ประชาไท | Prachatai3.info |
- ข่าว "เค-วอเตอร์" หนี้ท่วม - ที่แท้สื่อไทยอ่านงบผิด
- หอไอเฟลเปิดแล้วหลังคนงานหยุดงาน ด้านคนงานโคลอสเซียมเล็งหยุดงาน
- ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 เสื้อแดง 20 เดือน ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ระเบิดปิงปอง
- เกษียร เตชะพีระ
- ชาวท่าแซะร้องผู้ว่าฯ ขอผ่อนผัน ตัดยาง-ปาล์มในพื้นที่ทับซ้อน หลังถูก จนท.บุกตัด
- เกษียร เตชะพีระ: โจทย์การเมืองไทย จากพฤษภา35 ถึงปัจจุบัน
- โรงสีสุรินทร์ข้าวอยู่ครบ เร่งชี้แจงโครงการรับจำนำข้าวจี้เฝ้าระวังการสวมสิทธิ
- ททบ.5 แจง บก.ระงับข่าว "เค วอเตอร์" เพราะเนื้อหาไม่ชัด-หวั่นโดนฟ้อง
- กมธ. วุฒิสภา เผยผลการศึกษาโครงการจัดการน้ำ ขัด กม. 2 ฉบับ
- หมอวิทิตเล็งฟ้อง บอร์ด อภ.-รมต.-ครม. เรียกค่าเสียหาย 31 ล้าน
- ปาฐกถา เกษียร เตชะพีระ: โจทย์ใหม่ เหลือง-แดง และการเมืองแบบศีลธรรม
- เหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นของ กสท. ในการไม่ออกเกณฑ์ประกวดคุณสมบัติทีวีดิจิตอลสาธารณะ
- ความหวังของคนขาย ‘มะตะบะปูยุด’ กับการหยุดความรุนแรงในเดือนรอมฎอน
- เก็บตกเวทีเสวนา: การทรมาน..ปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไข
- ศาลปกครองสั่งรัฐบาลนำโครงการจัดการน้ำกลับไปฟังความคิดเห็นประชาชน
ข่าว "เค-วอเตอร์" หนี้ท่วม - ที่แท้สื่อไทยอ่านงบผิด Posted: 27 Jun 2013 02:00 PM PDT อ่านผลประกอบการหน้าเว็บบริษัทจัดการน้ำจากเกาหลีใต้ "เค-วอเตอร์" พบยังได้กำไรสุทธิ - สินทรัพย์มากกว่าหนี้ - มูดี้ส์ให้เครดิตระดับ A1 ส่วนกระแสข่าวหนี้ท่วม มีที่มาจากวงเสวนาจัดการน้ำที่สมาคมนักข่าวฯ เชิญนักสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ร่วมเสวนา ก่อนกลายเป็นข่าวพาดหัวหลายสื่อ ตามที่บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น หรือ "เค-วอเตอร์" รัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ชนะการประมูลการก่อสร้างตามแผนพัฒนาการทรัพยากรน้ำ โดย "เค วอเตอร์" สามารถประมูลการก่อสร้างได้ 2 โครงการ คือ คือ โมดูล เอ 3 และโมดูล เอ 5 ซึ่งเป็นโครงการแก้มลิงและฟลัดเวย์ ภายใต้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และต่อมาเมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) มีสื่อมวลชนไทยหลายฉบับ รายงานข่าวดังกล่าวในทำนองว่า "เค-วอเตอร์" เป็นบริษัทที่มีปัญหาทางการเงิน และดำเนินโครงการล้มเหลวในเกาหลีใต้ เช่น โพสต์ทูเดย์ พาดหัวข่าวว่า "ชำแหละ" เค-วอเตอร์"หนี้ท่วม-ทำโครงการเหลว" โดยผู้สื่อข่าวประชาไทพบว่าข่าวดังกล่าว ใช้ข้อมูลจากการเสวนา "เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการน้ำ ระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนไทย และเครือข่ายสิ่งแวดล้อมประเทศเกาหลีใต้" จัดโดยโครงการสื่อสุขภาวะชุมชนชายขอบและชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในรายการดังกล่าว ได้อ้างอิงการอภิปรายของวิทยากรในการเสวนาดังกล่าว คือ นายยัม ฮยุง ชอล (Yum Hyung Cheol) ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ (Korean Federation for Environmental Movement : KFEM ) ซึ่งให้ข้อมูลว่า "ในปี 2012 จะพบว่าทรัพย์ของบริษัทเค-วอเตอร์ อยู่ที่ 6.76 แสนล้านบาท ทุนอยู่ที่ 3.04 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นหลัก 99.9% มีรายได้ 2.27 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้สินอยู่ที่ 3.72 แสนล้านบาท ภาษีที่ได้ 9.9 หมื่นล้านบาท รายได้สุทธิอยู่ที่เพียง 8,000 ล้านบาทเท่านั้น" "เมื่อไปดูประวัติการทำโครงการของเค-วอเตอร์ ในเกาหลี ตั้งแต่ปี 1967 ที่ก่อตั้งบริษัทในฐานะรัฐวิสาหกิจ จากช่วงปี 1970-1980 ได้งานก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากทั่วประเทศเกาหลี" "ถัดมาในปี 1980-1990 ย้ายไปรับงานระบบประปาและระบบน้ำ หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา เริ่มทำงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก แต่เป็นการก่อสร้างในภารกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำตลอดชายฝั่ง การก่อสร้างพนังกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วม" "สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทเค-วอเตอร์ ตั้งแต่ปี 2006-2012 เห็นได้ว่าทุนจะอยู่เท่าเดิม แต่หนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในปี 2012 จะเห็นว่าหนี้สินสูงกว่าทุน ฉะนั้นเท่ากับว่าสถานการณ์ทางการเงินของเค-วอเตอร์ย่ำแย่ ภายในระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2009-2012 การดำเนินงานใน 2 โครงการหลักของเค- วอเตอร์ ได้แก่ 1.พัฒนาแหล่งน้ำหรือ 4 rivers project 2.พัฒนาคลองใช้เป็นฟลัดเวย์ พบว่าหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 758%"
นอกจากโพสต์ทูเดย์แล้ว ยังมีรายงานข่าวในสื่อไทยหลายฉบับ โดยข้อมูลมาจากวงเสวนาเดียวกัน เช่น สำนักข่าวอิศรา รายงานโดยพาดหัวว่า "NGO เกาหลีใต้ แฉ "เค-วอเตอร์" หนี้ท่วมหมื่นล้าน เชื่อทำฟลัดเวย์ในไทยไม่สำเร็จ" เดลินิวส์ พาดหัวข่าวว่า "นักสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ชี้ "เค วอเตอร์" ทำผิดกฎหมายการเงิน-สิ่งแวดล้อม" แนวหน้า รายงานโดยพาดหัวข่าวว่า "สื่อเกาหลีใต้แฉซ้ำ หนี้สินท่วม บี้สอบ 'เค วอเตอร์' งานแย่ไร้ประสิทธิภาพ เคยทำโครงการเจ๊งยับ นิวัฒน์ธำรงโต้ดีจริง" ส่วน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ พาดหัวข่าวว่า "นักสิ่งแวดล้อมโสมขาวชำแหละ "เค วอเตอร์" ประวัติฉาว หวั่นโครงการน้ำ 3.5 แสนล.มีปัญหา" ส่วน ไทยโพสต์ พาดหัวข่าวว่า "ทักษิณคบคิดKวอต้ม แฉประวัติบริษัทสุดแสบ/ลุ้นศาลเบรกเค้กน้ำ" พาดหัวรองว่า "แฉประวัติสุดแสบ เค วอเตอร์ สร้างหนี้ ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ฉีกกฎหมาย ฮั้วก่อสร้าง เอ็นจีโอเกาหลีใต้ระบุทั้ง ป.ป.ช.และ สตง.แดนกิมจิตามตรวจสอบเข้มข้น และพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 70% ไม่พอใจ ฮือฮารูปหมู่ "ทักษิณ-ผู้บริหารเค วอเตอร์" ว่อนเน็ต หึ่งตกเขียวโครงการล่วงหน้า พลิกปูม "แม้ว-ปู" ไปเกาหลีแล้วคนละ 2 หน ระทึก! ศาลปกครองสั่งคดีเอาอยู่ 3.5 แสนล้าน" และหลังการนำเสนอข่าวดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้ความเห็นผ่านรายการ "วันฟ้าใหม่" ทางสถานีโทรทัศน์ Blue Sky Channel ด้วยโดยเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจง โดยกล่าวว่า โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะกรณีบริษัทเค วอเตอร์ที่มีหนี้สินจำนวนมากกลับได้ประมูลมากที่สุดนั้น ทางรัฐบาลโดยเฉพาะคณะกรรมการที่เป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติของบริษัทต่างๆ ต้องออกมาชี้แจงตามข้อเท็จจริง นอกจากนี้ รัฐบาลต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นไปตามกฎเกณท์กติกา ผลประกอบการ หนี้สิน ภาพรวมการทำงานของบริษัทเป็นอย่างไร เพราะเมื่อมีคนของเกาหลีมาตั้งข้อสังเกตรัฐบาลก็ต้องรับฟัง การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปเกาหลีก็มีคนมาวิจารณ์ว่าบริษัทนี้จะได้ประมูลแล้วก็ได้จริงๆ เอาเข้าจริงบริษัทเค วอเตอร์คงไม่ดำเนินการโครงการเอง แต่อาจจะให้บริษัทของไทยเป็นผู้ดำเนินการต่อ
000 อ่านผลประกอบการหน้าเว็บบริษัท-ยังได้กำไร-มูดี้ส์ให้เครดิต A1 อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวประชาไท เทียบรายงานที่สื่อฉบับต่างๆ นำเสนอในเรื่องผลประกอบการของเค-วอเตอร์ เทียบกับผลประกอบการของบริษัท ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งอยู่ในเว็บไซต์ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งพบว่า ในปี ค.ศ. 2012 ผลประกอบการของบริษัทซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้ดังกล่าว แม้จะมีหนี้สิน แต่ก็ได้กำไร และไม่ได้ขาดทุนสะสมอย่างที่มีการนำเสนอข่าว โดยในปี ค.ศ.2012 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 25,016,382,827,000 วอน (25.02 ล้านล้านวอน) หรือ 6.77 แสนล้านบาทโดยประมาณ มีหนี้สิน 13,777,920,820,000 วอน (13.78 ล้านล้านวอน) หรือ 3.73 แสนล้านบาทโดยประมาณ มีเงินลงทุน 11,238,500,000,000 วอน (11.2 ล้านล้านวอน) หรือ 3.04 แสนล้านบาทโดยประมาณ นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 2012 เค-วอเตอร์ มีรายรับ 3,668,445,409,000 วอน (3.67 ล้านล้านวอน) หรือ 9.93 หมื่นล้านบาทโดยประมาณ มีกำไรก่อนเสียภาษี 401,689,496,000 วอน (4.02 แสนล้านวอน) หรือ 1.09 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 308,295,352,000 วอน (3.08 แสนล้านวอน) หรือ 8.35 พันล้านบาท ส่วนที่สื่อมีการนำเสนอของนายยัม ฮุง ชยอล ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ (KFEM) ที่รายงานว่าสถานการณ์การเงินของ เค วอเตอร์ มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จนมีหนี้สินสูงกว่าทุน "พบว่ามีหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 758%" ฯลฯ นั้น ผู้สื่อข่าวประชาไทได้ตรวจสอบส่วนผลประกอบการย้อนหลังของ 7 ปีก่อน พบว่าเค-วอเตอร์ แม้จะมีหนี้สินสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน และสินทรัพย์ก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ขณะที่ผลประกอบการของเค-วอเตอร์ ก็ได้กำไรสุทธิทุกปี โดยใน ค.ศ. 2006 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 11,397,405,000,000 วอน (11.40 ล้านล้านวอน) หรือ 3.09 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 1,743,575,000,000 วอน (1.74 ล้านล้านวอน) หรือ 4.72 หมื่นล้านบาท มีรายรับ 1,721,104,000,000 วอน (1.72 ล้านล้านวอน) หรือ 4.66 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 217,005,000,000 วอน (2.17 แสนล้านวอน) หรือ 5.88 พันล้านบาท ค.ศ. 2007 พบว่า เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 11,443,850,000,000 วอน (11.43 ล้านล้านวอน) หรือ 3.1 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 1,575,552,000,000 วอน (1.58 ล้านล้านวอน) หรือ 4.27 หมื่นล้านบาท มีรายรับ 1,498,004,000,000 วอน (1.50 ล้านล้านวอน) หรือ 4.06 หรือหมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 158,736,000,000 วอน (1.58 แสนล้านวอน) หรือ 4.30 พันล้านบาท ค.ศ. 2008 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 11,981,700,000,000 วอน (11.98 ล้านล้านวอน) หรือ 3.24 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 1,962,286,688,000 วอน (1.96 ล้านล้านวอน) หรือ 5.31 หมื่นล้านบาท มีรายรับ 2,044,532,725,000 วอน (2.04 ล้านล้านวอน) หรือ 5.54 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 138,773,516,000 วอน (1.39 แสนล้านวอน) หรือ 3.76 พันล้านบาท ค.ศ. 2009 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 13,277,070,000,000 วอน (13.28 ล้านล้านวอน) หรือ 3.60 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 2,995,639,000,000 วอน (3 ล้านล้านวอน) หรือ 8.11 หมื่นล้านบาท มีรายรับ 2,005,384,000,000 วอน (2 ล้านล้านวอน) หรือ 5.43 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 81,576,000,000 วอน (8.16 หมื่นล้านวอน) หรือ 2.21 พันล้านบาท ค.ศ. 2010 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 18,484,424,534,000 วอน (18.48 ล้านล้านวอน) หรือ 5.01 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 7,960,714,386,000 วอน (7.96 ล้านล้านวอน) หรือ 2.16 แสนล้านบาท มีรายรับ 2,144,749,561,000 วอน (2.14 ล้านล้านวอน) หรือ 5.81 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 142,103,845,000,000 วอน (1.42 แสนล้านวอน) หรือ 3.95 พันล้านบาท และ ค.ศ. 2011 เค-วอเตอร์ มีสินทรัพย์ 23,425,915,630,000 วอน (23.43 ล้านล้านวอน) หรือ 6.34 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 12,580,936,220,000 วอน (12.58 ล้านล้านวอน) หรือ 3.41 แสนล้านบาท มีรายรับ 6,325,785,989,000 วอน (6.33 ล้านล้านวอน) หรือ 1.71 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิหลังเสียภาษี 293,267,171,000 วอน (2.93 แสนล้านวอน) 7.94 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน ในเว็บไซต์ เค-วอเตอร์ ยังเผยแพร่ผลการจัดอันดับเครดิตของสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หรือมูดี้ส์ ให้เค วอเตอร์ อยู่ในระดับ A1 และ S&P ให้เค วอเตอร์อยู่ในอันดับ A+ อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. รายการฮาร์ดคอร์ข่าว ออกอากาศทาง ททบ.5 มีการนำเสนอข่าวกรณีเค-วอเตอร์ ชนะประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย 2 โครงการ โดยก่อนเข้าสู่รายงานดังกล่าว ผู้ประกาศข่าวได้กล่าวแนะนำรายการว่า "มีการเปิดเผยข้อมูลว่าบริษัทเค-วอเตอร์นั้นมีหนี้สินอยู่ถึง 700% และไม่เคยรับหน้าที่ในการบริหารจัดการกับโครงการขนาดใหญ่ ก็เลยกังวลกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น" อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่รายงานพิเศษได้ประมาณ 30 วินาที ก็ถูกตัดเป็นโฆษณาทีโอทีแทน และไม่มีการออกอากาศรายงานข่าวดังกล่าวอีก (ชมวิดีคลิป) โดยภายหลัง นสพ.ข่าวสด รายงานข่าว ผู้บริหาร ททบ.5 ชี้แจงว่าเป็นการตัดสินใจระงับการออกอากาศเอง เนื่องจากข้อมูลที่ได้ไม่มีความชัดเจนพอ เป็นเพียงข้อมูลที่ถูกเสนอออกมาผ่านสื่อสาธารณะ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการถูกหมิ่นประมาทและฟ้องร้อง กองบรรณาธิการจึงตัดสินใจไม่นำออกอากาศ เพื่อป้องกันตัวเองและสถานี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
หมายเหตุ: ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 1,000 วอน เท่ากับ 27.08 บาท ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หอไอเฟลเปิดแล้วหลังคนงานหยุดงาน ด้านคนงานโคลอสเซียมเล็งหยุดงาน Posted: 27 Jun 2013 11:14 AM PDT คนงานภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในยุโรป "หอไอเฟล-โคลอสเซียม" หยุดงานประท้วงเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นและปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น ที่มาภาพ: ibtimes.com สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าในวันนี้ (27 มิ.ย.) หอไอเฟล (Eiffel Tower) ได้เปิดทำการอีกครั้งเมื่อเวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หลังปิดทำการมาตั้งแต่วันอังคาร (25 มิ.ย.) โดยการหยุดงานประท้วงครั้งนี้เป็นการต่อรองของสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างและสภาพการทำงานที่ดีขึ้นหลังจากการเจรจาล้มเหลวเมื่อวันจันทร์ (24 มิ.ย.) ที่ผ่านมา สหภาพแรงงาน CGT ระบุว่านอกเหนือจากเรื่องค่าจ้างแล้ว สิ่งที่ผู้บริหารหอไปเฟลควรปรับปรุงก็คือเรื่องลิฟท์ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความแออัดยัดเยียดของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้สภาพการทำงานของคนงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคนมาเยี่ยมชมสัญลักษณ์ของฝรั่งเศสแห่งนี้ ด้านคนงานของโคลอสเซียม (Colosseum) ประเทศอิตาลี สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของโลกอีกแห่งในยุโรป ก็มีแผนที่จะนัดหยุดงานประท้วงเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยจะมีการหยุดงานประท้วงในวันศุกร์นี้ (28 มิ.ย.) เวลา 8.30 น. - 12.30 น. โดยการหยุดงานประท้วงของคนงานครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อพิพิธภํณฑ์แห่งกรุงโรมอีกด้วย ที่มา: http://www.dailymail.co.uk/travel/article-2349011/Eiffel-Tower-strike-goes-second-day-Romes-Colosseum-workers-plan-Friday-walkout.html http://www.ibtimes.com/eiffel-tower-paris-reopens-tourists-after-two-day-worker-strike-1325161# ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 เสื้อแดง 20 เดือน ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ระเบิดปิงปอง Posted: 27 Jun 2013 10:10 AM PDT 27 มิ.ย.56 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 704 ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.2514/2553 (หมายเลขแดง อ.4100/2554) ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ สายพิมพ์กับพวกรวม 3 คน (นายจักรกริช จอมทอง และนางไกรรุ่ง อ่อนคำ) ในฐานความผิดฝ่าฝืนประกาศหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และร่วมกันมีวัตถุระเบิด(ระเบิดปิงปอง) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษ นายวีระ สายพิมพ์ จำเลยที่ 1 และนายจักรกริช จอมทอง จำเลยที่ 2 จำคุกคนละ 20 เดือน แต่ในส่วนของจำเลยที่ 3 นางไกรรุ่ง อ่อนคำ ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาเอาไว้ 1 ปี จึงไม่มีการอุทธรณ์ คดีนี้จำเลยที่ 1 นายวีระ สายพิมพ์ได้อุทธรณ์ว่าอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ซึ่งเป็นโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ชัดเจนว่า "ถุงผ้า" นั้นเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือเป็นของใคร และระบุว่าที่รับสารภาพเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่ และทำร้ายร่างกาย ซึ่งในประเด็นนี้อัยการได้มีการแก้คำอุทธรณ์ในสองประเด็นนี้ว่าแม้ถุงผ้าจะมีเพียงถุงเดียว แต่ข้อเท็จจริงในทางนำสืบของโจทก์ก็ประจักษ์ชัดว่าจำเลยที่ 1 และ 2 มีเจตนาร่วมกันในการครอบครองถุงผ้าดังกล่าว จึงเป็นการกระทำร่วมกันมีวัตถุระเบิด(ระเบิดปิงปอง) ทั้ง 24 ลูกไว้ในครอบครอง และในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองก็ให้การรับสารภาพ ส่วนประเด็นการถูกเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่นั้นก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ซึ่งผู้ใดก็กล่าวอ้างได้ หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดจริงก็ไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะต้องให้การรับสารภาพ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ระบุว่า จากการสอบถามกับญาติของนายจักรกริชทราบว่าในวันที่ถูกจับกุม(19 พ.ค.53) ผู้ถูกจับกุมทั้ง 4 คน(อีก 1 คน เป็นเยาวชน) ได้เรียกแท็กซี่เพื่อที่จะไปขึ้นรถที่หมอชิตเพื่อกลับบ้าน โดยระหว่างทางได้เจอเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่ร่วมกันตั้งด่านตรวจอยู่บนทางยกระดับด่านแจ้งวัฒนะ จึงถูกเรียกให้ลงจากรถเพื่อทำการตรวจค้น ในรถคันดังกล่าวมีถุงผ้าอยู่ซึ่งเป็นของเด็กที่นั่งรถมาด้วยกัน ซึ่งในถุงผ้านั้นมีเพียง ริบหนังสติ๊ก มีดพับ หัวนอต ลูกแก้ว ไฟแช็ก ไม้ขีด แต่ไม่มีระเบิดปิงปองทั้ง 24 ลูก แต่อย่างใด และในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้พวกเขายืนหันหน้าเข้าเสาทางด่วนและใช้อาวุธปืนจ่อบังคับ ข่มขู่ให้รับสารภาพด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 18.30 น. ทนายของนายจักกริชได้แจ้งความคืบหน้าการประกันตัวของจำเลยทั้งสองคนว่า ในกรณีของนายวีระนั้นทางศาลอาญาได้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาการประกันตัว ซึ่งจะทราบผลราววันอังคารหรือวันพุธของสัปดาห์หน้า ส่วนของนายจักกริชนั้นเนื่องจากทางศาลอาญาได้เปลี่ยนเงื่อนไขการประกันตัว ซึ่งทางญาติของนายจักกริชยังไม่มีหลักทรัพย์มาประกันจึงยังไม่สามารถทำเรื่องขอประกันตัวได้ เบื้องต้นทั้งสองถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำ
=========== คำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 55, 74, 78 วรรคหนึ่ง และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 4,5,9,11,18 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 4,5,9,11,18 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ที่ 1 และ 2 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ จึงให้มีลงโทษตามพ.ร.บ.อาวุธฯ ปืน ม.78 วรรคหนึ่งอันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 จำคุกคนละ 2 ปี และลงโทษฐานฝ่าฝืนประกาศหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการเข้าร่วมการชุมนุม จำคุกคนละ 6 เดือน รวมคนละ 2 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละ คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 20 เดือน ลงโทษ จำเลยที่ 3 ฐานฝ่าฝืนประกาศหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการเข้าร่วมการชุมนุม จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฎว่า จำเลยที่ 3 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาศจำเลยที่ 3 กลับตัว เป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ริบหนังสติ๊ก มีดพับ หัวนอต ลูกแก้ว ไฟแช็ก ไม้ขีด ของกลางข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกเสีย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 27 Jun 2013 09:55 AM PDT "ในทางปรัชญา ผมเชื่อว่ามีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ระหว่าง หลักเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้อง ย่อมให้ความชอบธรรมกับวิธีการใด ๆ ก็ได้ หรือ The end justifies the means. ในทางการเมือง กับ หลักเอกภาพทางศีลธรรมของเป้าหมายกับวิธีการ หรือ the moral unity of means and end หลักสองอันนี้มีความขัดแย้งแตกต่างกันลึกๆ และการพยายามจะผูกการเมืองเข้ากับศีลธรรมมันอิหลักอิเหลื่อมากเพราะหลักการสองอันนี้" 26 มิ.ย.56, ปาฐกถาจากกีรตยาจารย์ ในปีนี้มีขึ้นในหัวข้อ โจทย์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปสองทศวรรษจากพฤษภาฯ 2535 ถึงปัจจุบัน |
ชาวท่าแซะร้องผู้ว่าฯ ขอผ่อนผัน ตัดยาง-ปาล์มในพื้นที่ทับซ้อน หลังถูก จนท.บุกตัด Posted: 27 Jun 2013 09:51 AM PDT 25 มิ.ย.56 ชาวบ้านกลุ่มสมัชชนคนจนกรณีพื้นที่ป่าทับที่ทำกินของราษฎรที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งถูกเจ้าหน้าเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่บุก ตัดต้นยางและต้นปาล์ม ประมาณ 30 คน เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดชุมพร เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รวมทั้งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรและหัวหน้าอนุรักษ์ที่ 4 โดยมีข้อเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่อนผันการจับกุมรื้อถอนพืชผลอาสินในกลุ่มสมัชชาคนจนอย่างเร่งด่วน ให้หน่วยงานที่รื้อถอนทำลายพืชผลรับผิดชอบค่าเสียหายในการกระทำดังกล่าว จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาของกลุ่มสมัชชาคนจนแล้วเสร็จ และกลุ่มสมัชชาคนจนเข้าทำกินในพื้นที่ตามวิธีชีวิตดั่งเดิม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ในทางกฎหมายประชาชนมีความผิดเพราะที่ดินนั้นเป็นพื้นที่ทับซ้อน ทั้งยังกล่าวอีกว่า ถ้าจะร้องเรียนเรื่องที่เจ้าหน้าที่เข้ามาก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ให้ชาวบ้านไปร้องเรียนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับทางอุทยานฯ เพราะเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำตามคำสั่งเจ้านาย และตนเป็นผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจใดในการสั่งการ ด้าน นายโส ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกล่าวว่า "คนทีทำกินเป็นคนดังเดิม ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นยาจนถึงรุ่นหลาน หน่วยงานรัฐทำแบบนี้ไม่ยุติธรรม และชาวบ้านยังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ" นายรัตภพ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบกล่าวว่า "เมื่อต้นยางยังเล็กๆทำไมเจ้าหน้าที่ไม่สั่งมาตัด แต่พอยางต้นใหญ่แล้วกลับมาทำลาย และเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ เพราะมีการตัดเฉพาะบางแปลงเท่านั้น" สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางวันของวันที่ 13 มิ.ย. 56 โดยเจ้าหน้าที่บุกเข้ามาตัดต้นยางพาราและต้นปาล์มของชาวบ้านในเขต ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวบ้านไม่อยู่ในสวน ทั้งยังไม่มีการบอกกล่าวหรือแจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า ต้นยางพาราถูกตัดประมาณ 1,000 ต้น รวมถึงต้นปาล์มน้ำมันถูกหยอดยาและถูกตัดประมาณ 300 ต้น ทำให้ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์แจ้งต่อให้ชาวบ้านคนอื่นๆ และทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ 60 คน รถ 7 คัน ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) , สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร หลังจากนั้นชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจึงรวมตัวกันเพื่อร้องเรียนนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเพื่อขอความเป็นธรรมต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เกษียร เตชะพีระ: โจทย์การเมืองไทย จากพฤษภา35 ถึงปัจจุบัน Posted: 27 Jun 2013 09:40 AM PDT ชื่อบทความเดิม: "โจทย์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปในสองทศวรรษจากพฤษภาฯ 2535 ถึงปัจจุบัน"<1>
ในโอกาสเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหญ่ทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ล่วงมาสองทศวรรษ ประจวบกับกระแสความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหญ่ทางการเมืองปะทุระเบิดขึ้นอีกระลอกในรอบห้าหกปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นจังหวะอันเหมาะสมที่จะมาทบทวนว่าโจทย์ใหญ่ของการเมืองไทยในช่วงดังกล่าวได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวคิดความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมืองไทย เพื่อเป็นแนวทางในการขบคิดใคร่ครวญหาทางออกต่อไป ผมใคร่แบ่งการปาฐกถาวันนี้เป็นหัวข้อย่อยดังนี้: 1) บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภาคม พ.ศ.2535 2) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อเหลืองและพันธมิตร 3) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดงและแนวร่วม 4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม
1) บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภาคม พ.ศ. 2535
ในช่วงทศวรรษก่อนเกิดระบอบทักษิณราวปี พ.ศ. 2546<2> วิกฤตและปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจแห่งยุคของไทยได้แก่: 1) วิกฤตรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พ.ศ. 2534 และการลุกฮือพฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 อันเป็นอาการแสดงออกซึ่งปัญหาความบกพร่องไม่พอเพียงของนักการเมืองจากการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือที่เรียกว่าปัญหา "นักเลือกตั้ง/ระบอบเลือกตั้งธิปไตย" ชาวบ้านรากหญ้าและประชาสังคมเมืองรู้สึกว่าปัญหาเดือดร้อนเร่งด่วนสำคัญที่สุดของตนแทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นถกอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเลย สภาฯกลายเป็นเวทีตีฝีปากประคารมยกมือประท้วงวางท่านักเลงก้าวร้าวถกเถียงหมกมุ่นเรื่องข้อบังคับการประชุมที่แสนน่าเบื่อและไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ส่วนรัฐบาลก็เสมือนคณะกรรมการจัดการดูแลผลประโยชน์อันทุจริตฉ้อฉลเฉพาะของมุ้งกลุ่มก๊วนมากกว่าจะรับใช้รับผิดชอบผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ ⇒ วิกฤตการเมืองนี้ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากปัญหานักเลือกตั้ง/ระบอบเลือกตั้งธิปไตย <3> 2) วิกฤตค่าเงินบาทและเศรษฐกิจตกต่ำหรือที่เรียกว่าวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" พ.ศ. 2540 อันเป็นอาการบ่งชี้ปัญหาผลกระทบของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อประเทศไทยว่าการเปิดเสรีต่อเงินทุนชีพจรลงเท้า, กระแสบริโภคนิยมและการเอนเอียงทุ่มเทผลิตเพื่ออุตสาหกรรมส่งออกสุดตัวด้วยแรงงานและทรัพยากรราคาถูกนั้นเสี่ยงสูง ผันผวน และอันตรายร้ายแรงถึงขั้นล่มจม ไม่แน่ว่าจะนำมาซึ่งความร่ำรวยรุ่งเรืองดังที่ฝันหวานง่าย ๆ ถ่ายเดียวเสมอไป ⇒ วิกฤตเศรษฐกิจนี้ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ <4> คำตอบแห่งยุคสมัยที่สังคมไทยเสนอต่อปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าวตอนนั้นได้แก่: ⇒ การเมืองภาคประชาชนหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนรวม/ทางตรง เพื่อแก้ไขบำบัดจุดอ่อนข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน<5> ⇒ เศรษฐกิจพอเพียง/ชุมชน เพื่อบรรเทาป้องกันความผันผวน, เสี่ยงสูง, สิ้นเปลือง, สุดโต่งเกินเลยของทุนนิยมโลกาภิวัตน์<6> อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าภายหลังรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำขึ้นสู่อำนาจในปีพ.ศ. 2544 ระบอบทักษิณได้ข้ามพ้นชุดคำตอบข้างต้นโดยเสนอคำตอบชุดใหม่ผ่านแนวนโยบายและมาตรการปฏิบัติของรัฐบาล ได้แก่: - -ฝ่ายบริหารมีอำนาจเข้มแข็งครอบงำเหนือรัฐสภา -ผลักดันผ่านนโยบายและงบประมาณประชานิยมต่าง ๆ ส่งผลให้..... 1) ประชาธิปไตยแบบตัวแทนสามารถดำเนินนโยบายสนองตอบผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนผู้เลือกตั้งโดยตรง เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน-เงินกู้ของภาครัฐและภาคเอกชน, การพักชำระหนี้, บริการการแพทย์ย่อมเยาถ้วนหน้า, โครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ ฯลฯ 2) เปิดช่องทางโอกาสและฐานทุน-เงินกู้ให้ชาวบ้านที่ถูกผลักไสหรือดึงดูดเข้าสู่กระแสคลื่นเศรษฐกิจตลาดเสรีอันผันผวนเสี่ยงสูง, ผ่านการหันไปประกอบอาชีพปลูกพืชเศรษฐกิจ/รับจ้างชั่วคราว/ประกอบธุรกิจรายย่อยต่าง ๆ, แล้วมักตกอยู่ในอาการปริ่มน้ำ จวนจะล่มจมมิจมแหล่ ไม่รู้แน่ว่าจะว่ายถึงฝั่งหรือไม่ – ได้อาศัยมันเป็นห่วงชูชีพประคองตัวลอยคออยู่รอดและพอมีหวังที่จะสู้แล้วรวยได้ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อไป<7> ขณะที่ความถูกต้องยั่งยืนแห่งแนวนโยบายข้างต้นของระบอบทักษิณยังคงเป็นที่โต้แย้งถกเถียงกันได้ไม่ยุติ แต่ก็ประจักษ์ชัดว่ามันจับใจยึดกุมจินตนาการของมวลชนผู้เลือกตั้งที่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมากทั้งในเมืองและชนบท จนพวกเขาพร้อมแปรความเรียกร้องต้องการของตนเป็นพลังการเมืองเพื่อปกป้องแนวนโยบายดังกล่าวและรัฐบาลทักษิณทั้งด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวชุมนุม<8>
2) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อเหลืองและพันธมิตร
ความเข้าใจบริบทกระแสความคิดการเมืองในช่วงทศวรรษหลังถึงปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบแนวคิดดังกล่าวกับแนวคิดของคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมือง (เพื่อความสะดวก ขออนุญาตใช้สัญลักษณ์สีแทน) ได้แก่ "แดง" (คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.และผู้สนับสนุน) กับ"เหลือง" (คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือพธม.และผู้สนับสนุน)
เสกสรรค์เสนอว่าเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติเสื่อมโทรมลง ⇒ แนวคิดชาตินิยมเสื่อมโทรมลง ⇒ ส่งผลสืบเนื่องให้ฉันทมติและฉันทาคติทางการเมืองพลอยเสื่อมถอยไปด้วย (political consensus & consent หมายถึงความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองในทางการเมือง) ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมก่อความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเรื้อรังเพราะรัฐขาดพร่องความชอบธรรม, ไม่มีความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองของสังคมภาคส่วนต่าง ๆ นอกคูหาเลือกตั้งคอยประคองรองรับอำนาจของรัฐไว้ 2) น่าสนใจว่าประเด็นอำนาจทุนนี้ "เหลือง" มองเห็น แต่ "แดง" กลับมองข้าม สะท้อนออกในแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ที่นับได้ว่าเป็นคลังสมองหรือเสนาธิการทางแนวคิดการเมืองของนปช.และผู้สนับสนุน<11> กล่าวคือปัญหาทางการเมืองที่นิติราษฎร์มองเห็นและนำเสนอจะยุติแค่มิถุนายน - ธันวาคม พ.ศ. 2475 (กล่าวคือจำกัดเฉพาะปัญหาอำนาจรัฐและเครือข่าย"อำมาตย์" หรือชนชั้นนำเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันสืบเนื่องมาจากการอภิวัฒน์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย 2475 ที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์) นิติราษฎร์ยังไม่เริ่มขึ้นเดือนมกราคม -มีนาคม พ.ศ.2475 ด้วยซ้ำไป (กล่าวคือไม่ได้เริ่มตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรี ดังที่อาจารย์ปรีดีวิเคราะห์วิจารณ์และนำเสนอทางออกไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าสมุดปกเหลือง ซึ่งมีที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ. 1929 และต่อมา)<12> ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน อำนาจทุนโลกสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และผูกมัดกลายเป็นเนื้อเดียวกับอำนาจรัฐในสังคมไทย (ขอให้ดูตอนน้ำท่วมใหญ่ปลายปี พ.ศ. 2554 และบทบาทอิทธิพลกดดันต่อรองข่มขู่โน้มนำกำกับของรัฐบาลและทุนอุตสาหกรรมข้ามชาติญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง)<13> 3) ขณะที่ "เหลือง"มองเห็นปัญหาอำนาจทุน ทว่าวิธีแก้ที่นำเสนอคือเผด็จการ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและองค์กรพันธมิตรอาทิกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ยืนกรานว่าปัญหา "เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด" ไม่อาจแก้ได้ด้วยประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง หากต้องแก้ด้วยการรัฐประหารหรือวิธีพิเศษอื่นนอกระบบเพื่อมอบอำนาจแก่คนดีผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และมีความเป็นไทยมากกว่า ให้ถ่วงทานตรวจสอบอำนาจทุนไว้<14> อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าใช้การไม่ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยและโลก รังแต่สร้างความขัดแย้งใหม่ซ้ำซ้อนเพิ่มเติมลุกลามออกไป
3) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดงและแนวร่วม ในทางกลับกัน ประเด็นหลักสำคัญประการหนึ่งในกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันที่ไม่ปรากฏเด่นชัดในความคิดสังคมการเมืองช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธิปไตย พ.ศ. 2535 ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็คือความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลากหลายด้านในชนบท จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณและพวกพ้อง, ต่อต้านรัฐประหารและเครือข่าย "อำมาตย์" ในขอบเขตกว้างขวางหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและอีสาน นี่เป็นความรู้ที่ก่อตัวมานานแต่ค่อนข้างใหม่ในวงวิชาการกระแสหลัก จึงเป็นธรรมดาที่ยังไม่ค่อยเป็นที่ตระหนักรับรู้ในวงวิชาการทั่วไปก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูป การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) อันเป็นระยะที่งานความคิดสังคมการเมืองสำคัญ ๆ ในช่วงหลังของอาจารย์เสกสรรค์ถูกผลิตออกมา ความเปลี่ยนแปลงซับซ้อนหลายมิติในชนบทนี้มีหัวใจอยู่ที่กระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม (deagrarianization) แล้วหันไปสู่กิจกรรมหลักและรายได้หลักในภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น<15> เรื่องนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องยาวนานที่ค่อย ๆ ก่อตัวคลี่คลายนับแต่ราว พ.ศ. 2529 - 2530 เป็นต้นมาร่วม 26 ปี กลุ่มนักวิชาการแรก ๆ ที่สังเกตเห็น ชี้ชวนให้สนใจและวิเคราะห์วิจัยจึงได้แก่นักเศรษฐศาสตร์, นักมานุษยวิทยา, นักรัฐศาสตร์ที่สนใจการเมืองท้องถิ่น, เอ็นจีโอ, ปัญญาชนสาธารณะที่เกาะติดชนบทเป็นสำคัญ เช่น อัมมาร สยามวาลา, สมชัย จิตสุชน, บัณฑร อ่อนดำ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, อรรถจักร สัตยานุรักษ์ เป็นต้น<16>
อย่างไรก็ตาม ความสนใจเรื่องนี้ในหมู่นักวิชาการส่วนน้อยถูกปลุกกระตุ้นจากการปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วแข็งขันเหนียวแน่นใหญ่โตกว้างขวางของการเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงหลังรัฐประหาร 2549 จนกลายเป็นกระแสการศึกษาวิจัยวิเคราะห์ตีความความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้านในชนบทไทยขนานใหญ่ แผ่กว้างขยายวงออกไปในปัจจุบัน ที่โดดเด่นสำคัญเช่นทีมวิจัยเรื่อง "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" ของคณาจารย์หลายสาขาหลากมหาวิทยาลัย อาทิ อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, จักรกริช สังขมณี, อนุสรณ์ อุณโณ, เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, นิติ ภวัครพันธุ์และคนอื่น ๆ,<17> หนังสือ Thailand's Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy (2012) ของ Andrew Walker, งานเขียนบทความและปาฐกถาของ Charles F. Keyes, <18> Naruemon Thabchumpon กับ Duncan McCargo <19> , สมชัย ภัทรธนานันท์ <20> เป็นต้น ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ (ดูตารางเปรียบเทียบประกอบ) มีดังนี้คือ: -
-สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง <21> -เกิดกระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม/เลิกเป็นชาวนา Deagrarianization/Depeasantization ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ <22> -มี inverse resource flows หรือทรัพยากรไหลย้อนกลับตาลปัตรจากเมืองสู่ชนบท (เทียบกับช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฯระยะแรกซึ่งทรัพยากรไหลจากชนบทสู่เมืองเป็นหลัก) ผ่านมาตรการโอบอุ้มของรัฐและการกระจายการคลังสู่ท้องถิ่น <23> -ชาวนารายได้ปานกลางที่รายได้ส่วนมากมาจากนอกภาคเกษตรกลายเป็นคนส่วนใหญ่ <24> -คนชนบทกลายเป็น cosmopolitans & extralocal residents มากขึ้น <25> 2) สังคมการเมืองชนบทของชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำที่ประคองไว้ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐ -ปัญหาหลักของชนบทไม่ใช่ยากไร้ไม่พอกิน (food sufficiency) อีกต่อไป แต่กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น, ภูมิภาค, ภาคส่วนเศรษฐกิจ (inequalities) -ปัญหาผลิตภาพต่ำเรื้อรังแก้ไม่หายในส่วนภาคเกษตรและการผลักดันไปสู่เศรษฐกิจนอกภาคเกษตร เช่น ธุรกิจ SMEs เปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุน เปลี่ยนตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่ ฯลฯ ได้ผลจำกัด -รัฐกระเตงอุ้มประชากรชนบทที่เป็นชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำไว้มหาศาล แต่ผลักไม่พ้น ไม่หลุดจากอก <26> (นี่คือที่มาสุดท้ายของนโยบายจำนำข้าวและค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศรวมทั้งเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ 4 ล้านล้านบาท) 3) สังคมการเมืองชนบทและธรรมนูญชนบท -ชาวบ้านชนบทไม่ได้สัมพันธ์กับรัฐแบบพึ่งพาการอุปถัมภ์แนวดิ่งอย่างหยุดนิ่งและเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว, อีกทั้งก็ไม่ใช่สัมพันธ์กับรัฐแบบต่อต้านคัดค้านรัฐที่เข้ามาขูดรีดทรัพยากรและแรงงานด้วยการรวมตัวแนวราบในนามชนชั้นชาวนาหรือชุมชนชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป -หากแต่ชาวบ้านชนบทดึงอำนาจรัฐและอำนาจภายนอกอื่น ๆ เข้ามาในสังคมการเมืองชนบทเพื่อกล่อมเกลาเอาใจ ต่อรองกดดัน แล้วหลอกล่อฉวยใช้ ในอันที่จะดูดดึงและขัดแย้งแย่งชิงกันซึ่งทรัพยากร งบประมาณ ทุน เทคโนโลยี ฯลฯ เอามาเพิ่มผลิตภาพเศรษฐกิจและอำนาจของตน เหมือนขุนแผนชุบเลี้ยงผีกุมารทองเอาไว้ใช้งาน (ชาวบ้านสัมพันธ์กับผี, รัฐ, ทุน, ชุมชน ในโหมดเดียวกัน) -ธรรมนูญค่านิยมชาวบ้านที่กำกับความสัมพันธ์ทางการเมืองนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย/ฉบับสากลตะวันตกของคนเมือง <27> ทั้ง 3 ประเด็นนี้ นักวิชาการและปัญญาชนที่พยายามเข้าใจและเห็นอกเห็นใจการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงมองเห็น แต่นักวิชาการสนับสนุนพันธมิตรฯกลับมองข้าม เช่น นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ติดอยู่กับปัญหาคอร์รัปชั่น เผด็จการทุนผูกขาด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในชนบทโง่จนเจ็บ ขาดความรู้ ถูกซื้อเสียง ฯลฯ <28> ทั้งที่ชนบทเปลี่ยนไปมหาศาลทุกด้าน รวมทั้งในความสัมพันธ์กับรัฐและเมือง ทว่าในทางกลับกัน นักวิชาการและปัญญาชนเสื้อแดงออกจะมองข้ามจุดอับตันของสังคมการเมืองชนบท 2 อย่าง กล่าวคือ: 1) ในทางเศรษฐกิจ ภาวะดังที่เป็นอยู่จะยั่งยืนยาวนานได้ยาก มีขีดจำกัด รัฐจะกระเตงอุ้มเลี้ยงไข้เลี้ยงต้อยชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ในชนบทไปได้นานแค่ไหน? <29> 2) ค่านิยมธรรมนูญชนบทของสังคมการเมืองชนบทที่มีลักษณะคับแคบ เฉพาะส่วน parochial และแตกต่างตรงข้ามกับประชาสังคมอย่างที่เป็นอยู่ หากแม้นไม่ปรับเปลี่ยนคลี่คลายขยายตัวก็ยากจะพาไปสู่สังคมการเมืองร่วมกันในระดับชาติอันเป็นที่รับได้ของหลักการเมืองสมัยใหม่ที่เป็นสากล เช่น ท่าทีไม่ใส่ใจไยดีเรื่องสิทธิมนุษยชนในกรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด เป็นต้น<30>
4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวหาโจมตีและถกเถียงวิวาทะกันเสมอคือความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม ในลักษณะที่ว่าฝ่ายตรงข้ามประพฤติปฏิบัติการเมืองอย่างทุจริตเลวร้าย ขาดพร่องหรือปราศจากศีลธรรมกำกับ ทำให้การเมืองเสื่อมทรามและเกิดวิกฤต ทางออกได้แก่การช่วยกันให้คนดีเข้ามามีอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้ามาก่อความเดือดร้อนวุ่นวายแก่บ้านเมือง <31> กล่าวในทางวิชาการ ชุดโครงการวิจัยเรื่อง "วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง: การศึกษาการประกาศธรรมของประกาศกร่วมสมัย" ที่มีศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้าจับปมปริศนาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรมร่วมสมัยนี้โดยตรงผ่านแนวคิด "ธรรมวิทยาแห่งพลเมือง" หรือ Civic Religion ดังสะท้อนออกในบทคัดย่อของคำบรรยายพิเศษโดยศาสตราจารย์สมบัติในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 (พ.ศ. 2553) ข้างล่างและต่อมาได้เขียนเป็นบทความสมบูรณ์ <32> ผมอยากใคร่ถือโอกาสนี้อภิปรายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรมในบริบทสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสีร่วมสมัยสักเล็กน้อย เพื่อเป็นการสานต่อบทสนทนาทางวิชาการและสังคมการเมืองในเรื่องดังกล่าว ไม่นานมานี้ ขณะทานข้าวไปพลาง ฟังสถานีวิทยุ "ชุมชน" ใกล้บ้านที่เปิดเพลงสลับกับขายยาและสอนธรรมะไปพลาง ผมก็ได้ยินเสียงอุบาสิกาอ่านหลักพุทธธรรมคำสอนของหลวงพ่อวัดแห่งหนึ่งแถบชานเมืองกรุงเทพฯยาวหลายนาที คำสอนนั้นผูกร้อยเชื่อมโยงความคิดชาตินิยม ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเดียวเนื้อเดียวอย่างไร้รอยต่อ ในลักษณะที่ว่า "ชาติ", "ในหลวง" และ "พุทธธรรม" ถูกเปล่งออกมาต่อกันรวดเดียวในชั่วอึดใจอย่างคล้องจองสอดรับเป็นธรรมชาติในทำนอง "ธรรมราชาชาตินิยม" อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่อะไรแปลกใหม่พิสดารนัก เป็นที่คาดหมายเข้าใจได้และเราท่านก็มักได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นปกติ แต่ที่สะดุดหูผมจนแทบสะอึกต้องวางช้อนส้อมนิ่งคิดไปพักหนึ่งคือวลีที่ว่า: "...คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย..." ในวลีสั้นกระทัดรัดนี้ ได้ผูกโยงหลอมรวม ศีลธรรม, ชาตินิยม, การเมืองวัฒนธรรม, กฎหมาย,ความเป็นพลเมือง, เอกลักษณ์ชาติ เข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออกทีเดียว คำปราศรัยของท่านประธานองคมนตรีในวาระโอกาสต่าง ๆ ระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ก็โน้มนำไปทำนองเดียวกัน คือผูกโยงการเมืองเข้ากับศีลธรรม, ชาตินิยมและเอกลักษณ์ชาติ เหล่านี้ทำให้ยากจะแยกแยะเสียงเรียกร้องแห่งความเป็นไทยดังที่ยกมาข้างต้นออกจากข้อเสนอที่วางอยู่บนกรอบคิดและหลักเหตุผลทางปรัชญาว่า "ไม่อาจแยกการเมืองออกจากศีลธรรมได้ หากแยกออกจากกัน การเมืองนั่นแหละจะเสื่อมทรามลง" ซึ่งโครงการวิจัย "ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองฯ" ที่ศาสตราจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าได้นำเสนออย่างจริงจังและลึกซึ้งเป็นระบบ ผมอยากเสนอข้อคิดตอบสนองและข้อกังวลอย่างรวบรัดไว้ในที่นี้เป็นเบื้องต้นว่า: -ถ้าข้อเสนอคือให้ประสาน Politics + Morality (การเมือง + ศีลธรรม) ในความหมาย A free marketplace of moral ideas (ตลาดความคิดศีลธรรมที่เลือกได้อย่างเสรี) แล้ว ผมก็เห็นด้วย -แต่ถ้าข้อเสนอนั้นเป็น Politics + Moralism (การเมือง + ลัทธิยึดศีลธรรมเป็นเจ้าเรือน) ในความหมาย Self-centered, coercive moralism (ลัทธิศีลธรรมที่บังคับเอาด้วยอัตตาธิปไตย) แล้ว ผมเกรงว่ามันจะเป็นที่รับกันได้ในสังคมเสรีประชาธิปไตยหรือ? และจะใช้การได้จริงหรือ? <34> และจะอย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่จะผูกโยงการเมืองกับศีลธรรมควรคำนึงถึงข้อสังวรในบริบทโลกสมัยใหม่และสังคมการเมืองไทยดังที่เป็นจริงปัจจุบันดังต่อไปนี้: 1) ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่มีความแตกต่างหลากหลาย (พหุนิยม) ของคุณค่าพื้นฐานเชิงศีลธรรมและศรัทธาศาสนาอย่างที่ไม่อาจลดลัดตัดทอนหรือย่นย่อเหมารวมเป็นหนึ่งเดียวได้อีกแล้ว<35> การบังคับกดดันให้ยึดหลักศีลธรรมเดียวหรือศรัทธาศาสนาเดียวเป็นที่ตั้งเจ้าเรือนรังแต่จะก่อความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้นดังเราเห็นกันอยู่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา, ประเทศเพื่อนบ้านและที่ต่างๆ ในโลก 2) ขณะเดียวกัน เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติ สังคมวัฒนธรรมไทยไม่มีตลาดความคิดศีลธรรมที่เลือกได้อย่างเสรี หรือสนามประชันข้อเสนอทางศีลธรรมที่ราบเรียบเสมอหน้ากันอยู่จริง หากเทเอียงกระเท่เร่ไปทางหนึ่งตามฐานคติของรัฐและ/หรือประชากรส่วนใหญ่ <36> 3) ฉะนั้นแทนที่เราจะได้เห็น [การเมือง+ศีลธรรม] สมดังความมุ่งมาดปรารถนาของศาสนิกชน เรากลับมักเห็นผู้กุมอำนาจฐานะในสังคมการเมืองแสดงจริตศีลธรรม (moral pretensions)ออกมา ไม่มากไปกว่านั้น 4) นั่นแปลว่าข้อเรียกร้องที่ชอบด้วยเหตุผลให้มี "การเมืองที่กำกับด้วยศีลธรรม" บ่อยครั้งเมื่อเอาไปวางในโลกปฏิบัติที่เป็นจริงของสังคมการเมืองไทย รังแต่จะนำไปสู่ "ผู้อวดอ้างสวมสิทธิอำนาจวินิจฉัยตัดสินศีลธรรมทางการเมืองเอาเองโดยพลการและปราศจากการตรวจสอบควบคุม" 5) ในทางปรัชญา ผมเชื่อว่ามีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ระหว่าง [หลักเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้องย่อมให้ความชอบธรรมกับวิธีการใด ๆ ก็ได้ หรือ The end justifies the means. ในทางการเมือง] กับ [หลักเอกภาพทางศีลธรรมของเป้าหมายกับวิธีการ หรือ the moral unity of means and end] อุปมาเหมือนคนอุ้มห่อระเบิดออกวิ่งบนลู่อำนาจ ถึงจุดหนึ่งถ้าระเบิดที่อุ้มแนบอกไม่แตกตูมจนตัวเองตายคาที่ (หมดสิ้นอำนาจไป), ห่อที่ว่าก็อาจเน่าเสียคาอกได้ (ศีลธรรมเสื่อม) <37> การประคองสองอย่างนี้ให้ไปด้วยกันตลอดรอดฝั่งนับเป็นภาวะลำบากอิหลักอิเหลื่อ (dilemmas) ของความพยายามจะผูกพันการเมืองเข้ากับศีลธรรมทั้งหลายทั้งปวง
================================= เชิงอรรถ1. บทความประกอบการแสดงปาฐกถากีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี2555, 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556 2. ดูกำเนิดของคำว่า "ระบอบทักษิณ" ใน เกษียร เตชะพีระ, "ระบอบทักษิณ: บันทึกเรื่องราวของคำสร้างคำหนึ่ง (ตอนต้น)", ทางแพร่งและพงหนาม: ทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2551), หน้า 91 – 95. 3.เกษียร เตชะพีระ, "ลัทธิเลือกตั้ง", บุญเลิศ วิเศษปรีชา, บก. ราษฎร์ดำเนิน (กรุงเทพฯ: สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประ เทศไทย, 2537). และ เกษียร เตชะพีระ, "ชำแหละระบอบเลือกตั้งธิปไตย: บทเรียนทางการเมืองจากวิกฤตเศรษฐกิจ ไทย", กาญจนี ละอองศรีและธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, บก., กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์: รวมบทความเนื่องใน วาระครบรอบ 60 ปีชาญวิทย์ เกษตรศิริ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2544), หน้า 29 - 59. 4.เกษียร เตชะพีระ, แต่ง, ประจักษ์ ก้องกีรติ, แปล, "จุดอับทางเศรษฐกิจกับการฟื้นตัวทางการเมืองหลังวิกฤตในประเทศไทย: การเฟื่องฟูใหม่ของชาตินิยมทางเศรษฐกิจ," จุลสารไทยคดีศึกษา, 19: 1 (สิงหาคม-ตุลาคม2545), 3-29. 5.งานวิชาการที่เป็นตัวแทนสะท้อนข้อเสนอทางออกดังกล่าวอย่างรวมศูนย์เป็นระบบที่สุดได้แก่ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนปรีดี พนมยงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายแรก คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548). 6.ดูภาคผนวกที่ประมวลสรุปข้อเสนอทำนองนี้ได้ในภาคผนวก "การแสวงหาทางเลือกออกจากโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่: สาระสำคัญของข้อเสนอกู้ชาติทางเศรษฐกิจบางประการ" ท้ายบทความ เกษียร, "จุดอับทางเศรษฐกิจฯ", น. 16 - 19. 7.เกษียร เตชะพีระ, จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549: วิกฤตประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2550). 8. Pasuk Phongpaichit and Chris Baker, "Thaksin's Populism", Journal of Contemporary Asia, 38: 1(February 2008), 62 – 83. และ เกษียร เตชะพีระ, "ภาคสอง: ระบอบทักษิณ", ใน บุชกับทักษิณ: ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547), โดยเฉพาะหน้า 144 - 64. 9. พัชราภา ตันตราจิน, ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2556), โดยเฉพาะหน้า 113 - 25, 146 - 58, 194 - 249, 285 - 91. อนึ่งหนังสือเล่มนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2551 ของผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 10. ดูการประเมินบทบาททางความคิดและการเคลื่อนไหวของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและกลุ่ม ป X ป ช่วงดังกล่าวได้ใน อุเชนทร์ เชียงแสน, "ประวัติศาสตร์ "การเมืองภาคประชาชน": ความคิดและปฏิบัติการของ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ในปัจจุบัน" (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2556), บทที่ 1 หัวข้อ "ทบทวนวรรณกรรม" และบทที่ 4 หัวข้อ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและการเมืองภาคประชาชนในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย". 11. เกษียร เตชะพีระ, "ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน: The Spectral Material Force", มติชนรายวัน, 5ต.ค. 2555, น. 6. 12. ปรีดี พนมยงค์, "หมวดที่ 3 เค้าโครงการเศรษฐกิจและบันทึกบางประการที่เกี่ยวข้องกัน", ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย: รวมข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโครงการ "ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526), หน้า 167 – 330. และ เกษียร เตชะพีระ, "ไตรลักษณ์ทางความคิดของปรีดี พนมยงค์", เนชั่นสุดสัปดาห์, 9: 424 (17 – 23 ก.ค. 2543), 32 – 33. 13. อาทิ "การพบปะเจรจากันระหว่างนายกรัฐมนตรีโนดะและนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์", สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, เข้าใช้ 1 มิ.ย. 2556, http://www.th.emb-japan.go.jp/th/policy/PM_111125.htm ; "ญี่ปุ่นให้ไทยทำตามแผนแก้ไขแก้น้ำท่วม "กิตติรัตน์"เผย2สัปดาห์มีความชัดเจน", ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, สร้าง 29 พ.ย.2554, http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1322567626&grpid=03&catid=00 ; "นักลงทุนญี่ปุ่นรายเล็กแหยงน้ำท่วมขู่แผนจัดการไม่ชัดทิ้งไทยแน่-จี้ผุดโมเดลใหม่", ข่าวสด, 9 ธันวาคม 2554,http://www.thaichamber.org/scripts/detail.asp?nNEWSID=4738. เป็นต้น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเพื่อรับมือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 จึงได้ให้สัมภาษณ์หลังรับตำแหน่งดังกล่าว โดยสะท้อนความจริงเรื่องนี้ว่า: "ช่วงนี้ผมจะไปหารือกับญี่ปุ่น เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีนักลงทุนรายใหญ่อยู่ในไทย ทั้งการผลิตและส่งออก หากเขาต้องการเห็นอะไรก็จะช่วยทุกเรื่อง หรือบริษัทประกันภัยในญี่ปุ่นซึ่งรับประกันอุตสาหกรรมในไทย ถ้าจะรับประกันภัยร่วมกัน ต้องการเห็นหรืออยากได้อะไรก็บอกมา" "ผมขอท่านทูตญี่ปุ่นจัดให้ไปพบและฟังข้อเสนอจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยและในญี่ปุ่น เพื่อถามเขาว่าช่วง 1 ปีข้างหน้า เมื่อการฟื้นฟูประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติได้ บริษัทต่าง ๆ จะต้องรับแรงงาน 8 แสนคนกลับมาทำงานอย่างเดิมได้ จะให้ผมทำอะไรบ้าง จะไปหาไจก้าหรือรัฐบาลญี่ปุ่น ถามเขาว่าจะช่วยด้านเทคนิคหรือการเงินทางไหนได้บ้าง เรื่องเงินทองเท่าไรก็ต้องลง เพราะเราไม่ได้มีปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงินการคลังเหมือนสมัยก่อนแล้ว" "ผมเชื่อว่าถ้าเราทำสุดความสามารถอย่างนี้ เขาคงจะเห็นความตั้งใจกอบกู้สถานการณ์อย่างแท้จริง ให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถอยู่ประเทศไทยได้ต่อไป ไม่ต้องย้ายไปที่อื่น" ("เปิดใจ...วีรพงษ์ รามางกูร ขอ 1 ปี ปรับโฉมประเทศฟื้นเชื่อมั่น-เศรษฐกิจ", ประชาชาติธุรกิจออนไลน์,สร้าง 12 พ.ย. 2554,www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1321070016&grpid=no&catid=04) อนึ่ง ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะเรื่อง "คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง" ณ ห้องประชุมที่ทำการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ศกนี้ว่าท่านได้ทราบจากแวดวงผู้วางนโยบายรัฐบาลว่าอันที่จริงนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นมีขึ้นเพื่อสนองตอบช่วยเหลือกระตุ้นยอดขายรถยนต์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นในประเทศไทยที่โรงงานของพวกเขาประสบความเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัยใหญ่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 14. "คำต่อคำ: เปิดใจแกนนำพันธมิตรฯ ลั่นพร้อมรบ "สนธิ"ย้ำชุมนุมต้องแตกหัก จี้ทหารร่วมมือปชช.ปฏิวัติ", ผู้จัดการออนไลน์, สร้าง 20 ม.ค. 2555, www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9550000009019 ; ""ดร.อมร"ชำแหละเผด็จการนายทุนพรรคใช้ช่องโหว่ รธน.ยึดอำนาจรัฐเพื่อคอร์รัปชัน", ASTVผู้จัดการออนไลน์, สร้าง 6 ก.พ.2555, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000016707; ""สยามประชาภิวัฒน์"เตือนถ้าไม่หยุดทุนผูกขาดแก้ รธน. จะเหลือทางแก้เดียวคือรัฐประหาร", ประชาไทออนไลน์, สร้าง 7 ก.พ. 2555,http://prachatai.com/journal/2012/02/39140 ; "พธม.ถกสยามประชาภิวัฒน์ เห็นพ้องป้องสถาบัน ปฏิรูปโครงสร้างเพิ่มความรู้ ปชช.", ASTVผู้จัดการออนไลน์, สร้าง 19 เม.ย. 2555,http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000048897 . 15. Andrew Walker, Thailand's Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy (Madison,Wisconsin: The University of Wisconsin Press, 2012), Section "The Nonagricultural Economy" pp. 74 – 80; และอภิชาต สถิตนิรามัย, "นโยบายอุดหนุนภาคชนบท: เมื่อภาคชนบทไม่ใช่ภาคเกษตรกรรม", สร้าง 15 ม.ค. 2013,http://thaipublica.org/2013/01/subsidy-policy-for-rural/ . 16. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, "มายาคติว่าด้วยการเกษตรและประเทศไทย", มติชนรายวัน, 29 ก.ค. 2552, น. 6; และ รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, "โครงการวิจัย: ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยใน "ชนบท"" (ฉบับร่าง 2555). 17. อภิชาต สถิตนิรามัยได้สรุปรวบยอดผลการค้นพบร่วมกันของทีมวิจัยไว้อย่างกระชับชัดเจนใน อภิชาต สถิตนิรามัย, "สองนคราประชาธิปไตยฉบับลัทธิแก้", มติชนรายวัน, 6 พ.ค. 2556, น. 7; นอกจากนี้โปรดดู อารีรัตน์ ปานจับ, "เก็บตกจากงานสัมมนา",วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา, 30: 2 (ก.ค. - ธ.ค. 2554), 179 - 89. (http://socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2012/09/JSA-30-2-seminar-report.pdf ) ซึ่งบันทึกการอภิปรายถกเถียงในงานสัมมนา "ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 8 ก.ค.2554 18. Pun-arj Chairatana, "A Romance of the Rural Middle Class: An Interview with Professor Charles F.Keyes", Trendnovation Southeast Issue 13: The Rural Challenge, accessed 1 June 2013,http://trendsoutheast.org/2011/dl/newsletter/issue13-w.pdf. 19. Naruemon Thabchumpon and Duncan McCargo, "Urbanized Villagers in the 2010 Thai RedshirtProtests: Not Just Poor Farmers?" Asian Survey, 51: 6 (November/December 2011), 993–1018. 20. สมชัย ภัทรธนานันท์, แต่ง, อัญชลี มณีโรจน์, แปล, "การเมืองของสังคมหลังชาวนา: เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน", ฟ้าเดียวกัน, 10: 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2555), 122 - 42. 21. เป็นข้อสรุปสอดคล้องต้องกันของงานวิชาการที่เอ่ยถึงในย่อหน้าก่อนนี้ทั้งหมด สำหรับตัวอย่างการแถลงเรื่องนี้อย่างกระชัดชัดเจน ดู Walker, Thailand's Political Peasants, pp. 8 - 9; และอภิชาต, "สองนคราประชาธิปไตยฉบับลัทธิแก้". 22. ขณะงานส่วนใหญ่พูดถึงกระบวนการทั้งสองควบคู่กันไป Andrew Walker กลับจำแนก 2 กระบวนการนี้จากกันและยืนกรานว่ามี deagrarianization แต่ไม่เกิด proletarianization หรือ depeasantization กล่าวคือยังมีชาวนาอยู่ในบางความหมาย ดู Walker, Thailand's Political Peasants, pp.9 – 10, 34 – 36, 74 – 75, 120 – 21. 23. Walker, Thailand's Political Peasants, section "From Taxation to Subsidy" pp. 49 – 56; อภิชาต, "สองนคราประชาธิปไตยฉบับลัทธิแก้". 24. Walker, Thailand's Political Peasants, section "The Rise of the Middle-Income Peasantry" pp. 36 – 44;อารีรัตน์, "เก็บตกจากงานสัมมนา", น. 180 – 81. 25. คำแรกเป็นของ Charles F. Keyes จาก Pun-arj, "A Romance of the Rural Middle Class"; ส่วนคำหลังเป็นของ Andrew Walker จาก Thailand's Political Peasants, pp. 65 – 67. 26. Walker, Thailand's Political Peasants, pp. 8 – 9, 21 – 22, 44 – 56. 27. Walker, Thailand's Political Peasants, pp. 10 – 33, 190 – 218. 28. "อะไรคือสยามประชาภิวัฒน์ สัมภาษณ์ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต", Siam Intelligence, สร้าง 19 มี.ค.2012, http://www.siamintelligence.com/phichai-rattanadilok-na-phuket-interview/ 29. คำถามนี้แฝงอยู่ในคำบรรยายของ Andrew Walker ซี่งเรียกสถานการณ์ดังกล่าวนี้ว่าเป็น "dilemmas of its (the peasantry's) preservation" ดู Walker, Thailand's Political Peasants, p. 56, 220 – 21. 30. Walker, Thailand's Political Peasants, pp. 22 – 24, 26, 145, 165, 213, 223 – 27, 229 – 30. ทว่าถึงแม้สังคมการเมืองชนบทดังกล่าวจะบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบ แต่กระนั้น Andrew Walker ก็ยังเห็นว่ามันมีคุณสมบัติบางอย่าง (หลากหลาย, ทรงไว้ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยเชิงคุณค่าของตน, สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเมืองไทยปัจจุบัน) ที่จะเป็นความหวังที่ดีที่สุดในการพัฒนาไปเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยต่อไป (pp. 230 –32). 31. โดยเฉพาะชุดปาฐกถาแก่โรงเรียนนายทหาร 3 เหล่าทัพของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรมติณสูลานนท์ ได้แก่ "พล.อ. เปรมปลูกจิตสำนึกนายร้อยจปร. เป็นทหารของชาติ ทหารของพระเจ้าอยู่หัว", มติชนรายวัน, 15 ก.ค. 2549, น. 2; พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, "บทบรรยายพิเศษในหัวข้อการเสริมสร้างการเป็นผู้นำด้วยหลักคุณธรรม ความพอเพียงและความเสียสละของ พลเรือเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ณ โรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2549", นาวิกศาสตร์, 90: 2 (ก.พ. 2550), www.navy.mi.th/navic/document/900202a.html ; และ "'เปรม' ย้ำสำนึกทหารอาชีพ ให้ถอยห่าง 'คนไม่ดีแต่มีเงิน'", มติชนรายวัน, 1 ก.ย.2549, น. 2. 32. สมบัติ จันทรวงศ์, "ความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกับมุมมองทางปรัชญาการเมือง: ข้อสังเกตเบื้องต้น" (คำบรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11, 2553,http://www.scribd.com/doc/63522618/ความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกับมุมมองทางปรัชญาการเมือง-ข้อสังเกตเบื้องต้น ). และ สมบัติ จันทรวงศ์, "ประชาธิปไตยไทย: ปรัชญาและความเป็นจริง" (บทความวิจัยในโครงการวิจัย วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง: การศึกษาคำประกาศธรรมของประกาศกร่วมสมัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2555). ตัวอย่างงานวิจัยที่โดดเด่นน่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งในโครงการวิจัยนี้ได้แก่ ศุภมิตร ปิติพัฒน์, บทวิพากษ์ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองของประกาศกร่วมสมัย: เกษียร เตชะพีระ, ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (กรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและโครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2555). 33. สมบัติ, "ความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง", น. 13. 34. โปรดพิจารณา C.A.J. Coady, Messy Morality: The Challenge of Politics (Oxford: Clarendon Press,2008). โดยเฉพาะบทที่ 1 Morality, Moralism, and Realism 35. ทรรศนะของ Hannah Arendt ในบทความ "Truth and Politics" อ้างถึงและอธิบายใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์,ความรุนแรงกับการจัดการ "ความจริง": ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2551), น. 30 - 32. 36. นิธิ เอียวศรีวงศ์, "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย", สุพจน์ แจ้งเร็ว, บรรณาธิการ, ชาติไทย, เมืองไทย,แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐและรูปการจิตสำนึก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มติชน, 2538), หน้า 136 – 71. และ ยุกติ มุกดาวิจิตร, "คนเสื้อแดงกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย", วิภาษา, 3: 2 (1 พ.ค. – 15 มิ.ย.2552), 26 – 34. 37. แน่นอนว่านี่มาจากการอ่านตีความประยุกต์ The Prince ของ Machiavelli และแนวคิดการเมืองแห่งความไม่รุนแรงของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ท่านที่สนใจโปรดดูหัวข้อ Ideological Nonviolence ใน Thomas Weber and Robert J. Burrowes, "Nonviolence: An Introduction", accessed 2 June 2013, www.nonviolenceinternational.net/seasia/whatis/book.php.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โรงสีสุรินทร์ข้าวอยู่ครบ เร่งชี้แจงโครงการรับจำนำข้าวจี้เฝ้าระวังการสวมสิทธิ Posted: 27 Jun 2013 09:38 AM PDT สุรินทร์จัดชุดปฏิบัติการและคณะทำงานออกตรวจสอบคลังสินค้าและโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้ง 17 อำเภอ พบปริมาณและสภาพข้าวจำนำยังอยู่ปกติ ทางด้านผู้ว่าฯ ย้ำให้เฝ้าตรวจสอบการสวมสิทธิ สุรินทร์-วันนี้ (27 มิ.ย.56 ) เวลา 08.00 น.ที่ลานหน้าสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ คณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบคลังสินค้าและโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำข้าว ปีการผลิต 2555/56 พร้อมชุดปฏิบัติการของตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมออกตรวจโกดังและโรงสีในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล คณะทำงานดังกล่าว มี นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นประธานการปล่อยขบวน เพื่อออกปฏิบัติการตรวจสอบคลังโกดังข้าวและโรงสีภายในจังหวัด จำนวน 72 แห่ง โดยแบ่งสายออกปฏิบัติการเป็น 3 สาย ประกอบด้วย สายแรก ในพื้นที่ 4 อำเภอ จำนวน 37 แห่ง มีพาณิชย์จังหวัดเป็นหัวหน้าชุด สายที่ 2 ในพื้นที่ 6 อำเภอ จำนวน 20 แห่ง มีการค้าภายในเป็นหัวหน้าชุด และสายที่ 3 ในพื้นที่ 3 อำเภอ จำนวน 15 แห่ง มีเกษตรจังหวัดเป็นหัวหน้าชุด จากนั้น นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายพิภพ ดำทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมคณะกรรมการฯระดับจังหวัด เดินทางไปยัง บจก.สินอุดมพืชไร่ เลขที่ 220 หมู่ 16 ต.นาบัว อ.เมืองสุรินทร์ โดยมี อคส.เป็นผู้เช่า พบว่าสภาพการเก็บข้าวและจำนวนข้าวตามหลักฐานมีความถูกต้อง มีเพียงสภาพหลังคาที่มีรอยรั่วแต่ก็สั่งการให้ซ่อมแซมแล้ว เพราะเกรงว่าข้าวถูกน้ำจากฝนจะทำให้ข้าวเสียหาย นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ตามที่มีข่าวมาก่อนหน้านี้ ทั้งที่ บจก.สินอุดมพืชไร่ และที่ ท่าตูม ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบแล้วก็ถือว่าเรียบร้อยดี ซึ่งเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาก็ได้ไปตรวจมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็รายงานไปว่าเรียบร้อยดี การออกตรวจอีกรอบในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการสร้างความมั่นใจ การนำคณะเจ้าหน้าที่ออกตรวจทั้งจังหวัดในวันนี้ เพื่อให้เกิดโปร่งใสและให้ได้ข้อมูลปริมาณข้าวของรัฐบาลที่ถูกต้องและครบถ้วน เป็นไปตามการสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้ทุกจังหวัดเร่งตรวจสอบคลังสินค้าข้าวและปริมาณข้าวเปลือกคงเหลือของโครงการรับจำนำข้าว พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ณ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และได้เร่งให้การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจการดำเนินโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล โดยเฉพาะการปรับลดราคาจำนำข้าวเพื่อให้เกษตรกร และประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง และได้กำชับให้คณะทำงานโครงการรับจำนำข้าวเฝ้าระวังและตรวจสอบการสวมสิทธิจำนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ททบ.5 แจง บก.ระงับข่าว "เค วอเตอร์" เพราะเนื้อหาไม่ชัด-หวั่นโดนฟ้อง Posted: 27 Jun 2013 09:11 AM PDT ผู้บริหาร ททบ.5 ชี้แจงบรรณาธิการสั่งระงับการนำเสนอข่าว "เค วอเตอร์" เอง เพราะหวั่นโดนฟ้อง ยืนยันไม่มีการแทรกแซงหรือสั่งการ ขณะที่สมาคมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ฯ ทำจดหมายถึงช่อง 5 ขอให้ชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น ตามที่เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) รายการฮาร์ดคอร์ข่าว ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ในประเด็นบริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (K-water) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย 2 โครงการ โดยก่อนเข้าสู่ข่าวดังกล่าว ผู้ประกาศข่าวได้แนะนำก่อนเข้าสู่รายงานพิเศษว่า "มีการเปิดเผยข้อมูลว่าบริษัทเค วอเตอร์นั้นมีหนี้สินอยู่ถึง 700% และไม่เคยรับหน้าที่ในการบริหารจัดการกับโครงการขนาดใหญ่ ก็เลยกังวลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น" อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่รายงานพิเศษได้ประมาณ 30 วินาที ก็ถูกตัดเป็นโฆษณาทีโอทีแทน และไม่มีการออกอากาศรายงานข่าวดังกล่าวอีกนั้น (ชมวิดีคลิป) ล่าสุด สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ทำจดหมายถึง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เรื่อง ขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมกรณีรายการฮาร์ดคอร์ข่าว เกี่ยวกับการเสนอข่าวบริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (K- water) จำกัด (อ่านจดหมายเปิดผนึก) โดยตอนหนึ่งของจดหมายระบุว่ากรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว "ได้สร้างความกังขาต่อสาธารณชนเป็นอย่างมาก" โดยในจดหมายระบุว่าทั้ง 2 องค์กรสื่อ "ใคร่ขอสอบถามถึงสาเหตุ รายละเอียด อันนำไปสู่เหตุการณ์ในครั้งนี้ ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของผู้ประกอบวิชาชีพฯ รวมทั้งปกป้องสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย" ส่วนการชี้แจงของผู้บริหาร ททบ.5 นั้น เดลินิวส์ ได้เผยแพร่คำชี้แจง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งกล่าวว่าเรื่องที่เกิดขึ้นบรรณาธิการข่าวเป็นผู้ดูแล เมื่อข่าวที่นำเสนอเกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะเนื้อหาที่ยังไม่ชัดเจนสถานีนี้จะไม่ออกอากาศ ดังนั้นจึงต้องระงับการเผยแพร่ทันที เพราะหากททบ. 5 นำเสนอไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอาจถูกฟ้องร้องได้ ถือเป็นการป้องกันไว้ก่อน โดยทางบรรณาธิการได้ตัดสินใจระงับการออกอากาศ ซึ่งตนทราบเรื่องเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้รับผิดชอบได้รายงานให้รับทราบและอธิบายถึงสาเหตุว่า สกู๊ปดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องได้ ยืนยันว่า การตัดสินใจการระงับการออกอากาศไม่มีใครสั่งการ เป็นการตัดสินใจของบรรณาธิการ "ผมยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่า ไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงหรือสั่งการใดๆทั้งสิ้น ผมได้เรียกบรรณาธิการที่รับผิดชอบรายการดังกล่าวมาสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งทางบรรณาธิการยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะตัดสินใจด่วนที่นำสกู๊ปดังกล่าวมาเผยแพร่ทั้งที่ควรตรวจสอบมากกว่านี้ก่อน ผมได้กำชับว่า เรื่องที่เกิดขึ้นให้ถือเป็นบทเรียน ต้องไม่เกิดความผิดพลาดอีก การเสนอข่าว ททบ.5 ต้องมีความรอบคอบ เป็นไปตามนโยบายให้ถูกต้องชัดเจนและเชื่อถือได้ อย่าทำงานรีบร้อนต้องตรวจสอบให้ละเอียด ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ได้สั่งกำชับภายหลังทราบข่าวว่า การทำงานด้านข่าวต้องเชื่อถือได้ ไม่ใช่ทำแบบนี้ แต่ถือว่ายังโชคดีที่ระงับการออกอากาศทัน" สำหรับรายการ "ฮาร์ดคอร์ข่าว" เป็นรายการข่าวที่ ททบ.5 ร่วมผลิตกับ บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด หรือเครือบางกอกโพสต์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ออกอากาศระหว่างเวลา 18.00 - 18.25 น. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กมธ. วุฒิสภา เผยผลการศึกษาโครงการจัดการน้ำ ขัด กม. 2 ฉบับ Posted: 27 Jun 2013 08:02 AM PDT คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เผยผลการศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5แสนล้าน ชี้ขัดกฎหมาย 2 ฉบับ ชงผู้ตรวจการแผ่นดิน ยับยั้งความไม่โปร่งใสทั้งระบบ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า โดยกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ 1. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 ในมาตรา103/7 ที่ระบุให้หน่วยงานรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูล รายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500,000 บาท ขึ้นไป เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ 2. พ.ร.บ.พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 มาตรา 13 ที่ระบุให้กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจเสนอ โครงการพัฒนาหรือแผนงานต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบการพิจารณากำหนดงบประมาณ รายจ่ายในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ หรือร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมงบประมาณประจำปีงบประมาณ "ในประเด็นที่ศาลปกครองกลางพิจารณาให้รัฐบาลระงับการดำเนินโครงการ ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เป็นเพียงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชนเท่านั้น แต่กรณีที่ กมธ.เสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา จะเป็นการยับยั้งความไม่โปร่งใสทั้งระบบ"นายไพบูลย์ กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมอวิทิตเล็งฟ้อง บอร์ด อภ.-รมต.-ครม. เรียกค่าเสียหาย 31 ล้าน Posted: 27 Jun 2013 07:23 AM PDT เครือข่ายความเป็นธรรมด้านสุขภาพและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม โต้หมอประดิษฐ เบี้ยวไม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ปลด ผอ.อภ. ไม่เป็นธรรม ด้าน นพ.วิทิตประกาศเดินหน้าฟ้อง รมว.สาธารณสุข คณะรัฐมนตรี และบอร์ด อภ. ทั้งคดีปกครอง คดีอาญา และคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 31 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ทีมที่ปรึกษากฎหมาย และผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมรวมทั้งผู้แทนเครือข่ายความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ประชุมหารือข้อกฏหมาย และได้ผลสรุปว่ามีข้อมูลและหลักฐานภายในที่ชัดเจนพร้อมที่จะฟ้องเอาผิดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม รมว.สาธารณสุข และคณะรัฐมนตรีทั้งคดีทางปกครอง เพื่อให้ถอนมติ ครม. และคุ้มครองฉุกเฉิน ฟ้องคดีอาญามาตรา 157 ในฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และจะฟ้องหมิ่นประมาท นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. และนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุขที่ให้ข่าว กล่าวร้ายทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งจะฟ้องคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 31 ล้านบาท นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กล่าวว่า เพื่อปกป้องระบบยาของประเทศ ปกป้ององค์การเภสัชกรรมของรัฐ และปกป้องศักดิ์ศรีของคนทำงาน สัปดาห์หน้าจะยื่นฟ้อง คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม รมว.สาธารณสุข และคณะรัฐมนตรีทั้งคดีปกครอง อาญาและทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 31 ล้าน เพื่อเป็นตัวอย่างเอาผิดกับการใช้อำนาจรัฐและเครื่องมือของรัฐ โดยไม่เป็นธรรมไม่ยึดหลักธรรมมาภิบาล นพ.วิทิตกล่าวต่อว่า ได้ทุ่มเทชีวิตให้กับราชการมาเกือบสามสิบปี รับใช้พี่น้องชาวบ้านแพ้วและพื้นที่ใกล้เคียงนับสิบปี จนถูกไปใช้อ้างอิงหาเสียงในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคการเมืองหนึ่ง และใช้เวลากว่าหกปีพัฒนาองค์การเภสัชกรรม จนเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำรายได้ สร้างระบบความมั่นคงด้านยาให้กับประเทศ แต่กลับถูกกลั่นแกล้ง ทำลายชื่อเสียงเพื่อยึดครองระบบยาของรัฐ จึงจำเป็นต้องฟ้องเอาผิดเพื่อให้ศาลยุติธรรมได้ทำความจริงให้ปรากฏ ด้านชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ว่า นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ได้บิดพริ้วไม่ทำตามข้อสรุปของการหารือเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาลที่สรุปให้ตั้งคณะกก.ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีการทำลายภาพพจน์องค์การเภสัชกรรม และปลดผู้อำนวยการ โดยมิชอบ นพ. วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว "การที่ รมว.สาธารณสุขบิดพริ้วไม่ทำตามข้อตกลงที่ทำเนียบ แต่กลับเฉไฉไปตั้ง คณะทำงานของกระทรวงและองค์การเภสัชกรรมให้เป็นผู้ให้ข้อมูลและให้ข่าวอนุญาตให้กลุ่มคนที่เครือข่ายความเป็นธรรมด้านสุขภาพเสนอชื่อ ให้มีหน้าที่เพียงรับฟังข้อมูลจากคณะทำงานที่ตนตั้งขึ้นเท่านั้น ถือเป็นการบิดเบือนข้อตกลงและเป็นการให้ข่าวที่ไร้วุฒิภาวะ ขาดความน่าเชื่อถือ" นพ. วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว ขณะที่เว็บไซต์ข่าวเดลินิวส์ รายงานว่า นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า ได้พูดมาตลอดว่าการฟ้องร้องเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกฟ้องก็มีสิทธิ์ฟ้องกลับเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นห่วงว่าหากมีการฟ้องแล้ว ข้อมูลต่างๆ จะไม่สามารถเปิดเผยได้อีกต่อไป เพราะเป็นเรื่องของคู่กรณี เป็นอำนาจศาล ดังนั้นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบการยกเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิต อาจไม่สามารถเรียกดูเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า การเลิกจ้างอดีต ผอ.อภ.ทำเป็นระบบ มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง นำเข้าพิจารณาในบอร์ด อภ. 12 คนลงมติเห็นชอบ ก่อนเสนอ รมว.สาธารณสุข นำเข้า ครม. จึงเชื่อมั่นในหลักฐาน พยานและเหตุผล ที่เลิกจ้างเพราะบริหารบกพร่อง ทำให้เกิดความเสียหายซึ่งสามารถชี้แจงได้ ข้อสำคัญประเด็นความเสียหายบอร์ด อภ.จะตั้งคณะกรรมการละเมิดขึ้นมาพิจารณาเรียกค่าเสียหายไม่เฉพาะกรณีวัตถุดิบพาราเซตามอลและโรงงานวัคซีนเท่านั้น ยังมีกรณียาโคลพิโดเกรล และโอเซลทามิเวียร์อีก ทุกคนมีสิทธิ์ฟ้องแต่ถ้าใช้สิทธิ์ไม่ถูกต้อง เมื่อฟ้องคนอื่นได้ก็มีสิทธิ์ถูกฟ้องกลับเช่นกัน ถ้ากล่าวหาคนอื่นไม่จริง ทั้งนี้ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ได้นัดคณะกรรมการตรวจสอบการเลิกจ้าง นพ.วิทิตและคณะกรรมการชี้แจงไปดูข้อมูลทั้งหมดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปาฐกถา เกษียร เตชะพีระ: โจทย์ใหม่ เหลือง-แดง และการเมืองแบบศีลธรรม Posted: 27 Jun 2013 05:55 AM PDT
26 มิ.ย.56 ที่ห้องสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มีพิธีมอบรางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2555 แก่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรางวัลดังกล่าวมีการมอบเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย และจะมีปาฐกถาจากกีรตยาจารย์ ในปีนี้มีขึ้นในหัวข้อ โจทย์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปสองทศวรรษจากพฤษภาฯ 2535 ถึงปัจจุบัน เกษียร กล่าวว่าปาฐกถานี้จะนำเสนอว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โจทย์การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไร มีความพยายามหาคำตอบอย่างไรบ้าง หรือไม่หา ไม่เห็นโจทย์นั้นอย่างไรบ้าง โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น 4 ข้อหลัก คือ 1.บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภา 35 -45 อะไรคือโจทย์หลัก ความพยายามหาคำตอบเป็นอย่างไร 2) อะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มเสื้อเหลือง 3)อะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงและแนวร่วม 4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและศีลธรรม เขาอธิบายด้วยว่า การพูดครั้งนี้ไม่ใช่ original research แต่เป็นการนำข้อค้นพบทางวิชาการที่ค่อนข้างใหม่ในช่วง 2-3 ปีนี้จำนวนหนึ่งนำมาสังเคราะห์ โดยชิ้นที่สำคัญ คือ 1. งานศึกษา ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล โดย พัชราภา ตันตราจิน อาจายร์จากม.บูรพา เนื่องจากเห็นว่า ความคิดของเสกสรรค์สะท้อนโจทย์การเมืองในทศวรรษหลัง 2535 ได้ดีที่สุด 2) วิทยานิพนธ์ของ อุเชนทร์ เชียงเสน เรื่อง ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน : ความคิดและปฏิบัติการของนักกิจกรรมทางการเมืองปัจจุบัน โดยเน้นที่ระบบคิด วิธีคิดของกลุ่มคนที่เรียกว่า พธม. 3) งานวิจัยชื่อ ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เป็นการวิจัยที่เกิดขึ้นหลังเห็นความขัดแย้งทางเมืองอย่างดุดเดือนในช่วงหลัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกว่า คนเสื้อแดง อาจารย์จากหลายสถาบันได้มารวมกันเป็นทีมวิจัยเพื่อวิเคราะห์ว่า ภูมิทัศน์ของการเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไร 4) งานนักวิชาการชาวออสเตรเลีย Andrew Walker ในงานชื่อว่า Thailand's Political Peasants : Power in the Modern Rural Economy โดยสรุป เกษียรกล่าวถึงโจทย์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากพรรคไทยรักไทยเข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย โดยเริ่มนโยบายที่ให้ประโยชน์รูปธรรมกับประชาชนรากหญ้า หลังจากเกิดรัฐประหารและเกิดการเมืองสองขั้วอย่างชัดเจน ฝ่ายเสื้อเหลืองชูปัญหาใหญ่ของทุน แต่คำตอบของกลุ่มนี้ยังคงวนไปที่เผด็จการทหาร พระบารมี ขณะที่เสื้อแดงไม่ให้ความสำคัญของปัญหาทุน ทั้งที่เป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นเนื้อเดียวกับการเมืองมากขึ้น กลุ่มวิชาการที่มีอิทธิพลต่อขบวนการเสื้อแดงอย่างนิติราษฎร์เองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางของกลุ่มเสื้อเหลืองก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าไม่ใช่คำตอบ นอกจากไม่แก้ไขปัญหาเก่ายังสร้างปัญหาใหม่ เพราะการในสถานการณ์ที่ชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก (ไม่โง่ ไม่จน ไม่เจ็บ) เราไม่สามารถหดประชาธิปไตยให้เล็กลงได้ มีแต่ต้องขยายออก หากหดหรือลดทอนอำนาจผู้เลือกตั้งก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง นอกจากนี้เขายังพูดถึงข้อถกเถียงร่วมสมัยเกี่ยวกับการเมืองกับศีลธรรมด้วย โดยให้ความเห็นว่า ทั้งสองสิ่งเป็นไปด้วยกันได้ในเงื่อนไขของสังคมเปิด และการยอมรับความหลากหลายของแนวคิดทางศีลธรรม เพื่อสร้างสังคมการเมืองที่แข็งแรง แต่สังคมการเมืองไทยดูเหมือนไม่อยู่ในสภาพเช่นนั้น สำหรับรายละเอียดของปาฐกถา มีดังนี้
2535-2545: ปัญหาอยู่ที่นักเลือกตั้ง คำตอบอยู่ที่ภาคประชาชนวิกฤตในทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยช่วงนั้น คือ วิกฤตรัฐประหาร รสช.-การลุกฮือในปี 2535 กับวิกฤติต้มย้ำกุ้ง ในแง่ของวิกฤตทางการเมือง ข้อวิเคราะห์ของคนจำนวนมากชี้ไปทางเดียวกันว่า มูลเหตุของปัญหาคือ นักเลือกตั้ง ระบอบเลือกตั้งธิปไตย หรือการเสื่อมรูป กลายรูปของระบอบประชาธิปไตยที่ไปเน้นที่อำนาจของคนที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไปตัดองค์ประกอบอื่นของระบอบเสรีประชาธิปไตยทิ้งไป ทำให้การเมืองมีปัญหา คอรัปชั่น การฉวยใช้อำนาจ คำตอบที่ได้ช่วงนั้นคือ การเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจมากขึ้นแทนที่จะพึ่งพาแต่นักการเมือง ในแง่ของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงบทบาทเจ้าของเงินกู้อย่างไอเอ็มเอฟ และสังคมชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า วิกฤตนี้เกิดขึ้นเพราะไทยเข้าสู่ระเบียบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบไม่พร้อม ขาดประสบการณ์ คำตอบสำหรับยุคสมัยนั้นก็หันไปพึ่งเศรษฐกิจแบบอื่น ในนามเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลที่กินได้สมัยทักษิณ และความเสื่อมของรัฐชาติในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ในช่วงท้ายของทศวรรษนี้ รัฐบาลทักษิณได้ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองเศรษฐกิจเปลี่ยน ในแง่การเมือง รัฐบาลทักษิณดำเนินนโยบายให้ความสำคัญกับระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ดำเนินนโยบายบางอย่างที่สนองตอบต่อผลประโยชน์รูปธรรมโดยเฉพาะของชนบทอย่างไม่เคยมีมาก่อน คำตอบใหม่ของรัฐบาลทักษิณที่เสนอ คือ รัฐบาลแบบตัวแทนที่กินได้ ในแง่เศรษฐกิจ มุ่งเปิดนโยบายประชานิยมจำนวนมาก นำโอกาสและทุนไปถึงประชาชนรากหญ้า ผลักดันพวกเขาเข้าไปต่อสู้ในตลาดทุนนิยม ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน แสดงออกโดยการชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นของพรรคไทยรักไทย เมื่อพ้นระยะนั้น มีความขัดแย้งที่นำไปสู่การรัฐประหาร แบ่งเป็นฝักฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง หากนำงานของเสกสรรค์มาวาง โดยเฉพาะงานวิจัยที่ได้ทุนปรีดี พนมยงค์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย ตีพิมพ์ปี 2548 จะพบว่ามีเรื่องสำคัญในงานของเขาที่คนไม่ค่อยมองหรือให้ความสำคัญนัก คือ การพูดถึงปัญหาหลักของการเมืองเศรษฐกิจไทยว่ามาจากอำนาจทุน ซึ่งมีที่มาจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติทั้งหลายเสื่อมโทรมลง มีข้อกำหนดนโยบายหลายอย่างที่รัฐชาติไม่สามารถควบคุมได้เหมือนแต่ก่อน ผลดังกล่าวทำให้หลักการสำคัญ 2 อย่างทางการเมืองเสื่อมไปด้วย คือ Political Consensus ความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ประชาชนในสังคมอย่างกว้างขวาง และหลัก Political Consent ฉันทานุมัติที่คนทั้งหลายยอมรับรัฐบาลให้ปกครอง ในสภาพที่สังคมมีความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองน้อยลง ความยอมรับทางการเมืองก็เสื่อม ปรากฏการณ์หน้ากากขาว ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาแสดงออกมาว่าไม่อยากให้รัฐบาลปกครองอย่างชัดเจน อาการเหล่านี้นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเรื้อรัง รัฐบาลไม่มั่นคงเสียที เพราะรัฐภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบนี้จะขาดพร่องความชอบธรรมทางการเมือง ขาดพร่องฉันทามติภาคส่วนต่างๆ เดินแนวนี้อาจมีกลุ่มคนเห็นด้วย แต่ก็มีคนเสียประโยชน์ที่คัดค้าน อะไรคือโจทย์ใหญ่ของเสื้อเหลือง – เสื้อแดงปัญหาอำนาจทุนที่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายใต้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้น หากดูข้อเสนอทางหลักการ น้ำเสียงของบรรดาผู้นำ ปัญญาชน ผู้เข้าไปเกี่ยวพันกับพันธมิตรฯ จะเห็นว่าเขาเห็นปัญหาอำนาจทุนชัดเจน แต่ฝั่ง นปช.และเสื้อแดงไม่ให้น้ำหนักกับปัญหาอำนาจทุนเท่าไรนัก ที่ชัดเจนที่สุด คือกลุ่มนิติราษฎร์ ปัญหาอำนาจทุน เหลืองเห็น-แดงไม่เห็น "ในความเห็นของผม นิติราษฎร์คือกลุ่มปัญญาชนที่ใกล้ชิด และมีอิทธิพลอย่างชัดเจนมากในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ก่อนหน้านั้นความเข้าใจของผมคือ กลุ่มเสื้อแดงเหมือนลูกกำพร้า อาจมีแนวร่วมนักธุรกิจ แนวร่วมนักการเมือง มีมวลชนเยอะ แต่ไม่ค่อยมีปัญญาชนที่ไปสนับสนุน ให้ความคิด แนะนำให้คำปรึกษากับขบวนการเสื้อแดงสักเท่าไร การเกิดขึ้นของนิติราษฎร์เข้าไปอุดช่องว่างตรงนี้ เล่นบทบาทเหมือนเสนาธิการทางปัญหาของขบวนการเสื้อแดง มีข้อคิด ข้อวิเคราะห์ เช่น การยกเลิกผลพวงรัฐประหาร การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แต่ข้อเสนอประดามีของคณะนิติราษฎร์มันจบแค่มิถุนายน ถึง ธันวาคม 2475 เป็นข้อเสนอที่พัวพันกับปัญหาอำนาจรัฐและเครือข่ายอำมาตย์ ..... แต่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังไม่ถึงช่วงที่อาจารย์ปรีดี เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปเศรษฐกิจสยามขนานใหญ่ กำเนิดมาจากวิกฤตการตกต่ำของทุนนิยมทั่วโลกอย่างหนักเมื่อปี ค.ศ.1929 ปัญหานี้ไม่ปรากฏในครรลองความสนใจ การวิเคราะห์ปัญหาของนิติราษฎร์เลย ทำให้มีช่องโหว่ที่น่าสนใจในเรื่องอำนาจทุน ทั้งที่อำนาจทุนเริ่มสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเนื้อเดียวกับอำนาจรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ" ขณะที่แดงไม่ให้ความสำคัญ แต่ฝ่ายเหลืองเห็นว่าปัญหาของทุนเป็นเรื่องสำคัญ สังเกตดูคำอภิปรายของกลุ่มสยามประชาภิวัตน์ นักวิชาการที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ พธม. แต่วิธีแก้ปัญหาของกลุ่มนี้ในที่สุดก็วนกลับไปที่อำนาจเผด็จการทหาร หรือไม่ก็เสนอให้มีอำนาจพิเศษ วิธีพิเศษ พึ่งพระบารมี วิธีดังกล่าวชัดเจนมากจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่ามันไม่เวิร์ค นอกจากจะไม่แก้ปัญหาเก่าแล้วยังเพิ่มปัญหาใหม่ด้วย ชนบทเปลี่ยน ไม่จน ไม่โง่ ไม่รอคอย ในแง่กลับกันอะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดง มีงานวิชาการจำนวนมากพยายามจะตอบ ซึ่งล้วนมองทิศทาง ชูประเด็นปัญหาใหม่ขึ้นมาใกล้เคียงกันว่า โจทย์ใหม่ทางการเมืองนี้ชัดเจนมากหลังรัฐประหาร และเกิดมีขบวนการเสื้อแดงปรากฏขึ้นมา ซึ่งสะท้อนว่า ชนบทกำลังเปลี่ยนอย่างสำคัญ และมุมมองต่อชนบทกำลังเปลี่ยน ภาพเดิมชนบทคือสังคมการเกษตร ชาวนายากจน อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ขาดความรู้ ขายเสียง ทางออกจากเรื่องเหล่านี้ก็ยึดการเมืองภาคประชาชนเป็นทางออก เช่น การเคลื่อนไหวแบบสมัชชาคนจน และเศรษฐกิจพอเพียง แต่หลังรัฐประหาร 2549 งานวิชาการหลายชิ้นวาดภาพชนบทใหม่ คือ ไม่ใช่สังคมการเกษตรเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป มีคนเลิกเป็นเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ , ส่วนใหญ่ของชาวนาเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง อาจไม่เท่าชนชั้นกลางในกรุงเทพ แต่ไม่ได้ยากจนไม่พอกิน และมีความหวังว่าจะดีขึ้น แต่ปัญหาหลักคือยังมีผลิตภาพต่ำ ยากที่จะสร้างความมั่งคั่งทางรายได้ได้ การพยุงฐานะของพวกเขากระทำผ่านเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะผ่านการกระจายอำนาจ งบ อปท. เงินช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆ โครงการกระตุ้น-เสริมราคาพืชผลเกษตร หรือเรียกว่ามี inverse resource flow จากเมืองย้อนสู่ชนบทผ่านงบประมาณของรัฐ ซึ่งดำเนินการเป็นมาระยะยาวนาน ดังนั้น ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องความยากจน แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมือง หรือชนบทภูมิภาคต่างๆ ข้อเสนอมุมมองใหม่ก็คือ สังคมชนไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์แบบเดิม ชาวนาไม่ได้แผ่หลารอคอย แต่ชาวนาฉลาดในการดึงอำนาจภายนอก ไม่ว่ารัฐ ทุน หรือวาทกรรมชุมชน มาตะล่อมใช้สนองผลประโยชน์ตัวเอง ดูดดึงเอาทรัพยากรเหล่านี้มาเพิ่มผลิตภาพตนเอง แล้วรู้จักใช้เงื่อนไขภายนอกให้เป็นประโยชน์กับตัว ไม่ได้เป็นเบี้ยล่างตลอด หากจะบอกว่าชาวนาขาดความรู้ การศึกษา ภาพตอนนี้ก็เปลี่ยนไป มีชาวนาพันธุ์ใหม่ หรือ post-peasant บางคนเรียก cosmopolitan ผู้รอบรู้โลก บางคนเรียก extra local president ผู้เป็นสมาชิกหมู่บ้านที่ทำมาหากินในกรุงเทพฯ จังหวัดใหญ่หรือต่างประเทศ หากจะบอกว่าชาวชนบทซื้อเสียง ภาพนี้ไม่ใช่ไม่จริง งานล่าสุดของประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ว่า เรื่องซื้อสิทธิขายเสียงทำกันทุกพรรค แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด สังคมการเมืองชนบทสามารถต่อรอง ตะล่อมอำนาจภายนอก และขัดแย้งตรวจสอบกันเองภายในตามธรรมนูญชนบท (วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น) เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการซื้อขายในร้านสะดวกซื้อ แต่มีกระบวนการที่เงินต้องไหลเข้าไปในพื้นที่สังคมการเมืองหนึ่งที่มีกฎเกณฑ์ของมัน แล้วชาวชนบทก็ต่อรองเพื่อเอาอำนาจภายนอกมาเพิ่มผลิตภาพของตัว "มันแปลว่าเขาไม่มีศีลธรรมทางการเมืองเลยอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ เขาเลือก การซื้อต้องมีมารยาท การซื้อต้องมีวัฒนธรรม เขาเลือกระหว่างคนที่ซื้อแล้วหายหัวไปเลย กับคนที่ซื้อแล้วมาดูแลใส่ใจ ในทางกลับกัน อาจมองว่ามันไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่าที่ให้คุณไปช้อปปิ้งแล้วได้คะแนนเสียงมา เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมการเมืองของตัวเองและสนองตอบ ตอบโต้กับการซื้อสิทธิขายเสียงเหล่านั้นได้" แล้วการเมืองภาคประชาชนเป็นทางออกหรือไม่ คำตอบอยู่ที่การเลือกตั้งระดับต่างๆ มากว่าที่เป็นทางหลักในการต่อรองช่วงชิงกดดันเอาทรัพยากรมา ขณะที่การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนน้อยเท่านั้น การม็อบ การชุมนุมต่อรองยังใช่กันอยู่บ้าง ส่วนเศรษฐกิจหลักที่เขาต้องการก็เป็นเศรษฐกิจการค้า ที่ดึงดูดปัจจัยภายนอกเอามาเพิ่มผลิตภาพเพื่อประคองฐานะคนชั้นกลางของเขาให้อยู่ได้และเติบโตขึ้นได้ "ข้อเสนอเสื้อแดงคือ เพื่อจะต้อนรับความเปลี่ยนแปลงในชนบทเหล่านี้ ต้อนรับคนเป็นแสนเป็นล้านที่หลุดจากการเป็นชาวนาแบบเดิม ทางเดียวที่จะอยู่กับเขาได้ในทางการเมืองคือ ต้องขยายประชาธิปไตย ถ้าจะซื้อสันติสุขทางการเมืองจากชนบทที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น คุณหดปชต.ไม่ได้ มีแต่ต้องขยายตัวขึ้น เมื่อไรที่หดปชต. ยกเลิกการเลือกตั้ง ยกเลิกอำนาจของคนที่เขาเลือก เมื่อนั้นมีความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง" จุดอับตันของของเสื้อแดง "ความหวังใหม่" นักคิดปัญญาชนที่เข้าไปศึกษาเรื่องราวเหล่านี้จำนวนมากก็หวังว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นฐานใหม่ทางประชาธิปไตย แต่โดยส่วนตัวยังเห็นว่ามี 2 ปัญหาหลักที่เป็นจุดอับตัน คือปัญหาทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมการเมือง ทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าภาวะที่รัฐอุดหนุนชาวนาที่ผลิตภาพต่ำแต่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในชนบทนั้นยั่งยืนได้ยาก เพราะมีขีดจำกัดทางการคลัง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเป็นคนชั้นกลางแล้วและไม่ยอมถอยกลับด้วย ปัญหาที่กำลังเกิดจากนโยบายจำนำข้าวสะท้อนสิ่งนี้ นโยบายนี้มีความเสี่ยงทางการคลังสูง แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ หากไม่ทำคนเหล่านี้จะไม่สามารถประคองสถานะคนชั้นกลางได้ จึงต้องทำไปเรื่อยๆ แต่การจะเปลี่ยนให้หลุดพ้นจากภาวะนี้ต้องพลิกเปลี่ยน เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้พวกเขาออกจากภาคการเกษตร ไปทำงานแบบใหม่ "นี่คือฐานคิดที่มาของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท มันต้องอาศัยการทุ่มทุนขนานใหญ่ไปผลักให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้ชาวนาหลุดออกมาจากภาวะผลิตภาพต่ำ พึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐ ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดจากชนบทที่เปลี่ยนแล้วต้องหาทางไป" ทางด้านวัฒนธรรมการเมือง จะเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเมืองแบบไม่มีสมอง แต่เขามีค่านิยมธรรมนูญชนบทอยู่ แต่ก็ยังมีลักษณะคับแคบ ยึดผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง และเป็นค่านิยมที่แตกต่างกับค่านิยมสังคมเมือง ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนค่านิยมเหล่านี้ ค่านิยมเหล่านี้ไม่คลี่คลายขยายตัว ก็ยากที่จะสร้างสังคมการเมืองร่วมกัน ยกตัวอย่างท่าทีที่ชัดเจนในสังคมการเมืองชนบทในภาคเหนือ เขาไม่คิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญเท่าไร เช่น เรื่องฆ่าตัดตอน เขาแคร์ว่ามันแก้ปัญหาได้บ้างมากกว่า ค่านิยมแบบนี้มีเหตุผลของตัวเอง แต่เข้ากันได้ยากกับแนวคิดแบบที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรมในท่ามกลางคำตอบทั้งหลายในช่วงหลังนั้น คำตอบหนึ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอคือ การเมืองต้องมีศีลธรรม คำพูดแบบนี้ทั้งออกมาจากข้าราชการ ผู้ใหญ่ในสังคมการเมือง แต่ในเวอร์ชั่นที่เป็นวิชาการที่สุดคือ งานของสมบัติ จันทรวงศ์ ซึ่งทำวิจัยให้ สกว. เรื่อง วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาของพลเมือง การศึกษาการประกาศธรรมของประกาสกร่วมสมัย โดยสรุปคือ สมบัติฟังพวกที่วิจารณ์การเมืองประชาธิปไตยเก่าๆ แบบไทยๆ ขณะที่พยายามเสนอประชาธิปไตยแบบใหม่แบบพวกเสื้อแดงแล้วรู้สึกไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีเรื่องศีลธรรม หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการเอานักวิชาการอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วิจิจจะกูล เกษียร เตชะพีระ ไปชำแหละว่าพวกไม่คิดถึงศีลธรรมมีปัญหาอย่างไรบ้าง นักวิชาการเสื้อแดงแยกศีลธรรมออกจากการเมือง ถูกต้องหรือไม่ ข้อเสนอหลักในบทคัดย่อ คือ "ผู้เขียนใช้กรอบแนคิดเรื่องธรรมวิทยาแห่งพลเมือง ของ Robert Bellah เพื่อศึกษาความคิดซึ่งอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง โดยพบว่า อุดมการณ์ของพวกเสื้อแดงหลักๆ แล้วเป็นผลผลิตทางความคิดของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งปฏิเสธค่านิยมแบบจารีตของไทยทั้งที่เป็นค่านิยมทางศีลธรรมและการเมือง ที่ผูกโยงอย่างใกล้ชิดกับพุทธศาสนาและระบบกษัตริย์ เหล่าประกาศกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพชั้นนำของไทย เลือกที่จะทดแทนสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวระบบอบทางประชาธิปไตยที่เน้นความเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยการดำรงอยู่ของมวลหมาประชาชนผู้ล่วงรู้แจ้งและความแน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นและความใฝ่ฝันในความเสมอภาค (ทั้งในแง่ของผลประโยชน์และสิ่งอื่นใด) อันถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดี แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะเห็นว่าธรรมวิทยาแห่งพลเมืองที่ปราศจากเนื้อหาทางศาสนาหรือจริยธรรมเลย จะสามารถยึดโยประชาชาติใดให้อยู่ด้วยกันได้เป็นเวลาที่นานพอ สังคมในอุดมคติที่ไม่ต้องการสำนึกทางศีลธรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้จริง แต่จะเหมาะหรือไม่กับการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นเรื่องที่ยังต้องการคำตอบ" โดยสรุปคือ ข้อเสนอของปัญญาชนฝั่งเสื้อแดงขาดมิติทางศีลธรรม และค่อนข้างต่อต้าน แยกศีลธรรมออกจากการเมือง ลักษณะนี้จะเป็นสิ่งที่เหมาะหรือไม่ เป็นโจทย์ที่น่าสนใจและน่าขบคิด อยากเสนอว่า สังคมการเมืองที่ยึดลัทธิศีลธรรมเป็นเจ้าเรือนมีปัญหาของมันอยู่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปาฐกถาของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ก่อนเกิดรัฐประหารไม่นาน ที่ระบุว่า ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิ์ยึดถือเป็นของตนเองได้ เชื่อว่า พระสยามเทวาธิราชย์ จะปกป้องคนดี สาปแช่งคนทรยศให้พินาศ นับเป็นกามองประเด็นความดี ความชั่วเป็นแก่นกลาง หรือการที่มีพระเทศนาเกี่ยวกับ "คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย" นี่เป็นประโยคที่เกิดขึ้นซึ่งสะท้อนทั้ง เรื่องศีลธรรม การเมือง ชาตินิยม วัฒนธรรม และกฎหมายความเป็นพลเมืองและเอกลักษณ์ชาติด้วย การเมืองกับศีลธรรมไปด้วยกันได้ (ในสังคมเปิด) โดยส่วนตัว คิดว่าการเมืองกับศีลธรรมควรไปด้วยกัน และไปด้วยกันได้ ในเงื่อนไขบางอย่าง เงื่อนไขที่จำเป็นคือ free market place of moral idea มีตลาดความคิดทางศีลธรรมที่เปิดกว้างให้ถกเถียงกันได้เรื่องศีลธรรมแลหลักที่ควรทำไม่ควรทำทางการเมือง ถ้ามีแบบนี้สังคมการเมืองจะมีสุขภาพดี แต่ถ้าไปเป็นแบบเอาลัทธิศีลธรรมเป็นเจ้าเรือน เอาเรื่องนี้ไปคลุมการเมืองทั้งหมดโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งจะเป็นปัญหา เพราะไม่ว่าจะชอบหรือชัง โลกสมัยใหม่มีความหลากหลายทางศีลธรรมและศาสนาอย่างไม่อาจหดลดได้ ไม่สามารถยึดเอาศีลธรรมแบบเดียว ศาสนาหนึ่งใดเป็นหลักแล้วบังคับทั้งหมดได้ เราจึงต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ยอมรับความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยมีขีดจำกัดจำนวนมากที่ทำให้การถกเถียงในสังคมไทยก็ไม่มีเสรีภาพเพียงพอ ยกตัวอย่าง รายการ Devas cafe ของคำ ผกา ที่วิจารณ์ศาสนาแล้วถูกกดดันหนักให้ต้องสารภาพปากพร้อมยุติรายการ 1 เดือน เมื่อไม่มีพื้นที่เปิด จึงยากมากที่จะเอาศีลธรรมมาผูกการเมืองแล้วจะไม่เป็นการกดขี่หรือกีดกันคนอื่น อีกประการคือ การที่ชนชั้นนำทางการเมืองมักแสดงจริตว่าตนเป็นคนมีศีลธรรม แต่ข้างหลังเละ ยิ่งบ่อนทำลายเรื่องนี้ แล้วยังทำให้เกิด ผู้ใหญ่ ซึ่งมีฐานะพิเศษที่จะบอกให้รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี โดยไม่มีการตรวจสอบ "ในทางปรัชญา ผมเชื่อว่ามีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ระหว่าง หลักเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้อง ย่อมให้ความชอบธรรมกับวิธีการใด ๆ ก็ได้ หรือ The end justifies the means. ในทางการเมือง กับ หลักเอกภาพทางศีลธรรมของเป้าหมายกับวิธีการ หรือ the moral unity of means and end หลักสองอันนี้มีความขัดแย้งแตกต่างกันลึกๆ และการพยายามจะผูกการเมืองเข้ากับศีลธรรมมันอิหลักอิเหลื่อมากเพราะหลักการสองอันนี้"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นของ กสท. ในการไม่ออกเกณฑ์ประกวดคุณสมบัติทีวีดิจิตอลสาธารณะ Posted: 27 Jun 2013 04:29 AM PDT แม้หลายภาคส่วนในสังคมจะออกมาเรียกร้องจนเป็นเหมือนแผ่นเสียงตกร่องให้คณะกรรมการกิจการเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติทีวีสาธารณะที่ชัดเจน เพื่อพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการตอบสนอง "เป้าหมายสาธารณะ" อย่างแท้จริงของผู้ขอใบอนุญาต (ไม่ใช่รับใช้อำนาจทุนและอำนาจรัฐเหมือนโครงสร้างเดิมที่เป็นมา) แต่ก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เมื่อในวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2556 ที่ประชุม กสท. มีมติไม่ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์สำหรับการประกอบกิจการสาธารณะ หรือหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติทีวีสาธารณะ ซึ่งนำเสนอโดย กสท. เสียงข้างน้อย คือ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ โดย ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. ให้เหตุผลว่า หลักเกณฑ์ที่ กสท. ออกไปก่อนหน้า เพียงพออยู่แล้วในการใช้พิจารณา จึงไม่จำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติเพิ่มเติมอีก เพราะอาจทำให้ผู้ต้องการขอใบอนุญาตเกิดความสับสนกับหลักเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อนได้ อีกทั้งได้เสนอว่าจะนำหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติที่ กสท. เสียงข้างน้อยเสนอไปใส่ไว้หนังสือเชิญชวนแทน ในบทความนี้ ผู้เขียนขอเป็นอีกหนึ่งแผ่นเสียงตกร่องที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ข้ออ้างของ ดร.นที ที่ว่าไม่มีความจำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์ประกวดคุณสมบัติทีวีสาธารณะเพิ่มเติมนั้น ฟังไม่ขึ้นอย่างไร และเหตุใดการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงมีความสำคัญ 1. ประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้าไม่มีฉบับไหนที่กล่าวถึงกิจการโทรทัศน์สาธารณะเป็นการเฉพาะ และไม่มีเนื้อหาส่วนไหนที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงหลักเกณฑ์ในการใช้พิจารณาการประกวดคุณสมบัตินอกเหนือไปจากข้อกำหนดพื้นฐานในกฎหมาย กระทั่งภาคผนวก ก. ในประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ซึ่ง ดร.นที เคยอ้างถึงเป็นการเฉพาะ ก็ไม่ได้กำหนดอะไรที่มากไปกว่าข้อบังคับในกฎหมาย ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าหลักเกณฑ์ที่มีอยู่เพียงพอแล้วต่อการกำหนด "ความเป็นสาธารณะ" จึงฟังไม่ขึ้น และเมื่อหลักเกณฑ์ประกวดคุณสมบัติเป็นแนวทางพิจารณาเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐานในกฎหมาย การออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ความซ้ำซ้อนอย่างที่ ดร.นที กล่าวอ้างอย่างแน่นอน ในทางกลับกันจะช่วยให้ผู้ยื่นขอใบอนุญาตเห็นแนวทางการประกอบกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย 2. ในขณะที่การจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ กสท. ยังมีการจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. .... ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดถึงหลักเกณฑ์การประมูล ราคาขั้นต่ำของการประมูล เงื่อนไขใบอนุญาต ฯลฯ เหตุใดในการจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอลสาธารณะซึ่งเป็นเรื่องของดุลยพินิจในการตัดสินใจมากกว่าการประมูลที่ตัดสินด้วยตัวเงินเป็นหลัก กสท. จึงไม่ออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อลดปัญหาจากการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวของ กสท. เอง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าการตัดสินใจให้ใบอนุญาตทีวีสาธารณะจะส่งผลกระทบกับสาธารณะและการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ กสท. ยิ่งต้องออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติเพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดด้วย การทำหนังสือเชิญชวนอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับเกณฑ์ที่จะมีผลกระทบกับสาธารณะอย่างมากเช่นนี้ 3. กสท. มีอำนาจตามกฎหมาย (และควรใช้อำนาจนั้น) ในการออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อการันตีว่าผู้ขอใบอนุญาตจะประกอบกิจการเพื่อ "ประโยชน์สาธารณะ" อย่างแท้จริงตามหลักสากล ไม่ว่าในแง่ของเนื้อหา โครงสร้างการบริหาร กลไกความรับผิดรับชอบ และระบบการเงิน การจัดสรรใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะบนเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติที่ดีและการกำกับดูแลอย่างจริงจังจะช่วยรับประกันว่า คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสาธารณะจะถูกจัดสรรให้กับผู้ที่มุ่งผลิตรายการเพื่อตอบสนองประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ไม่ใช่นำคลื่นที่ตนได้มาฟรีๆ ไปรับใช้อำนาจการเมืองหรือแสวงหากำไร การตัดสินใจไม่ออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติความเป็นสาธารณะ ประกอบกับนโยบายที่มีปัญหาก่อนหน้า เช่น การกำหนดเนื้อหาช่องรายการแบบตายตัว (ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าล็อคสเปกให้กับหน่วยงานของรัฐ) การตีกรอบนิยามบริการเพื่อความมั่นคงแบบแคบโดยให้ผู้ขอใบอนุญาตต้องเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้น (สถาบันอุดมศึกษาและองค์กรไม่แสวงหากำไรอื่นๆ ไม่มีสิทธิ) หรือการให้สิทธิช่อง 5 11 และ TPBS (โดยเฉพาะช่อง 5 ซึ่งหาโฆษณาได้เต็มที่และมีรายการข่าวสารสาระไม่ตรงตามเกณฑ์สาธารณะ) ในการออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอล โดยไม่ต้องปรับผังรายการและวิธีการหารายได้ อาจทำให้เกิด "ตลกร้ายปฏิรูปสื่อ" อาทิเช่น การเปิดทางให้หน่วยงานรัฐพาเหรดเข้ามายึดครองหน้าจอโดยอาจไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานรัฐเองหรือผู้ที่อยู่ในอำนาจทางการเมือง การเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐเอาภาษีของประชาชนมาใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง การปล่อยให้หน่วยงานรัฐเอาคลื่นไปให้บริการเชิงพาณิชย์ (โดยเฉพาะประเภทความมั่นคงที่สามารถหาโฆษณาได้) ซึ่งจะกระทบต่อการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ การออกหลักเกณฑ์เพื่อการันตีว่าผู้รับใบอนุญาตจะประกอบกิจการเพื่อสาธารณะโดยไม่เป็นเครื่องมือของรัฐหรือทุน ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การให้ใบอนุญาตโดยขาดหลักเกณฑ์ที่พิสูจน์ "เป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ" ย่อมสะท้อนถึงความไม่โปร่งใสและความไม่จริงใจของ กสท. ในการทำหน้าที่ของตนเพื่อปฏิรูปสื่อ ซึ่งซ้ำร้ายอาจซ้ำเติมสภาพการณ์ที่รัฐถือครองอำนาจสื่อดังที่เป็นอยู่
ที่มา: http://nbtcpolicywatch.org/press_detail.php?i=1029 [1] อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ความหวังของคนขาย ‘มะตะบะปูยุด’ กับการหยุดความรุนแรงในเดือนรอมฎอน Posted: 27 Jun 2013 03:07 AM PDT เยือนถิ่นมะตะบะเลื่องชื่อในปัตตานี ความหวังของพ่อค้าแม่ค้ากับการหยุดความรุนแรงในเดือนรอมฎอน มองเป็นเรื่องน่ายินดี ทั้งคนขายและคนซื้อจะสบายใจ ไม่กังวลกับเหตุรุนแรง ปฏิบัติศาสนกิจได้เต็มที่ เผยเคยเกิดเหตุร้ายในเดือนถือศีลอด ลูกค้าหายแค่ 2-3วันก็กลับมาใหม่ ปีนี้แม้เหตุการณ์สงบแต่รายได้อาจไม่ได้เพิ่ม เพราะต้นทุนสินค้าแพงขึ้น
หากให้พูดถึงของกินในเดือนรอมฎอนว่ามีอะไรบ้าง หลายคนคงจะนึกถึงของกินหลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคงไม่พ้นมะตะบะ และหากพูดถึงมะตะบะ หลายคนก็ต้องนึกถึงมะตะบะปูยุด เพราะขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยมานาน ทุกปีเมื่อถึงเดือนรอมฎอน ผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกสารทิศ เดินทางมาซื้อของกินที่ปูยุด โดยเฉพาะมะตะบะจนทำให้การจรจาจรติดขัด แต่ก็ทำให้คนปูยุดมีความสุขเพราะเป็นช่วงที่นำรายได้เป็นกอบเป็นกำมาให้คนปูยุด และดูเหมือนว่าปีนี้ ทั้งคนปูยุดเองและคนที่มาจับจ่ายซื้อของอาจจะมีความสุขมากขึ้น เพราะอาจไม่ต้องเผชิญกับเหตุร้ายจากสถานการณ์ไม่สงบ เพราะผลมาจากการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่กำลังต่อสู้เพื่ออิสรภาพของฟาฏอนีย์ในขณะนี้ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหยุดใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐนี้ นางปารีดะห์ สะแลแม เป็นผู้จัดการร้าน 'ตะเยาะห์แอปูยุด' ซึ่งเปิดขายมะตะบะมากกว่า 23 ปี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีมากๆ หลังจากที่มีข้อตกลงให้หยุดการใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนนี้ เพราะคนจะไปไหนมาไหนได้โดยสวัสดิภาพและไม่ต้องเห็นการเสียเลือดเนื้ออีกแล้ว นางปารีดะห์ เล่าว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนทุกปีจะขายมะตะบะได้ดีมาก ทำให้ต้องเตรียมโม่แป้งสาลีไว้ถึง 3 กระสอบจากปกติใช้เพียงกระสอบเดียว โดยแป้งสาลี 1 กระสอบมีน้ำหนัก 25 กิโลกรัม ซึ่งยแป้งสาลี 1 กิโลกรัมจะทำมะตะบะได้ประมาณ 30 ลูก นางปารีดะห์ เล่าด้วยว่า ที่ผ่านมา ทางร้านเคยได้แชมป์จากการแข่งขันมะตะบะใน ต.ปูยุด มาแล้วในเรื่องความอร่อย ส่วนการแข่งขันในระดับจังหวัดเคยได้อันดับที่ 2 จึงทำให้ร้านมีชื่อเสียงมากขึ้น แต่การแข่งขันกินมะตะบะก็ได้หยุดไป 3 – 4 ปีแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าเพราะอะไร ลูกค้าของร้านตนมีทั้งขาจรและขาประจำ โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน จะมีลูกค้าจาก อ.จะนะ และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สั่งมะตะบะไปขายจำนวนมากด้วย ปัจจุบันที่ปูยุดมีร้านขายมะตะบะในช่วงปกติประมาณ 10 กว่าร้าน แต่ถ้าในช่วงเดือนรอมฎอน จะมีประมาณ 50 กว่าร้าน ทั้งที่เป็นมือสมัครเล่นและมืออาชีพ "ที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุร้ายต่อหน้าต่อตาตัวเองมาแล้วในเดือนรอมฎอน ภาพความรุนแรงยังติดตาและในความทรงจำ ส่วนหูยังได้ยินเสียงปืนอยู่ ในวันนั้นผู้คนวุ่นวายไปหมด" เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุคนร้ายขับรถตามประกบยิงเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งเสียชีวิตบนถนนบริเวณหน้าร้านของตัวเอง เมื่อราว 4 –5 ปีก่อน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นางปารีดะห์เองก็คือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเมื่อปี 2552 สามีถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต โดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะเป็นชาวบ้านธรรมดาที่มีอาชีพขายมะตะบะ นางปารีดะห์ เล่าว่า หลังจากสามีเสียชีวิต ทำให้ต้องปิดร้านไปประมาณ 40 วัน ก่อจะเปิดร้านอีกครั้ง ไม่อย่างนั้นจะขาดรายได้ แต่ต้องจ้างลูกจ้างเพิ่ม 3 คนมาทำงานแทนสามี นางปารีดะห์ กล่าวว่า โดยปกติ ในเดือนรอมฎอนจะมีคนมาจับจ่ายซื้อของที่ปูยุดจำนวนมาก ไม่ว่าก่อนเกิดเหตุไม่สงบเมื่อปี 2547 หรือหลังจากนั้นสถานการณ์ก็ไม่แตกต่างกัน ยกเว้นถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่ต.ปูยุด แม้ไม่ใช่เดือนรอมฎอน ลูกค้าก็จะหายไป 2-3 วัน แล้วก็กลับมาเหมือนเดิม แต่นางปารีดะห์เองก็ไม่แน่ใจมากนักว่า ในเดือนรอมฎอนปีนี้เหตุการณ์จะสงบได้จริงหรือไม่ เพราะผ่านมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ได้เลย หรือหากเกิดความสงบจริง ปารีดะห์ ก็ไม่แน่ใจว่าจะขายดีกว่าที่ปีที่ผ่านหรือไม่ เพราะปีนี้วัตถุดิบในการผลิตมะตะบะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปด้วย กำไรก็อาจจะลดลง เพราะยังต้องขายมะตะบะราคาเท่าเดิม แบมะ บอกว่า ที่ผ่านมาเหตุไม่สงบไม่ค่อยส่งผลกระทบกับอาชีพของตนมากนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้านและเป็นลูกค้าประจำ แต่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น เช่น ผักต่างๆ ที่มีราดาสูงขึ้น ต่างกับเมื่อ 2 -3 ปีก่อนที่ของไม่ค่อยแพงมากนัก ทำให้ได้กำไรประมาณวันละ 700 - 900 บาท แต่ช่วงนี้ได้กำไรประมาณวันละ 300 บาท "ตอนนี้ยังไม่ถึงเดือนรอมฎอนของก็แพงขึ้น แล้วอย่างนี้ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร ชาวบ้านที่เคยซื้อปลาครั้งละ ครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัม แต่วันนี้ ซื้อแค่ครั้งละ 3 ตัว น้ำหนักไม่ถึงครึ่งกิโลกรัมด้วยซ้ำ" แบมะกล่าวทิ้งท้าย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เก็บตกเวทีเสวนา: การทรมาน..ปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไข Posted: 27 Jun 2013 02:17 AM PDT
ในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันต่อต้านการทรมานสากล เพื่อเป็นการระลึกถึงเหยื่อของการทรมาน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงร่วมกันจัด "เวทีนำเสนอสถานการณ์ปัญหาการทรมานในประเทศไทย" เพื่อให้สาธารณชนรับรู้สภาพปัญหาการทรมานและแสวงหาความร่วมมือเพื่อป้องกันการทรมานในประเทศไทย โดยมีเหยื่อและครอบครัวเหยื่อจากการถูกซ้อมทรมาน ทนายความ องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการป้องกันการทรมานและสิทธิมนุษยชน แพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายทหารพระธรรมนูญ กรมคุ้มครองสิทธิ นักศึกษา ฯลฯ เข้าร่วม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลปกครองสั่งรัฐบาลนำโครงการจัดการน้ำกลับไปฟังความคิดเห็นประชาชน Posted: 27 Jun 2013 01:11 AM PDT กรณีนายกสมาคมต่อต้านโลกร้อนฟ้องศาลปกครอง ให้เพิกถอนแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ล่าสุดศาลปกครองมีคำพิพากษาให้รัฐบาลนำโครงการจัดการน้ำไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามมาตรา 57 (2) และ 67 (2) ก่อนจ้างออกแบบ จากกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวกรวม 45 คน ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ หรือ กยน. คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กบอช. และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ และสั่งให้ร่วมกันจัดให้มีการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ล่าสุดวันนี้ ที่ศาลปกครองกลาง เมื่อเวลา 14.30 น. องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง ที่มีนายตรีทศ นิครธางกูร ตุลาการเจ้าของสำนวน ได้มีคำพิพากษาให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 (2) และมาตรา 67 (2) โดยให้นำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบในแต่แผนงาน ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 57 (2) ระบุว่า "การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ" ส่วนมาตรา 67 (2) การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น