โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชาวสุรินทร์ต้านโรงงานผลิตปูนนกอินทรีย์หวั่นมลพิษ

Posted: 07 Jun 2013 09:02 AM PDT

ชาวบ้านสลักได จ.สรินทร์ โวยได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งโรงงานของบริษัทนครหลวงคอนกรีต ยืนยันค้านการก่อสร้างโรงงาน เผยการดำเนินการไม่เคยมีการฟังเสียงคนในชุมชนมาก่อน

 
 
 
 
 
 
7 มิ.ย.56 - ที่ศาลาประชาคมบ้านสลักได ม.1 ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายมานพ แสงดำ นายก อบต.สลักได เป็นประธานการประชุม เพื่อแก้ไขปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้านสลักได และชาวบ้านปวงตึก ต.สลักได ซึ่งได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่าย ของบริษัทนครหลวงคอนกรีต โดยมีนายปิยะ ยิมขุนทด ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ ตัวแทนบริษัทนครหลวงคอนกรีต ผู้ผลิตปูนตรา นกอินทรีย์ เจ้าของแฟรน์ชาย  และบริษัท ไชยรุ่งเรืองคอนกรีต จำกัด ซึ่งมีนายพีรศักดิ์ หล่อวิฒนพงษ์ และนายบัญชา หล่อวิฒนพงษ์ เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ตาม พรบ.โรงงาน พ.ศ.2553 เพื่อประกอบการ ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่าย ตั้งอยู่ ณ โฉนดเลขที่ 25432 25433 25434 25389 27028  ม.1 ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ ผู้ใหญ่บ้านสลักได ผู้ใหญ่บ้านปวงตึก ผู้นำชุมชนและชาวบ้านจาก 2 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ กว่า 140 คน เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงในเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนและมาตรการป้องกัน หลังชาวบ้านได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายกรัฐมนตรี และฟ้องศาลปกครองให้มีการชลอการก่อสร้างโครงการจัดตั้งโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่าย ไปก่อนจนกว่าจะมีการทำประชาวิจารณ์รับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนก่อน
 
ซึ่งตัวแทนบริษัทนครหลวงคอนกรีต ผู้ผลิตปูนตรา นกอินทรีย์ เจ้าของแฟรน์ชาย  ได้ชี้แจงข้อมูลความมีมาตรฐานของบริษัท ในการจัดการผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงสถานที่ตั้งโรงงาน และวิธีป้องกันเหตุเดือนร้อนรำคาญ ความเสียหาย การควบคุมการปล่อยของเสียมวลพิษ ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบด้านฝุ่นละอองจากการขนส่ง การสเปรย์น้ำป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง สิ่งปฏิกูล เศษคอนกรีตผสม น้ำล้างโม่คอนกรีต
 
ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังหวั่นวิตกและกังวล เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบในเรื่องของฝุ่นเสียง ฝุ่นละออง และมลภาวะที่เกิดขึ้นตามมา รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ วัด โรงเรียน หมู่บ้านจัดสรร ชาวบ้านสลักได ชาวบ้านปวงตึก กว่า 2,000 ครัวเรือน ที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน
 
ด้านนางสาวพชรพรรณ ระตาภรณ์ อายุ 27 ปี กล่าวว่า หากมีโรงงานผลิตปูนอยู่ในชุมชน ตนหวั่นมลภาวะที่จะเยอะมากตามกระบวนการผลิต ที่สำคัญจะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ตนไม่ยอมรับการสร้างโรงงานเพราะมันไม่คุ้มกับสภาวะแวดล้อมที่สูญเสียไป
 
จากการสอบถามมติที่ประชุมชาวบ้านทั้งหมดกว่า 140 คน ยืนยันไม่ให้มีการก่อสร้างโรงงาน ตามที่อุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ได้อนุญาตไว้ โดยไม่เคยมีการฟังเสียงคนในชุมชน และระหว่างที่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นอยู่นั้น ชาวบ้านได้นำป้ายข้อความ "ผิดกฎหมายสร้างโรงงานในเขตชุมชน" "ชาวสลักไดไม่เอาโรงงานมลพิษ"
 
นายประสงค์ จุฑาไกร ข้าราชการบำนาญ อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านสลักได กล่าวว่า ผลการทำประชาพิจารณ์จะเป็นอย่างไรขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ตนได้ฟังกระแสความรู้สึกของชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ หากเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเพื่อนกับชุมชนและเป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมชาวบ้านก็คงไม่ออกมาต่อต้าน
 
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมติว่า ให้ตัวแทนของบริษัทกลับไปหารือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ส่วน อบต.สลักได ก็จะดำเนินการผลักดันประกาสผังเมือง ที่กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อกำหนดให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยต่อไป

P-move ชุมนุมศาลากลางอุบล ปฏิบัติการปกป้องมติ ครม. แก้ปัญหาเขื่อนปากมูล

Posted: 07 Jun 2013 07:56 AM PDT

ชาวบ้านปากมูนกว่า 200 คน ชุมนุมศาลากลางอุบล หลังจากทราบว่าผู้ว่าอุบลเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากมติ ครม. หวั่นไม่ยอมรับ มติ ครม. ท้ายสุดรองผู้ว่ายอมถอยยกเลิกประชุม รอนโยบายจากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

 
 
 
 
 
 
 
 
ที่มาภาพ: ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
 
7 มิ.ย. 56 - ชาวบ้านปากมูน กว่า 200 คนได้เดินทางไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากมติ ครม. วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นมติ ครม ที่เป็นแนวทางการแก้ไขปญหาเขื่อนปากมูล
 
ชาวบ้านระบุว่าพฤติกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ที่อ้างว่าต้องประชุมเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากมติ ครม. นั้นสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ไม่ยอมรับ มติ ครม. ดังกล่าว ในขณะที่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล ซึ่งต้องชุมนุมเรียกร้องหลายครั้ง กว่าจะได้ มติ ครม. ฉบับนี้มา 
 
จากสาเหตุดังกล่าวชาวบ้านปากมูนระบุว่าจึงจำเป็นต้องจัดการชุมนุมขึ้นเพื่อปกป้อง มติ ครม. ที่ได้มาอย่างแสนอยากลำบาก แต่สุดท้ายรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลยอมถอย โดยยกเลิกประชุมไป เพื่อรอนโยบายจากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการแต่งตั้งอยู่ แล้วเสร็จ พร้อมกับจัดประชุมเพื่อวางกรอบในการทำงานต่อไป
 
ทั้งนี้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ก็ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีนี้โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
แถลงการณ์ฉบับพิเศษ (กรณีเขื่อนปากมูล)
ปฏิบัติการปกป้อง มติ ครม. แก้ปัญหาเขื่อนปากมูล
 
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ลงมติเห็นชอบทั้ง ๓ ข้อ ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ นั้น โดยสาระสำคัญคือการบูรณาการ การแก้ไขปัญหาที่เป็นองค์รวม ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม ตามกรอบและแนวทางที่ระบุไว้ใน MOU ที่รัฐบาลกับP-move ได้ลงนามร่วมกัน
 
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ตัวแทน P-move ได้หารือกรอบและแนวทางในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งการหารือดังกล่าวได้เห็นร่วมกันว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จะเร่งลงนามในคำสั่งแต่งตั้งกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล โดยเร็ว ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนตามระเบียบของทางสำนักนายกรัฐมนตรี
 
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายวันชัย สุทธิวรชัย) ได้เรียกประชุมด่วน ผู้เกี่ยวข้องในวันนี้ (๗ มิถุนายน ๒๕๕๖) โดยอ้างว่าเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล นั้น พวกเราผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล เห็น ดังนี้
 
๑. ในระหว่างที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแต่งตั้งกรรมการอำนวยการ ฯ ผู้ว่าราชการ ซึ่งเป็นหน่วยงานในระดับปฏิบัติการในท้องถิ่น ไม่ควรดำเนินการใด ใด ทั้งสิ้น ควรที่จะรอให้คณะกรรมการอำนวยการ ฯ ได้มีการประชุมและมีมติ สั่งการมาก่อน
 
๒. การดำเนินการใด ใด ของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนี้ ถือว่า เป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง และแสดงเจตนาว่าจะฉีก มติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่จะแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
 
๓. การดำเนินการใด ใด ของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนี้ ถือว่าเป็นการละเมิด และฝ่าฝืน MOU ที่รัฐบาลกับ P-move ได้ทำร่วมกันไว้
 
ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้อง มติ ครม. ฉบับดังกล่าว (มติ ครม. ๒๘ พ.ค.๕๖) พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กรณีกลุ่มผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล จึงมีข้อเสนอ ดังนี้
 
๑. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ยุติการกระทำ และการดำเนินการใด ใด ไว้ก่อนโดยเด็จขาด จนกว่าจะมีคำสั่งจากคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
 
๒. เพื่อปิดช่องว่าง และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล รัฐบาลควรรีบดำเนินการแต่งตั้งกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล โดยเร็ว
 
อย่างไรก็ตาม พวกเรายืนยันว่า เราจะปกป้อง มติ ครม. ฉบับ ดังกล่าว จนถึงที่สุด
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ (หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลฯ)
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำแพทย์ชนบทเผยหากรัฐเบี้ยวข้อตกลง ชุมนุมหน้าบ้านนายกแน่

Posted: 07 Jun 2013 06:25 AM PDT

7 มิ.ย. 56 - ชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยว่าหลังจากการเจรจาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา นั้นถือว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในการขับเคลื่อนของภาคประชาชน และชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายได้สรุปผลการเจรจาว่าไม่ใช่เป็นแค่ชัยชนะในเรื่อง P4P เท่านั้น แต่เราสามารถหยุดนโยบายที่ไม่เป็นธรรมในหลายเรื่อง เช่น หยุดการผลักดัน co-payment ให้ประชาชนร่วมจ่าย หยุดการทำลายหลัก purchaser-provider split โดยกลไก 12 เขตสุขภาพ และรัฐบาลยอมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมอย่างไม่เป็นธรรม โดยเป็นคำสั่งที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี 
 
นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช แกนนำชมรมแพทย์ชนบท ได้กล่าวต่อกรณีที่ รมต.ประดิษฐ และสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้ข่าวที่ไม่ตรงกับสาระการเจรจาโดยเฉพาะในประเด็นเบี้ยเลี้ยงเหม่จ่ายและ P4P ว่า  "หัวใจอยู่ที่การนำสาระและข้อสรุปการเจรจาเข้าที่ประชุม ครม.ในวาระแจ้งเพื่อทราบอย่างช้าในวันอังคาร 11 มิถุนายนนี้ หากสาระบิดเบือนไม่ใช่อย่างที่ตกลงกัน เราก็พร้อมจะชุมนุมหน้าบ้านนายก และจะไม่มีการเจรจาอีก และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ต้องรับผิดชอบกับการบิดเบือนนี้เพราะเป็นผู้จัดการเจรจาและเป็นผู้ทำสรุปรายงานผลการเจรจา  ผมจะเชื่อคุณสุรนันทน์อีกครั้ง กว่าจะถึงวันที่ 20 ที่นัดชุมนุมหน้าบ้านนายกปูนั้น ยังมีเวลาอีกตั้งเป็นสิบวัน เราเตรียมตัวทันอยู่แล้ว เพราะทุกคนพร้อมอยู่แล้วที่จะมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่หน้าบ้านนายก
 
นายแพทย์อารักษ์ ยังกล่าวเสริมว่า "รายงานการประชุมที่นำเข้าในการประชุม ครม.นั้น ไม่ได้มีแต่ผลการเจรจาเท่านั้น แต่รวมถึงเหตุผลที่ทำไมเครือข่ายและชมรมแพทย์ชนบทต้องขอเปลี่ยนตัว รมต.สาธารณสุขด้วย และจะมีการส่งต่อเอกสารชิ้นนี้แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป "  ซึ่งนายแพทย์อารักษ์ได้แถลงเหตุผลนี้ก่อนการเริ่มเจรจา เปรียยดังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีประดิษฐนอกสภา โดยใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่แถลง
 
นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา แกนนำชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า "ในระหว่างการขับเคลื่อนนโยบาย P4P ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา เป็นคนสำคัญที่จัดทำรายละเอียดนโยบาย P4P ที่ผิดพลาดไปเป็นการเก็บแต้มรายกิจกรรม จนเกิดความเสียหายมากมายต่อระบบในกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งยังแอบอ้างว่าการบรรจุพยาบาลสองหมื่นอัตราเป็นผลงานสำคัญของตนเอง ชอบให้ร้ายผู้อื่น เอาดีเข้าตัว จึงเป็นอีกคนที่แพทย์ชนบทเสนอให้ไล่ไปให้พ้นจากกระทรวงสาธารณสุข" 
 
นายแพทย์วชิระ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ที่สำคัญ นพ.สุพรรณ ได้พูดชัดเจนจากการสัมมนาชี้แจงนโยบาย P4P ที่อุบลราชธานีและที่เชียงใหม่ว่า "พวกหมอที่ค้าน P4P มี 2 ทางเลือกคือ เลิกค้านเสียแล้วหันมาทำ P4P หรือหากไม่คิดจะทำตามนโยบายก็ให้ลาออกไป "  ประโยคนี้หลุดออกมาจากปากของรองปลัดสุพรรณ สะท้อนเป็นความในใจของผู้ใหญ่ในกระทรวงที่คงอยากพูดนานแล้ว  แต่เก็บไว้จนทนไม่ไหวจากการเดินสายไปที่ไหนโรงพยาบาลชุมชนตามไปค้านทุกที่ สะท้อนถึงความบ้าอำนาจ ตาบอดมืดมัว ไม่เคยคิดย้อนกลับเลยว่า ทำไมนโยบายนี้ถึงมีการคัดค้านกันมามากถึงขนาดนี้  ดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อ นพ.สุพรรณ ที่ต้องรับผิดชอบต่อความแตกแยกที่เกิดขึ้นด้วยการลาออกจากรองปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องไม่ตั้งให้เป็นคนเช่นนี้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นอันขาด"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

7 เรื่องความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับกรณีของแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง

Posted: 07 Jun 2013 06:08 AM PDT

ขณะที่สื่อหลายแห่งนำเสนอเรื่องของ แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง โดยพยายามลบล้างวาระทางการเมือง หรือสื่อว่าเรื่องที่เขาทำเป็นการต่อต้านอเมริกัน เชส มาดาร์ ทนายความเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด

 
จากกระแสข่าวการดำเนินคดีกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง นายทหารสหรัฐฯ ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้ส่งข้อมูลแฉการกระทำละเมิดสิทธิฯ ของกองทัพสหรัฐฯ ให้กับเว็บไซต์วิกิลีกส์ เชส มาดาร์ ทนายเพื่อสิทธิพลเมืองได้เผยแพร่บทความลงในเว็บไซต์ thenation.com กล่าวถึงเรื่องที่สร้างความเข้าใจผิด (myth) เกี่ยวกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง
 
เชส มาดาร์ กล่าวในบทความว่า สื่อส่วนมากมักจะนำเสนอเรื่องในประเด็นใหญ่ๆ โดยปราศจากบริบทและมุมมองทำให้เกิดความผิดพลาดหรือการบิดเบือนข้อมูล เช่น การรายงานว่าเรื่องที่รั่วไหลออกไปเป็น "เรื่องลับสุดยอด" หรือการที่วิกิลีกส์กำลังสร้างโลกอุดมคติด้วยการทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องโปร่งใส หรือเรื่องที่ว่าสิ่งที่แมนนิ่งทำไม่ใช่เรื่องทางการเมืองแต่เป็นเรื่องทางจิตวิทยา (หรือแม้กระทั่งเรื่องทางเพศ) ทำให้ตัวผู้เขียนบทความต้องออกมากล่าวถึงความเชื่อผิด 7 อย่างในเรื่องของ   แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง
 
 
1.) แรงจูงใจของแมนนิ่งเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนสติฟั่นเฟือน
 
เรื่องแรกคือการที่สื่อมักกล่าวว่า แมนนิ่งออกมาเปิดเผยรายงานทหารและข้อมูลทางการทูตที่ควรเป็นความลับเป็นเพราะว่าแมนนิ่งเป็นพวก "ไม่เต็ม" บ้างก็บอกว่าเพราะเขาเป็นเกย์หรือทั้งสองอย่าง แต่ในความจริงแล้ว แมนนิ่งได้เปิดเผยแรงจูงใจของตัวเองออกมาว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เขาบอกว่า "ผมต้องการให้คนรู้ความจริง ...ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใครก็ตาม... เพราะถ้าหากไม่มีข้อมูลพวกนี้แล้ว คุณก็ไม่สามารถทำให้สาธารณชนตัดสินใจด้วยตัวเองโดยอาศัยข้อมูลได้"
 
เราอาจเห็นต่างกันในเรื่องผลกระทบที่มาจากการเผยแพร่ข้อมูลโดยแมนนิ่ง แต่ในเรื่องแรงจูงใจที่เขาเปิดเผยข้อมูล แมนนิ่งได้บอกด้วยตัวเองตรงไปตรงมาแล้ว และมันก็ไม่ใช่เรื่องอะไรเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเรื่องเพศ เช่นเดียวกับที่อดีตนายทหาร อีธาน แมคคอร์ด (คนเดียวกับที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ได้รับบาดเจ็บในวีดิโอ "Collateral Murder" ที่เป็นวีดิโออื้อฉาวที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้เฮลิคอปเตอร์ไล่ยิงนักข่าวและประชาชนอิรัก) กล่าวไว้ว่า การยึดติดกับเรื่องเพศสภาพของแมนนิ่ง เป็นแนวคิดที่พยายามกลบเกลื่อนวาระทางการเมืองของแมนนิ่ง
 
 
2.) ทั้งแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง และ วิกิลีกส์ เป็น "พวกนิยมโลกในอุดมคติ" (utopian)
 
คำว่า "พวกนิยมโลกในอุดมคติ" (utopian) เปรียบเสมือนเป็นคำด่าที่แรงมากในกลุ่มคนอังกฤษที่มีการศึกษา มีความหมายโดยนัยระดับเดียวกับคำว่า "หัวรุนแรง" และ "พวกไม่ยอมรับความเห็นต่าง" หรือบางครั้งก็เป็นการด่าว่า "อุดมคตินิยม" ในเชิงลบ ซึ่งก็ดูแย่พอๆ กัน
 
เชส กล่าวว่า แม้การปล่อยข้อมูลลับของรัฐบาลของแมนนิ่งจะเป็นการฝ่าฝืนระบบความปลอดภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ แต่สิ่งที่แมนนิ่งทำก็ไม่ได้เข้าใกล้ "การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องโปร่งใส" ซึ่งแม้แต่แมนนิ่งและวิกิลีกส์เองก็ไม่ได้เรียกร้องหรือกล่าวถึงแนวคิดอุดมคตินี้ 
 
แต่เชสคิดว่า สิ่งที่นายทหารแมนนิ่งทำน่าจะเป็นการตั้งรับในเชิงปฏิบัติต่อการปกปิดข้อมูลของรัฐบาล และข้อมูลลับที่แมนนิ่งเปิดโปงก็มีเพียงร้อยละ 1 จากเอกสารทั้งหมด 92 ล้านฉบับที่ทางการสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นเอกสารลับ
 
 
3.) วิกิลีกส์ เป็นสิ่งที่ต่อต้านอเมริกัน
 
เชสกล่าวว่าที่คนคิดเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะวิกิลีกส์ต่อต้านการบุกอิรักของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน แต่ทว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่แทบจะทั้งหมดล้วนมีความเห็นคล้อยตามวิกิลีกส์ในประเด็นนี้
 
วิกิลีกส์เองก็มีแถลงการณ์ภารกิจที่กล่าวอ้างถึงอดีตปธน. โทมัส เจฟเฟอร์สัน และศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากเรียกพวกเขาว่าเป็นพวกต่อต้านอเมริกันก็คงฟังดูแปลก เชสบอกว่า พวกเขาดูเหมือนคนมีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมคลาสสิกที่บังเอิญมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และมาจากซิลิคอน วัลเลย์ (ย่านธุรกิจไอทีในสหรัฐฯ) อีกทั้งเมื่อประเมินจากแถลงการณ์ของแมนนิ่งและวิกิลีกส์ (ทั้งแถลงการณ์ส่วนตัวและแถลงการณ์สาธารณะ) แล้วก็ไม่พบว่าพวกเขามีอคติใดๆ กับสหรัฐฯ
 
 
4.) แบรดลี่ย์ ทำให้ข้อมูล "ความลับสุดยอด" รั่วไหล
 
จริงอยู่ที่ว่านายทหารแบรดลี่ย์ดูจะชอบการเข้าถึงข้อมูลด้านความมั่นคงที่เป็น "ความลับสุดยอด" แต่เชสก็บอกว่าแบรดลี่ย์ก็เป็นเช่นเดียวกับประชาชนรายอื่นๆ จำนวนราว 1.4 ล้านคน ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล "ความลับสุดยอด" ด้านความมั่นคง ซึ่งถ้าหากมีคนได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้จำนวนมากกว่าจำนวนประชากรในวอชิงตันดีซี ข้อมูลเหล่านั้นยังจะถือว่าเป็น "ความลับ" อยู่หรือไม่
 
เชส ระบุอีกว่าในหมู่เอกสารของแมนนิ่งที่มีการเผยแพร่ ไม่มีเอกสารใดๆ เลยที่ถือว่าอยู่ในระดับ "ความลับสุดยอด" ข้อมูลโทรเลขทางการทูตมากกว่าครึ่งไม่ถือว่าเป็นความลับทางราชการ และภาพวีดิโอคลิปที่มีเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่สังหารชาวอิรักหลายคนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความลับทางราชการเช่นกัน
 
และแม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะไม่ยอมออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ประชาชนในอิรักหลายแสนคนเสียชีวิตในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็มักจะอ้างว่า การเผยแพร่ข้อมูลของแมนนิ่งทำให้มีคนถูกสังหาร หรืออย่างน้อยก็ส่งผลเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจะพูดถึงในข้อต่อไป 
 
 
5.) การเผยแพร่ข้อมูลของแบรดลี่ย์ ทำให้มีคนถูกสังหาร ทำให้ประเทศสหรัฐฯ เสียผลประโยชน์
 
แต่ในช่วงสามปีหลังจากที่ข้อมูลถูกเผยแพร่ออกมา ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีพลเรือน ทหาร หรือแม้กระทั่งสายลับคนใดได้รับอันตรายจากการเผยแพร่ข้อมูลเลย อาจจะจริงที่ว่ามีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ 2 คนถูกเรียกตัวกลับจากประเทศในแถบละตินอเมริกา แต่มันก็ไม่ถึงขั้นว่าเป็นวินาศภัยทางการทูต และฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยนั้นก็ได้ให้คำมั่นพวกเราไว้แบบนี้เช่นกัน
 
 
6.) สิ่งที่แมนนิ่งเผยแพร่ออกมา ไม่ได้มีความสำคัญอะไร
 
อาจจะมองต่างจากข้ออื่นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องเท็จพอๆ กัน ในความจริงแล้ว การเผยแพร่ข้อมูลของแบรดลี่ย์อาจจะมีบทบาทเล็กๆ แต่ก็เป็นบทบาทสำคัญในการประท้วงของตูนีเซีย และทำให้กองทัพสหรัฐฯ ไม่ขยายเวลาการวางกำลังในอิรัก นอกจากนี้ข้อมูลที่ถูกเปิดโปงกลายมาเป็นเรื่องตามข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์และนิตยสารชั้นนำหลายร้อยชิ้นในหลายประเทศ ทั้งสื่อของเยอรมนี อินเดีย และกระทั่งสื่อสหรัฐฯ ถ้าหากสิ่งที่แมนนิ่งเผยแพร่ออกมาเป็นเรื่องไม่สำคัญจริง มีหรือที่สื่อจะนำมาตีพิมพ์
 
 
7.) ความรู้ในเรื่องดังกล่าวจะทำให้เรามีความเสี่ยง แต่ความไม่รู้จะทำให้เราปลอดภัย
 
เชส บอกว่าแนวคิดนี้เป็นความเข้าใจผิดที่ใหญ่ที่สุด การที่ทหารอเมริกันสามารถเข้าไปละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิรักได้เป็นเพราะว่ารัฐบาลมีความสามารถสูงในการกุมความลับเอาไว้ได้ และบางครั้งก็มีการบิดเบีอนความจริง หรือกระทั่งมีการโกหก
 
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็เคยใช้วิธีการเดียวกันในสงครามแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการเก็บความลับของรัฐบาลทำให้มีการนองเลือด (และสูญเสียเงิน) ทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯ และจากประเทศที่ถูกสหรัฐฯ รุกรานซึ่งสูญเสียมากกว่าหลายเท่า จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่นโยบายการต่างประเทศใหญ่ๆ กลายเป็นวินาศกรรมและความล้มเหลวเมื่อไม่มีข้อมูลสำคัญ
 
 
 
เชส มาดาร์ เป็นทนายความเพื่อสิทธิพลเมืองในนิวยอร์ก และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง เรื่อง "The Passion of Bradley Manning: The Story behind the Wikileaks Whistleblower"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Seven Myths About Bradley Manning, The Nation, 03-06-2013

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมอุบลฉายหนัง V for Vendetta ถกเรื่องหน้ากากในสังคมไทย

Posted: 07 Jun 2013 05:50 AM PDT

นักกิจกรรมอุบลจัดงาน "Cinema ข้างฝาบ้าน" ฉายภาพยนตร์ " V for Vendetta เพชฌฆาตหน้ากากพญายม"  แลกเปลี่ยนมุมมอง-สร้างบรรยากาศการสนทนาอย่างมีเหตุผล

 
 
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา กลุ่มแว่นขยาย ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษา และนักพัฒนาภาคประชาสังคม จัดงาน "Cinema ข้างฝาบ้าน" ฉายภาพยนตร์แลกเปลี่ยนมุมมอง และเป็นการสร้างบรรยากาศการสนทนาอย่างมีเหตุผลขึ้น โดยได้ฉายภาพยนตร์ที่ฉายเรื่อง "V for Vendetta เพชฌฆาตหน้ากากพญายม" ณ ฟรีดอมโซน อุบลราชธานี
 
กิจกรรมเริ่มต้นจากตัวแทนกลุ่มแว่นขยายกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และกล่าวถึงที่มาของภาพยนตร์พร้อมทั้งบรรยายถึงความสำคัญของการจัดฉาย ภาพยนตร์ และกล่าวถึงสถานการณ์การใช้หน้ากากเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมไทย ปัจจุบัน
 
หลังจากกิจกรรมฉายหนังเสร็จสิ้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ที่สะท้อนจากภาพยนตร์ที่หลากหลาย และเป็นที่น่าสนใจที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากในระหว่างการสนทนา ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนเข้าใจว่าในการสวมหน้ากากเพื่อการสนทนานี้มิได้มีความหมายว่าเข้าข้างฝ่ายการเมืองใด หรือมีทัศนคติในแง่ลบต่อสังคม แต่เป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าร่วมสนุกสนาน
 
นางสาวสิรินทรา พุฒจันทร์ ผู้เข้าร่วมกล่าวถึงเนื้อหาในภาพยนตร์ที่สะท้อนสังคมไทย "หน้ากาก เป็นเรื่องราวที่สะท้อนสังคมที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อให้เห็นถึงคนในสังคมที่ ทุกคนคือหน้ากากขาววีเป็นเพียงตัวแทนที่ภาพยนตร์ต้องการให้เป็นสัญลักษณ์เพื่อการอธิบาย ซึ่งการใส่หน้ากากในภาพยนตร์เป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างหนึ่ง ที่คนในสังคมจะต้องต่อต้านกับจิตใต้สำนึกของตนเองภายใต้หน้ากากขาวนั้น หน้ากากขาวที่แทนกับคนที่มีอุดมการณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่มิใช่ เพียงนักขับเคลื่อนรุ่นเก่า หากแต่หมายถึงนักพัฒนารุ่นใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเอง"
 
นายศรีรุ่งเรือง บุราไกร กล่าวถึง "หน้ากากเป็นการ ยกขึ้นมาเพื่อการต่อต้านอำนาจรัฐที่เกิดขึ้นจากพลเมือง ในภาพยนตร์ที่สื่อให้เห็นถึงการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของประชาชน รัฐจะไม่มีอำนาจในการต่อต้านประชาชน แต่บางครั้งประชาชนถูกทำให้ยอมแพ้จำนนกับอำนาจรัฐ และผู้นำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจประชาชน เพราะหากผู้นำไม่สนใจประชาชนแล้วการต่อต้านก็จะตามมา" 
 
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมได้ถกประเด็นการขับเคลื่อนทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ในสังคมที่ไทยที่มีการนำหน้ากากขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว และผู้เข้าร่วมระดมความเห็นเพื่อเสนอการใช้หน้ากากในการเคลื่อนไหวทางการ เมือง ดังนี้
 
1. อยากให้คนในสังคมไทยติดตามที่มาของหน้ากากว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพื่อที่จะได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการขับเคลื่อน
 
2. การใช้สัญลักษณ์หน้ากากในการขับเคลื่อนเป็นผลดีที่จะทำให้เกิดความสนใจของคนในสังคมโดยในสังคมออนไลน์ ทำให้คนได้ติดตามในประเด็น
 
3. สัญลักษณ์เป็นการก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในการขับเคลื่อนของคนที่มี อุดมการณ์เดียวกัน หลังจากการขับเคลื่อนนั้นแล้วอยากให้คนในสังคมเข้าใจกัน อย่าใช้สัญลักษณ์มาเป็นข้อจำกัดในสังคม
 
4. ก่อนจะเชื่อในประเด็นประชาชนจะต้องศึกษาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการใช้ สัญลักษณ์ อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจในสังคมอย่างมีเหตุผล และสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมตามวิถีประชาธิปไตย
 
5. สื่อที่นำเสนอประเด็นที่มีการใช้สัญลักษณ์ทั้งหน้ากาก และสัญลักษณ์อื่นๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นกลาง และให้โอกาสผู้ชมได้พิจารณาตัดสินเองว่าสิ่งใดเหมาะสม
 
ช่วงท้ายตัวแทนจากกลุ่มแว่นขยายได้กล่าวสรุป "สภาพสังคมที่มีความแตก ต่างหลากหลาย คนในสังคมต้องมีกระบวนการพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีเหตุผล ให้รับฟังความคิดของคนที่คิดต่างไม่ปิดโอกาสในการรับฟังและมองข้ามในสิ่งที่ คนคิดต่างได้นำเสนอออกมา และสื่อจะต้องให้ความสำคัญและเป็นกลางอันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจให้กับ คนในสังคม"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เจ้ย' อภิชาติพงศ์ ได้รางวัลฟูกุโอกะสาขาศิลปะและวัฒนธรรม

Posted: 07 Jun 2013 04:27 AM PDT

ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัลฟูกุโอกะซึ่งเป็นรางวัลของประเทศญี่ปุ่นมอบให้ผู้ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชียและส่งเสริมสันติภาพดีเด่น

7 มิ.ย. 56 - รางวัลวัฒนธรรมเอเชียแห่งฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นรางวัลมอบให้แก่ศิลปินและนักวิชาการนานาชาติที่ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชีย มอบรางวัลดีเด่นสาขาศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดยในปีนี้ยังมีผู้ได้รับรางวัลในสาขาอื่น เช่น นากามูระ เท็ตสึ แพทย์ชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริการการแพทย์เพื่อสันติภาพญี่ปุ่น ได้รับรางวัลแกรนด์ไพรซ์ เท็สซ่า มอร์ริส ซูซูกิ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้รับรางวัลสาขาวิชาการดีเด่น
 
ในเว็บไซต์ระบุว่า งานของอภิชาติพงศ์เป็นงานที่ได้สร้างความฮือฮาในวงการภาพยนตร์ ด้วยวิธีการใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องเช่น การบรรยายทางทัศนา (visual narration) มีเรื่องราวที่มีฐานมาจากนิทานและตำนานท้องถิ่นซึ่งผสมผสานกับความทรงจำส่วนตัว และเกี่ยวข้องกับประเด็นร่วมสมัยในปัจจุบันด้วย
 
"อภิชาติพงศ์ ในฐานะที่เป็นผู้ตั้งมาตรฐานสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ จากวิธีการเล่าเรื่องที่แหวกขนบไปจนถึงการแสดงออกทางทัศนา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับวงการภาพยนตร์ทั่วโลก และยังคงสร้างสรรค์ในพื้นที่หลากหลายโดยไม่ติดอยู่ในกรอบเรื่องการแบ่งประเภทเดิมๆ สำหรับความสำเร็จนี้ เขาจึงสมควรเป็นผู้ได้รับรางวัลฟูกุโอกะสาขาศิลปะและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง" เว็บไซต์รางวัลฟูกุโอกะระบุ 
 
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เติบโตในจังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago) เริ่มต้นผลิตภาพยนตร์และวิดีโอตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2533 เป็นหนึ่งในผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำงานนอกระบบสตูดิโอ อภิชาติพงศ์มักทดลองโดยยึดหลักโครงเรื่องที่อิงมาจากละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ การ์ตูน และภาพยนตร์เก่า ๆ มักได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองเล็ก ๆ มักใช้นักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่ใช่มืออาชีพ และใช้บทสนทนาสด
 
พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาวเรื่องแรกของเขา ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมากมาย และได้รับคำวิจารณ์พร้อมรางวัล 4 รางวัล และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในปี 2543 โดยนักวิจารณ์นิตยสาร The village voice 
 
อภิชาติพงศ์เปิดบริษัทภาพยนตร์ Kick the Machine โดยผลิตภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ได้รับรางวัล Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ประจำปี พ.ศ. 2545 ณ ประเทศฝรั่งเศส ถูกจัดเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่คานส์โดยนิตยสาร Le Cahiers du Cinema พ.ศ. 2547 
 
ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) ซึ่งร่วมกับบริษัท Anna Sanders Films ประเทศฝรั่งเศส ได้รับรางวัล Jury Prize และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเข้าเลือกในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
 
ภาพยนตร์เรื่องที่ 6 ของเขา ลุงบุญมีระลึกชาติ (พ.ศ. 2553) ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้
 
ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าว ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1990 โดยผู้ได้รับรางวัลที่ผ่านมา รวมถึง เจมส์ ซี สก็อต นักวิชาการชาวสหรัฐด้านมานุษยวิทยา แอนโทนี รีด นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ไทย คลิฟฟอร์ด กีแอร์ตซ์ นักมานุษยวิทยา และคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ นักเขียนและรัฐบุรุษไทย และเมื่อปีที่แล้ว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลดังกล่าวในสาขาวิชาการดีเด่น 
 
 
ที่มาเนื้อหาบางส่วนจาก เว็บไซต์วิกิพีเดีย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน Red Research(1): ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เสื้อแดงคือใคร?

Posted: 07 Jun 2013 03:37 AM PDT

 

ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ หากกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง "คนเสื้อแดง" ด้วยจำนวนอันมหาศาลและการเคลื่อนไหวต่อเนื่องยาวนานตลอดหลายปี

ใบหน้าหยาบกร้านมากมายของคนชนบทและคนจนเมืองในเสื้อสีแดงฉาน นั่งตากแดดตากฝนหน้าเวทีปราศรัย หรือขบวนมอเตอร์ไซด์-รถกระบะที่เคลื่อนขบวนยาวเหยียดพร้อมธงแดงไปในที่ต่างๆ ดูจะเป็นภาพประทับใหญ่ที่สุดสำหรับสังคมและสื่อมวลชน อันที่จริงคนเหล่านี้ถูกตราหน้าว่าเป็นมวลชนที่ใช้เงินซื้อได้ด้วยซ้ำในช่วงแรกๆ ของการเคลื่อนไหว เมื่อเวลาผ่านไปข้อหานี้ก็เริ่มเบาบางลง แต่ยังคงหลงเหลือภาพของความ "โง่ จน เจ็บ" และเพิ่มภาพ "ความรุนแรง" เข้าไปอีกหลังเหตุการณ์ปะทะทหารและควันไฟกลางเมืองเมื่อสามปีก่อน

นอกเหนือไปจากนี้ ดูเหมือน "เรา" ก็ไม่รู้จักอะไรพวกเขามากนัก

คำถามนี้คุกรุ่นอยู่ในวงวิชาการบางส่วน แต่ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นั้นเองที่เป็นแรงขับสำคัญให้เกิดโครงการวิจัยเพื่อสำรวจ agent ทางการเมืองกลุ่มนี้  คณาจารย์หลากหลายสาขาวิชา หลายสถาบัน ร่วมกันสำรวจในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจากสายมานุษยวิทยา พวกเขาตั้งโจทย์ในการศึกษาการก่อตัวและพลวัตรของคนเสื้อแดงทั้งในพื้นที่อีสาน เหนือ กลาง รวมไปถึงภาคใต้ซึ่งค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะ

 ประชาไทพูดคุยกับทีมวิจัยหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งจะเริ่มต้นเล่าภาพรวมและข้อค้นพบหลักๆ ในงานชิ้นนี้  โดยเฉพาะข้อโต้แย้งกับคำอธิบายหลักทางวิชาการตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ว่าด้วย "สองนครา ประชาธิปไตย"


ยุกติกล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ชื่อ "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" เริ่มดำเนินการกันหลังเหตุการณ์ พ.ค.53 ไม่นาน โดยตั้งโจทย์เรื่อง "การก่อตัวของชนชั้นใหม่"  เนื่องจากเวลานั้นเสื้อแดงโดนโจมตีมาก แต่ไม่ใครพยายามอธิบาย แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อ เพื่อให้โจทย์กว้างขึ้น ไม่เพียงแต่ตอบคำถามว่าเสื้อแดงคือใคร  เพราะทีมวิจัยพบว่ายังไม่เพียงพอ จึงตั้ง theme ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

"เราดูว่าคำอธิบายภาพของสังคมตอนนี้ตันอยู่ตรงไหน ก็พบว่าอยู่ที่คำอธิบายของอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์เรื่องสองนคราประชาธิปไตย ที่บอกว่าคนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คนกรุงเทพล้มรัฐบาล เราคิดว่า คำอธิบายนี้ไม่เพียงพอ หรือแม้จะมีคำอธิบายอื่นก็ไม่พ้นไปจากสองนคราเท่าไร"  

อย่างไรก็ตาม งานชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ศึกษาคนเสื้อเหลืองด้วย แม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาพลังของเสื้อเหลืองจะลดน้อยลงแล้วก็ตาม ทีมวิจัยก็ยังได้สัมภาษณ์แกนหลักของพรรคการเมืองใหม่ รวมถึงการเก็บข้อมูลกลุ่มคนต่างๆ ด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้แบ่งการวิธีการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. ทำ Survey Research เพื่อหาภาพกว้างตามที่ตั้งสมมติฐานไว้

2. ทำ Focus Group สัมภาษณ์คนกลุ่มต่างๆ ที่สุ่มมาจากทั่วประเทศ เพื่อหาภาพรวมเชิงลึกว่าเดิม เพราะได้นำหลายพื้นที่มาเปรียบเทียบกัน

3. ทำวิจัยแบบมานุษยวิทยาเชิงลึกในหมูบ้าน โดยไม่เลือกหมูบ้านที่ประกาศตัวว่าเป็นเสื้อแดง แต่ไปพื้นที่ที่คลุมเครือ

สำหรับรายละเอียดนั้น การ Survey จะแบ่งคำถามเป็นสองชุด ชุดที่หนึ่ง เพื่อหาคำตอบว่า ใครคือคนเสื้อเหลือง ใครคือคนเสื้อแดง โดยให้ผู้ตอบเลือกเองว่าจะเป็นอะไร แล้วดูข้อมูลทางประชากร เช่น อาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย ชุดที่สอง หาคำตอบเรื่องทัศนคติทางการเมือง โดยนำวาทกรรมทางการเมืองที่กลุ่มสีเสื้อต่างๆ พูดถึงมาให้ตอบว่าเห็นด้วยกับข้อความต่างๆ หรือไม่ เช่น ประชาธิปไตยคืออะไร เสียงข้างมาก การเลือกตั้ง ไม่สองมาตรฐาน หรืออื่นๆ ซึ่งก็ได้คำตอบสอดคล้องกับคำถามในเชิงเศรษฐกิจพอสมควร เช่น เรื่องระดับรายได้ คนที่ระบุว่าตัวเองเป็นเสื้อเหลืองจะมีรายได้สูงกว่าเสื้อแดง ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ขณะที่เสื้อแดงก็ไม่ใช่คนจน ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง  ประกอบอาชีพอิสระเสียมาก ซึ่งหมายถึงไม่มีเงินเดือนประจำ มีความมั่นคงในชีวิตน้อยกว่า

"ที่น่าสนใจก็คือมีคนเกลียดทักษิณมากๆ และรักทักษิณมากๆ อยู่น้อย เพียงร้อยละ 1-2  นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่าควรมีบทบาททางการเมืองหรือไม่ ก็มีคนตอบแบบเหวี่ยงออกไปไม่มากเลย เอาเข้าจริงคนสองกลุ่มนี้ก็มีความคิดร่วมกัน อย่างน้อยก็เอาประชาธิปไตยเหมือนกัน เอาการเลือกตั้งเหมือนกัน และไม่มีใครปฏิเสธการมีอยู่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"  

 

เมื่อถามถึงการศึกษาในเชิงมานุษยวิทยาว่า มีข้อค้นพบอะไรเกี่ยวกับคนเสื้อแดงที่น่าสนใจ เขากล่าวว่า เรื่องที่น่าตื่นเต้นคือเรื่อผู้ประกอบการ เพราะแทนที่จะเป็นคนจีนแต่กลับพบว่ามีผู้ประกอบการที่เป็นคนอีสานมากขึ้น เรียกว่า "เจ๊กหายไปแต่ลาวมากขึ้น" เป็นผู้ประกอบการที่เติบโตในท้องถิ่นชนบท ข้อค้นพบนี้บอกว่า การกระจุกตัวของทุนในท้องถิ่นไม่ได้เป็นแบบเดิมอีกต่อไป เพราะมีโครงการทางเศรษฐกิจที่ลงไปในชนบทมากขึ้น คนชนบทก็กู้เงินหมื่นจากธนาคารไปลงทุนทำไร่ได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งนายทุน แต่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเองได้

"พอเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ ก็นำมาซึ่งอิสระทางการเมือง การตัดสินใจทางการเมือง จินตนาการทางการเมืองก็ไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่เล็กๆ อีกต่อไป แต่พวกเขาจะมองอนาคตที่ไกลขึ้น มองภาพของสังคมที่กว้างขึ้น ผลก็คือระบบอุปถัมภ์เบาบางลง"

ระบบอุปถัมภ์เบาบางลง นั่นคือข้อสรุปแรกที่ดูชนกับคำอธิบายหลักของสังคม

เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่ตื่นเต้นอย่างต่อมาคือ ภาคการเกษตรไทยก็เป็นหลังให้คนพึ่งอยู่ได้ แต่ไม่ใช่เต็มร้อย เพราะยังมีความเคลื่อนไหวในสังคมสูงมาก คนที่อยู่ในภาคการเกษตรก็มีหลายอาชีพ แม้ไม่ได้เป็นภาคหลักแต่ก็ยังมีชีวิตชีวาอยู่ ถือว่าภาคอุตสาหกรรมและเกษตรก็ไม่ได้แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง

ส่วนสิ่งที่พบจากการทำโฟกัสกรุ๊ปคือ การได้เห็นความตื่นตัวทางการงานเมืองกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มนายทุนน้อย ซึ่งจะมีเวลาติดตามข่าวสารจนเห็นโลกต่างไปจากเกษตรกรที่ไม่มีเวลากับเรื่องนี้ แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง หากแต่รับรู้เรื่องราวจากสื่อ

"นั่นหมายความว่าสังคมที่เปลี่ยนไปได้สร้างคนรุ่นใหม่ๆให้พร้อมเข้าสู่การเมืองแล้ว คนจึงรู้จักประชาธิปไตยมากขึ้น รู้จักสิทธิทางการเมืองมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี่เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น และมาจากการกระจายอำนาจทางการเมืองของการเมืองท้องถิ่น ชาวบ้านจะหวงแหนตัวแทนที่ได้เลือกตั้งขึ้นมา นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2540 ยังสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งขึ้นมา พรรคการเมืองก็มีนโยบายที่ทำให้คนรู้สึกว่าเสียงของเขามีความหมายและมีผลจริง"

อีกคำอธิบายที่สำคัญคือเรื่อง "การซื้อเสียง"

ยุติตอบคำถามนี้ว่า หากมองในระดับใหญ่ การซื้อเสียงในอดีตเป็นเพราะการจำกัดโครงสร้างอำนาจของนักการเมือง การซื้อเสียงเกิดจากระบบอำนาจนิยม ไม่ใช่เพราะนักการเมืองชั่ว ชาวบ้านโง่ เมื่ออำนาจอยู่กับคนแค่บางกลุ่ม ประชาชนก็ไม่มีส่วนกำหนด พรรคการเมืองก็ไม่สามารถขายนโยบายของตัวเองได้ ดังนั้น โครงสร้างการเมืองต่างหากที่ทำให้เกิดการซื้อเสียง

แน่นอนว่าปัจจุบันก็ยังมีการซื้อเสียงอยู่ แต่ถามว่าทำอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้เงินสูญเปล่า ไม่ใช่ซื้อไปแล้วประชาชนไม่เลือก ก่อนอื่นเขาจะดูเครือข่ายว่าใครบ้างจะเลือก ใครไม่เลือกแน่ๆ และใครอาจจะเลือกหรืออาจจะไม่เลือก วิธีการซื้อก็คือ กลุ่มที่เลือกแน่ๆ ก็ให้บ้าง กลุ่มที่ไม่เลือกแน่ๆ ก็อย่าไปเสียงเงินฟรี กลุ่มที่ก้ำกึ่งนี่เองที่จะได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ทั้งนี้คนก็มองการเลือกตั้งแต่ละระดับต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใครมาทำอะไร นักการเมืองระดับ อบต. อบจ. และสส. ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน เรียกว่าจะอาศัยกระแสพรรคเดียวกันมาลงการเมืองท้องถิ่นไม่ได้ง่ายๆ ชาวบ้านไม่ได้หวังการพัฒนาจาก ส.ส. แต่หวังจากนักการเมืองท้องถิ่น



 

เขากล่าวด้วยว่า สำหรับภาคใต้เป็นโจทย์ที่เป็น "ยาขม" ของงานวิจัย คือ เป็นภาคที่คิดว่ามีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง ในขณะที่พรรคอื่นๆ ก่อนไทยรักไทยนั้นไม่เคยเป็น จะพูดว่าประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมาก่อนแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม ภาคใต้มีสภาพภูมิศาสตร์สองแบบคือ ชายทะเลกับที่ไกลทะเลไปจนถึงอยู่ในเมือง เศรษฐกิจชายทะเลย่ำแย่มากเพราะระบบนิเวศเปลี่ยนจากการทำนากุ้ง ในขณะที่พวกทำสวนยางสวนปาล์มก็แย่ลงด้วย แต่ก็ยังนิยมพรรคประชาธิปัตย์เพราะคิดว่าจะพึ่งได้ นักการเมืองพรรคนี้เองก็มีทั้งคนใต้และคนกรุงเทพ คนใต้ยังให้ความเชื่อมั่นกับ "ชวน หลีกภัย" เพราะนำนายชวนไปโยงกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และคิดว่า "มั่นคง" ทว่าเมื่อถามก็ตอบไม่ได้ว่าจะได้อะไรจากพรรคประชาธิปัตย์ ฉะนั้นอุดมการณ์จึงมีส่วนสำคัญในภาคใต้

เขาเล่าว่า ข้อค้นพบอีกอย่างที่ได้มาโดยไม่ได้ตั้งใจศึกษาคือ การจัดกลุ่มคน คนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยแต่ไม่ใช่เสื้อแดง มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของเสื้อแดงทั้งหมด คนเลือกเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องบอกว่าตัวเองเป็นเสื้อแดง และอาจไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อแดง ส่วนคนเสื้อแดงก็ยังเป็นคนละกลุ่มกับ นปช.ก็มาก มีแดงอิสระ แดงวิจารณ์พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่เป็น นปช.ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น นปช.เนื้อเดียวกับในกรุงเทพฯ  

"ขบวนการเสื้อแดงจึงไม่ใช่องค์กรจัดตั้งที่ชัดเจน มีการบังคับบัญชาจากพรรค คนมักจะคิดว่าจัดการทั้งหมดได้แค่ทักษิณกดปุ่มเดียว ข้อพิสูจน์ที่สำคัญก็คือเรื่อง 112 จะเห็นว่ามวลชนเดินคนละทางกับพรรค ต่อมาคือเรื่องสถาบันกษัตริย์ ก็มีคนที่คิดแล้วก็แสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องจำเอาคำหรือวาทกรรมของใครมา แต่เรื่องแบบนี้ก็พูดไม่ได้ในงานวิจัย"

หากพูดกันนอกเหนือเนื้อหาที่ปรากฏในงานวิจัย แต่จากการสัมผัสกับชาวบ้านตัวเป็นๆ คำถามหนึ่งท้าทายมากคือมุมมองต่อสถาบันกษัตริย์และข้อหา "แดงล้มเจ้า"

ยุกติตอบว่าเขาไม่พบคนที่มีแนวคิดสุดโต่งในเรื่องนี้ หากสังคมเปิดให้เลือกระหว่างสาธารรัฐกับราชอาณาจักร  พวกเลือกสาธารณรัฐย่อมแพ้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม พบว่ามีคนที่วิพากษ์วิจารณ์บทบาทสถาบันกษัตริย์ แต่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันระดับหนึ่งจึงกล้าพูดกัน และพบว่าคนกลุ่มที่จะมีบทบาทขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตเมืองของแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่ต่างจากคนที่มีความคิดก้าวหน้าในกรุงเทพ เพราะพูดภาษาเดียวกัน เสพข่าวสารเดียวกับคนกรุงเทพ สื่อก็ถ่ายเทกันไปมาจนแทบไม่มีพรมแดน

สำหรับ "การเมือง" ของผู้วิจัยเองที่หลายคนอาจถูกมองว่า "แดง" และอาจศึกษาโดยมีเป้าหมายสร้างความชอบธรรมให้คนเสื้อแดง

"คำถามนี้ คิดว่าไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เพราะทีมวิจัยก็วิพากษ์เรื่องนี้กันมากอยู่แล้ว แต่บางคนเอง เดิมทีก็ไม่ได้ชอบคนเสื้อแดง พอหลังพฤษภาคม 2553 จึงหันมาสนใจเสื้อแดงมากขึ้น ในภาพรวมถ้าคนมองว่าเป็นแบบนั้นก็มีส่วน ที่ผ่านมางานอื่นๆ ให้ภาพลบกับคนเสื้อแดงมาก และงานวิจัยนี้ก็มีส่วนที่จะไปปะทะกับงานวิจัยเฉดสีอื่นๆ เหมือนกัน"

สำหรับคำถามที่ว่า การศึกษานี้เป็นการโรแมนติไซด์ชาวบ้านหรือไม่ ยุกติตอบว่า "งานวิจัยทางมานุษยวิทยามีความเป็นไปได้ที่นักวิจัยจะเข้าข้างชาวบ้าน เพราะเราอยากจะพูดแทนเขา แต่ต้องไม่ให้การตีความของนักวิจัยไปทับคำพูดของชาวบ้านมากเกินไป เราจึงพยายามจะให้เขาพูดออกมาจากปากมากที่สุด แต่ชาวบ้านก็พูดหลายแบบ เริ่มแรกจะพูดแบบหนึ่ง เมื่อถามไปเรื่อยๆ ก็จะพูดอีกแบบ เราก็จะต้องพูดถึงสิ่งที่เขาเป็นด้วย จึงไม่ง่ายที่จะบอกว่าเราคล้อยตามเขาตลอด แต่ความสำเร็จของงานก็ต้องขึ้นอยู่กับสังคม ว่ามองงานนี้อย่างไร รับได้หรือไม่ได้ เอียงเกินไปหรือไม่"

ข้อพิสูจน์เล็กๆ ของความไม่โรแมนติกในหมู่คนเสื้อแดงคือการที่ผู้วิจัยก็ยอมรับว่า มีกลุ่มที่มีอิทธิพลที่นิยมใช้ความรุนแรง ปิดกั้นสิทธิ์ของคนอื่น หรือเป็นนักการเมืองแบบฉวยโอกาส ไม่มีอุดมการณ์จริงๆ ในขบวนการเช่นกัน

"แต่ขบวนการในภาพรวมก็ไม่ได้มีทิศทางที่จะเป็นแบบนั้น เพราะหากจะพูดกันจริงๆ สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ทุกที่ในโลก"

ท้ายที่สุด เขากล่าวว่า สมรภูมิการต่อสู้อันดุเดือดชนิดแทบจะอยู่ร่วมกันไม่ได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด สังคมนอกกรุงเทพฯ ไม่ได้แตกและแยกมากเท่าในโซเชียลมีเดีย

"การอยู่ร่วมกันไม่เป็นปัญหา ในชนบทคนเป็นญาติกัน กลุ่มต่างๆ มันซ้อนทับกันตลอดเวลา แต่ก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะมีกลไกจัดการไม่เหมือนคนในเมือง ความแตกแยกรุนแรงจริงๆ แล้วอาจมีอยู่มากชนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพมากกว่า"

นี่เป็นมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับ "คนเสื้อแดง" จากงานวิจัยที่ "แหลม" ในทางการเมืองที่สุดชิ้นหนึ่ง (จนสถานศึกษาที่ให้ทุนไม่ขอเปิดเผยตัว) เป็นงานที่ดำเนินการเก็บข้อมูลมาเกือบ 3 ปี มีการสอบทานระหว่างทางจากนักวิชาการทั้งที่เรียกว่า "เหลือง" และ "แดง" อยู่หลายยก ไม่ว่าใครจะมองเห็นอย่างไร อย่างน้อยๆ ก็นับเป็นการอัพเดทภูมิทัศน์การเมืองไทย ขยายการรับรู้ของเราให้กว้างกว่าภาพที่เห็นในทีวี และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะให้เราได้เถียงกันต่อ

 

ติดตามเรื่องราวของ ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ในตอนหน้า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อเสนอเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ : สารพัดปัญหาที่ต้องแก้

Posted: 07 Jun 2013 12:30 AM PDT

ข้อเสนอในการเจรจาระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ กับ ผู้แทนนายกรัฐมนตรี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ
วันที่ 4 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ และ วันที่ 6 มิถุนายน 2556 ณ ทำเนียบรัฐบาล

 

หลักการสำคัญ

การเจรจาครั้งนี้ เป็นการเจรจาระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ สหภาพองค์การเภสัชกรรม และ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน กับ ผู้แทนนายกรัฐมนตรีฯ ไม่ใช่การเจรจา กับ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ และคณะ

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

 
  ต้องไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) และยกเลิกการเก็บ 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

1. การจัดหา(ซื้อ)บริการสาธารณสุขให้เป็นหน้าที่ของ สปสช.เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดบริการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การดึงอำนาจการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.มายังเขตบริการของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการถอยหลังเข้าคลองและผิดหลักการ ต้องยกเลิก

2. ต้องยุติการแทรกแซงการบริหารของ สปสช. เน้นหลักการแยกบทบาทผู้จัดหา(ซื้อ)บริการ กับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องมีความเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข และ ต้องยุติความพยายามในการแทรกแซงการทำงานของสปสช.

3. ให้คืนความเป็นธรรมและเยียวยาแก่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล โดยเร็ว

4. ให้ตัดต้นตอของปัญหาคือ ให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม

 

1. รัฐบาลต้องไม่แปรรูปองค์การเภสัชกรรม ต้องคงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม และจะต้องทำหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มเติมจากที่ได้ทำมาแล้ว

2. ให้ยุติการใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมโดยมิชอบ เช่น การสั่งการให้ใช้เงิน 4,000 ล้านบาทสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข

3. ให้ยุติการใช้เงินตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐโดยมิชอบ เช่น กรณีสั่งจ่ายเงิน 75 ล้านให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

4. ให้เร่งรัดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมดำเนินคดีกับ กลุ่มต่างๆ ที่ให้ร้าย บิดเบือนองค์การเภสัชกรรม เช่น กรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก

5. ให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบันลาออกทั้งคณะ

6. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขทันที

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน

 

1. คงระเบียบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 ไว้ตามเดิม

2. ปรับปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นดังนี้

2.1 ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกวิชาชีพที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในการพัฒนาเบี้ยเลี้ยง รวมถึงกลุ่มงานบริหาร (Back Office)

2.2 ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน

3. ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกภาคส่วนในการพิจารณาทบทวนกำหนดพื้นที่ใหม่ทั้งหมดโดยเร็ว

4. ให้ยกเลิกการบังคับทำ P4P ในรพ.ชุมชน

5. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที

 
 

อรรถาธิบาย

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

1. ต้องไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) และยกเลิกการเก็บ ๓๐ บาทในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เหตุผล

1. หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้ระบบเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข โดยการจัดงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษา การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ สำหรับประชาชนทุกคนโดยเฉลี่ยตามจำนวนการเข้ารับการรักษาในแต่ละปี รัฐรับประกันว่าประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาได้โดยเสมอภาคกัน ไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจ

 

2. งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ประชาชนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีมาโดยตลอดนั้น ได้ยืนยันการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบระบบหลักประกันสุขภาพ

 

3. การร่วมจ่ายมีหลักการที่สำคัญคือ การลดการใช้บริการฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ไม่ใช่แหล่งรายได้ของระบบหลักประกัน โดยที่งานวิชาการที่ผ่านมาทั้งจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ข้อมูลตรงกันว่า ยังไม่มีปรากฏการณ์ในภาพรวมของการใช้บริการเกินจำเป็น เนื่องจากการไม่ต้องร่วมจ่าย

4. งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่ากลุ่มข้าราชการคือกลุ่มที่มีแนวโน้มการใช้บริการเกินจำเป็น และส่งผลต่อการเพิ่มของงบประมาณรัฐในการรักษาพยาบาลเป็นสัดส่วนมากที่สุด ดังนั้นการจะเพิ่มงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย รัฐควรดำเนินการลดค่าใช้จ่ายของภาคข้าราชการ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นระบบเดียว มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการซื้อบริการหน่วยเดียวที่สามารถดูแลประชาชนทุกคนได้

5. ข้อมูลภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนมากกว่าความต้องการมาใช้บริการโดยไม่จำเป็น งานวิจัยพบว่าประชาชนที่มีรายได้น้อย ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการมาโรงพยาบาลเป็นสัดส่วนสูง เช่น หากต้องเดินทางจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ค่าเหมารถแท๊กซีในเขตเมืองเพื่อ ส่งคนชรา คนป่วยพิการ คนป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต่างมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้รายวันที่ได้รับ จากการรวบรวมข้อมูลครอบครัวที่ต้องส่งคนป่วยไปหาหมอ ญาติต้องหยุดงาน คนป่วยหยุดงาน ส่งผลให้ขาดรายได้โดยเฉพาะคนที่ทำงานรับจ้างรายวัน หรือค้าขายรายวัน เป็นต้น

6. การจำแนกประชาชนเพื่อใช้สิทธิไม่จ่าย 30 บาทสร้างภาระให้สถานพยาบาล การเรียกเก็บเงิน 30 บาทที่จุดบริการ ณ ปัจจุบัน มีข้อยกเว้นบุคคลประเภทต่างๆถึง 21 ประเภท ทำให้ต้องมีการชี้แจงตนเองว่าอยู่ในข้อยกเว้นใด ต้องชี้แจงว่าตนเองยากจนจริง เป็นการเสียเวลา เสียศักดิ์ศรี และเงินที่ได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการจัดการเพื่อจำแนกประชาชนที่จะใช้หรือไม่ใช้สิทธิ และในความเป็นจริงสถานพยาบาลจำนวนมากเลือกที่จะไม่ดำเนินการในเรื่องนี้

 

5. การจัดหา(ซื้อ)บริการสาธารณสุขให้เป็นหน้าที่ของ สปสช.เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดบริการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การดึงอำนาจการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.มายังเขตบริการของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการถอยหลังเข้าคลองและผิดหลักการ ต้องยกเลิก

เหตุผล

2.1 เป็นข้อกำหนดในพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ให้มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่จัดหาบริการให้ประชาชนทุกคนผ่านการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุน และกำกับควบคุมมาตรฐานการบริการจากหน่วยบริการ และมีกำหนดโครงสร้างระดับเขตและระดับจังหวัดคือ อนุกรรมการหลักประกันสุขภาคระดับเขต และระดับจังหวัด โดยมีทุกภาคส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ถือเป็นหลักการสำคัญของการสร้างธรรมาภิบาลของระบบ ได้แก่ การคานอำนาจของผู้จัดหาบริการ และภาคผู้ให้บริการ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสปสช.เขต เป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำหนดนโยบายของคณะกรรมการฯ และอนุกรรมการฯ

2.2 การโอนอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณไปที่เขตบริการที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจคือกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นการดำเนินการที่ขัดกับข้อกำหนดของกฎหมาย จากการสั่งการให้มีการทำข้อตกลงระหว่างสปสช.และเขตบริการ โดยโอนอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณไปยังเขตบริการสาธารณสุขเป็นสิ่งขัดกับกฎหมาย เพราะอำนาจการตัดสินใจต้องอยู่ที่คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต รวมทั้งเป็นการบริหารที่ผิดหลักธรรมาภิบาล ทำให้เกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารจัดการ ขัดกับหลักการแยกบทบาทระหว่างผู้จัดหา(ซื้อ)บริการ กับผู้ให้บริการ

 

5. ต้องยุติการแทรกแซงการบริหารของ สปสช. เน้นหลักการแยกบทบาทผู้จัดหา(ซื้อ)บริการ กับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องมีความเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข และ ต้องยุติความพยายามในการแทรกแซงการทำงานของสปสช.

เหตุผล

3.1. การที่กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพในรูปของคณะกรรมการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ มิใช่ การให้อำนาจต่อประธานโดยลำพัง มิใช่การใช้อำนาจแทรกแซงการตัดสินใจของคณะกรรมการโดยเฉพาะคณะกรรมการที่มาจากส่วนราชการต่างๆ การบริหารจะทำเหมือนกับการบริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจเต็มในการสั่งการมิได้

3.2. มีความชัดเจนของรูปธรรมที่สำคัญที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขพยายามเข้ามาแทกแซงการทำงานของสปสช. ดังปรากฎเห็นได้ชัดตามสื่อต่างๆ เช่น การส่งคนที่จะสั่งการได้เข้ามาเป็นผู้บริหารสปสช.แทนการสนับสนุนคนในที่มีความสามารถขึ้นมาทำหน้าที่รองเลขาธิการสปสช., การสั่งการให้มีการสร้างสำนักงาน สปสช. ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งอยู่ในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวา ๒๕๕๐ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งถือเป็นการใช้พื้นที่ของระบบราชการอยู่แล้ว และความพยายามในการข่มขู่การทำงานของผู้บริหารที่ไม่ยอมก้มหัวให้ฝ่ายการเมือง เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจกดดันผ่านการทำงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

4. ให้คืนความเป็นธรรมและเยียวยาแก่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล โดยเร็ว

เหตุผล

4.1. กระบวนการสอบสวนความผิดของ นพ.วิทิต ผิดขั้นตอน ทั้งการดำเนินการสอบสวนภายในองค์การเภสัชกรรม และของดีเอสไอ เป็นการดำเนินการที่เร่งรีบ เร่งรัด ไม่ได้มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส สร้างความคลางแคลงใจต่อภาคประชาชน

4.2. มีการปลดนพ.วิทิต โดยไม่มีข้อมูลหลักฐานแสดงความผิดที่ชัดเจนที่แสดงถึงความบกพร่องของการทำงานของนพ.วิทิต จากผลการสอบสวน ของคณะกรรมการสอบสวนภายใน รวมถึงผลการสอบสวนของ ดีเอสไอ ตามที่นายประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ไปแจ้งต่อดีเอสไอ ดังนั้น การดำเนินการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นการกดดันผ่านคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ที่รับคำสั่งให้ดำเนินการโดยไม่มีหลักฐานยืนยันความผิดชัดเจน ดังจะเห็นได้จากในการประชุมคณะรัฐมนตรี มีผู้เสนอให้เป็นประเด็น "วาระเพื่อทราบ" แทน "วาระเพื่อพิจารณา" เพราะเกรงกลัวการฟ้องร้องกลับของ นพ.วิทิต

 

5. ให้ตัดต้นตอของปัญหาคือ ให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที

เหตุผล เนื่องจากปัญหาทั้ง 4 ข้อที่เสนอมา นายประดิษฐ สินธวณรงค์ ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม

 

1. รัฐบาลต้องไม่แปรรูปองค์การเภสัชกรรม ต้องคงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม และจะต้องทำหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มเติมจากที่ได้ทำมาแล้ว

เหตุผล ดูเอกสารแนบ เรื่อง เหตุผลที่องค์การเภสัชกรรมต้องธำรงสถานภาพรัฐวิสาหกิจ

2. ให้ยุติการใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมโดยมิชอบ เช่น การสั่งการให้ใช้เงิน 4,000 ล้านบาทสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข

เหตุผล เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรม ต้องมุ่งใช้เพื่อการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบยาของประเทศ ตามภารกิจที่กำหนดใน พรบ. องค์การเภสัชกรรม จะนำไปใช้เพื่อการอื่นมิได้ กรณีจะนำไปสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข ไม่น่าเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้จริง โดยเฉพาะกรณีที่ตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้คือผู้ที่เคยบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (Thailand Center for Excellence in Life Science หรือ TCELS) ซึ่งล้มเหลวมาแล้ว

3. ให้ยุติการใช้เงินตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐโดยมิชอบ เช่น กรณีสั่งจ่ายเงิน 75 ล้านให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เหตุผล เงินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาหน่วยงานที่เป็นลูกค้าองค์การเภสัชกรรม ต้องไม่นำไปเพื่อ "แจกจ่าย" กันในหมู่ผู้มีอำนาจ

4. ให้เร่งรัดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมดำเนินคดีกับ กลุ่มต่างๆ ที่ให้ร้ายบิดเบือนองค์การเภสัชกรรม เช่น กรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ / ไข้หวัดนก

เหตุผล ผู้ที่ออกมาให้ข่าวในลักษณะ "ให้ร้าย" ทำให้องค์การเภสัชกรรมเสียหาย ได้แก่ นายประดิษฐ สินธวณรงค์, นายกมล บันไดเพชร, นายธาริต เพ็งดิษฐ์, นายธานินทร์ เปรมปรีด์ และ สถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมมีหน้าที่ต้องปกป้ององค์การเภสัชกรรม โดยต้องพิจารณา มีมติและมอบให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว ดังที่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดก่อนหน้าเคยมีมมติให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมไปแจ้งความดำเนินคดีกับยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่น (USA for Innovation) ที่ซื้อสื่อโฆษณาทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ และใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โจมตีว่ายาจีพีโอเวียร์ขององค์การเภสัชกรรมคุณภาพต่ำ ทำให้มีเชื้อดื้อยาสูงที่สุดในโลก ซึ่งไม่เป็นความจริง การแจ้งความดำเนินคดีครั้งนั้น ทำให้การโจมตีให้ร้ายของยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่น ยุติทันที

5. ให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบันลาออกทั้งคณะ

เหตุผล คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดนี้ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ปกป้ององค์การเภสัชกรรม ยอมให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงทำความเสียหายให้แก่องค์การเภสัชกรรมอย่างร้ายแรง

6. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขทันที

เหตุผล

นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ มีพฤติกรรมมุ่งร้ายต่อองค์การเภสัชกรรม ใช้อำนาจแทรกแซงการดำเนินงาน และสร้างความเสียหายให้แก่องค์การเภสัชกรรมอย่างร้ายแรง ดังนี้

1) มุ่งปลดผู้บริหารโดยไม่เป็นธรรม และใช้วิธีการที่มิชอบ แทนที่จะส่งให้ชี้แจงหรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามอำนาจหน้าที่มาตรา 21 แห่ง พรบ.องค์การเภสัชกรรม กลับส่งเรื่องให้ดีเอสไอเข้าไปสอบ โดยไม่มีเหตุผลสมควร

2) ออกข่าวทำให้ อภ. เสียหายหลายกรรมหลายวาระ ทั้งกรณียาพาราเซตามอล โรงงานวัคซีน โรงงานยาเอดส์ ยาหัวใจโคลพิโดเกรล และยาไข้หวัดใหญ่ / ไข้หวัดนก (ดูสมุดปกขาว 2 เล่ม)

3) มีพฤติกรรมบีบบังคับเอาเงินสนับสนุนภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม 75 ล้าน ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว

4) มุ่งทำลายองค์การเภสัชกรรมโดยการจะเอาเงินสะสมไปสร้างศูนย์ความเป็นเลิศในกระทรวงสาธารณสุข

5) แทรกแซง สั่งการคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่อง

6) มุ่งทำลายรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างองค์การเภสัชกรรม โดยเตรียมการแปรรูป อย่างเป็นขั้นตอน

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน

 

สืบเนื่องจากจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขได้นำระบบการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P มาใช้แทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามมติ ครม.วันที่ 26, 31 มีนาคม 2556 และมีการคัดค้านแสดงอารยะขัดขืนอย่างกว้างขวางในทุกจังหวัด เพราะนโยบายดังกล่าวมีข้อเสียอย่างมากต่อระบบสุขภาพและโรงพยาบาลชุมชน ที่สำคัญคือจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของโรงพยาบาลให้ติดหล่มอยู่ในวัฒนธรรมการนับแต้ม การทำงานแลกเงิน การใส่ใจแต่ตัวเลขเชิงปริมาณ ทำลายอุดมการณ์และอุดมคติในการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นการนำวัฒนธรรมระบบการแพทย์พาณิชย์เข้ามาทำลายวัฒนธรรมการทำงานเพื่อประชาชนเพื่อผู้ป่วยด้วยจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ ดังจะเห็นได้ว่า การคัดค้านขยายตัวจากเฉพาะกลุ่มเฉพาะวิชาชีพไปเป็นการปฏิเสธนโยบายของทุกวิชาชีพทั้งโรงพยาบาล และขยายไปสู่การแสดงออกหน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้ากระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งทุกเวทีชี้แจงที่กระทรวงสาธารณสุขเดินสาย

เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน จึงขอประกาศจุดยืนและข้อเสนอต่อกรณีนโยบาย P4P ของกระทรวงสาธารณสุขดังนี้

 

1. คงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 ไว้ตามเดิม

เหตุผล เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นมาตรการลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพในชนบท และมีการออกประกาศฉบับที่ 4,6 ตามมติ ครม.ดังกล่าวในปี 2551 ในสมัยที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนับเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่งมาตรการเดียวที่มีอยู่ของประเทศไทยในการคงให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพจูงใจในการทำงานในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สามารถสร้างขวัญกำลังใจ เพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงานในชนบทให้มากขึ้น และทำให้คุณภาพดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาล ที่จะมีคุณภาพได้ ประชาชนเข้าถึงบริการได้ ต้องมีบุคลากรวิชาชีพสุขภาพมากพอในระดับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเบี้ยเลี้ยเหมาจ่ายตามประกาศฉบับ 4,6 ตอบโจทย์นี้ จึงไม่ควรยกเลิก แต่กลับควรพัฒนาให้ดีขึ้นมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

2. การปรับปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

เหตุผล สำหรับประกาศฉบับที่ 4, 6 ที่เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชนขอให้นำกลับมาใช้เช่นเดิมทั้งฉบับนั้น ขอให้คงอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของแพทย์ ทันตแพทย์ ในอัตราเดิม และคงกลุ่มบุคลากรที่มีอายุงานเกิน 21 ปีไว้เช่นเดิมด้วย โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้

- ชมรมแพทย์ชนบทขอให้มีการปรับลดความแตกต่างของค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายระหว่างวิชาชีพ โดยเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับวิชาชีพเภสัชกร พยาบาล และวิชาชีพสุขภาพอื่นๆ รวมทั้งวิชาชีพสาย back office หรือสายบริหาร ทั้งที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้ได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราที่สูงขึ้น

- โดยให้มีการตั้งกรรมการจากทุกวิชาชีพเพื่อกำหนดอัตราเพิ่มของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในวิชาชีพอื่นนอกจากแพทย์ ทันตแพทย์ ให้ได้รับในที่เหมาะสมต่อไป แม้ว่าจะเป็นภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ก็คุ้มค่ากับการสนับสนุนให้บุคลากรคงอยู่ดูแลสุขภาพของคนชนบท

- สนับสนุนงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่เงินบำรุงของสถานบริการ เงินบำรุงนั้นๆจะได้นำไปใช้ในการพัฒนาสถานบริการและเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาลเพื่อผู้ป่วยต่อไป

3. ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกภาคส่วนในการกำหนดระดับพื้นที่

เหตุผล การนิยามพื้นที่กันดาร ปกติ เขตเมืองในปัจุบันมีความไม่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงหลายประการ ดังนั้นสำหรับการจัดแบ่งระดับพื้นที่เป็นพื้นที่ประเภทต่างๆ ขอให้กลับไปใช้การประกาศเขตพื้นที่เดิม ก่อนที่จะมีมติ ครม.วันที่ 31 มีนาคม 2556 และหากจะมีการเปลี่ยนการจัดแบ่งระดับพื้นที่ใหม่ ให้ตั้งกรรมการที่มีส่วนร่วมหลายภาคส่วนมากำหนดแทนการกำหนดฝ่ายเดียวจากสำนักนโยบายและแผนของกระทรวงสาธารณสุข

 

4. ให้ยกเลิกการนำนโยบาย P4P มาใช้ในรพ.ชุมชนอย่างไม่มีเงื่อนไข

เหตุผล ขอให้ทางรัฐบาลยกเลิกมติ ครม.วันที่ 26 และ 31 มีนาคม 2556 ที่เป็นที่มาขอการบังคับให้โรงพยาบาลในทุกระดับใช้ P4P  โดยในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนนั้น ขอยืนยันที่จะไม่ทำ P4P ในทุกกรณี ไม่แม้แต่การทำโดยสมัครใจ เพราะมีโทษอย่างมากต่อระบบสุขภาพมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และขอให้คณะรัฐมนตรีออกมติ ครม.ใหม่ ให้สอดคล้องกับการใช้ระบบการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามประกาศฉบับ 4, 6 เช่นเดิมโดยไม่มีการทำ P4P ในโรงพยาบาลชุมชน ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปนั้น จะเป็นระบบ P4P หรือไม่นั้นตามแต่ความประสงค์ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

 

5. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขทันที

เหตุผล ความแยกแยกในกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด แต่นายประดิษฐ สินธวณรงค์ ก็ยังดื้อรั้นดันทุรังเดินหน้า โดยไม่มีการฟังเสียงที่เห็นต่าง ไม่รับรู้ต่อปัญหาอุปสรรคและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่การคัดค้านนั้นกระจายทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีการส่งสัญญาณให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงต้องสนับสนุนนโยบายที่ผิดพลาดโดยไม่สามารถสะท้อนความจริงได้ ความแตกแยกและความหมดศรัทธาของบุคลากรสุขภาพทุกระดับต่อการนำของนายประดิษฐ ทำให้นายประดิษฐควรต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขโดยทันที เพื่อการเดินหน้าต่อไปได้ของกระทรวงสาธารณสุขในการทำหน้าที่ดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศต่อไป

 

ทั้งนี้เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน ขอทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้ข้างต้น เป็นข้อเสนอที่ต้องไปด้วยกันคือ ไม่มีการพิจารณาแยกข้อ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องรับทั้งหมดหรือไม่รับทั้งหมดเท่านั้น (all or none) ไม่อาจแบ่งแยกพิจารณารายข้อได้

 

************************

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระดมพลหน้าศาลากลางอุบลฯ ปกป้อง มติ ครม.แก้ปมเขื่อนปากมูล

Posted: 06 Jun 2013 03:51 PM PDT

ชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูลประกาศระดมพลชุมนุมหน้าศาลากลางอุบลฯ ปกป้อง มติ ครม.-MOU รัฐบาล จวกพ่อเมืองอุบลฯ ไม่ยอมรับแนวทางนโยบายของฝ่ายการเมือง เรียกประชุมด่วนชาวบ้าน ทั้งที่ผ่านมาเป็นตัวถ่วงการแก้ปัญหา

 
 
 
7 มิ.ย.56 เวลา 10.00 น.ชาวบ้านปากมูนนัดหมายรวมตัวเคลื่อนขบวนไปชุมนุมยังศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อปฏิบัติการปกป้อง มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ค.56 เรื่องการแก้ปัญหาผลกระทบเขื่อนปากมูลร่วมกับรัฐบาล รวมทั้งบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 ที่เห็นชอบร่วมกันในการแต่งตั้งกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้นใหม่ จนถึงที่สุด

จากกรณี เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประสานงานทางโทรศัพท์ถึงแกนนำผู้เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูลว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีขอเชิญไปร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ในเวลา 13.30 น.
 
ชาวบ้านปากมูน ตั้งคำถามต่อการดำเนินการของผู้ว่าฯ ในครั้งนี้ว่า มีข้อน่าสงสัยหลายประการ คือ 1.ขณะนี้ รัฐบาลได้มี มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ค.56 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามข้อตกลงกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-move แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการระหว่างรัฐบาล กับ P-move ซึ่งเรื่องปากมูล เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ในระดับนโยบาย ผู้ว่าเป็นราชการปฏิบัติการในระดับท้องถิ่น แต่ทำไมจึงดำเนินการโดยไม่รอนโยบายก่อน

2.ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ไม่เคยดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลเลย ขณะเดียวกันกลับเป็นตัวปัญหาสำคัญ ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ไม่มีความคืบหน้า 3.การดำเนินการของ ผู้ว่าฯ ดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการแข็งข้อของกลไกราชการ และระบบราชการที่ล้าหลัง ที่ไม่ยอมรับแนวทางของนโยบายของฝ่ายการเมือง ซึ่งหากปล่อยไว้ ย่อมจะเป็นอุปสรรค ต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และ 4.พฤติกรรมของผู้ว่าฯ ได้สะท้อนให้เห็นว่า ราชการไม่ยอมรับ MOU ที่รัฐบาลทำไว้กับ P-move
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น