ประชาไท | Prachatai3.info |
- คณบดี ม.รังสิต เผยเล็งแจกหน้ากากขาววันปฐมนิเทศ-จับตาชุมนุม 8 จังหวัด
- ความเท่าเทียมกันทางโอกาสกับการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มประชากรไร้ความสามารถ
- ความขัดแย้งที่ห้วยกระทิง: เสียงเพรียกหาความยุติธรรม และความฝันลมๆ แล้งๆ ของมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553
- เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อุบลฯ จี้รัฐหนุนเกษตรไร้สารอาหารปลอดภัย จังหวัดชี้มีคนทำน้อยโตยาก
- มีเดียมอนิเตอร์เผยพบสปอตวิทยุผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง
- นักศึกษาชายแดนใต้ 5 สถาบันร่วมสร้างโรดแมปสันติภาพ
- ปักหมุดพลังหญิง นำทางสันติภาพชายแดนใต้
- ‘สุเทพ’ เบิกคดี ‘6 ศพวัดปทุม ย้ำไม่ได้สลายชุมนุม แต่กดดันให้เลิกไปเอง
- ถกหลังหน้ากากกับ ‘แดงสยิว’ ปฏิบัติการแจมมิ่งหน้ากากขาว กายฟอคซ์
คณบดี ม.รังสิต เผยเล็งแจกหน้ากากขาววันปฐมนิเทศ-จับตาชุมนุม 8 จังหวัด Posted: 08 Jun 2013 12:18 PM PDT ดร.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณะบดีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
วานนี้(8 มิ.ย.56) เวลา 14.30 น. ดร.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยกลางงานเสวนาวิชาการ ครั้งที่ 2 หัวข้อ "ปรากฏการณ์หน้ากากขาว กับยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม–การเมือง" ที่จัดขึ้นที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต อาคารสาธรธานี ถนนสาธร จัดโดยวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ร่วมกับ กลุ่มกรีนการเมือง, สถาบันพัฒนาการเมือง, ชมรม สสร.50 และ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ดร.อนุสรณ์ กล่าวตอนหนึ่งในงานดังกล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย.) ม.รังสิตจะมีการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ซึ่งในปีนี้ไม่ใช่เพียงการเตรียมนักศึกษาเพื่อที่จะเป็นนักศึกษา แต่เป็นการเตรียมนักศึกษาให้พร้อมที่จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ โดยจะมีวีทีอาร์ฉายให้เห็นว่าประเทศกำลังมีปัญหาเรื่องอะไรบ้าง นับตั้งแต่ปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาพลังงาน ภาคใต้ เขาพระวิหาร เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นภาพ หลังจากนั้นจะตั้งคำถามว่าจากสารพัดปัญหาดังกล่าวนักศึกษาพร้อมที่จะรับภารกิจในการกู้ชาติหรือยัง ก่อนที่จะมีการร้องเพลงสุดท้าย "รักเธอประเทศไทย" โดยคุณหรั่ง ร็อคเคสตร้า "เมื่อวานเจอท่าน ดร.อาทิตย์ (อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และเป็นกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์) ก็เสนอท่านว่า ตอนที่คณบดีเดินเข้าห้อง ติดหน้ากากขาวได้ไหม ท่านก็บอกว่าแจกนักศึกษาประมาณ 7,000 คน แจกทั้งหมดเลย" คณะบดีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าว โดยในวงเสวนานายสำราญ รอดเพชร ผู้ดำเนินรายการเสวนาถามย้ำช่วงท้ายด้วยว่าจะมีการแจกหน้ากาก 7,000 ใบจริงหรือไม่ ดร.อนุสรณ์ตอบว่า เมื่อวานได้มีการคุยกัน แต่ไม่สามารถจัดหาหน้ากากได้มากขนาดนั้น เพราะหน้ากากขาวตอนนี้อาจขาดตลาดและเป็นสิ่งต้องห้าม ต่อไปกระทรวงมหาดไทยอาจจะประกาศว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ในงานเสวนาวิชาการดังกล่าว นอกจากดร.อนุสรณ์ เป็นวิทยากรแล้ว ยังมี นายสุริยใส กตะศิลา รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต และนายชัยวัฒน์ สุรวิชัย ร่วมวงเสวนา รวมทั้งพล.ร.อ. พะจุณณ์ เข้าร่วมฟังด้วย สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มหน้ากากขาว หรือ V For Thailand นั้นมีการนัดรวมตัวกันในวันที่ 9 มิ.ย.ในพื้นที่ 8 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ราชบุรี นนทบุรี สุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลาและภูเก็ต ภายใต้ชื่อ "ยุทธการดอกไม้บานสะท้านปฐพี รวมพลังระดมพล" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ความเท่าเทียมกันทางโอกาสกับการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มประชากรไร้ความสามารถ Posted: 08 Jun 2013 07:00 AM PDT ในโลกเศรษฐกิจปัจจุบันได้มีการสถาปนาความขอบธรรมของการแข่งขัน (competition) ในระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ ต้นกำเนิดทางความชอบธรรมทางการแข่งขันมีหลายทฤษฎี โดยหนึ่งในนั้นสร้างมาจากเหล่านักสังคมวิทยาที่นิยมชาร์ส ดาร์วิน โดยการนำทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติของ ดาร์วินส์ มาอธิบายถึงความถูกต้องในการแข่งขันในสนามเศรษฐกิจของมนุษย์ ว่าตามธรรมชาติที่มีทรัพยากรจำกัด สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวได้ดีกว่า (เหนือกว่า) ย่อมสามารถมีโอกาสที่จะรอดชีวิตมากกว่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวได้ (สิ่งมีชีวิตที่ต่ำกว่า) และในสายเสรีนิยมต่างนิยามว่ากรรมสิทธิ์ของปัจเจกชนเป็นสิทธิตามธรรมชาติ บุคคลย่อมสามารถครอบครองสิ่งที่ได้มาตามการทำงานของเขา อย่างไรก็ตามโลกของการแข่งขันในความเป็นจริงก็มิได้เป็นอย่างที่เหล่าเสรีนิยมได้วาดฝันไว้ เพราะสังคมมิได้ปกครองอย่างแบนราบแต่เป็นการปกครองที่แบ่งชนชั้นออกเป็นปิรามิด และมีสถาบันสังคมที่เอื้อสิทธิประโยชน์แต่ละกลุ่มประชากรไม่เท่ากัน ในขณะเดียวกันประชากรก็มีความหลากหลายทั้งทางด้านชีววิทยา สรีรวิทยา ความคิด วัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเชื้อเพาะความคิดที่แบ่งแยกเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างดังกล่าว ความคิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรโดยผู้ที่มีอำนาจต่อรองมากกว่าย่อมสามารถกีดกันกลุ่มประชากรที่มีอำนาจต่อรองได้น้อยกว่า การเลือกปฏิบัติ (discrimination) ในสังคมมีหลายรูปแบบ เช่น เชื้อชาติ ผิวสี เพศ ศาสนา ความร่ำรวย ระดับการศึกษา ชาติตระกูล เป็นต้น ทฤษฎีความเท่าเทียมกันทางโอกาสจึงถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคม อันเนื่องมาจากสาเหตุของการเลือกปฏิบัติกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรเนื่องจากความแตกต่างทางโครงสร้างสถาบันสังคม หรือความแตกต่างทางการกำเนิดซึ่งนอกเหนือจากการกำหนดของปัจเจกบุคคล ประวัติศาสตร์ของอเมริกาผ่านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและสีผิวอย่างโหดร้าย หลักการปกครองแบ่งแยกแต่เท่าเทียม (seperate but equal) ตั้งแต่ปี 1890-1974) โดยมีการแบ่งแยกสาธารณูปโภค เขตที่อยู่อาศัย การบริการสาธารณะ อาชีพการงานระหว่างคนขาวกับคนดำ ทำไมถึงมีการเลือกปฏิบัติแต่เท่าเทียมกันได้ ข้ออ้างที่ให้ความชอบธรรมดังกล่าวคือ ถึงแม้มีการแบ่งแยกแต่ก็ยังมีการแข่งขันที่เท่าเทียมซึ่งคนที่มีความสามารถย่อมได้ผลตอบแทนตามการงานของตน เช่น ในมหาวิทยาลัยคนขาว จะมีเฉพาะคนขาวสมัครสอบแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันและผลสอบจะดีจะแย่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคนขาว ทฤษฎีความเท่าเทียมกันทางโอกาสในเริ่มต้น เป็น Formal Equality of Opportunity โดยการเปิดโอกาสให้คนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงหน้าที่การงาน แต่จะประสบความสำเร็จได้หน้าที่การงานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าความสามารถของผู้สมัครดีพอหรือเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่สมัครหรือไม่ ภายใต้สนามการแข่งขันที่มีกฎแน่นอนและไม่มีการแทรกแซง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งเปิดสมัครตำแหน่งบริหารหนึ่งตำแหน่ง ต้องประกาศสู่สาธารณชนพื่อให้ทุกคนรับทราบและยื่นใบสมัคร โดยมิได้มีการกำหนดคุณสมบัติที่สามารถกีดกันกลุ่มประชากรบางกลุ่มในการเข้าสมัครได้ และนำผู้สมัครทุกคนมาเข้าสอบด้วยข้อสอบที่เหมือนกัน และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด หรือในบางบริษัทกำหนดให้ผู้สมัครไม่ต้องกรอก ชื่อ นามสกุล เพศ เชื้อชาติ เพื่อมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การให้ความชอบธรรมของความสามารถของปัจเจกบุคคล ใน Formal Equality of Opportunity เองก็สามารถเกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่รู้ตัวเนื่องมาจากอิทธิพลความแตกต่างทางสถาบันสังคม เพราะความสามารถของปัจเจกชนนั้นมิขึ้นอยู่กับความสามารถแต่กำเนิดเท่านั้นแต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นเช่น การศึกษา เป็นต้น ความแตกต่างทางเชื้อชาติและสีผิว หรือ ความร่ำรวย อาจส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษา และส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกันในด้านการแข่งขันเพื่อให้ได้หน้าที่การงาน เช่น การกำหนดให้ผู้สมัครมีวุฒิขั้นต่ำปริญญาตรี แต่ในประชากรผิวขาวทุกคนมีโอกาสศึกษาและจบปริญญาตรีทุกคน แต่คนดำมีเพียงคนจำนวนน้อยที่สามารถจบปริญญาตรีได้เป็นต้น Equal of Opportunity จึงมีการพัฒนาขึ้นมาอีกรูปแบบคือ Substantive Equality of Opportunity ขึ้น โดยเป็นการสร้างโอกาสให้คนทุกคนมีโอกาสในการแข่งขันที่ยุติธรรมโดยลดอิทธิพลของความแตกต่างด้านสถาบันสังคม เช่น ถ้ากรณีก่อนการแข่งขัน ประชากรคนดำมีพื้นฐานในการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกับประชากรผิวขาว เช่น คนดำมีพื้นฐานการศึกษาที่ไม่เท่ากันเนื่องจาก ประชากรคนดำมีรายได้ยากจนไม่สามารถเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ ในขณะที่ประชากรกลุ่มขาวสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เพราะมีฐานะร่ำรวย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางโอกาสรัฐจึงต้องสรรหาบริการการศึกษากับประชากผิวดำให้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพได้เหมือนกลุ่มประชากรผิวขาว เป็นต้น อย่างไรก็ตามที่กล่าวมาทั้งหมด Equality of Opportunity ทุกรูปแบบก็ยังวางอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันและความสามารถปัจเจกบุคคลเช่นเคย ซึ่งส่งผลต่อกลุ่มประชากรบางกลุ่มที่มีความแตกต่างทางชีววิทยาและสรีรวิทยา โดยเฉพาะประชากรกลุ่มพิการไร้ความสามารถ และความพิการทางสมอง ซึ่งมีขีดจำกัดในการพัฒนาศักยภาพความสามารถไปแข่งขันกับบุคคลธรรมดาในการได้หน้าที่การงาน ทั้งนี้วิทยาการปัจจุบันไม่สามารถทดแทนข้อเสียเปรียบของเขาได้ทุกกรณี เช่น กรณีที่ขาขาดวิทยาการปัจจุบันสามารถสร้างขาเทียมที่ช่วยทดแทนได้ถึงแม้จะเป็นการทดแทนได้บางส่วน แต่กรณีผู้ป้วยทางสมองนั้น ปัจจุบันยังไม่มีวิทยาการที่สามารถสร้างสมองเทียมเพื่อชดเชยความสามารถที่ขาดหายไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เรียนรู้ช้าคงมีโอกาสยากที่จะสามารถสอบได้ที่หนึ่งหรือชิงทุนกับผู้แข่งขันคนอื่นที่ไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ ซึ่งถ้าสังคมยังคงให้ความสำคัญกับหลักคิดข้างต้นแล้ว ก็เท่ากับเป็นการปิดโอกาสการทำงานกับกลุ่มประชากรไร้ความสามารถโดยปริยายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการทางสมอง และบังคับให้เขาต้องกลายเป็นภาระแก่สังคม ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพทำงานได้เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวผู้พิการเอง และกดขี่ให้ประชากรกลุ่มนี้เป็นพลเมืองที่ถูกละเลย ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศสจึงหามาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชากรดังกล่าวโดยเป็นการเลือกปฏิบัติ (positive discrimination) เพื่อช่วยเหลือให้ประชากรดังกล่าวไม่ต้องผ่านการแข่งขันอันดุเดือดเพื่อให้ได้งาน แต่ได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้ได้งานและสร้างสภาพแวดล้อมพิเศษเพื่อเปิดโอกาสให้เขาพัฒนาศักยภาพการทำงานที่เขาทำมากขึ้นๆ เช่นการออกกฎหมายยกเว้นบริษัทในการจ่ายเบี้ยประกันสมทบให้กับลูกจ้างที่ไร้ความสามารถ การลดภาษีให้กับบริษัทที่ว่าจ้างผู้พิการ เพื่อดึงดูดให้เอกชนจ้างพวกเขามากขึ้น และมีการกำหนดโควตาขั้นต่ำของบริษัทต้องมีจำนวนพนักงานพิการเป็นจำนวนเท่าใดๆ โดยปัจจุบันได้กำหนดให้มีคนงานพิการอย่างน้อย 110,000 คน หรืออย่างกรณีตัวอย่างหนังเรื่อง I am Sam ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งกำหนดโควตาว่าจ้างผู้พิการทางสมองอย่าง Sam ให้เข้าทำงานผ่านช่องทางพิเศษที่ไม่ต้องแข่งขันกับคนปกติทั่วไป และถึงแม้ Sam ทำงานได้ประสิทธิภาพต่ำกว่าคนทั่วไปก็ยังคงได้ทำงานต่อไป ข้อคิดต่อการให้โอกาสของเวิร์คพอยท์ จากที่กล่าวข้างต้นการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งหน้าที่การงาน ถึงแม้เราจะสร้างความเท่าเทียมกันทางโอกาสให้เกิดขึ้นมาเพื่อเกิดการแข่งขันอย่างยุติธรรมตามความสามารถของปัจเจกชน ทฤษฎีดังกล่าวก็มีข้อจำกัดในกลุ่มผู้พิการสมอง และทำให้เราไม่สามารถวางความเชื่อชุดเดียวว่าการแข่งขันตามความสามารถคือความยุติธรรม แต่กลุ่มพิการดังกล่าวต้องการได้มากกว่าความเท่าเทียมกันทางโอกาสและต้องการการเลือกปฏิบัติพิเศษเพื่อช่วยเหลือพวกเขา โดยธรรมชาติของรายการโชว์ที่เน้นการแข่งขันทางความสามารถของผู้สมัคร ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะอำนวยโอกาสให้กับผู้พิการสมอง ถ้ามองว่าการให้โอกาสออดิชันของทุกคนที่สมัครไม่ว่าจะพิการทางสมองหรือไม่ (ผมไม่มั่นใจว่าผู้สมัครมีความผิดปกติทางจิตหรือทางสมองหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้สมมติถ้าผู้สมัครมีความผิดปกติจริง) มันก็คือการให้โอกาสในรูป Formal of Equality of Opportunity ซึ่งตามบทความข้างต้นก็แสดงแล้วว่า วิธีคิดนี้มันไม่เพียงพอ และถ้าบริษัทเวิร์คพอยท์ปราถนาดีอยากให้โอกาสกับผู้พิการทางสมอง ทางรายการต้องเลือกปฏิบัติกับเขาเป็นพิเศษในการให้แต้มต่อ เพื่อให้ผู้พิการมีโอกาสชนะเท่ากับคนอื่นๆมิใช่แค่ให้เขาออกรายการโทรทัศน์โดยบอกว่าเป็นการให้โอกาส ซึ่งบทเรียนนี้ก็มีข้อดีในการเตือนสังคมไทยเพื่อทบทวนกับนโยบายที่มีต่อผู้พิการอีกครั้ง
จากบทความเดิมชื่อ: ความเท่าเทียมกันทางโอกาสกับการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มประชากรไร้ความสามารถ (Equal of Opportunity and Disabilities Discrimination) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ความขัดแย้งที่ห้วยกระทิง: เสียงเพรียกหาความยุติธรรม และความฝันลมๆ แล้งๆ ของมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 Posted: 08 Jun 2013 12:44 AM PDT (1) บ้านห้วยกระทิง : บ้านของคนกะเหรี่ยง เมืองหน้าด่านชาวสยาม ทุกๆ ครั้งที่รถแล่นผ่าน ณ บริเวณนี้ ริมถนนสายเอเชียตาก-แม่สอด หลักกิโลเมตรที่ 62-63 ไม่มีรถคันใดที่จะไม่บีบแตรเพื่อแสดงความเคารพต่อ "ศาลเจ้าพ่อพะวอ" นักรบกะเหรี่ยงผู้ดูแลเทือกเขาผาวอแห่งนี้ เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อๆกันมากว่าสองร้อยปีบอกว่า พะวอเป็นนายด่านหรือนายบ้านที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแต่งตั้งให้มีหน้าที่ดูแลด่านแม่ละเมา คอยลาดตระเวนหาข่าวให้แก่เจ้าเมืองระแหง (หรือเมืองตากในปัจจุบัน) ด่านแม่ละเมาเป็น 1 ใน 2 ด่าน ยามที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจะต้องผ่านช่องทางสองแห่งนี้ อีกช่องทางหนึ่ง คือ ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี ล่วงมาถึงตุลาคม พ.ศ. 2318 ทัพสุดท้ายของกองทัพพม่าที่อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพแห่งกรุงอังวะได้ยกทัพมาตีกรุงธนบุรีโดยผ่านทางด่านแม่ละเมา พะวอและลูกบ้านชาวกะเหรี่ยงได้ลุกขึ้นต่อสู้กับทัพพม่าระหว่างประวิงเวลารอคอยทัพจากเมืองตากมาช่วย จนพ่ายแพ้และถอยร่นมายังเทือกเขาผาวอและถูกฆ่าตายในที่สุด อาจเป็นเพราะพะวอเป็นแค่ไพร่พลระดับล่าง เป็นชาวบ้านกะเหรี่ยงเมืองชายแดนอันไกลโพ้น เรื่องราวของนักรบผู้กล้าชาวกะเหรี่ยงที่อุทิศชีวิตเพื่อแผ่นดินมาตุภูมิ จึงไม่มีพื้นที่ทางหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย ว่าไปแล้วเรื่องราวของ "พะวอ" ก็ไม่ต่างจากเรื่องราวของชาวบ้านกะเหรี่ยงคนตัวเล็กๆที่นี่ เรื่องที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านจึงเป็นเพียงดั่งสายลมผ่าน ณ เทือกเขาผาวอแห่งนี้ ปี พ.ศ.2473 หมู่บ้านห้วยกระทิง (หรือบ้านพะกอยวาในภาษากะเหรี่ยง) ได้ถูกตั้งขึ้นมา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 9,000 ไร่ หมู่บ้านอยู่ลึกจากถนนใหญ่เข้าไปในป่าประมาณ 4 กิโลเมตร มีลำห้วยแม่จะเราไหลผ่าน สังกัดหมู่ที่ 6 ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อยู่ห่างจากอำเภอแม่ระมาดประมาณ 30 กิโลเมตร มีพี่น้องกะเหรี่ยงอาศัยอยู่กว่า 183 หลังคาเรือน รวม 524 คน นับถือศาสนาคริสต์ หมู่บ้านแห่งนี้มีไฟฟ้าใช้บางจุด นอกนั้นก็ใช้แผงโซล่าเซลล์ มีโรงเรียนขนาดเล็กสอนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 แห่ง เด็กนักเรียน 56 คน ชาวบ้านอาศัยกระจายอยู่ตามบริเวณสันเขา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาข้าว ไร่ข้าวโพดและรับจ้างทั่วไป มีฐานะยากจน เพราะเป็นชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ต้องอาศัยป่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต ชาวบ้านที่นี่จึงทำการเกษตรในระบบไร่หมุนเวียน เพื่อรักษาสภาพทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นให้คงสภาพอยู่เหมือนเดิม เกิดการหมุนเวียนของระบบนิเวศน์ เพื่อให้คนก็อยู่ได้ ธรรมชาติก็อยู่ได้ พื้นที่ตามลำห้วยแม่จะเราท้ายหมู่บ้านที่เหมาะกับการทำนาก็ทำเป็นที่นาทอดยาวไปตามลำห้วย ผ่านไปกว่า 77 ปี ล่วงมาจนถึงกันยายนปี 2550 คณะรัฐมนตรีในสมัยที่มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบกำหนดให้ที่ดินบริเวณป่าสามหมื่น ป่าแม่ระมาด และป่าแม่ละเมา ในท้องที่ตำบลสามหมื่น ตำบลขะเนจื้อ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด และตำบลพะวอ ตำบลแม่กาษา ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความขัดแย้งของชาวบ้านห้วยกระทิงกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอก็เริ่มต้นขึ้น (2) จุดเริ่มต้นความขัดแย้งที่ห้วยกระทิง : "ไม่มีแม้ข้าวจะกิน จะเอาเงินที่ไหนสู้คดี" 24 พฤศจิกายน 2552 พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ พื้นที่หมู่บ้านห้วยกระทิงกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอโดยทันที เรื่องเล่าซ้ำซากที่ปรากฏในทุกที่ของ "อุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินชาวบ้าน" ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับฉายหนังซ้ำ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า "เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติปี 2552 หรือ 4 ปีมานี้เอง เจ้าหน้าที่อุทยานได้เริ่มเข้ามาทำการปักป้ายในพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้านให้เป็นพื้นที่ปิด ห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกิน ทั้งๆที่พื้นที่ทำไร่เหล่านั้นชาวบ้านได้ทำกินมาก่อน ไม่มีการกันเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกจากเขตพื้นที่อุทยาน มีเพียงกันเฉพาะพื้นที่ตั้งหมู่บ้านและที่นาบางแห่งตามลำห้วยท้ายหมู่บ้านเท่านั้น อีกทั้งยังมีการข่มขู่ ทำร้าย รวมถึงจับกุมชาวบ้านที่เข้าไปทำกินตามปกติ และส่วนใหญ่ชาวบ้านก็จะให้การรับสารภาพ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเอง อีกทั้งไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี" เฉพาะปี 2556 มีชาวบ้านกะเหรี่ยงถึง 12 ราย ที่กำลังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีข้อหา ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งบางคนยังถูกข้อหาต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อันเป็นข้อหาประจำที่เจ้าหน้าที่อุทยานมักนำมาใช้จัดการกับชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยข้ออ้างว่าชาวบ้านมีมีดพร้าและจอบเป็นอาวุธไว้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทั้งๆที่นี้คืออุปกรณ์ในการทำไร่ทำนาถางหญ้าทั้งสิ้น ชาวบ้านอีกคนเล่าว่า "ทุกวันนี้ชาวบ้านที่นี่หวาดกลัวเจ้าหน้าที่อุทยานมาก พอเห็นคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้านก็จะวิ่งหลบหนีไว้ก่อน ไม่กล้าให้ความร่วมมือกับรัฐ ทุกวันนี้ไม่สามารถทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ ฐานะก็ย่ำแย่ลง เพราะที่ดินทำกินได้ถูกยึดไปเป็นของรัฐภายใต้กฎหมายอุทยานหมดแล้ว อีกทั้งถ้าเข้าไปอยู่ในคุก ก็ไม่มีใครเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย พอเจอปัญหาแบบนี้ บางทีก็อยากตาย ถ้าตายแล้วปัญหาทุกอย่างสามารถจบลงได้ ชาวบ้านจะได้ไม่โดนรังแกก็จะยอมตายให้ เพราะว่าไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ความขัดแย้งที่นี่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ต้องมีการสูญเสียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่ๆ เพราะชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินได้" ดังตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2556 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้จับกุมชาวบ้านกะเหรี่ยงครอบครัวหนึ่งรวม 4 คน นายก่าลี่ ตระกูลพสุพชระ และครอบครัวที่ถูกจับ เล่าให้ฟังว่า "วันนั้นตนเองและครอบครัวได้ไปทำไร่บนดอยแถวๆหมู่บ้าน ซึ่งไร่แห่งนี้ทำกินมากว่า 24 ปีแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อ ตอนประมาณ 9 โมงเช้า มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากอุทยานแห่งชาติขุนพะวอเข้าไปหา 2 คน และได้ถือไม้ท่อนขนาดเท่าแขนเข้าไปด้วย นายก่าลีได้พูดกับทั้งสองคนว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ป่า จะมาจับลุงไม่ได้นะ ทั้งสองคนบอกว่าให้ลุงลงไปคุยกับหัวหน้าประสาท (หัวหน้าอุทยาน) ที่รถก่อน พอลงไปถึงที่รถของหัวหน้าประสาท หัวหน้าประสาทบอกว่าให้ไปคุยกันที่หมู่บ้าน (แต่จริงๆแล้วพาไปโรงพัก) ทุกคนไม่อยากขึ้นรถเพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่อุทยานไม่ทำตามที่พูด แต่เจ้าหน้าที่ก็ข่มขู่อีกทั้งยังได้ใส่กุญแจมือชาวบ้าน พอถึงที่โรงพัก ชาวบ้านก็ถูกบังคับให้เซ็นชื่อโดยที่ไม่เข้าใจว่าเซ็นชื่อเพื่ออะไร และพอร้อยเวรสอบสวนเสร็จ ก็แจ้งว่านายอำเภอไม่อยู่ ทำให้ไม่สามารถประกันตัวได้ ตนเองต้องอยู่ที่โรงพักแม่ระมาดถึง 2 คืน และต่อมาเช้าวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2556 จึงถูกนำตัวส่งไปที่โรงพักแม่สอด และต้องขอยืมหลักทรัพย์จากเพื่อนบ้านเป็นเงิน 40,000 บาท ถึงประกันตัวออกมาได้" หรือเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา นายปุที เจษฎากุลอนุชิต ได้ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ก้อนหินขว้างปาที่บริเวณศีรษะท้ายทอยจนเป็นแผลต้องเย็บถึง 7 เข็ม พร้อมกับตั้งสองข้อหาเดิมที่ชาวบ้านคนอื่นๆถูกตั้งมาก่อนหน้านี้แล้ว คือ ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่าหรือกระทำด้วยประการการใดๆอันเป็นการทำลายป่า กับต่อสู้ขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ขณะนี้ทางครอบครัวได้มีการประกันตัวออกมาแล้ว แต่นายปุทียังมีความหวาดกลัว ไม่กล้าไปทำไร่ทำนา และเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ระมาด เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นระหว่างที่ได้ไปทำนาตามปกติ จนเวลาประมาณ 17.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอเข้ามาที่นา เมื่อนายปุทีเห็นดังนั้นจึงตกใจกลัว และวิ่งหนีไปทางลำห้วยที่อยู่ทางด้านตะวันออกของที่นา ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจึงใช้ก้อนหินขว้างปาเพื่อให้หยุด (3) อย่าให้มติครม. 3 สิงหาคม 2553 เป็นเพียง "ฝันลมๆแล้งๆ": สิทธิของคนกะเหรี่ยงต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 คือเครื่องมือสำคัญที่ยืนยันว่า "คนกะเหรี่ยงอยู่กับป่าได้" ในเมื่อเจ้าหน้าที่และลูกจ้างจากกรมอุทยานแห่งชาติขุนพะวอส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ก็ย่อมเข้าใจวิถีชาวกะเหรี่ยงดีอยู่แล้ว แต่นั่นเองเมื่อตัดสินใจสวมหมวกในอีกบทบาทหนึ่ง การจัดการป่าที่มาพร้อมกับวิธีคิดทางตะวันตกที่มองว่าในป่ามีเพียงสัตว์และต้นไม้จึงเข้ามาแทนที่ ป่าต้องปลอดคนการจัดการป่าถึงทำได้ดีและยั่งยืน แม้ว่าในประเทศไทยจะไม่เหมือนป่าตะวันตกที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง ป่าทุกป่าในประเทศไทยมีคนอาศัยอยู่มาก่อนทั้งนั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็กลับทำเป็นมองไม่เห็นและหลงลืมชั่วขณะ แต่ไม่ว่าความเข้าใจจะเป็นอย่างไร แต่ความจริงก็แจ่มชัดว่าคนกะเหรี่ยงมีภูมิปัญญาที่สะสมถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเรื่องการจัดการทรัพยากร และเคารพธรรมชาติมาหลายร้อยปีผ่าน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นชุมชนวิถีคนกะเหรี่ยงบนแผ่นดินไทย จึงทำให้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร การสืบทอดทางวัฒนธรรม และการศึกษา รวมทั้งให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม รวมถึงการเคารพต่อสิทธิของบุคคลที่จะร่วมกับชุมชน และสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ มติคณะรัฐมนตรีนี้เองที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้พี่น้องกะเหรี่ยงที่บ้านห้วยกระทิงนี้มีความหวังที่จะดำเนินชีวิตต่อ เพราะเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีแล้ว เพื่อยืนยันว่า มติครม. 3 สิงหาคม 2553 ไม่ได้เป็นเพียง "ฝันลมๆแล้งๆ" อีกทั้งสิทธิของคนกะเหรี่ยงต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย จึงได้มีการทำงานร่วมกับคริสตจักรบ้านห้วยกระทิง และคริสตจักรพระพร บ้านจบปิ ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ในการสร้างความตระหนักต่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ดินในชุมชน มีการจัดทำแผนที่ชุมชน ประวัติการตั้งถิ่นฐานของชุมชน กฎระเบียบชุมชน ตลอดจนการสำรวจขนาดที่ดินแต่ละแปลงของชาวบ้านรวม 200 แปลง ผ่านเครื่องมือ GPS (เครื่องมือหาตำแหน่งพิกัดพื้นที่) สอดคล้องกับที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า "ปัจจุบันรัฐมีแนวนโยบาย และหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค.53 ซึ่งส่งเสริมให้ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่ร่วมกับป่าเพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้ กรณีความขัดแย้งที่บ้านห้วยกระทิงนี้ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ที่พิพาท ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวทางการจัดการความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์ และให้ยุติหรือชะลอการดำเนินคดีแก่ชาวบ้านห้วยกระทิงจนกว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน โดยให้มีการตั้งกรรมการร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ อำเภอแม่ระมาด อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน และนักวิชาการ เพื่อพิสูจน์ว่าที่พิพาทเป็นที่ทำกินดั้งเดิมหรือหรือพื้นที่บุกรุกใหม่ ตลอดจนร่วมกันกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินโดยไม่มุ่งเน้นการทำพืชเชิงเดี่ยว แต่ส่งเสริมเกษตรพอเพียงหรือเกษตรทางเลือก ที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ตลอดจนการสนับสนุนการทำไร่หมุนเวียนที่รักษาป่า" เพราะเทือกเขาผาวอเป็นผืนป่าสำคัญแถบชายแดนตะวันตกของจังหวัดตาก แต่เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนพื้นที่ทำกินเดิมของชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำมาหากินอย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติมาก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่รายล้อมป่าเขา เนื่องจากไม่มีกระบวนการจัดการและวางแผนที่ดี ทำให้ที่ดินทำกินจำนวนมากไม่ได้รับการกันแนวเขตออกก่อน และเมื่อนำกฎระเบียบของทางการเข้ามาบังคับใช้โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นศูนย์กลาง จึงเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับชาวบ้านมาโดยตลอด เป็นปัญหาเรื้อรังปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของภาครัฐที่ไม่ลงตัวเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ นายนรภัทร ปลอดทอง นายอำเภอแม่ระมาด กล่าวว่า "ทางอำเภอยินดีเป็นตัวกลางที่จะช่วยให้เกิดการพูดคุยเพื่อหาทางออกใสเรื่องนี้ร่วมกัน โดยกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่มีมาตกลงกันในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 ณ ที่ทำการกำนัน ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป" ว่าไปแล้วความเป็นธรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่หัวใจสำคัญ คือ การมีอยู่มีกินอย่างพอเพียง หากท้องไม่อิ่ม ที่ดินที่เคยเป็นที่ทำมาหากินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ไปทับซ้อนกับการประกาศเขตอุทยาน หากชีวิตยังคงมีความยากลำบาก ไม่มีที่ดินประกอบอาชีพ เป็นเพียงคนงานรับจ้างรายวันแล้ว เช่นนี้ก็ยากที่จะเกิดความเป็นธรรมบนผืนแผ่นดินไทยได้จริง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อุบลฯ จี้รัฐหนุนเกษตรไร้สารอาหารปลอดภัย จังหวัดชี้มีคนทำน้อยโตยาก Posted: 07 Jun 2013 11:53 PM PDT มูลนิธิประชาสังคมอุบลฯ รวมพลคนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอุบลฯ จังหวัดไร้ยุทธศาสตร์หนุน เครือข่ายชี้เป็นวิกฤตินโยบายเพราะไปขัดผลประโยชน์มหาศาล แนะคนทำจริงรวมพลังแลกเปลี่ยนขยายเครือข่าย ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตเผยแนวโน้มสดใสคนรักสุขภาพเพิ่มแต่คนผลิตยังน้อย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ที่หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมภาคีเครือข่ายจัดเวทีปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปอุบล ฮ่วมเฮ็ด ฮ่วมส่าง อนาคตเมืองอุบลในปี2565 ว่าด้วยการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ มีการเสวนาในหัวข้อ "เกษตรอินทรีย์จะก้าวผ่านวิกฤติและโอกาสทางการตลาดได้อย่างไร" มีนายวิสิฏฐ มณีวรรณ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฯ , นายอุดร ชมาฤกษ์ เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี , นายสมชาติ พงคพนาไกร รองประธานหอการค้าจ.อุบลราชธานี , นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดยโสธร , นายปิยทัศน์ ทัศนิยม เครือข่ายกสิกรรมไร้สารอำเภอสำโรง , นายทศพล เมืองชินบัญชร ผู้จัดการบริษัทท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตจำกัด สาขาอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดยนายสุชัย เจริญมุขยนันท นายปิยทัศน์ ทัศนิยม เครือข่ายกสิกรรมไร้สารอำเภอสำโรง กล่าวว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทำเกษตรอินทรีย์เพราะทำยากต้องใช้เวลามาก คนทำได้ต้องเปลี่ยนความคิดจากกระแสหลักของคนส่วนใหญ่ และจะเป็นไปได้มากขึ้นหากฝ่ายวิชาการและรัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง และการจดทะเบียนเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นไปได้โดยง่ายด้วย นายอุดร ชมาฤกษ์ เกษตรจังหวัดอุบลราชธานีเผยเกษตรกรยังทำเกษตรอินทรีย์จำนวนน้อย ที่อุบลฯมีประมาณ 20,000 ไร่เท่านั้น การทำอินทรีย์เป็นเรื่องยาก หากในระดับปลอดภัยจะง่ายกว่าคือใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นและเก็บผลผลิตในระยะที่ปลอดภัย ทางจังหวัดยินดีสนับสนุนแต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป นายสมชาติ พงคพนาไกร รองประธานหอการค้าจ.อุบลราชธานีแสดงความเห็นด้วยกับเกษตรจังหวัดว่าการทำอินทรีย์ เป็นเรื่องที่ยากต้องค่อยเป็นค่อยไป น่าจะเริ่มจากในระดับปลอดภัยก่อน ในทางการตลาดต้องดูความต้องการว่าผู้บริโภคชอบกินอะไร อะไรที่ขายได้ อะไรที่คนกลัว จับจุดให้ได้ และอินทรีย์ทำยากกว่าเคมีต้องราคาแพงกว่าจึงจะคุ้มค่า เสนอให้เริ่มที่ร้านอาหารซื้อแต่ผักปลอดภัย ทำตลาดที่โรงพยาบาล,โรงเรียนก่อน ทางหอการค้าอุบลเคยเสนอเรื่องเกษตรอินทรีย์กับทางจังหวัดไปแล้วแต่ยังไม่มีการตอบรับกลับมา นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดยโสธรชี้เกษตรอินทรีย์ไม่ได้วิกฤติเหมือนหัวข้อเรื่อง มีการเติบโตปีละ 20-30% ทั้งในและต่างประเทศ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ห้างต่าง ๆ ไม่พอขาย แต่ที่วิกฤติคือนโยบายของภาครัฐ ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อาจเป็นเพราะผลประโยชน์การค้าของสารเคมีที่มีมากมายมหาศาล แต่ถ้าผู้นำเอาจริงเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์นำให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ส่วนราชการชาวบ้านก็ทำตาม เป็นจริงได้ คนอุบลราชธานีมีต้นทุนทางความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์อยู่มากมายหากทางราชการหนุนจะไปได้ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยสร้างความเข้มแข็ง ศรัทธาให้ผู้ที่ทำอยู่แล้วขยายวงแลกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นายวิสิฏฐ มณีวรรณ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฯ กล่าวว่ายุทธศาสตร์จังหวัดเน้นเรื่องข้าวหอมมะลิ การท่องเที่ยว การค้าชายแดน ไม่มีเรื่องเกษตรอินทรีย์โดยตรง การที่บอกว่ามีการเติบโตมีความต้องการมาก ห้างไม่พอขายนั้นก็มีคำถามว่าแล้วทำไมคนยังปลูกน้อย จากสี่ล้านไร่ปลูกเพียง 2 หมื่นไร่ เป็นเรื่องน่าคิด ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าในระดับปลอดภัยก็มีโอกาสเป็นไปได้ นายทศพล เมืองชินบัญชร ผู้จัดการบริษัทท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตจำกัด สาขาอุบลราชธานีเปิดเผยว่าทุกวันนี้คนดูแลสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตพยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และพยายามจะนำสินค้าที่ผลิตโดยคนอุบลฯเอง แต่ที่ผ่านก็ยังมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากเกษตรกรที่ปลูกพืชแบบปลอดสารพิษสนใจสามารถติดต่อได้ที่ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตห้างเซ็นทรัลอุบลฯได้ ทางห้างยินดีสนับสนุน นายบุญยง สาระ กลุ่มเกษตรคุณธรรม จังหวัดอำนาจเจริญผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาแสดงความเห็นว่า ทำไมเกษตรอินทรีย์ไม่เกิดสักที เป็นเพราะโครงสร้างของประเทศ ผลประโยชน์ของพ่อค้า เสนอข้อมูลว่าไทยนำเข้าสารเคมี สารปราบศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้าในปี 2542 1,600 ตันต่อ ปี ปัจจุบัน 160,000 ตันต่อปี ประชาชนจ.อำนาจเจริญได้รวมตัวกันเสนอธรรมนูญคนอำนาจเจริญ เพื่อแก้ไขปัญหา จัดการตัวเอง โดยเน้นเป็นเมืองธรรมะเกษตร คนมีธรรมะและทำเกษตรอินทรีย์ อุบลฯเป็นเมืองพี่น่าจะทำได้ไม่ยาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มีเดียมอนิเตอร์เผยพบสปอตวิทยุผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง Posted: 07 Jun 2013 11:36 PM PDT สรุปผลการศึกษาพบสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม สร้างความเสี่ยงต่อประชาชน ให้ "เสียรู้- เสียทรัพย์- เสียสุขภาพ -เสียชีวิต" มีเดียมอนิเตอร์และ กพย. เสนอ กสทช. อย. สตช. ดำเนินการอย่างเข้มงวด จริงจัง ฉับพลัน เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้แทนจากโครงการมีเดียมอนิเตอร์ และ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) นำโดย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. และภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะ ได้นำเอกสารสรุปผลการศึกษา เรื่องการศึกษาวิเคราะห์ สปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทางวิทยุกระจายเสียงที่ปรากฏในเว็บไซต์ พร้อมข้อเสนอแนะ ไปเสนอต่อ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ .พร้อมด้วย ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จุดมุ่งหมายของการศึกษา ครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ของผลการศึกษา พร้อมข้อเสนอแนะ ให้หน่วยงานกำกับดูแลสื่อ และ เนื้อหาการโฆษณา มีมาตรการการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจริงจัง เพื่อการปกป้องคุ้มครองดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการโฆษณาขายผ่านสื่อ จนอยู่ในภาวะความเสี่ยงอย่างรุนแรง ทั้งเสี่ยงต่อการเสียทรัพย์ เสียสุขภาพ ไปจนถึงเสียชีวิต การศึกษาครั้งนี้ได้สุ่มเลือกหน่วยการศึกษา เพื่อการวิเคราะห์เนื้อหา โดยไม่คำนึงถึงช่องทางและความถี่ในการเผยแพร่ ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การโฆษณาขายทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ปรากฎมากมายในท้องถิ่นทั่วประเทศ จนมีการร้องเรียนมาที่ กสทช. เป็นระยะ การศึกษาครั้งนี้ ได้สุ่มเลือกสปอตวิทยุกระจายเสียง โดยสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ google.co.th, youtube.com และ4shared.com ในช่วงวันที่ 11-15 มี.ค.2556 ด้วยการกำหนดคำสำคัญ คือ สปอตวิทยุ และ ชื่อผลิตภัณฑ์จากรายงานการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ในสื่อเคเบิ้ลทีวีและวิทยุชุมชนของ กพย. ที่ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ เมื่อปี 2554 พบไฟล์เสียงสปอตวิทยุที่เผยแพร่ในช่วงปี 2555-2556 จำนวน 71 ชิ้นสปอต จาก 52 ผลิตภัณฑ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อแตกต่างจากชื่อที่ใช้ค้นหา จากนั้นถอดความจากไฟล์เสียงเพื่อทำการวิเคราะห์ โดยจำแนกประเภทผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็น "ยา" และ "อาหาร" ด้วยการเปรียบเทียบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.2556 คู่มือการตรวจสอบโฆษณาสำหรับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ร่วมกับการวิเคราะห์เนื้อหาการโฆษณา จากสปอตวิทยุที่เป็นหน่วยการศึกษา จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์ยาได้ 26 ชิ้นสปอต ของ 18 ผลิตภัณฑ์ จำนวนนี้มี 12 ผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียน อย. ได้แก่ ยาสมุนไพรเกร็กคู ยาสตรีเด่นเจริญ ยากษัยเส้นพลังภูผา ยาบรรเทาริดสีดวงทวารตราภูหลวง ยาน้ำสมุนไพรวัยทองยาดองมะกรูด ยาสมุนไพรเก้ายอด ยาน้ำสมุนไพรสตรีวรรณภา สมุนไพร BL99 สมุนไพรโบโบถิ่น สมุนไพรลิลลี่ ยาสมุนไพรไทยทิพย์โอสถ ยาสตรีสมุนไพรฟลอร่า ส่วนอีก 6 ผลิตภัณฑ์ ไม่พบเลขทะเบียน อย. ได้แก่ ยาบำรุงเลือดพลังภูผา ยามดลูกกาโน่ ยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนักตรา 3 ก๊ก ยาป๊อกตรามือรับเหรียญทอง ยาสมุนไพรวี 888 ยาสตรีอนาริช ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าผลิตภัณฑ์ยาทั้งหมด 26 ชิ้นสปอตไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา (พ.ร.บ.ยา 2510 มาตรา 88ทวิ) จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ได้จำนวน 41 ชิ้นสปอต ของ 30 ผลิตภัณฑ์ จำนวนนี้มีเพียง 10 ผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียน อย. ได้แก่ ซันคลารา เจนิฟู้ด คาวตองพลัส Galaxy ออไรท์ ไมก้า เมอรินด้า กาแฟอชิ น้ำผลไม้ดีเจพลัสโกลด์ มีเลิฟคอลลาเจน ที่เหลือ 20 ผลิตภัณฑ์ ไม่พบเลขทะเบียน อย. ได้แก่ เอ็นไซม์น้ำย่านาง โกลด์สตาร์เอนไซม์ กาแฟคอฟฟี่วิล กาแฟออกาโน่โกลด์ กาแฟรีเฟรชคอฟฟี่ กาแฟวันแฟน กาแฟลิลลี่ น้ำมังคุดแซนสยาม เคน่าพลัส เควันพลัสและเคโอพลัส ไลโป 8 เบิร์นสลิม เอ็นไซม์เอนซี่ คาวตองแมกซ์ คาวตองเทวดล บีลิฟว์เฮิร์บ เคลซีทีพลัสพลูคาวตอง นิวไลฟ์ คาวตองคาลินก้า เคลพลูคาวตอง สพาร์ค ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมด 41 ชิ้นสปอตไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา (พ.ร.บ.อาหาร 2522 มาตรา 41) จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้จำนวน 4 ชิ้นสปอต ของ 4 ผลิตภัณฑ์ จำนวนนี้มี 2 ผลิตภัณฑ์ คือ มะมาสมุนไพร และ สบู่ธิดาทิพย์ ที่มีการจดทะเบียนหลายชื่อ จนไม่สามารถระบุได้ว่า มีเลขทะเบียน อย.หรือไม่ ส่วนอีก 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ไอด้ามิราเคิล และ เพอร์เฟคแฮร์เซรั่ม ไม่พบเลขทะเบียน อย. ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่า เครื่องสำอางทั้ง 4 รายการ ไม่พบการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม และพบข้อความโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญอันเกี่ยวกับเครื่องสำอางจำนวน 1 รายการ คือเครื่องสำอางสมุนไพรแก้ผมร่วงมะมา ผลการศึกษาวิเคราะห์ในมิติด้านกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ประเภทยา จากจำนวน 26 สปอต ของ 18 ผลิตภัณฑ์ เนื้อหาที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามทางกฎหมาย ที่พบมากที่สุด คือ การโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด(พ.ร.บ.ยา 2510 มาตรา88(1)) ทั้งหมด 12 ชิ้นสปอต จาก 7ผลิตภัณฑ์ ด้วยข้อความ เช่น ไม่มีผลข้างเคียงปลอดภัยสูงสุด(ยาสมุนไพรเกร็กคู) ช่วยฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ(สมุนไพรBL99) คืนความสวยตัวช่วยดีๆ ไม่มีอันตราย (ยาสตรีอนาริช) สมุนไพรมหัศจรรย์ 14 ชนิดเกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาล(ยาสตรีอนาริช) รองลงมา คือ การแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง (พ.ร.บ.ยา 2510 มาตรา88(2))พบ 11 ชิ้นสปอต จาก 9 ผลิตภัณฑ์ เช่น มีพลังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในการขับไล่เลือดเน่าเลือดเสียที่คอยจะจับกันเป็นลิ่มเลือด(ยาบำรุงเลือดพลังภูผา) ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ตึงกระชับ บรรเทาอาการเจ็บปีกมดลูก ช่วยวัยสาวกลับคืนมา(สมุนไพรฟลอร่า ชนิดน้ำ) นี่เป็นเสียงของสมุนไพรลิลลี่ที่กำลังไล่จับไขมันส่วนเกินที่ร่างกายคุณไม่ต้องการ(สมุนไพรลิลลี่) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมายในมาตราอื่นๆ อีกเช่น - มาตรา 89 ห้ามมิให้ขายยาโดยไม่สุภาพ หรือโดยการร้องรำทำเพลง หรือแสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย พบ 4 ชิ้นสปอตจาก 4 ผลิตภัณฑ์ - มาตรา 88(5)การให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกามหรือยาคุมกำเนิด พบ 3 ชิ้นสปอต จาก 2 ผลิตภัณฑ์ - มาตรา 88(6)การแสดงสรรพคุณยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษพบ 3 ชิ้นสปอตจาก 2 ผลิตภัณฑ์ - มาตรา 88(7)การรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น พบ 2 ชิ้นสปอตจาก 2 ผลิตภัณฑ์ - มาตรา 88(8)การโฆษณาว่า สามารถบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 77 (ได้แก่ โรคเบาหวาน มะเร็ง อัมพาต วัณโรค โรคเรื้อน โรคหรืออาการของโรคของสมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต) พบ 2 ชิ้นสปอต จาก 2 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร จากจำนวน 41 ชิ้นสปอต ของ 30 ผลิตภัณฑ์ พบว่า เกือบทั้งหมด คือ 39 ชิ้นสปอต จาก 29 ผลิตภัณฑ์ (ยกเว้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซันคลาร่า เฉพาะสปอตตัวที่ 4 จากจำนวนทั้งหมด 5 สปอต และกาแฟออกาโน่โกลด์) มีการนำเสนอข้อความโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร(พ.ร.บ.อาหาร 2522 มาตรา 40) ได้แก่ การโฆษณาในลักษณะสรรพคุณทางยา เช่น ช่วยในการบำบัดโรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคเอดส์ โรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าท์ โรคไต โรคผิวหนัง โรคตับ โรคหอบหืด โรคโลหิตจาง โรคความดันสูง ความดันต่ำ ไขมันอุดตัน โรคไมเกรน โรคไซนัส...(สมุนไพรคาวตองเทวดล) สุดยอดงานวิจัยระดับโลก....ดื่มแล้วได้ผลเร็วตั้งแต่ขวดแรก....ช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง เซลล์เนื้องอก ไขมัน ความดัน เบาหวาน และช่วยขับล้างสารพิษ สารเคมีออกจากร่างกาย ผิวหน้าใสไร้ฝ้า (สมุนไพรเคลซีทีพลัส พลูคาวตอง) การโฆษณาสรรพคุณด้านความงามและสุขภาพเพศหญิง ส่วนใหญ่พบการโฆษณาสรรพคุณที่เน้นความงามทางสรีระ และ สื่อถึงความสัมพันธ์ทางเพศที่ดีขึ้น เช่น ขาวอมชมพูดูมีออร่า กระจ่างใสทันตาใน 7 วัน(มีเลิฟ คอลลาเจน) ผิวสวยหน้าใส ไร้ริ้วรอย ภายในฟิตกระชับ หน้าอกเต่งตึง(เคน่าพลัส) ฟิตเฟิร์ม กระชับ ช่วยให้ระบบภายในสะอาด มั่นใจไร้กลิ่น(ซันคลาร่า) สุขภาพเพศชาย พบสรรพคุณส่วนใหญ่เน้นสมรรถภาพทางเพศ เช่น ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน ไมก้าทำให้คุณเป็นชายเหนือชายได้อีกครั้ง(ไมก้า) นกเขาที่ไม่เคยขัน จะกลับมาขันถี่ๆ ตีปีกอีกครั้ง (กาแฟวันแฟน) ผลการศึกษาวิเคราะห์ในมิติการใช้และการผลิตซ้ำค่านิยมทางสุขภาพ ความงาม เพศ พบว่า มักมีการใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่แสดงสรรพคุณที่เป็นสำนวนซึ่งสะท้อนค่านิยมในเรื่องสุขภาพและความงาม เช่น "ดูสวยใส เปล่งปลั่ง หน้าตามีราศีขึ้นเยอะ" "ผิวพรรณสวยงามมีน้ำมีนวล" "ทำให้หน้าใสมีเลือดฝาด" "ขับไล่เลือดเน่าเลือดเสีย" รวมทั้งค่านิยมทางสุขภาพ ความงาม ที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น "ขาวเด้งเปล่งออร่ากว่าใคร" "หุ่นฟิตเฟิร์ม" "ฟิตกระชับ หุ่นเฟิร์ม" "หุ่นเซี๊ย" และยังพบว่า มีการผลิตซ้ำความคิดในมิติทางเพศ และ ความสัมพันธ์ของหญิง-ชาย โดยเน้นการสร้างความสนใจ หรือ ความกังวล เช่น "มั่นใจไร้กลิ่น" "ภายในกระชับดับกลิ่น" "สำหรับคุณผู้ชายที่มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ล่มปากอ่าว" กับการชี้สู่ผลที่พึงประสงค์ เช่น "สามีรักสามีหลงไปไหนไม่รอด" "ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน" "เพิ่มความเป็นชายได้ทุกสนาม" นอกจากนั้นยังมีการอ้างอิงธรรมชาติ เช่น "ผลิตจากยาสมุนไพรตำรับดั้งเดิม" "สกัดจากธรรมชาติ" และ การกล่าวอ้างข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น "ไม่มีสเตียรอยด์ล้านเปอร์เซ็นต์" "ช่วยต้านอนุมูลอิสระ" และ สปอตโฆษณาจำนวนไม่น้อย ที่ระบุสรรพคุณหลากหลายในลักษณะครอบจักรวาล ทั้งยังพบการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ให้มีนัยยะของสรรพคุณยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ เช่น ยาสมุนไพรเก้ายอด ยาสมุนไพรไทยทิพย์โอสถ ยาบำรุงเลือดพลังภูผา ยามดลูกกาโน่ ส่วนใหญ่ของสปอตที่ทำการศึกษา จะเน้นในเรื่อง ความงาม สุขภาพและสมรรถภาพทางเพศ สุขภาพเพศหญิง เช่น ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล(ยาสตรีเด่นเจริญ,ยาสตรีฟลอร่า) ฟิตกระชับหุ่นเฟิร์ม"(ซันคลาร่า,ยาสตรีอนาริช) หน้าอกเต่งตึง (เคน่าพลัส,ออไรท์,เมอรินด้า) ช่วยให้ระบบภายในสะอาด มั่นใจไร้กลิ่น (ซันคลาร่า) สุขภาพเพศชาย เช่น มั่นใจกลับคืนสู่ความเป็นชายได้อีกครั้ง นกเขาไม่ขันจะกลับมาขันถี่ๆ ตีปีกอีกครั้ง(กาแฟวันแฟน) ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน บำรุงระบบสืบพันธุ์ (ไมก้า) เปรียบเทียบกับผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ เรื่อง สินค้า/บริการด้านสุขภาพและความงามในทีวีดาวเทียม ที่ศึกษาระหว่างวันที่ 11-26 พฤศจิกายน 2554 พบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ยังคงมีการนำเสนอที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น รักษาหายทุกโรคราวปาฏิหาริย์ และสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้เป็นอย่างดี โฆษณาอาหารในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเป็นยา ยังคงมีการใช้ถ้อยคำแสดงสรรพคุณ ในลักษณะการผลิตซ้ำค่านิยมทางเพศ คือ เพศหญิง ถูกนำเสนอในความหมายเชิงรูปลักษณ์เพื่อดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม เช่น ผิวขาวอมชมพู สดใสเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ไร้ริ้วรอย อกโตเต่งตึง รูปร่างผอมเพรียวฟิตกระชับ คืนความสาว เพศชาย ถูกนำเสนออย่างเน้นในเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ทำให้สมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมถอยกลับมาสมบูรณ์เหมือนเป็นหนุ่มอีกครั้ง ข้อห่วงใย 1.จากหน่วยการศึกษาที่ใช้วิธีการสุ่มเลือกจากไฟล์เสียงในเว็บไซต์ ที่พบสปอตโฆษณาฯ จำนวน 71 ชิ้นสปอต จาก 52 ผลิตภัณฑ์ นับเป็นเพียงส่วนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสถานีวิทยุเพื่อธุรกิจในท้องถิ่นและชุมชน ที่มีจำนวนมากกว่า 7,000 สถานี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติของ กสทช. จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้จับกุมฐานประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาต แต่จะไม่ดำเนินการด้านเนื้อหา โดยเฉพาะกรณีการใช้สื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ เพื่อโฆษณาโน้มน้าวเชิญชวนให้มีการซื้อผลิตภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นการขายตรงส่งถึงบ้าน ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะเสี่ยงในการ "เสียรู้ เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ ไปจนถึงเสียชีวิต" อย่างไร้การปกป้องคุ้มครองที่จริงจัง ด้วยความรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. การโฆษณาทางสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ เน้นการใช้ถ้อยคำเพื่อการโน้มน้าวเชิญชวน ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ฯลฯ พบว่า สาระในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องถ้อยคำและภาษา มีการกำหนดไว้อย่างกว้าง ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการตีความ ทั้งโดยผู้กำกับดูแลการโฆษณา และโดยผู้ผลิตสื่อโฆษณา อีกทั้ง สาระสำคัญในกฎหมายยังไม่เท่าทันการใช้ภาษาโฆษณาของธุรกิจการค้าและการโฆษณา เช่น ที่ระบุว่า "แนวทางการโฆษณายาจะต้องไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม" (แนวการโฆษณาขายยาต่อประชาชนทั่วไป ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าด้วยหลักเกณฑ์การโฆษณขายยา พ.ศ. 2545) "ห้ามมิให้โฆษณาขายยาโดยไม่สุภาพ หรือโดยการร้องรำทำเพลง หรือแสดงความทุกขฺทรมานของผู้ป่วย"( มาตรา 89 พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510) "ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ" (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ) ข้อเสนอแนะจากมีเดียมอนิเตอร์ และ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) 1. ข้อเสนอแนะต่อ กสทช. เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศ กสทช. ควร มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเฝ้าระวัง ในระดับภูมิภาค เช่น กสทช. เขต และควรร่วมมือกับหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญและรับผิดชอบด้านเนื้อหาการโฆษณาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยงานที่รับผิดชอบการปราบปรามผู้กระทำความผิด เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเพื่อให้มีการระงับการเผยแพร่อย่างฉับพลันทันเหตุการณ์ เมื่อพบโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย กสทช. ควรเร่งให้มีมาตรการหรือหลักเกณฑ์ ในทางจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองของสื่อในด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์รวมทั้งบริการด้าน อาหาร ยา สุขภาพ ความงาม โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกำกับดูแลเนื้อหาการโฆษณา ทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน รวมทั้ง หน่วยงานวิชาการ และ องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อ และคู่มือให้คำแนะนำ ในด้านการใช้ภาษา ข้อความ ภาพ เสียง รวมทั้งการนำเสนอทางสื่อ ที่ถูกต้อง ที่ไม่ถูกต้อง ที่เหมาะสม ที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ เพื่อเผยแพร่ให้สื่อมวลชนทุกประเภทและระดับ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ กำกับดูแลกันเอง และเพื่อให้เครือข่ายผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ใช้ในการตรวจสอบการนำเสนอของสื่อ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการขจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์ อาหาร ยา สุขภาพ ความงาม ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือ ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะความเสี่ยง ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด 2. ข้อเสนอแนะในการบังคับใช้กฎหมาย (1) ควรดำเนินคดีโฆษณายาและอาหาร นอกจากการดำเนินคดีเรื่องโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายยาและอาหาร สำหรับอาหารควรต้องดำเนินคดีในประเด็นโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามมาตรา 40 ด้วย เนื่องจากมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก (2) ควรพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย (3) ควรมีฐานข้อมูลเพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจสามารถตรวจสอบการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา ได้แก่ ฐานข้อมูลเลขที่อนุญาตโฆษณา และฐานข้อมูลความผิดผลิตภัณฑ์ยาและอาหาร (4) ควรเพิ่มการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง อย.กับกสทช. เช่น การขอหลักฐานบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้ว โดยให้ กสทช.เรียกผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ส่งหลักฐานให้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกอากาศแล้วพบโฆษณาที่ผิดกฎหมาย 3. ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการพบว่า หากมีผู้แอบอ้างโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตน โดยผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการควรดำเนินคดีกับผู้แอบอ้างนั้น เพื่อยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการโฆษณานั้นแต่อย่างใด 4. ข้อเสนอแนะต่อประชาชน ควรงดการฟังวิทยุ และการรับชมโทรทัศน์ ที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลจากการถูกกล่อมจนเกิดความหลงเชื่อในโฆษณานั้น ควรมีความรู้เท่าทันการโฆษณา ควรร่วมมือกันเป็นพลเมืองเฝ้าระวัง เป็นนักร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการปัญหา เช่น ร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. หมายเลข 1556 หรือร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช.หมายเลข 1200 5. ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย (1) ควรเร่งให้เกิดมาตรการการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ โดยไม่ให้มีการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ในลักษณะโอ้อวดเกินจริง ซึ่งสามารถใช้สื่อสารในการโฆษณาได้ และไม่ให้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาได้ (2) ควรปรับปรุงบทลงโทษในส่วนของการโฆษณาให้มีโทษหนักขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบทลงโทษโดยเฉพาะค่าปรับต่ำมาก มีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการกระทำผิดกฎหมาย (3) ควรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) ให้มีผลบังคับใช้จริง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักศึกษาชายแดนใต้ 5 สถาบันร่วมสร้างโรดแมปสันติภาพ Posted: 07 Jun 2013 10:57 PM PDT นักศึกษาชายแดนใต้จาก 5 สถาบันเริ่มขยับร่วมสร้างโรดแมป หนุนสันติภาพชายแดนใต้ เสนอบทบาทสร้างพื้นที่กลาง เปิดพื้นที่แสดงความเห็นที่ปลอดภัย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมาสมาพันธ์นักศึกษารักสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนสต.) ร่วมกับ ชมรมนักศึกษารักสันติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพื้นที่กลางสร้างสันติภาพและหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ณ ห้องประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี มีนักศึกษาจากหลายสถาบันเข้าร่วม เช่น ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาและวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี เอกสารโครงการระบุว่า สนสต.เห็นความสำคัญในการหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีและหนุนเสริมการพูดคุยเพื่อสันติภาพจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดตัวตนของสมาพันธ์ฯ ในกระบวนการสร้างสันติภาพให้ชัดเจน และกำหนดแผนขับเคลื่อน เพื่อหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพต่อไป โดยในช่วงเช้ามีการเปิดเวทีเสวนากระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนักวิชาการของ ม.อ.ปัตตานีและตัวแทนภาคประชาสังคมบรรยายให้ความรู้ นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch – DSW) ได้บรรยายถึงแผนที่นำทาง หรือ โรดแมปสู่สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับแนะนำว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาต้องเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องทำตามความต้องการของผู้ให้ทุนสนับสนุนเสมอไป เพื่อให้เกิดความคิดที่บริสุทธิ์และเกิดการเรียนรู้ นายอัสรี จะมะจี นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวแสดงความเห็นว่า นักศึกษาเป็นกลุ่มคนที่มีความคิด แต่บางครั้งไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกลัวจะไม่ได้รับความปลอดภัย จึงขอให้มีพื้นที่กลางที่ชัดเจนและปลอดภัยต่อการแสดงความคิดเห็น จากนั้นในช่วงบ่าย สนสต.ได้แบ่งกลุ่มให้นักศึกษาแต่ละสถาบันหารือแนวทางในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ โดยได้ข้อสรุปแต่ละสถาบันดังนี้ ม.อ.ปัตตานี เสนอให้แนะนำ สนสต.ให้สังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้จักและทำโครงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเข้าใจและความรู้สึกของคนในพื้นที่ และผลิตสื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี เสนอให้มีการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่เกี่ยวกับความจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เสนอจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับสันติภาพร่วมกับสถาบันอื่นๆ จะเปิดเวทีให้ประชาชนในพื้นที่แสดงความคิดเห็นและความต้องการ โดยนำผู้หลงผิดหรือผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความไม่สงบมาเป็นวิทยากร เสนอจะก่อตั้งชมรมรักบ้านเกิด และผลิตสื่อทาเลือกเพื่ออธิบายและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาและมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีข้อเสนอคล้ายๆกัน คือ เสนอให้นำประเด็นศาสนามาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยจะมีกิจกรรมประจำวัน ประจำสัปดาห์และประจำเดือน นายสุไลมาน เจ๊ะและ ประธาน สนสต. เปิดเผยหลังการประชุมว่า หลังจากนี้จะทบทวนข้อเสนอของสถาบันต่างๆ โดยอาจเรียกประชุมอีกครั้งเพื่อนำมาสร้างโรดแมปการหนุสนเสริมสันติภาพที่สมบูรณ์ของสนสต. เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สนสต.สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายอัสรี จะมะจี นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวหลังการประชุมว่า นักศึกษาเป็นกลุ่มสำคัญและต้องมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็น เพื่อช่วยในการสร้างกระบวนการสันติภาพ อย่างน้อยขอให้พูดดีกว่าเงียบและไม่แสดงออกอะไรเลย "แม้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีพื้นที่กลางที่ขาวสะอาด แต่ก็ใช่ว่าจะดำสนิท อย่างน้อยก็ยังเป็นสีเทา เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พื้นที่ความขัดแย้งจะมีพื้นที่ขาวสะอาด แต่เราต้องรู้ว่า เราควรทำอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ ก็เหมือนกับการหารือเราต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เสียงดังเกินไป ไม่ให้คนอื่นโกรธ ไม่รบกวนคนอื่น" นายอัสรี กล่าว นายอับดุลเลาะ นิลา นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี กล่าวว่า เราต้องให้ความสำคัญประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจ เพราะเป็นฝ่ายที่ได้รับความสูญเสียมากกว่าฝ่ายรัฐและขบวนการบีอาร์เอ็น บางคนเสียญาติพี่น้อง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปักหมุดพลังหญิง นำทางสันติภาพชายแดนใต้ Posted: 07 Jun 2013 10:46 PM PDT เปิดวงถกผู้หญิงชายแดนใต้กับกระบวนการสันติภาพปาตานี ขุดข้อกังวล ส่งเสียงความต้องการ กำหนดบทบาทพร้อมสร้างความพร้อมร่วมร่างโรดแมปสันติภาพ สร้างช่องทางสื่อสารจากรากหญ้า ผู้หญิงขอร่วมโต๊ะเจรจา เปิด 11 ข้อขอมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพ
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมและศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จัดเสวนา "ผู้หญิง +การสื่อสาร + กระบวนการสันติภาพ" เพื่อดึงความเห็นของตัวแทนผู้หญิงจากองค์กรต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ที่เข้าร่วม 35 คน ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและมุสลิม นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมผู้หญิงที่จะเป็นตัวแทนเข้าร่วมร่างแผนที่นำทางหรือโรดแมปสันติภาพชายแดนใต้ในวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ ม.อ.ปัตตานี โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ ความหวัง ความกังวล ความต้องการและข้อเสนอ
'ผู้หญิง' ข้อต่อสำคัญสร้างความเข้าใจสันติภาพ นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการรวบรวมความคิดเห็นของผู้ที่มีความแตกต่างทั้งภูมิหลังและความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อสร้างและเปิดพื้นที่กลางแก่คนในพื้นที่ และย้ำว่า ผู้หญิงยังเป็นข้อต่อในการเชื่อมความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการสันติภาพแก่คนในชุมชนตนเองด้วย ตลอดจนความกังวลและข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ PATANI
กลัวสันติภาพล่มและความรุนแรงจะกลับมา ในวงเสวนามีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย โดยกลุ่มผู้หญิงได้แสดงความกังวลว่า การพูดคุยระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่ม BRN อาจจะล่มได้ กังวลในเรื่องผู้สื่อสารเองที่จะส่งผลทำให้สังคมไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพ รวมถึงความเห็นต่างๆ ที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook ซึ่งบางครั้งมีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปด้วย ผู้หญิงบางส่วนแสดงความเห็นต่อข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นว่า อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายรัฐไทย แต่ก็ยังมีความหวังที่จะให้กระบวนการสันติภาพมีความชัดเจนขึ้นและดำเนินการต่อไป เนื่องจากไม่มั่นใจว่า ถ้ากระบวนการสันติภาพครั้งนี้ล่มลงแล้ว กระบวนการสันติภาพครั้งต่อไปจะได้เริ่มอีกเมื่อไหร่ และจะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหรือไม่
ห่วงเยาวชนจะโตอย่างไรท่ามกลางความรุนแรง อย่างไรตาม ที่ผ่านมาพวกเธอทั้งหลายต้องแบกรับความยากลำบากจากสถานการณ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังกังวลในประเด็นที่อาจจะมีมือที่สามเข้ามาแทรกแซงกระบวนการ จนทำให้กระบวนการสันติภาพไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ กังวลเรื่องการเติบโตของเยาวชนปาตานีว่า จะเติบโตต่อไปได้อย่างไรท่ามกลางความรุนแรง เพราะกว่าสันติภาพจะเกิดขึ้น ต้องใช้เวลานานแน่นอน และไม่อยากให้มีมือที่สามเข้ามาแทรกแซง
ขอมีส่วนร่วมในวงพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในประเด็นเรื่องความต้องการ กลุ่มผู้หญิงส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตเป็นหลัก และไม่อยากให้มีความรุนแรงอีกต่อไป เพราะถ้าการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ อาจเนื่องจากฝ่ายรัฐไทยไม่ยอมรับข้อเสนอของคู่เจรจา หรือแต่ละฝ่ายไม่มีความจริงใจต่อกัน อาจทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจและใช้ความรุนแรงที่หนักขึ้นกว่าเดิมอีก จึงต้องการให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพดำเนินต่อไป และพัฒนาไปสู่การเจรจา กลุ่มผู้หญิงอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีพูดคุยสันติภาพ เช่น เป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการพูดคุย อยากให้ประเด็นของผู้หญิงถูกหยิบยกเป็นประเด็นในการพูดคุย และอยากเป็นตัวแทนผู้หญิงในพื้นที่เข้าร่วมเจรจาด้วย
จี้รับ 5 ข้อบีอาร์เอ็น สร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงรากหญ้า กลุ่มผู้หญิงส่วนหนึ่งต้องการให้รัฐไทยรับพิจารณา 5 ข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็น โดยให้เหตุผลว่า การรับข้อเสนอดังกล่าว เสมือนการสานต่อความหวังของในพื้นที่ที่อยากให้มีสันติภาพโดยเร็ว อยากให้ปล่อยตัวคนถูกคดีความมั่นคง และให้เปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้หญิงระดับรากหญ้าได้เรียกร้องความต้องการของตัวเองได้ และสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพตั้งแต่แรกเริ่มได้
สร้างพื้นที่สื่อสาร ผู้หญิงรากหญ้ากับสันติภาพ นางโซรยา จามจุรี ประธานเครือข่ายผู้หญิงประชาสังคมชายแดนใต้ ระบุว่า กำลังจะถ่ายทำรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอประเด็นผู้หญิงกับสันติภาพ เพื่อนำเสนอในระหว่างเดือนถือศีลอดที่กำลังจะถึงในเดือนกรกฎาคม 2556 นี้ เป็นการต่อยอดจากปีที่แล้วนำเสนอประเด็นผู้หญิงกับการเยียวยา เป็นรายการที่นำเสนอในช่วงก่อนฟ้าสางทางช่องมอเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวมุสลิมจะตื่นมารับประทานอาหารก่อนถึงช่วงเวลาเริ่มถือศีลอด หรือเวลาประมาณ 04.00 น.ชื่อรายการรอมฎอนไนท์ ส่วนนางสาวอัสรา รัฐการัณย์ จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ได้นำเสนอโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาในการจัดรายการวิทยุ 20 ตอน เกี่ยวกับความเห็นของผู้หญิงจากระดับรากหญ้าสู่สาธารณะ รายการวิทยุดังกล่าว ชื่อรายการ "We Voice" เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งนาวสาวอัสรา กล่าวว่า เป็นรายการสนทนาเชิงสารคดี ตอนละ 15 นาที โดยมีแนวคิดหลัก คือการสร้างบรรยากาศสันติภาพ โดยการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจของคนในชุมชน และการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
สร้างจุดเชื่อมกลุ่มคนที่มีความคิดต่างกัน นาวสาวอัสรา กล่าวว่า รายการวิทยุจะพูดคุยในประเด็นต่างๆ คือ เรื่องความสัมพันธ์พุทธและมุสลิมในชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ มุมมองต่อเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพและการมีส่วนร่วมเพื่อสันติภาพในพื้นที่ของผู้คนในชุมชน และคนทำงานภาคประชาสังคม และร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อภาพยนตร์และสารคดี ที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพหรือสิทธิมนุษยชน นางสาวอัสรา กล่าวว่า การสื่อสารจะช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธกับมุสลิมได้ ซึ่งในการลงพื้นที่เพื่อถามความเห็นของชาวบ้านพบว่า มีความรู้สึกอ่อนไหวกับคนต่างศาสนิก แต่ก็มีหลายประเด็นที่สามารถถามความเห็นร่วมระหว่างสองศาสนิกได้ นอกจากนี้รายการของตนจะเป็นกระบอกเสียงของคนรากหญ้าที่แสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพ
แนะเคลียร์ความหมายนักโทษการเมือง นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจซึ่งทำงานประเด็นสิทธิของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ให้ความเห็นเกี่ยวข้องกับข้อเสนอที่ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองว่า ข้อเสนอนี้ทำให้คนในสังคมไทยที่ยังไม่เข้าใจกระบวนการสันติภาพในภาพใหญ่เกิดอาการต่อต้าน เพราะไม่อยากให้ปล่อยนักโทษการเมือง ทั้งๆที่เป็นประเด็นสำคัญในการต่อรองของขบวนการบีอาร์เอ็น นางสาวอัญชนา เห็นว่า สำหรับประเด็นนี้ จะสามารถลดปฏิกิริยาต่อต้านจากสังคมภายนอกได้โดยการนำเสนอให้เห็นว่า ผู้ต้องขังบางส่วนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานมัดตัวจริงๆ แต่ก็ทำให้พวกเขาต้องถูกขังซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ ดังนั้นต้องให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา "แต่การคืนความยุติธรรมให้แก่ชาวบ้านคนหนึ่งได้นั้น สังคมใหญ่ต้องเข้าใจกระบวนการนี้ด้วย นั่นคือ ต้องตีความคำว่านักโทษการเมืองที่สมควรปล่อยตัวออกมาก่อน เพราะถ้าสังคมใหญ่เข้าใจประเด็นนี้ ก็อาจจะไม่มีการต่อต้าน" นางสาวอัญชนา กล่าว
สรุปข้อเสนอต่อการร่างโรดแมปสันติภาพ สรุปข้อเสนอของกลุ่มผู้หญิงต่อการร่างโรดแมปสันติภาพ หลักๆ จำนวน 11 ข้อ ดังนี้ - ให้มีผู้หญิงเป็นผู้สังเกตการณ์การพูดคุย - ให้หยิบยกประเด็นผู้หญิงในการพูดคุย - ปล่อยผู้ต้องหาที่ไม่มีความผิด - จัดเวทีพูดคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพในระดับรากหญ้าให้มากขึ้น - ให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีเสียงในการนำเสนอความต้องการที่แท้จริง - อยากให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ - ไม่ทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอหรือผู้ที่ไม่มีอาวุธ - เรียกร้องให้ออกมารับผิดชอบในเหตุการณ์ที่ตัวเองทำ และบอกวัตถุประสงค์ด้วยว่า เพราะอะไร ทำเพื่ออะไร - เลิกเผาโรงเรียน ทำร้ายครู เพราะจะทำให้เด็กไม่มีที่เรียน ถ้าเด็กไม่ได้รับการศึกษาแล้วจะฝากอนาคตของพื้นที่ไว้กับใคร - ให้รับและนำความต้องการของประชาชน ให้ฟังเสียงของผู้หญิงในพื้นที่โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางตรง - เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงาน ทั้งองค์กรของรัฐ เอกชน ประชาสังคม สถาบันทางศาสนา สามัญ ทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘สุเทพ’ เบิกคดี ‘6 ศพวัดปทุม ย้ำไม่ได้สลายชุมนุม แต่กดดันให้เลิกไปเอง Posted: 07 Jun 2013 09:16 PM PDT ไต่สวนการตาย 6 ศพวัดปทุม สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ เบิกความชี้หลังเหตุ 10 เม.ย.จำเป็นต้องมีอาวุธหยุดผู้ก่อการร้าย ระบุศาลแพ่งเคยพิพากษาว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เชื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีคำสั่ง พบเขม่าดินปืน 2 ใน 6 ศพวัดปทุม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล 6 มิ.ย.56 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพนักงานอัยการนำ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ขึ้นเบิกความต่อศาล ซึ่งเบิกความโดยสรุปว่า 7 เม.ย.53 รัฐบาล(ขณะนั้น)ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี และบางอำเภอในจังหวัดสมุทรปราการ และออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 ฉบับ คือ
และวันเดียวกันนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2553 ให้ตั้งศูนย์อำนายการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) และตั้งนายสุเทพเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. โดยมีเจ้าหน้าที่อื่นๆ เป็นคณะกรรมการร่วมด้วย และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 2/2553 ตั้งผู้กำกับการปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ โดยตนเป็นหัวหน้าผู้กำกับการปฏิบัติหน้าที่และหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ภายหลังการตั้ง ศอฉ. แล้วได้มีมติและออกคำสั่งปฏิบัติงาน ศอฉ. ที่ 1/2553 กำหนดขอบเขตหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และระบุถึงการประกอบกำลังในการปฏิบัติการ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในผนวกท้ายคำสั่ง เช่น ในผนวก ก. กำหนดวิธีการใช้กำลังในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะระบุขั้นตอน เช่น
ในช่วงแรกที่มีการตั้งเวทีที่ผ่านฟ้าลีลาศก่อนที่จะมีการขยายไปชุมนุมที่ราชประสงค์นั้น รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แก้ปัญหาโดยตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เป็นผู้ดำเนินการ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นประกาศใช้ภายหลังเกิดเหตุรุนแรงโดยมีการบุกรัฐสภาในวันที่ 7 เม.ย. และก่อนหน้านั้นวันที่ 5 เม.ย. รัฐบาลได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ผู้ชุมนุมออกจากราชประสงค์ ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษาว่า การชุมนุมกีดขวางการจราจร การคมนาคม เป็นการจำกัดสิทธิประชาชน ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เมื่อประกาศแล้วรัฐบาลสามารถดำเนินการจับกุมได้ทันที่โดยไม่ต้องยื่นเรื่องต่อศาลอีก นายสุเทพเบิกความถึงวันที่ 10 เม.ย.53 ว่า ศอฉ. ได้ออกคำสั่ง 0407.45/4 เนื่องจากเกิดปัญหาจราจรอย่างรุนแรงที่ถนนราชดำเนินและราชประสงค์ รัฐบาลโดย ศอฉ. เจ้าหน้าที่ขอพื้นที่ถนนราชดำเนิน ในส่วนที่รองรับจราจรจากสะพานปิ่นเกล้าและสะพานพระราม 8 เพื่อแก้ปัญหาจราจร ซึ่งในคำสั่งกำหนดการใช้อาวุธไว้ในข้อกำหนด 3 ว่า
อดีต ผอ.ศอฉ เบิกความต่อว่า วันที่ 13 เม.ย. ออกคำสั่ง 0407.45/84 ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนลูกซองในการควบคุมฝูงชนได้เพราะไม่อานุภาพไม่ร้ายแรงและสามารถควบคุมวิถีกระสุนได้ซึ่งเหมาะแก่การป้องกันตนเองและประชาชน ซึ่งจะใช้ก็ต่อเมื่อปรากฏภัยคุกคามหรือกลุ่มติดอาวุธที่มีท่าทีคุกคามต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยจะใช้ในระยะ 30-50 ม.ขึ้นไปเพื่อเป็นการควบคุมวิถีกระสุนและควบคุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และห้ามใช้กับผู้หญิงและเด็ก การใช้ต้องไม่ประสงค์เอาชีวิตเป้าหมายให้เล็งส่วนล่างของร่างกาย โดยนายสุเทพให้เหตุผลว่า ในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เจ้าหน้าที่ได้รับอุปกรณ์ตามหลักสากลคือ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ และปืนลูกซองกระสุนยาง และมีเจ้าหน้าที่มีอาวุธประจำกายอยู่แถวหลัง ซึ่งก็ได้มีผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย ประชาชน 20 กว่าคน และบาดเจ็บ 800 กว่าคน ศอฉ. จึงจำเป็นต้องมีอาวุธหยุดผู้ก่อการร้ายได้จึงให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนลูกซองเพื่อแก้ปัญหาได้ ในวันที่ 15 เม.ย. ศอฉ. ออกคำสั่ง 0407.45/113 เป็นคำสั่งตั้งด่านแข็งแรงเพื่อป้องกันผู้ก่อการร้ายและผู้ชุมนุม และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารร่วมมือกันในการปฏิบัติงาน และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเป็นกำลังเสริมตามจุดต่างๆ และจัดอาวุธให้กับด่านแต่ละจุดอย่างเพียงพอในการใช้ ในวันที่ 16 เม.ย. นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งที่พิเศษ 93/2553 ตั้งพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบแทนนายสุเทพ นายสุเทพ เบิกด้วยว่า วันที่ 22 เม.ย. นายจตุพร พรหมพันธุ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต่อศาลแพ่งว่า ในการปฏิบัติงานในวันที่ 10 เม.ย. เป็นการปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมายและให้ห้ามทั้งสองคนไม่ให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมอีก ศาลแพ่งได้มีคำสั่งว่าไม่มีเหตุผลในการห้ามจึงยกคำร้องและศาลได้ให้ทั้ง 2 คนยังสามารถออกคำสั่งในการใช้อาวุธและกำลังได้ตามหลักสากล จากนั้นในวันที่ 14 พ.ค. นายจตุพรยื่นคำร้องให้คุ้มครองชั่วคราวต่อศาลแพ่งอีกครั้งมิให้นายอภิสิทธิ์ สุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ สั่งการปิดกั้นคมนาคม ซึ่งศาลได้มีคำสั่งว่าศาลไม่สามารถก้าวล่วงการปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเป็นการปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อเกิดเหตุการณ์ 10 เม.ย. ผู้ชุมนุมได้ยุบเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ มาที่แยกราชประสงค์และประกาศขยายไปสีลมและเยาวราช ซึ่งจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จึงให้ตั้งด่านแข็งแรงที่สีลมและเยาวราช เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปที่บริเวณดังกล่าว แต่ทาง ศอฉ. ไม่ได้มีเจตนาสลายการชุมนุม แต่เป็นการกดดันเพื่อให้เลิกการชุมนุมไปเองโดยทำให้ไม่ได้รับความสะดวกที่จะทำการชุมนุม และมีการตั้งด่านปิดกั้นพื้นที่เพื่อไม่ให้มีผู้ชุมนุมเข้าไปและมีการนำอาวุธเข้าไปได้ เพราะมีผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่และได้ใช้พื้นที่สวนลุมพินีเป็นฐานใช้ M79 M16 และปืนอาก้าโจมตีใส่เจ้าหน้าที่ที่ถนนพระราม 4 และรถไฟฟ้าทำให้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิต จึงได้มีการควบคุมที่เข้มข้นยิ่งขึ้น 26 เม.ย. ศอฉ. มีคำสั่ง 0407.45/296 ตั้งด่านรอบแยกราชประสงค์ 6 จุดได้แก่ 1. แยกพงษ์พระราม 2.แยกศาลาแดง 3.อโศกมนตรี 4.พญาไท 5.อังรีดูนังค์ 6. นราธิวาศ เป็นการป้องกันไม่ให้ ไม่ให้ยกกำลังออกจากราชประสงค์ไปก่อปัญหาได้ หลังจากนั้นมีการตั้งด่านเพื่อกระชับพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อกดดันให้ไม่ได้รับความสะดวกในการชุมนุมและนำอาวุธเข้าออกได้เพราะ 6 จุดเดิม ไม่เพียงพอ โดยได้เพิ่มด่านสำคัญอีก 4 ด่านคือ แยกปทุมวัน ถนนราชปรารภ ถนนพระราม 4 และเพลินจิตและจุดสกัดประกอบ 13 จุด ที่เข้าราชประสงค์ และคำสั่งหยุดการเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่6 โมงเย็น ของวันที่ 13 พฤษภาคม เป็นต้นไป รวมทั้งมีคำสั่งห้ามการคมนาคมทั้งทางน้ำและบก หยุดให้บริการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ในพื้นที่ราชประสงค์ นายสุเทพ เบิกความถึงเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.53 ว่ามีคำสั่งปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมและพื้นที่ต่อเนื่อง และปรับกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อคุมพื้นที่ราชประสงค์และจัดการจราจรโดยรอบเพราะ ศอฉ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ยึดพื้นที่สวนลุมพินีตั้งแต่ถนนพระราม 4 ถึงสารสินคืนเพราะผู้ก่อการร้ายใช้เป็นฐานในการโจมตีด้วย M79 และอาวุธสงครามอื่นๆ ใส่เจ้าหน้าที่แบะประชาชน และมีการเข้ายึดโรงพยาบาลจุฬาฯของฝ่ายผู้ชุมนุม จากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมพื้นที่สวนลุมถึงสารสินได้แล้วแกนนำก็ประกาศเลิกการชุมนุมในเวลา 13.00 น. เศษ เมื่อแกนนำยกเลิกการชุมนุมและเข้ามอบตัวกับตำรวจแล้วยังมีผู้ชุมนุมเหลือที่หน้าเวทีราว 3000 คน จึงได้จัดรถส่งกลับภูมิลำเนาซึ่งบางส่วนก็กลับ บางส่วนก็หลบเข้าไปในวัด ราวบ่าย 2-3 โมง เป็นต้นไปมีคนร้ายวางเพลิงสถานที่ต่างๆ เช่น โรงหนังสยาม เซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารบริเวณนั้น และนอกพื้นที่การชุมนุมเช่น สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ศอฉ.จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยเข้าไประงับเหตุ เพราะมีคนร้ายใช้อาวุธสงครามสกัด ขณะประชุมกับตำรวจนครบาลและภูธรเพื่อดำเนินการให้ผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา มีโทรศัพท์หาชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เพื่อร้องขอรถพยาบาลเข้าไปรับคนเจ็บในวัดเพราะมีคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงคนได้รับบาดเจ็บหลายคนให้เข้าไปรับ จึงสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดรถพยาบาลเข้าไปรับคนเจ็บ ต่อมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ตำรวจแจ้งว่าเข้าไปรับคนเจ็บไม่ได้เพราะว่ามีคนร้ายซุ่มยิงอยู่ แต่ได้รับแจ้งจากสาธารณสุขว่าได้มีรถอาสาพยาบาลเข้าไปรับแล้ว ในวันนั้นไม่ได้รับรายงานว่ามีคนตายจนกระทั่งวันรุ่งขึ้น ต่อมาได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจเกี่ยวกับการเสียชีวิตทั้ง 6 ราย ผลจากการชันสูตรศพคาดว่าจะเสียชีวิตจากที่อื่นแล้วนำร่างมาไว้ที่ข้างศาลา และในรายงานของตำรวจ 2 ครั้ง ผลชันสูตรพบว่ามี 2 รายมีเขม่าดินปืนที่มือในปริมาณที่น่าจะใช้อาวุธมาก่อน คือนายรพ สุขสถิตย์และนายสุวัน ศรีรักษา เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจทางดีเอสไอมีบันทึกการเสียชีวิตของทั้ง 6 รายนำมาให้ใช้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยในรายงานระบุว่าไม่มีหลักฐานว่าเสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่หรือผู้ใดทำให้ตายและมีรายเรื่องเขม่าดินปืน 2 ราย ต่อมาดีเอสไอ แจ้งว่าอาจมีเหตุเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่จึงให้ตำรวจทำการสอบสวนใหม่ ภายหลังได้แจ้งอีกว่าบรรดาผู้ตายมีอยู่ 12 ราย เป็นการตายจาก นปช. และ 13 ราย เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ เป็นรายงานที่ทราบทั้งหมดเกี่ยวกับการตาย 6 ศพ นายสุเทพเบิกความต่อศาลว่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามคำสั่ง และได้เสริมอีกว่าไม่เคยถูกเรียกสอบในกรณีการเสียชีวิต 6 ศพ วัดปทุมฯนี้ เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้หลังเบิกความตามสำนวนจบลง ทนายได้ขอเลื่อนการซักถามพยานไปในตอนบ่าย นายสุเทพกลับขอเลื่อนออกไปอีกโดยให้เหตุผลว่าในตอนบ่ายต้องไปร่วมประชุมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อมเขตดอนเมือง การซักถามของทนายจึงต้องเลื่อนออกไปนัดหน้า เรียบเรียงจาก : บันทึกการไต่สวยการเสียชีวิตโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ถกหลังหน้ากากกับ ‘แดงสยิว’ ปฏิบัติการแจมมิ่งหน้ากากขาว กายฟอคซ์ Posted: 07 Jun 2013 08:27 PM PDT ทำไมต้องมีหน้ากากแดง "ล้อเลียนนะไม่ใช่เลียนแบบ" ปฏิบัติการป่วนความหมายหน้ากากขาวกายฟอคซ์ กับข้ออ้างขัดวัฒนธรรมและข้อความ "ปกป้องสถาบัน" พร้อมวิจารณ์การทำงานโซเชียลเน็ตเวิร์คของเพื่อไทยและก้าวต่อไปกับ "วอร์รูมภาคประชาชน" การชุมนุมของหน้ากากแดงเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากปรากฏการณ์ที่มีการนำหน้ากากขาวกายฟอคซ์ มาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับข้อความที่มีการโพสต์ฟลัดในเฟซบุ๊กซ้ำๆ ว่า "ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย" เมื่อช่วงปลายเดินที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อวันอาทิตย์(2 มิ.ย.) มีการออกมาชุมนุมที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ เราจะเห็นว่าไม่ได้มีเพียงกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น หากแต่มีการปรากฏตัวของกลุ่มที่ออกมาชุมนุมในพื้นที่ใกล้เคียงกันในบริเวณหน้าโรงหนังสยามเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "หน้ากากขาว" กลุ่มนี้ใช้สัญลักษณ์เป็น "หน้ากากแดง" โดยการนำของชายขายหมูวัย 31 ปี ที่ใช้นามแฝงว่า "อุลตร้าแดง แดงสยิว" นี่ไม่เพียงการชุมนุมแจมมิ่งหรือการป่วนล้อเลียนเท่านั้น แต่ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการปะทะกันของทั้งสองฝ่ายบนโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วย ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับคนขายหมูผู้นี้ซึ่งอธิบายที่มานามแฝงตัวเอง "แดงสยิว" ว่า "ไม่มีอะไร มันกวนประสาทดี" 0000 ประชาไท : อยากให้เล่าที่มาของ "อุลตร้าแดง แดงสยิว" ว่าเป็นมาอย่างไร เพราะสื่ออื่นลงว่านี่เป็นชื่อของกลุ่มเคลื่อนไหว แดงสยิว : ไม่ได้เป็นกลุ่มอะไรเลย เป็นเพียงเพจ(เฟซบุ๊ก)ส่วนตัวของผม แต่วิจารณ์การเมืองทำให้คนสนใจเข้ามาอ่าน พอเห็นกลุ่มหน้ากากขาวออกมา จึงเขียนโจมตีฝ่ายนั้นว่าสัญลักษณ์ที่ใช้มันผิด คนที่ตามในเพจผมก็เห็นด้วยว่ามันไม่ควรนำมาใช้ แต่ไม่มีใครออกมาบอกคนกลุ่มนี้ว่าไม่ควรใช้สัญลักษณ์นั้น จึงเห็นว่าควรออกมาแสดงออกและบอกกับสังคมเสียเอง ทุกคนที่เห็นด้วยก็เลยออกมา มองปรากฏการณ์ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลนำหน้ากากกายฟอคซ์ มาเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงว่าอย่างไร ? แดงสยิว : ถ้าเรียกร้องในทางการเมืองนั้นทุกคนมีสิทธิทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักประชาธิปไตยและกฎหมาย ผมไม่ได้มีปัญหากับการที่เขาออกมาเรียกร้องโวยวายอะไรทั้งสิ้น แต่มีปัญหากับแค่สัญลักษณ์ที่เขาใช้ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของการล้มระบอบการปกครองในยุโรปซึ่งไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย โดยชนชั้นกลางในเมืองไทยจะทราบว่าสัญลักษณ์นี้มันคืออะไร แต่ระดับรากหญ้าเขาอาจจะยังไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงควรมีคนออกไปชี้กับสังคมว่าหน้ากากขาวอันนี้มันคืออะไร อยากให้เขาเลิกใช้สัญญาลักษณ์นี้ก็จบแล้ว เขาอาจจะบอกว่าที่เขาต้องการล้มคือระบอบทักษิณ? แดงสยิว : คำว่าล้มระบอบทักษิณมันคือการล้มระบอบประชาธิปไตยด้วยหรือเปล่า อย่างที่เรารู้กันว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาหากเลือกเพื่อไทยก็จะได้ทักษิณ มันจะเป็นการเล่นคำเพราะมันอาจจะถือว่ากำลังจะล้มรัฐบาลนี้ โดยใช้คำว่าล้มทักษิณ โดยการเล่นคำ ร่ายนวัตกรรมทางคำพูดใหม่ๆ แต่มีเจตนาแฝงด้วยสัญลักษณ์ของหน้ากากนั้นว่าคิดอะไร และมันสอดคล้องกับเมื่อสัปดาห์ก่อนที่มีคนใส่ชุดคอมมิวนิสต์มายืนกลางสนามหลวง ทั้งคอมมิวนิสต์และหน้ากากขาวมันเป็นสัญลักษณ์ของอะไรก็ทราบกันอยู่ ดังนั้นจะมาบอกว่าล้มเพียงระบอบทักษิณ มันจึงฟังไม่ขึ้น ภาพโดย เฟซบุ๊ก เสรีไทย เราจะสู้เพื่อความยุติธรรม มีคนวิจารณ์ว่าหน้ากากกายฟอคซ์มได้กลายเป็นสัญลักษณ์นิรนาม แม้เริ่มต้นอาจมาจากกายฟอคซ์ที่ต้องการเปลี่ยนกษัตริย์ คือพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษ แต่เมื่อมีหนัง V For Vendetta ออกมาฉายในปี 2005 หลายๆ กลุ่มจึงเอาหน้ากากออกมาใช้ บางกรณีถึงกับมีผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายที่คิดเห็นไม่เหมือนกันแต่ใช้หน้ากากนี้มาเผชิญหน้ากันเอง ความหมายของมันจึงค่อนข้างลื่นไหลไปแล้วไม่ใช่หรือ แดงสยิว : หากมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่มีการลื่นไหลไปแล้ว ก็ถือว่าตามเกมส์กันไป หากมองในแง่ความเป็นจริงแล้วเขาคงไม่เลิกใช้สัญลักษณ์นี้ คงมีการใช้ต่อ แต่ก็มีบางคนที่รู้สึกละอายใจและเลิกไป เช่นนั้นการเลือกใช้มันอยู่ก็เท่ากับว่าสัญลักษณ์นี้หมดพลังไปแล้ว เพราะหากยังมีพลังอยู่ทุกคนก็คงต้องใส่อยู่ หากใช้กันประปราย ใช้กันตามน้ำ ตามสถานการณ์ ก็เท่ากับว่ามันไม่มีพลังแล้ว ซึ่งหมายถึงแพ้ด้วย กรณีเพจ Occupy Wall St. นำภาพผู้ชุมนุมหน้ากากขาวในไทยไปแชร์พร้อมสนับสนุนการต่อสู้ดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการสมานฉันท์กับการเคลื่อนไหวที่ตุรกีด้วยนั้น คุณมองว่าอย่างไร แดงสยิว : มองว่าผู้ชุมนุมในไทยพยายามโหนเหตุการณ์เหล่านั้น และที่สหรัฐอเมริกาก็ปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดีแล้วซึ่งต่างจากไทย ดังนั้นการเอาหน้ากากนี้มาใช้จึงไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการปกครองไทย รวมทั้งมีการนำภาพผู้ชุมนุมที่ใช้หน้ากากกายฟอคซ์ในต่างประเทศมาโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อบอกว่าเป็นการชุมนุมที่สีลมด้วย ทั้งๆ ที่ในรูปนั้นมีรถเมล์ 2 ชั้นซึ่งต่างจากประเทศไทย เพจ Occupy Wall St. โพสต์แสดงความสมานฉันท์กับกลุ่มหน้ากากขาวในไทย สรุปแล้วหน้ากากแดงต้องการอะไร แดงสยิว : ต้องการให้หน้ากากขาวยุติการใช้หน้ากากกายฟอคซ์เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว มันไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย สัญลักษณ์อันนี้เขารู้กันทั่วโลกว่าล้มระบอบอะไร จะไปวางระเบิดรัฐสภาหรือลอบปลงพระชนม์ใครถึงใช้สัญญาลักษณ์แบบนี้ หากเขาถามกลับมาว่า กลุ่มหน้ากากแดงใช้หน้ากากแดงก็จริง แต่เป็นกายฟอคซ์เหมือนกัน จะตอบอย่างไร แดงสยิว : หน้ากากที่ใช้ไม่ใช่หน้ากากกายฟอคซ์ แต่เป็นหน้ากากหน้าเหลี่ยมและเขียนสีกัน รวมทั้งมีหน้ากากอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอุลตร้าแมน หน้ากากไอรอนแมน ฯลฯ แต่เป็นสีแดง เพราะเป็นสีของประชาธิปไตย และไม่ได้ยึดติดกับสัญลักษณ์ ที่ทำหน้ากากมาก็เพื่อล้อหน้ากากขาวเฉยๆ ฝ่ายหน้ากากขาวมีการวิจารณ์หน้ากากแดงว่าทำไมไม่คิดอะไรที่เป็นของตัวเอง เหมือนตีนตบก็เลียนแบบมือตบ แดงสยิว : จะบอกว่าเลียนแบบไม่ได้ เพราะว่ากิจกรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นพวกผมเองนัดก่อนฝ่ายหน้ากากขาว รวมทั้งกิจกรรมที่มีการระดมคนไปยิง(รุมรีพอร์ต)ในเพจเฟซบุ๊กของพวกเสื้อแดงก็เหมือนกัน เพราะทางฝ่ายนั้นเห็นทางผมระดมพวกเรดไซเบอร์ในเน็ตได้ ส่วนการใช้หน้ากากนั้นก็ไม่ได้เลียนแบบ แต่เป็นการล้อเลียน เพจ Dislike Yingluck For Concentration Citizen วิจารณ์ว่าหน้ากากแดงเลียนแบบหน้ากากขาว หมายความว่าฝ่ายเสื้อแดงไปยิงเพจเฟซบุ๊ก(รุมรีพอร์ต) ของฝ่ายหน้ากากขาวก่อนหรือ แดงสยิว : พวกเราไม่รู้มาก่อนว่าในพื้นที่ไซเบอร์มีฝ่ายเสื้อแดงหรือผู้รักประชาธิปไตยอยู่เท่าไร ที่ผ่านมาเราคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่า อีกฝ่ายพูดอะไรแล้วเสียงดังกว่า จึงลองเช็คชื่อในเฟซบุ๊กโดยให้ทุกคนทำกิจกรรมร่วมกันอย่างหนึ่งคือ พวกผมจะเข้าไปที่เพจนักการเมืองฝ่ายประชาธิปัตย์และเข้าไปพูดคุยกันในนั้นเหมือนว่าพื้นที่นั้นเป็นบ้านของพวกผม เช่น เข้าไปโพสต์ว่าวันนี้มีข่าวนั้นนี้ หรือเข้าไปพูดว่ากินข้าวหรือยัง อากาศร้อน ฯลฯ เมื่อเริ่มทำก็มีแนวร่วมเข้ามาร่วมจำนวนมากจึงรู้ว่าเรามีฝ่ายประชาธิปไตยไซเบอร์มาก เมื่อทางโน้นเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจึงรวมตัวกันแล้วมาล้างแค้นแสดงความไม่พอใจที่พวกผมไปป่วนในเพจฝ่ายเขาโดยการมาไล่ยิงไล่รีพอร์ตเพจเสื้อแดง แต่ทางฝ่ายผมเพียงเข้าไปเยี่ยมเข้าไปพูดคุยในเพจเขาเท่านั้นโดยไม่ได้รีพอร์ตใคร แต่ทางนั้นเน้นรีพอร์ตอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่าฝ่ายแดงไม่มีเพจไหนที่โดนยิงดับเลยเนื่องจากฝ่ายโน้นมีน้อยมาก มีเพียงหลักสิบ แต่ทางฝ่ายแดงเท่าที่ตามอยู่ยิงดับไปได้หลายเพจเหมือนกัน สรุปว่าฝ่ายแดงก็มีการไปไล่ยิงรีพอร์ตเขาเหมือนกันใช่ไหม แดงสยิว : มี แต่เป็นการทำหลังจากที่ฝ่ายโน้นตอบโต้ด้วยการไล่ยิงเพจฝ่ายแดงก่อน จึงมีเสื้อแดงบางส่วนแยกตัวออกไปต่างหากโดยไม่ร่วมกิจกรรมกับผมแล้ว แล้วไปใช้วิธีการไปไล่ยิง ซึ่งยอมรับว่ามีแต่ก็ยังเป็นจำนวนไม่มาก แล้วมองปรากฏการณ์รีพอร์ตกันไปมาว่าอย่างไร เป็นทางออกหรือวิธีการที่ดีไหม แดงสยิว : มองว่ามันไร้สาระมาก ผมจะบอกกับทุกคนว่าเราต้องยกระดับตัวเอง ด้วยการตั้งคำถามกับสังคมและชี้นำสังคม ไม่ใช่คอยรับแต่กระแสสังคมอย่างเดียว เคยพาพวกที่ร่วมกิจกรรมกับผมไปถามในเพจเฟซบุ๊กของ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" เพื่อไปโพสต์ตั้งคำถามว่า "ใครสั่งฆ่าประชาชน" "ใครสั่งยิงประชาชน" เป็นต้น น่าสนใจว่ากว่า 1,000 คอมเมนท์ไม่มีคำหยาบ เราต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมและการใช้คำหยาบไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย รวมทั้งเจตนาของผมที่รวมคนกลุ่มนี้เข้ามานอกจากจะเช็คกำลังแล้วอยากจะทำ "วอร์รูมภาคประชาชน" จึงหากิจกรรมร่วมกันสร้างความสัมพันธ์กันไป ตอนนี้ได้อยู่ประมาณ 200 คน ที่สามารถไปบอกกับสังคมได้ว่าฝ่ายไหนจริงไม่จริง และทุกคนเป็นอาสาสมัครหมด เพราะเรามองว่าตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมา ในพื้นที่ออนไลน์เราเป็นฝ่ายตั้งรับทางด้านการข่าวมาโดยตลอด มีคนวิจารณ์ว่ากิจกรรมของคุณทำให้จากเดิมที่หน้ากากขาวเหมือนจะจุดกระแสไม่ติด แต่เมื่อมีหน้ากากแดงโผล่มา ทำให้ดูน่าสนใจมากขึ้นและจุดติดหรือไม่ แดงสยิว : ฝ่ายโน้นเขามีสื่อในมือและมีสื่อลูกข่ายนักการเมืองที่คอยเชียร์มากและตลอดเวลา ยังไงกระแสก็ไม่ดับ 24 ชม. ถ้าคุณเปิดเคเบิลทีวีจะได้ยินแต่เรื่องของหน้ากากขาว ดังนั้นจึงต้องมีอะไรบางอย่างออกไปติง ออกไปจิ้ม ให้เห็นว่าไม่ชอบธรรม ทุกวันนี้ออกไปถนนถามถึงความหมายของหน้ากากขาวคืออะไรเขาก็อาจจะบอกว่า "ล้มเจ้า" ก็ได้ คิดว่าการที่สังคมโดยรวมพูดถึงหน้ากากขาวในแง่นี้กับการปล่อยให้หน้ากากขาวเงียบไปเองแบบไหนมันเจ็บปวดกว่ากันสำหรับคนใส่หน้ากากขาว สัญญาลักษณ์นี้ถ้ากลับกันเป็นฝ่ายแดงหยิบเอามาใช้คิดว่าโดนโจมตีหนักแน่นอน หน้ากากขาวมันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของฝ่ายโน้น เป็นความผิดพลาดของคนคุมเกมส์เขา แต่ทางฝั่งนี้กลับไม่เล่นสวนกลับ ในขณะที่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของฝ่ายแดง อย่างนายกฯ พูดผิด ฝ่ายนั้นกลับหยิบเอามาโจมตีเป็นเรื่องเป็นราว ภาพโดย เฟซบุ๊ก Prainn Rakthai คุณและกลุ่มที่ร่วมกิจกรรมหน้ากากแดงเมื่อวันอาทิตย์ จะมีกิจกรรมต่อเนื่องหรือจะเคลื่อนต่อไปหรือไม่ อย่างไร แดงสยิว : คิดว่าจะไม่ไปแจมมิ่งกลุ่มหน้ากากขาวแล้ว เนื่องจากสังคมพิพากษาเขาไปแล้วว่าไม่มีความชอบธรรมในการเอาหน้ากากดังกล่าวมาใช้ ส่วนการเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ต่อไปนั้นจะมีการตั้งกลุ่มแดงวิชาการขึ้นมา รวมประชาชนในหลายสาขาวิชาทั้ง หมอ สถาปนิก วิศวะ พ่อค้าแม่ค้า ฯลฯ ทุกสาขาอาชีพ มารวมอยู่ด้วยกันคุยกันในกลุ่มในเฟซบุ๊ก แล้วจะแยกเป็นห้องย่อยตามสาขาวิชาเพื่อนำเสนอข้อมูลความเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพราะทางพรรคเพื่อไทยไม่ทำเรื่องนี้ ไม่ให้ราคากับการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้เขาโดนอยู่เรื่อยๆ เพราะเขามั่นใจในฐานเสียงของเขา แต่กับคนกลางๆ ที่รอเสพข่าวเขาไม่สนใจ แต่พวกผมเองสนใจคนกลุ่มนี้จึงตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อไทยไม่ให้ความสำคัญกับโซเชียลเน็ตเวิร์คไม่เหมือนประชาธิปัตย์ที่แม้แต่ ส.ส.ตัวเล็กๆ ของเขา คนมากดไลค์เพจกันเป็นแสน ดังนั้นจึงต้องมีคนทำ ทำไมคุณถึงมองว่าพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์คจึงมีความสำคัญ แดงสยิว : จุดเริ่มต้นทุกอย่างในโลกนี้มันมาจากข่าวลือ ถ้าไม่มีใครไปจัดการข่าวลือมันก็จะลุกลาม อย่างจุดเริ่มต้นกรณีคุณทักษิณล้มก็เพราะ Forward mail ทำไมไม่มีใครให้ความสำคัญกับตรงนี้ ดังนั้นพวกผมจึงตั้งกลุ่มนึ้ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลข้อมูลข่าวสารให้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น