โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักวิชาการ TDRI ขอรัฐบาลมีนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน

Posted: 09 Sep 2011 12:20 PM PDT

สัมมนาด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอาเซียน นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้นโยบายแรงงานข้ามชาติของไทยยังขาดการจัดการ เหตุนโยบายยังไม่คงเส้นคงวา เสนอให้มีนโยบายและมาตรการระยะยาวที่แน่นอน ปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพขึ้น สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

 

(9 ก.ย.54) เวลา 9.00น. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดการสัมมนานำเสนอผลการวิจัย โครงการการจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอาเซียน: กรณีศึกษาประเทศไทย ที่โรงแรมดิ เอมเมอร์รัล ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงศ์ นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อการจัดการแรงงานข้ามชาติในไทย โดยระบุว่าจากสถิติปี 2553 มีแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่ประเทศไทยทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานถูกกฎหมาย 0.345 ล้านคน และแรงงานผิดกฎหมาย 0.96 ล้านคน ในส่วนของแรงงานเข้าเมืองถูกกฎหมายจำแนกตามประเทศต้นทาง (ไม่รวมแรงงานชั่วคราวและใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุน) 4 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็น 23% ตามด้วยจีน 9% สหราชอาณาจักร 8% และอินเดีย 8% โดย 90% เป็นกำลังคนระดับสูง อาทิ ผู้จัดการฝ่ายผลิต/ปฏิบัติการ ครู ผู้บริหารระดับสูง

ขณะที่แรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายจากกัมพูชา ลาว และพม่า ส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ และก่อสร้าง โดยจากการศึกษาของหลายแห่งพบว่า แรงงานเหล่านี้มีส่วนช่วยยืดชีวิตอุตสาหกรรมเกษตรจากความขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น โดยยังรักษาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอไว้ ช่วยให้จีดีพีเติบโตเพิ่มขึ้น 0.5% ในปี 2538 ทดแทนแรงงานไทยระดับล่างได้สูง ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้านปีละประมาณ 12.6 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พบว่าที่ผ่านมา นโยบายด้านแรงข้ามชาติของไทยยังไม่คงเส้นคงวา โดยมีการขึ้นทะเบียนที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ไม่สามารถจัดการแรงงานข้ามชาติได้ ขณะที่เคยมีการประกาศจัดเก็บเงินเข้ากองทุนการส่งกลับให้มีผลในปี 2554 ก็ปรากฎว่าไม่มีใครยอมจ่าย เกิดการประท้วง และไม่ถูกพูดถึงอีกเลย รวมถึงในรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่ก็ไม่พูดถึงนโยบายแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ ยังไม่มีมาตรการด้านอุตสาหกรรมรองรับการลดการใช้แรงงานระดับล่าง การป้องกันและปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงการคุ้มครองแรงงานยังมีข้อจำกัด จึงเสนอให้มีนโยบายและมาตรการระยะยาวที่แน่นอน ปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพขึ้น สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ลงโทษผู้ที่ทำการค้ามนุษย์หรือมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและสาสม นอกจากนี้ อาจพิจารณาศึกษาและกำหนดนโยบายการจัดระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงานระดับล่างในประเทศอาเซียน

ด้านการบริหารจัดการแรงงานไทยในต่างประเทศ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ให้ภาพรวมว่า ปัจจุบันแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเพียง 0.26% ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากสถานะการเจริญเติบโตทางธุรกิจของไทยที่เปลี่ยนจากผู้ส่งออกเป็นผู้นำเข้าแรงงาน ทั้งนี้ ประเทศที่แรงงานไทยแจ้งความประสงค์ไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ลิเบีย และอิสราเอล

ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานของแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศนั้น ส่งผลในทางบวกกับประเทศไทยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสมดุลทางการเงินและลดปัญหาการว่างงาน โดย "เงินส่งกลับ" ถือเป็นแหล่งรายได้ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีบทบาทยกระดับบัญชีประชาชาติ และส่งผลต่อการกระจายรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความสำคัญกับจีดีพี เนื่องจากเงินส่งกลับคิดเป็น 1% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ โดยจากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2552 มีเงินส่งกลับ 5,125 ล้านบาท ขณะที่ไทยมีมูลค่าการส่งออก 495,337 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พบว่าการบังคับใช้กฎหมายแรงงานไทยยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก และยังมีข้อบกพร่องเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติตามกฎหมายและคอร์รัปชั่นของผู้บังคับใช้กฎหมาย กรมการจัดหางานควรกำหนดมาตรการกับบริษัทจัดหางาน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานไทยในต่างแดนถูกเอาเปรียบ ละเลย ให้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมด้วย นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและบริษัทจัดหางานควรร่วมมือกันพัฒนาทักษาแรงงานให้มีทักษะเพียงพอกับความต้องการของนายจ้าง ทักษะที่จำเป็นเช่น ภาษา ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศปลายทาง และความเข้าใจในเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวกับสัญญาการจ้างงานของตนเอง ขณะที่อาเซียน อาเซียน +3 และประเทศที่นำเข้าแรงงานควรร่วมมือกันเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของกระบวนการการให้วีซ่าทำงาน การออกใบอนุญาตทำงานและเอกสารต่างๆ ที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแรงงานมีฝีมือเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในตลาดแรงงานด้วย

ด้านเสก นพไธสง จากกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ตามปฏิญญาเซบูว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประเทศอาเซียนลงนามกันไปเมื่อปี 2550 กำหนดให้มีการยกร่างตราสารปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน แม้ประชุมกันไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งบ้างเป็นประเทศผู้รับ บ้างเป็นประเทศผู้ส่งแรงงาน ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด อาทิ ประเทศผู้รับแรงงานจะดูแลแรงงานถูกกฎหมายเท่านั้นหรือทั้งหมด จะดูแลครอบคลุมถึงครอบครัวของแรงงานด้วยหรือไม่ เป็นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยื่น 700 รายชื่อเสนอ “รมว.ศธ.” ยกเลิก “TQF” ชี้ทำให้อุดมศึกษาไทยล้าหลัง

Posted: 09 Sep 2011 12:07 PM PDT

 
วานนี้ (9 ก.ย.54) เวลา 16.30 น.ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการ 10 คน ในฐานะตัวแทนคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เข้าพบ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมยื่นรายชื่อคณาจารย์ราว 700 คน ที่ร่วมลงชื่อแสดงความไม่เห็นด้วย และขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) พ.ศ.2552 ต่อนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดยมี ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ กกอ. ร่วมรับฟัง
 
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.กฤตยา และคณะตัวแทนฯ ส่งจดหมายขอเขาพบรมว.ศธ.โดยระบุถึงวัตถุประสงค์ในการเข้าพบครั้งนี้ว่า เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย และปัญหาจากการประกาศใช้TQF โดย กกอ.ที่จะนำมาซึ่งความล้าหลังในการจัดการอุดมศึกษาของไทย และก้าวไม่ทันกับการจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ใน พ.ศ.2558 โดยต้องการให้รัฐมนตรีสั่งการให้ กกอ.และสกอ.ยกเลิกการใช้ TQF เนื่องจากเป็นการขัดกับการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ บั่นทอนเจตจำนงและความรับผิดชอบต่อสังคมของอุดมศึกษาอีกทั้งยังคุกคามเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
 
นายวรวัจน์กล่าวว่า จากการหารือตนรับข้อเสนอของคณาจารย์ไปพิจารณา เบื้องต้นคงไม่สามารถยกเลิกกรอบ TQF ทั้งหมดได้ เพราะยังมีความจำเป็นต้องมีกรอบมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำไว้ แต่สิ่งที่จะยกเลิกได้อย่างแรกคือ เรื่องวิธีการกรอกข้อมูลเอกสารการประเมินต่างๆ ที่ทางอาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องซ้ำซ้อนและเป็นภาระงาน ซึ่งตนมอบให้ สกอ.ไปดูในรายละเอียดต่างๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยจะต้องเป็นแนวทางที่ให้อิสระทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัย
 
ด้าน รศ.นพ.กำจรกล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับกลุ่มคณาจารย์ที่มาคัดค้าน TQF และได้รับทราบถึงเหตุผลในการเข้ามายื่นหนังสือคัดค้านครั้งนี้ จึงได้อธิปรายต่อกลุ่มคณาจารย์ว่า ขณะนี้ สกอ.กำลังปรับบทบาทอยู่แล้ว และเห็นด้วยในบางประเด็นของการคัดค้าน TQF โดยเฉพาะในขั้นตอนการกรอกเอกสาร ซึ่งในส่วนนี้คงต้องหาช่องทางในการยกเลิก และจากนี้ สกอ.จะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ กกอ.เพื่อดูว่าจะมีแนวทางในการปรับวิธีการในการดำเนินการอย่างไร จะได้ไม่ให้เกิดปัญหากับทุกฝ่าย
 
สำหรับข้อเสนอของคณาจารย์ทั่วประเทศ มีดังนี้ 1.ทิศทางการพัฒนาอุดมศึกษาต้องเน้นเป้าหมายเชิงคุณภาพและการรับใช้สังคม เพื่อให้การปฏิรูปอุดมศึกษา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพอย่างแท้จริง ขอให้ สกอ.ทบทวนแนวทางการผลักดันมหาวิทยาลัยที่มุ่งแข่งขันไปสู่ World Class Universities มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ด้วยมาตรฐานเชิงเดี่ยวของการจัดอันดับ และการยึดหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว
 
สกอ.ควรหันมาพัฒนาแนวทางความเป็นเลิศของอุดมศึกษาที่วางอยู่บนหลักการที่เคารพต่อความหลากหลายทางวิชาการ และความแตกต่างของมหาวิทยาลัย บูรณาการแนวทางเชิงคุณภาพเข้าเป็นส่วนหนึ่งการพิจารณาความเป็นเลิศ ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองและรับผิดชอบต่อสังคม และตอบปัญหาต่อท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ อันเป็นพันธะกิจสำคัญที่สถาบันอุดมศึกษาควรให้ความสำคัญ
 
2. การปฏิรูปอุดมศึกษาต้องวางอยู่บนหลักการของการเคารพเสรีภาพทางวิชาการ แนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ควรเปลี่ยนจากระบบการรวมศูนย์อำนาจที่เน้นการควบคุมบังคับ มาสู่การสนับสนุนและส่งเสริม ให้สถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนสมาคมวิชาการต่างๆ ได้มีอิสระ และเสรีภาพ ตลอดจนมีส่วนในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคุณภาพทางวิชาการของตนเอง สนับสนุนทางเลือกอื่นๆ ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และแตกต่างของลักษณะเฉพาะของสาขาวิชา
 
สกอ.ควรปรับบทบาทของตนเองไปสู่การสนับสนุนเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของสถาบันต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการลดความซ้ำซ้อนและภาระงานทางเอกสารของระบบประกันคุณภาพที่มีอยู่ และหันมาสนับสนุนให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบประกันคุณภาพทางวิชาการอย่างแท้จริง
 
3.ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 เนื่องจากซ้ำซ้อนกับระบบการประกันคุณภาพการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วของ สมศ.และการประกันคุณภาพภายใน (SAR) ที่ต้องจัดทำอยู่แล้วทุกปี ตลอดจนขัดกับอิสรภาพของมหาวิทยาลัย
 
สกอ.ควรจัดให้มีการประมวลและรวบรวมปัญหาระบบการประกันคุณภาพการเรียนการสอนของอุดมศึกษาไทย เปิดให้การประชุมเพื่อรับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องแนวทางการพัฒนาแนวทางการประกันคุณภาพที่มีความยืดหยุ่น คำนึงถึงความแตกต่างและหลากหลายของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ โดยการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ สมาคม วิชาการ และสมาคมวิชาชีพ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ
 
อนึ่ง การขอเข้าพบครั้งนี้ สืบเนื่องจากผลการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “ความเป็นเลิศของอุดมศึกษาไทยกับการแข่งขันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยตามเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติ: สิทธิ อำนาจ และความรับผิดชอบต่อสังคม” เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น จัดโดย คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา และ มหาวิทยาลัยมหิดล (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และโครงการจัดตังสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา) ร่วมกับ สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย และสมาคมนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยาม โดยที่ประชุมมีมติให้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งลงนามโดยคณาจารย์ทั่วประเทศ

 

เรียบเรียงบางส่วนจาก: ไทยโพสต์

 

AttachmentSize
ข้อเสนอของคณาจารย์และรายนามผู้ลงชื่อทั่วประเทศ (7กย.2554)209.61 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

นักข่าวพลเมือง: ญาติเหยื่อสลายการชุมนุม เผาโลง “สุเทพ” หน้ารัฐสภา

Posted: 09 Sep 2011 09:16 AM PDT

 
วานนี้ (8 ก.ย.54) เวลาประมาณ 11.00 น.ที่หน้ารัฐสภา กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ประมาณ 30 คน สวมชุดดำร่วมพิธีเผาศพนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แสดงความไม่พอใจกรณีให้สัมภาษณ์สื่อระบุกลุ่มคนเสื้อแดงไม่มีสิทธิ์กดดันการจัดทำโผทหาร พร้อมเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนแห่โลงศพจำลองของนายสุเทพ เริ่มต้นจากบริเวณหน้ารัฐสภาฝั่งสวนสัตว์ดุสิตวนไปฝั่งหน้ารัฐสภาบริเวณประตูทางเข้าออก โดยมีพวงหรีดประดับด้วยดอกไม้จันทน์มีข้อความว่า “ขอแสดงความยินดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากญาติวีรชน 93 ศพ” จากนั้นจึงเริ่มการฌาปนกิจศพจำลองด้วยการนำน้ามะพร้าวมาล้างหน้าศพ ทำพิธีวางดอกไม้จันทน์กลุ่มญาติและมวลชนทยอยกันวางดอกไม้จันทน์ และเริ่มจุดไฟเผาพร้อมเปิดเพลงธรณีกันแสงประกอบ หลังการเผาจนโลงศพจำลองไหม้เกือบหมดจึงนำน้ำมาดับไฟ พร้อมส่งเสียงโห่ร้องดีใจ
 
นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของนางสาวกมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมให้สัมภาษณ์ว่า ไม่พอใจที่นายสุเทพ ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อพาดพิงว่าการออกมาคัดค้านการแต่งตั้งโยกย้ายโผทหารนั้นไม่ใช่หน้าที่ของคนเสื้อแดงและไม่มีสิทธิ์ด้วย แต่การที่เธอออกมาพูดถึงการโยกย้ายโผทหารนั้นเป็นการกล่าวในฐานะผู้สูญเสียและยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และเธอไม่ได้คัดค้านแต่เป็นการขอให้ระงับชั่วคราว เพราะหากว่าจะย้ายตำแหน่ง ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในโผนั้นยังเป็นบุคคลที่เป็นคู่กรณีจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอยู่ จึงอยากให้มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นกับสังคมก่อนที่บุคคลเหล่านั้นจะได้ตำแหน่งในช่วงนี้ 
 
ขณะเดียวกัน นางกูลกิจ สุริยะแก่นทราย ภรรยานายวสุ สุริยะแก่นทราย ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ปัจจุบันกลายเป็นผู้พิการยังต้องนั่งรถเข็น ได้เรียกร้องให้นายสุเทพจับชายชุดดำให้ได้หากมันมีจริง เพราะเธออยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วย แต่ไม่เคยเห็นว่ามีชายชุดดำ มีแต่สามีที่ถูกทำร้ายถึงขั้นพิการ และแม้จะเป็นผู้หญิงแต่ก็พร้อมจะสู้กับนายสุเทพ เพราะว่าชายชุดดำมาจากทหาร
 
ร้องกองปราบตรวจสอบชื่อ-ที่อยู่เผยแพร่ในสื่อ ข้องใจข่าวบอก ตร.ให้ข้อมูล
 
ช่วงบ่ายวันเดียวกันที่กองบังคับการปราบปราม ถนนพหลโยธิน นางสรวีย์ อารามรักษ์ ผู้เสียหายกรณีถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เข้าร้องเรียนต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามให้ช่วยตรวจสอบ พ.ต.อ.ฤทธิกร สายสนั่น ณ อยุธยา ผกก.สน.สามเสน กรณีการเปิดเผยชื่อ-นามสกุลจริงและที่อยู่จริงกับสื่อมวลชนทั้งที่ยังไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาใดๆ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ส.ค.54 ที่นางสรวีย์ และพวกได้ร่วมกันทำกิจกรรมวางพวงหรีดและเผาดอกไม้จันที่หน้าหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์บ้านพักของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
 
 
นางสรวีย์ ให้การแก่เจ้าพนักงานสอบสวนว่า ในวันเกิดเหตุ เธอไปวางพวงหรีดและเผาดอกไม้จันพร้อมกันเป็นกลุ่มประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นเพียงการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองโดยสงบและปราศจากอาวุธ และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อย หลังจากนั้นจึงแยกย้ายกันกลับ เมื่อมาถึงบริเวณหน้าตลาดเทเวศย์ได้มีรถตำรวจมาจอดประกบและเชิญตัวไปที่ สน.สามเสน เมื่อไปถึง สน.สามเสนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอบัตรประจำตัวประชาชนและถ่ายรูปไว้ เหมือนเป็นการทำประวัติแต่ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใดๆ แล้วจึงปล่อยตัวกลับบ้าน ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีผู้สื่อข่าวอยู่เลย
 
ต่อมาเมื่อกลับถึงที่พัก บุตรชายของเธอได้เห็นข่าวจากเว็บไซด์เมเนเจอร์ออนไลน์ เนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์และได้มีการลงชื่อ-นามสกุล และที่อยู่จริง แต่ยังไม่ได้ติดใจอะไร จนกระทั่งสามวันต่อมาได้มีจดหมายมาถึงที่พักจ่าหน้าซองถึงเธอ โดยข้อความมีถ้อยคำด่าทอหยาบคาย และมีมาทุกวันเป็นจำนวนสามฉบับแล้ว ทำให้เกิดความหวั่นวิตกจึงได้มาร้องเรียนต่อกองปรามให้ตรวจสอบว่าเหตุใดจึงปรากฏชื่อและที่อยู่ในสื่อดังกล่าวได้ และระบุว่ามาจาก พ.ต.อ.ฤทิธิกร
 
นางสรวีย์ ตั้งคำถามด้วยว่า พวกของเธอไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาใด แต่การที่มีชื่อและที่อยู่ปรากฏในเว็บไซต์ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิของเธอหรือไม่
 
ด้าน พ.ต.ท.สุรชัย โลหะนาคบุตร พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ผู้รับแจ้งเรื่อง กล่าวว่า จะทำการตรวจสอบในเบื้องต้นและจะแจ้งความคืบหน้าภายใน 30 วัน ส่วนเรื่องจดหมายที่ส่งมาด่าทอนั้นต้องแจ้งกับ สน.ในพื้นที่เพื่อความสะดวกในการดูแล เบื้องต้นเห็นว่าการลงชื่อ ที่อยู่ในเว็บไซต์นั้นมีผลกระทบต่อผู้ร้องจึงต้องตรวจสอบต่อไปแต่ไม่ได้เป็นการแจ้งความร้องทุกข์
 
ทั้งนี้ ผู้เสียหายที่มีชื่อระบุอยู่ในเว็บไซด์เมเนเจอร์ออนไลน์ได้แก่ นางสรวีร์ อารามรักษ์ นายนิธิวัต วรรณศิริ และนางธนนันท์ ประถมเสาร์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บก.โต๊ะข่าว “เนชั่น” อุทธรณ์คัดค้านผลสอบสภาการหนังสือพิมพ์ฯ

Posted: 09 Sep 2011 08:41 AM PDT

บก.การเมือง-อาชญากรรม “เนชั่น” อุทธรณ์คัดค้านผลสอบของอนุกรรมการฯ เผยอนุกรรมการฯ ไม่ยอมนำข้อชี้แจงของทั้งสองประกอบผลสอบ ยันที่ไม่ได้ติดต่อ “วิม รุ่งวัฒนจินดา” อีกเพราะเตรียมดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับผู้ที่ทำให้ตนเองเสียหาย และการติดต่ออาจมีผลกับรูปคดี และผู้บริหาร “เครือเนชั่น” แนะนำเองไม่ให้ติดต่อ พร้อมแนะให้สอบ “เครือเอเอสทีวีผู้จัดการ” ด้วย ฐานเสนอข่าวไม่รอบด้าน - ทำคนอื่นเสียหายร้ายแรง

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น และนายปรีชา สะอาดสอน บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สำนักข่าวเนชั่น ได้ทำหนังสือ “ขออุทธรณ์คัดค้านผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง” โดยแจ้งไปยัง “คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตั้งขึ้น

โดยผู้ยื่นอุทธรณ์ทั้งสองรายแยกกันทำหนังสือร้องเรียนคนละฉบับ โดยชี้แจงกรณีที่ผลสอบฯ ของคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวพาดพิงบุคคลทั้งสอง

โดยคณะอนุกรรมการฯ พาดพิงถึงนางฐานิตะญาณ์ว่า “เมื่อปรากฏข่าวของอีเมลที่เป็นปัญหา นางฐานิตะญาณ์ ก็ไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลย ทั้งที่นายวิมรู้จักเป็นอย่างดีกับนายปรีชาซึ่งเป็นสามีของตน”

ส่วนนายปรีชา ซึ่งเป็นสามีของนางฐานิตะญาณ์ ผลสอบของคณะอนุกรรมการฯ ได้พาดพิงเขาว่า “... มีข้อสังเกตต่อท่าทีของนายปรีชาในช่วงหลังที่อีเมลดังกล่าวเป็นข่าวขึ้นมา ซึ่งนายปรีชาไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลย นอกจากนี้เมื่อนายวิมโทรศัพท์ติดต่อมา นายปรีชาก็ไม่ได้รับสายและไม่ได้ติดต่อกลับ ทั้งที่นายปรีชารู้จักกับนายวิมมาก่อน แต่นายปรีชากลับให้การว่าจะเตรียมการฟ้องร้องต่อผู้ที่ทำให้ตนได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจรวมถึงนายวิมด้วย”

 

แจงผลสอบอนุกรรมการฯ ไม่ได้นำข้อชี้แจงของทั้งสองมาประกอบทั้งที่เรียกมาถาม

โดยทั้งนางฐานิตะญาณ์ และนายปรีชา ได้ชี้แจงว่า ข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการฯ ยังขาดพยานหลักฐานและเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา” คือ “ยังไม่มีการอ้างถึงเหตุผลตามที่ข้าพเจ้าได้เข้าชี้แจงในเรื่องนี้เลย เพราะเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้ซักถามถึงเหตุผลเรื่องดังกล่าว ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงไว้แล้วถึงสองประเด็น”

นางฐานิตะญาณ์ ชี้แจงว่าที่ไม่ได้ติดต่อนายวิม หรือวิม รุ่งวัฒนจินดา กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย อีกเนื่องจาก “ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใดที่จะต้องไปติดต่อกับผู้ที่ทำให้ดิฉันต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง จากการกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลความจริง ถึงแม้ว่าจะรู้จักกันจากการติดต่อประสานงานตามสมควรในเรื่องงานที่ผ่านมาก็ตาม”

อีกเหตุผลหนึ่งคือนางฐานิตะญาณ์ตัดสินใจจะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายในเรื่องหมิ่นประมาท กับผู้ที่กระทำการและเกี่ยวข้องซึ่งทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย “จึงเห็นว่าไม่สมควรจะติดต่อใดๆ กับบุคคลดังกล่าว เนื่องจากมีความเกี่ยวพันและอาจมีผลกระทบกับรูปคดีได้”

ส่วนนายปรีชาชี้แจงกรณีที่ไม่ได้ติดต่อกับนายวิมอีกเนื่องจาก “ไม่พอใจที่นายวิมทำให้ผมได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการที่นายวิมนำชื่อของข้าพเจ้าไปอ้างอย่างไม่มีมูลความจริงเพื่อการไต่เต้าทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อตัวข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากข้าพเจ้าติดต่อไปอาจเกิดความเข้าใจผิดไปได้ว่า ข้าพเจ้าโทร.ไปนัดแนะหรือเตรียมเรื่องกันไว้ก่อนถ้ามีการสอบสวน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับข้าพเจ้าไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

อีกทั้ง ข้าพเจ้ามีความคิดว่า ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใดที่จะต้องไปติดต่อกับผู้ที่ทำให้ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง จากการกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลความจริง ถึงแม้ว่าจะรู้จักกันจากการติดต่อประสานงานตามสมควรในเรื่องงานที่ผ่านมาก็ตาม”

นายปรีชาชี้แจงในประการที่สองด้วยว่า “ณ เวลานั้น ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจแล้วว่า จะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายในเรื่องหมิ่นประมาท กับผู้ที่กระทำการและเกี่ยวข้องกับการทำให้ข้าพเจ้าต้องได้รับความเสียหาย จึงเห็นว่า ไม่สมควรจะติดต่อใดๆ กับบุคคลดังกล่าว เนื่องจากมีความเกี่ยวพันและอาจมีผลกระทบกับรูปคดีได้”

 

เผยผู้บริหาร เครือเนชั่น” แนะนำเองไม่ให้ติดต่อนายวิม

ทั้งนางฐานิตะญาณ์ และนายปรีชา ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ไม่ติดต่อนายวิมอีก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ได้แจ้งคณะอนุกรรมการฯ ในวันที่มีการสอบสวน เนื่องจากไม่คิดว่าจะมีผลสำคัญต่อการสอบสวน” ได้แก่ “เป็นเพราะคณะบรรณาธิการอาวุโสของเครือเนชั่น ได้ทำการสอบถามทั้งตัวดิฉันและนายปรีชา สอาดสอนพร้อมกันในทันทีที่ทราบข่าว และได้มีความเห็นร่วมกันว่าทั้งดิฉันและนายปรีชา ไม่สมควรจะติดต่อหรือแม้แต่รับการติดต่อจากนายวิมทั้งสิ้น เนื่องจากไม่เป็นผลดีต่อการสอบสวนต่างๆที่จะมีขึ้น รวมทั้งการฟ้องคดี”

 

ชี้ ข้อสังเกต” อนุกรรมการฯ ทำสาธารณชนสำคัญผิดในตัวผู้ถูกพาดพิง

นอกจากนี้กรณีที่ผลสอบคณะอนุกรรมการฯ เขียนพาดพิงถึงว่า  “คณะอนุกรรมการฯ เชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว” นั้น ทั้งนางฐานิตะญาณ์ และนายปรีชา ยังชี้แจงในคำอุทธรณ์ว่าข้อสรุปดังกล่าว ไม่เป็นธรรมกับข้าพเจ้าในประเด็นนี้อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังจะทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดเป็นสำคัญต่อตัวข้าพเจ้าจากข้อสังเกตดังกล่าว”

ด้วยเหตุผลที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงไปแล้วว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการฟ้องคดี ซึ่งถือเป็นเหตุผลที่สำคัญและเป็นปรกติวิสัยของผู้ที่กำลังจะดำเนินการเรื่องนี้ เพราะหากมีการพูดหรือเจรจาใดๆกับคู่กรณี ก็อาจถูกนำไปใช้ต่อสู้คดีจนอาจเป็นปฏิปักษ์ในทางคดีกับข้าพเจ้าได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การที่ข้าพเจ้าไม่ติดต่อกับนายวิมภายหลังเกิดกรณีดังกล่าว ย่อมถือเป็นวิสัยที่เป็นปรกติของบุคคลทั่วไปที่ตั้งใจจะดำเนินคดีตามกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว ในอันจะไม่พูด หรือเจรจา หรือแม้แต่แสดงความเห็นใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีในอนาคต

 

แนะให้สอบ เมเนเจอร์” ด้วย ฐานเสนอข่าวไม่รอบด้าน-ทำคนอื่นเสียหายร้ายแรง

ในท้ายหนังสืออุทธรณ์ของทั้งนางฐานิตะญาณ์ และนายปรีชา ยังอ้างถึงผลสอบของอนุกรรมการฯ ที่ระบุถึงเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ ที่ว่า “ทีมงานเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ แทบไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวดังกล่าวเลย เช่น ไม่ได้ตรวจสอบบัญชีอีเมลของผู้รับว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เป็นบัญชีของใคร ไม่ได้ตรวจสอบกับผู้ที่ถูกพาดพิงถึงในอีเมล”

โดยทั้งสองขอให้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน ของเมเนเจอร์ ออนไลน์” ด้วย เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า การนำเสนอข่าวไม่รอบด้าน ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อบุคคลและองค์กรวิชาชีพอื่นอย่างร้ายแรง"

โดยรายละเอียดของหนังสืออุทธรณ์ของนางฐานิตะญาณ์ และนายปรีชา มีดังนี้

000

 

หนังสืออุทธรณ์ “ขออุทธรณ์คัดค้านผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง”
ของนางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล
บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น
 
กองบรรณาธิการ สำนักข่าวเนชั่น
 
7 กันยายน 2554
 
เรื่อง      ขออุทธรณ์คัดค้านผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง
เรียน      คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน
อ้างถึง    ผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ของนักการเมือง ระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน
 
            ตามผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯ ที่อ้างถึง คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการแถลงข่าวต่อสาธารณชนไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 โดยในส่วนของรายงานผลการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับดิฉัน (หน้า16) คณะอนุกรรมการฯให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “เมื่อปรากฏข่าวของอีเมลที่เป็นปัญหา นางฐานิตะญาณ์ ก็ไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลย ทั้งที่นายวิมรู้จักเป็นอย่างดีกับนายปรีชาซึ่งเป็นสามีของตน” ดังความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
           
            ดิฉันนางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล เห็นว่าข้อสังเกตดังกล่าวยังขาดพยานหลักฐานและเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา กล่าวคือ ยังไม่มีการอ้างถึงเหตุผลตามที่ข้าพเจ้าได้เข้าชี้แจงในเรื่องนี้เลย เพราะเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้ซักถามถึงเหตุผลเรื่องดังกล่าว ดิฉันก็ได้ชี้แจงไว้แล้วถึงสองประเด็น จึงประสงค์ยื่นคำคัดค้านผลการพิจารณาดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯ ดังนี้
 
            ประเด็นแรก การที่ดิฉันไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลยนั้น เป็นเพราะดิฉันคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องโทรหาบุคคลที่แอบอ้างการติดต่อกับสื่อเพื่อการไต่เต้าทางการเมืองแต่อย่างใด เนื่องจากหากดิฉันติดต่อไปอาจเกิดความเข้าใจผิดไปได้ว่า ดิฉันโทรไปนัดแนะหรือเตรียมเรื่องกันไว้ก่อนถ้ามีการสอบสวน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับดิฉันไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
 
            อีกทั้ง ดิฉันมีความคิดว่า ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใดที่จะต้องไปติดต่อกับผู้ที่ทำให้ดิฉันต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง จากการกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลความจริง ถึงแม้ว่าจะรู้จักกันจากการติดต่อประสานงานตามสมควรในเรื่องงานที่ผ่านมาก็ตาม
 
            ประเด็นที่สอง ณ เวลานั้น ดิฉันได้ตัดสินใจแล้วว่า จะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายในเรื่องหมิ่นประมาท กับผู้ที่กระทำการและเกี่ยวข้องกับการทำให้ดิฉันต้องได้รับความเสียหาย จึงเห็นว่าไม่สมควรจะติดต่อใดๆกับบุคคลดังกล่าว เนื่องจากมีความเกี่ยวพันและอาจมีผลกระทบกับรูปคดีได้
 
            อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสองประเด็นดังกล่าวที่ได้ชี้แจงคณะอนุกรรมการไปแล้วนั้น ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งดิฉันยังไม่ได้ชี้แจงให้คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบในวันดังกล่าว เนื่องจากไม่คิดว่าจะมีผลสำคัญต่อการสอบสวน นั่นคือ เหตุผลที่ว่า เป็นเพราะคณะบรรณาธิการอาวุโสของเครือเนชั่น ได้ทำการสอบถามทั้งตัวดิฉันและนายปรีชา สอาดสอนพร้อมกันในทันทีที่ทราบข่าว และได้มีความเห็นร่วมกันว่าทั้งดิฉันและนายปรีชา ไม่สมควรจะติดต่อหรือแม้แต่รับการติดต่อจากนายวิมทั้งสิ้น เนื่องจากไม่เป็นผลดีต่อการสอบสวนต่างๆที่จะมีขึ้น รวมทั้งการฟ้องคดี
 
            ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการฯ ทำความเห็นสรุปประการสุดท้าย ในหัวข้อที่ 4 (หน้า17) ที่ว่า “คณะอนุกรรมการฯ เชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว” จึงเป็นบทสรุปที่ไม่เป็นธรรมกับดิฉันในประเด็นนี้อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังจะทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดเป็นสำคัญต่อตัวดิฉันจากข้อสังเกตดังกล่าว
 
            ด้วยเหตุผลที่ดิฉันได้ชี้แจงไปแล้วว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการฟ้องคดี ซึ่งถือเป็นเหตุผลที่สำคัญและเป็นปรกติวิสัยของผู้ที่กำลังจะดำเนินการเรื่องนี้ เพราะหากมีการพูดหรือเจรจาใดๆกับคู่กรณี ก็อาจถูกนำไปใช้ต่อสู้คดีจนอาจเป็นปฏิปักษ์ในทางคดีกับดิฉันได้   
 
            เมื่อเป็นเช่นนี้ ดิฉันจึงเห็นว่า การที่ดิฉันไม่ติดต่อกับนายวิมภายหลังเกิดกรณีดังกล่าว ย่อมถือเป็นวิสัยที่เป็นปรกติของบุคคลทั่วไปที่ตั้งใจจะดำเนินคดีตามกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว ในอันจะไม่พูด หรือเจรจา หรือแม้แต่แสดงความเห็นใดๆที่อาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีในอนาคต
 
            นอกจากนั้น ในส่วนผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนที่ 3 ข้อ 3.1 ว่าด้วยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการให้ข้อมูลของผู้เกี่ยวข้อง (หน้า 5) ที่อ้างถึงคำให้การของนายนิรันดร์ เยาวภาว ผู้ดูแลเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ ตามด้วยข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯที่ว่า
 
            “คณะอนุกรรมการฯ พบว่าทีมงานเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ แทบไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวดังกล่าวเลย เช่น ไม่ได้ตรวจสอบบัญชีอีเมลของผู้รับว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เป็นบัญชีของใคร ไม่ได้ตรวจสอบกับผู้ที่ถูกพาดพิงถึงในอีเมล โดยอ้างว่า หากสอบถามไป บุคคลที่ถูกพาดพิงก็อาจจะปฏิเสธได้ เพราะในเนื้อข่าวก็ยังไม่แน่ชัดว่าคนที่ถูกกล่าวถึง ถูกพาดพิงถึงนั้นเป็นใคร และไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ที่ส่งข่าวมาให้เป็นใคร เป็นต้น” นั้น
 
            ดิฉันใคร่ขอให้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติควรดำเนินการตรวจสอบถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน ตามที่ปรากฏในข้อเสนอแนะส่วนที่ 5 ข้อที่ 4 เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า การนำเสนอข่าวไม่รอบด้าน ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อบุคคลและองค์กรวิชาชีพอื่นอย่างร้ายแรง
 
            จึงเรียนมาเพื่อโปรดส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการรับอุทธรณ์พิจารณาต่อไปโดยเร็ว
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
นางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุล
บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น
 
กองบรรณาธิการ สำนักข่าวเนชั่น
 
 
 

หนังสืออุทธรณ์ “ขออุทธรณ์คัดค้านผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง”
ของนายปรีชา สะอาดสอน
บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น
 
กองบรรณาธิการ สำนักข่าวเนชั่น
 
7 กันยายน 2554
 
เรื่อง      ขออุทธรณ์คัดค้านผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง
เรียน      คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน
อ้างถึง    ผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ของนักการเมือง ระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน
 
            ตามผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯ ที่อ้างถึง คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการแถลงข่าวต่อสาธารณชนไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 โดยในส่วนของรายงานผลการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า(หน้า16) คณะอนุกรรมการฯใข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสังเกตต่อท่าทีของนายปรีชาในช่วงหลังที่อีเมลดังกล่าวเป็นข่าวขึ้นมา ซึ่งนายปรีชาไม่ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหรือต่อว่านายวิมเลย นอกจากนี้เมื่อนายวิมโทรศัพท์ติดต่อมา นายปรีชาก็ไม่ได้รับสายและไม่ได้ติดต่อกลับ ทั้งที่นายปรีชารู้จักกับนายวิมมาก่อน แต่นายปรีชากลับให้การว่าจะเตรียมการฟ้องร้องต่อผู้ที่ทำให้ตนได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจรวมถึงนายวิมด้วย” ดังความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
           
            ข้าพเจ้า นายปรีชา สอาดสอน เห็นว่า ข้อสังเกตดังกล่าวยังขาดพยานหลักฐานและเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา กล่าวคือ ยังไม่มีการอ้างถึงเหตุผลตามที่ข้าพเจ้าได้เข้าชี้แจงในเรื่องนี้เลย เพราะเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้ซักถามถึงเหตุผลเรื่องดังกล่าว ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงไว้แล้วถึงสองประเด็น จึงประสงค์ยื่นคำคัดค้านผลการพิจารณาดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯ ดังนี้
 
            ประเด็นแรก เหตุที่ข้าพเจ้าไม่ต้องการคุยกับนายวิม แม้แต่ในทางโทรศัพท์นั้น เพราะข้าพเจ้าไม่พอใจที่นายวิมทำให้ผมได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการที่นายวิมนำชื่อของข้าพเจ้าไปอ้างอย่างไม่มีมูลความจริงเพื่อการไต่เต้าทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อตัวข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากข้าพเจ้าติดต่อไปอาจเกิดความเข้าใจผิดไปได้ว่า ข้าพเจ้าโทร.ไปนัดแนะหรือเตรียมเรื่องกันไว้ก่อนถ้ามีการสอบสวน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับข้าพเจ้าไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
 
            อีกทั้ง ข้าพเจ้ามีความคิดว่า ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใดที่จะต้องไปติดต่อกับผู้ที่ทำให้ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง จากการกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลความจริง ถึงแม้ว่าจะรู้จักกันจากการติดต่อประสานงานตามสมควรในเรื่องงานที่ผ่านมาก็ตาม
 
            ประเด็นที่สอง ณ เวลานั้น ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจแล้วว่า จะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายในเรื่องหมิ่นประมาท กับผู้ที่กระทำการและเกี่ยวข้องกับการทำให้ข้าพเจ้าต้องได้รับความเสียหาย จึงเห็นว่า ไม่สมควรจะติดต่อใดๆ กับบุคคลดังกล่าว เนื่องจากมีความเกี่ยวพันและอาจมีผลกระทบกับรูปคดีได้
 
            อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสองประเด็นดังกล่าวที่ได้ชี้แจงคณะอนุกรรมการไปแล้วนั้น ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้ายังไม่ได้ชี้แจงให้คณะอนุกรรมการฯได้รับทราบในวันดังกล่าว เนื่องจากไม่คิดว่าจะมีผลสำคัญต่อการสอบสวน นั่นคือ เหตุผลที่ว่า เป็นเพราะคณะบรรณาธิการอาวุโสของเครือเนชั่น ได้ทำการสอบถามทั้งตัวข้าพเจ้าและนางฐานิตะญาณ์ ธนพิศุทธิ์กุลพร้อมกันในทันทีที่ทราบข่าว และได้มีความเห็นร่วมกันว่าทั้งข้าพเจ้าและนางฐานิตะญาณ์ ไม่สมควรจะติดต่อหรือแม้แต่รับการติดต่อจากนายวิมทั้งสิ้น เนื่องจากไม่เป็นผลดีต่อการสอบสวนต่างๆที่จะมีขึ้น รวมทั้งการฟ้องคดี
 
            ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการฯ ทำความเห็นสรุปประการสุดท้าย ในหัวข้อที่ 4 (หน้า17) ที่ว่า “คณะอนุกรรมการฯ เชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว” จึงเป็นบทสรุปที่ไม่เป็นธรรมกับข้าพเจ้าในประเด็นนี้อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังจะทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดเป็นสำคัญต่อตัวข้าพเจ้าจากข้อสังเกตดังกล่าว
 
            ด้วยเหตุผลที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงไปแล้วว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการฟ้องคดี ซึ่งถือเป็นเหตุผลที่สำคัญและเป็นปรกติวิสัยของผู้ที่กำลังจะดำเนินการเรื่องนี้ เพราะหากมีการพูดหรือเจรจาใดๆกับคู่กรณี ก็อาจถูกนำไปใช้ต่อสู้คดีจนอาจเป็นปฏิปักษ์ในทางคดีกับข้าพเจ้าได้       
 
            เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การที่ข้าพเจ้าไม่ติดต่อกับนายวิมภายหลังเกิดกรณีดังกล่าว ย่อมถือเป็นวิสัยที่เป็นปรกติของบุคคลทั่วไปที่ตั้งใจจะดำเนินคดีตามกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว ในอันจะไม่พูด หรือเจรจา หรือแม้แต่แสดงความเห็นใดๆที่อาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีในอนาคต
 
            นอกจากนั้น ในส่วนผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนที่ 3 ข้อ 3.1 ว่าด้วยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการให้ข้อมูลของผู้เกี่ยวข้อง (หน้า 5) ที่อ้างถึงคำให้การของนายนิรันดร์ เยาวภาว ผู้ดูแลเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ ตามด้วยข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯที่ว่า
 
            “คณะอนุกรรมการฯ พบว่าทีมงานเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ แทบไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวดังกล่าวเลย เช่น ไม่ได้ตรวจสอบบัญชีอีเมลของผู้รับว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เป็นบัญชีของใคร ไม่ได้ตรวจสอบกับผู้ที่ถูกพาดพิงถึงในอีเมล โดยอ้างว่า หากสอบถามไป บุคคลที่ถูกพาดพิงก็อาจจะปฏิเสธได้ เพราะในเนื้อข่าวก็ยังไม่แน่ชัดว่าคนที่ถูกกล่าวถึง ถูกพาดพิงถึงนั้นเป็นใคร และไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ที่ส่งข่าวมาให้เป็นใคร เป็นต้น” นั้น
            ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติควรดำเนินการตรวจสอบถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน ตามที่ปรากฏในข้อเสนอแนะส่วนที่ 5 ข้อที่ 4 เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า การนำเสนอข่าวไม่รอบด้าน ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อบุคคลและองค์กรวิชาชีพอื่นอย่างร้ายแรง
 
            จึงเรียนมาเพื่อโปรดส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการรับอุทธรณ์พิจารณาต่อไปโดยเร็ว
 
ขอแสดงความนับถือ
นายปรีชา สะอาดสอน
บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สำนักข่าวเนชั่น
 
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุนัย จุลพงศธร

Posted: 09 Sep 2011 07:36 AM PDT

สื่อเลือกข้างเสื้อแดงมีที่ไหนเมื่อก่อน ไม่มี ท่านไปสร้างระบบเผด็จการ ชื่นชมระบบเผด็จการ ใครจะไปทนได้ สุนัยคนหนึ่งทนไม่ได้ ท่านพยายามจะโจมตี “นักธุรกิจการเมือง” ท่านครับ ธุรกิจการเมืองมันต้องใช้สตางค์ ต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และนี่จะไม่พูดถึง “ธุรกิจทหารการเมือง” เลยหรือประเทศนี้

"สุนัย-จิรายุ" อภิปรายบทบาท "ไทยพีบีเอส"

ฟื้นคุกพิเศษคุม "นักโทษการเมือง-ความมั่นคง"

Posted: 09 Sep 2011 06:44 AM PDT

"อธิบดีกรมราชทัณฑ์" ยืนยันโปรเจกต์ฟื้นเรือนจำหลักสี่ ไม่เน้นไฮเทคใช้งบปรับปรุงแค่ 5 ล้าน รองรับนักโทษได้ 300 ราย ไว้ควบคุมนักโทษคดีความมั่นคง คดีการเมือง และนักโทษต่างชาติ

9 ก.ย. 54 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่านายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีแนวคิดการนำสถานที่คุมขังชั่วคราวหลักสี่ ซึ่งอยู่ในบริเวณสโมสรตำรวจ หรือเดิมเรียกว่า โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ที่ได้ประกาศยกเลิกไปเมื่อปี 2553 กลับมาปรับปรุงให้เป็นสถานที่ควบคุมนักโทษคดีความมั่นคง คดีการเมือง และนักโทษต่างชาติ ว่า สำหรับการเข้าดำเนินการปรับปรุงนั้น ทางสันติบาลจะเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์เข้าไปช่วยดูแล สำหรับจุดที่ต้องปรับปรุงใหม่ คือ ลูกกรงเหล็กที่ถูกรื้อออกไป เพราะต้องทำเป็นสำนักงาน โดยเบื้องต้น ได้กำหนดงบประมาณไว้ประมาณ 5,000,000 บาท หากดำเนินการเสร็จสิ้น สามารถรองรับนักโทษได้จำนวน 300 ราย ขณะนี้ ยังไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลา ว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อใด แต่การประกาศให้เป็นเขตคุมขังพิเศษนั้น สามารถประกาศเมื่อใดก็ได้

ทั้งนี้ อธิบดีกรมราชมทัณฑ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทางกรมราชทัณฑ์เองมีความต้องการที่หาพื้นที่เพื่อรองรับนักโทษอยู่แล้ว เมื่อมีช่องทางและคิดว่าสามารถทำได้ จึงได้เสนอรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้ดำเนินการ ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการสร้างให้เป็นเรือนจำไฮเทค หรือ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับบุคคลใดเป็นกรณีพิเศษ แต่รูปแบบและลักษณะของเรือนจำ ตลอดจนกฎเกณฑ์การเข้าเยี่ยม ไม่แตกต่างจากเรือนจำทั่วไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐบาลยิ่งลักษณ์กับกฎหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61

Posted: 09 Sep 2011 05:22 AM PDT

เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคในนโยบายด้านต่างๆ ดังคำแถลงของคณะรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่แถลง ต่อรัฐสภา ในวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยมีการพูดถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ 5 ด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาสุขภาพของประชาชน ความมั่นคงของชีวิตและสังคม และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีในภาคเอกชน โดยกล่าวถึงการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่าง ๆเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ การส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบ และการป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยนัยดังกล่าวหากสามารถกำหนดรูปธรรมที่จะดำเนินการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่าง ๆเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภคและ การส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค รัฐบาลก็จะทำให้สังคมเข้าใจและเห็นประโยขน์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่าง ๆเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค พบว่า มี ร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นวาระค้างพิจารณาอยู่ในสภาฯ ซึ่งจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ขึ้นกับการยืนยันของรัฐบาล ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 153 ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ที่ค้างสภาจะต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรี ภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภานัดแรก

ทั้งนี้พบว่า กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ที่ค้างการพิจารณา 4 ฉบับ แบ่งตามลักษณะของขั้นตอนที่ค้างการดำเนินการ ดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ที่ผู้บริโภคเฝ้ารอคือ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ..

2. ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการสภาฯ พิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.. และ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ..

3. ร่าง พ.ร.บ.ที่บรรจุระเบียบวาระเพื่อรอการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภา คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ..

กล่าวสำหรับ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.. มีความแตกต่างในนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ไม่พบว่ามีการระบุถึงการเร่งรัดการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการระบุถึงเรื่องดังกล่าวในนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆมาโดยตลอด ซึ่งน่าจะเนื่องมาจากในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 61 ระบุให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคให้เสร็จสิ้นหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลชุดแรกที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

โดยข้อทํจจริงแล้ว หากนับเวลาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็เป็นเวลากว่าสี่ปีมาแล้ว และหากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการระบุให้จัดตั้งองค์การอิสระไว้ในมาตรา 57 ก็เป็นระยะเวลายาวนาถึง 14 ปี รัฐบาลจึงควรสนับสนุนเรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระฯ เพื่อให้สอดคล้องกับที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เนื่องจาก ร่าง พรบ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ได้ผ่านการรับรองจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา แต่ต้องหยุดไปเนื่องจากการยุบสภาและการเลือกตั้ง ทั้งนี้ โดยความเป็นจริงแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกือบทั้งหมดของพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านปัจจุบันได้เคยโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับบนี้มาแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้กฎหมายนี้ตกไป แต่น่าจะช่วยกันทำความเข้าใจกับรัฐบาลถึงสาระและเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญที่กล่าวถึงกฏหมายนี้

โดยที่ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบมอบให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีและ องค์กรอิสระต่างๆเป็นผู้เสนอ แต่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ รวม 117 ฉบับ ไปพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า จะสมควรร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไปหรือไม่

เพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวตกไปโดยเสียเวลาเปล่าเและเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำเนินการให้เสร็จในหนึ่งปีภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 รัฐบาลจึงควรเร่งยืนยันกฏหมาย ร่าง พรบ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ที่ผ่านการรับรองจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และ เป็นกฎหมายที่ประชาชนกว่าหมื่นคนได้ร่วมกันสนับสนุนและเสนอต่อสภาฯให้พิจารณา

ทั้งนี้หากไม่มีการรับรองโดย ครม ในวันที่ 30 กันยายน 2554 การดำเนินการในการออกกฎหมาย ก็จะต้องเริ่มใหม่หมด เป็นการสูญเสียความตั้งใจและการดำเนินการที่ผ่านมาของภาคประชาชนไปโดยเปล่าประโยชน์

จึงขอชวน รัฐบาลใหม่ที่มีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ยืนยันรับรองกฎหมายต่างๆที่นำเสนอโดยภาคประชาชนหมื่นชื่อ ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.. และ ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.. ที่มีการเรียกร้องจากภาคประชาสังคม อย่างแข็งขัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วมภาคกลางยังหนัก เตือนอีสานฝนถล่มอีก

Posted: 09 Sep 2011 04:48 AM PDT

สถานการณ์น้ำท่วมภาคกลางยังหนักทุกพื้นที่ ด้านอุตุเตือนฝนตกหนักภาคอิสาน เรือปลัดกระทรวงสาธารณสุขล่มโชคดีที่ช่วยได้ทันส่วนเรือทหารช่างล่มเกาะญวน จ.นครสวรรค์รอด 2 หาย 1 โฆษก ปชป.ซัด นายกฯ ต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการน้ำท่วมมากกว่านี้

9 ก.ย. 54 - นายแพทย์ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นางณภัค วินิจจินดา นักวิชาการกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างนั่งเรือพายกลับจากเยี่ยมนายพัด ควรสมทบ พื้นที่หมู่ 1 ตำบลบางหลวงโดด อำเภอบางบาล โดยเรือของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องฝ่าดงกล้วยหอมออกมาจากบ้านนายพัด และแล่นผ่านสายไฟฟ้าที่อยู่ระดับต่ำ ปรากฎว่าจังหวะที่ปลัดและนักวิชา กำลังจะก้มหลบสายไฟอยู่นั้นเรือเกิดเอียงและล่มในน้ำท่วม แต่เคราะห์ดีชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ได้เข้าไปช่วยเหลือทั้ง 2 ได้อย่างปลอดภัย

จังหวัดพิษณุโลก พบผู้ประสบภัยน้ำท่วมตกอยู่ในภาวะเครียด เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจำนวนมาก ซึ่งนายชินวัฒน์ ชมประเสริฐ สาธารณสุขอำเภอบางระกำ บอกว่า จากการลงพื้นที่มาให้บริการตรวจสุขภาพกับชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมอำเภอบางระกำ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงถึงขั้นฆ่าตัวตายแล้วจำนวน 78 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่สำรวจพบกว่า 30 ราย สาเหตุนั้นมาจากเครียดจากน้ำท่วมทรัพย์สิน น้ำท่วมนาข้าว รวมถึงน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งขณะนี้ได้จัดทีม อสม.เฝ้าระวังดูแลผู้ป่วยโรคเครียดทุกราย จัดยาลดเครียดและให้ทีมอาสาสมัครเข้าไปพูดคุยเพื่อผ่อนคลายภาวะเครียด เบื้องต้นพบว่าผู้ป่วยหลายรายอาการดีขึ้น

ส่วนความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในที่ต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนกำลังเร่งเข้าไปบรรเทาทุกข์เบื้องต้น เช่นที่จังหวัดนครสวรรค์สภากาชาดไทย ร่วมกับนายกเหล่ากาชาดจังหวัด มอบชุดธารน้ำใจพร้อมน้ำดื่ม จำนวนกว่า 2,700 ชุด ให้กับชาวบ้านพื้นที่ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง เพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้น

จังหวัดสิงห์บุรี นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมอำเภออินทร์บุรี พร้อมกับมอบถุงยังชีพ เรือ และสุขากระดาษแก่ผู้ประสบภัยด้วย พร้อมกำชับหน่วยงานที่ข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านอย่างรวดเร็วครอบคลุมทุกพื้นที่

จังหวัดสุพรรณบุรี กำลังเร่งระดมช่วยกันทำแนวเขื่อนกั้นน้ำบริเวณตลาดเก้าห้องร้อยปี อำเภอบางปลาม้า หลังแม่น้ำท่าจีนเอ่อล้นเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนเก่าแก่กว่า 300 ห้องได้รับความเดือดร้อน

เตือนภัย 19 จังหวัดภาคอีสานฝนตกหนัก

ด้านศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี ประกาศฉบับที่ 1 ( 22/2554) เรื่อง สภาวะน้ำท่วมจากฝนตกหนัก เนื่องจากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 19 จังหวัดของภาคมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 9 - 12 กันยายน 2554 และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างใกล้ชิดในระยะนี้

ส่วนการคาดหมายลักษณะอากาศใน 7 วันข้างหน้า ( 9 –15 กันยายน 2554 ) การคาดหมายในช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย. ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.ย.มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศา เซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ลมตะวันตก ความเร็ว10-30 กม./ชม.

สำหรับผลกระทบต่อการเกษตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินและ พืชผลทางการเกษตรจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันสภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดควรป้องกันกำจัดโรคราสนิมและโรคราน้ำค้างผู้ที่เลี้ยงโคและกระบือไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะอาจป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้

ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 9 – 12 ก.ย. ขอให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่ม ระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

รมว.ทส.ประชุมผู้ว่า 12 จว. แก้น้ำท่วมภาคกลาง

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)เปิดเผยภายหลังเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 จังหวัด อาทิ สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง สมุทรปราการ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมแนวทางการบูรณาการ การดำเนินงานระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ภาคกลาง (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) โดยสรุปว่าให้แต่ละจังหวัดเตรียมมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในสัปดาห์หน้า
 
ทั้งนี้ เบื้องต้นหลายจังหวัดได้รายงานว่ามีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว เช่น การจัดหาเครื่องจักรกล พร้อมกับคนสำหรับกรณีฉุกเฉินได้ทันที ส่วนระยะกลางและระยะยาวสำรวจพื้นที่รับน้ำ และอ่างเก็บน้ำตั้งแต่พื้นที่ทางตอนเหนือลงมาจนถึงท้ายน้ำ เพื่อบูรณาการให้เป็นแผนเดียวกัน รวมทั้งสำรวจความเสียหายเพื่อเตรียมจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วันด้วย

เรือทหารช่างล่มเกาะญวนจ.นครสวรรค์รอด 2 หาย 1

ด้านทหาร ช.พัน 4 ค่ายจิระประวัติ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมาช่วยเทศบาลนครนครสวรรค์ลำเลียงกระสอบทรายไปทำแนวกั้นน้ำบริเวณเกาะยวน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เพื่อป้องกันน้ำท่วม เจอกระแสน้ำไหลเชี่ยวพัดเรือท้องแบนล่ม โดยจ่าสิบตรีฐิติวุฒิ กุลนาดา และจนท.เทศบาลอีกคนว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้ ขณะที่จ่าสิบเอกวสันต์ ทันนิติ อายุ 55 ปี ทหารช่างสูญหายไป ล่าสุดชุดประดาน้ำยังไม่สามารถลงค้นหาได้ เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรง

"ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" สั่งการให้ รมช.มหาดไทย อยู่ในพื้นที่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ เพื่อค้นหาผู้สูญหายจากเหตุดินถล่มจนกว่าจะพบร่าง

นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานดินถล่มหลังฝนตกหนักในพื้นที่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และสูญหาย 7 ราย บ้านเรือนพังเสียหาย 13 หลัง แต่ยังไม่สามารถเข้าสำรวจพื้นที่ได้ทั้งหมด เนื่องจากถนนทั้งสายถูกตัดขาด อีกทั้งยังไม่สามารถติดต่อ ผวจ.อุตรดิตถ์ ได้เพราะอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่

ทั้งนี้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย สั่งการให้นายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย ท่ีอยู่ระหว่างลงพื้นที่สำรวจน้ำท่วมที่จ.นครสวรรค์ ให้เดินทางไปจ.อุตรดิตถ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทันที นอกจากนี้ยังสั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ดูแลเพิ่มเติมด้วย ล่าสุด รมว.มหาดไทย สั่งให้รมช.มหาดไทยอยู่ในพื้นที่เพื่อค้นหาจนกว่าจะพบผู้สูญหาย

โฆษก ปชป.ซัด นายกฯ ต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการน้ำท่วมมากกว่านี้

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ปชป. แถลงว่า ภาพรวมการทำงานของรัฐบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เห็นชัดเจนว่ามีภารกิจที่ไม่ใช่เรื่องของประชาชนเป็นหลัก แต่เป็นการช่วยเหลือพรรคพวกของตัวเอง สร้างวาทกรรมทางการเมืองใส่ร้าย ปชป. เช่น เรื่องน้ำท่วมที่พยายามกล่าวโทษรัฐบาลในอดีตใช้งบกลางหมด แต่สุดท้ายมาอนุมัติเงิน เข้าใจว่าออกมาแล้ว 34 จังหวัดใช้งบประมาณไป 871 ล้านบาท ดังนั้น อยากถามว่าทำไมเงินก้อนนี้ มีได้ทั้งที่ก่อนหน้านี้อ้างว่าไม่มีงบฯ ทำไมต้องรอให้ประชาชนทนลำบากในสถานการณ์น้ำท่วม ใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน ถือว่าไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ

นายชวนนท์กล่าวว่า กรณีการถามกระทู้สดของ ปชป.ในสภาเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา เรื่องการช่วยเหลือน้ำท่วม นายกฯก็ไม่มาตอบแต่มอบให้ รมช.มหาดไทยตอบแทน ตอบก็ไม่ตรงคำถาม ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันว่าจะช่วยเมื่อไหร่ ช่วยเท่าไหร่ ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้ตั้งใจที่จะช่วยเหลือ อยากถามกลับว่าจะเอาอย่างไรเรื่องเงินส่วนต่างการประกันรายได้ ถ้าไม่ให้ก็บอกไม่ให้ แล้วถ้าไม่ให้เงินส่วนต่าง แล้วเริ่มต้นโครงการจำนำ ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมกว่าค่อนประเทศจะเอาอะไรไปจำนำ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องตอบ

"การทำงานของสารพัดโฆษกรัฐบาลคงสับสนหน้าที่ เพราะไม่พูดอะไรที่เป็นประเด็นของบ้านเมือง มากัดจิก อ้างเสียงข้างมากปฏิเสธการตรวจสอบ ถามมากๆ ขู่จะฟ้อง ที่หาเสียงไว้ไม่เกิดอะไรสักอย่าง ถามไปก็ไม่ตอบ นายกฯ ก็เลือกตอบกับคนที่เตรียมไว้ ดังนั้น คนถามต้องถามให้ตรงคำตอบ อีกหน่อยจะคุยกับนายกฯ คงต้องดูโพยคำตอบจะได้ถามให้ตรง ไม่คิดว่านายกฯ จะมีสิทธิในการบริหารประเทศอย่างนี้ ประเทศมีปัญหาวิกฤตหลายเรื่อง แต่กลับมาเล่นวาทกรรม เล่นการตลาดช่วยเหลือประชาชนในการตั้งธงไว้ในใจก่อน ประชาชนต้องร่วมกันพิจารณา ในฐานะนายกฯต้องมีความสามารถมากกว่านี้" นายชวนนท์กล่าว

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ครอบครัวข่าว, กรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวไทย, ไทยรัฐ, ประชาชาติธุรกิจ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม. และ 17 สถาบันสิทธิฯ ร่วมกันสนับสนุนสิทธิในการพัฒนาให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

Posted: 09 Sep 2011 04:37 AM PDT

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในอีก 17 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับรองผลการประชุมอย่างเป็นทางการของการประชุมประจำปี ครั้งที่ 16 และการประชุมทุกสองปีของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจักขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6- 8 กันยายน ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีการรวมตัวกันในกรอบความร่วมมือที่เรียกว่า APF หรือ Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างกัน และร่วมมือกันในประเด็นสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค APF มีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นสมาชิก 17 สถาบัน ได้แก่ สถาบันสิทธิมนุษยชนของประเทศอัฟกานิสถาน จอร์แดนกาตาร์ ปาเลสไตน์ อินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟส์ เนปาล อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ติมอร์เลสเต้ เกาหลีใต้ มองโกเลีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

การประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปีนี้เป็นโอกาสให้สมาชิก APF ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการส่งเสริมสิทธิในเรื่องต่างๆ โดยเปิดเวทีให้ภาคประชาสังคมและหน่วยงานของรัฐเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นด้วย ในโอกาสที่ กสม.เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ กสม. ได้พยายามสนับสนุนให้ NGOs ของไทยได้มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อการประชุม โดยจัดเวทีคู่ขนานกับการประชุมให้ NGOs ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคได้หารือร่วมกันในประเด็นที่มีการพิจารณาในที่ประชุม ได้แก่ สิทธิในการพัฒนาและสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการส่งเสริมสิทธิดังกล่าวด้วย

ผลการประชุมที่สำคัญ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิก APF ให้คำมั่นที่จะผลักดันให้สิทธิในการพัฒนาเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง การแสดงคำมั่นครั้งนี้เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 25 ปีที่ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนาได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติ โดยจะดูแลให้ภาคส่วนต่างๆ เคารพสิทธิมนุษยชนในกระบวนการพัฒนาของแต่ละประเทศ เพื่อให้การพัฒนานำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง

ศ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย และ ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ให้เกียรติมากล่าวเปิดการประชุมและกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการพัฒนา ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง ศ.ประเวศได้ให้ข้อคิดเห็นว่า มนุษย์จะต้องมีจิตสำนึกที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเคารพสิทธิมนุษยชน จิตสำนึกดังกล่าวเท่านั้นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและนำพามนุษยชาติให้อยู่รอดต่อไปได้ ส่วนประธานศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวถึงบทบาทของศาลปกครองในการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการพัฒนาซึ่งได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สิทธิชุมชนในมาตร 66 และ 67 เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและถูกละเมิดสิทธิได้รับความเป็นธรรม

ในการส่งเสริมให้สิทธิในการพัฒนาเกิดผลจริงจัง ที่ประชุมเห็นพ้องว่าสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรดูแลผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่ปกป้องสิทธิในการพัฒนาให้ได้รับความคุ้มครองจากการถูกข่มขู่คุกคาม ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อให้การพัฒนามีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสนับสนุนบทบาทของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสังคมแห่งการสื่อสาร ให้เข้ามามีบทบาทตรวจสอบการละเมิดสิทธิและสร้างตระหนักแก่สังคมในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการพัฒนา

นอกจากการส่งเสริมสิทธิในการพัฒนาแล้ว ที่ประชุม APF ยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในภูมิภาค ที่ประชุมเห็นว่าความหลากหลายทางเพศเป็นความหลากหลายทางธรรมชาติ บุคคลกลุ่มนี้จึงควรได้รับการเคารพและคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรส่งเสริมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในส่วนของ กสม. ได้มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่องและมีแผนจะร่วมมือกับเครือข่ายในการส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้ได้รับการเคารพสิทธิเช่นบุคคลอื่นทั้งในเรื่องของการรับรองสถานะทางกฎหมายและสิทธิในการใช้ชีวิตคู่ต่อไป

ในการประชุมครั้งนี้ ศ. ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ได้รับเลือกเป็นเอกฉันท์ให้เป็นประธานการประชุม และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม. ยังได้รับความเห็นชอบให้เป็นประธานเครือข่ายผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานที่สนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เป็นสมาชิก APF ด้วย

ผลการประชุมอื่นๆ ที่ประชุมได้รับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของบังกลาเทศเข้าเป็นสมาชิก APF ในการประชุมครั้งนี้ และได้เลือกสถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อเป็นตัวแทนของ APF ไปทำงานร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากภูมิภาคอื่นๆ ในคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการประสานงานระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า ICC (International Coordinating Committee of National Institutions for the Promotion and Protection of Human Rights) ซึ่งเป็นเครือข่ายของสถาบันสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ จากทุกภูมิภาคทั่วโลก โดย กสม. ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของ APF ในคณะกรรมการบริหารของ ICC ซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแลการดำเนินงานที่สำคัญๆ ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่สมาชิก ICC ได้ร่วมให้ความเห็นชอบไว้

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การเมืองเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

Posted: 09 Sep 2011 03:40 AM PDT

การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจำนวนกว่า 16 ล้านเสียง จนนำสู่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคะแนนเสียงที่ได้รับความไว้วางใจมากมายในครั้งนี้ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนทุกหมู่เหล่ารวมทั้งผู้ใช้แรงงานต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่ “อำนาจนอกระบบ” “มือที่มองไม่เห็น” แทรกแซงการเมืองเหมือนที่ผ่านมาและก็ยังเป็นปัญหาอยู่ถึงปัจจุบัน

ภารกิจรัฐบาล จึงต้องเป็นกลไกหลักในการสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคง โดยหาความจริงเหตุการณ์อำมาหิตเมษา-พฤษภา35 นำผู้รับผิดชอบและสั่งฆ่าสังหารประชาชนมาลงโทษ ต้องมีการวางแผนปฏิรูปกองทัพมิแค่เพียงโยกย้ายผู้นำเหล่าทัพเท่านั้น ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ฉบับอำมาตย์ และอื่นๆ เพื่อขจัดเสี้ยมหนามประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเป็นใหญ่ในแผ่นดินอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีหาเสียงการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นผลให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ได้สนับสนุนในการเลือกพรรคเพื่อไทย เนื่องเพราะนโยบายนี้จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายหลังจากที่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยนับเป็นเวลาร่วมหลายสิบปีไม่ได้มีนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงานเช่นนี้ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่อย่างอัตคัด มีหนี้สินล้นพ้นตัว จักมีชีวิตอยู่รอดได้ต้องทำให้หนักขึ้น ต้องทำงานล่วงเวลา ต้องไม่มีวันหยุด เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ให้กับผู้ใช้แรงงาน และคืน “ความยุติธรรม” ให้กับผู้ใช้แรงงาน ในฐานะผู้ใช้แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตสรรพสิ่งให้กับสังคม ในฐานะผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญ ความมั่งคั่งให้กับประเทศ

ท่ามกลางที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมีนายทุน องค์กรนายจ้าง เครือข่ายสื่อมวลชน นักวิชาการ ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา รัฐบาลได้ใช้คำว่า “รายได้” มิได้ใช้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ทำให้เกิดคำถามว่า รายได้หมายถึงการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงหรือไม่ ? รวมถึงสวัสดิการอื่นๆด้วยหรือไม่ ? ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชน นักวิชาการ ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ฉวยโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลหลอกลวงประชาชน

แม้ว่า รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้แถลงข่าวยืนยันว่า “รายได้” เท่ากับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพียงแต่ใช้คำต่างกัน ซึ่งที่จริงแล้วผู้เขียนคิดว่า รัฐบาลควรใช้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพื่อมิให้เกิดความสับสนคลุมเคลือ และคงต้องพิสูจน์รูปธรรมกันต่อไปว่า “รายได้” เท่ากับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่ทำงาน 8 ชั่วโมงและไม่รวมสวัสดิการอื่นๆ จริงหรือไม่ ?

นอกจากนี้แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้มีส่วนสำคัญของนโยบาบพรรคเพื่อไทยได้สัมภาษณ์ voice tv เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ตอนที่ไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยสึนามึ ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับนักธุกิจญี่ปุ่น ถึงความสำคัญและจำเป็นต้องมีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อสร้างประสิทธิภาพ แรงจูงใจและให้ความยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงาน จนนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าใจและสนับสนุนโยบายดังกล่าวด้วย

ผู้เขียนคิดว่า รัฐบาลต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำมาตยาธิปไตย ทั้งหลาย และจงมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มิใช่เพียง 7 จังหวัดนำร่องเท่านั้น ซึ่งนายทุนจำนวนมากล้วนแต่ได้รับผลกำไรจากการลงทุนจำนวนมหาศาลด้วยการขูดรีดแรงงานโดยค่าจ้างต่ำ สวัสดิการน้อย และรัฐบาลต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาสำหรับการลงทุนของธุรกิจรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนตามความเหมาะสม

ขณะที่ฝ่ายผู้ใช้แรงงานผู้รักประชาธิปไตยก็ควรมีท่าทีการเคลื่อนไหวเพื่อหาทางแก้ปัญหามากกว่าเพื่อโค่นล้มรัฐบาล เนื่องเพราะนายทุนโดยเฉพาะนายทุนฝ่ายอำมาตย์ ก็ฉวยโอกาสมีธงไม่ทำตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว หรือฝ่ายอำมาตยาธิปไตยนำประเด็นนี้เพื่อหาสร้างแนวร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการโค่นรัฐบาลก็เป็นไปได้เช่นกัน

ผู้ใช้แรงงานควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายนี้ให้เข้มข้นขึ้นในรูปแบบต่างๆโดยมีมวลชนผู้ใช้แรงงานพื้นฐานมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ยกระดับสร้างจิตสำนึกในการต่อสู้จากประด็นนี้สู่จิตสำนึกทางการเมือง และสามัคคีกับรัฐบาลเพื่อร่วมสร้าง “ดุลย์อำนาจต่อรองกับทุน โดยดึงรัฐมาเป็นเครื่องมือสนับสนุน”

นอกจากนี้แล้ว ผู้เขียนคิดว่า รัฐบาลต้องมีมาตราการเข้มในการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานมิให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาซึ่งจะสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนและนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำก็จะไม่มีความหมายแต่อย่างใด

รัฐบาลต้องให้การรับรองสัตยาบัน ILO มาตราที่ 87 และ 98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเพื่อมิให้นายทุนทำลายสหภาพแรงงาน

รัฐบาลต้องมีแผนจัดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านนโยบายและกฎหมายของผู้ใช้แรงงานในระยะยาวด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและมีความยุติธรรมให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในปัจจุบันทุกฉบับที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้ใช้แรงงาน มีช่องโหว่และเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน โดยมีตัวแทนผู้ใช้แรงงานทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วย ตลอดทั้งการปฏิรูประบบค่าจ้างและระบบไตรภาคี

ท้ายสุด จงเชื่อมั่นเถิดว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงาน เพื่อ คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันหากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลไม่เกิดเป็นรูปธรรมหรือทำไม่ได้จริง ก็จักเป็นผลทำให้รัฐบาลสูญเสียความนิยมฐานเสียงของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และฝ่ายอำมาตยาธิปไตยก็จักใช้ประเด็นนี้โจมตีทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลได้เช่นกัน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม่ทัพภาคพม่าตรวจเยี่ยมกำลังพลตามแนวชายแดนไทย

Posted: 09 Sep 2011 03:11 AM PDT

แหล่งข่าวชายแดนรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. พล.ต.ตานทุนอู แม่ทัพภาคสามเหลี่ยมของพม่า มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออกพร้อมด้วยคณะนายทหารใต้บังคับบัญชาและทหารอารักขาเดินทางด้วยรถยนต์จำนวน 13 คัน มาตรวจกำลังพลที่เมืองทา (กิ่งอำเภอใหม่) ตรงข้ามอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
 
ทั้งนี้ พล.ต.ตานทุนอู ได้ตรวจเยี่ยมกำลังพลในพื้นที่เมืองทา รวมถึงตรวจฐานประจำการและวางแผนยุทธศาสตร์ทางทหาร จากนั้นได้เดินทางกลับไปพักค้างคืนที่กองบัญชาการกองพันทหารราบ 65 ที่บ้านนากองมู เขตอำเภอเมืองโต๋น ตรงข้ามอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีทหารอารักขาอย่างแน่นหนา ซึ่งพล.ต.ตานทุนอู มีกำหนดไปตรวจเยี่ยมกำลังพลบริเวณชายแดนไทยด้าน BP-1 ด้วย
 
พล.ต.ตานทุนอู มาเป็นแม่ทัพภาคสามเหลี่ยมแทนพล.ต.จ่อเพียว ซึ่งถูกย้ายไปเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า พล.ต.ตานทุนอู กำลังอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบจากกองทัพจากเหตุรับสินบนธุรกิจลับ ซึ่งรวมถึงรับสินบนจากนายหน่อคำ เจ้าพ่อยาเสพติดสามเหลี่ยมทองคำและหัวหน้าโจรสลัดในแม่น้ำโขงด้วย

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลจี้ "ยิ่งลักษณ์" เร่งดำเนินการส่งเสริมการปกป้องสิทธิฯ

Posted: 09 Sep 2011 02:56 AM PDT

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่อนจดหมายจี้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ให้ความสำคัญสูงสุดและดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลต่อการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน

9 ก.ย. 54 - สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ทำจดหมายเปิดผนึก เรื่องขอเร่งรัดให้รัฐบาลของให้ความสำคัญสูงสุดและดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล ต่อการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการตรวจสอบรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ ประเทศไทยภายใต้กลไกการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (รายงาน UPR) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


 

9 กันยายน 2554
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ทำเนียบรัฐบาล
ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
กทม.10300 ประเทศไทย
โทรสาร +66 (0) 2288-4016
 

เรื่อง การเคารพหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการยุติการไม่ต้องถูกลงโทษ

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเร่งรัดให้รัฐบาลของท่านให้ความสำคัญสูงสุดและดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล ต่อการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะมีการตรวจสอบรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ ประเทศไทยภายใต้กลไกการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย(รายงาน UPR)ฉบับนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งที่รัฐบาลแสดงให้ประชาคมโลกและประชาชน ไทยเข้าใจการเคารพหลักนิติธรรมได้อย่างชัดเจน ความรับผิดชอบแท้จริงที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ รวมถึงขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมที่จะให้บรรลุเป้าหมายของพันธกิจนี้

ในฐานะประเทศภาคีสมาชิกของกติกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ไม่เพียงแต่ต้องเคารพและดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังต้องใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างที่จะประกันการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อย่างเต็มที่

ถึงแม้ว่าความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อในช่วงหกปีที่ผ่านมา นั้นมีความซับซ้อน องค์กรของเราเชื่อว่าการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและการที่ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้นั้นเป็นสาเหตุและปัจจัยหลักที่ทำให้ ความรู้สึกไร้ซึ่งความยุติธรรมมีอยู่ทั่วไป และขยายไปทั่วประเทศ

การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อมวลชน

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยทุก แห่ง เสรีภาพนี้ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (หมวด 7 มาตรา 45) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 ซึ่งประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยในรายงาน UPR ที่จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เรียกร้องให้รัฐบาล “ยึดถืออย่างเคร่งครัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในการประกันเสรีภาพของ สื่อมวลชนและประชาชน”

การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นได้รับการยอมรับภายใต้ กฎหมายระหว่างประเทศเพียงในกรณีที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายที่จะ คุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลอื่นหรือเพื่อความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เท่านั้น โดยให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม การจำกัดเสรีภาพเช่นนี้จำเป็นต้องมีข้อยกเว้น และต้องมีคำนิยามที่จำกัดให้แคบและชัดเจน พร้อมการคุ้มครองที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งมีมาตรการเยียวยาเพื่อตรวจสอบการละเมิดต่างๆ

ในประเทศไทย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่เป็นการละเมิดและไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังสามารถกล่าวได้ว่าการใช้กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความมั่นคง อีกหลายฉบับนั้น เป็นไปในลักษณะเดียวกันนี้ กฎหมายเหล่านี้ถูกเขียนอย่างเคลือบคลุมและกว้างมากเกินไป ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางและไม่ถูกตรวจสอบ ในการที่จะเซ็นเซอร์สื่อโดยพลการ ; ดำเนินคดีอาญาต่อการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ และจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายที่เหมาะสมและการ ตรวจสอบโดยอิสระอื่น ๆ กฎหมายเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อที่จะจำกัดการแสดงความเห็นโดยสงบ และชอบธรรมของผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ในปี พ.ศ.2553 เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ นั้น ได้มีการปิดกั้นเว็บเพจจำนวนหลายหมื่นแห่ง การปิดสถานีวิทยุชุมชนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล มากกว่าหนึ่งร้อยแห่ง การเซ็นเซอร์การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนหลายแห่ง หรือบางแห่งถูกสั่งให้หยุดดำเนินการทุกอย่าง

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการทบทวนอย่างรอบคอบและเคร่งครัดเกี่ยวกับ มาตรการต่าง ๆ ทางกฎหมายและการบริหารราชการที่กระทบต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และให้ดำเนินการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ที่ขัดกับหรือละเมิดกฎหมายและมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเปิดเผยรายละเอียดและจำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพฯ ต่อสาธารณชน ยุติการพิจารณาคดีลับ และยุติการเซ็นเซอร์และข่มขู่ทุกรูปแบบที่กระทำต่อสื่อมวลชน ผู้ใช้อินเตอร์เนท และผู้ให้บริการอินเตอร์เนท

การปิดปากประชาชนที่ใช้สิทธิอันชอบธรรมไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของ ระบอบอำนาจนิยม แต่ยังเป็นวิธีการสร้างความขัดแย้งและความตึงเครียดในสังคม ขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่รัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูป ธรรมในอันที่จะยุติและแก้ไขการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

การลงโทษประหารชีวิต

ปัจจุบัน จำนวนสองในสามของประเทศในโลกได้ทำการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2553 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ได้ลงมติเป็นครั้งที่สาม เรียกร้องให้ทั่วโลกชะลอการลงโทษประหารชีวิต โดยมตินี้ได้รับการรับรองจากภาคีสมาชิก 109 ประเทศ เราบันทึกไว้ว่าประเทศไทยซึ่งเคยลงนามคัดค้านมติสองครั้งก่อนหน้านี้ ได้งดออกเสียงในการลงมติ ปี พ.ศ. 2553 และไม่ลงนามในแถลงการณ์ที่ไม่รับรองมติดังกล่าว

ในข้อ 3.1 ของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2552-2556) เสนอให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม เรามีความห่วงใยอย่างยิ่งที่รายงาน UPR ของรัฐบาลไม่กล่าวถึงข้อเสนอนี้และไม่ให้คำมั่นใดที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต การประหารชีวิตเป็นความโหดร้ายโดยแท้และเป็นการลงโทษที่ไร้ มนุษยธรรมซึ่งไม่อาจย้อนคืนได้ พยานหลักฐานสำคัญได้แสดงให้เห็นแล้วว่าโทษประหารชีวิตไม่มีผลในการยับยั้ง อาชญากรรมต่าง ๆ รัฐบาลต้องแสดงภาวะผู้นำที่แท้จริงในการให้ข้อมูลและเปลี่ยนแปลงมากกว่าการ แอบอยู่ข้างหลังมติมหาชนต่อโทษประหารชีวิต

นอกจากนี้ เรายังมีความห่วงใยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมและ ทารุณโหดร้ายที่มีการล่ามโซ่นักโทษชายที่รอการประหารชีวิต การปฏิบัตินี้ยังคงดำเนินอยู่ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ยุติการกระทำนี้ใน ปี พ.ศ. 2548 และศาลปกครองแห่งประเทศไทยได้มีคำวินิจฉัยในปี พ.ศ. 2550 ว่าการปฏิบัติเช่นนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภารับรองโดยทันทีทันใด ต่อมติการชะลอการลงโทษประหารชีวิต ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด ให้ยุติการล่ามโซ่ผู้ต้องโทษประหารชีวิตชาย และร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการที่จะกระตุ้นให้สาธารณชนเห็นถึงความจำเป็น ของการยกเลิกโทษประหารชีวิต เราขอย้ำถึงคำเตือนก่อนหน้านี้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ มีถึงรัฐบาลไทยว่าการประหารชีวิตอาจกระทำได้กับ“อาชญากรรมที่ร้าย แรงที่สุด” เท่านั้น และความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดไม่นับเป็น “อาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด” ตามความหมายในข้อ 6.2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เป็นเรื่องที่ต้องเน้นย้ำด้วยว่าการผ่อนปรนในข้อนี้ไม่อาจนำมาอ้าง “ที่จะถ่วงเวลาหรือขัดขวางการยกเลิกโทษประหารชีวิต” (ข้อ 6.6 ICCPR)

กฎหมายพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคง

การกำหนดให้มีการใช้กฎหมายพิเศษต่าง ๆ เกี่ยวกับความมั่นคง รวมถึงกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในจังหวัดชายแดนใต้ และในจังหวัดอื่น ๆ ระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อไม่นานมานี้ นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง รวมทั้งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การคุมขังโดยไร้หลักเกณฑ์ การจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และการยืดเวลาการควบคุมตัวโดยไม่มีการการแจ้งข้อหา การปฏิบัติเหล่านี้ยังส่งผลให้มีการละเมิดอื่น ๆ ที่รุนแรง เช่น การบังคับให้บุคคลสูญหาย การทรมาน และการวิสามัญฆาตกรรม

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความมั่นคงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางโดยไม่ถูกตรวจสอบอย่างรอบคอบจากองค์กรอิสระ รวมทั้งฝ่ายตุลาการและองค์กรอื่น ๆ ข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้นคุ้มกันรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ จากการถูกลงโทษในอาชญากรรมที่พวกเขาก่อขึ้น ความคุ้มกันเช่นนี้เป็นผลลบต่อกระบวนการสมานฉันท์ในชาติและก่อให้เกิดความ รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนโดย เร่งด่วน ตลอดจนกระบวนการทางกฎหมายและสิทธิต่าง ๆ ในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม รวมถึงกฎหมายทั้งปวงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองความมั่นคงแห่งรัฐและความสงบ เรียบร้อยของประชาชนและการปฏิบัติที่เป็นผลจากกฎหมายเหล่านี้ ขอให้ดำเนินการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายพิเศษต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงเพื่อทำให้กฎหมายเหล่านี้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิ มนุษยชนและมาตรฐานสากลซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

อำนาจพิเศษใด ๆ ควรต้องนิยามอย่างแคบ ๆ และระมัดระวัง และให้มีการทบทวนกฎหมายเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัดโดยรัฐสภาและได้ รับการตรวจสอบโดยองค์การอิสระอื่น ๆ นอกจากนี้ การนำมาใช้ต้องสอดคล้องอย่างเคร่งครัดกับการพิจารณาคดี ความจำเป็น และความเหมาะสม ความผิดที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างที่มีการใช้กฎหมายเหล่านี้ต้องถูก สอบสวนและลงโทษ

การไม่ต้องถูกลงโทษ และการไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม

การไม่ต้องถูกลงโทษของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ในกองกำลังรักษา ความมั่นคงแห่งรัฐนั้นยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างกว้างขวางและต่อ เนื่อง ทั้งในกฎหมายและในทางปฏิบัติ แม้รายงาน UPR ของรัฐบาลยอมรับว่า “ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงความยุติธรรม” เป็นปัญหา แต่ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันในความผิดต่าง ๆ เช่น การบังคับให้บุคคลสูญหาย และการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แทบจะไม่เคยถูกดำเนินคดี ในจำนวนคดีที่มีการลงโทษซึ่งมีไม่มากนัก พวกเขาถูกลงโทษในความผิดลหุโทษที่ไม่ได้สะท้อนถึงความร้ายแรงของ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริง ๆ หรือไม่ก็ถูกสั่งปล่อยตัวทั้งหมด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายสิทธิมนุษยชนที่ถูกทำให้สูญหายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นคดีที่มีความผิดร้ายแรงนั้น สิ้นสุดลงโดยจำเลยทุกคนถูกปล่อยตัวไป ภาระความรับผิดต่อการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังหารผู้ต้องสงสัยก่อ ความไม่สงบ 32 ศพ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2547 ในมัสยิดกรือเซะ หรือความตายของผู้ชุมนุมประท้วงจำนวน 84 ศพเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 ในคดีตากใบยังคงไม่ได้รับการตัดสินเนื่องจากไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐถูก ลงโทษ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานชัดเจนที่ชี้ให้เห็นถึงความรับผิดทางอาญา

ความตาย 92 ศพ และผู้บาดเจ็บ 1,885 คน ในระหว่างการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ยังคงไม่มีการชดใช้ หรือลงโทษที่เหมาะสมและเป็นธรรม เรายินดีที่ได้ยินคำมั่นสัญญาของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่าจะสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในการที่จะสอบสวนและหาความจริงในเหตุการณ์รุนแรงของการชุมนุมประท้วงเหล่า นี้ แต่เราผิดหวังอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงที่มีส่วนในปฏิบัติการทาง ทหารเพื่อสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะ กรรมการค้นหาความจริงฯ

ความสมานฉันท์แห่งชาติต้องการความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อหลัก นิติธรรมและสถาบันประชาธิปไตยรวมถึงฝ่ายตุลาการ ความล้มเหลวในการให้ความยุติธรรมและการเยียวยาเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงของกระบวนการสมานฉันท์ ด้วยเหตุนี้ การไม่ต้องถูกลงโทษเช่นนี้ต้องถูกยกเลิก ความยุติธรรมไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นพันธกรณีและเป็นกฎเกณฑ์บังคับ

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเยียวยาเหยื่อและครอบครัวโดยเร็วและอย่าง เหมาะสม รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมายและอื่น ๆ ตามที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

การเพิ่มงบประมาณสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูก ละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และการบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายทหารต้องให้ความร่วมมือกับการทำงานของ คอป. และองค์การอิสระอื่นๆที่ตรวจสอบหาความจริงเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญยิ่ง รัฐบาลไทยควรเร่งรัดการให้สัตยาบันกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฉบับอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมิให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายไทยให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกฝ่ายพลเรือนที่เข้มแข็งและมี ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกองทัพ เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้มีการพิจารณาทบทวนคดีกรือเซะและตากใบเพื่อที่จะ ดำเนินการลงโทษผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อหลบภัย และผู้ย้ายถิ่น

รายงาน UPR ของรัฐบาลไทยไม่ให้ความสนใจอย่างชัดเจนกับกรณีที่มีการอ้างอิงใด ๆ ถึงการละเมิดหลักการที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ ของการไม่บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย (the non-derogable principle of non-refoulement) การละเมิดเหล่านี้รวมถึงการบังคับให้ชาวม้งลาวจำนวนมากกว่า 4,600 คนกลับสู่ถิ่นฐานในประเทศลาวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยในจำนวนนี้ มี 158 คนมีสถานะเป็น “บุคคลในความห่วงใย”ของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ; การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวพม่าหลายพันคนที่หลบหนีการปราบปรามทางทหารมา พักอาศัยในเขตพื้นที่แนวชายแดน ; และกรณีที่กองทัพเรือของไทยบังคับผลักดันชาวโรฮิงยาจากพม่าและบังคลาเทศให้ กลับออกไปในเขตน่านน้ำสากลโดยส่งลงเรือที่มีสภาพทรุดโทรม พร้อมจัดน้ำดื่มและอาหารให้เพียงเล็กน้อยเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิต รัฐบาลชุดก่อนสัญญาว่าจะสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ยังไม่มีการ ดำเนินการใด ๆ

แรงงานย้ายถิ่นที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนนับล้านคนจากประเทศเพื่อน บ้านยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดทางเพศ ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และถูกรีดไถ รายงาน UPR ของรัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะปฏิรูปกระบวนการ “พิสูจน์สัญชาติ”ให้มี “ความซับซ้อนและใช้เวลาน้อยลง และมีประสิทธิผลมากขึ้น” โดยรัฐบาลได้ยอมรับว่ากระบวนการจดทะเบียนแรงงานที่มีอยู่นั้นมีข้อบกพร่อง อย่างรุนแรง

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้นำหลักการไม่บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหา ที่พักพิง มาจัดทำเป็นนโยบายแห่งชาติ รัฐบาลไทยต้องเคารพบรรทัดฐานระหว่างประเทศและทำให้แน่ใจว่า UNHCR มีอิสระที่จะคัดเลือกและกำหนดสถานภาพของผู้แสวงหาที่พักพิง หรือผู้ลี้ภัยก่อนที่จะมีการตัดสินใจและดำเนินการส่งกลับถิ่นฐานเดิม รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในการให้ความคุ้มครองทาง กฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้ย้ายถิ่น โดยออกกฎหมายที่เหมาะสมและปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และพิธีสาร พ.ศ.2510 ที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพผู้ลี้ภัย และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานย้ายถิ่นและครอบครัว (พ.ศ.2533) ต้องมีกระบวนการสอบสวนที่น่าเชื่อถือและการลงโทษผู้กระทำผิดที่ทำการละเมิด สิทธิแรงงานย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย

การให้ความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆ

เรามีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อความล่าช้าในการจัดส่งรายงานที่ผูกพัน ตามกติการะหว่างประเทศฉบับต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพต่อพันธกรณีโดยการจัดส่งรายงานที่เลยกำหนด มาแล้วโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และขอให้การส่งรายงานในอนาคตเป็นไปตามกำหนดเวลาด้วย ในการจัดทำรายงานเหล่านี้ รัฐบาลไทยควรต้องจัดการประชุมหารือกับองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมให้กว้าง ขวางและครอบคลุมทั่วประเทศและนำข้อมูลที่ได้มาบรรจุในรายงานของ รัฐบาลด้วย

เมื่อประเทศไทยส่งผู้แทนเข้าชิงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลไกต่าง ๆ ในองคาพยพของสหประชาชาติ แต่ในขณะนี้ ยังมีคำถาม 11 ข้อ ที่ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติรอคำตอบอยู่ ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้นี้โดยตอบคำถาม เหล่านี้และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการอนุญาตให้ผู้รายงาน พิเศษสหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รายงานพิเศษฯ ต่อไปนี้

  • ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่น
  • ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการชุมนุมโดยสงบ
  • ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็นและการแสดงออก
  • ผู้รายงานพิเศษด้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่ทารุณโหด ร้าย ไร้มนุษยธรรม
  • คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ
  • คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้บุคคลสูญหาย

 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้ม แข็ง มีการเคารพและยึดถือสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลักในการวางนโยบายเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ถ้อยคำเพียงอย่างเดียวไม่อาจปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ คำมั่นสัญญาเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดความแน่ใจในกระบวนการสมานฉันท์ แม้ว่ารายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศที่รัฐบาลจัดทำ นั้น ระบุรายละเอียดของกฎหมาย ข้อบังคับ แผนงาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเหล่านี้ไม่ได้สะท้อน หรือประกันการปกป้องสิทธิมนุษยชน หากนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้องและไม่ถูกตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจถึงผลกระทบที่ ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ เป็นเรื่องจำเป็นที่สุดที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่จะทำให้ เกิดความแน่ใจและสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและ หลักนิติธรรม โดยการยุติการไม่ต้องถูกลงโทษทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ และทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างเสมอภาคโดยทันทีทันใด

ในวันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้ การนำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน UPR ของรัฐบาลจะเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งของประเทศไทยในการอธิบายให้รายละเอียด เพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงคำมั่นสัญญา เพื่อที่จะบรรลุเป้าประสงค์เหล่านี้

ขอกราบขอบคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่กรุณาให้ความสนใจรับฟังข้อเสนอแนะของเรา หากท่านต้องการรายละเอียดใดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติม เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดเตรียมและให้คำปรึกษาหารือ

 

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

 

Ms. Souhayr Belhassen
ประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH)
 
นายแดนทอง บรีน
ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
 
สำเนาถึง :
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการการะทรวงยุติธรรม
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร
พลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา
ศาสตราจารย์ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักเคลื่อนไหวชุมนุมร้องรัฐบาลพม่าปล่อยนักข่าวดีวีบีและนักโทษการเมืองทั้งหมด

Posted: 09 Sep 2011 02:18 AM PDT

กลุ่มรณรงค์ปล่อยตัวนักข่าวพม่า ชุมนุมหน้าสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้ปล่อยตัว "ละละ วิน" และผู้สื่อข่าวดีวีบีรวม 17 คนที่ถูกทางการพม่าจับกุม

การประท้วงหน้าสถานทูตพม่่าในกรุงเทพฯ เมื่อ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ปล่อยตัว "ละละ วิน" ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือดีวีบี รวมทั้งนักข่าวอีก 16 คนจากสำนักข่าวเดียวกัน (ที่มา: Youtube.com/DVB)

การประท้วงหน้าสถานทูตพม่่าในกรุงเทพฯ เมื่อ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ปล่อยตัว "ละละ วิน" ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือดีวีบี รวมทั้งนักข่าวอีก 16 คนจากสำนักข่าวเดียวกัน (ที่มาของภาพ: FreeBurmaVJ.org)

ในวันเดียวกันที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีผู้จัดกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว "ละละ วิน" และผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ดีวีบี เช่นกัน (ที่มาของภาพ: FreeBurmaVJ.org)

 

วันนี้ (9 ก.ย. 54) เมื่อเวลา 10.00 น.องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty international: AI) สำนักข่าวดีวีบี รวมไปถึงองค์กร นักเคลื่อนไหวที่ทำงานด้านประเด็นพม่าและสิทธิมนุษยชนที่รวมตัวกันในนามกลุ่มรณรงค์ปล่อยตัวนักข่าวพม่า (The Free Burma VJ Campaign) ได้รวมตัวหน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าคืนอิสรภาพให้กับนางละละ วิน นักข่าวสถานีโทรทัศน์เสียงประชาิธิปไตยแห่งพม่า หรือ ดีวีบี และนักข่าวอีก 16 คนจากสำนักข่าวเดียวกัน รวมไปถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักเคลื่อนไหวที่มาร่วมตัวกันในวันนี้ราว 25 คน มีการสวมหน้ากากที่เป็นรูปใบหน้าของนางละละ วิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้อง อีกทั้ง ได้มีการอ่านแถลงการณ์โดยตัวแทนจากองค์การนิรโทษกรรมสากล และตัวแทนสำนักข่าวดีวีบีได้อ่านหนังสือระบุข้อเรียกร้องเรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวนักข่าวดีวีบีทั้ง 17 คน รวมไปถึงนักโทษการเมืองอย่างเร่งด่วน

จากนั้น ตัวแทนจากสำนักข่าวดีวีบีได้เดินเข้าไปในสถานทูตพม่า เพื่อยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าโดยตรง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าขวางไว้ โดยระบุว่าเป็นธรรมเนียมของสถานทูตที่จะไม่ออกมารับจดหมาย ดังนั้น จึงต้องยื่นจดหมายดังกล่าวผ่านทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เอชานหน่าย ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ดีวีบี และหัวหน้ากองบรรณาธิการกล่าวว่า "ไม่มีข้อหาอะไรที่จะไปจับกุมหละหละวิน เธอไม่ควรถูกจับ ไม่สมควรจะไปอยู่ในคุกแม้เพียงวันเดียว เราเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยเธอให้เป็นอิสระทันที"

เยอราดีน เมย์ ผู้ประสานงาน "Free Burma VJ campaign" กล่าวว่า "เราไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลทหารพม่าทำลายชีวิตของหละหละวิน เพียงเพราะเธอไปสัมภาษณ์พระ และทำงานให้ DVB นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมกลุ่ม "Free Burma VJ campaign" ต้องจัดประท้วงในวันนี้ เราขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลพม่าปล่อยตัว ผู้สื่อข่าววิดีโอทั้ง 17 คน ซึ่งพวกเขาถูกตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม ให้ต้องโทษจำคุกเป็นระยะเวลาหลายสิบปี"

สำหรับนางละละ วิน ซึ่งเพิ่งอายุครบ 27 ปี เมื่อ 29 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ถูกจับในวันที่ 11 ก.ย. 52 ขณะที่กำลังสัมภาษณ์พระรูปหนึ่งที่วัด ในเมืองป่าโคะกู่ ภาคมะเกว ตอนบนของพม่า และต่อมาถูกศาลพม่าสั่งจำคุกเป็นเวลา 27 ปี ขณะที่ผู้ที่ร่วมประท้วงรายหนึ่งกล่าวว่า หากรัฐบาลในชุดปัจจุบันต้องการปฏิรูปประเทศ สิ่งที่ควรทำก็คือปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกกุมขังทั้งหมด และนางละละ วินก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศพม่ายังมีสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ นักข่าวของดีวีบีถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทันเหตุการณ์จากในพม่าออกสู่สายตาชาวโลก โดยเฉพาะในช่วงการประท้วงใหญ่ของพระสงฆ์ในปี 2550 ที่จบลงด้วยการที่รัฐบาลออกมาปราบปรามผู้ที่ออกมาประท้วง จนทำให้มีประชาชนเป็นจำนวนมากต้องล้มตายและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลพม่าถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

อีกทั้งมีรายงานด้วยว่า ในวันนี้ (9 ก.ย.54) มีการนัดออกมารวมตัวรณรงค์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่หน้าสถานทูตพม่าทั้งในฝรั่งเศส อังกฤษ และในสวิตเซอร์แลนด์ด้วย

 

ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจากสาละวินโพสต์ และ Free Burma VJ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายปกป้องสถาบันเตรียมขยับต้านนิรโทษกรรม "ทักษิณ" นัดวันศุกร์ "หลากสี"

Posted: 09 Sep 2011 01:35 AM PDT

เครือข่ายราษฎร์อาสาปกป้องสถาบัน ผนึกกำลังกลุ่มคนเสื้อหลากสี นัดชุมนุมที่สวนลุมฯ เน้นปกป้องสถาบัน ต้านนิรโทษกรรม "ทักษิณ ชินวัตร" ด้าน "บวร ยสินธร" ลั่นขีดเส้นข้าราชการ - เจ้าหน้าที่ต้องขจัดกลุ่มจ้องหมิ่นสถาบันฯ ทันที มิเช่นนั้นจะนัดรวมตัวกดดันทุกศุกร์

ที่มาภาพ: หน้าแฟนเพจระดมคนกรุงเทพต่อต้านเสื้อแดงชั่ว

9 ก.ย. 54 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน หรือกลุ่มคนเสื้อหลากสี ได้เปิดเผยว่า ในวันนี้ตนจะเดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายราษฎร์อาสาปกป้องสถาบัน ที่จะมีการนัดชุมนุมกันที่บริเวณพระราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี เนื่องจากมีแนวทางเหมือนกันในเรื่องการปกป้องสถาบัน ซึ่งทางเครือข่ายจะนำกลุ่มคนเสื้อหลากสีร่วมชุมนุม และทำกิจกรรม โดยตนจะขึ้นกล่าวปราศรัยในส่วนของกระบวนการหมิ่นสถาบันของกลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและนอกประเทศ  ส่วนกรณีการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น ทางเครือข่ายเตรียมที่จะประชุมกันในวันที่ 23 ก.ย. นี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ และแสดงออกทางการเคลื่อนไหวที่สงบต่อไป

"การพยายามขอพระราชทานอภัยโทษของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เป็นเรื่องช่วยเหลือคนเพียงคนเดียว และทุกวันนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พยายามตะแบง หาช่องทางช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายก็ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน" นพ.ตุลย์ กล่าว

ด้านนายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎร์อาสาปกป้องสถาบัน เปิดเผยว่า ในวันนี้ทางเครือข่ายจะเริ่มรวมตัวกันในเวลา 16.00 น. จากนั้นจะเริ่มทำการสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ซึ่งในเวลา 17.00 น. จะมีตัวแทนขึ้นกล่าวปราศรัย โดยมีวัตถุประสงค์ปกป้องสถาบัน และต่อต้านการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งได้มีการประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าการชุมนุมดังกล่าวจะไม่มีการเคลื่อนไหวไปในสถานที่อื่น ๆ และเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ

"ทางเครือข่ายจะพูดตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ เท่านั้น จะนำข้อมูลตรงนี้มาขยายให้ประชาชนหรือกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าใจ  ซึ่งวิธีการแบบนี้มันเกิดมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งเกิดจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถ้าไม่ร่วมกันปกป้อง มันจะเป็นอันตราย" นายบวร กล่าว

ส่วนความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีนั้น ประธานเครือข่ายราษฎร์ฯ กล่าวต่อว่า ไม่รู้สึกเกรงกลัว แต่ความปลอดภัยเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องมาดูแล ส่วนทางเครือข่ายฯ จะกลัวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ออกมากดดันหรือออกมาข่มขู่ มันทำไม่ได้ เนื่องจากต้องเน้นการปกป้องสถาบันเป็นหลัก ไม่ให้มีผู้ใดคิดร้ายและกระทำไม่ดี และยืนยันหลังจากนี้ไปจะมีการชุมนุมทุกวันศุกร์ในแต่ละสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าการชุมนุมในวันนี้จะมีผู้เข้าร่วมกว่า 400-500 คน ซึ่งเป้าหมายหลักคือต้องการปกป้องสถาบัน และต่อต้านการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ

"ทุกวันนี้มีบางกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวกดดันสถาบัน ดังนั้นทางเครือข่ายต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ เน้นว่าต้องหยุดและขจัดให้หมดไป มิเช่นนั้นจะเรียกร้องชุมนุมต่อไปเรื่อย ๆ และขอความร่วมมือให้ข้าราชการต่าง ๆ ออกมาปกป้องสถาบัน ไม่ใช่ทำงานเพื่อรับใช้นักการเมือง" นายบวร กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลแขวงนนทบุรีไม่รับฟ้องคดีนายกฯพรีม่าฟ้องแกนนำเครือข่ายผู้ป่วย

Posted: 09 Sep 2011 01:19 AM PDT

ชี้เกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา ด้านเครือข่ายผู้ป่วยกล่าวขอบคุณที่ฟ้อง ทำให้สังคมตระหนักว่าเครือข่ายฯ ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

วันนี้ (9 ก.ย. 2554) ศาลแขวงนนทบุรีออกนั่งพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นายธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) เป็นโจทก์ฟ้อง นายฐากูร สการกุล ประธานเครือข่ายผู้ป่วยจิตเวช นางพรรณธร จงสุวัฒน์ สมาชิกเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง และ นายบริพัตร ดอนมอญ ประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารจากการที่ผู้นำเครือข่ายผู้ป่วยทั้งสาม และชมรมเพื่อนโรคไตได้ร้องสภาเภสัชกรรมให้สอบจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรมของ นายธีระ ฉกาจนโรดม ฐานให้ความเห็นเกี่ยวกับการประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมและอาจไม่เหมาะสมในฐานะการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ โดยมีการนำพยานโจทก์เข้าเบิกความไปแล้ว 1 ปาก เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา
 
ศาลแขวงนนทบุรี ได้แจ้งให้นายณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ทนายโจทก์ที่มาศาลว่า คำฟ้องของโจทก์บรรยายฟ้องจำเลยทั้งสามร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามมาตรา 326,328 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ตามลำดับและเป็นกรณีที่กล่าวหาจำเลยทั้งสามกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทไม่อาจแบ่งแยกข้อหามาตรา 326 และ 328 ออกจากกันได้ จึงเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา ดังนั้น จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่ไม่ตัดสินคู่ความที่จะดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ
 
นายชัยรัตน์ แสงอรุณ ที่ปรึกษาศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผุ้บริโภคกล่าวว่า แกนนำผู้ป่วยมีสิทธิฟ้องกลับในข้อหาฟ้องเท็จ และเรียกค่าเสียหายจากการกลั่นแกล้งนำความเท็จมาฟ้อง สร้างความเดือดร้อนให้แก่แกนนำเครือข่ายผู้ป่วยฯให้ต้องเดินทางมาศาล ซึ่งพฤติการแห่งคดีนี้ ฟ้องมาตั้งแต่ปี 2553 ปรากฏว่า มีการเลื่อนคดีบ่อยครั้ง จนศาลไม่รับฟังในวันนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผุ้บริโภคพร้อมให้การสนับสนุนทางด้านกฎหมายอย่างเต็มที่
 
“ในการที่ศาลสั่งว่า ไม่ตัดสิทธิให้ไปฟ้องศาลอื่นๆนั้น คดีนี้คงไม่สามารถไปฟ้องใหม่ได้ เพราะเป็นคดีอาญามีอายุความเคร่งครัด 3 เดือนนับแต่ทราบเหตุ ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าทราบเหตุเมื่อวันที่ 24 ส.ค.53 นับถึงปัจจุบัน คดีขาดอายุความแล้ว”
 
ด้านนายบริพัตร ดอนมอญ ประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ทางเครือข่ายผู้ป่วยต่างๆยืนยันการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา ยาเป็นสินค้าคุณธรรมเพื่อรักษาชีวิต “เราไม่ได้โกรธเกลียดใครเป็นการส่วนตัว แค่ไม่อยากให้ใครมองเห็นการทำกำไรสูงสุดสำคัญกว่าชีวิตเพื่อนมนุษย์”
 
นายฐากูร สการกุล ประธานเครือข่ายผู้ป่วยจิตเวช กล่าวขอบคุณนายกฯสมาคมบริษัทยาข้ามชาติที่ฟ้องคดีเพราะทำให้เครือข่ายผู้ป่วยมีความเข้มแข็ง และตระหนักว่า พวกเรากำลังทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว “แต่อยากให้สังคมช่วยกันคิดว่า จะทำอะไรให้คนที่ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิผู้ป่วยจะได้ไม่ถูกรังแก”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น