี้หาก SABAM ทำสำเร็จก็คาดเดาได้เลยว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ภาพยนตร์ หนังสือ ข่าว การ์ตูน เกม ซอฟต์แวร์ ฯลฯ ก็จะเดินหน้าขอ "ภาษีสำเนาเถื่อน" ในทำนองเดียวกัน

News Source: http://torrentfreak.com/music-rights-group-sues-isps-over-pirate-tax-130501/

 

งานวิจัยชี้ว่าคนดำใช้ Twitter มากกว่าคนเชื้อสายอื่นๆ

โดยงานชี้ว่าคนดำใช้ Twitter ถึง 26% พวกคนฮิสปานิคใช้ 19% ส่วนพวกคนขาวใช้แค่ 14%

ทั้งนี้จึงมีเว็บชื่อ The Root ขึ้นมาเพื่อรวบรวมและติดตามทวิตเตอร์เด่นๆ ของคนดำโดยเฉพาะ

News Source: http://paidcontent.org/2013/05/01/whats-trending-on-twitter-among-african-americans-the-roots-new-tool-will-tell-you/

 

ศาลสูงเอธิโอเปียตัดสินจำคุกบล็อกเกอร์เอธิโอเปีย 18 ปีด้วยข้อหากว้างๆ ว่า "ก่อการร้าย"

Eskinder Nega เป็นชาวเอธิโอเปียที่ได้ไปร่ำเรียนในอเมริกาก่อนจะกลับประเทศไปตั้งหนังสือพิมพ์ 4 หัวซึ่งสุดท้ายโดนรัฐบาลปิดลงจนหมด เขาโดนจำคุกเป็นครั้งคราวมาเรื่อยๆ กับบทความของเขาที่วิจารณ์การเมือง และท้ายสุดเขาก็ย้ายการนำเสนอมาบนบล็อกออนไลน์ และก็โดนดำเนินคดีซึ่งส่งผลให้เขาโดนจำคุกถึง 18 ปี

ทั้งนี้ รัฐบาลเอธิโอเปียไม่ใช่รัฐบาลที่เคารพเสรีภาพในการแสดงออกแต่อย่างใดและก็เล่นงานบรรดาขบถทางการเมืองและนักข่าวมาโดยตลอด

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/05/violation-constitution-ethiopian-blogger-will-face-18-years-prison

 

04-05-2013

รัฐบาลแอนติกัวเล็งร่วมมือกับ The Pirate Bay เปิดเว็บไซต์ "ละเมิดลิขสิทธิ์อเมริกา" ตามสิทธิ์ที่ได้รับจาก WTO

หลังจากแอนติกัวได้ร้องเรียนทาง WTO ว่าอเมริกานั้นทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมมายาวนานในการระงับคาสิโนออนไลน์ของแอนติกัวไม่ให้ดำเนินธุรกิจในอเมริกาและก่อความเสียหายอย่างมหาศาล จน WTO ให้สิทธิแอนติกัวในการเปิดเว็บไซต์ "ละเมิดลิขสิทธิ์" สินค้าอเมริกาเพื่อทดแทนความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อเมริกาก่อให้

ล่าสุดทางแอนติกัวกำลังเดินหน้าทำเว็บไซต์จริงจังแล้ว โดยอาจมีพาร์ตเนอร์คือ The Pirate Bay เว็บสำเนาเถื่อนชื่อก้องโลก

ทั้งนี้ทนายของแอนติกัวนั้นก็ยืนยันว่าทางแอนติกัวจะระวังในการทำเว็บไซต์ไม่ให้ไปละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของคนในประเทศอื่นนอกจากสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการคือกรณีของแอนติกัวนี้ หากพิจารณาควบคู่กับคำตัดสินของศาลสูงในคดีสุภาพ เกิดแสงแล้ว ก็จะพบว่าอเมริกานั้นต้องยอมรับว่าของ "ละเมิดลิขสิทธิ์" ที่ผลิตมาจากแอนติกัวนั้นถูกต้องตามลิขสิทธิ์ เพราะแอนติกัวนั้นเป็นคู่สัญญาผ่าน WTO นอกเสียจากอเมริกาเอง

ก็น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าอเมริกาจะทำอย่างไร

News Source: http://torrentfreak.com/pirate-bay-and-antigua-explore-launch-of-authorized-pirate-site-130503/

 

เด็กวัยรุ่นอเมริกันโดนจับกุมโดยไม่ให้ประกันตัวฐานขู่บน Facebook ว่าจะก่อการร้าย

เรื่องเริ่มจากเพื่อนๆ ของเขาไปฟ้องอาจารย์ว่าเห็นข้อความไม่สบายใจบน Facebook จากนักเรียนคนหนึ่ง และทางโรงเรียนก็ประสานงานกับตำรวจอย่างรวดเร็วไปจับเขาในได้ในที่สุดที่ข้างนอกโรงเรียน

ทั้งนี้ข้อความที่เขาโพสต์เป็นดังนี้

"I'm not in reality, So when u see me (expletive) go insane and make the news, the paper, and the (expletive) federal house of horror known as the white house, Don't (expletive) cry or be worried because all YOU people (expletive) caused this (expletive).

(Expletive) a boston bominb wait till u see the (expletive) I do, I'ma be famous rapping, and beat every murder charge that comes across me!"

ซึ่งหลายๆ ฝ่ายก็เห็นวานี่เป็นเพียงท่อนร้องของเพลงแร็ปที่คุยโอ่จะใช้ความรุนแรงกันเป็นปกติ แต่จริงๆ ไม่มีพิษภัยเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เขานำเสนอบน Facebook

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130502/18364622931/ma-teen-arrested-held-without-bail-posting-supposed-terrorist-threat-facebook.shtml

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟ ประกาศปักหลักชุมนุม - เกษตรกรใต้ลั่น ถ้าไม่ได้พบนายกฯ จะไม่กลับบ้าน

Posted: 08 May 2013 12:33 PM PDT

เกษตรกรสุราษฎร์ธานีประกาศ ถ้าไม่ได้พบนายกฯ จะไม่กลับใต้ พ้อถูกหลอกให้รอมาหลายครั้งแล้ว ด้านพีมูฟแถลง หารือ 'เฉลิม' แค่เห็นแนวทาง เดินหน้าชุมนุมต่อรอการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม เผยเตรียมเคลื่อนขบวนร้อง 'ศาลฎีกา' กรณีไม่ให้ประกันตัวชาวบ้านคดีพิพาทที่ดิน

 
วันนี้ (8 พ.ค.56) เวลาประมาณ 14.00 น. นางประทิน เวคะวากยานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 21 'นายกต้องสั่งเดินหน้าแก้ปัญหา ให้เป็นรูปธรรม' จากการชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ของขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ที่มาจากเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มผู้เดือดร้อนทั่วประเทศทั้งปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน คดีความ ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้าชีวมวล เหมืองแร่ และกลุ่มชาติพันธุ์
 
นางประทิน กล่าวว่า ตามที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้นำอุปสรรคความล่าช้าของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของ พีมูฟ เข้าหารือในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา และให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วนนั้น พีมูฟขอชื่นชมผู้นำรัฐบาลที่ยอมรับในความล่าช้าของการแก้ปัญหา และได้สั่งการให้แก้ไขในทันที
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงผลการหารือระหว่างตัวแทนพีมูฟและ ร.ต.อ.เฉลิม ในวันเดียวกันนั้นด้วยว่า มีข้อสรุปร่วมกัน 5 ข้อ คือ 1.รัฐบาลจะนำเรื่องที่มีข้อสรุปและเป็นมติที่ประชุมแล้วเข้า พิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 14 พ.ค.56 รวม 4 เรื่อง ดังนี้ 1.1.การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล 1.2.การสานต่อโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชนภาคเหนือ 1.3.การแก้ไขปัญหาของเครือข่ายสลัม 4 ภาค กรณีการขออนุญาตก่อสร้างบ้านตามโครงการบ้านมั่นคง 1.4.การคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน
 
2.สั่งการให้อนุกรรมการทั้ง 10 ชุด และ 1 กรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เร่งดำเนินการประชุมเพื่อให้เกิดข้อ
สรุปในการแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จก่อน การประชุมคณะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 พ.ค.56
 
3.จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ในวันที่ 20 พ.ค.56
 
4.จัดให้มีการประชุมกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
เพื่อแก้ปัญหาในวันที่ 27 พ.ค.56
 
5.สั่งการให้เร่งดำเนินการประสานงาน ทั้งระดับนโยบายและพื้นที่เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน
ปัญหาเฉพาะหน้า และเฉพาะพื้นที่ เพื่อบรรเทาความรุนแรงและลดความขัดแย้งเผชิญหน้าในพื้นที่ทันที
 
นางประทิน กล่าวถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปว่า พีมูฟเห็นว่าการหารือกับรองนายกรัฐมนตรีทำให้เห็นแนวทางที่จะร่วมมือแก้ไขปัญหา ร่วมกันแต่ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนเลย และที่สำคัญการเดินทางมาชุมนุมแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอปักหลักเพื่อรอคอยการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมก่อน จึงจะพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการต่อไปในรูปแบบใด และยังมีความหวังว่า หากนายกรัฐมนตรีเปิดให้มีการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้น การดำเนินงานแก้ปัญหาก็จะยิ่งเป็นไปได้อย่างลุล่วงและรวดเร็ว
 
 

เกษตรกรใต้ลั่น ถ้าไม่ได้พบนายกฯ จะไม่กลับบ้าน

สำหรับสถานการณ์การชุมนุมในช่วงเช้าวันนี้ (8 พ.ค. 56) เวลา 8.30 น. ทางทำเนียบรัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตั้งโต๊รับเรื่องร้องทุกข์ที่หน้าประตู 5 ของทำเนียบฯ ซึ่งชาวบ้านจากเครือข่ายต่างๆ ก็ได้ทำหนังสือร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนถึงนายกรัฐมนตรี   
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อน 3 ฉบับ ใน 3 เรื่อง เรื่องแรก คือเรื่องการขอเช่าที่ดินเขตป่าไม้ที่เสื่อมโทรม ในพื้นที่หมู่ 6 ต.บางสวรรค์  อ.ชัยบุรี จ. สุราษฎร์ธานี ที่สมาชิกชุมชนสันติพัฒนาจำนวน 70 ครอบครัว อยู่อาศัยทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ป่าดังกล่าวถูกบุกรุกครอบครองโดยบริษัทเอกชนเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน มาเป็นระยะเวลานานถึง 30 ปี
 
เรื่องที่ 2 ขอให้สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ใช้กองทุนปฎิรูปที่ดินจัดซื้อที่ดินที่เป็นหนี้เสีย นำมาปฎิรูปให้กับเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนาจำนวน 25 ครอบครัว เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยเกษตรกรยินดีเช่าซื้อ และผ่อนคืนกองทุนในระยะยาว ทั้งนี้ เดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของบริษัทเอกชน แต่เนื่องจากบริษัทฯ ติดค้างหนี้ธนาคารและไม่ประสงค์จะไถ่ถอน จึงปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 30 ปีแล้ว
 
เรื่องที่ 3 ขอให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดประชุมแก้ไขปัญหา เพราะตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวยังไม่เคยมีการจัดประชุมเลย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากกรณีที่ข้อเรียกร้องที่จะพบนายกรัฐมนตรีและให้นำปัญหาหลายกรณีเข้ามติประชุม ครม.ยังไม่มีการตอบรับ ประกอบกับอากาศที่ร้อนระอุตลอดวัน และการทำงานที่ล่าช้าของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ทำให้ชาวบ้านบางคนเริ่มเกิดความตึงเครียด
 
"มาครั้งนี้ถ้าไม่ได้พบ 'ลูกปู' นายกรัฐมนตรี จะไม่ขอกลับบ้านที่สุราษฎร์ฯ เราถูกหลอกมาหลายครั้งแล้ว"  ยายนงเยาว์  เมืองน้อย  เกษตรกรสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ประกาศด้วยความอัดอั้น
 
 

เตรียมเคลื่อนขบวนร้อง 'ศาลฎีกา' กรณีไม่ให้ประกันตัวชาวบ้านคดีพิพาทที่ดิน   

พีมูฟ แจ้งข่าวการเคลื่อนไหว ระบุ พรุ่งนี้ (9 พ.ค.56) เวลา 8.30 น. จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลประตู 4 เพื่อเร่งรัดให้มีการนัดประชุมคณะอนุกรรมการทั้ง 10 คณะ รวมทั้ง ให้ชี้แจงความชัดเจนของการนำเรื่องเข้าพิจารณาในการประชุม ครม.วันที่ 14 พ.ค. 2556 นี้
 
จากนั้นในช่วงเวลา ในเวลา 13.30 น. ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานศาลฎีกา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นหนังสือต่อศาลฎีกา กรณีการพิพากษาจำคุกนายเด่น ดำแหล้ ชาวบ้านทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และนางสุภาพ คำแหล้ ภรรยา (จำเลยที่ 1 และที่ 4) คดีบุกรุกสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และต่อมาศาลฎีกาพิจารณาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 
 
ตามคำพิจารณาของศาลดังนี้ "พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ แต่คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาและยังไม่ยื่นฎีกา มีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 4 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง"

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ค.56 หลังจากทีมทนายยื่นคำร้องขอปล่อยตัวจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดภูเขียวอีกครั้ง ศาลมีคำสั่งโดยสรุปว่า เนื่องจากศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อน จึงให้ส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งทางโทรสารโดยให้ถ่ายสำเนาฎีกา และคำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยแนบไปด้วย เนื่องจากศาลฎีกาได้มีคำสั่งเป็นแนวทางไว้แล้วเมื่อวันที่ 29 เม.ย.56 โดยระบุจำเลยยังไม่ได้รับอนุญาตให้ยื่นฎีกา ศาลภูเขียวจึงไม่กล้าสั่งอนุญาต
 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การกำจัดชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่?

Posted: 08 May 2013 10:16 AM PDT

การกำจัดชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระดับโลก - ตามที่สะท้อนในกฎบัตรสหประชาชาติข้อที่เจ็ด - เรียกร้องในประชาคมทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติต้องหามาตรการร่วมกันเพื่อหยุดยั้งวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมและสรรค์สร้างกระบวนการอยู่ร่วมกันของชุมชนทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย บทความชิ้นนี้มุ่งอธิบายสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การ "กำจัดชาติพันธุ์" ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า โดยเปรียบเทียบกับการกำจัดชาติพันธุ์ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ในอดีตสมาพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย และสุดท้ายเสนอว่าการยับยั้งมิให้การกำจัดชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ขยายตัวควรเป็น "ความรับผิดชอบ" ของประชาคมอาเซียนอย่างไร

 

ความรุนแรงในรัฐยะไข่กำลังกลายเป็นสงครามกำจัดชาติพันธุ์?

รายงานสถานการณ์โดยกลุ่มเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ฉบับล่าสุดระบุว่าความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ถึงจุดที่ฝ่ายหลังกำลังตกเป็นเหยื่อการกำจัดชาติพันธุ์ ความรุนแรงระลอกล่าสุดระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมในรัฐยะไข่ปะทุขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว ชายชาวโรฮิงญาถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงชาวพุทธในรัฐยะไข่ จากนั้นสองชุมชนถึงจุดแตกหัก เกิดการปะทะจลาจล ฆ่าสังหาร รวมถึงเผาทำลายบ้านเรือนจากทั้งฝ่ายชุมชนพุทธชาวยะไข่และชาวมุสลิมโรฮิงญา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหากไม่นิ่งเฉยต่อการปะทะกัน ก็เข้าช่วยเหลือชาวพุทธทำร้ายชาวมุสลิม และในอาทิตย์ที่สองของเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการปราบปรามทั้งผู้ก่อจลาจลและชาวบ้านโรฮิงญาทั่วไป เหตุการณ์ปะทะส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นราว 100,000 คน ในจำนวนนี้คาดว่าเป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณ 75,000 คน ความรุนแรงระหว่างสองชุมชนปะทุขึ้นอีกครั้งช่วงวันที่ 21-24 เดือนตุลาคม คราวนี้การก่อจลาจล ทำร้าย สังหาร และทำลายบ้านเรือนชาวโรฮิงญาเป็นแบบแผนระบบมากขึ้น มีรายงานว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงราว 70-80 คน ในจำนวนนี้ 28 คนเป็นเด็ก ในการโจมตีระลอกเดือนพฤศจิกายน ปรากฏหลักฐานว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศ (รวมถึงข่มขืน) หญิงชาวโรฮิงญา และในเดือนถัดมายอดผู้อพยพชาวโรฮิงญาสูงเป็นประวัติการณ์ ชาวโรฮิงญา 13,000 คนมุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย ส่วนอีก 7,000 คนออกเรือมายังประเทศไทย ทว่าหลายร้อยชีวิตล้มหายตายจากขณะเดินเรือหนีภัยความรุนแรง ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม กลุ่มชาวพุทธในเมืองเมกติลาไล่รื้อถอน ทำลายข้าวของ ที่พักอาศัยและร้านค้าของชาวมุสลิม รวมถึงมีการใช้ความรุนแรงต่อตัวบุคคลจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 40 ราย

ในทางกฏหมายระหว่างประเทศ เหตุปะทะ-สังหารในรัฐยะไข่ถือเป็น "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" (crimes against humanity) และจัดว่าเป็น "การกำจัดชาติพันธุ์" หลายคนอาจแย้งว่าเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ยังไม่ถึงขั้นสังหารหมู่ดังที่เกิดกับชาวยิวในเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือที่รวันดาในปีค.ศ. 1994 เพียงเพราะ "เลข" ผู้เสียชีวิตยังถือว่า "ต่ำ" - ราว 200 คน จากเหตุการณ์รุนแรงหลายระลอก – กระนั้นก็ดีตัวชี้วัดว่าเหตุการณ์ใดเข้าข่ายอาชกรรมต่อมนุษยชาติและการกำจัดชาติพันธุ์หรือไม่ มิใช่เพียงตัวเลขเท่านั้น แต่ยังรวมถึง "วิธีการ" ที่ใช้เพื่อกำจัดชุมชนทางวัฒนธรรมหนึ่ง อันส่งผลทั้งในปัจจุบันและ "อนาคต" ให้ชุมชนทางวัฒนธรรมนั้นสูญสิ้น โดยเฉพาะในกรณีการกำจัดชาติพันธุ์ สมาชิกในชุมชนทางวัฒนธรรมต้องถูกบังคับให้ออกจากดินแดนหนึ่งซึ่งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงอ้างกรรมสิทธิ์ (โดยอาจอาศัยฐานประวัติศาสตร์ที่อ้างความชอบธรรมของกลุ่มต่อการเรียกร้องดินแดนนั้นคืน) ในรัฐยะไข่ เหตุที่ทำให้เชื่อว่าชุมชนพุทธและนักการเมืองท้องถิ่นกำลังดำเนินแคมเปญที่อาจนำไปสู่การกำจัดชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา ได้แก่;

  1. แคมเปญต่อต้านมุสลิมกระตุ้นให้ประชาชนลุกขึ้นโจมตี ทำร้าย สังหารชาวมุสลิม โดยมีการจัดตั้งจากรัฐอย่างจำกัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ความรุนแรงที่ชาวโรฮิงญาประสบต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่เข้าพันตูในสงครามกับรัฐบาลทหารพม่ามาหลายทศวรรษ "สงครามต่อต้านการก่อการ" (counter-insurgency warfare) โดยมากมีรัฐบาลทหารเป็นคู่กรณีหลัก และดังนั้นการระดมสรรพกำลังมาจากกลไกของรัฐ

  2. ปรากฎการใช้วิธีการทำร้าย-สังหารชนิดที่มุ่งสร้างความหวาดกลัวให้ชาวมุสลิมโรฮิงญา เช่นการใช้มีดหรือของมีคมอื่นๆ ฟันตามร่างกาย การข่มขืนอย่างเป็นระบบ เผาบ้านเรือน ร้านค้า ศาสนสถาน แต่วิธีการที่ปรากฏทั่วไปคือการโดดเดี่ยวชุมชนโรฮิงญามิให้เข้าถึงน้ำ อาหาร หยูกยา หรือเครื่องสาธารณูปโภคอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอื่นๆ รวมถึงการขัดขวางองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมิให้ทำงานได้ มาตรการเหล่านี้มุ่งหมายบังคับเหยื่อให้ย้ายออกจากพื้นที่

  3. รัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนแคมเปญกำจัดชาติพันธุ์ โดยหลายครั้งเจาะจงยิงชาวบ้านโรฮิงญาระหว่างเหตุจลาจล รวมถึงสังหารชาวบ้านที่ขัดขืนมาตรการบังคับย้ายออกจากพื้นที่ แม้ไม่ปรากฎหลักฐานชี้ชัดว่ารัฐบาลกลางพม่า "ขยิบตา" ให้กลุ่มท้องถิ่น ทว่าการนิ่งเฉย ไม่พยายามหยุดยั้งแคมเปญกำจัดชาติพันธุ์ เท่ากับอำนวยให้การทำร้าย-สังหาร ราบรื่นขึ้น

  4. ทว่าความเกลียดชังนี้มีที่มาจากความกลัว "คนอื่น" (xenophobia) นับแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารพม่าดำเนินนโยบายกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์ และผลิตโฆษณาชวนเชื่อที่หล่อเลี้ยงความหวาดกลัวของชาวพุทธต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ความกลัวเช่นนี้เป็นเหตุให้ชุมชนพุทธเห็นว่าการติดอาวุธเพื่อ "ป้องกันตนเอง" หรือกระทั่งการสังหาร ทำร้ายชาวโรฮิงญาชอบธรรม (เช่น ความเชื่อที่ว่าชาวโรฮิงญาทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้าย ซ่องสุมอาวุธไว้ในมัสยิด และมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอัลดออิดะห์)

  1. มีการประชาสัมพันธ์แคมเปญที่สร้างกระแสต่อต้าน เกลียดชังชาวมุสลิมโรฮิงในหมู่ชาวพุทธ แคมเปญเหล่านี้ฟังน่าเชื่อถือเพราะอาศัยอคติทางชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ (เช่น ชาวโรฮิงญามาจากบังคลาเทศ ไม่ใช่ชาวพม่าดั้งเดิม – ทั้งที่คนหนุ่มสาวชาวโรฮิงญาเกิดและเติบโตในประเทศ หรือข้ออ้างที่ว่าชาวมุสลิมพยายามครอบครองประเทศพม่าและบังคับให้ชาวพุทธหันมานับถือศาสนาอิสลาม) อีกทั้งได้คณะสงฆ์ช่วยป่าวประกาศประชาสัมพันธ์ (นำโดยกลุ่ม 969) และนักการเมืองท้องถิ่นสนับสนุน (พรรค Nationalities Development Party ซึ่งครองที่นั่งในรัฐสภาพม่าถึง 18 ที่นั่ง จาก 45 ที่นั่ง) แคมเปญนี้นำไปสู่การสร้างมติร่วมภายในชุมชนพุทธเพื่อ "ขับไล่" และยิ่งไปกว่านั้น "กำจัด" ชาวโรฮิงญาออกไปจากพม่า เช่น "Arakan Ethnic Cleansing Programme ระบุขั้นตอนต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างชุมชนบริสุทธิ์ที่ปราศจากชาวมุสลิมโรฮิงญา

 

ประสบการณ์ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา

สถานการณ์การชาวโรฮิงญาในพม่าใกล้เคียงกับจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์กำจัดชาติพันธุ์ชาวมุสลิมในบอสเนียฯ ระหว่างปีค.ศ. 1992-1995 รัฐบาลเซอร์เบียสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธชาวเซริ์บชนกลุ่มน้อยในบอสเนียฯ เข้ายึดครองดินแดนที่รัฐบาลเซอร์เบียอ้างว่าควรเป็นของชาวเซริ์บ เช่นเดียวกับกรณีรัฐยะไข่ การอ้างเช่นนี้พัฒนามาจากอคติทางประวัติศาสตร์ที่ว่าชาวบอสเนียนมุสลิมเคยเป็นชาวเซริ์บ นับถือศาสนาคริสต์ นิกายออธอดอกซ์ ทว่าเมื่ออาณาจักรออตโตมันยึดครองคาบสมุทรบอลข่านเมื่อคริสศตวรรษที่ 14 บอสเนียฯและเซอร์เบียตกเป็นอาณานิคมของอาณาจักรออตโตมัน ขณะที่ชาวเซริ์บในเซอร์เบียต่อต้านการครอบงำทางวัฒนธรรมของชาวเตริ์กและยังคงอัตลักษณ์ทางศาสนาของตนไว้ได้ ชาวเซริ์บในบอสเนียฯ ถูกกล่าวหาว่าสยบยอม และเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อนายพลเซริ์บนายหนึ่งเข้ายึดเมืองหลวงของบอสเนียฯ ในปีค.ศ. 1992 ประกาศว่าตนได้มา "ปลดปล่อย" บอสเนียจากจักรวรรดิออตโตมัน (ทั้งอาณาจักรออตโตมันได้ล่มสลายและกลายเป็นประเทศตุรกีตั้งเมื่อต้นคริสตศตววรษที่ 20 แล้ว) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาระกิจของกองกำลังชาวเซริ์บคือการทำให้ดินแดนบอสเนีย "บริสุทธิ์" อีกครั้งด้วยการชำระล้าง (cleanse) พื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยให้เป็ของชาวเซริ์บ โดยทำผลักดันชาวมุสลิมบอสเนียนออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการต่างๆ

มาตรการ "กวาดล้าง" ชาวบอสเนียนดำเนินอย่างเป็นระบบ กองกำลังเซริ์บมักโจมตีพื้นที่ที่ตนพยายามยึดครองโดยยิงระเบิดวิถีไกลเข้าไปในชุมชนบอสเนียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนขวัญผวาและเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ เมื่อกองกำลังเข้ายึดชุมชนดำเนินการตัดน้ำตัดไฟ ตัดช่องทางลำเลียงอาหารและยาจากหน่วยงานบรรเทาภัยของสหประชาชาติ "ปัญญาชน" ผู้นำศาสนา และการเมืองท้องถิ่นชาวมุสลิมบอสเนียนถูกหมายหัวฆ่า เพื่อกำจัดชนชั้นที่เป็นฐานกำลังของสังคม ชาวเซริ์บที่พยายามช่วยเหลือชาวบอสเนียนก็ถูกทำร้ายสังหารไม่ต่างกันด้วยโทษฐาน "ทรยศ" หญิงชาวมุสลิมถูกข่มขืน กองกำลังอ้างว่าเพื่อขัดขวางการสืบเผ่าพันธุ์ของชาวบอสเนียน เหตุสังหารที่รุนแรงที่สุดคือกรณีเซรเบรนิซา ที่ชายชาวมุสลิมถูกเลือกออกจากกลุ่มชาวบ้านบอสเนียนทั้งหมดในเซรเบรนิซา เพื่อยิงทิ้ง เหยื่อที่เสียชีวิตจากการสังหารหมู่ภายในวันเดียวมีจำนวนมากถึง 8,000 คน ส่วนที่เหลือเสียชีวิตระหว่างเดินทางหนีออกจากพื้นที่เป็นระยะทางพันกิโลเมตร เพราะไม่มีน้ำ อาหาร และยาติดตัวไปด้วย เมื่อเซอร์เบียตัดสินใจลงนามใข้อตกลงหยุดยิง Dayton ปรากฏว่าแคมเปญกำจัดชาติพันธุ์เกือบบรรลุเป้าหมาย โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 215,000 คน ในจำนวนนี้ 160,000 คนเป็นชาวมุสลิมบอสเนียน ตัวเลขเหยื่อข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศอยู่ที่ราว 20,000 ถึง 50,000 ผู้พลัดถิ่นทั้งมุสลิมบอสเนียน เซริ์บ และโครแอต รวมกันราว 2.2 ล้านคน

แม้ขณะนี้สถานการณ์ในรัฐยะไข่ยังไม่เข้าขั้นบอสเนียฯ เมื่อปีค.ศ. 1995 แต่หากยังปล่อยให้แคมเปญกำจัดชาติพันธุ์ดำเนินต่อไป การสังหาร-ทำร้าย และผลักดันให้ชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศย่อมเกิดขึ้นเป็นระลอกอย่างต่อเนื่องดังที่ปรากฎแนวโน้มตั้งแต่ปีกลาย เราอาจได้เห็น "บอสเนียฯ" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่สมาชิกประชาคมแห่งนี้ซึ่งกำลังพยายามรังสรรค์วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย มิอาจเปลี่ยนแปลงชะตากรรมได้ เมื่อการณ์ล่วงเลยจนสายเกินแก้

 

"ความรับผิดชอบ" ของประชาคมอาเซียน

บรรทัดฐานใหม่ในการเมืองระหว่างประเทศเรียกร้องให้สังคมนานาชาติหยุดยั้งอาชกรรมต่อมนุษยชาติและการจำจัดชาติพันธุ์ หากรัฐล้มเหลวในการทำหน้าที่พื้นฐานคือรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่พลเมืองตนอย่างถ้วนหน้า บรรทัดฐานนี้เน้นย้ำว่าขณะที่รัฐต่างๆ ยังควรเคารพอำนาจอธิปไตยกันและกันด้วยการไม่แทรกแซงการเมืองภายใน แต่อธิปไตยไม่ควรกลายเป็น "ใบสั่ง" อนุญาตให้รัฐเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชน หรือกระทั่งเป็นผู้ลงมือเสียเอง เมื่อใดที่อธิปไตยเปลี่ยนใบสั่งฆ่า เมื่อนั้นประชาคมนานาชาติย่อมอาศัยสิทธิเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งการกำจัดชาติพันธุ์ได้ เราเห็นปฏิบัติการแทรกแซงเพื่อ "ปกป้อง" ชีวิตพลเรือนในหลายพื้นที่ (โซมาเลีย บอสเนียฯ โคโซโว ลิเบีย ซูดาน เยเมน และล่าสุดมาลี เป็นต้น) ทว่าปฏิบัติการเช่นนี้ไม่ใคร่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ในทางหนึ่งนี่เป็นผลมาจากหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในที่ผู้นำรัฐในภูมิภาคนี้ยึดมั่นจนกลายเป็นมนตราของกลุ่มอาเซียน ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุดที่บูรไน ปัญหาความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญายังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องว่าหลักการไม่แทรกแซงยังเป็นหัวใจหลักของความสัมพันธ์ในกลุ่ม ในอีกทาง เหตุที่ไม่มีการแทรกแซงด้านมนุษยธรรมในเอเชียอาคเนย์นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุด (ยกเว้นกรณีติมอร์ตะวันออก) อาจเป็นเพราะประชาคมแห่งนี้พัฒนาศักยภาพในการร่วมบรรเทาวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติร่วมกันได้ในระดับหนึ่ง กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ควรลืมศักยภาพนี้ของตน ยิ่งไปกว่านั้นควรเผื่อแผ่ความร่วมมือนี้ไปให้ไกลกว่าระดับรัฐ เพราะท้ายที่สุดแล้วประชาคมอาเซียนประกอบด้วยผู้คนซึ่งในหลายสถานการณ์แสดงความเห็นอกเห็นใจ สงสารต่อความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงพรมแดนแผนที่ ประชาคมคือชุมชนที่ผู้คนช่วยเหลือกันและรับผิดชอบต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมชุมชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวป. บุกสภายื่นถอดถอน 5 ตุลาการศาล รธน.-จี้ลาออกทั้งคณะ 20 วันมาฟังคำตอบ

Posted: 08 May 2013 08:10 AM PDT


 

8 พ.ค.56  ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ หลังการชุมนุมยืดเยื้อนาน 17 วัน ของคนเสื้อแดง นำโดยกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) วันนี้เป็นวันนัดชุมนุมใหญ่เพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่ยอมรับตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งคณะและเตรียมเดินทางไปยื่นรายชื่อประชาชนถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญกับวุฒิสภา ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าวโดยยึดสโลแกน "ไม่รับอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 309 อารยะขัดขืนทั้งแผ่นดิน"

นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน นายชาญ ไชยะ หรือ หนุ่ม โคราช และนายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษก กวป. ร่วมกันแถลงก่อนเคลื่อนการชุมนุมไปยังรัฐสภา โดยระบุว่า ตุลาการทั้งคณะต้องลาออกจากตำแหน่ง และจะเริ่มผลักดันนายจรัญ ภักดีธนากุล ที่มีความผิดร้ายแรงเป็นคนแรก โดยอีก 20 วันข้างหน้า กปว. จะยกพลใหญ่จากต่างจังหวัดอีกครั้งเพื่อเข้ามาฟังคำตอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

บรรดาแกนนำกล่าวอีกว่า กปว. ต้องการนำกระบวนการทางการเมืองกลับเข้าสู่สภา ต้องการเห็นการตัดสินใจปัญหาบ้านเมืองภายในสภา รวมทั้งขอตำหนิสื่อมวลชนที่ไม่มาทำข่าวตั้งแต่วันแรกๆ แต่ยังดีที่มากันเยอะในวันนี้ การที่สื่อไม่สะท้อนเสียงของพวกเราเท่ากับสื่อสนับสนุนความรุนแรงและระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันอีกครั้งว่าการเคลื่อนไหวของกวป.ไม่มีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง เป็นการเคลื่อนไหวที่บริสุทธิ์ ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนมาด้วยใจที่รักประชาธิปไตย

นายพงษ์พิสิษฐ์ กล่าวว่า การคัดสรรตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทางกลุ่มต้องการให้ยึดโยงกับประชาชน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้แทนโดยตรง แต่ต้องยึดโยงกับประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่วนการเสนอยกเลิกมาตรา 309 นั้นเพราะเห็นว่า มาตรา 309 ถูกใช้เพื่อปกป้องการกระทำผิดกฎหมายของคณะรัฐประหาร แล้วยังถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองทำลายฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย

 

 


 

จากนั้นผู้ชุมนุมได้ทยอยเดินทางจากศาลรัฐธรรมนูญมายังรัฐสภาในเวลาเที่ยงวัน และแกนนำได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อยื่นถอดถอน 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 แต่ไม่สามารถยื่นได้ เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย โดยเฉพาะคำร้องยื่นถอดถอนของผู้ริเริ่มที่ต้องลงลายมือชื่อพร้อมสำเนาบัตร ประชาชน จำนวน 100 คน ทั้งนี้ นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการยื่นถอดถอนว่า ผู้ริเริ่มต้องกลับไปรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน ภายใน 180 วัน จากนั้นนำรายชื่อมายื่นต่อประธานวุฒิเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง จากส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการ พิจารณาตามคำร้อง หากป.ป.ช.ชี้มูล ก็จะส่งกลับให้วุฒิสภาดำเนินการตามถอดถอนตามกฎหมายต่อไป

ด้านแกนนำ กวป. ระบุว่า ขั้นตอนการถอดถอนผ่านวุฒิสภา ใช้เวลานาน หากระหว่างนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกิดตัดสินยุบพรรคการเมืองใดการเมือง หนึ่ง หรือวินิจฉัยคำร้องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด อาจเกิดผลเสียได้ ใครจะรับผิดชอบ จะมีกระบวนการเร่งด่วนใดที่จะยับยั้งการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ ดังนั้นเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่ที่รับคำร้องว่าการแก้ไข รัฐธรรมนูญรายมาตรา ผิดมาตรา 68 ได้พิจารณาตัวเองลาออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ในเวลาประมาณ 14.00น. แกนนำ กวป. ได้กลับเข้ายื่นหนังสือจำนวน 2 ฉบับต่อ รองประธานวุฒิสภาคนที่  1 ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา

ฉบับแรกเป็นจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนการกระทำของ ส.ส. และ ส.ว.จำนวน 312 คน ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบแล้ว จึงขอชื่นชม สนับสนุน และขอให้สมาชิกรัฐสภามีความมั่นคงในจุดยืน และขอวิงวอนสมาชิกรัฐสภาคนอื่นที่ยังไม่ได้ร่วมลงชื่อ ได้ลงชื่อสนับสนุนด้วย เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จไปได้

ส่วนหนังสือฉบับที่ 2 เป็นหนังสือแสดงเจตจำนงเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือก ตั้ง ให้ได้ไม่น้อยกว่า 20,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายจรูญ อินทจาร นายนุรักษ์ มาประณีต นายเฉลิมพล เอกอุรุ  ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ในข้อหาความผิด 3 ประการ ได้แก่ 1.มีพฤติการณ์ที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2.มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และ 3.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยข้อหาทั้งหมดมาจากการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนรับคำร้องกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราไว้พิจารณาว่าขัดกับรัฐ ธรรมนูญหรือไม่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. วันที่ 11 เม.ย.และ วันที่ 1 พ.ค. ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมเข้าชื่อแล้วกว่า 50,000 คน ซึ่งภายใน 15 วัน จะคัดกรองและนำมายื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อเข้าขบวนการถอดถอนต่อไป  

แกนนำ กวป.ระบุว่า หลังจากนี้จะเดินทางไปยื่นหนังสือฉบับเดียวกัน ต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และในเวลา 17.00 น. จะเดินทางกลับไปรวมตัวกับผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหารือและกำหนดท่าที ซึ่งคาดว่าภายในเวลา 24.00 น. ก็จะยุติการชุมนุมได้ 

 


ภาพจากเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน

 

เรียบเรียงบางส่วนจากเว็บไซต์เดลินิวส์ โพสต์ทูเดย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซีเรียตัดอินเทอร์เน็ตครั้งที่ 2 ในรอบ 6 เดือน

Posted: 08 May 2013 06:51 AM PDT


สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า บริการอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศซีเรียถูกตัดเป็นครั้งที่สองในรอบหกเดือน

บริษัทตรวจตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายแห่งรายงานว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตลดลงจนหายไป ก่อนเวลา 22.00น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ เวลา 2.00น. ของวันพุธตามเวลาประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ อินเทอร์เน็ตในซีเรียถูกตัดเป็นเวลาสามวันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 รัฐบาลซีเรียกล่าวหาว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากผู้ก่อการร้าย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตกล่าวว่าเป็นไปได้มากที่รัฐบาลจะจงใจปิดอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ ภายใต้ระบอบการปกครองของบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย เกิดความขัดแย้งภายในประเทศและต่อสู้นองเลือดมากว่าสองปีแล้ว

นักกิจกรรมระบุว่า การปิดอินเทอร์เน็ตครั้งที่ผ่านมา อาจเพราะรัฐบาลกำลังวางแผนโจมตีครั้งใหญ่ หรือพยายามขัดขวางการสื่อสารของฝ่ายต่อต้านรัฐ อย่างไรก็ตาม ไม่มีทฤษฎีใดได้รับการพิสูจน์

จิม โควี หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีบริษัทเรเนซัส หนึ่งในบริษัทตรวจตราการใช้งานอินเทอร์เน็ต ระบุว่า ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกได้ว่าสาเหตุของการปิดอินเทอร์เน็ตครั้งนี้คืออะไร แต่ตั้งข้อสังเกตว่า การตัดอินเทอร์เน็ตครั้งนี้คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนมาก โดยการเชื่อมต่อไปยังอินเทอร์เน็ตของซีเรียถูกตัดอย่างรวดเร็วและพร้อมกันหมด

"มันอาจเป็นได้ว่าเกิดความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้าดับในสถานที่สำคัญ หรือเพียงเพราะมีใครบางคนปิดอินเทอร์เน็ต"

พลเมืองซีเรียยืนยันว่ามีการตัดอินเทอร์เน็ต ขณะที่โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์บ้านยังใช้งานได้ปกติ

 

 



ที่มา:
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-22446041#TWEET748037

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สร.องค์การเภสัชกรรม โต้ข้อกล่าวหาผลิต "พาราเซตามอล" ปนเปื้อน

Posted: 08 May 2013 03:22 AM PDT

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมยื่นสมุดปกขาวชี้แจงสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังดีเอสไอสอบเรื่องยาพาราปนเปื้อนและการสร้างโรงงานวัคซีนล่าช้า ประธานสหภาพหวั่นเป็นแผนแปรรูปองค์การเภสัชกรรมเพื่อลดบทบาทเสาหลักด้านผลิตยา

ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (7 พ.ค.) นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เข้าพบคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยขอชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีองค์การเภสัชกรรมถูกกล่าวหาเรื่องยาพาราเซตามอลและโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ว่าไม่เป็นความจริง โดยได้ยื่นสมุดปกขาวชี้แจง

โดย ประธานสหภาพ อภ. กล่าวชี้แจงโดยละเอียดว่าองค์การเภสัชกรรมได้มีการตรวจสอบยาพาราเซทตามอลตามหลักวิชาการและเมื่อมีการพบการปนเปื้อนก็สามารถส่งคืนได้ซึ่งเป็นหลักทั่วไป การคัดเลือกแหล่งซื้อที่กล่าวหาว่ามีบริษัทเดียวก็เป็นไปตามขั้นตอนและการสำรองยาเนื่องมาจากการรองรับการขยายการผลิต ส่วนการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกก็ได้กล่าวถึงการดำเนินการตามขั้นตอนและปัญหาน้ำท่วม ตลอดจนการจ้างออกแบบและการประกวดราคาซึ่งเป็นไปอย่างถูกต้อง

ประธานสหภาพ อภ. ยังได้ตั้งข้อสังเกตกับสภาที่ปรึกษาฯ โดยถามไปยังรัฐมนตรีสาธารณสุขว่า รัฐมนตรีเคยสั่งให้สำรองน้ำเกลือหลังน้ำท่วม 7 ล้านถุงเหลืออยู่ 6 ล้านถุงใครจะรับผิดชอบ นอกจากนี้ทำไมจึงไม่ยอมอนุมัติเครื่องจักรที่ต้องใช้ผลิตยาจำนวนมากทำให้เสียโอกาส  และกล่าวว่า เป็นแผนหรือไม่ที่จะแปรรูปองค์การให้เป็นรัฐวิสหากิจมุ่งค้ากำไรไม่ทำหน้าที่วิจัยและเป็นคลังยาของประเทศ

"มีความพยายามทำให้องค์การเภสัชกรรมง่อยเปลี้ยขาดประสิทธิภาพในการผลิตยาใหม่ ทั้งที่ประสิทธิภาพของ องค์การที่เพิ่มขึ้นจะสามารถลดการผูกขาดของบริษัทยาต่างชาติและเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชนได้อย่างดี  จึงขอให้สภาที่ปรึกษาฯ ศึกษาและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่าให้สนับสนุนการทำงานวิจัยและผลิตยาเพื่อประชาชนและอย่าให้มีกลุ่มคนที่ไม่หวังดีมาทำลายบทบาทขององค์การเภสัชกรรม" นายระวัยกล่าว

ด้านนายสุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับเรื่องและยืนยันที่จะศึกษาและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพื่อที่จะให้องค์การเภสัชกรรมมีบทบาทเป็นเสาหลักเพื่อความมั่นคงของประเทศด้านยา ส่วนข้อกล่าวหาที่มีนั้นจะขอเวลาศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการนำเสนอว่ามีข้อเท็จจริงประการใดโดยคาดว่าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ตลอดจนการศึกษาข้อมูลที่องค์การเภสัชกรรม โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นานที่จะได้ข้อมูลเพื่อการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล

ส่วน รศ.ดร วิทยา กุลสมบูรณ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า ตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ไปยื่นหนังสือสมุดปกขาว ต่อสภาที่ปรึกษาฯ ชี้แจงเรื่องข้อเท็จจริงต่อกรณีที่ถูกกล่าวหาเรื่องยาพาราปนเปื้อนและการสร้างโรงงานวัคซีนล่าช้าว่า  จากข้อมูลที่สหภาพองค์การเภสัชกรรมนำมาให้ ทำให้การมองภาพองค์การเภสัชกรรมแตกต่างจากบรรดาข่าวที่ออกมาจากภาครัฐ เช่น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และ กรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างมาก หลายเรื่องน่าจะมีการศึกษาต่อไปว่าจะทำอย่างไร เช่น การที่ผู้มีอำนาจสั่งให้ซื้อน้ำเกลือแล้วยังค้างอยู่ถึง 6 ล้านถุง หรือ การไม่ให้ซื้อเครื่องจักรตอกยาที่มีปริมาณมากเพื่อเร่งผลิตยา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ลืม

Posted: 08 May 2013 02:28 AM PDT

<--break->

 

ความหลงลืมทำให้คุณละอาย
ก็ในตอนที่มันถูกเตือนตามอัตโนมัติ
ว่ามีคนตาย มีคนหาย มีคนสาบสูญ
วันที่คุณลืมไปแล้ว คนที่คุณลืมไปแล้ว
แผลซึ่งสมานตัวไปโดยไม่ได้รับการเยียวยาอื่นใดนอกจากเวลา
รอยแผลใหม่ๆของความสำึนึกบาปเท่านั้น ที่เป็นจริงในตอนนั้น


คุณละอายต่อการร่วมอาลัย 
ความหลงลืมอยู่ข้างใน
ความตายอยู่ข้างนอก 
นอกเปลือกตาของคุณ นอกจักรวาลของคุณ
ความสำนึกบาปคือการไถ่บาป 
บาปของการไม่จดจำ จำไม่พอ
บาปของการตายซึ่งเกิดขึ้น 
ต่อหน้าต่อตาโดยไม่อาจช่วยเหลือ 


คุณลืมไปหมดแล้ว
แม้จะแสร้งสำนึกบาปก็ยังลืมไป 


คำสัญญาว่าจะจดจำคือการเริ่มต้นของการลืม
รอจนกว่าคุณจะเป็นคนที่ถูกลืม 
คุณจึงหัดจดจำ
แผลที่เป็นแผลเป็น 
ซึ่งยังปวดแปลบแม้เนื้อสมานสนิท 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บัสเวย์ บทเรียนสำหรับ BRT ไทย

Posted: 08 May 2013 02:04 AM PDT

ผมเห็นกรุงเทพมหานครว่าจะเพิ่มเส้นทางรถ BRT (Bus Rapid Transit) แล้ว บอกได้คำเดียวว่า "อย่า" หมายถึงอย่าขยายเลย BRT ไม่ใช่สรณะในการแก้ปัญหาจราจรเลย ผมจึงขออนุญาตนำบทเรียนของรถ Busway หรือ Transjakarta ซึ่งเป็น BRT ของอินโดนีเซียมาเล่าให้ฟังครับ

ผมไปกรุงจาการ์ตาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2526 และแวะเวียนไปเป็นระยะ ๆ ผมเคยไปทำงานในโครงการที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย และยังเคยไปศึกษาการวางแผนพัฒนาสาธารณูปโภคของธนาคารโลก ณ กรุงจาการ์ตาอีกด้วย  นอกจากนั้นยังไปสำรวจโครงการตลาดที่อยู่อาศัยที่นั่นมาตั้งแต่ พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นการสำรวจที่ได้ข้อมูลที่มากและครอบคลุมมากที่สุดโดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

ทุกครั้งที่ผมไป หลังเสร็จจากภารกิจที่มี 'ราชรถมาเกย' แล้ว  ผมจะพยายามไปใช้บริการรถ BRT เพื่อศึกษา ตลอดจนนั่งรถสองแถวบ้าง สามล้อบ้าง จักรยานยนต์รับจ้างบ้าง แท็กซี่บ้าง เพื่อศึกษาดูการจราจรภาคปฏิบัติ  ผมพบอย่างหนึ่งว่า สำหรับคนที่พอมีพอกิน หรือชนชั้นกลางระดับกลางบน เช่น ระดับ C+ หรือ B- ขึ้นไป ไม่ค่อยนั่งรถ Busway อาจเป็นเพราะไม่สะดวกสบายเช่นรถ BRT บ้านเรา  ต่างใช้รถจักรยานส่วนตัวหรือไม่ก็รถยนต์เท่าที่ฐานะจะอำนวย

Busway ของอินโดนีเซียสายแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 หรือ ก่อนไทย 6 ปี ปัจจุบันนี้มีประมาณ 14 เส้นทาง จากที่วางแผนไว้ 15 เส้นทาง โดยมีสถานีหยุดรถ 200 จุด มีรถอยู่ราว 600 คัน รวมระยะทางบริการเกือบ 200 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นระบบที่มีความยาวมากที่สุดในโลก มากกว่าที่กรุงโบโกตา เมืองต้นตำรับของ BRT เสียอีก

แต่ละวันมีผู้โดยสาร Busway ประมาณ 350,000 คน โดยคิดค่าโดยสารประมาณ 11 บาท แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้กับบริษัทที่ให้บริการอีกประมาณหัวละ 6.3 บาท ทั้งนี้เพื่อตรึงราคาค่าโดยสารให้ถูกเข้าไว้ โดยถือเป็นบริการสาธารณะสำหรับประชาชนและลดปัญหาการจราจรอีกด้วย

การที่ Busway สามารถขยายตัวได้มากในกรุงจาการ์ตาก็เพราะที่นี่ไม่มีรถไฟฟ้า หรืออีกนัยหนึ่งไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างรถไฟฟ้าเช่นมหานครอื่น ๆ หรือมีเงิน แต่เพื่อเอื้ออำนวยกับบริษัท Busway ก็เลยไม่สร้าง ซื้อเวลาไปเรื่อย  ซึ่งก็คล้ายกับพวกแพขนานยนต์ที่ต่อต้านสะพานข้ามแม่น้ำ หรือชาวบ้านที่ถูกเวนคืนเพียงหยิบมือเดียวก็ต่อต้านการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อคนนับล้านๆ เป็นต้น

กรุงจาการ์ตาก็เคยคิดจะสร้างรถไฟฟ้าเหมือนกัน แต่พับไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ยังมี 'อนุสรณ์สถาน' ให้เห็นเป็นแท่งหิน  แต่ของไทยคงโกงกินกันน้อยกว่า จึงยังมีเหลือซากเป็น 'Stonehenge' หรือโครงการรถไฟฟ้า Hopewell คือนอกจากมีเสาแล้ว ยังมีคานพานไว้เพิ่มเติม  และของไทยยังมีรถไฟฟ้าเสร็จสามารถใช้งานได้อีก 2 สายคือ BTS และMRT  ขณะนี้กรุงจาการ์ตาก็กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานสายแรกได้ในปี 2559 สายต่อมาจะเสร็จในปี 2561 ส่วนสายที่ 3 จะเสร็จในราวปี 2567-2570  ผมก็หวังว่าผมคงจะอยู่ถึงตอนเปิดใช้!

ปัญหาของรถ Busway ในกรุงจาการ์ตาก็คือ เลนที่มีไว้ตลอด 24 ชั่วโมง มันเกินความจำเป็น น่าจะมีเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน  ขณะเดียวกันในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ก็มีรถส่วนบุคคลหรือรถอื่น ๆ วิ่งเข้ามาใช้เส้นทางรถ Busway ทำให้รถ Busway ขับไปไม่ได้  จึงทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนได้จริง

หากวิเคราะห์ถึงจำนวนผู้โดยสารจะพบว่า ในแต่ละวันมีผู้โดยสารรถ Busway ของกรุงจาการ์ตา 350,000 คน หรือราวครึ่งหนึ่งของรถ BTS ของไทย ณ วันละ 550,000 - 600,000 คน ทั้งที่ BTS มีระยะทางเพียง 33 กิโลเมตร และมีสถานีรวมเพียง 33 สถานี  ขณะที่รถ BRT ของไทยมีผู้ใช้บริการวันละ 20,000 คน เท่านั้น และรถประจำทางในกรุงเทพมหานครทั้งระบบมีผู้ใช้บริการ 1 ล้านคน

จะเห็นได้ว่าการมี BRT ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรแต่อย่างใด แต่กลับยิ่งทำให้การจราจรบนถนนพระรามที่ 3 และถนนนราธิวาส ติดขัดหนักกว่าเดิม    ผมจึงเคยเสนอให้มีBus Lane (โดยไม่ต้องมี BRT ให้เป็นภาระ) เฉพาะในช่วงเร่งด่วน  จับปรับคนที่ฝ่าฝืน และหลังจากเวลาดังกล่าว ก็ให้คืนช่องทางจราจรให้กับรถอื่่น ๆ ไปเสีย

อนึ่งตั้งแต่หลังเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นต้นมา ท่านผู้ว่าฯ ก็มีนโยบายลดค่าโดยสารจาก 10  บาท เป็น 5 บาท ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้เพราะไม่ได้มีผู้โดยสารใดเรียกร้องว่าค่าโดยสารนี้แพงแต่อย่างใด  การสั่งลดนี้ก็คงยิ่งเพิ่มการขาดทุนให้กับ BRT  การให้ในสิ่งที่ไม่ได้เป็นความต้องการจำเป็น อาจไม่ได้ความนิยมดังหวัง แต่อาจเกิดคำถามจากประชาชนถึงความสามารถในการวางแผนและการบริหารก็ได้

นี่แหละครับเราจึงเรียนรู้โลกเพื่อเปลี่ยนแปลงไทยให้ดีกว่าเดิมโดยมีกรณี Busway / BRT เป็นอาทิ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: พิพากษา “อากง” หนึ่งปีผ่านไป

Posted: 08 May 2013 01:49 AM PDT

 

ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเวลา 10.43 น. รวมระยะเวลา 18 นาที พิพากษาให้จำเลยมีความผิดในการส่งข้อความสั้นตามฟ้อง โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาททำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระบรม ราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้การส่งเอสเอ็มเอสจะต้องส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก่อนประมวลผลไปถึง โทรศัพท์เคลื่อนที่ปลายทาง ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ประกอบข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปี่ยมไปด้วยพระ เมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 มาตรา 14 (2) และ (3) การกระทำของจำเลยมีหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษหนักสุด ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ความผิด 4 กระทง รวมโทษจำคุกทั้งหมด 20 ปี

เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งอยู่กับนายอำพลที่เรือนจำในห้องฟังคำพิพากษาได้กล่าว ผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ถามว่าคำพิพากษาว่าอย่างไร เพราะตลอดการฟังคำพิพากษาได้ยินเสียงไม่ชัด เจ้าหน้าที่ศาลจึงแจ้งอย่างสั้นๆ ไปว่า "ลุงติดคุก 20 ปี" (ประชาไท 23 พฤศจิกายน 2554)

วันที่ 8 พฤษภาคมปีนี้ ครบรอบวันเสียชีวิต 1 ปีของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อของ "อากง" อากงเสียชีวิตระหว่างอยู่ในเรือนจำด้วยโรคมะเร็ง เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ แพทย์ประจำเรือนจำแสดงถึงอคติส่วนตัวที่มีต่อนักโทษการเมืองต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในที่สุด อากงได้รับอิสรภาพ แต่อยู่ในสภาพร่างกายที่ไร้วิญญาณ

1 ปีผ่านไป สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ยังไม่เปลี่ยนแปลง หลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นจากการละเมิดกฏหมายหมิ่นฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา (ล่าสุด ในกรณีของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข) ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ทางด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทยได้ถึงจุดตกต่ำอย่างที่สุด กรณีที่เกิดขึ้นกับอากงยิ่งชี้ให้เห็นถึงสภาพเลวร้ายนั้น กฏหมายหมิ่นฯ ได้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมืองมากขึ้น การตัดสินพิพากษาจำคุกอากงเป็นเวลาถึง 20 ปี และในที่สุดต้องพบจุดจบในเรือนจำ ได้สร้างความโกรธแค้นและเศร้าใจให้กับกลุ่มคนไทยหลายๆ กลุ่มถึงความป่าเถื่อนของกฏหมาย ขณะเดียวกัน กลุ่มราชานิยม (รอยัลลิสต์) กลับมีความปิติยินดี และเห็นว่า อากงสมควรได้รับโทษหนักเช่นนี้เพราะอากงได้จาบจ้วงสถาบัน (ซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้) เมื่ออากงเสียชีวิต กลุ่มคนเหล่านี้กลับอธิบายอย่างตื้นๆ ว่า อากงได้ชดใช้กรรมที่ตนเองก่อไว้

ในความเป็นจริง กรณีของอากงก็ไม่ต่างจากกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีหลายเหตุผลที่ผมเห็นว่า ทำไมกฏหมายหมิ่นฯ ถึงถูกใช้มากขึ้น เริ่มจากการใช้เพื่อค้ำจุนตำนาน นิทานปรำปรา หรือความเชื่อเพ้อฝัน (myths) หลายๆ อย่างที่รายล้อมสถาบันกษัตริย์ การปกปิดความหวาดวิตกเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ การสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันกษัตริย์ การครอบงำสังคม การปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มผู้นำ-ชนชั้นนำ การคงไว้ซึ่งบทบาททางการเมืองของทหาร (ในฐานะผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์) การปฏิเสธกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตย ไปจนถึงการใช้เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกของ cyberspace

แต่กลุ่มรอยัลลิสต์เหล่านี้กลับมองไม่เห็นว่า ยิ่งตนเองได้ใช้กฏหมายหมิ่นฯ มากเท่าใด กลับยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอมากเท่านั้น การใช้กฏหมายหมิ่นๆ แบบ "มั่วซั่ว" และ "ไร้ความรับผิดชอบ" ชี้ให้เห็นถึงสภาพความกระเสือกกระสน (desperation) มากกว่าความมีอำนาจ (authority) ในการบังคับใช้กฏหมายนี้กับศัตรูทางการเมือง แกนนำฝ่ายรอยัลลิสต์หลายคนยังคงรณรงค์ให้ใช้มาตรการเด็ดขาดจัดการกับกลุ่มที่ตนเรียกว่าเป็นกลุ่มต่อต้านเจ้านั้น มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้สถาบันมีความเสื่อมถอย และทำให้ระดับของความเคารพที่คนไทยมีต่อสถาบันได้ลดต่ำลง รอยัลลิสต์หลายคนจึงมิใช่พวกรักเจ้าที่แท้จริง เพราะมีส่วนสร้างภาพในทางลบให้กับสถาบัน หรือสรุปอีกนัยหนึ่ง กลุ่มรักเจ้านั่นเองที่ผลักดันให้เกิดกลุ่มต่อต้านเจ้า

น่าสนใจว่า การฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ ได้ทำอย่างค่อนข้างมีขอบเขต (more focused) ในช่วงก่อนการก่อรัฐประหารในปี 2549 ในฐานะเป็นเครื่องมือของกลุ่มชนชั้นปกครองที่ใช้ห้ำหั่นกัน ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่พรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็ยังได้เคยกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ในการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องช่วยในการณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือแม้แต่การที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลและนายทักษิณฯ ได้กล่าวหาซึ่งกันและกันว่าฝ่ายตรงไม่มีความภักดีต่อสถาบันกษัตริย์

แต่หลังจากรัฐประหารในครั้งนั้นสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก การเมืองไทยได้เปิดกว้างมากขึ้น และในความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกตน กลุ่มรอยัลลิสต์ได้ใช้กฏหมายหมิ่นฯ ในการกำจัดกับทุกคนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างออกไป เหตุการณ์หนึ่งที่ชี้ว่าสถานการณ์ได้บานปลายเลยเถิดเมื่อกลุ่มราชานิยม ได้แก่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กองทัพและพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้คนไทยทุกคนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไม่มีเงื่อนไข หากมองจากมุมมองเหล่านี้ ศัตรูของกลุ่มรอยัลลิสต์ดูเหมือนจะมีอยู่ทั่วทุกแห่งของราชอาณาจักร มิใช่ทุกคนที่มีความเห็นแบบเดียวกันต่อสถาบันกษัตริย์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครสามารถบังคับใจใครให้รักใครได้ ความรักที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ควรจะตั้งอยู่บนเป็นความรักแบบอาสาสมัคร (voluntary affection)

ตามสถิติ ในปี 2548 ได้มีการฟ้องร้องในคดีหมิ่นจำนวน 33 คดี ในจำนวนนี้ มีการตัดสินคดีความและลงโทษผู้กระทำผิดจำนวน 18 คดี ต่อมาในปี 2550 (1 ปีหลังจากรัฐประหาร) การฟ้องร้องในคดีนี้ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่ามาเป็น 126 คดี อีก 2 ปีถัดมา มีคดีฟ้องร้องเพิ่มเป็น 164 คดี และได้เพิ่มเป็น 3 เท่ามากถึง 478 คดีในปี 2553 การเพิ่มขึ้นของการฟ้องร้องและเอาผิดกับเหยื่อมาตรา 112 อย่างมากและรวดเร็วได้เกิดขึ้นยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ฯ และแน้วโน้มนี้ยังคงอยู่ แม้แต่ในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ดังนั้น อากงจะไม่เป็นคนสุดท้ายในเกมการแสดงความรักเจ้าอย่างสุดโต่งนี้

 

รศ.ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

มหาวิทยาลัยเกียวโต

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสำรวจ นศ.แพทย์ มข. ระบุหากไม่มี P4P แพทย์จะอยู่ รพ.ชุมชน ต่อ 10 ปี

Posted: 08 May 2013 01:46 AM PDT

นศ.แพทย์ ขอนแก่นสำรวจ P4P กับการตัดสินใจทำงานใน รพ.ชุมชน พบแพทย์เกือบ 90% ไม่เห็นด้วย และหากมีการใช้ P4P ต่อ จะทำให้แพทย์เลือกตัดสินใจทำงาน รพ.ชุมชนต่ออีก 2 ปี และจะลาออก ไปเรียนต่อ หรือย้ายเข้าทำงานในเมือง ชี้ P4P ทำให้ชนบทขาดแคลนแพทย์มากกว่าเดิมจากปัจจุบันที่มีแพทย์ทำงานในชนบท 17% เท่านั้น

ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการสำรวจเรื่อง อิทธิพลของนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานต่อการตัดสินใจปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนของแพทย์ ซึ่งทำการสำรวจโดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 22-25 เม.ย.56 กับกลุ่มตัวอย่างแพทย์ชนบทในโรงพยาบาลชุมชน (รพ.ชุมชน) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 250 คน จาก 50 โรงพยาบาล เพื่อศึกษาอิทธิพลของนโยบาย P4P ต่อการตัดสินใจปฏิบัติงานต่อใน รพ.ชุมชนของแพทย์ และเพื่อให้ทราบผลการตัดสินใจของแพทย์ภายหลังจากใช้นโยบาย P4P

โดยผลการสำรวจพบว่า แพทย์ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 89.5 ไม่เห็นด้วยกับการนำนโยบาย P4P มาใช้ในรพ.ชุมชน เหตุผลคือ 1.ไม่มีเวลาจดแต้มและเสียเวลาทำข้อมูลเพิ่ม และกังวลต่อการจดแต้มซึ่งทำให้เวลาดูแลผู้ป่วยลดลง 2.ไม่มีรูปแบบที่เป็นรูปธรรมและยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าดีจริง 3.แพทย์ไม่เกื้อกูลกัน ความสัมพันธ์แพทย์แพทย์ แพทย์กับผู้ป่วยเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันยังพบว่า นโยบาย P4P มีผลต่อการเลือกสถานที่ปฏิบัติงาน ร้อยละ 46.4 หากไม่ใช้นโยบาย P4P จะทำให้แพทย์เลือกตัดสินใจปฏิบัติงานต่อในโรงพยาบาลชุมชนเป็นเวลา 10 ปี ในขณะที่หากใช้นโยบาย P4P จะทำให้แพทย์เลือกตัดสินใจปฏิบัติงานต่อในโรงพยาบาลชุมชนเป็นเวลา 2 ปี โดยผู้ที่ตอบว่านโยบาย P4P มีผลทำให้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานในรพ.ชุมชนลดลงนั้น เลือกลาออกจากราชการมากที่สุด คือ ร้อยละ 32.6 รองลงมาเลือกไปเรียนต่อ ร้อยละ 31.4 และย้ายเข้าทำงานในเมืองร้อยละ 26.7

"ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยมีแพทย์ 22,019 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ที่ให้บริการในสถานพยาบาลชนบท 3,919 คน หรือร้อยละ 17.8 ของแพทย์ทั้งหมด ซึ่งดูแลประชากรร้อยละ 54 ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวที่ไม่เหมาะสมระหว่างแพทย์ในเมืองกับชนบท และหากมีการใช้นโยบาย P4P ต่อ ก็จะทำให้การกระจายตัวนี้มีความไม่สมดุลมากขึ้น และทำให้ชนบทขาดแคลนแพทย์มากกว่าเดิม หลายรัฐบาลที่ผ่านมาใช้เงินไปมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทเพื่อผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ถ้านโยบาย P4P มีผลทำให้แพทย์ไหลออกจากชนบท ก็นับว่าการลงทุนจำนวนมหาศาลที่ผ่านมาไร้ผลโดยสิ้นเชิง" ผศ.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมนุมต้านบ่อขยะโพนพิสัย-อำเภอรับตั้งกรรมการแก้ปัญหา

Posted: 08 May 2013 01:06 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าโคกใหญ่ ร้อง14 ปี ประสบความเดือดร้อนบ่อขยะ จี้ อบต.วัดหลวง-นายอำเภอโพนพิสัย จ.หนองคาย หยุดทิ้งขยะในพื้นที่ทันที ชี้เป็นแหล่งน้ำ-อาหาร เผยเคยร้องเรียนพร้อมทั้งเสนอผลวิจัยท้องถิ่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.56 เวลา 10.00 น. ชาวบ้านจากพื้นที่ตำบลสร้างนางขาว อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าโคกใหญ่ จำนวนกว่า 100 คน ซึ่งนำโดยนายวิรัตชัย  โยธวงศ์ ประธานกลุ่ม  ได้ออกมารวมตัวกัน ที่หน้าบริเวณที่ทำการ อบต.วัดหลวง เพื่อเรียกร้องให้นายกอบต.วัดหลวง และนายอำเภอโพนพิสัยแก้ไขปัญหาบ่อขยะของ อบต.วัดหลวง ที่นำไปทิ้งบริเวณป่าโคกใหญ่ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับตำบลสร้างนางขาว

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านได้เสนอข้อเรียกร้องจำนวน 5 ข้อเพื่อให้อบต.วัดหลวง และทางอำเภอโพนพิสัย ดำเนินการ ได้แก่ 1.  ให้ อบต.วัดหลวง หยุดการนำเอาขยะไปทิ้งบริเวณพื้นที่ป่าโคกใหญ่ทันที 2. ให้อบต.วัดหลวง นำขยะไปทิ้งบริเวณอื่นไม่ใช่ป่าโคกใหญ่ 3. ให้ อบต.วัดหลวง ดำเนินการกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในพื้นที่บ่อขยะป่าโคกใหญ่ให้ถูกสุขลักษณะ และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535  4. ให้ อบต.วัดหลวง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องนำเอารายงานผลการวิจัยท้องถิ่น โครงการศึกษาผลกระทบของบ่อขยะป่าโคกใหญ่ต่อลำห้วยบ้านน้อยและสุขภาพชุมชนบ้านโพธิ์ศรี มาใช้เป็นแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นที่บ่อขยะป่าโคกใหญ่ และ 5. ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสองตำบลพิสูจน์ผลกระทบจากบ่อขยะ

นายวิรัตน์ชัย  โยธวงศ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าโคกใหญ่ กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.2542  ทางอบต.วัดหลวง ได้จัดให้บริเวณพื้นที่ป่าโคกใหญ่ ซึ่งอยู่ในเขตติดต่อกับตำบลสร้างนางขาว เป็นสถานที่ทิ้งขยะของตำบล จนกระทั่งในปัจจุบันการทิ้งขยะของ อบต.วัดหลวง มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลให้ชุมชนใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

"ปัญหาจากบ่อขยะ ได้ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว การเผาขยะได้เกิดควันฟุ้งกระจายปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง  ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน และเกิดโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้พื้นที่ป่าโคกใหญ่ประมาณ 450 ไร่ ที่เคยเป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติของชาวบ้าน ได้หาอยู่หากิน และขายเป็นรายได้เสริมต้องถูกทำลายลง สิ่งสกปรก เชื้อโรคและสารพิษต่างๆ ไหลลงสู่ลำห้วย ทำให้น้ำเสียสัตว์น้ำเป็นโรคตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่เคยลงหาปลา กุ้ง หอย มาเป็นอาหารก็ไม่กล้าลงเพราะกลัวสารเคมีและเชื้อโรค" นายวิรัตน์ชัย กล่าว

นายวิรัตน์ชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบ่อขยะบริเวณป่าโคกใหญ่ ไม่มีการจัดการให้เป็นไปอย่างถูกสุขลักษณะ  ซึ่งชาวบ้าน เคยร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งนำเสนอรายงานผลการวิจัยท้องถิ่นให้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา  แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

"เป็นเวลากว่า 14 ปีแล้วที่บ่อขยะได้สร้างความเดือดร้อน วันนี้พวกเราทนไม่ได้จึงเดินทางมาเรียกร้อง  ถ้าหากข้อเรียกร้องไม่ประสบผลสำเร็จพวกเราก็จะเดินทางเข้าอำเภอต่อ" นายวิรัตน์ชัยกล่าว

การเจรจาระหว่างฝ่ายชาวบ้านกับส่วนราชการในท้องถิ่น ได้แก่ อบต.วัดหลวง  กำนันตำบลวัดหลวง และเทศบาลตำบลสร้างนางขาว ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ไปจนกระทั่งถึง14.00 น. โดยมีปลัดอำเภอโพนพิสัย เป็นคนกลางในการเจรจาและรับข้อเรียกร้องจากกลุ่มชาวบ้าน พร้อมทั้งทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน การชุมนุมจึงยุติ

โดยนายอัศวิน  หินเธาว์ ปลัดอำเภอโพนพิสัย กล่าวว่า ผลจากการปรึกษาหารือสรุปได้ว่าทางอบต.วัดหลวงรับข้อเสนอจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมป่าโคกใหญ่ ทั้ง 5 ข้อไว้พิจารณา และทางอำเภอโพนพิสัยจะแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาบ่อขยะ โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุม ในวันที่ 9 พ.ค.56 ณ ห้องประชุม อบต.วัดหลวง

"เห็นใจชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมานาน  ซึ่งปัญหาในวันนี้ผมก็จะทำรายงานนำเรียนกับทางอำเภอและจังหวัดให้รับทราบ ทั้งนี้ ก็เชื่อมั่นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกัน จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยในการประชุมก็ให้แต่ละฝ่ายได้นำข้อมูลมาชี้แจง เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติ และไม่ยืดเยื้ออย่างแน่นนอน" นายอัศวินกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อปืนจากเครื่องพิมพ์สามมิตินำมาใช้ยิงได้จริง

Posted: 08 May 2013 12:58 AM PDT

กลุ่มดีเฟน ดิสทริบิวเต็ด ประกอบปืนชื่อลิเบอร์เรเตอร์จากชิ้นส่วนที่สร้างจากเครื่องพิมพ์สามมิติและนำมาทดลองยิงได้จริง ท่ามกลางการถกเถียงเรื่องการใช้อาวุธปืนในสหรัฐฯ หลังเกิดเหตุยิงเด็กนักเรียนเมื่อปลายปีที่แล้ว และนักกิจกรรมควบคุมการใช้ปืนก็กังวลว่าเทคโนโลยีอาจจะถูกนำมาใช้ในทางที่ไม่ดี

สำนักข่าว BBC รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าปืนที่สร้างมาจากเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติถูกนำมาทดลองยิงประสบความสำเร็จ โดยกลุ่มที่ชื่อว่าดีเฟน ดิสทริบิวเต็ด (Defense Distributed) ซึ่งเป็นกลุ่มในสหรัฐฯ ที่มุ่งสนับสนุนเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลด้านการประกอบปืน พวกเราเรียกตัวเองว่าเป็น ไพเรทเบย์แห่งการพิมพ์สามมิติ (Pirate Bay of 3D Printing)

กลุ่มเหล่านี้ใช้เวลาหนึ่งปีในการพยายามสร้างอาวุธและได้ถูกนำมาทดสอบเป็นผลสำเร็จที่สนามยิงปืนในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พวกเขาเปิดเผยอีกว่าจะมีการนำพิมพ์เขียวของอาวุธปืนเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต ปืนตัวดังกล่าวมีชื่อลิเบอร์เรเตอร์ (Liberator) สร้างจากพลาสติกที่พิมพ์โดยเครื่องพิมพ์สามมิติ

เครื่องพิมพ์สามมิติทำงานโดยวิธีการวางวัตถุดิบลงไปเป็นชั้นๆ เพื่อประกอบเป็นรูปร่าง วัตถุดิบมีตั้งแต่พลาสติก, เซรามิค ไปจนถึงโลหะ บริษัทผลิตชิ้นส่วนอาศัยเทคโนโลยีนี้ในการสร้างต้นแบบชิ้นส่วนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ในตอนนี้เครื่องพิมพ์สามมิติเริ่มสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ถูกลง สำนักข่าว The Independent เปิดเผยว่าปืนลิเบอร์เรเตอร์ที่ถูกผลิตซ้ำจากพิมพ์เขียวจะไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ เนื่องจากไม่มีหมายเลขสินค้าและใบเสร็จ

กลุ่มดีเฟน ดิสทริบิวเต็ด (Defense Distributed) ก่อตั้งเมื่อปี 2012 โดย โคดี วิลสัน นักศึกษากฏหมายอายุ 25 ปีจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสผู้เรียกตัวเองว่าเป็น 'นักอนาธิปไตยโลกไซเบอร์' (crypto-anarchist) โคดีกล่าวต่อ BBC ว่า "มีหลายประเทศในโลกนี้ที่ไม่อนุญาตให้คุณมีอาวุธในครอบครอง แต่เทคโนโลยีทำให้คุณมีมันได้ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับพวกนักการเมืองอีกต่อไป"

เมื่อ BBC ถามโคดีว่า เขาได้สำนึกบ้างหรือไม่ว่าปืนอาจจะตกไปอยู่ในมือของใคร โคดีตอบว่า "ผมรู้ดีว่าาเครื่องมือนี้อาจจะถูกนำไปใช้ทำร้ายคนอื่น แต่มันก็เป็นเครื่องมือที่ทำเช่นนั้นอยู่แล้วเพราะมันคือปืน ...ผมไม่คิดว่านั่นเป็นเหตุผลที่ผมจะไม่ทำมัน หรือเป็นเหตุผลที่ผมจะไม่นำมันออกมา"

ขณะเดียวกันกลุ่มนักกิจกรรมควบคุมการใช้อาวุธปืนแสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว โดยเกรงว่าการผลิตอาวุธอาจจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดี

วิเตอร์เรีย เบนส์ จากศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์ของหน่วยงานตำรวจยุโรป (Europol) กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันอาชญากรจะยังใช้วิธีการเดิมในการเสาะหาอาวุธ แต่ถ้าหากเทคโนโลยีนี้เข้าถึงผู้ใช้ง่ายขึ้นและราคาถูกลง ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง

กลุ่มดีเฟน ดิสทริบิวเต็ด ของโคดี ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานควบคุมแอลกอฮอลล์ ยาสูบ และอาวุธปืนของสหรัฐฯ (the Bureau of Alcohol, Tobacco, Firearms and Explosives หรือ ATF) ให้ผลิตและขายอาวุธดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ดอนนา เซลเลอร์ จากองค์กร ATF ก็บอกว่า 'ปืน' ที่ถูกพิมพ์ออกมาแบบสามมิติเป็นสิ่งถูกกฏหมาย ตราบใดที่ไม่อยู่ในข่ายต้องห้ามตามกฏหมายอาวุธปืนของสหรัฐฯ (National Firearms Act) เช่นปืนอัตโนมัติ

"ในสหรัฐฯ บุคคลสามารถประกอบอาวุธปืนไว้ใช้เองได้ อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจผลิตและซื้อขายอาวุธปืนต้องมีใบอนุญาต" ดอนนา เซลเลอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศสหรัฐฯ อยู่ในช่วงที่มีการถกเถียงกันเรื่องกฏหมายควบคุมอาวุธปืน หลังจากเกิดเหตุคนร้ายบุกยิงคนในโรงเรียนประถมแซนดี้ฮุก ในรัฐคอนเน็กทิคัต พิมพ์เขียวของอาวุธปืนก็ถูกถอดออกจากระบบค้นหาของเว็บไซต์ บัญชีรายชื่อของกลุ่มผู้ผลิตในเว็บไซต์เรี่ยไรทุนถูกกักกันไว้ และสตราตาซิสผู้ผลิตเครื่องพิมพ์สามมิติก็ปฏิเสธไม่อนุญาตให้กลุ่มนำเครื่องเขาไปใช้

สมาชิกกลุ่มชาวนิวยอร์กต่อต้านความรุนแรงจากอาวุธปืนกล่าวเตือนว่า "อาวุธปืนนี้อาจจะตกไปอยู่ในมือของคนที่ไม่เหมาะสม เช่นอาชญากร, คนป่วยทางจิตอย่างหนัก, คนที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือแม้แต่เด็ก"

เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติเคยถูกกลุ่มองค์กรอาชญากรรมบางองค์กรนำไปใช้สร้างตัวอ่านบัตรที่เรียกว่า 'สคิมเมอร์' และใช้สอดลงไปในเครื่องธนาคาร

องค์กรบังคับใช้กฏหมายหลายแห่งทั่วโลกเริ่มมีผู้คนคอยจับตาอาชญากรรมทางไซเบอร์และเฝ้าระวังเทคโนโลยีอย่างเครื่องพิมพ์สามมิติ

สตีฟ อิสราเอล ส.ส. พรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ต้องการให้ระบุเรื่องการสั่งห้ามวัตถุดิบของปืนจากเครื่องพิมพ์สามมิติลงไปในกฏหมายอาวุธปืนที่ไม่สามารถตรวจสอบพบ (Undetectable Firearms Act) ซึ่งเป็นกฏหมายที่พูดถึงการสั่งห้ามการครอบอาวุธใดๆ ก็ตามที่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่องตรวจจับโลหะหรือเครื่องเอ็กซเรย์


เรียบเรียงจาก

Working gun made with 3D printer, BBC, 06-05-2013


Working gun can be made by anyone using a 3D printer, The Independent, 06-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มือดีแฮก 'เว็บสำนักนายกฯ' ด่า 'ยิ่งลักษณ์'

Posted: 07 May 2013 11:34 PM PDT

วันนี้ (8 พ.ค.56) เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีมือดีแฮกเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี http://www.opm.go.th/ เข้าไปเขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รวมถึงเปลี่ยนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า การดำเนินการตามขั้นตอนกรณีเกิดเรื่องแบบนี้ ศูนย์เทคโนโลยีของสำนักนายกฯ ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ และเก็บข้อมูลการเข้าใช้งาน จากนั้นตำรวจจะทำการตรวจสอบ และส่งข้อมูลทั้งหมดมาที่กระทรวงไอซีที ซึ่งขณะนี้ไอซีทียังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นฝีมือใคร ต้องรอตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้งก่อน

ขณะเดียวกัน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที กล่าวว่า ได้รับรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยการดำเนินการดังกล่าวถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย โดยไอซีทีจะทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไป

ทั้งนี้ ล่าสุด (13.30น.) พบว่าเว็บไซต์สำนักนายกฯ ยังไม่สามารถใช้งานได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น