โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘ปัญญา’ขอโทษกรณีเอมเมอรัล แจงรู้ไม่เท่าทัน-กสทช.ลั่นต้องเยียวยาทางสังคม

Posted: 11 Jun 2013 02:38 PM PDT

อนุฯ กำกับกันเอง เชิญ 'ปัญญา–ช่อง 3–สภาวิชาชีพฯ' ถกกรณีรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์ออนแอร์เอมเมอรัล กสทช.ชี้ ผลกระทบแล้ว 3 ระดับ ลั่นต้องมีมาตรการเยียวยาทางสังคม ด้าน 'ปัญญา' ขอโทษแจงรู้ไม่เท่าทัน ไม่มีเจตนาดูหมิ่น

 
เชิญ 'ปัญญา – ช่อง 3 –สภาวิชาชีพฯ' ที่หารือมาตรการเยียวยาสังคม
 
วันที่ 11 มิ.ย.56 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง กสทช.ประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนรายการ Thailand's Got Talent Season 3 (TGT3) กรณี "สิทธัตถะ เอมเมอรัล" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี นายปัญญา นิรันดร์กุล ประธานกรรมการบริษัทเวิร์คพ้อยท์ เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตรายการ นายสมรักษ์ ณรงค์วิชัย นางนิมะ ราชิดี ผู้แทนสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในฐานะเจ้าของช่องผู้ที่เผยแพร่รายการ และ รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ในฐานะองค์กรวิชาชีพที่มีสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 และ บ.เวิร์คพ้อยท์เป็นสมาชิก เข้าร่วมชี้แจง
 
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้ เปิดเผยว่า จากเหตุร้องเรียนการออกอากาศรายการดังกล่าวที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ รายการดังกล่าวออกอากาศขัดกฎหมายตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 37 หรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการ ซึ่งพลโทพีระพงษ์ มานะกิจเป็นประธาน
 
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่จัดให้มีการชี้แจงทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้ เพราะต้องการหาทางออกในด้านจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อ และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อผลักดันให้มีการกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพสื่อ จากการพูดคุยเห็นได้ชัดว่าในตอนแรกทางเวิร์คพ้อยท์ และช่อง 3 ยังไม่รู้ว่ากรณีนี้จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสื่อโทรทัศน์ยังขาดความรู้ความเข้าใจน้อยมากในเรื่องจรรยาบรรณ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ในระยะยาวจะต้องมีกระบวนการศึกษาและสร้างความเข้าใจเรื่องนี้
 
'สุภิญญา' เผยรอฟังผลสภาวิชาชีพฯ สอบจริยธรรม-จี้ต้องเยียวยาทางสังคม
 
น.ส.สุภิญญา กล่าวด้วยว่า ผลที่ได้จากการประชุมได้ส่งเรื่องร้องเรียนนี้ไปยังสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียงฯ เพื่อไปกลั่นกรองพิจารณาว่ารายการฯ ขัดต่อหลักจริยธรรม หรือจรรยาบรรณตามข้อบังคับขององค์กรวิชาชีพหรือไม่อย่างไร ตามมาตรา 39 และ 40 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ กสทช.ต้องส่งเสริมองค์กรวิชาชีพวินิจฉัยข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น โดยจะรอฟังผลประมาณ 1 – 2 สัปดาห์
 
ประธานคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า ไม่ว่าสุดท้ายแล้วลึกๆ ผู้ประกอบการสื่อจะรู้สึกว่าการกระทำครั้งนี้จะเกิดความผิดพลาดหรือไม่ แต่ได้เกิดผลกระทบแล้ว 3 ระดับ คือ 1.ผลกระทบต่อผู้เข้าประกวดและครอบครัว  2.ผลกระทบต่อผู้ปกครองที่มีลูกหลานญาติเป็นผู้ที่มีความต้องการพิเศษ หรือเป็นกลุ่มคนที่มีความแตกต่างในสังคม ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีอยู่กว่า 2 ล้านคนในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สื่อจะต้องทำความเข้าใจและนำเสนออย่างสร้างสรรค์ และ 3.ยังมีผลกระทบความรู้สึกต่อคนดูที่เป็นประชาชนทั่วไปที่มองว่าเรื่องนี้ค่อนข้างแรง กระทบความรู้สึกสูงต่อการสร้างทัศนคติเชิงลบในสังคม
 
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า คณะอนุฯ ได้ให้การบ้านแก่ผู้ประกอบการสื่อไปว่า การขอโทษหรือแสดงความรู้สึกเสียใจอาจจะยังไม่พอ แต่จะต้องมีมาตรการเยียวยาทางสังคมด้วย เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานต่อไปในการกำกับดูแลของ กสทช. เพราะหากเกิดวิกฤติศรัทธาต่อการกำกับดูแลกันเองของสื่อเกิดขึ้นและสังคมไม่เชื่อมั่น สังคมจะเรียกร้องรัฐให้เข้ามาใช้กฎหมายแรงและมากขึ้น หากสภาวิชาชีพฯ ช่อง 3 และเวิร์คพ้อยท์ แสดงให้เห็นว่าสามารถร่วมหาแนวทางการกำกับดูแลกันเองได้จะเรียกความเชื่อมั่นต่อสังคมได้ว่าสื่อสามารถกำกับดูแลคนเองได้ระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นสังคมจะเรียกร้องรัฐให้ใช้อำนาจควบคุมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสังคมในระยะยาวเลย
 
'ปัญญา' ขอโทษออนแอร์เอมเมอรัล แจงรู้ไม่เท่าทัน
 
ด้าน นายปัญญา ผู้บริหารเวิร์กพอยต์ฯ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทางบริษัทรู้ไม่เท่าทัน การออกอากาศทำไปโดยไม่รู้จริงๆ และไม่มีเจตนาดูหมิ่นศักดิ์ศรีใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมทั้งระบุว่า ผู้ที่รู้ควรออกมาให้ความรู้ก่อนออกอากาศ เพราะหากเป็นกรณีแบบนี้ ทางรายการจะให้โอกาสอย่างเต็มที่  ตนเพิ่งได้รับรู้ข้อมูลจาก นางสาวพิรงรอง รามสูต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเด็กอาการลักษณะนี้เป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขอโทษ รวมทั้งจะระมัดระวังและทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป และไม่อยากให้เอาไปโยงกับเรื่องการเรียกเรตติ้ง เพราะรายการมีวิธีและการนำเสนอที่ดีอยู่แล้ว
 
"รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอโทษ จะระมัดระวัง และจะทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป เราดูและชื่นชมในตัวเขาด้วย แต่รายการไม่ทราบ ทำไมแม่ไม่บอกก่อน เพราะถ้าเป็นเคสปกติก็สามารถนำมาออกอากาศได้เลย" นายปัญญา กล่าว
 
ส่วนนายสมรักษ์ กล่าวว่า หลังจากหารือในวันนี้แล้ว ยอมรับว่าต้องใช้วิจารณญาณของช่องในการพิจารณา ทั้งนี้ หลังจากเกิดกรณีนี้ กลับมาดูพบว่าเด็กเป็นวัยรุ่นและสมัยนี้เด็กเป็นตัวของตัวเอง จึงไม่ทันรู้ว่าเป็นอาการแบบนี้ และไม่ใช่แพทย์ จึงไม่ได้สังเกตตรงนั้น ส่วนกระบวนการในการออกอากาศรายการในครั้งต่อไปจะตรวจสอบอย่างเข้มงวดขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: คำประกาศขบถจากคนใต้ เปิดปมปัญหา ‘EIA-EHIA ไทย’

Posted: 11 Jun 2013 01:29 PM PDT

'กระบวนการมีส่วนร่วมที่ต้องปฏิรูป ปฏิวัติ บิดเบือนข้อมูลจริง ขโมยชื่อชาวบ้าน จัดเวทีนอกที่ตั้งโครงการ ชักจูงผู้นำสนับสนุน ปิดกลุ่มต้าน ไม่ตรวจสอบข้อมูล ตั้งธงผิดยังไงก็ต้องผ่าน…' หลากเสียงสะท้อนปัญหา EIA-EHIA ไทย

<--break->
 
 
วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย.56 ณ ลานสาธารณะจุดชมทิวทัศน์บ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผู้คนจากจังหวัดสตูล สงขลา ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ประมาณ 300 คน ร่วมรับฟังการเสวนา "บทเรียนจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในภาคใต้" ที่จัดโดยเครือข่ายประชาชนภาคใต้
 
 

คนใต้ประกาศขบถ EIA-EHIA ไทย

 
สถิรพงศ์ สุรินทร์วรางกูร ประกาศนำเครือข่ายประชาชนภาคใต้ขบถกระบวนการ EIA-EHIA ไทย ผิดยังไงก็ผ่าน
 
 
"พวกเราทั้งหลายได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เราพบว่าแท้จริงแล้วระบบ EIA ประเทศไทย เป็นเพียงกระบวนการฉ้อฉล หลอกลวงเท่านั้น แทบไม่มีที่ไหนทำ EIA แล้วไม่ผ่าน ทำผิดขั้นตอนก็ผ่าน เวทีล่มทุกครั้งก็ผ่าน คนพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมก็ผ่าน ไม่เคยรับรู้เลยก็ผ่าน ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงก็ผ่าน ชาวบ้านยกมือไม่เห็นด้วยท่วมท้นก็ผ่าน..
 
..เราสรุปได้ว่า EIA ประเทศไทย ผิดอย่างไรก็ผ่าน และสิ่งที่สำคัญที่สุด กระบวนการ EIA ได้ทำให้สิทธิในการร่วมกำหนดการพัฒนาของประชาชนหายไปตลอดกาล เราต่างรู้ว่าการพัฒนาใดๆ ก็ตามต้องค้นหาศักยภาพของตน เปิดให้ประชาชนร่วมวางแผนการพัฒนา ออกแบบโครงการ สอบถามความยินยอมจากชุมชน แล้วจึงค่อยศึกษาว่าโครงการนั้นๆ มีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอย่างไร?"
 
นายสถิรพงศ์ สุรินทร์วรางกูร ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี อ่านนำคำประกาศของเครือข่ายประชาชนภาคใต้ ในเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง
 
แถวยาวข้างหลังของนายสถิรพงศ์ คือตัวแทนเครือข่ายพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ที่ร่วมแสดงเจตนารมณ์เชิงปฏิเสธกระบวนการศึกษา EIA และ EHIA ของประเทศไทย
 
 
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐของเครือข่ายประชาชนภาคใต้ คือ 1.รัฐ หรือเอกชนใดๆ จะต้องยุติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในทุกโครงการ 2.รัฐต้องทบทวนและแก้ไขข้อผิดพลาดของกระบวนการจัดทำ EIA-EHIA รวมทั้งจัดให้อยู่ถูกที่ถูกเวลา ตามที่ควรจะเป็น 3.หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เถือว่ารัฐไม่รับฟังเสียงของประชาชน และไม่ยอมรับกระบวนการศึกษาใดๆ ที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่เครือข่ายประชาชนภาคใต้โดยเด็ดขาด
 
4.กระบวนการ อนุมัติ อนุญาตโครงการต่างๆ การทำ EIA ของประเทศไทยผิดก็ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดังนั้นจึงถือว่าบุคคล หน่วยงานอนุมัติ อนุญาตอาจมีฐานความผิดร่วมกันหลอกลวงประชาชน และใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ จึงให้ประชาชนร่วมกันติดตามตรวจสอบ บุคคล หน่วยงานอย่างใกล้ชิด
     

ต้นเหตุของการประกาศขบถ

 
นางจินดา จิตตะนัง ผู้ประสานงานสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา
 
นางจินดา จิตตะนัง ผู้ประสานงานสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ตัวแทนพื้นที่ปัญหากรณีท่าเรือเชฟรอน ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังถึงการเข้ามาของโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (ท่าเรือเชฟรอน) ในปี 2549 เพื่อทำ EHIA ครั้งหนึ่งจัดที่องค์การบริหารส่วนตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา สิ่งที่พบคือมีการจัดเตรียมที่นั่งระบุหมายเลข มีชื่อ นามสกุล กำกับเก้าอี้ไว้ หลังเวทีเสร็จมีการจ่ายเงินให้คนละ 500 บาท ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการไม่มีสิทธิ์ร่วมในเวที หลังจากนั้นเวทีรับฟังทำ EHIA ท่าเรือเชฟรอน ถูกจัดนอกพื้นที่ก่อสร้างที่อำเภอขนอม และอำเภออื่นๆ
 
"ใน EHIA ท่าเรือเชฟรอน ระบุว่าอ่าวท่าศาลามีเรือแค่ 9 ลำ อ่าวท่าศาลาเป็นทะเลร้าง ต่อมาชาวบ้านลุกขึ้นมาศึกษาผลกระทบสุขภาพชุมชน (CHIA) ขึ้น พบว่ามีเรือ 2 พันกว่าลำ ขัดกับการที่ชาวประมงพื้นบ้านจับทรัพยากรสัตว์น้ำได้จำนวนมาก ทั้งการศึกษา EHIA นั้นกำหนดรัศมีจากที่ตั้งโครงการเพียง 5 กิโลเมตร โดยไม่คำนึงถึงว่าหากมีผลกระทบต่อทะเล เป็นผลกระทบสาธารณะ"
 
นางจินดา ติงข้อมูลใน EHIA ท่าเรือเชฟรอน ที่ขัดแย้งกับกระบวนการศึกษา CHIA ของชุมชน และตำหนิกระบวนการให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับท่าเรือเชฟรอนน้อยมาก เน้นแต่การสงเคราะห์ผ่านองค์กร กลุ่ม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มัสยิด ซึ่งเป็นวิธีการทำมวลชนสัมพันธ์โครงการของเชฟรอน
 
"มีคนบริการรับสูบส้วมตามบ้านเรือนของชาวบ้านโดยขอสำเนาบัตรประชาชนด้วย" นางจินดา ถ่ายทอดกระบวนการที่เหลือเชื่อที่คนท่าศาลาได้ประสบ
 
นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
 
นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา บอกถึงข้อมูลใน EIA เขาคูหา ที่ขโมยรายชื่อการประชุมโครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ ของหมู่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลเขาคูหาใต้ และนำรายชื่อการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคูหาใต้ ในปี 2549 แนบไปใน EIA ส่งไปยัง สผ.พิจารณา และใช้ EIA ฉบับนั้น และขอใบอนุญาตทำเหมืองหินจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาเมื่อปี 2550
 
"ใน EIA เขาคูหา ระบุว่ามีบ้าน 11 หลังที่ได้รับผลกระทบแตกร้าวจากเหมืองหิน ต่อมาอำเภอรัตภูมิรับเรื่องร้องเรียนผลกระทบพบว่าบ้านเรือนแตกร้าวถึง 326 หลัง ส่วนบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านฝุ่นจากการทำเหมืองหินใน EIA ระบุเพียง 13 หลัง แต่ในความเป็นจริงฝุ่นส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน ในตำบลเขาคูหาใต้"
 
ข้อมูลที่นายเอกชัย จับเท็จได้จาก EIA เขาคูหา และกำลังอยู่ในกระบวนการร้องตรวจสอบของ สผ.จากการที่เครือข่ายฯ ได้ทำหนังสือถึง สผ.ให้ยกเลิก EIA เขาคูหา
 
นางจันทิมา ชัยบุตรดี แกนนำชาวบ้านเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลา
 
นางจันทิมา ชัยบุตรดี หนึ่งในแกนนำชาวบ้านอดีตเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ-โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันได้วิวัฒนาการเป็นเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลาที่กำลังคัดค้านท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 สะท้อนถึงข้อมูลใน EIA โรงแยก-ท่อก๊าซ ที่ระบุว่าทะเลสะกอมเป็นทะเลร้าง มีปลาแค่ 2 ชนิด ทว่าจากการศึกษา CHIA ชุมชน พบว่ามีโลมา และสัตว์น้ำนานาชนิดจำนวนมาก
 
"ตอนแรกบอกเราว่าไม่มีโครงการอะไรต่อเนื่องจากโครงการท่อก๊าซ แต่ต่อมาเกิดโรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้า 2 โรง ตอนนี้จะสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 แล้วสร้างทางรถไฟเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกปากบาราอีก และคาดว่านิคมอุตสาหกรรมจะตามมา" นางจันทิมา ท้าวความหลังที่เจอ และกังวลสิ่งที่จะเผชิญในอนาคต
 
นางจันทิมา บอกถึงสิ่งที่เป็นบาดแผลฝังใจคนจะนะเป็นอย่างมาก คือถนน 4 สายในโรงแยกก๊าซเป็นที่ดินวะกัฟ (ที่ดินที่ชาวบ้านอุทิศเพื่อพระเจ้าให้เป็นสมบัติสาธารณะ) ถูกฮุบเข้าไปในโรงแยกก๊าซ จึงไม่น่าแปลกที่ชาวบ้านจากจะนะใส่เสื้อสีขาว สกรีนข้างหลังด้วยสีแดงว่า 'EIA เป็นพาหะสู่สิ่งฮารอม' (สิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม)
 
"เราได้ละหมาดฮายัตให้พระเจ้าลงโทษกับคนรับรองว่าที่ดินตรงนั้นสามารถสร้างโรงแยกก๊าซได้ และลงโทษผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างโรงแยกก๊าซ ได้ทุกคน ดูอาศิส พิทักษ์คุมพลจุฬาราชมนตรีซิ เดินไม่ได้แล้ว" นางจันทิมา บอกเล่าถึงความเจ็บปวดฝังใจ และคิดว่าพระเจ้ากำลังลงโทษผู้ที่ยกที่ดินวะกัฟให้สร้างโรงแยกก๊าซ ได้
 
นางสาวศุภวรรณ ชนะสงคราม ประธานกรรมการกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้
 
นางสาวศุภวรรณ ชนะสงคราม ประธานกรรมการกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้ หนึ่งในอดีตแกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย เห็นว่า EIA เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมเพื่อดำเนินโครงการ โดยยกกรณีศึกษา คือ EIA โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่แก้ไขถึง 4 ครั้ง จึงผ่าน ส่วน EIA โครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย มีการแก้ไข ถึง 6 ครั้ง กว่าจะผ่าน
 
"หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในขณะนั้น มองว่าถ้าแก้แล้วผ่าน ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความเป็นจริงได้ หม่อมหลวงวัลย์วิภาจึงไม่ให้ EIA ผ่าน ทว่าเมื่อ EIA ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก คชก.แต่ สผ.แจ้งไปยังบริษัท ทรานส์ไทยมาเลเซีย จำกัด ว่า EIA ผ่านแล้ว โดยนายวสันต์ พานิช ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ว่า สผ.ผิดในฐานเป็นความผิดการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ" นางสาวศุภวรรณ บอกถึงปัญหาของ EIA โครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่คาราคาซังมาถึงปัจจุบัน ทั้งที่โครงการถูกสร้างขึ้นกว่า 10 ปีแล้ว
 
 
นายศักดิ์กมล แสงดารา เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของมูลนิธิอันดามัน
 
นายศักดิ์กมล แสงดารา เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของมูลนิธิอันดามัน จากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังและกระบี่ ถ่ายทอดจากประสบการณ์ถึงการลงพื้นที่ตรังและกระบี่ โดยพบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่กำลังอยู่ในกระบวนการทำ EHIA ขณะที่ท่าเรือขนส่งถ่านหินกำลังทำ EHA ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังนั้น ยังไม่รู้แน่ชัดว่าได้เข้าสู่กระบวนการทำ IEE แล้วหรือไม่
 
"การที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังและกระบี่นั้นมีความเชื่อมโยงกันคือเส้นทางเดินเรือบรรทุกถ่านหินจากอินโดนีเซีย ผ่านเกาะลันตา เกาะปอ จังหวัดกระบี่ ไปสู่ท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง"
 
นายศักดิ์กมล เชื่อมโยงให้เห็นภาพระหว่างโรงไฟฟ้าตรัง โรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง และเส้นทางเดินเรือที่สัมพันธ์กัน พร้อมบอกถึงกระบวนการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เน้นนำส่วนราชการ นักธุรกิจ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ไปดูโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ทั้งคนกระบี่หลายส่วนที่ไม่รู้ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีหลายคนมากที่ไม่รู้ว่าเรือบรรทุกถ่านหินจะผ่านและจอดหน้าเกาะต่างๆ ที่เขาอาศัย
 
นายศักดิ์กมล สะท้อนบทเรียนหนึ่งที่ชาวอูรักลาโว้ยประสบในปัจจุบันคือเรือขนาดใหญ่บรรทุกซีเมนต์ ถ่ายลำเลียงลงเรือเล็กที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ชาวอุรักลาโว้ยบอกนายศักดิ์กมลว่า เป็นสาเหตุทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำหายไปมาก ทำให้อุรักลาโว้ยต่างพากันขายเรือประมงไปทำงานรับจ้างบนฝั่ง
 
"เวทีสุดท้ายในการรับฟังทำ EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และ EIA ท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน จะถูกจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2556 โดยจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะมาร่วมเวทีด้วย สำหรับ 2 เวทีที่ผ่านมา มีการเชิญแต่ผู้นำซึ่งอยู่นอกพื้นที่สถานที่ก่อสร้าง และนอกเส้นทางเดินเรือร่วม" นายศักดิ์กมล บอกถึงสถานการณ์ล่าสุดของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
 
นายพิสุทธิ์ แดงตี แกนนำชาวบ้านในการคัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองช้าง (เขื่อนทุ่งนุ้ย)
 
นายพิสุทธิ์ แดงตี แกนนำชาวบ้านในการคัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองช้าง (เขื่อนทุ่งนุ้ย) ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เล่าถึงแรกเริ่มเดิมทีที่กรมชลประทานอ้างว่าเขื่อนทุ่งนุ้ยเป็นโครงการในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาชาวบ้านชาวบ้านได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักพระราชวัง โดยได้คำตอบมาว่าไม่ได้เป็นโครงการในพระราชดำริ
 
ก่อนหน้านั้นนายไซนาฮัมซ๊ะแสงนวล ผู้ใหญ่บ้านทุ่งนุ้ย และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งนุ้ย ได้ทำหนังสือถึงสำนักพระราชวังขอพระราชทานเขื่อนทุ่งนุ้ย โดยมีลายมือชื่อของชาวบ้านแนบไปด้วย ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ตรวจสอบพบว่ารายชื่อที่แนบขอพระราชทานเขื่อนนั้นเป็นการปลอมลายมือชื่อเกือบทั้งหมด
 
"5 เวทีที่กรมชลประทานจัดเวที ชาวบ้านยึดและล้มเวทีทั้งหมด ล่าสุดเวทีนำเสนอร่าง EIA เขื่อนทุ่งนุ้ยที่ชาวบ้านยึดเวที และนายพิศาล ทองเลิศ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานจังหวัดสตูลชะลอ EIA ไว้ก่อน แต่ปรากฏว่า EIA กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของ สผ." นายพิสุทธิ์ บอกเล่าถึงกระบวนการต่อสู้ของคนทุ่งนุ้ย
 
 
นายอานนท์ วาทยานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
นายอานนท์ วาทยานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีขุดเจาะน้ำมันริมเกาะสมุย พะงัน เต่า แสดงความเห็นสรุปถึงปัญหาของกระบวนการทำ EIA ขุดเจาะน้ำมันมีปัญหาคือ 1.บริษัทเจ้าของโครงการมีความสัมพันธ์พิเศษกับบริษัทรับทำ EIA 2.การจัดเวทีรับฟังทำ EIA มักเชิญหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่น โดยไม่เคยเชิญผู้มีอาจมีผลกระทบจากเกาะสมุย
 
3.การจัดเวทีรับฟังทำ EIA ไปจัดในตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ระยอง ทั้งๆ ที่พื้นที่ขุดเจาะอยู่ริมเกาะสมุย และ 4.เวทีรับฟังทำ EIA ที่จัดที่เกาะสมุยนั้น ใน EIA ไม่ได้มีบันทึกข้อมูลตามที่ชาวบ้านสะท้อนปัญหา ความกังวล รวมถึงกระบวนการคัดค้านล้มเวที ก็ไม่ได้ระบุไว้
           

สตูลลั่นฟ้อง 'กรมเจ้าท่า-บริษัท-สผ.'

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
 
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล บอกว่า เครือข่ายฯ เตรียมยื่นฟ้องกรมเจ้าท่า และบริษัทรับทำ EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่นำข้อมูลผิดๆ บิดเบือนข้อเท็จจริง ส่งให้ สผ.พิจารณา
 
"ทั้งเรายังฟ้อง สผ.ในฐานะเป็นผู้เห็บชอบผ่าน EIA ท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลความจริงแต่อย่างใด" นายวิโชคศักดิ์ ลั่นคำพูดในการบันทึกเทปรายการเวทีสาธารณะของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในเวลา 4 โมงเย็นกว่าๆ
 

ปัญหารากเหง้าของกระบวนการมีส่วนร่วม

 ดร.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(ที่มาภาพ:เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
 
ดร.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) สรุปถึงปัญหารากเหง้าของกระบวนการมีส่วนร่วมทำ EIA ของประเทศไทยว่าเป็นแค่เป็นกระบวนการเพื่ออนุมัติโครงการ โดยมีธงคำตอบอยู่แล้วว่าต้องทำให้ผ่าน
 
ปัญหาด้านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประเทศไทย คือชาวบ้านไม่ยอมรับ EIA โครงการ นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง การคัดค้านโครงการ ทั้งในหลายพื้นที่ที่อนุมัติโครงการหนึ่งแล้ว ตามมาด้วยโครงการที่ 2 3 4 5
 
ดร.สัญชัย แสดงความคิดว่า ควรพิจารณาตั้งแต่ทิศทางการพัฒนาในระดับภาพรวมของพื้นที่ว่ามีศักยภาพด้านไหน อย่างไร ก่อนตัดสินใจเดินหน้าโครงการ ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลขมูลค่าการจับสัตว์น้ำทะเลของจังหวัดสตูล มากถึง 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นทางเลือกต้องมีมากกว่าทางเลือกเดียว เลือกไปพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การประมง ดีกว่าการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมหรือไม่ อย่างไร มากกว่าเรื่องท่าเรือปากบารา ควรมีการศึกษาศักยภาพพื้นที่ก่อน แล้ววางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่
 
"ก่อนทำ EIA ต้องบอกคนในพื้นที่ก่อนว่าจะมีโรงงานตามมามากน้อยเพียงใด ถ้าโครงการเข้ามาแบบไม่สิ้นสุด ถ้ามีโรงงานมากจนน้ำไม่พออาจต้องสร้างเขื่อนหรือไม่ ถ้ากระแสไฟฟ้าไม่พอต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาหรือเปล่า"
 
ดร.สัญชัย อยากให้รัฐ หรือเอกชนเจ้าของโครงการแบข้อมูลทั้งหมดให้คนในพื้นที่รับรู้ และร่วมกันพิจารณาก่อนลงมือทำ EIA และย้ำว่าต้องศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนการทำ EIAโครงการ เพื่อศึกษาศักยภาพของพื้นที่ว่าเหมาะเรื่องใด เรื่องใดไม่เหมาะไม่ควรนำเข้ามาสู่พื้นที่    
 
"ปัญหาปัจจุบันเกิดจากการนำแผนมาปฏิบัติ สมมติว่าอุทยานแห่งหนึ่งมีแหล่งต้นน้ำ ถ้าต้องสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่อีกมุมหนึ่งอุทยานเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันน้ำท่วม ถ้าเก็บป่าไว้ทำให้น้ำไม่ท่วมพื้นที่ด้านล่าง ทางเลือกอื่นมากกว่าสร้างเขื่อนมีหรือไม่ นโยบายของรัฐบอกว่าจะเป็นครัวโลก แต่จะสร้างท่าเรือ มันเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกันเอง นโยบายหนึ่งต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นโยบายหนึ่งต้องการพัฒนา ซึ่งสวนทางกันและนำไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน" ดร.สัญชัย บอกถึงความขัดแย้งในตัวนโยบายรัฐเองที่สวนทางกัน
 

วิวัฒนาการปฏิรูป EIA-EHIA ไทย

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม
 
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม อดีตโฆษกคณะกรรมการแก้ปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง รัฐธรรมนูญปี 2550 บอกถึงกระบวนการ EIA ที่มีปัญหาอย่างมาก ที่ผ่านมาทำได้เพียงการแก้ไขแบบอุดรอยรั่ว ปะผุกระบวนการเท่านั้น ดังนั้นต้องปฏิรูปกระบวนการ EIA ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศไทย
 
"หน่วยงานภาครัฐรู้สึกอึดอัด สผ.ก็รู้ปัญหา พยายามปฏิรูปเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ เพราะฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากกระบวนการทำ EIA ในปัจจุบันต่อต้านอย่างมาก" ดร.บัณฑูร บอกถึงความรู้สึกของฝ่ายที่พยายามปรับเปลี่ยน
 
ดร.บัณฑูร เล่าถึงวิวัฒนาการว่า ตั้งแต่ปี 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นปัญหาจึงผลักดันมาตรา 67 ออกมา จากนั้นปี 2552 สามารถผลักดันให้มีการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้ ต่อมาปี2553 มีการตั้งกรรมการ 4 ฝ่าย เพิ่มเรื่องทำบัญชีรายชื่อโครงการ 11 ประเภทขึ้น ล่าสุดปี 2555 มีการผลักดันเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เรื่องการรื้อโครงสร้างและระบบ EIA ซึ่งมี สผ.กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้ามาร่วม แต่ยังไม่ปรากฏผลลัพธ์
 

โจทย์ใหญ่ปฏิวัติ EIA-EHIA ไทย

 
"หากปฏิรูป หรือปฏิวัติกระบวนการทำ EIA โครงการหนึ่งอาจใช้เวลาแค่เพียง 2 ปี ซึ่งตอบโจทย์ต่อการพัฒนาของประเทศโดยรวม สามารถลดความขัดแย้ง ลดความทุกข์ของคนในพื้นที่จากการถูกแย่งชิงทรัพยากร สามารถทำให้ชาวบ้านยอมรับ การพัฒนาก็สามารถพัฒนาไปได้"
 
ดร.บัณฑูร มองเห็นผลดีต่อการพัฒนาของประเทศไทยหากมีการปฏิรูป หรือปฏิวัติกระบวนการทำ EIA ขณะเดียวกันก็สร้างการพัฒนาที่เป็นธรรมขึ้น พัฒนาแบบยั่งยืนเป็นมิตรกับชาวบ้าน ลดความขัดแย้งกับชุมชนที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากัน เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้ อาจไม่ได้เติบโตแบบพุ่งพรวด แต่ค่อยเป็นค่อยไปควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งชุมชนก็ยังอยู่ได้
 
ดร.บัณฑูร ยกกรณีท่าเรือเชฟรอนที่มีปัญหาคือ เจ้าของโครงการประกาศยุติโครงการ แต่ สผ.ยังส่ง EHIA ให้กรมเจ้าท่า ส่วนตัวเห็นสมควรว่าต้องกำหนดกติกาใหม่ว่าถ้าเจ้าของโครงการประกาศยุติโครงการต่อสาธารณะ ส่งผลผูกพันให้ EHIA ต้องยุติไปโดยอนุมัติ ไม่ต้องยื่นหนังสือบอก สผ.ว่ายุติโครงการ ทำให้ สผ.ยุติกระบวนการพิจารณา EIA ไปเลย
 
"ปัจจุบันนี้ สผ.บอกว่าจำเป็นต้องส่ง EHIA ให้กรมเจ้าท่า เพราะเจ้าของโครงการไม่ได้ทำหนังสือขอยกเลิก EHIA จึงต้องดำเนินการต่อตามกฎหมาย ถ้าวันหนึ่งเจ้าของโครงการฟ้อง สผ.ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สผ.จึงจำเป็นต้องดำเนินตามกระบวนการต่อจนกว่าเจ้าของโครงการจะทำหนังสือแจ้งขอยกเลิก EHIA"
 
ดร.บัณฑูร กล่าวว่า เข้าใจ สผ.ที่ต้องทำตามกระบวนการ แล้วอธิบายเชื่อมโยงหากบริษัทเชฟรอน กรณี EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วจาก สผ.แต่ไม่เดินหน้าโครงการเกิดจากการต่อต้าน แล้วค่อยรอจังหวะเดินหน้าโครงการในอีก 10 ปี ที่กระแสการต้านอ่อนลง โดยเอา EHIA ฉบับเก่ามาขออนุญาตก่อสร้าง เพราะ EIA EHIA ของไทย ไม่ได้กำหนดวันเวลาหมดอายุการใช้งานแต่อย่างใด แม้สภาพแวดล้อม สภาพสังคมเปลี่ยนไปแค่ไหน
 
"ขอเสนอให้กำหนดอายุ EIA แค่ 3 ปี จากปัจจุบันที่ไม่ได้กำหนดอายุของ EIA เจ้าของโครงการสามารถนำมาปัดฝุ่นมาเดินหน้าก่อสร้างเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นภายใน 3 ปีไม่ก่อสร้างโครงการ ถ้าตัดสินใจเดินหน้าโครงการอีกต้องทำ EIA ใหม่ โดยข้อมูลจะต้องเป็นปัจจุบันไม่ใช่เอาข้อมูลเก่ามาพิจารณาสร้าง" ดร.บัณฑูร แนะทางออก
 
ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐฯ ยังกล่าวถึงปัญหาในกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำ EIA และระบุว่า ต้องเปิดกว้างให้ชุมชนเข้ามาร่วมศึกษา EIA หรือเจ้าของโครงการอาจทุ่มงบประมาณจำนวนหนึ่งให้ชาวบ้านศึกษาในรูปแบบของ EIA ชุมชน
 
ดร.บัณฑูร ให้ความสำคัญกับการกำหนดผลลัพธ์ของเวทีจัดทำ EIA คือต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอต่อเนื้อหาโครงการ โดยไม่กำหนดว่ากี่คน กี่ชั่วโมง แต่กำหนดคุณภาพของการจัดเวที EIA เน้นว่าเนื้อหาของการแสดงความคิดเห็นนำไปสู่กระบวนการพิจารณาตัดสินใจแค่ไหน มีการทำรายงานสรุปผลการรับฟังการจัดเวที EIA และรายงานสรุปผลการรับฟัง การจัดเวที EIA นำไปสู่การสรุปตัดสินใจ ถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วย บริษัทจะเอาเหตุผลอะไรหักล้างการไม่เห็นด้วยของชาวบ้าน
 
ในส่วนกระบวนการบิดเบือนข้อมูลของ EIA นั้น มีฐานความผิดแค่ให้ข้อมูลเท็จกับทางราชการ ซึ่งเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา เท่านั้น ดร.บัณฑูร บอกว่า ต้องไปเพิ่มโทษในกฎหมายสิ่งแวดล้อม ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
 
สำหรับบริษัททำ EIA ที่เอาข้อมูลมือ 2 จาก อปท. สำนักงานท่องเที่ยวจังหวัด ประมงจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด โรงพยาบาลตำบล โรงพยาบาลอำเภอ ฯลฯ ในแง่วิชาการแล้วไม่อาจยอมรับได้ที่บริษัทไม่ได้ศึกษาเก็บข้อมูลอะไรใหม่เลย เอาข้อมูลมือ 2 ล้วนๆ ไม่ได้ลงทุนทำอะไร แค่เอาข้อมูลเก่ามาเย็บเล่ม แน่นอนว่าไม่ควรผ่านการเห็นชอบ
 
"ต้องมีมาตรการ กติกาข้อบังคับในคณะกรรมการชำนาญการสิ่งแวดล้อม (คชก.) ให้ คชก.มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งอาจต้องปรับปรุงองค์ประกอบ คชก.ด้วย โดยให้มีตัวแทนของนักวิชาการที่ชาวบ้านในชุมชนไว้วางใจ เป็นหนึ่งใน คชก." ดร.บัณฑูร เสนอทางออกในการบิดเบือนข้อมูล และเอาข้อมูลมือ 2 มาเย็บเล่ม EIA
 
 
ส่วนปัญหาในเชิงโครงสร้างในกรณีการแก้ EIA ท่อก๊าซถึง 4 ครั้ง โรงแยกก๊าซแก้ถึง 6 ครั้งนั้น ดร.บัณฑูร บอกว่าหากแก้ EIA ซ้ำซากเพื่อให้ผ่านความเห็นชอบจาก สผ.ต้องกำหนดให้ คชก.มีอำนาจตัดสินใจว่า ถ้า EIA ไม่ผ่าน ไม่สามารถแก้ปัญหาในทางปฏิบัติได้จริง สามารถนำไปสู่กระบวนการยุติโครงการโดยอัตโนมัติ
 
"โครงการที่ชุมชนบอกว่าเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ต่อมาไปกำหนดมาตรการลดผลกระทบ ทว่าไม่สามารถลดผลกระทบได้จริงตามที่สังคมเห็น สังคมมีข้อเสนอให้ยุติโครงการ สามารถยุติโครงการได้เช่นกัน" ดร.บัณฑูร เสนอแนวทางในการรื้อโครงสร้าง
 
กรณี 'แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล' ดร.บัณฑูร เห็นควรให้มีการศึกษาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนว่าศักยภาพ และแนวทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่กี่ทิศทาง แต่ละทางเลือกมีศักยภาพอย่างไร มีต้นทุนและข้อจำกัดอย่างไร การยอมรับของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างไร แล้วนำเอาแต่ละทางเลือกมาเปรียบเทียบกัน
 
ส่วนคนจะเลือกการพัฒนาทิศทางไหนนั้น อาจกระจายอำนาจการตัดสินใจอยู่กับพื้นที่ หรือให้กรรมการส่วนกลางตัดสินใจ แต่เปิดพื้นที่ให้มีตัวแทนจากชุมชนจำนวนหนึ่งเข้าไปร่วมตัดสินใจด้วย ซึ่งต้องดูว่ารัฐส่วนกลางจะยอมรับแค่ไหน อย่างไร
 
ปัญหาเชิงโครงสร้างอีกปัญหาหนึ่งของสงขลา และสตูล แต่ภาพฉายชัดที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คือ การทำ EIA รายโครงการแบบแยกส่วน โดยไม่ศึกษาปัญหาผลกระทบมลพิษสะสมจากหลายๆ โรงงานอุตสาหกรรม แต่ศึกษาเฉพาะโครงการหนึ่งว่า มีการปล่อยสารเคมีไม่เกินมาตรฐานกฎหมาย แต่ไม่คำนึงถึงโรงงานอื่นที่ปล่อยสารเคมีไม่เกินค่ามาตรฐานกฎหมาย หลายๆ โรงงานรวมกันต่างก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน
 
"สรุปแล้วให้มองภาพไปที่มาบตาพุด ทางแก้ไขคือต้องดูศึกษาผลกระทบในภาพรวมของพื้นที่" ดร.บัณฑูร กล่าว
 
'เจ้าของโครงการจัดจ้างบริษัทรับจัดทำ EIA เอง' เป็นโจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งของปัญหาความไม่เป็นอิสระของบริษัทรับจัดทำ EIA ดร.บัณฑูร เห็นปัญหาของบริษัทรับจัดทำ EIA ที่ต้องศึกษาให้ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้เงินงวดสุดท้าย เงินงวดสุดท้ายซึ่งบ้างก็ 20% บ้างก็ 30% ของเงินจัดจ้าง ซึ่งเป็นการศึกษาที่ถูกบังคับให้ผ่าน
 
ดร.บัณฑูร เสนอให้มีการตั้งเป็นระบบกองทุนกลาง ที่อยู่ในอำนาจของ สผ.หรือตั้งเป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่คัดเลือกศักยภาพที่เหมาะสมของพื้นที่กับโครงการที่จะก่อสร้าง แล้วค่อยจัดจ้างบริษัทรับทำ EIA โดยห้ามรัฐและเอกชนก้าวก่าย เป็นการขจัดความคลางแคลงใจในความไม่เป็นอิสระ สำหรับองค์กรนี้ตั้งขึ้นจัดจ้างทำ EIA ไม่ว่าผลการศึกษาจะผ่านหรือไม่ผ่าน บริษัทรับจัดทำ EIA จะได้เงินงวดสุดท้าย
 
"ต้องนำการศึกษา EIA ใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ไปบูรณาการให้สอดรับกับกฎหมายอื่นๆ ด้วย คือถ้า EIA ไม่ผ่าน เจ้าของโครงการจะถมดิน จะสร้างอาคารไม่ได้ ต้องยุติทั้งหมดไว้" ดร.บัณฑูร บอกถึงแนวทางทางกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ขัดแย้งกับกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.ก่อสร้าง
 
ดร.บัณฑูร สะท้อนภาพย้อนแย้งในทุกวันนี้ถึงแม้ว่า EIA ไม่ผ่าน แต่กฎหมายยังให้อำนาจ อปท. กรมโรงงาน ฯลฯ ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือถมดินไปได้ก่อน ซึ่งเป็นแรงกดดันในกระบวนการ EIA ที่ว่าเจ้าของโครงการมักอ้างว่าได้ลงทุนไปเยอะแล้ว ถ้า EIA ไม่ผ่านก็ส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงกับกิจการ
 
ปัญหาโครงการที่หลบเลี่ยงการทำ EIA นั้น ดร.บัณฑูร เห็นว่าต้องปรับใหม่ โดยกำหนดการทบทวนระบบบัญชีโครงการที่ต้องทำ EIA ทุกๆ 3 ปี เช่นกำหนดว่าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 10 เมกะวัตต์ ต้องทำ EIA แต่เจ้าของโครงการสร้างแค่ 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดช่องให้นำโครงการหลบเลี่ยงการทำ EIA มาอยู่ในระบบบัญชีโครงการที่ต้องทำ EIA โดยกำหนดให้โครงการ 5 เมกะวัตต์ ต้องทำ EIA เจ้าของโครงการจะลดมาเหลือ 4.9 จะไม่คุ้มทุน
 
ดร.บัณฑูร เสนอให้กำหนดระบบบัญชีโครงการที่ต้องทำ EIA แบบปลายเปิด ปัจจุบันกำหนดว่าต้องทำ EIA แค่ 30 ประเภทโครงการ โดยเปิดช่องหากประชาชนจำนวนหนึ่งมาร้องขอให้มีการพิจารณาจัดทำ EIA นอกเหนือจาก 30 ประเภทโครงการ
 
"สผ.จะต้องมีระบบรองรับ โดยมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนเพื่อพิจารณา หรือกำหนดให้องค์กรอื่นๆ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ พิจารณาเสนอประเภทโครงการที่ต้องทำ EIA เพิ่มเติม"
 
ดร.บัณฑูร ย้ำว่าต้องรื้อโครงสร้างกระบวนการทำ EIA EHIA ของไทย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องพยายามอย่างหนัก
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บึ้มเละปืนใหญ่จำลองหน้ามัสยิดกรือเซะ

Posted: 11 Jun 2013 09:45 AM PDT

หลังนำปืนใหญ่พญาตานีจำลอง มาวางหน้ามัสยิดกรือเซะได้ 10 วัน ก็ถูกวางระเบิดจนหักกลางลำ-ฐานปืนได้รับความเสียหาย

ที่มาของวิดีโอ: WARTANImedia

หลังจากเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการแห่ต้อนรับปืนใหญ่พญาตานีจำลอง โดยมีนายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมประชาชนชาวปัตตานีจำนวนมากได้ร่วมจัดต้อนรับปืนใหญ่ดังกล่าว และนำมาวางไว้บริเวณหน้ามัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานีนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดวันนี้ (12 มิ.ย.) เวลาประมาณ 18.50 น. เกิดเหตุระเบิดใกล้กับที่ตั้งของปืนใหญ่พญาตานีจำลอง ทำให้ปืนหักกลางลำ และฐานที่ตั้งปืนได้รับความเสียหาย

สำหรับปืนใหญ่พญาตานีจำลองนั้น สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากรได้ทำการหล่อจำลองมาจากของจริงที่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร โดยในเอกสารประชาสัมพันธ์ของศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี ต.ตันหยงลุโล๊ะ ระบุว่า ในปี 2546 ประชาชนชาวจังหวัดปัตตานีได้ขออนุเคราะห์ไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรผลักดันให้มีการนำปืนใหญ่พญาตานีกลับมาไว้ที่จังหวัดปัตตานีอีกครั้ง คณะกรรมาธิการจึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตหล่อจำลองปืนพญาตานีขนาดเท่าจริง โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้หล่อจำลองได้

ทั้งนี้เนื่องจากปืนใหญ่พญาตานี มีฐานะเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประเภททรัพย์สินส่วนสาธารณะของแผ่นดินที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากระทรวงกลาโหม

ขณะที่ก่อนหน้านี้ Ambranews วิจารณ์ว่าพิธีส่งมอบปืนใหญ่ดังกล่าวมีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องที่อดสู อับอาย เนื่องจากการนำปืนใหญ่ดังกล่าวได้กระทำหน้ามัสยิด ที่เป็นเสมือนบ้านของพระเจ้า หลังเสร็จสิ้นการวางปืนใหญ่แล้วนั้น ปืนใหญ่ดังกล่าวได้กลายเป็นเพียงของเล่นของเด็กๆ ฝ่ายรัฐไทยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของชาวมลายูปาตานี ว่าต้องการอะไร ผิดตรงไหนที่ปืนใหญ่ที่เป็นของคนปาตานี จะกลับคืนสูถิ่นเดิม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปชป. แถลงพิเศษยันจำนำข้าวขาดทุน 2.6 แสนล้านจริง เสนอหยุดโครงการ

Posted: 11 Jun 2013 05:45 AM PDT

11 มิ.ย.56  ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคฯ เปิดแถลงข่าวเป็นกรณีพิเศษเพื่อย้ำจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับโครงการรับ จำนำข้าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องทำความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของโครงการที่มีความสับสนหรือพยายามบ่าย เบี่ยง โดยยืนยันว่าตัวเลขที่ใช้แถลงเป็นของราชการไม่มีของพรรคประชาธิปัตย์กำหนดขึ้นเอง ทั้งนี้การจำนำข้าวของรัฐบาลทำมา 3 ฤดูกาลแล้วโดยมีการขาดทุนที่นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ก็ยอมรับในการแถลงข่าวคือ นาปี 2554/2555 ขาดทุน 42,963 ล้านบาท นาปรัง 2555 ขาดทุน 93,993 ล้านบาทและนาปี 2555/2556 ขาดทุน 84,071 ล้านบาท รวมขาดทุน 220,976 ล้านบาท

นายอภิสิทธิ์อธิบายว่ามีฐานการคำนวณอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เพราะรัฐบาลพยายามบอกว่าตราบใดที่ยังขายข้าวไม่หมดก็จะไม่มีทางทราบว่าสถานะ เรื่องการขาดทุนของโครงการจำนำข้าวเป็นอย่างไร เห็นว่าถ้าใช้หลักคิดนี้ตราบเท่าที่โครงการจำนำข้าวยังดำเนินการต่อจะ ไม่มีทางทราบว่าขาดทุนเท่าไร เพราะจะมีข้าวที่ขายออกไปและรับจำนำเข้ามาไม่จบไม่สิ้น แต่หลักการทำบัญชีที่กระทรวงการคลังดำเนินการนั้นจะถือหลักว่า เมื่อรับจำนำข้าวเข้ามาจำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร ใช้เงินเท่าไร ขายออกไป ได้เงินกลับมาเท่าไร และข้าวที่ถืออยู่มีมูลค่าในทางตลาดเท่าไร

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปรียบเทียบการคำนวณการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวว่า เหมือนกับการซื้อของมา 100 บาท ในขณะที่เก็บของไว้ ราคาในตลาดขายที่ 80 บาท จะบอกว่าไม่ขาดทุนเพราะยังไม่ได้ขายแล้วซื้อเข้ามาเรื่อย ๆ ในจำนวน 100 บาท แต่ขายได้ในราคา 80 บาทโดยสรุปว่ายังไม่ขาดทุนเพราะยังขายไม่หมดไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าราคาตลาดในขณะนั้นขาดทุน 20 บาทต่อการซื้อครั้งละ 100 บาท ยิ่งไปกว่านั้นของที่เก็บไว้ยังมีปัญหาเรื่องเสื่อมสภาพด้วย ก็ต้องประเมินเป็นช่วง ๆ เพื่อปิดบัญชีว่ามูลค่าของเปลี่ยนแปลงอย่างไร ยกเว้นว่าใครมีความเชื่อว่าราคาข้าวจะมีความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดตัวเลข การประมาณการก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ แต่ในกรณีของข้าวไม่มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องราคาที่หวือหวาหรือผันผวน ดังนั้นการที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีประมาณการว่าการขาดทุนอยู่ที่ 220,976 ล้านบาท จึงมีพื้นฐานหลักคิดที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถสรุปตัวเลขได้เหมือนอย่างที่รัฐบาลอ้าง

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การอ้างว่าตัวเลขการขาดทุนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาลยิ่ง ลักษณ์ แต่ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ด้วยนั้น หากแยกดูตัวเลขการขาดทุนที่เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาลชุดนี้จะเริ่มตั้งแต่โครงการ ข้าวนาปี 54/55 ซึ่งขาดทุน 42,963 ล้านบาท เป็นโครงการรอบแรกและมีวิกฤตน้ำท่วมใหญ่จึงทำให้โครงการไม่ดำเนินการอย่าง เต็มที่ แต่อีกสองฤดูกาลถัดมาซึ่งรวมเป็นตัวเลข 1 ปี จะพบว่าการขาดทุนสูงถึง 178,004 ล้านบาท จากที่ตนตรวจสอบการขาดทุนดังกล่าวยังไม่รวมงบประมาณบริหารงานโครงการซึ่งจัด เป็นงบให้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการขาดทุนที่เกิดขึ้นในรอบ 1 ปี ของรัฐบาลนี้จึงอยู่ที่ตัวเลข 2 แสนกว่าล้านแน่นอน และเมื่อเทียบกับตัวเลขการปิดบัญชีโครงการจำนำสินค้าเกษตร 17 โครงการในวันที่ 31 พ.ค.55 พบว่าขาดทุน 206,718 ล้านบาท แต่ในการปิดบัญชีวันที่ 31 ม.ค.56 ขาดทุน 393,902 ล้านบาท เท่ากับว่าขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 187,184 ล้านบาท แสดงว่าไม่ถึงปีการขาดทุนเพิ่มขึ้น 187,184 ล้านบาท โดยเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมค่าบริหาร จากข้อมูลนี้ตอกย้ำว่าการขาดทุนในรอบปีที่ผ่านมาประมาณสองแสนหรือกว่าสองแสน ล้านบาท

นายอภิสิทธิ์ ยังหยิบยกเงินที่รัฐบาลใช้ในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลว่าใช้ไปแล้ว 661,224 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ 408,750 ล้านบาท จาก ธกส. 90,000 ล้านบาท ธกส.ทดลองจ่าย 69,024 ล้านบาท ได้เงินคืนจากการระบายข้าว 93,450 ล้านบาท นำมาใช้หมุนเวียนในโครงการด้วย ทั้งนี้จากการใช้เงินก้อนดังกล่าวรัฐมนตรีที่แถลงข่าวบอกว่าสามารถนำเงินที่ ระบายข้าวไปคืน ธกส.ได้แล้ว 120,000 ล้านบาท และประเมินมูลค่าข้าวในสต๊อคว่าอยู่ที่ 226,000 ล้านบาท รวมแล้วเงินยังหายไป 315,224 ล้านบาท จากวงเงินที่ใช้ทั้งหมด 661,224 ล้านบาท จึงไม่มีประเด็นที่รัฐบาลจะปฏิเสธว่าการขาดทุนในโครงการจำนำข้าวไม่ถึง 2.6 แสนล้านบาท เพราะตัวเลขของราชการยืนยันตรงกันว่า เราจะต้องขาดทุนในโครงการนี้ปีละกว่าสองแสนล้านบาท โดยสามฤดูกาลที่ผ่านมาขาดทุนรวม 220,967 ล้านบาท ค่าบริหาร 40,000 ล้านบาท รวมขาดทุน 260,967 ล้านบาท และในขณะที่มีการขาดทุนจำนวนมากแต่ ธกส.แถลงว่าเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการนี้เพียง 86,000 ล้านบาทเท่านั้น แปลว่าเงินที่เสียไปกับการขาดทุนโดยที่เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ถึง 174,967 ล้านบาท ตนเคยประมาณการไว้ว่าเกษตรกรได้ประโยชน์ประมาณแสนล้านต้น ๆ ในขณะนี้ตัวเลขทางการยืนยันชัดเจนแล้วว่า เกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินที่เสียไป เท่ากับเงินไม่ถึงมือชาวนา ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะเสียเงินกว่าสองแสนล้านกับการขาดทุนในโครงการนี้ก็น่าจะ นำเงินก้อนดังกล่าวหาญเฉลี่ยแจกให้กับชาวนาไปเลย ซึ่งจะทำให้ชาวนาได้ประโยชน์มากกว่าปัจจุบันเท่าตัว และตลาดข้าวไม่พังพินาศแบบในปัจจุบันด้วย เพราะการซื้อขายข้าวยังเป็นปกติ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อไปว่า คำพูดที่บอกว่าโครงการนี้ทำให้ภาคการเกษตรมีรายได้ดี สร้างความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่ารายได้ภาคการเกษตรไตรมาสที่สามปี 2555 รายได้ลดลง 4.1% ไตรมาสสุดท้ายปี 2555 ติดลบ 0.7 % สามเดือนแรกของปี 2556 ติดลบอีก 2.2 % และในเดือนเมษายน 2556 รายได้ติดลบอีก 7.7 % นี่คือตัวเลขทางการที่บ่งบอกว่ามาตรการจำนำข้าวกำลังสร้างความเสียหายทางการ คลังปีละประมาณสองแสนล้านเงินถึงชาวนาไม่ถึงครึ่งและไม่สามารถยกระดับความ เป็นอยู่หรือรายได้ของเกษตรกรได้ด้วย

นอกจากนี้การสำรวจหนี้เกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯจัดทำขึ้นนั้นก็ยืนยันว่า สถานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรถ้าวัดจากระดับของหนี้สินแย่ลงเพราะหนี้สิน เพิ่มขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลพยายามพูดว่าจะไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่าโครงการประกันราย ได้ ซึ่งตนให้ตัวเลขสูงสุดที่ใช้ในโครงการประกันรายได้ว่าอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท โดยเกือบ 100 % ของยอดเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จ่ายตรงให้กับเกษตรกรแตกต่างจากโครงการจำนำ ข้าวที่แต่ละปีขาดทุนสองแสนล้านมากกว่าโครงการประกันรายได้ถึงสามเท่าตัว เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่าโครงการประกันรายได้ในอดีตกำหนดราคาประกันที่ 15,000 บาทก็ยังใช้เงินน้อยกว่าโครงการจำนำข้าวอย่างมาก

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การขาดทุนตามตัวเลขที่ออกมา 2.6 แสนล้านซึ่งคิดเป็น 10 % ของงบประมาณประจำปีเท่านั้น แต่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก หากไม่มีการทำโครงการนี้ก็สามารถนำเงินขาดทุนดังกล่าวมาใช้ใน 7 ปี โดยไม่ต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ให้ประชาชนเป็นหนี้ 50 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่ต่างประเทศจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพราะสร้างความเสียหายต่อ เนื่องในแง่สถานะการคลังและความน่าเชื่อถือของประเทศทางด้านการคลังด้วย นอกจากนี้หลังจากใช้โครงการจำนำข้าวเกิดผลกระทบต่อการส่งออกสูญเสียแชมป์ผู้ ส่งออกอันดับ 1 รายได้จากการขายข้าวเข้าประเทศก็ลดลงกว่า 20 % โดยไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น

ล่าสุดการค้าข้าวระหว่างประเทศของไทยจะนำข้าวจากต่างประเทศมาขายแทนข้าวไทย เพราะต้นทุนถูกกว่า ดังนั้นนอกเหนือจากความสูญเสียด้านการคลังแล้ว เรายังสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขัน ทำลายอนาคตข้าวไทย ทำให้แข่งกับประเทศอื่นไม่ได้ สุดท้ายเกษตรกรก็จะมีปัญหาในการขายข้าวมากขึ้น ถ้ารัฐบาลสะสมการขาดทุนไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งก็ต้องมีจุดจบ ที่ผ่านมาเคยเตือนรัฐบาลว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยส่งออกข้าวมากกว่าไทยก็มาสูญเสียการส่งออกให้ไทยใน วันที่ประเทศเหล่านั้นตัดสินใจเป็นผู้ค้าข้าวเองเพียงรายเดียว วันนี้รัฐบาลกำลังเดินตามรอยนั้นซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร ที่สำคัญคือยังมีปัญหาการทุจริตที่ส.ส.ของพรรคเปิดโปงข้อมูลทั้ง การระบายข้าว การเวียนเทียนในประเทศ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เรียกร้องคือขอให้ยอมรับความจริง และขอให้เข้าใจว่าคนที่ห่วงใยเอาความจริงมาพูดไม่ประสงค์ให้รัฐบาลหยุดช่วย เกษตรกร ต้องการให้ช่วยแต่ช่วยโดยเงินทุกบาททุกสตางค์ไปถึงมือเกษตรกรและช่วยเหลือ อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่กำลังเกิด 2 เรื่อง คือ 1 กระทรวงพาณิชย์ส่งสัญญาณว่าจะมีการทบทวนตัวเลขการขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิด บัญชีใหม่โดย กขช.หรือใครยังไม่แน่ชัด ทั้งที่เป็นการคำนวณตามตัวเลขของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หากตัวเลขการปิดบัญชีผิดก็เท่ากับว่ามีการให้ข้อมูลผิดจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่ตนคิดว่าน่าจะมีความพยายามเอาตัวเลขไปทบทวนเพื่อสร้างความสับสน เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับว่าโครงการนี้สร้างความเสียหายต่อการเงินการคลังอย่างไร

2 รมช.พาณิชย์ กำลังขอเงินงบประมาณ 9 ล้านเศษเพื่อทำโครงการมวลชนคือ ทำงานสัญจรเรื่องจำนำข้าว และมีแนวโน้มว่าจะไปยุให้เกษตรกรเข้าใจผิดว่าคนที่ออกมาท้วงติงโครงการจำนำ ข้าวไม่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากจะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงแล้วยังเป็นการเพิ่มความแตกแยกในสังคม ในประเทศ โดยไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นประธาน กขช. ได้รับรายงานตัวเลขไปแล้วกว่า 1 สัปดาห์ จะต้องรับผิดชอบด้วยการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ครม.ไฟเขียวรวม ปริมาณ-วงเงิน รับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56

ทั้งนี้ ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ปรับเปลี่ยนโครงการ โดยเห็นชอบให้รวมโครงการรับจำนำข้าวปี 2555/56 ครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อยืดหยุ่นในการใช้เงินโครงการ

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้รวมปริมาณและวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ในครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อให้การดำเนินการมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กรอบปริมาณการรับจำนำ ภายใต้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 เกินกว่ากรอบที่ ครม.ได้เคยอนุมัติไว้ ให้กระทรวงพาณิชย์เสนอขอขยายกรอบปริมาณและกรอบวงเงิน ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่อพิจารณาและเสนอครม.ทราบต่อไป แต่ทั้งหมดต้องไม่เกินกรอบปริมาณ 22 ล้านตัน และกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท

ชี้รอบ1 ใช้เต็มกรอบเงิน 2.4 แสนล้าน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบผลการพิจารณา เรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการพิจารณา ไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการอภิปรายถึงปัญหาที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/ 56 ครั้งที่ 1 ไปเกือบเต็มกรอบปริมาณรับจำนำจำนวน 15 ล้านตัน ในวงเงินที่อนุมัติ 2.4 แสนล้านบาท ตามมติ ครม. ทำให้ ธ.ก.ส.หยุดจ่ายเงินให้กับเกษตรกร

ขณะที่ผลการรับจำนำข้าวครั้ง ที่ 2 มีเพียง 4 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินที่จ่ายไปกว่า 5หมื่นล้านบาทจากกรอบวงเงินที่ กขช.อนุมัติ 1.05 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าเมื่อโครงการสิ้นสุดปริมาณรับจำนำข้าวครั้งที่ 2 จะมีเพียง 7 ล้านตัน กขช.จึงมีมติอนุมัติให้รวมปริมาณรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อให้การบริหารโครงการมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ดึงเงินจำนำรอบ 2 โปะรอบแรก

การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 ได้ใช้เงินหมุนเวียนเกือบเต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่เป็นกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ว่ามาจาก 2 แหล่งได้แก่ เงินทุน ของ ธ.ก.ส.จำนวน 9 หมื่นล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงิน จำนวน 4.1 แสนล้านบาท โดยวงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น มีการใช้ไปเกือบเต็มวงเงินแล้ว จึงอาจทำให้ในบางช่วงเวลาระหว่างที่รอเงินจากการระบายข้าว อาจทำให้มีการใช้เงินกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ และทำให้ ธ.ก.ส.ต้องสำรองจ่ายเงินกู้เพิ่มเติมไปก่อน

ดังนั้น เพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก มีสภาพคล่องและมีการบริหารเงินได้มีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีการนำเงินที่ได้จากการระบายผลผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ปี 2554/55 เป็นต้นไป ไปชำระคืนเงินทุนแก่ ธ.ก.ส. จำนวน 9 หมื่นล้านบาท ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงค่อยชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยเงินทุนของ ธ.ก.ส.สามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียน

สำหรับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ได้ และ ธ.ก.ส.สามารถสำรองจ่ายเงินกู้ชั่วคราวไปก่อน ระหว่างรอเงินจากการระบายข้าวได้ โดยให้คิดอัตราเงินชดเชยเงินต้นทุนและค่าบริหารโครงการให้กับ ธ.ก.ส.ในอัตราเดิมคือ FDR+1 (2.9875%) ของต้นเงินคงเป็นหนี้ รวมทั้งให้ค่าบริหารโครงการกับ ธ.ก.ส.ในอัตรา 2.25% ของเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปแล้ว โดยกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ทำความตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราวๆ ไป

ทั้งนี้ ควรระบุให้ชัดเจนด้วยว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และปี 2555/56 ต้องอยู่ในกรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังรับภาระชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ย จากการกู้ยืมเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนทั้งหมด จากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ทั้งในส่วนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้และในส่วนที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส.

สศช.จี้ปิดบัญชีไม่เกิน 5 แสนล้าน

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำรายงานความเห็นประกอบเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม ครม. 3 ข้อเพื่อให้การบริหารโครงการฯมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.การปิดบัญชีกรณีใดๆก็ตาม ซึ่งกรณีที่ต้องใช้เงินเพิ่มเติม จะต้องปิดบัญชีให้อยู่ในกรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556

2.กระทรวงพาณิชย์ควรจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน การระบายสต็อกข้าว และกระแสเงินสดของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่มีอยู่ ให้ ครม.รับทราบเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2555, 1 พ.ค. 2555 และ 31 มี.ค. 2555 เพื่อให้ ครม.มีข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ควรจัดทำระบบการกำกับการตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งกระบวนการให้มีความรัดกุม

แนะจำกัดปริมาณจำนำ-พื้นที่ผลิต

และ 3.เพื่อให้มีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ในระยะต่อไปมีประสิทธิภาพและลดภาระงบประมาณรายจ่ายของโครงการฯ กระทรวงพาณิชย์ ควรพิจารณาจำกัดปริมาณรับจำนำและพื้นที่การผลิตต่อครัวเรือนเกษตรกร โดยเน้นเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม ตามประกาศเขตพื้นที่เหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกำหนดราคา ให้สอดคล้องกับราคาของตลาดโลก เพื่อให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้

มอบ "วราเทพ" รวมข้อมูลชี้แจง

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นายกฯถามในที่ประชุมครม.นายบุญทรง ก็ตอบไม่ได้ จึงได้มอบหมายให้นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้รวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวเพื่อช่วยชี้แจงอีกทาง โดยนายกฯ เน้นให้มีการพูดคุยถึงเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เพราะยังมีประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าใจผิดอยู่ จึงมีการพูดถึงเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

ชี้ขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท

การคำนวณของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร แบ่งเป็นส่วนของต้นทุน ประกอบด้วย วงเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) จ่ายออกไปเพื่อใช้ในการรับจำนำข้าว ประมาณ 336,000 ล้านบาท รับจำนำข้าวปี การผลิต 2554/2555 ทั้ง ข้าวนาปีและนาปรัง 5,317,684 ล้านตันข้าวเปลือก รายจ่ายในการแปรสภาพข้าว รายจ่ายในการขนส่งข้าวสารไปยังโกดังกลาง รายจ่ายในการเก็บข้าวสาร จนถึงวันปิดบัญชีโครงการ
ดอกเบี้ยที่เกิดจาก หนี้ที่ยังค้างอยู่จนถึงวันปิดบัญชีโครงการ และรายจ่ายอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หักจาก ส่วนของ รายรับ ประกอบด้วย รายได้จากการขายข้าวส่วนที่ขายออกไปแล้ว รวมกับส่วนของข้าวสารที่ยังไม่ได้ขายออก โดยอ้างอิงราคาข้าวในวันที่ปิดบัญชีโครงการ ซึ่งผลปรากฏว่ารายรับน้อยกว่าที่ต้นทุน ซึ่งเป็นผลขาดทุนประมาณ 136,800 ล้านบาท


มูดี้ส์ประเมินขายข้าวหมดใน 4 ปี

ขณะที่สมมติฐานของมูดี้ส์ที่ประเมินว่า การขาดทุนในโครงการจำนำข้าว ประมาณ 2 แสนล้านบาทนั้น ประกอบด้วยการขายข้าวที่เหลือตามราคาเดือนม.ค.-ก.พ. 2556 ขาดทุน 136,800 ล้านบาท รวมกับผลสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการขายข้าวทั้งหมด โดยประมาณการไว้ภายใน 4-6 ปี ในกรณีที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 21.4 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 13-14 ล้านตันข้าวสาร รวมกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ปีละ 6,000-10,000 ล้านบาท ค่าเสื่อมสภาพข้าวทำให้ราคาข้าวลดลง เพราะน้ำหนักลดและคุณภาพเสื่อมอย่างน้อยปีละ 10% คิดเป็น 13,000-15,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 19,000-25,000 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าขายข้าวหมดภายใน 4-5 ปี ก็จะส่งผลขาดทุนถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับค่าเก็บรักษาข้าวสารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

"ถึงเวลาเลิกหลอกประชาชน และขาดทุนขนาดนี้ก็ถึงเวลาทบทวน รัฐบาลควรแถลงข้อมูลให้ชัดเจน ถ้าไม่กลัวว่าคนอื่นจะหาว่าตัวเองทำอะไรผิดต่อประเทศชาติ ก็เปิดข้อมูลมา ว่าเหลือเท่าไร จะได้คำนวณว่าในที่สุดขาดทุนเท่าไร มันถึงเวลาพูดให้ชัดซะที

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดี 2 ศพใต้ด่วนพระราม 4 พ.ค.53 ร่วมกตัญญูเบิกทีมถูกยิงหลังทหารถาม “มึงด้วยใช่ไหม”

Posted: 11 Jun 2013 03:37 AM PDT

เบิก 2 พยาน ไต่สวนการตาย  2 ศพใต้ทางด่วนพระราม 4 เหยื่อกระสุน 16 พ.ค.53 ร่วมกตัญญู เบิก จนท.ประจำรถถูกยิงหลังทหารตะโดนถาม "มึงด้วยใช่ไหม" เพื่อนผู้ตายยันไม่พบชายชุดดำหรือบุคคลถืออาวุธปืนในที่เกิดเหตุ

10 มิ.ย.56 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ฯ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรศพ คดีที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญาใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล อายุ 25 ปี อาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ตายที่ 1  และนายประจวบ ประจวบสุข ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ การแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใต้ทางด่วน  ถ.พระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.53 ช่วงกระชับพื้นที่การชุมนุมของ นปช. โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยพนักงานอัยการนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ประกอบด้วย นายธีรภัทร กลมเกลี้ยง  เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพร่วมกตัญญู ร่วมทีมกับสภากาชาดไทย เข้าปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมจนย้ายการชุมนุมมาที่แยกราชประสงค์ และ น.ส.ชลลดา ธานีโรจน์ ผู้รู้จักนายเกียรติคุณ ผู้ตายที่ 1 มากกว่า 20 ปี และเป็นผู้ว่าจ้างผู้ตายให้ขับรถไปส่งที่ใต้ทางด่วนพระราม 4 เพื่อดูเหตุการณ์

นายธีรภัทร กลมเกลี้ยง เบิกความถึงเหตุการณ์วันที่ 14 พ.ค.53 ว่า มีการปิดถนนพระราม 4 ไม่สามารถลำเลียงคนเจ็บออกมาได้ จึงออกจากสภากาชาดไทยไปทางถนนสีลมออกถนนสาธรแล้วไปที่ซอยงามดูพลีและไปถึงโรงแรมพินนาเคิลในช่วงบ่าย 15.00 น. ไปแล้ว และได้จอดรถอยู่ที่โรงแรม มากับเจ้าหน้าที่ประจำรถ 2 คน คือนายสรายุทธ อำพันธ์  และ น.ส.มุนินทร์  ตอนไปถึงมองไปที่ปากซอยเห็นมีคนอยู่น่าจะเป็นประชาชนที่อยู่ในซอยมาดูเหตุการณ์มากกว่าไม่ใช่ผู้ชุมนุม บางคนมีไม้ มีหินที่หาได้จากในบริเวณนั้น ไม่มีอาวุธปืน  ขณะนั้นไม่เห็นทหารเพราะว่าอยู่ในซอยงามดูพลีแต่ทราบมาก่อนแล้วว่ามีทหารอยู่แถวสวนลุมพินี

นายธีรภัทร เบิกความต่อว่า เริ่มมีเสียงปืนดังเป็นชุดๆ จากถนนพระราม 4 และเสียงดังไล่เข้ามาเรื่อยๆ  คนที่อยู่ทางปากซอยก็วิ่งหนีเข้ามาที่โรงแรมบ้างวิ่งเลยเข้าไปในซอยบ้างโดยคนที่วิ่งหนีเข้ามามีราวๆ 20 คน ไม่มีอาวุธปืนและวัตถุระเบิด  และในกลุ่มคนที่วิ่งเข้ามามีชายที่สวมเสื้อสีม่วง ในมือถือไม้คล้ายด้ามไม้กวาด ถูกยิงที่หน้าทางเข้าโรงแรมซึ่งรถพยาบาลคันที่จอดอยู่ข้างหน้าคันของพยานได้นำตัวชายคนดังกล่าวไปส่งโรงพยาบาล

เมื่อคนที่อยู่ทางปากซอยวิ่งเข้ามาหมดแล้ว มีเสียงปืนดังไล่เข้ามา จึงบอกกับนายสรายุทธและน.ส.มุนินทร์ ไปอยู่ที่หลังรถเพราะข้างหน้าไม่ปลอดภัย  จากนั้นไม่เกิน 5 นาที มีทหารวิ่งเข้ามาจากทางปากซอยงามดูพลี มาที่หน้าทางเข้าโรงแรมพินนาเคิล โดยทหารที่เข้ามามีอาวุธปืน M16 และ ปืนลูกซอง ทหารที่เข้ามามีไม่เกิน 10 นาย บางคนนั่งบางคนยืนประทับปืนเล็งมาที่รถ  จึงลงจากรถพร้อมกับแสดงตัวและยกมือขึ้นเหนือศีรษะทั้งสองข้าง ซึ่งในวันนั้นการแต่งกายพยานใส่เสื้อสีขาวของมูลนิธิร่วมกตัญญู ที่แขนมีปลอกแขนเครื่องหมายกาชาด และรถเป็นรถพยาบาลสีขาว มีตราสัญลักษณ์

คลิปที่น่าจะเป็นเหตุการณ์ดังกล่าว

นายธีรภัทร เบิกความต่อศาลว่า ทหารตะโกนถามพยานว่า "มึงด้วยใช่ไหม" ซึ่งขณะนั้นทหารอยู่ห่างจากระยะไม่เกิน 10 ม. จึงตอบกลับไปว่า "ไม่เกี่ยวเป็นพยาบาล" เมื่อพูดจบมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ทะลุกระจกหน้ารถ ส่วนกระจกหลังรถแตกกระจาย จึงหมอบลงกับพื้น  น.ส.มุนินทร์ได้ตะโกนว่านายสรายุทธโดนยิง พยานจึงเปิดประตูข้างรถไปมีเลือดพุ่งออกมาจากมือซ้ายของนายสรายุทธ  จากนั้นปฐมพยาบาลนายสรายุทธแล้วออกรถนำตัวไปส่งที่โรงพยาบาล  และขับออกจากทางเข้าโรงแรมผ่านทหาร จึงลดกระจกลงแล้วถามทหารว่ายิงทำไม ทหารในกลุ่มที่ใช้ปืนยิงตอบมาว่า "พวกมึงขว้างกูก่อน" จากนั้นจึงรีบขับรถไปโรงพยาบาลจุฬาฯ

แต่นายสรายุทธได้ถูกย้ายจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ไปโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นห้องพิเศษในโรงพยาบาล โดยทราบจากนายสรายุทธภายหลังว่าทางทหารต้องการแสดงความรับผิดชอบจึงได้ย้ายมารักษาที่นี่  จากนั้นเช้าวันรุ่งขึ้นรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบกได้เข้าเยี่ยมนายสรายุทธเป็นการเฉพาะด้วย ช่วงที่นายสรายทุธรักษาตัวอยู่ พยานอยู่ดูแลอยู่ราว 20 วัน จนกระทั่งออกจากโรงพยาบาล ซึ่งบางวันพยานก็อยู่นอนเฝ้าบางวันก็ไปเยี่ยม หลังจากเกิดเหตุก็ไม่ได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่อีกเนื่องจากรถได้รับความเสียหายและไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำรถ

นายธีรภัทร เบิกความด้วยว่าตอนที่นายสรายุทุธถูกยิงอยู่ในท่าทางมือซ้ายยกชูเหนือศีรษะไว้ มือขวากดหัวให้ น.ส.มุนินทร์ก้มหลบเอาไว้ และในรถยังเปิดไฟส่องสว่างเอาไว้ด้วย ลักษณะของคนที่อยู่บริเวณซอยงามดูพลีมีลักษณะเหมือนแอบมองดูไปทางที่ทหารอยู่  และขณะนั้นไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทอะไรในซอย

น.ส.ลลดา ธานีโรจน์ เบิกความว่ารู้จักกับนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล 20 กว่าปีแล้วตั้งแต่นายเกียรติคุณอายุ 2 ขวบ  เพราะเป็นเพื่อนบ้านกัน และก่อนเสียชีวิตนายเกียรติคุณมีอาชีพขับจักรยานยนต์รับจ้าง ในวันที่ 16 พ.ค.53 เวลาประมาณเที่ยง พยานจ้างนายเกียรติคุณให้ขับรถไปส่งที่ใต้ทางด่วนพระราม 4 เพื่อดูเหตุการณ์  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไปดูการชุมนุม  พวกเธอไปถึงจุดหมายตอนราวบ่ายโมง  เมื่อไปถึงแล้วเกียรติคุณก็จอดรถเอาไว้ที่ข้างป้อมจราจรใต้ทางด่วนพระราม 4

น.ส.ลลดา เบิกความต่อว่า พยานและนายเกียรติคุณเดินดูในบริเวณดังกล่าวด้วยกัน เห็นผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่าพันคนที่อยู่ใต้ทางด่วนพระราม 4 โดยยืนเป็นแนวขวางถนน และเห็นทหารอยู่ไกลๆ ทางเชิงสะพานไทย-เบลเยี่ยม แต่ไม่ทราบจำนวนเพราะว่ามีบังเกอร์บังอยู่ไม่เห็นทหารที่อยู่ด้านหลังว่ามีเท่าไหร่  โดยระหว่างใต้ทางด่วนพระราม 4 ที่ผู้ชุมนุมอยู่กับสะพานไทย-เบลเยี่ยมจุดที่ทหารอยู่มีแนวยางขวางถนนอยู่ทั้ง 2 ฝั่งถนนขาเข้าและขาออก แต่ไม่มีคนอยู่หลังแนวยาง  ซึ่งสูงประมาณระดับหน้าอก คิดว่าน่าจะอยู่ห่างจากจุดใต้ทางด่วนพระราม 4 ราว 500 ม. จากนั้นเดินย้อนกลับออกมาไปทางคลองเตยเพื่อรับประทานอาหารที่ร้านข้างทางไม่ห่างจากใต้ทางด่วนพระราม 4  จากนั้นราว 15 นาที เมื่อรับประทานอาหารเสร็จพวกเดินกลับมาที่ใต้ทางด่วนพระราม 4 อีกครั้ง จึงบอกให้นายเกียรติคุณสวมหมวกนิรภัยเพื่อให้เป็นที่สังเกตได้ง่ายเนื่องจากหมวกมีสีขาว  จากนั้นพยานกับนายเกียรติคุณก็เดินแยกกันไป โดยก่อนแยกกันพยานสัญญากับผู้ตายว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นให้กลับมาเจอกันตรงที่รถจอดเอาไว้  เมื่อแยกกันแล้วพยานไม่ทราบว่าผู้ตายเดินไปที่ไหนบ้าง ส่วนพยานเองเดินอยู่ในบริเวณนั้น

น.ส.ลลดา เบิกความว่า 15.30 น. เริ่มมีเสียงกระสุนชุดแรกราว 3-4 นัดยิงมาทางผู้ชุมนุม  ผู้ชุมนุมก็แตกฮือวิ่งถอยหลังมาเข้าที่กำบังส่วนใหญ่จะหลบหลังตอม่อสะพานเสาที่ 2 อยู่กลางถนน ซึ่งตรงนั้นมีถุงขยะและผู้คนอยู่ ได้หลบอยู่ตรงนั้นด้วย โดยเสียงปืนดังมาจากทางสะพานไทย-เบลเยี่ยมและผู้ชุมนุมทุกคนก็มองไปทางสะพานไทย-เบลเยี่ยมซึ่งเป็นที่ตั้งของทหารด้วย  เสียงปืนมีหลายชุด แต่ละชุดไม่ต่ำกว่า 5 นัด และห่างกันราว 3-4 นาที เห็นคนถูกยิง 2 คน ขณะนั้นไม่ทราบว่าเป็นใคร ไม่ทราบว่าเพศชายหรือหญิง เห็นมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยและผู้ชุมนุมมาช่วยนำตัวคนเจ็บขึ้นรถไป ส่วนคนที่สองก็ถูกนำตัวขึ้นรถไปเว้นช่วงกับคนแรก

อัยการถามว่าพยานทราบหรือไม่ว่าคนที่สองถูกนำตัวขึ้นรถไปคันเดียวกับคนแรก น.ส.ลลดา ตอบว่าด้วยความชุลมุนจึงไม่ทราบว่าเป็นคันเดียวกันหรือไม่  และตอนนั้นเธอยังไม่ทราบว่าทั้ง 2 คน เป็นนายเกียรติคุณและประจวบ ประจวบสุข หลังจากรถไปแล้วพยานยังคงนั่งดูเหตุการณ์อีกราว 15 นาที และยังคงมีเสียงปืนดังอยู่  จากนั้นเธอกึ่งเดินกึ่งวิ่งเดินหมอบไปที่รถจักรยานยนต์ที่จอดไว้เมื่อถึงรถแล้วได้โทรศัพท์หานายเกียรติคุณทันทีไม่ต่ำกว่า 10 สายแต่ไม่มีใครรับโดยระหว่างนี้ก็ได้เห็นว่ามีคนถูกยิงอีก 3-4 คน ซึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง    จนกระทั่งมีคนใช้โทรศัพท์ซึ่งเป็นเบอร์ของนายเกียรติคุณโทรหา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  แจ้งว่านายเกียรติคุณรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลให้รีบมา  จึงเรียกจักรยานยนต์รับจ้างจากแถวคลองเตยไปโรงพยาบาล  เมื่อไปถึงโรงพยาบาลนายเกียรติคุณได้เสียชีวิตแล้ว

น.ส.ลลดา เบิกความด้วยว่า ก่อนที่จะได้ยินเสียงปืนไม่มีความวุ่นวายใดๆ นอกจากผู้ชุมนุมได้กลิ้งยางไปวาง ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธปืนและวัตถุระเบิด และไม่เห็นว่าถือไม้หรือหินด้วย  ส่วนที่จุดที่ผู้ชุมนุมมองไปคือทางที่ทหารอยู่

อัยการเปิดคลิปเหตุการณ์ซึ่งเป็นข่าวของ AFP ให้ น.ส.ลลดา ซึ่งรับว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่ได้ให้การไปแล้วและทิศทางคนที่อยู่ในคลิปมองไปคือทางสะพานไทย-เบลเยี่ยมที่มีทหารอยู่ และทราบว่านายประจวบขึ้นรถคันเดียวกันกับนายเกียรติคุณตอนที่อยู่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์แล้ว

จากนั้นทนายญาติผู้ตายถาม น.ส.ลลดา ด้วยว่าเสียงปืนชุดแรกที่ดังขึ้นตั้งแต่ 15.30 น. จนกระทั่งเงียบลงเป็นเสียงมาจากทางใด  น.ส.ลลดา ตอบว่ามาจากทางสะพานไทย-เบลเยี่ยม  และทนายถามอีกว่าก่อนหน้าที่จะมีเสียงปืนดังมาจากทางสะพานไทย-เบลเยี่ยมมีเสียงปืนดังมาจากทางอื่นหรือไม่  น.ส.ลลดา ยืนยันว่าไม่มีเสียงจากทิศทางอื่น

อัยการถาม น.ส.ชลลดา ก่อนการสืบพยานจะจบว่ามีกลุ่มชายชุดดำหรือบุคคลถืออาวุธปืนหรืออาวุธร้ายแรงเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ น.ส.ลลดา ตอบว่าไม่มีจากการที่ได้เดินดูบริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 แล้ว

แผนที่จุดเกิดเหตุใต้ทางด่วนพระราม 4 :


View Larger Map

 

เรียบเรียงจาก : บันทึกการไต่สวยการเสียชีวิตโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลอดยุทธศาสตร์ความปลอดภัยไซเบอร์ เผยครึ่งปีแฮคเว็บราชการพันกว่าครั้ง

Posted: 11 Jun 2013 02:25 AM PDT

 

11 มิ.ย.56 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2556 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

ภายหลังการประชุม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมด้วยนางสุรางคณา วายุภาพ ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.  ร่วมกันแถลง โดย นอ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า  ที่ประชุมให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1.การบูรณาการการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ  2.การสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซ เบอร์ 3.การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ

นอกจากนี้ยังเห็นชอบยุทธศาสตร์รอง 5 ด้าน อาทิ การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ข้อนี้จะเป็นกรอบการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้า โดยมี สพธอ.เป็นฝ่ายเลขานุการ นอกจากนี้จะได้มีการแจกสติกเกอร์ "ทำอย่างไรเมื่อเว็ปไซด์ถูกแฮก" ไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อรับมือกับกรณีที่ถูกแฮกเกอร์เข้าไปก่อกวน ซึ่งหากพบว่าถูกแฮกให้ดำเนินการใน 4 ขั้นตอนคือ 1.ห้ามแตะต้องหรือเข้าถึงเครื่องบริการ 2.ตัดการเชื่อมต่อเครือข่าย โดยถอดสายแลนออก 3.รายงานผู้บังคับบัญชา และ4.โทรปรึกษาศูนย์ฮอตไลน์ ThaiCERT 1212

นางสุรางคณา กล่าวว่า จากผลการสำรวจข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.56 พบว่าการเข้าไปแฮกข้อมูลทางเว็บไซด์ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งโดยไม่ได้ตั้งใจเพราะนึกสนุก และตั้งใจทำให้เกิดความเสียหาย หรือมุ่งเจาะข้อมูลเชิงลึก 1,475 ครั้ง มีมัลแวร์ หรือการก่อกวนระบบ 750 ครั้ง ส่งจดหมายหลอกลวงเอาเงินจากประชาชน 338 ครั้ง อย่างไรก็ตามยังถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ไม่เลวร้ายเกินไป เพียงแต่เราต้องทำให้ประชาชนได้รู้ถึงวิธีการรับมือที่ถูกต้อง ซึ่งขอเตือนประชาชนว่าอย่าพยายามดาวโหลดโปรแกรมฟรีต่าง ๆ โดยไม่รู้ที่มาที่ไป เพราะจะมีผู้ไม่พึงประสงค์สามารถเข้ามาแฮกข้อมูลส่วนตัวเราไปใช้ในทางที่ผิด หรือทำประโยชน์ได้

รมว.ไอซีทีอธิบายความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันภัยคุกคามด้านไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับหน่วยงานในประเทศไทย แม้ว่าไทยมีกฎหมายที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์มานานแล้ว แต่พบปัญหาในการบังคับใช้ และการบูรณาการในภาพรวม รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่หลักในการจัดทำนโยบายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามดังกล่าว ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งจากภายในและนอกประเทศ

"นายกฯ ได้แสดงความห่วงใยว่าปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งอาจจะใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง  และไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และความมั่นคงของประเทศ จึงกำชับให้คณะกรรมการฯเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

 

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์เดลินิวส์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลอดโรดแมปสันติภาพใต้ วางต้นร่าง5ข้อ วอนทุกฝ่ายเดินหน้า

Posted: 10 Jun 2013 07:09 PM PDT

ประชาสังคมชายแดนใต้ระดมสมอง เสนอ สังคมปรารถนาสันติภาพ เน้นการมีส่วนร่วม ยอมรับสถานะคู่เจรจา เปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย ให้สังคมเรียนรู้และหนุนเสริม พร้อมข้อเรียกร้องต่อรัฐ-ขบวนการ-ประชาชนและสื่อ ลุยวางกรอบเวลาจากพูดคุยสู่โต๊ะเจรจา แนะตั้งที่ปรึกษาทีมเจรจา-กรรมการสอบละเมิดกฎ จี้ BRN เปิดช่องให้ประชาชนบอกความต้องการ

10 มิถุนายน 2556 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ร่วมกับสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และภาคีเครือข่ายประชาสังคมชายแดนใต้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำร่างแผนที่นำทาง หรือ โรดแมป(Road Map)สันติภาพโดยภาคประชาสังคม ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มีตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 คน

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นกระบวนการพิจารณาร่างโรดแมปสันติภาพโดยภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี โดยเป็นการระดมความคิดเห็นต่อข้อเสนอในการจัดทำร่างโรดแมปดังกล่าว อันเป็นข้อเสนอเบื้องต้นที่ได้จากการระดมเครือข่ายประชาสังคมชายแดนใต้กว่า 25 คน เมื่อวันที่ 4 และ 8 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงความเป็นมาของร่างโรดแมปดังกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันมาก่อนหน้านี้ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการสันติภาพมีความยั่งยืน เพราะประชาชนมีความคาดหวังกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมามีการพูดคุยกันของเครือข่ายประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ถึงกรอบแนวคิดของการมีโรดแมปของกระบวนการสันติภาพว่า ควรจะเป็นอย่างไร เนื่องจากเกินครึ่งของกระบวนการสันติภาพทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จล้วนมีโรดแมปทั้งสิ้น

 

5 ข้อเบื้องต้นก่อนลงสู่ร่างโรดแมปสันติภาพ

สำหรับข้อเสนอเบื้องต้นที่มีการนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ มี 5 ข้อ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันระดมความเห็นและปรับปรุงเพิ่มเติมก่อนจะร่างเป็นโรดแมป ดังนี้

ข้อแรก ด้วยความมุ่งมั่นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ปรารถนาให้การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ BRN และกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อที่สอง เป็นการเสนอหลักการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธี 5 ข้อ ได้แก่ 1.กระบวนการสันติภาพต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและสังคมสาธารณะ 2.ทุกฝ่ายต้องยอมรับสถานะของคู่เจรจาอย่างเท่าเทียมกัน 3.เสนอการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ 4.ภาคประชาสังคมจะเป็นฝ่ายเชื่อมประสานกับทุกฝ่ายพร้อมสร้างตัวชี้วัดในการลดความรุนแรง และ 5.ให้สังคมเรียนรู้และหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยและการเจรจา

 

ข้อเสนอต่อรัฐ ขบวนการ ประชาชนและสื่อ

ข้อที่สาม เป็นข้อเสนอเพื่อให้การพูดคุยสามารถเดินหน้าจนบรรลุเป้าหมาย โดยมีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ คือ

ข้อเสนอต่อขบวนการ BRN ว่าต้องสื่อสารและเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจให้รัฐและประชาชนในเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ฝ่ายขบวนการเสนอ และต้องการให้มีสำนักงานของ BRN ในการติดต่อประสานงานทั้งในและนอกประเทศ

ข้อเสนอต่อรัฐไทย ให้ตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อเสนอของ BRN พร้อมกับเปิดพื้นที่/สร้างพื้นที่ในการสร้างบรรยากาศให้เป็นรูปธรรมในทุกระดับ

ข้อเสนอต่ออประชาชน คือ เรียนรู้ ติดตาม ตรวจสอบและการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการสร้างสันติภาพด้วยตัวเองและเปิดพื้นที่การพูดคุยและเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมด้วยเครื่องมือที่สร้างสรรค์

ข้อเสนอต่อสื่อ เสนอให้สื่อต้องมีองค์ความรู้ในกระบวนการสันติภาพภาคใต้ เพื่อให้การรายงานข่าวเป็นการหนุนเสริมกระบวนการพูดคุย/การเจรจา รวมทั้งการรายงานข่าวที่สอดรับกับกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินการอยู่

ข้อที่สี่ เป็นข้อเสนอต่อบทบาทของภาคประชาสังคมกับการสนับสนุนและหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ โดยบางส่วนของข้อเสนอในส่วนนี้ เช่น เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมสันติภาพ พัฒนาทักษะการทำงานของแต่ละองค์กรให้เชื่อมโยงกับกระบวนการสันติภาพ ติดตามและประเมินผลกระบวนการสันติภาพให้เป็นรูปธรรม องค์กร/ภาคประชาสังคมต้องกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดและสร้างความเชื่อมั่นแก่เครือข่ายในการสร้างสภาวะผู้นำในกิจกรรมสันติภาพและการเชื่อมโยงกับสาธารณะ อีกทั้งการสร้างกระบวนการวิพากษ์ตนเองอย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น

 

วางกรอบเวลา จากระยะการพูดคุยสู่ขั้นตอนการเจรจา

ข้อที่ห้า ข้อเสนอกรอบเวลา 3 ปี นับจากเดือนกรกฎาคม 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อให้การพูดคุย/เจรจาสันติภาพเป็นไปในทางลึกและกว้าง โดยแบ่งระยะเวลาเป็น 3 ช่วง คือ 2 ปีแรกเป็นระยะของกระบวนการพูดคุย และการยกระดับไปสู่การเจรจา

ทั้งนี้ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในกระบวนการนี้ โดยในช่วง 6 เดือน – 1 ปีแรก เป็นระยะของการสร้างความเข้าใจกระบวนการ ประเด็นการเจรจา การตอบคำถาม 5 ข้อของขบวนการ BRN การขยายความ "ความไม่เป็นธรรม" ที่ BRN เรียกร้อง และการเปิดพื้นที่ ขยายพื้นที่และเปิดเวทีพูดคุยกระบวนการสันติภาพที่ประชาชนสามารถนำเสนอประเด็นและความคิดเห็นต่อรัฐและต่อโต๊ะเจรจา

 

ตั้งที่ปรึกษาคณะเจรจา-กรรมการตรวจสอบละเมิดกฎ

ในระยะของการยกระดับสู่การเจรจา ได้มีข้อเสนอให้กำหนดกลไกคณะทำงาน กลไกที่ปรึกษาโดยตั้งคณะที่ปรึกษาร่วมอย่างเป็นทางการต่อกลุ่มที่ดำเนินการเจรจาทั้งสองฝ่าย พร้อมกับหารือข้อตกลงหรือประเด็นเจรจา

ในส่วนขั้นตอนการเจรจาที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อง 2 ปีนั้น ได้มีข้อเสนอให้มีคณะทำงานย่อยในแต่ละประเด็นที่มีการเจรจาเพื่อนำไปการบรรลุข้อตกลง เช่น การลดความรุนแรง เกิดข้อตกลงหยุดยิง การสร้างความเป็นธรรม การปฏิรูปฝ่ายความมั่นคง การเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงในประเด็นการศึกษา ภาษา อัตลักษณ์ จนนำไปสู่การได้กรอบข้อตกลงสันติภาพที่ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญ

ในช่วงเวลา 1 ปีหลังมีกรอบข้อตกลงเจรจา ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดกฎการเจรจา การปฏิบัติและติดตามให้ข้อตกลงสันติภาพเป็นรูปธรรม และเกิดพื้นที่ปลอดภัยจากฝ่ายคู่ขัดแย้งทุกพื้นที่

 

สร้างหลักประกันความปลอดภัยในการแสดงความเห็น

ส่วนในการเปิดเวทีระดมความเห็นและปรับเพิ่มข้อเสนอดังกล่าว มีการแบ่งกลุ่มย่อยผู้เข้าร่วมออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อให้เกิดความหลากหลายและการร่วมกันคิดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีข้อสรุปว่า ทุกกลุ่มเห็นพ้องต้องกันในแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนทั้งประเทศ

ส่วนประเด็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น มีการนำเสนอและแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยต้องการให้มีหลักประกันในความปลอดภัยจากการแสดงความคิดเห็นสาธารณะ โดยเชื่อว่าการเปิดพื้นที่ปลอดภัย จะทำให้ประชาชนกล้าแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้

 

ให้ BRN เปิดช่องทางให้ประชาชนสื่อถึงความต้องการ

ขณะที่ ข้อเสนอที่ให้ BRN จัดให้มีสำนักงานในการติดต่อประสานงาน มีการถกเถียงถึงความเป็นไปได้หรือไม่ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการมีสำนักงานคือการมีช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนหรือฝ่ายต่างๆ สามารถที่จะสื่อสารความต้องการสู่ขบวนการได้อย่างง่ายและเปิดกว้าง

ข้อเสนอในประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาสังคมกับการหนุนเสริมสันติภาพนั้นมีหลากหลายตั้งแต่ต้องการให้ข้อเสนอของภาพประชาสังคมเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ การผนึกกำลังขององค์กรประชาสังคมในพื้นที่ให้เข้มแข็งและต้องการให้องค์กรมีการรณรงค์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การมีแถลงการณ์แสดงเจตจำนง เป็นต้น

ส่วนข้อเสนออื่นๆ เช่น สื่อต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน เป็นกลางและรอบด้าน อีกทั้งข้อเสนอต่อมาเลเซียที่ต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์และต้องการให้มาเลเซียมีบทบาทเป็นตัวกลาง(mediator) ในกระบวนการเจรจา

 

หวังเป็นโรดแมปจากข้างล่างเสนอต่อทุกฝ่าย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นความคิดเห็นและข้อเสนอที่ขึ้นมาจากข้างล่าง โดยจะมีคณะทำงานรวบรวมความเห็นและข้อเสนอข้างต้น เพื่อนำไปปรับแก้ตามที่ประชุมได้ให้ความเห็น และจะนำเสนอโรดแมปฉบับนี้ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเจรจา อีกทั้งจะเสนอต่อประชาชนในพื้นที่ องค์กรประชาสังคม รวมทั้งจะเสนอต่อฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐด้วย และเชื่อว่าเนื้อหาข้อเสนอที่ได้ในครั้งจะสามารถสื่อสารถึงทุกฝ่ายได้

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมในช่วงบ่าย กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เห็นการระดมความเห็นของภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจากที่ตนได้รับรู้จากประชาชนโดยเฉพาะจากผู้นำชุมชนในพื้นที่นั้น ทุกคนคาดหวังว่าการพูดคุยสันติภาพจะต้องประสบความสำเร็จ และประชาชนในพื้นที่ต้องการความสงบต้องการให้ยุติความรุนแรงโดยเร็ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลอดโรดแมปสันติภาพใต้ วางต้นร่าง5ข้อ วอนทุกฝ่ายเดินหน้า

Posted: 10 Jun 2013 07:09 PM PDT

ประชาสังคมชายแดนใต้ระดมสมอง เสนอ สังคมปรารถนาสันติภาพ เน้นการมีส่วนร่วม ยอมรับสถานะคู่เจรจา เปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย ให้สังคมเรียนรู้และหนุนเสริม พร้อมข้อเรียกร้องต่อรัฐ-ขบวนการ-ประชาชนและสื่อ ลุยวางกรอบเวลาจากพูดคุยสู่โต๊ะเจรจา แนะตั้งที่ปรึกษาทีมเจรจา-กรรมการสอบละเมิดกฎ จี้ BRN เปิดช่องให้ประชาชนบอกความต้องการ

วันที่ 10 มิถุนายน 2556 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ร่วมกับสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และภาคีเครือข่ายประชาสังคมชายแดนใต้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำร่างแผนที่นำทาง หรือ โรดแมป(Road Map)สันติภาพโดยภาคประชาสังคม ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มีตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 คน

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นกระบวนการพิจารณาร่างโรดแมปสันติภาพโดยภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี โดยเป็นการระดมความคิดเห็นต่อข้อเสนอในการจัดทำร่างโรดแมปดังกล่าว อันเป็นข้อเสนอเบื้องต้นที่ได้จากการระดมเครือข่ายประชาสังคมชายแดนใต้กว่า 25 คน เมื่อวันที่ 4 และ 8 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงความเป็นมาของร่างโรดแมปดังกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันมาก่อนหน้านี้ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการสันติภาพมีความยั่งยืน เพราะประชาชนมีความคาดหวังกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมามีการพูดคุยกันของเครือข่ายประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ถึงกรอบแนวคิดของการมีโรดแมปของกระบวนการสันติภาพว่า ควรจะเป็นอย่างไร เนื่องจากเกินครึ่งของกระบวนการสันติภาพทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จล้วนมีโรดแมปทั้งสิ้น

 

5 ข้อเบื้องต้นก่อนลงสู่ร่างโรดแมปสันติภาพ

สำหรับข้อเสนอเบื้องต้นที่มีการนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ มี 5 ข้อ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันระดมความเห็นและปรับปรุงเพิ่มเติมก่อนจะร่างเป็นโรดแมป ดังนี้

ข้อแรก ด้วยความมุ่งมั่นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ปรารถนาให้การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ BRN และกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อที่สอง เป็นการเสนอหลักการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธี 5 ข้อ ได้แก่ 1.กระบวนการสันติภาพต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและสังคมสาธารณะ 2.ทุกฝ่ายต้องยอมรับสถานะของคู่เจรจาอย่างเท่าเทียมกัน 3.เสนอการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ 4.ภาคประชาสังคมจะเป็นฝ่ายเชื่อมประสานกับทุกฝ่ายพร้อมสร้างตัวชี้วัดในการลดความรุนแรง และ 5.ให้สังคมเรียนรู้และหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยและการเจรจา

 

ข้อเสนอต่อรัฐ ขบวนการ ประชาชนและสื่อ

ข้อที่สาม เป็นข้อเสนอเพื่อให้การพูดคุยสามารถเดินหน้าจนบรรลุเป้าหมาย โดยมีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ คือ

ข้อเสนอต่อขบวนการ BRN ว่าต้องสื่อสารและเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจให้รัฐและประชาชนในเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ฝ่ายขบวนการเสนอ และต้องการให้มีสำนักงานของ BRN ในการติดต่อประสานงานทั้งในและนอกประเทศ

ข้อเสนอต่อรัฐไทย ให้ตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อเสนอของ BRN พร้อมกับเปิดพื้นที่/สร้างพื้นที่ในการสร้างบรรยากาศให้เป็นรูปธรรมในทุกระดับ

ข้อเสนอต่ออประชาชน คือ เรียนรู้ ติดตาม ตรวจสอบและการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการสร้างสันติภาพด้วยตัวเองและเปิดพื้นที่การพูดคุยและเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมด้วยเครื่องมือที่สร้างสรรค์

ข้อเสนอต่อสื่อ เสนอให้สื่อต้องมีองค์ความรู้ในกระบวนการสันติภาพภาคใต้ เพื่อให้การรายงานข่าวเป็นการหนุนเสริมกระบวนการพูดคุย/การเจรจา รวมทั้งการรายงานข่าวที่สอดรับกับกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินการอยู่

ข้อที่สี่ เป็นข้อเสนอต่อบทบาทของภาคประชาสังคมกับการสนับสนุนและหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ โดยบางส่วนของข้อเสนอในส่วนนี้ เช่น เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมสันติภาพ พัฒนาทักษะการทำงานของแต่ละองค์กรให้เชื่อมโยงกับกระบวนการสันติภาพ ติดตามและประเมินผลกระบวนการสันติภาพให้เป็นรูปธรรม องค์กร/ภาคประชาสังคมต้องกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดและสร้างความเชื่อมั่นแก่เครือข่ายในการสร้างสภาวะผู้นำในกิจกรรมสันติภาพและการเชื่อมโยงกับสาธารณะ อีกทั้งการสร้างกระบวนการวิพากษ์ตนเองอย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น

 

วางกรอบเวลา จากระยะการพูดคุยสู่ขั้นตอนการเจรจา

ข้อที่ห้า ข้อเสนอกรอบเวลา 3 ปี นับจากเดือนกรกฎาคม 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อให้การพูดคุย/เจรจาสันติภาพเป็นไปในทางลึกและกว้าง โดยแบ่งระยะเวลาเป็น 3 ช่วง คือ 2 ปีแรกเป็นระยะของกระบวนการพูดคุย และการยกระดับไปสู่การเจรจา

ทั้งนี้ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในกระบวนการนี้ โดยในช่วง 6 เดือน – 1 ปีแรก เป็นระยะของการสร้างความเข้าใจกระบวนการ ประเด็นการเจรจา การตอบคำถาม 5 ข้อของขบวนการ BRN การขยายความ "ความไม่เป็นธรรม" ที่ BRN เรียกร้อง และการเปิดพื้นที่ ขยายพื้นที่และเปิดเวทีพูดคุยกระบวนการสันติภาพที่ประชาชนสามารถนำเสนอประเด็นและความคิดเห็นต่อรัฐและต่อโต๊ะเจรจา

 

ตั้งที่ปรึกษาคณะเจรจา-กรรมการตรวจสอบละเมิดกฎ

ในระยะของการยกระดับสู่การเจรจา ได้มีข้อเสนอให้กำหนดกลไกคณะทำงาน กลไกที่ปรึกษาโดยตั้งคณะที่ปรึกษาร่วมอย่างเป็นทางการต่อกลุ่มที่ดำเนินการเจรจาทั้งสองฝ่าย พร้อมกับหารือข้อตกลงหรือประเด็นเจรจา

ในส่วนขั้นตอนการเจรจาที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อง 2 ปีนั้น ได้มีข้อเสนอให้มีคณะทำงานย่อยในแต่ละประเด็นที่มีการเจรจาเพื่อนำไปการบรรลุข้อตกลง เช่น การลดความรุนแรง เกิดข้อตกลงหยุดยิง การสร้างความเป็นธรรม การปฏิรูปฝ่ายความมั่นคง การเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงในประเด็นการศึกษา ภาษา อัตลักษณ์ จนนำไปสู่การได้กรอบข้อตกลงสันติภาพที่ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญ

ในช่วงเวลา 1 ปีหลังมีกรอบข้อตกลงเจรจา ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดกฎการเจรจา การปฏิบัติและติดตามให้ข้อตกลงสันติภาพเป็นรูปธรรม และเกิดพื้นที่ปลอดภัยจากฝ่ายคู่ขัดแย้งทุกพื้นที่

 

สร้างหลักประกันความปลอดภัยในการแสดงความเห็น

ส่วนในการเปิดเวทีระดมความเห็นและปรับเพิ่มข้อเสนอดังกล่าว มีการแบ่งกลุ่มย่อยผู้เข้าร่วมออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อให้เกิดความหลากหลายและการร่วมกันคิดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีข้อสรุปว่า ทุกกลุ่มเห็นพ้องต้องกันในแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนทั้งประเทศ

ส่วนประเด็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น มีการนำเสนอและแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยต้องการให้มีหลักประกันในความปลอดภัยจากการแสดงความคิดเห็นสาธารณะ โดยเชื่อว่าการเปิดพื้นที่ปลอดภัย จะทำให้ประชาชนกล้าแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้

 

ให้ BRN เปิดช่องทางให้ประชาชนสื่อถึงความต้องการ

ขณะที่ ข้อเสนอที่ให้ BRN จัดให้มีสำนักงานในการติดต่อประสานงาน มีการถกเถียงถึงความเป็นไปได้หรือไม่ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการมีสำนักงานคือการมีช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนหรือฝ่ายต่างๆ สามารถที่จะสื่อสารความต้องการสู่ขบวนการได้อย่างง่ายและเปิดกว้าง

ข้อเสนอในประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาสังคมกับการหนุนเสริมสันติภาพนั้นมีหลากหลายตั้งแต่ต้องการให้ข้อเสนอของภาพประชาสังคมเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ การผนึกกำลังขององค์กรประชาสังคมในพื้นที่ให้เข้มแข็งและต้องการให้องค์กรมีการรณรงค์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การมีแถลงการณ์แสดงเจตจำนง เป็นต้น

ส่วนข้อเสนออื่นๆ เช่น สื่อต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน เป็นกลางและรอบด้าน อีกทั้งข้อเสนอต่อมาเลเซียที่ต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์และต้องการให้มาเลเซียมีบทบาทเป็นตัวกลาง(mediator) ในกระบวนการเจรจา

 

หวังเป็นโรดแมปจากข้างล่างเสนอต่อทุกฝ่าย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นความคิดเห็นและข้อเสนอที่ขึ้นมาจากข้างล่าง โดยจะมีคณะทำงานรวบรวมความเห็นและข้อเสนอข้างต้น เพื่อนำไปปรับแก้ตามที่ประชุมได้ให้ความเห็น และจะนำเสนอโรดแมปฉบับนี้ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเจรจา อีกทั้งจะเสนอต่อประชาชนในพื้นที่ องค์กรประชาสังคม รวมทั้งจะเสนอต่อฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐด้วย และเชื่อว่าเนื้อหาข้อเสนอที่ได้ในครั้งจะสามารถสื่อสารถึงทุกฝ่ายได้

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมในช่วงบ่าย กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เห็นการระดมความเห็นของภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจากที่ตนได้รับรู้จากประชาชนโดยเฉพาะจากผู้นำชุมชนในพื้นที่นั้น ทุกคนคาดหวังว่าการพูดคุยสันติภาพจะต้องประสบความสำเร็จ และประชาชนในพื้นที่ต้องการความสงบต้องการให้ยุติความรุนแรงโดยเร็ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้นำกองทัพรัฐฉานหารือ ปธน. "เต็ง เส่ง" เรียกร้องให้ทำตามข้อตกลงหยุดยิง

Posted: 10 Jun 2013 07:08 PM PDT

พล.ท.เจ้ายอดศึก หารือประวัติศาสตร์กับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง โดยเรียกร้องให้ทำตามข้อตกลงหยุดยิง รวมทั้งเรื่องปักปันพื้นที่ควบคุม ขณะที่ประธานาธิบดีพม่าขอร้องให้กองทัพรัฐฉานอย่าแยกตัวออกจากสหภาพพม่า

(ที่มาของภาพ: เพจ Shan State Army)

สำนักข่าวฉาน และสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) รายงานว่า เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า และผู้นำกองทัพรัฐฉาน (SSA/RCSS) พล.ท.เจ้ายอดศึก ได้พบปะกันที่เนปิดอว์ โดยหนึ่งในคณะผู้แทนจากรัฐฉาน ได้บอกกับสำนักข่าวฉานว่า การพบปะกันจะมีการหารือถึงข้อตกลง 17 ข้อที่ได้หารือก่อนหน้านี้กับองค์กรประชาสังคมในรัฐฉาน โดยเป็นข้อเสนอหลังมีการหารือกันที่เชียงใหม่ เมื่อสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้ในระหว่างที่คณะเจรจาของรัฐบาลพม่าพบปะกับผู้แทนของกองทัพรัฐฉาน ผู้แทนคนหนึ่งของกองทัพรัฐฉานได้มอบพระพุทธรูป และชุดประจำชาติไทใหญ่ให้กับประธานาธิบดีเต็ง เส่งด้วย โดยหลังการรับมอบประธานาธิบดีเต็ง เส่งได้นำมาสวมทับเสื้อของตนด้วย

โดย DBV รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของโฆษกกองทัพรัฐฉาน ที่ระบุด้วยว่า ในระหว่างการหารือครั้งสำคัญดังกล่าว ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เรียกร้องต่อ พล.ท.เจ้ายอดศึก ให้ดำเนินความร่วมมือต่อสหภาพพม่าต่อไปไม่ว่าจะดีหรือร้าย และกล่าวว่ากองทัพรัฐฉานต้องไม่พยายามแยกตัวออกจากสหภาพพม่า

"ประธานาธิบดีมุ่งความสนใจไปที่หลักการไม่แยกตัว เพื่อไม่ให้รัฐฉานแยกออกจากสหภาพพม่า และดำเนินความร่วมมือต่อไปไม่ว่าจะดีหรือร้าย" จายหลาวแสง โฆษกกองทัพรัฐฉานกล่าว

"พวกเราตอบรับไปว่า กองทัพรัฐฉานจะร่วมมือกับรัฐบาลสหภาพพม่าเพื่อนำสันติภาพกลับคืนสูงประเทศ และเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว"

DVB รายงานด้วยว่า พล.ท.เจ้ายอดศึก ได้เรียกร้องกับประธานาธิบดีพม่าว่าให้พิจารณาข้อตกลงหยุดยิงที่ได้ทำไว้อย่างมีเกียรติ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติในเรื่องการปักปันเขตแดน การแต่งตั้งคณะกรรมการสังเกตการณ์หยุดยิงรวมทั้งการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน

"พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าวว่ากองทัพรัฐฉาน เข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพเพื่อแสดงการตอบรับข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูให้กับแนวทางเจรจาทางการเมือง" โฆษกของกองทัพรัฐฉานกล่าว

นอกจากนี้คณะผู้แทนของกองทัพรัฐฉาน 22 คน ได้นำข้อเสนอขององค์กรประชาสังคมในรัฐฉาน มาหารือในระหว่างการพบปะประธานาธิบดีพม่าด้วย

โดยหนึ่งในข้อเสนอจากองค์กรประชาสังคมก็คือ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้ กลุ่มชาติพันธุ์จากรัฐฉานทั้งที่เป็นแรงงานย้ายถิ่นและผู้ที่ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้มีบัตรประจำตัว เพื่อจะได้ถูกนับรวมอยู่ในสำมะโนประชากรในปี 2557

บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ระบุด้วยว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งหนึ่งที่คณะผู้แทนจากกองทัพรัฐฉานต้องการ แต่จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีความเชื่อถือระหว่างกันเสียก่อน ดังนั้นคณะผู้แทนจึงมาเนปิดอว์เพื่อหารือเป็นประการแรก

ด้านผู้แทนเจรจาของรัฐบาลพม่า นายหล้า หม่อง ส่วย กล่าวว่าประธานาธิบดีให้คำมั่นว่าจะมีการหารือกันต่อในอนาคตกับคณะทำงานด้านสันติภาพของรัฐบาลพม่า เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกองทัพรัฐฉาน

อนึ่ง DVB รายงานเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลพม่ากับกองทัพรัฐฉานยังมีข้อตกลงหยุดยิงเบื้องต้นในเดือนธันวาคมปี 2554 แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายยังคงมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการโจมตีกองทัพรัฐฉานอย่างหนักบริเวณพื้นที่ชายแดนจีน-พม่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และทำให้มีผู้อพยพกว่า 2,000 คน และในจำนวนนี้ยังคงอยู่บริเวณชายแดนจีน

ขณะเดียวกัน จากรายงานของสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ระบุด้วยว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพรัฐบาลพม่าราว 200 นาย ยังคงปะทะกับกองทัพรัฐฉานเหนือ อีกกองกำลังหนึ่งในรัฐฉาน ซึ่งอยู่ภายใต้พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSA/SSPP) ทั้งนี้กลุ่มดังกล่าวก็เพิ่งทำข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลเช่นกัน

และนอกจากการพบปะกับประธานาธิบดีพม่าแล้ว ยังมีรายงานด้วยว่าผู้นำกองทัพรัฐฉานยังมีกำหนดพบกับนักการเมือง รวมทั้งผู้นำทางการเมืองอย่างออง ซาน ซูจี และองค์กรประชาสังคมในพม่าด้วย นอกจากนี้มีรายงานว่าผู้นำรัฐฉานมีแผนที่จะเยือนมัณฑะเลย์ และเมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉานด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ เอ็ดเวิร์ด สโนวเดน ผู้เปิดโปงโครงการ PRISM ของสหรัฐฯ

Posted: 10 Jun 2013 06:40 PM PDT

เดอะ การ์เดียน สัมภาษณ์เปิดใจอดีตผู้ช่วย CIA และคนทำงานร่วมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) ถึงแรงจูงใจที่เขาเลือกเปิดโปงข้อมูลลับสะเทือนวงการของโครงการสอดแนม และอนาคตที่ยังน่าเป็นห่วงของตัวเขาเองที่ไม่ยอมซ่อนตัวในเงามื

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ได้สัมภาษณ์ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ชายอายุ 29 ปี ผู้นำข้อมูลของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) เรื่องโครงการลักลอบสอดแนมข้อมูลมาเผยแพร่ เขามีแรงจูงใจอะไร อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร และทำไมเขาถึงไม่เลือกที่จะซ่อนตัว
 
เอ็ดเวิร์ด สโนวเดน เป็นอดีตเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคนิคขององค์กรหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ และปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานของบริษัทการทหาร Booz Allen Hamilton โดนก่อนหน้านี้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สโนวเดนได้ทำงานอยู่ในองค์กรเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติหลายแห่งในฐานะพนักงานของบริษัทรับจ้างทางการทหารรวมถึงบริษัท Dell ด้วย
 
โดยหลังจากที่สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ได้สัมภาษณ์ข้อมูลของสโนวเดนมาหลายวัน ในที่สุดสโนวเดนก็ขอร้องให้เปิดเผยตัวเขาในสื่อ โดยสโนวเดนบอกว่าตั้งแต่ช่วงที่เขาตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลเอกสารลับสู่สาธารณะ เขาก็ไม่คิดที่จะปกปิดชื่อของตัวเอง "ผมไม่มีเจตนาที่จะหลบซ่อนตัวเอง เพราะผมรู้ว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด" สโนวเดนกล่าว
 
นอกจากแดเนียล เอลส์เบิร์ก และ แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง แล้ว สโนว์เดน กลายเป็นหนึ่งในผู้เผยแพร่ข้อมูลลับจากภายในคนสำคัญอีกคนหนึ่งของของสหรัฐฯ จากการที่เขาเผยแพร่ข้อมูลจากองค์กรที่เก็บงำความลับมากที่สุดในโลกอย่าง NSA  (แดเนียล เอลส์เบิร์ก คือผู้เคยถูกกล่าวหาเรื่องปล่อยข้อมุลในสงครามเวียดนามปี 1971 และแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง เป็นนายทหารของสหรัฐฯ ที่ส่งข้อมูลทางการให้วิกิลีกส์
 
ในข้อความที่สโนวเดนแนบมาด้วยพร้อมกับข้อมูลชุดแรกเขาเขียนว่า "ผมเข้าใจว่าผมจะต้องถูกทำร้ายจากการกระทำของผมเอง" แต่เขาก็จะรู้สึกพึงพอใจหากได้เปิดโปงกลุ่มชนชั้นนำผู้มีอำนาจและไม่ถูกลงโทษที่ปกครองโลกนี้อยู่
 
แม้ว่าสโนวเดนจะมีความมุ่งมั่นในการเปิดเผยตัวเอง แต่เขาก็ปฏิเสธอยู่เสมอว่าไม่อยากตกเป็นเป้าความสนใจของสื่อ "ผมไม่ได้ต้องการเรียกร้องความสนใจ เพราะผมไม่ได้ต้องการให้มีคนนำเสนอเรื่องของตัวผม ผมต้องการให้พวกเขานำเสนอว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังทำอะไรอยู่"
 
สโนวเดนบอกว่าเขาไม่กลัวผลที่ตามมาหลังจากเขาเปิดเผยตัวต่อสาธารณะ เขาหวังว่ามันจะเป็นการดึงความสนใจมาที่สิ่งที่เขาต้องการเปิดเผย "ผมรู้ว่าสื่อชอบทำให้เรื่องการถกเถียงทางการเมืองกลายเป็นเรื่องเชิงตัวบุคคล และผมรู้ว่ารัฐบาลจะต้องทำให้ผมกลายเป็นตัวร้ายแน่ๆ"
 
"ผมต้องการให้มีการเน้นกล่าวถึงเรื่องเอกสารและการอภิปรายซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้พลเมืองทั่วโลกหันมาสนใจว่า โลกที่เราอยู่มันเป็นอย่างไรกันแน่" สโนวเดนกล่าว "แรงจูงใจของผมมีอยู่อย่างเดียวคือการให้ข้อมูลแก่สาธารณชน ว่ามีเรื่องอะไรที่กระทำโดยอ้างพวกเขาบ้าง มีเรื่องอะไรที่กระทำแล้วสิ่งไม่ดีต่อพวกเขาบ้าง"
 
สโนวเดนเปิดเผยเรื่องส่วนตัวว่า ตัวเขาเองมีชีวิตที่สะดวกสบาย มีเงินเดือนอยู่ที่ราว 200,000 ดอลลาร์ (ราว 6 ล้านบาท) มีแฟนหญิงที่อาศัยร่วมกันที่บ้านในฮาวาย มีงานการที่มั่นคง มีครอบครัวที่เขารัก "แต่ผมก็พร้อมจะสละทั้งหมดนี้เพราะว่าจิตสำนึกด้านดีในตัวผมไม่ยอมให้รัฐบาลอเมริกันทำลายสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพบนอินเตอร์เน็ต และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วโลก จากเครื่องมือสอดแนมที่พวกเขาแอบสร้างขึ้น"
 
 
"ผมไม่กลัว เพราะนี่คือทางที่ผมเลือก"
 
เมื่อสามสัปดาห์ที่แล้ว สโนวเดนได้เตรียมการครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเปิดโปงเรื่องราวจนเป็นข่าวดัง ที่สำนักงาน NSA ในฮาวายที่เขาทำงานอยู่ เขาได้ทำสำเนาเอกสารชุดสุดท้ายที่เขาต้องการจะเผยแพร่
 
จากนั้นเขาก็บอกกับหัวหน้างาน NSA ว่าเขาอยากลาพักสักสองสัปดาห์เพื่อเข้ารักษาโรคลมชัก ซึ่งเขามีอาการของโรคนี้จริงตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว
 
เขาเก็บกระเป๋า บอกแฟนสาวว่าเขาจะไปที่อื่นสองสัปดาห์ แม้เขาจะรู้สึกว่าตัวเขาเองก็ไม่ค่อยแน่ใจในเหตุผล "เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดกับใครก็ตามที่ทำงานอยู่ในหน่วยข่าวกรองมานานเป้นสิบปี"
 
ในวันที่ 20 พ.ค. สโนวเดนขั้นเครื่องบินไปฮ่องกงและอาศัยอยู่ที่นั่น เขาบอกว่าที่เขาเลือกฮ่องกงเพราะชาวฮ่องกงมีจิตสำนึกในเรื่องเสรีภาพการแสดงความเห็นและเรื่องสิทธิของนักต่อต้านทางการเมือง และเพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นไม่กี่แห่งในโลกที่จะสามารถต้านทานการควบคุมของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้
 
ตลอดสามสัปดาห์ สโนวเดนขลุกตัวอยู่แต่ในห้องพักของโรงแรม สั่งอาหารมาทานในห้อง เขาบอกว่าเขาออกจากห้องเพียงแค่สามครั้ง เขารู้สึกกังวลว่าจะถูกแอบตามตัว เขานำหมอนหลายใบมาวางไว้หน้าห้องเพื่อป้องกันไม่ให้มีใครมาแอบดักฟัง เขาเอาเสื้อคลุมสีแดงคลุมเหนือหัวและคอมพิวเตอร์เวลาใส่รหัสเผื่อว่าจะมีกล้องที่ซ่อนอยู่คอยจับตาดู
 
เดอะ การ์เดียนบอกว่า แม้เรื่องดังกล่าวจะฟังดูเหมือนคนเป็นโรคหวาดระแวง แต่สโนวเดนก็มีเหตุผลที่จะกลัวเรื่องพวกนี้ จากการที่เขาทำงานในหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ มาเกือบสิบปี ทำให้เขารู้ว่าองค์กรสอดแนมที่ใหญ่ที่สุดคือสหรัฐฯ NSA และรัฐบาลที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกกำลังตามตัวเขา
 
หลังจากที่ข้อมูลถูกเผยแพร่ออกมาแล้ว เอ็ดเวิร์ด สโนวเดน ก็คอยดูโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ได้รับรู้เรื่องคำขู่และคำสัญญาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะหาตัวคนที่เปิดโปงเรื่องนี้มาลงโทษ และสโนวเดนก็รู้ดีว่าสหรัฐฯ มีเทคโนโลยีซับซ้อนที่ทำให้การตามตัวเขาเป็นเรื่องง่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก NSA และเจ้าหน้าที่รายอื่นๆ ไปหาเขาที่บ้านพักสองครั้ง และติดต่อกับแฟนสาวของเขาได้แล้ว แต่เขาเชื่อว่าน่าจะมาจากการที่เขาขาดงานมากกว่าการที่เขาต้องสงสัยเรื่องเอกสารที่รั่วไหล
 
"ทางเลือกไหนก็แย่หมด" สโนวเดนกล่าวถึงสภาพของเขาในตอนนี้ ทางการสหรัฐฯ อาจเริ่มกระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งอาจมีความยุ่งยาก ความยื้ดเยื้อ และอะไรที่คาดเดาไม่ได้จากรัฐบาลสหรัฐฯ หรือทางรัฐบาลจีนก็อาจจะนำตัวเขาไปสอบสวน มองว่าเขาเป็นผู้มีข้อมูลสำคัญ หรือเขาอาจจะแค่ถูกลักพาตัวโยนขึ้นเครื่องบินกลับไปยังสหรัฐฯ
 
"ใช่ ผมอาจจะถูกจับโดยซีไอเอ อาจจะมีคนตามล่าตัวผม หรือเป็นกลุ่มบุคคลที่สาม พวกเขาทำงานใกล้ชิดกับประเทศอื่นๆ จำนวนหนึ่ง หรืออาจจะจ้างมาเฟียจีน ไม่ก็หน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง" สโนวเดนกล่าว
 
"มีสำนักงาน CIA อยู่ไม่ไกลจากนี้ เป็นสถานกงสุลในฮ่องกง และผมแน่ใจว่าวพกเขาจะยุ่งมากๆ ในสัปดาห์ถัดไป และนั่นเป็นเรื่องชวนกังวลสำหรับผมไปตลอดชีวิต มันจะยาวนานขนาดไหน"
 
จากที่เห็นรัฐบาลของโอบาม่าสั่งดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่แฉความลับภายในระดับที่มากว่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ เขาคิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ คงพยายามอย่างสุดแรงในการลงโทษเขา แต่เขาก็พูดนิ่งๆ ว่าเขาไม่กลัว เพราะนี่เป็นทางที่เขาเลือก เขาเดาไว้แล้วว่ารัฐบาลจะดำเนินการสืบสวน ตัวเขาอาจจะถูกดำเนินคดีจากกฏหมายจารกรรมและในข้อหาช่วยเหลือศัตรู ซึ่งถูกนำมาใช้กับใครก็ตามที่เปิดโปงครามจริง
 
เดอะ การ์เดียน กล่าวว่ามีอยู่ช่วงเดียวที่เขาแสดงอารมณ์ในการสัมภาษณ์หลายชั่วโมง คือช่วงที่เขาคิดคำนึงถึงผลกระทบต่อครอบครัวจากสิ่งที่เขาเลือก ซึ่งคนในครอบครัวเขาหลายคนทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ "สิ่งเดียวที่ผมกลัวคือผลร้ายที่จะเกิดแก่ครอบครัวผม ซึ่งผมช่วยเหลืออะไรไม่ได้อีกแล้ว เรื่องนี้ทำให้ผมนอนไม่หลับตอนกลางคืน" สโนวเดนพูดเรื่องนี้ทั้งน้ำตา
 
 
"คุณไม่สามารถรอให้คนอื่นเป็นคนทำ"
 
ก่อนหน้านี้สโนวเดนไม่คิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะทำอะไรขัดกับแนวคิดทางการเมืองของเขา สโนวเดนเติบโตมาในอลิซาเบธซิตี้ นอร์ทแคโรไลนา ต่อมาครอบครัวเขาก็ย้ายไปที่แมรี่แลนด์ ใกล้กับสถานบัญชาการของ NSA ในฟอร์ดมี้ดสโนวเดนไม่ใช่คนเรียนเก่ง เขาเรียนไม่จบระดับไฮสคูล (แต่ต่อมาสอบเทียบได้)
 
จนถึงในปี 2003 เขาก็เข้าเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ และเริ่มฝึกเพื่อเข้าร่วมกับหน่วยรบพิเศษ ในตอนนั้นเขามีหลักการในตัวเองแบบเดียวกันกับตอนที่เขาเปิดโปงข้อมูลของรัฐบาล เขาบอกว่า "ผมต้องการร่วมรบในสงครามอิรักเพราะผมรู้สึกว่า ผมมีพันธกิจในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่จะต้องปลดปล่อยผู้คนออกจากการกดขี่"
 
แต่หลายครั้งที่แนวคิดอุดมคติของเขาถูกลบเลือนไปในช่วงฝึก เขาบอกว่าผู้ฝึกของเขาส่วนมากมักจะพูดย้ำเรื่องการสังหารคนอาหรับ ไม่ได้พูดถึงการช่วยเหลือผู้คน และหลังจากสโนวเดนขาหักขากการฝึกซ้อม เขาก็ถูกไล่ออก
 
หลังจากนั้นสโนวเดนก็เข้าไปทำงานในสำนักงาน NSA เป็นยามรักษาความปลอดภัยให้กับสำนักงานลับแห่ง
หนึ่งในมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ จากนั้นเขาก็ไปทำงานให้ CIA เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้านไอที ความเข้าใจเรื่องอินเตอร์เน็ตและความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ ทำให้เขาได้เลื่อนขั้นเร้วมากสำหรับคนที่ไม่มีอนุปริญญามัธยมศึกษา
 
ในปี 2007 CIA ให้เขาไปประจำการกับนักการทูตสายลับในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หน้าที่ของเขาคือควบคุมดูแลระบบเครือข่ายความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ ทำให้เขาสามารถเข้าถึงเอกสารลับได้หลายฉบับ ความสามารถเข้าถึงในตอนนั้นรวมถึงการใช้เวลาอยู่กับเจ้าหน้าที่ CIA ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องจากสิ่งที่เขาได้รับรู้
 
สโนวเดนเล่าถึงวิธีการทำงานของ CIA ในตอนที่พวกเขาพยายามล้วงตีซี้คนทำงานธนาคารสวิสเพื่อล้วงข้อมูลด้านการธนาคาร เขาบอกว่า CIA ใช้วิธีการจงใจทำให้คนทำงานธนาคารเมา และยุให้เขาขับรถกลับบ้านเอง แต่เมื่อคนทำงานธนาคารถูกจับข้อหาขับรถขณะมึนเมา สายลับที่ผูกมิตรด้วยก็เสนอว่าจะช่วยเหลือเขาทำให้ตีซี้กับนายธนาคารสำเร็จ
 
"สิ่งที่ผมเห็นในเจนีวาหลายเรื่องทำให้ผมตาสว่าง ทำให้ผมมองเห็นว่ารัฐบาลเราทำงานกันยังไง และส่งผลกระทบอะไรกับโลกบ้าง" สโนวเดนกล่าว "ผมรู้ตัวว่า ผมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เป็นอันตรายมากกว่าจะเป็นประโยชน์"
 
สโนวเดนบอกว่าในช่วงที่ทำงานกับ CIA ในกรุงเจนีวานั้นเองเป็นครั้งแรกที่เขาคิดจะเปิดโปงความลับของรัฐบาล แต่เขายังเลือกจะไม่ทำในตอนนั้นด้วยเหตุผลสองประการ
 
เหตุผลประการแรกคือ ความลับของ CIA เป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาชน ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเครื่องมือหรือระบบ ดังนั้นเขาจึงรู้สึกไม่สบายใจนักถ้าหากจะเปิดเผยออกมา ซึ่งเขาคิดว่ามันจะทำให้คนอื่นเป็นอันตราย เหตุผลที่สองคือ การเลือกตั้งที่โอบาม่าได้รับชัยชนะในปี 2008 ทำให้เขามีความหวังว่าจะมีการปฏิรูปจริงจัง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปิดโปง
 
ในปี 2009 สโนวเดนก็ออกจาก CIA และเข้ารับทำงานกับบริษัทรับจ้างทางการทหารที่มอบหมายให้เขาไปประจำอยู่สำนักงานของ NSA ที่ฐานทัพในญี่ปุ่น ระหว่างนั้นเขาก็คอยดูโอบาม่าดำเนินนโยบายที่เขาคิดว่าน่าจะถูกยุบไปแล้ว ทำให้เขารู้สึกเข้มแข็งขึ้น
 
สโนวเดนบอกว่า บทเรียนจากประสบการณ์ในครั้งนั้นคือ "คุณไม่สามารถรอให้คนอื่นกระทำ ผมมองหาผู้นำมาโดยตลอด แต่ผมก็มารู้ทีหลังว่าจริงๆ แล้วผู้นำคือคนที่เริ่มต้นทำก่อน"
 
สามปีหลังจากนั้นเขาก็ได้เรียนรู้ปฏิบัติการสอดแนใของ NSA ครอบคลุมมาก สโนวเดนบอกว่า "พวกเขาตั้งใจจะทำให้การสื่อสารทุกคำ พฤติกรรมทุกอย่างในโลกนี้ เป็นที่รับรู้ของพวกเขาได้"
 
สโนวเดนมองว่าอินเตอร์เน็ตเป็นประดิษฐกรรมที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เขาเล่าว่าช่วงวัยรุ่นเขาใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนจากหลากหลายมุมมอง ในแบบที่เขาไม่สามารถประสบพบเจอได้ด้วยตนเอง แต่ในตอนนี้คุณค่าของอินเตอร์เน็ต รวมถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวขั้นพื้นฐานกำลังถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วจากระบบสอดแนม
 
"ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นฮีโร่" สโนวเดนกล่าว "เพราะสิ่งที่ผมทำเป็นเรื่องผลประโยชน์สำหรับตัวผมเอง ผมไม่อยากอยู่ในโลกที่ไม่มีสิทธิความเป็นส่วนตัว ทำให้ไม่มีที่ทางสำหรับสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์"
 
เมื่อเขารู้แล้วว่าเหลือเวลาอีกไม่นานที่ระบบสอดแนมของ NSA จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เขาจึงเริ่มทำการเปิดโปง สโนวเดนบอกว่าสิ่งที่ NSA ทำเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย
 
 
มันเป็นเรื่องของหลักการ
 
แม้สโนวเดนจะมีความเชื่อที่แกร่งกล้า แต่ก็ยังมีคำถามว่าทำไมเขาถึงทำมัน ทำไมเขาถึงยอมสละเสรีภาพและวิถีชีวิตแบบที่มีอภิสิทธิ์ของเขา สโนวเดนบอกว่ามันมีสิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องเงิน หากเขามีแรงจูงใจเรื่องเงินแล้วเขาคงขายข้อมูลให้กับประเทศใดๆ ก็ได้ แล้วก็ร่ำรวยไป แต่สำหรับเขาแล้ว มันเป็นเรื่องของหลักการ
 
"รัฐบาลมีอำนาจที่ไม่ควรจะมี ไม่มีการตรวจสอบโดยประชาชน ทำให้เกิดคนแบบผมที่จะต้องล่วงล้ำทำเกินกว่าที่เขาอนุญาตไว้" สโนวเดนกล่าว
 
แนวคิดของสโนวเดนเรื่องเสรีภาพบนโลกอินเตอร์เน็ตปรากฏตามสติกเกอร์ที่เขาติดไว้บนเครื่อง มีสติกเกอร์ตัวหนึ่งอ่านว่า "เราสนับสนุนสิทธิในโลกออนไลน์ : โดย มูลนิธิอิเล็กโทรนิคฟรอนเทียร์" ขณะที่สติกเกอร์อื่นๆ แสดงความชื่นชมองค์กรที่สร้างการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบนิรนามเช่น Tor Project
 
เดอะ การ์เดียน บอกว่าสโนวเดนเป็นคนเปิดเผยตัวอย่างตรงไปตรงมา เมื่อนักข่าวถามถึงความน่าเชื่อถือของเขา เขาก็แสดงตัวออกมาหมดทั้งบัตรข้าราขการ, หมายเลขไอดีของ CIA, หนังสือเดินทางของนักการทูตที่หมดอายุแล้ว และถ้าหากถามเรื่องส่วนตัว เขาก็จะตอบออกมา
 
เดอะ การ์เดียน กล่าวในบทสัมภาษณ์อีกว่า สโนวเดนมีบุคลิกเรียบง่าย เงียบ ฉลาด และดูมีความสุขเวลาพูดเรื่องเทคนิคคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการสอดแนม ซึ่งเป็นข้อมูลที่คนในระดับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นจะเข้าใจได้ แต่สโนวเดนก็ยังแสดงท่าทางกระตือรือร้นเวลาพูดถึงคุณค่าของความเป็นส่วนตัว และการที่เขาเสียความรู้สึกจากพฤติกรรมขององค์กรข่าวกรอง
 
สโนวเดนบอกอีกว่าเขาชื่นชมเอสเบิร์กและแมนนิ่งมาก แต่ก็บอกว่าเขามีอย่างหนึ่งที่ต่างจากนายทหารแมนนิ่งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาลช่วงเดียวกับที่สโนวเดนปล่อยข้อมูลพอดี ตรงที่เขาเป็นคนเลือกเอกสารให้กับนักข่าวว่าจะเผยแพร่หรือไม่เผยแพร่อะไร
 
"ผมตัดเลือกเอกสารแต่ละชิ้นอย่างระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกชิ้นจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ" สโนวเดนกล่าว "มีเอกสารอีกหลายชิ้นที่อาจจะสร้างแรงสะเทือนอย่างใหญ่หลวงแต่ผมก็ไม่ได้นำมาเผยแพร่ เพราะการทำร้ายคนอื่นไม่ใช่เป้าหมายของผม เป้าหมายของผมคือความโปร่งใส"
 
สำหรับเรื่องอนาคต เขาหวังว่าการรับรู้ของผู้คนในเรื่องเอกสารที่รั่วไหลออกไปจะเป็นการปกป้องตัวเขาเองได้บ้าง เพราะมันทำให้ "พวกนั้น" ทำอะไรสกปรกได้ยากขึ้น ขณะเดียวกันเขาก็หวังว่าจะมีความเป็นไปได้ที่เขาจะมีที่ลี้ภัยในไอซ์แลนด์ เนื่องจากเป้นประเทศที่มีชื่อด้านเสรีภาพบนอินเตอร์เน็ต ทว่า เขาก็รู้ว่าความหวังอาจจะไม่เป็นจริง
 
แต่หลังจากเกิดแรงกดดันและข้อถกเถียงทางการเมืองในสัปดาห์แรกหลังจากที่เขานำเสนอเรื่องนี้ สโนวเดนก็บอกว่า "ผมรู้สึกพอใจที่เห้นว่ามันมีค่าที่จะทำ ผมไม่เสียใจที่ทำลงไป"
 
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Edward Snowden: the whistleblower behind the NSA surveillance revelations, The Guardian, 09-06-2013
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น