โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘จำนำข้าว’ ใกล้ถึงทางตัน! ชาวนา-โรงสี-TDRI ร่วมแนะทางปรับนโยบาย

Posted: 15 Jun 2013 02:37 PM PDT

ตัวแทนชาวนาเตือน  'ยกเลิก-ถอยหลัง' ไม่มีใครยอม เสนอทำเป็น 2 ระบบทั้งจำนำ-ประกันราคา จี้รัฐบาลลดทิฐิ ด้าน TDRI ชี้ครึ่งทางโครงการจำนำข้าว รัฐบาลทำไม่ได้อย่างที่พูด ชี้ 'ยกระดับราคา' สร้างปัญหาระยะยาว แนะทางออกใช้ 'ประกันความเสี่ยง' ช่วยเกษตรกร

 
 
ประเด็นร้อนโครงการรับจำนำข้าว ฝ่ายค้านจี้รัฐบาลเปิดบัญชีโครงการฯ เพื่อชี้ชัดๆ ตัวเลขการขาดทุนกำลังอยู่ในกระแสความสนใจ ขณะที่รัฐบาลรับสภาพกับปัญหา แสดงท่าทีเตรียมลดราคาจำนำข้าวในเร็ววันนี้ ทุกความเคลื่อนไหวจากฝากฝั่งการเมืองสั่นคลอนความรู้สึกของชาวนาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเต็มประตู
 
แน่ชัดว่าโครงการนี้มีขึ้นมาเพื่ออุ้มชูชาวนา และมันก็ได้ผลเป็นอย่างดี ชี้วัดได้จากการร้างราของม็อบชาวนาบทท้องถนน ทั้งนี้ แม้จะเป็นการยากหากรัฐบาลจะล้มโครงการไป แต่ปัญหาของการดำเนินโครงการในส่วนตาชาวนาก็ใช่ว่าจะไม่มี การเปิดเวทีคุยร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องว่าด้วยเรื่องการจะเดินหน้า-ถอยหลังโครงการรับจำนำข้าวกันอย่างไรจึงมีขึ้น
 
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.56 มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับแผนงานความมั่งคงทางอาหารจัด เสวนา 'ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบายรับจำนำข้าว' ส่วนหนึ่งในงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2556 การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศและชุมชน ณ อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดพื้นที่หลากหลายภาคส่วนร่วมแนะแนวทางการแก้ปัญหา
 
 
 
ตัวแทนชาวนาเตือน  'ยกเลิก-ถอยหลัง' ไม่มีใครยอม
 
ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า เมื่อชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน ประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศประสบปัญหาความยากจน ถือเป็นภารกิจที่น่าเห็นใจสำหรับทุกรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหา สำหรับโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลนี้ถือเป็นโครงการที่ดี เพราะชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่ไม่ขาดทุน แม้จะไม่ได้ราคา 15,000 บาท ตามที่รัฐบาลตั้งไว้ แต่ก็ดีกว่าราคาตามกลไกตลาดที่ 5-6 พันบาท
 
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีจุดอ่อนที่เป็นปัญหาคือ 1.ชาวนาถูกโกงความชื้น จากโรงสีบางแห่ง เพราะเมื่อขนข้าวไปยังโรงสีแล้วได้เท่าไหร่ก็ต้องขาย และตามโครงการยังมีการกำหนดเขตพื้นที่ในการซื้อขายข้าว 2.การออกใบประทวนล่าช้า และ 3.ในคณะกรรมการข้าวแห่งชาติไม่มีตัวแทนชาวนาเข้าร่วม และจากที่ได้ร่วมเป็นอนุกรรมการก็ไม่เคยมีการเรียกประชุมเลย
 
 
เสนอทำเป็น 2 ระบบ ทั้งจำนำ-ประกันราคา จี้รัฐบาลลดทิฐิ
 
ประสิทธิ์ กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องการปรับปรุงแก้ไขโดยปรับปรุงราคารับจำนำว่า ชาวนาหลายคนบอกว่าหากลดราคาคงไม่มีใครยอม หากรัฐบาลไปไม่ไหว กำลังจะถึงทางตัน จะยกเลิกหรือถอยหลังก็ไม่ได้เพราะชาวนาไม่ยอมโดยเด็ดดาด ทางเลือกจะต้องช่วยชาวนาให้อยู่ได้ ไม่ขาดทุน โดยเสนอ 3 แนวทาง คือ 1.ตัดทิ้งจำนำ 'ทุกเมล็ด' เปลี่ยนไปใช้โคตาระหว่างครัวเรือน ตั้งวงเงินในครัวเรือน ในสมัยสมัคร สุนทรเวชเคยทำมาแล้ว ตั้งวงเงินครัวเรือนละ 4 แสน
 
2.หากถึงทางตันจริงๆ ชาวนายอมรับได้ให้ลดราคาลงจาก 15,000 บาท เป็น 10,000 บาท แต่กำหนดความชื้นที่ 25-27 % หากเป็นความชื้นที่ 15 % ต้องกำหนดอีกราคาหนึ่ง และ 3.ทำเป็น 2 ระบบ โดยเปิดโครงการรับจำนำในส่วนภาคกลาง ส่วนภาคอีสานเปิดโครงการประกันรายได้ โดยเอาข้าวไปขายโรงสีไหนก็ได้ ไม่มีขอบเขต
 
"รัฐบาลจะต้องละทิฐิ แยกพวกกันซักที ท่านบอกว่าจะแก้กฎหมายปรองดองแต่รัฐบาลยังทะเลาะกันตลอดแล้วจะแก้ตอนไหน สิ่งเหล่านี้เราชาวบ้านเราพร้อมจะแก้ไข เราพร้อมจะปรับปรุง แต่รัฐบาล นักการเมืองยังไม่ปรับปรุงตัวเองเลย สส.ยังทะเลาะกันอยู่เลย" ประสิทธิ์กล่าว
 
ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลจะมีการแก้ไขปรับปรุงนโยบายจำนำข้าว นายกฯ และรองนายกฯ ต้องออกมาชี้แจ้ง และแถลงว่ารัฐบาลจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ต้องยอมรับความจริงหากรัฐบาลจะย่ำแย่ ให้เรียกตัวแทนชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปร่วมนำเสนอการแก้ปัญหา แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะแก้ไขได้ ซึ่งชาวนาก็คงไม่ร้ายและยอมรับข้อเสนอได้
 
"ทางออกเรามีให้ แต่จะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล" ประสิทธิ์ กล่าว
 
 
สมาคมโรงสีฯ ถามคนเสียภาษีรับได้ไหม รัฐฯ จ่าย 15,000 เสียหายแสนล้าน
 
เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย เจ้าของบริษัทรุ่งทรัพย์พืชผล เทรดดิ้ง กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการเพื่อช่วยเกษตรกร แต่จะช่วยอย่างไรไม่ให้กระทบกับตลาดข้าวส่งออก เพราะกว่าจะส่งออกได้ต้องใช้เวลายาวนาน การที่รัฐบาลจำนำ 15,000 บาท แต่ราคาข้าวในตลาดโลกมันลงหมด ขณะที่เพื่อบ้านอย่างพม่าและกัมพูชาส่งออกมากขึ้น ซึ่งข้าวเป็นพื้นที่ผลิตทนแทนกันได้ ขณะที่มีส่วนแบ่งตลาดไม่มากประมาณ 30 กว่าล้านตัน เมื่อไทยลดลงก็จะมีคนเติมเข้าไป ปัญหาคือเราผลิตแล้วส่งออกไม่ได้ เพราะมีการตั้งกำแพง วันนี้จึงมีผู้ผลิตของเราบางรายไปลงทุนสร้างโรงสีในประเทศเพื่อนบ้าน บางรายไปซื้อข้าวแล้วส่งออก
 
"รัฐบาลยอมที่จะจ่าย 15,000 แต่ผลเสียหายเกิดขึ้นประมาณ 1 แสนล้าน คนเสียภาษี Happy ไหม ประเด็นมันอยู่ตรงนี้แล้ว และรัฐบาลยอมรับไหมว่าสิ่งที่ตนเองทำมันไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของราคาได้ มันทำให้มูลค่าของข้าวลดลง ยอมรับไหมว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแต่ต้องให้เกษตรกรอยู่ได้" เกรียงศักดิ์ กล่าว
 
เกรียงศักดิ์ เสนอด้วยว่า เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวนา วันนี้เรามีบัตรเกษตรกร เราสามารถเติมการชดเชยเป็นค่าปัจจัยการผลิต เช่น การเตรียมดิน พันธุ์ข้าว ค่าจ้างเก็บเกี่ยว ฯลฯ จ่ายเข้าบัญชีเกษตรกรไปเลยได้ แล้วที่เหลือปล่อยให้ตลาดทำงาน เพราะหากเรายังคิดเหมือนเดิม ยังไปเหมือนเดิม ปัญหาคือข้าวจะอยู่ในบ้านเราเยอะขึ้น และปัญหาคือซื้อแพงขายถูก กลไกลตลาดไม่เดิน ยังไงต้องเปิดช่องว่าให้ตลาดมันไปได้ ข้าวส่งออกไปได้
 
 
TDRI ชี้ครึ่งทางโครงการจำนำข้าว รัฐบาลทำไม่ได้อย่างที่พูด
 
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า โครงการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำขึ้นมาเปลี่ยนจากโครงการจำนำข้าวในอดีตโดยพื้นฐาน แม้ปัจจุบันตัวเลขขาดทุนยังไม่รู้แน่ชัด แต่คาดว่าประมาณ 1.3-1.5 แสนล้านบาท หรืออาจถึง 1.8 แสนล้านบาท โดยส่วนแรกเป็นราคาต่างคือการที่ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่าตลาดโลก ซึ่งคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้าน ส่วนที่เหลือ 3 หมื่นกว่าล้านหรือมากกว่านั้นเป็นการขาดทุนที่มาจากการดำเนินโครงการ
 
"ถึงปัจจุบัน พูดได้ว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือชาวนา แต่เมื่อจบโครงการแล้วจะถึงชาวนาเป็นส่วนใหญ่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผลงานการระบายข้าวของรัฐบาลเป็นอย่างไร" ดร.วิโรจน์ กล่าว
 
ดร.วิโรจน์ ให้ข้อมูลด้วยว่า จากตัวเลขการตอบกระทู้ในสภาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.56 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตอบคำถามฝ่ายค้านว่ามีการขายทั้งข้าวเก่า-ข้าวใหม่ที่มาจากการจำนำ ทั้งสิ้น 7 ล้านตันเป็นเงิน 9.7 หมื่นล้าน เมื่อหารออกมาแล้วพบว่ารัฐบาลขายข้าวสารซึ่งมีข้าวหอมมะลิรวมอยู่ด้วย ในราคาเฉลี่ย 13,750 บาทต่อตัน ขณะที่ตั้งราคาซื้อข้าวเปลือกไว้ที่ 15,000 บาทต่อตัน และข้าวหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตัน แม้ราคารับซื้อจริงอาจต่ำกว่านั้นเนื่องจากมีการหักค่าความชื้น
 
ส่วนการประเมินผลงานโครงการ ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า หากคำนวณจากตัวเลข 7 ล้านตันข้าวสารนั้น มากกว่าครึ่งของตัวเลขข้าวที่เข้ามาแต่ละปี ตรงนี้ถือได้ว่าเลยกลางภาคมาแล้วกำลังใกล้ถึงช่วงปลายภาค ซึ่งพบว่ารัฐบาลขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าตลาดโลก และต่ำกว่าราคาที่ได้เคยประมาณการเอาไว้ สิ่งที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าหลังจากกลายมาเป็นผู้ผูกขาดการซื้อข้าวแล้ว จะใช้อำนาจจากการเป็นผู้ถือข้าวรายใหญ่ แล้วทำให้ราคาตลาดสูงขึ้น และจะขายได้สูงกว่าตลาดโลกนั้นไม่เกิดขึ้นจริง
 
ดร.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่าการเรื่องการระบายเป็นสิ่งที่กังวลมาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งได้เคยเสนอแล้วว่าหากรัฐบาลไม่อยากทำตามสิ่งที่ประชาธิปัตย์ทำไว้ รัฐบาลก็ควรจะซื้อข้าวเข้ามาแล้วค่อยทยอยประมูลออกไปสู่ตลาด ซึ่งแน่นอนว่าจะได้ราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก ขาดทุนเท่าไหร่นั่นคือรัฐบาลยอมขาดทุนเพื่อชาวนา ซึ่งอาจขาดทุนปีละ 1 แสนล้าน แต่ข้อครหาเรียงการคอรัปชั่นจะไม่มี
 
แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือการเก็บข้าวไว้ขายเองแล้วจะขายข้าวได้ราคาดีซึ่งมันไม่จริง ตรงนี้คนมักมองเป็นเรื่องการโกงกินก่อน แม้ว่าอาจจะมีเกิดขึ้น แต่ประเด็นสำคัญที่คนไม่ค่อยนึกถึงคือการขายข้าวต้องใช้ฝีมือ มีกลไกและเครื่องมือ หากให้พอค้ามาประมูลซื้อข้าวต่างคนก็จะประมูลไปขายในตลาดที่ตัวเองถนัด แต่เมื่อรัฐบาลจะขายเองโดยให้กระทรวงพาณิชย์ที่เลิกขายข้าวมากว่า 20 ปีหลังยกเลิกพรีเมียมข้าว (ยกเลิกในปี 2529: คลิกดู) ดังนั้นจึงต้องมีการจ้างเอกชนบางเจ้ามาดำเนินการ ซึ่งก็อาจไม่เก่งในทุกตลาด หรือไม่เก่งเลยสักตลาดก็ได้ จากตรงนี้ทำให้ตัวแทนรัฐบาลตอบคำถามอย่างกระอึกกระอัก
 
"สิ่งที่พิสูจน์ไปแล้วก็คือว่าที่ทำอยู่มันไปไม่ไหว ที่ขาดทุนส่วนหนึ่งก็เกิดจากซื้อแพงขายถูก ซึ่งแม้ในทางการเมืองผมคิดว่ารัฐบาลที่มาโดยระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิ มีอำนาจ และมีหน้าที่ด้วยที่จะกระจายรายได้ แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่มีสิทธิที่จะทำโครงการที่มันไร้ประสิทธิภาพ" ดร.วิโรจน์ กล่าว และว่าปัญหาของรัฐบาลนี้อยู่ที่ต้นทุนในการจัดการแพงเกินไป
 
ส่วนทางแก้ที่หลายคนพูดถึงการจำกัดปริมาณการรับซื้อข้าว ดร.วิโรจน์ แสดงความเห็นว่า จะกลับไปสู่รูปแบบเดิมที่เป็นการโยนอำนาจไปให้โรงสีอยู่เหนือชาวนา สามารถกดราคาชาวนาได้ และมีผู้ใช้อำนาจในการเลือกว่าโรงสีไหนจะเข้าโครงการ ซึ่งผลประโยชน์ก็จะขึ้นอยู่กับอำนาจในการกำกับเป็นชั้นๆ ไป ปัญหาเดิมก็จะกลับมาว่าส่วนแบ่งอาจไม่เข้าสู่มือชาวนา ซึ่งรูปแบบนี้เป็นตัวอย่างของโครงการที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น หายจะถอยไปเป็นแบบที่มีโคตา ไม่ควรเป็นโคตา 30-20% ของผลผลิตของแต่ละจังหวัด และไม่ใช้เพดาที่ตั้งขึ้นมาแล้วให้สิทธิ์โรงสีเลือกเองว่าจะซื้อแบบไหนก็ได้  
 
 
ยันจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ ชาวนาจำนวนมากได้ประโยชน์ ตัวเลข 17% แค่ข้อมูลเก่า
 
นอกจากนี้ ดร.วิโรจน์ ชี้แจงในประเด็นที่เกิดความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว คือ 1.ตัวเลขชาวนาที่รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการรับจำนำ แค่ 17% ตัวเลขนี้ไม่แฟร์ เพราะมาจากงานวิจัยการจำนำข้าวในอดีต ซึ่งจำนำแบบจำกัดโควต้าผลผลิต ชาวนาไม่มีอำนาจการต่อรองกับโรงสีที่เข้าโครงการเลย
 
2.ชาวนาที่ได้รับประโยชน์เป็นชาวนาที่ฐานะปานกลางถึงฐานะดี ตรงนี้จริงเพราะข้าวที่นำมาจำนำคือข้าวที่เหลือกิน และเป็นจริงสำหรับโครงการแทรกแซงราคาทุกประเภท เพราะเมื่อรัฐบาลบอกว่าต้องการ 'ยกระดับราคาข้าว' คือคิดว่าชาวนาที่มีรายได้จากการค้าข้าวมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนการให้เงินเพื่ออุดหนุนคนไปปลูกข้าวกินเอง พูดในเชิงเศรษฐกิจของประเทศแล้วไม่มีเหตุผลที่จะทำอย่างนั้น ในโครงการประกันรายได้ที่มาจาก TDRI ก็ไม่ได้มุ่งให้ชาวนาปลูกข้าวกินเอง เพราะแยกได้ยาก
 
3.เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน โครงการนี้ไม่ได้ทำให้เกษตรกรเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันใครอยากเป็นเจ้าของที่ดินจะยากขึ้น เพราะเมื่อชาวนาหันมาทำนามากขึ้นเพราะขายข้าวได้ราคาดี ก็ต้องการใช้ที่ดินมาก ราคาที่ดินก็แพงขึ้น ทั้งนี้ ในเรื่องข้าวต้นทุนไม่ได้เป็นตัวกำหนดราคา แต่ราคาเป็นตัวกำหนดต้นทุน
 
 
'ยกระดับราคา' ทั้งจำนำ-ประกันราคา สร้างปัญหาระยะยาว
 
"เอาเข้าจริงแล้ว ผมคิดว่านโยบายใดๆ ก็ตามที่พยายามใช้วิธียกระดับราคาข้าว หรือราคาสินค้าต่างๆ ให้สูงกว่าราคาตลาดโลก ในขณะที่เรายังดำรงฐานะเป็นผู้ส่งออก และยังส่งออกจำนวนมาก มันสร้างปัญหาในระยะยาวทั้งนั้น แม้กระทั่งนโยบายที่ใช้ในยุคพรรคประชาธิปัตย์ซึ่ง TDRI มีส่วนไปทำนโยบายให้" ดร.วิโรจน์กล่าว
 
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร TDRI กล่าวต่อมาว่า การดำเนินนโยบายในสมัยประชาธิปัตย์ ปีแรกใช้เงินประมาณ 50,000 ล้านบาท ปีถัดมาใช้เงินประมาณ 70,000 ล้านบาท และตอนหาเสียงมีการระบุว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะเพิ่มกำไรให้ชาวนาเป็น 40% ซึ่งเมื่อตรงนี้คาดว่าหากประชาธิปัตย์เข้ามาตัวเลขการใช้งบประมาณก็น่าอยู่ที่ประมาณเหยียบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกในขณะนั้นด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่านโยบายของประชาธิปัตย์หรือของเพื่อไทย เป็นการสร้างแรงจูงใจที่ทำให้คนหันมาปลูกข้าวมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะเป็นปัญหาของประเทศในระยะยาว เพราะหากดูตัวเลขจะพบว่ารายได้จากสินค้าเกษตรของไทยซึ่งไม่รวมสินค้าเกษตรแปรรูปปีล่าสุดคือ 7.7 ของ GDP ขณะที่มีคนอยู่ในภาคเกษตรประมาณ 30-40% พบว่า โดยเฉลี่ยเกษตรกรไทยมีรายได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ ซึ่งฟ้องว่าหากเราจะเก็บคน 1 ใน 3 ของประเทศไว้ในภาคการเกษตร คนเหล่านั้นส่วนใหญ่จะไม่หลุดพ้นจากความยากจน
 
ดร.วิโรจน์กล่าวว่า หากไปดูว่าพื้นที่ไหนที่จนที่สุด พื้นที่แถบทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งบอกว่าปลูกข้าวได้ดีที่สุดในประเทศไทย ตรงนั้นคือที่ที่คนจนที่สุด ทั้งนี้เกษตรกรรู้ดีและหลายคนใช้วิธีจ้างทำนา ปล่อยนาทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วมาทำงานในเมืองเช่นขับแท็กซี่ในเมือง ซึ่งรวมแล้วพบว่ารายได้ทั้งสองทางของเขาดีกว่าคนที่อยู่กับที่แล้วก็ตั้งใจทำนาเป็นอย่างดี
 
เพราะฉะนั้น จึงเป็นกลายปัญหาว่า ขณะที่เกษตรกรจำนวนมากเลือกที่จะเดินออกจากการเกษตร แต่ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งพยายามจูงใจให้เขาอยู่ในภาคการเกษตรต่อ โดยภาครัฐบอกว่าจะพยายามทำให้เขามีรายได้ที่ดีขึ้น จากราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคประชาสังคมให้ข้อเสนอแนะต่อเกษตรกรเรื่องการลดต้นทุน อยู่อย่างพอเพียง กินทุกอย่างที่ปลูก-ปลูกทุกอย่างที่กิน ทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อย
 
 
แนะทางออกใช้ 'ประกันความเสี่ยง' ช่วยเกษตรกร
 
"การรักษาคนที่มีจำนวนมากเกินไปที่อยู่ในภาคการเกษตร ผมคิดว่ามันไม่ใช่ทางออกของประเทศในระยะยาว และก็ไม่สามารถทำให้เกษตรกรมีฐานะ ลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ และจริงๆ แล้วประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะที่ขาดแคลงแรงงานมากขึ้น เพราะว่าอัตราการเกิดของเราลดต่ำลงมามาก" ดร.วิโรจน์ ให้ความเห็น และว่าการสร้างคำมั่นสัญญาว่าอยู่ในภาคเกษตรแล้วจะดีเป็นคำตอบของเกษตรกรส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช้ทั้งหมด อีกทั้งไม่ควรชักชวนให้คนเข้าสู่ภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น
 
ต่อคำถามที่ว่ารัฐควรมีโครงการเพื่อช่วยเกษตรเรื่องราคาอยู่หรือไม่ ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า รัฐยังควรต้องช่วยในเรื่องการประกันความเสี่ยงจากการลงทุนเพาะปลูกโดยไม่รู้ว่าเมื่อเก็บเกี่ยวราคาจะเป็นเช่นไร จากตัวอย่างโครงการจำนำในหลายประเทศ มีการตั้งราคาเป้าหมายที่คำนวณมาจากราคาสินค้าเกษตรย้อนหลัง 3 ปี เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวหากราคาจริงต่ำกว่าราคาเป้าหมาย อาจมีโครงการรับจำนำที่ราคาประมาณราคาเป้าหมายหรือหากเป็นโครงการประกันรายได้ก็เป็นการชดเชยส่วนต่างตรงนั้น ซึ่งหากราคาตกกะทันหันรายได้ของเกษตรกรจะไม่ตกไปด้วย ตรงนี้คือการแก้ปัญหาในระยะสั้น
 
กรณีที่ราคาในระยะยาวตกลงเรื่อยๆ จนเกษตรกรจำนวยหนึ่งรู้สึกไม่คุ้มที่จะอยู่ เราก็ควรจะปล่อยให้ราคาตลาดตรงนั้นเป็นตัวชี้นำว่าเขาควรจะอยู่หรือควรจะไป
 
ดร.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การช่วยประกันความเสี่ยงในขณะที่ราคาตกกะทันหันเป็นความรับผิดชอบที่รัฐมีต่อเกษตรกร แต่ไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ต้องมายกระดับราคาให้เกษตรกร เพราะเมื่อมีการยกระดับราคาให้สูงมากกว่าราคาตลาดโลกก็จะมีคนปลูกมากกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งส่วนที่เกินมานี้ขายในราคาต้นทุนที่รับมาไม่ได้ กลายเป็นว่ารัฐต้องขาดทุนเพื่อช่วยเกษตรกรส่วนนี้ แต่การช่วยเกษตรกรส่วนนี้ก็ไม่ทำให้เกษตรกรรวย เพราะว่าเกษตรกรรายใหม่ที่เข้ามาจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงจะมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่มีต้นทุนใกล้เคียงกับราคาขาย ไม่ว่าราคาจะสูงเท่าไหร่
 
 
'ประพัฒน์' เชื่อเลิกจำนำเมื่อไหร่ ม็อบเต็มถนน แนะต้องแจงปัญหา
 
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ตราบเท่าที่รัฐบาลไม่ออกนโยบายมาทำร้ายเกษตรกร นโยบายยังมีประโยชน์กับเกษตรกรอยู่บ้าง ย่อมถือว่าไม่ใช่ศัตรูของเกษตรกร และไม่ได้เป็นศตรูของสหพันธ์เกษตรกรฯ ยังเป็นพันธมิตรอยู่ ที่ถามว่าทำไมไม่มีม็อบชาวนา ก็จะมีม็อบต่อเมื่อเลิกนโยบายจำนำข้าวนี้ หากเลิกเมื่อไหร่ม็อบก็จะเต็มถนน เต็มหน้าศาลากลางจังหวัด เพราะตอนนี้เขาพึงใจนโยบายนี้อยู่ แต่ถามว่าพึงใจทั้งหมดไหม คำตอบคือไม่ ยกตัวอย่าง ที่ชาวนาที่ลำปางปลูกข้าวไว้กินเป็นหลัก เหลือจึงขาย และปลูกข้าวปีละครั้ง ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ แต่ไม่เท่าชาวนาภาคกลางที่การชลประทางเหมาะสมกับการปลูกข้าว
 
ถามว่านโยบายประชานิยมชาวนาถึงเอา ทำไมคนกรุงเทพฯ ไม่เอาประชานิยม ก็เพราะเป็นนโยบายที่ป้อนคนจน ถ้าชาวนาพึงตนเองได้ ทำมาหากินได้อย่างมีศักดิ์ศรี อยู่ดีกินดีเขาก็ไม่จำเป็นต้องสนใจประชานิยม และหากโครงการนี้เดินหน้าต่อไปอีก 3 ปีแล้วขาดทุน เพราะเมื่อเทียบกับไอเอ็มเอฟที่ต้องใช้เงินอุ้มร้อยกว่าล้าน หรือในส่วนประชานิยมของคนชั้นกลางก็มีทั้งรถคันแรกและบ้านหลังแรกซึ่งใช้เงินรวมกันกว่า 2 แสนล้าน
 
"ชาวนาเขาก็มีคำถามว่า เวลาอุ้มคนรวย อุ้มคนชั้นกลางทำไมไม่บ่น พอมาอุ้มคนจนแล้วทำไมบ่นจัง" ประพัฒน์กล่าว
 
ประพัฒน์ กล่าวว่า เกี่ยวกับนโยบายนี้ไม่สามารถพูดแทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพราะเรื่องข้าวเป็นเรื่องที่หาฉันทามติยาก ชาวนาแต่ละภาคคิดแตกต่างกัน แต่ก็จะพยายามต่อไป อย่างไรก็ตามคิดว่าเกษตรกรทั้งประเทศคิดไม่ต่างกัน และไม่ใช่คนใจแคบหากได้นั่งลงคุยกันว่านโยบายนี้สุดโต่งเกินไป ทำไปแล้วประเทศชาติได้เกิดความเสียหายอะไร พยากรณ์ได้ว่าอนาคตอีก 2-3 ปี อาจก่อให้เกิดวิกฤติใหญ่ของชาวนา เพราะรัฐบาลไม่สามารถอุ้มได้ต้องปล่อยตามยถากรรม เรื่องนี้ชาวนารับฟังได้ เพียงแต่เขาประหวั่นใจ
 
ส่วนข้อเสนอ ประพัฒน์ กล่าวว่า 1.โดยจุดยืนไทยไม่สามารถปลูกข้าวคุณภาพต่ำเพื่อแข่งกับเพื่อนบ้านได้อีกต่อไป ต้องเปลี่ยนเป็นข้าวคุณภาพสูง 2.ปรับนโยบายจำนำข้าวให้อ่อนตัวลงมา มีผลกระทบน้อยลง 3.เปิดเวทีพูดคุยระหว่างตัวแทนชาวนาจริงๆ และตัวแทนรัฐบาลที่เป็นคนคุมนโยบาย ไม่ใช่การสังการแบบบนลงล่าง 4.จะมีการเสนอนายกฯ เรื่องการจัดซื้อเครื่องวัดความชื้นและสิ่งเจือปนส่วนกลาง ไว้บริการที่สภาเกษตรกรทุกอำเภอ เพื่อเอาไว้ตรวจสอบป้องกันไม่ให้โรงสีฉวยโอกาสเอาเปรียบชาวนา
 
"เชื่อว่ารัฐบาลเองหาทางออกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าหากทางออกนำเสนอโดยฝ่ายค้าน แน่นอนตายเป็นตาย สู้ตายคาเวที ถ้าเสนอโดยเอ็นจีโอที่เป็นขาประจำก็เหมือนกัน ขาประจำ หายใจก็ผิดแล้ว" ประพัฒน์ กล่าวและว่าจะร่วมหาทางออกที่เป็นกลางๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ
 
 
'ประภาส' จี้รัฐบาลให้ข้อมูลสังคมตรงไปตรงมา อย่าเฉไปเป็นนักสังคมสังเคราะห์
 
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว ต้องกลับมาพูดเรื่องหนึ่งคือที่รัฐบาลนี้บอกว่าจะเป็นผู้ค้าข้าว ทำเหมือนกลุ่มโอเปกที่สามารถคุมราคาน้ำมันได้ แต่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาได้ และสิ่งที่รัฐบาลแถลงซึ่งสำคัญในเรื่องจุดยืนเชิงนโยบายกลับพูดแบบนักสังคมสงเคราะห์ ข้าวที่เราซื้อมาจะเอามาแจกแบบสังคมสังเคราะห์ อย่ากังวลเรื่องกำไรขาดทุน ตรงนี้ไม่ถูกต้อง เพราะตรงนี้เรากำลังพูดถึงการค้าข้าว มีกำไรขาดทุน เพื่อยกระดับการแข่งขันไปสู่ภูมิภาคหรือตลาดโลก
 
"ชาวนาเขารับได้อยู่แล้วตัวเลขแบบนี้ เพราะว่าเขาได้ประโยชน์ แต่ผมคิดว่าการพูดกับผู้คนในสังคม รัฐบาลต้องตรงไปตรงมา เพราะว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการแบบสังคมสังเคราะห์" รศ.ดร.ประภาส
 
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ รศ.ดร.ประภาส กล่าวว่า เรื่องสำคัญคือเรื่องคุณภาพข้าว ซึ่งโครงการฯ ไม่ได้มีการควบคุมเรื่องนี้ ทำให้เกษตรกรมุ่งปลูกข้าวเพื่อขาย ปลูกข้าวเหมือนปลูกยางพารากินไม่ได้ซักเม็ด และยังไปกระทบกับการปลูกข้าวทางเลือกและการผลิตโดยโรงสีชุมชนเพราะไม่สามารถตั้งราคาซื้อแข่งกับรัฐบาลได้ ขณะที่ในเรื่องต้นทุนของโครงการนี้ก็ไปอยู่ที่ข้าราชการจำนวนมาก ทั้งตำรวจ ดีเอสไอ ส่วนหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรก็ไม่มีทำงานเลย
 
รศ.ดร.ประภาส กล่าวถึงขี้อเสนอในระยะสั้นว่า ความสมเหตุสมผลของการอุดหนุนที่ชาวนาควรจะได้เพิ่มเติมจากกลไกตลาด ทำให้ชาวนาอยู่ได้เป็นทางเลือกนโยบายของข้าวโดยทั่วไป ส่วนการพัฒนาคุณภาพข้าวซึ่งเป็นประเด็นระยะยาวที่พูดกันมานาน ส่วนตัวคิดว่าข้าวที่บริโภคภายในประเทศ 8 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งถูกผูกขาดโดยข้าวถุง ในเชิงนโยบายควรกลับมาคิดเรื่องคุณภาพข้าว การรักษาพันธุข้าว การพัฒนาพันธุ์ โดยทำให้ตลาดชุมชนเชื่อมกับผู้บริโภค นี่คือทางเลือกเชิงนโยบาย
 
อีกทั้งเสนอให้มีการพัฒนาเครื่องจักรทางการเกษตร เพื่อการลดปุ๋ยและยาฆ่าแมลง สนับสนุนการทำนาโดยลดต้นทุน นโยบายอาจมากกว่าการยกระดับราคา แต่มองเรื่องการลดต้นทุนผลิต
 
 
'เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก' จี้หยุดใช้นโยบายเดียวปฏิบัติทั่วประเทศ
 
ด้านอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวถึงข้อเสนอ ดังนี้ ควรมีนโยบายที่เกี่ยวกับตัวคนด้วย นอกจากนโยบายที่มุ่งตัวสินค้า และไม่ควรมีนโยบายเดียวที่ใช้ปฏิบัติไปทั่วประเทศ ยกตัวอย่าง โครงการรับจำนำข้าวทำได้ในภาคกลาง ทำนาปีละ 2 ครั้ง และจำกัดเข้าโครงการไม่เกิน 60 ไร่ ส่วนภาคอีสานและเหนือใช้นโยบายจำนำข้าวที่ยุ้งฉาง รัฐอุดหนุนดอกเบี้ยเพื่อให้ชาวนาทยอยขายข้าวเมื่อจำเป็นได้ โดยข้าวมีฐานะเป็นทรัพย์เก็บออมซึ่งตรงกับสภาพสังคมในภาคเหนือและอีสาน
 
ปัญหาเชิงเทคนิคเรื่องการโกงตราชั่งเปลี่ยนค่าความชื้น ต้องมีการคิดรูปแบบกฎเกณฑ์ขึ้น โดยตรงนี้ชาวบ้านเคยมีข้อเสนอให้ตั้งตราชั่งพาณิชย์ที่บริเวณหน้าอำเภอ เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตรวจสอบกับโรงสี และนำคำอธิบายของโครงการหมู่บ้านละล้าน และกองทุนพัฒนาสตรีที่ว่า 'เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับภาคส่วนอื่นของสังคม' มาใช้กับชาวนา ทำงานสร้างนโยบายเพื่อให้องค์กรเกษตรกรเข้มแข็งขึ้น มีความรู้เรื่องโครงสร้างอำนาจในสังคม ขีดความสามารถในการจัดการ และระบบคุณธรรมภายใน
 
 
 หนุนออกนโยบายสร้างเกษตรกรเข้มแข็ง
 
"ผมอยากให้มีนโยบายที่จะสนับสนุนในเกษตรกรเข้มแข็ง เพื่อให้ดุลอำนาจต่างๆ มันถ่วงกัน อันนี้เป็นเรื่องยาวที่ต้องควรจะทำ สร้างนโยบายเฉพาะหน้าเพื่อให้ถูกใจ เพื่อให้ได้คะแนนเสียง ผมไม่ปฏิเสธ แต่ว่าจะต้องออกนโยบายที่ยังยืนด้วย" อุบล กล่าว
 
อุบล กล่าวถึงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรว่า ควรส่งเสริมอย่างจริงจังให้ความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย อยู่ในมือขององค์กรเกษตรกร ส่วนนโยบายส่งเสริมการตลาดให้สัมพันธ์กับความยั่งยืนในการผลิต และเสนอให้ลดความเปราะปางของนิเวศน์การผลิต โดยทำให้คนกินข้าวรู้จักข้าวที่มากกว่าข้าวที่ขายในตลาด เพราะพฤติกรรมการกินส่งผลต่อความหลากหลายในการผลิต
 
อุบล กล่าวด้วยว่า ข้าวคุณภาพนั้นนอกจากพันธ์ข้าวแล้วยังรวมถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยด้วย จึงควรมีนโยบายอุดหนุนเกษตรกรที่สมัครใจเปลี่ยนแบบแผนการผลิตจากเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยมีระบบมาตรฐานที่เข้มงวด ตรวจสอบได้ และควรสนับสนุนการผลิตข้าวคุณภาพที่หลากหลาย เชื่อโยงผู้บริโภคในพื้นที่ ไม่สนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อีกทั้งยังมีข้อเสนอไปยังเอกชนโดยเฉพาะเจ้าของโรงสี ในการร่วมทำแฟร์เทรดกับองค์กรเกษตรกร โดยเปิดเผยราคาตลอดกระบวนการ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Science Space: การเมืองกับธรรมาภิบาล ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย

Posted: 15 Jun 2013 06:50 AM PDT

จากกรณีข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนัดกันแต่งชุดดำประท้วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ล่าสุดรายการ Science Space ได้จัดรายการตอนพิเศษ จากวงเสวนาวิชาการหัวข้อ "การเมืองกับธรรมาภิบาล ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย" ซึ่งจัดโดย ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (CEST) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2556 ที่ G.M. Hall SASIN International House ถ.พญาไท

โดยวิทยากรการเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เขมทัต สุคนธสิงห์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, ปรีดา ยังสุขสถาพร ผอ.สถาบันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินรายการโดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผูุ้อำนวยการโนวิสเคป คอนซัลติ้ง และ รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับ Science Space ตอนพิเศษ "การเมือง กับ ธรรมาภิบาล ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย" ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามกับวิทยากร 3 ข้อ ได้แก่

1. มองพัฒนาการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร
2. สถานการณ์ของประเทศไทย เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝากนักการเมือง ซึ่งเป็นผู้ถือเงินงบประมาณแผ่นดิน กับภาคนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ปฎิบัติอย่างไร
3. นักวิจัยไทยเล่นการเมืองอย่างไร ณ เวลานี้เล่นเป็นหรือไม่ ควรจะมีนักการเมืองสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอหรือเปล่า จำเป็นต้องมีเพิ่มหรือไม่

โดยสำหรับรายละเอียดของวิดีโอการเสวนา และภาพบรรยากาศมีดังนี้

 

คลิปรายการ Science Space ตอนพิเศษ  "การเมือง กับ ธรรมาภิบาล ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย"
(ชมผ่าน Youtube.com)

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ (ซ้าย) และพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ (ขวา)

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (ซ้าย) และ เขมทัต สุคนธสิงห์ (ขวา)

บรรยากาศวงเสวนา  "การเมืองกับธรรมาภิบาล ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย" ระหว่างการอภิปรายของ ปรีดา ยังสุขสถาพร (คนกลาง) โดยการเสวนาครั้งนี้เป็นตอนพิเศษของรายการ Science Space

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิหร่านและระบอบเทวาธิปไตย

Posted: 15 Jun 2013 06:13 AM PDT

เมื่อบทความชิ้นนี้ได้รับเผยแพร่ในอินเทอร์เนต ชาวอิหร่านกว่า 77 ล้านคนก็คงได้ทราบแล้วว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถัดจากนายมะห์มูด อะห์มะดีเนจาดซึ่งต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้บุคคลดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดในด้านบริหารของประเทศเกิน 2 วาระ  ตามปรกติในประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม  นโยบายของรัฐจำนวนมากรวมไปถึงนโยบายต่างประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงตามผู้ที่้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน แต่สำหรับอิหร่านแล้วด้วยการที่ประธานาธิบดีมี "ผู้มีบารมีในรัฐธรรมนูญ" เข้ามาแทรกแซง ทำให้เกิดปัญหาว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเกิดหรือไม่หลังการเลือกตั้งในปี 2013 โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศที่ให้อิหร่านอื้อฉาวไปทั่วโลกเช่นการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการสนับสนุนผู้ก่อการร้ายรวมไปถึงกลุ่มฮิซบุลลอฮ์และรัฐบาลซีเรียจนทำให้โลกตะวันตกต้องทำการคว่ำบาตรครั้งใหญ่  แต่การจะตอบปัญหาเช่นนี้ได้ก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าอิหร่านเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่เสียก่อน         

ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างทางการเมืองและการปกครองของอิหร่านรวมไปถึงบริบทการเมืองรอบข้าง แต่ก่อนอื่นในที่นี้ขอนิยามของการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบง่ายๆ คือการปกครองของประชาชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมหรือมีอำนาจปกครองตัวเองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกหมู่เหล่า

(จากเว็บไซต์ของบีบีซี)

โครงสร้างเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าอิหร่านมีโครงสร้างที่ผสมผสานระหว่างรัฐสภาแบบตะวันตกอันมีประมุขสูงสุดคือ ประธานาธิบดี (President) และรัฐสภา (Parliament) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (Electorate) ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ที่ต้องได้รับการยอมรับจากรัฐสภา อย่างไรก็ตามอิหร่านมีสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอันได้แก่ท่านประมุขสูงสุด (Supreme Leader) ท่านเป็นผู้รับรองผลลัพธ์การเลือกตั้งประธานาธิบดี และยังมีอำนาจแต่งตั้งสถาบันสำคัญอื่นๆ คือกองทัพ (Military)  ประมุขฝ่ายตุลาการ (Head of Judiciary) และ Expediency council (สภาพิเศษซึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาและ สภาผู้ชี้นำ (Guardian council)  หรือแม้แต่สภาอีกสภาหนึ่งคือสภาผู้ชำนาญการ (Assembly of experts) ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งท่านประมุขสูงสุดและมีอำนาจในการปลดออกถ้าท่านประมุขสูงสุดกระทำความผิดร้ายแรง

ถ้าเราพิจารณาเส้นเชื่อมโยงแล้วก็ถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบทางอ้อม (Indirect Democracy) เพราะประชาชนเป็นผู้เลือก สภาผู้ชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งหรือรับรองท่านประมุขสูงสุด ดังนั้นไม่มีสถาบันไหนเลยที่ไม่ได้มาจากประชาชนเพียงแต่ว่าจะมาจากการมีอิทธิพลโดยตรงหรือทางอ้อม (อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างระหว่างคำว่า elect อันแปลว่า"เลือกตั้ง" กับ appoint อันแปลว่า "แต่งตั้ง" หรือ approve อันแปลว่า "รับรอง" )  เรื่องเช่นนี้ก็เหมือนกับสหรัฐฯ ที่ ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีไม่ใช่ประชาชนเลือกโดยตรงเหมือนกันระบบเวสมินสเตอร์ ของอังกฤษที่คณะรัฐมนตรีมักมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (แต่คณะรัฐมนตรีของสหรัฐฯ ต้องได้รับการยอมรับจากวุฒิสภาเสียก่อน)

อย่างไรก็ตามสถาบันสุดท้ายที่ต้องหยิบมาพิจารณาคือสภาผู้ชี้นำที่สมาชิกมาจากการเลือกของรัฐสภา 6 คน (ทั้งหมดเป็นปราชญ์ทางกฎหมายหรือตุลาการ)และจากการแต่งตั้งของท่านประมุขสูงสุดกับหัวหน้าตุลาการ 6 คน(ทั้งหมดเป็นนักเทววิทยา) สถาบันนี้ถือว่าทรงอิทธิพลที่สุด มีบทบาทสำคัญคือเป็นผู้รับรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาว่ามีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายของอิสลามหรือไม่ ที่สำคัญยังเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีและ สภาผู้ชำนาญการ  อย่างเช่นในการเลือกตั้งของปี 2013 นี้จากเดิมมีผู้มาสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีจำนวน  686  คน แต่ก็ถูกคัดเลือกให้มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียง 8 คน  คนที่ถูกตัดสิทธิก็มักจะเป็นพวกกลุ่มเสรีนิยมหรือปฏิรูปนิยม ที่ชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือนาย   อักบาร์ ฮัสเชมี ราฟซานจานีซึ่งเคยเป็นประธานาธิบดีของอิหร่านหัวเสรีนิยมในช่วงปี 1989-1997  และที่น่าสนใจคือผู้หญิง 30 คนที่ลงสมัครก็ถูกสภาผู้ชี้นำตัดสิทธิ์อันสะท้อนถึงความเหยียดเพศสุดขั้วของพวกอนุรักษ์นิยม อิหร่านจึงแทบหมดโอกาสในการมีประธานาธิบดีผู้หญิง

ถ้าหากมองในเชิงอุดมคติ การเมืองอิหร่านมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแบบมุ่งให้มีการคานอำนาจกันระหว่างสถาบันที่เลือกตั้งโดยตรงกับทางอ้อมที่อิงอยู่หลักศาสนา ถ้าประชาชนมีอำนาจในการเลือกท่านประมุขสูงสุดอย่างจริงๆ อย่างที่เรียกกันว่าอย่างเสรีและยุติธรรม (free and fair) แต่การที่โครงสร้างทางการเมืองอิหร่านกำหนดให้อำนาจมีการล็อกตัวเองแบบงูกินหาง คือท่านประมุขสูงสุดสามารถกำหนดให้สภาผู้ชี้นำเลือกเอาบุคคลที่อยู่ในอำนาจได้เข้ามาในสภาผู้ชำนาญการ ที่จะเลือกท่านประมุขสูงสุด จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าเหตุใดในเวลากว่า 30 ปี ท่านประมุขสูงสุดจึงมีผู้ดำรงตำแหน่งเพียง 2 คน คือ               อายะตุลลอฮ์  โคมัยนี และ อายะตุลลอฮ์ คามัยนัย สิ่งอื่นๆ ที่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนคืออำนาจของประธานาธิบดีในฐานะตัวแทนของประชาชนก็มีขีดจำกัดไม่สามารถควบคุมกองทัพซึ่งเป็นเครื่องมือในการถือครองอำนาจของรัฐ ท่านประมุขสูงสุดยังมีอำนาจบัญชาการพลเรือนติดอาวุธอย่างเช่นบาซิจในการควบคุมความสงบเรียบร้อยของประเทศซึ่งแท้ที่จริงมีไว้เพื่อเข้าปราบปรามกลุ่มผู้เป็นปรปักษ์ของรัฐบาล  รวมไปถึงสื่อมวลชนเช่นโทรทัศน์หรือวิทยุของอิหร่านซึ่งสมควรจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดตามระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญท่านประมุขสูงสุดยังมีอิทธิพลเหนือนโยบายพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ดังนั้นตะวันตกจึงไม่สามารถเจรจากับประธานาธิบดีอิหร่านในเรื่องนี้ได้เลย

อิหร่านจึงมีการปกครองคือประชาธิปไตยแบบอิหร่านหรือประชาธิปไตยผสมเทวาธิปไตย (Theocracy) ไม่ใช่ประชาธิปไตยตามความหมายของตะวันตก หลักฐานที่ชัดเจนได้แก่การพิจารณาดัชนีความเป็นประชาธิปไตยที่จัดทำโดย Economist Intelligence Unit ที่บ่งชี้ความเป็นประชาธิปไตยของ 167 ประเทศทั่วโลกในปี 2011 แล้วจะพบว่าอิหร่านอยู่ในอันดับ 159 พร้อมกับผู้สำรวจได้ระบุว่ามีการปกครองแบบระบบการปกครองแบบเผด็จการแบบอำนาจนิยม (Authoritarian regime)   กระนั้นการปกครองเช่นนี้ไม่ได้ดีหรือร้ายในตัวเอง ถ้ามองในเชิงอุดมคติแล้ว น่าจะเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำเพราะท่านประมุขสูงสุดและสภาผู้ชี้นำเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ประเสริฐ มีการพิจารณาตัวผู้สมัครตามหลักของศาสนา ด้วยแต่ละประเทศในโลกนี้ล้วนมีลักษณะโครงสร้างทางการเมือง วัฒนธรรมการเมืองที่แตกต่างกันออกไป ประชาธิปไตยของอิหร่านจึงไม่ใช่ของประชาชนและโดยประชาชนเสียทั้งหมด แต่มีพระผู้เป็นเจ้าทรงมาช่วยชี้นำทาง เพื่อยังผลประโยชน์แก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดการรุกฮือขึ้นประท้วงของชาวอิหร่านทั่วประเทศเมื่อปี 2009 ที่แสดงความไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งได้นักการเมืองหัวขวาตกขอบเช่นนายอะห์มะดีเนจาดมานั่งเก้าอี้อีกครั้ง (วาระแรก 2005-2009)  รัฐบาลทำการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคนและมีผู้ถูกจับกุมกว่า 4,000 คน จะด้วยเหตุผลอย่างไรของฝ่ายปกครองเช่นว่า ผู้ประท้วงถูกตะวันตกล้างสมองหรือปลุกปั่นหรือเป็นคนบาป ไม่รักชาติ ฯลฯ ฝ่ายรัฐบาลเองก็ใช้หลักตรรกะเช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ปฏิบัติกับผู้ประท้วงราวกับเป็นผู้ก่อการร้าย จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามที่เน้นสันติวิถี ประชาธิปไตยแบบอิหร่านจึงเป็นการนำเอาศาสนามารับใช้การเมืองและยังส่งผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพราะในสถาบันการเมืองล้วนเต็มไปด้วยนักการศาสนาหัวอนุรักษ์นิยมที่เน้นนโยบายแบบเหยี่ยวเพื่อสร้างอำนาจของประเทศตนเหนือภูมิภาคตะวันออกกลางเช่นเป็นปรปักษ์กับซาอุดิอาระเบียและกับอิสราเอลรวมไปถึงสหรัฐฯ  

อนึ่งถ้าอิหร่านเป็นมิตรกับตะวันตกเสมอมาอย่างเช่นประเทศในเอเชียกลาง ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน อิหร่านก็จะไม่มีปัญหากับตะวันตกถึงจะเป็นเผด็จการ เพราะความเป็นผู้มือถือสากปากถือศีลของตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ  เอง อย่างไรก็ตามตั้งแต่ ปี 1979 ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯขาดสะบั้นเพราะนักศึกษาหัวรุนแรงของอิหร่านยึดครองสถานทูตและการจับเจ้าหน้าที่ในสถานทูตเป็นตัวประกันของไว้นานกว่า 444 วัน  มีหลายครั้งที่กลุ่มผู้นำหัวเสรีนิยมของอิหร่านพยายามคืนดีกับสหรัฐฯ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ถูกสกัดกั้นโดยหัวอนุรักษ์นิยมด้วยความเกรงว่าอิทธิพลของสหรัฐฯจะเข้ามาแทรกแซงอำนาจของตน ในขณะที่สหรัฐฯ เองพร้อมจะคืนดีกับอิหร่านเพราะต้องการมีอิทธิพลแทรกแซงในตะวันออกกลางแข่งกับมหาอำนาจอื่นเช่นรัสเซีย ผู้นำหัวอนุรักษ์นิยมผู้จุดประกายกระแสเกลียดสหรัฐฯ ก็คงไม่พ้นผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านคือโคมัยนีในช่วงปฏิวัติ 1979  ซึ่งท่านเองก็มีเหตุผลเหมือนกันเพราะตะวันตกเคยเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากอิหร่านในเรื่องน้ำมันโดยสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการของ พระเจ้าชาห์ ปาห์ลาวี มาก่อน

สุดท้ายนี้แน่นอนว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ในปี 2013  ถึงแม้จะมีใครเป็นประธานาธิบดี นโยบายการต่างประเทศของอิหร่านก็จะเหมือนเดิมเพราะ 8 คนที่หลุดเข้ามาได้ก็เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่เป็นเด็กดีของคามัยนัยซึ่งจำบทเรียนจากกรณีพยศของนายอะห์มะดีเนจาดซึ่งเคยเป็น "เด็กดี" มาก่อนแต่ก็ต้องมาพยศแย่งชิงอำนาจคามัยนัยในภายหลัง  ดังนั้นจึงคาดเดาได้ว่าปฏิกิริยาของอิหร่านต่อตะวันตกหลังการเลือกตั้งจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร นอกจากการกลยุทธ์ของฝ่ายอนุรักษนิยมเพียงฝ่ายเดียว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชินทาโร ฮารา: ข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดชายแดนใต้

Posted: 15 Jun 2013 05:33 AM PDT

 
มีนักข่าวบางท่านติดต่อผมและถามว่า คิดอย่างไรกับข้อเสนอที่ให้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด 
 
ตอนนี้ กระบวนการสันติภาพเพิ่งเริ่มต้น อยู่ในระดับการพูดคุยซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ การสร้างความไว้วางใจต่อกัน ฉะนั้น อาจเร็วเกินไปสำหรับฝ่ายรัฐที่จะนำเสนอรูปแบบการปกครองในอนาคต ณ จุดนี้ เพราะภาวะความรุนแรงทางการเมืองหรือการปะทะกันก็ยังไม่สิ้นสุด 
 
รูปแบบการปกครองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุดประเด็นหนึ่ง ไม่ใช่ประเด็นที่สามารถแก้ไขได้โดยมีข้อเสนอจากรัฐบาลอย่างเดียว ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายคู่เจรจา (ที่นำโดย BRN) ประชาชนในพื้นที่และสังคมไทยทั่วไปต้องระดมความคิดและร่วมพิจารณา 
 
คำถามที่โผล่ขึ้นมาในใจเมื่อผมได้รับคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ สามจังหวัดนี่ก็คือ "ทำไมเฉพาะสามจังหวัดอย่างเดียว จังหวัดอื่นๆ ไม่ต้องเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเองหรือ"
 
เมื่อสื่อต่างประเทศมีรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย มักจะมีคำแนะนำว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีอำนาจการปกครองรวบรวมอยู่ที่สูงกลางในระดับสูง (Thailand is a highly centralized country) จังหวัดที่ประชาชนสามารถเลือกผู้ว่าฯ ได้ก็มีแค่สองจังหวัดที่อยู่ในภาคกลาง (กรุงเทพฯ, พัทยา)
 
สำหรับคนที่มาจากประเทศที่ทุกจังหวัดเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง ผมรู้สึกตกใจกับระบบการปกครองรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับระบบการปกครองของญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงนั้น รัฐบาลจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนอย่างมาก และทุกสิ่งทุกอย่างกำหนดโดยชนชั้นสูง โดยประชาชนไม่มีส่วนรวมใดๆ ในการกำหนดนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่น 
 
ในประเทศมาเลเซีย ประชาชนในแต่ละรัฐไม่เลือกผู้ว่าฯ (ที่เรียกว่า มุขมนตรี) โดยตรง แต่ผู้ว่าฯ ต้องมาจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งสภาบัญญัติแห่งรัฐ ฉะนั้น ประชาชนก็มีส่วนรวมในการเลือก ผู้ว่าฯ ของรัฐ 
 
เมื่อสังเกตสถานการณ์ของประเทศไทย ประชาชนยังมีส่วนรวมในการเมืองท้องถิ่นน้อยมาก เมื่อคุยเรื่องระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย บางคนบอกว่า ประเทศไทยยังไม่ mature (แปลว่า ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ ยังไม่พร้อม) ที่จะเลือกผู้นำของตัวเอง มีบางคนอ้างว่า คนไทยยังไม่ชินกับระบบประชาธิปไตย ถ้าจะเปิดโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็คงจะมีการซื้อเสียงขายเสียง และประชาธิปไตยก็ไม่เวิร์ก 
 
แนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดที่น่ากลัวมากเลยทีเดียว เขาว่า คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับระบอบประชาธิปไตย แล้วในเมื่อคนไทยถูกปฏิเสธสิทธิทางการเมือง (เช่น การเลือกผู้ว่าฯ) คนไทยจะคุ้นเคยกับระบอบนั้นเมื่อไร และผู้นำที่ได้รับเลือกตั้ง แม้ว่ามีการซื้อเสียงขายเสียงก็ตาม แย่กว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศูนย์กลางหรือ หรือว่า ผู้ว่าฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศูนย์กลางเป็นบุคคลที่ปราศจากคอรัปชั่นร้อยเปอร์เซ็นต์จริงหรือไม่
 
คนไทยหลายคนยังคิดว่า ระบบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งไม่เวิร์กสำหรับประเทศไทย ผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับการซื้อเสียง/ขายเสียงอย่างเด็กขาด ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนที่ไม่มีศักดิ์ศรีในตัว ปัญหาการซื้อเสียงขายเสียง (อีกนัยหนึ่ง การขายชาติ) เป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องแก้ไขเพื่อสร้างประชาธิปไตยอันแท้จริงในสังคม ต้องยอมรับว่า เส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยยังยาวนาน แต่การปฏิเสธเลือกตั้งไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหา 
 
ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย การปฏิวัติไม่เคยเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งนั้นคือการรัฐประหาร การรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อไร ประเทศไทยก็ต้องถอยหลังหลายๆ ปี 
 
ขอให้ทุกท่านเข้าใจว่า ประชาธิปไตยจะไม่เจริญเติบโตในเมื่อประชาชนเองไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง อย่าให้ความสำคัญแก่รถถังมากกว่าหีบใส่บัตรลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง แต่ขอให้พิจารณาว่า สิ่งไหไหนเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน 
 
ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอให้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง ไม่เพียงแค่ผู้ว่าฯ คนเดียว แต่ควรเป็นเลือกผู้ว่าฯ จังหวัดละคน และการเลือกผู้ว่าฯ อย่าจำกัดเฉพาะบางพื้นที่เลย แต่ให้ทุกจังหวัดเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง นี่คือก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยมากขึ้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลซีเรียและรัสเซียโต้คำกล่าวหาของสหรัฐฯ เรื่องอาวุธเคมี

Posted: 15 Jun 2013 05:06 AM PDT

หลังจากทางสหรัฐฯ เริ่มแสดงตัวชัดเจนว่าจะให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่กลุ่มกบฏในซีเรีย โดยอ้างเรื่องหลักฐานการใช้อาวุธเคมีของรัฐบาลซีเรีย ฝ่ายรัฐบาลซีเรีย และรัสเซียก็ออกมาตอบโต้ในเรื่องนี้ โดยหาว่าสหรัฐฯ กุเรื่องขึ้นเพื่อให้ความชอบธรรมในการสนับสนุนกลุ่มกบฏ

15 มิ.ย. 2013 - ทางการซีเรียและรัสเซียกล่าวตอบโต้คำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ ที่บอกว่ากองทัพซีเรียใช้อาวุธเคมีกับกองกำลังฝ่ายกบฏในสงครามกลางเมืองภายในประเทศ โดยที่รัฐบาลซีเรียบอกว่าคำกล่าวของสหรัฐฯ "เป็นการกล่าวเท็จโดยทั้งสิ้น"

การตอบโต้ของรัสเซียและรัฐบาลซีเรียมีขึ้นหลังจาก เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา เบน โรดส์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่าประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า มีแผนการให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่กลุ่มกบฏในซีเรียหลังจากมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีการใช้อาวุธเคมีในสงครามกลางเมือง

ซาลิม อิดริส ผู้บัญชาการกลุ่มกบฏปลดปล่อยชาติซีเรีย (Free Syrian Army หรือ FSA) กล่าวชื่นชมการตัดสินใจของสหรัฐฯ และบอกว่าอาวุธที่ได้มาเพิ่มจะช่วยในการต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลอัสสาดและช่วยปกป้องพลเรือนในซีเรีบ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยแก่กลุ่มกบฏด้านเสบียงอาหารและเครื่องมือการแพทย์อยู่แล้ว

เบนบอกว่าทีมข่าวกรองของสหรัฐฯ เชื่อว่ากองกำลังรัฐบาลซีเรียได้ใช้อาวุธเคมีรวมถึงแก็สซารินในการโจมตีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในระดับเล็กหลายครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เสียชีวิตราว 150 จากการโจมตีรูปแบบดังกล่าว

ขณะที่ฝ่ายทางการรัสเซียบอกว่า หลักฐานเรื่องการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย ดูไม่ชัดเจน ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของซีเรียออกแถลงการเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ว่า ทางการสหรัฐฯ อาศัยข้อมูลที่กุขึ้นมาเองในการกล่าวหาว่ามีการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย และสหรัฐฯ อ้างเรื่องนี้เพื่อให้ความชอบธรรมแก่ตัวเองในการติดอาวุธให้ฝ่ายกบฏ

แถลงการณ์ของรัฐบาลซีเรียยังวิจารณ์สหรัฐฯ ด้วยว่า "สองมาตรฐาน" จากการที่สหรัฐฯ อ้างว่าต่อสู้กับการก่อการร้ายกลับให้การสนับสนุน "กลุ่มก่อการร้าย" ในซีเรียเช่นกลุ่มอัล-นุสรา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มกบฏ อัล-เคดา

ในกรณีนี้ เบน โรดส์ กล่าวว่าสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนทางการทหารแก่กลุ่ม 'สภาทหารสูงสุด' (SMC) ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ ได้แก่กลุ่มกบฏปลดปล่อยชาติซีเรีย (FSA) กับกลุ่มกองกำลังแนวร่วมปฏิวัติและต่อต้านรัฐบาลซีเรีย เบนกล่าวอีกว่าทางสหรัฐฯ ต้องการจะแบ่งแยกกลุ่มกบฏหัวรุนแรงเช่นกลุ่มอัล-นุสรา ซึ่งเป็นติดอาวุธนิกายซุนนี ออกจากแนวร่วมของกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาล

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าพวกเขาอาจจะส่งอาวุธหลายอย่างให้กับฝ่ายกบฏ ตั้งแต่อาวุธขนาดเล็ก กระสุน ปืนกล และอาวุธต่อต้านยานเกราะต่างๆ แต่ก็ยังคงอยู่ระหว่างการตัดสินใจ

ด้านโฆษกของกลุ่ม FSA กล่าวว่า ทางกลุ่มกบฏสนับสนุนให้สหรัฐฯ พิจารณาประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าซีเรียทั้งหมดหรือพื้นที่ใดๆ ก็ตามที่ทางสหรัฐฯ พิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์การทหารแล้ว เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับกลุ่มพลเรือน โฆษก FSA กล่าวอีกว่าทางกลุ่มกบฏเรียกร้องให้มีการส่งอาวุธจำพวกเครื่องยิงจรวด, จรวดต่อต้านยานเกราะแบบตรวจจับอุณหภูมิ, จรวดยิงต่อสู้บนภาคพื้นดิน และยานเกราะอีกจำนวนหนึ่ง

ทางด้าน บังคีมูน เลขาธิการใหญ่ของสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ว่า ข้อมูลใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการใช้อาวุธเคมียังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดหากไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ และการส่งอาวุธให้ไม่ว่ากับฝ่ายใดก็ตามไม่ได้เป็นการช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

รายงานล่าสุดของยูเอ็นระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งในซีเรียรวมแล้วอย่างน้อย 93,000 คน คำนวนโดยเฉลี่ย 5,000 คนต่อเดือน ในตัวเลขดังกล่าวมีเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เสียชีวิตมากกว่า 1,700 คน

สถานีช่องโทรทัศน์รอสสิยา 1 ของรัสเซียกล่าวตั้งข้อสงสัยต่อท่าทีของสหรัฐฯ ว่า เรื่องดังกล่าวนี้ชวนให้นึกถึงตอนที่คอลิน พาวเวลล์ ผู้นำสามเหล่าทัพในสมัยรัฐบาลบุชบอกว่ามีหลักฐานอาวุธเคมีในอิรัก นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าทางการสหรัฐฯ เริ่มออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้หลังจากที่กลุ่มกบฏเริ่มพ่ายแพ้การสู้รบกัลฝ่ายรัฐบาลในหลายๆ พื้นที่

 

 

เรียบเรียงจาก

Syria denounces US chemical weapons claim, BBC, 14-06-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-22908836

Syria and Russia slam US over weapons charge, Aljazeera, 15-06-2013 http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/06/2013614152849859283.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาประกาศยุติการชุมนุม

Posted: 15 Jun 2013 03:31 AM PDT


15 มิ.ย. 56 - สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ประกาศยุติการชุมนุม เผยแม้จะมีข้อตกลงที่ดีร่วมกัน แต่พร้อมชุมนุมอีกหากรัฐบาลเบี้ยว โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้



แถลงการณ์สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา
ฉบับที่ 2/2556 วันที่ 15 มิถุนายน 2556



ประกาศยุติการชุมนุมอย่างสงบ สันติ อหิงสา หลังจากที่พวกเราออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนหัวนา มาตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2556 มาถึงวันนี้เป็นเวลา 4 วัน เพื่อติดตามการประชุมเจรจาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวที่มีรองนายกรัฐมนตรี นสพ.ยุคคล ลิ้มแหลมทอง เป็นประธาน ในวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล จากผลการประชุมถือเป็นมติร่วมกัน 3 ข้อ ดังนี้

1. รัฐบาลพร้อมจะจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำกิน (ค่าขนย้าย) ให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบในราคาไร่ละ 45,000 บาท และพร้อมที่จะจัดสรรที่ดินแปลงอพยพให้กับราษฎรอย่างยุติธรรม

2. รัฐบาลพร้อมจะจ่ายค่าชดเชยในขอบเขตน้ำท่วมถึงจริง โดยจะนำเสนอให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

3. รัฐบาลพร้อมดำเนินการตามแผนงานลดและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนหัวนา

บัดนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าราษฎรผู้ได้รับผลกระทบในนามสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาได้เคลื่อนไหวมานานกว่า 15 ปี และผ่านรัฐบาลมาแล้ว 10 รัฐบาล เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ ด้วยกระบวนมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง จากผลการดำเนินการร่วมกับรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยรองนายกรัฐมนตรี นสพ.ยุคคล ลิ้มแหลมทอง และกรมชลประทาน ทำให้การแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานามได้มีแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามข้อความข้างต้น

บัดนี้แม้ว่าการประชุมร่วมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ จะมีข้อตกลงที่ดีร่วมกัน แต่จะต้องเร่งรัดให้เกิดการจ่ายค่าชดเชยให้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เราจะติดตามการแก้ไขปัญหาร่วมของรัฐบาลและกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด และจะมีไม่ยอมให้กระบวนการแก้ปัญหายืดเยื้ออีกต่อไป เพราะเพื่อนเรา พ่อ แม่พี่น้องเรา ได้เสียชีวิตไปแล้วหลายคน การสร้างเขื่อนที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ก็จะเกิดปัญหาสังคมตามอีกมากมาย ซึ่งจะต้องเป็นบทเรียนราคาแพงในการพัฒนาประเทศนี้ต่อไป เราจึงขอประกาศว่า

พวกเราไม่ใช้ผู้ที่จะต้องเสียสละ แต่พวกเราเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนาที่พวกเราไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมาตั้งแต่ต้น รัฐบาลจะต้องจ่ายค่าชดเชย เพื่อทดแทน ให้กับพวกเราอย่างยุติธรรม โดยมีตัวชี้วัด คือ วิถีชีวิตของพวกเราจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นเราจะออกมาเคลื่อนไหวโดยไม่มีที่สิ้นสุดหากวิถีชีวิตของพวกเราเลวร้ายลง

สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาจึงขอประกาศยุติการชุมนุมในครั้งนี้ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2556  แต่พวกก็เราพร้อมที่ออกมาชุมนุมอย่างสันติ อหิงสา เพื่อรักษาสิทธิ์และกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ภาครัฐได้ละเมิดสิทธิของเรากลับคืนจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ   
            
สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา
15 มิถุนายน 2556
ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชมรมแพทย์ชนบทชี้ต้องรอบคอบตั้ง ผอ. สวรส.

Posted: 15 Jun 2013 03:00 AM PDT

15 มิ.ย. 56 - ชมรมแพทย์ชนบทออกจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (บอร์ด สวรส.) เรื่อง ขอให้ใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการพิจารณาแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันฯ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

จดหมายเปิดผนึก
ถึงคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (บอร์ด สวรส.)
เรื่อง ขอให้ใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการพิจารณาแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันฯ



ชมรมแพทย์ชนบท
โรงพยาบาลชุมแพ  อำเภอชุมแพ
จังหวัดขอนแก่น
15 มิถุนายน 2556

เรื่อง  ขอให้คณะกรรมการใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯ
เรียน  คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

สืบเนื่องจากในวันที่ 17 มิถุนายน 2556 คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ บอร์ด สวรส. จะมีการพิจารณายืนยันคำสั่งแต่งตั้ง ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ซึ่งเป็นคนสนิทของรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขให้มารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งทางชมรมแพทย์ชนบทเห็นว่า ศ.นพ.สมเกียรติ มีคุณสมบัติบางประการไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากเคยถูก ตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องการกระทำผิดจริยธรรมในการวิจัยและถูกลงโทษถึงขั้น ตัดเงินเดือน 5% อันอาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่และภาพพจน์ขององค์กรโดยรวม    

ทางชมรมแพทย์ชนบทมีความเป็นห่วงต่อการดำเนินงานของ สวรส.ในอนาคตที่ควรจะเป็นเสาหลักของระบบสุขภาพไทยในการสร้างความรู้ สร้างงานวิจัยมาเป็นเครื่องมือชี้นำทางนโยบายในการพัฒนาระบบสุขภาพ  จึงขอให้บอร์ด สวรส.ได้โปรดพิจารณาโดยรอบคอบ  อย่าให้อำนาจทางการเมืองมากดดันคุณงามความดีที่ทุกท่านได้สั่งสมมาตลอดชีวิต อย่าให้ สวรส.ต้องมีปัญหาความน่าเชื่อถือในยุคสมัยที่ท่านเป็นคณะกรรมการ
    
ทางชมรมแพทย์ชนบทต้องขออภัยมายังอาจารย์ทุกท่านที่ไม่สามารถส่งจดหมายถึงแต่ละท่านเป็นรายบุคคลได้ เนื่องจากข้อจำกัดของเวลา เนื่องจากทางชมรมแพทย์ชนบทเพิ่งได้รับทราบว่า จะมีการนำวาระการพิจารณาให้ยืนยันในการเสนอชื่อผู้อำนวยการ สวรส. เข้าที่ประชุมในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายนจะถึงนี้
    
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
นายแพทย์เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ
ประธานชมรมแพทย์ชนบท

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ‘วันชัย แซ่ตัน’ และคดี 112

Posted: 15 Jun 2013 02:36 AM PDT

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นายวันชัย แซ่ตัน สัญชาติสิงคโปร์ซึ่งถูกคุมขังจากความผิดตามมาตรา 112 ได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัว โดยมีภรรยา เพื่อน และประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งน.ส.สุดา รังกุพันธุ์ จากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลคอยรอให้กำลังใจ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า นายวันชัยไม่ได้มีโอกาสแห่งอิสรภาพเลย เพราะตำรวจจากจาก สน.ดุสิต เจ้าของคดีได้มารับตัวเขาไปส่งยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และในที่สุดก็ได้ดำเนินการเนรเทศกลับสิงคโปร์ในวันที่ 6 มิถุนายน

ทั้งนี้ วันชัย แซ่ตัน หรือ อาฮง อายุ 55 ปี เป็นชาวสิงคโปร์ที่อยู่ในประเทศไทยมา 36 ปี พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ เดิมมีอาชีพมัคคุเทศก์ และมีภรรยาเป็นชาวไทยมีอาชีพค้าขายเสื้อผ้า ด้วยความที่เป็นมัคคุเทศ จึงชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทย และมีความชื่นชมในพระเจ้าตากสิน เมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 คุณวันชัยไม่เห็นด้วย และยิ่งรับไม่ได้กับการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตร ที่เป็น"ม็อบมีเส้น"ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน ทำให้กิจการท่องเที่ยวตกต่ำลง เขาจึงเข้าร่วมการชุมนุมกับฝ่ายคนเสื้อแดงมาตั้งแต่แรก

รายงานเล่าว่า คุณวันชัยได้ค้นคว้าสาเหตุของการรัฐประหารและเขียนเป็นเอกสารชื่อ "พระไตรปิฎกฉบับแก้แค้น" ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การเมืองหลังรัฐประหารอย่างรุนแรง และอธิบายถึงพลังอำนาจลึกลับที่สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรฯ เอกสารชุดแรกที่เขาเขียนหนาถึง 50 หน้า แต่พบว่าเมื่อเอาไปแจกไม่ค่อยมีใครอ่าน จึงทำเป็นฉบับย่อเหลือ 6 หน้า แล้วนำไปแจกเวลามีการชุมนุมของฝ่ายคนเสื้อแดง

เมือวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2552 ขณะที่คุณวันชัยนำเอกสารไปแจกในที่ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล เขาถูกจับกุมโดยการ์ดของ นปช. และได้ถูกคุมตัวมาส่งให้แกนนำ ขณะนั้นพบว่า เอกสารที่คุณวันชัยแจก น่าจะมีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง ทางฝ่าย นปช.ต้องการแสดงตนว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคุณวันชัยและเอกสารดังกล่าว กลัวการถูกใส่ร้ายป้ายสีว่า ไม่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จึงได้นำตัวคุณวันชัยมาแถลงข่าว และแจ้งให้ตำรวจ สน.ดุสิต มานำตัวนายวันชัยไปดำเนินคดี คุณวันชัยจึงสิ้นอิสรภาพตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

นายวันชัยเล่าว่า รู้สึกเสียใจและโกรธ นปช. มาก ที่ทำเช่นนั้น ตั้งแต่ถูกจับกุมตัวและถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เขาก็ถูกฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลอ้างว่าเป็นคดีที่มีบทลงโทษสูง จึงติดคุกเรื่อยมา คุณวันชัยยืนยันว่าข้อเขียนของเขานั้นเป็นความจริง และเมื่อเขายืนยันเรื่องนี้ต่อศาล ศาลก็ไม่อนุญาตให้อธิบายและพิสูจน์ข้อเท็จจริง และยังพิจารณาคดีแบบปิดลับ แม้กระทั่งภรรยาก็ยังต้องออกไปนอกห้องระหว่างการพิจารณา ด้วยความเครียดจากการถูกดำเนินคดีและจากสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ ซึ่งนายวันชัยระบุว่ากินไม่ค่อยได้ นอนไม่เคยหลับ ทำให้เขาแสดงอารมณ์โกรธและพูดจาวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงภายในศาล กระทั่งถูกส่งไปสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งเป็นสถานบำบัดผู้ป่วยจิตเวช และอยู่ที่นั่น 2 เดือน

จนในที่สุด ศาลก็ตัดสินลงโทษคุณวันชัยจากเหตุการณ์แจกเอกสารทื่ทำเนียบรัฐบาลดังกล่าว ให้จำคุก 10 ปี และยังถูกตัดสินความผิดจากอีกคดีหนึ่งในข้อหาเดียวกัน กรณีนำใบปลิวทางการเมืองไปวางไว้ในบริเวณโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี รวมแล้ว คุณวันชัยถูกตัดสินจำคุก 15 ปี แต่ศาลพิจารณาว่า คุณวันชัยให้การรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาทางคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 10 ปี

ปรากฏว่า คุณวันชัยตัดสินใจที่จะไม่สู้คดี จึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับนักโทษในคดี 112 ที่นำโดย คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ คุณธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ในจดหมายถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2555 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า


"ดังนั้นพวกข้าพเจ้าซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีเดียวกัน อันเป็นความผิดจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของบ้านเมือง หรือบางคนใช้ความรู้สึกคึกคะนองอย่างรู้เท่าไม่ถึงกาล เป็นการใช้เสรีภาพอย่างผิดพลาด มิได้เป็นอาชญากรชั่วร้ายแต่อย่างใด

บัดนี้พวกข้าพเจ้าทั้งหมดรู้สึกสำนึกผิดด้วยความเสียใจยิ่ง ต่อการกระทำที่ผิดพลาด จึงไม่ขอต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพให้ศาลตัดสินใจลงโทษจนคดีถึงที่สุด และใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษ จึงร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือพวกข้าพเจ้าให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยเถิด"


ปรากฏว่า คุณวันชัยได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังจากที่ถูกจำคุกมานานกว่า 4 ปี ขณะที่คนอื่นยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เช่น คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 12 ปี และถูกจำคุกมาแล้วราว 2 ปีครึ่ง และคุณธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ที่ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี และถูกขังมาแล้วกว่า 3 ปี นอกจากนี้ ยังคงมีผู้ต้องขังรายอื่นคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี และถูกขังมาแล้วกว่า 2 ปี กับ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกศาลตัดสินจำคุก 15 ปี และติดคุกมาแล้วเกือบ 5 ปี ทั้งสองคนต่อสู้คดี และขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์ ส่วนนายยุทธภูมิ มาตรนอก ที่ถูกพี่ชายแจ้งความจับ อยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น

สำหรับคุณวันชัย แซ่ตัน แม้ว่า จะพ้นจากคดี 112 แล้ว ก็ยังมีคดีลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายค้างอยู่อีกคดีหนึ่ง จึงได้ถูกเนรเทศ ทั้งที่นายวันชัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และมีภรรยาเป็นไทย ได้มีความพยายามในการช่วยเหลือเพื่อเรียกร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษย์ชนให้ใช้สิทธิไม่พรากจากครอบครัว เพื่อให้คุณวันชัยสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ต่อไป แต่ก็ยื่นเรื่องไม่ทันเพราะตำรวจตรวจคนเข้าเมือง รีบส่งตัวคุณวันชัยไปสิงคโปร์โดยทันที

กรณีของคุณวันชัย แซ่ตัน จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนถึงชตากรรมอันน่าเศร้าของประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112 แต่กระนั้น ความพยายามที่จะใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ดังจะเห็นได้จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ใช้ชื่อว่า "คณะคนรักในหลวงจังหวัดพิษณุโลก" ไปแจ้งความกล่าวหาว่า มีบุคคลใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งลงข้อความ-รูปภาพ เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงขอให้ตำรวจตรวจสอบและดำเนินคดี ปรากฏว่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงท่าทีสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว

ต่อมา ในวันที่ 31 พฤษภาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ นายวรินทร์ อัฐนาค หนึ่งในคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการแก้ปัญหาความยากจน และเป็นแกนนำคนเสื้อแดงมุกดาหาร โดยกล่าวหาว่ามีการโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กผิดตามมาตรา 112 และยังโจมตีด้วยว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดำเนินการปิดกั้นและดำเนินคดีต่อความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในโลกไซเบอร์ไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ใช้

แต่กระนั้น ในความเห็นของนายจาคอบ แมทธิว ประธานสมาคมสมาคมสื่อหนังสือพิมพ์และผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์โลก ถือว่า มาตรา 112 ในสังคมไทยนั้น สร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัว และขัดหลักการของเสรีภาพสื่อมวลชน ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมก็คือ การที่ใครก็ได้สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษต่อใครก็ได้ที่เชื่อว่าคนคนนั้นกระทำการหมิ่นเบื้องสูง

เมื่อเป็นเช่นนี้ น่าจะถึงเวลาของสังคมไทย ที่จะต้องพิจารณาผลร้ายจากมาตรา 112 อย่างเป็นจริง และหาทางยกเลิกเสีย ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกไม่น้อย ที่จะต้องถูกดำเนินคดีและติดคุกอย่างไม่เป็นธรรม และจะทำให้สถานะด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยดีขึ้นด้วย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์ไข้เลือดออกประเทศอาเซียนปีนี้น่าห่วง

Posted: 15 Jun 2013 02:19 AM PDT

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศอาเซียนในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น่าห่วง ข้อมูลจนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2556 มีรายงานผู้ป่วยใน 6 ประเทศรวม 123,206 ราย



15 มิ.ย. 56 - ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดงานวันรณรงค์เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียนประจำปี 2556 ( ASEAN Dengue Day 2013) ซึ่งจัดพร้อมกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และพร้อมอีก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน ปีนี้มีคำขวัญว่า อาเซียนร่วมใจปลอดภัยไข้เลือดออก (ASEAN Unity for Dengue-Free Community) โดยนำขบวนคาราวานเดินรณรงค์เพื่อพิชิตไข้เลือดออกด้วยยุทธการ 5 ป. 1 ข. คือปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัดไข่ยุงลาย และแจกยาทากันยุงและเวชภัณฑ์ เอกสารความรู้เรื่องการป้องกันควบคุมไข้เลือดออกแจกให้ประชาชน

นายแพทย์ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ปัญหาของโรคไข้เลือดออกไม่ได้มีเฉพาะในไทย พบในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้นทั้งภูมิภาคอาเซียนและในเอเชียบางประเทศ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะต่อการขยายพันธุ์ของยุงลายตัวพาหะนำโรค รัฐมนตรีสาธารณสุข 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บูรไน กัมพูชา ลาว และ ไทย ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนทุกปี ให้เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียนเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2554 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใน 10 ประเทศอาเซียนซึ่งมีประมาณ 600 ล้านคน ตระหนักในการป้องกันโรคและร่วมกันแก้ปัญหา ลดความเสี่ยงการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออก สร้างชุมชนอาเซียนให้ปลอดไข้เลือดออก เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งในปีนี้ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมนานาชาติเรื่องไข้เลือดออกที่กรุงฮานอย ในวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ด้วย

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศอาเซียนในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น่าห่วง ข้อมูลจนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2556 มีรายงานผู้ป่วยใน 6 ประเทศรวม 123,206 ราย ดังนี้ ฟิลิปปินส์ 37,895 ราย เวียดนาม 13,903 ราย มาเลเชีย 10,401 ราย สิงคโปร์ 8,483 ราย ลาว 6,377 ราย กัมพูชา 2,538 ราย และในส่วนของประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม- 11 มิถุนายน 2556 พบผู้ป่วย 43,609 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี พ.ศ.2555 กว่า 3 เท่าตัว เสียชีวิต 50 ราย หากไม่เร่งควบคุม โดยเฉพาะความร่วมมือจากประชาชนทุกคน คาดว่าในช่วง 3 เดือนนี้คือมิถุนายน – สิงหาคม จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว เนื่องจากมีปริมาณยุงลายมาก

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ตั้งวอร์รูมต่อสู้โรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น เพื่อลดป่วย ลดตาย โดยรณรงค์ความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาชน ช่วยกันลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำลายลูกน้ำยุงลาย ด้วยวิธีปฏิบัติ 5 ป. 1 ข. คือ1.ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ 2.เปลี่ยนน้ำแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำกลายเป็นยุง 3.ปล่อยปลากินลูกน้ำเช่น ปลาหางนกยุง ปลากัด ในภาชนะใส่น้ำถาวร 4.ปรับปรุง ทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักยุงลาย 5.ให้ปฏิบัติจนเป็นนิสัย และขัดล้างไข่ยุงลายตามผนังภาชนะ ทำทุกที่ ทั้งในบ้าน คอนโด สำนักงาน ศาสนสถาน โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ หากไม่มีลูกน้ำยุงลาย ก็จะไม่มีไข้เลือดออก

ด้าน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า อาการของโรคไข้เลือดออก ที่สังเกตง่ายๆคือ ไข้สูงลอย ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่างจากการเป็นหวัด เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ซึ่งเป็นระยะไข้ทุเลา หรือที่เรียกว่าสร่างไข้ แทนที่ผู้ป่วยจะรู้สึกแจ่มใสขึ้น แต่จะกลับซึมลง กินหรือดื่มไม่ได้ เป็นอาการช็อค มีอันตรายถึงชีวิต ขอให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที ช่วงนี้เป็นช่วงการระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงขอย้ำเตือนอย่านิ่งนอนใจ จนไปพบแพทย์ช้า ทำให้อาการหนัก รักษายากและอาจเสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามที่ศูนย์บริการข้อมูลสายด่วนฮอตไลน์กระทรวงสาธารณสุขหมายเลข 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333
 

 

ที่มาข่าว: HealthFocus
http://www.healthfocus.in.th/content/2013/06/3444

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมอุบลเสวนา: 'นักศึกษาขายเสียง' หายนะของสังคม

Posted: 15 Jun 2013 02:07 AM PDT

เผยวิธีซื้อเสียงนักศึกษาง่ายๆ แค่ "แจกคูปองอาหาร-หมูกระทะฟรี" ชี้ต้องกระตุ้นตนเองและคนรอบข้างให้ตระหนักว่าการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นเรื่องที่ผิดแปลกของสังคม


 

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมากลุ่มแว่นขยายร่วมกับคนรุ่นใหม่จังหวัดอุบลราชธานี จัดงานลานสนทนาคนรุ่นใหม่ "นักศึกษาขายเสียง" เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงของนักศึกษาในสถานการณ์ที่นักศึกษาสำคัญตนเองว่าเป็นปัญญาชนของสังคมแต่ก็มีการขายเสียงตนให้กับนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นละระดับชาติ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นที่อยู่บริเวณสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีทัศนคติในด้านลบกับนักศึกษาว่าเลือกตั้งนักการเมืองโดยไม่คิด ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบจากนักการเมืองที่ชุมชนไม่ต้องการ การสร้างการพูดคุยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผลที่ชวนนักศึกษามองตนเองว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ และจะนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

นายยศพล เกิดวิบูลย์ กล่าวว่า "ก่อนการมีสิทธิเลือกตั้งทุกครั้งนักการเมืองท้องถิ่นหรือหัวคะแนนจะมาพื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อทำความรู้จักกับนักศึกษา หลังจากนั้นจะให้นักศึกษาที่ตนรู้จักขยายผลประโยชน์ อาทิ การให้เงินคนละ 500 บาทสำหรับผู้มีสิทธิ การแจกคูปองแลกอาหาร การให้คูปองกินหมูกระทะฟรี เป็นต้น และจะให้นักศึกษาที่เป็นหัวคะแนนช่วยกันกระจายผลประโยชน์ให้กับเพื่อนๆ ที่รู้จักให้มากที่สุด" ซึ่งนักการเมืองที่ได้เสียงจากนักศึกษาหลังจากได้เป็นตัวแทนแล้วจะสนใจนักศึกษามากกว่าชุมชน ทำให้ชุมชนไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นจากนักการเมือง จึงสืบเนื่องให้ประชาชนไม่พอใจนักศึกษา

นายจิรพล ศรีรัตน์ กล่าวว่า "ครั้งหนึ่งตนเคยขายเสียงให้กับนักการเมืองท้องถิ่น มีหัวคะแนนมาให้เงินคนละ 1,000 บาท ก็รับไม่มีการปฏิเสธใดๆ และนักการเมืองคนดังกล่าวก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง หลังจากที่เขาได้รับชัยชนะแล้วนั้นก็มิได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน กลับทำให้เห็นถึงการทุจริตมากขึ้น ปัจจุบันก็เริ่มกลับมาพิจารณาถึงสิ่งที่ผ่านมาว่าตนเองทำเหมาะสมแล้วหรือไม่ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยทำไมคนไทยจึงยอมการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมตนได้ ทุกวันนี้ก็ตั้งคำถามกับตนเอง"

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมลานสนทนาได้ร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อการหาทางออกของปัญหาเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียงในสังคมท้องถิ่น ดังนี้

- สื่อท้องถิ่นทุกแขนงต้องหันมาให้ความสำคัญในการรณรงค์การใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างโปร่งใส เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งอย่างสุจริต

- องค์กรอิสระในพื้นที่ควรให้ความสำคัญในการเข้าไปให้ความรู้ในสถานศึกษาทุกท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเข้าใจและใช้สิทธิเลือกตั้ง

- คนในสังคมท้องถิ่นและสังคมไทยอย่างมองว่าการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นเรื่องปกติ ต้องกระตุ้นตนเองและคนรอบข้างให้ตระหนักว่าการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นเรื่องที่ผิดแปลกของสังคม

- นักศึกษาที่มีสิทธิเลือกตั้งอย่าคิดว่าตนเองไม่มีส่วนได้เสียผลประโยชน์ของท้องถิ่น การที่ย้ายทะเบียนบ้านมายังสถานศึกษาทำให้สะดวกในการติดต่อธุรกรรมต่างๆ มากขึ้น แต่อย่ามองว่าทะเบียนของนักศึกษาไม่สำคัญและไม่ได้รับผลกระทบชุมชน

- สถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญในการจูงใจให้นักศึกษาทุกชั้นปีใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือสร้างแรงกระตุ้นให้นักศึกษาออกมารณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เข้มข้น

- ชุมชนไม่ควรมองว่านักการเมืองที่ได้มานั้นมาจากการซื้อสิทธิขายเสียง แต่ควรเคารพเสียงข้างมากที่เลือกตั้งมา และสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนกับนักศึกษาเพื่อการพัฒนาแต่ละพื้นที่
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น