โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หวั่นกระทบความสัมพันธ์อิหร่าน 'เนวิน' ปรามแฟนบอลโพสต์เฟซบุ๊คหมิ่นศาสนา

Posted: 21 Jun 2013 10:18 AM PDT

'เนวิน ชิดชอบ' ออกแถลงการณ์ปรามแฟนบอลหยุดพฤติกรรมไม่เหมาะสม วอนหยุดโพสต์ภาพ-ข้อความหมิ่นศาสนาอิสลามไปยังเฟซบุ๊กของทีมคู่แข่ง Esteghlal F.C. หวั่นอาจบานปลายไปกระทบความสัมพันธ์อันดีของไทยและอิหร่าน

 
 
21 มิ.ย. 56 - สืบเนื่องจากการที่มีแฟนบอลชาวไทยได้โพสต์ภาพและข้อความไม่เหมาะสมไปยังแฟนเพจเฟซบุ๊กของทีม Esteghlal F.C. จากประเทศอิหร่าน ซึ่งทั้งสองทีมจะโคจรมาพบกันในรายการเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 2013 รอบ 8 ทีมสุดท้าย นายเนวิน ชิดชอบ ได้ออกแถลงการณ์ "Dear Buriram United fans and Thai football fans, เรียนแฟนบอลชาวไทยทุกท่าน" ปรามแฟนบอลหยุดพฤติกรรมไม่เหมาะสม เนื่องจากหวั่นว่าอาจบานปลายไปกระทบความสัมพันธ์อันดีของไทยและอิหร่าน
 
โดยแถลงการณ์นี้เปิดเผยในเว็บ www.buriramunited.com หลังพบกองเชียร์บางกลุ่มมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โพสต์ภาพและข้อความหมิ่นศาสนาอิสลามไปยังเฟซบุ๊กของทีมคู่แข่ง Esteghlal F.C.  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
เรียน แฟนบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ แฟนบอลชาวไทย ทุกท่าน
 
เนื่องจากขณะนี้ มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ได้เข้าไปโพสต์ข้อความ และภาพที่ไม่เหมาะสม ในแฟนเพจของสโมสรเอสเตกาลห์ ประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นคู่แข่งของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในรายการ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก รอบ 8 ทีมสุดท้าย
 
สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ขอเรียนชี้แจงว่าสโมสรฯ ไม่มีส่วนร่วม ไม่เคยสนับสนุน และไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบุคคลกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สโมสรฯ ขอเป็นตัวแทนแฟนบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ แฟนบอลชาวไทยทุกคน กล่าวคำขออภัย ต่อสโมสรฟุตบอลเอสเตกาลห์ และ ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทุกท่าน ที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวข้างต้น
 
พร้อมกันนี้ สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ขอประณามบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น ว่าท่านคือบุคคลที่มีเจตนาร้ายต่อสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และมีเจตนาร้ายต่อความสัมพันธ์อันดีทุกๆ ด้านระหว่างไทยกับอิหร่าน ซึ่งบุคคลที่มีพฤติกรรมและเจตนาเช่นนี้ สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่ยินดีที่จะรับเป็นแฟนคลับของสโมสรฯ และจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะสกัดกั้นไม่ให้ท่านใช้แฟนเพจของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม และ เลวร้าย เช่นที่ปรากฎแล้ว
 
สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ใคร่ขอร่วมมือและวิงวอนขอร้องบุคคลกลุ่มดังกล่าว หยุดการกระทำดังกล่าวทันที เพราะสิ่งที่ท่านกระทำไปนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และ ขอความร่วมมือแฟนบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทุกท่าน บอกกล่าวไปถึงเพื่อนๆ ของท่าน ด้วยว่า การแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็ตาม ต้องให้ความเคารพ ให้เกียรติคู่แข่งขัน ต้องไม่นำสิ่งเคารพ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ และ ข้อห้ามทางศาสนา ประเพณี มาล้อเลียน เสียดสี เหยียดหยาม เนื่องจากการกระทำด้วยความคึกคะนองเช่นนั้น อาจจะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง เป็นข้อพิพาทที่ลุกลาม ขยายวงกว้างจนยากจะควบคุมได้ และจะกระทบต่อการแข่งขันกีฬาระดับชาติ จนถึงกระทบความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองชาติ คือ ไทย กับ อิหร่าน ได้ ในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของสโมสรฯ และคนไทยทุกคน
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน
 
สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
เนวิน ชิดชอบ
 
Dear Buriram United fans and Thai football fans
 
Recently, there is a group of people post the unappropriate both messages and photos in Esteghlal FC fanpage from Iran. They are Buriram United's opponent in 8 teams round.
 
Buriram United would like to inform that the club never support and get involve in any unappropriate activities against Esteghlal FC. We, Buriram United would like to apologize to Esteghlal FC's fans and Muslim people for those unappropriate event.
 
At the same time Buriram United would like to condemn those people who create the unappropriate events. Because they intend to break the relationship between Thai and Iran. Buriram United never wants those people to join our fans and we will try everything to stop them using our fanpage website.
 
Buriram United would like to ask for your kind cooperation to stop doing the unappropriate events. And we would like to ask Buriram United fans to share only appropriate comments not insulting comment to their nation, religion and belief. Because that can break the relationship between Thai and Iran.
 
For your consideration,
 
Newin Chidchob
(President of Buriram United FC)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวนาพิจิตรปิดถนนโวยลดราคาจำนำข้าว

Posted: 21 Jun 2013 09:38 AM PDT

21 มิ.ย. 56 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่านายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ตลอดทั้งวันนี้ ก็ได้จัดการประชุมชี้แจงแกนนำชาวนา ตัวแทนโรงสี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่มีความจำเป็นต้องลดราคารับจำนำข้าวเหลือเพียงตันละ 12,000 บาท โดยด้านนอกห้องประชุม ก็มีกลุ่มชาวนาหลายร้อยคนที่แบ่งแยกกันเป็นหลายกลุ่มมาชุมนุมประท้วง กลุ่มแรก เรียกร้องขอให้รัฐบาล รับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท เหมือนเดิม 
 
ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นชาวนาจากตำบลสายคำโห้ ตำบลหัวดง ตำบลฆะมัง อำเภอเมืองพิจิตร มาชุมนุมเรียกร้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรช่วยติดตามใบประทวนจากการจำนำข้าวกับ อ.ต.ก.ที่มีโรงสีแอลโกลด์-แมนูแฟคเจอร์ ซึ่งตั้งอู่ที่ ต.ท่าบัว อ.โพทะเล จ.พิจิตร ส่งมอบข้าวเพื่อจำนำนานกว่า 4 เดือนแล้ว ยังไม่ได้รับใบประทวน จากนั้นในช่วงเย็นก็มีกลุ่มชาวนาจาก อ.โพทะเล ประมาณ 100 คนเศษ ก็มาประท้วงในเรื่องเดียวกัน แต่ไม่รับฟังคำอธิบาย ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ยืนยันจะเอาใบประทวนให้ได้ สุดท้ายได้ไปชุมนุมประท้วง และใช้รถกระบะ ปิดถนนสายพิจิตร-ตะพานหิน และปิดถนนทางเข้า-ออกศาลากลางจังหวัดพิจิตร ส่งผลให้ผู้ใช้เส้นทางเดือดร้อนกันทั่วหน้า ล่าสุดก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่องและส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อบานปลาย เหตุเพราะโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว
 
ล่าสุดชาวนากว่า 100 คน จาก อ.โพทะเล จ.พิจิตร ที่ชุมนุมประท้วงด้วยการปิดถนนสายพิจิตร - ตะพานหิน บริเวณประตูทางเข้าศาลากลางจังหวัดพิจิตร ยอมสลายตัว และเปิดการจราจรเปิดให้ใช้ถนนได้ตามปกติแล้ว หลัง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร รับปากว่าจะดูแลติดตามแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว ที่มีต้นเหตุความวุ่นวายมาจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 80 ปีแห่งการฟื้นฟูประชาธิปไตย

Posted: 21 Jun 2013 09:24 AM PDT

เดือนมิถุนายนปีนี้ เป็นเดือนแห่งเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองประชาธิปไตยของคณะราษฎรอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มการจัดกิจกรรมของประชาชนฝ่ายคนเสื้อแดงหลายกลุ่มเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน แต่กลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี หน้ากากขาว เขาไม่จัด เพราะเขายึดหลักการที่ตรงข้ามกับฝ่ายคณะราษฎร
 
แต่กระนั้น ในกลุ่มคนเสื้อแดง ยังไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันว่า ปี พ.ศ.2476 ก็มีความสำคัญไม่น้อยในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เพราะเป็นปีแห่งการต่อต้านการรุกกลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าและทำให้ระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรยังคงอยู่ตอไปอีก 14 ปี
 
จุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ปฏิวัติ พ.ศ.2475 ที่นำโดยคณะราษฎร ซึ่งเป็นการโค่นล้มอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แล้วเริ่มสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญที่ยอมรับอำนาจสูงสุดของราษฎร และจะเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการให้ราษฎรจะได้ใช้สิทธิทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้ง ในครั้งนั้น คณะราษฎรได้เชิญให้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรก บริหารประเทศด้วยระบบคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกเช่นกัน สำหรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เป็นรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ผู้ก่อการคณะราษฎรคนสำคัญ เป็นรัฐมนตรีและรองผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ
 
ในครั้งนั้น การปฏิวัติของคณะราษฎร ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ซึ่งก็คือ คณะเจ้า หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้า โดยกลุ่มนี้ไม่ยอมรับในหลักการประชาธิปไตย แต่กลับเห็นว่า ระบอบเก่าที่อำนาจอยู่ในมือของเจ้านายและขุนนางจำนวนน้อยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะชนชั้นสูงเหล่านี้มีความรู้ความสามารถ ขณะที่ราษฎรส่วนมากนั้นโง่เขลา ไม่มีความรู้ ระบอบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิกับราษฎรย่อมไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า ถ้าสยามจะมีรัฐธรรมนูญ ควรมาจากการพระราชทานเองของพระเจ้าอยู่หัว ราษฎรไม่มีสิทธิที่จะไปยึดและจำกัดอำนาจของพระมหากษัคริย์ การกระทำของคณะราษฎรจึงถือว่าเป็นกบฏ จึงควรที่จะถวายพระราชอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจวินิจฉัยทางการเมือง กลุ่มอนุรักษ์นิยมเจ้า จึงได้คอยเวลาและหาจังหวะที่จะล้มอำนาจของคณะราษฎร
 
สิ่งที่คณะราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักในขณะนั้น คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่รับเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรีความจริงแล้วเป็นผู้ที่มีความคิดโน้มไปทางระบอบเก่า และเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้า พระยามโนปกรณ์ฯจึงหาจังหวะจากความขัดแย้งภายในของคณะราษฎร ซึ่งในขณะนั้น เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และฝ่ายของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ปรากฏว่า พระยามโนปกรณ์ประสบความสำเร็จในการชักชวน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช มาสนับสนุน
 
ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงได้ออกพระราชกฤษฎีการปิดสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งถือเป็นการรัฐประการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ไม่มีการระบุว่ามาตราไหนบ้าง เท่ากับเป็นการงดใช้ทั้งฉบับ และการปิดไม่มีการประชุมสภาราษฎร คือ การเปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งต่อมา รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯได้ออกกฎหมายลักษณะนี้มาหลายฉบับ นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินการเนรเทศหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎร ให้เดินทางไปต่างประเทศ แล้วออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเล่นงานหลวงประดิษฐ์มนูธรรม การรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์ฯจึงเป็นขั้นตอนสำคัญแรกสุดในการทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ
 
สถานการณ์เช่นนี้ สร้างความกดดันอย่างมากแก่คณะราษฎรส่วนใหญ่ ต่อมา มีข่าวลือว่า รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯมีเป้าหมายที่จะปราบปรามคณะราษฎรด้วย ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ฝ่ายคณะราษฎรส่วนใหญ่ที่นำโดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดอำนาจเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยมีผู้นำคณะราษฎรที่สนับสนุนคือ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ฝ่ายทหารบก น.ท.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) ฝ่ายทหารเรือ และ หลวงนฤเบศมานิตย์ (สงวน จูฑะเตมีย์) ฝ่ายพลเรือน รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงสิ้นสุดลง พระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องไปลี้ภัยการเมืองที่ปีนังตลอดชีวิต สำหรับฝ่ายของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ก็ถูกลดบทบาทลงเช่นเดียวกัน
 
เมื่อฝ่ายของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจแล้ว ก็ได้รื้อฟื้นการใช้รัฐธรรมนูญ ให้เปิดประชุมสภาราษฎรเช่นเดิม และเตรียมดำเนินการให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกโดยเร็ว จากนั้น พ.อ.พระยาพหลฯ ก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง และได้เรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาจากต่างประเทศ การยึดอำนาจ 20 มิถุนายน จึงถือเป็นการฟื้นคืนอำนาจของคณะราษฎรอย่างแท้จริง
 
แต่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยก็ยังคงไม่ยอมแพ้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 ทหารฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าได้รวมตัวกันที่เมืองนครราชสีมา ตั้งเป็น"คณะกู้บ้านกู้เมือง" โดยมี พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นแม่ทัพหน้า แล้วยกกำลังมาล้อมพระนคร ยื่นคำขาดให้ฝ่ายคณะราษฎรยอมจำนน แต่ฝ่ายคณะราษฎรตัดสินใจที่จะต่อสู้ จึงแต่งตั้งให้ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม เป็นแม่ทัพ และสามารถเอาชนะฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เสียชีวิตในการรบที่หินลับ พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดช เสด็จหนีไปลี้ภัยที่อินโดจีนฝรั่งเศส กรณีนี้จึงเรียกกันในประวัติศาสตร์ว่า "กบฏบวรเดช"
 
สรุปแล้วจะเห็นได้ว่า ปี พ.ศ.2476 เป็นปีแห่งการต่อสู้ขั้นดุเดือดรุนแรง ระหว่างฝ่ายคณะราษฎรที่รักษาระบอบประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าที่มุ่งฟื้นระบอบเก่า ชัยชนะของฝ่ายคณะราษฎรโดยการรื้อฟื้นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างรากฐานของประชาธิปไตยต่อมาจนถึงปัจจุบัน
 
และในวันนี้ เราก็มารำลึกถึงการครบรอบ 80 ปี ของการฟื้นฟูประชาธิปไตยในครั้งนั้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย UN ลุยสอบซ้อมทรมานในไทย ต้นปีหน้า

Posted: 21 Jun 2013 09:13 AM PDT

เผยต้นปีหน้าผู้ตรวจการพิเศษของ UN จะเข้าตรวจสอบเรื่องซ้อมทรมานในไทย ย้ำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมให้ข้อมูล อย่าปล่อยให้รัฐจัดการทุกอย่าง ชี้ยังมีอีก 16 จาก 36 กรณีจ่อคิว วอนรัฐตอบรับคณะตรวจสอบ "สิทธิในการแสดงความคิดเห็น"

 
21 มิ.ย. 56 - ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์จัดการความขัดแย้งศึกษา วิทยาลัยประชาชน (People's college) เปิดห้องเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำเปลี่ยนแปลงสู่สันติภาพ 
 
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยมูลนิธิศักยภาพชุมชน (PEF) เปิดเผยระหว่างบรรยายเรื่องระบบองค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์กรพิเศษแห่งสหประชาชาติว่า ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติประเด็นซ้อมทรมาน มีแผนจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หลังจากมีการนำประเด็นนี้ไปพิจารณาเมื่อปีที่แล้ว
 
นางชลิดา เปิดเผยต่อไปว่า ในประเด็นนี้นักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้ส่งรายงานการละเมิดสิทธิผ่านกลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในประเด็นต่างๆ จำนวนมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติขอเข้าตรวจสอบประเด็นนี้ในประเทศไทย
 
นางชลิดา เปิดต่ออีกว่า ที่ผ่านมา มีผู้ตรวจการพิเศษเข้ามาตรวจสอบตามรายงานที่ร้องเรียนไปยังสหประชาชาติหลายครั้ง แต่เป็นเข้ามาตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ไม่สามารถนำเสนอรายงานต่อสหประชาชาติได้ เนื่องจากเงื่อนไขการรับรายงานจากผู้ตรวจการพิเศษนั้น ต้องเป็นการได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เท่านั้น
 
"เป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยประกาศต่อที่ประชุมสหประชาชาติว่ารัฐบาลไทยต้อนรับการเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์สิทธิ หลังจากที่ไทยได้เป็นภาคีแล้ว แต่สิ่งที่มากกว่าคือการสร้างกลไกและกระบวนการให้ผู้แทนเหล่านั้นเข้ามาตรวจสอบ ต้องให้ภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมเข้ามีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่ให้รัฐบาลเตรียมทุกอย่างไว้ทั้งหมด" นางชลิดา กล่าว
 
นักพิทักษ์สิทธิในประเทศไทยคนหนึ่งกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลไทยอนุมัติจดหมายเชิญผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ เข้ามาตรวจสอบสถานการณ์ "สิทธิในการแสดงความคิดเห็น" ด้วย แต่ที่ผ่านมาปรากฏว่ารัฐบาลไทยได้เลือกประเด็นการซ้อมทรมาน และประเด็นสิทธิเด็กเป็นประเด็นน้ำ จึงรับเชิญให้ผู้ตรวจการพิเศษใน 2 ประเด็นนี้เข้ามาก่อน 
 
ทั้งนี้ กรณีประเทศไทยมีผู้ตรวจการพิเศษจ่อคิวขอเข้าตรวจสอบสถานการณ์สิทธิตามที่มีการรายงานไป 16 กรณี จากทั้งหมด 36 กรณีภายใต้สนธิสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงผูกมัดทางกฎหมาย ในฐานะประเทศสมาชิกแห่งสหประชาชาติ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการยื่นอุทธรณ์คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์แล้ว

Posted: 21 Jun 2013 03:58 AM PDT

อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูง เผย ยื่นอุทธรณ์คดี 2 นปช.เผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แล้ว ชี้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้ง 2 ก่อเหตุเพราะเดินเข้าไปในห้างขณะที่ทุกคนหนีออกมา ด้านทนายจำเลยมั่นใจพยานหลักฐานสู้ได้

21 มิ.ย.56  เดลินิวส์ออนไลน์ รายงาน นายไพรัช กังวานสุระ อธิบดีอัยการ ฝ่ายคดีศาลสูง เปิดเผยถึง กรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง  นายสายชล แพบัว อายุ 31 ปี ชาว จ.ชัยนาท การ์ด นปช. และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 29 ปี  2 แนวร่วม นปช. จำเลย คดีร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ห้างฯเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา ว่า   สำหรับคดีนี้ตนได้มีคำสั่งให้ทางอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปแล้วเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณา สำหรับประเด็นที่ยื่นอุทธรณ์นั้นเนื่องจากทางอัยการเห็นว่า มีพยานใกล้ชิดที่เห็นว่าจำเลยทั้งสองคนเข้าไปในห้างฯ เซ็นทรัลเวิลด์พร้อมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งการเข้าไปของจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ได้เข้าไปในลักษณะการให้ความช่วยเหลือ เพราะว่าประชาชนส่วนมากต่างกำลังจะหนีออกมาจากห้าง แต่จำเลยทั้งสองกลับเดินเข้าไปในลักษณะที่น่าจะเชื่อได้ว่าเข้าไปก่อเหตุ พยานหลักฐานจึงน่าจะเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนวางเพลิงห้างดังกล่าวจริง โดยทางอัยการพิจารณาไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฏ  ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อว่าศาลอุทธรณ์จะรับฟังได้

ด้านนายอาคม รัตนพจนารถ ทนายความจำเลย เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ของอัยการแต่อย่างใด จึงยังไม่ทราบรายละเอียดว่าอุทธรณ์แก้ประเด็นอะไรบ้าง  คงจะต้องดูพิจารณาเนื้อหาอุทธรณ์ก่อน ส่วนในชั้นพิจารณาที่โจทก์เคยมีพยานระบุว่าเห็นเหตุการณ์นั้น ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักรับฟังได้น้อยไม่น่าเชื่อถือ ไม่เช่นนั้นศาลก็คงจะลงโทษจำเลยไปแล้ว

สำหรับคดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยคดีนี้เป็นคดีเดียวกันกับกรณีผู้ต้องหา 2 คนที่เป็นเยาวชนซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.55

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระวีระธุขึ้นปกนิตยสารไทม์ "โฉมหน้าชาวพุทธผู้สร้างความหวาดกลัว"

Posted: 21 Jun 2013 02:23 AM PDT

นิตยสารไทม์ปกเดือนกรกฎาคมนี้ตีพิมพ์ภาพ "พระวีระธุ" ผู้นำกลุ่มชาวพุทธในพม่าที่เคลื่อนไหวต่อต้านชาวมุสลิม จนเกิดจลาจลไปทั่วพม่า โดยโปรยตัวอักษรที่หน้าปกว่า "โฉมหน้าชาวพุทธผู้สร้างความหวาดกลัว: กองกำลังพระสงฆ์เติมเชื้อความรุนแรงต่อต้านมุสลิมในเอเชียได้อย่างไร"

นิตยสารไทม์ฉบับที่จะวางจำหน่ายในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ได้ตีพิมพ์ภาพ "พระวีระธุ" ผู้นำพระสงฆ์และชาวพุทธในพม่า ที่ตั้งกลุ่มก่อต้านชาวโรฮิงยา และชาวมุสลิมในพม่า จนเกิดเหตุจลาจลระหว่างชุมชน ที่รัฐอาระกันของพม่า และได้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นในพม่า โดยโปรยตัวอักษรที่หน้าปกว่า "โฉมหน้าชาวพุทธผู้สร้างความหวาดกลัว: กองกำลังพระสงฆ์เติมเชื้อความรุนแรงต่อต้านมุสลิมในเอเชียได้อย่างไร"

นอกจากนี้ในเล่ม ยังมีเรื่องจากปกพาดหัวว่า "เมื่อชาวพุทธคลั่ง" หรือ "When Buddhists Go Bad" โดยโปรยว่า "ศาสนาพุทธมีชื่อเสียงในเรื่องความรักสงบและอดทนอดกลั้น แต่ในหลายประเทศของเอเชีย พระสงฆ์กำลังเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดความดื้อรั้นและความรุนแรง โดยส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อต่อต้านมุสลิม"

สำหรับนิตยสารไทม์ ที่ตีพิมพ์ภาพปก "พระวีระธุ" เป็นนิตยสารไทมส์ฉบับที่วางจำหน่ายในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และเอเชีย และแปซิฟิกใต้ ส่วนภาพปกฉบับที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องทหารผ่านศึกสหรัฐอเมริกา และการทำงานบริการสาธารณะ

ทั้งนี้พระวีระธุ ซึ่งขนานนามตัวเองว่าเป็น 'บิน ลาเดน แห่งพม่า' เป็นผู้ที่นำพระสงฆ์ออกมาเดินขบวนในมัณฑะเลย์เพื่อสนับสนุนแผนการส่งตัวชาวโรฮิงยาไปยังประเทศที่ 3 ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และเขายังเป็นผู้สนับสนุนโครงการ "969" ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้ชาวพุทธซื้อของจากร้านค้าชาวพุทธด้วยกัน

พระวีระธุเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2001 เมื่อเขาเป็นผู้รณรงค์ให้มีการบอยคอตต์ธุรกิจของชาวมุสลิม เขาถูกสั่งจำคุก 25 ปี ในปี 2003 ข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงต่อชาวมุสลิม แต่ถูกปล่อยตัวในช่วงที่มีการนิรโทษกรรมขนานใหญ่ในปี 2010

หลังจากเขาถูกปล่อยตัวแล้วก็ยังทำการเทศนาเผยแพร่ความเกลียดชังต่อไป คนจำนวนมากเชื่อว่าคำพูดของเขาเป็นสิ่งปลุกระดมให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมชาติพันธุ์โรฮิงยาในรัฐอาระกันเมื่อเดือน มิ.ย. 2012 ซึ่งทำให้ประชาชนราว 200 รายถูกสังหาร และมากกว่า 100,000 คนไม่มีที่อยู่อาศัย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทวิเคราะห์รอยเตอร์ชี้ลดราคาจำนำข้าว ไม่แก้ปัญหาข้าวค้างสต็อก

Posted: 21 Jun 2013 01:14 AM PDT

ขณะที่รัฐบาลกำลังมีนโยบายลดราคาจำนำข้าวเหลือ 12,000 บาทต่อตัน ทางด้านไคลด์ รัสเซลล์ นักวิเคราะห์การตลาดก็มองว่าไม่ได้ช่วยลดผลผลิตคงเหลือจำนวนมาก ซึ่งทำให้ราคาส่งออกข้าวในพื้นที่ปรับตัวลดลง

ไคลด์ รัสเซลล์ (Clyde Russell) นักวิเคราะห์การตลาด เผยแพร่บทความลงในรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงประเด็นการลดราคาจำนำข้าวของรัฐบาลไทย ว่าเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผล แต่ขณะเดียวกันก็คิดว่าปัญหาตลาดข้าวของเอเชียก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

ไคลด์กล่าวว่า แม้การลดราคาจำนำข้าวจะเป็นการลดภาระงบประมาณและทำให้โครงการดำเนินต่อไปได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดจำนวนผลผลิตข้าวคงเหลือที่เป็นปัญหาต่อเสถียรภาพของตลาด โดยที่ประเทศไทยยังมีข้าวสารคงเหลือในคลังราว 17 ล้านตันนับตั้งแต่เริ่มนโยบายจำนำข้าว และเกรงว่าโกดังเก็บข้าวจะไม่เพียงพอต่อผลผลิตในฤดูกาลหน้า

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่นัดวิเคราะห์ชี้ให้เห็นคือการที่ไทยตกอันดับจากผู้ส่งออกข้าวในระดับต้นๆ โดยพ่ายให้กับทั้งอินเดียและเวียดนาม โดยที่การส่งออกลดลงจาก 10.6 ล้านตันในปี 2554 เหลือ 6.9 ล้านตันในปี 2555 เนื่องจากนโยบายจำนำข้าวของไทย ทำให้ข้าวจากไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด

และจากการสำรวจในไตรมาตรแรกพบว่าไทยส่งออกข้าว 1.56 ล้านตัน ทำให้ประเมินได้ว่าในปี 2556 ไทยคงส่งออกข้าวได้ราว 6.24 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าไว้คือ 8.5 ล้านตัน

ไคลด์ ชี้ว่าการกักตุนข้าวก็เสี่ยงต่อการทำให้ราคาข้าวในพื้นที่ตกต่ำเมื่อไทยข้ายข้าวแบบโละสต็อกซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาดการค้าและผลิตข้าวในประเทศอื่นๆ และหากไทยต้องการส่งออกข้าวได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ราคาข้าวของไทยจะลดลงใกล้เคียงกับราคาข้าวของเวียดนาม อยู่ที่ว่าไทยจะยอมเสียเพื่อจะได้ขายในราคาตามกลไกตลาดหรือไม่

ในบทวิเคราะห์ได้ตั้งคำถามด้วยว่าการลดราคาจำนำข้าวจะช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้จริงหรือไม่เมื่อต้องเผชิญกับการปรับลดราคาตามกลไกตลาดเนื่องจากมีข้าวในคลังอยู่มาก โดยการลดราคาจำนำข้าวครั้งล่าสุดปรับเหลือราคาตันละ 12,000 บาท ซึ่งมีการประเมินว่าราคารับซื้อจะอยู่ที่ราว 18,500 บาทต่อตัน

ก่อนหน้านี้บางกอกโพสท์ได้ประเมินว่ารัฐบาลได้ใช้เงิน 3.52 แสนล้านบาทในการรับซื้อข้าวปริมาณ 21.7 ล้านตัน ในช่วงปี 2554-2555 และได้ขายไปในราคา 5.92 หมื่นล้านบาท ขณะที่ราคาขายข้าวค้างสต็อกจากการสำรวจเมื่อวันที่ 31 ม.ค. อยู่ที่ 1.56 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการสูญกำไรราว 1.36 แสนล้านบาท

แต่ไคลน์ก็บอกว่ารัฐบาลไทยอาจสูญเสียรายได้มากกว่านี้จากการต้องปรับลดราคา และข้าวเป็นสินค้าซึ่งมีอายุอยู่ได้ไม่เกินสองปีทำให้เสี่ยงต่อการต้องทิ้งข้าวบางส่วนไปหากไม่สามารถขายได้

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ COLUMN-Thailand's rice scheme cutback doesn't go far enough: Clyde Russell, Reuters, 19 June 2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Red Research (3) : สำรวจความเปลี่ยนแปลง-ระบบอุปถัมภ์ในหมู่บ้านอีสาน

Posted: 20 Jun 2013 11:35 PM PDT

 

จักรกฤษณ์ สังขมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในทีมวิจัย "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" เขาลงพื้นที่ศึกษาตัวอย่างหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในจังหวัดอุบลราชธานี นามสมมติว่า "ชุมชนปรารถนา" โดยเหตุที่ต้องปกปิดชื่อที่แท้จริงก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล

งานวิจัยส่วนนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองในระดับหมู่บ้าน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับชาติ โดยจักรกฤษณ์มองว่าการศึกษาการเมืองของคนชนบทผ่านมิติเรื่องของการเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวภาคประชาชนนั้นยังมีข้อจำกัดพอสมควรในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในชนบทไทยทุกวันนี้ การศึกษาของเขาจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาการเมืองในชีวิตประจำวัน คือ ดูความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ ผ่านมิติและช่องทางต่างๆ ที่คนในชนบทให้คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบเครือญาติ เรื่องของการจัดสรรทรัพยากร การเข้าถึงโอกาสในการทำมาหากิน หรือแม้แต่การได้รับการยอมรับในสังคม

จักรกฤษณ์กล่าวด้วยว่า การศึกษาในแต่ละภูมิภาค ผู้ศึกษามีความสนใจและข้อสันนิษฐานที่แตกต่างกัน เช่นในภาคเหนือ อาจารย์ปิ่นแก้วสนใจศึกษาอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคนในพื้นที่ ในภาคใต้อาจารย์อนุสรณ์สนใจศึกษาปัจจัยทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อสำนึกทางการเมืองของคนใต้ สำหรับภาคอีสานเขาสนใจศึกษาความมุ่งมาดปรารถนาที่เปลี่ยนแปลงไปของคนชนบท

ถามว่าทำไมต้องเป็นหมู่บ้านดังกล่าว คำตอบคือเนื่องจากหมู่บ้านนี้มีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท คือมีระบบการผลิตแบบตลาดอย่างชัดเจน แต่ก็มีการผลิตในครัวเรือนหลงเหลืออยู่ไปพร้อมๆ กันด้วย และมีความสัมพันธ์กับธุรกิจการท่องเที่ยวหรือธุรกิจชุมชนอื่นๆ อีกมากมาย เขาไม่ได้มองหมู่บ้านนี้ในฐานะที่เป็นตัวแทนของชนบท หรือตัวแทนหมู่บ้านที่ภาคอีสาน เพราะโดยหลักการมันทำไม่ได้อยู่แล้ว นี่เป็นแค่เพียงความพยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในชนบท เพื่อนำไปสู่การสลายกรอบ ความเข้าใจเดิมๆ เกี่ยวกับชนบทเท่านั้น

"หมู่บ้านนี้จึงเป็นเพียงแค่ตัวอย่าง มิใช่ตัวแทนหรือตัวแบบ การศึกษาในชุมชนอื่นอาจได้ผลที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นเวลาลงชุมชนเราจึงไม่สนใจแค่ประเด็นเหลือง-แดง ในตอนต้นของการศึกษาอาจจะใช่ แต่เราพบว่ามันเป็นกรอบที่แคบเกินไปในการพิจารณาชนบท" จักรกฤษณ์กล่าว

สำหรับวิธีวิจัยนั้น จักรกฤษณ์กล่าวว่า เบื้องต้นมีการใช้แบบสอบถามเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงในวิถีการผลิต รายได้ และการเคลื่อนย้ายประชากร ในฐานะปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงสร้างทางสังคมชนบทเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังอาศัยการลงไปอยู่ในพื้นที่เป็นแรมเดือนเพื่อศึกษาวัฒนธรรมทางการเมือง และการเมืองในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ รวมถึงการสัมภาษณ์กลุ่ม และรายบุคคล สัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ และการสังเกต

จากการลงพื้นที่พบว่า การเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านชนบทกับรัฐ กับระบบตลาดและทุนท้องถิ่น กับนักการเมืองและหน่วยอำนาจใหม่ๆ  ตลอดจนการเคลื่อนย้ายและการติดต่อสื่อสารที่มากขึ้น  ได้นำมาซึ่งแรงปรารถนา (Aspiration) ทำให้คนชนบทมาความต้องการเข้าถึงแหล่งอำนาจและช่องทางการสร้างหลักประกันที่หลากหลายเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสังคมสมัยใหม่ อีกทั้งได้สร้างและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนชนบทใหม่ เป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานอยากไม่ต่างจากเราๆ ท่านๆ ที่อาศัยอยู่ในเมือง

การสร้างช่องทางและหลักประกันที่หลากหลายมากขึ้นนี้เป็นการจัดวางอย่างมีพลวัต เกิดขึ้นทุกวัน ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงวาระของการเลือกตั้งเท่านั้น วาระทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของคนชนบทสมัยใหม่ไม่ได้ถูกชักจูงด้วยเงินตราอย่างง่ายดายอย่างที่เรามักเข้าใจกัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า หากเราศึกษาเรื่องการเลือกตั้งของคนชนบท จะพบว่าจำนวนเงินที่ใช้ในความสัมพันธ์ที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า "การซื้อเสียง" นั้นไม่ใช่ตัวชี้ขาดในการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนอีกต่อไป แต่กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินจะหมดความหมายไปโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกัน เงินที่หมุนเวียนในระบบอาจจะมีมาก ขึ้นด้วยซ้ำไป แต่เราไม่อาจมองเงินตราในแง่ของ "ปริมาณ" ได้อย่างเดียว

การศึกษานี้ชี้ว่า เงินเป็นการแสดงออกเชิง "คุณภาพ" ด้วย พูดอีกอย่างก็คือว่า เงินได้ทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ในฐานะใบเบิกทางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับนักการเมือง หัวคะแนน และระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง การจ่ายเงินต้องคำนึงถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายที่ดำรงมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงไม่สามารถมองการเมืองของการเลือกตั้งในสุญญากาศที่ตัดขาดจากการเมืองในชีวิตประจำวันที่ดำรงอยู่ทุกวี่วันได้  

นอกจากนี้การมองการเมืองผ่านมิติของความปรารถนาทำให้เห็นว่าชาวบ้านใช้ชุดความคิดและความคาดหวังที่แตกต่างกันในการเลือกนักการเมืองระดับต่างๆ เพราะคนเหล่านี้รับรองความเสี่ยงและแสดงออกซึ่งการให้การยอมรับชาว บ้านในมิติที่แตกต่างกัน เช่น ในระดับท้องถิ่น ชาวบ้านต้องการผู้นำที่โปร่งใส ทำงานใกล้ชิด เอาผิดได้ ในขณะที่ในระดับชาติ ประชาชนต้องการนักการเมืองเก่ง มีนโยบายที่ตอบสนองต่อความเสี่ยงในเชิงโครงสร้าง และสร้างโอกาสการพัฒนาให้ชุมชนอย่างที่พวกเขาปรารถนาได้ 

เขาระบุด้วยว่า เมื่อมองผ่านปฏิบัติการของชาวบ้านในการเมืองในชีวิตประจำวันจะพบว่า ปัจจัยในการพิจารณาและการให้คุณค่ากับการเลือกตั้งนั้นมีลักษณะที่ถูกทำให้มีลักษณะที่ตอบสนองต่อความปรารถนาในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก และเชื่อมโยงอย่างมากกับตำแหน่งแห่งที่ทางเศรษฐกิจและสังคม และความมุ่งมาดปรารถนาของปัจเจกชนที่ไม่ได้มีวิถีการดำรงชีพอยู่แต่เพียงในภาคการเกษตรและในพื้นที่ชนบทแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ระบบคุณค่าแบบใหม่นี้ไม่สามารถถอดออกมาเป็นสูตรสำเร็จได้ว่าการเลือกตั้งในระดับใดใช้มาตรฐานหรือปัจจัยใดมาพิจารณา หากแต่มันได้ทำหน้าที่ในการตอบสนองต่อรูปแบบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ชาวบ้านโดยทั่วไปตระหนักรู้ถึงโอกาสและความพึงมีพึงได้ของตนในระบบการเมืองและสังคมสมัยใหม่นี้เป็นอย่างดี

เมื่อถามว่าข้อค้นพบเขาเขาสามารถแย้งทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้หรือไม่ เขาตอบว่า จริงๆ ไม่ได้มีเจตนาจะล้มหรือโต้แย้งทฤษฎีดังกล่าวโดยตรง ตรงกันข้าม เขาต่อยอดจากอาจารย์อเนกเยอะพอสมควร ตัวอย่างเช่นเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างกันของเมืองกับชนบท อเนกกล่าวว่าการ "ซื้อสิทธิขายเสียงในสังคมชนบทมีความใกล้ชิดกับระบบอุปถัมภ์อันเนื่องมาจากสังคมเกษตรดั้งเดิม ซึ่งระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวได้ปะทะสังสรรค์กับปรากฏการณ์ใหม่ๆ" เขาสนใจว่า "ปรากฏการณ์ใหม่ๆ" ที่อาจารย์อเนกไม่ได้ขยายความไว้คืออะไร และมันส่งผลอย่างไรต่อมโนสำนึกของคนในชนบท

ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่สำคัญอันหนึ่ง แน่นอนก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้มีคนกล่าวถึงไว้เยอะแล้ว แต่คำถามคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลอย่างไร เรามักจะเชื่อว่าเมื่อมีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ชนบทพัฒนาเป็นเมืองหรืออุตสาหกรรมมากขึ้น การซื้อสิทธิขายเสียงจะลดน้อยลง หรือนักรัฐศาสตร์บางท่านอาจจะเสนอว่าการกระจายอำนาจจะช่วยลดบทบาทของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นลงได้ คำอธิบายทั้งสองล้วนเป็นทฤษฎีที่มีพลังในการอธิบายระดับหนึ่ง แต่ยังขาดมิติเชิงวัฒนธรรม ซึ่งข้อค้นพบของเขา สรุปอีกครั้ง ก็คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดผู้ประกอบการเกษตร คนพวกนี้ต่างจาก ชาวสวน ชาวนา เนื่องจากคนเหล่านี้ "ลงทุน" ในการผลิต ผ่านการกู้ยืมเงินจาก ธกส. ซื้ออุปกรณ์ และปรับเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูกตามความต้องการของตลาด คนเหล่านี้ต้องลงทุน ต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ จึงต้องหาหลักประกันความเสี่ยงโดยการเข้ามามีความสนใจและมีส่วนร่วมกับนโยบาย เพราะมันสามารถสร้างความมั่นคงซึ่ง "ระบบอุปถัมภ์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถมอบให้พวกเขาได้"
  1. คนเหล่านี้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมที่กว้างขวางขึ้น ต้องติดต่อกับคนหลากหลายแบบ คนพวกนี้ตระหนักถึงศักยภาพ และอำนาจของตน นี่เองที่นำมาสู่การที่พวกเขาต้องการการยอมรับทางการเมือง (political recognition) ที่มากขึ้นด้วย
  1. การใช้เงินในการหาเสียงยังคงมีอยู่ มันทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์เป็นเบิกทางในการสร้างความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ แต่มันไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดอีกต่อไป "เพราะความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านต้องแบกรับ มันต้องการมากกว่าเงินเพียง 300-500 บาท"

เขาระบุว่า จะเห็นได้ว่าข้อค้นพบเหล่านี้ไม่ได้ขัดกับทฤษฎีของอเนก แต่ต่อยอดจากมันมากกว่า

"กระแสวิพากษ์วิจารณ์หนึ่งที่ทำให้ผมอึดอัดคือ การเชื่อมโยงการเมืองชนบทกับระบบอุปถัมภ์ แน่นอนว่าในความเป็นจริงเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองท้องถิ่นในชนบทมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อยู่ แต่ถึงอย่างนั้น เราไม่ควรไปแปะป้ายแบบง่ายๆ ว่าระบบอุปถัมภ์จะมีแค่ในสังคมชนบทเท่านั้น เพราะในทุกระดับการเมืองก็มีระบบอุปถัมภ์ ตั้งแต่การเมืองในระดับองค์กรจนถึงการเมืองระหว่างประเทศ การมองว่าระบบอุปถัมภ์ต้องยึดโยงอยู่กับชนบทเท่านั้นจึงเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป ในเมื่อทุกระดับก็มีระบบอุปถัมภ์ เราก็ควรศึกษาว่าระบบอุปถัมภ์ในระดับต่างๆ มันมีลักษณะอย่างไร แล้วเราจึงจะเข้าใจว่าเราควรจะจัดการกับมันอย่างไรมากกว่าที่จะโยนบาปให้กับชนบทแต่เพียงอย่างเดียว" จักรกฤษณ์ กล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เนตรดาว เถาถวิล: เกษตรพันธะสัญญา (แย่?) + เกษตรอินทรีย์ (ดี?) แต่บางทีก็มาแพ็คคู่

Posted: 20 Jun 2013 09:35 PM PDT

บทความตอนที่ 3 ในชุดเกษตรอินทรีย์ ว่าด้วยเรื่องระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ ผู้เขียนตั้งคำถามว่า ทำไมระบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) จึงถูกนำมาใช้ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และเมื่อมีการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ผลที่เกิดเป็นอย่างไร ผู้เขียนมองผ่านกรณีศึกษาของการผลิตข้าวอินทรีย์ เพื่อชี้ถึงผลกระทบของการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้ในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

ระบบเกษตรอินทรีย์ถูกมองว่าต่างจากระบบเกษตรเคมีอย่างสิ้นเชิง เชื่อกันว่าเกษตรเคมีเป็นระบบที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรแบบเข้มข้น เน้นการพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และไม่มีความเป็นธรรมชาติอยู่เลย ในขณะที่เกษตรอินทรีย์ถูกมองว่าไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร มีความเป็นธรรมชาติ และไม่พึ่งพิงเทคโนโลยีในการผลิต แต่พูดตามความเป็นจริงแล้ว เกษตรอินทรีย์ไม่ได้รับรองว่าระบบการผลิตปลอดจากสารเคมี และยังเป็นระบบที่พึ่งพิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตอย่างมากด้วย ยิ่งการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลเพื่อส่งออก ยิ่งต้องพึ่งพาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และมีการควบคุมกระบวนการผลิตและควบคุมแรงงานอย่างเข้มงวด

เกษตรพันธะสัญญา

ระบบเกษตรพันธะสัญญา เป็นการทำสัญญาระหว่างบรรษัทผู้รับซื้อหรือผู้แปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกกับเกษตรกรผู้ผลิต โดยมีการทำข้อตกลงล่วงหน้าทั้งแบบวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะมีการจ้างทำการผลิตสินค้าอะไร มีการระบุเงื่อนไขการผลิต เงื่อนไขการรับซื้อผลผลิต ตลอดจนราคาที่จะรับซื้อผลผลิต โดยผู้ซื้อมีอำนาจกำหนดราคาผลผลิตและเงื่อนไขการรับซื้อ รวมถึงผู้ซื้อมีอำนาจในการปฏิเสธการซื้อหากเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา ระบบเกษตรพันธะสัญญาจึงเป็นการจัดองค์กรการผลิตแบบใหม่ ที่เอื้อประโยชน์ให้ทุนการเกษตรขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงที่ดินและแรงงานของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย และสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน น้ำ สภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและมีความจำเป็นในการผลิตสินค้าเกษตร[i]

รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนระบบเกษตรพันธะสัญญามาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่   6 เพราะรัฐบาลมองว่าระบบเกษตรพันธะสัญญาจะเป็นเครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมการเกษตร ด้วยความเชื่อว่าเกษตรพันธะสัญญาจะช่วยให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิต สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตในระบบทุนได้ดีขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงมองว่าระบบเกษตรพันธะสัญญาจะช่วยยกระดับประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารที่มีมูลค่าสูงในอนาคต นโยบายรัฐดังกล่าวมีส่วนส่งเสริมให้บรรษัทข้ามชาติและทุนการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในระบบพันธะสัญญามากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้ปลูกพืชผักที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารกระป๋อง และอุตสาหกรรมผักแช่แข็ง เช่น ใบยาสูบ อ้อย สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส ข้าวโพด ข้าวโพดฝักอ่อน มะม่วงหิมพานต์ เมล็ดทานตะวัน ข้าวบาร์เล่ย์ ปอแก้ว กุ้งทะเล ฝ้าย มะเขือเทศ เมล็ดพันธุ์พืชผัก  ยางพารา ถั่ว ไหม หน่อไม้ ขิง เห็ด แตงโมพันธุ์สีเหลือง พืชผักแช่แข็ง ผลไม้เมืองร้อนต่างๆ [ii]

อย่างไรก็ดี มีการวิจัยพบว่าแม้รัฐบาลจะสนับสนุนระบบเกษตรพันธะสัญญานานกว่าสามทศวรรษ ทว่าการขยายตัวของระบบเกษตรพันธะสัญญาในประเทศไทยเกิดจากการทำสัญญาร่วมกันระหว่างทุนกับเกษตรกรผู้ผลิตเป็นหลัก โดยหน่วยงานรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก และในกรณีที่การทำเกษตรพันธะสัญญาไม่ได้ให้ผลที่น่าพึงพอใจ หรือเกิดปัญหาขึ้นระหว่างคู่สัญญา หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซง หรือบังคับใช้กฎหมายให้ทันเวลาและเป็นไปอย่างเหมาะสม ปล่อยให้เกษตรกรเป็นหนี้สินจนล้มละลาย การผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญาในบางกรณี เช่น การทำฟาร์มกุ้ง สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้เข้ามาควบคุมอย่างจริงจัง นอกจากนั้น รัฐไม่ได้มีมาตรการบังคับให้ธุรกิจการเกษตรนำผลกำไรจากการผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญามาช่วยในการพัฒนาท้องถิ่นแต่อย่างใด[iii]

ผู้ที่เห็นด้วยกับการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้มองว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญาเป็นระบบที่ทั้งนายทุนและเกษตรกรต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกัน เพราะระบบเกษตรพันธะสัญญา ช่วยให้ธุรกิจการเกษตรมีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตพืชผลที่มีปริมาณและคุณภาพเชื่อถือได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อที่ดิน สร้างโรงเรือนและเสี่ยงทำการผลิตด้วยตนเอง ซึ่งมักมีต้นทุนที่สูงกว่าการจ้างเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรในระบบเกษตรพันธะสัญญา นอกจากนั้น มุมมองดังกล่าวยังเชื่อว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญายังช่วยให้นายทุนลดความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่มีสัดส่วนสูงมากอีกด้วย ฝ่ายเกษตรกรก็ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในระบบเกษตรพันธะสัญญา เพราะสามารถเข้าถึงช่องทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งหาได้ยากในพื้นที่ สามารถเข้าถึงเงินทุน ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิต[iv] ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจหากธุรกิจการเกษตรหันมาลงทุนทำการเกษตรผ่านระบบเกษตรพันธะสัญญามากขึ้น ธุรกิจการเกษตรใช้ระบบเกษตรพันธะสัญญาสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาทำการผลิตพืชชนิดใหม่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคยมาก่อน และรับประกันว่าจะรับซื้อผลผลิตในราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมมองหนึ่ง ระบบเกษตรพันธะสัญญาถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือที่นายทุนนำมาใช้เพื่อเอาเปรียบเกษตรกร ฝ่ายที่คัดค้านระบบเกษตรพันธะสัญญาโต้แย้งว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญาเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนมากกว่าเกษตรกร เพราะช่วยให้นายทุนสามารถปรับตัวในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของระบบตลาดได้ดีขึ้น นายทุนมีหลักประกันว่าการผลิตอาหารจะเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และได้ผลผลิตตามกำหนด ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อวิจารณ์ว่าระบบเกษตรพันธะสัญญาทำให้ทุนสามารถควบคุมแรงงานได้มากขึ้น กระทั่งนักวิชาการบางท่านเปรียบเปรยว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญาเปลี่ยนเกษตรกรอิสระให้กลายเป็นเสมือน "กึ่งแรงงานรับจ้าง" หรือแรงงานรับจ้างที่ทุนจ้างวานให้ทำงานบนผืนดินที่ตัวเองเป็นเจ้าของ การนำเกษตรพันธะสัญญามาใช้ในการผลิตทางการเกษตรในชนบทถูกมองว่า อาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพในชนบท และทำให้ชีวิตเกษตรกรมีความไม่มั่นคงเพิ่มขึ้น[v] มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นปัญหาและผลกระทบของระบบเกษตรพันธะสัญญาออกมามากขึ้นเรื่อยๆ รายงานวิจัยชิ้นหนึ่งพูดถึงการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้ในการอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามาก เช่น ระบบเกษตรพันธะสัญญาของฟาร์มหมูในประเทศไทย มีปัญหาเกษตรกรได้รับค่าตอบแทนต่ำ มีการจ่ายค่าตอบแทนช้ากว่ากำหนด แต่ต้นทุนในการสร้างโรงเรือนแบบปิดสูง ปัจจัยการผลิตราคาสูง คุณภาพต่ำ พันธุ์หมูไม่ดี ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีอำนาจต่อรอง เกษตรกรมีความเครียดจากการถูกควบคุมแรงงาน เสี่ยงกับการใช้สารเคมี[vi]

ในขณะที่มีการโต้แย้งทางความคิดระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านระบบเกษตรพันธะสัญญาในภาคเกษตร มุมมองที่สามได้ถูกนำเสนอโดยนักวิชาการที่มีความเห็นต่างออกไป  เพราะมองว่าระบบเกษตรพันธะสัญญามีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และด้านที่เป็นปัญหา ธุรกิจการเกษตรและเกษตรกรได้รับประโยชน์ร่วมกันบางด้าน เช่น การกระจายความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ธุรกิจการเกษตรและเกษตรกรก็อาจมีความขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ เช่น ทุนมุ่งลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด จึงเอาเปรียบเกษตรกร เกษตรกรก็ต่อต้านการเอาเปรียบ นักวิชาการกลุ่มนี้มองว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวของระบบเกษตรพันธะสัญญาขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละกรณี เช่น เงื่อนไขของการผลิตพืชแต่ละชนิด และเงื่อนไขการนำระบบเกษตรพันธะสัญญาไปใช้ในแต่ละพื้นที่ เงื่อนไขแรงจูงใจและข้อจำกัดของการทำเกษตรพันธะสัญญาของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม เป็นต้น[vii]

เกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์

ในขณะที่ข้อถกเถียงในเรื่องข้อดีและข้อเสียของเกษตรพันธะสัญญายังไม่มีข้อยุติ เกษตรพันธะสัญญากลับถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งระบบที่ส่งเสริมโดยธุรกิจเอกชนและโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ในกรณีของการผลิตข้าวอินทรีย์นั้น ผู้เขียนพบว่ามีเหตุผลหลายประการที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำเกษตรพันธะสัญญาเพื่อให้เกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ ช่วยให้นายทุนสามารถเข้าถึงที่ดินที่เหมาะสมที่ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยถือครองอยู่ กล่าวเฉพาะในภาคอีสาน ที่ดินส่วนใหญ่ถือครองโดยครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นจึงเป็นการยากที่กลุ่มทุนจะเข้ากว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ ในขณะที่ที่ดินอุดมสมบูรณ์อาจตั้งอยู่ห่างไกลกันและกระจัดกระจาย ทำให้โครงการมีต้นทุนค่าการจัดการสูง หากคิดจะกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่สำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ นายทุนจึงนิยมใช้การทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้ปลูกข้าวอินทรีย์ตามข้อกำหนดที่ตกลงกันล่วงหน้ามากกว่า

ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาเพื่อการผลิตข้าวอินทรีย์ มีการระบุรายละเอียดของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ที่นาต้องถูกจัดการเสมือนเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเกษตรกรที่ทำเกษตรพันธะสัญญา แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ที่นาผืนนั้นอาจเป็นสมบัติที่ใช้ร่วมกันของครัวเรือนหรือตระกูล ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญา เป็นที่คาดหวังว่าเกษตรกรจะจัดหาที่ดินมาทำการผลิตฟรีและลงทุนปรับปรุงคุณภาพดินเอง


เครดิตภาพ ดำนา โดย เนตรดาว เถาถวิล : การทำนาอินทรีย์ต้องวิธีดำนาเท่านั้น
ห้ามทำนาหว่าน จึงต้องใช้แรงงานคนในการทำนามาก


นอกจากนั้น เหตุผลด้านแรงงานก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะการทำเกษตรพันธะสัญญาทำให้เกษตรกรยอมเปลี่ยนมาปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นพืชที่ตนเองไม่คุ้นเคยมาก่อน และไม่มีตลาดรองรับในพื้นที่ แต่กลับเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค งานศึกษาที่ทำเมื่อไม่นานมานี้ ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรจะไม่ยอมปลูกพืชผักหลายชนิด หากไม่มีการทำสัญญาว่าจะซื้อ และนายทุนมักจะเลือกเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลจากตลาด เพื่อทำเกษตรพันธะสัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรจะไม่นำผลผลิตไปขายเองนอกสัญญา การทำเกษตรพันธะสัญญาทำให้นายทุนสามารถเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะในการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยที่นายทุนไม่จำเป็นต้องเสี่ยงในการลงทุนทำการผลิตเอง ในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าการทำนาอินทรีย์ต้องใช้แรงงานแบบเข้มข้น แต่ความต้องการแรงงานดังกล่าวกลับไม่สม่ำเสมอ จึงกลายเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการจัดการการผลิต ซึ่งเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ต้องหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เกษตรกรใช้กลยุทธ์การจ้างงานหลายรูปแบบ เพื่อให้แน่ใจมีแรงงานในการผลิตเพียงพอ

การทำเกษตรพันธะสัญญาทำให้นายทุนได้ประโยชน์จากแรงงานในครัวเรือนเกษตรกรมากที่สุด เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานส่วนเกินในครัวเรือนชาวนา โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน เพราะแม้ว่าเกษตรกรที่เซ็นสัญญาจะมีเพียงหนึ่งคนในครอบครัว แต่ในทางปฏิบัติ แรงงานเกือบทั้งหมดในครอบครัวล้วนมีส่วนช่วยทำนาอินทรีย์ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงและเด็ก ถือว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยทำนาอินทรีย์ในหลายขั้นตอน เท่ากับว่านายทุนได้ประโยชน์สูงมากจากการใช้แรงงานในครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย และอาจให้ผลประโยชน์มากกว่าการลงทุนทำแปลงนาขนาดใหญ่ด้วยตนเองและจ้างแรงงานมาทำนา

ที่สำคัญ การใช้ระบบเกษตรพันธะสัญญาในระบบนาอินทรีย์ช่วยให้นายทุนหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับการจัดการแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง ในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ผู้เขียนพบว่าภายใต้เงื่อนไขที่แรงงานภาคเกษตรมีค่าจ้างสูงและหายาก เกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญาหันไปจ้างแรงงานลาวมาช่วยทำนาอินทรีย์เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบางฤดูกาลที่มีความต้องการแรงงานสูง เช่น ในช่วงดำนาและช่วงเกี่ยวข้าว ดังนั้นการทำเกษตรพันธะสัญญาจึงช่วยให้นายทุนสามารถถ่ายโอนภาระการจ้างแรงงานไปให้เกษตรกรที่ทำเกษตรในระบบพันธะสัญญาเป็นผู้แบกรับภาระแทน ถ้าเกษตรกรไม่อยากจ่ายค่าจ้างแรงงานเพิ่ม พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการขูดรีดแรงงานตัวเองเพื่อทำงานให้ทันตามกำหนดเวลา

ยิ่งไปกว่านั้น การทำเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ ยังเอื้อประโยชน์ให้นายทุนสามารถควบคุมแรงงานในการผลิตได้สะดวกขึ้น จริงอยู่ที่การทำสัญญาเกิดขึ้นระหว่างผู้ว่าจ้างกับเกษตรกรเป็นรายบุคคล แต่เกษตรกรที่ทำสัญญาจะต้องรับรองว่าไม่มีการกระทำใดๆ ที่ละเมิดกฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ จึงเท่ากับว่าเกษตรกรผู้ทำสัญญาต้องเจรจาต่อรองและรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกในครอบครัว นั่นหมายความว่าสมาชิกครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ด้วย นอกจากนั้น เกษตรกรผู้ทำสัญญาต้องควบคุมแรงงานรับจ้างที่ตนจ้างมา ไม่ให้ทำผิดกฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยเช่นกัน ผู้เขียนพบว่าเงื่อนไขในเรื่องนี้ได้สร้างความขัดแย้งภายในครัวเรือนเกษตรกรจำนวนหนึ่ง เพราะสมาชิกในครัวเรือนมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ในการทำอินทรีย์ ทำให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งต้องเลิกทำนาอินทรีย์ไปเลย เพราะสมาชิกในครอบครัวไม่ยอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ


เครดิตภาพ คอกหมูในแปลงนา โดย เนตรดาว เถาถวิล : คอกหมูในแปลงนามักสร้างปัญหาให้กับชาวนาอินทรีย์
เนื่องจากมีข้อบังคับไม่ให้กักขังสัตว์ในกรง และไม่ให้เลี้ยงด้วยอาหารจากโรงงานอุตสาหกรรม
และต้องมีการจัดการน้ำทิ้งจากคอกสัตว์อย่างถูกสุขอนามัย ซึ่งเกษตรกรมักถูกตัดสินว่าทำผิดกฎข้อบังคับ


สำหรับรูปแบบการควบคุมแรงงานในระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ มีทั้งการควบคุมแรงงานแบบชัดเจน ซึ่งกระทำผ่านการออกกฎข้อบังคับในการทำนาอินทรีย์ ที่มีรายละเอียดมากมายที่เกษตรกรต้องปฏิบัติตาม ทั้งในช่วงก่อนการผลิต ในกระบวนการผลิต และหลังการเก็บเกี่ยว เช่น เกษตรกรต้องทำเกษตรอินทรีย์เต็มพื้นที่ รวมถึงการห้ามไม่ให้ปลูกพืชคู่ขนาน การเลี้ยงสัตว์ในนาอินทรีย์ ต้องไม่มีการกักขังสัตว์ในคอกอย่างแออัด และต้องให้อาหารสัตว์ที่มาจากธรรมชาติ ไม่ให้เลี้ยงด้วยอาหารจากโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรต้องคืนพื้นที่ให้ธรรมชาติอย่างน้อย 7% ของพื้นที่ทั้งหมด ไม่ให้ทำกินเต็มที่ดิน แต่ต้องปลูกต้นไม้ เว้นที่ป่าละเมาะ คันนา บ่อ สระน้ำ บ่อปลา โรงนา เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนั้น เกษตรกรต้องทำสัญญาว่าจะปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ และระเบียบของกลุ่ม เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้เกษตรกรเก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง แต่ต้องซื้อและมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกปี รวมถึงห้ามเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีการตัดต่อพันธุกรรม ห้ามเกษตรกรใช้สารเคมีทุกชนิด ห้ามใช้ถังฉีดพ่นสารเคมี และห้ามนำถุงปุ๋ยเคมีมาบรรจุข้าวทุกชนิด ปัจจัยในการผลิตจะต้องไม่มีการคลุกสารเคมี และได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย


เครดิตภาพ คันนาขาด โดย เนตรดาว เถาถวิล : เกษตรกรต้องยกคันนาอินทรีย์ให้สูงกว่านาเคมี และดูแลซ่อมแซมคันนาให้อยู่ในสภาพดี หากมีปัญหาคันนาขาด ทำให้น้ำจากนาเคมีไหลลงสู่แปลงนาอินทรีย์ได้ เกษตรกรจะต้องถูกลงโทษ


นอกเหนือจากนั้น เกษตรกรต้องปลูกพืชหมุนเวียนในแปลงนาเพื่อบำรุงดิน เกษตรกรจะต้องทำคันนาให้สูง ไม่ให้น้ำจากแปลงนาอื่นไหลผ่าน เพื่อป้องกันการไหลของสารเคมีจากแปลงข้างเคียงสู่นาอินทรีย์ และเกษตรกรต้องปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวรั้วป้องกันยาฆ่าแมลงที่อาจปลิวลงมาที่แปลงนาเกษตรอินทรีย์ ในการเก็บเกี่ยว กฎข้อบังคับเรื่องนี้มักจะสร้างความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์กับแปลงข้างเคียงที่ทำนาเคมี เนื่องจากเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์ต้องปิดทางน้ำสาธารณะที่ไหลผ่านแปลงนาตนเอง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนทางน้ำ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของเกษตรกรที่ทำนาเคมี และข้อบังคับในเรื่องการปลูกต้นไม้เป็นแนวรั้วกั้นการปนเปื้อนทางอากาศ ก็มักสร้างปัญหากับเพื่อนบ้านที่ทำนาเคมี เพราะเพื่อนบ้านอาจกังวลว่าต้นไม้ที่ปลูกเป็นแนวรั้วอาจให้ร่มเงาที่บังแสงในนา หรือมีดอกผลที่ล่อแมลงศัตรูพืช


เครดิตภาพ ความขัดแย้ง โดย เนตรดาว เถาถวิล : ข้อบังคับให้เกษตรกรต้องปลูกต้นไม้กั้นเขตแดนระหว่างนาอินทรีย์กับนาเคมี แต่เพื่อนบ้านไม่อนุญาต ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรที่มีนาติดกัน
เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องเลือกว่า จะยอมถูกลงโทษ หรือไม่ก็ต้องขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน

 

ยิ่งไปกว่านั้น กฎข้อบังคับยังครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่า เกษตรกรจะต้องแยกผลผลิตให้ชัดเจนสามารถตรวจสอบได้ เกษตรกรจะต้องทำตามคำแนะนำเรื่องระยะเวลาและขั้นตอนการเก็บเกี่ยวข้าวอย่างเคร่งครัด สมาชิกของโครงการจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมทุกปี และต้องทำบัญชีฟาร์มอย่างละเอียด ซึ่งการบันทึกข้อมูลทุกขั้นตอน เป็นเรื่องที่เกษตรกรไม่มีความคุ้นเคย รวมทั้งเกษตรกรต้องเก็บใบเสร็จการซื้อขายปัจจัยการผลิตและผลผลิตทุกอย่าง เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบรับรองจากองค์กรตรวจสอบ เกษตรกรต้องยินยอมให้มีการเข้าตรวจสอบแปลงนา บ้านพัก ที่เก็บรักษาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และการทำการเกษตรอื่นๆ ได้ทุกเมื่อ โดยไม่จำเป็นต้องมีการบอกล่วงหน้า เกษตรกรจะขายผลผลิตทั้งหมดให้แก่โครงการเท่านั้น และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งมอบผลผลิตเอง เกษตรกรจะต้องแจ้งให้โครงการฯ ทราบโดยทันที ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการผลิต การแปรรูป การประกอบการ

นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกร ยังมีการควบคุมแรงงานแบบที่มองเห็นไม่ชัดเจน เช่น การใช้เวทีฝีกอบรมเกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรยอมรับการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างเต็มใจ การจัดทำแผนที่แปลงนาอย่างละเอียด เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ผลิตและรายละเอียดของแปลงนาสามารถมองเห็นได้และตรวจสอบนับได้ และง่ายต่อการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก การทำบัญชีฟาร์มเป็นการปลูกฝังความรู้ในแง่ของการคำนวณต้นทุนกำไรให้แก่เกษตรกร เท่ากับเป็นการปลูกฝังค่านิยมในเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ และศักยภาพในการแข่งขันในระบบตลาด (ผู้สนใจในประเด็นนี้ โปรดติดตามอ่านบทความ "การสร้างความเป็นมาตรฐานในระบบเกษตรอินทรีย์" โดยผู้เขียนในวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เร็วๆ นี้)

นอกจากนั้น การใช้กลไกราคา เช่น การคัดแยกเกรดในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร และการกำหนดราคาข้าวไม่เท่ากัน ถือเป็นกลไกการควบคุมแรงงานรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการบังคับให้เกษตรกรต้องลงทุนลงแรงทำการผลิตและขายข้าวคุณภาพสูง ไม่เช่นนั้นเกษตรกรก็จะขายข้าวได้ราคาต่ำ หรือถูกหักเงินค่าขายข้าว หักค่าเปอร์เซ็นต์ความชื้น หักค่าเปอร์เซ็นต์ข้าวหักข้าวปน เป็นต้น ส่วนข้อกำหนดให้เกษตรกรต้องระบุหมายเลขรหัสประจำตัวสมาชิกในการขายข้าว ทำให้ผู้รับซื้อสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า ข้าวที่ส่งมอบให้มีคุณภาพดีเพียงใด และมีปัญหาการปนเปื้อนหรือไม่ รวมถึงคุณภาพข้าวที่เกษตรกรแต่ละคนผลิตมีปริมาณมากน้อยเพียงใด และมีคุณภาพดีเพียงใด ซึ่งทำให้การควบคุมแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

สรุป

การทำเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ เป็นกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อขาย เป็นระบบที่ห่างไกลจากความเป็น "ธรรมชาติ" และ "ความเป็นอุดมคติ" อย่างที่มักจะเชื่อกัน ระบบเกษตรอินทรีย์ต้องพึ่งพาปัจจัยทุน เทคโนโลยี และมีการใช้แรงงานและควบคุมแรงงานอย่างเข้มข้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ ภายใต้เงื่อนไขของการทำสัญญา เช่น ที่ดินถูกดึงไปใช้ในการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและตลาดมากขึ้น รวมถึงมีการใช้ประโยชน์แรงงานในครัวเรือนเกษตรกรมากขึ้น ในขณะที่เกษตรกรต้องทำงานหนักขึ้น สูญเสียอำนาจในการควบคุมและตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการผลิต ทั้งยังไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องราคาผลผลิตอีกด้วย

นอกจากนั้น ความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องอาหารปลอดภัย การอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองสิทธิของสัตว์เลี้ยง ได้กลายเป็นแรงกดดันรูปแบบใหม่ต่อเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากมีการออกกฎระเบียบในการทำเกษตรอินทรีย์จำนวนมากเพื่อให้เกษตรกรปฏิบัติตาม การบังคับใช้กฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์หลายประเด็นสร้างความขัดแย้งในครัวเรือนเกษตรกร เพราะสมาชิกครัวเรือนมีความเห็นที่แตกต่างกันในการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของการทำเกษตรอินทรีย์ และในบางกรณี การบังคับใช้กฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์สร้างความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีในชุมชนเดียวกัน ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกัน ใช้น้ำจากแหล่งน้ำร่วมกัน เนื่องจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องการควบคุมไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมี ทั้งการปนเปื้อนที่มาทางดิน ทางน้ำและทางอากาศ ทำให้เกิดการกระทบสิทธิของเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีซึ่งยังคงใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง

          ในบทความตอนหน้า ผู้เขียนจะนำเสนอมุมมองของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญา เพื่อชี้ให้เห็นแรงกดดันที่เกษตรกรต้องแบกรับ และกลยุทธ์ที่เกษตรกรเลือกใช้เพื่อต่อรองกับแรงกดดันดังกล่าว

 

         

 

 

 

 

         

 

 




เอกสารอ้างอิง

[i] David Grover and Ken Kusterner. 1990. Small Farmers, Big Business: Contract Farming and

Rural Development. Hampshire: MACMILLAN.

[ii] Sompop Manarangsan and Suebskun Suwanjindar. 1992. "Contract Farming and Outgrower

            Schemes in Thailand" in Contract Farming in Southeast Asia: Three Countries Studies.

            Kuala Lumpur: Institute for Advanced Studies, University of Malaya.

[iii] Singh, Sukhpal. 2005. "Role of the State in Contract Farming in Thailand: Experience and

            Lessons." In Asean Economic Bulletin, Vol.22, No.2, pp. 217-28.

[iv] Sompop Manarangsan and Suebskun Suwanjindar, 1992. อ้างแล้ว.

[v] Peter D.Little and Michael J. Watts (eds.) 1994. Living under Contract: Contract Farming and

 Agrarian Transformation in Sub-Saharan Africa. Wisconsin: The University of Wisconsin

Press.

[vi] Singh, Sukhpal. 2005, อ้างแล้ว.

[vii] David Grover and Ken Kusterner. 1990, อ้างแล้ว.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น