โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

TCIJ: ชาวบ้าน ร่วม นศ.-อบต.ปลูกป่าในพื้นที่ผลกระทบโรงโม่หิน หวังฟื้นฟูเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน

Posted: 27 Sep 2011 01:20 PM PDT

หวังใช้พื้นที่ตั้ง "ศูนย์สุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน" ประธานศูนย์สุขภาพฯ แจงเดิมเป็นสำนักสงฆ์แต่โดนผลกระทบโรงโม่ ทำร้างพระจำพรรษา เผยเจ้าหน้าที่รัฐอ้างเขตป่าขวางไม่ให้ใช้พื้นที่ ทั้งที่มีโรงโม่หินอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

 
วันที่ 25 ก.ย.54 ชาวบ้านน้ำอุ่น (คุ้มตาดปูน) หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ พร้อมตัวแทนจากชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ บ้านโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย บ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ และนักศึกษาศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเครือข่ายมหาลัยชีวิต (ศรช.) คอนสาร จำนวนกว่า 120 คน นำโดย นายเหลือ เอกตะคุ ผู้อำนวยการ ศรช.คอนสาร และ อ.สมจิตร มุ่งอ้อมกลาง พร้อมด้วยนายสถิต บุดดาสาร นายก อบต.ทุ่งนาเลา นายสุวัช ภูมิคอนสาร รองนายกอบต.ทุ่งนาเลา เข้าร่วมโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ บริเวณศูนย์สุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ต.ทุ่งนาเลา ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวมความรู้ของคนในชุมนุม และพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ
 
 
แจงที่มาพื้นที่ สำนักสงฆ์เดิม แต่โดนผลกระทบโรงโม่ ทำร้างพระจำพรรษา
 
นายหนูเมฆ ปลื้มวงศ์ ประธานศูนย์สุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวถึงที่มาของพื้นที่ตั้งศูนย์ฯ ว่า เดิมเป็นที่ดินของ ตาใส เรืองเจริญ บริจาคให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์นาบุญ บนเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบันถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งชาวบ้านต่างกล่าวถึงสาเหตุกันว่าพระที่จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ ไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางศาสนาได้ เนื่องจากอยู่ใกล้กับบริเวณโรงโม่หินศักดิ์ชัย (1992) ทำให้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดหินทั้งวันทั้งคืน จึงจำเป็นต้องทิ้งสำนักสงฆ์ไป
 
นายหนูเมฆ กล่าวต่อมาว่า พื้นที่นี้ถูกปล่อยรกร้างมากว่า 7 ปีแล้ว ชาวบ้านจึงได้มีการประชุมและลงมติร่วมกันว่า จะทำการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนม์อายุ 84 พรรษาและเพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ ให้คงสภาพความสมบูรณ์ ทั้งในด้านระบบนิเวศ และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนต่อไป
 
เผยเจ้าหน้าที่รัฐอ้างเขตป่า ขวางไม่ให้ใช้พื้นที่
 
“ครั้งนี้ชาวบ้านต้องการฟื้นฟู ร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์และความสมบูรณ์ในระบบนิเวศ จึงได้ร่วมใจกันจัดตั้งศูนย์สุขภาพฯ ของชุมชนขึ้นมา แต่กลับมาถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่” นายหนูเมฆกล่าว
 
ประธานศูนย์สุขภาพฯ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.54 ในช่วงที่ชาวบ้านน้ำอุ่น ม.9 กำลังทำการบุกเบิก ปรับพื้นที่บริเวณสำนักสงฆ์ฯ เพื่อตั้งเป็นศูนย์สุขภาพฯ นั้น ได้มีหน่วยงานของรัฐ คือ ปลัดอำเภอฝ่ายปกครอง นายวีระพงษ์ สอนสะอาด สารวัตรกำนัน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชย.4 พยายามเข้ามาขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านทำการใดๆ โดยอ้างว่าพื้นที่ตรงนี้อยู่ในเขตอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม
 
ช่วงเจรจาชาวบ้านต่างทำความเข้าใจว่า ต้องการใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อชุมชน รวมทั้งตั้งคำถามถึงโรงโม่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนฯ เดียวกัน เหตุใดเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงไม่จัดการ ทั้งที่ข้อเท็จจริงพบว่าการขออนุญาตไม่มีความโปร่งใส เพราะจากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับเงื่อนไขขอประทานบัตรพบว่าไม่มีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และได้มีการลักลอบดำเนินการระเบิดและย่อยหินในช่วงที่หมดอายุประทานบัตร
 
“ที่สุดแล้วชาวบ้านจึงได้ร่วมกันจัดหารายชื่อสมาชิกของศูนย์สุขภาพฯ ตามขั้นตอนที่กำนันในพื้นที่แจ้งมา ซึ่งเราก็ได้ทั้งประธานฯ และรองประธานฯ รวมทั้งสมาชิกมากว่า 54 ราย แต่ครั้งนี้เมื่อนำไปยื่นให้กำนัน กลับเพิกเฉย แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย ชาวบ้านจึงพิจารณาหลังจากรอมาหลายวันแล้ว จึงได้เข้ามาร่วมกันปลูกต้นไม้กันในครั้งนี้” นายหนูเมฆ กล่าว
 
 
ผอ.ศรช.นำนักศึกษาเข้าร่วมปลูกป่า ชี้เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ
 
ด้านนายเหลือ เอกตะคุ ผู้อำนวยการ ศรช.คอนสาร กล่าวถึงการนำนักศึกษาเข้าร่วมปลูกป่าว่า ถือเป็นหลักสูตรหนึ่งในสาขาวิชาการจัดการสุขภาพชุมชน การพัฒนาท้องถิ่น และการจัดการเกษตรแบบยั่งยืน เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ เพราะชีวิตจริงมีหลายด้าน หลายมุม หลากมิติ จึงเน้นการเรียนให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนสาขาด้านการจัดการเกษตรแบบยั่งยืนนั้นมุ่งเน้นสร้างบัณฑิตให้เป็นเกษตรแนวใหม่ เป็นบัณฑิตชาวนา ปัญญาชนชาวบ้าน ปัจจัยสำคัญคือ เน้นการศึกษาให้เรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตในท้องถิ่นให้สามารถพึ่งตนเองให้อยู่รอด มั่นคง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้
 
“การนำศึกษาออกมาร่วมปลูกป่าครั้งนี้ นอกจากความเห็นดีด้วยกับชาวบ้านในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนม์อายุ 84 พรรษาและก็เป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์ ให้คงสภาพความสมบูรณ์แล้วนั้น ยังเป็นปณิธานของหลักสูตรที่ต้องการให้นักศึกษาช่วยกันปลูกป่าให้ได้ คนละ 99 ต้น ตลอดภาคการศึกษา ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไม่ผ่านหลักสูตรการศึกษา และทั้งนี้ ผลงานที่ได้มาปลูกต้นไม้นี้ เราจะมีการติดตามผลิตผล ร่วมทั้งยินดีให้ความร่วมมือกับศูนย์สุขภาพชุมชนฯ ของชาวบ้าน อย่างต่อเนื่อง” ผู้อำนวยการ ศรช.คอนสาร กล่าว
 
 
จากนั้นช่วงบ่าย ชาวบ้านน้ำอุ่นได้นำนักศึกษา ศรช.เข้าสำรวจพื้นที่ภูถ้ำแกลบ ซึ่งกรมศิลปากร ประกาศเป็นแหล่งวัตถุโบราณ ภายหลังพบว่าถูกแรงระเบิด ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของโรงโม่หินศักดิ์ชัย (1992) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
 
ชาวบ้านชี้โรงโม่หินเอกชน ทำแหล่งโบราณคดี-หินงอกหินย้อยในถ้ำเสียหาย
 
นายพิเชต พันธุ์พงษ์ ชาวบ้านน้ำอุ่น ม.9 และเป็นเลขานุการศูนย์สุขภาพฯ กล่าวว่า เขาเป็นชาวบ้านอีกครอบครัวหนึ่งที่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินการของโรงโม่หินดังกล่าว ทั้งในด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการทำการเกษตรในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะช่วงที่มีการระเบิดและย่อยหินนั้นได้ก่อมลภาวะต่างๆ อาทิ เสียงดัง ฝุ่นควันแพร่กระจายเป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นการทำลายทัศนียภาพของพื้นที่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถือได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีค่าของชุมชน เช่น เป็นพื้นที่ป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธาร และมีถ้ำที่กรมศิลปากร ประกาศให้เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
 
เลขาศูนย์สุขภาพฯ กล่าวต่อมาว่า การนำนักศึกษามหาลัยชีวิตขึ้นไปดูในถ้ำดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจต่อบุคคลภายนอกให้ได้รับข้อมูลว่า นับจากโรงโม่หินศักดิ์ชัย (1992) เปิดกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 นอกจากได้ก่อปัญหาต่างๆ ทั้งก้อนหินขนาดใหญ่จากแรงระเบิด ได้หล่นลงมาทับพื้นที่นา-ไร่ และตกใส่บ้านเรือนของประชาชน ผลจากแรงสั่นสะเทือนของการระเบิดทำให้หินงอกหินย้อยภายในถ้ำภูถ้ำแกลบทรุดตัวลง และถูกวัตถุโบราณที่มีความเก่าแก่อยู่ในถ้ำเกิดการเสียหาย แตกหัก และปากถ้ำถูกก้อนหินปิดทับ รวมทั้งบางถ้ำถูกทำลายเพื่อนำหินส่งป้อนโรงโม่ โดยก่อนหน้านี้ ได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จากคณะนิติศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ เข้ามาทำการศึกษา เมื่อวันที่ 13 ส.ค.54 ด้วย
 
“เพื่อเป็นการแก้ปัญหาชาวบ้านจึงลงความเห็นร่วมกันว่าโรงโม่หินดังกล่าวต้องยุติการดำเนินการ แม้ปัจจุบันทางโรงโม่จะยุติการดำเนินการไปแล้ว แต่โรงโม่ยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่และไม่รู้ว่าจะได้รับประทานบัตรต่อเมื่อไร ไม่นานมานี้ทางชาวบ้านได้มีหนังสือถึงนายอำเภอคอนสาร ให้ทำการรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างของโรงโม่ออกจากพื้นที่ที่กรมศิลปากรประกาศให้เป็นเขตโบรานวัตถุแล้วนั้น ปัจจุบัน นายอำเภอยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น จึงใคร่ฝากให้ผู้มีอำนาจ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องยกเลิกการประกาศเป็นพื้นที่แหล่งแร่ เพื่อป้องกันการกลับเข้ามาของกิจการต่าง ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมทั้งวิถีชีวิต ของชุมชนไม่ให้เกิดความเสียหายอีก” เลขาศูนย์สุขภาพฯ กล่าวทิ้งท้าย
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พบว่า อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ มีการประกาศแหล่งแร่หิน (ชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) คือ แหล่งหินบ้านวังน้ำอุ่น มีปริมาณหินสำรองจำนวน 5.59 ล้านเมตริกตัน มีการให้เอกชนขออนุญาตประทานบัตรเพื่อดำเนินการประกอบการโรงโม่หินจำนวนทั้งสิ้น 1 โรง ได้แก่ โรงโม่หินศักดิ์ชัย 1992 ซึ่งขอประทานบัตรโดย นายธวัชชัย ตันคงจำรัสสกุล ตั้งแต่ปี 2536 หมดอายุประทานบัตรในปี พ.ศ. 2545 และได้ยื่นขอต่ออายุประทานบัตรเลขที่ 29716/15570 ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2545 จนถึงวันที่ 1 ต.ค. 2549 จำนวนเนื้อที่ทั้งหมด 88 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านน้ำอุ่น หมู่ที่ 9 (บริเวณคุ้มตาดปูน–ตาดสูง) ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
 
สภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิด คือ 1.แหล่งทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ประกอบการของโรงโม่หินนั้น โดยสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ และถือได้ว่าเป็นแหล่งหาของป่าที่สำคัญของชาวบ้าน อาทิ หน่อไม้ ผักป่าต่างๆ 2.การอนุญาตประทานบัตรโรงโม่หินในพื้นที่ถือเป็นการทำลายแหล่งอาหารของชาวบ้านและพันธุ์ไม้หายาก รวมทั้งแหล่งน้ำใต้ดิน เพราะจากลักษณะทางธรณีวิทยาของ อ.คอนสาร ซึ่งเป็นเทือกเขาหินปูนจึงก่อให้เกิดธารน้ำใต้ดิน เกิดเป็นแหล่งน้ำผุดธรรมชาติขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ น้ำผุดนาเลา น้ำผุดพุหินลาดน้ำผุดนาวงเดือน น้ำผุดซำภูทอง เป็นต้น และจากการระเบิดหินได้ทำให้พื้นดินทรุดตัวปิดเส้นทางของน้ำใต้ดินทำให้การไหลของน้ำผุดต่างๆ มีปริมาณการไหลของกระแสน้ำลดน้อยลงต่อการทำการเกษตรและการอุปโภคของชาวบ้าน
 
3.ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ที่ตั้งของโรงโม่หินและบริเวณระเบิดหินนั้นอยู่ห่างจากชุมชน (คุ้มตาดปูน-ตาดสูง) ไม่ถึง 20 เมตร ในขณะที่มีการระเบิดหินนั้นมีหินกระเด็นตกใส่หลังคาเรือนของชาวบ้านเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ 4.เกิดมลภาวะต่างๆ เช่น ฝุ่น ควัน เสียงดังจากการระเบิดหินล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียง 5.เป็นการทำลายทัศนียภาพที่สวยงามรวมถึงแหล่งโบราณวัตถุซึ่งยังไม่มีการตรวจสอบ
 
อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ชาวบ้านใน ต.ทุ่งนาเลา ที่ได้รับผลกระทบ ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านการประกอบการของโรงโม่หินศักดิ์ชัย (1992) โดยมีข้อเรียกร้องให้ยุติโรงโม่หินโดยเด็ดขาด และให้รัฐยกเลิกการประกาศเป็นพื้นที่แหล่งแร่รวมทั้งได้วางแนวทางมาตรการเพื่อป้องกันและรักษาพื้นที่ด้วยการจัดตั้งเป็นป่าชุมชนในบริเวณภูถ้ำแกลบโดยให้ชุมชนทั้ง 11 หมู่บ้าน ร่วมเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อโต้แย้งจากนักศึกษากฎหมาย ถึงนักวิชาการรุ่นใหญ่ กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์

Posted: 27 Sep 2011 09:00 AM PDT

 

ชื่อบทความเดิม:
บทวิพากษ์ ข้อโต้แย้งของนายกิตติศักดิ์ ปรกติ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ : กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์ (สังเขป)

 

จากบทความที่กิตติศักดิ์ เขียนบทความเผยทางเฟซบุค [ http://www.facebook.com/note.php?note_id=10150388167910979 ] เมื่ออ่านบทความดังกล่าว ผมพบว่า ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ กิตติศักดิ์ สับสนระหว่าง 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' (pouvoir constituant) กับ 'อำนาจนิติบัญญัติ' (pouvoir législatif) โดยนำมาปะปนกัน ทั้งๆ ที่เป็นคนละเรื่องโดยสภาพของอำนาจ ตาม 'ทฤษฎีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' ซึ่งพูดถึงกันน้อยมากในวงวิชาการไทย

'อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ' (pouvoir constituant dérivé) ไม่ใช่ 'อำนาจนิติบัญญัติ' เนื่องจาก 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' เป็นอำนาจที่สถาปนาอำนาจขององค์กรอื่นๆภายในรัฐอีกทีถ่ายหนึ่ง (ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) หมายความต่อไปว่า

องค์กรผู้ใช้ 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้ไขเพิ่มเติม' ไม่ตกอยู่ในอาณัติหน้าที่ 'ในฐานะองค์กรเดิม' หรือ 'จากองค์กรอื่นของรัฐ' อีกต่อไป เพราะ ธรรมชาติของการ 'ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' เกิดจากความว่างเปล่า ซึ่งผู้ทรงอำนาจชี้ขาดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็มิใช่ ศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังนี้

๑. การแก้ไขเพิ่มเติมย่อมเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอยู่แล้วโดยสภาพของภารกิจ

๒. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ถูกสถาปนาอำนาจขึ้นโดยฐานของรัฐธรรมนูญดั้งเดิม หากศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็น 'องค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ' (autorité supra constitutionnelle), ศาลรัฐธรรมนูญจึงทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น

๓. ในทางหลักการคงเข้าใจตรงกันนะครับว่า ศาลรัฐธรรมนูญมิได้เป็นองค์กรผู้ผูกขาดอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ (มีเขตอำนาจเฉพาะ) คือ ตรวจสอบได้เฉพาะร่างพระราชบัญญัติ และไม่ใช่อำนาจศาลยุติธรรมด้วย เพราะศาลยุติธรรม อาศัยอำนาจสถาปนาขึ้นโดยอำนาจพระราชบัญญัติ ซึ่งมีสถานะต่ำกว่า 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' ดังนั้น องค์กรชี้ขาดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็คือ "องค์กรที่ได้รับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้ไขเพิ่มเติม" นั่นเอง (เป็นการกระทำทางการเมือง ในสภาวะว่างเปล่า หรือผูกพันกับอำนาจอื่นใด)

ในท้ายที่สุด กล่าวได้ว่า 'การใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้ไขเพิ่มเติม' (เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้ไขบางมาตรา) ก็คือ อำนาจที่ได้รับผ่านมาจาก "รัฐธรรมนูญดั้งเดิม" นั่นเอง หมายความว่า เป็นภารกิจที่ได้รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อการสถาปนารัฐธรรมนูญในทางแก้ไข มิใช่ ภารกิจตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจในลักษณะทั่วไป มิใช่การใช้อำนาจบริหาร หรือนิติบัญญัติ แทรกแซงอำนาจตุลาการแต่อย่างใด

และการพิจารณาว่า การกระทำนั้นใช้อำนาจนิติบัญญัติ หรือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ มิได้พิจารณาจาก "องค์กรที่ได้รับมอบหมายภารกิจ" (เช่น รัฐสภา หากปฏิบัติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็มิได้เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติสำหรับการนั้น) หรือ "บุคคลากรผู้ทรงภารกิจ"(นักการเมือง) แต่พิจารณาจากการกระทำทางเนื้อหา ว่าเป็นการใช้อำนาจตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญในทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เป็นหลักเกณฑ์พิจารณา

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องศาลที่ประกอบด้วย ผู้พิพากษาอาชีพ หรือไม่ หาได้เกี่ยวข้องกับ legitimacy ของคำพิพากษา แต่อย่างใด เพราะขึ้นอยู่กับ "มาตร" ว่าคุณยืนอยู่บนฐานของหลักคิดนิติรัฐแบบเสรีประชาธิปไตย หรือ นิติรัฐแบบนาซี ส่วน legality ต้องพิจารณาสภาพของคดีด้วย เช่น คดีการเมือง : คดีอาญาประธานาธิบดี (คดีอาญาประธานาธิบดี ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี ๒๐๐๗ เพราะฝรั่งเศสมองว่า ประธานาธิบดี มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยสูงมาก เนื่องจากผ่านเจตจำนงของปวงชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย) และคดีอาญารัฐมนตรี ที่อยู่ในเขตอำนาจของ High Court of Justice ซึ่งประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลนี้ (เทียบคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ของไทยที่เลียนโครงสร้างฝรั่งเศสมา) ประกอบด้วย สส.๖คน สว.๖ คน ผู้พิพากษาอาชีพ ๓ คน (ผู้พิพากษาอาชีพทำหน้าที่เขียนคำพิพากษา และสามารถโหวตมติทีละประเด็นได้เหมือน อีก ๑๒ คน) เพราะสภาพคดีมันเป็นคดีการเมือง เขาจึงให้ผู้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีอำนาจขับออก เป็นต้น จะกล่าวอย่างหยาบๆเหมาว่า คดีทุกประเภท ผู้พิพากษาอาชีพ มีความชอบธรรม ที่สุด และเถรตรงที่สุด เช่นกิตติศักดิ์ ไม่ได้หรอกครับ แต่สุดท้ายอำนาจตุลาการ ก็อยู่ต่ำกว่า 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' อยู่ดี

หรือถ้าพิจารณากรณีของไทย ตามตัวอย่างของกิตติศักดิ์ ยิ่งชัดแจ้งเมื่อพิจารณาเนื้อหา ว่า พรป. บัญญัติให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง (อม.) ต้องยึดสำนวน ปปช. เป็นหลัก ซึ่งตอนรัฐประหาร ๑๙ กันยา : บรรดา คตส ทำหน้าที่แทน ปปช, ซึ่ง คตส ถูกแต่งตั้งจากผู้ที่จงรักภักดีต่ออุดมการณ์ลักษณะเดียวกับคณะรัฐประหาร

หากถือตรรกะเดียวกับกิตติศักดิ์ ที่ยกตัวอย่าง ฮิตเลอร์ อ้างความสงบเรียบร้อย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ๑๒ ปี(โดยประมาณ) แต่งตั้งพรรคพวกเข้าเป็นศาล กิตติศักดิ์ มองว่า ย่อมเป็นการเสียกระบวนยุติธรรม กลับมาที่ไทย หากพิจารณาตัวบท การยึดสำนวน ปปช เป็นหลัก (พอดีผมศึกษาเรื่องนี้ อยู่ จึงอ่านงานวิจัยทางนี้หลายสิบเล่มของ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ พอสมควร ทรรศนะของศาลค่อนข้างชัดว่า) "คตส หรือ ปปช" ทำหน้าที่ ศาลไต่สวน , "ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง" ทำหน้าที่ ศาลพิพากษา [ตามโครงสร้างของอเมริกา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ของผู้ร่างฯ] แล้วการที่ คตส ไปทำหน้าที่ตามความเข้าใจว่ามีสถานะอย่าง "ศาลไต่สวน" เท่ากับ คตส ไปเป็นหน่วยหนึ่งของกระบวนการชั้นศาล ใช่หรือไม่ แล้วจะย้อนกลับไปยังตรรกะฮิตเลอร์ของกิตติศักดิ์ ว่าใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือไม่ ซึ่งจะหมายรวมต่อไปว่า คมช รัฐประหาร เป็นการใช้อำนาจเผด็จการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในกระบวนการชั้นศาล ใช่หรือไม่? (หรือ คมช มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ในมุมมองกิตติศักดิ์ ครับ?)

ขอสรุปโดยกระชับเพียงเท่านี้ครับ ใช้เวลาเยอะแล้ว.

______________________

 

สำหรับ กรณี สมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่ตั้งคำถามไว้ [ http://www.prachatai.com/journal/2011/09/37098 ] ผมตอบดังนี้(ผมคงตอบกระชับ ๆ เนื่องจากพิมพ์ตอบกิตติศักดิ์ ไว้เพิ่งเสร็จ)

๑. สมคิด ถามว่า "เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่น การยกเลิก รธน. ๒๕๔๙"

คำตอบ คือ ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญ ๔๙ ถูกรับรองการก่อผล (ของรัฐธรรมนูญปี ๔๙) ให้ดำรงอยู่โดยชอบด้วยมาตรา ๓๐๙ ตามรัฐธรรมนูญ ๕๐ หมายความว่า รัฐธรรมนูญ ๕๐ ได้ผนวกเอา "สภาวะทางกฎหมาย" ของรัฐธรรมนูญ ๔๙ เข้าไว้เป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ๕๐ นั่นเอง ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ ๗๘๔๑/๒๕๕๓ (คดีที่คุณฉลาด ฟ้อง คมช) เพิ่งพิพากษาเมื่อปี ๕๓ (ซึ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ๕๐ แล้ว) ก็ได้อ้าง ผลบังคับของรัฐธรรมนูญ ๔๙ ในฐานะแหล่งอ้างอิงความชอบด้วยกฎหมาย ในปัจจุบัน

๒. "ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่"

ตอบ ดูตอนท้าย ในส่วนที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ ปรกติ

๓. "ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. ๒๕๔๐ ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่"

ตอบ ได้ถ้าคุณใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ

๔. "ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่"

ตอบ ย้อนไปดูคำตอบในข้อ ๑.

๕. "รธน.๒๕๕๐ ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. ๒๕๕๐ ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?"

ตอบ สมคิด ได้อ่านข้อเสนอนิติราษฎร์ไม่ เพราะหากอ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ไม่เคยปฏิเสธการดำรงอยู่ของ รธน ๔๙ และ ๕๐ และไม่ปฏิเสธความชอบธรรมในระดับหนึ่งของประชามตินั้นด้วย แม้จะไม่เป็นประชามติโดยแท้(เลือกในสิ่งที่ไม่มีตัวเลือกที่ชัดเจน) , และนิติราษฎร์เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ไปลงประชามติ อีกครั้ง เช่นนี้ สมคิด จะตื่นเต้นอะไรครับ? เนื่องจาก นิติราษฎร์ มุ่งกำจัดสิ่งปฏิกูลของคณะรัฐประหาร และนำตัวพวกเขาเหล่านั้นมาลงโทษก่อกบฎ ทั้งตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน

๖. "คตส. ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่"

ตอบ ไม่ใช่ แต่ คตส ซึ่งแต่งตั้งโดยประกาศ คปค เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนพิจารณาของศาล และนิติราษฎร์กล่าวชัดว่า ศาลฎีกาฯ ตัวองค์กรตั้งมาก่อนแล้ว แต่กระบวนการทางคดี มิชอบ (โปรดดูตอนท้าย ที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ เพิ่มเติม)

๗. "การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกฯทักษิณเลยใช่หรือไม่"

ตอบ การกระทำความผิดหรือไม่ผิด ของทักษิณ ยังคงดำรงอยู่ตามกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะที่กระทำ และอายุความก็ยังคงนับไปเรื่อยๆ เสมือนไม่มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น หมายความว่า ปปช ซึ่งต้องถูกรีเซ็ตองค์กรมใหม่ จะฟ้องทักษิณ ก็ยังคงทำได้จนกว่าจะหมดอายุความ ทั้งนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะ การลบล้าง คือ ไม่เคยมีการฟ้อง มาก่อน

๘. "มาตรา ๑๑๒ ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. ๒๕๕๐ ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่"

ตอบ ขัดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ทุกฉบับครับ สมคิด ควรตอบให้ตรงๆ เลยว่า ความพอสมควรแก่เหตุระหว่างความผิดทางวาจา (มาตรา ๑๑๒) กับ โทษ เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งเป็นรากหรือแก่น ของรัฐธรรมนูญในนิติรัฐประชาธิปไตยหรือไม่ นี่คือมาตรชี้ ที่นิติราษฎร์เสนอว่า ขัดรัฐธรรมนูญครับ (ไม่ว่าจะมี รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙หรือไม่ก็ตาม)

๙. "ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่"

ตอบ คุ้มครองครับว่า จะจับกุมคุมขังมิได้ เป็นเอกสิทธิ์ประมุขแห่งรัฐ เช่น ประมุขรัฐหนึ่ง เอาปืนยิงคน เช่นนี้จับกุมไม่ได้ ต้องถอดจากตำแหน่งเสียก่อน (เช่นการประหาร พระเจ้าหลุยส์ ตอนปฏิวัติฝรั่งเศส) แต่ freedom of expression เป็นคนละเรื่องกับ immunity of head of state ใน sense แบบนิติรัฐเสรีประชาธิปไตย นะครับ

๑๐. "ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่"

ตอบ ผมไม่ใช่หมอดู หมอเดา หรือสุนัขรับใช้รัฐประหาร ที่จะตอบคำถามแบบนี้นะครับ

๑๑. "ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ"

ตอบ นิติราษฎร์ เสนอว่า ให้ยกเลิกบรรดา "รัฐประหารที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ" ถ้ากรณีใดเข้าข่าย ต้องเอาผิดทั้งสิ้น, แต่บางกรณีบังคับการไม่ได้โดยสภาพ ผลคือ คดีอาญาระงับ ไงครับผม, สำหรับกฎหมาย เราให้ล้างหมด แล้ว valid ทีหลัง (ในทางสัญลักษณ์)

๑๒. "ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่"

ตอบ ไปถามรัฐบาลนะครับ อย่าคิดเอาเองแบบพวกนักรัฐประหาร นะครับ

๑๓. "ศาลรธน. ช่วยนายกฯทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่"

ตอบ ผมไม่สนว่าใครช่วยใคร แต่ทุกคนจะถูกดำเนินคดีต่อเมื่ออยู่ในระบบกฎหมายที่ปกติ ไม่ถูกก่อตั้งสถานะและอำนาจโดยการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งสถานะและอำนาจดังกล่าว เป็นบ่อเกิดของตุลาการภิวัตน์) ถามว่า กรณีซุกหุ้น ศาลพิพากษาโดยผ่านกระบวนการ รัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือไม่? ตอบคือ ไม่ ศาลพิพากษาในระบบกฎหมายปกติ และไม่ล้มสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การล้มผลการเลือกตั้ง โดยขัดหลักความพอสมควรแก่เหตุ เป็นต้น

๑๔. "บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. ๒๕๕๐ แย่กว่า รธน. ๒๕๔๐, ๒๔๗๕ ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่"

ตอบ สมคิด ครับ รัฐธรรมนูญ เกิดทีหลัง ประชาชน ซึ่งมีสิทธิเสรีภาพมาก่อนแล้ว ; ฉะนั้น แม้จะไม่มีหมวดสิทธิเสรีภาพ ถามว่า ประชาชน จะไม่มีสิทธิเสรีภาพหรือ? คำตอบคือ ไม่ เขายังมีบริบูรณ์ทุกประการ ; สังเกต จากรัฐธรรมนูญ ที่เขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ของอเมริกา นะ เขียนเชิง negative ตลอดเลย คุณไม่ต้องไปเขียน เพราะยิ่งเขียน มันยิ่งแสดงอำนาจรัฐในการควบคุมสิทธิเสรีภาพเข้าไปเรื่อยๆ ล่ะครับ

๑๕. "คมช. เลว ส.ส.ร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.๒๕๕๐ ที่มาจาก ส.ส.ร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่"

ตอบ รัฐบาล ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ นะครับ รัฐบาลคลอดมาจาก เจตจำนงของประชาชน , รัฐธรรมนูญ เป็นเพียงฐานรับรองที่มาของรัฐบาล(ว่าให้มาจากการเลือกตั้ง แบ่งเขตอย่างไร) เป็นเพียง "วิธีการ" ซึ่งจะเลวหรือไม่ ต้องถามประชาชน หรือถ้าตอบว่า เลว แล้วถามต่อไปว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เลวหรือไม่ ในเมื่อคลอดรัฐธรรมนูญ(อย่างน้อยในการยกร่างฯ) มาจาก ผู้ร่างฯ ตรรกะเดียวกัน

๑๖. "ส.ส.ร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็น ส.ส.ร.ที่ดีใช่หรือไม่”

ตอบ ผมยังไม่เคยได้ยินว่า วรเจตน์ บอกว่า เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ทราบเพียงว่า ถ้าเข้าแล้วทำได้ตามประกาศนิติราษฎร์ ก็จะไป ซึ่งจะเป็นสสร ที่ดีหรือไม่ ผมตอบคุณสมคิด ไม่ได้หรอก แต่ถ้าถามว่า สสร ชุดที่มาจาก กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสถาบันการเมืองซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ มีความชอบธรรม (legitimacy) หรือไม่ ตอบว่า สสร.ซึ่งมีที่มาดังกล่าว ย่อมมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ครับ

 

ในท้ายนี้ ขอกล่าวสั้นๆว่า ผมไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใด รัฐธรรมนูญฉบับ ๕๐ จึงร่างได้ห่วยแตก มักง่าย ตั้งแต่สารบัญหรือการจัดหมวดของรัฐธรรมนูญ (ขออภัยที่ใช้คำสามัญ) เมื่อได้เห็นวิธีตั้งคำถาม และมองประเด็นของคุณสมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะ ผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ตลอดจน การที่ คุณสมคิด ตั้งคำถามลักษณะนี้ ซึ่งไม่จำต้องใช้สติปัญญาทางวิชาชีพแต่ประการใด จะมักง่ายไปล่ะมังครับ? ท่านไม่ต้องวิตกครับว่า หากอธิบายเป็นเนื้อความแล้ว จะมีคนมองว่า ท่าน "กลวง" แล้วหมดความเลื่อมใสทางวิชาการ เพราะอย่างน้อย ท่านจะยังมีความกล้าหาญทางวิชาการอยู่บ้าง.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อดข้าว 112 ชั่วโมงวันที่สอง กลุ่มศิลปินออกตระเวนพร้อมทำงานศิลป์ค้าน ม.112

Posted: 27 Sep 2011 08:46 AM PDT

วันที่ 27 กันยายน 2554 บริเวณลานลั่นทม หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ของนายมิตร ใจอินทร์และกลุ่มศิลปินอิสระ ยังดำเนินไปเป็นวันที่สอง

นายมิตรเล่าว่า วันนี้ในตอนเช้าตนรู้สึกปวดหัวและมีไข้เล็กน้อย เนื่องจากเมื่อคืนฝนตกหนัก และบริเวณที่ดำเนินกิจกรรมมีหลังคารั่ว ทำให้เจออุปสรรคในการหลบน้ำฝน แต่เมื่อทานยาและน้ำเกลือแร่ รวมทั้งได้นอนพักในช่วงบ่ายก็ทำให้รู้สึกดีขึ้น นอกจากนั้นนายมิตรยังเล่าถึงอุปสรรคในระหว่างวันจากเสียงของเครื่องบินที่ขึ้นลงเป็นระยะ เนื่องจากบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมอยู่ใกล้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ทำให้รบกวนการนอนหลับพักผ่อนเป็นช่วงๆ แต่นายมิตรยังคงยืนยันที่จะอดอาหารจนครบ 112 ชั่วโมงต่อไปเพื่อให้สังคมหันมาสนใจถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้มากขึ้น

อีกทั้ง ในช่วงระหว่างปฏิบัติการในวันนี้ ยังมีประชาชนที่ได้ทราบข่าวการอดอาหาร 112 ชั่วโมงของกลุ่มศิลปินอิสระ แวะเวียนกันมาให้กำลังใจนายมิตรเป็นระยะ พร้อมทั้งนำน้ำดื่ม ดอกกุหลาบ และหนังสือเกี่ยวกับการเมือง มาให้นายมิตรและกลุ่มศิลปินด้วย

นายมิตร ใจอินทร์นอนอ่านหนังสือที่มีผู้นำมามอบให้

นายนิสิฏฐ์กุล ควรแถลง ศิลปินอิสระจากกรุงเทพฯ อายุ 25 ปี ซึ่งร่วมอดอาหารกับนายมิตรเป็นเวลาหนึ่งวัน  เล่าว่าเนื่องจากเขาต้องกลับลงไปธุระที่กรุงเทพฯ ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกิจกรรมจนจบได้ โดยในตอนแรกตนตั้งใจจะมาร่วมงาน madiFESTO อยู่แล้ว และเมื่อได้ทราบกิจกรรมของนายมิตร พร้อมทั้งได้รับการชักชวนให้มาร่วมปฏิบัติการ ก็รู้สึกสนใจ แม้เขาจะคิดว่าการอดอาหารอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ก็สามารถเป็นแสดงออกและการสื่อสารว่ากฎหมายมาตรา 112 นี้มีปัญหาและสังคมควรจะคุยกันมากกว่านี้ แล้วการทำกิจกรรมในฐานะงานศิลปะก็สามารถบอกเล่าในเรื่องนี้ได้

นิสิฎฐ์กุลเห็นว่าโดยการอดอาหารแบบนายมิตร ต่างจากของจำลอง ศรีเมือง ที่อดพร้อมกับมีข้อเรียกร้อง และจะหยุดก็ต่อเมื่อได้ผลตามข้อเรียกร้องนั้น ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการอดอาหารแบบบีบบังคับเกินไป แต่การอดอาหาร 112 ชั่วโมงในครั้งนี้เหมือนกับการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้กำหนดว่าจะอดจนกว่าจะได้ตามข้อตกลง และการกำหนดเวลา 112 ชั่วโมงทำให้เหมือนมีคอนเซปต์ (Concept) อยู่ในงานศิลปะด้วย รวมทั้งช่วยในการบอกให้ผู้คนทราบว่าศิลปินกำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่

นอกจากนั้นเมื่อทดลองอดอาหารมาครบ 1 วัน นายนิสิฎฐ์กุล เล่าว่าตนได้เรียนรู้ว่ากิจกรรมหรือปฏิบัติการที่ทำร่วมกันหลายคน ทำให้ได้มีการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น-ชีวิตอื่น และเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เช่น พอรู้สึกหิว แล้วเห็นนายมิตรหรือเพื่อนๆ ยังอดอาหารร่วมกันอยู่ ก็ทำให้อดทนไปกับกลุ่มก้อนที่อยู่ด้วยกันด้วย

ขณะเดียวกันกิจกรรมงาน madiFESTO 2011 ในวันนี้ มีการจัดตระเวนชมเทศกาลศิลปะบริเวณจุดต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งระหว่างตระเวนชมงาน กลุ่มศิลปินยังมีการเขียนข้อความศิลปะเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 บริเวณบอร์ดที่จัดให้ผู้ชมงานแสดงความคิดเห็นในจุดที่จัดกิจกรรมอีกด้วย

ส่วนในวันที่ 28 กันยายนนี้ กลุ่มศิลปินผู้จัดงานยังเชิญชวนร่วมเสวนาในหัวข้อ “สังคม การเมือง วัฒนธรรม ของบ้าน live in บ้านพ่อ” ในเวลา 10.00 -12.00น. บริเวณหอศิลปวัฒนธรรม ซึ่งนำเสวนาโดยภัควดี ไม่มีนามสกุล (นักเขียน) อาจินต์ ทองอยู่คง (นักวิชาการอิสระ) และนายนิสิฏฐ์กุล ควรแถลง (ศิลปินอิสระ) รวมถึงกิจกรรมเสวนาอีกหลายรายการเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และศิลปะ ตลอดวันอีกด้วย

ปฏิบัติการของกลุ่มศิลปินระหว่างเทศกาล madiFESTO

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

Posted: 27 Sep 2011 08:44 AM PDT

ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีบ่งชี้ให้เห็นว่าสถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ล่าสุดกระทั่งถึงหลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม และหลังช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งนับีรวมตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนสิงหาคม 2554 เป็นเวลากว่า 7 ปี พบว่าเกิดเหตุความไม่สงบรวมทั้งสิ้นประมาณ 11,074 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมกันจำนวนประมาณ 12,841 ราย แยกเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 4,846 ราย และจำนวนผู้บาดเจ็บรวม 7,995 ราย

สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นด้วยว่าจากผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด 4,846 รายนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม ดังจะเห็นได้จากผู้เสียชีวิตที่เป็นคนมุสลิมมีจำนวน 2,856 รายหรือประมาณร้อยละ 58.9 ส่วนที่เป็นคนพุทธมีจำนวน 1,857 คน หรือประมาณร้อยละ 38.3 ในทางตรงกันข้าม สถิติจากผู้บาดเจ็บทั้งหมด 7,995 ราย กลับประกอบด้วยคนพุทธเป็นส่วนใหญ่ โดยมีจำนวนถึง 4,854 ราย หรือร้อยละ 60.7 ส่วนคนมุสลิมมีจำนวน 2,616 รายหรือประมาณร้อยละ 32.7

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

 

ความรุนแรงที่ปรับเปลี่ยนเชิงคุณภาพและยืดเยื้อเรื้อรัง ?

เมื่อมองดูในภาพกว้าง สถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบดูเหมือนจะลดลงตามที่หน่วยงานของรัฐอธิบายไว้บ่อยๆ หากนับจากจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2550 เป็นต้นมา ระดับความถี่ของเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นอาจเริ่มลดลงจริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มีความพยายามก่อเหตุความไม่สงบในลักษณะที่ดำรงรักษาเป้าหมายเอาไว้ และยังทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวมีระดับความรุนแรงพุ่งสูงมากขึ้นหลายๆ ครั้ง เป็นช่วงๆ สลับกันไป

ดังนั้น ในระยะหลังนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา หากเราเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเกาะติดอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีลักษณะแบบแผนความรุนแรงที่ปะทุขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและกระโดดสูงขึ้นเป็นบางครั้ง สะท้อนให้เห็นภาพตัวแทนของสถานการณ์ความรุนแรงอันไม่มีวันจบสิ้น ความไม่มีเสถียรภาพ สภาพการณ์ที่ไม่มีความแน่นอน จากฐานข้อมูลบ่งชี้ให้เห็นว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงในระดับที่ขึ้นๆ ลงๆ แกว่งไกวสูงต่ำตลอดมา จนอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นพลวัตแห่งความต่อเนื่องของสถานการณ์ ที่น่าสังเกตจับตาดูด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะมันมีผลต่อการบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐในระยะยาวด้วย

เราอาจจะเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า “ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง” เพราะความต่อเนื่องของความรุนแรงทุกวันและทุกเดือน ประกอบด้วยทั้งการก่อเหตุด้วยการยิงสังหารผู้คนกลุ่มต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การก่อเหตุด้วยการวางระเบิดในที่สาธารณะและระเบิดโจมตีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การโจมตีฐานที่ตั้งของทหาร ตำรวจ หรือกองกำลังอาสาสมัคร การปะทะกันด้วยกองกำลังอาวุธในการปราบปรามจับกุม ปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ก่อความไม่สงบ รวมทั้งการสังหารผู้บริสุทธิ์ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

ความรุนแรงที่ต่อเนื่องดังกล่าว มีผลกระทบจริงๆ ต่อชีวิตของผู้คนโดยทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถิติการตายและบาดเจ็บรายเดือนของเหยื่อความรุนแรงอันเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบก็มีแนวโน้มแกว่งไกวสูงต่ำยิ่งกว่ารายงานที่ปรากฏในรายงานสถิติการก่อเหตุรายวัน ข้อเท็จจริงที่สะท้อนออกมาให้เห็นก็คือ จำนวนครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นรายเดือนมีแนวโน้มต่ำกว่าจำนวนของเหยื่อหรือผู้ที่บาดเจ็บล้มตายรายวัน/รายเดือนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เหล่านี้คือสิ่งที่เรียกกันว่า “ความรุนแรงเชิงคุณภาพ” กล่าวคือ จำนวนครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบมีระดับลดลงหากนับจากปี 2551 แต่การตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบกลับมีแนวโน้มคงที่หรือบางทีอาจจะสูงกว่าจำนวนครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบ ข้อมูลนี้ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ได้รายงานให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง และในระยะหลัง ข้อมูลของทางทหารเช่นกองทัพภาคที่ 4 (กอ.รมน. ภาค 4) และข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขก็มีผลการวิเคราะห์สถานการณ์ในแบบนี้เช่นกัน

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

 

ใครคือเหยื่อ ใครคือเป้าหมาย: การท้าทายต่อยุทธศาสตร์ของการจัดการ

ตัวเลขนั้นมีความหมาย ข้อมูลสถิติดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งบอกให้ผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าใครก็ตามได้ตระหนักว่า จากประสบการณ์ความรุนแรงทางชาติพันธุ์และศาสนาในหลายประเทศทั่วโลก สิ่งที่ประจักษ์แจ้งก็คือความขัดแย้งและความรุนแรงที่ฝังรากลึก ซับซ้อนและต่อเนื่องยาวนานนั้น มีแนวโน้มจะพัฒนาตัวเองมาจนถึงระดับหนึ่งที่ความสัมพันธ์ของความขัดแย้งจะกลายเป็น “สภาวะคงที่” เหมือนพื้นที่สูงที่แบนราบ ตัวของความรุนแรงจะติดกับดักตัวเองในรูปแบบที่ซ้ำๆ มีปฏิกิริยาต่อกันเสมือนห่วงโซ่ กลายเป็นการโต้ตอบแลกเปลี่ยนความรุนแรง หรือเป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับให้มีพฤติกรรมความรุนแรงที่ซ้ำซ้อน พลวัตการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์มักจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความรุนแรงที่เสถียร

ดังที่จะเห็นได้จากเหยื่อของความรุนแรงผู้ที่เสียชีวิตในระหว่าง 92 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งมีมากถึง 4,846 รายนั้น ส่วนใหญ่ก็คือราษฎรทั่วไป (ร้อยละ 49.9) รองลงมาก็คือกลุ่มผู้ที่ถูกเรียกว่าผู้ก่อความไม่สงบที่เสียชีวิตจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ (ร้อยละ 8.7) นอกจากนั้น เป็นการเสียชีวิตในกลุ่มของเจ้าหน้าที่หรือผู้ทำงานให้กับรัฐ โดยกลุ่มทหารเสียชีวิตมากที่สุด (ร้อยละ 7.3) รองลงมาคือกลุ่มของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (ร้อยละ 6.4) เจ้าหน้าที่ตำรวจ (ร้อยละ 6) ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน และอาสาสมัครฯลฯ (ร้อยละ 5.8) ลูกจ้างของรัฐ (ร้อยละ 4.1) ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ร้อยละ 3.1) ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 3.4) นอกจากนั้นเป็นกลุ่มอื่นๆ เช่นครู ฯลฯ

ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก หรือจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้สูญเสียทั้งหมด ประมาณ 2,320 คน นอกจากนี้ ควรสังเกตด้วยว่าคนท้องถิ่นที่ทำงานให้กับรัฐ เป็นผู้นำการปกครองท้องที่ เช่นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็เสียชีวิตไปแล้วจำนวนไม่น้อย ประมาณ 298 คน ซึ่งเป็นระดับการเสียชีวิตที่รองลงมาจากฝ่ายทหาร อีกทั้งชาวบ้านที่เป็นกองกำลังอาสาสมัครจัดตั้งโดยรัฐก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สูญเสียชีวิตจำนวนมากประมาณ 270 คน ถ้ารวมกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านและอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านประเภทต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว กลุ่มนี้จะมีจำนวนมากถึงร้อยละ 12.2 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งนับว่ามากกว่าความสูญเสียของทหารตำรวจ จนอาจจะกล่าวได้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างเข้มข้นในเวทีระดับหมู่บ้านและชุมชนหลายแห่ง

ถ้าแบบแผนของความรุนแรงยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป สิ่งที่น่ากลัวก็คือความรุนแรงและความขัดแย้งในพื้นที่ดังกล่าว จะมีความยืดเยื้อต่อเนื่องไปอย่างไม่จบสิ้น ในช่วง 7 ปี 8 เดือนที่ผ่านมามีคนตายจากเหคุการณ์ความไม่สงบโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 2 คน นี่จึงเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าความยืดเยื้อเรื้อรังของความขัดแย้ง (Conflict Perpetuation) อันเป็นสถานการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ความรุนแรงหลายแห่งในโลกที่ไม่มีกระบวนการแก้ไขอย่างเหมาะสมถูกต้อง

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

 

ปฏิบัติการความรุนแรงรอบใหม่: ตรรกะของความรุนแรงจากใคร?

ในรอบปี 2554 เหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มสูงๆ ต่ำๆ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปลายเดือนรอมฏอน (1 - 29 สิงหาคม) เหตุการณ์ความไม่สงบมีระดับความถี่สูงขึ้นอย่างชัดเจน ยิ่งเมื่อดูจากสถิติการก่อเหตุประเภทต่างๆ จะเห็นได้ว่าโดยทั่วไป วิธีการก่อเหตุความรุนแรงที่เป็นเครื่องมือสำคัญก็คือการยิงสังหารและการโจมตีด้วยการใช้การลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง จุดที่สำคัญก็คือ เหตุการณ์ความไม่สงบจากการยิงและการระเบิดมีระดับความถี่สูงขึ้นในสามเดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2554 การเพิ่มระดับของความรุนแรงดูเหมือนว่ามีแรงกดดันอะไรบางอย่างเกิดขึ้น มีการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างที่รอการถูกตีความอยู่

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

ในระยะสองเดือนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของการเร่งกระแสความรุนแรงมีความเด่นชัดมาก เป็นการเร่งด้วยการก่อเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยวิธีการต่างๆ กัน ทั้งการยิงสังหารเหยื่อที่เป็นครู โจมตีชุดคุ้มครองพระ ทหารพราน ด้วยวิธีการสังหารเหยื่อด้วยความรุนแรงเหี้ยมโหด เช่น การฆ่าแล้วจุดไฟเผาร่าง การซุ่มโจมตี และจู่โจมเข้ายิงสังหารเป็นรายตัวในลักษณะการสังหารหมู่ หรือการใช้ระเบิดในเขตเมืองพร้อมกันหลายๆ จุดดังเช่น เหตุที่เกิดในอำเภอสุไหงโกลกเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554

สิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนก็คือ “แบบแผน” ของการก่อความรุนแรง มีลักษณะการขับเคลื่อนอย่างมีเป้าหมาย ดำเนินการในหลายพื้นที่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีแนวโน้มเป็นการประสานการโจมตี เริ่มตั้งแต่ช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนถือศีลอด (ในเดือนสิงหาคม 2554) ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกันยายน สิ่งที่เห็นก็คือการใช้ความรุนแรงด้วยการระเบิดทุกชนิดไม่ว่าการใช้จักรยานยนต์บอมบ์และคาร์บอมบ์ การโจมตีด้วยทุ่นระเบิดแสวงเครื่อง (IED) มีระดับความถี่สูงขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 เป็นต้นมาจนถึงเดือนสิงหาคม

นอกจากนี้ การโจมตีเป็นกระแสที่สูงโด่งขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากการตั้งรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทย ที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อพิจารณาลักษณะโจมตีดังกล่าว จึงเป็นการก่อเหตุการณ์ที่มีเป้าหมายชัดเจนทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ มิใช่การก่อเหตุด้วยแรงจูงใจทางอาชญากรรมหรือการค้ายาเสพติดอย่างที่มีคนพยายามจะตีความไปทางนั้นโดยขาดการวิเคราะห์ทำความเข้าใจบริบททางการเมืองและตรรกะความหมายในการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง แม้ว่าจะมีความพยายามใช้คำอธิบายบางชุดมาเชื่อมโยงสาเหตุของความรุนแรงให้เข้ากับปัญหาอื่น เช่น ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ คำอธิบายดังกล่าวแม้จะน่ารับฟังอยู่ไม่น้อย แต่หลักฐานจากหน่วยราชการที่ทำงานโดยตรงในเรื่องยาเสพติดและเฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานานนับปี แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมโยงของปัญหายาเสพติดกับปัญหาการก่อความไม่สงบโดยตรง ยังไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นระบบและกระจัดกระจายมาก

ข้อเท็จจริงที่ควรตระหนักก็คือ มีเหตุการณ์ “บางเหตุการณ์” เท่านั้นซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านการปราบปรามยาเสพติดมีหลักฐาน “เป็นวิทยาศาสตร์” สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อเหตุความไม่สงบ จากจำนวนการก่อเหตุรายปีทั้งหมดนับจำนวนมากกว่าพันครั้ง นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลประวัติส่วนบุคคลของเยาวชนกลุ่มเสี่ยงยาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชนจำนวนมาก ประมาณ 8,000-10,000 คนที่เคยเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูและบำบัดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านการป้องกันยาเสพติดและฝ่ายทหารในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีจำนวนไม่ถึง 5% ที่มีหลักฐานว่ามีการกระทำที่เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบในแต่ละพื้นที่

ดังนั้นคำอธิบายที่น่าเชื่อถือมากกว่าจึงเป็นเรื่องตัวแปรในทางการเมือง/อุดมการณ์ โดยเฉพาะผลกระทบของนโยบายของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่และปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างเป็นระบบ มีลักษณะเป็นขบวนการที่มีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนในเรื่อง “การเมืองแห่งอัตลักษณ์” ของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยที่มีความหมายสำคัญ มีหลักฐานน่าเชื่อถือ และมีน้ำหนักเหตุผลใน การอธิบายสถานการณ์ความรุนแรงงมากกว่า ความเข้าใจที่ชัดเจนดังกล่าวจะช่วยนิยามความหมายของแนวทาง นโยบายและวิธีการแก้ไขปัญหาความไม่สงบทั้งหมดด้วย

 

พลวัตทางการเมืองและความรุนแรง

ในอีกด้านหนึ่งเราอาจจะมองเห็น “ความหมายและสัญญะ” ของความรุนแรงและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์และการปรับตัวทางนโยบายรัฐเกี่ยวกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ7 ปีกับอีก8 เดือนที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาล 6 ชุดที่เข้ามาบริหารประเทศ โจทย์ที่น่าคิดวิเคราะห์ก็คือ การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความหมายในทางการเมืองและมีปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของรัฐอย่างไร?

เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มพุ่งสูงขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณหลังจากกรณีการปล้นค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านปิเหล็งอำเภอเจาะไอร้องจังหวัดนราธิวาสในวันที่4 มกราคม2547 หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน2547 ในกรณีการเกิดเหตุความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะจังหวัดปัตตานีและที่อื่นๆ อีกหลายแห่งในจังหวัดยะลา ยังผลให้คนร้ายเสียชีวิต 107 ศพบาดเจ็บ 6 คน ถูกจับกุม 17 คนเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นายบาดเจ็บ 15 นาย ไม่กี่เดือนต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ตากใบในวันที่ 25 ตุลาคมทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน

ในปี2548 เหตุการณ์ความรุนแรงได้ขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในเดือนเมษายนและพฤษภาคมจนกระทั่งในเดือนกรกฎาคมปี2548 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตเทศบาลนครยะลามีการโจมตีโรงไฟฟ้าในเวลากลางคืนทำให้ตำรวจเสียชีวิต 2 นายและประชาชนบาดเจ็บ 23 คนส่งผลให้ไฟฟ้าดับทั้งเมืองเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังจากคลื่นกระแสเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น รัฐบาลทักษิณได้ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548

ลักษณะที่สำคัญของการตอบโต้สถานการณ์ในสมัยรัฐบาลทักษิณก็คือการใช้มาตรการอย่างรุนแรงในการปราบปรามตอบโต้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ มีการจัดตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกอ.สสส.จชต. ตามคำสั่งนายกฯ69/2547 เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในวันที่ 28 มีนาคม 2548 เพื่อศึกษาปัญหารากเหง้าและปัญหาเชิงโครงสร้างของความไม่สงบในภาคใต้ แต่ทว่าสาระสำคัญของนโยบายทักษิณอันเป็นที่ทราบกันก็คือการใช้กำลังในการปราบปราม โดยเน้นที่การปฏิบัติการของตำรวจ ทั้งอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผย จนเป็นเหตุให้ความรุนแรงยิ่งเพิ่มความเข้มข้นขึ้นในช่วงปี 2547-2549

ระดับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในช่วงรัฐบาลทักษิณ/พรรคไทยรักไทย มีเหตุการณ์ความรุนแรงมากเป็นพิเศษถึงสี่ครั้ง คือ ในเดือนเมษายน 2547 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบสูงถึง 272 ครั้ง เดือนพฤษภาคม 2548 มีเหตุการณ์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 344 ครั้ง ในขณะที่เดือนมิถุนายน 2548 มีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงถึง 313 ครั้ง และในเดือนสิงหาคม 2549 ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมากถึง 236 ครั้ง ในสถานการณ์เช่นนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงอันถูกบันทึกในความทรงจำกันอย่างมากก็คือ กรณีมัสยิดกรือเซะ และกรณีตากใบ

ข้อสังเกตอีกด้านหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2547-2549 มีลักษณะแบบแผนสำคัญ คือ ในหลายกรณีมักจะเป็นรูปการโจมตีก่อเหตุพร้อมกันหลายพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายน 2549 เกิดเหตุปูพรม 54 จุดทั่ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็ก โดยมุ่งก่อเหตุในพื้นที่เป้าหมายหลากหลาย เหตุรุนแรงยังต่อเนื่องอีกสองสามวันหลังจากนั้น ในเดือนสิงหาคม 2549 เกิดเหตุป่วนกว่า 122 จุด กระจายอยู่ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยรูปแบบตั้งแต่วางระเบิด วางเพลิง โปรยตะปูเรือใบ เผายางรถยนต์ ฯลฯ และในเดือนกันยายน 2549 เกิดระเบิดย่านชุมชนและย่านนักท่องเที่ยว 7 จุดกลางเมืองหาดใหญ่ เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บกว่า 60 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2549 หรือประมาณสามวันก่อนการรัฐประหารที่กรุงเทพ

ในช่วงเวลาเดียวกันกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในกรุงเทพซึ่งมีการสร้างกระแสการต่อต้านทักษิณ การรัฐประหารในวันที่19 กันยายน2549 ก็เกิดขึ้นตามมา อาจจะด้วยความบังเอิญหรือไม่ก็ได้ที่กระแสการเมืองในกรุงเทพเป็นสถานการณ์ที่อุบัติคู่ขนานไปกับกระแสความรุนแรงภาคใต้ที่ความถี่และความเข้มข้นสูงขึ้นมากในเดือนสิงหาคมหรือหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นอย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาจากการยึดอำนาจก็คือรัฐบาลที่ได้มาจากอำนาจทหารคือพลเอกสุรยุทธ์จุลานนท์กลับมีจุดเด่นที่การออก“นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่406/2550 เป็นธงนำทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีบทบาทนำในทางยุทธศาสตร์และยุทธการและศูนย์อำนายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ถูกฟื้นกลับขึ้นมาอีกหลังจากถูกรัฐบาลทักษิณยุบเลิกไปก่อนหน้านี้

ศอ.บต. ยุคใหม่ถูกกำหนดบทบาทให้มีหน้าที่ประสานงานในงานพลเรือนและการพัฒนาเศรษฐกิจจุดเด่นในการใช้เครื่องมือแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ก็คือการออกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพ.ศ. 2551 ซึ่งให้อำนาจแก่กอ.รมน. ในการกำกับศอ.บต. เพื่อการดำเนินนโยบายความมั่นคงเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้นอกจากนี้ในมาตรา21 ของกฎหมายดังกล่าว ยังระบุไว้ว่าผู้กระทำผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงแต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นเข้ารับการอบรมณสถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนได้ นับเป็นการเปิดทางให้กับแนวทางการประนีประนอมและเจรจาเพื่อยุติความรุนแรงในอีกแบบหนึ่งได้

กระนั้นก็ตาม ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2550 กลับเพิ่มระดับสูงขึ้นอีก ดังจะเห็นได้จากในเดือนกุมภาพันธ์เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมากถึง 213 ครั้ง ต่อมาเดือนเมษายน เกิดเหตุการณ์ 210 ครั้ง และในเดือนมิถุนายนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบถึง 247 ครั้ง ฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้น โดยเฉพาะกองทัพบกจึงได้เสริมกำลังขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกระบวนการดังกล่าวมีการระดมกำลังพลทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจและกองกำลังฝ่ายพลเรือนสูงถึงกว่า 60,000 คน โดยระดมกำลังทหารทั้งจากกองทัพภาคที่ 1 ภาคที่ 2 และภาคที่ 3 เริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นขนานใหญ่ตามพื้นที่ความรุนแรง เช่น อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา อำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ภายใต้อำนาจกฎหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) และอำนาจทหารตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มีการดำเนินการของฝ่ายทหารจับกุมผู้ต้องสงสัยมากกว่า 3,000 คนภายในปี 2550 เพียงปีเดียว (ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกปล่อยตัวกลับในเวลาต่อมา)

ดูเหมือนว่าระดับความถี่ของการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา แต่ควรเข้าใจด้วยว่า ข้อมูลอีกด้านหนึ่งก็ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการลดลงของจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบไม่มีความสัมพันธ์กับผลกระทบที่มีต่อจำนวนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงรายวันและรายเดือน กล่าวในอีกแง่หนึ่ง การปฏิบัติการทางนโยบายในช่วงเวลาดังกล่าวมีผลต่อการตกลงของความถี่หรือจำนวนครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ดูเหมือนไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราการตายและบาดเจ็บรายเดือนแต่อย่างใด

ในช่วงสมัยรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะคงที่ขึ้นๆ ลงๆ แบบเดียวกัน รัฐบาลยุ่งกับปัญหาการเมืองเรื่องขบวนการเสื้อเหลืองในกรุงเทพเสียจนไม่มีเวลาดูเรื่องปัญหาความไม่สงบในภาคใต้อย่างจริงจัง ถึงตอนนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาภาคใต้ได้ก่อตัวเป็นแบบแผนความรุนแรงที่มีความคงที่ (Constant Violence) และมีชีวิตของตัวเองโดยอิสระไปแล้ว

ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551ได้มีความพยายามในการแก้ปัญหานโยบายภาคใต้ด้วยการสร้างภาวะสถาบัน (institutionalization) และปรับโครงสร้างของการจัดการนโยบายด้วยคณะรัฐมนตรีภาคใต้ซึ่งเป็นคณะกรรมการรัฐมนตรีและข้าราชการฝ่ายต่างๆ ที่ดูแลปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมาเพื่อการกำหนดแผนและนโยบายพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างของ ศอ.บต. ให้เป็นโครงสร้างที่เป็นทางการและมีความยั่งยืนโดยออกพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ทำให้องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรนิติบุคคลและมีอำนาจในการดูแลการพัฒนาและการบริหารในส่วนของพลเรือน แยกออกมาจากความรับผิดชอบของทหารหรือ กอ.รมน.

อีกด้านหนึ่งรัฐก็ดำเนินการตามโครงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อสนองตอบความยากไร้ทางวัตถุ เน้นการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน เพิ่มการใช้นิติวิทยาศาสตร์ กล้องซีซีทีวี และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจับกุมและดำเนินคดี ส่งเสริมให้คนท้องถิ่นเข้าร่วมในงานความมั่นคง เช่นการเพิ่มขยายกำลังผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และกองกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) จำนวนมาก การจ้างงานบัณฑิตอาสาสมัครซึ่งเป็นคนในพื้นที่

แก่นแกนของงานการเมืองนำการทหารในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและแผนโครงการพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทุ่มงบประมาณจำนวนมากเข้าไปทำให้เกิดโครงการพัฒนาเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต การพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุน และการพัฒนาเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมี ศอ.บต.เป็นตัวประสานงานและตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

แต่เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงที่สูงต่ำอยู่ในระดับเดิม ในบางเดือนก็เกิดเหตุการณ์ค่อนข้างรุนแรงทั้งในปี 2552 และ 2553 ตัวอย่างเช่นในเดือนมีนาคม 2552 มีเหตุการณ์ความไม่สงบจำนวน 103 ครั้ง เดือนกันยายน 2552 จำนวน 102 ครั้ง เดือนกรกฎาคม 2553 จำนวน 117 ครั้ง เดือนกันยายน 2553 จำนวน 123 ครั้ง และเดือนตุลาคม 2553 จำนวน 102 ครั้ง ข้ออ้างที่ว่ารัฐบาลนี้สามารถลดระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ความไม่สงบได้นั้นจึงยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่

นอกจากนี้ จากการประเมินผลในทางวิชาการ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ลงไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระหว่างช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นที่พอใจของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลประโยชน์ เช่น การแจกวัว แพะ ไก่ และปลาดุก แต่ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่ามีลักษณะสั่งการจากบนสู่ล่าง และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง

ปัญหาที่ถูกระบุก็คือผลประโยชน์มักจะตกอยู่กับผู้นำท้องถิ่น เกิดปัญหาความไม่โปร่งใสของข้าราชการและนักการเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และปัญหาการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ นี่คือปัญหาของรัฐไทยที่มักจะเกิดขึ้นประจำ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554

 

บทสรุป: แนวทางการแก้ปัญหาจะย่ำอยู่กับที่หรือก้าวต่อไป?

ในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเริ่มรุกทางการเมืองด้วยการเสนอนโยบาย “การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ” อันสอดคล้องกับกระแสข้อเรียกร้องของนักวิชาการและภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสนอรูปแบบปัตตานีมหานครเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและเป็นแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

แม้ว่าผู้สมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียวในเขตการเลือกตั้งทุกเขตในภาคใต้ แค่คำสัญญาทางการเมืองกับมหาชนยังคงมีอยู่ นอกจากนี้แล้ว ในทุกเขตเลือกตั้งของพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ถ้านับคะแนนเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมืองที่ชูประเด็นวาระนโยบายเขตปกครองแบบพิเศษรวมกันจากทุกพรรค รวมทั้งพรรคมาตุภูมิและพรรคเพื่อไทยด้วย ผู้สมัครเลือกตั้งจากพรรคที่มีนโยบายปฏิรูปการปกครองแบบกระจายอำนาจ และปรับโครงสร้างอำนาจจะมีคะแนนเสียงมากกว่าพรรคที่เสนอรูปแบบการปกครองและการบริหารแบบเดิมในทุกเขตเลือกตั้ง แต่ที่พรรคดังกล่าวไม่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเพราะแข่งกันตัดคะแนนกันเอง

แต่ความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ก็คือ อาณัติสัญญาณทางการเมืองที่ประชาชนจำนวนมากสนับสนุนวาระเรื่องการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นให้เป็นแบบพิเศษ

ข้อเสนอวาระเรื่องการปกครอง (governance agenda) สะท้อนความเข้าใจต่อรากเหง้าของปัญหา สิ่งที่ควรจะต้องสนใจก็คือ การคิดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคนในสังคมเราไม่หลุดไปจากกรอบเดิมที่วนไปวนมาอยู่ตลอด เพราะแต่ละครั้งที่มีผู้ศึกษาหรือการกำหนดนโยบายใหม่ ก็พยายามจะมาวิเคราะห์อะไรใหม่ๆ ละเลยไม่ยอมดูองค์ความรู้หรือสิ่งที่มีการศึกษาวิจัยและพูดคุยกันไปแล้วในหลายประเด็น ข้อเสนอนโยบายใหม่บางอย่างก็ออกมาพูดซ้ำเดิมย่ำอยู่กับที่ ทำให้ข้อสรุปมักจะวนกลับไปมา จนในที่สุด ก็ไม่รู้จะอธิบายอะไร กลับไปบอกกันว่าเป็นเรื่องอาชญากรรมธรรมดา “โจรกระจอก” หรือ “นักค้ายาเสพติด” ไปโน่นอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ทั้งๆ ที่ข้อมูลหลักฐานก็ยังไม่ชัดเจนและขาดความน่าเชื่อถือ เป็นเพียงข้อสมมุติฐานเท่านั้น

ประเด็นปัญหาใจกลางที่สำคัญในที่นี้คือประเด็นชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์ ถ้าปัญหารากเหง้าคือปัญหาชาติพันธุ์เป็นหลักและตามมาด้วยประเด็นทางศาสนาที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ แนวทางและยุทธศาสตร์การแก้ปมปัญหาจะชัดกว่านี้ โมเดลจะชัดกว่านี้ในการแก้ความรุนแรงโดยตรง ประเด็นปัญหาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ศาสนาทำให้มีผลทางการเมืองที่กลายเป็นวิกฤติแก้ไม่ตกตลอดมานับหนึ่งร้อยปีกว่าแล้ว ผลทางการเมืองก็คือ ทำให้รัฐขาดความชอบธรรม (legitimacydeficit) ในการจัดการทางการเมืองการปกครอง ไม่ว่าจะพยายามปรับแต่งในรูปแบบใดก็ตาม แต่หากยังอยู่ในกรอบเดิมก็เรียกได้ว่ายังแก้ไม่ได้ถูกจุด และทำให้หลุดประเด็นตลอดมา ปัญหาที่ดำรงอยู่ก็จะยังไม่หยุด เพราะ "โครงสร้างอำนาจไม่เปลี่ยน"

แล้วจะปรับอย่างไร? ประเด็นสำคัญก็คือจะต้องแก้ที่รากเหง้า คือ ประเด็นชาติพันธุ์ศาสนาและสร้างความชอบธรรมในกระบวนการเมืองการปกครองขึ้นใหม่ซึ่งรูปแบบการปกครองแบบท้องถิ่นพิเศษจะตอบโจทย์ตรงเป้ากว่าเหมาะสมกว่าการปรับโครงสร้าง “การบริหารให้เป็นเอกภาพ” ดังที่เป็นมา หรือข้อเสนออื่นๆ ถ้าเปลี่ยนโครงสร้างแล้วประเด็นอื่นที่พูดถึงน่าจะถูกแก้ตกไปเกือบทั้งหมดอย่างเป็นระบบในเวลาไม่นานโดยผ่านกลไกใหม่ดังกล่าวที่ผ่านการควบคุมและตรวจสอบโดยพลังทางสังคม

เหล่านี้ คือ การแก้ปัญหาโดยพื้นฐาน แต่โมเดลต้องทำกันแบบบูรณาการโดยผ่านการพินิจพิเคราะห์จากหลายฝ่ายทุกภาคส่วนใน “พื้นที่กลาง” อย่างที่ขบวนการภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้ซึ่งจะได้ดำเนินการในกระบวนการหลายขั้นตอน-หลายมิติ-หลายภารกิจไปพร้อมๆกัน

เป้าหมายสุดท้ายของกระบวนการปรับโครงสร้างดังกล่าว ก็คือการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงด้วยวิธีการสันติ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องเชื่อมโยงกับการสร้างพื้นที่ในการพูดคุยสานเสวนา (Dialogues) ระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การเจรจาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหนทางที่สันติด้วย ข้อเสนอจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางสันติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปของความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงไปสู่ความแตกต่างบนฐานความสันติยุติธรรมกับทุกฝ่ายสิ่งดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานที่รองรับความชอบธรรมของรัฐในที่สุด

ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/2305

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน : พลังคนเชียงดาว ลุกต้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

Posted: 27 Sep 2011 08:19 AM PDT

ป่าต้นน้ำมีชีวิต
คนต้นน้ำมีหัวใจ
หยุดเถิดอย่าทำลาย
รุกผืนป่าต้นน้ำปิง
ด้วยจิตวิญญาณ ดิน ป่า และสายน้ำ
STOP DAM หยุดเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

รายงาน : พลังคนเชียงดาว ลุกต้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

รายงาน : พลังคนเชียงดาว ลุกต้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

รายงาน : พลังคนเชียงดาว ลุกต้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

รายงาน : พลังคนเชียงดาว ลุกต้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

รายงาน : พลังคนเชียงดาว ลุกต้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

รายงาน : พลังคนเชียงดาว ลุกต้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

รายงาน : พลังคนเชียงดาว ลุกต้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง

ป้ายคำขวัญ พร้อมโลโก้สติ๊กเกอร์ติดตามเสื้อยืดสีเขียว และผืนผ้าติดตามรถกระบะร่วมยี่สิบคันพร้อมชาวบ้านร่วม 500 คน เคลื่อนไปตามท้องถนนหลวงหมายเลข 107 หรือถนนโชตนา เชียงใหม่-ฝาง มุ่งหน้าผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงดาว สถานีตำรวจภูธรเชียงดาว ก่อนวกไปหยุดนิ่งภายในปั๊มน้ำมัน ทางเข้าสำนักงานเทศบาลตำบลเชียงดาว

เมื่อลงจากรถ ทุกคนได้รวมตัวกันเป็นขบวน ขึงป้ายผ้ารณรงค์คัดค้านไม่เอาเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง พร้อมประกาศเครื่องขยายเสียงดังก้องไปทั่วบริเวณ ก่อนมุ่งหน้าไปที่หอประชุมเทศบาล ต.เชียงดาว เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการจัดเวทีของกรมชลประทานเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

นี่คือภาพเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2554 ที่ผ่านมา เมื่อชาวบ้านโป่งอาง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 100 กว่าชีวิต ได้ผนึกกำลังร่วมกับพี่น้องชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ อาทิ ชุมชนลุ่มน้ำแม่คอง-แม่แตง เครือข่ายทรัพยากร อ.เชียงดาว และชุมชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม อ.เชียงดาว ได้รวมตัวกันชุมนุมเคลื่อนไหว

การรวมตัวชุมนุมของชาวบ้านครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยเห็นว่า ผลจากการดำเนินการจะส่งผลกระทบต่อประชาชนบ้านโป่งอางและอีกหลายชุมชนโดยตรง

บรรยากาศภายในหอประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว มีผู้เข้าร่วมประชุมได้ทยอยเข้ามาลงชื่อเตรียมเข้าห้องประชุมประมาณสิบกว่าคน และทุกคนต่างตกตะลึงเมื่อหันมามองเห็นขบวนชาวบ้านที่เคลื่อนเข้ามาหยุดตรงหน้าหอประชุมพร้อมกับเสียงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงดังก้อง

“นี่เป็นเสียงสะท้อนของน้องชาวบ้าน ในการที่ทางท่านได้มาจัดประชุม ว่าเราไม่เอาเขื่อน และขอยืนยันเป็นคำเดียวที่ว่าเราไม่เอาเขื่อน ที่เรามีการเคลื่อนในวันนี้เนื่องจากที่ผ่านมาเองเราหรือทางกรามชลประทาน ทีมที่เข้ามาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามาในหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านเองไม่ได้รับรู้ และไม่ได้เข้ามาบอกกล่าวให้ชาวบ้านได้รับรู้ตรงๆ แม้กระทั่งละอ่อน ยังโดนหลอกแม้กระทั่งคนเฒ่าคนแก่ในบ้านเรายังโดนหลอก แล้วท่านเป็นใครที่มาหลอกคนเฒ่าคนแก่” สง่า แนะบือ บอกย้ำด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ในขณะที่ชาวบ้านหลายคนลุกขึ้นกล่าว นายนิมิต สมบูรณ์วิทย์ ตัวแทนจากทีมคณะที่ปรึกษา คณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัทธารา คอลซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัดและบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้พยายามเดินเข้าไปเจรจากับตัวแทนชาวบ้าน ว่าขอให้ชาวบ้านเข้าร่วมประชุมเสียก่อน แต่ก็ถูกชาวบ้านปฏิเสธพร้อมกับผลักเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวโจมตีอย่างต่อเนื่อง

“เราไม่ยอมรับ เราขอยุติ เราขอคัดค้านทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่าเรา จะไม่เอาเขื่อน และทางพวกท่านเองจะไม่ต้องได้เข้ามาในหมู่บ้านของเราอีก โครงการนี้เป็นเรื่องที่สกปรก หมู่บ้านโป่งอางไม่ยอม แม้ว่าตายก็ไม่ยอม จะมีการสู้จนถึงที่สุด เพราะสิ่งที่จะทำนั้นจะเป็นเรื่องของการส่งผลกระทบให้กับพี่น้องบ้านโป่งอาง” นางบัวเขียว ชุมภู ตัวแทนแม่บ้านโป่งอางลุกขึ้นถือไมค์กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ขณะที่นายเสาร์กุละ ตัวแทนชาวบ้านโป่งอางอีกคนหนึ่ง ก็ได้ลุกขึ้นจับไมค์พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า...“ครั้งแรกที่ผมได้จับไมค์ ผมก็เลยตื่นเต้น แต่ผมจะขอสู้เพื่อเอาชนะครับ อ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบนหรือเขื่อน ท่านเคยมาประชาคมกับชาวบ้านเมื่อไหร่ ชาวบ้านไม่ได้รับรู้เลย ชาวบ้านบางคนไม่รู้เรื่องเลย ว่ากรมชลประทานจะมาสร้างเขื่อนบ้านเรา พวกท่านมาโกหก มาหลอกชาวบ้านทำไม พวกท่านหลอกลวงมาตลอด ท่านเอาคนเฒ่า คนแก่มาถ่ายรูปเพียงไม่กี่คน แล้วรวบรัด แล้วตีความเอาเองว่าชาวบ้านยินยอมแล้วว่าชาวบ้านเห็นดีเห็นงามกับการสร้างเขื่อน แล้วยังบอกว่าได้ผ่านการประชุมกับชาวบ้านสองครั้งแล้ว”

นายเสาร์ กล่าวต่อว่า “วิธีการกระทำของท่าน สกปรกมาก รู้ไปทั่วประเทศ ก็อายไปทั่วประเทศ ท่านทำแบบนี้ไม่รู้ละอายใจบ้างเลยหรือ แล้วผมขอถามว่าสร้างเขื่อนขึ้นมา ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์อะไร ชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย มีแต่เสีย กุ้ง หอย ปู ปลา ผัก หน่อไม้ ซึ่งเป็นตลาดย่อยของชาวบ้าน นาไร่ชาวบ้านจะเอาน้ำที่ไหนมาทำไร่ ไถนา เมื่อชาวบ้านไม่ได้ทำนาปลูกข้าวแล้วชาวบ้านจะเอาข้าวที่ไหนมากิน แล้วจะเอาน้ำที่ไหน มาใช้มาบริโภค ขอถามว่าท่านลองมาเป็นชาวบ้านโป่งอางดูสิ แล้วท่านจะมีความรู้สึกเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าชาวบ้านไม่ได้มีความรู้ ไม่มีการศึกษา แต่ชาวบ้านก็มีชีวิตมีจิต มีวิญญาณ มีหัวใจ เหมือนกับท่าน ชาวบ้านโป่งอางก็กินข้าวสุกเหมือนกัน ชาวบ้านโป่งอางไม่ได้กินแกลบ ในเมื่อชาวบ้านไม่เอาเขื่อน ชาวบ้านมาต่อต้าน หวังว่าท่านคงยุติการสำรวจและการศึกษาได้แล้ว”

นั่นเป็นน้ำเสียงถ้อยคำของตัวแทนชาวบ้านโป่งอางที่พูดออกมาจากจิตวิญญาณ

กระทั่ง นายโอฬาร อ่องฬะ ผู้ใหญ่บ้านห้วยไส้ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว และในฐานะผู้ประสานงานสถาบันพัฒนาการเมืองท้องถิ่น ได้ลุกขึ้นกล่าวย้ำถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ชัดๆ อีกครั้งว่า การที่เราได้ร่วมในการแสดงพลังอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าก่อนหน้านั้นชาวบ้านได้แจ้งให้กับทางกรมชลประทาน แจ้งเตือนให้กับทางทีมที่ปรึกษาแล้วว่า สิ่งที่จะทำนั้นจะเป็นเรื่องของการส่งผลกระทบให้กับพี่น้องบ้านโป่งอาง

“แต่ครั้งนี้ก็ยังมีความพยายามในการจัดเวทีครั้งที่ 2 ขึ้นมาอีก ซึ่งทางชาวบ้านได้ขอให้ทางกรมชลประทานได้มีการยุติบทบาทและทางทีมที่ปรึกษาได้ถอนสัญญาการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมออกจากบ้านโป่งอาง เพราะว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำท่วมไม่สามารถที่จะแก้ไขได้โดยการสร้างเขื่อน ที่สำคัญคือ เขื่อนโป่งอางมีการตั้งและจะสร้างอยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง 1กิโลเมตร แล้วพี่น้องจะอยู่กันอย่างไรถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนอย่างนี้ขึ้นมา”

ขณะเดียวกัน นายโอฬารได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงไปยัง ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่บ้าน กรรมการและครูอาจารย์ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว กำลังทยอยเดินทางเข้ามาว่าขอให้ถอยกลับไปเสีย

“อยากวิงวอนไปยังผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการที่เข้าร่วมในการประชุมว่า อาจจะมีการรับรู้ข้อมูลไม่เท่าเทียมกัน และสิ่งที่เป็นผลกระทบกับหมู่เฮา คือ ผลกระทบกับบ้านพี่น้องโป่งอาง เขื่อนที่จะสร้างนั้นได้ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งไม่มีระบบของคลองส่งน้ำ ระบบการจัดการน้ำ ซึ่งถ้าปล่อยให้สร้าง ก็จะเป็นเหมือนอนุสรณ์อัปยศที่รัฐเคยสร้างไว้ คือ ฝายยางเชียงดาว ที่มีการสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2543 จนถึงวันนี้เองฝายยางนั้นยังไม่สามารถที่จะใช้การได้ ฉะนั้น บ้านโป่งอางก็เหมือนกัน ถ้าหากมีการสร้างเขื่อน ชุมชนหมู่บ้านที่มีขนาดเล็กและมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมของการอยู่แบบพี่แบบน้องก็จะถูกทำลายลงไปด้วย และที่ผ่านมา ภายหลังที่มีโครงการนี้เข้ามาศึกษา ก็ได้ทำให้คนในพื้นที่เกิดความแตกแยกกัน มีความขัดแย้งในพื้นที่กันแล้ว สุดท้าย ขอให้ทางตัวแทนของกรมชลประทานเข้ามารับยื่นจดหมาย ในเรื่องของการยุติการสร้างเขื่อนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

จากนั้น ทางฝ่ายนายนิมิต สมบูรณ์วิทย์ จากทีมคณะที่ปรึกษา บริษัทธารา คอลซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของทีมศึกษาได้ยอมยุติการจัดเวทีในครั้งนี้ โดยได้ขอให้นายศักดิ์พินิต ผดุงกิจ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำปรึกษาสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน ออกมารับหนังสือและแถลงการณ์คัดค้านไม่เขื่อนกั้นแม่น้ำปิง จากตัวแทนชาวบ้าน ก่อนจะถอนตัวกลับไปในที่สุด

และนี่เป็นเพียงครั้งแรกของชาวบ้านโป่งอางและเครือข่ายประชาชนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ที่ออกมาสำแดงพลังในการเคลื่อนไหว จนทำให้เวทีดังกล่าวต้องล้มคว่ำและยุติไปในที่สุด ซึ่งทำให้หลายคนมองเห็นพลังของประชาชน ซึ่งดูเหมือนมีจำนวนไม่มากแต่ก็มีพลังต่อรองและคัดค้านกับอำนาจรัฐและทุนได้อย่างเข้มแข็งและกล้าหาญ

และคงจะมีการสำแดงพลังของประชาชนครั้งต่อไป ถ้าหากรัฐและทุนยังคิดและเดินอยู่ในกรอบเดิมๆ อยู่อย่างนี้?!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัก กอแสงเรือง ในฐานะตัวแทนสภาทนายความ

Posted: 27 Sep 2011 08:11 AM PDT

ที่กลุ่มนิติราษฎร์นำเสนอว่าเคยมีกรณีลบล้างคำพิพากษาและการกระทำที่เสียเปล่าในนานาอารยประเทศนั้น เป็นกรณีการกระทำที่เกิดขึ้นจากอำนาจเผด็จการที่ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีการรัฐประหารและทำการตรวจสอบความผิดของผู้มีอำนาจบริหารประเทศที่ใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง

 

27 กันยายน 2554

กษัตริย์ซาอุฯ ให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีเป็นครั้งแรก

Posted: 27 Sep 2011 07:59 AM PDT

saudi arabia abha souq

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ก.ย. 54) กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดิอาระเบีย พระราชทานสิทธิในการเลือกตั้งและการลงสมัครเลือกตั้งแก่สตรีชาวซาอุฯ ซึ่งนับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในรอบศตวรรษสำหรับผู้หญิงในซาอุดิอาระเบีย อันเป็นประเทศที่มีความเคร่งครัดทางศาสนาและกีดกันสตรีจากพื้นที่สาธารณะมากที่สุดแห่งหนึ่ง

กษัตริย์อับดุลเลาะห์ มีพระราชดำรัสต่อที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า พระองค์ประสงค์จะปฏิเสธการกีดกันสตรีในสังคมที่มีกฎหมายชารีอะห์เป็นหลักยึดถือ และตรัสว่า ต่อจากนี้ไป สตรีสามารถมีสิทธิในการเลือกตั้ง และลงสมัครในการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลบังคับใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบหน้าที่จะมีขึ้นในปี 2015

นอกจากนี้พระองค์ยังกล่าวด้วยว่า สตรีจะมีที่นั่งมากขึ้นในสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์หรือ “สภาชูรา” (Shura Council) ที่ซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด

หลายฝ่ายมองความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า เป็นผลมาจากกระแสการลุกฮือในประเทศต่างๆ ในแถบอาหรับในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับแรงกดดันในประเทศที่เรียกร้องเรื่องสิทธิสตรีและการมีสิทธิมีเสียงในรัฐบาล มีส่วนทำให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้น

ฮาตูน อัล-ฟัสซิ ศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของสตรี มองว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นผลมาจาก ‘อาหรับ สปริง’ หรือการลุกฮือในฤดูใบใม้ผลิของประชาชนชาวตะวันออกกลาง และบทบาทของสื่อทางสังคม รวมถึงการที่สตรีชาวซาอุดิฯ ปฏิเสธที่จะอยู่อย่างนิ่งเฉย

“นอกจากนี้ การที่ประเด็นสตรีในซาอุดิอาระเบียได้ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นตัวตลกในสายตาของนานาชาติ ก็ยังมีส่วนในการตัดสินใจครั้งนี้ด้วย” เธอกล่าว โดยหมายถึงเหตุการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งสตรีซาอุฯ ประท้วงรัฐบาลที่ห้ามผู้หญิงขับรถยนต์

อย่างไรก็ตาม สิทธิในพื้นที่สาธารณะของสตรีซาอุฯ ยังคงมีอยู่อย่างจำกัดไม่เปลี่ยนแปลง เห็นจากการที่รัฐบาลยังคงห้ามผู้หญิงซาอุฯ ขับรถยนต์ เดินทาง หรือทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยตนเองโดยไม่มีผู้ชายที่ใกล้ชิดเป็นผู้ยินยอม

ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบีย จะมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นในวันพฤหัสที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สองที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของประเทศซาอุฯ โดยครั้งแรกมีขึ้นในปี 2005 และสภาการปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว ประกอบไปด้วยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง 285 คน และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งจากกษัตริย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คุยกับผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต: รัฐประหารครั้งที่แล้วมองศักยภาพอินเตอร์เน็ตต่ำเกินไป

Posted: 27 Sep 2011 07:43 AM PDT

คุยกับอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งเขาเห็นว่า อินเตอร์เน็ตได้กลายสถานะมาสู่ความเป็นสื่อกระแสหลักแล้ว คาดหากรัฐประหารอีกครั้ง ก็คงไม่มีการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตอย่างเลวร้ายเพราะไทยยังต้องอยู่ในสังคมโลก

 

การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มีผลหรือนัยสำคัญยังไงต่อการใช้พื้นที่ออนไลน์
“ผมคิดว่ามันใช้กันอย่างหนักก่อนรัฐประหารแล้ว ดูช่วงไล่ทักษิณ ว่าง่ายๆ เป็นช่วงที่คึกคักมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเมเนเจอร์ออนไลน์ที่เสนอข่าว มีนก๊อปปี้ข่าวจากเว็บไซต์ ตอนนั้นมีประชาไทด้วยที่นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นเวทีที่สวนลุมพินี ไล่ต่อมาเรื่อยๆ รายการที่ถูกทอด รายการที่ถูกถอดออกจากผังรายการของทักษิณ รายการของเจิมศักดิ์ คลิปของรายการต่างๆ มันเคลื่อนไหวออนไลน์มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว คือช่วงปีสองปีที่ไล่ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นฟอร์เวิร์ดเมล เว็บบอร์ดพันทิพ เมเนเจอร์ ประชาไท เคลื่อนไหวคึกคักอยู่แล้วในช่วงนั้น แต่รัฐประหารมันนำคนใหม่ๆ มาสู่ออนไลน์ เท่าที่ผมสังเกตดูก่อนรัฐประหาร ออนไลน์คึกคักจริง แต่วงก็ยังอยู่จำกัดอยู่ อาจจะเรียกรวมๆ เป็นชนชั้นกลางก็ได้ เป็นพนักงานออฟฟิศ ก่อนกลับบ้านอยู่ในออฟฟิศก็กดดูข่าวเมเนเจอร์หน่อย โพสต์เว็บบอร์ดหน่อย อะไรก็ว่าไป อาจจะปริ้นต์อะไรออกมาอ่านในรถไฟฟ้าก็ว่าไป

“นอกจากเว็บบอร์ด หรือว่าเมเนเจอร์ หรือประชาไท ช่วงนั้นยังมีอีกอันหนึ่งที่คึกคักในช่วงไล่ทักษิณก็คือ บล็อก บล็อกเกอร์ทั้งหลายเกิดขึ้นมากมายในช่วงปี 2004 ถึง 2006 ตอนนั้นมี ไบโอลอว์คอม ที่เป็นนักเรียนไทยในเยอรมันเขียนวิเคราะห์กฎหมาย หรือว่า fringer.org  ที่มีการลงบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นชินฯ ว่าเป็นอะไรยังไง ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนที่รัฐประหารเปลี่ยนออนไลน์ มันไม่ใช่ว่าคึกคักหรือไม่คึกคัก แต่ว่ามันนำคนใหม่ๆ เข้ามา เราจะเห็นคนที่ในคืนวันนั้นมาจากไหนไม่รู้ มาถ่ายรูปรถถังอัพโหลดขึ้นบล็อก ตอนนั้นมีบล็อก 19 sep. blogspot.com ขึ้นมาวันนั้นเลย แล้วก็กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่ามันนำคนใหม่ๆ มาในโลกออนไลน์มากกว่า แล้วคนใหม่ๆ ที่เข้ามาในออนไลน์จากกระแสออนไลน์ที่มันค่อนข้างไปในทางเดียว คือไม่เอาคอร์รัปชั่น ไม่เอาทักษิณ มีอีกอันหนึ่งเข้ามาในออนไลน์แล้วก็เกิดการปะทะกัน ก่อนหน้านั้นที่เราเห็นว่ามีการควบคุมอะไรกัน มันออกจะเป็นที่รัฐกับประชาชนขัดกัน แต่หลังรัฐประหารที่มันชัดคือว่า มันเริ่มมีประชาชนสองกลุ่มละที่เริ่มขัดกันเองที่มันชัดขึ้น”

ในแง่ที่ความเห็นของประชาชนเห็นแตกต่างต่างกันแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ พื้นที่ออนไลน์สามารถสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนมากขึ้นไหม หรือว่าจริงๆ เป็นพื้นที่สร้างความแตกแยกมากขึ้น
“แตกแยกมากขึ้นไหม ไม่รู้ แต่คิดว่าออนไลน์มันไปเข้ากันกับลักษณะนิสัย ‘สาวไส้ให้กากิน’ เรื่องการแฉ ตั้งแต่ก่อนมีออนไลน์เราก็ชอบกันอยู่แล้วล่ะ ผมคิดว่าทุกที่ไม่ใช่แค่เมืองไทยหรอก แฉการคอร์รัปชั่น อย่างกรณีทักษิณก็ชัดเจน หลังรัฐประหารก็มีแฉ คมช.ใช้งบนั้นนี้ ช่วงนั้นก็จะมีการนำนายทหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารไปนั่งเป็นบอร์ดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีโอที การบินไทย รัฐวิสาหกิจ มันก็มีการแฉเรื่องพวกนี้ออกมา ผมคิดว่าออนไลน์มันเอื้อในลักษณะที่ว่า คุณไปดึงข้อมูลต่างๆ ออกมา คุณอาจจะไม่รู้เรื่องพวกนี้มาก่อน คุณไปเสิร์ชดูเจออะไรบางอย่างสนใจ ก็เอาโพสต์ในเว็บบอร์ดมาแบ่งให้เพื่อนดู คือลักษณะการแฉทำได้ง่ายมากขึ้น การส่งข้อมูลตรงนี้เยอะ ถ้าเป็นเมื่อก่อน หนังสือพิมพ์หรือทีวี มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันไม่สามารถมีลักษณะที่เจาะที่แฉกันขนาดนี้ได้ จากตรงนี้แหละที่นำไปสู่ อย่างสมัยนี้ต้องเรียกว่าดรามาร์ คือคนจะบอกว่าข้อมูลนี้ไม่เชื่อ ไม่จริง ข้อมูลถูกต้องหรือเปล่า มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือไหม คนมันอัดกันเรื่องนี้มากกว่า คุณก็แฉเฉพาะเรื่องที่คุณคิดว่ามันเข้าทางคุณ เรื่องอื่นคุณไม่เห็นพูดเลย จะมีดรามาร์ลักษณะอย่างนี้ คุณเลือกพูดนี่ จะออกไปลักษณะนี้มากกว่า”

“ผมว่า โดยตัวมันเอง ออนไลน์ทำให้แตกแยกอะไรไหม ผมไม่ได้เชื่ออย่างนั้น ผมก็ยังมองในแง่ดีว่ามันก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าของตั้งต้นที่มีมาก่อนหน้านั้น ความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง ออนไลน์ช่วยขยายมันมากขึ้นมากกว่า คือมันมีรอยปริอยู่แล้ว ออนไลน์อาจจะเร่งตรงนี้มากขึ้น”

เราจะพูดอย่างนี้ได้ไหมว่า รัฐประหารเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การปะทะสังสรรค์ทางความคิดในโลกออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วก็เปิดพื้นที่ให้ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายทางการเมือง
“พูดได้ ก็ใช้คำว่า ‘ตาสว่าง’ ใช่ไหม แต่ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่คนมันกระหาย คือก่อนหน้านี้มันอาจจะมีความต้องการอะไรลักษณะนี้อยู่ แต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ได้มีจุดที่จะดึงมาสนใจเรื่องนี้กันมากๆ เถอะ ผมก็ดูคลิปพี่ที่เป็นนักการตลาด แล้วก็มาเป็นนักข่าวไทยฟรีนิวส์ ผมคิดว่ามันมีคนที่สนใจข่าวสารบ้านเมืองอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว ทุกคนก็อ่าข่าวหลายคนก็ติดตามข่าว แต่ไม่ถึงจุดที่ต้องมาทำอะไรมาพูดอะไรของตัวเอง แต่ว่าอย่างที่เราว่ารัฐประหารก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนที่เป็นคนรับรู้ข่าวสาร ติดตาม อยากจะออกมาพูดอะไรของตัวเองบ้าง เพราะรู้สึกทีเราอ่านมาไม่เหมือนกับที่เราเข้าไปพบเข้าไปเห็น ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต้องมาอธิบายอะไรกันแล้ว ผมคิดว่าคนที่ดูคลิปอันนี้อยู่ก็คงเป็นหนึ่งในคนจำนวนมากมายที่เป็นคนรับสารอยู่ ก็น่าจะเห็นปรากฏการณ์นี้อยู่แล้วในตัว ผมคิดว่าไม่ต้องการคำอธิบายอะไร เป็นเรื่องที่เห็นๆ กันอยู่แล้วว่าอินเตอร์เน็ตออนไลน์มันทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ คนมันเรียกรวมๆ ว่าตาสว่างก็ได้ ไม่ได้พูดถึงประเด็นอะไรเป็นการเจาะจงนะ ผมยืมคำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มันทำให้คนเห็นมากขึ้น พอเห็นแล้วมันก็อดไม่ได้ที่จะพูดอะไรบางอย่าง ที่จะพูดอะไรบางอย่าง อาจจะพุดในห้องลับ ในกรุ๊ปลับ เฟซบุ๊คเดี๋ยวนี้มีกรุ๊ปลับเยอะแยะ หรือในเว็บบอร์ดที่อาจจะรู้กันเฉพาะกลุ่ม หรืออาจในเว็บบอร์ดที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย พอตาสว่าง ปากมันก็อยากสว่างด้วย มันจะมีผลกระทบอะไรกลับมาถึงตัวหรือเปล่า อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ว่ารัฐจะเข้ามาควบคุมว่า มึงอย่าปากสว่างนะ กูจะต้องบล็อกมึง อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งละ แต่จุดต่างๆ มันเริ่มจากว่า พอรัฐประหารมันพลิก ทำให้คนรู้สึกว่าไม่ได้ละ”

ในบรรยากาศแบบนี้ ถึงจะมีการไล่บล็อกกัน ปิดกั้นความเห็นในโลกออนไลน์อยู่บ้าง ถ้ามีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งการควบคุมการรับรู้ก็จะยากขึ้นด้วยใช่ไหม
“ไม่แน่เหมือนกันนะ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าครั้งที่แล้วที่รัฐประหาร เขาอาจจะประเมินอินเตอร์เน็ตต่ำไปหรือเปล่า เพราะมันก็เข้าสูตรเดิม ส่งคนไปคุมสถานีวิทยุ โทรทัศน์ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมา ตัวอินเตอร์เน็ตไม่ได้ทำอะไรกับมันมากนัก แล้วก็ปรากฏว่าในคืนเดียวกันนั้น ภาพข่าวต่างๆ จากเมืองไทยก็ไปโผล่ตามเว็บต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะครั้งรัฐประหารปี 35 มันก็มีซีเอ็นเอ็นที่ภาพออกไปเกือบจะคืนนั้นเหมือนกัน มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใหม่มาก คนที่เข้าถึงซีเอ็นเอ็นตอนนั้นกับคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตตอนนี้ จำนวนมันเทียบกันไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าจะมีรัฐประหารใหม่อีกรอบ บางทีมันอาจจะเหมือนกับซีเรียก็ได้ คือเขาคงไม่ปล่อยเอาไว้ แต่ก็อาจจะทำอะไรที่โหดร้ายรุนแรงขนาดนั้นไม่ได้ เพราะไทยก็รู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องอยู่ในประชาคมโลก อาจจะไม่สามารถเล่นบทกูไม่เอาอเมริกันเต็มที่อย่างในภูมิภาคนั้นได้ เพราะกูไม่จำเป็นต้องแคร์ใครแล้ว เพราะอเมริกันก็ไม่แคร์เขา จริงๆ ประเทศไทยก็ยังต้องแคร์หลายประเทศอยู่ มันอาจจะไม่รุนแรงโหดร้ายขนาดเอาคนไปฆ่าไปขัง เอาบล็อกเกอร์ไปทรมานขนาดนั้น

“ผมคิดว่าการปิดกั้นมันต้องมากกว่าครั้งที่แล้วแน่ๆ สุดท้ายสถานะของอินเตอร์เน็ตตอนนี้มันถือว่าเป็นสื่อกระแสหลักไปแล้ว แต่ถ้าใช้กรอบคิดเดิมว่าจะรัฐประหาร คุณจะต้องควบคุมสื่อให้ได้ อินเตอร์เน็ตตอนนี้มันถูกนับรวมไปแล้วด้วยไง คือปิดทีวี เขาคงไม่เอาผู้ประกาศข่าวไปทรมานใช่ป่ะ แต่มันก็มีวิธีว่าควบคุมอะไรบางอย่าง”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จากเรื่องไข่ไก่ ถึงการยกเลิกภาษีบ้าน และรถ ผูกขาดทางการค้า หรือให้ค่าประโยชน์ประชาชน!

Posted: 27 Sep 2011 06:58 AM PDT

ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนดัชนีชี้วัดค่าครองชีพที่คลาสสิคที่สุดหนีไม่พ้นราคา “ไข่ไก่” ด้วยเพราะ “ไข่ไก่” เป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารที่ทุกบ้านทุกชนชั้นไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยเพียงใดจะต้องมี “ไข่ไก่” สำรองไว้ในครัวอยู่เสมอแต่ใครเลยจะเชื่อว่าประเทศไทยที่เป็นทั้งประเทศเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และ
เป็นครัวของโลก แต่คนในประเทศกลับต้องควักกระเป๋าซื้อ “ไข่ไก่”ในราคาแพง โดยเฉพาะราคาไข่ ในช่วงรัฐบาลของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่พุ่งสูงถึงฟองละ 4 บาทกว่า จนนำไปสู่การออกมาตรการ “ชั่งไข่”และแม้ว่าขณะนี้จะมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การบริหารงานของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะแก้ไข ปัญหา “ไข่ทองคำ”ได้

ก่อนหน้านี้ได้มีงานวิจัยของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปอยู่หนึ่งชิ้นที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษากลไกและกระบวนการของการผูกขาดทางการค้าไว้อย่างละเอียด โดย  “กฤดิกร  เผดิมเกื้อกูลพงศ์” ผู้วิจัย ได้ทำการศึกษา พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และการผูกขาดในภาคเกษตร : กรณีศึกษาตลาดไข่ไก่” ซึ่งถือเป็นงานวิจัยที่ทำให้เห็นภาพของการกีดกันทางการค้าและการผูกขาดตลาดของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพราะงานวิจัยชิ้นนี้เป็นต้นแบบของการชำแหละกฏหมายเรื่องการผูกขาดทางการค้าในหลากหลายธุรกิจ

ในงานวิจัยของ“กฤดิกร” ระบุว่าปัจจัยสำคัญของการกีดกันและผูกขาดทางการค้ามาจากข้อบกพร่องของพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2542 ที่ไม่สามารถเข้าไปจัดการสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในตลาดได้ เพราะแม้ว่าจะมีข้อกำหนดเพื่อกำกับและควบคุมพฤติกรรมที่เป็นการจำกัดแข่งขันทางการค้าทั้ง 4 กลุ่มประกอบด้วย 1.การใช้อำนาจเหนือตลาด 2.การควบรวมธุรกิจ 3.การกระทำการตกลงร่วมกัน และ 4.การกระทำที่เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม

แต่กระนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมีปัญหาในทางปฎิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีปัญหาในเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เนื่องจากโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ ถูกกำหนดให้มีจำนวนกรรมการทั้งสิ้น 18 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ และมีตัวแทนจากภาคเอกชนถึง 6 คน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้บริหารอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งสิ้น  แต่ในจำนวนกรรมการทั้งหมดกลับไม่มีตัวแทนของผู้บริโภคแม้แต่รายเดียว

ด้วยเหตุนี้เองทำให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าถูกแทรกแซงจากการเมืองได้ง่าย ในอดีตพบกรณีบริษัทที่ถูกร้องเรียนมีความเกี่ยวโยงกับนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ทั้งในรูปแบบของการที่ญาติของนักการเมืองเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการในบริษัท หรือการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทหรือตัวบริษัทเองบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล

ปัญหาราคาไข่ไก่ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่แพงได้ มาจากการ “ผูกขาด” ในตลาดไข่ไก่ โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่  โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 2544 ได้เกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดทำราคาไข่ไก่ตกต่ำ ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าว่ามีการทุ่มตลาดในตลาดไข่ไก่โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ กระทั่งเกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย จนนำไปสู่การเกิดระบบโควตามาใช้จำกัดปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่
เพื่อลดจำนวนไก่สาวและปริมาณไข่ไก่ในตลาด โดยมีการคณะกรรมการกำหนดแนวทางการผลิตและการตลาดไก่ไข่และผลิตภัณฑ์

ในการจัดสรรโควตาปรากฏว่ามีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่เพียง 9 รายเท่านั้น ประกอบไปด้วย บ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) บ.อาหารเบทเทอร์ จำกัด ในเครือเบทาโกร  บ.แหลมทองฟาร์ม จำกัด บ.ฟาร์มไก่พันธุ์เกิดเจริญ จำกัด บ.ฟาร์มกรุงไทย จำกัด บ.สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด บ.ยูไนเต็ดฟิดดิ้ง จำกัด บ.ยุ่สูงอาหารสัตว์ จำกัด หจก.อุดมชัยฟาร์ม โดยบ.เจริญโภคภัณฑ์ ฯ ได้รับการจัดสรรโควตาถึงร้อยละ 41 จากจำนวนพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่สามารถนำเข้าได้ทั้งหมด

พฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนยังไม่จบสิ้น เพราะในปีพ.ศ. 2549 ในสมัยพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ พ.ศ. 2549 โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Egg Board ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลตลาดไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ทั้งระบบโดยที่ยังคงโควตาให้เดิมเอาไว้ พร้อมทั้งแต่งตั้งตัวแทนบริษัททั้ง 9 มานั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาของกรรมการชุดนี้อีกด้วย 
ปฎิเสธไม่ได้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 9 รายมีอำนาจการผูกขาดในตลาดไข่ไก่ไว้ในมือ ซึ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ได้ด้วยตนเอง ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือการซื้อลูกไก่พันธุ์ไข่จากบริษัททั้ง 9

ในสถานการณ์ดังกล่าวทำให้อำนาจการต่อรองตกอยู่ที่อยู่ที่ผู้ขาย(บริษัทยักษ์ใหญ่) ขณะที่ผู้ซื้อ(เกษตรกร)ไม่มีทางเลือก จึงเป็นที่มาของ “การขายพ่วง” (Tie-in Sales) คือการซื้อลูกไก่พ่วงอาหารสัตว์ แทนที่เกษตรกรจะมีช่องทางในการลดต้นทุนการผลิตโดยการผลิตอาหารสัตว์ใช้เอง แต่กลับต้องซื้ออาหารสัตว์พ่วงไปด้วย เพราะหากไม่ซื้ออาหารสัตว์กับทางบริษัทผู้ขายลูกไก่จะทำให้บริษัทนั้นไม่ยอมขายลูกไก่ให้กับเกษตรกรทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม

ในขณะเดียวกันทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่และเกษตรกรรายย่อยล้วนผลิตไข่ไก่เพื่อนำไปขายในตลาดไข่ไก่เช่นเดียวกัน กรณีนี้จึงถือเป็นการทำลายเกษตรกรรายย่อยให้ตายไปจากอาชีพนี้ เพื่อที่ตนเองจะสามารถแสวงหากำไรสูงสุดจากการผูกขาดในตลาดไข่ไก่ได้  ปมปัญหาดังกล่าวทำให้จำนวนเกษตรกรระหว่างปี  2543-2547 ลดลงอย่างน่าใจหาย จาก 7,000 ราย เหลือเพียง 3,000 รายเท่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จำนวน 113 ฟาร์ม ในนามบริษัท เอ เอฟ อี จำกัด ขอนำเข้าแม่พันธุ์ไก่ไข่
จำนวน 58,100 ตัว โดยแบ่งโควตามาจากโควตาจำนวน 405,721 ตัว จากบริษัทยักษ์ใหญ่ 9 รายเดิม

แต่กระนั้น Egg Board มีมติไม่อนุมัติคำขออนุญาต จนท้ายที่สุดบ.เอ เอฟ อี  ฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่า Egg Board ไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าว อีกทั้งการกำหนดโควตายังไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ พ.ศ. 2549  จากการกดดันของสังคมทำให้ในที่สุดวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกระบบโควตาการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ รวมทั้งสั่งการให้ทบทวนบทบาทและแนวทางในการดำเนินงานของ Egg Board และให้กระทรวงพาณิชย์นำ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้ในเรื่องการตกลงร่วมกันลดปริมาณการผลิตลูกไก่ไข่ และพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมทางการค้า เช่น การขายพ่วงลูกไก่กับอาหารสัตว์    ถือเป็นการสิ้นสุดยุคการผูกขาดตลาดไข่ไก่อันเกิดจากการใช้ระบบโควตาของรัฐบาล

แม้ว่าระบบโควตาที่ถือเป็นกรงจองจำศักยภาพในการแข่งขันของเกษตรกรจะหมดไปแล้ว แต่ยังมีโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องเข้ามาแก้ไข ซึ่งก็คือการปรับปรุงพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2542
ซึ่งในงานวิจัยของ “กฤดิกร” ที่นำเสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปนั้นได้นำเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งดำเนินการคือ   1.ให้เพิ่มความผิดทางปกครองเพื่อให้สามารถเอาผิดกับพฤติกรรมการกีดกันทางการค้าซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจรัฐได้  2.ยกเลิกการจำกัดสิทธิในการฟ้องร้องกันเองของเอกชนเพื่อให้เอกชนสามารถหยิบกฎหมายฉบับนี้ไปบังคับใช้และส่งเสริมการแข่งขันในตลาดให้มากขึ้น 3. ให้กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมการกระทำขององค์กรของรัฐ 4.แก้ไขประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยลดสัดส่วนส่วนแบ่งตลาด 5.แก้ไขบทกำหนดโทษของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้บทลงโทษในส่วนที่เป็นค่าปรับเป็นสัดส่วนกับขนาดของธุรกิจที่ทำการละเมิดกฎหมายฉบับนี้ 6.ยกเลิกการปกปิดข้อมูลที่สำนักแข่งขันทางการค้าได้มาจากผู้ประกอบการ 7.เปลี่ยนสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้เป็นองค์กรอิสระ โดยไม่ขึ้นกับการเมือง

รวมถึงข้อเสนอเพื่อการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดไข่ไก่ โดยขอให้เปิดให้มีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่อย่างเสรีและไม่นำระบบโควตาจำกัดปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่กลับมาใช้อีก และภาครัฐควรเข้าไปมีบทบาทส่งเสริมการแข่งขันและควบคุมการผูกขาดในตลาดอาหารสัตว์

เรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลว่าจะกล้าเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเป็น “ทุน”สำคัญให้กับทุกพรรคการเมืองได้หรือไม่ เพราะนอกจาก “ไข่ไก่” แล้ว ยังมีสินค้าการเกษตรอีกหลายชนิดที่จะได้รับอานิสงส์ด้วย อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาลจะอยู่ได้นานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนมากกว่าการลดภาษีสิ่งของเพียงชิ้นหรือสองชิ้นเท่านั้น!!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาช้าแต่มาแล้ว อธิการฯ มธ. ‘ส.ส.ร.50’ เฟซบุ๊ค ถาม 'นิติราษฎร์' 15 ข้อ

Posted: 27 Sep 2011 06:34 AM PDT

"สมคิด เลิศไพทูรย์" ตั้งคำถาม 15 ข้อโต้กลุ่มนิติราษฎร์ พร้อมถาม "รธน.2550 ที่มาจาก สสร.เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่” เชื่อคน มธ.ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์นิติกลุ่มนี้ "ไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ในนิติศาสตร์ส่วนใหญ่" ด้านชมรมพนักงานสอบสวน ชื่นชมนิติราษฎร์ กล้าหาญของนักวิชาการ

เมื่อคืนวันที่ 25 ก.ย. มีนักศึกษาตั้งคำถามทาง facebook ของ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ว่า "อาจารย์คับเดี๋ยวนี้ มธ.เป็นเสื้อแดงอย่างเต็มตัวแล้วใช้ป่ะคับ"

ศ.ดร.สมคิด ตอบว่า "555เสื้อเหลืองก็เยอะ" เมื่อนักศึกษาถามต่อว่า "ผมว่าไม่มีแล้วมั่งคับคำว่า เสื้อเหลือง เพระาตั้งแต่รัฐบาลปูขึ้นมาเป็น รบ. ไม่เห็นออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก MOU เลย แปลกมากกับสมัย รบ.ปชป. ... ตลกดี!!" และยังตอบว่า "ไม่หรอกครับ ทุกคนมีสิทธิในการพูดและเขียนเท่ากัน อย่าเรียกร้องคนอื่นให้แสดงออกแทนเรา เพราะเราก็แสดงออกได้"

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมคิดยังโพสต์ว่า “ในฐานะนักกฎหมายช่วยตอบคำถามเหล่านี้ด้วย" โดยตั้งเป็นคำถาม 15 ข้อได้แก่

 

1. เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่นการยกเลิก รธน. 2549

2. ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่

‎3. ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. 2540 ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่

4. ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่

5. รธน.2550 ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. 2550 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?

‎6. คตส. ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่

7.การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกทักษิณเลยใช่หรือไม่

8. มาตรา 112 ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. 2550 ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่

9. ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่

10. ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่

‎11. ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาศ สฤษฏ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกทักษิณ

‎12. ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่

13. ศาลรธน. ช่วยนายกทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่

14. บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. 2550 แย่กว่า รธน. 2540, 2475 ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่

15. คมช. เลว สสร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.2550 ที่มาจาก สสร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่สสร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้ และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็นสสร.ที่ดีใช่หรือไม่”

ในสเตตัสดังกล่าว ศ.ดร.สมคิดยังแสดงความเห็นด้วยว่า "คน มธ.ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์นิติกลุ่มนี้หรอกครับ ไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ในนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่เชื่อก็ลองถามท่านคณบดีสุรศักดิ์ อ.เอกบุญ อ.อุดม อ.สุรพล อ.วิจิตรา อ.ไพโรจน์ อ.กิตติพงศ์ อ.ทวีเกียรติ อ.สมเกียรติ อ.วีรวัฒน์ อ.กิตติศักดิ์ อ.ปริญญา..................."

ชมรมพนักงานสอบสวนชื่นชมนิติราษฎร์ กล้าหาญของนักวิชาการ
ด้านเว็บไซต์ข่าวสด รายงานคำกล่าวของ พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ประธานชมรมพนักงานสอบสวน ที่เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะนิติราษฎร์ ได้เสนอแนวคิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการรัฐประหารนั้น ถือว่าเป็นปรากฏการณ์และวิวัฒนาการกระบวนคิดทางสังคม ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว สังคมมีลักษณะเป็นพลวัตและมีการขับเคลื่อนทางกระบวนคิดหรือกระบวนทรรศน์อยู่ตลอดเวลา การเสนอแนวคิดดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใด แต่เป็นเรื่องน่าชื่นชม และแสดงถึงความกล้าหาญของนักวิชาการที่นำเสนอแนวคิดใหม่ต่อสังคม เพื่อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป

พ.ต.อ.มานะ กล่าวอีกว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีหลักนิติธรรมเป็นเครื่องค้ำจุณ ซึ่งหลักนิติธรรมที่มีการกล่าวกันมากมายในสังคมขณะนี้ หมายถึง หลักการที่ยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ บุคคลต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ แต่กฎหมายต้องมีความเป็นธรรมและต้องผ่านกระบวนการทางนิติวิธีตามครรลองการปกครองของประเทศ ในเมื่อประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น กฎหมายจึงต้องออกมาโดยสภานิติบัญญัติ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตามหลักนิติธรรมนั้นกฎหมายต้องไม่ใช่บัญญัติโดยอำนาจหรือคำสั่งของผู้กระทำรัฐประหาร เพราะถือว่าไม่ชอบด้วยนิติวิธีในระบอบประชาธิปไตย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา UPR: ประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย

Posted: 27 Sep 2011 06:10 AM PDT

จากการบรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” ในเวทีเสวนาเรื่อง “การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด : Universal Periodic Review และสิ่งที่คุณจะทำได้” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ มูลนิธิศักยภาพชุมชน มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญสิทธิในด้านต่างๆ 9 คน มาร่วมเสวนาถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่น่าสนใจ ดังนี้
 
สมชาย ปรีชาศิลปกุล: เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและกฎหมายพิเศษในไทยว่า แม้รัฐบาลไทยจะพยายามยกกฎหมายขึ้นมาแสดงให้เห็นถึงบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิ แต่ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญไม่สามารถเป็นคำตอบได้ เห็นได้ชัดจากการที่สังคมไทยไม่สามารถพูดอะไรตรงไปตรงมา ทั้งที่มีการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายที่ให้ยกเว้นในสถานการณ์ปกตินั้นเป็นปัญหาอุปสรรคอย่างมาก และแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐมีลักษณะอำนาจนิยม จากการปิดเวบไซต์จำนวนมากและจับกุมผู้แสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ตโดยเกินกว่าเหตุ  มีการใช้กำลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ไม่เคยถูกร้องเรียนหรือตรวจสอบใดๆ ในขณะที่ผู้ที่ถูกจับกุม ถูกแจ้งข้อหารุนแรงและไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้สื่อยังมีลักษณะของการเซ็นเซอร์ตัวเองในประเด็นที่สังคมควรรับรู้หลายประเด็น ทั้งที่การกระทำเช่นนี้จะยิ่งก่อให้เกิดข่าวลือมากกว่าข้อเท็จจริง
 
อีกประเด็นคือการเลือกข้างของสื่อมวลชน ซึ่งอาจารย์สมชายชี้ว่า อาจถึงจุดที่ต้องยอมรับการเลือกข้างของสื่อ เพราะไม่มีสื่อใดเป็นกลางแม้แต่สื่อต่างประเทศ ในสังคมไทยยังคงมีปัญหาการเข้าใจผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง โดยมักจะโจมตีกันอย่างรุนแรง ทั้งที่การไม่เห็นด้วยนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ควรจะต้องแสดงความเห็นในลักษณะที่เข้าใจผู้อื่น ถ้าทุกคนมองเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์ ก็จะยอมรับความเป็นมนุษย์ในมิติอื่นๆ ได้ ไม่เฉพาะในเรื่องทางการเมือง
 
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์: สิทธิทางเศรษฐกิจ และฐานทรัพยากร
ในขณะที่อาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อมโยงกับสิทธิทางการเมืองไว้ว่า สิทธิทางการเมืองทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ เนื่องจากทรัพยากรของรัฐที่ถูกนำมาใช้ในการผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจไม่มีข้อปฏิบัติชัดเจน ขณะเดียวกัน ผู้คนต้องได้รบผลกระทบอย่างมากจากทุนขนาดใหญ่ ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เกษตรกรรมพันธะสัญญา (Contract Farming) ที่ตอนนี้ชาวนาเปรียบเสมือนแรงงานในที่ดินของตนเอง ต้องเป็นหนี้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่นำปัจจัยการผลิตมาให้ และสัญญาระหว่างบริษัทกับเกษตรกรก็ขาดความเป็นธรรม นอกจากผู้ผลิตอย่างเกษตรกรจะต้องเจอปัญหาแล้ว ผู้บริโภคก็ยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการคุ้มครองสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้อาจารย์ทศพลยังเน้นถึงสิทธิในฐานทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในพันธุกรรมที่เกษตรกรต้องเสียเงินมากกว่าเสียค่าเช่าที่ดิน แม้ระบบของรัฐมีกลไกคุ้มครองสิทธิในพันธุกรรมได้ แต่ชัดเจนแล้วว่า รัฐกลายเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการละเมิดประชาชน รวมไปถึงเรื่องทรัพยากรดิน น้ำ ป่าที่ถูกครอบงำภายใต้วาทกรรมการพัฒนา โดยละเลยสิทธิของชาวบ้านในพื้นที่และต้องเผชิญปัญหาโดยตรง จะเห็นได้จากงานวิจัยว่า พื้นที่ที่น้ำท่วมหลักส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ทำเกษตรพันธสัญญา กลุ่มที่รุกเข้าไปในส่วนป่าสงวนนั้นล้วนแต่เป็นบริษัททุนขนาดใหญ่ สุดท้ายอาจารย์ได้เสนอว่า การรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ไม่ควรคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของชนชั้นนำ
 
วรวิทย์ เจริญเลิศ: สิทธิแรงงาน
เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์สิทธิแรงงานในปัจจุบัน อาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งประเด็นถึงแนวคิดเรื่องสิทธิแรงงานที่ถูกผลักดันผ่านองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และได้มีอนุสัญญาให้ประเทศต่างๆ ไปปฏิบัติตาม ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลเรื่องสิทธิแรงงานมาจาก ILO แต่เมื่อนำมาปฏิบัติกลับเกิดความขัดแย้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสังคมจากยุคเกษตรกรรมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม ต่างกับประเทศตะวันตกตรงที่ยังไม่มีการเปลี่ยนผ่านเรื่องประชาธิปไตย และปฏิเสธการมีส่วนร่วมของชนชั้นล่าง ความเป็นจริงมีแรงงานไทยจำนวน 24 ล้านคนและแรงงานข้ามชาติอีก 2 ล้านคน แต่กลับมีแรงงานไทยเพียง 9 ล้านคนที่ได้รับการคุ้มครองอันเนื่องมาจากคำนิยามของความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง แรงงานที่เหลือเป็นประกอบอาชีพอิสระและบางส่วนถูกจ้างงานนอกระบบ และยังมีปัญหาเรื่องสหภาพแรงงานในไทยที่ถูกทำลาย ลูกจ้างที่ลุกขึ้นมาตั้งสหภาพแรงงานมักจะถูกเลิกจ้าง กฎหมายที่ควรจะคุ้มครอง กลับกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งเห็นได้จากแรงงานที่เข้าไปเป็นสมาชิกไตรภาคี(ระหว่างรัฐ-นายจ้าง-แรงงาน) บางส่วนไม่ใช่แรงงานที่เป็นผู้นำสหภาพ และคนเหล่านี้มักจะทำงานกับรัฐ
 
มอนหอม: แรงงานข้ามชาติ
นอกเหนือจากแรงงานไทยที่ถูกละเมิดแล้ว แรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงชนกลุ่มน้อย ผู้ไร้รัฐ และผู้ลี้ภัยก็ถูกละเมิดสิทธิ ประเด็นนี้ถูกนำเสนอผ่านคุณมอนหอม ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิบัติการสตรีไทใหญ่ หรือ Shan Women Action Network (SWAN)  ที่ได้ย้อนรอยสาเหตุไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลพม่าต่อชนกลุ่มน้อยอย่างร้ายแรง ทั้งการปฏิบัติอย่างทารุณต่อร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศ การขับไล่จากถิ่นที่อยู่ เสรีภาพด้านต่างๆ รวมถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีผู้ลี้ภัยและอพยพเข้ามาในไทยจำนวนมาก โดยคุณมอนหอมเน้นถึงชาวไทใหญ่ที่ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัย แต่มีผู้พลัดถิ่นภายใน (Internally Displaced Persons) ซึ่งอยู่ตามชายแดนทั้งหมดห้าค่าย การที่ไม่ได้มีสถานะผู้ลี้ภัย ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุขที่ไม่สามารถใช้บริการได้และมีปัญหาในด้านการสื่อสาร อีกทั้งยังต้องเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งเรื่องค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ถูกหักค่าแรงได้ง่าย แต่มีค่าใช้จ่ายสูง การถูกทารุณจากนายจ้าง การขาดความปลอดภัยในการทำงานและที่อยู่อาศัย อีกทั้งไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้หากนายจ้างไม่ยินยอม ทั้งนี้กลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหารุนแรงในเรื่องของสถานะทางกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทุกๆ ด้าน
 
อารีด้า สาเมาะ: สถานการณ์ละเมิดสิทธิชายแดนใต้
นอกจากนี้ เวทีเสวนาที่เชียงใหม่ยังได้มีโอกาสต้อนรับวิทยากรจากสามจังหวัดชายแดนภายใต้ คือ คุณอารีด้า สาเมาะ ซึ่งเป็นนักข่าวในท้องถิ่นที่รับทราบข้อมูลที่เป็นจริง โดยคุณอารีด้าได้นำเสนอมุมมองของคนในพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจว่าระหว่างปี 2547- 2554 มีเหตุการณ์รุนแรงทั้งหมด 10,984 เหตุการณ์ โดยประชาชนธรรมดาได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งส่วนมากเป็นพี่น้องมุสลิม แต่ในข่าวกลับนำเสนอแต่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง พยายามเสนอว่าสามารถคุมสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้เพราะจำนวนเหตุการณ์ลดลง แต่ความจริงช่วงที่ผ่านมาเหตุการณ์ความรุนแรงได้ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนต่อครั้งมากขึ้น ต่างจากเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงก่อนที่เกิดบ่อยครั้งกว่าแต่ส่งผลเสียต่อครั้งน้อยกว่ามาก โดยคุณอารีด้าได้นำเสนอตัวละครหลักๆ  ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ในลักษณะปิรามิดสามชั้น ชั้นบน คือ ผู้ใช้ความรุนแรง ได้แก่ รัฐและขบวนการ โดยเจ้าหน้าที่รัฐมองทุกคนเป็นผู้ต้องสงสัย ในขณะที่ขบวนการพยายามดึงมวลชนและสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีการกดขี่และการใช้กฎหมายพิเศษของรัฐ ชั้นกลางคือ ภาคประชาสังคมและนักสิทธิซึ่งทำงานได้ยากมากเนื่องจากรัฐและขบวนการ  และชั้นล่างคือผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่มีพื้นที่ปลอดภัย
 
เกรียงไกร ไชยเมืองดี: สิทธิเด็ก
ในประเด็นเรื่องของสิทธิเด็ก คุณเกรียงไกร ไชยเมืองดี จากมูลนิธิรักษ์เด็กได้ถ่ายทอดข้อมูลจากการลงไปทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิเด็กทั่วบริเวณภาคเหนือว่า เด็กของชนเผ่าพื้นเมืองและในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจำนวนมาก และสถานการณ์เช่นนี้ก็ยังเกิดขึ้นกับเด็กในครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ซึ่งนอกจากขาดการศึกษาแล้วยังต้องถูกกดขี่ ใช้แรงงาน และอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีเด็กติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากที่ไม่ทราบชะตากรรมของตนเอง สุดท้ายคุณเกรียงไกรยังได้ชี้ให้เห็นถึงสิทธิการมีส่วนร่วมและสิทธิในการเล่นของเด็กซึ่งผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ในสังคมมองข้าม ไม่ค่อยฟังเสียงเด็ก และมักใช้อารมณ์และความรุนแรงต่อเด็ก สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ไม่ได้มองเด็กว่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ทั้งที่เด็กมีความต้องการของตนเอง เพียงแต่ต้องการการดูแลจากผู้ใหญ่เท่านั้น
 
พงษ์ธร จันทร์เลื่อน: สิทธิความหลากหลายทางเพศ
ส่วนคุณพงษ์ธร จันทร์เลื่อน จากมูลนิธิเอ็มพลัส ได้กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิความหลากหลายทางเพศในสองประเด็นหลัก ได้แก่ เรื่องใบ สด.43 หรือใบเกณฑ์ทหาร ซึ่งเคยถูกระบุว่าเป็นโรคจิตถาวร อันมีผลต่อการสมัครงานและทำนิติกรรม แม้ศาลปกครองได้ตัดสินไปแล้วว่า ให้เปลี่ยนคำระบุเป็น “เพศสภาพไม่ตรงกำเนิด” แต่การรณรงค์ในเรื่องการตรวจร่างกายอย่างเหมาะสมและเคารพผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศยังคงดำเนินต่อไป อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องกฎหมายรับรองสถานะคู่ชีวิต ซึ่งองค์กรกลุ่มสิทธิความหลากหลายทางเพศกำลังรณรงค์ให้มีการรับรองคู่ชีวิตคนเพศเดียวกันทางกฎหมาย เพื่อให้มีสิทธิตั้งครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่ชีวิตหญิงชาย
 
ไชยันต์ รัชชกูล: สิทธิทางสังคม
สำหรับสิทธิทางสังคม อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล จากมหาวิทยาลัยพายัพ ได้เน้นย้ำถึงปัญหาเชิงทัศนคติโดยทั่วไปในทางศาสนาและความเชื่อที่ฝั่งรากลึกในสังคมไทย อันเป็นหน่อเชื้อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถยับยั้งได้ โดยคนส่วนมากมักจะมอง ผู้พิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ที่ตกอยู่ในสภาพยากลำบากอื่นๆ ว่า เป็นผู้มีกรรม และมองข้ามการปกป้องคุ้มครองสิทธิของคนเหล่านี้ไป นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และภาษา ทั้งที่แทบจะไม่มีชาติใดในโลกที่ไม่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์
 
สุดท้าย อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้แสดงมุมมองของตนต่อการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปว่า ระดับการพัฒนาประเทศไม่ทั่วถึงกัน อย่างประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจล้าหลัง ไม่มีการต่อสู้เพื่อเอกราช การที่พี่น้องจากต่างแดนเข้ามาอยู่ในประเทศเรา อาจจะทำให้หลงคิดไปว่าประเทศไทยเจริญแล้ว ทั้งที่สิทธิความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจนั้นแทบไม่มี ในด้านการพัฒนาทางสังคมที่ไม่เท่ากันนั้น ทำให้ต้องใช้เวลาและมีความยากลำบากอย่างมากกว่าที่จะสามารถตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ จึงขอให้ทุกฝ่ายต่อสู้ต่อไป
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกในแผ่นดิน: สภาทนายความ แถลงโต้นิติราษฎร์ ป้องรัฐประหารปราบโกง และโกงเลวร้ายกว่า

Posted: 27 Sep 2011 05:43 AM PDT

27 ก.ย.54 นายสัก กอแสงเรือง อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียสายแก่รัฐ (คตส.) ในฐานะตัวแทนสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ตอบโต้คำแถลงของกลุ่มนิติราษฎร์ ระบุการโกงบ้านโกงเมืองนั้น เลวร้ายยิ่งกว่าการรัฐประหาร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

0 0 0

 

แถลงการณ์สภาทนายความ 
ฉบับที่ 2/2554

เรื่อง คำแถลงของกลุ่มนิติราษฎร์


ตามที่กลุ่มนิติราษฎร์ประกอบด้วยอาจารย์สาขากฎหมายมหาชน 7 คน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 ในหัวข้อ “การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” และการชี้แจงเพิ่มเติมของกลุ่มดังกล่าวสรุปได้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์ได้เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร  19 กันยายน 2549, การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยชี้แจงเพิ่มเติมว่ามีตัวอย่างในต่างประเทศที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้วนั้น

สภาทนายความเห็นว่า ประเด็นการนำเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อาจทำให้ประชาชนที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในระบบประชาธิปไตยภาคปฏิบัติของประเทศอย่างถ่องแท้ที่แตกต่างกับนักวิชาการและโดยที่เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์ของสภาทนายความในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้รู้เท่าทันกลไกการเมืองและนักวิชาการบางท่าน

สภาทนายความจึงขอให้ความเห็นทางกฎหมายอันอาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปดังนี้

1. สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดยชอบธรรม เนื่องจากเป็นการทำให้ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องสะดุดและต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดมาถึง 17 ครั้ง สำหรับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกัน  สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้นได้ใช้อำนาจเงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารและอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน และองค์กรอิสระ  จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร

รัฐบาลผู้ใช้อำนาจบริหารก็ดี  สภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้อำนาจตุลาการที่มีการดำเนินการหลังการรัฐประหาร มีส่วนที่สร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน มีการตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน  และมีส่วนในการสร้างความสงบสุขให้เกิดแก่สังคม ซึ่งไม่ควรให้ตกเป็นเสียเปล่า หรือไม่มีผลทางกฎหมาย  ซึ่งรวมถึงรัฐบาล และรัฐสภาในปัจจุบันต่างก็มีที่มาจากกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารทั้งสิ้น อันไม่สมควรให้สิ้นผลตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์

2. การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นการช่วยให้การสอบสวนในคดีที่มีความสับสนและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่มีกลไกสนับสนุนจากนักการเมือง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ต้องส่งแก่อัยการสูงสุด  และนำไปฟ้องยังศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิธีพิจารณาในศาลฎีกาดังกล่ าว เป็นศาลและวิธีพิจารณาที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับก่อนที่จะมีการรัฐประหาร จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และมีบางคดีที่ศาลดังกล่าวมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่จำเลยได้เป็นอย่างดี

3. ความผิดทางอาญาตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น อยู่ในหมวดของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นตัวบทกฎหมายซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์ของชาติไทยอันมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์อยู่ในทุกรัฐธรรมนูญ เมื่อพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ทรงไม่อาจดำเนินการใด ๆ โดยลำพัง การดำเนินการใด ๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา จะมีบทบัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดังนั้น มาตรา 112 ดังกล่าว จึงมุ่งที่จะคุ้มครองพระมหากษัตริย์มิให้มีผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และให้ความสำคัญเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีโทษรุนแรง สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ดังกล่าว

4. การประกาศใช้รัฐธรรมนูญในประเทศไทยมีมาหลายฉบับแล้ว ในฉบับหลังๆ มักจะมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่แก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน การนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้บังคับ ย่อมทำให้ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาต้องสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนย่อมต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของกลุ่มนักการเมืองและพวกพ้องย่อมต้องได้รับการคัดค้านอย่างเต็มที่

5. อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มนิติราษฎร์ได้ชี้แจงเวลาต่อมาว่า มิได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่ วคราว)  พุทธศักราช 2549 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นการทั่วไป แต่ที่ให้ลบล้างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เนื่องจากมีการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร สภาทนายความเห็นว่า เป็นการเลือกใช้หลักการที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มที่ตนเองต้องการสนับสนุนเท่านั้น มิได้ยึดถือหลักการที่ต้องใช้เป็นการทั่วไป

6. ตัวอย่างที่กลุ่มนิติราษฎร์นำเสนอว่าเคยมีกรณีลบล้างคำพิพากษาและการกระทำที่เสียเปล่าในนานาอารยประเทศนั้น เป็นกรณีการกระทำที่เกิดขึ้นจากอำนาจเผด็จการที่ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีการรัฐประหารและทำการตรวจสอบความผิดของผู้มีอำนาจบริหารประเทศที่ใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง อีกทั้งในประเทศไทยก็เคยมีกรณีที่ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน การยกตัวอย่างในประเทศเยอรมัน ความเสียเปล่าของกลุ่มนาซี กลุ่มเสียเปล่าในระบบวิซี (Vichy) ในประเทศฝรั่งเศส รวมถึงคำพิพากษาลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีลี้ภัยนาซีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในประเทศกรีกและในประเทศตุรกีนั้น สภาทนายความเห็นว่า ระบบการเมืองและระบบกฎหมายของประเทศที่กล่าวอ้างมานั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระบบการเมืองในประเทศไทยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยโดยมิได้มีการเสียเลือดเนื้อและไม่เคยมีการทำร้ายเข่นฆ่ากันแต่อย่างใด เพียงแต่มีนักการเมืองบางคนที่สืบทอดเจตนารมณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ทุจริตคิดมิชอบต่อทรัพย์สินของรัฐอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุให้มีการรัฐประหารช่วงชิงอำนาจกันตลอดมา

พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยได้ต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างยากลำบาก จนสามารถก่อตั้งประเทศขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เสียดินแดนเพื่อเสริมสร้างอิสรภาพเพื่อให้ทุกคนได้อยู่อย่างร่มเย็นเช่นทุกวันนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดตลอดมา

7. สภาทนายความขอตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ส่วนที่เป็นผลร้ายต่อนักการเมืองในอดีตเป็นอันสูญเปล่า เสียไป แต่กลับเป็นประโยชน์ต่ออดีตนักการเมืองมากกว่าการแสวงหาความยุติธรรมให้แก่สังคม การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีนักการเมืองคนใดที่จะทำให้สังคมไทยรับรู้ว่าการโกงบ้านโกงเมืองนั้น เลวร้ายยิ่งกว่าการรัฐประหารที่มุ่งทำลายความเลวของนักการเมืองบางคนและกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงที่ประชาชนให้การรับรองประชาชนควรต้องติดตามตรวจสอบพฤติการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างใกล้ชิดต่อไป

                                                                                   (นายสัก กอแสงเรือง)
                                                                                       สภาทนายความ
                                                                                     27  กันยายน  2554

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นักกิจกรรมจี้อเมริกาดูแล “โจ กอร์ดอน” ชี้โดนข้อหาหมิ่นฯ ขังกว่า 4 เดือน-ไม่ได้สิทธิประกันตัว

Posted: 27 Sep 2011 04:26 AM PDT

เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ร้องให้รัฐบาลสหรัฐคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง หลังถูกขังโดยไม่ให้ประกันตัวมากว่า 4 เดือน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 
 
 
วันนี้ (27 ก.ย.54) เวลา 10.00 น. เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) ประมาณ 30 คนร่วมชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและพลเมืองอเมริกันทุกคนให้ความช่วยเหลือ นายโจ กอร์ดอน (Mr.Joe W. Gordon) ผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (กฎหมายอาญา มาตรา 112) เพื่อให้มีการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด เนื่องจากกฎหมายและกระบวนการในการดำเนินคดีดังกล่าวมีปัญหาทั้งในการบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ สิทธิในการประกันตัว และตัวกฎหมายเองที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
 
บรรยาการการประท้วงที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ เรียกร้องช่วยเหลือ นายโจ กอร์ดอน (Mr.Joe W. Gordon) ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 
คกป.ยังได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งมีกำหนดการจะได้พบปะกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทยในเร็ววันนี้ ได้นำประเด็นปัญหากรณีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เข้าหารือกันในประเด็นลำดับต้นๆ เพื่อหาทางออกร่วมกันบนพื้นฐานแห่งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะการที่มีการสั่งฟ้องและศาลคัดค้านการให้ประกันตัว นายโจ กอร์ดอน เนื่องจากขัดต่อหลักกฎหมายสากลที่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็น “ผู้บริสุทธิ์” แต่รัฐไทยกลับปฏิบัติเช่นเดียวกับ “นักโทษ” ผู้กระทำความผิดแล้ว
 
จากนั้น เมื่อเวลา 10.30 น. สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เปิดให้ตัวแทนของผู้ชุมนุม 2 คนเข้าไปด้านในสถานเอกอัครราชทูตเพื่อเข้าพบและยื่นจดหมายต่อนางอลิซาเบธ แพรท กงสุลใหญ่ประจำสถานทูตสหรัฐฯ (Elizabeth Pratt - Consul General) โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที
 
นางสาวจิตรา คชเดช หนึ่งในตัวแทนเครือข่าย คกป.ที่เข้ายืนจดหมายได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า กงสุลใหญ่ประจำสถานทูตสหรัฐฯ ได้กล่าวขอบคุณทางเครือข่ายที่มาในวันนี้ พร้อมทั้งย้ำว่าทางสถานทูตเคารพสิทธิในการประท้วงของทางเครือข่ายและซาบซึ้งใจที่หลายคนแสดงความห่วงใยพลเมืองชาวอเมริกัน และนี่คือการแสดงออกซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างชนชาติต่างๆ ในการสนับสนุนสิทธินายโจ กอร์ดอน พลเมืองสหรัฐ
 
“ทางสถานทูตรับปากว่าจะติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดและจะส่งคนไปเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ” นางสาวจิตรา กล่าว
 
ทั้งนี้ ทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ยังได้นำทำสำเนาข้อความตอบรับต่อการชุมนุมในครั้งนี้แจกกับผู้ชุมนุมที่รออยู่บริเวณหน้าสถานทูต ระบุเนื้อหาดังนี้
 
จดหมายจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่แจกให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากการยื่นจดหมายแล้ว ผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ยังมีกิจกรรมแสดงละครหุ่นนิ่งเสียดสี โดยมีการแต่งตัวเป็นเทพีเสรีภาพที่โดนล่ามโซ่ในกรงขัง พร้อมทั้งมีข้อความเรียกร้องให้สิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งนอกจาก นายโจ กอร์ดอน ที่เป็นพลเมืองอเมริกาแล้ว ยังมีนักโทษการเมืองของไทย เช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายสุรชัย วัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล และนายอำพล ตั้งนพกุล (หรืออากง วัย 61 ปี) เป็นต้น นอกจากนี้ตัวแทนเครือข่าย คกป.ได้อ่านจดหมายจากนายโจ กอร์ดอน ที่เขียนถึงประธานาธิบดี บารัก โอบามา เพื่อเรียกร้องให้ช่วยเหลือด้วย
 
ละครหุ่นนิ่งเสียดสี โดยมีการแต่งตัวเป็นเทพีเสรีภาพที่โดนล่ามโซ่ในกรงขัง
 
หลังจากที่ทางตัวแทนได้ยื่นหนังสือกับทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ พร้อมทั้งชี้แจงให้ผู้ชุมนุมทราบเกี่ยวกับสิ่งที่ได้พูดคุยกับกงสุลใหญ่ประจำสถานทูตสหรัฐฯ แล้ว ผู้ชุมนุมจึงได้ทยอยเดินทางออกจากบริเวณดังกล่าว
 
อนึ่ง เกี่ยวกับคดีของนาย โจ กอร์ดอน จำเลยซึ่งเป็นบุคคลสองสัญชาติ ไทย – อเมริกัน ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบุกจับกุมตัวถูกจับด้วยข้อหาหมิ่น (มาตรา112) คำฟ้องระบุเป็นผู้แปล The King Never Smiles อันเป็นหนังสือต้องห้าม โพสต์ข้อความไม่เหมาะสม โดนพ่วง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และมาตรา 116 โดยถูกบุกเข้าจับกุมที่บ้านพักจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาพร้อมยึดคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปส่วนตัว และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับการปฏิเสธการขอประกันตัวหลายครั้ง และมีโรคประจำตัวคือ เกาต์และความดันโลหิตสูง
 
และเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นได้รับรับฟ้องคดีดังกล่าวพร้อมทั้งปฏิเสธการขอประกันตัว แม้จะมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม โดยคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์อ้างว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดมีอัตราโทษสูง ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะแห่งการกระทำ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี” ความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูง ถ้าหากปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยอาจจะหลบหนี และอาจเกิดความเสียหายแก่รูปคดี จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว ส่งผลให้นายโจ กอร์ดอน ถูกคุมขังอยู่ตั้งแต่ถูกจับกุม จนกระทั้งถึงปัจจุบัน
 
จดหมายเปิดผนึกของ คกป.ถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา
 


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานคดี "เจ๋ง ดอกจิก" "ประยุทธ์" วอนจับตา "นิติราษฎร์" ลั่นไม่จำเป็นแก้ 112

Posted: 27 Sep 2011 03:37 AM PDT

ศาลเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานคดี "เจ๋ง ดอกจิก" หมิ่นเบื้องสูง 31 ต.ค. เนื่องจากต้องตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม เจ้าตัวเตรียมพยาน 14 ปากสู้คดี ประยุทธ์วอนจับตา "นิติราษฎร์" ลั่นไม่จำเป็นแก้ 112

เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ผู้ช่วยเลขานุการ รมช.มหาดไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีเมื่อวันที่ 29 มี.ค.53 ได้ขึ้นเวทีปราศรัย เวที นปช. ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ด้วยถ้อยคำหมิ่นเบื้องสูง โดยคดีนี้จำเลย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งทนายความเตรียมพยานบุคคล 14 ปากนำสืบต่อสู้คดี พร้อมนำส่งแผ่นบันทึกเสียงการปราศรัยในวันที่ 29 มี.ค.53 เสนอต่อศาลเป็นพยานวัตถุ หักล้างพยานอัยการโจทก์ด้วย ขณะที่อัยการโจทก์ เตรียมพยานบุคคลเบิกความไว้ 13 ปาก

อย่างไรก็ดีการตรวจพยานหลักฐานยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากจำเลย ยังขอตรวจสอบพยานวัตถุของอัยการโจทก์ ซึ่งเป็นดีวีดีและซีดี ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบก่อน ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 31 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ผบ.ทบ.แนะ ปชช.จับตา "กลุ่มนิติราษฎร์" ชงล้างผลรัฐประหาร 19ก.ย.เพื่ออะไร ลั่นไม่จำเป็นต้องแก้ม.112

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่กองการบินกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของนักวิชาการ “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่เสนอแก้ไขกฎหมายให้ล้างผลของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า อยากให้สังคมเป็นผู้ติดตามว่า เขาทำเพื่ออะไร อย่างไร ตนไม่อยากตอบ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่และข้าราชการประจำ สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ประชาชนทุกคนต้องดูแลประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยเขียนเอาไว้แบบนั้น รวมทั้งเป็นเจ้าของในการใช้อำนาจต่างๆ ก็ขอให้ตรวจสอบดูก็แล้วกันว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร สิ่งใดก็ตามที่ทำมาถ้าเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ไม่อาจจะไปก้าวล้วงได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก จึงอยากให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไปดูแลในเรื่องนี้

เมื่อถามว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของจิตใจคน ควรจะรอบคอบกว่านี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เห็นมีความจำเป็นในเรื่องนั้น ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่และทหาร และสถาบันก็ไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่ทำคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดิน เพราฉะนั้นไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ก็ต้องดูจุดประสงค์ของเขาว่าเป็นอย่างไร ทำเพื่ออะไร อยากขอร้องประชาชนส่วนใหญ่ให้ช่วยกันดูแล ตนก็จะดูแลในส่วนของเจ้าหน้าที่ เพราะการดำเนินการใดๆ ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย สิ่งใดก็ตามที่ดีอยู่แล้วก็ไม่ควรไปยุ่ง และไม่ควรไปอาจเอื้อมด้วยซ้ำไป

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, เนชั่นทันข่าว, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กงสุลหลายชาติท้วง เด็กไทยแต่ง “นาซี” ในวันกีฬาสีโรงเรียน

Posted: 27 Sep 2011 01:43 AM PDT

นักเรียนมัธยมในเชียงใหม่แต่งเป็น ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ พร้อมโบกธง ‘สวัสดิกะ’ ในงานกีฬาสี ส่งผลให้มีการประท้วงจากกงสุลอังกฤษ สหรัฐ เยอรมนี และฝรั่งเศสประจำประเทศไทย พร้อมเรียกร้องให้มีการใส่หลักสูตรประวัติศาสตร์สมัยใหม่และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ลงในหนังสือเรียนไทย

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวอังกฤษรายงานว่า ณ งานกีฬาสีของโรงเรียนพระหฤทัย จังหวัดเชียงใหม่ มีนักเรียนจำนวนหนึ่งแต่งกายเลียนแบบ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ และกลุ่ม ‘SS’ หรือทหารของกองทัพนาซี พร้อมโบกธง ‘สวัสดิกะ’ ในระหว่างการเดินขบวน ทำให้ครูและชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ เป็นผู้นำพรรคนาซีของเยอรมนี และฝ่ายอักษะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และมีบทบาทในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจำนวนกว่า 11 ล้านคน

นสพ. ฉบับดังกล่าวยังรายงานว่า ชาวต่างชาติจำนวนมากสับสนมากขึ้นอีก เมื่อพบว่าครูไทยที่โรงเรียนดังกล่าวไม่เข้าใจว่าการแต่งกายและใช้สัญลักษณ์นาซีมีความหมายอย่างไร

“มันเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก โดยปกติแล้วในงานวันกีฬาสี นักเรียนก็จะแต่งชุดแฟนซีและมักจะเก็บเงียบในสิ่งที่พวกเขาได้เตรียมมาโชว์ ก่อนหน้างานนี้ไม่มีใครเห็นสัญลักษณ์สวัสดิกะในโรงเรียนมาก่อนเลย” ครูชาวต่างชาติคนหนึ่งกล่าว

ส่งผลให้ในวันเดียวกัน ตัวแทนจากสถานกงสุลประเทศอังกฤษ สหรัฐฯ เยอรมนี และฝรั่งเศสประจำเชียงใหม่ ได้เดินทางมายังโรงเรียนพระหฤทัย เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวที่โรงเรียนยอมให้เกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องต่อครูผู้สอนให้เพิ่มหลักสูตรเรื่องประวัติศาสตร์สมัยใหม่และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เข้าไปในบทเรียน และได้เดินทางกลับ หลังจากที่โรงเรียนได้กล่าวชี้แจงว่า การกระทำดังกล่าวมิได้ตั้งใจให้เกิดขึ้นและมิได้มีเจตนาร้าย

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในปี 2550 นักเรียนจากโรงเรียนทิวไผ่งาม กรุงเทพฯ กว่า 200 คนแต่งกายเป็นชุดทหารนาซีในงานกีฬาสี พร้อมทั้งเปล่งเสียงคารวะผู้นำฮิตเลอร์เลียนแบบกองทัพนาซีเมื่อ 50 ปีก่อน ทำให้กันยา เขมานันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนทิวไผ่งามในเวลานั้น ต้องทำการขอโทษอย่างเป็นทางการไปยังศูนย์ไซมอน วีเซนธฮาล ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์รำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ตั้งอยู่ในลอส แองเจลิส

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น