โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ยกฟ้อง5แพะเสื้อแดง ทนายเตรียมยื่นฟ้องอาญาอภิสิทธิ์ เทพเทือก ศอฉ.และ ทบ.ฐานยัดข้อหา ซ้อมทรมาณ

Posted: 15 Sep 2011 12:44 PM PDT

15 กันยายน 2553 ห้อง 913 ศาลอาญากรุงเทพฯ  ศาลได้อ่านคำพิพากษาสั่งยกฟ้องปล่อยจำเลย 5 คน จากข้อหาฝ่าฝืน พรก.,อาวุธสงคราม วัตถุระเบิด จากจำนวนหลักฐาน จำนวนกว่า 30รายการ หลังบางรายถูกขังยาวเกือบปี

การจัดกุมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าทำการจับกุม ทำร้ายร่างกายและแจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลยทั้ง 5คน โดยเหตุเกิดที่วัดสะพานในช่วงบ่ายของวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ณ บริเวณ วัดทัศนารุณสุนทริการาม (วัดตะพาน) สามเหลี่ยมดินแดง หลังจากมีการสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดี นายประสงค์ ปัญญาธรรม และพวกรวม5คน ในข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ และร่วมกันมี วัตถุระเบิด เช่น ระเบิดขวด ระเบิดปิงปอง ระเบิดแสวงเครื่อง และอาวุธมีดต่างๆ อาทิเช่น อีโต้ ลูกแก้ว มีดทำครัว และวิทยุสื่อสาร ไว้ในครอบครอง โดยศาลได้ตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 ด้วยเหตุว่าหลักฐานที่ทางโจทก์ใช้ในการกล่าวหาจำเลยไม่ได้มาพร้อมกับตัวจำเลย ประกอบกับในคดีนี้มีอัตราโทษสูง จึงยกผลประโยชน์ให้จำเลย

ในการฟังผลการพิจารณาคดีดังกล่าวได้มีครอบครัวของจำเลยและคนเสื้อแดงเข้าร่วมรับฟังผลการพิพากษาประมาณ 20 คน อาทิเช่น นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ อดีตจำเลย คดีผู้หญิงยิง ฮ.

อนึ่งนั้นนายประสงค์ ปัญญาธรรม เป็นคนเร่ร่อน ตาบอดหนึ่งข้าง มีอาชีพเก็บของเก่าขายอยู่ย่านสามเหลี่ยมดินแดง นายคำสุข คำโพธิ์ อายุ 46 ปี มีอาชีพขับแท็กซี่ , ปรีชา งามตาอายุ35 ปี เป็นเด็กวัดอยู่ในวัดตะพาน นายเฉลิมพงษ์ กลิ่นจำปา อายุ 43 ปี เป็นคนพิการ หูหนวกและเป็นใบ้ นายสุรชัย บุญเสริมทรัพย์ อายุ46 ปี มีอาชีพ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ทีมงานของทนายจำเลยกล่าวกับประชาไทว่ากำลังเตรียมทำเรื่องฟ้องกลับโดยจะให้ นายเฉลิมพงษ์ กลิ่นจำปา ที่เป็นใบ้และหูหนวก เป็นโจทก์ที่หนึ่ง และอีกสี่คนเป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องอาญากลับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ศอฉ. และกองทัพบก เนื่องจากถูกซ้อมทรมานจนสลบระหว่างจับกุมคุมขัง และนอกจากนั้นยังทำให้ผู้เสียหายต้องคดีอาญาร้ายแรงและสูญเสียอิสรภาพโดยมิได้กระทำความผิดใดๆ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"จายแสงจื้น" รอง บก.สำนักข่าวฉานและศิลปินชาวไทใหญ่เสียชีวิตแล้ว

Posted: 15 Sep 2011 12:17 PM PDT

รอง บก.สำนักข่าวฉาน และนักร้องชื่อดัง "Hsakhaha" เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสวนดอกแล้วเมื่อวานนี้หลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง

เว็บไซต์ของสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) รายงานเมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) ว่า จายแสงจื้น (Sai Hseng Zeun) รองบรรณาธิการสำนักข่าวฉาน เสียชีวิตแล้วเมื่อเวลา 9.40 น. วันนี้ที่โรงพยาบาลสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ด้วยโรคมะเร็งที่ตับ

สำหรับจายแสงจื้น เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ที่บ้านมังแสง ปัจจุบันอยู่ในเขตของกลุ่มว้าตอนใต้ รัฐฉาน โดยจายแสงจื้นเคยทำงานร่วมกับจายสายมาว นักร้องคนสำคัญในรัฐฉาน ในปี พ.ศ. 2516 เพื่อออกอัลบั้ม "สัญญาปางหลวง" ในปีเดียวกันนี้เขาถูกจับกุมหลังไปประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ. 2517 ได้เข้าร่วมกับกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army) ได้ทำงานที่แผนกข้อมูลข่าวสารภายใต้การดูแลของเจ้าช้าง หยองห้วย

ในปี พ.ศ. 2518 จายแสงจื้นพิมพ์นิตยสารภาษาไทใหญ่ชื่อ "เลือดหาญนองคง" (เลือดของผู้กล้าท่วมนองแม่น้ำสาละวิน) ในปี พ.ศ. 2525 เขาพิมพ์หนังสือชื่อ "เปิดปาง" (ตื่นรู้)

ในปี พ.ศ. 2526 ได้เข้าร่วมกับกองทัพสหปฏิวัติรัฐฉาน (Shan United Revolutionary Army) ตีพิมพ์นิตยสารกึ่งหนังสือพิมพ์ "Freedom Way"

ในปี พ.ศ. 2527 หลังการก่อตั้งสภาฟื้นฟูรัฐฉาน (Shan State Restoration Council - SSRC] จายแสงจื้นได้เป็นหัวหน้าแผนกข้อมูลข่าวสาร และเริ่มพิมพ์ “Freedom Way” และ “Independence” อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การอำนวยการของอาจารย์คืนใส ใจเย็น

ในปี พ.ศ. 2534 ได้ก่อตั้งสำนักข่าวฉาน (Shan Herald Agency for News - S.H.A.N.) และในปี พ.ศ. 2536 ได้ย้ายสำนักงานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้จายแสงจื้น แต่งงานกับนางหลอนยืน มีบุตร และธิดาด้วยกัน รวม 3 คน

ทั้งนี้เว็บไซต์อิระวดี ของสื่อมวลชนพม่าซึ่งมีสำนักงานในประเทศไทย ได้รายงานข่าวการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวคนสำคัญผู้นี้เช่นกัน โดยจากการเปิดเผยของหาญเลย์ (Harn Lay) ศิลปินและนักวาดการ์ตูนชาวไทใหญ่ผู้มีชื่อเสียง ซึ่งประจำอยู่ที่เว็บไซต์อิรวะดี เผยว่าจายแสงจื้นได้รับความนับถืออย่างมากในบรรดาชุมชนไทใหญ่ จากการที่จายแสงจื้นมีบทบาทสำคัญในงานด้านการสื่อสารมวลชน และงานด้านสังคมเพื่อประชาชนในรัฐฉาน

นอกจากนี้จายแสงจื้นยังเป็นนักร้อง นักแต่งเพลงคนสำคัญ เขาใช้ชื่อในการแสดงดนตรีว่าสะคะฮะ (Hsakhaha) เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งวงดนตรีเิจิงแลว หรือ "Freedom Way" และเป็นเพื่อนสนิทกับนักร้องเชื้อสายไทใหญ่คนสำคัญอย่างจายทีแสง (Sai Htee Saing) ซึ่งมีชื่อเสียงมากในพม่า และจายทีแสงก็เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน

ทั้งนี้จะมีพิธีสวดพระอภิธรรมศพจายแสงจื้น กำหนดจัดตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. ที่วัดป่าเป้า จ.เชียงใหม่ และมีพิธีฌาปนกิจศพในวันที่ 22 ก.ย.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปฏิทิน 5 ปีรัฐประหาร 19 กันยา ทั่วไทย ทั่วโลก

Posted: 15 Sep 2011 10:52 AM PDT

 

17 กันยายน

5 ปี รัฐประหาร 19 กันยา "เผด็จการ โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง! "

13.00 - 17.00 น.
ณ ห้อง ราชา รร.รัตนโกสินทร์

  • พอ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย
  • พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช
  • ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
  • รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
  • จอม เพชรประดับ

17.00 - 20.00 น.

  • พบกับแนวร่วม ศิลปะ บทกวี ดนตรีแห่งการต่อสู้ "หลังกลีบกุหลาบโรย"
  • อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ชาย อิสรชน ซันชิโร่ จ.เจตน์ ประกายไฟการละคร ฯลฯ

 

17 กันยายน

เสวนา ‘รัฐ ความรุนแรง ประชาชน’

12.00-14.30 น.

  • ลานปฏิมากรรม 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

18 กันยายน

นิติราษฎร์เสวนา "5 ปี รัฐประหาร 1 ปี นิติราษฎร์"

13.00 น. เป็นต้นไป

  • ณ ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

คณะนิติราษฎร์ จัดแถลงข้อเสนอทางวิชาการ

  1. การลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
  2. การขับเคลื่อนข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  3. กระบวนการยุติธรรมไทยกับนักโทษทางการเมือง
  4. การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

18 กันยายน

อภิปราย ‘สิ่งตกค้างจากการรัฐประหาร’

13.00-17.00 น.
ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา (ตึกหลัง) สี่แยกคอกวัว

  • ปาฐกถานำโดย คุณจาตุรนต์ ฉายแสง

ผู้อภิปราย

  • รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการสถาบันและมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ดำเนินการอภิปรายโดย

  • ประวิตร โรจนพฤกษ์ บรรณาธิการอาวุโส เครือเดอะนชั่น

จัดโดย สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย

 

18 กันยายน

รำลึก 5 ปีรัฐประหาร 19 กันยา 49 - 14 เดือนราชประสงค์

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

  • แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
  • จัดกิจกรรมต้านรัฐประหารครบรอบ 19 กันยา 49 และ 14 เดือนวีรชนราชประสงค์
  • พร้อมยุทธศาสตร์ 4 แนว ข้ามผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

18 กันยายน

เดินขบวนในปารีส รำลึก 5 ปี รัฐประหาร ประเทศไทย ได้อะไร ?

นปช.สหภาพยุโรป ขอเชิญพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยในยุโรป ทุกท่าน เข้าร่วมกิจกรรม รำลึกวันครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร ร่วมแสดงพลัง ปกป้องรัฐบาล ต้านรัฐประหาร ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

  • เวลา 14:00 PM รวมพลที่ Rassemblement a laPlace de la Nation
  • เวลา 15:00 PM เดินขบวนแสดงพลังบนท้องถนน Rue du Fbg Sainte Antoine
  • เวลา 16:00 PM ถึง Place de la Bastille (ตรงหน้า opera)

ร่วมแสดงพลัง จุุดยืน และรับฟังการปราศรัยจากพี่น้องร่วมอุดมการณ์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ประธาน มนูญ 0666154349 / คุณ น้อย 0614453785 / คุณ แดงแจ๊ด 004915151232320 /คุณ นิตยา 004571634532 / คุณ โอ 0647490160 ***

 

18 กันยายน

ล่องเรือแม่น้ำเทมส์ในลอนดอน ต้านรัฐประหาร

  • 14.30 น พบกันที่ London Eye
  • 15.00 น พร้อมกันที่ท่าเรือ Westminster Millennium Pier และ เตรียมตัวสัมผัสบรรยากาศการล่องเรือ
  • 15.41 น. ถึงท่าเรือ London Bridge City Pier
  • 16.00 น พบกันที่ผับ เพื่อทานอาหาร และ พูดคุย อัพเดท สถานการ์ณ และ กับก้าวต่อไปภายใต้ รัฐบาล ยิ่งลักษณฺ1

หมายเหตุ 1.ให้เตรียมค่าใช้จ่าย สำหรับการล่องเรื่อ ค่าอาหาร และ เครื่องดิ่ม มาให้พร้อม 2.สวมเสื้อสีแดง
คอนเฟริมที่นั่ง ได้ที่ โทร 07757865853 or email konthaiuk.com@hotmail.com***

 

19 กันยา

วันประชาชนแห่งชาติ

สมัชชาประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
พบกันที่สวนลุมฯ 16.00 เพื่อเดินไปแยกราชประสงค์ รำลึกวีรชน และต้านรัฐประหาร

 

19 กันยายน

เสวนา ‘รัฐประหารเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างไร?’

จัดโดย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)
13.30 น. - 16.30 น.ณ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วิทยากร

  • ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ (หมอตุลย์)
  • คุณแทนคุณ จิตต์อิสระ (อี้)
  • คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด)
  • อาจารย์คณิน บุญสุวรรณ (อยู่ในระหว่างการเชิญ)

ดำเนินรายการโดย

  • อ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ

ประเด็นในการเสวนา เบื้องต้น

  • การเมืองหลังการรัฐประหารกับเสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพสื่อ
  • ความคาดหวังทางการเมืองหลังการรัฐประหาร และบทบาทของรัฐบาลปัจจุบัน
  • ความคาดหวังต่ออนาคตการเมืองไทย
  • อิทธิพลของนโยบายประชานิยมต่อประเทศไทยในปัจจุบัน
  • บทบาทของทักษิณที่มีต่อการเมืองไทย
  • ถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จะเกิดขึ้นเพราะอะไร และประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด

 

19 กันยา 5 ปี

รัฐประหารครั้งสุดท้ายของประเทศไทย?

นปช.สหภาพยุโรป (RED UDD EU) ประกาศจัดตั้ง ‘สหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน’ ของกลุ่มคนไทยในยุโรป 6 + 3 ประเทศ ขึ้นอีกเครือข่ายหนึ่งเพื่อเดินหน้ารณรงค์เรื่องยกเลิกมาตรา 112 ยุติคดี และปล่อยนักโทษคดีการเมืองและนักโทษคดีหมิ่นฯ ทุกคน ทั้งนี้ประกาศรณรงค์พร้อมกันในวันที่ 19 กันยายน ครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร 19 กันยา

19 กันยา

ของขวัญจากแดงชิคาโก้ USA เยี่ยมเพื่อนผู้ต้องขัง

เลี้ยงกาแฟเพื่อนผู้ต้องขัง
วันที่ 10 เยี่ยมเล็ก ส่วน 19 กันยายนเยี่ยมใหญ่

 

21 กันยายน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำนักข่าวประชาธรรม
กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

เสวนาวิชาการ "5 ปี รัฐประหาร 19 กันยา ปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ และ ไปให้พ้นจากระบอบอำมาตย์"

  • 13.00-17.00 น. ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • 13.00 - 14.00 น. "บทเรียน 5 ปี รัฐปรหาร 19 กันยา 2549"

วิทยากร

  • ศ. ดร. ธเนศร์ เจริญเมือง
  • รศ. ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ
  • รศ. ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
  • ศรีวรรณ จันทน์ผง นปช. เชียงใหม่

ผุ้ดำเนินรายการ

  • อ.ดร. เกรียงศักดิ์ (ม.ธรรมศาสตร์ ลำปาง)
  • 14.00 - 14.15 พักรับประทานอาหารว่าง
  • 14.15 - 15.15 น. "ปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ ไปให้พ้นจากระบอบอำมาตย์"

วิทยากร

  • รศ. ดร. ไชยันต์ รัชชกูล
  • อ.ดร. สมชาย ปรีชาศิลปกุล
  • ภัควดี ไม่มีนามสกุล

ผุ้ดำเนินรายการ

  • อ.ณัฐกร วิทิตานนท์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จีรนุช เปรมชัยพร

Posted: 15 Sep 2011 10:04 AM PDT

การไร้ซึ่งเสรีภาพเป็นดุจการขาดอากาศหายใจ เสรีภาพก็เหมือนอากาศที่เราไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่จะรู้สึกได้ในทันทีหากมีมันอยู่เบาบางหรือขาดหายไป และหากเราต้องอยู่ในสภาพที่ขาดอากาศนานเกินไป ก็จะส่งผลให้สมองตาย กลายสภาพเป็นมนุษย์ผักที่ไม่ยินดียินร้ายกับความเป็นไปรอบตัว

ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่ใช้มา 51 ปี

Posted: 15 Sep 2011 09:56 AM PDT

นาจิป ราซัก กล่าวสุนทรพจน์ในวันมาเลเซีย ประกาศยกเลิกกฎหมายความมั่นคง ISA เลิกคำสั่งภาวะฉุกเฉิน 3 ฉบับ เลิกควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ ปรับปรุงกฎหมายตำรวจเพื่อเอื้อแก่สิทธิรวมตัวสมาคมลั่น "จะไม่มีใครถูกจับกุมง่ายๆ เพียงเพราะแนวคิดทางการเมือง"  พร้อมโอนอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปให้ศาล ยกเว้นกรณีก่อการร้าย

เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา (15 ก.ย.) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียนาจิป ราซัก (Najib Razak) ได้กล่าวสุนทรพจน์ซึ่งออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์มาเลเซียทุกช่อง เนื่องในโอกาสวันมาเลเซีย (Malaysia Day) วันหยุดของทางการมาเลเซียในวันที่ 16 ก.ย. เพื่อรำลึกถึงการที่บอร์เนียวเหนือ ซาราวัก และสิงคโปร์ เข้ามาร่วมในสหพันธรัฐมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2506 (ก่อนที่สิงคโปร์จะแยกตัวออกไปในปี 2508)

โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้ประกาศยกเลิกกฎหมายความมั่นคงภายใน (Internal Security Act - iSA) ซึ่งบังคับใช้เป็นเวลากว่า 51 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 พร้อมประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน 3 ฉบับ ทั้งนี้การกล่าวสุนทรพจน์ของนาจิ๊ป มีขึ้นต่อหน้าวุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาแห่งชาติมาเลเซีย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะมีการออกกฎหมายใหม่ขึ้นมาแทน เพื่อปกป้องสันติภาพ ความสามัคคี และความปลอดภัยของประเทศ

เขายังประกาศด้วยว่า รัฐบาลจะล้มเลิกข้อกำหนดที่บังคับให้การขอใบอนุญาตตีพิมพ์และเผยแพร่สิ่งพิมพ์ต้องกระทำทุกปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ ใบอนุญาตสามารถถูกยกเลิกได้หากทางการพบว่าผู้รับใบอนุญาตละเมิดข้อกฎหมาย

นายนาจิปกล่าวยอมรับในถ้อยแถลงของเขาว่า มาตรการยกเลิกกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวเพื่อเพิ่มเสรีภาพให้กับประชาชน "แม้ว่าจะเสี่ยง แต่เรากำลังทำสิ่งนี้เพื่อความอยู่รอดของพวกเรา"

"จะไม่มีใครถูกจับกุมง่ายๆ เพียงเพราะแนวคิดทางการเมือง" เขากล่าวระหว่างสุนทรพจน์

ทั้งนี้ มาตรการยกเลิกกฎหมายความมั่นคงดังกล่าว มีเสียงตอบรับมาจากนายลิ้ม กวน เอ็ง เลขาธิการทั่วไปพรรค DAP และอดีตนักโทษการเมืองตามกฎหมายความมั่นคง หรือ ISA ซึ่งเขากล่าวว่า "เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญครั้งประวัติศาสตร์"

นายนาจิปซึ่งถือเป็นผู้นำพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional - BN) กล่าวด้วยว่า จะมีการออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ 2 ฉบับแทนที่ฉบับที่จะยกเลิกไปนี้ โดยที่มาตรการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีการตั้งข้อหาจะถูกจำกัดให้เหลือเฉพาะกรณีก่อการร้ายเท่านั้น "เพื่อรับรองว่าสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานจะได้รับการปกป้อง"

นาจิปกล่าวว่า ภายใต้กฎหมายใหม่ มาตรการขยายเวลาควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจะกระทำโดยศาลเท่านั้น ดังนั้น "อำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจะเปลี่ยนจากอำนาจของฝ่ายบริหารไปสู่อำนาจของฝ่ายตุลาการ ยกเว้นเฉพาะกรณีก่อการร้าย"

นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า กฎหมายการเนรเทศจะถูกยกเลิก และจะยกเลิกมาตรการที่ต้องขออนุญาตรายปีเพื่อตีพิมพ์สิ่งพิมพ์ ภายใต้กฎหมายตีพิมพ์สิ่งตีพิมพ์และการเผยแพร่สิ่งตีพิมพ์ (Printing Presses and Publications Act - PPPA)

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวด้วยว่าจะปรับปรุงกฎหมายตำรวจ เพื่อให้มีเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม โดยจะเป็นไปตามบรรทัดฐานของนานาประเทศ แม้ว่าการประท้วงบนท้องถนนจะยังคงเป็นข้อห้ามทางกฎหมายอยู่ก็ตาม

มาเลเซียอินไซเดอร์ ได้วิเคราะห์ว่า ถ้อยแถลงของนาจิปเหมือนเริ่มเป็นการกดดันเรื่องการเลือกตั้งซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคงไม่กำหนดจัดการเลือกตั้งในปีนี้แน่นอน แม้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีการพิจารณาว่าจะเลื่อนยุบสภาเร็วขึ้นและจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้นาจิปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายนปี 2552 พร้อมสัญญาว่าจะทบทวนกฎหมายความมั่นคง ISA ซึ่งขณะนี้จะมีการออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่แทน โดยหวังจะเอาใจชาวมาเลเซียสายกลาง

ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีย์ โมฮัมหมัดกล่าวในอาทิตย์นี้เสนอให้นาจิปถอยกลับมากำหนดจัดการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาเดิม ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีและผู้นำอาวุโสของรัฐบาลซึ่งต้องการให้พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ผลสำรวจล่าสุดของศูนย์เมอร์เดก้า ระบุว่าคะแนนนิยมของนาจิปอยู่ที่ร้อยละ 59 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่คะแนนนิยมสูงสุดของเขาเคยอยู่ที่ร้อยละ 79 เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ทั้งนี้คะแนนนิยมที่ตกต่ำของนาจิปเกิดจากปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และการสลายการชุมนุมของกลุ่มเบอร์เซะ 2.0 (Bersih 2.0) ที่รณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้ง เมื่อ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Najib announces repeal of ISA, three emergency declarations, By Shannon Teoh, Malaysianinsider, September 15, 2011 9.45 pm http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/najib-announces-repeal-of-isa-three-emergency-declarations/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: นายอำเภอคอนสารสั่ง 3 ชาวบ้านทุ่งลุยลายออกจากพื้นที่ทำกิน อ้างรุกป่า

Posted: 15 Sep 2011 09:29 AM PDT

นายอำเภอคอนสารทำหนังสือสั่งการถึงชาวบ้านทุ่งลุยลายจี้ออกพื้นที่ ภายใน 7 ต.ค.นี้ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เอาแผ่นป้ายไปติดในพื้นที่ทำกิน ย้ำหากไม่ปฏิบัติตามจะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเอง ทั้งมีความผิดฐานขัดคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่

 
วันนี้ (15 ก.ย.54) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐกรณีเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยผาผึ้งว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีหนังสือคำสั่งลงนามโดยนายประทีป ศิลปะเทศ นายอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ ส่งถึงนายวานิช สุขันธ์ อายุ 53 ปี นายคำกอง ญาณไกล อายุ 62 ปี และนางสง่า ฤทธิ์คุ้ม อายุ 52 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ทางไปรษณีย์ ให้ทำการรื้อถอน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพืชผลที่ปลูกไว้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้งให้หมด ภายในวันที่ 7 ต.ค.54 
 
หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นายอำเภอคอนสาร หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจะเข้ามาดำเนินการยึด รื้อถอนเอง โดยชาวบ้านที่ได้รับหนังสือดังกล่าวจะต้องชดใช้หรือออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งถูกดำเนินคดีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2517 มาตรา 33 ทวิ ฐานขัดคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 25(1) หรือ (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านมีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง โดยคำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย แต่การอุทธรณ์ดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งนี้ เว้นแต่จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับโดยชัดเจน
 
ป้ายประกาศคำสั่งของนายอำเภอคอนสาร ที่หน่วยลาดตระเวนป่าไม้นำมาติดไว้บริเวณที่ทำกินของชาวบ้าน เมื่อวันที่ 9 ก.ย.54 
 
ด้านนายวานิช หรือ นายดาว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.54 หน่วยลาดตระเวนป่าไม้ นำโดยนายพจน์ พรมเอี่ยม พร้อมกำลังประมาณ 8 นาย ซึ่งใน 2 คนนั้นได้พกอาวุธปืนเอชเค นอกจากปืนพกที่ติดประจำตัวทุกนายแล้ว นำแผ่นป้ายมาติดบริเวณไร่ของเขา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าห้วยหินฝน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยแผ่นป้ายระบุว่าให้เขาออกจากพื้นที่ ภายในวันที่ 7 ต.ค.54 พร้อมทั้งทำลาย รื้อถอนสิ่งต่างๆ หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่จะเข้ามารื้อถอน พร้อมทั้งดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
นายวานิช กล่าวต่อมาว่า เขาและชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์คือนางเกสร ตู้ประเสริฐ นายวิเศษ โตปื้น นายดอน และนางอี๊ด ได้พยายามพูดกับนายพจน์ ขอร้องไม่ให้เร่งดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ และยุติการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงที่รัฐบาลออกนโนบายเพื่อแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินให้ราษฎร์ แต่นายพจน์ ไม่ยอมฟังคำกล่าว พร้อมข่มขู่ และบอกเป็นคำสั่งของนายอำเภอที่จะมีการดำเนินการออกหมายจับเพิ่มเติม
 
นายดาว กล่าวถึงประวัติของที่ทำกินผืนดังกล่าวว่า เดิมเป็นพื้นที่ของพ่อตา คือ นายเปีย โตปื้น ซึ่งเข้าทำมาหากินตั้งแต่ก่อนปี 2508 ส่วนเขาได้มารับช่วงต่อในปี 2522 โดยเริ่มปลูกข้าวโพด ถั่งแดง กระทั่งปี 2551 ผลผลิตจากข้าวโพดไม่คุ้มทุน จึงหันมาปลูกยางพารา พร้อมปลูกกล้วย น้อยหน่า มะละกอ ถั่วแดง แซมขึ้นมาด้วย
 

กลุ่มชาวบ้านทุ่งลุยลายที่ถูกสั่งให้ออกจากพื้นที่ถ่ายรูปคู่กับป้ายคำสั่งของนายอำเภอคอนสาร
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 13 ก.ย.54 หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านกรณีได้รับหนังสือจากนายอำเภอคอนสาร จึงเดินทางไปยังจุดที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้นำป้ายไปปักไว้ พบว่าพื้นที่ทำกินของนายวานิช มีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 7.9 ตารางวา ส่วนนายคำกอง มีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 45 ตารางวา อยู่ในเขตบริเวณป่าห้วยหินฝน และนางสง่า มีที่ทำกินอยู่ในเขตห้วยขี้ตม เนื้อที่ 3 งาน 27ตารางวา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยผาผึ้ง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม 
 
อย่างไรก็ตาม จากการสอบภามเพิ่มเติม ชาวบ้านให้ข้อมูลยืนยันว่าพื้นที่ที่ถูกกล่าวหานั้นอยู่ตรงข้ามกับแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาด้วย
 
ทั้งนี้ ป้ายประกาศคำสั่งของนายอำเภอคอนสาร อ้างถึงคำพิพากษาศาลจังหวัดภูเขียว เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.52 คดีหมายเลขแดงที่ 962/2552 ว่าจำเลย คือนายคำกอง ญาณไกล มีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 ฐานแผ่วถาง หรือทำลายต้นไม้ หรือพฤกษชาติอื่นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จากกรณีมีการแผ้วถางพื้นที่จำนวน 5 ไร่ 3 งาน 45 ตารางวา บริเวณป่าห้วยหินฝน หมู่ 1 ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 538 (พ.ศ.2516) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง อีกทั้งอ้างอำนาจนายอำเภอคอนสารในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม จ.ชัยภูมิ ในการออกคำสั่ง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทีวีซีเรียปูด มีสายลับอิสราเอลคอยปลุกระดมต้านรัฐบาล

Posted: 15 Sep 2011 05:42 AM PDT


วีดิโอบรรยากาศงานรำลึกถึง กิอาต มัททาร์ โพสท์โดยนักกิจกรรม

 

ทูตหลายประเทศร่วมงานรำลึก นักสิทธิมนุษยชนซีเรียผู้เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554 นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษย์ชนในซีเรียจัดพิธีรำลึกถึงการเสียชีวิตของกิอาต มัททาร์ ที่เขตดารายา ใกล้กับกรุงดามากัส โดยมีเอกอัครราชทูตประจำซีเรียของประเทศต่างๆ เข้าร่วม

ภาพวิดิโอที่นักกิจกรรมถ่ายไว้เผยให้เห็น ทูตของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส นั่งอยู่กับผู้เข้าร่วมเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล นักกิจกรรมเผยว่าหลายชั่วโมงต่อมาหลังจากก็มีกองทหารฝ่ายรัฐบาลยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชนผู้มาร่วมพิธี

มัททาร์ เป็นแกนนำสำคัญในการประท้วงต่อต้านการปกครองประเทศยาวนาน 41 ปี ของพรรคบาธ นักกิจกรรมกล่าวว่ามัททาร์ถูกสังหารโดยการทรมานจากเจ้าหน้าที่รัฐ ร่างของเขาถูกนำส่งครอบครัวเมื่อวันพุธของสัปดาห์ก่อน (7) จากการรายงานของกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)

เจ้าหน้าที่สถานทูตของทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต่างยืนยันกับสำนักข่าวต่างประเทศว่าเอกอัครราชทูตประจำซีเรียของพวกเขาเข้าร่วมพิธีเพื่อแสดงความเสียใจต่อมัททาร์

สำนักข่าวอัลจาซีร่าตั้งข้อสังเกตว่า การที่เหล่าทูตจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้จะยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างเหล่าทูตกับซีเรียมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมซีเรียก็ใช้มาตรการจำกัดการเดินทางโดยห้ามทูตจากต่างประเทศเดินทางออกจากเมืองหลวงอยู่แล้ว

เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โรเบิร์ท ฟอร์ด เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำซีเรียถูกรัฐบาลซีเรียประณามหลังจากที่เขาเดินทางไปที่เมืองฮามาเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ชุมนุมที่นั่น

เมื่อวันอาทิตย์ (11) ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ก็ประณามการสังหารมัททาร์ โดยวิกเตอเรีย นูแลนด์ โฆษกการต่างประเทศของสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์ว่า ทางการสหรัฐฯ ขอประณามในฐานะที่มีความเป็นไปได้สูงสุดที่เจ้าหน้าที่ซีเรียจะสังหารนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน กิอาต มัททาร์ ขณะที่ถูกกุมขังอยู่ และยังได้กล่าวชื่นชมว่า กิอาต มัททาร์เป็นผู้ทีมีความกล้าหาญในการต่อสู้กับรัฐบาลอัสซาด

ทางด้านนายกรัฐมนตรี เรเซป เทยิป เออโดแกน ของตุรกี ซึ่งได้ออกมาแสดงความกังวลว่าซีเรียจะเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองนั้น ก็เริ่มตีตัวออกห่างประธานาธิบดีอัสซาดทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าอัสซาดเป็นเพื่อนกับเขาโดยส่วนตัว

"ไม่มีใครอยากเป็นเพื่อนหรือเชื่อถือในรัฐบาลที่ยิงกระสุนจริงใส่ประชาชนของตัวเอง และใช้รถถังบุกเข้าไปตามเมืองต่างๆ" เออโดแกนกล่าว "ผู้นำที่สังหารประชาชนของตนเองนั้นไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไป"

 

รัฐบาลใช้รถถังเคลื่อนพลปราบการชุมนุมที่เมืองติดชายแดนตุรกี

ในวันที่ 15 ก.ย. ประชาชนชาวซีเรียประกาศว่าจะออกมาชุมนุมกันในหลายพื้นที่ในฐานะครบรอบ 6 เดือน การชุมนุมขับไล่รัฐบาลนับตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. เป็นตันมา

ขณะเดียวกันกลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่มในซีเรียก็รายงานว่ามีผู้ถูกสังหารโดยกองกำลังของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมามีรถถังหลายสิบคันและกองกำลังของรัฐบาลหลายร้อยบุกโจมตีเมืองในเขตชายแดนฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือใกล้กับตุรกี

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในซีเรีย SOHR รายงานว่ากองกำลังติดอาวุธปืนกลหนักของรัฐบาลได้ตั้งด่านปิดกั้นถนนที่เชื่อมไปยังหลายหมู่บ้าน ขณะที่กลุ่มปฏิวัติซีเรียซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมในระดับรากหญ้าเผยว่ามีเด็กชายถูกยิงเสียชีวิตในหมู่บ้านจานูดิยาขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม

ทางสหประชาชาติเผยตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดรวม 2,600 รายส่วนใหญ่เป็นประชาชน ขณะที่นักกิจกรรมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบอกว่ายอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 แล้ว

 


วีดิโอคลิปของพันโทฮุสเซน อัล-ฮามุช ผู้ประกาศว่าตนขอถอนตัวออกจากกองทัพเพื่อเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

 

ทีวีซีเรียปูด มีสายลับอิสราเอลคอยปลุกระดม

สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลซีเรียประกาศว่า ในช่วง 20:30 น. ของวันพฤหัสบดี (15) จะมีการออกอากาศคำสารภาพของพันโทฮุสเซน อัล-ฮามุช ผู้ที่เคยประกาศผ่านวิดิโอเว็บไซต์ยูทูปว่าตนได้ถอนตัวออกจากกองทัพซีเรีย เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

หนังสือพิมพ์สนับสนุนรัฐบาลของซีเรียรายงานว่า อัล-ฮามุช ถูกรัฐบาลจับกุมตัวได้ที่เมืองอิดลิบทางตอนเหนือของซีเรียพร้อมกับผู้ถูกออกหมายจับจากทางการรายอื่นๆ

โทรทัศน์ของรัฐบาลซีเรียยังประกาศอีกว่าจะมีการเผยแพร่คำสารภาพของสายลับอิสราเอลในวันเสาร์ (17) ที่จะถึงนี้ โดยบอกว่าสายลับอิสราเอลจะเปิดเผยข้อมูลเรื่องการสมคบคิดต่อต้านซีเรีย การวางแผนลอบสังหารอิหมาด มูห์นิยา (ผู้บัญชาการกลุ่มเฮซโบลลาที่ถูกสังหารโดยการวางระเบิดรถในกรุงดามากัสเมื่อปี 2008) รวมถึงการที่สายลับคอยปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล สังหารคนสำคัญของฝ่ายต่อต้าน และสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย

ซึ่งทางการซีเรียได้กล่าวเสมอมาว่า มีต่างชาติคอยสมคบคิดเพื่อแบ่งแยกซีเรีย และทางการก็กล่าวหาว่ามี "กลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ" คอยสังหารผู้คนรวมถึงทหารและตำรวจรวมกว่า 700 นาย

 

ที่มา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผอ.ประชาไท คนไทยคนแรกรับรางวัล "เฮลมาน-ฮามเมตต์" ต่อสู้ด้านสิทธิฯ

Posted: 15 Sep 2011 05:14 AM PDT

จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไท รับรางวัลจากฮิวแมนไรท์ วอทช์ ร่วมกับนักกิจกรรมจากกว่า 24 ประเทศ ระบุการเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล แสดงถึงเสรีภาพการแสดงออกของไทยที่ลดต่ำลงจากการรัฐประหาร 2549 ทางคณะกรรมการเพื่อพิทักษ์ผู้สื่อข่าว (ซีพีเจ) เผย สื่อออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างตกเป็นเป้านิ่งของรัฐมากขึ้น

14 ก.ย. 54 - ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการมอบรางวัล เฮลมาน-ฮามเมตต์ ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ภายใต้องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เพื่อมอบเงินรางวัลช่วยเหลือให้แก่นักเขียนและนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินคดีของรัฐ รางวัลดังกล่าว ตั้งชื่อตาม เฮลมานและฮามเมตต์ นักเขียนบทละครการเมืองชาวอเมริกัน ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่าแม่มดจากลัทธิต่อต้านคอมมิวนิสต์ ภายใต้รัฐบาลแม็คคาร์ธีในทศวรรษ 1950 โดยในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 48 คนจาก 24 ประเทศ จากวงการนักเขียน นักข่าว และนักเคลื่อนไหว
 

ไทย: “ความเศร้าในความยินดี”
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทดอทคอม ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจากการถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เปิดเผยว่า แม้จะมีความยินดีกับการได้รับรางวัลนี้ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเศร้าใจ เนื่องจากเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการลดต่ำลงของเสรีภาพในเมืองไทยอย่างชัดเจน อันเป็นผลมาจากการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งทำให้ทหารมีอำนาจในการเมืองมากขึ้น

เธอกล่าวว่า ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะมองเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องไม่สำคัญ และแย้งว่าเรื่องปากท้องอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อน แต่เธอมองว่า เสรีภาพจะนำไปสู่การคิดต่าง อันจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการไม่ยอมรับความไม่เป็นธรรมในสังคม ดังนั้น เสรีภาพและประชาธิปไตยที่กินได้ ย่อมมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้

“การไร้ซึ่งเสรีภาพเป็นดุจการขาดอากาศหายใจ เสรีภาพก็เหมือนอากาศที่เราไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่จะรู้สึกได้ในทันทีหากมีมันอยู่เบาบางหรือขาดหายไป และหากเราต้องอยู่ในสภาพที่ขาดอากาศนานเกินไป ก็จะส่งผลให้สมองตาย กลายสภาพเป็นมนุษย์ผักที่ไม่ยินดียินร้ายกับความเป็นไปรอบตัว” จีรนุชกล่าว
 

มาเลเซีย: การ์ตูนที่ปลุกระดม?
“ซูนาร์” หรือ ซุลกิลฟลี เอสเอม อันวาร์ อัล ฮาค นักวาดภาพการ์ตูนการเมืองชาวมาเลเซีย ผู้มีผลงานวิพากษ์วิจารณ์การคอร์รัปชั่นของรัฐบาลในหนังสือพิมพ์รายวัน และในเว็บไซต์สื่อทางเลือก www.malaysiakini.com อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าเขาจะถูกคุกคาม คุมขัง ถูกแบนหนังสือ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถหยุดสิ่งที่เขาทำอยู่ได้

“ผมจะวาดการ์ตูนการเมืองต่อไปจนแม้จะเหลือน้ำหมึกหยดสุดท้าย และหากรัฐบาลต้องการจะห้ามไม่ให้ผมวาดการ์ตูนวิจารณ์การเมือง เขาคงจะต้องสั่งหยุดผลิตน้ำหมึกในมาเลเซียให้ได้ก่อน” ซูนาร์กล่าว

เขากล่าวว่า ในมาเลเซีย มีกฎหมายหลายฉบับที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.สื่อสิ่งพิมพ์และการพิมพ์ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งทำลายพื้นที่ของคนที่มีความคิดต่างในสังคม โดยหนังสือของเขา 7 เล่ม ถูกสั่งห้ามไม่ให้ตีพิมพ์ และยังถูกจับกุม คุกคาม  เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าการ์ตูนที่เขาวาดปลุกระดมและทำลายศีลธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม

ด้วยเหตุนี้ ซูนาร์จึงมองว่าในมาเลเซีย โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ไม่ใช่สื่อทางสังคมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อที่มีพลังในการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่าง ดังเช่นเหตุการณ์การชุมนุมของฝ่ายค้าน “Bersih 2.0” ซึ่งใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือการระดมพล
 

สิงคโปร์และกัมพูชา: พูดความจริงอาจเข้าตาราง
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ยังมีนักข่าวจากกัมพูชาและอังกฤษที่ถูกจำคุก เนื่องมาจากการเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของรัฐ เช่นในกรณีของ ฮัง ชากรา นักข่าวชาวกัมพูชาอายุ 57 ปี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Khmer Machasrok โดยเขากล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการทำข่าว 20 ปี เขาถูกคุกคามโดยไม่เว้นจากนักธุรกิจ นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล

จนมาในปี 2552 เมื่อเขาตีพิมพ์บทความเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซก อาน ส่งผลให้เขาถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท และจำคุกเกือบหนึ่งปี จนภายหลังได้รับอภัยโทษจากกษัตริย์ ฮังจึงได้รับการปล่อยตัว

ขณะที่ อลัน ชาเดรก นักข่าวสัญชาติอังกฤษอายุ 77 ปี ได้รับโทษประหารชีวิตจากรัฐบาลสิงคโปร์ เนื่องมาจากการตีพิมพ์หนังสือที่วิจารณ์ศาลและโทษประหารชีวิตในสิงคโปร์ หลังจากถูกจำคุกเป็นเวลา 5 สัปดาห์ เขาก็ถูกเนรเทศกลับไปยังอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า เขาจะยังวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวต่อไป

“ตราบใดที่สิงคโปร์ยังมีโทษประหารชิวิต ผมก็จะคอยเป็นเสี้ยนหนามบ่งรัฐสิงคโปร์เช่นนี้ตลอดไป” อลันระบุในแถลงการณ์


องค์กรสิทธิชี้ รัฐหันมาจัดการสื่อออนไลน์มากขึ้น

ชอว์น คริสปิน ตัวแทนจากองค์กรพิทักษ์สิทธิผู้สื่อข่าว หรือซีพีเจ (Committee for Protection of Journalists – CPJ) กล่าวว่า รัฐบาลต่างๆ ในแถบเอเชีย จงใจที่จะควบคุมสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากผู้สื่อข่าว บล็อกเกอร์ และนักเขียน หันมาตีพิมพ์ข่าวและเนื้อหาต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

นอกจากนี้ คริสปินยังมองว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทยมีความคลุมเครือในการบังคับใช้และการตีความ ขณะที่ข้อกำหนดต่างๆ ก็ไม่เคยได้รับการนิยามที่ชัดเจนจากภาครัฐ นอกจากนี้ เขายังมองว่า ท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทัพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ต่อกฎหมายดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกด้วย

“รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องถือโอกาสนี้ถอนฟ้องข้อกล่าวหาต่อจีรนุช เปรมชัยพร รวมถึงแก้ไขข้อกฎหมายในส่วนที่ไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มิเช่นนั้น คำกล่าวอ้างเรื่องประชาธิปไตยของ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็จะเป็นเรื่องที่มีไว้ตบตาเพียงเท่านั้น” คริสปินกล่าว

ทางฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มการทะลวงข้อมูลและปิดกั้นจากรัฐ เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมยกตัวอย่างประเทศจีนที่คิดค้นเทคโนโลยีด้านความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ต และจัดอบรมให้กับรัฐบาลประเทศอื่นๆ เช่นในเวียดนามและลาว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลพม่าเพิ่มโทษจำคุก "Burma VJ" รวม 18 ปี-หลังรายงานเหตุระเบิดในย่างกุ้ง

Posted: 14 Sep 2011 11:43 PM PDT

"ซิตตู่ เซยะ" ช่างภาพสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยพม่า ถูกตัดสินจำคุกรวม 18 ปี หลังรายงานข่าวเหตุระเบิดกลางเมืองย่างกุ้ง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีก่อน ขณะที่เจ้าหน้าที่เรือนจำได้ลงโทษนักข่าวผู้นี้ด้วยการขังไว้ในกรงสุนัข ฐานไม่ยอมทำความเคารพผู้คุม ขณะที่บิดาของเขาก็ถูกสั่งจำคุกด้วยฐานติดต่อฝ่ายค้านพม่านอกประเทศ

นายซิตตู่ เซยะ ช่างภาพสถานีโืทรทัศน์ดีวีบี (ที่มา: DVB)

"เว็บไซต์อิระวดี" ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์พลัดถิ่นของพม่า รายงานว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (14 ก.ย.) ศาลนครย่างกุ้งตัดสินเพิ่มโทษจำคุก 10 ปี แก่นายซิตตู่ เซยะ (Sithu Zeya) ช่างภาพของสถานีโทรทัศน์เสียงแห่งประชาธิปไตยพม่า หรือดีวีบี ในข้อหาละเมิดกฎหมายว่าด้วยการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ซิตตู่ เซยะ เพิ่งถูกตัดสินเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ให้จำคุก 8 ปี ตามกฎหมายการสมาคมที่ผิดกฎหมาย โดยถูกรัฐบาลตั้งข้อกล่าวว่าติดต่อกับองค์กรผิดกฎหมาย และละเมิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง

ช่างภาพดีวีบีวัย 21 ปีผู้นี้ ถูกจับเมื่อ 15 เมษายนปีที่แล้ว และถูกกักขังที่เรือนจำอินเส่ง หลังเขาเป็นผู้ถ่ายภาพเหตุการณ์ระเบิดกลางนครย่างกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างสงกรานต์ของพม่าเมื่อปี 2553 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 170 คน

ระหว่างการถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวน มีรายงานว่า ซิตตู่ เซยะรับสารภาพว่ามีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์ดีวีบี ของฝ่ายค้านพม่าซึ่งมีสำนักงานอยู่ต่่างประเทศ และยอมรับว่าได้เข้าร่วมอบรมการรายงานข่าวในประเทศไทย โดยคำรับสารภาพเหล่านี้ ถูกอ้างโดยฝ่ายโจทก์

"เว็บไซต์อิวระดี" ยังรายงานด้วยว่า เมื่อมกราคมที่ผ่านมาในขณะที่ซิตตู่ เซยะถูกขังที่เรือนจำอินเส่ง เขาถูกผู้คุมนำตัวไปขังไว้ในกรงสุนัข ซึ่งใช้สำหรับขังสุนัขรักษาความปลอดภัยเรือนจำ เนื่องจากซิตตู่ไม่ยอมทำความเคารพผู้คุมเรือนจำ

พ่อของซิตตู่ เซยะ คือหม่อง หม่อง เซะยะ ถือเป็นลูกของนักเขียนพม่าชื่อดัง ซะยาลินยอน (อาจารย์ลินยอน) ทั้งนี้หม่อง หม่อง เซยะ ก็ถูกจับที่บ้านเมื่อวันที่ 16 เมษายนปีที่ผ่านมาเช่นกัน และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำอินเส่ง โดยข้อมูลจากทนายของเขาระบุว่า หม่อง หม่อง เซยะ ถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดกฎหมายการสมาคมที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเขาติดต่อกับรัฐบาลพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย โดยเขาถูกตัดสินจำคุก 13 ปี เมื่อ 1 เมษายน 1 วันก่อนที่เต็งเส่งจะเข้ารับตำแหน่ง

นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายเนย์ เมียว ซิน ซึ่งเป็นอาสาสมัครขององค์กรรับบริจาคเลือด ที่สนับสนุนโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ก็ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ในข้อหาละเมิดกฎหมายว่าด้วยการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ข้อมูลจากกลุ่มรณรงค์ปล่อยตัวนักข่าวในพม่า "Free Burma VJ" ระบุว่ามีผู้สื่อข่าววิดีโอหรือ VJ ในพม่ากว่า 17 คน ถูกทางการพม่าจับกุมและตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลาหลายสิบปี โดย VJ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทันเหตุการณ์จากในพม่าออกสู่สายตาชาวโลก โดยเฉพาะในช่วงการประท้วงใหญ่ของพระสงฆ์ในปี 2550 ที่จบลงด้วยการที่รัฐบาลออกมาปราบปรามผู้ที่ออกมาประท้วง จนทำให้มีประชาชนเป็นจำนวนมากต้องล้มตายและได้รับบาดเจ็บ และการรายงานข่าวในช่วงพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่าในปี 2551

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
VJ Handed 10 More Years, By SAI ZOM HSENG, Irrawaddy, September 14, 2011
http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=22074

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี: UNIQLO: ประชาธิปไตยในแฟชั่น

Posted: 14 Sep 2011 08:44 PM PDT

วันก่อน (9 ก.ย.) ดิฉันบังเอิญต้องไปเจอเพื่อนฝูงที่ เซ็นทรัล เวิลด์ (ตอนไปก็ยังหวั่นๆ อยู่ว่าเขาจะให้เข้าห้างฯ หรือเปล่า เพราะเขียนว่าเขาไว้เสียเยอะ) โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่าวันนั้นเป็นวันที่แบรนด์เสื้อผ้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น UNIQLO เปิดขายให้แก่คนทั่วไปเป็นวันแรก (สำหรับสื่อมวลชน และเซเล็บกลุ่มหนึ่ง ไปช้อปตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. แล้วค่ะ) พอไปถึง ได้เห็นภาพกลุ่มคนจำนวนหลายร้อย หรือเป็นพันยืนต่อคิวเพื่อเข้าไปช้อปเสื้อผ้า UNIQLO ถึงกับอึ้ง เพราะมีการต่อคิวและปล่อยให้เข้ากันเป็นรอบๆ ได้ข่าวว่ามีคนมายืนต่อคิวตั้งแต่เช้า เพื่อจะเป็น 1,000 คนแรก ที่ได้รับถุงผ้าอีกด้วย ตอนที่ไปก็เย็นย่ำค่ำมืดแล้ว แต่คนที่มาต่อคิวเพื่อเข้าไปช้อปก็ยังยืนรอด้วยความตั้งใจอย่างล้นหลาม

ใจประหวัดไปถึงตอนที่มีข่าวการยืนต่อคิวซื้อไอโฟนสี่ครึ่งราคาทันที!!!

แต่โชคดีที่ไม่มีข่าวเสียหายเหมือนอย่างการต่อคิวซื้อไอโฟนสี่ที่ผ่านมา (แม้จะมีข่าวออกมาว่ามีการแซงคิวบ้าง) ในรอบเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นพฤติกรรมแปลกๆ (หรืออาจจะไม่แปลกก็ได้) ของคนกรุง เริ่มตั้งแต่เซ็นทรัลลาดพร้าวเปิดใหม่ แล้วคนแห่เข้าไปสูดกลิ่นสียังไม่แห้ง สูดฝุ่นกันอย่างล้นหลาม เป็นประวัติการณ์ ทั้งๆ ที่การรีโนเวทครั้งนี้ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ แบรนด์เสื้อผ้าที่มาตั้งช้อปใหม่ๆ ก็มีอยู่แล้วในห้างอื่นๆ อย่าง TOPSHOP ก็มีที่เซ็นทรัล เวิลด์ หรือเซ็นทรัล ชิดลม เช่นเดียวกันกับ Krispy Kream ที่มาเปิดสาขาใหม่ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ก็มีคนแห่มาต่อคิวซื้อ ถ่ายรูปหน้าร้าน ทั้งๆ ที่สาขาพารากอนแสนจะสะดวกสบาย ไม่มีใครต่อคิวด้วยซ้ำไป ฯลฯ หลายๆ คนขึ้นเฟซบุ๊กว่าจะไปเซ็นทรัล ลาดพร้าวที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ประหนึ่งว่ามันเป็นเทศกาลอะไรสักอย่าง ที่เกิดขึ้นปีละครั้ง หรือถ้าไม่ไปวันนี้จะพลาดอะไรดีๆ ไปอย่างแน่นอน

พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ดิฉัน (และคาดว่าอีกหลายคน) เกิดความสงสัยในพฤติกรรมของคนเมือง ว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นเพราะอะไร มันเป็นเทรนด์เหรอ ? อะไรคือแรงขับในเทรนด์นี้ ? คิดๆๆๆๆ...คิดไปจนปวดหัวก็คิดไม่ออกว่าเกิดอะไรขึ้น หรือว่ามันจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ควรต้องเสียเวลาคิดให้ปวดหัว จนเมื่อไม่ได้ข้อสรุปก็เลิกคิดไปเอง (ง่ายไปไหมคะ) แล้วคิดง่ายๆ ว่า อ๋อ...สงสัย คงจะมีเรื่องตื่นเต้นในชีวิตน้อยไป เลยทำให้ทุกเรื่องมันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น มหัศจรรย์

กลับมาที่เซ็นทรัล เวิลด์ พอดีไปเจอรุ่นน้องที่ทำงานพีอาร์ เธอจึงชวนดิฉันให้เข้าไปช้อป UNIQLO โดยไม่ต้องยืนต่อคิวให้เมื่อย ด้วยวิธีแว้บเข้าหลังร้าน แต่ด้วยความรีบเร่ง มีนัดอยู่แล้ว และดิฉันไม่ได้ใส่เสื้อผ้า UNIQLO เป็นปรกติ (มีตัวหนึ่งเป็นสกินนี่ยีนส์ผ้ายืดสีดำ ซื้อจากญี่ปุ่น เนื้อผ้าดี แต่ที่บอกว่าเย็บดีขอปฏิเสธอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะหนึ่ง ไม่ใช่แฟนตัวจริงของแบรนด์ สอง สกินนี่ยีนส์ตัวนั้นตะเข็บแตกไปแล้วค่ะ นี่ไม่ได้ใส่แบบสมบุกสมบันเลยนะคะ เอ๊ะ! หรือว่าเป็นเพราะดิฉันน้ำหนักขึ้น?) เพราะดูจากแอดโฆษณาที่เห็นน้องญาญ่าใส่แล้ว ก็รู้สึก เอิ่ม...น้องญาญ่าสวยขนาดนั้น ใส่ UNIQLO ยังออกมาบ้านๆ ได้เลย แล้วดิฉันจะเหลือเหรอ? ก็เลยขออนุญาตน้องคนนั้นรีบชิ่งไปทำธุระด่วน

เอาล่ะ...เมาท์พอแล้ว มาเข้าเรื่องกันเสียที

ปรากฏการณ์คนกรุงแห่ไปต่อคิวซื้อไอโฟนสี่ครึ่งราคา และเสื้อผ้าแบรนด์ UNIQLO มีอะไรเหมือนกันอยู่ เพราะคนที่ไปยืนต่อคิวซื้อไอโฟนสี่นั้น มีปัจจัยที่จูงใจอยู่ 2 ประการ คือ 1.ไอโฟน หรือสมาร์ทโฟน เป็นเทคโนโลยีเทรนด์ ที่อยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คนในสังคมปัจจุบันนี้  2 .มันลดครึ่งราคา แต่เมื่อนำปัจจัยสองประการนั้นมาเปรียบเทียบกับเสื้อผ้าแบรนด์ UNIQLO ก็จะเห็นว่ามีส่วนที่เหมือนกันอยู่คือ ‘ราคา’ (ไอโฟนลดครึ่งราคา UNIQLO ราคาถูก) แต่สิ่งที่เป็นคำถามค้างคาใจอยู่คือ UNIQLO ถือเป็นเสื้อผ้าที่อยู่ในเทรนด์แฟชั่น ซึ่งเป็นไลฟ์ไสตล์ของคนในสังคมมากพอที่จะไปยืนต่อคิวเป็นชั่วโมงสองชั่วโมงเพื่อรอซื้อหรือไม่ ?

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเพื่อคลี่คลายคำถามที่ตั้งไว้นั้น เราต้องหันมาดู ‘ภาพลักษณ์’ ที่แบรนด์ UNIQLO ส่งออกสู่สายตาผู้ซื้อ โดย UNIQLO เสนอภาพของเสื้อผ้าแบรนด์ตัวเองภายใต้คอนเซ็ปต์ว่า ‘Made For All’ เสื้อผ้าสไตล์เบสิค คุณภาพดี ราคาถูกที่ทุกคนเข้าถึงได้ รวมถึงการปฏิเสธการวิ่งตามเทรนด์แฟชั่น ที่เปลี่ยนทุกฤดูกาล และเสนอความเรียบง่าย เบสิค ว่าเป็นสิ่งที่สามารถใส่ได้ตลอด ไม่ตกยุคตกสมัย ไม่เหมือนเสือผ้าแบรนด์ในไลน์ใกล้เคียงกันอย่าง Zara, Topshop H&M (ซึ่งดิฉันว่าเปรียบเทียบอย่างนี้ก็ไม่ถูกนัก เพราะ UNIQLO น่าจะใกล้เคียงกับ GAP มากกว่า)

ก่อนอื่น ดิฉันขอออกตัวว่า การเลือกใส่เสื้อผ้า สไตล์ เทรนด์ แฟชั่น ฯลฯ นั้นเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวของใครของมัน ไม่มีใครผิดใครถูก เพราะต่างคนต่างมีปัจจัยในการตัดสินใจเพื่อ ‘เลือกซื้อ’ รสนิยมของตัวเอง แต่ปรากฏการณ์ที่คนหลายพันไปยืนต่อคิวเพื่อช้อปเสื้อผ้า UNIQLO นั้นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ น่าวิเคราะห์ว่าเหตุปัจจัยใดที่เป็นแรงกระตุ้นในการ ‘เลือกซื้อ’ รสนิยมของตัวเอง

หากมองในแง่ ‘แฟชั่น’ (ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ ‘ความไร้สาระ’ ของพวกมีเงินฟุ่มเฟือยชอบซื้อเสื้อผ้าเพียงเท่านั้น แต่อย่าลืมว่ามันคืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่เซ็กชั่นหนึ่งชองโลก) เราสามารถมองเสื้อผ้าแบรนด์ UNIQLO ได้สองทาง คือ หนึ่ง การที่ UNIQLO วางตำแหน่งของตัวเอง (Positioning) เป็นเสื้อผ้าที่ไม่วิ่งตามแฟชั่น ไม่วิ่งตามเทรนด์ นั้นเป็นการวางตำแหน่งที่ ‘ดัก’ รอลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบเสื้อผ้าในสไตล์เบสิค ในแง่ผู้ที่มีอุดมการณ์แบบหนึ่งก็คงมองว่าเป็นการดี ที่เราไม่ต้องมาแข่งขันเรื่องแต่งตัวกัน ทุกคนแต่งตัวเหมือนๆ กัน เรียบเท่ ดูดีได้ (เช่นเสื้อยืดธรรมดาๆ หลากสีของ UNIQLO) แต่เราหันมาใส่ใจในเรื่องคุณภาพของสิ่งที่เราสวมใส่แทน ฟังๆ ไปเหมือนจะดี เหมือนเวลาที่องค์กรรัฐมักบอกนักเรียนในโรงเรียนสังกัดรัฐบาลว่าที่ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนนั้น จะได้ไม่แต่งตัวแข่งกัน เอาเวลาไปใส่ใจเรื่องการเรียนจะดีกว่า

แต่ในแง่ผู้ที่มีอุดมกาณ์แบบหนึ่ง สามารถมองได้ว่า เสื้อผ้าแบรนด์ UNIQLO นั้น เป็นการหยุดยั้งความคิดสร้างสรรค์ของวงการแฟชั่นได้เลยทีเดียว เพราะมันเป็นแบรนด์ที่ไม่มีการคิด ‘ดีไซน์’ ขึ้นมาในแต่ละซีซั่น (แม้จะบอกว่าออกมาเป็นคอลเล็กชั่นก็ตาม แต่เสื้อยืดคอกลมน่ะเหรอ ? คือคอลเล็กชั่น ?) เหมือนอย่างที่แบรนด์แฟชั่นทั่วไปนั้น ดีไซเนอร์ก็จะเป็นคนคิดว่าซีซั่นนี้เขาหรือเธอได้แรงบันดาลใจมาจากไหน แล้วถ่ายทอดอออกมาเป็นเสื้อผ้ารูปแบบไหน สีอะไร ลายพิมพ์อะไร รูปทรง ดีไซน์ แบบไหน ฯลฯ ซึ่งในแง่นี้เราสามารถมองได้ถึงคำว่า ‘สร้างสรรค์’ ซึ่งแฟชั่นถือเป็นรูปแบบหนึ่งของคำว่า ‘ศิลปะ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ UNIQLO ไม่มี (ที่ราคาถูกอาจจะเพราะไม่ต้องจ่ายค่า ‘คิด’ ให้แก่ดีไซเนอร์ก็เป็นได้) ซึ่งหากกรุงเทพฯ จะพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นเมืองแฟชั่นจริง ดิฉันคิดว่าการที่คนไปยืนต่อคิวซื้อเสื้อผ้า UNIQLO นั้นเป็นสัญญาณอันตรายมากๆ รัฐบาลหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ต้องจับตาปรากฏการณ์นี้ให้ดี เพราะหากให้คนเมืองกรุงใส่เสื้อผ้า UNIQLO มากๆ เข้า กรุงเทพฯ คงไม่สามารถเป็นเมืองแฟชั่นได้ เพราะเสื้อผ้าแบบ UNIQLO นั้น มันไม่เป็น ‘แฟชั่น’

ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองแบรนด์ UNIQLO ในแง่ใด (ภายใต้รสนิยมส่วนตัวของใครของมัน ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าใครดีกว่าใคร) คนที่ชอบแต่งตัวแบบง่ายๆ สไตล์เบสิค อาจจะมอง UNIQLO เป็นแบรนด์ที่ถูกใจพวกเขา เพราะราคาย่อมเยา และคุณภาพดี คนที่ชอบแต่งตัวตามเทรนด์แฟชั่นก็อาจจะบอกว่า UNIQLO นั้นไม่สามารถตอบโจทย์การแต่งตัวของเขาได้ เพราะมันไม่ใช่เสื้อผ้าที่อยู่ในเทรนด์ตามกระแสแฟชั่นโลก และหากมองในแง่ความสร้างสรรค์ภายใต้การเป็นแบรนด์เสื้อผ้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นเหมือนกัน เห็นได้ว่า UNIQLO นั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับเสื้อผ้าจากประตูน้ำโบ๊เบ๊ ที่มุ่งขายแต่ ‘จำนวน’ แต่เสื้อผ้านั้นไร้ซึ่งการดีไซน์ ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะของแฟชั่น !!!


 

ที่ดิฉันพูดเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะดูถูกเสื้อผ้าจากโบ๊เบ๊ ประตูน้ำ แต่กำลังจะบอกว่า เราไม่สามารถเปรียบเทียบ ‘เรื่องนี้’ โดยใช้แค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งได้ เช่น การจะบอกว่า UNIQLO นั้นมีคุณภาพดีกว่า Zara, Topshop หรือ H&M ก็คงจะต้องบอกว่าผิดฝาผิดตัวยิ่งนัก เพราะแบรนด์มันคนละ Position กัน เพราะถ้าหากพูดเช่นนั้นได้ (ในเรื่องของการตัดเย็บ เนื้อผ้า—ซึ่งจริงไม่จริง จะกล่าวถึงต่อไป) คนที่ซื้อเสื้อผ้า Zara, Toshop, H&M หรือแบรนด์ไทยอื่นๆ ที่อยู่ในไลน์ และราคาใกล้เคียงกัน ก็อาจบอกได้ว่า ชิ! UNIQLO ไม่เห็นมีความสร้างสรรค์ในการดีไซน์ การออกแบบเลย แบรนด์อื่นๆ เขายัง ‘คิด’ ยังพยายามผลักดันไสตล์ เทรนด์ เพื่อหมุนกงล้อของอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะในแง่ความสร้างสรรค์ แต่ UNIQLO สร้างสรรค์ตรงไหนมิทราบยะ ?

ก็บอกแล้วว่าผิดฝาผิดตัว เพราะสาวก UNIQLO ก็อาจเถียงว่าแบรนด์นี้เขาสร้างสรรค์ที่เนื้อผ้า เทคโนโลยีย่ะ ซึ่งถ้าพูดอย่างนั้น ดิฉันก็ขอบอกว่า Prada ดีที่สุดแล้วกัน !!! เทคโนโลยีเรื่องเนื้อผ้าและการตัดเย็บของ Prada นั้นดีเลิศ UNIQLO เทียบไม่ติดหรอก แต่อย่างว่ามันคนละโพสิชั่น เทียบกันไม่ได้ นี่เป็นการยกตัวอย่างอย่างสุดโต่ง เพื่อให้เห็นว่าการจะ ‘บลัฟ’ อะไรนั้นเราต้องดูข้อเท็จจริงอื่นๆ ด้วย! เราไม่สามารถพูดได้ว่าคนที่ซื้อเสื้อผ้าโบ๊เบ๊ ประตูน้ำ ตัวละ 49 บาท ไม่เข้าใจคำว่า ‘เสื้อผ้าที่ดี’ เพราะถ้าเขาเข้าใจเขาจะไปซื้อ UNIQLO ตัวละ 290 บาท! ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็อาจพูดได้อีกชั้นหนึ่งว่าคนที่ซื้อ UNIQLO นั้นไม่เข้าใจเสื้อผ้าที่ดี (กว่าหรือดีที่สุด) เพราะถ้าเขาเข้าใจเขาคงไปซื้อ Prada หรือ Lanvin แล้ว !!!

มันขึ้นอยู่กับเงินที่เขากำอยู่ในมือค่ะ!!!

เพราะฉะนั้นถ้าคุณผู้อ่านไม่สนใจว่าเสื้อผ้าที่ดีเป็นอย่างไร แต่สนใจว่าการที่คนไปต่อคิวซื้อเสื้อผ้า UNIQLO นั้นมีนัยยะอะไรที่น่าสนใจ ก็จงอ่านบทความนี้ต่อ แต่ถ้าสนใจแค่เสื้อผ้าที่ดีนั้นเป็นเช่นไร อ่านบทความนี้ไปก็ไลฟ์บอย จงกำเงิน 290 บาทไปซื้อเสื้อผ้า UNIQLO ที่เซ็นทรัล เวิลด์ แล้วก็ภาคภูมิใจว่าได้ซื้อเสื้อผ้าที่ดี (แต่อย่าคิดเปรียบเทียบกับเสื้อผ้าที่โบ๊เบ๊ หรือ Prada หรือ Lanvin เชียว!)

ความน่าสนใจของปรากฏกาณ์ที่คนไปยืนต่อคิวเพื่อรอเข้าไปซื้อเสื้อผ้าแบรนด์ UNIQLO นั้น อยู่ที่การ Positioning แบรนด์ UNIQLO เอง ที่นำประเด็นเรื่อง คุณภาพของเนื้อผ้า การตัดเย็บ และราคาที่ย่อมเยามาเป็นตัวชูโรง ซึ่งถ้ามองกันในในเรื่องแผนการตลาด มันก็คือการสร้างแผนการตลาดแบบหนึ่งดีๆ นี่เอง ขอยกตัวอย่างเรื่องยีนส์ เรารู้กันว่า Levi’s เป็นแบรนด์ยีนส์ที่เก่าแก่ ด้วยการสร้างแผนการตลาดโดยการเล่าเรื่องว่าแบรนด์มีที่มาอย่างไร บวกกับการใช้ดาราเซเลบริตี้เป็นพรีเซ็นเตอร์ ยีนส์ยี่ห้ออื่นๆ ที่ต้องการแย่งลูกค้ามาจาก Levi’s ก็ต้องสร้างแผนการตลาดอื่นขึ้นมา เช่น การสร้างสตอรี่ใหม่เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้า เช่นแบรนด์เด็กวัยรุ่นที่เกิดมาจากซับคัลเจอร์อื่นๆ ที่เล่าเรื่องต่างกันเช่น Nudie, Cheap Monday ก็พยายามหา ‘จุดขาย’ เพื่อสร้าง Niche Market ของตัวเอง อาจจะเป็นความแนว การเล่าถึงการตัดเย็บ การย้อมสี หรือการยกซับคัลเจอร์อื่นๆ มาให้เห็นว่ากลุ่มซับคัลเจอร์นี้ๆ นิยมใส่นะ ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่นิยมชมชอบซับคัลเจอร์เช่นนี้ ยีนส์ยี่ห้อนี้ก็เหมาะกับคุณ พูดง่ายๆ คือ สร้างสตอรี่ที่ไม่ซ้ำเดิม (ไม่พูดถึงความเก่าแก่แบบ Levi’s หรือ สร้างริมแดง สร้างรุ่น แต่เบี่ยงประเด็น สร้างประเด็นใหม่เพื่อขายให้กลุ่มลูกค้าที่ Niche มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายพอมันดัง ก็จะสามารถขยายกลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้นไปได้เอง)

การ Positioning ของ UNIQLO ก็เช่นกัน มันก็เป็นการสร้างแผนการตลาด ที่อาจไปถูกใจกลุ่มคนที่อาจจะไม่ชอบการตามเทรนด์แฟชั่น หรือชอบอะไรที่ไม่หวือหวา แฟชั่นจ๋า และในราคาที่ย่อมเยา เห็นได้จากคอนเซ็ปต์ Made For All (แต่ก็ Made มาจาก โรงงานอุตสาหกรรมเหมือนกัน ทำเป็นโหลๆ เหมือนกัน) ที่พยายามจะสร้างแบรนด์ว่าเป็นเสื้อผ้าที่ทุกคนสวมใส่ได้ ซึ่งจะว่ากันจริงๆ แล้วราคาเสื้อผ้าของ UNIQLO นั้นก็ไม่ใช่ราคาที่ทุกคนจะซื้อหามาใส่ได้ในฐานะเสื้อผ้าในชีวิตประจำวันทุกวัน ซึ่งในบทความ ‘UNIQLO : ของดีจริงหรือแค่กระแส ?’ ของ ทวีพร คุ้มเมธา ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.siamintelligence.com  กล่าวว่าในขณะที่ UNIQLO เป็นเสื้อผ้า Made For All สำหรับคนญี่ปุ่น แต่อาจเป็น Made For ชนชั้นกลางในไทย ด้วยเพราะพื้นฐานรายได้ที่ต่างกันของคนในสังคมทั้งสองประเทศ

ดิฉันมีข้อสังเกตหลายประการจากบทสรุปจากบทความดังกล่าว ประการแรกเสื้อผ้า UNIQLO ชิ้นที่ราคาต่ำสุดนั้นไม่แพง หากนับว่าเป็นเสื้อผ้าแบรนด์ขึ้นห้าง แต่มันก็ไม่ใช่เสื้อผ้าที่เข้าข่ายว่าเป็น ‘เทรนด์แฟชั่น’ ของซีซั่นนั้น และหากย้อนกลับไปอ่านปัจจัยสองประการที่ผู้ที่ไปต่อคิวซื้อไอโฟนสี่ครึ่งราคา กับ UNIQLO จะเห็นว่า ในข้อที่แตกต่างกันก็คือคำว่า ‘เทรนด์’ คนที่ไปต่อคิวซื้อเสื้อผ้า UNIQLO ไปต่อคิวซื้อเพราะมันถูก และมันกำลังเป็น ‘เทรนด์’ คำว่า ‘เทรนด์’ ในแง่ UNIQLO จึงไม่ใช่ ‘เทรนด์แฟชั่น’ แต่เป็น ‘เทรนด์’ ของชนชั้นกลางที่เห่อของใหม่ เหมือนกับคนที่ไปเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในวันที่มันเปิดให้บริการวันแรกหลังจากปิดรีโนเวทมานาน คนกลุ่มนี้ไม่ได้ไปซื้อ ‘ของ’ เพราะถ้าไปซื้อจริง ไม่ต้องไปเบียด รถติด เหม็นสี ฝุ่นตลบ ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าวก็ได้ ไปเซ็นทรัลเวิลด์ พารากอน ซึ่งมีช้อปทุกช้อป ร้านทุกร้านที่เซ็นทรัลเวิลด์เปิดใหม่มี แต่ไปเพราะต้องการอยู่ในส่วนหนึ่งของของใหม่ ที่เป็น ‘เทรนด์’ (อีกแบบ) ของชนชั้นกลางในตอนนี้ ที่อะไรใหม่ๆ จะแห่กันไปกินไปดู เพื่อให้ตัวเองจัดอยู่ในกลุ่มของการสื่อสารที่เกิดขึ้นในสังคม (ตรงนี้อาจต้องวิเคราะห์ไปยังอิทธิพลของคอมมิวนิตี้แบบโซเชียล มีเดีย ที่ทำให้คนเกาะกลุ่มกันเป็นคอมมิวนิตี้ด้วยเรื่องบางเรื่อง ที่สื่อสารกันแล้ว ทุกคนในนั้นมีคอมเมนต์ได้ เช่น หากคนหนึ่งโพสต์เรื่องชิบูย่า ฮันนี่ โทสต์ที่อาฟเตอร์ยู เราไม่รู้จัก ไม่เคยไปกิน แต่อีกหลายสิบหลายร้อยคนรู้จัก เราก็ไม่อยู่ในกลุ่มของการสื่อสารนั้นแล้ว)

ข้อสังเกตต่อคำว่า ‘ชนชั้นกลาง’ นั้นก็คือ ทั้งจากราคาของ เสื้อผ้าที่ไม่ใช่เทรนด์ (แฟชั่น) และดูจากคนที่ไปต่อคิว กลุ่มลูกค้าของ UNIQLO ของกล่าวอย่างหยาบๆ ว่า น่าจะเป็นเด็กมัธยม มหาวิทยาลัย เสียส่วนใหญ่ ส่วนเหล่าคนทำงาน หรือพวก First Jobber ก็คงจะมีบ้างที่แห่ไปตามเทรนด์ แต่ในที่สุดก็อาจไม่ใช่ลูกค้าขาประจำ และจากจุดนี้ดิฉันก็ขอกล่าวหยาบๆ (เพราะไม่ได้ไปวิจัยภาคสนามอย่างลึกซึ้ง) ว่ากลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางที่ว่านี้คือชนชั้นกลางที่เบี้ยน้อยหอยน้อย หรือพูดอย่างภาษาวิชาการก็คือ ‘ชนชั้นกลางระดับล่าง’ (เสียเป็นส่วนใหญ่ ?) เพราะนอกจากราคาของแล้ว ดิฉันคิด (เอาเอง) ว่า ‘เทรนด์แฟชั่น’ นั่นน่าจะเป็นอีกหนึ่ง ‘แกนหลัก’ ที่เราสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อระบุพฤติกรรมของชนชั้นกลางได้ และการที่ UNIQLO นั้นไม่ใช่เสื้อผ้าที่วิ่งตามเทรนด์แฟชั่นอย่าง Zara, Topshop, หรือ H&M ที่ถือเป็นตัวแทนเสื้อผ้าตามเทรนด์แฟชั่น แม้แบรนด์พวกนี้ก๊อปมาจากแบรนด์ดีไซเนอร์ที่ราคาแพงผู้กำหนดเทรนด์แฟชั่นของโลกก็ตาม แต่อยู่ในเทรนด์เดียวกัน แบบเดียวกัน ที่เหล่าชนชั้นกลางสามารถเกาะกลุ่มติด ‘เทรนด์’ แฟชั่นของโลกได้ ในราคาที่ถูกกว่า และนำมาใส่เป็นเสื้อผ้าแบบ Daily Lifestyle โดยไม่เจ็บตัว หมดเงินในกระเป๋ามากนัก

คนที่เป็นลูกค้าของ UNIQLO จึงน่าจะเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ที่ไม่ไหวจะเสียเงินไปกับเสื้อผ้าในราคาที่สูงกว่านี้เพื่อซื้อหามาใส่เป็นเสื้อผ้าแบบ Daily Life (อาจจะไม่ทุกวันในกรณีของนักเรียน นักศึกษาที่ใส่ยูนิฟอร์ม แต่หมายถึงทุกครั้งที่ใส่ชุดไปรเวท) และเมื่อไม่สามารถวิ่งตามเทรนด์กับเสื้อผ้า ‘แบรนด์’ ได้ พวกเขาจึงเลี่ยงที่จะวิ่งตาม ‘เทรนด์’ แล้วกันมาขอเกาะเกี่ยวกระแสของโลกแฟชั่นด้วยคำว่า ‘แบรนด์’ อย่างเดียวก็ยังดี อย่างน้อยขอ ‘กลิ่น’ ของคำว่าได้ใส่เสื้อผ้า ‘แบรนด์’ ก็ยังดี เหมือนเหล่าเด็กวัยมัธยม หรือมหาวิทยาลัย ที่อาจจะมีตัวเลือกเสื้อผ้าหลากหลาย ทั้งแพลตินั่ม หรือจตุจักร ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ตอบสนองทั้งในแง่คุณภาพและราคา (อย่างที่บอกว่า UNIQLO นั้น ไม่ได้คุณภาพคับแก้วเสมอไป ตะเข็บแตกเป็นเรื่องที่ใครหลายคนพูดถึง และมีแบรนด์อีกหลายหลายที่มีคุณภาพทัดเทียม หรือมากกว่าด้วยซ้ำ ที่อาจะไม่ใช่ ‘Global Brand’ อย่างเช่นเสื้อยืดของ Noxx ที่หลายคนบอกว่าดีกว่าเสื้อยืดของ UNIQLO ด้วยซ้ำไป) แต่เขาแค่อยากเกาะเกี่ยว ‘กลิ่น’ ของคำว่า ‘แฟชั่น’ หรือขึ้นชื่อว่าได้ใส่เสื้อผ้า ‘แบรนด์’ เพราะ UNIQLO เป็น Global Brand (และหลายคนก็คิดว่าการได้ใส่เสื้อผ้าแบรนด์นั้น จะทำให้ถูกจับอยู่ในซับเซ็ตของคำว่า ‘แฟชั่น’ ซึ่งในกรณีของ UNIQLO นั้นไม่ใช่เลย) และดิฉันคิดว่าชนชั้นกลางที่ใช้แกนของ ‘เทรนด์’ เป็นตัวระบุพฤติกรรม นั้น ก็อาจซื้อ UNIQLO แต่ก็แค่ ‘ซื้อ’ อาจจะไม่ใช่ ‘สไตล์’ หลัก เพราะชนชั้นกลางกลุ่มนี้คงซื้อเสื้อผ้าที่ตามเทรนด์มากกว่า ปล่อยให้ชนชั้นกลาง ‘ระดับล่าง’ ที่อยากเขยิบใกล้คำว่า ‘แบรนด์’ (หรือแม้แต่อยากจะเขยิบ ‘ระดับ’ ของตัวเองให้สูงขึ้น ด้วยคำว่า ‘แบรนด์’) เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ UNIQLO เสียมากกว่า (เหมือนดังที่นักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ถึงการที่ชนชั้นกลางอยากจะเขยิบขึ้นเป็น ไฮโซ แต่กำลังทรัพย์ไม่ถึง จึงบริโภคบางอย่างเหมือนไฮโซ แต่เป็นการบริโภคของเลียนแบบ หรือสิ่งที่เป็นแค่ ‘กลิ่น’)

ซึ่งประเด็นนี้ไทยดีไซเนอร์ทั้งหลาย ‘สะท้อน’ ออกมาให้ฟังกันหลายคน และมันเป็นปัญหาค้างคามานานสำหรับบรรดาไทยดีไซเนอร์ที่พยายามจะเข็นเสื้อผ้าแบรนด์ไทยให้เป็นที่นิยมสำหรับคนไทยทัดเทียมกันกับ Global Brand (ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเปรียบเทียบกับ UNIQLO หรอกนะ เพราะมันคนละ position แต่เทียบเคียงประเด็นเรื่องคำว่า ‘แฟชั่น’ กับ Global Brand ในกรณีของแบรนด์ไทยที่ยังไม่อาจทัดทานวาทกรรมนี้ได้)

กลับมาที่ประเด็น ‘เสื้อผ้าที่ดี’ ของ UNIQLO ที่ถูกยกขึ้นมาและชูโรง (ทั้งตัวแบรนด์เองที่อ้างอิงเรื่องคุณภาพเป็นหลัก และแม้กระทั่งในบทความของ ทวีพร คุ้มเมธา ที่กล่าวเปรียบเทียบถึง) อย่างที่กล่าวไปว่ามันเป็นการตลาดที่ดักจับ ‘จริต’ ของกลุ่มลูกค้า (ที่กำเงินจำนวนพอที่จะซื้อได้ ไม่ได้น้อยกว่านั้น หรือมากกว่านั้น) และ ‘จริต’ ดังกล่าวก็พาลทำให้กลุ่มคนที่บริโภค UNIQLO นำประเด็นเรื่อง ‘คุณภาพ’ ไป ‘บลัฟ’ กับคนในชนชั้นเดียวกันที่บริโภคเสื้อผ้าแฟชั่นอย่าง Zara, Topshop หรือ H&M ที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ไม่มีคุณภาพ’ เหมือนอย่างที่คุณทวีพร คุ้มเมธา เขียนไว้ในบทความว่า

“นอกจากนี้ ยังมีคนไทยชนชั้นกลางจำนวนมากที่มีเงินซื้อเสื้อผ้า fast fashion brand อย่างซาร่า หากแต่ว่า พวกเขาก็อาจไม่มีรสนิยมพอที่จะเห็นความสำคัญกับเสื้อผ้าเบสิค และก็ไม่เห็นถึงความสำคัญของการใช้ผ้าดีและการตัดเย็บที่ดี อาจพูดได้ว่า ถึงมีเงินซื้อเสื้อผ้าแพง ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้แต่งตัวดีได้”

อ่านจบแล้ว...ได้แต่รำพึงรำพันว่า ‘เป็นไปได้ถึงเพียงนี้หนอ’ (และขำกลิ้งอีกหลายตลบ) โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “คนไทยชนชั้นกลางจำนวนมากที่มีเงินซื้อเสื้อผ้า fast fashion brand อย่างซาร่า หากแต่ว่า พวกเขาก็อาจไม่มีรสนิยมพอที่จะเห็นความสำคัญกับเสื้อผ้าเบสิค และก็ไม่เห็นถึงความสำคัญของการใช้ผ้าดีและการตัดเย็บที่ดี” (เน้นตัวเอียงโดยดิฉันเอง !)

คนที่ซื้อ Zara ไม่มีรสนิยมพอ!!! เพราะเขาไม่เห็นความสำคัญของของเสื้อผ้าเบสิค และการใช้ผ้าดี และการตัดเย็บที่ดี !!! อย่างนั้นหราาา...(กรุณาออกเสียงแบบมาดามมด) และหากจะอ่าน ‘หาเรื่อง’ อย่างดิฉัน คงอ่านได้ว่า ชนชั้นกลางที่ซื้อซาร่าน่ะไม่ฉลาด (โง่ ?) และมีรสนิยมไม่พอ เพราะมัวตามแต่เทรนด์แฟชั่น แต่ไม่มีความรู้เรื่องเนื้อผ้า ไม่รู้ว่าอะไรตัดเย็บดีไม่ดี แต่ชนชั้นกลางอย่างคนที่ซื้อ UNIQLO (และตัวคุณ ทวีพร คุ้มเมธา เอง) น่ะเป็น ‘ชนชั้นกลาง’ ที่ฉลาด และมีรสนิยมพอ เพราะนอกจากจะไม่ซื้อเสื้อผ้าโบ๊เบ๊แล้ว และมีเงินพอที่จะซื้อ Zara, Topshop, หรือ H&M แต่ฉันไม่ซื้อหรอกย่ะ เพราะฉันฉลาด และฉันก็มีรสนิยม ฉันต้องซื้อ UNIQLO เพราะใช้ผ้าดีตัดเย็บดี (นัยหนึ่งมันคือการปกปิด subconscious ที่ว่าฉันไม่อาจตาม ‘เทรนด์’ ได้ จึงต้องเอาประเด็นเรื่อง ‘คุณภาพ’ มากลบเกลื่อน หรือหลีกเลี่ยงการเป็น ‘ชนชั้นกลาง’ บ้าแบรนด์ ตามแฟชั่น ด้วยการนำเรื่อง ‘การตัดเย็บ เนื้อผ้า’ มาเป็นข้ออ้างในการบริโภค เสื้อผ้า Global Brand ??? พร้อมยกตัวเองให้เป็นชนชั้นกลางระดับที่ ‘สูง’ กว่าชนชั้นกลางทั่วไปที่ซื้อเสื้อผ้าเพราะเทรนด์แฟชั่นซึ่งฟังดูไร้สาระ บริโภคนิยม แต่ในกรณีนี้ซื้อเสื้อผ้า แบรนด์เหมือนกัน แต่ซื้อเพราะความฉลาดในการเลือก ไม่ใช่การบริโภคนิยมตามแฟชั่น ...???)

ขอโทษเถอะค่ะ ดิฉันเห็นว่าวิธีคิดแบบนี้ มันเหมือนกำลังจะบอกว่า ‘ความฉลาด’ คือรสนิยม (และสิ่งที่ดีกว่า ?) มันจะต่างอะไรกับอุดมการณ์ ‘สลิ่ม’ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่ออกมาบอกว่าคนจนน่ะโง่ที่เลือกพรรคเพื่อไทย พวกที่เลือกพรรคเพื่อไทยน่ะไม่มีการศึกษา เพราะไม่รู้ว่าอะไร ‘ดี’ อะไร ‘ชั่ว’ อะไรมี ‘คุณภาพ’ อะไร ‘ไม่มีคุณภาพ’ (มีหนึ่งเสียงเท่ากันแต่ดันเลือกของไม่ดี ไม่มีคุณภาพ เหมือนกับมีเงินเท่ากัน แต่ดันเลือกของตัดเย็บไม่ดีเนื้อผ้าไม่ดี เท่ากับว่ามีรสนิยมไม่พอ!) มันจะต่างอะไรกับอุดมการณ์สลิ่มที่เชิดชูเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ทางการเมือง เชิดชูคนดีมีการศึกษาเท่านั้นคือคนที่จะชี้ผิดชี้ถูกว่าอะไรที่ดี อะไรที่ไม่ดี อะไรที่มีคุณภาพ อะไรที่ไม่มีคุณภาพ

การที่คุณทวีพร คุ้มเมธา กล่าวนั้นก็เท่ากับว่าคนที่มีความรู้ดี เข้าใจถึงเรื่องการตัดเย็บที่ดี เนื้อผ้าที่ดี นั้นมี ‘รสนิยม’ (ดี ?) กว่า คนที่ไม่รู้และ/หรือซื้อเสื้อผ้าอีกแบรนด์ที่ตัดเย็บไม่ดี เนื้อผ้าไม่ดี เธอพยายามใช้ตรรกะที่ว่า คนที่ฉลาด รอบรู้ รู้ลึกซึ้ง และเลือกซื้อ แบรนด์ UNIQLO เป็นผู้ที่มีรสนิยม (กว่า ?) คนที่ซื้อ Zara

ดิฉันไม่ได้มีหุ้นในแบรนด์ Zara ไม่ได้เกลียดเสื้อผ้า UNIQLO หรือผูกใจเจ็บที่ UNIQLO เลือกน้องญาญ่าแทนที่จะเลือกดิฉันเป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่ดิฉันพยามยามจะชี้ให้เห็นว่า วิธีคิดแบบนี้ อุดมการณ์แบบนี้ มันเป็นอันตรายต่อสังคมประชาธิปไตย ที่พยายามผูกขาดความดีงาม ผูกขาดความคิดของตัวเองว่าถูกต้อง ไม่ว่าจะด้วยการที่คิดว่าตัวเองมีความรู้ที่ดีกว่าสูงกว่ารู้มากกว่า ลึกซึ้งกว่า และเหยียดหยันความคิดของคนอื่น ที่เลือก ‘ของ’ ต่างจากตนเอง ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเลือกด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ที่จริงก็ผิดตั้งแต่นำสองแบรนด์นี้มาเปรียบเทียบกันแล้วล่ะ เพราะแฟชั่นนิสต้าตัวจริงเค้ารู้ดีว่ามันคนละไลน์ คนละ position!)

เพราะหากจะกล่าวกันตามจริง ‘แฟชั่น’ หรือ ‘รสนิยม’ นั้นก็มีความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ของตัวมันเอง ที่เราเลือกตามความชอบส่วนตัว เหตุผลส่วนตัว และเราก็ต้องยอมรับผลการเลือกของเราเอง เช่น เลือกของแพงแล้วแต่งออกมาดูไม่แพง หรือดูไม่ดีเลย อย่างไฮโซ ตามภาพข่าวในหน้านิตยสาร เหล่านั้น เขาก็ต้องรับผิดชอบผลการตัดสินใจของเขาเองจากการที่เรานั่งเปิดดูแล้วนินทา ซึ่งที่จริง ในแวดวงของเขา เขาอาจจะดูดีมีรสนิยมก็ได้ เราก็ได้แค่นั่งเมาท์ในมุมหนึ่งของร้านกาแฟ แต่ประชาธิปไตยในแฟชั่น หรือเสื้อผ้านั้น ออกจะแปลกอยู่หน่อยตรงที่มันมีพื้นฐานอยู่ที่ปัจจัยทางด้านการเงิน ที่แต่ละคนมีอยู่ในกำมือไม่เท่ากัน คนที่ซื้อเสื้อที่โบ๊เบ๊ ไม่ใช่เขาไม่รู้จักว่าเสื้อที่ดีเป็นอย่างไร แต่เขากำเงินอยู่แค่จำนวนหนึ่ง ที่คิดสะระตะค่ากิน ค่าอยู่ ค่ารถ ค่าโทรศัพท์แล้ว เขาสามารถซื้อได้ในราคาของโบ๊เบ๊ เช่นเดียวกันกับคนที่พอใจจะซื้อซาร่า ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รู้ว่าเสื้อที่ตัดเย็บดี เนื้อผ้าดีเป็นอย่างไร และนั่นก็ไมได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีรสนิยมพอที่จะเข้าใจการตัดเย็บที่ดี หรือเนื้อผ้าที่ดี เพียงแต่เขา ‘เลือก’ แล้วที่จะสนุกไปกับการใส่เสื้อผ้าแบบตามเทรนด์แฟชั่น ภายใต้ ‘เงิน’ ที่เขากำอยู่ในมือ (หรือวงเงินบัตรเครดิตที่ยังไม่เต็ม) ที่สามารถซื้อได้

และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าใครมีรสนิยมน้อย มาก มากพอ กว่าใคร

ดิฉันไม่ได้รังเกียจแบรนด์ UNIQLO (แม้จะไม่ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ก็ตาม) เช่นเดียวกันกับไม่ได้รังเกียจคนที่ใส่เสื้อผ้า UNIQLO หรือพยายามจะแบ่งแยกชนชั้น ด้วยไลฟ์สไตล์หรือของใช้ เพียงแต่อยาก (และพยายาม) ชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ซ่อนอยู่ในปรากฏการณ์ดังกล่าว ที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นทุกที และที่สำคัญคือการบริโภคที่รู้เท่าทันแผนการตลาด ข้อจำกัด หรือองค์ประกอบต่างๆ ในการตัดสินใจและ ‘จริต’ ของตน ก็เท่านั้นเอง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนธิ ลิ้มทองกุล

Posted: 14 Sep 2011 08:21 PM PDT

เราจะไม่เป็นเครื่องมือให้เขามาตีกินอีก วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องไปสู้กับพรรคเพื่อไทยในสภา เหมือนที่นายอภิสิทธิ์พูด ทุกอย่างต้องจบในสภาด้วยคน 500 คน ส่วนพรรคเพื่อไทยเขามีมวลชนเสื้อแดง พรรคประชาธิปัตย์ก็มีไม่ใช่หรอ

"สนธิ" ชี้แดงขออภัยโทษ "แม้ว" ฝีมือปชป.ดองเรื่องไว้ ย้ำปล่อยให้สู้กันเอง

เปิดงานวิจัย: จากกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฯ ต้านสวนส้ม-สู่การเป็นคนเสื้อแดง

Posted: 14 Sep 2011 04:27 PM PDT

สืบสกุล กิจนุกร” นำเสนองานวิจัย “ประชาธิปไตยชายแดน: ประสบการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่” นำเสนอเส้นทางการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านสันทรายคลองน้อย ที่ฝาง จ.เชียงใหม่ ว่ามีพัฒนาการจากกลุ่มอนุรักษ์-ทำประเด็นสวนส้ม กลายเป็นกลุ่มเสื้อแดงย่อยระดับอำเภอได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการอภิปรายหัวข้อ เวที “ประสบการณ์ประชาธิปไตยของชาวบ้านเชียงใหม่” โดยมีการนำเสนอบทความจากงานวิจัย “พัฒนาการจิตสำนึกและขบวนการทางการเมืองของชาวเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่” โดยคณะผู้วิจัยซึ่งเป็นอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษย วิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, ดร.อรัญญา ศิริผล, นพพล อาชามาส และสืบสกุล กิจนุกร

และผู้วิจารณ์ ประกอบด้วย ศ.ทามาดะ โยชิฟูมิ มหาวิทยาลัยเกียวโต, รศ.ดร.อร รถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ

โดยก่อนหน้านี้ประชาไทได้นำเสนอส่วนหนึ่งของการวิจารณ์การนำเสนอโดยไชยันต์ รัชชกูล [1] และการนำเสนอของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี [2] และในตอนนี้จะเป็นการรายงานการนำเสนอของสืบสกุล กิจนุกร หนึ่งในคณะผู้วิจัย ซึ่งนำเสนอหัวข้อ “ประชาธิปไตยชายแดน: ประสบการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่” โดยมีรายละเอียดการนำเสนอดังนี้

000

ประชาธิปไตยชายแดน:
ประสบการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

“ที่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องสวนส้มเพราะพวกเขาต้องการความเป็นธรรมหรือความยุติธรรม มันก็เช่นเดียวกันกับการเข้าร่วมกับคนเสื้อแดง เพราะพวกเขาต้องการประชาธิปไตย สำหรับชาวบ้านแล้ว ความยุติธรรมและประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกัน สำหรับคนสันทราย คลองน้อย”

สืบสกุล กิจนุกร

 

เริ่มต้นสืบสกุล ระบุว่ามีประเด็นที่อยากจะนำเสนอ 4 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง เสนอให้ทำความเข้าใจขบวนการเสื้อแดงในฐานะที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ภายใต้ บริบทท้องถิ่น ประเด็นที่สอง เงื่อนไขที่ทำให้คนเสื้อแดงบ้านสันทรายคลองน้อยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวในเขตอำเภอฝาง ประเด็นที่สาม จะอธิบายถึงองค์ประกอบของแกนนำชมรมคนรักฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ ที่ทำให้องค์กรหลักของคนเสื้อแดงบริเวณนี้มีความเข้มแข็ง ประเด็นสุดท้าย จะพูดถึงกิจกรรมของชมรมคนรักฝางในฐานะที่เป็นรูปแบบการต่อสู้ทางวัฒนธรรม

ทุก คนที่อำเภอฝาง แม่อาย และไชยปราการซึ่งอยู่ในพื้นที่ชายแดนและชายขอบอำนาจรัฐ ได้มีการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านปัญหาในชีวิตประจำวันมาก่อนเข้าร่วมขบวนการ "คนเสื้อแดง" ผล การเรียนรู้ดังกล่าวทำให้พวกเขามีความตื่นตัวสูงในการเข้าร่วมเคลื่อนไหวใน การเมืองระดับชาติ พลิกโฉมหมู่บ้านให้กลายเป็นศูนย์กลางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และได้ก่อรูปความเข้าใจและท้าทายอำนาจนำในสังคมไทยอย่างถึงรากถึงโคน

สืบสกุลกล่าวถึง หมู่บ้าน “สันทรายคลองน้อย” ว่าก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่ม “เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง” ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากเอ็นจีโอ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้เรื่องการจัดสรรทรัพยากร ทำให้ในสมัยรัฐบาลทักษิณปี 2546 มีการตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา 6 คณะ อีก 2 ปีถัดมารัฐบาลใหม่ก็ยกเลิกกลไกดังกล่าวนี้ไป

ลักษณะของหมู่บ้านสันทรายคลองน้อย ว่ามีลักษณะการปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจสมัยใหม่ ความเป็นอยู่ของผู้คนเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเงินทุนและความรู้ มากกว่าการถือครองที่ดินและการเกษตร หรือถ้าจะมีก็ต้องผูกโยงเข้ากับอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ชีวิตของชาวบ้านจึงเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีทั้งด้านที่เป็นโอกาสและความเสี่ยง รัฐบาลทักษิณซึ่งชนะการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2544 มีหลายนโยบายที่ทำให้ชาวบ้านปรับตัวเข้ากับยุคโลกาภิวัตน์ได้ เช่น การเข้าถึงเงินทุนหรือการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น

ถึงแม้ว่าชาวบ้านสันทรายคลองน้อยจะมองด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจหรืออัตถประโยชน์นิยมเป็นหลัก แต่พวกเขาก็ตีความอำนาจของทักษิณในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชนบท ที่สามารถเลือกรัฐบาลของตัวเองได้ ซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะได้เป็นรัฐบาล” สืบสกุลกล่าว เขาบอกอีกว่านอกจากเรื่องอำนาจในการเลือกรัฐบาลแล้ว ชาวบ้านยังรู้สึกตระหนักว่าพวกเขาสามารถจัดการเงินทุนของตัวเองได้

ต่อเรื่องการชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า เนื่องจากชาวบ้านสันทรายคลองน้อยเคยต่อสู้เรื่องสวนส้มมาก่อน จึงมีความแข็งขันในการเข้าร่วมชุมนุม โดยแบ่งกลุ่มกันไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ แบบผลัดกันไปกลับ และเมื่อเสื้อแดงถูกปราบก็มีสมาชิกกลุ่ม 6 คน ที่ติดอยู่ในวัดปทุมวนารามในคืนวันที่ 19 พ.ค. 2553

ความเข้มแข็งของชาวบ้านสันทรายคลองน้อยทำให้ชาวบ้านที่อื่นๆ ถือว่าหมู่บ้านแห่งดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในบริเวณนี้

ที่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องสวนส้มเพราะพวกเขาต้องการความเป็นธรรมหรือความยุติธรรม มันก็เช่นเดียวกันกับการเข้าร่วมกับคนเสื้อแดง เพราะพวกเขาต้องการประชาธิปไตย สำหรับชาวบ้านแล้ว ความยุติธรรมและประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกัน สำหรับคนสันทราย คลองน้อย” สืบสกุลกล่าว

จากนั้นสืบสกุลจึงได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของชมรมคนรักฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ ต่อ โดยกลุ่มดังกล่าวถือเป็นองค์กรหลักของการเคลื่อนไหวในพื้นที่ และมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อการเคลื่อนไหวระดับท้องถิ่น และระดับชาติ โดยเฉพาะในระหว่างการชุมนุมช่วง มี.ค. ถึงช่วง พ.ค. 2553 มาจนถึงปัจจุบัน ชมรมคนรักฝางฯ โดยมาจากผู้นำสามกลุ่มที่แม้จะแตกต่างกันแต่ก็หนุนเสริมให้องค์กรเข้มแข็ง

สามกลุ่มที่ผู้นำเสนอกล่าวถึงคือ หนึ่ง อดีตสหายจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหว ก็จะคอยทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ เป็นปัญญาชนของชาวบ้าน กลุ่มที่สอง คือผู้ประกอบการในท้องถิ่นทั้งรายย่อยอย่างพ่อค้าแม่ค้าในตลาด หรือนักธุรกิจท้องถิ่นรายใหญ่ที่เป็นคณบดี กลุ่มนี้จะไม่มีประสบการณ์การต่อสู้แต่จะมีทุนทางเศรษฐกิจ เช่น คหบดีซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในท้องถิ่นก็บริจาคเงินและให้พื้นที่บ้านเป็นสถานีทำการวิทยุชุมชน สุดท้าย คือกลุ่มข้าราชการในท้องถิ่น กลุ่มนี้ครูจะเป็นอาชีพที่กระตือรือร้นมากที่สุด และมักจะอาศัยทักษะทางวิชาชีพในการช่วยเหลือกลุ่ม อาทิเช่น การจดบันทึก การทำเอกสาร การทำบัญชี การเงิน ตลอดจนการพูดในที่สาธารณะ ทำให้พวกเขาหลายคนมีบทบาทเป็นโฆษกเวทีการชุมนุมระดับท้องถิ่น และเป็นนักจัดรายการวิทยุ

สืบสกุลกล่าวถึงกลุ่มคนรักฝางอีกว่า กลุ่มนี้จะมีการระดมทุนของตนเอง เช่น การจัดผ้าป่า จัดเลี้ยงโต๊ะจีน และการจัดคอนเสิร์ต โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากส่วนกลาง

(ที่มาของภาพ: สืบสกุล กิจนุกร)

 

สืบสกุลกล่าวถึงลักษณะกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงหลังถูกสังหารที่ราชประสงค์ว่า เริ่มมีการหันมาต่อสู้ในเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น กิจกรรมแรก กรณีที่มีการผูกผ้าแดงที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อระลึกถึงผู้ตาย กลุ่มชมรมคนรักฝางก็มีการจัดงานบายศรีสู่ขวัญซึ่งเป็นพิธีแบบดั้งเดิมในภาคเหนือเพื่อเรียกขวัญกำลังใจในหมู่สมาชิก จัดขึ้นเมื่อ29 ส.ค. 2553 มีคนเข้าร่วมประมาณพันคน นอกจากนี้ยังมีการทำบุญไปถึงคนตาย การเผาหุ่นเผด็จการ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

"กิจกรรมเหล่านี้มันช่วยบรรเทาความเศร้าโศก ปลดปล่อยความโกรธ ปลุกความหวัง และแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนเสื้อแดงยังมีชีวิตอยู่" สืบสกุลกล่าว

กิจกรรมที่สอง คือการจัดเวทีปราศรัยทางการเมืองโดยสุรชัย แซ่ด่าน ที่เดินสายรณรงค์พูดทั่วประเทศเกี่ยวกับบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์กับการ เมืองไทย ซึ่งเป็นหัวข้อต้องห้ามในสังคมไทยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านในชนบทเข้าร่วมฟังอภิปรายสาธารณะใน ประเด็นนี้โดยเปิดเผยตรงไป ตรงมาและอาจเป็นครั้งสุดท้าย เพราะสุรชัย แซ่ด่านอยู่ในคุก

กิจกรรมที่สาม ตั้งสถานีวิทยุที่สันทรายคลองน้อย ที่ย้ายมาจากสถานีเดิมที่ตั้งอยู่บนที่ดินของคหบดีท้องถิ่น ซึ่งสถานีแห่งนั้นถูกสั่งปิดทันทีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 53 เหตุที่เลือกที่นี้ เพราะชมรมคนรักฝางฯ ประเมินแล้วว่าชาวบ้านที่นี้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงเมื่อเทียบกับหมู่ บ้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ การจัดเนื้อหาให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมท้องถิ่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีภาษาไทยใหญ่สำหรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ

นอกจากพิธีกรรมท้องถิ่นแล้ว กิจกรรมที่สี่ ของคนเสื้อแดงสันทรายคลองน้อยนั้น สืบสกุลบอกว่า เสื้อแดงยังมีการจัดพิธีกรรมตามวันสำคัญ เช่น การวางพวงมาลาในวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สามัญชนเข้าไปร่วมกิจกรรม และตีความหมายใหม่ของรัฐพิธีให้เชื่อมโยงกับความหมายใหม่ในเชิงประชาธิปไตยของประชาชนมากยิ่งขึ้น นอกจากวางพวงมาลาแล้วยังมีการเดินขบวนรณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและเรื่องการกระจายอำนาจ รวมถึงรณรงค์ให้ฝางเป็นจังหวัด


(ที่มาของภาพ: สืบสกุล กิจนุกร)

 

กิจกรรมที่ห้า คือกิจกรรมเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2553 (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ซึ่งรัฐไม่ได้จัดพิธีกรรมอันใดเลย แต่เสื้อแดงถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลางของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีการถ่ายทอดรายการเสวนา มีการทานอาหารร่วมกัน แสดงความในใจ รวมถึงการจุดเทียนชัยและปล่อยโคมพร้อมร้องเพลง "ตะโกนบอกฟ้า" ของอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง

ในตอนท้าย สืบสกุล เสนอว่า เราต้องทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงจากบริบทของท้องถิ่น ให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันประชาธิปไตยคือการเรียนรู้ ขบวนการเสื้อแดงที่ฝางแสดงให้เห็นว่าประชาชนเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านมีประสบการณ์ต่อสู้กับความเป็นชายขอบของการพัฒนามาก่อนที่จะเป็นคนเสื้อแดง ในขณะที่นักวิชาการเรียกร้องให้ชนชั้นนำยอมรับผลการเลือกตั้งและปรับทัศนคติใหม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย การเมืองไทยยังอยู่ในมือของชนชั้นนำอยู่หรือไม่ ผมคิดว่าไม่สำคัญตราบที่คนเสื้อแดงยังแสวงหาคำตอบต่อคำถามของพวกเขาที่ถาม ว่า “ใครคือคนบงการฆ่า” “ประชาธิปไตยคืออะไร” “ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน” “คนเสื้อแดงเป็นใคร”

ใครจะให้คำตอบได้ ? นักวิชาการ ? สื่อ ? กรรมการสิทธิ ? หมอประเวศ ? อานันท์ ? คณิต ? พระไพศาล ? ถามดิน ถามฟ้าใครตอบได้ … สำหรับผมไม่มีคำตอบ แต่เสนอว่า “คนเสื้อแดงรู้คำตอบและความจริง” ซึ่งอยู่ในการต่อสู้ของพวกเขาแล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้พวกเขาก้าวเข้ามาสู่การนิยามประชาธิปไตยจากชายขอบของสังคมไทยและมันจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป สืบสกุลทิ้งท้าย

(หมายเหตุ: ประชาไทจะทยอยนำเสนอคลิปการอภิปรายของสืบสกุล และการอภิปรายของผู้นำเสนอผลงานท่านอื่นๆ ในโอกาสต่อไป)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น