โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สังคมสงฆ์และพุทธศาสนา มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์

Posted: 26 Sep 2011 02:46 PM PDT

ผมพูดในรายการ “ปอกเปลือกข่าว” (ทางสปริงนิวส์ ศุกร์ที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา) ว่า  “ถ้ายกเลิกระบบสมณศักดิ์ได้จะดีที่สุด เพราะระบบสมณศักดิ์เป็นระบบศักดินาพระที่เป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาทำให้อธิบายเหตุผลไม่ละเอียดพอ จึงอยากนำมาเขียนเพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงกันต่อไป 

สังเกตไหมครับ เวลาที่พระหรือนักวิชาการชาวพุทธพูดถึงแนวคิดทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนา มักจะยกตัวอย่างว่า พระพุทธเจ้าสร้างสังคมสงฆ์ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างจากสังคมระบบชนชั้นแบบกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ของศาสนาพราหมณ์ ระบบสังคมสงฆ์เป็นระบบสังคมในอุดมคติที่มีเสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นแบบอย่างของสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย
 
แต่คำถามคือ ข้ออ้างดังกล่าวจะมีความหมายอะไร ในเมื่อความเป็นจริงคือ สังคมสงฆ์ปัจจุบันมีระบบสมณศักดิ์หรือระบบศักดินาพระอันเป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และโครงสร้างการปกครองของสงฆ์ปัจจุบันก็เป็นโครงสร้างตามกฎหมายเผด็จการคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ตราขึ้นในสมัยเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
 
ฉะนั้น ระบบของสังคมสงฆ์ปัจจุบัน จึงเป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์บวกระบบเผด็จการที่เป็นมรดกยุคสฤษดิ์ ซึ่งระบบเช่นนี้ขัดแย้งโดยพื้นฐานกับโครงสร้างสังคมสงฆ์ที่พระพุทธเจ้ากำหนดขึ้นตามพระธรรมวินัย
 
โครงสร้างของสังคมสงฆ์ตามพระธรรมวินัยนั้น พระสงฆ์เสมอภาคกันภายใต้พระธรรมวินัย หมายความว่า พระทุกรูปได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามพระธรรมวินัย และเมื่อประพฤติผิดพระธรรมวินัยก็ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ได้รับพุทธานุอนุญาตให้ครอบครองไตรจีวรและอัฐบริขารเท่าที่จำเป็นเสมอกัน หากได้รับบริจาคส่วนเกิน เช่นรับบริจาคจีวรเกินกว่าที่มีสิทธิ์ครอบครอง ก็ต้องมอบส่วนเกินนั้นให้เป็นของสงฆ์หรือของส่วนรวม ประชาคมสงฆ์สามารถพิจารณาให้สมาชิกของสงฆ์รูปอื่นซึ่งขาดแคลนนำของส่วนรวมนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ยุติธรรมแก่พระทุกรูปอย่างเท่าเทียม
 
สังคมสงฆ์แบบพุทธกาลไม่มีฐานันดร (จะว่าไปพระพุทธเจ้าคือผู้สละฐานันดรมาเป็นสามัญชน แต่พระสงฆ์ปัจจุบัน มีพื้นเพมาจากชนชั้นล่าง แต่พยายามไต่เต้าขึ้นไปสู่ความมีฐานันดร) การแสดงความเคารพต่อกันถืออาวุโสทางพรรษา (บวชก่อน-หลัง) แต่การยกย่องให้มีบทบาทสำคัญ เช่น เป็นพระอัครสาวก เป็นเอตทัคคะ (เป็นเลิศ) ในด้านต่างๆ พิจารณาจากความสามารถ ไม่ได้พิจารณาจากลำดับอาวุโส เช่น พระสารีบุตร กับพระโมคคัลลานะ บวชทีหลังพระปัญจวัคคีย์ แต่ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวกซ้าย-ขวา ตามความสามารถของท่านทั้งสอง เป็นต้น
 
แต่โครงสร้างการปกครองสงฆ์ปัจจุบัน การขึ้นสู่ตำแหน่งการปกครองสงฆ์ระดับสูง เช่น เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม หรือเป็นพระสังฆราช ต้องเป็นไปตามลำดับอาวุโสด้านสมณศักดิ์ ทำให้พระหนุ่มๆ ที่มีความรู้ความสามารถไม่มีโอกาสเข้ามาบริหารงานคณะสงฆ์ อีกทั้งโครงสร้างของมหาเถรสมาคมก็เป็นโครงสร้างการบริหารแบบรวบอำนาจ หรือเป็นเผด็จการตาม พ.ร.บ.ที่ออกในยุคสฤษดิ์ดังกล่าวแล้ว นี่ยังไม่รวมถึงการวิ่งเต้นเรื่องสมณศักดิ์ที่มีการ “จ่ายเงินใต้โต๊ะ” ดังที่เป็นข่าว (และไม่เป็นข่าว) ซึ่งนับวันจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้นในวงการสงฆ์ ทำให้เกิดปัญหาว่า พระที่วิ่งเต้นใช้จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ถูกเสนอชื่อเลื่อนสมณศักดิ์นั้นถือว่า “ต้องอาบัติปาราชิก” ขาดจากความเป็นพระหรือไม่ หากถือว่าต้องอาบัติปาราชิก ชาวบ้านจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพระที่มีสมณศักดิ์ที่กราบไหว้กันอยู่นั้น ได้สมณศักดิ์นั้นๆ มาด้วยการจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือไม่
 
ที่จริงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็มีคณะสงฆ์ฝ่ายก้าวหน้าที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิสังขรณ์” พยายามเคลื่อนไหวให้มี พ.ร.บ.ปกครองสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับทางบ้านเมือง มีการเข้าพบ นายปรีดี พนมยงค์ ที่บ้านป้อมเพ็ชร จนในที่สุดทำให้เกิด พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่มีโครงสร้างการปกครองสงฆ์แบบประชาธิปไตย คือมีสังฆสภา และสังฆมนตรีคล้ายๆ กับคณะรัฐมนตรีทางบ้านเมือง แต่ต่อมา พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็ถูกฉีกทิ้งในยุคสฤษดิ์
 
ว่ากันว่าเหตุผลที่ต้องฉีก พ.ร.บ.ดังกล่าวทิ้ง เนื่องจากวันหนึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้ไปฟัง (บ้างว่าแอบฟังอยู่หน้าประตูห้องประชุม) การประชุมสังฆสภา เห็นบรรยากาศพระถกเถียงกันเหมือนบรรยากาศในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เขาเห็นว่าไม่น่าเลื่อมใส จึงต้องฉีก พ.ร.บ.นั้นทิ้งไป แต่นั่นเป็นวิธีคิดของเผด็จการที่อย่างไรก็รับไม่ได้กับบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ที่สำคัญเขาต้องการคุมคณะสงฆ์ให้ได้ เช่น ไม่อยากให้พระสอนธรรมะเรื่อง “สันโดษ” เพราะเห็นว่าขัดกับนโยบายพัฒนาประเทศ พระก็ต้องไม่สอน เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม การกระทำของสฤษดิ์ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในเมื่อเขาเป็นเผด็จการ เขาก็ต้องทำของเขาแบบนั้นอยู่แล้ว แต่การที่พระสงฆ์และชาวพุทธที่มักอ้างว่า “พระพุทธเจ้าสร้างสังคมสงฆ์ให้เป็นสังคมที่มีเสรีภาพ (วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันได้) มีความเสมอภาคเป็นแบบอย่างของความเป็นประชาธิปไตย” กลับยังยึดมั่นระบบสมณศักดิ์อย่างเหนียวแน่น และยอมรับกฎหมายเผด็จการจวบปัจจุบันนี่ต่างหากที่เป็นเรื่องแปลกอย่างไม่อาจอธิบายได้
 
จริงๆ แล้ว หากย้อนไปถึงหลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนา ไม่ใช่แค่ระบบสมณศักดิ์และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับเผด็จการเท่านั้น ที่พระสงฆ์และชาวพุทธพึงปฏิเสธ แม้แต่ “คติทศพิธราชธรรม” พระสงฆ์และชาวพุทธก็ควรยืนยันให้ชัดเจนตามหลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนาด้วย
 
เพราะทศพิธราชธรรม พระพุทธเจ้าตรัสสอนในบริบทของการปฏิเสธระบบชนชั้นแบบกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ท่านยืนยันว่ากษัตริย์ไม่ได้ถูกพระเจ้าสร้างมา หรือให้มีอำนาจแบบเทวสิทธิ์มาปกครองประชาชน แต่กษัตริย์ถูกประชาชนสมมติหรือแต่งตั้งขึ้น และการเป็นกษัตริย์ที่ดีต้องมีทศพิธราชธรรม ซึ่งการมีทศพิธราชธรรมนั้นต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เพราะหากวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ จะรู้ได้อย่างไรว่ามีทศพิธราชธรรมอย่างบริบูรณ์ไม่บกพร่องอย่างที่สรรเสริญกัน (อย่าลืมว่าในแง่ความบริสุทธิ์โปร่งใสตามพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าก็เรียกร้องให้ชาวพุทธตรวจสอบพระองค์ได้ อย่างที่เปรียบเทียบว่า “ทองแท้ไม่กลัวไฟ” หรือ “มือที่ไม่มีบาดแผลจุ่มลงไปในหม้อยาพิษก็ไม่เป็นไร”)
 
คำถามคือว่า เวลาคณะสงฆ์หรือชาวพุทธพูดถึงความมั่นคงของพุทธศาสนาในบริบทโลกปัจจุบัน คณะสงฆ์หรือชาวพุทธตั้งโจทย์กันอย่างไร? ความมั่นคงของพุทธศาสนาหมายถึงความมั่นคงของระบบสมณศักดิ์ใช่ไหม หมายถึงความมั่นคงของโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ตาม พ.ร.บ.เผด็จการ 2505 ใช่ไหม ความมั่นคงของพุทธศาสนาต้องขึ้นต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ หรือขึ้นต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เท่านั้นใช่หรือไม่
 
หรือว่าความมั่นคงของพุทธศาสนาจำเป็นต้องสร้างสังคมสงฆ์ตามพระธรรมวินัยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคให้เป็นจริง เป็นสังคมสงฆ์ที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐให้มากที่สุด สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในเชิงจริยธรรมได้ เป็นสังคมสงฆ์ที่เป็นของประชาชน มีความสามารถตอบสนองต่อการแก้ทุกข์ของปัจเจกบุคคลและสังคม ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ดี มีความเป็นประชาธิปไตย พระสงฆ์เปิดกว้างทางความคิด รับฟังและเรียนรู้เท่าเท่าความคิดสมัยใหม่มากขึ้น ชาวบ้านเข้ามาตรวจสอบดูแล อุปถัมภ์ค้ำชูด้วยศรัทธา หากเขาเห็นว่าการมีอยู่ของคณะสงฆ์ และพุทธศาสนาเป็นประโยชน์ต่อสังคม
 
โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว พุทธศาสนาอยู่มาได้เพราะสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อปัญหาสังคมได้ในระดับที่สังคมในยุคนั้นๆ ยอมรับ ซึ่งหมายความว่าความมั่นของของพุทธศาสนาอยู่ที่พุทธศาสนาเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างสมสมัย ฉะนั้น ความมั่นคงของพุทธศาสนาในปัจจุบันและอนาคตก็จำเป็นต้องตอบโจทย์ด้วยเช่นกันว่าพุทธศาสนาจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบันและอนาคตในแง่ไหน อย่างไร
 
แต่หากยังติดอยู่ใน “กับดัก” ของอุดมการณ์หรือจิตสำนึกแบบพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทำงานผ่านโครงสร้างสังคมสงฆ์ภายใต้ระบบสมณศักดิ์และ พ.ร.บ.เผด็จการ พ.ศ.2505 ภายใต้กับดักเช่นนี้ รังแต่จะทำให้สถาบันสงฆ์ และบทบาทการชี้นำทางศีลธรรมของพุทธศาสนาโดยรวมอ่อนแอลงเรื่อยๆ!
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แฉกลางเวที ‘ประชาสังคมชายแดนใต้’ รัฐไทยเมินคำขอผู้ตรวจการสิทธิยูเอ็น

Posted: 26 Sep 2011 02:24 PM PDT


พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ

 

 

อกนิษฐ์ หอรัตนคุณ

เมื่อเวลา 13.30 น.–16.00 น. วันที่ 25 กันยายน 2554 ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มูลนิธิศักยภาพชุมชน ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จัดโครงการเสวนาประชาสังคมกับสิทธิมนุษยชน ประเด็นกลไก “ยูพีอาร์” ของสหประชาชาติ และสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการ Universal Periodic Review และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมแก่ผู้เข้าร่วม

นางสาวพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศักยภาพชุมชน เปิดเผยในวงเสวนาว่า ที่ผ่านมาผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้ามาตรวจการในประเทศไทยต่อรัฐบาล แต่รัฐบาลยังไม่ตอบรับ สำหรับคำขออนุญาตตรวจการมี 5 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนใต้คือ ประกอบด้วย เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งยื่นคำขอเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา, การวิสามัญฆาตกรรม การจับกุม คุมขัง โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้ยื่นคำขอ 3 ครั้ง เมื่อปี 2005 ปี 2008 และปี 2010, การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ ซึ่งได้ยื่นคำขอเมื่อปี 2008, การต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งได้ยื่นคำขอ 2 ครั้ง เมื่อปี 2008 และปี 2010, รัฐบาลยังไม่ตอบรับตามคำขอเข้ามาติดตามการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี 2008 และปี 2010 ทั้งที่นักกระบวนการสิทธิมนุษยชนเคยเข้ามาแล้วเมื่อปี 2004 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลกวาดล้างยาเสพติด

นางสาวพิมพ์สิริ เสนอว่า ประเด็นที่ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ควรทำ เพื่อกดดันให้รัฐบาลรับคำขอจากผู้ตรวจการพิเศษ เพื่อเข้ามาตรวจการในพื้นที่ เช่น การติดตามการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม หรือการวิสามัญฆาตกรรม, การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม, การละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, การละเมิดสิทธิและเสรีภาพเสรีภาพในการแสดงออก, การละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ, ความเป็นอิสระของศาลและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นช่องทางการเข้ามาตรวจการของผู้ตรวจการพิเศษเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการพิเศษด้านการซ้อมทรมาน

“ถึงแม้รัฐบาลจะไม่รับคำขออนุญาตจากผู้ตรวจการพิเศษ แต่ผู้ตรวจการพิเศษก็สามารถทำงานตรวจสอบและติดตามประเด็นนั้นๆ จากภายนอกประเทศได้ ส่วนรัฐบาลจะตอบรับคำขอของผู้ตรวจการพิเศาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการรวมกลุ่มและความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ในการกดดันให้รัฐบาลรับคำขอจากผู้ตรวจการเช่นกัน” นางสาวพิมพ์สิริ กล่าว

นางสาวพิมพ์สิริ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมหรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถใช้สถิติหรือหลักฐานที่มีอยู่ ส่งเรื่องร้องเรียนโดยตรงไปยังผู้ตรวจการพิเศษในแต่ละประเด็นได้เลย แต่ต้องกรอกแบบฟอร์มและข้อมูลพื้นฐานของผู้ร้องเรียนก่อน จึงจะสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ที่ pimsiri@peoplesempowerment.org

นายอกนิษฐ์ หอรัตนคุณ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์สหประชาชาติ มูลนิธิศักยภาพชุมชน เปิดเผยว่า วันที่ 5 ตุลาคม 2554 เวลา 19.30 – 22.30 น. จะมีการถ่ายทอดสดการประชุมสหประชาชาติ พร้อมกันทั่วโลก สามารถติดตามและดูย้อนหลังได้ที่ http://www.un.org/webcast/unhrc สำหรับการประชุมครั้งนี้มีประเด็นที่ประเทศไทยจะต้องทบทวนการละเมิดสิทธิรวมอยู่ด้วย จากนั้นภายในระยะเวลา 2 เดือน หรือประมาณเดือนมกราคม 2555 ทางสำนักข้าหลวงจะเผยแพร่รายงานที่เจ้าหน้าที่การทูตแต่ละประเทศให้คำแนะนำต่อรัฐบาล และแต่ละรัฐบาลรับข้อเสนออะไรไปดำเนินการบ้าง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนาชุด 5 ปีรัฐประหาร ตอน1 ธงชัย วินิจจะกูล: สังคมไทยกับภาวะการ ‘หลอกตัวเอง’

Posted: 26 Sep 2011 02:06 PM PDT

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 ณ สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จัดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ‘Five years after the military coup: Thailand political development since Thaksin’s Downfall’ (5 ปีหลังการรัฐประหาร: การพัฒนาทางการเมืองไทยตั้งแต่การล่มสลายของทักษิณ) โดยมีนักวิชาการด้านไทยศึกษาร่วมอภิปรายหลายท่าน เช่น ธงชัย วินิจจะกูล เดวิด เสตร็กฟัสส์ แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ เป็นต้น

0 0 0

‘Two elephants in the room’
ธงชัยอภิปรายถึงสำนวน ‘Elephants in the room’ ซึ่งหมายถึงสิ่งหรือปัญหาใหญ่ที่อยู่ต่อหน้าต่อตา หากแต่ไม่มีใครกล้าที่จะพูดถึง ซึ่งในที่นี้ เขากล่าวถึงช้างสองตัว โดยช้างตัวแรก เป็น ‘ช้างเผือก’ และช้างตัวที่สองคือ ‘ช้างบ้าน’ และในการที่จะออกจากวิกฤติการณ์การเมืองไทย ช้างสองตัวนี้ จำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนอยู่จริง และนำมาอภิปรายร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การประนีประนอมระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งในสังคมไทย

สำหรับช้างตัวแรก ธงชัยกล่าวถึง ‘Royal Democracy’ ซึ่งหมายถึงสิ่งซึ่งเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ หรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันมีความขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งความขัดแย้งระหว่างอาณัติจากประชาชน และอิทธิพลของราชวงศ์ (Royal dominant) นี้ สามารถดำเนินไปได้ถึงจุดหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว สองอย่างนี้จะถึงจุดที่ขัดแย้งกันและดำเนินต่อไปไม่ได้อีก ซึ่งธงชัยมองว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งดังกล่าว เปรียบได้เหมือนกันหลุมดำที่ดูดสรรพสิ่งทุกอย่างหายไปในหลุมดำนั้น

และถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยและเหตุผลหลายอย่างที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และมีส่วนในวิกฤติการณ์การเมืองในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนไม่ค่อยจะพูดถึงมากนัก คือประเด็นที่ว่า สถาบันกษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้องในการเมือง ซึ่งเขามองว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่มีส่วนในวิกฤติการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น

ธงชัยยังกล่าวว่า นอกจากเราจะเรียกสภาวะดังกล่าวว่าเป็น ‘ช้างที่อยู่ในห้อง’ แล้ว เรายังสามารถเรียกสถานการณ์ดังกล่าวได้ว่า ‘สภาวะการปฏิเสธความจริง’ และสภาวะดังกล่าวนี้เองที่ทำให้วิกฤติทางการเมืองของประเทศไทยย่ำแย่ยิ่งขึ้น

การศึกษาทางวิชาการในประเด็นดังกล่าวพบว่า สถาบันกษัตริย์ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนมากขึ้นในรอบ 35 ปี อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ.2475 สถาบันกษัตริย์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเมืองไทยตลอดมาไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่ค่อยมีคนหยิบยกมาพูดถึงมากนัก ธงชัยกล่าวว่า ในการพูดถึงการเมืองไทย หากไม่พูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ เราก็ไม่สามารถทำความเข้าใจอย่างแท้จริงได้ และเมื่อพูดถึง ‘สถาบันกษัตริย์’ เขามิได้หมายถึง ‘กษัตริย์’ อย่างเดียว หากแต่หมายถึง ‘เครือข่ายสถาบันกษัตริย์’ (Network Monarchy) ดังที่ดันแคน แม็กคาร์โก นักวิชาการด้านการเมืองไทยได้กล่าวไว้ ซึ่งเครือข่ายดังกล่าว ยังรวมไปถึงบุคคลที่ไม่ได้เป็นเชื้อราชวงศ์ แต่อยู่ในเครือข่ายสถาบันฯ ดังกล่าวด้วย เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น

ปัจจัยสี่ประการกับความสำเร็จของการครองราชย์
ธงชัยยังอภิปรายต่อไปถึงองค์ประกอบสี่ประการที่ทำให้การครองราชย์ของในหลวงรัชกาลปัจจุบันประสบความสำเร็จ อย่างแรก คือ ความคิดเรื่อง ‘ธรรมราชา’ ที่สามารถอธิบายถึงความชอบธรรมและอำนาจในทางศีลธรรมของผู้ปกครอง โดยผูกอยู่กับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และฮินดู ความคิดดังกล่าวตรงข้ามกับลักษณะอำนาจที่มีความเป็นสมัยใหม่ทางฆราวาสเป็นอย่างมาก

ธงชัยยกตัวอย่างสำนวนภาษาอังกฤษที่กล่าวว่า ‘Power corrupts, absolute power corrupts absolutely’ (อำนาจทำให้เสียคน และอำนาจเด็ดขาดยิ่งทำให้เสียคนยิ่งกว่า) มาเปรียบเทียบ โดยชี้ให้เห็นว่า ในคอนเซปท์ของพราหมณ์-พุทธ การมีอำนาจเด็ดขาด หมายถึงการมีคุณธรรมสูงสุด มากกว่าหมายถึงการทำให้เสียคน และคอนเซปต์เรื่องธรรมราชานี้ก็ถูกนำมาใช้กับสถาบันฯ ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

องค์ประกอบที่สอง คือ ความเป็นสาธารณะของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในความรับรู้ของสาธารณชนเป็นส่วนใหญ่ ธงชัยชี้ว่า หากมีคนเรียกอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นนักประชานิยมแล้ว คงยังมีนักประชานิยมที่มานานก่อนหน้านั้นแล้ว และมีฐานเสียงระดับประเทศ ซึ่งผู้นั้นก็คือสถาบันกษัตริย์

สิ่งที่สาม คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Royal Capital’ หรือทุนสถาบันฯ มีการกล่าวกันว่า ทุนของสถาบันฯ เป็นทุนเก่า ส่วนทุนของทักษิณเป็นทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ หากแต่ธงชัยมองว่า ที่จริงแล้ว ทั้งสองต่างเป็นทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ไม่ต่างกัน

อย่างสุดท้าย ธงชัยกล่าวถึงความเป็นการเมืองของการ ‘อยู่เหนือ’ การเมือง โดยเมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 และให้จำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ แท้จริงแล้วคณะราษฎรตั้งใจจะให้สถาบันฯ ออกไปจากการเมืองอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ได้ตีความคำดังกล่าวใหม่ และใช้คำว่า ‘เหนือการเมือง’ ที่หมายถึง ‘ความเหนือกว่า’ ‘สะอาดกว่า’ และมีศีลธรรมสูงกว่าการเมืองแบบธรรมดาแทน

ธงชัยได้ทิ้งคำถามและข้อสังเกตไว้ด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะ ‘Hyper-Royalism’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นปฏิกิริยาต่อ ‘ความถึงราก’ (radicalism) และความกลัวคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา

ช้างตัวที่สอง – ฝ่ายวิจารณ์สถาบัน
ในส่วนนี้ ธงชัยอธิบายถึงปรากฎการณ์ ‘ตาสว่าง’ ในหมู่คนเสื้อแดง ซึ่งเป็นการวิพากษ์อันมีที่มาจากความผิดหวังในสถาบันกษัตริย์ และถึงแม้ว่าเสื้อแดงบางส่วนจะไม่ยอมรับว่ามีส่วนนี้อยู่จริง แต่ธงชัยชี้ว่า เราจำเป็นต้องรับถึงการดำรงอยู่ของกลุ่มที่วิพากษ์สถาบันฯ ในฐานะช้างตัวที่สองที่อยู่ในห้อง ทั้งนี้ เขาได้ชี้ถึงลักษณะสามประการที่แตกต่างไปจากอดีต

อย่างแรก คือ จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายที่วิพากษ์และต่อต้านสถาบันได้ขยายออกไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ในอดีตกลุ่มนี้จะจำกัดอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้น และการกำเนิดขึ้นมาของส่วนนี้ ก็มิได้เกิดขึ้นมาอย่างปุบปับและมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ โดยเฉพาะ หากแต่ธงชัยเสนอว่า ภาวะ ‘ตาสว่าง’ หรือความผิดหวังในสถาบันฯ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปฎิกริยาต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘Hyper-royalist’ กล่าวคือ ตัวสถาบันกษัตริย์เอง ไม่มีใครอื่น ที่เป็นผู้ที่เพาะความรู้สึกต่อต้านสถาบันฯ นี้ขึ้นมา

ธงชัยยังชี้ให้เห็นด้วยว่า วิธีที่สถาบันฯ เลือกที่จะใช้ในการรับมือฝ่ายที่ต่อต้าน จะมีส่วนกำหนดทิศทางของฝ่ายดังกล่าว ถ้าหากว่าสถาบันฯ ยังคงใช้วิธีที่รุนแรงจัดการ เช่น การจับเข้าคุก ก็จะยิ่งผลักให้ฝ่ายที่ต่อต้านไปไกลมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า การล่าแม่มด เช่น การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลเสียต่อสถาบันฯ มากกว่าเดิม

การก้าวพ้นออกจากวิกฤติ
ธงชัยชี้ว่า ช้างสองตัวนี้ อาจดำรงอยู่โดยไม่ถูกพูดถึงได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม วิกฤติการณ์การสืบรัชทายาท เป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างสองตัวนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น โดยเขาเสนอว่า ในการออกจากวิกฤติดังกล่าว จำเป็นต้องทำให้การสืบรัชทายาทเป็นเรื่องที่ไม่มีนัยยะสำคัญทางการเมือง และทำให้สถาบันกษัตริย์ออกไปจากการเมืองอย่างแท้จริง และจุดเริ่มต้นในการก้าวออกจากวิกฤตนี้ ก็คือการยอมรับถึงความจริงเกี่ยวกับช้างสองตัวที่กล่าวมาในข้างต้น แทนที่จะจมอยู่ในภาวะการปฏิเสธความจริงและการหลอกตัวเองเช่นนี้เรื่อยไป

 

หมายเหตุ
บทความที่นำเสนอในงานสัมมนาวิชาการดังกล่าว จะถูกรวมเล่มและตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Institute of Southeast Asian Studies ประเทศสิงคโปร์ 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมไซเบอร์ทั่วโลกรุมแฮ็กเว็บรัฐบาลซีเรีย

Posted: 26 Sep 2011 09:07 AM PDT

นักกิจกรรมโลกไซเบอร์กลุ่มนิรนาม และ RevoluSec แฮ็กเว็บรัฐบาลและเว็บเมืองใหญ่ของซีเรียให้หน้าเว็บกลายเป็นภาพล้อเลียน ปธน.บาชาร์ และข้อมูลด้านความปลอดภัยออนไลน์ ขณะที่รัฐบาลเสริมกำลัง หมายขจัดกลุ่มทหารขบถที่ไปเข้ากับฝ่ายต่อต้าน

26 ก.ย. 2554 - ที่ประเทศซีเรีย นักกิจกรรมในโลกออนไลน์แฮ็กเข้าไปในเว็บไซต์เจ็ดเมืองใหญ่ของซีเรีย รวมถึงเว็บไซต์กระทรวงต่างๆ ของรัฐบาล ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังคงปราบผู้ชุมนุมประท้วง

กลุ่มนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มนิรนาม (Anonymous) และกลุ่ม RevoluSec แสดงความรับผิดชอบว่าพวกตนเป็นผู้ปฏิบัติการแฮ็กเว็บไซต์เช่น เว็บกระทรวงการคมนาคม และกระทรวงวัฒนธรรม

กลุ่มนักกิจกรรมได้ทำการเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ที่พวกเขาแฮ็กให้กลายเป็นรูปล้อเลียนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย และมีข้อความระบุว่า "อย่าให้บาชาร์คอยจับตาดูคุณออนไลน์" รวมถึงเทคนิควิธีการหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับโดยองค์กรข้อมูลอินเตอร์เน็ตของซีเรียที่มีชื่อว่า 'กองกำลังอิเล็กโทรนิกซีเรีย' (Syrian electronic army)

"สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติการครั้งนี้เกี่ยวข้องกับประชาชนชาวซีเรีย เราให้การสนับสนุนพวกเขาอย่างเต็มที่ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพจากการถูกกดขี่" สมาชิก RevoluSec กล่าว

"พวกเรามีเป้าหมายเดี่ยวกันจากการปฏิบัติการนี้ คือการสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องสถานการณ์ รวมถึงการเปิดโปงละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเซนเซอร์ที่มีอยู่ทั่ว"

"ที่สำคัญคือ พวกเราต้องการทำทุกอย่างเท่าที่มีกำลังจะทำได้ในการช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องชาวซีเรียในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน"

"มีประชาชนจำนวนมากชุมนุมเนืองแน่นบนท้องถนนในหลายๆ เมือง พวกเขาเปล่งคำขวัญออกมาว่า 'ยอมตายดีกว่าถูกหยามเหยียด' "

"แม้แต่เด็กก็ยังเปล่งคำขวัญนี้ นี่ได้บอกอะไรกับคุณบ้างในเรื่องสภาพการณ์ของซีเรีย พวกเราต้องการช่วยเหลือพวกเขาเท่าที่เราทำได้"

เว็บไซต์ของเมือง ฮอม, อเล็ปโป, ลาทาเคีย, ดามากัส, ทาร์ทูส, ดิแอร์ เอสซอร์ และ ปาล์มิรา ต่างก็ถูกแฮ็กในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหน้าแรกของเว็บถูกแทนที่ด้วยแผนที่ของซีเรียที่เป็นโปรแกรมโต้ตอบแสดงข้อมูลของผู้ที่ถูกรัฐบาลสังหารในการปราบปรามผู้ประท้วงตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมียอดรวมผู้เสียชีวิตแล้ว 2,316 ราย

มีเว็บไซต์บางแห่งถูกรัฐบาลแก้ไขให้กลับมาแสดงหน้าเว็บปกติเช่นเดิมแล้ว


รัฐบาลเสริมกำลังทหารที่เมืองชายแดนติดเลบานอน
นักกิจกรรมรายงานว่าในวันที่ 26 ก.ย. รัฐบาลได้ใช้ปืนกลหนักติดรถถังยิงโจมตีเมืองฮอม รวมถึงได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นจนทำให้มีคนได้รับบาดเจ็บ โดยรัฐบาลได้ส่งรถถังมาตรึงกำลังไว้ที่ถนนทางหลวงในเขตอัล-รัสตันเพื่อพยายามปราบทหารที่ถอนตัวออกจากกองทัพแล้วมาเข้ากับผู้ประท้วง ซึ่งมารวมตัวอยู่ในเขตนี้รวมถึงตามถนนทางหลวงที่เป็นทางไปสู่ตุรกี

นักกิจกรรมบอกอีกว่ามีการเสริมกำลังทหารที่เมืองคัสเซียร์ เมืองติดชายแดนเลบานอนตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังจากที่มีประชาชนถูกสังหาร 12 ราย ในเมืองดังกล่าว

ในวันที่ 25 ก.ย. กลุ่มสิทธิมนุษยชนในซีเรียรายงานว่ามีประชาชน 4 รายเสียชีวิต รวมถึง ฮัสซาน อีด หัวหน้าแผนกผ่าตัดของโรงพยาบาลรัฐในเมืองฮอม ซึ่งทางโทรทัศน์ของรัฐบาลซีเรียกล่าวว่าอีดถูกสังหารโดย "กลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ"


ที่มา
Online activists hack official Syrian sites, Aljazeera, 26-09-2011
http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/09/201192644557937157.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "นิติราษฎร"

Posted: 26 Sep 2011 09:07 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "นิติราษฎร"

ศิลปินอดข้าวประท้วง 112 ชั่วโมง เรียกร้องให้แก้ ม.112

Posted: 26 Sep 2011 08:56 AM PDT

มิตร ใจอินทร์ และศิลปินอีก 6 คน ร่วมกัน “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” รณรงค์ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554เวลา 12.00 น. บริเวณลานลั่นทม หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มศิลปินอิสระ นำโดยนายมิตร ใจอินทร์ และศิลปินอีก 6 คน ร่วมกัน “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

มิตร ใจอินทร์และกลุ่มศิลปินร่วมกันถ่ายภาพในช่วงเริ่มกิจกรรม

 

กิจกรรมเริ่มขึ้นอย่างไม่มีพิธีรีตองในเวลา 12.00 น. โดยศิลปินที่ร่วมกันอดอาหารจะปักหลัก และหลับนอนอยู่บริเวณที่จัดงานในหอศิลปวัฒนธรรม มิตร ใจอินทร์และศิลปินอีก 2 คนจะกินเพียงน้ำ โดยไม่รับประทานอาหารเป็นเวลา 112 ชั่วโมง ส่วนศิลปินที่เหลือจะร่วมอดอาหารให้กำลังใจในช่วงวันแรกของกิจกรรม

ในช่วงระหว่าง 4 วันเศษของการอดอาหารนั้น นายมิตรกล่าวว่าจะใช้เป็นช่วงเวลาเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มศิลปินและผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยียน ทั้งในปัญหาเรื่องมาตรา 112 ปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหาของการเมืองไทย โดยกิจกรรมอดอาหารจะสิ้นสุดลงในเวลา 4.00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 2554 และในเวลาสิ้นสุดกิจกรรมดังกล่าว กลุ่มศิลปินผู้จัดกิจกรรมจะร่วมกันออกคำประกาศในเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

นายมิตรกล่าวถึงกิจกรรมของตนเองว่าทำในฐานะของงานศิลปะและการแสดงออกเชิงวัฒนธรรม โดยลักษณะของการจัดกิจกรรมเป็นการเปิดประเด็นทำให้กลุ่มศิลปินและผู้ที่สนใจสามารถมาช่วยกันระดมความเห็น และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยในการอดอาหารไม่ได้มีข้อเรียกร้องซึ่งมีเส้นตายกำหนดไว้หรือมีป้ายรณรงค์ประท้วงในแบบการเรียกร้องทางการเมือง หากกิจกรรมนี้เพียงแต่ต้องการเปิดประเด็น สร้างพื้นที่ที่ทำให้คนมีโอกาสได้นั่งคุยและศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน

มิตรเห็นว่างานศิลปะสำหรับเขาไม่ใช่ก้อนปิดๆ ก้อนหนึ่งซึ่งจัดแสดงอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ศิลปะอยู่ในสังคม และประสบการณ์ของสังคม ซึ่งทั้งศิลปะและสังคมควรจะไหลไปด้วยกัน อีกทั้งงานศิลปะร่วมสมัยจำนวนมากในเมืองไทยยังถูกครอบงำอย่างหนัก ทั้งที่ศิลปินถือได้ว่าเป็นเสรีชน และการวิพากษ์วิจารณ์ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเสรีทางศิลปะด้วย การทดลองอดอาหารซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งที่คนรู้อยู่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความสนใจและจุดประเด็นทางสังคมขึ้นมาได้

นายมิตรกล่าวว่าในส่วนตัวนั้น เขาเห็นด้วยให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่อิหลักอิเหลื่ออยู่ในการเมืองไทยและประชาชนจำนวนมากเริ่มเห็นปัญหา อีกทั้งกฎหมายมาตรานี้ในทางปฏิบัติก็มีปัญหาเพราะมีถูกใช้ฟ้องร้องกันไปมาไม่จบสิ้นโดยเขายังไม่มีข้อเสนอในทางปฏิบัติหรือในทางวิชาการ แต่เห็นด้วยกับแนวทางข้อเสนอทางวิชาการของนิติราษฎร์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

 

มิตร ใจอินทร์

กิจกรรมอดอาหาร 112 ชั่วโมงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล madiFESTO2011 ซึ่งเป็นนิทรรศการและกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อ/ศิลปะ/วัฒนธรรมในมิติที่สัมพันธ์กับประเด็นสาธารณะและเรื่องราวในสังคม จัดโดยสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศกาลดังกล่าวจัดติดต่อกันเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อชื่อ“FALL”กิจกรรมในงานมีตั้งแต่การจัดแสดงงานศิลปะ ฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดงสด และปฏิบัติการทางวัฒนธรรม ทั้งในบริเวณหอศิลปวัฒนธรรม และในพื้นที่สาธารณะต่างๆ หลายแห่งในเมืองเชียงใหม่

โดยความตอนหนึ่งในคำประกาศของหัวข้อในปีนี้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานไว้ว่า “การเปิดโอกาสในการแสดงออกถึงความจริงอันแตกต่างหลากหลายและการแยกแยะให้เห็นถึงความลักลั่นขัดแย้งบิดเบือนในมิติต่างๆ ทะลุกรอบกับดักต่างๆคลี่คลายถอดชั้นถึงสาเหตุและเงื่อนไขของปัญหาจะช่วยเปิดพื้นที่ของการสร้างสรรค์ใหม่ๆซึ่งไม่ใช่เพียงคนกลุ่มเดิมแต่หมายถึงการยอมรับมนุษย์กลุ่มอื่นๆที่ล่องหนเป็นปีศาจหรือถูกกดขี่ให้ได้รับโอกาสมีชีวิตในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าร่วมกันได้”

ทั้งนี้นายมิตร ใจอินทร์ ปัจจุบันอายุ 51 ปี เป็นศิลปินอิสระในสาขาทัศนศิลป์ และเคยศึกษาที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ไม่จบการศึกษามิตรเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกิจกรรมเชียงใหม่จัดวางสังคมมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งสนใจศิลปะในมิติที่สัมพันธ์กับปัญหาในสังคม และต่อมาศิลปินในเชียงใหม่ได้พัฒนากิจกรรมมาเป็น madiFESTO ที่จัดต่อเนื่องมาในปัจจุบัน

ตารางกิจกรรมในงาน madiFESTO 2011

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิกิลีกส์เผย “ลี กวน ยู” มองเศรษฐกิจประเทศไทย ไปไกลเกินกว่าจะ “พอเพียง”

Posted: 26 Sep 2011 08:54 AM PDT

วิกิลีกส์เผย “ลี กวน ยู” มองเศรษฐกิจประเทศไทย ไปไกลเกินกว่าจะ “พอเพียง”

โทรเลขสถานทูตสหรัฐประจำประเทศสิงคโปร์ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์วิกิลีกส์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา เปิดเผยบทสนทนาระหว่างลี กวน ยู รัฐมนตรีที่ปรึกษาของสิงคโปร์ แพทริเชีย เฮอร์โบล์ด ทูตสหรัฐประจำประเทศสิงคโปร์และ ราล์ฟ “สกิป” บอยซ์ ทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ถึงสถานการณ์การเมืองไทยหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยอดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยในประเทศไทย

โทรเลขที่ชื่อว่า "LEE KUAN YEW DISCUSSES THAILAND'S FUTURE" (ลีกวนยู แสดงทัศนะอนาคตของประเทศไทย) ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 เปิดเผยว่า ลี กวน ยู แสดงความเป็นกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน และกล่าวว่า การได้รับความนิยมของพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่บ่อนเซาะความสามารถของประชาชนไทยในการรับหลักการประชาธิปไตยแบบ “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” ทั้งในทางวัฒนธรรมและจิตใจ

ลี กวน ยู ยังกล่าวด้วยว่า พฤติกรรมการนอบน้อมของข้าราชการระดับสูง นักการเมือง และกองทัพที่มีต่อสถาบันฯ ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างพลเมือง (First among equals) และเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำเอาไปใช้สร้างความชอบธรรมของการกีดกันคนธรรมดาสามัญออกไปจากอำนาจทางการเมือง

ในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ลี กวน ยู มองว่า ประเทศไทยผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจมาไกลเกินว่าที่จะกลับไปใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง โดยชี้ว่าทักษิณ ในฐานะนักธุรกิจ เป็นผู้ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากจนทำให้คนไทยโดยเฉพาะชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่ต้องการเศรษฐกิจแบบ “พอเพียง” และกล่าวว่า ประเทศไทยแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มทำรัฐประหาร ในแง่ที่มีชนชั้นกลางที่มีการศึกษาจำนวนมาก และชนชั้นกลางบางส่วนที่มีโอกาสไปศึกษาในสหรัฐอเมริกา ก็มีส่วนในการกำหนดเศรษฐกิจตามวิถีของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ลี กวน ยูยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การกลัวทักษิณ ชินวัตรกลับประเทศ อาจทำให้ชนชั้นนำต้องทำลายรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2540 เพื่อป้องกันการกลับมาของทักษิณ อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ทักษิณก็อาจจะกลับมามีอำนาจใหม่ได้ เนื่องจากสำหรับการเมืองไทยแล้ว “เงินเป็นใหญ่” และพรรคประชาธิปัตย์เองก็ล้มเหลวในการใช้โอกาสนี้ขึ้นมามีอำนาจ

เขายังตัดพ้อด้วยว่า การรัฐประหาร 19 กันยา ทำให้ประเทศไทยย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นใหม่ และตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ว่าทักษิณจะคอร์รัปชั่น แต่เขาก็ “มีความสามารถ” ซึ่งทำให้หลายโครงการใหญ่ๆ หลายแห่งสร้างสำเร็จได้ภายใต้ยุคสมัยของเขา รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ ลี กวน ยูยังเชื่อว่า ชนชั้นนำไทยอาจจะย้อนกลับไปในสมัยก่อนที่มีรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2540 ที่พรรคการเมืองมีขนาดเล็กและอ่อนแอ มากกว่าเลือกที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทความแปล: “หลบลี้หนีภัยจากประเทศไทย”

Posted: 26 Sep 2011 08:48 AM PDT

บทความแปลจาก “Columbia Journalism Review” ว่าด้วยอดีตนักข่าวสาวอเมริกันที่ทำงานให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่เปิดโปง “การขโมยความคิด” (Plagiarism) เรื่อง “หน่อไม้ฝรั่งออร์แกนิค” ของ “ผู้ใหญ่” คนหนึ่งในสังคมไทย นำมาซึ่งการถูกฟ้อง “หมิ่นประมาท” และทำให้เธอต้องเผชิญกับวัฒนธรรมอันเป็น “เอกลักษณ์” ของสยามเมืองยิ้ม ซึ่งบังคับให้เธอต้องเอาตัวรอด และหนีออกจากประเทศไทยในที่สุด

“หลบลี้หนีภัยจากประเทศไทย”
เรื่องของการขโมยความคิด (Plagiarism) ที่ทำให้ต้องหลบหนีออกจากประเทศอันเป็นที่รัก
โดย เอริก้า ฟราย
แปลโดย อารยา สุวรรณคำ
จาก “Escape from Thailand.” Columbia Journalism Review.

 

0000000

เอริก้า ฟราย

เอริก้า ฟราย
ที่มา: รูปโปรไฟล์ twitter

เป็นที่รู้จักกันดีว่าประเทศไทย ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งรอยยิ้ม หากแต่วันอันร้อนระอุวันหนึ่งในเดือนธันวาคม ฉันกลับต้องมาลงเอยอยู่ในคุกแห่งสยามเมืองยิ้ม ในตอนแรกมันอาจจะดูเป็นเรื่องน่าสนุกและตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็น คุกไทย ชุดนักโทษสีน้ำตาล หรือเสียงกระทบของโซ่ตรวนเอย ฉันคิดคงได้อยู่ในนี้ไม่เกิน 5 นาทีแน่ๆ

หากแต่ในวันนั้น ฉันรู้สึกจำนน หมดหนทาง ทั้งตื่นตระหนก และโกรธจัด นั่งเอาหลังชนฝาที่เปื้อนเขรอะไปด้วยข้าวกับหนังหมู สลับกับการยื่นหน้าออกมาระหว่างซี่กรงของห้องขังเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ และมองหา “รณชัย” ทนายของฉันที่ควรจะมาช่วยประกันตัวฉันออกไปจากที่นี่

ฉันถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา เนื่องมาจากการทำข่าวลงใน นสพ. บางกอกโพสต์ เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการขโมยความคิดในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกหัวข้อหน่อไม้ฝรั่งออร์แกนิค เขายังถูกกล่าวหาว่าได้ทำการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และใช้ทุนไปในทางที่ผิดในการจ้างนักวิจัยหน่อไม้ฝรั่งออร์แกนิค—นี่เป็นข้อหาเบา แต่เป็นที่น่าอับอายในฐานะที่เขานั้นมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency: NIA) หน่วยงานของรัฐไทยที่ดูแลจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เขานั้นกระทำการอันซับซ้อน— ไร้สาระแต่เป็นลายลักษณ์อักษร—เพื่อที่จะกลบเกลื่อนทุกอย่าง เช่น ปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับการเข้าเมือง และใบอนุญาตทำงาน และข่มขู่ผู้ให้คำปรึกษาทางการเกษตรชาวอังกฤษคนที่กล่าวหาเขา “วิน เอลลิส” (Wyn Ellis)

หลักฐานทั้งหมดโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องขโมยความคิดนั้นชัดเจน และเถียงยังไงก็ไม่ขึ้น และตัวบทความก็ได้รับการตรวจสอบโดยทนาย และกองบรรณาธิการของ บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์ที่ฉันทำงานอยู่ตั้งแต่ปี 2549

แต่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นเกิดการเสียหน้า—มันนับเป็นสิ่งล้ำค่าในประเทศไทย—เขาเอาเส้นสายของเขามาเล่นงานฉันในทุกวิถีทาง ฉัน หัวหน้าบรรณาธิการ และเอลลิส ถูกพิมพ์รอยนิ้วมือ, จับเข้าคุก, และห้ามออกนอกประเทศจนกว่าศาลไทยจะตัดสินเรื่องนี้จบ ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาในการดำเนินการหลายปี หัวหน้าบรรณาธิการที่เป็นคนไทย คอยเตือนฉันเสมอว่าคดีหมิ่นประมาทคดีก่อนหน้าของเขา ใช้เวลาดำเนินการถึง 13 ปี

ฉันย้ายไปยังประเทศไทยเมื่อปลายปี 2548 มันออกจะเป็นการก้าวกระโดดไปซักหน่อย ทั้งนี้มันมีที่มาจากความกังวล และจนตรอกจากงานที่ฉันทำเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายที่ฐานทัพเรือในกรุงวอชิงตัน ดีซี (ฉันจบมาด้วยเอกอังกฤษ และมีความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะได้เป็นสายลับ) ฉันตอบรับโฆษณาในหนังสือท่องเที่ยวฉบับหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ปิดทำการไปแล้ว ที่ตั้งสำนักงานของหนังสือฉบับนั้น ตั้งอยู่บนถนนข้าวสาร โดยเขาบอกว่าจะดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้สำหรับพออยู่ในกรุงเทพฯ ได้ ฉันคิดว่านี่อาจจะเป็นใบเบิกทางเพื่อเข้าสู่แวดวงการทำข่าว จึงได้ตัดสินใจเดินทางมาที่นี่

ฉันแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศไทยเลย ที่แน่ ๆ ไม่รู้ภาษาไทย หรือรู้จักใครที่อาศัยอยู่ที่นี่ แม้แต่อาหารไทยฉันก็ไม่คุ้น การทำงานกับหนังสือนั้นถือเป็นประสบการณ์เลยทีเดียว—มีบรรณาธิการสามคนที่สูบบุหรี่ไม่หยุด และชอบกระแนะกระแหนอยู่เรื่อยว่าฉันมาจากประเทศที่เลือกจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุชเป็นประธานาธิบดี จะว่าไปแล้วในแง่หนึ่ง ฉันเป็นหนี้พวกเขาทุกอย่าง แต่ในเดือนธันวาคม ฉันก็ออกมาจากที่นั่น และด้วยความโชคดีฉันได้ทำงานกับฝ่ายข่าวสืบสวนในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ผลงานชิ้นแรก ๆ คือได้ทำงานเป็นสายในคราบของครูสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง และบทสัมภาษณ์บุรุษอาวุโสผู้หนึ่งที่เชื่อว่าเขามาจากดาวอังคาร

แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดฉันก็ปรับตัวได้ ฉันหลงใหลการเมืองไทย และเขียนเรื่องที่ร้ายไม่เบา เช่น การหายตัวไปอย่างลึกลับจากค่ายทหารของ “ผู้ก่อการร้าย” ชาวมุสลิม, การลักลอบค้ามนุษย์หญิงชาวอุซเบกิสถานที่เข้ามาทำงานอยู่ในไนท์คลับในกรุงเทพฯ การกระทำการบังคับขู่เข็ญต่อแรงงานข้ามชาติชาวพม่า— ฉันคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะทำให้ฉันมีปัญหามากกว่าเรื่องราวขโมยความคิดเสียอีก แต่นี่แหละ เป็นสิ่งที่น่าขันเกี่ยวกับประเทศไทย คือการให้ความสำคัญต่อการถือลำดับชั้น และการเคารพเชื่อฟังถือผู้อาวุโสนับเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนการเผชิญหน้ากันแบบคนโตแล้ว กลับเป็นสิ่งที่เขาไม่ทำกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้การรายงานข่าวแบบสืบสวนสอบสวนเป็นเหมือนห้องทดลองที่น่าสนใจ ประกอบกับความที่ฉันยังสาว เป็นฝรั่ง และเป็นผู้หญิงนั้น ทำให้คุณค่าเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นไปอีก

พอฉันถูกจ่ายงานให้ทำข่าวเรื่องการขโมยความคิดชิ้นนี้ บรรณาธิการฉบับวันอาทิตย์ชาวออสเตรเลียชื่อพอล บอกกับฉันว่า มันจะเป็น “งานเขียนที่ดีมาก” มันจะมีความตลกร้ายและความเหนือจริงที่ว่าด้วยหน่อไม้ฝรั่งออร์แกนิค เขาให้เบอร์ของ “วิน เอลลิส” กับฉัน ฉันไปเจอเขาในห้างแห่งหนึ่ง เขาเป็นคนที่ดูเป๊ะและพิถีพิถันมาก เขาเดินมาพร้อมกับปึกกระดาษเป็นร้อย ๆ หน้า—ประกอบไปด้วยข้อความโต้ตอบ, ลำดับเวลาเหตุการณ์, ชาร์ตต่างๆ แบ่งตามสี, สำเนาวิทยานิพนธ์ที่ไฮไลท์ — เขาได้รวบรวมหลักฐานของการขโมยความคิด และการกระทำผิดทางวินัยที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะหนึ่ง และได้แจ้งต่อทางการว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการขโมยความคิดของเขา เมื่อหลายปีก่อน แต่หลังจากนั้นมา การสืบสวนในเรื่องดังกล่าวก็ไม่มีความคืบหน้าเลย

สำหรับฉันแล้วเขาดูเป็นคนซื่อตรง แต่ความจริงจังในการเอาเรื่องของเขาก็ดูบ้าเกินไปหน่อย เขาย้ำเรื่องความไร้ศักดิ์ศรีทางวิชาการของวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าว “มันแทบจะไม่มีค่าเลย” เขากล่าว “มันไม่มีอะไรใหม่ในการวิจัยศึกษาหน่อไม้ฝรั่งออร์แกนิค!” วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ทั้งเล่ม ยกเว้นสิบสี่หน้า ถูกตัดแปะมาจากเอกสารสี่ชิ้น สามในสี่ชิ้นนั้นเอลลิสเป็นผู้เขียน ส่วนอีกชิ้นนั้นเขียนขึ้นโดยนักศึกษาที่จบใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรของเจ้าของจำเลย

ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เล่มนี้ คือ ศุภชัย เขาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เขาจบการศึกษาวิทยาศาสตร์ดุษฏีบันฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติของไทย ภายใต้การควบคุมของที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเขาที่ชื่อวิชัย ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อ้างว่า มีคุณสมบัติในการช่วยให้หน้าอกเต่งตึง

ศุภชัยปฏิเสธคำขอสัมภาษณ์ของฉันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เราได้โต้ตอบกันทางอีเมล์ ข้อยืนยันของเขาคือ เขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของเอกสารพวกนี้ (ซึ่งไม่จริง) ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเป็นคนขโมยความคิดจากผลงานชิ้นนี้

แม้แต่ก่อนที่ฉันจะทำรายงานข่าวเรื่องนี้ ฉันได้รับรู้เรื่องคดีความของศุภชัยว่า—เขาได้ฟ้องเอลลิสข้อหาหมิ่นประมาท และเอลลิสก็สู้คดี รณชัย ทนายของบางกอกโพสต์ได้อ่านเอกสารเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าเราไม่ได้ละเมิดข้อหาใดในการเขียนข่าวเรื่องนี้ เมื่อเรื่องนี้เขียนเสร็จ บรรณาธิการอย่างน้อยสามคนได้อนุมัติงานข่าวชิ้นนี้ รณชัย ทนายของบางกอกโพสต์ ก็ได้อ่านซ้ำ จนงานชิ้นดังกล่าว ได้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2552

สองอาทิตย์หลังจากรายงานดังกล่าวเผยแพร่ ฉันได้รับอีเมล์จากศุภชัย แจ้งว่า เขาจะดำเนินการทางกฎหมาย ในเดือนตุลาคมฉันได้รับหมายศาลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกันกับพัฒนพงษ์ หัวหน้าบรรณาธิการบางกอกโพสต์ ให้ไปรายงานตัวที่นครปฐม ช่างเป็นสถานที่ที่ไม่อำนวยความสะดวกอย่างตรงจังหวะเสียนี่กระไร

ในตอนนั้นฉันไม่ได้รู้สึกกังวลอะไรเป็นพิเศษ คดีหมิ่นประมาทไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศไทย และงานเขียนของฉันก็มีหลักฐานรองรับชัดเจน ในขณะเดียวกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ คือการถูกปรับสองแสนบาท (ประมาณ $6,700) และ/หรือโทษจำคุกไม่กี่ปี และถึงแม้ว่าเราถูกตัดสินว่าผิด ทางบางกอกโพสต์ก็จะเป็นผู้จ่ายค่าปรับ นอกจากนี้ ทุกคนได้ให้ความมั่นใจกับฉันว่าโทษจำคุกนั้นเป็นไปได้ยาก และการที่พัฒนพงษ์ หัวหน้าบก. เป็นจำเลยร่วม ก็ทำให้ฉันเบาใจขึ้นว่า ทางบางกอกโพสต์นั้นจะต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะปกป้องเขา และถ้าเป็นอย่างนั้นก็รวมถึงฉันด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเวลาถัดมา เราถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งวัน และรณชัยก็บอกว่า ฉันถูกขึ้นชื่อใน “บัญชีดำ” ซึ่งหมายถึงหากฉันจะเดินทางออกนอกประเทศ จำต้องทำเรื่องขออนุญาตต่อศาล โดยรณชัยมั่นใจว่าศาลจะอนุญาต ไม่มีใครบอกฉันได้ว่าบัญชีรายชื่อนี้มีอยู่จริงหรือไม่ มีอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสนามบินหรือเปล่า สองเดือนหลังจากที่ถูกจำคุก ฉันยื่นเรื่องขออนุญาตเดินทางไปยังสิงคโปร์เพื่อเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่ง การร้องขอของฉันถูกปฏิเสธ ฉันอุทธรณ์ไปสองครั้ง และกลับถูกปฏิเสธทั้งสองครั้ง เห็นได้ชัดว่านั่นเป็นเพราะทางการไม่ต้องการให้ฉันหนีคดี โดยบรรณาธิการจะต้องกำหนดให้ฉันเขียน “เรื่อง” ที่ต้องทำในสิงคโปร์เท่านั้น ฉันจึงจะได้รับอนุญาตให้ไปได้ในวันหยุดสุดสัปดาห์

มาถึงตอนนี้ฉันรู้สึกหวั่นใจมากขึ้น ฉันตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของรณชัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุทธรณ์ที่ไม่สำเร็จ และเรื่องที่อธิบายไม่ได้หลายอย่างในคดีของฉัน พัฒนพงษ์เคยอวดกับฉันว่าบริษัทเลือกรณชัยเข้าทำงานเพราะว่าเขาได้ช่วยเหลือบริษัทเอาไว้มาก ทนายคนหนึ่งที่ฉันรู้จักบอกว่ารณชัยนั้นไม่เคยว่าความชนะให้บางกอกโพสต์เลยแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากนี้ เขายังพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก ทำให้ภาระมาตกอยู่ที่ฉัน ซึ่งจำเป็นต้องพูดภาษาไทย แต่นี่ก็ยังเป็นปัญหา เพราะเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวกับคดีเป็นภาษาอังกฤษ

ในช่วงนี้ ฉันได้รับการตอบรับเข้าเรียนที่ Columbia’s Graduate School of Journalism ที่จะเปิดเทอมในเดือนสิงหาคม 2553 ในขณะเดียวกัน ฉันรู้มาว่าการไต่สวนของคดีฉันจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 กันยายน และไม่กี่วันหลังจากนั้นก็ยังได้รู้ว่าพัฒนพงษ์นั้นได้เจรจาต่อรองให้ตัวเขานั้นหลุดพ้นจากคดีอาญา และจะเหลือแค่ฉันกับวิน เอลลิสในคดีนี้เท่านั้น

ฉันได้ค้นพบเรื่องนี้อย่างไม่ตั้งใจ เมื่อฉันพยายามที่จะเข้าถึงบทความดังกล่าวทางออนไลน์ แต่ก็หาไม่เจอแล้ว ฉันถามบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่องนี้ พัฒนพงษ์บอกว่ามันมีปัญหาทางเทคนิค ฉันไม่เชื่อ และได้ให้เพื่อนร่วมงานของฉันติดต่อรณชัย ซึ่งเขายอมรับว่ามีการทำข้อตกลงบางอย่าง ฉันขอคำอธิบายจากกองทางบรรณาธิการในเรื่องนี้ พัฒนพงศ์ก็ได้ตอบมาโดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า โดยการพิมพ์จดหมาย แล้วให้คนส่งเอกสารเดินจากชั้นสามขึ้นมาส่งที่ชั้นสี่ เขาเขียนชี้แจงว่าศุภชัยขู่ว่า เขาจะฟ้องข้อหาแยกอีกข้อหาหนึ่งสำหรับงานเขียนฉบับที่เผยแพร่ออนไลน์ ดังนั้นสิ่งที่เขาพยายามจะทำคือปกป้องบริษัทจากปัญหานี้ เขาให้ความมั่นใจกับฉันว่าบริษัทนั้นจะยืนอยู่ข้างงานเขียนของฉัน และสัญญาว่าศุภชัยจะไม่เอาความถ้าหากว่าฉันยอมรับสารภาพในศาล

เมื่อดูจากพยานแวดล้อม และการที่ศุภชัยไม่ยอมให้ฉันให้ปากคำในฐานะพยาน แต่ในฐานะจำเลย มันทำให้ฉันรู้สึกข้ออ้างดังกล่าวดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ฉันก็ยังรู้มาอีกว่า รณชัยได้ปล่อยข่าวมั่ว ๆ กล่าวหาว่าฉันได้ยกหูโทรศัพท์จากห้องข่าวของบางกอกโพสต์ ไปยังกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานของศุภชัย และเรียกร้องให้ไล่เขาออก

ฉันสงสัยว่าทุกอย่างที่รณชัย และพัฒนพงษ์ทำไปนั้นเพื่อพยายามที่จะปกป้องตัวพวกเขาเองเพราะว่าทั้งสองคนนี้ในทางทฤษฎีเป็นคนอนุมัติให้งานเขียนนี้เผยแพร่ได้ หรืออาจจะเป็นเรื่องของการเมือง ศุภชัยนั้นทำงานภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการหนุนหลังจากผู้สนับสนุนทางการเงินพรรค ส่วนบางกอกโพสต์บริหารโดยคนที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายกรัฐมนตรี และมีผู้สนับสนุนทางการเงินของพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของ หรืออาจจะเป็นเพียงเรื่องผลประโยชน์บางอย่างเหมือนในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในเมืองไทย หรืออาจแม้แต่เป็นเพราะความซับซ้อนที่เกิดจากช่องว่างทางวัฒนธรรม และอายุ

บางที ฉันรู้สึกว่า รณชัย และพัฒนพงษ์นั้นไม่รู้ว่าจะคิดกับฉันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นคนต่างชาติ หรือด้วยความวัยเยาว์ หรือทั้งสองอย่าง พวกเขาไม่เชื่อในคำบอกเล่าของฉันเสียทั้งหมด แน่นอนว่า ฉันเองไม่ใคร่ไว้ใจสองคนนี้เท่าใดนัก

ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ฉันก็เป็นฝ่ายถูกทำให้อยู่ในฐานะเสียเปรียบ เพราะสถานะทางกฎหมายของฉันนั้นขึ้นอยู่กับใบอนุญาตทำงานซึ่งบางกอกโพสต์เป็นผู้ควบคุม ถ้าฉันถูกไล่ออก ในทางทฤษฎีแล้ว ฉันอาจจะถูกจับเข้าไปอยู่ในสถานกักกันในกรมตรวจคนเข้าเมือง ที่มีสภาพแย่กว่าคุก และเป็นที่ที่มีไว้กักกันคนต่างชาติที่สิ้นไร้ไม้ตอก และผู้ลี้ภัย นานเป็นปีๆ

ด้วยเหตุนี้ฉันจึงต้องเดินหมากอย่างระมัดระวัง ฉันไปหาผู้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่ชื่อพิชัย เขาเป็นคนไทยที่ได้รับการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย และแสดงความคิดเห็นด้านเสรีภาพทางสื่ออย่างชัดเจนทางโทรทัศน์ และในเวทีเสวนาต่างๆ พิชัยเป็นคนมีเสน่ห์ ละม้ายคล้ายกับบิล คลินตัน และมีผมขาวที่จัดแต่งอย่างเนี้ยบ เขานั่งอยู่บนเก้าอี้—ดูสบาย ๆ เอนพนักเก้าอี้ไปมา และสูบบุหรี่อยู่ตลอดเวลา ฉันรู้สึกขอบคุณการสละเวลาของเขามาก แต่ส่วนใหญ่ เขามักเป็นฝ่ายพูด และทำเป็นห่วงเป็นใยพร้อมปลอบโยนแบบไม่ค่อยจริงใจเท่าไหร่ และยังเห็นความกลัวของฉันเป็นเรื่องตลกขำขัน เขาบอกว่ารณชัยนี้เป็นทนายที่ฝีมือดีและอยู่กับเขามานาน และตัวพิชัยเองก็ชนะคดีหมิ่นประมาทมาหลายต่อหลายครั้งแล้วด้วยการว่าความของรณชัย อย่างไรก็ตาม พิชัยนั้นไม่ได้ยินสิ่งที่ฉันต้องการพูดเลยแม้แต่นิดเดียว นั่นคือ ฉันรู้สึกถูกทอดทิ้ง, ทนายของฉันดูเหมือนจะทำงานต่อต้านฉัน และความเสี่ยงที่ต้องติดอยู่ในประเทศไทยไปตลอด

เรื่องทนายออกจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน—ก็หนีไม่พ้นเรื่องการรักษาหน้าอีกนั่นแหละ— การว่าจ้างทนายคนใหม่ ถูกมองว่าจะเป็นการหักหน้ารณชัย ฉันจึงได้พยายามทำเรื่องนี้อย่างระมัดระวังโดยทำเรื่องขอจ้างทนายคนใหม่ โดยอ้างว่าครอบครัวของฉันจะสบายใจมากขึ้นหากทนายของฉันพูดภาษาอังกฤษได้ดี มันละเอียดอ่อนถึงขนาดที่เมื่อฉันบอกเรื่องนี้ต่อพิชัย เขาก็ดูจะไม่พอใจไปซักครู่ “คนที่เป็นทนายนั้นจะงัดข้อกันเอริก้า” เขากล่าว หมายความว่าหากฉันจ้างทนายคนใหม่เขาหรือเธออาจต้องปะทะกับรณชัย เขายังกล่าวต่อไปถึงเหตุผลที่เขาไม่สนับสนุนความคิดนี้ และพูดเหมือนกับว่าฉันไม่มีสิทธิตัดสินใจอะไรซํกอย่าง

อย่างไรก็ตาม ฉันก็วางแผนจะจ้างทนายคนใหม่อยู่แล้ว และได้ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ให้ช่วยในคดีนี้ ฉันติดต่อสถานทูตหลังจากโทษจำคุก พวกเขาทำอะไรมากไม่ได้ แต่ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาที่ร้านสตาร์บัคส์ที่อยู่ตรงข้ามกับสถานทูต—300 เมตรจากเขตสถานทูต—เพื่อที่จะพูดคุยกับฉันในฐานะ “เพื่อน” คำแนะนำที่ได้ก็ตรงไปตรงมา และชัดเจน คือ ให้ออกจากประเทศไทยก่อนที่คดีจะไปถึงชั้นศาล และไม่ให้บอกใครทั้งนั้นเรื่องที่ฉันได้รับการตอบรับเข้าเรียน เพราะว่ามันจะทำให้ฉันดูเสี่ยงต่อการหนีคดีหมิ่นประมาท โดยเฉพาะในกรณีของฉันที่ต้องสู้อยู่คนเดียวไม่น่าจะออกมาดีนัก พวกเขาแนะนำว่า ฉันอาจจะใช้โอกาสนี้เพื่อรณรงค์เสรีภาพของสื่อ โดยให้ตีพิมพ์บอกเล่าประสบการณ์ของฉัน โดยไปอยู่นอกประเทศซึ่งปลอดภัย มากกว่าที่จะมาติดแหงกที่นี่ และพยายามต่อสู้คดีในศาลไทย

ในตอนนั้น ทางเลือกนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ ในความคิดของฉัน การหลบหนีเป็นทางออกสุดท้าย และฉันก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า ในที่สุดความเป็นเหตุเป็นผลนั้นจะเอาชนะได้ ฉันยังต้องการที่จะกลับมาในประเทศไทยได้ เพราะว่าฉันรักประเทศนี้ และรู้สึกดีกับหลายคนที่นั่น ฉันมองว่า คดีนี้เป็นคดีเล็ก ๆ และไร้สาระ และมีหลักฐานแน่นและง่ายต่อการพิสูจน์

ฉันไปนัดเจอกับทนายอย่างน้อยสิบคน รวมถึงผู้พิพากษาไทยสองคนด้วย หนึ่งในนั้นใส่เสื้อพิมพ์ลายแบบฮาวาย พวกเขาเข้าใจว่าฉันไม่มีเงินพอที่จะจ้าง แต่พวกเขาก็กรุณาพอที่จะให้ความเห็น—ทุกคนเห็นตรงกันว่า งงงวยกับวิธีที่บางกอกโพสต์ทำให้ฉันตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้—ซึ่งถ้าไม่ยอมความ ก็ต้องออกไปซะ (คนหนึ่งถึงกับให้คำแนะนำฉันว่าให้กระโดดขึ้นรถสิบล้อออกไปทางชายแดนเขมร) พวกเขายังแนะด้วยว่าฉันจะยอมรับสารภาพก็ได้; ซึ่งจะถูกปรับเป็นเงิน และอาจจะต้องกล่าวขอโทษ แล้วทุกอย่างก็จะจบ.

การตามหาผู้ใหญ่

คดีส่วนใหญ่ในเมืองไทยนั้นจบลงด้วยการตกลงนอกศาล เพราะว่ามันอาจใช้เวลานานมาก และมันยังเหมาะกับวิถีของคนไทยที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หากแต่ก็รักษาชั้นอำนาจไว้อยู่ การตกลงดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยอ้อมอย่างจงใจ กล่าวคือ เพื่อนที่เป็นคนสำคัญมากของเพื่อน จะติดต่อเพื่อนที่เป็นคนใหญ่คนโตของเขาที่รู้จักกับคนเพื่อนที่สำคัญอีกทีซึ่งใกล้ชิดกับปู่ของเจ้าหน้าที่ หรือหัวหน้า หรืออีกคน ที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่คนสำคัญ ผู้ซึ่งคอร์รัปชั่นอย่างเปิดเผยหากแต่เราจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือเพื่อให้ทำข้อตกลงได้ในที่สุด วิถีดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่น่าขยะแขยงและไร้หลักการในการจัดการสิ่งต่างๆ แต่นี่ก็คือประเทศไทย...

ดังนั้น ฉันจึงเริ่มสืบเสาะหาคนใหญ่คนโต, คนสำคัญ หรืออย่างที่รู้จักกันในประเทศไทยว่า ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นครูสอนออกเสียงให้แก่ลูกของเจ้านายของศุภชัย หรือเจ้าของโรงแรมที่สนิทกับเจ้านายของบางกอกโพสต์และอยู่ภายใต้เครือธุรกิจเดียวกัน ซึ่งฉันไปเจอที่งานเลี้ยงอาหารค่ำวันหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกวุฒิสภาที่มีชื่อเสียงเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิแก่ผู้ที่เสียเปรียบ และยังมี ปู่ของเพื่อนสนิทคนไทยของฉัน ซึ่งดูเหมือนจะมีความหวังที่สุด เขามีฐานะดีจากการคิดค้นยาสระผมแก้ผมร่วง ตามโครงสร้างของสังคมไทยที่มีลำดับชั้น คนที่มีอายุ และ/หรือร่ำรวยเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการนี้ และมันก็จริง เขาได้ติดต่อศุภชัยโดยตรง และรู้ว่าศุภชัยอ้างว่าไม่อยากมีประเด็นอะไรกับฉันเป็นการส่วนตัว แต่ทนายของเขานั้นยืนกรานไม่ให้เขายอมความ เพราะว่าในคดีหมิ่นประมาท การดำเนินคดีกับชาวต่างชาติสองคน (เอลลิส และฉัน) เป็นเรื่องน่าเชื่อถือมากกว่าชาวต่างชาติคนเดียว

นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจด้านสิ่งทอเชื้อสายไทย- อินเดียที่ร่ำรวยมาก เขาให้ความสนใจในคดีของฉันหลังจากที่ได้ยินเรื่องนี้จากคนรู้จักผู้ที่เป็นอดีตนายธนาคารวอลสตรีท นักธุรกิจคนนี้บอกว่าเขาต้องการยื่นมือเข้ามาช่วยเพราะว่าลูกสาวของเขาเป็นนักเรียนสาขาวารสารศาสตร์ และด้วยเหตุที่ว่าเขาทนไม่ได้ต่อความอยุติธรรม แต่ฉันคิดว่าจริง ๆ แล้วเขาแค่ต้องการที่จะสวมบทนักรบขี่ม้าขาวมากกว่า เช่นเดียวกันกับอดีตนายธนาคารวอลสตรีท ที่ถูกสั่งให้มาช่วยประสานงานการสื่อสารระหว่างพวกเราด้วยอีเมล์ที่แยกกัน เพื่อไม่ให้มีหลักฐานว่านักธุรกิจชาวซิกส์ผู้นี้นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เรามักทานอาหารกลางวันร่วมกันในวันอาทิตย์ที่โปโลคลับเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งนักธุรกิจร้อยล้านคนดังกล่าวมักจะนำการสนทนาเฉกปัญญาชนไปพลางขณะจิบวิสกี้

ฉันเริ่มสงสัยว่านี่เป็นความคิดที่ดีหรือเปล่า —ที่ผ่านมา ฉันระมัดระวังเป็นพิเศษ, พยายามปกปิดความลับ, ไม่ไว้ใจใคร—และอยู่ดีๆ กลับมาบอกข้อมูลทุกอย่างให้แก่ชายลึกลับผู้นี้ ซึ่งฉันแทบจะไม่รู้จัก แต่ตอนนั้น ฉันไม่มีเวลาแล้ว และกำลังหมดหนทาง และเหนื่อยกับความมืดมน

นักธุรกิจชาวซิกส์คนนี้นั้นพาเพื่อนที่เป็นศาสตราจารย์มาด้วย และบอกให้เขาทำการวิเคราะห์เรื่องการขโมยความคิดในงานวิทยานิพนธ์ของศุภชัยด้วย ทั้งสองคนนั้นมั่นใจว่าฉันถูกทำให้เป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะว่างานที่ฉันเขียนขึ้น หากแต่เป็นเพราะ เรื่องอื่นซึ่งสำคัญยิ่งกว่านั้น ถึงตอนนี้ฉันรู้ทันทีว่าพวกเขาไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ทั้งสองนั้นต้องการทำทุกอย่างใหม่หมดตั้งแต่ต้น ต้องการเอกสารทุกอย่างจากฉัน และฉันก็ทนไม่ไหวที่จะมาเสียเวลา และเงินเพื่อมาถ่ายเอกสาร เย็บเล่ม และให้เบอร์โทรศัพท์ของผู้สนับสนุนทางการเมืองแก่ศุภชัย อาจเป็นเรื่องโชคดีก็ได้ว่า ในที่สุด พวกเขาก็หันเหความสนใจไปเรื่องอื่น โดยพวกเขาจัดทริปเดินทางท่องเที่ยวไปยังเรดวู้ด ฟอร์เรสต์ ในแคลิฟอร์เนีย นำโดยนายธนาคารวอลล์สตรีท ส่วนฉันก็ต้องจัดการเรื่องนี้ต่อไป

ฉันยังได้ติดต่อกับอีกหลายคนที่ทำงานในองค์กรด้านสื่อ ที่สนับสนุนให้ฉันนำคดีของฉันออกสู่สาธารณะ และรณรงค์เรื่องนี้เพื่อกดดันศุภชัย และให้รับรู้ถึงความไม่ยุติธรรมของกฎหมายหมิ่นประมาทไทย ฉันเห็นด้วยในทางหลักการ แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นจุดสนใจ เพราะมันส่งผลต่อการเดินทางออกไปนอกประเทศของฉันเพื่อไปเรียนต่อ และทนายก็ยังเตือนอีกด้วยว่าการกระทำแบบนั้นรังแต่จะทำให้เหตุการณ์แย่ลง—มีการเสียหน้ามากขึ้น—และตามความเห็นของสังคม คนไทยหลายคนอาจจะหันมาเข้าข้างศุภชัยมากกว่า เรื่องของการขโมยความคิดนั้นถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่การทำให้คนใหญ่คนโตนั้นเรื่องเสียหน้านั้นไม่ใช่เรื่องเล็กเลย

ในเดือนมิถุนายน ฉันมีปัญหาสุขภาพปวดท้องอย่างรุนแรง และมีปัญหาในการนอน เรื่องเล็กน้อยนี้ทำให้ฉันเสียเวลาไปมาก และฉันต้องเก็บมันเอาไว้คนเดียว ฉันต้องการที่จะยกภูเขาทั้งลูกออกจากอก และหาคนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะตกลงกันอย่างง่าย ๆ ฉันก็ยังมีความหวังว่า ศุภชัยคงจะมีเหตุผล และทุกอย่างก็จะจบลงด้วยดี

สิ่งที่ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องใหม่ก็คือ ทรงพล บรรณาธิการฝ่ายสืบสวนสอบสวน และหัวหน้าโดยตรงของฉัน—หนึ่งในหลาย ๆ คนในบริษัทที่ฉันยังไว้ใจอยู่—พาฉันไปที่ศาล เขาพยายามที่จะเจรจากับศุภชัยอีกครั้ง แต่ศุภชัยไม่มา และได้ส่งเมสเซนเจอร์มาขออนุญาตต่อศาลโดยอ้างว่าเขามีอาการท้องร่วง

เราออกมาจากที่นั่นด้วยความผิดหวัง ทรงพลหัวเราะอย่างเงียบ ๆ เรื่องท้องร่วงของศุภชัย ทรงพลบอกฉันว่าเขาจะพาฉันไปที่วัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในนครปฐม วันนั้นเป็นวันจันทร์ และฉันก็ไม่มีอารมณ์ที่จะทำงาน วันนั้นร้อน และแดดแรง เราเดินไปเรื่อย ๆ รอบเขตวัด, อ่านป้ายอธิบายของรูปปั้นต่าง ๆ ในบริเวณที่เคารพสักการบูชา ฉันทำตามทรงพล: จุดธูป, คุกเข่า, มือประสาน และทำท่าสวดมนต์, ปิดทองที่รูปปั้นองค์พระพุทธเจ้า เขาให้ฉันเสี่ยงเซียมซีเพื่อที่จะอ่านคำทำนาย และฉันก็ได้คำทำนายจากกระดาษที่เขียนว่า “คุณจะต้องได้รับบททดสอบหลายครั้ง แต่คุณจะได้รับสิ่งที่คุณต้องการ”

คำทำนายดังกล่าวเป็นเหมือนคำปลอบประโลมที่แห้งเหือด ฉันสัญญากับครอบครัวว่าจะกลับถึงบ้านภายในต้นเดือนกรกฎาคม และไม่นานเดือนกรกฎาคมก็มาถึง และปัญหาก็ยังดูไม่มีทางออก ศุภชัยยังคงไม่ต้องการยอมความ และฉันก็ไม่ต้องการรับสารภาพ และก็ไม่มีใครที่จะมาทำให้ฝันร้ายนี้หายไปได้ หลังจากที่มีหลายคนบอกฉันว่ามันจะดีที่สุดในทางเลือกที่แย่ที่สุด ฉันก็ได้ยินยอมต่อทางออกนั้น—ฉันจะออกไปจากที่นี่

จบเกม

วันต่อมา ฉันว่าจ้างทนายคนหนึ่ง เธอมีเสียงลุ่มลึก และมีกลิ่นปาก และสำนักงานของเธอ ที่เธอได้ทำงานมาหลายต่อหลายปีนั้น ยังมีสิ่งที่แขวนบนผนังและใบรับรองทางนิติศาสตร์วางระเกะระกะอยู่บนพื้น ในขณะสิ่งที่กล่าวไปไม่ได้สร้างความมั่นใจให้ฉันเท่าไหร่ แต่มีเพื่อนคนไทยที่ไว้ใจได้แนะนำทนายคนนี้มา และเธอก็ตรงไปตรงมา และเด็fขาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกใจชื้น เธอวางแผนว่าจะให้ฉันลงนามมอบอำนาจ โดยให้เธอเป็นทนายประจำตัวของฉันหนึ่งวันก่อนออกนอกประเทศ เพื่อที่เธอจะได้รับหน้าที่แทนรณชัยเมื่อฉันได้ออกไปแล้ว เธอจะยื่นเอกสารที่จำเป็นทุกอย่างเมื่อฉันไปถึงไอโอว่า เพื่อให้แน่นอนว่าจะไม่ถูกตั้งข้อสงสัย ก่อนที่มันจะสายไปในการหยุดยั้งฉัน

แผนการออกนอกประเทศมีดังนี้: ส่งเอกสารคำร้องขอที่กำหนดเวลาเดินทาง, ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ, และคำอธิบายรับรองจุดประสงค์การเดินทางที่ลงนามโดยบรรณาธิการ และยื่นให้แก่ผู้พิพากษาสิบวันก่อนการเดินทาง จากนั้นก็หวังและรอ รับเอกสารคนเข้าเมือง, ส่งเอกสารนั้นให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน และบินออกนอกประเทศ

สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่ดี—ใกล้, ไม่แพงจนเกินไป, ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร และไม่ได้เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับประเทศไทย ฉันได้รับรับคำแนะนำว่าไม่ให้ซื้อตั๋วเครื่องบินจากสิงคโปร์ไปสหรัฐฯ จนกว่าที่ฉันจะเดินทางไปถึงสิงคโปร์ และเลือกไฟล์ให้มีการต่อเครื่องน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

ฉันส่งแผนการเดินทางของฉันสิบเอ็ดวันก่อนเดินทาง พร้อมแนบจดหมายจากทรงพลที่ระบุเรื่องงานข่าวเกี่ยวกับการค้าประเวณีของคนไทยในสิงคโปร์ ถึงแม้ว่าเขาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำมัน แต่ฉันก็นจำได้ว่าพัฒนพงษ์เซ็นต์อนุมัติ และรณชัยก็ไปยื่นให้ศาล ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ ถึงแม้จะเหลืออีกไม่กี่วันก่อนวันเดินทาง แต่ฉันก็จะกังวลมากไม่ได้เพราะมีหลายอย่างที่ฉันต้องจัดการ ฉันเก็บกระเป๋า, ส่งของ และกังวลเรื่องกระเป๋าเดินทาง—เพราะมันต้องดูเหมือนว่าฉันกำลังจะไปทำงานแค่สี่วัน ฉันไปที่ออฟฟิศ และค่อย ๆ จัดการเกี่ยวกับเอกสารต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์, เก็บเอาของมีค่าจากโต๊ะของฉัน, ตระเตรียมให้ดูเหมือนว่าฉันจะไม่ได้วางแผนว่าจะไปนาน ฉันปล่อยให้โต๊ะของฉันรกเหมือนที่เคยเป็นอยู่ตลอด มีกระดาษกองอยู่อย่างไม่ระเบียบ, สลิปเงินเดือน, คู่มือสื่อ, กระดาษจดโน้ต, แผ่นรองเม้าส์ และปฏิทินจากสำนักงานตัวแทนจากยูเอ็น

ในที่สุด ฉันก็ได้รับคำอนุมัติจากศาลในบ่ายวันศุกร์ วันที่ 9 กรกฎาคม เป็นเวลา 17 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง เป็นเรื่องที่น่าโล่งอก หากแต่ก็ยังมีเรื่องยุ่งยากอีกเรื่อง คือ ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ทางสถานทูตสหรัฐฯ ได้โทรมาหาฉันและแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ได้นัดประชุมกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งฉันจะต้องเปิดเผยเจตนาว่าต้องออกจากประเทศเพื่อไปเรียนต่อ แต่เขาก็จะบอกว่าสามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะมีกรณีของนักเปียโนชาวรัสเซียที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการข่มขืนเด็กชายไทยก่อนหน้านี้ ได้รับการประกันตัวออกมา และในอาทิตย์นั้นได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับรัสเซียก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ทางสถานทูตคิดว่าฉันจะใช้เหตุผลข้อนี้อ้างได้

ฉันใช้เวลาตลอดบ่ายนั้นโทรหาทนายหลายคนที่ได้รู้จักตลอดช่วงเวลาที่ยากลำบาก และทุกคนเห็นด้วยว่าไม่ควรเข้าประชุม และให้ออกนอกประเทศตามที่วางแผนไว้ พวกเขาให้เหตุผลว่ากระทรวงการต่างประเทศนั้นไม่ใช่กระทรวงยุติธรรม และไม่มีน่าจะมีการล็อบบี้ใดที่จะได้ผล อีกอย่างคือฉันจะต้องกลับมาขึ้นศาลอีกทีในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจทำให้รูปคดีซับซ้อนขึ้นไปอีกได้

ฉันจึงตัดสินใจออกจากประเทศไทย เย็นนั้น ฉันทานข้าวกับยำจานใหญ่ และฉันก็ได้มาถึงสนามบินกับกระเป๋าเดินทางใบเล็ก ในเช้าวันต่อมา ฉันกังวลช่วงด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ตรวจดูเอกสารต่างๆ ในขณะที่ฉันยื่นเอกสารและใบรับรองจากศาลว่าจะกลับมาในอีกสามวัน และสัญญาว่าจะกลับมาเมืองไทยในอีกสามวัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่พลิกดูเอกสารต่างๆ ฉันใช้เวลาห้านาทีที่ยาวนานตอบคำถามที่เกี่ยวข้อง และอดกลั้นไว้ไม่ให้น้ำตาไหลออกมา ในที่สุดเขาก็โบกมือให้ฉันเดินผ่านด่าน

ฉันคาดหวังไว้ว่าคงจะได้รู้สึกโล่งอก เพีงแต่ไม่รู้ว่าตอนไหน; ตอนที่ผ่านจุดตรวจคนเข้าเมือง หรือตอนที่เดินขึ้นเครื่อง, แต่ที่แน่ๆ คงจะรู้สึกโล่งอกทันทีที่เครื่องบินลงจอดในสิงคโปร์—แต่มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฉันนั่งร้องไห้มาตลอดทาง และยังคิดอยู่ว่าฉันต้องกลับไปประชุมกับกระทรวงการต่างประเทศ ถ้ามันไม่ได้ผลฉันก็อาจจะกระโดดขึ้นรถบรรทุกหนีออกไปยังกัมพูชาได้ทุกเมื่อ เหมือนที่ทนายคนหนึ่งเคยแนะนำไว้

ทุกคนที่ฉันได้พูดด้วยตอนมาถึงสิงคโปร์ บอกว่าความคิดนี้เป็นความคิดที่แย่ที่สุด และสิบสองชั่วโมงถัดมา ฉันก็มาถึงไอโอว่า

ฉันมาถึงบ้านพ่อกับแม่ในเมืองซีดาร์ ราปิดส์ รัฐไอโอว่าในคืนวันที่ 11 กรกฎาคม และได้รับการต้อนรับจากคนในละแวกบ้านกว่าครึ่ง พวกเขาประดับหน้าบ้านเราด้วยลูกโป่ง มีป้ายสีดำทองเขียนว่า “เอริก้ากลับมาแล้ว!!!” มันช่างน่าตื้นตันใจ และฉันก็รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาถึงบ้านเสียที ในขณะเดียวกัน ฉันก็รู้สึกเศร้ามากกว่าโล่งอก, ละอายใจ และรู้สึกผิดที่ทำให้พ่อ และแม่ต้องนั่งเครียดกับสิ่งที่ฉันทำ

สองวันต่อมาฉันส่งจดหมายลาออกไปยังบางกอกโพสต์ พวกเขาไม่พอใจ—และช็อคที่ฉันได้ทำการแบบฉลาดแกมโกง อย่างที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งบอก “หนีไปทั้ง ๆ เรื่องยังไม่จบ” และบอกฉันว่าฉันต้องกลับไปเผชิญข้อกล่าวหา ฉันได้รับแจ้งว่ามีหมายจับฉัน และรู้ด้วยว่าบางกอกโพสต์ได้อายัดเงินของฉันในกองทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินประกันที่บริษัทนำไปค้ำประกันฉันในศาล

ในเดือนสิงหาคม ฉันเริ่มเข้าเรียน และพยายามที่จะลืมเรื่องที่เกิดขึ้น ในบางครั้งบางคราว ฉันจะได้ยินวิน เอลลิสที่ส่งข่าวร้ายมาให้ เช่น วันหนึ่งในขณะที่เขาเดินทางไปศาล มีคนปาหินก้อนใหญ่ใส่ที่กระจกหลังบนรถของเขา เป็นต้น

แต่ประเทศไทยก็ยังไม่เปลี่ยน ฉันติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้ ฉันยังติดต่อกับเพื่อนที่อยู่ในรัฐบาล— ฉันพยายามที่จะไม่พูดถึงเรื่องคดีของฉันกัเขา และไม่มั่นใจว่าเขารู้เกี่ยวกับสาเหตุที่ฉันออกจากประเทศไทยหรือไม่— ฉันได้ไปพบเขาบ่ายวันหนึ่ง เมื่อเขามานิวยอร์คในเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อโปรโมทแคมเปญ “การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ต้องขังหญิง” ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ยูเอ็น เขาพาฉันไปยังร้านหนังสือบอร์เดอส์เพื่อแนะนำให้ฉันรู้จักกับนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พร้อมทั้งคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรม ที่กำลังหาซื้อหนังสืออ่านตอนขากลับ เท่าที่ฉันรู้นั้นไม่มีใครทราบเรื่องราวของฉัน นายกรัฐมนตรีและตัวฉันพูดคุยกันอย่างสนุกสานาน ในขณะที่เขาเหลือบมองโปสเตอร์หนังเรื่อง Eat, Pray, Love พวกเขาเสนอจะขับรถมาส่งฉัน ฉันกล่าวขอบคุณ และตัดสินใจนั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้าน

เดือนพฤศจิกายนผ่านมา แล้วก็ผ่านไป ปรากฎว่า ข้อกล่าวหาต่อเอลลิสนั้นถูกยกฟ้อง แต่ของฉันมิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากว่าฉันไม่ได้อยู่ที่นั่น – สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ฉันตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของฉันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพิ่งจะเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง ที่ฉันจ่ายเงินค่าประกันตัวคืนให้บางกอกโพสต์ ที่เขาว่าฉันติดค้างอยู่ ในขณะเดียวกัน เขาก็คืนเงินที่เหลือในกองทุนให้ฉัน เจ้าหน้าที่การเงินแจ้งข่าวการโอนเงิน พร้อมคำพูดที่กรุณาว่า “คุณจะอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป และเราขออวยพรให้คุณโชคดี, มีความสุข และประสบแต่ความสำเร็จ”

ในช่วงหนึ่งฉันรู้สึกว่ามันเกือบจะพอที่ทำให้ฉันให้อภัย และลืมว่าบางกอกโพสต์ทำกับฉันไว้อย่างไร

แต่ต่อมา พัฒนพงษ์ก็อธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นในแบบของเขา ไม่น่าแปลกใจเลยว่า มันแตกต่างจากเรื่องราวฉบับของฉันมาก เขาบอกว่าบรรณาธิการหนึ่งในสามคนนั้นได้เตือนเรื่องการเผยแพร่งานเขียนของฉันก่อนหน้านี้แล้ว—ถ้านี่เป็นเรื่องจริง ฉันก็ไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย เขาบอกว่าศุภชัยนั้นได้เตือนฉันแล้วว่าไม่ควรตีพิมพ์งานเขียนชิ้นนี้—เรื่องนี้เป็นจริง แต่บรรณาธิการก็รับรู้แล้ว นอกจากนี้ มันแทบจะฟังไม่ขึ้นเลยถ้าจะไม่ตีพิมพ์งานเขียนที่มีหลักฐานและข้อมูลหนักแน่นและถูกต้อง เขาบอกว่า เอลลิสไม่ได้บอกความจริงเกี่ยวกับเป้าประสงค์ที่แท้จริงของเขา —ในฐานะที่ฉันได้เจาะเรื่องนี้ลึกว่าพัฒนพงษ์ ฉันเชื่อว่ารายงานข่าวของฉันถูกต้องและเที่ยงตรง พัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า เขาได้ปรึกษาเรื่องนี้กับฉันก่อนที่จะสู้ให้ศาลยกฟ้องข้อกล่าวหา —ซึ่งไม่เป็นความจริง –และยังว่า ฉันเรื่องเยอะ และเอาแต่เรียกร้องให้มีการยกฟ้องในคดีของฉัน ถึงแม้เขาจะยืนยันว่า ศุภชัยคงจะยกฟ้องข้อกล่าวหาหากฉันไปปรากฎตัวต่อหน้าศาล แต่ฉันไม่เห็นเหตุผลว่า ฉันจะไว้เนื้อเชื่อใจคำพูดดังกล่าวของเขาได้อย่างไร

แต่ที่น่าโมโหมากกว่านั้น คือ ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไปเลย นอกจากความจริงที่ว่าฉันไม่สามารถกลับไปประเทศไทยได้อีก ศุภชัยก็ยังคงเป็น “ด็อกเตอร์” และยังมีงานทำ พัฒนพงษ์ และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ยังคงทำตนเสมือนว่าจะยืนอยู่เคียงข้างนักข่าวของเขา กฎหมายหมิ่นประมาทที่มีโทษสูงในประเทศไทย, ระบบยุติธรรมที่ถูกบงการโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจบาตรใหญ่และมีอิทธิพลก็ยังเหมือนเดิม ทำให้การทำหน้าที่ของสื่ออย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องที่ยากเหลือคณานับ จนเกือบจะเป็นไปไม่ได้

ฉันรู้สึกโชคดี เพราะฉันยังมีสิ่งล้ำค่าที่นักข่าวไทยไม่มี นั่นคือ ฉันยังมีที่ทางสำหรับการหลบหนี

 

ที่มา :

แปลและเรียบเรียงจาก Erika Fry. Escape From Thailand. Columbia Journalism Review. 2/09/54 http://www.cjr.org/behind_the_news/fry_in_thailand.php

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง : AV ที่รัก - ตอนที่ 1 เปิดโลก AV โลกแห่งความบันเทิง (แบบผู้ใหญ่ๆ)

Posted: 26 Sep 2011 08:34 AM PDT

“ใครเคยดูหนังโป๊บ้าง ยกมือขึ้น !”

ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ว่าผู้อ่านจะชอบมันหรือไม่ก็ตามคงเคยชมหนังแนวนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย และไม่น่าเชื่อว่ามันได้อยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่ 40 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ยุคของหนัง 8 มิลฯ ที่แอบฉายกันตามโรงภาพยนตร์ยามวิกาลย่านเยาวราชและย่านวงเวียน 22 กรกฏาฯ จนเลยมาถึงยุควีดีโอเทปเฟื่องฟูช่วงปี 2523 และยุคหนังโป๊ดิจิตอลในช่วงที่เทคโนโลยี VCD และ DVD ที่ทำให้เก็บรักษา (หรือซุกซ่อน) ได้สะดวกและกระทัดรัดขึ้น (ล่าสุดมีหนังโป๊ออกมาในรูปแบบ Blu-ray แล้ว อร๊างงงงงง)

“ต๊ายยยยย... บัดสีบัดเถลิง พวกนี้มันมาจากวัฒนธรรมต่างชาติ มันมามอมเมาเยาวชน มันมาทำให้ผู้หญิงถูกตัวผู้ที่ดูมาแล้วเลียนแบบอย่างในหนัง”

จะว่าไป “เรื่องโป๊ๆ” หรือ Pornography อยู่คู่กับมนุษยชาติในทุกสังคมที่มีวัฒนธรรมการเขียน คำๆ นี้ในตะวันตกหมายถึง การเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของโสเภณี รวมไปถึงเป็นผลงานศิลปะหรือวรรณกรรมใดๆก็ตาม ที่ได้วาดหรือบรรยายถึงชีวิตของพวกโสเภณีทั้งหลายในสมัยก่อน ในปัจจุบัน Pornography ได้เปลี่ยนแปลงความหมายไปจาก “เรื่องของโสเภณี” เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นไปในลักษณะกามวิสัย (erotic)ในสื่อประเภทต่างๆ เช่น หนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพเขียน รูปปั้น ภาพยนตร์ หรืออื่นๆ เพื่อต้องการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวหรือความเร่าร้อนทางเพศ (Cause sexual excitement)

ในตะวันออกเองก็มี “เรื่องโป๊ๆ” ก็ปรากฏในหลายวัฒนธรรมทั้งจีน อินเดีย เปอร์เซีย ญี่ปุ่น แม้ในในสังคมไทยเองก็พบได้ในเพลงพื้นบ้าน รูปปั้นในพิธีกรรมของฝน ไปจนถึงตามฝาผนังวัด “เรื่องโป๊ๆ” ของเอเชียสะท้านโลกอาทิ กามสูตร (Kana Sutra) และศิลปะภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า “Shunga”

 

ประชาไทบันเทิง : AV ที่รัก - ตอนที่ 1 เปิดโลก AV โลกแห่งความบันเทิง (แบบผู้ใหญ่ๆ)

(ตัวอย่างภาพ Shunga ที่โด่งดัง “The Dream of the Fisherman's Wife (Hokusai, 1820)”)

 

“อั่นนั่นนั่นแน่ พูดถึงญี่ปุ่นแล้วตาลุกวาวเลยทีเดียว”

แม้ว่า “เรื่องโป๊ๆ” จะมีมานมนานแล้วในวัฒนธรรมต่างๆ ตัวโลก แต่ในโลกโลกาภิวัตน์ที่ถ้าคิดถึงเรื่องเอ็กซ์ๆ แล้ว สื่อภาพยนตร์กับสื่อสิ่งพิมพ์มาแรงแซงทางโค้ง ยักษ์ใหญ่อย่างพี่อเมริกาก็เป็นจ้าวแห่งสื่อปลุกใจเสือป่า น้องใหม่หัดเอ็กซ์อย่างญี่ปุ่นก็ขอท้าชิงด้วยการเริ่มผลิตหนังอีโรติก (ที่ญี่ปุ่นเรียกกันว่า Pink film) ตั้งแต่ช่วงปลายของปี 1960 จนออร่าสีชมพูของ AV (Adult Video) ของญี่ปุ่นหลังปี 1980 ถึงปัจจุบัน กลายเป็นคู่แข่งที่สูสีกันทั้งปริมาณและคุณภาพระดับเลยทีเดียว (รวมถึงสื่ออื่นๆ เช่น การ์ตูน เกม Sex toy ฯลฯ แต่ในที่นี้ขอพูดถึงหนัง AV อย่างเดียวก่อนนะคะ)

แต่การตัดสินคุณค่าว่าหนังผู้ใหญ่สมควรจะมีอยู่หรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วขึ้นอยู่กับอัตตวิสัยของแต่ละท่าน แม้งานวิจัยเรื่องสื่อลามกกระแสหลักจะฟันธงว่าสื่อลามกเป็นที่มาของอาชญากรรมทางเพศ สนับสนุนมายาคติว่าผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศและบ่อนทำลายศีลธรรมอันดีงามของสังคม แต่ก็มีการศึกษาอีกกระแสหนึ่งที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนสื่อลามกและวิพากษ์วิจารณ์การศึกษากระแสหลักว่าการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุความใคร่นอกจากสื่อลามกแล้วในสื่อโฆษณาอื่นๆ ที่ทำให้ร่างกายของพวกเธอกลายเป็นสินค้าก็ถือว่าเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์เช่นกัน และเป็นสิทธิของพวกเธอที่จะประกอบอาชีพนี้ อีกทั้งสื่อลามกช่วยให้ข้อมูลทางเพศกับผู้หญิงและมุมมองเรื่องเพศที่เกิดขึ้นในโลก เป็นทางออกสำหรับคนโสดและคนที่มีปัญหาทางเพศกับคู่สมรสในการปลดปล่อยจินตนาการทางเพศและเป็นสื่อพูดคุยระหว่างชายและหญิง อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องสื่อลามกยังรอให้ผู้สนใจเข้าศึกษาในมุมมองที่แตกต่างเพื่อสร้างความรู้ในการทำความเข้าใจอยู่ตลอดเวลา

นอกจากจะสร้างข้อถกเถียงให้กับวงการวิชาการด้านเพศศึกษา สังคมศาสตร์ และสาขาสตรีนิยมแล้ว ในวงการวิชาการสาขาญี่ปุ่นศึกษาเองก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าทำไมอุตสาหกรรมหนังโป๊ถึงเติบโต ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากอุตสาหกรรมญี่ปุ่นและการบริโภคภายในประเทศเจริญเติบโต ทำให้สามารถบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย ตลอดจนอุตสาหกรรมบันเทิงญี่ปุ่นเองก็รุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่แต่ปี 1950 หรือโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมทำให้วิถีชีวิตคนญี่ปุ่นกลาย “มนุษย์เงินเดือน” หรือ “ซาราริ มัง” อันเคร่งเครียดจนผู้ชายที่ทำงานหนักเหล่านั้นต้องหา “ความบันเทิงเริงใจ” ในด้านต่างๆ หนัง AV ก็เป็นความบันเทิงประเภทหนึ่งที่ตอบสนองความต้องการตามสัญชาติญาณทางเพศ

หนัง AV ในยุคแรกเริ่มของญี่ปุ่น หรือ “Pink film” ในยุคต้นๆ (ช่วงปี 1960-70) นั้นเป็นภาพยนตร์ขาวดำที่นำเสนอความวาบหวิวของฉาก “เลิฟ ซีน” การเล่าเรื่องราวฝันเฟื่องแฟนตาซีมากกว่าเทคนิคลีลาการ “โจ๊ะ พรึ่มๆ” แบบหนังโป๊ปัจจุบัน โดยต่อมาเรียกลักษณะหนังแนวนี้ว่า Roman Porno ช่วงปี 1960 การถ่ายทำหนังยังเป็นหนัง “ต้นทุนต่ำ” ต่อมาในปี 1970 – 1980 เริ่มมีการตั้งสตูดิโอเพื่อผลิตหนังแนวนี้อย่างจริงจังมากขึ้น สตูดิโอที่มีชื่อเสียงสุดๆ ในสมัยนั้นคือ Studio Nikkatsu ส่วนผู้กำกับที่มีชื่อมากในยุคนั้นคงหนีไม่พ้น Koji Wakamatsu เจ้าพ่อ Roman Porno ที่ปัจจุบันยังคงกำกับหนังแนวนี้และดำรงแนวทางไว้อย่างแน่วแน่มั่นคง ตัวอย่างหนังที่ “เป็นตำนาน” ได้แก่ Kabe no naka no himegoto (Secrets Behind the Wall, 1965), Yuke Yuke Nidome no Shojo (Go, Go Second Time Virgin, 1969), Tenshi no Kokotsu (Ecstasy of the Angels,1972) ส่วนเรื่อง Secrets Behind the Wall ถึงขั้นเข้าชิงรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินครั้งที่ 15

 

(ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Secrets Behind the Wall
จาก http://www.youtube.com/watch?v=JRT7cZ4JZN4 )

 

ในช่วงปี 1980 ภาพยนตร์อีโรติกได้รับความนิยมสูงขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมหนังประเภทเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกันเนื่องจากเครื่องเล่นวีดีโอเทปซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อความบันเทิงราคาถูกลงและสามารถมีครอบครองได้ทุกครัวเรือน การชมภาพยนตร์จึงขยับขยายจากในโรงภาพยนตร์มาอยู่ใน “พื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น” แน่นอนว่าแนวของหนังก็มีหลากหลายมากขึ้น ส่วนหนังแนวอีโรติกแบบอาร์ตหรือแนว Roman Porno (ที่ถึงจะยั่วยวนให้สยิวกิ๊ว แต่ก็ดูยากให้ตายเถอะโรบิน !) ก็โดนหนังที่ “ดูง่ายขึ้น” แซงท้างโค้ง เส้นแบ่งระหว่างหนังอีโรติกกับหนัง AV ก็เริ่มต้นขึ้น และในยุคนี้เองเป็นยุคแรกเริ่มของ ไอดอลสาว AV หรือนักแสดงหนังผู้ใหญ่ นักแสดงหนัง AV ต้องไม่ใช่นักแสดงภาพยนตร์และหญิงค้าบริการใน Soapland (คล้ายอาบอบนวด-ผู้เขียน) สำหรับหนัง AV ของชาวเกย์ก็เริ่มมีในยุคนี้เช่นกัน

 

(ตัวอย่างหนัง AV ยุค 1980 Sentakuya Kenchan (เคนจัง ไอ้หนุ่มร้านซักรีด-ผู้เขียน),
http://www.youtube.com/watch?v=ZCURpxyV3U4)

 

ด้วยความหลากหลายและเสพง่ายของหนัง AV ทำให้หนัง Roman Porno ลดความนิยมลงไปมากจนทำให้บริษัทและสตูดิโอที่ผลิตหนังแนวนี้ล้มลายและปิดกิจการไปเป็นจำนวนมากในช่วงปี 1990 ประกอบกับอินเตอร์เน็ตและการใช้ VCD/DVD ได้ทำให้โลกรู้จักหนัง AV มากขึ้น สำหรับหนุ่มขี้อายที่ไม่กล้าไปเลือกหนังตามร้านขายหรือร้านเช่าก็สามารถหาความบันเทิงเพียงปลายนิ้ว “คลิ๊ก” ในบ้านเราเองกระแส J-POP ก็ได้รับความนิยม สาว AV ขาว สวย หมวย เอ็กซ์ จึงขอประชันกับสาว AV ตะวันตกนมตูมละกันนะคะ

การจำแนกหนัง AV แบบกว้างๆ ที่สุด จำแนกได้ 2 ประเภทคือ Soft Core และ Hard Core ประเภท Soft Core บางครั้งก็ไม่ใช่หนังเน้นที่ “โจ๊ะ พรึ่มๆ” กันอย่างเดียว แต่เน้นไปทางความน่ารัก ความสวยงาม การถ่ายภาพและภาพเคลื่อนไหวแบบเซ็กซี่ ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน และ Race Queen (สาวมอเตอร์โชว์ในสนามแข่งรถ) ส่วนประเภท Hard Core เน้นฉาก “โจ๊ะ พรึ่มๆ” และมีความเนื้อหาหนัก เร่าร้อน และหลากหลายตั้งแต่การร่วมเพศแบบปกติไปจนถึงวิตถารเลยทีเดียว

หนัง AV แบบ Hard Core ยังจำแนกไปอีกได้หลายแนวให้เลือกเสพ ทั้งจะลงสนามแบบแบบชายเดี่ยว-หญิงเดี่ยว แบบชายหมู่หญิงเดี่ยว ชายเดี่ยวหญิงหมู่ ชายหมู่หญิงหมู่ ฯลฯ บทบาทในหนังเองก็หลากหลาย จะเป็นเอ็กซ์กับคุณครู กับนางพยาบาล กับตัวการ์ตูน (คอสเพลย์) หรือจะใช้ศิลปะการมัดเชือกแบบญี่ปุ่นมาพันธนาการ ไปจนถึงฉากจบทั้งหลั่งข้างใน หลั่งข้างนอก (ฉากนี้ภาษาหนังเรียกว่า Money Shot หรือฉากทำเงิน) แล้วแต่จะชอบให้พุ่งไปบนส่วนไหนของเรือนร่าง หรือจะให้นางเอกกลืนลงไปก็ได้ทั้งนั้น หรือจะชอบแบบ SM (Sadism/Masochism หรือเรียกอีกอย่างว่า Slave/Master) ก็ได้ และอีกมากมายสาธยายไม่หมด อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการแสดง แต่ก็มีทั้งข่าวจริงและข่าวลือว่าเป็นการถ่ายจากเรื่องจริง ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้คนแสดงแทน ส่วนใหญ่จะเป็นแนวที่ฝ่ายหญิงในเรื่องไม่ได้สมัครใจให้ร่วมเพศ เช่น การรุมโทรม การข่มขืน การสอดใส่โดยวัตถุอื่นๆ เป็นต้น

 

ประชาไทบันเทิง : AV ที่รัก - ตอนที่ 1 เปิดโลก AV โลกแห่งความบันเทิง (แบบผู้ใหญ่ๆ)   ประชาไทบันเทิง : AV ที่รัก - ตอนที่ 1 เปิดโลก AV โลกแห่งความบันเทิง (แบบผู้ใหญ่ๆ)

(ตัวอย่าง AV ประเภท Soft Core – Cosplay และ Maria Ozawa นักแสดง AV สาย Hard core
ที่มีชื่อเสียงทั้งในและนอกญี่ปุ่น)

 

การซื้อขายหนัง AV ในญี่ปุ่นนั้นจะถูกกฎหมายเมื่อผ่านการเซนเซอร์อวัยวะเพศแล้วก่อนวางขาย ส่วนใหญ่เป็นการทำภาพเบลอโดยทำโมเสก (ในขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีที่สามารถเอาโมเสกออกได้ด้วยเช่นกัน) มีวางขายและมีให้เช่าตามร้านเช่าวีดีโอทั่วไปโดยจะจัดโซนหนังประเภทนี้ไว้ต่างหากและจำกัดอายุผู้เช่าหรือซื้อ หรือจะให้ครบครันก็มีวางขายตาม Sex Shop พร้อมอุปกรณ์เสริมสำหรับท่านชายและท่านหญิง แต่หนัง AV ที่ผิดกฎหมายคือหนังที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้แสดง

หลังจากอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่และสินค้าเพื่อความบันเทิงทางเพศเติบโตตั้งแต่ปี 1990 ทำให้วงการหนัง AV และนักแสดงมีมากขึ้นเป็นจำนวนมาก จำนวนค่ายหนังมีประมาณ 41 ค่าย นักแสดงหญิงที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศราว 132 คน (นี่ยังไม่รวมในประเทศ) ในปี 2006 ญี่ปุ่นได้รายได้จากการเก็บภาษีจากหนังประเภทนี้ประมาณ 19,980 ล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างจาก http://www.economywatch.com/world-industries/porn-industry.html) รายได้จากการประกอบธุรกิจบันเทิงญี่ปุ่นก็ยั่วยวนให้สาวๆ หันมาเป็นนักแสดงมากขึ้น ตลอดการดำเนินเรื่องก็พยายามให้ได้ฉากที่เป็นสาธารณะ เช่น ตามถนน สวนสาธารณะ มินิมาร์ท แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงขาลงในช่วง 5 ปีย้อนหลังจะทำให้วงการ AV ซบเซาลง ผู้ผลิตจึงลดต้นทุนด้วยการแอบถ่ายตามสถานที่ต่างๆ จนเกิดเป็นข่าวดังและถูกจับกุมข้อหาอนาจารเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากไปถ่ายทำกันในร้านฟาสต์ฟูดและการถ่ายทำแนวข่มขืนด้วยเช่นกัน

ถึงเศรษฐกิจจะถดถอยอย่างไรก็ตามค่าตัวของสาว AV ก็ยังสูง แถมสังคมญี่ปุ่นยังเปิดกว้างขึ้นกว่าเมื่อก่อน จึงมีนักแสดง AV หลายคนแจ้งเกิดในวงการบันเทิง เช่น พิธีกรเกมโชว์ ผู้ประกาศข่าว นักแสดงไอดอล ส่วนวงการ AV ก็ยังอ้าแขนรับนักแสดงไอดอลที่อยากผันตัวเองจากวงการบันเทิงที่มีการแข่งขันกันสูงมาเป็นสาว AV ดีไม่ดีอาจจะดังกว่าเป็นไอดอลที่ถูกลืมก็ได้นะคะ อร๊างงงงงง ♥

 

หมายเหตุ

ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องการให้คุณค่าและความหมายต่อสื่อลามก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ จงกลนี โตสกุลวงศ์. การวิเคราะห์วาทกรรมการให้ความหมายสื่อพิมพ์ลามกของ 9 สถาบันในสังคมไทย.
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2542).

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เดินขบวนรำลึก "ปฏิวัติชายจีวร" กลางนครย่างกุ้ง

Posted: 26 Sep 2011 01:23 AM PDT

ประชาชนพม่าหลายสิบคนเดินขบวนกลางย่างกุ้ง เพื่อรำลึกครบรอย 4 ปีของเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่ายังไม่ได้แสดงตัวเข้าจับกุม

ประชาชนพม่าหลายสิบคนเดินขบวนในนครย่างกุ้งวันนี้ เพื่อรำลึกครบรอบ 4 ปี เหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร (Saffron Revolution) ผู้เห็นเหตุการณ์ในย่างกุ้งกล่าวว่า ผู้เดินขบวนได้สวมเสื้อยืดสีเหลือง และเริ่มเดินขบวนตั้งแต่เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (13.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) จากย่านเจดีย์สุเหล่ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจของเมือง มุ่งสู่วัดกะบาอะเย  เขตโอคกะลาปาเหนือ ของนครย่างกุ้ง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีประชาชนอีกกลุ่มจัดชุมนุมในพื้นที่โอคกะลาปาเหนือด้วย

ทั้งนี้พระสงฆ์พม่าเป็นแกนนำจัดชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ เมื่อเดือนกันยายนปี 2550 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะถูกกองกำลังของรัฐบาลพม่าปราบอย่างรุนแรง

(ที่มา: Irrawaddy/September 26, 2011)
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รองโฆษก ปชป. ชี้ถ้านิติราษฎร์นั่งสภาร่าง รธน. แสดงว่าทำเพื่อตัวเองและทักษิณ

Posted: 26 Sep 2011 01:04 AM PDT

"สกลธี ภัททิยกุล" แนะ "นิติราษฎร์" ควรรับฟังคำวิจารณ์ของส่วนรวม การใช้ธรรมศาสตร์แถลงข่าวทำให้ประชาชนสับสน แนะประชาชนจับตาหากนักวิชาการกลุ่มนี้ได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแสดงว่าทำเพื่อตัวเองและทักษิณ

วันนี้ (26 ก.ย.) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานคำพูดของนายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกล่าวถึงการออกแถลงการณ์ของนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ว่า กลุ่มนิติราษฎร์ควรที่จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของส่วนรวม มากกว่านี้ และควรที่จะยกเลิกการใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวทีในการแถลงข่าว เพื่อไม่สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งขอให้กลับไปย้อนดูข่าวก่อนการรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า มีการแทรกแซงองค์กรอิสระอย่างไรบ้าง รวมถึงการศึกษาคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และสุดท้ายย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่คู่กรณีของกลุ่มนิติราษฎร์

นอกจากนี้ นายสกลธี ยังกล่าวอีกว่า อยากให้จับตามอง นักวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์ ต่อไปว่า อนาคตจะได้รับการปูนบำเหน็จเป็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือไม่ ถ้าได้ ก็แสดงว่าเป็นการทำเพื่อตนเอง และ พ.ต.ท.ทักษิณ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง:เสวนา"จิตอาสาก้าวมาไกล แต่ไปไม่ถึงสำนึกพลเมือง"

Posted: 25 Sep 2011 07:05 PM PDT

สำนักบัณฑิตอาสาจัดงานเสวนาเชิงวิชาการ “จิตอาสาก้าวมาไกล แต่ไปไม่ถึงสำนึกพลเมือง” และได้เปิดให้ผู้คนที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นในวันที่ 21 กันยายน 2454 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

                    
 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2554 สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง จิตอาสา..ก้าวมาไกลแต่ไม่ถึงสำนึกพลเมือง? ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีวิทยากรรับเชิญโดย 1. อ.วีรบูรณ์  วิสารทสกุล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 2. รศ.ดร.อรศรี  งามวิทยาพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. อาจารย์ ดร.สุรพล จรรยากูล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 4.นันทินี  มาลานนท์ เครือข่ายจิตอาสา5. ประกาศ เรืองดิษฐ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 6. อิทธิพล  โคตะมี บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำเนินการเสวนา โดย อาจารย์ ดร.สามชาย  ศรีสันต์ อาจารย์ประจำสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
นันทินี  มาลานนท์ เครือข่ายจิตอาสา กล่าวว่า ก่อนที่จะมีจิตอาสาต้องย้อนกลับมาดูที่ตัวเราก่อนว่าเราช่วยเหลือตัวเองได้รึยังเพราะถ้าเราช่วยเหลือตัวเองยังไม่ได้ แล้วเราไปช่วยเหลือคนอื่นนั้นจะถือว่าเป็นจิตอาสาหรือไม่ อย่างเรื่องง่าย ๆ หรือเรื่องใกล้ตัวคือเรื่องของการเปิดน้ำทิ้งไว้ในขณะที่ยังทำภารกิจยังไม่เสร็จ เช่นเด็กจะเปิดน้ำทิ้งไว้ขณะล้างมือยังไม่เสร็จ คำถามคือทำไมเด็กถึงไม่เปิดแต่พอใช้ นั่นอาจเป็นเพราะผู้ใหญ่มักจะบอกเด็กว่า "การที่เปิดน้ำทิ้งไว้จะทำให้ค่าน้ำแพง " เด็กจึงเข้าใจเช่นนั้นและทำให้เด็กไม่เกิดจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรน้ำ ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ควรจะอธิบายว่าการที่เปิดน้ำทิ้งไว้จะทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำโดยเปล่าประโยชน์" มากกว่าการที่จะบอกว่าการที่เปิดน้ำทิ้งไว้จะทำให้ค่าน้ำแพง ซึ่งทำให้เด็กไม่เข้าใจถึงปัญหาและขาดจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม " เราจึงต้องหันกลับมาย้อนดูที่ตัวเองก่อนว่าเรามีจิตสำนักต่อสังคมรึยัง ซึ่งอาจจะมองจากเรื่องใกล้ตัวก่อน"
 
ด้านรศ.ดร.อรศรี กล่าวว่า   "การมีจิตอาสาคือการที่มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตสำนึกที่ดี อย่างการทำบุญ รู้จักการให้"   รศ.ดร.อรศรี ยังได้พูดถึงบทความ“จิตอาสา การทำความดี และสำนึกพลเมือง”ของอ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ว่า"เราควรจะมองถึงวิธีการพัฒนาและการเรียนรู้จากจิตอาสาสู่สำนึกพลเมืองมากกว่าที่จะมามองแค่ผลลัพธ์ ว่าจิตอาสาต้องมาพร้อมกับสำนึกพลเมือง"
 
 
วีรบูรณ์ วิสารทสกุล ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงบทความที่ตัวนำเสนอว่า คำและกระแสเรื่องจิตอาสา และการทำความดีถูกปลุกให้ลุกโชนอย่างรวดเร็วในหมู่เยาวชน คนหนุ่มสาว จากเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์ อื่นๆ ทางสังคมที่ทาให้ เกิดการรวมตัวและช่วยเหลือกันอย่างรวดเร็ว รวมถึงการที่สถาบันการศึกษาในทุกระดับ  ในทุกภูมิภาคก็ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง  เพราะตระหนักว่าบ้านเมืองและสังคมยามนี้ต้องการบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากยิ่งขึ้นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเหตุผลที่ทำให้เรื่องจิตอาสากลายเป็นกระแสฟีเวอร์ในขณะนี้  

แต่การวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจเรื่องจิตอาสาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ยังเป็นการวิเคราะห์ที่เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบและการจัดกิจกรรมอาสาสมัคร กล่าวอย่างไม่ผิดนักว่าเป็นการวิเคราะห์ในระดับปรากฏการณ์ที่ตาเห็น นั่นจึงทำให้มีการสรุปไว้ อย่างรวบรัดว่า จิตอาสาเป็นเรื่องของการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม และเป็นจิตสำนึกพลเมืองในบทความนี้พยายามวิเคราะห์  แยกแยะและชี้ให้เห็นว่าจิตอาสาและจิตสานึกพลเมืองเป็นเรื่องที่แตกต่างกันในระดับกรอบคิด (mental model) เพราะจิตอาสาแท้ ที่จริงแล้วเป็นการทำงานเพื่อตอบประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก  และการจะพัฒนาให้ จิตอาสาเติบโตเป็นจิตสานึกพลเมืองได้นั้น จำเป็นต้องเชื่อมโยงให้อาสาสมัครเห็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนตัวอาสาสมัครกับส่วนรวม  และตระหนักว่าสาธารณะหรือส่วนรวม (หรือคนอื่น) สำคัญกว่าส่วนตัว  อีกทั้งเมื่อส่วนรวมได้ประโยชน์ ส่วนตัวจึงจะได้ประโยชน์ตามมา.

 
ประกาศ เรืองดิษฐ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า เราต้องย้อนดูระบบของการศึกษาในไทยตั้งแต่ระดับประถมศึกษาคือมีการบอกให้เด็กทำความดี และเกรงกลัวต่อบาปแต่ไม่ได้อธิบายถึงว่าทำไมถึงต้องทำความดี ความดีคืออะไร แล้วอะไรคือบาป แต่ในการสอนนั้นกลับเป็นการเน้นการท่องจำมากกว่า    เช่น ในบทเรียนของประถมจะมีบทบัญญัติ 10 ข้อของการทำความดี คือ 1.นับถือสาสนา 2. รักษาธรรมเนียมมั่น 3. เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ 4.วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน ...จนถึง 10 ข้อ และเด็ก ๆ จะได้ท่องกันเกือบทุกวันว่านี่คือบทบัญญัติ 10 ข้อในการทำความดี แต่ในขณะเดียวกันครูไม่ได้อธิบายว่า ข้อ 1 ศาสนาคืออะไร ทำไมต้องเคารพบันถือนับถือแล้วได้อะไร หรือแม้กระทั่งการที่ให้เด็กท่องบทสวดมนต์ทุกวันแต่แท้จริงเด็กกลับไม่รู้ว่าบทสวดมนต์นี้คืออะไร แปลว่าอะไร หรือทำเพื่ออะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจะส่งผลกะทบถึงสภาวะในปัจจุบันได้คือทำให้ไม่เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ยกตัวอย่าง คำว่า "จิตอาสา" ผมมองว่ามันก้าวมาไกลแล้ว แต่คำว่าสำนึกพลเมือง เรายังไปไม่ถึงเพราะเรายังไม่เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ประกาศ เรืองดิษฐ์ กล่าว
 
ทางด้านอิทธิพล โคตะมี บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงจิตอาสาว่า "จิตอาสา" มองได้ 2 แบบ คือ 1. จิตอาสาในทางปฏิบัติการทางการเมือง 2. จิตอาสาในทางที่สูงส่ง ซึ่งถ้ามอง"จิตอาสาในทางปฏิบัติการทางการเมือง"ดังเช่น ในกรณีการล้มเชียร์ (NO SOTUS) ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือ กรณีน้องเกด อาสาสมัครพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ซึ่งจะเห็นได้ว่าในสองกรณีนี้ก็เป็นจิตอาสาแต่กลับถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวายให้กับบ้านเมืองแต่ในขณะเดียวกันคำว่า กรณีที่มีการทำความสะอาดถนนหลังการสลายการชุมนุมปี 53 กลับถูกมองว่าเป็นจิตอาสาในทางที่สูงส่ง จิตอาสาจึงดันไปถูกคอกับโครงสร้างอำนาจนิยมจนกลายเป็นว่าจิตอาสาไม่ได้ประกอบไปด้วยความดีของมันเองแต่กลับถูกประกอบสร้างความหมาย เพื่อยกชูสถานะที่สูงส่งละม้ายคล้ายคลึงกับคนดีมีคุณธรรม เพราะฉะนั้นองค์ประกาศก(Propher) จึงมีไม่กี่คนที่จะพูดเรื่องนี้ เช่น หมอประเวศ วชิรเมธี และดร.สุเมธ ตันติเวชกุล    เราจะเห็นว่าหลังรับประหาร 19 กันยา 49 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ได้ประกาศวาระแห่งชาติว่าด้วยการอาสาสมัครและมีงบประมาณอัดฉีดเข้าไปในกระทรวงพัฒนาสังคม ซึ่งมันไปผูกกับCorporate Social Responsibility (CSR )    ซึ่งมันไม่ได้ลงไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เช่นโครงการปลูกต้นไม้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนตัดต้นไม้อยู่ ซึ่งการอาสาสมัครนี้จึงละเลยมิติความเป็นธรรม จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลยุค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ   จะหยิบยกเรื่องจิตอาสาขึ้นมาพูดราวกับว่ามันเป็นมรรควิธีหนึ่ง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำนึกพลเมือง แต่ในความเป็นสำนึกพลเมืองอาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีจิตอาสา เพราะว่าจิตอาสาในยุคที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ตั้งอยู่บนความเท่าเทียมและเสรีภาพ "เราไม่สามารถทำงานแบบจิตอาสาเพื่อประชาชนได้ ถ้าเราไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น" นายอิทธิพล โคตะมี กล่าวทิ้งท้าย....
 
นอกจากนี้ภายในงานก็ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ "จิตอาสา" ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนหลากหลายองค์กร ทั้งนักศึกษา NGO อาสาสมัคร รวมถึงอาจารย์และนักวิชาการ
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิดีโอ: นิติราษฎร์ชี้แจงสื่อ ข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร

Posted: 25 Sep 2011 06:47 PM PDT

นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร หลังข้อเสนอถูกบิดเบือนจากสื่อและนักการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

25 กันยายน 2554 ที่ห้อง LT 1. คณะนิติศาสตร์ มธ. นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์แถลงข่าวกรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร หลังข้อเสนอในครั้งแรกถูกตอบโต้จากฝ่ายการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางประชาชนที่สนใจรับฟังล้นหลาม โดยผู้จัดต้องขยายห้องสำหรับการติดตามฟังการแถลงข่าวเพิ่มอีก 1 ห้อง โดยถ่ายทอดผ่านกล้องวงจรปิด

ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สาวตรี สุขศรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ธีระ สุธีวรางกูร, ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ และ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: นิติราษฎร์แจงข้อเสนอลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น