โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประชาชนบราซิลปีนหลังคารัฐสภา ขณะการประท้วงรัฐบาลลามไปหลายเมือง

Posted: 18 Jun 2013 12:47 PM PDT

การประท้วงล่าสุดในบราซิลลามไปยังเมืองสำคัญอย่าง ริโอ เดอ จาเนโร, บราซิลเลีย, เซา เปาโล ซึ่งผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องค่าครองชีพ เรื่องการทุจริต เรื่องการใช้งบประมาณไปกับฟุตบอลโลก 2014 มากกว่าการพัฒนาการศึกษาหรือระบบสาธารณสุข

18 มิ.ย. 2013 ประชาชนราว 200,000 คน ในบราซิลออกมาเดินขบวนบนท้องถนนตามเมืองสำคัญหลายเมือง เพื่อประท้วงเรื่องการขึ้นค่าระบบขนส่งมวลชนและค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2014 ซึ่งถือว่าเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของบราซิลในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

สำนักข่าว BBC รายงานว่าการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดมีขึ้นในเมือง ริโอ เดอ จาเนโร ที่มีประชาชนราว 100,000 คนออกมาเดินขบวนประท้วงอย่างสงบ ขณะที่ในกรุงบราซิลเลีย มีประชาชนบางส่วนที่ชุมนุมอยู่รอบอาคารรัฐสภาได้ฝ่าหน่วยรักษาความปลอดภัยและปีนขึ้นไปบนหลังคา ขณะที่ในเมือง เซา เปาโล มีประชาชนชุมนุมกว่า 65,000 คน

กระแสการประท้วงรอบล่าสุดในบราซิลเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาจากการที่ประชาชนในเซา เปาโล ออกมาประท้วงการขึ้นราคาค่าโดยสารรถประจำทางจาก 3 เรียล (ราว 42 บาท) เป็น 3.20 เรียล (ราว 45 บาท) ซึ่งทางการบราซิลออกมาชี้แจงในกรณีนี้ว่าการขึ้นค่าโดยสารไม่ได้ขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยที่เพิ่มขึ้นจากราคา 3 เรียลของเดือน ม.ค. 2011 เพียงร้อยละ 15.5 เท่านั้น

จนกระทั่งต่อมาการประท้วงเริ่มขยายประเด็นจากเรื่องค่าครองชีพมาเป็นเรื่องความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม มาจนถึงเรื่องความไม่พอใจต่อรัฐบาล

"หลายปีมาแล้วที่รัฐบาลหล่อเลี้ยงการทุจริต ประชาชนกำลังประท้วงต่อต้านระบบ" กราเซียล่า คาคาดอร์ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ

ขณะที่บางคนก็ไม่พอใจที่มีการนำเงินไปใช้กับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2014 และโอลิมปิกปี 2016 แทนที่จะใช้เงินไปกับการพัฒนาด้านการศึกษาและการสาธารณสุข

"พวกเราไม่มีโรงเรียนดีๆ ให้กับเด็กๆ โรงพยาบาลของพวกเราอยู่ในสภาพย่ำแย่ การทุจริตมีอยู่มาก การประท้วงในครั้งนี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ และเพื่อเป็นการปลุกให้นักการเมืองของเราเห็นว่าพวกเราไม่ทนอีกต่อไปแล้ว" มาเรีย คลอเดีย คาร์โดโซ ผู้ประท้วงอีกรายกล่าว

ขณะที่ช่างภาพอายุ 26 ปีที่เข้าร่วมชุมนุมบอกว่าบราซิลเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาก แต่เงินตรากลับไม่ไปถึงผู้คนที่ต้องการมันมากที่สุด

เว็บบล็อกข่าวพลเมือง ไอรีพอร์ทของ CNN ของผู้ใช้ชื่อ philipviana ได้กล่าวถึงสาเหตุที่บราซิลมีการชุมนุมใหญ่ว่าประชาชนบราซิลไม่พอใจที่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่เก็บภาษีแพงที่สุดในกลุ่มประเทศโลกที่สาม แต่ก็มีค่าครองชีพสูงและมีระบบบริการสาธารณะที่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้ยังเกิดความรู้สึกไร้อำนาจเนื่องจากมีการทุจริต การที่ผู้นำมาเฟียยังมีอำนาจโดยไม่ได้ถูกลงโทษ ทำให้อำนาจศาลถูกลบล้างโดยอำนาจฝ่ายบริหาร

การประท้วงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนดำเนินมาจนกระทั่งถึงวันที่ 13 มิ.ย. 2013 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมรวมถึงผู้สื้อข่าวหลายคน ทำให้กลุ่มสิทธิพลเมืองหลายกลุ่มรวมถึงองค์กรนิรโทษกรรมสากลและสหพันธ์นักข่าวของบราซิลกล่าววิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่

จูเลีย คาร์เนโร ผู้สื่อข่าว BBC รายงานจากบราซิลว่า ผู้ประท้วงได้พากันขานคำขวัญต่างๆ เช่น "ประชาชนตื่นแล้ว"

ขณะที่การประท้วงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวข้องหลังจากมีการเจรจาระหว่างแกนนำการชุมนุมกับหัวหน้าหน่วยรักษาความสงบ โดยบรรลุข้อตกลงกันว่าตำรวจจะไม่ใช้ปืนยิงกระสุนยาง

แต่ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในริโอ เดอ จาเนโร จะประท้วงอย่างสงบ แต่ก็มีกลุ่มเล็กๆ ที่ใช้ก้อนหินขว้างปาตำรวจและวางเพลิงรถยนต์รวมถึงทำลายอาคารที่ประชุม ทำให้ตำรวจใช้แก็สน้ำตา, สเปรย์พริกไทย และกระสุนยางในการสลายกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปะทะกันกับตำรวจในเบลโล โฮริซอง ที่มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลคอนเฟเดอเรชันส์คัพ ซึ่งเป็นการแข่งอุ่นเครื่องก่อนเวิร์ลคัพ

ในกรุงบราซิลเลีย มีประชาชนมากกว่า 200 คนปีนขึ้นไปบนหลังคาของอาคารรัฐสภา แต่หลังจากตำรวจเข้าเจรจาพวกเขาก็ยอมลงมา และต่อมาก็มีกลุ่มเยาวชนทำโซ่มนุษย์รอบอาคาร

 

"การปฏิวัติน้ำส้มสายชู"

ในสื่อโซเชียลมีเดีย ก็มีภาพของคนเรียงตัวกันเป็นรูปสัญลักษณ์สันติภาพ และมีข้อความให้กำลังใจจากตุรกีซึ่งเป็นอีกประเทศที่กำลังมีการประท้วงอย่างหนัก

การประท้วงระลอกล่าสุดมีการตั้งชื่อว่า "การปฏิวัติน้ำส้มสายชู" หลังจากที่มีผู้ประท้วงราว 60 คนถูกจับจากการที่พวกเขาพกน้ำส้มสายชูเพื่อนำมาป้องกันแก็สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย บ้างก็เรียกว่า "ฤดูใบไม้ร่วงในบราซิล" (Outono Brasileiro) ซึ่งเป็นการล้อเลียนชื่อปรากฏการณ์ "ผลิบานในอาหรับ" (Arab Spring) แต่อีกส่วนหนึ่งก็ตั้งชื่อจริงจังว่า'พริมาเวรา' (Primavera) ซึ่งหมายถึงฤดูใบไม้ผลิ

ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ กล่าวว่าการประท้วงอย่างสงบเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม และเป็นธรรมดาที่คนหนุ่มสาวจะออกมาประท้วง แต่ทางด้านรัฐมนตรีกระทรวงการกีฬา อัลโด เรเบโล เตือนผู้ชุมนุมว่าทางการจะไม่ยอมให้พวกเขาก่อกวนการแข่งขันฟุตบอลไม่ว่าจะเป็นการแข่งคอนเฟเดอเรชันส์คัพ หรือการแข่งเวิร์ลคัพ

"รัฐบาลมีหน้าที่และเกียรติยศที่ค้องปกป้องงานแข่งระดับโลกทั้งสองงานนี้ไว้ และจะทำตามหน้าที่นั้น โดยการรักษาความปลอดภัยและความสมบูรณ์แบบให้กับแฟนบอลและนักท่องเที่ยว" อัลโด เรเบโล กล่าว

ขณะที่ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นาวี พิลเลย์ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในความสงบ โดยบอกให้เจ้าหน้าที่ทางการบราซิลใช้ความอดกลั้นในการควบคุมการประท้วงที่แพร่ไปทั่วประเทศ และขอให้ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ใช้ความรุนแรงในการเรียกร้อง และบอกอีกว่าทางองค์กรของยูเอ็นมีความเป็นห่วงไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกับผู้ชุมนุมเหมือนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

เรียบเรียงจาก

Brazil protests spread in Sao Paulo, Brasilia and Rio, BBC, 18-06-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-latin-america-22946736

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/2013_Brazilian_protests

Brazil Protests Go Viral As Masses Take to Street, 18-06-2013 http://blogs.wsj.com/dispatch/2013/06/18/brazil-protests-go-viral-as-masses-take-to-street-2

What's REALLY behind the Brazilian riots?, CNN iReport, 14-06-2013  http://ireport.cnn.com/docs/DOC-988431

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนุ่มตุรกียืนเงียบๆ 8 ชม. - ประท้วง รบ.สลายผู้ชุมนุมจัตุรัสทักซิม

Posted: 18 Jun 2013 10:54 AM PDT

หลังตำรวจตุรกีใช้กำลังสลายผู้ประท้วงที่จัตุรัสทักซิมจนมีผู้เสียชีวิต 4 รายนั้น บีบีซีรายงานว่ามีชายชาวตุรกีได้ยืนประท้วงอย่างสงบเป็นเวลา 8 ชั่วโมงที่จัตุรัสทักซิม และต่อมามีผู้สมทบอีกหลายร้อยคน โดยเหตุการณ์นี้กลายเป็นแฮชแท็กฮิต "#duranadam" ในทวิตเตอร์ตุรกี

บีบีซี รายงานเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่าชายชาวตุรกีชื่อเออร์เดม กุนดุซ อาชีพนักแสดงแนว Performance ได้ยืนประท้วงที่จัตุรัสทักซิม หลังจากสัปดาห์ก่อนเจ้าหน้าที่ได้สลายผู้ประท้วงออกจากจัตุรัสดังกล่าว โดยเขาได้ยืนเงียบๆ เป็นเวลา 8 ชั่วโมง ต่อหน้าภาพมุสตาฟา เคมาล อาตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งประเทศตุรกีสมัยใหม่ และต่อมามีผู้เข้าร่วมกับเขาอีกหลายร้อยคน ก่อนที่จะถูกสลายการชุมนุมอีกรอบโดยตำรวจ (ชมภาพเพิ่มเติมที่ emirkulu.blogspot.com)

ทั้งนี้นายกุนดุซ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีในภายหลังว่า เขาต้องการยืนเชิงสัญลักษณ์ โดยเขาได้ยืนอยู่ที่จัตุรัสตั้งแต่เวลา 18.00 น. เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) และยืนอยู่จนถึงเวลา 02.00 น. ของวันถัดมา กระทั่งตำรวจเข้ามาในบริเวณดังกล่าว โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวประชาชน 10 คนที่ไม่ยอมย้ายออกจากจัตุรัส

"มีคนรุ่นหนุ่มจำนวนมากบนท้องถนน" นายกุนดุซกล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซี เขากล่าวด้วยว่า ตัวผมนั้นไม่สำคัญ แต่สำคัญที่แนวคิดที่ว่า เหตุใดประชาชนจึงออกมาต่อต้านรัฐบาลและรัฐบาลไม่ต้องการทำความเข้าใจว่าทำไมประชาชนถึงออกมาบนท้องถนน และสิ่งนี้คือการต่อต้านอย่างสงบ "ผมหวังว่าผู้คนจะได้หยุด และคิดว่า 'ได้เกิดอะไรขึ้นที่นี่' "

บีบีซี ระบุว่า การประท้วงของเขาได้ยึดกุมจินตภาพของการประท้วงไว้อย่างรวดเร็ว โดยแฮชแท็ก "#duranadam" หรือชายผู้หยัดยืน ในภาษาตุรกี ได้ยึดครองพื้นที่ในทวิตเตอร์ในเช้าวันอังคารต่อมา

โดยในหลายเว็บไซต์ของตุรกี ได้เผยแพร่ภาพของนายกุนดุซ และการประท้วงในลักษณะใกล้เคียงกันในจุดอื่นๆ ด้วย (ชมภาพ)

ทั้งนี้การประท้วงของนายกุนดุซ เป็นภาพที่ขัดแย้งสิ้นเชิงกับการปะทะที่เกิดขึ้นในรอบหลายสัปดาห์ก่อนที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 5,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย

การประท้วงในตุรกี มีจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่มีการประท้วงต่อต้านโครงการพัฒนาสวนสาธารณะเกซี ในจัตุรัสทักซิมของนครอิสตันบูล และได้ขยายเป็นการประท้วงทั่วประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาล หลังจากมีการสลายการชุมนุมอย่างหนักโดยรัฐบาลสามสมัยของนายกรัฐมนตรี รีเซบ เตย์ยิป แอร์โดกาน

โดยภายหลังที่รัฐบาลตุรกีสลายผู้ประท้วง สหภาพแรงงานในประเทศ 2 แห่งได้จัดชุมนุม และนัดหยุดงาน 1 วัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 มิ.ย.) เพื่อตอบโต้นายกรัฐมนตรีตุรกีด้วย

 
 
เรียบเรียงจาก 'Standing man' inspires Turkish protesters in Istanbul, BBC, 18 June 2013
ที่มาของภาพประกอบหน้าแรก 
http://emirkulu.blogspot.com/2013/06/durmak-yasak.html
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์นักโทษการเมือง: มองความรุนแรง(เชียงใหม่) คุ้มไหม?

Posted: 18 Jun 2013 08:59 AM PDT

ชื่อเดิม: ความรุนแรงกับการเรียนรู้ของคนเสื้อแดงในคุก : แลกกันแล้วคุ้มแค่ไหน

 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 มิถุนายน 2556) เหตุการณ์การนัดชุมนุมของกลุ่มคนหน้ากากขาวที่เชียงใหม่ถูกล้อมโดยกลุ่มเสื้อแดงกลายเป็นข่าวใหญ่ โดยถูกสรุปผ่านสายตาของสื่อกระแสหลักรวมทั้งเพจเฟซบุ๊คต้นทางที่ริเริ่มนัดแนะกิจกรรมนี้ ภาพข่าวที่สื่อกระแสหลักรออยู่แล้วคือการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะจากฝั่งเสื้อแดง เชียงใหม่ในฐานะเมืองหลวงสำคัญของคนเสื้อแดงจึงกลายเป็นพื้นที่ต้อนรับประเด็นสาธารณะอย่างรวดเร็ว มีการรายงานสถานการณ์สดๆ และอภิปรายกันอย่างดุเดือดนาทีต่อนาทีทั้งในโลกออนไลน์และสื่อวิทยุโทรทัศน์ ถึงแม้จะยังไม่มีข่าวการจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่มีแนวโน้มว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่ยอมปล่อยให้เรื่องที่เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างนี้ผ่านไปง่ายๆ และหากมีการดำเนินคดีต่อไปข้างหน้าก็ย่อมเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายอย่างแน่นอน

ถัดมาแค่วันเดียว (15 มิถุนายน 2556) กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลได้จัดกิจกรรม "ทานอาหารกับเพื่อนที่เรือนจำหลักสี่" เราจึงได้อาศัยโอกาสนี้ในการเข้าพูดคุยกับคนเสื้อแดงส่วนน้อยที่ได้เรียนรู้ผลกระทบทางการเมืองอยู่ในเรือนจำในขณะนี้ เราจึงขอความเห็นของนักโทษคดีการเมืองบางส่วนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ โดยมีคำถามหลัก คือ เห็นด้วยกับการชุมนุมเผชิญหน้าครั้งนี้หรือไม่ คิดอย่างไรกับความรุนแรง และที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากผลกระทบที่ได้รับกับตัวเอง

*หมายเหตุ : ทางเรือนจำไม่อนุญาตให้มีการบันทึกภาพและเสียง ถ้อยคำของผู้ถูกสัมภาษณ์จึงจำเป็นต้องผ่านการเรียบเรียงสรุปโดยผู้สัมภาษณ์เป็นส่วนใหญ่

=========

ธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ อายุ 21 ปี ต้องโทษ 33 ปี 12 เดือน จากคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ธีรวัฒน์เป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารที่สนใจการเมือง เขาระบุว่าเพียงแค่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ความรุนแรงก็ต้องตกเป็นจำเลยข้อหาฉกรรจ์ สำหรับข่าวการปะทะกันระหว่างกลุ่มหน้ากากขาวกับเสื้อแดงเชียงใหม่ เขายืนยันว่าไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้กำลัง และท่ามกลางการแลกเปลี่ยนความเห็นในหมู่นักโทษคดีเสื้อแดงพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่เสื้อแดงไปชุมนุมเผชิญหน้ากับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เขาเป็นหนึ่งในเสียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย

(อ่านจดหมายจากธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ <http://blogazine.in.th/blogs/redfam-fund/post/3748>)

"จากเรื่องของผมเองนั้นเห็นได้ว่าฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐมีการวางแผนสลับสับเปลี่ยนกำลัง เริ่มแรกก็ใช้ทหารยิงปืนออกมาสร้างความโกรธแค้นต่อประชาชน แล้วเปลี่ยนเอาตำรวจมาแทน สุดท้ายก็เปิดทางปล่อยให้มีการเผาทำลายอาคารศาลากลาง มีคนเสื้อแดงไม่กี่คนที่เข้าไป แต่ภาพที่ออกมาคือเสื้อแดงทั้งหมดตกเป็นจำเลย"

"ย้อนเวลาได้ก็คงไปร่วมอีกเช่นเดิม แต่เราไม่เคยคิดใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว ถ้าเขายั่วยุมาก็ไม่จำเป็นต้องโต้ตอบ ปล่อยให้เขาทำไป แต่อย่างน้อยต้องป้องกันความปลอดภัยของมวลชนฝ่ายเราเองให้ได้มากที่สุดตามสถานการณ์"

"ความรุนแรงถ้าหากจะเกิดขึ้นก็เห็นว่ามีสาเหตุหลายอย่าง อยู่ที่การตัดสินใจของแกนนำด้วยว่ามีแผนรับมืออย่างไร ถึงมวลชนส่วนใหญ่จะตัดสินใจได้เอง แต่การนำที่ดีก็มีส่วนสำคัญมากที่จะป้องกันความรุนแรง"

"ส่วนตัวที่ได้ย้ายมาอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ก็ยังไม่ได้รู้สึกโอเค แต่ก็ยังดีกว่าคนอื่นที่เขามีครอบครัวต้องดูแล อยากให้เราเคลื่อนไหวแสดงออกอย่างสันติ เพราะมาอยู่อย่างนี้แล้วไม่คุ้มแน่ๆ เพราะตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด ส่วนเรื่องคดีไม่หวังอะไรแล้วนอกจากรอนิรโทษกรรม"

………………..

ประสิทธิ์ พลอยทับทิม อายุ 56 ปี โดนข้อหาขัดขวางการเข้ารื้อเวทีและเต๊นท์ของ "กลุ่มพิราบขาว 2006" และเจ้าพนักงานเทศกิจรื้อเวทีสนามหลวงเมื่อปี 50 ตั้งแต่สมัย "กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ" ศาลตัดสินลงโทษรวม 1 ปีไม่รอลงอาญา <http://blogazine.in.th/blogs/littlevoicefromprisons/post/3719> ในเหตุการณ์เดียวกันประสิทธิ์ยังถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองฟาดจนขาหักและยังเดินกะเผลกอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยที่ยังไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากใครได้

ประสิทธิ์เข้าร่วมกับขบวนคนเสื้อแดงตั้งแต่ยุคคาราวานคนจนเมื่อปี 48 และร่วมชุมนุมตลอดมาไม่เคยขาด ประสิทธิ์ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ปะทะหลายครั้ง เขาให้เหตุผลว่าที่มักจะปะทะรุนแรงกับกลุ่มคนฝั่งตรงข้ามอย่างเสื้อเหลืองก็เพราะว่าเกลียด ไม่พอใจที่สนับสนุนอำนาจนอกระบบ สองมาตรฐาน ประกอบกับได้ผ่านเหตุการณ์ที่พบเห็นด้วยตัวเอง โดยเขาอยู่ในเหตุการณ์ปะทะช่วงที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 ด้วย และได้เป็นประจักษ์พยานในการสูญเสียชีวิตของณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง ความเกลียดชังจึงบ่มนานจนกลายเป็นความคับแค้นพร้อมที่จะระเบิดทุกครั้งที่เผชิญหน้า

หลังจากที่ประสิทธิ์ต้องเข้ารับโทษในเรือนจำพร้อมๆ กับผู้ต้องขังคดีเสื้อแดงอื่นๆ แล้ว ประสิทธิ์เคยได้รับการดูแลจากธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่มเรดนนท์ และสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เมื่อครั้งยังไม่ได้ย้ายมารับโทษอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่เหมือนในปัจจุบัน

"ตั้งแต่ติดคุกมายังไม่มีแกนนำมาเยี่ยม มีแต่พี่น้องมวลชนที่คอยดูแลกันอยู่"

"ที่ผ่านมาเราออกไปชนก็เพราะเกลียดมัน เราตัดสินใจเอง ไม่ใช่เพราะแกนนำสั่ง ที่ต้องมาติดคุกก็ไม่เป็นไร ไม่คิดว่าคุ้มไม่คุ้ม ไม่เคยกลัว คิดว่าสู้กับพวกเสื้อเหลืองจะชนะได้ง่ายกว่า เพราะอย่างไรเราก็ไม่มีกำลังพอจะไปสู้กับทหาร"

"อยากให้แกนนำตั้งเวทีที่สนามหลวงชนกับพวกเสื้อเหลืองที่ตั้งอยู่ตอนนี้ไปเลยดีกว่า ส่วนตัวถ้าออกไปได้ก็จะไปร่วมอีก ส่งใจเชียร์ให้พี่น้องเสื้อแดงเชียงใหม่ ไม่ได้เห็นว่าทำผิดอะไร แต่ควรจะหาทางป้องกันเหตุรุนแรง ส่วนการกระทบกระทั่งก็ย่อมจะมีบ้าง แต่ภาพที่สื่อออกมามันเห็นเป็นว่าเสื้อแดงเราไปรุมทำร้ายเขา ไม่ต่างจากที่คนเสื้อแดงเราเคยถูกกระทำ ภาพก็เลยออกมาไม่สวย แต่จริงๆ ก็ไม่ได้อยากให้ปะทะกันอย่างนั้น เพราะกลัวว่าจะเป็นกลลวงของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการสร้างภาพใส่ร้ายคนเสื้อแดง"

………………..

วรกฤต นันทะมงคลชัย อายุ 33 ปี เคยเป็นการ์ดกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา ด้วยข้อหาพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อสถานทูตซาอุดิอาระเบียให้กดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กรณีนายตำรวจใหญ่พัวพันการอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ก่อนหน้านั้นวรกฤตอยู่ร่วมให้เหตุการณ์ใช้กำลังปะทะระหว่างเสื้อแดงเสื้อเหลือง และกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้ง เขาเล่าว่า หลังจากถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่มีแกนนำคนใดยื่นมือให้ความช่วยเหลือ ยิ่งไปกว่านั้นแกนนำบางคนยังทำเหมือนคนไม่รู้จักกัน มีแต่พี่น้องเสื้อแดงระดับมวลชนที่คอยดูแลโดยเฉพาะทางด้านจิตใจ แรกเข้าสู่เรือนจำก็มีหนุ่มเรดนนท์และอ.สุรชัยค่อยช่วยเหลือให้คำแนะนำในการปรับตัวเนื่องจากไม่มีญาติอยู่ในกรุงเทพ อีกทั้งน้องชายยังหายสาบสูญไปโดยไม่มีใครช่วยติดตาม

(อ่านข่าวเกี่ยวกับวรกฤต นันทะมงคลชัย

<http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1358247251&grpid=01&catid=01>

<http://blogazine.in.th/blogs/littlevoicefromprisons/post/3936>)

"ย้ายมาอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่นี้ทำให้สภาพความเป็นอยู่ดีกว่าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาก เพราะพี่น้องเสื้อแดงมาดูแลได้สะดวก ก็อยากให้เพื่อนร่วมชะตากรรมคดีการเมืองได้ย้ายมาอยู่ด้วยกันทั้งหมด แต่ถึงจะอยู่ดีอย่างไรเสียก็ไม่เหมือนกับการได้รับอิสรภาพ คิดว่าไม่คุ้มแน่ๆ"

"เราทุ่มทุกอย่าง ชีวิตให้หมด แต่สุดท้ายก็เป็นบทเรียนราคาแพง มีแต่มวลชนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยเท่านั้นที่เห็นว่ามาดูแลกัน"

"ถ้าให้ไปร่วมอีกก็จะไป แต่จะระวังไม่ให้เกิดเรื่อง ไม่อยากให้มีความรุนแรง ความเสียหายที่ผ่านมามันไม่คุ้ม คิดว่าไม่ใช่เรื่องว่าใครยั่วยุใคร แต่เป็นสถานการณ์พาไปมากกว่า ไม่เอาอีกแล้วเรื่องความรุนแรง"

"ถึงจะเห็นด้วยกับที่เสื้อแดงเชียงใหม่ออกไปเผชิญหน้ากับกลุ่มหน้ากากขาว เพราะเราต้องแสดงออกถึงจุดยืนของเรา แต่ก็อยากฝากบอกว่า อย่าไปปะทะกับเขาเลย จะเข้าเกมเขา ควรจะเน้นปะทะกันทางความคิดดีกว่าใช้กำลัง อย่าใช้ความรุนเรงเลย มันไม่คุ้มหรอก"

=================

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัวเลข - ข้อเสนอแนะของ สศช. ต่อโครงการจำนำข้าว

Posted: 18 Jun 2013 07:24 AM PDT

เปิดตัวเลข (ที่แตกต่าง) และ 8 ข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เสนอ ครม.รับทราบ เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าว

ตัวเลขปริมาณการรับจำนำ-เงินที่ใช้-รายได้จากการขาย-ยอดหนี้สะสม ที่มีหลายชุดสร้างความสับสนมาพักใหญ่และยิ่งเป็นประเด็นเมื่อฝ่ายค้านออกมาระบุตัวเลขหนี้ว่าอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท สถาบันจัดอันดับมูดีส์ระบุที่ 2 แสนล้านบาท จนกระทั่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) นั่งสรุปตัวเลขร่วมกับ วราเทพ รัตนากร ซึ่งเข้ามาเป็นคนกลางดูข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จนล่าสุด มีการแถลงข่าวออกมาเป็นตัวเลขเดียว (ตามตาราง) โดยยังไม่มีการแจ้งตัวเลขของปี 55/56 เนื่องจากโครงการยังไม่สิ้นสุด

 

ข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวเบื้องต้น ( 31 ม.ค.56)
(นาปี 54/55 –  นาปรัง 55)

รายการ

คณะอนุฯ ปิดบัญชี

กระทรวงพาณิชย์

        1. จำนวนข้าวเปลือก

             จำนวนข้าวสาร

21.7   ล้านต้น

13.5    ล้านตัน

21.7    ล้านตัน

13.5    ล้านตัน

  1. จำนวนเงินที่ใช้

337,322   ล้านบาท

337,322   ล้านบาท

  1. ค่าใช้จ่าย

14,786    ล้านบาท

14,786    ล้านบาท

  1. รวมค่าใช้จ่าย (2)+(3)

352,108   ล้านบาท

352,108   ล้านบาท

  1. มูลค่าข้าวคงเหลือในสต๊อก

156,000   ล้านบาท

252,300   ล้านบาท

  1. มูลค่าข้าวที่ระบาย

59,200    ล้านบาท

49,900    ล้านบาท

  1. ขาดทุน (กำไร)

136,908   ล้านบาท

49,908    ล้านบาท

ที่มา: นายวราเทพ รัตนากร รวบรวมตามที่ครม.มอบหมาย  (ไทยรัฐ)

 

 

อย่างไรก็ตาม ในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้18 มิ.ย.56 มีการรับทราบข้อเสนอแนะแนวทางในการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งนอกจากจะมีคำแนะนำที่น่าสนใจแล้ว ยังมีตัวเลขอีกชุดหนึ่ง ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่นายวราเทพนำเสนอ แต่เพิ่มเติมมีตัวเลขการรับจำนำและวงเงินค่าใช้จ่ายในปี 2555/2556 ด้วย  

 

ข้อมูลเบื้องต้นของ สศช.

1.ปริมาณข้าวเปลือก (ณ วันที่ 12 มิ.ย.56)

ปี 2554/55 จำนวน 21.68 ล้านตัน

ปี 2555/56 จำนวน 18.79 ล้านตัน

รวมทั้งสิ้น 40.47 ล้านตัน  
                                         

2.วงเงินที่ใช้ (ณ วันที่ 14 พ.ค.56)

ปี 2554/55 จำนวน 337,246 ล้านบาท

ปี 2555/56 จำนวน 251,462 ล้านบาท

รวมทั้งสิ้น 588,708 ล้านบาท


3.การระบายข้าว

ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ - มี.ค. 56 ระบายข้าวไปแล้วทั้งสิ้น 76,001 ล้านบาท

จนถึงเดือน ก.ย. 56 คาดว่าจะระบายได้อีกเป็นเงิน 73,082 ล้านบาท

รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 149,083 ล้านบาท

 

4.ประโยชน์ของโครงการ

ปี 2554/55 รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.16 แสนล้านบาท ใน

ปี 2555/56 รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.14 แสนล้านบาท

หรือ รายได้เกษตรกรที่เข้าโครงการเพิ่มขึ้น ประมาณ 42,000 บาทต่อคน

ปี 2554/55 โครงการมีส่วนทำให้ GDP เพิ่มร้อยละ 0.69

ปี 2555/56 โครงการมีส่วนทำให้ GDP เพิ่มร้อยละ 0.62

ปี 2555 การใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งประเทศขยายตัวร้อยละ 6.7 หากไม่มีโครงการนี้จะขยายตัวร้อยละ 4.7

 

5.ผลกระทบของโครงการ

5.1 ผลกระทบต่อฐานะการคลัง

การดำเนินโครงการปี 2555 – 2556 ทำให้รัฐบาลมีภาระหนี้สะสม ประมาณ 159,687 ล้านบาท สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะต้องผลักภาระการชำระหนี้ไปในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ หากมีการกำหนดกรอบปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกไม่เกิน 15 ล้านตันต่อปี ในการดำเนินงานปี 2557 - 2560 จะทำให้รัฐบาลมีภาระเฉลี่ยปีละ 80,621 ล้านบาท (ประมาณการจากส่วนต่างของราคารับจำนำและแนวโน้มราคาตลาด รวมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและการเก็บรักษา)

5.2 การกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาดมาก ซึ่งมีผลต่อการขาดทุนในการดำเนินงานสูง และเป็นภาระงบประมาณ รวมทั้งทำให้ราคาส่งออกและต้นทุนการผลิตข้าวสูงกว่าประเทศคู่แข่ง

5.3 เกษตรกรรายใหญ่และกลางได้ประโยชน์จากโครงการมากกว่าเกษตรกรรายย่อย

5.4 ความสามารถในการระบายข้าวของรัฐมีจำกัด ประกอบกับสต็อกข้าวคงเหลือปลายปีของประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เป็นข้อจำกัดในการดำเนินงาน

5.5 กระบวนการออกใบรับรองและใบประทวนให้กับเกษตรกรมีความล่าช้า

 

ภาพรวมของข้าว

ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ให้กับประเทศอย่างมาก โดยสัดส่วนมูลค่าการส่งออกข้าวเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด และมูลค่าเพิ่มสินค้าข้าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตร

นอกจากนั้น ข้าวเป็นสินค้าที่ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกมากที่สุด คิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งประเทศ รวมทั้งการปลูกข้าวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวนามากถึงร้อยละ 66 ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด

ประเทศไทยส่งออกข้าวประมาณ 1 ใน 3 ของข้าวที่ส่งออกทั้งหมดในโลก และมีคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนามและอินเดีย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยร้อยละ 19 และ 15 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในปี 2555 อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ เวียดนามและไทยตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากอินเดียเริ่มเปิดตลาดให้มีการส่งออกข้าว หลังจากที่ดงการส่งออกไปหลายปี และเวียดนามที่มีการลดราคาข้าวอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวคุณภาพต่ำเพื่อแข่งขันกับข้าวของไทย ดังจะเห็นได้จากในปี 2556 (ม.ค.-พ.ค.) ปริมาณการส่งออกข้าวไทย 2.232 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออก 1,584 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนาม ประมาณ 2.226 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออก 973 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กล่าวได้ว่า ไทยสามารถส่งออกข้าวได้มูลค่าสูงกว่าเวียดนามในปริมาณส่งออกที่ใกล้เคียงกัน

 

ข้อเสนอแนะ

1.ควรกำหนดราคารับจำนำให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับภาระราคาข้าวในตลาดโลก โดยอาจคำนวณจากต้นทุนการผลิตข้าว บวกค่าขนส่งและกำไรที่เหมาะสมของเกษตรกร

ทั้งนี้ ในระยะแรก ควรพิจารณาจำกัดปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรต่อครัวเรือน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรรายย่อย และในระยะต่อไป ควรพิจารณากำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลก

2. ควรจำกัดปริมาณและ/หรือพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยที่ยากจน มีพื้นที่นาน้อยหรือต้องเช่าที่นาจากผู้อื่นและเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม

3.ควรเร่งรัดการออกเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความรวดเร็ว และพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเกษตรกรที่มีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคาตลาดโลก เพื่อลดต้นทุนการเก็บรักษาและการเสื่อมสภาพของข้าวและรายงานผลการระบายสต็อกข้าวให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ๆ

5. ควรวางระบบกำกับและตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้งกระบวนการ ตลอดจน ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง

6. โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีความจำเป็นต้องดำเนินการจนถึงปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็งเพียงพอ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานควรกำหนดเป้าหมายการขาดทุนของโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ไม่เกิน 1 แสนล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 3 ปี

7.สนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพข้าว เพื่อยกระดับการส่งออกสินค้าข้าวไปสู่ตลาดบนที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ตลอดจนเร่งจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตร ให้มีการปลูกข้าวที่สอดคล้องกับศักยภาพแต่ละพื้นที่ รวมทั้งมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

8. ส่งเสริมกลไกตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้มีความเข้มแข้งและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับกลไกของตลาดในท้องถิ่น ตลาดกลาง และตลาดส่งออก ตลอดจนเร่งรัดการดำเนินงานทำประกันภัยพืชผลการเกษตรให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

 

ที่มา: มติคณะรัฐมนตรี 18 มิถุนายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กขช.หั่นราคาจำนำข้าว 12,000 - ครม.เตรียมถกลดราคาหรือไม่

Posted: 18 Jun 2013 06:54 AM PDT

 

18 มิ.ย.56 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อมูลและข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พร้อมให้แต่งตั้งคณะกรรมการของแต่ละหน่วยงานตรวจสอบปริมาณสินค้าคงเหลืออีกครั้ง

นายวรา​เทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มี​การรายงานข้อมูลต่อที่ประชุม ครม.​ถึงตัว​เลขผลกำ​ไรขาดทุน​ใน​โครง​การรับจำนำข้าว ​ซึ่ง​เป็นข้อมูลของคณะอนุกรรม​การปิดบัญชี​โครง​การรับจำนำสินค้า​เกษตร กระทรวง​การคลัง ​ซึ่ง​เป็นยอดขาดทุนรวม 1.36 ​แสนล้านบาท จาก 2 ​โครง​การ​แรก คือ​โครง​การรับจำนำข้าวนาปี ปี 54/55 ​และ​โครง​การรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 55 ​แต่ยัง​ไม่รวม​การดำ​เนินงาน​ในส่วนของข้าวนาปี ปี 55/56 รวมแล้วมีตัว​เลขขาดทุน 1.36 ​แสนล้านบาท

อย่าง​ไร​ก็ดี ​เนื่องจากยังมีตัว​เลขสต๊อกข้าวจากองค์​การคลังสินค้า(อคส.) ​และองค์​การตลาด​เพื่อ​เกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่ยัง​ไม่​ได้บันทึกรวม​ไว้​ในยอดของคณะอนุกรรม​การปิดบัญชีฯ อีกราว 2.98 ล้านตัน ส่วน​ใหญ่อยู่​ใน​โครง​การจำนำข้าวนาปี ฤดู​การผลิตปี 55/56 ที่ประชุมครม.​จึงขอ​ให้​เน้น​การตรวจสต็อกข้าว ​โดย​ให้กระทรวงพาณิชย์กำหนด​แนวทาง​การตรวจสต็อกข้าวและขอ​ให้นำมารายงานภาย​ใน 1 ​เดือน ​ซึ่งจะ​ทำ​ให้ทราบตัว​เลข​การปิดบัญชี​โครง​การรับจำนำข้าวครบ​ทั้ง 3 ​โครง​การขณะ​เดียวกัน

นายวราเทพกล่าวอีกว่า ตัว​เลข​โครง​การจำนำข้าวนาปี ปี 55/56 ณ วันที่ 31 ม.ค.56 มีข้าว​เปลือก​เข้า​โครง​การ 9.9 ล้านตัน มี​การรายงานว่ามีข้าว​เปลือกค้าง​ในสต็อก 2.9 ล้านตัน ดังนั้น​จึงมีข้าว​เปลือกที่รอสี​แปรสภาพอยู่ 7 ล้านตัน ​ซึ่ง​ใน 7 ล้านตันข้าว​เปลือกนี้จะต้องสี​แปรสภาพออกมา​เป็นข้าวสาร​ได้ 4 ล้านตันข้าวสาร ​แต่ตัว​เลข​ในรายงานที่บันทึกอยู่กลับมีข้าวสาร​เพียง 1.7 ล้านตัน ดังนั้น​จึงต้องมี​การตรวจสอบ​ความชัด​เจนของตัว​เลขนี้​ใหม่

ส่วนกรณี​เรื่อง​การปรับ​เกณฑ์ราคารับจำนำข้าว​ใหม่นั้น นายวรา​เทพ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ไม่​ได้มี​การพิจารณา​ใน​เรื่องนี้ ว่าจะ​เลือก​ใช้​แนวทาง​ใดจากที่ กขช.​เสนอมา​ทั้งหมด 3 ​แนวทาง ​โดย​ได้ขอ​ให้ กขช.นำข้อ​เสนอ​แนะของสภาพัฒน์ ​และรายงานของตนกลับ​ไปประกอบ​การพิจารณาอีกครั้ง

ขณะที่ ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่ กขช.แต่งตั้ง ที่มี พล.ต.ต. ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกฯ เป็นประธาน เข้าตรวจสอบโรงสี และโกดังกลางที่อยู่ในโครงการรับจำนำ เนื่องจากมีข้าวสารที่คาดว่าจะหายไปกว่า 3 แสนตัน และต้องการตรวจดูว่าโรงสีเข้าร่วมรับจำนำมีสต๊อกลมหรือไม่ หากพบว่าผิดจะดำเนินคดีถึงที่สุด โดยต้องรายงานให้ ครม.รับทราบภายใน 30 วัน
       
ร.ท.หญิง สุนิสา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กชช.ยังรายงานให้ ครม.รับทราบในการปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าในปี 56/67 ให้ลดเหลือประมาณ 12,000-13,000 บาทต่อตัน ผ่านการคำนวณรูปแบบต่างๆ และการจำกัดปริมาณรับจำนำข้าวไม่เกิน 25 ตันต่อครัวเรือน หรือเป็นเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย และกำหนดเป้าหมายต้องขาดทุนไม่เกิน 70,000 ล้านบาท ที่ประชุม ครม.สั่งให้กลับไปศึกษาให้ชัดเจนอีกครั้งเพื่อรองรับการจำนำข้าวในปีต่อไป
       
รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอให้ลดราคาตามโครงการรับจำนำข้าวจาก 15,000 บาทต่อตันเหลือ 12,000 บาทต่อตัน ตามที่ กขช.เสนอ แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผลรองรับ ต่อมา นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้อภิปรายทันทีว่า "ท่านอย่าลืมว่าท่านได้เสนอนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว ซึ่งหากจะทำอย่างนั้นต้องหาอะไรเสริมให้เขา ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ คุณโดนแน่ เพราะอย่าลืมว่าคุณหาเสียงไว้อย่างนั้นและแถลงต่อสภาไว้อย่างนี้ ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจลด หรือปรับเปลี่ยนนโยบาย แต่ต้องทำเพื่อไม่ให้มีปัญหา" ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานในการประชุมได้รับทราบตามนั้น และสั่งการให้ กขช.ไปพิจารณามาใหม่ว่าหากลด 12,000 บาท จะมีแนวทางอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ภายใน 30 วัน
       
นอกจากนี้ผู้แทนจาก สศช.ได้เสนอในที่ประชุมว่า การใช้คำว่าขาดทุนนั้น เป็นวาทกรรมทางการเมือง เพราะสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ยอมรับว่า โครงการประกันราคานั้นขาดทุน แล้วเหตุใดรัฐบาลจึงใช้คำพูดที่เข้าทางฝ่ายค้านด้วย ทำให้ นายวราเทพ แย้งว่า หากเปลี่ยนตอนนี้ สังคมก็จะตำหนิว่าเปลี่ยนปุบปับ และตั้งข้อสงสัยกันอีก
 

กขช.เคาะราคารับจำนำข้าวเปลือกตันละ 12,000 บาท เริ่ม 30 มิ.ย.

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน มีการประชุมของ กขช.วาระพิเศษหลังนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ กขช. ไปจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การรับจำนำ โดยภายหลังการประชุม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองประธาน กขช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2556 ข้าวเปลือกเจ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 จากเดิมตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป และกำหนดวงเงินรับจำนำเกษตรกรแต่ละรายไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือน มีผลวันที่ 20 มิถุนายนนี้

สำหรับการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น เพื่อรักษาวินัยทางการคลังที่รัฐบาลวางแผนจัดทำงบสมดุลภายในปี 2560 และให้การใช้เงินงบประมาณในการแทรกแซงราคารับจำนำขาดทุนไม่เกิน 100,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งผลจากการขาดทุนโครงการรับจำนำในโครงการ 2554/2555 ที่ขาดทุนกว่า 136,000 ล้านบาท รัฐบาลจะพิจารณางบประมาณมาชดเชยผลการขาดทุน และจากการติดตามต้นทุนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าต้นทุนต่อไร่ของเกษตรกรอยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน แม้มีการลดราคารับจำนำเหลือ 12,000 บาทต่อตัน เกษตรกรก็จะยังมีกำไรเกือบร้อยละ 40

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงการคลัง ไปหาแนวทางลดต้นทุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หลังมีการปรับลดราคารับจำนำ ส่วนการรับจำนำข้าวในฤดูกาลต่อไปยังไม่ได้พิจารณา

ส่วนโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง 2556 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคมนี้ คาดว่าจะมีปริมาณข้าวเข้าโครงการรับจำนำประมาณ 10 ล้านตันข้าวเปลือก

ขณะที่ในช่วงค่ำ สื่อมวลชนรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 10.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่าด้วยเรื่องปัญหาในโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 จาก 15,000 บาทต่อตัน เหลือประมาณ 12,000 บาทต่อตัน และจำกัดเกษตรกรรายละไม่เกิน 5 แสนบาท โดยให้มีผลวันที่ 30 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ ตามภารกิจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดิมได้มีการนัดประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจประจำสัปดาห์ ในเวลา 10.30 น.อยู่แล้วด้วย.

ปชป.แฉ ตัวเลขขาดทุน 1.36 แสนล้าน ยังไม่รวมยอดปี 55/56 อีก 8.4 หมื่นล้าน

ขณะที่ช่วงเช้าวันนี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคฯ กล่าวถึงการขาดทุนของโครงการจำนำข้าวที่ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า การจำนำข้าวนาปี 54/55 และนาปรังปี 55 มีตัวเลขรวมขาดทุนที่ 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้แถลงไปก่อนหน้านี้คือ โครงการข้าวนาปี ปี 54/55 ขาดทุน 42,963 ล้านบาท รวมกับข้าวนาปรังปี 55 ขาดทุน 93,933 ล้านบาท เป็นยอด 1.36 แสนล้านบาท แต่นายวราเทพยังไม่ยอมรับตัวเลขการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวนาปี ปี 55/56 อีกจำนวน 84,071 ล้านบาท ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แถลงไปก่อนหน้านี้

โดย นายวราเทพอ้างว่าตัวเลขฤดูปี 55/56 ยังสรุปไม่ได้ เพราะมีการคำนวณสต๊อกข้าวไม่ตรงกัน เนื่องจากยังมีข้าวในสต๊อกอีก 2.5 ล้านตัน มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้คำนวณรวมไว้ จึงให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไปคำนวณใหม่ ทั้งนี้ การยอมรับของนายวราเทพจึงยืนยันได้ว่า ตัวเลขที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์นำมาเปิดเผยเป็นของจริง ต่างที่นายวราเทพไม่ยอมรับยอดขาดทุนข้าวนาปี 55/56 จึงพยายามที่จะลดตัวเลขการขาดทุนลง

นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าตัวเลขที่พรรคใช้แถลงตรงกับที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีรับจำนำข้าว ได้สรุปไปแล้ว แต่นายวราเทพอ้างว่า ยังมีตัวเลขข้าวในสต๊อกอีก 2.5 ล้านตัน มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท จึงให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไปพิจารณาใหม่นั้นก็ไม่เป็นความจริง แต่เป็นการลดยอดขาดทุนของรัฐบาล จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขข้าวที่อ้างว่ามีอยู่ในสต๊อก 2.5 ล้านตันนั้น ใกล้เคียงกับข้าวถุงที่รัฐบาลมอบให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำข้าวจากโครงการรับจำนำไปบรรจุถุงขายประชาชนในราคาถูกปริมาณ 1.8 ล้านตัน แต่จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการ วุฒิสภาฯ พบว่ามีการผลิตข้าวของ อคส.ออกสู่ตลาดจริง เพียงแค่ 1.4 แสนตันเท่านั้น จึงมีข้าวล่องหนของ อคส.ประมาณ 1.66 ล้านตัน มีมูลค่าความเสียหายต่อรัฐถึง 2.57 หมื่นล้านบาท ถามว่าข้าวที่หายไปถูกคำนวณในสต๊อกข้าวนาปี 55/56 ด้วยหรือไม่ และสงสัยว่านับสต๊อกซ้ำหรือทำสต๊อกลมหรือไม่ ขอให้รัฐบาลตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าในการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีรัฐบาลจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายขาด ปีละประมาณ 1.5 หมื่นล้าน สองปีรวม 3 หมื่นล้าน ไม่รวมค่าบริหารในส่วนอื่น ดังนั้น น่าจะขาดทุนมากกว่า 2.6 แสนล้านด้วยซ้ำ จึงเรียกร้องถึงรัฐบาลว่า อย่าเบี่ยงเบนว่าไม่ใช่ 2.6 แสนล้าน สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ต้องแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชันในโครงการ เพราะการที่ ครม. จะมีมติลดโควตาการจำนำข้าว หรือลดราคาจำนำนั้น ก็แสดงถึงการยอมรับความล้มเหลวว่า ไม่สามารถเดินหน้าโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคา 1.5 หมื่นบาทได้ เพราะขาดทุนจากโครงการนี้ 2.6 แสนล้าน เกษตรกรได้เงินแค่ 8.6 หมื่นล้าน เท่ากับ 30% เท่านั้น

เปิดมติเต็ม กขช.แนวทางรับจำนำฤดูกาลหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมถึงรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2556 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้ครม.รับทราบ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. การปิดบัญชีโครงการรับจำนำ

1.1 เห็นชอบวิธีการคำนวณและผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ตามเอกสารปิดบัญชีโครงการรับจำนำทั้งสองโครงการของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 โดยมีข้อสังเกต  คือ 

(1) การคำนวณสต็อกข้าวคงเหลือ จะใช้ราคาต้นทุนหรือราคาตามประกาศกรมการค้าภายใน (ซึ่งคือราคาตลาด) หรือราคาจำหน่าย ขึ้นอยู่กับราคาใดจะต่ำที่สุด 

(2) รายได้จากการจำหน่ายข้าวสารของทั้งสองโครงการ มีปริมาณข้าวที่เป็นข้าวบริจาคและข้าวสารจำหน่ายราคาถูกตามนโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน รวมปริมาณ 608,672 ตัน มูลค่าที่อนุมัติจำหน่ายจำนวน 4,426.97 ล้านบาท มูลค่าตามต้นทุน จำนวน 15,531.109 ล้านบาท แตกต่างกันจำนวน 11,104.139 ล้านบาท ซึ่งไม่ควรนำมาพิจารณาเป็นภาระของโครงการ เนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาล จึงควรที่รัฐจะต้องชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายกับราคาต้นทุนให้แก่โครงการรับจำนำ

1.2 ให้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือของทั้ง อคส. และ อ.ต.ก. ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.ต.ต.ธวัช  บุญเฟื่อง)  เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ร่วมเป็นคณะทำงาน และผู้แทนกรมการค้าภายใน เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

1.3 ให้มีการแยกรายงานการปิดบัญชีโครงการรับจำนำออกเป็น 2 ชุด โดยรายงานที่เสนอ กขช. เป็นการปิดบัญชีโครงการรับจำนำตั้งแต่ ปี 2554/55 เป็นต้นไป ตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ 9/2556 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 สำหรับโครงการอื่นให้รายงานคณะรัฐมนตรีตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 672/2553 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2553

1.4 ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลโครงการในทุกมิติ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางตรงที่เกษตรกรได้รับ และผลทางอ้อมคือระบบเศรษฐกิจรวมถึงความคุ้มค่าของโครงการ โดยมีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย) เป็นประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ด้านสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องข้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ โดยมีผู้แทนกรมการค้าภายใน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

2.  แนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56   เพื่อมิให้ปริมาณและวงเงินการรับจำนำข้าว ปี 2555/56 เกินกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ ระยะเวลาโครงการสิ้นสุดวันที่ 15 กันยายน 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอแนวทางการดำเนินการในระหว่างฤดูกาลนี้  ดังนี้

2.1 การปรับลดราคารับจำนำ ข้าวเปลือกเจ้า 5% ลดลงเหลือตันละ 12,000 บาท

2.2 จำกัดวงเงินรับจำนำ ไม่เกิน 500,000 บาท/ครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความกังวลว่าการปรับเปลี่ยนกลางคันอาจเกิดความสับสนวุ่นวาย หรือเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนที่จำนำข้าวเปลือกแล้วและคนที่ยังไม่นำข้าวเปลือกมาจำนำ สำหรับประเด็นการลดราคาอาจมีผลกระทบต่อราคาตลาดในประเทศและราคาส่งออกรวมทั้งส่วนที่ได้ระบายไปแล้วและอยู่ระหว่างการส่งมอบ ผู้ซื้ออาจขอเจรจาปรับราคาลงอีกได้ จึงมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  ธ.ก.ส. อคส. และ อ.ต.ก. ไปดำเนินการกำกับดูแลให้การดำเนินการรับจำนำอยู่ในกรอบปริมาณและวงเงินที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้โดยเคร่งครัด

3. แนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57  เนื่องจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก  ปี 2554/55 และนาปรัง ปี 2555 มีผลขาดทุนมากกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กดดันราคาข้าวไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท และการทุ่มตลาดข้าวของอินเดียและเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาสามารถทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 338,562 ล้านบาท จึงเห็นควรปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2556/57 ใน 4 ด้าน  ดังนี้

3.1 ด้านราคารับจำนำ ซึ่งมีแนวทางการปรับลดราคารับจำนำ คือ

(1) ใช้ราคาต้นทุนการผลิต + กำไรที่เกษตรกรควรจะได้รับ ประมาณร้อยละ 25 เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการแทรกแซงตลาด

(2) ใช้ราคารับจำนำเดิมปรับลดลง ร้อยละ 15 – 20

(3) ใช้ราคานำตลาด ร้อยละ 10

ซึ่งจะทำให้ราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% มีราคาประมาณตันละ 12,000 – 13,000 บาท

3.2 ด้านปริมาณรับจำนำ การกำหนดปริมาณรับจำนำทั้งโครงการไว้เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง เช่น กำหนดปริมาณรับจำนำทั้งโครงการปี 2556/57 (ทั้งนาปี + นาปรัง) ไม่เกิน 17 ล้านตันข้าวเปลือก จำกัดปริมาณรับจำนำของเกษตรกรไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน เป็นต้น

3.3 ด้านวงเงินที่รับจำนำของเกษตรกรแต่ละราย โดยจำกัดวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร ไม่เกิน 300,000 - 500,000 บาท/ครัวเรือน

3.4 ด้านระยะเวลารับจำนำ โดยกำหนดระยะเวลาการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 – กุมภาพันธ์ 2557 และข้าวเปลือกนาปรัง ระหว่างเดือนมีนาคม – กรกฎาคม 2557

ทั้งนี้  มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ รวบรวมข้อมูลและศึกษาทางเลือกข้างต้นพร้อมทั้งการกำหนดเงื่อนไขประกอบ เพื่อจำกัดวงเงิน ภาระค่าใช้จ่าย และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นไม่ให้เกินวงเงินปีละประมาณ 70,000            ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำงบประมาณสมดุลของประเทศตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง

 


เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, เว็บไซต์สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์ไทยรัฐ , เว็บไซต์ RYT9

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ไชยวัฒน์ - นพ.ตุลย์” ปัดขอนายกฯ พระราชทาน

Posted: 18 Jun 2013 05:18 AM PDT

"ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์" ปฏิเสธข่าวขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน แต่ยืนยันว่าเป็นการถวายฎีกาพร้อมยื่นรายชื่อประชาชน 9 ล้านคนหวังพึ่งพระบารมี และปฏิเสธอำนาจบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลปัจจุบัน

หลังจากเมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) กลุ่มคนไทยรักชาติรักแผ่นดิน และกลุ่มพลังธรรมาธิปไตย นำโดย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ได้นำผู้ชุมนุมนับพันคน โดยผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งแต่งกายในเครื่องแบบของทหารกองปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) โดยเดินมายังสำนักพระราชวัง ที่ประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง  เพื่อทูลเกล้าถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ล่าสุดวันนี้ (18 มิ.ย.) เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานคำแถลงของนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ทีปฏิเสธการยื่นถวายฎีกาขอนายกพระราชทาน โดยกล่าวว่าเป็นเพียงการยื่นถวายฎีกา ไม่มีเหตุผลการขอนายกฯ พระราชทานอยู่ในเหตุผลทั้ง 5 ข้อ และการรวมรายชื่อประชาชน 8,999,999 รายชื่อ นั้น ก็เป็นการทำตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 โดยประชาชนหวังพึ่งพระบารมี เพราะเห็นว่ากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ใช้อำนาจอธิปไตยผ่าน 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งประชาชนที่มาร่วมลงนามก็ไม่มีการแสดงเจตนารมณ์ที่จะขอนายกฯ พระราชทาน ดังนั้น กระแสข่าวที่ออกมาจึงเป็นไปไม่ได้

โพสต์ทูเดย์  รายงานคำพูดของนายไชยวัฒน์ด้วยที่ระบุว่า มีการปล่อยข่าวและเป็นการกระทำของกลุ่มที่หวังผลทางการเมือง ขณะที่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ยืนยันเช่นกันว่า ไม่ได้ยื่นขอนายกฯ พระราชทาน แต่เป็นการยื่นฎีกา เพื่อปฏิเสธอำนาจรัฐบาลซึ่งปฏิบัติหน้าที่บริหารบ้านเมืองผิดพลาด กรณี ส.ส.-สว. ไม่ยอมรับอำนาจคำตัดสินของศาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษาแย้ง มติ ครม.นำ ม.ขอนแก่น ออกนอกระบบ

Posted: 18 Jun 2013 05:13 AM PDT

เครือข่ายนักศึกษาค้าน มข.ออกนอกระบบ เคลื่อนไหวค้านมติ ครม.4 มิ.ย. ส่งหนังสือถึงสำนักนายกฯ ให้เพิกถอนมติครม.ที่เห็นชอบ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ... ยันผู้บริหาร มข.ไม่เคยทำประชาพิจารณ์ภายในมหาวิทยาลัย หลังเคยถูกถอนร่างกฎหมายมาแล้ว

<--break->
วันนี้ (18 มิ.ย.56) เวลา 13.30 น.หน้าที่ทำการไปรษณีย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ นำโดยนายศักรินทร์ อ้องาม ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาฯ ส่งหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีผ่านทางไปรษณีย์ ร้องทบทวนการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ และขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.56 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ 'มหาวิทยาลัยนอกระบบ'
 
นายศักรินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการถอนร่าง พ.ร.บ.มหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ทางมหาวิทยาลัยยังไม่ได้มีการจัดทำประชาคมสอบถามความคิดเห็น และให้ข้อมูลแก่นักศึกษา หรือภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
 
"วันนี้เราจึงมาเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้เพิกถอนมติที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ออกนอกระบบ" นายศักรินทร์ กล่าว
 
นายศักรินทร์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "การที่จะมีการแปรรูปสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นสถาบันที่จำเป็นต่อการพัฒนาของประเทศชาติ ควรจะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในชาติก่อน"
 
ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือเครือข่ายนักศึกษาฯ มีข้อเรียกร้อง 2 ข้อคือ 1.ขอให้ทบทวนการนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ เนื่องจากยังมีนักศึกษาคัดค้านมาโดยตลอดและขอเหตุผลที่จะนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
2.ขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังไม่ได้ทำความเข้าใจและยังไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นรวมถึงการประชาคมของมหาวิทยาลัย
 
 
 
มติ ครม. 4 มิถุนายน 2556
 
ครม.มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ....  ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
 
 สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
 
1) กำหนดให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
 
2) กำหนดวัตถุประสงค์ ภาระหน้าที่ การแบ่งส่วนงาน หลักเกณฑ์ การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกส่วนงาน การรับสถานศึกษาอื่นเข้าสมทบ และอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
 
3) กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีรายได้ส่วนหนึ่งจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นและรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุน รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้จากการซื้อหรือแลกเปลี่ยนไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย
 
4) กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย  ประกอบด้วยนายกสภามหาวิทยาลัยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งและคณาจารย์ประจำตามที่กำหนด กำหนดคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง และให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
 
5) กำหนดให้มีสภาวิชาการ สภาคณาจารย์  สภาพนักงานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัย คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินมหาวิทยาลัย คณะกรรมการอุทธรณ์ ร้องทุกข์และพิทักษ์ระบบคุณธรรมประจำมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการอื่นที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง โดยให้องค์ประกอบ ที่มาของกรรมการ อำนาจหน้าที่เป็นไปตามที่กำหนด และให้จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุมเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
 
6) กำหนดให้มีคณะกรรมการการบริหารมหาวิทยาลัย  ประกอบด้วยอธิการบดีเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่งและให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
 
7) กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย  กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพันจากตำแหน่ง คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
 
8) กำหนดให้มหาวิทยาลัยอาจจัดตั้งวิทยาเขต ซึ่งทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนได้
 
9) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา และการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
 
10) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการบัญชีและการตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย
 
11) กำหนดบทเฉพาะกาล เกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สินงบประมาณฯ การดำรงตำแหน่ง และคณะกรรมการต่างๆ  ส่วนราชการ การโอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัย  ตำแหน่งทางวิชาการ ตลอดจนระเบียบข้อบังคับ หรือประกาศที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นต้น
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 11-17 มิ.ย. 2556

Posted: 18 Jun 2013 04:43 AM PDT

ทักษะด้านภาษาอังกฤษของแรงงานไทยต่ำกว่าเพื่อนบ้าน

จ็อบสตรีทดอทคอมเผยผลคะแนนเฉลี่ยและจัดอันดับทักษะด้านภาษาอังกฤษของคน ทำงาน 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน จากจำนวน 1,540,785 คน ที่ทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษผ่านโปรแกรม JobStreet ELA (JobStreet English Language Assessment) แบบประเมินความเข้าใจด้านภาษาอังกฤษจำนวน 40 ข้อ ซึ่งเป็นชุดคำถามที่หมุนเวียนกันไปจากคำถามกว่า 1,000 ข้อ พบว่า ประเทศที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ สิงคโปร์ ในขณะที่แรงงานไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนตามสายอาชีพภายในประเทศไทย พบว่า สายอาชีพที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าสายอาชีพอื่นๆ ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์/บรรณาธิการ, นักการตลาด/พัฒนาธุรกิจ และเลขานุการผู้บริหาร

ผลคะแนนเฉลี่ยดังกล่าวได้มาจากกลุ่มผู้หางานจาก 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไทย ในทุกระดับตำแหน่ง ตั้งแต่ระดับพนักงาน (Entry and Executive), พนักงานอาวุโส (Senior Executive), ผู้จัดการ (Manager) และผู้จัดการอาวุโส (Senior Manager) พบว่า สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีผลคะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ 81% รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ 73%, มาเลเซีย 72%, อินโดนีเซีย 59% ตามลำดับ และไทยมีคะแนนเฉลี่ยเป็นลำดับสุดท้าย คือ 55% และหากมีการจำแนกคะแนนเฉลี่ยตามกลุ่มระดับตำแหน่งงานจะพบว่า ระดับพนักงานประสบการณ์ 0 - 3 ปี (Entry and Executive Level) เป็นกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มระดับตำแหน่งงานอื่นๆ ในประเทศตัวเอง

นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "จากผลสำรวจได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดทักษะการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษ ของกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นตัวแปรสำคัญที่องค์กรใช้ในการพิจารณาคัดเลือก บุคลากรเข้าทำงานในปัจจุบัน ผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีย่อมมีโอกาสในการได้งานมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ"

จากผลคะแนนของกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยที่ทำแบบทดสอบยังพบความสอดคล้อง กันระหว่างระดับตำแหน่งงานและระดับคะแนนเฉลี่ย กล่าวคือ ผู้ที่มีระดับตำแหน่งสูงจะมีคะแนนเฉลี่ยด้านทักษะภาษาอังกฤษสูงตามไปด้วย โดยพบว่า กลุ่มพนักงานทั่วไป มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 53% ในขณะที่กลุ่มพนักงานอาวุโส มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 57%, กลุ่มผู้จัดการ 60% และกลุ่มผู้จัดการอาวุโส 64% ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อจำแนกคะแนนเฉลี่ยการวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษของกลุ่มคนทำงานในประเทศไทย ตามสายอาชีพ จะพบว่า 3 สายอาชีพที่ได้ระดับคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด คือ 63% ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์/บรรณาธิการ, นักการตลาด/พัฒนาธุรกิจ และเลขานุการผู้บริหาร ในขณะที่สายอาชีพที่มีทักษะอ่อนที่สุด คือ ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีผลคะแนนเฉลี่ยเพียง 17%

"ผู้หางานหรือคนทำงานทั่วไปที่เข้ามาทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านการสื่อสาร ภาษาอังกฤษในการทำงานผ่านแบบทดสอบ JobStreet ELA (JobStreet English Language Assessment) จะทราบผลคะแนนของตัวเอง โดยการแบ่งการวัดผลออกเป็น 4 ทักษะ ได้แก่ คำศัพท์ (Vocabulary), การสนทนา (Conversation), ไวยากรณ์ (Grammar) และความเข้าใจ (Comprehension) ซึ่งผู้หางานสามารถทราบว่าทักษะใดที่เป็นจุดแข็งและทักษะใดที่เป็นจุดอ่อน เพื่อนำไปฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไป

นอกจากนี้ระบบยังแจ้งอันดับคะแนนโดยเปรียบเทียบกับผลคะแนนของผู้ที่อยู่ ในสายอาชีพเดียวกัน, ผลคะแนนของผู้ที่เคยทำแบบทดสอบทั้งหมดภายในประเทศที่ตนอยู่ และผลคะแนนของผู้ที่เคยทำแบบทดสอบทั้งหมดในฐานข้อมูลกว่า 1.5 ล้านคน จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไทย) โดยผู้หางานจะทราบว่า ผลคะแนนที่ตนเองได้นั้นจัดอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ของผู้ที่เคยทำแบบทดสอบใน กลุ่มดังกล่าว" นางสาวฐนาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

ผู้สนใจสามารถเข้ามาทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษดังกล่าว ได้ที่ www.jobstreet.co.th/english

(จ๊อบสตรีท, 11-6-2556)

 

รวบ 2 นายหน้าลวง 50 คนไทยค้าแรงงานญี่ปุ่น

พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. แถลงการจับกุม นายนพดล เทียนทิพย์จรัส อายุ 68 ปี และ นายสาธิต ปิ่นทอง อายุ 54 ปี นายหน้าหลอกลวงแรงงานไปประเทศญี่ปุ่น หลังจากผู้เสียหายร่วม 50 คน เข้าร้องเรียนกับตำรวจ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า ถูกผู้ต้องหาทั้งสอง หลอกลวงว่าสามารถพาแรงงานไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ในตำแหน่งพนักงานโรงงาน ก่อสร้าง การเกษตร และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการคนละ 50,000 - 60,000 บาท แต่เมื่อถึงกำหนดเดินทาง ผู้ต้องหากลับขอเลื่อนการเดินทางมาโดยตลอด จนกระทั่งหลบหนีและติดต่อไม่ได้ จนพนักงานสอบสวนขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสอง และติดตามจับกุมตัวไว้ได้ ซึ่งในการแถลงข่าววันนี้ มีกลุ่มผู้เสียหายเข้าชี้ตัว ผู้ต้องหาทั้งสองด้วย

จากการตรวจสอบประวัติพบว่า นายนพดล มีประวัติการกระทำความผิดหลอกลวงแรงงานไปต่างประเทศ และฉ้อโกงประชาชน ตั้งแต่ปี 2539 ในพื้นที่ สน.ลาดพร้าว สน.บางชัน และ สน.ทองหล่อ

(ไอเอ็นเอ็น, 12-6-2556)

 

ก.แรงงาน เตรียมเสนอบูรณาการ "กองทุนเงินออมแห่งชาติ- สปส." เข้า ครม.

กรุงเทพฯ 12 มิ.ย.- นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการบูรณาการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เข้ากับกองทุนประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 40 ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 มิถุนาคมนี้ กระทรวงแรงงานจะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคล ซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่...) พ.ศ...ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบการเพิ่มทางเลือกที่ 3 ในมาตรา 40 แก่แรงงานอกระบบ (อาชีพอิสระ) ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอย่างเดียว (แบบ กอช.) เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีพของผู้ประกันตนอย่างยั่งยืน รวมถึงการกำหนดให้โอนงาน กอช.และบุคลากรที่มี 9 คน ให้มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ที่มีความพร้อมทั้งด้านสำนักงาน บุคลากรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณไม่ต้องตั้งสำนักงานใหม่ และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ กอช.ในระยะยาว

สำหรับกรณีสิทธิประโยชน์มาตรา40 (ทางเลือกที่ 3) ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีชราภาพเท่านั้น โดยคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกต้องมีอายุ 15-60 ปี แต่ปีแรกจะออกบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60ปี สามารถเข้าสู่ระบบการคุ้มครองได้ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 100บาทต่อเดือน และรัฐบาลจ่ายสมทบให้ 100 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ จากการประมาณการว่าภายใน 5 ปี (2557-2561) จะมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทั้ง 3 ทางเลือก จำนวน 21.4 ล้านคน และจะรัฐบาลจะต้องส่งเงินอุดหนุนเข้ากองทุนจำนวน 61,000 ล้านบาท

(สำนักข่าวไทย, 12-6-2556)

 

ปี 56 ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน 3.8 แสนคน

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)  เปิดเผยถึงผลการศึกษาภาวะการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมว่า ในปี 56 ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน 380,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม  43,520 คน  กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 36,606 คน  กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร  30,825 คน  และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 25,600 คน เป็นต้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น เร่งปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีหรือนำเข้าเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน หรือ การจ้างเอาท์ซอร์สให้นำงานไปจ้างเกษตรกรที่ว่างจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวในต่าง จังหวัด
              
ขณะที่ภาครัฐได้เร่งจัดทำข้อมูลด้านแรงงาน โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงศึกษาธิการ  เพื่อวางระบบการศึกษาและการอบรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

"เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่าง สศอ.  สถาบันเครือข่ายและสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ ชี้ว่าแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังมีเพิ่มต่อเนื่อง โดยในปี 56 ความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5.85 ล้านคน ซึ่งตอนนี้ขาดแคลนอยู่ 380,000 คน  ส่วนในปี 57 ความต้องการแรงงานอยู่ที่ 5.91 ล้านคน คาดว่าจะขาดแคลน 395,000 คน โดยแรงงานที่ขาดแคลนพบว่า 95% เป็นแรงงานที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี"

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานมากมาจาก อัตราการเกิดของประชากรไทยมีแนวโน้มที่ลดลง ทำให้มีปริมาณแรงงานในวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ  แต่ความต้องการแรงงานกลับเพิ่มขึ้นตามอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ

ในส่วนของการขาดแคลนแรงงานระดับล่างนั้นผู้ประกอบการได้แก้ปัญหาโดยการ ใช้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทนแต่ก็ยังขาดแคลนอยู่  ส่วนแรงงานฝีมือนั้นค่อนข้างที่จะเข้ามาทดแทนได้ลำบาก ดังนั้น สศอ. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งฝึกอบรมให้ความรู้กับช่างฝีมือด้านเทคนิค อย่างต่อเนื่อง

(เดลินิวส์, 13-6-2556)

 

ปคม.รวบหนุ่มใหญ่ ลวงแรงงานลงเรือประมง

พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. แถลงข่าวจับกุม นายสายัน นิลวาส อายุ 55 ปี ผู้ต้องหาร่วมกันค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน โดยสามารถจับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 26/3 หมู่ 4 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้ต้องหาร่วมกับพวกหลอกลวงแรงงานไปทำงานบนเรือประมงในอ่าวไทย เหตุเกิดที่นิคมอุตสาหกรรม อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ต่อเนื่อง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2552 - 28 ก.พ. 2554 โดยผู้เสียหายถูกไต้ก๋ง ทราบเพียงว่าชื่อ นายมล บังคับให้ทำงานทั้งวันทั้งคืน หากไม่ยินยอมก็จะทำร้ายร่างกาย จนกระทั่งเรือประมงได้เข้าไปในน่านน้ำประเทศมาเลเซีย แล้วถูกตรวจสอบ แรงงานบนเรือจึงได้รับการช่วยเหลือ และเข้าแจ้งความไว้ที่ บก.ปคม. ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐาน ขออนุมัติศาลออกหมายจับ จนสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาไว้ได้

จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่าเพื่อนอีกคนเป็นผู้ว่าจ้างให้ช่วยขับรถพาแรงงาน ส่งที่ท่าเรือปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะได้รับเงินค่าจ้าง 5,000 บาท โดยไม่รู้ว่าเหยื่อถูกหลอกลวงมา และถูกส่งไปทำงานในเรือประมงดังกล่าว

(ไอเอ็นเอ็น, 13-6-2556)

 

ก.แรงงานแจงโอนกองทุน กอช.ให้ สปส.ดูแล

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน(รง.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานจะเสนอให้ครม.เห็นชอบโอนงานกองทุนการออมแห่ง ชาติ (กอช.) และบุคลากรมาให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการพร้อมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทประโยชน์ทดแทนฯให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบเพิ่มทางเลือกที่ 3 ในมาตรา 40 แก่แรงงานอกระบบ (อาชีพอิสระ) ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ว่า เรื่องนี้เป็นการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุดให้กับแรงงาน นอกระบบ ซึ่งไม่ใช่การปฏิเสธนโยบายของพรรคการเมืองอื่นตามที่มีการวิจารณ์ แม้ว่าพ.ร.บ.การออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 จะเกิดขึ้นในสมัยที่ไม่ใช่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าเห็นว่าอะไรไม่ดีหรือมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง เราก็ต้องกล้าดำเนินงานให้ดีขึ้นเพื่อไม่เป็นปัญหาในอนาคต

ส่วนการบริหารงานของกองทุนกอช.ภายหลังการโอนงานมาให้สปส.ว่าให้ใช้ ทรัพยากรของสปส.ในด้านบุคลากร สถานที่และระบบเทคโนโลยีเพื่อประหยัดงบในภาพรวมและทำให้เกิดความสะดวกแก่ ประชาชนในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม ดังนี้ 1.ให้มีการรับสมัครผู้ประกันตนและรับเงินผ่านช่องทางของสปส.ที่มีอยู่ทุก จังหวัดทั่วประเทศ 2.ในการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่สปส.ที่ปฏิบัติงานรองรับมาตรา 40 อยู่แล้วมาสานงาน กอช.ด้วย 3.แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่สปส.มีอยู่เพื่อรองรับการ ดำเนินงาน และ4.โอนย้ายพนักงานและลูกจ้างของ กอช.มาเป็นบุคลากร สปส. ทั้งนี้ สำหรับการบริหารเงินกองทุนกอช.เห็นควรให้สปส.บริหารกองทุนทั้งหมดเพราะ ปัจจุบันมีผู้แทนกระทรวงการคลังอยู่ในคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน ประกันสังคมอยู่แล้ว ส่วนงบประมาณคงเหลือที่ กอช.มีอยู่จำนวน 677 ล้านบาทต้องส่งคืนคลังและสปส.จะเสนอของบประมาณตามขั้นตอนปกติต่อไป

"การที่สปส.จะเปิดทางเลือกมาตรา 40 (3 ) โดยให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนเฉพาะกรณีชราภาพ ซึ่งได้รับเป็นเงินบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุ 60 ปีนั้นไม่เป็นปัญหาในอนาคตต่อกองทุนสปส. เพราะไม่มีการค้ำประกันผลตอบแทนจากการลงทุนเหมือนเช่นกอช.จะดำเนินการให้มี การค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่าเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นปัญหาในการบริหารกองทุนละงบประมาณได้"นายอนุสรณ์ กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 13-6-2556)

 

จ่อชงครม.เพิ่มสิทธิ์แรงงานนอกระบบ

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มิ.ย. กระทรวงแรงงานเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติหลักการพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 (มาตรา 40) สำหรับแรงงานนอกระบบ แผน 3 เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ 2 แผน เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้ความคุ้มครองกรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนอายุระหว่าง 15-60 ปี จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และรัฐบาลสมทบอีกเดือนละ 100 บาท จนครบอายุ 60 ปี จะได้รับเงินคืนใน รูปแบบบำเหน็จ หรือบำนาญ ซึ่งเมื่อผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ กระทรวงแรงงานพร้อมรับสมัครผู้ที่สนใจ และดำเนินการได้ทันที

ปัจจุบันคนไทยวัยทำงานมีอยู่ประมาณ 40 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 11 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน โดยกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ทำงานอิสระปัจจุบันเข้ามาสมัครเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 อยู่ที่ 1.4 ล้านคน ทั้งในแผน 1 และแผน 2 มั่นใจว่าหลังจากเปิดรับสมัครแผน 3 จะทำให้ตัวเลขผู้ประกันตน เพิ่มเป็น 2-2.5 ล้านคน เพราะผู้ที่ทำแผน 1 และแผน 2 ไว้แล้วสามารถมาใช้สิทธิ์สมัครแผน 3 ได้ทันที หรือจะเลือกประกันตนในแผน 3 แบบเดียวก็ได้อีกด้วย

ส่วนกรณีที่การทำหน้าที่ของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีความใกล้เคียงกองทุนประกันสังคม เรื่องสวัสดิการด้านการชราภาพ แรงงานนอกระบบ กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน จึงได้หาแนวทางในการหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน โดยได้นำเสนอให้โอนงานของ กอช. มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ที่มีความพร้อมด้านสำนักงานที่มีอยู่กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ บุคลากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐบาลได้เป็นอย่างมาก

(ข่าวสด, 14-6-2556)

 

"โต้ง" สั่งยุบ กอช.

รายงานข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เห็นชอบเสนอเรื่องการควบรวมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับกองทุนประกันสังคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินบรรจุเข้าวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ โดยจะมีการแก้ไขกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อให้นำ หลักการ กอช.เข้าไปอยู่ด้วย โดยก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.ประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง ที่ผลักดัน กอช. ได้ยื่นเรื่องกับประธานวุฒิสมาชิก ให้ถอดถอนนายกิตติรัตน์ ออกจากตำแหน่ง เพราะทำผิดกฎหมายรัฐ ธรรมนูญมาตรา 170 ไม่ยอมดำเนินการตามกฎหมาย กอช. ที่ให้มีการรับสมาชิกภายใน 1 ปี หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

(ข่าวสด, 16-6-2556)

 

เปิดข้อมูลพบเยาวชนว่างงานมากกว่าผู้ใหญ่กว่า 5 เท่า

 กรุงเทพฯ 17 มิ.ย.- องค์กรแรงงานระหว่างประเทศเผยข้อมูลเยาวชนว่างงานมากกว่าผู้ใหญ่ 5.3 เท่า พบเด็กตกงาน 36 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สะท้อนปัญหาหลักสูตรการศึกษา ไม่สอดคล้องอาชีพแห่งความเป็นจริงที่ต้องมีทักษะและการปฏิบัติ
 
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 3 หัวข้อ "เยาวชนกับการจ้างงาน" โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงานจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกมาเป็นผู้นำเสนอข้อมูล โดย นายมัตทิเยอ คอนยัก ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า พบข้อเท็จจริงของเยาวชนในโลก 73 ล้านคน เป็นคนตกงาน 36 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ใหญ่ถึง 5.3 เท่า และไทยมีสถานประกอบการนอกระบบขนาดใหญ่มาก ส่งผลให้มีโอกาสถูกจ้างให้ทำงานที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณภาพ ไม่มีกลไกปกป้องทางสังคมที่เข้มแข็ง จึงถูกบังคับให้ทำงานนอกระบบ และหลายคนทำงานแลกกับรายได้ที่ไม่พอเลี้ยงชีวิต ดังนั้นความท้าทายของปัญหาไม่ใช่แค่การสร้างงาน  แต่ยังรวมถึงงานที่มีศักดิ์ศรีและค่าตอบแทนที่เหมาะสม
 
"สิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือศูนย์ฝึกอาชีพไม่สอดคล้องความต้องการของตำแหน่งงานในตลาด  ที่ผ่านมา พบว่ามีเยาวชนผู้ด้อยโอกาสอีกจำนวนมาก ที่เข้าไม่ถึงหลักสูตรที่สร้างเสริมทักษะ ทั้งยังขาดการอบรมให้ความรู้และแนะแนวอาชีพในรูปแบบต่าง ๆ บางครั้งอาจมีทักษะ แต่ไม่ได้นำมาใช้กับการทำงานของตน  ขณะเดียวกันเยาวชนจำนวนมากขวนขวายเพื่อให้ได้ปริญญา หรืออนุปริญญา  แต่ไม่ใช่สิ่งที่ตลาดแรงงานหรือผู้ประกอบการต้องการ  หนทางแก้ไขคือการส่งเสริมให้เยาวชนสั่งสมประสบการณ์การทำงานไว้แต่เนิ่น ๆ  เช่น  ผ่านโครงการฝึกอบรม หรือการฝึกงาน  อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ สถานศึกษาควรมีหลักสูตรที่สอนให้ทราบถึงการเป็นผู้ประกอบการเป็นอย่างไร ไม่ใช่การสอนให้เขารู้แค่การประกอบอาชีพ เป็นลูกจ้าง เป็นพนักงานเท่านั้น พร้อมทั้งปลูกฝังให้ตระหนักถึงสิทธิของตนในที่ทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้ถูก เอารัดเอาเปรียบในทุกรูปแบบ" ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว

(สำนักข่าวไทย, 17-6-2556)

 

ไอโอเอ็มชื่นชมระบบดูแลสุขภาพต่างชาติ-ครอบครัวของรัฐบาลไทย

17 มิ.ย.-รมว.สาธารณสุข เผยไอโอเอ็มชื่นชมระบบการดูแลสุขภาพของแรงงานต่างชาติและครอบครัวของรัฐบาลไทย

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการดูแลสุขภาพแรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้แรงงานในประเทศ ไทยว่า สธ. มีนโยบายให้แรงงานต่างชาติ สัญชาติพม่า กัมพูชา และลาว ต้องผ่านการตรวจสุขภาพทุกคน โดยได้ให้ทุกจังหวัดเร่งตรวจสุขภาพของแรงงาน และนำเข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง คือประกันสังคม หรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่างชาติที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมทั้งบุตรที่อายุไม่เกิน 15 ปี และผู้ติดตามทุกคนจะต้องตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพกับ สธ. ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยจะได้รับสิทธิการดูแลทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม ป้องกันโรค เช่น ฉีดวัคซีนต่างๆ การส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย

มาตรการดูแลสุขภาพต่างชาติที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยได้รับความสนใจจาก องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือไอโอเอ็ม (International Organization for Migration : IOM) เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงเกิดโรคทั้งกลุ่มคนต่างชาติและคนไทยแล้ว การมีหลักประกันการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและ ความมั่นคงในระยะยาว นำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับประเทศต้นทางที่เป็นเพื่อนบ้าน

(สำนักข่าวไทย, 17-6-2556)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘บูหงารายา’ รุ่นใหม่ เป้าหมายเพื่อสันติภาพ ยกระดับตาดีกา มุ่งพัฒนาคน

Posted: 18 Jun 2013 04:35 AM PDT

รู้จักกลุ่มบูหงารายารุ่นใหม่ จากนักศึกษาสู่นักกิจกรรมเพื่อสังคมชายแดนใต้ มุ่งยกระดับการศึกษา พัฒนาตาดีกาเพื่อพัฒนาคุณภาพคน เป้าหมายเพื่อสันติภาพ

ฮาซัน ยามาดีบุ – ทวีศักดิ์ ปิ

 

บูหงารายา เป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งมีหลายสีแต่ไม่มีกลิ่น หากแต่บูหงารายาในที่นี้หมายถึง กลุ่มบูหงารายา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาหลายสถาบันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2551

นับเป็นกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในพื้นที่ในขณะนี้ ในฐานะที่เคยเป็นองค์กรแรกๆ ที่ทำงานด้านสื่อทางเลือกท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แต่ปัจจุบันบทบาทด้านสื่อได้ยุติลงไปแล้ว

ทุกวันนี้ เหล่านักกิจกรรมในนามกลุ่มบุหงารายารุ่นใหม่ กำลังมุ่งเน้นงานด้านการยกระดับการศึกษาของคนในพื้นที่ ในประเด็นที่ค่อนข้างท้าทาย เพื่อเตรียมรับกับสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


 

กลุ่มบูหงารายารุ่นใหม่

นายฮาซัน บินมูฮำหมัดตอลา ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบูหงารายาคนปัจจุบัน เปิดเผยว่า กลุ่มบูหงารายาก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2551 โดยการรวมกลุ่มของนักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

กลุ่มบูหงารายา ใช้ดอกชบาสีชมพูเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งหมายถึงการต่อสู้เพื่อสันติภาพ ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง แต่ในขณะนั้น คำว่า "บูหงารายา" ถูกตีความว่าหมายถึง ดินแดนฟาฏอนีย์ จึงเป็นคำที่ไม่ค่อยมีใครต่อใครในพื้นที่กล้าพูดมากนัก จึงเป็นคำที่ค่อนข้างอ่อนไหว

การทำงานของกลุ่มบูหงารายารุ่นแรกๆ จะทำงานด้านสื่อ สิทธิเด็ก สตรีและการศึกษา นับเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ทำงานสื่อทางเลือกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต่อมางานด้านสื่อ สิทธิเด็กและสตรีได้เลิกไปในปีพ.ศ.2553 เหลือบทบาทด้านการศึกษาเท่านั้น

สาเหตุที่ต้องหยุดงานด้านสื่อ สิทธิเด็กและสตรีไป เพราะได้รับความกดดันหลายอย่าง ประกอบกับคนทำงานด้านสื่อในกลุ่มมีจำนวนน้อย รวมทั้งมีองค์กรด้านสื่อ สิทธิเด็กและสตรีเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่องค์กรด้านการศึกษายังมีน้อย

สาเหตุที่กลุ่มบุหงารายาเป็นที่รู้จักในพื้นที่ ต้องยอมรับว่ามาจากงานด้านสื่อ เพราะช่วยให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลความจริงผ่านเว็บไซต์และวารสารของกลุ่มบูหงารายา รวมกับกิจกรรมอื่นๆที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ การทำงานของกลุ่มบูหงารายา ก็พบกับอุปสรรค์มากมาย เช่น การถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นหอพักซึ่งใช้เป็นที่ทำงานของกลุ่ม รวมทั้งการถูกบล็อกเว็บไซต์ จนกระทั่งเว็บของสำนักสื่อบูหงารายาได้ปิดตัวลง


 

มุ่งภารกิจด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพคน

นายฮาซัน เปิดเผยต่อไปว่า หลังจากกลุ่มบูหงารายา เริ่มเน้นเรื่องการศึกษา ทำให้ได้รับการตอบรับจากสังคมในพื้นที่ค่อนข้างดี เห็นได้จากศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือPERKASA ได้เชิญกลุ่มบูหงารายาไปร่วมงานด้วย

ฮาซัน เปิดเผยต่อไปว่า ส่วนกิจกรรมของกลุ่มบูหงารายาปัจจุบัน เช่น การจัดโครงการยกระดับโรงเรียนตาดีกา และการจัดเวทีสาธารณะทางด้านการศึกษา โดยได้งบประมาณจากธนาคารโลก ผ่านมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)

แนวทางในอนาคตของกลุ่มบูหงารายา มุ่งไปที่การวางระบบโรงเรียนตาดีกาให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยพยายามจะยกระดับเป็นเหมือนโรงเรียนประถมศึกษาและได้วุฒิการศึกษาด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร

เหตุที่ต้องทำ เพราะรัฐไม่มีนโยบายที่ดีพอและเหมาะสมกับพื้นที่ แต่การยกระดับตาดีนั้นกลุ่มบูหงารายาต้องการให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง ขณะนี้มีโรงเรียนตาดีกานำร่องที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา อาจจะมีลักษณะโรงเรียนเอกชนที่สอนทั้งวิชาสามัญและศาสนาหลายแห่งในพื้นที่ แต่เป็นการยกระดับจากโรงเรียนตาดีกาที่ชุมชนเป็นเจ้าของ

"ลักษณะการสอนคือ จะมีการสอนด้วยภาษามลายูตามปกติ แต่มีการเพิ่มวิชาเหมือนกับที่สอนอยู่ในโรงเรียนของรัฐเข้าไปด้วย เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น เป็นการนำหลักสูตรระดับประถมศึกษาเข้าไปในโรงเรียนตาดีกา"

ผลที่ตามมาคือ กลับทำให้เด็กนักเรียนมีผลการเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐดีขึ้น เพราะมีผลการศึกษาวิจัยที่ยืนยันว่า เด็กจะเรียนหนังสือได้ดีถ้าได้เรียนด้วยภาษาแม่ของตัวเอง เพราะจะเข้าใจวิชาเรียนได้ดี จากนั้นเมื่อไปเรียนด้วยภาษาอื่นแล้วก็จะทำให้เรียนได้ดีขึ้นไปด้วย

ฮาซัน ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายสูงสุดของกลุ่มบูหงารายาคือสันติภาพ แต่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าคนของเราไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้และไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ดังนั้น ภารกิจของเราคือทำให้ประชาชนมีการศึกษาและช่วยเหลือตัวเองได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความย้อนแย้งของ ‘ข่าวกับสันติภาพ’ เสียงสะท้อนข้อจำกัดของสื่อมวลชน

Posted: 18 Jun 2013 04:28 AM PDT

เวทีสื่อเสวนา "การรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ" นักวิชาการชี้ข้อจำกัดในการทำงานของสื่อในสถานการณ์ใหม่ ชี้ยังตามไม่เท่าทันและต้องการองค์ความรู้เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัด แนะองค์กรสื่อปฏิรูปตัวเอง นักจัดรายการวิทยุในพื้นที่ย้ำชาวบ้านต้องการความรู้ เพื่อหนุนเสริมสันติภาพ ผู้รู้ต้องโดดมาร่วม

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (Media inside out) โดยความสนับสนุนของโครงการสะพาน ร่วมกับกลุ่มเอฟทีมีเดียและเพื่อน และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) จัดสื่อเสวนา "การรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ" ที่ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายแวะหามะ แวกือจิก หัวหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นางสาวติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส และผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี โดยมีนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่มเอฟทีมีเดีย ดำเนินการเสวนา

สื่อเสวนาครั้งนี้มีการถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตันที่ออกอากาศกระจายเสียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และถ่ายทอดเสียงผ่านเว๊บไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) และมีสื่อมวลชนในพื้นที่และผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนากว่า 30 คน

 

ความย้อนแย้งของข่าวกับสันติภาพ

ผศ.วลักษณ์กมล กล่าวถึงธรรมชาติของการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพว่า เป็นกระบวนการทำงานที่มีลักษณะย้อนแย้งระหว่างธรรมชาติของการรายงานข่าวกับธรรมชาติของกระบวนการสันติภาพ

กล่าวคือ กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องการองค์ความรู้ในการอธิบาย ในขณะที่การทำงานของสื่อต้องการความกระชับในการรายงานข่าว

ประเด็นต่อมา กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทั้งในจุดเริ่มต้นและการเดินทางสู่เป้าหมายสุดท้าย แต่การรายงานข่าวของสื่อ ต้องการความรวดเร็วทันท่วงทีในการตอบสนองต่อผู้รับข่าวสาร

อีกประการหนึ่งคือ กระบวนการสันติภาพเต็มไปด้วยข้อมูลมากมายที่ไม่ชัดเจน และอาจจะไม่เป็นที่สนใจของสาธารณะ แต่การรายงานข่าวต้องการความเร้าใจ ดึงดูดใจในการนำเสนอ ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการสนองตอบต่อผู้บริโภคสื่อ

"กระบวนการสันติภาพที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือการคลี่คลายความตึงเครียด หรือการยุติความตื่นเต้นของเหตุรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมุ่งสู่ความสงบสุข ในขณะที่การนำเสนอข่าวของสื่อนั้น ต้องการในทิศทางที่ตรงข้าม คือต้องการขายความขัดแย้ง ความรุนแรง" ผศ.วลักษณ์กมลกล่าว

ความย้อนแย้งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในที่ลับ หรือเป็นกระบวนการทำงานของคนเฉพาะกลุ่มที่ดำเนินการอยู่ ในขณะที่สื่อต้องการข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและช่วงชิงการนำเสนอข้อมูลข่าวให้เร็วที่สุด

ซึ่งธรรมชาติเหล่านี้เป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง และเป็นรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพที่ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก


 

สื่อต้องจัดกระบวนใหม่เพื่อนำเสนอสันติภาพ

ผศ.วลักษณ์กมลได้เรียกร้องและมีข้อเสนอผ่านสื่อเสวนาครั้งนี้ว่า ต้องการเห็นองค์กรสื่อปรับตัวต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดกระบวนการสันติภาพนี้ โดยอาจจะออกแบบการทำงาน รวมทั้งการจัดการเนื้อหาในทุกขั้นตอนที่สอดคล้องกับกับสถานการณ์จริง

ตัวอย่างเช่น การจัดโต๊ะข่าวเฉพาะกิจที่ดูแลเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ การจัดการนำเสนอข่าวที่สอดคล้องกับบริบทกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะ หรือการทำงานของสื่อในบทบาทของความร่วมมือทั้งระหว่างองค์สื่อด้วยกันเองกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ รวมทั้งการร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อกับภาคส่วนสาธารณะที่มีอยู่อย่างมากมายในพื้นที่

"ไม่มีใครปฏิเสธว่าสันติภาพไม่มีความจำเป็น เพราะทุกฝ่ายต้องการสันติภาพ ดังนั้นหากสื่อมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการให้เกิดสันติภาพที่ปลายทางแล้ว ทุกๆ ขั้นตอนของการสื่อสารของสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ จะต้องออกแบบและจัดการที่เป็นระบบที่ชัดเจน คิดว่า อันนี้จะเป็นบทบาทใหม่ในกระบวนการปฏิรูปสื่อที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพที่แท้จริง"

 

สะท้อนเสียงจากพื้นที่ เริ่มเชื่อมั่นสันติภาพ

นายแวหามะ แวกือจิก หัวหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุภาษามลายูชื่อรายการ "โลกวันนี้" ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงพฤหัส ตั้งแต่เวลา 20.00 - 22.00 น. และมีการเปิดให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยในรายการได้

นายแวหามะ กล่าวว่า หลังการพูดคุยสันติภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ประชาชนที่แสดงความเห็นผ่านรายการกว่า 80% ไม่เชื่อว่ามีการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นจริง แต่คิดว่าเป็นการจับมาพูดคุย มีการบังคับให้ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐต้องมานั่งโต๊ะ

แต่หลังการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งที่ 2 ประชาชนกว่า 80% กลับมีความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุย และเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาภาคใต้ได้

 

ชาวบ้านต้องการความรู้ เพื่อช่วยดูแลสันติภาพ

"สิ่งสำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านต้องการองค์ความรู้ เขาต้องการรู้ความจริง ซึ่งการสื่อสารโดยสื่อวิทยุเป็นการสื่อสารสองทาง ที่จะทุกคนสามารถเข้ามาเปิดประเด็นการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันได้ ดังนั้น คนที่มีความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพจะต้องเข้ามามีส่วนในการบอกกล่าวข้อเท็จจริงที่แท้จริงด้วย เพราะขณะนี้เป็นเวลาที่เอื้อต่อการพูดคุยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ" นายแวหามะ กล่าว

นายแวหามะ สะท้อนว่า ชาวบ้านเปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพครั้งนี้เสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์เพียง 7 เดือน เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีใครคาดคิดว่า จะเกิดกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่ม BRN ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแลให้เด็กน้อยที่ชื่อ "สันติภาพ" อยู่รอดและเติบโต ปลอดภัยให้จงได้


 

สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่ม

นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน กล่าวว่า ในการสื่อสารกระบวนการสันติภาพ สื่อต้องเป็นพื้นที่ของความหลากหลาย ต้องเป็นพื้นที่สื่อสารสำหรับทุกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนในระดับชุมชนหมู่บ้าน รวมทั้งสำหรับองค์กรประชาชน ภาคประชาสังคมที่จะต้องมีผลลัพธ์หรือเนื้อหาออกสู่สาธารณะ ไม่ใช่เป็นพื้นที่สำหรับกลุ่มชนชั้นนำที่มีบทบาทบนโต๊ะเจรจาพูดคุยเท่านั้น

"กระบวนการสันติภาพต้องการเสียงที่หลากหลาย และเป็นกระบวนการที่ต้องการให้มีการชนะทั้งคู่ แบบ win win ไม่ใช่การเอาชนะกัน การสื่อสารกระบวนการสันติภาพต้องสร้างสมดุลข่าวสารให้เกิดขึ้นด้วย แม้ในพื้นที่มีคนมลายูมากกว่า แต่อัตลักษณ์ของคนพุทธ คนจีนในพื้นที่ต้องได้รับการพิจารณา"

นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ยังกล่าวอีกว่า สื่อจำเป็นต้องรู้ขั้นตอนในกระบวนการสันติภาพ เช่น ขณะนี้ภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้เสนอแผนที่เดินทางหรือ Road Map ของกระบวนการสันติภาพ ซึ่งสื่อจำเป็นต้องทำความเข้าใจ Road Map นี้ เพื่อให้เข้าใจว่า ควรจะเสนอประเด็นอะไรที่สอดคล้องกับบริบทความเป็นจริง และสื่อจะเป็นตาข่ายนิรภัย (Safety Net) ทางความคิดที่จะช่วยโอบอุ้มกระบวนการสันติภาพไปสู่เป้าหมายปลายทางได้ในที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รุจ ธนรักษ์(นามแฝง)

Posted: 18 Jun 2013 02:19 AM PDT

"ประเทศเราจะเจริญกว่านี้ไหม ถ้าผู้คนในประเทศปลูกข้าวกันน้อยลง แต่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มาประกอบอาชีพอื่นๆกันมากขึ้น"

17 มิ.ย.56, ในบทความ "เรื่องของข้าว"

นิธิ เอียวศรีวงศ์: มะงุมมะงาหราไปข้างหน้า แต่ไม่ถอยกลับ !

Posted: 18 Jun 2013 01:56 AM PDT

กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 500 คน พากันไปคุกคามเวที "เดินหน้าผ่าความจริง" ของ ปชป.ที่ลำพูนในวันที่ 8 มิ.ย. คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้แสดงความเห็นคัดค้านไว้อย่างดีในเฟซบุ๊กของเขา ผมเห็นด้วยกับคุณสมบัติอย่างเต็มที่ และไม่มีอะไรจะกล่าวเสริมไปกว่านั้น
 
แต่เบื้องหลังการกระทำที่ "น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง" นี้ เท่าที่ผมพยายามสืบมาได้นั้นน่าสนใจ เพราะสะท้อนพัฒนาการของขบวนการคนเสื้อแดง อย่างน้อยก็ในจังหวัดภาคเหนือ
 
เสื้อแดงในเชียงใหม่และลำพูนนั้นประกอบด้วยคนที่อยู่ร่วมกับ "แกนนำ" หลายกลุ่ม ที่เรียกว่า "แกนนำ" คือคนที่ดำเนินกิจการสื่อ ที่สำคัญคือวิทยุท้องถิ่น หรือวิทยุออนไลน์ หรือเว็บไซต์ แกนนำเหล่านี้ช่วงชิงเสื้อแดงระหว่างกัน แม้ไม่ถึงกับโจมตีกันอย่างโจ่งแจ้งนัก แต่ฟังให้ดีก็จะเห็นรอยร้าว และการเสียดสีกันอยู่เป็นประจำ
 
แนวนโยบายทางการเมืองหลักๆ อาจไม่ต่างกันนัก แต่ต่อประเด็นต่างๆ อาจมีความเห็นไม่ตรงกันเลย เช่นระหว่างร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ ส.ส.วรชัย เหมะ กับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ คุณเฉลิม อยู่บำรุง บางฝ่ายสนับสนุนคุณเฉลิม เพื่อจะได้ทักษิณกลับมาไวๆ อีกบางฝ่ายอยากได้ทักษิณกลับมาไวๆ เหมือนกัน แต่รับไม่ได้กับการปล่อยฆาตกรลอยนวล
 
ความแตกต่างที่สำคัญควรตราไว้ก็คือ แกนนำบางกลุ่มให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพราะที่จริงแกนนำเองก็เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาล กินเงินเดือนในฐานะข้าราชการการเมืองอยู่ แต่อีกบางกลุ่มมีข้อสงวน กล่าวคือสนับสนุนให้รัฐบาลอยู่ได้ เพราะรับไม่ได้ที่จะปล่อยให้ฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่จำเป็นว่าจะเห็นสอดคล้องกับรัฐบาลไปทุกเรื่อง พูดอีกอย่างหนึ่งคือความเป็นอิสระกว่า
 
หนึ่งในกลุ่มแกนนำต่างๆ เหล่านี้ (อาจอยู่ระดับชายขอบ ซึ่งก็ดี เพราะทำให้เขาบอกสิ่งที่เขารู้ได้เต็มที่) บอกผมว่า ที่จริงเกือบทุกกลุ่มได้รับการสนับสนุนทางใดทางหนึ่งจาก "เจ๊" หรือคนของ "เจ๊" ในความเห็นของเขา พรรคเพื่อไทยเองก็ยินดีกับความแตกแยกของเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ เพราะทำให้เสื้อแดงไม่สามารถต่อรองอะไรกับพรรคได้ พรรคเองเลือกบางกลุ่มว่าเป็นคนของพรรค และทิ้งบางกลุ่มว่าไม่ใช่คนของพรรค (แต่ก็คิดว่าตัวเองคุมได้)
 
ผมใช้คำว่าพรรคเพื่อไทยตามเขา แต่ที่จริงแล้วถามว่าอะไรคือพรรคเพื่อไทย คงตอบไม่ได้ง่ายๆ ที่แน่นอนก็คือพรรคไม่ได้เป็นองค์กรที่พัฒนาถึงระดับ "สถาบัน" คือขาดความสามารถในการปรับตัว, วินัย, มีเครือข่ายองค์กรลงลึก, และเป็นอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์ (ตามทรรศนะของ Samuel P. Huntington)
 
ดังนั้น คำว่าพรรคเพื่อไทยของเขาคงหมายถึง "เจ๊" และบริวารเท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เจ๊" และบริวารคือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย
 
กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนความสัมพันธ์ภายในของขบวนการคนเสื้อแดงได้ดีคนเสื้อแดงโดยทั่วไปรับไม่ได้กับการที่ปชป.จะมา"เดินหน้าผ่าความจริง" ที่ ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน เพราะมีชาวบ้านในตำบล 2 ราย ถูกยิงเสียชีวิตในการชุมนุมเมื่อปี 2553 ปัญหาคือจะตอบโต้ ปชป.อย่างไร
 
กลุ่มหนึ่งซึ่งออกมาปฏิเสธว่าตนไม่เกี่ยวข้อง ก็คงไม่เกี่ยวข้องจริงๆ เพราะวิทยุของพวกเขาไม่ได้ประสานให้เสื้อแดงในจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาประท้วง กลุ่มนี้สัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอย่างใกล้ชิด การประท้วงด้วยความรุนแรงเป็นภัยต่อรัฐบาลเอง เขาอ้างว่าเขาจัดเวทีคู่ขนานในลำพูน แต่ห่างกันถึง 3 กม. ไม่ได้ไปเผชิญหน้ากับผู้สนับสนุน ปชป.ในที่เกิดเหตุ
 
กลุ่มที่เป็นแกนนำการประท้วงในที่เกิดเหตุ คือกลุ่มที่แม้ได้รับความช่วยเหลือจาก "เจ๊" เหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับเป็นส่วนหนึ่งของคนรัฐบาล ระดมเสื้อแดงจากเชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง ไปร่วมกับเสื้อแดงลำพูนในการประท้วง เจตนาเดิมคือต้องการไปถามผู้นำ ปชป.ว่าคุณฆ่าเขาทำไม แต่ก็บานปลายจนมีการโจมตีกันด้วยหนังสติ๊ก
 
กลุ่มที่ออกมาปฏิเสธอาจเดือดร้อนเพราะมีคนเสื้อแดงที่สวมเสื้อซึ่งมีตราหรือข้อความของพวกเขาคือ"รักเชียงใหม่๕๑"อยู่ด้วย จึงอ้างว่ามีการจ้างคน 300 คน ให้สวมเสื้อนั้น ไปปะปนกับฝูงชนเพื่อใส่ร้ายกลุ่มเสื้อแดงของเขา แต่ความจริงแล้วสมาชิกของสองกลุ่มนี้ เคยสังกัดกลุ่มเดียวมาก่อน จึงไม่แปลกที่หลายรายยังใช้เสื้อของอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งๆ ที่ปฏิบัติการกับอีกกลุ่มหนึ่ง และเดิมก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ปชป.แต่อย่างไร
 
โดยไม่มีข้อมูลดิบอะไรเพิ่มเติม ผมให้สงสัยว่า ในการแย่งชิงมวลชนคนเสื้อแดงระหว่างกลุ่มต่างๆ นั้น ยุทธวิธีที่ใช้น่าจะมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือการดึงทรัพยากรออกมาเฉลี่ย กลุ่มใดที่เข้าถึง "เจ๊" ได้มาก ก็อาจมีทรัพยากรออกมาเฉลี่ยได้มาก ในขณะที่กลุ่มซึ่งมีเสื้อแดงสนับสนุนมาก ก็มีทรัพยากรเฉลี่ยได้มากเช่นกัน (เช่นเวลาชุมนุม มีข้าวแกงน้ำแข็งเลี้ยงดูกัน) สรุปก็คือการมีทรัพยากรสำหรับเฉลี่ยกันเป็นเงื่อนไขสำคัญ ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะได้จากที่ใด ยุทธวิธีที่สองคือยกระดับการเคลื่อนไหวให้แหลมคมมากขึ้น เป็นการเอาใจผู้คนซึ่งว้าวุ่นอยู่เวลานี้ (ใจเขาใจเรานะครับ ฟังความหยาบคายป่าเถื่อนของรายการทีวีบลูสกายก็จะเข้าใจประเด็นนี้ได้ดี) เสื้อแดงก็มีเหตุที่จะต้องว้าวุ่นใจอยู่ไม่น้อยไปกว่าเสื้อเหลือง, สลิ่ม และหน้ากากขาว ก็คน "กำพืด" เดียวกันทั้งนั้น
 
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนขบวนการคนเสื้อแดงกำลังแตกร้าวกันเอง ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความแตกร้าวในขบวนการ แต่นั่นเป็นชะตากรรมของขบวนการหรือองค์กรเคลื่อนไหวของมวลชนระดับล่าง (sabaltern) ที่ไหนๆ ก็เคยเผชิญมาแล้วทั้งนั้น
 
การที่มวลชนคนระดับล่างในสังคมหนึ่งๆ จะถูกจัดองค์กร (organized) ขึ้นเป็นขบวนการนั้น มีความสำคัญต่อพัฒนาการของระบบการเมืองประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ในยุโรปองค์กรของมวลชนคนระดับล่างนี่แหละที่ทำให้ต้องขยายสิทธิเลือกตั้งให้เป็น "สากล" แก่ทุกคนในสังคม และเพราะกุมคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ในมือ จึงทำให้พรรคการเมืองต้องลงมาเชื่อมต่อ และจัดองค์กรให้ตอบสนองต่อคะแนนเสียงนี้ให้ได้ จึงเป็นพลังบังคับให้การพัฒนามีลักษณะเท่าเทียมกัน
 
ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า ในทุกสังคมทั้งยุโรป, ละตินอเมริกา, แอฟริกา และเอเชีย การจัดองค์กรของมวลชนระดับล่างนั้นฝ่ายซ้ายเป็นผู้ริเริ่มขึ้นก่อน (ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องอธิบายในที่นี้) ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่ม "แดงสยาม" จึงมีนัยยะสำคัญแก่ขบวนการเสื้อแดง ไม่ว่าอุดมการณ์สังคมนิยมจะครอบงำขบวนการมากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่ประสบการณ์ของฝ่ายซ้ายน่าจะช่วยให้การจัดองค์กรเป็นไปได้มากขึ้น ความ "เสมอภาค" ที่ขบวนการเสื้อแดงเรียกร้องตลอดมา จะมีนัยยะที่ลึกมากขึ้นกว่าการต่อต้านอภิสิทธิชนทางการเมืองกลุ่มเล็กๆ เพื่อเปิดทางให้ทักษิณกลับบ้านเท่านั้น
 
องค์กรที่พัฒนาขึ้นเป็นสถาบัน (พรรคการเมือง, สหภาพแรงงาน, สหอาชีวะ, ฯลฯ) จะช่วยทำให้มวลชนคนระดับล่างเลิกแวดล้อมผลประโยชน์ของตนกับบุคคล (ทักษิณ, ยิ่งลักษณ์, ณัฐวุฒิ, จตุพร, หรือ "เจ๊" และ "เฮีย" ฯลฯ) ไปสู่การยึดมั่นกับนโยบายการพัฒนาที่เท่าเทียมอย่างยั่งยืน
 
แต่ยังครับ ขบวนการเสื้อแดงยังไปไม่ถึงตรงนั้น แม้กระนั้นก็มีสัญญาณบางอย่างที่น่าสนใจ แกนนำ (ชายขอบ) ที่คุยกับผมกล่าวถึง "เจ๊" ว่า ก็เสื้อแดงเราทิ้งตัวบุคคลมาตั้งเยอะแยะแล้ว คนอายุตั้ง 60 แล้วยังทิ้งได้ (ผมไม่ทราบว่าเขาหมายถึงใคร ทักษิณ หรือคนอื่นๆ อีกมากก็ไม่ทราบ) สาอะไรกับ "เจ๊" คนเดียว
 
แกนนำ (ชายขอบ) อีกคนหนึ่ง ที่พยายามผลักดันให้พรรคเพื่อไทยใช้ระบบไพรมารีในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เล่าว่าเขาถูก "เจ๊" เรียกไปปราม ผู้สนับสนุนเขาบางคนเล่าว่า ได้รับข้อเสนอเป็นตัวเงินด้วยซ้ำให้หยุดการเคลื่อนไหวแบบนี้
 
ผมคิดว่า การจัดองค์กรภายในของขบวนการเสื้อแดงกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน มีอะไรเคลื่อนไหวอยู่ข้างล่างมากกว่าปรากฏการณ์ที่เรามองเห็นจากข้างบน หลายคนมองเห็นว่า การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นความจำเป็นเฉพาะหน้า แต่การไปร่วมหัวจมท้ายกับพรรคเพื่อไทยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ระยะยาวแก่คนเสื้อแดง แม้กระนั้นในระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งยังมองเห็นแนวทางข้างหน้าไม่ชัดนั้น "เจ๊" ก็สำคัญ แต่ดูเหมือน "เจ๊" แตกต่างจาก "เจ้าพ่อ" ในอดีต ตรงที่ทั้งสองฝ่ายต่างสำนึกเต็มเปี่ยมว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง "เจ๊" และคนเสื้อแดง เป็นการแลกเปลี่ยนบริสุทธิ์ ไม่มีความภักดีใดๆ เจือปนอยู่เลย
 
ดังนั้น จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ยากจะยั่งยืน เพราะในการแลกเปลี่ยน คนเราย่อมเปลี่ยนคู่ความสัมพันธ์ได้เสมอ
 
อย่างไรก็ตาม หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล จะนำไปสู่อะไรข้างหน้าก็ยังคาดเดาไม่ถูก แต่ไม่มีวันที่ขบวนการคนเสื้อแดงจะถอยกลับทางเดิม เพื่อไปเป็นสมุนของชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ อย่างที่เคยเป็นมาหลายชั่วโคตร ฉะนั้น การรัฐประหารในทุกรูปแบบ จึงไม่อาจให้ผลอย่างที่คาดหวังได้อีกแล้ว
 
 
 
 
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกที่ คอลัมน์กระแสทรรศน์ มติชน 17 มิถุนายน 2556
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รุจ ธนรักษ์: เรื่องของข้าว

Posted: 18 Jun 2013 01:39 AM PDT

ตลอดปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องจำนำข้าวสักเท่าไหร่

หลักๆแล้วมีสองสาเหตุคือ 1. ไม่มีความรู้ กับ 2. ไม่คิดว่ามันเป็นนโยบายเศรษฐกิจ เพราะถ้ามองจากกรอบเศรษฐกิจล้วนๆ มองยังไงมันก็เจ๊งกว่านโยบายประกันราคาข้าวแน่ๆ ป่วยการจะมาถกเถียงเรื่องตัวเลข

ผมจึงเชื่อและมองนโยบายจำนำข้าวในแง่ "นโยบายการเมือง" มาโดยตลอด

ซึ่งถ้าเรามองนโยบายจากมุมการเมือง เราต้องยอมรับกันก่อนว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะดำเนินนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน

การกล่าวอ้างว่า "มันขาดทุนเยอะเกินไป" หรือ "มันจะทำระบบตลาดเจ๊ง" นั้น อาจกล่าวได้ในทางทฤษฏี ด่ากันได้เต็มที่ รณรงค์ต่อต้านกันได้ตามสะดวก แต่เราไม่อาจสรุปได้ว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรม

และแน่นอนว่า ไม่ใช่เหตุให้เรียก "รถถัง" ออกมาล้มรัฐบาล

หลักการง่ายๆคือประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนจึงต้องเรียนรู้ "ลองผิด-ลองถูก" กับทิศทางที่ตนเองเลือกเดิน ถ้าล้มแล้วเจ็บก็ต้องจำ และเรียนรู้ด้วยกันที่จะลุกขึ้นเดินต่อไป

เหมือนเราเป็นเจ้าของร่างกาย เรารู้ดีว่ากินฟาสต์ฟู้ดแล้วอ้วน ถ้าเรายังกิน เราก็ต้องยอมรับว่ามันจะอ้วน ถ้ากินติดต่อกันนานๆก็จะเป็นโรคต่างๆได้ — แต่นั่นคือร่างกายของเรา ที่ไม่ควรมีเทวดาหน้าไหนมาสั่ง มาห้าม มากำหนดว่าเราควรกินสลัดผักวันละกี่จาน

ด้วยความที่มันเป็น "นโยบายการเมือง" ดังนั้นการมีคนบางกลุ่มชื่นชอบและอีกกลุ่มด่าทอจึงเป็นเรื่องปกติ เพราะมันคือเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ คือการเอาภาษีของคนกลุ่มหนึ่งมาจ่ายให้คนอีกกลุ่ม มันก็ทะเลาะโต้เถียงกันไปตามธรรมชาติในระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะ "ทำได้แค่ไหน" เพราะหากทำแล้วเวิร์ก คะแนนเสียงทางการเมืองก็จะเป็นของพรรครัฐบาลไปเต็มๆ

แต่หากมันทำต่อไปไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ การจะถูกด่า "สองเด้ง" ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

จำได้ว่าเมื่อปีก่อนผมเคยพูดไว้ว่า หากสุดท้าย "จำนำข้าว" จะทำให้อะไรสักอย่างเจ๊ง คนแรกที่จะเจ๊งก่อนประเทศไทยคือ "รัฐบาล" เพราะถ้ารัฐบาล "หาเงิน" มาใช้ไม่ได้อย่างที่ตัวเองคาด โครงการมันก็ไม่มีเงินจะอุดหนุน สุดท้ายก็ทำต่อไม่ได้ ผลกระทบ "ทางการเมือง" จะสวิงกลับมาสู่รัฐบาลโดยตรง ซึ่งถึงตรงนั้นก็เป็นสิ่งที่พรรครัฐบาลต้องยอมรับผลแห่งการตัดสินใจ "เล่นเกมนี้" ของตนเอง

ประชาธิปไตยมันก็ง่ายๆแค่นี้ ปล่อยให้กลไก ให้ระบบมันเดินไป อดใจรอไม่นานก็จะเห็นผลกันเอง ไม่ต้องไปเรียกรถถังออกมาบ่อยๆ

ทุกวันนี้เรามีกลไกประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองเมื่อได้รับเลือกตั้งมาแล้วต้องทำโครงการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ — มันจะไม่ดีไปอีกหรือ หากเราจะมีระบบการเมืองที่ "รัฐบาลพังได้" หากทำโครงการที่ประกาศไว้ไม่สำเร็จ?

บทความประชาไทชิ้นล่าสุด http://www.prachatai.com/journal/2013/06/47230เขียนไว้ได้ดีมาก โดยเฉพาะคำอภิปรายของ อ.วิโรจน์ แนะนำให้อ่านกันอย่างยิ่งครับ

"สิ่งที่พิสูจน์ไปแล้วก็คือว่าที่ทำอยู่มันไปไม่ไหว ที่ขาดทุนส่วนหนึ่งก็เกิดจากซื้อแพงขายถูก ซึ่งแม้ในทางการเมืองผมคิดว่ารัฐบาลที่มาโดยระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิ มีอำนาจ และมีหน้าที่ด้วยที่จะกระจายรายได้ แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่มีสิทธิที่จะทำโครงการที่มันไร้ประสิทธิภาพ" ดร.วิโรจน์ กล่าว และว่าปัญหาของรัฐบาลนี้อยู่ที่ต้นทุนในการจัดการแพงเกินไป

สุดท้ายสำหรับเรื่องข้าวใน "มุมอื่น"

จะเห็นว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล นโยบายที่ทำอย่างเดียวก็คือการอุดหนุน ไม่ทำแบบ A ก็ทำแบบ B วนเวียนไปมาอย่างนี้เป็นสิบปี

นอกจากนั้น เรามักภูมิใจกันผิดๆว่าเรา "ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก" หลายคนเลยเถิดไปถึงขั้นเชื่อว่า "ข้าว" คือสัญลักษณ์แห่งความเป็นไทยชนิดหนึ่ง

ทั้งที่ความจริงแล้ว มีไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่กินข้าวเป็นอาหาร และเราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผลิตข้าวได้เกินความต้องการ เราผลิตข้าวได้มากกว่าเรากินกันเอง ที่เหลือจึงต้องส่งออกไปขายในตลาดโลก

ผลิตได้มาก — อาจฟังดูดี แต่ปัญหาคือข้าวไม่ใช่น้ำมัน ไม่ใช่สินค้าที่ทุกคนบนโลกจำเป็นต้องซื้อ และราคาข้าวมีขึ้น-ลงอยู่เสมอ

มันอาจจะฟังดูโหดร้าย แต่คำถามน่าคิดคือเราจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องผลิตข้าวมากมายเช่นนี้ และในแง่นโยบายเศรษฐกิจของประเทศ เราตั้งใจจะผลิตข้าวกันไปอีกถึงเมื่อไหร่?

การที่ไทยยังต้อง "ปลูกข้าว" กันมหาศาลเช่นนี้ ในมุมหนึ่งมันอาจสะท้อนได้ไหมว่ารัฐไทยไม่ลงทุน "พัฒนา" ตนเองไปไหนเลย เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจใดๆมาช่วยรองรับและให้โอกาส "คนส่วนใหญ่" ของประเทศได้มีงานที่ดีขึ้น มีโอกาสทางทำมาหากินใหม่ๆที่เปิดกว้าง มีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม สื่อสาร ไฟฟ้า ประปา การศึกษา — สร้างคน สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐไทยยังปล่อยให้โครงสร้างสังคมไปเหยียบทับชาวนาเข้าไปอีก ชาวนาไทยไม่มีที่นาของตนเอง ต้องเช่าที่คนอื่นทำนา ซึ่งสรุปได้ว่าชาวนาต้องขายแรงงาน ต้องจ่ายค่าเช่าที่ ต้องลงทุนซื้อวัตถุดิบมาผลิตเอง (พันธุ์, ปุ๋ย ฯลฯ) ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการผลิต (ฝน,โรค,น้ำท่วม) และความเสี่ยงจากราคาตลาด — ถามนักเรียน MBA หน่อยว่าเคยเห็น business case แบบนี้ที่ไหนอีกบ้าง?

มันอาจฟังดูเว่อร์ไปหน่อย
แต่ผมอยากเรียกสภาพชาวนาไทยว่าเป็น ระบบศักดินาในศตวรรษที่ 21

หลายคนอาจไม่รู้ว่าด้วยจำนวนประชากร 67 ล้านคนนั้น ประเทศไทย "ใหญ่" เป็นอันดับที่ 20 ของโลก

ประเทศเราจะเจริญกว่านี้ไหม ถ้าผู้คนในประเทศปลูกข้าวกันน้อยลง แต่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มาประกอบอาชีพอื่นๆกันมากขึ้น

แม้อาจไม่ใช่เรื่อง "ข้าว"​ เสียทีเดียว แต่ตัวเลขชุดนี้http://whereisthailand.info/2012/06/labour-by-occupation/ แสดงให้เห็นชัดๆว่า 10 ปีผ่านไป สัดส่วนคนไทยที่ทำงาน "ทักษะสูง" ไม่เพิ่มขึ้นเลย แถมยังลดลงเสียด้วยซ้ำ

สิงคโปร์อยากเป็น Medical Hub ให้ตายอย่างไร เขาก็มีประชากรแค่ 5 ล้านคน เขาจะเสกคนที่ไหนมาเรียนหมอ เรียนพยาบาล ได้มากอย่างที่เขาอยากได้

แล้วเราจะให้คนของเราปลูกข้าวกันมหาศาลเช่นนี้ไปถึงเมื่อไหร่กัน?

 

 

 

ที่มา: roodthanarak.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลไกยกระดับค่าจ้างแรงงานเพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย

Posted: 18 Jun 2013 01:22 AM PDT

เจตนารมย์ของการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเป็นไปเพื่อคุ้มครองแรงงานให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าแนวโน้มลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีสัดส่วนน้อยลง  และแม้ว่าการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองแรงงาน แต่การประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำก็นับเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ซึ่งผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำมีทั้งผลดีและผลเสีย

การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศในต้นปี 2556 นี้แม้ว่าเป็นไปภายใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลตามที่หาเสียงไว้ และดูเป็นธรรมกับลูกจ้างระดับหนึ่งเพราะทำให้ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างลดลง  อย่างไรก็ดี การที่ตลาดแรงงานของไทยเป็นตลาดที่เน้นใช้แรงงานราคาถูก ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน จึงต้องพยายามรักษาขีดความสามารถของการแข่งขันของสินค้าไทย เน้นการลดต้นทุนการผลิตด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำและมีนโยบายผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ผู้ประกอบการจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับกลไกการผลิต

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ภายใต้โครงการสำรวจความคิดเห็นและทัศนคติทางสังคมรายไตรมาส : การศึกษาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย  เสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม  ผลการศึกษาระบุว่า  หนทางหนึ่งที่จะหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ที่เกิดจากการไม่สามารถสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้ และเป็นหนทางนำไปสู่การยกระดับค่าจ้างหรือรายได้ของแรงงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในประเทศคือ การหันเหทิศทางการจ้างงานที่เน้นการแข่งขันเรื่องค่าจ้างไปสู่การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับยกระดับรายได้แรงงานให้กินดีอยู่ดี จนหลุดพ้นการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยการสร้างระบบที่มีกลไกสร้างทั้งแรงจูงใจและแรงกดดัน นำไปสู่การใช้ปัจจัยการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น และต้องการจ้างแรงงานที่มีฝีมือสูงขึ้น สร้างกลไกกดดันผ่านกลไกราคาปัจจัยการผลิตซึ่งในส่วนของแรงงานก็คือค่าจ้างที่สูงขึ้น เป็นการบังคับให้นายจ้างต้องดิ้นรนหาหนทางปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กลไกดังกล่าวคือ

1. การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เช่น ลดหย่อนภาษีเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อปรับเปลี่ยนราคาเปรียบเทียบ (relative prices) ของปัจจัยการผลิต ในการจูงใจ (incentive) และสร้างแรงกดดัน (pressure) บังคับให้ผู้ประกอบการปรับโครงสร้างการผลิตสู่ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี และผลิตสินค้ามูลค่าสูง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ และมีค่าตอบแทนสูง

2. การให้สิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยเน้นการให้สิทธิพิเศษกรณีลงทุนด้านเทคโนโลยีในระยะเริ่มต้น และใช้เกณฑ์ด้าน performance based incentive ในการให้สิทธิดังกล่าวในระยะติดตามผล

3. การทยอยปรับความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานบางด้าน เพื่อทำให้ต้นทุนในการจ้างงานสูงขึ้น เช่น การตั้งเป้าหมายว่าจะบังคับกฎหมายโดยอาจเริ่มจากการตรวจแรงงานเพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าจ้างวันหยุดประเพณีอย่างน้อยปีละ 5-7 วัน ส่วนลูกจ้างที่ทำงานในภาคบริการเกิน8 ชั่วโมงต่อวัน ต้องได้ค่าล่วงเวลา (OT) หรือค่ารถกลับบ้านดึก เป็นต้น กำหนดพื้นที่เป้าหมายว่าจะเริ่มในพื้นที่ไหน สาขาอะไร ค่อยๆ ทำให้กฎหมายตึงขึ้นทีละน้อย เพื่อไม่ให้เป็นช็อคต่อระบบการผลิตและเศรษฐกิจ และให้เวลานายจ้างปรับตัว นอกจากนี้ ควรสร้างกลไกในการให้แรงจูงใจ (incentive) แก่นายจ้างที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ให้นายจ้างที่มีโครงสร้างการปรับค่าจ้างประจำปี มีการจัดสวัสดิการที่ดี สามารถนำหลักฐานมาประกอบเพื่อยื่นลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น

4. การเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (labour productivity) ซึ่งเป็นบทบาทของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีสมรรถนะสูงโดยจัดฝึกอบรมทักษะที่จำเป็น และสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (best practice) ตั้ง "มาตรฐานฝีมือแรงงาน" ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมว่าต้องการความสามารถเฉพาะทาง (competencies) เพียงใด เพื่อนำไปสู่กรอบการฝึกอบรมและทดสอบสมรรถนะที่สามารถควบคุมคุณภาพและรับประกันคุณภาพของแรงงาน เน้นพัฒนาคุณลักษณะใฝ่เรียนรู้ให้แก่บุคลากร รวมทั้งภาครัฐควรสนับสนุนการพัฒนาแรงงานในธุรกิจ SMEs ด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากข้อจำกัดสำคัญของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมคือต้องทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการใช้จ่ายหรือดูแลครอบครัว จึงเหนื่อยล้าและไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้ในการสะสมความรู้ความชำนาญ ดังนั้นการเพิ่มบทบาทขององค์กรลูกจ้าง/สหภาพแรงงานในฐานะที่มีความใกล้ชิด รู้จักและเข้าใจความต้องการของแรงงานได้ดี ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของแรงงาน เช่น การค้นคว้าข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ

5. การเปิดโอกาสให้องค์กรลูกจ้าง/สหภาพแรงงานเข้ามามีบทบาทเป็นกลไกในเกิดการมีโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการด้วยการเป็นองค์กรเพื่อการเจรจาต่อรองภายในสถานประกอบการ หากไม่สัมฤทธิ์ผล องค์กรลูกจ้างก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้ทำหน้าที่เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการเพื่อให้ดำเนินการปรับค่าจ้างตามโครงสร้างค่าจ้าง หากแต่ละองค์กร (นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ) สามารถประสานความร่วมมือและดำเนินการปรับค่าจ้างในระดับสถานประกอบการให้อยู่ในระดับยอมรับกันได้แล้ว ก็จะทำให้แรงงานไม่ต้องมาพึ่งองค์กรแรงงานระดับชาติในการเจรจาต่อรองเรื่องการค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนที่ผ่านมา

6. การทบทวนนโยบายแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ในระยะสั้นควรพิจารณาว่าหากมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวแล้วจะดำเนินนโยบายหรือมีมาตรการอย่างไรให้ได้แรงงานต่างชาติระดับแรงงานฝีมือมากกว่าแรงงานกรรมกร เพราะนอกจากเหตุผลด้านประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานฝีมือที่สูงกว่าแล้ว ยังมีเหตุผลด้านอื่นๆ เช่น ภาระในการดูแลและปัญหาสังคม

7. การยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยสถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอนแบบ work-basedมีการประเมินการสอนแบบ competency based และเรียนพื้นฐานวิชาเพื่อให้สามารถปรับตัวเปลี่ยนงานได้เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจ้ายอดศึกพบออง ซาน ซูจี ระบุสนับสนุนรูปแบบสหพันธรัฐ

Posted: 18 Jun 2013 12:45 AM PDT

ผู้นำสภากอบกู้รัฐฉานและกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ได้เข้าพบกับนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีที่กรุงย่างกุ้ง โดยหัวข้อหลักของการหารือครั้งนี้เกี่ยวกับการเรื่องการสร้างสันติภาพในพม่า การปกครองระบอบสหพันธรัฐและการแก้ไขปัญหายาเสพติด

ที่มาของภาพ: DVB

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา พลโทเจ้ายอดศึก ผู้นำสภากอบกู้รัฐฉานและกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ได้เข้าพบกับนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีที่กรุงย่างกุ้ง โดยหัวข้อหลักของการหารือครั้งนี้เกี่ยวกับการเรื่องการสร้างสันติภาพในพม่า การปกครองระบอบสหพันธรัฐและเรื่องยาเสพติด

มีรายงานว่า นางซูจีได้ระบุกับเจ้ายอดศึกว่า การสร้างสันติภาพจะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีความจริงใจและซื่อสัตย์ต่อกัน รวมไปถึงหากไม่มีความเป็นธรรมและถูกต้องการสร้างสันติภาพจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีความเท่าเทียมกัน มีความจริงใจต่อกัน ร่วมกันทำงานจึงจะประสบความสำเร็จ

นางซูจี ยังระบุว่า สงครามที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมามากพอแล้ว ดังนั้นถึงเวลาที่จะต้องสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแล้ว โดยนางซูจียังระบุ จะทำงานเพื่อประชาชนเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้นางซูจียังหนุนการปกครองระบอบสหพันธรัฐ โดยกล่าวว่า หากพม่าไม่ปกครองตามระบบสหพันธรัฐ เชื่อว่า จะไม่สามารถสร้างสันติภทพได้ ดังนั้นตนเองจะทำหน้าที่ในสภาเพื่อผลักดันเรื่องนี้ นางซูจีกล่าว

เกี่ยว กับเรื่องยาเสพติดนั้น นางซูจีระบุพร้อมที่จะทำงานและช่วยเหลือ RCSS/SSA-S ในการแก้ไข้ปัญหานี้ โดยกล่าวว่า หากในพื้นที่มีปัญหาเรื่องไหนก็ให้ติดต่อประสานงานกับพรรคเอ็นแอลดี เพื่อที่นางซูจีจะสามารถนำเข้าสู่สภาและเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

มี รายงานว่า นอกจากเจ้ายอดศึกจะพบหารือกับผู้นำพรรคเอ็นแอลดีแล้ว ยังเดินทางไปพบปะกับประชาชนในเมืองจ๊อกเม ทางภาคเหนือของรัฐฉานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีทางสมาชิกพรรคเสือเผือกและประชาชนจากทางภาคเหนือของรัฐฉานนับพันมาให้ การต้อนรับ
 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น